โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สปร.ระดมความคิดเห็น ‘ร่างกฎหมาย 3 ฉบับ’ ปฏิรูปโครงสร้างที่ดินผ่านฉลุย

Posted: 09 May 2013 01:02 PM PDT

ยกร่างกฎหมาย 3 ฉบับ 'ภาษีที่ดิน-ธนาคารที่ดิน-โฉนดชุมชน' ที่ขับเคี่ยวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ใกล้ถึงกำหนดเสนอต่อรัฐสภา ด้านภาคประชาชนร่วมระดมความเห็น หาช่องทางในการลดความเหลื่อมล้ำ-แก้ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน

 
วันที่ 9 พ.ค.56 สำนักงานปฏิรูป (สปร.) จัดสัมมนาทางวิชาการระดมความคิดเห็น เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน โดยนำเสนอแนวคิดการยกร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ร่างกฎหมายว่าด้วยธนาคารที่ดิน และร่างกฎหมายว่าด้วยโฉนดชุมชน ณ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ
 
การสัมมนาเริ่มด้วย นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาปฏิรูป กล่าวเปิดการประชุม จากนั้นมีการนำเสนอร่างกฎหมายและความสัมพันธ์เชื่อมโยงของกฎหมาย 3 ฉบับ โดยคณะทำงานขับเคลื่อนมติการปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดินประกอบด้วย ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ อาจารย์โสภณ ชมชาญ และผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล  
 
เจตนารมณ์ของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือ เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาที่ดินกระจุกตัวอยู่ที่คนส่วนน้อยของประเทศ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและแรงงานรับจ้างยังยากจนไม่มีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดิน นอกจากนั้นยังมีการถือครองที่ดินไว้โดยมิได้ทำประโยชน์แต่ถือครองไว้เพื่อการค้าเก็งกำไร
 
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืนทำให้เกิดการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้นรวมทั้งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้รัฐต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการระดมความคิดเห็น โดยการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 10 กลุ่ม มีการอภิปรายถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมและถ้อยคำที่ระบุไม่ชัดเจนในบางมาตราอันอาจจะนำมาซึ่งปัญหาในอนาคต จนมีข้อสรุปร่วมกันว่าเห็นด้วยกับหลักการและเจตนารมณ์ของการยกร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้
 
ทั้งนี้ จะมีการระดมความคิดเห็นกันอีกครั้งในเดือน มิ.ย.2556 และเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ก่อนเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาให้ปล่อยตัวชั่วคราว 2 ชาวบ้านทุ่งลุยลาย-‘แรมโบ้’ นัดพีมูฟแจงปัญหา พรุ่งนี้

Posted: 09 May 2013 10:02 AM PDT

ศาลฎีกาให้ปล่อยตัวชั่วคราวตายายคดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว ชี้ได้รับการปล่อยตัวมาโดยตลอด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ให้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 2 แสนเป็น 3 แสน ด้านพีมูฟได้เจราจากับ 'สุภรณ์ อัตถาวงศ์' กำหนดนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพรุ่งนี้

 
 

ศาลฎีกาให้ปล่อยตัวชั่วคราว 2 ชาวบ้านทุ่งลุยลาย 

วันนี้ (9 พ.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดี นายเด่น คำแหล้ อายุ 60 ปี และนางสุภาพ คำแหล้ อายุ 57 ปี ชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ถูกศาลอาญาตัดสินมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ในข้อหาร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ในพื้นที่สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เมื่อวันที่ 25 เม.ย.56 และศาลฎีกาพิจารณาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว   
 
ทีมทนายความที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน แจ้งว่าเวลาประมาณ 15.00 น.ศาลจังหวัดภูเขียวได้อ่านอ่านฎีกาให้ประกันตัวผู้ถูกคุมขังออกมาแล้ว โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท
 
คำสั่งศาลมีใจความโดยสรุปว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษายืนลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 6 เดือน นับว่าไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด ไม่ปรากฏพฤติการณ์หลบหนี เชื่อว่าหากได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วยังไม่มีเหตุสงสัยจะหลบหนี อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ตีราคาหลักประกันคนละ 3 แสนบาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันและดำเนินการต่อไป
 
ส่วนหลักทรัพย์ประกันตัวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ซึ่งมีการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม คำสั่งออกมาในช่วงที่ศาลภูเขียวใกล้จะปิดทำการ จึงต้องนำหลักทรัพย์ไปประกันนายเด่นและภรรยาในวันพรุ่งนี้
 
ทั้งนี้ กรณีพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ มีขึ้นภายหลังถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 กระทั่งได้มีโครงการปลูกสวนป่า ทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกในพื้นที่เมื่อปี 2528 โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพราน ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ให้รายละ 15 ไร่ เมื่อชาวบ้านบางส่วนออกจากพื้นที่ เพื่อเตรียมการจะเข้ามาอยู่ตามพื้นที่จัดสรร กลับปรากฏว่าเป็นที่ดินผืนนั้นมีเจ้าของเป็นผู้ครอบครองอยู่แล้ว การเรียกร้องต่อสู้เพื่อผืนดินทำกินจึงเริ่มแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
 
 

ร้องความเป็นธรรมในการดำเนินคดี อย่าทำกับชาวบ้านเสมือนเป็นอาชญากร

สำหรับความเคลื่อนไหว วันที่ 4 ในการชุมนุมของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.กลุ่มชาวบ้านได้ร่วมกันเดินรณรงค์จากที่ชุมนุมไปยังศาลฎีกาบริเวณฝั่งตรงข้ามสนามหลวง เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงประธานศาลฎีกา กรณีนายเด่น คำแหล้ และภรรยาด้วย
 
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายการพัฒนา ได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เช่น กรณีการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ การประกาศพื้นที่ป่าทับที่ทำกิน การสร้างเขื่อน การคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า การคัดค้านการทำเหมืองแร่ เหมืองทอง และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่สำคัญเมื่อวันที่ 25 เม.ย.56 ศาลจังหวัดภูเขียว ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตัดสินจำคุกนายเด่น คำแหล้ และภรรยา
 
หนังสือขอความเป็นธรรม ชี้แจงว่า ข้อเท็จจริง นายเด่น คำแหล้ และภรรยา ได้อยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ มาก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายป่าไม้ดังกล่าว ดังนั้น คดีของนายเด่นคำแหล้ และภรรยา จึงเป็นการเผชิญ
หน้ากันระหว่างความชอบธรรมกับการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกระบวนการยุติธรรมยึดกฎหมายเพียงด้านเดียว ขณะที่สังคมตั้งคำถามว่าเป็นความยุติธรรมเพื่อใคร เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผลแห่งคดีนี้ไม่ก่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และยิ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม
 
ส่วนข้อเรียกร้อง พีมูฟระบุเรื่องความเป็นธรรม ในการดำเนินคดี ที่ไม่ทำกับชาวบ้านเสมือนเป็นอาชญากร
 
 
 
 

นัดเช้าพรุ่งนี้  แจงประเด็นปัญหากลุ่มย่อยพีมูฟ

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 8.30 น. นางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ได้นำขบวนผู้ชุมนุมเดินทางไปยังบริเวณประตู 4 เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอทราบความชัดเจน ในการนำข้อสรุปทั้ง 4 ประเด็นที่ได้มีการหารือกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงรองนายกฯ เข้าครม.ในวันอังคารที่ 14 พ.ค.นี้ และเร่งรัดให้มีการการเรียกประชุมคณะอนุกรรมการ 10 ชุด และคณะกรรมการชาวเล เพื่อจะหาข้อยุติก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันที่ 27 พ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยต้องการความชัดเจนภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้
 
จากนั้น นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือ และเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าหารือในทำเนียบรัฐบาล
 
นายสุภรณ์ กล่าวว่า ขอให้แต่ละกลุ่มย่อยในพีมูฟจัดทำข้อมูลต่างๆ มาให้ชัดเจน และนำมาร่วมประชุมกับตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 10 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ที่อาคารสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม เป็นประธาน ในวันที่ 20 และ 27 พ.ค.นี้ และฝากให้แกนนำของพีมูฟไปเจรจากับสมาชิกให้กลับภูมิลำเนาไปก่อน ไม่ต้องกังวลว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ใส่ใจการแก้ปัญหา เพราะได้มีการนำเรื่องร้องเรียนไปรายงานให้ทราบและทุกอย่างก็ถูกบันทึกไว้แล้ว ขอให้สบายใจได้ว่าการประชุมของคณะกรรมการต้องมีมติข้อสรุปที่กำหนดกรอบเวลาการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ได้
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ไอซีที' เผยรู้ตัวมือแฮกเว็บสำนักนายกฯ แล้ว-ผู้ต้องสงสัยติดต่อให้ปากคำพรุ่งนี้

Posted: 09 May 2013 08:59 AM PDT

กรณีเว็บสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี http://www.opm.go.th/ ถูกแฮก และมีการโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รวมถึงเปลี่ยนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วานนี้

วันนี้ (9 พ.ค.56) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โพสต์ชี้แจงในเพจเฟซบุ๊ก "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ,สำนักงานปราบโกง Anti-corruption" ว่า ปัญหาการแฮกเว็บ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นจากการทำ SQL Injection ด้วยการเข้าไปกรอกข้อมูล และเปลี่ยนข้อมูลในเว็บ และมีการใช้วิธีการอำพรางตัว เพื่อไม่ให้รู้ได้ว่าผู้ทำผิดเป็นใคร

ดังนั้น การรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะต้องมาจากการรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัล และกระบวนการสืบสวนสอบสวน ซึ่งขณะนี้ ได้เบาะแสแล้ว แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะอาจส่งผลต่อรูปคดี โดยการจับกุมนั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการเร็วๆ นี้ แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีลักษณะอาญา การเข้าดำเนินการจับกุมต้องทำด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิของผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา หรือจับแพะ

น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดอยู่ 2 ส่วน ทั้งนี้ แล้วแต่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนจะตั้งข้อกล่าวหาตามพยานหลักฐาน ได้แก่ 1) ความผิดตามกฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (4 มาตรา) โดยการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการเข้าไปยังเว็บของรัฐที่เป็นบริการสาธารณะ หากมีผู้หนึ่งผู้ใดทำเช่นนั้น ย่อมหมายความว่า อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการให้บริการของรัฐทางออนไลน์ ก็อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดหลายมาตราด้วยกัน ตั้งแต่ การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นๆ โดยมิชอบที่เขามีมาตรการป้องกันเอาไว้ (มาตรา 5 และมาตรา 7 กฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์) และการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (มาตรา 9) และเนื่องจากเว็บสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเว็บที่ถือเป็นบริการสาธารณะของรัฐ ก็อาจเข้าข่ายเป็นความผิดที่อาจได้รับโทษหนักขึ้น (มาตรา 12 (2) โทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี) 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา (1 มาตรา) (มาตรา 328 ปอ.) ในกรณีที่เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรี

รมว.ไอซีที ชี้แจงด้วยว่า สาเหตุที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะเรื่องนี้เป็นการกระทำที่อุกอาจเพราะใช้วิธีการทำความผิดผ่านเว็บของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบที่สำคัญมาก ต่อความน่าเชื่อถือของระบบของรัฐ ที่อาจมีใครพยายามกระทำความผิดต่อเว็บอื่นอีก โดยนโยบายของรัฐบาลทุกประเทศที่มุ่งไปในทางเดียวกัน คือ ส่งเสริมให้ประชาชนทำธุรกรรมทางออนไลน์ ย่อมได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล นอกจากนี้ หากพิจารณากรณีของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ แต่ฝ่ายจัดการไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ แน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศไปด้วย

ส่วนการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์หมิ่นสถาบันนั้น กระทรวงฯ ได้ให้หลายทีมช่วยกันวิเคราะห์กลไกของการแก้ไขปัญหา พบว่า การแก้ไขปัญหาโดยไม่ไปกระตุ้นให้คนทั่วไปสนใจอยากรู้อยากเห็น น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เพราะหากปล่อยให้การประชาสัมพันธ์ไปสร้างแรงจูงใจและแรงกระตุ้นให้กับผู้ที่ไม่อยากเกี่ยวข้อง เข้าไปเกี่ยวข้อง ความบอบช้ำและผลกระทบก็จะยิ่งมากตามไปด้วย จึงเสนอว่าไม่ควรนำทั้ง 2 กรณี ไปเปรียบเทียบกัน

ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ กฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ร่างปรับปรุงเสร็จแล้ว ได้รับฟังความเห็นไปแล้ว 3 ครั้ง ไม่รวมการรับฟังในลักษณะโฟกัสกรุ๊ปอีกหลายครั้ง ขณะนี้ เหลือเพียงขั้นตอนนำเสนอเข้า ครม. (ภายใน 2 เดือน) โดยระหว่างนี้ ก็จะมีการนำเสนอร่างต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ เพราะกว่าร่างจะผ่านสภานั้น คงใช้เวลาอีกพอสมควร อาจมีเทคโนโลยีและรูปแบบการกระทำความผิดที่จำเป็นต้องรับฟัง หรืออัพเดทให้ทันสมัยตลอดเวลา

ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า วันเดียวกัน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ระบุว่า ขณะนี้รู้ตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว เบื้องต้นมีเพียง 1 ราย อยู่ระหว่างการติดตามตัวมาสอบสวนอยู่ โดยแฮกเกอร์รายนี้ มีความสามารถในการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ อยู่ในระดับสูง ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย แถมเคยเข้าแฮกตามเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการและเอกชนมาแล้วมากมาย อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  เป็นต้น

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ฝากกำชับว่า หากสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ให้สืบสวนด้วยว่า เป็นบุคคลเดียวกันกับที่เคยโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทจนเกิดความเสียหายก่อนหน้านี้หรือไม่ ทั้งนี้หากพบว่าผิดจริงจะถูกแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 16 มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี และปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ

ต่อมา พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ขณะนี้ทาง บก.ปอท. มีหลักฐานแล้วว่าเซิร์ฟเวอร์ที่ทำการเจาะระบบข้อมูลนั้นมาจากประเทศเยอรมัน ซึ่งกำลังประสานขอข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเยอรมันอยู่ ขณะเดียวกันยังได้รับการติดต่อจากหัวหน้ากลุ่มแฮกเกอร์ชื่อ ยูเอชที ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุ จะเดินทางมาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ในวันที่ 10 พ.ค. เวลา 10.00 น.โดยคาดว่าอาจจะเป็นคนเดียวกับที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี อ้างถึงเป็นชาวนครศรีธรรมราช เรียนจบมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง อายุ 29 ปี

รายงานข่าวระบุว่า การแฮกเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เกิดจากสงครามแฮกเกอร์ 2 กลุ่ม ระหว่าง ยูเอชที กับสเต็ปแฮก ก่อนหน้านี้เคยเป็นกลุ่มเดียวกันและเกิดแตกแยก จนกระทั่งมีการแฮกเว็บไซต์ดังกล่าวและต่างฝ่ายต่างอ้างว่า อีกฝ่ายแฮกและพยายามโยนความผิดให้อีกฝ่าย ทั้งนี้กลุ่มยูเอชทีให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ตัวเอง

 

 

ที่มา: เพจ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ,สำนักงานปราบโกง Anti-corruption และ เว็บไซต์เดลินิวส์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสูงอียิปต์ตัดสินให้จำเลยคดี 'ขี่อูฐปะทะผู้ชุมนุม' ไม่มีความผิด

Posted: 09 May 2013 08:52 AM PDT

ช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่ขับไล่อดีตปธน.มูบารัค ของอียิปต์ เกิดเหตุคนขี่ม้าและอูฐพร้อมอาวุธเข้าไปปะทะกับผู้ชุมนุมจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จำเลยทั้ง 24 คนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนมูบารัคถูกศาลชั้นต้นตัดสินให้ไม่มีความผิด และล่าสุดเมื่ออัยการอุทธรณ์ ศาลสูงของอียิปต์ก็ตัดสินให้พวกเขาไม่มีความผิดเช่นกัน

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2013 ศาลชั้นสูงของอียิปต์ปฏิเสธคำอุทธรณ์ของอัยการในคดี "การต่อสู้บนหลังอูฐ" ที่มีคนขี่ม้าและอูฐเข้าไปก่อเหตุปะทะกับผู้ชุมนุมที่จัตุรัสทาร์รีย์เมื่อช่วงชุมนุมปี 2011

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2011 ในช่วงที่มีการชุมนุมขับไล่ฮอสนี มูบารัค ประธานาธิบดีอียิปต์ในสมัยนั้น ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนมูบารัค 24 คนถูกกล่าวหาว่าพวกเขาได้ขี่ม้าและอูฐพร้อมอาวุธเข้าไปทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่จัตุรัสทาร์รีย์ ใจกลางกรุงไคโร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย และบาดเจ็บราว 1,000 ราย โดยที่ภาพคนขี่อูฐถือแส้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติที่ตามมาด้วยการปะทะบนท้องถนน และภาพดังกล่าวก็มีการเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ให้เห็นทั่วโลก

ศาลชั้นสูงของอียิปต์ตัดสินให้จำเลยทั้ง 24 คนในคดีนี้บริสุทธิ์จากข้อหาฆ่าคนโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนและข้อหาพยายามฆ่า โดยไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุชัดเจน แต่อ้างในเบื้องต้นว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการตัดสินความผิดจำเลย

ราวยา ราเกห์ ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากกรุงไคโร กล่าวว่าการตัดสินให้จำเลยเหล่านี้พ้นโทษเมื่อปีที่แล้วส่งผลสะเทือนต่อชาวอียิปต์ และการที่ศาลชั้นสูงยืนยันว่าพวกเขาบริสุทธิ์ก็ทำให้ประชาชนหลายคนผิดหวัง เพราะชาวอียิปต์รอให้มีผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีผู้ชุมนุมในครั้งนั้นมานานแล้ว

ในวันที่ 1 ก.พ. 2011 ก่อนหน้าการวันเกิดเหตุ อดีตปธน. มูบารัค ได้กล่าวปราศรัยเป็นครั้งที่สองต่อประชาชนในประเทศท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุม โดยกล่าวว่าสถานการณ์นี้บีบบังคับให้ต้องเลือกระหว่างเสถียรภาพหรือความวุ่นวาย

รายงานข่าวของอัลจาซีร่าในวันเกิดเหตุระบุว่า ในช่วงกลางวันสถานีโทรทัศน์ช่องรัฐบาลอียิปต์ได้ประกาศให้ประชาชนออกจากพื้นที่จัตุรัสทาร์รีย์โดยทันที เนื่องจากพวกเขาได้รับข้อมูลว่ามีกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงกำลังมุ่งหน้ามาทางจัตุรัสทาร์รีย์พร้อมระเบิดเพลิง

คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงของอียิปต์กล่าวไว้ว่า ซัฟวัท อัล-ชารีฟ อดีตโฆษกสภาสูงของอียิปต์เป็นผู้บงการในเหตุการณ์โจมตีวันที่ 2 ก.พ. 2011 จนทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิต

จากการรายข่าวของสำนักข่าว MENA ของรัฐบาลอียิปต์ คณะสืบสวนกล่าวสรุปว่าชารีฟและสมาชิกรัฐสภารายอื่นๆ ได้จ้างวานนักเลงให้มาโจมตีกลุ่มฝูงชนและบอกพวกเขาว่า "ให้สังหารผู้ประท้วงได้ถ้าจำเป็น"

ผู้พิพากษา มุสตาฟา อับดุลลาห์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค. 2011 ศาลได้สั่งยกฟ้องจำเลยทั้ง 24 คน โดยบอกว่าคำให้การของพยานอ่อนเกินไป และมีแรงจูงใจด้านความแค้นระหว่างพยานและจำเลยจากการที่พวกเขาอยู่คนละฝ่ายทางการเมือง และพยานยางรายมีประวัติการก่ออาชญากรรม รวมถึงเคยมีความผิดเรื่องการเบิกความเท็จ

แม้ว่าจะมีรายชื่อเหยื่อ แต่ผู้พิพากษาก็บอกว่าเขาเชื่อในคำให้การของนายพลที่บอกว่าไม่มีใครถูกสังหารที่จัตุรัสในช่วงที่มีการปะทะ โดยนายพลคนดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาทหารที่ปกครองอียิปต์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ


เรียบเรียงจาก

Egypt court refuses 'Camel Battle' appeal, Aljazeera, 08-05-2013

Live blog Feb 2 - Egypt protests, Alajzeera, 02-02-2011


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Timeline_of_the_2011_Egyptian_revolution_under_Hosni_Mubarak

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาฯ ให้ใบแดง 'การุณ โหสกุล' หลุด ส.ส.-ตัดสิทธิ 5 ปี

Posted: 09 May 2013 08:26 AM PDT

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ตัดสิทธิการเมือง "การุณ โหสกุล" ส.ส.ดอนเมือง พรรคเพื่อไทย 5 ปี  ฐานผิด พ.ร.บ.เลือกตั้ง จงใจปราศรัยใส่ร้าย "แทนคุณ" คู่แข่ง ปชป. พร้อมสั่งเลือกตั้งใหม่

(9 พ.ค.56) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 14.10 น. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้นัดฟังคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำ ที่ลต.16/2555 ระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ร้อง กับ นายการุณ โหสกุล ส.ส.เขตดอนเมือง กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้คัดค้าน เรื่องขอให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และขอให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แทนนายการุณ ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 12 พรรคเพื่อไทย ในข้อหา ปราศรัยจงใจใส่ร้าย นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่า เป็นผู้ไม่มีการศึกษาและมีภูมิหลังเรื่องชาติตระกูล รวมถึงยังใส่ร้ายพรรค ปชป.ด้วย ว่า คดโกงและบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นโดยไม่สุจริต

ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาได้ออกนั่งบัลลังก์ และมีคำสั่งให้ตัดสิทธิการเลือกตั้งของนายการุณ โหสกุล ส.ส.เขตดอนเมือง กทม.พรรคเพื่อไทย เป็นเวลา 5 ปี และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม. เขตเลือกตั้งที่ 12 ใหม่ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายการุณ ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 53 (5) จริง เนื่องจากในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหญ่ เมื่อปี 2554 มีหลักฐานปรากฏชัดว่า ได้มีการปราศรัยจงใจใส่ร้าย นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.เขตดอนเมือง และพรรค ปชป. ซึ่งเป็นคู่แข่งในขณะนั้นจริง

ทั้งนี้ ศาลยังพิเคราะห์จากพยานและหลักฐาน ซึ่งปรากฏจากคำปราศรัยหาเสียงจากนายการุณในขณะนั้น เห็นว่า คำปราศรัยทั้งหมดถือเป็นการมุ่งกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้น ว่าคดโกง มีพฤติการณ์จ้างคนไปฟังปราศรัย หาเสียงและมีการซื้อเสียงเลือกตั้ง มิใช่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ติชม หรือวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาลพรรคที่มีประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำโดยสุจริต อันประชาชนทั่วไปพึงกระทำ คำปราศรัยของนายการุณ จึงฟังได้ว่า เป็นการปราศรัยใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยม ของนายแทนคุณและพรรค ปชป. อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 53 (5) มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม จึงตัดสินให้นายการุณมีความผิด ให้ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี และให้จัดการเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม วันนี้ นายการุณ โหสกุล ไม่ได้เดินทางมาศาล เพียงแต่ส่งทนายตัวแทนมารับฟังคำสั่งศาลฯ เท่านั้น ทั้งนี้เมื่อทนายความได้รับทราบคำสั่งแล้วได้ขอตัวไม่ขอให้สัมภาษณ์ และขอคัดคำสั่งแล้วจึงเดินทางกลับในทันที

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ชาวบ้านบ่อนอก’ ยื่นข้อมูลอัยการ ชี้ปมศาลอุทธรณ์ เขียนคำพิพากษา 'คดีเจริญ' บกพร่อง

Posted: 09 May 2013 08:03 AM PDT

กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกเคลื่อนขบวน ยื่นข้อมูลอัยการสูงสุดเพื่อจัดทำคำฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 'คดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร' แจงศาลอุทธรณ์เขียนคำพิพากษาบกพร่อง ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

 
วันนี้ (9 พ.ค.56) เวลา 9.30 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 50 คน นำโดยนางสาวกรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดเกี่ยวกับคดีจ้างวานฆ่านายเจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ผู้นำขบวนการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.47
 
สืบเนื่องจาก ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิต เป็นให้ยกฟ้องนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 โดยวินิจฉัยว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของมือปืน 2 คน ซึ่งไม่ได้มาเบิกความต่อศาลเพราะเสียชีวิตไปก่อนนั้น ถือเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่มีน้ำหนักน้อย จึงให้ยกฟ้อง
 
นางสาวกรณ์อุมา กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกและสมาคมนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง "ชำแหละคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีสังหารเจริญ วัดอักษร" ขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย.56 โดยการเสวนาดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์เชิงวิชาการเกี่ยวกับข้อบกพร่องของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในคดี รวมทั้งไม่เป็นไปตามหลักในการเขียนคำพิพากษาที่กำหนดว่า 'จะต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงให้ชัดเจน' ด้วย
 
กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกจึงได้รวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นจากการเสวนาดังกล่าว เป็นแผ่นซีดีการเสวนา และเอกสารคำพิพากษาศาลฎีกาโดยย่อในคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันที่ศาลฎีกาเคยตัดสินลงโทษจำเลยโดยอาศัยคำ 'พยานบอกเล่า' และ 'พยานซัดทอด' มาแล้ว และนำมายื่นต่ออัยการสูงสุด เพื่อใช้ในการจัดทำคำฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้
 
นอกจากนั้น จะมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอการเสวนาชำแหละคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ ผ่านทางยูทูป เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้สังคมได้ร่วมรับรู้และเป็นบทเรียนด้วย
 
"ความจริงแล้วพวกเราชาวบ่อนอกไม่ได้มีความหวังกับขบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว จากการติดตามคดีในช่วงต้นมาจนถึงการที่มือปืนทั้ง 2 คนตายในคุกในเวลาห่างกันแค่ 4 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ออกมานี้ แม้กระทั่งนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายยังใช้คำว่า เป็นคำพิพากษาที่บกพร่อง พวกเราจึงอยากเผยแพร่เรื่องนี้ให้สังคมได้ร่วมรับรู้" ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกกล่าว
 
ด้าน นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เป็นตัวแทนอัยการสูงสุดในการรับมอบข้อมูลดังกล่าว โดยกล่าวว่า ท่านอัยการสูงสุดได้มีบัญชามาว่าให้ดำเนินคดีนี้อย่างเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพราะคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนสนใจ จะต้องมีการดำเนินการพิจารณาโดยละเอียด
 
"ผมอยากเรียนให้ความมั่นใจต่อชาวบ่อนอกทุกท่านว่า สำนักงานอัยการสูงสุดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และจะดำเนินการอย่างรอบคอบ" นายวินัยกล่าว
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว อัยการคดีพิเศษ ได้ส่งฟ้องจำเลยรวมทั้งสิ้น 5 ราย และศาลอาญาได้พิพากษาในชั้นต้น เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.51 ให้ประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานจ้างวาน และยกฟ้องจำเลยที่ 4-5 ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งรับสารภาพว่าเป็นผู้ยิงนายเจริญ วัดอักษรจนเสียชีวิต และซัดทอดจำเลยที่ 3-5 เป็นผู้ใช้จ้างวานนั้น เสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเมื่อปี 2549 ทั้งสองคน
 
ส่วนความคืบหน้ากระบวนการฎีกา ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายเวลาการยื่นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในครั้งแรก ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หากไม่มีการยื่นขยายเวลาออกไปเป็นครั้งที่ 2
 
 
 
 
 
กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก
วัดสี่แยกบ่อนอก หมู่ 10 ต.บ่อนอก
อ.เมือง  จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77210
 
9  พฤษภาคม  2556
 
เรื่อง      การยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
 
เรียน      อัยการสูงสุด
 
อ้างถึง    คดีหมายเลขดำที่  2945/2547  หมายเลขแดงที่  อ. 5090/2551 
            ระหว่าง  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด  โจทก์  นายเสน่ห์  เหล็กล้วน  ที่ 1
            กับพวกรวม 5 คน  จำเลย
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย
1.     ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาโดยย่อในหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีที่อ้างถึง
2.     แผ่นซีดีการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ชำแหละคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีเจริญ วัดอักษร" ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 28 เมษายน 2556
3.     บทความเรื่องวิพากษ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีจ้างวานฆ่าคุณเจริญ วัดอักษร
 
ตามที่ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่อ้างถึงข้างต้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม  2556  โดยพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 5 ในคดีดังกล่าว  ซึ่งรายละเอียดทาง พนักงานอัยการ ในฐานะโจทก์ในคดีดังกล่าวทราบดีอยู่แล้วนั้น 
 
กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกเห็นว่า  คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวยังคลาด เคลื่อนทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายอยู่มากมายหลายประการ จนถึงขนาดที่ นักวิชาการทางกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิได้กล่าวไว้ในการเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับคำพิพากษาของ ศาลอุทธรณ์ว่า  คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้เป็นคำพิพากษาที่บกพร่อง ไม่เป็นไปตาม หลักการทำคำพิพากษาที่จะต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง  และยังทำคำวินิจฉัยที่ไม่เป็น ไปตามหลักข้อกฎหมาย  ซึ่งรายละเอียดสามารถตรวจสอบได้จากสิ่งที่ส่งมาด้วยพร้อมหนังสือนี้ 
 
กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกเห็นว่า  คำพิพากษาของศาลอาญาในคดีนี้ที่ตัดสินประหาร ชีวิตนายธนู  หินแก้ว จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นผู้จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปสังหารคุณเจริญ วัดอักษร นั้น ศาลอาญาได้รับฟังพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งพยานบุคคลและพยานวัตถุของโจทก์ โดยละเอียดรอบคอบเป็นธรรม และยังให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว คำพิพากษาของศาล อาญาที่ให้ประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว จึงมีเหตุผลสมควรทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุก ประการ ส่วนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ยกฟ้องนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ดังกล่าว โดยเหตุผลเพียงสั้น ๆ ที่อ้างว่า  เมื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมือปืนผู้สังหารคุณเจริญ วัดอักษร ได้เสียชีวิตในเรือนจำก่อนที่จะเบิกความในชั้นศาล  ทำให้คำให้การของจำเลยทั้งสอง เป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง  รวมทั้งเป็นคำซัดทอดถึงจำเลยอื่นด้วยกัน จึงเป็นพยานที่มีน้ำหนักน้อย จึงวินิจฉัยให้ยกฟ้องผู้จ้างวานฆ่า ดังกล่าว
 
กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกเห็นพ้องร่วมกับกลุ่มนักวิชาการทางกฎหมายที่เข้าร่วมเสวนา เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 ว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้เป็นคำพิพากษาที่บกพร่อง คลาดเคลื่อนทั้งในปัญหาข้อ กฎหมายและข้อเท็จจริง และมิได้ทำคำวินิจฉัยอธิบายเหตุผลโต้แย้งข้อวินิจฉัยและคำพิพากษาของ ศาลอาญาแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้แสดงถึงเหตุผลแห่งคำพิพากษาให้ชัดเจน  กลุ่มรักท้องถิ่น บ่อนอกเห็นว่า ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ที่อ้างเพียงว่า คำให้การของมือปืนในคดีนี้ทั้งสอง คนที่ตายไปก่อนในขณะถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ จนไม่สามารถมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ จึงเป็น เพียงพยานบอกเล่าที่มีน้ำหนักน้อยรับฟังไม่ได้นั้น  เป็นข้อวินิจฉัยที่ไม่ตรงกับหลักข้อกฎหมาย แต่อย่างใด เพราะตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา เกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานในกรณีเช่นเดียวกันนี้ (ตามเอกสารที่ส่งมาด้วย) คำพยานของ โจทก์ในลักษณะของคดีนี้ล้วนมีน้ำหนักรับฟังและนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยได้   
 
กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกเห็นว่า 
 
1. โจทก์มีพยานบุคคลและพยานวัตถุในชั้นพิจารณาพิสูจน์อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงมือฆ่าคุณเจริญ วัดอักษร  แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้เสียชีวิตไปก่อนที่จะ ขึ้นเบิกความต่อศาลในชั้นพิจารณาคดี ศาลอาญาจึงรับฟังจากคำให้การของเจ้าพนักงานผู้สอบสวน คดีและเจ้าหน้าที่ปกครองชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดที่ร่วมเป็นสักขีพยานในการสอบสวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ ถือเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่มีน้ำหนักน้อย แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ได้ระบุไว้ว่า
 
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
 
(1)    ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
(2)    มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบ ข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
 
ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ไม่สามารถมา เบิกความต่อศาลได้ แต่ก็ยังมีพยานหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถนำมาพิจารณาประกอบกับพยาน บอกเล่าดังกล่าวจนทำให้มีน้ำหนักรับฟังได้  คือ
 
1.1      จากพยานหลักฐานที่ปรากฏต่อศาล  ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ยิงคุณเจริญนั้น เป็นปืนที่อยู่ในความครอบครองของครอบครัวของจำเลยที่ 3   ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพว่าอาวุธปืนที่ตนใช้ยิงคุณเจริญ เป็นปืน ที่จำเลยที่ 3 นำมามอบให้ตนก่อนใช้ก่อเหตุราวหนึ่งสัปดาห์
 
1.2      ทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ล้วนถูกจับกุมตัวได้ที่บ้านพักของจำเลยที่ 3 โดย ในขณะที่ตำรวจไปจับกุมนั้น  จำเลยที่ 3 ก็รับว่าเป็นเจ้าของบ้านที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หลบซ่อนอยู่ (58/3 ถ.สุขจิต อ.เมือง จ.ประจวบฯ)
 
1.3       ภรรยาผู้ตายตลอดจนผู้นำชุมชนล้วนให้การสอดคล้องตรงกันว่า จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 มีเหตุโกรธเคืองคุณเจริญซึ่งเป็นผู้นำในการ เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก และจากกรณีเปิดโปงการบุกรุก ที่ดินสาธารณะประโยชน์คลองชายธง อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้ง 3 สูญเสีย ผลประโยชน์อย่างรุนแรง
 
1.4       ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน ตำรวจท้องที่และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ร่วมรับฟังการสอบสวน และการสอบสวนดังกล่าวได้กระทำ ต่อหน้านายธิติสรณ์ พลมณี ผู้ซึ่งเป็นทนายความของจำเลยที่ 2   ทั้งนี้ รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็ได้เบิกความรับรองการสอบสวนดังกล่าว ไว้ด้วย อีกทั้งการทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพทุกขั้นตอน ได้กระทำโดยเปิดเผย ภายใต้การติดตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนทุกแขนง โดยใกล้ชิดและต่อเนื่อง
 
พยานหลักฐานอื่นๆ ข้างต้น ล้วนสอดคล้องเป็นลำดับขั้นตอนตามที่จำเลยทั้งสอง ได้ให้การไว้ ทำให้พยานบอกเล่ามีน้ำหนักรับฟังได้ ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมาก็ได้มี การพิพากษาลงโทษจำเลยโดยอาศัยการพิจารณาจากพยานบอกเล่าในหลายคดี (รายละเอียดตาม แนวคำพิพากษาฎีกาที่ส่งมาด้วย)
 
2. การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นคำ พยานซัดทอดถึงจำเลยอื่นที่อ้างว่ากระทำความผิดด้วยกัน เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักให้รับ ฟังน้อยและศาลจะต้องฟังด้วยความระมัดระวังนั้น ศาลอุทธรณ์มิได้พิจารณาหลักฐานประกอบอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ที่ระบุว่า
 
มาตรา 227/1 ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่น อันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความ ระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมี เหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมา สนับสนุน
 
พยานหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่ง หมายถึง พยานหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐาน ประกอบนั้น ทั้งจะต้องมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้พยานหลักฐานอื่น ที่ไปประกอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย
 
จากพยานหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถนำมาพิจารณาประกอบกับคำให้การซัดทอดของ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฏดังนี้
 
2.1      จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองกับคุณเจริญแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ จะอ้างว่าเคยมีเหตุโกรธเคืองจากการที่คุณเจริญกล่าวดูหมิ่นเหยียดหยามตน ก็ มิใช่สาเหตุที่ถึงขั้นจะต้องคิดฆ่ากัน ต่างจากกรณีของจำเลยที่ 3-5 ที่มีเหตุ โกรธเคืองคุณเจริญจากการสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมากจากโครงการ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก และการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธง
 
2.2      จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์พิเศษกับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อยู่ใต้การอุปถัมภ์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในเชิง มีบุญคุณต่อกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยประกันตัวจำเลยที่ 1 ในคดีเกี่ยวกับอาวุธปืนอีกด้วย
 
2.3      จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด จึง ไม่มีเหตุผลที่จะให้การปรักปรำจำเลยที่ 3 ว่าเป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่าคุณเจริญ ซึ่งมี โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
 
2.4      คำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจะมีผลทำให้ จำเลยทั้งสองพ้นจากความผิด ถูกกันไว้เป็นพยาน หรือได้รับประโยชน์อื่นๆ แต่อย่างใด จึงเป็นคำให้การที่มีน้ำหนัก
 
2.5      จำเลยที่ 3 ได้เบิกความปฏิเสธข้อกล่าวหาเพียงลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐาน อื่นที่สามารถนำมาหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้เลยว่า ไม่ได้เป็นผู้ใช้ จ้างวานฆ่าคุณเจริญ
 
ข้อมูลและข้อคิดเห็นข้างต้นนี้ ประมวลจากการเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ชำแหละ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีเจริญ วัดอักษร" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556  ณ ห้อง แอลที 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รายละเอียดดังสิ่งที่ส่งมาด้วย 2) ซึ่งได้มีการ วิเคราะห์ในเชิงวิชาการให้เห็นถึงความบกพร่องของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ อันจะเป็น ประโยชน์อย่างยิ่งต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในการจัดทำคำฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีนี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็น การเสริมสร้างสถาบันตุลาการและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยให้สามารถผดุงไว้ซึ่งความ ยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพื่อสันติสุขของสังคมโดยรวมสืบไป และเพื่อที่จะเป็นหนทางหนึ่งในการ นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองต่อไป
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ด้วยความเคารพอย่างสูง
 
(.................................................................)
กรณ์อุมา พงษ์น้อย
ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“คนรักชาติ” กับ “คนคลั่งชาติ”

Posted: 09 May 2013 07:33 AM PDT

ประเทศของผม เคยประสบความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากว่า ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามจนถึงขณะที่รัฐบาลยอมแพ้ (หลังจากโดนระเบิดปรมาณูสองลูก) ประชาชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่กลายเป็น "คนคลั่งชาติ" (ultra-nationalist) ภายใต้การนำทางการเมืองของทหารและการโฆษณาชวนเชือผ่านสื่อกระแสหลัก เสียงของคนเหล่านี้ก็ดังกลบเสียงของ "คนที่รักชาติ" (patriot) 

ในสมัยนั้น ทั้งนักการเมือง กองทัพและประชาชน (ถูกบังคับ) เชื่อมั่นว่า ประเทศของตนปกครองด้วยลูกหลานของเทวดา ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะแพ้ในการสู้รบ (เพราะฝ่ายรัฐอ้างว่า ประเทศญี่ปุ่นคุมครองโดยบรรดาเทวดา) แต่ผลการสงครามเป็นอย่างไร เป็นที่รู้กันของทุกท่าน 

ที่นี่ ผมขอนำเสนอความเข้าใจส่วนตัวของผมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "คนรักชาติ" กับ "คนคลั่งชาติ" ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีลักษณะภายนอกคล้ายกัน แต่ความจริงแล้วมีลักษณะภายในแตกต่างกันไปทั้งสิ้น ในบริบทนี้ ขอให้ทุกท่านเข้าใจความหมายของคำว่า ชาติ ให้กว้างที่สุด

"คนคลั่งชาติ" เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากประเทศของตนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด (ในโลก) และเมื่อมีคนอื่นมาชี้จุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของประเทศของตน ก็จะโมโหและปฏิเสธทันที (หรืออีกนัยหนึ่ง คนคลั่งชาติไม่ยอมรับความเป็นจริง) ส่วน "คนที่รักชาติ" จะยอมรับจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของประเทศของตน (เพราะนั่นคือความเป็นจริง) และพยายามจะแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องดังกล่าว เพื่อทำให้ประเทศของตนดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ เพื่อทำสิ่งที่ดีเพื่อชาติ "คนคลั่งชาติ" มักจะเคลื่อนไหวตามสูตรสำเร็จรูปที่ฝ่ายรัฐกำหนดให้ และเชื่อมั่นว่า ตัวเองทำสิ่งที่ดีแล้ว เพราะทำตามคำสั่งของรัฐ ส่วน "คนที่รักชาติ" จะค้นคิดและพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่ดีเพื่อชาติคืออะไร และตัวเองต้องทำอะไรเพื่อชาติ เพราะสิ่งที่ดีสำหรับชาติอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของรัฐ และมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และเหตุการณ์ปัจจุบัน ทุกครั้งเพื่อทำสิ่งที่ดี คนที่รักชาติจะใช้สมองก่อนใช้พลังหรือกำลังกาย 

ทางด้านความเชื่อ "คนคลั่งชาติ" เชื่อว่า ความเชื่อที่ถูกต้องมีแต่ความเชื่อที่คนในประเทศของตนนับถือเท่านั้น โดยที่ความเชื่อของชาติอื่นๆ เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ฉะนั้นพวกเขาจะปฏิเสธความเชื่อเหล่านี้และไม่ยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อภายในประเทศของตน ส่วน "คนที่รักชาติ" ถึงแม้ว่าตนมีความเชื่อที่เหนียวแน่น แต่สามารถยอมรับความหลากหลาย เพราะเข้าใจอย่างดีว่า การไม่ยอมรับความเห็นอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อชาติของตน และสิ่งที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาในชาติของตนคือ "ความเข้าใจกัน" ไม่ใช่ "การปฏิเสธกัน" 

ในทำนองเดียวกัน "คนคลั่งชาติ" จะติดตามโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัฐผ่านสื่อ ยึดถือเนื้อหาของมัน (หรือ ถูกชวนเชื่อไปเรื่อยๆ) และค้นหาศัตรูตลอด ทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ ส่วน "คนที่รักชาติ" จะตั้งคำถามต่อโฆษณาชวนเชื่อ และต่อต้านกระแสที่ถูกสร้างขึ้นมา เพราะตระหนักถึงภัยที่เกิดจากโฆษณาชวนเชื่อ และรู้ว่า ศัตรูที่แท้จริงต่อชาติคือโฆษนาชวนเชื่อ 

แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นกับชาติของตน "คนรักชาติ" ยอมเสียสละเพื่อชาติของตน โดยไม่มีความลังเลและไม่หวังค่าตอบแทน เพราะตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองต่อชาติ ส่วน "คนคลั่งชาติ" มักจะกล่าวหาคนที่ไม่ยอมเสียสละเพื่อชาติ แต่ตัวเองอยู่ที่ที่ปลอดภัยโดยไม่มีความเสียสละใดๆ เพราะคนเหล่านี้คิดว่า การกล่าวหานั้นเป็นความเสียสละ 

"คนที่รักชาติ" พยายามจะสร้างมิตรภาพกับประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีปัญหากับประเทศอื่นๆ คนรักชาติจะพยายามแก้ไขโดยอาศัยเหตุผล วิจารณญาณและ ดุลยพินิจ เพื่อให้แนวทางแก้ไขที่ไม่มีฝ่ายใดที่เสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่หาแนวทางแก้ไขแบบ "win-win" (ชนะทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีผู้แพ้) ซึ่งเอื้อต่อการรักษามิตรภาพ ส่วน "คนคลั่งชาติ" เมือเจอปัญหากับประเทศอื่นๆ  จะมีปฏิกริยาทางความรู้สึกมากกว่าเหตุผล และมักจะเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐใช้ความรุนแรง เพราะเชื่อมั่นว่ากองทัพของประเทศตนจะไม่แพ้ในการสู้รบ 

น่าจะชัดเจนแล้วว่า ทำไมเราต้องการ "คนที่รักชาติ" แต่ไม่ต้องการ "คนคลั่งชาติ" เพราะคนรักชาติจะพยายามสร้างชาติให้เข้มแข็ง แต่คนคลั่งชาติจะนำประเทศไปสู่ความเสียหาย 

ปัญหาคือ คนคลั่งชาติเองไม่เคยยอมรับว่า ตัวเองเป็นคนคลั่งชาติ แต่เรียกตัวเองเสมอว่าเป็นคนรักชาติ ความรักต่อชาติ เรียกว่า patriotism ส่วนความคลั่งชาติเรียกว่า ultra-nationalism ซึ่งเป็นความเชื่อสุดโต่งของชาตินิยม (nationalism ซึ่งสำหรับคำนี้ คำแปลที่ถูกต้องที่สุดนั้นไม่ใช่ชาตินิยม แต่ "รัฐนิยม") ถึงแม้ว่าคนคลั่งชาติประกาศตัวเป็นคนรักชาติ ในใจของเขาแทบจะไม่มีความรักต่อชาติ เพราะความคลั่งชาตินั้นเกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัว 

มีข้อแตกต่างที่ชัดเจน คนคลั่งชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการปกครองแบบเผด็จการ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเผด็จการพยายามสร้างความคลั่งชาติ โดยใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ การควบคุมสื่อ การล้างสมอง การจำกัดเสรีภาพ ฯลฯ การศึกษาเพื่อสร้างความคลั่งชาติ ไม่ทำให้เด็กนักเรียนฉลาดขึ้น แต่สอนเยาวชนเพื่อให้เป็นคนที่ไม่คิดหรือคิดไม่เป็น เพราะคนที่คิดเป็นไม่น่าจะนับถือความคลั่งชาติ 

ส่วนความรักต่อชาติเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างประชาสังคมที่แข็งแรงในบรรยากาศประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิด 

เพื่อส่งเสริมความรักต่อชาติ เราต้องทำอะไรบ้าง?

"สื่อ" สามารถทำหน้าที่ได้ในทุกด้าน ถ้าสื่อยอมเป็นเครื่องมือของรัฐ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือในโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความคลั่งชาติ ในทางกลับกัน เมื่อสื่อปฏิบัติหน้าที่ตามหลัก journalism ทีแท้จริง สามารถเป็นกำแพงป้องกันประชาชนจากการภัยโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ 

เช่นเดียวกันกับบรรดา "ครู" สิ่งที่เราควรปลูกฝังในใจของเด็กนักเรียนนักศึกษาคือการมีความรักต่อชาติ การศึกษาไม่ควรเป็นเครื่องมือของการสร้างความคลั่งชาติ (สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น หรือกำลังเกิดขึ้นในประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเผด็จการอื่นๆ) 

ในสุดท้าย ในฐานะเป็น "พ่อแม่" ลองคิดดูว่า เมื่อเราตอบสนองความต้องการของลูกทุกประการโดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้น ลูกจะโตเป็นคนดีหรือไม่ (หรือสำหรับคนที่ยังไม่มีลูกเหมือนผม แทนคำว่า "ลูก" กับ "ลูกศิษย์" หรือ "ลูกน้อง" ก็แล้วกันครับ) ถ้าท่านรักลูกของท่าน จำเป็นต้องห้ามลูกทำสิ่งที่ไม่ดี ถึงแม้ว่าลูกอยากจะทำสิ่งนั้นก็ตาม เช่นเดียวกันกับ "ชาติ" ของเรา "ชาติ" มีความต้องการ แต่ความต้องการบางอย่างของชาติจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาตินั้นเอง ในกรณีเช่นนั้น หน้าที่ของเราคือไม่ให้ชาติของเรากระทำสิ่งนั้น 

โดยสรุป สิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่เคารพนับถือชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำตามทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาติของสั่งให้เราทำ ตรงกันข้าม เราต้องดูแลชาติด้วยความรัก และทำสิ่งที่ดีเพื่ออนาคตของชาติ และห้ามชาติทำสิ่งที่ไม่ดีต่อชาติ ผมคิดว่า นี่คือความหมายของ "ความรักต่อชาติ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาทนายฯ ฟ้องศูนย์รับบุตรบุญธรรมใส่เกียร์ว่าง 'เด็กไร้สัญชาติ'

Posted: 09 May 2013 06:40 AM PDT

สภาทนายความยื่นฟ้องศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อศาลปกครอง เหตุล่าช้าในการดำเนินการขอรับเด็กไร้สัญชาติเป็นบุตรบุญธรรม

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 นายชาติชาย อมรเลิศวัฒนา อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ยื่นฟ้องผู้อำนวยการศูนย์รับบุตรบุญธรรม และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ต่อศาลปกครองกลาง ในกรณีละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ทำให้ไม่สามารถรับเด็กไร้สัญชาติเป็นบุตรบุญธรรมได้ ทั้งที่ยื่นคำขอไปนานกว่า 1 ปี 5 เดือน

นายชาติชาย ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนเปิดเผยว่าทางอนุกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายภาณุพันธ์ บำรุงการ ที่ขอรับนายเขตไท เด็กไร้สัญชาติ บุตรแรงงานข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย เป็นบุตรบุญธรรม โดยได้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานทั้งหมดต่อศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไปตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2554 เป็นเวลานานกว่า 1 ปี 5 เดือน แต่ทางศูนย์ฯ ไม่ดำเนินการใดๆ ด้วยเหตุที่นายเขตไท เป็นเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งหากพิจารณาตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 21(1) บัญญัติว่า "รัฐภาคีซึ่งยอมรับและ/หรือยอมให้มีระบบการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะประกันว่าประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุด ประกอบกับพระราชบัญญัติการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 มาตรา 20 ก็ยืนยันไว้ว่า "ผู้ใดประสงค์จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมให้ยื่นคำขอพร้อมกับหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อผู้ขอรับเป็นบุตรบุญธรรมได้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนแล้ว ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง มิใช่ทิ้งเรื่องไว้เฉยๆ

นายชาติชาย มีความเห็นเพิ่มว่า เจ้าหน้าที่ล่าช้า ควรมีคำสั่งออกมาหลังจากยื่นคำร้องกว่าหนึ่งปีแล้ว ทำให้เรื่องค้างไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ทั้งที่ชัดเจนว่าเด็กเป็นผู้ไม่มีสัญชาติ หรือไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ไม่ได้มีสัญชาติพม่า ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมควรเร่งรัดดำเนินการเรื่องบุตรบุญธรรมให้แก่เด็กเหล่านี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติซึ่งมีผู้พร้อมจะเป็นผู้ปกครองดูแลตามกฎหมาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา: ข้อเสนอปรับเปลี่ยนพิธีแรกนาขวัญในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรยุคต้น

Posted: 09 May 2013 06:36 AM PDT

 

หนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า การฟื้นฟูสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสมัยสฤษดิ์ก็คือการรื้อฟื้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปี 2503 ก่อนหน้านั้น พระราชพิธีดังกล่าวถูกรัฐบาล 2475 จัดการอย่างไร ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก การถกเถียงเมื่อหลายปีก่อนระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และธงชัย วินิจจะกูล ก็มุ่งประเด็นไปที่คำถามว่า มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีอย่างสำคัญในปี 2492 หรือไม่ ในบทความขนาดสั้นชิ้นนี้ สิ่งที่ผู้อ่านจะได้พบก็คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความพยายามเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีแรกนาขวัญให้มีความสอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองของผู้นำไทยรุ่น 2475 ยุคที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่หลวงพิบูลสงครามจะขึ้นสู่อำนาจ

กลางเดือนมีนาคม 2476 ตามปฏิทินเก่า เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าพระราชพิธีแรกนาขวัญประจำปี 2477 ซึ่งตรงกับวันที่ 17 และ 18 เมษายน จะให้ผู้ใดเป็นประธานในพิธี และจะจัด ณ สถานที่ใด[1] ก่อนจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม มีบันทึกของเจ้าหน้าที่เสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวถึงความเห็นของคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้

เรื่องพระราชพิธีแรกนาขวัญนี้ เมื่อครั้งปรึกษาเรื่องพิธีตรียัมปาวายโล้ชิงช้า พ.ศ.2476 คณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรเลิกพิธีโล้ชิงช้าเสีย เพราะเป็นของพ้นสมัย ถ้าจะจัดทำก็ควรให้เป็นหน้าที่เทศบาลจัดทำ และถ้าจะเลิกพิธีโล้ชิงช้าก็ควรเลิกพระราชพิธีแรกนาขวัญเสียด้วย เพราะเป็นพิธีที่เกี่ยวกับการทำนาด้วยกัน แต่เห็นว่ามีข้อที่ควรระลึกว่า พิธีนี้เป็นพิธีเก่าและเกี่ยวกับการทำนา ถ้าเลิกเสียแล้วข้าวเกิดไม่ได้ผลดีในปีนั้น ราษฎรจะครหารัฐบาลได้ จึ่งได้รอเรื่องนี้ไว้ว่าจะพิจารณาในเมื่อถึงเวลาพิจารณาพระราชพิธีแรกนาขวัญ พ.ศ. 2477

เข้าใจว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่บันทึกข้างต้นกล่าวถึงนั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รายงานประชุมคณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งหายไปจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เราทราบจากบันทึกนี้ว่าอย่างช้าที่สุด ประมาณกลางปี 2476 รัฐบาลมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีแรกนาขวัญแล้ว

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีความเห็นต่อวาระของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังว่า จะให้มีพระราชพิธีนี้ต่อไปอีก 1 ปี ส่วนปีต่อๆ ไปจะให้เทศบาลรับผิดชอบ สำหรับการจัดพระราชพิธีในปี 2477 ให้กระทรวงวังเป็นผู้กำหนดสถานที่และผู้เป็นประธานในพิธี และให้ติดต่อประสานงานร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐการ[2]

 

ข้อเสนอของนายทวี บุณยเกตุ

ก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาตกลงในวันที่ 27 มีนาคมให้ทำพิธีแรกนาขวัญต่อไปอีกหนึ่งปีนั้น นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาว่า จะยกเลิก คงไว้ หรือปรับเปลี่ยนพระราชพิธีแรกนาขวัญอย่างไร จาก "บันทึกเรื่องพิธีแรกนาขวัญ" ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี นายทวีเห็นว่ายังไม่ควรยกเลิกพิธีนี้ แม้ว่า "ในสมัยนี้การศึกษาได้เจริญขึ้น เมื่อพูดกันถึงประโยชน์แล้ว การแรกนาขวัญในสมัยนี้ก็ไม่สู้จะมีนัก นอกจากจะถือกันเป็นเคล็ดเท่านั้น" นายทวีเสนอให้รัฐบาลจัดการประกวดกสิกรรม อุตสาหกรรม และหัตถกรรม ควบคู่ไปกับพิธีแรกนาขวัญ ข้อเสนอของนายทวีไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวพระราชพิธีแรกนาขวัญโดยตรง แต่เป็นการเน้นไปที่การประกวดดังกล่าวให้ได้ผลเป็นจริง "การประกวดเช่นว่านี้เราเคยมีกันอยู่เสมอๆ แทบทุกปีแล้ว แต่วิธีการเท่าที่เป็นอยู่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่สู้จะได้ผลนัก" น่าเสียดายที่ไม่พบว่าคณะรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไรต่อข้อเสนอของนายทวี เมื่อขึ้นปีใหม่ คณะรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบร่างกำหนดการพระราชพิธีแรกนาขวัญประจำปี 2477 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง มีการจัดพระราชพิธี 2 วัน วันแรกสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จประกอบพิธีสงฆ์ที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ทรงเจิมพระยาและเทพีแรกนา วันที่สองทำพิธีแรกนาที่ทุ่งพญาไท มีการเสี่ยงทายผ้านุ่ง ขบวนไถ เสี่ยงทายของกินพระโค ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระราชพิธีที่จัดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์[3]

 

ให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา

ต่อมา ในปี 2477 รัฐบาลมีท่าทีจริงจังกับการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีแรกนาขวัญมากขึ้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงให้มีการจัดพิธีขึ้นในทุกจังหวัดแทนการจัดเฉพาะในพระนครเช่นเดิม ที่สำคัญคือ มีการตกลงให้เปลี่ยนแปลงใจกลางของพระราชพิธี

ปรึกษาเรื่องงานพระราชพิธีแรกนาขวัญ

ที่ประชุมตกลงว่า งานพระราชพิธีแรกนาขวัญสำหรับปีต่อๆ ไป ควรให้ทุกๆ จังหวัดทำการแรกนา ผู้ที่จะทำการแรกนาให้เลือกเอาชาวนาผู้ที่ทำนาตามหลักวิทยาศาสตร์ที่กรมเกษตร์วางไว้ในการกสิกรรม และในการนี้ควรมีรางวัลให้แก่ผู้ที่ทำการแรกนาด้วย โดยตั้งเงินรางวัลไว้ในงบประมาณ ให้กระทรวงเศรษฐการรับเรื่องไปดำริต่อไป[4]

ประมาณสองเดือนหลังจากได้รับมอบหมาย พระยาศรยุทธเสนีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ได้จัดทำบันทึก "รูปพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่จะทำทุกจังหวัด" เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในบันทึกดังกล่าว ความแตกต่างสำคัญจากพระราชพิธีสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็คือ การกำหนดให้มีการจัดพิธีแรกนาขวัญขึ้นในทุกจังหวัด ให้ชาวนาเจ้าของข้าวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดของจังหวัดนั้นเป็นผู้แรกนา และ "ควรเชิญภรรยาหรือญาติของผู้แรกนา" เป็นนางเทพี

ในด้านพิธีกรรม บันทึกของกระทรวงเศรษฐการเสนอให้มีพิธี 2 วัน วันแรกมีการสวดมนต์แบบพุทธ การอ่านประกาศเทวดา และการเจิมผู้แรกนาโดยข้าหลวงประจำจังหวัด วันที่ 2 เป็นการแห่และพิธีแรกนา อย่างไรก็ตาม ควบคู่ไปกับการเสนอให้ปรับเปลี่ยนพระราชพิธี บันทึกได้เสนอให้มีการจัดประกวดและแสดงผลผลิตทางการเกษตร การหัตถกรรม และพาณิชยกรรม และเห็นได้ชัดว่าบันทึกให้ความสำคัญกับการจัดประกวดนี้เป็นอย่างมาก เพราะเสนอให้จัดเป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัดเป็นเวลา 3 วัน ให้ตัดสินการประกวดในวันแรกเพื่อคัดเลือกผู้ชนะมาเป็นผู้แรกนา บันทึกได้เสนอขั้นตอนการประกวดอย่างละเอียด ทั้งเกณฑ์การตัดสิน งบประมาณ คณะกรรมการตัดสิน รวมทั้งประวัติข้าวพันธุ์ที่สนับสนุนให้ชาวนานำเข้าประกวด[5]

เมื่อคณะรัฐมนตรีนำบันทึกข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการเข้าพิจารณา ได้ส่งต่อไปให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวังพิจารณาให้ความเห็น (เพราะกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวข้องกับการสั่งการจังหวัด และกระทรวงวังเกี่ยวข้องกับพระราชพิธี) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ในงานพระราชพิธีนี้ควรให้ผู้แทนราษฎรเข้าร่วมด้วย"[6]

ทางกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการ เสนอความเห็นกลับมาในอีกเกือบ 2 สัปดาห์ถัดมา


กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้ว ขอเสนอความเห็นดั่งนี้ คือ

๑. การที่จะจัดให้มีงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีต่อๆ ไปทุกจังหวัดนั้น ดีมาก

๒. ผู้กระทำการแรกนาขวัญ ควรจะเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดนั้น

๓. กำหนดเวลาจำเป็นต้องเลื่อนให้เหมาะกับพื้นภูมิประเทศและเมื่อผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้แรกนาขวัญแล้ว ก็ควรจะมอบให้ไปกระทำการปรึกษาหารือพร้อมกับคณะกรรมการจังหวัด พิจารณาดูว่าจะสมควรกำหนดวันเดือนปีใด

๔. สถานที่แรกนานั้น เมื่อผู้แทนราษฎรเป็นผู้แรกนาแล้ว ก็จะได้ปรึกษาหารือถึงสถานที่แรกนาต่อไปด้วย

๕. การที่ดำริจะให้รางวัลแก่ผู้ที่นำเข้ามาประกวด และได้รับรางวัลเลิศของจังหวัดนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่ง

                                                ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา

                                                หลวงประดิษฐมนูธรรม (ลายเซ็น)

 

ให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา เท่ากับเล่นละครตลก

ทางด้านของกระทรวงวัง เมื่อได้รับหมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ได้นำเรื่องขึ้นกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้ทำหนังสือแจ้งพระดำริมาถึงนายกรัฐมนตรี ดังนี้

                                                               

                                                                วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๗

เรื่อง งานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง เรียน นายกรัฐมนตรี

                หนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ ว.๙๓๖๖/๒๔๗๗ ลงวันที่ ๒๔ มกราคมปีนี้ ได้รับทราบแล้ว เรื่องนี้เนื่องด้วยอยู่ในแบบแผนประเพณีเดิม ข้าพเจ้าจึ่งได้นำความกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อขอประทานพระดำริ ก็โปรดประทานพระดำริอันเป็นหลักของพิธีนี้มาว่า

จะให้ความเห็นในชั้นนี้ได้แต่เพียงรูปการ คือว่าการพระราชพิธีจรดพระนังคัลนั้น หมายความว่าองค์พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหษีเสด็จลงทำนาในต้นฤดูฝน ชักนำราษฎร์ให้ช่วยกันทำกิน ประเพณีอันนี้มีมาช้านานเมื่อนับพระเจ้าแผ่นดินเป็นแต่เพียงพ่อเมืองก็เป็นการกลมเกลียวดี แต่เมื่อมานับพระเจ้าแผ่นดินมีฐานะสูงใหญ่ขึ้น การที่จะเสด็จลงแรกนาด้วยพระองค์เองกับพระมเหสีนั้นก็เป็นการเกินสมควรไป จึ่งได้เปลี่ยนธรรมเนียมเป็นโปรดตั้งผู้แทนพระองค์และแทนพระมเหษีให้ไปทำการแรกนา

ความคิดกระทรวงเศรษฐการก็คือจะประกวดพันธุ์เข้า [ข้าว] ให้รางวัลหาใช่คิดการแรกนาไม่ แต่อยากให้เป็นพิธีรีตองขึ้น จึงคิดเอาพิงเข้ากับพิธีแรกนา แต่ข้า [พ] เจ้าเห็นว่าขวางอยู่ ถ้าหากจะทำอาจทำได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ดั่งจะว่าต่อไปนี้

๑. ถ้าจะทำพิธีแรกนา ควรมีคำสั่งตั้งข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นผู้แทนพระองค์ลงมือแรกนานำราษฎรทุกจังหวัดไป เช่นนั้นพอจะเข้าระบอบได้ ที่จะจัดให้ข้าหลวงประจำจังหวัดว่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งชายชาวนาเป็นพระยาแรกนา ตั้งหญิงชาวนาเป็นนางเทพีนั้น เป็นการเท่ากับเล่นละครตลก

๒. เจตนาของกระทรวงเศรษฐการก็มีอยู่ที่จะตั้งการประกวดพืชน์ผลแสดงการกสิกรรม และจะแห่ผู้ชะนะการประกวดให้เป็นเกียรติยศ อาจแห่เลียบรอบจังหวัดได้โดยไม่ต้องอาศัยพิธีแรกนาเลย

๓. หรือจะทำทั้งสองประการเช่นกล่าวมาแล้วนั้นรวมกันก็ได้ คือข้าหลวงประจำจังหวัดทำการแรกนาและในพิธีแรกนานั้นจัดให้มีการประกวดพืชน์ผลแห่งการกสิกรแจกรางวัลประกอบเข้าด้วย

ส่วนข้ออื่นๆ นั้นไม่เป็นการสำคัญ[7] (สะกดตามต้นฉบับและขีดเส้นใต้ในที่นี้)

 

เหตุใด ข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ จึงเป็นสิ่งที่ "เท่ากับเล่นละครตลก" ในสายพระเนตรของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เห็นได้ชัดจากข้อความตอนต้นของหนังสือ สำหรับพระองค์แล้ว พิธีแรกนาขวัญเป็น พระราชพิธี ที่ดำเนินการโดยกษัตริย์หรือตัวแทนของกษัตริย์ พระองค์ไม่ทรงขัดข้องหากรัฐบาลคิดจะให้มีการจัดพิธีในทุกจังหวัด สิ่งสำคัญสำหรับพระองค์ก็คือ ต้องให้ข้าหลวงประจำจังหวัดในฐานะ ผู้แทนพระองค์ เป็นผู้แรกนา เพราะจะยังทำให้พิธีแรกนาขวัญมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางต่อไปนั่นเอง

เมื่อได้รับทราบพระดำริ ไม่มีการบันทึกไว้ว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไร ที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงเศรษฐการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง[8] แต่บันทึกข้อเสนอของพระยาศรยุทธเสนีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ (แยกตัวมาจากกระทรวงเศรษฐการและยกฐานะเป็นกระทรวง) ที่ส่งกลับมาหลังจากนั้น มีเพียงรายละเอียดของการประกวดผลผลิตทางการเกษตรและหัตถกรรม ซึ่งมีเนื้อหาราวกับคัดลอกบันทึกข้อเสนอเดิมของกระทรวงเศรษฐการ และไม่มีข้อเสนอปรับเปลี่ยนพระราชพิธีแรกนาขวัญแต่อย่างใด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงว่า "งานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นให้คงมีในกรุงเทพฯ ไปอย่างเดิมก่อน ส่วนเรื่องการประกวดพรรณข้าวให้กระทรวงเกษตราธิการกับกระทรวงมหาดไทยไปปรึกษาหารือกัน"[9] พิธีแรกนาขวัญของปี 2478 จึงยังคงมีลักษณะเหมือนกับพระราชพิธีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป[10]

เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ยืนยันความคิดปรับเปลี่ยนพิธีแรกนาขวัญให้ชาวนาเป็นผู้แรกนา แต่กลับยอมตามพระดำริของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2476 ที่เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องพระราชพิธีแรกนาขวัญ จนถึงเดือนเมษายน 2478 ประมาณ 1 ปีสุดท้ายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือช่วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการปิดสภาผู้แทนราษฎร การยึดอำนาจคืนของคณะราษฎร กรณีกบฏบวรเดช พระปกเกล้าเสด็จไปประทับที่ต่างประเทศ จนถึงจุดแตกหักที่การสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม 2477 คณะรัฐมนตรีนำเรื่องพระราชปรารภเกี่ยวกับการสละราชสมบัติเข้าที่ประชุมตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม พยายามเจรจาผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่งผู้แทนไปเฝ้ารัชกาลที่ 7 ที่ประเทศอังกฤษในเดือนธันวาคม  การตัดสินใจพิจารณาข้อเสนอให้ชาวนาเป็นผู้แรกนาและข้อทักท้วงของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 เป็นเวลาที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจ "แตกหัก" กับรัชกาลที่ 7 ไปแล้ว เพราะ 2 วันก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมลับเกี่ยวกับการสละราชย์

 

เรื่องพระราชดำรัสตอบบันทึกอันสุดท้าย

ปรึกษาเรื่องราชเลขานุการในพระองค์ทรงนำส่งโทรเลขของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ส่งที่กรุงลอนดอนวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ เสนอพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอบบันทึกของรัฐบาลอันสุดท้ายสรุปความว่าขอให้รัฐบาลกราบบังคมทูลตอบคำขอให้แน่ชัดว่าข้อใดยอมได้หรือไม่ได้

ที่ประชุมตกลงกันเป็นเอกฉันท์ให้กราบบังคมทูลไปโดยผ่านทางราชเลขานุการในพระองค์ว่า เรื่องนี้รัฐบาลได้กราบบังคมทูลตอบอย่างชัดเจนแล้ว และเมื่อรัฐบาลได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชประสงค์ก็ปรากฏตามรายงานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้วนั้นว่าเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแน่นอนแก่สภาฯ สภาฯ เห็นชอบด้วยแล้วจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันให้ผ่านระเบียบวาระไป เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึ่งไม่มีอะไรที่จะกราบบังคมทูลเพิ่มเติมอีก[11]

 

ในเมื่อรัฐบาลตัดสินใจแตกหักกับทางราชสำนักในประเด็นสละราชสมบัติแล้ว สำหรับกรณีพระราชพิธีแรกนาขวัญจึงไม่น่าจะต้องยอมตามพระดำริของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้คงยังไม่สามารถตอบให้กระจ่างได้จนกว่าจะพบหลักฐานที่แน่ชัดต่อไป

 

พบกับ "พิธีแรกนาขวัญมิใช่เป็นงานพระราชพิธีทางไสยศาสตร์ ไม่เป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน: ข้อเสนอปรับเปลี่ยนพิธีแรกนาขวัญในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรยุคต้น" เร็วๆ นี้




[1]หนังสือเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 มีนาคม 2476

[2]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ 2) ครั้งที่ 31/2476 วันอังคารที่ 27 มีนาคม 2476

[3]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2477 วันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2477 ดูรายละเอียดพระราชพิธีครั้งสุดท้ายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ที่ "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ," ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (15 พฤษภาคม 2475): 542-545.

[4]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 19/2477 (สมัยรัฐบาลวันที่ 22 กันยายน 2477) วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2477 (สะกดตามต้นฉบับและขีดเส้นใต้ในที่นี้)

[5]บันทึกดังกล่าวแนบมากับหนังสือของนายทวี บุณยเกตุ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2476

[6]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 49/2477 (สมัยรัฐบาลวันที่ 22 กันยายน 2477) วันพุธที่ 23 มกราคม 2477

[7]หนังสือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ถึง นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2477

[8]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 64/2477 (สมัยรัฐบาลวันที่ 22 กันยายน 2477) วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2477

[9]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่8/2478 วันพุธที่ 24 เมษายน 2478

[10]ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกำหนดการของกระทรวงวังในการประชุมครั้งที่ 11/2478 วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2478 พิธีมีขึ้นในวันที่ 8-9 พฤษภาคม

[11]รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (ลับ) ครั้งพิเศษที่ 11/2477 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2477

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: คัดค้านศาลธนญชัย

Posted: 09 May 2013 06:22 AM PDT

 

ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา องค์กรอิสระหนึ่งที่เป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายอำมาตย์ในการต่อต้านประชาธิปไตย ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นปัญหามีหลายครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ข้อวินิจฉัยอันแปลกประหลาด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม รักษาอำนาจของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และทำลายขบวนการประชาธิปไตย ดังนั้น ภาพพจน์ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงย่ำแย่ในสายตาของประชาชนคนเสื้อแดงเสมอมา การชุมนุมต่อต้านคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญโดยมวลชนคนเสื้อแดงในระยะสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการสนับสนุน

รากฐานความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญ คือองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอรรถคดีทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญยึดโยงกับวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อมา เมื่อเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 หลังจากการรัฐประหาร ก็ยังคงระบุให้มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ได้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและที่มาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญรับใช้ฝ่ายอำมาตย์ชัดเจนมากขึ้น

องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มี 9 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้ คือ ให้เลือกมาจากศาลฎีกา 3 คน จากศาลปกครองสูงสุด 2 คน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ศาลเป็นคนเลือกอีก 4 คน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาแรกสุดของศาลรัฐธรรมนูญทั้งชุดก็มาจากศาล โดยไม่มีการรองรับจากอำนาจของประชาชนเลย

ต่อมา ในทางปฏิบัติศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการอันไม่ถูกต้องชอบธรรมจำนวนมาก ดังตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เมื่อยังเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามการแต่งตั้งของคณะทหารก็ได้ใช้อำนาจยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคเล็ก 3 พรรค เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2550 และถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการพรรคทั้ง 4 พรรคเป็นเวลา 5 ปี โดยลงโทษแบบเหมาเข่งและใช้โทษย้อนหลัง ซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมสากล

ต่อมา ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2551 เมื่อตั้งขึ้นเป็นศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แล้ว ก็ได้ใช้อำนาจในการวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะจัดรายการโทรทัศน์ชิมไปบ่นไป ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญหาข้อกฎหมายเอาผิดนายสมัครไม่ได้ ก็ใช้พจนานุกรมเป็นหลักในการวินิจฉัย ซึ่งกลายเป็นมลทินอันสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญมาจนถึงปัจจุบัน

วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมา และ พรรคชาติไทย แล้วตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารทั้ง 3 พรรค 5 ปี ในครั้งนี้ ศาลรีบร้อนทำคำวินิจฉัยถึงขนาดใส่ชื่อพรรคที่ถูกยุบสลับกัน ผลจากการวินิจฉัยของศาล ทำให้รัฐบาลของนานสมชาย วงศ์สวัสดิ์สิ้นสภาพ และเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียงข้างน้อยในสภา ได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญ ไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายพันธมิตร และพรรคประชาธิปัตย์

จากนั้น วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยกคำร้องในกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่มีการวินิจฉัยความผิด ศาลรัฐธรรมูญอ้างว้าคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลเกินเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่อาจรับคำร้องมาพิจารณา ซึ่งกรณีนี้แสดงถึงการปกป้องรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน

การปกป้องพรรคประชาธิปัตย์ของศาลรัฐธรรมนูญได้รับการยืนยันจากการที่มีการเผยแพร่คลิปการหารือและต่อรองที่จะช่วยเหลือ ในเรื่องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแสดงให้เห็นการเกี่ยวข้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่าเรื่องนี้ แทนที่ศาลจะสืบสวนหาข้อเท็จจริง กลับไปหาเรื่องเล่นงานคนเผยแพร่คลิป

ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่คือวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้รับคำร้องในกรณีที่มีพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายพันธมิตร และ กลุ่ม สว.สรรหา ได้ยื่นฟ้องว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาที่ผ่านวาระที่ 2 ในขณะนั้นขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพราะ"ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ทำให้รัฐสภาต้องระงับการลงมติในวาระที่ 3 และญัตตินี้ยังคงค้างมาถึงปัจจุบัน กรณีนี้ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก ในกรณีที่ใช้อำนาจเข้าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา ยิ่งกว่านั้น ในมาตรา 68 เองได้ระบุไว้ว่า  ผู้ร้องตามมาตรานี้ ต้องเสนอต่อคณะอัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนเองได้ โดย วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ้างว่า ให้ดูจากคำแปลภาษาอังกฤษจะตีความได้ตามที่ศาลดำเนินการ

ล่าสุดในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องที่นายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา เพื่อให้ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ของรัฐสภา โดยอ้างว่า เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ซึ่งหมายถึงว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถที่จะเข้ามาแทรกแซงการพิจารณากฎหมายของรัฐสภาได้ตามอำเภอใจ กรณีนี้น่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พรรคเพื่อไทยมีมติปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และนำมาซึ่งการที่ประชาชนคนเสื่อแดงตัดสินใจมาชุมนุมต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดงที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญเริ่มต้นในวันที่ 21 เมษายน นำโดยกลุ่มวิทยุชุมชน ที่ชุมนุมท้าทายความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ โดยตั้งข้อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกหรือยุติการทำหน้าที่ การชุมนุมยังคงยืดเยื้อมาอีกหลายวัน และมีประชาชนเข้าร่วมนับหมื่นคน และได้มีการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้ด้วย

ขณะที่เขียนบทความนี้ การชุมนุมของประชาชนยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีการชุมนุมของประชาชนเพื่อต่อต้านศาล บทความนี้ขอจบด้วยบทกวีของยังวัน ชื่อ "ศาลธนญชัย" มีข้อความว่า

มุ่งแต่เอา ชนะ จนละหลัก                   ตีความชัก พจนานุกรม ล้มหลักฐาน

เอาถ้อยอ้าง เอาข้างแถ แท้สันดาน       ล้วนเล่ห์เหลี่ยม วิชามาร ศาลธนญชัย.

 

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 409  วันที่ 4 พฤษภาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาชนประกาศจับตา ‘กู้เงิน 2 ล้านล้าน’ - ‘จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน’ สร้างหนี้สาธารณะ

Posted: 09 May 2013 05:56 AM PDT

เครือข่ายภาคประชาชนเปิดเวทีถกปัญหา พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท – วางระบบการจัดการน้ำ3.5 แสนล้านบาท ชี้สร้างหนี้นโยบายสาธารณะ ทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หวั่นส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ประกาศเดินหน้าเกาะติดโครงการ

 
 
8 พ.ค. 56 เวลา 09.30 น.ที่ ห้องประชุมสถาบันวิจัยและพัฒนา (อาร์ดีไอ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดประชุมเสวนาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จัดโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ชาติ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน สถาบันวิจัยและพัฒนา (อาร์ดีไอ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านภาคอีสาน องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ ประมาณ 80 คน
 
บรรยากาศการเสวนา มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้นระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนา ในประเด็นร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายด้านการจัดการน้ำ โครงการด้านการคมนาคมขนส่ง พร้อมทั้งได้ร่วมกันวางแนวทางในการดำเนินการติดตามด้านนโยบายเงินกู้สาธารณะต่อไปในอนาคต
 
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่รัฐบาลได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินนอกงบประมาณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ได้ผ่านการพิจารณาวาระแรกจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อการวางระบบการจัดการน้ำ งบประมาณดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้นโยบายสาธารณะ แต่มีข้อที่น่าสังเกตหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน
 
 
 

จวกรัฐออกกฎหมาย พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หวังเลี่ยงการตรวจสอบ

 
น.ส.จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเน้นสนับสนุนโครงการด้านการคมนาคม เป็นร่างกฎหมายที่ หลุดจากรัฐธรรมนูญ ม.167และ 168 ว่าด้วยการพิจารณารายจ่ายงบประมาณของแผ่นดิน ซึ่งตาม ม.168 จะมีขั้นตอนระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดกวดขัน โดยต้องมีรายละเอียดด้านงบประมาณ แผนการใช้จ่ายประจำปี หากมีแผนผูกพันงบประมาณก็ต้องมีการรายงานการใช้จ่ายเงินแต่ละปีต่อรัฐสภา และจะต้องมีกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายเงิน อีกทั้งยังจะหลุดจากการโต้แย้งของ สส.ในพื้นที่และหลุดจากการควบคุม
 
สรุปว่าการออกกฎหมายนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ รวมทั้งหลบเลี่ยงกฎหมายหนี้สาธารณะที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้ง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ได้มีการออกระเบียบการใช้โดย รมว.กระทรวงการคลัง ซึ่งออกระเบียบเองและมีอำนาจเบิกจ่ายเอง โดยขาดระเบียบการตรวจสอบ ซึ่งถือว่าขัดหลักนิติธรรมเพราะกฎหมายหนี้สาธารณะก็มีอยู่แล้วแต่เอา รมว.กระทรวงการคลังมาออกระเบียบ ทำให้ฐานะของระเบียบอยู่เหนือกฎหมาย
 
น.ส.จันทิมา กล่าวด้วยว่า หากดูแผนซึ่งแนบมาจะไม่มีรายละเอียดของการใช้งบประมาณ มีแต่ชื่อโครงการ วงเงิน ไม่มีรายละเอียดของแผนงานที่แน่นอน ไม่มีเรื่องรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) หรือการระบุว่าจะเกิดปัญหาด้านเสียง การเวนคืนที่ดินของชาวบ้านหรือด้านอื่นๆ ต่อประชาชน และไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น เช่น เช่นขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ รายละเอียดการดำเนินงาน อันจะเป็นการรับประกันความเสี่ยงในการดำเนินโครงการในอนาคต
 
นอกจากนั้นในรายละเอียดของแผนดังกล่าวยังระบุว่า หากโครงการที่ดำเนินการไม่เสร็จจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งหมายถึงในอนาคตอาจจะเกิดหนี้ที่บานปลายมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มหากดำเนินโครงการไม่เสร็จ
 
น.ส.จันทิมา กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านนี้เป็นวิธีการทุจริตทางนโยบาย ทำโครงการให้หลวม มีการตรวจสอบน้อย ทำให้เกิดการรั่วไหลทางการเงินได้มาก ซึ่งภาคประชาชนและสังคมควรเร่งตรวจสอบอย่างระมัดระวัง
 
ส่วนนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ได้กล่าวเปรียบเทียบถึงงบประมาณ 3.5 แสนล้านและ 2 ล้านล้าน ในขั้นอนุมัติและอนุญาตในการดำเนินโครงการจัดสรรเงินกู้ว่า มีความแตกต่างกันมาก โดยงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทจะเป็นโครงการที่มีขั้นตอนกลับหัวกลับหาง กล่าวคือ ได้มีการหาผู้รับประมูลเสร็จ แล้วหาผู้รับเหมาไว้ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทต่างๆ แล้วหน่วยงานอย่าง กยน.หรือ กบอ.ที่นายปลอดประสพ สุรัสวดีดูแลชงเรื่องเข้า ครม.เพื่อให้อนุมัติโครงการแล้วค่อยมาออกแบบโครงการศึกษาความเหมาะ (SF) ศึกษา EIA และ HIA ตามหลัง
 
ส่วนงบประมาณ 2 ล้านล้านอาจจะดูดีในกระบวนการที่จะเป็นไปตามขั้นตอน แต่หากมาดูรายละเอียดบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.นั้น จะมีแค่ชื่อโครงการและงบประมาณ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะดำเนินโครงการไปตามขั้นตอนปกติได้ จะต้องมีการดำเนินโครงการแบบกลับหัวกลับหางอยู่ดี  ทั้งนี้ คิดว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการของ 3.5 แสนล้านบาทและ 2 ล้านล้านบาท นั้นเป็นการขัดกับ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมและรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
 
 

ชี้รวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการน้ำ เปิดช่องผ่าน EIA ไม่ชอบ

 
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำที่อำนาจการจัดการการรวมศูนย์ไว้ที่นายปลอดประสพ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ว่า โครงการเขื่อนหลายโครงการยังไม่มีการทำ EIA เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน-ยมล่างที่จะส่งผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติ ถือว่ากระบวนการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
 
นายหาญณรงค์  กล่าวด้วยว่า หลายโครงการที่ยังไม่มี EIA ได้มีการสั่งการให้จ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำ EIA ขึ้นมา กระบวนการตรงนี้อย่างไร EIA ก็ผ่าน เนื่องจากนายปลอดประสพเป็นประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่สามารถอนุมัติให้โครงการผ่านได้ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการชงเรื่องเองและอนุมัติโครงการเอง  
 
ส่วนในด้านงบประมาณ 3.5 แสนล้านนั้น นายหาญณรงค์ กล่าวว่าหากมีการเซ็นสัญญากับบริษัทที่ปรึกษาก่อนวันที่ 30 มิ.ย.นี้ บริษัทฯจะมีสิทธิในการเบิกจ่ายได้ 5 เปอร์เซ็นต์ของโครงการ คือประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งตามความเป็นจริงโครงการเขื่อนประมาณ 30 โครงการ หากมีการทำ EIA แล้ว โครงการหนึ่งๆ จะไม่เกิน 20 ล้านบาทรวมแล้วไม่เกิน 60 ล้านบาท แต่ทำไมจะต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณออกมามากถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตและจับตามอง
 
 

แฉที่มา 'เงินกู้ 2 ล้านล้าน' กระบวนการลักไก่โดยที่ไม่ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

 
นายวิทูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวถึงเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่า ส่วนใหญ่คนจะไม่รู้ว่ามาจากไหน ทั้งนี้เงินดังกล่าวได้มาจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructures Fund) ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.เงินกู้จากกองทุนช่วยเหลือ เช่น ไจกา เจบิค 2.เงินที่มาจากการออกพันธบัตร 3.เงินที่มาจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยให้ประชาชนเข้าหุ้นแล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์
 
พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องมีการออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก อะไรเลย แต่จะออก พ.ร.ก.ที่มีผลต่อเนื่องกับ พ.ร.บ.ที่ดินในเรื่องการจำนองทรัพย์สิน มีการออกนโยบายลดหย่อนภาษี ซึ่งรัฐจะมีการกู้จากกองทุนที่มีการระดมทุนแล้วเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยมีบริษัทหรือธนาคารเป็นผู้ดูแลเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเงินตรงนี้จะเป็นแหล่งให้ 2 ล้านล้านเข้าไปกู้ กระบวนการนี้เป็นการลักไก่โดยที่ไม่ต้องมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้ยุ่งยาก
 
นายวิทูรย์ กล่าวด้วยว่า เงินที่เอาไปตั้งกองทุนนี้มีโครงการที่ครอบคลุมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 10 โครงการ เช่น โรงไฟฟ้า การทำแนวสายส่งไฟฟ้า ท่อแก๊ส ฯลฯ กิจการที่อยู่ในลักษณะสัมปทานทั้งหมดและเกี่ยวเนื่องกับการขายให้รัฐ รวมทั้งโครงการที่มาจาก 3.5 แสนล้านก็มาจากนี้ทั้งหมด
 
นายวิทูรย์ ยังกล่าวอีกว่า โครงการเงินกู้ที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นแค่เรื่องน้ำท่วมและเรื่องทางคมนาคม แต่เป็นการทำให้สิ่งที่เป็นนโยบายสาธารณะกลายเป็นการระดมทุนและสร้างงานให้กับธุรกิจได้อย่างไม่มีขีดจำกัดด้านกฎหมาย
 
 

เครือข่ายประชาชนประกาศติดตามงบประมาณหนี้นโยบายสาธารณะ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแลกเปลี่ยนกันในช่วงสุดท้ายของเวทีเสวนา ผู้เข้าร่วมมีข้อคิดเห็นที่ตรงกันในการร่วมกันตรวจสอบโครงการและนโยบายหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการจัดการน้ำที่จะต้องมีการติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นได้ชัดเจนว่าจะเกิดปัญหากระทบกับประชาชนโดยตรงและจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะที่ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมแบกรับหนี้
 
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันของภาคประชาชนและประชาสังคมจะต้องมีการจัดทำข้อมูลและกระจายข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนเครือข่ายต่างๆ ซึ่งจะมีการติดตามปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่องและจัดเวทีอีกครั้งในช่วงต้นเดือนหน้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาก 'โศกนาฏกรรมเคเดอร์' ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพ-ความปลอดภัยในการทำงาน

Posted: 09 May 2013 05:37 AM PDT


ภาพประกอบจาก m4r00n3d (CC BY-NC-ND 2.0)

 

 

10 พฤษภาคม 2536
คือรอยด่างของประวัติศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย


จันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2536 เวลาประมาณ 16.00 น. ที่โรงงานผลิตตุ๊กตาและของเด็กเล่นของ บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ไทยจิว ฟู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อันเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายการผลิตทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน และไทย มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายหลายแห่งทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ทำให้คนงานของ บริษัท เคเดอร์ฯ เสียชีวิต 188 ราย แยกเป็นคนงานชาย 14 ราย และคนงานหญิง 174 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 469 คน นับเป็นอุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมโลก โรงงานแห่งนี้เคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้ว 3 ครั้งก่อนหน้านี้


สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536
จากการสืบสวนสอบสวนของกรมตำรวจพบต้นเพลิงอยู่บริเวณห้องชั้นล่างของอาคารที่ 1  พบร่องรอยที่พื้นปูนมีรอยไหม้เป็นสีน้ำตาล และมีพยานยืนยันว่ามีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ของพนักงานคนหนึ่งในที่เกิดเหตุ ซึ่งต่อมาได้ถูกดำเนินคดีไป


สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก

  1. โครงสร้างเหล็ก เช่น เสาและคานเหล็กรูปพรรณ มิได้มีการออกแบบให้มีวัสดุหุ้มเพื่อป้องกันไฟไว้เลย ทำให้โครงสร้างพังทลายอย่างรวดเร็ว บันได ขนาดกว้าง 1.60 เมตร จำนวน 2 แห่ง ออกแบบไว้สำหรับใช้งานตามปกติเท่านั้น จึงมีขนาดเล็กเกินไปที่จะให้คนงานจากชั้นละประมาณ 500 คนหลบหนีจากอาคารได้ นอกจากนี้ ตำแหน่งของบันไดทั้งสองอยู่ฟากเดียวกันของอาคาร ทำให้คนงานถูกบล็อคด้วยไฟและควันไว้ทั้งหมด  ลักษณะของบันไดที่เป็นห้องโถงมีประตูกระจกกั้นแยกออกจากห้องทำงาน ทำให้ห้องโถงบันไดซึ่งไม่มีระบบอัดอากาศ กลายเป็นปล่องดูดควันและไฟให้ขึ้นชั้นบนอย่างรวดเร็ว
  2.  ประตูทางเข้าออกจากอาคาร มีขนาดกว้าง 1.6 เมตรจำนวน 2 แห่ง ไม่เพียงพอที่จะให้คนงานประมาณ 2,000 คน หลบหนีออกจากอาคารได้ทันท่วงที ไม่มีระบบเตือนภัย ประกอบกับเสียงเย็บจักรทำให้คนงานไม่ทราบเหตุการณ์ จนกว่าจะเห็นควันไฟแล้วเท่านั้น แม้ว่าโรงงานจะติดตั้งท่อฉีดน้ำดับเพลิงไว้ชั้นละ 2 หัว แต่ไม่มีการซักซ้อมหรือเตรียมพร้อม การต่อต้านไฟไหม้จึงไร้ผล ไม่มีแผนหลบหนีภัยและไม่มีการซักซ้อมการหนีไฟ ลักษณะของลิฟท์ส่งของที่มีประตูเป็นชนิดประตูเหล็กยึดทำให้ช่องลิฟท์กลายเป็นปล่องควันไฟ ดึงดูดทั้งควัน และไฟให้ลุกลามข้ามจากชั้นล่างขึ้นชั้นบนเข้าสู่ห้องทำงานทุกๆ ชั้นโดยตรง
  3. ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารมีการกองเก็บวัสดุไว้ข้างๆ ทางเดิน ทำให้ไฟลุกลามจากอาคาร 1 ไปอาคาร 2 และอาคาร 3 อย่างรวดเร็ว ชั้นล่างของโรงงานถูกใช้เป็นโกดังเก็บวัสดุทำให้โรงงานเต็มไปด้วยเชื้อไฟที่ลุกลามต่อเนื่องได้ตลอด แม้กระทั่งลุกลามข้ามระหว่างอาคารได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะของอาคารโรงงานที่ไม่มีกันสาด ทำให้คนงานไม่สามารถปีนหนีออกไปจากห้องเพื่อหลบควันไฟชั่วคราว และรอรับความช่วยเหลือได้ จึงต้องปืนหน้าต่างกระโดดลงไปทันที


คนงานคือเหยื่อของการพัฒนาที่ไม่สมดุลและระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ
กรณีเคเดอร์ไม่ได้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่คนงานไทยต้องตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา แต่หลายทศวรรษของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มิได้คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและละเลยการพัฒนามาตรการด้านสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุล ผลก็คือชีวิตของผู้ใช้แรงงานต้องสังเวยให้กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า


ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

  1. กรณีของเคเดอร์ทุกฝ่ายคือผู้สูญเสีย ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้เช่นนี้เกิดขึ้นอีก แต่ก็ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ยังคงตอกย้ำซ้ำรอยว่าประเทศไทยยังไร้ซึ่งระบบและมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดีพอ เพราะอีกเพียงไม่กี่เดือนถัดมา 157 ชีวิตต้องสังเวยให้กับเหตุการณ์ตึกถล่มที่โรงแรมรอยัลพลาซ่าจังหวัดนครราชสีมา
  2. จากนั้น 11 กรกฎาคม 2540 ก็ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นอีกที่โรงแรมรอยัล จอมเทียน พัทยาทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องตายไปอีก 91 คน 
  3. กรณีเครื่องบินตกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีปลายปี 2542  ซึ่งทำให้เราต้องสูญเสียบุคลากรดีเด่นของประเทศไปหลายท่าน รวมทั้งอาจารย์ธีรนารถ กาญจนอักษร นักวิชาการผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการเรียกร้องและผลักดันให้มีการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
  4. กรณีโรงงานผลิตลำไยกระป๋องที่เชียงใหม่ระเบิดทำให้มีคนตายบาดเจ็บ...
  5. โรงงานเดลต้าถล่ม.....

การล้มป่วยของคนงานด้วยโรคอันเกิดจากการทำงานที่มีจำนวนมากขึ้นและโศกนาฏกรรมหลายครั้งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ฝ่ายต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่าระบบและมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานมีความบกพร่องจำเป็นต้องปรับปรุงขนานใหญ่


อะไรคือความบกพร่องของระบบที่เป็นอยู่?

  1. ระบบที่เป็นอยู่มุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกล่าวคือไปเน้นที่การจ่ายเงินทดแทนเมื่อเกิดปัญหา ไม่ได้เน้นและทุ่มเททรัพยากรไปที่การหามาตรการป้องกันปัญหา
  2. มีลักษณะที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของข้าราชการประจำซึ่งเข้าไม่ถึงปัญหาและมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา
  3. ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์เพียงพอ
  4. มีความซ้ำซ้อน ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดการประสานงานและเกี่ยงกันรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐที่อยู่ต่างกรมต่างกระทรวง
  5. ระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้เอื้อให้ผู้ใช้แรงงานและนายจ้างผู้เป็นเจ้าของปัญหาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
  6. รัฐทำตัวเป็นเจ้าของกองทุน บริหารกองทุนเงินทดแทนอย่างไม่มีประสิทธิผล เข้าใจว่าการทำให้กองทุนใหญ่คือความสำเร็จ แต่ขณะที่คนงานที่ได้รับความเดือดร้อนมักจะไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที หลายกรณีต้องฟ้องร้องใช้เวลานาน
  7. การวินิจฉัยตีความโรคอันเกิดจากการทำงานไม่มีความชัดเจนและไม่ได้มาตรฐานสากล


กำเนิดของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน
คนงานผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงานซึ่งมีจำนวนมากขึ้นได้รวมตัวกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2535 และในที่สุดก็ได้จัดตั้งเป็นสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยในปี 2537 โดยความร่วมมือกับสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พวกเขาได้ต่อสู้และพิสูจน์เพื่อให้มีการยอมรับว่าคนงานป่วยด้วยโรคจากการทำงานจริง เพื่อคนงานเหล่านั้นได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในการรักษาพยาบาลและรับเงินทดแทนและยังเห็นว่าการวินิจฉัยโรคอันเนื่องจากการทำงานเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นการเฉพาะ พวกเขาได้เรียกร้องให้มีการผลิตแพทย์สาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอต่อความจำเป็น และยังเสนอให้มีการจัดตั้งกรมอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้มีการขยายหน่วยงานด้านนี้ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วทุกเขตที่มีโรงงานอุตสาหกรรม


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยฯ ต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของคนงาน
ในส่วนของขบวนการแรงงาน เอ็นจีโอ และนักวิชาการที่ได้ลงไปช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ในปี 2536 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนงานที่กลายเป็นแกนหลักในการเรียกร้องและผลักดันให้มีการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้รัฐประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ


รัฐก็ขยับจะแก้ปัญหาแต่เป็นไปอย่างจำกัด
ในส่วนของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงานซึ่งรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงก็ได้มองเห็นและยอมรับในข้อบกพร่องต่างๆ ที่มีอยู่ และได้มีการดำเนินการหลายประการเพื่อปรับปรุง อาทิ มีการเร่งรัดเจ้าหน้าที่เพิ่มปริมาณการตรวจความปลอดภัยมากขึ้น มีโครงการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพิ่มการจัดฝึกอบรม และออกมาตรการต่างๆ อีกมากมาย

ที่สำคัญก็คือการออกประกาศกระทรวงเรื่องคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในเดือนตุลาคม 2539 ซึ่งได้เปิดโอกาสให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันดูแลและจัดการปัญหาร่วมกัน รวมทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอันเป็นคณะกรรมการระดับชาติขึ้น


ความคิดใหม่ยกเครื่องทั้งระบบโดยตั้งสถาบันอิสระ
หลังเหตุการณ์เคเดอร์ ผู้ใช้แรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปของปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน หลายฝ่ายเห็นพร้องต้องกันว่าจะต้องปฏิรูปใหญ่ระบบการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานในประเทศไทยอย่างจริงจัง มีความพยายามที่จะคิดค้นหารูปแบบขององค์กรที่จะมารับผิดชอบดูแลงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่อย่างจริงจัง มีการศึกษารูปแบบที่ประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทมีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดการศึกษาดูงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของประเทศเยอรมนีซึ่งถือว่ามีพัฒนาการยาวนานที่สุด มีประสิทธิภาพและประหยัดที่สุด สถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งเยอรมนีหรือที่เรียกว่า BG ได้เป็นตัวแบบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดการปฏิรูปความปลอดภัยของขบวนการแรงงาน นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย

จากการศึกษาของฝ่ายต่างๆ ทำให้เกิดข้อสรุปที่ตรงกันประการหนึ่งว่าควรจะมีการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคลขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้

ในขณะที่ฝ่ายผู้ใช้แรงงานที่นำโดยคณะกรรมการรณรงค์ฯ และสภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ ซึ่งเคยมีข้อเสนอที่แตกต่างกันได้หันมาร่วมมือกันเสนอต่อรัฐบาลเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่มีนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันดูแลเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบครบวงจร โดยข้อเสนอนี้ได้ถูกใส่ไว้เป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานต่อรัฐบาลในวันกรรมกรสากลทุกปีนับแต่ปี 2538 เป็นต้นมา จนถึงวันกรรมกรสากลปี 2556 ข้อเรียกร้องของทั้ง 13 สภาองค์การลูกจ้าง และข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจต่างก็มีข้อเสนอนี้ต่อรัฐบาล


เข้าร่วมกับสมัชชาคนจนเสนอจัดตั้งองค์การอิสระ
สภาเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับมอบหมายจากขบวนการแรงงานให้เป็นหัวขบวนในการนำต่อสู้เรียกร้องเพื่อการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในประเทศไทยได้เข้าร่วมกับสมัชชาคนจนเรียกร้องต่อรัฐบาลในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปี 2539 ได้มีการนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาล จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 22 เมษายน และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับไปดำเนินการศึกษา นายเอกพร รักความสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานได้มีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างทำการศึกษาร่วมกัน โดยได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเสนอนี้จะถูกยกร่างโดยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีนายจ้าง ลูกจ้าง ตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ แต่เมื่อมีข้อสรุปออกมาจากคณะกรรมการดังกล่าว กลับปรากฏว่าบางฝ่ายไม่ยอมรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่ยอมรับการบริหารงานแบบใหม่ที่จะเป็นแบบมีส่วนร่วมของ 5 ฝ่าย รัฐไม่ไว้วางใจคนอื่น และเกรงว่าตนจะสูญเสียอำนาจ และที่สำคัญกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีเงินมหาศาลจะหลุดไปจากการกำกับดูแลของตน กระทรวงแรงงานโดยฝ่ายข้าราชการประจำมีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน กระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎหมายความปลอดภัยของตนขึ้นมาซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นการปฏิรูปแบบจำกัด สงวนอำนาจไว้กับราชการต่อไป ให้มีการตั้งสถาบันความปลอดภัยที่มีบทบาทด้านการป้องกันและวิชาการเท่านั้น ฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวตั้งตัวตีในช่วงแรก เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจก็ไม่กล้าที่จะยืนยันในร่างกฎหมายที่มาจากคณะกรรมการร่วม จนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองร่างกฎหมายจากคณะกรรมการร่วมก็เลยถูกโยนลงถังขยะไป

สถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน
ลักษณะสำคัญขององค์กรที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามร่างกฎหมายคือ

  1. เป็นองค์กรอิสระแต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงแรงงาน
  2. มีภารกิจในการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานแบบครบวงจรคือ ป้องกัน รักษาพยาบาล ฟื้นฟู และการทดแทนโดยโอนกองทุนเงินทดแทนมาสู่หน่วยงานใหม่นี้
  3. มีการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 5 ฝ่าย ผู้แทนรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ป่วยจากการทำงานและผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ


การเผชิญหน้ารัฐกับแรงงาน
แม้จะได้ข้อสรุปร่วมกันและมีร่างกฎหมายที่ชัดเจนออกมาแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายรัฐโดยทางกระทรวงแรงงานกลับพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะนำเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยอ้างว่าในชั้นต้นองค์กรอิสระที่จะตั้งขึ้นใหม่ควรทำหน้าที่เฉพาะทางด้านวิชาการและการป้องกันเท่านั้น ไม่ควรโอนกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีเงินจำนวนมหาศาลมาบริหารในทันที อำนาจการตรวจและบังคับใช้กฎหมายควรเป็นของกระทรวง และไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดเรื่องเบญจภาคี

ทำให้ร่างกฎหมายที่ออกมาจากคณะกรรมการยกร่างไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามที่ตกลงกัน ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายผู้ใช้แรงงานกับกระทรวงแรงงาน


รวบรวมลายมือชื่อ50,000 ชื่อเสนอกฎหมายจัดตั้งสถาบันเอง
ฝ่ายผู้ใช้แรงงานซึ่งต้องการผลักดันให้ร่างกฎหมายที่ร่างโดยคณะกรรมการยกร่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ จึงได้หันไปใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 โดยการรวบรวมลายมือชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 50,000 คน เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่สภา แต่แม้จะสามารถรวบรวมลายมือชื่อได้ครบถ้วน 50,000 ชื่อ แต่ก็ไม่สามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาได้เนื่องจากเงื่อนไขของการรวบรวมลายมือชื่อเพื่อการเสนอกฎหมายที่ได้ถูกตราออกมาในภายหลังมีข้อจำกัดมากเสียจนทำให้การรวบรวมลายมือชื่อดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากทางรัฐสภา


นักการเมืองไม่รักษาคำพูด ไม่สนใจความเดือดร้อนของคนงาน
การเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานบ่อยครั้งทำให้ไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องชัดเจน หลายครั้งหลายหนต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี รัฐบาลปัจจุบันที่ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยให้คำมั่นสัญญากับผู้ใช้แรงงานก่อนหน้าการเลือกตั้งว่าเมื่อเข้าเป็นรัฐบาลจะดำเนินการให้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน แต่ผ่านมาสองปีกว่าก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะแต่ท้ายสุดก็เป็นเพียงการซื้อเวลา ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข  ปล่อยให้คนงานต้องมีชีวิตที่เสี่ยงต่อความตายต่อไป


คำถามจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
จะต้องให้ตายอีกกี่ศพรัฐถึงจะยอมรับข้อเสนอของคนงาน?

นับแต่ปี 2544 ขบวนการแรงงานไทยได้รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกาศจะต่อสู้เรียกร้องเพื่อมวลผู้ใช้แรงงานไทย และได้ถือเอาเรื่องการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ เป็นประเด็นปัญหาหลักของการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง

ตราบเท่าที่ยังไม่มีการปฏิรูประบบการดูแลด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างแท้จริง ก็ยังไม่มีอะไรเป็นเครื่องค้ำประกันว่าโศกนาฏกรรมอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับโรงงานเคเดอร์  จะไม่เกิดขึ้นอีก คงไม่มีใครอยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คงไม่มีใครอยากเห็นคนที่เรารักต้องประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า คงไม่มีใครอยากเห็นสินค้าของเราถูกกีดกันด้วยข้ออ้างว่าเรามีระบบความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานสากล และคงไม่มีใครอยากเห็นประเทศไทยถูกประจานด้วยข่าวที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลกกับโศกนาฏกรรมครั้งใหม่

หรือจะต้องให้พี่น้องคนงานของเราต้องตายอีกสักกี่ศพรัฐถึงจะยอมรับฟังและหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
 

คนงานเคเดอร์ต้องไม่ตายเปล่า
มารวมพลังต่อสู้อุทิศแด่ 188 ดวงวิญญาณ

แม้จะมีการร่างกฎหมายซึ่งร่วมกันพิจารณาจากหลายฝ่ายออกมา แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกหักหลังครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ เนื่องจากความไม่จริงใจของฝ่ายรัฐที่กลัวการเปลี่ยนแปลง พวกเขายังคงหวงอำนาจและกองทุนเงินทดแทน ทั้งๆ ที่รู้ว่าระบบที่เป็นอยู่ล้มเหลว ไม่สามารถที่จะคุ้มครองชีวิตผู้คนและอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่เพื่อนคนงานของเราเจ็บป่วยล้มตายกันไปต่อหน้าพวกเขาคนแล้วคนเล่า

ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ที่เพื่อนคนงาน 188 คนของเราต้องเสียชีวิต อีกหลายร้อยคนบาดเจ็บพิการ เราจะมารวมพลังกันอีกครั้ง เพื่อต่อสู้เพื่อให้สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการปรากฏเป็นจริง  เพื่ออุทิศสิ่งนี้ให้กับดวงวิญญาณของเพื่อนเราที่จากไปเมื่อ 20 ปีก่อน

 

 

หมายเหตุ:
ชื่อบทความเดิม: จากโศกนาฏกรรมที่โรงงานเคเดอร์ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บท บ.ก.ฟ้าเดียวกัน: : กระบวนการสันติภาพเพิ่งจะเริ่ม อย่าเพิ่งล้มโต๊ะ

Posted: 09 May 2013 05:30 AM PDT

นับจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ตัวแทนรัฐไทยได้ลงนามใน "ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ"กับ "ผู้คนที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ"เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ "ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย"โดยมีประเทศมาเลเซียทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าวนั้นจนถึงปัจจุบัน (5 พฤษภาคม 2556) ความรุนแรงก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเป็นเหตุให้คนบางกลุ่มเรียกร้องให้ทบทวนหรือยกเลิกกระบวนการพูดคุย-เจรจาด้วยข้ออ้างหลักๆเช่น ยังไม่ถึงเวลาเจรจา, รัฐไทยยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้,มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการน้อยเกินไป, กระบวนการพูดคุย-เจรจาจะเป็นตัวเร่งให้กลุ่มผู้ก่อการใช้ความรุนแรงเพื่อยกระดับการเจรจาเป็นต้น

ฟ้าเดียวกัน เห็นว่าปฏิบัติการทางการทหารของรัฐไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมานับจากเกิดเหตุโจมตีค่ายทหารกองพันพัฒนาที่4จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้ ซ้ำยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งความคับแค้นให้ทบทวีมากขึ้นเพราะปฏิบัติการภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกเปิดช่องให้เกิดการปฏิบัติแบบลัดขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมส่งผลให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายชาวบ้านในพื้นที่ยิ่งรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยเกิดความรู้สึกแปลกแยกต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทยมากขึ้นสภาพการณ์เช่นนี้ทำให้ส่งทหารลงไปเท่าไรก็ไม่พอ เพราะทหารถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

การพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพก็คือการ"เปิดพื้นที่ทางการเมือง" หลังจากที่ใช้"การทหาร" นำมาถึง 9 ปีแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้หากไม่เปิดโอกาสให้กับทางเลือกใหม่ๆในการแก้ปัญหา ก็มีแต่จะต้องฆ่ากันไปเรื่อยๆ

ณ ตอนนี้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น (รัฐไทยยังไม่ยอมใช้คำว่า "เจรจา" ด้วยซ้ำ) เป้าหมายเบื้องต้นคือเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้และทำความเข้าใจความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ จุดยืนเป้าหมายของกันและกัน สร้างบรรยากาศให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันก่อนจะยกระดับไปสู่การเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในอนาคต

การ "เปิดพื้นที่ทางการเมือง" ในแง่หนึ่งก็คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนหลักคิด อุดมการณ์ ความเชื่อความรู้ความเข้าใจของตนเอง อันจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การหาทางออกร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐไทย และฝ่ายขบวนการซึ่งมีบีอาร์เอ็นเป็นตัวแทน ต้องนำความคิด อุดมการณ์เป้าหมายของตนเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนตลอดจนถกเถียงกันด้วยเหตุผลประเมินและปรับเป้าหมายของแต่ละฝ่ายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

ฝ่ายรัฐไทยคงต้องทบทวนแนวคิดเรื่องชาติ เรื่องอำนาจอธิปไตยเสียใหม่แทนที่จะเอาแต่ยืนกรานตามแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบว่า "ไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว" การไม่เสียดินแดน แต่เสียความชอบธรรมในการปกครองพื้นที่ไม่ได้ใจของประชาชนในพื้นที่ จะมีประโยชน์อันใด? นอกจากนี้ยังต้องทบทวนประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมทบทวนแนวคิดเรื่องรัฐเดี่ยวแบบแข็งทื่อ และทำความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเสียใหม่ว่าไม่ใช่ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ

ฝ่ายขบวนการคงต้องออกมาสื่อสารความคิดและจุดยืนของตนต่อสาธารณชนมากขึ้นหลังจากที่อยู่ในเงามืดมานานต้องอธิบายให้สมาชิกและแนวร่วมของตนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า ที่อ้างว่าทำเพื่อปลดปล่อยปาตานีให้เป็น"เอกราช" เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น"รัฐอิสลาม" นั้นมีแผนหรือโครงการอะไรรองรับมีอะไรเป็นหลักประกันว่าถ้าได้เอกราชแล้วชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่จะดีขึ้นมีอิสรภาพและได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น หรือหากได้เอกราชมาแล้วประเทศเล็กๆจะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคโลกาภิวัตน์ จะบริหารจัดการกันอย่างไรมีทรัพยากรและบุคลากรเพียงพอหรือไม่ การเป็นรัฐอิสลามจะแก้ปัญหาที่เป็นเรื่อง "ทางโลกย์" อย่างเรื่องการจัดสรรทรัพยากรการมีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสมได้แค่ไหน อย่างไร เป็นต้น

ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงต้องคุยกันว่าต้องการเอกราชและรัฐอิสลามจริงหรือไม่? ถ้าเป้าหมายจริงๆคืออิสรภาพและความยุติธรรมมีหนทางที่จะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้โดยที่ยังอยู่กับรัฐไทยหรือไม่? คำว่า "รัฐอิสลาม" ที่พูดกันอย่างคลุมเครือนั้นหมายถึงอะไรมีประเทศไหนเป็นแม่แบบไปด้วยกันได้กับหลักสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบประชาธิปไตยหรือไม่ถ้าไม่ได้จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าการปกครองในรัฐใหม่จะนำมาซึ่งอิสรภาพและความยุติธรรมมากกว่าการอยู่กับรัฐไทยนอกจากนี้ชุมชนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องทบทวนบทบาทของตัวเองด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่การเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่กระทำในนามของศาสนานั้นถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ประชาชนไทยทั่วประเทศเช่นเดียวกับฝ่ายรัฐไทย จำเป็นต้องทบทวนแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบตลอดจนความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์รัฐชาติไทยของตนเสียใหม่ (โดยเฉพาะพวกที่รู้สึกตกใจกับการใช้คำว่า"นักล่าอาณานิคมสยาม" ของตัวแทนบีอาร์เอ็นในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านยูทูบเมื่อวันที่28 เมษายน 2556) สิ่งที่เราต้องตระหนักคือปัญหาชายแดนใต้นั้นมีรากเหง้ามาจากอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ฝังลึกในหัวของคนไทยจำนวนมากไม่เพียงแต่รัฐไทยจะรับเอามรดกการปกครองแบบอาณานิคมที่ไม่เคยไว้ใจให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาของตนเองเท่านั้น"ประชาสังคมไทย" ก็ยังรับเอาทัศนะแบบ"เจ้ากรุงเทพฯ" มาผลิตซ้ำผ่านงานวิชาการแบบเรียน วรรณกรรม ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ จนทำให้แนวคิดที่ว่าจะไม่ยอมเสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวกลายเป็นอุดมการณ์หลักของคนในสังคมไทยไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดหรือใส่เสื้อสีไหน

แน่นอนว่าการทบทวนความรู้ความเข้าใจของแต่ละฝ่ายเพื่อหาจุดที่เป็นความเข้าใจร่วมอันจะนำไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนานอย่างแน่นอนขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่จ้องจะล้มโต๊ะการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพอยู่แล้วทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทยและฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นต่างก็มีสายกลาง

(หรือสายประนีประนอม) และสายสุดโต่งอยู่ในฝ่ายของตนเองและเชื่อว่าในตอนนี้สายสุดโต่งของทั้งสองฝ่ายคงยังไม่อยากเจรจาเพราะได้ประโยชน์จากความไม่สงบที่เกิดขึ้น (ที่เห็นได้ชัดคืองบประมาณมหาศาลของกองทัพไทยในแต่ละปี)ตลอดจนกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมายที่ฉวยโอกาสผสมโรงก่อเหตุแล้วโยนความผิดให้ฝ่ายขบวนการ ก็คงอยากจะรักษาสภาพ "รัฐล้มเหลว"ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานนอกกฎหมายของตน

คงเป็นหน้าที่ของผู้มีแนวคิดสายกลางในคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองที่จะต้องหาทางกุมสภาพการนำ(อย่างน้อยก็ในทางความคิด) ให้ได้และต้องมีการสร้างตาข่ายรองรับไม่ให้กระบวนการสันติภาพพังครืนลงง่ายๆโดยขยายฐานการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพไปสู่ระดับประชาชนทั่วไปอย่างน้อยก็ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงรวมไปถึงองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ไม่มีใครบอกได้ว่าจังหวะเวลาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสมในการเริ่มต้นเจรจาอยู่ตรงไหนผู้เข้าร่วมพูดคุยเจรจาเป็น "ตัวจริง"หรือไม่หรือการเจรจาต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงจะเริ่มเห็นผลในแง่ของการลดความรุนแรง แต่จากประสบการณ์ในโลกสมัยใหม่ไม่มีความขัดแย้งทางศาสนา-ชาติพันธุ์ใดที่สามารถยุติลงด้วยสงครามเต็มรูปแบบแทบทุกกรณีจะต้องยุติด้วยการเจรจาไม่ว่าจะเป็นกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่มขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์, รัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร, รัฐบาลอังกฤษกับขบวนการไออาร์เอ ฯลฯ

หนทางสู่สันติภาพยังอีกยาวไกลไม่มีใครตอบได้ว่าการเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพได้จริงหรือไม่และต้องใช้เวลายาวนานเพียงไร แต่ก็นับเป็นพัฒนาการทางบวกที่สำคัญที่ทำให้เรามีความหวังว่าอาจจะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มี "รัฐประหาร 19 กันยา" ในแถลงการณ์ปชป.-ระบุเป็นเพียงทหารแทรกแซง

Posted: 09 May 2013 04:04 AM PDT

แถลงการณ์ ปชป. ระบุปี 53 มีการชุมนุมที่มีกองกำลังติดอาวุธ ก่อการร้ายต่อสู้ จนท. รัฐบาล ปชป. จึงได้นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติด้วยกลไกต่างๆ ภายในขอบเขตกฎหมาย และยุบสภาเพื่อความปรองดอง "จาตุรนต์ ฉายแสง" เขียนบทความโต้ "ประชาธิปัตย์ยังไงก็เป็นประชาธิปัตย์อยู่นั่นแหละ"

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่ "แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ต่อ กรณี "ปาฐกถามองโกเลีย"" เพื่อชี้แจงหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมประชาคมประชาธิปไตย เมื่อ 29 เม.ย. ที่อูลานบาตอ ประเทศมองโกเลีย โดยยืนยันว่าการบริหารราชการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น แก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจ แทรกแซงองค์กรอิสระ ใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชนไม่พอใจและประท้วง ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเผชิญหน้า และได้ตัดสินใจยุบสภา

ในแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปไตยไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้แต่ระบุเป็น "ฝ่ายทหารได้เข้าแทรกแซงในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2549 และแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว" และยืนยันในแถลงการณ์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ได้ให้ความเห็นชอบ

ในแถลงการณกล่าวด้วยว่า ที่นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจาก "สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจำนวนหนึ่งที่เคยสนับสนุนพรรคพลังประชาชน ได้ตัดสินใจลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ส่วนในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์สภาพการเมืองไทยมีการเผชิญหน้าและมีความรุนแรง เนื่องจากแนวทางแก้ว 3 ประการ "พรรค คนเสื้อแดง กองกำลังติดอาวุธ" ของทักษิณ ชินวัตร สำหรับรายละเอียดมีดังนี้

000

แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ 

 
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 ประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยและอุปสรรคต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีประชาชนชาวไทยก็ไม่เคยหมดความหวังและไม่ท้อถอยในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง 
 
ในการกล่าวสุนทรพจน์ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในที่ประชุมประชาคมประชาธิปไตย ณ เมืองอูลัน บาตอ ประเทศมองโกเลีย ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวติติงต่อกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศว่ามีการถดถอยและเสื่อมลง โดยอ้างว่าตัวเธอ พี่ชายของเธอ และครอบครัวของเธอเป็นผู้ปกป้องคุณค่าของประชาธิปไตยและยังกล่าวว่าฝั่งของเธอนั้นเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยกล่าวหาว่ามีกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยดำรงอยู่ภายในประเทศไทย 
 
โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปว่าครอบครัวนายกรัฐมนตรี และโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น ร่ำรวยขึ้นมาจากการได้รับสัมปทานการสื่อสารในอดีตจากรัฐบาลที่นำโดยกลุ่มของทหารจากเหตุการณ์ปฏิวัติในปี   พ.ศ. 2534 ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าสู่เวทีการเมืองและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2544 – 2549 การบริหารราชการแผ่นดินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น เต็มไปด้วยการทุจริต คอร์รัปชั่น มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจ นโยบายการทำสงครามยาเสพติด ซึ่งก่อให้เกิดการฆาตกรรมเกินขอบเขตกฎหมายหรือ "การฆ่าตัดตอน" หลายพันศพ รวมทั้งนโยบาย "กำปั้นเหล็ก" ต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นหลักฐานของการขาดเป็นประชาธิปไตย 
 
วิธีการบริหารบ้านเมืองโดยการใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ถ่วงดุล รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง และพวกพ้อง นำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนจนการประท้วงลุกลามออกสู่ท้องถนน และรัฐบาลในขณะนั้นกลับสนับสนุนให้มีสถานการณ์การเผชิญหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจยุบสภาและในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ฝ่ายทหารได้เข้าแทรกแซงในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2549 และแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว ต่อมาก็มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้ให้ความเห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2550 ในการลงประชามติซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย การเลือกตั้งทั่วไปจึงได้เกิดขึ้น 
 
นายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชนที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สนับสนุนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรีในต้นปีพ.ศ. 2551 จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อต่อสู้ต่อคดีทุจริต และไม่นานก่อนที่จะถึงการตัดสินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราวและมิได้กลับมาสู่ประเทศไทยจนกระทั่งปัจจุบัน โดยศาลได้พิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปีในคดีดังกล่าว 
 
นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่ง จากการกระทำซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และแม้ว่านายสมัคร สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก แต่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณกลับเป็นผู้ที่ได้รับการลงคะแนนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ตลอดมาทั้งนายสมัครและนายสมชายมีความพยายามที่จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถเดินทางกลับสู่ประเทศไทยอย่างพ้นผิด และปราศจากมลทินทุกประการ เรื่องดังกล่าวเป็นชนวนก่อให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนขึ้นอีกครั้ง หลังจากนั้นนายสมชาย ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบในข้อหาทุจริตในการเลือกตั้งและในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจำนวนหนึ่งที่เคยสนับสนุนพรรคพลังประชาชน ได้ตัดสินใจลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2553 โดยในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ สภาพการเมืองไทยมีการเผชิญหน้า และมีความรุนแรง สืบเนื่องมาจากแนวทางแก้ว 3 ประการ ของพ.ต.ท.ทักษิณและกลุ่มผู้สนับสนุน คือ พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และกองกำลังติดอาวุธ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรนั้นก็ได้มีส่วนร่วมในการประท้วงกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาให้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ใช่เป็นไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การชุมนุมได้มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของผู้อื่น และยังมีกองกำลังที่เรียกว่า "ชายชุดดำ" ใช้อาวุธสงคราม เช่น ลูกระเบิด M67 M79 และอาวุธสงครามต่างชนิด แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับถ้อยแถลงของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าการประท้วงในปีพ.ศ. 2553 นั้นเป็นไปเพื่อประชาธิปไตยและเป็นไปในแนวทางของสันติวิธี แต่ควรจะเรียกว่าเป็นการชุมนุมที่มีกองกำลังติดอาวุธ ก่อการร้ายต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติด้วยกลไกต่างๆ ภายในขอบเขตของกฎหมาย 
 
ผู้เสียชีวิต 91 คนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ระบุนั้น มีทั้งข้าราชการ ทหาร และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษากฎหมายและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และผู้ประท้วงหลายคนถูกเข่นฆ่าด้วยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และขณะนี้กระบวนการยุติธรรมของประเทศ ก็ได้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว 
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่เพื่อเป็นการแสดงออกต่อความปรองดอง ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2554 
 
นางสาวยิ่งลักษณ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประเทศไทยมีความเสถียรภาพและมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แต่นางสาวยิ่งลักษณ์กลับทำหน้าที่ด้วยการรับคำสั่งจากพี่ชาย และหลีกเลี่ยงการทำหน้าที่อย่างเช่นการเข้าร่วมการประชุมรัฐสภา นางสาวยิ่งลักษณ์และพ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงดำเนินการอย่างไม่ลดละ ที่จะรวบอำนาจรัฐ และพยายามลดความน่าเชื่อถือขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีกลุ่มมวลชนของรัฐบาลที่เรียกว่ากลุ่มคนเสื้อแดงยังได้มีพฤติกรรมคุกคาม ข่มขู่ องค์กรตุลาการ ภาคประชาชน พรรคการเมือง และสื่อมวลชนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อคุกคามฝ่ายตรงข้าม ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว นางสาวยิ่งลักษณ์จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้กล่าวประนามผู้อื่นว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย 
 
พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดต่อหลักการว่าด้วยเสรีประชาธิปไตย ทั้งชายและหญิงควรจะได้รับความเคารพในสิทธิ การแสดงออกอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีความคิดทางการเมืองในฝ่ายของเสียงข้างมากหรือไม่ก็ตาม 
 
การประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง และการคุกคามต่อองค์กรภาคประชาสังคมและผู้ที่เห็นต่าง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการบ่อนทำลายสิทธิ เสรีภาพทางการเมือง และความหวังของประชาชนชาวไทย โดยที่การตระหนักและการเล็งเห็นการคุกคามต่างๆ ต่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยประชาชนคนไทย และมิตรสหายในประชาคมโลกเท่านั้น เราจึงจะสามารถร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาธิปไตยของประเทศมีความยั่งยืนสืบไป

000

ขณะเดียวกัน ภายหลังการเผยแพร่แถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันนี้ (9 พ.ค.) จาตุรนต์ ฉายแสง ได้เขียนบทความ "แถลงการณ์ที่สูญเปล่า : ประชาธิปัตย์ขนานแท้จริงๆ" โดยระบุว่า "แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ฉบับนี้ไม่น่าจะทำความเสียหายให้เกิดแก่นายกรัฐมนตรีแต่เท่าใด ถ้าจะเกิดความเสียหาย ก็คงจะเป็นความเสียหายต่อประเทศชาติ ซึ่งก็ยังน้อยกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาก่อนหน้านี้มากนัก ผู้ที่เสียหายมากที่สุดจากการออกแถลงการณ์ฉบับนี้น่าจะได้แก่พรรคประชาธิปัตย์และผู้นำพรรคคือคุณอภิสิทธิ์นั่นเอง" (อ่านบทความของจาตุรนต์ ที่นี่)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เครือข่ายครอบครัวฯ' ขอ 3G ปลอดพนัน-กสทช.เผยยังไม่มีแผนคุ้มครองผู้บริโภค

Posted: 09 May 2013 02:22 AM PDT

เครือข่ายครอบครัวรณรงค์หยุดการพนัน ขอ '3 จี' ปราศจากอบายมุข จี้แผนการคุ้มครองผู้บริโภคต้องจัดเต็มชัดเจน กสทช.ประวิทย์ แจงยังไม่มีแผนคุ้มครองผู้บริโภคบริษัทใดผ่านการพิจารณาของบอร์ด


ภาพโดย sampsyo  (CC BY 2.0)

 

นายอิมรอน เชษฐวัฒน์ เครือข่ายครอบครัวรณรงค์หยุดการพนัน กล่าวว่า ขณะที่กระแสสังคมกำลังให้ความสำคัญกับค่าบริการ 3 จี อยู่นี้ ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายครอบครัวรณรงค์หยุดการพนัน ขอให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการป้องกันเด็กและเยาวชนจากข้อมูลที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะเรื่องการพนัน ผ่านการใช้บริการ 3 จี เนื่องจากครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ที่แต่ละบริษัทเพิ่งเริมเปิดให้บริการ จึงควรตั้งเป้าหมายเริ่มต้นเพื่อทำให้ถนนข้อมูลข่าวสารของ เอไอเอส ดีแทคและทรูมูฟ เอช หรือแม้แต่ทีโอที สะอาดและปราศจากการพนัน เพราะแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน เป็นทั้งโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์หรือทำธุรกิจในเรื่องนี้และมีความสามารถที่จะป้องกันได้ รวมถึง กสทช. ผู้กำหนดกติกาจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้อย่างจริงจังและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

"หนทางที่เป็นไปได้คือ แผนการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีมาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสมของผู้ให้บริการ 3 จี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช.นั้น ควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่น มาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม ต่อเด็กและเยาวชน หรือ มาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม กรณีการพนัน ถ้าทำได้จะเป็นสง่าราศีของประเทศ เป็นการประกาศต่อโลกว่าผู้ใหญ่ประเทศนี้ให้ความสำคัญและปกป้องเด็กและเยาวชน ซึ่งธุรกิจและหน่วยงานกำกับควรดำเนินการให้เห็น เพราะเรากำลังพูดถึงเด็กและเยาวชนที่ยังขาดวุฒิภาวะ ไม่เท่าทัน กลยุทธ์การหลอกล่อในรูปแบบต่างๆ" ตัวแทนเครือข่ายครอบครัวรณรงค์หยุดการพนันกล่าว

ด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาการพนันออนไลน์กับการให้บริการ 3 จี ว่า การให้บริการ 3 จี จะทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดข้อความเชิญชวนด้วยข้อความที่เรียกว่า พหุสื่อ มัลติมีเดีย ซึ่งจะทำให้ดูน่าสนใจ และมีการให้บริการคอนเทนต์มากขึ้น ในการให้บริการ 2 จี นั้น บริการหลักคือ เสียงและเอสเอ็มเอส แต่ในการให้บริการ 3 จี นั้น บริการเสริมจะกลายเป็นรายได้หลัก ด้วยลักษณะการส่งข้อความที่เป็นพหุสื่อ มีคลิป มีเพลง หรือแม้แต่การเล่นอินเทอร์แอคทีฟ ดังนั้นจึงพบว่า การพนันทั้งธุรกิจและบ่อนทั้งหลายจึงใช้ช่องทางนี้ เช่น การเปิดบ่อนออนไลน์ ซึ่งเมื่อมีบริการ 3 จี หากมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถเล่นอินเทอร์แอคทีฟได้ ใส่ซิม 3 จี ต่อเน็ต ก็สามารถเล่นบ่อนออนไลน์ที่อาจอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านหรืออยู่คนละทวีปก็ได้

"คนที่เล่นพนันออนไลน์จะไม่นิยมการรับส่งข้อมูลความเร็วต่ำ เพราะหากเกิดภาพสะดุดเพราะสัญญาณช้า คนเล่นจะไม่แน่ใจว่าถูกโกงหรือเปล่า จึงต้องการเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลความเร็วสูง เป็นเหตุให้การให้บริการ 3 จี จะเป็นช่องทางของการพนันออนไลน์มากขึ้นและแพร่หลายมากขึ้น เพราะ 3 จี จะเป็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนทั่วไป รวมถึงเด็กและเยาวชน ขณะที่ในยุคบริการ 2 จี จำนวนคนเล่นเน็ตผ่านมือถือยังอยู่ในวงจำกัด แต่ในยุคนี้การเล่นเน็ตผ่านมือถือจะเป็นมาตรฐานทั่วไปของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่" นายประวิทย์กล่าว

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า บริการ 3 จี จึงทำให้อินเทอร์เน็ตอาจเป็นประตูไปสวรรค์หรือนรก ทางหนึ่งสำหรับผู้ใช้บริการคือ การปรึกษา พูดคุย สิ่งที่พบเห็นหรือสงสัยในโลกออนไลน์กับครอบครัว ผู้ปกครองหรือครูแล้วนำข้อมูลนั้นมาแลกเปลี่ยนหรือเตือนกัน สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลนั้น เนื่องจากปัญหานี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน สิ่งผิดกฎหมาย และกิจการโทรคมนาคม ดังนั้นจึงต้องมีผู้รับผิดชอบหลายฝ่าย คือ กระทรวงไอซีที กรมการปกครอง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กสทช. สำหรับ กสทช.กำกับดูแลผู้ให้บริการ ดังนั้นทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมมือกัน
 
"การเล่นพนันออนไลน์มีการหักเงินและวิธีการหักเงิน หรือรับชำระเงิน หากเป็นการหักผ่านค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ถือว่า ผู้ให้บริการหักเงินที่ผิดกฎหมาย หรือแม้แต่หักผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเงินสด หากเป็นของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กสทช.ก็ต้องเข้าไปดูแล สุดท้ายคือ ผู้ให้บริการข้อมูลหรือ CP ซึ่งเป็นคู่สัญญาของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีส่วนร่วมในการโฆษณาพนันหรือไม่ เช่น การส่งข้อความแจ้งเว็บไซต์การพนัน และตามกฎหมายไทยแม้แต่การโฆษณาก็ถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น ทั้งสามค่ายผู้ให้บริการต้องตรวจสอบพันธมิตรทางธุรกิจว่า มีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนการเล่นการพนันหรือไม่ รวมถึงระงับบริการของผู้ให้บริการที่ไม่ชอบเหล่านี้ไป" กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้แต่ละบริษัทอยู่ระหว่างการเสนอแผนการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้ให้บริการ 3 จี ทั้ง 3 รายจะต้องส่งแผนให้ กสทช.พิจารณาและยังไม่มีบริษัทใดผ่านการพิจารณาจากบอร์ด เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้นำแผนการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับเต็มของบริษัทให้บอร์ดพิจารณา ดังนั้นตอนนี้จึงยังไม่มีของบริษัทใดผ่านการพิจารณาเรื่องแผนการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แต่ละบริษัทควรเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมและตรงต่อปัญหากรณีการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงเอสเอ็มเอสชิงโชค จนไปถึงเรื่องพนันออนไลน์ทั้งหลายด้วย

ด้านนายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาการพนันผ่านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมนั้นเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายแห่ง ดังนั้นเพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาในระยะยาวจึงควรมีการตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาร่วมทั้งกำหนดแนวทางที่แต่ละหน่วยงานควรต้องดำเนินการ


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น