โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ขอคืนพื้นที่ ‘ม.ทักษิณ’ เมื่อสิทธิการทำกินปะทะประโยชน์ทางการศึกษา (?)

Posted: 21 May 2013 11:56 AM PDT

 
กว่า 10 ปี ที่ชาวบ้านพนางตุง จ.พัทลุง ต่อสู้เพื่อขอคืนพื้นที่ทำกิน จนต้องถูกมหาวิทยาลัยทักษิณฟ้องร้องคดีในข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สิน แต่ยังยืนยันที่จะเข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นผืนแผนดินที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า และไม่มีพื้นที่ทำกินอื่น
 
ล่าสุด ชาวบ้านพนางตุง ได้ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ Pmove เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ โดยสิ่งที่ต้องการคือการอนุมัติทำโฉนดชุมชนให้ชาวบ้าน 132 ครัวเรือน และยังคงรอคอยอยู่บริเวณข้างกระทรวงศึกษา
 
กรณีความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมายาวนาน ระหว่าง มหาวิทยาลัยทักษิณ กับชาวบ้านใน ต.พนางตุง สำหรับชาวบ้านปมปัญหาเริ่มต้นมาจากการขอเข้าใช้พื้นที่ของ มหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งแต่เมื่อปี 2538 โดย มหาวิทยาลัยทักษิณระบุวัตถุประสงค์ว่า 'ต้องการทำมหาวิทยาลัยเขต' แต่ต่อมากลับมีการสร้าง 'วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน' ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับชุมชน
 
 
นางเนิม หนูบูรณ์ ชาวบ้านบ้านไสกลิ้ง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ให้ข้อมูลว่า การ ก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ผิดวัตถุประสงค์ที่เคยขอก่อตั้ง ทั้งนี้ชาวบ้านเห็นว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้พื้นที่ 3500 ไร่ ที่ อ.ป่าพยอม ซึ่งมากพอที่จะจัดสรรพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนได้ ชาวบ้านจึงขอคืนพื้นที่ใน ต.พนางตุง จำนวน 1,500 ไร่ เพื่อเอามาทำมาหากิน
 
แต่ มหาวิทยาลัยทักษิณไม่คืน กลับดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนในพื้นที่ ต.พนางตุง โดยขณะนี้ใช้เนื้อที่ไปแล้วประมาณ 200 ไร่ ชาวบ้านจึงเกิดการรวมตัวกันตั้งกลุ่มประท้วง และ ถูก มหาวิทยาลัยทักษิณฟ้องคดี กับชาวบ้านกว่า 24 คน แบ่งเป็น 4 คดี ซึ่งคดีแรกจะมีการตัดสินในวันที่ 6 มิ.ย.นี้
 
000
 
พื้นที่วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เขตพื้นที่พนางตุง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
 
 
1. กลุ่มอาคารสำนักงาน
2. อาศรมภูมิปัญญาศิลปการ
3. อุทยานการเรียนรู้ (TK Park)
4. อาศรมภูมิปัญญาโภชนาการและเวชการ
5. อาศรมภูมิปัญญาสุขภาวะ
6. อาศรมภูมิปัญญาถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคโนโลยชุมชน
7. อาศรมภูมิปัญญาบริหารจัดการชุมชน
8. อาศรมภูมิปัญญาการสร้างพลังงานทดแทน
9. เขตพาณิชยกรรม
10. สนามกีฬา
11. อุทยานประวัติศาสตร์ธรรมชาติ
12. สวนป่าสาธิต
13. เขตที่พักอาจารย์,บุคลากร
14. สัมมนิเวศน์
15. พื้นที่ต่อเติมในอนาคต
16. อ่างเก็บน้ำ
 
 
"ทางมหาวิทยาลัยเราไม่ได้ทำผิดวัตถุประสงค์ เพราะเราเป็นหน่วยงานการศึกษา ทำหน้าที่เรื่องการเรียนการสอน ทำเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม" รศ.ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ให้กล่าวกรณีความขัดแย้งที่มีกับชาวบ้าน
 
รศ.ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยก่อสร้างเฉพาะในพื้นที่จำนวน 635ไร่ ตามมติระดับจังหวัดมอบให้ และไม่ได้มีการขอพื้นที่จากกระทรวงมหาดไทย ในส่วนพื้นที่ที่เหลือแล้วแต่จังหวัดจะดำเนินการ เพราะว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องการเป็นคู่กรณีกับชาวบ้าน เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานกรศึกษา หน่วยงานสาธารณะประโยชน์ และทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องการอะไรเพิ่มเติม
 
ส่วนเรื่องการพูดคุยกับชาวบ้าน ต้องให้ทางจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยมากกว่า เพราะว่ามติจังหวัดผู้มอบพื้นที่ให้มหาวิทยาลัย เพียงแต่ว่าชาวบ้านไม่ยินยอมเท่านั้น
 
การที่ชาวบ้านมาบุกรุกในพื้นที่ 635ไร่ ที่จังหวัดตัดสินมอบให้มหาวิทยาลัยแล้ว โดยตอนนี้มีชาวบ้านเข้ามาปลูกต้นไม้ จึงเป็นเรื่องของจังหวัดที่ต้องช่วยมหาวิทยาลัยดูแล ถ้าชาวบ้านมาบุกรุก มหาวิทยาลัยจะดำเนินการไปแจ้งลงบันทึกประจำวัน เพราะว่ามหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจหน้าที่จะไปจับกุมชาวบ้าน เพียงแต่ไปแจ้งตามระเบียบ
 
"ในส่วนที่ว่าทำไมถึงไม่ไปอยู่ในที่ 3,500ไร่ เนื่องจากพื้นที่พนางตุงมันเป็นพื้นที่ส่วนขยายของมหาวิทยาลัย เราต้องการที่จะขยายโอกาสทางการศึกษา" รศ.ดร.สมเกียรติ กล่าว
 
อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนยังไม่มีนักศึกษาเพราะวิทยาลัย ไม่ได้หมายความว่าจะมีนักศึกษาเพียงอย่างเดียว ต้องอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ตามปรัชญาของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนที่ว่า
 
"สร้างกระบวนทัศน์ในการเรียนรู้ ด้วยภูมิปัญญาชุมชน บูรณาการด้วยองค์ความรู้หลากหลาย เพื่อให้ทุกอนุภาคของวิทยาลัย เป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอันสำคัญ" (คลิกอ่าน: ปรัชญา/นโยบาย วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ)
 
000
 
กลุ่มอาคารปฏิบัติการวิจัยของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จำนวน 15 หลัง ก่อสร้างเมื่อ ปี 2551 ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งสาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ หมู่ที่ 5 และ 6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
 
ทั้งนี่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.55 วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณได้ออกประกาศเรื่องการใช้ที่ดินทุ่งสระสาธารณะประโยชน์ ในส่วนที่เป็นสิทธิของมหาวิทยาลัยทักษิณแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน
 
ประกาศดังกล่าวอ้างอิงถึงการประชุมของคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 มี.ค.51 ซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้มหาวิทยาลัยทักษิณใช้ "ทุ่งสระ" ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เนื้อที่ประมาณ 635 ไร่ ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนสายทะเลน้อย-ลำปำ
 
"มหาวิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้ใช้ที่ดินทำประโยชน์และอนุญาตให้เข้ามาดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ได้เฉพาะราษฎรที่ได้มาทำสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยฯ เท่านั้น หากราษฎรรายใดเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย" ประกาศที่ลงนามโดยผู้บิหารวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณระบุ
 
สำหรับชาวบ้าน ความผิดพลาดของมหาวิทยาลัยทักษิณคือ ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 51 แต่ปล่อยทิ้งร้างไม่ดำเนินการใช้ประโยชน์ กลับไปใช้ที่ดินสาธารณะทุ่งลานโย อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุงเนื้อที่ประมาณ 3,500 ไร่ ในการก่อสร้าง 'มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง' ขณะที่คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุงก็ไม่ได้ยกเลิกมตินี้
 
ชาวบ้านเล่าด้วยว่า เดิมมหาวิทยาลัยทักษิณได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะหัวป่าหวาย 4,000 ไร่ แต่ถูกกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมคัดค้านเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ทางมหาวิทยาลัยทักษิณจึงขอใช้พื้นที่ใหม่ คือที่ดินสาธารณะ 1,500 ไร่ ทางฟากตะวันตกของถนนลำปำ–ทะเลน้อย และได้รับอนุญาตจากสภาตำบลพนางตุงในขณะนั้น ต่อมากระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาคัดค้านห้ามใช้ประโยชน์อีกเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเหลือพื้นที่ 635 ไร่ ในที่ดินสาธารณะทุ่งสระ
 
เรื่องการให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใช้พื้นที่เป็นกรณีที่ถกเถียงกันมายาวนาน ซึ่งในส่วนของชาวบ้านก็มีความพยายามในการเคลื่อนไหวเพื่อถามหาความชัดเจน
 
000
 
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พ.ย.51 ตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนของต่ออนุกรรมการในการจัดการที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุความเดือดร้อนจากการที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้เข้ามาครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งสระ เพื่อก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน
 
ชาวบ้านระบุว่า มหาวิทยาลัยทักษิณขัดขวางไม่ให้เข้าไปประกอบอาชีพ และปักป้ายประกาศห้ามเข้าไปในที่ดิน อีกทั้งยังขุดลอกคลองขึ้นใหม่ ทำให้ชาวบ้านประมาณ 150 ครอบครัว ไม่สามารถสัญจรและเข้าไปประกอบอาชีพการเกษตรและเลี้ยงสัตว์บริเวณดังกล่าวได้เช่นเดิม
 
คูคลองที่มหา'ลัย ขุดลอกขึ้นใหม่ เพื่อกันแนวเขต ทำให้ชาวบ้านขาดน้ำในการทำนา
ภาพโดย: บัณฑิตา อย่างดี
      
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 เม.ย.52 คณะกรรมการสิทธิฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2552 เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยให้มหาวิทยาลัยทักษิณยุติการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ ต.พนางตุง จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ
 
และให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใน ต.พนางตุง เฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณประโยชน์ต่อไป
 
000
 
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอดีตคณะกรรมการสิทธิในขณะนั้น กล่าวว่า ตามที่มีมติจากกรรมการสิทธิฯ เมื่อปี 2552 ยังได้ให้มหาวิทยาลัยทักษิณดำเนินการชดเชยค่าเสียสิทธิประโยชน์ในการประกอบอาชีพในพื้นที่ ตามระยะเวลาที่ไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จริงตามความเหมาะสม ภายใน 60 วัน แต่มหาวิทยาลัยทักษิณ ยังคงดำเนินการก่อสร้างอาคารต่อ และยังมีเรื่องฟ้องร้องคดีกับชาวบ้านในพื้นที่อีก
 
นางสุนี กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ก่อสร้างตึกอกมาเป็นรูปเป็นร่าง เหมือนกับเจ้าของทรัพย์สิน แต่ทาง มหาวิทยาลัยทักษิณ ไม่มีโฉนดในการถือครองที่ดิน มีเพียงหนังสืออนุญาตให้ใช้พื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านรู้ดี
 
สำหรับชาวบ้านต้องการตั้งประเด็นว่า เมื่อรายงานกรรมการสิทธิฯ บอกว่าที่ดินนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณยังไม่ได้ขออนุญาตใช้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย จึงให้ยุติการก่อสร้างไว้ ให้ไปรับฟังความเห็นตามมติ อบต.นี่เป็นข้อเสนอจากกรรมการสิทธิ์ในขณะนั้น
 
"เขาในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ ต้องย้อนกลับไปให้กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติ ว่าเขามีสิทธิ์ขอใช้พื้นที่หรือเปล่า เดิมตอนที่เขาขอใช้พื้นที่ยังเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ตอนนี้เขาออกนอกระบบไปแล้ว อีกอย่าง รายงานกรรมการสิทธิ์บอกว่า เขายังดำเนินการไม่ครบ เขาต้องกลับไปขอใหม่ ซึ่งเขาจะต้องไปผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้น ต้องให้กระทรวงอนุมัติว่าเขามีสิทธิ์หรือไม่ และต้องให้เทศบาลรับผิดชอบเข้าไปทำประชาคมกับชาวบ้าน และมาพิจารณาอีกทีว่า เขามีสิทธิ์ขอใช้พื้นที่ได้เท่าไหร่" นางสุนี กล่าวถึงข้อเสนอในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
000
 
นางเนิมกล่าวว่า เมื่อมหาวิทยาลัยทักษิณ ออกนอกระบบไปแล้วพื้นที่นี้ตกเป็นของมหาวิทยาลัย ทางรัฐไม่มีการเก็บภาษี รัฐก็ไม่ได้อะไร ลูกหลานก็ไม่ได้เรียนในวิทยาลัยเขตตามที่เคยหวัง ถ้าเอาไปแล้วชาวบ้านที่ทำกินเค้าสละกลับไม่ได้ประโยชน์อะไร และยังกระทบที่ทำกินด้วย ชาวบ้านจะไปทำกินกันที่ไหน
 
"ป้ายังมีความหวังว่าจะไม่เสียที่ดินไป เพราะหลายๆ หน่วยงานเขารู้ มีข่าวลงบ้าง ทำให้หน่วยงานต่างๆ รู้ถึงความขัดแย้งของชาวบ้าน เขาคงจะนึกสงสารชาวบ้านเหมือนกัน ในเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้ว มันจะมาเอาที่ทำกินชาวบ้านเปล่าๆ" นางเนิม กล่าว
 
นางเนิม ให้ข้อมูลด้วยว่า การขอคืนพื้นที่ดังกล่าวนั้นชาวบ้านต้องการนำมาทำเป็นโฉนดชุมชน ซึ่งพอเป็นโฉนดชุมชน จะมีการตั้งกติกา มีกรรมการ ในการจัดสรรพื้นที่ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเอกสารสิทธิ์ แต่สิ่งที่ชุมชนต้องการนั้นเพียงเพื่อจะรักษาพื้นที่ไว้ให้ลูกหลาน คนรุ่นหลัง ได้มีที่ทำกิน
 
"เราประชุมตกลงกับชาวบ้านที่ตรงนั้นแล้วว่า ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ไม่ว่า แต่ให้เราได้ทำกินชั่วลูกชั่วหลาน และให้พ้นจากคดี เพราะวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนไม่ได้ขอใช้พื้นที่ ทางกระทรวงมหาดไทยไม่ได้อนุมัติให้ใช้ ส่วนทางกรรมการสิทธิ์ตัดสินให้ภูมิปัญญาไปขอใช้พื้นที่กับเทศบาล แต่เค้าก็ไม่ไปขอใช้"
 
ขณะนี้ นางเนิมและตัวแทนชาวบ้านพนางตุงกำลังรอคอยการแก้ปัญหาในทางนโยบายจากรัฐบาล ในที่ชุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิการทำกินบนผืนแผนดินของเกษตรกร
 
"ป้าสงสัยอยู่อย่างเดียวว่า ในเมื่อเค้าไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่ตรงนี้ แล้วเค้าจะมาฟ้องชาวบ้านข้อหาบุกรุก เค้าฟ้องได้อย่างไร?" คำถามที่ค้างคาใจสำหรับชาวบ้านพนางตุง 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรวิจัยสหรัฐฯ เผยข้อมูลผู้ใช้รถส่วนตัวลดลงหลังเบบี้บูมเมอร์เกษียณ

Posted: 21 May 2013 10:50 AM PDT

องค์กรวิจัยเพื่อสาธารณประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา (US PIRG) สำรวจพบว่ามีการใช้รถยนต์ส่วนตัวลดลงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากปัจจัยเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่นราคาน้ำมัน การอาศัยในตัวเมือง เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ขณะเดียวกันนโยบายของรัฐก็ต้องเอื้อให้กับการคมนาคมในยุคใหม่อย่างการพัฒนาขนส่งมวลชน การใช้จักรยานและทางเท้า

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2013 องค์กรวิจัยเพื่อสาธารณประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา (US PIRG) เปิดเผยว่า กระแสการใช้รถยนต์ส่วนตัวในสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด 60 ปีหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มอยู่ในสภาพคงตัว

โดยในรายงานของ US PIRG ระบุว่าอัตราการใช้รถยนต์ต่อบุคคลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอยู่ในอัตราคงตัว เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เคยเป็นปัจจัยสนับนุนการใช้รถยนต์ เช่น น้ำมันราคาถูก, การขยายตัวของเขตชานเมือง และการเติบโตของตลาดแรงงาน ไม่ได้เป็นจริงอีกต่อไป

US PIRG กล่าวว่า ผู้คนยุคเบบี้บูมเมอร์มักจะอาศัยอยู่ในย่านชานเมืองและขับรถไปทำงาน แต่ในกลุ่มคนยุคใหม่ที่กำลังเติบโตคือกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียล (Millenials) มักจะอาศัยในเมืองและใช้บริการรถสาธารณะมากกว่า

ในรายงานระบุอีกว่าการหันไปใช้วิธีอื่นแทนการขับรถเป็นประโยชน์ในแง่การจราจรที่หนาแน่นน้อยลง และลดการพึ่งพาน้ำมัน แต่ก็ต้องอาศัยนโยบายด้านการคมนาคมใหม่อย่างการเอื้ออำนวยให้เกิดสภาพที่ชาวอเมริกันจะสามารถใช้รถให้น้อยลงได้ เช่นการลงทุนด้านขนส่งมวลชน การใช้จักรยาน และโครงสร้างเมืองที่มีทางเท้า

รัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าในอนาคตสหรัฐฯ มีการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวมาขึ้น โดยมีระยะไมล์ขับขี่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 44 ถึงร้อยละ 67 ในปี 2040 ขณะที่กราฟของ US PIRG แสดงให้เห็นว่าระยะไมล์ขับขี่ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 1946 ที่ 341 พันล้านไมล์ และได้หยุดอยู่ที่ 3 ล้านล้านไมล์ในช่วงปี 2002-2009 ก่อนมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยและคงตัวถึงปี 2013

ยังมีการทำนายด้วยว่า มีความเป็นไปได้สามอย่างคือ กรณีที่การขับรถยนต์ส่วนตัวกลับมาบูม กรณีที่พฤติกรรมการใช้รถยนต์คงตัว และกรณีที่การใช้รถยนต์ปรับตัวลดลง US PIRG ก็กล่าวอีกว่าแม้พวกเขาจะทำนายว่ารถยนต์อาจจะกลับมาบูมแต่ระดับก็ไม่สูงมากเท่าที่รัฐบาลทำนายไว้

ยังมีปัจจัยเสริมด้านอื่นๆ ที่ทำให้การใช้รถยนต์ส่วนตัวลดลง เช่นการที่คนยุคเบบี้บูมเมอร์เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณอายุ ราคาน้ำมันที่เพิ่งสูงขึ้น เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่ทำให้การเดินทางจำเป็นน้อยลง และการอาศัยในตัวเมืองใหญ่ๆ ที่เอื้อต่อการเดินมากกว่า

ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่เน้นสำรวจกลุ่มเยาวชนจากปีช 2001 ถึงปี 2009 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเยาวชนใช้รถยนต์ส่วนตัวลดน้อยลงหนึ่งในสี่ แลขณะเดียวกันก็มีระยะไมล์การเดินทางโดยการขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40

เรียบเรียงจาก

The Age Of The Car In America Is Over, Business Insider, 20-05-2013
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟเตรียมทำ MOU กับรัฐบาล ติดตามความคืบหน้าและข้อเรียกร้อง

Posted: 21 May 2013 08:57 AM PDT

หลังนำข้อเสนอ 4 เรื่องจากผู้ชุมนุมพีมูฟเข้า ครม. วันนี้ ล่าสุดพีมูฟประกาศ รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องแล้ว 1 ข้อคือเรื่องนำร่องธนาคารที่ดิน โดยให้ พอช. ดำเนินการ แต่อีก 3 เรื่องยังไม่มีการพิจารณา โดยเตรียมทำ MOU ร่วมกับรัฐบาลในวันที่ 22 พ.ค. เพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นข้อเรียกร้อง ทั้งเรื่องที่ได้ข้อยุติแล้วและยังไม่ได้ข้อยุติ

ตามที่ตั้งแต่เช้าวันนี้ (21 พ.ค.) ผู้ชุมนุมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟเคลื่อนขบวนจากข้างกระทรวงศึกษาธิการมายังหน้าประตูทำเนียบรัฐบาล เพื่อทำพิธีกรรมตามความเชื่อ ด้วยการสวดมนต์ นั่งสมาธิ และยืนภาวนา ให้คณะรัฐมนตรีมีความจริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหา โดยการนำกรณีปัญหา 4 เรื่อง เข้าพิจารณาในการประชุม ครม.วันนี้นั้น (ข่าวก่อนหน้านี้)

ล่าสุด เมื่อเวลา 16.40 น. ภายหลังจากตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ เข้าไปเจรจากับผู้แทนรัฐบาลในทำเนียบรัฐบาล ได้ขึ้นชี้แจงบนเวทีให้กับพี่น้องในที่ชุมนุม ดังนี้

"หนึ่ง 4 ประเด็นที่ผลักดันให้ที่ประชุมมีมติอนุมัติ ครม.สามารถอนุมัติได้เพียง 1 เรื่อง คือ เรื่องโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน โดยอนุมัติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ ใช้งบประมาณ 167 ล้านบาท ส่วนอีกสามเรื่องยังไม่มีการพิจารณา

สอง ประเด็นเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างอาคารในโครงการบ้านมั่นคง สำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นว่าโครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการของรัฐ สามารถก่อสร้างและให้ทะเบียนบ้านได้เลย โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. เรื่องนี้จึงมีข้อสรุปโดยไม่ต้องเข้าที่ประชุม ครม.แล้ว

ทั้งสองประเด็นความคืบหน้า รวมทั้งความพยายามในการทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ขปส.มีความพอใจในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากยังไม่มีหลักประกันใดๆที่จะยืนยันว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหา 2 กรณีที่มีข้อยุติแล้ว คือ กรณีเขื่อนปากมูล และคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน และรอเข้า ครม. ในวันที่ 28 พ.ค. 56 รวมทั้งเรายังไม่มั่นใจอย่างแท้จริงว่ากลไกการแก้ปัญหาภายใต้คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการจะเดินหน้าไปในทิศทางใด" คำชี้แจงของ ขปส. ระบุ

ขณะที่ในช่วงบ่ายวันนี้ตัวแทน ขปส. ได้เข้าเจรจากับ นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ชี้แจงผลความคืบหน้ากับ ขปส. พร้อมกับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ โดยมีข้อสรุปว่ารัฐบาลจะมีหลักประกันให้ ขปส. ดังนี้คือ

หนึ่ง การจัดทำข้อตกลง MOU ร่วมกันซึ่งจะเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาของ ขปส.ตามข้อเรียกร้องอย่างแน่นอน

สอง จะแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามขึ้นหนึ่งชุด ซึ่งมีองค์ประกอบจากทั้งฝ่ายขปส.และรัฐบาล เพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นข้อเรียกร้อง ทั้งที่ได้ข้อยุติแล้วและยังไม่ได้ข้อยุติ รวมทั้งการทำงานของคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการ โดยทั้งนี้ข้อตกลง MOU ระหว่าง ขปส.และรัฐบาลจะจัดทำขึ้นร่วมกันในวันที่ 22 พ.ค. 56

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รพ.ชุมชน 4 จังหวัดชายแดนใต้เตรียมประท้วงหน้าบ้านนายกฯ 6 มิ.ย.

Posted: 21 May 2013 08:43 AM PDT

ชมรมแพทย์ชนบทใส่เสื้อดำตามขับไล่หมอประดิษฐ ด้านบุคลากรสาธารณสุข 4 จังหวัดชายแดนใต้เตรียมตั้ง รพ.ชุมชนภาคสนาม ปักหลักเปิดบริเวณประชาชนรอบซอยโยธินพัฒนา เพื่อประท้วงนโยบายพีฟอร์พี ด้านเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยเตรียมล้างไตหน้าบ้านนายกฯ จนกว่าระบบสาธารณสุขของรัฐจะปลอดภัย

นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ  ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวโจมตีนโยบายพีฟอร์พีว่า เป็นการเก็บแต้มแลกงาน และปฏิรูปสาธารณสุขที่ผิดทิศ ผิดทาง เอื้อประโยชน์ธุรกิจเอกชน สร้างความแตกแยกในวิชาชีพสาธารณสุขทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ใช้เงินกองทุน สปสช.ผิดกฎหมาย แอบสั่งเปลี่ยนเส้นทางเงินสนับสนุน รพ. 75 ล้านบาทเข้าสาธารณสุข ทำลายและเตรียมแปรรูปองค์การเภสัชกรรม เอาใจบริษัทยาข้ามชาติ ทำร้ายประชาชนในชนบท ทำลายระบบสาธารณสุขของรัฐ ของผู้มีอำนาจทางการเมือง ที่ไร้จรรยาบรรณ ขาดวุฒิภาวะ ทำให้ขณะนี้ทุกภาคส่วนที่ไม่เอา นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข ได้จับมือเป็นเอกภาพ และมีนัดวันที่ 6 มิ.ย.นี้ รพ.ชุมชนทุกจังหวัดพร้อมทยอยเข้ากรุงเทพฯ เตรียมจัดเวรตั้ง รพ.ชุมชนภาคสนามวันละสิบแห่งเปิดบริการประชาชนรอบบ้านนายกรัฐมนตรี

"หากยืดเยื้อทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมจะช่วยเตรียมเสบียง และจะขอสหภาพฯ การประปา และการไฟฟ้าช่วยเรื่องน้ำและไฟฟ้า  เพราะจะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย  ผู้ป่วยโรคหัวใจ มะเร็ง  และผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเอื้อ รพ.เอกชนและบริษัทยาข้ามชาติ ยอมเสี่ยงตายเข้าร่วมด้วยจนกว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหา ย้าย รมว.ที่ไร้วุฒิภาวะออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข" ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

ด้าน นพ.รอซารี ปัตยะบุตร ผอ.รพ.รามัน  จังหวัดยะลา กล่าวว่า ขณะนี้เครือข่าย รพ.ชุมชน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมแล้วและได้ประสานกับแกนนำทุกภาค ทุกจังหวัดจัดเตรียมกำลังคน เสบียง ยา เวชภัณฑ์  และวันที่ 6 มิ.ย.นี้ขออาสาเป็นทัพหน้าเข้ากรุงเทพฯ ชุมนุมหน้าบ้านนายกยิ่งลักษณ์  เพื่อให้นายกฯ และพรรคเพื่อไทยเห็นว่านโยบายที่ผิดทิศ ผิดทางของ รมว.สาธารณสุข ที่ดึงหมอ พยาบาลจากชนบทให้เข้าเมือง เอื้อธุรกิจเอกชน ผู้ป่วยในชนบท คนยาก คนจนจะเดือดร้อน รพ.ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะขาดหมอ พยาบาล ถ้านายกฯไม่ย้าย นพ.ประดิษฐ ออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข

"พวกเรารับราชการเป็นหมอชนบท อยู่ในพื้นที่กับประชาชนมานับสิบปี รู้ระเบียบ รู้ปัญหา ไม่ต้องขู่ การเข้ากรุงเทพฯไล่รัฐมนตรี ครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน ชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจและให้การสนับสนุน จะไม่แอบสั่งการที่ทุจริตเชิงนโยบาย ทำผิดกฎหมายเหมือนไอ้โม่งแอบทำแต่ไม่ยอมรับ" ผู้ประสาน รพ.ชุมชน 4 จังหวัดชายแดนใต้ กล่าว

นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ผู้อำนวยการ รพ.50 พรรษาวชิราลงกรณ์ จังหวัดอุบลราชธานี รองประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.ชุมชน กล่าวว่า ในวันที่ 27 พค. 2556 นี้ทราบว่า นพ.ประดิษฐ รมว.สาธารณสุข จะมาแถลงนโยบายพีฟอร์พี ในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง ทางเครือข่าย รพ.ชุมชนภาคอีสานตอนล่างจะรวมตัวกันแต่งดำไปคัดค้านเหมือนที่หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น และจะหารือร่วมกันกับแกนนำอีสานทุกจังหวัดในการเตรียมตัวไปบ้านนายกฯ เพื่อขอให้ปลด นายประดิษฐ ออกจากกระทรวงสาธารณสุข

นายสหรัฐ ศราภัยวานิช ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีอยู่กว่า 40,000 คนทั่วประเทศเตรียมพร้อมทยอยเข้ากรุงเทพฯสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบท กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจฯ เพราะมีผู้สั่งทำลายองค์การเภสัชกรรม และออกนโยบายให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล จะทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเดือดร้อนหนักเหมือนในอดีต  

"ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ จะมีผู้ป่วยในกรุงเทพฯ กว่าห้าสิบคนประกาศพร้อมเสี่ยงตายทำการล้างไตที่หน้าบ้านท่านนายกฯ และจะเพิ่มขึ้นวันละ 10 ราย เพื่อให้นายกยิ่งลักษณ์ลงมาแก้ไขปัญหา ย้าย รมว.สาธารณสุข และเลิกนโยบายทำลายระบบสาธารณสุขของรัฐ เอื้อธุรกิจเอกชน เอาใจบริษัทยาข้ามชาติ ถ้ายืดยื้อ ผู้ป่วยโรคไตวายทุกจังหวัดจะยอมเสี่ยงตาย เดินทางเข้ากรุงเทพฯ " ประธานชมรมเพื่อนโรคไตกล่าว

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เป็นไปดังคาดเมื่อระบบหลักประกันสุขภาพของไทยกำลังถูกคุกคามด้วยนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการคุกคามหมอและบุคลากรในชนบท  วันที่ 6 มิ.ย. นี้ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะเข้าร่วมชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ เพื่อให้มีการปลด รมว.สธ. นพ.ประดิษฐ์  ออกจากตำแหน่ง  ก่อนจะทำลายระบบมากไปกว่านี้  ทั้งการแอบสั่งการสอดไส้นำเข้าวาระบอร์ด สปสช.ที่จะบังคับให้ผู้ป่วยต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล  การสนับสนุนเมดิคัลฮับ การปลด ผอ.องค์การเภสัช ที่ส่งผลเอื้อให้ธุรกิจเอกชน บริษัทยาข้ามชาติ ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยรัฐบาลก็จะดูแลไปแบบผู้ยากไร้ จะมีหมอไม่มีหมอในชนบทก็ไม่สนใจ ดังนั้น ประชาชนไม่ใช่ตัวประกันในเรื่องสุขภาพ เราเห็นใจหมอชนบทจึงพร้อมร่วมชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นครบาลมีมติออกหมายเรียก ชัย ราชวัตร รับทราบข้อหาหมิ่นนายกฯ 5 มิ.ย.นี้

Posted: 21 May 2013 08:13 AM PDT

(21 พ.ค.56) เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน รองผบก.น.1 และพนักงานสอบสวนสน.ดุสิต ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ นายสมชัย กตัญญุตานันท์ หรือ ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองชื่อดัง ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านทางเฟสบุ๊กส่วนตัว ที่สน.ดุสิต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

พล.ต.ต.อนุชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเพื่อรับทราบความคืบหน้าจากกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีมอบอำนาจให้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ในฐานะทีมทนายความ เดินทางมาแจ้งความดำเนินคดีเจ้าของนามปากและของเฟซบุ๊กชื่อ ชัย ราชวัตร ข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่ และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 2550 กรณีที่นำภาพลงเฟซบุ๊กปาฐกถาเรื่องประชาธิปไตยเวทีประชาคมประชาธิปไตย ที่ประเทศมองโกเลีย โดยใช้ข้อความให้นายกรัฐมนตรีเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง ทางพ.ต.อ.สุคุณ ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนได้รายงานความคืบหน้า รวมทั้งประเด็นต่างๆ ที่ได้สั่งการและสอบสวนไป

พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวอีกว่า คณะพนักงานสอบสวนได้รายงานมา โดยมีความเห็นสอดคล้องกันว่า คดีมีมูลที่จะออกหมายเรียกนายสมชัยได้ ส่วนการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดทุกข้อหาเลยหรือไม่ ตอนนี้บอกได้เพียงว่า คดีมีมูลเท่านั้น ซึ่งการสอบสวนขณะนี้ ทางพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนได้ระยะหนึ่งแล้ว ทั้งเรื่องการสอบสวนพยาน นักภาษาศาสตร์ นักกฎหมาย นักวิชาการ และบุคลต่างสาขาอาชีพ มีความเห็นค่อนข้างที่จะสอดคล้องกันว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่เป็นการใส่ความทำให้นายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหาย คดีมีมูลพอที่จะเรียกตัวผู้ก่อเกตุมาแจ้งข้อกล่าวหาได้ ทั้งนี้ จะเรียกนายสมชัย มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 5 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมบก.น.1 ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปปช.โต้ทักษิณหลังโฟนอินกล่าวหาว่าถูกเรียก 600 ล้านหลุดคดีซุกหุ้น

Posted: 21 May 2013 08:08 AM PDT

ปปช. ออกเอกสารทางเว็บไซต์ โต้ทักษิณกรณีถูกกล่าวหา คนใน ปปช.เรียกเงิน 600 ล้านบาทแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีซุกหุ้น ระบุทักษิณขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นนายกฯ แต่กลับไม่ดำเนินคดีกับบุคคลที่เรียกรับเงิน โดยเรียกร้องให้ทักษิณไปหาทนายมาแจ้งความเอาผิดกับบุคคลดังกล่าว เพราะหากนิ่งเฉยไม่ดำเนินคดี ทักษิณจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157

วันนี้ (21 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ออกเอกสารโต้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทางเว็บไซต์ กรณีถูกกล่าวหาว่ามีคนใน ปปช.เรียกเงิน 600 ล้านบาทแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีซุกหุ้น

ข้อความในเอกสารของ ปปช.ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์มายังเวทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ในงานรำลึกเหตุการณ์ 3 ปีการสลายการชุมนุม ในตอนค่ำของวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อความที่กล่าวถึง ปปช.ว่า "ในปี 2542 ได้เคยมีคนของสำนักงาน ปปช.ชื่อนายแอ๊บ ยื่นข้อเสนอขอเงิน 600 ล้านบาท กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีซุกหุ้น ในช่วงก่อนการเลือกตั้งสมัยแรกของตน พรรคไทยรักไทย แต่ตนได้ตอบปฏิเสธไป"

เอกสารดังกล่าวระบุต่อไปว่า "ข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและเสียหายอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. และกระทบต่อความรู้สึกของบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. ตลอดเวลา" และยืนยันว่าบุคลากรของ ปปช."ปฏิบัติงานโดยปราศจากแรงกดดันจากทุกฝ่าย และทำงานบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงตามกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้ข้อมูลพยานหลักฐานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย"

ในตอนท้ายของเอกสาร ปปช.ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย แต่ไม่ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวในข้อหาเจ้าพนักงานทุจริตตามมาตรา 149 และ 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจนถึงปัจจุบันเรื่องนี้ยังไม่หมดอายุความ จึงเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยข้อมูลให้กระจ่างแจ้งต่อสาธารณชน และขอให้ทนายแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อเอาผิดกับบุคคลที่เรียกรับเงิน หากนิ่งเฉยไม่ดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด กสท.ปัดตกข้อเสนอ อนุ กก.ส่งเสริมการแข่งขัน ไม่แก้เกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล

Posted: 21 May 2013 08:00 AM PDT

บอร์ด กสท.ไม่สน 5 ข้อเสนอแก้ไขร่างประกาศหลักเณฑ์การประมูลทีวีดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจ ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ แจงโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีวัตถุประสงค์หารายได้สูงสุดจากการประมูล


สืบเนื่องจากที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมี ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นประธาน เสนอข้อสังเกตในการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. .... เนื่องจากเกรงว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมามีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ชอบธรรมทั้งในขั้นตอนการดำเนินการ และอาจมีข้อกำหนดที่ขัดต่อหลักการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม (อ่านที่นี่)

วันนี้ (20 พ.ค. 56) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม กสท.ได้พิจารณาความเห็นของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการแข่งขันฯ ดังนี้ 
 

ประเด็นแรก การนำเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (คณะอนุกรรมการ DSO) เพื่อพิจารณาให้ความเห็น อาจส่งผลกระทบในประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เนื่องจากมีผู้ประกอบการโทรทัศน์ช่องหลักหลายช่องร่วมอยู่ในคณะ นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะอนุกรรมการ DSO ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 45 คน ได้แก่ กสท.ทั้ง 5 คน โดยมีประธาน กสท. เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 8 กระทรวง จำนวน 8 คน ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา กสท. นักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) จำนวน 17 คน ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และผู้แทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จำนวน 2 คน ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีอนาล็อกทุกช่อง จำนวน 6 คน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 1 คน ฝ่ายเลขานุการจากกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องของสำนักงาน กสทช. จำนวน 6 คน โดยคณะอนุกรรมการ DSO มีหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้ สำนักงาน กสทช. พิจารณาก่อนเสนอ กสท. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศใดๆ 

และกระบวนการร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประมูลในกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ยกร่างโดยสำนักงาน กสทช. โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลทางอิเล็กทรอนิคส์จากกรมบัญชีกลางให้ความเห็นและคำปรึกษา รวมทั้งใช้แนวทางการยกร่างโดยอิงหลักการ Best Practice ของการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ มาปรับให้เหมาะสมกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ส่วนการนำเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการ DSO ก็เพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้นในลักษณะ Focus Group ให้เกิดความรอบคอบก่อนนำเสนอต่อ กสท. มีมติรับรองก่อนนำไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป หลังจากการรับฟังความคิดเห็น สำนักงานเป็นคนนำ (ร่าง) มาพิจารณาปรับปรุง เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำเสนอต่อ กสท. และ กสทช. พิจารณาตามลำดับ  โดยไม่มีการนำเสนอร่างแก้ไขต่อคณะอนุกรรมการฯ  ดังนั้นอนุกรรมการฯ จะมีโอกาสเห็นร่างกติกาที่ผ่านการรับรองจาก กสทช. พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมด ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ประเด็นที่ 2 การวางหลักประกันการประมูล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่เชื่อถือได้มีโอกาสเข้าร่วมการประมูลโดยไม่ติดขัดในการต้องเร่งหาเงินสดหรือออกเช็คมาวางเป็นหลักประกัน ที่มีการเสนอให้เพิ่มเติมการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 (Bank Guarantee) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางหลักประกัน นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า การวางหลักประกันการประมูลด้วยเงินสด หรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่าย เป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 (คณะกรรมการ กสทช. ได้ให้ความเห็นชอบ และอยู่ระหว่างลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา)  ซึ่งเป็น General Rule ของการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ 

ทั้งนี้ การวางหลักประกันการประมูลด้วยเงินสด หรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่าย นั้น วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการทำผิดกฎกติกาการประมูล หรือ การสมยอมในการประมูล อันอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายในประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กสท. สามารถยึดหลักประกันดังกล่าวเพื่อนำมาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่ กสท.จำเป็นต้องยกเลิกการประมูลและต้องมีการเริ่มต้นกระบวนการประมูลใหม่ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ทันที  ในขณะที่กรณีการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบยืนยันการค้ำประกันกับผู้ค้ำประกัน และเมื่อผู้เข้าร่วมการประมูลกระทำผิด สำนักงานฯ อาจจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกระบวนการเพื่อให้บังคับคดีให้มีการชำระเงินหลักประกันดังกล่าว

นอกจากนั้น จากการตรวจสอบ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็มิได้มีการกำหนดวิธีการวางหลักประกันไว้  โดยให้แต่ละหน่วยงานกำหนดตามความเหมาะสมใน TOR และประกาศเชิญชวนของการประมูลแต่ละคราว  และในกรณีการประมูล 3G ที่ผ่านมา ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ข้อ 9.4 ระบุให้วางหลักประกันการประมูลเป็นเช็คที่ธนาคารสั่งจ่ายสำนักงาน

ประเด็นที่ 3 ประเด็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือเลือกปฏิบัติในภายหลัง เนื่องจากการที่ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้ให้บริการโทรทัศน์ (ช่องรายการ) เป็นรายเดียวกันสามารถส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) อาจนำไปสู่การผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ในภายหลัง  จึงมีการเสนอให้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยให้มีร่างหลักเกณฑ์การเลือกใช้โครงข่ายโทรทัศน์ของผู้ให้บริการช่องรายการ เพื่อเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า กติกาการประมูล เป็นวิธีการเพื่อที่จะนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจ ในขณะที่การออกใบอนุญาต Multiplexer Operator สำหรับให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เป็นไปตามประกาศ กสทช. ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตโครงข่ายฯ ซึ่งมิได้มีการกำหนดห้ามการที่ผู้ประกอบกิจการโครงข่าย จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ด้วย

นอกจากนี้ เงื่อนไขใบอนุญาตโครงข่ายที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตโครงข่ายฯ พ.ศ. 2555 ก็ได้กำหนดไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายต้องให้บริการโครงข่ายฯ แก่ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันผู้รับใบอนุญาตรายอื่น กรณีที่โครงข่ายไม่สามารถรองรับได้ผู้รับใบอนุญาตต้องชี้แจงเหตุแห่งการปฏิเสธให้ กสท. พิจารณา นอกจากนั้น ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า  และจะต้องไม่กระทำการที่คณะกรรมการเห็นว่า มีวัตถุประสงค์ หรือมีผลกระทบ หรืออาจมีผลกระทบต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดอย่างมีนัยสำคัญสำหรับโครงข่าย  สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการกิจการกระจานเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต และทั้งนี้ การเลือกใช้บริการโครงข่ายฯ ของผู้ชนะการประมูลเป็นไปตามกลไกการตลาด กติกาการประมูลเพียงกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลต้องการใช้บริการจากผู้ให้บริการรายเดียวกัน แต่ผู้ให้บริการมีขีดความสามารถให้บริการไม่เพียงพอเท่านั้น

ประเด็นที่ 4 ประเด็นหลักการประมูลของที่มีลักษณะทดแทนกันได้ โดยกำหนดให้มีการเรียงลำดับการประมูลแยกตามหมวดหมู่ประเภทช่องรายการนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดลำดับการประมูล โดยเสนอความเห็นว่า ลำดับที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการประมูลนั้น ควรเรียงโดยอาศัยข้อมูลความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล หรือเรียงลำดับตามมูลค่า หรือราคาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประมูล ในที่นี้เมื่อไม่มีข้อมูลการประมาณการที่ชัดเจน จึงเสนอให้นำราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับ เนื่องจากราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่กำหนดขึ้นจากการประเมินมูลค่าและความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรเห็นควรให้เรียงลำดับการประมูลจากราคาที่สูงสุดไปหาต่ำสุดคือเริ่มจาก Variety HD, Variety SD, ข่าวสารสาระ แล้วจบลงที่หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในส่วนของ (ร่าง) ประกาศฯ ยังไม่ได้กำหนดลำดับการประมูล เป็นเพียงกำหนดให้แยกการประมูลเป็นหมวดหมู่การให้บริการเท่านั้น ส่วนลำดับการประมูลก่อนหลัง ระบุให้มีการกำหนดอีกครั้งตามหนังสือเชิญชวนของสำนักงานฯ

ประเด็นที่ 5 ประเด็นหลักการโดยทั่วไปการประมูลที่เน้นประสิทธิภาพในการแข่งขันจะไม่กำหนดระยะเวลาตายตัวว่าควรจบลงภายในระยะเวลาเท่าใด แต่จะกำหนดให้หยุดลงเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด  ที่มีการเสนอให้ เพิ่มเติมเงื่อนไขการสิ้นสุดการประมูลเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มภายในห้านาทีนับแต่การเสนอเพิ่มราคาครั้งก่อนหน้า เพื่อให้ได้ราคาประมูลที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดให้มีการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการประมูลรอบสุดท้าย และป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ในครั้งนี้เป็นไปเพื่อที่จะสร้างกระบวนการคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตที่สามารถใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการหารายได้สูงสุดจากการประมูล การกำหนดเวลาจำกัดก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลทุกรายศึกษารายละเอียด ตกลงใจถึงราคาสุดท้ายที่จะเสนอก่อนที่จะเข้าร่วมการประมูล เพื่อมิให้มีการเสนอราคาที่เกินจริง ซึ่งจะนำมาซึ่งการให้บริการที่ด้อยคุณภาพในเชิงเนื้อหารายการ สำหรับการป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล ได้มีการป้องกันโดยการกำหนดให้มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่กำหนด และให้ผู้เข้าร่วมการประมูลเห็นราคาตนเอง สถานะความเป็นผู้ชนะและลำดับที่ชนะ ตลอดจนราคาของผู้ชนะรายสุดท้าย

ประเด็นที่ 6 ประเด็นที่เสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ โดยให้ดำเนินการได้ภายหลังจากผ่านพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่ที่ได้รับใบอนุญาต นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดงวดเงินที่มีระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลานานเกินไปอาจจะทำให้เกิดลักษณะที่คล้ายกับการอนุญาตสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีแนวคิดที่แตกต่างจากระบบใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตซึ่งเท่ากับราคาสุดท้ายที่ชนะการประมูลนั้น เงินส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมจะนำไปจัดทำคูปองสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับสัญญาณในระบบดิจิตอล ซึ่ง (ร่าง) ประกาศฯ ได้กำหนดให้ระบบงวดการชำระเงินสอดคล้องกับระยะเวลาในการกระจายคูปองให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแพร่เสียงแพร่ภาพรายการที่สำคัญ ซึ่งหลังจากนี้ จะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ในวันพุธที่จะถึงนี้ จากนั้นจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
  
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว คือรายการสำคัญ 7 รายการ ได้แก่ 1. รายการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2.รายการแข่งขันคอนเฟเดอเรชั่นคัพ 3.รายการแข่งขันเอเชี่ยนคัพนัดสุดท้าย และนัดที่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน 4.รายการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก และฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย  5.รายการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก 6.รายการวอลเล่ย์บอล ระดับชิงแชมป์โลก 7.รายการแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพ นัดที่มีตัวแทนจากชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน ผู้ประกอบกิจการที่ได้สิทธิในการแพร่ภาพรายการ จะต้องจัดทำข้อเสนอบริการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่นสามารถเลือกที่จะเข้าเจรจาเพื่อนำสิทธิในการแพร่เสียงแพร่ภาพของรายการดังกล่าวไปให้บริการประชาชนรับชมได้อย่างแพร่หลาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฟผ.ระบุสายส่งจอมบึง-ประจวบขัดข้องเหตุไฟฟ้าภาคใต้ดับ ขณะนี้กำลังเร่งแก้ไข

Posted: 21 May 2013 06:53 AM PDT

สายส่งเชื่อมไฟฟ้าภาคกลางสู่ภาคใต้ขัดข้อง ทำให้เกิดไฟฟ้าดับในภาคใต้หัวค่ำนี้ ด้านผู้ว่าฯ กฟผ. ระบุภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,500 เมกะวัตต์ ขณะที่ผลิตได้เองในพื้นที่ 2,000 เมกะสัตต์ จึงต้องนำไฟฟ้ามาจากภาคกลาง เสนอเตรียมรองรับปัญหาในอนาคต ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

จากกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.52 น. นั้น ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายธนา พุทธรังษี รองผู้ว่าการระบบส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้เร่งแก้ปัญหาไฟฟ้าดับใน  14  จังหวัดภาคใต้ ที่เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างหลายพื้นที่ ตั้งแต่เวลา 18.52 น. ที่ผ่านมา  โดยเหตุผลเกิดจากสายส่งขนาด 500 KV ซึ่งเป็นสายส่งจอมบึง- ประจวบ ซึ่งเป็นสายส่งหลักที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้ เกิดขัดข้อง โดยขณะนี้กำลังเร่งแก้ไขด่วน จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่ากลับมาใช้งานในช่วงเวลาใด
 
โดยสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.ไปยังภาคใต้ มี 2 วงจร ขณะนี้ 1 วงจรอยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม จึงปลดออกจากระบบ และ อีก 1 วงจร ขัดข้อง จึงเกิดไฟดับ ซึ่งตามปกติโรงไฟฟ้าใต้มีการจ่ายไฟฟ้าไม่เพียงพอกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคที่ขยายตัวสูง จึงส่งจากไฟฟ้าจากภาคกลางไปหล่อเลี้ยง

ทั้งนี้ข่าวประชาสัมพันธ์ของ กฟผ. ระบุด้วยว่า "เวลา 18.52 น. เกิดเหตุไฟฟ้าดับทางภาคใต้ เนื่องจากสายส่งเชื่อมโยงภาคกลางและภาคใต้ขัดข้อง ทำให้การจ่ายไฟเสริมระบบภาคใต้ดับทั้งภาค สาเหตุยังไม่ระบุแน่ชัด แต่ในขณะนี้ เริ่มทะยอยจ่ายไฟได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้คาดว่าเวลาประมาณ 21.00 น. จะสามารถจ่ายไฟได้ทั้งหมด"

 

 
ผู้ว่าฯ กฟผ. ระบุไฟดับภาคใต้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

นอกจากนี้ประชาชาติธุรกิจ ได้อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่า กฟผ. ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุเอฟ.เอ็ม 100.5 ถึงปัญหาไฟฟ้าดับภาคใต้ 14 จังหวัด ซึ่งให้ข้อมูลว่าภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 10% อีกส่วนหนึ่งมาจากการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นไม่ทัน จึงต้องอาศัยไฟฟ้าเชื่อมโยงมาจากภาคกลาง อย่างก็ตามสายส่งดังกล่าวมีปัญหา เมื่อเส้นสายส่งไฟฟ้าที่มาเลี้ยงตลอดเวลามาไม่ได้ ทำให้ระบบรักษาความสมดุลไม่ได้จึงเกิดเหตุไฟดับ

ผู้ว่าฯ กฟผ. ระบุว่า แผนการเตรียมการรองรับในอนาคตป้องกันปัญหาไฟดับ ต้องมีโรงไฟฟ้าที่พอเพียงและมีไฟในระบบเชื่อมต่อหล่อเลี้ยงได้ แต่เหตุที่เกิดขึ้น เริ่มจะไม่สมดุลมากขึ้นเพราะในภาคใต้การใช้กระแสไฟฟ้าพีค สุดที่ 2,500 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ. สามารถผลิตและมีเครื่องมือรองรับที่ 2,000 เมกะวัตต์ เกินสภาพที่จะรับ เมื่อการใช้ไฟแบบพีคเกิดขึ้นกระทันระบบจะรับการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ไม่ได้ ดังนั้นระยะยาวต้องวางแผนให้มีโรงไฟฟ้าพอเพียง นอกจากขณะนี้ที่ใช้สายส่งภาคกลางลงไปช่วย

นายสุทัศน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามยังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่และที่จะนะ 2 ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ขึ้นอีกในภาคใต้ 800 เมกะวัตต์ โดยรวมการใช้ไฟในภาคใต้ก็น่าจะดีขึ้น ส่วนแผนที่ต้องดูแลเฉพาะหน้าชั่วคราวขณะนี้ คือดูแลระบบส่งและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นพิเศษ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กทค.อนุมัติค่าธรรมเนียมย้ายค่ายเบอร์เดิมมือถือ 29 บ.เริ่ม 1 ก.ค.นี้

Posted: 21 May 2013 06:06 AM PDT

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) อนุมัติการเก็บค่าธรรมเนียมโอนย้ายหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอัตรา 29 บาทต่อเลขหมาย กำหนดให้ผู้ให้บริการดำเนินการให้แล้วเสร็จ 30 มิ.ย.นี้

21 พ.ค.56 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติอนุมัติการเก็บค่าธรรมเนียมโอนย้ายหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอัตรา 29 บาทต่อเลขหมาย (คงสิทธิหมายเลขเดิม) ซึ่งเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยบอร์ด กทค.กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกค่ายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.56

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวหลังการประชุมบอร์ดกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่าที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานของ บริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด (เคลียร์ริ่งเฮ้าส์) เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมบริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability : MNP)  และอนุมัติให้ใช้ค่าธรรมเนียมการโอนย้ายหมายเลขในอัตรา 29 บาทต่อเลขหมาย ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทุกค่ายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.56 และผู้บริโภคจะได้รับบริการในวันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป

รองเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการโอนย้ายเลขหมายจำนวน 80,000 เลขหมาย โดยมีการโอนย้ายจากทรูมูฟ ไปทรูมูฟเอชมากที่สุด รองลงมาคือเอไอเอส และดีแทค แต่หลังจากนี้ เมื่อผู้ให้บริการเปิดบริการในระบบ 3 จีครบแล้ว คาดว่าจะมีการโอนย้ายเลขหมายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเลขหมายอยู่ในระบบราว 120 ล้านเลขหมาย แต่มีการใช้งานราว 88 ล้านเลขหมาย

เรียบเรียงจาก ประชาชาติธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความล้ำหน้าของลาวที่ไทยพึงสังวรณ์

Posted: 21 May 2013 04:58 AM PDT

โสภณ พรโชคชัยในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิ ได้พาคณะผู้สนใจด้านอสังหาริมทรัพย์ไปสัมมนาและดูงาน ณ ประเทศลาวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เห็นสิ่งล้ำหน้าที่น่าสนใจได้แก่ การก่อสร้างถนนในแนวคิดใหม่ การเวนคืนเพื่อจัดระเบียบเมือง และการจัดการผู้บุกรุกที่สาธารณะ

เมื่อปีพ.ศ.2552 ดร.โสภณได้เดินทางไปบรรยายที่ประเทศลาว ก็เห็นลาวมีโทรศัพท์ระบบ 3 G แล้ว มาปีนี้พ.ศ.2556 เขาก็ไปถึง 4 G และจะพัฒนาล้ำหน้าไปอีกในอนาคตอันใกล้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เมื่อปีพ.ศ.2554 ดร.โสภณ ได้ไปสำรวจความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยของนักธุรกิจชาวลาว ก็ปรากฏว่ามีความต้องการค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการในประเทศจึงควรพิจารณาเจาะตลาดผู้ซื้อในประเทศลาว แต่สำหรับนวัตกรรมในประเทศลาวที่จะกล่าวถึงได้แก่

ประการแรก การก่อสร้างถนนแนวใหม่ เมื่อประเทศลาวเริ่มดำริสร้างถนนกรุงเวียงจันทน์ 450 ปีได้เวนคืนที่ดิน 2 ฟากฝั่งถนนข้างละ 50 เมตรในราคาตารางเมตรละ 50 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือตารางวาละ 6,000 บาท และเมื่อก่อสร้างถนนเสร็จความเจริญเข้าไปในพื้นที่ตาบอดแต่เดิมแล้ว ราคาที่ดิน 2 ข้างทางก็เพิ่มขึ้นเป็นตารางเมตรละ 300 เหรียญสหรัฐอเมริกา (36,000 บาทต่อตารางวา) หรือ 6 เท่าตัว ทำให้การก่อสร้างถนนนี้แทบไม่ต้องเสียค่าก่อสร้าง เพราะได้กำไรจากการขาย (ให้เช่า 50-75 ปี ในราคาสูงกว่าตอนที่เป็นที่ดินดิบ) แม้ในภายหลังจะพบว่ายังมีอุปสรรคในการดำเนินการบางประการแต่ก็ถือได้ว่าการตัดถนนลักษณะนี้เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ

เมื่อปี 2547 ดร.โสภณ ก็เคยนำเสนอแนวคิดนี้ในการก่อสร้างถนนในประเทศไทย ซึ่งหากสามารถก่อสร้างถนนได้ตามนี้ก็จะไม่เสียงบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้างถนนเลย เช่นที่ดินเขตใจกลางเมืองอาจมีราคาเป็น 3 เท่าของค่าก่อสร้างถนน หากเวนคืนที่ดิน 2 ฟากถนนก็จะทำให้ราคาที่ดิน 2 ฟากถนนนั้นเพิ่มขึ้นนับเท่าตัวทำให้คุ้มค่าแก่การลงทุน ยิ่งหากเป็นกรณีถนนในชนบทราคาที่ดินอาจเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวทำให้ยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นอีก

ประการที่สอง การเวนคืนเพื่อจัดระเบียบเมือง ถ้าเราไปประเทศลาวคงต้องไปกราบนมัสการพระธาตุหลวง หาไม่คงถือว่ายังไปไม่ถึงประเทศลาว ณ วัดธาตุหลวงนั้นโดยรอบพระธาตุแต่เดิมมีชุมชนชาวบ้านอยู่กันอย่างแออัด แต่ในภายหลังรัฐบาลได้เวนคืนที่ดินโดยรอบเพื่อขยายอาณาเขตของวัดพระธาตุหลวงซึ่งทำให้ตัวพระธาตุแลดูสง่างามในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศลาว กรณีเช่นนี้สมควรดำเนินการในการฟื้นฟูเมืองในหลาย ๆ บริเวณของกรุงเทพมหานครและในประเทศไทยเช่นกัน แต่ว่าไม่ได้ดำเนินการเพราะผู้บุกรุกในประเทศไทยอาจอ้างความยากจนหรือความยากลำบากในการโยกย้ายมาดื้อแพ่งได้

กรณีนี้ทางราชการสมควรจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม จัดหาที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่จะให้เกิดกรณีดื้อแพ่งกีดขวางความเจริญหรือการพัฒนาเมืองไม่ได้ ประเทศไทยควรส่งเสริมให้ประชาชนเจ้าใจถึงความจำเป็นในการเวนคืนเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ส่วนผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลที่เสียหายไปจากการเวนคืนควรได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม

ประการที่สาม การจัดการผู้บุกรุกที่สาธารณะ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ขณะที่มาเยี่ยมเยือนนครเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง และได้ไปรับประทานอาหารค่ำในภัตตาคารแห่งหนึ่งซึ่งปลูกล้ำลงไปในคลองสาธารณะบริเวณดอนจันทน์ริมแม่น้ำโขง ปรากฎว่าในการเยี่ยมเยือนครั้งล่าสุดนี้พบว่าพื้นที่ส่วนล้ำได้ถูกรื้อออก และมีการสร้างเขื่อนริมคูคลองดังกล่าวให้เป็นระเบียบเรียบร้อยพร้อมลู่วิ่งสองข้างคลอง

นี่นับเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมการปกครองตามกฎหมายไม่เห็นแก่กฎหมู่ ใช้หลักนิติศาสตร์มากกว่าหลักรัฐศาสตร์ที่มักเออ ออ ห่อหมกกันไปเช่นกรณีประเทศไทย การยอมรับการทำผิดกฎหมายในที่หนึ่งก็จะทำให้เกิดการเลียนแบบในที่อื่นร่ำไป

จากกรณีการก่อสร้างถนนในแนวคิดใหม่ การเวนคืนเพื่อจัดระเบียบเมือง และการจัดการผู้บุกรุกที่สาธารณะ ชี้ให้เห็นว่าประเทศลาวมีนวัตกรรมการวางแผนพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ที่อาศัยความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งไทยควรศึกษาเป็นเยี่ยงอย่าง อันที่จริงประเทศไทยก็สามารถทำได้ เพราะมีความรู้และเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ติดขัดอยู่ที่อภิสิทธิ์ชนมากกว่

ขอบเขตพระธาตุหลวงหลังจากเวนคืนที่ดินโดยรอบแล้ว

ภัตตาคารแห่งนี้ แต่ก่อนสร้างคร่อมคลองนี้อยู่

การสัมมนา ณ กรุงเวียงจันทน์ที่ผู้เขียนจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พีมูฟ’ นั่งสมาธิข้างทำเนียบฯ หวังรัฐบาลนำ 4 ปัญหาถก ครม.

Posted: 21 May 2013 01:22 AM PDT

พีมูฟปฏิบัติการอีกครั้งทำพิธีตามความเชื่อ-นั่งสมาธิ ให้นายกฯ นำกรณี เขื่อนปากมูล-นำร่องธนาคารที่ดิน-โฉนดชุมชน-โครงการบ้านมั่นคง เข้า ครม.วันนี้ หลังพลาดหวัง ด้านเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม-องค์กรชุมชนภาคใต้ ออกจดหมายหนุนการเคลื่อนไหว

 
วันนี้ (21พ.ค.56) เวลา 8.50 น. ผู้ชุมนุมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟเคลื่อนขบวนจากข้างกระทรวงศึกษาธิการมายังหน้าประตูทำเนียบรัฐบาล เพื่อทำพิธีกรรมตามความเชื่อ ด้วยการสวดมนต์ นั่งสมาธิ และยืนภาวนา ให้คณะรัฐมนตรีมีความจริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหา โดยการนำกรณีปัญหา 4 เรื่อง เข้าพิจารณาในการประชุม ครม.วันนี้
 
สืบเนื่องจาก กรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้ชุมนุม เมื่อวันที่  7 พ.ค.56 จะนำ 4ประเด็นของพีมูฟ คือ 1.การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล 2.โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ 3.การคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน 4.การก่อสร้างบ้านในโครงการบ้านมั่นคง เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.56 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีประเด็นใดที่ถูกบรรจุในวาระการประชุมครม.เลยแม้แต่เรื่องเดียว
 
จากนั้นในเวลา 10.00 น. Pmove ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 31 ย้ำจะรอคอยการแก้ปัญหาอย่างสันติ อหิงสา ด้วย ด้วยการนั่งสมาธิ ภาวนา สวดมนต์ ตามความเชื่ออย่างสงบ สันติ จนกว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหา ตามนโยบาย ที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา คือการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างความเป็นธรรมในสังคม
 
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
000
 
แถลงการณ์ฉบับที่ ๓๑
สงบ อหิงสา ภาวนา ให้ ครม.พิจารณา แก้ปัญหาคนจน
 
ตามที่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ประกอบด้วย เครือข่ายสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เครือข่ายสลัม ๔ ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สหพันธ์เกษตรกร ภาคใต้ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายชุมชนปฏิรูปสังคมและการเมือง และกลุ่มปัญหาเกษตรพันธะสัญญา กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบโรงไฟฟ้าชีวมวล กลุ่มสิทธิสถานะบุคคล ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ๕๖๐ ชุมชุน ๘ กลุ่มปัญหา และได้มีการประสานงานติดตามการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องมาตลอด ๑ ปี
 
และในครั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ ๖ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ติดตามการแก้ปัญหามาเป็นเวลา ๑๖ วัน อย่างสงบตามหลักอหิงสา แม้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลจะได้ดาเนินการให้มีการประชุมอนุกรรมการไปแล้ว ๘ ชุด ซึ่งผลการประชุมการแก้ปัญหา มีบางกรณีคืบหน้า แต่ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน บางกรณีไม่มีความคืบหน้า เช่นกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลและกรณีเหมืองแร่ ที่เป็นเพียงซื้อเวลาเท่านั้น ส่วนกรณีโรงโม่หินซ้ำร้ายเป็นการถอยหลังเข้าคลอง
 
และเรื่องที่มีข้อยุติแล้วในคณะอนุกรรมการ  ๔ เรื่อง ซึ่งรัฐบาลได้มีข้อตกลงกับชาวบ้านจะนำเรื่องที่มีข้อยุติแล้วเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ตามข้อตกลง ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวได้เสนอถึง รองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง) ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรียบร้อยแล้ว แต่กลับไม่มี การพิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น และได้สัญญาว่าจะนาเข้าพิจารณาในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖
 
สิ่งที่ปรากฏขึ้นที่ผ่านมา จึงเป็นการตอกย้ำความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลว่าปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะสามารถนาไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นธรรม
 
การผิดสัญญาของรัฐบาล หมายถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่องต่อไป แต่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ตกลงใจที่จะรอคำตอบที่ดี ในคามั่นสัญญาครั้งใหม่ อีกครั้งหนึ่ง
 
และในวันนี้ ๒๑ พฤษภาคม คือการรับปากอย่างเป็นทางการของรัฐบาล ว่าจะนำเรื่องขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เข้าสู่การในการประชุมของคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมโดยรัฐบาลจะนำกรณีปัญหาที่มีข้อยุติแล้ว ๔ เรื่องเข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี คือ
 
๑. ปัญหาเขื่อนปากมูล ให้เห็นชอบพิจารณาเปิดเขื่อนปากมูลถาวรและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ผ่านมา และยกเลิกมติ ครม.เดิมที่ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
 
๒. ปัญหาที่ดิน กรณีโครงการนาร่องธนาคารที่ดิน ๕ ชุมชนภาคเหนือ ให้เห็นชอบอนุมัติให้สถาบันพัฒนาชุมชน องค์การมหาชน (พอช.) เป็นหน่วยงาน ดำเนินงานโดยใช้งบ พอช.จานวน ๑๖๗ ล้านบาท เพื่อจัดซื้อที่ดินและโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง ๕ ชุมชน
 
๓. ปัญหาของเครือข่ายสลัมสี่ภาค กรณีการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ของชุมชนที่ดำเนินงานในโครงการบ้านมั่นคง ให้ความเห็นชอบในการก่อสร้างอาคาร ตามกฎกระทรวง ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๐
 
๔. ปัญหาที่ดินพิพาท กรณีพื้นที่ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชนแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมอบพื้นที่ และในระหว่างการส่งมอบพื้นที่ ให้มีการการคุ้มครองพื้นที่ ให้สามารถอยู่อาศัยตามวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ และเข้าถึงการบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ
 
รวมทั้งเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนการประชุมของอนุกรรมการ รัฐบาลต้องสั่งการให้อนุกรรมการทั้ง ๑๐ ชุด และ ๑ กรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เร่งดำเนินการประชุมเพื่อให้เกิดข้อสรุปที่มีแนวทางปฏิบัติได้จริง ให้แล้วเสร็จก่อน การประชุมคณะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่จะมีขึ้นในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖
 
ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จะยังคงปักหลักรอคอยการแก้ปัญหาอย่างสันติ อหิงสา ด้วย ด้วยการนั่งสมาธิ ภาวนา สวดมนต์ ตามความเชื่ออย่างสงบ สันติ จนกว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาตามนโยบาย ที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา คือการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้าของสังคม และสร้างความเป็นธรรมในสังคม
 
หวังว่าวันนี้รัฐบาลที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ปวงชน จะมีสัจจะ ต่อประชาชนของตนเอง
 
ด้วยจิตคารวะและสันติ
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ หน้าทำเนียบรัฐบาล
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
 
 
000
 
ด้าน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ออกจดหมายเปิดผนึกหนุนการเคลื่อนไหวของพีมูฟ โดยย้ำว่าความชอบธรรมสูงสุดของรัฐบาลคือการเร่งแก้ไขปัญหาประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม อย่างจริงจังเท่านั้น และขอสนับสนุนความชอบธรรมนี้ อย่างจริงจัง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการวิพากษ์แนวคิดเซ็กส์กับการเมือง และ ‘นายกฯ ปู’

Posted: 21 May 2013 12:54 AM PDT

แถลงเปิดรับบทความวิชาการเรื่องเพศวิถี ชลิดาภรณ์ร่วมเสวนาชี้เรื่องเพศเป็นเรื่องสาธารณะ ชี้กระแส "นายกฯ ปูผัดผงกะหรี่" คนต้านอย่าปกป้องแค่ศักดิ์ศรีนายกฯ  แต่ต้องปกป้องศักดิ์ศรีของเพศหญิง รวมทั้ง 'กะหรี่' ด้วย

20 พ.ค.56  ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมาคมเพศวิถีศึกษา และ 21 องค์กรเครือข่าย แถลงข่าวเปิดตัวงานวิชาการเพศวิถีศึกษาครั้งที่ 4 ประจำปี 2556 ด้วยเสวนาหัวข้อ "สาธารณะ รัฐ เซ็กส์ กับ นายกฯ ปู" โดยมีสุชาดา ทวีสิทธิ์ และอัญชนา สุวรรณานนท์ เป็นผู้แถลงข่าวการประชุมวิชาการ และในช่วงการเสวนา มีอาจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล และ อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เป็นผู้ร่วมการเสวนา

สุชาดากล่าวว่า เหตุผลที่เลือกหัวข้อการเสวนา "สาธารณะ รัฐ เซ็กซ์ กับนายกฯ ปู" เนื่องจากต้องการให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าว รวมทั้งกลับมาวิจารณ์ตนเองว่าการทำให้เซ็กซ์เป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมก่อให้เกิดปัญหามากเพียงใด เช่นการเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ การมองเซ็กซ์เป็นเรื่องบัดสีและสกปรก การพูดคุยเรื่องดังกล่าวถูกจำกัดไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ภาวะดังกล่าวเป็นการเปิดช่องคนบางกลุ่มผูกโยงเซ็กซ์เข้ากับการเมือง ใช้ความหมายเชิงสัญลักษณ์เพื่อโจมตีและลดทอนคุณค่าของฝ่ายตรงข้าม รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางเพศในเยาวชนที่รัฐได้เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรม วาทกรรมเรื่องเซ็กซ์ของสังคมแท้จริงแล้วจึงเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่รัฐใช้สร้างกติกาในการควบคุมพฤติกรรมคนเท่านั้น การประชุมวิชาการในครั้งนี้จึงต้องการปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้สังคมเอาเรื่องเพศที่อยู่ใต้พรมออกมาสู่สาธารณะ โดยเวทีเสวนาของเราจะมีการเปิดรับบทความใน 5 หัวข้อได้แก่ 1.เควียร์ (queer) เพศหลากหลาย และสตรีนิยมเป็นญาติกันหรือไม่ 2.รัฐไทยกับการปกป้องคุ้มครองเพศวิถี 3.เซ็กซ์ในสื่อสมัยใหม่ (new media) 4.เพศวิถีข้ามรัฐ ลอดพรมแดน 5.พื้นที่สาธารณะกับการเกลียดกลัวเรื่องเพศ (รายละเอียดเพิ่มเติม: www.ssa.ipsr.mahidol.ac.th )


ในช่วงของการเสวนา กฤตยากล่าวว่า การแสดงออกทางเพศของเราถูกกดทับไว้ให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐ รัฐพยายามกำหนดว่าเซ็กซ์แบบใดถูก แบบใดผิด เช่นกำหนดอายุขั้นต่ำ กำหนดจำนวนคนที่มีเซ็กซ์ ยิ่งไปกว่านั้นยังกำหนดพฤติกรรมของคนในระดับค่านิยมความเชื่อ เช่น หญิงไทยต้องรักนวลสงวนตัว ผู้หญิงต้องนั่งหุบขา ในขณะที่ผู้ชายกลับถูกควบคุมน้อยกว่าผู้หญิง ซึ่งค่านิยมเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น ในยุคจอมพล ป. มีการออกนโยบายลูกดก ให้รางวัลแก่สตรีที่มีบุตรหลายคน เนื่องจากในช่วงนั้นประเทศกำลังขาดแคลนแรงงาน และมีความเป็นไปได้ว่ากระแสดังกล่าวอาจจะกลับมา เนื่องจากในยุคปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง รัฐบาลอาจจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้หญิงผลิตบุตรให้กับรัฐ ผู้หญิงจึงกลายเป็นเพียงเครื่องผลิตประชากรให้กับรัฐ

นอกจากรัฐแล้ว สังคมเองก็เข้ามากำหนดกรอบให้กับเซ็กซ์ของเราเช่นกัน สังคมทำให้ปัจเจกเข้าใจว่าความสัมพันธ์แบบใดที่สังคมยอมรับเช่น ผัวเดียวเมียเดียว แต่งงาน มีเซ็กซ์ในที่รโหฐาน และความสัมพันธ์แบบใดที่สังคมไม่ยอมรับเช่น การร่วมเพศทีละหลายๆ คน การนอกใจ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้เป็นผลผลิตจากรัฐอีกเช่นกัน แม้กระทั่งท่วงท่าในการมีเซ็กซ์ซึ่งควรเป็นสิ่งที่ปัจเจกควรมีอิสระในการเลือกมากที่สุด สังคมก็ยังเข้ามากำหนดว่าท่าใดคือท่ามาตรฐาน

ชลิดาภรณ์กล่าวว่า เรามักเข้าใจกันว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว (private sphere) หากเป็นเช่นนั้นแปลว่าปัจเจกควรมีเสรีภาพเต็มร้อยในการกำหนดเรื่องเซ็กซ์ของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม กรองแก้ว ตัวละครจากเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพกล่าวไว้ว่า "เพราะโลกนี้ไม่ได้มีเราเพียงสองคน ยังมีครอบครัว ขบนจารีต ประเพณี ความควรมิควร อีกมากมายที่เราต้องคำนึงถึง" ประโยคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วปัจเจกมิได้มีเสรีภาพในเรื่องเซ็กซ์อย่างแท้จริง สังคมกำหนดกรอบกติกามากมายในเรื่องเซ็กซ์ อีกทั้งยังบังคับใช้และผลิตซ้ำกฎกติกาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รัฐที่อ้างว่าตนเป็นเสรีประชาธิปไตยมีน้อยมากที่จะให้เสรีภาพทางเพศแก่ประชาชนจริงๆ กรณีล่าสุดที่มีการบุกจับกองถ่ายภาพนู๊ด และมีการตั้งข้อหากับพริตตี้ที่เป็นนางแบบถ่ายนู๊ดโดยสมัครใจว่าเป็น "การกระทำอันควรอับอาย" นี่เป็นการใช้อำนาจที่เผด็จการมหาโหด เพราะเป็นการห้ามมิให้คนสมยอมทำข้อตกลงกัน รัฐพยายามปิดทางกบฏ ทางความคิดของประชาชน หากรัฐยังคงดำเนินนโยบายเช่นนี้ย่อมห่างไกลจากคำว่าเสรีประชาธิปไตย ฉะนั้นเราจึงสรุปได้ว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องสาธารณะ และรัฐได้พยายามอย่างหนักในการกำหนดเรื่องเซ็กซ์ของประชาชน

ในประเด็นเรื่องนายกฯ ปู โดยปกติสื่อ และคนทั่วไปมักเรียกท่านนายกว่านายกฯ ปู แทนคำว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งการเรียกชื่อเล่นผู้หญิงมันแสดงถึงความเอ็นดู แต่การเอ็นดูในระดับสาธารณะมันน่ากลัว เพราะนั้นเท่ากับเราไม่ได้มองเห็นนายกรัฐมนตรี แต่เราเห็นแค่ "น้องหนูปู" คนหนึ่งเท่านั้น นายกฯ ท่านนี้ถูกทิ่มแทงด้วยเซ็กซ์เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์ การแต่งกาย และการเล่นหูเล่นตา ในขณะที่นักการเมืองชายก็มีเหมือนกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือเรามักเห็นความพยายามลดทอนความน่าเชื่อถือของนักการเมืองผู้ชายโดยการเรียกว่า "เจ๊" เพื่อแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมทางเพศของคนผู้นั้นมีความเบี่งเบน การใช้เพศโจมตีฝ่ายตรงข้ามจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย แต่ในกรณีของผู้หญิงจะรุนแรงกว่า ในต่างประเทศก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแองเกล่า มาเคล ผู้นำประเทศเยอรมันนี หรือฮาลารี่ คลินตัน รมว.กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ การต่างถูกโจมตีด้วยเรื่องรูปลักษณ์ และการแสดงออกทั้งสิ้น

ชลิดาภรณ์กล่าวต่อว่า ยิ่งในสภาวะที่ความขัดแย้งทางการเมืองมีความรุนแรง การโจมตีด้วยเรื่องเพศก็ยิ่งรุนแรงขึ้นล่าสุดก็คือวาทกรรม "ปูผัดผงกะหรี่" ซึ่งเป็นการสะท้อนอคติทางเพศที่รุนแรงมาก ที่มีทั้งคนออกมาด่า และคนออกมาปกป้องคุณยิ่งลักษณ์ว่าท่านเป็นคนดี ท่านไม่ใช่กะหรี่ ทั้งสองฝ่ายนี้ต่างติดกับอคติทางเพศด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายแรกติดกับเพราะเอาเรื่องเพศมาโจมตีลดทอนความน่าเชื่อถือ ส่วนฝ่ายหลังติดกับเพราะออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของนายกฯ เพียงคนเดียว แทนที่จะปกป้องศักดิ์ศรีของเพศหญิง รวมถึงศักดิ์ศรีของ "กะหรี่" กะหรี่มักเป็นตัวแทนของผู้หญิงเลว มีคุณค่าความเป็นคนน้อยกว่าผู้หญิงทั่วๆ ไป กระหรี่เป็นสิ่งที่รัฐใช้ในการกำหนดกรอบกติกา หากผู้หญิงต้องการอยู่ห่างจากคำว่ากระรี่ ก็จำต้องปฏิบัติตามกติกาของรัฐ ฉะนั้นกะหรี่จึงมีคุณปการแก่เราทุกคน เพราะหากไม่มีกะหรี่ เราจะไม่รู้ว่าผู้หญิงเลวเป็นอย่างไร และจะไม่รู้ว่าผู้หญิงที่ดีควรเป็นอย่างไรหากไม่มีกระหรี่เป็นคู่ตรงข้าม ทั้งที่จริงๆ แล้วกะหรี่คือผู้หญิงที่กล้าหาญไม่ยอมสยบต่อกรอบกติกาเผด็จการมหาโหดของรัฐ และกลายเป็นกบฎทางเพศต่อรัฐในที่สุด

ชลิดาภรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากจะให้มองเรื่องนี้เสียใหม่ มองว่านี่เป็นโอกาสที่เราจะกลับมาทบทวนเรื่องเซ็กซ็กับการเมืองเสียใหม่ เพื่อที่จะก้าวข้ามมันไปให้ได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เส้นทางสายเกลือ...สมุทรสาคร อนุรักษ์และต่อยอดวิถี “นาเกลือ” ไม่ให้สูญจากสังคมไทย

Posted: 21 May 2013 12:45 AM PDT

นาเกลือเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่สารพัดปัญหาที่ต้องเผชิญ ทำให้ขาดแรงจูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด เส้นทางสายเกลือจึงดูเหมือนจะค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย

จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือสมุทร เมื่อปี 2554 พบว่าจังหวัดสมุทรสาคร มีเกษตรกรที่ทำนาเกลือ 242 ครัวเรือน พื้นที่ 12,572 ไร่ จังหวัดเพชรบุรี มีเกษตรกรที่ทำนาเกลือ 137 ครัวเรือน พื้นที่ 9,880 ไร่ และจังหวัดสมุทรสงคราม มีเกษตรกรที่ทำนาเกลือ 111 ครัวเรือน พื้นที่ 4,535 ไร่

ก่อนที่วิถีการทำนาเกลือจะกลายเเป็นเพียงตำนานและสูญหายไปจากสังคมไทย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร และอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร จัดกิจกรรรมและนิทรรศการ "เส้นทางสายเกลือ...ที่สมุทรสาคร" ขึ้น เนื่องจากสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีการนาเกลือ นอกจากนี้ยังมีจำนวนเกษตรกรและพื้นที่ทำนาเกลือมากที่สุดในประเทศไทย

ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park กล่าวว่า การจัดนิทรรศการเส้นทางสายเกลือ...ที่สมุทรสาคร เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเกลือ ซึ่ง 3 หน่วยงานได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อสืบทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำนาเกลือ และวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ทำนาเกลือในจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากเกลือให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมเกลือไทยไปสู่สากลได้ในที่สุด

ภายในงานนิทรรศการ"เส้นทางสายเกลือ...ที่สมุทรสาคร" ครั้งนี้  เป็นการเปิดเวทีระดมองค์ความรู้จากเกษตรกรตัวจริงที่ทำนาเกลือมาทั้งชีวิตกว่า 30-40 ปี เช่น ลุงปื๊ด เกษตรกรชาวนาเกลือเจ้าของฉายา "จอมยุทธ์กองเกลือ"  ลุงสมคิด เจ้าของฉายา "จอมยุทธ์เดินน้ำ" รวมทั้งผู้ก่อตั้งโรงเรียนนาเกลือแห่งแรกในประเทศไทย และกลุ่มคนผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือจนก้าวไกลไปต่างประเทศได้ เช่น กลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง จากจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีการทำนาเกลือแบบต่างๆ  รวมไปถึงการสาธิตกระบวนการแปรรูปเกลือสมุทรในรูปแบบต่างๆ เช่น ไอศกรีมแท่งโบราณดับร้อน,  เกลือขัดผิวทำเองได้ง่ายนิดเดียว, แป้งเกลือจืดผสมทานาคา และไข่เค็มจากดินนาเกลือ  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเกลือที่สนุกสนานสำหรับเด็กๆ อาทิ ประดิษฐ์กังหันลม, ผลึกเกลือหน้าตาเป็นอย่างไร, การระบายสีน้ำโดยใช้เทคนิคโรยเกลือ  เป็นต้น
    
ลุงปื๊ด หรือ นาย ลิขิต นาคทับทิม  ชาวนาเกลือสมุทรสาครวัย 57 ปีผ่านแสงแดดสายฝนบนวิถีการทำนาเกลือมาค่อนชีวิต เล่าว่า สำหรับอาชีพการทำนาเกลือ ดินฟ้าอากาศถือเป็นเรื่องสำคัญ ปีไหนแล้งมากการทำนาเกลือจะยิ่งดี แต่ถ้าปีไหนฝนชุกชาวนาเกลือก็ย่ำแย่ และยิ่งทุกวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน เด็กรุ่นใหม่ชอบทำงานในโรงงานมากกว่าทำนาเกลือ จึงหาคนงานได้ยาก และยังไม่สามารถหาคนรุ่นต่อไปรับหน้าที่สานต่ออาชีพอย่างจริงจัง

"เมื่อ 7 – 8 ปีก่อนนี้จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 50%  ในปีไหนที่สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ก็จะได้ผลผลิตน้อย  อย่างพอตากนาเกลือไว้พอน้ำทะเลจะแห้ง ฝนก็กลับตก สลับกันแบบนี้อยู่ตลอด พอเป็นแบบนี้เราก็ขาดทุน อย่างล่าสุด 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเราก็ทำนาเกลือได้อยู่ประมาณ 3 – 4 เดือน เดือนละ 1 -2 รอบ ช่วงเดือนที่เหลือก็จะเป็นช่วงเวลาว่างที่ทำให้แรงงานที่มีต้องไปหางานอื่นทำ ซึ่งส่วนใหญ่พอได้ไปแล้วก็ไม่ยอมกลับมาทำนาเกลือต่อเลย เพราะอยากได้งานประจำ ยิ่งคนรุ่นใหม่เขาก็เลือกที่จะทำงานในอาชีพอื่น ๆ ตั้งแต่แรก ลูกหลานเรายิ่งแล้วใหญ่ เขาเห็นมาตั้งแต่เกิดว่า อาชีพทำนาเกลือทำยาก ทั้งเหนื่อย ทั้งลำบาก ก็ไม่อยากทำกันแล้ว  ขนาดตอนนี้สบายกว่าสมัยก่อนเยอะแล้วนะ มีอุปกรณ์สมัยใหม่  มีเครื่องทุ่นแรง แต่ก็ยังเหนื่อยอยู่ดี เพราะต้องต่อสู้กับแดดกับฝน แล้วราคาเกลือก็ไม่ดี ตัวรายได้ที่ไม่เสถียรก็อาจจะไม่ดึงดูดใจหนุ่มๆสาวๆ" ลุงปื๊ดเล่าให้ฟังถึงสภาพปัญหา

ขณะที่ นายเลอพงษ์   จั่นทอง  ประธานกรรมการสหกรณ์นาเกลือ ต.โคกขาม อ.เมือง เกษตรกรชาวนาเกลือวัย 60 ปีที่ยังคงยึดอาชีพการทำนาเกลือไว้อย่างภาคภูมิใจบนผืนแผ่นดิน 40 ไร่ที่ได้รับการสืบทอดมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  เช่นเดียวกับเพื่อนเกษตรกรในบริเวณเดียวกันรวม 270 ครอบครัว พร้อมกันนี้ยังได้ใช้พื้นที่ของนาเกลือเป็น "ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร หรือ "ศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ" สำหรับเพื่อนเกษตรกร ประชาชนที่สนใจรวมไปถึงเด็ก ๆ และเยาวชนเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำนาเกลือไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานก่อนที่ อาชีพการทำนาเกลือกำลังจะกลายเป็นตำนานเพราะไร้คนสานต่อ

นายเลอพงษ์เล่าให้ฟังว่า ในอดีตการทำนาเกลือต้องพึ่งพาธรรมชาติและแรงงานเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบ้าง และส่งผลดีการทำนาเกลือขึ้นมาก เช่น  การใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามาปั่นกังหันเพื่อวิดน้ำเข้า-ออกจากนา แทนกังหันลมสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น นอกจากนี้ก็เริ่มมีพัฒนาการการทำเกลือแบบใหม่  เช่นที่จังหวัดเพชรบุรีเริ่มใช้และได้ผลดีคือ การทำนาเกลือบนผ้าใบ

" สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ วิถีนาเกลือที่กำลังจะสูญหาย เพราะทุกวันนี้ชาวนาเกลือมีจำนวนลดลงและไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อ เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ทางสหกรณ์ได้พยายามสืบสายวิถีนาเกลือ  โดยนำไปบรรจุลงในหลักสูตรของโรงเรียนท้องถิ่น และเปิดพื้นที่นาเกลือให้นักเรียนได้เข้ามาศึกษากระบวนการทำนาเกลือ และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยปรารถนาให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึงคุณค่าของนาเกลือดังเช่นบรรพบุรุษ และภาคภูมิใจในอาชีพของท้องถิ่น ให้สมดังพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยพระราชทานที่ดินเพื่อประกอบอาชีพนาเกลือให้ชาวโคกขาม"

ด้านนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ให้ความเห็นว่า การจัดงานครั้งนี้นอกจากเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานอาชีพดั้งเดิมของคนสมุทรสาครให้อยู่สืบต่อไปแล้ว

ยังเป็นสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับความสำคัญของเกลือ รวมทั้งการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาวิถีการทำนาเกลือ และผลิตภัณฑ์จากเกลือให้มีคุณภาพมาตรฐาน จนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ 

"ปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเกลือกันมากขึ้น เนื่องจากอาชีพทำนาเกลือตามธรรมชาติเริ่มจะหมดไปจากบ้านเรา เป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้ความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น พร้อมช่วยอนุรักษ์และหาวิธีการพัฒนาแหล่งผลิตเกลือ และเส้นทางสายเกลือต่อไป สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่ผลิตเกลือมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเกลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องใช้และขาดไม่ได้มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะการถนอมอาหาร จึงจัดโครงการเส้นทางสายเกลือขึ้น เพื่อสืบทอดองค์ความรู้การทำนาเกลือ และวิถีชีวิตเกษตรกรนาเกลือ เผยแพร่องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำนาเกลือ และนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวไปสู่ระดับสากล"

นอกจากนี้ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ยังกล่าวถึงการจัดนิทรรศการเส้นทางสายเกลือ...ที่สมุทรสาคร ครั้งนี้ด้วย ว่า "องค์ความรู้ที่ได้รับการนิทรรศการครั้งนี้ล้วนแต่สามารถนำไปต่อยอดได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสำหรับเด็ก คู่มือประกอบอาชีพในอนาคต นิทรรศการ และหนังสือความรู้อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับการประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกลือเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้รอบด้าน และใช้ได้จริงเพื่อแสดงให้เห็นว่าห้องสมุดมีชีวิตไม่ได้จบแค่การมีหนังสือมาให้บริการเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้ในท้องถิ่น เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยในที่สุด" 

 

1.นิทรรศการภาพวิถีนาเกลือ


2. แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่อง เกลือ


3. สมพงษ์ รอดดารา  ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรนาเกลือ สมุทรสาคร แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีนาเกลือที่จังหวัดสมุทรสาคร

4.-6. ผลิตภัณฑ์จากนาเกลือ ประเภทต่างๆ ซึ่งนำมาจัดแสดงเพื่อให้ความรู้ภายในนิทรรศการฯ


7.ลุดปื๊ด เจ้าของฉายา จอมยุทธ์กองเกลือ


8. โชว์การรื้อเกลือ


9. ลุงปื๊ด กับภรรยาคู่ชีวิต


10.นาเกลือ


11.ดอกเกลือ ผลิตผลจากนาเกลือ


12.นายเลอพงษ์ จั่นทอง ทายาทและเกษตรกรนาเกลือ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุกก.คุ้มครองผู้บริโภคย้ำ ความเร็วการส่งข้อมูล 3G ต้องไม่ต่ำกว่า 345Kb

Posted: 20 May 2013 11:35 PM PDT

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เผยบริษัทยังทำผิดเงื่อนไขใบอนุญาต เหตุโปรโมชั่น กำหนดค่าเอฟยูพี ต่ำกว่าที่กำหนด ย้ำต้องไม่ต่ำกว่า 345 กิโลบิตต่อวินาที หลังพบ แจ้งมาตรฐานความเร็วขั้นต่ำที่ผู้บริโภคได้รับตกลงเหลือเพียง 64 กิโลบิตต่อวินาทีเท่านั้น พร้อมหนุน กสทช. เร่งรัดบริษัทลดค่าบริการให้ได้ 15%


(20 พ.ค.56) เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการหารือกันเกี่ยวกับบริการ 3G ในหลายประเด็น ซึ่งที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนการดำเนินการของ กสทช. กรณีเร่งรัดเพื่อให้เกิดการลดค่าบริการ 3G ลงร้อยละ 15 ให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะอนุกรรมการยังพบว่าผู้ให้บริการยังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ในประเด็นคุณภาพการให้บริการและการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ซึ่งระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการควบคุมคุณภาพบริการให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบุว่า ความเร็วเฉลี่ยในการส่งข้อมูลของบริการ 3G ต้องไม่ต่ำกว่า 345 กิโลบิตต่อวินาที

"จากข้อมูลโปรโมชั่นของผู้ให้บริการพบว่า อัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลต่ำกว่าที่กำหนดตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือความเร็วในการดาวน์โหลดต้องไม่ต่ำกว่า 345 กิโลบิตต่อวินาที และความเร็วในการอัปโหลดต้องไม่ต่ำกว่า 153 กิโลบิตต่อวินาที แต่จากรายการส่งเสริมการขายใหม่เพื่อให้บริการ 3G พบว่าได้กำหนดอัตรารับรองในการรับส่งข้อมูลขั้นต่ำนั้นต่ำลงกว่าเมื่อครั้งเป็นบริการ 2G คือ อัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลขั้นต่ำเหลือเพียง 64, 128 และ256 กิโลบิตต่อวินาที เท่านั้น" อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว

เดือนเด่นกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นว่า ควรมีการกำหนดมินิมัมแพ็คเกจ ที่เป็นมาตรฐานไว้และหากพบว่ามีการใช้บริการเกินกว่ามินิมัมแพ็คเกจ ก็ควรมีการแจ้งเตือนกับผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

"ผู้ให้บริการควรมีการแจ้งเตือนเรื่องค่าใช้จ่ายการใช้บริการ เช่นในต่างประเทศ หากการใช้บริการของผู้ใช้บริการมีการเปลี่ยนแปลงไปแบบผันผวนเช่น ใช้มากกว่าปกติไป 2 ถึง 3 เท่าตัว จะต้องแจ้งผู้ใช้บริการทราบ เพื่อเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคแบบอัตโนมัติ ซึ่งสำหรับประเทศไทยพบว่า มีบางบริษัทที่โทรสอบถามลูกค้าหากมีการใช้บริการที่มากผิดปกติ ซึ่งควรทำให้เป็นมาตรฐานเป็นการทั่วไป " เดือนเด่นกล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการ 3G ประสบปัญหาโดยรวมคือ กรณีโปรโมชั่นเดิม หรือลูกค้ารายเดิมที่เคยใช้บริการ 3G ภายใต้โครงข่าย 2G นั้นพบว่า มีการลดค่าบริการให้จริง แต่บริษัทมิได้แจ้งรายละเอียดสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้บริการทราบ เช่น ลดค่าบริการให้ลูกค้าจาก 699 บาทเหลือ 499 บาท แต่ไม่แจ้งสิทธิประโยชน์ให้ทราบ, ลดค่าบริการให้จริงแต่ก็ลดสิทธิประโยชน์ลงด้วย เช่น เคยใช้บริการเสียงได้ 400 นาทีถูกลดเหลือ 300 นาที, หรือยังไม่ดำเนินการลดค่าบริการให้กับผู้ใช้บริการเลย

รวมถึงการไม่โอนย้ายเงินคงเหลือในระบบให้ในกรณีการโอนย้ายบริการจาก 2G ไป 3G ของผู้ใช้บริการระบบเติมเงิน หรือกรณีการโอนย้ายเครือข่ายแล้วไม่สามารถใช้บริการไม่ได้ เมื่อผู้ใช้บริการต้องการโอนย้ายไปผู้ให้บริการรายใหม่ แต่บริษัทไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่าต้องอยู่กับผู้ให้บริการรายเดิม 90 วัน ซึ่งประกาศ กสทช. ไม่เคยกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องกับอยู่ผู้ให้บริการรายเดิม 90 วัน แต่ผู้ใช้บริการสามารถโอนย้ายเครือข่ายเมื่อใดก็ได้, ปัญหาความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ เช่น มีการประชาสัมพันธ์ แต่ไม่มีการให้บริการในพื้นที่นั้น เป็นต้น


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 3 ปีแห่งการฟอกถ่านให้ขาว

Posted: 20 May 2013 10:19 PM PDT

 

หลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวปาฐกถาที่มองโกเลียเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นปัญหาประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่เกิดจากการรัฐประหาร การคุกคามของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย และการกวาดล้างปราบปรามประชาชน ในที่สุด วันที่ 8 พฤษภาคม พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ออกแถลงการณ์ของพรรค ส่งให้กับนานาประเทศ เพื่อคัดค้านคำปาฐกถา ซึ่งแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งของการโกหกบิดเบือน ฟอกถ่านให้ขาว และใส่ร้ายป้ายสีประชาชน แถลงการณ์นี้เท่ากับว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ขยายวาทกรรมโกหกบิดเบือนในสังคมไทยให้เผยแพร่ไปทั่วโลก

ในคำแถลงของพรรคประชาธิปัตย์ ได้อ้างว่าที่มาของปัญหาการเมืองในประเทศไทยว่า เกิดจากการบริหารของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น จนทำให้ฝ่ายทหารต้องเข้าแทรกแซงในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 และแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว ซึ่งเป็นการอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหาร ทั้งที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ได้เลยว่า การบริหารของรัฐบาลทักษิณมีการทุจริตมากมายเช่นนั้น และยิ่งไม่สามารถที่จะเป็นข้ออ้างสำหรับการก่อรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยได้เลย ต่อมา แถลงการณ์ก็อธิบายการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 ว่า มาจากการที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ และทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนจำนวนหนึ่งหันมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ โดยไม่อธิบายพลังทางการเมืองที่แวดล้อมกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญในการใช้ข้อกฏหมายอันเหลวไหลมาล้มรัฐบาลพลังประชาชนและเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่การโกหกบิดเบือนเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ เรื่องการกวาดล้างปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างจนมีผู้เสียชีวิตถึง 91 คนและบาดเจ็บนับพันคน แถลงการณ์ได้ให้คำอธิบายดังนี้

"ในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ สภาพการเมืองไทยมีการเผชิญหน้า และมีความรุนแรง สืบเนื่องมาจากแนวทางแก้ว 3 ประการ ของพ.ต.ท.ทักษิณและกลุ่มผู้สนับสนุน คือ พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และกองกำลังติดอาวุธ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรนั้นก็ได้มีส่วนร่วมในการประท้วงกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาให้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ใช่เป็นไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การชุมนุมได้มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของผู้อื่น และยังมีกองกำลังที่เรียกว่า ชายชุดดำ ใช้อาวุธสงคราม เช่น ลูกระเบิด M67 M79 และอาวุธสงครามต่างชนิด แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ,,,เป็นการชุมนุมที่มีกองกำลังติดอาวุธ ก่อการร้ายต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติด้วยกลไกต่างๆ ภายในขอบเขตของกฎหมาย ผู้เสียชีวิต 91 คน...มีทั้งข้าราชการ ทหาร และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษากฎหมายและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และผู้ประท้วงหลายคนถูกเข่นฆ่าด้วยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ"

คำอธิบายเช่นนี้ ก็เป็นการตอกย้ำถึงการโกหกโดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่ว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 นั้นเป็นการใช้ความรุนแรงและก่อการร้ายของประชาชนต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่วนการเข่นฆ่าสังหารเกิดจากกลุ่มชายชุดดำ ซึ่งเป็นกองกำลังของฝ่ายผู้ชุมนุม โครงเรื่องในการเล่าเรื่องนี้แบบพรรคประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมประท้วงที่ถนนราชดำเนินและราชประสงค์ โดยตั้งกองกำลังติดอาวุธมาด้วย จากนั้น ก็ใช้อาวุธเหล่านั้นยิงเจ้าหน้าที่ทหาร และยิงกันเองจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการกระชับพื้นที่จนประชาชนจำนวนมากหนีไปอยู่ในวัดปทุมวนาราม คนชุดดำก็ยังตามไปยิงผู้บริสุทธิ์ในวัดอีก 6 ศพ ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)มาควบคุมสถานการณ์ ส่งทหารติดอาวุธสงครามพร้อมมาล้อมที่ชุมนุม และแม้ว่าจะมีการยิงกระสุนนับแสนนัดก็ไม่ได้สังหารใครเลย แต่ในที่สุดก็สามารถนำประเทศคืนสู่ภาวะปกติได้ด้วยกลไกกฎหมาย

การเล่าเรื่องแบบนี้อาศัยการข้ามเรื่องหรือแกล้งไม่เล่าข้อเท็จจริงจำนวนมาก เช่น การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม โดยไม่มีความรุนแรงเลย ไม่มีหลักฐานใดเลยที่แสดงว่า คนเสื้อแดงที่มาชุมนุมขนอาวุธมาจากบ้าน ข้อเรียกร้องของการชุมนุมคือ ให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ การจัดตั้งกำลังอาวุธจะไม่มีส่วนใดเลยที่จะช่วยให้บรรลุข้อเรียกร้อง ความรุนแรงเริ่มเกิดในวันที่ 10 เมษายน โดยการที่ทหารฝ่ายรัฐบาลเริมเปิดฉาก"กระชับพื้นที่"โดยการใช้อาวุธเข้าสลายฝูงชน จากนั้น ศอฉ.ได้ประกาศ"ผังล้มเจ้า"เพื่อกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมว่า ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้กองทหารปิดล้อมการชุมนุมทุกด้าน การกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่เรียกว่า "ขอพื้นที่คืน"เริ่มจากการสังหาร พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ด้วยการยิงด้วยสไนเปอร์ ในวันที่ 13 พฤษภาคม จากนั้น ก็ยังได้ใช้สเปอร์ยิงประชาชนจำนวนมาก การล้อมกระชับและเข่นฆ่า จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมจึงประกาศยุติการชุมนุมแล้วถูกจับกุม หลังจากนั้นจึงเกิดการเผาห้างเซนทรัลเวิร์ล และศูนย์การค้าอีกหลายแห่ง โดยคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำ จึงถูกโจมตีว่าเป็นพวก"เผาบ้านเผาเมือง" แต่ในกรณีนี้ เมื่อผ่านมาแล้ว 3 ปี ก็ไม่มีหลักฐานใดที่จะระบุได้เลยว่า คนเสื้อแดงเป็นคนเผาสถานที่เหล่านั้น คนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมดำเนินคดีก็ถูกยกฟ้องเพราะหลักฐานอ่อน และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การโจมตีเรื่องเผาบ้านเผาเมืองกลายเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล

สรุปได้ว่า โครงเรื่องที่เล่าแบบพรรคประชาธิปัตย์เป็นโครงเรื่องที่เหลวไหลมาก แต่โครงเรื่องแบบนี้มีความจำเป็น เพื่อที่จะปกปิดความชั่วของรัฐบาลอภิสิทธิ์และ ศอฉ. ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการกวาดล้างสังหารประชาชน แต่ที่น่าแปลกใจคือ โครงเรื่องแบบนี้ได้รับการยอมรับ และฝ่ายพันธมิตรกลุ่มเสื้อเหลือง ส่วนมากก็ยอมรับและเล่าเรื่องในแบบเดียวกัน และกลับโจมตีแกนนำของผู้ชุมนุมว่าเป็นต้นเหตุของการเข่นฆ่าสังหาร

จนมาถึงขณะนี้เมื่อถึงโอกาสครบรอบ 3 ปีของการเข่นฆ่าสังหารประชาชน การดำเนินคดีต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้รับผิดชอบในการเข่นฆ่าก็ยังคืบหน้าช้ามาก และนายทหารที่เข้าร่วมสั่งการ ก็ยังไม่มีใครถูกจับกุมดำเนินคดีเลย ทั้งยังมีข่าวถึงการเสนอกฎหมายปรองดอง ที่จะนิรโทษให้กับฝ่ายทหารและผู้สั่งการ จึงคาดหมายล่วงหน้าได้ว่า คดีสังหารประชาชนครั้งใหญ่นี้ ก็จะเป็นมวยล้ม ศาลที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่นงานประชาชนตลอดมา จะไม่มีประสิทธิภาพในการเอาผิดฆาตกรตัวจริงได้

นี่คือความอยุธิธรรมในสังคมไทย และเป็นชะตากรรมของฝ่ายประชาชนไทย

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 411  วันที่ 18 พฤษภาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น