ประชาไท | Prachatai3.info |
- กวีประชาไท: ศพใต้ตีนหรือ !!
- ฟลัดข้อความในเฟซบุ๊ก
- คำถามถึง สปต. และการหายไปของคณะกรรมการ ‘ผู้หญิง’
- ค้านปลุกผีเหมืองตะกั่วรอบทุ่งใหญ่นเรศวร
- สุรินทร์เร่งปราบหนอนกระทู้ระบาดหนักกินกล้าข้าวกว่า 4,000 ไร่
- รู้จัก ‘ฮารา ชินทาโร่’ คนญี่ปุ่น สอนภาษามลายูที่ปัตตานี
- ตัวเลขการคุกคามมุสลิมในอังกฤษพุ่งสูงขึ้น หลังเหตุการณ์มือมีดวูลวิช
Posted: 25 May 2013 07:58 AM PDT ๐ เสียงกระซิบแผ่วโพ้น.........ผิเหมือน ใครร่ำโรยแรงเตือน...............เทวษต้อง ตกจมอยู่นานเดือน...............ปีดั่ง ใดแล โดดเดี่ยวโผผกพ้อง..............ส่ำผู้กลายสูญ ๐ กลางปูนปานป่าช้า............ศพสุม คราบเลือดนองเกรอะกุม........เกลื่อนแห้ง เสียงหวีดระงมคลุม..............ครันเงียบ สงัดเฮย ปาน บ่ เคยเกิดแกล้ง............บ่ รู้ บ เห็น ๐ บ่ รู้ บ่ เห็นใด__ธุลีไพร่ บ่ ใช่คน เพียงฝุ่นละอองหล่น__เลอะถนนมหานคร ๐ บ่ มีเลือดนองดิน__บ่ ยลยินเสียงหวีดว่อน ระเบิดสะท้านสะท้อน__กระสุนฉีกร่างทรุดกอง ๐ เมืองเถื่อนที่เปื้อนศพ__ก็ล้างลบคราบเลือดผอง ปักป้ายแผ่นดินทอง__ลงทาบทับประดับแทน ๐ ลืมศพสยบรัก__บนซากปรัก บ่ ดีแดน ดินเดือดน้ำตาแสน__กี่ล้านหยดจึงรดเย็น ๐ ชนยังจะยังชน__ฝ่าผจญเถอะชนเป็น ศพใต้ตีนรึเซ่น__สังเวยกราบเมืองบาปฤา !!
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 25 May 2013 05:19 AM PDT "ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย" 25 พ.ค.56, โดยผู้โพสต์มักใช้รูป Avatar เป็นหน้ากาก Guy Fawkes ผู้นำที่ต้องการลอบสังหารกษัตริย์(King James 1)และสมาชิกสภาขุนนางอังกฤษ หน้ากากนี้ออกแบบโดย David Lloyd และถูกใช้ในหนัง "V for Vendetta" รวมทั้ง เป็นสัญญาลักษณ์ของนักแฮกเกอร์นิรนามและใช้ชุมนุมประท้วงต่างๆ เช่น Occupy Wall Street เป็นต้น |
คำถามถึง สปต. และการหายไปของคณะกรรมการ ‘ผู้หญิง’ Posted: 25 May 2013 03:39 AM PDT ผู้เขียนยังไม่เคยเขียนเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงและสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงๆ จังๆ สักที เพราะที่ผ่านมาก็รู้สึกว่าไม่จำเป็น เนื่องจากเห็นมีผู้หญิงอยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่ประกอบด้วยผู้หญิงที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม[1] ถือเป็นคนในพื้นที่ ร่วมเป็นคณะทำงานและเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการจากองค์กรต่างๆ ได้แก่ มาเรียม ชัยสันทนะ จากศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา เน้นการทำงานร่วมกับเยาวชน โซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เน้นการทำงานกับหญิงหม้ายที่สูญเสียสามี พ่อ พี่ชายหรือน้องชาย จากสถานการณ์ความรุนแรง กัลยา เอี่ยวสกุล จากศูนย์ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี เน้นประเด็นสุขภาพและการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ส่วนประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะมี คุณละม้าย มานะการ เป็นตัวแทนเข้าประชุมแทน ผศ.นุกูล รัตนดากูล อยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่อย่างน้องจากจุดเริ่มต้นของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ใน 20 องค์กร ก็มีผู้หญิงเข้าร่วมอย่างเป็นทางการอยู่ 3 องค์กร และอีก 1 ที่เป็นตัวแทนด้านสิ่งแวดล้อม ถึงแม้โดยจำนวนคนแล้วอาจจะไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็มีเสียงของผู้หญิงและมีมิติของผู้หญิงอยู่บ้าง หากจะมีการขับเคลื่อนด้านสันติภาพ แต่เมื่อสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ประกาศตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน คำสั่งเลขที่ที่ 17/2556 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2556[2] ก็สร้างความประหลาดใจให้ข้าพเจ้าไม่น้อย เพราะกลับไม่ปรากฎรายชื่อผู้หญิงแม้แต่สักคนเดียวในคณะกรรมการชุดนี้! อย่างไรก็ตามข้อดีของ สปต. คือ คณะทำงานชุดนี้ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านสันติภาพโดยพยายามรวบรวมคณะทำงานที่มาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย คือ ผู้นำศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีความพยายามเปิดพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน นั้นคือ ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายอาชีพ นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ แต่ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตซึ่งเป็นคำถาม 2 ข้อใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิติหญิงชาย (gender) คือ 1) สปต. อาจจะไม่ทราบว่า มีผู้หญิงที่ทำงานด้านสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ 2) สปต.อาจจะทราบว่ามีผู้หญิงที่ขับเคลื่อนด้านสันติภาพแต่ขาดความละเอียดอ่อนด้านมิติหญิงชายในกระบวนการสันติภาพ หรือ gender sensitivity จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าไปร่วมคลุกคลีกับการเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ ข้าพเจ้าพบว่า มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพนี้ การที่ผู้หญิงต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะผู้หญิงถือเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางสังคมมากที่สุดหลังจากที่สามีเสียชีวิต พิการ สูญหาย ถูกกุมขัง อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรง ลองยกตัวอย่างบางตัวอย่างที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสด้วยตัวเอง ผู้หญิงบางคน เมื่อสามีหรือลูกชายคนโตเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ผู้ที่อยู่ในฐานะภรรยาหรือแม่ ต้องแบกภาระเลี้ยงลูกๆตามลำพัง และในบางครอบครัวที่มีลูกมากและอาจจะมากถึง 6-8 คน ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของผู้หญิงจากการเป็นแม่บ้าน ต้องกลายมาเป็นผู้นำครอบครัว การเสียชีวิตของผู้ชายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือลูกชายคนโตนั้นสำคัญมาก เพราะส่วนมากบทบาทของผู้หญิงมักจะเป็นแม่บ้านและทำงานเพื่อช่วยสามีเป็นหลัก บางครอบครัวที่สูญเสียสามี อาจจะมีลูกเล็กอายุไม่กี่เดือน จำเป็นต้องให้ลูกหย่านมและเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อหารายได้ เพราะเดิมทีผู้ที่หาเลี้ยง คือ สามีหรือลูกชาย ดังนั้นผลกระทบทางสังคมที่สำคัญตามมาก็คือ เด็กทารกขาดสารอาหารเพราะไม่ได้รับน้ำนมจากมารดา พี่ๆ น้องๆ ที่อายุมากหน่อยก็เลี้ยงน้องด้วยนมข้นหวานผสมน้ำเปล่าแทนนมของแม่ ลูกบางคนในบางครอบครัว ต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยแม่หาเงินเลี้ยงน้อง บางครอบครัวถ้าสามีหรือลูกชายไม่ตาย แต่ต้องกลายเป็นผู้พิการ ภรรยาหรือแม่ ต้องมีภาระในการดูแลอุ้มชูไปตลอดชีวิต แต่ที่ยากลำบากที่สุดคือ บางคนอาจจะต้องไปรักษาตัวที่กรุงเทพ การขึ้นไปดูแลลูกที่กรุงเทพหรือโรงพยาบาลในตัวเมืองหาดใหญ่ การเดินทางและค่ารักษา ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ หลายคนไม่ได้มีงานประจำ นอกจากจะเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหรือขายข้าว อาจจะต้องพึ่งพารายได้ในวันต่อวัน และในแต่ละวันอาจจะได้ไม่ถึง 300 บาท ทั้งยังต้องหักต้นทุน ค่าจ้างคนมาช่วยเสริฟ์อาหาร ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบที่ ที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน ส่งผลให้ลูกค้าไม่กล้าออกมาทานอาหารนอกบ้านเหมือนก่อนเหตุการณ์ความไม่สงบ รายได้ที่ควรจะได้รับจึงน้อยลง ในช่วงประมาณ 3-4 ปีแรกของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้หญิงจึงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นอย่างมาก ดังนั้นในช่วงแรกๆ ที่ทำได้คือ การรวมตัวกันระบายความทุกข์และความอึดอัดคับข้องใจ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน หลังจากนั้นอาจจะมีการระดมให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นคือ การเริ่มบริจาคนมผง และเงินเพื่อช่วยเหลือเหล่าบรรดาหญิงหม้ายทั้งหลาย ซึ่งก็สามารถเข้าถึงได้เฉพาะบางกลุ่ม บางคน ไม่ทั้งหมดทุกคน ภายหลังจากการพูดคุยไปนานๆ เข้า ก็มีการรวมกลุ่มกัน เริ่มมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นองค์กร เพื่อเสริมสร้างการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ผู้หญิงที่ทำงานด้านสันติภาพนอกจาก 4 คนที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงานในสภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ยังมีผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญอยู่อีกมากหลายคน และข้าพเจ้าอาจจะไม่สามารถกล่าวถึงองค์กรต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงเริ่มต้นทั้งหมดได้เพราะว่ามีเยอะแยะเหลือเกิน แต่ที่รู้จักอยู่บ้างและบางคนอาจจะไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ก็ทำงานด้านสันติภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ในช่วงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น คุณนารี เจริญผลพิริยะ นักสันติวิธี ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของคุณสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมที่ถูกอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ นักภาษาศาสตร์ภาคสนามจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินโครงการทวิภาษา ไทย-มลายู ในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา แพทย์หญิงนักสันติวิธี ผอ.ซูไบดะห์ ดอเลาะ ร.ร.อิสลามบูรพา พึ่งได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านสันติภาพชายแดนภาคใต้[3] เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล จากนายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ดวงสุดา สร้างอำไพ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แยน๊ะ สะแลแม ผู้ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเองเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2555 ถ้าจำไม่ผิด ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่ม BRN ก็มีผู้เสนอว่า ขอให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมได้หรือไม่ และทางกลุ่ม BRN ก็ยินดีและไม่ขัดข้อง ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าไม่มีผู้หญิงที่ทำงานด้านสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกลุ่ม BRN จะไม่พูดคุยกับผู้หญิงเลยนั้นประเด็นนี้อาจจะต้องตกไป ต่อคำถามข้อที่ 2) สปต.อาจจะทราบว่ามีผู้หญิงที่ขับเคลื่อนด้านสันติภาพแต่ขาดความละเอียดอ่อนด้านมิติหญิงชายในกระบวนการสันติภาพ หรือ gender sensitivity ข้าพเจ้านึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่อ อายู เธอเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย นักเรียนปริญญาเอกมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และนักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพที่ทำงานร่วมกับสหประชาชาติ (UN) กล่าวถึงความสำคัญของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมกับกระบวนการด้านสันติภาพในอะเจห์ว่า "เป็นเพราะว่ากระบวนการสันติภาพในอะเจห์ไม่ได้มีมิติของผู้หญิงตั้งแต่ต้น ดังนั้นเมื่ออะเจห์ได้สันติภาพ ผู้หญิงจึงไม่มีที่ยืนและมารู้สึกเสียใจมากมายมหาศาลในภายหลัง" เธอกล่าวว่า "มันไม่จำเป็นหรอกว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพจะมีข้อถกเถียงที่ชัดเจนและเข้มแข็งตามหลักการทางวิชาการ เพียงแต่ขอให้ผู้หญิงได้เข้าร่วม ได้นำเสนอมุมที่มาจากผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ได้รับการสนับสนุนจากมุมของพวกเธอ เพียงเท่านี้ก็นับว่าเพียงพอแล้ว"[4] ในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทย ข้าพเจ้าไม่คิดว่า ผู้หญิงเผิกเฉยหรือไม่อยากมีส่วนร่วม ในมุมมองของข้าพเจ้า ผู้หญิงอยากมีส่วนร่วมแต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปร่วมได้อย่างไรในเมื่อผู้กำหนดว่าใครควรเป็นคณะกรรมการหรือไม่เป็นคณะกรรมการ ขาดความละเอียดอ่อนด้านมิติหญิงชายในกระบวนการสันติภาพ หรือ gender sensitivity การที่มีผู้หญิงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน ที่แต่งตั้งโดยสปต. ซึ่งข้าพเจ้าคาดหวังว่า น่าจะมีการแต่งตั้งเพิ่มเติมในภายหลังได้อีกนั้น น่าจะช่วยให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพมีความเข้มแข็งและหนักแน่นมากยิ่งขึ้น เพราะผู้หญิงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับ อายูที่บอกว่าอย่างน้อย "ขอพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมและได้นำเสนอมุมที่มาจากผู้หญิง เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว" เพราะผู้หญิงก็มีความต้องการด้านสันติภาพที่อาจจะมีมิติแตกต่างจากผู้ชาย โดยเฉพาะการดูแลลูกๆ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่อยู่ในชุมชน ผู้หญิงจึงมีความสามารถที่จะพูดจากประสบการณ์ตรงในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเธอและภาระที่พวกเธอต้องแบกรับ และสามารถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสีย ความเศร้า ความสงสาร ความน่าเห็นอกเห็นใจ ความอึดอัดคับข้องใจ ในมุมมองของแม่ ภรรยา ลูกสาว น้องสาว พี่สาว ที่สูญเสียสามี ลูกชาย น้องชาย ได้อย่างลึกซึ้ง โดยประสบการณ์ตรงนั้น จะทำให้การเจรจามีน้ำหนักมากพอที่ฉายเห็นภาพได้ชัดว่า ทำไมจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องการสันติภาพ และข้าพเจ้าคิดว่าสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่สมบูรณ์หากขาดซึ่งผู้หญิง ผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน
[1] http://www.deepsouthwatch.org/node/2228 [2] http://prachatai.com/journal/2013/05/46849 [3] http://prachatai.com/journal/2013/03/45635 [4] http://prachatai.com/journal/2013/05/46711
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ค้านปลุกผีเหมืองตะกั่วรอบทุ่งใหญ่นเรศวร Posted: 25 May 2013 03:28 AM PDT ค้านกรมทรัพยากรธรณีปลุกผีเพื่อเปิดดำเนินการทำเหมืองแร่ตะกั่ว ในพื้นที่โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ้างอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ ศึกษาและผลักดัน โดยไม่ใส่ใจสภาพแวดล้อมและมติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปิดถาวรเหมืองแร่โดยรอบทุ่งใหญ่นเรศวร 25 พ.ค. 56 – สืบเนื่องจากกรมทรัพยากรธรณีได้เร่งโครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว สังกะสี) บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี หวังเปิดเหมืองแร่ตะกั่ว อย่างน้อย 3 เหมือง ได้แก่ เหมืองแร่เค็มโก้ เหมืองแร่บ่อใหญ่ และเหมืองแร่เกริงกระเวีย โดยจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม ศึกษาและผลักดัน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า เหมืองแร่บริเวณโดยรอบทุ่งใหญ่นเรศวร เหมือนผีที่ลงโลงไปแล้ว จากกรณีพบการปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ธรรมชาติ ทั้งกรณีเหมืองคลิตี้และเหมืองเค็มโก้ โดยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2541 - 2545 ได้มีมติหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งตกลงร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี, กรมป่าไม้, กรมควบคุมมลพิษ และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, คณะสมาชิกวุฒิสภา มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปศึกษาสภาพปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมาสรุปเป็นรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายเสน่ห์ จามริก ประธานมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และรัฐมนตรี 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีมติให้ยุติการทำกิจกรรมเหมืองแร่ โดยรอบเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งเหมืองแร่และโรงแต่งแร่อย่างเด็ดขาด และเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้รื้อถอนเครื่องจักร อุปกรณ์ บ้านพักคนงาน ออกนอกพื้นที่โดยเร็วที่สุด ตลอดจนดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรอบ นอกจากนี้แร่ตะกั่วเป็นสารพิษที่ร่างกายมนุษย์ไม่ต้องการเลย ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สินแร่นี้อยู่ใต้ดินลงไประดับลึก หากไม่มีการนำขึ้นมาก็จะไม่มีผลกระทบ การทำเหมืองแร่ตะกั่วในบริเวณนี้เป็นการนำสารพิษขึ้นมาทำเหมืองแร่ ซึ่งทำให้พิษตะกั่วเพิ่มขึ้น แล้วปล่อยของเสียจากการทำเหมืองแร่ออกสู่ธรรมชาติ ประกอบกับสภาพดินบริเวณนี้มีหลุมยุบจำนวนมาก ของเสียเหล่านี้จะไหลกับน้ำลงสู่หลุมยุบแล้วไปโผล่ในลำห้วยธรรมชาติ ทำให้มีผลต่อสภาพแวดล้อม เหมืองเค็มโก้และเหมืองบ่อใหญ่ก็มีข้อมูลชัดเจนว่าปล่อยของเสียลงสู่ห้วยดินโส ซึ่งทำให้ลำห้วยมีตะกั่วปนเปื้อน ลำห้วยนี้ไหลลงสู่แควน้อยหรือแม่น้ำไทรโยค ส่วนเหมืองคลิตี้ เหมืองบ่องาม และบางส่วนของเหมืองเค็มโก้ ก็ปล่อยของเสียลงสู่แควใหญ่หรือแม่น้ำศรีสวัสดิ์ แม่น้ำทั้งสองไหลรวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลองที่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี น้ำเหล่านี้เมื่อไหลถึงอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีมีการผันน้ำผ่านคลองมหาสวัสดิ์เข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นน้ำประปาให้คนกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรีใช้ "กรมทรัพยากรธรณีควรปรับเปลี่ยนนโยบายจากการส่งเสริมการทำเหมืองแร่เป็นการรักษาทรัพยากรธรณี เล่นงานผู้มีทำให้ทรัพยากรธรณีเสียหายหรือเป็นพิษ ดังเช่นกรมป่าไม้ก็ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำไม้เป็นรักษาป่าไม้และจับกุมผู้มาทำไม้ ขณะที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องเล่นงาน ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่บุกรุกยึดครองพื้นที่ป่าไม้อนุรักษ์ โดยไม่ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เป็นป่าสมบูรณ์ดังเดิม ที่สำคัญคือกรมควบคุมมลพิษต้องเร่งรัดฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษตะกั่วโดยเร็ว เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำแผนการฟื้นฟู ภายใน 90 วัน แต่ปัจจุบันเลยมากว่า 100 วันแล้วก็ยังไม่เห็นแผนการฟื้นฟูตามคำพิพากษาของศาล" นายสุรพงษ์ กล่าวในที่สุด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุรินทร์เร่งปราบหนอนกระทู้ระบาดหนักกินกล้าข้าวกว่า 4,000 ไร่ Posted: 25 May 2013 01:17 AM PDT เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดสุรินทร์ เร่งพ่นยาทำลายหนอนกระทู้ที่กัดกินต้นกล้าข้าว พร้อมทั้งให้ความรู้ในการแก้ไขปัญหาหนอนกระทู้ระบาดในแปลงนา 25 พ.ค.56 - ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ รายงานว่า จากกรณีที่เกิดการระบาดของหนอนกระทู้ ในนาข้าวที่บ้านบึง ต.ตรมไพร อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หนอนกระทู้กัดกินกล้าข้าวเสียหายไปถึง 1,630 ไร่ และกำลังสำรวจความเสียหาย อีก 4,000 ไร่ ล่าสุดในวันนี้ (25 พ.ค.56) สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ได้นำเจ้าหน้าที่ออกพ่นยาทำลายหนอนกระทู้ กระชับพื้นที่ให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมทั้งให้ความรู้เกษตรกร และเร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกหนอนกระทู้ ลงกัดกินต้น กล้าข้าว ซึ่งระบาดหนักในพื้นที่ ตำบลตรมไตร อ.ศรีขรภูมิ แล้ว ขณะที่ เกษตรจังหวัดสุรินทร์ ได้กำชับ จนท.ทุกพื้นที่ออกสำรวจเพื่อให้ช่วยเหลือ พร้อมแนะเกษตรกรหากพบเห็นให้แจ้ง จนท.เพื่อจะได้ส่งหน่วยปราบหนอนได้ทันที นายวันชัย พิทย์อักษร เกษตรจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ได้เร่งระดมเจ้าหน้าที่ออกพ่นยาเพื่อทำลาย หนอนกระทู้ ซึ่งได้เกิดระบาดในแปลงนาข้าว ที่เพิ่งปลูกใหม่ พื้นที่บ้านบึง หมู่ที่ 3 ต. ตรมไพร บ้านบรมสุข หมู่ที่ 7 ต.ราม และ บ้านโคกขลา หมู่ที่ 15 ต.จารพัต อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ กว่า 4,000 ไร่ในขณะนี้ พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เกษตรจับตาพื้นที่ควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการประชุมให้ความรู้เรื่องหนอนกระทู้ แก่เกษตรกร ในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหนอนกระทู้กัดกินกล้าในนาข้าว และวิธีการทำลายและวิธีการป้องกันในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบหนอนกระทู้กล้าในนาข้าว ซึ่งที่ผ่านมา ชาวเกษตรกรได้ซื้อยาเคมี มาลาไทออน มาทำลายก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ ให้ใช้ยามาลาไทออน (ประเภท ฆ่าเชื้อราบิวเบอร์เรีย) และได้ตอบข้อซักถามจากชาวเกษตรกร ในเรื่องการปราบให้หนอนกระทู้หมดไปจากพื้นที่นาจนเป็นที่เข้าใจ นายวันชัย พิทย์อักษร เกษตรจังหวัดสุรินทร์ ได้กล่าวว่าตามที่ได้เกิดพื้นที่หนอนกระทู้กล้าในนาข้าวประมาณ 4,000 ไร่ ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ได้ลงพื้นที่สำรวจพร้อมทั้งได้นำยายาเคมีมาลาไทออนมาพ่นทำลายกำจัดในพื้นที่ระบาดรุนแรง และยามาลาไทออน (เชื้อราบิวเบอร์เรีย) เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งเมื่อฉีดไปแล้วจะทำให้หนอน ไม่กินอาหารจะทำให้ป่วยและตายในที่สุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระชับพื้นที่ไม่ให้หนอนกระทู้กล้าในนาข้าว ลุกลามที่ในที่ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ได้แนะนำชาวนาไม่ต้องตื่นตระหนก และให้ออกสำรวจพื้นที่นาตนเอง หากพบเห็นว่ามีหนอนกระทู้กล้าในนาข้าว ให้รีบแจ้ง เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลหรือเกษตรอำเภอในทุกพื้นที่รับผิดชอบโดยด่วน เพื่อจะได้ทำการช่วยเหลือทันที ก่อนที่จะได้รับความเสียหาย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รู้จัก ‘ฮารา ชินทาโร่’ คนญี่ปุ่น สอนภาษามลายูที่ปัตตานี Posted: 25 May 2013 01:02 AM PDT รู้จัก 'ฮารา ชินทาโร่' คนญี่ปุ่น มาเป็นอาจารย์สอนภาษามลายู ที่ มอ.วิทยาเขตปัตตานี อยู่ที่นี่นานถึง 14 ปี จนเก่งภาษาไทยถึงขั้นเขียนบทความได้ แถมยัง 'แกแจะนายู' หรือพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้ชัดเจนคล่องปรื๋อ ฮารา ชินทาโร่ ปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องการฟื้นฟูภาษามลายูในปาตานีอย่างมาก หลายองค์กรได้จัดเวทีเกี่ยวกับภาษามลายูอย่างแพร่หลาย ทั้งเวทีสัมมนา เสวนา รวมทั้งเวทีการแสดงต่างๆ แม้กระทั่งเวทีสาธารณะที่พูดถึงเกี่ยวการเมือง การปกครองหรือสันติภาพ หลายเวทีปรากฏว่ามีชายหนุ่มผิวขาว ผมตั้ง สวมแว่นสายตา ใบหน้าออกไปทางคนญี่ปุ่น ซึ่งไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนที่นี่ แต่กลับพูดภาษามลายูได้อย่างคล่องปรื๋อ และไม่ทิ้งสไตล์คนญี่ปุ่นที่พูดเร็วจนบางครั้งจับความแทบไม่ทัน แถมยังพูดไทยได้คล่อง บางครั้งก็ "แกเจะนายู" แบบบ้านๆในปัตตานีด้วย เขาคือ อาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ (HARA SHINTARO) อาจารย์สอนวิชาภาษามลายู ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี หรือที่ใครชอบเรียกว่า "อาจารย์ชินทาโร่" ที่จริงอาจารย์ชินทาโร่มีอีกชื่อหนึ่งว่า "บาดีอุซซามาน" เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า "การเริ่มต้นของยุคสมัย" เป็นชื่อที่เขาได้รับหลังจากเข้ารับอิสลามเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ปัจจุบันอาจารย์ชินทาโร่อายุ 40 ปี ที่สำคัญเขามาอาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานีมา 16 ปีแล้ว อาจารย์ชินทาโร่ เล่าถึงที่มาที่ไปของการเข้ารับอิสลามและการได้มาเป็นอาจารย์สอนภาษามลายูที่ปัตตานีว่า เริ่มจากการเรียนรู้ภาษามลายู ที่มหาวิทยาลัยเคโอะ (keio) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เขาบอกว่า เมื่อก่อนทั้งตนเองและคนญี่ปุ่นทั้งหมดไม่รู้จักภาษามลายูเลย รู้แต่เพียงว่าประเทศมาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตยางและดีบุกของโลก ส่วนสาเหตุที่ตนเองเลือกเรียนภาษามลายู ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรี เพราะมีคนเรียนน้อยและไม่ค่อยเป็นที่สนใจ จึงเลือกเรียนภาษานี้ เพราะเป็นภาษาที่น่าสนใจมาก "ผมเรียนภาษามลายูแบบเข้ม สัปดาห์ละ 8 คาบ ทั้งการฝึกอ่าน พูด เขียน จนสามารถสื่อสารได้ในระดับหนึ่ง โดยครูสอนภาษามลายูมาจากประเทศมาเลเซีย" จากนั้นครูได้ชักชวนนักศึกษาเดินทางไปฝึกภาษามลายูในพื้นที่จริง โดยเลือกบ้านเกิดของครู คือที่หมู่บ้านปาตูปาฮัร รัฐยะโฮร์ ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ในที่สุดผมและเพื่อนๆ ก็ได้สนทนากับคนที่พูดมลายู ซึ่งการพูดคุยโต้ตอบทำให้เราชอบภาษานี้มากขึ้น
เริ่มสนใจอิสลาม หลังจากได้เรียนรู้ภาษามลายูในพื้นที่จริง ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามไปด้วย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทำให้ซึมซับความเป็นมุสลิม ทั้งความเชื่อและวิถีชีวิต จนเกิดความรู้สึกอยากเข้ารับอิสลามขึ้นมา หลังจากนั้นจึงเรียนรู้เกี่ยวกับอิสลามมากขึ้น โดยพยายามศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเรียนรู้จากผู้รู้ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หลังจากเข้ารับอิสลามแล้ว ผมต้องปรับตัวหลายอย่าง เช่น การละหมาด 5 เวลา การรับประทานอาหารที่ฮาลาล เรียนรู้กฎหมายชาริอะห์ และหลักฮารอมกับฮาลาล ตอนเข้ารับอิสลามใหม่ๆ มีปัญหากับครอบครัวในระดับหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ โดยผมพยายามให้ความเข้าใจแก่พ่อแม่และคนในครอบครัวว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สวยงาม สอนให้คนทำความดี มีความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งก็ตรงกับคำสอนในประเทศญี่ปุ่นที่เน้นเรื่องการกตัญญูด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้ผมยังเคารพพ่อกับแม่ แม้จะนับถือคนละศาสนากัน ซึ่งการให้ความเคารพนั้นเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้พ่อแม่ผมสบายใจว่า ศาสนาอิสลามไม่ได้พรากผมไปจากพ่อกับแม่ ทุกวันนี้ยังพูดคุยติดกับพ่อแม่ทุกวันผ่านทางอินเตอร์เน็ต
ครั้งแรกที่มาปัตตานี การเข้ามาทำงานใน มอ.ปัตตานี ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า แต่สอบบรรจุเข้ามาได้จึงได้มาสอนที่นี่ เป็นความบังเอิญมากกว่าครับ ครั้งแรก ที่ได้มาที่ปัตตานี เนื่องจากได้รู้จักกับอาจารย์และนักศึกษา มอ.ปัตตานี ตอนเข้ารวมการแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ภาษามลายู ซึ่งผมเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น ส่วนพวกเขาเป็นตัวแทนของประเทศไทย หลังจากนั้นผมเรียนต่อที่ประเทศมาเลเซีย ณ Universiti Malaya สาขามลายูศึกษา เรื่องการเปรียบเทียบภาษามลายูกลางกับภาษามลายูถิ่นปาตานี ก็เลยเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูล และได้มาที่ปัตตานีครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1998 มาอยู่ 4 เดือน แล้วกลับไปอยู่ที่มาเลเซีย 1 ปี หลังจากนั้นจึงมาอยู่ที่ปัตตานีอีกครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 จนปัจจุบัน ก่อนหน้านั้น ผมมีรายได้จากการเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น-มลายูที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมามีงานน้อยลง จึงต้องหางานทำ และอยากอยู่ที่ปัตตานี จึงติดต่อ มอ. ขอสมัครสอนภาษาญี่ปุ่นในช่วงแรก แต่ไม่ได้เพราะไม่มีตำแหน่งว่าง แต่บังเอิญในแผนกภาษาอาหรับของคณะมนุษยศาสตร์ มีตำแหน่งว่าง ซึ่งคนต่างชาติสมัครได้ เป็นพนักงานช่วยหาข้อมูล จนกระทั่งปี ค.ศ.2006 จึงได้สมัครเป็นอาจารย์สอนภาษามลายู ผมมาอยู่ที่ปัตตานีตอนที่ยังไม่เกิดเหตุไม่สงบ รู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่น่าอยู่มาก จึงทำให้อยากอยู่ที่นี่ หลังจากเกิดเหตุไม่สงบขึ้นมา ก็สามารถอยู่ได้ เพราะคิดว่า อยู่ที่ไหนก็หนีไม่พ้นความตาย และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะตาย แต่ก็กลัวเหมือนกัน จึงต้องอยู่ให้เป็นและปลอดภัย
มุมมองต่อภาษามลายู ปัจจุบันคนทั่วโลกมองว่า ภาษามลายูเป็นภาษาที่ต่ำต้อย ด้อยค่า ผมจึงอยากยกระดับภาษามลายูโดยจะรื้อฟื้นภาษานี้ให้มีความโดดเด่นในประชาคมอาเซียนและเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก โดยผมเริ่มทำวิจัยเปรียบเทียบระหว่างภาษามลายูถิ่นกับภาษามลายูกลางว่า คนในประเทศจะเข้าใจและสื่อสารภาษาใดได้ดีกว่ากัน ผลการวิจัย พบว่า คนมลายูในประเทศมาเลเซียใช้ภาษามลายูถิ่นมากกว่า เพราะรากฐานของภาษามลายูคือภาษามลายูถิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับหลักสูตรภาษามลายูที่นำมาสอนในแผนกวิชาภาษามลายู ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ผมมีโอกาสรวบรวมเป็นหลักสูตรภาษามลายู เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความร่วมมือในประชาคมอาเซียน ทีภาษามลายูจะเป็นภาษาที่นำมาใช้ได้
อ่านฉบับภาษามลายูได้ที่ http://issuu.com/deepsouthwatch/docs/sinaran_4?mode=window ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตัวเลขการคุกคามมุสลิมในอังกฤษพุ่งสูงขึ้น หลังเหตุการณ์มือมีดวูลวิช Posted: 24 May 2013 09:52 PM PDT หลังเกิดเหตุการณ์สังหารคนกลางถนนในย่านวูลวิชกรุงลอนดอนเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวพูดถึงเหตุการณ์ในกรณีนี้ว่าเป็นการก่อการร้ายของชาวมุสลิม แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นการสร้างความหวาดกลัวแบบ Islamophobic และมีกระแสการคุกคามทางอินเตอร์เน็ตรวมถึงพยายามเผามัสยิดในเมืองต่างๆ ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. เว็บไซต์ Tell Mama ซึ่งเป็นองค์กรรับร้องทุกข์การก่ออาชญากรรมที่มาจากความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobic) เปิดเผยว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น 38 เหตุการณฺ์ รวมถึงการโจมตีมัสยิด 3 แห่ง และมีรายงานเหตุการณ์เพิ่มขึ้นอีกในวันพฤหัสบดี เหตุการณ์ในย่านวูลวิชเกิดขึ้นเมื่อมีชายชื่อ ลี ริกบีย์ ที่สื่อหลายแห่งระบุว่าเป็นทหารถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดโจมตีจนถึงแก่ชีวิต หลังจากนั้นจึงมีสตรีผู้หนึ่งชื่อ อิงกริด ลอเยา-เคนเนทท์ พยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกโจมตีแต่ไม่ทันการ จึงได้หันไปพูดคุยกับผู้ก่อเหตุ โดยตัวผู้ก่อเหตุอ้างว่าตนกระทำไปเพื่อต้องการแก้แค้นให้กับชาวมุสลิมที่ถูกสังหารโดยทหารอังกฤษในประเทศเช่น อัฟกานิสถาน หลังจากนั้นทางการอังกฤษก็ประกาศว่าเหตุการณ์ฆาตกรรมดังกล่าวเป็น "การก่อการร้าย" ทางด้านผู้นำศาสนากลุ่มต่างๆ ของมุสลิม เช่นกลุ่ม สภามุสลิมอังกฤษ, มูลนิธิรอมฎอร, กลุ่มชุมชนอิสลามของอังกฤษ และกลุ่มย่อยอื่นๆ ก็พากันประณามการฆาตกรรมในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลกระทบโดยเป็นการกระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวแบบ phobic หรือความหวาดกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ทำให้ในวันที่ 23 พ.ค. ทางการอังกฤษได้วางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 1,200 นายตามท้องถนน และมีการตรวจตราเป็นพิเศษตามมัสยิดและศาสนสถาน หลังจากที่กลุ่มขวาจัดแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเหตุการณ์ฆาตกรรมในวูลวิช ฟิยาซ์ มุกัล ผู้ประสานงานของ Tell Mama กล่าวว่าโดยปกติแล้วองค์กรจะได้รับแจ้งเหตุโดยเฉลี่ยเพียง 3-4 รายต่อวัน แต่หลังเกิดเหตุเมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็มีรายงานเพิ่มมากขึ้นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความไม่พอใจต่อชาวมุสลิมยังไม่เลือนหายไปง่ายๆ "พวกเรารู้สึกเป็นกังวล เมื่อคุณมองภาพความไม่พอใจและการตอบโต้ในวงกว้าง มันบอกกับเราว่าปัญหากำลังเพิ่มมากขึ้น และเป็นบางอย่างที่ดำเนินไปในทิศทางที่ปั่นป่วนอย่างมาก" ฟิยาซ์กล่าว ฟิยาซ์กล่าวอีกว่าเขาถูกนำข้อมูลที่อยู่ไปโพสท์ลงบนทวิตเตอร์ และมีคนยุยงให้มายิงเขา จากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นฟิยาซ์ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคุ้มกันการสวดมนต์ในวันศุกร์เนื่องจากเกรงว่าจะมีกลุ่มขวาจัดเข้ามาเผชิญหน้ากับศาสนิกชน มีชายวัย 43 ปีถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องสงสัยพยายามก่อเหตุลอบวางเพลิงและมีอาวุธอันตรายไว้ในครอบครองที่มัสยิดในเมืองเบรนทรี มณฑลเอสเซ็กซ์ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. อีกรายหนึ่งเกิดขึ้นที่มัสยิดของเมืองกิลลิงแฮม มณฑลเคนท์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยก่อเหตุสร้างความเสียหายจากการทะเลาะวิวาททางเชื้อชาติไว้ได้ นอกจากนี้ในคืนวันพุธที่ผ่านมา ยังมีผู้พ่นกราฟฟิตี้ตามมัสยิดของเมืองโบลตันและมีการทำลายรถที่จอดอยู่ภายนอก และมีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นที่เคมบริดจ์ในวันพฤหัสฯ Tell Mama ได้รวบรวมเหตุการณ์จากรายงานข่าว โซเชียลมีเดียและจากการร้องเรียน ทำให้ทราบว่ามีมัสยิด 7 แห่งถูกโจมตี รวมถึงมีการถ่มน่ำลายใส่หรือการข่มขู่บนท้องถนน และมีมัสยิดอีกหลายแห่งถูกข่มขู่ทางอินเตอร์เน็ต เช่นบนหน้าเพจ "True British Patriots" (ชาวอังกฤษผู้รักชาติอย่างแท้จริง) มีการชู่เผามัสยิดในย่านวัดฟอร์ด, เฮิร์ทฟอร์ดไชร์ และมอร์เดน ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน จูลี ซิดดีชี จากกลุ่มชุมชนอิสลามของอังกฤษกล่าวว่า พวกเขาไม่ยอมให้เสียงของผู้นำพรรคชาตินิยมอังกฤษ นิค กริฟฟิน และของกลุ่มขวาจัด ดังไปกว่าเสียงของพวกเขา และกลุ่มองค์กรมุสลิมทุกกลุ่มก็ออกมากล่าวว่าไม่มีข้ออ้างใดๆ ก็ตามที่จะให้ความชอบธรรมกับการกระทำเช่นนี้ ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุฆาตกรรมกลุ่มสมาคมพิทักษ์ชาติอังกฤษ (EDL) ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัดได้มาชุมนุมกันที่วูลวิชจนมีการปะทะกับเข้าหน้าที่ตำรวจนานหนึ่งชั่วโมง พวกเขายังเรียกร้องให้มีการชุมนุมในวันจันทร์หน้า (27 พ.ค.)ที่ดาวน์นิงสตรีทเพื่อแสดงการสนับสนุนกองทัพอังกฤษ มาร์ก โรวลีย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอังกฤษเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ได้คอยเฝ้าระวังโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้มีใครอาศัยสถานการณ์ในการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ "ใครก็ตามที่เห็นว่านี่เป็นโอกาสในการประท้วง สร้างความวุ่นวาย หรือสร้างความตึงเครียด ล้วนไม่เป็นที่ต้องการและไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น และพวกเราก็คิดว่าไม่ควรให้มันเกิดขึ้น" มาร์ก โรวลีย์กล่าว นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน และนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน บอริส จอห์นสัน ต่างก็บอกว่าผู้ต้องสงสัยก่อเหตุฆาตกรรมในครั้งนี้เป็นการทรยศต่อศาสนาของตัวเอง "นี่ไม่ใช่เพียงการโจมตีชาวอังกฤษและวิถีชีวิตของคนอังกฤษ แต่มันยังเป็นการทรยศต่อศาสนาอิสลามและชุมชนชาวมุสลิมซึ่งทำอะไรให้ประเทศเราอย่างมาก" เดวิด คาเมรอนกล่าว ทางด้าน ดร. แมธธิว เฟล์ดแมน ผู้ที่กำลังมีโครงการตั้งศูนย์ศึกษากลุ่มขาวจัดในมหาวิทยาลัยทีสไซด์กล่าวว่ากลุ่มขวาจัดอย่าง EDL และกลุ่มมุสลิมสุดโต่งต่างก็มีส่วนเอื้อต่อกันและกัน แมธธิวเกรงว่าจะมีกรณีโจมตีแก้แค้นกันไปมาและต่างฝ่ายต่างก็อ้างความชอบธรรมของตัวเอง
เรียบเรียงจาก Attacks on Muslims spike after Woolwich killing, The Guardian, 23-05-2013 The Woman Who Stood Up to the Woolwich Butchers, The Daily Beast, 23-05-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น