โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชวนอ่าน รายงาน iLaw ว่าด้วยสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออก ประเทศไทย ปี 55-56

Posted: 30 May 2013 02:34 PM PDT

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยแพร่รายงาน สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออก ประเทศไทย ประจำปี 2555-2556 โดยรวบรวมสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สื่อ การบริโภคข่าวสาร และการแสดงออกในสังคมไทย ทั้งที่เป็นสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และการใช้สื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต

รายงานดังกล่าว ประกอบด้วยข้อมูลการปิดกั้นและละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ประมวลคำพิพากษาใหม่ ความเคลื่อนไหวคดี และร่างกฎหมาย-คำสั่ง-นโยบายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2555 ถึง เมษายน 2556


อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ : http://freedom.ilaw.or.th/th/2012_2013

 


(ส่วนหนึ่งจากรายงาน)
การปิดกั้นและการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

เหตุผลทางศีลธรรม การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ความมั่นคงของประเทศ ความสามัคคีของคนในชาติ การหมิ่นศาสนา และการหมิ่นประมาทบุคคล เป็นเหตุผลหลักที่ถูกใช้เพื่อการปิดกั้นและละเมิดเสรีภาพ เมื่อจำแนกตามประเภทสื่อพบรายละเอียดการละเมิดที่น่าสนใจ ดังนี้

  •     พลเมือง พบการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะแล้วถูกดำเนินคดี โดยมีพลเมืองถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คดีใหม่อย่างน้อย 3 คดี และคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอย่างน้อย 2 คดี
  •     สื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ปรากฏรายชื่อหนังสือที่ถูกสั่งแบนตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 แต่มีหนังสือพิมพ์ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา ตามมาตรา 326 อย่างน้อย 15 คดี สาเหตุส่วนใหญ่เป็นการฟ้องเพราะหมิ่นประมาทบุคคลให้เสียหาย หัวหนังสือที่นักข่าว คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการ ถูกฟ้องใหม่ในปี 2012 ได้แก่ หนังสือพิมพ์สยามดารา หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ส่วนผู้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อหนังสือพิมพ์ในปี 2012 ได้แก่ บุคลากรในแวดวงดารานักแสดง นักธุรกิจ สโมสรฟุตบอล บริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ข้าราชการทหาร และ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  •     สื่อภาพยนตร์ ภาพยนตร์ถูกแบนและเซ็นเซอร์รวม 2เรื่อง คือ เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ถูกสั่งห้ามฉายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วยเหตุผลว่าภาพยนตร์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม และภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ถูกสั่งห้ามฉายเช่นกันแต่ต่อมา คณะกรรมการภาพยนตร์แจ้งให้ตัดบางฉากแล้วเผยแพร่ได้
  •     สื่อโทรทัศน์ มีรายการที่ถูกสั่งให้งดออกอากาศโดยอำนาจเจ้าของสถานีอย่างน้อย 3 รายการ และถูกปรับโดยอำนาจของ กสทช. 1 รายการ และถูกชะลอการออกอากาศและอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวน 1 รายการ เหตุผลของการละเมิดคือ มีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี มีการดูหมิ่นศาสนา และดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ
  •     สื่ออินเทอร์เน็ต มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มากกว่าสองหมื่นยูอาร์แอล โดยร้อยละ 80 เป็นเพจที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ร้อยละ 20 มีเนื้อหาลามกอนาจาร และมี 1 ยูอาร์แอลเป็นเนื้อหาดูหมิ่นศาสนา

อย่างไรก็ดี การปิดกั้นหรือห้ามเผยแพร่ อาจเป็นตัวชี้วัดการละเมิดเสรีภาพได้เพียงมิติเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีรูปแบบการละเมิดเสรีภาพด้วยวิธีอื่นๆ อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเซ็นเซอร์ตัวเองที่ถือเป็นวิกฤตสื่อรูปแบบใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘แม่น้องเกด’ หนุน พ.ร.บ.ปรองดองฉบับ ปชช.-ร้องปลด ‘ธาริต’ จากคดีแดง

Posted: 30 May 2013 02:33 PM PDT

กลุ่มญาติเหยื่อเมษา-พ.ค.53 ร่วมญาติพฤษภาทมิฬ ประกาศค้านร่างปรองดองเฉลิม-นิรโทษฯ ฉบับวรชัย ดันร่างปรองดองฉบับประชาชน พร้อมจี้ให้ย้าย 'ธาริต' ออกจากพนักงานสอบสวน ชี้ 3 ปีหลายคดีไม่คืบหน้า แม่น้องเกดฉะ 'นปช.' อึกอักค้านนิรโทษคนสั่งฆ่า

วันที่ 30 พ.ค.56 เวลา 14.00 น.ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.2553 กว่า 20 คน นำโดย นางพะเยาว์และนายณัทพัช อัคฮาด มารดาและน้องชายของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่วัดปทุมวนาราม พร้อมด้วยนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำประเทศไทย และนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาประชาธรรม 35 ร่วมกันแถลงจุดยืนคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ฉบับนายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย
 
เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิมนิรโทษแกนนำ คนสั่งการ และทหาร ส่วนร่าง พ.ร.บ.ของนายวรชัย แม้เป็นการนิรโทษประชาชนที่ถูกจำคุก แต่พบว่าล้างความผิดให้แก่ทหารผู้ปฏิบัติการด้วย
 
 
แถลงจุดยืนกลุ่มญาติฯ โอกาสครบรอบ 3 ปีของเหตุการณ์
 
นางพะเยา แถลงจุดยืนอย่างเป็นทางการของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค. เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของเหตุการณ์ โดยระบุว่า เนื่องด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553 ที่ผ่านมาเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บร่วม 2,000 คน กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในครั้งนั้น ได้ร่วมประชุมและหารือกันแล้ว โดยมีจุดยืน คือ 1.ทางกลุ่มญาติไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังตามเรือนจำต่างๆ
 
ทางญาติได้ตกลงและเห็นต้องกันว่าทางกลุ่มญาติจะสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่เกี่ยวกับแกน คนสั่งการ และทหาร ซึ่งจะเป็นการนิรโทษเฉพาะประชาชนโดยไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองและผู้สั่งการให้ฆ่าประชาชน เพราะประชาชนต่างเป็นเหยื่อทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อสีอะไร แต่ทุกคนก็คือประชาชน พวกเราจึงสนับสนุนให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาโดยเร็ว เพื่อช่วยประชาชนที่ถูกจองจำจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ออกมา พบญาติพี้น้องและแสดงสิทธิของความเป็นประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ
 
2.ขอให้ดำเนินการเร่งสอบสวนสืบสวนคดีที่ยังคงติดค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้มีการก้าวไปสู่การดำเนินการในชั้นศาล เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดโดยเร็ว เนื่องจากผ่านมาเป็นเวลา 3 ปีเต็มแล้ว หลายๆ คดียังไม่คืบหน้าไปไหน จึงขอให้เร่งรัดในการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนเพื่อความจริงจะได้ปรากฏเร็วขึ้น โดยการย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากตำแหน่งเจ้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ เพราะความจริงแล้วนายธาริต ก็เป็นหนึ่งในคณะที่สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์เช่นเดียวกัน
 
พวกเราเชื่ออย่างยิ่งว่าฆาตกรไม่มีวันจะทำความจริงให้ปรากฏเพื่อให้ตัวเองติดคุกอย่างแน่นอน หวังว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตอบรับข้อเสนอของทางกลุ่มญาติฯ อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ขอเป็นของขวัญให้กลุ่มญาติในวาระครบ 3 ปีของเหตุการณ์ เพราะทุกคนต่างมีความหวังว่าญาติพี่น้องของพวกเราที่เสียชีวิตไปจะได้ตายตาหลับ ถ้าได้รับรู้ว่าผู้ที่สั่งฆ่าพวกเขาได้รับโทษทัณฑ์จากการสั่งฆ่าประชาชนตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นชีวิตของญาติพี่น้องที่สูญเสียไปรวมถึงชีวิตของพวกเราก็ไม่ต่างอะไรกับเศษเนื้อทางการเมืองชิ้นหนึ่ง ที่มีไว้เพื่อเซ่นสังเวยให้กับผู้ที่กระหายอำนาจและแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง
 
 
แม่น้องเกดฉะ"นปช." อึกอักค้านนิรโทษคนสั่งฆ่า
 
"รัฐบาล พรรคเพื่อไทย รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สไกป์มายังเวทีราชประสงค์ว่าต้องนิรโทษประชาชนก่อนนั้น ขอให้ผลักดันอย่างจริงใจ และอย่าลืมประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทุกวันนี้แม้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่ภรรยาและลูกยังสามารถเดินทางไปพบปะได้ แต่พ่อแม่ที่ลูกเสียชีวิต วันนี้ไม่รู้จะตามไปเจอลูกที่ไหน"นางพะเยาว์กล่าว
 
นางพะเยาว์ กล่าวด้วยว่า ทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะองค์กรของคนเสื้อแดงควรออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเหมาเข่งที่นิรโทษแกนนำ ผู้สั่งการ ทหารอย่างเต็มที่ ทางเราไม่ได้มีปัญหาที่เเกนนำรับตำเเหน่งทางการเมือง ขอเพียงอย่าลืมประชาชน อย่าลืมผู้เสียชีวิต แต่ขณะนี้ปรากฎว่าทาง นปช.กลับคัดค้านร่างที่นิรโทษผู้สั่งฆ่าไม่เต็มปากเต็มคำ ได้แต่พึมพำอยู่ในลำคอ"
 
ด้านณัทพัช กล่าวว่า ในส่วนของผู้สูญเสียทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้งประชาชนและทหาร ต้องการให้ทำความจริงให้ปรากฏ โดยทางนางนิชา ธุวธรรม ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตก็เชื่อว่าทาง นปช.เป็นฝ่ายกระทำ ส่วนทาง นปช.ก็เชื่อว่าทางเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายปราบปรามประชาชน วันนี้กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตมีเป้าหมายเดียวกันคือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตอบคำถามนี้
 
นอกจากนั้นขอฝากไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึง ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ ส.ส. 163 คนที่ร่วมลงชื่อ โดยอ้างว่าต้องการนำท่านกลับประเทศไทยนั้น เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีวุฒิภาวะมากพอที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ และขอถามว่าพวกเขาต้องการให้ท่านกลับมาจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการนำมาอ้างเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
 
 
ญาติพฤษภาทมิฬชี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตีโจทย์ผิดให้ประชาชนกลายเป็นผู้ต้องหา
 
ขณะที่นายอดุลย์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัยนั้น เป็นการตีโจทย์ผิดให้ประชาชนกลายเป็นผู้ต้องหา พร้อมยืนยันว่าการจะให้ทุกฝ่ายเกิดความปรองดองได้ต้องนำความจริงมาเปิดเผยก่อน ดังนั้นการให้นายธาริตออกจากหน้าที่พนักงานสืบสวนคือทางออก ซึ่งหากทำให้ความจริงปรากฏได้ว่าใครเป็นคนสั่งปราบปรามประชาชน ชายชุดดำมีจริงหรือไม่ และนำคนเหล่านั้นมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมรับผิดที่ทำไปทุกคนก็พร้อมที่จะนิรโทษกรรมยกโทษให้
 
ทั้งนี้ ขอฝากไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าควรทบทวนการเดินหน้านิรโทษกรรม เพราะการกระทำตัดตอนความจริงก็ไม่ต่างอะไรจากสมัย รสช. อีกทั้งหากออกกฎหมายได้ แต่ปัญหาความขัดแย้งยังมีอยู่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมาได้หรือไม่
 
 
ที่ปรึกษาฮิวเมนไรต์วอตช์ไทย ชี้ร่างเฉลิมไม่ต่างจาก "บิ๊กบัง" ลดความเชื่อถือกระบวนการยุติธรรม
 
ด้านนายสุนัยกล่าวว่า กระบวนการปรองดองที่จะเป็นประโยชน์ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ใครมีส่วนรับผิดชอบตามกระบวนการยุติธรรมบ้าง เมื่อนั้นทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริงและออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหลังการพิพากษาไปแล้วก็ควรให้สังคมไทยตัดสินว่าสมควรล้างผิดหรือไม่ เพราะการล้างผิดเพื่อสนองความต้องการทางการเมืองไม่ควรเกิดขึ้น
 
ส่วนการยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม นั้นก็ไม่ต่างจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. เพราะมีหลักการที่คล้ายกัน และชัดเจนว่าเป็นการนิรโทษกรรมเหมารวม ทั้งนี้ ตนมีโอกาสพูดคุยกับน้องสาวของช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเหตุการณ์ 19 พ.ค.53 หลังจากที่ศาลวินิจฉัยแล้วว่าช่างภาพอิตาลีถูกกระสุนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งน้องสาวของช่างภาพอิตาลีที่เสียชีวิตยังมองว่าการนิรโทษกรรมนั้นสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่ชัดเจนว่าใครทำผิดก็สามารถนิรโทษกรรมโดยไม่ต้องรับโทษได้ ซึ่งถือเป็นการลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลเลื่อนสืบพยานคดีก่อการร้าย ปี 53 ไป 6 มิ.ย. เหตุจำเลยติดสมัยประชุมสภา

Posted: 30 May 2013 02:09 PM PDT

เลื่อนสืบพยานคดี 24 นปช. ถูกฟ้องก่อการร้าย สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไป 6 มิ.ย. เหตุ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, ก่อแก้ว พิกุลทอง และวิภูแถลง พัฒนภูมิไท จำเลยในคดีติดประชุมสภา ไม่สามารถมาศาลได้ ด้านสหภาพรัฐสภา ส่งตัวแทนร่วมสังเกตการณ์คดี


มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 พฤษภาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค.2553 ต่อเนื่องกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

โดยวันนี้ทนายความของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท จำเลยในคดี แถลงต่อศาลว่าจำเลยติดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงวันที่ 31 พฤษภาคม จึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ศาลจึงเลื่อนการพิจารณาไปวันที่ 6 มิถุนายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้นายมาร์ค ทรอเวล (Mr.Mark Trowell) นักกฎหมายของสหภาพรัฐสภา (The Inter-Parliamentary Union หรือ IPU) ร่วมรับฟังการพิจารณาด้วย โดยนายมาร์คได้แสดงหนังสือของสหภาพรัฐสภาที่ระบุข้อความว่าส่งนายมาร์คเป็นตัวแทนของ สหภาพรัฐสภาร่วมสังเกตการณ์ต่อศาลวันที่ 30-31 พ.ค. และวันที่ 6-7 มิ.ย. นี้

ขณะที่ศาลได้ขอบัตรประจำตัวหรือพาสปอร์ตของนายมาร์ค แต่นายมาร์คไม่ได้นำติดตัวมา ศาลจึงกำชับว่าวันพิจารณาครั้งหน้าต้องนำบัตรประจำตัวมาแสดงต่อศาล เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นนายมาร์คจริง ทั้งนี้ ศาลแสดงเหตุผลว่า หากนายมาร์คได้แสดงความคิดเห็นละเมิดต่อศาลไทย ศาลสามารถออกหมายเรียกนายมาร์คได้ถูกต้อง และเป็นตัวจริงกับที่มาในวันนี้ ซึ่งชาวต่างประเทศเข้ามาศาลไทยต้องเคารพกติกาของศาลไทยด้วยเช่นเดียวกับที่ ชาวไทยที่เคารพกติกาของศาลต่างประเทศ

ด้านนายมาร์คกล่าวว่า สหภาพรัฐสภาเป็นองค์กรอิสระ มีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 140 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกสภาของประเทศสมาชิก เมื่อมีสมาชิกสภาตกเป็นจำเลยในคดีอาญา หรือคดีสำคัญ ทางสหภาพรัฐสภาได้ห่วงใยจึงส่งตนมาเพื่อสังเกตการณ์และฟังการพิจารณาคดี เพื่อให้รู้ว่าคดีนี้มีองค์กรระหว่างประเทศจับตาอยู่ ทั้งนี้ ไม่กลัวว่าจะถูกมองว่าการกระทำของตนยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือฝักใฝ่ฝ่ายใด เพราะมีประสบการณ์การทำงานมาแล้วหลายประเทศ เช่น การพิจารณาคดีนายอันวาร์ อิบราฮิม รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ ผ่าน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ปะทะความคิดเพื่อหาทางออก 'โซตัสในรั้วมหา’ลัย'

Posted: 30 May 2013 01:29 PM PDT

ฟรีดอมโซน ร่วมกับ เยาวชนกลุ่มแว่นขยาย และกลุ่มแสงแห่งเสรี จัดงานเสวนาประเด็น "SOTUS ในรั้วมหา'ลัย..." เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ณ ลานหน้าฟรีดอมโซน อุบลราชธานี เพื่อการสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนพูดคุยมุมมองให้เกิดขึ้นในรั้วสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมฟังเสวนา โดยนางสาวขจรปรีย์ ภู่งาม เจ้าหน้าที่ศูน์ฟรีดอมโซน อุบลราชธานี และตามด้วยการอ่านบทกวีสะท้อนสังคม โดยนายปรเมศวร์ ศิริภาคเพียร เยาวชนกลุ่มแสงแห่งเสรี เป็นบทกวีสะท้อนชีวิตของน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยที่ถูกกดขี่ทางอำนาจ และสะท้อนถึงการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ที่ปราศจากการกดขี่และการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์ในกิจกรรมรับน้องและกิจกรรมอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย

และตามด้วยกิจกรรมเสวนามีวิทยากรเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายตรีเนตร สาระพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  นายปิยรัฐ จงเทพ เลขาธิการเครือข่ายเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งประเทศไทย และนายวัชรากร ชาวตะโปน นักศึกษาที่มีบทบาทเป็นสตาฟฟ์กิจกรรมรับน้อง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย นายกมล หอมกลิ่น เจ้าหน้าที่จากสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี และนายพงษ์เทพ บุญกล้า เจ้าหน้าที่จากฟรีดอมโซน

นายตรีเนตร สารพงษ์ กล่าวถึงสถานการณ์การรับน้องในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่มีการดำเนินกิจกรรมหลากหลาย บางกิจกรรมมีทั้งที่ดำเนินการอย่างสร้างสรรค์และบางกิจกรรมที่ส่อไปทางการบังคับละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของนักศึกษาใหม่ อย่างไรก็ตาม หากในสังคมไม่มีการกำหนดกรอบสังคมก็อยู่ลำบาก เมื่อคนในสังคมอ่อนแล้วการปกครองจะเกิดขึ้นตามมา บางกิจกรรมที่เป็นโครงการเกี่ยวกับการรับน้องของหลายสถาบันการศึกษาเป็นเพียงการแก้ไขปี พ.ศ. ในการดำเนินโครงการ และการเปลี่ยนผู้ลงนามผู้รับผิดชอบคนใหม่เท่านั้น โดยอ้างว่าปีที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการแต่มิได้พิจารณาว่าปีนี้จะทำอย่างไร เป็นการใช้สิ่งที่เกิดขึ้นจากอดีตมาตอบปัจจุบัน

ในบางครั้งจึงทำให้เกิดการดำเนินกิจกรรมที่สุดขั้วข้ามเส้นความเหมาะสม หากจะดำเนินกิจกรรมที่ส่อไปทางการใช้ความรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงคนที่มีอาการเจ็บป่วย และต้องให้ความสำคัญกับการติดตามสำรวจผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วม และทางออกที่จะนำไปสู่การรับน้องที่เหมาะสมควรมีการเปิดโอกาสในน้องใหม่ได้มีความคิดเห็นในการดำเนินกิจกรรม อย่างไรก็ดี การรับน้องควรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เคารพสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ของน้องใหม่

นายวัชรากร ชาวตะโปน กล่าวถึงบทบาทที่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการรับน้องที่เข้าใจและยอมรับความแตกต่าง ในสังคมที่มีความหลากหลายหากไม่มีกฎระเบียบจะทำให้เกิดความวุ่นวาย บางครั้งการรับน้องที่มีการ "ว้าก" ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่ใช่การทำร้ายเพียงจิตใจ หากลองสัมผัสถึงสิ่งที่ทำแล้วนั้น มันมีความหมายที่จะสามารถพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่เข้มแข็งและกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา ทั้งนี้ ทุกคนอาจไม่สามารถวิ่งพร้อมกัน บางคนคลาน บางคนเดิน หรือบางคนวิ่ง สิ่งที่เหมือนคือทุกคนพยายามที่จะเคลื่อนที่ ประสบการณ์จะเป็นส่วนที่หล่อหลอมให้คนสามารถเรียนรู้ชีวิต และในอนาคต หากมองย้อนกลับมาจะทำให้เราเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งฝากถึงน้องใหม่ เพื่อนนักศึกษาว่า ชีวิตที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบสวยงามทุกอย่าง ขอให้เราเข้าใจในสิ่งที่ทำและยอมรับในความต่างการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

นายปิยรัฐ จงเทพ กล่าวถึงสถานการณ์การรับน้องในต่างประเทศที่ได้ยกเลิกไปแล้ว พร้อมทั้งกล่าวถึงสาเหตุที่เกิดการรับน้องจากสถานการณ์การเมืองการปกครองในยุคที่ประเทศไทยต้องการที่จะฝึกคนในเป็นผู้ปกครองในภูมิภาค โดยรัฐมีความมุ่งหวังที่จะรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง หลังจากนั้นการรับน้องได้แพร่ไปทั่วประเทศ ทั้งเกิดจากการนำเอาการรับน้องในหลายๆ ส่วนมาผสมปนกันกลายเป็นการรับน้องในปัจจุบันที่ไม่มีรู้แบบแน่นอน

'ต้องการให้เกิดการรับน้องที่ไม่ละเมิดความเป็นมนุษย์' วลีนี้ต้องการชี้ให้เห็นการรับน้องที่เป็นเรื่องป่าเถื่อนแปลกวิสัยคนที่เป็นปัญญาชนในมหาวิทยาลัย การแสดงอาการดังกล่าวเป็นการนำมาซึ่งการกดความคิดของน้องใหม่ให้อยู่ใต้นักศึกษารุ่นพี่ พร้อมทั้งกล่าวถึงความมุ่งหวังที่จะเห็นการปฏิรูปการรับน้องอันจะนำไปสู่การเคารพสิทธิของน้องใหม่อย่างแท้จริง และหวังว่ามันจะเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือของคนที่มีความแตกต่างหลากหลายในรั้วมหาวิทยาลัย

ช่วงท้ายรายการได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองและตั้งคำถามกับวิทยากรที่ร่วมเสวนา ผู้เข้าร่วมฟังเสวนามีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการรับน้องในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ไม่กระทบต่อสิทธิความเป็นมนุษย์ของน้องใหม่ ต้องการเห็นกระบวนการดำเนินกิจกรรมรับน้องที่มีการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมจากน้องใหม่ด้วย มีการดำเนินการและการติดตามประเมินผลที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯ กพฐ.ยัน(ยัง)ไม่ยุบ รร.เล็ก-‘พงศ์เทพ’ ลงนามตั้งคณะกรรมการร่วมฯ สางปัญหา

Posted: 30 May 2013 12:34 PM PDT

กลุ่มคัดค้านยุบ รร.เล็ก ชุมนุม ศธ.จี้รอคณะกรรมการร่วมฯ มาช่วยแก้ปัญหา ด้าน 'ชินภัทร' เลขาฯ กพฐ.ยันยังไม่ยุบ! เผย 179 เขตฯ ส่งแผนบริหารจัดการ รร.ขนาดเล็ก เตรียมเสนอ 'พงศ์เทพ' พิจารณา 31 พ.ค.นี้ เผยจับตา 2,200 แห่ง เร่งเสริมคุณภาพ

 
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงไปพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับฟังปัญหา และตอบข้อซักถามต่างๆ
 
 
 
ชุมนุมหน้า ศธ.คัดค้านยุบ รร.เล็ก
 
วันนี้ (30 พ.ค.56) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนของโรงเรียนทางเลือก ประมาณ 200 คน รวมตัวกันที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณหน้าประตูกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อยื่นแถลงการณ์เรียกร้องให้ ศธ.ชะลอการยุบ-ควบรวม โรงเรียนขนาดเล็กพร้อมเปิดทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
 
จากกรณี เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2556 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายโรงเรียนชุมชน 4 ภาค และองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศ ได้เข้าพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ได้ข้อสรุปให้ระงับการพิจารณาการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และให้มีการจัดตั้ง 'คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก' ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่กลับปรากฏความเคลื่อนไหวยุบโรงเรียนเล็กเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด
 
 
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก (สกล.) ระบุเหตุผลของการมาชุมนุมในครั้งนี้ว่า ต้องการให้ ศธ.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ปลดล็อคข้อจำกัดทางการศึกษา และไม่ใช้วิธีการยุบโรงเรียนเล็กเป็นทางออก ส่วนเหตุผลข้อต่อมาคือการทวงถามถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งในข้อนี้ รมว.ศธ.ได้ลงนามแต่งตั้ง 'คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน' ในวันนี้ แต่ส่วนตัวยังคิดว่าไว้วางใจไม่ได้ เพราะสัดส่วนตัวแทนโรงเรียนเล็กในคณะกรรมการทั้งหมด 37 คนนั้นมีจำนวนน้อยมาก
 
ชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้มีกระบวนการที่พยายามนำไปสู่การยุบ-ควบรวมเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งกรณีการจัดเตรียมรถตู้เพื่อรับส่งนักเรียน ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีการอนุมัติงบสำหรับจัดซื้อรถตู้แล้วจำนวน 1,000 คัน การไม่ส่งผู้บริหารไปให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน อีกทั้งเปิดทางให้กับครูที่ต้องการย้ายไปประจำโรงเรียนอื่นได้เป็นกรณีพิเศษ จึงอยากเสนอให้ยุติกระบวนการบอนไซโรงเรียนขนาดเล็กที่เหล่านี้ โดยเฉพาะการดำเนินการของเขตการศึกษาต่างๆ ซึ่งรับหลักการจาก สพฐ.ในการตั้งธงยุบ และให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นนี้ก่อน
 
 
ตั้ง 'สิริกร' นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการร่วม  'พงศ์เทพ' นั่งแทนที่ปรึกษา
 
 
ทั้งนี้ 'คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน' ตามคำสั่ง ศธ.ที่ สพฐ.345/2556 มีหน้าที่ 1.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และพัฒนาการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน 2.รับฟังความคิดเห็น รวมรวมข้อมูล ข้อเสนอ และปัญหาการจัดการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน เพื่อการวางแผนแก้ปัญหา 3.ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการบริการจัดการการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนของชุมชน โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีต รมช.ศธ.เป็นประธาน ส่วนนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ.เป็นรองประธาน และมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ.และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ.เป็นที่ปรึกษา
 
ส่วนสุรพล ธรรมร่มดี สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จนั้นมี 3 ปัจจัย คือ 1.มีผู้อำนวยการและครูที่ตั้งใจพัฒนาโรงเรียน 2.ผู้อำนวยการและโรงเรียนเข้าหาชุมชน หาแนวร่วม ทั้งศาสนา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลในเรื่องเงินสนับสนุนการศึกษาและได้ครูเพิ่มมากขึ้นจากผู้รู้ในท้องถิ่น 3.การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ดังนั้นการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
 
 
ร้อง 'คืนการศึกษาให้ชุมชนและสังคม'
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดินทางถึงหน้า ศธ.กลุ่มผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย ว่าด้วยเรื่อง 'คืนการศึกษาให้ชุมชนและสังคม' ระบุว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมสภาการศึกษาฯ ได้จัดเวทีเสวนารับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ 5 เวทีระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค.โดยมีผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้จัดการศึกษาประเภทต่างๆ ทั้งของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น รวมถึงการศึกษาทางเลือกเข้าร่วม และได้นำความคิดเห็นจากเวทีเสวนาดังกล่าวมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย
 
ทั้ง 5 เวที ต่างต้องการให้มีการปลดล็อกการจัดการศึกษาโดยลดข้อจำกัดและสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างหลากหลาย ได้แก่ 1.ให้รัฐเลิกผูกขาดการจัดการศึกษา แล้วส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รัฐปรับลดบทบาทมาทำหน้าที่กำกับนโยบายและติดตามผลแทน 2.ปลดล็อกการจัดการศึกษาด้วยการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางให้ยืดหยุ่นและก่อให้เกิดหลักสูตรการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สอดคล้องกับบริบทสังคมและความแตกต่างของผู้เรียน
 
3.ปลดล็อกการวัดและประเมินผลด้วยการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการประกันคุณภาพการศึกษา สร้างระบบวัดผลที่มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของสถานศึกษา ผู้เรียนและบริบทสังคมมาแทน และ 4.ปลดล็อกอุปสรรคของการศึกษาทางเลือก ด้วยการจัดตั้งสถาบันการพัฒนาการจัดการศึกษาตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
 
ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงไปพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับฟังปัญหาพร้อมชี้แจงข้อซักถามต่างๆ
 
 
 
'ชินภัทร' เลขาฯ กพฐ.ยันยังไม่ยุบ!
 
นายชินภัทร กล่าวว่าขณะนี้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ส่งข้อมูลแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ ที่มีเด็กนักเรียนต่ำกว่า 60 คน มาแล้ว 179 เขต จากทั้งหมด 182 เขต มีโรงเรียนประมาณ 3,600 แห่ง โดยข้อมูลแผนบริหารจัดการเหล่านี้จะถูกประมวลเพื่อสรุปรายงานให้ รมว.ศธ.พิจารณา ในวันที่ 31 พ.ค.นี้
 
ทั้งนี้ ในรายงานที่เขตพื้นที่ฯ ได้เสนอมานั้นจะยังไม่มีการยุบโรงเรียน ยกเว้นโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนแล้ว ซึ่งพบว่ามีอยู่ใน 3 เขต เบื้องต้นยังไม่ทราบจำนวน โรงเรียนกลุ่มนี้เมื่อยุบเลิกแล้วจะนำอาคาร สถานที่ไปใช้ประโยชน์อื่น เพื่อการบูรณาการภารกิจในพื้นที่ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์การเรียนรู้ กศน. ฯลฯ ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้ สพฐ.จะยังไม่ส่งคืนราชพัสดุเพราะยังสามารถใช้ประโยชน์ได้
 
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ในรายงานพบโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 2,200 แห่ง ยังไม่มีการเคลื่อนย้ายของนักเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ต้องได้รับการเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน จากนั้นจึงค่อยติดตามสรุปผลต่อไป และไม่มีแผนอะไรที่จะเดินหน้ายุบ
 
 
เผยความคืบหน้าการบริหารจัดการ
 
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กพฐ.ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กที่เขตพื้นที่ฯ ได้บริหารจัดการไปแล้วตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 2,290 แห่ง ผ่านการจัดการ 4 วิธี ได้แก่ 1.โรงเรียนที่เรียนรวมทุกชั้น คือ การนำนักเรียนทุกชั้นเรียนเคลื่อนย้ายไปเรียนรวมกันที่โรงเรียนอื่น โดยการควบรวมนักเรียนยังเรียนอยู่ชั้นเรียนเดิม มีจำนวน 648 แห่ง
 
2.โรงเรียนที่เรียนรวมบางช่วงชั้น คือ การนำนักเรียนแต่ละช่วงชั้นแบ่งเป็นชั้นประถมต้นและประถมปลาย แยกไปควบรวมเรียนกับโรงเรียนอื่น โดยเฉพาะช่วงชั้นที่มีนักเรียนจำนวนน้อย มีจำนวน 484 แห่ง 3.โรงเรียนที่เรียนรวมบางชั้น คือ การนำนักเรียนบางชั้นที่มีจำนวนน้อย เคลื่อนย้ายไปเรียนกับโรงเรียนอื่น มีจำนวน 781 แห่ง และ4.โรงเรียนที่เรียนรวมบางวิชา มีจำนวน 377 แห่ง
 
นอกจากนี้รายงานยังพบโรงเรียนขนาดเล็ก 300 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษที่ไม่สามารถรวมกับใครได้ ได้แก่ โรงเรียนที่ตั้งบนภูเขา บนเกาะ ซึ่งกระจายตามภูมิภาคต่างๆ
 
โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มละครมะขามป้อม กับละครที่เรียกเสียงฮาและความประทับใจ "เราไม่ใช่ปลากระป๋อง... เพราะเรามีความหลากหลาย"
 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวเกาหลีใต้ชุมนุมเรียกร้องให้นิคมแคซองกลับมาเปิดอีกครั้ง

Posted: 30 May 2013 12:11 PM PDT

หลังจากมีการปิดนิคมอุตสาหกรรมแคซองไปเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาจากเหตุความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ชาวเกาหลีใต้ราว 250 คน พากันมาชุมนุมที่สะพานเชื่อมประเทศเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้รับรองให้พวกเขากลับเข้าไปในพื้นที่ โดยที่เกาหลีเหนือเสนอให้นักธุรกิจเกาหลีใต้กลับเข้านิคมก่อนถึงจะมีการเจรจาเรื่องเปิดนิคม

30 พ.ค. 2013 ชาวเกาหลีใต้หลายร้อยคนออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองทั้งของประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ กลับมาเปิดนิคมอุตสาหกรรมแคซองที่ตั้งอยู่ในเกาหลีเหนืออีกครั้ง

โดยผู้ชุมนุมราว 250 คน มีทั้งแรงงานและผู้ประกอบกิจการได้มารวมตัวชุมนุมที่สะพานของเมืองปาจูซึ่งเชื่อมระหว่างสองประเทศเพื่อเรียกร้องให้มีการกลับมาเปิดนิคมแคซองอีกครั้ง

ลี อิมดอง เจ้าของธุรกิจในย่านนั้นกล่าวว่านิคมแคซองเป็นพื้นฐานของชีวิตและสร้างความสุขให้กับพวกเขา "ใครกันที่ทำให้เราเสียงานไป ใครกันที่ทำให้พวกเราสิ้นหวังขนาดนี้"

"พวกเราต้องการให้มีการเปิดนิคมแคซองกลับมาเป็นเหมือนเดิม คนงานแคซองต้องการงานของพวกเขาคืน" ลีกล่าว

เดิมทีผู้ประท้วงหมายจะปักหลักชุมนุมอยู่ที่สะพานแต่ก็ถูกตำรวจสั่งห้ามเนื่องจากพวกเขาไม่มีเอกสารอนุญาตการชุมนุม

ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาขณะที่สถานการณ์เกาหลีเหนือเริ่มตึงเครียด นิคมแคซองก็ถูกปิดทำให้แรงงานเกาหลีเหนือกว่า 53,000 คนไม่มีงานทำ โดยนิคมแคซองเป็นเสมือนสัญลักษณ์ความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียว มีธุรกิจของเกาหลีใต้มากกว่า 120 รายเข้ามาลงทุนในย่านนิคมแห่งนี้

ทั้งคนงานและนักธุรกิจต่างก็ต้องการให้กระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้รับรองให้พวกเขากลับเข้าไปทำงานในย่านนิคม แต่ทางกระทรวงก็ไม่ได้ให้การตอบรับใดๆ ในเรื่องนี้ ทำให้ผู้ประท้วงพากันกลับบ้าน

โดยเมื่อสองวันก่อนหน้านี้ (28 พ.ค.) ทางการเกาหลีเหนือได้ประกาศอนุญาตให้นักธุรกิจเกาหลีใต้กลับเข้ามายังนิคมอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องรัฐบาลเกาหลีเหนือบอกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือพร้อมจะหารือเรื่องการกลับมาเปิดนิคมแคซองถ้าหากเจ้าของธุรกิจกลับเข้าไปในนิคมแล้ว แต่ทางกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้เรียกร้องให้ฝ่ายเกาหลีเหนือหารือกับรัฐบาลแทนที่จะหารือกับพลเรือน

เหตุความตึงเครียดครั้งล่าสุดมาจากการที่เกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์จนถูกองค์การสหประชาชาติคว่ำบาตรซึ่งทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจ

 

เรียบเรียงจาก

S Korea rally presses for Kaesong reopening, Aljazeera, 30-05-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กแถลงการณ์คุมเข้ม hate speech มากขึ้น หลังกลุ่มรณรงค์กดดันถอนโฆษณา

Posted: 30 May 2013 10:11 AM PDT

หลังจากที่มีกลุ่มรณรงค์ด้านสตรีไม่พอใจที่เห็นภาพที่ส่อถึงการสนับสนุนให้ทำร้ายผู้หญิงปรากฏบนเฟซบุ๊ก จึงทำการส่งข้อความทวิตเตอร์หรืออีเมลล์แจ้งบริษัทที่ลงโฆษณาในเฟซบุ๊กจนกระทั่งมีการปลดโฆษณาประท้วง ทำให้เฟซบุ๊กออกแถลงการณ์ยอมพิจารณาปรับปรุงระบบตรวจสอบและกำจัดข้อความจำพวก hate speech

สำนักข่าวเดอะ การ์เดียนของอังกฤษรายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กเฟซบุ๊กได้สนองตอบการร้องเรียนเรื่องที่มีเนื้อหาสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อสตรีปรากฏในเว็บไซต์หลังจากที่มีการประท้วงด้วยการยกเลิกการลงโฆษณา

เว็บไซต์เฟซบุ๊กได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ว่าจะปรับปรุงนโยบายในเรื่องการใช้ hate speech ซึ่งก็คือการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังหรือยุยงให้เกิดความรุนแรง โดยจะเพิ่มการตรวจสอบผู้สร้างเนื้อหาอย่างเข้มงวดขึ้น และฝึกฝนให้คณะทำงานของเฟซบุ๊กตอบสนองคำร้องเรียนมากขึ้น

โดยเมื่อไม่นานมานี้ มีกลุ่มสิทธิสตรีเช่น กลุ่ม "ผู้หญิง ปฏิบัติการ และสื่อ" (Women, Action and The Media - WAM!) กลุ่มโครงการศึกษาการเหยียดเพศในชีวิตประจำวัน (Everyday Sexism Project) และนักกิจกรรมโซรายา เชมาลี เรียกร้องให้นำเนื้อหาที่มีท่าทีส่อไปในทางสนับสนุนการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงในครอบครัวออกจากหน้าเว็บ

ยกตัวอย่างเช่น ภาพของนักร้องริฮานน่าที่อยู่ในสภาพถูกซ้อมพร้อมคำบรรยายว่า "อัลบั้มรวมฮิตของคริส บราวน์" ซึ่งเข้าใจว่าต้องการล้อเลียนการที่เธอถูกแฟนเก่าทำร้าย มีรูปหนึ่งเป็นรูปของผู้หญิงจมกองเลือดมีคำบรรยายว่า "ฉันชอบสมองของเธอ" อีกรูปหนึ่งเป็นรูปผู้ชายกำลังจะใช้ผ้าปิดปากผู้หญิงโดยมีคำบรรยายว่า "ได้กลิ่นเหมือนยาสลบไหม"

มีกลุ่มนักรณรงค์มากกว่า 100 กลุ่มร่วมประท้วงและเรียกร้องให้เฟซบุ๊กยอมรับว่าเนื้อหารูปแบบดังกล่าวเป็น hate speech และขอให้มีการฝึกคนตรวจตราเว็บคอยลบเนื้อหาเหล่านี้

โดยก่อนหน้านี้ทางเฟซบุ๊กได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความเห็น "สิ่งที่คุณคาดว่าจะได้รับจากสังคมที่มีคนเป็นล้านๆ คนอยู่ร่วมกัน ก็มีบ้างอยู่แล้วที่เราจะต้องเห็นพวกเขาโพสท์เกี่ยวกับสิ่งที่ไร้รสนิยม ดูน่ารังเกียจ หรือพยายามทำตลกห่ามๆ มันอาจจะหยาบคายและล่วงละเมิดคนอื่น แต่ตัวเนื้อหาที่ไร้รสนิยมก็ไม่ได้ผิดหลักนโยบายของพวกเรา" โฆษกเฟซบุ๊คกล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามการรณรงค์ก็เริ่มเป็นผลเมื่อมีผู้คนหลายหมื่นพากันส่งข้อความทวิตเตอร์หรืออีเมลล์ด้วยแฮซแท็ก #Fbrape ส่งไปยังผู้ใช้บริการโฆษณาในเฟซบุ๊ก ตามคำบอกเล่าของกลุ่มผู้หญิง ปฏิบัติการ และสื่อ มีผู้ใช้บริการโฆษณาในเฟซบุ๊กอย่างน้อย 15 รายปลดโฆษณาออก อาทิเช่น บริษัท นิสสัน ประเทศอังกฤษ บริษัท เนชั่นไวด์ ประเทศอังกฤษ กลุ่มเจสตรีท และบริษัทเวสท์โฮสท์

ทำให้ต่อมาเฟซบุ๊กต้องออกแถลงการณ์ขนาดยาวที่กล่าวถึงความพยายามถ่วงดุลเสรีภาพในการแสดงความเห็นด้วยนโยบายสั่งห้าม hate speech

ในแถลงการณ์กล่าวว่า เดิมทีทางเฟซบุ๊คได้สั่งห้ามเนื้อหาที่ดูส่อถึงอันตรายโดยตรงแต่ก็ยังอนุญาตให้มีเนื้อหาที่ล่วงเกินคนอื่นหรือทำให้เกิดข้อโต้แย้ง โดยให้ความหมายของเนื้อหาที่เป็นอันตรายว่าหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่เป็นการวางแผนก่อความรุนแรงในโลกภายนอก รวมถึงการวางแผนโจรกรรม ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ หรือทำให้เกิดความเจ็บช้ำใจต่อปัจเจกบุคคล (เช่น การข่มเหงรังแก)

แต่ทางเฟซบุ๊กก็ยอมรับในแถลงการณ์ว่าพวกเขาคำนวนพลาดในเรื่องการถ่วงดุล "ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เห็นชัดเจนว่าระบบการตรวจสอบและกำจัด hate speech ของพวกเราทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างความเกลียดชังทางเพศ มีบางกรณีที่พวกเราลบเนื้อหาได้ช้าเกินไป ในอีกกรณีคือเนื้อหาที่ควรจะถูกลบกลับไม่ได้รับการประเมินหรือไม่ก็ถูกประเมินด้วยวิธีวินิจฉัยที่ล้าสมัยของพวกเรา พวกเราได้ทำงานพัฒนาระบบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อตอบสนองต่อการรายงานเรื่องเนื้อหาที่ผิดจากมาตรฐาน แต่แนวทางที่ระบบของพวกเรานำมาใช้ก็ไม่สามารถตรวจจับเนื้อหาที่ผิดจากมาตรฐานทั้งหมดได้"

ทางเฟซบุ๊กยังได้สัญญาว่าจะมีการพิจารณาและปรับแนวทาง ซักซ้อมเพื่อพัฒนาผู้สอดส่องดูแล และมีช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการมากขึ้นกับกลุ่มรณรงค์ รวมถึงมีการตรวจตราเนื้อหาที่อาจไม่เข้าข่าย hate speech แต่ก็ส่อถึงความโหดร้ายหรือไม่สนใจความรู้สึกผู้อื่น โดยที่นวัตกรรมก่อนหน้านี้ที่บังคับให้ผู้สร้างเนื้อหาต้องเปิดเผยตัวตนจริงก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้น และทางเฟซบุ๊กจะพัฒนาตรงจุดนี้มากขึ้น

แจคลิน ฟรายด์แมน ผู้อำนวยการกลุ่มผู้หญิง ปฏิบัติการ และสื่อ กล่าวชื่นชมการตอบสนองของเฟซบุ๊คในครั้งนี้รวมถึงกล่าวยกย่องตัวบริษัทเฟซบุ๊คเอง "พวกเราหวังว่า ความพยายามในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังจากความร่วมมือในการปฏิบัติการ"


เรียบเรียงจาก

Facebook gives way to campaign against hate speech on its pages, The Guardian, 29-05-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ได้เพิกเฉย แต่มองไม่เห็น “ผู้หญิง” ในเวทีสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 30 May 2013 10:01 AM PDT

บทความชิ้นนี้มีที่มาจากบทสนทนาเล็กๆ บนหน้าเฟซบุ๊กที่ประกาศให้ผู้สนใจสันติภาพเข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ Wawasan Patani และงานเปิดตัววิทยาลัยประชาชน (People's College) โดยมีหัวข้อเสวนา เรื่อง "สันติภาพปาตานี 2020: ความรู้คืออำนาจ" ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี [1]

ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิทยากรจำนวน 5 ท่าน ว่า ทำไมจึงไม่เห็นมี "ผู้หญิง" สักคนเป็นวิทยากรอยู่บนเวทีด้วย

ถ้าไม่นับรวมองค์ปาฐกและผู้ดำเนินรายการ ซึ่งก็เป็นผู้ชาย เช่นเดียวกัน

คำตอบในเบื้องต้นที่ผู้เขียนได้รับคือ เวทีในลักษณะเช่นนี้ยังมีอีกเยอะ ผู้จัดไม่ได้เพิกเฉย เพราะนักเรียนในรุ่นสองจะมีผู้หญิงมาเรียนด้วย รวมทั้งอาจารย์ในหลักสูตรก็เป็นผู้หญิงด้วยเช่นกัน

แต่ผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้รับคำอธิบายอย่างชัดเจนว่า ทำไม "ผู้หญิง" จึงไม่ปรากฏอยู่บนเวทีดังกล่าว ถ้ายังไม่นับองค์ปาฐก ซึ่งมักจะเป็นผู้นำศาสนาและเท่าที่ติดตามก็มักจะเป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่

จากจุดเริ่มต้นในบทสนทนาเล็กๆ ดังกล่าว ทำให้ต้องกลับไปมองเรื่องราวในภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สักหน่อย โดยใช้วิธีสุ่มและคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ดูเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการและเวทีสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสันติภาพจากอินเทอร์เน็ต โดยมีโจทย์ใหญ่ 2 ข้อ คือ 1) มีผู้หญิงอยู่ในคณะกรรมการหรือวิทยากรในเวทีสาธารณะหรือไม่ 2) ถ้ามีรายชื่อคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิง คณะกรรมการหรือรายชื่อวิทยากรที่ปรากฏในเวทีสาธารณะนั้น จะอยู่ภายใต้ประเด็นใด

ที่ต้องสุ่มและคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงเนื่องจากตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เวทีสาธารณะในลักษณะเช่นนี้มีมากมาย และจัดโดยหลากหลายองค์กรและหน่วยงานทั้งของรัฐ เอ็นจีโอ และมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าผู้เขียนจะไม่สามารถรวบรวมให้ได้ครอบคลุมทุกเวที และอาจส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ข้อมูล และถ้าจะตอบโจทย์สองข้อดังกล่าว จะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งต่อไป โดยผู้เขียนตระหนักดีว่า จะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 2547-ปัจจุบัน และจะต้องถูกท่วมท้นด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเวทีสาธารณะเพื่อสันติภาพอย่างมากมายมหาศาล

แต่ถ้าบทความนี้จะพอเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อตั้งข้อสังเกต ต่อการที่ผู้เขียนที่มองไม่เห็น "ผู้หญิง" ในเวทีวิชาการเพื่อสันติภาพ และตอบต่อข้อสังเกตดังกล่าว ก็น่าจะทำให้ได้มุมมองที่น่าสนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งโจทย์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นว่า ผู้เขียนมองไม่เห็น "ผู้หญิง" นั้นอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อเริ่มมีกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ณ บริเวณมัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยเหตุการณ์นี้เรียกกันสั้นๆ ว่า เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ [2]  จนทำให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ [3] ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 104/2547 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 เนื่องจากแรงกดดันทางสังคมที่มองการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งทั้งหมด 7 ท่าน โดยรัฐบาล เป็นผู้ชาย

อีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน [4] จนทำให้รัฐบาลตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติในปี 2548 โดยมีคณะกรรมการทั้งสิ้นจำนวน 50 คน อย่างน้อยมีรายชื่อคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงจำนวน 8 คนร่วมอยู่ด้วย [5] ในฐานะนักฝึกอบรมด้านสันติวิธี ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมืองและภาคราชการ ถึงแม้ว่าโดยสัดส่วนแล้วมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ยังมีพื้นที่ของผู้หญิงอยู่บ้าง

จากนั้นเป็นต้นมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการและมีการจัดเวทีสาธารณะ อย่างมากมายมหาศาล เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์และเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจุดแข็งคือ ผู้เขียนเห็นความตื่นตัวของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นและผู้คนที่รู้สึกอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา แต่จุดอ่อนที่สำคัญคือ กลุ่มที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หลายกลุ่มได้สลายตัวไป เพราะขาดการจัดการที่ดีและขาดการบริหารงานในลักษณะองค์กร

อีกทั้งข้อมูลของการเกิดขึ้นของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นและหายไป ไม่ได้มีการศึกษาและบันทึกไว้อย่างละเอียดและจริงจัง ทำให้ในภายหลังผู้เขียนขาดข้อมูลที่จะนำมาเรียนรู้ โดยเฉพาะการใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้มิติหญิงชาย (gender) วิเคราะห์บทบาทของผู้หญิงในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพ และนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญในการศึกษาพลวัตการเปลี่ยนแปลงด้านสันติภาพในระดับพื้นที่

ถ้าจะยกตัวอย่างอีกกรณีคือ คณะอนุกรรมการเยียวยา มีจำนวน 6 คณะ [6] ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระบวนการตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อไม่ให้ผู้ใดแอบอ้างการใช้สิทธิดังกล่าวหรือใช้สิทธิซ้ำซ้อน โดยผู้เขียนได้จัดทำเป็นตารางเพื่อดูว่ามีสัดส่วนของคณะอนุกรรมการที่เป็นผู้หญิงและผู้ชายจำนวนเท่าไหร่ ดังนี้

 

ลำดับ ชื่อคณะ หญิง ชาย รวม
1. คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์และประเมินผลการเยียวยา 3 17 20
2. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 8 20 28
3. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับผลกระทบ 3 17 20
4. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์ 28 เม.ย.2547 (เหตุการณ์กรือเซะ) และ 25 ต.ค.2547 (เหตุการณ์ตากใบ) 7 13 20
5. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือถูก ละเมิดสิทธิมนุษยชนวิธีอื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต 5 16 21
6. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์เฉพาะกรณี 3 19 22

 

ผู้เขียนพบว่า ในรายชื่อคณะอนุกรรมการเยียวยา มีรายชื่อคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงร่วมด้วยทุกคณะ ถึงแม้ว่าเกือบทั้งหมดจะมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของจำนวนคณะอนุกรรมการ ยกเว้นคณะอนุกรรมการชุดที่ 4

อย่างไรก็ตามการจะตอบโจทย์ข้อที่ 1) อาจจะได้คำตอบที่ไม่สมบูรณ์เสียทีเดียวเพราะต้องมานั่งนับดูว่า มีเวทีสาธารณะหรือมีคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งในพื้นที่ทั้งหมดในช่วงมีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหมดกี่เวที/คณะ และมีสัดส่วนของผู้หญิงทั้งหมดกี่เวที/คณะ เพื่อให้เห็นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพในระดับพื้นที่ แต่ก็ถือเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจในการศึกษาเรียนรู้ต่อไป

แต่ข้อสรุปในเบื้องต้นคือ พบว่ามีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อสันติภาพหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏอยู่บ้างที่ไม่มีผู้หญิงเป็นวิทยากร/คณะกรรมการ ร่วมอยู่ด้วย รวมทั้งสัดส่วนของจำนวนคณะกรรมการและวิทยากรที่เป็นผู้หญิง ก็อาจจะมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด

แต่สำหรับนักสังคมวิทยาเชิงคุณภาพ สิ่งที่สำคัญมากกว่าจำนวนการจัดเวทีในประเด็นสันติภาพ หรือสัดส่วนของคณะกรรมการหรือวิทยากรในแต่ละเวทีนั้น คือ มุมมองด้านสันติภาพจากผู้หญิงได้รับความสนใจในระดับนโยบายและถูกปฏิบัติให้เห็นรูปธรรมหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และถึงแม้ว่าจะปรากฏรายชื่อผู้หญิงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แต่เสียงของเธอได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใด

ในปี 2554 ก็มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ องค์กรภาคประชาสังคมจำนวน 20 องค์กร ที่ทำงานประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ ได้ผนึกกำลังกันในนาม "สภาประชาสังคมชายแดนใต้" [7] และถึงแม้ว่าจะมีผู้หญิงในนามขององค์กรเข้าร่วมอย่างเป็นทางการอยู่ 3 องค์กรและอีก 1 คนที่เป็นตัวแทนด้านสิ่งแวดล้อม หรือสัดส่วนผู้หญิง 4 คนใน 20 คนที่เป็นคณะกรรมการ [8] ถึงแม้จะไม่มากนักแต่ก็พอเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงได้

ภายหลังก็มีเวทีสาธารณะด้านสันติภาพอีกหลายเวที เช่น เวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ "เสียงเพรียกเพื่อสันติภาพชายแดนใต้" [9] โดยมีพิธีกรคู่ผู้หญิงกับผู้ชาย คือ คุณโซรยา จามจุรี และคุณตูแวดานียา มือรีงิง และที่สำคัญ มีการพูดคุยในหัวข้อ "ผู้หญิงกับสันติภาพ" โดย คุณสุไบดะห์ ดอเลาะ ผอ.โรงเรียนอิสลามบูรพา ผู้ซึ่งได้รับรางวัลสตรีดีเด่น ด้านการส่งเสริมสันติภาพ ประจำปี 2556 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

จากเวทีในลักษณะดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า อย่างน้อยก็มีพื้นที่ของผู้หญิงอยู่ในเวทีกระบวนการสันติภาพอยู่ด้วย

โดยถ้าเป็นเวทีสาธารณะเฉพาะประเด็นเด็กกำพร้าและสตรีชายแดนใต้ ที่มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมเป็นเด็ก เยาวชน และผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง [10]

เพราะฉะนั้นตอบคำถามข้อที่สองคือ ส่วนมากเวทีที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพได้นั้น จะเกี่ยวข้องกับเด็กกำพร้าและหญิงหม้ายเป็นหลัก เพราะเด็กกำพร้าและหญิงหม้าย จัดเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และนี้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

โดยสรุป กระบวนการสันติภาพโดยเฉพาะการจัดเวทีสาธารณะและคณะกรรมการด้านความรุนแรง ความขัดแย้ง และสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผู้หญิงเป็นวิทยากร ก็ปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวข้องกับประเด็นเฉพาะ เช่น ประเด็นเด็กกำพร้าและหญิงหม้าย สัดส่วนของวิทยากรก็จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ในขณะเดียวกันก็ปรากฏว่ามีเวทีสาธารณะและคณะกรรมการที่จัดในหัวข้อด้านสันติภาพและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้หญิงเป็นวิทยากรหรือคณะกรรมการอยู่ด้วยเช่นกัน คณะกรรมการ/วิทยากร บางชุด ถึงแม้ว่าจะมีผู้หญิงร่วมอยู่ด้วย แต่ทว่าสัดส่วนของผู้หญิงมีไม่ถึงครึ่งของรายชื่อคณะกรรมการทั้งหมด

ดังนั้น จะว่าไปแล้ว การปรากฏของรายชื่อ "ผู้หญิง" ในฐานะวิทยากรหรือคณะกรรมการในกระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่ได้ถูกเพิกเฉยเสียทีเดียว เพียงแต่ว่าในหลายเวทีและการมีอยู่ของรายชื่อคณะกรรมการ/วิทยากร ผู้เขียนเพียงแต่มองไม่เห็นเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง:

  1. http://www.facebook.com/#!/photo.php?fbid=525478977497793 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  2. ในวันดังกล่าว เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้เกิดเฉพาะที่บริเวณมัสยิดกรือเซะแห่งเดียว เพราะมีการปะทะกันหลายจุด โดยมีผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 108 คนเฉพาะตัวเลขของผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะมีความไม่ชัดเจนแต่โดยรวมแล้วอยู่ระหว่ง 30-35 คน
  3. http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B0 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  4. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%9A สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  5. http://chaisuk.files.wordpress.com/2008/09/nrcreport-thai1.pdf สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  6. http://www.cesd.soc.cmu.ac.th/2012/news.php?cmd=detail&id=13876 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  7. http://www.isranews.org/south-news/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99/item/3293-20-%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89-%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9.html
  8. http://prachatai.com/journal/2013/05/46896 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  9. http://www.deepsouthwatch.org/node/4175 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
  10. เช่น มหกรรมเด็กกำพร้าและสตรีชายแดนใต้ ตอน มหกรรมพื้นที่ 3 สีเพื่อสันติภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 - 28 เมษายน 2556 ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส http://www.deepsouthwatch.org/node/4141 สืบค้นเมื่อ 30.05.2013
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายระหว่างประเทศกับการบรรเทาการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดภาคใต้

Posted: 30 May 2013 09:25 AM PDT

บทนำ

ปัญหาความขัดแย้ง 3 จังหวัดภาคใต้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายทศวรรษและนับวันจะทวีความโหดร้ายทารุณมากขึ้นเรื่อยๆ พลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก คนชรา พระสงฆ์ ล้วนตกเป็นเป้าหมายในการทำลายตามไปด้วยซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law: IHL) และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Human Rights) อย่างชัดเจน การทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะยุติแม้ว่าจะมีนิมิตหมายที่ดีที่ทางพลโท ภราดร พัฒนถาบุตร ในฐานะเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เริ่มเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ตาม ข้อเขียนนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอแนวทางในการใช้กฎหมายระหว่างประเทศมาช่วยบรรเทาการการสูญเสียชีวิตและการถูกทำร้ายของพลเรือนผู้ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารหรือการใช้กำลังอาวุธ โดยข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงมาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาสี่ฉบับ ค.ศ. 1949 และร่างอนุสัญญาการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty: ATT) ว่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้ตกเป็นเป้าหมายในการใช้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้อย่างไร

1. การใช้มาตรา 3 ร่วม (Common article 3) ของอนุสัญญาเจนีวา สี่ฉบับค.ศ. 1949

1.1 มาตรา 3 ร่วม (Common article) 3 คืออะไร

มาตรา 3 ร่วมคือบทบัญญัติของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law: IHL) ขั้นต่ำที่มีวัตถุประสงค์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีมนุษยธรรมเป็นหลักที่มุ่งคุ้มครองพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสงครามหรือการปฏิบัติการทางทหารให้รอดพ้นจากการถูกโจมตีโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าพลเรือนผู้นั้นจะมีเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือความเชื่อ เพศ กำเนิดใดก็ตาม พลเรือนนั้นจะต้องไม่ตกเป็นเป้าในการทำลายล้าง โดยมาตรา 3 ร่วมนี้จะใช้บังคับกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศที่เรียกว่า "armed conflict not of an international character" สำหรับบทบัญญัติของมาตรา 3 ร่วมมีดังนี้ [1]

มาตรา 3 ในกรณีที่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธไม่ใช่ความขัดแย้งระดับระหว่างประเทศ หากแต่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตของรัฐภาคี อย่างน้อยที่สุด ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งมีพันธะผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังต่อไปนี้

(1) บุคคลใดที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง รวมถึงสมาชิกของกองกำลังที่วางอาวุธ และสมาชิกของกองกำลังที่เจ็บป่วย, บาดเจ็บ, ถูกคุมขัง หรือเหตุอื่นๆ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือความเชื่อ เพศ กำเนิดหรือความมั่งมี หรือเกณฑ์อื่นที่ใกล้เคียงกันจนถึงที่สุดแล้ว การกระทำต่อไปนี้ถือเป็นการกระทำต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นในเวลาหรือสถานที่ใด ต่อบุคคลที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น

(a) การใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆาตกรรมทุกชนิด การทำให้พิการ การปฏิบัติที่โหดร้าย และการทรมาน

(b) การจับเป็นตัวประกัน

(c) การประทุษร้ายต่อศักดิ์ศรีของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการทำให้อับอาย

(d) การลงโทษจำคุกและประหารชีวิตโดยไม่ผ่านการพิพากษาของศาล ซึ่งรับรองอำนาจในการพิจารณาคดีและจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากอารยชน

(2) ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษา

องค์กรด้านมนุษยธรรมที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด เช่น คณะกรรมการกาชาดสากล อาจเสนอความช่วยเหลือให้แก่ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งควรพยายามนำมาตราอื่นในอนุสัญญาไปปฏิบัติโดยวิธีสร้างข้อตกลงพิเศษ การนำอนุสัญญาทั้งหมดไปปฏิบัติจะไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง

1.2 องค์ประกอบของ common article 3

องค์กระกอบที่สำคัญของมาตรา 3 ร่วมมีอยู่สองประการคือ ประการแรกจะต้องมีความรุนแรงของการใช้กำลังทางทหารระหว่างกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลกับกองกำลังติดอาวุธ (armed force) ประการที่สอง กองกำลังติดอาวุธนี้จะต้องมีลักษณะเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้ง มีสายบังคับบัญชาหรือมีการปฏิบัติการในการใช้กำลังอย่างเป็นกิจจะลักษณะ [2]

1.3 ลักษณะพิเศษทางกฎหมายของมาตรา 3 ร่วม

มาตรา 3 ร่วมมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างจากมาตราอื่นดังนี้ ประการแรก เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า มาตรา 3 ร่วมนั้นมิได้มีสถานะแค่ "สนธิสัญญา" ที่ผูกพันเฉพาะรัฐที่เป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 เท่านั้น แต่มาตรา 3 ร่วมมีสถานะเป็น "กฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ" (Customary international law) ด้วยซึ่งหมายความว่า พันธกรณีตามมาตรา 3 ร่วมนั้นผูกพันรัฐที่มิได้เป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 และกองกำลังติดอาวุธด้วย แม้ว่ารัฐใดและกองกำลังติดอาวุธใดๆ จะมิได้ร่วมสัตยาบันหรือแสดงเจตนาผูกพันมาตรา 3 ร่วมก็ตาม หลักกฎหมายนี้ได้รับการยืนยันจากศาลระหว่างประเทศหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นศาลโลกในคดีนิคารากัวได้ยืนยันว่ามาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวามีสถานะเป็นกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ [3] รวมทั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นที่รวันดาก็รับรองว่ามาตรา 3 มีสถานะเป็นกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ [4] กล่าวโดยสรุปก็คือทั้งรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นต่างมีพันธกรณีทั้งในทางกฎหมายและทางศีลธรรมที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตามมาตรา 3 ร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ประการที่สอง มาตรา 3 ร่วมไม่ได้สร้างพันธกรณีต่างตอบแทน (no reciprocity clause) [5] หมายความว่า ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งต่างมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 3 ร่วมโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะปฏิบัติตามด้วยหรือไม่ การที่ฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามไม่เป็นข้ออ้างให้อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ปฏิบัติตามไปด้วย เหตุผลเพราะว่า มาตรา 3 ร่วมต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักความมีมนุษยธรรมเป็นสำคัญ การที่ฝ่ายหนึ่งไม่มีมนุษยธรรมก็ไม่เป็นข้ออ้างให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องโหดร้ายทารุณตามไปด้วย และประกาศสุดท้าย มาตรา 3 ร่วมจะใช้บังคับทันทีที่มีสถานการณ์การขัดกันด้วยอาวุธเกิดขึ้นภายในประเทศโดยไม่ต้องสนใจว่ารัฐบาลจะให้การรับรองกลุ่มกำลังติดอาวุธหรือไม่ เพราะมาตรา 3 ร่วมมีเจตนารมณ์หลักในการคุ้มครองพลเรือนที่มิได้มีส่วนในการใช้กำลังทางทหารเป็นสำคัญ

1.4 สถานะทางกฎหมายของกลุ่ม BRN ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ สถานะทางกฎหมายของกลุ่ม BRN คืออะไร ในสายตาของรัฐบาลไทยจะถือว่ากลุ่มก่อความไม่สงบหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในขณะที่กลุ่ม BRN ถือว่ากลุ่มตนเองเป็นกลุ่มปลดปล่อยทางการเมือง (Political liberation movement) แต่ไม่ว่าจะเรียกขานอย่างไรก็ตามหากถือเกณฑ์ตามมาตรา 3 แล้ว กลุ่มของ BRN ก็เข้าข่ายเป็น "non-governmental armed groups" หรือ non state actors ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และถือว่าเป็น "ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง" (each Party to the conflict) ตามความหมายของมาตรา 3 แล้ว ผลในทางกฎหมายก็คือกลุ่ม BRN มีจะหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามมาตรา 3 ร่วม เช่น บุคคลใดที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม การใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆาตกรรมทุกชนิด การทำให้พิการ การปฏิบัติที่โหดร้าย และการทรมาน การจับเป็นตัวประกัน ฯลฯ นั้นจะกระทำมิได้ เป็นต้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็อยู่ในฐานะของฝ่าย "ที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง" ด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทยก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 3 ร่วมด้วยเช่นกัน ในประเด็นของความหมายคำว่า "ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง" (each Party to the conflict) นั้น นักกฎหมายระหว่างประเทศเห็นว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธหรือฝ่ายกบฏต่างก็อยู่ในความหมายของคำว่า "each Party" และตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 3 ร่วมอย่างเท่าเทียมกัน [6]

1.5 การใช้มาตรา 3 จะมีผลเป็นการรับรองสถานะของกลุ่ม BRN หรือไม่

ข้อวิตกกังวลของรัฐบาลไทยมาโดยตลอดก็คือจะต้องไม่พยายามยกระดับหรือรับรองสถานะของกลุ่มBRN ให้มีสถานะเป็นผู้เป็นฝ่ายในสงครามหรือสถานะใดก็แล้วแต่ แต่ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นนี้ขอทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น สถานะของกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่ "รัฐอธิปไตย" (Sovereign state) มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท เช่น กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือฝ่ายกองกำลังกบฏ (insurgent) ซึ่งหากกองกำลังที่เป็น insurgent ได้รับการรับรองจากฝ่ายรัฐบาลก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้เป็นฝ่ายในสงครามที่เรียกว่า Belligerent ซึ่งความแตกต่างนี้นำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศที่แตกต่างกันตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี การนำบทบัญญัติของมาตรา 3 มาใช้กับสถานการณ์ armed conflict ภายในรัฐนั้นได้บัญญัติอย่างชัดเจนว่า "การนำอนุสัญญาทั้งหมดไปปฏิบัติจะไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง" ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการรับรองสถานะของกองกำลังนั้นได้มีการถกเถียงกันมาตั้งแต่ตอนร่างอนุสัญญาเจนีวาแล้วและในที่ประชุมก็มีมติให้ใส่ข้อความที่ว่า "การนำอนุสัญญาทั้งหมดไปปฏิบัติจะไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง" เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิด

กล่าวอีกนัยหนึ่ง วัตถุประสงค์หลักของมาตรา 3 ตั้งอยู่บนเหตุผลมนุษยธรรมเป็นสำคัญไม่เกี่ยวกับเหตุผลทางการเมืองแต่อย่างใด การปฏิบัติตามพันธกรณีตามมาตรา 3 ไม่ก่อให้เกิดการรับรองกลุ่มกำลังติดอาวุธให้มีสถานะเป็น "ผู้เป็นฝ่ายในสงคราม" แต่อย่างใดไม่กองกำลังติดอาวุธนั้นก็จะคงมีสถานะเหมือนเดิมและรัฐบาลก็ยังมีความชอบธรรมในการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธตามภายใต้กฎหมายภายในของตนต่อไป

2. สนธิสัญญาค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty: ATT)

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติเห็นชอบ "สนธิสัญญาค้าอาวุธ" (Arms Trade Treaty (ATT) วัตถุประสงค์หลักของสนธิสัญญา ATT ก็คือต้องการควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นอาวุธตามแบบ (Conventional arms) และอาวุธเล็ก-อาวุธเบา (Small arms and light weapons) โดยเฉพาะอาวุธเล็กอาวุธเบาที่เคลื่อนย้ายและใช้งานได้ง่ายรวมทั้งมีราคาถูก มิให้ตกไปอยู่ในการครอบครองของพวกก่อการร้าย กลุ่มอาชญากรข้ามชาติหรือกลุ่มกบฏต่างๆ สนธิสัญญานี้จะป้องกันมิให้อาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้เป็นอาวุธทำร้ายล้างพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่ปีหนึ่งๆ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคนทั่วโลก สนธิสัญญานี้กำหนดให้รัฐภาคีจัดหามาตรการควบคุมและป้องกันมิให้มีการส่งออกหรือเคลื่อนย้ายอาวุธที่จะละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งจัดหามาตรการป้องกันเกี่ยวกับการเป็น "ทางผ่าน" หรือ "การขนถ่ายลำเลียง" อาวุธเหล่านี้ด้วย ฉะนั้น หากสนธิสัญญาการค้าอาวุธมีผลใช้บังคับและประเทศไทยรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเป็นภาคีสนธิสัญญา ATT แล้วก็อาจมีผลช่วยป้องกันมิให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธไปใช้ใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่มากก็น้อย

บททิ้งท้าย

กระบวนการสันติภาพใน 3 จังหวัดภาคใต้เพิ่งจะเริ่มขึ้นและเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความอดทนมากพอสมควร ซึ่งผู้เขียนหวังว่าการใช้มาตรา 3 ร่วมน่าจะมีส่วนช่วยในการสร้างแผนสันติภาพไม่มากก็น้อย และหากเป็นไปได้ ทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นควรพิจารณาเรื่องการใช้มาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาสี่ฉบับ ค.ศ. 1949 ในบริเวณ 3 จังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยควรเปิดฉากเจรจากับประเทศมาเลเซียและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนในเรื่องความเป็นไปได้ที่กลุ่มประเทศอาเซียนจะเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาค้าอาวุธเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนอันจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียนในด้านความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคงด้วย

 

อ้างอิง:

  1. โปรดดูคำแปลมาตรา 3 ร่วมในบทความของ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, ว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และสถานการณ์ชายแดนใต้
  2. Jelena Pejic, The protective scope of Common Article 3: more than meets the eye, Volume 93 Number 881 March 2011 International Review of the Red Cross, หน้า 4
  3. International Court of Justice (ICJ), Case concerning Military and Paramilitary Activities in and against Nicaragua (Nicaragua v. United States of America), 27 June 1986, Judgment, para. 218.
  4. See International Criminal Tribunal for Rwanda (ICTR), Prosecutor v. Akayesu, Case No. ICTR-96-4-T (Trial Chamber), September 2, 1998, paras. 608–609.
  5. George MOUSOURAKIS, APPLYING HUMANITARIAN LAW TO NONINTERNATIONAL ARMED CONFLICTS, http://dspace.unav.es/dspace/bitstream/10171/21626/1/ADI_XIV_1998_06.pdf, หน้า 297  
  6. Marco Sassli,Taking Armed Groups Seriously: Ways to Improve their Compliance with International Humanitarian Law International Humanitarian Legal Studies 1 (2010), หน้า12; - Lindsay Moir, The Law of Internal Armed Conflict , (the United Kingdom: Cambridge University Press,2002),หน้า 52;Antonio Cassese, The Status of Rebels under the 1977 Geneva Protocol on Non-International Armed Conflicts, International and Comparative Law Quarterly / Volume 30 / Issue 02 / April 1981, หน้า 424
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถก 5 ข้อเสนอ BRN คณะทำงานปฏิเสธตีความคำอ่อนไหว ‘ผู้ปลดปล่อยปาตานี’

Posted: 30 May 2013 05:50 AM PDT

ประชุมคณะทำงานพูดคุยสันติภาพ ถก 3 ใน 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็น รับประเด็นความยุติธรรม ช่วยคนถูกคดีจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ยังไม่ถึงเวลาให้มาเลเซียเป็นคนกลาง ปฏิเสธเรียก "ผู้ปลดปล่อย" ชี้เป็นประเด็นอ่อนไหว แต่ให้ตั้งคณะทำงานศึกษาความหมายให้ชัดเจน แนะ สมช.ตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นทีมที่ปรึกษาคณะเจรจาฝ่ายไทย


อาซิส เบ็ญหาวัน
 

 

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี มีการประชุม "คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุย เพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน" ซึ่งตั้งโดยสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วม 14 คน โดยมีนายอาซิส เบ็ญหาวัน เป็นประธาน

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล เลขานุการคณะทำงานฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นจำนวน 3 ข้อจากทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งผลการพิจารณาของคณะทำงานจะนำเสนอต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อนำเสนอต่อคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ก่อนวันนัดพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ต่อไป

นายไชยยงค์ เปิดเผยว่า สำหรับทั้ง 3 ข้อที่คณะทำงานพิจารณา ได้แก่ 1.ประเด็นความยุติธรรม ที่ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นเรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกคดีความมั่นคงทั้งหมดนั้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นนิติรัฐ (ปกครองด้วยกฎหมาย) คณะทำงานจึงมีความเห็นว่า สำหรับผู้ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ ก็ต้องปล่อยให้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม

นายไชยยงค์ เปิดเผยต่อไปว่า แต่สำหรับบุคคลที่ถูกคดีที่มาจากการออกหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) คณะทำงานจะพิจารณาว่า มีการดำเนินการด้วยความยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่ถูกควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาก่อน มีจุดอ่อนตรงที่เป็นการถูกซัดทอดจากบุคคลอื่น ทั้งที่ผู้ที่จะตกเป็นผู้ต้องหาได้มี 2 กรณีเท่านั้นคือ มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานยืนยัน
นายไชยยงค์ เปิดเผยว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย มันง่ายมากที่จะเกิดความผิดพลาด ซึ่งคณะทำงานฯ จะเข้าไปพิจารณาว่าเป็นอย่างไร หากพบว่ามีความผิดพลาดจริง คณะทำงานก็จะดำเนินการในส่วนนี้

นายไชยยงค์ เปิดเผยอีกว่า ข้อที่ 2 ประเด็นที่ขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้มาเลเซียเป็นคนกลาง (Mediator) ในการเจรจา และการให้องค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) หรือตัวแทนกลุ่มประเทศอาเซียนมาเป็นสักขีพยานนั้น คณะทำงานฯ มองว่ายังไม่ถึงเวลา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการพูดคุย ยังไม่ถึงระดับการเจรจา

"กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ยังอีกยาวไกล หากถึงขั้นการเจรจาเมื่อไหร่ ทางคณะทำงานฯ จะพิจารณาอีกครั้งในอนาคต" นายไชยยงค์ กล่าว

นายไชยยงค์ เปิดเผยต่อไปว่า ส่วนข้อที่ 3 ประเด็นที่ให้รัฐไทยเรียกขบวนการบีอาร์เอ็นว่า เป็นองค์กรปลดปล่อยชาวมลายูปาตานี ทางคณะทำงานฯ เห็นว่า ต้องกลับไปศึกษาคำว่า "ผู้ปลดปล่อย" ว่ามีความหมายว่าอย่างไร เช่น หมายถึงปลดปล่อยผู้ต้องขัง หรือ ปลดปล่อยอัตลักษณ์ หรือปลดปล่อยรัฐกันแน่ เป็นเรื่องที่จะต้องไปศึกษาให้ชัดเจนเพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหว

นายไชยยงค์ เปิดเผยด้วยว่า คณะทำงานฯ มีข้อเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพขึ้นมา เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะตัวแทนพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย เช่น คณะทำงานผู้ที่เชี่ยวชาญภาษามลายู เพื่อแปลเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพหรือเอกสารของขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นต้น

นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานคณะทำงานฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า คณะทำงานฯ เสนอให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษามลายูและเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่มาแปลข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นทั้งหมด เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนตามความต้องการของบีอาร์เอ็น
 

ประธานสภาประชาสังคมวอน 2 ฝ่ายอย่าสร้างทางตัน
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ กล่าวแสดงความเห็นกรณีขบวนการบีอาร์เอ็นเผยแพร่คลิปวิดีโอครั้งที่ 3 ว่า ส่วนตัวมองว่า คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายไม่ควรเร่งรีบให้เสียบรรยากาศ แต่ละฝ่ายยังไม่ควรยกประเด็นที่จะเป็นประเด็นที่จะถึงทางตัน เช่น ฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็ไม่น่าที่จะรีบช่วงชิงโอกาสทางการเมือง ตั้งประเด็นที่ทำให้ฝ่ายรัฐถึงทางตันเร็ว

"ส่วนฝ่ายรัฐบาลไทยก็เช่นกัน เรื่องที่จะหยิบขึ้นมาพูดก็ไม่ควรให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นถึงทางตัน ในช่วงนี้เพราะเป็นช่วงการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจ ต้องค่อยพูดค่อยคุยอย่างสร้างสรรค์ ถ้าไปยกประเด็นซึ่งเป็นประเด็นทางเทคนิคเช่น คดีก่อเหตุต่างๆ คดีทำร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายใด ก็ควรจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป สอบสวน พิสูจน์หลักฐาน นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการไป บีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย ไม่ควรเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้อขัดแย้ง หรือข้อขัดข้องที่จะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ" นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การพูดคุยระหว่างกันในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 นี้ ควรเป็นประเด็นที่สร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่กระบวนการสันติภาพ และเกิดสันติสุข ต้องค่อยๆ พยายาม อย่าเร่งรีบทำให้เสียกระบวน ถ้าหากกระบวนการสันติภาพล้มลง ก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็น

"การพูดคุยถือเป็นการดีที่ได้พูดคุยระหว่างกัน อย่ายกประเด็นที่เป็นเรื่องเทคนิคมาเป็นประเด็นปัญหา ซึ่งกรณีฝ่ายบีอาร์เอ็น นำประเด็นทางเทคนิคขึ้นมาพูดนั้น ก็คงต้องย้อนกลับไปดูว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547  ใครที่ออกมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ 300-400 คน อย่าไปพูดถึงเฉพาะ ตากใบ ไอปาร์แย กรือเซะ สะพานกอตอ  ซึ่งบางกรณีก็ผ่านมา 30-40 ปีแล้ว" นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาทำให้บรรยากาศสันติภาพเสีย เพราะโอกาสในการพูดคุยครั้งนี้เป็นนาทีทองของทั้งสองฝ่าย ต้องคุยกันไป ไม่ทำลายบรรยากาศการพูดคุย เพราะตนเห็นว่าไทยสามารถยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นกรณีตัวอย่างของโลก และถ้าสามารถยุติความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ทั่วโลกก็จับตามอง บรรยากาศที่สร้างสรรค์เช่นนี้ ก็หวังให้เกิดสันติภาพและสันติสุขได้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ 4 เสือวิเคราะห์ประชานิยมไทย นิธิ-อัมมาร-เกษียร-สมเกียรติ

Posted: 30 May 2013 02:41 AM PDT


(30 พ.ค.56) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานเสวนาสาธารณะ "คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง" วิทยาการประกอบด้วย  นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook เนื้อหาการเสวนามีดังนี้

ลักษณะสำคัญของประชานิยม

นิธิ เอียวศรีวงศ์  เริ่มต้นนิยาม "ประชานิยม" ซึ่งที่ใช้อยู่นั้นคับแคบเกินไป ประชานิยมเป็นสิ่งเก่าแก่ตั้งแต่กรีก ลักษณะสำคัญคือ 1.เอาใจประชาชน ระดับล่าง การเอาใจนั้นเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงก็ได้ ยึดอำนาจก็ได้ คนชุมนุมปกป้องสถาบันกษัตริย์ก็ประชานิยมชัดๆ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดในคอนเซ็ปท์นี้ ดังนั้นจะใช้มันในทางขวา ซ้าย ประชาธิปไตยได้หมด 2.เป็นการกระจายทรัพยากรถึงประชาชนในรูปใดก็ได้ แจกแปรงสีฟันก็ได้ ทำกองทุนหมู่บ้านก็ได้ 3.มีลักษณะชาตินิยม เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้คนเข้าร่วมได้ง่าย หรือจะเน้นประชาคมพลเมืองก็ได้ 4.มีในทุกสังคม และมีตลอดมา ต้องเข้าใจในลักษณะนี้เท่านั้นถึงจะอธิบายได้ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด

รัฐบาลบอกแต่ข้อดี ไม่บอกราคาต้นทุนนโยบาย

อัมมาร สยามวาลา กล่าวว่า ที่ดูนั้นคือประชานิยมในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ ค่อนข้างเห็นด้วยกับประชานิยมในแง่การกระจายทรัพยากร แต่ที่เกิดในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น เสน่ห์ของประชานิยมไทยตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนโยบายระดับชาติที่เอาใจประชาชน ก่อนหน้านั้นเป็นประชานิยมในระดับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มันทำให้ประชาธิปไตยก้าวไปสู่จุดที่ดีขึ้น คือ รัฐบาลสัญญาอะไรกับประชาชน ได้รับเลือกตั้งมาก็ปฏิบัติตาม ซึ่งให้เกียรติกับทักษิณมาโดยตลอด เป็น accountability หรือความรับผิดชอบ แต่ที่ค้านมาโดยตลอดคือ รับผิดชอบครึ่งเดียว เพราะนโยบายทุกอย่าง มีคนได้ เขาจะพูดแต่ว่าใครได้อะไร แต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสีย เพราะหน้าที่นักการเมืองต้องพยายามรวมเสียงได้เกินครึ่งอยู่แล้ว โอบามาก็ทำ เป็นตรรกะที่มาจากประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และเป็นผลดีด้วยหากมีการตรวจสอบ คานเสียงกันอย่างเต็มที่ บังเอิญสหรัฐอเมริกามีประเพณีปฏิบัติด้านการเมืองว่ารัฐบาลไม่ควรทำอะไรบ้าง แต่ไทยไม่มีแบบนั้น เราต้องการทำให้รัฐบาลทำได้ทุกอย่าง

"มันไม่ใช่ความผิดพรรคเพื่อไทยที่ (ให้) มั่วไปหมดทุกอย่าง เขาทำเพราะเขาได้คะแนนเสียง ผมไม่บอกว่าเขาทำสุ่มสี่ทุ่มห้าเพราะเขาทำวิจัย แต่มันไม่ใช่แนวนโยบายที่ coherent สุดท้าย ที่ผมไม่ชอบประชานิยม อย่างที่เกิดขึ้นในไทย มันทำให้การเมืองถูกกลบ ใน sense ของ cheap ทุกคนคิดว่าฉันจะได้อะไรจากรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลจะทำอะไรเพื่อสังคมโดยรวม"

"มันเป็นประเด็นว่า จะใช้ทรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร ดีเบตนั้นไม่เคยเกิดขึ้น อย่างจำนำข้าว บางเวลาผมอาจเห็นด้วย แต่ผมคิดว่าระบบที่สร้างขึ้นมาในโครงการนี้เอื้อชาวนาระดับบน ระดับล่างได้อานิสงส์ และระดับบนจะช่วย organize เสียงอื่นๆ ให้รัฐบาลได้ เป็นแนวทางที่ชาญฉลาดพอสมควร สอง คุณกำลังเห็นใช่ไหมว่าเวลานี้ต้นทุนที่ตามมาทีหลัง ส่วนนี้รัฐบาลไม่ต้อง accountable ต้นทุนจะมากแค่ไหน ผลเสียจะตกกับใคร"

"ความรับผิดชอบต่อต้นทุน ผลเสียต่างๆ ของนโยบายไม่อยู่ในสัญญา ไม่อยู่ในส่วนที่รัฐบาล accountable มันทำให้รัฐบาลถูกลง การดีเบตบทบาทรัฐบาลในการทำประโยชน์สาธารณะไม่ไปไกลเท่าที่ควร และนโยบายประชานิยมมันกลบเกลื่อนเรื่องที่จะไปถึง มองแต่ว่าข้าจะได้อะไร มันทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปด้วย  และไม่มองรัฐบาลอย่างที่ควรจะมอง"

ระวังอคติในการประเมิน อะไรดี-ไม่ดี

นิธิ กล่าวว่า ผมไม่ได้คิดว่าการกระทำรัฐบาลดีทั้งหมด แต่มองว่านโยบายจำนำข้าวทำก็ได้ ถ้ามีการระบายข้าว โรงสีไม่โกง สอง อย่างที่ อ.อัมมารพูดนั้นพูดใหม่ว่า ตั้งใจให้ชาวนาจนได้ประโยชน์ และชาวนารวยเป็นผลพลอยได้ก็ได้ สาม เวลาพูดว่ารัฐบาลมันถูกลง (cheap) เรามีอคติบางอย่างอยู่ในใจ ถ้าประชาชนอยากได้รถคันแรก ราคาลดแสนหนึ่ง มึงคนไม่ค่อยดี อยากได้เขาพระวิหารคืน มึงคนดี เสื้อแดงอยากได้ความยุติธรรม ไม่รู้คืออะไร แต่ใกล้จะเป็นเทวดาแล้ว เพราะต้องการสิ่งที่สวยงาม เรื่องนี้ต้องระวังอคติเราเอง เพราะเรารวยแล้ว ถ้าเป็นวัตถุไม่ดี แต่ถ้าเป็นอุดมคติมันสวยงาม

อัมมาร กล่าวว่า ผมก็อยากให้เสื้อแดงได้สิ่งที่เขาต้องการ นั่นเป็นความต้องการจากรัฐ อาจเป็นความลำเอียงของผม แต่ผมให้ความหวังกับรัฐมาก เพราะเป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ ถ้าหากว่ารัฐบาลประชานิยมไหนๆ ก็ตามมีนโยบายชัดเจนว่าฉันจะพยายามเจาะจงไปที่คนยากจน คนด้อยโอกาส

"เราควรจะนึกถึงนโยบายรัฐบาลที่จะให้กับคนที่อ่อนแอที่สุดในทางเศรษฐกิจ โดยพยายามให้ผลได้ต่อเขามากที่สุด และไม่สูญเสียไปให้กับคนที่ฐานะดีอยู่แล้ว อย่างนโยบายจำนำข้าวสร้างล็อบบี้ทางการเมืองที่ powerful มากอยู่ในใจกลางรัฐบาล"

ยิ่งเฉพาะกลุ่ม ยิ่งเป็นประชานิยมด้อยคุณภาพ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ อ.นิธิ เรามุ่งทางเศรษฐกิจเยอะ เลยไม่ได้มุ่งเรื่องชาตินิยมหรือไม่ แต่เราอยากให้ความสนใจเป็นพิเศษกับด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่การเมือง

ผมคิดว่ามีมิติสำคัญที่ทำให้แตกต่างกับนโยบายทั่วไปที่พูดกันมา คือ มันไม่ได้มุ่งสร้างความสามารถของประชาชน ทั้งด้านการแข่งขัน การอยู่รอดในสังคม นโยบายจำนวนมากมีลักษณะเป็นนโยบายลด แลก แจก แถม  แม้รุ่นแรกๆ จะมีเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เราไม่เรียกประชานิยม เพราะเป็นความพยายามสร้างความสามารถประชาชนด้านสุขภาพ หรือโอท็อป ก็เป็นด้านการแข่งขัน แต่ช่วงหลังไม่มีสีสันแบบนี้ เช่น รถคันแรก เคยได้คุยกับวงใน เขาบอกว่านโยบายนี้เกิดขึ้นมาตอบสนองนักลงทุนญี่ปุ่นที่ประสบอุทกภัยในช่วงน้ำท่วมใหญ่ โดยคนซื้อรถคนไทยเป็นผลพลอยได้ อ.นิธิอาจพูดกลับกันได้ แต่ถ้าดูกระบวนการล็อบบี้ชัดว่ามาจากธุรกิจยานยนต์ข้ามชาติ

ประชานิยมในช่วงสอง (ยิ่งลักษณ์) เริ่มแบ่งเป็นแต่ละ segment และแต่ละกลุ่มก็มีผลประโยชน์ในแต่ละเรื่อง การแบ่งแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นโยบายประชานิยมช่วงหลังด้อยคุณภาพลงเรื่อยๆ

ปัญหาอยู่ที่ "การเมือง" ไม่ใช่ "นโยบาย"

เกษียร เตชะพีระ  กล่าวว่า 1.นโยบายประชานิยมเป็นกระแสหลักของการเมืองทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย 2.ปัญหาแท้จริงไม่ใช่นโยบายประชานิยมแต่คือการเมืองแบบประชานิยม อำนาจนิยม  นโยบายที่ทีดีอาร์ไอพูดเป็นปัญหาเพราะมันเข้าไปอยู่ในการเมืองแบบอำนาจนิยม 3.คิดถึงทีดีอาร์ไอเลยเตรียมมา การเมืองแบบเทคโนแครต ไม่อาจคัดค้านการเมืองแบบประชานิยมได้ "ไม่มีน้ำยา" 4.ฝ่ายต่างๆ ต้อง repositioning ให้พ้นการเมืองเสื้อสี และการเมืองแบบประชานิยม

ขยายความ

1. ประชานิยมเป็นกระแสโลก มันเป็นเรื่องปกติ ระดับโลกเกิดขึ้นเป็นผลจากแพร่ขยายแนวทางเสรีนิยมใหม่ ท่าทีแบบประชานิยม ด้านหนึ่งเดินตามเสรีนิยมใหม่ที่แย่งชิงทรัพยากรจากส่วนรวม อีกด้านออกประชานิยมทำเพื่อให้คนตัวเล็กๆ สามารถอยู่ได้ แต่ในประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะของตัว ประชานิยมแบบนี้ทำมานานท่ามกลางความเป็นประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองหลุดจากมือชนชั้นนำหรืออำมาตย์ ไปสู่ผู้เลือกตั้งมากขึ้น ขยับจาก non-majoritarian institution ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องคมนตรี ไปอยู่กับประชาชนมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีประชานิยม ผมไม่อยากให้มองว่าผู้เลือกตั้ง passive เพราะเขา active กว่านั้น อย่าคิดว่าไอ้เบื้อกคนหนึ่งคิดอยู่บนหอคอยแล้วโยนไป เผลอๆ อาจกลับกัน มันมี interaction มากกว่านั้น

2. ปัญหาแท้จริงไม่ใช่นโยบาย แต่คือการเมืองประชานิยม อำนาจนิยม จริงๆ นโยบายที่ผิดทางมีเยอะ ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ถ้ากระบวนการกำหนดนโยบายเปิดให้สังคม กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มีส่วนร่วม ปัญหาคือ การเมืองแบบประชานิยมที่ผ่านมาเป็นกระบวนการที่ปิดแคบ ไม่มี check and balance ไม่มี polarization  มองประชาชนเป็นก้อนเดียวกัน พวกคิดต่างเป็นเอเลี่ยน  ที่น่ากลัวคือ นิยามความบริสุทธิ์ของประชาชนคือ คนดี คนไม่ดี ระบบแบบนี้ไม่มีพื้นที่ให้ดีเบต ไม่ให้คนทะเลาะกัน  ถ้าจะแก้ปัญหาไม่ใช่ทะเลาะนโยบายแต่ละเรื่อง แต่ต้องฟันลงไปที่การเมืองแบบประชานิยม ไม่อย่างนั้นเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ มาถกเถียงไม่ได้

ความผิดพลาดของการดูเบา "ที่มา" อำนาจ

เกษียรกล่าวต่อว่า 3. ทำไมผมถึงพูดแรง ว่าการเมืองแบบเทคโนแครต ไม่อาจคัดค้านการเมืองแบบประชานิยมได้ นั่นเพราะที่ผ่านมาเทคโนแครตละเลยปัญหาที่มาของอำนาจ  ขอแต่ใช้อำนาจให้ถูกหลักวิชาและเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นพอ ดูเบาปัญหาความชอบธรรมของอำนาจ ทีดีอาร์ไอดูเบาเรื่องนี้หลังจากเกิดรัฐประหาร ดังนั้น ถึงแม้ที่มาไม่ชอบธรรมแต่ถ้าเอาปัญญาทางวิชาการไปประกอบเพื่อผลักดันนโยบายได้ก็เอา ผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่เวิร์ค คุณกลายเป็นผู้ที่ถูก disenfranchised ในวงการถกเถียงประชาธิปไตยได้ง่าย

ที่ตลกคือการเมืองเทคโนแครตกับการเมืองประชานิยม ใกล้กันกว่าที่คิด มีหลายอย่างแชร์กันได้ คือ หนึ่ง มี one solution ตามหลักวิชาหรือ ประชานิยมที่มองประชาชนเป็นก้อนเดียว เหล่านี้เป็นข้อถกเถียงทางการเมืองที่แคบ สอง ทั้งคู่ปฏิเสธความสามารถของประชาชนที่จะเป็นผู้กระทำการทางการเมือง ประชานิยมนำโดยผู้นำ แบบเทคโนแครตก็คิดว่าประชาชนอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ โง่ จน เจ็บ

"ทั้งสองแบบ denying political agent of the people ผมคิดว่าต้องมองพวกเขาใหม่ อย่ามองว่าการที่เขาโหวตให้พรรคเพื่อไทยเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์"

วางสถานะทางการเมืองใหม่ ห่างไกลเสื้อสี

เกษียร กล่าวต่อว่า 4.ดังนั้นถ้าจะแก้ ฝ่ายต่างๆ ต้อง repositioning ตัวเองทางการเมือง กล่าวคือ ไม่ได้คิดว่าการเมืองเสื้อสีจบพรุ่งนี้ แต่ยิ่งเราทำให้การถกเถียงเชิงเหตุผล ขยับออกจากเสื้อสีให้มาก เราจะเป็นคู่สนทนากับรัฐบาลได้ดีขึ้น อุปสรรคอย่างหนึ่งคือ การเมืองมันแยกมา 5-6 ปีแม้ระวังตัวยังไงเราก็โดนแขวนป้าย ถ้ายังอยู่ในกรอบแบบนี้ไม่มีทางสร้างฝ่ายค้านที่มีน้ำยาในระบบประชาธิปไตยที่จะทัดทานพรรครัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งได้ พรรคประชาธิปัตย์ถูกตรึงและทับจมลงเรื่อยๆ  โหมดการต่อสู้หลักของประชาธิปัตย์ตอนนี้คือฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ภาวะแบบนี้จำเป็นต้องมีพลังฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในสังคม พูดคุยแบบที่รัฐบาลต้องฟัง และบทสนทนาจะเริ่มได้บ้างต้องออกห่างจากการเมืองเสื้อสี

เทียบ 'ทักษิณ' กับ 'ชาเวซ' ตัวกลางเชื่ออำมาตย์-ประชาชน

นิธิ กล่าวว่า ผมอาจมีทัศนะต่อประชานิยมไม่เลวร้ายเท่า อ.เกษียร เราต้องเข้าใจประชานิยมให้ดี เพราะมันเป็นลักษณะเด่นในโลกแล้ว เฉพาะประเทศไทย มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ มันเกิดขึ้นในสังคมสองอย่างด้วยกันที่อยู่ด้วยกัน อันแรก สังคมที่ผลิตสินค้าและบริการขาย ไม่ใช่สังคมเกษตร อันที่สอง มีความเหลื่อมล้ำสูง เมื่อสองอย่างอยู่ด้วยกันจะเกิดประชานิยมแบบอันตราย ที่ผ่านมาความสัมพันธ์เชิงประเพณี ในการกำหนดให้เราเกิดความมั่นคงสำหรับคนเล็กๆ หมดไปแล้ว ฉะนั้น หลังรัฐธรรมนูญ 40 เมื่อการเมืองแบบเลือกตั้งในไทยค่อนข้างมั่นคง นักการเมืองที่ฉลาดและเข้ามาใหม่มองเห็นทันทีว่าต้องเล่นเรื่องประชานิยม

ประเด็นต่อมา มีข้อสังเกตว่า ไทยกับละตินอเมริกาคล้ายกันมาก ในละตินอเมริกากำลังเปลี่ยนจากเกษตรยังชีพมาเป็นสังคมผลิตสินค้าและบริการในเวลาใกล้เคียงกับเรา เมื่อเกิดความจำเป็นที่กลุ่มชนชั้นนำไม่ยอมกระจายทรัพยากร ก็จะเกิดผู้นำกลุ่มประชานิยมที่ประสบความสำเร็จ แม้อำมาตย์จะเกลียดชาเวซอย่างมากๆ แต่อย่างน้อยที่สุด ชาเวซก็ไม่ทำให้เกิดการปฏิวัติชนชั้น เป็นตัวกลางระหว่างกลุ่มอำมาตย์กับประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ทำให้การปฏิวัติทางชนชั้นยุติลง กลับมาคิดถึงทักษิณ ผมว่าแกทำอย่างเดียวกัน ถ้าอยู่ภายใต้การเมืองแบบเก่าวิธีดำเนินนโยบายแบบเก่า ผมคิดว่าความตึงเครียดของสังคมไทยจะสูงมากขึ้นกว่านี้

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ redistributive policy ของทักษิณ กระทบต่อผลประโยชน์ของอำมาตย์น้อย เป็นการนำเอาทรัพยากรกลางไปเอาใจคนชั้นล่าง แต่ลักษณะการใช้นโยบายนี้โดยไม่กระทบคนอื่นเป็นไปไม่ได้ มันขยายไปสู่การเข้ากระเป๋าคนอื่น ไม่ว่ารัฐบาลดีหรือเลวหนีไม่พ้นเหมือนๆ กัน นโยบายดีไม่ดียังเถียงกันได้ แต่มันหนีไม่พ้นที่จะเอามือล้วงกระเป๋าคนอื่นจนได้ เพราะทรัพยากรจำกัด

"ความแตกต่างสำคัญระหว่างทักษิณกับยิ่งลักษณ์ คือ มือเริ่มล้วงเข้ากระเป๋าคุณมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างพลังที่จะกำกับมือนั้นได้ดีขึ้น หรือสอนให้มือนั้นล้วงได้ถูกต้อง นำไปใช้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนดีขึ้น"

นโยบายประชานิยมเหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นได้ ถ้าไล่ดูจะเห็นว่าเผด็จการมีช่วงของการใช้นโยบายลักษณะนี้หรือฝันว่าจะใช้นโยบายกระจายทรัพยากร ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเราไม่เอาใจใส่เรื่องที่มา ความถูกต้อง ความชอบธรรมของอำนาจ เราจะเปิดโอกาสให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จได้

สปิริตเทคโนแครตยังมีประโยชน์-ทบทวนการร่วมงานคณะรัฐประหาร

อัมมาร กล่าวว่า ผมไม่มีข้อกังขาในหลายเรื่องที่ อ.เกษียร กับ อ.นิธิ พูด หลายนโยบายอย่าง 300 บาท เป็นนโยบายที่ผมก็เห็นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ข้อสังเกตอันหนึ่งของความไม่เอาไหนของระบบประชานิยมคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในร้อยประเทศที่ไม่มีดัชนีค่าจ้างแรงงาน ไม่มีใครแคร์ ถ้าขาดแคลนแรงงานก็เอาพม่ามา เขมรมา ตรงนี้ผมเป็นชาตินิยม เพราะเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว แทนที่จะเพิ่มค่าแรงและปรับปรุงตัวเอง อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอในอดีตที่ผ่านมาอาจจะบกพร่องในการเปิดเวที แต่เราก็พยายามจะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ

"เรายอมรับว่าทีดีอาร์ไอมีกลิ่นอาย เทคโนแครต เพราะผู้ก่อตั้งก็เป็นเทคโนแครต และภูมิใจที่เป็นเทคโนแครต มีจรรยาบรรณบางอย่างของเทคโนแครต แต่อย่างน้อยคนรุ่นต่อๆ มาเขาเข้าใจดีว่ายุคของเทคโนแครตมันหมดไปแล้ว แต่เราอยากให้มีบางส่วนของจิตวิญญาณนั้นมาแก้ปัญหาของประชานิยม ไม่ใช่จะลบล้างทั้งหมด"

ยกตัวอย่างนโยบาย 30 บาทผมเชียร์เต็มที่และจะเชียร์ต่อไป เป็นนโยบายที่ยั่งยืนที่ให้ประโยชน์กับคนจน  นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้รัฐทำ มีหน้าที่ดูแลสิ่งพื้นฐานของประชาชน ปล่อยเป็นเรื่องกลไกตลาดไม่ได้ แต่นโยบายประชานิยมกิมมิคใหม่ๆ ในยุคยิ่งลักษณ์นั้นมีต้นทุน และกระทบต่อส่วนอื่นๆ เช่นงบของประกันสุขภาพทั่วหน้าถูก freeze หรือปรับลดลงด้วยซ้ำในปีแรกเพราะน้ำท่วม

โดยส่วนตัว ผมอยากจะให้ประชาชนเห็นและเข้าใจว่าเราเห็นว่ามีปัญหาอะไร เราไม่ได้ค้านนโยบายทั้งหมด จริงๆ ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ ให้เขาตัดสิน แต่ที่ผ่านมาประชาชนอาจเห็นภาพไม่หมด และไม่เห็นว่ามีทางเลือกอื่นใดที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ และอยากเห็นทีดีอาร์ไอปรับบทบาทว่า เราดูทุกนโยบายของรัฐบาล ปัญหาก็คือ คราวที่แล้วทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอนโยบายประชานิยมทั้งคู่ ระบบการเลือกตั้งของเรามีคะแนนเสียงหย่อนบัตร พอได้เสียงข้างมากก็มีอำนาจล้นฟ้า ที่ประชาธิปัตย์ไม่มีน้ำยา ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีน้ำยาจริงๆ อีกส่วนหนึ่งเพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดให้ฝ่ายค้านมีน้ำยา

"แต่การ่วมมือกับรัฐบาลที่ได้มาจากการปฏิวัติ อย่างน้อยมีผมที่ร่วมกับ สนช. คงต้องทบทวน ยุคทหารครองเมืองจากการปฏิวัติมันหมดแล้ว และมันสร้างพิษในระบบการเมืองของเราจนถึงทุกวันนี้ ผมหวังว่ามันค่อยๆ จางลงไปแล้ว"

นิธิ กล่าวว่า เราพูดถึงประชานิยม คล้ายๆ ว่าถ้าประชาชนเปล่งเสียงว่าต้องการอะไร แล้วนักการเมืองตอบสนองเป็นเรื่องดี แต่ความจริง การให้ประชาชนแสดงออกมันไม่ใช่ง่าย และแต่ละกลุ่มก็ขัดแย้งกัน ทีดีอาร์ไอก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะแสดงออกถึงความต้องการของประชาชนได้ด้วย สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพต่างๆ ก็อ่อนแอมาก ประชานิยม ถ้าจะมีอันตราย ไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม ก็เพราะมันขาดกระบวนการตรงนี้

เกษียร กล่าวว่า ในห้าหกปีที่ผ่านมามีเรื่องให้ตัดสินใจเยอะ evil อันไหนใหญ่กว่า แต่การเรียนรู้ว่ามีผลกระทบอย่างไรแล้วเดินออกจากผลกระทบนั้นได้เร็วเป็นเรื่องที่ดี

ผมเห็นด้วยกับ อ.นิธิ การเมืองเป็นการเมืองมวลชนมากขึ้น นโยบาย redistributive มีมากขึ้นแน่  แต่ที่แน่ๆ ที่ทำกันอยู่ มันทิ้งปัญหาไว้จำนวนหนึ่ง และปิดกระบวนการในการมีส่วนร่วม ตลกมาก ที่พอรัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นก็เริ่มแสดงท่าแบบที่เคยทำก่อนรัฐประหาร บวกกับความจริงทีว่า การเมืองเสื้อสีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การถกเถียงเชิงนโยบายลำบาก ดังนั้นผมจึงคิดว่าต้องปรับโพสิชั่นตัวเองแล้วเป็นตัวแทนบทสนทนาที่หลากหลาย  ผมเลยรู้สึกว่า ประชานิยมเป็นนโยบายกระจายทรัพยากรที่เฮงซวย เราน่าจะฝันถึงนโยบายกระจายทรัยากรที่ดีกว่านี้ น่าจะต้องสร้างบทสนทนาของประชาชนกับผู้มีอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ อันนี้ที่อยากเห็น การเมืองชนชั้นแบบประชาธิปไตย

ทีดีอาร์ไอต้องเป็นหน่วยวิชาการ ไม่ยุ่งระบบการเมือง

สมเกียรติ  กล่าวว่า ในวงการการเมือง มีพรรคการเมือง นักการเมือง แอคติวิสต์ นักวิชาการ ผมอยากเห็นนักวิชาการและทีดีอาร์ไอเป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นแอคติวิสต์ การที่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้มแข็ง ไม่ควรเป็นเหตุให้สถาบันวิชาการทำหน้าที่แทนพรรคฝ่ายค้าน เรายังอยากจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเป็นชิ้นๆ มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมือง เพราะมันเสี่ยงและเลี่ยงได้ยากมากที่จะพัวพันกับเสื้อสีต่างๆ การวิจารณ์นโยบาย ไม่ว่ารัฐบาลไหนมันมีทั้งนโยบายที่ดีและไม่ดี เรายังอยากเป็นแบบที่เป็นอยู่ แต่แน่นอนว่า ต้องทำอย่างไรให้ไม่ตกยุค แต่การเปลี่ยนระบอบการเมือง สิ่งแวดล้อมทางการเองเป็นเรื่องใหญ่ ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าไปทำ ที่สำคัญ เรามีพื้นที่เล่นของนักวิชาการอยู่ เป็นเสียงเสียงหนึ่งสำหรับภาคประชาสังคม คนไม่มีปากมีเสียงในสังคม ในระบบประชาธิปไตยมีกลไกการตัดสินใจของมันอยู่แล้ว อาจมีปัญหาในบางมุม แต่เป็นระบบที่เลวร้ายน้อยที่สุด เราเคยคุยกันตอนที่มีนักวิจัยทีดีอาร์ไอไปนั่งอยู่ในรัฐบาลหนึ่ง เราสรุปว่าเราไม่ควรเดินในเส้นทางแบบนั้นอีก เราอยากเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบที่สมดุล และคุ้มครองคนเล็กๆ น้อยๆ เราจึงวิตกทุกข์ร้อนกับนโยบายประชานิยม ไม่ใช่เพราะเราเป็นเสรีนิยมใหม่ แต่เห็นว่ามันจะวิ่งไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแน่นอน  ประชาชนไม่ใช่คนที่ passive รอพรรคเสนอ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่รอบรู้ รู้เต็มที่แสดงออกได้อย่างถูกต้อง มันเป็นไปไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่พูดเรื่องต้นทุนนโยบาย เราจึงอยากมีส่วนช่วยให้ระบบสมบูรณ์มากขึ้น เราตั้งหน่วยวิเคราะห์งบประมาณรัฐบาล เพื่อให้รัฐสภามีข้อมูลดีขึ้น แต่มิได้หมายความว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเมือง

เกษียร กล่าวว่า เป็นจุดยืนที่น่านับถือ แต่ผมมองในภาพรวมแล้วคิดว่าปัญหาใหญ่ แล้วนโยบายประชานิยมที่มีปัญหามากน้อยต่างกันในแต่ละอันเป็นแค่เงาสะท้อนของการเมืองประชานิยม แต่ผมก็เข้าใจบทบาทและภารกิจของทีดีอาร์ไอ แต่มันคงไม่เป็นพิษเป็นภัยถ้าจะได้ยินว่าสิ่งที่คิดอยู่นั้นโยงกับเรื่องที่ใหญ่กว่า

ผมอยากให้กลุ่มประชาชนกลุ่มต่างๆ กลุ่มอาชีพ กลุ่มนักวิชาการ ที่ไม่ทะเลาะกันเรื่องสีแล้วสร้างบทสนทนากับรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งได้ เพราะสภาก็ไม่สามารถพูดแทนปัญหาจำนวนมากได้ หลุดไปเยอะ จะให้ประชาธิปไตย Healthy จำเป็นต้องการบทสนทนาที่แข็งแรงหลากหลาย 

ถ้าจริงว่า ม็อบยึดโน่นนี่ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าจริงว่าระบอบรัฐสภาเข้มแข็ง ก็ยิ่งต้องการบทสนทนาเหล่านั้น และถ้าจะทำอย่างนั้นได้ต้องเลิกแนวทางการเมืองสุดโต่ง การเมืองนอกระบบ เลิกดึงสถาบันเบื้องสูงมาเกี่ยวข้อง ถ้าทำได้ก็มีโอกาสที่จะเริ่มเปิดความเป็นไปได้ใหม่ทางการเมือง

โจทย์ยังอยู่ ให้มวลชน reposition ไม่ง่าย

นิธิ กล่าวว่า "เห็นด้วยเรื่อง repositioning แต่คิดอีกที แม่งยุ่งยาก (หัวเราะ) ผม reposition ทำได้ ทีดีอาร์ไอทำได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจทำไม่ได้ แต่คนจำนวนมากทำไม่ได้ และน่าเห็นใจ ยกตัวอย่าง จำนวนมากของคนเสื้อแดง เขาไม่ได้เห็นพ้องต้องกันกับธิดา เกษียร แต่เขาเห็นร่วมกันว่า อย่าเผลอนะเว้ย ไม่อย่างนั้นจะทหารยึดอำนาจ เขาจึงต้องเล่นสุดโต่งต่อ ความเป็นจริงมีคนอย่างพวกเราที่ reposition ได้ แต่คนจำนวนมากทำไม่ได้"

เสนอแก้ รธน. รัฐบาลต้องมีวินัยการคลัง

สมเกียรติ กล่าวว่า อาการน่ากลัวเพื่อให้ได้อำนาจทางการเมือง ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งสู่ประชานิยม และจะเป็นกระแสต่อไป การที่เราจะทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่แข่งขันกันจนทำลายตัวเองและระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องกำหนดกติกาบางอยางที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ คือ แก้ให้มีวินัยการคลัง ตั้งแต่เกิดวิกฤต 40 จนปัจจุบัน ไทยขาดดุลการคลังทุกปี ยกเว้น ปี 2548 ปีเดียว มันสะสม แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่สูง แต่มันกระโดดขึ้นได้ถ้าเกิดวิกฤตที่กระทบจากภายนอก เคยกระโดดจาก 44% เป็น 66% มาแล้ว แล้วความเดือดร้อนจะเกิดกับประชาชนทุกกลุ่ม

อัมมาร กล่าวว่า ผมอยากเสนอว่าทุกบาทที่รัฐบาลใช้จ่าย จะต้องอยู่ในงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการอนุมัติจากสภา เท่าที่ผมอ่านประวัติศาสตร์เมืองนอก ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะข้อถกเถียงเรื่องการใช้เงินรัฐและการเก็บภาษีประชาชน จะขาดดุลก็ได้ตราบใดที่รัฐสภาตัดสินใจได้

เกษียร กล่าวว่า ผมเห็นด้วยที่มวลชนทั้งสองฝ่ายเขายังไม่อาจรีโพสิชั่นนิ่ง เพราะมีเรื่องตกค้างเยอะ ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและคดี 91 ศพ แต่ผมก็รู้สึกว่า จำนวนมากมันเหมือนสร้างผีหลอก ระวังรัฐประหารๆๆๆๆๆ ระวังล้มเจ้าๆๆๆๆๆๆ เพื่อตรึงมวลชนไว้ เอาเข้าจริง threat มันไม่ได้สูงขนาดนั้น ผมรู้ว่าผมพูดแบบนี้ ผมโดนด่าแน่ แต่ถ้าไม่พูดมันแย่

นิธิ กล่าวว่า "ผม ยังรู้สึกว่า threat ถ้ามองจากสายตาอย่างพวกเราที่ repositioning ได้ง่าย อาจเห็นว่า threat นั้นมัน unreal นี่หว่า แต่สำหรับเขา [มวลชนเสื้อแดง] เขาคิดว่า real มากๆ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับที่จะวินิจฉัยมาตรา68 จะบอกว่าไม่จริง เป็นเรื่องฝัน ก็มันจริง เห็นชัดเลย ทำให้คนรู้ว่ามันมีภัยคุกคามบางอย่างในที่ลับ ในที่แจ้งอยู่ตลอดเวลา แล้วจะบอกว่ามึงหยุดสิๆ ก็ไม่ได้อีก เพราะมันเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมาระหว่างสองฝ่าย สำหรับเราเราอาจบอก เฮ้ย มึงไม่มีกึ๋นหรอก ยังไงมันก็ต้องออกมาแบบนี้ แต่สำหรับเขาที่โดนมาอย่างเจ็บแสบแล้ว ผมก็เห็นใจเขา"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟเรียกร้องสังคมเปิดโอกาสให้เด็กพิการมีส่วนร่วมมากขึ้น

Posted: 30 May 2013 01:55 AM PDT

(30 พ.ค.56) องค์การยูนิเซฟออกรายงานสภาวะเด็กโลกประจำปี 2556 ซึ่งปีนี้ว่าด้วยเรื่องเด็กพิการ (The State of the World's Children – Children with Disabilities) และเรียกร้องให้สังคมยอมรับในความสามารถและศักยภาพของเด็กพิการ และเปิดโอกาสให้เด็กพิการได้มีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น

"เมื่อคุณมองที่ความพิการก่อนมองความสามารถของเด็ก นอกจากจะเป็นเรื่องที่ผิดต่อเด็กแล้ว ยังทำให้สังคมเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากศักยภาพของเด็กพิการอีกด้วย เมื่อเด็กขาดโอกาสสังคมก็เสียประโยชน์ ฉะนั้นเมื่อเด็กได้รับโอกาส สังคมก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน" นายแอนโทนี่ เลค ผู้อำนวยการบริหารขององค์การยูนิเซฟกล่าว

ในประเทศไทย จากการสำรวจความพิการ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2550 พบว่ามีผู้พิการจำนวน 1.87 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งหมด มีเด็กพิการอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มาจดทะเบียนคนพิการจำนวน 74,502 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีเด็กพิการอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทะเบียน เด็กพิการส่วนใหญ่ในประเทศไทยคือกลุ่มพิการทางสติปัญญา นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรที่พิการอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 24.3 ไม่ได้รับการศึกษา และมีประชากรพิการวัยแรงงาน เพียงร้อยละ 53.3 ที่มีงานทำ

รายงานสภาวะเด็กโลกปี 2556 ระบุว่า เด็กพิการมักเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลทางสุขภาพหรือไปโรงเรียนน้อยที่สุด และเสี่ยงต่อความรุนแรง การทารุณกรรม การถูกแสวงประโยชน์และถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็กพิการที่เข้าถึงยาก หรือที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในศูนย์ผู้พิการต่างๆ อันเป็นผลมาจากการถูกตีตราทางสังคม หรือการที่ครอบครัวไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลพวกเขาได้ ปัจจัยหลายอย่างนี้ทำให้เด็กพิการกลายเป็นกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง รายงานยังระบุอีกว่าเด็กพิการเพศหญิงมักได้รับอาหารและการดูแลน้อยกว่าเด็กพิการเพศชาย

รายงานฉบับนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) และดำเนินการเพื่อประกันสิทธิของเด็กและคนพิการ ตลอดจนสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถเลี้ยงดูเด็กพิการได้ ที่ผ่านมา หนึ่งในสามของประเทศทั่วโลกยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ สำหรับประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฯ นี้แล้วเมื่อ พ.ศ. 2550

นอกจากนี้ รายงานเน้นถึงความสำคัญในการให้เด็กและผู้พิการมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการและบริการต่างๆ สำหรับผู้พิการ อีกทั้งยังเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไป ผู้บริหารประเทศ และหน่วยงานต่างๆ เช่น โรงเรียน และสถานพยาบาล ยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการด้วย

 

 

ดาวน์โหลดรายงานสภาวะเด็กโลก ปี 2556 และเอกสารข้อมูลมัลติมีเดียที่เกี่ยวข้อง(เฉพาะภาษาอังกฤษ)ได้ที่ http://www.unicef.org/sowc2013/ และ http://weshare.unicef.org/SOWC2013Media

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรากฏการณ์ไทยกายฟอกซ์ : ภาวะหลังสมัยใหม่ที่คนไทยไม่อยากเรียน

Posted: 30 May 2013 01:26 AM PDT

เกริ่นนำ


ที่ประเทศไทย ในสังคมจำลองอย่างระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ได้เกิดปรากฎการณ์ "หน้ากากกายฟอกซ์" (Guy Fawkes mask) ซึ่งเคลื่อนไหวมาจากกลุ่มที่สนับสนุนให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และแน่นอน ผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวเหล่านั้น คงได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา (V For Vendetta, 2005) เป็นส่วนใหญ่ และอาจรู้จักที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์เป็นส่วนน้อย ที่น่าสนใจ คือ "ภาวะลักลั่นย้อนแย้ง" ซึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยความไม่ต่อเนื่องของระบบคิดที่ยืนอยู่บนรากฐานเดิมๆ ของโลกทัศน์เก่า กำลังเปิดเผยให้เราเห็นพรมแดนของการปะทะกันของโลกสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ โดยที่ "ความไม่ต่อเนื่อง" (Discontinuity) อันเป็นตัวแทนของโลกหลังสมัยใหม่ กำลังบ่งบอกเราว่า "ภาวะลักลั่นย้อนแย้ง" ของวาทกรรมทางการเมืองหรือแนวคิดทางการเมืองในประเทศไทย ไม่เพียงแต่เป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy Logic) เท่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึง "ความสับสนภายในตนทางจิตวิทยา" ซึ่งแสดงออกให้เห็นจากพฤติกรรมไม่ต่อเนื่องที่ยากจะอำพรางอีกด้วย เพราะการผลิตซ้ำผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อสร้างปรากฏการณ์สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องการผลิตซ้ำแบบนักโฆษณาการตลาดมือทองแล้ว ก็จะเกิดภาวะที่จะยากควบคุมได้ ที่สุด การกระทำดังกล่าวย่อมกลายเป็นไม่สำเร็จตามความตั้งใจไป เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อจำกัดคือเรียกร้องให้มีการอธิบายอย่างหลังสมัยใหม่ (Post-Modern Trend) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักคิดชาวไทยไม่คุ้นชิน กระนั้น การอธิบายแบบนี้ก็กลับลักลั่นย้อนแย้งในตัวเองอีก เพราะประเทศไทยมิได้ยอมรับเกี่ยวกับการคืนสิทธิความเท่าเทียมของมนุษย์ในประเทศนี้โดยการปฏิบัติ? แต่ก็นั่นแหละ "ความลักลั่นย้อนแย้ง เป็นงานของหลังสมัยใหม่โดยตรง"
 

เนื้อหา

1. การผลิตซ้ำเป็นคำสำคัญของศตวรรษที่ 21
ในภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จงใจแสดงให้เห็น "การผลิตซ้ำ" ของรัฐบาลเผด็จการ ในระดับที่เรียกว่า ครอบงำ ก็ว่าได้ ซึ่งการ "ผลิตซ้ำ" นี้มีผลโดยตรงต่อผู้บริโภคสื่อ หรือที่จะเรียกว่า ผู้เสพสัญญะ ก็ได้ บทพูดของท่านผู้นำในท้องเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจแห่งการกดบังคับอย่างชัดเจน เป็นต้นประโยคที่กล่าวว่า "Any unauthorized personnel, will be subject to arrest. This is for your protection."(บุคคลที่ไม่ได้รับการอนุญาตจะถูกจับกุม เพื่อความปลอดภัยของคุณ) คำว่า "ความปลอดภัยของคุณ" เป็นสิ่งที่ตรงกับความรู้สึกเบื้องลึกของมนุษย์ที่รักตัวกลัวตาย แน่นอนที่สุด จะมีมนุษย์ส่วนหนึ่งเห็นด้วยที่จะฆ่าชีวิตมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งได้ด้วยคำๆนี้ นั่นเป็นตรรกะของโลกทัศน์เดิม "Disease-ridden degenerates. They had to go." (ภัยร้ายของสังคมต้องหายไป) ซึ่งในศตวรรษที่ 21 เรื่องนี้ถูกพิสูจน์กันในระดับประสบการณ์และปฏิบัติการเชิงนโยบายแล้วว่า "ไม่จริง" เป็นศิลปะแห่งการชวนเชื่อรูปแบบหนึ่ง เราไม่อาจกำจัดสิ่งที่เรียกว่าภัยร้ายนี้ได้อย่างสิ้นซาก และในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ แต่ที่สำเร็จคือการถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของ "พวกชาตินิยม" (Nationalism) เพราะการผลิตซ้ำแบบที่ว่า (ในภาพยนตร์เสนอให้เห็นว่าท่านผู้นำควบคุมสื่อและครอบงำประชาชนผ่านสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบ) ทำให้เกิด "ภาวะเกินจริง/เสมือนจริง" (Hyper-reality) กล่าวคือ ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่กำลังสื่ออยู่เป็นความจริงเอาเป็นว่าผลิตซ้ำให้มากพอจนเชื่อว่าจริงเป็นใช้ได้
 

2. ความจริงในโลกหลังใหม่ไม่ผูกขาดกับสัจธรรมหรือตัวแบบในอดีต
โบดริยาร์ด (Baudrillard) นักคิดหลังสมัยใหม่เสนอว่า ผู้คนในศตวรรษนี้ ตกอยู่ภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ทางสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำ นั่นคือโลกของการจำลองและสร้างภาพใหม่ (Simulacra and Simulation) กล่าวคือ ทุกอย่างถูก "ผสมใหม่" (Re-mix) และไม่จำเป็นว่าต้องสอดคล้องตรงกันกับความจริง แต่เป็นเรื่องของความเชื่อว่าจริง และจากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการผลิตซ้ำ จนสามารถสถาปนาความจริงใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าเรื่องของกายฟอกซ์และภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จะย้อนแย้งกับการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการมากเพียงไร แต่ถ้ามีการผลิตซ้ำที่มากพอ และการครอบงำที่เบ็ดเสร็จ ชุดความคิดนี้จะกลายเป็นความจริงใหม่ ถึงเราก็กล่าวหรือพิสูจน์ว่า เรื่องนี้ไม่จริงเมื่ออ้างหลักฐานจากต้นกำเนิดหรือจุดประสงค์ของการกำเนิด ก็ไม่อาจจะลบความจริงใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นได้ เว้นแต่จะตกลงใจกันลดทอนความสำคัญของวาทกรรมนี้ลง เรื่องนี้ ใช้กับประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างใหม่ได้เช่นกัน เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่อะไรจริงหรือเท็จอีกแล้วในศตวรรษที่ 21 ประเด็นอยู่ที่เสพสัญญะมาอย่างไร? และอยากจะเชื่ออย่างไร? ฉะนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ (Modernity) แม้กระทั่งความคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) จึงขาดความต่อเนื่องไปโดยปริยายในศตวรรษที่ 21 เพราะความจริงเดิมถูกฉีกทึ้งและแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ใครที่อ้างว่าเป็นความจริงแท้จึงน่าสงสัยมากในศตวรรษที่ 21 เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการพิสูจน์ดังกล่าว นี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้
 

3.โฉมหน้าที่ถูกเปิดเผยของปีศาจในคราบนักบุญ
"That with devotion's visage and pious action, we do sugar o'er the devil himself." (ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและความเคร่งศาสนา คือหน้ากากของปีศาจที่สร้างขึ้นในตน) ประโยคนี้ถูกใช้(ผลิตซ้ำ) ในภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตาด้วย แต่เป็นประโยคที่ยืมมาจาก แฮมเล็ต ของ เช็กสเปียร์ (Hamlet III,I) ซึ่งตัวเอกของเรื่อง กลับใส่หน้ากากเสียเอง ทั้งยังพูดติดตลกว่า "I'm merely remarking upon the paradox of asking a masked man who he is." (ไม่ย้อนแย้งหรือที่จะมาถามว่าคนใส่หน้ากากอย่างผมคือใคร?) บทสนทนานี้สะท้อนให้เห็นว่า เรามักสงสัยคนที่ปกปิดตัวเองเสมอ แต่ไม่สงสัยการปกปิดความชั่วร้ายที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแนบเนียน ซึ่งความชั่วร้ายนั่นอาจมีผลกับเราเสียด้วย เรื่อง "หน้ากาก" (Mask) นี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่รู้อะไรจริงอะไรเท็จในศตวรรษนี้ได้ดี เพราะถ้าผ่านการผลิตซ้ำด้วยสื่อแล้ว อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เราจะหาความจริงได้อย่างไร? ถึงแม้จะไม่ง่ายนักแต่เราอาจทำได้จากการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) หรือไม่ก็รื้อดูที่มาที่ไปอันไม่ต่อเนื่องของระบบคิดตามแนวคิดหลังสมัยใหม่ ซึ่งวิธีการแบบสมัยใหม่ไม่รองรับในเรื่องนี้ เนื่องจากยังเรียกร้องจารีต แบบแผน ความสม่ำเสมอ จึงมีข้อด้อยทำให้ไม่เท่าทันความคิดที่ผันแปร ในศตวรรษที่ 21 นี้เองด้วยท่าทีแบบช่างสงสัย (Skeptics) ก็ได้ช่วยเผยโฉมหน้าของปีศาจในคราบนักบุญไม่มากก็น้อย นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการยอมรับ แต่ในชีวิตจริงการเปิดเผยเช่นนี้กลับเป็นสงครามแห่งการสาดโคลนผ่านสื่อไปเสียอีก?
 

4.การเล่นคำของหลังสมัยใหม่: การติดตามความซับซ้อนของมนุษย์?
ข้อวิจารณ์สำคัญประการหนึ่งที่นักคิดหลายคนมีต่อแนวคิดหลังสมัยใหม่ คือ พฤติกรรมที่ราวกับเป็นการเล่นคำ ฟังแล้วไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนัก (ปลายเปิด) หรือเป็นลักษณะการตั้งคำถามซ้อน (ตอบคำถามด้วยคำถาม) หรือแม้แต่การยินดีและเบิกบานที่จะใช้ตรรกะวิบัติบางประเภทอย่างมีศิลปะ รวมถึงการแสดงอารมณ์ความรู้สึกด้วย นั่นทำให้การสื่อสารผ่านแนวคิดหลังสมัยใหม่มีลักษณะที่ซับซ้อน (Complexity) หลายครั้งคลุมเครือ (Obscure) แต่ที่จริงแล้ว นั่นเป็นเพียงผลของความพยายามที่จะอธิบายสังคมหรือมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนเท่านั้น เพราะในเมื่อประวัติศาสตร์เริ่มให้เบาะแสกับเราว่า บางสิ่งก็เป็นเรื่องที่ประกอบสร้างและผลิตซ้ำขึ้นโดยรัฐเพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยากับประชาชน และเรื่องนั้นห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงดังที่มีหลักฐานในประวัติศาสตร์ แบบนี้จึงทำให้การเสพสัญญะหรือข้อมูลสำเร็จรูปไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ทุกอย่างจึงมีบริบท (Context) ของมันเอง มีทิศทางและเจตนาที่แสดงออกผ่านประวัติศาสตร์ ซึ่งการถอดรื้อ-รื้อสร้าง (Re/Deconstruct) เป็นผลให้มีการนิยามหรือทบทวนความหมายเสียใหม่ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์และสังคมด้วยวิธีใหม่ๆ เป็นต้น การนิยามเรื่อง "ความเหนือจริง" (Hyper-reality)  ของโบดริยาร์ด นั่นเอง ตราบใดที่ยังมีระบบสังคมเงินเดือน มีผู้บริโภค มีสื่อสารมวลชน การบริโภคสัญญะย่อมเกิดขึ้นจริงวันยันค่ำ อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเราไม่เปิดใจกับความซับซ้อนดังกล่าว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า รู้เท่าทันโฆษณาชวนเชื่อ? ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้อีกที่สร้างรูปแบบประโยคผ่านการเขียนบทได้อย่างน่าสนใจ ทั้งคลุมเครือและซับซ้อน
 

5.พรมแดนที่บีบคั้นให้ต้องคิดด้วยตัวเอง
ภาพยนตร์เรื่องวี ฟอร์ เวนเด็ตตา มีฉากสำคัญที่ "วี" สร้างเรื่องขึ้นเพื่อให้สอนอะไรบางอย่างให้กับ "อีวี่" กล่าวคือ "วี" เองก็ใช้เรื่องที่ประกอบสร้างขึ้นเพื่อสอนให้อีวี่ได้เข้าใจอะไรบางอย่าง ซึ่งมิตินี้คู่ขนานกันไปกับภาพพจน์ของการประกอบสร้างเรื่องของรัฐบาลเผด็จบาลเพื่อครอบงำประชาชน ทั้งสองพฤติการณ์ล้วนเป็น "การประกอบสร้างขึ้น" ทั้งสิ้น หากแต่ ต่างเป้าหมายกัน โดยอ้างถึงคำกล่าวที่ว่า "that artists use lies to tell the truth."(ศิลปินใช้เรื่องโกหกเพื่อบอกความจริง) และ "Because you believed it, you found something true about yourself." (เพราะคุณเชื่อเรื่องโกหกนั่น ที่สุด คุณพบความจริงภายในตัวคุณ) ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ "จริงหรือเท็จ" อีกต่อไป หากแต่อยู่ที่ "ความจริงภายในตัว" ซึ่งถ้าเราคล้อยตามความคิดที่ว่า เป็นการยากมากที่เราจะรู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จในโลกแห่งการผลิตซ้ำ สิ่งเดียวที่เราจะรู้ได้ชัดเจนคือความจริงภายในตัวเรา และภาพยนตร์ได้สะท้อนความกราดเกรี้ยวของอีวี่เป็นตัวแทนจิตใจของมนุษย์ทุกคนได้เป็นอย่างดี เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนนี้คือ "คิดด้วยตัวเอง" (จากห้องขัง) และ "สงบนิ่งไม่หวาดกลัว" ดังที "วี" บอกไว้ว่า "Beneath this mask there is an idea, and ideas are bulletproof."(ภายใต้หน้ากากมีความคิด และหลายๆ ความคิดกันกระสุนได้) ประเด็นในภาพยนตร์ คือ เพื่อที่จะคิดเองได้นั้น (เสรีภาพ) จำเป็นต้องผ่านการตระหนักรู้ว่าเราเป็นผู้ถูกคุมขัง เป็นผู้ถูกกระทำ จนก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลาย จนรู้ว่าอะไรจำเป็นกับชีวิตของเราที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงกันเลียนแบบกันหรือเอาการตัดสินใจของคนหมู่มากมาเป็นที่ตั้งเท่านั้น
 

6.ภาวะย้อนแย้งของระบบคิด ความเกรี้ยวกราด และเรื่องโกหก?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ทำให้ข้อมูลกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และบางครั้งขาดบริบท (Context) ที่ควรจะเป็นไปโดยปริยาย ในทางปฏิบัติใครสักคนสามารถใช้เมาส์คัดลอกคำพูดเพียงประโยคเดียวของใครคนหนึ่งและนำไปตีความในทางไม่สร้างสรรค์ได้มากมาย รวมถึงการผลิตซ้ำเพื่อสื่อสารการตีความดังกล่าว ซึ่งในระบบเดียวกันนี้เอง จึงทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งของระบบคิดอย่างสูงมากและเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีผลทางจิตวิทยากับผู้ที่เสพสัญญะเหล่านั้น แน่นอนที่สุด ไม่ต่างอะไรจากการไฮด์ปาร์คเพื่อปลุกระดมประชาชนผู้กำลังอยู่ในความรู้สึกที่สับสน ให้ก่อเหตุรุนแรง ความกราดเกรี้ยวดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความไม่สำเร็จของเป้าหมายตามที่คิด และความยึดมั่นอยู่กับเรื่องโกหกหรือเรื่องจริงก็ทำบดบังปัญญาของผู้เสพสัญญะจาก "การคิดด้วยตัวเอง" เพราะที่จริง ลึกๆแล้วอาจเป็นไปได้ว่า ผู้เคลื่อนไหวมีความสับสนในตนเองอยู่ลึกๆ ว่า การแสดงออกหรือสื่อสารไปอย่างง่ายดายในที่สาธารณะนั้น เพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมสังคม หรือเพื่อบอกต่อสังคมว่า ฉันยังอยู่ตรงนี้ โปรดสนใจฉัน? หรือไม่ก็เป็นเพียงแต่การร่วมกระแสในฐานะผู้บริโภคสัญญะคนหนึ่งเท่านั้น (เพื่อให้สังคมมองตนเองในทางที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทางที่จริง)
 

7.เสรีภาพในศตวรรษที่ 21 ย่อมซับซ้อนกว่านิยามในศตวรรษที่ 17
ทั้งที่ผู้บริโภคกระตือรือร้นที่จะใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและรับบริการที่สะดวกสบายขึ้น ในขณะเดียวกันความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แม้กระทั่งเรื่องสิทธิเสรีภาพยังจำกัดวงอยู่แต่ในศตวรรษอดีต ด้วยเหตุที่ไม่ติดตามและจะติดตามในฐานะ "ลูกศิษย์ของสาขาวิชา" (Disciple of Discipline) เท่านั้น ซึ่งสำหรับหลังสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็น เนื่องจาก ความรู้สามารถเรียบเรียงและสื่อสารออกมาแบบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ โครงสร้างไม่จำเป็นต้องเป็นโครงสร้างระดับมหึมาอีกต่อไป แต่เป็นอิสระต่อกันในระดับท้องถิ่นหรือหน่วยที่ย่อยไปกว่านั้นได้ แต่ในเชิงปรัชญาแล้ว ถ้าเรายังรู้จักแต่แนวคิดซึ่งอาจเหมาะสมมากๆ กับบริบทของศตวรรษนั้น แต่มีบางอย่างไม่เหมาะสมแล้วกับศตวรรษนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งของระบบคิดดังกล่าว เพราะที่จริง วิธีการแก้ไขปัญหาที่นิยมมากหรือมักนำมาใช้เป็นตัวแบบในปัจจุบัน คือ การบูรณาการศาสตร์ ซึ่งควรจะเป็นการสร้างสรรค์การตั้งคำถามและตอบด้วยวิธีวิทยาที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษามากที่สุด ฉะนั้น เราคงหยุดอยู่ที่ ฮอบส์ (Hobbes) แล้วปวารณาตนเป็นศิษย์ของเขาแต่เพียงผู้เดียวก็คงไม่เหมาะ แม้กระทั่งจะมาหยุดที่ ฟูโกต์ (Foucault) และทำแบบเดียวกันนั้นก็คงไม่เหมาะ เพราะเป้าหมายคือการผลิตตัวแบบที่ใช้แก้ปัญหาสำหรับศตวรรษนี้ ในบริบทที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงที่สูงในสัดส่วนเดียวกันกับเทคโนโลยี นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ตัวแบบที่หนาแน่นด้วยความคิดแบบเก่า-ผูกขาดอำนาจหรืออนุรักษ์นิยมนับวันยิ่งบังคับใช้ไม่สำเร็จในสากลโลก เป็นต้น รัฐประหารในประเทศไทย ระบอบเผด็จการทหารของพม่า หรือแม้กระทั่งคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน ที่จริงแม้กระทั่ง การสร้างเรื่องเสมือนจริงของอเมริกาด้วย อาจกล่าวได้ว่า วิธีเดิมๆใช้แก้ปัญหาไม่ได้ผลกับคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

สรุป
ปรากฏการณ์ไทยกายฟอกซ์สะท้อนให้เห็นความผิดปกติเกี่ยวกับการผลิตซ้ำของชาวไทย ซึ่งเป็นร่องรอยของความไม่รอบคอบด้านข้อมูลจนทำให้เกิดความลักลั่นย้อนแย้ง มีบางสถิติซึ่งชาวไทยเป็นผู้ครอบครองเป็นต้น จำนวนประชากรชาวไทยผู้ใช้เฟซบุ๊ก นั่นย่อมหมายถึงประสิทธิภาพในการผลิตซ้ำ บิดเบือนความหมาย และการแสดงให้เห็นถึงภาวะขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนของเทคโนโลยีอีกด้วย (ดังที่เป็นมาโดยตลอดในฐานะผู้บริโภคเทคโนโลยี มิใช่ผู้ประกอบสร้างเทคโนโลยี) นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงถูกกดบังคับด้วยทุนจากผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่รู้ตนเองเลยว่ากำลังถูกกดบังคับอยู่ นั่นเพราะสายตาของเราเสพอยู่กับแต่สัญญะภายนอก และล่องลอยไปตามกระแสที่ตอบสนองปัจจัยทางจิตวิทยาของตนเอง โดยที่ไม่เคยผ่านกระบวนแบบ "อีวี่" ซึ่งจะนำไปสู่การถูกบีบบังคับให้คิดด้วยตนเอง เช่นนั้นเราก็ไม่ควรพูดถึงเสรีภาพ และเช่นนั้นก็ไม่ควรพูดว่าได้ดูและเข้าใจภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จนนำมาเป็นสัญลักษณ์จะดีกว่า


               

การอ้างอิง
http://www.thaisubtitle.com/manage/view_subtitle.php?mid=2691&start=1
http://en.wikiquote.org/wiki/V_for_Vendetta_(film)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องเล่าจากฮ่องกง: Domestic helpers in Hong Kong

Posted: 29 May 2013 09:35 PM PDT

หากใครเคยเดินไปแถวเขต Central ที่เกาะฮ่องกง เดินออกมาจากMTR exit A ในวันอาทิตย์ แม้ว่าอากาศจะเหน็บหนาวสักเพียงใด จะเห็นคนจำนวนมากที่ไม่น่าจะใช่คนฮ่องกงนั่งพูดคุยบ้าง ล้อมวงทานข้าวบ้าง บางคนมีกล่องลังกระดาษมากั้นลมหนาว ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ชินตาสำหรับคนฮ่องกง ไม่ใช่เฉพาะที่นี่เท่านั้น ตามสวนสาธารณะต่างๆ เราก็จะพบเห็นคนเหล่านี้เช่นกัน ฉันมาทราบภายหลังว่า คนเหล่านี้เป็นแรงงานต่างด้าวประเภทที่เรียกว่า "Domestic helpers" หรือจะเรียกในภาษาไทยว่า "ผู้ช่วยแม่บ้าน"

ผู้ช่วยแม่บ้านในฮ่องกงจำนวนมากมาจากประเทศฟิลิปปินส์ รองลงมาคืออินโดนีเซีย และลำดับสามคือประเทศไทย

ฉันได้มีโอกาสคุยกับคุณ Rey Asis เจ้าหน้าที่จาก APMM  (Asia-Pacific Mission for Migrants) Rey เล่าให้ฉันฟังว่าคนฟิลิปปินส์มาเป็นผู้ช่วยแม่บ้านที่นี่เยอะมาก เป็นหลักแสน เนื่องจากนายจ้างพอใจที่คนฟิลิปปินส์พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งแรงงานในฮ่องกงนั้นจะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายทั้งหมด จะไม่มีแรงงานนอกระบบเลย และนายจ้างก็ไม่กล้าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย เพราะค่าปรับที่ฮ่องกงสูงมาก ไม่คุ้มกับความเสี่ยง แรงงานจะเดินทางเข้ามาโดยมีหนังสือเดินทางและวีซ่าตามประเภทงานที่ทำ ใบอนุญาตทำงาน (work permit) และอยู่ได้ตามระยะเวลาในสัญญาจ้าง หากใครอยู่เกินกำหนดเวลาที่อนุญาตไว้ ก็จะถูกกักขังและส่งออก

Rey แนะนำฉันให้ไปคุยกับพี่บังอร สอนธรรม ซึ่งเป็นประธาน สมาคมรวมไทยในฮ่องกง Thai Regional Alliance in Hong Kong และแล้วบ่ายวันอาทิตย์ฉันมาพบพี่บังอรที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่เก๋าหล่งเซ่ง หรือ Kowloon city ที่แห่งนี้ฉันได้พบเจอผู้ช่วยแม่บ้านคนไทยจำนวนมาก ทางเครือข่ายฯ จะมีกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ มีสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกวางตุ้ง และบางทีก็มีกิจกรรมอื่นๆ บ้างตามโอกาส และที่สวนเล็ก Rose Garden มีจุดนัดพบกับอาสาสมัครแรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อติดต่อสอบถาม และติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นบริการของสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง จะมีแรงงานไทยนั่งล้อมวงพูดคุย ทานข้าว ขายของจากเมืองไทย เช่น น้ำพริก ข้าวเหนียว วัตถุดิบทำอาหาร และรายรอบไปด้วยร้านอาหารไทยจำนวนมาก ทั้งร้านเล็กร้านใหญ่ ป้ายชื่อร้านเป็นภาษาไทย สำหรับคนอยู่ไกลบ้านห่างเมืองแบบนี้ การได้มาพบปะพูดคุยภาษาเดียวกัน หัวอกเดียวกัน กับเพื่อนร่วมชาติเสียงพูดคุย ปนเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม แค่นี้คงทำให้เพิ่มพลังที่จะทำงานและอาศัยอยู่ต่างแดนต่อไป

แรงงานไทยในฮ่องกงมีประมาณ สองหมื่นกว่าคน แบ่งประเภทได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.  แรงงานผู้เชี่ยวชาญ (Employment as Professional)

2.  การนําเข้าแรงงานต่างชาติ (Employment as Imported Workers) ภายใต้โครงการเสริมด้านแรงงาน (Supplementary Labour Scheme) (SLS)

3.  แรงงานผู้ช่วยแม่บ้าน (Employment as Domestic Helpers from Abroad) มีกําหนดระยะเวลาการจ้างงานคราวละ 2 ปีและนายจ้างสามารถต่อสัญญาจ้างต่อไปได้อีกโดยไม่จํากัดระยะเวลา อัตราค่าจ้างเดือนละ 3,740 เหรียญฮ่องกง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2554 โดยนายจ้างต้องจัดที่พักและอาหารให้กับลูกจ้าง หากไม่จัดอาหารให้ ต้องจ่ายค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 775 เหรียญฮ่องกง[2]

สำหรับผู้ช่วยแม่บ้านที่มาจากเมืองไทย ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะแรงงานไทยไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้ พูดกวางตุ้งไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร แม้ว่านิสัยของแรงงานไทยจะเป็นที่พอใจของนายจ้างก็ตาม คนที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่อยู่ที่นี่มานาน พูดภาษากวางตุ้งได้แล้ว ต่อสัญญากับนายจ้างเรื่อยๆ โดยปัจจุบันสัญญาจ้างผู้ช่วยแม่บ้าน มีระยะเวลา 2 ปี โดยหากทำงานกับนายจ้างคนเดิมเกิน 5 ปีติดต่อกันแล้วนายจ้างให้ออก ผู้ช่วยแม่บ้านคนนั้นมีสิทธิได้รับเงินที่เรียกว่า long service และหากถูกเลิกสัญญาแล้วสามารถอยู่ในฮ่องกงต่อได้เพียง 14 วันเท่านั้น แม้ว่าจะเหลือระยะเวลาที่อนุญาตไว้ในวีซ่ามากกว่านี้ แต่ถ้าหากเป็นแรงงานอาชีพอื่น หากถูกเลิกจ้าง แต่ระยะเวลาที่อนุญาตในวีซ่ายังเหลือ สามารถอยู่ได้จนสิ้นสุดการอนุญาต

สวัสดิการอื่นๆ ของผู้ช่วยแม่บ้าน เช่น ในเรื่องการรักษาพยาบาล นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาลของผู้ช่วยแม่บ้าน ซึ่งแตกต่างจากแรงงานประเภทอื่น ที่สามารถซื้อประกันด้วยตัวเอง และมีกองทุนที่เรียกว่า Mandatory provident fund (MPF)

หรือในกรณีที่แม้จะอาศัยอยู่ในฮ่องกงต่อเนื่องเกิน 7 ปี ผู้ช่วยแม่บ้านก็ไม่สามารถมีสิทธิยื่นคำร้องขอสิทธิอาศัยถาวร Hong Kong Permanent Residence ได้ เพราะเป็นอาชีพที่อยู่ในข้อยกเว้นตาม Section 2(4) of the Immigration Ordinance[3]ข้อกฎหมายและทางปฏิบัตินี้ได้ถูกยืนยันอีกครั้งโดยคำพิพากษาในคดี FACV Nos 19&20 of 2012 in the court of final appeal of the Hong Kong Special Administrative Region

ชีวิตแรงงานไทยในต่างแดน ไม่ได้สุขสบาย ทั้งยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาการสื่อสาร วัฒนธรรม ในการใช้ชีวิตในต่างแดน แต่ก็ต้องอดทน เพราะแบกภาระทางบ้านไว้เยอะ เหมือนกับที่ชาวบ้านชอบพูดว่า "มาตกทอง" แต่ถ้าใครไม่ได้มายืนอยู่ ณ จุดนี้คงไม่รู้ว่า กว่าจะได้เงินมานั้นลำบากเพียงใด

 




[1] บทความนี้เขียนขึ้นในขณะที่เป็นนักกฎหมายฝึกงานที่ Asian Human Rights Commission-AHRC เมื่อ 11 มกราคม – 10 พฤษภาคม 2556

[2] http://www.thai-consulate.org.hk/internet/attachments/640.pdf

[3]http://www.legislation.gov.hk/blis_pdf.nsf/6799165D2FEE3FA94825755E0033E532/ED717360D64A043E482575EE003DBF1A/$FILE/CAP_115_e_b5.pdf

 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการได้ที่ 
              www.statelesswatch.org
Blog1 ; https://statelesswatch.wordpress.com
Blog2 ; https://gotoknow.org/portal/statelesswatch-swit

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา คนรุ่นใหม่-สื่อใหม่-ในสังคม-การเมือง หลากมุมถกข้อดีข้อเสีย

Posted: 29 May 2013 09:25 PM PDT

29 พ.ค.56  ที่โรงแรมเดอะเวสทิน  แกรนด์ สุขุมวิท กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (Media Inside Out) โดยความสนับสนุนของ USAID Sapan Program จัดสัมมนาหัวข้อ คนรุ่นใหม่-สื่อใหม่-ในสังคม-การเมือง ในช่วงบ่ายมีวิทยากรต่างสาขาอาชีพที่เกี่ยวกับการใช้สื่อรูปแบบใหม่มาร่วมพูดคุย 5 คน ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวจากบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป บรรณาธิการข่าวจากประชาไท อดีตนักศึกษาผู้ก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมทางการเมือง "กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย" นักวิชาการด้านสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และตัวแทนจากกลุ่ม Save Anwar มีผู้ดำเนินรายการเป็นที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชน

สมฤทธิ์ ลือชัย สื่อมวลชนและนักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิธีกรในงานกล่าวเปิดประเด็นว่าบทบาทของสื่อใหม่มีผลต่อสังคมการเมืองอย่างมาก เราได้เห็นว่าเว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสารมากขึ้นๆ การเผยแพร่นั้นจึงไม่ใช่แค่การนำเสนอแต่เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาชนต่อรัฐมากขึ้นด้วย เพื่อจะตรวจสอบตรวจตรา คานอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่า "ม็อบมือถือ" มือถือเป็นสื่อใหม่ในขณะนั้น ตอนนี้ผ่านมา 21 ปี สื่อใหม่มีพัฒนาการมากขึ้น ส่งข้อมูลเร็วกว่าในอดีต และเผยแพร่ได้ทันทีทันใด

นภพัฒน์จักร อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวภาคสนามและผู้ดำเนินรายการของเนชั่นแชนแนล พูดถึงการใช้สื่อใหม่ในอาชีพนักข่าวว่า เริ่มทำงานข่าวในยุคที่สื่อใหม่ได้รับความนิยมและมีความสำคัญแล้ว ถ้าจะให้เปรียบเทียบความแตกต่างของสื่อเก่ากับสื่อใหม่จึงเป็นเรื่องยาก

สำหรับสื่อใหม่ที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือบล็อก มีข้อดีที่ใช้ต้นทุนต่ำ นำเสนอง่าย ทำได้รวดเร็ว คนก็เข้าถึงมากขึ้น ทำให้แข่งขันกับสื่อกระแสหลักใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีมากกว่าได้ดีขึ้น ทั้งที่ยังลงทุนต่ำกว่า นอกจากนี้สื่อใหม่ยังทำให้เข้าถึงแหล่งข่าว หรือสื่อสารกับแหล่งข่าวได้โดยตรงได้ง่ายมากๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะผ่านตัวกลางที่ต้องตรวจสอบกันว่าได้มาจากแหล่งข่าวจริงหรือไม่ เช่น การติดต่อนักวิชาการมี่แสดงความเห็นในโลกออนไลน์ต่างๆ สื่อใหม่ทำให้เห็นความหลากหลายของผู้คนทั่วๆไป จากการที่เข้ามาแสดงความเห็นตอบโต้กับข่าวที่เผยแพร่ออกไป

แต่ทั้งนี้ การใช้สื่อใหม่มากๆ ก็อาจจะมีข้อเสียที่ทำให้มีความรอบคอบน้อยลงได้ เพราะการนำเสนอไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการ ไม่ต้องให้ตรวจสอบก่อนเผยแพร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักข่าวจะไม่มีความรอบคอบเลย นักข่าวเองเมื่อนำเสนออะไรออกไปแล้ว คนจำนวนมากได้อ่าน มีผลตอบรับหรือแรงปะทะกลับมาจากหลายทิศทาง แน่นนอนว่านักข่าวก็จะได้เรียนรู้ที่จะตรวจสอบตัวเองทุกๆ ครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้ามองว่ายอดไลค์ยอดแชร์ เป็นสิ่งที่สะท้อนความนิยม ก็มีข้อควรระวังไม่ให้มันกลายเป็นหลุมพราง สนุกไปกับการผลิตซ้ำข่าวหรือแสดงความเห็นเพื่อเอาใจคนอ่านโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง นอกจากนี้ที่ต้องระวังอีกก็คือการถูกแฮกค์ข้อมูล  

พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ประชาไท พูดถึงการทำสื่อใหม่ในฐานะสื่อหลักของการทำข่าวแบบประชาไทว่า

ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ประชาไทเกิดมาเพื่อเป็นสื่อใหม่ เพราะสื่อกระแสหลักที่นำเสนอกันมามักตัดบางประเด็นออกไป หรือเสนออยู่ในเกร็ดข่าวเล็กๆ น้อยๆ แต่ประชาไทได้หยิบประเด็นเหล่านั้นมานำเสนอให้กว้างขึ้น ให้ความสำคัญมากขึ้น เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ โดยนำเสนอทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องทางที่มีมีต้นทุนต่ำและนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเขียน ภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือวิทยุก็ได้

พิณผกากล่าวว่า สื่อใหม่มีข้อดี คือ ทำเห็นการตอบรับของคนได้ง่ายมากว่าในขณะหนึ่งคนในสังคมสนใจอะไร ไม่สนใจอะไร เพราะนอกจากจะนำเสนอแล้วสื่อใหม่ยังสามารถเปิดพื้นที่ให้คนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วยได้เข้ามาแสดงความเห็น ความสนใจจึงดูได้จากผลตอบรับ ถ้าคนสนใจมาก มีผลตอบรับมาก เช่นเดียวกับที่ประชาไทได้รับความนิยมเพิ่มจากเดิมอย่างมากนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร แต่ก็เป็นเพราะการเปิดให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นนี้เองที่ทำให้ผอ.ประชาไทถูกดำเนินคดีจนตัดสินใจปิดตัวลงตอนนั้น และปรับระบบให้คนที่ไปแสดงความเห็นแสดงตัวเพื่อให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศ เราไม่อาจบอกได้ว่าตัวเลขที่ปรากฏในสื่อใหม่จะสะท้อนความจริงของสังคม การเคลื่อนไหวบางอย่างในสื่อใหม่อาจดูมีพลังมาก มีคนเข้าไปแสดงความเห็นอย่างคึกคัก แต่เอาจริงๆ ให้ออกมาเคลื่อนไหวกัน กลับมีน้อยมากๆ ที่สำคัญก็คือคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างที่สะท้อนได้ชัดก็คือ จำนวนคนติดตามผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างอภิสิทธิ์ที่มีมากกว่ายิ่งลักษณ์ แต่ในความเป็นจริง อภิสิทธิ์ไม่ใช่คนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากการเลือกตั้ง

สำหรับประชาไท การใช้สื่อใหม่ทำข่าว เช่น โทรศัพท์มือถือ  มีข้อดี คือทำให้คล่องตัวมาก เพราะพกพาไปได้ทุกที่ นอกจากนี้เว็บไซต์ก็ยังมีพื้นที่ไม่จำกัดอย่างหนังสือพิมพ์ ดังนั้นการนำเสนอจึงไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณเนื้อหาด้วย

แต่หากจะมีข้อบกพร่องก็คงเป็นการตรวจสอบ เช่น พบคำผิดบ่อย แต่ทั้งนี้ก็เปิดโอกาสให้คนอ่านสามารถท้วงติงได้

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้ง "กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย" พูดถึงการใช้สื่อใหม่เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว หันมาใช้สื่อใหม่อย่างเฟซบุ๊คเป็นที่ประชาสัมพันธ์ แทนที่จะแปะโปสเตอร์ตามสถานที่จริง ถ้ามีงบประมาณเพื่อรณรงค์อะไรสักอย่างก็เลือกทำในเฟซบุ๊ค ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดคือการประชาสัมพันธ์งานชำแหละคำพิพากษาคดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร ก็ซื้อโฆษณาจากเฟซบุ๊คโดยเลือกเผยแพร่ไปยังกลุ่มคนที่สนใจข่าวของประชาไท แล้วก็มีคนเข้ามาดูจำนวนมาก มากกว่าการประชาสัมพันธ์แบบอื่นๆ ทั้งที่ใช้ต้นทุนเท่ากัน คนรุ่นนี้ใช้สื่อเหล่านี้โดยไม่ได้มองว่านี่เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่มองว่านี่คือทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งใช้มากขึ้นก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องทำ แต่แน่นอนว่าการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่แค่การโฆษณา ต้องดูจังหวะเวลาการเผยแพร่ด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าสารต้องเข้ากลุ่มคนที่ต้องการแน่ๆ

ปราบแสดงความเห็นต่อวลี  "ยาวไปไม่อ่าน" ว่าเป็นเรื่องที่เจออยู่แล้ว คนในโลกออนไลน์ชอบอ่านอะไรสั้นๆ ย่อยง่าย จนกลายเป็นว่าคนที่อ่านยาวๆเป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่คนจำนวนมากคนอ่านและแชร์อะไรสั้นๆโดยไม่ได้สนใจข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ได้อ่านเนื้อหาสาระจริงๆ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะสุดท้ายแล้วจะมาดูแพ้ชนะกันตรงที่ว่าฝั่งไหนมีคนสนับสนุนมากกว่ากัน แต่ในทางปฏิบัติการนำเสนออะไรสั้นๆก็ต้องทำ เพื่อให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ วิธีการก็คือ ต้องเสนอประเด็นที่ผูกพันกับอารมณ์คนอ่าน เพื่อโยงเขาไปสู่ประเด็นที่เรานำเสนอและต้องการให้เขาคล้อยตาม และไม่ให้เข้าใจประเด็นที่ต้องการสื่อคลาดออกไป

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ฝ่ายสื่อสาธารณะ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เห็นว่าสื่อใหม่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่ม LGBT มาก สำหรับตัวเองนั้นไม่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่เสียทีเดียว เป็นกลางเก่ากลางใหม่มากกว่า เพราะมีโอกาสทำสื่อวารสารแบบเก่าที่ลงมือทำเองตั้งแต่ซีร็อก เย็บเล่ม ส่งไปต่างจังหวัด ซึ่งตอนนั้นไม่มีสื่ออินเตอร์เน็ตใดทั้งสิ้น ก็ถือว่าสนุกดี แต่มีปัญหาตรงการเผยแพร่เนื้อหา เพราะส่งหนังสือไปให้สมาชิกตามต่างจังหวัด ก็มีโอกาสที่คนรับจะไม่ใช่คนสั่ง หนังสือตกไปอยู่ในมือของคนอื่น ซึ่งมองว่าเนื้อหาที่คนรักเพศเดียวกันอ่านเป็นสิ่งผิดปกติ ดังนั้นสื่อเก่าจึงอาจสร้างผลกระทบต่อผู้รับสารมาก

สำหรับสื่อใหม่ เริ่มมาใช้เมื่อปี 2546 ที่เริ่มมีอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นแม้จะใช้อะไรได้ไม่มากแต่ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ แล้วก็มีคนเข้ามาแสดงความเห็นเยอะมาก รู้สึกว่าสื่อใหม่ตอบโจทย์ LGBT เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจจะไม่เปิดเผยตัวเองในที่สาธารณะ แต่อินเตอร์เน็ตทำให้เขามีตัวตนอย่างเต็มที่ ในขณะที่สื่อเก่า เช่น หนังสือ มีราคาแพง ต้นทุนสูง เสี่ยงที่วางขายไม่ได้ แต่สื่อใหม่เปิดโอกาส เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า เร็วกว่า ราคาถูกจนถึงฟรี เหลือแค่เราที่จำนำเสนอประเด็นอะไรไปเท่านั้น แต่อีกทางหนึ่ง ก็น่ากังวลว่า เมื่อสื่อใหม่มีครบทุกอย่างแล้ว คนก็จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวจริง แต่อยู่กับโลกออนไลน์มากกว่าโลกจริง กลายเป็นว่าเราทำงานโดยไม่มีคนสนับสนุน ไม่มีคนออกมาแสดงตัวว่ามีปัญหา ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้น ในโลกออนไลน์คึกคัก แต่กิจกรรมออฟไลน์เงียบเชียบมาก

อิสมาอีล ฮายีแวจิ บรรณาธิการสำนักสื่อ Wartani ตัวแทนจากกลุ่ม Save Anwar (กลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ซึ่งถูกขัง 12 ปีฐานเป็นสมาชิก BRN) 

อิสมาอีล เล่าถึง Wartani ว่าเป็นสื่อที่เกิดจากคนในพื้นภาคใต้ที่รวมตัวกัน รวมทั้งอันวาร์ด้วย เพราะต้องการนำเสนอเรื่องราวในพื้นที่ที่ยังตกหล่นจากสื่อหลักหรือสื่อนอกพื้นที่ นำเสนอทำประเด็นต่างๆ ที่คิดว่าสื่ออันยังเสนอได้ไม่ครอบคลุม เพราะสื่อเหล่านั้นทำข่าวเพื่อตอบสนองความต้องการของคนนอกพื้นที่และยังไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริงๆซึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดที่ตัวเนื้อหาก็ได้ นอกจากนี้ก็ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้แก่ชาวบ้าน แน่นอนว่าเราสามารถนำเสนอได้มากกว่า เพราะมีข้อดีคือการเป็นคนในพื้นที่ที่เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านจึงไว้ใจและมีความหวังว่าจะช่วยเหลือพวกเขาได้

สำหรับสื่อใหม่ ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะใช้ง่ายและมีราคาถูก มีโอกาสที่จะถูกควบคุมจากรัฐน้อย เพราะมีพลังมาจากคนข้างล่าง สื่อใหม่เข้าถึงชาวบ้าน รับฟังความเห็นของชาวบ้านที่ไม่กล้าหรือไม่เคยบอกสื่อหลักเนื่องจากความกลัวการถูกข่มขู่ หรืออะไรก็ตาม แต่เราได้นำเสนอความเห็นเหล่านั้น แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่ตรงกันกับBRN อิสมาอิลจึงเห็นว่า สื่อใหม่ให้โอกาส เปิดพื้นที่ให้คนได้ดีมาก

"วันนี้คุณจะฆ่าหรือกักขังคนที่คิดต่างได้ แต่คุณจะฆ่าหรือกักขังความคิดไม่ได้ คุณจะฆ่ามะโซหรือกักขังอันวาได้ หรือจะฆ่าอีกสิบอีกร้อยคนก็ได้ แต่อย่าลืมว่าคุณไม่สามารถฆ่าความคิดของคนได้" อิสมาลีลกว่า

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นักข่าว นักเขียน บรรณาธิการและที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชนสรุปข้อดีของสื่อใหม่เพิ่มเติมว่า สื่อใหม่ เป็นของคนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในสังคมที่ต่างจากคนรุ่นเก่า สื่อใหม่ช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ให้คนในสังคมที่มีความหลากหลาย แต่สื่อหลักได้มองข้ามไปอย่างเคยชิน เนื่องจากเน้นการทำงานกับคนที่มีอำนาจในสังคม มีอำนาจกำหนดนโยบาย แต่ไม่สนใจชาวบ้าน แต่สื่อใหม่ทำให้คนมีเสียงดังมากขึ้น คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอสิ่งใหม่ๆให้สังคมได้เห็นอย่างกว้างขวาง เรื่องนี้จึงสะท้อนว่าถึงเวลาแล้วที่สื่อหลักควรจะเปิดพื้นที่ให้คนมากกว่านี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น