ประชาไท | Prachatai3.info |
- องค์กรสื่อแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อ เรียกร้องทุกฝ่ายตระหนัก “เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม”
- สื่อเปิดวงถก อนาคต 'สื่ออาเซียน' สร้างมาตรฐานสื่อใหม่ ทวงคืนเครดิต
- กทค.เรียกคุย 'ค่ายมือถือ' ก่อนเปิด 3G
- ศาลนัดสืบพยานนายจ้างฟ้อง สนง.ประกันสังคม กรณีสั่งจ่ายเงินทดแทนแรงงานพม่า
- 'ชาวบ้านปากมูน' ประกาศร่วมชุมนุมใหญ่พีมูฟ เคลื่อนขบวน 5 พ.ค.นี้
- ความเสื่อมถอยของสถาบันศาล : ความจริงในสายตาประชาชน
- เผยฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณาฟ้องหมิ่น "ชัย ราชวัตร"
- ถมทรายหาดพัทยาไม่คืบ ซื้อทรายระยองเจอค้าน-หาแหล่งใหม่ รอตรวจสีทราย
- สปสช.ลงนาม รพ.วัฒโนสถส่งต่อผู้ป่วยนอกรับรังสีรักษาโรคมะเร็ง
- ประธาน กสม. เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงชายแดนใต้
- บุกสถานทูตญี่ปุ่น ร้องปัญหา ‘อุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน’ จี้คิดให้ดีก่อนร่วมลงทุน
- 'ซีป้า' สรุปสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อในภูมิภาค 'ถดถอย'
- วอน รมว.สาธารณสุข ใช้ความรู้ทางวิชาการตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม
- การทหาร,สิทธิมนุษยชน และสันติวิธี เราร่วมทางกันได้ไหม?
- สุจิตต์ วงเทศน์ รื้อถอนวาทกรรม “สาวไทยต้องรักนวลสงวนตัว”
องค์กรสื่อแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อ เรียกร้องทุกฝ่ายตระหนัก “เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม” Posted: 03 May 2013 09:46 AM PDT
สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณค่าของ "เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม" ประธานสภาการหนังสือพิมพ์เผยกรณี "ชัย ราชวัตร" ไม่ได้คุกคามแค่เจ้าตัว แต่เป็ญสัญลักษณ์คุกคามคนที่มีแนวคิดแบบเขา 3 พ.ค. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณค่าของ "เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม" สำหรับข้อเรียกร้องแบ่งออกเป็น 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.สนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักการ "เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม" คือการแสดงออกต้องมีความปลอดภัย ปราศจากการแทรกแซงคุกคาม ขณะเดียวกันต้องไม่ใช้เสรีภาพไปคุกคามเสรีภาพของบุคคลอื่น รับฟังและอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง 2.เรียกร้องให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ต้องรายงานข่าวสาร ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องตระหนักว่าหากนำเสนอข้อมูลผิดจากข้อเท็จจริงหรือบิดเบือน จะนำไปสู่การให้ทางเลือกที่ผิดกับประชาชน 3.ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน ต้องร่วมกันสนับสนุนหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา46 ที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชนให้เป็นอิสระจากเจ้าของ ทั้งรัฐและเอกชน 4.สื่อมวลชนต้องร่วมกันเสริมสร้างบทบาทในการขับเคลื่อนหาทางออกในสังคม เปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังเหตุผลที่แตกต่างหลากหลาย พร้อมร่วมกันสร้างบรรยากาศของการใช้เหตุผลหาทางออกให้กับสังคม เพื่อให้สังคมไทยออกจากความขัดแย้ง ความแตกแยก ได้อย่างสันติ 5.ขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยุติและทบทวนการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ โดยต้องกระจายคลื่นความถี่ที่อยู่ในการครอบครองของรัฐไปสู่สาธารณะชนอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม และต้องกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาให้ใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอลสาธารณะ และโทรทัศน์ดิจิตอลเพี่อชุมชนให้ชัดเจน โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างรอบด้าน 6.ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ การรู้ทันสื่อจึงมีความสำคัญ ต้องแยกความคิดเห็นออกจากข้อเท็จจริง ต้องหาข้อมูลจากสื่อหลายๆ สื่อ เพื่อประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งพึงตระหนักว่าสื่อออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ หากไม่ระมัดระวังอาจมีผลกกระทบกับตัวเองและบุคคลอื่นได้ วันเดียวกัน มีการจัดเสวนาเรื่อง "เสรีภาพ...ที่ไม่คุกคาม" โดยนายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เสรีภาพที่ไม่คุกคามไม่มี และจำเป็นต้องเข้าใจว่าเสรีภาพมีเขี้ยวเล็บ หากไม่ระวังก็จะไปบาดผู้อื่น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า มีนักคิดอธิบายคำว่าเสรีภาพไว้อย่างน่าสนใจ เช่น เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ เปรียบเทียบไว้ว่า เสรีภาพเหมือนเสือที่มีเขี้ยวเล็บและสวยงาม แต่ต้องไม่ลืมว่าเสือจะสวยที่สุดเมื่ออยู่ในกรง ขณะที่ฌอง-ฌาค รุสโซ บอกไว้ว่ามนุษย์เกิดมามีเสรี แต่ทุกหนแห่งอยู่ใต้พันธนาการ โจทย์คือจะทำให้เสรีภาพอยู่ได้ภายในพันธนาการอย่างไร หรือกระทั่ง อิริค ฟรอมม์ ได้เขียนหนังสือชื่อหนีจากเสรีภาพ คำถามคือทำไมต้องหนีถ้ามันไม่อันตราย "สิ่งที่ตามมาเมื่อมีเสรีภาพคือความไม่แน่นอน เมื่อไม่แน่นอนจะตัดสินใจอะไรก็ยาก ความเสี่ยงมีสูง เมื่อมนุษย์ซึ่งต้องตัดสินใจหลายอย่าง ทุกอย่างจึงหนักอยู่บนบ่า เป็นเหตุให้มนุษย์จำนวนหนึ่งไม่อยากได้เสรีภาพ แต่ผมไม่ได้บอกว่าเราควรจะมีเสรีภาพมากหรือน้อย ไม่ใช่มองว่ามีเสรีภาพเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี มันอยู่ที่กรณี เช่น ในเครื่องบิน ถามว่าปกครองกันด้วยระบอบใด ถ้าใช้ประชาธิปไตยก็คงไม่ได้ มันมีเงื่อนไขหลายอย่างจนต้องใช้อำนาจนิยม ประเด็นจึงอยู่ที่เราควรรู้ว่าเรามีอะไรอยู่ ต้องระวังให้ดี" นายชัยวัฒน์ กล่าว นักรัฐศาสตร์รายนี้ กล่าวอีกว่า เวลามองสื่อต้องเข้าใจว่าสื่อไม่ได้เป็นก้อนๆ เดียว แต่ที่ฐานของสื่อมันมีมนุษย์ทำงานอยู่ มนุษย์ซึ่งมีความรู้สึก มีความหวาดกลัว ต้องกินต้องใช้ หากสังคมจะก้าวไปข้างหน้าได้เราต้องรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนที่ไม่ใช่พวกเรา อย่างกรณีชัย ราชวัตร อยากจะเห็นเอเชียอัพเดรทลุกขึ้นมาปกป้อง หรืออย่างเด็กในภาคใต้ถูกฆ่าก็อยากเห็นผู้นำอิสลามไปเยี่ยม น.ส.วลักษณ์ จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การคุกคามจะไม่เกิดขึ้น หากต่างฝ่ายต่างใช้จรรยาบรรณในวิชาชีพอย่างเพียงพอ คำถามที่ควรกลับมาคิดคือสื่อมวลชนจะทำหน้าที่อย่างไรไม่ให้เกิดการคุมคามกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จะทำอย่างไรเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติ สำหรับข้อเสนอ ได้แก่ 1.การใช้ภาษาและเปลี่ยนกรอบในการสื่อสารให้อยู่นอกเหนือมิติความมั่นคง 2.สื่อมวลชนควรเรียนรู้รากเหง้าปัญหาของภาคใต้ 3.ความขัดแย้งไม่ได้ถูกควบคุมโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นเปล่าประโยชน์ที่จะเรียกร้องให้ฝ่ายใดหยุดใช้ความรุนแรง ควรที่จะสร้างพื้นที่พูดคุย 4.กระบวนการล้มเหลวเพราะขาดความร่วมมือจากสาธารณะ เป็นบทบาทสื่อที่ต้องจัดทำ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อกำลังถูกคุกคามจากเผด็จการซ่อนรูปในรูปของทุน และสิ่งที่เกิดขึ้นคือนักข่าวภาคสนามใช้เสรีภาพในการทำข่าว แต่เนื้อหากลับถูกกองบรรณาธิการปรุงแต่งจนไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นเพียงเพราะต้องการให้หนังสือขายได้ สำหรับกรณีของชัย ราชวัตร ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันไม่สามารถแยกพื้นที่ส่วนตัวออกจากพื้นที่สาธารณะได้ คนทำหน้าที่สื่อมวลชนจึงต้องระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นระดับหนึ่ง เพราะสังคมจับตาว่าเป็นการส่งผ่านข้อความในนามองค์กร อย่างไรก็ดีการแสดงความคิดเห็นนั้นๆ สามารถกระทำได้เพราะถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออก "การกระทำที่ทำต่อชัย ราชวัตร ในแง่ความเป็นจริงมันไม่ได้กระทำต่อชัย ราชวัตรเพียงคนเดียว แต่เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ต่อคนที่มีแนวคิดและอยู่ในระดับของชัย ราชวัตร" นายจักร์กฤษกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สื่อเปิดวงถก อนาคต 'สื่ออาเซียน' สร้างมาตรฐานสื่อใหม่ ทวงคืนเครดิต Posted: 03 May 2013 09:39 AM PDT
กวี จงกิจถาวร ประธานสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) กล่าวว่า เราพูดกันถึงประชาคมอาเซียน แต่ไม่มีใครพูดถึงประชาคมสื่ออาเซียนเลย ทั้งนี้ เขามองว่า สื่ออาเซียนมีปัญหาเรื่องวิธีคิดที่จำกัด ไม่สนใจทำในประเด็นที่ไม่คุ้นเคย และแทบไม่เคยร่วมมือกันทำข่าว นอกจากนี้ ยังมีนโยบายของอาเซียนที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันด้วย พร้อมยกตัวอย่างว่า เมื่อนักข่าวไทยให้ความสำคัญกับข่าวการหายตัวไปของนักกิจกรรมลาว สมบัด สมพอน รัฐบาลลาวก็ไม่พอใจ กวี กล่าวเสริมว่า ขณะนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีแผนจะก่อตั้งสภาการสื่ออาเซียน เพื่อดึงสื่อเข้าด้วยกัน โดยในเดือนนี้จะมีการประชุมที่กรุงเทพฯ การมีองค์กรนี้สำคัญเพราะแม้ตอนนี้จะมีซีป้า ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาค ที่สนับสนุนปกป้องการทำสื่อ แต่ยังไม่มีองค์กรวิชาชีพที่จะรวม 10 ประเทศเข้าด้วยกัน นี่จึงเป็นโอกาสอันดี ทั้งนี้ ต้องขอบคุณพม่า ซึ่งมีการปฏิรูปด้วย โดยมองว่า การเปลี่ยนแปลงในพม่านั้นทำให้ประเทศอื่นๆ เกิดคำถามว่า ถ้าพม่าทำ แล้วทำไมเราจะไม่ทำ นอกจากนี้ กวีมองว่าสื่ออาเซียนมีปัญหาเพราะหนึ่ง ไม่รู้จะจัดการกับสื่อใหม่อย่างไร ขณะที่องค์กรสื่อแบบเดิมๆ ไม่มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ เนื่องจากยังต้องพึ่งพาโฆษณา หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ สอง ปัญหาจริยธรรมในการใช้สื่อ โดยมองว่า การเพิ่มขึ้นของสื่อออนไลน์จะทำให้เกิดการฟ้องหมิ่นประมาทมากขึ้นในอนาคต เหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องให้การศึกษากับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าองค์กรกำกับดูแล หรือคนใช้สื่อ ด้าน ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ทำให้มีสื่อเกิดขึ้นมหาศาล ใครเป็นเจ้าของสื่อก็ได้ ไม่ว่าทางเคเบิลทีวี หรือออนไลน์ ข้อถกเถียงเมื่อ 6-7 ปีก่อนเรื่องสื่อแท้สื่อเทียม หายไปจากสังคมไทย ประหนึ่งว่าสังคมไทยยอมรับการมีอยู่ของสื่อที่หลากหลาย ถึงขนาดพรรคการเมืองมีสื่อรายงานการแสดงออกและจุดยืนของตัวเองได้ ทำให้หาเส้นแบ่งระหว่างสื่อมวลชน-สื่อใหม่ที่เกิดขึ้นได้ยาก ประดิษฐ์กล่าวว่า เกิดคำถามต่อมาว่า สังคมไทยใช้เสรีภาพอย่างไร และผลคืออะไร โดยพบว่า ทุกฝ่ายใช้เสรีภาพเสนอข้อมูลข่าวสาร เกิดการใช้เสรีภาพละเมิดสิทธิ ทำให้เกิดความรุนแรง หลายครั้งสื่อถูกตั้งคำถามว่าทำให้เกิดความแตกแยก บิดเบือนข้อมูลที่แท้จริง กระทบกับความไว้ใจต่อสื่อ ถามว่าจะแก้สิ่งเหล่านี้อย่างไร เป็นความท้าทายของสังคมไทย ว่าจะช่วยกันอย่างไร ประดิษฐ์กล่าวว่า สมาคมนักข่าวฯ และสภาการฯ จะร่วมกันรณรงค์จริยธรรม การเสนอข่าวจริง ไม่กุข่าว เสนอรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับความเห็นรอบด้าน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้รับสื่อ และให้รู้ทันสื่อ ทั้งนี้ ย้ำด้วยว่าไม่ปฏิเสธการใช้เสรีภาพ แต่บนพื้นฐานที่มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ เขามองว่า อุปสรรคของเสรีภาพสื่อ คือ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งควรต้องแก้ไขตั้งแต่นิยามจนถึงบทลงโทษ โดยที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์ก็ต่อสู้แก้ไขกฎหมายกันอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.การพิมพ์ 2464 ที่ใช้เวลา 66 ปี หรือยกเลิก ปว. 42 ที่ใช้เวลา 13 ปี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เองก็ต้องรณรงค์ให้เกิดการแก้ไข อีกเรื่องที่มีการถกเถียงกันคือ จะกำกับการใช้สื่อออนไลน์อย่างไร ทั้งนี้มองว่า การปิดสื่อออนไลน์นั้นไม่ใช่ผลงาน แต่เป็นความอัปลักษณ์ ไม่เห็นด้วยที่จะปิด แต่จะทำอย่างไรให้คนที่ใช้มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะสื่อออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าใช้ไม่ระวังจะกระทบคนอื่นได้ โดยสภาการหนังสือพิมพ์เองก็มีการออกแนวปฏิบัติบนสื่อออนไลน์แล้ว นอกจากนี้ อีกความท้าทายของวงการสื่อไทยคือ ความพยายามดึงคลื่นความถี่ออกมาจากรัฐ แต่ขณะนี้ กสทช. กลับจัดสรรคลื่นให้หน่วยงานรัฐ -หน่วยงานความมั่นคงโดยไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ ซึ่งสมาคมฯ เองก็กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด ปัญหาใหญ่อีกเรื่องของสื่อไทย คือ สื่อยังเป็นของรัฐและของทุน มีการเซ็นเซอร์อย่างหนัก ทำให้มีปัญหาความอิสระในกองบรรณาธิการ พื้นที่ข่าวเชิงลึก ข่าวสืบสวนสอบสวน หายไปมาก สาเหตุหลักมาจากการทำธุรกิจสื่อเพื่อผลกำไร จนเบียดบังสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ขณะที่สื่อของรัฐก็ต้องนำเสนอตามประเด็นที่ถูกกำหนดไว้ ประดิษฐ์กล่าวว่า ปัญหาใหญ่อีกข้อ คือ ความไว้วางใจในสื่อและความน่าเชื่อถือของสื่อลดลง เป็นผลจากการใช้เสรีภาพของเราหรือเปล่า เพื่อดึงความไว้วางใจกลับมา คนในวงการต้องกลับมาพูดคุยว่าจะทำอย่างไร โดยต้องพึงตระหนักว่าเมื่อไรที่สังคมไม่เชื่อถือ สื่อจะลำบาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
กทค.เรียกคุย 'ค่ายมือถือ' ก่อนเปิด 3G Posted: 03 May 2013 07:35 AM PDT
ในส่วนของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Number Portability) หรือ การเปลี่ยนผู้ใช้บริการโดยใช้เลขหมายโทรศัพท์เดิม กทค. ได้ขอข้อมูลและความเห็นของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลี่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ปัจจุบันมีความต้องการใช้บริการอยู่ประมาณ 3,000 รายต่อวัน โดยมีขีดความสามารถสูงสุดในการให้บริการอยู่ที่ 40,000 เลขหมายต่อวัน กรณีที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต กทค. ได้ให้ขยายขีดความสามารถให้ได้ตามความต้องการใช้บริการจริง ทั้งนี้ สิ่งที่ กทค. คำนึงถึงมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ กทค. มุ่งเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภค ต้องการให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกที่จะใช้บริการ ในส่วนของการเปิดให้บริการ ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีแผนเปิดให้บริการในวันที่ 7, 8, 9 พ.ค. ตามลำดับ สำหรับเรื่องอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge) หรือ ค่า IC เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ได้ค่า IC ที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้มีการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยรวม สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช./กทค. ด้านกฎหมาย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการคุ้มครองผู้บริโภค และแผนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ว่า กทค. ให้ความสำคัญกับแผนการคุ้มครองผู้บริโภค และแผน CSR มาก เพราะหากผู้บริโภคมีความรู้สึกที่ดีว่าไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การดำเนินการต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น นอกจากนั้น ได้ให้ผู้ประกอบการหาวิธีที่จะทำให้ผู้ใช้บริการที่สมัครใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz (3G ใหม่) รู้ว่าเขาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ใหม่อยู่ ตามที่ต้องการใช้ สำหรับการกำหนดอัตราค่าบริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่จะต้องมีการปรับลดลงตามที่ กทค. กำหนดนั้น ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการนำโปรโมชั่นเดิมที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากมาใช้ในการให้บริการ 3G ใหม่ เท่าที่จะสามารถทำได้ ประชาชนจะได้เห็นชัดเจนว่า อัตราค่าบริการมันลดลง สำหรับเรื่องคุณภาพของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G หรือ 3G เดิม เมื่อบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เปิดให้บริการ คุณภาพของสัญญาณน่าจะดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการประเภทข้อมูลที่ใช้บริการรวมอยู่บนเครือข่าย 2G เดิม จะย้ายไปใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ซึ่งจะทำให้ความแออัดของการใช้ช่องสัญญาณลดลง และประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลในเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในเรื่องการยืนยันความเป็นเจ้าของเลขหมาย หรือการตรวจสอบสถานภาพและเงื่อนไข จะมีปัญหาในแง่กฎหมายหรือไม่ถ้าใช้ช่องทางยืนยันในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ นั้น จากการตรวจสอบ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 และประกาศที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายกฎหมายแล้วยืนยันว่าสามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ นอกจากนั้น กรณีการเพิ่มศักยภาพของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายนั้นน่าจะใช้เวลาไม่นาน และทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าควรคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก
ที่มา: กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงาน กสทช. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศาลนัดสืบพยานนายจ้างฟ้อง สนง.ประกันสังคม กรณีสั่งจ่ายเงินทดแทนแรงงานพม่า Posted: 03 May 2013 06:50 AM PDT
ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันนัดสืบพยานคดี กรณีนายจ้างเป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลย และลูกจ้างเป็นจำเลยร่วม เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาครและคำวินิจฉัยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เวลา 09.30 น. ที่ผ่านมา ที่ศาลแรงงานกลางได้นัดพิจารณาและกำหนดประเด็นข้อพิพาท กรณีที่บริษัท เกียวโต แพคเก็จจิ้ง จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานประกันสังคม เป็นจำเลย และนายโทน เอ จำเลยร่วม กรณีที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ได้ออกคำสั่งเลขที่ 4/2555 เรื่องเงินทดแทน เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทน กรณีที่นายโทน หรือ TUN AYE (a) THON (สัญชาติพม่า) ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท เกียวโต แพคเก็จจิ้ง สาขาสมุทรสาคร จำกัด และได้ประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงานในหน้าที่ปั๊มพลาสติก เป็นเหตุให้ นิ้วหัวแม่มือซ้ายสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 80 นิ้วกลางซ้ายสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 90 นิ้วชี้และนิ้วนางมือซ้ายสูญเสียสมรรถภาพร้อยละ 78 ของนิ้วมือ รวมเท่ากับสูญเสียสมรรภาพ ร้อยละ 40 ของร่างกาย จึงให้นายจ้างจ่ายเงินค่าทดแทนตามพรบ.เงินทดแทน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 274,560 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตามพรบ.เงินทดแทนจึงได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน แต่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีมติคำวินิจฉัยที่ 282/2555 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องฟ้องสำนักงานประกันสังคม และนายโทน เอ เป็นจำเลย โดยเห็นว่า "คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาครและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประสบอันตรายของนายโทน เอ ลูกจ้างนั้น เกิดจากการที่นายโทน เอ จงใจให้ตนเองประสบอันตรายเอง" จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย และตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ 4/2555 ฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนทดแทน ที่ 282/2555 ฉลับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2555 นายโทน เอ จึงได้ร้องต่อศูนย์ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ประจำพื้นที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคดี ในการพิจารณาคดี นายโทน เอ จำเลยร่วมในคดีนี้ได้แถลงต่อศาลว่าประสงค์ให้โจทก์ชำระเงินให้กับจำเลยร่วม เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท เพื่อที่จะทำการยุติคดีนี้ ในขณะที่ทนายความของโจทก์ แถลงต่อศาลว่าจะนำข้อเสนอของฝ่ายจำเลยร่วมไปนำเสนอต่อฝ่ายโจทก์แล้วจะมาแถลงต่อศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก วันที่ 28 สิงหาคม 2556 นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความในคดีนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายปรากฏโดยชัดแจ้งว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๑๘(๑) และมาตรา ๑๘(๒) และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๒(๒) เนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน นายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับใช้สิทธิตามมาตรา ๕๓ ฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลยต่อศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และผู้เสียหายจะถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับสำนักงานประกันสังคมและมีการไกล่เกลี่ย หากลูกจ้างพอใจเงินจำนวนตามที่นายจ้างเสนอ คดีก็สามารถจบลงได้ แต่เงินทดแทนที่ลูกจ้างได้รับจะต่ำกว่าสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่สามารถไกล่เกลี่ยลดจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิมาตรฐานขั้นต่ำของลูกจ้างได้ จึงมีความเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวอาจมีผลทำให้นายจ้างนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเข้าสู่การตกลงไกล่เกลี่ยลดจำนวนเงินทดแทนลง ทำให้เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติเงินทดแทนที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างถูกลดทอนประสิทธิภาพลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ยังเห็นว่า สำนักงานประกันสังคมควรใช้ความพยายามในการบังคับใช้ พรบ.เงินทดแทน เรียกร้องให้นายจ้าง จ่ายเงินสมทบในกองทุนเงินทดแทน รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมควรพิจารณายกเลิกหนังสือ ร.0607/ว.987 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ว่าด้วยแนวปฏิบัติใหม่ของสำนักงานประกันสังคม ที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างเฉพาะกรณีที่นายจ้างได้จ่ายเงินสมทบในกองทุนเงินทดแทนแล้วเท่านั้น แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม หากนายจ้างหลีกเลี่ยงไม่จ่ายนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินทดแทนกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเอง อันเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทุกคนที่ประสบอันตราย ทุพพลภาพ สูญหายหรือตาย อันเนื่องมาจากการทำงานหรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง หรือเจ็บป่วยเป็นโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดจากการทำงาน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
'ชาวบ้านปากมูน' ประกาศร่วมชุมนุมใหญ่พีมูฟ เคลื่อนขบวน 5 พ.ค.นี้ Posted: 03 May 2013 06:14 AM PDT เคลื่อนขบวนอีกครั้ง เพื่อทวงถามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล หลังเจรจาต้นปีจบแต่กระบวนการไม่คืบหน้า ชี้ผ่านมากี่สมัยก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่จริงใจแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล 2 พ.ค.56 ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล ประกาศเดินทางเข้าร่วมชุมนุมกับ ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ Pmove ซึ่งจะมีขึ้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 6 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป นายไพจิต ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลกล่าวว่า จากการที่ชาวบ้านกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลได้เดินทางไปชุมนุมและมีการเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกับตัวแทนรัฐบาล ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ถึงวันนี้การดำเนินการใดๆ ยังไม่มีความคืบหน้าเลย ทั้งที่ชาวบ้านพยายามติดตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ก็ได้รับคำตอบว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งสำหรับชาวบ้านแล้วการดำเนินการนี้ถือว่ายาวนานเกินไปแล้ว จึงต้องร่วมกันเคลื่อนขบวนอีกครั้งเพื่อทวงถามความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ นายไพจิต กล่าวด้วยว่า การเจรจาครั้งที่ผ่านมาสามารถบรรลุข้อตกลง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้สำนักงานกองทุน ผู้ประสานงานกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลกล่าว ให้ความเห็นว่า แก้ปัญหาที่ผ่านมามีคณะกรรมการหลายชุดทำให้เกิดความซ้ำซ้อน อีกทั้งมติ ครม.หลายฉบับก็มีความขัดแย้งกันเอง ชาวบ้านจึงต้องการให้มีกลไกระดับชาติขึ้นมาเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สำหรับเขื่อนปากมูลได้รับการอนุมัติสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2532 เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2534 มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด 136 เมกะวัตต์ ซึ่งระหว่างก่อสร้าง โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีการเคลื่อนไหวจากประชาชนในพื้นที่เพื่อคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากการก่อสร้างต้องระเบิดเกาะแก่งหินตามธรรมชาติซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด และการดำเนินโครงการยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวชาวบ้านได้โยนไหปลาร้าลงพื้นจนแตกกระจาย เป็นการแสดงให้เห็นว่า ปลาร้าหมดไหแล้ว เพราะเขื่อนปากมูลไม่ยอมเปิดประตูระบายน้ำ จากนั้นตัวแทนชาวบ้านปากมูนได้เดินทางไปยังสถานีรถไฟวารินชำราบ เพื่อขอให้ทางการรถไฟ จัดรถไว้บริการชาวบ้านกว่า 500 คนที่จะเดินทางไปชุมนุม ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ด้วย แถลงการณ์ ชาวบ้านปากมูน มีรายละเอียดดังนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ความเสื่อมถอยของสถาบันศาล : ความจริงในสายตาประชาชน Posted: 03 May 2013 05:25 AM PDT เมื่อพูดถึงสถาบันศาลในสังคมไทยปัจจุบัน ก็ต้องเข้าใจว่าผู้เขียนไม่ได้หมายถึงเฉพาะสถาบันศาลหรือตุลาการที่เคยถือว่าเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยสูงสุดของสังคมไทย ที่มีประธานศาลฎีกาซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาเป็นประมุขสูงสุด นับตั้งแต่มีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สถาบันศาลใหม่ๆหลายศาลได้เกิดขึ้นในฐานะเป็นองค์กรอิสระเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองฯ ศาลเหล่านี้ดูเหมือนไม่ได้มีความผูกพันกับสถาบันตุลาการเดิมในเชิงอำนาจ แต่อาจกลายเป็นอำนาจอธิปไตยใหม่ที่อาจมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจอธิปไตยเก่าอย่างรัฐบาลหรือรัฐสภาด้วยซ้ำไป ดังนั้นเมื่อพูดถึงสถาบันศาลในบทความนี้ผู้เขียนก็จะหมายรวมศาลเหล่านี้เข้าไปด้วยกัน ที่ผ่านมาถ้ามองตามกรอบแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าสถาบันศาลหรือตุลาการนั้นเป็นระบบที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพราะสถาบันศาลนั้นยังเป็นเรื่องของข้าราชการโดยสมบูรณ์ ไม่โยงยึดกับประชาชน ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกหรือบอกว่าผู้พิพากษาคนใด ที่ประชาชนต้องการหรือไม่ต้องการให้ทำหน้าที่ ถ้าคำว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตย"ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า Bureaucratic polity ซึ่งหมายถึง ระบบการเมืองที่ข้าราชการเป็นใหญ่เหนือกว่าฝ่ายอื่นๆ กล่าวได้ว่าสถาบันศาลนั้นมีความสอดคล้องกับคำว่าระบอบอำมาตยาธิปไตย มากกว่าระบอบประชาธิปไตย ดีไม่ดีจะไปสอดคล้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชด้วยซ้ำไป เพราะคนในระบบตุลาการมักกล่าวเสมอว่าศาลได้รับมอบพระราชอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์โดยตรง ทำให้ประชาชนไม่สามารถโต้เถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลได้ ใครบังอาจกระทำก็อาจถูกข้อหาหมิ่นศาล ถูกศาลจำคุกได้ ไม่เหมือนฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีที่มาที่ไปหรือความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้แตกต่างกับศาล แต่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยน้อยที่สุด แต่สถาบันศาลกลับได้รับความเชื่อถือจากประชาชนเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นคำพูดว่า "ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน คือ ศาลยุติธรรม" ซึ่งหมายความว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ประชาชนทุกคนจะรับฟังศาล ศาลตัดสินอย่างไรทุกฝ่ายก็พร้อมใจกันยอมรับตามคำตัดสินนั้น ไม่มีการโต้เถียงกันอีกต่อไป การยอมรับอำนาจของสถาบันตุลาการหรือศาลโดยดุษฎีของประชาชน แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อว่าศาลเป็นเสมือนตัวแทนขององค์พระมหากษัตริย์ แต่เหตุผลในการยอมรับอีกส่วนหนึ่งก็มาจากความจริงที่ว่าคนในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้พิพากษาทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ล้วนวางตัววางบทบาทของตนได้อย่างเหมาะสมดี ท่านมักจะวางตนเองให้อยู่เหนือความขัดแย้งในสังคม มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง พยายามเก็บตัวเงียบๆ ไม่ค่อยไปปรากฏตัวแสดงความคิดเห็นใดๆในที่สาธารณะหรือสื่อสารมวลชน เมื่อทำหน้าที่ตัดสินคดีความก็จำกัดบทบาทของตนเองให้อยู่ในประเด็นของกฎหมายอย่างแท้จริง ตัดสินคดีโดยอิงกับตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการตีความกฎหมายตามอำเภอใจหรือใส่ดุลยพินิจจนเกินเลย ประกอบกับความขัดแย้งหรือคดีความส่วนมาก ก็มักเกิดจากความเข้าใจข้อกฎหมายไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ผู้พิพากษาจึงสามารถอธิบายให้คู่ความเข้าใจกฎหมายและตัดสินคดีความให้เกิดความยุติธรรมสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติเป็นอย่างดี การยอมรับต่อสถาบันศาลของประชาชนจึงมีค่อนข้างสูงตลอดมา นั่นเป็นภาพในอดีต วันนี้ภาพลักษณ์ของสถาบันศาลในสายตาประชาชน ไม่ได้สวยงามอย่างนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากด้านประชาชน ประชาชนในวันนี้มีความคิด มุมมองหรือกระบวนทัศน์(paradigm) ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งที่เคยยอมรับ เคยปฏิบัติตามโดยปราศจากความสงสัยในอดีต ถูกตั้งคำถาม และคนของรัฐที่เกี่ยวข้องก็มักจะตอบให้สมเหตุสมผลไม่ค่อยได้ เช่น เขาถามว่าทำไมประชาชนจะวิจารณ์ศาลไม่ได้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญบอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งรวมถึงอำนาจศาลด้วย แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสถาบันศาลนั่นเอง ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา บุคลากรในวงการศาลส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนบทบาทตัวเองไปจากเดิม สถาบันตุลาการได้ถูกดึงให้เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ในลักษณะการใช้อำนาจศาลเข้ามาแก้ไขปัญหาการเมือง หรือพูดง่ายๆสถาบันศาลถูกดึงเข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดว่าพรรคการเมืองใด นักการเมืองคนใดควรได้หรือควรหมดอำนาจทางการเมือง ช่วงหลังการรัฐประหารเราได้เห็นบุคลากรระดับสูงของศาลไปร่วมเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ร่วมเป็นองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบนักการเมืองที่ถูกรัฐประหาร เห็นบุคลากรของศาลหลายต่อหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองที่ถูกรัฐประหารผ่านสื่อสาธารณะ พูดได้ว่าหลังการรัฐประหาร 2549 บุคลากรในสถาบันศาลส่วนหนึ่ง ซึ่งเคยวางตนอยู่ห่างจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวง ได้พลอยเข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองกับเขาด้วย เมื่อย่างก้าวเข้ามาสู่เวทีแห่งความขัดแย้ง แน่นอนบุคลากรในวงการศาลหลายคน ก็หลีกหนีความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่ได้ ยิ่งความขัดแย้งมีลักษณะเป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์ดั้งเดิมที่มักอาศัยความได้เปรียบที่เคยมี สถาปนาตนเองเป็นฝ่ายคนดีฝ่ายธรรม กับฝ่ายตรงข้ามที่มักถูกตราหน้าว่าเป็นฝ่ายอธรรมคนชั่ว ทำให้บุคลากรของศาลหลายคนหลงลืมจุดยืนดั้งเดิมที่เคยยึดถือมาช้านาน ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาการเข้ามาสู่ความขัดแย้งทำให้บุคลากรในสถาบันศาลหลายคน ต้องเลือกข้างเลือกฝ่ายทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเกิดการเลือกฝ่าย ก็ย่อมไปมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสถาบันศาล การตัดสินคดีความที่เคยจำกัดอยู่ในประเด็นของกฎหมายหรืออิงกับตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็เริ่มน้อยลง มีการใส่ดุลยพินิจใส่ความรู้สึกเข้าไปมากขึ้น สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ ก็คือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหาร ศาลได้ละทิ้งหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายซึ่งเป็นหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติไปค่อนข้างมาก เช่น หลักความเป็นกลางในคดีของผู้พิพากษา ประชาชนได้เห็นว่ามีบุคคลที่เคยเป็นผู้ร่วมก่อการรัฐประหารหรือมีความขัดแย้งโดยตรงกับผู้ถูกรัฐประหาร มานั่งเป็นผู้ทำคดีฟ้องร้องหรือเข้าไปเป็นผู้ตัดสินคดีความขัดแย้งที่ตนมีส่วนร่วมอย่างภาคภูมิใจ หรือหลักการผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำผิด มีคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหลายคดีที่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวในระหว่างรอพิจารณาคดีโดยไม่ได้มีเหตุผลที่ชัดเจน อีกทั้งไม่ได้มีการเร่งรัดการพิจารณาคดีแต่อย่างใด ปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกคุมขังเป็นเวลายาวนานเหมือนจงใจลงโทษทางอ้อม หรือแม้แต่หลักการยกประโยชน์ให้จำเลย หากไม่สามารถพิสูจน์ด้วยหลักฐานได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง ศาลก็ต้องปล่อยตัวจำเลยไป แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าในคดีความบางประเภท แม้ศาลจะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แต่ศาลกลับเห็นว่าสมควรให้ถือว่าจำเลยกระทำผิดไว้ก่อน เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้ และ เริ่มรู้สึกว่าการตัดสินคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองของศาล มีความยุติธรรมน้อยลง จนมีคำพูดว่าการดำเนินหรือการตัดสินคดีของศาลมีสองมาตรฐานออกมาเสมอ ไม่มีความคงเส้นคงวาเหมือนสถาบันศาลในอดีต ศาลไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าทำไมจึงตัดสินคดีความที่คล้ายคลึงกันหรือเหมือนกันแต่เกิดขึ้นกับคู่กรณีต่างฝ่ายกัน ให้มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้กัน หรือทำไมข้อกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ จึงตัดสินไปเช่นนั้นได้ บางครั้งศาลกลับอธิบายในลักษณะเหมือนใช้สีข้างเข้าถู เช่น บอกว่าตีความตามพจนานุกรม ตีความกฎหมายตามภาษาอังกฤษ หรือตามวัตถุประสงค์ในการร่างรัฐธรรมนูญบ้าง ดังนั้นวันนี้ในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่จึงมองว่าสถาบันศาลหรือตุลาการในภาพรวมมีความเสื่อมถอยลงหรือเสื่อมถอยไปจากเดิมหรือบางคนอาจจะมองไปถึงขั้นว่าสถาบันศาลวันนี้ไม่มีความยุติธรรม ตัดสินเป็นสองมาตรฐาน แน่นอนบุคลากรของศาลก็ย่อมโต้แย้งได้ว่าเรื่องนี้ไม่จริง ศาลตัดสินคดีความอย่างยุติธรรมเสมอมา แต่นั่นก็เป็นเรื่องของศาลไม่เกี่ยวกับประชาชน เพราะการที่ประชาชนมีความรู้สึกว่าสถาบันศาลไม่น่าเชื่อถือ ขาดความยุติธรรม เลือกข้างเลือกฝ่าย นั้นเป็นเรื่องของการรับรู้ (perception) ของประชาชน ไม่เกี่ยวกับเรื่องว่าศาลจะเลือกข้างจริงหรือไม่จริง แต่ประชาชนเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ห้ามปรามกันไม่ได้ จะใช้อำนาจศาลไปลงโทษ ไปจำคุก ก็คงไปบังคับให้คนเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของคนหรือกลุ่มคนได้ยากมาก วันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นจำนวนมากด้วย เขามีความรู้สึกนึกคิดต่อสถาบันตุลาการไปในทำนองเช่นนั้น ปัญหาการรับรู้ของคนที่ก่อให้เกิดผลเชิงลบกับบุคคล องค์กรหรือสถาบัน เป็นเรื่องที่แก้ไขยาก เรื่องนี้ถ้าปัญหาเป็นเพียงสถาบันศาลหลงลืมตัวไปชั่วขณะ จนทำให้ไปตัดสินคดีความไม่ยุติธรรม กลายเป็นสองมาตรฐานจริง ก็จะแก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก แค่เพียงให้บุคลากรในสถาบันศาลมีสติกลับคืนมา อย่าไปร่วมวงในความขัดแย้ง ระมัดระวังในการตัดสินคดีความ ให้ยึดกฎหมายเป็นหลักอย่างเคร่งครัดเหมือนในอดีตที่ผ่านมาปัญหาก็จะหมดสิ้นไปได้ทันที แต่กรณีที่ประชาชนเกิดความรู้สึกหรือมีการรับรู้ว่าศาลไม่ยุติธรรม แม้สถาบันศาลจะไปปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดีให้ดีเพียงใดก็คงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ปัญหาการรับรู้ในลักษณะนี้เท่ากับประชาชนมองว่าระบบตุลาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว การจะแก้ไขปัญหานี้ได้ อาจถึงขั้นต้องมีการปรับโครงสร้างและกระบวนการด้านตุลาการกันใหม่ หรือพูดกันแบบตรงไปตรงมาอาจถึงขั้นต้องรื้อระบบตุลาการกันใหม่ทั้งระบบ ให้มีความแตกต่างไปจากปัจจุบันเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในหมู่ประชาชน สถาบันด้านตุลาการปัจจุบันยังเป็นลักษณะระบบปิด เป็นระบบที่ประชาชนไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ อาจถึงเวลาที่เราต้องคิดกันว่าระบบตุลาการควรเป็นอย่างไรจึงจะสามารถเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ระบบควรเป็นอย่างไร ที่จะไม่ทำให้อำนาจของผู้พิพากษาเพียงคนสองคน หรือเพียงไม่กี่คนมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายคนอื่นมากเกินไป ไม่เช่นนั้นเราก็จะได้ยินคำโจษจันเรื่อง "ศาลไทยกับสองมาตรฐาน"ไปอีกนาน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เผยฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณาฟ้องหมิ่น "ชัย ราชวัตร" Posted: 03 May 2013 04:07 AM PDT "สุรนันทน์ เวชชาชีวะ" เผยฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณาฟ้องหมิ่น "ชัย ราชวัตร" ประณามดูถูกสตรีเพศ ไม่ขวาง "ปชป."ทำหนังสือฟ้องมองโกเลีย เมิน ส.ว.เรียกร้อง "นายกฯ" ขอโทษ บอกพูดความจริง ด้านแดงเชียงใหม่ ขนโลงพวงหรีดประท้วง เตรียมเอาผิดข้อหาหมิ่นประมาทต่อผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 3 พ.ค. 56 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูน หนังสือพิมพ์ชื่อดังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก วิจารณ์คำปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประเทศมองโกเลีย ว่า หลายส่วนมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ นายกรัฐมนตรีก็พร้อมรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็มีบางส่วน รวมถึงสื่อมวลชนบางส่วนมีการวิพากษ์วิจารณ์ ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการดูถูก ไม่ใช่เฉพาะนายกรัฐมนตรี ซึ่งศักดิ์ศรีของนายกรัฐมนตรีต้องรักษาไว้ ขณะเดียวกันที่แย่ไปกว่านั้นคือการดูถูกศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง "ผมขอวิงวอนว่าการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ขอให้อยู่ในกรอบของการวิจารณ์เนื้อหา ที่นายกรัฐมนตรีปาฐกถาไป ไม่ใช่เอาเรื่องของความเป็นสตรีเพศ หรือการไปเปรียบเทียบนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หญิงกับผู้หญิงขายตัว จริงๆผู้หญิงเหล่านี้ทำอาชีพนั้นเพราะความจำเป็น ซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ไข แล้วนี่ไปเปรียบเทียบนายกรัฐมนตรีไทยที่ต่ำกว่าอีก ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ผมคิดว่าคนในสังคมปกติคงไม่มีใครยอมรับ และควรที่จะประณามด้วยซ้ำ กับบุคคลที่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในเนื้อหา แต่กลับใช้เรื่องของเพศ เรื่องของบุคลิกส่วนตัวมาวิพากษ์วิจารณ์" นายสุรนันทน์ กล่าว เมื่อถามว่า จะมีการฟ้องร้องหรือไม่ นายสุรนันทน์ กล่าวว่าตอนนี้ฝ่ายกฎหมายของนายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาทุกคำพูด และการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะหากเป็นการหมิ่นประมาทส่วนตัว ฝ่ายกฎหมายก็กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้ เมื่อถามต่อว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ส่งหนังสือไปยังประเทศมองโกเลีย เพื่อชี้แจงในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดโดยเฉพาะการถูกยึดอำนาจของพี่ชาย นายสุรนันทน์ กล่าวว่าการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการแสดงจุดยืนของนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน ประสบการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่เจอมา รวมไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรี อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสิ่งที่ประเทศไทยต้องเจอหลังการรัฐประหารปี 49 เป็นความเลวร้าย เป็นฝันร้ายของประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสมีเวทีที่เหมาะสม เป็นการไปแชร์ประสบการณ์ เล่าประสบการณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น "นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีเจตนาไปประจานประเทศไทยตามที่ถูกกล่าวหา ต้องการเพียงเล่าข้อเท็จจริง และถือเป็นอุทาหรณ์ สำหรับประเทศอื่นๆ และสำหรับคนในประเทศไทยด้วยว่า ความเป็นประชาธิปไตยนั้นต้องช่วยกันรักษา อย่าไปล้มล้างประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคง และเสถียรภาพทางการเมือง ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ การที่ฝ่ายค้านจะมีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลก็เป็นสิทธิสามารถทำได้ รัฐบาลก็พร้อมรับฟัง เพราะธรรมดาที่ในโลกประชาธิปไตยจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็ต้องคิดเหมือนกันว่า ในอดีตที่ผ่านมาตนเองทำความเสียหายอะไรกับประเทศไว้บ้าง ยังมีอีกหลายเรื่องราวของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ในปาฐกถาที่ประชาชนควรทราบ ดังนั้นหากฝ่ายค้านจะทำจดหมายก็เต็มที่ รัฐบาลไม่ขัดขวาง แต่อยากให้คิดนิดหนึ่งว่าได้ทำอะไรกับประเทศไว้บ้าง" นายสุรนันทน์ กล่าว เมื่อถามว่า 58 ส.ว.เรียกร้องให้ออกมาขอโทษที่นายกฯไปพูดที่มองโกเลีย เลขาฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทำไมต้องขอโทษเพราะนายกรัฐมนตรีพูดความจริง การพูดความจริงแล้วต้องขอโทษเหรอ ถ้า ส.ว.เหล่านั้นมีมุมมองที่แตกต่างก็สามารถเสนอความคิดเห็นของตัวเองได้ แต่ก็ชัดเจนว่าในระบอบประชาธิปไตยมีหลายกลไกที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งวุฒิสภาก็เป็นกลไกหนึ่งที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะคงมีน้อยประเทศที่วุฒิสภาจะมาจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ซึ่งตนคิดว่าก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่กรรมาธิการวุฒิสภาจะเรียกนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงนั้น ตนยังไม่เห็นจดหมายเชิญ เห็นแต่การเชิญผ่านสื่อ ถ้าเชิญนายกรัฐมนตรีผ่านสื่อก็คงยังพิจารณาอะไรไม่ได้ ต่อข้อถามว่าหลายคนมองว่าประเทศกำลังนิ่งๆ แต่นายกฯ กลับมาเปิดแผลความขัดแย้งในประเทศเอง นายสุรนันทน์ กล่าวว่า เรื่องที่นายกรัฐมนตรีเล่าเป็นเรื่องจริง เป็นจุดยืนทางการเมือง และนายกรัฐมนตรีคิดว่าถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะให้ความเห็น เพราะเสถียรภาพทางการเมืองก็ต้องมีประชาธิปไตย ถ้ามีกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตย เราก็ควรจะเตือนเป็นอุทาหรณ์ เพราะหากจะย้อนให้เป็นเหมือนปี 49 อีกครั้งนี้ก็คงจะยากแล้วที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่น และสองปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเดินสายทั่วโลก กว่าจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศกลับมาได้ถึงจุดนี้ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีตั้งใจในการปาฐกถาเป็นอุทาหรณ์ และในที่สุดแล้วต้องการเห็นความปรองดอง ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เกิดขึ้นในประเทศ เมื่อถามว่าการพูดนอกประเทศในลักษณะอย่างนั้น มันจะเป็นประโยชน์หรืออุทาหรณ์อะไรให้กับคนในประเทศ นายสุรนันทน์ กล่าวว่า เป็นเวทีที่เหมาะสม เพราะการที่มองโกเลียเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไป เขาก็มองเห็นแล้วว่านายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ก็เหมาะสมที่จะไปพูดในเวทีประชาธิปไตย และถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ไปเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ เพราะมองโกเลียได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมายาวนาน ดังนั้นเมื่อจะเชิญไปเวทีนี้ก็แสดงว่าเขายอมรับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และในหลายๆ เวทีต่อไปจากนี้ในโลกตนก็เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะไปปาฐกถาพิเศษอีก ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรก็ต้องติดตามกัน แต่ยอมรับว่าผลกระทบครั้งนี้เป็นผลกระทบที่เราได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าประชาธิปไตยในโลก ทุกประเทศมาแชร์ประสบการณ์กัน มีการเติบโตที่ไม่เท่าเทียมกัน และทุกประเทศก็มีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข การมาแลกเปลี่ยนกันก็จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง เมื่อถามว่าคิดว่าขณะนี้รัฐบาลยืนอยู่บนประชาธิปไตยแล้วหรือยัง นายสุรนันทน์ กล่าวว่า รัฐบาลยืนอยู่บนประชาธิปไตยแล้ว เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ยังมีกลไกบางอย่างที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข เมื่อถามว่า ประเด็นที่นี้จะทำให้การเดินหน้าสร้างความปรองดองของรัฐบาลสะดุดหรือไม่ นายสุรนันท์ กล่าวว่า ความจริงแล้วประสบการณ์ของหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมือง และเริ่มกระบวนการปรองดอง ซึ่งกระบวนการปรองดองนั้นต้องเริ่มด้วยการพูดความจริง มาดูว่าเราจะมาเจอกันตรงจุดไหนได้ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องรู้ความจริงจากผู้นำของประเทศ. 'แดงเชียงใหม่' ขนโลงพวงหรีดประท้วง'ชัย ราชวัตร' 3 พ.ค. 56 - แนวหน้ารายงานว่านายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 พร้อมสมาชิกที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงหลายสิบคน รวมตัวชุมนุมกันที่บริเวณหน้าศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประท้วงและแสดงความไม่พอใจกรณี "ชัย ราชวัตร" หรือชื่อจริงสมชัย กตัญญุตานันท์ เจ้าของคอลัมน์การ์ตูนล้อเลียนการเมืองชื่อดังของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขียนข้อความลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า "โปรดเข้าใจ กระหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กระหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่วเที่ยวเร่ขายชาติ" เนื่องจากกลุ่มเสื้อแดงเชื่อว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปปาฐกถาเรื่องประชาธิปไตยเวทีประชาคมประชาธิปไตยที่ประเทศมองโกเลีย ซึ่งเห็นว่าเป็นการดูถูกสตรีเพศ สร้างความเข้าใจผิดทางการเมือง ก่อให้เกิดความแตกแยก เต็มไปด้วยอคติ ทั้งนี้ กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้นำโลงศพและพวงหรีดกว่าสิบพวงมาวางหน้าสำนักงานศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องให้ดำเนินการ 4 ข้อ คือ กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ขอประณามพฤติกรรมของนายชัย ราชวัตร กับการกระทำดังกล่าว ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่รู้จักกาลเทศะและจะทำการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐในการดำเนินคดีกับสมชัย กตัญญุตานันท์ ในข้อหาหมิ่นประมาทต่อผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขอให้คณะกรรมการบริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้พิจารณายุติการว่าจ้างนายสมชัย ขอให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐแจ้งผลการดำเนินการในกรณีนี้ โดยต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบ พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ขออภัยต่อพี่น้องประชาชนและสตรีไทยทั่วประเทศภายใน 7 วัน โดยทางกลุ่มได้วางโลงศพและพวงหรีดไว้เป็นเวลา 7 วัน ห้ามเคลื่อนย้าย หากมีการเคลื่อนย้ายและยังไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง จะเคลื่อนไหวกดดันอีกครั้ง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ถมทรายหาดพัทยาไม่คืบ ซื้อทรายระยองเจอค้าน-หาแหล่งใหม่ รอตรวจสีทราย Posted: 03 May 2013 03:55 AM PDT
จากกรณีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดพัทยาเหนือ ซึ่งบางจุดชายหาดเหลือเพียง 3 เมตร ผู้สื่อข่าวเดินทางลงสำรวจพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการเต็นท์ร่มริมหารายหนึ่งที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ กล่าวว่า เขาต้องลดจำนวนเต๊นท์ร่มริมหาดลงแทบทุกปี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์จะไม่มีรายได้ในส่วนนี้เลย อีกทั้งยังไม่มีนักท่องเที่ยวที่มานั่งเนื่องจากน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาสูงจนถึงบริเวณที่ตั้งร่มริมหาด ที่ผ่านมาได้มีการทวงถามไปยังเมืองพัทยาถึงความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาแต่กลับรับได้คำตอบว่า ต้องรอการตรวจสอบทรายที่จะนำมาถมว่ามีสีสันเข้ากันกับทรายหาดพัทยาหรือไม่ และไม่อาจระบุระยะเวลาที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนได้แก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยนำกระสอบทรายมาวางตามแนวที่ตั้งเต๊นท์ร่มริมหาดของตน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถนั่งได้ ทางด้านนายรณกิจ เอกะสงห์ รองนายกเมืองพัทยาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทางเมืองพัทยาได้จัดสรรงบประมาณในการทำโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไว้จำนวน 430 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าเป็นผู้ดูแลให้ทั้งหมด ขณะนี้กำลังเร่งแก้ไขปัญหาในส่วน 500 เมตรแรก ตั้งแต่โค้งดุสิต ซึ่งปัญหาที่ทำให้ล่าช้า เนื่องจากทรายที่มีแวคเตอร์ (สีสัน) ใกล้เคียงกับทรายบริเวณหาดพัทยานั้นต้องไปนำมาจากปากน้ำระยอง ขณะที่ชาวบ้านปากน้ำระยองกังวลว่าการเอาทรายมาแล้วจะทำให้ตลิ่งพัง ทำให้ชาวบ้านไม่ยอมจนผู้ว่าราชการจังหวัดระยองต้องระงับเรื่องนี้ไว้ก่อน รองนายกเมืองพัทยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังส่งสีสันเม็ดทรายจากแหล่งอื่นให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจสอบว่ามีความเหมาะสมที่จะเอามาถมเสริมทรายตามที่วางโครงการไว้หรือไม่ ซึ่งทางทีมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังจะวิเคราะห์ส่วนต่างๆ อบจ.พัทยา จึงต้องรอคำตอบก่อนเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลงแต่อย่างใด ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การที่ชายหาดพัทยาถูกกัดเซาะอย่างเร็วและรุนแรงนั้นเกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ธรรมชาติคือคลื่นลมใหญ่ขึ้น อีกทั้งทางต้นน้ำฝั่งหาดจอมเทียนพบว่าบริเวณนั้นมีการกัดเซาะและลงโครงสร้างทำให้ทิศทางของการเคลื่อนที่ตะกอนเปลี่ยนไป ภาพรวมของตะกอนที่เคยเข้าสู่หาดพัทยาน้อยลง บวกกับในพัทยากัดเซาะมาจนถึงแนวกำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นโดนปะทะและพาทรายออกนอกชายฝั่งได้เร็วขึ้น ดร.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า การกัดเซาะบริเวณหาดพัทยาน่าจะรุนแรงกว่านี้ในอนาคตเพราะคลื่นลมเปลี่ยนทิศทางและมีมรสุมมากขึ้น จากการคาดการณ์พบว่าจำนวนทรายที่ยังค้างอยู่ที่หาดพัทยาในปัจจุบัน หากไม่มีการเร่งแก้ไข ภายใน 5-6 ปี หาดพัทยาจะไม่เหลือหาดอีกในช่วงน้ำขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการฟื้นฟูหาดพัทยา โดยการเอาทรายกลับมาเติมหาดพัทยาตามที่วางแผนไว้คือ 360,000 คิวบิกเมตร พบว่าสามารถทำให้มีหาดอยู่ได้อีกประมาณ 10-15 ปี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สปสช.ลงนาม รพ.วัฒโนสถส่งต่อผู้ป่วยนอกรับรังสีรักษาโรคมะเร็ง Posted: 03 May 2013 03:48 AM PDT 3 พ.ค. 56 - ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการส่งต่อผู้ป่วยนอกเพื่อรับบริการรังสีรักษา" ระหว่าง รพ.วัฒโนสถและสปสช. เพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาผู้ป่วยมะเร็งสำหรับผู้ป่วยนอกที่ไม่ต้องนอนรักษาในรพ. แต่ต้องเข้ารับรังสีรักษา โดยส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลวัฒโนสถ ไม่ต้องรอคิวนาน และได้รับการรักษาที่รวดเร็วกับรพ.ภาคเอกชนด้วยเทคโนโลยีรังสีรักษาที่ทันสมัย นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือว่า ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี 2552 พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 23% และพบว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เป็นปัญหาที่สำคัญต่อระบบสุขภาพในประเทศไทย ล่าสุดในปีพ.ศ.2554 มีผู้เสียชีวิต 61,082 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลกคาดมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 118,600 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีพ.ศ. 2573 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ 21.3 ล้านคน และจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านคน โดยมะเร็งที่ผู้ชายป่วยมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งตับ ปอด ลำไส้และทวารหนัก ต่อมลูกหมากและมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนในผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอดลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาก็มีราคาสูงมาก นพ.วินัยกล่าวว่า ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยความมั่นใจ ดังนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีพันธกิจที่จะต้องส่งเสริมหรือสนับสนุนการสร้างหลักประกันด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุขและการเข้าถึงบริการ และช่วยไม่ให้คนล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการรักษาโรคมะเร็งยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในรพ.รัฐที่มีความแออัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องรับรังสีรักษาต้องรอคิวนาน ขณะที่รพ.ภาคเอกชนซึ่งมีเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ไม่มีคิวรอรักษานาน ทรัพยากรการรักษามีเพียงพอ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการคุณภาพภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ระหว่างภาครัฐและเอกชน สปสช.จึงได้ร่วมมือกับรพ.วัฒโนสถ ซึ่งเป็นรพ.ภาคเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งที่มีศักยภาพสูง เพื่อส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นผู้ป่วยนอกซึ่งไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในรพ.มารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยลดการรอคิว เพิ่มโอกาสการรักษาได้รวดเร็วและทันต่อโรค ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรพ.ได้รับการชดเชยตามอัตราที่กำหนด นอกจากนี้ทาง สปสช.ยังขยายโอกาสในการใช้สิทธิ์แก่ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งแต่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา อาทิ โรคเนื้องอกในสมองบางชนิด โรคเนื้องอกของเส้นประสาทการได้ยินและโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพองผิดปกติ ได้เข้าถึงการรักษาโดยเท่าเทียมกัน"เลขาธิการสปสช. กล่าว " การลงนามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการให้บริการด้านสุขภาพ โดยอาศัยทรัพยากรภาคเอกชนที่มีเพียงพอมาให้บริการผู้ป่วยภาครัฐ ที่ผ่านมามีผลงานในลักษณะรัฐร่วมเอกชนหลายลักษณะ เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น รพ.เทศบาล และระบบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัดที่เป็นความร่วมมือระหว่างอปท.ร่วมกับรพ.หรือสถานีอนามัย โดยหาแนวร่วมมาช่วยกันทำงานที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ในลักษณะของหุ้นส่วนรัฐร่วมเอกชนซึ่งจะเป็นทางเลือกในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่ความยั่งยืนต่อไป"เลขาธิการสปสช.กล่าว นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล รองประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพและผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลวัฒโนสถ เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ซึ่งอยู่ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เรามีความพร้อมและความชำนาญในการให้บริการทางการแพทย์อย่างครบครันเฉพาะทางด้านรังสีรักษา และเพื่อเป็นการร่วมมือกันพัฒนาประสิทธิภาพของการรักษาในประเทศไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการของคนไทย จึงได้จับมือร่วมกับสปสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อทำบันทึกข้อตกลงในการบริการส่งต่อผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกของ สปสช.ที่เป็นโรคมะเร็งหรือโรคอื่น ๆ ที่ต้องเข้ารับบริการรังสีรักษา ตามที่แพทย์รังสีรักษาของโรงพยาบาลดังกล่าวระบุในหนังสือส่งตัว โดยค่าใช้จ่ายในการรักษายังคงเป็นไปตามเงื่อนไขของสปสช. สำนักงานประกันสังคม หรือกรมบัญชีกลางที่คนไข้ถือสิทธิ "รพ.วัฒโนสถให้ความสำคัญกับทุกการรักษาที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดจากโรคร้าย ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีคุณภาพยืนยาวขึ้น" นพ.ชาตรี กล่าวและบอกว่า จากความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงนี้แพทย์รังสีรักษาของโรงพยาบาลต้นสังกัด จะทำหนังสือส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยระบุไว้กับสปสช. เพื่อมารักษาด้วยรังสีรักษาที่โรงพยาบาลวัฒโนสถ รวมถึงในกรณีที่การรักษานั้นต้องใช้เทคนิคที่สูงขึ้น เช่น ระบบ IGRT(ภาพรังสีนำวิถี), 3D (ระบบประมวลภาพเป้าหมายแบบ 3 มิติ) และ SRS (รังสีศัลยกรรมด้วยเครื่อง Gamma knife และเครื่องฉายแสง 3 มิติ Novalis) และอื่นๆ ตามเงื่อนไขของสปสช.หรือสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้เข้าถึงการรักษาโดยรังสีรักษาที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและมีราคาได้อย่างเท่าเทียมกัน พลตรีนายแพทย์นิวัฒน์ บุญยืน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลวัฒโนสถเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ที่พร้อมให้บริการผู้ป่วยด้วยการใช้เครื่องมือทางรังสีรักษาที่ทันสมัย อาทิ การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ (ฝังแร่) Brachytherapy เป็นวิธีการรักษาโดยให้ต้นกำเนิดรังสีอยู่ใกล้กับบริเวณที่จะทำการรักษาก้อนมะเร็ง ทำให้ก้อนมะเร็งที่อยู่ใกล้ต้นกำเนิดรังสีได้รับปริมาณรังสีได้สูงตามเป้าหมาย ในขณะที่เนื้อเยื่อปกติได้รับปริมาณรังสีในระดับน้อย ตลอดจนเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค Linear Accelerator (LINAC) เป็นเครื่องฉายรังสีที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการผลิตรังสีเอ็กซเรย์พลังงานสูง โดยสามารถแบ่งระดับพลังงานของรังสีเอ็กซ์ และ การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสีระบบ 3 มิติและบีบจัดแต่งรูปลำรังสีให้เล็กตามกำหนด (Novalis) และเครื่องฉายรังสี Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT) ซึ่งควบคุมรูปลำรังสีและความเข้มของรังสีได้ตามรูปร่างและตำแหน่งของก้อนมะเร็งให้ความถูกต้องและแม่นยำในการรักษาสูง เหมาะสำหรับรอยโรคขนาดเล็กและอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญที่มีความไวต่อรังสีมาก กล่าวได้ว่า การวางแผนการรักษาด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทำให้แพทย์สามารถกำหนดการกระจายของรังสีในเป้าหมายให้พอดีกับขนาดของก้อนมะเร็งมากที่สุด ช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะปกติที่อยู่รอบๆ ได้ ทั้งนี้นอกจากความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว เรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ด้วยคณะแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ นอกจากนี้เรายังได้ถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสร้างความชำนาญในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะให้การดูแลสุขภาพของคนไทยให้มีความเท่าเทียมและได้มาตรฐานระดับสากล ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ประธาน กสม. เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงชายแดนใต้ Posted: 03 May 2013 03:39 AM PDT 3 พ.ค. 56 - ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์กรณี ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
แถลงการณ์ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณี ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันพุธที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ได้มีคนร้ายจำนวน ๔ คน ใช้จักรยานยนต์ ๒ คัน เป็นพาหนะและใช้อาวุธสงครามยิงกลุ่มประชาชนอย่างโหดเหี้ยมบริเวณหน้าร้านขายของชำในพื้นที่หมู่ ๕ บ้านโคกม่วง ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต จำนวน ๖ ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตดังกล่าวเป็นเด็กอายุ ๓ ปี ถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุและมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก ๑ ราย สร้างความสะเทือนใจให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชนที่เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และขอประณามการกระทำอันโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมของผู้ใช้ความรุนแรง ที่กระทำต่อประชาชนและเด็กผู้บริสุทธิ์ตลอดระยะเวลาของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดและไม่เห็นด้วยต่อกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงไม่ว่ากลุ่มใด และได้มีข้อเสนอแนะให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีตามหลักสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายเหตุการณ์ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบางเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตเป็นเด็กและสตรีดังเช่นกรณีดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเรียนว่านับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงได้กระทำไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้นแต่ยังได้กระทำต่อผู้บริสุทธิ์อีกด้วย ส่งผลให้ครอบครัวผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อนและทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดความหวาดระแวง วิถีชีวิตอยู่บนความไม่ปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและชีวิต อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่องแต่เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังไม่ลดน้อยลง ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ดังกล่าวข้างต้น พร้อมกันนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอความร่วมมือประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่โปรดช่วยสอดส่อง ดูแล และป้องกันมิให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรง ตลอดจนร่วมกันประณามการกระทำที่โหดเหี้ยมรุนแรงในทุกรูปแบบ เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่มีความชอบธรรม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนย่อมได้รับการคุ้มครอง ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
บุกสถานทูตญี่ปุ่น ร้องปัญหา ‘อุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน’ จี้คิดให้ดีก่อนร่วมลงทุน Posted: 03 May 2013 03:38 AM PDT ชาวบ้านบางสะพานเดินสาย ค้านนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมอุตสาหกรรมเหล็กทำลายเศรษฐกิจของชุมชน ชี้ปัญหาทั้งรุกที่ป่า- EIA ที่ยังไม่ผ่าน ต่อด้วยบุกกระทรวงอุตฯ เบรกขยายสวนอุตสาหกรรมทับที่ป่าสงวนฯ 2 พ.ค.56 – ชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน ประมาณ 100 คนจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ทวงถามความตระหนักของนักลงทุนญี่ปุ่นในการลงนามบันทึกข้อตกลงของบริษัท JFE Steel และบริษัท Marubeni-Itochu Steel Inc. (MISI) เพื่อขยายอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าสงวนแห่งชาติ ร่วมกับบริษัท สหวิริยา สตีลอินดัสตรี (SSI) จำกัด (มหาชน) และบริษัทเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย ชี้ทุนต่างชาติควรรับรู้ปัญหา ก่อนความขัดแย้งบานปลาย "ก่อนจะเดินหน้าลงทุน มีปัญหาที่ JFE และ MISI ต้องรับรู้ การรุกที่ป่าสงวน การทำลายธรรมชาติ และ EIA ที่ยังไม่ผ่าน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความขัดแย้งบานปลายขึ้น" นางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน กล่าว นางจินตนา ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน บริษัท SSI เจ้าของโรงรีดเหล็กในอำเภอบางสะพาน ถูกกรมที่ดินดำเนินคดีฐานครอบครองเอกสารสิทธิ์ผิดกฎหมายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง และถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้ว 52 แปลง รวมพื้นที่ 798 ไร่ และบริษัทฯ ยังมีปัญหาครอบครองที่ดินสาธารณะประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากชุมชนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สั่งให้เช่าพื้นที่เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ส่วนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโรงถลุงเหล็กยังไม่ผ่านคณะผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคณะผู้ชำนาญการตั้งคำถามกว่า 100 ข้อเนื่องจากไม่มั่นใจว่าการสร้างโรงถลุงเหล็กจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้ง ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ยกเลิกการลงนามเบื้องต้นที่จะร่วมทุนกับ SSI เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็กในอำเภอบางสะพานแล้ว นางจินตนา กล่าวว่า การร่วมลงทุนดังกล่าวจะเป็นการต่ออายุให้กับบริษัทเอกชนซึ่งมีมาตรฐานย่ำแย่ และซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่ให้รุนแรกมากยิ่งขึ้น ส่วนผลการเจรจา นายยูกิฮิโกะ คาเนโกะ เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ตัวแทนสถานทูต ระบุทางสถานทูตญี่ปุ่นเองยังไม่เคยได้รับเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานหรืออุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม จะส่งหนังสือที่ได้รับมอบไปยังบริษัทเอกชนญี่ปุ่นเพื่อให้รับทราบว่ามีชาวบ้านมาคัดค้านกรีดังกล่าว แต่จะให้ถอนหุ้นหรือยกเลิกการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันของบริษัทเอกชนนั้นคงไม่ได้ ร้องกระทรวงอุตฯ อย่าปล่อย 'อุตสาหกรรมเหล็ก' ขยายทับป่าสงวน ต่อมาในช่วงบ่าย กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับข้อมูลว่าแม้จะไม่มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก แต่บริษัท SSI จะดำเนินการขอเปิดเขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการขยายอุตสาหกรรมเหล็กทับพื้นที่ป่าสงวนเช่นเดิม อย่างไรก็ตามทางกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยัน ยังไม่มีการยื่นเรื่อง และการประกาศไม่ใช่เรื่องง่ายต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน นางจินตนา กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิจะกังวล เพราะสิ่งที่บริษัทเอกชนทำนั้นเหมือนกับเป็นการโยนหินถามทางในหลายๆ วิธีการที่มีความเป็นไปได้ จึงขอยื่นเรื่องคัดค้านไว้ก่อน โดยขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงาน และผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ร่วมกันลงนามเป็นการยืนยันว่าได้รับทราบการมาคัดค้านครั้งนี้ของชาวบ้าน ซึ่งหากมีการดำเนินการใดๆ โดยขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านก็จะถือเป็นหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป จากนั้นชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน เดินทางไปที่สำนักโยธาและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ติดตามความคืบหน้าการประกาศผังเมืองบางสะพาน ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการผังเมือง โดยขอมีส่วนร่วมในกระบวนการในฐานะเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ ความต้องการของชาวบ้านคือให้บางสะพานเป็นพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมกับเกษตรกรรม ชุมชน และปลอดอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ อนึ่ง ชาวประมง เกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดย่อม มีความเห็นว่า การขยายอุตสาหกรรมเหล็กจะทำลายเศรษฐกิจของชุมชนในภาคเกษตร ประมงและท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดเป็นเศรษฐกิจสามขาในแผนพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และห่วงใยว่าจะถูกคุกคามในสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เนื่องจากแผนการขยายอุตสาหกรรมเหล็กประกอบด้วยโรงถลุงแร่เหล็กและโรงงานอีกหลายชนิดที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ขณะที่ อ.บางสะพานเป็นพื้นที่วางไข่ของปลาทูในอ่าวไทย และมีป่าสงวนแห่งชาติพรุแม่รำพึง ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ เมื่อ พ.ศ.2009 นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจสวนมะพร้าวอินทรีย์ 1 ใน 2 แห่งของโลก และส่งออกผลิตภัณฑ์แก่สหภาพยุโรป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
'ซีป้า' สรุปสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อในภูมิภาค 'ถดถอย' Posted: 03 May 2013 03:36 AM PDT เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) สรุปสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรอบปี 2555 รายละเอียดมีดังนี้
ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อถดถอยลง เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและกองทัพใช้กฎหมายและเครื่องมืออื่นๆ เพื่อจำกัดและควบคุมมากสื่อขึ้น ขณะเดียวกัน หลายประเทศผู้สื่อข่าวและภาคประชาสังคมถูกคุกคามจากการใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม มีพัฒนาการสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในกรอบอาเซียนหลังจากบรรดาผู้นำอาเซียนได้รับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยปฏิญญาดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำสู่การปกป้องมนษยชนที่ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการคุ้มครองในเอกสารดังกล่าวว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเพียงใด เช่น ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ข้อความที่ระบุในปฏิญญาฉบับนี้กลับไม่รับรองการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยไร้พรมแดน (regardless of frontier) ขณะที่ มาตรา 19 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองไว้ นั่นหมายความว่า รัฐบาลประเทศในอาเซียนยังสามารถควบคุมและปิดกั้นการเสนอข่าวสารข้ามประเทศได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีชี้วัดแนวโน้มสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในปีนี้ด้วย จากการติดตามสถานการณ์ซีป้า พบว่า ปีที่ผ่านมามีสองประเด็นใหญ่ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญได้แก่ 1.มีแนวโน้มการใช้กฎหมายควบคุมจำกัดและลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนมากขึ้น เช่น บรูไน ลาว เวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้มีการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับอย่างเข้มงวด บางครั้งผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็เป็นคนละเมิดเสียเอง โดยให้ความสำคัญกับประโยชน์ของรัฐเหนือสิทธิของประชาชน แทนที่จะเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นที่แตกต่างเพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในพื้นที่สาธารณะอย่างเปิดเผย เพราะต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง นอกจากนี้กองบรรณาธิการหลายแห่งยังเซ็นเซอร์ตัวเองในการทำงานเพื่อความอยู่รอด ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งถือว่ามีเสรีภาพสื่อมากกว่าประเทศอื่นๆ ก็ได้ออกกฎหมายใหม่หลายฉบับซึ่งคุกคามและสกัดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทและและกฎหมายควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนติมอร์ตะวันออกกำลังจะออกกฎหมายให้อำนาจรัฐเข้าไปควบคุมสื่อมากกว่าจะปกป้องเสรีภาพสื่อ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ การทำป่าไม้ผิดกฎหมาย การสร้างเขื่อน การทำเหมืองแร่ ดังกรณีที่เกิดในพม่า ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์และเวียดนาม พบว่า ภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ แต่เมื่อรัฐไม่เหลียวแล สื่อมวลชนก็เข้ามาเกี่ยวข้องโดยพยายามนำเสนอรายงานเปิดโปงความขัดแย้ง ปัญหาต่างๆ นี้ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งท้องถิ่น แต่กลายเป็นประเด็นข้ามชาติและเป็นปัญหาร่วมระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบสำคัญต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น ไทยและเวียดนาม เป็นผู้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในลาว ซึ่งหลายโครงการเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน สำหรับสหภาพพม่ารอบปีที่ผ่านมาถือเป็นข่าวดี ซึ่งประชาคมโลกให้ความสนใจติดตาม เพราะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านการเมืองและด้านสื่อ แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนและไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า มีการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริงเพราะโครงสร้างผู้มีอำนาจยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีกลไกรองรับทางกฎหมายอย่างเพียงพอ สิ่งที่เป็นประเด็นร่วมในอาเซียนคือ ภาคประชาสังคมเติบโตและเข้มแข็งขึ้นมา เพื่อปกป้องต่อสู้รักษาสิทธิของตัวเองในด้านต่างๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรต้องเปิดโอกาสให้ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางอีกทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและสนับสนุน เพื่อสร้างปัจจัยหนุนให้มาตรฐานสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในภูมิภาคดีขึ้นเป็นหลักให้นักเคลื่อนไหวส่งเสริมสิทธิเสรีภาพได้ยึดถือผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและสื่อฯที่เป็นจริง
ที่มา:
สรุปสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรอบปีพ.ศ. 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
วอน รมว.สาธารณสุข ใช้ความรู้ทางวิชาการตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม Posted: 03 May 2013 03:24 AM PDT นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ชี้ การผลิตยาชื่อสามัญของอุตสาหกรรมยาไทยมีมาตรฐานนานาชาติกำกับ ถูกต้องตามหลักวิชาการ วอนรัฐมนตรีสาธารณสุขใช้องค์ความรู้ทางวิชาการในการตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม 3 พ.ค.56 - ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) แจ้งว่า กพย.มีบทบาทในการทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังระบบยา นำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้มียาจำเป็นที่มีคุณภาพ มีระบบให้ประชาชนเข้าถึงยา และใช้ยาอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่สุขภาพที่ดีของปวงชนชาวไทย ดังนั้นจากที่ติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อระบบยาของประเทศ จึงเห็นเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) จัดเสวนาวิชาการเพื่อใช้องค์ความรู้ จากนักวิชาการ มาอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจของสาธารณะว่า การจัดหายาของประเทศต้องมีระบบการประกันความมั่นคงว่าต้องมียาใช้ยามจำเป็น หรือยามภัยพิบัติ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมมีหน้าที่ดังกล่าวตามกฎหมายและตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีความพยายามสั่นคลอนระบบจัดหาดังกล่าว ย่อมกระทบความน่าเชื่อถือของระบบยาสามัญของประเทศ รวมถึงในอนาคตจะเกิดการครอบงำลดความเชื่อถือของประชาชนต่อยาสามัญ และจะทำให้เกิดการผูกขาดยาจากต่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบทางลบทั้งต่อสุขภาพของประชาชน และต่อเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศ "การประกันคุณภาพยาให้กับประชาชนเป็นเรื่องจำเป็นที่สมควรทำ เพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานองค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งมีมาตรฐานกำกับโดย อย.และกรมวิทยาศาสตร์-การแพทย์อยู่แล้ว อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขใช้ความรู้ทางวิชาการเหล่านี้ในการตรวจสอบการผลิตและการจัดหายาขององค์การเภสัชกรรม มิเช่นนั้น อาจเกิดผลกระทบทางลบต่อระบบยา ระบบการรับรองมาตรฐาน และการเข้าถึงยาของประชาชน โดยผู้ที่ได้ประโยชน์มีเพียงผู้ประกอบการที่แสวงหากำไรสูงสุดจากการขายยาเท่านั้น" ทางด้าน ศ.ดร.ภญ.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบการผลิตยาภายในประเทศเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาฉบับปัจจุบัน (c GMP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะเป็นผู้กำกับ ดูแล ตรวจสอบ และให้ใบรับรอง (certificate) เมื่อผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ภายใต้การควบคุมดูแลของเภสัชกรประจำโรงงานตามกฎหมาย นอกจากนี้ทะเบียนตำรับยาโดยเฉพาะยาชื่อสามัญที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยเฉพาะตัวยาสำคัญ (API) จะต้องเข้ามาตรฐานเภสัชตำรับเป็นอย่างน้อย ซึ่งผู้ผลิตยาในประเทศทุกบริษัทต้องได้รับ GMP ก่อนจึงจะสามารถผลิตยาออกจำหน่ายได้ เช่น องค์การเภสัชกรรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ในทุกรูปแบบยาเป็นระยะเวลา 2 ปี จึงเป็นการประกันโดยหน่วยงานรัฐว่า ยาชื่อสามัญทุกตำรับที่ผลิตในประเทศเป็นยาที่ได้มาตรฐานสากล "วัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น มีการปนเปื้อนหรือหมดอายุจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำไปผลิตเป็นยาสำเร็จรูป ส่วนวัตถุดิบที่ยังอยู่ในมาตรฐาน แต่ใกล้หมดอายุ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อผลิตเป็นยาสำเร็จรูปจะต้องหมดอายุตามวัตถุดิบ เนื่องจากสูตรตำรับและกระบวนการผลิตสามารถขยายเวลาความคงสภาพของยาสำคัญให้อยู่ในมาตรฐานเภสัชตำรับได้ ดังนั้นอายุของยาสำเร็จรูปจะนับตั้งแต่เริ่มการผลิตเป็นยาสำเร็จรูปเป็นต้นไป ดิฉันเป็นนักวิชาการ ไม่ได้เข้าข้างใคร นี่คือข้อมูลทางวิชาการอยากให้รับฟัง" รศ.ดร.ภก.สาธิต พุทธิพิพัฒน์ขจร ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การผลิตยาสำเร็จรูปให้มีคุณภาพมาตรฐาน ต้องมีกระบวนการประกันคุณภาพวัตถุดิบตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา (GMP) วัตถุดิบต้องจัดซื้อมาจากแหล่งผลิตยาที่ได้มาตรฐาน และต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดมาตรฐานของตำรายา ไม่นำวัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานมาใช้ในการผลิตยาสำเร็จรูป โดยการจัดหาวัตถุดิบเป็นเรื่องสำคัญมากจำเป็นต้องจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน ในปริมาณที่มากเพียงพอ และสอดคล้องกับแผนการผลิตยาที่วางไว้ หลังจากจัดซื้อวัตถุดิบมาต้องผ่านการควบคุมคุณภาพซึ่งเป็นการทดสอบเพื่อรับรอง (Acceptance Test) โดยสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบตามวิธีการที่กำหนด หากทดสอบแล้วไม่ผ่านข้อกำหนดมาตรฐาน ต้องส่งกลับคืนบริษัทผู้ผลิตหรือทำลายทิ้ง หากทดสอบแล้วผ่านข้อกำหนดมาตรฐาน จะนำไปเก็บไว้ที่สภาวะการเก็บรักษา (อุณหภูมิและความชื้น) ที่กำหนด และมีการควบคุมคุณภาพซึ่งเป็นการทดสอบซ้ำ (Retest) เป็นระยะ ๆ เช่น ทุก 6 เดือน วัตถุดิบที่เก็บรักษาไว้ต้องมีฉลากแสดงสถานะของวัตถุดิบ เช่น กักกัน รอการทดสอบ ปล่อยผ่าน หรือ ไม่ผ่าน และมีข้อมูลอื่น ๆ ได้แก่ ชื่อวัตถุดิบ หมายเลขรุ่นที่กำหนดเมื่อมีการรับ และ วันสิ้นอายุ (Expiry Date) หรือวันครบกำหนดการทดสอบซ้ำ (Retest Date) ในกรณีที่วัตถุดิบสิ้นอายุตามที่ระบุในหนังสือรับรองผลการวิเคราะห์ (Certificate of Analysis, COA) ของบริษัทผู้ผลิต จะไม่นำมาใช้ผลิตยาสำเร็จรูป แต่ในกรณีที่ COA ไม่ได้กำหนดวันสิ้นอายุ จะพิจารณาจากผลการทดสอบซ้ำ (Retest) หากวัตถุดิบมีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดในตำรายา ก็สามารถนำมาใช้ผลิตยาสำเร็จรูปได้ "แต่ในกรณีขององค์การเภสัชกรรมนั้น ไม่ได้ทำยาเพื่อขายทำกำไรเท่านั้น แต่ต้องสำรองยาในภาวะวิกฤติ เช่น กรณีของไข้หวัดนก ถ้ามีการระบาดต้องมีใช้ แต่ถ้าไม่มีการระบาดก็แล้วไป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยโชคดีที่ไม่มีการระบาด"ทางด้าน ศ.ดร.ภญ.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช คณะเภสัช จุฬา กล่าวว่า หากย้อนกลับไปช่วงที่มีการระบาดไข้หวัด H5N1 ขณะนั้นเรายังไม่มีศักยภาพการผลิต จะขอซื้อจาดยริษัทยาข้ามชาติ ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มท้ายๆที่จะได้ยา หรือในช่วงน้ำท่วม ที่ขาดแคลนน้ำเกลือ ดังนั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมยาในประเทศเพื่อคงความมั่นคงในระบบยา" ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) มองว่า จากการชี้แจงขององค์การเภสัชกรรมที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานการผลิตยาที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ดังนั้น ในการตรวจสอบองค์การเภสัชกรรมจึงควรเป็นไปอย่างโปร่งใสโดยใช้หลักวิชาการ ไม่ควรถูกใช้เป็นประเด็นการเมือง ทางด้าน รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อทั้งวิชาชีพ และระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะยาจะมีราคาแพงจนหลักประกันก็ไม่สามารถจัดหาให้ประชาชนได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
การทหาร,สิทธิมนุษยชน และสันติวิธี เราร่วมทางกันได้ไหม? Posted: 03 May 2013 03:05 AM PDT คำว่า "กระบวนการยุติธรรม"อาจเป็นคำแสลงใจของใครหลายคน กระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลไทย ในการดูแลความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ เครื่องมือในการจัดการกับผู้ละเมิดกฎหมายของรัฐ ในพื้นที่พิเศษที่เกิดปัญหาความไม่สงบ ด้วยความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา จากรากเหง้าของปมปัญหาที่ยาวนาน กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน หากในพื้นที่สู้รบระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับกองกำลังฝ่ายขบวนการฝ่ายตรงข้ามรัฐ แน่นอนว่ากระบวนการยุติธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะในกลศึกที่ต่างกำลังใช้ยุทธวิธีช่วงชิงมวลชน ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยชั้นเชิงเพื่อไม่ส่งผลกระทบให้เกิดปฏิกิริยามวลชน ซึ่งหากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอาจพลาดพลั้งส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ในขณะที่ฝ่ายขบวนการได้ประกาศจุดยืนมาตั้งแต่ต้นถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แม้ที่ผ่านมาฝ่ายขบวนการได้ใช้วิธีการที่รุนแรงในการต่อสู้ แต่แนวโน้มการปรับบทบาทจากการประกาศทำความเข้าใจของ ฮัสซัน ตอยิบ ต่อผู้คนทุกเชื้อชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดถึงความพร้อมในการรับบทบาทนำในการสร้างกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้น เป็นคำถามที่เจ้าหน้าที่รัฐควรเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ และนี้คือความท้าทายใหม่ต่อวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ การปรับตัวของฝ่ายนำขบวนการมีแนวโน้มที่ดี ทิศทางของการปรับตัวกำลังถ่ายทอดถึงแกนนำในระดับปฏิบัติงานของฝ่ายขบวนการ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ในฐานะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องเฝ้าติดตาม ขณะเดียวกันเป็นเรื่องที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐควรทบทวนถึงบทบาทการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน ว่าพร้อมปรับการทำงานในพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนมากน้อยแค่ไหน
ปมปัญหา 2 ข้อที่เป็นสาเหตุให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในพื้นที่ลดลงคือ 1.การไม่ให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2.การเลือกปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่ ผลจากทั้ง 2 ข้อนี้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวไทยมลายูมุสลิมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ในการสร้างรัฐชาติของฝ่ายขบวนการฯ ที่ผ่านมาหากกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายรัฐไม่สร้างสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ นั้นคือแรงผลักให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจำเป็นต้องหาทางเลือกเข้าข้างฝ่ายขบวนการซึ่งจะดีหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์หากสิทธิขั้นพื้นฐานของตนถูกลิดรอนไป มนุษย์ย่อมดิ้นรนเพื่อให้ได้สิ่งนั้นคืนมา และหากมีองค์กรอื่นใดที่ไม่ใช่รัฐ หรือแม้กระทั่งองค์กรที่อยู่ตรงข้ามรัฐ สามารถให้ความหวังที่ดีกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะไขว่คว้าสิ่งนั้นไว้ ศักดิ์ศรี คือ คุณค่าที่มาจากความเป็นอิสระของมนุษย์หรือความสามารถในการกำหนดตัวเอง (autonomy) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการห้ามปฏิบัติต่อมนุษย์เยี่ยงสัตว์ หรือเยี่ยงทาส เช่น จะนำมนุษย์มาทดลองเหมือนสัตว์ไม่ได้ และจะใช้สิทธิที่ได้รับการรับรองนี้ ทำสิ่งใดก็ได้ แต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักการไม่เลือกปฏิบัติเป็นหลักการพื้นฐานของความเสมอภาคในกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมและคุ้มครองโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยเหตุผลทางด้านเผ่าพันธุ์ เพศ ภาษา และศาสนา จากทั้งสองปมปัญหาคือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ การไม่เลือกปฏิบัตินั้น มีความเชื่อมโยงสู่ทัศนคติส่วนบุคคล เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน หากเป็นบทบาทของความเป็น เจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนด้วย ที่มีแรงผลักจากชุดประสบการณ์ที่สั่งสมมา แสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรม ท่วงท่า กริยาท่าทางที่มีต่อกัน หากพูดให้ตรงจุดในบริบทของสามจังหวัดภาคใต้มากขึ้นก็คือ ปมปัญหาของทัศนะคติเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานของรัฐไทยที่มีต่อชาวมุสลิม ในการกระทำที่เกิดกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ในหลายๆครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติเดิมที่มองชาวมุสลิมในด้านลบ เงื่อนไขใหม่ของความรุนแรงจึงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จากจุดเล็กๆ กับสิ่งที่ยากจะทำความเข้าใจนั้นคือมโนคติส่วนลึก ช่วงวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้เป็นพิธีกรร่วมกับ คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ หรือพี่หน่อย ในงานอบรมเจ้าหน้าที่ทหารของ กอ.รมน.ภาคใต้ เรื่อง "กระบวนการยุติธรรมในจังหวัดขายแดนภาคใต้" ณ ห้องประชุมโรงแรมไดอิชิ เบื้องต้นเราเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายคงเป็นกลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่จะลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ แต่และกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นทหารปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่มาแล้ว ตั้งแต่ระดับ ผบ.หมู่ และกลุ่มทหารสัญญาบัตรรุ่นใหม่อายุยังไม่มากนัก ซึ่งทั้งหมดอยู่ในชุดนอกเครื่องแบบจึงไม่สามารถทราบชั้นยศได้ เราได้แบ่งกระบวนการบรรยายโดยพี่หน่อย (ผู้หญิงตัวเล็กๆ นักสิทธิมนุษยชน) ที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนผมได้เตรียมพาวเวอร์พอยท์และคลิปวีดีโอของกลุ่มกิจกรรมมาเปิดเพื่อให้ผู้ร่วมอบรมทำความเข้าใจ โดยวิเคราะห์กันในเบื้องต้นว่าคลิปและรูปภาพดังกล่าว สามารถเปิดเพื่อถอดบทเรียนจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ โดยเสริมมุมมองผลสะท้อนจากการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ แน่นอนว่า ทหารส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการลงพื้นที่ของ NGO ที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชน พี่หน่อยเองเป็นหนึ่งในคนทำงานที่ทหารส่วนใหญ่ในพื้นที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานยุติธรรม หรือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงรู้จักกันดี ปฏิกิริยาแรกที่เราได้รับจากเวที เมื่อพี่หน่อยเล่นเกมพูดคำสามคำ เพื่อสร้างสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมอบรม ประโยคสะกิดใจจากคำสามคำที่เราได้ยินคือ "มาทำไม!?." พี่หน่อยปะทะสังสรรค์อยู่กับบรรดาเจ้าหน้าที่ทหาร 120 นาย ภาพผู้หญิงตัวเล็กๆ ถือไมโครโฟนวิ่งไปมาอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมอบรม สะท้อนพลังแห่งอุดมการณ์สิทธิมนุษยชนในตัวเธอได้ดีทีเดียว สำหรับผมนั้น ได้วิเคราะห์แล้วว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่น่าจะมีความเข้าใจในหลักกฎหมายมากพอสมควร จึงได้จัดทำพาวเวอร์พอยท์ที่มีภาพสะท้อนการทำงานและคลิปวีดีโอภาพกลุ่มนักกิจกรรมเรียนร้องให้ปล่อยตัวครูตาดีกา เพื่อการถอดบทเรียนและบรรยายนำสรุปในหัวข้อ "กระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้สร้างความเชื่อมั่นด้วยการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการไม่เลือกปฏิบัติ" โดยเป้าหมายที่ต้องการสื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้ ฝ่ายขบวนการพร้อมที่จะช่วงชิงพื้นที่การนำด้านกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ ยกตัวอย่างภาพที่ผมเตรียมมา เป็นภาพการ์ตูนที่ได้จากอินเตอร์เน็ตเป็นภาพ ทหารกำลังถือปืนจี้นักศึกษาหน้ามหาวิทยาลัย คล้ายผลักให้นักศึกษาที่โพกผ้าที่มีเครื่องหมายวงกลมสันติภาพ ให้เดินเข้าไปในซุ้มที่มีคนคาดปากและโพกหัวถือปืน มีป้ายแขวนไว้ว่า Merdeka ความแปลกใจเกิดขึ้นเมื่อพบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมกลับไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดของภาพ อาจเป็นเพราะตัวผมเองสื่อสารไม่ชัดเจนก็เป็นได้ ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นว่าใครเป็นคนวาดภาพ ปล่อยให้ภาพนี้ออกมาได้อย่างไร จนผมต้องอธิบายว่า "ภาพพวกนี่พบได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต" และเสียงสะท้อนในคำถามว่า "พวกที่เป็น NGO ด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ข้างไหนกันแน่!" อย่างไรก็ดี ในบางส่วนของผู้เข้าร่วมอบรมได้ส่งเสียงสะท้อนของทหารในพื้นที่ ผ่านเวทีอบรมเพื่อขอความเห็นใจ ในการทำงานในพื้นที่ โดยเห็นว่าสื่อมวลชนและ NGO ควรคำนึงถึงความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ หากมองมุมกลับว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อยู่ในสภาวะที่กดดัน ภาพข่าวทางสื่อมวลชนหลายอย่างที่ทำให้ทหารรู้สึกเสียกำลังใจ ในความเสียกำลังใจนั้นอาจแสดงพฤติกรรมในด้านลบต่อประชาชนในพื้นที่อีกต่อหนึ่ง เสียงสะท้อนที่คนทำงานด้านสื่อควรให้ความสำคัญ ว่ามุมมองในความเป็นจริงและผลสะท้อนในทางสร้างสรรค์ เป็นไปได้หรือไม่ที่คนทำสื่อสามารถประคองความสมดุลทั้งสองสิ่งนี้ไว้ ในความเป็นจริงองค์กรด้านสิทธิมนุษย์ชน และหน่วยงาน NGO ในด้านต่างๆที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ได้สร้างประโยชน์ให้ภาครัฐเป็นอย่างมาก ในการสร้างพื้นที่พูดคุยระหว่างประชาชนในส่วนที่ภาครับไม่สามารถเข้าถึง โครงการและงานวิจัยมากมายที่เสนอทางออกให้รัฐบาลนำมาปรับใช้ สร้างนโยบายในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มงาน NGO สายพัฒนาได้การสร้างนักกิจกรรมดึงแนวร่วมให้เห็นทางออกที่มากกว่า และเลือกแนวทางสันติวิธีมากกว่าการใช้ความรุนแรง แม้ในคำถามที่ยอกย้อนว่าเหล่านักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ก่อการร้าย ซึ่งประเด็นเหล่านี้หน่วยงานทหารหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ควรทำความเข้าใจให้ได้ โดยทบทวนจากการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารตำรวจไม่พยายามเปิดรับข้อมูลการเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ และเปิดใจเรียนรู้หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน วิธีคิดแบบเดิมคือการเอาชนะด้วยการใช้กองกำลังเข้าจัดการ ด้วยกลยุทธ์แบบเดิมเหมือนสงครามประชาชนเมื่อราว 30 – 50 ปีก่อน อีกเสียงสะท้อนจากเวทีอบรมของผู้เข้าร่วมอบรมคือเจ้าหน้าที่ต้องการกำลังใจ ต้องการความร่วมมือกับกลุ่มคนทำงานในพื้นที่ และสื่อที่ทำข่าวในพื้นที่ ซึ่งดูส่วนทางกับท่าทีที่ปฏิบัติต่อวิทยากรผู้ดำเนินการบรรยาย การแสดงออกอย่างชัดเจนถึงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ทหารบางส่วนที่เข้าร่วมอบรม ที่มีต่อวิทยากรนักสิทธิมุษยชนในเวทีอบรม อาจตีความไปถึงเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความรู้สึกด้านลบต่อนักสิทธิมนุษยชน ภาพที่เกิดขึ้นสามารถประเมินสถานการณ์แนวรบในพื้นที่ได้บ้างว่า เจ้าหน้าที่รัฐในระดับกลางลงไปถึงระดับปฏิบัติการยังไม่ปรับตัวเพื่อเปิดรับต่อกระบวนการสันติภาพ เข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ ภาพข่าวของเพื่อนร่วมงานที่ต้องเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บในระหว่างการปฏิบัติงาน การฝึกทหารในหลักสูตรสะสมความเกลียดชังด้วยคลิปต่างๆ ที่สร้างความรู้สึกเจ็บแค้น ในความเชื่อที่ว่าหลักมนุษยธรรมจะทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสนามรบ ในจุดนี้ทำให้สถานะของเจ้าหน้าที่รัฐคล้ายจะลดระดับลงไป ทั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐมีภาพใหญ่ที่ชอบธรรมในการสร้างกระบวนการยุติธรรม อย่างน้อยในฐานะของความเป็นรัฐ หรือเป็นผู้ที่มีความยิ่งใหญ่กว่า หรืออาจเปรียบเทียบได้ประหนึ่งพ่อกับลูก ในความเป็นพ่อจำเป็นต้องมีจิตใจที่หนักแน่นกว่า เที่ยงธรรมกว่าแม้ลูกจะเกเรเรียกร้องสิ่งต่างๆด้วยการทำลายข้าวของ และนี้เป็นประเด็นที่ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนว่า ในหลักสูตรข้าราชการการปกครอง ทหาร ตำรวจ ควรบรรจุเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน และกระบวนการสันติวิธีให้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ หรือไม่ก็คงปล่อยไปตามคำพูดที่ว่า "รัฐไทยยังไม่คุ้นชินกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้สติปัญญา...นั้นคือ รัฐไทยยังนิยมการใช้กำลังมากกว่าใช้เหตุผล" ความท้าทายในการสร้างกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อเสนอสามข้อของผมต่อผู้เข้าร่วมในการจัดอบรมเพื่อเสริมทักษะการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อเรียนรู้ชั้นเชิงการทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งจังหวัดชายแดภาคใต้ คือ 1. เจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานต้องมีความเข้าใจ ในชั้นเชิงการปฏิบัติงานในพื้นที่มีการใช้กฎหมายพิเศษและในสถานการณ์ความขัดแย้งในการช่วงชิงมวลชน โดยเฉพาะหลักสิทธิมนุษยชน 2. ความเคารพกฎหมายย่อมสำคัญกว่าความเกรงกลัวกฎหมาย เป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ต้องสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมาย และหากเป็นไปได้พยายามลดการใช้กฎหมายให้มากที่สุด 3. สร้างทัศนคติที่ดีต่อวัฒนธรรมอิสลามไม่ว่าพื้นฐานความคิดเดิมของท่านจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในข้อนี้หมายรวมถึงการสร้างสุขภาวะทางใจที่ดี ทำงานในพื้นที่กดดันได้อย่างปกติสุข อย่างไรก็ตาม ในบรรยากาศการอบรมที่ดูท่าว่าวิทยากรกำลังถูกรุมกินโต๊ะ ด้วยคำถามกึ่งคำตัดพ้อการทำงานของนักสิทธิมนุษย์ชนและนักเคลื่อนไหวกิจกรรมสันติภาพในพื้นที่ เรามักพบว่าในเวทีใหญ่ของหน่วยงานราชการนั้นข้าราชการมักระมัดระวังการแสดงออกทางความคิด การแสดงความคิดเห็นถูกกดดันด้วยชั้นยศในสายการปฏิบัติงาน ในครั้งนี้ทหารรุ่นใหม่ๆหลายนายที่พยายามแสดงความคิดเห็น ผ่านเสียงกระแอ้มไอของผู้ที่อยู่ในสายบังคับบัญชาที่สูงกว่า กระทั่งมีเสียงเตือนออกมาอย่างชัดเจน ด้วยการว่ากล่าวกันในที่ประชุมให้ระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในช่วงท้ายมีผู้เข้าร่วมอบรมระดับอาวุโสท่านหนึ่งได้นำเสนอประเด็นสรุปที่ค่อนข้างนุ่มนวล โดยเรียบเรียงความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรมโดยสรุป ด้วยประโยคตบท้ายที่ว่า "เป็นไปได้ไหม ว่าทางฝ่ายนักสิทธิมนุษยชนนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในพื้นที่และสื่อต่างๆ ช่วยทำงานให้สอดคล้องไปกับงานของรัฐด้วย" นัยยะในคำถามนั้น เป็นการชงประเด็นปิดท้าย เพื่อเรียกบรรยากาศที่เข้าอกเข้าใจกันกับคืนมา คำอธิบายของคุณพรเพ็ญ (พี่หน่อย) ในคำถามของฝ่ายทหารที่ว่า "....เราจะไปด้วยกันได้ไหม?" โดยความเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนบทบาทสำคัญคือเป็นเสียงสะท้อนในเรื่องความยุติธรรม เราจำเป็นต้องทำหน้าที่ให้กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิของมนุษย์ คุณพรเพ็ญเสนอว่าทหารควรมีคู่มือด้านสิทธิมนุษยชนในการทำงานอีกด้วย และคำตอบที่ชัดเจนคือ "...จริงๆ แล้วเราเข้ากันไม่ได้นะ เพราะแนวทางของเราคือเราไม่ใช้ความรุนแรงชัดเจน" ในความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ทั้งการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก ในความขัดแย้งที่ซับซ้อนขึ้น ภาครัฐต้องการความร่วมมือร่วมใจไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ในขณะที่องค์กรนอกภาครัฐมีเป้าหมายในภาพที่กว้างกว่า เป้าหมายที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมในมุมมองผู้ปฏิบัติงาน กระบวนการยุติธรรมที่ก้าวข้ามกลุ่มสังคมย่อยในระดับรัฐ แต่ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจนกว่า สิ่งหนึ่งของแรงผลักในการทำงานคือความเชื่อมั่นในมโนคติอันเป็นอุดมการณ์ฝ่ายตน การทหาร หลักสิทธิมนุษยชน และแนวทางสันติวิธี กำลังทำปฏิกิริยากัน ในสูตรสำเร็จของคำตอบที่สันติภาพเราทั้งหลายอาจยังมึนงงสงสัยกันอยู่ว่า ทั้งสามอย่างจะไปด้วยกันได้อย่างไร.
ที่มา: ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ http://www.deepsouthwatch.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สุจิตต์ วงเทศน์ รื้อถอนวาทกรรม “สาวไทยต้องรักนวลสงวนตัว” Posted: 03 May 2013 03:02 AM PDT
25 เม.ย.56 ณ ห้องเจ้าพระยา 2 โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส เซอร์วิสอพารร์ตเมนท์ จังหวัดนนทบุรี สุจิตต์ วงเทศน์ ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในโครงการ "สร้างเสริมศักยภาพนักกิจกรรมรุ่นใหม่เรื่องสิทธิทางเพศครั้งที่ 1 : เรา เรื่องเพศ และงานพัฒนา" โดยเป็นการบรรยายในหัวข้อ "หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว เอาผัวเอาเมียแบบบ้านๆ" อาจารย์สุจิตต์กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของไทยเป็นประวัติศาสตร์ที่แทบไม่มีความจริงอยู่เลย เวลาอ่านประวัติศาสตร์ไทยเหมือนกับอ่านนิยายคู่กรรม และการศึกษาไทยก็ไปบังคับให้เราเชื่อว่าคู่กรรมที่เราอ่านเป็นความจริง พอมีคนเห็นต่างก็ถูกกล่าวหาว่าขายชาติไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่น่าตกใจที่สุดคือความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ทั้งๆที่เทือกเขาอัลไตเป็นภูเขาน้ำแข็งที่โซเวียตใช้ตั้งสถานีราดาร์เพื่อสู้กับสหรัฐฯ ช่วงสงครามเย็น ไม่มีใครสามารถอยู่อาศัยได้ แต่ที่ต้องสอนแบบนี้เพราะระบบการศึกษาไทยต้องการสร้างลัทธิชาตินิยม จึงให้ความสำคัญกับชนชาติอันเป็นสิ่งสมมติมากจนเกินจริง ทั้งๆ ที่ทั่วโลกทุกวันนี้เขาเลิกพูดถึงเรื่องชนชาติไปแล้ว และหันมาให้ความสำคัญกับสัญชาติ (nationality) แทน เพราะเขาได้รับบทเรียนจากลัทธิเหยียดเผ่าพันธุ์ (racism) ของฮิตเลอร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การบรรยายในวันนี้จึงเป็นการรื้อถอนความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ผ่านทางหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรามักรับรู้สังคมไทยในอดีตว่าเป็นสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่เฉกเช่นสังคมเกษตรกรรมอื่นๆ ทั่วโลก แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีจะพบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตเป็นสังคมที่เพศหญิงเป็นใหญ่ทั้งสิ้น จริงอยู่พี่เพศชายเป็นเพศที่ต้องออกล่าสัตว์ทำศึกสงคราม แต่งานภายในบ้าน และหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เป็นของผู้หญิงทั้งสิ้น หลักฐานหนึ่งที่ขุดพบคือโครงกระดูกของเจ้าแม่โคกพนมดี ซึ่งเมื่อพิจารณาจากระดูกเชิงกรานแล้วพบว่าเป็นโครงกระดูกเพศหญิง ศพดังกล่าวถูกฝังรวมกับลูกปัดนับแสนเม็ด ซึ่งมีข้อสังเกตสองประการ ประการแรกศพที่มีการทำพิธีฝังได้จะต้องเป็นผู้นำระดับสูงของชุมชน ศพคนทั่วไปก็จะถูกปล่อยให้แร้งกากิน ประการที่สองลูกปัดนับแสนเม็ดที่พบแสดงว่าเจ้าของโครงกระดูกเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนา เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่าเสียงลูกปัดกระทบกัน และเครื่องดนตรีบางชนิดเช่นแคนเป็นช่องทางในการสื่อสารกับภูติผี ปีศาจ ซึ่งเทียบเท่ากับศาสดาในยุคนั้น เจ้าแม่โคกพนมดีจึงเป็นหลักฐานแสดงถึงความเป็นใหญ่ของเพศหญิงในสังคมโบราณได้เป็นอย่างดี วัฒนธรรมเช่นนี้ยังสามารถพบได้ในผู้หญิงเผ่าละเวนในประเทศลาวปัจจุบันที่มีวัฒนธรรมการสวมลูกปัดเหมือนกัน
ภาพผู้หญิงละเวน ที่มา: http://www.sujitwongthes.com/2009/03/ เมื่อมาพิจารณามิติของภาษาก็จะพบวัฒนธรรมเพศหญิงเป็นใหญ่เช่นกัน เช่นคำว่า "แม่" กับคำว่า "เมีย" แท้จริงแล้วมีความหมายเหมือนกันหมายถึงความเป็นใหญ่ เช่นแม่น้ำ แม่ทัพ คำว่า "นาย" กับ "นาง" จริงๆ แล้วก็มีความหมายเหมือนกัน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยได้รับวัฒนธรรมวิคตอเรียน (Victorian culture) ที่ต้องมีการเติมคำนำหน้านาม จึงเติมคำว่า "สาว" เข้าไปหน้านางแสดงถึงพรหมจรรย์ คำว่า นาง จึงมีมลทิล การเหยียดเพศจึงเริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น ในขณะที่คำว่า "หนุ่ม" กับคำว่า "บ่าว" ในอดีตใช้แทนกันได้ และคำว่า "บ่าว" ยังมีความหมายว่า "คนรับใช้" อีกด้วย เนื่องจากวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายที่รับมรดกจากพ่อแม่ ผู้ชายที่อยากแต่งงานกับผู้หญิงจึงจำเป็นต้องเข้าไปเป็นคนรับใช้ในบ้านของฝ่ายหญิงจนกว่าฝ่ายหญิงจะรับเป็นสามี ในพิธีแต่งงานชายฝ่ายต้องจับชายสไบของเจ้าสาวเดินเข้าเรือนหอ ผู้หญิงจึงเป็นเจ้านายของบ่าวทั้งหลาย โดยในช่วงที่ฝ่ายชายมาอยู่บ้านฝ่ายหญิงก็สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้แม้จะยังไม่รับเป็นสามีก็ตาม หรือที่เราเรียกว่า "อยู่ก่อนแต่ง" แต่ทุกวันนี้กลายเป็นวัฒนธรรมที่คนในสังคมไม่ยอมรับ ส่วนคำที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์หรือคำว่า "เย็ด" ก็เพี้ยนมาจากคำว่า "เฮ็ด" ซึ่งมีความหมายว่า "ทำ" การเย็ดกัน จึงเปรียบเสมือนกิจกรรมหนึ่งของคนโบราณ และที่สำคัญคือในวัฒนธรรมดังกล่าว หญิงเป็นฝ่ายเลือกผู้ชายอีกด้วย เหตุที่ไทยมีวัฒธรรมที่ผู้หญิงต้องเข้ามาอยู่บ้านผู้ชายเพราะเรารับวัฒนธรรมมาจากจีน พรหมจรรย์ (virginity) ไม่มีความสำคัญในสังคมโบราณ แต่เริ่มมีความสำคัญเมื่อรับวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดูเข้ามา เช่นในประกอบอาหารเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา ต้องให้ผู้หญิงพรหมจรรย์เป็นคนทำเท่านั้น วัฒธรรมเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงที่เสียพรหมจรรย์แล้วจึงถูกมองเป็น "ผู้หญิงชั่ว" เมื่อวัฒนธรรมพุทธศาสนาเข้ามาในไทย เพศหญิงก็ยิ่งถูกให้ความหมายลบมายิ่งขึ้น เช่นการให้ความหมายของอวัยวะเพศผู้หญิงว่าเป็นสิ่งเลวทราม คำว่า "หี" มีรากศัพท์มาจากคำว่า "หีนะ" ซึ่งมีความหมายว่าเลว เช่นใจทมิฬหีนชาติ (เพี้ยนมาเป็น ใจทมิฬหินชาติ) ในขณะที่อวัยวะเพศชายหรือคำว่า "ควย" มีรากศัพท์มาจากคำว่า "คุยหะ" ซึ่งแปลว่าของลับเท่านั้น ในขั้นตอนการบวชพระก็มีการกีดกันเพศหญิงออกไป เช่นในขั้นตอนการเดินเข้าโบสถ์ พ่อจะเป็นผู้ถือผ้าจีวรและตาลปัตรเดินนำหน้านาคเข้าโบสถ์ ส่วนแม่จะเป็นคนจับชายผ้าของนาคเดินตามหลัง ลักษณะเหมือนพยายามฉุดรั้งไม่ให้ไป แต่สุดท้ายนาคก็จะเดินเข้าโบสถ์ตามพ่อไป เมื่อออกจากโบถ์นาคก็จะกลายเป็นพระ แม่ไม่มีสิทธิจะจับต้องตัวลูกชายของตัวเองได้อีกต่อไป
หากเราพิจารณาสังคมไทยยุคก่อนได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ สัญลักษณ์ที่แทนอวัยวะเพศหญิงคือกบ ซึ่งกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของการให้กำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะพบตำนาน และงานศิลปะเกี่ยวกับกบอยู่ทั่วภูมิภาค เนื่องจากสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนโบราณคือฝน และทุกครั้งที่ฝนตกก็จะเจอกบทุกครั้ง คนโบราณจึงเชื่อว่ากบเป็นสัตว์เรียกฝน จนมีตำนานว่าในช่วงที่บ้านเมืองกำลังแห้งแล้ง กบตัวหนึ่งขึ้นไปขอฝนกับพระยาเถนบนสวรรค์ พระยาเถนถามว่าทำอย่างไรตนจึงจะรู้ว่าโลกมนุษย์ต้องการฝน กบตัวนั้นจึงเสนอว่า หากตนร้องเมื่อไหร่ ก็ขอให้ฝนตกเมื่อนั้น ซึ่งในมลฑลกวางสีประเทศจีนก็มีตำนานลักษณะนี้เช่นกัน การใช้กบแทนอวัยวะเพศหญิงจึงเสมือนการยกย่องให้อวัยวะดังกล่าวเป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ และการให้กำเนิดแม้กระทั้งในภาคอีสานปัจจุบันก็มีการเรียกเด็กผู้หญิงว่า "บักเขียดน้อย" ซึ่งก็หมายความว่า "เจ้าจิ๋มน้อย" นั่นเอง ในสมัยอยุธยา วัฒนธรรมผู้หญิงเป็นใหญ่ก็ยังคงอยู่ จดหมายเหตุของลาร์ลู แบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสที่เข้ามาในอยุธยาช่วงนั้นบันทึกไว้ว่า "ในการตัดสินใจประเด็นสำคัญต่างๆ ภายในบ้าน ฝ่ายหญิงล้วนเป็นผู้ตัดสินใจทั้งสิ้น" เนื่องจากในสมัยดังกล่าวมีระบบไพร่ ฝ่ายชายต้องออกไปรับราชการปีละ 6 เดือน ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้เงินเดือน ทิ้งกิจการในบ้าน ทั้งการหุงหาอาหาร การหารายได้เข้าบ้าน การควบคุมค่าใช้จ่ายไว้ให้ฝ่ายหญิงดูแล สอดคล้องกับบันทึกของลาร์ลู แบร์ ที่กล่าวไว้ว่าในตลาดของอยุธยามีแต่ผู้หญิง แม้กระทั่งในราชสำนักผู้หญิงก็ยังเป็นผู้มีอิทธิพล เช่นประวัติศาสตร์ท้าวศรีสุริโยทัย หลายคนคิดว่าผู้หญิงที่ "ดอกทอง" มากที่สุดในเรื่องนี้คือท้าวศรีสุดาจันทร์ แต่ความจริงนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเพียงผู้พ่ายแพ้การต่อสู้ระหว่างผู้หญิงที่มีอิทธิพลสองคนในขณะนั้นคือท้าวสีสุดาจันทร์ และท้าวสีสุริโยทัย ผู้ชนะย่อมเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ หากท้าวสีสุดาจันทร์ชนะในการต่อสู้ดังกล่าว ท้าวศรีสุริโยทัยก็จะถูกเขียนให้ "ดอกทอง" ไม่แพ้กัน อีกเรื่องที่คนไม่รู้คือท้าวสีสุดาจันทร์นั้นแท้จริงแล้ว ไม่ใช่ชื่อคน แต่เป็นชื่อตำแหน่งสนมเอกจากฝั่งตะวันออก ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายตราสามดวง ในยุครัตนโกสินทร์ แม้บทบาทของเพศหญิงจะหายไปจนแทบไม่มีเหลือ แต่วาทกรรมเรื่องเพศต่างๆ เช่นชิงสุกก่อน หรือการรักนวลสงวนตัวก็ยังไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นนางสีดา และนางพิมพิลาลัย ที่เป็นนางในวรรณคดียุครัตนโกสิน ทั้งสองเสียตัวและแต่งงานตอนอายุ 16 ปีทั้งคู่ แม้ในยุคดังกล่าวจะมีการแต่งสุภาษิตสอนหญิง และตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศออกมา แต่วรรณกรรมเหล่านี้มีไว้ให้ลูกสาวของชนชั้นสูงยึดถือปฎิบัติ เพื่อให้ผู้ชายในราชสำนักสนใจเอาไปเป็นภรรยา ไม่ต่างจากหมอนวดในปัจจุบัน ฉะนั้นหากเราสนับสนุนให้เยาวชนไทยยึดถือวรรณกรรมพวกนี้เป็นแบบอย่าง ก็เท่ากับเราสนับสนุนให้เยาวชนไทยเป็นหมอนวด จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าคนไทยสมัยก่อน มองว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือสิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด คำว่า "วัยอันควร" ที่เราชอบอ้างกัน สำหรับคนสมัยก่อน อายุ 16-19 ปี ก็ถือเป็นวัยอันควรแล้ว เพราะวัยดังกล่าวเป็นวัยเจริญพันธุ์ การห้ามไม่ให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ ในช่วงวัยที่เขาต้องการมีเพศสัมพันธ์มันจึงเป็นไปไม่ได้ คนโบราณเขาเข้าใจจุดนี้จึงไม่มองเรื่องเพศเป็นเรื่องเลวร้าย แต่ผู้ใหญ่สมัยนี้ต้องการจะสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยลวงๆ ขึ้นมาอันเป็นผลพวงจากลัทธิคลั่งชาติ ผลักภาระไปให้เพศหญิง สร้างวาทกรรม "รักนวลสงวนตัว" ขึ้นมาแทนที่จะสอนวิธีการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การผลักภาระเช่นนี้ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับเพศหญิง เราอ้างความเป็นไทย จนลืมความเป็นมนุษย์ ใช้ความเป็นไทยมาทำร้ายธรรมชาติของมนุษย์เสียเอง ซึ่งทั้งที่จริงๆ แล้วความเป็นไทยแท้นั้นไม่มีจริง เป็นเพียงแค่การหยิบเอาวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ มาผสมกันแล้วคิดเอาเองว่ามันคือความเป็นไทยเท่านั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น