โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วงถกอำนาจ (ดุลยพินิจ) สั่งปล่อยตัวชั่วคราว ประธาน คปก.ชี้ ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติ

Posted: 24 May 2013 12:49 PM PDT

เลขาฯ ประธานศาลฎีกาเผยผู้หลบหนีระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ส่วนปัญหาคดีชาวบ้านแนะเอาข้อเท็จจริงเสนอศาล 'สุนี ไชยรส' จวกเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร กม.ล้าหลังกว่า รธน. เสนอยกกรณีปัญญามาศึกษาร่วม กสม.-คปก.-ศาล

 
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.56 คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับองค์การแอคชั่นเอดประเทศไทย ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดินและเกษตรยั่งยืนเทือกเขาเพชรบูรณ์ และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดเสวนา 'กฎหมาย อำนาจ (ดุลยพินิจ) ในการมีคำสั่งว่าด้วยการปล่อยตัว สอดคล้องกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร' ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีเครือข่ายชาวบ้านที่ประสบปัญหาคดีความจากการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน และกรณีต่างๆ เข้าร่วมกว่า 200 คน
 
 
 
ประธาน คปก.ชี้ปัญหาไม่ใช่ตัวกฎหมายแต่เป็นการปฏิบัติที่สร้างความเดือดร้อน
 
ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถา เรื่อง สิทธิมนุษยชนในช่องทางออกของอำนาจในดุลยพินิจสั่งประกันตัวว่า ปัญหาไม่ใช่ตัวกฎหมายแต่เป็นการปฏิบัติที่สร้างความเดือดร้อน และการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีปัญหามาตลอด เนื่องมาจากการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจหลักกฎหมายอย่างถ่องแท้ของผู้ใช้กฎหมาย นั่นคือ ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว แทนที่จะวางหลักเฉพาะเกี่ยวกับความผิดร้ายแรง แต่กลับถือเอาเหตุต่างๆ ในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐโดยไม่แยกแยะ
 
จากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้เกิด 'นายประกันอาชีพ' ที่มาขูดรีดประชาชนที่ยากจน นอกจากนั้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ให้ 'บริษัทประกันภัย' เข้ามาทำมาหากินในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทั้ง 2 สิ่งไม่ได้มาช่วยแต่มาซ้ำเติมปัญหา และทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกตำหนิ เนื่องจากเกิดองค์กรเหลือบในกระบวนการยุติธรรมขึ้น
 
ศ.ดร.คณิต กล่าวด้วยว่า การปล่อยชั่วคราวซึ่งเป็นมาตรการในทางคดีอาญา มีมิติ 2 ประการ คือ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิบุคคลด้วย แต่คนในสังคมมีลักษณะเป็นอำนาจนิยม มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต จึงนำมาซึ่งความไม่ถูกต้อง
 
นอกจากนี้ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีต่างๆ มีมิติ 3 ประการที่เกี่ยวข้อง คือ 1.กฎหมายจะต้องมีความเป็งนเสรีนิยม ต้องมองในแง่การคุ้มครองสิทธิ์ 2.มีความเป็นประชาธิปไตย การใช้อำนาจมีการตรวจสอบได้ และ 3.การกระทำเป็นไปเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สังคมจะได้สงบ
 
"มนุษย์เรามีความต้องการ 2 อย่าง ความต้องการประการแรกคือความมั่นคงในชีวิต ที่เราทำงาน ทำมาหากินต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต แต่แค่นั้นไม่พอ มนุษย์ยังต้องการความเป็นธรรมด้วย ความต้องการความมั่นคงในชีวิตเปรียบเทียบได้ว่าเป็นความต้องการภายนอก ส่วนความต้องการภายในคือความเป็นธรรม ถ้าเรามีสิ่งที่ตรงกับความต้องการภายนอกที่สมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม มันก็ชีช้ำ" ศ.ดร.คณิต กล่าว
 
 
 
ผู้แทนศาลฎีกา แนะเอาข้อเท็จจริงนำเสนอศาล
 
ด้าน นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวในการเสวนา 'สังเคราะห์ กฎหมายและบทบาทผู้ทำหน้าที่พิจารณา(ผู้พิพากษา) สั่งให้ประกันตัว' ถึงปัญหาคดีความของชาวบ้านว่า การมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นศาลนั้นมีความจำเป็นตามสิทธิพิจารณาคดีต่อหน้า แม้บุคคลที่ต้องคดีความจะยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อได้รับการประกันตัวแล้ว บุคคลดังกล่าวจะกลับมาศาล ซึ่งการมีคำพูดลอยๆ นั้นยากจะเชื่อถือได้ ดังนั้นสิ่งที่ศาลต้องการคือ รายงานประจำตัวบุคคลของจำเลย เพื่อให้เชื่อได้ว่าหากมีการปล่อยชั่วคราวแล้วจะกลับมาทันการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งตามกฎหมายจะมีสัญญา มีการประกัน
 
อีกทั้งศาลจะดูพฤติการณ์และความร้ายแรงประกอบเพื่อใช้ดุลยพินิจ และดูเรื่องความผูกพันกับพื้นถิ่นที่อยู่ ซึ่งจะทำให้ศาลมั่นใจได้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นไม่หลบหนีไปไหน
 
นายพงษ์เดช กล่าวต่อมาว่า ตามกฎหมายอาจมีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข เช่น ให้มารายงานตัวทุกเดือนหรือเป็นระยะ แต่ปัญหาคือพนักงานที่จะมาทำหน้าที่รับเรื่องตรงนี้มีจำนวนจำกัด ทั้งนี้มียังข้อเสนอให้การหลบหนีมีความผิดตามกฎหมายด้วย
 
 
เผยผู้หลบหนีระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
 
เลขาธิการประธานศาลฎีกาให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อปี 2553 ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว 92 เปอร์เซ็นต์ของคดีที่มี พบว่ามีผู้หลบหนี 4,000 กว่าคน ทำให้พิจารณาคดีไม่ได้ ต่อมาปี 2554 ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว 92.88 เปอร์เซ็นต์ มีผู้หลบหนี 4,426 คน และปี 2555 ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว 92.7 เปอร์เซ็นต์ มีผู้หลบหนีถึง 5,838 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้หลบหนีระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
"อยากให้มองใน 2 ด้าน ส่วนคู่ความในคดีอยากให้เอาข้อเท็จจริงที่รู้มาให้ศาลที่เป็นตัวกลางรับทราบด้วย" นายพงษ์เดชกล่าว 
 
นายพงษ์เดช กล่าวด้วยว่า การใช้ดุลยพินิจของศาลรับรองโดยรัฐธรรมนูญจะแทรกแซงไม่ได้ และความจริงมีหลายด้านจึงต้องให้ข้อมูลกับศาลเพื่อใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา ส่วนในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายหรือคำสั่งในการที่จะขอให้ชะลอคดีไว้ก่อน อัยการสามารถแถลงให้ศาลทราบ โดยเป็นการทำหน้าที่แทนรัฐบาล ทั้งนี้ แม้ว่าอัยการจะอยู่อีกฝั่งกับจำเลย แต่ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิอันเป็นประโยชน์ของจำเลยด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำงานกับทางอัยการ
 
ในส่วนของศาลหากไม่มีคนนำเสนอข้อมูลก็ต้องรีบพิจารณาคดีโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นหากสถิติออกมาพบว่ามีคดีผ่านการพิจารณาน้อยก็จะถูกตั้งคำถามได้ อย่างไรก็ตามไม่อยากให้หมดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลพร้อมที่จะรับฟัง และหากอยู่ในอำนาจที่จะปรับได้ก็จะพยายามทำ
 
 
'สุนี ไชยรส' เสนอยกกรณีปัญญามาศึกษาร่วม กสม.-คปก.-ศาล
 
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ศาลเป็นปลายทางที่เจ็บปวด เพราะมีผลต่อการตัดสินคดีให้คนติดคุกได้ และมีความเห็นว่าควรสกัดกั้นปัญหาตั้งแต่ต้นทางคือนโยบายของรัฐบาล ส่วนในชั้นศาลนั้น คดีอาญาเกี่ยวกับสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน เช่นกรณีคนอยู่กับป่า ไม่เหมือนกับคดีอาญาทั่วไป ในส่วนนี้รัฐธรรมนูญไปไกลในการรับรองสิทธิ์ แต่กฎหมายที่ออกมาก่อนตามไม่ทัน ขณะที่กระบวนการศาลบอกว่าต้องดูข้อเท็จจริง แต่ประชาชนอาจไม่มีความสามารถในการนำเสนอข้อเท็จจริงเข้าสู่ศาลได้
 
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะมีการนำมาศึกษาเป็นรายกรณีร่วมกันว่าช่องโหว่อยู่ตรงไหน ทั้งในส่วนคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ศาล คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และชาวบ้าน เพราะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแก้คงไม่ได้ นอกจากนั้นอาจจัดเป็นการพูดคุยวงใหญ่ เพื่อผลักดันไปยังรัฐบาล
 
นางสุนี กล่าวด้วยว่า เรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการฐานทรัพยากรนั้น ที่ผ่านมามักมีการไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านรับสารภาพเพื่อให้เรื่องจบ แต่ชาวบ้านก็ต้องติดคุก และบางรายโดนคดีโลกร้อนเรียกค่าเสียหายซ้ำอีก ส่วนในเรื่องดุลยพินิจในการประกันตัวนั้น มีคำถามว่าการที่ชาวบ้านอยู่ในชุมชนมีความเชื่อมโยงกับถิ่นฐานที่อยู่ หากนำเสนอต่อศาลจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ ซึ่งตรงนี้อาจใช้เป็นแนวทางในการรณรงค์ทั้งกับชาวบ้าน และการทำความเข้าใจต่อศาลได้
 
ส่วนในเรื่องการแก้ปัญหาโดยนโยบายรัฐ ที่ผ่านมามีปัญหามาแล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีเขื่อนปากมูลที่มีมติ ครม.มาแล้วถึง 45 ฉบับ หรือกรณีที่รัฐบาลสั่งการให้ชาวบ้านกรณีปัญหาที่ดินอยู่ทำกินไปพลางระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา แต่ตรงนี้ศาลไม่รับฟังเพราะตีความว่าคำสั่งหรือมติ ครม.ดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย ตรงนี้จะมีช่องในทางกฎหมายอย่างไรเพื่ออธิบาย เพราะกรณีปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านมีความซับซ้อน
 
"กฎหมายล้าหลังรัฐธรรมนูญ กฎหมายแก้ไม่ทัน ศาลจะยอมรับไหม" รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายตั้งคำถาม
 
อย่างไรก็ตามกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีเพียงศาลอย่างเดียว การแก้ปัญหาจะต้องผลักดันไปยังทั้งศาล อัยการ และตำรวจด้วย
 
 
อนุกรรมการฯ กสม.เสนอ 'ให้ผู้ต้องหาประกันตัวเองได้'
 
รศ.ประธาน วัฒนวาณิชย์ อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการอบรมตำรวจทั่วประเทศทั้ง 7 ภาค เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องร้องเรียนของกรรมการสิทธิฯ เรื่องกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่อยู่ในชั้นตำรวจ อาทิ ซ้อมทรมาน กระบวนการล่าช้า ไม่รับคำร้อง เป็นต้น
 
รศ.ประธาน กล่าวต่อมาถึงการปล่อยตัวชั่วคราวว่า ปัญหาคือเมื่อถูกดำเนินคดีตามความผิดที่มีอัตราโทษสูง การใช้ดุลยพินิจของตำรวจและศาลจะใช้หลักทรัพย์ที่สูง กลายเป็นข้อจำกัดของกฎหมายที่ว่าคนจนไม่ได้ประกัน แต่คนรวยกลับได้ประกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าคนจนหรือคนรวย การประกันตัวไม่ใช่หลักประกันว่าจะมาตามหมายเรียก ซึ่งทุกประเทศรู้ดี ทั้งนี้เรามีหลักปฏิบัติทางอาญาดีขึ้นกว่าอดีต แต่จะดีกว่านี้ถ้าให้ผู้ต้องหาประกันตัวเองได้ เมื่อมีที่อยู่ที่แน่นอนมีเพื่อนมีญาติสนิท ทำงานเป็นหลักแหล่ง และไม่มีประวัติอาชญากรรม
 
สำหรับข้อเสนอในการต่อสู้ รศ.ประธาน กล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรรมการสิทธิฯ ที่ปัจจุบันสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น และสภาทนายความซึ่งจะมาทำหน้าที่ให้คำปรึกษา จากปัญหาเดิมที่มีคือผู้ตกเป็นผู้ต้องหามักไม่ได้พบทนายความและไม่ได้รับคำปรึกษาในทางคดี
 
ขณะที่ นายนิวัฒน์ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความระบุว่า กฎหมายนั้นมีการละเมิดสิทธิ์อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายโดยมองความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่ากัน สิทธิของบุคคลถูกแยกด้วยความแตกต่างในเรื่องพื้นเพ และสถานะบุคคลที่แตกต่างกัน อีกทั้งกฎหมายให้อำนาจดุลยพินิจกับผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมมากเกินไป
 
"ชาวบ้านไม่ได้ถูกละเมิดโดยผลของกฎหมาย แต่ถูกละเมิดโดยวิธีการปฏิบัติของรัฐ" นายนิวัฒน์ กล่าว
 
ส่วนการเข้าถึงความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรม นายนิวัฒน์ กล่าวว่า สภาทนายความมีประธานสภาทนายความจังหวัด ซึ่งชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเข้าไปขอคำปรึกษาได้ และขณะนี้สภาทนายความมีสมาชิกที่จะให้ความช่วยเหลือถึงกว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องจ่ายค่าทนายความ
 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชายแดนใต้ระอุ วันเดียวตาย 8 ราย บึ้มทหารพราน-ยิง-ปะทะ

Posted: 24 May 2013 12:03 PM PDT

เหตุแรกลอบวางระเบิดทหารพรานที่สายบุรี จ.ปัตตานี เสียชีวิต 5 ราย สาหัส 1 ส่วนที่ อ.โคกโพธิ์ คนร้ายยิงผู้สมัครนายก อบต.รวมชาวบ้านเสียชีวิต 2 เจ็บ 2 ราย เชื่อมาจากการเมืองท้องถิ่น ที่รือเสาะ นราธิวาสเจ้าหน้าที่วิสามัญผู้ต้องหาคดีถล่มฐานพระองค์ดำ

 
 
 
ภาพเหตุการณ์ลอบวางระเบิด
 
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 3 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 8 ราย
 
เหตุแรกเกิดขึ้นเวลา 11.20 น. มีการลอบวางระเบิดทหารพรานสังกัดทหารพราน 4204 เสียชีวิต 5 ราย บริเวณหน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บือเระ ม.4 บ้านสือบือรัง ต.บือเระ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
 
โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย ได้แก่ 1.จ.ส.อ.ชัยะพล เมืองแก้ว 2.ส.อ.มงคล พลภักดี 3.อส.ทพ.อนุชา วงศ์สวัสดิ์ 4.อส.ทพ.พิเชษฐ์ สระทองแอ่น 5.ร.อ.สุบิน พวงมณี และมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย คือ อส.ทพ.รณชิต ชาวงค์
 
จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ทหารชุดดังกล่าว 6 นายนำโดย ร.อ.สุบิน พวงมณี ผบ ร้อย ร.4204 หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 42 ปัตตานี ออกลาดตระเวนเส้นทางด้วยรถกระบะ 4 ประตู ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวิโก้ หมายเลขทะเบียน ศศ 8965 กรุงเทพมหานคร ตามถนนสายชนบทสายบ้านบาโงยือริง-บือเระ เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุได้เกิดระเบิดขึ้น โดยคนร้ายนำมาซุกไว้ใต้ผิวถนน แรงระเบิดทำให้รถถูกกระเด็นไปประมาณ 50 เมตรสภาพงายท้อง ได้รับความเสียหายทั้งคัน
 
หลังเกิดเหตุ พล.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย ผู้บังคับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภจว.ปัตตานี) พร้อมกำลังกำลังเจ้าหน้าที่สามฝ่ายเข้าตรวจสอบ พบชิ้นส่วนของถังเคมีดับเพลิงที่คนร้ายใช้บรรจุระเบิด น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม โดยใช้สายไฟลากเข้าไปในป่ายางพาราข้างทางยาวประมาณ 70 เมตร ใช้แบตเตอรี่จุดระเบิด แรงระเบิดทำให้เป็นหลุมขนาดใหญ่กลางถนน นอกจากนั้นยังพบเศษชิ้นส่วนเหล็กตักขนาด 3 หุนและลูกแก้วที่ใช้ทำเป็นสะเก็ตระเบิดกระจายทั่วจุดเกิดเหตุ
 
พล.ต.ต.เอกภพ เปิดเผยด้วยว่า วันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพื้นที่ ม.5 บ้านจาเราะบองอ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พบอาวุธปืนสงครามชนิดปืนกลรูซี่ 1 กระบอก จึงได้ตรวจยึดและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปสอบสวนและขยายผลต่อไป
 
ต่อมาเวลา 15.30 น.เกิดเหตุคนร้ายยิงชาวบ้านหน้าบ้านเลขที่ 7/1 ม.5 ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ นายเที่ยง มณีศรี อายุ 71 ปี เจ้าของบ้าน และนายอาทิตย์ ทิพย์รุ่งโรจน์ อายุ 51 ปี ผู้สมัครชิงเลือกตั้งนายก อบต.โคกโพธิ์ นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ได้แก่ นายมะรูดิง ปอสา และนายมะนาเซ นิมุมะ อายุ 25 ปี
 
นายมะรูดิง เปิดเผยว่า เหตุเกิดขณะที่นายอาทิตย์กำลังเดินหาเสียงเลือกตั้งนายก อบต.ที่จะมีการลงคะแนนในวันที่ 16 มิถุนายน 2556 โดยคนร้ายขับรถเก๋งโตโยต้า วีออสไม่ทราบหมายเลขทะเบียนมาจอดหน้าบ้านที่เกิดเหตุ ก่นจะเปิดฉากยิงเข้าใส่จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว
 
จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบปลอกกระสุนปืนอาก้า 1 ปลอกและปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 ปลอก เจ้าหน้าที่เชื่อว่าน่าจะเป็นความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากนายอาทิตย์ลงสมัครชิงนายกอบต.แทนนายชาย ขาวทอง นายก อบต.คนก่อนที่ถูกยิงเสียชีวิต
 
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่สนธิกำลัง 30 นาย ใช้กฎอัยการศึกปิดล้อมตรวจค้นภายในหมู่บ้านปูโป หมู่ 1 ต.สามัคคี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส หลังสืบทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธ RKK แฝงตัวเคลื่อนไหวอยู่ในหมู่บ้าน จนกระทั่งพบคนร้ายวิ่งหลบหนีเข้าไปภายในบ้านเลขที่ 54 เจ้าหน้าที่จึงติดตามไล่ล่า พร้อมทั้งประกาศให้ออกมามอบตัว แต่คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ จนเกิดการปะทะกันถึงสองระลอก
 
สิ้นเสียงปืนพบศพนายฮาพีซีน วาแตบือแง อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 15 ม.1 บ้านปูโปะ ต.สามัคคี นอนจมกองเลือดอยู่ภายในห้องน้ำ สภาพศพถูกยิงจนพรุนไปทั้งร่าง ใกล้กันพบอาวุธปืนพกขนาด .38 ตกอยู่ 1 กระบอก และกล้องเล็งติดอาวุธปืนยาว 1 อัน เจ้าหน้าที่จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
 
จากการตรวจสอบประวัตินายฮาพีซีนพบว่า เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาล จ.นราธิวาส ในคดีร่วมกับพวกยิงถล่มฐานปฏิบัติการร้อย ร.15121 ฉก.นราธิวาส 38 หรือฐานพระองค์ดำ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ ผบ.ร้อย ร.15121 เสียชีวิตพร้อมลูกน้องอีก 3 นาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทบาทและความท้าทายใหม่ของสื่อภาษามลายูในชายแดนใต้ท่ามกลางวิกฤตของความรุนแรง

Posted: 24 May 2013 11:48 AM PDT

บทบาทของสื่อทางเลือกหรือสื่อท้องถิ่น ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่เพื่อสังคม ในการนำเสนอประเด็นต่างๆ ทั้งความบันเทิง เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเป็นการตอบโจทย์ปัญหาความต้องการของสังคมภายในตัว

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนากับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ยังคงอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสื่อท้องถิ่นที่เป็นในรูปแบบของประชาชนในพื้นที่ปรารถนา ไม่ว่าจะโดยสื่อมลายูที่ใช้ตัวเขียนยาวีหรือว่ารูมี

จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ที่เกิดและโตที่นี่ยังไม่เคยได้เห็นสื่อสิ่งพิมพ์ของภาษามลายูได้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นสื่อกลางให้กับพี่น้องในพื้นที่ได้หาเสพอ่านอย่างที่ควรจะเป็น แต่ใช่ว่าจะไม่เคยมีเลย เพียงแต่ว่าไม่เคยมีสื่อสิ่งพิมพ์มลายูรายใดที่สามารถยืนอยู่ได้นานเท่าที่ควร อย่างน้อยเป็นแค่การลองของเพียงไม่กี่ระยะ จากนั้นก็ต้องปิดตายลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ

ในพื้นที่ภาคใต้เท่าที่ได้ถูกบันทึกโดยสังคมมลายูถึงการเคยมีอยู่ของสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารก็คือ นิตยสารอาซาน นิตยสารอาซาน ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนเชาวัลล์ ฮ.ศ. 1392 ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นผลผลิตของกลุ่มปัญญาชนชาวมลายูในพื้นที่ ด้วยจิตที่มุ่งมั่นเพื่อให้สังคมปาตานีได้มีนิตยสารสักเล่มหนึ่งที่เป็นของคนปาตานีและเพื่อคนปาตานีเอง ถึงแม้ว่าคุณภาพอาจจะไม่เท่าเทียมกับนิตยสารมลายูฉบับอื่น

ซึ่งในช่วงสมัยดังกล่าว สังคมปาตานีกำลังตกอยู่ในสภาวะของความกดดันหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวของภาคการเมืองที่ยิ่งนับวันดูจะเข้มข้น และอยู่ในภาวะถูกบีบคั้นผ่านนโยบายของผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง

การกำเนิดขึ้นของนิตยสารดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางด้านสังคมในการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ (เพื่อความอยู่รอดทางวัฒนธรรม) ของชนชาติที่กำลังอยู่ในภาวะระส่ำระส่ายในขณะนั้น

ประชาชนในยุคดังกล่าวถูกบังคับให้ใช้ชีวิตตามความต้องการของผู้นำตามที่ได้ระบุไว้ในร่างนโยบายของชาติ ที่มีลักษณะบีบบังคับเพื่อผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ทุกเรื่องราวแห่งวิถีชีวิตถูกกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐโดยสิ้นเชิง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างรัฐชาติที่เป็นหนึ่งเดียวและหนึ่งวัฒนธรรม ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าต้องปฏิบัติตามที่ผู้นำประเทศได้กำหนดไว้ ส่งผลต่อวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองมลายูปาตานี แม้กระทั่งในเรื่องศาสนาก็ถูกลิดรอนสิทธิอยู่บ่อยครั้ง หรือเกือบจะทุกกรณี

ขณะที่พื้นที่สื่อที่จะคอยเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมมลายูปาตานีในขณะนั้นกลับไม่มีเลย แม้กระทั่งฉบับเดียว ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือแม้แต่รายปี

หลังจากการเงียบหายไปของอาซาน สื่อมลายูประเภทดังกล่าวก็ไม่เคยปรากฏต่อสาธารณชนอีกเลย จนกระทั่งมาประมาณปี พ.ศ. 2547 ปรากฏว่าได้มีสื่อประเภทรายปักษ์ขึ้นมาอีกครั้งที่ใช้ชื่อว่า ฟาญัร(fajar) อันหมายถึงแสงแห่งรุ่งอรุณ โดยปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ได้มีการรวมตัวกันในฐานะกลุ่มปัญญาชนที่ต้องการเห็นสื่อสิ่งพิมพ์ได้โลดแล่นในแวดวงสังคมมลายูได้อีกครั้ง เพื่อเป็นการมุ่งพัฒนาทางด้านปัญญาและความนึกคิดของคนมลายู โดยเป้าหมายหลักในการเผยแพร่ ณ ขณะนั้นส่วนใหญ่จะแพร่กระจายไปยังสถาบันปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งปรากฏว่าถูกตอบรับได้ดีพอสมควร และในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงใหม่ๆ ทำให้สื่อดังกล่าวถูกจับตามองจากหน่วยงานในพื้นที่มาโดยตลอด กอปรกับกลุ่มอุสตาซเองในช่วงนั้นมักจะตกเป็นจำเลยของสังคมเสียส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งในคณะทำงานนั้นได้ปลีกตัวออกห่างไปทีละคนสองคน ทำให้สุดท้ายต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย หลังจากที่ได้ออกสู่สาธารณชนเพียงไม่ถึงสิบฉบับ

ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานด้านสื่อมลายูต้องพบกับอุปสรรคก็คือ ความหวาดระแวงของหน่วยงานด้านความมั่นคง ถึงแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม

และล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 สื่อมลายูยาวีก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้งท่ามกลางความรุนแรงของความขัดแย้งทั้งความคิดและบริบททางการเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมปาตานี ซึ่งในครั้งนี้โดยใช้ชื่อว่า ซีนารัน ซึ่งเป็นสื่อมลายูฉบับฝึกทักษะภายในตัวและเป็นการชูอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่อีกด้วยหลังจากที่ต้องลาหายตายจากสังคมมลายูกันมานาน

หวังว่าการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้จะไม่ตายเหมือนครั้งที่เคยผ่าน หากภาครัฐเองไม่ได้หวั่นวิตกและคิดเกินเลยความเป็นจริงว่า จะเป็นเครื่องมือที่จะบั่นทอนทำลายความมั่นคงของประเทศ และหากสื่อมลายูได้มีพื้นที่เท่าที่ควร คงจะเป็นการดีมากกว่าผลร้าย แทนที่จะต้องมานั่งหวาดระแวงจ้องมองอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวคงจะมีแต่การสร้างเงื่อนไขให้มากไปกว่าเดิม ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่สังคมควรได้รับจากผู้ปกครองอย่างที่ควรจะได้รับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิสิตบูรพาร้องเรียน "ทัศนศึกษาล่องหน" เบิกจริง-แต่คนไม่ได้ไป

Posted: 24 May 2013 06:08 AM PDT

นิสิตหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต ม.บูรพา ร้องเรียนจะขอเบิกงบคณะจัดดูงาน แต่กลับพบว่ามีการเบิกงบไปแล้วโดยมีทริปเยี่ยม สนง.อัยการ - สนง.คุมประพฤติ ที่เชียงใหม่โผล่ โดยที่ไม่มีนิสิตได้ไปดูงาน ด้าน สนง.อัยการเชียงใหม่ทำหนังสือยืนยันไม่เคยอนุมัติการดูงาน ขณะที่มีทริปโผล่พร้อมลายมือชื่อนิสิตอีก 4 ทริป

วันนี้ (24 พ.ค.) นิสิตมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยบูรพากลุ่มหนึ่งได้ร้องเรียนผู้สื่อข่าวว่า คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุด มีอัยการระดับสูงมาสอนและเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร เปิดทำการสอนและมีนิสิตแล้วทั้งหมด 3 รุ่น คือรหัส 53 54 และ 55 แบ่งเป็น 2 สาขาวิชา คือ กฎหมายมหาชน และกฎหมายอาญาและอาชญวิทยา

ทั้งนี้ ตามแผนจะมีโครงการศึกษาดูงานให้กับนิสิตรหัส 54 ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 26 - 31 มกราคม 2556 ซึ่งในหลักสูตรระบุไว้ว่า นิสิตมีงบประมาณในการศึกษาดูงาน 10,000 บาทต่อคน ต่อตลอดการศึกษา และนิสิตรหัส 54 มีประมาณ 87 คน ต่อมานิสิตได้ทำเรื่องขอเบิกค่าศึกษาดูงานไปยังคณะ และทางคณะตอบกลับมาว่านิสิตได้เบิกค่าศึกษาดูงานไปจนหมดแล้ว

นิสิตที่ร้องเรียนระบุว่า นิสิตที่เคยได้ศึกษาดูงานนั้นมีเพียงนิสิตสาขากฎหมายมหาชนเท่านั้น และเพียงแค่ครั้งเดียวที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการศึกษาดูงานภายในประเทศและเป็นแบบไปเช้าเย็นกลับ มีนิสิตไปดูงานประมาณ 40 คน ไม่เกิน 1 คันรถบัส โดยที่นักศึกษาสายกฎหมายอาญาและอาชญวิทยาไม่เคยได้ไปเลย

 

หนังสือบันทึกข้อความของงานบัณฑิตศึกษา คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เรื่องขออนุมัติเบิกค่าใช้จ่ายโครงการศึกษาดูงานนอกสถานที่ รวมเป็นเงิน 199,200 บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นเก้าพันสองร้อยบาทถ้วน)

(บน และ ล่าง) เอกสารที่ถูกระบุว่า เป็นการแสดงรายการเบิกค่าใช้จ่ายค่าอาหารของนิสิต พร้อมมีการลงลายมือชื่อด้วย 85 คน โดยระบุว่าเป็นการ "ศึกษาดูงานนอกสถานที่" ระหว่างวันที่ 25-28 ต.ค. 55 โดยเบิกค่าอาหารหรือเบี้ยเลี้ยงรวม 61,200 บาท

อย่างไรก็ตาม มีจดหมายชี้แจงของประธานหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตรุ่น 2 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 255 ระบุว่าไม่มีการเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่ และลายมือที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานการเบิกค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่ลายมือของเขา

 

 

 

เอกสารที่ถูกระบุว่าเป็นหนังสือที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าให้คณะเข้าศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายพิเศษในวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่

 

อย่างไรก็ตาม มีหนังสือชี้แจงจากสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ระบุว่าไม่เคยได้รับหนังสือเข้าศึกษาดูงาน และไม่เคยพานิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาเข้าศึกษาดูงาน ณ สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ และไม่เคยออกหนังสือเพื่ออนุเคราะห์ให้เข้าศึกษาดูงาน และชี้แจงด้วยว่า ลายมือชื่อที่ลงนามในหนังสือไม่ใช่ลายมือชื่อของอัยการจังหวัด และหนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม

 

อย่างไรก็ตาม คณะตอบมาว่านิสิตได้ขอเบิกค่าศึกษาดูงานไปหมดแล้ว ทำให้ทางนิสิตได้ทำหนังสือขอให้ทางคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้แจง ต่อมา คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  โดย ดร.รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข รองคณบดี ปฏิบัติราชการแทน คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้แจงว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นประธานหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตผู้หนึ่ง เป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้เบิกจ่ายงบประมาณไป 199,200 บาท ให้กับนิสิตรหัส 54 ไปดูงานที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2555 โดยใช้งบประมาณจากเงินรายได้มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ แผนงานจัดการอุดมศึกษา กองทุนกิจกรรมนิสิต โครงการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาภาคพิเศษ เงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนการจัดกิจกรรมสำหรับนิสิต

โดยในเอกสารชี้แจงว่าใช้งบประมาณทั้งสิ้น 199,200 บาท ในจำนวนนี้จำแนกเป็นค่าเช่ารถบัสปรับอากาศ จำนวน 136,000 บาท โดยระบุว่าเป็นการจ้างรถบัสจากบริษัทนำเที่ยวแห่งหนึ่ง มีสำนักงานอยู่ใน จ.ชลบุรี จำนวน 2 คัน เหมาจ่าย 17,000 บาทต่อคัน เป็นเวลา 4 วัน นอกนั้นเป็นค่าอาหารมื้อกลางวันและมื้อเย็นสำหรับผู้ร่วมกิจกรรมเป็นเวลา 3 วัน และค่าเบ็ดเตล็ด รวม 61,200 บาท โดยงบประมาณจำนวนนี้ไม่รวมค่าที่พักซึ่งอาจารย์และนิสิตที่ร่วมเดินทางต้องรับผิดชอบเอง นอกจากนี้ในเอกสารที่ชี้แจงยังแสดงรายการเบิกค่าใช้จ่ายค่าอาหารของนิสิตรายคน จำนวน 85 ราย พร้อมมีการลงลายมือชื่อด้วย โดยระบุว่าเป็นการ "ศึกษาดูงานนอกสถานที่" ระหว่างวันที่ 25-28 ต.ค. 55

ทำให้นิสิตที่เรียนหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตกลุ่มนี้ ร้องเรียนว่า ลายมือชื่อที่ลงในรายการเบิกค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ลายมือของตน นอกจากยังยืนยันด้วยว่านิสิตในโครงการบางรายเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. ซึ่งในวันที่ 27 ต.ค. ดังกล่าวมีการเลือกตั้งที่ จ.จันทบุรี ทำให้ไม่สามารถไปดูงานได้แน่ ขณะที่นิสิตในโครงการอีก 2 รายเป็นผู้พิพากษาก็ไม่สามารถไปดูงานดังกล่าวได้

ทั้งนี้มีการแสดงจดหมายชี้แจงของ น.ส.เสาวภาคย์ วงศ์ไวทยากูร ซึ่งเป็นประธานหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตรุ่น 2 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 255 ที่ระบุว่า "นิสิตรุ่น 2 ไม่มีการเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด และลายมือชื่อของข้าพเจ้าที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานการเบิกค่าใช้จ่ายลำดับที่ 74 ไม่ใช่ลายมือชื่อของข้าพเจ้า ส่วนลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นลายมือของบุคคลที่มีชื่อในเอกสารนั้น ข้าพเจ้าประสงค์ให้มีการตรวจสอบต่อไป"

โดยนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพากลุ่มดังกล่าว ระบุว่ามีการร้องเรียนตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2555 แต่ ณ ปัจจุบันนี้เรื่องยังคงเงียบ นิ่งเฉย ไม่มีการจัดการลงโทษใดๆ จากทางมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังมีเอกสารของทางสถาบันที่ระบุว่ามีนิสิตลงลายมือชื่อเป็นผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงาน นอกจากการดูงานที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง 25-28 ตุลาคม 2555 แล้ว ยังมีอีก 4 โครงการที่มีลายมือชื่อนิสิต ระบุว่าเป็นผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงาน

ล่าสุดนั้น สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามโดย นายพูลศักดิ์ ศรีเจริญ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 5 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือชี้แจงลงวันที่ 20 ธ.ค. 2555 ระบุว่า "ไม่เคยได้รับหนังสือเข้าศึกษาดูงานและไม่เคยพาคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาเข้าศึกษาดูงาน ณ สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ไม่เคยมีหนังสือที่ วป.0001/ ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ออกโดยวิทยาลัยการยุติธรรมทางปกครอง เรื่อง อนุเคราะห์ให้เข้าศึกษาดูงานแต่อย่างใด" และชี้แจงด้วยว่า ลายมือชื่อที่ลงนามในหนังสือไม่ใช่ลายมือชื่อของอัยการจังหวัด และหนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานขนส่งเคนยาสร้างเครือข่ายคนงานติดเชื้อ HIV หวังต้านการเลือกปฎิบัติ

Posted: 24 May 2013 04:07 AM PDT

สมาชิกสหภาพแรงงานภาคขนส่งเคนยาที่ติดเชื้อ HIV ร่วมสร้างเครือข่าย แบ่งปันประสบการณ์ หวังกระตุ้นให้มีการลดการติดเชื้อในหมู่คนงาน ลดภาพความหวาดกลัวผู้ติดเชื้อ และต่อต้านการเลือกปฎิบัติในที่ทำงาน

 
 
คนงานหนุ่มสาวที่ติดเชื้อ HIV ในเคนยา ร่วมสร้างเครือข่าย USAFIRI แบ่งปันประสบการณ์ หวังกระตุ้นให้มีการลดการติดเชื้อในหมู่คนงาน และต่อต้านการเลือกปฎิบัติในที่ทำงานต่อผู้ติดเชื้อ
 
24 พ.ค. 56 - itfglobal.org รายงานว่าคนงานวัยรุ่นจากสมาชิกสหภาพแรงงานภาคขนส่งที่ติดเชื้อ HIV ในประเทศเคนยา ได้ร่วมประชุมสร้างเครือข่าย Usafiri Positive Workers Network (USAFIRI) เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ หวังกระตุ้นให้มีการลดการติดเชื้อในหมู่คนงาน และต่อต้านการเลือกปฎิบัติในที่ทำงานต่อผู้ติดเชื้อ
 
ทั้งนี้แผนงานของเครือข่ายนั้นมีความมุ่งหวังว่าจะสามารถกระตุ้นให้คนงานที่ติดเชื้อ ในภาคการขนส่ง คนขับแท็กซี่ และคนขับรถตุ๊กๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิก และร่วมกันทำงานสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มสหภาพแรงงานและครอบครัวของคนงานเอง
 
โดย Francis Ruwa ประธานเครือข่าย USAFIRI ระบุว่าคนงานที่ติดเชื้อ HIV มักจะถูกมองด้วยความหวาดกลัว หรือมองด้วยภาพลบ และถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน โดยทางเครือข่ายหวังว่าจะลบภาพเหล่านี้ให้ได้ แม้จะต้องเจอกับอุปสรรคใดๆ ก็ตาม
 
อนึ่งจากข้อมูลในปี 2012 เคนยามีผู้ติดเชื้อ HIV ประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนอันดับต้นๆ ของโลก แต่การรณรงค์ลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังพบกับอุปสรรคหลายๆ อย่าง เช่นต้นเดือนพฤษภาคม 2013 ที่ผ่านมาโบสถ์คาทอลิกในเคนยาได้ออกมาเรียกร้องให้ห้ามการโฆษณาที่มีข้อความเขียนสนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัย โดยระบุว่าจุดยืนของโบสถ์คาทอลิกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือไม่สนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัยว่าเป็นสิ่งที่ใช้คุมกำเนิด เพราะถือว่าเป็นการละเมิดหลักการควบคุมชีวิตของเด็กที่ยังไม่ได้เกิด ซึ่งขัดกับหลักคำสอนของคาทอลิก
 
ทั้งนี้การรณรงค์ของ USAFIRI มุ่งหวังที่จะรณรงค์กับกลุ่มสหภาพแรงงานในประเทศอื่นๆ ในแถบแอฟริกันตะวันออกอีกด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานไทยพาณิชย์ เผยบรรลุข้อตกลงปี 2556 กับธนาคารแล้ว

Posted: 24 May 2013 02:44 AM PDT

24 พ.ค. 56 - สหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า ทางสหภาพแรงงานฯ ได้บรรลุข้อตกลงกับทางธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้แล้ว 9 ข้อ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา หลังจากที่สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อธนาคารฯ จำนวน 12 ข้อ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดข้อตกลงมีดังต่อไปนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีหมายเรียก 'ชัย ราชวัตร' แล้ว ด้านเจ้าตัวอยู่ในขั้นปรึกษาทนายเตรียมรายงานตัว

Posted: 24 May 2013 12:41 AM PDT

เผยมีหมายเรียก 'ชัย ราชวัตร' แล้วในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้านเจ้าตัวอยู่ในขั้นตอนปรึกษากับทีมทนายถึงการเข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่อไป

24 พ.ค. 56 - หนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงานว่าเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานด้านการสอบสวนให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังมีคำสั่งให้ พนักงานสอบสวน ออกหมายเรียกนายสมชัย กตัญญุตานันท์ หรือ ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองชื่อดัง ของ นสพ.ไทยรัฐ หลังจากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการส่งหนังสือไปให้เจ้าตัวตามภูมิลำเนาที่พักอาศัยแต่คาดว่าเจ้าตัวคงจะทราบจากสื่อบ้างแล้ว
 
"จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับยืนยันแน่ชัดว่านายสมชัย จะเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกหรือไม่ แต่หากออกหมายเรียกถึง 2 ครั้งแล้วยังไม่เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ก็จะเตรียมขออนุมัติศาลเพื่อออกหมายจับตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ไม่รู้สึกกดดันกับคดีที่มีบุคคลทางการเมืองระดับประเทศเป็นผู้ร้อง เนื่องจากตำรวจได้ดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐานของกฎหมาย" พล.ต.ต.อนุชัย กล่าว
 
ทั้งนี้มีข่าวแจ้งว่านายสมชัย กตัญญุตานันท์ หรือ ชัย ราชวัตร เพิ่งได้รับหมายเรียกเมื่อเย็นวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ทางเจ้าหน้าที่เพิ่งออกข่าวแจ้งให้มารับทราบข้อหาในวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยขณะนี้ชัย ราชวัตร อยู่ในขั้นตอนปรึกษากับทีมทนายถึงการเข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้น ผลสำรวจ 3 ครั้งในรอบปี

Posted: 23 May 2013 11:53 PM PDT

 ตามที่มีข่าวว่าราคาอาหารแพงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ผู้สำรวจได้สำรวจราคาอาหารในย่านสีลม ซึ่งถือเป็นศูนย์ธุรกิจสำคัญที่สุดของประเทศไทย และมีคนทำงานในสำนักงานเป็นจำนวนมาก 

จากที่ผู้สำรวจได้สำรวจเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 พบว่าราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้นตามความรู้สึกหรือตามที่เป็นประเด็นทางการเมือง ที่พยายามนำเสนอออกมาเป็นข่าวคราวในช่วงที่ผ่านมา  ต่อมาในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 หรือ 6 เดือนหลังจากนั้น ผู้สำรวจได้สำรวจซ้ำในร้านเดิม ๆ ในย่านสีลม ก็ยังยืนยันได้ว่า ราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้นแต่อย่างใด และมาในครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ซึ่งถือเป็นการครบรอบ 1 ปีของการสำรวจครั้งแรก จึงได้ออกสำรวจอีกครั้งหนึ่ง

ผลการสำรวจครั้งล่าสุดพบเช่นการสำรวจเมื่อครึ่งปีที่ผ่านมาคือ ร้านค้าและศูนย์อาหารต่าง ๆ แทบทั้งหมดยังขายในราคาเดิม โดยพิจารณาได้จากตารางต่อไปนี้:

         

จะพบว่า ราคาอาหารแทบไม่ได้ปรับขึ้นเลย หรือปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2% ในช่วงครึ่งแรกที่สำรวจ ซึ่งยังต่ำกว่าการปรับเพิ่มของอัตราภาวะเงินเฟ้อที่ 3-4% ต่อปี  มีเพียงบางร้านหรือบางศูนย์อาหารเท่านั้นปรับราคาขึ้น แต่ก็ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ผิดกับความรู้สึกของบุคคลบางส่วนที่เชื่อว่าราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้น  แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี ราคาไม่ปรับเพิ่มขึ้นเลย
         

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ขนาดในพื้นที่สีลม ซึ่งเป็นศูนย์ธุรกิจสำคัญที่สุด หรือ Central Business District ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันการเงิน และบริษัทชั้นนำ ราคาอาหาร ก็ยังไม่ได้ปรับเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในบริเวณอื่นก็คงมีสภาพไม่แตกต่างกัน หรืออาจปรับเพิ่มน้อยกว่านี้อีกก็เป็นได้
         

อย่างไรก็ตามอาจมีบางบริเวณ เช่น เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองอุตสาหกรรมที่มีการปรับเพิ่มของราคาขายมากกว่านี้ หรือสำหรับรายการอาหารแบบฟาสต์ฟูด ก็อาจปรับราคาเพิ่มขึ้นตามอำเภอใจโดยไม่ได้มีการควบคุม แต่สำหรับประชาชนกันเอง ย่อมมีความเห็นใจและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันตามสมควร จึงทำให้แทบไม่มีการปรับราคาขาย 
         

ในกรณีนี้บางท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่า แม้ราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณอาจจะลดน้อยลง แต่จากการสังเกตก็พบว่า ปริมาณก็ยังพอ ๆ กับแต่เดิม ไม่ได้ปรับลงปริมาณลงแต่อย่างไร อย่างไรก็ตามก็ยังอาจมีบางท่านให้ข้อสังเกตว่า แม้ปริมาณจะคงเดิม แต่คุณภาพก็อาจลดลง  แต่ข้อนี้ ผู้สำรวจคงไม่สามารถไปตรวจสอบในรายละเอียดในระดับนั้น และคงอยู่ที่วิจารณญาณของทุกท่านที่พิจารณาผลการสำรวจนี้ 
         

การกล่าวโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงว่าราคาอาหารแพงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นความหวังดีที่ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้กับสังคม แต่อันตรายประการหนึ่งก็คืออาจทำให้ผู้ค้าบางรายฉวยโอกาสขึ้นราคา ซ้ำเติมประชาชนได้ ดังนั้นการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ จึงควรมีความรับผิดชอบ และผู้เสพข้อมูลควรใช้วิจารณญาณ
         

โปรดดูภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งที่ 1 (5 พฤษภาคม 2555) และครั้งที่ 2 (16 พฤศจิกายน 2555) และครั้งที่ 3 (14 พฤษภาคม 2556) ดังต่อไปนี้

 

รูปที่ 1: แผนที่ที่ตั้งของร้านอาหารลำดับตามภาพที่สำรวจ 
ณ ย่านสีลม ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานคร 11:40 – 13:00 เสาร์ 5 พฤษภาคม 2555 
สำรวจซ้ำอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และ วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2556


 

รูปที่ 2: ราคาต่ำสุดข้าวราดแกงอย่างเดียว 25 บาทเท่านั้น ณ สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี
ท่าทางคงจะตรึงราคามานานอย่างเหนียวแน่น น่าขอบคุณผู้ค้า


 

รูปที่ 2.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 2.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 3: บะหมี่เกี๊ยว 30 และ 35 บาท (พิเศษ) ณ ซอยสีลม 5 (ละลายทรัพย์) 
ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่เป็นศูนย์ธุรกิจการเงินสำคัญที่สุดของชาติ 
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่พบ


 

รูปที่ 4: ป้ายราคาร้านอาหารที่เริ่มต้น 30 บาทในศูนย์อาหาร ณ ซอยสีลม 5 (ละลายทรัพย์)
เจ้าของร้านบอกว่า ถ้าเป็นที่สาขาอื่น เขาเริ่มต้นขายที่ 25 บาท เพราะค่าเช่าถูกกว่าที่นี่


 

รูปที่ 4.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 4.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 5: ก๋วยเตี๋ยวแคะก็ราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท ณ ซอยสีลม 3 หากินได้สบาย ๆ 


 

รูปที่ 5.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ราคาเพิ่มเป็น 35 บาท แต่ร้านอื่นยังยืนราคา


 

รูปที่ 5.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 6: ข้าวมันไก่ตอนจานใหญ่ ราคา 40 บาทครับ พร้อมน้ำซุบ ณ ซอยคอนแวนต์ 
สังเกตได้ว่าร้านนี้ปรับราคาขึ้น แต่ดูจากป้ายคงปรับมาเป็นปีตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่พบ


 

รูปที่ 7: ก๋วยเตี๋ยวทะเลซีฟู้ด และอื่น ๆ ราคา 35-45 บาท ณ ซอยคอนแวนต์ ร้านนี้เพิ่งปรับราคา 
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่พบ


 

รูปที่ 7.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 8: ก๋วยเตี๋ยวน่องไก่ตุ๋นยาจีน ก็เริ่มต้นที่ 30 บาท ณ ซอยคอนแวนต์

 

 

รูปที่ 8.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ราคาเพิ่มเป็น 35 บาท


 

รูปที่ 8.2 ในบริเวณนี้ มีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อร้านใหม่ (16 พฤศจิกายน) ที่เริ่มที่ 30 บาท


 

รูปที่ 8.3 ในบริเวณนี้ มีร้านก๋วยเตี๋ยวแคะร้านใหม่ (16 พฤศจิกายน) ที่เริ่มที่ 30 บาท


 

รูปที่ 8.4 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 9: ขนาดร้านในอาคารพาณิชย์ใกล้สีลมคอมเพล็กซ์ ติดถนนสีลม 
ก็ขายเริ่มต้นที่ราคา 35 บาท ทั้งที่ต้นทุนค่าสถานที่น่าจะแพงกว่าแผงธรรมดา


 

รูปที่ 9.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 9.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม 


 

รูปที่ 10: ร้านเจ๊เอ็งชวนเสวย เจ้าเก่าติดถนนสีลมในอาคารพาณิชย์ ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท 
ทั้งที่อยู่ในอาคารพาณิชย์ที่ต้นทุนค่าสถานที่น่าจะแพงกว่าแผงธรรมดา


 

รูปที่ 10.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 10.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 11: อีกร้านติดถนนสีลม มุมปากซอยศาลาแดง ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท 
(ป้ายเล็ก ๆ อยู่ด้านในร้าน) และเป็นร้านในตึกแถวที่น่าจะมีต้นทุนค่าเช่าที่แพงกว่า

 

 

รูปที่ 11.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 11.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 12: ในซอยศาลาแดง อาหารทุกอย่างก็เริ่มต้นที่ 30 บาทเป็นส่วนใหญ่


 

รูปที่ 12.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 12.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 13: แต่ร้านนี้ในซอยศาลาแดงเช่นกัน เป็นข้าวมันไก่และเกาเหลาอย่างดี โปรดสังเกตปริมาณมาก ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท 


 

รูปที่ 13.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 13.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 14: ข้าวขาหมู ก็ขายราคา 30 บาทเป็นหลัก ณ ถนนพระรามที่ 4 ใกล้ ๆ อาคารชาญอิสระ 
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่ได้ขายเพราะกำลังปรับปรุงอาคาร และไม่ได้เปิดใหม่อีกเลย


 

รูปที่ 15: ร้านนี้รายการอาหารละเอียด ก็ 30-40 บาท ใกล้ ๆ อาคารชาญอิสระทาวเวอร์ ณ ถนนพระรามที่ 4 
ป้ายร้านนี้มีบอกชัดว่า "ปรับราคา" แต่สังเกตได้ว่า ป้ายนี้ฝุ่นจับแล้ว คงปรับราคามาเป็นปีตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว
แต่ในการสำรวจซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ไม่ได้ขายเพราะกำลังปรับปรุงอาคาร


 

รูปที่ 16: ร้านนี้อยู่เป็นสัดส่วนในอาคาพาณิชย์ ก็ยังขายราคาเดียว 30 บาท ณ ถนนพระรามที่ 4


 

รูปที่ 16.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม 


 

รูปที่ 16.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 17: ข้าวแกงมีให้เลือกนับสิบอย่างข้างตึกชาญอิสระทาวเวอร์ ฝั่งสุรวงศ์ ก็เริ่มต้นที่ 25 บาทเท่านั้น 
สังเกตดูป้ายเก่ามาแล้ว แสดงว่ายืนหยัดราคานี้มานาน น่าขอบคุณเจ้าของร้านที่ค้าขายโดยนึกถึงผู้บริโภค


 

รูปที่ 17.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ทำป้ายใหม่แล้วแต่ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 18: ร้านนี้แพงที่สุด! 40-70 บาท แต่ดูขนาดของเกี๊ยวกุ้งเสียก่อน ในซอยข้างตึกชาญอิสระทาวเวอร์ 
ร้านนี้มีร่องรอยการปรับราคาเช่นกัน แต่เก่าแล้ว และที่สำคัญ ยังมีก๋วยเตี๋ยวราคา 30 บาทให้เลือกอีกด้วย


 

รูปที่ 18.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 เลิกขายก๋วยเตี๋ยวแคะ 30 และ 70 บาท นอกนั้นราคาเดิม 
ในการสำรวจครั้ง พฤษภาคม 2556 ก็ยังขายราคาเดิม แต่เก็บร้านแล้ว


 

รูปที่ 19: โอ่อ่าเปิดเผย ขายราคาเดียวกันทั้งไทยและเทศ 40 บาทขึ้นไป ณ ถนนสุรวงศ์ ตรงข้ามโรงแรมมณเฑียร


 

รูปที่ 19.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 19.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 20: ใจดีจริง ๆ ร้านนี้ให้ดื่มน้ำฟรี แม้ไม่ได้ซื้อข้าวแกงที่เริ่มต้นราคาที่ 30 บาท ณ ถนนสุรวงศ์ ใกล้พัฒน์พงศ์


 

รูปที่ 20.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม
ในเดือนพฤษภาคม 2556 ปิดร้านแล้วเพราะกลายสภาพเป็นโรงแรมเปิดใหม่


 

รูปที่ 21: ราคาเริ่มต้นที่ 25 บาท (ข้าวแกงอย่างเดียว) แต่ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 30 บาท ณ สีลมสแควร์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์


 

รูปที่ 21.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 21.2 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม


 

รูปที่ 21.3 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ยังยืนราคาเดิม


 

รูปที่ 22: อาหารตามสั่งก็เริ่มต้นที่ 30 บาทเช่นกัน ณ สีลมสแควร์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 
(ราคายังคงเดิมในการสำรวจครั้งใหม่ 16 พฤศจิกายน 2555)


 

รูปที่ 23: เชียงการีลาคิทเช่น (สาขารถไฟฟ้าช่องนนทรี) ยังมีขายโจ๊ก 30 บาท เกาหลาเลือดหมู และข้าวต้มกุ้งราคาเพียง 40 บาท


 

รูปที่ 23.1 ถ่ายซ้ำเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ยังยืนราคาตามเดิม
ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ทางร้านบอกยังขายราคาเดิม แต่ป้ายจะติดไว้เฉพาะช่วงเช้าที่เปิดขาย


 

รูปที่ 23.2 ร้านอาหารใหม่ในบริเวณใกล้เคียง 30-35 บาทในห้องแอร์!


 

ภาคผนวก 1: ผลการสำรวจเมื่อ 5 พฤษภาคม 2555
สำรวจแล้ว . . . ราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้น


1. http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market383.htm
2. http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market411.htm

ดร.โสภณ พรโชคชัย 
sopon@thaiappraisal.org www.facebook.com/dr.sopon

          

ผู้สำรวจเห็นข่าวนักการเมืองหลายท่านของพรรคหนึ่งออกมาแถลงว่าราคาอาหารแพงขึ้นมาก แต่จากข้อมูลที่ผู้สำรวจสัมผัสอยู่ทุกวัน ผู้สำรวจไม่เห็นตามเช่นนั้น ผู้สำรวจจึงออกทำการสำรวจง่าย ๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่าราคาอาหารแพงขึ้นหรือไม่อย่างไร 
          

การนำเสนอผลการสำรวจนี้อาจจะส่งผลบวกและลบต่อพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้สำรวจขอเรียน (หรือสาบานก็ได้) ว่าผู้สำรวจไม่ได้เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองใด ไม่ได้ทำเพราะได้รับผลประโยชน์จากพรรคการเมืองใด แต่ที่นำเสนอนี้ก็เพียงเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ประชาชนจะได้ไม่ตื่นตกใจ และทำให้ผู้ค้าไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาอาหารจากการโหมโฆษณาดังกล่าว 
          

ผู้สำรวจสำรวจในพื้นที่สีลมซึ่งเป็นศูนย์ธุรกิจอันดับหนึ่งของประเทศไทยและตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยเดินเท้าสำรวจในวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 เวลา 11:40-13:00 ซึ่งในวันดังกล่าวยังมีบริษัทห้างร้านหลายแห่งเปิดดำเนินการ ผู้สำรวจได้ถ่ายภาพร้านอาหารพร้อมตัวเลขราคาอาหารมาประกอบไว้ด้วย ร้านเหล่านี้เป็นร้านที่ประชาชนทั่วไปใช้รับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งอาจเป็นร้านข้างถนน ร้านที่ตั้งอยู่ในศูนย์อาหาร ร้านที่ตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์ หรือร้านที่ตั้งอยู่เป็นเอกเทศ ยกเว้นร้านอาหารปรับอากาศ ร้านกาแฟ หรือภัตตาคาร
          

ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า 
          

1. ราคาอาหารไม่ได้แตกต่างจากเดิมหรือจากพื้นที่อื่นทั้งที่สีลมเป็นที่ตั้งศูนย์ธุรกิจของประเทศ และผู้ทำงานน่าจะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนทั่วไป กล่าวคือในกรณีข้าวแกง ยังมีขายในราคา 25 บาท (กับข้าวอย่างเดียว – รูปที่ 2, 17 และ 21) อย่างไรก็ตามราคาอาหารทั่วไปเริ่มต้นที่ราคา 30 บาท จากการสังเกตปริมาณอาหารที่มีผู้รับประทานอยู่ในร้าน ก็มีปริมาณปกติเช่นเดิมหรือเช่นร้านอาหารทั่วไป ไม่ใช่ว่าขายในราคาเดิม แต่ปริมาณลดลงแต่อย่างใด สำหรับคุณภาพของอาหารเท่าที่สังเกต ก็น่าจะใกล้เคียงกัน แต่ผู้สำรวจไม่สามารถที่จะตรวจสอบในกรณีนี้ได้
          

2. ราคาอาหารที่สูงกว่านั้น เช่น ราคา 40-45 บาท จะเป็นขนาดพิเศษ โดยมีปริมาณมากเป็นพิเศษ หรือใส่วัตถุดิบที่มีคุณภาพหรือขนาดใหญ่กว่าปกติ เช่น เกี๊ยวกุ้ง (รูปที่ 18) เป็นต้น
          

3. จากการสัมภาษณ์ผู้ขายในศูนย์อาหารในซอยสีลม 5 (ละลายทรัพย์ – รูปที่ 4) พบว่า ราคาขั้นต่ำขายอยู่ที่ 30 บาท แต่หากเป็นสาขาอื่น ราคาจะเริ่มต้นที่ 25 บาท ทั้งนี้ราคาอาหารขึ้นอยู่กับค่าเช่าสถานที่ขายอาหาร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ เพราะวัตถุดิบไม่ได้ขึ้นราคาแต่อย่างใด
          

4. ป้ายราคาอาหารบางป้ายมีการปรับเพิ่มขึ้นบ้างเหมือนกัน แต่เป็นเพียงส่วนน้อย และสังเกตได้ว่าเป็นเป็นป้ายเก่า มีฝุ่นเขรอะแล้ว แสดงว่าน่าจะปรับขึ้นมานับปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งปรับราคา โปรดดูรูปที่ 6, 15 และ 18 อย่างไรก็ตามป้ายราคาอาหารส่วนมากเป็นป้ายเดิมที่ไม่มีการปรับราคาแต่อย่างใด แสดงว่าผู้ค้ายังสามารถยืนราคาเดิมอยู่ได้ (ยกเว้นค่าเช่าสถานที่เพิ่มขึ้น)
          

5. ในระหว่างเดินสำรวจ พบภาพที่น่าประทับใจ เช่น มีร้านหนึ่งติดป้ายเป็นภาษาต่างประเทศให้รู้ว่าขายราคาเดียวกับคนไทย (รูปที่ 19)  อีกร้านหนึ่งก็ให้ดื่มน้ำโดยไม่คิดเงิน ไม่ต้องสั่งอาหาร (รูปที่ 20) ร้านที่ดูค่อนข้างหรู คือ เชียงการีลาคิทเช่น (สาขารถไฟฟ้าช่องนนทรี – รูปที่ 23) ยังมีขายโจ๊ก 30 บาท เกาหลาเลือดหมู และข้าวต้มกุ้งราคาเพียง 40 บาท นอกจากนี้ร้านในอาคารพาณิชย์ที่ต้นทุนค่าพื้นที่ขายสูงกว่า ก็ยังขายได้ราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท (รูปที่ 9-11)
         

ข้อเสนอแนะเบื้องต้นจากการเดินสำรวจนี้ก็คือ สิ่งที่ควรจะมีในประเทศไทยก็คือการส่งเสริมการรณรงค์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองด้วยข้อมูลที่เป็นจริง แทนที่จะใช้ความรู้สึก หรือความเห็นต่างทางการเมือง นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลสามารถสนับสนุนค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งผู้ค้าก็คือ การจัดสถานที่ที่มีค่าเช่าย่อมเยาในการขายอาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสามารถยืนหยัดขายอาหารในราคาที่ถูกได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อ-ภาคประชาสังคม-กสทช.หารือกลไกกำกับดูแลกันเอง

Posted: 23 May 2013 10:46 PM PDT



เมื่อวันที่ 22-23 พฤษาคม 2556 มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "แนวทางไตรภาคีในการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์" ณ โรงแรมโรสการ์เดนริเวอร์ไซต์ อ.สามพราน จ.นครปฐม เพื่อระดมความคิดต่อแนวทางการกำกับดูแลด้านจรรยาบรรณสื่อจากสามภาคส่วน คือ ผู้บริโภคภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และ กสทช.

ทั้งนี้ เนื้อหาของการสัมมนาประกอบด้วยการอภิปรายในหัวข้อจรรยาบรรณวิชาชีพในวงการสื่อและโฆษณา : จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่ความท้าทายของกลไกกำกับดูแลกันเอง" "กลไกสร้างสรรค์สู่การกำกับดูแลกันเอง" การระดมความคิดเห็นจริยธรรมสื่อทบทวนมุมมอง ส่องอนาคต การกำกับดูแลกันเองในสังคมไทย" และการเสวนาแนวทางไตรภาคีในการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

วสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนเร็วมาก จากปัจจัยทางกฎหมายและเทคโนโลยี ทำให้สื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้จะมีเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น โทรทัศน์ดิจิตอล 48 ช่อง ซึ่งตนเห็นว่าการกำกับดูแลตนเองนั้นจะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของสื่อและองค์กรวิชาชีพ โดย กสทช.ควรเป็นผู้สนับสนุน ออกร่างข้อบังคับในการรวมตัวของสื่อประเภทต่างๆ ที่ต้องการกำกับตัวเอง เป็นต้น

"ที่ผ่านมากำกับดูแลตนเอง ทำได้พอสมควร ภาพรวมใช้ได้ ทีวีถูกกำกับโดยผู้ให้สัมปทานอยู่แล้วมีกรอบของกฎหมายอยู่แล้ว แต่สาธารณชนไม่มีส่วนร่วมมาก ประชาชนไม่อยากมีปัญหากับสื่อ ช่วงหลังเปลี่ยนแนวคิดเรื่องสิทธิ มีการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น ร้องเรียนไปที่ช่องมากขึ้น ทั้งนี้ต้องมีผู้วินิจฉัยชี้ขาดแต่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย ส่วนผู้บริโภคเองก็ต้องมีบทบาทรักษาสิทธิ์ของตนเอง ร้องเรียนให้สมาคมดูแล"

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสิ่งที่เข้ามาแทรกแซงสิทธิเสรีภาพไม่ได้ออกมาด้วยปลายกระบอกปืนแต่ออกมาด้วยกฎระเบียบ กสทช.มีอนุกรรมการหลายชุด ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าสะท้อนภาพของตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ อย่างไร รวมถึงจะเป็นผลในการบังคับจริงหรือไม่ ที่สำคัญการกำกับและการควบคุมมีความแตกต่างกัน การควบคุมเป็นการใช้อำนาจซึ่งประเด็นนี้สังคมต้องจับตากันมากขึ้น โดยเฉพาะร่างกฎระเบียบที่กำลังยกร่างขึ้นโดยอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งขององค์กรกำกับจะมีความสำคัญมาก โครงสร้างการบริหาร การให้ข้อมูลหรือกระบวนการขั้นตอน กลไกช่วยสนับสนุนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ควรทำการไต่สวน มากกว่ากล่าวหา

เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า การกำกับดูแลนั้นมีกลไกสองส่วนคือกลไกของกลุ่มวิชาชีพ และกลไกโดยองค์กรกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม นับว่ายังไม่เพียงพอ สำคัญที่สุดคือหน่วยงานกำกับดูแลจะหลีกเลี่ยงการแสดงบทบาทไม่ได้ จะต้องทำงานอย่างจริงจัง ตั้งกรอบให้ชัดระหว่างกฎหมายและจริยธรรม ว่าครอบคลุมระดับไหน ตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาออกอากาศ  สิ่งนี้เป็นเรื่องกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องของจริยธรรม

เอื้อจิต กล่าวว่า จากตัวอย่างของบีบีซี สิ่งที่ให้ความสำคัญคือเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานและความรับผิดชอบ หลายเรื่องในบ้านเราเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายไม่ใช่แค่ผิดจรรยาบรรณแต่ไม่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี สื่อมีหน้าที่ที่ต้องชี้แจงข้อบังคับทางจริยธรรมของตนเอง ขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลควรทำงานอย่างจริงจัง มีการกำกับอย่างจริงจัง ต้องออกระเบียบ ผู้ประกอบการต้องมีกลไกรับเรื่องร้องเรียน พิจารณาเรื่องร้องเรียน รวมถึงสื่อก็ต้องชี้แจงว่าข้อบังคับ จรรยาบรรณของตนเองมีอะไรบ้างเพราะผู้บริโภคไม่ทราบ ที่สุดนั้นพลังที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชนในการลุกขึ้นมาทำหน้าที่

เอื้อจิต เสนอแนะว่า กสทช.ต้องมีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมในการรวมกลุ่มกันเอง ออกเกณฑ์ของความเป็นวิชาชีพของสื่อโดยคำนึงถึงลักษณะและประเภทของการประกอบกิจการ เนื่องจากมีความแตกต่างระหว่างสื่อภาคประชาชน สื่อวิชาชีพ เป็นต้น เมื่อมีการคัดกรองจัดกลุ่มแล้วก็เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันและกำหนดกรอบเกณฑ์การกำกับดูแลกันเอง โดย กสทช.ก็เข้ามาตรวจสอบเกณฑ์นั้นได้ จากนั้นกสทช.ก็มีหน้าที่ในการให้ความรู้กับประชาชนและสื่อในการเผยแพร่กรอบเหล่านี้

"ถ้าไม่มีกรอบหรือแนวทางที่ชัดเจน มันจะเป็นการฝากความฝัน เพราะมีการประเมินแล้วพบว่า กสทช.ทำงานขาดเอกภาพ แบ่งและแย่งงานกันทำ ซึ่งคนที่ทำงานกับ กสทช.ต้องร่วมเข้ามาเข้าใจด้วย"

วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีไตรภาคีลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดีมากที่มีหลายภาคส่วนมานั่งพูดคุยตั้งแต่ต้น เพราะแต่ละส่วนจะมีความระแวงและหวาดกลัวมาโดยตลอด ในฐานะภาคประชาสังคมและผู้บริโภคก็เข้าใจข้อจำกัดของสื่อ หรือตัวผู้ประกอบการก็เห็นความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึง กสทช.ได้เห็นความต้องการของทุกส่วนในฐานะองค์กรกำกับดูแล ดังนั้นจึงอยากให้กลไกการกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม ควรพัฒนาจากการพูดคุยแล้วสื่อสารระหว่างกัน ไม่ใช่การกำหนดขึ้นจากความหวาดกลัว ป้องกันจนสื่อในยุคต่อไปเป็นการนำเสนอแบบขาวจนไม่มีใครอยากดู หรือดำจนไม่น่าสนใจ เป็นต้น

วิชาญ ระบุว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเป็นการกำกับดูแลร่วม ต้องส่งเสริมให้องค์กรแม่หรือองค์กรกำกับดูแลเข้มแข็ง โดยมีการสนับสนุนผ่านกองทุน มีกติกาและบทลงโทษ หากองค์กรแม่ไม่สามารถจัดการให้เกิดข้อยุติได้ ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการกำกับดูแลกันเองแต่ต้องพิจารณาบริบทของสังคมไทยด้วย ซึ่งผู้บริโภคในสังคมไทยยังอ่อนแออยู่ อยากเห็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างช่องทางการให้ความรู้กับประชาชนถึงช่องทางการร้องเรียน และรู้สิทธิของตนเอง

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า กสทช.มีร่างเรื่องการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มแล้ว แนวทางมีสองระดับ คือการรวมกลุ่มระหว่างวิชาชีพ และการกำกับดูแลบริหารทางจรรยาบรรณ หลังจากนี้จะเป็นส่วนของการสร้างปฏิบัติการในการนำเนื้อหาต่างๆ มาสังเคราะห์เนื่องจากมีการจัดเวทีเพื่อสร้างเป็นโมเดลและกลไก อย่างน้อยที่สุดคือร่างประกอบการรวมกลุ่มซึ่งอาจไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นต่อไป ส่วนเรื่องจรรยาบรรณจะมีการสังเคราะห์และถอดมาเป็นบทเรียนให้เกิดรูปธรรมที่ชี้วัดได้ นอกจากนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ตามมาตรา 37

"ร่างกฎระเบียบจะออกมาเร็วมาก ซึ่งอาจจะไม่ทำให้ใครพอใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คาดว่าจะอยู่ตรงกลางระหว่างความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค และวิชาชีพ"

อนึ่ง การสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษาเพื่อยกร่างแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น