โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จักรภพ เพ็ญแข: 3 ปีขบวนประชาธิปไตย

Posted: 18 May 2013 01:46 PM PDT

 

มวลชนที่รักและเคารพครับ

ทีมงานประชาไทขอให้ผมเขียนรายงานประเมินผลสามปีของการทำลายล้างขบวนประชาธิปไตยและสังหารหมู่พี่น้องประชาชน ณ ใจกลางกรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ.2553ทั้งตลอดแนวถนนราชดำเนินและในบริเวณแยกราชประสงค์ ผมรับชวนด้วยเงื่อนหนึ่งข้อ นั่นคือผมสามารถประเมินผลได้เพียงจากภายนอกเท่านั้น เนื่องจากผมได้เดินทางออกจากประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2552 หลังสลายชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ข้อมูลข่าวกรองที่ผมได้รับ และจะนำมาประเมินร่วมด้วย ก็เป็นข้อมูลที่ผมไม่อาจยืนยันได้เต็มที่ รายงานต่อไปนี้จึงถูกถ่วงดุลด้วยข้อจำกัดดังกล่าวนั้น

สามปีที่ผ่านมาผมมองย้อนกลับไปถึงความแตกร้าวทางความคิด "บางซื่อ-หัวลำโพง" ที่ทำให้แกนนำหลายคนยังมองกันกันไม่ติดหรือไม่สนิทใจมาจนบัดนี้ ยิ่งเวลาผ่านไปผมยิ่งรู้สึกว่านั่นเป็นสาระสำคัญของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน ฝ่ายบางซื่อชูธงสะสมชัยชนะและสงวนเลือดเนื้อ ฝ่ายหัวลำโพงอ้างความมุ่งมั่นของประชาชน บวกกับแรงหนุนจากผู้นำการเมืองที่มิได้อยู่ในสนามให้เดินหน้าต่อ ทั้งสองฝ่ายมีเหตุผลของตนเองและยังคงปกป้องท่าทีของตนเองอย่างรุนแรง คงเพราะตระหนักดีว่านี่คือสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะนำมาประเมินซ้ำอย่างไม่รู้จบ ความแตกร้าวเรื่องนี้ ถือเป็นภัยต่อเอกภาพในระยะต้น แต่ในระยะยาวแล้วถือเป็นคุณ เพราะทำให้เราเข้าใจชัดเจนว่าพลังของฝ่ายเสื้อแดงอยู่ตรงไหนและปุ่มต่างๆ ที่ใช้กดแสดงพลังเหล่านั้นอยู่ที่ใด ผมเชื่อว่า บทเรียนจากการนองเลือดครั้งที่ 1 ในปีนั้น คือเมื่อวันที่ 10 เมษายนเป็นแรงกระตุุ้นสำคัญสำหรับฝ่ายที่ต้องการลงบางซื่อ ยิ่งเมื่อพลตรีขัตติยะ สวัสดิผลหรือ "เสธ.แดง" ถูกสังหารในวันที่ 13 พฤษภาคมคืออีกเดือนเศษๆ ต่อมานั้น ฝ่ายบางซื่อก็ยิ่งมั่นใจในจุดยืนของตนเอง โอกาสจะ "ถนอมรัก" กับฝ่ายหัวลำโพงในช่วงนั้นจึงหมดไป การก้าวลงจากเวที นปช. ของคุณวีระ มุสิกพงศ์ส่งผลให้ข่าวกรองจากฝ่ายอำมาตย์ลดน้อยลงไป เหลือแต่ข่าวกรองบ้างไม่กรองบ้างที่ส่งมาจากต่างประเทศ การรับมือกับสรรพกำลังของฝ่ายเจ้าของบ้านจึงทำได้ไม่เต็มที่ และยังถูกหลอกล่อให้เตรียมความพร้อมต่อเนื่องกันหลายสิบวัน ด้วยความเชื่อว่าจะถูกบุก ทำให้ทั้งแกนนำและมวลชนเกิดความเหนื่อยเพลีย ระแวงสงสัย และอารมณ์สั้นลง เมื่อการสังหารหมู่มาถึง เราจึงเหลือแต่ใจของมวลชนเป็นอาวุธแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งอื่นๆ ที่อาจเรียกว่าอาวุธนั้นล้วนอยู่ในสภาพไก่รองบ่อนทั้งสิ้น แต่เมื่อเอ่ยวลีไก่รองบ่อนออกมาแล้ว ก็ต้องเอ่ยต่อไปว่า บ่อนไก่ กลับไม่ใช่ไก่รองบ่อน เรากลับได้รับความร่วมมือจากมวลชนที่รู้จักพื้นที่บ่อนไก่เป็นอย่างดี บวกทักษะของนักสู้ประจำถิ่น ตามอาชีพซึ่งเดิมทีเราเคยรู้สึกว่าอยู่คนละข้างกับกฎหมาย จนสามารถตรึงกำลังได้นานกว่าพื้นที่อื่นๆ ทั้งที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากประทัดยักษ์และยางรถยนต์ ในเหตุการณ์หน้างานนั้น มองจากภายนอกคงสรุปได้ว่า การสั่งการจากนอกพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับผู้ที่รู้ข่าวกรองในพื้นที่ ไม่ว่ามีอยู่ในมือกี่แหล่งก็ตาม ทักษะในการต่อสู้ของผู้ที่เป็นทหารเก่า นักเลงเก่า คนคุมบ่อน ฯลฯ กลับเป็นทักษะที่ช่วยชีวิตผู้คนเอาไว้ได้มากมาย ผมเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นวีรชนที่ยังไม่มีใครสรรเสริญ (unsung heroes) และอย่าได้คิดประมาทเจตนา "พลีชีพ" ของมวลชนผู้ตาสว่าง ผู้นำและแกนนำจึงต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบเป็นทวีคูณในความเกี่ยวข้องทุกประการกับมวลชน

เรามาลองมองภาพใหญ่ขึ้นบ้าง โดยเฉพาะในเหตุการณ์หลังจากนั้น ผมมีความรักและชื่นชมต่อแกนนำ นปช. แทบทุกท่าน และยังคงรู้สึกเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน แต่ต้องขอให้ข้อคิดเห็นว่า ความหมกมุ่นกับ นปช. และการเน้นให้ นปช. ผูกขาดงานมวลชนแต่เพียงผู้เดียวในนามขบวนประชาธิปไตยนั้น ถือเป็นกรอบที่แคบเกินไปสำหรับอารมณ์ทางการเมืองของมวลชนภายหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค.  นปช. ยังคงควรเป็นแกนนำในขบวนประท้วงและชุมนุม เนื่องจากมีประสิทธิภาพ มีประสบการณ์ และมวลชนจำนวนมากให้ความเชื่อถือ แต่ไม่ควรใช้วิธีทางตรงหรืออ้อมในการจำกัดและกำจัดกลุ่มย่อยๆ ที่มีจุดประสงค์เดียวกันลงไป กลุ่มย่อยๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อขบวนประชาธิปไตยและ นปช. ในการเสริมฐาน นปช. ให้เป็นองค์กรการเมืองที่ใหญ่โตซับซ้อนขึ้น เสมือนสร้างระบบนิเวศที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาห่อหุ้ม ผมเชื่อว่าบรรยากาศอย่างนั้นมีประโยชน์กว่า นปช. ที่โดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมศักดินาอำมาตย์ เพราะสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งแนวร่วม ตัวช่วย และข้ออ้างในเหตุการณ์ทางการเมืองต่อๆ ไป ซึ่งจะต้องอาศัยต้นไม้ที่มีหลายกิ่งก้านสาขาและมีรากที่แข็งแรงมั่นคงมาสนับสนุน นปช. ควรวางตัวเป็นบริษัทแม่ หรือ holding ที่ทำงานร่วมกับบริษัทลูกหรือบริษัทสาขาคือ subsidiary ได้อย่างกลมกลืน เหตุผลหลักที่ผ่านมาเป็นเพราะว่าเกรงจะถูกแย่งชิงทรัพยากรในการทำงานหรืออำนาจสูงสุดในการสื่อสารกับมวลชน จึงเผลอเห็นองค์กรย่อยเหล่านี้เป็นผู้เล่นที่น่ารำคาญหรือแม้กระทั่งศัตรูคู่แข่ง จนเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับไปมาก ผมมั่นใจว่า ผู้นำการเมืองในปัจจุบันไม่มีใครมองว่าใครจะเป็นคู่แข่งกับ นปช. ได้ และจะเดินหน้าสนับสนุนต่อไปอย่างน้อยก็ในฉากหน้า เท่าที่ผ่านมาสามปี เราเสียเวลามากไปหน่อยกับความวิตกจริตเหล่านั้น ซึ่งผมเชื่อว่าคงเป็นอดีตไปแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ผมเคยเสนอเมื่อครั้งร่วมบริหารตั้งพีทีวี จนมาเป็น นปก. และ นปช. แต่ยังไม่ได้ทำเลยนั้น มาวันนี้สมควรเร่งทำและทำชนิดหวังผลสัมฤทธิ์ด้วย นั่นคือการจำแนกประเภทมวลชนผู้สนับสนุนฝ่ายเราออกเป็นสาขาอาชีพและประสบการณ์ต่างๆ ระบอบอำมาตย์ศักดินาประสบชัยชนะและครองบ้านเมืองมานานหลายชั่วอายุคน ทำให้บุคลากรที่มีความสามารถหลั่งไหลไปสังกัดและให้ความภักดี แทบไม่มีใครช่วยงานใหญ่ในฝ่ายประชาชน ซึ่งยังคงเป็นผู้แพ้ในทางการเมืองอยู่ เราควรเริ่มแยกประเภท (sort out) มวลชนและผู้สนับสนุนฝ่ายเราออกเป็นสาขาอาชีพ ทักษะ ประสบการณ์ และความถนัด เพื่อสร้างเครือข่ายทั้งภายในประเภทและระหว่างประเภทเหล่านี้ขึ้นเป็นเครือข่ายทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ นี่เป็นหนทางลัดอย่างหนึ่งในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของขบวนประชาชน เราควรมีวิศวกร แพทย์ ครู พระ ทนายความ สถาปนิก ผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าของโรงงาน ช่างฝีมือทุกๆ ด้าน ผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดย่อม นักกีฬาอาชีพ เจ้าของไนท์คลับ คนทำอาหาร ผู้บริหารโรงแรม ฯลฯ ที่กล้าแสดงตัวเองว่าเป็นมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย ถึงมีฝ่ายตรงข้ามแฝงตัวเข้ามาบ้างก็ให้แฝงไป เพราะงานของเราเปิดเผยและชัดเจน จนอาจโน้มน้าวให้สายที่แฝงตัวมาเหล่านั้นแปรเปลี่ยนเจตนาไปได้ ความบกพร่องอย่างหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตยคือ เรามุ่งสร้างแต่นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก็ได้คนการเมืองตั้งแต่เกรดสูงไปถึงเกรดต่ำ โดยไม่คิดนำคุณสมบัติอื่นๆ มาใช้เลย คนทุกคนไม่อาจจะเป็นนักการเมืองที่ดีได้ นิสัยใจคอและสันดานเราล้วนแล้วแต่ต่างกัน ควรเลิกประเพณีว่าใครอยากทำงานเพื่อบ้านเมืองก็ต้องยอมตัวเป็นนักการเมืองเท่านั้น แต่หาทางให้คนที่มีภูมิรู้และทักษะที่แตกต่างกันเข้าสู่การเมืองได้หลายช่องทาง บทเรียนของเราสอนเรามาแล้วว่า มวลชนผู้มีวุฒิภาวะในทางประชาธิปไตยทุกคนล้วนเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนและส่วนใดของขบวนประชาธิปไตยก็ตามที

ประการสุดท้าย การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายระหว่าง นปช. กลุ่มพลังฝ่ายประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องมีประสิทธิภาพกว่าสามปีที่ผ่านมา แกนภายในขบวนประชาธิปไตยของเราครบถ้วน รัฐบาลกำหนดและผลักดันนโยบาย พรรคเพื่อไทยโดยผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและบางส่วนของวุฒิสภาสร้างและปรับปรุงกฎหมาย ตลอดจนปฏิบัติการถ่วงดุลอำนาจ นปช. ร่วมกับกลุ่มพลังประชาธิปไตยในการโน้มน้าวประชามติให้หันเหมาทางเรามากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากทักษะของมวลชนอย่างที่ผมเสนอมาเป็นเครื่องมือ เราไม่ได้น้อยหน้ากว่าเขาในเชิงปริมาณและความทันสมัยของแนวคิด แต่เรายังตามเขาอยู่ไม่น้อยในการจัดการภายในองค์กรของเราเอง

โดยสรุปแล้ว สามปีที่ผ่านมานี้ถือเป็นเวลาที่มีประโยชน์ต่ออนาคตของพวกเรามาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: 3 ปีสลายชุมนุม รวมข้อสังเกตการไต่สวนการตาย

Posted: 18 May 2013 11:49 AM PDT

 

ในวาระ 3 ปี เหตุการณ์ เม.ย.- พ.ค.53 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผ่านมา 3 ปี กระบวนการยุติธรรมเริ่มต้นและเดินหน้าไปบ้างบางส่วนด้วยขั้นแรกของคดี นั่นคือ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกกันว่า ไต่สวนการตาย เพื่อให้ทราบว่าผู้ตายคือใคร ตายด้วยสาเหตุใด ก่อนที่จะมีการดำเนินการฟ้องร้องกันต่อไป แต่ด้วยกระบวนการที่ยาวนานและคดีที่มีเป็นจำนวนมากทำให้เรื่องราวรายละเอียดการไต่สวนการตายไม่ค่อยปรากฏต่อสาธารณะหรือเป็นที่สนใจมากนัก

ศปช.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่รวบรวมข้อมูลเรื่องนี้อย่างค่อนข้างต่อเนื่องและละเอียด จนกระทั่งสามารถสรุปข้อสังเกตในกระบวนการไต่สวนได้ระดับหนึ่ง และน่าจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ในกรณีอื่นๆ ที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวน

 

ข้อสังเกตส่วนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตต่อการไต่สวนชันสูตรพลิกศพในช่วงที่ผ่าน ทั้งจากการเข้าสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลจากข่าว เท่าที่รวบรวมอยู่ในงานชิ้นนี้เป็น "ข้อสังเกตร่วม" ที่พบในบางคดี ท่ามกลางรายละเอียดจำเพาะของแต่ละคดีอีกเป็นจำนวนมาก
 

ความคืบหน้าที่ล่าช้า

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553 หรือที่รู้จักกันในนามของปฏิบัติการ "ขอคืนพื้นที่" และ "กระชับวงล้อม" เวลาได้ล่วงเลยมาถึงปีที่ 3 แล้ว ความคืบหน้าของคดีการเสียชีวิตในขณะนี้แบ่งเป็น

-คดีที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพไปแล้วและกำลังดำเนินการเพื่อฟ้องคดีอาญา

-คดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวน

-คดีที่อัยการยื่นคำร้องขอไต่สวนและศาลนัดไต่สวนแล้ว

-คดีที่อยู่ในชั้นอัยการ

-คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)

รวมทั้งหมด 21 คดี 37 สำนวน (บางสำนวนรวมสำนวนเป็นคดีเดียวกัน เช่น 6 ศพ วัดปทุมฯ) ซึ่งยังคงเหลือสำนวนคดีผู้เสียชีวิตอยู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) อีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีความคืบหน้า

กรณีที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้วมี 8 สำนวน ได้แก่ 1. นายพัน คำกอง 2. นายชาญณรงค์ พลศรีลา 3. นายชาติชาย ชาเหลา 4. ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ (1) 5. นายบุญมี เริ่มสุข 6. นายมานะ อาจราญ 7. นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง 8. ร.ต.ณรงฤทธิ์ สาละ (2) และมี 1 สำนวนที่ศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ คือ นายฟาบิโอ โปเลงกี

ส่วนกรณีที่อยู่ในระหว่างไต่สวนชันสูตรพลิกศพอยู่ในศาลชั้นต้นมี 5 คดี 15 สำนวน คือ 1. นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ,นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า 2. นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข 3. 6 ศพ วัดปทุมวนาราม 4. นายมานะ แสนประเสริฐศรี และนายพรสวรรค์ นาคะไชย 5. นายจรูญ ฉายแม้น และนายสยาม วัฒนนุกูล และที่กำลังจะเริ่มการไต่สวนชันสูตรพลิกศพอีก 2 คดี 6 สำนวน(3) คือ 1.นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์, นายประจวบ ศิลาพันธ์ และนายสมศักดิ์ ศิลารักษ์ โดยศาลนัดไต่สวนในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 2. นายนรินทร์ ศรีชมพู ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556

ส่วนสำนวนที่อยู่ในชั้นอัยการมี 4 สำนวน คือ 1. นายสมชาย พระสุพรรณ 2. จ.อ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ 3. นายถวิล คำมูล 4. ชายไทยไม่ทราบชื่อส่วนสำนวนที่ยังคงอยู่ที่ บช.น. อีก 5 สำนวน คือ 1. พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล 2. นายไพรศล ทิพย์ลม 3. นายมนต์ชัย แซ่จอง 4. นายสวาท วางาม 5. นายเกรียงไกร คำน้อย(4)

ทั้ง 37 สำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

-10 เมษายน 10 สำนวน

-28 เมษายน 1 สำนวน

-เดือนพฤษภาคมตั้งแต่วันที่ 13-19 แบ่งเป็น

ถนนพระราม 4 (บ่อนไก่ สวนลุมพินี สีลม) 13 สำนวน

ถนนราชดำริ 4 สำนวน

ถนนพระราม 1(วัดปทุมวนาราม) 6 สำนวน

ถนนราชปรารภ 3 สำนวน

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าจำนวนสำนวนคดีของผู้เสียชีวิตบนถนนราชปรารภมีความคืบหน้าน้อยที่สุด หลังจาก 3 สำนวน คือ นายพัน คำกอง, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และนายชาญณรงค์ พลศรีลา แล้ว ยังไม่มีข่าวในสื่อสาธารณะใดๆ ถึงความคืบหน้าของสำนวนคดีผู้เสียชีวิตในพื้นที่นี้อีก และในส่วนสำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ก็มีเพียง 2 นาย จากทั้งหมด 10 นาย ที่เห็นถึงความคืบหน้า คือ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ และ จ.อ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ เท่านั้น และยังคงเหลือผู้เสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีให้เห็น

 

พยานที่ขึ้นเบิกความในศาล

พยานที่มาให้การในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหากจะจัดกลุ่มพยานจะแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มหลัก คือ

  1. ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป
  2. เจ้าหน้าที่(ทหาร ตำรวจ) ที่ปฏิบัติงานในที่เกิดเหตุ
  3. พนักงานสอบสวน(ทั้งจาก สน.ท้องที่ที่เกิดเหตุและจาก บช.น.ที่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำการสอบสวนเฉพาะกรณีการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในสลายการชุมนุมช่วง เม.ย.-พ.ค.53) กองพิสูจน์หลักฐานและแพทย์นิติเวช
  4. สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ
  5. พยานกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในเวลาและสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์เสียชีวิต เช่น แกนนำ นปช. (นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์) ศอฉ.(นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) และนักการเมือง(น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี)

จะขอกล่าวถึงพยานกลุ่มที่ห้าก่อน กลุ่มนี้จะเป็นพยานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตโดยตรง แต่จะเป็นพยานที่ขึ้นเบิกความให้ภาพรวมเหตุการณ์ของการชุมนุม(แกนนำ) และการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่(ศอฉ.) รวมถึงสถานการณ์การเมืองในช่วงขณะนั้น ซึ่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ พยานกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสั่งการในพื้นที่เกิดเหตุโดยตรง ผู้พิพากษาจะทำการบันทึกคำเบิกความและบรรยายไว้ในคำสั่งศาลเป็นภาพรวมเหตุการณ์เท่านั้น แต่ข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของแต่ละคนนั้นพยานกลุ่มนี้จะไม่มีการเบิกความไปถึงจุดนั้นเพียงรับว่าทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิตจากรายงานจากพื้นที่หรือจากสื่อในภายหลังเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็ขัดกับพยานในที่เกิดเหตุ เช่น ในกรณีการเบิกความของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในการไต่สวนของ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ว่ามีการยิงมาจากทางด้านขวา และรถที่ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ซ้อนมาล้มลงด้านซ้ายนั้นเป็นการล้มจากแรงปะทะของกระสุน ซึ่งขัดแย้งกับพยานอดีตทหารซึ่งเป็นพลขับของจักรยานยนต์คันที่ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ซ้อนอยู่(5) ที่รถล้มนั้นเป็นการล้มรถไปตามยุทธวิธีทางการทหาร

ในส่วนพยานกลุ่มที่หนึ่ง คือ ผู้ชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปที่บังเอิญอยู่ในเหตุการณ์ จะเป็นพยานที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และไม่มีการกล่าวถึงพยานร่วมเหตุการณ์คนอื่นๆ และคำให้การมักจะเป็นช่วงขณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตแม้ว่าพยานที่มาส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นประจักษ์พยานที่ได้เห็นชั่วขณะที่ผู้เสียชีวิตถูกยิงแต่ก็เป็นพยานแวดล้อมที่เห็นตำแหน่ง ทิศทางที่ผู้เสียชีวิตหันหน้าก่อนหรือหลังถูกยิง หรือเป็นผู้เข้าไปช่วยผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นพยานสำคัญและคำให้การมีการเล่าตามลำดับเหตุการณ์ที่ค่อนข้างชัดเจน มีการเล่าตั้งแต่ในช่วงก่อนจนถึงหลังเกิดเหตุว่าตนเองทำอะไรอยู่ อยู่ตรงจุดใดในบริเวณที่เกิดเหตุ ช่วงเวลาขณะเกิดเหตุ จุดที่ทหารวางกำลังอยู่ และตำแหน่งที่ผู้ชุมนุมอยู่

แตกต่างกับพยานกลุ่มที่สองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งจะมีการกล่าวถึงพยานที่เป็นผู้บังคับบัญชาหรือใต้บังคับบัญชาของตน รวมถึงเจ้าหน้าที่ร่วมหน่วย ถึงแม้จะมีการกล่าวถึงแต่เมื่อถูกถามว่าคนที่ตนได้กล่าวถึงไปในขณะเกิดเหตุอยู่ตำแหน่งใดหรือกำลังทำอะไรอยู่ พยานกลุ่มนี้มักจะตอบปฏิเสธว่าไม่เห็นหรือไม่ทราบว่าวางกำลังอยู่ตำแหน่งใด เคลื่อนไปทางใด หรือกำลังทำอะไรอยู่ในขณะนั้น หรือแม้กระทั่งไม่ทราบว่าหน่วยที่เข้าร่วมปฏิบัติการด้วยกันนั้นมีหน่วยที่มาจากสังกัดใดบ้าง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งสังกัด ตำแหน่งหรือการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างหน่วยย่อยที่กระจายกันออกไปให้ทราบต่อกัน และจากการสังเกตการณ์พยานฝ่ายทหารที่มาไม่มีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่วิทยุของแต่ละหน่วยที่อยู่ในพื้นที่มาให้การเป็นพยานในการไต่สวน(แต่ไม่ทราบว่าในชั้นสอบสวนของตำรวจได้มีการสอบปากคำเอาไว้หรือไม่)

ส่วนระดับยศของทหารที่มาเบิกความนั้นมีตั้งแต่ระดับพลทหาร นายสิบที่คุมกำลังระดับหมู่ปืนเล็ก หรือนายร้อยที่คุมกำลังระดับกองร้อย ซึ่งพยานกลุ่มนี้หลายคนแม้ว่าจะอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุก็ตาม แต่ก็มักจะมีการเบิกความว่าขณะเกิดเหตุกำลังหลบหนีหรือหลบอยู่ในที่กำบัง หรือกำลังพักผ่อนอยู่จึงไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนระดับนายพันที่คุมกำลังในพื้นที่หรือวางแผนปฏิบัติการอยู่บริเวณใกล้เคียงจุดเกิดเหตุ มักจะไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงแต่จะได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาอีกที ซึ่งการเบิกความของเจ้าหน้าที่ทหารในลักษณะนี้จะเห็นได้จากการไต่สวนกรณีนายพัน คำกอง, 6 ศพ วัดปทุมฯ, นายมานะ อาจราญ เป็นต้น

กลุ่มที่สาม พยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน แพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (มีแยกตามกลุ่มงานต่างๆ เช่น ตรวจสถานที่ ตรวจอาวุธ) พนักงานกลุ่มนี้บางครั้งเป็นการขึ้นเบิกความรับรองเอกสารหรือสำนวนการสืบสวนสอบสวน โดยจะเล่าเหตุการณ์ภาพรวมในช่วงที่เกิดเหตุ จากการสืบสวนสอบสวน ตรวจสถานที่ ตรวจอาวุธปืน วัตถุพยาน และผลชันสูตรพลิกศพ ซึ่งจากการเบิกความของเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ในหลายคดีทำให้ทราบว่า ทางฝ่ายทหารได้ส่งอาวุธปืนให้พนักงานสอบสวนตรวจพิสูจน์หลังเหตุการณ์เป็นเวลานานแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการทำความสะอาดปืน และเปลี่ยนชิ้นส่วนปืนในจุดสำคัญ ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจพิสูจน์คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง โดยจะกล่าวรายละเอียดในส่วนของข้อสังเกตต่อการตรวจอาวุธปืน

พยานกลุ่มที่สี่ พยานซึ่งเป็นสื่อมวลชน ศาลจะให้น้ำหนักต่อคำให้การของพยานกลุ่มนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นพยานคนกลางที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่มีส่วนได้เสีย จึงมีความน่าเชื่อถือ พยานที่มาให้การในศาลจะเป็นช่างภาพซึ่งจะมีภาพถ่ายหรือวิดีโอเหตุการณ์ที่ตนเองถ่ายเอาไว้ ทั้งที่เป็นภาพผู้เสียชีวิต หรือเหตุการณ์แวดล้อมที่เห็นถึงปฏิบัติการของทหารและปฏิกิริยาของผู้ชุมนุมหรือประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกความในศาลด้วย ทั้งนี้ ดูจากภาพถ่ายและวิดีโอในช่วงเหตุการณ์ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าน่าจะมีสื่อมวลชนอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเป็นจำนวนมาก แต่ในการไต่สวนการตายบางคดีกลับมีพยานที่เป็นนักข่าวหรือช่างภาพขึ้นเบิกความเพียงหนึ่งหรือสองคน ยกเว้นการไต่สวนกรณีนายชาญณรงค์ พลศรีลา ที่มีสื่อมวลชนมาเบิกความเป็นพยานมากที่สุด โดยมีช่างภาพไทยและต่างประเทศมาเบิกความถึง 6 คน โดย 1 ในนั้นเป็นช่างภาพที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เดียวกัน รองลงมา คือ กรณีนายฟาบิโอ โปเลงกี มีพยานที่เป็นสื่อมวลชน 3 คน (เดิมมี 4 คน แต่ศาลได้ทำการตัดออก 1 คน)

 

การงดสืบพยานบางปาก

ในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ผ่านมา ศาลได้ทำการสืบพยานเพียงบางส่วนของพยานทั้งหมดที่มีในสำนวนสืบสวนสอบสวนและที่ญาติผู้ตายยื่นเพิ่มเติม แล้วแต่ว่าในการไต่สวนนั้นๆ มีพยานมากน้อยแค่ไหน อย่างกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ อัยการได้ทำการยื่นพยานเข้าสืบกว่า 100 ปาก และทนายฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตยื่นเพิ่มเติมราว 20 ปาก(6) ศาลนัดสืบเพียง 65 ปาก(7) (ซึ่ง ณ การสืบครั้งล่าสุดมีพยานขึ้นเบิกความแล้ว 30 ปาก) กรณีนายชาญณรงค์อัยการยื่นพยาน 41 ปาก ทนายฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตยื่น 15 ปาก(8) แต่มีการสืบพยานในศาล 21 ปาก กรณีนายฟาบิโอพนักงานสอบสวนแจ้งว่ามีพยานที่เกี่ยวข้อง 47 ปาก แต่ในการสืบพยานในศาลมี 13 ปาก ซึ่งหลักๆ พยานที่ถูกตัดเป็นพยานแวดล้อมที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเสียชีวิตโดยตรง เช่น แกนนำ นปช. เจ้าหน้าที่ ศอฉ. ระดับสั่งการ หรือพยานแวดล้อมที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงขณะเกิดเหตุ ดังนั้น ในการสืบพยานจะมีเพียง พยานในเหตุการณ์ (ประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม) พนักงานสอบสวนซึ่งทำการสืบปากคำพยานบุคคลและรวบรวบพยานวัตถุ(คลิปวิดีโอ อาวุธปืน หัวและปลอกกระสุน) เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ(อาจจะเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ) แพทย์นิติเวช และถ้าผู้เสียชีวิตได้รับการรักษาก่อนเสียชีวิตก็อาจจะให้แพทย์ผู้ทำการรักษาเข้ามาให้การในการสืบพยานด้วย

การตัดพยานที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงตามลักษณะที่กล่าวไปอาจจะเข้าใจได้ว่าการสืบพยานในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพเป็นขั้นตอนเพื่อที่จะทราบว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร การไม่สืบพยานที่ไม่เกี่ยวข้องและมีความซ้ำซ้อนกันก็จะทำให้กระบวนการไต่สวนการตายรวดเร็วขึ้น แต่การสืบพยานในชั้นไต่สวนนี้กลับมีการตัดพยานในเหตุการณ์ออกด้วย (ทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมที่อยู่ในช่วงเวลาและสถานที่เกิดเหตุเดียวกับผู้เสียชีวิต) จากการสังเกตการณ์ได้พบกรณีที่มีการตัดพยานปากสำคัญออก คือ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฟาบิโอ โปเลงกี ซึ่งในการไต่สวนพยานนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา มีพยานมาขึ้นให้การทั้งหมด 3 คน คือ นายมิเชล มาส, นายไซโต้ มาซายูกิ และนายเจฟฟรี จาบลอนสกี้(Jeffrey Jablonski) โดยสองคนแรกเป็นพยานที่มีอยู่แล้วในสำนวนสอบสวน ส่วนนายเจฟฟรีนั้นเป็นพยานที่อลิซาเบตต้า โปเลงกี น้องสาวผู้ตายขอให้นำเข้าสืบเพิ่มภายหลัง เนื่องจากเพิ่งพบตัวพยาน ก่อนหน้านี้พยานกลัวถูกคุกคามจึงไม่ยินดีให้ความร่วมมือและไม่สามารถติดต่อได้ แต่ผู้พิพากษาได้งดสืบนายไซโต้และนายเจฟฟรี โดยให้เหตุผลว่าในการไต่สวนเพียงต้องการทราบว่าผู้ตายเป็นใคร เสียชีวิตที่ไหน ตายเมื่อใด ใครทำให้ตาย ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องทำการสืบพยานเพิ่มอีก 

นายไซโต้เป็นพยานซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ได้ถ่ายภาพนายฟาบิโอไว้ได้ตั้งแต่ที่นายฟาบิโอกำลังวิ่งข้ามแยกสารสินมาจากทางด้านข้างตึก สก.มุ่งหน้ามาทางสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ หลังจากนายฟาบิโอถูกยิงล้มไปแล้วเขาก็ได้ถ่ายภาพนายฟาบิโอไว้อีก และเป็นคนที่เข้าไปช่วยนำนายฟาบิโอไปขึ้นรถจักรยานยนต์เพื่อนำส่งโรงพยาบาลด้วย ส่วนนายเจฟฟรีนั้นเป็นผู้ที่ถ่ายคลิปวิดีโอเหตุการณ์แวดล้อมบริเวณแยกสารสินในช่วงก่อนที่นายฟาบิโอจะถูกยิง

 

การตรวจอาวุธปืนของพนักงานสอบสวน

เป็นส่วนสำคัญของการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ซึ่งการเสียชีวิต 83 ราย จาก 95 ราย(9) เกิดจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืน แต่ในการเบิกความของเจ้าหน้าที่ที่มาจากกลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าในการตรวจเทียบหัวกระสุนกับอาวุธปืนที่ทางฝ่ายทหารได้นำส่งให้ทำการตรวจพิสูจน์นั้นมีปัญหาอยู่สองประการที่ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าหัวกระสุนที่พบในศพของผู้เสียชีวิตบางราย (แต่บางรายหัวกระสุนแตกเป็นเศษ หรือเสียสภาพมากหรือทะลุผ่านร่างกายออกไปจึงไม่มีหัวกระสุนให้ทำการตรวจเทียบ) มาจากอาวุธปืนกระบอกใด คือ

ประการแรก ผลการตรวจอาวุธปืนไม่พบว่า หัวกระสุนที่เป็นหลักฐานจากศพผู้เสียชีวิตยิงจากปืนกระบอกใดเลย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานก็ได้ชี้แจงด้วยว่าอาวุธปืนสามารถเปลี่ยนลำกล้องได้ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนลำกล้องก่อนนำส่งตรวจย่อมไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ากระสุนถูกยิงออกมาจากปืนที่นำส่งตรวจหรือไม่ และการส่งตรวจนั้นยังเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์เป็นเวลานานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนลำกล้องปืนไปแล้ว

ประการที่สอง อาวุธปืนที่ส่งตรวจเป็นการสุ่มปืนบางรุ่นและบางส่วนส่งตรวจเท่านั้น โดยในการสลายการชุมนุมจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการนำอาวุธปืนจำพวกปืนเล็กยาว M16, HK33(ปลย.11), ทาโวร์ และปืนเล็กสั้น M653 มาใช้กันเป็นจำนวนมากซึ่งปืนเหล่านี้ใช้กระสุนขนาดเดียวกันคือ 5.56 มม.(.223) และในจุดเกิดเหตุบางแห่งเจ้าหน้าที่ทหารอาจจะมีปืนเล็กยาวใช้ถึง 3 รุ่น แต่ในการส่งตรวจนั้นกลับส่งอาวุธให้ตรวจเพียงปืนรุ่นใดรุ่นหนึ่งเท่านั้น เช่น ในกรณีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายบุญมี เริ่มสุข พบว่าทางฝ่ายทหารได้มีการนำส่งเพียงแค่ปืน M16 จำนวน 20 กระบอกเท่านั้น(10) แต่การเบิกความในคดีนี้และคดีของนายฐานุทัศน์ทำให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ทหารในบริเวณนั้นนอกจากจะมีปืน M16 แล้ว ยังมีปืน M653 ใช้ด้วย ในกรณีของนายชาญณรงค์นั้นจากการเบิกความของพ.ต.ท.สุพจน์ เผ่าถนอม ได้ความว่ามีการส่งปืนทาโวร์เพื่อทำการตรวจเพียง 5 กระบอก เท่านั้น ซึ่งจากภาพทหารที่อยู่ในบริเวณซอยรางน้ำก็พบว่านอกจากปืนทาโวร์แล้วยังมีปืน M16 ด้วย หรือในกรณีของนายพัน คำกอง ที่ศาลได้เขียนไว้ในคำสั่งว่า "...ทั้งยังได้ความว่ากระสุนปืนขนาดดังกล่าวยังสามารถใช้กับอาวุธปืนแบบทาโวร์ ทาร์ หรือ เอชเค 33 ด้วย ลำพังการตรวจอาวุธปืนแบบ เอ็ม 16 ดังกล่าวไม่ทำให้ผลการรับฟังข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป"

จากเหตุผลดังที่กล่าวไปนั้นจะเห็นได้ว่าการตรวจพิสูจน์เทียบหัวกระสุนเพื่อหาอาวุธปืนที่ใช้ยิงนั้นมีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการนำส่งอาวุธปืนเพื่อทำการตรวจพิสูจน์แล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถหาปืนกระบอกที่ใช้ยิงผู้เสียชีวิตได้ และคาดได้ว่าการไต่สวนชันสูตรพลิกศพในรายต่อๆ ไป ที่เสียชีวิตจากการถูกยิงและพบหัวกระสุนในศพก็จะมีผลการตรวจพิสูจน์ออกมาในลักษณะตามที่กล่าวไปเช่นกัน

 

ศาลไม่ให้จดบันทึกการไต่สวน

เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าตามระเบียบศาลนั้นห้ามนำอุปกรณ์บันทึกเสียงและภาพใดๆ ก็ตามเข้าห้องพิจารณาคดี แต่ก็ยังสามารถนำสมุดเข้าไปจดบันทึกได้(ทั้งผู้สังเกตการณ์ นักข่าว ผู้สนใจติดตามคดี) อย่างไรก็ตามมีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพบางกรณีที่ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ทำการจดบันทึก เช่น ในการไต่สวนการตายของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า(เหตุการณ์ 10 เม.ย. ที่ถนนดินสอ) และในการไต่สวนการตายของนายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข(เหตุการณ์ 16 พ.ค. ที่ใต้ทางด่วนพระราม 4) โดยเหตุผลขององค์คณะผู้พิพากษาก็คือ เกรงว่าเมื่อจดบันทึกผิดๆ ออกไปเขียนข่าว จะส่งผลต่อการทำงานของศาล ผู้พิพากษาเองก็ได้ถูกตำหนิในเรื่องนี้มาแล้วจึงขอความร่วมมือแกมบังคับไม่ให้จดบันทึก โดยผู้พิพากษากล่าวว่าตัวผู้พิพากษาเองก็ไม่อยากให้ถึงกับต้องออกเป็นคำสั่งศาล หากเป็นคำสั่งแล้วยังฝ่าฝืนก็จะเป็นการละเมิดอำนาจศาล(11) นอกจากนี้ในการไต่สวนคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ช่วงหนึ่งผู้พิพากษา(ซึ่งเป็นองค์คณะคนละชุดกับ 2 คดี ที่ได้กล่าวถึงไป) ไม่อนุญาตให้จดบันทึกเช่นกัน จนการไต่สวนครั้งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจึงสามารถจดได้โดยศาลไม่ได้ห้ามและไม่ได้มีการชี้แจงถึงสาเหตุแต่อย่างใด ซึ่งน่าแปลกใจที่ผู้พิพากษาที่เป็นคนกล่าวห้ามในคดีนี้ ก็เป็น 1 ในองค์คณะผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวนชันสูตรนายฟาบิโอ โปเลงกีด้วย แต่ในคดีของนายฟาบิโอกลับไม่ห้ามจดบันทึก

การห้ามจดบันทึกทั้ง 3 กรณีที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เท่านั้น แต่ในการไต่สวนของผู้เสียชีวิตอื่นๆ ที่ศาลเดียวกันนี้สามารถจดบันทึกได้ตามปกติ และเท่าที่สอบถามนักข่าวที่ติดตามคดีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก สามารถจดบันทึกการไต่สวนได้โดยไม่เคยมีการห้าม เพียงแต่ห้ามใช้สมาร์ทโฟนในการพิมพ์บันทึกเท่านั้น เนื่องจากศาลเกรงว่าบันทึกเสียงหรือวิดีโอเอาไว้

 

หมายเหตุ - ข้อสังเกตต่างๆ ที่เขียนขึ้นนี้มาจากข้อมูลตามข่าวทั้งหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต จากการสอบถามนักข่าวที่ติดตามการไต่สวนชันสูตรพลิกศพในศาล และจากการสังเกตการณ์คดีของผู้เขียนเอง ส่วนเอกสารจากศาลต่างๆ ที่มีการอ้างอิงถึงบางส่วนได้รับความร่วมมือจากทนายญาติผู้เสียชีวิต ทั้งจากกลุ่มทนายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย

 

เชิงอรรถ

(1)โดยในขณะนี้สำนวนคดีของนายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ดีเอสไอได้มีหมายเรียกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญาข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลแล้ว ส่วนสำนวนของนายชาญณรงค์ พลศรีลาและนายชาติชาย ชาเหลา ทางดีเอสไอกำลังจะนำสำนวนของทั้งสองคนตั้งเป็นคดีอาญาในข้อหาเดียวกัน

(2)ยังไม่พบว่ามีข่าวความคืบหน้าว่าสำนวนคำสั่งของร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ในขณะนี้ได้ถูกส่งไปที่ดีเอสไอแล้วหรือไม่

(3)ความคืบหน้า 2 คดี ดังกล่าวได้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของศาลอาญากรุงเทพใต้

(4)"เสื้อแดง"รำลึก วันยิงเสธ.แดง," ข่าวสด, 13 พ.ค.56

(5)"พยานชี้คดีณรงค์ฤทธิ์,"  ข่าวสด, 21 มี.ค.56

(6)"ศาลเล็งตัดพยานปากไม่สำคัญคดี 6 ศพวัดปทุมฯ," ทีนิวส์, 13 ก.ย.55

(7)"บริหารคดีใหม่ 6 ศพวัดปทุม ไต่สวนการตายทุกวันพฤหัส เสร็จ 18 ก.ค.56," ประชาไท, 19 ต.ค.55

(8)"คดีแรกไต่สวนการตายเสื้อแดง พ.ค.53 "ชาญณรงค์" นัดเดือน มิ.ย.-ก.ค.," ประชาไท, 12 มี.ค.55

(9)เพิ่มจากข้อมูลเดิมที่ ศปช. มีอยู่จาก 94 ราย เป็น 95 ราย เนื่องจากทราบจากข่าวเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย คือนายสมพงษ์ กิ่งแดง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ที่บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัล พลาซ่า แจ้งวัฒนะ

(9)เพิ่มจากข้อมูลเดิมที่ ศปช. มีอยู่จาก 94 ราย เป็น 95 ราย เนื่องจากทราบจากข่าวเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย คือนายสมพงษ์ กิ่งแดง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ที่บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัล พลาซ่า แจ้งวัฒนะ

(10)ทราบจากการตรวจของพ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย, พ.ต.ท.นพสิทธิ์ อัครนพหงส์ และร.ต.อ.หญิงสุพัตรา ถนอมวงค์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสามคนนี้มาจากจากกลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ขึ้นเบิกความเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 55 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้สามารถดูคำเบิกความของทั้งสองคนได้ที่ เอกสารบันทึกคำเบิกความของศาลหน้า 49-58

(11)ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 ส่วนบทลงโทษในมาตรา 33 ระบุไว้ว่ามีตั้งแต่การไล่ออกจากห้องพิจารณาคดี จนถึงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำคุกและปรับ โดยโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสรีภาพในการแสดงออกในภาวะสงครามที่มีอุดมการณ์เพื่อปลดปล่อยรัฐปาตานี

Posted: 18 May 2013 09:24 AM PDT

 
การสู้รบเป็นเครื่องมือสำหรับการเมือง เป้าหมายทางการเมือง (Political Object) คือ ต้นเหตุที่จูงใจในการทำสงครามและเป็นกรอบในการกำหนดระดับความเข้มข้นของสงคราม สงครามที่ปาตานีมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 5,000 คนมีผู้บาดเจ็บกว่าหมื่นคนและมีทรัพย์สินมากมายที่เสียหายถูกทำลาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำของฝ่ายใด ความสูญเสียเหล่านี้สะท้อนถึงความเข้มข้นของสงคราม การที่กลุ่มขบวนการได้ใช้การสู้รบด้วยอาวุธเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ เนื่องจากเป้าหมายทางการเมืองหรือเหตุจูงใจในการทำสงครามนั้นคือ เอกราช หากการต่อสู้มีเป้าหมายเพื่อปกครองตนเองหรือเขตปกครองพิเศษ ความสูญเสียคงไม่มากขนาดนี้หรืออาจจะไม่มีความสูญเสียเลย

ฉะนั้นหากการทำสงครามสู้รบกับรัฐไทยของกลุ่มขบวนการมีเป้าหมายหรือเปลี่ยนเป้าหมายเพื่อเขตปกครองพิเศษหรือเขตปกครองตนเอง ย่อมเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าและขาดทุนอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อรัฐไทย กองกำลังติดอาวุธของขบวนการและประชาชนทั่วไป เพราะการต่อสู้ที่ไม่ใช่เพื่อแบ่งแยกดินแดนสามารถกระทำได้อยู่แล้วตามกระบวนการประชาธิปไตยและตามกฎหมายโดยมิต้องใช้ความรุนแรง
 
การทำสงครามที่ปาตานีเป็นการสื่อสารให้สังคมรับรู้ทำนองว่า ฉันต้องการเอกราช รัฐไทยคือข้าศึกที่มารุกรานรัฐปาตานี  เหตุผลที่มีการเลือกใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เนื่องจากการต่อสู้แนวทางอื่นไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐไทยและประชาคมโลก และการต่อสู้แนวทางอื่นมีความผิดเช่นเดียวกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ วันนี้แม้รัฐไทยจะพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆเพื่อลดเงื่อนไขในการทำสงคราม   แต่กระนั้นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่รัฐปาตานีเคยเสียเอกราชให้แก่รัฐไทย จึงมีปัญหาว่ารัฐไทยจะลบเงื่อนไขดังกล่าวได้อย่างไร คงเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจลบหรือขจัดให้สิ้นซากได้และเป็นสาเหตุหลักของการทำสงครามที่ปาตานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกพิศดารที่ อุดมการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมจะมีในความคิดความรู้สึกของคนปาตานีทุกคนไม่มากก็น้อย ตราบใดที่รัฐปาตานียังไม่ได้รับเอกราชจากรัฐไทยอุดมการณ์เช่นนี้ก็จะยังคงมีสืบต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่วิธีการต่อสู้ของแต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจจะแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อความรู้ความสามารถของตน
 
ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินข่าวสารหรือการให้สัมภาษณ์จากฝ่ายต่างๆที่เรียกร้องให้กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนยุติการใช้ความรุนแรง เมื่อการต่อสู้ที่ปาตานีจะต้องดำเนินต่อไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแต่ความรุนแรงและความสูญเสียเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงมีคำถามไปยังฝ่ายที่เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงว่า หากเราต้องการให้ยุติการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ที่ปาตานีเราสามารถยอมรับการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยรัฐปาตานี โดยสันติวิธีได้มากน้อยเพียงใด หากมีการยุติการใช้ความรุนแรงจริงแต่เปลี่ยนมาใช้วิธีการพูด ทำป้าย จัดเวทีอภิปราย ทำหนังสือเอกสาร แสดงความเห็นในโลกออนไลน์ ตั้งกลุ่มตั้งพรรคการเมืองหรืออื่นๆในการต่อสู้ว่าเขาต้องการเอกราช หรือเขตปกครองพิเศษหรือเขตปกครองตนเองหรืออย่างอื่นๆนอกจากนี้ เป็นสิ่งที่สังคม รับได้หรือไม่
 
เสรีภาพในการแสดงออกในภาวะสงครามที่มีอุดมการณ์เพื่อปลดปล่อยรัฐปาตานีจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ผู้ที่คิดต่างจากรัฐสามารถสื่อสารสิ่งที่เขาต้องการได้โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง  แต่ด้วยข้อกฎหมายทำให้การแสดงความคิดเห็นมีข้อจำกัดมากจึงทำให้มีการเลือกใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เนื่องจากสามารถสื่อสารกับสังคมโดยที่มิต้องเปิดเผยตัวตนและไวต่อการรับรู้ของสังคม  เราเรียกร้องให้กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนยุติการใช้ความรุนแรงแต่ขณะเดียวกันหากมีคนแสดงความเห็นหรือชู้ป้ายว่าเขาต้องการเอกราชหรือต้องการลงประชามติ เราก็รับไม่ได้ แบบนี้เราจะให้เขายุติการใช้ความรุนแรงได้อย่างไร วันนี้รัฐไทยต้องยอมรับว่ารัฐไม่สามารถขจัดอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหรือการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนปาตานีได้   แต่รัฐสามารถสร้างทางเลือกในการต่อสู้ให้กับคนปาตานีโดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ในบริบทของสงครามเช่นนี้รัฐจะต้องสร้างกระบวนการทางกฎหมายที่คุ้มครองผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ให้เขาสามารถต่อสู้ด้วยเหตุและผล หากมีบุคคลใดไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ดังกล่าว เขาก็สามารถต่อสู้ถกเถียงแลกเปลี่ยนอภิปรายแสดงออกในสิ่งที่ตนต้องการได้ ด้วยเหตุและผลเช่นเดียวกัน
 
การให้โอกาสแก่ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ไม่ว่าเขาจะมีมุมมองในแก่ปัญหาอย่างไร เขาจะต้องการการปกครองตน (Autonomy) ต้องการเอกราช(Independence)ต้องการเขตปกครองพิเศษหรือหรือต้องการอะไรก็แล้วแต่ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยสามารถต่อสู้กันด้วยเหตุและผล เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายตน  จะเป็นการเปิดโอกาสให้ให้ประชาชนปาตานีต่อสู้ด้วยสันติวิธีลดการการสูญเสียจากการใช้ความรุนแรง

อาจมีคำถามว่าการเปิดโอกาสเช่นนี้จะเป็นการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนและเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 1 บัญญัติว่า  "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้"และมาตรา 45 วรรค 1-2 วางหลักว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น" "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ" จากบทกฎหมายดังกล่าวจะเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งแยกดินแดนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยอยู่บ้างต่อความมั่นคงของประเทศ  แต่ในบริบทของสงครามอันมีอุดมการณ์เพื่อปลดปล่อยรัฐปาตานีนั้น หากรัฐไทยไม่สร้างทางเลือกและยอมรับการต่อสู้ด้วยหนทางสันติวิธี การเรียกร้องให้กลุ่มขบวนการยุติการใช้ความรุนแรงจึงแทบจะไม่มีความหมาย
 
"รัฐบาลมาถูกทางแล้ว" นี้คือวาทะกรรมที่มาจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย แต่จนแล้วจนรอดไม่มีรัฐบาลใดสามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะไม่มีใครทราบว่าแท้ที่จริงแล้วคนปาตานีต้องการอะไร เราอาจเคยเห็นโพลส์สำรวจความคิดเห็นของประชาชนปาตานี ที่จัดทำขึ้นจากภาคประชาสังคมหรือองค์กรต่างๆทั้งจากเอกชนและรัฐบาล ว่าประชาชนปาตานีต้องการอะไร? ไม่ว่าคำตอบจะออกมาอย่างไร

การตั้งคำถามในลักษณะนี้และคำตอบที่ได้จากประชาชนแทบจะไม่มีความหมาย เนื่องจากผู้ให้คำตอบอยู่ในภาวะที่ถูกบีบด้วยกฎหมายที่ไม่สามารถเห็นต่างจากรัฐได้และต้องตอบคำถามแสดงความต้องการเท่าที่ไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น  เช่นเดียวกับผู้ที่เห็นต่างจากกุล่มขบวนการก็ไม่กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนต้องการได้เนื่องจากไม่มันใจในความปลอดภัย หากรัฐไทยไม่ทราบว่าประชาชนปาตานีต้องการเอกราชหรือเขตปกครองพิเศษหรือต้องการอะไรก็แล้วแต่ รัฐไทยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐไทยจะมาถูกทางได้ก็ต่อเมื่อรัฐไทยแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับความต้องการของคนปาตานี
 
ดังนั้น หากรัฐไทยต้องการปัญหาชายแดนใต้ เบื้องต้นรัฐต้องทราบให้แน่ชัดว่า คนปาตานีต้องการอะไร ต้องการเอกราชก็คือต้องการเอกราช ต้องการเขตปกครองพิเศษก็คือเขตปกครองพิเศษ ต้องการอยู่ภายใต้รัฐไทยก็คืออยู่ภายใต้รัฐไทย จึงจะสามารถจัดการกับปัญหาได้ถูกทาง   รัฐไทยจึงต้องสร้างกระบวนการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ และสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในความปลอดภัยแก่ชีวิตเพื่อขจัดความกลัวต่อความรุนแรง ในภาวะที่ชายแดนใต้เป็นสงครามที่มีอุดมการณ์เพื่อปลดปล่อยรัฐปาตานี ข้อเสนอดังกล่าวนี้ จะทำให้สงครามที่ต่อสู้ด้วยอาวุธเปลี่ยนเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธีซึ่งจะสร้างทางเลือกให้คนปาตานีต่อสู้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์และกองกำลังติดอาวุธของทั้งสองฝ่าย แม้จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศอยู่บ้าง แต่คนปาตานีมีความรู้  มีเหตุผลและมีศักยภาพในการตัดสินใจ ว่าเขาควรอยู่ภายใต้รัฐไทยต่อไปหรือควรแบ่งแยกดินแดนหรือควรจะแสดงเจตจำนงของตนเองอย่างไร
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทบทวน 3 ปี เดินหน้าประชาธิปไตยให้สมบูรณ์

Posted: 18 May 2013 08:42 AM PDT

 

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ของขบวนการคนเสื้อแดง ซึ่งหลายกลุ่ม แต่กลุ่มหลักใหญ่ คือนปช. และพรรคเพื่อไทย  นอกนั้นเป็นกลุ่มย่อยมีทั้งแนวอิสระไม่นิยมการจัดตั้งองค์กร   แนวอนาคิสต์  แนวสังคมนิยมก็มีแต่ไร้พลังมวลชนแม้ความคิดก้าวหน้าก็ตาม  ฯลฯ จึงมีทั้งความหลากหลายเอกภาพและแตกต่างกันนั้นทั้งในด้านยุทธศาสตร์ยุทธวิธี  

ผู้เขียนขอสรุป 8 เรื่องที่สำคัญในปัจจุบัน

1 เรื่องจุดร่วมสำคัญของเสื้อแดงทุกกลุ่มทุกองค์กร  เป็นการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ50 ให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น  

2 เรื่อง พรบ .นิรโทษกรรมนั้นทุกกลุ่มให้ความสำคัญโดยเฉพาะ พรบ.นิรโทษกรรมของสส.วรชัย เหมะ ซึ่งต้องผลักดันมากกว่าข้อเสนอ พรบ.ปรองดองแบบของ เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งอาจสร้างความสับสนและเป็นประเด็นให้มีการต่อต้าน โจมตี เป็นจุดอ่อน เปิดทางให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเคลื่อนได้ง่ายขึ้น

3 เรื่องยึดมั่นหลักการอุดมการณ์ประชาธิปไตยพื้นฐาน ที่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกกลุ่มต่อการชุมนุม ไม่สร้างความเกลียดชัง มีจิตใจเปิดกว้าง มีความเป็นเหตุเป็นผล  มีสันติวิธีเป็นแนวทาง จึงมีความชอบธรรม  อย่ากระทำตนขัดแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งเป็นหลักการของเสื้อแดง    เช่น ต้องไม่ขมขู่คุกคามการชุมนุม การปราศรัยของคนกลุ่มต่างๆที่อาจมาเสนอปัญหา หรือเวทีทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ มิฉะนั้นจะเป็นการทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเสื้อแดงเสียเอง

4 เรื่องความแตกต่างทั้งทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี จังหวะก้าวการเคลื่อนไหว  เป็นการต่อสู้ทางความคิด ในหมู่มิตรไม่ใช่ศัตรู ควรถนอมรักกันด้วย วิจารณ์อย่างสามัคคี อย่าผลักมิตรเป็นศัตรู โจมตีกล่าวร้ายป้ายสีกันเอง  ที่สำคัญมวลชนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์มิใช่เจตจำนงของคนทั้งสิ้น  เนื่องเพราะข้อเสนอใด การกระทำใดสอดคล้องมวลชนย่อมเอาด้วย หากองค์กรกลุ่มใดเสนอเมื่อมวลชนไม่เอาด้วยก็ต้องทำงานทบทวน ใจเย็นอดทนพอ ใช้เวลาพิสูจน์  ประชาธิปไตยไม่อาจสร้างได้เพียงข้ามวัน   

5 เรื่องข้อเสนอประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เช่น รัฐสวัสดิการ  ของแดงบางกลุ่มที่ นปช. พรรคเพื่อไทย เมินเฉย   ก็ต้องนำเสนอเข้าหามวลชนเอง  ยกระดับการรับรู้ สร้างองค์กร หาสมาชิกอย่างต่อเนื่อง อดทน ใช้เวลามิเพียงเสนอรายวัน รายกิจกรรม หรือเวทีสัมมนาเท่านั้น เนื่องเพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับมวลชน

6 เรื่องที่คนเสื้อแดงทุกกลุ่มต้องทำงานขยาย งานแนวร่วม ช่วงชิงคนคิดต่างมาเป็นมิตรให้มากที่สุดโดยเฉพาะระดับมวลชนแม้อาจเป็นเหลืองแต่ขาดการรับรู้   เพื่อโดดเดี่ยวพวกปฏิกิริยา พวกแกนนำเสื้อเหลืองที่มีผลประโยชน์ส่วนตน

7  เรื่องความเข้มแข็งทางความคิดอุดมการณ์ การสร้างการนำตนเองของกลุ่มของมวลชนต่างๆก็สำคัญยิ่ง  ไม่อาจฝากความหวังให้ใครก็ตาม เพื่อป้องกันการเกียะเซี๊ยะ  หากมีการเกี๊ยะเซี๊ยะ ไม่ยอมเดินหน้าประชาธิปไตยให้สมบูรณ์  แต่มวลชนเติบโตเติบใหญ่ใครถอยยอมจำนนก็จักไม่มีปัญหาในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป

8 เรื่องสุดท้าย ต้องยึดหลัก สามัคคีในหมู่คนเสื้อแดง แม้หลากหลายแตกต่างกันในหลายเรื่อง แต่จุดร่วมมีอยู่  การต่อสู้ในสภาวะรูปธรรมที่เป็นจริง ภาวะวิสัยจึงต้องสอดคล้องกับอัตวิสัย 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ' ย้ำประชุมเวทีคู่ขนานไม่มีประท้วงรุนแรง

Posted: 18 May 2013 05:47 AM PDT

ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือระบุเวทีวิชาการ 19 พ.ค.นี้ที่เชียงใหม่ เป็นเวทีปกติของเครือข่ายฯ ที่จัดหมุนเวียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เป็นการแสดงออกอย่างสันติ อหิงสา ด้านเจ้าของสถานที่เผยจัดงานเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างมีสาระและเป็นประชาธิปไตยสำหรับคนทุกฝ่าย

18 พ.ค. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวว่า ในการประชุมเวทีวิชาการขององค์กรเครือข่ายลุ่มน้ำที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเวทีปกติของเครือข่ายลุ่มน้ำ ฯ ที่จัดขึ้นหมุนเวียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เรื่องการจัดการน้ำโดยองค์กรชุมชน เป็นเวทีวิชาการขององค์กรประชาชนและวิชาการท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการน้ำในลุ่มน้ำภาคเหนือ ซึ่งในที่ประชุมจะมีการหารือกันเรื่องแนวทาง วิธีการจัดการน้ำโดยองค์กรชุมชน บนพื้นฐานความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งหมดทุกเครือข่ายฯ แล้ว จะทำเป็นเอกสารเพื่อนำเสนอถึงรัฐบาลนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเรื่องการบริหารงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ที่จะนำมาจัดการแก้ปัญหาน้ำทั่วประเทศต่อไปอย่างเป็นระบบและสอดรับกับบริบทของลุ่มน้ำต่างๆ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชาวบ้านและไม่มีความขัดแย้ง เพราะจัดการบนพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวต่อว่า เหตุผลประการสำคัญของการประชุมวิชาการของเครือข่าย ฯ 42 องค์กรในครั้งนี้ต้องการเสนอความคิดเห็นที่เป็นข้อสังเกตในการบริหารจัดการน้ำด้วยเงินงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท มี 3 ประการคือ 1.รัฐบาลยังขาดการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการ 2.กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรชุมชนในการจัดการน้ำไม่เกิดขึ้น ทั้งวิธีคิด ความเข้าใจ เพราะภาคประชาชนและองค์กรชุมชนไม่ได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วม และ 3.กระบวนการตัดสินใจขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากลุ่มน้ำต่าง ๆ ทุกแห่ง ซึ่งหากละเลยอาจจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของประชาชนทั่วประเทศอย่างไม่อาจประเมินได้
 
"ดังนั้นจากข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นทางเครือข่ายฯ จะร่วมกันระดมความคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอและทางออกของการจัดการน้ำโดยองค์กรชุมชนที่พิจารณาบนพื้นฐานความเหมาะสมของลุ่มน้ำแต่ละพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ ภาคอิสาน ภาคกลาง ด้วยรูปแบบของการจัดการน้ำหรือแก้ปัญหาน้ำท่วม แล้ง ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการแสดงออกทางความคิดผ่านเวทีวิชาการในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกอย่างสันติ อหิงสา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด เพียงแต่ต้องการแสดงจุดยืนของภาคประชาชนและองค์กรชุมชนที่มีจิตหวงแหนต่อทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ" นายสมเกียรติ กล่าวย้ำ
 
 
เจ้าของสถานที่เผยจัดงานเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างมีสาระและเป็นประชาธิปไตยสำหรับคนทุกฝ่าย
 
ทั้งนี้ในวันเดียวกัน (18 พ.ค.) ร้านบุ๊ครีพับลิกซึ่งเป็นสถานที่ในการจัดงาน เวทีภาคประชาชน "การจัดการน้ำ: ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า" ได้เผยแพร่ข้อความทางหน้าแฟนเพจของทางร้านโดยระบุว่า
 
ในนามของร้านบุ๊ครีพับลิก ซึ่งเป็นสถานที่ในการจัดงานเวที "การจัดการน้ำ: ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า" โดยเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคมนี้ พวกเราขอยืนยันว่า การจัดงานในวันพรุ่งนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ และไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มหรือพรรคการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น หากแต่มีเป้าหมายเพื่อต้องการที่จะเปิดเผยข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบอันจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาลุ่มน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้รัฐบาลและสาธารณชนมีโอกาสได้รับรู้ 
 
บุ๊ครีพับลิกในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างมีสาระและเป็นประชาธิปไตยสำหรับคนทุกฝ่าย พวกเราขอให้ทุกๆ กลุ่มเข้าใจในเจตนารมณ์นี้อย่างมีสติและเปิดกว้างด้วยค่ะ  
 
 
'เอ็นจีโอน้ำเหนือ-อีสาน' ออกแถลงการณ์  "หยุดกุข่าว หยุดข่มขู่ คุกคาม ร่วมกันสร้าง บรรยากาศประชาธิปไตยให้ที่ประชุม"
 
โดยเมื่อวันศุกร์ (17 พ.ค.) ที่ผ่านมาเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพรรษา จ.เชียงใหม่ ในการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2  นายวชิระ ม่วงแก้ว ที่ปรึกษานายปลอดประสพ สุรัสวดี  รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ระบุว่าเตรียมกำลังไว้ 5,000 คน หากมีกลุ่มภาคประชาชนออกมาต่อต้านการจัดประชุมระดับผู้นำด้านน้ำฯ ว่า  ยืนยันว่าการมาชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ทางเราไม่ได้เปิดให้เข้ามาชุมนุมภายในพื้นที่บริเวณการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสนับสนุนหรือกลุ่มต่อต้านการประชุม แต่จะมีการส่งตัวแทนออกไปรับหนังสือหรือข้อเรียกร้องต่างๆ ทั้งนี้คณะผู้จัดงานประชุมมีการตรวจสอบความเรียบร้อยในการประชุมและมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ไม่ใช่ว่ากลุ่มนี้เราเปิดให้เข้า แต่อีกกลุ่มไม่เปิด ซึ่งเราคำนึงถึงการรักษาความปลอดภัยของผู้มาร่วมประชุมและเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบอย่างเต็มที่ 
 
ด้านนายนิวัติ ร้อยแก้ว ตัวแทนเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน เปิดเผยว่า เครือข่ายประชาชนฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2  เรื่อง " หยุดกุข่าว หยุดข่มขู่ คุกคาม ร่วมกันสร้าง บรรยากาศประชาธิปไตยให้ที่ประชุม"   โดยระบุว่า ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ.  พร้อมด้วยนายตำรวจระดับสูงหลายคนออกมาให้ข่าวอย่างใหญ่โตและต่อเนื่องว่าจะมีการ ชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ 7-8 กลุ่มในช่วงการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำฯ นั้น  เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานในฐานะผู้ถูกพาดพิง เห็นว่าเป็นการให้ข่าวแก่สังคมที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจากเครือข่ายฯ ไม่มีแผนที่จะประท้วงหรือสร้างความเสียหายแก่การประชุมแต่อย่างใด  และตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นการสร้างข่าว หรือกุข่าวเพื่อเป็นข้ออ้างในการใช้งบประมาณประเทศร้อยกว่าล้านในการรักษา ความปลอดภัยของการประชุมครั้งนี้หรือไม่ โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบถามชาวบ้านและบุคคลต่างๆ ที่รัฐบาลคิดว่าเป็นแกนนำด้านการจัดการน้ำภาคประชาชนในพื้นที่ ต่างๆในภาคเหนือรวมถึงภาคอีสาน โดยเน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องการไปประท้วงหน้าบริเวณศูนย์ประชุมนานาชาติ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดเวทีคู่ขนานของภาคประชาชนในครั้งนี้
 
นายนิวัติ กล่าวอีกว่า เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำขอชี้แจงต่อสาธารณะว่ากิจกรรมเวทีคู่ขนาน เป็นการจัดประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ปัญหา และข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดการน้ำของรัฐ โดยเฉพาะเพื่อให้ประชาชนในระดับรากหญ้า สามารถบอกเล่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ของชุมชน เรื่องปากเรื่องท้องของชาวบ้านที่อาศัยหาอยู่หากินตามลุ่มน้ำ ต่างๆ ผู้ที่มาร่วมเวทีส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านในภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งแต่เริ่มแรก จนปัจจุบัน เราขอยืนยันว่าไม่เคยมี และไม่มีแผนที่จะไปประท้วง หรือใช้ความรุนแรงในที่สถานที่จัดประชุมแต่อย่างใด ดังนั้นเครือข่าย ประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน  ขอเรียกร้องหยุดการกุข่าวและให้ข้อมูลที่เป็นเท็จแก่ประชาชน และหยุดการคุกคาม บุคคลที่มีความเห็นแตกต่าง ทั้งนี้เพื่อเป็น ตัวอย่างให้นานาประเทศที่ร่วมประชุม ได้เห็นความก้าวหน้าในกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทยอย่างแท้จริง
 
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)  เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พ.ค.  ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป กลุ่มองค์กรภาคประชาชนต่างๆ จะจัดเวทีภาคประชาชน ในหัวข้อ  "การจัดการน้ำ:ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า" ที่ร้านร้านบุ๊ครีพับลิก ถ.คลองชลประทาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่  เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงจากรากหญ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกละเลยในการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำฯ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการเดินทางไปชุมนุมที่ศูนย์การประชุมนานาชาติตามที่บางฝ่ายจุดประเด็นขึ้นมาเด็ดขาด และขอทำความเข้าใจกับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ต้องการเห็นการทำงานที่โปร่งใสของภาครัฐในเรื่องสิ่งแวดล้อม  เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้มองว่าจัดการประชุมดังกล่าวไม่เป็นการเปิดกว้างกับคนทุกฝ่าย เพราะผู้เข้าฟังต้องจ่ายค่าลงทะเบียนถึง 9,000 บาทต่อคน ทั้งที่สถานที่ก็เป็นของราชการ ซึ่งคนที่เข้าฟังการประชุมได้จึงเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์กับชาวบ้านและประเทศไทยอย่างแท้จริง นอกจากนั้นทราบว่าเวลานี้งบประมาณในการจัดการประชุมเกินไปจากที่ ครม. อนุมัติไว้ประมาณ 150 ล้านบาทไปแล้ว  เพราะถูกนำมาใช้ในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ระดมตำรวจมาเป็นจำนวนมากหลายพันนาย นอกจากนั้นทราบว่าเฉพาะการตัดชุดให้ผู้นำชาติต่างๆ และแขกที่มาร่วมก็เป็นจำนวนถึง 16 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ภาคประชาชนต้องตรวจสอบต่อไป.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘กป.อพช. อีสาน’ ออกแถลงการณ์หนุน ‘พีมูฟ’ จี้รัฐเร่งแก้ปัญหา

Posted: 18 May 2013 05:20 AM PDT

18 พ.ค. 56 - คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสานออกแถลงการณ์ "รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องคนจน อย่างจริงใจและเป็นธรรม" สนับสนุนการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-move ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2556 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 
แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน 
"รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องคนจน อย่างจริงใจและเป็นธรรม"
 
การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-move ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นมานั้น เพื่อทวงสัญญากับรัฐบาล ถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาต่างๆ ได้แก่ ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาพี่น้องที่ถูกจับดำเนินคดี ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล กรณีโรงไฟฟ้า ชีวมวล กรณีปัญหาคนไทยไร้สัญชาติ ฯลฯ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา การดำเนินการแก้ไขปัญหาของอนุกรรมการในแต่ละชุด ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล ไม่เกิดความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พี่น้องคนจนผู้ได้รับผลกระทบ จึงมาชุมนุมในครั้งนี้เพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาล 
 
จนกระทั่งมีตัวแทนของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลออกมารับเรื่องว่าจะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการตามที่ตกลงไว้ ซึ่งผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาล ที่กล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทนของเสียงข้างมากที่มาจากประชาชนโดยชอบธรรมตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องคนจน เพิกเฉยเตะถ่วง ทอดระยะเวลาออกไปเรื่อยๆ ถือว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการสร้างความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน
 
การกระทำดังกล่าว ยิ่งลดทอนศักยภาพของพี่น้องคนจนที่มาเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา ลำพังเรื่องปัญหาปากท้อง หนี้สินในชีวิตประจำวัน ก็สร้างความยากลำบากอยู่แล้วในสภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพสูง ข้าวของอาหารแพง และยังต้องมารับผลกระทบเผชิญกับกรณีปัญหาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมของชาวบ้านคนจนเข้าไปเป็นทวีคูณยิ่งขึ้น
 
ดังนั้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน จึงเรียกร้องให้รัฐบาล และผู้มีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา จงได้ตระหนักถึงหลักเมตตาธรรมความเป็นธรรมอันเป็นจริยธรรมของผู้บริหารบ้านเมือง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ให้กับพี่น้องผู้เดือดร้อนในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในฐานะเพื่อนมนุษย์ อย่างมีศักดิ์ศรีเสมอเหมือนคนอื่นๆ ในสังคมตามหลักความเสมอภาค เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ
 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน
วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

Posted: 18 May 2013 04:13 AM PDT

"..หน้าที่ของนักคิดในขบวนการเสื้อแดงก็ต้องคิดว่าระบอบประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าจะได้ผลักดันให้ขบวนการไปให้ถึงมากกว่าการถกเถียงในเรื่องรายวัน เพราะเอาเข้าจริงคนที่ถกเถียงเรื่องรายวันได้ดีที่สุดคือนักการเมือง"

นักวิชาการและนักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม ผู้ที่เมื่อ 3 ปีที่แล้วร่วมชุมนุมในเวทีรอบราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุติการสลายการชุมนุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น