ประชาไท | Prachatai3.info |
- เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันทางภาคกลางของพม่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 147 ราย สูญหายอีกนับร้อย
- "สุขุมพันธุ์" เผยเมื่อก่อนเปิดประตูน้ำไม่เต็มที่ เพราะดูแล กทม. ไม่ใช่รับผิดชอบคนทั้งชาติ
- ปคอป.ประชุมนัดแรกวางกรอบเร่งเยียวยา-สางปมคดีหมิ่นเบื้องสูง ยันไม่แก้ ม.112
- พม่าส่งสายลับจับตาอดีตนักโทษการเมืองไทใหญ่หลังปล่อยตัว
- คำถามถึงอธิบดีกรมชลฯ และผู้ว่า กฟผ. กับการบริหารน้ำเดือนตุลาคม
- วรางคณา วณิชาชีวะ: รวมศูนย์ร่วมใจ...แก้ภัยน้ำท่วม
- ซูจีให้สัญญาจะทำงานเพื่อให้นักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด
- พ.ร.บ.จดแจ้งฉบับใหม่:โซ่ตรวนหนังสือพิมพ์
- ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อฯค้านร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์
- TCIJ: กรรมการสิทธิไทย-อาเซียน เยี่ยม “จินตนา แก้วขาว” แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- แรงงานข้ามชาติที่มหาชัยเตรียมใส่บาตรช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม 23 ต.ค. นี้
- ปชป. เปิดโรงครัวช่วยน้ำท่วม เผยมีความพยายามสร้างความแบ่งแยกคนกรุงฯ - ตจว.
- บทเรียนวิกฤติน้ำท่วม 2554 และสิ่งที่ควรแก้ไขในอนาคต
- ยิ่งลักษณ์ประกาศคำสั่งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงแล้ว
- สมาพันธ์กาชาดสากลฯ ระบุครึ่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม เตือนสื่อระวังการรายงานข่าว
เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันทางภาคกลางของพม่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 147 ราย สูญหายอีกนับร้อย Posted: 21 Oct 2011 12:04 PM PDT หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Eleven Weekly ของพม่ารายงานว่า เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันทะลักในเมืองปะโค้กู่ ภาคมะกวย ทางภาคกลางของประเทศเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ตุลาคม) ที่ผ่านมา โดยน้ำที่เช่ียวกรากและระดับน้ำที่สูงราว 3 เมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 147 คน และอีกนับร้อยคนสูญหายไปพร้อมกับกระแสน้ำ ทั้งนี้มีรายงานว่า ฝนที่ตกหนักหลายวันทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมเมืองปะโค้กู่อย่างรวดเร็วและได้พัดเอาบ้านเรือนของชาวบ้านอย่างน้อย 300 หลังคาเรือนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยขณะนี้มีชาวบ้านกว่า 400 ครอบครัวต้องไร้ที่อยู่อาศัย ขณะที่ชาวบ้านจำนวน 1,500 คน ต้องอาศัยอยู่ตามวัด มีการคาดการณ์กันว่า น่าจะมีหมู่บ้านกว่า 30 หมู่บ้านในเขตซิกผิ่ว ทางตอนใต้ของเมืองปะโค้กู่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ส่วนระดับน้ำในขณะนี้ลดลงมาอยู่ในระดับปกติแล้ว โดยฝนที่ตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนในปีนี้ ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของประเทศพม่ายังต้องประสบกับปัญหาดินถล่มอีกด้วย (Irrawaddy /DVB 21 ตุลาคม 54) แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
"สุขุมพันธุ์" เผยเมื่อก่อนเปิดประตูน้ำไม่เต็มที่ เพราะดูแล กทม. ไม่ใช่รับผิดชอบคนทั้งชาติ Posted: 21 Oct 2011 10:27 AM PDT "สุขุมพันธุ์" ระบุ กทม.เปิดประตูระบายน้ำมาโดยตลอด แต่อาจเปิดได้ไม่เต็มที่เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบ กทม. ไม่ใช่ต่อคนทั้งชาติ ห่วง 4 จุดเสี่ยงรอบพื้นที่ กทม. คลองรังสิตตัดถนนพหลโยธิน, คลองสองและคลองหกวา, คลองประปา ด้านคนปทุมกว่า 200 คน เข้าควบคุมขัดขวางรถเครนขนาดใหญ่และตู้คอนเทนเนอร์ที่จะทำการป้องกันน้ำเข้า กทม. 21 ต.ค. 54 - ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าที่ศาลาว่าการกทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้ตนมีอำนาจมากกว่าเดิมสามารถสั่งการอะไรในพื้นที่ กทม.ก็ได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมจากนายกรัฐมนตรี หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบเรื่องใด กทม.ก็ไม่สามารถคัดค้านได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล และการทำงานหลังจากนี้ก็คงเป็นแนวทางเดียวกัน เพราะเข้าใจดีและเคยเป็น ส.ส.มาก่อน รวมถึงเคยผ่านกฎหมายมาหลายฉบับ ฉะนั้นย่อมเคารพต่อกฎหมาย “ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันฯ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ต้องไปถามรัฐบาล แต่ยืนยันว่า กทม.เปิดประตูระบายน้ำมาโดยตลอด แต่อาจเปิดได้ไม่เต็มที่ เพราะผมมีหน้าที่รับผิดชอบต่อชาวกทม. ไม่ใช่รับผิดชอบต่อคนทั้งชาติ หากถามความรู้สึกผม ถ้าจะให้ทำอะไรก็พร้อมทำทุกอย่าง ผมถวายชีวิตให้คนกทม.แล้ว แค่กฎหมายนี้ทำไมผมจะยอมรับไม่ได้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ยังเป็นห่วง 4 จุดเสี่ยงรอบพื้นที่ กทม. ได้แก่ 1.คลองรังสิตตัดถนนพหลโยธิน เพราะขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปดูแล เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อท่วมถนนหน้าห้างเซียร์รังสิตแล้ว ซึ่งนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานมายัง กทม.ว่าจะส่งบุคลากร 1,000 นาย เข้าไปดูแลจุดนี้ แต่หากไม่สามารถป้องกันได้ น้ำจะทะลักเข้าคลองเปรมประชากร 2.คลองสองและคลองหกวา ซึ่งเป็นภารกิจใหญ่ของ กทม.ในการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างช้าสุดวันพรุ่งนี้ 3.พื้นที่ฝั่งตะวันตกของ กทม.และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งพบว่ามีระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร หากปริมาณน้ำสูงถึง 2.5 เมตร จะมีปัญหาได้ เพราะเกรงว่าปริมาณน้ำจะโอบล้อมเข้าท่วมพื้นที่ 4.คลองประปา ขณะนี้น้ำในคลองได้คลี่คลายลงระดับหนึ่ง เพราะมีการผันน้ำเข้าคลองบางเขนใหม่ และคลองบางซื่อ ซึ่งการประปานครหลวง (กปน.) ยืนยันว่าภายในวันพรุ่งนี้จะเข้าไปแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่กทม. แต่ปัญหานั้นกลับส่งผลกระทบถึงคนกทม. ซึ่งขณะนี้มีคนในพื้นที่ดอนเมืองต้องอพยพไปแล้วถึง 1,492 คนในศูนย์อพยพ 6 แห่ง คนปทุมกว่า 200 คนประท้วงป้องน้ำเข้ากรุง เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานเมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 21 ต.ค. ชาวบ้านในต.คลองสาม คลองสี่ และคลองห้า ในเขตอ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กว่า200คน เข้าควบคุมขัดขวางรถเครนขนาดใหญ่และตู้คอนเทนเนอร์จำนวนหนึ่งของบริษัทอิตาเลียนไทย ที่จอดอยู่บนสะพานข้ามคลองสาม หมู่16 ต.คลองสาม บนถนนกาญจนาภิเษก บางปะอิน-บางนา หลักกม.ที่3+700 หลังชาวบ้านทราบข่าวว่าบริษัทอิตาเลียนไทย จะนำรถเครนพร้อมตู้คอนเทรนเนอร์22ตู้ เพื่อขวางคลองระพีพัฒน์ไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่คลองส่งน้ำที่1เพื่อป้องกันน้ำเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นผลให้ชาวบ้านในตำบลคลองสาม คลองสี่ และคลองห้า ต้องจมอยู่ใต้น้ำหนักกว่าเก่า เพราะปริมาณน้ำที่มากจาก ต.พยอม อ.วังน้อย จะเพิ่มระดับสูงขึ้นในพื้นที่ที่อยู่ด้นทิศตะวันออก นายจิรวัฒน์ มาลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้รับการว่าจ้างจาก ศปภ.ดอนเมือง นำตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง22ตู้มาวางขวางคลองส่งน้ำระพีพัฒน์ เพื่อขวางทางน้ำบริเวณใต้สะพานข้ามคลองสามหมู่ที่16 โดยจะใช้ถนนกาญจนาภิเษกหมายเลข9 บางปะอิน-บางนา เป็นพนังกั้นน้ำ ขณะที่กำลังจะดำเนินการได้มีชาวบ้านกว่า200คน เข้ามาขัดขวาง จึงต้องนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาทราบ และขนตู้คอนเทรนเนอร์และรถเครนกลับเพื่อลดความขัดแย้ง ทางด้านนายนิพลธ์ แก้วธรรม ชาวบ้านใน ต.คลองสาม อ.คลองหลวง กล่าวว่า ชาวบ้านต้องออกมาขัดขวางเพราะขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะน้ำภายในคลองที่เชื่อมต่อกับคลองระพีพัฒน์ ได้เพิ่มสูงขึ้นจนท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า2เมตรแล้ว หากมีการปิดกั้นคลองระพีพัฒน์จะเดือดร้อนหนักกว่านี้ จึงต้องออกมาขัดขวาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเกิดเหตุ พ.ต.อ.เพิ่มเกียรติ สุริยวงศ์ ผกก.สภ.คลองหลวง พ.ต.ต. เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท สว.สส. สภ.คลองหลวงได้เข้าควบคุมสถานการณ์ ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน ซึ่งทางบริษัทฯยอมขนย้ายเครื่องมือออกจากพื้นที่เพื่อลดข้อขัดแย้งทำให้ประชาชนต่างเดินทางกลับ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ตลาดรังสิตในช่วงเย็นวันเดียวกัน น้ำยังทะลักเข้าท่วมตลาดรังสิตและบริเวณใกล้เคียงโดยรอบทั้งใต้ทางต่างระดับรังสิต-หน้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต เมเจอร์ฯรังสิต ต่อเนื่อง เนื่องจากน้ำในคลองรังสิตสูงขึ้น ทำให้ถนนพหลโยธิน ถนนรังสิต-ปทุมธานียังท่วมสูง1-1.5 เมตร ส่วนถนนรังสิต-นครนายกท่วมสูง 50 ซม. รถเล็กผ่านไม่ได้ต้องปิดการจรจาจรต่อเนื่อง ขณะที่ชาวบ้านต่างลุยน้ำท่วมถึงระดับอก บ้างก็ลงเรือขนของบางรายอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนที่ต้องจำทนเพราะไม่มีญาติต้องออกอซื้อข้าวของกลับบ้านตุนเอาไว้ช่วงน้ำท่วมเนื่องจากไม่มีความมั่นใจว่าน้ำจะลดลงเมื่อไหร่ ขณะที่ร้านรวงต่างๆ ก็ปิดตายหนีน้ำ การอพยพผู้ป่วยก็ลำบาก บรรยากาศยังวุ่นวายอลหม่าน ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ปคอป.ประชุมนัดแรกวางกรอบเร่งเยียวยา-สางปมคดีหมิ่นเบื้องสูง ยันไม่แก้ ม.112 Posted: 21 Oct 2011 10:07 AM PDT ปคอป.ประชุมนัดแรกวางกรอบเร่งเยียวยา หาวิธีที่ทุกฝ่ายรับได้ เพื่อให้ความเป็นธรรมทุกภาคส่วน–พิจารณาการดำเนินการคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ย้ำไม่มีข้อเสนอแก้ ม.112 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ในฐานะโฆษก ปคอป. แถลงว่า ขณะนี้ คณะกรรมการใน ปคอป.ยังไม่ครบ ต้องหาตัวแทนภาคเอกชนเข้ามาอีกสองคน โดยเบื้องต้นกรอบการทำงานคือ เราจะนำข้อเสนอของ คอป.มาทำให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กำหนดกรอบแผนการดำเนินการที่ต้องทำให้เป็นผล คือ การดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา ต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่ ประชาชน โดยต้องใช้แนวคิดทางกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ต้องเป็นความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เมื่อจบกระบวนการแล้วต้องเกิดสันติภาพระยะยาว นายวีระวงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบในเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้ชัดเจนว่าไม่ใช่การแก้กฎหมาย แต่ไปพิจารณาถึงความเหมาะสม และผลกระทบจากการดำเนินการในคดีที่ผ่านมา ยืนยันว่าเราต้องเทิดทูนสถาบัน ไม่เอาสถาบันมาแอบอ้างทางการเมือง และ คอป.ก็ไม่ได้มีข้อแนะนำให้แก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เมื่อถามว่า การเยียวยาจะเริ่มที่กลุ่มใดก่อน นายวีระวงค์ กล่าวว่า เราต้องทำเรื่องนี้ให้เสมอภาคกันหมด เราต้องเข้าใจความต้องการเยียวยาที่ชัดเจน ทุกคนต้องได้ประโยชน์ เพราะบางกรณีอาจไม่ใช่การใช้เงินได้ ซึ่งต้องหาจุดที่ทุกคนต้องการให้เจอ โดยดูจาก คอป. ซึ่งถ้า คอป.ยังต้องการข้อเท็จจริงอะไรใหม่ เราจะช่วยเสริมได้บ้าง แต่เราจะทำงานทุกอย่างตามข้อเสนอ คอป. ส่วนเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมืองนั้น ยังไม่ได้พูดคุยในวันนี้ ซึ่งจากนี้ ปคอป.จะมีวาระการประชุมเดือนละครั้ง และเรายังไม่ได้พูดคุยกันว่ากระบวนการทั้งหมดของ ปคอป.จะต้องแล้วเสร็จเมื่อไร. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
พม่าส่งสายลับจับตาอดีตนักโทษการเมืองไทใหญ่หลังปล่อยตัว Posted: 21 Oct 2011 09:44 AM PDT แม้จะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพ แต่อดีตนักโทษการเมืองไทใหญ่อย่าง เจ้าเสือแท่น ผู้ถูกศาลตัดสินจำคุก 106 ปี ยังคงถูกหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลพม่าจับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด 21 ต.ค. 54 - มีรายงานว่า พล.ต.เสือแท่น หรือ เจ้าเสือแท่น อายุ 75 ปี อดีตนักโทษการเมืองของไทใหญ่ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำชิตต่วย รัฐอาระกัน เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เดินทางถึงบ้านที่เมืองล่าเสี้ยว ทางภาคเหนือของรัฐฉานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ความเป็นอยู่ของเขายังไม่เป็นอิสระ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลพม่าเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอยู่อย่างใกล้ชิด แหล่งข่าวคนในพื้นที่เปิดเผยว่า สังเกตเห็นชายแปลกหน้า 1-2 คน ป้วนเปี้ยนไปมาบนถนนผ่านหน้าบ้านเจ้าเสือแท่นบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันยังสังเกตเห็นมีคนคอยสอดส่องไปยังบ้านพักของเจ้าเสือแท่น โดยอยู่บนตึกที่ตั้งสำนักงานพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล อยู่ตรงข้ามกับบ้านเจ้าเสือแท่นอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
คำถามถึงอธิบดีกรมชลฯ และผู้ว่า กฟผ. กับการบริหารน้ำเดือนตุลาคม Posted: 21 Oct 2011 09:10 AM PDT ผมมีข้อสงสัยกับการปล่อยน้ำของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในเดือนตุลาคมมาโดยตลอด เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจำนวนมากปรากฏตัวจึงมาหาทางถาม ในกลุ่มนี้คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ก็เป็นผู้หนึ่งที่ออกรายการเกี่ยวกับน้ำท่วมบ่อยเช่นกัน ผมจึงถามผ่านเขา คำถามของผมที่ฝากเขาไปถามอธิบดีกรมชล และ ผู้ว่าการ กฟผ. ผ่านเฟซบุ๊ค สรุปได้ดังนี้คือ 1. ทำไมต้องรีบปล่อยน้ำ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ออกมา เมื่อต้นเดือนตุลาคม จากการคาดการณ์ว่าจะมีพายุจะเข้าประเทศไทย (จำชื่อไม่ได้) ในช่วงวันที่ 10 ต.ค. ทั้งที่ยังไม่ทราบความรุนแรงและทิศทาง ถ้าจำไม่ผิด ในวันเดียวกับการปล่อยน้ำ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ออกมา หน่วยพยาการณ์อากาศสหรัฐบอกว่า พายุลูกนั้นจะเข้าภาคกลางประเทศไทย ผมจึงตั้งสงสัยว่า ทำไมไม่รอให้พายุใกล้ขึ้นฝั่ง เพื่อทำให้ทราบทิศทางและความรุนแรงจึงตัดสินใจและดำเนินการยังอยู่วิสัยทำได้ เพราะมีเวลาอีก 2 – 3 วัน 2. เท่าที่จำได้จากรายงานข่าว Thai PBS ตั้งแต่วันที่ 12 หรือ 13 เป็นต้นมา มีรายงานการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล วันละ 60 – 70 ลบ.ม. เพราะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 60 – 70 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีความสงสัยว่าน้ำไหลเข้าเขื่อนมาจากไหน ในเมื่อรายงานข่าวพยากรณ์อากาศของ Thai PBS ไม่มีรายงานฝนตกภาคเหนือ ซึ่งผมตั้งคำถามในโพสต์ว่า เป็นน้ำใต้ดินมาจากเวียดนามที่ผุดขึ้นมาที่เขื่อนภูมิพลหรือเปล่าเพราะเวียดนามยังมีฝนตก ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งข้อสังเกตถึงการกักน้ำจำนวนมากของกรมชล และ กฟผ. ในช่วงต้นฤดูฝนที่มีคำอธิบายถึงเจตนาและวิธีการจัดการน้ำ แต่ผมคิดว่ายังเป็นเรื่องอธิบายได้ว่า อาจจะมีกังวลถึงภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม จึงทำให้ทั้งสองหน่วยงานลังเลที่ปล่อยน้ำ และเมื่อฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคมจึงสายเกินไปที่จะบริหารน้ำได้ แต่คำถามข้อ 1 ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะหาคำอธิบายแต่ไม่สามารถหาได้จึงต้องถาม ความจริงหน่วยงานทั้งสองควรไปค้นหาคำถามของผม กรมชล บนเฟซบุ๊ค “รักชลประทาน” และ กฟผ. จากอีเมล์ใน บนเฟซบุ๊ค กรมชลไม่เคยชี้แจงแต่ลบทิ้งเสมอ แต่หวังว่าจะมีคำตอบของ กฟผ. คำถามข้อที่ 2 นั้น เมื่อทำตามคำแนะนำของคุณศศิน คือให้ไปติดตามข้อมูลของกรมชล ปรากฎว่าในการปล่อยน้ำจากเขื่อนนอกจากเขื่อนภูมิพล ยังมีเขื่อนสิริกิตต์ เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. ประมาณ วันละ 15 ล้าน ลบ.ม. (ช่วง 9.5 – 20 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประมาณ 36 ล้าน ลบ.ม. (ช่วง 32 – 39 ล้าน ลบ.ม.) เมื่อรวมแล้วแม่น้ำเจ้าพระยายังมีน้ำไหลเข้าวันละ 105 – 115 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ข้อมูลนี้ไม่มีการนำมาอ้างอิง แต่กลับมีคำใหม่ “น้ำท่วมทุ่ง” ในขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญกรมชล บอกว่า สามารถระบายน้ำได้วันละประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. จึงมียอดระบายสุทธิเพียง 200 ล้าน ลบ.ม. ถ้ามีน้ำ 10,000 – 12,000 ล้าน ลบ.ม. ต้องใช้เวลาระบายน้ำสองเดือน “น้ำท่วมทุ่ง” ที่เป็นคำใหม่นี้ ในความเข้าใจของผมคือน้ำที่ปล่อยประจำวัน 110 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนของลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปริมาณหลัก ส่วนน้ำที่กระจายบนทุ่งจะไหลย้อนกลับได้รวดเร็วอย่างไร ในเมื่อระดับน้ำยังค่อนข้างทรงตัวก็ควรไหลมารวมต่อเนื่อง ไม่ควรเป็นมวลขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยที่ 3 น้ำที่เป็นมวลขนาดใหญ่ที่เข้านิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดหลังจากการประกาศว่ามวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านไปแล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อันเนื่องจากน้ำท่วมฝั่งตะวันตกของนนทบุรี ซึ่งเกิดขึ้นรุนแรงในวันที่ 19 ต.ค. เป็นต้นมา ขณะที่ ในสัปดาห์ที่แล้ว พื้นที่นนทบุรีฝั่งตะวันตกได้รับผลจากไม่ให้ปล่อยน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน จึงสามารถระบายไปได้รอดพ้นวิกฤติไปได้ แต่ในสัปดาห์นี้ สถานการณ์น้ำของแม่น้ำท่าจีนเปลี่ยนไป น้ำเต็มจนท่วม บางเลน และพุทธมลฑล เมื่อพยายามหาข้อมูลการปล่อยน้ำแต่ไม่พบจึงขอถามข้อ 4 ไปถึงหน่วยงานดูแลเรื่องน้ำว่าบริหารน้ำในแม่น้ำท่าจีนอย่างไร จึงทำให้สถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ ทำไมระดับน้ำจึงสูงจนไม่สามารถรับน้ำจากคลองเชื่อมต่อสิบกว่าคลอง อย่างน้อยตั้งแต่ คลองพระยาบันลือ คลองพระพิมล จนถึงคลองมหาสวัสดิ์ เมื่อดูรายโทรทัศน์ 2 วันก่อน ผู้เชี่ยวชาญน้ำ อธิบายน้ำท่วมนนทบุรีฝั่งตะวันตกในสัปดาห์นี้ เพราะน้ำในแม่น้ำท่าจีนสูง แต่ไม่เปรียบเทียบกับการรอดพ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ผมกำลังรู้สึกว่า ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ที่สร้างคำว่า “น้ำท่วมทุ่ง” ขึ้นมาไร้สมรรถนะ ข้อมูลสองสัปดาห์ก็ไม่สามารถประมวลได้ครบถ้วน แล้วจะเสนอข้อมูลให้เชื่อถือได้อย่างไร กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ กรุณาตอบคำถามให้หายข้องใจด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
วรางคณา วณิชาชีวะ: รวมศูนย์ร่วมใจ...แก้ภัยน้ำท่วม Posted: 21 Oct 2011 08:59 AM PDT “ ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิตค่ะ พูดแล้วจะร้องให้...น้ำท่วมไม่กลัว กลัวอย่างเดียว...ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด” “ดูซิว่า ศปภ.จะทำอะไรโง่ๆ อีกมั้ย” ................................ ข้อความเสียดสีลักษณะนี้กระอักล้นในโซเชียลเน็ตเวิร์คมาร่วมสัปดาห์เห็นจะได้ และนับวันความถี่จะมีมากขึ้นจนฉันต้องปิดรับข้อมูลลงชั่วขณะ ด้วยภาวะเครียดเฉียบพลันในทุกๆ ฤดูน้ำหลากเช่นทุกปี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้นำฝ่ายบริหาร เจอ “จัดหนัก” กว่าใครๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียงเดือนเศษ แต่คงเป็นคราวซวยที่น้ำดันล้นทะลักในเวลานี้ ทั้งๆ ยัง “มือใหม่” ทั้งการเมืองและการบริหารประเทศ แต่ใจนักสู้ของเกินร้อย เพราะนับแต่วันแรกทีเกิดเหตุภัยพิบัติ ไม่รอช้า เธอเทคแอคชั่นอยู่แถวหน้า ทว่าอาจไม่ถูกใจใคร หรือไม่ทันใจโจ๋ปากไวทั้งหลายแหล่ อีกหน่วยงานที่รับเต็มๆ เห็นจะเป็นการทำงานที่ไม่ทันท่วงทีและการให้ข้อในข้อมูลผิดพลาดบ่อยๆ ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) และถูกนำมาโจมตีในประเด็นการเมืองโดยถูกดิสเครดิตจากพรรคฝ่ายค้านและประชาชนที่ไม่เอารัฐบาล(ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ) เป็นเรื่องอะไรบ้างฉันจะไม่พูดซ้ำเพราะข่าวเสนอแทบทุกวัน และหากเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมอีสานเมื่อปีที่แล้ว นายกฯ คนก่อนออกจะอิดออดที่จะแสดงท่าทีไปสักหน่อย จำได้ว่านั่งเฮลิคอปเตอร์ มาดูน้ำท่วมในเมืองโคราชเพียงครั้งเดียว พายเรือถ่ายรูปแวบเดียวพอได้ภาพข่าวแล้วก็จากไป ส่วนพื้นที่ไกลๆ ในชนบทอย่างบ้านฉัน ไม่ต้องพูดถึง พวกเราเผชิญน้ำท่วมกันร่วมเดือน ฤดูน้ำหลากเช่นนี้ ปัญหาน้ำท่วมถนนถูกตัดขาดในหมู่บ้านชายชอบของฉันมันเป็นเรื่องจำทนและจำต้องน้อมรับสภาพมาร่วมสิบกว่าปีนับจากย้ายถิ่นฐานตามสามีมา เส้นทางตรงที่เคยไปได้ถูกแผ่นน้ำปิดทับสุดลูกหูลูกตา ต้องหาเส้นทางใหม่ในการเดินทาง คืออ้อมไปใช้อีกเส้นทางที่ไกลกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว มาปีนี้ดีขึ้นบ้างที่ทางหลวงชนบทมีงบประมาณทำสะพานที่กว้างขึ้น ถมแนวถนนให้สูงกว่าที่น้ำจะท่วมถึง แต่อีกฝั่งสะพานซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของคนละองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นที่ต่ำ พอน้ำมามากๆ จึงเออล้นและขังตัวสูงอีกตามเคย และนี่คือผลพวงของการพัฒนาแบบแยกส่วน ไม่ว่าระดับท้องถิ่นจนถึงประเทศชาติ ปัญหาเดิมๆ จึงเกิดซ้ำซาก ยากจะยุติ ใช่ว่าฉันจะถือหางพรรคเพื่อไทยหรือนักการเมืองคนไหนเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่ให้น้ำหนักอยู่ที่วิธีคิดในลักษณะที่ไม่มีทางออกแบบนั้นมันไม่เป็นเหตุเป็นผลทางตรรกะ เป็นความคิดที่ไม่ก้าวหน้า ย่ำอยู่กับปัญหา และเหยียบคนพลาดให้จมไปกับน้ำ มุ่งหวังแต่เพียงความสะใจ สาแก่ใจมากกว่าจะคิดหาทางแก้ไขร่วมกัน และนับวันคนในสังคมไทยจะมีลักษณะเช่นนี้ คือ “ดีแต่พูด” และ “ถนัดแต่ด่า” หากมองถึงรากปัญหาอย่างถึงที่สุดแล้ว ความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของเหตุเภทภัยในทุกๆ ครั้ง มันมีปัจจัยมากมายให้เกิดขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงการโยนบาปหาคนผิด แล้วประณามเพียงคนใดคนหนึ่งมันไม่ยุติธรรมแม้แต่น้อย เปิดใจสักนิดแล้วมองโลกตามภาววิสัยเสียเถิด ไอ้ตรรกะที่บอกว่าเพราะผู้นำเป็นผู้หญิงฟ้าฝนจึงลงโทษมันไร้เหตุผลสิ้นดี ไม่เข้าท่าพอๆ กับที่บอกว่าเพราะมีหญิงกาลีในหมู่บ้าน ฟ้าฝนจึงแห้งแล้งตามความเชื่อโบราณ ฉันคิดว่าสิ่งที่เราจำต้องมีคือ ข้อมูลที่มากกว่าสถานการณ์ตรงหน้าจากรายงานข่าวชนิดทันท่วงทีของสื่อมวลชนที่สร้างความตื่นตระหนกเพื่อหวังเป็นจุดขายแย่งพื้นที่ข่าว เหนืออื่นใด เราต้องรู้ว่าปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้มันมีสาเหตุปัจจัยใดบ้าง... ไม่ใช่เพราะว่าคนตัดไม้ทำลายป่ากันมากหรือที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นทุกปี ทำให้ฝนตกผิดฤดูกาลและยาวนานต่อเนื่องจนน้ำล้น เมื่อป่าร่อยหรอ ดินก็ดูซับน้ำได้น้อยลง ตลอดจนไม่มีทางกั้นน้ำ กระแสน้ำย่อมไหลบ่าอย่างรวดเร็วเป็นธรรมดา หรือ...ไม่ใช่เพราะว่าหน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่รับผิดชอบหน้าเขื่อนต้องการกักเก็บน้ำให้มากเข้าไว้ หวังเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้พอใช้เพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามไปว่าหากน้ำฝนมาเยอะ(อย่างปีนี้) เขื่อนจะรับน้ำไม่ไหว ท้ายสุดแล้วจำต้องปล่อยน้ำกะทันหัน น้ำท่วมบ้านเรือน ไร่สวนเรือกนาของประชาชน ดังนั้นการจัดการเรื่องเขื่อนจำต้องมองกันใหม่และรอบด้านกว่าที่ผ่านมา เพื่อที่ว่าหลักการของการสร้างเขื่อนเพื่อใช้ในการเกษตร ผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อกักเก็บน้ำป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากจะได้คุ้มค่ากับการต้องเสียผืนป่ามหาศาล ประสบการณ์น้ำท่วมภาคอีสานอย่างจังหวัดนครราชสีมาที่บ้านเกิดของฉันเมื่อปี 2553 ยืนยันได้ดีที่สุด ในปีนั้นฝนตกติดต่อกันหลายวันจนเขื่อนลำตะคองรับน้ำไม่ไหว ต้องปล่อยน้ำไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า น้ำไหลถึงอำเภอพิมายและท่วมสูงถึงสองเมตรภายในครึ่งวัน ไม่ต้องพูดถึงระบบการเตือนภัยที่ไม่เคยมีประสิทธิภาพนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เครื่องไม้เครื่องมือในการพยากรณ์อากาศที่ล้าสมัย สมควรแก่เวลาที่ต้องสังคายนากันใหม่ทั้งระบบ งบประมาณในส่วนนี้หากที่ผ่านมาน้อยไป เพื่อความปลอดภัยในอนาคตรัฐบาลเองจำต้องทบทวนให้เหมาะสมและ “ทุ่ม” ให้มากกว่าเดิม ตัดทอนงบประมาณในส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นน้อยออกไปบ้าง งบพันล้านที่ทหารเคยได้ลดลงสักครึ่งจะได้หรือไม่ เครื่องบิน เรือดำน้ำ รถถังชะลอไว้คงไม่เป็นไร ยุคสมัยนี้จะไปรบกับใครครับท่าน การสร้างถนนหนทาง การสร้างบ้านจัดสรรของนายทุนบางกลุ่มหรอกหรือที่ต้องถมหน้าดินปิดกั้นทางน้ำ ไอ้ที่ระบายน้ำไม่ทัน ดันน้ำไม่ถึงทะเลซะทีก็เพราะเหตุนี้ใช่หรือไม่ ประจวบกับที่ผ่านมาในรอบเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญพายุใต้ฝุ่นหลายลูก ส่งผลให้น้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มากนัก สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับหากคุณมีใจเป็นธรรมในระดับหนึ่ง (ไม่ต้องมากนักก็ได้) ต้องเข้าใจว่าน้ำปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งมากกว่าน้ำท่วมในปี 2538 หลายเท่า ต่อให้เป็นรัฐบาลไหนๆ ก็ไม่สามารถรับมือได้เช่นกัน ฉันกล้าเอาหัวเป็นประกัน อย่าว่าแต่เมืองไทยเลย ในต่างประเทศทั่วโลกก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่เจ๋งพอจะงัดข้อกับภัยพิบัติธรรมชาติได้ สึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมายืนยันชัดเจน แน่นอนว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นวัฒนธรรมที่น่าสังคมสำหรับสังคมประชาธิปไตย อย่างน้อยๆ ก็เป็นการสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลรับทราบ เหนืออื่นใด เราในฐานะประชาชนคนไทยนอกจากจะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ แล้ว ก็จำต้องมองถึง “ทางออก” หรือ “ทางแก้” ร่วมกันแบบสร้างสรรค์และยั่งยืน ไม่ใช่มีแต่ด่าๆๆๆๆๆ กันสนุกปาก เหมือนตีหัวแล้วหนีเข้าบ้านอย่างไรอย่างนั้นมันง่ายไป ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องทำเวลานี้คือร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขไปให้พ้นผ่านนั่นคือเยียวยาผู้ประสบภัยจากมวลน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลทะลักและท่วมสูงในหลายพื้นที่ ตลอดจนหาทางดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีไหนเป็นไปได้เสนอเลย อย่ารอช้า นี่คือปัญหาของคุณๆๆๆ ทุกคน อุทกภัยครั้งนี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องประสานกันหลายๆ ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ดูแลภาพรวม พรรคประชาธิปัตย์ที่ดูแลบริหารพื้นที่กรุงเทพฯมหานคร ซึ่งไม่อาจจะแยกการจัดการ “น้ำ” ออกจากกันได้เด็ดขาด แต่จำต้องประสานงานและ “แชร์” ข้อมูลซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความเป็น “เอกภาพ” ในการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ในระยะสั้นเพื่อรับมือ ฉันอยากเห็น “การรวมศูนย์ของการแก้ปัญหา” ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือนำมาเป็นประเด็นการเมือง และโจมตีซึ่งกันและกัน มันได้แต่เพียงความสะใจไปวันๆ วางเรื่องการเมืองลงสักพักใหญ่ๆ (ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือในโซเชียลเน็ตเวิร์ค) ให้น้ำลดค่อยว่ากันใหม่ ทางที่ดีมาช่วยกันคิดหามาตรการระยะยาวร่วมกันในการจัดการและบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพจะไม่ดีกว่าหรือ ในระยะยาว...ฉันคิดว่าแผนการหลังน้ำลด ทุกภาคส่วนควรระดมสมองกันคิดแก้ไขปัญหาน้ำอย่างจริงๆ จังเสียที ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ภาคเอกชน ประชาชน แล้วกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” และจัดทำ Master Plan เพื่อเป็นแนวทางรับมือปัญหาน้ำท่วมในปีต่อๆ ไป หากไม่มีแผนป้องกันล่วงหน้าแล้วละก็...คราวหน้าธรรมชาติคงเอาคืนอีกนับเท่าทวีคูณ ฉันเชื่อแน่ว่าจะหนักหน่วงกว่าปีนี้อีกหลายเท่า เป็นต้นว่าต้องมีการรวบรวมข้อมูลในช่วงปฏิบัติการขณะวิกฤติน้ำท่วมหนักๆ ตลอดจนการประเมินข้อผิดพลาดต่างๆ ในแผนปฏิบัติการของ ศปภ. ทั้งนี้ควรสรุปออกมาโดยละเอียดเขียนเป็นรายงานแล้วเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ ตลอดจนเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเป็นนโยบายระดับชาติ อันเป็นเรื่องต้นๆ ที่รัฐบาลจำต้องให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือต่อจากนี้ไปก็เถอะ อย่างไรเสียปัญหาประชาชนก็ต้องมาก่อน การส่งต่อข้อมูลจากรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลใหม่ต้องทำภายใต้เจตนาที่จริงใจกับปัญหาและประชาชน การกั๊กข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองเป็นเกมการเมืองที่สุดสกปรก การดองปัญหาชาติและประชาชนมาเพื่อต่อรองทางการเมืองเป็นการสิ้นคิดอย่างถึงที่สุด ตลอดจนหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารและจัดการน้ำจำต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลกับประชาชนเสียทีว่าที่ผ่านมีการจัดการน้ำเช่นไร ทำไมปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งมันจึงเกิดซ้ำซากอย่างที่ผ่านมาก อะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์คต้องกล้าพอที่ยอมรับและทบทวน การใคร่ครวญหาทางแก้ไขคงไม่มีใครประณามได้ลงขอ และ....ขอเถอะพอที หากคิดไม่ออก บอกไม่ถูกว่าควรทำอะไร หรือพูดดีๆ ไม่ได้ ก็อย่าชักใบให้เรือเสีย.....เพราะเรือลำนี้บรรทุกพลเมืองไทยหลายล้านชีวิตเลยนะท่าน ภารกิจครั้งสำคัญเดิมพันทั้งชีวิต... สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ซูจีให้สัญญาจะทำงานเพื่อให้นักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด Posted: 21 Oct 2011 08:47 AM PDT นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีให้สัญญาจะทำงานเพื่อให้นักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด ด้านทหารพม่าเพิ่มกำลังรอบไลซา กองบัญชาการใหญ่ KIA นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีกล่าวในระหว่างร่วมงานวันเกิดของนายมินโกนาย แกนนำนักศึกษาปี 1988 (2531) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้นักโทษการเมืองทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว “หลายคนยังไม่ได้รับอิสรภาพ เราจะต่อสู้และดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัว ทำไมฉันถึงต้องการให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด นั่นก็เพราะฉันอยากให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง” นางซูจีกล่าว ทั้งนี้ นายมินโกนายได้ส่งสารมายังคนข้่างนอกว่า เขาไม่อยากให้งานวันเกิดของเขาจัดเพื่อเขาคนเดียว แต่อยากให้จัดเพื่อรำลึกถึงนักโทษการเมืองทุกคนที่ยังอยู่ในคุก นายมินโกนายถูกจับกุมในปี 2532 ในข่้อหาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และถูกปล่อยตัวในปี 2547 อย่างไรก็ตามเขาถูกจับตัวอีกครั้งในปี 2550 (AFP/Mizzima 19 ตุลาคม 54) ทหารพม่าเพิ่มกำลังรอบไลซา กองบัญชาการใหญ่ KIA ลานัน โฆษกของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army) เปิดเผยว่า กองทัพพม่าได้เคลื่อนกำลังพลประชิดรอบเมืองไลซา ที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ของ KIA โดยมีทหารพม่าอย่างน้อย 16 กองพันประจำอยู่ในพื้นที่ ขณะที่มีรายงานการสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินไปต่อเนื่องและบ่อยขึ้นในช่วงหลังมานี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
พ.ร.บ.จดแจ้งฉบับใหม่:โซ่ตรวนหนังสือพิมพ์ Posted: 21 Oct 2011 08:12 AM PDT ในขณะที่คนส่วนใหญ่ กำลังสับสนอลหม่านกับปัญหาน้ำท่วม จนแทบจะไม่มีข่าวอื่นปรากฏในสื่อ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2554 ก็มีมติเห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ของกระทรวงวัฒนธรรมโดยเนื้อหาสาระต้องนับว่า เลวร้ายไม่แตกต่างจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อในยุคเผด็จการ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่ยกเลิกไปด้วยผลของการตราใช้บังคับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แปรรูปอำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยให้อำนาจ ผบ.ตร. มีอำนาจครอบจักรวาล ซึ่งล้วนเป็นการแทรกแซงและลิดรอนสิทธิ เสรีภาพสื่อทั้งสิ้น โดยเฉพาะการย้อนยุคไปในห้วงอำนาจเผด็จการ ที่จะต้องมีใบอนุญาตการพิมพ์ และที่เลวร้ายไปกว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ก็คือ ต้องมีการต่อใบอนุญาต หรือหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ทุก 5 ปี สาระสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ยังให้อำนาจ ผบ.ตร.และน่าจะเป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญ คือการให้อำนาจออกคำสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยแพร่ ส่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี นั่นแปลว่า ผบ.ตร.จะต้องเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ก่อนตีพิมพ์ก่อน จึงจะวินิจฉัยได้ว่า สมควรใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามเผยแพร่ หรือปิดหนังสือพิมพ์หรือไม่ เรื่องสถาบันนั้น เป็นเพียงเรื่องบังหน้า ซึ่งความผิดฐานหมิ่นสถาบัน มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา ประเด็นคงอยู่ที่ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี เป็นเรื่องที่ตีความได้กว้างมาก ประเด็นเหล่านี้ เคยเป็นเรื่องที่รัฐยุคเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือปิดหนังสือพิมพ์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล โดยอ้างความมั่นคงแห่งรัฐ ทั้งที่หลายกรณีเป็นความมั่นคงของรัฐบาลเอง ความเลวร้ายอีกข้อหนึ่งของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ การกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สิ่งพิมพ์ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความมั่นคงของชาติ โดยกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากนี้ไป จะเป็นผู้ที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อผู้ประกอบวิชาชีพสิ่งพิมพ์อย่างยิ่ง ยิ่งเสียกว่า “เจ้าพนักงานการพิมพ์” ตามกฎหมายเดิม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะแต่งตั้งให้อธิบดีกรมตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล เป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์ในกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดในต่างจังหวัด ส่วนอัตราโทษ จะสูงกว่ากฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี จะเรียกว่าเป็นการโยนหินถามทาง เจตนาจะข่มขู่ให้สื่อหวาดกลัว หรือไม่ก็ตาม แต่ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เป็นภาพสะท้อนแนวคิดเผด็จการอย่างชัดแจ้ง อีกทั้งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามมิให้มีการสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพ การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน ห้ามไม่ให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลนี้พยายามเข้ามามีอิทธิพลครอบงำสื่อ หลังจากสร้างความหวาดระแวงในหมู่สื่อมวลชนให้เกิดขึ้นมาแล้ว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อฯค้านร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ Posted: 21 Oct 2011 06:08 AM PDT ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับใหม่ ชี้เปลี่ยนหลักคุ้มครองเป็นควบคุม ซ้ำโอนอำนาจไปที่ ผบ.ตร. เชื่อรัฐฉวยโอกาสภัยพิบัติจ้องแทรกแซงสื่อ (21 ต.ค.54) จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึ
แถลงการณ์ กรณี ครม. เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ก่อนหน้านี้ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่ หากเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเสนอร่ สิทธิเสรีภาพของสื่อ ก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
TCIJ: กรรมการสิทธิไทย-อาเซียน เยี่ยม “จินตนา แก้วขาว” แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม Posted: 21 Oct 2011 05:58 AM PDT
วานนี้ (20 ต.ค.54) เวลาประมาณ 13.00 น.นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายวสันต์ พานิช อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นายว่องไคชิง ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และนางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนางจินตนา แก้วขาว ภายหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญา เป็นระยะเวลา 4 เดือน ในคดีการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวภายหลังที่ได้เข้าเยี่ยมนางจินตนาว่า บทเรียนในครั้งนี้ต้องสรุปว่า ยังมีการละเมิดสิทธิต่อนักต่อสู้สิทธิชุมชนอะไรอีกบ้างที่ยังคงอยู่ในสังคม และบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาของจินตนาก็ได้กลายเป็นต้นแบบการต่อสู้ของ ชุมชนอื่นๆ อย่างมากมาย เพราะสังคมไทยในขณะนี้กำลังมองดูนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้ามาต่อสู้ เพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ป่า น้ำ แร่ ซึ่งก็มีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิฯ อย่างหลากหลาย อาทิ ชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องของแร่ เรื่องโครงการแผนพัฒนาต่างๆ ทั้งประเด็นเรื่องที่ดิน ที่ถูกคำพิพากษา อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือที่ตัดสินไปแล้ว ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เหล่านี้เองที่ในบางกรณีไม่ได้รับการคุ้มครอง แล้วก็ยังได้รับการตัดสินที่ทำให้ต้องถูกจำคุก ตรงนี้ต้องทำให้สังคมไทยเข้าใจ นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม และการมีกฎหมายอื่นๆ ที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับการดูแลปกป้องรักษาทรัพยากร เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปัญหาที่มาจากต้นตอคือความต้องการสิทธิ ชุมชน กับชาวบ้านที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนปกป้องผืนแผ่นดิน แต่กลับถูกรัฐ หรือฝ่ายนายทุนธุรกิจฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง เพราะฉะนั้น การปฏิบัติของรัฐที่กระทำต่อชุมชนที่ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิชุมชน จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตาดูว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือผู้พิพากษาเอง มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและมีความชอบธรรมหรือไม่ ส่วนกฎหมายการทำประชาพิจารณ์และกฎหมายลูกนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าและการต่อยอดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ยกเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เพียบพร้อมด้วยกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชน แต่ว่ากฎหมายลูกต่างๆ เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายป่า กฎหมายแร่ ซึ่งในขณะนี้ภาคประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้และปกป้องไม่ให้รัฐหรือนายทุนลุกมา แย่งชิงทรัพยากร กลายเป็นกฎหมายที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่วนภาคประชาชนและนักต่อสู้กลายเป็นผู้ที่ต้องถูกลงโทษ “คดีของคุณจินตนา ถือว่าเป็นคดีหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยกลับมาพิจารณาคดีได้อย่างมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คดีการละเมิดในกระบวนการยุติธรรม ในรายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้ ได้มีการหยุดและการฉุกคิด เฉลียวใจ ในการใช้อำนาจตรงนั้น” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวต่อมาว่า กรณีของคดีของจินตนา ทำให้สังคมไทยมีความตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น และคิดว่ามีโอกาสในการพัฒนากฎหมายให้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง ภายใน 1-2 ปี ข้างหน้านี้ ซึ่งในขณะนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปกฎหมายในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชน และการเสนอความรับผิดชอบที่มีต่อกฎหมายเฉพาะด้าน ทั้งเรื่องกฎหมายป่าไม้ กฎหมายที่ดิน กฎหมายลุ่มน้ำ และกฎหมายประมง ที่เน้นเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนและมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งคิดว่าตรงนี้ จะทำให้เกิดกฎหมายที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวถึงมุมมองของกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า คดีของนางจินตนาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กับภาคประชาชน โดนเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร แต่คนทั่วไปกลับมองว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงและส่งผลให้เกิดความไม่สงบ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พบว่า สังคมไทยได้มีมุมมองกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในบทบาทที่ดีขึ้น เช่น ภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องลุ่มน้ำ ทะเล ที่บ่อนอก-หินกรูดให้คงไว้เป็นสมบัติของประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา ด้วยระบบอุตสาหกรรม ซึ่งหากคิดเป็นตัวเงินก็คงมีค่าหลายแสนล้านบาท เพราะฉะนั้น การต่อสู้จะต้องมองให้เห็นถึงตรงนี้ ส่วนปัญหาความไม่เข้าใจของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่อาจกล่าวโทษไปยังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่สังคมไทยและทุกภาคส่วนจะต้องมาสรุปความเข้าใจ แล้วช่วยกันหาทางออกอย่างคลี่คลายว่าการบังคับใช้ทางกฎหมายที่ยึดหลักการ สิทธิมนุษยชน ในเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคที่เป็นของพี่น้องภาคประชาชน ความถูกต้องของแผ่นดินนี้ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท และทำให้เกิดความเข้าใจและการเรียกร้อง การนับถือกฎหมาย และความเป็นธรรมก็จะต้องเกิดขึ้นในสังคมไทย ด้านนายวสันต์ พานิช อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีคดีของนางจินตนา มีอีกจำนวนมาก โดยทางกลุ่มทุนได้อาศัยกระบวนการเหล่านี้เพื่อเป็นการขัดขวางนักต่อสู้ เพื่อสิทธิชุมชน ดังนั้น คำพิพากษาของคดีที่เกิดขึ้นจากการปกป้องชุมชน เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการลุกขึ้นมาของชุมชนสามารถทำให้ที่ดินสาธารณะชายทะเล ที่บ่อนอกได้กลับมาเป็นของชุมชน เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ โดยที่โครงการโรงไฟฟ้าไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านกรูดและบ่อนอก ประเด็นเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างไร หากย้อนมาดูถึงสาเหตุการกระทำที่เกิดขึ้น การลงโทษสมควรที่จะได้รับการพิจารณาลงโทษหรือไม่ ทั้งนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบและเจตนาที่แท้จริงแล้ว ถือว่าการต่อสู้เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการภาคประชาชนที่มีความชอบธรรม เป็นคุโณปการที่มีต่อสังคม ที่ไม่สมควรได้รับการลงโทษ นายวสันต์ ทิ้งท้ายว่า พลังของภาคประชาชนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ในอนาคตหากจะมีการตัดสินคดีความที่มาจากการปกป้องคดีการปกป้องทรัพยากร กระบวนการยุติธรรมสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ชุมชนหลายๆ ชุมชน ได้มีการจัดการและการรักษาทรัพยากรของชุมชนเอง ทั้งนี้ เครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ รายงานเพิ่มเติมว่าในวันนี้ (21 ต.ค.2554) คณะสมาชิกวุฒิสภา นำโดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา ภาควิชาการ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิวุฒิสภา จ.เพชรบุรี และนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเดินทางเข้าเยี่ยม นางจินตนา ณ เรือนจำจังหวัดประจวบฯ ในเวลา 13.00 น.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
แรงงานข้ามชาติที่มหาชัยเตรียมใส่บาตรช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม 23 ต.ค. นี้ Posted: 21 Oct 2011 05:46 AM PDT เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติร่วมกับแรงงานข้ามชาติที่มหาชัย เตรียมทำบุญตักบาตร 23 ต.ค. ใน 9 พื้นที่ทั่วมหาชัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยจะส่งมอบสิ่งของผ่านผู้ว่าฯ สมุทรสาคร เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เปิดเผยวันนี้ (21 ต.ค.) ว่า ทางเครือข่ายร่วมกับกลุ่มแรงงานจากพม่าที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร เกือบ 10,000 คน จะทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ และบริจาคเงิน ในเช้าวันที่ 23 ตุลาคม 2554 ในพื้นที่ต่างๆ ของ อ.มหาชัย เพื่อจะนำไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ขณะนี้ โดยจะส่งมอบสิ่งของรับบริจาคผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร สำหรับพื้นที่ทำบุญตักบาตรประกอบด้วย 1.หมู่ 4 นาดี 2.มหาชัยวิลล่า 3.ไทยยูเนียน 4.เกาะสมุทร 5.คลองบางหญ้า 6.วัดเกตุ 7.เบญจทรัพย์ 8.กระทุ่มแบน 9.วัดหลังศาล สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ปชป. เปิดโรงครัวช่วยน้ำท่วม เผยมีความพยายามสร้างความแบ่งแยกคนกรุงฯ - ตจว. Posted: 21 Oct 2011 04:47 AM PDT รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลง ส.ส.หญิง ปชป. และเครือข่ายอาสาคนไทยเปิดโรงครัวช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เผยเยาวชน กทม. สับสนกับข้อมูลของผู้นำประเทศ และมีความพยายามสร้างความแบ่งแยกคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัด ด้วยการสร้างความเข้าใจผิดเรื่องน้ำท่วม เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานเมื่อ 20 ต.ค. ว่า น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.ปชป.นำกลุ่ม ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายอาสาคนไทยช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในนาม มูลนิธิ มรว. เสนีย์ปราโมช สำรวจพื้นที่และเยี่ยมเยียนประชาชน และให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ทหาร ที่ ต.บางพูน ต.หลักหก และ ต.ประชาธิปตย์ อำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้ คุณหญิงกัลยา ได้ทำการเปิด “โรงครัวอาสาคนไทยช่วยน้ำท่วม พรรคประชาธิปัตย์” ตามนโยบายนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่บริเวณสะพานข้ามคลองรังสิต ถนนโลคัลโรด ตลาดล่าง หลังจากนั้น ส.ส.รังสิมา รอดรัศมี นำทีมเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการอาสาฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาในกทม.ที่อยู่ในช่วงปิดภาคเรียน ทำอาหารและบริการแจกประชาชนที่มารอเข้าคิวบริเวณนั้น คุณหญิงกัลยากล่าวว่า “ในการมาครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงมาทำอาหารแจกแต่ถือเป็นการเดินทางมาให้กำลัง ใจประชาชน ตามแนวทางของ ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และท่านชวน หลีกภัยที่ได้ให้ไว้ โดยต้องลงมาพบปะด้วยตนเองและดูสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงว่าประชาชนต้องการ อะไร อย่าพยายามไปคิดแทนแล้วส่งของมาให้ต้องลงมาดูด้วยตนเอง นอกจากนี้จะถือเป็นการพาเยาวชนอาสา ซึ่งเป็นเด็กๆ เยาวชนในกทม. ให้มารับรู้ปัญหาและความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชนในจังหวัดที่ประสบภัย โครงการนี้ จะเป็นการตั้งโรงครัวชั่วคราวในพื้นที่น้ำท่วมหนัก 5แห่งใน จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุทธยา โดยจะมีการส่งวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง และพรุ่งนี้ (21 ต.ค.54) จะไปทำการเปิดจุดที่ 2 ที่จ.ลพบุรี ขอให้ประชาชนมาที่อยู่ใกล้เคียงเดินทางมารับอาหารหรือมาแจ้งปัญหาตามจุดต่างๆ ที่บอกได้จะมีตัวแทนเครือข่ายอาสาฯ รอรับที่นั่น น.ส.มัลลิกากล่าว น.ส.มัลลิกากล่าวอีกว่า ขอเชิญเยาวชนนักเรียน นักศึกษา ในกรุงเทพมหานครที่อยู่ในช่วงปิดเทอม ในพื้นที่ที่ไม่ได้ประสบภัยมาร่วมทำกิจกรรมกับ โครการอาสาคนไทยช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม มูลนิธิ ม.ร.ว. เสนีย์ปราโมช เพราะเยาวชน กทม.ส่วนใหญ่รับรู้ปัญหาจากการเผยแพร่ของภาครัฐ และการให้ข้อมูลนายกรัฐมนตรีซึ่งเยาวชนอาสาฯ ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 สับสนกับข้อมูลของผู้นำประเทศ ขณะที่มีความพยายาม สร้างความแบ่งแยกคนกรุงเทพฯกับคนต่างจังหวัด ด้วยการสร้างความเข้าใจผิดเรื่องน้ำท่วม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
บทเรียนวิกฤติน้ำท่วม 2554 และสิ่งที่ควรแก้ไขในอนาคต Posted: 21 Oct 2011 12:21 AM PDT ในฐานะที่ผมเป็นผู้ที่เผชิญปัญหาน้ำท่วม 54 ไปแล้ว เพราะมีที่พักอยู่บริเวณซอยท่าอิฐ ตำบลบางรักน้อย อ.เมืองของจังหวัดนนทบุรี ผมคิดว่าควรจะหาบทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งมีดังนี้ 1) บทเรียนนี้มีราคาแพงมากและน่าจะสร้างความเสียหายสูงสุดแก่ประเทศไทยเป็นประวัติการณ์ จากการประเมินโดยเบื้องต้นของผมซึ่งรวมผลกระทบทั้งทางตรง ซึ่งก็คือความเสียหายต่อภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ทางอ้อม คือกำลังซื้อของประเทศหดหายไปมหาศาล เพราะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตกงานหรือไม่ได้รับค่าจ้างและอาจจะรวมถึงโบนัสในไตรมาส 4 เพราะช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่ภาคอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อสูงที่สุด ในขณะที่กำลังซื้อภาคเกษตรลดลงเพราะเทือกสวน ไร่นา จมน้ำเสียหาย ผมประเมินความเสียหายประมาณ 5.5-6.5 แสนล้านบาท และส่งผลกระทบต่อจีดีพีให้หายไปประมาณ 2-2.5 % เพราะกว่าน้ำจะลดและไร่นาจะกลับมาเพาะปลูก กว่าที่เครื่องจักรจะมาเดินการผลิต อาจจะต้องใช้เวลา 3-4 เดือนขึ้นไป 2) ต้องเร่งหาสาเหตุของวิกฤติน้ำท่วม 2554 ให้ได้ เพราะสาเหตุที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมที่ถูกต้อง โดยควรใช้คณะกรรมการอิสระในรูปแบบเดียวกับที่ประเทศไทยหลังเผชิญวิกฤติการเงินปี 2540 เคยจัดตั้ง คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) โดยรัฐบาลควรตั้งคณะกรรมอิสระที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ฝน ภูมิอากาศ เศรษฐกิจ การเกษตร เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางจัดการบริหารน้ำอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับภูมิประเทศและเศรษฐกิจไทย เพราะข้อมูล ข่าวสารในขณะนี้จากองค์การสหประชาชาติ ผู้เชี่ยวชาญของไทย สื่อชั้นนำของต่างประเทศ และรัฐมนตรีของรัฐบาล (คุณปลอดประสพ) ได้ให้ความเห็นไปในทางว่าความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วมส่วนหนึ่งอาจมาจากการจัดการบริหารน้ำที่ผิดพลาด ส่งผลให้นักลงทุนจากต่างประเทศเกิดการขาดความเชื่อมั่นในการบริหารน้ำของรัฐบาล เพราะไม่มีใครในรัฐบาลรับประกันได้ว่าในปีหน้าถ้ามีปัญหาน้ำท่วมและมีการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบนี้อีก จะไม่เกิดผลเสียต่อนิคมอุตสาหกรรม ถ้าไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยจะเป็นเรื่องที่ตามมา เพราะการลงทุนในมูลค่า 1 พันล้านบาทขึ้นไปนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความมั่นใจและรับประกันถึงความปลอดภัยในการลงทุนโดยเฉพาะจากความบกพร่องในฝีมือมนุษย์ เพราะเรื่องธรรมชาตินั้น นักลงทุนเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ถ้าเป็นจากความบกพร่องในเรื่องของการบริหารจัดการและยังไม่ได้มีการจัดการแก้ไข ความจำเป็นในการย้ายฐานการผลิตจะเป็นเรื่องตามมา เพราะความเสียหายขณะนี้ ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกของชิ้นส่วนอีเลกทรอนิกส์และยานยนตร์ ให้เกิดการชะงักขึ้น สร้างความเสียหายในการผลิตไปทั่วโลก 3) การบริการสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ ( Crisis Management) เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องความสอดคล้องและความถูกต้องของข้อมูล รวมทั้งแผนรองรับ เพราะประชาชนไม่น่าจะต้องการทราบว่าจะมีมวลน้ำก้อนใหญ่ ไหลมาด้วยความเร็วกี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือมีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำได้กี่ลูกบาศก์เมตร แต่ประชาชนน่าจะต้องการทราบว่ามีถนนสายไหนบ้างที่น้ำจะท่วมและจะท่วมสูงแคไหน กี่เซนติเมตร กี่เมตรและจะท่วมขังอยู่นานแค่ไหน เพื่อที่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆจะได้วางแผนถูก เพราะข้อมูลความเร็วน้ำและปริมาตรน้ำนั้น เอาไปใช้ในการวางแผนรับน้ำท่วมไม่ได้เพราะประชาชนไม่ใช่นักอุทกศาสตร์ที่วิเคราะห์ข้อมูลพวกนี้ได้ด้วยตนเอง ประการสำคัญ วิกฤติน้ำท่วมมิใช่ภัยแผ่นดินไหว สึนามิ หรือภูเขาไฟระเบิดที่รู้ตัวล่วงหน้าในเวลาไม่นาน หากแต่น้ำท่วมครั้งนี้ รัฐบาลได้รู้ล่วงหน้ามากกว่า 1 เดือน เพราะนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ทำไมจึงไม่มีการเตรียมตัวรับมือวิกฤติตั้งแต่แรก ต้องรอให้อยุธยาจมน้ำจนมิดเสียก่อน รัฐบาลจึงพึ่งตื่นและตระหนักว่านี่คือวิกฤติ ดังนั้น เกิดอะไรขึ้นกับระบบประมวลข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลในการคาดการณ์วิกฤติ ในวิกฤติครั้งนี้ ผมเห็นถึงพลังขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. ที่เข้ามาทำหน้าที่อย่างแข็งขันในยามที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมนี้ได้ นอกจากนี้ ผมขอบคุณภาคประชาชนที่ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเฉพาะเครือข่ายสังคม (Social Network) ใน Face Book ที่ชื่อว่า “น้ำขึ้น ให้รีบบอก” ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องน้ำขึ้นตามสถานที่ต่างๆระหว่างภาคประชาชนในอินเตอร์เน็ต และข้อมูลนี้มีส่วนช่วยผมมากในประเมินระดับวิกฤติของปัญหาน้ำท่วมเป็นรายนาที หมายเหตุ: 1)บทความนี้ มุมมองส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่สังกัดอยู่ และผู้เขียนขอขอบคุณคำแนะนำของ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ที่ให้ความเห็นว่าจริงๆแล้ว ประชาชนที่กังวลเรื่องน้ำท่วมอยากรู้ข้อมูลประเภทใด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ยิ่งลักษณ์ประกาศคำสั่งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงแล้ว Posted: 20 Oct 2011 11:57 PM PDT ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ 4 เหล่าทัพ กรมชลประทาน โดยระบุว่า รัฐบาลได้ออกคำสั่งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง ตามมาตรา 31 ภายใต้ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ โดยจะมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ภารกิจสำคัญ คือ การเร่งผลักดันน้ำออกทางตะวันออก และระบายลงสู่ทะเล โดยให้ประสานการทำงานกับกรุงเทพมหานคร ควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำและทิศทางการไหลของน้ำให้สัมพันธ์กัน พร้อมมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมและกองทัพ ดูแลความปลอดภัยสถานที่สำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง แนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ โรงไฟฟ้า การประปา โรงพยาบาลศิริราช สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง และให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชม. และให้ตำรวจเฝ้าระวังภัยในทุกจุด พร้อมรายงานสถานการณ์มายัง ศปภ.ทุก 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในส่วนของการคมนาคม ขอให้จัดการเรื่องการจราจรไม่ให้ติดขัด โดยเฉพาะเส้นทางสายหลัก อาทิ โทลเวย์ หรือเส้นทางขนส่งสินค้า และเส้นทางที่เชื่อมเข้าสู่เมือง รวมถึงรถไฟฟ้า สถานีรถไฟ และสถานีขนส่งมวลชน และให้จัดหาศูนย์อพยพเพิ่มเติม โดยให้จัดหาตึกสูง โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ โรงเรียน หน่วยงานทหาร และให้ติดป้ายชัดเจน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 20 Oct 2011 11:49 PM PDT แพทริก ฟูลเลอร์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสาธารณะภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก สมาพันธ์กาชาดสากลและสมาคมเสี้ยววงเดือนแดง (INTERNATIONAL FEDERATION OF RED CROSS AND RED CRESCENT SOCIETIES - IFRC) ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงบทบาทของสื่อมวลชนต่อการสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ภัยพิบัติและการหนุนเสริมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในการรายงานข่าวภัยพิบัติ สื่อมวลชนมีแนวโน้มที่จะรายงานโดยตอบสนองต่อประเด็นในเชิงการเมือง เขาเปิดเผยข้อมูลว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะผลกระทบต่อคนจำนวนหลายล้านคน โดยภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด และ 50 เปอร์เซ็นต์ของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิก คือผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำท่วม ซึ่งจะเกิดขึ้นร่วมกับการเกิดไซโคลน ไต้ฝุ่น ภาวะน้ำท่วมในฤดูมรสุม โดยประชาชนหลายล้านคนในเอเชียจะได้รับผลกระทบดังกล่าว “ฉะนั้น คำถามก็คือว่า เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างความตระหนักในปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาประชาชนอพยพเข้าสู่เมือง ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาคือ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและการบริการ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสลัม คือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ” เขากล่าวและตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการรายงานเกี่ยวกับภัยพิบัติว่า สื่อมีบทบาทสำคัญมาก เพราะสื่อจะทำหน้าที่สร้างความเข้าใจต่อสาธารณะถึงสถานการณ์และความช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้ประสบภัยต้องการ รวมไปถึงการระดมทุน ซึ่งเขาพบว่าจำนวนเวลาที่สื่อรายงานสถานการณ์นั้น ส่งผลโดยตรงต่อยอดการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างไรก็ตาม เขามีข้อสังเกตว่า ประเด็นที่สามารถจะกำหนดทิศทางข่าวนั้นมีการแข่งขันสูง เช่น กรณีของเหตุการณ์ในลิเบีย ซีเรีย หรือสถานการณ์ที่เป็นเหตุการณ์ระดับโลก ซึ่งบางครั้งทำให้ประเด็นภัยพิบัติถูกปัดทิ้งไป “สิ่งที่เราต้องการอย่างยิ่งก็คือ การที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับประเด็นภัยพิบัติและทำให้สาธารณะและรัฐบาลให้ความสนใจต่อประเด็นนี้” ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสาธารณะภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก IFRC ยังวิพากษ์การทำงานของสื่อมวลชนด้วยว่า หลายๆ กรณี สื่อเลือกรายงานภัยพิบัติในเชิงการเมือง “ผมคิดว่า เมื่อสื่อทำข่าวในประเด็นเชิงมนุษยธรรม สื่อก็มักจะจับประเด็นที่เป็นความโกรธแค้นทางการเมืองในการนำเสนอเรื่องราวอยู่บ่อยครั้ง เราจะเจอคำถามลักษณะหนึ่งบ่อยๆ เช่น “รัฐบาลทำดีพอแล้วหรือยัง” สื่อมักไม่ค่อยจะทำประเด็นภัยภิบัติที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติโดยตัวของมันเอง แต่ใช้วิธีมองหาประเด็นที่แวดล้อม” โดยเขายกตัวอย่างทีเพิ่งเกิดขึ้น ก็คือเหตุการณ์น้ำท่วมที่ปากีสถาน ซึ่งสื่อส่วนใหญ่พุ่งความสนใจไปที่กลุ่มการกุศลของฝ่ายโปรตาลีบันที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นตัวอย่างของการไขว้เขวไปจากประเด็นเชิงมนุษยธรรมและผลกระทบต่อชุมชนจากภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่ต้องตั้งคำถามต่อรัฐบาลถึงประสิทธิภาพในการเข้าถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะการเข้าถึงเหยื่อจากภัยพิบัตินั้นถือเป็นความสำคัญอันดับแรกสำหรับองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเช่น กาชาดสากล “ผมคิดว่าสื่อมวลชนนั้นมีหน้าที่ต้องรายงาน และต้องรายงานสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริง มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สาธารณชนต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และสื่อพึงต้องรายงานสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับภัยพิบัติ เช่น ความต้องการของประชาชนในขณะเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำสะอาด หรือการเข้าถึงสถานสงเคราะห์ สื่อจำเป็นต้องรายงานสถานการณ์อย่างแม่นยำ มิฉะนั้น ก็จะเกิดการกระจายข่าวลือ สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น