ประชาไท | Prachatai3.info |
- แควนตัส-แอร์ฟร้านซ์ ระงับการบินหลังพนักงานประท้วง
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2554
- “นวมทอง ไพรวัลย์” ประวัติศาสตร์ของสามัญชน: สัญญลักษณ์ต้านอำนาจกองทัพ-รัฐประหาร
- กป.อพช เสนอให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการภัยพิบัติ
- คนชุมพร–ประจวบฯ ต้านสหวิริยา ขอใช้อ่าวทุ่งทรายสร้างท่าเรือน้ำลึก
- ‘ศูนย์ทนายมุสลิม’ ตั้งกรรมการ เคลียร์ข้อหาเรียกรับเงิน–ทิ้งคดี
- โซมาเลีย เฮ! ค้นพบแหล่งน้ำจืด ยมท.ร่วมช่วยประชาชนอดอยาก
- เผยแผนสร้าง ‘7อ่างเก็บน้ำ’ แก้ท่วมสงขลา ‘สื่อชายแดนใต้’ เข้ากรุงฯมอบของบริจาค
- เรื่อง flow in - flow out ของเขื่อนภูมิพลตามมุมองนักอุตุนิยมวิทยา
- งดเดินรถไฟสายใต้-สายเหนือวิ่งแล้วแต่เริ่มที่สถานีบ้านหมี่
- รายงาน: ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ มาเนียนๆ ดาบใหม่ ‘เซ็นเซอร์’ ?
- แจ้งฝั่งธนบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ สำรองน้ำประปา
- ยิ่งลักษณ์แจงภาคกลางน้ำเริ่มลด-เร่งระบายน้ำ กทม. ทั้งสองฟาก
- "อภิสิทธิ์" ลงพื้นที่บางพลัด-เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม
แควนตัส-แอร์ฟร้านซ์ ระงับการบินหลังพนักงานประท้วง Posted: 29 Oct 2011 11:59 AM PDT สายการแควนตัสของออสเตรเลียประกาศระงับเที่ยวบินทั้งหมดทั่วโลก ตอบโต้การผละงานประท้วงของพนักงาน ด้านสายการบินแอร์ฟรานซ์ของฝรั่งเศสยกเลิกเที่ยวบินระยะไกล 10 เที่ยวบิน 29 ต.ค. 54 – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่านายอลัน จอยส์ (Alan Joyce) ประธานบริหารสายการบินแควนตัส (Qantas Airways) เปิดเผยว่าแควนตัสประกาศระงับให้บริการทุกเที่ยวบินรอบโลกในวันที่ 29 ต.ค. อันเนื่องมาจากการผละงานประท้วงของพนักงานในหลายภาคส่วนของสายการบิน โดยระบุว่า ฝูงบินทั้งหมดจะไม่ออกบินจนกว่าจะบรรลุข้อตกลงสภาพการจ้างและเงื่อนไขการทำงานกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นตัวแทนของนักบิน ช่างเครื่อง และพนักงานภาคพื้นดินอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ นายจอยส์กล่าวว่า คณะผู้บริหารตัดสินใจว่าพนักงานไม่จำเป็นต้องมารายงานตัวที่ทำงาน และจะไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 31 ต.ค. นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม นายจอยส์ยอมรับว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้แควนตัสได้รับความเสียหายสูงถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ก่อนหน้านี้การผละงานประท้วงของสหภาพแรงงาน 3 แห่งทำให้สายการบินแควนตัสได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 68 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (72.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สูงกว่าเมื่อตอนเกิดเหตุเถ้าถ่านภูเขาไฟปกคลุมน่านฟ้า ซึ่งทำให้สายการบินเสียหาย 49 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (52.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยแควนตัสประเมินว่า จำนวนผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงของสหภาพแรงงานนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม น่าจะอยู่ที่ราว 70,922 คน จากเที่ยวบินที่ยกเลิกไป 129 เที่ยวบิน และเที่ยวบินที่ดีเลย์อีก 387 เที่ยวบิน เช่นเดียวกับสายการบินแอร์ฟรานซ์ (Air France) ของฝรั่งเศสได้ยกเลิกเที่ยวบินระยะไกล 10 เที่ยวบิน และเตือนว่าอาจจะยกเลิกเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินผละงานประท้วงเป็นเวลา 5 วันนับจากวันนี้ท่ามกลางความวุ่นวายในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สายการบินแอร์ฟรานซ์กล่าวก่อนการผละงานคาดหวังว่า จะสามารถให้บริการเที่ยวบินได้ราว 80% แอร์ฟรานซ์แถลงผ่านเว็บไซต์ว่า เที่ยวบินที่ยกเลิก ได้แก่ เที่ยวบินไปนครนิวยอร์ก โตเกียว มอนทรีออล และอีกหลายเส้นทาง และอาจยกเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบินเพิ่มเติมอีก สหภาพแรงงานหลายแห่งกำลังเรียกร้องให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของแอร์ฟรานซ์ผละงานประท้วงไปจนถึงวันพุธ ซึ่งอาจส่งผลกระทบหนัก ทั้งนี้ ในวันที่ 1 พ.ย.นี้จะเป็นวันหยุดในฝรั่งเศส ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อาจลาหยุดในวันจันทร์ด้วยเพื่อขยายวันหยุดต่อจากสุดสัปดาห์และยังตรงกับช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2554 Posted: 29 Oct 2011 11:22 AM PDT คณะกรรมการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมเห็นชอบช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน 22 ต.ค. 54 - นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม ได้หารือกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดฯ สรุปเบื้องต้นว่า ผู้ประกอบการยินดีจ่ายเงินให้กับผู้ใช้แรงงานของตนเองในเดือนตุลาคมนี้เป็น เวลา 1 เดือนก่อนคือ ประมาณร้อยละ 75 – 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ จะหารือกันเป็นครั้งๆ ไป เบื้องต้นจะเร่งฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมก่อน ทั้งการสูบน้ำออก การขนย้ายเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย หรือการนำเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งในและต่างประเทศ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2554 ด้านนางปราณี ไชยเดช แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ทางแรงงานจังหวัดฯ ได้เตรียมโครงการจ้างงานเร่งด่วนไว้รองรับผู้ใช้แรงงานหลังน้ำลด คือทำความสะอาดบ้านเรือน อาคาร และสถานที่สาธารณประโยชน์ต่างๆ วันละ 150 บาท คนละ 20 วันหมุนเวียนกันไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 22-10-2554) ก.แรงงาน ออกมาตรการเยียวยา "นายจ้าง-ลูกจ้าง" ประสบภัยน้ำท่วม ที่กระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนายจ้าง และลูกจ้าง โดยมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว เป็นแพ็คเกจ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการ แยกเป็น 1.โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย ให้สถานประกอบการกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี คงที่ 3 ปี ผู้ประกันตน รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี คงที่ 2 ปี 2.โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) เห็นชอบหลักการ อนุมัติเงินฝาก 1 หมื่นล้านบาท ให้ธนาคารปล่อยกู้ให้สถานประกอบการเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน 3.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เห็นชอบให้ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน จากเดิมที่กำหนดให้ผู้เข้ารับการฝึกกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ย 1% และสถานประกอบการกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นอัตราดอกเบี้ย 0.1% เป็นระยะเวลา 1 ปี 4.การลดเงินสมทบประกันสังคม อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกจ้างที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง จัดให้มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน จัดหาตำแหน่งงานรองรับให้แก่ลูกจ้างที่เดือดร้อน เข้าทำงานในสถานประกอบการใกล้เคียง เป็นการชั่วคราว 18,857 อัตรา โครงการป้องกันและชะลอการเลิกจ้าง โดยรัฐบาลจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขนายจ้างต้องทำ MOU ว่าจะไม่เลิกจ้าง และจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม โดยมีเป้าหมายกว่า 6.4 แสนคน จะเสนอของบกลางจากรัฐบาล 5,760 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้แล้วจากการหักงบประมาณปี 2555 กระทรวงละ 10% โดยได้ตั้งงบแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมไว้ทั้งหมด 8 หมื่นล้านบาท รมว.แรงาน กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ประกอบด้วย 1.ให้มีการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2.ใช้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชยให้ยื่นขอรับเงิน สงเคราะห์ โดยจะพิจารณาจ่ายไม่เกิน 60 เท่าของค่าจ้างรายวัน ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงิน 259 ล้านบาท 3.ประกันการว่างงานตามกฎหมายประกันสังคม โดยจ่าย 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน และ 4.จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ 99,245 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการบริการ การผลิต และช่าง (แนวหน้า, 25-10-2554) ผู้ประกอบการภาคอีสานพร้อมรับแรงงานประสบภัยน้ำท่วม ภูมิภาค 26 ต.ค. - สำนักงานจัดหางาน จ.นครราชสีมา เผยโรงงานอุตสาหกรรมยังมีอัตราว่างเกือบ 3,000 อัตรา พร้อมรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมกลับภูมิลำเนา ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ ยังว่างกว่า 10,000 อัตรา มีแรงงานทยอยแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงการเตรียมรองรับแรงงานคืนถิ่นในช่วงประสบภาวะน้ำท่วมว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมาได้ประสานกับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อรวบรวมตำแหน่งงานว่าง ขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แจ้งความประสงค์รับแรงงานเพิ่มแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยางและพลาสติก ต้องงานแรงงานรวม 2,647 อัตรา ซึ่งเป็นโรงงานในกลุ่มเดียวกับโรงงานที่กำลังประสบอุทกภัย และยังมีตำแหน่งงานว่างที่ประกาศรับสมัครอีกกว่า 2,800 อัตรา นอกจากนี้ รัฐบาลอิสราเอลโดยสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือด้านแรงงานกับรัฐบาลไทย เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร ณ ประเทศอิสราเอล โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 เป็นต้นไป ผู้สนใจขอให้ติดตามสอบถามกรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด และอย่าหลงเชื่อบุคคลแอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไปทำงานได้ เนื่องจากการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอล รัฐเป็นผู้ดำเนินการ ด้านนายเที่ยง ดอกกระโทก นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคกลางกลับสู่ภูมิลำเนาและมาขึ้น ทะเบียนเป็นผู้ว่างงานแจ้งความประสงค์ต้องการงานทำ 17 ราย คาดว่าจะมีผู้มาขึ้นทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 31 ตุลาคมนี้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดจัดวันนัดพบแรงงานขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานมาสมัครงาน หรือติดต่อสอบถามตำแหน่งงานว่างกับนายจ้างและสถานประกอบการโดยตรง ขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ รองรับอยู่ 2,563 อัตรา และต่างจังหวัดอีกกว่า 7,500 อัตรา รวมกว่า 10,000 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นงานฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ช่างซ่อมไฟฟ้า และช่างซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ (สำนักข่าวไทย, 26-10-2554) แคนนอนเลิกจ้างพนักงาน 1.9 พันคน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครอง กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ณ วันที่ 27 ต.ค. มีรายงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกล่าว 7.2 แสนคนแล้ว และได้รับรายงานว่า บริษัทแคนนอนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เลิกจ้างพนักงานที่ทำงานยังไม่ครบ 1 ปีจำนวน 1,979 คน โดยจ่ายเงินเดือนล่วงหน้า เงินชดเชย และสวัสดิการอื่นๆ กว่า 51 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทแคนนอนยินดีรับลูกจ้างกลุ่มนี้เข้าทำงานที่โรงงานใน จ.นครราชสีมา แต่ลูกจ้างไม่ไปเนื่องจากไกลจากภูมิลำเนา และเชื่อว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างตามมาอีกซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานเข้าใหม่ ที่ทำงานยังไม่ถึง 1 ปี ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มี ลูกจ้างเอาท์ซอร์สของบริษัทเอท็อปไทม์ จำกัด บริษัทธนกร ควอลิตี้ บิสซิเนส จำกัด และบริษัท ไฮไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด 343 คน ถูกเลิกจ้างไปก่อนแล้วเนื่องจากบริษัทซันโย เซมิคอนดักเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจึงบอกเลิกสัญญากับบริษัทเอาท์ซอส (โพสต์ทูเดย์, 27-10-2554) เครือสหพัฒน์พร้อมรับแรงงานอพยพในพื้นที่ชลบุรีเข้าทำงาน รง.ในเครือ นายทนง ศรีจิตร์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งถือเป็นฐานผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคและอุปโภคและฐานผลิตสินค้าเพื่อการ ส่งออกแหล่งใหญ่ของเครือสหพัฒน์ เผยว่าขณะนี้ชมรมบริหารงานบุคคลเครือสหพัฒน์ ได้ร่วมกับแรงงานจังหวัดชลบุรี และหน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชุมร่วมกันเพื่อประสานการทำงานในการเปิดรับแรงงานอพยพจากภัยน้ำท่วมที่ ต้องหยุดงานจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมหมด (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-10-2554) ยันไม่ลอยแพลูกจ้าง 2.8 แสนคน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครอง กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากสถานประกอบการ 435 แห่งใน จ.พระนครศรีอยุธยาว่าจะไม่เลิกจ้างแรงงาน รวมจำนวนทั้งหมด 2.8 แสนคน โดยมีทั้งสถานประกอบการที่จ่ายเงินเดือนให้แก่แรงงานเต็ม 100% และบางแห่งจ่ายให้ 75% จนกว่าสถานประกอบการจะฟื้นฟูตัวอย่างเต็มที่จึงจะจ่ายให้เต็ม 100% อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแรงงานที่ถูกเลิกจ่างขณะนี้รวมแล้ว 2,550 คน ประกอบด้วย บริษัทไอดีพี โปรดัก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะเลิกจ้างพนักงาน รายเดือนและรายวันรวม 166 คน บริษัทเมทาฟอร์มซึ่งผลิตเฟอร์เจอร์อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเลิกจ้าง พนักงานรายเดือนและรายวันรวม 62 คน บริษัทซันโย เซมิคอนดักเตอร์ จำกัด เลิกจ้างลูกจ้างเอาท์ซอร์ส 343 คน และบริษัทแคนนอนที่มีโรงงานผลิตอยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยาได้เลิกจ้างพนักงาน รายเดือนและรายวันที่ทำงานยังไม่ครบ 1 ปีจำนวน 1,979 คน ขณะทีข้อมูลของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ณ วันที่ 28 ต.ค.มีสถานประกอบการใน 19 จังหวัด ประสบภัยน้ำท่วม 1.8 หมื่นแห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7.4 แสนคน (โพสต์ทูเดย์, 28-10-2554)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
“นวมทอง ไพรวัลย์” ประวัติศาสตร์ของสามัญชน: สัญญลักษณ์ต้านอำนาจกองทัพ-รัฐประหาร Posted: 29 Oct 2011 10:34 AM PDT วันที่ 31 ตุลาคม เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สำหรับหัวใจของ “คนเสื้อแดง” “คนรักประชาธิปไตย” คงไม่มีใครลืมประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ของคนธรรมสามัญชน ผู้รักประชาธิปไตย ที่ชื่อ “นวมทอง ไพรวัลย์” แม้ว่าหลักสูตรการอบรมบ่มเพาะครอบงำทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นปกครองอำมาตย์ศักดินา มักจักให้ผู้คนในสังคมไทยจำในเรื่องในสิ่งที่พวกเขาอยากให้จำ และลืมในเรื่องในสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ลืม แต่นับจากนี้ไป เราพบเห็นว่า “คนเสื้อแดง” “คนรักประชาธิปไตย” “ผู้ตาสว่าง” ได้สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองด้วยความภาคภูมิใจขึ้นมาแล้ว เราจึงได้ยินการเอ่ยถึง จิตร ภูมิศักดิ์ เตียง ศิริขันธ์ ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พระยาพหล พยุหเสนา ถวัติ ฤทธิเดช พ่อหลวงอินทา และอีกหลายคน ผู้มีความใฝ่ฝันถึง “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” คืนวันที่ 31 ตุลาคม “นวมทอง ไพรวัลย์” อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้ ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 “นวมทอง ไพรวัลย์” ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร ของบริษัท สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ (คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 )และได้รับบาดเจ็บสาหัส ในคืนที่นายนวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยด้านหน้าเป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ ที่ว่า ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา แผ่นดินมีหินชาติ ที่ดาดาษความโฉดเขลา ปลิ้นปล้อนตะลอนเอา ประโยชน์เข้าเฉพาะตน กล่าวได้ว่า การขับรถแท็กซี่ชนรถถังครั้งนั้นของ “นวมทอง ไพรวัลย์” เป็นการต่อสู้กับอำนาจนอกระบบของอำมาตย์ ที่ทำลายประชาธิปไตย และเป็นอุปสรรคขัดขางหนทางประชาธิปไตยในสังคมไทยมาหลายยุคหลายสมัย การกระทำดังกล่าวของ “นวมทอง ไพรวัลย์” จึงเป็นสัญลักษณ์ต้านอำนาจกองทัพและรัฐประหารของระบบอำมาตย์ นั่นเอง กระนั้นก็ตาม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเมษา –พฤษภา 53 อำมหิต กองทัพได้เป็นกลไกหลักในการล้อมปราบประชาชนครั้งนั้น จึงต้องนำคนฆ่า คนสั่งฆ่าดำเนินการตามกฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสังคมไทย ต้องการปลดเปลื้องพันธนาการที่ลดทอนการเติบโตของพลังประชาธิปไตย ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่ง “ต้องปฏิรูปกองทัพไทย” เหมือนเช่นประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกที่กระทำกัน กล่าวสำหรับกองทัพไทย ภายใต้บริบทการเมืองไทย ภาวะ“รัฐซ้อนรัฐ” ดำรงอยู่ปัจจุบัน ผู้เขียนมีข้อเสนอ 3 ประการ ในการปฏิรูปกองทัพ คือ 1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องดำเนิกระบวนการ แก้ไขพรบ.สภากลาโหม เพื่อให้อำนาจในการบังคับบัญชากองทัพ กลับมาอยู่กับผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย 2. รัฐประชาธิปไตยต้องทำให้กองทัพมีขนาดเล็กลง ไม่มีระบบการเกณฑ์ทหาร งบประมาณก็ต้องลดลง เพื่อนำงบประมาณใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่มีประโยชน์กว่า ท่ามกลางยุคที่หมดสมัยการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน 3. รัฐประชาธิปไตย ต้องสร้างระบบการศึกษาและวัฒนธรรมกองทัพให้ทันสมัย เป็นประชาธิปไตยทั้งความคิดและการจัดองค์กร ที่ไม่เน้นระบบสายบังคัญชาแบบแบบสั่งการ โดยผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด การปฏิรูปกองทัพ คงเป็นความใฝ่ฝันหนึ่งของ “นวมทอง ไพรวัลย์” ขอคารวะดวงวิญญาณ “นวมทอง ไพรวัลย์” อุดมการประชาธิปไตย ของ “นวมทอง ไพรวัลย์” จงเจริญ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
กป.อพช เสนอให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการภัยพิบัติ Posted: 29 Oct 2011 10:23 AM PDT เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 54 ที่ผ่านมาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) เสนอข้อเสนอการจัดการภัยพิบัติโดยเคารพศักยภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ............ ข้อเสนอ นับเป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วมสูงและแช่ขังในขอบเขตกว้างขวาง ได้ก่อความเสียหายต่อชีวิต ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สัตว์เลี้ยง และทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก ความรุนแรงของปัญหาครั้งนี้ได้ทวีความรุนแรงไปสู่ระดับวิกฤต คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) และเครือข่ายในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม ได้ร่วมปฏิบัติงานโดยตรงกับพี่น้องผู้ประสบปัญหา และได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีความเห็นว่า วิกฤตครั้งนี้กำลังถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากปัญหาที่สำคัญอีกหลายประการ สะท้อนให้เห็นจากรูปธรรมของปัญหาในการดำเนินงานของภาครัฐในการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงและจำเป็น ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทันท่วงทีเพื่อการเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ ความไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงของการจัดส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัย ความโกลาหล วุ่นวายในการอพยพผู้ประสบภัย ตลอดจนความไม่พร้อมในการจัดการศูนย์พักพิง หากแต่ด้วยความมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม และจิตอาสาของภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่ช่วยประคับประคองและลดระดับความรุนแรงของปัญหาให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ณ ช่วงเวลานี้ พื้นที่ประสบความรุนแรงของปัญหาคือกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งมาตรการหลักที่รัฐบาลนำมาใช้คือการขอให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมอพยพออกไปอยู่ในศูนย์พักพิง ซึ่งอยู่ห่างไกลจากชุมชนหรืออยู่ต่างจังหวัด กป.อพช.และเครือข่ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักในความเป็นจริงของสังคมไทยที่ประชาชนผูกพันกับชุมชน ห่วงที่อยู่อาศัย และแต่ละครอบครัวมีผู้สูงอายุที่จะต้องดูแล จึงไม่อยากจะย้ายไปอยู่ไกลจากชุมชนของตน และขณะเดียวกันชุมชนก็มีศักยภาพ อันได้แก่มีผู้นำที่สามารถกุมสภาพของชุมชน มีความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกที่สามารถจะพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกัน เป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญของชุมชนที่จะร่วมในการแก้ปัญหา กป.อพช. และเครือข่าย จึงมีข้อเสนอเฉพาะหน้าต่อรัฐบาลดังนี้ ● ให้รัฐสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักพิงในพื้นที่ของชุมชน และดำเนินการโดยชุมชน เพื่อจัดการชุมชนของตนเอง โดยไม่เน้นการย้ายชุมชนออกจากถิ่นที่ยู่ของพวกเขา แต่ใช้อาคารที่มีความสูงพ้นจากระดับการท่วมของน้ำ เช่น ชั้น ๒ หรือ ๓ ของอาคารโรงเรียน วัด ศูนย์สาธารณสุขชุมชน ที่ทำการเขต ฯลฯ เป็นที่ทำการศูนย์พักพิง พร้อมไปกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนที่ไม่ได้เผชิญความเสี่ยงรุนแรง สามารถเลือกที่จะอยู่ในที่พักอาศัยหรือบ้านเรือนของตนเอง โดยมีการประสานงานและรับความช่วยเหลือบางประการจากศูนย์พักพิงในบางระดับ ● ให้รัฐสนับสนุนสิ่งจำเป็นในการดำเนินงานศูนย์พักพิงของชุมชน อันได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค หน่วยตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ เครื่องปั่นไฟพร้อมน้ำมันในกรณีที่ต้อง ตัดกระแสไฟฟ้าในชุมชน เสื้อชูชีพ เรือติดเครื่องยนต์พร้อมน้ำมัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางจากศูนย์พักพิงไปดูแลบ้านและทรัพย์สินของตนได้เป็นครั้งคราว กป.อพช.และองค์กรเครือข่ายเชื่อว่า การที่รัฐสนับสนุนให้ชุมชนบริหารจัดการความช่วยเหลือในแนวทางดังกล่าวคือการเคารพต่อศักยภาพของชุมชน และการทำทุกวิถีทางให้ประชาชนสามารถมีชีวิตอยู่อย่างไม่แร้นแค้น มีความปลอดภัย และลดปัญหาความเครียดในการทิ้งบ้านเรือน จะทำให้บุคคลสามารถดำรงศักดิ์ศรีของตนได้ท่ามกลางภัยพิบัติ อีกทั้งบรรดากลุ่ม หรือบุคคลที่ประสงค์จะร่วมทำงานกับภาคประชาชนและภาครัฐก็จะสามารถทำงานได้สะดวกขึ้น นอกจากการร่วมในปฏิบัติการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนผู้ประสบปัญหาในปัจจุบันแล้ว กป.อพช.และเครือข่ายจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังในสังคมไทยที่จะแสวงหาแนวทางในการฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์น้ำในระยะยาวต่อไป คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
คนชุมพร–ประจวบฯ ต้านสหวิริยา ขอใช้อ่าวทุ่งทรายสร้างท่าเรือน้ำลึก Posted: 29 Oct 2011 10:10 AM PDT “คนชุมพร-ประจวบ” ฮือต้าน “ท่าเรือน้ำลึกสหวิริยา” ร้องกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบกรณีขอใช้ที่สาธารณะสร้าง “ท่าเรือน้ำลึก” ที่ดินปะทิวเผย “อำเภอปะทิว–สิ่งแวดล้อมภาค14” ไม่เห็นด้วยสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกอ่าวทุ่งทราย” ต้าน–ชาวบ้านตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และชาวบ้านตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันขึ้นป้ายคัดค้านการขอใช้ที่ดินอ่าวทุ่งทราย อำเภอปะทิว สร้างท่าเรือน้ำลึกของบริษัทในเครือสหวิริยากว่า 20 ป้าย นายโศรัจ สมาธิวัฒน์ นักวิชาการที่ดินชำนาญการ สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว ได้ส่งเรื่องบริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด ขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์อ่าวทุ่งทราย เนื้อที่ 65–1–06 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพรพิจารณาแล้ว โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ชาวบ้านตำบลปากคลองและตำบลใกล้เคียง ในอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ประมาณ 120 คน ได้ทำหนังสือคัดค้านการขอใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวมาแล้ว “เท่าที่ผมทราบตอนนี้ทางอำเภอปะทิว และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 ซึ่งรับผิดชอบจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรอนุมัติให้บริษัททรัพย์สินชุมพรธานีจำกัด ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์อ่าวทุ่งทรายสร้างท่าเรือน้ำลึก เพราะเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์ร่วมกัน และระบบนิเวศน์ในบริเวณดังกล่าว ยังคงอุดมสมบูรณ์” นายโศรัจ กล่าว นายสุนิต เนตระกุล ชาวบ้านตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกันยายน 2554 ตนและชาวบ้านได้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ลงมาตรวจสอบกรณีการขอใช้ที่ดินอ่าวทุ่งทราย สร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกของบริษัททรัพย์สินชุมพร จำกัด ตอนนี้ชาวบ้านตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ร่วมกับชาวบ้านตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้คัดค้านการขอใช้ที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกันอย่างคึกคัก มีการติดป้ายคัดค้านกว่า 20 ป้ายแล้ว ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น.ของวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ชาวบ้านตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพรประมาณ 120 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเลขที่ 1015/2554 ลงนามโดยนายมาโนทย์ ประเทศพิบูลย์ พร้อมรายชื่อบุคคล 658 รายชื่อ ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว คัดค้านการขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์อ่าวทุ่งทราย ตามหนังสือที่ 1254/2554 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร เรื่องขอใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์อ่าวทุ่งทราย ลงนามโดยนายวิทย์ วิริยประไพกิจ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด ในหนังสือระบุเหตุผลในการคัดค้านว่า ประชาชนยังใช้ประโยชน์ทำประมงชายฝั่งร่วมกัน การสร้างท่าเรือน้ำลึกทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยา และทำให้วิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนไป โดยนางประเทือง เมืองงาม นักวิชาการที่ดินชำนาญการ เป็นผู้รับหนังสือคัดค้านฉบับนี้ พร้อมกันนี้ ชาวบ้านยังได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ถึงนายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ นายอำเภอปะทิว คัดค้านประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว ที่อนุญาตให้บริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด ยื่นขออนุญาตขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์อ่าวทุ่งทราย ลงนามโดยนายมาโนทย์ ประเทศพิบูลย์ พร้อมแนบรายชื่อผู้คัดค้านประกอบ โดยให้เหตุผลว่า ลักษณะของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เป็นโครงการขนาดใหญ่ รองรับอุตสาหกรรมหนัก โรงไฟฟ้าถ่านหิน/นิวเคลียร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ ก่อนหน้านี้ ประมาณวันที่ 15 สิงหาคม 2554 มีชาวบ้านตำบลปากคลองผู้หนึ่งได้พบประกาศดังกล่าวติดอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว จึงกลับไปแจ้งให้เพื่อนบ้านทราบ จนนำมาสู่การลงรายชื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว และนายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ นายอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ทั้งนี้ ประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว ฉบับดังกล่าวลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ลงนามโดยนายโศรัจ สมาธิวัฒน์ รักษาการในตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว มีเนื้อหาระบุว่า บริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด ได้ยื่นขออนุญาตตามความในมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินขอเช่าที่ดินอ่าวทุ่งทราย 65–1–06 ไร่ เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ถ้าผู้ใดจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป ในวันออกประกาศฉบับนี้ สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว ได้มอบหมายให้นางประเทือง เมืองงาม นักวิชาการที่ดินชำนาญการ พร้อมด้วยนายปรีชา ฉิมเรศ นายช่างรังวัดชำนาญงาน และนางสาวสำอาง คงตระกูล นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ เป็นผู้ชันสูตรตรวจสอบการขออนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์อ่าวทุ่งทราย เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ของบริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด ผลการตรวจสอบปรากฏในบันทึกชันสูตรการสอบสวนฯ ระบุว่า สภาพที่ดินเป็นที่ราบลุ่มดินปนทราย ปัจจุบันประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะแห่งนี้แล้ว ไม่มีแร่โลหธาตุ พันธุ์ไม้สงวน มีแต่ต้นสนอยู่เต็มพื้นที่ สภาพที่ดินเหมาะสมกับกิจการที่ขอทำท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากอยู่ติดทะเล สามารถสร้างท่าเรือน้ำลึก เพื่อประกอบกิจการซื้อและจำหน่ายวัตถุดิบ และขนถ่ายสินค้า เห็นอนุญาตให้เช่า เพราะเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลปากคลอง ขอถอนสภาพเพื่อนำไปจัดหาผลประโยชน์โดยการให้เช่า ต่อมา สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว มีหนังสือที่ ชพ 001902/4331 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2554 เรื่องขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ (อ่าวทุ่งทราย) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ลงนามโดยนายโศรัจ สมาธิวัฒน์ รักษาการในตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว มีเนื้อหาว่า บริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตขอใช้ที่สาธารณประโยช์ (อ่าวทุ่งทราย) บริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เนื้อที่ประมาณ 65–1–06 ไร่ เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการซื้อ จำหน่ายวัตถุดิบ และขนส่งสินค้า ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว ตามคำขอเลขที่ 1254/54 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 บัดนี้ สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชันสูตรตรวจสอบสวน ณ ที่ดินที่ขออนุญาต และให้ช่างรังวัดทำการรังวัดที่ดินแปลงที่ขอ พร้อมทั้งประกาศสามสิบวันตามระเบียบแล้วพบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลปากคลอง กำลังดำเนินการขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ เนื่องจากประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ และนำมาจัดหาผลประโยชน์โดยการเช่า เรื่องอยู่ระหว่างขั้นตอนของกรมที่ดินนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติเพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ บริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด แจ้งว่าหากองค์การบริหารส่วนตำบลปากคลอง ได้รับอนุมัติจากกรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ (อ่าวทุ่งทราย) และสามารถนำที่ดินดังกล่าวมาจัดหาผลประโยชน์โดยให้บริษัทฯเช่าทำท่าเรือน้ำลึกได้แล้ว บริษัทยินดีปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติ ตามหนังสือที่ คพ 009/2554 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ของบริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด สำหรับหนังสือที่ คพ 009/2554 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ของบริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด ที่ยื่นต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ลงลายมือชื่อนายวิทย์ วิริยประไพกิจ กรรมการบริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด มีเนื้อหาว่า ความจำเป็นที่ยื่นขอใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์อ่าวทุ่งทราย หมู่ที่ 3 ตำบลปากคลอง เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่มีความเหมาะสม กล่าวคือเป็นร่องน้ำลึกโดยธรรมชาติ ตรงตามวัตถุประสงค์ของการทำท่าเรือน้ำลึกเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งสามารถกำหนดพื้นที่เพื่อรองรับกิจการขนถ่ายสินค้าพื้นที่ได้อย่างดี เช่น พื้นที่ลานกองเก็บสินค้า พื้นที่คลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่กรมศุลกากรกำหนด รวมทั้งกำหนดพื้นที่ เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าและลานจอด สำหรับรถบรรทุกและรถคอนเทนเนอร์เพื่อการขนส่ง หากดำเนินการได้ตามที่ขอใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการพัฒนาท้องถิ่น สร้างรายได้ต่อชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติได้อีกมาก สำหรับบริษัททรัพย์สินชุมพรธานี จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท สหวิริยา จำกัด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กยักษ์ใหญ่ของไทย ที่มีโรงถลุงเหล็กอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
‘ศูนย์ทนายมุสลิม’ ตั้งกรรมการ เคลียร์ข้อหาเรียกรับเงิน–ทิ้งคดี Posted: 29 Oct 2011 10:00 AM PDT ศูนย์ทนายความมุสลิม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถูกกล่าวหาเรียกรับเงิน–ทิ้งคดี ควานหาชายนิรนามแจกใบปลิวโจมตี เตรียมเชิญญาติจำเลย ผู้ร้องเรียน ร่วมแถลงข่าว เคลียร์ทุกข้อกล่าวหา
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้อ้างเป็นตัวแทนจากองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) และพวกอีก 20 คน ร้องเรียนทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีไม่รับผิดชอบการทำคดี ทำให้จำเลยและญาติได้รับความเดือดร้อน และวันเดียวกันมีชายนิรนามแจกจ่ายใบปลิวในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี โจมตีการทำงานของศูนย์ทนายความมุสลิม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ผลการตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ทางคณะกรรมการฯ อยู่ในระหว่างหารือเตรียมนัดวันแถลงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวต่อสาธารณชน นายอาดิลัน เปิดเผยอีกว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2554 นายตัวแทนศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ได้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีแล้ว พร้อมกับรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนจะนำข้อมูลไปใช้ดำเนินคดีกับผู้ร้องเรียนและแจกจ่ายใบปลิวหรือไม่ ยังเปิดเผยไม่ได้ สำหรับศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี จะนัดประชุมหารือกรณีว่าจะดำเนินการกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไร ในวันที่ 29 ตุลาคม 2554 นายอาดิลัน กล่าวว่า การแจกจ่ายใบปลิวโจมตีศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีครั้งนี้ ทำให้ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ในฐานะองค์กรที่ทำงานกับภาคประชาชนเสื่อมเสียชื่อเสียง ทางศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีจะเชิญญาติของจำเลยที่ถูกอ้างถึงในหนังสือร้องเรียนว่า มีทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีเรียกรับเงินและทิ้งคดี พร้อมด้วยผู้ร้องเรียนนำโดยนายพิทักษ์นิติภูมิ ดอเหะ จากองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ มาร่วมแถลงข่าวกับศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี นายอาดิลัน กล่าวต่อไปว่า ทางศูนย์พยายามประสานนายพิทักษ์นิติภูมิ ตามหมายเลขติดต่อในนามบัตร ตั้งแต่วันที่มาร้องเรียน แต่ยังติดต่อกับนายพิทักษ์นิติภูมิไม่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องทบทวนว่า ไปทำอะไรที่สังคมยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ ส่วนเรื่องถูกร้องเรียน เป็นสิทธิที่ประชาชนจะร้องเรียนได้ ตนเข้าใจว่าองค์กรที่มาร้องเรียน เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อประชาชน แต่อาจจะได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน จนเข้าใจการทำงานของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีผิดไปจากความเป็นจริง “สิ่งที่เรารับไม่ได้คือการแจกจ่ายใบปลิวโจมตีการทำงานของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ มีเจตนาทำลายชื่อเสียงของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี” นายอาดิลัน กล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
โซมาเลีย เฮ! ค้นพบแหล่งน้ำจืด ยมท.ร่วมช่วยประชาชนอดอยาก Posted: 29 Oct 2011 09:52 AM PDT ยมท.รับบริจาคซื้ออูฐเชือดส่งโซมาเลีย ช่วยคนอดอยากผ่านเอ็นจีโอมาเลย์ พร้อมส่งอาสาสมัครร่วมปีหน้า ภารกิจแรก MRA ค้นพบแหล่งน้ำจืด ช่วยได้ถึง 300,000 ชีวิต นายมูรชีดี กาลอ ประธานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) สาขาจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการซื้ออูฐกุรบ่านเพื่อชาวโซมาเลีย ล่าสุดได้รวบรวมเงินบริจาคจนสามารถจัดซื้ออูฐได้แล้ว 8 ตัว เพื่อใช้ในการทำพิธีกูรบ่าน หรือการเชือดสัตว์พลีในวันตรุษอี้ดิลอัฎฮา แล้วนำไปแจกจ่ายให้ชาวโซมาเลียที่กำลังประสบปัญหาอดอยากในขณะนี้ นายมูรชีดี เปิดเผยต่อไปว่า เงินบริจาคดังกล่าวจะส่งไปให้ MALAYSIAN RELIEF AGENCY หรือ MRA ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ของประเทศมาเลเซีย และมีตัวแทนประจำอยู่ทางตอนเหนือของประเทศโซมาเลีย เพื่อนำไปซื้ออูฐที่ในประเทศเพื่อนบ้านของโซมาเลีย แล้วลำเลียงไปช่วยเหลือชาวโซมาเลียต่อไป นายมูรชีดี เปิดเผว่า สำหรับการเปิดรับบริจาคเงินซื้ออูฐจะดำเนินการจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ในราคาส่วนละ 3,500 บาท “ตามหลักศาสนาอิสลามได้แบ่งอูฐ วัว หรือควายออกเป็น 7 ส่วนใน 1 ตัว ซึ่งแต่ละคนสามารถครอบครองสัตว์ที่เชือดได้ตั้งแต่ 1 ส่วนขึ้นไปแล้วแต่กำลังความสามารถ จากนั้นแบ่งเนื้อสัตว์ออกเป็น 3 ส่วน คือ บริจาคในคนจน บริจาคให้คนรวย และเก็บไว้กินเอง” “ที่ผ่านมา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการระดมทุนช่วยเหลือชาวโซมาเลียแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมเมื่อราวเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยสามารถรวบรวมเงินบริจาคได้ประมาณ 1,030,900 บาท” นายมูรชีดี กล่าว นายมูรซีดี เปิดเผยด้วยว่า ในปีพ.ศ.2555 สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยเตรียมจะส่งอาสาสมัครเข้าไปร่วมปฏิบัติภารกิจกับองค์กรMRA ในประเทศโซมาเลียด้วย โดยต้องเป็นคนที่มีจิตอาสาและสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ นายมูรซีดี เปิดเผยด้วยว่า องค์กร MRA ได้เข้าไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนชาวโซมาเลียสำเร็จเป็นภารกิจแรกแล้ว คือ การสำรวจพบแหล่งน้ำบริสุทธิ์ในโซมาเลียทางตอนเหนือของโซมาเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 เชื่อว่าจะสามารถหล่อเลี้ยงชาวโซมาเลียได้ประมาณ 300,000 คน นายมูรซีดี เปิดเผยว่า หลังการสำรวจพบ ทางองค์กรMRA และรัฐบาลโซมาเลียจะสำรวจพื้นที่ที่มีความจำเป็นในการใช้น้ำมากที่สุดก่อน และเตรียมสำรวจแหล่งน้ำเพิ่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป นายมูรชีดี เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ชาวโซมาเลียเริ่มได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น หลังการยื่นมือเข้าช่วยเหลือของประเทศต่างๆ โดยความช่วยเหลือเข้าถึงชาวโซมาเลียแล้วประมาณ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ หลังจากประสบปัญหาภัยแล้งและความอดอยากอย่างรุนแรงมานานหลายเดือน โดยกลุ่มประเทศอาหรับมีบทบาทในการช่วยเหลือมากที่สุด นายมูรชีดี เปิดเผยอีกว่า ประเทศแรกๆ ที่ให้ความช่วยเหลือชาวโซมาเลีย คือ คูเวตและซาอุดิอาระเบีย ตามมาด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งความช่วยเหลือจากประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นายมูรซีดี เปิดเผยว่า ประชาชนชาวโซมาเลียที่ประสบปัญหาอดอยากมากที่สุดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของประชากรที่มีจำนวนมากขึ้น เช่น แหล่งน้ำสะอาดที่หายากมาก ทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากความหิวโหยจำนวนมาก ขณะที่การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งของกลุ่มติดอาวุธที่มีอิทธิพลในพื้นที่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
เผยแผนสร้าง ‘7อ่างเก็บน้ำ’ แก้ท่วมสงขลา ‘สื่อชายแดนใต้’ เข้ากรุงฯมอบของบริจาค Posted: 29 Oct 2011 09:45 AM PDT ‘สื่อชายแดนใต้’เข้ากรุงฯมอบของบริจาค ‘สงขลา’ประชุมเตรียมรับมือภัยพิบัติ ชลฯเผยแผนสร้าง‘7อ่างเก็บน้ำ’แก้ท่วม ม.อ.ตานีส่งมัสมั่นไก่กระป๋องช่วยน้ำท่วม อุตุฯเตือนภาคใต้เตรียมรับน้ำท่วม กรมชลฯเร่งพร่องน้ำเขื่อนปัตตานี ผ.ศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับบริจาคเงินเพื่อจัดทำถุงยังชีพ ส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี จะผลิตมัสมั่นไก่กระป๋อง บรรจุใส่ถุงยังชีพพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคมอบให้กับผู้ประสบภัยด้วย ร.ศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า มัสมั่นไก่กระป๋องที่ผลิตโดยศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ผ่านการแปรรูปและถนอมอาหารถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม เก็บไว้บริโภคได้นานกว่า 2 ปี โดยไม่เสียคุณค่าทางโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถผลิตมัสมั่นกระป๋องได้วันละประมาณ 500 กระป๋อง โดยเริ่มผลิตเพื่อบรรจุถุงยังชีพรอบแรก วันที่ 29–30 ตุลาคม 2554 ประมาณ 1,000 กระป๋อง จากนั้นวันที่ 5–6 พฤศจิกายน 2554 จะผลิตมัสมั่นกระป๋องบรรจุถุงยังชีพรอบที่ 2 ส่วนรอบสุดท้ายจะผลิตวันที่ 12–13 พฤศจิกายน 2554 ขณะนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแล้วประมาณ 50,000 บาท โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมทบเพิ่มอีก 50,000 บาท คณะศึกษาศาสตร์ 50,000 บาท และทางวิทยาเขตปัตตานีสมทบเพิ่มอีก 50,000 บาทรวมเงินบริจาคทั้งสิ้น 200,000 บาท ‘สื่อชายแดนใต้’เข้ากรุงฯมอบของบริจาค เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554 ที่มัสยิดนูรุลมูบีน แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร คณะสื่อมวลชนสามจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมผู้เข้าร่วมโครงการสานน้ำใจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม กลาง เหนือ อีสาน ได้มอบเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมสิ่งของเครื่องใช้ 2 คันรถบรรทุกหกล้อ แก่นายพิชิต รังสิมันต์ ประธานมูลนิธิสหบำรุงวิทยา ชุมชนสมเด็จ เขตธนบุรี นายระพี มามะ เลขาธิการสมาคมสื่อมวลชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้แจงว่า เงินและสิ่งของทั้งหมดได้รับบริจาคจากพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนในสามจังหวัดมีความห่วงใยผู้ประสบวิกฤติจากภัยพิบัติ จากนั้น เวลา 16.00 น. วันเดียวกัน สื่อมวลชนสามจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมคณะฯได้เดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 พร้อมกับมอบเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 120,000 บาท ให้นายสุรยุทธ สุทัศนจินดา จากรายการครอบครัวข่าวสาม นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ต่อมา คณะสื่อมวลชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เดินทางไปร่วมคัดแยกและบรรจุถุงยังชีพ เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัย ที่กองทัพภาคที่ 1 ในตอนค่ำวันเดียวกัน ‘สงขลา’ประชุมเตรียมรับมือภัยพิบัติ เมื่อเวลา 13.30.–16.30 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกจังหวัดสงขลา นายพีรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมคณะทำงานศูนย์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดสงขลา ประจำปี 2554 โดยมีตัวแทนส่วนราชการเข้าร่วมประมาณ 30 คน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก แจ้งต่อที่ประชุมว่า ช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน 2554 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส มีแนวโน้มว่าจะมีฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จึงควรเตรียมคณะทำงานศูนย์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้พร้อม นายโส เหมกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา แจ้งต่อประชุมว่า ขณะนี้นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจใช้เป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งเป็น 4 เขต เขตที่ 1 อำเภอเมือง สิงหนคร สทิงพระ ระโนด และกระแสสินธุ์ ให้นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารับผิดชอบ เขตที่ 2 อำเภอหาดใหญ่ นาหม่อม รัตภูมิ ควนเนียง และบางกล่ำ ให้นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารับผิดชอบ เขตที่ 3 อำเภอคลองหอยโข่ง และสะเดา ให้นายพีรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รับผิดชอบ เขตที่ 4 อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา ให้นายอัครพล บุณยนิตย์ ปลัดจังหวัดสงขลา รับผิดชอบ นายดนัยวิทย์ สายบัณฑิต ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดสงขลา แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำสะเดา อ่างเก็บน้ำคลองจำไหร อ่างเก็บน้ำคลองหลา 930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีรถแบ็คโฮขนาดเล็ก 50 คัน มีการขุดลอกคลอง 14 สาย มีสถานีสูบน้ำ 10 จุด มีเครื่องสูบน้ำ 50 เครื่อง เพื่อผลักดันลงสู่ทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 7 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถ้าหากเกิดจำนวนน้ำฝนมาก จะมีสถานีเฝ้าระวัง 43 จุด สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้าก่อน 10–11 ชั่วโมง ผ.ศ.วรวิทย์ วณิชาภิชาติ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยเรียกประชุมคณะทำงานศูนย์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดสงขลา ส่งผลให้บริหารจัดการน้ำไม่ได้ ขนาดจัดระบบแจ้งภัยล่วงหน้าได้ 10–11 ชั่วโมง น้ำยังท่วมขนาดหนัก ทั้งที่ปริมาณน้ำอยู่ในระดับจัดการได้ ตนจึงไม่ค่อยเชื่อระบบราชการว่า จะจัดการไม่ให้น้ำท่วมได้ เฉพาะหน้านี้จึงควรมีการซ้อมแผน 2 แบบคือ แผนในวันปกติกับวันหยุดราชการ อบรมแจ้งเตือนภัยรอบอ่าวปัตตานี เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. – 17.30 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2554 ที่สำนักงานพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีการประชุมคณะทำงาน Pattani Bay Watch (PB Watch) เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติ นายดนยา สะแลแม คณะทำงานโครงการ PB Watch แจ้งต่อที่ประชุมว่า วันที่ 31 ตุลาคม 2554 โครงการ PB Watch จะจัดอบรมวิทยุสื่อสารสมัครเล่นกับแกนนำชุมชนรอบอ่าวปัตตานี ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เมื่อปี 2553 รวม 6 ชุมชน ประกอบด้วย หมู่บ้านดาโต๊ะ 2 คน หมู่บ้านบูดี 2 คน หมู่บ้านบางปลาหมอ 2 คน หมู่บ้านบางตาวา 2 คน หมู่บ้านตันหยงลุโละ 2 คน และบ้านปาตาบูดี 2 คน พร้อมด้วยกลุ่มผู้ใช้วิทยุสมัครเล่นในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี 20 คน และคณะทำงานโครงการ PB Watch โดยจะอบรมที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยมีนายปัญญศักดิ์ สุวรรณวสุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี เป็นวิทยากร นางลม้าย มานะการ คณะทำงานโครงการ PB Watch แจ้งต่อที่ประชุมว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ทาง PB Watch จะเชิญแกนนำชุมชน และหน่วยงานราชการในจังหวัดปัตตานี มาร่วมประชุมถอดบทเรียนเหตุการณ์ภัยพิบัติ เมื่อปี 2553 เพื่อนำมาวางแผนรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อุตุฯเตือนภาคใต้เตรียมรับน้ำท่วม วันเดียวกันนี้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 ระบุว่าฝนจะตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก อาจจะเกิดจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 27–31 ตุลาคม 2554 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ระมัดระวังอันตราย สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ความสูงของคลื่นประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นอาจจะสูงมากกว่า 2 เมตร จึงขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนชลประทานปัตตานีได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนชลประทานปัตตานีลงสู่ทะเล หลังจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนกรมอุตุนิยมวิทยาออกมาแจ้งเตือนว่า ห้วงปลายเดือนตุลาคม 2554 ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2554 จะเกิดมรสุมและมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชน และร้านค้าต่างหาซื้ออิฐนำมากั้นป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกันทางจังหวัดปัตตานีก็ได้วางมาตรการป้องกัน ตลอดจนวางระบบเขื่อน, ชลประทาน, ฝายกันน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมด้วยเช่นกัน กรมชลฯเร่งพร่องน้ำเขื่อนปัตตานี นายอนุรักษ์ ธีระโชติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนชลประทานปัตตานี กล่าวว่าสาเหตุที่เขื่อนชลประทานปัตตานีปล่อยน้ำ เป็นการพร่องน้ำที่กักเก็บอยู่ในเขื่อนลงสู่ทะเล เพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม 2554 หลังจากนี้เขื่อนชลประทานปัตตานี จะยังคงพร่องน้ำอีกเพื่อกดปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อน ให้ลดลงเหลือ 10.50 เมตร เพื่อวางแผนรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมา การพร่องน้ำจะไม่มีผลกระทบกับพื้นที่ต่างๆ ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังประกาศข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด และอย่าหลงเชื่อข่าวลือ ทั้งนี้ เวลา 13.30 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554 นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้จัดประชุมติดตามสถานการณ์อุกทกภัยในจังหวัดสงขลา ที่ศูนย์อุตุนิยมภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
เรื่อง flow in - flow out ของเขื่อนภูมิพลตามมุมองนักอุตุนิยมวิทยา Posted: 29 Oct 2011 01:08 AM PDT
สิบกว่าปีที่แล้ว มีวิทยากรพิเศษมาบรรยายที่โรงเรียนหัวข้อ “การหลอกลวงข้อมูลด้วยกราฟ” ตอนฟังรู้สึกสนุกมาก ไดรับอีกบทเรียนในฐานะนักวิทยาศาสตร์ว่า ข้อมูลแห่งๆ อย่างตัวเลข ก็สามารถนำมาใช้หลอกลวงผู้บริโภคได้ ก่อนอื่นลองเข้าไปอ่านใน โพสตนี้ ผู้เขียนอธิบายเปรียบเทียบการปล่อยน้ำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย โดยอ้างอิงว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ปล่อยน้ำได้ดีกว่า เพราะสามารถรักษาระดับน้ำไม่ให้สูงนักจนถึงชวงเปลี่ยนรัฐบาล ขณะที่ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเปนรัฐบาล จะเห็นวากราฟสีแดงพุงพรวดๆ สิ่งที่เจาของโพสตไมยอมอธิบายคือ เปนปรกติของฤดูฝนที่ชวงทายฤดู ปริมาณฝนจะมากกว่าช่วงต้นฤดู กราฟที่นำมาแสดงข้างบนมาจากเว็บไซต์ของกรมอุตุ ปริมาณน้ำเฉลี่ยตลอดช่วงสามสิบปี แบ่งแยกในแต่ละเดือน จะเห็นว่าช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงกรกฎาคม ปริมาณน้ำฝนต่อเดือนจะต่ำกว่าช่วงปลายฤดูคือเดือนสิงหาคม และกันยายน เมื่อปริมาณน้ำฝนต่อเดือนน้อยกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าปริมาณน้ำในเขื่อนจะต่ำกว่า (ต้องไม่ลืมว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ปริมาณสุทธิ แต่เป็นอัตราการไหลเข้าของน้ำด้วย ฝนตกหนักในชั่วระยะเวลาสั้น จะมีโอกาสน้ำท่วมมากกว่าฝนตกน้อยเป็นเวลานาน เพราะการระบายน้ำจะทำได้ยากกว่า) หากยังไม่เชื่อ ลองวิเคราะห์เฉพาะกราฟที่เจ้าของโพสต์นำมาใช้อ้างอิง ลองเปรียบเทียบกราฟสีแดง (ปริมาณน้ำในเขื่อนปี 2554) กับปริมาณน้ำในปี 2553 (สีน้ำเงิน) และปี 2552 (สีเขียว) ดูในตารางด้านล่าง (หน่วยเป็นล้านลูกบาตรเมตร)
ตารางข้างบนแสดงระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำภูมิพลของแต่ละปี แต่ละช่วงเวลา ต้นฤดูฝนคือ 10 เมษายน 10 สิงหาคมถือเป็นรอยต่อระหว่างฤดูฝนช่วงต้น และฤดูฝนช่วงปลาย (และบังเอิญในปี 2554 ตรงกับช่วงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคุณยิ่งลักษณ์พอดี ไม่ใช่วันที่ 10 กรกฎาคม แบบที่เจ้าของกราฟนี้ระบายสี “ลวง” ไว้) ฤดูฝนไม่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 10 ตุลาคม แต่เราจำกัดเวลาเอาไว้เท่านี้เพื่อการเปรียบเทียบ (เนื่องจากข้อมูลปี 2554 ให้มาถึงแค่ประมาณวันที่ 10 ตุลาคมเท่านั้น) ตารางข้างล่างแสดงความเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำในเขื่อน ระหว่างฤดูฝนช่วงต้นและช่วงปลายในแต่ละปี
จากตารางนี้ ฤดูฝนช่วงต้นนั้น การกักเก็บน้ำในเขื่อนจะต่ำกว่าช่วงปลายจริงๆ ทั้งในปี 2552 และ 2553 มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในช่วงเดือนเมษายน จนเมื่อถึงวันที่ 10 สิงหาคม ปริมาณน้ำกลับมาอยู่ในระดับเดิม หรือกระทั่งต่ำกว่าเดิมในปี 2553 ด้วยซ้ำ (สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะในช่วงต้นฤดูฝนปี 2553 น้ำแล้งเป็นพิเศษ ข้อมูลตรงนี้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนจากกราฟของกรมอุตุฯ ที่ให้มาในตอนแรก ทีนี้มาดูคำถามสำคัญบ้าง เปรียบเทียบการเปิดน้ำในเขื่อนระหว่างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปี 2554 โดยผิวเผินจะเห็นว่าเป็นจริงตามที่เจ้าของโพสต์อธิบายมา คือในปี 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยปล่อยน้ำเข้ามาในเขื่อนถึง 4,200 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งปล่อยน้ำเข้ามาแค่ 3,300 ล้านลูกบาศก์เมตร
แต่ลองเปรียบเทียบการปล่อยน้ำในช่วงเวลาเดียวกันของพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2552 และ 2553 ในปี 2552 เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่ง และรู้ว่าจะได้เป็นรัฐบาลต่อไปถึงปลายฤดูฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำในปี 2552 ช่วงต้นฤดูฝนคือ 0 ลูกบาศก์เมตร และในปี 2553 ปริมาณน้ำถึงกับติดลบ หรือน้อยลงกว่าเดิมเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกันในปี 2554 ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องลงสมัครเลือกตั้งแข่งกับพรรคเพื่อไทย ปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อนช่วงต้นปีสูงถึง 3,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับในปี 2552 ซึ่งไม่มีการกักเก็บน้ำเลย ก็อาจกล่าวได้ว่าสูงกว่าเดิมถึงอนันต์เปอร์เซ็นต์ (∞ %) ในทางกลับกัน ปริมาณน้ำ 4,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถูกกักเก็บตั้งแต่พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล อาจเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการกักเก็บน้ำในช่วงเวลาเดียวกันของสองปีที่ผ่านมาโดยพรรคประชาธิปัตย์ (2,400 และ 2,700 ลูกบาศก์เมตร) ยังแตกต่างกันไม่ถึง 200% เลยด้วยซ้ำ ข้อสรุปตรงนี้คืออะไร กล่าวโดยยุติธรรม ข้อสรุปตรงนี้คือ “ไม่สามารถสรุปอะไรได้ทั้งสิ้น” สิ่งที่ขาดหายไปคือปริมาณน้ำในเขื่อนเฉลี่ยหลายปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเปิดน้ำลักษณะนี้เป็นเรื่องธรรมดา หรือผิดปรกติแค่ไหน การเปิดน้ำของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ในปี 2554 แตกต่างจากมาตรฐานเฉลี่ยอย่างไร ยิ่งกว่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือไปจากตัวเลขน้ำในเขื่อนที่ยกมาข้างต้น เช่น ปัจจัยทางธรรมชาติ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในปี 2554 ปริมาณฝนมาก และมาเร็วผิดปรกติ ดังนั้นในช่วงต้นฤดูฝน ปริมาณน้ำจึงมากเป็นพิเศษถึงแม้ 3,300 ล้านลูกบาศก์เมตรภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ อาจเป็นตัวเลขที่มหาศาลเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ และเช่นเดียวกันกับ 4,200 ล้านลูกบาศก์เมตรของรัฐบาลเพื่อไทย ในปี 2554 นี้ พายุพัดเข้าเมืองไทยลูกแล้วลูกเล่า ทำให้ปริมาณฝนมากเป็นประวัติการณ์ (มากสุดในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา) ดังนั้น 4,200 ล้านลูกบาศก์เมตรก็อาจเป็นตัวเลขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่นับปัจจัยด้านการจัดการว่า รัฐบาลมีสิทธิอำนาจแค่ไหนในการเข้ามาก้าวก่ายการเปิดปิดเขื่อน ตัวเลขเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของใคร รัฐบาล หรือข้าราชการ สุดท้ายคือปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งทำนายปริมาณฝนล่วงหน้า และอาจผิดพลาดได้ (หากนักอุตุฯ พยากรณ์ผิดพลาดว่าในปี 2554 ฝนจะแล้ง ก็สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมเขื่อนถึงจงใจกักเก็บน้ำอย่างผิดปรกติ) ข้อสรุปเดียวในขณะนี้คือ ท่ามกลางสภาพวิกฤติเช่นนี้ อย่างเพิ่งสาดโคลนกันด้วยตัวเลขที่ปราศจากที่มาที่ไป ใครคือผู้รับผิดชอบปริมาณน้ำนี้ตัวจริง เป็นการกระทำอย่างจงใจ เกิดจากความไร้ศักยภาพ หรือเป็นความโชคร้ายที่มาพร้อมกับปรากฏการณ์โลกร้อน อย่าเพิ่งรีบผุดตอกัน รอให้น้ำลดก่อนดีกว่าไหม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
งดเดินรถไฟสายใต้-สายเหนือวิ่งแล้วแต่เริ่มที่สถานีบ้านหมี่ Posted: 28 Oct 2011 11:52 PM PDT รฟท.งดเดินรถสายใต้ 7 ขบวนหลังน้ำท่วมรางระหว่างสถานีบางซื่อ-บางบำหรุ ผู้โดยสารสามารถขอคืนเงินค่าโดยสารได้ ส่วนสายเหนือเริ่มวิ่งตามปกติแล้วแต่เปลี่ยนต้นทางจากหัวลำโพงเป็นสถานีบ้านหมี่ ลพบุรี นอกจากนี้ยังจัดเดินรถไฟช่วงสั้นกรุงเทพ-ดอนเมือง-อยุธยาไปกลับ 34 ขบวนต่อวัน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนผู้โดยสาร เส้นทางรถไฟมุ่งหน้าสู่ดอนเมืองยังคงพ้นระดับน้ำและสามารถเดินรถไฟได้ ภาพถ่ายเมื่อ 28 ต.ค. 54 สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (29 ต.ค. 54) ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศงดการเดินรถสายใต้ ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางได้ ขอคืนเงินค่าโดยสารเต็มราคาส่วนสายเหนือยังทรงตัว และสายตะวันออกเฉียงเหนือเดินรถได้ปกติ นางนวลอนงค์ วงษ์จันทร์ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มวิกฤตมากขึ้นในสายใต้ส่งผลให้ขบวนรถไฟสายใต้ที่ออกจาก สถานีกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง ไม่สามารถเดินรถได้เนื่องจากปริมาณน้ำท่วมทางรถไฟช่วงบางซื่อ-บางบำหรุ สูงเหนือสันรางกว่า 48 เซนติเมตร นอกจากนี้ทางรถไฟสายใต้ช่วงชุมทางหนองปลาดุก-สุพรรณบุรี ระดับน้ำท่วมสูงเหนือสันรางกว่า 28 เซนติเมตร ขบวนรถไม่สามารผ่านไปได้เช่นกัน การรถไฟ จึงประกาศหยุดการเดินรถไฟสายใต้ทั้งหมด 7 ขบวน ประกอบด้วย ขบวนรถเร็วที่ 169 กรุงเทพ-ยะลา ขบวนรถด่วนที่ 83 กรุงเทพ-ตรัง ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ-นครศรีธรรมราช ขบวนรถเร็วที่ 167 กรุงเทพ-กันตัง ขบวนรถด่วนที่ 85 กรุงเทพ-นครศรีธรรมราช ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 39 กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 41 กรุงเทพ-ยะลา ทั้งนี้ผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถติดต่อขอคืนเงินค่าโดยสารได้เต็มราคา ได้ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศ ส่วนความคืบหน้าของการเดินรถไฟสายเหนือ ขณะนี้ยังทรงตัว สามารถเดินรถสายเหนือช่วงนครสวรรค์-เชียงใหม่ได้ตามปกติแล้ว แต่เปลี่ยนต้นทางจากสถานีกรุงเทพเป็นสถานีบ้านหมี่ในเขตจังหวัดลพบุรี ไป-กลับ จำนวน 14 ขบวน นอกจากนี้ การรถไฟฯยังได้จัดเดินรถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการเดิน ทางในระยะสั้นๆ ช่วง กรุงเทพ - ดอนเมือง - อยุธยา โดยได้เดินขบวนรถช่วยการโดยสาร ไป-กลับ เพิ่มเป็น 34 ขบวนต่อวัน เริ่มตั้งแต่เวลา 04.00 น.- 19.15 น. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
รายงาน: ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ มาเนียนๆ ดาบใหม่ ‘เซ็นเซอร์’ ? Posted: 28 Oct 2011 11:44 PM PDT ข่าว ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ผ่านไปเงียบๆ ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวกราก มีเพียงศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศราออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยเพราะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ขณะที่ ‘ยักษ์ใหญ่’ ไทยรัฐออกโรงโวยการกำหนดให้หนังสือพิมพ์ต้องยื่นคำขอต่ออายุหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ทุก 5 ปี และเจ้าพนักงานมีอำนาจจะต่อหรือไม่ต่ออายุให้ก็ได้ แต่ใครๆ ก็แซวว่า ร่างนี้เขาเอาไว้เล่นงาน ‘ฟ้าเดียวกัน’ โดยเฉพาะ ?! หลังจากการก่อนหน้านี้เคยมีกรณีสั่งห้ามจำหน่ายฉบับ “โค้ก” กันมาแล้ว และยังมีข่าวว่าสำนักหอสมุดแห่งชาติเคยเรียกดูเนื้อหาก่อนที่จะให้เลข ISBN กันเลยทีเดียว
“เรื่องนี้ต้องถือเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น เนื้อหาอะไรบ้างที่ถือว่า "กระทบ" ต่อสถาบันกษัตริย์ ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี? คำว่า "กระทบ" นี้กว้างไกลแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมมากกว่า "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย" แน่ๆ? ผบ.ตร. มีสิทธิ์ขาดในการวินิจฉัยเลยหรือ ว่าสิ่งพิมพ์ใดมีเนื้อหา "กระทบ" และ "ต้องห้าม" ซึ่งคนที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของ ผบ.ตร. มีสิทธิ์จำคุกถึง 3 ปี? หากมีการฟ้องศาล การพิจารณาในชั้นศาลจะพิจารณาเฉพาะว่ามีการฝ่าฝืนคำสั่ง ผบ.ตร. หรือไม่ประเด็นเดียว จะไม่มีการพิจารณาว่าเนื้อหาในสิ่งพิมพ์นั้น "กระทบ" หรือไม่อย่างไร?” คำถามที่ค่อนข้างมีคำตอบชัดเจนแล้ว ของชัยธวัช ตุลาฑล ทีมงานฟ้าเดียวกันที่ปรากฏขึ้นในเฟซบุ๊ก ทันทีที่มีข่าว ครม.ผ่านร่างใหม่กฎหมายนี้ เมื่อสอบถามเท้าความกันไป ทางตำรวจก็โยนว่า งานนี้สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพหลักไม่ใช่ตำรวจ !! ขณะที่ทางกรมศิลปากรก็แจ้งว่า อำนาจสำนักหอสมุดไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนมากนัก ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิค ขณะที่ได้เพิ่มอำนาจ ผบ.ตร.ขึ้นอีกเล็กน้อย ให้มีอำนาจในการสั่ง “ห้ามพิมพ์” ด้วย จากเดิมที่สั่งห้ามนำเข้า ห้ามเผยแพร่ ห้ามขายได้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องโทษก็ปรับเพิ่มเฉพาะโทษปรับจาก 6 หมื่น เป็น 1 แสนบาท ส่วนโทษจำคุกนั้นเท่าเดิม แต่กระนั้น เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรก็ระบุว่า อำนาจสั่งห้ามพิมพ์ของ ผบ.ตร. มิได้หมายเลยไปถึงปิดโรงพิมพ์แต่อย่างใด ดังนั้นสำนักพิมพ์ไม่ต้องกลัว และหนังสือพิมพ์รายวันก็ไม่ต้องตกใจ “ยังไงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในขณะที่เราจะรณรงค์ให้ลดหรือยกเลิกโทษอาญาที่กระทบเสรีภาพในการแสดงความเห็นอื่นๆ เช่น 112 หรือ กฎหมายหมิ่นประมาทปกติ ก็ดันมีกฎหมายมาเอาผิดอาญาเพิ่มอีก ต่อไปกฎหมายนี้อาจจะพัฒนากลายเป็นคล้ายๆ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในแง่ที่ว่า ในโลกไซเบอร์ก็จัดการเจ้าของเว็บให้หนักๆ ด้วย แทนที่จะจัดการคนโพสต์อย่างเดียว ในโลกกระดาษก็จัดการสำนักพิมพ์ให้หนักๆ เช่นกัน” ชัยธวัชแสดงความกังวล เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรยังระบุถึงสาเหตุและความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในฉบับร่างใหม่นี้ว่า เหตุที่มีการปรับแก้ครั้งนี้เป็นเพราะต้องการให้ผู้มาจดแจ้ง เมื่อได้รับอนุญาตและได้เลขมาตรฐานสากลประจำวารสารที่หอสมุดแห่งชาติออกให้แล้ว จะต้องนำไปใช้จริง เพราะรหัสที่ว่ามีจำกัด ที่ผ่านมาสำนักพิมพ์จำนวนมากขอไปแล้วไม่ได้จัดพิมพ์จริงจึงกำหนดระยะเวลาว่ามาจดแจ้งแล้วต้องพิมพ์ภายในเวลาเท่าไร อีกทั้งยังบังคับให้ส่งหนังสือให้หอสมุดแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด เพราะที่ผ่านมา หนังสือที่จัดพิมพ์แพงๆ สวยๆ มักไม่ส่งให้หอสมุด แต่จ่ายค่าปรับเล่มละ 12 บาทแทน นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญคือ การได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการวางหนังสือไม่เหมาะกับเยาวชนบนแผง ทำให้เกิดการเพิ่มเติมให้สิ่งพิมพ์จำพวกวารสาร นิตยสาร ต้องกระทำการคล้ายๆ “จัดเรท” ตัวเอง โดยจะมีการออกรายละเอียดการจำแนกประเภทในกฎกระทรวงอีกครั้ง แล้วสำนักพิมพ์ต้องพิมพ์เรทดังกล่าวบนหนังสือที่วางแผงด้วย แม้รายละเอียดเรื่องการจัดเรทยังไม่ปรากฏให้เห็นตอนนี้ แต่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน แสดงความกังวลว่ามันอาจเป็นอีกช่องทางในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดูจากประสบการณ์การจัดเรทของสื่ออีกประเภท คือ ภาพยนตร์ ยิ่งชีพเท้าความถึงปัญหาความคลุมเครือสำหรับเรทภาพยนตร์ว่า มันไม่ได้มีแต่เรทการห้ามอย่างเดียว แต่มีเรท “ส่งเสริม” ด้วย หนังที่ได้เรทนี้ส่วนใหญ่คือหนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย หรือหนังที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ เช่น ภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวร ซึ่งยังคงเป็นปัญหาว่าใครจะเป็นผู้นิยามความถูกต้อง ดีงาม ในการให้เรทควรส่งเสริมนี้ ขณะที่เรทการแบ่งตามาอายุ 13 15 18 20 ปี ก็ยังมีข้อสงสัยกันอยู่มากว่าช่วงอายุที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร อะไรจะเป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะของคนในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาคู่มือที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำขึ้นมาก็ดูจะไม่ได้ช่วยในการหาคำตอบเท่าไรนัก ที่สำคัญ ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ยังมีเรทห้ามฉาย ในมาตรา 26 (7) ซึ่งปรากฏว่าที่ผ่านมา ไม่มีหนังเรื่องไหนที่ได้เรทนี้เลยแม้แต่เรื่องเดียว แต่ขณะเดียวกันมีหนังที่ถูกห้ามฉายแล้วกว่า 200 เรื่อง .... โดยมาตราอื่น !!! มาตราที่ว่าคือ มาตรา 29 “การพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่ เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้” ยิ่งชีพว่า คำเหล่านี้เป็นคำกว้างๆ และมีความหมายคลุมเครือ ซึ่งถูกนำมาใช้แทนมาตรา “ห้ามฉาย” โดยตรงได้อย่างง่ายดาย โดยอำนาจจะอยู่ที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ ซึ่งจะดูเนื้อหาของหนังก่อนแล้วจึงลงความเห็นว่าจะอนุญาตให้ฉายหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร จะว่าไปก็คล้ายอำนาจห้ามพิมพ์ ห้ามเผยแพร่ของ ผบ.ตร. ในร่างกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ในแง่ที่สามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นตอ “พ.ร.บ.ภาพยนตร์สร้างระบบการเซ็นเซอร์ก่อนเผยแพร่ ถือเป็นครั้งแรกเลยที่มีการเซ็นเซอร์แบบนี้ ขณะที่สื่ออื่นๆ หนังสือ เว็บไซต์ ล้วนเป็นระบบเซ็นเซอร์หลังจากเผยแพร่แล้วทั้งสิ้น แต่ร่างใหม่ของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ กำลังจะสร้างการเซ็นเซอร์ก่อนเหมือนภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน” ยิ่งชีพกล่าว เขาระบุว่าด้วย ขณะนี้หนังเรื่อง "Insects In the Backyard" ของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ สั่งห้ามฉาย กำลังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องศาลปกครอง และยังมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกว่า มาตรา 29 และ มาตรา 26 (7) ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย และฝุ่นยังตลบอยู่ในแวดวงภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็น่าจะรอดูทิศทางที่ชัดเจนของคำพิพากษาเสียก่อน เรื่องนี้เพิ่งเริ่มนับหนึ่ง หวังว่าหลังกระแสน้ำลด สังคมไทยจะได้มีโอกาสพิจารณา ‘ตอ’ ต่างๆ ร่วมกัน ก่อนมีกฎหมายใหม่บังคับใช้ โดยเฉพาะบรรดาแฟนานุแฟนหนังสือเล่มนั้น ;)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
แจ้งฝั่งธนบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ สำรองน้ำประปา Posted: 28 Oct 2011 11:34 PM PDT การประปานครหลวงประกาศลดการผลิตน้ำประปาที่โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์เหลือ 400,000 ลบ.ม. ต่อวัน เนื่องจากการน้ำที่ท่วมในคลองประปามีคุณภาพต่ำและการกรองอุดตัน โดยจะแบ่งจ่ายน้ำสองช่วงคือ 6.00 - 9.00 น. และ 17.00 - 20.00 น. ในพื้นที่นนทุบรี สมุทรปราการ ฝั่งธนบุรี ขอให้สำรองน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว วันนี้ (29 ต.ค.) เว็บไซต์การประปานครหลวง แจ้งว่า ขณะนี้คุณภาพน้ำดิบที่ท่วมเข้ามาในคลองประปาฝั่งตะวันตกที่ส่งเข้าโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์มีคุณภาพต่ำลงมากและมีปริมาณสาหร่ายจำนวนมากตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ทำให้อัตราการกรองอุดตัน ส่งผลให้ไม่สามารถที่จะผลิตน้ำในระดับการผลิตที่ปกติได้ จำเป็นต้องลดการผลิตน้ำประปาที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ลงชั่วคราว จากเดิมที่ผลิตน้ำประปาได้วันละ 900,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เหลือประมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยจะแบ่งการจ่ายน้ำออกเป็น 2 ช่วง ในเวลา 06.00-09.00 น. และ 17.00-20.00 น. ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดที่รับน้ำจากโรงงานผลิตน้ำ มหาสวัสดิ์ ซึ่งประกอบด้วย จ.นนทบุรี ได้แก่ อ.เมืองนนทบุรีและปากเกร็ดฝั่งตะวันตก บางบัวทอง บางใหญ่ ไทรน้อย และบางกรวย จ.สมุทรปราการ ได้แก่ อ.พระประแดงและพระสมุทรเจดีย์ฝั่งตะวันตก พื้นที่ฝั่งธนบุรี ได้แก่ เขตธนบุรี คลองสาน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ทวีวัฒนา บางพลัด หนองแขม ภาษีเจริญ ตากสิน บางบอน ทุ่งครุ จอมทอง ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน และตลิ่งชัน ในระหว่างนี้ จึงขอแจ้งให้ท่านผู้ใช้น้ำโปรดสำรองน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว การประปานครหลวงจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถผลิตและ จ่ายน้ำโดยเร็วที่สุด และเมื่อสถานการณ์ผลิตน้ำประปาเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การประปานครหลวง จะแจ้งให้ทราบต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
ยิ่งลักษณ์แจงภาคกลางน้ำเริ่มลด-เร่งระบายน้ำ กทม. ทั้งสองฟาก Posted: 28 Oct 2011 11:19 PM PDT นายกรัฐมนตรีชี้แจงมาตรการระบายน้ำออกสองฝั่งตะวันออกและตะวันตกของ กทม. รับฝั่งตะวันตกยังจัดการได้ยากแต่จะให้กรมชลประทานอุดรอยรั่วของคันกั้นน้ำ และระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีนและเจ้าพระยา และคลองต่างๆ ใน กทม. มติชนออนไลน์ รายงานว่าวันนี้ (29 ต.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้กล่าวผ่านรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 วันที่ 29 ต.ค. โดยเป็นการเผยแพร่เสียงพร้อมฉายสไลด์ภาพนิ่งและวีดีโอประกอบ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุการณ์น้ำวันนี้มีผลกระทบในวงกว้าง เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกับคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ พร้อมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, เกษตรและสหกรณ์, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรองผู้ว่าราชการ กทม. และอธิบดีกรมชลประทาน ก็มาประชุมร่วมกันพร้อมรายงานสถานการณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ท่ามกลางข่าวสารที่กังวลใจเรื่องทะเลหนุนสูง ยังมีข่าวดีจากรายงานว่า ภาพรวมสถานการณ์ภาคกลางเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ระดับน้ำ จ.นครสวรรค์ และชัยนาทเริ่มลดลง น้ำที่ท่วมทุ่งและพื่นที่เกษตรได้ไหลเข้าสู่ลำน้ำสาขาต่างๆ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาก็ลดลง คาดการณ์ว่าจะลดต่ำลงเป็น 3 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในช่วงต้นเดือพฤศจิกายน สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะ อ.บางไทร น้ำเริ่มลดลงทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงจ.นนทบุรี, ปทุมธานี และตอนเหนือของ กทม. ก็เริ่มทรงตัว อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะจัดการในการเร่งรัด รองรับน้ำทะเลหนุนเป็นช่วง มาตรการระบายน้ำช่วง 25 ต.ค. - 5 พ.ย. แบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ ตะวันออกคือ ลดปริมาณน้ำเหนือคันน้ำแนวพระราชดำริ คลองรังสิต และ หกวาสายล่าง โดยให้กรมชลประทานเร่งบริหารจัดการน้ำคลองข่าวเม่า และคลองสาคู ให้กรมชลประทานร่งระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำตั้งแต่ประตู 6-13 บริเวณคลองหกวาสายล่าง เร่งเสริมเครื่องสูบและผลักดันน้ำทุกจุด และยังมอบหมายให้กทม. และการประปา เร่งระบายน้ำ หรือไซฟ่อน เพื่อเสริมการระบายน้ำบริเวณดังกล่าว รวมถึงให้เร่งระบายน้ำลงคลองแสนแสบ แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ สำหรับการะบายน้ำฝั่งตะวันตก เห็นว่า ยังเป็นไปได้ยากจึงหารือให้เร่งดำเนินการ โดยมอบให้กรมชลประทานเร่งอุดรอยรั่วตามคันกั้นน้ำแนวแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกโดยการใช้แผ่นเหล็กอุดรอยรั่ว, บริหารจัดการน้ำเพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีน และเจ้าพระยา โดยมีการบริหารจัดการน้ำเป็น 3 ส่วน คือ ทุ่งเจ้าเจ็ด จ.สุพรรณบุรี, ทุ่งเจ้าพระยาบรรลือ และทุ่งพระพิมล จ.นครปฐม สำหรับการเร่งระบายน้ำจะเป็นส่วนระบบระบายน้ำของกทม.ผ่านคลองทวีวัฒนา คลองภาษีเจริญ และคลองมหาชัย ซึ่งหากเร่งระบายน้ำตามที่เรียนไว้และทุกส่วนเร่งดำเนินการก็สามารถ ลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ กทม. รักษาคันกั้นน้ำแนวพระราชดำริ และควบคุมปริมาณน้ำในกทม.ได้ หากเป็นเช่นนี้คาดการณ์ว่าน้ำที่ท่วมใน กทม.จะเริ่มลดลงในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน แต่เพื่อไม่ให้เป็นการประมาทขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและการทำงานของรัฐบาล เป็นระยะ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||
"อภิสิทธิ์" ลงพื้นที่บางพลัด-เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม Posted: 28 Oct 2011 10:48 PM PDT ผู้นำฝ่ายค้านเยี่ยมเขตบางพลัด เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วม เผยประชาชนต้องการสุขาเพิ่ม ด้านผู้ว่าฯ กทม. เตือนประชาชนเขตลาดพร้าว วังทองหลาง จตุจักรน้ำเข้ามาแล้ว เขตห้วยขวางให้เฝ้าระวัง เฟซบุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อเช้านี้ (29 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางลงพื้นที่เขตบางพลัด กรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วมและให้กำลังใจพี่น้องที่ประสบภัย โดยในภาพที่เผยแพร่จะเห็นนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในพื้นที่พานายอภิสิทธิ์เดินสำรวจด้วย โดยในวันนี้นายอภิสิทธิ์สวมเสื้อเชิ๊ตขาวแขนยาว กางเกงขายาวเดินลุยน้ำตรวจสภาพน้ำท่วม พร้อมกันนี้นายอภิสิทธิ์เดินทางไปยังโรงครัวของพรรคประชาธิปัตย์ "จุดน้ำใจคนไทยสู้ภัยน้ำท่วม" ใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด เพื่อสอบถามปัญหาและให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย โดยในเฟซบุคของนายอภิสิทธิ์ระบุด้วยว่าประชาชนต้องการสุขาเพิ่ม ขณะเดียวกันวอยซ์ทีวีรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แถลงเช้านี้ เตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณ ลาดพร้าว วังทองหลาง และจตุจักร ว่า ล่าสุดน้ำได้เข้ามาในบริเวณดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ให้เข้าระวังเขตห้วยขวาง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น