โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลไม่ให้ประกันเสื้อแดงมุกฯในชั้นอุทธรณ์อ้างคดีร้ายแรง

Posted: 28 Oct 2011 11:24 AM PDT

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ประกัน 13 เสื้อแดงมุกฯ ที่ต้องโทษจำคุก 20 ปี อ้างพฤติการณ์ร้ายแรง กระทบความมั่นคง ไม่พิจารณาปัญหาสุขภาพหรือพฤติกรรมในศาลชั้นต้น จำเลยรู้ตัวว่าไม่มีหวัง เครียดพยายามกระโดดตึก

28 ตุลาคม 2554 สืบเนื่องจากการที่ศาลจังหวัดมุกดาหารตัดสินจำคุก 20 ปี จำเลย 13 คน ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา และทีมทนายได้ยื่นขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ทันที  โดยอ้างเหตุผลว่า ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยมาฟังการพิจารณาด้วยดีและตรงต่อเวลามาโดยตลอด อีกทั้งจำเลยยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกันตัวมาแล้ว ทั้งนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก จ.มุกดาหาร, กาฬสินธุ์, ยโสธร, นครพนม และอำนาจเจริญ รวม 7 คน ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ค้ำประกันในการยื่นประกันครั้งนี้ 

อย่างไรก็ดี ศาลจังหวัดมุกดาหารได้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 13 คน ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และในวันนี้(28 ต.ค.54) เวลาประมาณ 15.00 น. นางวรพรรณ รักความสุข ผู้พิพากษาได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยมีทนายจำเลยเข้าฟัง  “ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ทั้งศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกจำเลยที่... ฐานร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำคุก คนละ 20 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เชื่อว่าจำเลยที่...จะหลบหนี ประกอบกับจำเลยที่... ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่.... ยกคำร้อง” อย่างไรก็ตาม ทีมทนายยังไม่หมดหวัง เตรียมยื่นคำร้องอีกวันจันทร์หน้า

ก่อนหน้านี้ กลางดึกคืนที่ผ่านมา จำเลยคนหนึ่งมีอาการเครียดและพยายามกระโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่เพื่อนจำเลยด้วยกันได้จับตัวไว้ ในตอนเช้าทางเรือนจำจึงได้ส่งตัวไปโรงพยาบาลมุกดาหาร เพื่อรักษาอาการทางประสาท โดยแพทย์ได้ฉีดยาระงับประสาทจนจำเลยคนดังกล่าวอาการสงบลง แต่ยังคงนอนพักรักษาตัวและอยู่ในความดูแลของแพทย์   

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำคุก 9 เสื้อแดงอุดร ยกฟ้อง 13 คน หลังขังยาวกว่าปี

Posted: 28 Oct 2011 11:09 AM PDT

ศาลอุดรสั่งจำคุกผู้ต้องหาเสื้อแดงคดีเผาสถานที่ราชการ 9 คน ปล่อย 13 คน หลังขังยาวปีเศษเชื่อมีการวางแผนทำเป็นขบวนการ  แม่ผู้ต้องขังร่ำไห้ถามนายกยิ่งลักษณ์ลืมพวกเราแล้วหรือ??

28 ตุลาคม 2554 นายสุมิตร ดวงสีดา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดอุดรธานี และนายธีระโชติ ยอดไกรศรี ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับการวางเพลิงเผาสถานที่ราชการจังหวัดอุดรฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการรวมสำนวน 4 คดี พิจารณาด้วยกัน ได้แก่ คดีเผาศาลากลางจังหวัด(คดีดำที่1154/53) คดีเผาสำนักงานเทศบาลเมือง(คดีดำที่1221/53) คดีพยายามเผาที่ว่าการอำเภอเมืองและจวนผู้ว่าฯ( คดีดำที่1155/53 ) และคดีเผาที่ว่าการอำเภอเมือง( คดีดำที่1374/53 ) มีจำเลยทั้งสิ้น 22 คน
 
ทั้งนี้ การอ่านคำพิพากษาเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. และสิ้นสุดประมาณ 14.00 น. รวมเวลา 3 ช.ม. โดยศาลตัดสินจำคุกจำเลยรวม 9 คน จำแนกได้เป็น ความผิดข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์มีโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือน 2 คน แต่เนื่องจากจำเลยคนหนึ่งในขณะกระทำผิดยังเป็นเยาวชน ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี 3 เดือน, ลงโทษจำคุก 20 ปี 6 เดือน 3 คน นอกจากนี้ ศาลยังได้สั่งให้จำเลยทั้ง 5 ชดใช้ค่าเสียหาย (จำนวนยังไม่ชัดเจน)     จำเลยอีก 4 คน มีความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำนวน 3 คน และจำคุก 4 ปี 6 เดือน 1 คน เนื่องจากปรากฏหลักฐานภาพถ่ายอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ 2 แห่ง
 
ในการตัดสิน ศาลพิจารณาหลักฐานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ ประกอบกับคำให้การของพยาน 
 
ส่วนจำเลยที่เหลือ 13 คน ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานภาพถ่ายไม่มีพฤติกรรมว่าได้กระทำผิด     ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 13 ถูกขังมาแล้วนานถึง 1 ปี 3 เดือน
 
เมื่อเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา จำเลย 9 คน ที่ถูกตัดสินจำคุกได้ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำกลาง จ.อุดรฯ  ท่ามกลางความเสียใจของบรรดาญาติ และจำเลยที่ไม่ถูกตัดสินลงโทษ ด้านนางขนิษฐา รัฐกาญจน์ ทนายความ ได้ยื่นเรื่องประกันตัวจำเลยทั้ง 9 ในทันที และก่อน 16.00 น. ศาลจังหวัดอุดรฯ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย 3 คนที่มีโทษ 2 ปี 6 เดือน โดย ส.ส.อุดรฯ 2 คน ใช้ตำแหน่งยื่นประกัน ส่วนจำเลยอีกคนที่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ชื่อนายประชา โพนหลวง เนื่องจากเป็นคนหนองคาย จึงไม่มี ส.ส.อุดรฯ คนใดมาเป็นนายประกันให้   และกรณีจำเลยที่มีโทษหนัก ศาลจังหวัดอุดรฯ จะได้ยื่นคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป
 
บรรยากาศโดยทั่วไปในศาลจังหวัดอุดรฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 150 - 200 นาย มารักษาความปลอดภัยโดยรอบ และมีการติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธหน้าห้องพิจารณาคดี ผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจจำเลยนอกจากญาติๆ แล้ว ก็มี ส.ส.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ และ ดร.ณัฐยศ  ผาจวง หรือ ดร.แดง แกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดอุดรฯ  และเนื่องห้องพิจารณาคดีมีขนาดเล็ก ญาติบางส่วนจึงไม่สามารถเข้าฟังได้ ต้องลงมาดูการถ่ายทอดผ่านวงจรปิดที่ศาลจัดไว้ให้ด้านล่างแทน

ล่าสุดเวลา 21.59 น. มารดาของนายกิตติพงษ์ ชัยกัง ผู้ต้องหาวัย  19 ปี ที่โดนศาลตัดสินจำคุก 11ปี 3เดือน ได้ร้องไห้พร้อมกับกล่าวกับประชาไทว่า ตนอยากวอนขอให้ผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายรวมถึงนายกยิ่งลักษณ์ให้ลงมาช่วยเหลือและคืนความเป็นธรรมให้กับลูกชายของตนด้วย

 
 
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนสะเอียบย้ำ ‘น้ำท่วมเพราะเขื่อน อย่าคิดผุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น’

Posted: 28 Oct 2011 10:06 AM PDT

‘สายัณห์ ข้ามหนึ่ง’ เป็นชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ที่เติบโตมาพร้อมกับการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขาเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านในฐานะกลุ่มเยาวชนตะกอนยมตั้งแต่วัย 10 ขวบ จนถึงบัดนี้ผ่านไปนับ 20 ปี เขายังคงเป็นฟันเฟืองหนึ่งของชุมชนที่ยังยืนหยัดต่อสู้ ในนามกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า

และยิ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่สุโขทัย ลงไปถึงภาคกลางและกรุงเทพฯ ยิ่งมีหลายคนเริ่มนึกถึงโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขึ้นมาโดยพลัน
 

สายัณห์ ข้ามหนึ่ง ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่     นายสายันห์ กล่าวว่า ถ้าได้ข่าวเรื่องของน้ำท่วมก็ต้องนึกถึงแก่งเสือเต้น ตอนที่ผมอายุ 10 ขวบมีกระแสเรื่องของแก่งเสือเต้น มาเกือบ 20 ปี โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 ผ่านมาถึงตอนนี้ก็ 30 ปีมาแล้วคิดว่าปัญหาเขื่อน เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ ถ้าแก่งเสือเต้นสามารถมีการสร้างได้ เชื่อว่าหลายๆ เขื่อนก็สามารถสร้างได้  “ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐอ้างมาโดยตลอดว่า น้ำยม เป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่  เพราะในขณะนี้ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่านมีเขื่อนขนาดใหญ่หมดแล้ว เหลือแต่แม่น้ำยมสายเดียว  ที่ยังไม่มีเขื่อน แต่ก็นั่นแหละ ทางรัฐก็มีความพยายามที่จะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้”  และเมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ในขณะนี้ เชื่อว่าหลังจากนี้ อาจมีหลายฝ่ายมักฉวยสถานการณ์ออกมาแอบอ้างเหตุผลที่ต้องมีการสร้างเขื่อนทุกครั้งไป นายสายันห์ บอกย้ำในเรื่องนี้ว่า หลายครั้งที่มีการอ้างว่า การสร้างเขื่อนเป็นเรื่องของการป้องกันน้ำท่วม  แต่ตอนนี้เขาก็คงไม่สามารถพูดได้ เพราะว่าปัญหาหลักที่น้ำท่วมในภาคกลางและกรุงเทพฯในขณะนี้ ก็คือ 

“เพราะการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงไปนั่นเอง” “เพราะฉะนั้น ทางเลือกในการจัดการน้ำ การจัดการทรัพยากร น่าจะมีหลายอย่าง ไม่ใช่จะเป็นเรื่องของเขื่อนอย่างเดียว และผมคิดว่า เรื่องเขื่อนนี้เป็นปัญหา เป็นเรื่องใหญ่  ที่ไม่ใช่เรื่องคนในพื้นที่จะสู้กันเพียงกลุ่มเดียว  แต่ต้องเอาคนจากข้างนอกเข้ามาร่วมด้วย” ตัวแทนชาวบ้านสะเอียบ กล่าว   ใส่รูป ๒ พื้นที่ป่าสักทอง   ทั้งนี้ นายสายันห์ ยังได้หยิบงานวิจัยจาวบ้าน ‘แม่น้ำยม ป่าสักทอง...วิถีชีวิตของคนสะเอียบ : งานวิจัยจาวบ้านที่แก่งเสือเต้น’ ซึ่งชาวบ้าน 4 หมู่บ้านในตำบลสะเอียบ ได้ร่วมกันทำงานวิจัยจาวบ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลการศึกษายืนยันกับฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อน ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยชาวบ้านที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่องัดง้างกับข้อมูลกลวงๆ และไม่เป็นจริง ของทีมศึกษาฯ ของกรมชลประทาน (ดาวน์โหลด แม่น้ำยม ป่าสักทอง.. วิถีชีวิตของคนสะเอียบ : งานวิจัยจาวบ้านที่แก่งเสือเต้น  ปีที่ผลิต 2549)

นอกจากนั้น ที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายองค์กรหน่วยงาน หลายสถาบันการศึกษา หลายมหาวิทยาลัยได้พากันทำการวิจัยศึกษาเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายคนหลายฝ่ายเริ่มตาสว่างกันมากขึ้น เมื่อผลการศึกษาเหล่านั้นชี้ไปในทิศทางเดียว กัน คือไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือสร้างมาแล้วก็จะได้ไม่คุ้มเสีย

ไม่ว่ากรณี องค์การอาหารและการเกษตรโลกและกรมชลประทาน ระบุว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้เพียงร้อยละ 9.6

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยก็สรุปว่าในทางเศรษฐศาสตร์ เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก

การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ที่ชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา

ในขณะที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สรุปผลศึกษาว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวรเสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ในเมื่อผลการศึกษาทั้งหมดล้วนไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ทว่าหากเสร็จศึกสงครามน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ผู้ใดยังหยิบยก ชง ยื่น เสนอ ขึ้นมาอีก นั่นอาจหมายถึงว่าผู้นั้นอาจวิตกจริต หรืออาจคิดแผนการใหญ่อะไรบางอย่างซ่อนเอาไว้ข้างในก็เป็นได้?!
 
ข้อมูลที่น่าสนใจ
(อ่าน  ผลงานวิจัยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น (ที่นักการเมืองไม่อยากรู้)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฆษก ปชป. เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์มีความเป็นผู้นำ

Posted: 28 Oct 2011 09:35 AM PDT

ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุด แนะนายกรัฐมนตรีให้แสดงภาวะความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลตองชัดเจนในข้อมูล ความชัดเจนในการผันน้ำ พร้อมเตือนนักการเมืองอย่าฉวยโอกาสนี้สร้างภาพให้ตัวเอง

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานวันนี้ (28 ต.ค.) ว่า นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ต้องแสดงภาวะความเป็นผู้นำ มีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหา ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องยืนหยัดทำสิ่งที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้ รวมทั้งผู้นำต้องกล้าตัดสินใจใช้กฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยโดยส่วนรวม

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรมีความชัดเจนในเรื่องข้อมูล อาทิ 1.ปริมาณมวลน้ำที่จะเข้ามาในกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่รอรับผลกระทบ 2. ปริมาณน้ำฝนที่อาจตกเพิ่มในเวลาอันใกล้ 3.มีความชัดเจนในการบริหาร การผันน้ำในทิศทางต่างๆ และต้องบอกให้ชัดเจนว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือกลุ่มใดบ้าง ตนเชื่อว่าคนไทยทำใจรอรับผลกระทบไว้บ้างแล้ว เพียงแค่รัฐควรจะมีความชัดเจนในเรื่องข้อมูลต่างๆ ตลอดทั้งความชัดเจนในการอพยพประชาชนไปยังจุดต่างๆ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่ารัฐบาลต้องประเมิณการการชดเชย เมื่อรัฐบาลทราบว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และต้องมีการชดเชยมากน้อยเพียงใด รัฐบาลต้องชดเชยให้เหมาะสมกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติหลังน้ำลด

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่ารัฐบาลควรจะใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการฟื้นฟูความเข้าใจของ คนในประเทศ เหมือนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวพรรคฯพร้อมคณะลงพื้นที่เมื่อวานนี้ ก็มีคนเสื้อแดงเข้ามาขอความช่วยเหลือ และขอถ่ายรูป ซึ่งคณะะของพรรคก็มีความยินดี และอยากจะเห็นภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ตนไม่อยากให้นักการเมืองหรือบุคคลใดฉวยโอกาสนี้เพื่อสร้างภาพให้ตนเอง โดยคนไทยแสดงน้ำใจบริจาคของช่วยเหลือกัน มีอาสาเข้ามาช่วยกันแพ็คของ ส่งของ แต่นำไปขึ้นแปะชื่อของนักการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรค (นายชวนนท์ได้เปิดภาพVDOจากที่กลุ่มอาสาบันทึกไว้ประกอบการแถลงข่าว) จนเกิดความไม่สบายใจของหลายฝ่าย และเกิดปัญหาของค้างสต๊อกด้วยปัญหาการเมืองในพรรครัฐบาลเอง สุดท้ายผลกระทบก็ไปตกที่ประชาชนที่เดือดร้อนและรอการช่วยเหลือ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่ออีกว่าในสภาวะเช่นนี้รัฐบาลควรจะดูแลให้ครบถ้วนทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณะสุข สาธารณูปโภค ปัญหาด้านเศรษฐกิจตนมองว่ารัฐบาลยังแก้ไขไม่ถูกจุด เพราะปัญหาอาหารสำเร็จรูป ไข่ น้ำดื่ม ในประเทศของเรายังมีโรงงานผลิตได้ปริมาณที่เพียงพอที่จะดูแลประชาชนของเรา ได้ แต่ปัญหาคือการขนส่ง การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ควรจะทำขณะนี้ ปัญหาสังคม ขณะนี้เกิดปัญหาการโขมยสิ่งของบ้าน ที่ไม่เจ้าของอาศัยอยู่ เพราะต้องอพยพออกมาอยู่ที่ศูนย์พักพิง ตรงนี้รัฐบาลควรตระหนักในการดูแลทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างมี ประสิทธิภาพด้วย เพื่อความสบายใจของประชาชนทั้งที่อยู่ศูนย์ และที่กำลังจะย้ายออกมา

ปัญหาด้านสาธารณะสุข ควรจะมีการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ในทุกศูนย์อพยพ เพราะจากการลงพื้นที่ตนมองการการแพทย์ยังไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคระบาดต่อไปได้ ด้านสาธารณูปโภค รัฐต้องดูแลเรื่องการคมนาคม น้ำประปา เรื่องคุณภาพของน้ำ ไฟฟ้าเรื่องปัญหาไฟช๊อต หากพื้นที่ใดเห็นสมควรตัดไฟฟ้าก็ต้องตัดสินใจ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีสถานฑูตในหลายประเทศ ประสานมาว่า รู้สึกสับสนในข้อมูลที่รัฐบาลให้มา ขาดการประสาวนงาน ขาดการวางแผนที่ชัดเจน ขาดการให้ความรู้ มีสถานฑูตหลายแห่งแจ้งมาว่าไม่ได้รับข้อมูล จึงต้องมีการตัดสินใจโดยลำพัง เมื่อไม่มีความเชื่อมั่นเช่นนี้ ตนมองว่าจะส่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ การท่องเที่ยว เป็นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การผูกขาดตลาด ทุนนิยมเสรี และประชาธิปไตย

Posted: 28 Oct 2011 09:18 AM PDT

ระบอบประชาธิปไตยที่เน้นการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างเสมอภาคกันนั้น ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ผู้มีอำนาจน้อยรายกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางสังคมหรือวัฒนธรรม

หากมองสังคมไทยผ่านมิติอำนาจทั้ง 4 ด้านจะพบว่า อำนาจด้านเศรษฐกิจของกลุ่มคนจำนวนไม่มากในสังคมไทยได้ขยายฐานอำนาจของตัวเองเข้าไปสู่พื้นที่อื่นๆ เช่น ใช้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปสร้างฐานอำนาจให้แก่พรรคการเมืองต่าง โดยบางกลุ่มทุนเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทุกพรรค หรือแม้กระทั่งสนับสนุนกิจกรรมของผู้มีอำนาจนอกระบบการเมืองตามกฎหมาย

อำนาจสำคัญขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นหลักอย่างฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ก็คือ การแปลงความต้องการของสังคมและประชาชนให้กลายเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายรับรองสิทธิหรือใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการกับปัญหา หรือการมีนโยบายและมาตรการออกมาขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนและกฎหมายที่วางกรอบเอาไว้

กฎหมายฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตยก็คือ กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Anti-Trust Law) หรือ กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม (Competition Law) เนื่องจากกฎหมายเรื่องนี้มีกำหนดรูปแบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ป้องกันมิให้กลุ่มทุนใดสะสมความมั่งคั่งมากเกินจนผูกขาดตลาดเบียดขับผู้ประกอบการอื่นออกไป และมีอำนาจบิดเบือนตลาด มีอำนาจต่อรองเหนือผู้บริโภคมากเกินไป

กฎหมายนี้มุ่งใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายในการกำกับควบคุมตลาดทางเศรษฐกิจในกิจการต่างๆ มิให้ผู้ประกอบการกระทำการกีดกัน เอาเปรียบ หรือสกัดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นให้ล้มละลายด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรม โดยพฤติกรรมการผูกขาดที่กฎหมายมุ่งขจัดมีทั้ง การผูกขาดในแนวราบ (Horizontal Monopoly) และ การผูกขาดในแนวดิ่ง (Vertical Monopoly)

การผูกขาดในแนวราบ คือ การทำให้ผู้ประกอบการตลาดสินค้าหรือบริการเดียวกันออกไปจากตลาดอย่างไม่เป็นธรรม หรือตนเองมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากเกินไป เช่น ในตลาดเคเบิลทีวี มีผู้ประกอบการ A ยอมขายบริการของตนเองในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน จนทำให้ผู้ประกอบการ B ซึ่งมีทุนน้อยกว่าไม่สามารถขายในราคาขาดทุนสู้กับ A ได้ จนไม่มีคนซื้อบริการเคเบิลจาก B แล้วก็ต้องเจ๊ง เลิกผลิตไป หลังจากนั้น A ก็ขึ้นราคาได้ตามใจชอบ เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก

การผูกขาดในแนวดิ่ง คือ การทำให้ผู้ประกอบการที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงกันในสายผลิตสินค้าหรือบริการเดียวกันไม่มีทางเลือกต้องตกอยู่ใต้อำนาจของตนเอง ไปมีสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ได้ เช่น ในตลาดสินค้าอาหาร บรรษัท C มีมาตรการห้ามนำสินค้ายี่ห้ออื่นมาวางขายในร้านในเครือหากผู้ผลิตอาหารเหล่านั้นไม่ยอมผลิตภายใต้ยี่ห้อ เงื่อนไข มาตรฐาน และราคาที่กำหนด ทำให้ผู้ผลิตทั้งหลายต้องเข้ามาเป็นลูกไล่ในเครือของ C ทำให้ไม่มีคนไปส่งวัตถุดิบไปให้บรรษัท D จนทำให้เลิกกิจการ ทำให้ประชาชนต้องกินอาหารจาก C ในราคาขายที่ C กำหนด และผู้ผลิตวัตถุดิบก็ถูกกดราคาโดย C เพราะไม่มีบรรษัทอื่นให้ปฏิสัมพันธ์ด้วย

ปัจจุบันการผูกขาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายตลาดและนับวันยิ่งทวีการกระจุกความร่ำรวยมากขึ้น จนยากที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) จะเบียดแทรกตัวเข้ามาแข่งขันในตลาด กลับกัน ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องเลิกกิจการ หรือไม่ก็ต้องจำยอมเข้าอยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มทุนยักษ์เหล่านี้ ทั้งกลุ่มทุนข้ามชาติที่เป็นต่างด้าว และกลุ่มไทยข้ามชาติ

ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความชั่วร้ายของการผูกขาดอย่างชัดเจนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกลุ่มทุนอุตสาหกรรมและธุรกิจผูกขาดน้อยรายในเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ได้เข้าไปหนุนหลังรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายการเมืองและการทหารจนนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ แต่คนที่ต้องมาแบกรับเคราะห์ คือ ประชาชน และเหล่าพลทหารที่เสียชีวิตไปกับการสู้รบ

ดังนั้นสิ่งที่ประชาคมโลก และรัฐต่างๆ ซึ่งถอดบทเรียนจากความสูญเสียจึงได้เน้นการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดและพยายามสลายการสะสมความมั่งคั่งของกลุ่มทุนเหล่านี้ให้มาก จะเห็นว่าสหภาพยุโรปมีมติเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดและนโยบายการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างแข็งขันมาก เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มทุนถ่ายโอนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาครอบงำและเกาะกุมอำนาจทางการเมือง

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ก็จะเห็นบทบาทของกลุ่มทุนต่างๆ ทั้งในทางการและในทางลับที่มีส่วนผลักดันนโยบายและโครงการต่างๆ ให้พรรครัฐบาลขับเคลื่อนแต่ประโยชน์มิได้ตกกับคนส่วนใหญ่ แต่จำกัดวงอยู่คนส่วนน้อยซึ่งมีส่วนสร้างนโยบาย และความมั่งคั่งเหล่านั้นก็เป็นการสะสมเสบียงกรังไว้ต่อสู้ในทางการเมืองในอีกหลายสมรภูมิ ทั้งในและนอกสภา ส่วนคนที่ได้รับผลของสงครามก็คือประชาชนอย่างเรา

เหนือกว่าสิ่งอื่นใดผู้ที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้ได้พยายามสร้างความชอบธรรมของกลุ่มตนเองเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจทางเศรษฐกิจของตัวเองโดยพยายามเพิ่มต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มตนเองและเครือข่ายไว้ด้วยการทุ่มทุนสร้าง ความสัมพันธ์เชื่อมโยงไว้กับทุกภาคส่วนด้วยงบประชาสัมพันธ์และการทำกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ โดยนำกิจกรรมเหล่านั้นมาทำโฆษณาเพิ่มเติมเสริมภาพลักษณ์ของกลุ่มตน และซ่อนเร้นพฤติกรรมชั่วร้ายไว้ใต้ภาพลักษณ์ที่ขับเน้นให้เห็นความรับผิดชอบต่อสังคมแบบจอมปลอม

อีกปัญหาที่เป็นการปิดปากผู้ที่ต้องการเปิดโปงพฤติกรรมชั่วร้ายของบรรษัท ก็คือ การฟ้องร้องหมิ่นประมาทต่อนักข่าว นักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหว เพื่อสร้างต้นทุนให้กับคนเหล่านั้น จนยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง ทำให้ข้อมูลไม่ถูกถ่ายทอดออกสู่สาธารณชนในวงกว้าง

หากทบทวนรายชื่อพรรครัฐบาลไทยแล้วเชื่อมโยงสายสัมพันธ์เข้ากับกลุ่มทุนต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนพรรคเหล่านั้นจะเห็นว่า กิจการและผลประกอบการของกลุ่มทุนเหล่านั้นเจริญเติบโตมากในช่วงที่พรรคซึ่งตนเองเก็งไว้ เข้าวินชนะการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งได้ดีกันในช่วงรัฐประหาร ไม่นับรวมบางกลุ่มที่ผลประกอบการดีเรื่อยมาเพราะเป็นผู้สนับสนุนให้กับทุกฝ่าย แม้การเมืองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอย่างไร ก็ยังสบายอยู่ทุกเมื่อ

การแก้ปัญหาสังคมไทยที่เต็มไปด้วยสารพัดปม และยังต้องการอยู่กันในระบอบประชาธิปไตย จึงหนีไม่พ้นต้องเริ่มทบทวนการผูกขาดในตลาดต่างๆ และการมีอิทธิพลเหนือตลาดของกลุ่มทุนต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทุนเหล่านี้ กับกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และนโยบายต่างๆ ของรัฐ รวมถึงการทบทวนข้อมูลในสื่อบันเทิงและโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างค่านิยม รสนิยม ต่างๆ มาครอบงำความคิด ความฝัน จิตใจของคนในสังคม เพราะคนจะแก้ปัญหาได้ก็ต่อเมื่อตื่นรู้และเห็นสาเหตุของปัญหา

 

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก twenty_questions (CC BY-NC 2.0)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มติชนออนไลน์: เยือนศูนย์ช่วยน้ำท่วมเจ้าของรถติดป้าย "ทักษิณ" ยันช่วยแบบไม่แบ่งสี

Posted: 28 Oct 2011 07:53 AM PDT

มติชนออนไลน์สำรวจศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วม ของคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งที่แยกสุทธิสาร ถ.วิภาวดีเจ้าของรถติดป้าย "ทักษิณ ชินวัตร" ประธานศูนย์ยันดำเนินการช่วยเหลือมานานแล้วโดยเน้นการระดมความช่วยเหลือภาย ในกลุ่ม ไม่รับบริจาคจากภายนอก และยืนยันว่าช่วยเหลือคนทุกฝ่ายทุกสี

ตามที่มีข่าวรถบรรทุกติดป้ายผ้า "บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยรักและห่วงใย จาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร" เข้าไปรอรับของบริจาคจากศูนย์ ศปภ. ดอนเมือง ไปยังจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมและถูกวิจารณ์ในเว็บไซต์ต่างๆ จนมีการชี้แจงในเฟซบุคคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งว่ารถดังกล่าวใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ จ.อยุธยา อยู่ก่อนแล้ว เพื่อใช้อพยพคนและใช้ลำเลียงข้าวกล่องเข้าไปแจกในพื้นที่โดยไม่เกี่ยวกับ ศปภ. ส่วนภาพที่เกิดขึ้นในคลิปเกิดจาก ศปภ. ติดต่อรถดังกล่าวไปช่วยขนของที่ ศปภ. ที่รถไม่พอ และไม่ได้นำป้ายออกนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ที่มาของคลิป: มติชนออนไลน์

ล่าสุด วันนี้ (28 ต.ค.) "มติชนออนไลน์" ได้สำรวจศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมซึ่งเป็นเจ้าของรถคันดังกล่าว โดยศูนย์ดังกล่าวมีชื่อว่า "ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม" หรือ ศปป. ตั้งอยู่ด้านหน้าโรงแรมออลซีซันส์ แยกสุทธิสาร ถนนวิภาวดีขาออก โดยมีการขึ้นป้ายสีแดงใหญ่ ตามด้วยข้อความ "ด้วยรักและห่วงใย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รมช.กระทรวงคมนาคม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ และเลขานุการรัฐมนตรี"

โดยมีการประกอบเมนู ก๋วยเตี๋ยวเรือ โดย รมช.บุญทรง เตริยาภิรมย์ ข้าวแกงของนายสมโชค ไกรนรา ผัดหมี่โคราช ของแรมโบ้ อีสาน เพื่อแจกจ่ายไปยังประชาชนที่ประสบอุกทกภัย

นายสมโชค ไกรนรา ประธานคณะทำงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปป.) ให้สัมถาษณ์ในคลิปโดยกล่าวว่า ในการช่วยเหลือครั้งนี้ ไม่ได้ช่วยเฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือประชาชนทุกคนที่หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่นเข้าไม่ถึง ผ่านการแจ้งของกลุ่มคนเสื้อแดง และข้าราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะตำรวจที่ขอความอนุเคราะห์เข้ามา

ทั้งนี้เป็นความต้องการของทักษิณที่เป็นห่วงประชาชนที่ถูกน้ำท่วม ขณะเดียวกันไม่ขอรับของบริจาคสิ่งใด เพราะทั้งหมดใช้เงินซื้อด้วยเงินของตัวเอง

"เรามีเรือ มีรถ ทุกอย่างไม่รับบริจาค ไม่รับบริจาคจากทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เงิน เราไม่รับบริจาค ทั้งหมดนี้เราช่วยกันซื้อด้วยเงินของพวกเราเองทุกคน เราลงขันกันเอง และไม่ใช่ตั้งตรงนี้แล้วช่วยแต่เสื้อแดง ไม่ใช่ เราช่วยทุกกลุ่ม จะเป็นข้าราชการตำรวจ ทหาร พี่น้องประชาชนจะเป็นสีไหน เราไม่มีสี เราลืมไปแล้ว ณ วันนี้ เรารักกันยิ่งกว่าเดิม"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขงวอนรบ.ไทย-เพื่อนบ้าน ให้สิทธิแรงงานข้ามชาติกลับบ้านชั่วคราว

Posted: 28 Oct 2011 05:57 AM PDT

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย จัดหาพื้นในจังหวัดที่ปลอดภัยและไม่ถูกน้ำท่วม จัดระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ต้องการออกจากจังหวัดที่ประสบภัย ให้เข้าถึงการบริการที่จำเป็น รวมถึงอนุญาตให้กลับเข้าไทยได้หลังน้ำท่วม โดยปราศจากการลงโทษ

 

สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศพม่า, กัมพูชา, ลาว, ไทย, เวียดนาม และยูนนาน ประเทศจีน 38 องค์การ ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการจัดหาพื้นในจังหวัดที่ปลอดภัยและไม่ถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งดำเนินการจัดระบบอย่างทันทีในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ต้องการออกจากจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม และอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้เข้าถึงการบริการที่จำเป็นในทุกๆ ด้าน รวมถึงอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นที่ออกจากประเทศไทยชั่วคราว กลับเข้าประเทศไทยได้หลังน้ำท่วมโดยปราศจากการลงโทษ

นอกจากนี้ยังเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศกัมพูชา, พม่า และลาว ให้ออกคำสั่งอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นเดินทางกลับประเทศต้นทางและกลับมายังประเทศไทยได้ในภายหลัง โดยปราศจากการลงโทษใดๆ และขอให้รัฐบาลพม่าและไทยให้เปิดด่านพรมแดนแม่สอด–เมียวดีทันที เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายด้วย

00000

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติกว่าแสนคนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย องค์กรสมาชิกของเครือข่ายที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่รอบนอกได้พยายามให้การบรรเทาน้ำท่วมและช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา แต่พบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึงแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ถูกน้ำท่วมและโรงงานต่างๆ ได้ปิดดำเนินการ

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) สมาชิกของ MMN ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากผู้ย้ายถิ่นในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งไม่มีไฟฟ้า อาหาร และสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งคือ น้ำดื่ม ความรู้สึกถูกกีดกันออกจากการพยายามบรรเทาน้ำท่วมและแยกออกจากความช่วยเหลือ ทำให้ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากต้องการเพียงได้กลับบ้านของตนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ บ่อยครั้งที่แบตเตอรี่โทรศัพท์ของพวกเขา/เธอหมดลงระหว่างการสนทนา

ดังนั้น เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงขอเรียกร้องต่อ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคม เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับการจัดหาการบรรเทาน้ำท่วมอย่างทันท่วงทีและเข้าถึงการบริการ ความช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พลตำรวจโทวิบูลย์ บางท่าไม้ ได้มีบันทึกข้อความลงวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ประกาศไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดต่างๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถต่ออายุวีซ่าได้ทุกพื้นที่ กระนั้น ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากไม่มีเอกสารต่างๆ ไว้กับตัวเนื่องจากถูกยึดโดยนายจ้าง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเรื่องการเดินทางทุกรูปแบบเพื่อหลบหนีออกจากพื้นที่ถูกน้ำท่วม และผู้ย้ายถิ่นทั้งหมดยังไม่มั่นใจว่าพวกเขา/เธอจะอยู่รอดโดยที่ไม่มีรายได้ได้อย่างไรในจังหวัดอื่นๆ

ผู้ย้ายถิ่นที่ต้องการกลับประเทศบ้านเกิด เพื่อที่จะหลบหนีจากน้ำท่วมยังต้องเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก ผู้ย้ายถิ่นที่มีเพียงเอกสารทะเบียนราษฎร์ ชั่วคราว (ทร.38/1) และใบอนุญาตทำงานได้สูญเสียสถานภาพทางกฎหมายในประเทศไทยเมื่อพวกเขาข้ามพรมแดนกลับไปยังประเทศต้นทางของพวกเขา ถ้าพวกเขากลับมายังประเทศไทยภายหลังน้ำท่วม พวกเขาจะถูก พิจารณาในฐานะที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกครั้ง ผู้ย้ายถิ่นที่มีหนังสือเดินทางชั่วคราวๆ ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับได้ แต่จะต้องดำเนินการขออนุญาตกลับเข้ามาใหม่ในราชอาณาจักรที่ไหนสักแห่งก่อนที่พวกเขาจะออกนอกประเทศไทย ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจกับประเด็นนี้มาก ทำให้พวกเขาต้องการเพียงได้กลับบ้านอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และท้ายที่สุด พื้นที่หลักที่ผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่าสามารถข้ามจากประเทศไทยไปยังประเทศพม่าได้คือ ด่านแม่สอด – เมียวดี ซึ่งปัจจุบันยังถูกปิดอยู่ ดังนั้น ผู้ย้ายถิ่นจึงไม่สามารถเดินทางเข้า – ออกประเทศได้อย่างถูกกฎหมายได้ ณ จุดดังกล่าว

ดังนั้น เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการ:

  1. สั่งการไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นในการจัดหาพื้นในจังหวัดที่ปลอดภัยและไม่ถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งดำเนินการจัดระบบอย่างทันทีในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ต้องหลบหนีออกจากจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม และอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้เข้าถึงการบริการที่จำเป็นในทุกๆ ด้าน
  2. ออกคำสั่งในการอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นที่ออกจากประเทศไทยชั่วคราวและสามารถกลับเข้ามาใหม่หลังจากน้ำท่วมได้ลดลง โดยปราศจากการลงโทษ ระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติของประเทศไทยสามารถนำมาใช้ในการออกใบอนุญาตทำงานและวีซ่าให้แก่พวกเขาอีกครั้งหลังจากที่กลับเข้ามาใหม่

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศกัมพูชา, พม่า และลาว ในการ:

  1. ออกคำสั่งอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นเดินทางกลับประเทศต้นทางและกลับมายังประเทศไทยได้ในภายหลัง โดยปราศจากการลงโทษใดๆ
  2. จัดการให้บริการที่มีประสิทธิภาพทางกงสุลจากสถานทูตแก่แรงงานที่มาจากประเทศของตนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมถึงการโฆษณาและรับโทรศัพท์ที่ติดตั้งสายเพื่อแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ

อีกทั้งเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องการเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศพม่าและประเทศไทยว่า :

  1. ต้องเปิดด่านพรมแดนแม่สอด – เมียวดีทันที เพื่อเป็นการตอบสนองด้านสิทธิมนุษยชนต่อวิกฤติการณ์ที่กระทบต่อผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่าเพื่ออนุญาตให้พวกเขา/เธอได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย

ท้ายที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่ามีการตอบสนองที่ครอบคลุมและทันท่วงทีสำหรับผู้ย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ในกรณีของภัยธรรมชาติและความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราเรียกร้องต่อรัฐบาลของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ B (10) จากการประชุมอาเซียนด้านแรงงาน และการย้ายถิ่น ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2554 ในการกำหนดให้มีแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติในระดับประเทศ ซึ่งต้องมาจากการปรึกษาหารือและมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ และองค์กรที่ทำงานด้านผู้ย้ายถิ่น และก่อตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือระดับชาติที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่าย ภาวะฉุกเฉิน ในการส่งกลับประเทศ

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) เป็นเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศพม่า, กัมพูชา, ลาว, ไทย, เวียดนาม และยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งทำงานร่วมกันในการส่งเสริมสิทธิของผู้ย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านการวิจัยร่วมกัน การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ปัจจุบัน MMN มีองค์กรที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 38 องค์กร
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

5 นักกิจกรรมผู้ลุกฮือในอาหรับได้รางวัลสิทธิมนุษยชนซาคารอฟ

Posted: 28 Oct 2011 04:02 AM PDT

รางวัลสิทธิมนุษย์ชนซาคารอฟของยุโรป มอบแด่ 5 นักกิจกรรมผู้ร่วมสร้างปรากฏการณ์อาหรับสปริง ประกอบด้วยชายขายผลไม้ผู้จุดไฟเผาตัวเองในตูนีเซีย อดีตนักโทษการเมืองในลิเบีย ทนายผู้นำการลุกฮือในซีเรีย นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนรัฐบาล และตัวแทนกลุ่มเยาวชนในอียิปต์ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กช่วยรณรงค์ชุมนุมต้านรัฐบาลเผด็จการ


การประท้วงในอียิปต์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ภาพจาก nebedaay (CC BY-NC-SA 2.0)

นักกิจกรรมผู้ร่วมสร้างปรากฏการณ์การลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลาง (Arab Spring) 5 คนได้รับรางวัลสิทธิมนุษย์ชนซาคารอฟของยุโรป หนึ่งในรายนามผู้ได้รับรางวัลนั้นมีคนขายผลไม้ชาวตูนีเซียที่จุดไฟเผาตัวเองจนเป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ด้วย

โมฮาเมด บูวอาซีซี คนขายผลไม้ผู้เสียชีวิตจากการเผาตัวเอง ได้รับประกาศรางวัลนี้ ผู้ได้รับรางวัลรายอื่นๆ ได้แก่บล็อกเกอร์ชาวอียิปต์ อัสมา มาห์ฟูซ์, อดีตนักโทษลิเบีย อาห์เม็ด อัลซูแบร์ กับอาห์เม็ด อัลซานูซี, ชาวซีเรียอีกสองคนได้แก่ ทนายความ ราซาน เซโตเนห์ และนักเขียนการ์ตูน อาลี ฟาร์ซัท

โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมาสภายุโรปประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลซาคารอฟที่เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้บุคคลผู้ที่ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศของตน

"บุคคลเหล่านี้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของโลกอาหรับ" เจอร์ซี บูเซ็ก ประธานสภายุโรปกล่าวและว่า รางวัลนี้ย้ำให้เห็นถึงการที่สภายุโรปสนับสนุนและเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการโค่นล้มระบอบเผด็จการ และการกระทำของผู้ได้รับรางวัลเหล่านี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ทำงานเพื่อศักดิศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย และสิทธิขั้นพื้นฐานในโลกอาหรับและสถานที่อื่นๆ

บูวอาซีซีจุดไฟเผาตัวเองเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา (2553) ในเมือง ซิดิ บูวซิด และเสียชีวิตในอีกสองสัปดาห์ต่อมา ซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นความคับแค้นของคนจน การว่างงานในตูนีเซีย และเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่จนสามารถขับไล่อดีตผู้นำ ซีเน เอล อบีดีน เบน อาลี ไปได้

พี่ชายของเขา ซาเลม บูวอาซีซี บอกว่าเขาขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่ประชาชนชาวตูนีเซียทุกคน

"ผมมีความสุขมาก ผมขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่ประชาชนชาวตูนีเซียทุกคนที่ทำให้การปฏิวัติของพวกเราสำเร็จ และได้แสดงความรู้สึกออกมาในการเลือกตั้งเหล่านี้" ซาเลมกล่าวและว่ารางวัลนี้แสดงให้เห็นว่านานาชาติต่างยอมรับว่า โมฮาเมด บูวอาซีซี มีบทบาทในการปฏิวัติตูนีเซีย

ผู้ได้รับรางวัลรายอื่นๆ คือมาห์ฟูซ์ เป็นสมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวเยาวชน 6 เมษาฯ ที่ใช้ยูทูป เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ในการรณรงค์ให้ชาวอียิปต์ออกมาชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสทาห์เรีย ในกรุงไคโร จนกระทั่งสามารถโค่นล้มประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ได้สำเร็จ

ส่วนซานูซี ชาวลิเบีย เคยต้องใช้เวลา 31 ปีอยู่ในห้องขังเนื่องจากต่อต้านรัฐบาลของมุมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากฝีมือของกลุ่มปฏิวัติ

ขณะที่ประชาชนในอียิปต์ ลิเบีย และตูนีเซีย สามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการที่มีมายาวนานลงได้แล้ว ประชาชนที่ลุกฮือในซีเรียก็ยังคงถูกรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด ปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม

เซโตเนห์ ทนายความชาวซีเรียผู้ได้รับรางวัลนี้เป็นคนที่นำกลุ่มแนวร่วมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาด สร้างบล็อกเกี่ยวกับข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของซีเรีย เพื่อเผยแพร่ความโหดเหี้ยมที่กองกำลังของรัฐกระทำต่อผู้ประท้วง

ซึ่งตอนนี้เซโตเนห์ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่

ส่วน ฟาร์ซัท นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนผู้ที่ถูกกลุ่มคนลอบทำร้ายจนนิ้วหักเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา บอกว่าขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่เหล่า "นักสละชีพเพื่อเสรีภาพ"

"ฉันขอแชร์รางวัลนี้กับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย" ฟารืซัทกล่าว โดยยังบอกอีกว่ารางวัลนี้ช่วยทำให้คนมีความหวังกับอนาคต

ประธานสภายุโรปจะจัดพิธีมอบรางวัลนี้ในวันที่ 14 ธ.ค. ที่เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส

โดยรางวัลซาคารอฟนี้ ตั้งชื่อตาม อังเดร ซาคารอฟ นักฟิสิกส์นิวเคลียร์สมัยสหภาพโซเวียตผู้ต่อต้านรัฐบาล เป็นรางวัลรายปีจัดโดยสภายุโรป ก่อนหน้านี้มีผู้ได้รับรางวัลคือ เนลสัน แมนเดลา (2531) ผู้ต่อต้านการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้, อองซานซูจี (2533) นักสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, หู เจีย (2551) นักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลจีน และปีก่อนหน้านี้คือ กุยเลอโม ฟารินาส (2552) ผู้อดอาหารประท้วงรัฐบาลคิวบา ซึ่งถูกรัฐบาลคิวบาห้ามไม่ให้ไปรับราลวัลที่ฝรั่งเศส

ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ก็มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวเยเมน ทาวากุล คาร์มาน ได้รับรางวัลร่วมกันกับประธานาธิบดีของสาธารณรัฐลิเบอเรีย เอลเลน จอห์นสัน เซอรีฟ และ "นักสู้เพื่อสันติ" ที่เคียงข้างเธอ เลฟมาห์ จโบวี

 

 

 

ที่มา

Arab Spring activists win human rights award, Aljazeera, 27-10-2011
http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/10/20111027184244121504.html

ข้อมูลเพิ่มเติม
en.wikipedia.org/wiki/Sakharov_Prize_for_Freedom_of_Thought
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยิ่งลักษณ์ตรวจการตัดคลอง 9 คลอง 10 เพื่อลดน้ำหลากเข้า กทม.

Posted: 28 Oct 2011 02:03 AM PDT

ขณะที่ดอนเมืองน้ำยังเพิ่มสูง ส่วนที่สุวรรณภูมิมีประชาชนใช้บริการจำนวนมากเพื่อออกต่างจังหวัด ขณะที่การท่าอากาศยานฯ เสริมคันกั้นน้ำกว่า 3.5 เมตร ยาว 23.5 กม. กันน้ำเข้าสนามบิน

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า วันนี้ (28 ต.ค. 54) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปลงบริเวณรังสิตคลอง 13 จากนั้นตรวจสอบการตัดคลอง 9 และคลอง 10 เพื่อช่วยลดระดับน้ำจากประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ให้ต่ำลง เพื่อช่วยให้น้ำไหลเข้า กรุงเทพมหานครน้อยลง ส่วนระดับน้ำในท่าอากาศยานดอนเมือง บริเวณอาคารวีไอพีระหว่างประเทศ ที่ใช้เป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รถเล็กสัญจรลำบาก

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานบรรยากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ทั้งฝั่งขาออกทั้งในและต่างประเทศ เต็มไปด้วยประชาชนที่เดินทางมารอขึ้นเครื่องเพื่อโดยสารไปยังจังหวัดต่างๆ ส่งผลให้บริเวณเคาท์เตอร์เช็คอินน์ มีประชาชนต่อแถวยาวออกมานอกบริเวณ ทั้งนี้จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของท่าอากาศยานพบว่าในช่วงที่ เกิดปัญหาอุทกภัย จนมีการประกาศเตือนให้ประชาชนโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เดินทางไปพักอาศัยกับญาติในต่างจังหวัดนั้น มีประชาชนไปใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นจากปกติกว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้ทุกเที่ยวบินในประเทศเต็มหมด และบางวันส่งผลให้มีผู้โดยสารเช็คอินน์ไม่ทันจนไม่สามารถเดินทางได้ ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และภูเก็ต

ขณะที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้สร้างพนังดิน ความสูง 3.50 เมตร รอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความยาวกว่า 23.5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะไหลเข้าสู่ภายใน อีกทั้งภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมีคลองเชื่อมต่อกันจำนวน 6 สาย ซึ่งระดับน้ำยังไม่น่าเป็นห่วง นอกจากนี้ภายในลานจอดรถระยะยาวของท่าอากาศยานยังเต็มไปด้วยรถที่ประชาชนนำมา จอดจนเต็มพื้นที่

อย่างไรก็ตามจากการนั่งรถสำรวจตามถนนพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้มีการ เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำท่วมทั้งการนำกระสอบทรายมาเสริมทั้งหน้าบ้าน และบริษัทห้างร้านต่างๆ ส่วนทางด่วนพิเศษ โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่ามีประชาชนนำรถยนต์ขึ้นไปจอดบนทางด่วนจำนวนมาก

ส่วนการจราจรบริเวณถนนพระราม 9 ขาออก มุ่งหน้าไปสู่สนามบินสุวรรณภูมิ มีรถค่อนข้างมาก ทำให้การจราจรเคลื่อนตัวช้า เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มุ่งหน้าออกต่างจังหวัด และบางส่วนมุ่งหน้าสู่สนามบิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยันฮีประกาศพร้อมรับมือน้ำท่วม 2 เมตร ยืนยันรับผู้ป่วยตามปกติ เตรียมพื้นที่สำหรับผู้ประสพภัย

Posted: 28 Oct 2011 01:45 AM PDT

นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยกับประชาไทว่า ขณะนี้รพ.ยันฮียังคงเปิดดำเนินการตามปกติ โดยมีแพทย์ประจำอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 30 คน และเจ้าหน้าที่ 500 คน โดย แพทย์ทั้ง 30 คนพักค้างคืนในโรงพยาบาล ขณะที่เจ้าหน้าที่ทั้งที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาทำงาน และที่นอนพักค้างคืนที่โรงพยาบาลราว 200 คน โดยทางโรงพยาบาลมีการจัดเตรียมอาหารและน้ำไว้เป็นสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่

นพ.สุพจน์กล่าวยืนยันว่า โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมล่วงหน้าไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน โดยสำรองน้ำมันสำหรับการปั่นไฟในกรณีฉุกเฉินที่การไฟฟ้าไม่สามารถจ่ายให้ได้ เบื้องต้น จะสามารถปั่นไฟได้ต่อเนื่อง 24 ชม. เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พร้อมเสบียงอาหารสำหรับผู้ป่วยในราวๆ 1 เดือน ซึ่งขณะที่มีอยู่ราว 100 เตียง จากจำนวน 400 เตียง

“ผู้ป่วยในขณะนี้มีอยู่ราวๆ 100 เตียง และส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ผู้สูงอายุ จึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้” นพ.สุพจน์ ชี้แจงพร้อมกล่าวด้วยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลยังสามารถรับคนไข้นอก โดยรพ.มีรถวิ่งประจำให้บริการทั้งผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปอยู่ 4 คัน เป็นรถบรรทุก 6 ล้อ 2 คัน วิ่งรับคนจากแยกบางพลัด-โรงพยาบาล และรถกระบะ 2 คันวิ่งรับคนจากหน้าบิ๊กซี วงศ์สว่าง-โรงพยาบาล

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮีกล่าวด้วยว่าทางรพ. เตรียมการรับมือน้ำท่วมทุกปี จึงเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อม ทั้งเครื่องสูบน้ำ น้ำมันเชื้องเพลิง สำหรับระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งทางโรงพยาบาลสามารถรับมือได้หากน้ำท่วมไม่เกิน 2 เมตร จากผิวถนน และวานนี้ได้มีการประสานงานกับทางสำนักงานเขตบางพลัด เพื่อเตรียมแผนสำรองในกรณีที่ประชาชนต้องการอพยพมากขึ้น ในกรณีที่ศูนย์อพยพที่วัดฉัตรแก้วจงกลนี ซ.จรัญสนิทวงศ์ 94 ซึ่งเป็นศูนย์อพยพในปัจจุบันไม่สามารถรองรับได้แล้ว โรงพยาบาลก็พร้อมเปิดพื้นที่ลานจอดรถใน ซ.จรัญสนิทวงศ์ 92 จำนวน 10 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สูง และขณะนี้มีเต้นท์กางป้องกันแดดอยู่แล้ว ให้เป็นศูนย์อพยพชั่วคราวได้ แต่สิ่งที่ต้องการคือ ความสนับสนุนด้านสาธารณูโภคต่างๆ เช่น สุขาเคลื่อนที่ และเครื่องนอน 

สำหรับระดับน้ำในบริเวณเขตบางพลัดนั้น เพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ถ.จรัญสนิทวงศ์ซอย 74/1-82 มีระดับน้ำท่วมถึง 80-100 ซม. รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ รถที่ลงจากสะพานพระรามเจ็ด สามารถเดินทางได้ถึงหน้าสถานีตำรวจดับเพลิงบางอ้อเท่านั้น ประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางต่อไป ต้องต่อรถของสถานีดับเพลิง หรือรถขนส่งของกองทัพเรือ และรถของภาคเอกชนที่อาสาให้บริการ ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่เท่านั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โปสเตอร์รณรงค์ไม่กักตุนสินค้าช่วงญี่ปุ่นประสบสึนามิ (แปลไทย)

Posted: 28 Oct 2011 01:29 AM PDT

โปสเตอร์ฉบับแปลไทย "เราทำได้เมื่อเราแบ่งปัน" (What we can do when we share) ชวนประชาชนไม่กักตุนสินค้าในช่วงที่ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา

โปสเตอร์รณรงค์ไม่กักตุนสินค้าช่วงญี่ปุ่นประสบสึนามิ (แปลไทย)

โปสเตอร์ชวนประชาชนไม่กักตุนสินค้า "เราทำได้เมื่อเราแบ่งปัน" (What we can do when we share) ในช่วงที่ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยฉบับแปลอย่างไม่เป็นทางการนี้แปลโดยทีมข่าวต่างประเทศประชาไท ซึ่งแปลจากฉบับแปลภาษาอังกฤษใน @kikkimayo (16 มี.ค. 54) ซึ่งแปลมาจากฉบับภาษาญี่ปุ่นอีกทีใน @lifecanvasies (16 มี.ค. 54)

โปสเตอร์รณรงค์ไม่กักตุนสินค้าช่วงญี่ปุ่นประสบสึนามิ (ภาษาอังกฤษ)

(ภาษาอังกฤษ)

โปสเตอร์รณรงค์ไม่กักตุนสินค้าช่วงญี่ปุ่นประสบสึนามิ (ภาษาญี่ปุ่น)

(ภาษาญี่ปุ่น)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นพดล ปัทมะวอนอย่าติดชื่อ "ทักษิณ" ลงในของบริจาค

Posted: 27 Oct 2011 08:00 PM PDT

ชี้สิ่งของบริจาคไม่ควรมีป้ายนักการเมืองคนใดไปติด และทักษิณไม่มีนโยบายและไม่สั่งการให้ใครทำแบบนั้น เชื่อกรณีรถช่วยน้ำท่วมติดป้ายชื่อ อาจมีคนรักคนชอบทักษิณทำให้ จึงขอความกรุณาอย่าทำเลย เพราะจะเป็นประเด็นทางการเมือง

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวานนี้ (27 ต.ค.) ว่า นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกรณีที่มีภาพการขนของที่ได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไปที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นรถบรรทุกที่มีป้ายข้อความว่า “บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยรักและห่วงใย จาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร” รวมทั้งการมีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณติดอยู่ตามสิ่งของบริจาคหลายชนิด เช่น ถุงข้าวสาร เรือพลาสติก รวมทั้งเต็นท์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยนายนพดลชี้แจงว่าความจริงของบริจาคต่างๆ ที่ส่งไปยัง ศปภ.ไม่ควรมีป้ายนักการเมืองคนใดไปติดอยู่แล้ว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีนโยบาย หรือแนวคิดอะไรที่จะทำอย่างนั้น และไม่เคยสั่งการให้ใครทำ

นายนพดลกล่าวต่อว่า เรื่องนี้ไม่อยากมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่เป็นไปได้ว่า อาจมีประชาชนที่รักและชอบ พ.ต.ท.ทักษิณดำเนินการรูปแบบนั้น ซึ่งต้องขอความกรุณาว่าอย่าทำเลย เพราะจะเป็นประเด็นการเมืองให้ถูกโจมตีได้ วันนี้ทุกคนกำลังเครียดกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ก็อยากให้กำลังใจและทุ่มเวลาไปแก้ไขดีกว่าจะมาตอบโต้ทางการเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น