โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักศึกษาทำกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา 19 ที่ ม.เชียงใหม่

Posted: 06 Oct 2011 11:14 AM PDT

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ทีผ่านมา กลุ่มแนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสรีชนล้านนา นักศึกษา ม.เชียงใหม่ และศิษย์เก่าได้จัดนิทรรศการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ณ บริเวณลานหน้าอาคารสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อมช.)

นายปรีชาพล โชคชัยมงคล ตัวแทนนักศึกษากล่าวว่าเมื่อปีที่ผ่านมา นักศึกษาก็จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีคนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และกลุ่ม นปช.แดง เชียงใหม่ มาร่วมกิจกรรม ส่วนปีนี้ มีการเปลี่ยนสถานที่มาจัดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคาดหวังว่านักศึกษาจะได้มีส่วนร่วมกันมากขึ้

ในช่วงเย็นมีการจัดวงเสวนา โดยนักศึกษาได้ร่วมอภิปรายถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และพูดคุยกับนายศักดิ์ ไชยดวงสิงห์ หรือนากปากกา "แสงดาว ศรัทธามั่น" เป็นอดีตนักศึกษาสมัยปี 2519 จากนั้น "แสงดาว ศรัทธามั่น" และนักศึกษาได้ร่วมกันอ่านบทกวี รำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"นิติราษฎร์" เตรียมขยับประเด็น รธน. สัปดาห์หน้า

Posted: 06 Oct 2011 10:27 AM PDT

วงเสวนาที่ มธ. หนุนข้อเสนอนิติราษฎร์ สุนัย ชี้ไม่ล้างพิษรัฐประหาร โครงสร้างประชาธิปไตยฯพังแน่ พิชิต เชื่อข้อเสนอนิติราษฎร์ไม่เพียงทำให้รัฐประหารเป็นโมฆะ แต่ยังเป็นการต่อสู้ทางความคิดขั้นรากฐานด้วยว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ส่วนสุธาชัย หนุนเอารัฐธรรมนูญสามฉบับแรกเป็นต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ วรเจตน์ย้ำนิติราษฎร์ทำงานความคิด ไม่นำมวลชน

(6 ต.ค.54) ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาวิพากษ์ข้อเสนอนิติราษฎร์ "การล้มล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร" ในงานรำลึก 35 ปี 6 ตุลา

สุนัย จุลพงศธร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวขอบคุณคณะนิติราษฎร์ที่ประกาศข้อเสนอการล้างผลพวงรัฐประหาร โดยมองว่า นิติราษฎร์หวังดีกับบ้านเมืองและสถาบันฯ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน

สุนัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีนักวิชาการอยากรื้อประกาศคณะปฏิวัติ โดยชี้ว่า ขณะที่ ส.ส. กว่าจะเข้าสภาได้ยากมาก หลายครั้งอยู่ได้ไม่ครบ 4 ปี กว่าจะออกกฎหมายได้ทีก็ลำบาก ขณะที่กลุ่มยึดอำนาจมาถึงก็ออกได้สบาย และกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ทั้งนี้ สุนัยระบุด้วยว่า สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. ไม่ควรตำหนินิติราษฎร์ และสมคิดเองควรจะพิจารณาลาออก เพราะผิดจริยธรรมการก่อตั้งมหาวิทยาลัยและจริยธรรมการต่อสู้ของนักศึกษา มธ.ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

เขากล่าวว่า หากไม่ล้างกระบวนการรัฐประหาร ระบบแห่งโครงสร้างการเมืองซึ่งคือ "ประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข" จะพัง โดยชี้ว่า โครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ดึงเอาศาลมาเกลือกกลั้วกับการเมือง เรียกว่า รัฐธรรมนูญที่ศาลติดคุกการเมือง ยกตัวอย่าง การสรรหา ส.ว. 74 คนที่ทำโดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตัวแทนจากศาลฎีกา ตัวแทนศาลปกครอง และตัวแทนองค์กรอิสระ 4 องค์กรซึ่งก็มีที่มาจากศาลเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้องค์กรอิสระเป็นองค์กรเหนือรัฐ โดยสามารถยื่นกฎหมายเข้าสภาได้เอง ไม่ต้องผ่านรัฐบาล สภาจะเรียกศาลหรือองค์กรอิสระมาให้ปากคำใดๆ ไม่ได้ ซึ่งในที่นี้ การไม่ให้ศาลมา เข้าใจได้ เพราะถือเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย แต่องค์กรอิสระนั้นไม่ได้มีที่มาจากประชาชนเลย

ขณะที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า แนวคิดล้างพิษรัฐประหาร 19 ก.ย. นั้นมีการพูดคุยมาตั้งแต่หลัง 19 ก.ย.ไม่นาน แต่คณะนิติราษฎร์ถือเป็นบุคคลคณะแรกที่สังเคราะห์ความคิดนี้ได้สำเร็จ และจะผลักดันให้เป็นจริงได้โดยประชาชน

พิชิต ระบุว่า ข้อเสนอนี้ไม่เพียงแต่ทำให้การรัฐประหารเป็นโมฆะ แต่ยังเป็นการต่อสู้ทางความคิดขั้นรากฐานว่าในประเทศไทย อำนาจอธิปไตยเป็นของใครด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา มีแนวคิดสองแนวต่อสู้กัน หนึ่งคือ แนวคิดเชิงประเพณีว่า "อำนาจอยู่ที่ไหน รัฏฐาธิปัตย์อยู่ที่นั่น" ซึ่งจะเห็นจากนักกฎหมายเมืองไทยที่ถือเอาคำสั่งเป็นความชอบธรรม และออกมาโต้นิติราษฎร์ว่าทำเพื่อคนๆ เดียว ส่วนกระแสที่สอง ซึ่งเริ่มแข็งแรงขึ้น จนพัฒนามาเป็นประกาศของคณะนิติราษฎร์ คือความเชื่อที่ว่าประชาชนคือรัฎฐาธิปัตย์ และประชาชนคือรัฎฐาธิปัตย์อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แนวคิดนี้เป็นปรัชญาพื้นฐานของหลักการเสรีนิยมและประชาธิปไตย ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ต้องกลับไปล้างผลพวงของรัฐประหาร ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นทางสายกลางที่สุดแล้ว

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อประเทศมีปัญหาหนัก เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ว่าต้องแก้ที่กฎหมาย โดยลบล้างดอกผลของรัฐประหารก่อน ทั้งนี้ สุธาชัยระบุว่า ข้อเสนอเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญานั้นมองว่าเป็นข้อเสนอที่อยู่ในทางสายกลางและควรทำ แม้ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าควรให้ยกเลิกเพราะมีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว

ส่วนข้อเสนอเรื่องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และร่างใหม่โดยเอารัฐธรรมนูญสามฉบับแรกเป็นตัวตั้ง สุธาชัยกล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่ดีมาก และเป็นสายกลางที่จะใช้แก้ปัญหาบ้านเมือง ส่วนที่มีผู้คัดค้านโดยบอกว่ามีการเสนอนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณคนเดียวนั้น ยังไม่เห็นว่ามีข้อไหน ขณะที่ข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญไทยมีพัฒนาการมาไกลแล้ว ก็ยังไม่เห็นพัฒนาการเช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสวนาดังกล่าว อาจารย์จากกลุ่มนิติราษฎร์ 4 คนได้แก่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สาวตรี สุขศรี และปูนเทพ ศิรินุพงศ์ เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนด้วย

โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า อีกสองประเด็นที่ต้องทำให้ชัดขึ้นอีก นอกจากเรื่องลบล้างผลพวง คือการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้เอารัฐธรรมนูญสามฉบับแรกเป็นแนวทางยกร่าง ที่ยังต้องขยายความรายละเอียด เพราะหากทำให้เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ คุยกันอย่างเปิดเผยได้ จะทำให้ความคิดเคลื่อนไปในประชาชนวงกว้าง และได้รัฐธรรมนูญที่เกิดการปรับสมดุลแห่งอำนาจ เป็นการเปลี่ยนเชิงระบบอย่างสันติ

ทั้งนี้ วรเจตน์ ขยายความว่า ที่เสนอรัฐธรรมนูญสามฉบับแรกเป็นแนวทาง เนื่องจากสามฉบับแรกเกิดหลังเปลี่ยนระบอบการปกครอง โดยฉบับที่สามถูกฆ่าในรัฐประหาร 2490 ซึ่งถือเป็นรัฐประหารครั้งแรก นี่จึงเป็นการย้อนกลับไปเชื่อมเอาอดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกัน ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสามฉบับแรกไม่มีองคมนตรีนั้นถูกต้องแล้ว นอกจากนี้อีกเรื่องที่ต้องพูดกันคือ สถานะของพระมหากษัตริย์ เพราะหลังๆ มีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องต้องห้ามเช่น การสืบสันตะติวงศ์ ซึ่งสังคมไทยไม่คุยกัน

"การทำให้ระบอบประชาธิปไตยยั่งยืน การปรับความคิดเป็นเรื่องสำคัญ ปูฐานความคิดให้คนเห็นภาพ ที่สุดจะทำให้ประเทศไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยได้" วรเจตน์กล่าวและตอบกรณีมีผู้เรียกร้องให้นิติราษฎร์นำมวลชนในการเคลื่อนไหวโดยย้ำว่า นิติราษฎร์ทำงานทางความคิด จะไม่นำมวลชนเด็ดขาด เพราะนอกจะไม่ใช่ความถนัดแล้ว จะทำให้หลักการเสียด้วย

ด้าน ปิยบุตร กล่าวว่า การทำงานทางความคิดของนิติราษฎร์คงไม่ได้จุดพลุแล้วเงียบ สัปดาห์หน้าจะเตรียมขยับอีกเล็กน้อย สำหรับประเด็นการลบล้างผลพวงรัฐประหารได้อธิบายหลายรอบแล้ว ซึ่งคนที่ไม่เข้าใจก็จะไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจอยู่ แต่ประเด็นที่จะขยายความต่อไปคือประเด็นที่สี่ ซึ่งใจความสำคัญอยู่ที่การนำรัฐธรรมนูญสามฉบับแรกมาเป็นต้นแบบ และคำประกาศ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นสปิริตว่ารัฐไทยจะเป็นแบบนี้
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาหวนมาอีกครั้ง !!

Posted: 06 Oct 2011 10:18 AM PDT

วันที่ 6 ต.ค.2554 กิจกรรมรำลึก 35 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ 5.00 น. มีการแสดงเหตุการณ์จำลองการล้อมปราบนักศึกษาในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 6 ต.ค.2519 ที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก หลายคนร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด

ช่วงเที่ยงมีกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ต.ค.2519 นักศึกษาและประชาชนร่วมกันโปรยกลีบดอกไม้บนพื้นหญ้าของสนามฟุตบอล สถานที่เกิดเหตุเมื่อ 35 ปีก่อน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟอสซิล 800 ล้านปี สมบัติล้ำค่าเมืองสตูล

Posted: 06 Oct 2011 09:48 AM PDT

มอเตอร์ไซค์กว่า 20 คันจอดเรียงรายข้างถนนสายละงู–ทุ่งหว้า ข้างทางเต็มไปด้วยรอยแผลของภูผา ชายสวมแว่นหนาก้มหยิบก้อนหินก้อนแล้วก้อนเล่าขึ้นมา สังเกตหาอะไรบางอย่าง

“ถ้าสังเกตให้ดีหินแต่ละก้อนจะมีฟอสซิล” เขาบอกกับพวกเด็กๆ กว่า 40 คน ที่ห้อมล้อม

“ฟอสซิลคืออะไร ใครรู้บ้าง?” เขาถามเด็กพวกนั้น แต่กลับถูกย้อนถามเสียเอง “แล้วมันคืออะไรกันละครับครู พวกเราอยากรู้”

นั่นเป็นภาพบรรยากาศการเรียนการสอนนอกห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และชีววิทยา ชั้นมัธยมปลายของครูนก ชายสวมแว่นหนาคนนั้น

ครูนก คือ “นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ” เป็นอาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล

วิธีการนำเด็กนักเรียนออกไปตามเหมืองหิน บ่อดินที่ถูกขุดตักดินออกไปแล้ว เป็นวิธีการที่ครูนกใช้บ่อย พร้อมกับเก็บตัวอย่างหินฟอสซิลที่ได้กลับไปด้วย เพราะนั่นคือสมบัติล้ำค่าที่ทำให้ครูนกรู้สึกเสียดาย หากปล่อยให้ถูกทำลายไป ทั้งจากการระเบิดหิน การปรับไถหน้าดิน

ครูนกบอกว่า เพราะสอนนักเรียนด้วยวิธีการนี้ จึงเกิดความคิดที่จะใช้พื้นที่ใต้ถุนอาคารเรียน เป็นที่รวบรวมหินฟอสซิลพวกนั้นไว้ และเริ่มเก็บก้อนหินที่ไม่มีใครเห็นค่ามารวบรวมไว้มาเกือบ 10 ปีที่แล้ว

ต่อมา ห้องใต้ถุนอาคารแห่งนี้ก็วิวัฒนาการเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ของโรงเรียนกำแพงวิทยา ตามศักยภาพที่โรงเรียนพอจะมีกำลังทำได้

กลางห้องมีตู้กระจกแสดงหินฟอสซิล และกองหินหลายขนาด มีป้ายข้อความระบุประเภทของหินยุคต่างๆ ไว้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน มีเปลือกหอย สัตว์เลื้อยคลานที่ถูกสต้าฟไว้ในขวดโหล รวมถึงกระดูกสัตว์และชิ้นส่วนของใช้ของมนุษย์โบราณที่พบในถ้ำในพื้นที่จังหวัดสตูล

ครูนก อธิบายว่า จุดประสงค์ของการตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เพื่อให้ความรู้ด้านธรณีวิทยาแก่นักเรียน ให้รู้ว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เกิดวิวัฒนาการของชนิดพันธุ์ใหม่ๆ จึงมีการกำหนดเป็นยุคทางธรณีกาล เพื่อแสดงให้เห็นการคาบเกี่ยวของการเปลี่ยนแปลงกับแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัดสตูล

 

ฟอสซิล ซากชีวิตดึกดำบรรพ์

ในสารานุกรมเสรี เว็บไซด์ http://th.wikipedia.org/ อธิบายความคำว่า ฟอสซิล (fossil) หรือ ซากดึกดำบรรพ์ หรือบรรพชีวินว่า เดิมฟอสซิลมีความหมายว่า เป็นของแปลกที่ขุดขึ้นมาได้จากพื้นดิน

ปัจจุบัน คำว่าฟอสซิล ถูกนำมาใช้ในความหมายของซาก หรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ ที่ถูกแปรสภาพด้วยกระบวนการเกิดซากดึกดำบรรพ์ และถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน โดยอาจประกอบไปด้วยซากเหลือของสัตว์ พืช หรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ได้รับการจัดแบ่งจำแนกไว้ทางชีววิทยา และรวมถึงร่องรอยต่างๆของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ

ครูนกอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกว่า ฟอสซิลคือซากดึกดำบรรพ์ เป็นซากของสิ่งมีชีวิตในอดีตกาลที่ตายทับถมจนกลายเป็นหิน รวมถึงร่องรอยการดำรงชีวิตที่ประทับอยู่ในชั้นหิน

“เป็นการทับถมของซากสัตว์ทะเลโบราณ แล้วจมลงสู่ท้องทะเล เมื่อเนื้อของสิ่งมีชีวิตย่อยสลาย แร่ธาตุที่ในอยู่ตะกอนแทรกเข้าไปแทนที่ ผ่านกาลเวลานาน ชั้นหินที่มีฟอสซิลก็ถูกดันขึ้นมา ก่อนจะถูกกัดกร่อนจนปรากฏฟอสซิลออกมาให้เห็น” ครูนกอธิบาย

 

พิพิธภัณฑ์ธรณี หนึ่งเดียวในละงู

ภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาหนึ่งเดียวในอำเภอละงูแห่งนี้ ยังมีการติดภาพโปสเตอร์ต่างๆ ไว้รอบห้อง หนึ่งในนั้นคือโปสเตอร์แสดงยุคธรณีกาล ตามที่นักธรณีวิทยาของโลกใช้อธิบายความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตของประวัติของโลก

ยุคธรณีกาล (ดูตารางยุคธรณีกาล) ตามความหมายทางธรณีวิทยา เป็นชื่อเรียกของระยะช่วงเวลา แบ่งเป็น บรมยุค (Eon) มหายุค (Era) ยุค (Period) และสมัย (Epoch) ตามลำดับ และมีการกำหนดสีมาตรฐานของเวลาทางธรณีวิทยาที่ห้วงเวลาต่างๆ

วิธีการหาเวลาในอดีตโดยการวัดการสลายของกัมมันตภาพรังสี (radiometric dating) พบว่าโลกมีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี

ดังนั้น กองหินกลางพื้นห้อง จึงถูกจัดวางเรียงไว้ให้ตรงตามยุคต่างๆ เริ่มจากแถบป้ายสีแดงคือยุคแคมเบรียน ซึ่งครูนกบอกว่า เป็นหินตะกอนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งต่อมามีการตั้งชื่อหินที่พบนี้ว่า “กลุ่มหินตะรุเตา” มีอายุในช่วง 543–510 ล้านปีที่แล้ว

ตามด้วยหินในแถบสีส้มคือ หินยุคออร์โดวิเชียนตอนต้น ชมพูคือ หินยุคออร์โดวิเชียนตอนกลาง เหลืองคือหินปลายยุคออร์โดวิเชียน เขียวอ่อนคือ หินยุคไซลูเรียน ฟ้าคือหินยุคดีโวเนียน และปิดท้ายด้วยแถบสีเขียว ซึ่งเป็นหินยุคคาร์บอนิเฟอรัส

จากนั้นครูไล่สาธยายถึงก้อนหินที่เรียงรายอยู่ ถึงความสำคัญและลักษณะการเกิดขึ้นของหินแต่ละยุค ที่สำคัญครูนกบอกว่า หินทุกยุคปรากฏฟอสซิลชนิดต่างๆ แทรกอยู่ด้วย

พร้อมกับยกตัวอย่างฟอสซิลที่พบในอำเภอละงู เช่น ฟอสซิลแมงดาทะเลโบราณ หอยโข่งทะเลโบราณ หอยตะเกียง ปลาหมึกทะเลโบราณ เป็นต้น

ครูนกบอกว่า “อำเภอละงู มีความหลากหลายทางธรณีวิทยามากกว่า Geo Park บนเกาะลังกาวี ของประเทศมาเลเซีย มียุคทางธรณีครบทุกยุคในมหายุคพาลีโอโซอิก ในพื้นที่ไม่เกิน 30 กิโลเมตร อาจเรียกได้ว่า เป็นแหล่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้”

ความสำคัญและความหลากหลายดังกล่าว ยืนยันได้จากรายงานวิจัยโครงการแผนที่ภูมิทัศน์ภาคใต้ : ฐานเศรษฐกิจและทุนวัฒนธรรม เกี่ยวกับธรณีวิทยาในภาคใต้เมื่อปี 2544 ที่มีศาสตราจารย์สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ

 

มหายุคหินเก่าแก่ในสตูล

งานวิจัยชิ้นนี้ เขียนถึงหินตะกอนในจังหวัดสตูลว่า ในมหายุคพาลิโอโซอิก (590–245 ล้านปีที่แล้ว) (ดูตารางธรณีกาล) มีหินที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ ที่ซอยย่อยลงไป ตั้งแต่ยุคแคมเบรียน, ออร์โดวิเชียน, ไซลูเรียน, ดีโวเนียน, คาร์บอนิเฟอรัสและยุคเพอร์เมียน รวม 6 ยุค

หินยุคแคมเบรียน (543–510 ล้านปีที่แล้ว)

เป็นหินตะกอนอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย พบบริเวณท่าเทียบเรืออ่าวพันเตมะละกา บนเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นหินตะกอนทรายสีแดง ต่อมามีการตั้งชื่อหินที่พบนี้ว่า “กลุ่มหินตะรุเตา”

หินยุคนี้ เกิดจากตะกอนทรายมาทับถม โดยมีการคัดขนาดตามธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แถบจังหวัดสตูลเคยเป็นทะเลลึกมาก่อน จากนั้นเป็นชายหาดน้ำตื้นและชายหาดตามลำดับ เห็นได้จากการพบฟอสซิลสัตว์ทะเลในหินยุคนี้จำนวนมาก

หินยุคออร์โดวิเชียน (510–439 ล้านปี)

พบใน “กลุ่มหินทุ่งสง” เป็นหินคาร์บอเนต จำแนกตามลักษณะเนื้อหินได้เป็น 7 หมวดหิน พบที่เกาะตะรุเตา 6 หมวดหิน อีก 1 หมวดหิน พบบริเวณรอยต่ออำเภอละงูกับอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

ฟอสซิลสำคัญที่พบในหินยุคนี้คือ นอติลอยด์ (ปลาหมึกทะเลโบราณ) จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ลำตัวอ่อนเช่นเดียวกับหอย แต่ต่อมาได้พัฒนาส่วนหัวและเปลือกหุ้มลำตัวแกนยาว ลำตัวตรงมีห้องอับเฉา คล้ายหอยงวงช้าง ใช้ในการพุ่งตัวว่ายน้ำ

ส่วนหินแต่ละหมวดที่พบฟอสซิลต่างๆ ดังนี้

หมวดหินมะละกา มีอยู่ที่อ่าวพันเตมะละกา เกาะตะรุเตา พบฟอสซิลจำพวกสาหร่าย มีรูหนอนวางตัวในแนวตั้งมาก และมีซาก “ลิ่นทะเลหรือหอยแปดเกล็ด”

หมวดหินตะโล๊ะดัง พบที่อ่าวตะโล๊ะดัง ตอนใต้ของเกาะตะรุเตา มีฟอสซิลและรูหนอนวางตัวในแนวนอน

หมวดหินลาง่า พบที่อ่าวลาง่า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะตะรุเตา มีร่องรอยฟอสซิลสิ่งมีชีวิตอยู่หนาแน่น มีรูหนอน รูปตัว “U” อยู่ทั่วไป เป็นต้น

หมวดหินปาหนัน ตั้งตามชื่อเกาะปาหนัน ทางใต้ของเกาะตะรุเตา พบซากฟองน้ำขนาดเล็ก

หมวดหินแลตอง ปรากฏชัดเจนที่เกาะแลตอง (เกาะเบลิตุงเบซา) ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา พบฟอสซิลจำพวกหอยฝาเดียว หอยสองฝา แมงดาทะเลโบราณ (ไทรโลไบต์) และปลาหมึกทะเลโบราณ (นอติลอยด์) จำนวนมาก

หมวดหินรังนก พบที่เกาะรังนก ทางใต้ของเกาะตะรุเตา พบฟอสซิลจำพวกฟองน้ำ ไครนอยด์ ไบรโอซัว แมงดาทะเลโบราณ ปะการัง และนอติลอยด์

หมวดหินป่าแก่ พบที่บ้านป่าแก่บ่อหิน ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เป็นหินปูนที่ก่อตัวจากสาหร่ายสโตรมาโตไลต์

หินยุคไซลูเรียน (439–409 ล้านปี)

หินยุคไซลูเรียนที่พบในจังหวัดสตูล อยู่ในกลุ่มหินทองผาภูมิ แบ่งออกได้ 3 หมวดหิน ได้แก่ หมวดหินวังตง หมวดหินควนทัง และหมวดหินป่าเสม็ด เป็นหินโคลน ลักษณะเกิดจากการทับถมในแอ่งตะกอน

ฟอสซิลที่พบมากในหินยุคนี้คือ แกรปโตไลต์ แมงดาทะเลโบราณ แอมโมไนต์ (ปลาหมึกที่รูปร่างเหมือนหอย) ขนาดเล็กแทรกเป็นรอยพิมพ์จางๆ อยู่ในหินโคลน บอกให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรณี เช่น ชั้นหินโดนอัดดัน เกิดการยกตัว ถมตัวของชั้นหิน

หินยุคดีโวเนียน (409–363 ล้านปี)

 

ตรงรอยต่อระหว่างยุคไซลูเรียนกับยุคดีโวเนียน มีหมวดหินควนทัง อยู่ในยุคดีโวเนียนตอนกลาง พบฟอสซิลไทรโลไบต์หลายชนิด

หินยุคคาร์บอนิเฟอรัส (363–290 ล้านปี)

มีหมวดหินป่าเสม็ด พบที่บ้านป่าเสม็ด ตำบลกำแพง อำเภอละงู พบซากแอมโมไนต์หลายชั้น และแบรคิโอพอด หรือหอยตะเกียง

หมวดหินควนกลาง พบที่ควนกลาง ตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล พบฟอสซิลหอยสองฝา โพซิโดโนเมีย และส่วนหางของฟอสซิลแมงดาทะเลโบราณ

ส่วนหินยุคเพอร์เมียน (290–245 ล้านปี)

รายงานฉบับวิจัยนี้ไม่ได้ระบุถึงหินในยุคนี้ในจังหวัดสตูลอย่างชัดเจนนัก เพียงระบุว่าเป็นหินอายุผสมระหว่างคาร์บอนิเฟอรัส – เพอร์เมียน ได้แก่ กลุ่มหินแก่งกระจาน พบแผ่กระจายจากภาคเหนือต่อไปถึงมาเลเซีย

หลังสิ้นมหายุคพาลิโอโซอิก ก็เริ่มเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้สัตว์ที่มีชีวิตในมหายุคนี้สูญพันธุ์ครั้งใหญ่แบบล้างโลก ซึ่งรุนแรงกว่ายุคที่ไดโนเสาร์ (ยุคจูแรสซิก 206–144 ล้านปี) สูญพันธุ์เสียอีก

 

7 ฟอสซิลชื่อดังพบในละงู

ย้อนกลับมาที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ของโรงเรียนกำแพงวิทยา ครูนก เล่าถึงฟอสซิลแต่ละชิ้นที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นชิ้นเด่นๆ ที่พบในจังหวัดสตูล โดยเฉพาะในอำเภอละงู

ฟอสซิล800ล้านปี สมบัติล้ำค่าเมืองสตูล

ไทรโลไบท์ หรือฟอสซิลแมงดาทะเลโบราณ (ภาพจาก www.krunok.net)

เริ่มจากไทรโลไบท์ หรือฟอสซิลแมงดาทะเลโบราณ ครูนกกับนักเรียนที่นี่ได้สำรวจพบครั้งแรก เมื่อปี 2547 บริเวณบ้านวังตง ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า แต่มีสภาพไม่สมบูรณ์ ขาดวิ่นจากหินที่กลิ้งตกลงมาจากภูเขา

ต่อมาปี 2549 นายอิงยุทธ สะอา ประธานชุมนุมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ของโรงเรียนกำแพงวิทยา ซึ่งขณะนั้นไปฝึกงาน และเก็บข้อมูลนกที่เกาะตะรุเตา ได้สำรวจพบไทรโลไบท์ที่นั่น อยู่ตรงรอยสัมผัสของชั้นหินยุคออร์โดวิเชี่ยน และยุคแคมเบรียน

ครูนกให้ข้อมูลด้วยว่า ไทรโลไบต์ เป็นฟอสซิลที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวด้านบน มีกระดองหุ้มลำตัวด้านล่างและขาเดิน ต่อมาวิวัฒนาการเป็นแมงป่องทะเลโบราณ กุ้ง กั้งและปู

พร้อมเสริมด้วยว่า ไทรโลไบต์ มีชีวิตตั้งแต่ยุคพรีแคมเบรียน จนกระทั่งเกือบสูญพันธุ์ไปในยุคเพอร์เมียน แต่ฟอสซิลไทรโลไบท์ที่พบในจังหวัดสตูล ส่วนใหญ่พบในหินปูนยุคออร์โดวิเชี่ยน อายุประมาณ 443 – 495 ล้านปี

สาหร่ายสโตรมาไตไลท์ เป็นแบคทีเรียที่สังเคราะห์แสงได้ คล้ายสาหร่าย ปัจจุบันเหลืออยู่ที่เดียวในโลกที่อ่าวชาร์ก ทางภาคตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย

สาหร่ายสโตรมาไตไลท์ มีความสำคัญต่อการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตคือ เป็นตัวจัดหาออกซิเจนให้แก่สิ่งมีชีวิตแรกเริ่มในยุคพรีแคมเบรียน โดยยุคก่อนหน้านั้นไม่มีออกซิเจนอิสระอยู่เลย และทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนในที่สุด

เมื่อปี 2548 นายอบีดีน งะสมัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนกำแพงวิทยา ค้นพบแหล่งศึกษาสโตรมาโตไลต์ที่บ้านท่าแร่ ตำบลกำแพง อำเภอละงู มีลักษณะคล้ายจอมปลวกสีแดง มีชาวบ้านมาผูกผ้ามาสักการะ เพราะเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่

ปัจจุบันแหล่งศึกษาสโตรมาโตไลต์ที่บ้านท่าแร่ กรมทรัพยากรธรณี กำหนดเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งอุทยานธรณีละงู–ทุ่งหว้า–ตะรุเตา

ฟอสซิล800ล้านปี สมบัติล้ำค่าเมืองสตูล

นอติลอยด์ (ภาพจาก www.krunok.net)

นอติลอยด์ หรือ ฟอสซิลปลาหมึกทะเลโบราณ ต้นตระกูลของปลาหมึกทะเลโบราณ มีลำตัวอ่อนนิ่ม แต่ได้พัฒนาส่วนหัวให้มีเปลือกหุ้มลำตัว โผล่แต่ส่วนหนวดออกมา ภายในส่วนท้ายของลำตัวเป็นห้องอับเฉาโดยมีท่อสูบฉีดน้ำ ช่วยควบคุมการดันน้ำเข้า เหมือนเรือดำน้ำ

เมื่อนอติลอยด์ต้องการลอยตัว ก็จะดูดน้ำออกจากห้องอับเฉา เพื่อลดความหนาแน่นภายในลำตัว ทำให้ลอยตัว และจะใช้วิธีอัดน้ำเข้าไปในช่องว่าง เพื่อเพิ่มความหนาแน่นภายในลำตัว ก็จะทำให้จมตัวลง เหมือนกับหอยงวงช้าง (Nautilus) ซึ่งเป็นแขนงของนอติลอยด์ ส่วนปลาหมึกปัจจุบัน วิวัฒนาการมาโดยไม่มีเปลือกหุ้มลำตัว

เมื่อปี 2546 ครูนกและนักเรียน ได้สำรวจพบฟอสซิลนอติลอยด์ตัวแรก ในเขตที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อำเภอละงู

ถัดมาอีกปี ก็ได้สำรวจพบนอติลอยด์จำนวนมากที่เขาแดง ตำบลกำแพง อำเภอละงู พบว่ามีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ได้แก่ รูปร่างของกรวยเปลือก ลักษณะท่อส่งน้ำ (siphuncle) ห้องอับเฉา (septum) นอกจากนี้ ยังพบแพร่กระจายในชั้นหินทั่วไปในอำเภอละงู

แอมโมนอยด์ หรือฟอสซิลปลาหมึกทะเลโบราณคล้ายหอย เป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการต่อมาจากปลาหมึกทะเลโบราณ ซึ่งวิวัฒนาการเปลือกแตกแขนงเป็น 2 แบบ คือลดการมีเปลือกจนเป็นหมึกปัจจุบัน และสร้างเปลือกคล้ายหอยให้ม้วนงอเป็นวง จนมีรูปร่างเหมือนหอย

ซึ่งวิวัฒนาการในแบบที่ 2 เรียกว่า แอมโมนอยด์ แต่ภายในยังคงสภาพการมีห้องอับเฉา และมีการสูบฉีดน้ำ ช่วยควบคุมความดันน้ำใช้ในการเคลื่อนที่ ปัจจุบันคือ หอยงวงช้าง

เมื่อปี 2548 ครูนกและนักเรียนได้สำรวจเจอแอมโมนอยด์ ที่เขาบ้านหาญ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู เมื่อนำมาเปรียบเทียบลวดลายและชั้นหินที่พบฟอสซิล สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในยุคดีโวเนียน อายุประมาณ 354–417 ล้านปี

นอกจากนี้ยังสำรวจพบบริเวณเขาหินปูนบางแห่งในอำเภอละงู แต่สันนิษฐานว่า อยู่ในยุคออร์โดวิเชี่ยน อายุประมาณ 443–495 ล้านปี เนื่องจากพบความต่างทางสปีชีส์ โดยเฉพาะลวดลายของเปลือกซ้อนทับภายใน รวมถึงความยาวบริเวณหัวที่แตกต่างกัน

มากูไลต์ หรือ ฟอสซิลหอยโข่งทะเลโบราณ เป็นสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนิ่ม แต่มีเปลือกเป็นหินปูนหุ้มปกคลุมร่างกาย อยู่ในกลุ่มหอยกาบเดี่ยว มีการเจริญเติบโตแบบบิดลำตัวเป็นเกลียว (Torsion) ทำให้เกิดลักษณะเปลือกแบบเป็นวงเกลียวออกมาเรื่อยๆ ตามอายุ รูปร่างหน้าตาของหอยกลุ่มมีลักษณะคล้ายหอยโข่ง

ครูนก และนักเรียน พบมากูไลต์ครั้งแรก เมื่อปี 2546 ที่เขาโต๊ะหงาย ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล

ต่อมาได้สำรวจเจอตามภูเขาหินปูนทั่วไปในอำเภอละงู มักพบปะปนอยู่กับสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ อาจเป็นเพราะเป็นแหล่งอาหาร หรือตายแล้วถูกคลื่นซัดมาติด พบเป็นหินปูนสีแดง และหินปูนสีเทาดำ

มากูไลต์ มีชีวิตตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียน อายุ 488–443 ล้านปีและได้สูญพันธุ์จนหมดในยุคนั้นเช่นกัน

แบรคิโอพอด หรือ ฟอสซิลหอยตะเกียง มีลักษณะคล้ายหอยกาบคู่ โดยมีส่วนของรยางค์ที่ติดกับฝาประกบทั้งสองของเปลือก ยื่นออกมายึดติดกับเลนโคลนใต้ทะเล สามารถยืดหดเพื่อหลบหนีภัยได้ และกินอาหารโดยใช้ตะแกรงกรองอาหาร มีเปลือกที่สมมาตรด้านข้าง

การแพร่กระจายสายพันธุ์ของหอยตะเกียงมีอายุยาวนาน ตั้งแต่ยุคโบราณถึงปัจจุบัน และแต่ละยุคนั้นมีความหลากหลายของสายพันธุ์มาก สังเกตได้จากรูปร่างเปลือกภายนอกได้ง่าย จึงใช้เป็นดัชนีวัดอายุของชั้นหินได้

เมื่อปี 2546 ครูนกและนักเรียนพบฟอสซิลหอยตะเกียงเป็นครั้งแรก ที่ภูเขาในเขตที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นฟอสซิลที่ตรงกับยุคออร์โดวิเชี่ยน

ต่อมานายสุธา โอมณี นักเรียนชั้น ม.5/1 โรงเรียนกำแพงวิทยา พบฟอสซิลหอยตะเกียงแหล่งใหญ่ที่บ้านตะโล๊ะใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นการค้นพบดัชนีเปรียบเทียบชั้นหินกับหลายๆแหล่งในอำเภอละงู

แกรปโตไลท์ หรือสัตว์ทะเลขนาดเล็กกึ่งมีกระดูกสันหลัง เป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Colony) ดำรงชีพโดยการลอยอยู่ในน้ำทะเลและกรองกินแพลงก์ตอนด้วยขนเล็กโบกพัดให้อาหารเข้าสู่ปาก ลำตัวของแกรปโตไลท์แต่ละตัว อยู่ในปลอกท่อสั้นๆ และเชื่อมติดเป็นแกนยาว มีทุ่นช่วยในการลอยตัวใกล้ผิวน้ำ

พบแกรปโตไลต์ 6 ชนิด อยู่ในยุคออร์โดวิเชียนตอนปลาย ถึงยุคไซลูเรียนตอนต้น ที่อำเภอละงู ซึ่งแหล่งที่พบบางแห่งเป็นบ่อดินที่ถูกขุดตักไปถมที่ บางแหล่งอยู่ริมถนนสายละงู–ทุ่งหว้า ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการขยายเป็นสี่เลน

 

แหล่งค้นพบฟอสซิลในสตูล

ฟอสซิล800ล้านปี สมบัติล้ำค่าเมืองสตูล

เกาะเขาใหญ่

ครูนก สรุปพื้นที่ที่ค้นพบฟอสซิลสำคัญๆ ในจังหวัดสตูล ดังนี้

บริเวณเกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นแบบฉบับกลุ่มหินตะรุเตา ในยุคแคมเบรียน พบไทรโลไบท์ (Trilobite) ชนิด Eosaukia Buravasi อายุยุคแคมเบรียนตอนปลาย ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์ใหม่ของโลก ที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทย

ยุคออร์โดวิเชี่ยน ที่มีกลุ่มหินทุ่งสง ที่แยกย่อยเป็นหมวดหินมะละ หมวดหินปาหนัน หมวดหินลาง่า หมวดหินรังนก หมวดหินตะโล๊ะดัง หมวดหินแลตอง ตามชื่อ และสถานที่บริเวณเกาะตะรุเตา

บริเวณเขาโต๊ะหงาย ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา สำรวจพบฟอสซิลหินร่องรอยของหอยตะเกียง มีอายุใกล้เคียงกันกับบริเวณเกาะตะรุเตา

บริเวณเกาะเขาใหญ่ ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พบฟอสซิลแอมโมไนต์ ฟอสซิลนอติลอยด์สกุลใหม่ของโลก มีรอยระแหงโคนถี่ยิบ มีลักษณะหินเช่นเดียวกับเกาะตะรุเตา–เภตรา

บริเวณเกาะลิดี ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีฟอสซิลมากูไลต์(หอยโข่งทะเลโบราณ) สภาพไม่สมบูรณ์เพราะอยู่ในเขตคลื่นซัด นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลแอมโมไนต์ ฟอสซิลปะการัง ฟอสซิลเสื่อทะเล และฟอสซิลหอยตะเกียง

บริเวณเขาจุหนุง เขาบ้านหาญ รอยต่อระหว่างตำบลกำแพงกับตำบลเขาขาว อำเภอละงูพบฟอสซิลนอติลอยด์ ฟอสซิลสาหร่ายสโตรมาโตไลต์แทรกอยู่ สังเกตได้ง่ายเป็นเนื้อหินเรียบๆ ซึ่งเป็นหมวดหินรังนก หมวดหินป่าแก่

เขาบ้านปลักมาลัย บ้านป่าฝาง ตำบลกำแพง อำเภอละงู เจอฟอสซิลมากูไลต์ เนื้อหินมีตะกอนดินเปลี่ยนเป็นหินปูน 100% แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกในยุคนั้นเป็นแบบค่อยๆ เปลี่ยน แบบค่อยเป็นค่อยไป หอยโข่งปัจจุบันวิวัฒนาการจากต้นตระกูลเมื่อ 400–500 กว่าล้านปีก่อน

บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าควนทัง ป่าเขาขาว รอยต่อระหว่างอำเภอละงูกับอำเภอทุ่งหว้าถูกจัดอยู่ “หมวดหินควนทัง”และ “หมวดหินวังตง” ฟอสซิลกลุ่มเด่นของยุคออร์โดวิเชียน คือ ฟอสซิลแอมโมไนต์ ฟอสซิลแกรปโตไลต์ ฟอสซิลสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ เจอทั่วไปตามสองข้างทางจากละงูไปทุ่งหว้าตลอดทาง

บริเวณภูเขาในตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า เป็นหินปลายยุคออร์โดวิเชียน หมวดหินป่าแก่ สามารถสังเกตได้ง่าย เพราะเต็มไปด้วยฟอสซิลสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ มีสีแดงเห็นเด่นชัด พบฟอสซิลนอติลอยด์ที่มีลักษณะโดดเด่น มีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

บริเวณตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล พบฟอสซิลต้นฉบับของไทรโลไบท์ ฟอสซิลหอยตะเกียง โผล่สัณฐานลักษณะจำเพาะ เป็นตัวชี้วัดบ่งบอกว่าเป็นหินยุคแคมเบรียน

ไม่เพียงฟอสซิลในมหายุคพาลิโอโซอิก อายุราว 245 ถึง 590 ล้านปีเท่านั้น เพราะเมื่อไม่นานมีนี้ มีการค้นพบซากขากรรไกรล่างขวา พร้อมฟันกรามซี่ที่ 2 และ 3 ของช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอน อายุ 1.8 ล้านปี

นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลช้างโบราณสกุลเอลลิฟาส อายุ 1.1 ล้านปี ฟอสซิลแรดโบราณอีก 2 สกุล คือ เกนดาธิเรียมและคิโลธิเรียม ภายในถ้ำวังกล้วย บ้านคีรีวง ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า

สิ่งเหล่านี้จึงน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดที่จะจัดตั้งอุทยานธรณี ‘ละงู-ทุ่งหว้า-ตะรุเตา’ ซึ่งเป็นอุทยานธรณีที่มีความสำคัญระดับโลก

 

แหล่งฟอสซิลรอบอ่าวปากบารา

ครูนกทิ้งท้ายว่า ที่เกาะเขาใหญ่ พบฟอสซิลแอมโมไนต์และฟอสซิลนอติลอยด์ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราหน้าเกาะเขาใหญ่อาจมีแรงสั่นสะเทือนรุนแรงหรือไม่ ยังไม่ทราบ แต่ฝุ่นละอองจากหิน ดิน ทราย จะส่งผลกระทบกับฟอสซิลที่นั่นแน่นอน

เขาจุหนุงนุ้ย ที่จะถูกระเบิดหินมาถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีฟอสซิลนอติลอยด์ชิ้นใหญ่ ซึ่งไม่สามารถหาที่ไหนได้ในประเทศไทย มีเอกลักษณ์ที่เราไม่เคยเจอที่ไหน

ภูเขาที่ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า เป็นอีกแห่งที่จะถูกระเบิดมาถมทะเล พบไทรโลไบต์หลากหลายชนิด ส่วนที่หาดทรายบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ที่จะมีการขุดทรายมาถมทะเลด้วย ก็พบฟอสซิลหอยตะเกียงและฟอสซิลอื่นๆอีกหลากหลายชนิด

“ถ้าทำอย่างนั้น ถือว่า น่าเสียดายมาก ในการนำหินฟอสซิลไปถมทะเล เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา”

 

 

ตารางธรณีกาล

เป็นตารางบ่งบอกยุคทางธรณีวิทยา มีดังนี้


มหายุค (Era)

ยุค (Period)

สมัย (Epoch)

เวลา (ล้านปีก่อน)

พรีแคมเบรียน (precambrian)

 

4,600 - 543
พาลีโอโซอิก (paleozoic)

แคมเบรียน (cambrian)

543 - 510

ออร์โดวิเชียน (ordovician)

510 - 439

ซิลูเรียน (silurian)

439 - 409

ดีโวเนียน (devonian)

409 - 363

คาร์บอนิเฟอรัส (carboniferous)

363 - 290

เพอร์เมียน (permian)

290 - 245
มีโซโซอิก (mesozoic)

ไทรแอสซิก (triassic)

245 - 206

จูแรสซิก (jurassic)

206 - 144

ครีเทเชียส (cretaceous)

144 - 65
ซีโนโซอิก (cenozoic)

เทอเทียรี (tertiary)

เพเลโอซีน (Paleocene)

65 - 57

เอโอซีน (Eocene)

57 - 35

โอลิโกซีน (Oligocene)

35 - 23

ไมโอซีน (Miocene)

23 - 5

พลิโอซีน (Pliocene)

5 - 1.8

ควอเทอนารี่ (quaternary)

ไพลสโตซีน (Pleistocene)

1.8 - 0.01

ปัจจุบัน

0.01 - 0

ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/ธรณีกาล

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นานาชาติพร้อมใจแนะกลางเวทียูเอ็น ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

Posted: 06 Oct 2011 09:02 AM PDT

เมื่อเวลา 19.30 วันที่ 5 ตุลาคม 2554 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดเวทีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลไทยรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ต่อสหประชาชาติและตัวแทนจากรัฐบาลต่างๆ กว่า 50 ประเทศ ทั้งนี้ ทางข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้ทำการถ่ายทอดสดการรายงานดังกล่าว ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ถนนเพลินจิต

การรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ หรือกระบวนการยูพีอาร์ เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตั้งคำถามต่อประเทศที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งใน 16 ประเทศของรอบเดือนตุลาคม 2554 ที่ต้องรายงานสถานการณ์สิทธิภายในประเทศต่อประชาคมนานาชาติ โดยใช้เวลารวมทั้งหมดสามชั่วโมง

ทางคณะผู้แทนไทย นำโดยเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ พร้อมตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน ได้รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยโดยรวมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมาก จะเห็นจากการที่สื่อไทยและต่างประเทศสามารถทำงานได้โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล และกล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปีที่แล้วว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการทำการเยียวยา และชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม

อังกฤษ-นอร์เวย์ ระบุ เคารพสถาบันได้ แต่อย่าจำกัดเสรีภาพการแสดงออก

ในเวทีดังกล่าว พบว่า ตัวแทนรัฐบาลจากเกือบ 20 ประเทศ อาทิเช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ สวีเดน แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ได้แสดงความกังวลต่อประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และได้เสนอคำแนะนำต่อประเทศไทย ให้ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ทางตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ กล่าวในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทยว่า เห็นด้วยกับประเทศไทยที่ชี้ว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความเคารพ อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยควรจะสามารถถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่กลัวว่าจะถูกดำเนินคดีเพราะทำผิดกฎหมาย

เช่นเดียวกับตัวแทนรัฐบาลนอร์เวย์ ที่แสดงความเป็นห่วงถึงจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่สูงขึ้นมาก และได้มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลไทย ควรทำให้กระบวนการยุติธรรมต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ และควรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เหมาะสมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในฐานะที่นอร์เวย์เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) นอร์เวย์เองก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่กฎหมายดังกล่าวกำหนดผู้ฟ้องไว้เฉพาะพระมหากษัตริย์ หรือต้องได้รับคำยินยอมจากพระมหากษัตริย์ก่อนเท่านั้น ทำให้ป้องกันไม่ให้มีการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้

“เราขอแนะนำให้ประเทศไทย แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ เรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเราในประเด็นดังกล่าว [กับประเทศไทย]” ตัวแทนจากรัฐบาลนอร์เวย์ระบุ

ด้านรัฐบาลไทยแจง กำลังทบทวนกฎหมายหมิ่นฯ -พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

ด้านตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมไทย กล่าวรายงานต่อสภาสิทธิฯ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ มิได้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกใดๆ อย่างไรก็ตาม ทางการไทยยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวควรมีการแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนและคัดกรองคดีความที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้หลายคดีถูกถอนข้อกล่าวหาไปแล้วเนื่องจากไม่มีมูลเหตุเพียงพอ

นอกจากนี้ ผู้แทนไทยยังชี้แจงว่า ในขณะนี้ รัฐบาลได้ได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในส่วนที่เป็นปัญหา โดยศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่างๆ พร้อมทั้งกล่าวว่า ข้อถกเถียงที่มีอยู่มากเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวในสังคมไทยตอนนี้ จะถูกนำมาพิจารณาในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย

ในประเด็นเรื่องพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ทางตัวแทนไทยได้ชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวมีการป้องกันการใช้อย่างเหมาะสมแล้ว ดังจะเห็นจากข้อกำหนดที่ต้องขอหมายศาลก่อน เพื่อขออนุญาติก่อนทางตำรวจจะดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตาม เขาแจงว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพิจารณาการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริการให้อินเตอร์เน็ตมาให้ข้อเสนอแนะ

นานาชาติยังจับตาสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้

ด้านตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา ออสเตรีย และอีกหลายประเทศ ยังได้ยื่นข้อเสนอรัฐบาลไทย ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมองว่า เป็นสาเหตุของการจับกุม คุมขัง และซ้อมทรมาน รวมถึงการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะมาตรา 17 ในพ.ร.ก ฉุกเฉิน ซึ่งหลายประเทศมองว่า เป็นการงดเว้นโทษให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ทางรัฐบาลออสเตรีย กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงความยุติธรรม การงดเว้นโทษของหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงปัญหาด้านสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ พร้อมกันนี้ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิรูประบบยุติธรม และลงนามเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) รวมถึงอนุสัญญาป้องกันการบังคับคนให้สูญหายด้วย

ด้านสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ได้ตอบข้อเสนอแนะดังกล่าวว่า กฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นกฎหมายที่จำเป็นเพื่อใช้ในการจัดการสถานการณ์ที่มีความรุนแรง ทั้งนี้ เขาชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานหลักสิทธิมนุษยชนสากล และมิได้เป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ

“กฎหมายพิเศษดังกล่าวนี้ มิได้เป็นสิ่งที่จะเอามาใช้แทนกระบวนต่างๆ ตามกฎหมาย นอกจากนี้ มาตรา 17 ใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็มิได้อนุญาตการงดเว้นโทษใดๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่น้อย เพราะพวกเขายังอยู่ภายใต้กฎหมายอาญา โปรดแน่ใจได้เลยว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย” สีหศักดิ์ย้ำ

ผู้สื่อข่าวเนชั่นชี้ ‘สีหศักดิ์’ ให้ข้อมูลเชิงบิดเบือน เกรงต่างชาติเข้าใจผิด

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น หนึ่งในวิทยากรในงาน ให้ความเห็นว่า ในประเด็นเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นับว่าเป็นความสำเร็จ เนื่องจากมีราว 20 ประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับการใช้กฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล อย่างไรก็ตามเขาชี้ว่า สีหศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการรายงานสถานการณ์สิทธิ ได้พยายามให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง

“ท่านทูตบอกว่า ประเทศไทย สื่อมีเสรีภาพที่จะพูดเรื่องการเมือง ต้องถามว่าถ้าการเมืองไปโยงกับสถาบันปุ๊บ สื่อสามารถจะพูดได้หรือเปล่า ก็ชัดเจนว่าสื่อพูดไม่ได้ สื่อไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมที่จะตั้งคำถามหรือถกเรื่องเกี่ยวกับบทบาทเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางการเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทูตพูดในทำนองทำให้ชาวต่างชาติหรือสาธารณะเข้าใจผิดได้” ประวิตรกล่าว

นอกจากนี้ ประวิตรยังมองว่า ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ชูประเด็นเรื่องประชาธิปไตย ทำหน้าที่ได้อย่าง “น่าละอาย” และ “น่าผิดหวังอย่างยิ่ง” เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ยกประเด็นเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มากล่าวในเวที ทั้งๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปพูดเรื่องนี้ทั้งหมด หากแต่เพียงจำกัดอยู่เรื่องการสนับสนุนคณะกรรมการปรองดองฯ เท่านั้น

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังกับผู้สื่อข่าวว่า ในประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อ เขาหมายถึงสื่อสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและประเด็นทางการเมืองได้อย่างเสรี ส่วนในเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เขากล่าวว่า ทางคณะผู้แทนไทยได้ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้ในทางที่ผิด และย้ำว่า เรื่องนี้ต้องนำมาพูดคุยกัน เพื่อนำไปสู่การหาฉันทามติร่วมกันในระดับชาติต่อไป

ตัวแทนนอร์เวย์กล่าวข้อเสนอแนะต่อทางการไทย ในเวทีตรวจสอบสถานการณ์สิทธิยูพีอาร์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อประกันสังคมแรงงานข้ามชาติไร้ค่า : 'งานที่มีคุณค่า' จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

Posted: 06 Oct 2011 09:00 AM PDT

ทุกวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี คือ วันที่เครือข่ายแรงงานทั่วโลกได้ออกมารณรงค์เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่า “World Day of Decent Work” คำว่า “Decent Work” หรือในภาษาไทยแปลว่า “งานที่มีคุณค่า” เป็นคำที่เกิดขึ้นครั้งแรกในที่ประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปี 2547 โดย “งาน” ที่เรียกว่าเป็น “งานที่มีคุณค่า” นั้น ต้องเป็นงานที่รวมความต้องการของผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งๆใน 8 เรื่องเข้าด้วยกัน คือ 1) การมีโอกาสและรายได้ -opportunity and income 2) การมีสิทธิในด้านต่างๆ -rights 3) การได้แสดงออก –voice 4) การได้รับการยอมรับ –recognition 

5) ครอบครัวมีความมั่นคง -family stability 6) การได้พัฒนาตนเอง -personal development 7) การได้รับความยุติธรรม -fairness และ 8) ความเท่าเทียมระหว่างเพศ -gender equality

กล่าวโดยง่าย คือ เป็นงานที่สร้างโอกาสความก้าวหน้า สร้างรายได้ที่เหมาะสมกับงานที่ทำ แรงงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน มีสิทธิ มีเสียง เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังต้องเป็นงานที่ช่วยให้ชีวิตครอบครัวมีความมั่นคง มีการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเป็นงานที่มีความเป็นธรรม มีความเท่าเทียมกันไม่ว่าเป็นชายหรือหญิงและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ยังห่างไกลจากงานที่มีคุณค่า แม้ว่าแรงงานจะคือฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตก้าวไกลทุกปี ปัญหาหลักที่ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงการจ้างงานที่มีคุณค่า คือ ข้อจำกัดของตัวบทกฎหมาย รวมถึงความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนความไม่กล้าหาญของรัฐบาลไทย (ไม่ว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใดก็ตาม) ในการยอมรับหลักการและสิทธิพื้นฐานในการทำงานที่เป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ จึงทำให้คุณค่าของแรงงานบางกลุ่มถูกประเมินต่ำเกินไปโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่แรงงานมักถูกมองไม่ต่างจากวัตถุดิบอื่นๆในการผลิต เช่น น้ำมันหรือเครื่องจักร ถ้าแรงงานคนหนึ่งออกไปก็สามารถหาคนใหม่มาทดแทนได้ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการดูแล ดังจะเห็นได้ชัดจากการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับรองความเป็นพลเมืองของประเทศต้นทางเรียบร้อยแล้ว แรงงานข้ามชาติจะต้องเข้าสู่การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 480,000 คน อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติไทยใหญ่จำนวนหนึ่งที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่[2] (ที่นี่มีแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วกว่า 13,000 คน) กลับพบปัญหาที่เป็นผลมาจากการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองถึง 6 ประการ

(1) มีหลายบริษัทที่นายจ้างส่งเงินสมทบล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งเมื่อครบกำหนดการชำระแล้วต้องนำเงินสมทบมาจ่ายภายใน 15 วัน หากเลยกำหนดจะโดนปรับดอกเบี้ย ทำให้มีนายจ้างบางคนที่จ้างแรงงานจำนวนมากจึงแก้ปัญหาด้วยการไม่ส่งเงินสบทบเลย เพราะไม่อยากเสียค่าปรับจำนวนมาก ทำให้แรงงานจึงเสียสิทธิแม้ว่านายจ้างจะหักเงินแรงงานไปแล้วก็ตาม

(2) ข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลระหว่างรอบัตรประกันสังคม พบว่าในระหว่างที่แรงงานรอบัตรนั้น ต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น จึงจะสามารถเบิกคืนเงินย้อนหลังที่จ่ายไปได้ทั้งหมด แต่มีแรงงานบางคนที่ไม่ทราบและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแทน การเบิกคืนย้อนหลังจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วในช่วงก่อน 3 เดือนที่จะมีสิทธิ แรงงานก็จะไม่สามารถนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกย้อนหลังได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วแรงงานมักจะทำงานอยู่ในกิจการจ้างงานที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูง เข้าไม่ถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและการอยู่อาศัยที่ดี

(3) แรงงานไม่สามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมได้ เนื่องจากในระหว่างที่สำนักงานประกันสังคมยังไม่สามารถออกบัตรประกันสังคมให้แรงงาน การตรวจสอบสิทธิจะทำได้ยากมาก เพราะการออกบัตรประกันสังคมจะขึ้นอยู่กับเลขที่ใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประกันสังคมจะอ้างอิงเลขที่ใบอนุญาตทำงานในการบ่งบอกสิทธิของผู้ประกันตน แต่ในความเป็นจริงแล้วกระทรวงแรงงานจะออกใบอนุญาตทำงานล่าช้ามาก แรงงานจึงไม่สามารถนำเลขที่ใบอนุญาตทำงานมาใช้ยืนยันสิทธิในการเบิกจ่ายสิทธิประกันสังคมได้ แม้ว่าทางสำนักงานประกันสังคมจะได้กำหนดมาตรการแก้ไข โดยการสร้างฐานทะเบียนผู้ประกันตนชั่วคราวไว้ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ เพราะชื่อของแรงงานข้ามชาตินั้นคล้ายคลึงกันและไม่มีนามสกุล และการบันทึกทะเบียนผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้แยกกลุ่มแรงงานข้ามชาติไว้ต่างหาก ทำให้เกิดความสับสน ล่าช้า เสียเวลามากยามต้องตรวจสอบสิทธิ

(4) มีบางโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม มีข้อจำกัดทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่และขนาดของโรงพยาบาล ทำให้ความสามารถของการบริการสาธารณสุขในบางพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่และมีจำนวนมาก รวมทั้งยิ่งทำให้คนในพื้นที่ต้องรอรับบริการล่าช้ามากขึ้น จึงส่งผลต่ออคติเชิงชาติพันธุ์ การกีดกัน การไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกันในชุมชนเดียวกันติดตามมา

(5) ตัวแรงงานข้ามชาติเองมักจะไม่ทราบสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้ ขาดความเข้าใจในกฎเกณฑ์ระเบียบเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็น และยิ่งเป็นแรงงานที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ นายจ้างไม่สนใจดูแล ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเบิกจ่ายสิทธิทดแทนอย่างมาก มีแรงงานจำนวนมากที่นายจ้างยึดบัตรไว้ แรงงานจึงถือเฉพาะใบเสร็จเพื่อมารับการรักษาแทน จึงเป็นอุปสรรคต่อการรักษาอย่างยิ่ง เพราะแรงงานก็จะไม่มีทั้งบัตรโรงพยาบาล บัตรประกันสังคม และใบอนุญาตทำงาน  โรงพยาบาลจึงต้องใช้เวลาตรวจสอบเป็นระยะเวลานาน

(6) มีบางกรณีที่แรงงานเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินนอกสถานที่ทำงานและถูกส่งตัวเข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่แรงงานจะไม่มีเอกสารพกติดตัวมา เนื่องจากนายจ้างยึดเก็บไว้ เพราะกลัวแรงงานหลบหนี ทำให้การรักษา พยาบาลเกิดความล่าช้า เพราะโรงพยาบาลต้องติดต่อกับบริษัท/สถานประกอบการที่แรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่ เพื่อยืนยันสิทธิการเบิกจ่ายในการรักษาจริง รวมถึงแรงงานมักจะมีชื่อที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ยิ่งทำให้การตรวจสอบสิทธิล่าช้ามากยิ่งขึ้น นี้ไม่นับว่าถ้าเป็นแรงงานหมดสติเข้ามารักษา ทางโรงพยาบาลก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการทำทะเบียนผู้ป่วยใหม่ ไม่ตรวจสอบประวัติเดิม แรงงานก็จะเสียประโยชน์ในประวัติการรักษาที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น

นอกจากนั้นแล้วข้อมูลจากมติสมัชชาแรงงานข้ามชาติ เรื่องแรงงานข้ามชาติกับการปฏิรูประบบประกันสังคมในแบบที่เหมาะสม เมื่อ 13 มกราคม 2554 ก็ระบุชัดเจนว่า สิทธิประโยชน์ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม
ไม่สอดคล้องกับลักษณะความเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะและแนวนโยบายการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จาก

- นโยบายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติระดับล่างในประเทศไทย ไม่สนับสนุน/เอื้อให้แรงงานข้ามชาติหญิงได้มีโอกาสตั้งครรภ์ ฉะนั้นโอกาสที่แรงงานข้ามชาติจะใช้สิทธิประโยชน์เรื่องการคลอดบุตรจึงมีความเป็นไปได้น้อยหรือเป็นไปไม่ได้เลย

- ในกรณีสิทธิประโยชน์เรื่องสงเคราะห์บุตร ได้กำหนดอายุบุตรไว้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ แต่แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 4 ปี ก็สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน แรงงานก็จะสิ้นสุดการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปด้วย

- แรงงานข้ามชาติมีระยะเวลาทำงานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น จึงขาดโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งบำนาญชราภาพและบำเหน็จชราภาพ ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือต้องรอรับสิทธิประโยชน์เมื่อตอนอายุครบ 55 ปี

- แรงงานข้ามชาติที่ทุพพลภาพเนื่องมาจากการทำงาน ด้วยข้อจำกัดในการสื่อสารและการเดินทาง โอกาสที่แรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงการรับเงินทดแทนการขาดรายได้จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก

- แรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิกรณีว่างงาน เนื่องจากเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง และหากเป็นแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว เมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างกับนายจ้างปัจจุบันจะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7-15 วัน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ รับบริการจัดหางานและการฝึกอบรมฝีมือ แรงงานก็ไม่ใช่ผู้ว่างงานแล้วจึงไม่สามารถเข้าไม่ถึงสิทธิประกันการว่างงานได้

- เมื่อแรงงานข้ามชาติได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือกรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตายแล้ว และได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกันตนผู้นั้นสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่แรงงานข้ามชาติเมื่อสิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้างแล้วจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทางก็ไม่อาจที่จะใช้สิทธิต่อเนื่องอีก 6 เดือนนี้ได้

เหล่านี้คือสถานการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการจ้างงานที่ไม่มีคุณค่า และแรงงานข้ามชาติต้องเผชิญชะตากรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อข้ามให้พ้นจากปัญหาดังกล่าว การจ้างงานที่คำนึงถึงหลักสิทธิแรงงานและหลักสิทธิมนุษยชน การร่วมกันแสวงหารูปแบบการคุ้มครองตามพ.ร.บ.ประกันสังคมที่สอดคล้อง เหมาะสมกับการจ้างงานและชีวิตความเป็นจริง เช่น

- การคำนวณอัตราส่งเงินสมทบใหม่ตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่สอดคล้องกับบริบทการจ้างงานของแรงงานข้ามชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการจ้างงานในประเทศไทยได้เพียง 4 ปี

- การทบทวนในเรื่องการคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ 7 กรณี โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์เรื่องประกันการว่างงานและชราภาพ

- การทบทวนกรณีการนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่การคุ้มครองกับบริษัทเอกชนด้านประกันภัย ยิ่งจะทำให้แรงงานถูกแสวงประโยชน์มากยิ่งขึ้น  

- การจัดตั้งกองทุนสำรองค่ารักษาพยาบาล ในระหว่างที่แรงงานยังไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ เพื่อให้แรงงานสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

- บทบาทของสหภาพแรงงานไทยในพื้นที่ ที่จะเข้ามาเป็นกลไกเชื่อมร้อย/สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

ข้อเสนอดังกล่าวนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่มุ่งเข้าหางานที่มีคุณค่าได้อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะแรงงานข้ามชาติก็คือคนทำงานที่ควรได้ทำงานที่มีคุณค่า เพื่อการมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆในประเทศไทย



[1]

ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

[2]

อ้างอิงข้อมูลจากโครงการวิจัยเรื่องปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งดำเนินการโดยผู้เขียน ร่วมกับนายณัฐพงษ์ มณีกร และนางรำพึง จำปากุล จากสภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้รับทุนจาก สสส.เมื่อมิถุนายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวี: นิทานบทซ้ำ

Posted: 06 Oct 2011 08:31 AM PDT

นิทานบทซ้ำ

                                                                                                                      ทางเท้า: กลุ่มกวีตีนแดง

 

จะกล่าวถึง..กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานผ่านมา

ณ มหานครเมืองใหญ่แห่งชาวฟ้า

ได้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นกลางนครา

ซึ่งกำลังจะถูกลืมเลือนไปในไม่ช้า

พุทธศักราชสองพันห้าร้อยสิบเก้าในเดือนตุลา

เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพเริ่มเบ่งบานทายท้า

ต่อสู้โค่นล้มอำนาจเผด็จการศักดินา

หนุ่มสาวฝันใฝ่ถึงสิทธิเสรีที่แสวงหา

อุดมการณ์แห่งเสรีแหลมคมประหนึ่งศาสตรา

ปีศาจจึงป้ายสีใส่ร้ายประชาชน นิสิต นักศึกษา

เฮ้ย..มันเป็นพวกคอมมิวนิสต์ แกว ญวน สมควรฆ่า

ล้อมปราบกำราบให้เสียสิ้นทั้งแดนโดมเจ้าพระยา

....

เสียงปืนสะท้านดังกึกก้องอยู่ในความสงบ

เสียงร้องร่ำไห้เพราะตามหาลูกชายไม่พบ

เสียงเรียกหาสหายที่ตายไปโดยไม่ได้ฝังกลบ

ใต้ร่มมะขามต้นนั้น..ถูกแขวนไว้ด้วยศพ

....

พุทธศักราชสองพันห้าร้อยห้าสิบสามในเดือนพฤษภา

เชื้อร้ายระยำจากรัฐประหารหวนคืนกลับมา

เมื่อประชาชนถูกปล้นสิทธิเสรีภาพไปต่อหน้า

ผู้คนตาสว่างจึงกู่ร้องทวงถามไปยังสวรรค์ชั้นฟ้า

ปีศาจร้ายมันเริ่มร่ายมนต์สะกดกล่อมปิดดวงตา

ความเป็นมนุษย์จึงถูกลดทอนไปลงจนไร้คุณค่า

เฮ้ย..นั่นพวกโง่มันถูกซื้อถูกหลอกลวงมา

ไอ้พวกชนชั้นต่ำไอ้พวกผู้ก่อการร้าย..ต้องฆ่า

...

ราชดำเนินถึงราชประสงค์จึงแปรเป็นสนามรบ

กระชับพื้นที่ด้วยกระสุน..ลอบยิงให้เป็นศพ

พระเพลิงจึงแผดเผาร้อนเร่าไปทั่วทั้งพื้นพิภพ

สังคมร้าวแยกแตกกระจายยากที่จะหาจุดจบ

...

ประชาชนไม่ได้ตายเพราะสายฝนของเดือนตุลา

ไม่ได้ตายเพราะแดดลมร้อนแล้งของเดือนพฤษภา

แต่ตาย..เพราะคมกระสุนของพวกชาติชั่วใจหมา

ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า..ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเรื่อยมา

...

(และคำถามสุดท้าย..เราล้วนรู้อยู่แก่ใจว่าใครฆ่า)

 

ขอร่วมไว้อาลัยและรำลึกถึงวีรชน ในวาระครบรอบ 35 ปี 6 ตุลาคม 2554

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Steve Jobs

Posted: 06 Oct 2011 07:43 AM PDT

Innovation distinguishes between a leader and a follower

 

28 Mar 09 via Twitter for iPhone

วาทกรรมทางการเมืองของพระสงฆ์ จาก 6 ตุลา 19 ถึง เมษา-พฤษภา 53

Posted: 06 Oct 2011 07:15 AM PDT

มายาคติ “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง”

หากพิจารณาในเชิงโครงสร้าง (หรือมองแบบ realistic ไม่มองแบบ romantic) สถาบันสงฆ์ได้ถูกออกแบบให้ขึ้นต่อรัฐและมีบทบาทสนับสนุนรัฐโดยปริยาย เช่น  มีระบบ “พระราชาคณะ” หรือระบบสมณศักดิ์ที่สืบทอดมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบบที่กำหนดให้พระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ หากเป็นการเมืองเพื่อสนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้มีอำนาจรัฐ หรือสนับสนุนนโยบายของรัฐ แต่หากเป็นการเมืองในความหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจหรือต่อนโยบายรัฐ ย่อมเป็นการเมืองที่พระสงฆ์ไม่ควรยุ่ง หรือยุ่งไม่ได้ ฉะนั้น การพยายามอธิบายว่าพระสงฆ์บริสุทธิ์จากการเมือง หรืออยู่เหนือการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงเป็นคำอธิบายที่สังคมไทยพยายามสร้าง “มายาคติ” ขึ้นมาหลอกตนเอง 

จะว่าไปแล้ว หากมองพระสงฆ์แต่ละปัจเจกบุคคล พระสงฆ์ย่อมมีสองสถานะคือเป็นพระสงฆ์และเป็นพลเมืองของรัฐ แต่รัฐไทยไปจำกัดสิทธิต่างๆ ของพระสงฆ์ในฐานะพลเมือง เช่นห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น ในขณะที่พระสงฆ์ศรีลังกา (ที่เรานำพุทธศาสนามาจากเขา) มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อตั้งพรรคการเมือง เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนประชาชนในการบริหารประเทศได้ พระพม่าออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนประท้วงรัฐบาลเผด็จการได้ ขณะที่ในธิเบต พระสงฆ์เป็นผู้ปกครองรัฐเสียเอง

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพุทธศาสนาไม่มีวินัยห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองไว้โดยตรง จึงเปิดช่องให้พระสงฆ์ใช้ดุลพินิจของตนเองว่า ควรจะยุ่งหรือไม่ยุ่งการเมืองในแง่ไหน อย่างไร เมื่อใช้ดุลพินิจต่างกันพระสงฆ์แต่ละประเทศจึงมีสิทธิทางการเมือง และเกี่ยวข้องกับการเมืองในลักษณะแตกต่างกัน ในบ้านเรานั้นนอกจากรัฐไทยจะจำกัดสิทธิทางการเมืองของพระสงฆ์ดังกล่าวแล้ว องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย คือมหาเถรสมาคมยังออกประกาศห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมทางการเมือง จัดอภิปราย เสวนาทางการเมืองทั้งในวัดและนอกวัด แต่ทว่าประกาศดังกล่าวไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก เพราะแทบในทุกเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญ เรามักเป็นพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองที่เป็นการละเมิดประกาศดังกล่าวอยู่เสมอ

วาทกรรมทางการเมืองของพระสงฆ์ 6 ตุลา 19 และเมษา-พฤษภา 53
แต่บทความนี้จะพิจารณาเฉพาะการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของพระสงฆ์ในลักษณะของการสร้าง “วาทกรรมทางการเมือง” ที่สะท้อน “ความหมาย” ของการเลือกฝ่ายและเป็นกลางทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เช่น วาทกรรมที่สะท้อนการเลือกฝ่าย “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” ของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19  “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) และวาทกรรมสะท้อนความเป็นกลาง เช่น “สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง” ของ พระไพศาล วิสาโล สองวาทกรรมหลังเป็นวาทกรรมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เมษา-พฤษภา 53 เราจะพิจารณาแต่ละวาทกรรม ดังต่อไปนี้

1. วาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” ของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ หรือที่คนพูดกันจนชินปากว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เป็นวาทกรรมที่โด่งดังมากเมื่อกิตติวุฑโฒ ให้สัมภาษณ์นิตยสารจตุรัส ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการประโคมข่าวผ่านสื่อของรัฐ และหนังสือพิมพ์ดาวสยามเวลานั้นว่า นักศึกษา ประชาชนที่ออกมาต่อต้านเผด็จการเป็นคอมมิวนิสต์ ขอคัดบทสัมภาษณ์บางตอนมาให้อ่านดังนี้

จตุรัส : การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์บาปไหม
กิตฺติวุฑฺโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่

ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ (ว่า) เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

จตุรัส : ผิดศีลไหม
กิตติวุฑโฒ : ผิดน่ะมันผิดแน่ แต่ว่ามันผิดน้อย ถูกมากกว่า ไอ้การฆ่าคนคนหนึ่งเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ ไอ้สิ่งที่เรารักษาปกป้องไว้มันถูกต้องมากกว่า แล้วจิตใจของทหารที่ทำหน้าที่อย่างนี้ไม่ได้มุ่งฆ่าคนหรอก เจตนาที่มุ่งไว้เดิมคือมุ่งรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ การที่เขาอุทิศชีวิตไปรักษาสิ่งดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็นบุญกุศล ถึงแม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือนเราฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาปพระได้บุญมากกว่า

จตุรัส : ฝ่ายซ้ายที่ตายหลายคนในช่วงนี้ คนฆ่าก็ได้บุญ
กิตติวุฑโฒ : ถ้าหากฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วก็ได้ประโยชน์

จตุรัส : คนฆ่าฝ่ายซ้ายที่ไม่ถูกจับมาลงโทษ ก็เพราะบุญกุศลช่วย
กิตติวุฑโฒ : อาจจะเป็นได้ ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ (หัวเราะ) 

2. วาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ซึ่งปรากฏทางทวิตเตอร์ของท่านเองราวกลางเดือนมกราคม 2553 เป็นช่วงเวลาที่กระแสสื่อมวลชนกำลังคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนมีนา-พฤษภา 2553 จะมีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง และเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์สงกรานต์เลือดปี 2552 ในช่วงนี้สื่อเสื้อเหลืองก็เริ่มประโคมข่าวความรุนแรงของเสื้อแดงเป็นระยะๆ ต่อมาได้มีการนำข้อความดังกล่าวของ ว.วชิรเมธี ไปวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ และมีการนำเสนอในรายงานข่าวทาง Voice TV  เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ว่า วาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน” วรรคทองของ ว.วชิรเมธี โด่งดังไม่แพ้วาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ในช่วง 6 ตุลา 19

จากนั้น ว.วชิรเมธี ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสาร GM ฉบับเดือนธันวาคม 2553 เกี่ยวกับที่มาของวาทกรรมดังกล่าวนี้

GM : ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์การทวิตเตอร์ของท่านชิ้นหนึ่งเป็นอย่างมาก นั่นคือการทวิตที่บอกว่า ‘ฆ่าเวลา บาปกว่าฆ่าคน’ อยากให้ท่านอธิบายว่า แท้จริงแล้วทวิตนี้มีความหมายที่แท้จริงอย่างไร
ว.วชิรเมธี : จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มันไร้สาระเสียจนอาตมาไม่อยากพูดอะไร อาตมากำลังสอนเรื่องคุณค่าของเวลา โดยยกตัวอย่างเรื่องราวขององคุลีมาลว่า พระองคุลีมาลฆ่าคนมาแล้ว 999 คน วันหนึ่งท่านพบกัลยาณมิตร คือพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้มาบวช กลับตัวกลับใจ จนกลายมาเป็นพระอรหันต์ได้ สรุปได้ว่า องคุลีมาลยังกลับใจ แล้วคุณทำไมไม่กลับตัว นั่นคือเรื่องของการฆ่าคนยังมีโอกาสที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เมื่อเขาสำนึกผิด แต่เวลาทุกวินาทีเมื่อมันไหลผ่านเราไปแล้ว มันจะผ่านเราไปครั้งเดียวเท่านั้น ในชีวิตหนึ่ง คุณมีเงินหมื่นล้านแสนล้าน คุณไปต่อรองซื้อเวลากลับมาไม่ได้ เช่นวันนี้ที่เราคุยกัน คุณสามารถคุยกับอาตมาแบบนี้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในอนันตจักรวาลนี้ คุณไม่สามารถรีไซเคิลวันเวลานี้กลับมาได้อีกแล้วในชีวิตของคุณ ฉะนั้น เราควรจะใช้เวลาทุกวินาทีของคุณให้คุ้มค่าที่สุด ในเวลาที่อาตมาเทศน์หรือให้สัมภาษณ์ อาตมาก็พูดเท่านี้ละ    

แต่ก็มีนักวิชาการ ซึ่งคงจะอยากงับอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วก็ไปเล่นงานใครสักอย่างหนึ่ง สอยเอาบางท่อนบางประโยคไป แล้วก็ไปบอกว่า ว.วชิรเมธี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคนของรัฐบาล อาตมาได้อ่านนักวิชาการสรุปเช่นนี้แล้วก็เห็นว่า ทำไมนักวิชาการเดี๋ยวนี้ทำงานกันง่ายจังเลย คุณไม่ลองคิดดูหรือว่า พระรูปหนึ่งที่บวชมาตั้งแต่อายุ 13 จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ฝึกปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ไม่เคยมีประวัติเห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน จู่ๆ จะลุกขึ้นมาบอกว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ดี มันเป็นการสรุปที่มักง่ายจนอาตมาไม่อยากจะไปใส่ใจ

เมื่อเราอ่านเนื้อใน เราได้เห็นบทสรุปที่แสนจะตื้นเขิน ดูเสมือนว่านักวิชาการเหล่านั้นกำลังแสดงความคิดเห็นต่อบ้านนี้เมืองนี้ แต่ถ้าเราอ่านดูจริงๆ มันเป็นเรื่องของการแสดงความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นต้องมีรากฐานทางวิชาการรองรับอย่างแน่นหนาเป็นหลักฐาน ส่วนการแสดงความรู้สึก แค่คุณไม่พอใจอะไรใคร คุณก็โพล่งหรือสบถออกมาแค่นั้น แล้วทุกวันนี้เราได้เห็นนักวิชาการหรือปัญญาชนทำแบบนี้กันมาก แล้วก็เรียกว่าฉันกำลังทำงานวิชาการ แล้วมันขายดีนะ ติดตลาด เพราะวัฒนธรรมของสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมของความเชื่อ ไม่ใช่วัฒนธรรมแห่งการแสวงหาความรู้ นั่นทำให้นักวิชาการจำนวนมากสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาท่ามกลางซากปรักหักพังของเพื่อนร่วมชาติ

ถ้าลองใช้ความคิดกันหน่อย ศึกษาประวัติของอาตมาดูหน่อย เขาไม่มีทางที่จะสรุปว่า ว.วชิรเมธี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน บางคนก็บอกว่าผู้ที่รัฐประหารอาศัยชุดความคิดของ ว.วชิรเมธี ไปทำรัฐประหาร รัฐบาลก็อาศัยชุดความคิดของพระบางรูปนี่ละมาบริหารราชการแผ่นดินและเบียดเบียนประชาชนอย่างไม่รู้สึกผิด เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่มีความชอบธรรมทางศาสนาและศีลธรรมรองรับพอสมควร แต่ทำไมคนเหล่านั้นจะต้องอาศัยพระเด็กๆ รูปหนึ่งเพื่อทำงานทางการเมือง มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงรู้สึกว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นปัญญาชนหรือนักวิชาการสรุปอะไรง่ายเกินไป พูดง่ายๆ คือปัญญาชนสมัยนี้ทำงานด้วยจินตนาการมากกว่าทำงานด้วยความรู้ 

3. วาทกรรม “สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง” ของ พระไพศาล วิสาโล ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่แสดงบทบาทเป็นกลางทางการเมืองด้วยการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีชัดเจนที่สุด ผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน การเขียนบทความ การเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านกิจกรรมบิณฑบาตความรุนแรง เป็นต้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วง เมษา-พฤษภา 53 โดยท่านเชื่อว่า สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและสามารถเปลี่ยนเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตยได้ ดังที่ท่านกล่าวในการให้สัมภาษณ์ผู้เขียนที่เคยเผยแพร่ในประชาไท ตอนหนึ่งว่า

อาตมาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีได้ แต่ว่าถ้ามันสันติไม่ได้มันก็ต้องเกิดความรุนแรง อันนี้ต้องทำใจหากทำเต็มที่แล้ว แต่อาตมาเชื่อว่าระบอบเผด็จการสามารถจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยได้ด้วยสันติวิธี มันก็มีตัวอย่าง เช่น ชาวฟิลิปปินส์โค่นเผด็จการมาร์คอส ชาวรัสเซียโค่นคอมมิวนิสต์ด้วยสันติวิธี ในยุโรปตะวันออกระบอบคอมมิวนิสต์พังทลายก็โดยสันติวิธี ในเซอร์เบียเผด็จการมิโลเซวิส ก็ถูกประชาชนขับไล่ด้วยสันติวิธี คือประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมายที่ทำให้เรายืนยันได้ว่า เผด็จการสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยได้ด้วยสันติวิธี

วิจารณ์วาทกรรมทางการเมืองของพระสงฆ์
วาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” หรือ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เป็นวาทกรรมของการเลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดแจ้งที่สุด เพราะเจ้าของวาทกรรมดังกล่าวคือ กิตติวุฑโฒ เป็นสมาชิกระดับนำของ “กลุ่มนวพล” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 บนจุดยืนของการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยกล่าวหานักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า เป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  

ฉะนั้น การฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จึงได้บุญมากกว่าบาป หากพิจารณาการอ้างเหตุผลของกิตติวุฑโฒตามที่ให้สัมภาษณ์จัตุรัส จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการบิดเบือนหลักคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อรับใช้ฝ่ายเผด็จการที่กุมอำนาจรัฐอย่างชัดแจ้ง และเป็นการใช้ข้ออ้างทางพุทธศาสนาสนับสนุน “การล่าแม่มด” หรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษา ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ถือเป็น “ตราบาป” ที่พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งประทับไว้ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย

วาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” หากพิจารณาเฉพาะความหมายในทางตรรกะถือว่าเป็นการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบที่เป็น “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) เพราะสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบในฐานะเป็นสิ่งที่ “ถูกฆ่า” ไม่ใช่สิ่งที่มีลักษณะคล้ายกันหรือใกล้เคียงกัน ในทางตรรกะประโยคเช่นนี้จึงไม่ valid ส่วนในทางหลักธรรมที่ ว.วชิรเมธี อ้างว่า เพื่อให้รู้คุณค่าของเวลาโดยเปรียบเทียบองคุลีมาลฆ่าคนมา 999 คน ยังกลับใจและพัฒนาตนจนเป็นพระอรหันต์ได้ แต่การปล่อยเวลาผ่านไปเพียงหนึ่งนาทีก็เรียกกลับไม่ได้นั้น ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างที่สรุปได้ว่า “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” เพราะการฆ่าคนตามหลักคำสอนพุทธนั้นถือว่าบาปแน่นอน ไม่ว่าจะฆ่าด้วยข้ออ้างใดๆ ก็ตาม แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนว่าการฆ่าเวลาเป็นบาป (การปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ คือการสูญเสียโอกาสบางอย่างเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องเป็นบาป หากเราไม่ใช้เวลานั้นๆ ไปทำบาป)

แต่ปัญหาของวาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ไมใช่แค่ตรรกะวิบัติ หากแต่เป็นการเสนอวาทกรรมเช่นนี้ออกมาในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง แม้เจ้าตัวจะอ้างว่าไม่มีเจตนาสนับสนุนการใช้ความรุนแรงปราบปรามคนเสื้อแดง ก็อาจถูกมองได้ว่าเป็น “การพูดไม่ดูกาลเทศะ” โดยเฉพาะในช่วงก่อนหน้านั้นผู้พูดไปจัดรายการทาง ASTV เขียนบทความสนับสนุนการเลือกข้างว่า “ธรรมอยู่ฝ่ายไหน พระต้องเลือกอยู่ฝ่ายนั้น” ในบริบทที่พันธมิตรประกาศใช้ “ธรรมนำหน้า” ในการต่อสู้ทางการเมือง

แถมยังเคยสัมภาษณ์ทางทีวีไทย ว่า “ประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชน แต่เราลืมถามว่าประชาชนมีศักยภาพพอที่จะใช้อำนาจหรือยัง” ยิ่งทำให้สังคมตีความ หรือเข้าใจว่า วาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” มีนัยขในทางการเมือง ฉะนั้น คำให้สัมภาษณ์ของ ว.วชิรเมธี ที่กล่าวหานักวิชาการทำนองว่ารู้สึกไปเอง คิดไปเอง หรือ “ปัญญาชนสมัยนี้ทำงานด้วยจินตนาการมากกว่าทำงานด้วยความรู้” โดยไม่ดูว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตนเอง (ว.วชิรเมธี) เป็นอย่างไร ตนพูดถูกหลักตรรกะ ถูกหลักธรรม ถูกกาลเทศะหรือไม่เป็นต้นนั้น จึงไม่น่าจะถูกต้องนัก

ส่วนวาทกรรม “สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง” แม้ไม่ใช่การตีความหลักการพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้สันติวิธี และเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่า สันติวิธีตามแนวทางของพระไพศาล ไม่ลงลึกถึงความเป็นจริงของปัญหา และไม่ลงลึกในประเด็นความเป็นธรรมทางการเมือง

โดยวาทกรรมดังกล่าว ผู้ใช้วาทกรรมนั้นจึงวิพากษ์และเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ละอคติ ความโกรธ ความเกลียดชัง และห้ามใช้ความรุนแรงต่อกันเท่านั้น ไม่แตะโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรม หรือ “อำนาจนอกระบบ” ที่เป็นต้นเหตุของความไม่เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด และในที่สุดโดยการใช้วาทกรรมดังกล่าวกลับทำให้สังคมมองเห็นเพียง “ความผิดบาป”  ของคนเสื้อแดงที่ถูกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงฆ่ากันเองบ้าง เผาบ้านเผาเมืองบ้าง ส่วนรัฐนั้นกลับถูกมองว่าใช้ความรุนแรงโดยจำเป็น หรือควรแก่เหตุ ดังรายงานผลการสอบหาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น

ฉะนั้น โดยวาทกรรมดังกล่าวจึงไม่ได้ช่วยให้สังคมมองเห็น “ความผิดบาป” ของฝ่ายรัฐหรือโครงสร้างอำนาจนอกระบบที่กำกับรัฐอีกทีหนึ่ง อันเป็น “โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง”  แม้จะเป็นวาทกรรมที่อ้างว่า อยู่บนจุดยืน “ความเป็นกลางทางการเมือง” แต่ก็ถูกตั้งคำถามได้ว่าเป็นความเป็นกลางที่ “ปิดตาข้างหนึ่ง” หรือไม่  จึงทำให้ผู้ใช้วาทกรรม “สันติวิธีคือทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง” ไม่เรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบต่อกาสลายการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้มีคนตาย 91 (?) เป็นต้น แต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุป พระสงฆ์เซเลบริตี้ที่ประดิษฐ์วาทกรรมทางการเมืองในบริบทเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองตั้งแต่ 6 ตุลา 19 ถึง เมษา-พฤษภา 53 สะท้อนให้เห็นความวิปริตทางความคิด ตรรกะวิบัติ ขาดการใช้ปัญญาและกรุณาในบริบทของสถานการณ์ที่ควรใช้ ไม่ลงลึกถึงความเป็นจริงและความเป็นธรรม เพราะพระเหล่านี้ถ้าไม่สนับสนุน “อำนาจนอกระบบ” อย่างออกหน้าออกตา ก็สนับสนุนอย่างแอบแฝง และ/หรือไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงพอที่จะยืนเคียงข้างประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความเป็นประชาธิปไตย

 

 

หมายเหตุ : ปรับปรุงจากบทความเรื่องเดียวกันที่เผยแพร่ในจุลสารปรีดี ฉบับเดือนตุลาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: หกตุลาไม่มีสี (บทกวี)

Posted: 06 Oct 2011 07:01 AM PDT

หกตุลาไม่มีสี

 

หกตุลาปีนี้                                                                           หรือกี่ปีเลือดเพื่อนไม่เลือนหาย

ผู้บงการตัวเป็นเป็นยังเร้นกาย                                            ยังมุ่งหมายอยู่เบื้องหลังฉากสังคม

ใช่คิดแค้นอาฆาตมาดจองล้าง                                           แค่อยากเห็น “ตาสว่าง” อย่างเหมาะสม

เก็บบทเรียนความผิดพลาดฆาตนิยม                                 ใช้กำลังขี่ข่มล้มล้างกัน

ฆาตกรหกตุลาคือ “อคติ”                                                     ที่ปลุกผีปลุกความเกลียดเคียดห้ำหั่น

คอมมิวนิสต์ฆ่าไม่บาปต้องปราบมัน                                  บังอาจหมิ่นสถาบันต้องบรรลัย

35 ปีไม่เคยจดบทเรียนเลือด                                             แผ่นดินเดือดแบ่งข้างสร้างฝักใฝ่

แล้วอ้างชาติศาสน์กษัตริย์เป็นปัจจัย                                 ให้ฆ่าฟันกันได้อย่างชอบธรรม

เรื่องน่าเศร้าคือเพื่อนเราเผาเรือนด้วย                                 ไปหนุนช่วยปลุกผีตีตอกย้ำ

ใช้ปืนผาฆ่าชาวบ้านตาดำดำ                                             มิหนำซ้ำไล่จับกุมคุมขังยาว

ไม่ได้ว่าใครผิดถูกไปทุกอย่าง                                           ทั้งสองข้างใช่ผ่องผุดดุจผ้าขาว

ต่างนอกเกมเคลมตุกติกตั้งใจฟาวล์                                   แต่ปวดร้าวคือมวลชนคนล้มตาย

ครั้นมวลชนตื่นตัว “ตาสว่าง”                                             เรียนรู้กว้างเปิดหูตาพาแพร่หลาย

อารมณ์ร่วม “หกตุลา” จึ่งกระจาย                                      ชะตากรรม “ฝ่ายซ้าย” คล้าย “ไพร่แดง”

เหตุไฉนเพื่อนหยามเหยียดเดียดชาวบ้าน                          ว่าเลือดไพร่สอบไม่ผ่านพาลแสลง

ห้ามเปรียบเทียบวีรชนปนเลือดแปลง                               ไม่พอใจถูกยื้อแย่งหกตุลา

ก็จากวันเช็งเม้งเซ็งเงียบเหงา                                           ได้แพร่เข้าสู่แท็กซี่สู่แม่ค้า

เว็บแดงชูวีรชนร่วมชะตา                                                    ไม่มองด้านก้าวหน้าบ้างหรือไร

ทีตัวเองนำมวลชนจนถอยหลัง                                           ปลุกพลัง ”นวพล” คนขวาใหม่

ปลุกราชาชาตินิยมล้มประชาธิปไตย                                  หกตุลาหายไปไหนไม่พูดกัน

อันที่จริงหกตุลาไม่มีสี                                                         เป็นพื้นที่เสรีชนคนโศกศัลย์

ถูกกระทำจากอำนาจอยุติธรรม์                                          ถูกห้ำหั่นถูกป้ายสีถูกบีฑา

จากใจพ่อจารุพงษ์แม่น้องเกด                                             ร่วมสาเหตุสูญเสียลูกถูกเขาฆ่า

ล้วนเจ็บปวดรวดร้าวเหลือคณา                                          ไม่อยากเห็นน้ำตาพ่อแม่ใคร

หกตุลาเป็นของใครไม่จำกัด                                              ไม่ผูกมัดสีเสื้อเพื่อข้างไหน

แต่ใครมีอคติท่วมท้นใจ                                                         ก็ตกไปจากเวทีหกตุลา

                                                                                               

                                                             ใบตองแห้ง
                                                             6 ตุลาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจเสนอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯใต้ ยุบแล้วศูนย์ฯควบคุมค่ายอิงคยุทธฯ

Posted: 06 Oct 2011 06:42 AM PDT


 


พล.ต.อ.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 – 9 ตุลาคม 2554 นี้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในวันที่ 8 ตุลาคม 2554 จะร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

พล.ต.อ.ไพฑูรย์ เปิดเผยต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้ พล.ต.อ.โกวิท จะมอบนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ข้อราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังจะมีการหารือถึงการปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ด้วย โดยจะให้มีการบูรณาการการทำงานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านความมั่นคง โดยจะให้ฝ่ายปกครองเป็นองค์กรนำ เนื่องจากฝ่ายปกครองเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด

จากนั้นพล.ต.อ.โกวิท จะเดินทางมาที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ส่วนวันที่ 9 ตุลาคม 2554 จะเดินทางลงพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

พล.ต.อ.ไพฑูรย์ เปิดเผยต่อไปว่า ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้เตรียมที่จะเสนอต่อพล.ต.อ.โกวิท ให้ทยอยยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทีละอำเภอ โดยเลือกอำเภอที่มีเหตุการณ์ไม่สงบน้อยที่สุดก่อน เหตุที่ต้องการเสนอให้ยกเลิก

พล.ต.อ.ไพฑูรย์ เปิดเผยว่า เหตุขอยกเลิกเนื่องจากมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายปกติที่ใช้เหมือนกันทั่วประเทศอยู่แล้ว อีกทั้งขณะนี้การออกหมายควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีความละเอียดรอบคอบเกือบเทียบเก่าการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม

พล.ต.อ.ไพฑูรย์ เปิดเผยว่า ต่อไปผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จะถูกนำตัวมาควบคุมที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลาเพียงแห่งเดียวทันที เนื่องจากมีการยุบศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีกแห่งแล้ว

พล.ต.อ.ไพฑูรย์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับการดูแลผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะมีทหารเข้าร่วมดูแลด้วย ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกนั้น แล้วแต่ทหารจะนำตัวไปควบคุมที่ไหน เพราะเป็นอำนาจของทหาร

พล.ต.อ.ไพฑูรย์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับเหตุที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เป็นผู้ยื่นคำร้องขอควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ อายุ 42 ปี ชาวตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เนื่องจากเห็นว่าน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดนเสียชีวิต 4 นายในพื้นที่อำเอกะพ้อ แต่ผลการซักถามพบว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันจึงปล่อยตัวออกจากศูนย์พิทักษ์สันติไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไก่-ที่หายไปจากป่าแก่งกระจาน เรื่องเล่าจากพฤ โอโดเชา- เรื่องเล่าของชาวปกาเกอะญอ

Posted: 06 Oct 2011 06:31 AM PDT

หัวอกของพฤ โอโดเชา หรือพี่พฤวันนี้ หลังจากการเดินทางไปพบปะพี่น้องชาวปกาเกอะญอแห่งผืนป่าแก่งกระจาน เสียงจากปลายสาย ยังเต็มไปด้วยความขื่นเข็ญ

“แววตาที่ผมไปเห็น เหมือนต้นไม้ที่ถูกถอนออกมา เอาไปวางไว้ มีแต่จะตรอมใจตายไป
ไม่มีหมู ไม่มีไก่ ไม่มีข้าว ไม่มีพิธีกรรม ไม่มีชุมชน ไม่เหลืออะไร มันเจ็บปวด เป็นหมู่บ้านที่ล่มสลาย ”

สำหรับพี่พฤ สำหรับปากาเกอะญอ สิ่งสำคัญที่หายไป สิ่งที่บอกว่าจากนี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

1.ไก่กับบัญญัติ 10 ประการ
พี่พฤบอกว่า สำหรับปกาเกอะญอ ไก่คือสัตว์สำคัญ

หนึ่งในนั้นคือเป็นคำสอนเด็กที่ผูกไว้กับข้อห้ามในการกินส่วนต่างๆของไก่ 10 อย่าง ที่เรียกว่า บัญญัติ 10 ประการคือ

หนึ่ง-ห้ามกินหงอนไก่ เพราะจะไม่มีสง่าราศี หรือนัยยะที่ว่าเด็กไม่ควรละเมิดผู้ใหญ่ อะไรที่สูง
สอง-ห้ามกินคอไก่ เพราะจะทำให้ไม่เชื่อฟังพ่อแม่
สาม-ห้ามกินปีกไก่ เพราะจะทำงานอะไรก็ช้า ถ้าเรียนก็สอบได้ที่โหล่
สี่-ห้ามกินตีนไก่ ถ้าเป็นหญิงจะทอผ้าไม่สวย ผู้ชายจะเที่ยวบ่อย ไม่อยู่บ้าน เขียนหนังสือลายมือไม่สวย
ห้า-ห้ามกินตูดไก่ เพราะปากจะขยุ้ม เป็นคนชอบนินทา
หก-ห้ามกินม้าม เพราะจะทำให้อยากได้ข้าวของคนอื่น เป็นคนอิจฉาริษยา
เจ็ด-ห้ามกินกึ๋น เพราะผู้เฒ่าผู้แก่พูดจะไม่เข้าหู ไม่ฟังผู้ใหญ่
แปด-ห้ามกินไส้ เพราะผู้หญิงทอผ้าด้ายจะขาด ผู้ชายเหลาไม้ไผ่จะขาดง่าย
เก้า-ห้ามกินไข่กระด้าง(ไข่ในท้อง) เพราะจะทำให้เป็นคนกระด้าง ทำอะไรไม่สำเร็จ
สิบ-ห้ามกินตับ เพราะจะทำให้ใจหนัก เป็นคนขี้เกียจ ไม่กระฉับกระเฉง ไม่เอาพวกพ้อง

ดังนั้นก่อนกินไก่ ผู้เฒ่าผู้แก่จึงมีการหยิบเอาส่วนต้องห้ามอย่างละนิดแยกเป็น 1 ห่อ หลังจากนั้นเด็กๆจึงกินได้ เพราะถือว่าได้นำสิ่งที่ห้ามออกไปแล้ว  ถ้าอธิบายด้วยหลักการและเหตุผล พี่พฤบอกว่า ทั้งสิบอย่างนั้นมันคือสิ่งไม่ดี ที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้ลูกหลานทำทั้ง 10 ประการ มันคือภูมิปัญญาอันแยบยลที่วางไว้กับพฤติกรรมพื้นฐานของผู้คน กับการกิน

แม้ว่าปัจจุบันจะมีเด็กๆที่เริ่มตั้งคำถามและโต้แย้ง แต่พี่พฤย้ำว่าถ้าไม่มีคำสอนดังว่าแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรไว้คอยย้ำเตือน ปลูกฝังลูกหลาน ทุกครั้งที่มีการกินไก่ กุศโลบายที่มาพร้อมกับข้อห้ามกินทั้ง 10 อย่าง

สำหรับปกาเกอะญอ “ไก่” คือสิ่งที่ยึดโยงความ “ดีงาม” กับครอบครัวไว้

2. “ออเบลื้อะ ชอโคทิ  เทาะโคทิ” ไก่นี้ผูกมัดครอบครัว
หลังจากหนุ่มสาวคู่ใดแต่งงานกันแล้ว จะต้องหาไก่(ชอ) ไว้ 1 คู่ ที่เรียกว่า “ไก่หัวกะทิ”(ชอโคทิ) หรือ “ไก่เก๊า” สำหรับฝ่ายหญิง 1 ตัว และฝ่ายชาย 1 ตัว ไก่นี้จะถูกเลี้ยงดูไว้ ห้ามใครกิน ห้ามซื้อ-ขาย แม้ไก่ตายไปเองก็ห้ามใครมากิน ไก่นี้จะถูกเลี้ยงไว้ เมื่อใดที่มีเหตุที่ไม่ดี ไม่สบายใจ ใครเจ็บป่วยเกิดขึ้นในบ้าน ทำอย่างไรก็ไม่หาย เมื่อนั้นไก่ที่เลี้ยงไว้ ก็จะได้ทำพิธี “ออเบลื้อะ” หมายถึงการกินเพื่อพูดคุย กินสอบสวนหาสาเหตุ  หรือในบางครั้งก็มีการกินหมู (เทาะโคทิ) ด้วย

มันคือพิธีกรรมทางครอบครัว พิธีกรรมที่พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน มาอยู่ร่วม มารวมใจ ถ้าใครป่วยต้องกลับมาดูแล มาพูดคุยกัน หากมีอะไรที่ขัดเคืองใจก็มาอภัยให้กัน ได้บทเรียน ได้แก้ปัญหาร่วมกัน ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มันคือสายสัมพันธ์อันแข็งแรงของคำว่าครอบครัว

“ไก่เก๊า” จึงเป็นสิ่งสำคัญทางใจที่เจ้าของต้องดูแลรักษาไว้อย่างดี หากล้มตาย หายไป ก็ต้องไปหามาแทนใหม่ โดยอาจจะหาจากพี่น้อง แต่ไก่ตัวนั้นต้องสืบพันธุ์มาจากไก่ที่เป็น “ไก่เก๊า” มาก่อน หรือเป็นตระกูลที่มีการกินมาก่อน(อาจจะกินเป็นอาหารปกติก็ได้) มันคือสัญลักษณ์ที่ผูกเอาจิตวิญญาณ ความเชื่อ ในการปกป้องชีวิตจากความไม่ดี จากสิ่งเลวร้าย

วันที่มีเจ้าหน้าที่อุทยานไปกินไก่ของลุงดุ๊อูกว่า 10 ตัว ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ไก่เก๊า” ที่ลุงเลี้ยงไว้[1] ไก่ที่ห้ามคนอื่นมากิน

“ได้ยินว่าลุงดุ๊อูต้องเปลี่ยนศาสนา” เพราะลุงไม่มีไก่เก๊าจะทำพิธี คำบอกเล่าหลังกลับจากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ได้รับคำอธิบายจากพี่พฤว่า ไก่เก๊านั้นเป็นของต้องห้ามสูงสุดของปกาเกอะญอ ทุกคนรู้กัน เป็นสิ่งที่เจ้าของต้องดูแลอย่างดี ที่แก่งกระจานมันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยสำหรับปกาเกอะญอ ไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง เจ้าหน้าที่มากินไก่เก๊า สำหรับคนที่ไก่เก๊าหายไป ถูกกินไป มันคือลางบอกเหตุไม่ดี  แม้ว่าถ้าเป็นเหตุจำเป็นแล้วชาวบ้านจะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิญญาณบรรพบุรุษจะรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเชื่อว่าคนที่มากินจะได้รับการตอบแทนเอง  แต่บางคนนั้นก็เครียด ปากเบี้ยว จนถึงขั้นมีอาการทางจิตก็เคยมีมาแล้ว

“ทางแก้ก็คือว่าถ้าชาวบ้านมีบ้านใหม่แล้วจะต้องออเบลื้อะ ต้องมีบ้านใหม่ก่อน เพราะต้องมีเตาไฟ มีหม้อตัวผู้ ตัวเมีย มีอุปกรณ์ที่จะทำพิธี แล้วก็ต้องมีไก้เก๊า แต่ชาวบ้านจะไปหาที่ไหน ข้าวจะกินยังไม่มี จะเอาข้าวที่ไหนเลี้ยงไก่ แล้วมีชาวบ้านเขาบอกว่าอุทยานจะไม่ให้เลี้ยงไก่เพราะเขาบอกว่าไก่มันจะไปถ่ายลงแม่น้ำ น้ำจะขุ่น ทำให้จระเข้ในแม่น้ำเปลี่ยนสายพันธุ์”

หนทางจากนี้ แม้ทางออกของชาวบ้านทางหนึ่งคือการเปลี่ยนศาสนา “มันโหดร้าย เหมือนต้นไม้ที่จู่ๆก็ถูกถอนรากไปวางไว้ เหมือนปลาที่อยู่ๆถูกจับออกจากน้ำ มันช็อค มันก็จะตาย”

ไม่มีการเตรียมใจ ไม่มีการเลือก ไม่มีการเอ่ยลา สำหรับคนที่พร้อมจะเปลี่ยนศาสนา พร้อมจะละทิ้งพิธีกรรมนี้ ก่อนเปลี่ยน พี่พฤบอกว่าจะต้องมีการกินไก่เป็นพิธีกรรมปิดท้าย ไม่ใช่เป็นแบบนี้ เป็นการละทิ้งโดยไม่มีทางเลือก พร้อมกับความรู้สึกช็อค รู้สึกผิด ว่าตนจะต้องพบเจอกับสิ่งเลวร้ายในชีวิต ในวันหน้า

พี่พฤบอกว่า สำหรับเขา แม้ครอบครัวจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และมีข้อห้ามทางศาสนาไม่ให้ทำพิธีออเบลื้อะ แต่วันนี้พี่พฤกำลังพยายามแหกกฎที่จะกลับมาทำพิธีอีกครั้ง เพื่อให้เป็นหนทางในการรวมครอบครัวให้ได้ “ถ้าไม่มีครอบครัว ถ้าครอบครัวล่มสลาย แล้วชีวิตเราจะมีอะไร”

มันคือไก่ ที่ยึดโยงครอบครัวไว้

3. ไก่-ผู้คน-ชุมชน ที่หายไปจากป่าแก่งกระจาน
วันนั้น วันที่ไก่หายไปจากผืนป่าแก่งกระจาน

วันที่ไม่มีบ้าน ไม่มีข้าว ไว้เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เพราะลำพังข้าวที่หามาเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวจำนวนหลายชีวิตให้อิ่มพอก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว คือวันที่พี่พฤบอกว่าเขาได้ไปเห็นภาพนั้นมากับตาแล้ว

ความเชื่อของคนรุ่นหนึ่งที่ผูกพันจิตวิญญาณไว้ ความเชื่อที่หลอมรวมให้เกิดจารีต ประเพณี พิธีกรรมที่ส่งต่อกันมา ยึดโยงครอบครัวผู้คน จนหลอมรวมเป็นชุมชน วันนี้มันหายไปอย่างตั้งตัวไม่ทัน

สำหรับภาพความเจ็บปวดของพี่น้องปกาเกอะญอที่แก่งกระจาน วันที่ไม่มีบ้าน ไม่มีข้าว มันคือความเจ็บปวดของผู้เป็นพ่อที่ไม่มีข้าวเลี้ยงดูครอบครัว

บ้านหลังหนึ่งที่สร้างขึ้น สำหรับปาเกอญอ บนนั้นมี “เตาไฟ 3 เส้า” ที่หมายถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย “ขอบกั้น”ที่ล้อมไว้คือลูกสาว ส่วน “เสา” ทั้งสี่คือลูกเขย มีหม้อในการทำพิธี “หม้อตัวเมีย” สำหรับหุงข้าว “หม้อตัวผู้” สำหรับทำหมู ไก่ มีที่ “กวนไม้ไผ่” สำหรับการทำข้าวไก่พิธี มี “ถาดกะทิ” ไว้กินไก่โคทิ  พี่พฤกำลังบอกว่าโครงสร้างบ้านของปาเกอญอนั้นมันมีความลึกซึ้งเพียงใด การเผาทำลายทั้งบ้านและข้าว ของอุทยานในครั้งนี้ สิ่งที่มันมอดไหม้ไปจึงยิ่งใหญ่อย่างประเมินค่าไม่ได้เลย

ถ้าจะมีข้อเสนอใดๆจากนี้ พี่พฤบอกว่า

อยากให้ทางเจ้าหน้าที่เปิดให้คนภายนอก หน่วยงานอื่นเข้าไปสำรวจข้อมูล ข้อเท็จจริงได้

วันนี้คนที่ถูกอพยพลงมา แล้วพร้อมจะอยู่ควรมีการจัดสรรให้เขามีที่ดินที่จะปลูกข้าว ให้พ่อได้ภูมิใจ ที่จะเลี้ยงดู มีข้าวให้ลูกกิน

มีข้าวไว้เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ที่จะมีพิธีกรรม ตามวิถีทางที่เขาเลือก

ข้อเสนอและคำถามสุดท้าย หากคนที่ไม่พร้อมจะอยู่ อยากกลับไปผืนดินเก่า จะให้เขากลับไปได้ไหม

“ผมเห็นแววตาเด็กๆ ผมว่าเขาไม่ต้องการครู เขาอยู่บนนั้น ชาวบ้านเขาคงหลบทุกคน ไม่อยากเจอใครทั้งนั้น ไม่ต้องคิดว่าเขาจะไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายไหน เขามีความสุข ไม่ต้องใช้เงิน ครอบครัวปู่คออี้คงได้นอนกอดกันในครอบครัวทุกวัน มากกว่าผม”

พี่พฤบอกว่าพี่น้องปกาเกอะญอจากภาคเหนืออยากเอาข้าวไปให้พี่น้องปกาเกอะญอที่แก่งกระจาน

 

[1]

อ่าน ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, “บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน(แก่งกระจาน) ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน” ,http://www.statelesswatch.org/node/462

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบหน้า ‘พฤษภา 53’ : (2) เห็นเขาไหม? ในกองเพลิงเซ็นทรัลเวิร์ล ตอน 1

Posted: 06 Oct 2011 03:35 AM PDT

ชื่อเรื่องเดิม: เรื่องของอาร์ต
โดย เพียงคำ ประดับความ

 


หมายเหตุ:

สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของหนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีิวิตเพื่ิอรวบรวมเรื่ิิองราวที่สะท้อนถึงตัว ตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com



 

1

“ยังมีหน้ามาพูดว่าไม่ได้ฆ่า คนฆ่ายังลอยนวลเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  แล้วเราล่ะ ชีวิตลูกเราล่ะ  ไม่มีค่าเหรอ  เราเป็นคนจน แต่เราก็มีจิตใจ ลูกเราก็เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำเหมือนกัน  ทุกวันนี้พี่ก็คิดอยู่นะว่า น้องอาร์ตคงยังไม่ไปไหน เพราะยังจับคนสั่งฆ่าสั่งเผาไม่ได้”

แม่ที่สูญเสียลูกชายคนโตไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน กล่าวด้วยความคับแค้นใจ

แน่นอนว่าความเศร้ายังคงอยู่  และส่งผลสะเทือนถึงคนข้างหลัง  

“ถามว่าชีวิตเปลี่ยนไปมั้ยหลังจากลูกตาย  เปลี่ยนไม่เปลี่ยนเราก็ไม่กล้าไปทำงานที่โรงงานเก่า เรายังไม่อยากเห็นภาพเก่าๆ ทำใจไม่ได้  พ่อเขาก็ทำใจไม่ได้ แม่ก็ทำไม่ได้  เราก็เลยว่า เออ  อยู่ก่อน สู้ก่อน ไปเลย ไปให้มันถึงที่สุด ไม่มีก็ยืมกิน ไม่มีก็ยืมใช้ พี่จะสู้ๆๆ สู้ทุกอย่าง มีงานอะไรที่ไหน ไปตลอด ไปหมดครอบครัวพี่น้อง ญาติที่กรุงเทพฯ ก็ไปกัน  พวกพี่นี่แหละ จะเป็นกำแพงให้รัฐบาลชุดนี้  เชื่อมั้ยว่าพวกพี่ไม่กลัวทหาร ไม่กลัวลูกปืน  ไม่กลัวความตาย คนเราเกิดมาตายได้ทุกคน แต่ถ้าไปตายแบบนี้พวกพี่ภูมิใจ มาเลย  ความรู้สึกถึงขนาดนี้แล้ว”

 

2

 

เสียงปืนชุดสุดท้ายที่วัดปทุมวนารามเงียบลงในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  ขณะเปลวไฟที่เซ็นทรัลเวิลด์โหมลุกไหม้  เช่นเดียวกับที่โรงหนังสยาม  ตึกช่องสาม สยามพารากอน ธนาคารอีกสิบกว่าแห่ง ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีและอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน  จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  และ ฯลฯ

จำนวนผู้เสียชีวิตนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ถึงดึกคืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รวม 55 ศพ

หลังจากนั้นสองวัน  มีข่าวพบศพชายวัยรุ่นบนชั้นสี่ของตึกเซ็นทรัลเวิลด์อีก 1 ศพ  

“ทหารพบศพนายกิตติพงษ์ สมสุข อายุ 20 ปี  นอนคุดคู้ถอดเสื้ออุดจมูกในร้านโซนี่ อิริคสัน ชั้น 4 เซ็นทรัลเวิล์ด/เบื้องต้นคาดว่าสำลักควันจนเสียชีวิต” ข้อความนี้ถูกโพสต์ทางทวิตเตอร์ <1> เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553

“ชายที่พบศพแรกที่บริเวณชั้น 4 ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งอิเซตัน ในสภาพไม่สวมเสื้อ เสียชีวิตด้วยอาการนั่งคุดคู้ตัวงอ สภาพผิวหนังไหม้เกรียม และมีผ้าพันคอสีเขียว สัญลักษณ์ของการ์ด นปช. ตกอยู่ในบริเวณใกล้เคียง  เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสันนิษฐานว่า ชายคนดังกล่าวอาจสำลักควันจากเพลิงไหม้ จึงทำให้เสียชีวิต ทราบชื่อคือ นายกิติพงษ์ สมสุข อายุ 20 ปี ชาว จ.ศรีสะเกษ” หนังสือพิมพ์ออนไลน์ “ประชาไท” รายงานไว้สั้นๆ  เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 เวลา 02.02 <2>

คือข่าวที่สืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ต

 

3

 

เมื่อลงรถโดยสารที่ตัวอำเภอราษีไศล  มอเตอร์ไซค์รับจ้างมายืนอออยู่หน้าประตูรถ  เราให้ชายวัยราวห้าสิบปีคนหนึ่ง กับเพื่อนของเขาอีกคนซึ่งดูหนุ่มกว่าหลายปี  ไปส่งที่ตำบลหว้านคำ  มอเตอร์ไซค์คนหนุ่มถามว่าจะไปบ้านไหน  ครั้นเราบอกว่าไปบ้านคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว  ชายทั้งสองร้อง อ๋อ  คนแก่กว่าว่า  “คนตายเป็นหลานชายผมเอง” 

มอเตอร์ไซค์รับจ้างคนนี้ชื่อ นายสำรวย ด่านศิล อายุ 52 ปี เขาเล่ารายละเอียดเพิ่มว่า  ก่อนนายกิติพงษ์ สมสุข จะเสียชีวิต ได้โทรศัพท์ออกมาหาลูกสาวของนายสำรวย เพื่อให้หาคนเข้าไปช่วย บอกว่าหายใจไม่ออก ใจจะขาดแล้ว จากนั้นสายก็หลุดไป

บ้านสองชั้นกึ่งปูนกึ่งไม้  มีร่องรอยเพิ่งปลูกสร้างใหม่หลังนั้น  ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองค้างไฟ เลขที่ 38 หมู่ 9 ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ   ธงแดงด้ามไม้ไผ่ผูกอยู่บนหลังคาสังกะสี  ทักษิณ ชินวัตร ยืนยิ้มกระจ่างโบกมือไสวอยู่กลางผืนผ้าสีแดงเด่นนั้น    

ตรงลานปูนแคบๆ หน้าบ้านมีแคร่ไม้กับม้านั่งปูนทาสีแดงเข้มตั้งอยู่  ที่สะดุดตาคือฟิวเจอร์บอร์ดสีแดงขนาดยกชูขึ้นเหมาะมือ วางตั้งอยู่บนแคร่  ตัวหนังสือสีขาวบนพื้นแดงเขียนหน้าที่ของทหารไทยไว้ว่า “ยามศึกเราหลบ ยามสงบเราปฏิวัติ ... หลับเถิดทหารกล้า ปวงประชาจะคุ้มภัย”

ชายกลางคนร่างท้วมที่ยืนอยู่หน้าบ้านบอกว่า ป้ายดังกล่าวเป็นฝีมือของภรรยาเขาเอง  

เขาคือ “นายทองใบ สมสุข”  วัย 41 ปี  พ่อของนายกิติพงษ์ สมสุข หรือ “อาร์ต” เด็กหนุ่มที่พบเป็นศพอยู่บนชั้นสี่ของตึกเซ็นทรัลเวิลด์

นายทองใบออกตัวว่าเขาไม่รู้เรื่องราวต่างๆ นัก  “เรื่องของอาร์ตต้องถามแม่เขา”  

แต่วันนั้นแม่ของอาร์ตไปร่วมงานประกันตัวนักโทษเสื้อแดงที่จังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่เช้า  กว่าจะกลับมาถึงคงดึกๆ

บ้านของอาร์ตตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน  มีคนเดินผ่านหน้าบ้านไปมา หญิงชราคนหนึ่งเดินแวะเข้ามา ครั้นรู้ว่ามีคนมาถามเรื่องอาร์ต  แม่เฒ่าเอ่ยเป็นภาษาอีสาน  “อ๋อ ถามเรื่องบักอาร์ตแม่นบ่”   แกคือ ยายบูรณ์ สีเสน วัย  69 ปี  บ้านอยู่ใกล้กัน  วันที่อาร์ตจะเข้ากรุงเทพฯ ไปชุมนุมรอบสุดท้าย  ยังไปเอ่ยลาแก  “มันบอกว่าไปแล้วนะยาย ไปบัดนี้บ่ได้มาง่าย ไปเมื่อนี้เทื่อสุดท้ายก็จบ ก็นึกว่าไปหาพ่อหาแม่ที่กรุงเทพฯ”   

หลังรู้ข่าวการตายของเด็กหนุ่มข้างบ้านที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก  แม่เฒ่าเล่าว่าตนเฝ้าติดตามข่าวทางทีวี  “ยายเบิ่งข่าวตลอด อยากเห็นหลานแน  คั้นศพมาฮอด ยายยังว่า เปิดให้เบิ่งแน  พอเบิ่งก่ะว่ามันแม่นลูกมึงบ๊อ มันแม่นบักอาร์ตอยู่บ่   แต่ว่าเบิ่งตุ้มหูกับเบิ่งเพิ่นสัก ก็เลยว่า โอ๊ย แม่นอยู่ดอก แต่ว่าหน้าน่ะมันเปื่อย” แม่เฒ่าเสียงเบาลงขณะเอ่ยประโยคหลัง

พ่อของอาร์ตเดินเข้าไปในบ้าน หยิบภาพตั้งหน้าศพในกรอบอันใหญ่  ซึ่งเป็นภาพถ่ายด้านข้างของเด็กหนุ่มผู้สวมใส่เสื้อสีแดง  กับอัลบั้มภาพถ่ายเมื่อครั้งยังมีชีวิตของอาร์ตออกมาให้ดู

“เพิ่นมักถ่ายรูปหันข้าง” เสียงยายบูรณ์ว่า

 มีภาพหน้าตรงที่คล้ายถ่ายจากโทรศัพท์มือถืออยู่หลายภาพ แต่ส่วนใหญ่เลือนรางจนมองเห็นใบหน้าไม่ชัด  ภาพถ่ายสำคัญอยู่ตอนกลางอัลบั้ม  เป็นภาพชายหนุ่มใส่กางเกงยีนสีดำ ไม่สวมเสื้อ นั่งคุดคู้คว่ำหน้าลงกับพื้น  มีเสื้อสีเขียวคล้องคออุดจมูก  กลางหลังมีรอยสัก  ผิวหนังบางแห่งเริ่มแดงช้ำบวม  ข้างๆ มีขวดน้ำเปล่าทั้งวางตั้งและล้มกลิ้งอยู่หลายขวด

อาร์ตเสียชีวิตในท่านั้น  พ่อของเขาบอก พลางให้สังเกตพื้นปูนโดยรอบบริเวณที่อาร์ตนั่งอยู่  มันมีรอยเท้าย่ำอยู่เต็มไปหมด  เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นรอยเท้าทหาร  พ่อของอาร์ตส่ายหน้า “รอยเท้าเขานั่นแหละ เขาคงจะเดินวนหาน้ำหาอะไรกินก่อนจะตาย”  คนพูดเริ่มตาแดงๆ และพูดช้าลง  “มูลนิธิที่ไปเจอตอนแรกเขาบอก โอ๊ย ในนั้นยังไงก็อยู่ไม่ได้ ไฟมันไม่ไหม้ แต่มันเหมือนเตาอบเลย”

 

4

 

อาร์ต เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2533  ในครอบครัวที่เป็นทั้งชาวนาและช่างทำรองเท้า นายทองใบ สมสุข  วัย 41 ปี พ่อของอาร์ตเป็นชาวบ้านค้อ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล  มาแต่งงานอยู่กินกับ นางประภาพร สมสุข วัย 43 ปี ชาวบ้านหนองค้างไฟ ทั้งสองหมู่บ้านอยู่ห่างกันราวสองกิโลเมตร  

อาร์ตเป็นลูกคนโต มีน้องชายหนึ่งคน คือนายประวิชา สมสุข หรือ “นุ” อายุ 19 ปี  

พ่อแม่ของอาร์ตเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ   ยายจึงเป็นคนเลี้ยงอาร์ตอยู่ที่บ้านหนองค้างไฟตั้งแต่อายุขวบ 4 เดือน   จนเข้าเรียน ป.1 พ่อกับแม่ถึงกลับมาอยู่ด้วย 

อาร์ตเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านหว้าน (รัฐราษฎร์นุกูล)  ต่อมาพ่อกับแม่ย้ายไปเปิดร้านตัดรองเท้าในตัวเมืองราษีไศล  ด.ช.กิติพงษ์ สมสุข จึงย้ายไปเรียนต่อชั้น ป.4 ที่โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล  จนจบ ป.6   จากนั้นเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนราษีไศล  ก่อนย้ายไปเรียนสายอาชีพที่วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ แผนกช่างไฟฟ้า

ราวปี 2549  พ่อแม่ของอาร์ตต้องกลับเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ อีกครั้ง เนื่องจากอาชีพช่างทำรองเท้าต่างจังหวัดทำมาหากินลำบาก 

หลังจากนั้น  “นุ” น้องชายของอาร์ต ก็ออกโรงเรียนตอนอยู่ ม.2 เข้าไปเป็นช่างทำรองเท้าที่กรุงเทพฯ อีกคน  ส่วนอาร์ตออกจากโรงเรียนตอนเรียนอยู่ ปวช.ปี 2   

“เรียนไปเรียนมาก็ไม่เรียน วัยรุ่นแถวบ้านมันเป็นอย่างนี้ ชวนกันออก แต่อาร์ตเขาก็เรียนดีอยู่”  นายทองใบว่า

 หลังออกจากโรงเรียนอาร์ตไปฝึกทำรองเท้ากับครอบครัว  ช่วงนั้นพ่อกับแม่ของเขารับเหมาตัดรองเท้าอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ  ส่วนนุแยกไปรับเหมากับเพื่อนแถวบางขุนเทียน   

นายทองใบว่า อาร์ตทำงานกับพ่อแม่ได้พักเดียวก็ไปสมัครเป็นพนักงานขายอาหารประจำบิ๊กซีคลองเตย-บ่อนไก่  ไม่นานก็ย้ายไปขายของที่หัวลำโพง  เปลี่ยนงานอยู่สองสามแห่งก็กลับมาช่วยพ่อทำรองเท้าเหมือนเดิม     

เมื่อถามว่าเด็กวัยรุ่นอย่างอาร์ต เริ่มสนใจการเมืองและเข้าไปร่วมชุมนุมตั้งแต่เมื่อไหร่  นายทองใบว่า  “ช่วงสงกรานต์ปีห้าสอง มีคนมาทอดผ้าป่าที่หมู่บ้าน พวกนี้เขาขับแท็กซี่ เป็นพวกเสื้อแดงขาประจำอยู่แล้ว  ไอ้อาร์ตก็เอาผ้าแดงมาพันหัวพันอะไร  แล้วก็ติดใจไปกับขาเลย บางทีเอารถกระบะไป  บางทีก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปกับเขา  แถวโคราชโน่นก็ไป  เขามีพวกอยู่ในเมืองด้วย ตอนนั้นผมไม่ค่อยอยู่หรอก เพื่อนๆ เขามาเล่าให้ฟังทีหลัง”  นายทองใบว่า

 “ยายเคยถามบักอาร์ตว่าเฮ็ดหยังไปเสื้อแดง” ยายบูรณ์ที่นั่งฟังอยู่ด้วยตลอด พูดแทรกขึ้น  “มันว่าม่วนดียาย หมู่ก็หลาย ยายก็ถาม แล้วมึงได้เงินบ่ มันว่าไผสิให้ล่ะยาย ข้อยไปเอง ไปด้วยใจ”

นายทองใบเล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงว่า ตลอดเวลาที่ลูกชายไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เขาคอยห้ามปรามอยู่เสมอ  เราจึงถามว่า ตัวนายทองใบเองคิดอย่างไรกับคนเสื้อแดง  เขาตอบว่า  “ผมก็อยู่ฝ่ายทักษิณอยู่แล้ว” ถามต่อว่า  แล้วแม่ของอาร์ตล่ะ นายทองใบบอก  “ตอนนั้นแม่เขาไม่ค่อยชอบหรอก  แต่ตอนนี้ชอบชิบหายเลย ไปอย่างเดียวเลยทุกวันนี้” 

และเมื่อถามว่า แล้วอาร์ตล่ะ ก่อนหน้าที่จะไปชุมนุม เขาคิดอย่างไร  พ่อของอาร์ตตอบว่า  “ตอนเรียนอยู่ เขาเคยสอบได้ทุนทักษิณ”

เมื่อการชุมนุมใหญ่เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2553  อาร์ตเดินทางไปๆ กลับๆ ราษีไศล-ราชดำเนิน  พ่อกับแม่ไม่ค่อยได้พบหน้าลูกชายนัก

“ช่วงสงกรานต์เขากลับมาบ้าน  ตอนนั้นเขาไปได้สามสี่ครั้งแล้ว  ผมได้ข่าวไม่ค่อยดีจากพวกตำรวจว่ามันมีคนใหญ่คนโตอยู่ข้างหลัง  คิดว่ายังไงเสื้อแดงก็ไม่ชนะ  มีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ว่าจะกลับมาห้ามเขา  แต่ไม่ทัน สวนทางกัน โทรไปบอกให้ออกมา ก็ไม่ยอมออกมา  มันว่าเดี๋ยวรัฐบาลจะยอมยุบสภาแล้ว ใกล้จะชนะแล้ว  โอ๊ย ยังไงก็ไม่ยุบ ผมบอก มันทำท่าไปอย่างนั้นแหละ แล้วมันก็ไม่ยุบจริงๆ”  

ช่วงที่เข้าไปร่วมชุมนุมนั้น อาร์ตไม่มีโทรศัพท์มือถือ  เขาโทรออกมาหาพ่อกับแม่โดยขอยืมโทรศัพท์ของหัวหน้าการ์ดซึ่งเขาเรียกว่า “ลูกพี่”  บางคราวก็โทรตู้สาธารณะ  หากวันไหนลูกชายไม่โทรออกมา นายทองใบกับแม่ของอาร์ตมักโทรไปถามข่าวกับลูกพี่คนนี้  แต่ก็มีบางช่วงที่พ่อแม่ลูกขาดการติดต่อกันไป ในสายตาของคนเป็นพ่อในขณะนั้น อาร์ตเดินทางไกลออกไปเรื่อยๆ บนเส้นทางการต่อสู้สายที่เขาเลือก

อาร์ตไม่ได้ไปเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมตามคำกำชับของพ่อกับแม่ แต่เขาไปสมัครเป็นการ์ด และเข้าไปอยู่ในสังกัดของเสธ.แดง   หลังเสธ.แดงเสียชีวิต ก็ย้ายไปอยู่กับการ์ดแหลมฉบัง

“ตอนเสธ.แดงถูกยิงคนเข้าไปดูเยอะ ก็บอกให้ออกมากับคนเยอะๆ  แต่พอโทรไปถาม  ลูกพี่เขาบอกว่าเห็นขึ้นรถเข้าไปที่เวทีใหญ่แล้ว  อ๊าว บอกให้ออกมาก็ไม่ออกมา  เราก็บอกลูกพี่เขาไปบอกให้ออกมา  ลูกพี่เขาก็ไปคุยให้ แล้วก็บอกว่า โอ๊ย เขาไม่ออกมาหรอก  มารู้ตอนหลังว่าเขาออกจากเสธ.แดง ไปอยู่กับพวกแหลมฉบัง  มันก็เลยออกไม่ได้เลยทีนี้ เพราะว่าพวกแหลมฉบังมันมีแต่คนยอมตายเลยนะ มันไม่วิ่งเหมือนคนอื่นหรอก มันสู้อย่างเดียวเลย  แล้วมันไม่ทิ้งกัน  ลูกพี่มันก็ว่า ไอ้อาร์ตมันไม่ออกมาหรอก มันจะอยู่กับเพื่อน พวกนี้นี่ใจมันเด็ดเดี่ยว” นายทองใบว่า

 

5

จนวันที่ 19 พฤษภาคม  2553

นายทองใบเล่าว่า วันนั้นเขากับแม่ของอาร์ตไม่เป็นอันทำงาน เฝ้าติดตามข่าวการชุมนุมอยู่ที่โรงงานรองเท้าด้วยความเป็นห่วงลูกชาย

“พอเขาถล่มปุ๊บ ไอ้อาร์ตมันวิ่งเข้าวัด  พอเข้าวัดเสร็จโทรมาบอกพ่อว่าอยู่ในวัดแล้วกับลูกพี่  ประมาณค่ำๆ นี่แหละ  ผมก็เลยโทรไปหาญาติที่เป็นตำรวจอยู่แถวบางชัน  บอกให้ช่วยไปเอาหลานออกมาหน่อย อยู่ในวัดปุทมฯ เข้าวัดได้แล้วแต่ออกไม่ได้ ออกจากวัดคือตายเลย  เขาก็ว่าไม่รู้จะเข้าไปได้รึเปล่า สักพักหนึ่งโทรหาลูกพี่เขา  เขาบอกอาร์ตออกไปข้างนอกแล้ว  ไปกับเพื่อนสามสี่คน ไม่รู้ออกไปทำอะไร บอกว่าจะไปเข้าห้องน้ำ แล้วก็ไปกันเลย”

หลังอาร์ตหายไปจากวัดปทุมฯ  ไม่นานก็มีคนโทรมาบอกว่าลูกชายนายทองใบถูกทหารไล่ยิงเข้าไปติดอยู่ในตึกเซ็นทรัลเวิลด์ที่ไฟกำลังลุกไหม้   

“ลูกสาวเขา (ชี้มือไปทางนายสำรวยที่นั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านๆ) โทรมาบอกว่าอาร์ตติดอยู่ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์  พากันโดนทหารไล่ยิงเข้าไป  อ๊าว ทำอะไรไม่ได้แล้วทีนี้  ตอนนั้นมันกำลังค่ำๆ แล้ว  โทรไปหาหน่วยงานไหนเขาก็บอกว่าจะเข้าไปช่วยอยู่ แต่ทหารมันไม่ให้เข้า แล้วเราก็ไม่รู้ว่าลูกเราอยู่ชั้นไหน  เพราะเขาไม่ได้บอก  ตอนนั้นเขาเผาตึกแล้ว ทหารมันไล่ยิงเข้าไปเลย คนล้มคนตายก็มีนะ อยู่ข้างล่าง ไอ้พวกนี้มันวิ่งขึ้นตึก”

“คืนนั้นผมนอนไม่หลับทั้งคืน แม่เขาก็เอาแต่ร้องไห้  ดึกๆ ดื่นๆ ยังเทียวโทรไปที่นั่นที่นี่อยู่นะ ขอให้เขาเข้าไปช่วยลูก  แต่โทรไปที่ไหนเขาก็ว่ามันเข้าไม่ได้ ทหารไม่ให้เข้า  ยังไงก็เข้าไม่ได้ ต้องรอสว่างอย่างเดียว พอเช้าก็ออกตามหา  ตำรวจบอกว่า ถ้าอย่างนั้นพี่รีบไปเลย ที่สนามกีฬา เขากำลังเอาคนออกต่างจังหวัด ก็ไปลงชื่อว่าลูกหาย  แล้วก็รอดูอยู่นั่นแหละ รถบัสกี่คันไม่รู้  ก็ไม่มี จนเขาทยอยกลับกันหมด เลยพากันกลับ พออีกวันก็พากันไปอีก ไปหาทุกที่  ที่เขาขังไว้ทางศาลแถวข้างนอกนู่นก็ไป คนถูกขังไว้เยอะนะ เป็นสองสามพัน  แต่ก็ไม่มี จนถึงตอนเที่ยงวันนั้นแหละ ตำรวจโทรมาบอกว่ามีข่าวออกว่าเจอศพวัยรุ่นอยู่ในห้าง”

แรกที่ได้เห็นภาพถ่ายศพที่พบในห้าง ร่างไร้ชีวิตที่ปรากฏต่อสายตา ไม่เหลือเค้าเด็กหนุ่มหน้าตาดีที่เคยร่าเริงแจ่มใส  

“ตอนแรกคิดว่าไม่ใช่ลูกตัวเอง คิดไว้ก่อน  จำรอยสักได้ฝั่งหนึ่ง  แต่อีกฝั่งหนึ่งเขาสักใหม่  ก็คิดว่าไม่ใช่ เพราะผมไม่เคยเห็น  แต่แม่เขาว่าใช่  พอศพมา เขาก็เอาบัตรเอาอะไรมาให้ดู ทีนี้ก็ใช่เลย ตอนที่มูลนิธิไปเจอ  เขาบอกไฟฉายอาร์ตยังไม่ดับนะ สามวันแล้วไฟฉายก็ยังไม่ดับ ไฟฉายที่เขาถือขึ้นไป”

หลังยืนยันว่าศพดังกล่าวเป็นลูกชายตนอย่างแน่ชัดแล้ว  เจ้าหน้าที่นิติเวชขอเก็บศพไว้หนึ่งวันเพื่อทำความสะอาด  สองสามีภรรยาพากันนั่งแท็กซี่กลับสมุทรปราการอย่างคนหัวใจแตกสลาย  วันรุ่งขึ้นจึงพากันไปรับศพกลับราษีไศล   

 “ทำใจมันก็ยากอยู่ แต่ก็ทำใจเอา เพราะมันเสียไปแล้ว ไม่รู้จะทำยังไง ตอนนี้มันก็ดีๆ ขึ้นมาหน่อย ตอนแรกทำใจไม่ได้เลย  คิดถึงแต่ลูก”

ตอนที่ลูกชายยังมีชีวิตอยู่ นายทองใบยอมรับว่าเขาไม่สนิทกับลูกนัก  “ส่วนมากมีแต่ด่ากัน ลูกชายสองคนมันก็อย่างนี้แหละ มีแต่คนเก่งๆ  ...แต่อาร์ตเขาก็ใช้ง่าย ทำนาทำไร่เขาก็ทำ กำลังจะดีแหละครับ กำลังรู้จักทำนู่นทำนี่ กำลังจะเข้าตัว กำลังจะใช้ได้ เงินทองก็กำลังจะใช้ได้ ก็มาตายเสียก่อน”

“ทุกวันนี้ผมเจอทหารไม่ค่อยได้นะ  มันเกลียดไปหมด  เห็นไม่ได้เลย  แต่ก็รู้ว่าเขาก็ทำตามคำสั่ง  มันทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าคนเรามันนับถือไม่ได้  มันไม่น่านับถือ ทุกวันนี้ผมไม่นับถือเลย ไม่อยากจะมอง  เวลาดูข่าวดูอะไรนี่ผมเปิดหนีเลย  มันไม่อยากจะดู ไม่อยากจะมองหน้า เกลียดยังไงไม่รู้”

หลังได้เงินเยียวยาจากหน่วยงานต่างๆ  นายทองใบกับเมียนำเงินจำนวนหนึ่งไปสร้างกุฏิให้ลูกชายที่วัดประจำตำบล

 “ทุกวันนี้ผมก็เข้าใจสิ่งที่ลูกทำ  ก็พากันไปเรื่อยแหละกับเสื้อแดง แม่เขาไปประจำ ผมก็นานๆ ไปที แม่เขาบอกเขาสู้แทนลูก  ผมก็ที่เข้ากับเสื้อแดงทุกวันนี้ก็คิดว่าผมสู้แทนลูก  เพราะว่ามันได้ทำมาแล้วก็เลยทำให้มัน”

......

ขากลับออกมาจากบ้านหนองค้างไฟ  มอเตอร์ไซค์รับจ้างคนที่หนุ่มกว่า บอกว่า เขาเองก็รู้จักคุ้นเคยกับอาร์ต   “ตัวจริงเพิ่นหล่อกว่าในภาพนั่นอีก”  

 

6

วันรุ่งขึ้นเราเดินทางกลับไปที่บ้านหนองค้างไฟอีกครั้ง  เพื่อพบกับ นางประภาพร สมสุข หรือ “ไน้” แม่ของอาร์ต 

หญิงกลางคนผิวขาว รูปร่างท้วม ใส่เสื้อยืดสีแดง ด้านหน้าสกรีนตัวหนังสือเป็นรอยนูนว่า “ไอ้ที่ตายคือรากหญ้า ไอ้ที่ฆ่าคือ...”  รีบเดินออกมาทักทาย  

 แล้วเรื่องของอาร์ตก็ถูกเล่าผ่านมุมมองของคนเป็นแม่อีกครั้ง

 

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

-----------------------------------------------------

<1> โดย  @sombat_moosombat intaratat

<2> 9 ศพ ในเซ็นทรัลเวิล์ดยังเข้าตรวจสอบไม่ได้ เบื้องต้นศพแรกบนชั้น 4 ทราบชื่อแล้ว. http://prachatai.com/journal/2010/05/29688

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วมหนักในรัฐฉานตอนใต้

Posted: 06 Oct 2011 02:17 AM PDT

เกิดเหตุน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่รัฐฉานภาคใต้ ทำให้บ้านเรือนและเส้นทางคมนาคมถูกน้ำท่วมเสียหาย ขณะที่ค่าโดยสารรถประจำทางและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

สำนักข่าวฉาน รายงานว่า จากเหตุมีฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เส้นทางคมนาคมในรัฐฉานภาคใต้ระหว่างเมืองดอยแหลม เมืองตองจี เมืองหยองห้วย และอีกหลายเมืองถูกตัดขาดจากเหตุมีน้ำท่วมสูง กระทั่งเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา รถยนต์ยังไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ขณะที่ในหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมหนักทำให้บ้านเรือนนับร้อยหลังและเส้นทางหลายสายถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย

จากเหตุการคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้ราคาค่าโดยสารรถประจำทางและค่าขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ค่าโดยสารรถบัสระหว่างเมืองปางโหลง–ตองจี ระยะทาง 100 กม. ปรับขึ้นหนึ่งเท่าตัวจาก 5,000 จ๊าต เป็น 10,000 หมื่นจ๊าต ขณะที่ราคาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคเช่น น้ำมัน และข้าวสาร ก็เพิ่มสูงเช่นกัน

ทั้งนี้ แหล่งข่าวในพื้นที่เผยว่า เหตุน้ำท่วมหนักในพื้นที่รัฐฉานภาคใต้ซึ่งทำให้เส้นทางคมนาคมหลายสายถูกตัดขาดนั้น ทำให้มีรถยนต์ติดค้างตามเมืองต่างๆ เป็นจำนวนมาก

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

6 ตุลาฯ รำลึก: เด็กๆ หายไปไหน??

Posted: 06 Oct 2011 12:05 AM PDT

 

เรื่อง “เด็กๆ หายไปไหน??” ปรากฏเป็นตอนหนึ่งในหนังสือที่ระลึกงานศพ คุณพ่อเจ็งฮี้ แซ่โค้ว (4 ตุลาคม 2471 – 28 พฤษภาคม 2554) ถ้อยคำเรียบง่ายบรรยายถึงความรู้สึกและบรรยากาศของผู้ร่วมอยู่ในห้วงเวลาเลวร้าย ซึ่งกลายมาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทยจนทุกวันนี้ ‘ประชาไท’ ขอขอบคุณเจ้าของผลงานที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่อีกครั้งในวาระ 35 ปี 6 ตุลาฯ

 

สายวันนั้นเด็กหนุ่มสาวเป็นร้อยคนทะลักเข้ามาที่บ้านท่าพระจันทร์ ทั้งจากประตูหน้าบ้านและหน้าต่างชั้นสองหลังบ้าน เสียงระเบิดสนั่นแก้วหู คนหนึ่งอุจจาระราดแม่ต้องเอากางเกงให้เปลี่ยน ชุดของเธอยังแช่อยู่ในกาละมังหลังบ้าน ในตอนที่กลุ่มทหาร - ตำรวจพร้อมอาวุธสงครามในมือแบบถือปืนยาวสิบกว่าคนเข้ามาสำรวจบ้านจนครบทุกชั้น พ่อเดินนำทางพร้อมกับพูดเสียงสั่นซ้ำๆ ไปมาว่าอย่ายิงใครนะครับ น้ำเสียงคุ้นหูแบบเดียวกับเสียงไกลๆ ที่ปลุกเราเมื่อฟ้าสางวันนั้นว่า “พี่ๆ ทหารครับ อย่ายิงเลยครับ พวกเราไม่มีอาวุธอะไรเลยนะครับ” ซ้ำไปซ้ำมาจนเราง่วงนอน แล้วมาตื่นอีกทีก็ตอนสายอันอึกทึกนั้นเอง

พี่ๆ ทหารเอาเด็กหนุ่มสาวออกไปจากบ้านจนหมด พร้อมๆ กับกลับมาลากพี่ชายลำดับสี่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรของพวกเราไปด้วย พี่สาวบอกว่าเขาเอาปืนฟาดจนทรุดต่อหน้า เราอยู่ชั้นบน สิ่งที่จำได้แม่นยำคือเสียงหวีดร้องโหยหวนยาวๆ ของพี่สาวและแม่ แบบที่เคยได้ยินเพียงครั้งนั้นครั้งเดียวในชีวิต จึงวิ่งลงมาดู ...เห็นพ่อและแม่หัวใจสลาย

ช่วงนั้นบ้านเป็นสีทึมๆ  เพราะเวลาปิดร้านชั้นล่างจะมีแสงลอดเข้ามาจากช่องแสงเหนือประตูหน้าบ้านเท่านั้น ได้ยินพี่สาวปรึกษากันว่าจะเอาพี่ชายคนนั้นกลับบ้านมาได้ยังไง รอข่าวว่าพี่ชายอีกสองคนในที่ชุมนุมไปอยู่ที่ไหน เสียชีวิตหรือไม่ ภาพถ่ายขาวดำที่บอกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างข้างนอกเมื่อเช้าวันนั้นถูกส่งมาให้ที่บ้านดู เด็กหนุ่มสาวหลายคนถูกฆ่าตายกลางเมืองในสภาพพิศดารจนไม่น่าเชื่อ รอบๆ บ้านเราห่างออกไปไม่ถึงกิโลนี่เอง

พี่ชายสามคนติดคุก พี่ชายลำดับสี่ถูกปล่อยออกมาก่อน เพราะไม่เคยแม้แต่ไปร่วมชุมนุมใดๆ แต่ได้รอยแผลเป็นที่ถูกบุหรี่จี้ตามร่างกายอยู่หลายแผลกลับมา

พี่สาวในวัยมัธยมตัดสินใจจากบ้านเข้าป่าไปกับเพื่อน  เธออยู่ในแบล็คลิสต์ของทางการเนื่องจากเคยถูกจับไปหนึ่งคืนก่อนตุลานั้นไม่นาน ไม่มีความเชื่อมั่นใดๆ เหลือสำหรับครอบครัวเราอีก ว่าจะมีใครมาลากตัวเธอไปจากพ่อแม่ในวันพรุ่งนี้อีกหรือไม่

พี่ชายลำดับห้าเป็นหนึ่งในสามสิบหกผู้ต้องหาอยู่เกือบปีจึงถูกปล่อยตามมา และตามหนุ่มสาวคนอื่นๆ หนีการคุกคามจากรัฐเถื่อนเข้าป่าไปอีกคน

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ เสียงของคุณทมยันตีเร่าร้อนอยู่ในวิทยุเมื่อใกล้ตุลาปี19 ได้ยินพาดพิงมาถึงชื่อพี่ชายลำดับหก ในจังหวะที่พ่อกำลังเก็บร้านอยู่ตอนหัวค่ำ พ่อดุพี่ชายตอนแกกลับมาหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ประมาณว่าเขาโยนข้อหาคอมมิวนิสต์มาให้กลายๆแล้ว

พ่อคงไม่ชักแน่ใจว่าความใฝ่รู้ สงสัยหาคำตอบ อยากทำความเข้าใจสังคมที่เรามีชีวิตอยู่สำหรับมนุษย์หนึ่งคน  แบบที่พ่อเลือกทำอย่างตรงไปตรงมา ปลูกไว้ให้ลูกๆเห็นอย่างง่ายๆไปเรื่อยๆมาหลายปี ไหงกลายเป็นภัยสังคมไปในวันนั้นได้?

ร้านเปิดอีกครั้ง วันนี้แม่สับหมูแดงชุดใหญ่จัดเป็นชุดๆ ใส่ตะกร้า พาเราและพี่ชายสิบขวบนั่งรถเมล์ไปคุกบางเขนเพราะลูกชายสองคนอยู่ที่นั่น  สองข้างทางยังเป็นที่โล่งมีบิลบอร์ดโฆษณาเป็นระยะ นั่งกันจนง่วงนั่นแหละ ลงจากรถแล้วก็ต้องเดินเท้าตากแดดไปอีกเกือบกิโลจึงจะถึง

เสียงดังจ๊อกแจ๊กและเห็นแม่อีกหลายแม่ทักทายแม่เรา รอยยิ้มเหนื่อยๆ กังวลแต่ก็ดีใจเวลาลูกของแม่แต่ละคนโผล่หน้าออกมานั้นเป็นรอยยิ้มเดียวกัน มีลูกกรงกั้นพี่ชายอยู่ในห้องที่เรียงแถวไว้เป็นช่องๆ ต้องคุยห่างกันประมาณหนึ่งเมตร อยากกอดแค่ไหนก็ได้แต่ยิ้มให้เห็น เราวิ่งเล่นไปมาแถวนั้นจำได้ว่าไม่เคยเห็นพี่ชายร้องไห้หรือทำท่ากังวลให้เห็นเลย แกยิ้มทักทายผู้คุมไปเรื่อย ข้าวหมูแดงแสนอร่อยแม่หิ้วมาให้ทุกคนไม่เว้นตำรวจและผู้คุม แม่เหลือแค่พลังเมตตาให้เชื่อมั่นเพราะทางเลือกอื่นไม่มี ว่าถ้าเราดีกับใครเขาแล้ว เขาคงปรานีกับลูกแม่เช่นกัน

พ่อไปเยี่ยมพี่ชายที่คุกเพียงครั้งเดียว เพราะทนเห็นลูกที่อยู่หลังลูกกรงไม่ได้  เปิดร้านขายของอีกครั้งก็มุ่งมั่นเก็บตังค์เพื่อไปปลูกบ้านใหม่ให้ไกลจากเรื่องใจร้ายที่พรากลูกไปรวดเดียวถึงสี่คนในช่วงเวลาไม่ถึงปีนั้น บ้านใหม่ของพ่อมีเจ็ดห้องนอน นอนห้องละสองคนน่าจะสบายกว่าห้องละสิบเอ็ดคน อย่างมากก็ซื้อทีวีใหม่อีกเครื่องที่ไม่มีเสียงวิทยุยานเกราะมารบกวนเราอีก

ทุกวันแม่จะตื่นเช้าประมาณตีสี่ จัดการเตรียมต้มไก่และจัดของหน้าร้านที่เปิดขายตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า เราตื่นมาก็ไปชี้หมูแดงในตู้ว่าจะกินส่วนไหน (หมูแดงที่ร้านไม่ค่อยสวยเพราะลูกๆ จะมักชี้ตรงส่วนงอกที่แสนอร่อยทำให้ดูกระดำกระด่าง) ส่วนไก่เนื้อหน้าอกไม่มีมันแม่เก็บไว้ให้อยู่แล้วไม่ต้องบอก เที่ยงเป็นเวลาวุ่นวายเพราะลูกค้ามาเต็มร้าน เรามาช่วยเสริฟอย่างเดียว แต่ละหน้าที่เก็บเงินไว้ให้คนอื่นเพราะกลัวว่าคิดผิดเดี๋ยวพ่อดุเอา  บางวันยืนล้างจานเป็นร้อยอยู่หลังบ้านได้ถึงสองชั่วโมง พอลูกค้าซาแล้วแม่พบว่าเราปฏิบัติภารกิจอยู่เบื้องหลัง ก็ชมจนเรายิ้มแก้มปริ สี่ทุ่มแล้วนั่นแหละแม่ถึงล้างข้าวของเก็บร้านเสร็จ ขึ้นมาชั้นสองเปิดทรานซิสเตอร์เครื่องเล็กเพื่อฟังวิทยุคลื่นสั้น “เสียงประชาชนแห่งประเทศไทย”

พ่อกับแม่นั่งฟังเสียงขลุกขลิกที่ขาดตอนเป็นช่วงๆ ได้เป็นชั่วโมงจนกว่าจะง่วงหลับไป ประมาณว่าเมื่อฟ้าสีทองประชาชนก็จะชนะและเป็นใหญ่ เสียงผู้ประกาศก็มักจะเป็นเสียงผู้หญิงเจื้อยแจ้ว แค่หวังว่าประชาชนชนะเมื่อไหร่ พ่อกับแม่จะได้ลูกสาวคนนั้นกลับมา ไม่ว่าท่านประธานพรรคจะพูดภาษาฟังเข้าใจยากอยู่คืนแล้วคืนเล่าก็ตาม

อีกนัยหนึ่งพ่อกับแม่คงคิดว่าเสียงนี้ลอยมาจากที่ที่ลูกสาวอยู่ เสียงหญิงสาวในนั้นอาจเป็นเพื่อนของลูก หรือเป็นเด็กสาวที่อยากพูดอะไรมากมายเหมือนลูกของแม่ ก็เหลือทางสื่อสารอยู่ทางเดียวนี่นะ ที่จะทำให้รู้ว่าลูกไปอยู่กับใคร และคอยฟังว่ามีชีวิตประจำวันทำอะไรกันอยู่บ้าง แม้มีการสื่อสารทางตรงอีกทางคือจดหมายที่พี่สาวเขียนมาจากป่า มันก็ใช้เวลาสามหรือสี่เดือนจึงจะมาถึง และหลายเดือนจึงจะมีมาสักครั้ง เราและพี่ชายคนเล็กมีหน้าที่ผลัดกันอ่านจดหมายออกเสียงมาให้พ่อและแม่ฟัง ภาษาก็แปลกๆ ไม่น้อยกว่าเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย คือเชื่อมั่นในพรรคเป็นระยะๆ ตลอดจดหมาย น้ำเสียงไม่ใสแบบพี่สาวคนนี้ที่เรารู้จักเท่าไหร่นัก แต่ลายมือก็ใช่อยู่

บ่ายวันหนึ่งพี่สาวคนโตนั่งเขียนจดหมายด้วยน้ำมะนาวโดยมองไม่เห็นสิ่งที่ตัวเองเขียน เราเข้าไปถามด้วยความสงสัย เธอเลยแสดงให้เห็นว่าพอเอาเตารีดนาบเข้าไปข้อความก็จะปรากฏออกมา เสร็จแล้วก็พับจดหมายชุดที่ยังไม่รีดนี้ซ่อนไว้ใต้ก้นถุงกระดาษ เอากระดาษแข็งปิดกาวไว้ทับอีกที เป็นถุงใส่อาหารหรือผลไม้และข้าวของที่จะเอาไปเยี่ยมพี่ชายในคุก เพราะว่าถ้าส่งจดหมายปกติให้พี่ชายในคุก ผู้คุมจะเปิดอ่านเซ็นเซอร์ก่อน แล้วขึ้นอยู่กับวิจารณญานของแกว่าจะให้ส่งเข้าไปไหม และดีไม่ดีผู้ส่งอาจโดนข้อหาคอมมิวนิสต์เอาได้ง่ายๆ ไปอีกคน  เลยใช้วิธีแบบนี้ดีกว่า ส่วนใหญ่เป็นการลอกจดหมายจากพี่ชาย พี่สาว และเพื่อนๆ ในป่านี่แหละ จะเป็นการนัดแนะปฏิบัติการเคลื่อนไหวทำลายล้างสถาบันหรือไม่ เราก็ไม่เห็นวิกฤตทางการเมืองใดๆ หลังจากนั้นอันเนื่องมาจากฝ่ายซ้ายอีก นอกจากกบฎทหารแย่งอำนาจกันเองเมื่อเดือนมีนาคม 2520 ที่ท้ายสุดคุณฉลาดก็มาอยู่ร่วมคุกเดียวกับพี่ชายเราพักหนึ่ง ก่อนถูกประหารสังเวยความหวาดกลัวของผู้มีอำนาจในยุคนั้น

จะคุยกับพี่ชายในคุกก็ถูกฝ่ายขวาเซ็นเซอร์ เอาเข้าจริงภาษาแปลกๆ ในจดหมายจากป่าของพี่สาวก็อาจเนื่องมาจากถูกฝ่ายซ้ายเซ็นเซอร์ก่อนมาถึงมือแม่ของลูกทุกคนในนั้นเช่นกัน

พ่อกับแม่ฟังเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยอยู่หลายปี จนเจ็ดร้อยวันผ่านไป พวกเราก็ได้กอดพี่ชายที่ถูกปล่อยออกมาที่หน้าคุกนั่นเอง เราไม่ได้ไปรอรับด้วย แต่เห็นแม่ในข่าวผ่านดาวเทียม ยุคแรกของข่าวต่างประเทศในเมืองไทย แม่หลับตากอดพี่ชายท่ามกลางคนวุ่นวายรอบตัวแล้วภาพก็ตัดหายไป

 

 เป็นชัยชนะของพ่อกับแม่คู่หนึ่งที่เอาลูกชายกลับบ้านมาได้อีกหนึ่งคน.... ท่ามกลางพ่อแม่มากมาย ที่ได้แต่ตั้งคำถามซึ่งตอบไม่ได้ว่า เด็กๆ หายไปไหน ….

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น