โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนระยองหวั่น ‘น้ำท่วม’ เพิ่มมลพิษ เหตุโยก ‘นิคมอุตสาหกรรม’ ไปลง ‘มาบตาพุด’

Posted: 18 Oct 2011 12:24 PM PDT

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.ระยอง จัดเวทีรับฟังความเห็นเตรียมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 19-21 ธ.ค.นี้ พบประเด็นสิ่งแวดล้อมมาแรง เผยน้ำท่วมภาคกลางทำหวั่นย้ายฐานการผลิตมามาบตาพุด ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม-แรงงาน

 
 
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.54 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลชากบก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.ระยอง จัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้ พบประเด็นสิ่งแวดล้อมมาแรง เสนอจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติและศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมจังหวัด เน้นประชาชนร่วมจัดการลุ่มน้ำ
 
เวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน จากภาครัฐ ประชาสังคม นักวิชาการ เอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้ประเด็นหลัก “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ”
 
นายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพจังหวัดระยอง กล่าวถึงความสำคัญของเวทีครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐ การเมือง และภาคอุตสาหกรรม ได้พัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้นในจังหวัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนระยอง แม้จะเป็นผลกระทบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม แต่ก็ต้องถือเป็นผลกระทบทางสังคมด้วย 
 
“การที่คนระยองมารวมตัวกันครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาถูกจุดยิ่งขึ้น เพราะเราจะได้ข้อเสนอที่มาจากเสียงของคนระยองเอง” รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองกล่าว
 
ด้าน ดร.วัฒนา บรรเทิงสุข รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจังหวัดระยอง กล่าวว่า เวทีวันนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง ‘การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วน’ เพราะที่ผ่านมา ชาวระยองต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนักจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางน้ำ ทั้งจากน้ำฝนปนเปื้อนสารเคมี และแหล่งน้ำต่างๆ ถูกแย่งไปใช้
 
“ชาวระยองคิดตามและคิดต่อจากร่างข้อเสนอเชิงนโยบายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่า ทุกภาคส่วนในจังหวัดจะเข้ามาช่วยกันจัดการลุ่มน้ำอย่างไร ให้ชาวระยองมีความสุข อยู่กินกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย และร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมที่รุกเร้าพวกเราอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อเสนอจากเวทีว่า ให้ภาครัฐเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำให้มากขึ้น โดยได้ชักชวนประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ครอบครัว ชุมชน ภาคการศึกษา และเยาวชน” ดร.วัฒนากล่าว
 
ดร.วัฒนากล่าวต่อถึงข้อเสนอสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ คนระยองเห็นร่วมกันว่า จำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติและศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวล้อมของจังหวัด “ศูนย์ภัยพิบัติตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้ และฝึกอบรมประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และคอยเตือนภัยในภาวะวิกฤต ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดระยองถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติจากน้ำทะเลหนุนและอุบัติเหตุจากภาคอุตสาหกรรม ส่วนศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัด จะทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและสังคม รวมทั้งกระตุ้นเตือนภาครัฐให้มีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมสร้างนวัตกรรมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อลดภัยจากมลพิษ”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าร่วมเวทีสนใจสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางเป็นพิเศษ โดยเฉพาะข่าวน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีการวิเคราะห์ร่วมกันว่า แม้ระยองไม่ใช่พื้นที่ประสบอุทกภัยโดยตรง แต่หลังจากนี้ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะเป็นไปได้สูงที่ภาคอุตสาหกรรมในอยุธยาจะย้ายฐานการผลิตมาที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนระยอง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาคแรงงาน
 
อนึ่ง กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดระยอง เกิดขึ้นจากผลกระทบของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อปี 2532 ซึ่งทำให้ชาวระยองเจ็บป่วยจากมลพิษอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2542 ประชาชนจึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายสมัชชาสุขภาพเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และทำงานต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพที่เป็นผลมาจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดระยองได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน และปัจจุบัน จ.ระยองกำลังเตรียมนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพไปใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะของจังหวัดด้วย
 

กลุ่มเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดระยองที่มาร่วมให้ความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายฯ

 
 
รายงานโดย: สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: กลุ่มค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ให้กำลังใจ “จินตนา แก้วขาว” ถึงเรือนจำ

Posted: 18 Oct 2011 12:09 PM PDT

เครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ ต้อนรับกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เยี่ยม “จินตนา แก้วขาว” เจ้าตัวย้ำยอมรับสภาพกับสิ่งที่เลือกและยอมแลก เพราะการปกป้องทรัพยากร-สิ่งแวดล้อมคือหน้าที่

 
วันนี้ (18 ต.ค.2554) เวลาประมาณ 10.00 น.กลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย กว่า 30 คน ได้เดินทางมายังเรือนจำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนางจินตนา แก้วขาว ภายหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญา เป็นระยะเวลา 4 เดือน ในคดีการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา
 
นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี กลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย กล่าวแสดงความเห็นต่อการตัดสินคดีของนางจินตนาว่า คิดว่าผลของการตัดสินนั้น เป็นการใช้ความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อบุคคล โดยไม่ได้วิเคราะห์เจตนาที่แท้จริง ว่าทำเพื่ออะไร คดีล้มโต๊ะจีนที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวที่นางจินตนา มีความโกรธแค้นเป็นการส่วนตัวกับทางโครงการโรงไฟฟ้า หากแต่ทำเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่การตัดสินให้มีการจำคุกนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ถือว่าไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม เพราะหากมีความเป็นธรรม ก็คงไม่สั่งจำคุกแบบนี้
 
ด้านนางจินตนา กล่าวกับตัวแทนกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่เข้าเยี่ยมว่า ขอบคุณและรู้สึกดีใจที่มีพี่น้องจากเครือข่ายต่างๆ มาเยี่ยมอย่างไม่ขาดสาย การต่อสู้ในระยะตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้อง ถึงแม้ว่าการตัดสินคดี รู้ดีอยู่ว่าจะต้องติดคุก ก็ถือว่าคุ้ม เพราะทุกอย่างต้องแลก และไม่มีอะไรที่ได้มาอย่างง่ายๆ
 
นางจินตนา กล่าวด้วยว่า ขบวนชาวบ้านเสื้อเขียว ใน จ.ประจวบฯ ที่ผ่านมา ก็ยังคงได้รับแรงเสียดทานต่างๆ นาๆ การเอารัดเอาเปรียบ และการถูกกลั่นแกล้ง แต่ถือว่าพี่น้องเองก็มีเข้มแข็งทั้งทางกายและทางใจ ทำให้ยังเดินมาได้ถึงทุกวันนี้ จนได้มีคำสั่งยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูดและบ่อนอก ถึงแม้ว่าผลตัดสินคดีในครั้งนี้ เราก็รู้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เราก็ต้องรับสภาพกับสิ่งที่เราเลือกและการยอมแลก เพราะการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมคือหน้าที่ของเรา
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเข้าเยี่ยมให้กำลังใจนางจินตนา เครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ และกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มีการหารือแลกเปลี่ยนและสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ร่วมกัน ก่อนแยกย้ายเดินทางกลับในเวลาประมาณ 12.30 น.
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มศิลปินเพื่อสังคม นำโดย นายวสันต์ สิทธิเขตต์ พร้อมกลุ่มเพื่อนศิลปิน ได้เดินทางมายังเรือนจำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนางจินตนา และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ โดยนายวสันต์ สิทธิเขตต์ กล่าวภายหลังจากที่ได้เข้าเยี่ยมว่า นางจินตนา มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะตั้งแต่การตัดสินคดี ได้มีเครือข่ายพี่น้องต่างๆรวมทั้งบุคคลภายนอก หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องราวแล้ว ก็ได้เดินทางสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจ อย่างมากมาย
 
 
นอกจากนี้กลุ่มเครือข่ายศิลปินเพื่อสังคม ยังได้ฝากถึงเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า คดีนี้เป็นตัวอย่างของความร่วมมือของอำนาจรัฐและทุน ที่มากระทำต่อพี่น้องของเรา ให้ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เรียนรู้ความอยุติธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้น และพบว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง การกลั่นแกล้งแกนนำเป็นการปลุกจิตสำนึกให้พวกเราเข้มแข็งขึ้น และเชื่อว่าผลของการตัดสินคดีในครั้งนี้ ย่อมจะส่งผลสะเทือนต่อผู้คนอีกจำนวนมาก ที่ลุกขึ้นมาดูแลและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ที่หมายถึงการรักษาชีวิตของเขาเอง
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ที่ปรึกษา ศอ.บต.ยกคณะบุกทำเนียบ ค้านโครงสร้างใหม่ให้ทหารกุมไฟใต้

Posted: 18 Oct 2011 09:51 AM PDT

ที่ปรึกษา ศอ.บต.ทั้งคณะบุกทำเนียบรัฐบาล พบ มท.1 ค้านปรับโครงสร้างใหม่ดับไฟใต้ เพิ่มอำนาจแม่ทัพภาค 4 คุมทั้งความมั่นคงและงานพัฒนา ชี้ทหารเป็นใหญ่นำการเมือง

นายอับดุลรอนิ กาหะมะ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เปิดเผยว่า ในเวลา 11.00 น.วันที่ 19 ตุลาคม 2554 สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 49 คนจะเดินทางเข้าพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่เนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนการปรับโครงสร้างการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ โดยให้ ศอ.บต.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ภายใต้ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่

นายอับดุลรอนิ เปิดเผยต่อไปว่า โครงสร้างใหม่ในการแก้ปัญหาคือการตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งในด้านการพัฒนาและการแก้ปัญหาความไม่สงบอยู่ในพื้นที่ โดยย้ายเลขาธิการ ศอ.บต.ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง แล้วปรับศอ.บต.เป็นศอ.บต.ส่วนแยกรับผิดชอบงานในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ระดับอำนวยการปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน ศบก.จชต.ซึ่งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เห้นด้วย เพราะโครงสร้างเดิมที่มี ศอ.บต. รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาเป็นการแก้ปัญหาแบบการเมืองนำการทหาร แต่โครงสร้างใหม่ของรัฐบาลเป็นรูปแบบการทหารนำการเมือง

นายอับดุลรอนิ กล่าวว่า โครงสร้างใหม่ของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำให้เกิดการทับซ้อนในเรื่องอำนาจระหว่าง ศอ.บต.กับ ศบก.จชต. โดยเฉพาะการโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอับดุลรอนิ กล่าวว่า ศอ.บต.เพิ่งจะมีกฎหมายรองรับ คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 และมีการตั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาจากการเลือกตั้งของภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลไกต่างๆ ที่เกิดจากกฎหมายฉบับนี้ยังเดินไปไม่หมด แต่รัฐบาลก็จะเปลี่ยนโครงสร้างเสียแล้ว น่าจะให้กลไกต่างๆที่วางไว้เดินให้เต็มที่เสียก่อน

“รัฐบาลชุดปัจจุบันมองว่า เจ้าหน้าที่ของศอ.บต.และสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลก็เลยอยากจะเปลี่ยน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด มีทั้งคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย พรรคมาตุภูมิ ด้วยเป็นต้น” นายอับดุลรอนิ กล่าว

ก่อนหน้าที่ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดประชุมลับที่ห้องเอนกประสงค์ ศอ.บต. มีนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานที่ปรึกษาฯ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยมีการพิจารณาการแนวทางการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ซึ่งเป็นข้อเสนอของ กอ.รมน. ที่นำเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา

ที่ประชุมมีการอภิปรายถึงผลดี ผลเสีย ของการปรับโครงสร้างใหม่ของ ศอ.บต. โดยความเห็นของ กอ.รมน. อย่างกว้างขวาง และมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างใหม่ของ ศอ.บต. ในครั้งนี้ เพราะเห็นว่า ขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ศอ.บต. ที่มีการแยกงานการพัฒนาและการแก้ปัญหาความไม่สงบออกจากกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา รวมทั้ง พ.ร.บ. ศอ.บต.กว่าจะเป็น พ.ร.บ.บังคับใช้ ได้ผ่านการทำประชาคมการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน และมีสภาความมั่นคงเป็นผู้ร่วมในการทำยุทธศาสตร์จากความร่วมคิดของภาคประชาชน

หาก กอ.รมน. ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ ศอ.บต.จะต้องทำเวทีประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนก่อน แต่ในการประชุมตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 เป็นต้นมา และจะมีการประชุมสรุปความคิดเห็น และกำหนดรูปแบบการตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 18-19 ตุลาคม 2554 นี้ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาฯ ยังเห็นว่า กอ.รมน. ได้ดำเนินการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี โดยการควบคุมงบประมาณและอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ปัญหาการก่อความไม่สงบยังไม่ลดลง แต่กลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการไม่ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหา การที่ กอ.รมน. ต้องการปรับโครงสร้างของ ศอ.บต. ให้เล็กลง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงมี “นัยยะ” อื่นแอบแฝง ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบอย่างที่กล่าวอ้าง

ดังนั้น สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีมติไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ของ กอ.รมน. และได้ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนของสภาฯ ที่สมาชิกจำนวน 49 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ และได้ติดต่อขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็น และการไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างของ ศอ.บต. และการจัดตั้ง “ศบก.จชต.” ในครั้งนี้ ซึ่งทางสำนักนายกฯได้แจ้งให้ทราบว่า นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้สภาที่ปรึกษาฯ เข้าพบกับ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ศอ.บต. ในเวลา 11.00 น. ของวันที่ 19 ตุลาคม 2554

 

.............................

แถลงการณ์สภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในฐานะผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กรณีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล

๑. ความเป็นมา
รัฐบาล โดย ฯพณฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยที่ประชุมมีข้อสรุปสำคัญ ดังต่อไปนี้

              ๑. นำยุทธศาสตร์กองอำนวยการรักษาความมั่นภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ๖ ยุทธศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ให้เป็นรูปธรรมโดยแต่ละยุทธศาสตร์ ควรให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เป็นเจ้าภาพหลัก

              ๒. ในระดับรัฐบาลควรจัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการบูรณาการแก้ไขปัญหา จชต.เพื่อแบ่งเบาภาระของนายกรัฐมนตรี และให้เป็นหน่วยงานที่ควบคุม กำกับดูแล กระทรวง ทบวง กรม, กอ.รมน. และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างมีเอกภาพ ทำให้แผนงาน/โครงการมีความประสานสอดคล้องโดยไม่มีการซ้ำซ้อน โดยให้ กอ.รมน. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ได้แนวทางในการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. ที่ทุกระทรวง ทบวง กรม มีส่วนร่วม

              ๓. ให้ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. ในระดับพื้นที่ สามารถควบคุม กำกับดูแล กำลังทหาร กำลังตำรวจและฝ่ายพลเรือน (ศอ.บต. ส่วนแยก, กอ.รมน.จว.) โดยให้ หารือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อจัดทำโครงสร้างการแก้ไขปัญหา จชต. พร้อมกำหนดแนวทางในชั้นต้นนอกจากนี้ให้ ศอ.บต. จัดตั้ง ศอ.บต. ส่วนแยก เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติในพื้นที่และให้ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการบูรณาการการปฏิบัติทั้งปวงในพื้นที่ ทั้งในด้านการพัฒนาและความมั่นคง และใช้โครงสร้างเดิม (เพื่อพลาง) ในระหว่างที่ ศอ.บต. ยังไม่จัดตั้ง ศอ.บต. ส่วนแยกซึ่ง กอ.รมน. ภาค ๔ สน. ได้จัดให้มีการประชุมหารือฯ ไปแล้วได้ข้อสรุปว่า

                          ๓.๑ ให้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. เรียกว่า “ศบก.จชต.” เป็นกองเลขานุการและมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหา จชต. ขึ้นมาชุดหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคล งบประมาณและแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จชต.

                          ๓.๒ ให้มีการจัด ศอ.บต. ส่วนแยก ไว้ในโครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า โดยเสนอให้ผอ.ศอ.บต.สย. เป็นข้าราชการฝ่ายบริหารระดับอำนวยการ ที่มีความรู้ ความสามารถและความเข้าใจปัญหา จชต. และเข้าใจยุทธศาสตร์ รวมถึง มีความสามารถในการประสานงานได้เป็นอย่างดี

๒. ข้อเท็จจริง

              ๒.๑ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ กำหนดให้มีสภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดหนึ่ง จำนวน ๔๙ คน มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ คือ ให้ความเห็นนายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการเห็นว่าสมควรได้รับฟังความคิดเห็นของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประกอบการพิจารณาในการบริหารการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาใน จชต. ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุตามเจตจำนงของกฎหมายที่ต้องการให้มีหน่วยปฏิบัติงานหลักทำหน้าที่บูรณาการงานพัฒนาในพื้นที่ จชต. ให้เป็นระบบ มีเอกภาพทั้งในเรื่องนโยบายยุทธศาสตร์การบังคับบัญชา และการปฏิบัติ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              ๒.๒ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังจะเห็นได้จากการยกร่าง พ.ร.บ. ที่กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นแนวทางหลักในการกำหนดรายละเอียดและสาระสำคัญของกฎหมาย รวมถึง แก้ไขปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาแท้จริงของพื้นที่ ทั้งในมิติความมั่นคงและมิติการพัฒนาให้เป็นไปอย่างสมดุล และรองรับ/ส่งต่อการปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งสาระจากการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลมาจากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การแก้ไขปัญหาพื้นที่ จชต. ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และเห็นว่ารูปแบบการทำงานที่ประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกระดับให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ รวมถึง รักษาฐานมวลชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวนี้ ให้อยู่ร่วมดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นที่อยู่ควบคู่กับภาคราชการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนซึ่งขณะนี้ เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้น“การเมืองนำการทหาร”

              ๒.๓ กรอบแนวคิดหลักของนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากประชาชนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางการทำงานของรัฐบาลและส่วนราชการ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอาทิ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการนโยบายและการปฏิบัติต่างๆ ของรัฐ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ตลอดจน ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

๓. ข้อพิจารณา

              ๓.๑ การดำเนินการฯ ของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างความเป็นเอกภาพโดยการบูรณาการสรรพกำลัง (คน) ทรัพยากร และงบประมาณของแต่ละส่วนราชการภายใต้นโยบาย/ยุทธศาสตร์/แนวทางการบริหารจัดการร่วมกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีและจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหา จชต.แต่เพื่อให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมและเกิดการยอมรับจากประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ จชต. ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการให้ความร่วมมือในการดำเนินงานและเป็นพลังในการขับเคลื่อนการปฏิบัติไปยังกลุ่มเป้าหมายทุกระดับจึงควรมีการทบทวนบางประเด็นอย่างละเอียด รอบคอบและควรพิจารณาจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา จชต.

              ๓.๒ การจัดให้มีกลไกควบคุมการปฏิบัติงานของส่วนราชการทุกส่วนที่รับผิดชอบการบูรณาการแก้ไขปัญหา จชต. ให้สามารถขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีเอกภาพ ตลอดจนมีการบูรณาการระดับยุทธศาสตร์ ที่นำไปสู่การพัฒนากระบวนการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่และการจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดกรอบนโยบายด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรอบแนวทางหลักในการดำเนินการควบคู่กับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากนโยบายฯ ดังกล่าว มีการรับฟังความเห็นของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศมาเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนศาสนาวัฒนธรรมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ จชต.และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

              ๓.๓ ปัจจุบันพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ มีผลบังคับใช้ประมาณ ๑๐ เดือน แต่มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง เห็นได้จากการประเมินผลของภาควิชาการหลายหน่วยที่ระบุตรงกันว่า การมี ศอ.บต. ช่วยให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ สบายใจ พึ่งพาได้ และ ศอ.บต. ได้รับการประเมินเป็นลำดับที่ ๒ รองจากศาลยุติธรรม เรื่ององค์กรที่ประชาชนพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหา จชต. เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงควรพิจารณาทบทวนถึงการใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสนองเจตนารมณ์ของการจัดทำกฎหมายโดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

              ๓.๔ การดำเนินการแก้ไขปัญหา จชต.ตามแนวทางใหม่ ยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเนื่องจาก กอ.รมน. ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จชต. ดังนั้นจึงควรจัดประชุมเพื่อรับ-แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างรัฐบาล ส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นจริงของพื้นที่และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานให้เป็นไปอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

              ๓.๕ เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓เป็นกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหา จชต. ในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ได้เป็นผลงานของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของกฎหมายเป็นการสั่งสม เรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมา ทำให้พบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องนั้นคือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ จชต. ร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องและและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ดังนั้นหากจะต้องมีการปรับแก้ หรือเสนอเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จชต. รัฐบาลควรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลักมากกว่ารับฟังจากส่วนราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ในพื้นที่

              ๓.๖ การแก้ไขปัญหา จชต. ควรยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารและการพัฒนา จชต. ของ สมช. และยุทธศาสตร์ร่วมกันของ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ส่วน “ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต.” หากจำเป็นจะจัดตั้งก็ให้ศูนย์ฯ ดังกล่าวมีหน้าที่บูรณาการประสานงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สำหรับ กอ.รมน.ควรมุ่งภารกิจสำคัญด้านการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกแซง มากกว่างานในมิติการพัฒนาเนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาหัวใจหลักของพื้นที่ ประกอบกับวันนี้ ยังมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ จนทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมและปัญหาการค้าของเถื่อน ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ จชต. และยังเป็นปัญหาที่มีความสำคัญลำดับสูงที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้รัฐร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

๔. ข้อเสนอ

              ๔.๑ ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหา จชต. ตามที่ กอ.รมน. เสนอให้มีคณะกรรมการบูรณาการฯ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เนื่องจาก ศอ.บต. และ กอ.รมน. แยกภารกิจออกจากกันจะทำให้ปฏิบัติงานได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่หากมีความจำเป็นที่จะจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหา จชต.” ก็ให้ศูนย์ฯ ดังกล่าว มีหน้าที่อำนวยการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะเป็นการสร้างเอกภาพทั้งในเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง

              ๔.๒ การแก้ไขปัญหา จชต. ขอให้รัฐบาลยึดกรอบแนวทางตามนโยบายด้านการบริหารและการพัฒนา จชต. ของ สมช. เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของ กอ.รมน. และ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของ ศอ.บต. ซึ่งจะทำให้เกิดการบูรณาการในระดับนโยบายแล้วส่วนหนึ่ง

               ๔.๓ ข้อเท็จจริง แม้ว่างานของ ศอ.บต. จะเป็นการทำงานเชิงพัฒนาเป็นหลัก แต่ก็มีเป้าหมายสำคัญ นั้นคือ เพื่อไปส่งเสริมประสิทธิภาพงานด้านความมั่นคง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและผู้นำกลุ่มต่างๆ รวมถึง การปรับเปลี่ยนจิตวิทยาสังคมของประชาชนในพื้นที่ ทำให้สามารถดำเนินงานด้านความมั่นคงได้สะดวกยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการดำเนินงานด้านความมั่นคงของ กอ.รมน. มีส่วนสำคัญในการวางพื้นฐานงานพัฒนาของ ศอ.บต. ซึ่งเป็นการบูรณาการในเชิงการปฏิบัติของทั้ง ๒ หน่วยงานแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งใช้กลไกทั้ง ๒ ส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่าการเลือกใช้กลไกอย่างใดอย่างหนึ่ง

              ๔.๔ การอำนวยการด้านความยุติธรรม เป็นภารกิจสำคัญของ ศอ.บต. ที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จชต. รู้สึกอุ่นใจ สบายใจและรู้สึกมีที่พึ่งพา และเป็นแนวทางที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารจัดการไปเป็นฝ่ายการทหาร จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงานลดน้อยลง และนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่น และไม่ไว้วางใจราชการเช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมา และอาจนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่อีกครั้ง

                                                                 นายอาซิส เบ็ญหาวัน
                                                                 ประธานสภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

CNNgo มองย้อนภาพยนตร์ไทยที่เคยส่งเข้าชิงออสการ์

Posted: 18 Oct 2011 08:05 AM PDT

ไม่นานมานี้เองประเทศไทยได้ส่งผลงานเข้าชิงรางวัลออสก้าร์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปี 2554 คือผลงานเรื่อง 'คนโขน' ซึ่งเป็นภาพยนตร์ดราม่าเร้าอารมณ์เกี่ยวกับนาฎศิลป์ไทย ขณะที่กรณีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ไม่มีนักวิจารณ์รับรองความยอดเยี่ยมและไม่ทำรายได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร

เพราะว่าคณะกรรมการออสก้าร์จากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติของไทย (FNFAT) ซึ่งได้รับการผลักดันจากกระทรวงวัฒนธรรม มักจะให้ค่ากับภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมไทยและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อยู่แล้ว

เรื่อง "คนโขน" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งของคณะละครโขนคู่ปรับ และแม้ว่านักวิจารณ์จะชื่นชมผู้กำกับศรัญยู วงศ์กระจ่าง ในแง่ของการมีอุดมคติสูงส่งดีงามในการอนุรักษ์วัฒนธรรม พวกเขาก็กล่าวโจมตี "คนโขน" ว่าตัวละครมีมิติเดียว 'ดราม่า' กันหนักหน่วงเกินไป และขาดความชัดเจนในพล็อตเรื่อง

ไม่เพียงแค่นักวิจารณ์จะไม่ปลื้ม แม้แต่ผู้ชมทั่วไปก็ถอยหนี ภาพยนตร์ชิ้นนี้ทำเงินได้เพียงราวๆ 7 ล้านบาท กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งช่วยออกเงินทุนให้ก็ไม่ได้ยี่หระอะไร

ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มส่งภาพยนตร์เข้าประกวดออสก้าร์ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา ไม่มีเรื่องใดเลยที่ชนะรางวัลหรือผ่านเข้ารอบสุดท้ายในฐานะผู้เข้าประกวดรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม

กระทรวงวัฒนธรรมกล่าวผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ว่าเป้าหมายในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อเอาชนะรางวัลออสก้าร์ แต่เพื่อโปรโมทวัฒนธรรมไทยผ่านภาพยนตร์

ซึ่งภาพยนตร์ที่ส่งเข้ามาก็ไม่ได้เป็นเช่นที่ว่า (โปรโมทวัฒนธรรม) เสมอไป ในช่วงแรกๆ ที่ส่งไปคือช่วง คริสตศตวรรษที่ 2523 ถึงราว 2533 มักจะเป็นภาพยนตร์ดราม่าในแบบที่เรียกว่าแนว 'ปัญหาสังคม' ที่สะท้อนสภาพสังคมในยุคสมัยนั้นๆ และ มีหลายครั้งที่ภาพยนตร์ไทยที่เลือกเข้าชิงออสก้าร์เป้นภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ

ต่อจากนี้จะเป็นการนำเสนอภาพยนตร์ไทยทั้ง 18 เรื่องที่เคยส่งเข้าชิงออสการ์

 

ปี 2527 เรื่อง 'น้ำพุ'

ผู้กำกับ : ยุทธนา มุกดาสนิท

เนื้อหาเกี่ยวกับ : ลูกชายวัยรุ่นของนักเขียนชื่อดังหันไปใช้ยาเสพติดและติดเฮโรอินจนเสียชีวิต

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : ละครชีวิตจากเรื่องจริงที่นำเนื้อหามาจากหนังสือได้รับรางวัลของสุวรรณี สุคนธา ซึ่งผู้เขียนได้เขียนเรื่องนี้ไว้หลังจากที่ลูกชายของเธอเสียชีวิตเมื่ออายุ 18 จากการเสพย์เฮโรอีนมากเกินขนาด
เรื่องนี้นักร้อง อำพล ลำพูน เล่นเป็นลูกชาย ขณะที่นักแสดงละครเวทีอาวุโส ภัทราวดี มีชูธน แสดงเป็นแม่

 

ปี 2532 เรื่อง 'คนเลี้ยงช้าง'

ผู้กำกับ : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : บุญส่ง (สรพงษ์ ชาตรี) ควาญช้างและแตงอ่อนช้างของเขาต่อสู้เพื่อหางานทำหลังจากที่บริษัทค้าไม้หันไปใช้เครื่องยนต์และผืนป่าก็ร่อยหรอ

เมื่อพวกเขาไม่มีทางไป จึงกันไปทำงานกับบริษัทค้าไม้เถื่อนและตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับมาเฟียค้าไม้เถื่อน

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : เป็นภาพสะท้อนช่วงหนึ่งในยุคที่สัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติของไทยอย่างช้างยังคงถูกใช้งานในป่าและไม่ได้มาแสดงเรียกร้องความสนใจนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน 'คนเลี้ยงช้าง' ก็เป็นมีสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม

เรื่องนี้โดดเด่นในแง่การใช้ภาพแบบสารคดีในการสะท้อนชีวิตช้างไทย

 

ปี 2533 เรื่อง 'น้องเมีย'

ผู้กำกับ : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : ผู้หญิงคนหนึ่งที่เริ่มเบื่อหน่ายชีวิตบนเรือขนทราย ที่ต้องขึ้นๆ ล่องๆ แม่น้ำเจ้าพระยา วันหนึ่งเธอก็หนีออกจากเรือแล้วหนีหายไปในเมือง

สามีของเธอ (สรพงษ์ ชาตรี) ก็ออกตามหาตามตรอกซอกซอยในเขตย่านโลกีย์ของกรุงเทพฯ ขณะที่น้องเมียของเขาอยู่บนเรือคอยดูแลทั้งเรื่องครอบครัวและธุรกิจ

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : อีกหนึ่งผลงานของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมที่เป็นภาพยนตร์แนว 'ปัญหาสังคม' ชวนมองการแบ่งแยกระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง

 

CNNgo มองย้อนภาพยนตร์ไทยที่เคยส่งเข้าชิงออสการ์

ปี 2538 เรื่อง 'กาลครั้งหนึ่ง เมื่อเช้านี้'

ผู้กำกับ : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : เด็กผู้หญิงกับน้องชายของเธอไม่พอใจที่พ่อแม่หย่ากัน พวกเขาไม่อยากอาศัยอยู่กับผู้เป็นแม่ 'จินตหรา สุขพัฒน์' ในอพาร์ทเมนต์ซอมซ่อ

พวกเขาจึงพากันหอบหิ้วเอาน้องชายแบเบาะรวมเป็นสามคนออกเดินทางไปทั่วประเทศไทยเพื่อจะได้ไปอยู่กับพ่อ (สันติสุข พรมศิริ)

ขณะที่พ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้ก็ลืมเรื่องความขัดแย้งกันช่วงคราวเพื่อออกตามหาลูกๆ ของพวกเขา ขณะที่เด็กๆ ตกไปอยู่ในมือของเด็กไร้บ้านที่ค้าขายยาเสพติดและถูกไล่ล่าโดยกลุ่มแก็งค์อิทธิพลที่หาเหยื่อที่เป็นเด็ก

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : ภาพยนตร์แนว 'ปัญหาสังคม' ที่แน่นปึกอีกเรื่อง เรื่องนี้สะท้อนปัญหาครอบครัวแตกแยก เด็กไร้บ้าน ปัญหายาเสพติด และการค้าประเวณีเด็ก

 

ปี 2540 เรื่อง 'เสียดาย 2'

ผู้กำกับ : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : เด็กสาวอายุ 13 ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ อยู่ในครอบครัวที่มีอันจะกิน มาวันหนึ่งเธอติดเชื้อเอชไอวีจากการถ่ายเลือด

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : ใจกลางของเรื่องราวเอดส์ดราม่าเรื่องนี้ ตอกย้ำลงไปที่ครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงที่มีพ่อเป็นนักดนตรีคลาสสิคและแม่เป็นครูสอนบัลเลต์ฝรั่ง ซึ่งเป็นการท้าทายต่อความเชื่อที่ว่าเอดส์จะเกิดกับครอบครัวคนจนและถ่ายทอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือทางเข็มฉีดยาเสพติดเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมมักจะทำในภาพยนตร์ยุคคริสตศตวรรษที่ 1970 จนถึง 1990 เขาได้ชี้นิ้วประณามไปที่ความไร้ประสิทธิภาพและความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ ในกรณีของเรื่องนี้คือรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่ง่วงหลับแล้วกรนเสียงดังในขณะที่นักวิจัยกำลังรายงานเกี่ยวกับโรค

 

ปี 2541 เรื่อง 'ท้าฟ้าลิขิต'

ผู้กำกับ : อ็อกไซด์ แปง

เนื้อหาเกี่ยวกับ : หลังจากที่คนรักของชายหนุ่มประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ก็มีพระรูปหนึ่งทำให้เขาเชื่อว่าชะตากรรมของคนรักเขามาจากกรรมไม่ดีเมื่อชาติปางก่อน

ชายหนุ่มจึงออกเดินทางเพื่อยับยั้งการเสียชีวิตของคนอื่น 5 คน เพราะหวังว่าจะทำให้กรรมเลวถูกลบล้างไปได้

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : ความเชื่อเรื่องกงกำกงเกวียนของศาสนาพุทธถูกนำมาร้อยเรียงในภาพยนตร์ระทึกขวัญ (ทริลเลอร์) ผลงานของหนึ่งในสองฝาแฝดชาวฮ่องกงผู้ที่ร่วมกันสร้างภาพยนตร์เขย่าขวัญยอดฮิตอย่าง "คนเห็นผี"

 

ปี 2543 เรื่อง 'เรื่องตลก 69'

ผู้กำกับ : เป็นเอก รัตนเรือง

เนื้อหาเกี่ยวกับ : หญิงสาวผู้หนึ่ง (ลลิตา ปัญโญภาส นักแสดงละครหลังข่าว) ถูกเลย์ออฟจากงานบริษัทเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ เธอพบลังมาม่าที่เต็มไปด้วยธนบัตร 500 บาทถูกวางไว้ผิดที่หน้าประตูห้องเธอ

มีนักเลงที่จะมาเก็บเงินจำนวนนี้ถูกสังหารในสถานการณ์ที่แปลกประหลาด มีศพกองมากขึ้นเรื่อยๆ ในห้องของเธอ และเธอต้องหาทางหลบหนีจากความยุ่งเหยิงนี้

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : เมื่อเปิด 'ฝา' เรื่องตลกร้ายเสียดสีของเป็นเอกออกแล้ว คุณก็จะพบว่ามันได้สะท้อนชีวิตคนเมืองในประเทศไทยสมัยนั้น ไม่กี่ปีหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และความสิ้นหวังที่ชนชั้นแรงงานชาวไทยรู้สึก

 

CNNgo มองย้อนภาพยนตร์ไทยที่เคยส่งเข้าชิงออสการ์

ปี 2544 เรื่อง '14 ตุลา สงครามประชาชน'

ผู้กำกับ : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : นักกิจกรรมนักศึกษาในยุค พ.ศ. 2516-2524 หนีเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : มันคือประวัติศาสตร์ไทย เรื่องราวอัตชีวประวัติดราม่าเร้าอารมณ์จากชีวิตของเสกสรรค์ ประเสิร์ฐกุล และจิระนันท์ พิตรปรีชา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ประทัวงเรียกร้องประชาธิปไตย จนเป็นเหตุให้เกิดการปราบปรามโดยทหารในวันที่ 14 ต.ค. 1973 จนกระทั่งผู้นำเผด็จการทหารเดินทางออกนอกประเทศ

แต่เมื่อปี พ.ศ. 2519 กระแสนักศึกษาก็ถูกตีกลับและรัฐบาลทหารก็กลับเข้ามามีอำนาจ เสกสรรค์และจิระนันท์ก็ต้องหนีเข้าป่าเพื่อร่วมกับ พคท.

 

ปี 2545 เรื่อง 'มนต์รักทรานซิสเตอร์'

ผู้กำกับ : เป็นเอก รัตนเรือง

เนื้อหาเกี่ยวกับ : หนุ่มบ้านนอกผู้มีความฝันอยากเป็นนักร้องหนีทหารและทิ้งเมียเขาไว้ขณะที่ออกมาไล่ล่าความฝันของตัวเองแต่ก็ถูกดึงเข้าสู่หนทางอาชญากรรมเข้าไปเรื่อยๆ

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : เรื่องนี้ไม่มีบทเรียนทางประวัติศาสตร์หรือนิทานธรรมทางพุทธศาสนา เรื่องราวสนุกสนานปนตลกร้ายของเป็นเอกเป็นอีกเรื่องที่สะท้อนความฝันอันชอกช้ำของชนชั้นแรงงานในประเทศไทยยุคปัจจุบัน

แต่ถ้าหากประทรวงวัฒนธรรมอยากจะอ้างถึงวัฒนธรรมนัก เรื่องนี้ก็มี 'วัฒนธรรม' ของจริง คือเพลงลูกทุ่งของสุรพล สมบัติเจริญ ที่ขับกล่อมตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งในอีกแง่หนึ่งเรื่องนี้ก็แต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้กับนักร้องซูเปอร์สตาร์ผู้นี้ด้วย

 

ปี 2546 เรื่อง 'เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล'

ผู้กำกับ : เป็นเอก รัตนเรือง

เนื้อหาเกี่ยวกับ : ชายหนุ่มบรรณารักษ์ชาวญี่ปุ่น (ทาดาโนบุ อาซาโน) ผู้ชอบคิดถึงเรื่องฆ่าตัวตายประสบกับเหตุการณ์รุนแรงจนทำให้เขาต้องหนีจากกรุงเทพไปอยู่นอกเมืองที่บ้านของหญิงชาวไทย ("นุ่น" สินิทธา บุญยศักดิ์) ต่อมาเขาถึงเริ่มครุ่นคำนึงถึงตัวตนของตัวเอง

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : จากการเขียนสคริปต์ของนักเขียนที่เคยได้รางวัลอย่างปราบดา หยุ่น 'เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล' เป็นภาพแทนตัวเองของสังคมไทยร่วมยุคสมัยที่พรมแดนทางวัฒนธรรมถูกทลายลงโดยโลกาภิวัตร สะท้อนจากตัวละครชาวต่างชาติญี่ปุ่น

แต่จริงๆ แล้ว 'เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล' เป็นหนึ่งในกรณีหายากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมื่อภาพยนตร์ไทยที่ถูกส่งเข้าชิงออสการ์เพราะว่ามันเป็นภาพยนตร์ที่ดีจริงๆ และไม่ใช่เพราะว่ามันได้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอะไรที่เจาะจงดูเป็นไทย เว้นแต่ฉากหนึ่งที่มีตำรวจยืนวันทยหัตถ์เคารพธงชาติอยู่

เป็นตัวเลือกที่น่าแปลกใจมากสำหรับเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่มีบทสนทนาทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย มีแม้กระทั่งภาษาอังกฤษ ซึ่งเสี่ยงมากกับการส่งเข้าชิงสาขา "ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม"

 

ปี 2547 เรื่อง 'โหมโรง'

ผู้กำกับ : อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์

เนื้อหาเกี่ยวกับ : เรื่องราวชีวิตของนักดนตรีไทยที่ย้อนอดีตไปราว 130 ถึง 70 ปีก่อน ช่วงที่ยังเป็นนักดนตรีในวัง มีการแข่งประชันอย่างดุเดือดกับคู่ปรับฝีมือฉกาจ ในที่สุดก็กลายเป็นผู้สืบทอดอุ้มชูศิลปะประเพณีไทยในช่วงเวลาที่ความเป็นสมัยใหม่และการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกกำลังแผ่เข้ามาอย่างรวดเร็ว

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : เรื่องนี้ถือเป็นการนำชีวิตของหลวงประดิษฐ์ไพเราะนักดนตรีไทยในวังมาทำให้ดูเป็นนิยายและใส่ความดราม่าเร้าอารมณ์ลงไปมาก และนี่แหละเป็นภาพยนตร์ในแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมและเหล่ากรรมการต้องการส่งไปออสการ์

ในเวลาที่ภาพยนตร์ 'โหมโรง' ออกฉายก็ทำให้ปลุกกระแสความสนใจในดนตรีไทยรวมถึงเครื่องดนตรีระนาดเอกกลับมาอีกครั้ง

นักดนตรีที่ชื่อ ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า ผู้แสดงเป็นมือระนาดเอกจอมขมัง 'ขุนอิน' ก็ได้รับความนิยมและมีผู้คนจดจำเขาในนาม 'ขุนอิน' ด้วย

 

ปี 2548 เรื่อง 'มหา'ลัย เหมืองแร่'

ผู้กำกับ : จิระ มะลิกุล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : ชายหนุ่มคนหนึ่งในกทม. ยุค 60 ปีที่แล้ว สอบไม่ผ่านเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยจึงถูกพ่อส่งไปอยู่ในป่าทางภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อให้ได้ศึกษาเรียนรู้ชีวิตในฐานะคนงานเหมือง

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : จากเรื่องสั้นกึ่งอัตชีวประวัติของนักเขียนอาจินต์ ปัญจพรรค์ เรื่องดราม่าเกี่ยวกับการข้ามพ้นช่วงวัยเป็นเสมือนภาพโปสการ์ดจากยุคเหมืองแร่ที่มีอยู่ทั่วภูเก็ตก่อนที่ยุค 'สวรรค์ของนักท่องเที่ยง' จะเข้ามาแทนที่

 

ปี 2549 เรื่อง 'อหิงสา จิ๊กโก๋ มีกรรม'

ผู้กำกับ : กิตติกร เลียวศิริกุล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : อหิงสา ชายหนุ่มผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับแสงสียามค่ำคืนของพัทยา ตัวเขาถูก 'เวรกรรม' ตามรังควาญ ซึ่งมีรูปร่างเป็นชายชุดแดงทั้งตัวถือไม้หน้าสามคอยไล่ตีอหิงสา

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : ผลงานตลกแอบเสิร์ดของ 'ลีโอ' กิตติกรเป็นเรื่องแนวคำสอนพุทธศาสนาเกี่ยวกับกรรมเลวของชายคนหนึ่งได้สร้างความวุ่นวายให้ทั้งกับตัวเขาเองและกับคนรอบข้าง

มีประเด็นถกเถียงอยู่อย่างหนึ่งคือการที่เรื่อง 'อหิงสา' เป็นเรื่องที่ถูกส่งเข้าชิงแทน 'คำพิพากษาของมหาสมุทร' ที่ทางคณะกรรมการฝั่งไทยไม่อนุญาตเนื่องจากเรื่องแนวอาชญากรรมของเป็นเอกเรื่องนี้ไม่ถูกจัดเป็นภาพยนตร์ไทยจากการที่มีทั้งนักแสดงชาวญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ รวมถึงมีบางฉากที่ใช้ฮ่องกงเป็นแหล่งถ่ายทำ

 

ปี 2550 เรื่อง 'ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนประกาศอิสรภาพ'

ผู้กำกับ : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : เรื่องราวมหากาพย์อิงประวัติศาสตร์แบบล้นเกิน นำเสนอช่วงยุคพุทธศตวรรษที่ 21 ของ 'สยาม' ที่มีการสู้รบบู๊ดุเดือดของ 'พระองค์ดำ' ในฐานะนักรบผู้หาญกล้าและนักวางแผนผู้ชาญฉลาด ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชย์ปกครองอาณาจักรอยุธยาตั้งแต่พ.ศ. 2133 - 2148

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกแล้ว ในที่นี่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมต้องทำการบ้านในการค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียด และสร้างภาพยนตร์ไทยที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

งานโปรดักชั่นกินเวลาตลอด 7 ปีที่ผ่านมาทั้งในสตูดิโอของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมและเมืองโบราณจำลองในจังหวัดกาญจนบุรี ภาคต่อของ 'ตำนานสมเด็จนเรศวร' คือภาค 3 และ 4 มีได้ออกฉายเมื่อต้นปี ขณะที่ภาค 5 ซึ่งจะมีฉากสงครามยุทธหัตถีก็มีกำหนดจะออกฉายในอนาคตอันใกล้

 

ปี 2551 เรื่อง 'รักแห่งสยาม'

ผู้กำกับ : ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : มิตรภาพในวัยเยาว์ผลิบานเป็นรักแรกระหว่างวัยรุ่นชาย 2 คน (มาริโอ เมาเร่อ และวิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล)

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่แสดงให้เห็นความรักโรแมนติกระหว่างเด็กผู้ชาย 2 คน "รักแห่งสยาม" เป็นหมุดหมายสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งมักจะแสดงภาพผู้ชายเกย์เป็นตัวละครตลกและแสดงออกถึงความเป็นหญิงอย่างฉูดฉาด

"รักแห่งสยาม" ได้รับการชื่นชมอย่างมากและชนะรางวัลมาหลายรางวัล รวมถึงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากรางวัลสุพรรณหงส์

 

ปี 2552 เรื่อง 'ความจำสั้น แต่รักฉันยาว'

ผู้กำกับ : ยงยุทธ ทองกองทุน

เนื้อหาเกี่ยวกับ : เรื่องดราม่าแนวครอบครัวไร้การเสแสร้งอีกเรื่อง เรื่องนี้พูดถึงความรักโรแมนติกระหว่างคุณป้าแม่ม่ายกับสุภาพบุรุษชาวนาสูงอายุผู้ที่กำลังเป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะแรก

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : เรื่องนี้ย้อนกลับไปเป็นภาพยนตร์ปัญหาสังคมอีกครั้ง คราวนี้แสดงให้เห็นประเด็นเรื่องผู้สูงอายุ

 

CNNgo มองย้อนภาพยนตร์ไทยที่เคยส่งเข้าชิงออสการ์

ปี 2553 เรื่อง 'ลุงบุญมีระลึกชาติ'

ผู้กำกับ : อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

เนื้อหาเกี่ยวกับ : ชาวสวนคนหนึ่งกำลังจะตาย มีเพื่อนพี่น้องคอยอยู่รายล้อมรอบตัวเขารวมถึงผีภรรยาของเขาและลูกชายของเขาที่เคยบาดหมางกันกลับมาในสภาพของ "ลิงผี"

การระลึกชาติปางก่อนของชาวสวนผู้นี้อาจจะรวมไปถึงเจ้าหญิงยุคโบราณผู้มีเพศสัมพันธ์กับปลาดุกด้วยหรือไม่ก็ได้

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : บทของเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือธรรมะและอาศัยความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด ลุงบุญมีเชื่อว่าการเจ็บป่วยอย่างกระทันหันของเขาเป็นผลมาจากกรรมเก่า เขาเล่าว่าเคยเป็นทหารที่ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์มาก่อนในช่วงพ.ศ. 2508 - พ.ศ. 2525

ภาพยนตร์ชิ้นที่ 6 ของอภิชาติพงศ์ ได้รับรางวัลปาล็มทองคำจากเมืองคานส์ หนึ่งในรางวัลภาพยนตร์ระดับโลกและเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ไทยได้รับเกียรตินี้ 'ลุงบุญมี' เป็นเรื่องที่ขาดเสียไม่ได้ พวกผู้มีอำนาจด้านวัฒนธรรมของไทยมีความสัมพันธ์กึ่งรักกึ่งชังกับอภิชาติพงศ์มายาวนาน ซึ่งภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ก็ประสบความสำเร็จในเมืองนอกมากกว่าในไทยเอง

ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเซนเซอร์เรื่อง "แสงศตวรรษ" ในปี 2549 แต่ก็มอบรางวัลศิลปาธร ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติสูงสุดสำหรับศิลปินร่วมสมัยไทย

 

CNNgo มองย้อนภาพยนตร์ไทยที่เคยส่งเข้าชิงออสการ์

ปี 2554 เรื่อง 'คนโขน'

ผู้กำกับ : ศรัญยู วงศ์กระจ่าง

เนื้อหาเกี่ยวกับ : ในช่วงยุคปีพ.ศ. 2508 คณะละครโขนคู่ปรับได้ประชันการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์งที่ดัดแปลงจากต้นฉบับร้อยกรองมหากาพย์รามายณะของอินเดีย

เรื่องราวรักสามเส้า เพื่อนหักหลังเพื่อน ภรรยาคบชู้สู่ชาย ศิษย์ทรยศอาจารย์ และทุกคนก็จะต้องชกใช้กรรมที่ตัวเองก่อ

นัยสำคัญทางวัฒนธรรม : เรื่องนี้ยกย่องบูชานาฏศิลป์ตามธรรมเนียมไทยที่เรียกว่า 'โขน' ซึ่งเป็นการเล่นละครสวมหัวโขน มีชุดแต่งกายวาววับ แสดงเป็นตัวละครในเทพนิยาย องค์ประกอบทั้งหมดถูกนำเสนอในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีของแถมคือคติเตือนใจตามหลักศาสนาพุทธที่ศรัญยูสอดแทรกไว้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง: เสรีภาพในห้องลับ

Posted: 18 Oct 2011 06:34 AM PDT

     

พี่ดารณี,
เรายังคงอยู่ในนี้ทุกเช้าค่ำ
ในแดนสนธยาอันมืดดำ
ใช้มือคลำลูบหน้าปะมือใคร

เรายังคงหลับหูหลับตา
บอบช้ำร่ำสุราหมดจอกไห
ยังหายใจขื่นๆ ทุกคืนไป
ยังร่ำไห้ ก็ทำได้...เพียงเท่านั้น

พี่ดารณี
เรายังฝันถึงที่นี่ และที่นั่น
แม่น้ำของเรา ทอดยาวนิรันดร์
แต่ถนนสายนั้น...มันขาดตอน

เสียงที่เปล่งออกไปไร้วลี
เสรีภาพไม่มีอยู่ใต้หมอน 
เราอาบน้ำ กินข้าว และเข้านอน
ฟังนิทาน อวยพร กันอย่างเดิม

พี่ดารณี,
สงครามนี้ สิ้นสุด หรือเพิ่งเริ่ม
เรามุดหัว อยู่กันไป อย่างอย่างเดิม
เสพสังวาส เพียรเพิ่ม ประชากร

ถามหาผู้สืบทอดจิตวิญญาณ
แต่วลีอาจหาญ มันหลอกหลอน 
เสรีภาพเป็นเพียง ฝันก่อนนอน
อดทนรอไปก่อน...อย่าร้อนใจ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกฟ้องคดีฝ่าฝืน พรก.นายดาบตามหาลูก ทนายเผยแพะอีกเพียบโดนซ้อมให้สารภาพ

Posted: 18 Oct 2011 02:15 AM PDT

ศาลยกฟ้องข้อหาละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ นายดาบตำรวจสันติเวช ภูตรี เหตุมีแค่ภาพนิ่งว่าอยู่ในเหตุการณ์ เจ้าตัวระบุ ไม่ติดใจต้องการปรองดอง ทนายแฉห่วงเหยื่อที่ถูกซ้อมบังคับให้สารภาพมีอีกจำนวนมาก วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องคืนความเป็นธรรมเร่งเยียวยา เผยค่าใช้จ่ายสูงในการสู้คดี

18 ต.ค.54 ศาลแขวงพระนครเหนือ นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 1296/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ดาบตำรวจสันติเวช ภูตรี อายุ 59 ปี ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยศาลได้ขึ้นนั่งบัลลังค์และอ่านคำพิพากษาว่าให้ยกฟ้องจำเลยในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้ให้เหตุผลว่าหลักฐานที่ทางโจทก์ใช้ปรักปรำจำเลยมีเพียงภาพถ่ายจำเลยว่าอยู่ในสถานที่ชุมนุมเท่านั้น  และไม่มีหลักฐานอื่นที่ระบุว่าจำเลยกระทำผิด โดยการอ่านคำพิพากษาดังกล่าวเริ่มเวลา 09.30 น. และใช้เวลาประมาณ 10 นาที

ประชาไทถามดาบตำรวจสันติเวช หลังจากที่ได้ฟังคำพิพากษาว่า ค่าใช้จ่ายของจำเลยในการเดินทางลงมาสู้คดีจาก จ.หนองคายถึงกรุงเทพครั้งละเท่าไหร่ ดาบตำรวจสันติเวชบอกว่าระยะเวลาปีกว่ามานี้ ตนได้ใช้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับเที่ยวละ 5,000บาทเป็นอย่างต่ำ และตั้งแต่ที่ตนถูกจับกุมตั้งข้อหาดำเนินคดีตนต้องเดินทางลงมากรุงเทพเพื่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมมากกว่า 7 ครั้งแล้ว

ดาบตำรวจสันติเวช เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธร อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เดินทางเข้ามาตามหาลูกสาวซึ่งเข้ามาสมัครงานที่กรุงเทพฯ และร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ด้วยเกรงว่าบุตรสาวจะได้รับอันตราย โดยดาบตำรวจสันติเวชไปตามหายังบริเวณถนนเลียบทางด่วน ซอยลาดพร้าว 71 ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวราว 40 คน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปยังแยกราชประสงค์ได้แล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้ปิดกั้นเส้นทาง แต่ก็ไม่พบบุตรสาว เพราะบุตรสาวเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะอยู่ในที่เกิดเหตุถูกเจ้าหน้าตำรวจ สน.วังทองหลางได้ถ่ายรูปเป็นหลักฐานและออกหมายจับในเวลาต่อมา จากนั้นผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ก่อนถูกนำไปควบคุมตัวที่กองบัญชาการตำรวจตระเวรชายแดน ภาค 1 เป็นเวลา 7 วันแล้วจึงปล่อยตัว 

เมื่อถามว่าจะได้มีการเรียกร้องเอาผิดจากรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐต่อไปหรือไม่ นายธิติพงษ์ ศรีแสน ทนายความของดาบตำรวจสันติเวชกล่าวว่า น่าจะไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอาผิดเนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถเอาผิดผู้สั่งการหรือผู้ที่รับผิดชอบได้ ผู้ที่เดือดร้อนก็จะมีแต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งเท่านั้น  

นายธิติพงษ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่ากรณีนี้ยังถือว่าไม่ประสบความเดือดร้อนมากเนื่องจากสู้คดีและได้ประกันตัว  แต่ตนเชื่อว่าคดีที่มีลักษณะรวบรัด เร่งรัดให้มีการสรุปผลคดีโดยเร็ว การยัดข้อหา การซ้อมทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้ยอมรับข้อกล่าวหากเกิดขึ้นในระหว่างการสลายการชุมนุม พฤษภาคม 2553 มีเป็นจำนวนมาก ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะเข้ามาศึกษาพิจารณา พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือและคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อจากเหตุการณ์นี้

 

หมายเหตุ:  ข้อมูลบางส่วนจาก  ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553                          ( ศปช.) 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประเทศไทยอยู่ตรงไหน: เรือยนต์ช่วยไล่น้ำได้แค่ไหน?

Posted: 18 Oct 2011 12:04 AM PDT

 หมายเหตุ: เมื่อ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา บล็อก "ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?" ได้เผยแพร่บทความ "เรือยนต์ช่วยไล่น้ำได้แค่ไหน?" โดยรายละเอียดของบทความมีดังนี้

000

เรือยนต์ช่วยไล่น้ำได้แค่ไหน ?
ที่มา: บล็อก ประเทศไทยอยู่ตรงไหน | 17 ต.ค. 54
 
หลังจากรัฐบาลประกาศโครงการเรือประชาอาสาผันน้ำลงทะเล เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา [1] หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าแนวทางนี้สามารถทำได้จริงหรือไม่ ทำไปแล้วให้จะได้ผลมากน้อยเพียงใด ที่ผ่านมาดูเหมือนทุกคนจะเชื่อว่ามันช่วยได้ในทางทฤษฏี แต่ไม่มีใครรู้แน่ว่ามันช่วยได้มากหรือน้อยแค่ไหน
 
จนถึงวันนี้ (17 ตุลาคม) หลังจากใช้เรือ 1,149 ลำ ดำเนินการผลักน้ำลงทะเล ข้อสรุปของฝ่ายรัฐบาลคือ “ได้ผลในระดับหนึ่ง” แต่ยังต้องการเรือเพิ่มอีก 75,000 ลำ [2]
 
แอดมินคิดว่า สิ่งสำคัญต่อการถกเถียงเรื่องนี้อย่างสร้างสรรค์คือการมุ่งไปที่ “ตัวเลข” ซึ่งสามารถวัดได้ พิสูจน์ได้ คิดคำนวณได้ มากกว่าใช้ความเชื่อหรือการประเมินอย่างคลุมเครือเป็นสำคัญ เพราะการวัดผล คือหัวใจของการตัดสินใจอื่นๆทางนโยบาย เช่น ต้นทุนที่เสียไป ผลที่ได้รับ ค่าเสียโอกาส หรือทางเลือกอื่นในการดำเนินการ

ด้วยเหตุนี้ แอดมินจึงพยายามหาคำตอบต่อคำถามข้างต้น โดยมุ่งไปที่คำตอบในเชิงปริมาณ (Quantitative) ให้มากที่สุด แม้จะรู้ดีว่าเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องเยอะมาก ซึ่งในทางวิชาการแล้ว การทดลองทำจริงและมีการวัดผลอย่างเป็นระบบ คือหนทางเดียวที่จะศึกษาเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอนที่สุด
 
ในการนี้ แอดมินได้รับความช่วยเหลือจาก คุณมติพล ตั้งมติธรรม (@Matipon Tangmatitham) ผู้ทำการวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ในระดับผิวเผินเกี่ยวกับเรื่องนี้ และอนุญาตให้แอดมินนำมาเผยแพร่ สาเหตุที่ว่าผิวเผินเป็นเพราะการวิเคราะห์การไหลของน้ำต้องใช้การทำแบบจำลอง เชิงเลข (numerical simulation) มาอธิบายเนื่องจากเป็นระบบที่ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้สมการอธิบายได้ในเชิง วิเคราะห์ (analytic) อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานชุดหนึ่ง (รายละเอียดในบทความฉบับเต็มในไฟล์ PDF) เราสามารถหาคำตอบเบื้องต้นได้ว่าการใช้เรือดันน้ำมีผลมากเพียงใด 
 
จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า

1. หากใช้เรือขนาดใหญ่ระดับ ร.ล. แสมสาร (ระวางขับน้ำ 328 ตัน) 10 ลำ จะทำให้อัตราการไหลของน้ำเพิ่มขึ้นในหลัก 150 ล.บ.เมตร/วินาที หรือประมาณ 3% ในแม่น้ำอุดมคติ (แม่น้ำในชีวิตจริงจะได้ผลน้อยกว่านี้)  
 
2. หากใช้เรือหางยาวหรือเรือหางกุด 1,000 ลำจะให้ผลประมาณ 6% ในแม่น้ำในอุดมคติ 
 
3. ในความเป็นจริง อย่างไรก็ตามตัวเลข 3-6% นี้ยังไม่คิดประสิทธิภาพในการดันน้ำของใบพัด และคำนึงถึงแรงลากของน้ำและการสูญเสียพลังงานไปกับริมตลิ่ง รวมทั้งการที่เทคนิคการดันน้ำจะใช้ได้เฉพาะเวลาน้ำลง คือ น้อยกว่า 12 ชั่วโมง/วัน   
 
ต่อคำถามที่ว่า การเพิ่มอัตราการไหลของแม่น้ำมีผลอย่างไรต่อน้ำท่วม? 
 
หากสมมติว่าเรารวมค่าเบื้องต้นจากเรือหางยาว 1,300 ลำและสรุปว่าโครงการนี้สามารถดันน้ำได้เพิ่มขึ้น 10% ตลอดเวลาดำเนินการ หมายความว่าในเวลาที่เดินเครื่องอยู่นั้น การไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มจาก 4000 ลบ.ม./วินาที เป็น 4400 ลบ.ม./วินาที แต่เมื่อหยุดเดินเครื่องการไหลของแม่น้ำก็จะกลับสู่ระดับปรกติ ดังนั้นหากสมมติว่าเราสามารถเดินเครื่องได้ 12 ชม.ต่อวัน จะหมายความว่าเราสามารถดันน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็นค่าเฉลี่ย 5% ต่อวัน หรือเทียบเท่าน้ำปริมาณ 15 ล้านลบ.ม.ที่ไหลเพิ่มลงอ่าวไทยต่อวัน 
 
ตัวเลขนี้อาจจะฟังดูเยอะ แต่ขอให้คำนึงด้วยว่า น้ำมีการไหลลงทะเลโดยธรรมชาติอยู่แล้วประมาณ 300 ล้านลบ.ม. ต่อวัน ถ้าเปรียบเทียบก็คือ ในพื้นที่ที่เดิมทีอาจต้องใช้เวลาสิบวันกว่าน้ำจะลด หากเราดำเนินเครื่องดังกล่าวเป็นเวลาสิบวัน น้ำจะลดลงภายใน 9.5 วัน หรือก็คือน้ำจะลดลงเร็วขึ้นครึ่งวัน ในพื้นที่ๆในสิบวันระดับน้ำอาจจะลดลงไป 10 ซม. ก็จะทำให้ระดับน้ำลดลงไปเพิ่มขึ้น ครึ่งซม. 
 
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดรายละเอียดการวิเคราะห์ทั้งหมดพร้อมความเห็นของผู้วิเคราะห์ได้ที่ลิ้งก์ [3] http://www.whereisthailand.info/download/MT_water_push_final.pdf
 

ในการทำโครงการใดๆ ผู้รับผิดชอบงานนโยบายต้องประเมินความเป็นไปได้ 3 ระดับเสมอ หากระดับหนึ่งผ่านแล้วจึงค่อยเลื่อนขึ้นไปพิจารณาระดับต่อๆไป ดังนี้
 
1. เป็นไปได้ในทางฟิสิกส์ไหม? เพราะหากเป็นไปไม่ได้ในทางฟิสิกส์ก็คือขัดหลักธรรมชาติ ไม่สามารถทำได้
2. หากเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์ เป็นไปได้ในทางวิศวกรรมไหม?
3. หากเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์และวิศวกรรม คุ้มค่าทางเศรษฐกิจไหม?
 
บางอย่างเป็นไม่ได้ในทางฟิสิกส์ เช่น GT-200
บางอย่างเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์ แต่ยังทำไม่ได้ในทางวิศวกรรม เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์
และบางอย่างเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์และวิศวกรรม แต่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ทองคำสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้โดยการยิงนิวตรอนพลังงานสูงใส่ธาตุปรอท แต่ทำแล้วไม่คุ้มเพราะแพงกว่าทองคำตามธรรมชาติ
 
จากการวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ข้างต้น เราน่าจะพอเห็นภาพคร่าวๆแล้วว่า ภายใต้สมมติฐานแม่น้ำอุดมคติ ที่ไม่มีแรงเสียดทาน ไม่มีการไหลย้อนกลับของน้ำ ไม่มีการสูญเสียพลังงานใดๆในกระแสน้ำ เราต้องการเรือขนาดเล็กอย่างน้อย 2,600 ลำ เดินเครื่องวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อผลักน้ำให้ได้เร็วขึ้น 10% 
 
ในทางวิศวกรรม แม่น้ำในโลกแห่งความเป็นจริงมีแรงเสียดทาน มีการแปรปรวนของกระแสน้ำ มีการสูญเสียพลังงาน ดังนั้นเราจะได้ผลลัพธ์ที่น้อยลงกว่าการคำนวณทางฟิสิกส์ข้างต้น (เช่น อาจได้ผลแค่ 2-3%) หรือไม่ก็อาจต้องการจำนวนเรือเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
 
หากลองเหลียวดูต้นทุนของโครงการนี้ แน่นอนว่าต้นทุนหลักคือน้ำมันซึ่งรัฐบาลเสนอว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้กับอาสาสมัครทุกคน [4]
 
หากเราสมมติให้โครงการนี้ทำงานได้เพียง 20% จากกรณีอุดมคติิ (แม่น้ำมีแรงเสียดทาน มีการสูญเสียพลังงาน) เราจะต้องใช้เรือ 13,000 ลำ เดินเครื่อง 12 ชั่วโมง เพื่อผลักน้ำให้ได้มากขึ้น 10% ต่อวัน ซึ่ง หากประมาณให้เรือแต่ละลำกินน้ำมันโดยเฉลี่ยขั้นต่ำ 1.5 ลิตรต่อหนึ่งชั่วโมง [5] จะต้องใช้น้ำมันทั้งสิ้น 234,000 ลิตรต่อวัน หรือคิดเป็นเงินประมาณวันละ 6,600,000 บาท
 
ประเด็นสำคัญอีกประการหน่ึงคือความต่อเนื่อง – โครงการนี้จะให้ผลชัดก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นั่นแปลว่า สมมติเราต้องต้องใช้เวลา 30 วันในการระบายน้ำทั้งหมดออกทะเล หากเราต้องการไล่น้ำให้เร็วขึ้น 10% เราต้องเดินเครื่องยนต์เรือ 13,000 ลำติดต่อกัน 30 วัน โดยเสียค่าน้ำมันทั้งสิ้น 198 ล้านบาท เพราะหากเราทำเพียงวันเดียว ผลที่ได้จะเท่ากับ 0.3% ของการระบายน้ำปกติ
 
อ้างอิง 
[1] http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/2444.html
[2] http://news.voicetv.co.th/thailand/20871.html
[3] ดาวน์โหลดรายงานการวิเคราะห์ฉบับเต็ม http://www.whereisthailand.info/download/MT_water_push_final.pdf
[4] http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/2444.html  
[5] http://www.novabizz.com/NovaIntertrade/OutboardCamouflage.htm 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลขามูลนิธิสืบฯ อธิบายสถานการณ์น้ำเข้า กทม.-และสกู๊ป "ทีวีไทย" วิจารณ์บทบาท ศปภ.

Posted: 17 Oct 2011 09:33 PM PDT

เมื่อหัวค่ำวานนี้ (17 ต.ค.) นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้บันทึกคลิปวิดีโอลงใน youtube ของมูลนิธิ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังไหลเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 17 ต.ค. 2554 หลังน้ำเข้าท่วมนวนคร โดยเตือนผู้อาศัยในพื้นที่กรุงเทพชั้นนอก ซึ่งอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังในช่วงนี้ 1-2 วันนี้ พร้อมย้ำไม่ให้ใช้คำว่าอพยพ และให้เก็บของขึ้นที่สูง ขณะที่กรุงเทพมหานครชั้นใน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แนะนำให้เฝ้าระวังสถานการณ์พร้อมเก็บของไว้ในพื้นที่สูง โดยคลิปดังกล่าวมีรายละเอียดการนำเสนอดังนี้

ที่มา: มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร youtube.com/Seub2010

ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ได้นำเสนอสกู๊ปข่าวความยาวประมาณ 6 นาที ดำเนินรายการโดย น.ส.เสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์ วิจารณ์การทำงานของ ศปภ. ที่อาจไม่ได้มีจุดบอดแค่ความไม่เป็นเอกภาพ แต่การวิเคราะห์สถานการณ์น้ำก็อาจมีปัญหา โดยท้ายสกู๊ปได้ถามไปยังรัฐบาลหรือ ศปภ. ว่านอกจากเอกภาพและประสิทธิภาพแล้ว ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่รัฐบาลหรือ ศปภ. มีอยู่ตรงตามข้อเท็จจริงและเปิดเผยต่อสาธารณชนจริงหรือไม่

ที่มา: ทีวีไทย, 17 ต.ค. 54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น