โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

TCIJ: กลุ่มอนุรักษ์ฯ ใช้แผนดาวกระจาย ให้ข้อมูลเหมืองโปแตชอุดร

Posted: 02 Oct 2011 12:33 PM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จาก 3 ตำบล ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช รวมตัวสวมเสื้อเขียวทำกิจกรรมดาวกระจายให้ข้อมูลถึงบ้าน หวังชาวบ้านได้มีข้อมูลใช้ประกอบการตัดสินใจ

 
 
วันที่ 1 ต.ค.54 เวลา 09.00 น.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จาก 3 ตำบล ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้แก่ ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และต.หนองไผ่ อ.เมือง จำนวนกว่า 200 คน ได้แบ่งสายกระจายกันออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อเดินทางไปให้ข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตช แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.โนนสูง, ต.หนองนาคำ อ.เมือง ต.ผักตบ อ.หนองหาน และ ต.อุ่มจาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการรณรงค์ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ มีความคึกคักตั้งแต่เช้า เมื่อแกนนำกลุ่มได้เดินชักชวนสมาชิกพร้อมลูกหลานเยาวชนในหมู่บ้านให้ออกไปร่วมทำกิจกรรม และมีการสวมใส่เสื้อเขียวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการคัดค้านโครงการฯ นอกจากนี้แต่ละคนยังได้จัดเตรียมข้าวปลาอาหารของตัวเองเพื่อนำรับประทานร่วมกัน พอได้เวลาทุกคนต่างมุ่งหน้าสู่พื้นที่เป้าหมายเพื่อทำการรณรงค์ให้ข้อมูลตามแผนที่วางกันไว้
 
การรณรงค์ให้ข้อมูลของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในพื้นที่ บ้างก็ร่วมบริจาคอาหาร น้ำดื่ม บ้างก็กล่าวชื่นชมให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังร่วมลงชื่อเพื่อคัดค้านโครงการฯ และขอรับข้อมูลเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก
 
นายสมาน หล้าทองอินทร์ ชาวบ้านโนนสูง ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับโครงการตั้งแต่รับรู้ข้อมูลว่าจะมีการสร้างเหมือง เพราะได้รับข้อมูลจากกลุ่มคนเสื้อเขียว และถึงแม้ไม่ได้ไปร่วมต่อสู้ด้วย เขาก็จะขอสนับสนุนแนวทางของกลุ่มอนุรักษ์ฯ
 
“บางช่วงไม่เห็นมาเดินตามหมู่บ้านเลยคิดว่าเหมืองสร้างไปแล้ว พอมาเห็นวันนี้ก็ชื่นใจว่าชาวบ้านยังเหนียวแน่นเหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาคนบริษัทฯ ก็มาชักชวนให้ไปรับค่าลอดใต้ถุนก็ไม่เคยไปเอา เพราะคิดว่านี่คือบ้านของเรา จะให้คนอื่นมาขุดเอาแร่ได้อย่างไร” นายสมานกล่าว
 
จนกระทั่งเวลา 15.30 น. กลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็มารวมกันที่วัดอรุณธรรมรังสี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด เพื่อสรุปผลของการทำกิจกรรมในวันนี้
 
นายปัญญา โคตรเพชร เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า การทำกิจกรรมของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในวันนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี ทั้งนี้หากในอนาคตข้างหน้ามีการประชาคมในหมู่บ้าน หรือทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านก็จะได้มีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าเหมืองโปแตชมันมีผลกระทบอย่างไร
 
“ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทโปแตช (บริษัท เอเชียแปซิคฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด) จะพยายามลงพื้นที่ไปล่ารายชื่อชาวบ้านเพื่อนำไปสนับสนุนโครงการ และประกอบรายงานอีไอเอ (รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม) แต่จากการรณรงค์ให้ข้อมูลของพวกเราในวันนี้ก็พบว่าชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ” นายปัญญากล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประวิตร โรจนพฤกษ์: วาทกรรม “ความเป็นกลาง” ของสื่อ ไม่ง่ายอย่างที่อ้าง

Posted: 02 Oct 2011 09:44 AM PDT

 

เหตุการณ์ถกเถียงโต้แย้ง ระหว่างสภาการหนังสือพิมพ์กับเครือมติชน เรื่องความเป็นกลาง หรือไม่เป็นกลางของมติชนและสื่ออื่น จนทำให้มติชนตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า ความเข้าใจวาทกรรม “ความเป็นกลาง” ของสื่อเป็นสิ่งสำคัญและสังคมไทยยังขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งเพียงพอเกี่ยวกับวาทกรรมนี้ จึงขอเสนอความเห็นมาพอสังเขปว่าด้วยเรื่องความเป็นกลาง ดังนี้

คำว่า “ความเป็นกลาง” มักถูกสื่อกระแสหลักใช้สร้างความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือมาเป็นเวลานาน ถึงแม้เอาเข้าจริงอาจมิต่างจากบรรดานายพลผู้ก่อรัฐประหาร ที่มักอ้างว่า ตนกระทำการเพื่อรับใช้ประชาชนและสถาบันกษัตริย์

คำถามแรกที่ควรถามคือ ความเป็นกลางคืออะไร

ความเป็นกลาง คือการอยู่กึ่งกลางระหว่างสองข้างหรือไม่

ความเป็นกลาง คือการอยู่กึ่งกลางระหว่างดีกับชั่ว ผิดกับถูก เผด็จการกับประชาธิปไตย หรือไม่ คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือ เป็นกลางระหว่างอะไร ระหว่างคู่พิพาท หรือ อุดมการณ์ที่ต่างกันสองข้าง สองขั้ว กระนั้นหรือ? และถ้ามีมากกว่าสองข้างอย่างสามสี่ข้าง แล้วจะเป็นกลางได้อย่างไร สื่อมักเอียงไปทางด้านของเจ้าของสื่อ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือทางอุดมการณ์ที่ตนสนับสนุนใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เจ้านิยม อุดมการณ์เผด็จการ อุดมการณ์ทุนนิยม และอื่นๆ

ผู้เขียนเคยเขียนในหนังสือ "สื่อเสรีมีจริงหรือ: บทเรียนประชาธิปไตยและวัฒนธรรมในสื่อไทย" (ประวิตร โรจนพฤกษ์ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง ปี 2545, หน้า 46) ว่า: “เวลายืนดูรูปวาดบนผนังห้องเราสามารถดูได้จากหลายมุม มองหลายระดับตามความชอบและความสนใจ แม้คนสองคนมองจากจุดเดียวกัน ก็มักเห็นต่างกัน เพราะประสบการณ์ความชอบไม่เหมือนกัน คนสามคนมองแก้วน้ำที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ คนแรกบอกว่า "มีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว" คนที่สองบอกว่า "น้ำในแก้วขุ่นมาก" คนที่สามบอก "แก้วน้ำนี้สวยดี".”

ท้ายสุดแล้วจะมองอย่างไร สื่อและนักข่าว รวมถึงบรรณาธิการ ก็หลีกเลี่ยงการมองผ่านแว่นตาทางอุดมการณ์ทางการเมือง/แว่นตาทางชนชั้น/แว่นตาทางเพศสภาพ/แว่นตาทางชาตินิยม/แว่นตาของอุดมการณ์หากำไรขององค์กรสื่อนั้นๆ ได้ลำบาก ข้อจำกัดอื่นๆ ได้แก่ ในพื้นที่ที่จำกัดของสื่อ นักข่าวและ บก. จะให้ความสำคัญกับประเด็นไหน ข่าวใดไว้หน้าหนึ่ง และเลือกข่าวใดเป็นข่าวใหญ่ พวกเขาเลือกที่จะเสนอข่าวบางข่าว และเซ็นเซอร์บางเรื่องเช่นเรื่องเชิงวิพากษ์ หรือเท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเป็นกลางอย่างสัมบูรณ์เป็นไปไม่ได้

นี่ยังไม่รวมถึงโฆษณาจากภาครัฐ ภาคเอกชน ที่มีอิทธิพลต่อการเสนอข่าว เพราะฉะนั้น การที่สื่อจะมาอ้างเรื่องความเป็นกลางอย่างฉาบฉวย หลอกประชาชนโดยโฆษณาตื้นๆ เรื่องความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ความน่าเชื่อถือ จึงเป็นเรื่องน่าละอาย ขาดความรับผิดชอบ คนในวงการสื่อที่เป็นห่วงสังคมจริงๆ ควรกล้าพูดเรื่องความเป็นกลางอย่างเป็นจริงกว่าที่เป็นอยู่

ทุกวันนี้การใช้วาทกรรมเรื่องความเป็นกลางของสื่อ บ่อยครั้งเป็นเพียงการสร้างเกราะบังความเอนเอียงฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงควรถูกตั้งคำถามจากสังคม

เมื่อตระหนักเช่นนี้แล้ว อาจเห็นได้ว่า ความเป็นกลางอย่างสัมบูรณ์ไม่มี จะมีก็แต่ความพยายามเป็นกลางให้มากที่สุด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเช่น ข้อจำกัดทางอุดมการณ์ เช่น ถ้าสื่อมีอุดมการณ์เพื่อเผด็จการ สื่อจะให้พื้นที่สำหรับอุดมการณ์ประชาธิปไตยและก้าวหน้า อย่างเป็นธรรมหรือไม่ และทำไม ในเมื่อเป็นเช่นนี้ การใช้คำว่าเป็นธรรม (fairness หรือ just) น่าจะชัดเจนกว่า ถึงแม้ว่า ความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมของแต่ละคนแต่ละกลุ่มก็อาจไม่เหมือนกัน เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นธรรมหรือไม่ การต้องติดคุกภายใต้กฎหมายหมิ่นนั้นแฟร์ไหม

ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ว่าด้วยเรื่องวาทกรรมของความเป็นธรรมและความเป็นกลาง หากแต่การใช้วาทกรรมเหล่านี้อย่างมักง่ายของสื่อ โดยไม่พูดถึงปัญหาและความย้อนแย้ง กลับสร้างปัญหาในการเข้าใจถึงบทบาทสื่ออันแท้จริง สังคมควรตระหนักว่า “ความเป็นกลาง” เป็นวาทกรรมที่มีปัญหา มีความสลับซับซ้อน และมิได้เป็นกลางอย่างง่ายๆ ไร้ข้อโต้เถียง ไร้ความย้อนแย้ง หรือไร้ข้อจำกัด อย่างที่ถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลักอย่างหยาบๆ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล

Posted: 02 Oct 2011 09:24 AM PDT

มันเป็นเรื่องที่น่าขันจริงๆ ที่ในศตวรรษนี้ ประเทศที่เป็นสมัยใหม่และทันโลกอย่างประเทศไทย ผู้คนกลับไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยถึงประเด็นใจกลางที่เกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง และของลูกหลานตัวเอง

 

2 ตุลาคม 2554

เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก: ปรัชญาไม่เพียงพอ

Posted: 02 Oct 2011 09:13 AM PDT

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมาวิกิลีกส์ได้เปิดเผยบทสนทนาระหว่างนายลีกวนยูอดีตนายกฯสิงคโปร์และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศสิงคโปร์และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย [1] บทสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนหลังรัฐประหารกันยายน 2549 นายลีกวนยูแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยและอนาคตของไทย เขาพาดพิงถึงนโยบายเศรษฐกิจไทยว่า “ไทยได้ปฏิรูปเศรษฐกิจในระบบตลาดมากพอที่ไทยจะไม่ถอยกลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว” (Lee observed that Thailand had instituted enough market economy reforms that it would not return to a “sufficiency” economy.)

ดิฉันเห็นด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าวและคิดว่าชนชั้นนำไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน่าจะเห็นด้วย(อย่างเงียบๆ) ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย และข้าราชการหรือพนักงานระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ อาทิ แบงค์ชาติ คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมส่งเสริมการส่งออก กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ถ้าผู้อ่านไม่เห็นด้วยกับนายลีกวนยู ดิฉันขอเสนอให้ระลึกถึงความเสียหายจากการทดลองปิดสนามบินโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ การปิดสนามบินครั้งนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเศรษฐกิจไทยอาศัยตลาดโลก

 

ทำไมชนชั้นนำที่สนับสนุนรัฐประหารจึงนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประชาสัมพันธ์เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา?
ดิฉันคิดว่าเพราะเขาหายุทธศาสตร์การพัฒนาแบบอื่นมาประชาสัมพันธ์ไม่ได้

ชนชั้นนำไทยไม่เคยปฏิเสธทุนนิยมโลกาภิวัฒน์มาตั้งแต่เซ็นสนธิสัญญาเบาวริงในปีพศ. 2398 หลังเซ็นสัญญา นอกจากข้าวแล้วไม้สักและแร่ดีบุกเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันมาจากการตัดไม้ทำลายป่ามาตั้งแต่150 ปีที่แล้ว บริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดกิจการในสยาม ไม่ว่าจะเป็นกิจการตัดไม้สัก ขุดเจาะแร่ธาตุ และธนาคาร ธนาคารแห่งแรกในสยามไม่ใช่ธนาคารของคนไทยแต่เป็นธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่นของคนอังกฤษ ธนาคารสยามกัมมาจลหรือธนาคารไทยพาณิชย์เกิดจากการร่วมทุนระหว่างราชสำนักและนักธุรกิจชาวเยอรมันและชาวเดนมาร์ก ผู้บริหารธนาคารสยามกัมมาจลคือคนเยอรมันและคนอังกฤษจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 [2] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก้าวเข้าสู่โลกาภิวัฒน์มากขึ้นพร้อมๆกับประเทศอุตสาหกรรม บรรษัทข้ามชาติอเมริกันเริ่มร่วมทุนกับชนชั้นนำไทยตั้งแต่ยุคสงครามเกาหลี ตามด้วยบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นในยุคสงครามเวียดนาม ต่อมาก็เปิดให้ทุนต่างชาติลงทุนในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์มาจนถึงปัจจุบัน

อิทธิพลของโลกาภิวัฒน์ครอบคลุมไปถึงด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีบิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัยและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นชาวอิตาลี โรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในไทยคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนซึ่งก่อตั้งโดยมิชชันนารีและเป็นโรงเรียนที่ชนชั้นนำนิยมส่งลูกเรียนมาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนอัสสัมชัญที่นักธุรกิจนิยมส่งลูกเข้าเรียนก็ก่อตั้งโดยมิชชันนารีเหมือนกัน ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือและภาคตะวันออกก็มีโรงเรียนมิชชันนารีไว้ช่วยสร้างทายาทชนชั้นนำ ความนิยมโรงเรียนมิชชันนารีในหมู่คนชั้นนำวิวัฒนาการมาเป็นความนิยมโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนประจำต่างประเทศ การคลอดลูกในประเทศทุนนิยมตะวันตกเพื่อให้ลูกมีสัญชาติตะวันตกกลายเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นนำที่ชนชั้นกลางอยากเลียนแบบ ปริญญาจากต่างประเทศและทักษะภาษาต่างชาติโดยเฉพาะภาษาตะวันตกสำคัญต่อสถานะทางสังคม แม้แต่การเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมก็อาศัยกระบวนการจากประเทศ อาทิ การเผยแพร่วรรณกรรมชาตินิยมโรแมนติกเรื่องทวิภพและสี่แผ่นดินในรูปแบบมิวสิคัล ถ้าเผยแพร่ในรูปแบบลิเกคงจะขายไม่ออก การผลิตภาพยนตร์ชาตินิยมก็ต้องอาศัยกล้องจากต่างประเทศ สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทยโดนผูกติดกับเทคโนโลยีต่างชาติ ชัดเจนว่าชนชั้นนำไทยตอบรับโลกาภิวัฒน์อย่างหน้าชื่นตาบาน

ทั้งๆที่ชนชั้นนำไทยไม่เคยปฎิเสธทุนนิยมโลกาภิวัฒน์มาเป็นเวลา 150 ปีและไม่มีแนวโน้มจะปฏิเสธในอนาคต แต่ชนชั้นนำที่สนับสนุนรัฐประหารประชาสัมพันธ์ระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ เพราะแนวร่วมที่สำคัญคือกลุ่มเอ็นจีโอที่ต่อต้านทุนนิยมตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เขาจะลดพื้นที่ให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบภูมิภาคนิยมหรือเอเชียนิยมก็ไม่ได้ เพราะจีนและญี่ปุ่นต้องการความร่วมมือจากทั้งกลุ่มอาเซียน จะเป็นอาเซียนนิยมแบบในยุคนายกฯชาติชาย ชุณหะวันก็ติดขัดตรงความสัมพันธ์กับกัมพูชา ความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาจะทำลายอุดมการณ์ชาตินิยมซึ่งช่วยสร้างภาพวีรบุรุษให้กองทัพเพื่อขับเคลื่อนพลังสนับสนุนรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ ชนชั้นนำที่สนับสนุนรัฐประหารจึงประชาสัมพันธ์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีนัยยะด้านชาตินิยมและสอดคล้องกับแนวคิดชุมชนนิยมของเอ็นจีโอควบคู่ไปกับวาทกรรมทุนนิยมสามานย์

 

ปรัชญาต่างจากเศรษฐศาสตร์อย่างไร?
ความแตกต่างระหว่างปรัชญาและเศรษฐศาสตร์อยู่ที่คณิตศาสตร์ ปรัชญานำเสนอตรรกะแต่ตรรกะจะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็พิสูจน์ไม่ได้ถ้าไม่ใช้คณิตศาสตร์ หัวใจของการจัดสรรทรัพยากรตามกระบวนการเศรษฐศาสตร์คือ Constrained optimization หรือการหาประโยชน์สูงสุดแบบมีข้อจำกัด เศรษฐศาสตร์ไม่สอนให้บริโภคแบบไม่บันยะบันยัง ข้อจำกัดพื้นฐานคืองบประมาณและเวลา ดังนั้นเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยไม่ใช่ลัทธิบริโภคนิยม ใครอยากบริโภคมากก็ต้องทำงานมาก ใครอยากบริโภคน้อยก็ทำงานน้อย ใครมีความสุขแบบไหนก็เลือกเอาเองตามใจชอบ รัฐอยากจัดสรรทรัพยากรอย่างไรก็ใช้ระบบภาษีเพื่อจูงใจหรือลงโทษได้

คณิตศาสตร์ทำให้นโยบายสาธารณะจับต้องได้และประเมินได้ ที่สำคัญคณิตศาสตร์คือภาษาสากลที่ทำให้คนนอกอาชีพเศรษฐศาสตร์ร่วมประเมินนโยบายด้วยได้ นโยบายสาธารณะหลายอย่างต้องอาศัยวิชาชีพอื่นนอกเหนือจากเศรษฐศาสตร์ เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ด้านการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากร ในระดับบุคคลคือการตัดสินใจบริโภคและแบ่งเวลาทำงาน ในระดับบริษัทคือการตัดสินใจผลิตและใช้ปัจจัยการผลิต ในระดับประเทศคือการตัดสินใจจัดสรรปัจจัยการผลิตและผลผลิต ถ้าไม่ใช้คณิตศาสตร์ก็ยากที่จะให้วิศวกร สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์เข้ามาร่วมวางแผนนโยบายร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ การก้าวพ้นปรัชญาจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของการนำเสนอนโยบายสาธารณะ

ดิฉันไม่ปฏิเสธคุณค่าของปรัชญา แม้ปรัชญาไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ปรัชญาก็มีคุณค่าทางวรรณกรรม การผสมผสานระหว่างปรัชญาและวรรณกรรมมีคุณค่าทางด้านบันเทิงซึ่งสามารถแปรรูปเชิงพาณิชย์ได้ในมูลค่ามหาศาล แต่การแปรรูปวรรณกรรมเชิงพาณิชย์ก็ยังต้องอาศัยยุทธศาสตร์ด้านการตลาดซึ่งปรัชญานำเสนอไม่ได้

 

คณิตศาสตร์คือกุญแจสู่ความโปร่งใส
ความสำคัญของคณิตศาสตร์ไม่จำกัดแค่ด้านเศรษฐกิจแต่ครอบคลุมไปถึงด้านภัยธรรมชาติ กฎหมายและการเมือง จะป้องกันน้ำท่วมกันอย่างไรก็ต้องอาศัยวิศวกรชลประทานช่วยคำนวณต้องอาศัยสถาปนิกช่วยออกแบบผังเมือง ศาลจะสั่งปรับเท่าไรจะยึดทรัพย์เท่าไรจะจำคุกกี่ปีจำเป็นต้องใช้ตัวเลข จะถกเถียงกันว่าอย่างไรถึงยุติธรรมก็ต้องอ้างอิงตัวเลขต้องใช้คณิตศาสตร์มาคำนวณ อยากรู้ว่าใครคอรัปชันกว่าใครก็ต้องอ้างอิงตัวเลข ตัวเลขจะทำให้เกิดความโปร่งใสซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาคอรัปชัน

เศรษฐกิจและสังคมไทยกินอยู่กะทุนนิยมโลกาภิวัฒน์มา 150 ปี มาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปพายเรือ นั่งเกวียน กินยาหม้อ หรือส่งลูกเรียนโรงเรียนวัด การปกปิดความจริงเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ชนชั้นนำไทยได้รับจากโลกาภิวัฒน์ทำให้เสียเวลาพัฒนาประเทศ เวลา 50 ปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้และสิงคโปร์อาศัยโลกาภิวัฒน์จนติดอันดับโลกในหลายด้าน คนสิงคโปร์และคนเกาหลีใต้เดินทางทั่วโลกได้โดยไม่ต้องขอวีซาแบบคนไทย แม้คนสิงคโปร์จะไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเท่าคนเกาหลีใต้ แต่คนสิงคโปร์ก็มีความเท่าเทียมทางการเมือง คือไม่เสรีเท่ากันยกเว้นครอบครัวนายลีกวนยูซึ่งชดเชยให้คนสิงคโปร์ด้วยเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แม้สิงคโปร์พื้นที่เล็กมากคนสิงคโปร์สามารถบินไปเที่ยวไปหาความสุขในประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทย

ไทยจะอยู่กับโลกาภิวัฒน์อย่างไรเพื่อให้ประโยชน์กระจายสู่ประชากรส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์การพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์อะไรยุทธศาสตร์ที่สร้างสรรค์ต้องก้าวพ้นปรัชญาและนำเสนอตัวเลขด้วยตรรกะทางคณิตศาสตร์ที่ประเมินผลได้ จะเสนอโลกานิยม เอเชียนิยม อาเซียนนิยม หรือชุมชนนิยม ก็ต้องเอาตัวเลขมาประกวดแข่งกันให้ชัดเจนด้วยตรรกะทางคณิตศาสตร์ การนำเสนอด้วยปรัชญามีอรรถรสด้านวรรณกรรมแต่นำไปประเมินไม่ได้ ถ้าไม่ยอมเสนอตัวเลขให้ชัดเจนและหยุดที่จริยธรรมนิยมซึ่งมีสาระว่าเสนอให้นักบุญอวตารมาพัฒนาประเทศให้ วันที่ประชากรส่วนใหญ่จะได้ลืมตาอ้าปากก็คงเป็นชาติหน้าที่มาไม่ถึง

หมายเหตุ

  1. ผู้อ่านที่สนใจสามารถใช้กูเกิลหาสคริปต์บทสนทนาจากวิกิลีกส์ได้
  2. British Business in Asia since 1860, edited by R.P.T. Davenport-Hines and Geoffrey Jones, 1989: Cambridge University Press
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: หิวประหาร-ประหารหิว

Posted: 02 Oct 2011 09:06 AM PDT

จักประหารความหิวด้วยความอด

จักประชดรสชาติด้วยความเฉย

จักประท้วงความอิ่มมิลิ้มเลย

จักเยาะเย้ยเหยียดหยันสวรรยา

 

อันความหิวแม้อาจประหารมนุษย์

ให้ยื้อยุดฉุดแย่งแรงตัณหา

สวาปามสยามป่นปล้นบีฑา

เสวยเสพย์มังสาประชาไท

 

ขอประหารความหิวมิรู้โหย

อำมาตย์กลืนกอบโกยกระอักไส้

แลกความอิ่มลิ้มความอดขบถใจ

ตระหนักในเพทนาประชาชน

 

ประจักษ์แจ้งแรงหิวผอมผิวเกรียม

ราษฎร์ถูกราชประหารเหี้ยมทุกแห่งหน

ฟังสิฟังเสียงท้องร้องของคนจน

กิ่วขอดทนยังกร่นเพรียกให้เพียงพอ

 

ในความอดสดใสหทัยสุข

ไม่โลภรุกทุกข์ร่ำน้ำสายสอ

แม้นโหยไห้ไส้แหบทั้งแสบคอ

มิร้องขอเศษน้ำใจใครเยียวยา

 

ขอเพียงหยุดข่มเหงยำเยงไพร่

เสรีให้เทียมเท่าทั้งเจ้า-ข้า

ประหารรอยล้ำเหลื่อมเชื่อมศรัทธา

ล้างความหิวล้านชิวหารากหญ้าครอง

 

หิวประหารฤอาจต้านประหารหิว

เลิกกดขี่ชี้นิ้ว "หนึ่งหนึ่งสอง"

กฎหมายทาสป่าเถื่อนเบือนครรลอง

เร่งคืนความถูกต้องของ...รัฐธรรมนูญ

 

 

ปล. แด่การประกาศเจตนารมย์ของกลุ่มศิลปิน  No. 112 Hunger Strike!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อังคณา นีละไพจิตร ‘สิทธิในรัฐไทยยังมีข้อจำกัด’

Posted: 02 Oct 2011 08:58 AM PDT

ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2554 โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless : from the southernmost People in Thailand) ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

งานใหญ่ที่รวมเสียงคนไร้สิทธิเริ่มด้วยการบรรยายในหัวข้อ “สันติสุขและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม” โดยนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Justice for Peace Foundation) ปูพรมปัญหาสิทธิในชายแดนใต้ ต่อหน้าประชาชนกว่า 500 คน

ต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาจากการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อนี้

0 0 0

หัวข้องานครั้งนี้ คือ เสียงผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้ ดิฉันเห็นว่า สิทธิเป็นสิ่งที่ติดตัวคนเรามาตั้งแต่กำเนิด ไม่มีใครสามารถจะมาลิดรอนสิทธิของเราไปได้ ผู้ที่จะเอื้อให้เกิดสิทธิต่างๆ เหล่านี้แก่บุคคล ก็คือ รัฐโดยตรง ซึ่งมีหน้าที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิเสรีภาพของตนได้ เนื่องจากกลไกความบกพร่องอะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่

ที่สำคัญที่สุด พลเมืองเอง ประชาชนเอง บุคคลเอง ไม่รู้สิทธิของตัวเอง จึงทำให้ตัวเองไม่สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือฎีการะหว่างประเทศ

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ มีความเป็นพหุวัฒนธรรม แม้รัฐธรรมนูญไทยจะเขียนว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยประกอบด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม แต่ไทยเอง มีข้อจำกัดเรื่องวิธีคิดในการยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ในต่างประเทศ มีการใช้คำว่า Indigenous หมายถึง ชนเผ่าดั้งเดิม ชนพื้นเมือง และสหประชาชาติเอง ก็มีกฎกติการะหว่างประเทศที่จะคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้อยู่ แต่ประเทศไทยไทยยังไม่สบายใจ

แม้กระทั่งจะแปลคำว่า Indigenous เป็นภาษาไทย จนทำให้เป็นข้อแตกต่างที่ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะลงสิทธิอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งของคนดั้งเดิมหรือชนเผ่า

แม้ประเทศไทยมีชนเผ่ามากมายทางภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเผ่าอาข่า ลีซอ ทางภาคใต้ มีอุรักละโว้ย อุรักละมง ถ้ากลับมาดูที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนมลายูมุสลิม ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนน้อยในประเทศไทย แต่ก็เป็นคนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่คนพื้นเมืองที่อยู่ตามชายขอบของประเทศไทยเป็นคนส่วนน้อย คนเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วอยู่ในสถานะบุคคลที่ยังไม่มีสัญชาติ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆได้

ในรัฐธรรมนูญเขียนว่า “สิทธิของปวงชนชาวไทย” หมายถึงคนที่จะเข้าถึงสิทธิได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่ว่าสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การศึกษา หรือการรักษาพยาบาล เป็นต้น

แต่ที่จริงแล้ว สิทธิต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิที่ต้องได้รับความคุ้มครอง เป็นสิทธิที่ต้องได้รับการยอมรับ เพราะเป็นสิทธิตามหลักมนุษยธรรมทางสากล เด็กเกิดมา อย่างน้อยมีสิทธิที่ควรได้รับการจดทะเบียนการเกิด คนเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องสามารถเข้าถึงสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาล เป็นต้น

แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติ หรือวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนเองที่ละเลย จนทำให้คนที่อยู่ตามชายแดน มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย แม้แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ สิทธิในการเข้าถึงเจตจำนงของตนเอง

ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในมาตราที่ 1 ในสัญญาฉบับนี้ กล่าวไว้ว่า บุคคลมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง แต่ประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนไว้ในมาตราที่ 1

การตั้งข้อสงวน คือ รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งข้อสงวนไว้ว่า จะต้องไม่หมายถึงการแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น

ดิฉันเองในฐานะที่เป็นผู้เขียนรายงานประเทศไทยในอนุสัญญาฉบับนี้ เพื่อที่จะส่งต่อสหประชาชาติ ในรายงานฉบับที่ 2 ของประเทศไทย ผู้เขียนรายงานก็มีความพยายามที่จะให้รัฐบาลได้ถอนข้อสงวนข้อนี้ออก แต่ก็ยังติดขัดจากหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งมีความกังวลว่า สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง อาจถูกตีความว่า เป็นสิทธิในการเป็นอิสระได้ ก็เลยทำให้มาตรา 1 ในอนุสัญญาระหว่างประเทศในฉบับนี้ ประเทศไทยก็ยังคงตั้งข้อสงวนอยู่

ถ้าเรามาดูตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2482 มีความพยายามที่จะนิยามความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ นับตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย มีการกำหนดนิยามความเป็นไทย กำหนดภาษาประจำประเทศไทย การแต่งกาย ฯลฯ

ในยุคสมัยนั้น ได้ก่อให้เกิดความคับข้องหมองใจเป็นอย่างมาก จากคนซึ่งมีความต่างทางด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษา เนื่องจากรัฐในสมัยนั้น มองใครก็ตามที่ไม่พูดภาษาไทยว่า ไม่ใช่คนไทย ใครก็ตามที่ชื่อไม่เหมือนคนไทย คนนั้นไม่ใช่คนไทย หรือใครก็ตามที่แต่งตัวไม่เหมือนคนไทย คนเหล่านั้นอาจเป็นศัตรูของรัฐได้

รัฐมองคนเหล่านี้ด้วยสายตาแห่งความไม่ไว้วางใจมาตลอด จึงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรู้สึก ซึ่งนำมาด้วยความไม่ไว้วางใจ การไม่ร่วมมือ จนกระทั่งเป็นความขัดแย้ง และในบางพื้นที่ก็เป็นเหตุรุนแรงต่อมาด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประชาชนในพื้นที่ชายขอบของประเทศไทย หรือผู้ที่เป็นคนกลุ่มน้อย ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับความเท่าเทียมในการใช้กฎหมาย ไม่มีการสร้างระบบธรรมาภิบาล หรือระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นจริง สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาที่ลุกลามบานปลายขึ้นมา แม้ว่าประเทศไทยจะรับรองในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการถูกทรมาน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่การที่จะปฏิบัติตามพันธะข้อตกลงเหล่านั้น ต้องยอมรับว่า เจ้าหน้าที่รัฐเอง ยังมีข้อบกพร่อง ก็เลยเป็นสาเหตุของปัญหาประการหนึ่ง

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ความละเอียดอ่อนมีมากกว่าพี่น้องชนกลุ่มน้อยในพื้นที่อื่น เนื่องจากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจากที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาและวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยึดมั่น ถือมั่นและเคารพมาก

อะไรก็ตามที่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม จะทำให้พี่น้องพลเมืองที่นี่รู้สึกรับไม่ได้ เป็นต้น

ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคือ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ถ้าเราไปดูทางภาคเหนือ มีพี่น้องชนเผ่าจำนวนไม่น้อยที่สูญหาย ถูกฆ่าตายด้วยกระบวนการยุติธรรม ถูกจับกุม ถูกซ้อมทรมาน เป็นต้น คนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่กฎอัยการศึกเช่นเดียวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษกลับไม่สามารถทำได้จริง จนเกิดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล เราไม่เคยปรากฏว่า หากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนของรัฐแล้ว จะสามารถนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทยได้

แม้แต่เหตุการณ์ตากใบ (จังหวัดนราธิวาส) ที่มีคนตาย 85 คน สุดท้าย แม้จะมีพยาน หลักฐานมากมาย เราก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แม้เพียงสักคนเดียว สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ประชาชนชนเชื่อมั่นว่า เป็นการเลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย

ขณะที่ประชาชนทำผิด ประชาชนถูกจับกุม ถูกควบคุมตัว ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ถูกล่าวหา กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำเขาเหล่านั้น เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นเสมอ ในพื้นที่ในชนบทของประเทศไทย ก็คือ เรื่องการแย่งชิงทรัพยากร การรุกรานทางทรัพยากร

ถ้าเราดูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าใครมีโอกาสได้ไปนั่งฟังชาวบ้านในพื้นที่สีแดง พื้นที่ที่รัฐมองว่า มองเห็นต่างจากรัฐ

ลองเข้าไปนั่งฟังเขา อาจทราบอะไรใหม่ๆ เช่น พื้นที่ของเขื่อนบางลาง ซึ่งวันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครอบครองอยู่ ใต้น้ำของเขื่อนบางลางเคยเป็นสุสานของบรรพบุรุษ มีหมู่บ้านพลเรือนกว่า 1,000 หมู่บ้านที่จมอยู่ใต้น้ำ ในนั้นมีมัสยิด ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจอยู่

การสร้างเขื่อน เริ่มต้นในปีพ.ศ. 2519 ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพมหานคร แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการสร้างเขื่อนบางลาง รัฐเองให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะทดแทน เยียวยา หาที่อยู่ให้ใหม่ สร้างมัสยิด สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ แต่ถามว่า วันนี้รัฐได้ให้ตามคำมั่นสัญญากับเขาไหม

สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความขัดแย้งในพื้นที่บันนังสตา ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจ ประชาชนหลายคนที่บ้านเรือนจมอยู่ใต้เขื่อน ทำให้ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกิน หลายคนมองว่า รัฐเองเป็นผู้รุกราน

เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ไม่ว่าภาคอีสาน เรามีแม่สมปองที่ขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชน เป็นสมาชิกสมัชชาคนจน

เรื่องเหล่านี้ ถ้ามีการประท้วง มีการขัดแย้งหรือไม่ยอมรับอำนาจรัฐในท้องที่อื่น ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าใครลุกขึ้นมาต่อต้าน แสดงความไม่เห็นด้วย เขาเหล่านั้นจะถูกมองว่า เป็นแนวร่วมบ้าง เป็นผู้ก่อความไม่สงบบ้าง

ในพื้นที่บันนังสตา มีวีรบุรุษหลายคน ทั้งทหาร ตำรวจ แต่วีรบุรษของรัฐกับวีรบุรุษประชาชนเป็นคนละคนกัน

ปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุประการหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความระแวง ความไม่ไว้ใจ ความไม่ร่วมมือและการต่อต้านรัฐ

การขาดระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆเหล่านี้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา

ถ้าเราไปดูชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี ปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านยังไม่จบ วันนี้คนที่เลี้ยงหอยแครงถูกจับจำนวนมากและเหตุการณ์ดูจะรุนแรงมากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้ คือ การแย่งชิงฐานทรัพยากร ถามว่า ใครเป็นผู้ดูแล ใครจะเป็นผู้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน

เราสนใจแต่การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราสนใจแต่เรื่องเมกะโปรเจ็กส์ แต่เราไม่ได้สนใจ โดยเฉพาะรัฐเองให้ความสนใจน้อยมากต่อประมงชายฝั่งประมงพื้นบ้าน

ถ้าถามว่า เขื่อนบันนังสตาผลิตไฟฟ้าให้ใคร พูดถึงพื้นที่จังหวัดยะลา หรือพื้นที่ใกล้เคียงกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบ้านสักกี่บ้านที่ใช้แอร์โฟร์ซิซั่นปรับอากาศ มีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่สักกี่แห่งที่จะต้องใช้พลังงานจากเขื่อน

ในขณะเดียวกัน การสร้างเขื่อนที่ทำให้เกิดปัญหาต่อชาวบ้านนั้น เอื้อผลประโยชน์ให้กับใคร

สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจำเป็นจะลุกขึ้นมา เพื่อทวงถามสิทธิของตัวเอง ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ประชาชนยังมีความขมขื่น ถ้าเรามีโอกาสเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนหลายคน เราจะรู้ว่า คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมประชาชนเลือกที่จะไม่เข้าข้างรัฐ

ถ้าถามว่า ความคิดที่เป็นอิสระเป็นความผิดไหม ?

ดิฉันมองว่า ความคิดที่เป็นอิสระไม่ใช่ความผิด ความคิดที่เป็นอิสระเป็นเสรีที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาที่จะเป็นอิสระทั้งนั้น

ถ้าหากว่า เขาไม่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เป็นธรรม ทุกคนก็ต้องการที่จะเป็นอิสระ แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่รัฐสามารถให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ ให้หลักประกันในการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นได้ เขาก็จะอยู่ในแผ่นดินที่เขาเกิดอย่างสงบ สันติ

ถ้าเรามองชุมชนมุสลิมที่มีความผูกพันกับศาสนามาก เราจะพบว่า พี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับการได้สิทธิในการนับถือศาสนา เป็นสิ่งที่เขาต้องต่อสู้ ดิ้นรนอย่างมาก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ถึงแม้มาตรา 37 ในรัฐธรรมนูญไทย บอกว่า บุคคลมีสิทธิเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นมาตราเดียวที่มีเสรีภาพบริบูรณ์ เสรีภาพที่ไม่สามารถมีใครมาขัดแย้งได้ และได้รับการรับรองจากกติกาสากล ว่าด้วยสิทธิทางการเมืองมาตรา 18 ถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาเช่นกัน

เสรีภาพนี้ รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย สิทธิและเสรีภาพในการใช้กฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทางศาสนา สิทธิเสรีภาพในการมีศาลทางศาสนา สิทธิเสรีภาพในการมีสถาบันทางการเงินที่ถูกหลักการทางศาสนาด้วย

สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปต่อสู้ ดิ้นรน หรือไม่ใช่เรื่องของความผิด แต่ที่ผ่านมา เราพบว่า กว่าประชาชนจะได้สิ่งเหล่านี้มา ต้องต่อสู้ ต้องใช้ความยากลำบากกว่าที่หลายๆสิ่งจะได้มาในวันนี้ ทั้งๆที่ สิ่งเหล่านี้เป็นเสรีภาพโดยสมบูรณ์ และเป็นสิ่งที่จำเป็นที่รัฐต้องจัดหาให้

โจทย์สำคัญก็คือ แล้วจะกลับมาอยู่ มาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันต่อไปอย่างไร เราจะกลับมาอยู่ด้วยกัน โดยลืมความบาดหมางใจที่มีต่อกันไปได้อย่างไร เราจะฝืนความไว้เนื้อเชื่อใจที่มันสูญหายไปได้อย่างไร

ถ้ารัฐเองเรียกร้องความไว้วางใจจากประชาชน ก็ต้องถามกลับว่า แล้วรัฐไว้วางใจประชาชนแค่ไหน รัฐเองมองเขาเองว่า มีสิทธิเสรีภาพสมบูรณ์ไหม ทำไมเสียงของเขาไม่ได้ยิน ไม่ได้รับการตอบสนอง

ปัญหาสำคัญ คือ วิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มองในมุมมองความมั่นคงของภาครัฐ มากกว่าการมองความมั่นคงของมนุษย์

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า รัฐไทยเองมีความหวาดระแวงสูง มองถึงความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงของแผ่นดินเป็นหลัก แต่ลืมที่จะมองความมั่นคงของมนุษย์ที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้น

หลักความคิดก็คือ ถ้ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ใดได้อย่างมีความสุข มีความปลอดภัย รู้สึกว่าได้รับการคุ้มครอง ไม่มีใครหรอกที่อยากจะอยู่

ดังนั้น การให้ความสำคัญกับมนุษย์ซึ่งอยู่ในรัฐนั้น จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความมั่นคงของประเทศเช่นกัน

ในขณะที่เราพูดถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องความขัดแย้ง ความคับข้องหมองใจของประชาชนที่มีต่อรัฐ ต้องไม่ลืมว่า ตัวแปรสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ เรื่องของอิทธิพลเถื่อน ไม่ว่า ยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ซึ่งมีมากมาย

ถ้าเราไปดูในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสงขลา ปัตตานี ในชายแดนแถบอำเภอสุไงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สิ่งผิดกฎหมายเติบโตอย่างรวดเร็วมาก

ถามว่าทำไมถึงเกิดขึ้น?

ในชุมชนของเรา มีชุมชนไหนบ้างที่ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพติด หลายคนในชุมชนรู้ดีว่า ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด บางครั้งเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นคนของรัฐ เป็นนักการเมืองท้องถิ่นเอง แต่ด้วยความที่ชาวบ้านเองก็ไม่เข้มแข็งพอในการที่จะออกมาให้ข้อมูล หรือหยุดยั้งขบวนการเหล่านี้ได้

หลายครั้งที่ขบวนการเหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งในการก่อความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐบาลเองก็ปล่อยปละละเลยมานาน ในปัตตานีมีโต๊ะพนันบอลเกลื่อน มียาเสพติดระบาดอย่างมาก

ดิฉันมีตัวเลขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีผู้ติดยาเสพติด ซึ่งต้องการการบำบัด 20,000 คน แต่ตัวเลขของ ป.ป.ส.(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) บอกว่ามี 50,000 คน แต่ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดมี 20,000 คน

ในจำนวนผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัด 20,000 คน เรามีเตียงที่จะบำบัดได้เพียงไม่กี่ร้อยเตียง มีอยู่ที่สถานบำบัดปัตตานี 100 เตียง ที่ศูนย์บำบัดยาเสพติดสงขลา ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 100 เตียง และกำลังสร้างที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลาอีก 100 เตียง ทั้งหมดไม่เกิน 300 เตียง แต่ตัวเลขของคนที่ต้องเข้ารับการบำบัดมี 20,000 คน

ชาวบ้านเองก็พยายามที่จะช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการที่จะจัดสถานบำบัดเยาวชนผู้ติดยาเสพติดด้วยวิธีทางธรรมชาติ หรือวิธีหักดิบ ปล่อยให้ลงแดงแบบนี้ เป็นต้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นความพยายามของชาวบ้านมากในการที่จะดูแลตัวเอง

แต่เนื่องจาก ยาเสพติดไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และกลไกที่จะเลิกยาได้ นอกจากต้องใช้ความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างมากแล้ว ก็ยังต้องพึ่งพาหลักการที่ถูกต้องตามหลักสาธารณสุขด้วย จึงจะสามารถทำให้เลิกยาได้โดยเด็ดขาด

ตรงนี้เอง เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า รัฐไม่ได้เข้ามาดูแลและยุติการแพร่ขยายของยาเสพติดอย่างจริงจัง และยาเสพติดก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้บั่นทอนอนาคตของเยาวชน ลูกหลานของเราไปด้วย

อีกประการหนึ่ง ในส่วนของผู้หลงผิด เราต้องยอมรับว่า เรามีเยาวชนที่หลงผิดที่เข้าร่วมขบวนการ รัฐเองยังไม่มีแนวทางที่จะทำอย่างที่ทำให้คนที่หลงผิดกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติและได้รับการยอมรับในฐานะผู้หลงผิด

ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) มาตรา 21 แต่วิธีการที่จะนำมาใช้ก็ยังมีหลายขั้นตอน ซึ่งถูกตั้งคำถามอย่างมากว่า วิธีการนี้จะเหมาะสม หรือสามารถที่จะดูแล เยียวยาให้กับผู้ที่หลงผิดได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติหรือไม่

อีกประการหนึ่ง เป็นปัญหาที่พบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นโยบายบางอย่างของภาครัฐเอง เช่น การที่สนับสนุนให้ประชาชนป้องกันตัวเอง เราจะพบว่า วันนี้เรามีกองกำลังติดอาวุธพลเรือนขึ้นอย่างมากมาย

ครูเองก็มีหน้าที่ต้องป้องกันตัวเอง มีการแจกอาวุธให้กองกำลังอาวุธฝ่ายติดตามพลเรือน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการแพร่กระจายอาวุธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น ไม่มีใครรู้ว่า อาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งหมดเท่าไหร่ และถ้าเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว เราจะเรียกอาวุธเหล่านั้นคืนได้อย่างไร

ถ้าเรายึดมั่นในแนวทางสันติวิธี หรือการไม่ใช้ความรุนแรง เราก็ไม่ควรให้มีการแพร่กระจายของอาวุธมาก

ในขณะเดียวกัน โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันเคยทำวิจัยในเรื่องความสัมพันธ์กับเด็กที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชุดรักษาความปลอดภัยของชาวบ้าน

จริงๆแล้ว ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในพื้นที่ความขัดแย้งทางอาวุธ ซึ่งประเทศไทยจะต้องไปดูแลไม่ให้เด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาวุธ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลก็คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

แต่จากการลงไปทำวิจัย เราพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธ เกี่ยวข้องกับหน่วย ชรบ.(ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) มี 65 % ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เด็กอายุต่ำสุดที่เราพบอายุเพียง 13 ปีก็สามารถใช้อาวุธสงครามได้

เรื่องเหล่านี้อาจดูปลีกย่อย แต่เป็นเรื่องเราต้องให้ความสำคัญและระมัดระวัง เนื่องจากเด็กจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่และจะมีทัศนคติ วิธีคิดในการแก้ปัญหา

ถ้าเรายึดมั่นในการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธจะต้องถือว่า เป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติและเราเองก็ไม่รู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กทั้งทางฝ่ายรัฐเอง หรือฝ่ายขบวนการเอง วันนี้ก็ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ที่จะเป็นผู้ใช้ความรุนแรงด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราก็ต้องเรียกร้อง เนื่องจากวุฒิภาวะวัยวุฒิอะไรต่างๆ เราจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูให้มากขึ้น

ในปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อห่วงใยอย่างมากก็คือ เรื่องการสร้างความเกลียดชัง เนื่องจากมีการบิดเบือนหลักการทางศาสนา มีเยาวชนบางส่วนหลงผิด ในขณะเดียวกันก็จะมีการแบ่งพวก เช่น เมื่อคนไทยพุทธถูกยิงก็จะประณามว่า เป็นพวกที่นับถือศาสนาอิสลาม

เมื่อคนมุสลิมถูกยิง ก็จะมองว่าเป็นเจ้าหน้าทีรัฐ หรือคนพุทธ เป็นต้น ทำให้คนซึ่งเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในสังคมกลับแบ่งแยก มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แม้มีการป้องกันแล้ว ก็ยังรู้สึกว่า แบ่งแยกมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐเองควรจะเข้าไปดูแล และประชาชนที่อยู่ด้วยกันต้องมีความหนักแน่น

ขณะเดียวกันรัฐต้องเข้าไปดูแลก็คือ ใครก็ตามที่ทำผิดต้องนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องไม่ปล่อยให้เกิดข่าวลือ เช่น คนยิงเป็นคนไทยพุทธบ้าง คนยิงเป็นคนมุสลิมบ้าง เอาหลัก เอาชื่อ เอาความเป็นศาสนา ชาติพันธุ์มาทำให้เกิดความขัดแย้งกัน

ถ้าหากลองเข้าไปดูใน Social Media เว็บไซต์หรือว่าในเว็บไซด์เฟสบุ๊กต่างๆ จะรู้สึกว่า มันน่ากลัว บางคนที่โฟสต์เข้ามาในเฟสบุกส์ถึงขั้นบอกให้ไปฆ่ากัน เพื่อเอาคืนก็มี

ในขณะที่เราบอกว่า เรารักสันติวิธี แต่ถ้าเราไปดูใน Social Media ของหน่วยงานความมั่นคงเอง เราจะพบว่า มีหลายคนที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องของการแก้แค้น ความพยาบาท เป็นต้น

แม้แต่ปัจจุบัน เรามีการเปิดพื้นที่ในการพูดเรื่องของการปกครองในรูปแบบพิเศษมากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความกังวลในรูปแบบการปกครองเหล่านี้ อย่างการแสดงความคิดเห็นก็อาจจะถูกต่อต้าน จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การสร้างบรรยากาศของการเป็นพื้นที่ปลอดภัย อาจนำมาซึ่งความหวาดระแวงของประชาชนต่อประชาชนด้วยกันเองด้วย

สิ่งที่ดิฉันอยากจะขอพูดสรุปในวันนี้ก็คือ เราจะสร้างความหวังในการไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันได้อย่างไร ดิฉันเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดดิฉันเห็นว่า ต้องเริ่มจากรัฐ หน้าที่รัฐเองเป็นผู้ดูแล เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ที่จะต้องทำ รัฐเองจะต้องทำในสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้อง หรือความต้องการของประชาชน

ในการที่จะฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจ คงต้องเริ่มต้นจากการทำงานร่วมกัน ต้องทำทุกภาคส่วน เริ่มด้วยการรับฟังจากทุกภาคส่วน พัฒนากลไกการตรวจสอบให้มีความเข้มแข็ง เมื่อสัญญาแล้วต้องรักษาสัญญา เมื่อบอกว่าจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำ ต้องไม่ปกปิด ต้องไม่แอบทำ ต้องไม่ทำให้เกิดการระแวงสงสัย

ที่สำคัญ คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความระแวงสงสัย ไม่ไว้ใจ รัฐเองต้องเยียวยา การเยียวยามีความสำคัญมาก การเยียวยาไม่ได้หมายถึง การให้เงินเพื่อตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่การเยียวยายังหมายถึง การเยียวยาด้านความเป็นธรรม การเยียวยาบาดแผลซึ่งอยู่ในใจ ซึ่งสิ่งที่อยู่ในใจถ้าพัฒนาไปเป็นความทรงจำ มันยากที่จะลืม

อย่างไรก็ตาม รัฐก็สามารถเข้าไปดูแลในเรื่องความทรงจำหรือบาดแผลที่อยู่ในใจของเหยื่อได้ ทำอย่างไรให้ความเจ็บปวดที่มีลดลง กลไกการเยียวยาด้วยกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็น เราไม่สามารถที่จะบอกว่า “ขอโทษ” แล้วกลับมากอดคอกัน แล้ววันดีคืนดี เราลุกมาตีหัวกันใหม่ อะไรเหล่านี้ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เรื่องการสร้างวัฒนธรรมการรับผิด คือ การสร้างวัฒนธรรมในการรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันจะพูดไว้ก็คือ ต้องใจกว้างในการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ต้องยอมรับว่า ผู้หญิงเป็นกลไกหนึ่งและเป็นกลไกที่สำคัญของการแก้ปัญหา ผู้หญิงไม่ควรถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของคนที่อ่อนแอ ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ซึ่งต้องการการสงเคราะห์ แต่ต้องพยายามสร้างกลไกให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วม ในฐานะที่ผู้หญิงสามารถเป็นจะเป็นผู้ให้

ต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิงในฐานะที่เป็นแม่ มีความสำคัญอย่างมากในการที่จะสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง

ทุกวันนี้ผู้หญิงทำงานหนักมาก ถ้าท่านไปดูหลัง ม.อ.ปัตตานี(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ท่านจะพบเด็กผู้หญิงตั้งแต่อายุ 12-13 ปี มานั่งทำงานที่แพปลาปัตตานี จะมีทั้งเด็กผู้หญิงมลายูมุสลิมและเด็กผู้หญิงพม่า

ถ้าเราไปถามเด็กมลายูมุสลิมที่อายุน้อยๆ ซึ่งนั่งทำงานอยู่ ส่วนใหญ่จะพูดตรงกันว่า ต้องออกมาทำงาน เนื่องจากพ่อกับพี่ชายกลัวปัญหาความไม่สงบ ก็เลยไม่กล้าที่จะออกมาทำงานนอกบ้าน ก็เลยเป็นหน้าที่ของเด็กและผู้หญิง

ทั้งๆที่เด็กเหล่านี้ น่าจะอยู่ในสถาบันการศึกษา เพราะเด็กยังอยู่ในวัยเล่าเรียน ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงจึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง

สิ่งหนึ่งซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ และต้องทำไปพร้อมกันกับการสร้างสันติสุขก็คือ เราจะสื่อสารอย่างไรกับสังคมใหญ่ คือ ให้สังคมไทยทั้งประเทศเข้าใจวัฒนธรรมและบริบทความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมใหญ่และจะสามารถก้าวไปด้วยกันในการพัฒนาได้

สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการที่จะกลับมาคืนดีกัน และการกลับมาอยู่ด้วยกันก็คือ การให้อภัยและการสร้างคำสัญญาในชนิดที่สามารถอยู่ร่วมกัน ด้วยความเสมอภาคกัน

เราจะอยู่ด้วยกันด้วยการอดทน อดกลั้นกัน หรืออย่างน้อยก็ทำลายตรรกะบนพื้นฐานของความหวาดระแวงที่เคยมาในอดีตให้หมดไป

ในภาวะบนพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง การใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ แต่ธรรมาภิบาลอาจจะไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีหลักคุณธรรม จริยธรรม เช่น หลักการของความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งต่อตนเอง ต่อส่วนรวม หลักการสร้างความโปร่งใส การยอมรับการตรวจสอบ

เมื่อใดก็ตามที่สังคมขาดคุณธรรม ต่อให้เรามีกฎหมายที่ดีแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่สามารถยุติปัญหาความทุจริตคอรัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อยได้

โจทย์สำคัญที่สุดก็คือ เราจะสร้างธรรมาภิบาลได้อย่างไร ไม่ว่าเราจะมีระบบการปกครองที่ดีสักเพียงไหนก็ตาม ถ้าระบบการปกครองนั้น ขาดซึ่งธรรมาภิบาล ขาดซึ่งหลักคุณธรรมก็ไม่สามารถที่จะนำสังคมไปสู่สันติสุขได้ โจทย์นี้ดิฉันคงตอบไม่ได้ คงฝากท่านทั้งหลายไปถามนายกรัฐมนตรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์พิเศษ: แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล

Posted: 02 Oct 2011 08:12 AM PDT

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ที่ติดตามข่าวสารการเมืองไทย อาจเคยได้ยินเรื่องราวของอดีตผู้ข่าวอาวุโสชาวอังกฤษคนหนึ่ง ที่ลาออกจากสำนักข่าวทอมป์สัน รอยเตอร์ หลังจากทำงานมา 17 ปี เพื่อเขียนหนังสือขนาดยาวว่าด้วยการเมืองไทยร่วมสมัย โดยใช้ข้อมูลจากโทรเลขลับวิกิลีกส์ของสถานทูตสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับประเทศไทย พร้อมจัดหนักเจาะลึกในประเด็นอย่าง วิกฤติการณ์การสืบรัชทายาท เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา มาจนถึงเหตุการณ์นองเลือดเมษายน-พฤษภาคมในปีที่แล้ว

ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา เขาได้รายงานข่าวสงครามและพื้นที่ความขัดแย้งมาแล้วหลากประเทศในหลายทวีป ไม่ว่าจะเป็นอิรัก อัฟกานิสถาน เลบานอน ปาเลสไตน์ อิสราเอล ไทย กัมพูชา และพม่า และในบั้นปลายของอาชีพ เขาเลือกที่จะมาเจาะลึกและเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับประเทศไทย ด้วยวิธีวิทยาที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

บ่ายวันหนึ่งในฤดูร้อนของประเทศสิงคโปร์ ประชาไท มีโอกาสได้มานั่งพูดคุยกับ “แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล” อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์และปัจจุบันเป็นนักข่าว/นักเขียนอิสระ ที่ประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งด้วยงานเขียน ‘ไทยสตอรี่’ (#Thaistory) ทำให้เขาไม่อาจเดินทางเข้าประเทศไทยอีก เนื่องจากความเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ของหนังสือเล่มดังกล่าว

“นี่เป็นสิ่งที่ผมเสียใจมากที่สุด” เขากล่าว “แต่ยังไงผมก็ต้องเขียนมันขึ้นมา ถึงแม้ว่ามันจะทำให้ผมเข้าประเทศไทยไม่ได้อีกแล้วก็ตาม”

เหตุใด คนอย่าง ‘แอนดรูว์ เอ็ม. มาร์แชล’ เลือกที่จะลาออกจากสำนักข่าวรอยเตอร์ หลังรอยเตอร์ปฏิเสธจะตีพิมพ์เรื่องราวของเขา และหันมาเขียนเรื่อง ‘ความจริง’ เกี่ยวกับประเทศไทย โดยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของเขา ทั้งๆ ที่ไม่ได้เงินซักบาทซักสตางค์ และยังเสี่ยงต่อคุกตารางในเมืองไทย เชิญอ่าน.......

 

0000

 

ณ อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งใจกลางเมืองสิงคโปร์ ท่ามกลางอากาศร้อนชื้นในของเดือนกันยายน ทีมข่าวต่างประเทศประชาไท ได้มีโอกาสเยี่ยมเยือนและพูดคุยกับ แอนดรูว์ มาร์แชล แม็กเกร์เกอร์ ผู้เขียนหนังสือ ‘ไทยสตอรี่’ หรือ ‘Thailand’s Moment of Truth: a Secret History about 21st century of Siam’ (ห้วงเวลาแห่งความจริงของประเทศไทย: ประวัติศาสตร์ลับของสยามในศตวรรษที่ 21)

ส่วนแรกของหนังสือเล่มนี้ ได้ถูกเผยแพร่ออกมาแล้วทางเว็บไซต์ส่วนตัวของเขา โดยมีผู้เยี่ยมชมและเข้าไปอ่านรวมหลายแสนคลิกในเวลาไม่กี่เดือน ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างการเขียน ซึ่งแอนดรูว์บอกกับเราว่า ‘ไทยสตอรี่’ ที่เสร็จสมบูรณ์ จะได้เผยแพร่ออกสู่สายตาคนอ่านไม่เกินเดือนตุลาคมนี้แน่นอน

หลังจากที่เขาได้ลาออกจากสำนักข่าวทอมป์สัน รอยเตอร์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากรอยเตอร์ปฏิเสธจะตีพิมพ์งานเขียนของเขาเกี่ยวกับการเมืองไทย เพราะอ้างว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ นั้น เขาก็ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเขียนงาน ‘ไทยสตอรี่’ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองไทย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน เรื่อยมาถึงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2554

“ผมบอกตรงๆ ว่าผมก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตต่อไปของตัวเองจะเป็นอย่างไร” เขาบอก เมื่อเราถามว่าแผนชีวิตต่อไปของเขาจะเป็นอย่างไรหลังจากออกจากรอยเตอร์ “ผมไม่คิดมากหรอกว่า ผมอาจจะต้องออกไปอยู่ในกระท่อมในชายหาดของอินโดนีเซียที่ค่าเช่าวันละ 200 บาทหรือเปล่า แต่ในตอนนี้ผมแค่อยากจะเอ็นจอยอพาร์ทเมนต์ที่นี่ พร้อมกับสวนบนระเบียงดาดฟ้า และใช้เวลาสองสามเดือนที่เหลือ เขียนงานไทยสตอรี่ออกมาให้ดีที่สุด”

เขาเล่าย้อนถึงที่มาของงานเขียนชิ้นนี้ว่า ในเดือนมีนาคม ในขณะที่เขายังเป็นรองหัวหน้าฝ่ายบรรณาธิการฝ่ายเอเชีย ของทอมป์สัน รอยเตอร์ และประจำอยู่ที่สิงคโปร์ เขาได้เข้าถึงโทรเลขวิกิลีกส์ซึ่งเป็นเอกสารทางการทูตของสถานทูตสหรัฐฯ จำนวนมาก

“ทันทีที่ผมรู้ว่าโทรเลขวิกิลีกส์จะถูกเผยแพร่ ผมคิดถึงประเทศไทยทันทีก่อนประเทศอื่นใดในโลก ในฐานะที่เป็นประเทศหลักที่มันจะสามารถสร้างผลกระทบในแง่ความเปลี่ยนแปลง” เขาบอก “อย่างในเกาหลีเหนือ มันมีการสร้างลัทธิที่ชัดเจน และมากกว่าในประเทศไทยมาก มีผู้คนที่หิวโหย ไม่มีสิทธิเสรีภาพใดๆ และแน่นอน ประเทศไทยมีสภาพดีกว่านั้นมาก แต่การบอกความจริงเกี่ยวกับเกาหลีเหนือในโทรเลขวิกิลีกส์ มันจะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในตอนนี้”

“แต่สาเหตุที่โทรเลขมีความสำคัญกับประเทศไทย เป็นเพราะในขณะนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่บนขอบเหว มันมีทางเดินสองทาง และเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก และด้วยเหตุผลนี้ ผมจึงได้ตัดสินใจก้าวเข้ามา”

“ผมเชื่อจากก้นบึ้งของหัวใจเลยว่า ในจำนวนงานเขียนที่ผมเคยเขียนมาทั้งชีวิต เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด จากสิ่งทั้งหมดที่ผมเคยทำมา” แอนดรูว์กล่าว “เป็นเพราะจังหวะของช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ และเหตุที่ผมได้บังเอิญเห็นโทรเลขเหล่านี้พอดี มันได้มาประจวบเหมาะกัน”

 

0000

งานเขียน #thaistory ที่ทั้งหมดจะมีความยาวกว่า 400 หน้าเมื่อเสร็จสิ้น ได้ถูกเผยแพร่ออกมาแล้วบางส่วนในโลกออนไลน์ในปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาหลักๆ เกี่ยวกับวิกฤติการณ์การเมืองไทยช่วงการรัฐประหาร และวิกฤติการณ์การสืบรัชทายาท เขาบอกว่า หลังจากที่งานเขียนของเขาถูกเผยแพร่ เขาก็ได้รับปฏิกิริยาตอบรับหลายแบบที่แตกต่างกันไป

“หลังจากที่คนได้อ่านงานของผม มันมีฟีดแบ็คกลับมาสองแบบ คือ คนที่ถ้าไม่คิดว่างานผมฉลาดล้ำเลิศและอยากจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ผม หรือไม่ก็เป็นคนทีคิดว่า มันเป็นงานทฤษฎีสมคบคิดและเป็นงานเขียนจากนรก และคิดว่าผมเป็นไอ้งั่งไปเลย” แอนดรูกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาหวังจะเห็นจากงานชิ้นนี้ คือการจุดประกายให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลและข้อมูล

มีหลายคนที่ออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับงานเขียนของเขา หนึ่งในนั้น คือทนง ขันทอง อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ที่โต้ตอบกับแอนดรูว์อย่างดุเดือดผ่านทางทวิตเตอร์ (ทวิตเตอร์ของแอนดรูว์ คือ @zenjournalist)

“เขาใช้คำพูดข่มขู่กับผม และใล่ให้ผมไปไกลๆ ซะจากทวิตเตอร์” เขาเล่า “มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากที่เห็นบรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์ระดับชาติทำตัวแบบนี้ต่อหน้าสาธาณะ”

ในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติ อาจถูกแย้งว่า มาเขียนเรื่องเมืองไทย จะรู้ดีกว่าได้ยังไง?

“ผมไม่อ้างหรอกว่า ตัวเองมีความเข้าใจเรื่องการเมืองไทยที่เหนือกว่าคนไทย แต่ในบางครั้ง คนที่อยู่ภายนอกนั้นสามารถให้มุมมองที่แตกต่างออกไปในแบบที่คนไทยอาจจะมองไม่เห็น” เขาว่า “พวกเขาติดอยู่ในฟองสบู่ และคนที่มองเข้ามาจากภายนอก อาจจะเห็นอะไรที่ชัดเจนกว่า”

“ผมไม่มีสิทธิที่จะยัดเยียดมุมมองของผมให้กับคนไทย แต่ผมมีสิทธิจะเขียนเรื่องนี้ และตีพิมพ์มันในอินเตอร์เน็ต และคนไทยก็มีสิทธิที่จะอ่านมันนะ..และเมื่อเขาได้อ่านมัน เขาก็สามารถคิดได้ว่า ผมเป็นไอ้งั่งหรือเปล่า แต่นี่แหละ เป็นวิธีของการถกเถียงแลกเปลี่ยน” เขาชี้แจง “คุณต้องได้รับรู้ถึงหลายๆ มุมมอง และเมื่อนั้น คุณก็จะรู้ว่า จะมีความคิดเห็นที่เป็นของตัวเองได้อย่างไร”

“คุณไม่สามารถมีความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าคุณถูกยัดเยียดให้มีความคิดเห็นแบบเดียวค้ำคออยู่ตลอดเวลา” แอนดรูว์ชี้

“สิ่งที่ทำให้ผมผิดหวังนิดหน่อยก็คือว่า ในฝ่ายที่เห็นต่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ในไทย ผมยังอยากจะเห็นงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นชิ้นเป็นอันที่มีต่อ ‘ไทยสตอรี่’ แอนดรูว์กล่าว “ซึ่งบางส่วนอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ก็ได้ทำไปแล้ว และผมเชื่อว่าก็คงจะมีมามากกว่านี้ แต่ผมอยากจะเห็นมุมมองจากทุกประเภท และเขาก็สามารถแลกเปลี่ยนได้ว่า งานนี้จะดีขึ้นได้อย่างไร หรือ งานดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร และผมก็จะมาร่วมถกเถียงด้วย”

“สิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุดในตอนนี้ เหนือสิ่งอื่นใด คือการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา” อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์กล่าว

หลังจากงานเขียนชิ้นนี้ได้ออกมาสู่สาธารณะ นอกจากความคิดเห็นต่างๆ ที่เขาได้รับแล้ว เขาก็ยังได้คำเตือนอย่างไม่เป็นทางการจากเพื่อนที่อยู่ในเมืองไทย ซึ่งใกล้ชิดกับหน่วยสอบสวนพิเศษว่า เขาไม่ควรเดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือของเขามีเนื้อหาที่หมิ่นเบื้องสูง จึงอาจทำให้เขาเสี่ยงต่อการถูกจับในข้อหาละเมิดมาตรา 112

ตกงาน, เสี่ยงต่อการถูกจับ และเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ได้อีก… การเปิดเผย ‘ความจริง’ เกี่ยวกับประเทศไทย มันสำคัญขนาดที่จะต้องแลกมาด้วยการเสียสละมากขนาดนั้นเชียวหรือ? ประชาไท ถาม

“อย่างแรกเลย ผมไม่คิดว่ามันเป็นการเสียสละส่วนตัวอะไรมากมายสำหรับตัวผม” เขาเล่า “ผมทำงานเป็นนักข่าวมาแล้วทั่วโลก ผมมีเพื่อนนักข่าวด้วยกันเองที่ต้องสูญเสียขา เสียชีวิต และประสบพบเจอกับคนที่ต้องสูญเสียครอบครัวและทุกข์ทรมานจากหลายสิ่งอย่าง ฉะนั้น ผมไม่คิดว่าการลาออกอย่างสมัครใจจากงานที่เงินเดือนงามจะเป็นการเสียสละอะไรใหญ่โตมากนัก”

เขาออกตัวว่า ในฐานะหนุ่มโสดทีไม่มีลูกและภรรยา เขาจึงไม่ต้องมีเรื่องกังวลด้านการเงินอะไรมาก “มันก็มีความไม่แน่นอนอยู่บ้างว่าชีวิตผมจะทำอะไรต่อไป แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โต” แอนดรูเล่า พร้อมบอกว่า การที่เขาไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ ถือว่าเป็นการเสียสละที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเขา

“แต่มันจะเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก ถ้าผมตัดสินใจไม่เขียนมัน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็เท่ากับการยอมรับว่าผมไม่ได้เป็นคนอย่างที่ผมอยากจะเป็น และไม่ได้ยึดถือหลักการที่ผมเชื่อในฐานะที่เป็นนักข่าว”

“ไม่มีชาวต่างชาติคนไหน เสียสละมากเท่ากับสิ่งที่คนอย่างจีรนุช (เปรมชัยพร) หรือ สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ต้องเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย” แอนดรูว์ให้ความเห็น

 

0000

มันเหมือนกับเป็นเรื่องบังเอิญก็ว่าได้ ที่เขาได้เข้าถึงโทรเลขวิกิลีกส์ ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างห้วงของการเปลี่ยนผ่าน แอนดรูว์ตั้งข้อสังเกต

“มันเป็นช่วงของประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นจุดพลิกผัน มีคนจำนวนมากถูกส่งเข้าคุก ทั้งนักข่าว นักวิชาการ ชาวบ้าน” เขาว่า “ผมมีเพื่อนอยู่ในเมืองไทยเยอะนะ คุณรู้ไหม และผมก็เห็นว่า คนไทยต้องทุกข์ทรมานจากวิกฤติการณ์ที่ยืดเยื้อยาวนาน จากการที่ประเทศไทยไม่ยอมรับความจริง”

“ภาวะเช่นนี้ สร้างความเสียหายให้กับคนจำนวนมาก และผมก็คิดว่า คนไทยกำลังเจ็บปวด ผู้คนทุกจับเข้าคุกอยู่ทุกเมื่อ และชีวิตของประชาชนก็ถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา” แอนดรูว์ย้ำถึงความสำคัญที่ต้องเขียนเรื่องนี้ ที่นี่ ในตอนนี้

เขาออกตัวว่า เขาเองนั้นไม่ชอบทักษิณ ชินวัตรเป็นอย่างมาก และก็มีกังขาต่อพรรคเพื่อไทยเช่นกัน “ทักษิณไม่ใช่คนที่จะมานำการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย เขาเพียงแค่ต้องการเอาเงินของเขาคืน พยายามสร้างข้อตกลง และอยู่ให้พ้นคุก แต่ในขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นสิ่งที่เสื้อเหลืองไม่เข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนในขบวนการเสื้อแดงที่ต่อสู้และทำเพื่อทักษิณ”

“หลายฝ่ายอาจจะมองว่า นี่เป็นการต่อสู้กันระหว่างตัวเลือกสองทางเลือกที่แย่พอๆ กัน ทั้งระบอบอำนาจนิยมจากฝ่ายทักษิณและฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่เราไม่จำเป็นต้องติดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะเราสามารถพยายามสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้” เขาเล่า พลางชี้ให้เราดูตอนที่เหลือของ ‘ไทยสตอรี่’ ในคอมพิวเตอร์แม็คบุ๊กโปรหน้าจอ 17 นิ้ว

ในตอนสุดท้ายของงานเขียน ’ไทยสตอรี่’ จะเกี่ยวกับสมัยของรัฐบาลประชาธิปัตย์ แอนดรูว์กล่าว “นี่เป็นรัฐบาลที่ไม่เคยออกจากเปลือกหอยอันน้อยนิด และล้มเหลวในการเป็นทางเลือกให้กับคนไทย” เขากล่าว พร้อมชี้ว่า มันเป็นเรื่องที่น่าตลกมากที่มีกระแสออกมาบอกว่าคนที่เลือกเพื่อไทยนั้นเป็นคนโง่

“ผมมองว่า กระแสที่โหวตอย่างท่วมท้นให้เพื่อไทย ในแง่หนึ่ง อาจมองได้เป็นการโหวตเพื่อต่อต้านชนชั้นนำด้วยซ้ำ ผมหมายถึงว่า มีทหารออกมาบอกว่าให้เลือก ‘คนดี’ และคนก็รู้กันว่าอภิสิทธิ์เป็นคนของฝั่งรอยัลลิสต์ มันก็ออกจะชัดเจน”

“สิ่งที่ผมกังวล ก็คือการปรองดอง ถ้ามันมีขึ้นมา มันก็จะเป็นแบบที่เคยเกิดมาก่อน จะไม่มีใครสืบสวนจริงๆว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครพูดถึงอดีต มันจะเป็นการตกลงรอบเดียวจบ” เขากล่าว “มันจะไม่เป็นผลดีต่อคนไทยแน่ๆ ถ้ามันเกิดขึ้นจริง”

ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกการเขียนงานโดยใช้โทรเลขลับวิกิลีกส์เกี่ยวกับเมืองไทยเป็นผู้แรก เขากล่าวว่า เขาอยากจะเห็นสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ นำโทรเลขเหล่านี้มาใช้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เท่าที่เขาสังเกตก็พบว่า ไม่มีสื่อกระแสหลักไหนเลย นอกจากประวิตร (โรจนพฤกษ์) จากเดอะ เนชั่น เลือกที่จะหยิบเอาโทรเลขต่างๆ เหล่านี้มาสร้างการถกเถียง

“ผมคิดว่านี่เป็นข้อผิดพลาดที่ใหญ่มาก” แอนดรูว์พูด “ในฐานะที่ผมได้ทำงานในส่วนของผมไปแล้ว ที่ได้วิเคราะห์เรื่องปัญหาที่เกิดจากวัง และความเกี่ยวข้องกับวิกฤติการเมือง ผมคิดว่ามันน่าผิดหวังนิดหน่อยที่ไม่มีใครเอาเรื่องนี้ไปสานต่อ เพราะในการทำความเข้าใจการเมืองไทย คุณจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้ด้วย”

นอกจากนี้ เขายังบอกว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ ‘ไทยสตอรี่’ ก็คือ การที่เขาอ่านภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงไม่ได้ใช้เอกสารที่เป็นภาษาไทยเลย และนั่นก็คือช่องว่างที่ใหญ่ในงานเขียนชิ้นนี้ เขาจึงฝากให้คนอ่านได้ลองหยิบจับเอกสารวิกิลีกส์ พร้อมอ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องในภาษาไทย และนำมันมาสู่การพูดคุยถกเถียง

“มันจะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยน และช่วยนำไอเดียใหม่ๆ เข้ามาในวิวาทะ และมันก็จะช่วยให้เราเข้าใกล้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น” แอนดรูว์กล่าว

 

0000

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของเขา ต่อทางออกของวิกฤติการเมืองประเทศไทย แอนดรูว์ตอบทันทีว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผยเป็นขั้นแรก “คุณไม่สามารถหาทางออกได้หรอก ตราบใดที่ยังไม่มีใครยอมรับว่าใครทำอะไรลงไป อะไรคือความจริง มันก็จะเป็นวงจรอุบาทว์เช่นนี้เรื่อยไป”

แอนดรูว์กล่าวว่า ยิ่งช่วงที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาลใกล้จะมาถึง ก็ยิ่งเป็นช่วงที่น่าจับตาเป็นพิเศษ และเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น การจัดวางของกลุ่มอำนาจต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งคนไทยก็รอช่วงเวลานี้ให้เกิดชึ้น เพื่อที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ และการปฏิรูปที่พวกเขาอยากจะเห็น

“ในตอนนี้ เรามีสถานการณ์ที่คนเสื้อแดงหลายล้านคนได้สูญศรัทธาในตำนานที่ทางการได้สร้างขึ้น และเจ้าหน้าที่รัฐก็ตื่นตระหนกมาก และทางโต้ตอบที่เขาคิดได้เพียงอย่างเดียว ก็คือกดขี่และยิ่งปราบปรามประชาชน แต่วิธีนี้มันไม่มีทางจะได้ผล และนั่นก็เป็นวิกฤติอันหนึ่งที่กำลังจะมา”

เขากล่าวว่า วิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาการเมืองไทย คือต้องยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อที่เราจะสามารถพูดคุยเรื่องอนาคตของประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกันได้อย่างมีเหตุมีผล

“มันเป็นเรื่องที่น่าขันจริงๆ ที่ในศตวรรษนี้ ประเทศที่เป็นสมัยใหม่และทันโลกอย่างประเทศไทย ผู้คนกลับไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยถึงประเด็นใจกลางที่เกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง และของลูกหลานตัวเอง” เขากล่าว “ถ้าวิกฤติประเทศกำลังจะมา คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเอามือไพล่หลังและไม่ยอมทำอะไรกับมัน” และยังเสริมว่าการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 จะทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันฯ จะส่งผลดีมากกว่า แทนที่จะทำให้มันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และบีบให้คนต้องแสดงออกในทางเสียๆ หายๆ

อย่างไรก็ตาม เขาก็ตระหนักถึงความเสี่ยงของงานเขียนชิ้นนี้ของเขา และความเป็นไปได้ที่อาจทำให้คนที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสี่ยงตาราง

“ผมอยากจะขอให้ใครก็ตามที่อ่านมัน โปรดระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของตนเอง มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ต้องพูดอย่างนี้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องทำเพื่อเข้าใจประเทศไทย มันอาจจะทำให้คนเสี่ยงคุก หรือเผชิญความเสี่ยงต่างๆ ดังนั้น โปรดระมัดระวังกันด้วย” เขาย้ำ

เขาส่งท้ายว่า เขาอยากจะให้งานเขียนชิ้นนี้ เป็นเหมือนหนังสืออนุสรณ์ที่อุทิศให้แก่คนที่ตายไปเพื่อประชาธิปไตย

“สุดท้ายแล้ว ‘ไทยสตอรี่’ มันก็คือโศกนาฎกรรม และเป็นเสมือนหนังสืองานศพ ที่จะรำลึกผู้ที่สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย” แอนดรูว์กล่าวก่อนที่จะปิดคอมพิวเตอร์ลง “มันเป็นการเล่าเรื่องราวที่แตกต่าง ประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง และการไม่ยินยอมให้ชนชั้นนำมาควบคุมการเขียนประวัติศาสตร์ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อสังเกตว่าด้วยการใช้ พ.ร.บ.คอมฯ กรณีทวิตเตอร์นายกฯ ถูกแฮก

Posted: 02 Oct 2011 08:04 AM PDT

กรณีทวิตเตอร์ @PouYingluck ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกเจาะระบบ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (2 ต.ค.54) โดยมีการโพสต์ข้อความ 8 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์นโยบายของพรรคเพื่อไทย รวมถึงการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจพวกพ้อง ซึ่ง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ออกมาระบุว่าทราบเบาะแสของผู้กระทำผิดแล้ว และจะแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ เวลา 9.00น. [1][2] ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการค้นหาผู้กระทำและการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่น่าสนใจ ดังนี้

เครือข่ายพลเมืองเน็ต เผยแพร่บทความชื่อ "ทวิตเตอร์นายกยิงลักษณ์ถูกเจาะ - เรียนรู้วิธีป้องกัน - และมาตรา 14" ตอนหนึ่งระบุว่า ควรระมัดระวังในการหาตัวผู้กระทำผิด เนื่องจากหากเป็นการปล้นคุกกี้จากระบบเครือข่ายไร้สายเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ทุกคนในเครือข่ายจะถูกมองว่ามีหมายเลขไอพีเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถระบุตัวได้แม่นยำ ซึ่งอาจเกิดการจับผิดตัวและละเมิดสิทธิผู้บริสุทธิ์ได้

ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหา บทความดังกล่าวระบุว่า น่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 5 ที่ว่าด้วยการเข้าถึงระบบโดยมิชอบ, มาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับการเพิ่มเติมข้อมูลโดยมิชอบ, และอาจจะรวมถึงมาตรา 8 หากมีการดักรับข้อมูลเพื่อปล้นคุกกี้ มากกว่าจะใช้มาตรา 14 ที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลหรือเนื้อหา

โดยให้เหตุผลว่า "ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม" ตามมาตรา 14 (1) ตามเจตนารมณ์กฎหมาย ตั้งใจให้ใช้กับกรณีปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้เข้าใจผิด เช่นการปลอมหน้าตาเว็บให้เหมือนกับหน้าเว็บจริง ไม่ได้เป็นเรื่องเนื้อหา ส่วน "ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ตามมาตรา 14 (2) ก็ควรตีความในความหมายแคบให้หมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ โดยไม่นับรวมความคิดเห็น พร้อมเตือนด้วยว่า ที่ผ่านมา มาตรา 14 ถูกตีความอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นเครื่องมือในทางการเมือง เพื่อสร้างความยากลำบากให้กับฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ หากมีข้อความใดในแปดข้อความน่าจะมีความผิดในแง่เนื้อหา ก็ควรจะใช้กฎหมายอื่นที่มีอยู่เช่นประมวลกฎหมายอาญาให้เหมาะสม

ด้าน ชีวิน มัลลิกะมาลย์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนบันทึกเรื่อง มาตรา 14 พรบ คอม กับ กรณีข้อความที่ปรากฎใน @pouyingluck ในเพจเฟซบุ๊ก IT Law Talk ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมฯ (การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นข้อมูลปลอม หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ) เนื่องจากข้อความที่ผู้แฮกเข้าไปในแอคเคานท์ของยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความเสมือนหนึ่งว่าเป็นยิ่งลักษณ์โพสต์เอง เขาจึงมองว่าเป็นการโพสต์ข้อมูลปลอม

ส่วนการรีทวีต (เผยแพร่ซ้ำ) ข้อความหรือครอปภาพไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊กต้องรับผิดตามมาตรา 14(5) ซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่ หรือ ส่งต่อข้อมูลตามมาตรา 14(1) หรือไม่นั้น ชีวินอ้างอิงตามหลักกฎหมายอาญาที่ว่า ผู้กระทำต้องมีเจตนา ดังนั้น ในกรณีที่รีทวีต หรือโพสต์หรือแชร์ โดยยังไม่รู้ว่า เป็นข้อมูลปลอม เขาเห็นว่าเป็นการกระทำโดยขาดเจตนา ไม่น่าจะต้องรับผิดตามมาตรา 14(5)



ทวิตเตอร์ของยิ่งลักษณ์ ซึ่งถูกแฮกและใช้ทวีตข้อความ

ข้อสังเกตเบื้องต้นในการค้นหาผู้กระทำและการแจ้งความผิด
จากบทความ "ทวิตเตอร์นายกยิงลักษณ์ถูกเจาะ - เรียนรู้วิธีป้องกัน - และมาตรา 14"
http://thainetizen.org/node/2698

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเข้าสู่ระบบโดยมิชอบ เจ้าหน้าที่ควรสืบหาและนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ควรมีความระมัดระวังในการติดตามผู้กระทำมาดำเนินคดี เนื่องจากหากเป็นการปล้นคุกกี้จากระบบเครือข่ายไร้สายเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าทุกคนในเครือข่ายนั้นจะถูกมองว่ามีหมายเลขไอพีเดียวกัน นั่นคือ หมายเลขไอพีนั้นจะไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้อย่างแม่นยำ และอาจเกิดการจับผิดตัว-ละเมิดสิทธิผู้บริสุทธิ์ (ที่บังเอิญใช้เครือข่ายไร้สายเดียวกันกับผู้กระทำผิด)

นอกจากนี้ ในเรื่องของการแจ้งข้อกล่าวหา กรณีนี้ น่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 5 ที่ว่าด้วยการเข้าถึงระบบโดยมิชอบ, มาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับการเพิ่มเติมข้อมูลโดยมิชอบ (โพสต์ข้อความแปดข้อความ), และอาจจะรวมถึงมาตรา 8 หากมีการดักรับข้อมูลเพื่อปล้นคุกกี้ (หากได้ทำ) มากกว่าจะใช้มาตรา 14 ที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูล-เนื้อหา

"ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม" ตามมาตรา 14 (1) ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น เจตนารมณ์กฎหมาย ตั้งใจให้ใช้กับกรณีปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้เข้าใจผิด เช่น การทำฟิชชิง (phishing) และฟาร์มมิง (pharming) ซึ่งเป็นการปลอมหน้าตาเว็บให้เหมือนกับหน้าเว็บจริง ไม่ได้เป็นเรื่องเนื้อหาว่าพูดอะไร

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงว่าการโพสต์ข้อความแปดข้อความดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายการปลอมตัวตนหรือไม่ คือทำให้คนเข้าใจผิดว่า เป็นข้อความที่ทวีตโดยคุณยิ่งลักษณ์เอง ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะหากคำนึงถึงข้อความสุดท้าย ที่ว่า "แม้กระทั่ง twitter ตนเองยังปกป้องไว้ไม่ได้ แล้วประเทศนี้จะปกป้องได้อย่างไร? ฝากให้พี่น้องคิดดูนะครับ" ซึ่งน่าจะเป็นการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่า บัญชีทวิตเตอร์ @PouYingluck นั้น ถูกใช้โดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตไปเรียบร้อยแล้ว นั่นก็แปลว่า แม้ผู้กระทำอาจมีจะเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณยิ่งลักษณ์ แต่ก็อาจไม่ได้มีเจตนาจะปลอมเป็นตัวคุณยิ่งลักษณ์

นั่นคือ เราจำเป็นต้องแยกความแตกต่างระหว่าง การเข้าถึงบัญชี @PouYingluck โดยมิชอบ เพื่อโพสต์ข้อความจากบัญชีดังกล่าว ออกจากการสร้างบัญชีทวิตเตอร์ขึ้นมาอีกอัน (ยกตัวอย่างว่า @PM_Yingluck) และทำให้คนเข้าใจผิดว่า นี่คือบัญชีทวิตเตอร์(อีกอัน)ของคุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งในกรณีหลังนั้นมีความชัดเจนว่าเข้าข่ายการปลอมตัวตนมากกว่ากรณีแรก (อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ผู้เขียนยังไม่ข้อฟันธง แต่ขอทิ้งข้อสังเกตไว้เพียงเท่านี้)

สำหรับ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ตามมาตรา 14 (2) นั้น ควรจะต้องตีความในความหมายแคบให้หมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ โดยไม่นับรวมความคิดเห็น อีกทั้งการนำเข้าซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งก็ยังคลุมเครือว่าข้อความทั้งแปด จะถูกพิสูจน์ว่าเข้าข่ายดังกล่าวได้อย่างไร

รัฐบาลควรตระหนักว่า มาตรา 14 เป็นมาตราที่มีปัญหาละเมิดสิทธิเสรีภาพมากที่สุดมาตราหนึ่งของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควบคู่กับมาตรา 15 (ภาระความรับผิดของตัวกลาง) และ 20 (การปิดกั้นการเข้าถึง) โดยปัญหาหลักของมาตรา 14 มาจากการที่พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตให้มีการตีความอนุมาตรา 14 (1) และ 14 (2) ไปอย่างกว้างขวางจนแทบไม่มีขอบเขต จนกลายเป็นเครื่องมือในทางการเมือง เพื่อสร้างความยากลำบากให้กับฝ่ายตรงข้าม ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทางการเมือง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ป่วย และสมาชิกสหภาพแรงงาน

หากมีข้อความใดในแปดข้อความดังกล่าว ที่เห็นว่าควรจะมีความผิดในแง่เนื้อหา ก็ควรจะใช้กฎหมายอื่นที่มีอยู่เช่นประมวลกฎหมายอาญาให้เหมาะสม

หากรัฐบาลสามารถมองเห็นว่า ตัวกฎหมายเองนั้นมีปัญหาอยู่ นอกจากจะต้องเร่งผลักดันให้มีการแก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว ยังควรจะระมัดระวังในการใช้ข้อกฎหมายที่มีปัญหาอยู่ด้วย อย่าซ้ำรอยความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดก่อนๆ

000000

มาตรา 14 พรบ คอม กับ กรณีข้อความที่ปรากฎใน @pouyingluck
https://www.facebook.com/note.php?note_id=229022987152504
ชีวิน มัลลิกะมาลย์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ (2 ตุลาคม) เกิดเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่ในวงการ social network คือ การ post ข้อความที่ประหลาดๆ ของ @pouyingluck ซึ่งปกติเป็น twitter ที่ท่านนายก (รวมถึง ทีมงาน) ใช้แจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบ

ข้อความประหลาดๆ เช่น @PouYingluck ทำไมถึงคิดอภิมหาโครงการ อย่างถมทะเล สร้างตึกสูงที่สุดในโลก คือไม่มีความเข้าใจอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับประเทศนี้ เป็นต้น

ประเด็นนี้มีเรื่องทาง technic ที่จะพิจารณาว่า ผิดหรือไม่ อยู่หลายมาตรา เช่น มาตรา 5 เกี่ยวกับการเข้าไปใน program คอมพิวเตอร์ หรือ เข้าไปใน twitter ของคุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งน่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลใน twitter เพื่อโพสต์ ซึ่งคงไม่สามารถรู้ได้ว่า เข้าได้อย่างไร แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ มาตรา 14(1) และมาตรา 14(5)

มาตรา 14(1) บอกว่า การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นข้อมูลปลอม หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ ซึ่งประเด็นนี้ คนส่วนหนึ่งบอกว่า มาตรานี้ถูกใช้ในการดำเนินคดีกับคนที่ออกความเห็นต่างทางการเมืองพอสมควร และมาตรานี้ควรจะนำไปใช้กับ phishing มากกว่า การดำเนินการทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณมาตรา 14(1) ก็มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ข้อมูลปลอม คือ อะไร และข้อมูลเท็จ คืออะไร

ข้อมูลปลอม ก็คือ ข้อมูลที่ปลอมตัวผู้ทำ กล่าวคือ อ้างว่าคนหนึ่งทำ แต่จริงๆ แล้วเค้าไม้ได้ทำ เช่น นาย ก. สร้าง website ของ bank ขึ้นมาเพื่อจะหลอกเอาข้อมูล เลขบัตรประชาชน หรือ เลขบัตรเครดิต กรณีนี้ นาย ก. สร้าง website ปลอม คือ ไม่ใช่เป็น web ของ bank แต่ ก. ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าเป็นของ bank และในกรณีที่เป็นข้อมูลปลอม ก็ไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นข้อมูลเท็จ หรือไม่

ข้อเท็จ คือ ข้อมูลที่ไม่จริง กล่าวคือ นาย ก. ทำ blog ของตนเอง แล้วบอกว่า นาย ก. เป็นนายกรัฐมนตรี ข้อมูลนี้ไม่ใช่ ข้อมูลปลอม เพราะนาย ก. ระบุว่าตนเป็นคนทำ แต่ข้อความที่ลงไปไม่ใช่ความจริง (ซึ่งกรณีนี้อาจจะยังไม่ผิด เพราะนอกจากจะเป็นข้อมูลเท็จแล้ว ข้อมูลนั้น ต้อง "น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือ ประชาชนด้วย" ในกรณีนี้ ข้อมูลที่บอกว่า นาย ก. เป็นนายก อาจจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ใคร เพราะทุกคนรู้ว่า นายกชื่อยิ่งลักษณ์)

ประเด็นที่เกิดขึ้นวันนี้ คือ ข้อความที่ คนที่ hack เข้าไปใน account ของคุณยิ่งลักษณ์ ได้ post ข้อความเสมือนหนึ่งว่าเป็นคุณยิ่งลักษณ์ post เอง ประเด็นนี้ผมเห็นว่าเป็น การ post ข้อมูลปลอมแล้วครับ เพราะคนส่วนหนึ่ง (รวมทั้งผม) เชื่อไปด้วยความตกใจว่า คุณยิ่งลักษณ์ หรือ ทีมงาน post เอง ดังนั้น ผมเห็นว่า กรณีที่เข้าไปใช้ account post น่าจะถือเป็นความผิดมาตรา 14(1) ในส่วนของข้อมูลปลอมได้แล้วครับ และกรณีนี้ ก็ไม่ต้องไปพิจารณาอีกว่า เป็นเท็จหรือไม่ (ซึ่งในทางกฎหมาย เห็นว่า เมื่อเป็นปลอมแล้ว ก็ไม่ถือเป็นเท็จ และเอกสารปลอม ก็ไม่ใช่เอกสารเท็จ)

ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ผมเห็นว่า บุคคลที่กระทำความผิด ก็คงจะต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอม อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 5, 7, หรือ 14

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ มาตรา 14(5) เป็นความผิดฐานเผยแพร่ หรือ ส่งต่อข้อมูลตาม 14(1) (รวมไปถึง 2-4 ด้วย แต่ไม่ขอกล่าวเพราะไม่เกี่ยวกับประเด็น) จะต้องรับผิดด้วย ดังนั้น หากคุณ RT หรือ crop ภาพไป post ใน facebook หรือ ทำการ crop ภาพไปลงในหน้า wall ต้องรับผิดมาตรา 14(5) หรือไม่

ประเด็นนี้ ผมเห็นว่า การลงโทษบุคคลทางอาญา ตามหลักกฎหมายอาญากำหนดว่า ผู้กระทำต้องมีเจตนาครับ ซึ่งหลักของเจตนา คือ ผู้กระทำต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่น ถ้าฆ่าคน ต้องรู้ว่า สิ่งนั้น คือ คน ถึงจะเป็นความผิด (ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นมาตรา 59 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งนำมาใช้ใน พ.ร.บ.คอม โดยผ่านมาตรา 17 ของประมวลกฎหมายอาญา "บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายนี้ให้ใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้นๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น") ดังนั้น ในกรณีที่ RT หรือ post หรือ share โดยยังไม่รู้ว่า เป็นข้อมูลปลอม ผมก็เห็นว่า คุณได้ทำการ RT post หรือ share โดยขาดเจตนา ดังนั้น ผมก็คิดว่า คุณก็ไม่น่าจะต้องรับผิดมาตรา 14(5) ไปด้วยครับ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

23 คณาจารย์โต้ “นิติราษฎร์” ถ้ารัฐประหารเลวร้าย อภิวัฒน์ 2475+รสช. คือ “ความเลวร้ายสมบูรณ์แบบ"

Posted: 02 Oct 2011 02:55 AM PDT

ถาม “นิติราษฎร์” ถ้ารัฐประหารเป็นความเลวร้ายที่ต้องถูกลบล้าง ทำไมไม่ถือว่าการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 50 และ 3 ก.ค. 54 เป็นพิษหรือเสียเปล่าไปด้วย ชี้ในทางวิชาการเผด็จการมีหลายรูปแบบ ไม่ได้มีแค่ทหาร และสังคมไทยอยู่ภายใต้ “ระบอบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองแอบแฝงในคราบประชาธิปไตย” พร้อมถามนิติราษฎร์ยังยึดถือ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือไม่

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.54 คณาจารย์สอนวิชากฎหมายจำนวน 23 คน ประกอบด้วย 1.ศ.ดร.แสวง บุญเฉลิมวิภาส 2.ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ 3.ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต 4.รศ.นพนิธิ สุริยะ 5.รศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร 6.รศ.นเรศร์ เกษะประกร 7.รศ.ดร.วิจิตรา (วิเชียรชม) ฟุ้งลัดดา 8.รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ 9.ผศ.ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิกุล 10.ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ

11.ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ 12.อ.เกศราภรณ์ ปานงาน 13.อ.คมสัน โพธิ์คง 14.อ.จันทร์เพ็ญ หงษ์มาลัย 15.อ.ฉัตรพร ภาระบุตร 16.อ.จุมพล ชื่นจิตศิริ 17.อ.นฤมล เสกธีระ 18.อ.นิดาวรรณ เพราะสุนทร 19.อ.รัฐศักดิ์ บำรุงสุข 20.อ.วศิน สุวรรณรัตน์ 21.อ.ศักดิ์ณรงค์ มงคล 22.อ.ศาสตรา โตอ่อน 23.อ.อัจฉรา จันทน์เสนะ

ได้รวมตัวกันลงรายชื่อออกแถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์ แสดงความเห็นโต้แย้งข้อเสนอของ กลุ่ม "นิติราษฎร์" โดยเนื้อหาตามแถลงการณ์ดังกล่าวตั้งคำถามกับกลุ่มนิติราษฎร์ว่าถ้าถือว่ารัฐประหารเป็นความเลวร้ายที่ต้องถูกลบล้าง ทำไมไม่ถือว่าการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 50 และ 3 ก.ค. 54 เป็นพิษหรือเสียเปล่าไปด้วย

ในแถลงการณ์ยังเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เท่ากับการรัฐประหารในปี 2534 โดย รสช. ด้วย โดยชี้ว่า “หาก “กลุ่มนิติราษฎร์” ถือว่าการรัฐประหารเป็นความเลวร้ายอย่างสมบูรณ์แบบจนถึงขนาดต้องลบล้างการกระทำทั้งหมดให้สิ้นผลไป ก็คงต้องพิจารณาย้อนกลับไปถึงการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงการทำรัฐประหารโดยคณะ รสช. เมื่อปี พ.ศ. 2534 ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นความเลวร้ายสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน”

พร้อมยังแนะว่า “ในสภาพความเป็นจริงทางวิชาการเผด็จการมีหลายรูปแบบ” ไม่ได้มีแต่เผด็จการทหาร นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า “โดยเฉพาะบริบทในสังคมไทย ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์กันมาแล้วว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเชิงรูปแบบที่มีการเลือกตั้งเป็นวิธีการในการเข้าสู่อำนาจแต่แอบแฝงเนื้อหาสาระการผูกขาดอำนาจเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมืองบางกลุ่มหรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการปกครองใน ระบอบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองแอบแฝงในคราบประชาธิปไตย”

ในท้ายแถลงการณ์ยังถามนักวิชาการกลุ่ม “นิติราษฎร์” ว่ายังยึดถือ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือไม่ โดยในแถลงการณ์มีรายละเอียดมีดังนี้

 

000

"คำแถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์"

เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” ได้เสนอแนวคิดในการลบล้างผลของการรัฐประหารในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยใช้ตรรกวิธีคิดในทำนองว่าเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นต้นธารแห่งความเลวร้ายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ตรรกะวิธีคิดเช่นนั้น เป็นความถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ?

หาก “กลุ่มนิติราษฎร์” ถือว่าการรัฐประหารเป็นความเลวร้ายอย่างสมบูรณ์แบบจนถึงขนาดต้องลบล้างการ กระทำทั้งหมดให้สิ้นผลไป ก็คงต้องพิจารณาย้อนกลับไปถึงการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงการทำรัฐประหารโดยคณะ รสช. เมื่อปี พ.ศ. 2534 ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นความเลวร้ายสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน

และหากมีการประกาศให้มีการลบล้างผลของการรัฐประหาร ผลพวงของการกระทำ การบัญญัติกฎหมาย และการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างหรือหลังการรัฐประหาร ทุกครั้งที่ผ่านมา รวมถึงผลประโยชน์ที่บุคคลบางกลุ่มได้รับจากการรัฐประหาร (สัมปทานโทรคมนาคม หรือกิจการต่างๆ) แล้ว ย่อมต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงของความเลวร้ายทั้งสิ้นและต้องถูกลบล้างให้สิ้นผลไปเสมือนเป็น “ผลไม้จากต้นไม้มีพิษ” หรือนิติกรรมที่เป็นโมฆะตามตรรกะวิธีคิดดังกล่าวด้วย

แต่ด้วยเหตุผลใด “กลุ่มนิติราษฎร์” จึงมีตรรกะวิธีคิดว่าเฉพาะการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นความเลวร้ายที่ต้องถูกลบล้าง แต่กลับไม่ได้ถือเอาผลพวงของการรัฐประหารทุกครั้ง ทุกประการเป็นพิษหรือเสีย เปล่าไปด้วย เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หรือเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้น

ข้อน่าสงสัยและน่าพิจารณาเชิงวิชาการในเบื้องต้นจึงมีว่า ข้อเสนอที่ประกอบขึ้นจากตรรกวิธีคิดที่ก่อให้เกิดผลประหลาดนี้เป็นไปเพื่อให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่ !!!

คณาจารย์นิติศาสตร์ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ ใคร่ขอเสนอข้อสังเกตและความเห็นที่แตกต่างกับความเห็นของ “กลุ่มนิติราษฎร์” เพื่อประกอบการพิจารณาของสาธารณชนในประเด็นสำคัญบนพื้นฐานของหลักการทาง จริยธรรมของนักวิชาการ หลักการทางนิติศาสตร์ และหลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การพิเคราะห์ตรรกะวิธีคิดดังกล่าวข้างต้นว่าชอบ ด้วยเหตุผลหรือไม่? โดยขอนำเสนอต่อสาธารณชนผู้มีใจเป็นธรรมพิจารณาและทำความเข้าในหลักการสำคัญ ประกอบดังต่อไปนี้

1. หลักการทางจริยธรรมของนักวิชาการ

ก่อนที่จะมีการสร้างตรรกวิธีคิดและวิเคราะห์ทางวิชาการไปสู่การชี้นำสังคมโดยนัก วิชาการ นักวิชาการควรมีสำนึกสำคัญในทางวิชาการในหลักการสำคัญที่สำคัญของการเป็นนักวิชาการคือ ต้องมีคุณธรรมและมีสำนึกในทางจรรยา (วิถีการครองตนที่ดีงาม) ของการนำเสนองาน ทางวิชาการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือมีสำนึกในทางจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของวิชาชีพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของงานวิชาการหรือวิชาชีพด้านกฎหมายนั้น ต้องเน้นถึงความสุจริต ความถูกต้อง มีความสมเหตุสมผล ความเป็นธรรม และมุ่งต่อผลประโยชน์สังคม และประชาชนโดยรวม อันเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

รวมถึงต้องต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคมทุกรูปแบบ โดยการนำเสนอและตีแผ่ความเป็นจริงโดยอาศัยหลักวิชาและต้องไม่มีอคติความนิยม ชมชอบใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความถูกต้องตามหลักวิชา แล้วจึงนำเสนอผลงานทางวิชาการอย่างกล้าหาญ โดยไม่เลือกการนำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะเรื่อง ในศาสตร์ของตนที่นักวิชาการมีอคติในวิชาเป็นพิเศษ

นักวิชาการต้องตีแผ่ถึงความไม่เป็นธรรม หรือการเอื้อประโยชน์อันมิชอบดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงความเป็นจริง ไม่เสนอหลักการอันก่อผลประหลาดทางวิชาการ คลาดเคลื่อนต่อหลักการทางวิชาการที่ถูกต้องแท้จริง

นักวิชาการที่ละเลยหรือบิดเบือนหลักการทางวิชาการ ถือว่าเป็นผู้ขาดไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณอันงดงามในวิชาการและวิชาชีพที่ดี จะสร้างค่านิยมผิดและทัศนคติที่ผิดพลาดให้แก่ประชาชน เป็นทำลายหลักการอันเป็นวิถีสำคัญอันดีงามในการดำรงตนเป็นนักวิชาการ

นักวิชาการที่เลือกกล่าวแต่เรื่องที่เอื้อประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือพวกพ้องโดยเฉพาะ และงดเว้นการนำเสนออย่างกล้าหาญในหลักการที่ถูกต้องในเรื่องสำคัญ เป็นการสร้างความเสียหายต่อสังคมโดยรวมโดยมิอาจแก้ไขได้

 

2. หลักนิติธรรม

หลักการพื้นฐานสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐ หลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ เป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นหลักในการกำหนดวิถีการใช้อำนาจของรัฐให้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ชอบธรรมและสมเหตุสมผล หลักนิติธรรมถูกใช้เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบ ไม่สุจริตในการใช้อำนาจ ต่อต้านการทุจริตฉ้อฉลในการใช้อำนาจ และการแสวงประโยชน์ด้วยการกระทำที่ไม่ชอบของผู้มีอำนาจรัฐในทุกรูปแบบ หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการสำคัญที่นักนิติศาสตร์ยึดถือในวิถีชีวิตของการดำรงตนเป็นนักนิติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐดังกล่าวต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประชาชนที่มีความสุจริต หลักความสุจริตจึงถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการพิจารณาประกอบหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองประชาชนคนดีที่มีความสุจริต จากการใช้อำนาจอันฉ้อฉลของผู้มีอำนาจรัฐ หาใช่เป็นเพียงเครื่องมือทางวาทกรรมสำหรับผู้ซึ่งหวังผลในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องที่กระทำการอันทุจริตหยาบช้า ประพฤติมิชอบ และกระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักนิติธรรม จะใช้เพื่อกล่าวอ้างคุ้มครองตนจากกระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรม โดยหวังแต่ได้ประโยชน์ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่เมื่อไม่ได้ประโยชน์ก็กล่าวอ้างว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

นักวิชาการที่ยึดถือหลักนิติธรรมและมีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในวิชาชีพ พึงนำเสนอความถูกต้องในหลักการอย่างแท้จริงอันปราศจากอคติแก่ประชาชน เพื่อสร้างความถูกต้องดีงามในทางความคิดอันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อไป

 

3. หลักประชาธิปไตย

รูปแบบในการปกครองในโลกนี้มีหลากหลายรูป เช่น รูปแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยม ฯลฯ ตลอดจนเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยผู้มีอำนาจหรือโดยกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมือง การที่ประเทศใดควรที่จะยึดถือรูปแบบการปกครองใด ย่อมขึ้นอยู่กับค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมืองของคนในชาตินั้นๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์ บทเรียน และบริบททางสังคมที่เป็นจริงในประเทศนั้นเป็นสำคัญ

การกล่าวว่า รูปแบบการปกครองใดดีกว่ารูปแบบใดนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่มีการโต้เถียงทางวิชาการไม่จบสิ้น เพียงแต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเสรีนิยม

อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาว่าประเทศนั้นๆ ยึดถือหลักการประชาธิปไตยโดยแท้หรือไม่ คงต้องพิจารณาทั้งในมิติของรูปแบบและเนื้อหาของหลักประชาธิปไตย ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้ต้องมีเนื้อหาที่เป็นการปกครองโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน ตลอดจนมีอุดมการณ์เพื่อให้เกิดการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม เป็นเป้าหมายสูงสุด คำนึงและรับฟังเสียงข้างน้อยหรือความเห็นที่แตกต่าง

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมิได้ยึดถือเพียงแค่หลักการของเสียงข้างมากเป็นเสียงสวรรค์ โดยไม่รับฟังเสียงข้างน้อยหรือไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมที่มีอยู่ตามกฎหมายและบรรทัดฐานอื่นๆ ที่สังคมร่วมสร้างกันมา ย่อมเป็นการยึดถือแต่หลักเสียงข้างมากแต่ขาดสำนึกตามหลักนิติธรรมที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะหลักการที่กำกับความชอบด้วยกฎหมายและความชอบธรรมของการปกครองแบบประชาธิปไตย

การทำลายหลักกฎหมาย และความชอบธรรม การกระทำทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ชอบธรรม ทุจริตการเลือกตั้ง ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงปิดบังประชาชน แทรกแซงกระบวนการตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรม เพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือพวกพ้อง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในเนื้อหาที่แท้จริง แต่กลับกลายเป็นเพียงการปกครองในระบอบเผด็จการเสียงข้างมาก ที่อาศัยรูปแบบแอบแฝงภายใต้เสียงข้างน้อยที่มากกว่ากลุ่มเสียงอื่นเป็นฐาน เพื่อกระทำการอันเป็นประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวการปกครองในระบอบเผด็จการนั้น นักวิชาการต้องศึกษา และกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการในทุกรูปแบบ มิใช่เฉพาะการกล่าวอ้างเผด็จการทหารว่าเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จแต่เพียงรูปแบบเดียว เพราะในสภาพความเป็นจริงทางวิชาการเผด็จการมีหลายรูปแบบ

ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์จึงต้องเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ภายใต้บริบทของสังคมในขณะนั้น โดยเฉพาะบริบทในสังคมไทย ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์กันมาแล้วว่า เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเชิงรูปแบบที่มีการเลือกตั้งเป็นวิธีการในการเข้าสู่อำนาจแต่แอบแฝง เนื้อหาสาระการผูกขาดอำนาจเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมืองบางกลุ่มหรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการปกครองในระบอบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองแอบแฝงในคราบประชาธิปไตย

พวกเราเหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ จึงมีความเห็นแตกต่าง และมีข้อสงสัยในตรรกะวิธีคิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ดังกล่าวข้างต้น ที่กล่าวอ้างเสมือนกับให้เหตุผลว่าการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น เป็นต้นธารแห่งความเลวร้าย ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย และเป็นเผด็จการทหาร

โดยละเลยการกล่าวและวิพากษ์ถึงเหตุปัจจัยหรือบริบททางสังคมสืบเนื่องก่อนการ รัฐประหารอันเป็นต้นเหตุของความเลวร้ายที่แท้จริง คือ พฤติกรรมของนักการเมืองในอดีตก่อนการรัฐประหาร เป็นเผด็จการรัฐสภา มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง และแทรกแซงองค์กรตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความไม่ชอบธรรมดังกล่าว ด้วยกระบวนการปกติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ได้ อันเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย

จึงมีคำถามอย่างมากมายว่า ปัญหาเหตุปัจจัยดังกล่าวที่หาได้ถูกกล่าวขึ้น ยังคงอยู่ในอุดมการณ์หรือในตรรกะวิธีคิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์” หรือไม่

สภาพการณ์ทางสังคมในปัจจุบันได้ตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของคณาจารย์ที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มนิติราษฎร์” จากแถลงการณ์ดังกล่าวนั้น ว่า ยังคงมีอุดมการณ์ที่ยึดถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข และเป็นระบอบการปกครองที่ประเทศไทยยึดถือมาเป็นระยะเวลายาวนาน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบันหรือไม่ และหากยังยึดถืออุดมการณ์ดังกล่าวอยู่ คณาจารย์กลุ่มนี้ กระทำไปโดยวัตถุประสงค์อย่างไร หรือเพื่อบุคคลใด

พวกเราเหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์ ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ จึงขอเสนอความเห็นแตกต่างในหลักการทางวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ให้ฉุกคิดอย่างรอบด้านในข้อมูลเหตุปัจจัยพื้นฐานที่มาของเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น พวกเราไม่มีความประสงค์ เป็น “เผด็จการทางภูมิปัญญา” ที่จะประนามผู้หนึ่งผู้ใดที่มีความเห็นแตกต่างว่า ไม่รักชาติ ประชาธิปไตย หรือประชาชน หรือกล่าวหาว่าการไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเราต้องเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องการให้เกิดความงดงามในวิถีประชาธิปไตยที่เคารพความแตกต่างทาง ภูมิปัญญาและทัศนคติที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ
ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต
รองศาสตราจารย์ นพนิธิ สุริยะ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร
รองศาสตราจารย์ นเรศร์ เกษะประกร
รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรา (วิเชียรชม) ฟุ้งลัดดา
รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์
อาจารย์ เกศราภรณ์ ปานงาน
อาจารย์ คมสัน โพธิ์คง
อาจารย์ จันทร์เพ็ญ หงษ์มาลัย
อาจารย์ ฉัตรพร ภาระบุตร
อาจารย์ จุมพล ชื่นจิตศิริ
อาจารย์ นฤมล เสกธีระ
อาจารย์ นิดาวรรณ เพราะสุนทร
อาจารย์ รัฐศักดิ์ บำรุงสุข
อาจารย์ วศิน สุวรรณรัตน์
อาจารย์ ศักดิ์ณรงค์ มงคล
อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน
อาจารย์ อัจฉรา จันทน์เสนะ

2 ตุลาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประกาศนิติราษฎร์: เสรีภาพสื่อ=การคุ้มครองสื่อจากรัฐ+การคุ้มครองประชาชนจากสื่อ

Posted: 01 Oct 2011 10:23 PM PDT

เกริ่นนำ

ดูเหมือนฝุ่นที่ถูกตีกวนจนฟุ้งกระจายจากข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ จางหายไปแล้วในสื่อกระแสหลัก (ยังมีบางสำนักเท่านั้นที่เล่นต่อไม่ปล่อย เช่น ไทยโพสต์) แต่ถ้าดูให้ดี ๆ จะพบว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้ยังไม่จบ เพียงแต่ถูกย้ายฐานเข้าไปตลบอบอวลอยู่ในเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน อินเทอร์เน็ต และเครือข่ายออนไลน์อย่างเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นฝุ่นจากเรื่องเดียวกัน แต่เนื้อหาของฝุ่นในสื่อทั้งสองประเภทดูค่อนข้างแตกต่าง ลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์ การให้เหตุผล การมีส่วนร่วมของผู้รับสื่อ ราวกับอยู่กันคนละโลก ปรากฏการณ์นิติราษฏร์ครั้งนี้สะท้อนอะไรบ้างเกี่ยวกับสื่อมวลชนไทย

ปรากฎการณ์นิติราษฎร์

คืนวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ คณะนิติราษฏร์ ตัดสินใจตั้งโต๊ะแถลงข้อเสนอทางวิชาการ ๔ ข้อ ในวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสที่อีกหนึ่งวันจะครบรอบ ๑ ปีก่อตั้งคณะนิติราษฏร์ ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันรัฐประหารยึดอำนาจจากมือประชาชนเมื่อ ๕ ปีก่อน วัตถุประสงค์เพียงเพื่อสรุปสิ่งที่นิติราษฏร์ทำมาแล้วในรอบปี กับเสนอประเด็นใหม่เพื่อให้เกิดการถกเถียงทางวิชาการ และให้สังคมได้นำไปขบคิดต่อ แต่พลันที่นิติราษฏร์แถลงข้อเสนอออกไป ปฏิกิริยาต่อข้อเสนอดังกล่าวทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกคึกคัก ดุเดือด นอกเหนือความคาดหมายของสมาชิกในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม สัปดาห์แรกภายหลังแถลงข้อเสนอ ประเด็นเดียวที่ถูกหยิบจับขึ้นวิพากษ์อย่างร้อนแรงตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็คือ ข้อ ๑ เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

ประเด็นที่ ๑
การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้

๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๓. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัย อำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๒ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ ๓ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูก กล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำ ความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทาง กฎหมายปกติได้

๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ.

 

ทั้งพาดหัว และเนื้อข่าวซึ่งมาจากการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของบุคคลอื่นที่มีต่อข้อเสนอ นักข่าวเขียนเองเชิงรายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งบทวิเคราะห์วิจารณ์ของคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ กว่า 80 % เป็นไปในทางโจมตีโดยมีประเด็นหลักร่วมกันว่า คณะนิติราษฏร์เสนอให้ลบล้างความผิดของทักษิณ ชินวัตร ต้องการช่วยคนเพียงคนเดียว และเป็นการรับงาน/รับเงิน ชื่อ นิติราษฏร์ ถูกเปลี่ยนเป็น นิติเรด นิติราด ไปจนถึงนิติทรราชย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้เป็นกำลังหลักในคณะนิติราษฏร์ ถูกเปลี่ยนเป็นวรเรด วรเชษฐา(ของทักษิณ) วรแจ็ค(ผู้ฆ่ายักษ์) กระทั่งวรนุช ภาพลักษณ์ของคณะนิติราษฏร์ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมาย 7 คน กลายเป็นผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านเสื้อแดง กลุ่มก่อความวุ่นวาย ไปจนถึงขบวนการผีอีเม้ย

ไม่ควรต้องปฏิเสธหรือออกมาปัดป้องกันให้วุ่นวายว่า การเสนอข่าวหรือการขายข่าวโดยสื่อมวลชนเช่นนั้น (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เป็นการเสนอขายข้อที่ไม่เป็นความจริง หรือถ้าจะโต้ว่านำเสนอข้อเท็จจริงก็เป็นไปอย่างไม่ครบถ้วน หลายกรณีที่สื่อและผู้ให้สัมภาษณ์คิดจินตนาการเอาเองอย่างขาดความเข้าใจ บิดข้อเท็จจริงเพื่อทำให้ข้อเสนอดูสุดโต่งน่ากลัว หากจะกล่าวให้หนัก ก็คือ การใส่ร้ายป้ายสีอย่างลอย ๆ โดยไร้พยานหลักฐาน แน่นอนว่าเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งในทางเนื้อหาข้อเสนอ และทั้งเจตนารมณ์ของคณะนิติราษฏร์ เกิดข้อกังขาทั้งในประเด็นการเมือง และเรื่องส่วนตัว แต่แทบไม่มีพื้นที่ให้ประเด็นในหลักการทางกฎหมาย และการถกเถียงด้วยปัญญา ที่น่าสนใจยิ่ง ก็คือ คำถามต่าง ๆ เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งว่าคณะนิติราษฎร์ไม่เคยจัดแถลงและอธิบายรายละเอียดของข้อเสนอมาก่อนเลย หรือมิเช่นนั้นก็เสมือนผู้ตั้งคำถาม คนให้สัมภาษณ์ คนเขียนข่าว คอลัมนิสต์ไม่ได้อ่านข้อเสนอของนิติราษฏร์ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วในประเด็นที่สงสัย

การพร้อมใจกันเสนอข่าวโจมตีไปในแนวเดียวกันในช่วงสัปดาห์แรก ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมไทยมากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน มีบุคคลและองค์กรสาธารณะทั้งในและนอกวงการกฎหมายกระโจนเข้าวิพากษ์คัดค้าน แต่มีเพียงน้อยนิดที่ยืนอยู่บนตรรกหลักการและเหตุผล จนในที่สุดนิติราษฏร์จำเป็นต้องเปิดแถลงข่าวเพื่อตอบคำถามสื่อมวลชนและบรรดาผู้คัดค้านอีกครั้งในวันอาทิตย์ถัดมา คือวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ สัปดาห์หลังจากนั้น สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเสนอข่าวที่มีรายละเอียดของข้อเสนอ และคำอธิบายข้อเสนอครบถ้วนขึ้น แม้สื่อบางสำนักจะยังไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นและลักษณะการเสนอข่าวของตน แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าบทวิเคราะห์วิจารณ์ของสื่ออีกหลายสำนักเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล บางสำนักมีท่าทีเปลี่ยนไปจากสัปดาห์แรกอย่างชัดเจนราวเหวกับฟ้า (ตัวอย่างเช่น เดลินิวส์) (ดูปฏิริยาต่อข้อเสนอนิติราษฏร์ที่ "นิติราษฏร์ Effect - ปฏิกิริยาต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์" ของเว็บไซท์ http://www.siamintelligence.com)

แม้ว่าในท้ายที่สุด ด้วยเหตุแห่งการใส่สีกวนตีประเด็นโดยสื่อมวลชน จะยังผลให้แนวคิดสำคัญที่ว่าด้วย "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร" ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และยังไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย เป็นที่รับรู้และสนใจในวงกว้าง เป็นคุณูปการต่อประชาชนและต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์เอง แม้ผลจากการแถลงข่าวครั้งที่สองของนิติราษฏร์จะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการถกเถียงที่เป็นวิชาการยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าใจข้อเสนอได้ถูกต้องขึ้น ก็ตาม แต่อันที่จริงแล้วการแถลงข่าวครั้งที่สองของนิติราษฏร์คงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย ประชาชนทั่วไปน่าจะเข้าใจข้อเสนอได้ตั้งแต่ครั้งแรก หากสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้น

สื่อมวลชน อำนาจที่สี่แห่งรัฐสมัยใหม่ !

อาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากสามอำนาจหลักในหลักการแบ่งแยกอำนาจ กล่าวคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แล้ว สื่อ เปรียบเสมือนอำนาจที่สี่ แห่งรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐในยุคข้อมูลข่าวสาร (ผู้เขียนตั้งใจไม่ใช้ว่า สื่อ คือ "ฐานันดรที่ 4" เพราะเป็นคนละกรณีกัน เรื่องฐานันดรเป็นการพูดถึงสื่อที่เน้นไปในเชิงกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์ เพิ่มเติมจาก 3 ฐานันดรเดิม คือ กษัตริย์ ศาสนา และรัฐสภา) หากเราให้คำนิยาม "สื่อ" หรือ Media ว่าหมายถึง การส่งสาร หรือข้อมูลใด ๆ สู่มวลชนโดยไม่จำเพาะเจาะจง ไม่จำกัดรูปแบบของสารที่ส่ง ตัวหนังสือ ภาพ และ/หรือ เสียง รวมทั้งไม่สำคัญว่าตัวรับ-ตัวส่งมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ควรต้องกล่าวว่า "สถานะความเป็นอำนาจที่สี่" ของสื่อ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มิใช่เพิ่งเกิดในยุคมิลเลนเนี่ยมที่ได้เครื่องมือชิ้นใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ กับอินเทอร์เน็ตมาช่วยกระจายข้อมูลข่าวสาร

ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า นานมาแล้วที่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่ได้ทำเฉพาะหน้าที่พื้น ๆ อย่างการเป็น "ตัวกลาง" ในการส่งผ่าน (Medium) "ข้อเท็จจริง" หรือ "ความเห็นของผู้อื่น" สู่ประชาชน เท่านั้น แต่มันยังเป็น "ตัวจักร" (Factor) สำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของประชาชน กระทั่งเป็น "ตัวสร้าง" อุดมการณ์ความคิดเห็นของประชาชนให้เกิดขึ้น (ในทางหนึ่งทางใด) เสียเอง ถ้าว่ากันที่เรื่องทางการเมืองการปกครอง สื่อเป็นทั้งตัวเชื่อมโยงประชาชนกับอำนาจรัฐ และทั้งตัว "ถ่วงดุล" อำนาจรัฐทั้งสาม และด้วยพลังอำนาจ และความทรงประสิทธิภาพของสื่อเช่นนี้เอง ในด้านหนึ่ง สื่อจึงไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือตกอยู่ภายใต้ "อำนาจรัฐ" ทั้งปวง รวมทั้งของ "อำนาจอื่น ๆ" ในรัฐ (เช่น ทุน, ความจงรักภักดี ฯลฯ) และถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมี "กฎหมาย" คุ้มครองความเป็นอิสระของสื่อ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ควรมีเครื่องมือในการ "ตรวจสอบ" บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อ

เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพประชาชน ?

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเรียกร้อง "เสรีภาพ" ในเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อที่เกิดขึ้นในเมืองไทย จำนวนมากมักเป็นการเรียกร้องความคุ้มครองจากรัฐ โดยอาศัย "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร" (Freedom of Speech and Information) เป็นมูลฐาน ซึ่งถือเป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" เป็นกรณีที่ "ประชาชนสู้กับอำนาจรัฐ" ไม่ให้รัฐปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร หรือทำลายพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น (หลายครั้งที่คนทำสื่อเองก็เข้ามาเรียกร้องในเหตุผลนี้ แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งไม่ใช่ในฐานะคนทำสื่อ) และโดย "สถานภาพแห่งตัวมันเอง" ที่เป็นถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐจึงมีหน้าที่ต้องให้ "ความคุ้มครอง" แก่ประชาชนในเรื่องนี้เสมอ ลักษณะการเรียกร้องเช่นนี้ อันที่จริงแล้วจะแตกต่างจากกรณีของการเรียกร้องโดยอาศัยเหตุผลในเรื่อง "เสรีภาพสื่อ" (Freedom of the Press) มาเป็นฐาน เพราะเป็นเรื่องระหว่าง สื่อหรือคนทำงานสื่อสู้กับอำนาจรัฐ (หรืออำนาจอื่นใด) เป็นการต่อสู้เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องทำงานด้วยเจตจำนงค์ที่ไม่เป็นอิสระ ตัวอย่าง เช่น การต่อสู้ของไอทีวีในยุคจะถูกควบกลืนโดยรัฐ รวมทั้งการต่อสู้ของ "พนักงาน" ไอทีวีในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเสรีภาพประการแรกกับประการหลัง ก็คือ เสรีภาพประการหลังนี้ ซึ่งอาจเรียกเต็มๆ ว่า "เสรีภาพ (ในการจัดการ) สื่อ (สารสู่มวลชน)" ไม่ได้มีสถานะเป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ที่ต้องได้รับ "ความคุ้มครอง" โดยตัวของมันเอง และอย่างเสมอไป แต่ "ความคุ้มครอง" จะมาพร้อมกับ "การทำหน้าที่" เท่านั้น กล่าวอีกอย่าง ก็คือ "สิ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง" ในกรณีนี้ไม่ใช่ "ตัวสื่อหรือตัวคนทำสื่อ" แต่คุ้มครอง "บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อ" ต่างหาก ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเบื้องหลังเพื่อให้ "การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน“ ได้รับประกันความเสรีอย่างแท้จริง ได้รับข้อมูลทุกแง่มุม ไม่ถูกปิดบัง หรือต้องถูกบิดเบือนไปเพราะความไม่อิสระของสื่อ หรือเพราะการใช้อำนาจในทางมิชอบของสื่อเอง

ภายใต้แนวคิดเช่นนี้ จึงย่อมเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า สื่อที่ไม่ทำหน้าที่แห่งสื่อที่แท้จริง สื่อที่ไม่มีจรรยาบรรณ นำเสนอความจริงไม่ทั้งหมด บิดเบือนเฉือนข่าว เต้าข่าว มุ่งหมายให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ฯลฯ จึงมีโอกาสถูกตรวจสอบ หรือควรต้องถูกตรวจสอบโดย "ประชาชนผู้รับสื่อ" กรณีที่แย่คือ ถูกจำกัดความคุ้มครองลง หรือกระทั่งถูกลงโทษได้ ทั้งนี้โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมาย หรือมาตรการทางสังคม (ไม่ซื้อ ไม่อ่าน ไม่ดู ฯลฯ) เพราะสื่อแบบนี้ แท้ที่จริง ก็คือ ตัวการทำลายเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเสียเอง ดังนั้น คำว่า "เสรีภาพสื่อ" ในที่นี้จึงเป็น "ภาพสองมิติ" ที่นอกจากนัยของการ "คุ้มครองสื่อจากอำนาจรัฐ" (สื่อ vs. รัฐ) แล้ว ยังหมายถึง "คุ้มครองผู้รับสื่อจากอำนาจสื่อ" (ประชาชน vs. สื่อ) ด้วย

เสรีภาพสื่อ => การคุ้มครองสื่อจากรัฐ + การคุ้มครองประชาชนจากสื่อ

อย่างไรก็ตาม นับว่าน่าเสียดายที่ในเมืองไทย คำ ๆ นี้มักถูกจำกัดให้แคบ และแสดงให้เห็น หรือเน้นที่ภาพมิติแรกเพียงมิติเดียว คือ การคุ้มครองสื่อจากอำนาจรัฐ เท่านั้น สำหรับประเด็นที่เป็นสาธารณะแล้ว การต่อสู้เพราะมีการ "คุกคามสื่อ" จึงย่อมมีมากกว่า การต่อสู้เพราะ "ถูกสื่อคุกคาม" ซึ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะความสับสนระหว่าง สิทธิขั้นพื้นฐาน กับสิทธิของสื่อ คนจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าเหมือนกัน หรือกระทั่งเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นไม่ว่า "สื่อน้ำเน่าหรือสื่อน้ำดี" ก็ล้วนมีระดับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การกล่าวสโลแกน "เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน" โดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติม แสดงให้เห็นความปนเปในเรื่องนี้ได้อย่างดี ความสับสนนี้รุนแรงขึ้นอีกในยุค Web 2.0 และ "สื่อพลเมือง" ก่อกำเนิด ทำให้เส้นแบ่งระหว่างประชาชน (คนรับสื่อ) กับสื่อ (คนทำสื่อ) พร่าเลือนไป แต่เอาเข้าจริงแล้ว "สองเสรีภาพ" ที่กล่าวถึงนี้โดยตัวมันเองมีจุดเหลื่อมซ้อนกัน ดังกล่าวไปแล้วว่าถ้าคนทำสื่อไม่มีอิสระ ผลที่เกิดขึ้นก็คือความเสรีในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนถูกกระทบกระเทือน สุดท้ายมิติที่สองที่ประชาชนเองต้องตรวจสอบสื่อด้วยจึงถูกมองข้ามไป

ประชาชนต้องรู้เท่าทัน และทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสื่อ

แม้ไม่ใช่ประเด็นหลักในการเรียกร้อง แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนคนไทยจำนวนหนึ่งเริ่มถามหาจรรรยาบรรณของสื่ออย่างจริงจังมากขึ้น เพราะสื่อของบางสำนักแสดงอิทธิฤทธิ์และอำนาจในทางลบได้แจ่มชัด แต่ปัญหาที่ต้องคิดต่อ ก็คือ จนถึงปัจจุบันประชาชนไทยมีเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของสื่อแล้วหรือยัง

รัฐธรรมนูญ เยอรมันบัญญัติหลักความคุ้มครองเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดง ความคิดเห็นของประชาชน (Meinungs- und Informationsfreiheit) กับ เสรีภาพสื่อ (Medienfreiheit) ไว้ในมาตราเดียวกัน แต่คนละประโยค นอกจากศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันจะเคยตีความว่า "เสรีภาพสื่อ" หมายรวมทั้ง การคุ้มครองสื่อจากรัฐ และ คุ้มครองประชาชนจากสื่อ แล้ว เยอรมันยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ (เรียกรวม ๆ ว่า Medienrecht) ที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับ "บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อ" ส่วนในกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาเยอรมัน นอกจากบทที่ว่าด้วย การคุ้มครองคนทำงานสื่อจาก "อิทธิพล" ต่าง ๆ (รัฐ, ทุน ฯลฯ) แล้ว ยังมีบทลงโทษที่เกี่ยวกับการทำงานสื่อ อาทิ ห้ามนำหมิ่นประมาทบุคคลอื่น ห้ามนำเสนอข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ห้ามโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ลัทธิการเมืองหัวรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน (Volksverhetsung) ยั่วยุ ปลุกปั่นความรุนแรง ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการใช้เนื้อหา หรือถ้อยคำที่ชัดเจนในเชิงปฎิปักษ์ หรือโดยอาศัยความแตกต่างกันระหว่าง ความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนา มาว่าร้าย ด่าทอประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยความมุ่งหมายเพื่อสร้างความเกลียดชังกันเองในหมู่ประชาชน หรือเพื่อทำลายสันติภาพในสังคมโดยรวม (มาตรา ๑๓๐ ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน)

ใช่ว่าบทบัญญัติต่าง ๆ ในทำนองเดียวกับที่กล่าวมาจะไม่มีเสียเลยในประเทศไทย แต่ปัญหาคือ เครื่องมือที่มีอยู่ยังดูบิดเบี้ยว ไม่สมบูรณ์สำหรับรัฐประชาธิปไตยปกติ เครื่องมือตรวจสอบไม่ว่าจะเป็น พรบ.จดแจ้งการพิมพ์, พรบ.วิทยุคมนาคม, พรบ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์, พรบ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ หรือพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่เครื่องมือของประชาชนเพื่อตรวจสอบการทำงานของสื่อ แต่เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมสื่อ กฎหมายเหล่านี้นอกจากควบคุมในแง่เงื่อนไขการประกอบการ และคุณสมบัติของผู้ประกอบการแล้ว บางฉบับยังก้าวล่วงคุม "เนื้อหา" ในสื่อด้วย รัฐสามารถเซ็นเซอร์ได้ทั้ง "ก่อน" และ "หลัง" การเผยแพร่ รวมทั้งมีบทลงโทษทางอาญากำกับ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายสื่อสารมวลชน (อย่างน้อย ๆ ก็) ในเยอรมัน ที่กำหนด สิทธิและหน้าที่ของสื่อมวลชนไว้เพียงที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการประกอบการ สิทธิการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ภาระในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน การต้องเสนอข่าวสารทุกแง่มุม รวมทั้งหลักเกณฑ์ในเรื่องเงินทุนดำเนินการ โฆษณา และจะไม่ก้าวล่วงคุม "เนื้อหา" ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดห้ามรัฐเซ็นเซอร์ "ก่อนการเผยแพร่" (Vorzensur) การเซ็นเซอร์ภายหลังนั้นแม้ทำได้ แต่ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดเจนเท่านั้น บทลงโทษที่เกี่ยวกับ "เนื้อหา" สื่อ จะไปกำหนดในกฎหมายอื่น เช่น แพ่ง พาณิชย์ อาญา ทรัพย์สินทางปัญญา เด็กและเยาวชน จึงเท่ากับเป็นอำนาจและหน้าที่ของประชาชนโดยตรงที่จะต้องคอยถ่วงดุลตรวจสอบการทำงานของสื่อ แม้กับเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และเรื่องส่วนรวม โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรงอย่างกรณีของการถูกหมิ่นประมาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ประเทศไทยจะมีมาตรา ๑๑๕, ๑๑๖ และ ๑๑๗ ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดที่เกี่ยวกับสื่อ คือ การกระทำด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด ในลักษณะยุยง ปลุกปั่นประชาชน ตำรวจ ทหาร แต่บทบัญญัติเหล่านี้ล้วนมีขึ้นเพื่อป้องกัน "ความกระด้างกระเดื่องของประชาชน" ที่อาจมีผลเสียต่อ "อำนาจรัฐ" เองทั้งสิ้น หาใช่มุ่งหมายคุ้มครอง "สันติภาพ" ในหมู่ประชาชนด้วยกันเองโดยตรงไม่ (ต่างจากเยอรมัน) ถ้อยคำหรือบทบัญญัตห้ามพูดจาบิดเบือน เร้าความรุนแรง ยุยงให้ประชาชนตั้งกลุ่มเกลียดชังต่อสู้กันเอง จึงไม่ปรากฎให้เห็น หรือมิเช่นนั้นก็สร้างบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลจนเกิน "หลักความพอสมควรแก่เหตุ" (ตามมาตรา ๒๙ รัฐธรรมนูญแ่ห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐) อย่างมาตรา ๑๑๒ ประมวลกฎหมายอาญา ที่กำลังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่

ตรวจสอบสื่อ ตรวจสอบความเป็นกลางทางการเมือง ?

อาจเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้และยังไม่ยุติ แต่โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่า “ความเป็นกลางทางการเมือง” ไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมไทย ทั้งนี้ไม่ว่าในวงการใดก็ตาม รวมทั้งวงการสื่อสารมวลชน และไม่ว่าสื่อพลเมือง หรือสื่ออาชีพ เพียงแต่วงการเหล่านั้นจะยอมรับความจริงในเรื่องนี้หรือไม่เท่านั้น การพาดหัวข่าว การเขียนข่าว คำถามที่ใช้สัมภาษณ์แหล่งข่าว การวิเคราะห์ข่าว แม้กระทั่งการวาดการ์ตูน หากพิจารณาให้ดีย่อมแสดงถึงแนวคิด ทัศนคติที่มีต่อโลกและสังคม และอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวผู้นำเสนอ

คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก หรืออาจทำไม่ได้เลย ที่ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ นักการเมือง บุคคลสาธารณะ รวมทั้งคณะนิติราษฏร์จะเรียกร้อง “ความเป็นกลางทางการเมือง” หรือร้องขอให้บรรดาสื่อปรับเปลี่ยน “อุดมการณ์ทางการเมือง” ของตนเอง แต่น่าจะถือเป็นเรื่องชอบธรรมอย่างเต็มที่ ที่สื่อจะถูกเรียกร้องได้เสมอว่าต้องทำหน้าที่เสนอ “ข้อเท็จจริง” ให้ครบถ้วน ไม่บิดเบือนเฉือนแต่ง จนทำให้ประชาชนผู้รับสื่อเข้าใจผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่สื่อนั้นเลือกที่จะนำเสนอสู่สาธารณชนแล้ว เพราะนั่นคือการทำหน้าที่รักษาเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยรวม อันเป็นฐานของการได้มาซึ่งเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อ

ปัจจุบัน หากเราเชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชน การเลือกนำเสนอข่าวสารที่เทน้ำหนักไปยังข้างใดข้างหนึ่งตามอุดมการณ์ทางการเมืองของสื่อ อาจไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอีกต่อไป ตราบใดที่รัฐเปิดพื้นที่การเสนอข่าวให้กับสื่อของทุก ๆ ฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และปล่อยให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกเอง แต่ย่อมเป็นเรื่องหนักหนาและไม่อาจยอมรับได้หากสื่อเหล่านั้น นอกจากไม่เป็นกลางแล้ว ยังปิดกั้นข้อมูล บิดเบือนข้อเท็จจริง ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม กระทั่งเต้าข่าว หวังสร้างหรือกำหนดทิศทางความคิดเห็นของประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายของพวกตน และนี่คือประเด็นสำคัญที่สื่อต้องถูกประชาชนตั้งคำถามและปรับเปลี่ยน

มิติในเรื่อง "เสรีภาพสื่อ" โดยมี "ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบสื่อ" (ย้ำว่า ไม่ใช่เรื่อง รัฐตรวจสอบหรือควบคุมสื่อ) นี้น่าจะมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในหลายเรื่องของประเทศไทย ทั้งการเมืองการปกครอง การเรียกร้องความเป็นธรรม รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย จริงอยู่ที่สื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต เครือข่ายออนไลน์ วิทยุชุมชน รวมทั้งเคเบิ้ลท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งยังช่วยคานอำนาจการนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยสื่อกระแสหลัก หรือสื่อประเภทดั้งเดิมทั้งหลายได้ แต่ก็ยังมิอาจต้านทานแนวคิด อุดมการณ์ที่สื่อกระแสหลักพยายามกำหนดสร้าง หรือยัดเยียดลงสู่สังคมได้ทั้งหมด ปรากฎการณ์ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของนิติราษฏร์อย่างไร้เหตุผลในช่วงสัปดาห์แรก จนนิติราษฏร์กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในคนทุก ๆ กลุ่มอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (ทั้งที่นิิติราษฏร์ก่อตั้งมาแล้วกว่า ๑ ปี) น่าจะยืนยันได้ว่าสื่อดั้งเดิมยังทรงอิทธิพลอยู่มาก

ปรากฎการณ์นิติราษฏร์ทำให้เห็นปัญหาของสื่อไทยได้ชัดขึ้น

ในงานแถลงข่าวรอบสองของนิติราษฎร์ สื่อจำนวนหนึ่งที่เขียนโจมตีไปในสัปดาห์แรกไม่มาร่วมงาน ไม่มารับฟังข้อมูลที่เป็นจริง และยังตั้งหน้าตั้งตาเขียนข่าวตามความเชื่อของตนต่อไป สื่อจำนวนหนึ่งในงานกล่าวได้น่าเห็นใจว่า ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยอันต่อเนื่องยาวนาน สื่อถูกรังแก ถูกกระทำจากทุกฝ่ายมาโดยตลอด ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่คู่ขัดแย้งมักไม่ลงที่สื่อ แต่ปัญหาก็คือ คำกล่าวนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ “สื่อไม่เคยตรวจสอบการทำหน้าที่ของตัวเอง” หากสอบทานให้ดีเราอาจพบว่า เอาเข้าจริงแล้ว สื่อเมืองไทยเล่นบทผู้ลงมือกระทำให้เกิดความขัดแย้ง เท่ากับหรือเผลอๆ จะมากกว่า บทผู้ถูกรังแก หรือโดนกระทำจากความขัดแย้ง

นับเป็นเรื่องน่าสนใจเมื่อเราพบว่า เส้นทางของขบวนการต่อสู้ของสื่อหัวก้าวหน้าในต่างประเทศแม้ในประเทศใกล้เคียงอย่าง มาเลเซียและฟิลิปปินส์ คือ การต่อต้านเผด็จการ สู้เพื่อหลักการประชาธิปไตย และช่วยยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ขบวนการสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อกระแสหลักในบ้านเราดูเหมือนไม่เป็นแบบนั้น จริงอยู่คงมิอาจเหมารวมได้ว่าสื่อที่ออกข่าวโจมตีข้อเสนอนิติราษฎร์เป็นสื่อที่ยินดีหรือเห็นด้วยกับการรัฐประหาร (สื่อบางสำนักแสดงให้เห็นว่าเห็นด้วยกับรัฐประหารจริง) แต่สื่อเหล่านี้ย่อมตกอยู่ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยได้ว่าไม่ชัดเจนหรืออาจไม่เห็นด้วยนักกับแนวทางประชาธิปไตย เหตุใดสื่อรังเกียจและทำท่ารับไม่ได้อย่างออกนอกหน้าต่อการนิรโทษกรรมให้คน ๆ เดียว (ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอของนิติราษฏร์ด้วย แต่สื่อคิดเองเออเอง) ในขณะที่ไม่แสดงอาการเดียดฉันหรือตั้งคำถามต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองโดยคณะผู้ทำรัฐประหาร ? ด้วยเหตุผลกลใด หรือด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดกัน ที่ทำให้สื่อไม่รู้สึกยินดี หรืออย่างน้อยพยายามทำความเข้าใจกับข้อเสนอที่เสนอให้เอาตัวผู้ทำรัฐประหารมาลงโทษ แต่กลับตั้งหน้าตั้งตาเบี่ยงประเด็นจนอาจกลายเป็นการช่วยปกป้องคนยึดอำนาจประชาชน ?

ข้อเสนอของนิติราษฏร์ในประเด็นลบล้างผลพวงรัฐประหาร วางอยู่บนหลักการที่ไม่ยอมรับการทำรัฐประหารไม่ว่ารัฐประหารนั้นจะเกิดขึ้นแล้ว หรือยังไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ชัดเจนตั้งแต่การเสนอในครั้งแรกว่า ให้ผลที่สำคัญ ๒ ประการคือ

๑. ทำให้บท “นิรโทษกรรมตัวเอง” ของผู้ก่อรัฐประหารสิ้นผล เป็นโมฆะ เพื่อจะนำคนทำรัฐประหารมาลงโทษตามกฎหมาย ยืนยันว่าเป็นการกระทำความผิดในระบอบประชาธิปไตย และซึ่งแน่นอนการทำเช่นนี้ย่อมให้ผลเป็นการป้องกันการทำรัฐประหารในอนาคตไปด้วยในตัว

๒. ลบล้างกฎหมาย หรือประกาศที่ออกโดยผู้ทำรัฐประหาร รวมทั้งล้างคำตัดสินของศาลที่เริ่มต้น หรือเกี่ยวพันโดยตรงจากการทำรัฐประหาร เช่น รับคำร้องจากคตส. หรือใช้ประกาศคปค.เป็นฐานในการตัดสิน โดยไม่ใช่การลบล้างความผิด หรือนิรโทษกรรมให้กับใคร ความผิดยังคงอยู่ และเมื่อลบล้างแล้ว ให้เริ่มการพิจารณาความผิดของผู้นั้นใหม่ตามกระบวนการยุติธรรม

 

แต่เรากลับหาข้อเท็จจริง ๒ ประการนี้ได้ยากยิ่งจากการเสนอข่าวของสื่อทั้งหลายในสัปดาห์แรก ถ้าเราเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร สังคมจะแตกแยกได้อย่างไรหากข้อเสนอของนิติราษฎร์ถูกนำเสนอโดยครบถ้วนต่อสาธารณชน ไม่ถูกบิด ถูกเฉือน หรือถูกเลือกนำเสนอเพียงบางด้าน ในกรณีที่หนักหนา คือ สิ่งที่ถูกนำเสนอในนามนิติราษฏร์ กลับไม่ใช่สิ่งที่นิติราษฏร์ต้องการนำเสนอ

ด้วยเหตุนี้เอง แม้สื่อบางสำนักจะอ้างว่าตนมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ย่อมไม่อาจหลุดพ้นจากคำตำหนิไปได้ เพราะดูเหมือนพวกเขาไม่ทำการบ้าน ไม่หาข้อมูล ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสนอข่าว เขียนข่าวมักง่าย ฉาบฉวย เสี้ยมแหล่งข่าว โดยมุ่งหวังขายข่าวหวือหวาน่าติดตามแต่ถ่ายเดียวโดยขาดความรับผิดชอบ และด้วยวิธีการทำงานแบบนี้ของสื่อ สื่อเองใช่หรือไม่ที่กำลังเล่นบทเป็น “ตัวการหรือตัวจักร” ทำให้สังคมแตกแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคนที่เกลียดกลัว กับไม่เกลียดกลัวผีทักษิณ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับข้อเสนอของนิติราษฏร์

ภายหลังการแถลงข่าวรอบที่สองของนิติราษฏร์ เริ่มมีนักวิชาการทั้งด้านกฎหมายและอื่น ๆ แสดงความคิดเห็นแย้งและสนับสนุน แม้จำนวนหนึ่งจะยังคงดึงดันโต้ตอบโดยไร้เหตุผลไม่ต่างอะไรกับเด็กอมมือ แต่ก็มีบางกรณีที่พยายามหาเหตุผลมาเสนอแย้ง บรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกระเตื้องขึ้น นักวิชาการทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่งัดข้อกฎหมายขึ้นซัดกันนัวและน่าสนุก แต่สิ่งที่น่าเสียดาย ก็คือ เรื่องราวเหล่านี้ไม่ปรากฎในหน้าสื่อกระแสหลักฉบับที่เคยเขียนโจมตีนิติราษณฎร์อีกต่อไปแล้ว มันเป็นเรื่องของโลกออนไลน์ มันเป็นความเคลื่อนไหวในกลุ่มเฟสบุ๊ก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสื่อกระแสหลักไม่สนใจเล่น หรือให้พื้นที่ข่าวกับเรื่องที่เป็นเนื้อหาสาระจริงจัง ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่การดูแคลนศักยภาพของสื่อใหม่ สื่อใหม่อย่างเครือข่ายออนไลน์อาจมีบทบาทในการนัดพบ ขับเคลื่อนประเด็นการเมืองมากมาย และอาจถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของประชาชนที่จะใช้ต่อกรกับสื่อเก่า แต่เราต้องยอมรับว่าทั้งจำนวนคนเล่น และกลุ่มผู้เล่นยังอยู่เพียงในวงจำกัด ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังเข้าถึงสื่อใหม่ไม่ได้ หรือไม่ได้คิดจะเข้าถึง ทั้งการกำหนดประเด็นให้เป็นวาระแห่งชาติ อุดมการณ์และทิศทางการเมือง ก็จะยังอยู่ในกำมือของสื่อเก่าที่ทั้งเน่าและไม่เน่าแต่ส่วนใหญ่ไม่ทำการบ้านอยู่ต่อไป

บทสรุป

เสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อ หรือเสรีภาพสื่อมีความสำคัญต่อเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และแน่นอนสื่อย่อมมีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ก่อนที่จะกระทำเช่นนั้นสื่อในฐานะผู้มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย จำเป็นต้องทำการบ้าน เสนอข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนรอบด้านเสียก่อน จึงจะถือได้ว่าทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีจรรยาบรรณ ช่วยสร้างสังคมให้อุดมปัญญา ไม่ใช่สังคมแห่งความฉาบฉวย ดราม่า เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก

ในฝ่ายผู้รับสื่อนั้น ถ้าในที่สุดแล้วชักเริ่มเบื่อหน่ายแคมเปนเรียกร้องเสรีภาพสื่อเฝือ ๆ กลวง ๆ ที่ดันมีสื่อที่ไร้จรรยาบรรณขึ้นนำเป็นหัวหอก(เสียด้วย) ถ้าชักสะอิดสะเอียนกับสื่อน้ำเน่า สื่อเลว สื่อโง่ หรือสื่อแกล้งโง่ สื่อเล่นง่าย สื่อไม่ทำการบ้าน ที่เอาแต่ร้องว่าโดนรังแก ถ้าเซ็งเต็มแก่กับบทบาทและการทำหน้าที่ของสภาการฯ หรือองค์กรด้านสื่อ อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นตะบันหน้า ตอกกลับ หรือตรวจสอบเรียกร้องจรรยาบรรณจากสื่ออย่างเป็นจริงเป็นจัง ในฐานะผู้ถืออำนาจรัฐโดยตรงกันเสียที การปฏิรูปส่งปฎิรูปสื่อในเมืองไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหรือทำไปก็เท่านั้น ตราบใดที่สื่อทั้งหลายยังไม่คิดปฏิรูปตัวเอง.

ที่มา: http://www.enlightened-jurists.com/blog/49

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มือดีแฮ็กทวิตเตอร์ยิ่งลักษณ์ ถามปกป้องทวิตเตอร์ไม่ได้ จะปกป้องประเทศอย่างไร

Posted: 01 Oct 2011 10:05 PM PDT

เวลาประมาณ 10.20 น.วันนี้ (2 ต.ค.54) ที่หน้าเพจ http://twitter.com/#!/PouYingluck ซึ่งเป็นหน้าเพจทวิตเตอร์ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปรากฏว่ามีการทวีตข้อความโจมตีนางสาวยิ่งลักษณ์และนโยบายของพรรคเพื่อไทย ในชื่อของนางสาวยิ่งลักษณ์เองจำนวน 8 ข้อความ โดยทวีตข้อความล่าสุดเมื่อประมาณ 10.40 น.ว่า

“แม้กระทั่ง twitter ตนเองยังปกป้องไว้ไม่ได้ แล้วประเทศนี้จะปกป้องได้อย่างไร? ฝากให้พี่น้องคิดดูนะครับ”

ข้อความทั้ง 8 คาดว่าเกิดจากการมีผู้เจาะระบบ หรือแฮ็กเข้ามาในหน้าเพจทวิตเตอร์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี และเข้ามาส่งข้อความดังกล่าวในชื่อของนางสาวยิ่งลักษณ์

มือดีแฮ็กทวีตเตอร์ยิ่งลักษณ์ ถามปกป้องทวีตเตอร์ไม่ได้ จะปกป้องประเทศอย่างไร

มีรายงานจากเว็บไซต์ว้อยซ์ทีวี (http://news.voicetv.co.th/thailand/19616.html) ว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำลังให้สำนักงานปราบปรามการกระทำผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดำเนินการหาตัวผู้ที่เข้าไปแฮ็กข้อมูล และใช้ทวิตเตอร์ @PouYingluck ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า คนแฮ็กใช้โทรศัพท์ไอโฟน แฮ็กข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นด้วยวิธีการเข้าหน้าทวิตเตอร์ผ่านอีเมลของนายกรัฐมนตรีและเปลี่ยนพาสเวิร์ด จนขณะนี้ยังไม่สามารถกู้ข้อมูลกลับคืนมาได้

"ผู้ที่เข้ามาแฮ็กตอนนี้พยายามที่จะใช้แอพพลิเคชั่น ปกปิดพิกัดของตัวเองอยู่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไอซีทีจะดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด จึงอยากฝากผู้เล่นทวิตเตอร์ว่า ข้อความทุกอย่างที่เผยแพร่ใน @PouYingluck ไม่เป็นความจริง และวันพรุ่งนี้ ช่วงเช้าไอซีทีจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น