โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

TCIJ: ส.ศิวรักษ์ ให้กำลังใจ “จินตนา แก้วขาว” ถึงเรือนจำประจวบฯ

Posted: 12 Oct 2011 01:43 PM PDT

ส.ศิวรักษ์ อาวุโส เดินทางเข้าเยี่ยมพร้อมด้วยครอบครัวของ “จินตนา แก้วขาว” เป็นครั้งแรกหลังถูกสั่งจำคุก เจ้าตัวขอให้ชาวบ้านเข้มแข็งสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ชี้ต้องผ่านไปให้ได้

 
 
วันนี้ (12 ต.ค.54) เวลา 13.00 น. เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ราษฎรอาวุโส พร้อมด้วยครอบครัวของนางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ได้เดินทางเข้าเยี่ยม เป็นครั้งแรก หลังจากเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลฎีกา มีคำสั่งจำคุกนางจินตนา แก้วขาว เป็นระยะเวลา 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ด้วยข้อหาบุกรุกสถานที่เอกชนและทำให้เสียทรัพย์ จากงานเลี้ยงโต๊ะจีนครบรอบ 3 ปีของ บริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ดดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ใน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
           
ส.ศิวรักษ์กล่าวถึงคดีของจินตนาว่า เป็นความผิดที่เบามาก เมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ หรือการตายของเจริญ วัดอักษรที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นการสร้างให้มีคนแบบเจริญเติบโตขึ้นมามากขึ้น กลายเป็นกระบวนการภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่สุด การเข้ามาของกลุ่มทุนก็ไม่สามารถทำร้ายได้ ดังนั้น การตัดสินคดีที่ไม่มีความเป็นธรรม คนที่มีความรู้ ความสามารถ แต่ไม่นำความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ นำความรู้ความสามารถที่ตนเองร่ำเรียนมา ไปสร้างอคติไปตัดสินเข้าข้างคนที่ร่ำรวย
 
อคติ 4 คือ ความไม่รู้ตัว ความลำเอียงทั้ง 4 ประการ นี้ ฉันทาคติ คือ ความละเอียงเพราะความรักใคร่ หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะอ้างเอาความรักใคร่หรือความชอบพอกัน โทสาคติ คือความลำเอียงเพราะความไม่ชอบธรรม ความโมหาคติ ความละเอียงเพราะความไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หมายถึง การทำให้เสียความรู้สึกธรรมเพราะความสะเพร่า ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน รีบตัดสินใจก่อนพิจารณาให้ดี กล่าวร้าย และสุดท้าย คือ ภยาคติ คือ อคติที่เกิดขึ้นจากความเกรงกลัวต่ออิทธิพล จนส่งผลให้กระทำผิด ดังนั้น อคติจึงเป็นตัวเลวร้ายที่สุด
 
ส่วนนางจินตนา แก้วขาว ยังกล่าวว่า การตัดสินคดีของศาลในครั้งนี้ ทำให้กระบวนการทำงานของศาลกับการพิจารณาที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านฉลาดขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเองและกับชุมชนบ้านกรูด แต่มันเป็นตัวอย่างให้อีกหลายๆ คดีที่ผ่านมา ที่ไม่มีความชอบธรรม ทั้งนี้ อยากให้พวกเรามีความเข้มแข็งสำหรับเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้น และเราต้องผ่านไปให้ได้
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ชาวบ้านน้ำโมง โวย! ภาครัฐ เบี้ยวนัดแจงข้อมูลโครงการขุดลอก

Posted: 12 Oct 2011 01:02 PM PDT

ประชุมแจงข้อมูลกร่อย ไม่มีตัวแทนราชการ แต่ฝากเอกสารให้เซ็นชื่อยินยอม ชาวบ้านจวกโครงการไม่ให้ข้อมูล-ไม่ถามความเห็น เอ็นจีโอเผยโครงการย่อยโยง โขง เลย ชี มูล เหตุเลี่ยงศึกษาผลกระทบ

 
วันที่ 11 ต.ค.54  เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลจำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กลุ่มชาวบ้านจากบ้านโนนสว่าง และบ้านเหล่าคาม ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินติดกับลำน้ำห้วยโมง ได้เข้ามาประชุมรับฟังการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงจากตัวแทนหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการขุดลอกห้วยโมง เพื่อจะซักถามข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการฯ
 
สืบเนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมามีหนังสือจากอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ขอให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีที่ดินทำกินติดกับลำน้ำห้วยโมง อุทิศที่ดินให้กับราชการเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยจะดำเนินโครงการขุดลอกห้วยโมง ขนาดความกว้าง 40 เมตร ความลึก 5 เมตร และทำถนนลาดยางความกว้าง 6 เมตร ตลอดแนวตลิ่งทั้งสองฝั่งลำน้ำห้วยโมง มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่กลุ่มชาวบ้านเกิดข้อกังขาต่อความไม่เป็นธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินการ อีกทั้งยังกังวลถึงผลกระทบต่อที่ดินทำกินและระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมในวันนี้ ไม่มีตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อชาวบ้าน ทั้งที่เป็นผู้ออกหนังสือเชิญนัดหมายชาวบ้าน มีเพียงเจ้าหน้าที่ช่างโยธาขององค์การบริหารส่วนตำบลจำปาโมง ฝากเอกสารให้ชาวบ้านเซ็นชื่อยินยอมให้มีการขุดลอก จึงไม่มีชาวบ้านรายใดยอมเซ็นชื่อ และหลังจากนั้นได้มีตัวแทนชาวบ้านเดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอบ้านผือ เพื่อยื่นหนังสือไม่เห็นด้วยในการดำเนินโครงการต่อนายอำเภอบ้านผือ
 
นางสาวสมัย พินิจ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจำปาโมง แกนนำกลุ่มชาวบ้านเจ้าของที่ดินทำกินที่ติดกับลำน้ำห้วยโมง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ชลประทาน ไม่มาชี้แจงให้ชาวบ้านได้รู้ถึงรายละเอียดของโครงการว่าเป็นอย่างไร ซึ่งชาวบ้านหลายคนที่กังวลว่าที่นาจะถูกขุดไปหมดเตรียมตัวที่จะมาถามว่าที่จะมาขุดห้วยโมงนั้น ทำไมถึงต้องขุด แล้วขุดแล้วจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่
 
“ที่สำคัญที่ผ่านมา ไม่เคยมาถามชาวบ้านสักคำว่าอยากให้ขุดลอกห้วยโมงไหม อยู่ดีก็มีหนังสือมาขอให้ชาวบ้านมอบที่ดินให้ราชการ เพื่อที่จะดำเนินการขุดลอกห้วยโมง ทำแบบนี้มันไม่เป็นธรรมกับเจ้าของที่นา” นางสาวสมัย กล่าว
 
ด้าน นางคำพอง  ทาสาลี ตัวแทนชาวบ้านตำบลจำปาโมง แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วย หากจะมีการขุดลอกห้วยโมง เพราะจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่สูญเสียที่ดินทำกิน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง
 
“เมื่อปีสามหนึ่ง ก็เคยมาขุดลอกไปแล้วครั้งหนึ่งขุดไปกว้างประมาณ 30 เมตร ชาวบ้านหลายรายได้เสียที่นาไปในการขุดครั้งนั้นหลายไร่ และถ้าจะมาขุดอีกในครั้งนี้ชาวบ้านบางรายแทบจะหมดที่นาไปกับการขุดห้วยโมงเลย และสิ่งที่จะตามมาก็คือเมื่อขุดแล้วสภาพพื้นที่จะเปลี่ยนไป โดยประสบการณ์การขุดในครั้งแรกนั้น เห็นได้ชัดเลยว่า จำนวนปลาลดลงเป็นอย่างมาก” นางคำพองให้ข้อมูล
 
ส่วน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภาคอีสาน (ศสส.) แสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการขุดลอกห้วยโมงในครั้งนี้ว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอำเภอ ที่ทำการออกหนังสือมาถึงชาวบ้าน โดยระบุว่าให้ชาวบ้านมอบที่ดินให้รัฐ เพื่อจะนำไปดำเนินโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้น เป็นการละเมิดสิทธิของชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด เพราะภาครัฐกำลังใช้อำนาจบังคับชาวบ้านทางอ้อม
 
“ที่ผ่านมาไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมให้กับชาวบ้านเลย ไม่เคยมีการชี้แจงข้อมูลความเป็นมา ผลประโยชน์และผลกระทบ รวมทั้งไม่เคยถามชาวบ้านว่าอยากได้โครงการขุดลอกหรือไม่ การดำเนินโครงการจึงเสมือนการตั้งธงไว้แล้วว่า จะทำ โดยชาวบ้านในพื้นที่ต้องน้อมรับยอมตาม” นายสุวิทย์กล่าว
 
สุวิทย์  กล่าวด้วยว่า หากทำการวิเคราะห์ให้เห็นสถานการณ์การพยามยามผลักดัน โครงการ โขง เลย ชี มูล ที่ กรมชลประทานกำลังจะผลักดันอยู่นั้น ดูจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า การขุดลอกห้วยโมง ซอยย่อยให้องค์กรท้องถิ่นดำเนินการให้นั้นสอดรับกับโครงการใหญ่ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการทำการศึกษาถึงผลกระทบทั้งระบบในการทำโครงการ ซึ่งห้วยโมงก็เป็นหนึ่งในเส้นทางการผันน้ำของโครงการ โขง เลย ชี มูล
 
เอกสารอุทิศที่ดิน
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองปราบไม่ฟ้อง"พสิษฐ์"กรณีแพร่คลิป ตลก.ศาล รธน.หารือคดียุบ ปชป.

Posted: 12 Oct 2011 10:29 AM PDT

กองปราบสั่งไม่ฟ้อง "พสิษฐ์ ศักดาณรงค์" กรณีแพร่คลิปที่แอบถ่ายในห้องประชุมตุลาการ รธน. คดียุบพรรค ปชป. ชี้ไม่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยโยนให้อัยการสูงสุดชี้ขาดฟ้อง-ไม่ฟ้อง

สำนักข่าวไทย รายงานวานนี้ (12 ต.ค.) ว่าที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนกองปราบปรามโดย พ.ต.อ.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต รอง ผบก.ป.  ได้นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อายุ 40 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ น.ส.ชุติมา หรือพิมพ์พิจญ์ แสนสินรังสี อายุ 29  ปี เจ้าหน้าที่ระดับ 3 หน้าห้องประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาคดี เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันล่วงรู้ความลับในราชการ เปิดเผยความลับโดยประการให้เกิดความเสียหายตามกฎหมายอาญามาตรา 164 และความผิดฐานร่วมกันเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการน่าจะเกิดความเสียหายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 เสนอให้พนักงานอัยการพิจารณา

จากกรณีที่เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กก. 1 ป. กล่าวหาว่า นายพสิษฐ์ และพวกแอบนำกล้องเว็บแคมไปซ่อนในห้องประชุมตุลาการรัฐธรรมนูญ แล้วบันทึกภาพขณะตุลาการกำลังหารือกันในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคลิปวิดีโอรวม 5 คลิป และมีการเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ต ในช่องทาง “ยูทูบ” ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนสัญชาติสหรัฐ โดยผู้กระทำเจตนาให้มีการเผยแพร่ข้อมูลลับทางเครือข่ายดังกล่าวทั่วโลก และมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวน แต่ได้การประกันตัวออกไป จึงส่งเฉพาะสำนวนการสอบสวนให้อัยการตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 โดยกำหนดให้อัยการสูงสุด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และทำความเห็นชี้ขาดว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพิจารณาของพนักงานสอบสวนนั้นมีหลายประเด็นคือ ผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานต้องรับผิดตามมาตรา 164 หรือไม่ เห็นว่าความผิดตามกฎหมายนี้ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงาน แม้นายพสิษฐ์ กับพวกเป็นบุคคลทั่วไป แต่เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการ จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

2. มีการกระทำผิดหรือไม่ เห็นว่าคลิปที่เผยแพร่มี 5 รายการ คลิปแรกเป็นภาพบุคคลระดับสูง คลิปที่สอง เป็นภาพทนายความของพรรคการเมืองหนึ่งไปพบบุคคลหนึ่ง และพูดคุยกันเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ คลิปที่ 3 เป็นภาพตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังพูดคุยกันเรื่องยุบพรรคการเมือง โดยน่าเชื่อว่าภาพถูกบันทึกมาจากเก้าอี้ของนายพสิษฐ์ คลิปที่ 4 เป็นการสนทนาต่อเนื่องกับคลิปที่ 3 และมีการพูดว่า “เพื่อป้องกันการครหา ให้ดึงนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.มาร่วมรับผิดชอบด้วย” คลิปที่ 5 เป็นการสนทนาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พูดคุยกันเรื่องให้ความช่วยเหลือ ส.ส.คนหนึ่ง

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีพยานปากใดเห็นผู้ต้องหาเป็นผู้นำกล้องไปซ่อนในห้องประชุม หรือบันทึกภาพ ไม่มีใครเห็นว่าผู้ต้องหานำคลิปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้วเผยแพร่ทางยูทูบ มีแต่ผู้ใช้ยูสเซอร์เนมว่า “โอ้ มายก็อด 3009” โดยไม่ระบุอีเมลแอดเดรส จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้พยายามขอตรวจสอบข้อมูลจากบริษัท ยูทูบฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกูเกิล สัญชาติสหรัฐ ก็ได้รับแจ้งกลับมาว่า คดีลักษณะดังกล่าวไม่ตรงกับความผิดในสหรัฐ จึงไม่อาจสนับสนุนข้อมูลให้ได้

พนักงานสอบสวนจึงยุติการสอบสวน พร้อมทำความเห็นเสนออัยการสมควร “สั่งไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหาทั้งสอง และปล่อยผู้ต้องหาไปตามกฎมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143 โดยระหว่างนี้คดีอยู่ระหว่างการกลั่นกรองของคณะทำงานอัยการสูงสุด คาดว่าจะเสนอความเห็นต่อนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด พิจารณาชี้ขาดได้ในสัปดาห์หน้า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจญี่ปุ่นตามคืบหน้าคดีช่างภาพรอยเตอร์ 'มูราโมโต้'

Posted: 12 Oct 2011 10:02 AM PDT

12 ต.ค.54  สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายจุน มารุยาม่า (JUN MARUYAMA) เลขานุการเอก และหัวหน้านายตำรวจประสานงานอาวุโส พร้อมคณะเดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีชันสูตร 13 ศพ และ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผู้บังคับการนครบาล 6 ในตำแหน่งหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดที่ 3 เพื่อติดตามความคืบหน้าการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น จากเหตุการณ์การชุมนุมที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553

พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวว่า ได้ชี้แจงความคืบหน้าคดีหลังร่วมสอบสวนกับพนักงานอัยการ ซึ่งคดีมีความคืบหน้าไปพอสมควร ผู้เสียชีวิตเป็น 1 ใน 13 ศพ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งมาให้ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 3 โดยไม่ได้เรียกร้องอะไร ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามกฎหมาย ถึงแม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่พยายามทำให้ดีที่สุด โดยพยายามหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์กรณีดังกล่าว เท่าที่สอบถามกับทางตำรวจญี่ปุ่นก็ยังติดตามเรื่องอยู่ สำนวนนี้คืบหน้ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้ขอความร่วมมือเกี่ยวกับทางญาติและครอบครัวผู้ตาย ส่วนการขอชันสูตรศพนายฮิโรยูกิใหม่นั้น คงทำไม่ได้ เพราะญาติทำพิธีเผาไปแล้ว ต้องแจ้งเหตุขัดข้องให้ทางศาลทราบว่าอาจทำไม่ครบ 4 ฝ่าย แต่ทำ 2 ฝ่ายไปแล้วคือ พนักงานสอบสวนกับแพทย์ และคงไม่ต้องรอให้ครบ 13 สำนวนจึงส่งอัยการ อะไรที่เสร็จได้ก็ส่งไปก่อนได้ ซึ่งภาพรวมนั้นคณะพนักงานสอบสวนพยายามเร่งรัดให้เสร็จในเวลาที่กฎหมายกำหนด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เร่งในเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยพยายามทำให้เสร็จก่อน แต่หากสุดวิสัยจึงจะขยายเวลา

สำหรับกรณีศพ น.ส.กมลเกด อัคฮาด ผู้เสียเสียชีวิต 1 ใน 6 ศพ ที่วัดปทุมวนาราม จากช่วงการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เรื่องนี้ให้ทางแม่น้องเกดไปยื่นเอกสารที่ศูนย์ข้อมูลหลักฐานคดี 13 ศพ ที่ สน.บางรักแล้ว เรื่องอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งต้องดูว่าจะมีการโอนมาให้รวมกับคดี 13 ศพ หรือไม่ เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ. – สำนักข่าวไทย

 

“อภิสิทธิ์” แนะ คอป.หาช่องทางสื่อสารกับประชาชน

ที่โรงแรมสยามซิตี้ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พร้อมด้วยกรรมการ อาทิ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายมานิจ สุขสมจิตร ได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า เป็นการคุยกันถึงการทำงานของ คอป. ซึ่งเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ไม่ได้ลงลึกในเนื้อหาสาระ แต่มีข้อเสนอแนะไปยัง คอป.ว่าหลายเรื่องที่ทำงานมา ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลยอมรับ แต่การที่จะนำไปสู่การปฏิบัติควรต้องทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน หากพูดคนละครั้งก็จะมีปัญหา และที่ผ่านมา คอป.สื่อสารน้อย จึงควรจะมีช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนโดยตรงให้มากขึ้น เพราะหลายเรื่องที่ คอป.นำเสนอเป็นเชิงหลักการ หลายเรื่องสังคมไม่ค่อยรับรู้ หรือเข้าใจยาก

ด้านนายคณิต กล่าวว่า จะพยายามทำความเข้าใจ และทุกครั้งที่นำเสนอก็ได้นำเสนอทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ จะหาช่องทางเพื่อสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น ล่าสุดปลัดกระทรวงยุติธรรม ประสานว่าเวลาช่วง 21.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ จะใช้ช่องทางนี้สื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และหลายเรื่องได้นำเสนอไปแล้ว ซึ่งจะประมวลข้อเสนและนำเสนอรัฐบาลในสัปดาห์หน้า

นายคณิต กล่าวถึงกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาพบว่า ไม่ได้นัดหมายกับนายอัมสเตอร์ดัม แต่มี ส.ส.โทรศัพท์และประสานว่าต้องการพบกับตน แต่ ส.ส.คนดังกล่าว ได้นำนายอัมสเตอร์ดัม มาด้วย โดยที่ไม่ได้บอกตนล่วงหน้า ซึ่งตนเห็นว่าผิดมารยาท และได้ตำหนิ ส.ส.คนดังกล่าวแล้ว ขอยืนยันว่าไม่มีผลเกี่ยวกับการทำงานใด ๆ ของตน ส่วนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมนั้น นายคณิต กล่าวว่า ได้ทำข้อเสนอไปแล้ว จากนี้ไปเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ที่พานายอัมสเตอร์ดัมไปพบนายคณิต คือ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

 

ธิดา – อัมสเตอร์ดัม แถลงเตรียมหาหลักฐานเพิ่ม

ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 12 ต.ค.กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.นำโดย นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช.พร้อมด้วย นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงข่าวที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5
       
นางธิดา ระบุว่า พ.ร.บ.ข้าราชการกลาโหม จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง และควรยกเลิก เพราะ พ.ร.บ.นี้เกิดในสมัยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เกิดจากการทำรัฐประหาร ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง พร้อมสนับสนุนคำพูดของ นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาพูดถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการทหาร พร้อมเรียกร้องรัฐบาลเร่งตั้งคณะทำงานเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการ ชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 รวมไปถึงความเสียหายอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทำไว้ ซึ่งจะปล่อยให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่ง ชาติ (ปคอป.) ทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ รัฐบาลต้องทำด้วย
       
นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม กล่าวว่า การเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อมาหาหลักฐานเพิ่มเติมในเหตุการณ์ที่ทหารสลายการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว โดยจะทำงานร่วมกับทีมทนาย นปช.ของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการจะยุติในเรื่องที่ทหาร คือ ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษ พร้อมมองว่า การแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการยากที่จะทำได้ เพราะมีมือที่มองไม่เห็นเป็นผู้ควบคุมอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง
       
นายโรเบิร์ต กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นประชาธิปไตยเพียงก้าวแรกเท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยมีต่อไป และจะต้องไม่ปล่อยคนทำผิดไป ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ มีอีกหลายประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน และก็สามารถผ่านพ้นมันไปได้ พร้อมมองว่า ประเทศไทยไม่สมควรจะให้ทหารแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
       
นายโรเบิร์ต กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ ได้เดินทางไปเยี่ยมคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้วก็ทำให้ได้ข้อมูลมาพอสมควร ต่อไปก็จะไปตรวจเยี่ยมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมจะเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุเพื่อหาข้อมูลที่เป็นจริง เพราะตนไม่ยอมรับว่าสิ่งที่รัฐบาลบอกจะเป็นเรื่องจริง โดยในวันอาทิตย์นี้ นางสาวอลิซาเบ็ธ โพเลนจ์กี้ น้องสาวของ นายฟาบิโอ โพเลนจ์กี้ ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ทำข่าวการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 จะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อมาพบ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ด้วย

ขณะที่เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า นายโรเบิร์ต อัมเตอร์สดัม ที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศนปช. ได้กล่าวระว่างแถลงข่าวว่า เขายินดีที่ได้เข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง ขอส่งกำลังใจไปช่วยประชาชนที่น้ำท่วม ซึ่งเขาจะมีแผนจะลงพื้นที่ด้วย และขอแสดงความเคารพกับแกนนำนปช. 

"หากมีใครมาบอกผม หลังการผ่านดงกระสุนเมื่อปีที่แล้วว่า ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยนั้น มันไม่น่าเชื่อ แต่มันจะเป็นก้าวแรกและเป็นสิ่งสำคัญว่า หากไม่ค้นหาความจริงกับผู้เสียชีวิต ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้ และจะปล่อยให้ทหารไม่รับผิดนั้นไม่ได้ รวมทั้งไม่มีควรมีกฎหมายที่อนุญาตให้เกิดการรัฐประหาร"

นายโรเบิร์ต กล่าวว่า  สิ่งที่คณะนิติราษฎร์ระบุไว้นั้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของประเทศไทยเท่านั้น  ประเทศไทยไม่ได้มีสถานการณ์แบบนี้แค่ประเทศเดียว เขาเพิ่งได้รับหนังสือชื่อน้ำตกแห่งความยุติธรรมที่ตีพิมพ์ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จึงขอนำเสนอย่อ ๆ ว่า หลายปีที่ผ่านมานักวิเคราะห์การเมืองในทวีปอเมริกา เชื่อว่า วงเวียนรัฐประหาร อำนาจนิยม ระบบชนชั้น วัฒนธรรม ความรุนแรงและประชาธิปไตยเป็นความจริงที่เกิดขึ้นของประเทศเหล่านั้น และวันนี้ ลาตินอเมริกากลายเป็นประเทศประชาธิปไตยไปแล้ว การรัฐประหารหากเกิดขึ้นในลาตินอเมริกาในวันนี้ จะโดนต่อต้าน

 “ประเทศเหล่านี้ไม่ควรอนุญาตให้นายทหารแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ทุกอาทิตย์นั้น ผมจะได้ยินความเห็นของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยเสมอๆ” นายโรเบิร์ต กล่าว

นายโรเบิร์ต กล่าวว่า เขาเพิ่งไปเยี่ยมนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นพี่น้องกับคนเสื้องแดง โดยอยู่ในสภาพแย่มาก ๆ เขาพยายามทำให้มั่นใจว่า หลักนิติรัฐจะเกิดขึ้น และต้องปฏิบัติเหมือนกับทุกคดี คำถามที่ขอตั้งคำถาม ในฐานะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่า ทำไมกลุ่มอำมาตย์ชอบบอกกับพวกเราเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ขอถามว่า ใครจะโจมตีประเทศไทย และขอให้ผบ.ทบ.กับกลุ่มอำมาตย์ระบุให้ชัดว่าเป็นใคร เพราะหากใครเข้ามาโจมตีประเทศไทย เขายินดีไปช่วย เพราะจริง ๆ แล้วไม่มีใครโจมตีประเทศไทย

นายโรเบิร์ต ยังถามว่า ทำไมคนสื้อแดงต้องไปอยู่ในคุก ในข้อหาความมั่นคงของประเทศโดยไม่ได้รับการประกันตัว ถึงเวลาแล้วที่คนเสื้อแดงจะให้คำนิยามคำว่า ความมั่นคงของประเทศด้วยตัวเอง

 “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคำนิยามนั้น คน ๆ นี้ทำให้ประชาชนมีกินมีอยู่ โดยไม่ให้เงินทหารไปซื้อยุทโธปกรณ์ที่ไร้สาระ มันถึงเวลาที่ควรจะตั้งชื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ใหม่ ที่ต้องตั้งตามความจริงคือ พรรคแห่งทหาร เพราะพรรคนี้ไม่เคยชนะเลือกตั้งในประเทศไทย คน ๆ เดียวที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์คือทหาร”

นายโรเบิร์ตกล่าวด้วยว่า เขาจะกระซิบความกลัวที่ยิ่งใหญ่ว่า อย่าเอ่ยชื่อ”ทักษิณ”เด็ดขาด เพราะชายฉกรรจ์จะกลัว เปลี่ยนกฎหมาย และเรียกทหารเข้ามา มันไม่มีอะไรที่น่ากลัวสำหรับประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนมติชนออนไลน์ รายงานว่า นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม  ถึงกรณีนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคนเสื้อแดงในเรือนจำ และการเดินสายติดตามกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 ว่า นายโรเบิร์ตไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย เพราะการค้นหาข้อเท็จจริงดังกล่าว มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งการกระทำของนายโรเบิร์ตถือเป็นการเรียกเงินเพิ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น เพราะรู้ดีว่าที่พูดว่าจะนำคดีดังกล่าวไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศคงเป็นไป ไม่ได้อยู่แล้ว เพียงต้องการเบิกเงินเดือนต่อไปจาก พ.ต.ท.ทักษิณ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี: เมื่อฉันนั่งดูข่าว (และอ่านเฟซบุ๊ก) เรื่องน้ำท่วม

Posted: 12 Oct 2011 09:31 AM PDT

น้ำท่วมเป็นปัญหาประเภทใด

ก.ภัยธรรมชาติ
ข.การจัดการทรัพยากร
ค.ข้อมูลข่าวสาร
ง.การเมือง
จ.ถูกทุกข้อ

ตลอดเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวไหนจะสำคัญ ได้รับการพูดถึง ติดตามไปมากกว่าข่าว ‘น้ำท่วม’ ด้วยเพราะความเสียหาย ในปีนี้มากมายกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา ด้วยความป่วยไข้ทำให้ดิฉันไม่ได้ออกไปไหน วันๆ ได้แต่นั่งสูดน้ำมูกหน้าจอทีวี หรือไม่ก็จอคอมพิวเตอร์ จนทำให้กลายเป็นคนที่มีโอกาสได้ติดตามข่าวน้ำท่วมตลอดทั้งวัน เช้าจรดเช้าของอีกวัน ทั้งทางโทรทัศน์ เว็บไซต์ข่าว หรือบนเฟซบุ๊ก

เหมือนหนังม้วนเก่า ฉายซ้ำปีที่แล้ว ผิดแต่ว่าในปีนี้ความเสียหาย และมวลน้ำนั้นจำนวนมากมหาศาลกว่า ไทยทีวีสีช่องสาม ทั้งรายการของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ รายการข่าวสามมิติของคุณกิตติ สิงหาปัด และรายการยิบย่อยอื่นๆ ของช่องสามที่รายงานข่าวตลอดทั้งวัน รวมถึงการระดมเงินบริจาคผ่านครอบครัวข่าว ไทยทีวีสีช่องสาม ยังเป็น ‘พระเอก’ อยู่เช่นเดิม และผู้ร้ายก็ยังเป็นรัฐบาล หน่วยงานราชการ ที่ทำงานเชื่องช้า ต้วมเตี้ยม เหมือนดังเช่นในปีที่แล้ว ที่มีกระแสการเปรียบเทียบว่านายกฯ คือคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา หรือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กันแน่ เช่นเดียวกันในปีนี้ หลายคนก็ตั้งคำถามเดียวกันว่านายกฯ คือใคร สรยุทธ สุทัศนะจินดา กิตติ สิงหาปัด หรือว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นั่นเป็นเรื่องที่รัฐบาล (ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน) ต้องไปเรียนรู้จัดการเอาเอง ยิ่งลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ครบ 4 ปี หรือไม่ แต่เห็นๆ กันอยู่แล้วว่าน้ำท่วมทุกปี เพราะฉะนั้นในปีหน้า หนังม้วนเดิมก็จะเวียนกลับมาฉายอีก ดิฉันไม่มีความรู้มากพอจะเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ในเมื่อน้ำท่วมเป็นปัญหาภัยธรรมชาติ (ใครตอบข้อ ก.ถูกต้องนะค้า...แต่ได้คะแนนหรือเปล่าต้องรอดูกันต่อไป) แต่ยังมีเรื่องการจัดการน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง (ข้อ ข. ก็ถูกต้องค่ะ) หรือแม้กระทั่งกระบวนการเยียวยา ช่วยเหลือในขณะน้ำท่วม หรือหลังน้ำท่วม สิ่งที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี น่าจะทำให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงเห็นแล้วว่า มีรูโหว่รูรั่วตรงไหนอย่างไรบ้าง และจะจัดการกับมันอย่างไร และเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องตัดสินใจให้คะแนนรัฐบาลนี้ เก็บแต้มไว้เลือกตั้งคราวหน้าว่าสอบผ่านหรือไม่ อย่างไร

ในปีนี้จังหวัดอยุธยาดูเหมือนจะได้รับความเสียหายมากที่สุด (ดูจากการปักหลักทำข่าวที่นั่นเป็นหลัก) และมันก็ใกล้กรุงเทพฯ นิดเดียว จิตใต้สำนึก (หรือจิตไร้สำนึก) ของดิฉันก็คงเหมือนกับคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ทั่วไป ที่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดว่า กรุงเทพฯ จะท่วมหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร ขนาดไหน พร้อมๆ กับการนั่งดูภาพรวมอื่นๆ ของประเทศ ว่ามีจังหวัดไหนท่วมแล้วบ้าง ส่งเอสเอ็มเอสไปให้กำลังใจ (ที่ได้บุญด้วยเพราะค่าเอสเอ็มเอสที่ส่งไปจะแปรไปเป็นเงินบริจาค) บริจาคเงินและสิ่งของไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม คอยอัพเฟซบุ๊กถึงข้อมูลข่าวสาร และความเห็นอกเห็นใจคนไทยที่ถูกน้ำท่วม และก่นด่ารัฐบาลไปพลางๆ ตามแต่จะมีประเด็น (ให้ด่า) หรือบางคนไม่มีประเด็นก็จะด่า (เดี๋ยวจะกล่าวถึงต่อไป)

ด้วยความอืดอาด ต้วมเตี้ยม การทำงานไม่เป็น หรืออะไรก็แล้วแต่ ของการจัดการปัญหาน้ำท่วม เยียวยา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ของหน่วยงานราชการ รัฐบาล ทำให้สายตาของเราเบนไปยังการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นหลัก โดยเฉพาะไทยทีวีสีช่องสาม ที่นอกจากจะเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว ยังดูเหมือนว่าเป็นหน่วยงาน ‘หลัก’ ในการช่วยเหลือ ประสานงาน ฯลฯ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกด้วย ดังที่หลายคนได้เห็นกันในข่าว (ช่องสาม ถ้าดูช่องอื่น อย่างไทยพีบีเอส ก็จะเห็นว่าไทยพีบีเอสเป็นอีกหน่วยงาน ‘หลัก’ เช่นกัน)

ก่อนอื่นดิฉันขอแสดงความชื่นชมในความทุ่มเท เสียสละ ของทีมงานข่าวทุกคน ที่นอกจากจะติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด (ลงไปแช่อยู่ในน้ำเลยทีเดียว เพื่อให้เห็นว่าท่วมจริงๆ นะ) แล้ว ยังช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างขยันขันแข็งอีกด้วย แต่การได้นั่งติดตามดูข่าวของดิฉันก็ทำให้เกิดความหงุดหงิด เมื่อภาพข่าวที่ได้เห็นในทุกๆ วันนั้น ไม่ต่างจาก ‘รายการคนค้นคน’ เพราะมันเต็มไปด้วย ‘ดราม่าสตอรี่’ (ขออนุญาตดัดจริตใช้คำทับศัพท์นะคะ) มากกว่าจะเป็นเนื้อความข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณยายผู้โดดเดี่ยว ถูกลูกหลานทิ้ง ไม่ได้กินข้าวกินน้ำเป็นวันๆ และไม่มีใครไปช่วยเหลือ (ข่าวแบบนี้เราจะเห็นบ่อยๆ ในช่วงข่าวชีวิตจริงอันน่าเศร้า ที่มีทุกช่อง) สาววัยกลางคนชาวต่างด้าว ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เพียงเพราะเธอเป็นชาวต่างด้าว (ถ้าอยากได้ข่าวแบบนี้ ติดต่ออาจารย์แหวว พันธุ์ทิพย์ ได้ คาดว่าคงมีเคสสตัดดี้ให้เป็นข่าวได้หลายปี—ด้วยความเคารพและเชิดชูอาจารย์แหววนะคะ ไม่ได้ประชดประชัน แม้หนูจะได้คะแนนวิชากฎหมายสัญชาติของอาจารย์มาน้อยนิดก็ตามที) ข่าวสาวท้องใกล้คลอด หรือแม้กระทั่งทำคลอดกันเอง ในขณะที่น้ำท่วม ข่าวชาวบ้านทะเลาะกัน (หรือทะเลาะกับเจ้าหน้าที่รัฐ) เรื่องเปิดคันกั้นน้ำ (แม้ข่าวนี้จะน่าสนใจที่สุดในการเปิดประเด็นเรื่อง ‘สิทธิการถูกน้ำท่วมอย่างเท่าเทียม ก็ตาม แต่ประเด็นข่าวไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น นอกจากการทะเลาะและการประนีประนอมกัน) ฯลฯ

ดราม่าสตอรี่จำพวกนี้ กินเวลาการนำเสนอข่าวมากกว่าประเด็นอื่นๆ ไปเสียหมด ประเด็นสำคัญๆ ของข่าว ‘น้ำท่วม’ ที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ เพื่อเตรียมตัวรับมือ ป้องกัน หรือได้เรียนรู้ว่าปัญหาน้ำท่วมนั้นมีเหตุปัจจัยที่หลากหลายกลับแตกกระจาย ไม่เป็นโล้เป็นพาย จับความไม่ได้ จนถึงขั้นโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องตั้งแฟนเพจ ‘น้ำขึ้น ให้รีบบอก’ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแหล่งข่าวที่มีประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนประชาชนด้วยกันเอง นี่ยังไม่นับหน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลฯ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาล ที่เราหวังพึ่งไม่ได้
 


 แฟนเพจ "น้ำขึ้น ให้รีบบอก" 

ดราม่าสตอรี่เหล่านี้ แน่นอน...นัยหนึ่งมันเป็นข่าวที่ ‘ขายได้’ ไม่ต่างจากข่าวหนังสือพิมพ์หัวสีหน้าหนึ่ง แต่ถามว่าประชนชนได้อะไรจากการเสพข่าว ‘ดราม่าสตอรี่’ และประชาชนต้องสูญเสียอะไรจากการเสพข่าวเหล่านี้ การพูดเช่นนี้ดิฉันอาจจะถูกมองว่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ที่สำคัญอาจถูกมองว่าเป็นเพียงคนกรุงเทพฯ ที่เห็นแก่ตัว (ที่ไม่ยอมถูกน้ำท่วม—แล้วจะกล่าวถึงประเด็นนี้อีกที) ต้องการรับรู้ข่าวเพียงว่าน้ำจะมากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ จะได้รับมือ ป้องกันได้ทันท่วงที หากยอมรับผิดไว้ครึ่งหนึ่ง แล้วอีกครึ่งหนึ่งขอบอกว่านั่นก็ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ รวมถึงคนในที่อื่นๆ ทั้ง คนที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อน ในป่าไกลปืนเที่ยง คนที่ถูกดินถล่ม น้ำป่าทะลัก ฯลฯ ควรจะได้รับรู้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นไม่ใช่หรือ ? ในขณะที่น้ำท่วมอยู่ที่ที่หนึ่ง ทำไมต้องไปปักหลักกันเพื่อรายงานแต่เรื่อง ‘ดราม่าสตอรี่’ ในที่ที่นั้นแต่ละวันด้วย และนั่นทำให้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญๆ ที่ประชาชนในที่อื่นๆ หรือพื้นที่ที่กำลังจะเสี่ยงภัยหดหายไป เหลือเพียงแค่ชิ้นข่าวประกอบเรื่องดราม่าสตอรี่ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นการรายงานข่าวเพื่อแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า

หลายคนอาจคิดว่า ดีแค่ไหนแล้วที่ ‘เขา’ ทำทั้งหน้าที่ผู้สื่อข่าว และผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปพร้อมๆ กัน และประเด็นเรื่องการช่วยเหลือผู้คน หรือเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ก็ควรจะมาก่อนประเด็นข่าวด้วยซ้ำไป ดิฉันจะมากล่าวโทษเรียกร้องอะไรนักหนา ทำไมไม่ไปเรียกร้องก่นด่ากับรัฐบาลโน่น แน่นอนว่า...หาก ‘เขา’ ไม่ได้มีหน้าที่ ตำแหน่ง ‘ผู้สื่อข่าว’ ดิฉันก็จะไม่เรียกร้องในเรื่อง ‘ประเด็นข่าว’ จากเขา ดิฉันไม่ได้เรียกร้องความเป็นซูเปอร์ฮีโร่จากนักข่าว หรือละครน้ำเน่า ดราม่าดูแล้วน้ำตาคลอ ต้องรีบกดเอสเอ็มเอสส่งเข้าไปในรายการ หรือรีบบริจาคเงิน ด้วยความสงสาร และในขณะเดียวกัน หน่วยงานที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลข่าวสาร หรือการให้ความช่วยเหลืออย่างหน่วยงานราชการ รัฐบาลก็สมควรได้รับคำตำหนิมากกว่าหลายเท่าตัวนัก!!!

ปัญหาเรื่องน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นปัญหาเรื่อง ‘ภัยธรรมชาติ’ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันสร้างขึ้นไม่มากก็น้อยตามคำอธิบายเรื่องโลกร้อนแล้ว ยังเป็นปัญหาเรื่องการจัดการ (หรือละเว้นที่จะจัดการ) ทรัพยากรน้ำ หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารอีกด้วย ในการนำเสนอข่าวอย่างน้อยนิด และไม่ปะติดปะต่อ รวมถึงการเก็บงำความจริงบางอย่างของทางราชการ ทำให้เกิดคำถามหลายคำถามตามมาไม่หยุด ไม่ว่าจะเป็นทำไมกรุงเทพฯ ถึงน้ำไม่ท่วม ทำไมจึงมีการผันน้ำเข้าจังหวัดนี้ ไม่เข้าจังหวัดนี้ เข้าพื้นที่นี้ ไม่เข้าพื้นที่นี้ ปัญหาเรื่องตรงนั้นท่วม ตรงนี้ไม่ท่วม จึงใช่เพียงแค่ปัญหา ‘ภัยธรรมชาติ’ เพียงอย่างเดียว แต่มันยังซับซ้อนไปมากกว่านั้น

ตัวอย่างเช่น ในรายงานข่าวการเถียงกันของชาวบ้านที่อยุธยา ที่พยายามจะพังคันกั้นน้ำ เพราะเขตในบ้านตนเองท่วมขังอย่างสูง แต่ทางราชการไม่ยอมให้พัง เพราะกลัวน้ำไหลเข้าสู่เศรษฐกิจของจังหวัด ยังคำถามมายังชาวบ้านเหล่านั้นว่า สิทธิความเท่าเทียม หรือไม่เท่าเทียมในการถูกน้ำท่วมวัดกันที่ตรงไหน เนื่องจากในปีที่แล้ว (รัฐบาลที่แล้ว) พวกเขายอมให้น้ำท่วมเขตหมู่บ้านตนเอง แต่ก็ไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่สมควรจะได้ ปีนี้เขาจึงต้องลุกขึ้นสู้ เพราะเกรงว่าความเสียหายที่ยินยอมจะไม่ได้รับการเยียวยาอีก และมันก็สุดจะเกินทนแล้ว

สิทธิความเท่าเทียม หรือไม่เท่าเทียมในการถูกน้ำท่วมนี้ รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วยหรือเปล่า ?

หรือการผันน้ำเข้าพื้นที่ทำการเกษตร ที่บางจังหวัด (บางพื้นที่) น้ำต้องท่วม บางจังหวัด (บางพื้นที่) น้ำไม่ท่วม ในขณะที่รายการข่าวรายการหนึ่งนำนักวิชาการมาพูดถึงประเด็นนี้ แล้วโยนบาปไปยังเกษตรกรว่า ก็รู้แล้วว่าเขาไม่ให้ทำนาปรัง ยังจะทำอีก แล้วเห็นไหมว่าพอน้ำท่วม ก็ต้องมาเยียวยารักษา เรียกค่าเสียหายกัน ฯลฯ (เราจะไม่ไปไกลถึงประเด็นเรื่องนาปรังนาปี เดี๋ยวยาว) ทำไมเรา หรือ หน่วยงานราชการ หรือรัฐบาล ไม่ออกมาพูดกันตรงๆ เว้ากันซื่อๆ ไปเลยว่า พื้นที่นี้จะให้น้ำท่วม ก็จ่ายเขาไป (ส่วนจะนำเงินจากไหนมาจ่าย ก็ค่อยมาพูดคุยกันอีกทีว่า พื้นที่ของคนที่หลีกเลี่ยงการถูกน้ำท่วม อย่างเขตเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ หรือกรุงเทพฯ นั้น ควรต้องจ่ายภาษีน้ำท่วมเพิ่มหรือไม่) ซื้อพื้นที่น้ำท่วมไปเลยว่าปีนี้จะซื้อพื้นที่น้ำท่วมตรงนี้ จะจ่ายเท่านี้ พอใจหรือไม่ คุ้มกันไหม ไม่ใช่มั่วหลอกกันเรื่องภัยธรรมชาติ การผันน้ำ การคาดคะเนปริมาณน้ำผิดพลาด หรือทิศทางน้ำ กันอย่างเช่นทุกวันนี้ ถึงเวลาที่เราจะทำอะไรตรงไปตรงมากันหรือยัง หรือจะรอให้มันกลายเป็นปัญหาที่มีเงื่อนงำซ้ำซากกันต่อไป (และคนที่โดนก็เป็นคนพื้นที่ ‘เดิมๆ’ ทุกปีร่ำไป และคนที่ไม่โดนด้วยเงื่อนงำนั้นก็ยังไม่รู้สึกตัวอยู่ร่ำไป)

หรือว่าระบบที่คนที่หนึ่งบริจาคเงินเพื่อไปช่วยคนที่หนึ่งนั้นมัน ‘สวยงาม’ (สำหรับใคร ?) กว่าการมานั่งพูดกันตรงๆ เรื่องการจ่าย (ภาษี?) หรือเช่าพื้นที่สำหรับน้ำท่วม ?

นี่ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือน ทั้งเรื่องฝนฟ้า การปล่อยน้ำ ทิศทางน้ำ ฯลฯ ที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งของหน่วยงานราชการ รัฐบาล ที่ดูเหมือนว่าประเทศนี้เมืองนี้ไม่มีหน่วยงานรัฐอยู่เลย หรือมีอยู่ก็เพียงแค่ชื่อ ไม่มีใครทำงาน ไม่มีการสื่อสาร (หรือสื่อสารด้วยภาษาที่ไม่เข้าใจได้ง่าย) ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่ได้เพิ่งจะมีน้ำท่วมในปีนี้ แต่หน่วยงานทางราชการทั้งหลายที่ไม่ได้เปลี่ยนคนทำงานไปตามรัฐบาลที่ได้ตำแหน่งมา แต่อยู่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เผลอๆ อาจจะผจญเรื่องน้ำท่วมมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบด้วยซ้ำ แต่ก็ยังไม่เรียนรู้ (พูดอย่างนี้เดี๋ยวก็หาว่าดิฉันเข้าข้างรัฐบาลอีก ขอบอกว่าเห็นถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลว่า ทำงานไม่เป็น สั่งการไม่ได้) รวมถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่ไม่มีแก่นสารของเรื่อง ที่จะช่วยให้สามารถได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำไปใช้ได้ หรือเป็นการป้องกันเตือน อย่างตรงไปตรงมา และเป็นประเด็นหลัก ประเด็นใหญ่แล้ว ก็เห็นจะมีแต่เรื่องดราม่าสตอรี่ทั้งหลาย ข่าวแจกถุงยังชีพ ข่าวดาราลงไปช่วยน้ำท่วม ข่าวนายกฯ ลงพื้นที่ มีแต่ข่าว Post-น้ำท่วมทั้งนั้น ทั้งๆ ที่เรามีทั้งเขตน้ำท่วม กำลังจะท่วม เสี่ยงที่จะท่วม แต่สุดท้าย ทุกพื้นที่จะถูกรายการเมื่อ ‘น้ำท่วม’ แล้วทั้งหมด

หลังจากผิดหวังจากการดูข่าวทางทีวีแล้ว ดิฉันจึงหันหน้ามาพึ่ง (เล่น) เฟซบุ๊ก โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ว่ากันว่ามีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนสังคมในปัจจุบัน แต่แล้วก็ต้องผิดหวังไม่ต่างกัน เมื่อมันนั้นเต็มไปด้วย ‘สลิ่มบันเทิง’ อย่างการโพสต์ข้อความประมาณว่า “verb ช่องที่ 1 คือ ยิ่งลักษณ์ ส่วน verb ช่องที่สองคือ ยิ่งเละ” แต่นั่นก็พอจะเข้าใจได้ และมันไม่มีค่าพอที่ควรจะใส่ใจ โดยเฉพาะหากเรานึกว่าเฟซบุ๊กก็เป็นเพียงกระดานการระบายความรู้สึกส่วนตัวบนโลกไซเบอร์ ไม่อาจเรียกร้องตรรกะ เหตุผล หรือคำอธิบายที่ลึกซึ้งอะไรมากกว่านั้นได้

แต่เพียงไม่นาน ก็มีภาพอันได้รับการแชร์ต่ออย่างมากมาย และกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเฟซบุ๊ก นั่นก็คือภาพการเปรียบเทียบการลงพื้นที่ของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายกฯ คนปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รูปหนึ่งของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เดินลุยน้ำ ในขณะที่อีกรูปที่นำมาแปะข้างๆ กันเพื่อเปรียบเทียบเป็นของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่เดินบนสะพานไม้ ซึ่งก็ตามมาด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์อันหลากหลาย หลากรส ไม่ว่าจะเป็น

“ดูนายกฯ ไพร่สิ ทำตัวอย่างกับอมาตย์, ไม่รู้จะไปให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนทำไม, เธอไปเดินแฟชั่นเหรอ, เธอคิดว่าอยู่บนแคตวอล์กหรือไง, เห็นได้อย่างชัดเจนว่าใครตัวจริง, สมน้ำหน้าพวกที่เลือกมันเข้ามา เป็นไงล่ะ เดินอย่างสวยเลย” ฯลฯ คอมเมนต์คงมีเยอะกว่านี้ (มันส์และหยาบคายมากกว่านี้) ตามแต่เฟซบุ๊กใครมันที่ได้รับการแชร์มาต่อๆ กัน

คงไม่ต้องอธิบายกันมากความ เพราะคนที่สติดีอยู่บ้าง ก็คงเห็นได้ว่ามันไม่ใช่ประเด็นเรื่องน้ำท่วม แต่เป็นประเด็น (การดิสเครดิตทาง) การเมือง และคนที่พอจะมีสติอยู่บ้าง ไม่ได้มืดบอดไปด้วยอคติและความเกลียดชังเลือกข้าง ก็คงจะรู้ได้ว่าภาพๆ เดียวไม่อาจแทนความจริงทั้งหมด และในการลงพื้นที่ในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คงไม่มีเพียง ‘ภาพ’ นี้ภาพเดียว คงมีหลากร้อยหลายพันภาพที่ถูกผู้สื่อข่าวบันทึกและนำมาลงเพื่อเขียนข่าว ทั้งภาพที่ยิ่งลักษณ์ลุยน้ำ อภิสิทธิ์เดินบนสะพานไม้ หรือนั่งเรือ ฯลฯ แต่มันก็ถูก ‘ตัดตอน’ ความจริง (เช่นสะพานนั้นถูกสร้างขึ้นมาอยู่แล้ว เดินบนสะพานจะผิดแปลกอะไร หรือนายกฯ อาจกำลังมีประจำเดือน จึงลุยน้ำไม่ได้) นำมาใช้และนำมาอธิบายด้วย ‘ข้อความ’ หนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยอคติและความโง่เขลาโดยแท้

เพราะเพียงไม่นานหลังจากก็มีภาพ ‘ภาพอีกชุด’ ถูกนำมาตัดต่อคู่กัน และวางไว้เคียงข้างภาพเดิม เพื่อสั่งสอนพวกสลิ่มเฟซบุ๊กทั้งหลาย ว่าหากเรานำอีกภาพมาวางต่ออีกภาพ จากจำนวนหลายร้อยหลายพันภาพที่ถูกถ่าย ก็จะได้ ‘ควาหมาย’ (ซึ่งถูกขับเน้นด้วยข้อความอีกที) อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายที่ตรงกันข้ามกับการเปรียบเทียบในภาพชุดแรกก็ตามที แต่ยังดีที่ผู้ที่ทำภาพเปรียบเทียบสองชุดล่าสุดนั้น เป็นผู้มีสติและรู้เท่าทันอคติและความลำเอียงมืดบอดอย่างยิ่งยวด จึงไม่ได้ทำมาเพื่อดิสเครดิต หรือจ้องจะทำลายใคร (เพราะไม่ได้นำเสนอเพียงภาพตัดต่อสองรูปที่สื่อนัยยะหนึ่งอย่างโดดๆ อย่างที่ชุดแรกทำ แต่นำมาวางคู่กับอีกสองภาพแรกที่ถูกนำมาตัดต่อเพื่อสื่อนัยยะหนึ่งก่อนหน้านี้) แต่มีข้อความที่สุดแสบสันไปยังเหล่าสลิ่มเฟซบุ๊กทั้งหลายที่แชร์และสนุกสนานในการก่นด่ากับภาพชุดแรกไปเรียบร้อยแล้ว ข้อความมีว่า

“เบิ่งเนตรดูบ้างก็ดีสำหรับคนที่ยังไม่หลุดพ้นจากความเกลียดชัง แล้วอินการเมืองแบบเลือกที่รักมักที่ชัง”
 

แน่นอนว่า ยิ่งลักษณ์ก็อาจเดินสะพานบ้าง นั่งเรือบ้าง ลุยน้ำบ้าง เช่นเดียวกันกับอภิสิทธิ์ และนั่นไม่ได้หมายความว่า ใครทำตัวเยี่ยงไพร่ ใครทำตัวเยี่ยงอำมาตย์ (นี่เป็นอีกหนึ่งกรณีของสังคมที่นิยมแต่ ‘เปลือก’ คือยกมาแต่รูปลักษณ์ คือคำว่าไพร่กับอมาตย์โดยไม่ดูบริบททางการเมืองที่วาทกรรมนี้ถูกหยิบยกมาใช้ เช่นเดียวกันกับกรณีนักเรียนแต่งชุดนาซี หรือคนในเฟซบุ๊กไปเล่นโปรแกรมหน้าเหมือนหมาของเมืองนอกที่เขาเอาไว้หาคนรับอุปการะสุนัขจรจัด ที่สะท้อนการนำมาใช้แต่ ‘เปลือก’ โดยนำมาซึ่งสารัตถะของสิ่งๆ นั้นด้วย) และการจะตัดสินว่าใครแก้ปัญหาได้ดีกว่าใคร นอกจากเราๆ ท่านๆ บนเฟซบุ๊กที่ต้องเก็บคะแนนไว้ในใจเผื่อการเลือกตั้งคราวหน้าแล้ว ชาวบ้านที่เขาต้องลุยน้ำท่วมจริงๆ ที่ไม่ได้มีเวลามานั่งทำเรื่องพรรค์นี้บนเฟซบุ๊ก เขาก็น่าจะมีคะแนนในใจอยู่แล้ว และเราทั้งหมดก็จะใช้สิทธินั้นผ่านการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

สนามการเมืองเรื่องน้ำท่วมบนเฟซบุ๊กจึงดุเดือดและน่าสนใจ แต่สำหรับดิฉันมันน่าสนใจน้อยลง (และเสียใจมากขึ้นที่หลายๆ คนไร้สติไปอย่างง่ายดายเช่นนั้น) เพราะมันไม่ใช่การพูดถึงเรื่องที่ควรจะพูดกันตรงๆ และเป็นประโยชน์ อย่างเช่น การจัดการน้ำ ประเด็นเรื่องการปิดบัง หรือไม่บอกความจริงของข้อมูลข่าวสาร หรือการรายงานข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล และสื่อมวลชน ฯลฯ และหากปัญหาน้ำท่วมในปีนี้มันจะให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง มันก็สมควรจะครอบคลุมทั้งข้อ ก. ข. ค. ง. ไม่เช่นนั้น ปีหน้า น้ำท่วมก็ยังเป็นเพียงแค่ ‘ภัยธรรมชาติ’ และเรา (ชาวกรุง) ทั้งหลายก็แค่นั่งดูข่าวดราม่าสตอรี่ รู้สึกเห็นใจสงสาร ส่งเอสเอ็มเอส และเงินบริจาค เช็กเฟซบุ๊ก โพสต์อะไรนิดๆ หน่อยๆ และหวังว่ากรุงเทพฯ น้ำจะไม่ท่วม
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฟน.แจ้งงดจ่ายไฟในกทม.บางพื้นที่ระหว่าง 15-16 ต.ค.

Posted: 12 Oct 2011 09:11 AM PDT

การไฟฟ้านครหลวงประกาศงดจ่ายไฟฟ้าชั่วคราวในบางพื้นที่ของ กทม. เนื่องจากต้องทำงานเกี่ยวกับสายไฟฟ้าแรงสูง

มติชนออนไลน์ รายงานข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ซึ่งเปิดเผยว่า การไฟฟ้านครหลวง ประกาศงดจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นการชั่วคราวในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากต้องทำงานเกี่ยวกับสายไฟฟ้าแรงสูง โดยพื้นที่ที่งดจ่ายไฟฟ้าตามรายละเอียด ดังนี้

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2554  เวลา 08.00-15.30 น.  ได้แก่ ซอยเย็นอากาศ 2 ซอยประคู่ 1 แยก 42 และ 44
 
เวลา 08.30-15.00 น. ถนนประดิษฐ์มนูธรรม บริเวณใกล้ทางตัดซอยนวลจันทร์ (หมู่บ้านมณียา)
 
วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2554 เวลา 08.00-15.30 น. ศูนย์การค้าคลองเตย ถนนพระราม 4 และตลาดคลองเตย ด้านโรงรับจำนำ ถนนสุนทรโกษา
 
เวลา 08.00-16.30 น. ถนนประชาอุทิศทั้งสองฝั่งจากแยก กม.9 ถึงทางด่วน และริมถนนสุขสวัสดิ์ และในซอยฝั่งซอยเลขคู่จากซอยสุขสวัสดิ์ 44 (ซอยสารอด) ถึงด่านเก็บเงินขึ้นทางด่วนสุขสวัสดิ์
 
เวลา 08.00-17.30 น. จากสะพานเจริญพาส ถึงหมู่บ้านศิวาลัย
 
เวลา 08.30-15.00 น. ปากซอยหมู่บ้านสินทร ถนนแฮปปี้แลนด์
 
เวลา 08.30-15.30 น. จากถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ ฝั่งขาออกหลังสถานีสินค้าขนส่ง ICD คลองสี่ ถึงถนนฉลองกรุง(บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต)
 
การไฟฟ้านครหลวง สอบถามเพิ่มโทร.1130

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เทศบาลปากเกร็ดงดแจ้งเตือนน้ำท่วมด้วยการจุดพลุ-เพื่อป้องกันความสับสน

Posted: 12 Oct 2011 08:32 AM PDT

เทศบาลนครปากเกร็ดเลิกแจ้งเตือนน้ำท่วมด้วยการจุดพลุสี 5 นัดตามที่ประกาศไว้แล้ว เพื่อป้องกันความสับสนในการแจ้งข่าว โดยยังขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือนต่อไป

12 ต.ค. 54 - เว็บไซต์ของเทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้ประกาศว่า "งดแจ้งเตือนสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยการจุดพลุสี จำนวน 5 นัด" มีเนื้อหาระบุว่า "เพื่อป้องกันความสับสนในการแจ้งข่าวสารสถานการณ์ฉุกเฉิน เทศบาลนครปากเกร็ดจึงของดการแจ้งเตือนสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยพลุสี 5 นัดตามที่ประกาศไว้ โดยขอให้พี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลนครปากเกร็ด ติดตามการแจ้งเตือนสถานการณ์ฉุกเฉินจากจังหวัดนนทบุรี ต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน"

อนึ่งก่อนหน้านี้ทางเทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี แจ้งประชาชนว่าจะใช้วิธีจุดพลุสี จำนวน 5 นัด เืพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ฉุกเฉิน และต่อมาในวันนี้ได้มีการยกเลิกมาตรการดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: จินตนาการภัยพุทธศาสนา

Posted: 12 Oct 2011 07:52 AM PDT

 

เป็นเรื่องน่าศึกษาว่า เหตุใดในเชิงสังคมจิตวิทยาชาวพุทธจึงนิยมสร้าง “วาทกรรมปกป้องพุทธศาสนา” ด้วยการสร้างจินตนาการภัยพุทธศาสนา และเน้น “ภัยภายนอก” เป็นด้านหลัก เช่น กลัวการครอบงำของวัฒนธรรมตะวันตก ที่นิยมเรียกกันว่าวัฒนธรรมตอบสนองกิเลส การตกเป็นทาสของวัตถุนิยม บริโภคนิยม หรือไม่ก็เป็นภัยคุกคามจากศาสนาอื่น อันเกิดจากภาพหลอนของ “ประวัติศาสตร์บาดหมาง” ในอดีตที่เน้นภาพความความจริงครึ่งเดียวว่า ศาสนาพุทธสูญไปจากอินเดียเพราะถูกกองทัพมุสลิมฆ่าพระสงฆ์และเผามหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นต้น

ยิ่งเมื่อมองผ่านสายตาของ “คณะสงฆ์ไทย” ภัยพุทธศาสนาดูช่างเป็นเรื่องยิบย่อยอย่างเหลือเชื่อ เช่น ในสมัยก่อนคณะสงฆ์มองว่า การที่พระเณรเรียนพิมพ์ดีด ภาษาอังกฤษ ความรู้แบบตะวันตก ถือเป็น “เดรัจฉานวิชา” ที่เป็นข้าศึกต่อพุทธศาสนาเลยทีเดียว ปัจจุบันคณะสงฆ์ก็ดูจะมองว่า การบวชภิกษุณีจะเกิดผลเสียหายมากกว่าจะส่งเสริมความมั่นคงของพุทธศาสนา

ที่สำคัญวิธีคิดเกี่ยวกับการขจัดภัย หรือวิธีคิดในการสร้างความมั่นคงของพุทธศาสนาปัจจุบันก็ดูจะเน้นกันสองเรื่องหลักๆ คือ 1) การผูกพันพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐมากขึ้น ดังการเรียกร้องให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย” การเรียกร้องให้ตั้งกระทรวงพุทธศาสนา เป็นต้น 2) การเลียนแบบศาสนาอื่นๆ เช่นเห็นว่าบางศาสนาออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของเขา มีธนาคาร มีศาลเฉพาะของเขา พุทธเราก็อยากจะมีธนาคารพุทธ อยากให้ออกกฎหมายต่างๆ คุ้มครองพุทธศาสนาบ้าง ดังครั้งหนึ่งเคยมีการเรียกร้องแม้กระทั่งว่า ให้ออกกฎหมายเอาผิดคนที่วิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ฟังพระที่มีบทบาทสำคัญในการพิทักษ์พุทธศาสนาระดับแถวหน้าท่านหนึ่งพูดทางรายการทีวีว่า “ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย ควรจะยกระดับเป็นสังฆราชของโลกด้วยซ้ำ คือเป็นประมุขของชาวพุทธทั่วโลก เหมือนตำแหน่งพระสันตะปาปาที่เป็นประมุขของชาวคริสต์คาธอลิคทั่วโลก”

แต่ในความเป็นจริง โดยไม่ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์และความซับซ้อนของการจัดองค์กรทางศาสนาว่าแตกต่างกันอย่างไร บารมีแห่งประมุขของศาสนาคริสต์กับพุทธศาสนาแตกต่างกันอย่างไร ว่าเฉพาะ “ภาพลักษณ์” ของประมุขศาสนาก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ภาพลักษณ์ของพระสันตะปาปานั้น คือภาพลักษณ์ของผู้นำทางจิตวิญญาณแบบคริสต์ และมีแนวคิดบางเรื่องที่เป็นสากลที่โลกยอมรับ เช่นแนวคิดเรื่องเรียกร้องสันติภาพโลก เป็นต้น แต่พระสังฆราชไทยทุกพระองค์ไม่มีภาพลักษณ์ของผู้นำทางจิตวิญญาณและความคิดสากลที่สังคมไทยหรือสังคมโลกรู้จักเลย

ว่าเฉพาะการไม่มีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ก็ถือว่าแปลกแยกจากพุทธศาสนาในประเทศอื่นๆ แล้ว เช่นประมุขแห่งพุทธศาสนานิกายเซ็นที่เรียกว่า “สังฆปรินายก” นั้น เขามีภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างเด่นชัด การสืบทอดตำแหน่งดังกล่าวต้องผ่านการทดสอบในเรื่องการบรรลุธรรม อันเป็นคุณสมบัติจำเป็นของผู้นำทางจิตวิญญาณ ส่วนผู้นำพุทธศาสนาแบบธิเบตหรือสายธรรมวัชรยานนั้น ก็ล้วนแต่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือคุรุทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น

อย่างทะไลลามะผู้นำของชาวพุทธธิเบตองค์ปัจจุบัน นอกจากจะมีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างชัดเจนแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความเป็นผู้นำเชิงความคิดสากลของพระองค์ก็เด่นชัดอย่างยิ่ง ดังมีผลงานทั้งในรูปข้อเขียน การปาฐกถา บทสนทนากับนักวิทยาศาสตร์และนักคิดระดับโลกเป็นเครื่องยืนยัน และยังมีรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพการันตีอีกด้วย

การที่ประมุขของพุทธศาสนาต้องมีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณนั้น ถือว่าสอดคล้องกับยุคพุทธกาล ในยุคนั้นพระพุทธเจ้าคือศาสดาผู้นำทางจิตวิญญาณ ก่อนปรินิพพานแม้พระองค์จะไม่ได้แต่งตั้งใครเป็นศาสดาแทน แต่เป็นที่รู้กันว่าประมุขสงฆ์ในระยะต่อมาต่างมีภาพลักษณ์ของผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นจุดเด่น

ดังในการสังคายนาครั้งต่างๆ ประธานสงฆ์ในการทำสังคายนา (แม้ไม่ใช่ตำแหน่งอย่างประมุขสงฆ์ในปัจจุบัน) ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ หรือคณะสงฆ์ที่ร่วมทำสังคายนาก็เป็นพระอรหันต์ด้วย บางคนอาจถามว่าก็ในเมื่อปัจจุบันเราไม่รู้ว่ามีพระอรหันต์หรือไม่ จะทำอย่างไร คำตอบที่น่าจะเป็นคือแม้เราไม่รู้ว่ามีพระอรหันต์ แต่ว่าระบบของสงฆ์ในพุทธศาสนาก็ควรเดินตามรอยพระอรหันต์ คือเดินตามรอยของผู้นำทางจิตวิญญาณ อย่างเช่นการมีประมุขสงฆ์ หรือผู้นำของชาวพุทธที่มีภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแบบพุทธศาสนานิกายเซ็น และวัชรยาน เป็นต้น

แต่ทว่าพุทธศาสนามรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบไทยนั้น ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถูกแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ภายใต้ระบบเช่นนี้พระมหากษัตริย์ดูจะมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเสียมากกว่า เพราะนอกจากพระมหากษัตริย์จะเป็นศูนย์รวมจิตใจของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินแล้ว ภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ คือ “ธรรมราชา” หรือ “พระโพธิสัตว์” ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต การทำหน้าที่ปกครองจึงเป็นการบำเพ็ญบารมีเพื่อเข้าถึง “พุทธภูมิ” ถ้าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเคารพเชื่อฟังก็เท่ากับมีส่วนในการบำเพ็ญบารมีนั้นด้วย บุญกุศลก็จะตกแก่ตนให้มีความสุขความเจริญในชาตินี้ และชาติหน้าก็จะได้เกิดมาพบพุทธศาสนา หรือได้ฟังธรรมจากปากพระพุทธเจ้าและเข้าสู่พระนิพพาน

โดยสถานะเช่นนั้นของพระมหากษัตริย์ ระบบพระราชาคณะ ก็คือระบบที่ขึ้นตรงต่ออำนาจของพระราชา มีบทบาทสนับสนุนสถานะความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพระราชา และนโยบายการปกครองของพระราชาเป็นด้านหลัก ดังผลงานการวางระบบการศึกษาที่เน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ร่วมกับรัชกาลที่ 6 เป็นต้น

สถานะของสมเด็จพระสังฆราชไทยบางพระองค์อาจมีภาพลักษณ์ความเป็นปราชญ์อยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฏว่า มีพระองค์ใดโดดเด่นในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ โดยเพาะสมเด็จพระราชาคณะที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมทุกยุคสมัยนั้น สังคมแทบจะไม่รู้จักผลงานทางปัญญา และบทบาทความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของท่านเหล่านั้นเลย  

ที่ว่ามานี้ ผมต้องการชวนให้คิดว่า หากการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของพุทธศาสนา หมายถึงการส่งเสริมวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ และโดยวิถีชีวิตเช่นนั้นจะทำให้ชาวพุทธเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งปัญญาและกรุณาในการสร้างระบบสังคมที่เป็นธรรม และการปฏิบัติต่อกันและกันอย่างมีภราดรภาพ เพื่อสร้างโลกนี้ให้มีสันติภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วระบบองค์กรหรือสถาบันทางพุทธศาสนาที่เป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบที่สนับสนุน หรือขัดแย้งกับความหมายดังกล่าวของการดำรงอยู่ของพุทธศาสนา

หากภายใต้ระบบดังกล่าว มิติทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาไม่เหลืออยู่ หรือไม่สามารถพัฒนามิติทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเข้ามาสู่วิถีชีวิตคนโดยเป็นโลกทัศน์ หลักคิด รากฐานทางจริยธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่อยู่กันด้วยปัญญาและกรุณา เคารพความเป็นธรรม เสรีภาพ และความเท่าเทียม ก็หมายความว่า ภัยพุทธศาสนาที่แท้จริง ก็คือระบบสถาบันทางพุทธศาสนาที่ขาดมิติทางจิตวิญญาณและการเข้าใจโลกร่วมสมัยนั่นเอง

จินตนาการประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก หรือตำแหน่งพระสังฆราชไทยคือสังฆราชโลกนั้นอาจเกิดจากเจตนาดี แต่ก็ไร้ประโยชน์ หากพุทธศาสนาในประเทศนี้ไม่สามารถสร้างภาวะผู้นำทางจิตวิญญาณ และไม่สามารถเชื่อมมิติทางจิตวิญญาณกับมิติทางสังคมอย่างเกื้อกูลแก่กันได้

ว่าตามจริง ภัยพุทธศาสนาจากภายนอกก็ไม่มีวันทำอะไรได้ หากภายในของเราเองไม่ตกอยู่ในสภาพ “กลวงเปล่า” จริงๆ

ฉะนั้น แทนที่จะเน้นการสร้างวาทกรรมปกป้องพุทธศาสนา ด้วยการเขียนภาพภัยพุทธศาสนาจากภายนอกให้น่ากลัวเกินจริง ควรหันมาสำรวจว่า เรากำลังตกอยู่ใน “กับดักของการหลอกตัวเอง” หรือไม่ และควรปรับปรุงระบบต่างๆ ของเราอย่างไรเพื่อให้พุทธศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จินตนา แก้วขาว แกนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด

Posted: 12 Oct 2011 07:49 AM PDT

แต่ถามว่าเราอยากให้เกิดไหม เราก็ไม่อยากให้เกิด แต่สิ่งหนึ่งคือขบวนที่ชาวบ้านต้องภาคภูมิใจว่า วันนี้ชาวบ้านได้ทำจนสุด จนวันที่เราไม่ต้องเสียค่าโง่ 340,000 ล้าน วันนี้เราไม่ต้องสูญเสียที่ดินสาธารณะ ให้กับทุนฟรีๆ วันนี้เราไม่เสียธรรมชาติ วันนี้เรารักษาสิทธิชุมชน เราคืนความเป็นบ้านกรูด เราคืนความเป็นคนมาได้ เพราะฉะนั้นวันนี้มันจะแลกบ้าง มันก็จำเป็น

ผู้ต้องขังจากคดีล้มโต๊ะจีนบริษัทโรงไฟฟ้า ถูกพิพากษาฎีกา จำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา 11 ต.ค.54

ผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐแถลง มุ่งกระชับสัมพันธ์เอเชียให้แข็งแกร่งกว่าที่เคย

Posted: 12 Oct 2011 07:46 AM PDT

 

ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เคิร์ท เอ็ม แคมป์เบลล์
(ที่มา: เฟซบุ๊กสถานทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคิร์ท เอ็ม แคมป์เบลล์ (Kurt M. Campbell) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ “U.S. engagement in Asia” ว่า ในขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐกำลังเปลี่ยนผ่านนโยบายต่างประเทศ โดยถ่ายน้ำหนักจากตะวันออกกลางและเอเชียใต้ มาสู่เอเชียแปซิฟิกมากขึ้น และจะเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจเป็นพิเศษ

เคิร์ท แคมป์เบลล์ กล่าวในงานที่จัดโดยสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา (ISIS) ว่า ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศดังกล่าวจะมีความท้าทาย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางยังคงเกิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติดอกมะลิ รวมถึงความขัดแย้งในอิรักและอัฟกานิสถาน ทำให้สหรัฐยังคงต้องรักษาบทบาทในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า สหรัฐคงจะมุ่งถ่ายน้ำหนักของทรัพยากรที่จำเป็นมาสู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่า

“ผมคิดว่าเราคงเข้าใจอย่างลึกซึ้งและชัดแจ้งว่า ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” แคมป์เบลล์กล่าว

นักการทูตและศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวต่อว่า สหรัฐได้พัฒนากรอบความร่วมมือกับเอเชียอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เคยเป็น ทั้งในกรอบความร่วมมืออาเซียน การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ G-20 และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก เพื่อสร้างตลาดการค้าระหว่างสหรัฐและเอเชียที่สมดุล โดยเน้นให้จีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ลงทุนและซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น

แคมป์เบลล์กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้ผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญมาก ว่าด้วยข้อตกลงทางการค้ากับเอเชียอีกสามร่างเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาจะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ (ASEAN-US Summit) และประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ทีประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ด้วย

นอกจากนี้ เขาชี้ว่า สหรัฐยังมุ่งที่จะเพิ่มยุทธศาสตร์ความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิกมากขึ้นในอีกสองสามปีข้างหน้าโดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนฐานทัพ และการจัดการด้านความมั่นคงในรูปแบบที่หลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย เพื่อเป็นการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

“อาจกล่าวได้ว่า ทุกประเทศในเอเชียมีความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์อย่างลึกซึ้งกับสหรัฐ แม้แต่กับมาเลเซีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่เรามีความสัมพันธ์ทางการทหารหรือยุทธศาสตร์ที่น้อยมากในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ก็ยังถึงคราที่ได้กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐอีกครั้ง” แคมป์เบลล์กล่าว

เขายังกล่าวด้วยว่า ภารกิจการมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ ยังรวมถึงการหารือและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวภายในพม่าด้วย เนื่องจากสหรัฐยังคงจับตาดูการเปลี่ยนแปลงในพม่าอย่างใกล้ชิด และระบุว่า สหรัฐยังคงจะรักษาสัมพันธ์และสนับสนุนออง ซาน ซูจี และพรรคเอ็นแอลดี รวมถึงจับตาประเด็นความท้าทายเรื่องชนกลุ่มน้อยในประเทศ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเกาหลีเหนือ และนักโทษการเมืองในพม่า และหวังว่า ประธานาธิบดีเต็นเส่ง จะสามารถนำพาพม่าไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้

ในตอนท้ายของปาฐกถา ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเอพี ได้ถามแคมป์เบลล์ถึงพลเรือนสหรัฐที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ โจ กอร์ดอน ว่ามีความกังวลอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ และแคมป์เบลล์ได้ตอบสั้นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ของสถานทูตได้ไปฟังการดำเนินคดีของ โจ กอร์ดอน ที่ศาลเมื่อวันจันทร์ และกล่าวว่า “เรามีความเชื่อมั่นอย่างมากในเสรีภาพสื่อ และเราจะคอยนำคดีดังกล่าวมาพูดกับทางการไทยโดยตรง”

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครื่องบินบรรทุกอุปกรณ์ช่วยน้ำท่วมจากรัฐบาลจีน เดินทางถึงไทยแล้ว

Posted: 12 Oct 2011 07:19 AM PDT

 เครื่องบินขนส่งของสายการบินไชน่า เซาท์เธอร์น แอร์ไลน์ ที่บรรทุกอุปกรณ์บรรเทาภัยน้ำท่วมจากรัฐบาลจีน อาทิ เรือยนต์ ถังกรองน้ำ มูลค่าราว 50 ล้านบาท เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว ด้านทางการจีนส่งสารแสดงความเสียใจมายังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พร้อมบริจาคเงินสดกว่า 30 ล้านบาท 

สำนักข่าวเนชั่น รายงานว่า เครื่องบินขนส่งของสายการบินไชน่า เซาท์เธอร์น แอร์ไลน์ (China Southern Airline) ที่บรรทุกสิ่งของช่วยเหลืออุทกภัยจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มูลค่า 10 ล้านหยวน หรือ 50 ล้านบาท ขณะนี้ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว โดยเครื่องบินลำดังกล่าวได้บรรทุกสิ่งของต่างๆ อาทิ เรือยนต์ความเร็วสูง และเรืออื่นๆ หลายขนาด ตั้งแต่เรือบรรทุกผู้โดยสารขนาด 8-10ที่นั่ง และขนาด 12 ที่นั่ง จำนวนทั้งสิ้นกว่า 128 ลำ พร้อมทั้งเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ (water purification equipment) 60 เครื่อง และถังบรรจุน้ำขนาดใหญ่ (water tank) จำนวน 120ถัง

สำนักข่าวแห่งชาติ ยังรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กวน มู เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ยังได้บริจาคเงินสดจำนวนหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 33 ล้านบาท จากรัฐบาลจีน ให้แก่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วย
 
ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศแรกที่เสนอให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยได้แจ้งความประสงค์แก่รัฐบาลไทยตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี เหวิน เจียเป่า ยังได้ส่งข้อความแสดงความเสียใจมายังนายกฯ ไทยด้วย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "มนต์รักฉุกเฉิน"

Posted: 12 Oct 2011 03:10 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "มนต์รักฉุกเฉิน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น