โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"ปราโมทย์" แจงวิธีระบายน้ำฝั่งตะวันออก ชี้ กทม. อาจไม่เข้าใจการเดินทางของน้ำ

Posted: 27 Oct 2011 10:21 AM PDT

กรุงเทพธุรกิจแพร่คำให้สัมภาษณ์ "ปราโมทย์ ไม้กลัด" ระบุฉะเชิงเทราสูงกว่า กทม. และน้ำทะเลก็สูงกว่าคลองที่เชื่อมทะเล ทำให้ต้องปิดประตูน้ำป้องกันน้ำสมทบเข้ากรุง ขณะที่ครม.เงาประชาธิปัตย์ยังอัดต่อว่ารัฐบาลยังบิดเบือนเส้นทางระบายน้ำ ไม่ระบายน้ำด้านตะวันออกอย่างเต็มที่

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวานนี้ (27 ต.ค.) รายงานว่า นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรณีที่มีการอ้างว่าทางฝั่งตะวันออกไม่เปิดประตูระบายน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำมาอัดที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนั้น ต้องมองข้อเท็จจริงในพื้นที่ เนื่องจากระดับพื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรามีความสูงกว่าพื้นที่ กทม. และระดับน้ำในทะเลก็สูงกว่าคลองที่เชื่อมต่อสู่ทะเล ทำให้ต้องปิดประตูนอกคันกันน้ำพระราชดำริ ไม่ว่าจะเป็นประตูระบายน้ำหนองจอกและคลองประเวศบุรีรมย์ เพื่อป้องกันน้ำสมทบเข้ามา กทม.

กทม.อาจไม่เข้าใจการเดินทางของน้ำ ทำให้การแก้ปัญหามีความสับสน ดังนั้น ต้องทำงานประสานกับกรมชลประทาน เพราะจะรู้ดีกว่า ว่า น้ำไหลไปทางไหนต้องไหนควรปิด และต้องไหนควรเปิด นายปราโมทย์กล่าว

ขณะที่ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทาง ทส. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ดูแลการผลักดันน้ำท่วมทุ่งออกทะเลให้เร็วที่สุด จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสภาพปัญหาการระบายน้ำในฝั่งตะวันออกแล้ว เบื้องต้นได้รับรายงานว่าปัญหามาจากการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยหลายแห่งที่เป็นเส้นทางไหลของน้ำ ไล่ตั้งแต่พื้นที่หนองจอก มีนบุรี คลองแสนแสบ มีการก่อสร้างถนนกีดขวางทางน้ำกั้น จากเดิมในอดีตที่เคยเป็นทางน้ำไหลผ่านลงมาทางตอนล่าง รวมทั้งยังมีหมู่บ้านจัดสรรขึ้นจำนวนมากด้วย เช่น แถวถนนนิมิตรใหม่ เขตมีนบุรี ทำให้น้ำบางจุดหยุดนิ่งและต้องรอน้ำที่จะไหลลงมาก่อนถึงจะไหลลงไปได้

ได้ลงพื้นที่เพื่อทำแผนที่จุดปัญหาต่างๆ ส่งข้อมูลมาที่ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ โดยจะพล็อตจุดพิกัด และแผนที่ลงรายละเอียดพื้นที่ที่ติดขัด เนื่องจากได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการ 50 จังหวัด ระดมเอาเครื่องสูบน้ำทั้งของรัฐและเอกชนลงมาในฝั่งตะวันออก เพื่อผันน้ำให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ (27 ต.ค. 54) ทีมงานของนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์  ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ครม.เงา ประชาธิปัตย์ เรื่อง "การบิดเบือนเส้นทางระบายน้ำ ผ่านกรุงเทพมหานคร" ผ่านเฟซบุคของทีมงานกรณ์ จาติกวณิช

โดยตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า "โดยคณะรัฐมนตรีเงา ได้ตรวจพบว่า การระบายน้ำในปัจจุบันของรัฐบาล และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เป็นการบิดเบือนเส้นทางระบายน้ำ ไม่สอดคล้องตามหลักวิชา หลักปฏิบัติจากอดีต และเป็นไปอย่างผิดหลักธรรมชาติของภูมิประเทศของกรุงเทพมหานคร จากที่คณะทำงานได้ลงพื้นที่ศึกษาพบกว่า การที่จะทำการระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้เร็วที่สุดอย่างสมดุลนั้น คือ การระบายผ่านทางหลักๆ ๓ ทางซึ่งคือ ๑) ทางตะวันตก ผ่านแม่น้ำท่าจีน ๒) ทางแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านกลางกรุงเทพมหานคร และ ๓) ทางตะวันออก ผ่านทางแม่น้ำบางปะกง และนอกจากนี้ ทางน้ำที่ใช้ระบายเพิ่มพิเศษคือ ระหว่าง แม่น้ำเจ้าพระยากับ แม่น้ำบางปะกง ยังมีทางระบายพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการนี้อยู่แล้ว ซึ่งคือ คลองด่าน และสถานีสูบน้ำต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ

ปัญหาหลักที่พบ คือ การบิดเบือนเส้นทางระบายน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สมดุลในการระบายน้ำ ของ ๓ ทางหลักนี้ โดยเฉพาะทางพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คือ สถานีสูบน้ำต่างๆ ที่จะช่วยให้ระบายน้ำไปทางตะวันออก แทบไม่ได้มีการระบายเลยในช่วงก่อนหน้านี้ แต่เพิ่งมีการเริ่มให้มีการสูบน้ำระบายเพียงแค่ไม่กี่วัน และยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ การระบายน้ำหลักถูกกดดันให้น้ำมาอยู่ที่ แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นทางเส้นหลักที่อยูตรงกลาง ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ดังจะเห็นได้ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับความสูง เหนือระดับน้ำทะเลปกติ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ การระบายน้ำที่ไม่มีความสมดุลเช่นนี้ จะเกิดความเสี่ยงให้มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในใจกลางเมือง กรุงเทพมหานคร และจะก่อให้เกิดความเป็นอัมพาตของระบบการบริหารจัดการทั้งระบบในประเทศ การทำงานของราชการส่วนกลางทั้งหมดจะถูกหยุด"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"คนหนุ่มสาว 3 ยุคในขบวนประชาธิปไตย" จากหลัง 6 ตุลาฯ ถึงพฤษภา 53

Posted: 27 Oct 2011 09:07 AM PDT

ประเดิมเปิดร้านหนังสือและพื้นที่สังสรรค์ทางความคิด BooK Re:public ด้วยเสวนาคนหนุ่มสาวในขบวนการประชาธิปไตย จากเรื่องราวและความเห็นจองวิทยากร 3 ยุคสมัย ตั้งแต่ยุคหลัง 6 ตุลาฯ ข้ามมายุคพฤษภาฯ 35 ที่มีการขยายพื้นที่ของกลุ่มภาคประชาชน มาจนถึง พฤษภาฯ 53 ยุคที่ เมื่อนักศึกษาเห็นว่าบ้านเมืองเรามีอะไรผิดปกติ

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ในงานเปิดตัวร้านหนังสือ Book Re:public และโครงการ Café Democracy ที่ จ.เชียงใหม่ ในชื่อกิจกรรม “อ่านออกเสียง ครั้งที่ 1” มีการจัดเสวนาหัวข้อ “คนหนุ่มสาวสามยุคในขบวนการประชาธิปไตย” ตามกำหนดการเวลา 17.00 น. โดยมีวิทยากรคือ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สืบสกุล กิจนุกร นักวิจัยอิสระ และ สุลักษณ์ หลำอุบล อดีตนักกิจกรรม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
 
 
 
อรรถจักร เล่าถึงอดีตของตนในสมัยช่วงเป็นนักศึกษา ว่าตนเคยทำงานเป็นการ์ดให้กับนักศึกษา เหมือนเป็นจิ๊กโก๋ธรรมดา แต่ก็อ่านหนังสือฝ่ายซ้ายมามาก จากนั้นจึงชวนเสวนาว่า เราจะเข้าใจนักศึกษาช่วงหลังยุค 6 ต.ค. 2519 ได้อย่างไร
 
“มีคนพยายามเรียกพวกเราว่าเป็นช่วงยุคแสวงหาครั้งที่ 2” อรรถจักรกล่าว โดยบอกอีกว่าแกนนำนักศึกษาในสมัยนั้นคือ ม.มหิดล และที่ต้องเรียกว่ายุคแสวงหาครั้งที่ 2 เพราะมีความพยายามต้องการให้การทำงานกลับไปเป็นแบบฝ่ายซ้ายเดิม
 
“ซึ่งท้ายสุดแล้วมันล้มเหลว มันไม่เกิดการแสวงหา” อรรคจักรกล่าว
 
ยามเมื่อยังยึดติดกับซ้ายเก่า
อรรถจักรกล่าวต่อว่า หากลบคำว่ายุคแสวงหาครั้งที่ 2 ออกไป เราก็สามารถเรียกยุคนี้ได้ว่ายุคปลาย พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เนื่องจากขบวนการนักศึกษายุคนี้ส่วนใหญ่ถูกจัดตั้งโดย พคท. ดังนั้นการเคลื่อนไหวถึงออกไปในแนวทางที่ พคท. เสนอมา เช่น การเคลื่อนไหว ‘ปลดปล่อยนกพิราบ’ ในช่วง 2520 เคลื่อนไหวเรื่องรื้อฟื้นสโมสรนักศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบเดิมกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาก่อนหน้านี้
 
อรรถจักรเล่าต่อว่า การเคลื่อนไหวจัดตั้งองค์กรนักศึกษา สำเร็จในปี 2522 ก็สร้างแบบแผนวัฒนธรรมขบวนการนักศึกษาเดิม คือร้องเพลงฝ่ายซ้าย มีดนตรีเพื่อชีวิตเกิดขึ้นมา เช่น วงฟ้าสาง ซอมพอ ลุกทุ่งมุสลิม-แฮมเมอร์ ดังขึ้นมา แต่ที่ดังที่สุดคือลูกทุ่งเปลวเทียน
 
“ลูกทุ่งเปลวเทียนของ มช. ได้สร้างความตื่นเต้นมากๆ ให้กับธรรมศาสตร์ ด้วยการมีมาร์ช พคท. โบกธงเหมือนเหมาเลย” อรรถจักรกล่าว
 
อรรถจักรบอกว่า กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ได้เคลิ่อนไหวในแบบฝ่ายซ้ายอย่างเข้มข้น แต่กลับขยายตัวไม่ออก ค่อยๆ เล็กลง ขยายการจัดตั้งได้น้อยลง จนกระทั่งถึงปี 2523-2524 เมื่อ พคท. ล่ม ขบวนการนักศึกษาเหล่านี้ก็สลายหายไป เนื่องจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. ทำให้นักศึกษาฝ่ายซ้ายถูกมองในภาพลบ หลังปี 2520 มีนักศึกษาจำนวนไม่มากนักที่โดดเข้ามาสู่การเคลื่อนไหวเพื่อสังคม เป็นจุดที่ทำให้นักศึกษาผูกพันกับสังคมน้อยลงจนถึงปัจจุบัน
 
อรรถจักรเล่าต่อว่า เหลืออยู่ที่เดียวที่ยังผูกพันกับสังคม นั่นคือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากมีสายจัดตั้งเข้าไปที่รามฯ เยอะสายมากจนกระทั่งมั่วไปหมด แม้การเลือกตั้งสโมสรนักศึกษาครั้งแรกฝ่ายซ้ายจะชนะเกือบทั้งหมดแต่ก็เคลื่อนอะไรไม่ค่อยได้ ที่สำคัญที่สุดคือช่วงปลาย พคท.คือ การขึ้นมาของ พลเอกเปรม ตินสูลานนท์  หลังปีพ.ศ.2520 เกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ ที่ถูกค้ำจุนโดย ‘เปรมาธิปไตย’ ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นจากสมัย พลเอกเปรม และเรื่องนี้ยังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง
 
เมื่อซ้ายเก่าล่ม แนวคิดจิตวิญญาณเข้ามาแทนที่
“ขบวนการนักศึกษาที่ผมเข้าไปร่วมด้วยเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของขบวนการนักศึกษาทั้งหมด แต่บังเอิญว่า ไอ้พวกส่วนเสี้ยวนี้มันทะลึ่ง คิดว่าตัวเองเป็นกองหน้าประชาชนแบบเดิม ดังนั้นพวกนี้ก็จะแตกแยกกับตัวเองมากขึ้นๆ” อรรถจักรกล่าว จากนั้นยังบอกอีกว่า ข่าวเรื่องการที่แกนนำ พคท. นำเงินไปใช้เป็นส่วนตัว ยิ่งทำให้ความศรัทธาใน พคท. หายไป หลังจากนั้นจึงเกิดกระแสฝ่ายขวาขึ้นมา
 
อย่างไรก็ตาม อรรถจักรกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงช่วงนี้สำคัญตรงที่มันเปิดโลกให้กว้างขวางกว่าเดิม หลังจากขบวนการนักศึกษาล่มไปในยุคนั้นพร้อมกับ พคท. มันทำให้เกิดแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณขึ้นมาในสังคมไทย เกิดหนังสือปรัชญาเต๋า ปรัชญาเซน นักศึกษาถือหนังสือพวกนี้เป็นว่าเล่น เพราะมันได้ตอบปัญหาให้กับนักศึกษาในช่วงนั้น รวมถึงมีกระแสสันติอโศกโผล่ขึ้นมา
 
อรรถจักรเล่าว่า “นักศึกษาที่เป็นฝ่ายบู๊ในยุคนั้นโดดเข้าไปอยู่สันติอโศกเยอะมาก ครั้งหนึ่งเคยเป็นการ์ดให้นักศึกษา ต่อมาโดดเข้าไปกินมังสวิรัต ใส่เสื้อไม่รีดอะไรทำนองนี้ คนที่พยายามจะสู้อยู่ก็ส่งคนไปดึงกลับ ปรากฏว่าคนที่ส่งไปกลายเป็นสันติอโศกหมดเลย”
 
อรรถจักรเล่าต่อว่า นิตยสาร ‘โลกหนังสือ’ ก็ขยายตัวในช่วงนั้น นักศึกษาอ่านเป็นจำนวนมาก ส่วนนักศึกษาที่ยังผูกพันอยู่กับสังคม ก็ทำให้เกิดอีกหนึ่งขบวนการคือ คอส. (มอส. หรือ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ในปัจจุบัน) เอ็นจีโอ และบัณฑิตอาสาของธรรมศาสตร์ หนทางที่จะทำเพื่ออุดมคติของตัวเองเหลือแต่ทางนี้
 
“ช่วงนั้นก็เจ็บ ก็เฮิร์ท กันมาก...” อรรถจักรกล่าว “...ความใฝ่ฝันที่จะทำมันมี แต่สุดท้ายมันก็ฝืนกระแสไม่ได้ เราก็เดินออกมาแบบนี้”
 
ไม่ใช่ในนามนักศึกษา แต่เป็นในนามพลเมืองคนหนึ่ง
อรรถจักรบอกอีกว่าหลังปี 2525 มีปัจจัยต่างๆ คือการขยายตัวของรัฐ อุดมการณ์ของรัฐใหม่ การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีงานทำมากขึ้น ร่ำรวยมากขึ้น ทั้งหมดนี้เข้าไปสู่ขบวนการนักศึกษาทำให้ความผูกพันระหว่างนักศึกษากับสังคมลดลง
 
“ในปัจจุบันนี้การเคลื่อนของนักศึกษาแบบที่เป็นขบวนมันไม่มีทางเกิดขึ้น” อรรถจักร กล่าว “แต่มันจะมีหน่ออิสระ หน่ออิสระเหล่านี้จะสร้างมูฟเมนท์ได้หรือไม่ก็ต้องมาเชื่อมกับพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ดังนั้นกระบวนการตรงนี้เขาไม่ได้สร้างมาในฐานะนักศึกษา แต่เป็นในฐานะเป็นพลเมืองคนหนึ่ง นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แตกต่างจากยุคผมโดยสิ้นเชิง”
 
ทำไมมีแต่คนพูดถึง 14 ตุลาฯ
ด้านสืบสกุล กิจนุกร นักวิจัยอิสระเริ่มต้นกล่าวว่า พอพูดคำว่านักศึกษา เป็นคำที่มีความหมายทรงพลังมากในเมืองไทย และมันถูกสร้างความหมายขึ้นมาเปลี่ยนไปตามบริบทวัฒนธรรมไทย เช่น หากเราพูดถึงยุค 14 ตุลา เราก็จะคิดถึง ‘พลังบริสุทธิ์’ เร่งเร้าให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง คิดถึงคำว่าสามประสาน ‘นักศึกษา–กรรมกร–ชาวนา’
 
สืบสกุลตั้งข้อสังเกตว่า เวลาเราพูดถึงนักศึกษา เรามักจะนึกถึงแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เท่านั้นใช่หรือไม่ ในฐานะชัยชนะของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ในขณะที่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ยังจินตนาการไม่ออกว่าเราให้ความหมายกับการต่อสู้ของนักศึกษาสมัยนั้นอย่างไรบ้าง
 
สืบสกุลกล่าวว่าเวลาเราพูดถึงนักศึกษาในยุคนี้ เราจะนึกถึง “ผู้บริโภคในระบบทุนนิยมตัวยง” และชวนตั้งคำถามว่าคำว่านักศึกษาหมดความหมายไปตั้งแต่ 14 ต.ค. แล้วจริงหรือไม่
 
จากนั้นสืบสกุลจึงเล่าประสบการณ์สมัยตนเป็นนักศึกษาช่วงเหตุการณ์พฤษภา 35 ว่า ในยุคนั้น พคท. เลิกต่อสู้แล้ว เรามีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง มีเศรษฐกิจเฟื่องฟู แต่แล้วก็มีการรัฐประหารในปี 2534 ทำให้ในปี 2535 มีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย นักศึกษาก็เข้าไปร่วมในนาม สนนท. “แต่ว่านักศึกษาไม่ใช่หัวหอกการต่อสู้ทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว” สืบสกุลกล่าว
 
ยุคของเอ็นจีโอ
“ผมคิดต่อจากอาจารย์อรรถจักร์ว่า แล้วใครล่ะที่เป็นนักแสดงตัวใหม่...ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากเอ็นจีโอ” สืบสกุลกล่าว เขาเสริมว่านักกิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากนักศึกษา 14 ตุลาฯ - 6 ตุลาฯ
 
สืบสกุลกล่าวต่อว่า หลังจากแนวคิดเอ็นจีโอเริ่มลงหลักปักฐานในไทย ก็มีสื่อมวลชนและนักวิชาการขึ้นมามีบทบาทสำคัญในสังคมมากขึ้น แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันไม่ใช่เรื่องว่าเราจะเป็นสังคมนิยมหรือทุนนิยม หันมาพูดถึงเรื่องผลกระทบจากปัญหาที่เกิดจากการพัฒนา เรากำลังพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการพัฒนามากกว่า บทบาทของสื่อและวงการวิชาการก็เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มาพูดถึงปัญหาของตัวเอง และนำมาสู่เรื่องใหม่ๆ เช่นเรื่อง ป่าชุมชน เป็นต้นแบบต่อมาของงานวิจัยไทยบ้าน งานวิจัยท้องถิ่นในยุคปัจจุบัน
 
สืบสกุลบอกว่า หลังพฤษภาทมิฬมีแนวคิดชนชั้นกลางขึ้นมาอธิบายอีกชุดหนึ่งว่า เป็นผู้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย นักศึกษาหายไปแน่นอน คนหนุ่มสาวหายไปแน่นอน แต่นักศึกษาจะไปอยู่เป็นกลุ่มชมรม มีกลุ่มที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นไปคัดค้านเรื่องเขื่อน มีกลุ่ม คจก. ที่ทำเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม การทำลายธรรมชาติ โดยนักศึกษาจะเข้าไปร่วมขบวนการผ่านการเข้าร่วมกับเอ็นจีโอ
 
สืบสกุลให้ความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองในระดับรัฐ หรือการต่อสู้ทางชนชั้นอีกต่อไปแล้ว แต่หันมาจับการเมืองเรื่องการพัฒนา “นักศึกษาในยุคผมตั้งแต่ 2535 เป็นต้นมา เราไม่ได้เป็นพระเอก ไม่ได้เป็นตัวเอก ฉะนั้นการคาดหวังให้นักศึกษาเป็นหัวเอก หัวหอก กองหน้า ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะได้จริงหรือเปล่า”
 
จากนั้นสืบสกุลจึงตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของนักศึกษาในปัจจุบันมีการถกเถียงทางการเมืองมากกว่ายุคเขา ซึ่งมีการเข้าร่วมขบวนการทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง
 
“ตอนสมัยพฤษภา 35 เราก็พูดว่าทหารกลับกรมกองไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่าเราคาดการณ์ผิด ตอน 19 กันยาฯ 49 มันก็โผล่มาอีกรอบหนึ่ง ก็ได้แต่หวังว่านักสังคมวิทยา นักประวัติศาสตร์ รวมถึงนักมานุษยวิทยา จะคาดการณ์ผิดว่านักศึกษาหมดพลังไปแล้ว” สืบสกุลกล่าว
 
องค์กรนักศึกษาหมดพลังในการนำ แต่ยังมีนักศึกษาสนใจการเมือง
ส่วน สุลักษณ์ หลำอุบล หรือฝ้าย อดีตนักกิจกรรมสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เล่าว่า เมื่อตนเข้ามาเรียนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ 49 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีผลทางความคิดต่อนักศึกษาที่ร่วมทำกิจกรรมด้วยหลายคน เรียกว่าหลายคนตาสว่างจากเหตุการณ์นี้
 
“เราโตมากับเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เราโตมาจากเฟสบุ๊ค เราโตมาจากสมศักดิ์ เจียมฯ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้คนรุ่นฝ้าย หรือคนที่สนใจการเมืองในรุ่นฝ้ายเติบโตขึ้นมา” สุลักษณ์กล่าว “ถึงจะมีความหลากหลาย แต่ก็มีจุดร่วมกันอยู่”
 
สุลักษณ์กล่าวต่อว่า เราไม่ได้เติบโตมาจากการจัดตั้งของสายต่างๆ เช่นในอดีต ทำให้อยู่ในเงื่อนไขต่างจากในอดีต มีการใช้โซเชียลมีเดียในการถกเถียงเรื่องราวต่างๆ ขณะเดียวกันการใช้อินเตอร์เน็ตก็ทำให้ดูเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่ได้รวมตัวในรูปแบบที่มี เอ็นจีโอหรือ พคท. จัดตั้งลงมา วิธีการทำกิจกรรมนักศึกษาแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าย การร้องเพลงค่าย หนังสือรับน้องใหม่เชิงปลุกใจก็จะไม่ค่อยมีในรุ่นนี้
 
สุลักษณ์เล่าต่อว่า รัฐประหาร 19 ก.ย. มีผลทำให้คนในรุ่นเธอจำนวนมากเข้ามาทำกิจกรรม การที่ไม่มีการจัดตั้งแนวความคิดก็ค่อนข้างกระจัดกระจาย โดยตัวสุลักษณ์เองเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาเรื่อยๆ ตั้งแต่กลุ่มประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊กในจุฬาฯ มาจนถึงสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. ตัวสนนท. เองก็ไม่ใช่องค์กรนำที่แข็งแรงอะไรมาก แต่เขาก็พยายามที่จะยื่นมือออกไปหาเพื่อนนักศึกษาที่สนใจการเมือง
 
สุลักษณ์มองว่า กลุ่มหัวหอกนักศึกษาต่างๆ หมดประสิทธิภาพในการนำไปแล้ว แต่ก็ยังมีนักศึกษาที่สนใจทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ ก็จะกลายเป็นกลุ่มอิสระเล็กๆ น้อยๆ ตามมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายอะไรชัดเจน
 
“การที่นักศึกษาไม่ได้ดำรงอยู่ในภาพใหญ่ มันอาจจะโยงไปได้ถึงขบวนการฝ่ายซ้าย หรือความสามารถของฝ่ายซ้ายในการอธิบายสังคมว่ามีอยู่แค่ไหน ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย แต่ในมุมมองสากล” สุลักษณ์กล่าว “ฉะนั้นขบวนการแบบสามประสานในสมัยก่อนที่ยึดโยงมาจากฝ่ายซ้ายมันก็อ่อนลงไปแล้ว ”
 
เพราะบ้านเมืองนี้มีอะไรผิดปกติ
สุลักษณ์มองว่าอุดมการณ์ของนักศึกษาสมัยนี้จะออกไปในเชิง ‘ลิเบอรัล’ (เสรีนิยม) มากกว่า การเกิดรัฐประหารทำให้พวกเขาเห็นความผิดเพี้ยนของสถาบันทางการเมืองหลายๆ แห่ง ซึ่งอาจจะเรียกว่าผิดเพี้ยนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
 
“สังคมที่คนรุ่นฝ้ายอยากจะเห็น มันไม่ใช่สังคมที่เป็นซ้ายแบบซ้ายคอมมิวนิสต์ หรือซ้ายสังคมนิยมแบบแต่ก่อน แต่เราต้องการประชาธิปไตยที่ไม่มีอำนาจนอกระบบแทรกแซงเท่านั้นเอง” สุลักษณ์กล่าว
 
สุลักษณ์กล่าวต่ออีกว่า นักศึกษาเห็นขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการที่เป็นประชาธิปไตยสำหรับรุ่นเรา นักศึกษาทีโตมากับรุ่นนี้ก็จะมีความเห็นใจหรือสนับสนุนเสื้อแดงไม่มากก็น้อย
 
ส่วนประเด็นที่ว่า แรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นนี้เข้ามาทำกิจกรรมคืออะไร สุลักษณ์บอกว่า นักศึกษารุ่นนี้อาจจะมีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบาย ต้องยอมรับว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ไม่ต้องดิ้นรนมาก แต่การที่นักศึกษาเข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมือง มีสาเหตุ คือการเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมใจกลางเมืองมหานครอย่างกรุงเทพฯ ในปี 2552-2553 เราเห็นคนจำนวนมากถูกปราบปราม มีคนจำนวนมากเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม มีคนถูกจับเข้าคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
 
“เด็กรุ่นฝ้ายอาจจะไม่ได้อ่านจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้อ่านเช กูวาร่า หรืออ่านหนังสืออะไรที่เป็นแรงบันดาลใจขนาดนั้น” สุลักษณ์กล่าว “แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่มันเห็นอยู่ชัดๆ ว่าบ้านเมืองเรามีอะไรผิดปกติ” สุลักษณ์
 
สุลักษณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลสะเทือนของกิจกรรมอาจไม่ได้มาจากปริมาณของนักศึกษา แต่สิ่งที่จะสามารถเกิดผลสะเทือน คือความแหลมคมที่นำเสนอต่อสังคม เช่นเดียวกับกรณีของกลุ่มนิติราษฎร์ อยู่ที่ว่านักศึกษาจะฝึกตัวเองเป็นปัญญาชนที่สามารถสร้างผลสะเทือนทางความคิดในแง่นั้นได้อย่างไร
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกประสบการณ์งานอาสาเก็บข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม

Posted: 27 Oct 2011 08:46 AM PDT

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าภัยพิบัติครั้งนี้วิกฤตเกินกว่าหน่วยงานไหนจะรับมือได้เพียงลำพัง การจัดการที่ไม่เป็นระบบในหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะนี่คือครั้งแรกของการจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่ซึ่งกินวงกว้างครอบคลุมหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ

“สนใจทำงานอาสาส่วนไหนคะ ส่วนงาน ศปภ. ตำบลต้องมีเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 วัน และควรจะมีทักษะในการประสานงานเก็บข้อมูล ถ้ามีทีม 3-4 คนได้ก็จะดีค่ะ”

ชั้น 2 ของอาคารผู้โดยสารในประเทศ สนามบินดอนเมือง ที่โต๊ะรับอาสาสมัครของ ศปภ. ภาคประชาชน มูลนิธิกระจกเงา มีป้ายกระดาษติดที่โต๊ะสำหรับคนที่สนใจเป็นอาสาสมัครไปลงชื่อตามแถวต่างๆ มีอาทิ อาสาทำเสื้อชูชีพ อาสาเก็บขวด อาสาช่างภาพ อาสาดูแลเด็กที่ศูนย์อพยพ อาสาจัดการบ่อบำบัดขยะ และอื่นๆ อีกหลากหลายงานอาสา ล้วนเป็นงานที่ “งอก” ขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบันทันด่วน ไม่เพียงเท่านี้ยังมีอาสาสมัครช่วยแพ็กสิ่งของบริจาค จัดแยกประเภทยา ทำกระสอบทราย ทำจุลินทรีย์อีเอ็ม และอื่นๆ อีกมากมายตามศูนย์ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และในอีกหลายจังหวัด 

ศปภ. ภาคประชาชนเกิดขึ้นโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) และทีมงานกระจกเงาอาศัยประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 มาร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างทันท่วงทีและเป็นระบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เราเลือกมาอยู่ส่วนงานอาสาเก็บข้อมูลระดับตำบลในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมหลังจากสำรวจตัวเองแล้วว่า 1. มีเวลาต่อเนื่องหลายวัน 2. งานเก็บข้อมูลเป็นงานถนัดที่คิดว่าตัวเรามีศักยภาพทำได้ในเวลาเช่นนี้ 3. มีทีม 3-4 คน มีโน้ตบุ๊กของตัวเอง (ข้อนี้ไม่จำเป็น มาคนเดียวก็ทำได้) และ 4. อยากรู้ข้อมูลในพื้นที่ ด้วยเชื่อว่าถ้ารวบรวมข้อมูลได้เร็วเท่าไรยิ่งส่งต่อความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีมากเท่านั้น

อาสาใหม่ที่เลือกทำงานนี้จะได้รับการบรี๊ฟข้อมูลเบื้องต้นจากทีมประสานงาน ศปภ. ตำบลที่ทำงานมาแต่ต้น การบรี๊ฟงานสำคัญมากเพราะเป็นการวางข้อตกลงร่วมกันถึงภาระงาน ความสำคัญของการเก็บข้อมูล ข้อมูลอะไรที่จำเป็น รวมทั้งเทคนิคการพูดคุยต่างๆ อาสาควรจะตระหนักในความสำคัญของข้อมูลที่จะได้มา ต้องซื่อสัตย์ในการบันทึกข้อมูลตามจริง ไม่เมกข้อมูลขึ้นเอง คุณสมบัติที่จำเป็นมากของอาสาเก็บข้อมูลตำบลคือ “รู้จักฟัง” และ “ฟังเป็น” การรับฟังผู้ประสบภัยจะทำให้เขาไว้เนื้อเชื่อใจและให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เรา

เราได้รับซองพลาสติกปะหน้าด้วยชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของตำบลหนึ่งในอำเภอหนึ่งของจังหวัดอยุธยา พร้อมเครื่องโทรศัพท์มือถือและซิม ในซองนั้นมีแบบฟอร์ม 2 ชุดและแผนที่ตำบลหยาบๆ แนบมาด้วย

งานเก็บข้อมูลเป็นงานที่ต้องทำแข่งกับเวลาและอาศัยการทำความเข้าใจพื้นที่และชุมชนหมู่บ้านเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นเราจึงจำเป็นต้องศึกษาสภาพพื้นที่ก่อน แน่นอนไม่มีใครทำแผนที่แสดงพื้นที่น้ำท่วมและระดับน้ำของอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครสวรรค์ เหมือนที่เราเห็นแผนที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ แบบละเอียดถี่ยิบที่ค่อยๆ ทยอยออกมาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและภูมิศาสตร์ แผนที่หยาบๆ ที่เราได้รับก็เพียงแสดงพิกัดให้เรารู้ว่าตำบลนี้อยู่ตรงไหนของอำเภอในจังหวัดนั้นๆ เท่านั้น

เมื่อศึกษาพื้นที่คร่าวๆ แล้วก็เตรียมคำถามให้พร้อม แนวทางเก็บข้อมูลที่ ศปภ. ตำบลวางไว้มี 4 ประเด็น

1.ข้อมูลทั่วไป (จำนวนหมู่บ้าน หน่วยงานดูแล การติดต่อ ศูนย์อพยพในชุมชน ฯลฯ)

2.สภาพปัญหาปัจจุบัน สถานการณ์น้ำท่วม (ระดับน้ำ สภาพความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน)

3.ความช่วยเหลือที่ต้องการ (ความต้องการเร่งด่วน ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม ยา เรือ ส้วม การอพยพ ฯลฯ)

4.จุดแข็ง (ความรู้ ทรัพยากร ผู้นำ การจัดการ การเตรียมพร้อม การช่วยเหลือตัวเอง และนวัตกรรมต่างๆ ฯลฯ)

บางคนอาจทำเป็น mind map หรือแผนที่ความคิดไว้กันลืมว่าจะถามอะไร และคำถามหนึ่งๆ ควรจะเชื่อมโยงไปสู่คำถามอื่นๆ ทำให้ครบถ้วนเท่าที่ทำได้ในแต่ละครั้งเพื่อจะได้ไม่ต้องโทร.ไปถามหลายๆ ครั้ง

เบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏบนซองเป็นโจทย์แรกที่ต้องตีให้แตก ผู้ประสานงาน ศปภ. ตำบลเล่าให้ฟังว่าเนื่องจากข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านไม่มีระบบจัดเก็บและบันทึกที่ดีพอ เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้จึงได้มาจากแหล่งต่างๆ อาทิ จากหน่วยงานที่ทำเรื่องสาธารณสุขมูลฐานและทำงานชุมชนอยู่แล้ว หรือจาก อบต. ต่างๆ แต่บางตำบลก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลยทั้งชื่อทั้งเบอร์โทรศัพท์ กรณีนี้เราต้องใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ ผู้เก็บข้อมูลคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเจอเคสที่โทร. ไปแล้วเขาต้องรีบวางบอกว่าต้องเก็บแบตไว้ใช้ยามจำเป็นจริงๆ เพราะไฟฟ้าถูกตัดหมดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เธอจึงลองหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต พบเบอร์โทรศัพท์ของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้แจ้งขอความช่วยเหลือไว้ในเว็บไซต์รับเรื่องน้ำท่วมเว็บหนึ่ง สุดท้ายเธอจึงได้เบอร์โทร. ของคนอื่นๆ ในพื้นที่นี้จากคนผู้นี้ เป็นต้น

กรณีไม่ได้รับความร่วมมือจากปลายสายเป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะผู้ประสบภัยกำลังเดือดร้อน เราอาจต้องหาช่องทางอื่นๆ ไว้ด้วย ส่วนใหญ่การสอบถามข้อมูลชุมชนจะอาศัยปากคำผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. แกนนำชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น เทศบาล ฯลฯ  เราจำเป็นต้องสอบถามหลายๆ ทาง อาจสอบถามจากอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) เนื่องเพราะ อสม. เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในท้องถิ่นของตน หรืออนามัยหมู่บ้าน อนามัยตำบล เป็นต้น การสอบถามหลายๆ ทางก็เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านที่เป็นจริง ยกตัวอย่างเช่นการแจกถุงยังชีพ หากเราถามผู้ใหญ่บ้านอาจได้รับข้อมูลอย่างหนึ่ง หากเราถาม อสม. อาจได้รับข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น

ในพื้นที่อำเภอบางปะอิน บางไทร จังหวัดอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นชุมชนใกล้นิคมอุตสาหกรรมที่ประสบภัยน้ำท่วม อาจเรียกว่าชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ในหมู่บ้านหนึ่งๆ มีทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาพักอาศัยทำงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีทั้งชาวนามีทั้งคนงานที่อาศัยอยู่หอพัก ผู้ใหญ่บ้านมีข้อมูลลูกบ้านตามทะเบียนบ้านแต่สภาพชุมชนจริงมีคนจากนอกภูมิลำเนาอาศัยอยู่หอพักซึ่งไม่มีเลขที่บ้านจำนวนมากอีกด้วย การให้ความช่วยเหลือจึงอาจไม่ทั่วถึง ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาจัดระบบโดยการแจกคูปองให้คนที่อาศัยอยู่โดยไม่มีเลขที่บ้านไว้สำหรับการมารับของบริจาค เป็นต้น

เมื่อสอบถามต่อไปเราจะพบวิธีจัดการตัวเองของชาวบ้าน บ้านชั้นเดียวที่น้ำท่วมมิดหลังคาใช้วิธีเปิดหลังคาสังกะสีอยู่อาศัย และมีการหนุนพื้นไม้กระดานขึ้นสูง บางบ้านอาศัยนอนบนเรือ ส่วนใหญ่มีการอพยพคนแก่ออกมาก่อนน้ำจะท่วม ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่พูดตรงกันว่าเตรียมพร้อมมาก่อนเพราะน้ำท่วมอยุธยาทุกปี จึงมีประสบการณ์รับมือน้ำท่วมพอสมควร แต่ปีนี้ต่างจากปีอื่นคือน้ำมาเร็วและแรง

“ช่วยเหลือกันตามอัตภาพ” เรามักได้ยินคำนี้เกือบทุกครั้งที่ถามว่ามีการช่วยเหลือดูแลกันยังไงในหมู่บ้าน นอกจากความช่วยเหลือกันในหมู่บ้านแล้วยังมีความช่วยเหลือกันระหว่างหมู่บ้านอีกด้วย จากการโทร. สอบถามข้อมูล ส่วนใหญ่เราสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงดีใจที่มีคนสอบถามสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งที่ตามมาคือพวกเขามีความหวังด้วยคิดว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากเรา ดังที่เรารับฟังผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่ในตำบลคุ้งลาน

“ช่วยส่งเรือไปช่วยหมู่ 4 หมู่ 5 ด้วยครับเพราะอยู่ลึกมาก ผมอยู่หมู่ 1 ยังรับมือไหวครับ แต่หมู่ 4 หมู่ 5 ไม่มีเรือเข้าไปเลย”

“ช่วยผมหน่อย ช่วยประสานให้หน่อย ผมจะไม่ไหวแล้ว”

“ไก่ตายเป็นหมื่นตัว ยังไม่มีใครเก็บซากไก่ หมู่บ้านนั้นเป็นฟาร์มไก่ มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นเน่าแล้วครับ”

“ตอนนี้ชาวบ้านก็อยู่ตามวิถีชาวบ้าน เรื่องการขับถ่ายใครเข้าทุ่งได้ก็ไป แต่ส่วนใหญ่ก็ถ่ายลงน้ำซึ่งเป็นปัญหามาก ถ้าเป็นไปได้ขอส้วมลอยน้ำ ขอแค่ 2 หลังเอาไว้ 2 จุด หัวและท้ายหมู่บ้านไว้ใช้ร่วมกัน”  

การไม่ได้ลงพื้นที่อาจเป็นข้อจำกัดและจุดอ่อนที่สุดประการหนึ่งของกระบวนการเก็บข้อมูลระดับตำบล อย่างไรก็ตาม ทีมงาน ศปภ. ตำบลวางตัวเองเป็นผู้ประสานงานและเก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อส่งต่อข้อมูลนี้ไปสู่หน่วยงานหรือองค์กรที่จะลงไปในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป ข้อมูลพวกนี้เดินทางต่อไปยังไง การส่งต่อข้อมูลเป็นอย่างไร และความช่วยเหลือจะไปถึงในพื้นที่จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่ ศปภ. ตำบล พยายามแจงให้อาสาได้เห็นเป็นรูปธรรม

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาสาเก็บข้อมูลตำบลต้องได้รับการบรี๊ฟงานเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมานั่นคือ การซ่อมข้อมูล ดังที่เราได้รับการส่งต่อข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ก่อนหน้าโดยไม่ได้ลงรายละเอียดใดๆ นอกจากความช่วยเหลือด้านสิ่งของตามแบบฟอร์มใบสรุปผลระดับตำบล นั่นเท่ากับการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ของกระบวนการเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้าน ผลต่อเนื่องก็คือความช่วยเหลืออาจไปถึงสายเกินการณ์แล้วก็ได้ ประเด็นนี้เราอาจต้องสำรวจตัวเองและเตรียมพร้อมว่าเราเหมาะจะทำงานอาสาอะไรดังข้อสังเกตต่อไปนี้   สำรวจและเตรียมพร้อมก่อนไปทำงานอาสา หากจะเป็น “อาสามืออาชีพ” น่าจะมีการเตรียมพร้อมและสำรวจตัวเองอย่างไรบ้าง

1.ความถนัดและทักษะ
งานอาสาควรเป็นงานที่เหมาะกับตน นั่นก็เพื่อที่จะใช้ศักยภาพที่ตนมีได้อย่างเต็มที่ แน่นอนทักษะเทคนิคเป็นเรื่องฝึกฝนกันได้แต่ความถนัดและจริตควรเป็นพื้นฐานของงานอาสาด้วย ยกตัวอย่างเช่นคนว่ายน้ำไม่เป็นแต่อยากไปลงเรือกับหน่วยกู้ภัย สุดท้ายแล้วแทนที่จะไปช่วยคนอื่นกลับกลายเป็นภาระของทีมเสียมากกว่า ด้วยเหตุนี้ อาสามืออาชีพนอกจากมี “ใจ” แล้วยังต้องรู้ด้วยว่าตัวเองควรจะอยู่จุดไหน เมื่อไหร่ อย่างไร คนที่มีทักษะด้านการทำแผนที่ย่อมเกิดประโยชน์มากถ้าใช้ทักษะนี้มาทำแผนที่น้ำท่วมและเส้นทาง คนที่มีทักษะด้านการออกแบบหรือ infographic มาแปลงข้อมูลดิบเป็นรูปแบบที่เข้าใจง่ายก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นต้น   หากแต่ละคนทำในสิ่งที่ตนทำได้ย่อมเกิดประโยชน์ในจุดที่ตนถนัดและมีทักษะ เมื่อจุดเล็กๆ มาประกอบกันเป็นภาพใหญ่เราก็จะเห็นว่าอาสาทุกส่วนมีความสำคัญและช่วยหนุนเสริมให้การแก้ปัญหาและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เวลาและเงื่อนไข
อาสาสมัครต้องเตรียมพร้อมเสมอไม่ให้ตนกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ดังนั้นอันดับแรกควรจะต้องจัดการเคลียร์ตัวเองทั้งเรื่องเวลา การงานที่คั่งค้าง ครอบครัว ฯลฯ ให้เรียบร้อยก่อนมาลุย สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าเรามีเวลามากน้อยแค่ไหน ติดเงื่อนไขใดหรือไม่ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะงานอาสามีหลากหลาย เลือกให้เหมาะกับตน ทำในสิ่งที่ตนทำได้ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ และใช้ศักยภาพของตนให้เต็มที่ นั่นจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เป็นภาระของผู้อื่น

3. จัดการตนเองไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น สร้างวินัยในตนเอง

อาสาไม่ว่าจะไปไหน ทั้งลงพื้นที่ อยู่ศูนย์พักพิง ศูนย์ประสานงานส่วนกลาง หรืออื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ควรพกน้ำดื่มของตนมาด้วย จัดการเรื่องอาหารการกินของตัวเอง อย่ารอใคร เพราะไม่มีใครมาเสิร์ฟอาหารให้ถึงที่ หลายคนมักคิดว่าอุตส่าห์มาช่วยน่าจะมีข้าวปลาอาหารเลี้ยงหน่อย นั่นเป็นความคิดที่ผิด อาสาสมัครควรพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก อาหารมีอยู่ก็เดินไปหยิบเอง หยิบมาเฉพาะตนไม่ต้องเผื่อใคร กินให้หมดไม่เหลือทิ้ง น้ำก็ดื่มให้หมดขวด สร้างวินัยในตนเองให้ได้ก่อนอันดับแรก

4. ความจริงใจ และจิตใจอาส
คนที่มาทำงานอาสามักตกหลุมพรางว่าตนเป็นผู้ให้จนอาจหงุดหงิดเพราะมองผู้ประสบภัยเป็นผู้รับอย่างเดียว พึงเปลี่ยนทัศนคติว่าเราเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน อาสาบางคนอาจมีคำถามว่าทำแล้วได้อะไร ทำไปทำไม ทำเพื่อใคร ฯลฯ เรามีสิทธิตั้งคำถามแต่ลองถามใจตัวเองก่อนว่าเราอาสามาเพื่ออะไร นอกจากนี้หากเราเจองานที่ไม่ถนัดแต่ในยามฉุกเฉินเมื่อได้รับการขอความช่วยเหลือให้ทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ อาสาสมัครก็ควรเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ   เปลี่ยนผู้ประสบภัยเป็นผู้ช่วยเหลือ       

ประเด็นสำคัญที่สุดของงานอาสาในสถานการณ์ภัยพิบัติคือ เปลี่ยนผู้ประสบภัยเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป อาจเริ่มต้นจากการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ของตนเอง มีผู้ประสบภัยจากบางบัวทองที่อพยพออกมาหลังจากน้ำท่วม ต่อมาได้เป็นผู้นำทางหน่วยกู้ภัยเข้าไปช่วยเหลือคนและสัตว์เลี้ยงที่ยังติดอยู่ในหมู่บ้านเพราะรู้เส้นทางในหมู่บ้านดี นี่คือตัวอย่างของการที่ผู้ประสบภัยลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัคร

ประเด็นหนึ่งของการเก็บข้อมูลชุมชนคือ “จุดแข็ง” ของชุมชนนั้นๆ อาทิ ทรัพยากร ผู้นำ การจัดการ การเตรียมการป้องกัน เตรียมการอพยพ  ประเด็นเหล่านี้สำคัญต่อการสรุปบทเรียนในอนาคตที่จะชี้ให้เห็นว่าในชุมชนผู้ประสบภัยมีการจัดการตัวเองและเป็นผู้ช่วยเหลือกันอย่างไรบ้าง และอาจเป็นบทเรียนแก่อีกหลายพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมในลักษณะเดียวกันเพื่อให้เกิดการจัดตั้งกันอย่างไรในระดับชุมชน ไม่รอพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียวต่อไป  









หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งจากประสบการณ์อาสาสมัคร ศปภ. ตำบลเมื่อวันที่ 20-24 ต.ค. 2554 ปัจจุบันข้อมูลระดับตำบลที่เก็บได้อาจล่าไปบ้างแล้ว และในส่วนงานอาสาที่ ศปภ. ภาคประชาชนดอนเมืองอาจเปลี่ยนแปลงจากข้อเขียนนี้เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม กล่าวเฉพาะ ศปภ. ตำบล ปัจจุบันย้ายที่ทำการไปในที่ปลอดน้ำท่วม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชมภาพเขื่อนภูมิพลใกล้ระดับเก็บน้ำสูงสุด

Posted: 27 Oct 2011 08:43 AM PDT

เขื่อนภูมิพลใกล้เต็มความจุเหลืออีก 19 ซม. จะเต็มระดับกักเก็บสูงสุดที่ 260 เมตร หรือ 13,462 ล้าน ลบ.ม. จึงมีการระบายน้ำเพิ่มจากเดิม 28.5 ล้าน ลบ.ม. เป็น 45 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันเพื่อไม่ให้น้ำล้นเกินปริมาณเก็บกัก 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนภูมิพล ประจำวันนี้ (27 ต.ค.) มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจำนวน 35.80 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เวลา 8.00 น. อยู่ระดับ 259.81 เมตร เทียบกับระดับทะเลปานกลาง คิดเป็นปริมาณ 13,418.43 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยเหลืออีก 19 ซม. น้ำจะเต็มอ่างเก็บน้ำ ที่ระดับน้ำกักเก็บสูงสุด 260.00 เมตร หรือ 13,462.00 ล้าน ลบ.ม.

โดยขณะนี้ อ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล สามารถรับปริมาณน้ำได้อีกเพียง 43.57 ล้าน ลบ.ม. หรืออีก 0.32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และเนื่องจาก สภาวะฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณอ่างเก็บน้ำลดลง เขื่อนภูมิพลจึงกลับมาระบายน้ำตามปกติที่ 640 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 45 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าการระบายน้ำก่อนหน้านี้ที่ระบายน้ำที่ 28.5 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพล

ทั้งนี้ ในรายงานของเขื่อนภูมิพล ระบุอีกว่า สำหรับตัวอาคารเขื่อนยังมีความแข็งแรง มั่นคง ปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความกังวลของประชาชนถึงเรื่องความไม่ปลอดภัยของอาคารเขื่อน หรือกลัวเขื่อนจะพังในขณะนี้ลดลง แต่กลับมีความวิตกกังวลในกรณีการปล่อยระบายน้ำลงท้ายเขื่อนมากกว่า เพราะปริมาณน้ำที่ระบายลงไปในแต่ละวันจะไปสมทบกับปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลาง

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา นายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลกับสื่อว่า เขื่อนภูมิพลจำเป็นต้องระบายน้ำวันละประมาณ 28.5 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เนื่องจากในช่วงเวลานั้น มีพายุพัดเข้ามาในบริเวณภาคเหนือและมีน้ำไหลเข้าในปริมาณมากกว่าระบายออก ทางเขื่อนก็ต้องระบายเพิ่ม

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าในช่วงสัปดาห์นี้ยังคงมีฝนตกกระจายในเขตภาคเหนือต่อไป โดยในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค.นี้ จะมีฝนตกบางแห่ง และในช่วงวันที่ 29 ต.ค.-2 พ.ย.นี้ จะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนบนของภาค

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเห็นทางวิชาการ: คุณจินตนา แก้วขาว กับกฎหมู่

Posted: 27 Oct 2011 08:24 AM PDT

 

        ไม่มีใครปฏิเสธว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดี  แต่การต่อสู้ของกลุ่มคุณจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และพวกจนถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 4 เดือนนั้นแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขตจนละเมิดอาญาแผ่นดิน  ความผิดเช่นนี้ควรได้รับการน้อมตระหนัก

        อนุสนธิจากมูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้เขียนบทความ “ความเห็นทางวิชาการคดีจินตนา แก้วขาว” ใน ‘ประชาไท’ ยกย่องการทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อมจนติดคุก โดยได้ตั้งคำถามว่าการตัดสินนี้ถือเป็น “การขัดกันของการบังคับใช้กฎหมาย (อาญา) กับหลักสิทธิมนุษยชน (ตามรัฐธรรมนูญ)” <1> หรือไม่    ผมเห็นว่านี่เป็นการบิดเบือนความจริง  ไม่มีกลุ่มหรือบุคคลใดสามารถใช้สิทธิชุมชนหรือสิทธิมนุษยชนจนผิดอาญาแผ่นดินได้  การใช้กฎหมู่และความรุนแรงเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับไม่ได้  ผมจึงขอโอกาสกับ ‘ประชาไท’ เพื่อมองต่างมุม ไม่ได้มุ่งหวังหาเรื่องหรือขุดคุ้ยใคร แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการโฆษณาชวนเชื่อยกย่องเกินจริง

ศาลฎีกาจำคุกคุณจินตนา
        เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกคุณจินตนาในข้อหาบุกรุกและรบกวนการครอบครองที่ดินของเอกชน และนำของโสโครกเปรอะเปื้อนบุคคลและทรัพย์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หลังจากคุณจินตนาได้นำชาวบ้านกลุ่มเสื้อเขียวบุกรุกเข้าไปในงานเลี้ยงโต๊ะจีน จำนวน 2,000 โต๊ะ ของบริษัท ยูเนี่ยน พาวเวอร์ ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2544 ทำให้ทรัพย์สินเสียหายและบริษัทต้องยกเลิกการจัดงานดังกล่าว <2>

        ก่อนหน้าศาลฎีกาตัดสินเพียงไม่กี่วัน (5 ตุลาคม 2554) ยังมีการจัดอภิปรายเรื่อง “เป็นอาชญากร หรือนักสู้เพื่อชุมชน” ในงานมีนักวิชาการมาให้กำลังใจและสนับสนุนคุณจินตนาด้วยการอ้างสิทธิชุมชน โดยไม่คำนึงถึงความผิดที่คุณจินตนาก่อไว้ข้างต้น  คุณจินตนายังกล่าวด้วยว่า (หากตัดสินว่าตนผิด) “ชาวบ้านจะใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟันหรือเปล่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ได้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง” <3>

        ปรากฏว่าหลังจากคำตัดสิน  กรรมการสิทธิมนุษยชนยังนำคณะไปเยี่ยมคุณจินตนา <4> และได้ให้สัมภาษณ์ในว่า “ . . . ต้องหาเหตุผลมาอธิบายให้คนในสังคมเข้าใจ สำหรับการใช้ศาลสิ่งแวดล้อมเข้ามาพิจารณาคดี แต่ประเด็นที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลได้เข้าใจคือการบังคับใช้กฎหมายเชิงเดี่ยวที่มองเฉพาะมิติของกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายอาญา แต่ทุกฝ่ายควรจะมองถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของกฎหมายเชิงซ้อนที่มองว่าคดีแพ่งและคดีอาญาที่เกิดขึ้น”  การมองในแง่นี้ก็เท่ากับการไม่ได้สำนึกถึงความผิดที่เกิดขึ้น

รู้ให้ชัดว่าผิดอย่างไร
        สำหรับคำพิพากษาของศาลฎีกา <5> ระบุว่า ในวันเกิดเหตุ “จำเลยกับพวกรวม 100 คน ได้เดินเข้าไปในบริเวณที่จัดงานแล้วพูดว่า พวกเราเอาน้ำปลาวาฬใส่เลย จากนั้นชี้นิ้วไปตามโต๊ะอาหารของพวกจำเลยประมาณ 50 คน ต่างแยกย้ายกันนำถุงน้ำปลาวาฬไปบีบใส่โต๊ะอาหาร ถังน้ำแข็ง และขว้างไข่เน่าใส่เวที”  แต่คุณจินตนากลับให้การว่า “วันเกิดเหตุจำเลยกับพวกรวมประมาณ 30 คน พากันไปที่สำนักงานของผู้เสียหายเพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน เมื่อไปถึงพบกลุ่มชายฉกรรจ์รวมประมาณ 50 คน  จำเลยกับพวกเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงพากันเดินเลี่ยงขอผ่านไปหน้าเวทีงาน เห็นชาวบ้านทะเลาะกับผู้จัดเวทีจำเลยจึงเข้าไปห้ามปราม จากนั้นจำเลยกับพวกดังกล่าวพากันกลับบ้าน”

        ศาลพิเคราะห์จากหลักฐานต่าง ๆ แล้วไม่เชื่อคำให้การของจำเลย แต่เห็นพ้องตามโจทย์ รวมทั้งพยานก็ให้การตรงกัน เหตุเกิดเวลากลางวัน จึงเห็นได้ชัด และพยานโจทก์ก็รู้จักและจดจำจำเลยได้  และไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เหล่านั้นเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุชวนให้ปรักปรำโจทก์  ศาลยังระบุว่า “. . . ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าธรรมชาติของคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดมิใช่การกระทำความผิดอย่างคดีอาญาสามัญ  การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ไม่เป็นสาระแก่คดี”

สิทธิชุมชนหรือกฎหมู่
        จากคำพิพากษาข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้หรือการอ้างสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถนำมาหักล้างความผิดที่ได้ก่อไว้อันเป็นอาญาแผ่นดิน  ไม่เช่นนั้นประเทศชาติก็คงไร้ขื่อแป เพราะถือตนว่ากระทำการเพื่อพิทักษ์สิทธิของชุมชน ก็สามารถละเมิดหรือทำร้ายผู้อื่นได้อย่างอุกอาจ  แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็ไม่อาจอ้างเพื่อละเมิดต่อสิทธิของผู้ใดได้

        หากประชาชนในแต่ละพื้นที่ของประเทศพากันจับจองทรัพยากรของส่วนรวม เช่น ทะเล ลำคลอง หรือป่าเขา มาเป็นของตนด้วยถือว่าตนอยู่ใกล้และได้ใช้ประโยชน์มานาน ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรเหล่านี้ก็คงกลายเป็นผู้ด้อยโอกาส ถ้าการปฏิบัติเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน ก็คงทำให้ประเทศแตกแยกกันไปหมด และเกิดความวุ่นวายแย่งชิงทรัพยากรของส่วนรวมไม่มีที่สิ้นสุด บรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องนี้จะพันธนาการประเทศของเราให้ถอยหลังเข้าคลอง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหรือทั่วโลกต่างพัฒนาไปไกลโดยไม่ติดกับปัญหานี้เพราะต่างยอมรับในสิทธิของชาติเหนือสิทธิส่วนบุคคล กลุ่มหรือชุมชน

        ในการลงทุนโรงไฟฟ้าในพื้นที่บ่อนอกนั้น หากแม้รัฐบาลมาลงทุนเองโดยไม่มีภาคเอกชน บางท่านก็ยังคงไม่ยินดี  บางครั้งอาจมีข้อคำนึงว่า การดำเนินโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่อาจเป็นการเปิดโอกาสการฉ้อราษฎร์บังหลวง  ข้อนี้คงต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างจริงจังของทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาชนที่มุ่งหวังจะสอดส่องเพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง  อย่างไรก็ตามเราคงไม่สามารถอาศัยข้ออ้างเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงนี้ มาถือครองทรัพยากรของประเทศเป็นของตนเองหรือกลุ่มชน

การใช้ความรุนแรง
        ที่ผ่านมาการต่อสู้ของกลุ่มมักมีเหตุรุนแรงจนบาดเจ็บ เสียทรัพย์และเสียชีวิต เช่น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2548 ศาลอาญาพิพากษาคดีที่ฟ้องคุณเจริญ วัดอักษร จำเลยที่ 1 คุณวิลัย สัตย์ซื่อ จำเลยที่ 2 คุณลัดดา สิงห์เล็ก จำเลยที่ 3 คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย จำเลยที่ 4 และคุณชัยยศ แก่นทอง เป็นจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังร่วมกันทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพ และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ บ.กัลฟ์ เพาเวอร์ จำกัด จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2544. . . <6>  และต่อมา เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553  ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 3, 4 มีความผิด . . . ลงโทษจำคุก เป็นเวลา 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี . . .  <7>

        แม้แต่กับชาวบ้านกันเองแต่เป็นกลุ่มที่เห็นต่างก็ได้รับความรุนแรงเช่นกัน  โดยคุณณรงค์ พุกจันทร์ ตัวแทนฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้า กล่าวว่า “. . . มีการสร้างภาพให้เห็นว่าเกิดความรุนแรงขึ้น เพื่อให้รัฐบาลลงมาดูแล และผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนเราต้องทำร้ายกัน . . . และที่เริ่มรุนแรงกันหนักๆ ก็คือช่วงประชาพิจารณ์นี้เอง” ในขณะที่คุณจินตนา แก้ว่า “. . . ชาวบ้านที่นี่ก็เริ่มต้นเรียกร้องตั้งแต่ ยื่นหนังสือ ก่อนทั้งนั้น ไม่มีชาวบ้านที่ไหนหรอกค่ะ ที่อยู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาทุบตีกัน” <8>  แต่การทำร้ายร่างกายกันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาญาอย่างปฏิเสธไม่ได้ และไม่อาจนำสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาแก้ต่างได้

        อีกตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 คุณนาวิน อายุ 16 ปี ก็็กกถูกระเบิดปิงปองได้รับบาดเจ็บ  คุณมานิตย์ (บิดาคุณนาวิน) กล่าวว่า “ตนเคยเป็นแกนนำฝ่ายอนุรักษ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม แต่ภายหลังเหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีพนักงานโรงงานสหวิริยาถูกยิงเสียชีวิต ตนก็ขอถอยออกมา เพราะเริ่มรู้สึกรับไม่ได้กับแนวทางที่มีลักษณะของการปลุกระดม กดดันมากกว่าการอนุรักษ์และในบางครั้งที่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพก็ถูกโจมตี ว่าเป็นพวกนอกคอก . . .” <9>

        และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 “นางธัญญาพร หรือปลิว จันทร์พิทักษ์ อายุ 60 ปี . . . ได้เข้าแจ้งความว่า ถูกนางสุธาทิพย์ คชชา . . . ซึ่งเป็นกลุ่มคัดค้านโรงถลุงเหล็ก ทำร้ายร่างกายจนไหล่หลุดทั้ง 2 ข้าง และกระดูกแขนด้านซ้ายร้าว . . . . ด้านนางสุธาทิพย์ กล่าวยอมรับมีการทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่เชื่อว่านางธัญญาพรจะไหล่หลุด เพราะยังสามารถถือมีดออกมาท้าทายตนหลังเกิดเหตุได้ . . . นางธัญญาพรเคยร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด และมีความสนิทสนมกับนางจินตนา แก้วขาว . . .” <10>  อย่างไรก็ตามการเกิดความรุนแรงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีกับกลุ่มอนุรักษ์เอง เพราะแม้แต่คุณเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก (ขณะยังมีชีวิตอยู่) ยังได้ออกมาชี้แจงว่า “ผมเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านหินกรูด ติดลบต่อสายตาสาธารณชนทั่วไปมากที่ใช้ความรุนแรงในครั้งนี้ . . .” <11> 

ความแปลกแยกของภาพลักษณ์
        ที่ผ่านมามีการยกย่องคุณจินตนาถึงขนาดแต่งเพลงสรรเสริญความดี  และเมื่อได้เข้ารับพระราชทานรางวัล “แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น” จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  คุณจินตนาให้สัมภาษณ์ว่า “ได้เลี้ยงดูปลูกฝังลูกๆ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยสั่งสอนให้ตระหนักถึงปัญหาของทรัพยากรที่ลดลงเพราะระบบทุนนิยมได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังปลูกฝังให้ลูกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นนักต่อสู้ โดยจะพาลูกไปสัมผัสจากสถานการณ์จริง เช่นการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูด เพื่อเป็นแบบอย่าง และเข้าใจการทำงาน” <12>

        แต่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ลูกชายของคุณจินตนา ก็ถูกจับพร้อมยาบ้า 17 เม็ด จึงถูกตั้งข้อหาว่ามียาเสพติด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย <13>  และต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้พิพากษารับโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาทโดยรับโทษทันทีไม่รอลงอาญา <14>  กรณีนี้เป็นเรื่องส่วนตัวก็จริง  แต่ก็เป็นข้อคิดให้เห็นถึงความพยายามในการยกย่องคุณจินตนาในทางส่วนตัวจนเกินจริงเพื่อหวังผลในการสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว

คัดค้านเพื่อใคร
        บางคนตั้งข้อสังเกตว่าการคัดค้านอาจเป็นเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนท้องถิ่นที่ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา แต่ประกอบกิจการร้านอาหารและรีสอร์ตตากอากาศอยู่ในพื้นที่ซึ่งเกรงจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า  กลุ่มท้องถิ่นก็มีปัญหาการนำเอาสมบัติของส่วนรวมมาใช้ประโยชน์ ดังที่ “. . . เทศบาลตำบลบ้านกรูด ได้ฟ้องร้องนายอิศรา แก้วขาว สามีนางจินตนา ตามคดีดำเลขที่ 2767/50 ข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ บริเวณชุมชนดอนศาลเจ้า ซึ่งล่าสุดนางจินตนา ร่วมกับชาวบ้านประมาณ 30 ครัวเรือนที่บุกรุกที่ดินดังกล่าว . . . นายจีรวุฒิ เคยแสดงความเห็นคัดค้านการเช่าที่ดังกล่าว เนื่องจากการบุกรุกสร้างชุมชนกีดขวางการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลากและเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่” <15>

        มีความเป็นไปได้ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านโรงไฟฟ้า โดยสังเกตได้จากการที่บริษัทโรงไฟฟ้าจัดงานเลี้ยงถึง 2,000 โต๊ะ สำหรับผู้รับเชิญราว 20,000 คนที่คงเห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าจึงมาร่วมงาน  แต่ถูกคุณจินตนาทำลายงานเลี้ยงเสียก่อน  นอกจากนี้คำสัมภาษณ์ของคุณณรงค์ พุกจันทร์ ข้างต้นยังระบุว่าความรุนแรงมักเริ่มหนักข้อขึ้นในช่วงการทำประชาพิจารณ์  หากให้มีการทำประชาพิจารณ์หรือทำประชามติกับชาวบ้านทุกคนในพื้นที่ ก็เป็นไปได้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่สนับสนุนโรงไฟฟ้า  นี่จึงคงเป็นสาเหตุที่มีการใช้ความรุนแรงหรือความพยายามในการไม่ยอมรับผลการประชาพิจารณ์หรือไม่

        บางคนอาจอ้างว่าการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ด้วยกำลัง ก็คล้ายกับคณะราษฎรหรือพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่ใช้กำลังอาวุธโค่นล้มอำนาจรัฐเช่นกัน  แต่กรณีกลุ่มอนุรักษ์นี้ต่างกันโดยสิ้นเชิงเพราะเป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะตน กลุ่มหรือชุมชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

       ประชาชนควรได้มีโอกาสไตร่ตรองด้วยข้อมูลหลาย ๆ ด้านเพื่อไม่ตกอยู่ในภวังค์ของการโฆษณาชวนเชื่อ และอย่าให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย เพื่อความผาสุกของสังคมโดยปราศจากความรุนแรงและการใช้อำนาจในทางมิชอบจากทุกฝ่าย

 

อ้างอิง

<1>  มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน. ความเห็นทางวิชาการคดีจินตนา แก้วขาว http://www.prachatai3.info/journal/2011/10/37509

<2>  ข่าว “สั่งจำคุก ‘จินตนา แก้วขาว ปธ.อนุรักษ์บ้านกรูด’ 4 เดือน คดีบุกรุกงานเลี้ยงโรงไฟฟ้า” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1318334223&grpid=00&catid=&subcatid=

<3>  โปรดดูคลิปงานสัมมนา “อาชญากรหรือนักสู้ชุมชน?.wmv” ที่ http://www.youtube.com/watch?v=seYwz8Z2nBM (นาทีที่ 2:55 – 3:00) และดูข่าว “เป็นอาชญากร หรือนักสู้เพื่อชุมชน” http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNekE1TVRBMU5BPT0=

<4>  ข่าว “กสม.รุดเยี่ยม ‘จินตนาแก้วขาว’” http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01EVXdOREl4TVRBMU5BPT0=&sectionid=TURNek5RPT0=&day=TWpBeE1TMHhNQzB5TVE9PQ==

<5>  คำพิพากษาศาลฎีกา กรณีคุณจินตนา แก้วขาว ข้อหาบุกรุก http://www.enlawthai.org/data/decision/Jintana%20Baangrood_SupremeCourtDecision.pdf

<6>  ข่าว “บ่อนอกเฮ! ศาลสั่งรอลงอาญา คดีแกนนำทำร้ายนายทุน” http://mgr.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9480000110978

<7>  ข่าว “พิพากษาแก้ลดโทษบ่อนอก-หินกรูดชน บ.กัลฟ์ฯ” http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/20100917/353481/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%9A.%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AF.html

<8>  ทีมงาน ThaiNGO “บทบาทความรุนแรงในการแก้ไขข้อขัดแย้ง” http://www.thaingo.org/story3/news_volunteer_23945.html

<9>  ข่าว “เหยื่อม็อบค้านโรงเหล็กพ้อถูกทำร้ายกลายเป็นฝ่ายผิด” http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071722

<10> ข่าว “กลุ่มต่อต้านโรงถลุงเหล็กดุทำร้ายม็อบกลับใจจนไหล่หลุด” http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000090470

<11> ทีมงาน ThaiNGO “‘แกนนำหินกรูด-บ่อนอก’ ยันชาวบ้านกดดันมานาน” http://www.thaingo.org/story/news_hingrood_181044.htm

<12> ข่าว “สอนลูกให้รัก ‘ธรรมชาติ’ อีกหน้าที่ของแม่ดีเด่น” จากมติชนรายวันออนไลน์ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2550 หน้า 35 http://www.dmh.go.th/sty_libnews/news/view.asp?id=7547

<13> ข่าว “จับลูกชายแกนนำบ้านกรูดพร้อมยาบ้า” http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000023622

<14> ข่าว “ศาลสั่งจำคุก2ปีลูกชาย ‘จินตนา แก้วขาว’ คดีซื้อยาบ้า” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1249457082&grpid=03&catid=03

<15> ข่าว "จินตนา" ร้อง ป.ป.ช. หวั่น "จีรวุฒิ" คืนเก้าอี้ ส.ท.บ้านกรูดhttp://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9510000147423

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ดี-ชั่ว’ ที่ผูกติดกับ ‘รัก-เกลียด’

Posted: 27 Oct 2011 08:14 AM PDT

หลายครั้งที่เราได้ฟังแกนนำมวลชน สื่อ นักวิชาการบางคนพยายามอธิบายว่า ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในบ้านเราไม่เกี่ยวกับ “ความเกลียดชัง” ตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของการมีความคิดเห็นต่างกัน เนื่องจากยึดหลักการ อุดมการณ์ ต่างกัน

แต่เมื่อสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จะเห็นว่า มันมีเรื่องของ “ความรัก-ความเกลียดชัง” เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสัมพัทธ์กับการเพิ่ม-ลด “ดีกรี” ของความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า มันมีการสร้างความเกลียดชังตัวบุคคล กลุ่มคน ฝ่าย หรือ “สี” ผ่านสื่อต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบอยู่เสมอตลอดมา นับแต่การสร้างปีศาจทักษิณ เสื้อแดงนิยมความรุนแรง ขบวนการล้มเจ้า หมู่บ้านแดงคอมมิวนิสต์ ฯลฯ
 
กระทั่งปัจจุบัน ปรากฏการณ์ของ social media ในท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วม ก็มีแม้กระทั่งพระสงฆ์บางรูปโพสต์ข้อความว่า คนเสื้อแดงที่เคยด่า “ทหารเป็นฆาตกร” ไม่น่าจะยื่นมือมาขอรับความช่วยเหลือจากทหาร ไม่ต้องพูดถึงการโพสต์ด่านายกฯ ว่ามีมากเพียงใด อีกทั้งสื่อทีวีที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ตามกัดเป็นรายวัน เหมือนจงใจใช้ “วิกฤตมหาอุทกภัย” ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่พวกตนเกลียดชัง โดยไม่ต้องสนใจเหตุผลว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ทุกฝ่ายควรหันมาช่วยเหลือกันและกันอย่างไร
 
แม้กระทั่งเมื่อเช้านี้ (27 ต.ค.) ในรายการ “เก็บตกจากเนชั่น” กนก รัตน์วงสกุล กับ ธีระ ญัญญไพบูลย์ ก็ยังแสดงความเห็นว่า มีน้องๆ ที่ไปช่วยแพ็คของที่ ศปภ.ดอนเมือง บอกว่า มีคนบอกให้ใส่เสื้อแดง แล้วก็พูดตลอดว่า พวกเราคนเสื้อแดงต้องช่วยคนเสื้อแดงด้วยกัน มันเป็นบรรยากาศที่รับไม่ได้ เสียความรู้สึกมาก จนต้องหนีกลับมา กนกยังพูดอีกว่า มีนักการเมืองบางคนให้ติดชื่อตนเองบนห่อของที่รับบริจาคก่อนนำไปแจกชาวบ้าน ภายใน ศปภ.ตอนนี้มันเละจนรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ต้องขอนายกฯ ให้ทหารเข้าไปบริหารจัดการแทน
 
แล้วกนกก็เชลียร์ทหารต่อว่า “ทหารเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องน้ำท่วมอย่างเต็มที่ ตอนนี้ทหารเป็นฮีโร่ของชาวบ้านไปแล้ว ที่จริงทหารเค้าก็เป็นฮีโร่มาตลอด แต่นักการเมืองนับวันจะตกต่ำลง ไม่รู้คิดได้หรือยัง ถ้าคิดได้ตอนนี้ก็ยังกลับตัวทัน”
 
ตัวอย่างที่ยกมาเป็นต้นนี้ สะท้อนว่าความเกลียดชังมันฝังลึก จนยากที่จะประสานรอยร้าวให้สนิทไม่ว่าจะเผชิญภาวะวิกฤตขนาดไหนก็ตาม จึงน่าคิดว่า ความเกลียดชังฝังลึกที่ส่งผลเป็นความแตกร้าวเกินเยียวยาเช่นนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
 
หากพิจารณา “วาทกรรมความขัดแย้ง” ในบ้านเราอย่างตรงไปตรงมา จะเห็นว่าเป็นการเถียงกันเรื่องถูก-ผิด แต่ว่าความหมายของ “ถูก-ผิด” ที่สังคมเรานิยมใช้กันมันไม่ใช่เรื่องถูก-ผิดในเชิงการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ประสิทธิภาพในการทำงาน และมันไม่ใช่การเถียงกันอย่างจริงจังว่า หลักการ อุดมการณ์อะไรถูกหรือผิด ไม่ได้จริงจังด้วยซ้ำว่า มันเป็นเรื่องของกากระทำที่ถูกหรือผิดในทางกฎหมาย หลักความยุติธรรม หรือหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย
 
แต่ถูก-ผิดที่เราใช้ฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น เป็นเรื่องของ “ความถูก-ผิดทางจริยธรรม” ทว่าปัญหาคือ “วัฒนธรรมความคิดทางจริยธรรม” ในบ้านเรา เป็นวัฒนธรรมความคิดที่มีอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนาซึ่งเป็นจริยธรรมเชิงปัจเจก ไม่ใช่จริยธรรมภาคสาธารณะ (social morality) ฉะนั้น ถูก-ผิด ที่เราใช้ฟาดฟันกัน จึงไม่ชัดว่าเป็นเรื่องของถูก-ผิดตามหลักการของจริยธรรมภาคสาธารณะ คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม แต่เราขับเน้นถูก-ผิดในความหมาย “ดี-ชั่ว” ของตัวบุคคล แล้วก็นำเรื่องดี-ชั่วของตัวบุคคลไปผูกติดกับ “ความรัก-ความเกลียดชัง” และใช้ความรัก-ความเกลียดชังนั้นเป็นเงื่อนไขของการแบ่งฝ่าย และการต่อสู้ทางการเมือง
 
ภายใต้วัฒนธรรมความคิดทางจริยธรรมเช่นนี้ สังคมเราจึงสร้างกระแสความรักความศรัทธาในตัวบุคคลที่ถูกยกย่องกันว่าเป็น “คนดี” หรือเป็น “ผู้มีคุณธรรมจริยธรรมสูงส่ง” อย่างไม่ลืมหูลืมตา และสร้างกระแสความเกลียดชังตัวบุคคลที่ถูกสังคมพิพากษาว่าเป็น “คนเลว” หรือคนไม่มีคุณธรรมจริยธรรม อย่างสุดโต่ง
 
ฉะนั้น สำหรับคนที่ถูกยกย่องว่า เป็นคนดีมีคุณธรรมสูงส่งและเป็นที่รักของผู้คน เราจึงไม่สนใจวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ขณะที่คนที่ถูกสังคมพิพากษาว่าเป็นคนเลว หรือเป็นพวกเดียวกับคนเลวและผู้คนเกลียด ไม่ว่าเขาจะขยับตัวทำอะไรก็ผิดไปหมด จะต้องถูกตรวจสอบ ถูกจับผิด ถูกวิจารณ์ ถูกด่าอยู่ตลอดไป  
 
วัฒนธรรมความคิดทางจริยธรรมที่เอาเรื่อง “ดี-ชั่วผูกโยงกับความรัก-ความเกลียดชัง” ดังกล่าว สะท้อให้เห็นว่า ความเชื่อทางจริยธรรม หรือความเชื่อเรื่องดี-ชั่ว ของสังคมเราไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผลและหลักการเชิงสังคม แต่อยู่บนพื้นฐานของความรัก-ความเกลียด หรือความศรัทธา-ไม่ศรัทธาในตัวบุคคลเป็นหลัก
 
ฉะนั้น เวลาเราพูดถึง “ความดี” หรือการกระทำที่ดี เราจึงไม่มี “จินตภาพ” ของความดี หรือการทำดีในความหมายที่เป็นการกระทำเพื่อปกป้องหลักการเชิงสังคม ป้องคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือประโยชน์สุขเชิงสาธารณะ เช่นการกระทำตามหรือการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม จึงไม่ใช่ความดีหรือการกระทำที่ดี ที่ภาครัฐ ระบบการศึกษา สื่อ ฯลฯ    โปรโมท กระตุ้นเตือน หรือรณรงค์ให้ประชาชนเห็นคุณค่า และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ หรือยึดถือปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต
 
แต่ความดีหรือการกระทำที่ดีที่สังคมนี้โปรโมท รณรงค์ให้คนทุกเพศทุกวัยกระทำคือ “ความดีเชิงปัจเจก” เช่น การ “ทำดีเพื่อพ่อ” ซึ่งหมายถึงคุณจะทำอะไรก็ได้ที่เกิดประโยชน์กับตัวคุณ(และทำให้คุณเพิ่มพูนศรัทธาใน “พ่อ” มากขึ้น) เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ออกกำลังกาย กระทั่ง “อ่านหนังสือสอบเพื่อพ่อ” ร้องเพลงเพื่อพ่อ ถ้าเป็นการทำดีเชิงสาธารณะเพื่อพ่อก็มักจะเป็นเรื่องเก็บขยะ ปลูกป่า ฯลฯ แต่ไม่เคยมีการทำความดีด้วยการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย “เพื่อพ่อ” เลย (มีแต่การอ้างพ่อเพื่อจัดการกับคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องดังกล่าว)
 
นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องของการโปรโมทความดี หรือการทำดีตามความเชื่อทางศาสนา ซึ่งมักเน้นเรื่องทำบุญทำทาน การรักษาศีล ปฏิบัติธรรม เพื่อความสุขความเจริญของชีวิตในชาตินี้และชาติหน้า แต่มุมมองทางศีลธรรมศาสนานิยมปลูกฝังกัน ก็มักจะมองการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ผ่าน “กรอบโลกทัศน์แบบขาว-ดำ” เป็นหลัก
 
ภายใต้บริบทของสังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมความคิดทางจริยธรรมดังกล่าวนี้ ทัศนะทางการเมืองก็ถูกทำให้เป็น “ทัศนะแบบขาว-ดำ” ไปด้วย จึงทำให้การถกเถียงเรื่องปัญหาทางการเมืองกลายเป็นเสมือนเรื่องทางศาสนาเข้าไปทุกที เพราะฝ่ายที่เห็นต่างกันไม่สามารถถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดภายใต้บรรยากาศของการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง เนื่องจากทั้งตัวบุคคลและทัศนะของเขาง่ายที่จะ “ถูกจับยัด” เข้าไปใน “กรอบ” ของ “ดี-ชั่ว” อย่างสัมบูรณ์ (absolutely) ตาม concept ที่ว่า “คนดี” คือ “คนที่ต้องจงรักภักดี” ความดี หรือการกระทำที่ดี คือการกระทำที่สนับสนุน ส่งเสริม ปกป้องความจงรักภักดี และ “คนชั่ว” คือ “คนที่ไม่ (หรือถูกสงสัยว่าไม่) จงรักภักดี” ความชั่ว หรือการกระทำที่ชั่ว คือการกระทำที่ไม่สนับสนุน ไม่ส่งเสริม ไม่ปกป้องความจงรักภักดี รวมทั้งการกระทำที่เป็นการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบุคคล หรือสถาบันที่สังคมจงรักภักดี
 
นี่คือปัญหาหลักอันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมความคิด ที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองแทนที่จะเป็นเรื่องของการถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุด เพื่อแสวงหาอุดมการณ์ หลักการ กติกาที่ยุติธรรมที่สุดแก่สมาชิกของสังคมทุกคนอย่างเสมอภาคที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กลับกลายเป็นเรื่องของการสร้างความเกลียดชัง สร้าง “มายาคติ” เรื่อง “ดี-ชั่ว” ของตัวบุคคลให้เป็นเงื่อนไขของความแตกแยก และความรุนแรงไม่สิ้นสุด
 
แม้กระทั่งในภาวะที่ประเทศต้องเผชิญ “วิกฤตมหาอุทกภัย” ร่วมกัน การสร้างความเกลียดชังก็ยังคงดำเนินต่อไป!
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกประสบการณ์งานอาสาเก็บข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม

Posted: 27 Oct 2011 08:05 AM PDT

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ภัยพิบัติครั้งนี้วิกฤตเกินกว่าหน่วยงานไหนจะรับมือได้เพียงลำพัง การจัดการที่ไม่เป็นระบบในหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะนี่คือครั้งแรกของการจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่ซึ่งกินวงกว้างครอบคลุมหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ

“สนใจทำงานอาสาส่วนไหนคะ ส่วนงาน ศปภ. ตำบล ต้องมีเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 วัน และควรจะมีทักษะในการประสานงานเก็บข้อมูล ถ้ามีทีม 3-4 คนได้ก็จะดีค่ะ”

ชั้น 2 ของอาคารผู้โดยสารในประเทศ สนามบินดอนเมือง ที่โต๊ะรับอาสาสมัครของ ศปภ. ภาคประชาชน มูลนิธิกระจกเงา มีป้ายกระดาษติดที่โต๊ะสำหรับคนที่สนใจเป็นอาสาสมัครไปลงชื่อตามแถวต่างๆ มีอาทิ อาสาทำเสื้อชูชีพ อาสาเก็บขวด อาสาช่างภาพ อาสาดูแลเด็กที่ศูนย์อพยพ อาสาจัดการบ่อบำบัดขยะ และอื่นๆ อีกหลากหลายงานอาสา ล้วนเป็นงานที่ “งอก” ขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบันทันด่วน ไม่เพียงเท่านี้ยังมีอาสาสมัครช่วยแพ็กสิ่งของบริจาค จัดแยกประเภทยา ทำกระสอบทราย ทำจุลินทรีย์อีเอ็ม และอื่นๆ อีกมากมายตามศูนย์ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และในอีกหลายจังหวัด 

ศปภ. ภาคประชาชนเกิดขึ้นโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) และทีมงานกระจกเงาอาศัยประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 มาร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างทันท่วงทีและเป็นระบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เราเลือกมาอยู่ส่วนงานอาสาเก็บข้อมูลระดับตำบลในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมหลังจากสำรวจตัวเองแล้วว่า 1. มีเวลาต่อเนื่องหลายวัน  2. งานเก็บข้อมูลเป็นงานถนัดที่คิดว่าตัวเรามีศักยภาพทำได้ในเวลาเช่นนี้ 3. มีทีม 3-4 คน มีโน้ตบุ๊กของตัวเอง (ข้อนี้ไม่จำเป็น มาคนเดียวก็ทำได้) และ 4. อยากรู้ข้อมูลในพื้นที่ ด้วยเชื่อว่าถ้ารวบรวมข้อมูลได้เร็วเท่าไรยิ่งส่งต่อความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีมากเท่านั้น

อาสาใหม่ที่เลือกทำงานนี้จะได้รับการบรี๊ฟข้อมูลเบื้องต้นจากทีมประสานงาน ศปภ. ตำบลที่ทำงานมาแต่ต้น  การบรี๊ฟงานสำคัญมากเพราะเป็นการวางข้อตกลงร่วมกันถึงภาระงาน ความสำคัญของการเก็บข้อมูล ข้อมูลอะไรที่จำเป็น รวมทั้งเทคนิคการพูดคุยต่างๆ อาสาควรจะตระหนักในความสำคัญของข้อมูลที่จะได้มา ต้องซื่อสัตย์ในการบันทึกข้อมูลตามจริง ไม่เมกข้อมูลขึ้นเอง  คุณสมบัติที่จำเป็นมากของอาสาเก็บข้อมูลตำบลคือ “รู้จักฟัง” และ “ฟังเป็น”  การรับฟังผู้ประสบภัยจะทำให้เขาไว้เนื้อเชื่อใจและให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เรา

เราได้รับซองพลาสติกปะหน้าด้วยชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของตำบลหนึ่งในอำเภอหนึ่งของจังหวัดอยุธยา พร้อมเครื่องโทรศัพท์มือถือและซิม ในซองนั้นมีแบบฟอร์ม 2 ชุดและแผนที่ตำบลหยาบๆ แนบมาด้วย

งานเก็บข้อมูลเป็นงานที่ต้องทำแข่งกับเวลาและอาศัยการทำความเข้าใจพื้นที่และชุมชนหมู่บ้านเป็นสำคัญ  ในเบื้องต้นเราจึงจำเป็นต้องศึกษาสภาพพื้นที่ก่อน แน่นอนไม่มีใครทำแผนที่แสดงพื้นที่น้ำท่วมและระดับน้ำของอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครสวรรค์ เหมือนที่เราเห็นแผนที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ  แบบละเอียดถี่ยิบที่ค่อยๆ ทยอยออกมาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและภูมิศาสตร์  แผนที่หยาบๆ ที่เราได้รับก็เพียงแสดงพิกัดให้เรารู้ว่าตำบลนี้อยู่ตรงไหนของอำเภอในจังหวัดนั้นๆ เท่านั้น

เมื่อศึกษาพื้นที่คร่าวๆ แล้วก็เตรียมคำถามให้พร้อม แนวทางเก็บข้อมูลที่ ศปภ. ตำบลวางไว้มี 4 ประเด็น

1. ข้อมูลทั่วไป (จำนวนหมู่บ้าน หน่วยงานดูแล การติดต่อ ศูนย์อพยพในชุมชน ฯลฯ)

2. สภาพปัญหาปัจจุบัน  สถานการณ์น้ำท่วม (ระดับน้ำ สภาพความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน)

3. ความช่วยเหลือที่ต้องการ (ความต้องการเร่งด่วน ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม ยา เรือ ส้วม การอพยพ ฯลฯ)

4. จุดแข็ง (ความรู้ ทรัพยากร ผู้นำ การจัดการ การเตรียมพร้อม การช่วยเหลือตัวเอง และนวัตกรรมต่างๆ ฯลฯ)

บางคนอาจทำเป็น mind map หรือแผนที่ความคิดไว้กันลืมว่าจะถามอะไร และคำถามหนึ่งๆ ควรจะเชื่อมโยงไปสู่คำถามอื่นๆ ทำให้ครบถ้วนเท่าที่ทำได้ในแต่ละครั้งเพื่อจะได้ไม่ต้องโทร.ไปถามหลายๆ ครั้ง

เบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏบนซองเป็นโจทย์แรกที่ต้องตีให้แตก ผู้ประสานงาน ศปภ. ตำบลเล่าให้ฟังว่าเนื่องจากข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านไม่มีระบบจัดเก็บและบันทึกที่ดีพอ เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้จึงได้มาจากแหล่งต่างๆ อาทิ จากหน่วยงานที่ทำเรื่องสาธารณสุขมูลฐานและทำงานชุมชนอยู่แล้ว หรือจาก อบต. ต่างๆ แต่บางตำบลก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลยทั้งชื่อทั้งเบอร์โทรศัพท์ กรณีนี้เราต้องใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์  ผู้เก็บข้อมูลคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเจอเคสที่โทร. ไปแล้วเขาต้องรีบวางบอกว่าต้องเก็บแบตไว้ใช้ยามจำเป็นจริงๆ เพราะไฟฟ้าถูกตัดหมดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เธอจึงลองหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต พบเบอร์โทรศัพท์ของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้แจ้งขอความช่วยเหลือไว้ในเว็บไซต์รับเรื่องน้ำท่วมเว็บหนึ่ง สุดท้ายเธอจึงได้เบอร์โทร. ของคนอื่นๆ ในพื้นที่นี้จากคนผู้นี้ เป็นต้น

กรณีไม่ได้รับความร่วมมือจากปลายสายเป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะผู้ประสบภัยกำลังเดือดร้อน เราอาจต้องหาช่องทางอื่นๆ ไว้ด้วย ส่วนใหญ่การสอบถามข้อมูลชุมชนจะอาศัยปากคำผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. แกนนำชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น เทศบาล ฯลฯ  เราจำเป็นต้องสอบถามหลายๆ ทาง อาจสอบถามจากอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) เนื่องเพราะ อสม. เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในท้องถิ่นของตน หรืออนามัยหมู่บ้าน อนามัยตำบล เป็นต้น  การสอบถามหลายๆ ทางก็เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านที่เป็นจริง ยกตัวอย่างเช่นการแจกถุงยังชีพ หากเราถามผู้ใหญ่บ้านอาจได้รับข้อมูลอย่างหนึ่ง หากเราถาม อสม. อาจได้รับข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น

ในพื้นที่อำเภอบางปะอิน บางไทร จังหวัดอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นชุมชนใกล้นิคมอุตสาหกรรมที่ประสบภัยน้ำท่วม อาจเรียกว่าชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ในหมู่บ้านหนึ่งๆ มีทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาพักอาศัยทำงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีทั้งชาวนามีทั้งคนงานที่อาศัยอยู่หอพัก  ผู้ใหญ่บ้านมีข้อมูลลูกบ้านตามทะเบียนบ้านแต่สภาพชุมชนจริงมีคนจากนอกภูมิลำเนาอาศัยอยู่หอพักซึ่งไม่มีเลขที่บ้านจำนวนมากอีกด้วย การให้ความช่วยเหลือจึงอาจไม่ทั่วถึง ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาจัดระบบโดยการแจกคูปองให้คนที่อาศัยอยู่โดยไม่มีเลขที่บ้านไว้สำหรับการมารับของบริจาค เป็นต้น

เมื่อสอบถามต่อไปเราจะพบวิธีจัดการตัวเองของชาวบ้าน บ้านชั้นเดียวที่น้ำท่วมมิดหลังคาใช้วิธีเปิดหลังคาสังกะสีอยู่อาศัย และมีการหนุนพื้นไม้กระดานขึ้นสูง บางบ้านอาศัยนอนบนเรือ ส่วนใหญ่มีการอพยพคนแก่ออกมาก่อนน้ำจะท่วม  ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่พูดตรงกันว่าเตรียมพร้อมมาก่อนเพราะน้ำท่วมอยุธยาทุกปี จึงมีประสบการณ์รับมือน้ำท่วมพอสมควร แต่ปีนี้ต่างจากปีอื่นคือน้ำมาเร็วและแรง 

“ช่วยเหลือกันตามอัตภาพ”  เรามักได้ยินคำนี้เกือบทุกครั้งที่ถามว่ามีการช่วยเหลือดูแลกันยังไงในหมู่บ้าน นอกจากความช่วยเหลือกันในหมู่บ้านแล้วยังมีความช่วยเหลือกันระหว่างหมู่บ้านอีกด้วย  จากการโทร. สอบถามข้อมูล ส่วนใหญ่เราสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงดีใจที่มีคนสอบถามสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งที่ตามมาคือพวกเขามีความหวังด้วยคิดว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากเรา ดังที่เรารับฟังผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่ในตำบลคุ้งลาน

“ช่วยส่งเรือไปช่วยหมู่ 4 หมู่ 5 ด้วยครับเพราะอยู่ลึกมาก ผมอยู่หมู่ 1 ยังรับมือไหวครับ แต่หมู่ 4 หมู่ 5 ไม่มีเรือเข้าไปเลย”

“ช่วยผมหน่อย ช่วยประสานให้หน่อย ผมจะไม่ไหวแล้ว”

“ไก่ตายเป็นหมื่นตัว ยังไม่มีใครเก็บซากไก่ หมู่บ้านนั้นเป็นฟาร์มไก่ มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นเน่าแล้วครับ”

“ตอนนี้ชาวบ้านก็อยู่ตามวิถีชาวบ้าน เรื่องการขับถ่ายใครเข้าทุ่งได้ก็ไป แต่ส่วนใหญ่ก็ถ่ายลงน้ำซึ่งเป็นปัญหามาก ถ้าเป็นไปได้ขอส้วมลอยน้ำ ขอแค่ 2 หลังเอาไว้ 2 จุด หัวและท้ายหมู่บ้านไว้ใช้ร่วมกัน”

การไม่ได้ลงพื้นที่อาจเป็นข้อจำกัดและจุดอ่อนที่สุดประการหนึ่งของกระบวนการเก็บข้อมูลระดับตำบล อย่างไรก็ตาม ทีมงาน ศปภ. ตำบลวางตัวเองเป็นผู้ประสานงานและเก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อส่งต่อข้อมูลนี้ไปสู่หน่วยงานหรือองค์กรที่จะลงไปในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป ข้อมูลพวกนี้เดินทางต่อไปยังไง การส่งต่อข้อมูลเป็นอย่างไร และความช่วยเหลือจะไปถึงในพื้นที่จริงหรือไม่  เป็นคำถามที่ ศปภ. ตำบลพยายามแจงให้อาสาได้เห็นเป็นรูปธรรม

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาสาเก็บข้อมูลตำบลต้องได้รับการบรี๊ฟงานเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมานั่นคือ การซ่อมข้อมูล ดังที่เราได้รับการส่งต่อข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ก่อนหน้าโดยไม่ได้ลงรายละเอียดใดๆ นอกจากความช่วยเหลือด้านสิ่งของตามแบบฟอร์มใบสรุปผลระดับตำบล นั่นเท่ากับการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ของกระบวนการเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้าน ผลต่อเนื่องก็คือความช่วยเหลืออาจไปถึงสายเกินการณ์แล้วก็ได้ ประเด็นนี้เราอาจต้องสำรวจตัวเองและเตรียมพร้อมว่าเราเหมาะจะทำงานอาสาอะไรดังข้อสังเกตต่อไปนี้

สำรวจและเตรียมพร้อมก่อนไปทำงานอาสา
หากจะเป็น “อาสามืออาชีพ” น่าจะมีการเตรียมพร้อมและสำรวจตัวเองอย่างไรบ้าง

1. ความถนัดและทักษะ
งานอาสาควรเป็นงานที่เหมาะกับตน นั่นก็เพื่อที่จะใช้ศักยภาพที่ตนมีได้อย่างเต็มที่ แน่นอนทักษะเทคนิคเป็นเรื่องฝึกฝนกันได้แต่ความถนัดและจริตควรเป็นพื้นฐานของงานอาสาด้วย  ยกตัวอย่างเช่นคนว่ายน้ำไม่เป็นแต่อยากไปลงเรือกับหน่วยกู้ภัย สุดท้ายแล้วแทนที่จะไปช่วยคนอื่นกลับกลายเป็นภาระของทีมเสียมากกว่า  ด้วยเหตุนี้ อาสามืออาชีพนอกจากมี “ใจ” แล้วยังต้องรู้ด้วยว่าตัวเองควรจะอยู่จุดไหน เมื่อไหร่ อย่างไร  คนที่มีทักษะด้านการทำแผนที่ย่อมเกิดประโยชน์มากถ้าใช้ทักษะนี้มาทำแผนที่น้ำท่วมและเส้นทาง  คนที่มีทักษะด้านการออกแบบหรือ infographic มาแปลงข้อมูลดิบเป็นรูปแบบที่เข้าใจง่ายก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นต้น   หากแต่ละคนทำในสิ่งที่ตนทำได้ย่อมเกิดประโยชน์ในจุดที่ตนถนัดและมีทักษะ เมื่อจุดเล็กๆ มาประกอบกันเป็นภาพใหญ่เราก็จะเห็นว่าอาสาทุกส่วนมีความสำคัญและช่วยหนุนเสริมให้การแก้ปัญหาและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เวลาและเงื่อนไข
อาสาสมัครต้องเตรียมพร้อมเสมอไม่ให้ตนกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ดังนั้นอันดับแรกควรจะต้องจัดการเคลียร์ตัวเองทั้งเรื่องเวลา การงานที่คั่งค้าง ครอบครัว ฯลฯ ให้เรียบร้อยก่อนมาลุย  สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าเรามีเวลามากน้อยแค่ไหน ติดเงื่อนไขใดหรือไม่ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะงานอาสามีหลากหลาย เลือกให้เหมาะกับตน ทำในสิ่งที่ตนทำได้ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ และใช้ศักยภาพของตนให้เต็มที่ นั่นจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เป็นภาระของผู้อื่น

3. จัดการตนเองไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น สร้างวินัยในตนเอง
อาสาไม่ว่าจะไปไหน ทั้งลงพื้นที่ อยู่ศูนย์พักพิง ศูนย์ประสานงานส่วนกลาง หรืออื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ควรพกน้ำดื่มของตนมาด้วย จัดการเรื่องอาหารการกินของตัวเอง อย่ารอใคร เพราะไม่มีใครมาเสิร์ฟอาหารให้ถึงที่ หลายคนมักคิดว่าอุตส่าห์มาช่วยน่าจะมีข้าวปลาอาหารเลี้ยงหน่อย นั่นเป็นความคิดที่ผิด  อาสาสมัครควรพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก อาหารมีอยู่ก็เดินไปหยิบเอง หยิบมาเฉพาะตนไม่ต้องเผื่อใคร กินให้หมดไม่เหลือทิ้ง น้ำก็ดื่มให้หมดขวด  สร้างวินัยในตนเองให้ได้ก่อนอันดับแรก

4. ความจริงใจ และจิตใจอาสา
คนที่มาทำงานอาสามักตกหลุมพรางว่าตนเป็นผู้ให้จนอาจหงุดหงิดเพราะมองผู้ประสบภัยเป็นผู้รับอย่างเดียว พึงเปลี่ยนทัศนคติว่าเราเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน  อาสาบางคนอาจมีคำถามว่าทำแล้วได้อะไร ทำไปทำไม ทำเพื่อใคร ฯลฯ  เรามีสิทธิตั้งคำถามแต่ลองถามใจตัวเองก่อนว่าเราอาสามาเพื่ออะไร  นอกจากนี้หากเราเจองานที่ไม่ถนัดแต่ในยามฉุกเฉินเมื่อได้รับการขอความช่วยเหลือให้ทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ อาสาสมัครก็ควรเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ 


เปลี่ยนผู้ประสบภัยเป็นผู้ช่วยเหลือ
ประเด็นสำคัญที่สุดของงานอาสาในสถานการณ์ภัยพิบัติคือ เปลี่ยนผู้ประสบภัยเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป อาจเริ่มต้นจากการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ของตนเอง  มีผู้ประสบภัยจากบางบัวทองที่อพยพออกมาหลังจากน้ำท่วม ต่อมาได้เป็นผู้นำทางหน่วยกู้ภัยเข้าไปช่วยเหลือคนและสัตว์เลี้ยงที่ยังติดอยู่ในหมู่บ้านเพราะรู้เส้นทางในหมู่บ้านดี นี่คือตัวอย่างของการที่ผู้ประสบภัยลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัคร

ประเด็นหนึ่งของการเก็บข้อมูลชุมชนคือ “จุดแข็ง” ของชุมชนนั้นๆ อาทิ ทรัพยากร ผู้นำ การจัดการ การเตรียมการป้องกัน เตรียมการอพยพ  ประเด็นเหล่านี้สำคัญต่อการสรุปบทเรียนในอนาคตที่จะชี้ให้เห็นว่าในชุมชนผู้ประสบภัยมีการจัดการตัวเองและเป็นผู้ช่วยเหลือกันอย่างไรบ้าง และอาจเป็นบทเรียนแก่อีกหลายพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมในลักษณะเดียวกันเพื่อให้เกิดการจัดตั้งกันอย่างไรในระดับชุมชน ไม่รอพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียวต่อไป

 

หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งจากประสบการณ์อาสาสมัคร ศปภ. ตำบลเมื่อวันที่ 20-24 ต.ค. 2554  ปัจจุบันข้อมูลระดับตำบลที่เก็บได้อาจล่าไปบ้างแล้ว และในส่วนงานอาสาที่ ศปภ. ภาคประชาชนดอนเมืองอาจเปลี่ยนแปลงจากข้อเขียนนี้เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม กล่าวเฉพาะ ศปภ. ตำบล ปัจจุบันย้ายที่ทำการไปในที่ปลอดน้ำท่วม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เฟซบุคเสื้อแดงฯ ชี้แจงกรณีรถติดป้าย "ทักษิณ" รับของช่วยเหลือที่ดอนเมือง

Posted: 27 Oct 2011 08:05 AM PDT

ชี้แจงกรณีรถติดป้าย "ทักษิณ ชินวัตร" เดิมเป็นรถที่คนเสื้อแดงใช้ช่วยน้ำท่วม-แจกข้าวกล่องอยู่ก่อนแล้วที่อยุธยาโดยไม่เกี่ยวกับ ศปภ. ต่อมาถูกเรียกมาช่วยขนของที่ ศปภ. เนื่องจากรถไม่พอ และไม่ได้ปลดป้ายออก จนเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา

ตามที่เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.) มีผู้เผยแพร่วิดีโอคลิปในเว็บไซต์เฟซบุค เป็นภาพอาสาสมัครช่วยกันขนสิ่งของบริจาคขึ้นรถบรรทุกคันหนึ่ง ซึ่งป้ายข้างรถติดป้ายเขียนว่า "บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยรักและห่วงใย จาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร" โดยมีผู้วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมดังกล่าวด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ที่มา: เฟซบุคของ Red Democracy ประชาธิปไตยในทัศนะของคนเสื้อแดง

ล่าสุดวันนี้ (27 ต.ค.) ในเฟซบุคของ Red Democracy ประชาธิปไตยในทัศนะของคนเสื้อแดง ได้ชี้แจงพร้อมภาพถ่ายระบุว่า รถคันดังกล่าวเคยนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ จ.อยุธยาเพื่ออพยพออกนอกพื้นที่ และใช้ลำเลียงข้าวกล่องเข้าไปแจกในพื้นที่โดยไม่เกี่ยวกับ ศปภ. ส่วนภาพที่เกิดขึ้นในคลิปเกิดจาก ศปภ. ติดต่อรถดังกล่าวไปช่วยขนของที่ ศปภ. ที่รถไม่พอ และไม่ได้นำป้ายออก

"รถคันนี้เดิมใช้ขนส่งผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดอยุธยาเพื่อนำออกนอกพื้นที่ (ขวา) รวมถึงนำข้าวกล่องที่พวกเขาทำกันเองไปแจกในพื้นที่ (ไม่เกี่ยวกับ ศปภ.) ภาพทางซ้ายได้มีการติดต่อรถคันดังกล่าวให้ไปช่วยขนของที่ ศปภ. เพราะรถไม่พอ แต่เนื่องจากไม่ได้นำป้ายดังกล่าวออก จึงทำให้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้กลายเป็นประเด็นโจมตีกันทางการเมืองไปจนได้" เฟซบุคดังกล่าวชี้แจง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ข้อมูลพื้นที่' สิ่งสำคัญยามเกิดภัยพิบัติและการฟื้นฟู ภารกิจ ศปภ. ตำบล มูลนิธิกระจกเงา

Posted: 27 Oct 2011 07:53 AM PDT

“ตอนนี้สถานการณ์น้ำเป็นอย่างไรบ้าง ระดับน้ำสูงขึ้น ลดลง หรือทรงตัว  ในหมู่บ้านมีคนอยู่กี่คน อพยพมาแล้วกี่คน  ตอนนี้อยู่กันยังไง อาหาร น้ำดื่ม มาจากไหน  ถ้าความช่วยเหลือยังมาไม่ถึง ในชุมชนมีวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไง  ความต้องการเร่งด่วนคืออะไร  ก่อนหน้านี้ได้เตรียมการป้องกันและอพยพคนไว้หรือไม่…”  ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ข้างต้นคือคำถามหลักๆ ของอาสาสมัคร ศปภ. ตำบล ที่มีต่อผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือชาวบ้านในพื้นที่น้ำท่วมที่อาสาสมัครพอจะติดต่อพวกเขาได้

ศปภ. ตำบล เป็นหน่วยหนึ่งภายใต้ ศปภ. ภาคประชาชน โดยการดำเนินการของมูลนิธิกระจกเงาและองค์กรเครือข่ายมาตั้งแต่แรกเริ่มมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ที่ดอนเมือง

งานของ ศปภ. ตำบลไม่ใช่การรับเรื่องความเดือดร้อนหรือกรณีฉุกเฉินที่ผู้ประสบภัยโทรศัพท์แจ้งเข้ามารายวัน  แต่คือการติดต่อไปยังพื้นที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของผู้ประสบภัยในแต่ละท้องที่ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมมาร่วมเดือนแล้ว

การมีชีวิตอยู่กับน้ำของผู้ประสบภัยเหล่านี้บอกอะไรแก่เรา

 

“ผมอยู่บิ๊กซีครับ มาหาซื้อน้ำให้ชาวบ้าน”

ขณะรับโทรศัพท์ ผู้ใหญ่วิชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ ตำบลคุ้งลาน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังเร่หาซื้อน้ำซึ่งกลายเป็นสินค้าหายากขาดแคลนที่สุดยามนี้  เขาบอกว่าใช้งบของหมู่บ้านมาซื้อน้ำไปแจกจ่ายลูกบ้านเพราะน้ำดื่มเดินทางมาไม่ถึงหมู่บ้านที่อยู่ลึกจากถนนมากซึ่งตอนนี้ระดับน้ำสูงร่วม ๒ เมตร

เป็นเวลากว่า ๒ สัปดาห์ที่ชาวคุ้งลานเกือบ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ยังคงอยู่บ้านชั้นเดียวที่จมน้ำ ต้องยกพื้นสูงเปิดหลังคาเพื่ออยู่อาศัย และความช่วยเหลือยังเดินทางไปไม่ทั่วถึง  กำนันประทุม ดอกกะฐินสด เล่าให้ฟังว่า ในแต่ละหมู่บ้านมีการช่วยเหลือกันอย่างดี หม้อแปลงไฟฟ้าถูกยกขึ้นสูงทำให้ยังมีไฟฟ้าใช้  แม้ว่าหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปจากถนนนั้นจะลำบากขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มมาก แต่ผู้ใหญ่บ้านต่างก็ดิ้นรนในการบรรเทาทุกข์ลูกบ้านของตน เช่นเอาเรือออกมาหาซื้อน้ำ กู้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญขึ้นมาซ่อม หรือเป็นศูนย์กลางทำอาหารแจกจ่ายลูกบ้านทุกวัน 

ผู้ใหญ่สมหมาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๙ ตำบลบ่อตาโล่ อำเภอวังน้อย อยุธยา บอกว่าตนลงทุนซื้อเรือเองเพื่อใช้บรรทุกของมาแจกจ่ายลูกบ้าน โดยไปติดต่อขอรับน้ำดื่มจากโรงงานน้ำสิงห์ หรือถุงยังชีพที่ญาติๆ ประสานมาให้ไปรับมา  หมู่บ้านมีเรือเพียงลำเดียว บ้านแต่ละหลังมีสภาพเหมือนติดเกาะ ไฟฟ้าถูกตัด ชาวบ้านจะลอยคอมารับอาหารและน้ำจากผู้ใหญ่บ้าน

เมื่อถามว่าความต้องการเร่งด่วนที่สุดคืออะไร หากไม่นับน้ำดื่มหลายคนบอกว่าพวกเขาต้องการ “เรือ” สำหรับสัญจร  สุนี สุขอร่าม ผู้นำชุมชนบอกว่า “ชาวบ้านอยากออกไปไหนมาไหนได้เองเพราะน้ำท่วมมิดหัวมาครึ่งเดือนแล้ว เวลาเรือแจกของผ่านมาก็มักจะบอกว่าไปช่วยที่โรจนะก่อน เขาลำบากกว่าเรามาก เราก็ไม่รู้จะว่ายังไง  ฉันสั่งซื้อเรือที่แม่กลองไว้แต่เส้นทางขนส่งถูกตัดขาดหมด ตอนนี้สิ่งจำเป็นที่สุดคือเรือ”

 

“ถ้าเอามาม่าหมูสับไปแจก รับรองได้ว่าเขาทิ้งหมด”

อาสาสมัครที่เป็นมุสลิมคนหนึ่งสรุปบทเรียนให้เพื่อนอาสาได้รับรู้ ว่าความจำเป็นของข้อมูลระดับตำบลโดยละเอียดเท่าที่จะเป็นไปได้นั้นสำคัญเพียงใด การเก็บสถิติว่าในตำบลหนึ่งๆ มีมุสลิมกี่คน คิดเป็นร้อยละเท่าไร ก็เพื่อที่ความช่วยเหลือจะตอบสนองความต้องการของผู้รับได้จริงอย่างไม่สูญเปล่า

ในตำบลบ่อตาโล่มีศูนย์รวมชุมชน ๓ แห่งคือ วัด โรงเรียน และมัสยิด  ผู้ใหญ่กอเด๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๕ บอกว่าในหมู่บ้านของเขาเป็นมุสลิม ๘๐ %  ตอนนี้รวมตัวกันอยู่ที่มัสยิด โรงเรียน ตามสะพานลอย และอยู่ที่บ้านอีก ๒๐๐ หลังคาเรือน  เมื่ออยู่รวมกัน การจัดการอาหารหรือข้อปฏิบัติต่างๆ ก็จะคล่องตัวขึ้นกว่าการอยู่อย่างกระจัดกระจายตัวใครตัวมัน

ตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง เป็นตำบลสุดท้ายของอยุธยาที่น้ำท่วม  ชาวบ้านหมู่ ๑ ทั้งหมดเป็นมุสลิมและตกลงร่วมกันไม่อพยพออก ดังนั้นความต้องการถุงยังชีพอิสลามจึงเป็นสิ่งจำเป็น  แม้ว่าปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านจะออกไปรับของจาก ศปภ. แต่การเดินทางก็เป็นอุปสรรคสำคัญ และจำนวนถุงยังชีพไม่เพียงพอต่อครัวเรือนที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์

ด้วยเหตุนี้ การสอบถามข้อมูลจำนวนประชากรที่แท้จริงจากผู้นำระดับหมู่บ้านอันเป็นหน่วยย่อยที่สุดของท้องที่นั้น จึงเป็นหน้าที่หลักของอาสาสมัคร ศปภ. ตำบล เพื่อการสำรวจจำนวนประชากรแท้จริง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรแฝงในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะเมืองที่ขยายตัวนั้นมีจำนวนมากกว่าที่มีการแจ้งไว้ในทะเบียนราษฎร์  ข้อมูลพื้นฐานที่มีบันทึกไว้ในทางราชการจึงอาจไม่มีประสิทธิผลนักในยามนี้ 

งานของ ศปภ. ตำบลจึงเป็นการสำรวจจำนวนที่แท้จริงของผู้ประสบภัย การกระจายความช่วยเหลือ และความต้องการที่แท้จริง เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ ว่าชุมชนใดต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ชุมชนใดยังประคองตัวเองได้ และมีไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จจนเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่นได้ปรับตัวอยู่กับน้ำได้ด้วยตนเอง

 

“ทุกเช้าฉันจะขี่มอไซค์ออกสำรวจแนวคันกั้นน้ำรอบๆ แล้วกลับมารายงานสถานการณ์ให้ชาวบ้านฟัง”

ถวิล ปั้นอบเนียม  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าให้ฟัง  ตำบลดอนหญ้านางเป็นหนึ่งในพื้นที่อำเภอภาชีที่น้ำไม่ท่วม  ตั้งแต่เดือนกันยายนที่มีข่าวว่าน้ำเหนือจะมา ทุกเช้าผู้ใหญ่ถวิลจะขับรถตระเวนไปรอบทิศเพื่อกลับมารายงานนายก อบต. และลูกบ้าน  ชาวบ้านจะไปรวมกันที่ที่ทำการ อบต. ประชุมกันว่าถ้าน้ำมาจะป้องกันอย่างไร แล้วไปช่วยกันวางกระสอบทรายตามจุดที่คาดว่าน้ำจะทะลักเข้ามา โดยเฉพาะด้านที่ติดกับอำเภอหนองแซง สระบุรี  มีการเชิญผู้รู้ในหมู่บ้านไปชี้จุดร่องคูนาตรงไหนควรจะขุดเพื่อดักทางน้ำตระเตรียมไว้  แม้ทุกวันนี้ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้วพวกเขาก็ยังไม่วางใจ ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมสถานที่รองรับผู้อพยพอย่างพร้อมสรรพ  

หากแม้ชาวดอนหญ้านางจะยังไม่เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ทุกวันนี้พวกเขายังแปรตัวเองเป็นตำบลอาสาคอยให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ถูกน้ำท่วม ไม่ว่าจะเปิดบ้านรองรับญาติพี่น้อง เปิดสถานีอนามัยรองรับผู้ป่วยระยะพักฟื้นที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลภาชี  รวมถึงการทำอาหารกล่องแจกจ่ายผู้ประสบภัยแทบทุกวันโดยมีวัดตะโกเป็นศูนย์กลาง 

สำราญ พุ่มจำปา  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ เล่าว่าตนหว่านแหจับปลาไปร่วมทำอาหาร บ้านไหนมีวัตถุดิบอะไรก็เอามาสมทบ  ชาวบ้านร่วมใจกันมาทำถุงยังชีพ และแบ่งสายกันไปแจกจ่ายพี่น้องอยุธยาที่ต้องอพยพมาตั้งเต็นท์อยู่ริมถนน

การเตรียมการป้องกันและความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งตำบลทำให้พวกเขารอดจากภัยพิบัติ และเมื่อบ้านตนน้ำไม่ท่วมก็ยังเป็นหลังพิงให้แก่ผู้ประสบภัยในละแวกใกล้เคียงได้ด้วย

พอได้ฟังสิ่งที่คนตำบลเล็กๆ ทำ ก็น่าคิดว่าย่านนิคมอุตสาหกรรมนวนคร หมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่บางบัวทอง ที่ต้องประสบภาวะทำนบแตกโดยที่ไม่มีใครตั้งตัวทัน พวกเขามีการเตรียมการรับมือกับอุทกภัยที่คาดไม่ถึงอย่างไรกันบ้าง

 

เราอยู่จุดไหนของความช่วยเหลือ ?

ในสภาวะวิกฤตน้ำท่วมในหลายพื้นที่ คำถามก็คือ ศปภ.ตำบลอยู่ตรงไหนขององคาพยพนี้

เมื่อฐานข้อมูลตำบลสมบูรณ์และผ่านการสังเคราะห์จากทีมงานแล้ว เราน่าจะได้เห็นโครงข่ายของความเชื่อมโยงภายในหมู่บ้านในเขตตำบลนั้นๆ และระหว่างตำบลสู่ตำบล เพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติในอนาคตอย่างเป็นระบบต่อไป

ภาพเพียงส่วนเสี้ยวนี้บอกเราว่า ในแต่ละชุมชนมีจุดแข็ง เมื่อเขาตระหนักถึงจุดแข็งของตน เขาก็จะหาหนทางพึ่งพาตัวเองได้มากกว่าจะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และข้อมูลที่ถูกต้องจะยิ่งทำให้ความช่วยเหลือมีประสิทธิผลมากขึ้น

เท่าที่ได้สนทนากับผู้นำท้องถิ่นเราพบว่า ในยามวิกฤต อบต. อบจ. ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งของชาวบ้านมากที่สุด เพราะเป็นตัวกลางประสานเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากส่วนกลางและมีบทบาทสำคัญในการกระจายความช่วยเหลือไปยังหมู่บ้านเพราะรู้จักพื้นที่ของตนดีที่สุด  คนเหล่านี้เองมักมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ สส.ในพื้นที่ ข้าราชการส่วนกลาง หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน หรือมูลนิธิต่างๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ  และความช่วยเหลือที่เดินทางมาถึงหมู่บ้านก็มักมาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำชุมชนนั่นเอง ใครมีสายป่านยาวความช่วยเหลือก็มักเดินทางมาถึงก่อน นี่กระมังที่เรียกว่าระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ

เราได้เห็นว่าความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเป็นหางเสือที่จะกำหนดทิศทางของชุมชนพวกเขาเองว่าจะเดินไปทางใด  หากในยามวิกฤต หมู่บ้านแตกแยก ผู้คนต่างเอาตัวรอด ก็ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าหลังน้ำลดสภาพชุมชนแห่งนั้นจะเป็นเช่นไร  เท่าที่ได้ฟังอาสาสมัครหลายคนล้วนบอกตรงกันว่า แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้าง หากแต่ภายในชุมชนเองกลับมีการจัดการตัวเองอย่างดีและช่วยเหลือกัน ซึ่งนั่นจะเป็นทางรอดจากภัยพิบัติ 

ข้อมูลพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญมากยามภัยพิบัติ มันบอกเราว่า จริงอยู่ เราไม่อาจควบคุมสถานการณ์ภัยพิบัติได้ทันทีทันใด แต่ครั้นเกิดภัยพิบัติขึ้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้คนอยู่รอดและช่วยเหลือตัวเองได้ก็คือความสัมพันธ์ในระดับชุมชนซึ่งยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่น

และหลังน้ำลด ฐานข้อมูลตำบลที่เก็บระหว่างนี้เองจะเป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นฟูชุมชนในอนาคต 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ‘คนกรมประมง’ ปะทะ ‘ชาวท่าศาลา–สิชล’ ค้าน EIA ท่าเรือเชฟรอน

Posted: 27 Oct 2011 07:50 AM PDT

รายงานเสวนา “ก่อนกลายเป็นอื่น โหมเราขอกำหนดอนาคตตนเอง จากท้องทะเลสู่ผืนแผ่นดิน: จากคนหาปลาสู่คนกินปลาทั้งโลก”

 
นายทรงชัย เส้งโสต ประมงอำเภอท่าศาลา ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราชและข้อมูลชุมชนประมงพื้นบ้านว่าเชื่อถือได้ โต้ EIA ท่าเรือเชฟรอน
 
เมื่อเวลา 13.00–16.00 น. วันที่ 21 ตุลาคม 2554 ที่ห้อง 301 อาคารเรียนรวม 7 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอสิชล–ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และชุมชนชายฝั่งทะเลท่าศาลา ได้จัดเวที “ก่อนกลายเป็นอื่น โหมฺเราขอกำหนดอนาคตตนเอง จากท้องทะเลสู่ผืนแผ่นดิน: จากคนหาปลาสู่คนกินปลาทั้งโลก” สนับสนุนโดยโครงการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยและศูนย์วิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนักวิชาการ นักศึกษา และชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งทะเลท่าศาลาเข้าร่วมประมาณ 150 คน
 
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นำเสนองานวิจัยชุมชนชายฝั่งทะเลสิชล–ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า จากการศึกษา 11 ชุมชนชายฝั่งทะเลสิชล–ท่าศาลา พบผลผลิตจากทรัพยากรสัตว์น้ำก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 5 พันคน แต่ละคนรายได้ต่อวันอย่างน้อยวันละ 3 ร้อยบาท มีเงินหมุนเวียนสำหรับค่าแรง 1.5 แสนบาทต่อวัน หรือปีละ 3 ร้อยล้านบาท
 
“เรือประมงพื้นบ้าน 1,300 ลำ รายได้เฉลี่ยขั้นต่ำปีละ 391.5 ล้านบาท ขณะเดียวกันสินค้าทะเลที่ส่งไปยังตลาดท้องถิ่น แพปลา และโรงงาน ก็ทำให้เเกิดการจ้างงานมากขึ้น เช่น กุ้งขาวจากชายฝั่งสิชล นำไปส่งโรงงานไทเฮง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปแปรรูปจะก่อให้เกิดการจ้างงานอีก 400 คน เป็นต้น” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
 
จานั้นมีการวิจารณ์งานวิจัยชิ้นดังกล่าว โดยนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนากลไกการวิจัยผลกระทบด้านสุขภาพ นายดำรงค์ เครือไพบูลย์กุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ฝ่ายเลขานุการในคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเทียบเรือเชฟรอน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเพิ่มศักดิ์ เพิงมาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง กรมประมง นายฉัตรชัย เวชสาร เจ้าพนักงานตรวจเรือชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 สาขานครศรีธรรมราช และนายเจริญ โต๊ะอีแต กรรมการเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนายนายธนิต สมพงษ์ นักวิชาการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการเสวนา
 
นายแพทย์วิพุธ กล่าวว่า จากการนำเสนองานวิจัยชุมชนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชาวบ้านในการรวบรวมข้อมูลคานกับรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอน สำหรับการคัดค้านท่าเรือเชฟรอน ชาวบ้านต้องรู้กระบวนการทำงานของแผนระดับชาติ เช่น แผนการลงทุนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผังเมือง แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ระบุถึงแผนการพัฒนาปิโตรเคมีอย่างชัดเจน
 
“ทำอย่างไรในการยกระดับประเด็นทางทรัพยากรสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ จากที่เป็นแค่ของคนท่าศาลา–สิชล ขึ้นเป็นทรัพยากรของคนจังหวัดนครศรีธรรมราช และของคนไทย หรือของคนทั้งโลก ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดเวทีวิพากษ์ ทำให้คนจังหวัดนครศรีธรรมราชตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรร่วมกัน โดยให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นำไปต่อยอดทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมแปรรูป ต่อเนื่องจากภาคการเกษตร” นายแพทย์วิพุธ กล่าว
 
นายดำรงค์ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะผู้ชำนาญการสำนักงานแผนและนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติไม่เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอนเป็นครั้งที่ 2 โดยให้กลับไปทบทวนประเด็นระบบนิเวศน์วิทยา เพราะฉะนั้นข้อมูลชุมชนที่ศึกษามา จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะนำกลับไปเสนอต่อคณะผู้ชำนาญการ พิจารณาทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอน ให้คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย” นายดำรงค์ กล่าว
 
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลการศึกษาของชุมชนมีคุณภาพระดับหนึ่ง แต่ข้อมูลบางตัวอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงมากนัก จะต้องได้ข้อมูลที่เป็นทางการมากกว่านี้ เพราะจะสามารถพัฒนาให้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น คณะผู้ชำนาญการจึงจะนำไปประกอบการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือเชฟรอนได้
 
ว่าที่ร้อยตรีกำพล จิตตะนัง จากศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตอบโต้ว่า กระบวนการศึกษาวิจัยของชุมชน มีศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมอยู่ด้วย ยืนยันว่าข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสิชล–ท่าศาลา เป็นข้อมูลเชื่อถือได้ ถ้าบอกว่าเชื่อถือไม่ได้ก็แสดงว่า ไม่เชื่อในคุณภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถ้าคิดว่าข้อมูลงานวิจัยชุมชนชิ้นนี้ไม่เป็นความจริง ให้นายทรงชัย เส้งโสต ประมงอำเภอท่าศาลายืนยันได้
 
นายทรงชัย ยืนยันว่า ที่มีนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัยวิเคราะห์ว่า ทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราชเสื่อมโทรมนั้น ตนไม่เชื่อ เพราะจากประสบการณ์การทำงานที่อำเภอท่าศาลาเกือบ 20 ปี ตนคลุกคลีกับชาวประมง และเก็บข้อมูลหยาบๆ จากเรือประมงพื้นบ้าน 750 ลำที่ทำมาหากินกันอยู่ ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่เคยหมด
 
“ถ้าทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราชตายแล้ว ชาวประมงคงจะตายไปนานแล้ว ผมขอยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลแถบนี้” นายทรงชัย กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: เมืองคอนเตรียมรับมือภัยพิบัติ แนะสร้างอ่างคลองกลาย–พรุควนเคร็งรับน้ำ

Posted: 27 Oct 2011 07:41 AM PDT

สัมมนาเชิงวิชาการ “เมืองคอน” ถกแนวทางแก้น้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หนุนสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกลาย แก้ปัญหาน้ำท่วมนบพิตำ แนะยึดพรุควนเคร็งทำเป็นแหล่งรับน้ำ ก่อนระบายลงทะเลสาบสงขลา

 
 
รับน้ำท่วม – คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สัมมนาเตรียมรับมือน้ำท่วม จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
 
เมื่อเวลา 09.30–12.00 น. วันที่ 21 ตุลาคม 2554 ที่ห้องอรพิน โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ประธานอนุกรรมาธิการฯ ส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมประมาณ 50 คน
 
นายเจษฎา วัฒนานุรักษ์หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้รับการแจ้งเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารว่า ในวันที่ 20–24 ตุลาคม 2554 จะมีพายุเข้า จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง จ.สงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการฯขณะนี้ประสานไปยังอำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่นขึ้นมารองรับ
 
นายเจษฎา แจ้งด้วยว่า ในส่วนของการบริหารจัดการอุปกรณ์ในการช่วยเหลือภัยพิบัติ จะเป็นอำนาจของจังหวัดที่จะส่งต่อไปยังอำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนนี้มีเรือ 70 ลำ ที่จะส่งไปยังพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ส่วนเรือกองกลางได้ขอสนับสนุนจากทางจ.พังงา และจ.ระนอง นำมาสำรองที่จังหวัดอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว 2 ชุด รวมกับกำลังทหารอีก 1 ชุดเตรียมพร้อมที่จะประสานงานกับพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มโดยเฉพาะคือ อ.สิชล และอ.นบพิตำ เนื่องจากมีรอยเลื่อนไหลจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งที่ผ่านมา
 
“ตอนนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังเตือนภัยแล้ว ถ้าหากฝนตกติดต่อกัน 3 วัน ผมจะส่งเจ้าหน้าที่เคลื่อนที่เร็วเข้าไปลำเลียงอพยพผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งได้เตรียมรองรับไว้แล้ว” นายเจษฎา กล่าว
 
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อที่สัมมนาว่า อ.นบพิตำ อ.สิชล ไม่มีเขื่อนเก็บกักน้ำ น้ำที่จะไหลลงมาจะมีปริมาณมาก เกรงว่าในเขตเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด และเขตเทศบาลเมืองทุ่งสง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ในอนาคตจะเกิดวิกฤต เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเตรียมแผนระยะยาว เช่น ทำอ่างเก็บน้ำป้องกันไม่ให้น้ำท่วม 2 พื้นที่นี้
 
นายสุเทพ อภิศักดิ์มนตรี กรรมการสมาคมไม้ผลจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างแก้มลิง หรือสร้างอ่างเก็บน้ำที่คลองกลาย อำเภอนบพิตำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม อ.นบพิตำ อ.สิชล อ.ท่าศาลา เป็นต้น
 
นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการจัดสรรน้ำ สำนักชลประทานที่ 15 เปิดเผยต่อที่สัมมนาว่า พื้นที่ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกลาย และอ่างเก็บน้ำคลองท่าทนที่เคยศึกษาไว้ ต้องการจะนำน้ำมาใช้ในโครงการต่างๆ ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (southern seaboard) มีการสำรวจออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 แห่ง แต่ดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากมีกระแสคัดค้านจากชาวบ้าน
 
นายวิรัตน์ เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการศึกษากระบวนการข้อกฏหมาย และข้อมูลการบุกรุกป่าพรุควนเคร็ง เพื่อนำพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ ในป่าพรุควนเคร็งมาทำแก้มลิง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตรงบริเวณรอยต่อของจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา แล้วปล่อยลงสู่ทะเลสาบสงขลา
 
ทั้งนี้ เวลา 17.00 น.–24.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่า ประชาคมคนตรัง จะจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยผู้ประสบอุทกภัย มีจ๊อบ หรือนายบรรจบ พลอินทร์ พร้อมศิลปินในจังหวัดตรัง ร่วมกันแสดงสด ผู้ต้องการบริจาคสามารถโอนเงินเข้าบัญชี “กองทุนประชาคมคนตรังช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ธนาคารกรุงไทย สาขาตลาดเมืองตรัง เลขที่บัญชี 372–0–15414–9 หรือตามกล่องรับบริจาค
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตุลาการเสนอชดใช้ 4 แสน คดีทหารซ้อมนักศึกษายะลา

Posted: 27 Oct 2011 07:36 AM PDT

อิสมาแอ เตะ

 

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 26 ตุลาคม 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ศาลปกครองจังหวัดสงขลา ศาลปกครองจังหวัดสงขลา นัดพิจารณาคดีนายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ยื่นฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม กรณีถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานทั้ง 2 คน ร่วมกับผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและคำรับสารภาพคดีหมายเลขดำที่ 187,188 / 2552

โดยมีตุลาการองค์คณะผู้พิจารณาคดี 3 คน ตุลาการผู้แถลงคดี 1 คน ผู้ฟ้องคดี พร้อมทนาย และตัวแทนผู้ถูกฟ้องคดีมาศาล มีนักศึกษามาร่วมฟังการพิจารณาคดี ประมาณ 20 คน

ตุลาการองค์คณะผู้พิจารณาคดีอ่านแถลงคดีว่า คดีมีข้อมูลดังนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 และพบร่องรอยบาดแผลตามร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว จากการซ้อมทรมาน เพื่อให้รับสารภาพ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 จากนั้นนายอิสมาแอ และนายอามีซี ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 รวมระยะเวลาถูกควบคุมตัว 9 วันซึ่งเกินกำหนดการควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ที่ให้อำนาจควบคุมตัวได้เพียง 7 วัน เป็นเหตุให้นายอิสมาแอ และนายอามีซี ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและเอาผิดต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดดังกล่าว 2 หน่วยงานคือ กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม แต่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องได้ส่งพันโทเอกพล นิโลดม อก.มทบ.42 จังหวัดสงขลารับฟังการพิจารณาคดีแทน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ทนายพร้อมผู้ฟ้องคดีนี้ทั้ง 2 คน ได้ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือ พร้อมหลักฐานยืนยันบาดแผลที่เกิดจากการถูกซ้อมทรมาน และแผ่นบันทึกภาพและเสียง ต่อศาลปกครองสงขลามาแล้ว แต่แผ่นบันทึกภาพและเสียงดังกล่าว ศาลปกครองสงขลาไม่รับเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี เนื่องจากถูกส่งมาหลังจากการรวบรวมหลักฐานวันสุดท้ายแล้ว จึงรับพิจารณาเฉพาะหลักฐานก่อนหน้านั้นเท่านั้น

นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า การมาแถลงต่อศาลวันนี้ เพื่อยืนยันว่า ไม่ได้มีเพียงตนเพียงคนเดียวที่ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ถูกทำร้ายร่างกาย เพียงแต่เป็นคนแรกที่กล้าฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด

นายอิสมาแอ แถลงด้วยอาการสั่นๆ ต่อไปว่า ผลกระทบจากการถูกควบคุมตัวดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ถูกสังคมมองว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ มีชื่อปรากฏในรายชื่อผู้ต้องสงสัยของหน่วยงานราชการ ทำให้ต้องสูญเสียชื่อเสียง ไม่กล้าเข้าสมัครทำงานในหน่วยงานราชการได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ทำให้ครอบครัวผิดหวัง กลายเป็นคนมีมลทิน กระทั่งได้เข้าร่วมทำงานกับภาคประชาสังคมและประกอบธุรกิจเล็กๆ เท่านั้น จึงร้องขอให้ศาลสั่งผู้ถูกฟ้องรับผิดชอบ

ด้านนางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แถลงต่อศาลว่า ยืนยันว่า ทั้ง 2 คน ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัวที่โดยทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 จังหวัดยะลาและที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยมีหลักฐานยืนยัน คือรายงานเวชระเบียน ใบรับรองแพทย์และรูปภาพ แต่ฝ่ายทหารยืนยันว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกาย แต่ไม่มีหลักฐานมายืนยัน

นางสาวจันทร์จิรา แถลงด้วยว่า ระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกถูกควบคุมตัว ญาติเห็นร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ญาติจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขอให้นำตัวมาที่ศาล ซึ่งศาลจังหวัดปัตตานีได้รับคำร้องและมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารผู้ควบคุมตัวนำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อแสดงข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผลและข้อกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมตัว แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกไปในยามวิกาล และไม่ได้มาศาลตามหมายเรียกของศาลจังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ศาลยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกได้รับการปล่อยตัวแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ศาลวินิจฉัยคำร้อง

ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดต่อร่างกาย จิตใจและความเสียหายต่ออนาคตของทั้ง 2 เช่น ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ไม่สามารถเข้ารับราชการได้ ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่กล้าออกจากหมู่บ้าน ทำให้ต้องประกอบอาชีพกรีดยางพาราภายในหมู่บ้านได้อย่างเดียว

จากนั้นตุลาการแถลงว่า แม้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ให้อำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ โดยผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายได้ แต่ข้อเรียกร้องที่ให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบในส่วนที่ควบคุมตัวเกินกำหนดนั้น ศาลสามารถพิจารณาว่าสมควรให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ฟ้องคดีสามารถร้องขอให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีหลักฐานเป็นเวชระเบียน และได้บันทึกผลการตรวจร่างกายว่า มีบาดแผลตามร่างกายมายืนยันต่อศาล เพราะตามมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุให้รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย โดยห้ามการทรมาน

ขณะเดียวกันผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ไม่ได้ทำร้ายร่างกายนักศึกษาดังกล่าว ศาลจึงพิจารณาให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย โดยเสนอชดใช้ต่อนายอิสมาแอ กรณีถูกทำร้ายร่างกายและถูกควบคุมเกินกำหนด เป็นเงิน 305,000 บาท ส่วนนายอามีซี ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่มีหลักฐานว่าถูกทำร้ายร่างกาย ศาลพิจารณาเสนอให้ชดใช้เป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนคำร้องขออื่นศาลยกคำร้องขอ โดยพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ และอาศัยอำนาจตามกฎหมาย

จากนั้นตุลาการองค์คณะผู้พิจารณาคดี นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554

ในวันเดียวกันศาลจังหวัดยะลา ได้แจ้งเลื่อนการพิจารณาคดีการไต่สวนการตายของนายอาหะมะ มะสิละ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตไปเป็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 หลังจากนางสาวสมสกุล ศรีเมธีกุล ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทนายฝ่ายผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา กรุงเทพมหานคร ขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมการพิจารณาคดีได้ เพราะติดน้ำท่วมที่กรุงเทพมหานคร

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วมวิภาวดีฯถึงร้านเจ๊เล้ง-ฝั่งพหลฯถึงบิ๊กซีสะพานใหม่

Posted: 27 Oct 2011 07:12 AM PDT

"ธงทอง จันทรางศุ" ชี้แจงการระบายน้ำช่วงนี้ล่าช้าเนื่องจากน้ำไหลเข้าคลองมีจำนวนมากกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออก และช่วงสองวันที่จะถึงนี้จะมีน้ำหนุนสูง ขอให้ประชาชนที่อาศัยใกล้เจ้าพระยาเตรียมรับมือน้ำเอ่อล้น

บ่ายวันนี้ (27 ต.ค.) ในการแถลงข่าวของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ศปภ. สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ได้กล่าวชี้แจงสถานการณ์น้ำ ว่า การระบายน้ำในขณะนี้มีความล่าช้า เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าในคลองมีจำนวนมากกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออก อีกทั้งในช่วง 2 วันที่จะถึงนี้ปริมาณน้ำจะหนุนสูงขึ้น จึงอยากขอทำความเข้าใจประชาชนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมรับมือ เนื่องจากน้ำอาจเอ่อล้นเข้ายังบ้านเรือนประชาชน พร้อมเตือนให้ยกสิ่งของขึ้นที่สูง

ด้าน ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขอความร่วมมือฝ่ายความมั่นคง ในการดูแลความปลอดภัยเจ้าที่ที่ปฏิบัติงานย่านลำลูกกา ที่มีปัญหาความขัดแย้ง เรื่องคันกั้นน้ำ ขณะเดียวกันกรมทางหลวงจะขุดเจาะถนนบางเส้นทาง ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้น้ำไหลผ่านลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น

ขณะที่ นายวีระ วงศ์แสงนาค อดีตรองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละหน่วยงานมีความเห็นตรงกันในการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล บริเวณทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยผ่านคลองต่างๆ รวมทั้งการเร่งสูบน้ำให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามขณะนี้น้ำได้ไหลผ่านถนนวิภาวดี-รังสิต ถึงบริเวณร้านเจ๊เล้งแยกหลักสี่แล้ว ขณะที่บริเวณถนนพหลโยธินน้ำได้เอ่อล้นถึงบริเวณบิ๊กซี สะพานใหม่แล้ว

ขณะที่สำนักข่าวไทย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมด้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ในวันนี้เจ้าพระยาน้ำทะเลหนุนสูงเย็นนี้ที่ 2.37 ม. ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 2.5 ม. แต่น้ำยังไหลเอ่อล้นเข้าท่วมถนนย่านธุรกิจที่ตลาดเยาวราช ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: หวั่น ‘เขื่อนนาปรัง-ขุด 7 คลอง’ รับแลนด์บริดจ์ กรมชลฯแจง แก้ปัญหาน้ำท่วม

Posted: 27 Oct 2011 07:09 AM PDT

คนอำเภอนาทวี-จะนะ แลกเปลี่ยน และเสนอแนวคิดต่อการแก้ไขปัญหาน้ำ โครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ และอ่างเก็บน้ำนาปรัง จะแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา

 
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 25 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จัดเวทีสัมมนา เรียนรู้งานพัฒนาตามโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ และผลกระทบจากการขุดลอกคลอง แนวทางการแก้ไขปัญหาของคนอำเภอนาทวี-จะนะ เพื่อแลกเปลี่ยนและเสนอแนวคิดต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่อำเภอนาทวี และอำเภอจะนะจังหวัดสงขลา โดยมีส่วนราชการ ผู้นำส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านร่วมประมาณ 50 คน
 
นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ กล่าวว่า โครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ และอ่างเก็บน้ำนาปรัง จะแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา เพราะมีการเข้าไปแอบสำรวจในพื้นที่สะกอม จนชาวบ้านออกมาไล่ จากการศึกษาและติดตามโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอจะนะ
 
“ทำให้คิดว่าโครงการมีนัยอย่างอื่นแอบแฟง อาทิ การสนองตอบแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล และนิคมอุตสาหกรรม ไม่ใช่โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่มากกว่า” นางสุไรดะห์ กล่าว
 
นายสถาพร โรจนะ รักษาการรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างที่ 11 กล่าวว่า โครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ เป็นโครงการที่ต้องการหาทางให้น้ำระบายลงสู่ทะเลไม่ให้น้ำท่วม ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากอดีตมาก หากไม่มีการขุดลอกคลองจะทำให้น้ำท่วมไม่มีที่ระบาย ตนอยากแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
 
“โครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ ไม่เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัททรานไทย-มาเลซีย จำกัด แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นอย่าพยายามตั้งโจทย์ว่าโครงการดังกล่าวตอบสนองนิคมอุตสาหกรรม และแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล การกล่าวโทษหน่วยงานไหนก็จะทำงานร่วมกันได้สะดวกมากกว่านี้” นายสถาพร กล่าว
 
นายกิตติภพ สุทธิสว่าง เครือข่ายฅนรักษ์จะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมต้องมีมิติที่หลากหลาย สัตว์น้ำ ระบบนิเวศน์ริมคลองต้องเหมือนเดิม ต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารบริเวณริมคลองจะทำอย่างไร หรือจะให้คลองเป็นแค่ทางผ่านน้ำเท่านั้น ทางรอดในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและเรื่องการระบายน้ำคือต้องทำการศึกษาวิจัยชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
 
“อย่าคิดแค่การสร้างทางระบายน้ำแต่ต้องมองไปถึงเรื่องที่มีการถมพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในเรื่องนี้ ต้องมาคุยกันเพื่อให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้ แต่สิ่งที่คนจะนะมีความกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือการสร้างเขื่อนนาปรัง บนพื้นที่อุทยานเขาน้ำค้าง 1-2 หมื่นไร่ เราจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่า ทำไมเราไม่ช่วยกันรักษาป่าเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม” นายกิตติภพ กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: เครือข่ายชาวบ้านจากอุดรฯ เดินทางมาเยี่ยม “จินตนา นักต่อสู้เพื่อชุมชน”

Posted: 27 Oct 2011 07:01 AM PDT

ให้กำลังใจชาวประจวบฯ สู้ต่อ ด้าน ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’ ร้องกระบวนการยุติธรรมไทยต้องหันกลับมาดูแล ‘นักต่อสู้เพื่อชุมชน’ ส่วน ‘ประสาร มฤคพิทักษ์’ เผยพร้อมร่วมผลักดันกฎหมายที่เป็นธรรมให้ชุมชน

 
 
วานนี้ (26 ต.ค.54) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดร จำนวนกว่า  50 คน เดินทางมาเยี่ยมนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญา เป็นระยะเวลา 4 เดือน เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ในคดีการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด
 
นางมณี บุญรอด ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า นางจินตนา เป็นนักต่อสู้เพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดประจวบฯ ซึ่งต่อสู้เพื่อวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อส่วนรวม ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง ส่วนตัวจึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมกับเรื่องที่เกิดขึ้น
 
นางมณี กล่าวฝากถึงเครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อมประจวบฯ ด้วยว่า ขอให้สู้ต่อไป และต้องอดทน เพราะว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเป็นการทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ทางเครือข่ายชาวบ้านจากจังหวัดอุดรธานี จะเป็นกำลังใจให้ตลอด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ได้ตั้งขบวน ระยะทางประมาณ 100 เมตร เพื่อเดินเท้าเข้าสู้บริเวณหน้าเรือนจำ จากนั้นได้อ่านบทกลอน แด่ จินตนา แก้วขาว
 
 
‘ไกรศักดิ์’ ร้องกระบวนการยุติธรรมไทยต้องหันกลับมาดูแล ‘นักต่อสู้เพื่อชุมชน’
 
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าเยี่ยมนางจินตนา และกล่าววิพากวิจารณ์ผลการตัดสินที่ผ่านมาว่า ไม่มีความชอบธรรม เพราะเป็นการตัดสินลงโทษชาวบ้านที่เป็นผู้รักษาทรัพยากรของชาติ หากดูไปถึงเจตนาของการกระทำดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่มีความถูกต้องมีความชอบธรรม และเป็นสิทธิของชุมชนที่จะต้องกระทำ เช่น กรณี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนมีมติยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถึง 3 โรง
 
การเรียกร้องและการกระทำของชาวบ้านกับการเลือกอนาคตของชุมชน หากมีโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตของพวกเขา ตรงนี้ถือได้ว่ากระทำดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี  2550 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งชุมชนมีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ที่ผ่านเรื่องของกฎหมายยังไม่ได้มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยจะเห็นว่าสังคมไทยเองในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชนจำนวนมากที่นำไปสู่การจับกุมดำเนินคดี และอีกหลายๆ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง และการสูญเสีย เช่น คดีการทำร้ายแกนนำชาวบ้านจนเสียชีวิต ในกรณีการคัดค้านยกเลิกใบประกอบกิจการโรงงานถ่านหินและท่าเรือขนถ่ายถ่านหินในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น ซึ่งในทุกวันนี้ เรื่องก็เงียบได้ไป โดยยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
นายไกรศักดิ์ แสดงทัศนะด้วยว่า สังคมไทย โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม จะต้องหันกลับมาดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองแกนนำชาวบ้าน โดยเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐ ซึ่งจะต้องกระทำให้มีความเท่าเทียมและความเสมอภาค เพราะเท่ากับว่ากลุ่มคนเหล่านั้น ได้ช่วยเหลือสังคมไทยในเรื่องการรักษาทรัพยากรของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการแบ่งเบาหน้าที่ของรัฐด้วย ดังนั้น ความเป็นรัฐจะต้องมีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้อย่างจริงจัง
 
 
‘ประสาร’ เผยพร้อมร่วมผลักดันการข้อเสนอกฎหมายที่เป็นธรรมให้กับชุมชน
 
ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์  อดีตสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา ภาควิชาการ กล่าวหลีงจากเข้าเยี่ยมนางจินตนาเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า สิ่งที่อยากบอกกับนางจินตนา คือ การให้กำลังใจกับการต่อสู้ของพี่น้องภาคประชาชน เพราะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง การรักษาทรัพยากรท้องถิ่นนั้น คือการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริงคือพี่น้องประชาชน และนางจินตนาเอง ซึ่งได้ดำเนินการตามบทบาทนั้นอย่างเหมาะสม ทั้งเป็นผู้นำในการรักษาพิทักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ทั้งการรักษาบ้านเกิดของตนเอง ตลอดจนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ เอาไว้
 
นอกจากนั้น นางจินตนายังมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างแรงบัลดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับภาคประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชนของตนเอง
 
นายประสานกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ยังคงเกิดปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งล้อม และคิดว่า การกระทำดังกล่าว คือหน้าที่ของพลเมืองที่ถูกต้องที่ลุกขึ้นมาป้องทรัพยากร ปกป้องชุมชน ปกป้องสิทธิของตนเอง  ทั้งนี้ โดยส่วนตัวและแวดวงของสมาชิกวุฒิสภา ได้มีข้อเสนอว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมไทย คือจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันและการข้อเสนอกฎหมายที่เป็นธรรม ให้กับชุมชนลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยให้มากขึ้น
 
ด้านนางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิวุฒิสภา จ.เพชรบุรี ได้กล่าวถึงคดีของนางจินตนาว่า อยากให้เป็นคดีสุดท้ายที่เอาผิดกับคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยฝากไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า อย่าให้ภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องหมดกำลังใจในการทำความดี บทเรียนกับการต่อสู้ที่ผ่านมา กับการตัดสินถึงแม้ว่าจะไม่มีความชอบธรรม แต่อยากให้มองว่า การจำคุกของคนหนึ่งคนอาจจะมีพลังของคนอีกหลายๆ คน ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีไปสู่สังคมไทย
 
นางสาวสุมลกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องกฎหมายที่จะให้อำนาจต่อภาคประชาชน เพราะว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่สามารถให้อำนาจในการปฏิบัติ หรือมีข้อจำกัดในหลายๆ ประเด็น ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง จึงเสนอให้มีการแต่งตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลในเรื่องการช่วยเหลือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น เพราะจะทำให้กลุ่มทุนหรือโครงการขนาดใหญ่ ทำร้ายชาวบ้านได้น้อยลง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น