โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปีกซ้ายพฤษภาฯ : มาแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ หมวด 2 กันดีกว่า !!!

Posted: 17 Oct 2011 10:52 AM PDT

ผมรับฟังข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยความสนใจอย่างยิ่ง แล้วก็ต้องผิดหวังอย่างยิ่ง ที่ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซี่งมาจากการเลือกตั้ง กลับบอกว่า จะไม่แตะต้องรัฐธรรมนูญ หมวด1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์)

ทั้งนี้ หากไม่ใช่ผู้ที่บอดใบ้ไร้เดียงสาทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยจนเกินไปนัก ก็คงจะตระหนักแก่ใจว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้สังคมไทยยังคงย่ำเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” ที่เอื้อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ก็คือ ปัญหาที่มีที่มาจาก หมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยเนื้อหา แทบจะไม่เคยเปลี่ยนแปลงมานานนับ 20 ปีทีเดียว
ดังนั้น วาทกรรม “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะ หมวด 1 และหมวด 2” จึงเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เพราะเท่ากับไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตรงจุดที่เป็นปัญหาใหญ่สุดนั่นเอง

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้เป็นประจักษ์พยานว่า ในการรัฐประหารทุกครั้ง ได้มีการอ้างว่าทำเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกครั้งทุกครา ซ้ำๆ ซากๆ โดยทุกฝ่ายไม่สนใจที่จะป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก มีการเข่นฆ่าและปลุกเร้าความเกลียดชังกันระหว่างคนไทยด้วยกันอย่างป่าเถื่อนและโหดเหี้ยมถึง 3 เหตุการณ์ นั่นคือ กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, กรณี 6 ตุลาคม 2519 และ กรณีวิกฤติทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต และถูกละเมิดสิทธิต่างๆมากมาย

กลุ่มปีกซ้ายพฤษภาฯ มีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 และ 2 (รวมทั้ง “อารัมภบท”) ดังนี้

อารัมภบท

พอกันที กับ อารัมภบท ที่เป็นภาษาศัพท์แสงโบร่ำโบราณ อ่านไม่รู้เรื่อง และที่สำคัญที่สุด ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของปัญหาสังคมการเมืองไทย

เป็นไปได้อย่างไรที่ “อารัมภบท”ของรัฐธรรมนูญไทย ไม่มีการกล่าวถึง การโค่นล้มระบอบเผด็จการ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี พ.ศ.2475 , ไม่มีการกล่าวถึงการรัฐประหารโดยเหล่าเผด็จการทหารรุ่นแล้วรุ่นเล่า, ไม่มีการกล่าวถึงการต่อสู้และการเสียสละของประชาชนเลย

โครงเรื่องของ “อารัมภบท” ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กลับห่างไกลจากความเป็นจริง (อาจจะโดย เจตนา) กลายเป็นนิทาน หรือเทพนิยาย ว่า “พระมหากษัติย์” ทรงมีพระราชดำริ … “พระมหากษัตริย์” ทรงโปรดให้….

ภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเพียง “สัตว์ผู้ยาก” ที่รอรับความเมตตาจากพระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็น “เสรีชน”อย่างที่สังคมประชาธิปไตยทั้งมวลพึงเป็น…

“อารัมภบท”ของรัฐธรรมนูญ ควรสะท้อนถึงจิตวิญญาณประชาธิปไตย และมุ่งเพิ่มพลังอำนาจของประชาชน และควรกล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าความเมตตาของพระมหากษัตริย์ และควรกล่าวถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา

หมวด1 : บททั่วไป

“……..มาตรา ๑ (รูปแบบรัฐ)
ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

มาตรา ๒ (รูปแบบการปกครอง)
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา ๓ (อำนาจอธิปไตย)
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

มาตรา ๔ (ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค)
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๕ (ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย)
ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

มาตรา ๖ (กฎหมายสูงสุดของประเทศ)
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา ๗ (การอุดช่องว่างในรัฐธรรมนูญ)
ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข……..”

 

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ในหมวดนี้มีจุดที่ควรปรับปรุงเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ดังนี้

1) ควรใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา” แทนที่คำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งสะท้อนถึงความหวาดกลัวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์(หรือ ความหวาดกลัวที่จะถูกกล่าวหาว่า “ไม่จงรักภักดี” – ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ก็ตาม) ที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วง 6 ตุลาคม 2519 การใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” กลางๆ จะน้อมนำให้ประชาชนและสถาบันกษัตริย์ใกล้ชิด และผูกพันกันด้วยความรักมากกว่าความหวาดเกรงอย่างที่ปรากฏอยู่

2) มาตรา 3 อันเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยนั้น ควรแก้ไข เพื่อยืนยันหลักการที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ หลักการ “ประชาชนเป็นผู้ถือครองอำนาจสูงสุด” ( - ไม่ว่าประมุขจะเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีก็ต้องยึดถือหลักการนี้เสมอ) ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนเป็น “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นตามเจตน์จำนงของประชาชนส่วนใหญ่ ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

3) มาตรา7 (ซึ่งมักถูกผู้ฝักใฝ่ในระบอบเผด็จการ และผู้ต้องการทำลายสถาบันกษัตริย์ นำมาอ้างโดยมุ่งหวังในการทำลายระบอบประชาธิปไตยเสมอ – ดังที่ปรากฏในตอนต้นปี 2549 จนองค์ประมุขต้องทรงออกมาปฏิเสธ) ควรเปลี่ยนแปลง เพื่อมิให้แอบอ้างเอาธรรมเนียมป่าเถื่อนประเพณีเลวทรามของสังคมการเมืองไทยในอดีตมาใช้ทำลายระบอบประชาธิปไตย ดังนี้ “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล รวมถึงหลักปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย”

4) รัฐธรรมนูญควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ และระบอบการปกครองได้ โดยกระบวนการที่สันติและภายใต้รัฐธรรมนูญ (โดยไม่ต้องใช้กำลังอาวุธ หรือ เข่นฆ่ากันอย่างในอดีตที่ผ่านมา) จึงควรเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งมาตราในหมวดนี้ ดังนี้ “การเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ และระบอบการปกครองตามที่กำหนดในหมวด ๑ แห่งรัฐธรรมนูญนี้ สามารถกระทำได้โดยผ่านกระบวนการทำประชามติ แต่ทั้งนี้จักต้องได้รับคะแนนเห็นชอบสองในสามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”
 

หมวด 2: พระมหากษัตริย์

“…..มาตรา ๘ (ฐานะของพระมหากษัตริย์)
องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

มาตรา ๙ (พระมหากษัตริย์กับศาสนา)
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

มาตรา ๑๐ (จอมทัพไทย)
พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

มาตรา ๑๑ (พระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์)
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

มาตรา ๑๒ (คณะองคมนตรี)
พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๑๓ (การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง)
การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา ๑๔ (ข้อห้ามสำหรับองคมนตรี)
องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ

มาตรา ๑๕ (สัตย์ปฏิญาณขององคมนตรี)
ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

มาตรา ๑๖ (การพ้นจากตำแหน่งองคมนตรี)
องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา ๑๗ (ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์)
การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา ๑๘ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา ๑๙ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๘ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๒๐ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

มาตรา ๒๑ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรานี้

มาตรา ๒๒ (การสืบราชสมบัติ)
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง

มาตรา ๒๓ (การสืบราชสมบัติ)
ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่งหรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง

มาตรา ๒๔ (การสำเร็จราชการแทนชั่วคราวระหว่างไม่มีผู้สืบราชสมบัติ)
ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๒๓ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ หรือระหว่างเวลาที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปตามวรรคหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่งหรือทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวตามวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐ วรรคสาม มาใช้บังคับ

มาตรา ๒๕ (การปฏิบัติหน้าที่ขององคมนตรี)
ในกรณีที่คณะองคมนตรีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๓ วรรคสอง หรือประธานองคมนตรีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง หรือมาตรา ๒๔ วรรคสอง และอยู่ในระหว่างที่ไม่มีประธานองคมนตรีหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะองคมนตรีที่เหลืออยู่เลือกองคมนตรีคนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประธานองคมนตรีหรือปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม แล้วแต่กรณี….”

 

ปัญหาในหมวด 2 มีมากมาย ทั้งในแง่ของการตีความ และ โดยเนื้อหา ซึ่งควรได้รับการร่างใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อความสอดคล้องต้องกันระหว่างหลักการประชาธปไตย กับสถานะของพระมหากษัตริย์ภายในระบอบนี้

1) ข้อความที่ว่า “….เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้….” มีความหมายกว้างขวางเพียงใด ควรได้รับการวิเคราะห์ ทั้งในเชิงกฎหมายและสังคมวัฒนธรรม ในความเห็นของผู้เขียน วลีนี้ ไม่รวมถึง การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต และเป็นสิทธิที่ประชาชนนั้นมีมาแต่สมัยสมบูรณญาสิทธิราชย์แล้ว อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันก็เคยทรงตรัสรับรองไว้ (แน่นอนว่าย่อมไม่รวมการวิจารณ์เรื่องส่วนพระองค์ หรือการซุบซิบนินทาที่ชนชั้นกลางนิยมทำกัน)

2) “….ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้…” ข้อความนี้ตีความได้ 2 ประการ คือ

ก) กล่าวหาหรือฟ้องร้องไม่ได้เลยโดยสมบูรณ์ หรือ
ข) กล่าวหาหรือฟ้องร้องได้เมื่อทรงพ้นจากการครองราชย์สมบัติแล้ว ดังปรากฏในบางสังคม ถ้าประมุขของชาติกระทำความผิดร้ายแรง เช่น ทรยศต่อชาติ ฯลฯ ประมุขนั้นจะต้องถูกถอดออกจากตำแหน่งก่อน จึงจะพิจารณาโทษได้ (ไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เป็นเช่นนี้

สำหรับผู้เขียนเองตีความตามข้อ ข) แต่ก็ยังไม่มั่นใจนัก คงยกให้อาจารย์ทางนิติศาสตร์ได้พิจารณา

3) การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา (แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน เมื่อแรกทรงขึ้นครองราชย์ ก็ทรงได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเช่นกัน) และควรจัดให้ทรงปฏิญาณตนต่อรัฐสภาก่อนขึ้นครองราชย์ด้วย

4) การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ควรเป็นอำนาจของรัฐสภา เพื่อป้องกันความสับสนและป้องกันการแอบอ้างแต่งตั้ง

5) ควรกำหนดการพ้นจากราชสมบัติในรัฐธรรมนูญด้วย ดังอาจวางเกณฑ์ไว้ดังนี้

ก) สวรรคต
ข) ทรงสละราชสมบัติ(ต้องทรงได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน)
ค) ทรงสละการเป็นพุทธมามกะ และ/หรือ ไม่อาจทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
ง) ทรงมีสภาพเป็นคนไร้ความสามารถโดยเหตุวิกลจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๒๘
จ) ทรงมีสภาพเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒
ฉ) ทรงหายสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑
ช) ทรงกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ – ๑๑๗ และ มาตรา ๑๑๙ – ๑๒๒ และ มาตรา ๑๒๗ – ๑๒๙
(จากข้อ ง) ถึง ข้อ ฉ) ให้รัฐสภา เป็นผู้ดำเนินการจนสิ้นกระบวนการ)
ซ) เมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นผลบังคับใช้ ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม (ด้วยเหตุที่พระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ จึงเท่ากับทำให้ “สถาบันกษัตริย์”สิ้นสุดลงด้วยทุกครั้ง หากจะให้พระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์ต่อ ก็จะต้องเริ่มกระบวนการใหม่จึงจะถูกต้อง - ว่าที่จริงข้อนี้ ไม่จำเป็นต้องบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะเป็นไปตามสามัญสำนึกอยู่แล้ว - แต่บัญญัติไว้ก็ดี เพราะผู้ทำรัฐประหารล้วนเป็นผู้ที่ปราศจากสามัญสำนึกทั้งสิ้น !!!)

6) ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับองคมนตรีในรัฐธรรมนูญให้หมดสิ้น ต้องขอเรียนว่า ผู้เขียนมิได้มุ่งหมายให้ยกเลิกองคมนตรี แต่เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า การแต่งตั้งองคมนตรี (หรือที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์) เป็นพระราชอำนาจโดยบริบูรณ์ขององค์พระมหากษัตริย์อยู่แล้ว จึงไม่ควรถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ อำนาจที่นอกเหนือจากการเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ต้องตกเป็นของรัฐสภาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, การเสนอชื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ การเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์

หากยังคงกำหนดองคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ควรจำกัดอำนาจขององคมนตรีไว้เพียงการเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์เท่านั้น และควรกำหนดสัดส่วนให้สอดคล้องกับภาพรวมของสังคมไทย เช่น ต้องมีผู้หญิง, ต้องมีวิชาชีพต่างๆ และสถานะทางสังคมที่หลากหลาย มิใช่มีแต่ผู้ชาย ชนชั้นสูง และอดีตข้าราชการระดับสูงเท่านั้น

 

อันที่จริง กลุ่มปีกซ้ายพฤษภาฯ ยังมีข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ในหมวด ๓ “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” หมวด ๔ “หน้าที่ของชนชาวไทย” และ หมวด ๕ “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” แต่ขอยกไปในโอกาสหน้าครับ

***********************************************

 

หมายเหตุ:  บทความนี้ดัดแปลงจากการบรรยายของผู้เขียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่ พ.ศ.2550 ช่วงร่าง                                      รัฐธรรมนูญ2550…..ทบทวนดูแล้วพอจะแลกเปลี่ยนกับข้อเสนอของคณะ “นิติราษฏร์”ได้บ้างไม่มากก็น้อย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

15 ธ.ค.พิพากษาคดี ‘ดา ตอร์ปิโด’ หลังศาล รธน.ฟันธงพิจารณาลับไม่ขัดรธน.

Posted: 17 Oct 2011 10:14 AM PDT

17 ต.ค.54 ที่ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดี 801 ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ทำคำโต้แย้งว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นให้พิจารณาคดีลับอาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย (คำวินิจฉัยที่ 30/2554) เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ธ.ค.54 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา โดยทนายจำเลยระบุว่า จำเลยเตรียมจะทำการขออภัยโทษต่อไป ซึ่งหากศาลนัดพิพากษากลางเดือนธันวาคม ก็จะไม่ทันวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.ปีนี้ตามที่จำเลยคาดหวัง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ และพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 18 ปีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งคำโต้แย้งของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่า คำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตามมาตรา 177 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และ 40 (2) หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลอาญาจะนัดฟังคำวินิจฉัยในวันนี้ (17 ต.ค.) แต่เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยดังกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว โดยคำวินิจฉัยที่ 30/2554 นี้ลงวันที่ 11 พ.ค.54 ระบุเหตุผลตอนหนึ่งว่า การพิจารณาคดีลับ มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไมได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และมิได้จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กำหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความโจทก์ จำเลยและทนายความของจำเลย ผู้ควบคุมตัวจำเลย พยานผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อูยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ถึงแม้จะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จำเป็น มิได้กระทบเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดูน้ำท่วม ดูงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม 2554

Posted: 17 Oct 2011 09:49 AM PDT

ในฐานะลูกบางปล้าม้า คนสุพรรณฯ ชาวอู่ข้าวอู่น้ำแห่งทุ่งสุพรรณ และทุ่งอยุธยา วัยเด็กของผู้เขียนเติบโตมากับฤดูกาลธรรมชาติแห่งน้ำแล้งและน้ำหลาก และคุ้นชินกับชีวิตในฤดูน้ำท่วมทุกปี ปีละ 2-3 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน หรือตุลาคม ไปจนถึงต้นเดือนหรือกลางเดือนธันวาคม ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นน้ำมากหรือน้ำน้อย

วิถีชีวิตวัยเด็กที่ห่างไกลจากแมคโดนัลด์ เค เอฟ ซี และดังกิ้น โดนัท จึงอยู่กับการช่วยพ่อแม่ในนา หาปลาในน้ำ ทำกับข้าวในครัว หรือไม่ก็วิ่งแย่งปักขี้ควาย ตกปลา เก็บลูกตาล ถอนสายบัว เก็บผักบุ้ง ดอกโสน หรือผักใต้น้ำมาทำให้ครอบครัวทำอาหารหรือขนมอร่อยๆ เรื่องอาหารโดยเฉพาะขนมหวาน ชาวบ้านบางปลาม้าก็ขึ้นชื่อมากเช่นกันเรื่องฝีมือ

จริงๆ แล้ว พวกเราเด็กๆ รอหน้าน้ำท่วมกันพอสมควร เพราะเราอาบน้ำ เล่นน้ำกันที่หน้าบ้านกันได้อย่างสบาย ไม่ต้องเดินลงไปยังที่ท่าน้ำท่าจีน และเราก็ใช้เรือพายไปบ้านโน้นบ้านนี้ ไม่ต้องกลัวหมาชาวบ้านที่ดุและกัดจริง วิ่งไล่กัดเหมือนในยามหน้าแล้ง และกอรปกับฤดูน้ำท่วมก็เต็มไปด้วยประเพณีและงานบุญต่างๆ ทั้งเทศกาลกระยาสารท ออกพรรษา ทอดกฐิน ลอยกระทงและงานแข่งเรือของวัดต่างๆ ช่วงฤดูน้ำท่วมจึงเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะสนุกสนานรื่นเริงของเด็กๆและชาวบ้านในยามนั้นไปได้เช่นกัน

นั่นก็เป็นความโรแมนติกที่เรียบง่ายเมื่อยี่สิบหรือสามสิบปีมาแล้ว!

ผู้เขียนจำได้ว่าควายตัวสุดท้ายของเครือญาติถูกขายไปในช่วงต้นทศวรรษ 2520 พร้อมกับการเข้ามาของเงินกู้ ธกส. ควายเหล็ก คลองชลประทาน เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุุ์ กข. ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้าและฆ่าแมลงของมอนซานโต้ และการทำนาปรังปีละ 2 – 3 ครั้ง[2] 

เพียงไม่กี่ปีต่อมา ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 เกิดนายหน้าซื้อที่ดินดาหน้ากันเข้าไปยังหมู่บ้านชาวนาภาคกลาง และการขายที่ดินของชาวนาเป็นจำนวนมาก จนถึงกับมีการกล่าวกันว่าชาวนาที่ภาคกลางโดยเฉพาะที่อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงบุรี และนครสวรรค์ ที่อยู่ติดเส้นทางหลวงต่างๆ ถูกขายไปเป็นจำนวนมาก จำได้ว่าเคยเห็นการอ้างสถิติในช่วงเศรษฐกิจบูมยุคชาติชายว่า ชาวนาสูญเสียที่ดินไปกว่า 40% 

ตามมาด้วยการก่อเกิดเศรษฐีใหม่ในหมู่บ้านชาวนาภาคกลาง ที่พากันขับรถปิ๊กอัพไปกินข้าวต้มโต้รุ่ง และเข้าบาร์เบียร์ในเมือง ชาวบ้านหันมาจ้างผู้รับเหมาจัดเลี้ยงโต๊ะจีน พร้อมวงดนตรีและแดนเซอร์นุ่งน้อยห่มน้อย 

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็พากันรื้อบ้านทรงไทยใต้ถุนสูง ถมที่ดิน แล้วสร้างบ้านครึ่งปูนครึ่งเรือนทรงไทยหรือครึ่งไม้กันอย่างขนานใหญ่ เส้นทางน้ำทั้งหลายก็ถูกปิดกั้นตามสภาพขอบเขตโฉนดที่ดินและตามกำลังทางการเงินของแต่ละครอบครัวที่จะถมที่ดินได้สูงแค่ไหน และมาถึง ณ วันนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ายังมีกี่บ้านในหมู่บ้านริมน้ำท่าจีนบ้านเกิดของผู้เขียนที่ยังมีเรือแจวเหลืออยู่ที่บ้าน 

ไม่นานเงินที่ได้จากการขายที่ดินก็หมด เกิดวิกฤติฟองสบู่ในปี 2540 พร้อมกับตัวเลขหนี้สินเกษตรกรในภาคกลางที่สูงลิ่วครอบครัวละเกือบครึ่งล้านบาท 

แต่นับตั้งแต่ปี 2530 ที่ดินที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งทุ่งอยุธยา ที่ถูกขายเปลี่ยนมือกันจากชาวนา สู่นายหน้า และขายให้กับนายทุน และก็ถูกถมที่และก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมโดยทันที จนทำให้ในปัจจบัน เมืองอู่ข่าวอู่น้ำและแอ่งอารยธรรมอยุธยากลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมแรงงานราคาถูกเต็มทั้งจังหวัด และแม้ว่าจะอยู่ห่างจากกรุงเทพเพียงไม่ถึงชั่วโมง แต่เพดานค่าแรงขั้นต่ำของอยุธยาที่ถูกดองไว้เพื่อส่งเสริมการลงทุนในปี 2554 จึงอยู่ในอัตราวันละ 190 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กรุงเทพฯ ถึงวันละ 25 บาท

และนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 มาจนถึงปัจจุบัน แทบจะไม่มีใครเชื่อว่าที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังทุกปีเช่นอยุธยาจะเต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมเกือบทั้งจังหวัด ทั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ไฮเทค บางประอินทร์ บ้านแพน สหรัตนนคร เป็นต้น 
ด้วยวิถีชีวิตและสภาพบ้านเรือนที่ปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตธรรมชาติแห่งฤดูน้ำท่วม น้ำหลาก เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทำนิคมอุสาหกรรมและเมืองโบราณของอยุธยาจมมิดน้ำ แม้เป็นเรื่องที่ยากจะป้องกัน แต่ด้วยมูลค่าความเสียหายและการไม่สามารถรับมือได้ทันสถานการณ์ จึงเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจยิ่ง และกลายเป็นวิกฤติที่นำความเดือดร้อนและความเสียหายให้กับชาวบ้านและอุตสาหกรรมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

ความเดือนร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคกลางครั้งนี้ ก็ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนที่คุ้นเคยกับภาวะน้ำท่วมเช่นชาวบางปลาม้าบ้านเกิดของผู้เขียนเช่นกัน 

จากการติดตามข่าวหลายกระแส น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ต่างๆ พากันชี้ให้เห็นว่ามันเป็นผลพวงที่เกิดจากทั้งธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ โดยเฉพาะเกิดจากการขาดวิสัยทัศน์และการจัดการทำผังประเทศและผังเมืองตามสภาพสิ่งแวดล้อมและภูมิประเทศของรัฐบาลไทยมาอย่างยาวนาน ทุกยุค ทุกสมัย 

เมื่อพูดเรื่องการวางแผนระยะยาวเตรียมการเรื่องน้ำท่วม ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ประเทศไทยังใส่ใจกับเรื่องทั้งเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งการศึกษาวิจัยและการวางแผนผังประเทศแบบบูรณาการที่สอดรับกับวิถีธรรมชาติและสภาพทางภูมิประเทศน้อยมากอย่างน่าตระหนก ทั้งๆ ที่มีบทเรียนความเสียหายเกือบทุกปี 
แต่เมื่อดูงบประมาณปี 2554 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์อนุมัติทิ้งมรดกให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เข้าใจดีว่ารัฐบาลรวมศูนย์แห่งกรุงเทพฯ ไม่มีความรู้และใส่ใจในเรื่องเหล่านี้เลย งบด้านสิ่งแวดล้อมของแผนงบประมาณปี 2554 มีเพียง 2,761 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.1% ของแผนงบประมาณ ในขณะที่งบด้านการป้องกันประเทศ 153,543.8 ล้านบาท คิดเป็น 8.1% และงบการรักษาความสงบภายใน 122,566 ล้านบาท คิดเป็น 5.9% หรือจะเปรียบเทียบได้ว่างบทหารมีมากกว่างบด้านสิ่งแวดล้อมถึง 55.6 เท่า และงบด้านการรักษาความสงบภายในมีมากกว่างบด้านสิ่งแวดล้อมถึง 44 เท่า และเมื่อรวมกันทั้งงบทหารและการรักษาความสงบภายในประเทศ มีมากกว่างบด้านสิ่งแวดล้อมถึง 99.6 เท่าตัว

ที่มา: งบประมาณโดยสังเขป ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

ในแผนงบประมาณ 5. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก อนุมัติงบด้านนี้ไว้เพียง 36,987.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 1.8% ของแผนงบประมาณปี 2554 โดยทั้งนี้ ที่น่าใจหายยิ่งคือ ในแผนงบประมาณสิ่งแวดล้อม มีระบุงบศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้เพียง 99.9 ล้านบาท (ด้วยความเคารพขออนุญาตเปรียบเทียบ) 

ที่มา งบประมาณโดยสังเขป ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

 

แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม หรือนักเศรษฐศาสตร์ แต่เมื่อดูแผนงบประมาณรัฐบาลไทย ก็เห็นได้คร่าวๆ ถึงความใส่ใจน้อยมากด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของรัฐบาลไทย อาจจะเป็นเพราะประเทศไทยไม่มีพรรคการเมืองสีเขียวด้านสิ่งแวดล้อมคอยดันประเด็นเรื่องนี้ในรัฐสภาก็เป็นได้ 

กระนั้นก็ตาม ด้วยภัยธรรมชาติดติดต่อกันมาทุกปี ทั้งภัยน้ำแล้ง หมอกควัน และน้ำท่วม สร้างความเสียหายปีละหลายหมื่นหรือหลายแสนล้านบาท งบประมาณศึกษาวิจัยเพียง 100 ล้านบาท ดูน้อยนิดเหลือเกินกับมูลค่าความเสียหายต่างๆ เหล่านี้

และแม้ว่าไม่มีพรรคเขียวคอยดันแนวนโยบายด้านส่ิงแวดล้อมและธรรมชาติ มันก็จำเป็นที่รัฐบาลพรรคเสรีนิยมเพื่อไทย หรือพรรคอนุรักษ์นิยมประชาธิปัตย์ รวมทั้งกลไกแห่งข้าราชการขุนนางไทย ต้องจัดวางความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและการทำผังประเทศอย่างยั่งยืน เปิดให้เกษตรกรและประชาชนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการสอดประสานรับกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง 

หมดเวลาที่ประเทศไทยจะคิดเรื่องการพัฒนาและการป้องกันภัยพิบัติด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับซีเมนต์และคอนกรีต แต่ควรเปิดมุมมองและแสวงหามาตรการที่หลากหลาย ที่มุ่งเรื่องการคืนความสมดุลให้กับสภาพภูมินิเวศน์และธรรมชาติ และจัดทำผังบริหารบริหารจัดการทั้งน้ำท่วมนำแล้งอย่างบูรณาการและยั่งยื่นทั้งประเทศ 

และที่สำคัญรัฐบาลไทยควรนำประเด็นเรื่องนี้มาอยู่ในแผนพัฒนาระดับต้นๆ ไม่ใช่งบประมาณท้ายๆ ที่เหลือจากการจัดสรรจากกองทัพและกระทรวงหลักๆ ของประเทศเสียที!

เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มคิดเรื่องมาตรการจัดการเรื่อง 'น้ำท่วมและน้ำแล้ง' อย่างบูรณาการและยั่งยื่นจากผลพวงน้ำท่วมปี 2554 จึงดั่งกระหึ่มมาจากทุกทิศทาง! 
 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

 

 [1] จรรยา ยิ้มประเสริฐ เป็นลูกชาวนาจากบางปลาม้า สุพรรณบุรี บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ใช้ชีวิตหลังมหาลัยเดินทางทั่วประเทศไทยและทั่วโลกเพื่อศึกษาและรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สิทธิสตรี และนับตั้งแต่ปี 2552 ทำงานเขียนและรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย 

[2] จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี 2543 ประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก นำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรปีละ 30,000 ล้านบาท และปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีปีละ 30-40,000 ล้านบาท 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนธิ ลิ้มทองกุล

Posted: 17 Oct 2011 09:20 AM PDT

ผมคงแบกความรับผิดชอบแบบนี้ คนเดียวต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว เพราะผมไม่มีแล้ว หลังหักแล้ว อย่างที่ผมเคยบอกว่าผมจะทำต่อไปจนไม่มีแรงทำ แล้ววันนี้ก็มาถึงแล้ว ... ไม่มีแรงแล้ว

 

17 ตุลาคม 2554 กล่าวหลังเอเอสทีวียุิติการออกอากาศ เนื่องจากถูกตัดสัญญาณดาวเทียม

ศปภ. จงมั่นใจในตัวเอง

Posted: 17 Oct 2011 09:13 AM PDT

ติดตามข่าวน้ำท่วมด้วยความห่วงใยในทุกข์สุขของพี่น้องคนไทย ยิ่งเห็นภาพพี่น้องต้องทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกันเรื่องการกักน้ำ ระบายน้ำ ก็ยิ่งหดหู่ใจ

สถานการณ์อย่างนี้ภาวะผู้นำของผู้นำแต่ละพื้นที่ไม่ว่าระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงรัฐมนตรี ล้วนมีความสำคัญจำเป็น และต้องงัดออกมาใช้ให้เต็มที่

แน่นอนว่า ความเป็นผู้นำนั้นมิใช่เรื่องของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ว่าเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่แม่นยำ ถูกต้อง ดีที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

โดยส่วนตัวผมนั้นค่อนข้างเห็นใจชาวบ้านที่ถูกทำให้จมน้ำเนื่องเพราะต้องทำคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝั่งหนึ่งท่วม ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจแต่ละครั้งที่จะกั้น ผู้นำทุกแห่งจะต้องประเมินได้ว่า มันต้องคุ้มกันที่จะกั้นน้ำ และมันต้องไม่ให้คนถูกขังรับเคราะห์กรรมครั้งนี้หนักเกินไป พร้อมกันก็ต้องมีการให้ความช่วยเหลือพวกเขา (ที่ถูกขังอยู่ในคันกั้นน้ำ) ให้ได้มากที่สุด

เมื่อวานนี้ผมเห็นข่าวชายคนหนึ่ง (เบื้องหลังคือม็อบหลายร้อยที่ออกมาต่อต้านการก่อกระสอบทรายกั้นน้ำ) ไม่แน่ใจว่าจังหวัดสิงห์บุรี หรือ ปทุมธานี ออกมาร้องตะโกนว่า บ้านของเขาท่วมสูงถึงสามเมตรแล้ว ช่วยระบายน้ำออกไปหน่อยได้ไหม เพียงขอให้ท่วมหน้าแข้งของฝั่งเท่านั้น ส่วนเขาจะท่วมมิดคอก็ได้ ขอแค่ได้หายใจ

ครับ ฟังแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ (อดคิดไม่ได้ว่า ผมยังโชคดีที่หายใจหายคอได้โล่งอยู่)

น้ำเหนือยังคงดาหน้าไปเรื่อยๆ แหละครับ ขณะที่เขียนนี้ (13.30 วันที่ 17 ตุลาคม2554) สายน้ำกำลังทะลุทะลวงนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และ ศปภ. ก็ได้ออกแถลงข่าวว่าให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมการอพยพ หลังการแถลงข่าว ช่องเนชั่นแชลแนลดูจะรวดเร็วที่สุดในการรายงานสถานการณ์พื้นที่ มีนักข่าวต่อโทรศัพท์สายตรงเข้าสถานี บอกเล่าถึงภาวะความโกลาหลอลหม่านของคนงาน พากันเก็บข้าวของวิ่งหนี รถติดหน้าโรงงาน ถนนจากกรุงเทพฯ ไปสายเหนือ ติดประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

หลังจากที่ทางพิธีกรสอบถามอย่างละเอียดก็ได้ต่อสายตรงไปยังคุณนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ นวนคร สอบถามอีกครั้งว่า คันดินเสียหายมากน้อยแค่ไหน เห็นว่าได้นำตู้คอนเทรนเนอร์ไปอุดแล้ว ช่วยได้แค่ไหน?

คุณนิพิฐ ตอบด้วยน้ำเสียงน่าฟังมาก นั่นคือ นิ่งสงบ ไม่ชวนให้ตื่นตระหนกและให้ข้อเท็จจริงโดยไม่สอดแทรกความเห็นของตน คุณนิพิฐบอกว่า ขณะนี้ได้น้ำรั่วออกมาทางทิศเหนือ ตู้คอนเทรนเนอร์อุดแล้ว แต่ก็ยังไม่เรียบร้อย

พิธีกรถามว่า เห็นว่าข้างนอกอลหม่าน พากันเก็บข้าวของ หลัง ศปภ. แถลง ท่านตอบว่า ขนย้ายกันก่อนก็ดีนะครับ ก่อนนี้เราก็ได้ให้รถประกาศบอกกับคนในโรงงานไปแล้ว

พิธีกรถามว่า น้ำเข้าในเขตอุตสาหกรรมกี่เปอร์เซ็นต์ ท่านตอบ ตอนนี้ ๕ เปอร์เซ็นต์

พิธีกรถามว่า การอุดรอยรั่วจะสำเร็จไหม ท่านตอบว่า ก็ถ้าอุดได้ มันก็อาจจะอ่อนตรงจุดอื่นอีก มันจะ Weak เรื่อยๆ

พิธีกรถามว่า น้ำท่วมครั้งนี้ต่างจากปี 2538 อย่างไร ท่านตอบว่า ครั้งนั้นน้ำค่อนข้างนิ่ง ค่อยๆ เอ่อ แล้วก็เต็มคันดินพอดี แต่ครั้งนี้ น้ำหลาก มีความแรง และน้ำเยอะกว่ามาก

ชัดเจนมากครับ และประทับใจการตอบคำถามซึ่งพิธีกรอาจจะเกรงว่า ศปภ.จะแถลงเกินเหตุอีกหรือเปล่า เพราะในขณะที่คันดินมีรอยรั่วนั้นก็มีการนำเอาตู้คอนเทรนเน่อร์มาอุดแล้ว อาจจะเหมือนประตูระบายน้ำบ้านพร้าว ปทุมธานีที่สุดท้ายก็อุดได้สำเร็จ แต่ท่านไม่มีท่าทีจะตอบคำถามเพื่อให้ ศปภ.กลายเป็นตัวโจ๊กเหมือนคุณปลอดประสพ สุรัสวดี ท่านบอกว่าดีแล้วที่อพยพ ตอนนี้โรงงานคนน้อยลงแล้ว จะได้จัดการอะไรง่ายขึ้น

ศปภ.เคยทำให้สื่อมวลชนและประชาชนเห็นเป็นตัวตลกและดูไม่น่าเชื่อถือจากกรณีที่คุณปลอดประสพออกมาแถลงว่า ประตูบ้านพร้าว ที่ปทุมธานีแตก ให้ประชาชนใน 6 พื้นที่ต้องเก็บของ ขนของ ใครสามารถไปอยู่บ้านญาติที่ปลอดภัยได้ก็ให้ไป

การแถลงของคุณปลอดประสพ วันนั้น ผมนั่งดูครับ และว่าตามตรงแกไม่ได้เร่งอพยพคนเลยนะครับ ผมจำได้ว่า แกบอกว่า ถ้าบ้านใครสองชั้นให้ขนของจากชั้นล่างขึ้นไปไว้ชั้นบน รับรองยังไงชั้นบนก็ไม่ท่วม แต่เป็นห่วงพวกบ้านชั้นเดียว ถ้าใครมีญาติอยู่ที่ปลอดภัยกว่าก็แนะว่าให้ไปอยู่กับญาติอย่าได้เป็นห่วงทรัพย์สิน ตำรวจจะดูแลให้ ส่วนสถานที่รองรับประชาชนนั้นจะเอาสนามบินดอนเมืองรองรับ

แกยังตอบคำถามนักข่าวว่า น้ำน่าจะท่วมไม่เกินหนึ่งเมตร ไม่เกินหน้าอกแก คือ ไม่มีอะไรต้องตกใจ จะเป็นห่วงก็แค่รถยนต์ก็ให้เอาไปจอดบนถนน

แต่ไม่รู้ทำไม ภายในไม่กี่นาทีต่อมา ผมเห็นข่าวผู้ว่า กทม. ออกมาให้ข่าวว่า “คนกทม.โปรดฟังผมคนเดียว เพราะผมเป็นผู้ว่าฯ ของคุณ คุณเลือกผมมาต้องฟังผม หากมีเหตุร้ายกับกทม. ผมจะแจ้งให้ทราบเป็นคนแรก ผมจะไม่การเมืองครับ ผมจะร่วมมือกับทุกฝ่าย แต่ให้ฟังผม เชื่อผม”

ครับ เชื่อไหมครับ หลังฟังผู้ว่าฯ กทม. พูดจบ ผมกลับรู้สึกว่า สิ่งที่ท่านพูดนั้นแหละ การเมื้อง การเมือง ในขณะที่คุณปลอดประสพนั้น ผิดจริงครับที่ออกมาแถลงเกินเหตุ แต่ไม่ได้เกินเหตุเท่าที่คนเอาไปบอกต่อๆ กันว่าให้อพยพ ยิ่งสื่อมวลชนกระจายต่อๆ กันไปแล้ว (ต้องเข้าใจว่าสื่อส่วนใหญ่ยืนอยู่ข้างไหน) ยิ่งหนักเข้าไปอีก โดนด่าเละตุ้มเป๊ะ ดังนั้นประชาชนไทยส่วนใหญ่ (ที่ไม่ได้ฟังการแถลงข่าวด้วยตนเอง) จึงเข้าใจว่า คุณปลอดประสพนั้นบอกว่า กทม.จะเจอน้ำท่วมและให้อพยพ

ผมยืนยันนะครับ ได้ยินเต็มสองรูหู (ไปหาเทปวันที่แกแถลงมาเปิดฟังได้เลย) พื้นที่ 6 พื้นที่ที่บอกว่าจะเจอน้ำท่วมนั้นเป็นพื้นที่ในปทุมธานีเสียส่วนใหญ่ (เชียงรากน้อย ลำลูกกา คลองหลวง ตอนเหนือของถนนรังสิต ปทุมธานี) มีเขตกรุงเทพฯ ก็คือ สายไหม เท่านั้น แกยังย้ำนะครับว่า นอกนั้นไม่ท่วม กรุงเทพฯ ชั้นในไม่ท่วม ขอให้สบายใจไม่ต้องวิตก

แต่ไม่รู้ว่าข่าวลือสะพัดไปท่าไหน บอกว่า ปลอดประสพบอกว่า น้ำจะท่วม กทม.

กลายเป็นว่าต้องออกมาแถลงข่าวขอโทษ รุ่งอีกวัน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ออกมาแถลงข่าวคราวใดก็ย้ำแล้วย้ำอีก กรุงเทพฯ ไม่ท่วมแน่นอน ย้ำหลายครั้งมาก ท่าทางท่านดูเกรงอกเกรงใจคน กทม.เหลือหลายคงเพราะเสียความมั่นใจไปเยอะ

ผมอยากบอกว่า ศปภ.แถลงข่าวขอโทษเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าไขว้เขวเกินไป ต้องไม่หวั่นไหวกับนักข่าว ต้องหนักแน่น มั่นคง เชื่อมั่นในตนเองให้มากกว่านี้ (ที่คุณปลอดประสพ แถลงในวันนั้นมีข้อมูลหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหาก ศปภ. หยิบประเด็นนั้นมากลั่นกรอง พูดเตือนซ้ำ เช่น มีพื้นที่ในปทุมธานีส่วนไหนบ้างที่ต้องเตรียมตัว ปรากฏว่าไม่พูดถึงอีกเลย แต่กลับตัดทุกอย่างที่แกพูดออกไปหมด ผลคือ ชาวปทุมธานีที่ไม่ทันระวังตัวก็เจอน้ำท่วมเก็บของไม่ทันกันในหลายพื้นที่)

และที่สำคัญ อย่าเอาใจคนกรุงเทพฯให้มากเกินพอดี ผมเห็นว่า ศปภ.ไม่เห็นจะต้องไปย้ำนักย้ำหนาเลยว่า กทม.จะไม่ท่วม ในเมื่อน้ำเหนือหลากขนาดนี้ การเตือนให้รับมือแต่เนิ่นๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ให้ข้อมูลประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไปเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง (แต่ต้องแม่นยำในข้อมูลนะครับ)

วันนี้หลังจากที่ฟังการแถลงคันดินรั่วของนิคมอุตสาหกรรมนวนครแล้ว ผมคิดว่า ศปภ. น่าจะเผชิญภาวะแจ้งข่าวร้ายให้กับประชาชนมากขึ้น ซึ่งท่านจะต้องเตรียมตัวให้ดีทั้งคำพูดจา วิธีการ และระยะเวลาที่บอก อย่าให้กระชั้นเกิน 

เพราะ ศปภ. จะเป็นที่พึ่งของประชาชนอีกมากต่อจากนี้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฎร์ ฉบับ 31 (ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล): เจตจำนงปวงประชาจักคือปราการต้านรัฐประหาร

Posted: 17 Oct 2011 08:54 AM PDT

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างออกมาวิพากษ์ข้อเสนอในคำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีนิติราษฎร์ ส่วนใหญ่มุ่งประเด็นไปยังเรื่อง “การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ซึ่งปรากฏข้อวิจารณ์อย่างอึกทึกครึกโครม ทั้งที่ยังมีข้อเสนออีกหลายประการในคำแถลงการณ์ และในวันที่ได้ออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรก (วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน 2554) นั้น นิติราษฎร์ก็ได้อธิบายให้เห็นความชัดเจนของข้อเสนออื่น ๆ ไปบ้างแล้วในระดับหนึ่ง แต่เพื่อเน้นย้ำในเห็นถึงจุดยืนในเรื่องการปฏิเสธรัฐประหารอย่างถึงที่สุด จึงขอหยิบยกข้อเสนออีกประเด็นหนึ่งในคำแถลงการณ์ (แต่ไม่เป็นที่สนใจของสื่อสาธารณะ) มาบอกเล่าให้ทราบกัน ณ ที่นี้อีกครั้ง...

หากผู้อ่านได้อ่านข้อเสนอในเรื่องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ฯ ซึ่งอยู่ในคำแถลงการณ์ ฯ ประเด็นที่ 1 ประกอบกับคำแถลงการณ์ ฯ ประเด็นที่ 4 เรื่องการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ 4 และข้อที่ 5 ก็จะเห็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกันอีกประเด็นหนึ่งซึ่งนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” ประกอบกันไปด้วย แท้จริงแล้ว ข้อเสนอในเรื่องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ฯ นั้นย่อมเป็นสิ่งอันพึงกระทำก่อน อีกนัยหนึ่งก็คือ เราจะต้องหันกลับไปปฏิเสธ “สิ่งตกค้าง” ที่สืบเนื่องมาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประการต่อมา ข้อเสนอที่ให้มีการจัดทำ “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” นั้น นิติราษฎร์คาดหวังว่า จะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญสำหรับอนาคตที่จะยับยั้งมิให้เกิดการรัฐประหารขึ้นได้อีกต่อไป หรือหากเกิดมีขึ้น จะต้องมีมาตรการซึ่งจะทำให้การรัฐประหารนั้นไร้ผลและไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ทั้งในทางการเมืองและในทางกฎหมาย
 
ในข้อเขียนชิ้นนี้  ผู้เขียนจึงประสงค์จะขยายความข้อเสนอในเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาของสาธารณชนทั้งหลายผู้ใฝ่ใจในระบอบประชาธิปไตย
 
1. วัตถุประสงค์ของข้อเสนอดังกล่าว
1.1 สภาพการณ์ทางกฎหมายที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร : ธรรมเนียมการฉีกรัฐธรรมนูญ
 
เราจะเห็นว่า เมื่อการกระทำรัฐประหารได้สำเร็จลง นอกเหนือจากการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของคณะรัฐประหารเองแล้ว คณะรัฐประหารยังออกประกาศให้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้นสิ้นสุดลง กล่าวคือ คณะรัฐประหารถือธรรมเนียมในอันที่จะยกเลิกหรือ “ฉีก” กฎหมายสูงสุดของประเทศทิ้งด้วยเสมอ
 
ดังนั้น วิญญูชนทั่วไปจึงเห็นได้โดยไม่ยากว่า เพราะเหตุใด ในประเทศไทยเรานับจากปี 2490 เป็นต้นมา จึงมีกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองแผ่นดินใช้เป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอื่น ๆ ในโลก นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องทนรับการรัฐประหารหลายครั้งหลายคราและผลพวงของการนั้นอย่างยอมจำนนมาโดยตลอด และที่สำคัญก็คือ นักฎหมายบางส่วนกลับเชื่อด้วยว่า นี่คือจารีตประเพณีทางการเมืองและกฎหมายของไทยไปแล้ว โดยไม่คิดจะตั้งคำถามใด ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำไป
 
กรณีที่ว่ามานี้ เมื่อพิจารณาในแง่ระบบกฎหมายย่อมเป็นคำตอบอยู่ในตัวเองแล้วว่า หลักการพื้นฐานที่ว่าด้วย “กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ” นั้น มีผลบังคับ (และหยั่งรากลึกลงไปในจิตสำนึกของนักกฎหมาย) อย่างแท้จริงเพียงใดในประเทศนี้ โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยฝ่ายตุลาการที่ยอมรับคณะรัฐประหารว่ามีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ (เมื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศไว้ได้แล้ว) ซึ่งเป็นการใช้ตรรกะทางกฎหมายที่ทำลายล้างหลักการข้างต้นลงอย่างสิ้นเชิง
 
1.2 นิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ “คำประกาศ ฯ” เพื่ออะไร
              • เพื่อให้ “คำประกาศ ฯ” เป็นวิธีการอันถาวร มั่นคงและยืนนาน ในอันที่จะยับยั้งและต่อต้านรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต อีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องกำหนดวิธีการที่จะยับยั้งอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อมีการใช้อำนาจนอกระบบกฎหมายเพื่อแทรกแซงทางการเมือง
              • เพื่อเป็นคำประกาศเจตจำนงและความเข้าใจร่วมกันของปวงชนชาวไทยว่า ในระบอบการเมืองการปกครองและกฎหมายนั้น จะต้องมีหลักการพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นคุณค่า เป็นหัวใจหรือเป็นสาระสำคัญ โดยหลักการพื้นฐานเหล่านี้จะถูกยกเลิกเพิกถอนหรือก้าวล่วงโดยองค์กรหรือสถาบันการเมืองใด ๆ มิได้เป็นอันขาด
              • เพื่อเสนอให้ระบอบการเมืองการปกครองและระบบกฎหมายไทยมีบรรทัดฐานการอ้างอิงที่ชัดเจน ทั้งในแง่หลักการและเจตนารมณ์ในการก่อตั้งและการดำรงอยู่ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ องค์กรและสถาบันทางการเมืองและการปกครองทั้งปวง
 
2. คำประกาศ ฯ ดังกล่าวจะช่วยยับยั้งและต่อต้านรัฐประหารได้อย่างไรบ้าง
เราอาจพิจารณาแนวทางใช้ประโยชน์จากคำประกาศ ฯ ได้ใน 2 ลักษณะคือ
 
2.1 ในแง่รูปแบบ ต้องทำให้สถานะของคำประกาศ ฯ มีความชอบธรรมอันบริบูรณ์และสูงสุดโดยปราศจากเงื่อนไข ในฐานะที่เป็นเจตจำนงสูงสุดของปวงชนชาวไทยในทางการเมืองการปกครอง อยู่เหนือการกระทำรัฐประหารและการใช้อำนาจทางกฎหมาย (ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม) ของคณะรัฐประหาร
 
2.2 ในแง่เนื้อหา ต้องกำหนดให้คำประกาศ ฯ แสดงเจตจำนงของปวงชนชาวไทยอย่างชัดเจน อันจะมีผลให้หากมีการใช้อำนาจนอกระบบกฎหมายเข้าแทรกแซงทางการเมือง การกระทำนั้นจะเป็นปฏิปักษ์กับเจตจำนงที่แสดงออกผ่านทางคำประกาศ ฯ ข้างต้น
 
ซึ่งผู้เขียนจะได้ขยายความในแง่วิธีการให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ดังนี้
 
ก. คำประกาศ ฯ พึงมีรูปแบบแยกออกจากระบบกฎหมายและไม่มีสถานะในโครงสร้างของกฎหมาย
ในกรณีนี้ เราต้องเข้าใจแนวคิด (เชิงเทคนิค) ว่าด้วยโครงสร้างของระบบกฎหมายสักเล็กน้อย
 
กล่าวคือ ในโครงสร้างของระบบกฎหมายในประเทศไทยนั้น บนยอดสุดของโครงสร้างได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ (ตามหลักการที่ว่าด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด) ส่วนกฎหมายอื่น ๆ (เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา เป็นต้น) จะไล่ลำดับศักดิ์หรือชั้นของกฎหมายลดหลั่นกันลงมา แต่ไม่ว่าบทกฎหมายเหล่านี้จะมีลำดับชั้นอย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้งหมดล้วนอยู่ในโครงสร้างของระบบกฎหมายทั้งสิ้น นั่นหมายถึง บทกฎหมายต่าง ๆ อาจมีถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมโดยอาศัยอำนาจและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายลำดับชั้นที่สูงกว่าได้ตามความเหมาะสม
 
ดังนี้ เราจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า เมื่อคณะรัฐประหารสามารถยึดอำนาจการปกครองประเทศและฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งสถาปนาอำนาจการปกครองไว้ในรูปแบบโครงสร้างทางกฎหมายทิ้งไปแล้ว ในทางข้อเท็จจริง คณะรัฐประหารจึงสามารถบัญญัติกฎหมายใหม่ ออกคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือประกาศยกเลิกกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งที่มีอยู่ในโครงสร้างระบบกฎหมายเหล่านั้นได้ เนื่องจากอำนาจที่คณะรัฐประหารใช้ขณะนั้นมีลักษณะเป็นอำนาจ (เถื่อนที่เกิดจากปลายกระบอกปืน) ตามความเป็นจริงนั่นเอง
 
ดังนั้น นิติราษฎร์จึงเสนอให้คำประกาศ ฯ มีสถานะพิเศษ กล่าวคือ แยกออกจากระบบกฎหมายและไม่ให้มีสถานะอยู่ในโครงสร้างของระบบกฎหมายที่ว่ามาข้างต้น ซึ่งถ้าไม่แยกคำประกาศ ฯ ออกจากสถานะในทางกฎหมาย หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นและคณะรัฐประหารสามารถยึดอำนาจการปกครองประเทศไว้ได้ คำประกาศ ฯ ก็อาจถูกยกเลิกหรือถูกประกาศให้สิ้นสุดลงได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อปิดทางมิให้คำประกาศ ฯ ถูกฉีกทิ้งได้ได้ง่ายในทำนองเดียวกับการฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
 
นั่นหมายถึง แม้หากการรัฐประหารจะสำเร็จและฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วก็ตาม แต่คณะรัฐประหารจะไม่สามารถฉีกคำประกาศ ฯ ข้างต้นได้เป็นอันขาด เพราะคำประกาศ ฯ มีลักษณะพิเศษที่แยกออกจากระบบกฎหมายและไม่มีสถานะใด ๆ อยู่ในโครงสร้างของระบบกฎหมายของประเทศนั่นเอง
 
ข. พึงกำหนดเนื้อหาในคำประกาศ ฯ ในลักษณะการวางหลักการพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อประกาศคุณค่าอันสูงสุดของระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยต่อหน้าพลเมืองทุกคน
ในที่นี้ คำประกาศ ฯ จึงมีสถานะเป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของปวงชนชาวไทย ต้องถือเป็นหลักใหญ่ใจความในการปกครองประเทศ หรืออีกนัยหนึ่ง มีลักษณะเป็นสัญญาประชาคมร่วมกันของพลเมืองซึ่งเป็นเสมือนหลักการและคุณค่าพื้นฐานอันศักดิ์สิทธิ์ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ องค์กรและสถาบันการเมืองใด ๆ จะก้าวล่วงมิได้เป็นอันขาด และเพื่อให้เนื้อหาของคำประกาศ ฯ ธำรงคุณค่าทางการเมืองการปกครองอย่างมั่นคงและถาวร จึงควรกำหนดประเด็นสำคัญในเนื้อหา (อย่างน้อย) 2 ประการได้แก่
              • การปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงและถึงที่สุดต่อการใช้อำนาจนอกระบบกฎหมาย (เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเป็นการล้มล้างเจตจำนงอันเป็นอิสระของพลเมืองผ่านกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย) พร้อมด้วยสิทธิธรรมอันบริบูรณ์ของพลเมืองทั้งปวงในอันที่จะต่อต้านการใช้อำนาจนอกระบบเช่นว่านั้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครอง รวมทั้งสิทธิธรรมของพลเมืองทั้งปวงในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็น
              •  การเน้นย้ำและวางหลักการพื้นฐานที่สำคัญของระบอบการปกครองของประเทศไว้ให้มั่นคง โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ องค์กรและสถาบันการเมืองทั้งปวงจะต้องผูกพันตนเข้ากับหลักการพื้นฐานที่สำคัญในคำประกาศ ฯ นอกเหนือไปจากภารกิจและหน้าที่ขององค์กรและสถาบันการเมืองซึ่งบทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญจะได้กำหนดไว้แล้วอีกส่วนหนึ่ง
              ดังนั้น คำแถลงการณ์ของนิติราษฎร์ ในข้อ 5 (ของประเด็นที่ 4) จึงเสนอตัวอย่างเนื้อหาของคำประกาศ ฯ เพื่อเป็นการนำร่องเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานต่าง ๆ อาทิเช่น
              • มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระ มีสิทธิ เสรีภาพและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
              • อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดหรือไม่มีวิธีการใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้
              • การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ
              • การแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล  เป็นต้น
ตัวอย่างประสบการณ์ในประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ
 
แนวความคิดในเรื่องสถานะพิเศษของคำประกาศ ฯ เช่นว่านี้ หากเราต้องการดูตัวอย่างจากประสบการณ์ของประเทศประชาธิปไตยในโลก ก็อาจจะพิจารณาได้ เช่น กรณี “คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789” ที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสปี 1789 ซึ่งยังคงมีผลผูกพันและได้รับการยอมรับเชิงคุณค่าทั้งในทางการเมืองและกฎหมายว่า เทียบเท่าหรือสูงกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน
 
3. ผลของการมีคำประกาศ ฯ
3.1 ในสถานการณ์รัฐประหารซึ่งมุ่งล้มล้างรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายและล้มล้างกฎหมายรัฐธรรมนูญ
 
1. ในทางการเมือง
            • การกำหนดเนื้อหาไว้ในคำประกาศ ฯ ว่าด้วยการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงและถึงที่สุดต่อการใช้อำนาจนอกระบบกฎหมายและสิทธิธรรมของพลเมืองในอันที่จะต่อต้านรัฐประหาร เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองและเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็น ย่อมทำให้การรัฐประหารเป็นการกระทำทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนกับเจตจำนงของปวงชนชาวไทยซึ่งแสดงออกผ่านคำประกาศ ฯ ดังนั้น พลเมืองทั้งหลายย่อมมีความชอบธรรมในการลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหาร โดยสามารถใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นแก่การนั้นได้
            • สำหรับคณะรัฐประหาร คำประกาศ ฯ ย่อมมีฐานะเป็น “ความชอบธรรมสูงสุดทางการเมืองและอยู่เหนือการกระทำของคณะรัฐประหาร” และแม้คำประกาศ ฯ จะไม่สามารถขัดขวางการกระทำใด ๆ ของคณะรัฐประหารที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง (โดยพฤตินัย) ได้ แต่คำประกาศ ฯ จะมีผลเป็นการปฏิเสธการกระทำทั้งปวงและล้มล้างผลในทางกฎหมายของการกระทำนั้น (นิตินัย) อย่างสิ้นเชิงและปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
 
2. ในทางกฎหมาย
คณะรัฐประหารย่อมไม่สามารถใช้อำนาจประกาศยกเลิกหรือ “ฉีก” คำประกาศ ฯ ดังกล่าวได้ แม้จะใช้อำนาจประกาศยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในขณะนั้นได้สำเร็จแล้วก็ตาม
            • การใด ๆ ที่คณะรัฐประหารได้ก่อขึ้น (เช่น การกระทำ ประกาศ คำสั่ง เป็นต้น) เมื่อเป็นปฏิปักษ์กับคำประกาศ ฯ ย่อมถือว่าไม่เพียงแต่จะปราศจากความชอบธรรมในทางการเมืองเท่านั้น ยังต้องถือด้วยว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายโดยปราศจากเงื่อนไข เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อเจตจำนงอันสูงสุดของปวงชนชาวไทย
            • หากสังคมไทยเห็นพ้องต้องกันในมาตรการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร (ดังคำแถลงการณ์ของนิติราษฎร์ในประเด็นที่ 1) ก็สามารถดำเนินการในลักษณะดังกล่าวกับการรัฐประหารได้ เมื่อสถานการณ์รัฐประหารได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งนี้ ย่อมรวมถึงการดำเนินคดีอาญากับคณะบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารด้วย
            • ดังนั้น สังคมไทยพึงดำเนินการในส่วนนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานในทางกฎหมาย สำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดมีขึ้นในอนาคตด้วย
            • คำประกาศ ฯ มีผลทำให้การรัฐประหารและการใช้อำนาจทางกฎหมายของคณะรัฐประหารเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายโดยสิ้นเชิงและตลอดสาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองและเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของกฎหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 อันว่าด้วยความผิดฐานกบฏด้วย
 
3.2 ในสถานการณ์ปกติ
             3.2.1 สถานะในทางการเมือง
             คำประกาศ ฯ จะเป็นสัญญาประชาคมร่วมกันของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง เป็นการประกาศเจตจำนงสูงสุดทางการเมืองที่ยึดถือหลักอำนาจอธิปไตย “เป็นของ” ปวงชนชาวไทย หลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐว่า เป็นหลักการพื้นฐานในระบอบการเมืองการปกครองของประเทศ และจะเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงที่ชัดเจนสำหรับการกระทำทั้งหลายทั้งปวงในทางการเมือง
 
             3.2.2 สถานะในทางกฎหมาย
             ดังที่กล่าวแล้วว่า คำประกาศ ฯ จะมีสถานะเป็นเพียงการประกาศเจตจำนงทางการเมืองหรือเป็นสัญญาประชาคมของปวงชนชาวไทยและไม่มีสถานะใด ๆ ในโครงสร้างทางกฎหมาย แต่คำประกาศ ฯ ในฐานะเป็นเจตจำนงอันสูงสุดของพลเมืองที่จะธำรงไว้ซึ่งระบอบการเมืองการปกครองอันชอบธรรม จะถือเป็นหลักการพื้นฐานและความชอบธรรมสำหรับโครงสร้างของระบบกฎหมายในประเทศ เป็นคุณค่าอันถาวรและสูงสุดที่ผูกพันกฎหมายรัฐธรรมนูญ องค์กรและสถาบันการเมืองการปกครองทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายเพื่อใช้สำหรับอ้างอิงในแง่การร่าง แก้ไขเพิ่มเติม การใช้และการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเป็นการถาวร
 
4. สังคมไทยที่ผ่านมาในอดีตมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อนแล้วหรือไม่
หากจะกล่าวว่า ข้อเสนอนี้เป็นสิ่งใหม่ที่สังคมไทยยังไม่คุ้นเคยกันมาก่อนเลยก็อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นก็เป็นได้
 
เราจะต้องไม่ลืมว่า “การอภิวัฒน์ 2475” นั้นถูกประกาศอย่างเป็นทางการพร้อมด้วย “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญในการอภิวัฒน์ เป็นหลักใหญ่ใจความในการบริหารและปกครองบ้านเมืองในเวลานั้น อีกนัยหนึ่ง “หลัก 6 ประการ” ถือเสมือนเป็น “สัญญาประชาคม” ที่คณะราษฎรผูกพันตนเองและชี้แจงแก่สาธารณชนว่าจะนำการอภิวัฒน์ 2475 ไปในทิศทางใดนั่นเอง กรณีนี้เราจะเห็นด้วยว่า คณะรัฐบาลที่มีขึ้นในช่วงแรกภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 ยังถือเป็นธรรมเนียมที่จะปฏิญาณตนก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดินว่า จะยึดมั่นและปฏิบัติตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎรสืบไปอีกด้วย
 
ดังนั้น ข้อเสนอของนิติราษฎร์เพื่อให้มี “คำประกาศ ฯ” จึงมิใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยแต่ประการใด เพราะเป็นสิ่งที่สังคมไทยเคยรับรู้และพยายามสร้างธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองการปกครองในลักษณะเช่นว่านี้มาแล้วในอดีต เพียงแต่หลักการหรือเจตนารมณ์พื้นฐานของการปกครองในทำนองนี้อาจถูกลืมเลือนจากสาธารณชนไปบ้าง (ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ)
 
นอกจากนี้ การเสนอของนิติราษฎร์ให้มี “คำประกาศ ฯ” ก็เพื่อสืบทอดและหยั่งรากจิตวิญญาณประชาธิปไตยให้มั่นคงแน่นหนามากขึ้น และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการทางการเมืองในปัจจุบันที่กำลังก้าวเข้าใกล้หลักการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐยิ่งขึ้นด้วยอีกประการหนึ่ง.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟ้าหลังฝนที่ ‘ปอเนาะบาลอ’

Posted: 17 Oct 2011 08:26 AM PDT

อุสตาซที่นี่ถูกยิงตาย 6 คน ‘ปอเนาะบาลอ’ ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องคดีป่วนใต้ กับความคลุมเครือในสายตาทหารมลายไปสิ้นแล้วในปัจจุบัน

อาหะมะรูยามี มูยุ

“เจ้าหน้าที่อธิบายว่า แนวร่วมก่อความไม่สงบที่ถูกจับตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นศิษย์เก่าของเรา ผมก็ยอมรับว่าจริง แต่พวกเขาก็อยู่ในฐานะศิษย์เก่า”

อาหะมะรูยามี มูยุ เจ้าของโรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ คือเจ้าของประโยคข้างต้น

อาหะมะรูยามี เป็นครูสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งคนในพื้นที่จะคุ้นเคยกับการเรียก “มูเดร์บาลอ” มากกว่า ในวัย 63 ปี มีประสบการณ์ด้านการสอนวิชาศาสนาอิสลามมากว่า 20 ปี สืบทอดตำแหน่งเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้จากบิดา

โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ที่ชาวบ้านรู้จักในชื่อ “ปอเนาะบาลอ” ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาแห่งนี้ ถูกฝ่ายรัฐมองด้วยสายตาหวาดระแวงสงสัยมาตลอด บวกกับคำร่ำลือว่าเป็น “โรงงานผลิตแนวร่วมก่อความไม่สงบ”

อุสตาซที่นี่ถูกยิงตาย 6 คน
อาหะมะรูยามี เล่าว่า ปอเนาะบาลอตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ที่สุดราวปี 2550 – 2552 เริ่มจากปรากฏข่าวว่า ผู้ก่อเหตุไม่สงบหลายคนเป็นศิษย์เก่าของปอเนาะบาลอ และในช่วง 2 ปีนั่นเองที่มีอุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) ของที่นี่ถูกยิงตายไป 6 คน ทำให้ทั้งอุสตาซและนักเรียนที่เหลืออยู่ ต้องอยู่อย่างหวาดผวา

ในขณะที่อุสตาซอีก 2 -3 คน หายตัวไป ไม่ยอมกลับมาสอนหนังสือตามปกติ ยังไม่รวมอุสตาซอีกหลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเชิญตัวไปสอบสวนหลายครั้ง แต่ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดี

มีครั้งหนึ่งที่คนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม-16 ยิงถล่มฆ่านายอับดุลเราะมาน สะมะ อายุ 60 ปี อุสตาซปอเนาะบาลอและเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เสียชีวิตคารถกระบะเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ทำให้ในวันต่อมานักเรียนปอเนาะบาลอทั้งชายหญิงกว่า 1,500 คน ชุมนุมประท้วงร่วมกับชาวบ้านที่หน้ามัสยิดกลางประจำอำเภอรามัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน และกางเต็นท์ขวางถนน

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ผ่านนายธานี หะยีสาและ ปลัดอำเภออาวุโส รักษาการนายอำเภอรามัน เช่น รัฐบาลต้องไม่อคติและกลั่นแกล้งประชาชนมุสลิมอีก รัฐบาลต้องไม่จับตัวผู้บริสุทธิ์อีก รัฐบาลต้องถอนกำลังทหารและหน่วยล่าสังหารออกจากพื้นที่ให้หมด รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น กระทั่งเวลา 14.00 น. จึงสลายการชุมนุม

ทว่า เหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือนต่อปอเนาะบาลอมากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอาหามะมะรูยามี บอกว่า เป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับปอเนาะบาลอมากที่สุด เพราะเกิดขึ้นภายในปอเนาะบาลอเอง

ย้อนกลับไปเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 1 เมษายน 2554 ชายฉกรรจ์ 10 คน แต่งกายคล้ายทหาร สวมหมวกแดง ตั้งด่านสกัดรถบนถนนสายจ๊ะกว๊ะ – รือเสาะ เรียกตรวจรถกระบะโตโยต้า วีโก้คันหนึ่ง หมายเลขทะเบียน ผข – 3510 สงขลา มีนายพิชัย ติ้นสั้น พ่อค้าขายผักชาวอำเภอรือเสาะเป็นคนขับ มีภรรยานั่งโดยสารมาด้วย

ทว่า ทั้ง 2 คนถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ทำร้ายจนบาดเจ็บ แล้วยึดรถคันนั้นไป พร้อมปล้นเงินสดกว่า 120,000 บาท

หลักฐานชิ้นสำคัญที่เจ้าหน้าที่ใช้ตัดสินใจเข้าตรวจค้นปอเนาะบาลอในเวลาต่อมาคือ ภาพจากโทรทัศน์วงจรปิดที่ชี้ให้เห็นชัดว่า รถกระบะคันนั้น มีคนขับเลี้ยวเข้าไปในโรงเรียนแล้วขับรถออกไปในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ทิ้งหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารคู่มือรถและอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีร่องรอยถูกเผาทำลาย

อาหะมะรูยามี เล่าว่า ตอนนั้น พวกนักเรียนเห็นว่ามีรถเข้ามาในปอเนาะ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นรถใคร แล้วก็ไม่ได้สนใจมาก เพราะปกติมีรถยนต์เข้าออกปกติ ประตูปอเนาะไม่ได้ปิด

เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ฝ่ายรัฐมองปอเนาะบาลอด้วยความหวาดระแวงยิ่งขึ้น จนนำมาสู่การจับเข่าคุยกันของนายทหารจำนวนหนึ่งที่มี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 รวมอยู่ด้วย กับกลุ่มอุสตาซและผู้บริหารของปอเนาะบาลอจำนวนหนึ่งที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี

ความผิดของปอเนาะบาลอครั้งนี้ช่างร้ายแรงนัก อาจถึงขึ้นต้องปิดปอเนาะ แต่ พล.ท.อุดมชัย ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เพราะอาจส่งผลไปถึงมวลชน แน่นอนว่าฝ่ายปอเนาะคงไม่ต้องการให้ปิดเช่นกัน

วันที่ 27 เมษายน 2554 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้เชิญบุคลากรของปอเนาะบาลอเกือบ 40 คน กับนักการเมืองท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง เดินทางไปร่วมเสวนา “เปิดใจสร้างสันติสุข โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์” ถึงที่โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เป็นวงเสวนาที่เริ่มต้นด้วยวลีเด็ด “อดีตไม่สำคัญ วันนี้ฉันรักเธอ” ที่ออกมาจากปากของ พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม เมื่อคราวเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 รับผิดชอบพื้นที่อำเภอรามัน พร้อมกับแง้มรายชื่อบุคคลอันเป็นผลผลิตของปอเนาะบาลอ ก่อนที่จะให้แต่ละคนเปิดอกคุย

อาหะมะรูยามี เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2548 จนปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารมาตรวจเยี่ยมปอเนาะบาลอตลอด เคยถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นครั้งใหญ่ก็คือหลังจากคนร้ายนำรถกระบะที่ปล้นเข้ามาในบริเวณปอเนาะ แต่ยังไม่เคยถูกปิดล้อม ส่วนการเข้ามาในช่วงหลังๆ มักเป็นการมาแจกยาสามัญประจำบ้านให้เด็กปอเนาะ

จำนวนนักเรียนลดลงเกินครึ่ง
อาหะมะรูยามี เล่าด้วยว่า ก่อนปี 2547 ปอเนาะบาลอมีนักเรียนประมาณ 2,000 คน ครั้นอีกประมาณ 3 ปี ต่อมา เมื่อเหตุการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น ผู้ปกครองเริ่มย้ายเด็กไปเรียนที่อื่นหรือไม่ก็ไม่ส่งเด็กมาอีกเลย เดิมมีเด็กจากภาคใต้ตอนบนมาเรียนที่นี่มากถึง 40 คน เพราะพ่อแม่ต้องการให้ได้เรียนศาสนาควบคู่กับสามัญ แต่ตอนนี้เหลือเด็กกระบี่แค่คนเดียว

ปัจจุบันทั้งโรงเรียนมีนักเรียน 900 คน มีเด็กที่พักประจำที่ “ปอเนาะ” หรือที่พักลักษณะเหมือนกระท่อมในบริเวณโรงเรียนลดลงจาก 600 คน เหลือ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง นักเรียนที่เหลือเรียนไป - กลับ ซึ่งอาหะมะรูยามี บอกว่า เพราะนักเรียนรุ่นหลังๆ นิยมเดินทางไปกลับมากกว่าจะอยู่ประจำ

“แม้จำนวนจะนักเรียนลดลงไปเกินครึ่ง แต่จำนวนอุสตาซก็ลดลงด้วยเช่นกัน แม้ไม่มีใครขอลาออก (ลดลงเพราะถูกยิงตายหรือไม่ก็หลบหนีไป) ทำให้จำนวนอุสตาซกับจำนวนนักเรียนสัมพันธ์ลงตัวพอดี” อาหะมะรูยามี ระบุ

มาตรการที่เข้มงวด
อาหะมะรูยามี เล่าว่า หลังต้องประสบกับช่วงเวลาที่เลวร้ายมาหลายครั้ง ทางโรงเรียนจึงพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้โรงเรียนตกอยู่ในความระแวงสงสัยอีกต่อไป รวมทั้งป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียน โดยเฉพาะการเข้มงวดกับนักเรียนชายมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การออกคำสั่งห้ามนักเรียนชายเข้าไปอุดหนุนร้านอาหารด้านข้างโรงเรียน เนื่องจากที่ผ่านมามักมีนักเรียนชายชอบไปรวมกลุ่มกัน โดยทางโรงเรียนไม่ทราบว่าไปทำอะไรบ้างและมีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

ส่วนที่สำคัญคือ พยายามสอดส่องว่ามีศิษย์เก่าของโรงเรียนมาเกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือไม่ การไปมาหาสู่ของศิษย์เก่าภายในบริเวณโรงเรียนต้องระวังมากขึ้น ซึ่งไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ ทางโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้ศิษย์เก่าเข้ามานั่งเล่น นอนเล่นในบริเวณโรงเรียนโดยไม่จำเป็น

“กลางคืนต้องปิดประตูรั้วโรงเรียน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เปิดประตูทิ้งไว้ เพราะไม่เคยมีเรื่องร้ายอะไร จึงไม่ทราบว่ามีใครเข้ามาในเวลากลางคืนบ้าง แต่ตอนนี้ก็ต้องปิดไว้เพื่อเป็นการป้องกันอันตาย”

ฟ้าหลังฝนของปอเนาะบาลอ
ในช่วงสองปีให้หลังสุด ทุกอย่างเริ่มกลับมาดีขึ้น มีนักเรียนที่เรียนศาสนาควบคู่กับสามัญเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จะมีนักเรียนที่เรียนชั้นศาสนาอย่างเดียวจำนวนมากพอสมควร จำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเพียงพอกับจำนวนอุสตาซและครูสอนวิชาสามัญ ยังไม่ต้องจ้างเพิ่ม

เมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปแล้ว ครูผู้สอนต่างก็มีกำลังใจและมีความพยายามในการสอนมากขึ้น ดูเหมือนว่า ช่วงนี้ทุกคนพยายามตื่นขึ้น สอนดีขึ้น พยายามเร่งยกระดับมาตรฐานของตัวเองขึ้นมา หลังจากที่ต้องห่อเหี่ยวสิ้นหวังมาช่วงหนึ่ง ทุกคนมีความอยากที่จะสอนนักเรียนอย่างเต็มที่ หลังจากที่ไม่สามารถแสดงบทบาทครูได้เต็มที่มากนัก เพราะมัวแต่หวาดระแวง

โรงเรียนพยายามประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักถึงอนาคตของนักเรียนให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา นักเรียนที่นี่ไม่ค่อยเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศ แต่เลือกเรียนต่อในสายวิชาศาสนามากกว่า

อาจจะด้วยเหตุนี้ก็ได้ ที่ทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนจากที่นี่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศได้มากขึ้น ดูอย่างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีซิ มีเป็นสิบๆ ก็เกิดจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของครูและโรงเรียน

“โชคดีที่ในช่วงที่โรงเรียนเจอเผชิญวิกฤติ บุคคลากรหลายคนก็ยังยืนยันที่จะอยู่ที่นี่ต่อไป” คือคำทิ้งท้ายของอาหะมะรูยามี มูยุ

พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม
ความคลุมเครือที่ปอเนาะบาลอจบลงแล้ว
“ผู้ใหญ่ข้างบนจะสั่งปิดปอเนาะบาลอ ยังไงก็ต้องปิด ผมก็โดนกดดันมาอีกที” คือคำเปิดเผย พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม ปัจจุบันเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 152 กองพลทหารราบที่ 15

พ.ท.อิศรา เปิดเผยข้อมูลว่า ปอเนาะบาลอ ถูกฝ่ายความมั่นคงของรัฐจับตามองตั้งแต่ปี 2548 เนื่องจากมีข้อมูลว่าครูสอนศาสนาบางส่วน เผยแพร่แนวคิดกู้เอกราชรัฐปัตตานีแก่นักเรียน และมีผลผลิตจากปอเนาะบาลอที่มีหมายจับหลายคน ซึ่งเป็นเหตุให้ยิ่งสงสัยว่า ปอเนาะน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิดของขบวนการก่อความไม่สงบ

“ผมก็เรียนมูเดร์ตรงๆ ว่า ผู้ใหญ่จะสั่งปิดโรงเรียนนี้ แต่ผมใช้วิธีการสร้างความเข้าใจระหว่างโรงเรียนกับทหาร ซึ่งทางโรงเรียนก็ยอมรับว่าที่ผ่านมามีขบวนการก่อความไม่สงบมาใช้พื้นที่โรงเรียนจริง”

“การสั่งปิดโรงเรียนเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังสร้างความรู้สึกไม่ดีแก่ชาวบ้านที่ทราบข่าวด้วย จะยิ่งเป็นการสร้างเงื่อนไข สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่นำไปสู่ปัญหาจากทั้งสองฝ่าย”

“ข้อมูลจากวงเสวนาครั้งนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจคนในปอเนาะบาลอมากขึ้นว่า มีแรงกดดันบางอย่างที่ทำให้พวกเขาต้องเข้าไปเกี่ยวพันในขบวนการ บางคนบอกว่าเป็นแฟชั่น ถ้าไม่เข้าร่วมขบวนการแล้วจะเชย ซึ่งทำให้เห็นว่าปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล”

“ปอเนาะเป็นเพียงอาคาร สถานที่ ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ถ้ามีคนที่คิดไม่ดีอยู่ที่นั้น ก็ต้องว่ากันที่ตัวคน ตราบใดที่ผมยังอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจะไม่ยอมให้โรงเรียนบาลอถูกปิดแน่นอน”

พ.ท.อิศรา ระบุว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างปอเนาะบาลอกับและทหารดีขึ้นมาก หลังจากได้เปิดอกคุยกัน ทางโรงเรียนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนฝ่ายทหารก็ได้เข้าไปทำกิจกรรมกับปอเนาะบาลอมากขึ้น

“โดยส่วนตัว ผมมองว่า ขบวนการมีข้อดีที่สามารถดึงเยาวชนให้เลิกยาเสพติดได้ เพราะต้องทำด้วยอุดมการณ์ที่บริสุทธิ์ แต่สิ่งที่ไม่ดีคือการให้เยาวชนจับอาวุธ แล้วจะถอนตัวออกมาไม่ได้ เป็นการตัดอนาคตเด็ก”

“ทุกอย่างที่ปอเนาะบาลอเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ความคลุมเครือจบลงแล้วหลังการเสวนาที่หาดใหญ่ อุสตาซที่ยังมีชื่อในบัญชีของเจ้าหน้าที่ก็มีการสารภาพมาตรงๆ แล้ว และสัญญาว่าจะไม่กลับไปเข้าขบวนการอีก ปอเนาะก็ให้ความร่วมมือดี ทุกอย่างจบลงด้วยดี” พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม กล่าวทิ้งท้าย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนต้นน้ำจัดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติ 8 จังหวัดภาคเหนือ

Posted: 17 Oct 2011 08:07 AM PDT


 

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่วัดป่าตึงงาม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ป๋าม ลุ่มน้ำแม่นะ-แม่แมะ ลุ่มน้ำซุ้ม ลุ่มน้ำลุ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสถาบันพัฒนาท้องถิ่น หน่วยจัดการต้นน้ำผาแดง และเทศบาลตำบลปิงโค้ง ได้เปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนของคนต้นน้ำกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ในขณะนี้

โดยในวันนั้น นายสถาพร สมศักดิ์ เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้มีการประมวลภาพรวมของปัญหาภัยพิบัติในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ว่าที่ผ่านมา ได้มีการศึกษารวบรวมปัญหาร่วมกับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับภัยพิบัติใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ซึ่งมีการสำรวจแม่น้ำหลายสาย ตั้งแต่สาละวิน ปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เชียงใหม่เอง ก็ได้มีการศึกษาและทำข้อมูล 2-3 ปีที่ผ่านมาในเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม

“ในช่วงของเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา น้ำได้ไหลมาทุกจุด ทุกพื้นที่ เช่น ชาวบ้านในชุมชนแถบสาละวินก็ต้องประสบกับปัญหาที่ต้องโดนน้ำพัดพา ทั้งแม่ฮ่องสอนก็ถูกน้ำท่วม และน้ำท่วมก็ท่วมเป็นหย่อมๆ ไม่เหมือนกับปีที่ผ่านมา แต่ละลุ่มน้ำโดนกระแทกและรวมกันเป็นจุดๆ ตั้งแต่ สาละวิน  เชียงใหม่ เชียงดาว  ลำพูน  แม่ทา  ลำปาง เถิน แจ้ห่ม ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักเหมือนกับปีนี้  อย่างจังหวัดแพร่ แถววังชิ้น ก็เจอน้ำท่วมสูงถึงครึ่งฝาบ้าน ในขณะที่จังหวัดน่านก็เกิดการท่วมซ้ำถึง 2 รอบ”

 

สถาพร สมศักดิ์
เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)


เมื่อปริมาณน้ำมาก เขื่อนใหญ่จำต้องปล่อยให้ท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ
นายสถาพร กล่าวว่า เมื่อฝนตกมาก ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนของสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เพิ่มขึ้นและการสะสมของน้ำเกิดปริมาณที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงพื้นทีลำน้ำน่าน ทำให้เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำถึง 99% เกือบจะเต็มเขื่อน 

“เมื่อได้ลงไปดูพื้นที่เก็บกักของเขื่อน ว่าเขามีการปล่อยน้ำอย่างไร ก็พบว่าเจ้าหน้าที่เขาต้องรอคำสั่งจากกรมชลประทานที่มีอำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการสั่งว่าแต่ละเขื่อนจะให้มีการปล่อยน้ำในปริมาณเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเรื่องของปริมาณน้ำ ปริมาณน้ำฝน ทางกรมชลประทานจะต้องรู้ดีว่าการปล่อยในแต่ละครั้งนั้นหมายถึง การท่วมของน้ำทุกสายที่ไหลไปรวมกันอยู่ ณ  ปัจจุบันที่ นครสวรรค์  อยุธยา  อ่างทอง และใกล้จะถึงกรุงเทพฯ  อย่างนี้เอง แล้วเราจะทำอย่างไร”

ทางออกปัญหา รัฐมักหันไปสร้างโครงการขนาดใหญ่
นายสถาพร กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งเกิดทุกพื้นที่ก็มีหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดต่างๆ และรัฐบาลต่างก็มีโครงการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น รวมถึงบ้านโป่งอาง ที่จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน หรือโครงการเมคกะโปรเจกของรัฐที่เข้ามาอย่างเช่น โครงการผันน้ำกก-ฝาง-ปิง ในเขตพื้นที่ต้นน้ำเช่นนี้ ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน

“ลองมาดูที่จังหวดน่าน  โครงการรัฐที่เข้ามาก็คือการนำ 1,200  ล้านบาท เอามาสร้าง 6 อ่างเก็บกักน้ำ ซึ่งก็คือเขื่อนนั่นเอง โดยทำเป็นแนวกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าตัวเมืองน่าน แต่จะให้ไหลไปท่วมอีกฟากของลำน้ำน่าน  และรอบเมืองน่านก็จะสร้างคันกั้น จุดไหนที่ต่ำก็จะมีการกั้นทั้งหมด สุดท้ายฝั่งข้างนอก ที่เป็นพี่น้องชาวบ้านตาดำๆ ก็ต้องเจอภาวะของน้ำท่วม  นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะต้องมีการทบทวนและศึกษาสถานการณ์ปัญหาที่มีการทำในพื้นที่สุโขทัย ที่ทำในเรื่องแบบนี้ ทำให้น้ำไม่เกิดการกระจาย น้ำต่ำบางพื้นที่ และสูงบางพื้นที่  นี่เป็นสถานการณ์ที่พวกเราพี่น้องชาวบ้านจะต้องมีการศึกษาและติดตามด้วย”

อย่างไรก็ตาม นายสถาพร กล่าวว่า ผลดีของโครงการรัฐที่เข้ามาดำเนินการในแต่ละพื้นที่นั้น ก็คงเป็นเรื่องทำให้พี่น้องชาวบ้านนั้นได้มีการตื่นตัวกันขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านรับรู้ถึงปัญหาโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน

“อยากจะให้เห็นว่า เดี๋ยวนี้ชาวบ้านคนต้นน้ำเรานั้นมีการร่วมกันอย่างไร ทำให้เราเห็นเรื่องของความตื่นตัวของพี่น้องชาวบ้านที่ลุกขึ้นมา  เรื่องการคัดค้านเรื่องของเขื่อน โครงการผันน้ำ ซึ่งเรื่องแบบนี้ ก็ต้องมีการมองกันหลายมิติ  ไม่ได้มองเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างพื้นที่บ้านโป่งอางก็เหมือนกัน  ถ้ามีการสร้างเขื่อนพี่น้องที่นี่จะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง จะเจอปัญหาอะไรบ้าง และแน่นอนว่า ชาวบ้านเราจะต้องเจอกับคำถามนี้ที่คนในเมืองจะบอกว่า โครงการเหล่านี้ “เป็นประโยชน์มวลรวมของประเทศและคนส่วนใหญ่ “  ซึ่งชาวบ้านคนต้นน้ำจะต้องคิดให้มาก ไม่ว่ากรณี เรื่องของเขื่อน เพราะฉะนั้นเรื่องของการมีส่วนร่วม  เรื่องของสิทธิของชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญ และเราต้องมีการมองเรื่องของการจัดการน้ำทั้งหมดด้วย” นายสถาพร กล่าวในตอนท้าย

ด้านนายสายัณห์ ข้ามหนึ่ง ซึ่งเป็นคนบ้านสะเอียบ  จ.แพร่  ได้บอกเล่ากับชาวบ้านต้นน้ำเชียงดาว ว่าตนเติบโตมากับการคัดค้านการสร้างเขื่อน ในฐานะของกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ถ้าได้ข่าวเรื่องของน้ำท่วมก็ต้องนึกถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาทุกครั้ง ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่  ฝ่ายรัฐอ้างมาโดยตลอดว่า แม่น้ำยม เป็นแม่น้ำเดียวที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่  ปิง วัง ยม  น่าน นั้นมีเขื่อนขนาดใหญ่หมดแล้ว เหลือแต่แม่น้ำยม แม่น้ำเดียว ที่ยังไม่มีเขื่อน แต่ก็มีความพยายามที่จะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้

ทั้งนี้ โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น นั้น มีความสูงจากระดับพื้นดิน 72 เมตร ความยาวของสันเขื่อนยาวประมาณ 500 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งตำบลสะเอียบมี 4 หมู่บ้าน รวมไปถึงพื้นที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา อีก 11 หมู่บ้าน 

สายัณห์ ข้ามหนึ่ง
ชาวบ้านสะเอียบ จ.แพร่

“ซึ่งตอนแรก เขาเริ่มมีการบอกว่าจะมีการสร้าง 94 เมตร  ชาวบ้านที่พื้นที่อำเภอเชียงม่วนก็ได้ออกมาคัดค้าน  และมีการคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะตัด 11 หมู่บ้านนั้นไม่ให้เข้ามาร่วมคัดค้าน ก็เลยมีการลดสันเขื่อนลง  แต่ความจริงแล้ว  11 หมู่บ้าน ก็ต้องโดนน้ำท่วมอยู่เต็มๆ นี่เป็นแผนของเขา เพื่อที่จะตัดคนที่คัดค้านออก และตอนนี้เองทางพี่น้องทางพะเยาและเชียงม่วน ก็ไม่ได้เข้ามาร่วมในการคัดค้านอีก อย่างไรก็ตาม 20 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านของ ต.สะเอียบ มีการยืนหยัดเรื่องของการต่อสู้กันอย่างเข้มแข็ง  ตอนนั้นผมอายุ 11 ขวบได้เห็นชาวบ้านในหมู่บ้านได้มีการต่อสู้ในเรื่องนี้มา จนตอนนี้ผ่านมา 20 ปี ก็ต่อสู้กับชาวบ้านไม่ให้มีการสร้างแก่งเสือเต้นได้”

นายสายันห์ บอกย้ำอีกว่า เพราะว่าเรื่อง เขื่อนเป็นปัญหา และเป็นเรื่องใหญ่  ดังนั้น การคัดค้านต่อสู้ต้องประสานกับหลายๆ พื้นที่ หลายๆ เครือข่าย

“การต่อสู้เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ไม่ใช่เรื่องคนในพื้นที่สู้กันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเอาคนจากข้างนอกเข้ามาร่วมเรียนรู้และร่วมกันคัดค้านด้วย ก็คิดกันอยู่ว่า ถ้าลำพังชาวบ้านเพียง 4 หมู่บ้าน เราสู้ตายแน่ๆ และเราเองก็ไม่ได้สู้กันอย่างโดดเดี่ยว เพราะว่ายังมีหมู่บ้านอื่นที่ยังต่อสู้เรื่องเขื่อนอยู่เหมือนกัน” ตัวแทนชาวบ้านตำบลสะเอียบ กล่าวในทิ้งท้าย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัด เริ่ม 1 เม.ย.55

Posted: 17 Oct 2011 07:55 AM PDT

คณะกรรมการค่าจ้างเคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ทั่วประเทศเริ่ม 1 เม.ย.55 ปรับ 7 จังหวัด ค่าจ้างวันละ 300 บ. พิจารณาปรับครบทุกจังหวัดปี 56

(17 ต.ค.54) เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า เวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ได้มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งมี นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม โดยเป็นการพิจารณาถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวเริ่มขึ้นล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมคือเวลา 09.30 น. เนื่องจาก นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ได้เชิญปลัดกระทรวงฯและตัวแทนฝ่ายนายจ้างเข้าหารือนอกรอบก่อน ที่ห้องทำงานรัฐมนตรี จากนั้นการประชุมดังกล่าวจึงเริ่มขึ้น ซึ่งใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง

นพ.สมเกียรติ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลของคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด และข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง จึงมีมติเอกฉันท์ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปี 2555 ขึ้นทั่วประเทศอีกประมาณร้อยละ 40 ซึ่งมี 7 จังหวัดที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต โดยจะให้เริ่มในวันที่ 1 ม.ค.55 แต่เนื่องจากขณะนี้เกิดภาวะวิกฤตน้ำท่วม ทางคณะกรรมการฯจึงจะเสนอให้เปลี่ยนไปบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.55 ส่วนจังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ถึง 300 บาท ก็จะมีการพิจารณาในปี 56 ต่อไป ขณะที่จังหวัดที่ได้ปรับถึง 300 บาทแล้วก็ให้คงอัตรานี้ไว้ไปจนถึงปี 58

อย่างไรก็ตาม หากสภาพเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ก็จะมีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดให้เร็วขึ้นกว่ากำหนด เมื่อถามว่ามติดังกล่าวเป็นผลจากการหารือนอกรอบระหว่างรมว.แรงงาน กับตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ใช่หรือไม่ นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า รมว.แรงงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามมีการพูดคุยกันบ้าง แต่เป็นเรื่องของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง

ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงมาตรการที่จะช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ เช่น การลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อย 23 ในปี 2555 และการหักรายจ่ายของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปหักภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่า จากที่ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้เสนอไว้ที่ 2 เท่า โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างได้เสนอมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การเสนอขอลดภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มธุรกิจ แต่ครอบคลุมเฉพาะบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้รับไปพิจารณา รวมทั้งการลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม และขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอในเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมในการประชุมวันที่ 25 ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ทั่วประเทศ จะทำให้อัตราค่าจ้างแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นดังนี้ จ.ภูเก็ต กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร 300 บาทต่อวัน จ.ชลบุรี 274.4 บาทต่อวัน จ.ฉะเชิงเทรา และสระบุรี 270.2 บาทต่อวัน จ.พระนครศรีอยุธยา 266 บาทต่อวัน จ.ระยอง 264.6 บาทต่อวัน จ.พังงา 260.4 บาทต่อวัน จ.ระนอง 259 บาทต่อวัน จ.กระบี่ 257.6 บาทต่อวัน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี 256.2 บาทต่อวัน จ.ลพบุรี 254.8 บาทต่อวัน

จ.กาญจนบุรี 253.4 บาทต่อวัน จ.เชียงใหม่ และราชบุรี 252 บาทต่อวัน จ.จันทบุรี และเพชรบุรี 250.6 บาทต่อวัน จ.สงขลา และสิงห์บุรี 246.4 บาทต่อวัน จังหวัดตรัง 254 บาทต่อวัน จ.นครศรีธรรมราช และอ่างทอง 243.6 บาทต่อวัน จ.เลย ชุมพร พัทลุง สตูล และสระแก้ว 242.2 บาทต่อวัน จ.สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา สุราษฎร์ธานี 240.8 บาทต่อวัน จ.นราธิวาส อุบลราชธานี และอุดรธานี 239.4 บาทต่อวัน จ.นครนายก และปัตตานี 238 บาทต่อวัน

จ.หนองคาย ตราด และลำพูน 236.6 บาทต่อวัน จ.กำแพงเพชร และอุทัยธานี 235.2 บาทต่อวัน จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท และสุพรรณบุรี 233.8 บาทต่อวัน จ.เชียงราย นครสวรรค์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และสกลนคร 232.4 บาทต่อวัน จ.ชัยภูมิ มุกดาหาร ลำปาง สุโขทัย และหนองบัวลำภู 231 บาทต่อวัน จ.นครพนม 229.6 บาทต่อวัน จ.พิจิตร พิษณุโลก แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ 228.2 บาทต่อวัน จ.ตาก และสุรินทร์ 226.8 บาทต่อวัน จ.น่าน 225.4 บาทต่อวัน จ.ศรีสะเกษ 224 บาทต่อวัน และจ.พะเยา 222.6 บาทต่อวัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอเอสทีวีจอดับ แต่ยังชมทางเน็ตได้

Posted: 17 Oct 2011 05:21 AM PDT

ผู้ชมเอเอสทีวีไม่สามารถรับชมผ่านทีวีดาวเทียมได้ในช่วงเย็นวันนี้ เนื่องจากถูกตัดสัญญาณออกอากาศ เหตุค้างชำระหนี้เจ้าของดาวเทียม ขณะนี้ผู้บริหารกำลังเร่งหาทางออก ขณะที่ผู้ชมเอเอสทีวียังสามารถรับชมผ่านเน็ตได้

เอเอสทีวีจอดับ หลังเจ้าของดาวเทียมตัดสัญญาณ แต่ยังชมทางเน็ตได้

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (17 ต.ค.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.30 น.ที่ผ่านมา การแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีได้เกิดปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยผู้ชมทางบ้านได้โทรศัพท์สอบถามมายังสถานีเป็นจำนวนมากหลังจากที่รับชมรายการไม่ได้

โดยผู้บริหารระดับสูงของสถานี แจ้งว่า ปัญหาเกิดจากการตัดสัญญานดาวเทียม NSS-6 ของบิรษัท นิวสกาย แซทเทลไลต์ จำกัด ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เอเอสทีวีเช่าสัญญาณอยู่ โดยที่ผ่านมา เอเอสทีวีได้ทำสัญญาเช่าช่องสัญญานกับทาง NSS-6 มาโดยตลอด แต่ก็มีหนี้ค้างชำระอยู่บางส่วน ซึ่งล่าสุด NSS-6 ไม่ยอมที่จะผ่อนปรนภาระหนี้ให้กับเอเอสทีวี แม้ทางผู้บริหารจะพยายามเจรจาขอยืดเวลาชำระหนี้ออกไป หรือขอชำระเพียงบางส่วนแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ฝ่ายเทคนิคเอเอสทีวีได้ประชุมหารือกับผู้บริหารเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ทั้งนี้ แม้ผู้ชมเอเอสทีวีจะรับชมรายการจากทางสถานีผ่านดาวเทียมไม่ได้ขณะนี้แต่ยังสามารถรับฟังสถานีวิทยุคลื่น 97.75 MHz และรับชมสถานีโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ [1], [2]. [3]. [4]

 

คอลัมน์นิสต์แจงแฟนคลับ-การสนับสนุนจาก พธม.ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบรายจ่าย

ขณะที่ สุรวิชช์ วีรวรรณ คอลัมน์นิสต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ โพสต์ชี้แจงทางเฟซบุ๊กว่า "ขณะนี้เกิดปัญหากับทางดาวเทียมns6 ที่ยังค้างค่าเช่าช่องสัญญาณและทางเราพยายามเจรจาเพื่อผ่อนปรนแล้ว แต่ทางเจ้าของดาวเทียมไม่ยินยอม ภาระดังกล่าวคุณสนธิแบกรับคนเดียวมาตลอดตั้งแต่เริ่มการต่อสู้กับระบอบทักษิณมา ทั้งค่าดาวเทียม เงินเดือนพนักงาน ต้องขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีอยู่ แม้จะมีเงินสนับสนุนจากพี่น้้องพันธมิตรฯก็เป็นเพียงเงินส่วนน้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่คุณสนธิต้องแบกรับในแต่ละเดือน จึงเป็นเห็นสุดวิสัยที่คุณสนธิจะหาเงินมาจ่ายค่าดาวเทียมที่ค้างอยู่ จากการยื่นคำขาดของเจ้าของดาวเทียมและได้ทำการตัดการออกอากาศของเราโดยทันที แต่ขอแจ้งว่าขณะนี้ยังมีช่องทางที่ดูได้คือทางอินเทอร์้เน็ต และหวังว่าคนที่รักเอเอสทีวีจะเข้าใจ แม้หัวใจของพวกเราจะยังต่อสู้และอยากทำทีวีที่มีจุดยืนเพื่อชาติบ้านเมือง แต่คำตอบที่่่เราได้รับคือ การสนับสนุนที่เราได้รับไม่เพียงพอที่จะให้เรายืนหยัดต่อสู้ได้อย่างมั่นคง"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมต่อต้านโลกร้อนยื่นศาลปกครองค้านปล่อย “ทีโอซี” ดำเนินการในมาบตาพุด

Posted: 17 Oct 2011 03:51 AM PDT

ระบุองค์การอิสระฯ – ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียมีความเห็นส่วนใหญ่ไม่ให้ความเห็นชอบ ขาดความเชื่อมั่น หากปล่อยไปจะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนจนไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้

 
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (17ต.ค.54) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและทีมทนายความ ได้ไปยื่นคัดค้านอัยการ ที่ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยให้ โรงงานของบริษัททีโอซีฯ ในมาบตาพุดเป็นอิสระต่อศาลปกครองสูงสุด 
                                                                                                               
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เผยว่าวันจันทร์ที่ 17 ต.ค.นี้ สมาคมฯ และทีมทนายความจากสภาทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านมาบตาพุด 43 คน ได้เดินทางไปยื่นคำชี้แจงต่อศาลปกครองสูงสุด หลังจากที่อัยการได้เสนอคำร้องมายังศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราว โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทีลีนออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด หรือ ทีโอซี (TOC)
 
จากกรณี โครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เรียบร้อยแล้ว และส่งเรื่องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่เมื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ให้ความเห็นพบว่า กอสส.มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้โครงการดังกล่าวผ่าน
 
นอกจากนี้ เมื่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาตได้แต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียไปรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบด้วยและขาดความเชื่อมั่นในโครงการดังกล่าว และหากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปได้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาจนยากที่แก้ไขเยียวยาได้
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เมื่อผลสรุปมีทิศทางไปเป็นเช่นนั้น กนอ.น่าที่จะมีคำสั่งยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย แต่กลับส่งเรื่องให้อัยการมาร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยให้โครงการทีโอซี เป็นอิสระ ซึ่งถือว่าเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และ 67 วรรคสอง เป็นอย่างยิ่ง การกระทำของ กนอ. ถือว่าเป็นการท้าทายประชาชน และไม่เห็นความสำคัญของสิทธิชุมชนหรือบุคคลในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง ในการที่จะต้องมีสิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนต่อไป ตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้การคุ้มครองไว้
 
นายศรีสุวรรณเปิดเผยด้วยว่า ภายหลังการยื่นเอกสารคำชี้แจงให้กับศาลปกครองสูงสุดได้ทราบ และพิจารณาเพื่อให้ศาลยืนยันการสั่งระงับการดำเนินโครงการหรือกิจรรมของบริษัททีโอซีครั้งนี้ สมาคมฯ และชาวระยองจะมีมาตรการตอบโต้ กนอ.และรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวต่อไป
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิฯ เอเชีย เผยสลดใจคำตัดสินคดี “จินตนา” ชี้เป็นการยืนยัน “ใช้สิทธิปกป้องชุมชน” ผิดกฎหมาย

Posted: 17 Oct 2011 03:29 AM PDT

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ออกแถลงการณ์ ต่อคำตัดสินของศาลฎีกาไทย คดี “จินตนา แก้วขาว” ชี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงถูกมองว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย ต่อต้านประโยชน์ของรัฐ

 
เมื่อวันที่ 13 ต.ค.54 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) ออกแถลงการณ์ ต่อกรณีศาลฎีกาพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ชี้เป็นการยืนยันว่าการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนนั้นผิดกฎหมาย
 
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า รู้สึกสลดใจกับคำตัดสินของศาลฎีกาไทย ที่สั่งให้ลงโทษนางจินตนา ซึ่งได้พยายามใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตนเอง โดยได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก – หินกรูด ต่อสู้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในพื้นที่หินกรูดและบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์มากว่า 10 ปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนได้
 
“แต่ในตอนนี้เธอถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลาสี่เดือน ในข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทที่พยายามสร้างโรงไฟฟ้า หลังจากผ่านไปแปดปี ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีของเธอ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า สิทธิของประชาชนชาวไทย ในการประท้วงและปกป้องชุมชนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ชี้แจงด้วยว่า AHRC ต้องการเน้นย้ำในประเด็นนี้ เนื่องจากภายหลังรัฐประหารปี 2549 AHRC ได้ทำนายว่า จะเกิดการฟื้นคืนของอำนาจทหาร และลัทธิธรรมนูญนิยมจอมปลอม ซึ่งย่อมจะนำไปสู่แนวคิดและแนวนิติศาสตร์ที่ต่อต้านสิทธิมนุษยชน ดังที่เห็นได้ในคดีนี้ คำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ศาลไม่เชื่อมโยงกับความเป็นจริง หรืออาจเป็นเพราะศาลเพิกเฉยต่อความเป็นจริงก็ได้
 
ความเห็นที่ว่า โจทก์ในคดีนี้อาจมีความหวาดกลัวต่อ “อิทธิพล” ของจำเลย ไม่เพียงเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง แต่ยังเป็นความเห็นที่น่าขัดเคืองใจ ในประเทศไทยการอ้างถึงบุคคล “ที่มีอิทธิพล” ทำให้เกิดภาพของบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจ ซึ่งมักจะหมายถึงอิทธิพลของบุคคลและหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพ และไม่หวั่นเกรงที่จะต้องใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
 
“การที่ศาลอุทธรณ์เอ่ยถึงนางจินตนาด้วยการใช้ถ้อยความเช่นนี้ และศาลฎีกาเองก็ไม่คัดค้านความเห็นดังกล่าว ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ผิด แต่เป็นเรื่องที่ชั่วร้าย และเป็นตัวชี้วัดว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงถูกมองว่า เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย และเป็นคนทำความชั่ว ต่อต้านประโยชน์ของรัฐ” แถลงการณ์ระบุความเห็น
 
นอกจากนั้น แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า นางจินตนาและเพื่อนสมาชิกที่ประจวบคีรีขันธ์ ต้องเผชิญกับการข่มขู่ และคุกคาม จากนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นเดียวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ โดยยกตัวอย่างการใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย กรณี นายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ต.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกสังหารระหว่างลงจากรถทัวร์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2547 หลังจากไปให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ที่กรุงเทพฯ และเมื่อต้นปีนี้ ในวันที่ 31 ม.ค.2554 นายเผชิญ เกตุแก้ว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านเกิด ต.อ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกลอบสังหาร แต่รอดมาได้
 
“แม้จะมีวิธีการแตกต่างกัน ตั้งแต่การลงโทษตามกฎหมาย ไปจนถึงการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย คดีของ นางจินตนา แก้วขาว นายเจริญ วัดอักษร และ นายเผชิญ เกตุแก้ว สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงที่ยังดำรงอยู่ของคนไทยที่พยายามต่อสู้เพื่อคุ้มครองชุมชนและสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นการต่อต้านความพยายามที่ทำลายธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตน” แถลงการณ์ระบุ 
 
 
 
 
 
เพื่อการเผยแพร่ทันที 
13 ตุลาคม 2554 
 
แถลงการณ์คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC)
 
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) รู้สึกสลดใจกับคำตัดสินของศาลฎีกาไทย ที่สั่งให้ลงโทษ นางจินตนา แก้วขาว จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้พยายามใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตนเอง 
 
เป็นเวลากว่าทศวรรษที่นางจินตนา ได้ต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการพัฒนา ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่บริเวณหินกรูดและบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เธอและเพื่อนสมาชิกกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก – หินกรูด ประสบความสำเร็จ สามารถป้องกัน ไม่ให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนของตน และพยายามทำงานเพื่อพัฒนารูปแบบพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในตอนนี้เธอถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลาสี่เดือน ในข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทที่พยายามสร้างโรงไฟฟ้า หลังจากผ่านไปแปดปี ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีของเธอ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า สิทธิของประชาชนชาวไทย ในการประท้วงและปกป้องชุมชนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ในชั้นต้น ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้สืบพยานในคดีของ นางจินตนา (คดีหมายเลขดำที่ 1480/2545; คดีหมายเลขแดงที่ 3283/2546) โดยพนักงานอัยการอ้างว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้บริหาร บริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในตอนบ่ายของวันที่ 13 มกราคม 2547 ระหว่างจัดเตรียมโต๊ะอาหารและจัดเตรียมห้อง กลุ่มประชาชนได้บุกเข้ามาในห้องและเทน้ำปฏิกูลบนโต๊ะและในถังน้ำแข็ง นางจินตนาให้การว่า เธอได้ไปที่สำนักงานของบริษัทในตอนบ่ายนั้นจริง แต่ไปที่นั่นพร้อมกับนักรณรงค์คนอื่น ๆ เพื่อยื่นจดหมายประท้วงบริษัท เมื่อไปถึงก็ต้องเจอกับชายฉกรรจ์กว่า 50 คน ที่รออยู่ พวกเธอจึงตัดสินใจกลับบ้าน คำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ กับคำเบิกความของนางจินตนา มีลักษณะขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่พยานโจทก์บางคนอ้างว่า นางจินตนาเป็นผู้นำฝูงชนที่บุกเข้ามาในห้องรับประทานอาหาร พยานคนอื่น ๆ กลับไม่ระบุว่าเห็นเธอเป็นส่วนหนึ่งของผู้บุกรุกเข้ามา ด้วยเหตุของการเบิกความที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ศาลจังหวัดพิพากษายกฟ้อง นอกจากนั้น ศาลยังได้อ้างถึงบริบทที่นำไปสู่การต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และได้หยิบยกเหตุผลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และอาชีพของประชาชน เพื่ออธิบายว่า เหตุใดนางจินตนาและชาวบ้านคนอื่น ๆ รวมทั้งนักเคลื่อนไหวที่บ่อนอกและหินกรูด ต้องรวมตัวเพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้า (รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดดู: http://www.article2.org/mainfile.php/0603/282/)
 
ฝ่ายอัยการโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษา และในวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ได้กลับคำพิพากษายกฟ้อง และมีคำสั่งให้ลงโทษนางจินตนา ตามมาตรา 362 และ 365 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาบุกรุกร่วมกับบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป (คดีหมายเลขดำที่ 3533/2546; คดีหมายเลขแดงที่ 2355/2548) ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาจากศาลชั้นต้น โดยอ้างว่า มีพยานหลักฐานที่ชี้ว่า นางจินตนาอยู่ที่สำนักงานของบริษัท ยูเนียน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในวันที่มีการก่อกวนงานเลี้ยง แม้ศาลยอมรับว่า มีการเบิกความของพยานโจทก์ที่ไม่สอดคล้องกัน แต่ก็ยืนยันว่า ทางฝ่ายจำเลยไม่แสดงพยานหลักฐานมากเพียงพอ ที่จะพิสูจน์ว่า ไม่มีความผิดฐานบุกรุก และเป็นผู้นำคนอื่นให้เทสิ่งปฏิกูลใส่โต๊ะอาหาร ศาลยังมีความเห็นต่อไปว่า การเบิกความที่ไม่สอดคล้องกันของโจทก์ อาจเป็นเพราะ “เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด” เป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำคุกนางจินตนาเป็นเวลาหกเดือน
 
ฝ่ายจำเลยจึงได้ยื่นฎีกา และศาลฎีกาได้พิพากษายืน มีคำสั่งให้จำคุกนางจินตนาเป็นเวลาสี่เดือน ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 (ศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ 13005/2553) ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาดังกล่าว ที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีความเห็นว่า ประเด็นของคดีว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มคัดค้านได้บุกรุกและเทสิ่งปฏิกูลลงบนโต๊ะอาหารของบริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือไม่ ศาลเห็นว่า การเบิกความที่ไม่สอดคล้องกันของโจทก์ และการที่พยานฝ่ายโจทก์ไม่สามารถระบุตัวนางจินตนา ไม่ได้ลดทอนน้ำหนักของคำเบิกความ ศาลยังมีความเห็นต่อไปว่า เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ว่า โจทก์มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลเชื่อได้ว่า การกล่าวโทษเกิดจากเจตนาร้าย เนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานที่ชัดเจนได้ว่า นางจินตนาไม่ได้เป็นผู้นำกลุ่มบุคคลที่บุกรุกเข้าไปในงานเลี้ยงตอนกลางวัน ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน แต่มีเหตุให้บรรเทาโทษ เนื่องจากจำเลยให้ความร่วมมือในระหว่างการพิจารณาคดี นางจินตนาต้องเข้าเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อใช้โทษทันที หลังจากมีการอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม
 
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ตีพิมพ์บทความเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 (ที่นี่) ซึ่งผู้เขียน คือ ผ.ศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้หยิบยกประเด็นที่สำคัญหลายประการเกี่ยวกับคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของคดีนี้ต่อขบวนการด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ทั้งยังเชื่อมโยงคดีนี้เข้ากับคำถามเกี่ยวกับสิทธิในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ เนื่องจากการกล่าวโทษนางจินตนาเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ยังคงมีผลบังคับใช้ แต่ต่อมา ก็ถูกทดแทนด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
 
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียประสงค์ที่จะเน้นย้ำในประเด็นนี้ เนื่องจากภายหลังรัฐประหารปี 2549 เราได้ทำนายว่า จะเกิดการฟื้นคืนของอำนาจทหาร และลัทธิธรรมนูญนิยมจอมปลอม ซึ่งย่อมจะนำไปสู่แนวคิดและแนวนิติศาสตร์ที่ต่อต้านสิทธิมนุษยชน ดังที่เห็นได้ในคดีนี้ คำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ศาลไม่เชื่อมโยงกับความเป็นจริง หรืออาจเป็นเพราะศาลเพิกเฉยต่อความเป็นจริงก็ได้ ความเห็นที่ว่า โจทก์ในคดีนี้อาจมีความหวาดกลัวต่อ “อิทธิพล” ของจำเลย ไม่เพียงเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง แต่ยังเป็นความเห็นที่น่าขัดเคืองใจ ในประเทศไทยการอ้างถึงบุคคล “ที่มีอิทธิพล” ทำให้เกิดภาพของบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจ ซึ่งมักจะหมายถึงอิทธิพลของบุคคลและหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพ และไม่หวั่นเกรงที่จะต้องใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน การที่ศาลอุทธรณ์เอ่ยถึงนางจินตนาด้วยการใช้ถ้อยความเช่นนี้ และศาลฎีกาเองก็ไม่คัดค้านความเห็นดังกล่าว ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ผิด แต่เป็นเรื่องที่ชั่วร้าย และเป็นตัวชี้วัดว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงถูกมองว่า เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย และเป็นคนทำความชั่ว ต่อต้านประโยชน์ของรัฐ
 
เช่นเดียวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ นางจินตนาและเพื่อนสมาชิกที่ประจวบคีรีขันธ์ ต้องเผชิญกับการข่มขู่ และคุกคาม ของนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมมือด้วยมาเป็นเวลานาน ผู้ที่ต่อต้านนักปกป้องสิทธิฯต่างหากที่จะมุ่งหน้าใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย ไม่ใช่ตัวผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเลย อย่าลืมว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 นายเจริญ วัดอักษร ผู้นำอีกคนหนึ่งที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและการทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ถูกสังหารจนเสียชีวิตระหว่างลงจากรถทัวร์ หลังจากไปให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ที่กรุงเทพฯ (โปรดดู AHRC-UA-76-2004 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลอบสังหาร) เมื่อต้นปีนี้ ในวันที่ 31 มกราคม 2554 นายเผชิญ เกตุแก้ว ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มนางจินตนาก็รอดตายจากการลอบสังหาร นายเผชิญทำงานต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ แต่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลไม่ใช้ถ่านหิน แม้จะมีวิธีการแตกต่างกัน ตั้งแต่การลงโทษตามกฎหมาย ไปจนถึงการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย คดีของ นางจินตนา แก้วขาว นายเจริญ วัดอักษร และ นายเผชิญ เกตุแก้ว สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงที่ยังดำรงอยู่ของคนไทยที่พยายามต่อสู้เพื่อคุ้มครองชุมชนและสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นการต่อต้านความพยายามที่ทำลายธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตน 
 
 
 
# # #
 
เอเอชอาร์ซี: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ออกเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และ สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสถาบันยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม สำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2527
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จ้องมองน้ำ จะหลากท่วมทุ่งเมืองไทย

Posted: 17 Oct 2011 02:13 AM PDT

“ภาพฝนตกพร่ำๆ ช่วงปลายฝนต้นหนาว ตุลาคม 2554 สลับกับภาพน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ผ่านแนวกระสอบทรายที่กั้นไว้ พร้อมคำสัมภาษณ์ถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมบ้านเรือน ขณะเดียวกันก็มีการเสนอภาพการอพยพหนีน้ำท่วม และความช่วยเหลือต่างๆ ที่เข้ามายังพื้นที่น้ำท่วม เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน” 

การถ่ายทอดภาพเสมือนความจริงผ่านเครื่องโทรทัศน์ที่รับรู้และจ้องมองอย่างไม่กระพริบตาในช่วงเวลานี้  เรื่องน้ำหลากท่วมพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนมากที่สุด  เนื่องด้วยปริมาณน้ำที่มากมายมหาศาลไหลลงสู่พื้นที่ราบลุ่มของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ก่อนน้ำทั้งหมดจะไหลหลากมายังกรุงเทพในท้ายที่สุด  ซึ่งปริมาณน้ำ หรือเรียกกันจนติดปากว่า มวลน้ำ ได้ส่งผลกระทบมากมายกับชีวิตผู้คน ทั้งในพื้นที่ที่มวลน้ำไหลผ่านและไม่ไหลผ่าน เพราะทุกคนได้จับจ้อง เฝ้ามอง และวิตกกังวลกับความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเอง ญาติพี่น้อง และคนอื่นๆ ก็ตามที  และมักจะได้คำทักทายใหม่ๆ ว่า “น้ำท่วมหรือยัง?” นอกจากนี้ ยังมีคำใหม่ๆ ผ่านสื่อ เช่น น้ำเข้าโจมตี การต่อสู้กับมวลน้ำ การอพยพหนีน้ำ ฯลฯ

ประเด็นสำคัญ คือ ทำไมเรื่องน้ำท่วมจึงสร้างความเครียด และความหวาดกลัวให้กับผู้คนได้อย่างมากมาย ซึ่งสะท้อนผ่านวิธีคิดในการอธิบายเรื่องน้ำพุทธศักราช 2554 นี้ พบว่าความคิดเรื่องน้ำในบริบทปัจจุบัน ได้เปลี่ยนสถานภาพจาก “มิตร” ทรัพยากรผู้หล่อเลี้ยงวิถีชีวิต เป็น “ศัตรู” ภัยธรรมชาติผู้บ่อนทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ดังคำกล่าวว่า “…การป้องกันน้ำท่วมก็เหมือนการป้องกันเมืองจากการโจมตีของข้าศึก ซึ่งเราอาจจะป้องกันเอาไว้ได้หรือป้องกันไม่ไหวก็ได้ หากถึงที่สุดแล้ว เราไม่มีทางต่อสู้ได้แน่ๆ พ่ายแพ้แล้ว...” (ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์.2554) หรืออาจกล่าวว่า น้ำที่เราจ้องมองนี้ ไม่ใช่น้ำที่เชื่อง แบบว่านอนสอนง่าย แต่เป็นมวลน้ำที่ดุดันและน่าสะพรึงกลัว ไม่เหมือนกับสายน้ำเมื่อวันวานที่ผ่านมา  

โจทย์คำถามนี้ ทำให้ต้องทบทวนว่า เมื่อ 20-30 ปีก่อนหน้านี้  เราไม่มีความคิดว่า น้ำที่ไหลผ่านบ้านจะเป็นศัตรูที่ต้องป้องกันหรือกีดกั้นให้ออกจากบ้าน  แต่กลับคิดว่า เราจะอาศัยอยู่ในบ้านที่มีน้ำร่วมอยู่ด้วยอย่างไร เพราะเชื่อว่า น้ำที่ไหลเข้ามานั้น เป็นเรื่องของฤดูกาลที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี จึงเรียนรู้และเตรียมพร้อมว่า ช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว จะมีวิถีชีวิตที่อาจมีน้ำ(ท่วม) เข้ามาอยู่กับเราในบ้านหรือรอบบ้าน โดยชาวบ้านจะซ่อมแซมเรือ  เตรียมเครื่องมือหาปลา  เก็บเกี่ยวข้าวนาปีให้เสร็จสิ้นก่อน และเตรียมจัดแจงพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ หรือพิธีกรรมที่แสดงถึงความเคารพทรัพยากรท้องถิ่น ดังนั้น ความคิดเรื่องน้ำ จึงไม่ได้เป็นศัตรูที่ต้องกีดกั้นให้ออกไป ตรงกันข้าม น้ำท่วมเป็นเรื่องวัฎจักรหมุนเวียนรอบปีที่ผู้คนต้องปรับตัว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและชุมชน 

หากถกเถียงว่า เรื่องน้ำท่วมในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ทั้งปริมาณมวลน้ำ วิถีชีวิตผู้คน และสภาพบ้านเรือน จึงทำให้วิธีคิดในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกัน เพราะปัจจุบัน บริบทของเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว  ประการแรก การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางกายภาพ โดยพบว่า มีการปรับพื้นที่ดินให้สูงขึ้น เพื่อสร้างบ้านเรือน หมู่บ้านจัดสรร และนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่น้ำหลาก หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ เป็นทางน้ำไหล หรือเรียกง่ายๆ คือ ทำเลน้ำท่วม   

ประการสอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ มีการผลิตสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมทางการค้า เพื่อแข่งขันเวทีตลาดโลก ขณะเดียวกัน ประเพณีวัฒนธรรมที่เคยปฏิบัติประจำปี ถูกละเลยและไม่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมได้อีกต่อไป แต่กลับผลิตวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้าการท่องเที่ยว ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบันจึงเร่งผลิตเพื่อแสวงหากำไร และหากมีเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ จะทำให้ประสบภาวะขาดทุน เพราะน้ำได้บ่อนทำลายผลผลิต อันหมายถึงต้นทุนและผลกำไรที่ต้องไหลไปกับน้ำท่วม         

ประการสาม การปรับเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมของผู้คน พบว่าคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกร มีการศึกษาสูงขึ้น มีวิถีชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากสังคมเมือง และเชื่อมโยงสังคมโลก จึงอาจเรียกว่า มีสถานภาพเป็นคนชั้นกลางสมัยใหม่  ท่ามกลางบริบททรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด ปัญหามลพิษที่เพิ่มขึ้น   และปัญหายาเสพติด อาชญกรรม ความขัดแย้งและอื่นๆ นับว่าเป็นความเสี่ยงที่แวดล้อมอยู่รอบตัว ซึ่งบริบทเหล่านี้ได้หล่อหล่อมวิถีคิดของคนชั้นกลางสมัยใหม่ ทั้งด้านความเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องการบริโภคพืชผักปลอดสารพิษ ความใส่ใจต่อสุขภาพอนามัย และภาพจินตนาการชุมชนเข้มแข็งพึงพาตนเอง   ภาพตัวแทนเหล่านี้ เป็นการแสวงหาความบริสุทธิ์และความสะอาด ตรงกันข้าม ก็รังเกียจและกีดกั้นความไม่บริสุทธิ์และความไม่สะอาด   ดังนั้น เสียงที่ดังของคนชั้นกลางสมัยใหม่ จึงให้ความหมายกับน้ำหลากท่วมนี้ว่า เป็นสิ่งสกปรกและ ไม่สะอาด หรือ Mary Douglas (1966) เรียกว่า "วัตถุ-สสารที่ไม่เหมาะกับกาละเทศะ" คือ น้ำหลากท่วมไม่ถูกต้องกับจังหวะเวลาและพื้นที่ที่ต้องการให้น้ำท่วม

น้ำที่ไหลหลากเข้าท่วมเมืองไทยขณะนี้ ล้วนผสมปนเปไปด้วยสิ่งสกปรก  สิ่งปฏิกูล  อุจจาระ ซากเน่าเปื่อย และมลพิษต่างๆ จากทุกทิศทางที่น้ำไหลผ่าน  ผนวกกับรากเหง้าความเชื่อที่ว่า น้ำเป็นเครื่องมือส่งผ่านความชั่วร้ายหรือเคราะห์กรรมออกจากครอบครัวและชุมชน   แต่ขณะนี้ น้ำได้นำพาความชั่วร้ายหรือเคราะห์กรรมเข้ามาสู่บ้านเรือน  วิธีการป้องกัน คือ กีดกั้นน้ำให้ออกจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่ง “น้ำ”ในความหมายนี้ ไม่แตกต่างจาก “ขยะ” ที่ต้องการทิ้งลงถังให้เร็วที่สุด  แต่อย่าลืม ยังมีความเชื่อเรื่องน้ำในความหมายของความศักดิ์สิทธิ์  เช่น น้ำในพิธีกรรมทางศาสนาและสถาบัน และน้ำฝนจากฟ้า ซึ่งล้วนมีนัยยะของความบริสุทธิ์ บุญ และความอุดมสมบูรณ์  ดังนั้น ความหมายในวิธีคิดเรื่องน้ำ จึงมีสองด้าน คือ  ความศักดิ์สิทธิ์กับความสกปรก

Mary Douglas (1966) ได้กล่าวว่า แนวคิดสุดขั้วเรื่อง ความสะอาด-สกปรก เกิดจากการตีความ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติรอบตัว และมนุษย์กับความขัดแย้งทางจิตใจ ซึ่งความสะอาด-สกปรกในธรรมชาตินั้นเป็นของคู่กัน แต่มนุษย์ได้แยกแยะความสะอาดกับความสกปรกออกจากกัน จากนั้นก็สร้างพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องความสะอาดให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ความสกปรก หรือไม่สะอาด ถูกตีความใหม่ว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายและบาปของมนุษย์ที่ต้องขจัดทิ้ง เมื่อรากฐานความเชื่อนี้ได้แพร่กระจายไปสู่วิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ในสังคม ผ่านอาหาร การทำงาน เพศสัมพันธ์ การชำระร่างกาย การแพทย์ ฯลฯ จนกลายเป็นฐานรากทางสังคมที่ฝังลึกในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นมา และมีการกำหนดสิ่งต้องห้ามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบสังคม โดยการวินิจฉัยเชิงคุณค่าเกี่ยวกับความสะอาด-สกปรกเป็นรากฐาน ซึ่งกระบวนการนี้ได้ถูกส่งผ่านวิถีคิดแบบตะวันตกเกือบทุกสาขามาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อสังคมโลกาภิวัตน์ขยายตัว เป็นคู่ขนานกับแนวคิดเรื่องความสะอาด-สกปรก และเคลื่อนย้ายไปผนวกรวมกับมายาคติปัญหามลพิษ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโลก  และดูเหมือนว่าวิธีคิดนี้จะเข้มข้นและแพร่กระจายในสังคมเมือง หมู่คนชั้นกลางสมัยใหม่ ทำให้แบ่งแยกเป็นสองขั้วความคิดชัดเจน  เช่น  ด้านการเมือง  ชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นต้น ทั้งนี้ ความแบ่งแยกขั้วความคิดเรื่องสะอาด-สกปรก ก็ยังมีจุดคลุมเครือและพร่ามัว ยกตัวอย่าง ประเด็นที่ว่า  หากสุขาเป็นเรื่องความสกปรก ทำไมต้องทำสุขาไว้ภายในบ้านหรือบนบ้าน  ไม่แยกออกจากบ้านเรือน หรือ สุขา เป็นเรื่องความสะอาด หรือถูกทำให้สะอาดเพราะน้ำ  

ทั้งนี้ น้ำท่วมในความหมายของเมืองไทย ณ ช่วงเวลานี้ คือ ศัตรู หรือความสกปรกที่ต้องการกีดกั้นออกไป ด้วยกระบวนการจัดจำแนกพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมตามลำดับขั้น ซึ่งเมืองหลวง เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และสังคมที่สำคัญที่สุดในการป้องกันน้ำท่วม   สำหรับข้อกล่าวอ้าง เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพ คือ หากน้ำท่วมจะกระทบต่อศูนย์กลางเศรษฐกิจ และการบริหารราชการแผ่นดินของเมืองไทย ซึ่งสาเหตุหลักที่น้ำท่วมกรุงเทพ มาจากเงื่อนไข 3 ประการสำคัญ คือ 1) น้ำเหนือที่ไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา 2) น้ำทะเลหนุนเข้ามาทางปากอ่าวและปากคลองต่างๆ และ 3) ฝนที่ตกลงมาในพื้นที่  

มีข้อเสนอว่า  การป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพ ควรทำให้เป็นพื้นที่ปิดล้อม โดยปิดล้อมทางด้านเหนือและภาคตะวันออก รวมทั้งการปิดล้อมประตูระบายน้ำเมื่อน้ำหนุน และปิดล้อมน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนฝั่งตะวันตก หรือฝั่งธนบุรีจะทำให้มีพื้นที่ปิดล้อมย่อยๆ (สฤณี อาชวานันทกุล. 2554) ซึ่งการดำเนินการปัจจุบัน ก็ได้ทำให้กรุงเทพเป็นพื้นที่ปิดล้อมแล้ว ด้วยการสร้างแนวกระสอบทราย  และเร่งสูบน้ำออก  เพื่อไม่ให้น้ำไหลตามพื้นที่ความลาดชันตามธรรมชาติ หากแต่ผลักน้ำให้ไหลไปตามพื้นที่ที่มีลำดับขั้นความสำคัญต่ำกว่ากรุงเทพ  บางส่วนก็ผลักน้ำเข้าเรือกสวนไร่นาหรือชุมชนรอบกรุงเทพ และภาคกลาง ซึ่งเป็นการจงใจปล่อยน้ำให้ท่วมจังหวัดรอบๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มปากอ่าวไทย อันเป็นทำเลน้ำท่วม  

ทั้งนี้ยังไม่มีข้อถกเถียงว่า  ชาวบ้านในภาคกลางและเขตปริมณฑลที่ถูกน้ำท่วมจำนวนมากต้องหมดเนื้อหมดตัวทุกอย่าง หรือบางคนถึงกับเสียชีวิต  เพราะสายป่านทางเศรษฐกิจไม่ยาวพอที่จะเอาตัวรอดหรือเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นได้ และต้องรอเงินชดเชยจากรัฐเป็นเวลานาน หรือหลายคนไม่ได้รับเงินชดเชยเลย ส่วนเงินชดเชยที่ได้รับ็ก็เป็นเพียงส่วนน้อยของมูลค่าผลิตผลที่คาดว่าจะขายได้ถ้าน้ำไม่ท่วม (สฤณี อาชวานันทกุล. 2554) ขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อคนกรุงเทพนั้น หากปล่อยให้น้ำท่วมอาจจะน้อยกว่าผลรวมของความเสียหายชาวบ้านในจังหวัดภาคกลางและเขตปริมณฑล เพราะมีสายป่านทางเศรษฐกิจที่ยาวกว่าชาวบ้านในเขตรอบนอก  กล่าวได้ว่า บริษัท โรงงาน ห้างร้าน คอนโด บ้านจัดสรร ที่ถูกน้ำท่วมเพียงไม่กี่วัน อย่างมากก็สูญเสียรายได้บ้าง หรือต้องอดทนกับการลุยน้ำ ซึ่งมีน้อยรายที่ต้องหมดเนื้อหมดตัวทุกอย่าง    

 

 

 แผนผังแสดงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2553


ความไม่เท่าเทียมกันในการรับน้ำหลากท่วมทุ่งเมืองไทย ระหว่างคนกรุงเทพกับคนรอบนอกกรุงเทพและคนต่างจังหวัด ขณะที่คนกรุงเทพได้รับผลกระทบน้อยมาก ตรงกันข้าม คนอื่นต้องยืนมองน้ำท่วมบ้านและเรือกสวนไร่นา ด้วยเหตุผลว่า เป็นการเสียสละ เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมเมืองหลวง    ขณะเดียวกัน คนกรุงเทพ แสดงออกถึงความสงสาร ความเห็นใจ และขานรับด้วยการระดมการบริจาคเงินและสิ่งของ ช่วยบรรเทาและเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแจกถุงยังชีพ และกล่อมผู้คนให้ลืมความไม่เท่าเทียมกันด้วยละคร เสียงเพลงและข่าวสถานการณ์น้ำท่วมผ่านรายการทีวี  ซึ่งการกระทำเฉกเช่นนี้ เพื่อบอกให้รู้สึกว่า คนกรุงเทพได้ขอโทษในสิ่งที่ได้กระทำไปแล้ว  และเมื่อรอบปีน้ำหลากท่วมผ่านมาอีกครั้ง กลไกความไม่เท่าเทียมกันก็จะทำงานอีก โดยกลบเกลื่อนเรื่องศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐศาสตร์  เพื่อกำหนดว่า ใครควรมีศักดิ์ศรีและคุณค่าเท่าไร โดยมีพื้นที่น้ำท่วม เป็นภาพสะท้อนตัวชี้วัดคุณค่าความสำคัญ

ทางเลือกการป้องกันน้ำท่วมดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคนกับคน และคนกับน้ำ ซึ่งดูเหมือนว่า ปัจจุบันเมืองไทยกับน้ำท่วมจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์   เว้นแต่ว่า น้ำท่วมจะอยู่คู่กับวิถีชีวิตตลอดทุกวัน เหมือนกับส้วมที่ตั้งอยู่ในบ้านจัดสรร หรือหากจะคิดจัดการน้ำท่วมต่อไปในอนาคต คงต้องคำนึงว่า น้ำจะอยู่ที่ไหนและอยู่ในสถานภาพอะไร (ความสกปรก-ความศักดิ์สิทธิ์-ความสะอาด)

ณ ขณะนี้ เกือบทุกสายตา เฝ้าจ้องมองว่า น้ำจะท่วมทุ่งเมืองไทยที่ไหนต่อไป ความทุกข์ยากของชาวบ้านมีอะไรบ้าง และการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ด้วยการแจกถุงยังชีพจะเข้าถึงชาวบ้านหรือไม่  ซึ่งการจ้องมองและช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม นับว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ  แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะต้องพบเจอเหตุการณ์น้ำท่วม  การป้องกัน และการช่วยเหลือชาวบ้าน  ด้วยกระบวนการนี้เกือบทุกปีเชียวหรือ หรือจะเปิดให้มีทางเลือกอื่นๆ เพื่อค้นหาคำตอบว่าจะทำให้อย่างไรให้ คน ท้องถิ่น และเมืองอยู่กับน้ำท่วมอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน

 

บรรณานุกรม

Mary Douglas. Purity and Danger: An Analysis of Concepts of Pollution and Taboo .Routledge Classics: London. 1966

ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์. บัญญัติ 20 ประการ เตรียมบ้านก่อนน้ำท่วม.  http://www.tcijthai.com/column-article/886. 10 ตุลาคม 2554

สฤณี อาชวานันทกุล. เศรษฐศาสตร์และการเมืองเรื่องน้ำ. http://www.tcijthai.com/column-article/567. 30 มิถุนายน 2554

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลิกมองพระสงฆ์กับการเมืองแบบโรแมนติกเสียที (ตอนจบ)

Posted: 17 Oct 2011 01:54 AM PDT

สำหรับพระเอ็นจีโอ พระปัญญาชน แม้ผมจะเห็นด้วยว่า ในทางหลักการพระควรมีบทบาทแลกเปลี่ยนความคิด หรือผลักดันอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองบางอย่างที่ตนเชื่อได้เหมือนคนทั่วๆ ไป แต่ผมก็ต้องการท้าทายกับท่านเหล่านั้นว่า เมื่อออกมาแสดงความเห็น หรือแสดงบทบาทเชิงสังคมการเมืองแล้ว ท่านจะหวังได้รับแต่การอวย การเคารพนบนอบเท่านั้นไม่ได้ ท่านต้องพร้อมที่จะถูกด่า ถูกวิจารณ์กลับได้ด้วย

ที่พูดเช่นนี้ สืบเนื่องจากบทความชื่อ “เลิกมองพระสงฆ์กับการเมืองแบบโรแมนติกเสียที” ผมได้นำเสนอการโพสต์ความเห็นทางการเมืองของพระบางรูปทาง FB ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ต่อมาทราบว่าพระรูปนั้นได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเพื่อนบางคนที่นำข้อความของท่านมาด่าและวิจารณ์
 
ผมจะไม่พูดถึงเรื่องการดำเนินคดี และข้อความที่ถูกแจ้งความ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย แต่ขอแสดงความเห็นต่อบางข้อความของพระว่า ทำไมจึงทำให้คนนำมาด่าและวิพากษ์วิจารณ์ และต้องการอธิบายในเชิงหลักการว่า เราควรจะทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าวอย่างไร
 
ประเด็นที่หนึ่ง ข้อความบางข้อความทาง FB ของพระที่ผมคิดว่าทำให้คนไม่พอใจ หรือกระทั่งโกรธอย่างมาก คือข้อความตามโพสต์ข้างล่างนี้
 

 
ข้อความดังกล่าวนี้แม้ไม่ใช่คำหยาบ แต่ในเชิงเนื้อหาก็ถือว่า “แรงมาก” เท่าที่ผมทราบคนที่นำข้อความนี้ไปโพสต์ด่า และวิจารณ์จนถูกแจ้งความนั้น คือคนที่สูญเสียลูกชายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา จริงอยู่แม้ข้อความนี้จะไม่เกี่ยวโดยตรงกับเหตุการณ์ที่เขาสูญเสียลูกชาย แต่เป็นไปได้ที่เมื่อเขาได้อ่านข้อความเช่นนี้ของ “พระ” แล้ว เขาอาจจะรู้สึกสะเทือนใจ จนกระทั่งบันดาลโทสะ หรือโกรธอย่างรุนแรง เนื่องจากอาจเห็นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา (และคนอื่นๆ) ถูกย่ำยีอย่างรุนแรง
 
ผมไม่ได้หมายความว่า พระที่โพสต์ข้อความมีเจตนาย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดงหรือของใคร เพราะผมไม่สามารถหยั่งรู้ “จิตใจ” ของท่านได้ แต่ผมกำลังจะบอกว่าเนื้อหาของข้อความดังกล่าวมันอาจทำให้คนที่ถูกพูดถึงรู้สึกว่าตนถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ เพราะเมื่อเราพูดถึง “การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ความหมายโดยพื้นฐานเลยคือ “การเคารพความเป็นมนุษย์ในฐานะสัตว์ผู้มีเหตุผล หรือมีความสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองได้”
 
แต่ข้อความดังกล่าอาจถูกตีความได้ว่า ไม่เคารพความมีเหตุผล หรือความสามารถในการใช้วิจารณญาณของประชาชนจำนวนหนึ่งที่พวกเขาเองย่อมสามารถแยกแยะได้ว่า การสลายการชุมนุมทางการเมืองด้วย “กระสุนจริง” ที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร แต่การช่วยเหลือประชาชนทุกคน (โดยไม่เลือกว่าจะเคยด่าหรือไม่เคยด่าทหาร) นั้นเป็นหน้าที่ของทหาร (หรือข้าราชการที่เกี่ยวข้อง) ที่รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน
 
นอกจากนี้ข้อความว่า “...ไม่น่าจะยื่นมือมารับความช่วยเหลือนะ...” มันเป็นข้อความที่ผิดทั้งในทาง “หลักการ” และในทาง “มนุษยธรรม” ในทางหลักการนั้นย่อมเป็นหน้าที่ของทหาร (หรือข้าราชการอื่นๆ) ที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยโดยไม่เลือกว่าจะเป็นใครอยู่แล้ว และประชาชนก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะได้รับความช่วยเหลือจากทหารหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ อยู่แล้ว ส่วนในทางมนุษยธรรม ผู้มีสามัญสำนึกปกติทุกคนย่อมรู้สึกได้ว่าข้อความดังกล่าวแสดงถึงความไร้มนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง
 
เพราะในทางมนุษยธรรมนั้น ข้าศึกหรือโจรที่ได้รับบาดเจ็บก็ยังสมควรได้รับการรักษาจากแพทย์ นับประสาอะไรกับประชาชนที่เคยด่าทหารจะไม่พึงได้รับสิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือจากทหาร ในยามที่พวกเขาประสบอุทกภัยที่เป็นความเดือดร้อนอย่างหนักเช่นที่เป็นอยู่นี้
 
ฉะนั้น เมื่อพิจารณาเฉพาะความหมายของข้อความตามโพสต์ข้างต้น สามารถถูกตีความได้ว่ามีความหมายในเชิงไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีความหมายในเชิงไร้มนุษยธรรมดังกล่าว จึงเป็นไปได้ที่จะทำให้ผู้คนบางส่วนรู้สึกสะเทือนใจ จนถึงโกรธอย่างรุนแรง หรือไม่เห็นด้วยกับข้อความนั้น โดยเฉพาะยิ่งเป็นข้อความของ “พระ” ยิ่งทำให้เขาโกรธมากกว่าปกติ จนทำให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ในลักษณะต่างๆ ทั้งด้วยการด่า การวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่เขาเหล่านั้นอาจไม่ได้เกลียดชังเป็นส่วนตัว ไม่ได้ต้องการดูถูกดูหมิ่น หรือจงใจใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ “พระ” ที่เป็นเจ้าของข้อความนั้นได้รับความเสียหาย แต่เขาด่าเขาวิจารณ์ “ความคิดเห็นเชิงสาธารณะ” ของพระรูปหนึ่งเท่านั้น
 
แต่หากพระเห็นว่าท่านเสียหาย ท่านก็มีสิทธิ์แจ้งความตามกฎหมายได้ ก็ต้องสู้กันไป แต่โดยความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าพระกำลังสู้กับ “มโนธรรมของสังคม” ที่ตั้งคำถามต่อมโนธรรมของพระรูปนั้นเองด้วย และในทางกฎหมายผมก็เห็นว่า กฎหมายก็ต้องมี “ความยุติธรรม” โดยพิจารณาที่มาที่ไปอย่างควรแก่เหตุ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ชาวบ้านจะนึกสนุกแบบตั้งวงเหล้าพอเมากันได้ที่แล้วก็ลุกขึ้นมาด่าพระสนุกเล่นกันเฉยๆ
 
ประเด็นที่สอง เราต้องเข้าใจว่าโดยสถานะแล้วพระ คือ “บุคคลสาธารณะ” เนื่องจากสถานะของพระเป็นสถานะของบุคคลทางศาสนาที่ได้รับการยอมรับนับถือตามวัฒนธรรมประเพณีของสังคมพุทธ พระต้องเลี้ยงชีพโดยอาศัยปัจจัยสี่จากชาวบ้าน เป็นผู้นำทางจิตปัญญาและแบบอย่างทางศีลธรรม เมื่อพระยังชีพโดยอาศัยชาวบ้าน พระจึงต้องถูกชาวบ้านตรวจสอบทั้งในเรื่องการสอนพุทธศาสนาถูกต้องหรือบิดเบือน ใช้พุทธศาสนา หรือศรัทธาของชาวบ้านแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ ประพฤติตนอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัยหรือไม่ ไปจนถึงแสดงออกต่อสาธารณะอย่างมีสติ สำรวมกาย วาจา หรือไม่ เป็นต้น
 
โดยหลักทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้มีข้อห้าม หรือระบุความผิดเรื่องการด่าหรือวิจารณ์พระเอาไว้เป็นข้อๆ มีเพียงกำหนดเอาไว้กว้างๆ ว่า ถ้าฆราวาส (เฉพาะที่เป็นชาวพุทธ) กล่าวตู่ หรือด่าพระรัตนตรัยด้วยความเท็จ จงใจให้เกิดความเสียหาย แม้แสดงเหตุผลให้ฟังแล้วไม่ยอมหยุดพฤติกรรมนั้น พระพุทธเจ้าอนุญาตให้คณะสงฆ์ประกาศ “คว่ำบาตร” (เลิกรับบิณฑบาต) แก่คนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นได้ จนกว่าเขาเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วจึงให้สงฆ์ประกาศ “หงายบาตร” ซึ่งเป็นเพียงการลงโทษทางสังคมเท่านั้น ไม่มีการเอาผิดทางกฎหมายแต่อย่างใด
 
ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านตำหนิ หรือด่าแรงๆ ต่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระนั้น (เช่นด่าว่าเป็นสมี อลัชชี สมณะโล้นหน้าด้าน ไม่สำรวม มักมากในลาภสักการะ ประจบคฤหัสถ์ ฯลฯ) เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องก็ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าเป็นจริงอย่างที่เขาด่าก็ให้แก้ไขพฤติกรรมนั้นๆ เป็นเรื่องๆ ไป เรื่องราวแบบนี้มีบันทึกไว้มากมายในพระวินัยปิฎก
 
ที่สำคัญเมื่อชาวบ้านด่าหรือวิจารณ์พระ แทนที่พระพุทธเจ้าจะห้ามไม่ให้ชาวบ้านด่าหรือวิจารณ์ แต่กลับห้ามพระว่าอย่าโกรธ ให้มีสติชี้แจงไปตามเหตุตามผล แม้พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกผู้ประสงค์ร้ายจ้างคนมารุมด่าตอนออกบิณฑบาต ด่าอย่างต่อเนื่องถึง 7 วัน (ทั้งที่พระองค์ไม่ได้ทำเหตุให้คนพวกนั้นต้องด่า) แต่พระองค์ไม่ตอบโต้ เพราะรู้แก่ใจว่าเรื่องที่เขาด่านั้นไม่จริง ปล่อยให้เขาด่าจนเหนื่อยและเลิกราไปเอง
 
ที่อธิบายเสียยืดยาวนี้เพียงเพื่อจะบอกว่า ตามหลักพุทธศาสนาหรือหลักพระธรรมวินัยแล้ว ไม่มีการให้ “เอาผิด” กับคนที่ด่า หรือวิจารณ์พระที่มี “พฤติกรรมอันเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องด่า ต้องวิจารณ์” มีแต่การนำคำด่า คำวิจารณ์นั้นๆ มาแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพระสงฆ์ให้เป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้น เพราะพระพุทธองค์ตระหนักดีว่า ชีวิตของพระภิกษุนั้นดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยปัจจัยยังชีพจากชาวบ้าน แม้แต่ข้าวทัพพีหนึ่งที่ชาวบ้านใส่บาตร พระองค์ก็เห็นว่าพระภิกษุควรสำนึกบุญคุณ
 
ประเด็นที่สาม กรณีแจ้งความเอาผิดผู้ที่ด่า วิจารณ์ข้อความที่โพสต์ จึงไม่ใช่การใช้สิทธิ์ตามกรอบของพระธรรมวินัย แต่เป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย (เข้าใจว่าน่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมฯ 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีปัญหาอยู่มาก) เมื่อใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ก็เป็นสิทธิ์ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย
 
แต่ความเห็นที่โพสต์นั้น เป็นความเห็นของพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นความเห็นในเชิงสังคมการเมือง ซึ่งเป็นความเห็นเชิงสาธารณะ (ไม่ใช่ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของใคร)  
 
ฉะนั้น ประเด็นคือ โดยสถานะของพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ตามหลักการทางพุทธศาสนาก็ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวนสอบ หรือด่าได้ในพฤติกรรมที่สมควรด่าอยู่แล้ว (เช่นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ) ส่วนการที่พระสงฆ์ออกมาแสดงความเห็นทางสังคมการเมือง (โดยเฉพาะที่แสดงอย่างจะแจ้งอย่างพระเจ้าของข้อความในโพสต์) ย่อมมีความหมายสำคัญอีกว่า พระที่แสดงความเห็นนั้นกำลังแสดงความเห็นในฐานะ “พลเมืองคนหนึ่ง” ที่มีความเสมอภาคกับคนธรรมดาทั่วๆ ไป และความเห็นนั้นๆ ก็เป็นความเห็นเชิงสาธารณะ โดยความหมายนี้ พระที่แสดงความเห็นทางการเมืองจึงต้องถูกด่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนนักการเมือง สื่อ นักวิชาการ ฯลฯ
 
พูดให้ชัดขึ้นอีก แม้แต่ตามหลักการทางพุทธศาสนา สถานะของพระสงฆ์ก็ไม่ใช่สถานะศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ชาวพุทธมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะด่า หรือวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระ เช่น พฤติกรรมทางกาย วาจา ที่ขาดสติ ไม่สำรวม ฯลฯ  
 
ยิ่งในทางสังคมการเมืองด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่ความเห็นเชิงสังคมการเมืองของพระสงฆ์จะไม่ถูกท้าทาย ตอบโต้ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งการด่าอย่างสุภาพ หรือด่าอย่างหยาบคายก็ตาม (ยกเว้นการกล่าวหาใส่ร้ายให้เกิดความเสียหายด้วยความเท็จ ซึ่งกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ทุกคนอย่างเสมอภาคอยู่แล้ว) ดังที่นักการเมือง สื่อ นักวิชาการ และ ฯลฯ ก็ถูกท้าทายตอบโต้ในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน
 
ผมคิดว่า นี่คือหลักการสำคัญที่พระสงฆ์ที่มักออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต้องเข้าใจและยอมรับให้ได้ โลกของสังคมการเมืองสมัยใหม่ ไม่ใช่โลกของการอบรมสั่งสอน หรือยัดเยียดความคิดความเชื่อต่อไปอีกแล้ว ความเห็นในทางสังคมการเมืองของพระ ของปราชญ์ หรือบรรดาผู้มีภาพลักษณ์สูงส่งทางศีลธรรมทั้งหลาย มีค่าเท่ากับความเห็นของคนธรรมดาทั่วไป หรือมีความเสมอภาค “1 คนเท่ากับ 1 เสียง” หมายความว่า เสียงที่สังคมควรให้การยอมรับมากกว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเสียงของใคร แต่อยู่ที่มีเหตุผลอย่างไร
 
กล่าวโดยสรุป ผมเห็นว่า ถ้ามีการแจ้งความเอาผิด (ตามที่ผมได้ข่าวมา) จริง คดีนี้จะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สังคมควรจับตามอง เราคงต้องใช้วิจารณญาณอย่างยิ่งเพื่อที่จะมองเห็นคำตอบอย่างสมเหตุสมผลว่า นี่เป็นการต่อสู้ปกป้องสถานะและศักดิ์ศรีของ “ความเป็นพระ” หรือเป็นการต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของพระ และเพื่อปกป้อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของตนเอง!
 
  
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธศาสนิกชน จึงต้องเป็น... พุทธศาสนิกชนเพื่อสังคม

Posted: 17 Oct 2011 01:15 AM PDT

ในสังคมปัจจุบัน สงครามและความขัดแย้งดูจะยังปะทุ ยังไม่มีทีท่าที่จะสงบลงมากนัก “ทุกๆสัปดาห์ มีประชาชน ๑.๔ ล้านคน หลั่งไหลเข้ามาสู่สลัมของโลก เพื่อมาอยู่ร่วมกับมวลชนชาวสลัมที่ขยายตัวไม่หยุดยั้ง” โครงการประเมินระบบนิเวศมิลเลนเนียม ได้รายงานถึงความเปลี่ยนแปลงและรุนแรงของระบบนิเวศ ซึ่งแย่ลงเรื่อยๆ จากน้ำมือมนุษย์ นอกจากนี้มีรายงานถึงปัญหาที่ยังท้าทายสังคมมนุษย์ คือ คนกว่า ๑๒๐๐ ล้านคนยังคงยากจน (รายได้ต่ำกว่า ๔๐ บาทต่อวัน) คนกว่า ๑๐๐๐ ล้านคน ยังคงขาดน้ำสะอาดและอาจจะเพิ่มเป็น ๒๐๐๐ ล้านคน ในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า ในแต่ละวันยังมีคนตายเนื่องจากอดอยากขาดแคลนอาหาร ๒๔๐๐๐ คน แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก มีสูงถึง ๒๑๕ ล้านคน และในจำนวนนี้ ๓แสนคน ต้องถือปืนสู้รบ เด็กเสียชีวิต ๒ ล้านคนทุกปี และเด็กจำนวนหนึ่งไม่มีโอกาสได้ฉลองวันเกิดครบ ๖ ปีของตนเอง และสถิติขณะนี้คือ ทุกๆ ๕ วินาทีจะมีเด็กตาย ๑ คนเพราะขาดอาหาร

ปัญหาของมนุษยชาติข้างต้นนั้น พุทธศาสนิกชนควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อปัญหาดังกล่าว ถ้าจะกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นนักมนุษยนิยมที่ประเสริฐคนหนึ่ง เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคกัน มีเมตตาต่อสรรพสัตว์เสมอภาคกันไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม วรรณะใดก็ตาม ในบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนสวดกันสืบจากอดีตจวบปัจจุบัน บท “กรณียเมตตาสูตร” นั้นสอดคล้องกับประเด็นนี้ ขอคัดลอกบางวรรคดังนี้

“มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ มานะสัมมาภาวะเย อะปะริมาณัง” หรือแปลเป็นไทยว่า “มารดาย่อมตามรักษาบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน ด้วยชีวิตฉันใด กุลบุตรพึงเจริญเมตตาจิตในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวงทั้งหลายแม้ฉันนั้น”

ความข้อนี้ สอดคล้องกับหลักพรหมวิหารธรรม ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้เจริญสม่ำเสมอ แต่จะเข้าถึงสาระของหลักธรรมแล้วมาประยุตก์ใช้ให้สมสมัยหรือไม่ ควรจะมีท่าทีที่ถูกต้อง พุทธศาสนิกชนนั้นย่อมควรถือหลัก “มนุษย์นิยม” มากกว่า “ชาตินิยม” ใส่ใจและห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าคนนั้นจะเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง การเจริญเมตตาภาวนา ก็เพื่อโยงหัวสมองเข้าถึงกับจิตใจ มีไตรสิกขา แผ่ความกรุณาไปยังสรรพสัตว์ทั้งปวง ไม่แต่มนุษย์เท่านั้นหากรวมสิ่งแวดล้อมทั้งหมดทั้งมวล

แต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว (๑๙ พฤษภาคม ๕๓) ท่าทีของพุทธศาสนิกชนต่อเพื่อนมนุษย์เป็นเช่นใด มิต้องเอ่ยถึงเรื่องอื่นๆ ก็ยังได้ หรือนี้คือการวาง “อุเบกขา” แล้วมันคือ อุเบกขา จริงหรือ?

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า “อันนี้เขาไม่เรียกว่าอุเบกขานะครับ เขาใช้คำผิด ไม่เอาไหนกับอุเบกขามันไม่เหมือนกัน ...อุเบกขา มันจะใช้ได้ต้องใช้เมตตาก่อน ใช้กรุณาก่อน ใช้มุทิตาก่อน แล้วถึงจะใช้อุเบกขา มันเป็นขั้นตอน ถ้าคุณไม่มีเมตตา คุณจะใช้อุเบกขาได้ยังไง หมายความว่า คุณต้องรักเพื่อนมนุษย์ก่อน”

พุทธศาสนิกชนจึงควรตระหนักถึงปัญหาสังคม ไม่เพียงแค่ปัจเจกบุคคล หรือเพื่อตัวตนเท่านั้น แต่ต้องลงมือช่วยเหลือสังคม

พุทธศาสนิกชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างตระหนักรู้ว่า การเป็นพุทธศาสนิกชนในสมัยปัจจุบัน ยุคโลกาภิวัตน์ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย-คนจนที่มากขึ้น ความขัดแย้งทางศาสนาอย่างรุนแรง เราควรจะทำอะไรในที่นี่ เราจะมีจุดยืนอย่างไรในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน กลุ่มพุทธศาสนิกชนไทยซึ่งได้ตระหนักรู้ต่อปัญหานี้จึงก่อตั้ง กลุ่มพุทธศาสนิกชนเพื่อสังคม พวกเขาต่างมีบทบาททั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เช่น เครือข่ายพุทธศาสนิกชนเพื่อสังคมนานาชาติ (INEB - International Network of Engaged Buddhists) กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์บ่อนอก ที่ต่อสู้เพื่อท้องถิ่นของพวกเขาโดยใช้สันติวิธีเข้าสู้  เป็นต้น

ขณะที่สถานการณ์โลกเลวร้ายลงทุกวี่ทุกๆ วัน กลุ่มคนเล็กๆ ผู้ซึ่งยังมีความ “หวัง” หลากหลายกลุ่มทั้งไทยและทั่วโลก กำลังเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมและระบบนิเวศ อย่างไม่หยุดหย่อน

 

 

อ้างอิง
1.ท่องทั่วทางธรรม เขียนโดย ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
2.ไม่สงบ จึงประเสริฐ เขียนโดย พอล ฮอลเกน แปล ภัควดี
3.จุลสารปรีดี ฉบับที่2 (รำลึกเหตุการณ์ 35ปี 6ตุลา 2519) บรรณาธิการบริหาร:เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
4.นิเวศวิทยา พื้นฐาน เขียนโดย จิรากรณ์ คชเสนี

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น