โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสนอทัพภาค4ถอนกำลังออกจาก ร.ร.รับเปิดเทอม

Posted: 30 Oct 2011 02:28 PM PDT

สมาพันธ์ครูชายแดนใต้วอน ชี้ละเมิดสิทธินักเรียน กลัวภาพทหารถืออาวุธสงครามติดตา อยากเห็นพ่อแม่เด็กรับส่งอย่างปกติ

นายสงวน อินทร์รักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในฐานะประธานอนุกรรมการเฉพากิจภาคใต้ ประจำจังหวัดนราธิวาส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยในวงเสวนาหัวข้อ ชะตากรรมประชาชนใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วจะเอาไงต่อ ในเวทีสาธารณะ วาระประชาชน : ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานีว่า กองทัพภาคที่ 4 ได้มีคำสั่งให้ถอนทหารออกนอกพื้นที่โรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 เป็นต้นไป
 
นายสงวน กล่าวว่า หากในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 นี้ ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนที่ 2 โรงเรียนไหนยังมีทหารอยู่ในบริเวณโรงเรียน สามารถสอบถามไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ ว่าเหตุใดจึงยังไม่ถอนทหารออกไป
นายสงวน กล่าวว่า ทหารจะถอนออกไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ต้องไม่อยู่ในเขตโรงเรียน เพราะนี่เป็นการละเมิดสิทธินักเรียน การถอนทหารออกไป จะทำให้นักเรียนไม่ต้องเจออาวุธสงครามทุกเช้า พอตอนเย็นก่อนกลับบ้าน หลับตาก็เห็นปืนเอ็ม 16 อยากเห็นภาพที่พ่อแม่มาส่งและรับลูก ให้สลามทักทายหรือลากันอย่างปกติ ถ้ามีทหารถือปืนอยู่ในโรงเรียน ภาพนี้จะติดตานักเรียน
 
นายสงวน เปิดเผยว่า การถอนทหารดังกล่าว เป็นไปตามที่สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เสนอต่อกองทัพภาคที่ 4 ให้ถอนทหารออกไปจากบริเวณโรงเรียน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วมบางพลัด-ปิ่นเกล้ากว่า 1 สัปดาห์ หลายครอบครัวยังอยู่ในพื้นที่

Posted: 30 Oct 2011 02:27 PM PDT

(30 ต.ค. 54) สถานการณ์น้ำท่วมที่เขตบางพลัด และเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมานคร ซึ่งดำเนินมาเกือบ 1 สัปดาห์อันมีสาเหตุมาจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น และน้ำท่วมซึ่งหลากมาจาก จ.นนทบุรี นั้น ล่าสุดน้ำยังคงท่วมกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง มีประชาชนจำนวนหนึ่งทยอยอพยพขนทรัพย์สินบางส่วนออกจากบ้าน ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งตัดสินใจอาศัยอยู่ในบ้าน เพื่อดูแลทรัพย์สินของตัวเอง

ที่สะพานซังฮี้แม้จะมีการปิดการจราจรเนื่องจากน้ำท่วมตั้งแต่เชิงสะพานฝั่งธนบุรีแต่ยังมีผู้นำยานพาหนะส่วนตัวมาจอดจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย

สะพานกรุงธนบุรี (ซังฮี้), 30 ต.ค. 54 



ถ.สามเสน

รถเมล์สาย 53 วิ่งผ่านถนนสามเสน ซึ่งมีน้ำขังเป็นจุดๆ โดยน้ำที่ทะลักออกจากท่อระบายน้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ของ ถ.สามเสน

สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, 30 ต.ค. 54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง: ความตายของประชาชน

Posted: 30 Oct 2011 02:10 PM PDT

 

 

 ชาติหน้าขออย่าพบเจอรัฐประหาร
โลกแห่งจินตนาการลุงวาดไว้
ห้าปีแล้วหลังลุงสิ้นลมหายใจ
สังคมใหม่เติบใหญ่อยู่ในครรภ์

 
ใกล้แล้วลุง...ใกล้แล้ว...ใกล้แล้วลุง!
นั่นไงรุ้งพุ่งทแยงแสงสีสัน
ใต้ผืนฟ้ากาลสมัยปัจจุบัน
ความใฝ่ฝันของลุงรุ่งรำไร
 
ไม่ต้องรอไปจนถึงชาติหน้า
ประชาชนเคลื่อนเข้ามาใกล้จุดหมาย
เผด็จการมีเบื้องหลังอำพรางกาย
หากก็มีความตายรายล้อมรอ
 
ลุงล่วงแล้วข้ามลับไปยังขอบฟ้า
ทิ้งดวงใจปรารถนาให้สานต่อ
วีรชนเดินทางไกลไม่เคยพอ
ถมเส้นทางสานทอประชาธิปไตย
 
ความตายของลุง คือความตาย...ของประชาชน
คือตำนาน แห่งผู้คน ในยุคใกล้
ทั้งเคยเป็น คงอยู่ และต่อไป
รัฐประหาร สังคมไทย จักไม่มี
 
ไม่ต้องรอไปจนถึงชาติหน้า
ปีที่ห้า จากที่นั่น ถึงที่นี่
เกิดนวมทองมากมายทบทวี
ขึ้นโดยสารแท็กซี่ทยานแล้ว!
 
ชาติหน้าขออย่าพบเจอรัฐประหาร
เผด็จการตัวสุดท้ายยันปลายแถว
ต้องลบทุกผลพวงทะลวงแนว
ชาติหน้าจึงคลาดแคล้วลาจากกัน
 
ชูดวงจิตลุงนวมทองขึ้นสูงเด่น
เพื่อไม่ต้องพบเห็นรัฐประหาร
ถอนรากร้ายต้นไม้พิษนิรันดร์กาล
ล้างผลพวงรัฐประหารให้สิ้นไป
 
ลบผลพวงรัฐประหารให้สิ้นไป!!!
ลบผลพวงรัฐประหารให้เป็นจริง!!!
 
รำลึก 5 ปี การต่อต้านรัฐประหารของลุงนวมทอง ไพรวัลย์
 ชาติหน้าขออย่าพบเจอรัฐประหาร
โลกแห่งจินตนาการลุงวาดไว้
ห้าปีแล้วหลังลุงสิ้นลมหายใจ
สังคมใหม่เติบใหญ่อยู่ในครรภ์
 
ใกล้แล้วลุง...ใกล้แล้ว...ใกล้แล้วลุง!
นั่นไงรุ้งพุ่งทแยงแสงสีสัน
ใต้ผืนฟ้ากาลสมัยปัจจุบัน
ความใฝ่ฝันของลุงรุ่งรำไร
 
ไม่ต้องรอไปจนถึงชาติหน้า
ประชาชนเคลื่อนเข้ามาใกล้จุดหมาย
เผด็จการมีเบื้องหลังอำพรางกาย
หากก็มีความตายรายล้อมรอ
 
ลุงล่วงแล้วข้ามลับไปยังขอบฟ้า
ทิ้งดวงใจปรารถนาให้สานต่อ
วีรชนเดินทางไกลไม่เคยพอ
ถมเส้นทางสานทอประชาธิปไตย
 
ความตายของลุง คือความตาย...ของประชาชน
คือตำนาน แห่งผู้คน ในยุคใกล้
ทั้งเคยเป็น คงอยู่ และต่อไป
รัฐประหาร สังคมไทย จักไม่มี
 
ไม่ต้องรอไปจนถึงชาติหน้า
ปีที่ห้า จากที่นั่น ถึงที่นี่
เกิดนวมทองมากมายทบทวี
ขึ้นโดยสารแท็กซี่ทยานแล้ว!
 
ชาติหน้าขออย่าพบเจอรัฐประหาร
เผด็จการตัวสุดท้ายยันปลายแถว
ต้องลบทุกผลพวงทะลวงแนว
ชาติหน้าจึงคลาดแคล้วลาจากกัน
 
ชูดวงจิตลุงนวมทองขึ้นสูงเด่น
เพื่อไม่ต้องพบเห็นรัฐประหาร
ถอนรากร้ายต้นไม้พิษนิรันดร์กาล
ล้างผลพวงรัฐประหารให้สิ้นไป
 
ลบผลพวงรัฐประหารให้สิ้นไป!!!
ลบผลพวงรัฐประหารให้เป็นจริง!!!
 
 

หมายเหตุ:

  รำลึก 5 ปี การต่อต้านรัฐประหารของลุ
งนวมทอง ไพรวัลย์
 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารไทยมอบตัวคดียิง-ฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพ

Posted: 30 Oct 2011 09:11 AM PDT

นายทหารไทยพร้อมลูกน้องเข้ามอบตัวคดีฆ่า-ทารุณลูกเรือจีนกลางน้ำโขง 13 ศพ เหตุเกิดเมื่อ 5 ต.ค. หลังทูตจีนกดดดันหนัก ด้านนายตำรวจไทยปัดเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับกองทัพเป็นเรื่องบุคคล เล็งเรียกผู้ต้องหามาสอบเพิ่มอีก

หนังสือพิมพ์เชียงรายธุรกิจ รายงานเมื่อวานนี้ (29 ต.ต.) ในช่วงบ่ายวันที่ 29 ต.ค. ทหารจาก กกล.ผาเมือง ที่ ตร.ออกหมายเรียกคดียิงเรือสินค่าจีน และฆ่าลูกเรือ 13 ศพอย่างทารุณ ได้ทยอยเดินทางเข้ามอบตัวกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ ห้องดุรงควิบูลย์ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย จนกระทั้งเวลา 16.00 น.พล.ต.อ.ภาณุพงษ์ สิงหรา รอง ผบ.ตร.ได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าคดีเรือหยี่ชิง 8 และเรือหัวผิง เรือบรรทุกสินค้าจีน ที่ถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิงถล่มในแม่น้ำโขงจนลูกเรือทั้งสองลำเสียชีวิต 13 ศพ ยึดยาบ้าได้ 920,000 เม็ด เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา จนกระทั่งประเทศจีนได้ส่งคณะทำงานมาติดตามคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

พล.ต.อ. ภาณุพงษ์ สิงหรา กล่าวว่า ผบ.ตร.แต่งตั้งตนเองเป็นหัวหน้าชุดทำการสืบสวนสอบสวน ทำคดีดังกล่าว มีการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งได้หลักฐานจนสามารถออกหมายเรียกผู้ต้องหาได้ และวันนี้ได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหา จำนวน 9 ราย เข้ามาพบพนักงานสอบสวน ณ ห้องดุรงค์วิบูลย์ บก.ภ.จว.ชร.ซึ่งทั้งหมดเป็นทหารจากกองกำลังผาเมือง ซึ่งทาง ตร.ได้มีพยานหลักฐานเชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิด ได้แจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา และข้อหาเคลื่อนย้ายทำลายศพ ซึ่งจากการสอบสวนทางกองทัพไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดใดๆ ทั้งสิ้น เป็นความผิดเฉพาะตัว ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนเรื่องการประกันตัวนั้น เมื่อทางผู้ต้องหาเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเอง ก็ได้ปล่อยตัวให้กลับกองทัพไป สำหรับความคืบหน้าอื่นๆ ยังไม่แถลงใดๆ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ตั้งแต่เวลา 14.00 น.มีการเรียกผู้ต้องหาที่เป็นทหาร ทยอยเดินทางเข้ามามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ที่ห้องดุรงควิบูลย์ อย่างต่อเนื่อง มีการสอบสวนอย่างลับโดยไม่ยอมให้คณะสื่อมวลชนเข้าร่วมบันทึกภาพจนกระทั่ง เวลา 16.00 น.จึงออกมาแถลงข่าวดังกล่าว

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่าทหารที่เข้ามอบตัวนายหนึ่งมียศพันตรี และมีลูกน้องระดับประทวนรวม 9 นาย

นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่ จ.เชียงราย เพื่อรับฟังความคืบหน้าของคดีเพิ่มเติมด้วยตนเอง ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกจีน ที่ จ.เชียงรายในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2554 และมีรายงานข่าวว่า จะมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มขึ้นอีกเป็นชุดที่ 2 ในเร็ววันนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศปภ. ระบุน้ำท่วมเต็มพื้นที่เขตดอนเมือง-สายไหม

Posted: 30 Oct 2011 08:42 AM PDT

นายธงทอง จันทรางศุ แถลงถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมวันนี้ยังใกล้เคียง โดยทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ระดับน้ำได้ขยายวงเต็มพื้นที่ในเขตดอนเมือง และสายไหมแล้วแต่ยังไม่ถึงเขตหลักสี่ ส่วนด้านฝั่งตะวันตกท่วมเต็มพื้นที่เขตทวีวัฒนาแล้ว ส่วนเขตบางพลัดน้ำท่วมจนอุโมงค์ใช้งานไม่ได้

วอยซ์ทีวี รายงานว่า นายธงทอง จันทรางศุ โฆษกพิเศษศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) แถลงถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมวันนี้ยังใกล้เคียง โดยทางตอนเหนือของกรุงเทพฯระดับน้ำได้ขยายวงเต็มพื้นที่ในเขตดอนเมือง และสายไหมแล้วแต่ยังไม่เลยหลักสี่ ส่วนระดับน้ำในฝั่งถนนพหลโยธิน ได้เข้ามาถึงวัดวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ด้านฝั่งตะวันตกของ กทม. ท่วมเต็มพื้นที่ในเขตทวีวัฒนาแล้ว ส่งผลให้การจราจรบนถนนบรมราชชนนีเข้าสู่จังหวัดนครปฐมติดขัด เช่นเดียวกับเขตบางพลัด ระดับน้ำได้ท่วมเต็มอุโมงค์จนใช้การไม่ได้

ทั้งนี้ศปภ.คาดการณ์น้ำทะเลหนุนจะทำให้ระดับในวันนี้ขึ้นสูงสุดที่ 2.65 เมตร เทียบจากเมื่อวานที่ 2.57 เมตร ขณะที่แนวกั้นน้ำมีความสูงเพียง 2.50 เมตร แต่ระดับน้ำวัดได้จริงวันนี้ยังอยู่ที่ 2.5 0 เมตรส่วนการระบายน้ำทางด้านตะวันออกของกทม. ลงอ่าวไทย ทุกส่วนราชการกำลังเร่งดำเนินการเต็มที่ มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ-ผลักดันน้ำในคูคลองต่างๆ ล่าสุด จะมีการติดตั้งกาลักน้ำ (ไซฟ่อน) เพื่อระบายน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ จากทุ่งรังสิต ไป คลองหกวาสายล่าง ไป คลองแสนแสบ ไป แม่น้ำบางปะกง และลง อ่าวไทย

นายธงทอง กล่าวต่ออีกว่า ศปภ. ได้เปลี่ยนที่ทำการแห่งใหม่ โดยย้ายไปอยู่ที่กระทรวงพลังงานใกล้สำนักงานใหญ่ ปตท. โดยได้ย้ายมาตั้งแต่ช่วงสายของวันนี้ ซึ่งการเตรียมการได้มีการปรึกษาหารือมาเป็นระยะ นาน 2-3 สัปดาห์แล้ว แต่สาเหตุที่ศปภ.ยังไม่ย้ายออก เพราะขณะนั้นยังมีผู้พักพิงจำนวนมาก จนได้ทยอยอพยพออกไปอยู่ที่ชลบุรี เมื่อผู้อพยพเหลือน้อยจึงได้หายห่วง ทั้งนี้แม้ศปภ.จะย้ายที่ทำการไปอยู่ที่กระทรวงพลังงาน แต่ ประชาชนยังสามารถโทรติดต่อมาได้ที่ 1111 กด 5

ส่วนโรงผลิตน้ำบางเขน ที่ผลิตให้ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ ฯหรือฝั่งพระนคร ยังผลิตได้ตามปกติ แต่มีเหตุการณ์ที่ตอนเหนือกทม. ช่วงเช้ามีชาวบ้านไปรื้อคันกันน้ำเป็นระยะทาง 10 เมตร. เป็นเหตุให้น้ำนอกคันกั้นน้ำเข้าคลอง ตลอดบ่ายวันนี้เจ้าหน้าที่ได้พยายามเจรจาให้เข้าใจกว่าจะสำเร็จได้ก็เป็น เวลาค่ำแล้ว ส่งผลให้การซ่อมแซมอาจล่าช้า กปน.จะเร่งดำแนินการพรุ่งนี้เข้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการคุณภาพการผลิตน้ำที่โรงผลิตบางเขน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความผิดพลาดของรัฐบาลในการจัดการวิกฤติน้ำท่วม: มุมมองทางสังคมวิทยา

Posted: 30 Oct 2011 08:01 AM PDT

บทความโดยสามชาย ศรีสะนต์ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมในมุมมองแบบสังคมวิทยา พร้อมชี้ว่ารัฐบาลยังผิดพลาดในการจัดการแก้ปัญหาทั้ง 3 ส่วน คือการจัดการน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฟื้นฟูเยียวยา 

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์กายภาพ วิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์ มีบทบาทอย่างมากต่อการให้ความเห็น และเสนอมาตรการจัดการน้ำท่วม ในฐานะนักวิชาการทางสังคม ผมจะเสนอประเด็นการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมในทางสังคมวิทยา หรืออาจเรียกว่า สังคมวิทยาของน้ำท่วม (Sociology of Flooding) ดังต่อไปนี้

สถานการณ์น้ำเท่าที่มีตัวเลขจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 รายงานว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 381 ราย สูญหาย 2 คน กระทบ 63 จังหวัด 651 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3,009,012 ครัวเรือน 9,903,222 คน

ขณะที่กรุงเทพมหานครประมาณการว่าจะมีประชาชนในเขตกรุงเทพที่กำลังจะได้รับผลกระทบต่อจากนี้อีก 3.5 แสนคน รวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 16 หรือ 1 ใน หกของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งยังไม่รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในทางอ้อม จากความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พึ่งพา กับหน่วยทางสังคมที่ประสบภัย

การขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์ข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พบว่ามีการขอรับความช่วยเหลือนับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ถึงวันที่ 29 ตุลาคม ประมาณ 3,640 ครัวเรือน แต่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยเฉลี่ยร้อยละ 1 หรือ 36.4 ครัวเรือน เท่านั้น!!!

ดังนั้นไม่เพียงจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้จะมากมายมหาศาลกว่าความขัดแย้งระหว่างสีเหลือง – แดง แล้ว รัฐบาลยังผิดพลาดในการจัดการแก้ปัญหาทั้ง 3 ส่วน คือ การจัดการน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฟื้นฟูเยียวยา ในมุมมองทางสังคมวิทยาดังต่อไปนี้

1. การกั้นน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะกั้นน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ที่มีมูลค่าทางสังคม ซึ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องของชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ ทำให้มีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในภาคครัวเรือนจำนวนมาก ลองดูภาพนี้นะครับ พื้นที่สูงเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบขณะที่กั้นน้ำไม่ให้ไหลมาสู่ที่ต่ำ


2. รัฐบาลละเลยการปกป้องสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ถนน (ถนนสายเอเชียถูกตัดขาดมานับแต่เริ่มท่วมที่อยุธยา) ทางเดินเท้า ไฟฟ้า ประปา ตลาด เส้นทางรถไฟ สนามบิน โดยไม่คิดว่าจะก่อสร้างทดแทน หรือกำหนดพื้นที่บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นชดเชย แต่มุ่งเน้นไปที่การปกป้อง ภาคอุตสาหกรรมหน่วยราชการ เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นการปกป้องพื้นที่ต่าง ๆ สะท้อนว่าขาดการวางแผนแผนอย่างรอบด้าน รัดกุม (แม้แต่ ศปภ. เองยังต้องอพยพหนีน้ำ) การไม่ใส่ใจกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทำให้ภาคครัวเรือนเกิดปัญหาการขาดอาหาร น้ำ ไฟฟ้า และไม่สามารถเดินทางออกมาจากที่พักอาศัยหลังน้ำท่วมได้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐบาลมุ่งเน้นให้ประชาชน “หนีน้ำ” คือการอพยพคนออกก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม มากกว่าจะใช้มาตรการให้ประชาชน “อยู่ร่วมกับน้ำ” ซึ่งเปรียบเสมือนขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะในที่สุดผู้ที่เคลื่อนย้ายออกไปก็จะต้องกลับเข้ามาก่อนสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายเพราะไม่สามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้เป็นเวลานานแรมเดือน

3. การเคลื่อนย้ายประชาชนออกมาที่ศูนย์พักพิง โดยใช้มาตรการกีดกัน สร้างอุปสรรคไม่ให้ประชาชนอาศัยอยู่ในบ้าน ขัดกับระบบทางสังคมของครอบครัวไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชน เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีสัตว์เลี้ยง และมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และเด็ก ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากไม่ต้องการเคลื่อนย้ายออกมา หรือแม้เคลื่อนย้ายออกมาก็จะพยายามกลับเข้าไปใหม่เพราะเป็นห่วงผูกพัน “บ้าน” ในฐานะพื้นที่ความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาล และสื่อมวลชน ใช้เป็นเหตุผลตำหนิผู้ที่ไม่เคลื่อนย้ายออกมา

4. เมื่อมีมาตรการให้คนหนีน้ำ มากกว่าจะอยู่กับน้ำ จึงทำให้รัฐไม่สนใจความจำเป็นพื้นฐานสำหรับคนที่ไม่อพยพ ขาดแคลนอาหาร ไม่สามารถเดินทางได้ ผู้ป่วยเรื้อรัง คนชรา ทำให้เป็นภาระของลูกหลาน ที่ต้องกลับเข้าไปช่วย และคอยส่งน้ำ อาหาร

5. การแก้ปัญหา สะท้อนความไร้ศักยภาพของรัฐบาล ที่ขาดทั้งกำลังคน แรงงาน และมันสมอง หน่วยงานที่โดดเด่นที่สุดคือ กองทัพ แม้ว่าภารกิจจะมีเพียงเสริมกระสอบทราย และช่วยเหลือการขนส่ง เคลื่อนย้าย ประชาชนเท่านั้น แต่ประชาชนก็เป็นหนี้บุญคุณล้นเหลือ ขณะที่พยายามจะบอกตลอดเวลาว่าจัดการกับน้ำได้ ไม่เคยเตรียมการรองรับความรุนแรง สถานะการจลาจล (chaos) ที่อาจจะเกิดขึ้น ภาพถ่ายดาวเทียมนี้ (28 ตุลาคม 2554) สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า กรุงเทพมหานครจะเผชิญปัญหาน้ำท่วมที่หนักหน่วง เพราะมวลน้ำที่ยังไม่ไหลลงมามีอีกจำนวนมหาศาล มากกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายเท่าตัว แต่รัฐบาลกลับบอกว่าน้ำจะลดในกลางเดือน พฤศจิกายน !!


6. เมื่อประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับการขึ้นมาเป็นรัฐบาล ตามทฤษฎีสัญญาประชาคม เมื่อรัฐไม่สามารถรักษาสัญญาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลไว้ให้สิ้นเปลือง ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาซึ่งถูกเสนอผ่านทางสื่อมวลชน ทำให้สังคมรับรู้ว่า ประชาชนรวมตัวกันปกป้อง ช่วยเหลือกันเอง ในระดับองค์กรธุรกิจ ชุมชน และระดับปัจเจกชน (จิตอาสา) รวมทั้งสถาบันการศึกษามากกว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ผ่านหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงเสมือนไม่ได้ทำอะไร นอกจากประกาศเตือน และสั่งปิด-เปิดประตูระบายน้ำ ขณะที่ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง ยิ่งเมื่อน้ำเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครความรุนแรงทางสังคมจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะสถานการณ์ใดที่กระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีผลกระทบที่รุนแรงกว่าพื้นที่อื่นเสมอ แม้ระดับความรุนแรงจะเท่ากัน

7.จะเห็นได้ว่า รัฐไม่เคยประกาศ มาตรการเยียวยาที่ชัดเจน และไม่เคยประกาศแผนระยะปานกลาง นอกจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการประกาศอพยพผู้คน และเสริมแนวกระสอบทราย ซึ่งเป็นการตั้งรับและลดสถานการณ์ความตึงเครียดเฉพาะหน้ารายวัน จนมีคำกล่าวที่พูดกันติดปากว่า 'เอาปัญญาชนกรอกถุงทรายเอาปัญญาควายบริหาร' เราเห็นภาพ คณะรัฐมนตรี หรือคนใน ศปภ. นั่งแถลงข่าวในศูนย์ ขึ้นเครื่องบินตรวจน้ำท่วม หรือลงพื้นที่ดูการทำคันกั้นน้ำที่แตกแล้ว ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการตั้งรับเหตุการณ์ คือเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว บรรดาคนเหล่านี้จึงลงพื้นที่หรือแสดงการกระทำ ซึ่งต่างจากผู้ว่า กทม. ทหาร และประชาชน ที่ทำงานเตรียมการรองรับน้ำที่กำลังจะเข้ามาปะทะ ซึ่งกลายเป็นเรื่องพ้นความจำเป็นที่จะมีรัฐบาลอยู่ต่อไป เพราะหน้าที่ของรัฐบาลคงไม่ใช่แค้ “ประกาศให้อพยพคน” และนั่งคิดมาตรการต่าง ๆ ให้คนออกจากบ้าน เช่น ประกาศวันหยุด ซึ่งสร้างเป็นการเก็บสั่งสมปัญหาตามมาให้เพิ่งพูนขึ้นอีกมากมาย

8. มาตรการจัดการน้ำ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย สะท้อนความไม่เท่าเทียมเหลื่อมล้ำตลอดเวลา จะเห็นได้จากการกั้นน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพตั้งแต่แรก ข่าวการกักเก็บ เครื่องอุปโภค บริโภค ที่กระจายอย่างไม่ทั่วถึง และเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้นประสบการณ์ของผู้เขียนเองจากการมีส่วนร่วมเป็นผู้อพยพหนีน้ำ ก็สะท้อนชัดเจนในเรื่องนี้ แน่นอนว่ามาตรการฟื้นฟูเยี่ยวยาที่กำลังจะมีขึ้นต่อไปก็จะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมให้หนักหน่วงขึ้น

9. ในทางจิตวิทยามีความแตกต่างกันมาก ระหว่างความรู้สึกเมื่อเราเห็นคนแช่น้ำในภาพถ่าย โทรทัศน์ กับความรู้สึกของผู้ที่ยืนแช่น้ำอยู่ ซึ่งทำให้การประเมินความรุนแรง ระหว่างผู้ให้ความช่วยเหลือ กับผู้รับความช่วยเหลือมีความแตกต่างกันอย่างมาก สื่อมวลชน เจ็ทสกี เรือให้ความช่วยเหลือที่เข้าไปในพื้นที่อุทกภัยอาจช่วยบำบัดเยียวยาทางกายภาพ แต่ผู้ที่ได้รับแจกสิ่งของไม่ทั่วถึง หรือถูกละเลยไม่ให้ความช่วยเหลือทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จะก่อให้เกิดความชิงชังระหว่างผู้ประสบอุทกภัยที่มีต่อผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือเพื่อหวังถ่ายทำ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อธุรกิจของตนเอง ดังเช่น การที่นักข่าวไปไต่ถามเชิงข่มขู่ให้คนชราที่ห่วงทรัพย์สินออกจากบ้าน โดยบอกว่าจะรับออกไปด้วย “ถ้าไม่ไปตอนนี้จะไม่มีคนมาช่วย” แสดงถึงการแสดงตนว่ามีสถานะเหนือกว่าที่ผู้ประสบภัยจะต้องทำตาม

10. สิ่งสำคัญมากคือ คณะรัฐมนตรีไม่เคยพิจารณามาตรการฟื้นฟูเยียวยาภาคประชาชนเลย จากการติดตาม มติ ครม. ตลอดเดือน ตุลาคม มีเพียงมติ ครม. 25 ตุลาคม ที่เพิ่งมาพิจารณา มาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ แต่ไม่เคยกล่าวถึงมาตรการเยียวยาภาคประชาชน ครัวเรือนผู้ประสบภัยเลย สะท้อนวิธีคิดแบบไม่ลงรายละเอียด และไม่เข้าใจสภาวะ จิตวิทยาสังคม ในมุมของประชาชน รวมทั้งไม่เคยถามความคิดเห็นของชุมชนในการจัดการน้ำ

11. ความรุนแรง และความขัดแย้งยังไม่ปะทุขึ้นในการรับรู้ก็เนื่องจาก พื้นที่อยุธยา ปทุมธานี ซึ่งถูกปล่อยปะละเลยหลังน้ำท่วมเข้ากรุงเทพก็ไม่มีใครไปสนใจเสนอข่าวแล้ว ขณะที่การเสนอข่าวก็มุ่งความสนใจไปที่ระดับน้ำ มากกว่าความขัดแย้งทางสังคมและความล้มเหลวของรัฐบาล (ซึ่งเข้าใจได้) แต่ความอ่อนล้า สิ้นแรง ของภาคประชาชนที่ต้องต่อสู้กับน้ำท่วม ทั้งภาวะขาดแคลนน้ำ อาหาร ภาวะของแพง โรคระบาด การตัดขาดจากญาติมิตร ความตึงเครียดของชุมชนที่ต้องเฝ้าระวังการ รื้อคันกั้น หรือการก่อคันกั้นใหม่ ตลอดจนความผิดพลาดซ้ำซากของคำสั่ง และประกาศต่าง ๆ ของรัฐ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่การฟื้นฟูเยียวยา คาดว่ารัฐบาลจะเผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น และข่าวความขัดแย้ง แย่งชิง ทะเลาะกัน รวมทั้งความล้มเหลวของรัฐบาลจะปะทุขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน

โดยสรุป รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยมุมมองทางวิทยาศาสตร์กายภาพ วิศวกรรมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ โดยละเลยมุมมองทางจิตวิทยาสังคม ไม่ให้ความสำคัญกับคน และผลกระทบทางสังคม ความผิดพลาดของนโยบายที่ผมเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลและสื่อมวลชนก็คือ ต้องทำให้ประชาชนอยู่กับน้ำให้ได้ในระยะยาว ไม่ใช่ให้ประชาชนหนีน้ำ ดังนั้นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนคือ สร้างสาธารณูปโภคขึ้นมาทดแทนในส่วนที่ถูกน้ำท่วม โดยใช้สถานที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น ทางด่วน ดอนเมืองโทลล์เวย์ จังหวัดที่น้ำไม่ท่วม ให้เป็นสถานที่ตั้ง ตลาดชั่วคราว สถานีขนส่งชั่วคราว ตลอดจนโรงพยาบาลสนาม คลังสินค้า และเร่งเปิดเส้นทางคมนาคมเพื่อการขนส่งสินค้าโดยฟื้นฟูเส้นทาง และก่อสร้างเส้นทางใหม่ขึ้นทดแทน นอกจากนั้นทำให้วิถีชีวิตคนให้ดำรงอยู่ได้ในภาวะน้ำท่วม เช่น ยกระดับทางเดินเท้า การจัดบริการขนส่งทางเรือ การส่งเสริมให้เกิดการค้าขายทางเรือโดยภาคเอกชน อย่าไปตัดน้ำ ตัดไฟ แต่หามาตรการผลิตทดแทนให้เพียงพอหากเสียหายเพราะน้ำท่วม โดยเตรียมศูนย์พักพิงไว้สำหรับผู้ที่ต้องการจะย้ายออกเท่านั้น ที่สำคัญอย่าไปเสริมคันกั้นปิดเส้นทางน้ำ เพราะยิ่งจะทำให้ภัยพิบัติดำรงอยู่กับเรายาวนานไม่ผ่านพ้นไปเสียที

ดังนั้นผมไม่เชื่ออย่างที่สื่อพยายามจะประโคมว่าวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้จะนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ในทางตรงข้ามมันกลับจะทำให้เกิดการแบ่งแยกแตกต่างและความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นและจะย้อนกลับมาถามถึงความชอบธรรมในการบริหารประเทศของรัฐบาลเอง หากยังคงดำเนินการอยู่เช่นนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การเมืองเรื่องของน้ำ

Posted: 30 Oct 2011 07:35 AM PDT

ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ เสนอว่ามหัตภัยสังคมที่ร้ายกว่ามหันตภัยแห่งสายน้ำคือการฉกชิงโอกาสภัยพิบัติของประชาชนเป็นหอกทิ่มแทงเพื่อกำจัดศัตรูทางการ เมือง

ประเทศไทยเป็นภาคการเกษตรที่ปลูกข้าวเป็นหลัก จากอดีตปลูกเฉพาะนาปี แต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการปลูกข้าวเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาด ทำให้มีการปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นถึง 2 ครั้งในฤดูแล้ง น้ำจึงเป็นปัญหาหนึ่งของภาคการเกษตร ที่ยังแกว่งไกวตามตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อระบบบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันแม้เราจะมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำหลายฉบับภายใต้การบริหารของหลายกระทรวง ทำให้การบริหารจัดการน้ำของไทยยังขาดเอกภาพและขาดกติกาที่ชัดเจนในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้ระบบเสรีที่ มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรส่วนรวมตามมา

การขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งภาคการเกษตร   การขยายเมืองและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภายใต้วาทกรรม การพัฒนา ” ส่งผลให้เกิดการช่วงชิงทรัพยากรน้ำ ระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม ระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุน  นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ความขัดแย้งในการจัดสรรทรัพยากรน้ำได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทย   การปล่อยให้การเข้าถึงทรัพยากรน้ำโดยเสรีที่แท้จริงยังขาดความเป็นธรรม ผู้มีอำนาจมากกว่าย่อมได้รับประโยชน์มากกว่า การใช้น้ำจึงไม่เกิดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เอื้ออำนวยให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ขาดสมรรถนะที่จะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ความต้องการ และที่สำคัญคือคนยากคนจนจะถูกเอารัดเอาเปรียบเสมอมา 

มีการกล่าวกันว่าประเทศไทยมีแหล่งกักเก็บน้ำ 45,434  ล้านลูกบาศก์เมตร (จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบเพราะมีหลายกระทรวง ที่มีงบประมาณรวมแล้วหลายหมื่นล้านต่อปีที่ใช้ในการขุดลอก ขุดสระ ขุดบ่อ ทุกๆ ปีแต่ไม่อาจกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น) ปริมาณน้ำที่ใช้ทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม มีถึง 57,604 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขาดแคลนน้ำถึง 4,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร และกล่าวกันว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยจะมีประชากรเพิ่มเป็น 72.8 ล้านคน ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 77,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เราจะวางแผนแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น บางปีเกิดภาวะภัยแล้ง ทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนขาดน้ำอุปโภคและบริโภค เป็นวิกฤติที่นับวันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่คนเมืองไม่ได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้ 

ขณะเดียวกันวิกฤตน้ำอีกด้าน ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือเรื่องน้ำท่วมน้ำหลาก ซึ่งทุกๆ ปีชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ลุ่มในภาคกลาง หรือชุมชนบริเวณริมน้ำ จะประสบปัญหาน้ำท่วมนานนับเดือนถึงสองเดือนเกิดความเสียหายและเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง  แต่คนกรุงเทพฯไม่ได้รู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่าใดนัก เพราะที่ผ่านมาน้ำอาจจะมีไม่มากนักและได้ถูกจัดการไม่ให้เข้าสู่กรุงเทพมหานคร ความเดือดร้อนเรื่องของน้ำจึงตกกับชาวชนบทและคนชานเมืองตลอดมา เราจะเห็นคนและสัตว์เลี้ยงขึ้นอยู่บนหลังคา หรือไม่ก็ลอยคออยู่ในน้ำ เรือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต หลายคนพูดกันว่า คนกรุงนั่งรถ..คนชนบทนั่งเรือ” หรือ ศักดินานั่งรถ...ไพร่ชนบทนั่งเรือ” สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมจะเห็นภาพของการบริหารจัดการน้ำที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย มีการเฉลี่ยทุกข์ให้คนชนบท เฉลี่ยสุขให้กับคนเมือง การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขจึงเป็นเพียงวาทกรรมของฝ่ายการเมืองทุกยุคทุกสมัย ปัญหาของน้ำจึงมีมากมายมหาศาลทั้งน้ำขาดและน้ำล้น

ในปีนี้พื้นที่เกินครึ่งหนึ่งของประเทศประสบกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรงและยาวนานก็เป็นปัญหาจากการจัดการน้ำของ ทุกรัฐบาลที่ไม่ได้วางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เราจะโยนภาระการจัดการและความรับผิดให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียวคงจะไม่เป็นธรรมเท่าใดนัก  รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เจอกับสภาพน้ำท่วมน้ำหลาก อย่างต่อเนื่องมาถึงเดือน กรกฎาคม แต่ก็ไม่ได้วางแผนเตรียมการใดๆไว้เช่นกัน..รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ยังไม่ได้เริ่มงานอย่างจริงจังก็พบกับปัญหาน้ำท่วมตามมาอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลอภิสิทธิ์   ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองโทษกันไปมา ปัดแข้งปัดขากันนัวเนีย ลูกหาบของแต่ละฝ่ายก็ออกมาแฉพฤติกรรมต่อกัน เดือดร้อนไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลแม้น้ำไม่ท่วมไปถึงสุพรรณบุรีก็ตาม เพราะกล่าวกันว่า กรมชลประทานไม่ยอมปล่อยน้ำลงแม่น้ำท่าจีนเพราะกลัวน้ำเข้าท่วมสุพรรณบุรี” ส่งผลให้การผันน้ำลงอ่าวไทยฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีปัญหาน้ำท่วมรุนแรงในฝั่งธนบุรี และนนทบุรี ซึ่งทิ่มตรงกล่องดวงใจของนายบรรหาร ศิลปอาชา  คนโตเมืองสุพรรณฯ ส่วนกรุงเทพมหานคร ที่มีอิสระในการบริหารงานก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับ ศปภ.ให้น้ำผ่านเข้ากรุงเทพมหานคร ทั้งๆ ที่มีคูคลองมากมายในการดูดซับน้ำและช่วยผันน้ำลงอ่าวไทยแต่กลับปล่อยให้คูคลองเหล่านั้นน้ำแห้งขอด เพราะกลัวน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงของตน อาจจะเสียคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป  ทั้งๆที่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันน้ำคงไม่รุนแรงมากขนาดนี้ จนนายกรัฐมนตรีต้องประกาศใช้มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันภัยฯ เพื่อใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเข้าไปจัดการ ซึ่งทิ่มตรงเข้ากล่องดวงใจนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

สำหรับการผันน้ำในฝั่งตะวันออกก็บอกว่า ศปภ.ไม่ตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้น้ำระบายลงสู่ทะเลโดยเร็ว ไม่มีภาวะผู้นำ นายกขาดความรู้ความสามารถ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือ ข้อกล่าวหาที่แต่ละฝ่ายทิ่มแทงต่อกัน และยังหาวาทกรรมทิ่มแทงใส่กันอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญหายนะภัยครั้งนี้ประชาชนได้รับรู้ความจริงว่า มีการปัดแข้งปัดขากันเพื่อหวังผลทางการเมือง กลายเป็นการเมืองเรื่องของน้ำเน่า” ไปเรียบร้อยแล้ว

การแย่งชิง การปัดแข้งปัดขาแม้ในสภาวะวิกฤตของชาติอย่างไม่หยุดหย่อน แสดงให้เห็นถึงความจริงของสังคม ที่ว่าความแตกแยกในสังคมไทยได้บาดลึกรุนแรงยากที่จะเยียวยา การปลุกเร้าให้เกิดความเชื่อทางการเมือง ความเกลียดชัง การแบ่งแยกฝ่าย  สามารถอยู่เหนือความหายนะของประชาชน และอยู่เหนือความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ประชาชนไม่ยินดีสละความแตกต่างทางความคิดไว้ข้างหลังเป็นการชั่วคราว แล้วหันหน้าจับมือกันฟันฝ่ามหันตภัยน้ำไปด้วยกัน การฉกชิงโอกาสภัยพิบัติของประชาชนเป็นหอกทิ่มแทงเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองจึงเป็นเสมือนสิ่งที่ยอมรับได้ และดูยิ่งรุนแรงมากขึ้น  นี่คือมหัตภัยสังคมที่ร้ายกว่ามหันตภัยแห่งสายน้ำ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรรคการเมืองตูนิเซียประกาศตั้งรัฐบาลผสมภายใน 10 วัน

Posted: 29 Oct 2011 10:03 PM PDT

ตูนิเซียประกาศตั้งรัฐบาลผสมภายใน 10 วัน ขณะเดียวกันมีกลุ่มผู้ไม่พอใจออกมาประท้วงตามเมืองต่างๆ รวมถึงทำลายข้าวของและเผาที่ทำการพรรคเอนนาห์ดา หัวหน้าพรรคเอนนาห์ดาที่ชนะการเลือกตั้งเผยน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่พอใจที่พรรคของตัวเองถูกตัดสิทธิเลือกตั้งจากการโกงและมีอดีตประธานาธิบดีคอยส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง

 

เจ้าหน้าที่ของพรรคอิสลามสายกลางเอนนาห์ดา (หมายเหตุ: ก่อนหน้านี้ต้นฉบับใช้คำว่า Al Nahda แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น Ennahda) ที่ชนะการเลือกตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุดประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใน 10 วัน

ฮามาดี จเบลี เลขาธิการพรรคเอนนาห์ดา กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ว่าทางพรรคได้หารือร่วมกับพรรคอื่นๆ ถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลผสม และประเด็นหลักๆ ที่กล่าวถึงในการหารือคือเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

"พวกเราจะเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อาจจะภายใน 1 สัปดาห์หรือ 10 วันข้างหน้านี้" จเบลี กล่าว

ด้านหัวหน้าพรรค ราชิด กานนูวชี บอกว่าทางพรรครู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับภารกิจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 1 ปี และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นจะวางแนวทางร่วมกันผ่านทางแผนงานของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้พรรคเอนนาห์ดาถูกแบนในสมัยรัฐบาลของ ซีเน เอล อบีดีน เบน อาลี และกลับมาจดทะเบียนอีกครั้งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ที่ทำการพรรคถูกโจมตี

หลังจากที่ผลการเลือกตั้งประกาศอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 ต.ค.) ก็มีกลุ่มคนหลายร้อยคนเดินขบวนประท้วงมาที่หน้าที่ทำการพรรคเอนนาห์ดาในซีดี บูวซิด มีการเผายางรถยนต์และขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่รักษาความสงบ

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเจ้าหน้าที่ได้ตอบโต้ด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่โกรธเกรี้ยว มีกลุ่มผู้ประท้วงอีกราว 1,000 คนชุมนุมกันที่เมืองเมนเดล บูวซาเยน ขณะที่ในเมืองเมกนาสซี กลุ่มผู้ประท้วงได้จุดไฟเผาที่ทำการพรรคเอนนาห์ดา

หัวหน้าพรรคเอนนาห์ดากล่าวหาว่าอดีตประธานาธิบดีที่ถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งเป็นผู้ที่สนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ใช้ความรุนแรง และเรียกร้องให้ผู้ประท้วงอยู่ในความสงบและรักษาทรัพย์สมบัติสาธารณะ โดยเหตุวุ่นวายล่าสุดไม่เกี่ยวข้องกับการที่พรรคได้รับชัยชนะโดยตรง แต่มาจากการที่พรรคอริดา ชาเบีย พรรคการเมืองของนายทุนที่เป็นผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีเบน อาลี ถูกถอนสิทธิจากการเลือกตั้งเนื่องจากถูกต้องสงสัยว่าละเมิดกฏด้านการใช้เงิน

ผู้สื่อข่าวของอัลจาซีร่าประจำกรุงตูนิสรายงานว่าการประท้วงเกิดขึ้นในช่วงข้ามคืนหลังประกาศผลเลือกตั้งขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเพิ่งจะปรากฏตัวในวันศุกร์ (28 ต.ค.) โดยผู้ประท้วงได้ก่อความวุ่นวายไปทั่ว เผาที่ทำการนายกเทศมนตรีและศาล รวมถึงพยายามเข้าไปในอาคารที่ทำการ โดยมีการจับกุมตัวผู้ประท้วงบางรายและมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่

รัฐมนตรีมหาดไทยของตูนิเซียบอกว่าจะมีการประกาศเคอร์ฟิวในเมืองซีดี บูวซิดตั้งแต่ช่วง 19.00น. ของวันศุกร์ ไปจนถึง 05.00น. ของวันเสาร์ ตามเวลาท้องถิ่น

กานนูวชี หัวหน้าพรรคเอนนาห์ดากล่าวอีกว่า รัฐบาลจะไม่ประกาศใช้บัญญัติศีลธรรมของชาวมุสลิม และผู้หญิงสามารถทำงานราชการได้โดยจะสวมญิฮาบหรือไม่สวมฮิญาบก็ได้

 

ที่มา

Tunisian coalition government 'in 10 days', Aljazeera, 28-10-2011
http://english.aljazeera.net/news/africa/2011/10/2011102810143529175.html

Further unrest in town that sparked Arab Spring, The Independent, 29-10-2011
http://www.independent.co.uk/news/world/africa/further-unrest-in-town-that-sparked-arab-spring-2377423.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น