โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พนัส-โภคิน-อนุสรณ์เห็นพ้อง "ตุลาการ"ต้องไม่รับรองรัฐประหาร

Posted: 10 Oct 2011 12:20 PM PDT

เสวนา "ปรีดี พนมยงค์กับรัฐประหาร" ที่ธรรมศาสตร์ "พนัส ทัศนียานนท์" ชี้ 2475 คืออภิวัฒน์ เอา 19 กันยาและรัฐประหารอื่นๆ มาเทียบไม่ได้ "โภคิน พลกุล" ถามหากยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แล้วการยึดอำนาจที่เอาอำนาจประชาชนมาไว้ที่ตัวเอง จะชอบได้อย่างไร พร้อมถามถ้าการยึดอำนาจชอบด้วยกฎหมาย แล้วทำไมต้องเขียนกฎหมายกำกับอีกชั้น

(9 ต.ค.54) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์จัดเสวนาหัวข้อ "ปรีดี พนมยงค์กับรัฐประหาร" ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์

 

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า รัฐประหารมีสองความหมาย หนึ่งคือ แบบที่เป็นการอภิวัฒน์ เป็นการเปลี่ยนไปสู่ระบอบที่ดีกว่า สอง ความหมายในทางลบคือ มีลักษณะปฏิกิริยา หรือพวกโต้อภิวัฒน์ คือพวกที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มีการใช้อำนาจทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจ 8 พ.ย. 2490 ดังนั้น จะพบว่า การเปลี่ยนแปลง 2475 เทียบกับ 19 ก.ย.2549 ไม่ได้เลย แม้จะเทียบว่าเป็นรัฐประหารเหมือนกัน แต่การเปลี่ยนแปลง 2475 ก็เป็นแบบอภิวัฒน์ ขณะที่รัฐประหารครั้งอื่นๆ นั้นเป็นแบบต่อต้านประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ พนัสมองว่า หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในซีกตุลาการ โดยยังยืนยันว่าคณะรัฐประหารชนะแล้ว ยึดได้แล้ว คณะรัฐประหารก็จะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ส่วนที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้นำคนที่ทำรัฐประหารมาลงโทษนั้น นอกจากคำถามว่าแล้วใครจะเอากระดิ่งไปผูกคอแมวแล้ว ยังมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า หากสืบสวนออกมาแล้วปรากฏว่า คมช.ผิดจริง คนเหล่านี้จะยอมหรือไม่ เพราะความผิดฐานกบฎนั้นมีโทษถึงประหารชีวิต

พนัสกล่าวว่า หากจะแก้เรื่องนี้ในบริบทของสังคมไทย ก็ต้องอภิวัฒน์กันต่อไป โดยอาจเป็นการอภิวัฒน์มุมกลับให้กับทางฝ่ายตุลาการ พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่กีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ทำความเห็นแย้ง กรณียงยุทธ ติยะไพรัชถูกดำเนินคดี โดยปฏิเสธหลักรัฎฐาธิปัตย์ว่าใช้ไม่ได้ เพราะเป็นความผิดฐานกบฎ ผลพวงของการกบฎจะนำมาอ้างไม่ได้ ดังนั้นกระบวนการดำเนินคดีทั้งหลายต่อยงยุทธนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

พนัสกล่าวเสริมว่า ดังนั้น หากมีการเสนอกรณีรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลพิจารณาว่าขัดมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารก็จะมีผิดฐานกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญา และเกิดผลตามที่คณะนิติราษฎร์เสนอ อย่างไรก็ตาม พนัสมองว่า โดยสภาวะจิตใจของตุลาการแล้ว พวกเขาคงมีความรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะจะเกิดคำถามว่าที่ผ่านๆ มาจะเป็นโมฆะด้วยหรือไม่ ต้องรื้อใหม่หรือไม่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่นักนิติศาสตร์กระแสหลักถูกบ่มเพาะมา

เขากล่าวว่า สิ่งที่นิติราษฎร์โยนมา คนที่ต้องรับเต็มๆ คือรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่าแล้วรัฐบาลกล้าทำตรงนี้หรือไม่ ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องการทำเพื่อทักษิณนั้น เขาถามว่า การไม่ให้มีรัฐประหารเกิดขึ้นเป็นการทำเพื่อคนๆ เดียวหรือ ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นการทำเพื่อหลักการประชาธิปไตย ที่อย่างน้อยก็เลวน้อยที่สุด

 

 

โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากเป็นที่ยอมรับกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถามว่าการยึดอำนาจใดๆ ก็ตามที่เอาอำนาจประชาชนมาไว้ที่ตัวเอง แล้วออกคำสั่งต่างๆ จะชอบได้อย่างไร นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเขียนกฎหมายรองรับความผิดของคณะรัฐประหาร โดยยกตัวอย่างมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเขียนว่าให้ถือว่าการนิรโทษกรรมในธรรมนูญการปกครอง 2549 นั้นชอบ

โดยโภคินตั้งคำถามว่าถ้าเห็นว่าการยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วทำไมต้องเขียนว่าสิ่งที่ทำไปให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ถ้าสิ่งที่ถูกอยู่แล้วต้องบอกอีกหรือว่าถูก เพราะสิ่งที่ถูกคือถูก ไม่ถูกคือไม่ถูก ดังนั้นที่เขียนนิรโทษกรรมทั้งหลายเพราะหวาดเสียว แต่บังเอิญชนะ เลยไม่มีใครทำอะไรได้

ต่อคำถามว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้การรัฐประหาร 49 เป็นโมฆะทำได้หรือไม่ โภคินตอบว่าเป็นแนวคิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าที่อื่นเขาไม่ทำ แต่ก่อนอื่นต้องตอบก่อนว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นชอบหรือไม่ หากเป็นเรื่องไม่ชอบ เหตุใดจะบอกว่ามันเป็นโมฆะไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ขนาดการประกาศของเสรีไทยให้คำประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประกาศเช่นนี้ ซึ่งทำให้ผลที่เกิดจากการร่วมกับญี่ปุ่นล้วนเป็นโมฆะหมด

โภคินกล่าวเสริมว่า ประชาชนต้องได้รับการกระตุ้นให้ต่อต้านรัฐประหาร รัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิประชาชนต้านรัฐประหารด้วยสันติวิธีไว้ แต่ประเด็นคือเมื่อยึดอำนาจแล้ว รัฐธรรมนูญตรงนี้ไม่มี และคนที่จะชี้ขาดคือศาล ถ้าศาลชี้ขาดว่าการยึดอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทุกอย่างจบ

เขากล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนกล้าแสดงออกมากขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ศาลกล้าแสดงออก กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วประชาชนจะปกป้องท่านเอง ทั้งนี้ เขามองว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อาจจะไกลไปนิดนึงเลยถูกโต้แย้ง โดยชี้ว่าหากศาลวินิจฉัยว่าการรัฐประหารเพื่อล้มประชาธิปไตย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผลของสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะอยู่ไม่ได้ มันจบในตัวมันเอง

 

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า 70 กว่าปีของระบอบประชาธิปไตยไทย มีเพียงการเปลี่ยนแปลง 2475 กับ 14 ต.ค.16 เท่านั้นที่เป็น revolution นอกเหนือจากนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ใช้กำลังทหารซึ่งคือรัฐประหาร ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่าคณะปฏิวัติ หรือคณะปฏิรูปก็ตาม และเป็นสิ่งที่ถอยหลังเข้าคลอง

อนุสรณ์เสนอว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องทำคือ การป้องปรามไม่ให้เกิดรัฐประหารในอนาคต และลบล้างผลพวงของรัฐประหารครั้งล่าสุด (19 ก.ย.49) ในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดกับหลักยุติธรรม พร้อมระบุว่าเขาสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะจะทำให้คณะรัฐประหารในอนาคตต้องคิดว่าหากทำจะมีความเสี่ยงไม่ได้นิรโทษกรรม และถูกลงโทษในฐานะกบฎต่อประชาธิปไตยของประชาชน

เขาเสนอด้วยว่า ควรมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่ทำรัฐประหาร นอกจากนี้ ต้องให้ระบบยุติธรรมไทยไม่ยอมรับรัฐประหาร โดยชี้ว่าที่ผ่านมา รัฐประหารสำเร็จได้เพราะมีการยอมรับคำสั่งและการดำเนินการของคณะรัฐประหารว่าถูกต้องตามกฎหมาย

"รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 สำเร็จได้โดยการยึดอำนาจด้วยอาวุธ และสำทับด้วยการใช้อำนาจตุลาการสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อม"

อนุสรณ์เสนอเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น จะต้องตัดเงื่อนไขของคณะรัฐประหาร ซึ่งคือการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย โดยอธิบายว่าไม่ได้แปลว่ารัฐบาลรัฐประหารไม่ทุจริต แต่อาจควบคุมสื่อได้ดีกว่า ข่าวเลยเงียบ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ยังมีฝ่ายค้าน มีระบบตรวจสอบ แต่ระบบเผด็จการไม่มี

สำหรับคำถามว่ากระบวนการปรองดองจะป้องกันปฏิวัติได้ไหม อนุสรณ์ระบุว่า ได้ในระดับหนึ่ง โดยมองว่าความขัดแย้งนั้นมีสองระดับ หนึ่ง คือ ระดับคณะบุคคล โดยชนชั้นนำลากเอามวลชนเข้ามาสู้กัน โดยสร้างวาทกรรมขึ้น และสอง คือ ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ปรองดองกันไม่ได้ และจะปรองดองได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปให้ได้รับความเป็นธรรม

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ตั้งโต๊ะล่าชื่อ 2 ชั่วโมงได้เกือบพัน ชาวบางสะพานย้ำไม่ยอมให้พ่อเมืองไป

Posted: 10 Oct 2011 11:42 AM PDT

ชาวบางสะพานตั้งโต๊ะล่ารายชื่อค้านย้ายนายอำเภอบางสะพาน ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง รวบรวมสำเนาบัตรได้ร่วมพันใบ ชาวบ้านแจงอยากให้มีการระงับการโยกย้ายไว้ก่อน อย่างน้อยจนกว่ากรณีบุกรุกป่าสงวนฯ ยุติ

 
 
 
วันนี้ (10 ต.ค.54) เวลาประมาณ 10.00 น. ชาวบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งโต๊ะรับสำเนาบัตรประชาชนเพื่อคัดค้านการโยกย้าย นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร นายอำเภอบางสะพาน อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งมีผู้มาร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมา ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ก็สามารถรวบรวมสำเนาบัตรได้ร่วมพันใบ
 
นายสมศักดิ์ อบเชย ชาวบ้าน ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ได้ทราบข่าวว่าจะมีการคัดค้านการโยกย้ายนายอำเภอโดยให้นำสำเนาบัตรประชาชนมารวมกันที่ตลาดบางสะพาน จึงเดินทางมาเพื่อร่วมการคัดค้านการโยกย้ายครั้งนี้ เพราะส่วนตัวเห็นว่านายสมพรตั้งแต่ที่ย้ายมาที่บางสะพานได้ไม่ถึง 2 ปี แต่มีผลงานมากมาย และไม่ใช่เพียงเขาคนเดียวที่คิดแบบนี้
 
“ผมคิดว่าคนบางสะพานรักนายอำเภอท่านนี้กันทั้งนั้น เพราะท่านทำงานจริง ไม่โกง ไม่กิน โดยเฉพาะทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่เกรงหน้าอินทร์ หน้าพรหม ไม่กลัวว่าจะไปขัดผลประโยชน์ใคร เช่นการจับผู้บุกรุกป่าสงวน ที่ใกล้ๆ บ้านผม นายอำเภอก็มีการจับและสั่งให้ผู้บุกรุก ซึ่งเป็นนายทุนขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่ แม้ว่าผู้บุกรุกจะยังขัดคำสั่งทางปกครองของนายอำเภอก็ตาม” นายสมศักดิ์ กล่าว
 
ชาวบ้าน ต.แม่รำพึง กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเขายังไม่อยากให้มีการโยกย้าย เนื่องจากงานต่างๆ ที่นายสมพร กำลังดำเนินการยังคั่งค้างมากมาย และไม่มั่นใจว่าหากนายอำเภอคนใหม่มาจะสานงานต่อจากคนเก่าหรือไม่
 
“ผมได้ยินข่าวว่ามีการระงับการโยกย้ายนายอำเภอในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเนื่องจากเป็นงานต่อเนื่อง จึงอยากให้ทางเบื้องบนรู้ว่าพื้นที่อำเภอบางสะพานก็เป็นพื้นที่ที่นายอำเภอยังมีงานต่อเนื่องเช่นกัน และเป็นงานที่ไม่เคยมีนายอำเภอคนไหนพร้อมที่จะทำมาก่อนแบบท่านสมพรนี้ จึงอยากให้มีการระงับการย้ายไว้ก่อนอย่างน้อยจนกว่าเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติจะจบเสียก่อน” นายสมศักดิ์ แสดงความเห็น
 
ส่วน นางเมียด ร่วมดี ชาวบ้านบ้านนาผักขวง ต.แม่รำพึง ซึ่งมาร่วมลงชื่อครั้งนี้ กล่าว่า ได้ข่าวว่าการโยกย้ายครั้งนี้มีเบื้องหลังแปลกๆ เพราะคนทำดีแต่กลับโดนย้ายไปชายแดนกัมพูชา จึงบอกลูกๆ หลานๆ ให้เอาสำเนาบัตรประชาชนช่วยกัน
 
“ชาวบ้านอย่างเราก็ไม่รู้ว่าจะช่วยนายอำเภอได้แค่ไหน แต่ก็ดีกว่าที่พวกเราจะปล่อยให้คนดีดี คนทำงานจริง โดดเดี่ยว ก็ช่วยๆ กันค่ะ” นางเมียด กล่าว
 
ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านแจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า การตั้งโต๊ะรับสำเนาบัตรประชาชนที่หน้าตลาด จะมีการดำเนินการในวันที่ 10-11 ตุลาคมนี้ เพื่อรวบรวมเอกสาร และจะส่งตัวแทนนำเอกสารทั้งหมดเข้ายื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อไป
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอ็นจีโอสรุปเวทียูเอ็น รัฐไทยยังปัดตกประเด็นร้อน รับ 100 ข้อจาก 172

Posted: 10 Oct 2011 11:31 AM PDT

 

10 ต.ค.54  ที่อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7 องค์กรภาคประชาชนจัดเวที ‘บทสรุปการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในเวทีสหประชาชาติ : ประสบการณ์จากเจนีวา’  หลังจากเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้จัดเวทีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR) ของประเทศไทย โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทยรายงานสถานการณ์ต่อสหประชาชาติและตัวแทนจากรัฐบาลต่างๆ โดยมี 52 ประเทศที่ร่วมซักถามและเสนอแนะในหลายประเด็น
อกนิตษฐ์ หอรัตนคุณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์สหประชาชาติ มูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวสรุปว่า ในกระบวนการ UPR เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่เจนีวา มีข้อเสนอแนะจากนานาชาติ 172 ข้อ ซึ่งไทยตอบรับ 100 ข้อ และขอเลื่อนกำหนด 72 ข้อ ซึ่งจะมีกระบวนการเช่นนี้เป็นครั้งสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยประเด็นที่ไทยไม่ยอมรับเป็นประเด็นหนักที่ได้รับความสนใจอย่างสูงจากชาติต่างๆ เช่น ปัญหาของกฎหมายความมั่นคง, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, กฎหมายความผิดทางคอมพิวเตอร์, โทษประหารชีวิต, อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว, ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

อังคณา นีละไพจิตร

ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมได้จัดเวทีคู่ขนานที่เจนีวาเมื่อวันที่ 3 ต.ค. โดยได้รับความสนใจจากสถานทูตในแต่ละประเทศมาก และค่อนข้างประสบความสำเร็จเพราะหลายประเทศหยิบยกข้อห่วงใยของภาคประชาสังคมไปพูดในเวที ถือว่าประเทศไทยเป็นที่สนใจของนานาชาติมาก มีเกือบ 70 ประเทศต้องการพูด แต่ได้พูดเพียง 52 ประเทศเพราะเวลาจำกัด ส่วนประเทศในอาเซียนนั้นเป็นที่น่าผิดหวังเพราะค่อนข้างสงวนท่าที ไม่วิจารณ์กัน แต่ที่น่าสนใจคือมีประเทศมุสลิม 5 ประเทศที่พูดถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้

อังคณากล่าวว่า การจัดการประชุมนี้มีลักษณะเป็นการสนทนาอย่างเป็นมิตร ระหว่างรัฐไทยและภาคประชาสังคม ผ่านตัวกลางจากประเทศต่างๆ ซึ่งน่าจะส่งผลอยู่พอสมควร เช่น เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการยุบศูนย์สมานฉันท์ ซึ่งเป็นศูนย์สอบสวนผู้ต้องสงสัยในค่ายอิงคยุทธที่ได้รับร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมาน และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.คณะรัฐมนตรีก็เพิ่งมีมติให้ลงนามในอนุสัญญาการต่อต้านการบังคับให้สูญหาย

ส่วนเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ หรือมาตรา 112 หลายประเทศแสดงความห่วงใย โดยเฉพาะนอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์เช่นกันถึงกับเสนอว่าให้มีการแถลงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง

ในขณะที่คณะผู้แทนไทย มองว่าตัวกฎหมายไม่เป็นปัญหาแต่เป็นปัญหาเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งภาคประชาสังคมจะมีการหารือกับรัฐอีกครั้งตามกำหนดที่วางไว้คือ 25-26 ต.ค.นี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีการตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ว่าด้วยจะมีการดำเนินอย่างไร รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ด้วย

ส่วน

เรื่องของการเชิญผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) เข้าประเทศไทย แม้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยจะกล่าวในเวทีว่ายินดีต้อนรับผู้รายงานพิเศษทุกประเด็น แต่เมื่อผู้แทนไทยได้คุยกับภาคประชาสังคมดูแนวโน้มว่าจะทางไทยจะเชิญผู้รายงานพิเศษในแค่บางประเด็น เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม น้ำ แต่ไม่ได้สนใจผู้รายงานพิเศษในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรื่องการบังคับสูญหาย นอกจากนี้ยังย้ำให้ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติต้องทำงานกับรัฐบาลก่อนจะไปหาข้อมูลจากภาคส่วนอื่น ซึ่งเป็นทัศนคติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐที่ควรปรับปรุงก่อนเป็นอันดับแรก

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชนก่อนจะถึงเดือนมีนาคม ซึ่งจะเป็นการทบทวนรายงานครั้งสุดท้าย เราสามารถผลักดันประเด็นที่ไทยยังไม่ยอมรับเข้าไปได้อีก  รวมทั้งตรวจสอบ ติดตาม คำมั่นสัญญาที่ไทยรับไว้แล้วว่าจะแปรเป็นรูปธรรมได้แค่ไหน เพียงไร นอกจากนี้นายสีหศักดิ์ยังรับปากว่าจะแปลข้อเสนอแนะทั้งหมดเผยแพร่แก่สาธารณะ รวมทั้งจะมีการปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศมากขึ้น
สุธารี วรรณศิริ เจ้าหน้าที่รณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ในเวที UPR มีทั้งหมด 8 ประเทศที่พูดให้ไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยมีความกังวลว่าไทยยังใช้โทษประหารอยู่ทั้งที่ประกาศไว้ในแผนสิทธิฉบับที่2 ว่าจะยกเลิกโทษดังกล่าวเพื่อให้ตามมาตรฐานสากล แต่สามปีแรกกลับไม่มีการปรับปรุงมาตรฐาน ดำเนินการใดๆ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชลิดา กล่าวว่า มีตัวแทนจาก กสม.

2 คนที่ไปร่วมประชุม คือ อมรา พงษาพิชญ์ ประธาน กสม. และนายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช ซึ่งบทบาทของ กสม.นั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ และดูเหมือนจะเป็นเนื้อเดียวกับรัฐมากกว่าจะอยู่กับภาคประชาสังคม ขณะที่สุธารี ระบุว่า ในการประชุมในรอบหน้า เดือน ก.พ.55 ควรจับตาบทบาทของ กสม.ว่ามีอิสระมากน้อยเพียง เพราะในรอบนี้จะเปิดให้ กสม.มีเวลาในการอธิบายรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำขึ้นด้วย

 

 
ประเด็นที่ไทย(ยัง)ไม่รับ ได้แก่
-กฎหมายความมั่นคงพิเศษ
-กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา
-พ.ร.บ.ว่าด้ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2250
-โทษประหารชีวิต
-การกักขังจำคุก
-อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว
-ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
 
 
ข้อเสนอแนะที่ไทยยอมรับ ได้แก่
-       สิทธิของกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มชายขอบ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ
-       ความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และความเท่าเทียมทางสังคม
-       การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
-       การปรองดองทางการเมือง โดยเฉพาะการสนับสนุนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อเหยื่อทุกคน
 
พันธกรณีระหว่างประเทศ ไทยรับข้อเสนอว่าจะให้สัตยาบรรณหรือยกเลิกข้อสงวน ได้แก่
-       ให้สัตยาบันต่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการบังคับสูญหาย
-       ให้สัตยาบันต่อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98
-       ถอนข้อสงวนของมาตรา 16 ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
-       ถอนข้อสงวนของมาตรา 6 และ 9 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
-       ถอนข้อสงวนของมาตรา 18 อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิคนพิการ
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แฟรงค์ ลา รู-ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพด้านการแสดงออก

Posted: 10 Oct 2011 11:14 AM PDT

ผมสนับสนุนให้ประเทศไทย จัดทำเวทีหารือสาธารณะที่มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อผูกพันทางหลักสิทธิมนุษยชนสากล

 

10 ตุลาคม 2554

‘ยูเอ็น’ ย้ำอีกครั้ง ไทยต้องแก้กฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

Posted: 10 Oct 2011 11:07 AM PDT

‘แฟรงค์ ลา รู’ ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพด้านการแสดงออก ออกแถลงการณ์จากกรุงเจนีวา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดเวทีสาธารณะเพื่อแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ –พ.ร.บ. คอมพ์ฯ พร้อมเสนอความร่วมมือกับ ‘คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย’ เพื่อแก้ไข กม. ดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล

แฟรงค์ ลา รู
ภาพโดย Janwikifoto (CC BY-SA 3.0)

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ‘แฟรงค์ ลา รู’ (Frank La Rue) ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกแห่งสหประชาชาติ ส่งแถลงการณ์จากเจนีวา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ คอมพิวเตอร์ พร้อมเสนอตัวในการ ‘ร่วมมืออย่างสร้างสรรค์’ กับ ‘คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย’ เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) รัฐบาลไทยพึงมีพันธะผูกพันในการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยสากลที่ระบุไว้ในอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งรับรองสิทธิของบุคคลในการเสาะหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูลและความคิดทุกประเภท

แฟรงค์ ลา รู กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ทำให้จำเป็นต้องมีข้อจำกัดในบางสถานการณ์ที่จำเป็น เช่น การป้องกันสิทธิส่วนบุคคล และปกป้องความมั่นคงของชาติ แต่เขาชี้ว่า กฏหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ประกอบกับบทลงโทษที่สูงเกินความเหมาะสม จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิด้านเสรีภาพการแสดงออก ยังระบุว่า เขายินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ โดย “มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลไทย และคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ผู้ซึ่งมีหน้าที่ทำการปฏิรูปกฎหมายไทยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล”

ทางไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้ โดยกล่าวว่ายังไม่ทราบเรื่อง จึงไม่สามารถให้ความคิดเห็นทั้งในนามส่วนตัวหรือคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมายได้ นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมายหลายฉบับ ไม่ได้จำกัดแค่กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยมีศาสตราจารย์คณิต ณ นครเป็นประธาน และคณะกรรมการอีก 10 คนซึ่งมาจากการสรรหา ประกอบด้วย สุนีย์ ไชยรส, ไพโรจน์ พลเพชร, สมชาย หอมลออ เป็นต้น โดยมีหน้าที่ “เพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย"

000

แถลงการณ์ฉบับเต็ม (แปลเป็นภาษาไทยโดยประชาไท)


ประเทศไทย/ เสรีภาพในการแสดงออก: ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติแนะให้ไทย
แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เจนีวา – วันนี้ แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก แนะให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุว่าใครก็ตามที่ดูหมิ่น เหยียดหยาม อาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี มกุฎราชกุมาร หรือผู้สำเร็จราชการ จะได้รับบทลงโทษโดยการจำคุก 5 – 15 ปี

“ผมสนับสนุนให้ประเทศไทย จัดทำเวทีหารือสาธารณะที่มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อผูกพันทางหลักสิทธิมนุษยชนสากล” แฟรงค์ ลา รู กล่าว “การดำเนินคดีโดยตำรวจศาลในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนี่ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว”

ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ยังถูกใช้เป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยอีกทางหนึ่ง โดยกฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษจำคุกห้าปี สำหรับการแสดงออกในอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หรือที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

“โทษการจำคุกที่ยาวนานและความคลุมเครือของการแสดงออกว่าอะไรที่เข้าข่ายการดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือเป็นภัยต่อสถาบัน ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองและจำกัดการถกเถียงในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก” ลา รู กล่าว “มิหนำซ้ำ การที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถฟ้องตำรวจด้วยข้อหานี้ และการดำเนินคดีลับ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นปัญหาดังกล่าวชัดเจนขึ้น”

ผู้ตรวจการพิเศษได้เน้นว่า ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 ซึ่งมีพันธะผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายตามกฎหมาย รวมถึงพันธะในการรับรองสิทธิของคนในการเสาะหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูลและความคิดทุกประเภท

ลา รู เข้าใจว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ย่อมมาพร้อมหน้าที่และความรับผิดชอบ และด้วยเหตุผลนี้ ภายใต้สถานการณ์พิเศษบางอย่าง สิทธินี้อาจจะถูกจำกัดได้ เช่น การปกป้องสิทธิของบุคคลและการปกป้องความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันการใช้ข้อยกเว้นดังกล่าวไปในทางละเมิดเกินระบุไว้ในกฎหมาย ข้อกำหนดใดๆ ที่จำกัดสิทธิของเสรีภาพในการแสดงออก ต้องกำหนดชัดเจนและไม่คลุมเครือว่าการแสดงออกแบบใดที่ถูกห้าม พร้อมทั้งพิสูจน์ให้ชัดว่าจำเป็นและสอดคล้องกับจุดประสงค์ดังกล่าว

“ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มิได้เข้าข่ายข้อกำหนดนั้น กฎหมายดังกล่าวมีความคลุมเครือและกว้างมาก ส่วนบทลงโทษที่รุนแรง ก็เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์หรือความมั่นคงของชาติ” เขาตั้งข้อสังเกต

ผู้ตรวจการพิเศษ ยังแสดงความกังวลต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และการใช้โดยกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ที่ร่วมมือกับกองทัพไทยเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์หลายพันแห่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันฯ

“ผมได้ยกข้อกังวลที่มีต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความไม่สอดคล้องของกฎหมายดังกล่าวกับข้อพันธะทางสิทธิมนุษยชนสากลของประเทศไทย ในการรายงานอาณัติของผม” ลา รู กล่าว โดยระบุว่าประเด็นนี้ถูกพูดถึงในระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิยูพีอาร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาในกรุงเจนีวา

“ดังนั้น ผมยินดีที่จะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลไทย และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ผู้ซึ่งมีหน้าที่ทำการปฏิรูปกฎหมายไทยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล” แฟรงค์ ลา รู ระบุ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์:สงครามกองโจรในภาคใต้

Posted: 10 Oct 2011 11:05 AM PDT

รายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากลเกี่ยวกับภาคใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ แม้เป็นข่าวใหญ่ในเมืองไทย แต่ที่จริงแล้วข้อสรุปนี้เห็นได้ชัดมาหลายปีแล้ว นั่นคือปฏิบัติการฝ่ายผู้ก่อการได้กลายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติไปแล้ว เพราะมุ่งเป้าโจมตีประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องอย่างไม่แยกแยะ ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม ในขณะเดียวกันปฏิบัติการฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เลวร้ายไม่แพ้กัน เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง มีการใช้การทรมาน และละเมิดกระบวนการทางยุติธรรมอยู่บ่อยๆ

ในระยะแรกๆ ยังพอจะพูดได้บ้างว่าขบวนการมุ่งจะต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงทำร้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ รวมทั้งครูซึ่งคือผู้นำเอาอุดมการณ์ของรัฐไปเผยแพร่ ในขณะเดียวกันปฏิบัติการของผู้ก่อการอย่างอุกอาจหลายครั้ง ก็เพื่อทำให้เห็นประจักษ์ว่าอำนาจของรัฐไทยในพื้นที่สั่นคลอน จนไม่สามารถทำหน้าที่ขั้นพื้นฐานของรัฐคือการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง

แต่ "การก่อการร้าย" ต้องมีเป้าหมายทางการเมือง เพราะ "การก่อการร้าย" ไม่อาจเป็นเป้าหมายในตัวเองได้ 

แต่ขบวนการไม่ได้ทำหรือไม่พยายามจะทำให้เป้าหมายทางการเมืองเด่นชัดออกมา เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง (ไม่เฉพาะแต่ประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่รวมถึงพลเมืองไทยในที่อื่นๆ ทั่วประเทศ) ได้แต่จัดองค์กรเพื่อก่อการร้ายอยู่อย่างเดียว

การใช้ระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรง อาจแสดงสมรรถนะทางเทคนิคที่เพิ่มขึ้นของขบวนการ แต่ในขณะเดียวก็กลายเป็นภาระที่ชัดเจนของขบวนการที่ทำให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนยิ่งขึ้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ได้แต่แสดงซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงความอ่อนแอของอำนาจรัฐไทย แต่ในขณะเดียวกัน ก็แสดงถึงความไม่อาทรต่อประชาชนของขบวนการเช่นเดียวกัน

ความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของขบวนการได้สูญสิ้นไปแล้ว ทั้งในทรรศนะของต่างชาติและองค์กรอิสลาม ที่อาจให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการ-ในทางการทูต, การเงิน, การฝึก, หรือกำลังคน-ในขณะที่นับวันขบวนการก็สูญเสียความชอบธรรมในหมู่ประชาชนในพื้นที่ไปด้วย

หลายปีมาแล้วที่ขบวนการพยายามจะยกการเคลื่อนไหวของตนให้เป็นประเด็นระหว่างชาติ อย่างน้อยก็ในหมู่ประเทศมุสลิม รัฐบาลไทยหลายชุดที่ผ่านมา ก็พยายามอย่างเดียวกันที่จะทำให้ความพยายามของขบวนการในเวทีระดับโลกล้มเหลว แต่ความล้มเหลวของขบวนการที่จะยกระดับการเคลื่อนไหวขึ้นสู่นานาชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลไทยเป็นหลัก ความล้มเหลวนั้นมาจากปฏิบัติการของขบวนการเอง

บัดนี้คงไม่มีประเทศหรือองค์กรมุสลิมระหว่างประเทศที่ไหนซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือขบวนการอย่างเปิดเผยได้อีกแล้ว ปฏิบัติการเยี่ยงนี้ทำให้ยากที่เวทีระดับโลกของประเทศมุสลิมที่ไหน สามารถออกมติใดที่หนุนช่วยขบวนการในประเทศไทยได้อีกแล้ว เพราะไม่มีใครต้องการร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการที่ไม่อาจเรียกตัวเองเป็นอื่นได้ดีกว่าขบวนการ "ก่อการร้าย"

ขบวนการในประเทศไทยอาจได้รับความช่วยเหลือจากขบวนการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายอยู่แล้ว แต่นั่นไม่น่าเป็นเป้าประสงค์ขั้นสูงสุดของขบวนการในประเทศไทย เพราะขบวนการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายเหล่านั้น ไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เป้าหมายทางการเมืองของขบวนการในเมืองไทยเป็นประเด็นสำหรับการต่อรองกับรัฐไทยได้

บางคนในภาคใต้ลือกันมานานว่า บางส่วนของขบวนการได้หันไปร่วมมือกับขบวนการนอกกฎหมายต่างๆ (เช่น ค้ายาเสพติด, ค้าของเถื่อน และค้ามนุษย์) เพื่อหาเงินมาสนับสนุนปฏิบัติการของตน และก็ลือกันมานานแล้วเหมือนกันว่า อำนาจรัฐบางส่วนในภาคใต้ก็ทำอย่างเดียวกัน ส่วนหนึ่งของ "สงคราม" กลายเป็นการแย่งผลประโยชน์กันของมาเฟียสองกลุ่ม

ในด้านหนึ่ง ก็ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้ซับซ้อนขึ้นไปอีก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ขบวนการของฝ่ายก่อการกำลังเดินมาสู่จุดจบอันเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้ว โดยไม่มีผลอย่างยั่งยืนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐไทยต่อประชาชนชาวมลายูมุสลิม

การค้ายาเสพติด และค้ามนุษย์ ไม่ว่าใครเป็นผู้กระทำก็ตาม ย่อมระบาดหนักขึ้นได้จากสถานการณ์ความไม่สงบ ดังนั้นสถานการณ์นี้จึงยิ่งทิ่มตำประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นไปอีก จนแม้แต่การใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนและสะสมกำลังในประเทศเพื่อนบ้านน่าจะทำได้ยากขึ้น เพราะเขาก็อยากเห็นความสงบในภาคใต้ไม่น้อยไปกว่ากรุงเทพฯ

ในทางตรงกันข้าม รัฐไทยไม่ได้ฉกฉวยโอกาสจากความอ่อนแอทางการเมืองของขบวนการ เพราะการขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของกองทัพหลังรัฐประหาร 2549 นับตั้งแต่รัฐบาลรัฐประหาร สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้นมา ได้กระจุกอำนาจการบริหารสูงสุดไว้ในมือ กอ.รมน.หรือกองทัพ จึงยิ่งทำให้การแก้ปัญหาทั้งหมดถูกมองจากมิติด้านการทหารเพียงอย่างเดียว 

แม้แต่ปฏิบัติการของฝ่าย "กิจการพลเรือน" ก็กลับก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปอย่างหนัก เช่น หัวหน้าครอบครัวถูกนำไปเข้าค่าย เพื่อฝึกอบรมอุดมการณ์ของกองทัพเป็นเวลาแรมเดือน ต้องปล่อยให้ครอบครัวอดอยากขาดรายได้เป็นเวลานานๆ

ในขณะที่การเรียนรู้เพื่อปกป้องชีวิตของหน่วยปฏิบัติการ หรือชีวิตของประชาชน ก็ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เคยถูกลอบวางระเบิด หรือลอบยิงอย่างไร เมื่อห้าปีที่แล้ว ก็ยังถูกทำร้ายเหมือนเดิม แม้ว่ารัฐได้ทุ่มเทงบประมาณผ่าน กอ.รมน.ไปมากมายสักเพียงใดก็ตาม

แม้แต่การเรียนรู้ด้านการทหารเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้ยังทำได้เพียงเท่านี้ จะเรียนรู้การบริหารจัดการด้านอื่นๆ ได้สักเพียงใด การกระจุกอำนาจจัดการทั้งหมดไว้ในมือกองทัพ โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล (นอกกระดาษ) เลยเช่นนี้ จึงยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง... 

กองทัพไม่ว่าที่ไหนในโลก หากปราศจากการกำกับควบคุมจากภายนอก โดยเฉพาะจาก "การเมือง" ก็ล้วนกลายเป็นกองโจรไปทั้งนั้น ไม่ต่างจากกองกำลังของฝ่ายขบวนการซึ่งขาดองค์กรทางการเมืองที่เข้มแข็งพอในการชี้นำ

อันที่จริง การต่อสู้ทางการเมืองในภาคใต้ไม่ใช่ประเด็นหลักอีกแล้ว เพราะปฏิบัติการของขบวนการเอง ทำให้เป้าหมายทางการเมืองไร้ความหมาย การเคลื่อนไหวกลายเป็นการเคลื่อนไหวภายในประเทศ อย่างเดียวกับพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ประชาชนในพื้นที่ส่วนที่ไม่พอใจรัฐไทย ไม่อาจฝากความหวังไว้กับขบวนการได้ (แม้ไม่อาจฝากความหวังไว้กับรัฐไทยได้เช่นกันก็ตาม) ใครจะสามารถฝากความหวังไว้กับขบวนการ ที่เวลาผ่านไปถึง 7 ปี การต่อสู้ก็ยังไม่มีมิติอื่นมากไปกว่า "ก่อการร้าย" ซ้ำเป็นการ "ก่อการร้าย" ที่เลือกเป้าน้อยลงเสียอีก

แต่มาตรการทางการทหารที่รัฐไทยใช้เป็นเครื่องมือหลักในการปราบปราม ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยุติปฏิบัติการของขบวนการได้ อันที่จริงมาตรการนี้ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้ว เพราะได้ใช้มาด้วยเวลากว่าครึ่งหนึ่งของการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการ แต่ไม่นำไปสู่อะไรเลย ทั้งๆ ที่ฝ่ายขบวนการอ่อนแอทางการเมืองลงอย่างมาก จนรัฐไทยสามารถยุติการเคลื่อนไหวได้ในเวลาเร็ววัน หากรัฐไทยมีประสิทธิภาพดีกว่านี้

แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า กองทัพที่ไม่มีอำนาจภายนอกอื่นคอยกำกับควบคุม ก็จะกลายเป็นกองโจร ที่ปฏิบัติการด้วยเป้าประสงค์ที่เป็นอิสระของตนเอง สงครามกองโจรที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้ทำโดยกองโจร แต่ทำโดยพรรคซึ่งสามารถกำกับควบคุมกองโจรได้ถึงระดับท้องถิ่นย่อยๆ 

(ปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการในระยะ 2 ปีท้ายนี้ ชี้ให้เห็นว่า อำนาจภายนอกอื่นที่คอยประสานและกำกับกองโจรย่อย (ที่เรียกกันว่า RKK) ดูเหมือนจะอ่อนลงหรือถึงกับหายไป ขบวนการกำลังแตกสลายลงเป็นกองโจร อย่างเดียวกัน)

กล่าวโดยสรุป ในสถานการณ์ภาคใต้เวลานี้ ทั้งสองฝ่ายได้อ่อนแอลงพอๆ กัน เพราะเป็นการต่อสู้ที่ปราศจากเป้าหมายทางการเมืองทั้งคู่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ก็สามารถยุติปัญหาลงได้ในเวลาไม่นาน จะโดยการบีบบังคับให้อีกฝ่ายขึ้นนั่งโต๊ะเจรจาด้วยอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า หรือการเอาชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ไว้ได้ด้วยประสิทธิภาพของการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินก็ตาม

แต่ทั้งสองฝ่ายก็อ่อนแอเกินกว่าจะนำความขัดแย้งไปสู่จุดจบเช่นนั้นได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนทั้งคู่ และทั้งสองฝ่ายต่างก็กลายเป็นอำนาจอิสระ ที่ไม่มีอำนาจอื่นคอยตรวจสอบควบคุม

การต่อสู้ทางการเมือง กลายเป็นการต่อสู้ทางการทหาร และการต่อสู้ทางการทหารที่ขาดการกำกับควบคุมจากภายนอก กลายเป็นการต่อสู้ของกองโจรเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า และอาจสู้กันไปได้เป็นหลายสิบปี ดังที่เกิดในบางประเทศของแอฟริกา, ละตินอเมริกา และอุษาคเนย์ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ยื่นค้านประกันกลุ่มอิทธิพล สุราษฎร์ฯ หลังก่อเหตุปะทะ ตร.กลางสวนปาล์มพื้นที่โฉนดชุมชน

Posted: 10 Oct 2011 10:50 AM PDT

เหตุปะทะกลางสวนปาล์ม สุราษฎร์ฯ รวบผู้ต้องหาได้พร้อมอาวุธสงคราม ชาวบ้านรวมตัวหน้าศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยื่นหนังสือค้านการประกันตัว เหตุเกรงกลัวอิทธิพล ชี้เป็นลูกน้องนายทุนที่ขัดแย้งกับชาวบ้าน

 
เมื่อวันที่ 8 ต.ค.54 ทีมตัวแทนข้อมูลข่าวสารสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้เดินทางลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากเหตุการณ์การจับกุมผู้มีอิทธิพลในพื้นที่สวนปาล์ม ชุมชนไทรงามพัฒนา หมู่ที่ 5 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา กรณีที่มีการแจ้งเหตุจากชาวบ้านว่ามีกลุ่มอิทธิพลพกพาอาวุธเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนไทรงามพัฒนา จากนั้น พ.ต.ต.สำเริง ชูชัย สารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่เพื่อติดตามเหตุการณ์ และได้เกิดเหตุปะทะกันขึ้น
 
ภาพ: รถที่ผู้ต้องหาใช้ก่อเหตุ และร่องรอยกระสุนที่เกิดจากการยิงปะทะกับตำรวจ
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมชาย 2 คน คือ นายสุนทร ช่วยบำรุง และ นายพงศักดิ์ สุขขาทิพย์ พร้อมด้วยอาวุธปืน 4 กระบอก ประกอบด้วย ปืนไรเฟิล 1 กระบอก ปืน 11 มม. 1 กระบอก ปืน .32 1 กระบอก และปืนลูกซองยาว ชนิดบรรจุ 3 นัด 1 กระบอก โดยปืนทุกกระบอกบรรจุกระสุนพร้อมใช้งาน จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการฝากขังไว้ผู้ต้องหาที่ สภ.ชัยบุรี เบื้องต้นแจ้งข้อหา มีอาวุธปืนสงคราม และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 คนที่ สภ.ชัยบุรี 1 คืน ตำรวจได้ทำการส่งตัวไปผู้ต้องหาไปฝากขังต่อที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรอการสอบสวนเพิ่มเติม ส่วน พ.ต.ท.ณพชร เขียดแก้ว พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในคดีดังกล่าว
 
ผู้สื่อ ข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกัน (8 ต.ค.54) กลุ่มชาวบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากการข่มขู่ของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ จากชุมชนไทรงาม ชุมชนคลองไทร และชุมชนสันติพัฒนา กว่า 300 คน ได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพล เพราะผู้ต้องหาเป็นลูกน้องของนายทุนและเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เบื้องต้นศาลรับคำร้องดังกล่าวเพื่อนำไปพิจารณา
 
ส่วนรายงานข่าวของสถานีโทรทัศกองทัพบกช่องเจ็ด ระบุว่า ในขณะเดียวกัน ตำรวจ สภ.ชัยบุรี ก็ทำหนังสือคัดค้านการประกันตัวนายสุนทรเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจ และมีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง เกรงจะเป็นอันตรายต่อส่วนรวม
 
 
ภาพ: สวนปาล์ม ชุมชนไทรงามพัฒนา หมู่ที่ 5 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปะทะ
 
จากการสอบถาม ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.15 น.ของวันที่ 7 ต.ค.54 ขณะที่สมาชิกในชุมชนไทรงามพัฒนากำลังทำงานอยู่ในแปลงเกษตรของชุมชน ได้มีรถกระบะ 2 คัน ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว ไม่มีป้ายทะเบียน และ ยี่ห้ออีซูซุ สีดำ หมายเลขทะเบียน บต 3512 กระบี่ ขับเข้าในพื้นที่ และชายฉกรรจ์ 4 คน ที่เดินทางมากับรถดังกล่าวได้ถืออาวุธปืนลูกซองยาวเข้าข่มขู่ชาวบ้าน ไม่ให้กระทำการใดๆ ในพื้นที่นี้ โดยระบุว่าหากไม่เชื่อจะเจอดี หลังจากนั้นชายกลุ่มดังกล่าวก็เข้าไปสั่งให้คนงานของกลุ่มนายทุนซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับสมาชิกในชุมชนตัดปาล์มของสมาชิกเพื่อไปขายแบ่งกัน จึงโทรแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
เมื่อ พ.ต.ต.สำเริง ชูชัย พร้อม ด.ต.วันชาติ ทองเพชร และ ด.ต.สุรินทร์ บวรสุวรรณ มาถึงยังพื้นที่ได้บอกให้สมาชิกของชุมชนไปนำผลปาล์มที่กลุ่มคนร้ายตัดเอาไว้ เพื่อใช้เป็นของกลาง แต่เมื่อสมาชิกของชุมชนจะนำรถเข้าไปบรรทุกของกลางดังกล่าว กลับถูกขัดขวางโดยนายชาญ ไม่ทราบนามสกุล ด้วยการใช้ปืนสั้นจ่อที่ศีรษะ พร้อมทั้งให้พรรคพวกทุบกระจกรถยนต์ของสมาชิกชุมชนจนได้รับความเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ได้มีการแจ้งความไว้ที่ สภ.ชัยบุรีแล้ว
 
ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังยืนสอบถามข้อมูลจากสมาชิกอยู่นั้น รถอีซูซุ สีขาวที่ก่อเหตุได้ขับย้อนกลับมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเรียกให้จอดแต่รถคันดังกล่าวไม่จอด ด.ต.วันชาติ จึงได้กระโดดขึ้นไปบนกระบะหลัง เมื่อคนร้ายเห็นดังนั้นจึงใช้ปืนสั้น .32 ยิงใส่ ด.ต.วันชาติ แต่ไม่ถูก และ ด.ต.วันชาติ ได้ใช้ปืนยิงยางรถยนต์ทั้งสองข้าง ก่อนกระโดดลงจากรถขึ้นรถเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขับตามไป จากนั้นเมื่อเวลา 17.25 น.ชาวบ้าน จึงได้รับการติดต่อจาก พ.ต.ต.สำเริง ว่ามีการจับตัวผู้ต้องหาได้ 2 คน ส่วนเจ้าหน้าที่ทุกคนปลอดภัย
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวถือเป็นคดีที่ร้ายแรง และเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสมาชิกในชุมชนชุมชนไทรงามพัฒนา และยังเป็นคดีที่คาดว่ามีนายทุนรายใหญ่อยู่เบื้องหลัง จึงเป็นคดีที่ต้องติดตามรายละเอียดต่อไป
 
อนึ่ง ชุมชนไทรงามพัฒนาเป็นชุมชนในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเรื่องการจัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกรในแนวทางโฉนดชุมชน จาก 35 พื้นที่นำร่องทั่วประเทศ ในรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งก่อนหน้านี้ พื้นที่ สปก.แปลงนี้ได้มีนายทุนครอบครองทำประโยชน์โดยผิดกฎหมายไม่ต่ำกว่า 10 ปี และได้เกิดเหตุการณ์คุกคามสมาชิกเครือข่ายที่เคลื่อนไหวเรียกร้องที่ดินทำกินในลักษณะการเผาทำลายบ้านเรือน และยิ่งข่มขู่มาอย่างต่อเนื่อง 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เริ่มขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก ชาวบ้านดันรัฐเร่งแก้ปัญหาที่ดิน

Posted: 10 Oct 2011 10:25 AM PDT

 

 

เริ่มแล้วงานวันที่อยู่อาศัย 2554 ภาคใต้ ลำสินธุ์นำทัพเปิดงาน ยื่นข้อเสนอภาครัฐ เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชน ร่วมวงแก้ปัญหาที่ดินรัฐ จี้ผู้ว่าฯ เร่งดูแลทรัพยากรชายฝั่ง ขอโฉนดชุมชนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

 

 

 

เคลื่อนพล – Car Rally งานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ เคลื่อนขบวนออกจากตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง มุ่งหน้าไปยังบ้านปากคลอง ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง

 

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ที่ศูนย์การเรียนรู้สินแพรทอง ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และองค์กรภาคี ร่วมกันจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ เพื่อผลักดันนโยบายที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยโดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่น โดยใช้กิจกรรม WORLD HABITAT DAY 2011 ในการรณรงค์สร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนัก พร้อมกับยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐ มีนายประดิษฐ์ ทิพย์สุมาลัย ปลัดจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดงาน

ในงานได้จัดเวทีเรื่อง “ลำสินธุ์ตำบลแห่งการเรียนรู้” นำเสนอภาพรวมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินและที่อยู่อาศัยภาคใต้ โดยนายขนิฐ คงทอง คณะทำงานเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินภาคใต้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชาวบ้านจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และพัทลุง มาร่วมงานประมาณ 100 คน

จากนั้นนายวิเชียร มณีโชติ ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง ได้นำเสนอกระบวนการงานพัฒนาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง จากนั้นได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผ่านนายประดิษฐ์ เนื้อหาในข้อเสนอประกอบด้วย ให้จังหวัดพัทลุงแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมบูรณาการของขบวนองค์กรชุมชนระดับจังหวัด โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานของรัฐในจังหวัด ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม นักวิชาการทางสังคม ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนในสัดส่วนที่เหมาะสม และให้จังหวัดจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดนี้

ให้จังหวัดให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล เน้นการบริหารจัดการร่วม และส่งเสริมการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบลให้มีการขยายฐานสมาชิกครอบคลุมเต็มตำบล รวมทั้งประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญ และสนับสนุนงบประมาณสมทบร่วมตามความเหมาะสม, ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปรับโครงสร้างคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัด (กบร. จังหวัด) โดยให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้ามามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และให้ตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการแก้ปัญหาที่ดินในระดับพื้นที่อำเภอ ตำบล โดยมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัด

ให้จังหวัดตั้งคณะทำงานประสานงานข้อมูลระหว่างเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาครัฐในจังหวัด ทำหน้าที่ประสานข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง กับการแก้ปัญหาชุมชน หรือโครงการต่างๆ ของรัฐ ที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก แม้จะเป็นโครงการที่ทำร่วมกับชุมชน เช่น การร่วมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินเขตป่าก็ตาม, ให้จังหวัดจัดระบบสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องสำคัญเร่งด่วน เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มาตรการภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบท

ให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการของรัฐไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เช่น โครงการขุดลอกคลอง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน โรงไฟฟ้า และการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น รวมทั้งต้องศึกษาผลกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อมชุมชน ระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น

ต่อมา เวลา 12.00 น. นายประดิษฐ์ได้ตีตะโพนเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ปล่อยขบวน Car Rally “ผนึกกำลังชุมชน ท้องถิ่น สู่พื้นที่จัดการตนเองอย่างยั่งยืน”  ออกเคลื่อนขบวนไปยังอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ในเวลา 13.00 น

กระทั่ง เวลา 14.45 น. ขบวนฯ ได้เคลื่อนมาถึงหน้าที่ว่าการอำเภอสิเกา มีขบวนแห่กลองยาวจากเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดตรังให้การต้อนรับ นำขบวนมายังสนามฟุตบอลชุมชนบ้านปากคลอง ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง มีชาวบ้านร่วมงานประมาณ 200 คน

จากนั้นมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อสิทธิชุมชน การจัดการ ทรัพยากรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอะไรคือคำตอบ? โดยนายอะเหร็น พระคง ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กล่าวรายงานการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่น

จากนั้นนายอะเหร็น ได้อ่านและยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เนื้อหาระบุว่า ให้มีการจัดการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมาตรการโฉนดชุมชน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินตามหลักฐานตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และมีการจัดทำผังชุมชน สนับสนุนการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง และให้มีการเฝ้าระวังการเผชิญภัย และฟื้นฟูหลังประสบภัยธรรมชาติ

เวลา 16.30 น. นายไมตรี ได้จับสลากแปลงที่ดินโครงการบ้านมั่นคง 10 หลังแรก และเป็นประธานพิธีลงเสาเอก เวลา 17.40 น. มีการแสดงลิเกป่าเล่าเรื่องราวขบวน Car Rally จากพัทลุงถึงตรัง

สำหรับขบวนฯ Car Rally จะเคลื่อนออกจากอำเภอสิเกาไปยังจังหวัดพังงา เวลาประมาณ 08.30 น. วันที่ 11 ตุลาคม 2554

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชายแดนใต้ร่วมบริจาคช่วยน้ำท่วม คนรอบ ‘อ่าวปัตตานี’ ผวาวาตภัย

Posted: 10 Oct 2011 10:20 AM PDT

คนรอบ ‘อ่าวปัตตานี’ ผวาวาตภัยเกิดซ้ำ เตรียมยกของหนีน้ำ ตั้งเครือข่ายแจ้งเตือนภัย แต่ยังใช้คลื่นวิทยุไม่ได้ วอนรัฐช่วย หลายองค์กรในชายแดนใต้ร่วมบริจาคช่วยน้ำท่วมภาคเหลือ กลาง อีสาน

ทิ้ง - บ้านบางหลังที่บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีที่ประสบภัยพายุและน้ำท่วมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 เจ้าของบ้านไม่ยอมซ่อมหรือสร้างใหม่ในที่เดิม แต่ย้ายไปสร้างในที่ใหม่ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเล เพราะยังผวากับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

 

 

นายมะรอนิง สาและ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานีได้เตรียมซักซ้อมการเตือนภัยให้ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีตั้งแต่อำเภอหนองจิก อำเภอเมืองและอำเภอยะหริ่ง หมู่บ้านละ 2 คน ผ่านวิทยุสมัครเล่น แต่ยังติดปัญหาเนื่องจากสมาชิกยังไม่ได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงยังไม่สามารถใช้คลื่นวิทยุสมัครเล่นในการแจ้งเตือนภัยได้ แม้ผ่านการอบรมและสอบเมื่อเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

นายมะรอนิง เปิดเผยว่า คาดว่าสมาชิกจะได้รับ ประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นได้ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ถ้าไม่ได้ ก็คงจะได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งก็คงผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปแล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการด้วย เพื่อให้ทันรับมือกับช่วงมรสุมรุนแรงที่กำลังจะมาถึง

นายมะรอนิง เปิดเผยว่า ช่วงที่มีลมพายุรุนแรงในจังหวัดปัตตานี จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมกราคม เช่นเหตุการณ์พายุดีเปรสชันพัดถล่มหมู่บ้านดาโต๊ะ หมูที่ 4 ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อปีที่แล้ว เกิดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ทำให้บ้านเรือนประชาชนรอบอ่าวปัตตานีพังเสียหายในเป็นพันหลังคาเรือน

“พายุหรือน้ำท่วมจะมาเมื่อไรไม่มีใครรู้ แต่ตนและชาวบ้านบางส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณปากอ่าวปัตตานี ก็ได้เตรียมรับมือไว้บ้างแล้ว เช่นการยกสิ่งของไปตั้งไว้ในที่สูง แต่ชาวบ้านยังไม่ได้ย้ายไปไหน เพราะยังไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน” นายมะรอนิง กล่าว

นายแวอูเซ็ง สูหลง ชาวบ้านดาโต๊ะ  หมูที่ 4 ตำบลแหลมโพธิ์ เปิดเผยว่า ตอนนี้ชาวบ้านเล็งไว้ว่า หากเกิดเหตุพายุพัดรุนแรงหรือน้ำท่วม จะหนีไปหลบที่มัสยิดประจำหมู่บ้านและที่อาคารโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐาน) เนื่องตั้งอยู่บนที่สูงและมีอาคารมั่นคงแข็งแรง

“ส่วนใหญ่ชาวบ้านยังจนจำเหตุการณ์พายุถล่มและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน มีฟ้าร้อง ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกกลัวมากกว่าปกติ แต่ชาวบ้านที่ประสบภัยบ้านพังทั้งหลังก็ยังอยู่ที่เดิม โดยมีการปลูกบ้านใหม่หรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหายเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเพียงหลังเดียวที่เจ้าของไม่กล้าอยู่ที่เดิม จึงไปสร้างบ้านหลังใหม่บริเวณอื่นที่อยู่ห่างจากชายฝั่งอ่าวปัตตานี” นายแวอูเซ็ง กล่าว

นายบือราเฮง มะดีเยาะ โต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านปาตา ซึ่งเป็นกลุ่มบ้านย่อยของบ้านตันหยงลูโละ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเคยประสบภัยพายุและน้ำท่วมช่วงเดียวกับบ้านดาโต๊ะ กล่าวว่า แม้บ้านที่พังเสียหายทั้งหมด 13 หลัง จะปลูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ยังหวาดผวาอยู่ โดยเฉพาะเวลาท้องฟ้ามืดครึ้ม เพราะกลังว่าจะมีพายุถล่มอีกครั้ง แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้เตรียมการอะไร

นายมะนาเซ ยูโซะ ชาวบ้านปาตา หนึ่งในผู้ประสบภัยบ้านพังทั้งหลัง กล่าวว่า ตอนนี้เวลามีฝนตกหนักหรือลมพัดแรงก็จะรู้สึกหวาดผวา เพราะยังจำเหตุการณ์พายุพัดและน้ำท่วมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ได้ดี ตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมการอะไร คงได้แต่รอว่าจะเกิดภัยพิบัติอีกหรือไม่ แต่ก็ไม่คิดจะย้ายไปไหน เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน


สำนักข่าวอามาน เตรียมระดมรับบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมอีสาน เหนือแล้ว
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ที่สำนักข่าวอามาน อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายตูแวดานียา มือรีงิง บรรณาธิการสำนักข่าวอามาน ร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชน กลุ่มรักสันติ และเครือข่ายนักศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ได้ประชุมเตรียมเปิดจุดรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทางภาคอีสาน กลาง เหนือ ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2554

ทั้งนี้ เป็นการระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในนามความช่วยเหลือจากชายแดนใต้ ภายใต้โครงการรินน้ำใจชาวใต้ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย ภาคกลาง อีสาน เหนือ

นายตูแวดานียา เปิดเผยว่า สำหรับจุดรับบริจาคมี 2 แห่ง คือบริเวณหน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี และบริเวณลานวัฒนธรรม ข้างโรงเรียนเบญจมราชูทิศ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และจะมีการเดินขอรับบริจาคตามตลาดต่างๆในตัวเมืองปัตตานี พร้อมรถแห่รับบริจาคบริเวณอำเภอรอบนอกของจังหวัดปัตตานีด้วย

นายตูแวดานียา เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา กลุ่มรักสันติ ได้เปิดรับบริจาคในพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 10 -15 ตุลาคม 2554 ด้วย โดยอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เปิดรับบริจาคที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดนราธิวาส และเตรียมจะเปิดรับบริจาคที่จังหวัดยะลาด้วย

นายตูแวดานียา เปิดเผยอีกว่า การรับบริจาคครั้งนี้ จะเน้นรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและเตรียมเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาคเงินผ่านการโอนเงินเข้าบัญชี จากนั้นจะรวบรวมสิ่งของและเงินบริจาคส่งผ่านทีมงานของนายสุรยุทธ์ สุทัศนจินดา ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ไปยังผู้ประสบภัยต่อไป

นายตูแวดานียา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี และวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี มาเป็นอาสาสมัครรับบริจาคครั้งนี้ โดยจะสวมเสื้อทีมสีขาว เพื่อเป็นจุดสังเกตได้ง่าย

สำหรับประชาชนที่ต้องการบริจาค นอกจากบริจาคตามจุดรับบริจาคแล้ว ยังสามารถให้ทีมงานเดินทางไปรับของบริจาคได้ โดยประสานผ่านนายตูแวดานียา มือรีงิง หมายเลขโทรศัพท์ 089 - 7321987 ระหว่างวันที่ 16 - 18 ตุลาคม 2554

ขณะที่เทศบาลนครยะลา ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศชต.) เปิดรับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยศชต.สนับสนุนพาหนะลำเลียงสิ่งของ โดยสามารถบริจาคสิ่งของได้ที่อาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สถานีดับเพลิง) เทศบาลนครยะลา ตลอด 24 ชั่วโมง หมายเลขโทรศัพท์ 073 – 212345, 073 – 223666 หรือ 199

ส่วนที่จังหวัดสงขลา มีการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานโดยตรงได้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา ตำหนักเขาน้อย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา หมายเลขโทรศัพท์ 074-323760,074311136

ที่ฐานทัพเรือสงขลา  อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พลเรือโททวีป สุขพินิจ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทัพเรือภาคที่ 2 เป็นประธานประกาศความพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เตรียมรับมือในการช่วยเหลือประชาชนกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะภัยน้ำท่วมในฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ที่สำนักข่าวอามาน อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายตูแวดานียา มือรีงิง บรรณาธิการสำนักข่าวอามาน ร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชน กลุ่มรักสันติ และเครือข่ายนักศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ได้ประชุมเตรียมเปิดจุดรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทางภาคอีสาน กลาง เหนือ ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2554

ทั้งนี้ เป็นการระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในนามความช่วยเหลือจากชายแดนใต้ ภายใต้โครงการรินน้ำใจชาวใต้ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย ภาคกลาง อีสาน เหนือ

นายตูแวดานียา เปิดเผยว่า สำหรับจุดรับบริจาคมี 2 แห่ง คือบริเวณหน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี และบริเวณลานวัฒนธรรม ข้างโรงเรียนเบญจมราชูทิศ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และจะมีการเดินขอรับบริจาคตามตลาดต่างๆในตัวเมืองปัตตานี พร้อมรถแห่รับบริจาคบริเวณอำเภอรอบนอกของจังหวัดปัตตานีด้วย

นายตูแวดานียา เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา กลุ่มรักสันติ ได้เปิดรับบริจาคในพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 10 -15 ตุลาคม 2554 ด้วย โดยอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เปิดรับบริจาคที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดนราธิวาส และเตรียมจะเปิดรับบริจาคที่จังหวัดยะลาด้วย

นายตูแวดานียา เปิดเผยอีกว่า การรับบริจาคครั้งนี้ จะเน้นรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและเตรียมเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาคเงินผ่านการโอนเงินเข้าบัญชี จากนั้นจะรวบรวมสิ่งของและเงินบริจาคส่งผ่านทีมงานของนายสุรยุทธ์ สุทัศนจินดา ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ไปยังผู้ประสบภัยต่อไป

นายตูแวดานียา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี และวิทยาลัยการอาชีพปัตตานี มาเป็นอาสาสมัครรับบริจาคครั้งนี้ โดยจะสวมเสื้อทีมสีขาว เพื่อเป็นจุดสังเกตได้ง่าย

สำหรับประชาชนที่ต้องการบริจาค นอกจากบริจาคตามจุดรับบริจาคแล้ว ยังสามารถให้ทีมงานเดินทางไปรับของบริจาคได้ โดยประสานผ่านนายตูแวดานียา มือรีงิง หมายเลขโทรศัพท์ 089 - 7321987 ระหว่างวันที่ 16 - 18 ตุลาคม 2554

ขณะที่เทศบาลนครยะลา ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศชต.) เปิดรับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยศชต.สนับสนุนพาหนะลำเลียงสิ่งของ โดยสามารถบริจาคสิ่งของได้ที่อาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สถานีดับเพลิง) เทศบาลนครยะลา ตลอด 24 ชั่วโมง หมายเลขโทรศัพท์ 073 – 212345, 073 – 223666 หรือ 199

ส่วนที่จังหวัดสงขลา มีการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานโดยตรงได้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา ตำหนักเขาน้อย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา หมายเลขโทรศัพท์ 074-323760,074311136

ที่ฐานทัพเรือสงขลา  อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พลเรือโททวีป สุขพินิจ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทัพเรือภาคที่ 2 เป็นประธานประกาศความพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เตรียมรับมือในการช่วยเหลือประชาชนกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะภัยน้ำท่วมในฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธิดา ถาวรเศรษฐ:แนวร่วมของขบวนการประชาชน (ตอนที่ 1)

Posted: 10 Oct 2011 10:00 AM PDT

การเติบใหญ่ของ นปช. และขวนการประชาชนคนเสื้อแดง แม้ดูเสมือนประสบความสำเร็จในการต่อสู้ และยิ่งเมื่อได้เข้าร่วมรณรงค์และตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วไป จนกระทั่งการเลือกตั้งผ่านพ้นมา แม้จะมีข้อบกพร่องผิดพลาด และการโกงกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านมาได้ และในที่สุดพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ก็เอาชนะการเลือกตั้ง ได้ตั้งรัฐบาล หลายส่วนก็มีทัศนะต่อการดำรงอยู่ของ นปช. และขบวนการเสื้อแดงที่แตกต่างกัน เพราะนี่เป็นก้าวย่างในยุคใหม่ ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ และการปรับองค์กรทั้งขบวน เพื่อรองรับการต่อสู้ในเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ใหม่ หลังจากได้ประสบชัยชนะในเป้าหมายแรกทางยุทธศาสตร์ไปแล้ว คือโค่นล้มรัฐบาลอำมาตยาธิปไตยและจัดตั้งรัฐบาลจากประชาชนขึ้น

 

องค์ประกอบและบทบาทของ แกนนำ, มวลชน และแนวร่วมแบบต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของการปรับกระบวนทัศน์ และกระบวนท่าใหม่ ในขบวนการประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกระทำจากสถานการณ์ใหม่ อันจะทำให้ขบวนการประชาชนเสียหายได้  จึงขอเสนอเรื่องราวของ “แนวร่วม” เพื่อร่วมเป็นส่วนในการศึกษา ยกระดับ ปรับขบวนต่อไป                           

“แนวร่วม” โดยทั่วไปหมายถึง กลุ่มคน หรือ องค์กร ที่ร่วมกันทำการบางอย่าง โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มักใช้ในการต่อสู้ของประชาชนทางการเมือง เพื่อปลดปล่อยจากอำนาจเหนือกว่าที่ครอบครองประเทศนั้น ๆ เช่น จักรวรรดินิยม หรือผู้ปกครอ’งในประเทศ เช่น เผด็จการ ขุนศึก หรือ ระบอบศักดินา                        

บางทีระหว่างกลุ่มต่อกลุ่มในการต่อสู้เรียกเป็น “พันธมิตร” นี่เป็นลักษณะความผูกพันระหว่างคนต่อคน กลุ่มต่อกลุ่ม แต่ไม่เป็นการต่อสู้ของประชาชนก็ได้ เช่น พันธมิตรทางการค้า ทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์ หรือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย                  

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ชื่อก็เน้นว่าเป้าหมายคือ ประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ พัฒนาจากการจับมือหลวม ๆ ร่วมมือเฉพาะกิจเช่น การชุมนุม ให้เป็นองค์กร มีการนำและการจัดตั้งระดับหนึ่ง พัฒนามามีหลักนโยบาย ยุทธศาสตร์ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี มีผู้ปฏิบัติงานมวลชน และองค์กรจัดตั้งที่ทำงานต่อเนื่อง

 

เมื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์เบื้องต้น เป็นธรรมชาติที่จะมีการแตกแยก เพราะคนจำนวนหนึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว (ของกลุ่มตน) เช่น นปช. มียุทธศาสตร์เบื้องแรกคือ โค่นล้มรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย เมื่อพบว่าเลือกตั้งได้ชัยชนะ คนจำนวนหนึ่งก็พึงพอใจที่บรรลุเป้าหมายนี้ และเลือกที่จะเดินเส้นทางของอำนาจรัฐ ไม่ประสงค์ ที่จะเดินเส้นทางของประชาชนอีกต่อไป กระทั่งพยายามสร้างอุปสรรค์ขัดขวางเส้นทางประชาชนที่ก้าวต่อไป อาจเกิดจากความเข้าใจผิดว่า อำนาจรัฐเป็นของกลุ่มตนแล้ว หรือ กลัวความขัดแย้งระหว่างอำนาจเดิมกับอำนาจรัฐได้ใหม่ และกลัวความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐได้ใหม่กับประชาชน จึงเป็นธรรมชาติที่จะมีแกนนำของแนวร่วมการต่อสู้เย็นชา เพิกเฉย ต่อต้านการขับเคลื่อนของประชาชน 

 

ในยามได้อำนาจรัฐชั่วคราว เราจะทำอย่างไรกัน ?

1.    เข้าใจธรรมชาติขององค์ประกอบแนวร่วมว่ามีเป้าหมายแตกต่างกัน เป้าหมายต่อไปคือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 และผลิตผล คมช. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน อาจมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย (หรือมัวพะวงกับอำนาจรัฐที่ได้มาใหม่) ว่าการขับเคลื่อนในเป้าหมายยุทธศาสตร์ใหม่จะให้ผลประโยชน์มากน้อยเพียงไร ผลตอบแทนตนเองคุ้มค่าไหม?

2.    มีสิ่งเก่าหายไป มีสิ่งใหม่เข้ามา เช่น ได้ปัญญาชน ชนชั้นกลาง สื่อ และข้าราชการทหาร พลเรือนมาร่วมด้วย เช่น องค์กรประชาชนอื่น ๆ เกี่ยวกับการสืบค้น คนตาย บาดเจ็บ จับกุมคุมขัง การช่วยเหลือผู้ถูกปราบปราม จับกุมคุมขัง หรือล่าสุดคณะนิติราษฎร ที่โดดเด่นเสนอสิ่งใหม่ในสังคม ให้ลบล้างผลการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันเนื่องมาจากกฎหมายและคำสั่ง หรือในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คมช. ก็จะกลายเป็นแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ใหม่ที่สำคัญ

3.    องค์กรแนวร่วมต้องปรับให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ เป็นองค์กรและปัญญาชน ชนชั้นกลาง โดยมีแนวรบด้านกฎหมายเป็นหลัก จากจุดเด่นรากหญ้าซึ่งเป็นจุดแข็งของขบวน และมีจุดอ่อน ปัญญาชน ชนชั้นกลาง สื่อ เราจึงต้องแก้จุดอ่อน เพื่อสร้างจุดแข็งด้านวิชาการ มารองรับขบวนให้มากขึ้น  

แล้วจะรับมือกับรอยต่อระหว่างเป้าหมายยุทธศาสตร์เดิมและใหม่อย่างไร ?

1.    อธิบายให้ผู้ปฏิบัติงานและมวลชนเข้าใจการขับเคลื่อนขององค์กรประชาชน ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์แต่ละขั้นตอน

2.    ปรับปรุงองค์กรและการนำให้ทันและสอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ทางยุทธศาสตร์

3.    เร่งจัดการศึกษาทั่วทั้งขบวนและประชาชนทั่วไป ถึงบทบาทของประชาชนในยุทธศาสตร์ขั้นใหม่  

แนวร่วมในองค์กรและแนวร่วมนอกองค์กร    

- ในองค์กรแนวร่วมจัดเป็นแนวร่วมชั้นใน    

- นอกองค์กรแนวร่วมจัดเป็นแนวร่วมชั้นนอก            

แนวร่วมชั้นในในองค์กร ยามมีการต่อสู้ที่แหลมคมจะเป็นอันตรายที่สุด ทำให้องค์กร ขาดเอกภาพ ขาดลักษณะสู้รบ จะเป็นจุดอ่อนที่ถูกทำลาย ยกเว้น แนวร่วมชั้นในขององค์กรปฏิวัติประชาชน ที่นำโดยพรรคปฏิวัติก็จะนำพาแนวร่วมชั้นใน คือ กลุ่มแกนนำขององค์กรแนวร่วมไปได้ แต่ แนวร่วมชั้นในขององค์กรแนวร่วมประชาธิปไตย ยังไม่สามารถสร้างเอกภาพเช่นนั้นได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะแตกแยกกันได้ ถ้าพรรคการเมืองที่ร่วมกันไม่เดินแนวทางมวลชน และทำเพื่อมวลชนอีกต่อไป หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับผลประโยชน์มวลชน            

แนวร่วมชั้นนอกองค์กร เช่น กลุ่มสหภาพแรงงาน  กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มสื่อ กลุ่มทุน SME นักเขียน สื่อ กลุ่มข้าราชการ ทหาร พลเรือน สมาชิกพรรคการเมือง วุฒิสมาชิก ฯลฯ แนวร่วมชั้นนอกไม่อาจเรียกร้องวินัยได้ แต่แนวร่วมชั้นในจำเป็นต้องเรียกร้องวินัยองค์กร            

แนวร่วมชั้นนอกนั้นเกิดโดยธรรมชาติ ไม่เกิดจากการแต่งตั้งของ นปช. แต่อย่างใด (โปรดเข้าใจด้วย สำหรับท่านที่เข้าใจผิดว่า นปช. ไปตั้งคณะนิติราษฎรเป็นแขนซ้าย) นี่เป็นบทบาทที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขอจากใคร เพราะบทบาทของผู้รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมนั้น ไม่มีใครกำหนดให้กลุ่มใดทำหรือไม่ทำ แนวร่วมชั้นนอกตลอดจนประชาชนทั่วไป จึงเป็นอิสระในการเคลื่อนไหว และอยู่นอกเหนือเจตจำนงค์ขององค์กรใด ๆ

 
(ยังมีต่อ)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศปภ.เผยแพร่พื้นที่ 'ศูนย์อพยพ' 7 จังหวัด

Posted: 10 Oct 2011 09:54 AM PDT

ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เผยแพร่เอกสาร ที่ระบุสถานที่ซึ่งจะใช้เป็นที่อพยพประชาชนผู้ประสบอุทกภัยใน 7 จังหวัด ดังนี้

จ.นครสวรรค์ เตรียมพื้นที่อพยพ 5 แห่ง ได้แก่ 1.รร.นครสวรรค์ 2 ,  2.วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์ , 3.ร.ร.วัดคีรีวงค์ 4.สนามกีฬากลางจังหวัด และ 5.วิทยาเทคโนโลยีภาคเหนือ  

จ.ลพบุรี เตรียมพื้นที่อพยพ 9 แห่ง ได้แก่ศูนย์การบินทหารบก กองบิน 2 กองพลทหารปืนใหญ่ ศูนย์การบินทหารปืนใหญ่ ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร หน่วยบัญชาการรบสงครามพิเศษ กรมทหารราบที่ 31 รอ. ร.ร.ค่ายนารายณ์ศึกษาถายใต้หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และรพ.อานนัทมหิดล นอกจากนี้ยังมีที่พักชั่วคราวริม ถ.สายบ้านหมี่-บางงา (20 จุด) 

จ.อุทัยธานี เตรียมพื้นที่อพยพ 5  จุด สนามกีฬากลาง กองร้อยอส.จังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ร.ร.พุทธมณฑล วัดสังกัสรัตนคีรี

จ.สิงห์บุรี เตรียมพื้นที่อพยพ 18  แห่ง ศาลาปึงเกงม่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี แห่งที่ 2 ตลาดปากบาง ตลาดวัดกุฎีทอง ตลาดไม้ดัด ตลาดชันสูตร เชิงกลัด ร.ร.วัดพิกุลทอง วิทยาลัยเทคนิค 2 วัดวิหารขาว อนุบาลท่าช้าง วัดสาธุ วัดท่าข้าม วัดโพธิ์ศรี วัดสระบาป วัดสิงห์ วัดพริก และวัดพิกุลทอง

จ.ชัยนาท เตรียมพื้นที่อพยพ 28 แห่ง ได้แก่ วัดธรรมามูลวรวิหาร คันคลองชลประทานพหลโยธิน ลานตากข้าว ต.เขาพระ วัดท่าช้าง ถ.หางน้ำสาคร หลังโรงงาน EIKO วัดดักคะนน ถ.สายชัยนาท- เขื่อน ถ.สาย 340  ถ.ชัยนาท-ตาคลี รร.ชัยนาทพิทยาคม 2  ถ.สาย 311   ชัยนาท-สิงห์บุรี ถ.สายคันคลองมหาราช ถ.พหลโยธิน อ.สรรพยา สวนเฉลิมพระเกียรติ หน้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน ถ.บ้านเหลมหว้า วัดเขาแก้ว ถ.บ้านเขาดิน วัดปากคลองมะขามเฒ่า รร.วัดสิงห์ สะพานคลองมอญ เต๊นท์ริมคลองอนุสาสนนันท์ เต็นท์ถนนสายริมน.เจ้าพระยา วัดโคก-ท่าฉนวน เต็นท์ริมถนน ท่าอู่-หางน้ำสาคร ศาลาวัดพิกุลงาม ศาลาวัดศรีมณีวรรณ เต็นท์ริมคันคลองเขตเทศบาลคุ้งสำเภา วัดทับขี้เหล็ก และบริเวณคันคลอง ต.วังไก่เถื่อน

จ.อ่างทาง เตรียมพื้นที่อพยพ 40  แห่ง (ไม่มีรายละเอียด)

จ.พระนครศรีอยุธยา เตรียมศูนย์อพยพ 102 จุด ที่ศูนย์อพยพ 11  อำเภอ (ไม่มีรายละเอียด) ศาลากลางจ.พระนครศรีอยุธยาและศูนย์อพยพฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์แนะให้ประกาศภาวะฉุกเฉินบางพื้นที่เพื่อแก้น้ำท่วม

Posted: 10 Oct 2011 09:49 AM PDT

อภิสิทธิ์กล่าวหลังประชุม ครม.เงา แนะรัฐบาลพิจารณาประกาศภาวะฉุกเฉินบางพื้นที่ตามความเหมาะสม แม้ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่การแก้ปัญหาหลายพื้นที่มีความยากลำบาก โดยเฉพาะการบริหารพื้นที่และการเคลื่อนย้ายคนหากใช้กฎหมายนี้จะทำให้การบริหารง่ายขึ้น

เว็ยไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานวันนี้ (10 ต.ค.) ว่านายอภิสิทธิ์. เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวภายหลังการประชุม ครม.เงานัดพิเศษ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่าห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบและจากการประเมินสถานการณ์คิดว่าจะยืดเยื้อ มีหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยยืนยันพรรคจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลแก้ปัญหา เมื่อรัฐบาลเปิดศูนย์ที่ดอนเมืองบูรณาการการทำงานสถานการณ์จะหนักขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ครม.เงา ได้แนะนำรัฐบาล 3 เรื่องคือนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ครม.เงามีคำแนะนำถึงรัฐบาลดังนี้ หนึ่ง ครม.เงาหนุนตั้งศูนย์ที่ดอนเมือง แต่ขอให้ยุบกลไกและคณะกรรมการที่ไม่จำเป็นพราะทำให้เกิดความสับสน ล่าช้าในเรืองการรายงานของเจ้าหน้าที่ จึงควรกระชับโครงสร้างการทำงานให้ศูนย์ที่ดอนเมืองมีอำนาจตัดสินใจได้อย่าง แท้จริง

สอง การบริหารจัดการระดับพื้นที่โดยเฉพาะการป้องกัน การอพยพ อยากให้มีการจัดการเรื่องระบบบริหารส่วนหน้า ที่ยังขาดอยู่ ตั้งแต่การเตือนภัย มีข้อมูลให้ประชาชนอย่างครบวงจรผ่านการประสานงานกับสื่อมวลชน

สาม การตัดสินใจบางเรื่องและการใช้อำนาจบางด้าน รัฐบาลอาจต้องพิจารณาประกาศภาวะฉุกเฉินบางพื้นที่ตามความเหมาะสม แม้ว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินอาจไม่ใช่ยาวิเศษ  แต่การแก้ปัญหาหลายพื้นที่มีความยากลำบาก โดยเฉพาะการบริหารพื้นที่และการเคลื่อนย้ายคนหากใช้กฎหมายนี้จะทำให้การ บริหารง่ายขึ้น  ซึ่งต้องขึ้นกับว่ารัฐบาลจะพิจารณาประกาศในพื้นที่ไหนอย่างไร

"รัฐบาลต้องประเมินจากข้อมูลที่มีว่าพื้นที่ไหนจำเป็น ไม่อยากให้รัฐบาลลังเลว่าถ้าใช้กฎหมายพิเศษจะกระทบภาพลักษณ์ เพราะการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องถือเป็นความสำคัญสูงสุด เพราะขณะนี้ภาพน้ำท่วมปรากฏในต่างประเทศอยู่แล้วการบริหารจัดการป้องกันให้ สถานการณ์คลี่คลายจะสร้างความเชื่อมั่นมากกว่า จึงไม่ควรกังวลในเชิงภาพลักษณ์ เพราะถ้าบริหารดีความเชื่ออมั่นจะมาเอง ส่วนการฟื้นฟูเสนอว่าให้รัฐบาลทบทวนกรอบงบประมาณปี 2555 เพื่อกันเงินใช้ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้จัดไว้ อาจจะเกิดไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง พร้อมยกตัวอย่างนโยบายที่ควรยกเลิก เช่นโครงการรถยนต์คนแรก ที่ต้องใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาทควรนำเงินดังกล่าวมาฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชนดีกว่า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: คดีล้มโต๊ะจีนโรงไฟฟ้าหินกรูด บทเรียนจาก “จินตนา” ใบรับประกันการต่อสู้เพื่อชุมชน ?

Posted: 10 Oct 2011 09:15 AM PDT

ในวาระที่ พรุ่งนี้ ! จะมีคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่จิตนตา แก้วขาว แห่งบ่อนอก-บ้านกรูด ถูกฟ้องฐานล้มโต๊ะจีนโรงไฟฟ้า ศาลชั้นต้นยกฟ้องอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 6 เดือน เธอคิดอย่างไร ชาวบ้านคิดอย่างไร นักกฎหมายเห็นอย่างไร กระบวนการยุติธรรมเผชิญความท้าทายแค่ไหน

               

ผ่านมากว่า 10 ปี กับการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-หินกรูด ที่เริ่มต้นจากความหวั่นวิตกต่อมลพิษที่จะมาพร้อมกับโรงไฟฟ้าของผู้คนในชุมชนชาวเล จนกระทั่งโครงการฯ ในพื้นที่ต้องล้มเลิกไป นำมาสู่การเรียนรู้ร่วมกันครั้งสำคัญของผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ปราศจากการรับรู้หรือการมีส่วนร่วมจากชุมชน เป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับอีกต่อไป

สำหรับ จินตนา แก้วขาว ในฐานะแกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ คดีความกว่า 40 คดีที่ถูกกลุ่มทุนฟ้องร้องคือสิ่งที่เธอต้องเผชิญ นับจากการต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.บ้านกรูด ตั้งแต่ปี 2544

 “เจ้าแม่นักเคลื่อนไหว” ที่มีคดีติดตัวเป็นเครื่องหมายรับประกัน จึงกลายเป็นคำนิยาม “จินตนา” แม้เจ้าตัวไม่ได้ยินดีเท่าไรนัก

ล่าสุด คดีล้มโต๊ะจีน ของ บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอบเม้นท์ จำกัด เจ้าของ “โครงการไฟฟ้าถ่านหิน หินกรูด” ขนาด 1,400 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะมีคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 11 ต.ค.นี้ ณ ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือหนึ่งในคดีความของจินตนาที่กำลังจะรู้ผลของการต่อสู้ในเร็ววัน

“วันนี้สำหรับพี่ พี่ต้องเตรียมสภาพพี่น้องเพื่อรองรับให้ได้ว่า หากเกิดอะไรขึ้นเราต้องรับมันได้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นถามว่าเตรียมอะไร คือเตรียมพี่น้องที่จะยืนหยัดสู้ต่อ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าทุนจะคิดว่าใช้ข้อกฎหมาย หรือใช้การกุดหัวก็ไม่สามารถทำให้ภาคประชาชนมันล้ม นี่คือสิ่งที่พี่เตรียมมากกว่าเรื่องอื่น” จินตนา กล่าว

ในฐานะชาวบ้านนักเคลื่อนไหว จินตนามองว่า การใช้กฎหมายกับชาวบ้านไม่ใช่วิธีใหม่ แต่เป็นวิธีที่กลุ่มทุนเลือกที่จะใช้และใช้มาตลอด ซึ่งก็ทำสำเร็จแล้วในบางจุด เพราะกลุ่มทุนเห็นว่าชาวบ้านที่เคลื่อนไหวต่อสู้ก็มีพวกพ้อง การใช้กฎหมายมาจัดการนั้นเป็นการจัดการที่ชอบธรรมมากกว่าการยิงทิ้ง ถ้ายิงทิ้งมันเสี่ยงกับการที่จะเป็นเรื่องราวใหญ่โต และจุดขัดแย้งยิ่งถูกโฟกัส 

สำหรับบทเรียนที่ได้รับ จินตนาบอกว่า ในการต่อสู้เราต้องมองทั้งขบวนการเอาไว้ล่วงหน้าว่าแต่ละก้าวนั้นสุดท้ายของปลายทางมันจะเกิดอะไร เมื่อก่อนชาวบ้านคิดแค่จบโครงการ แต่ตอนนี้ชาวบ้านต้องคิดต่อในรายละเอียดว่า เมื่อหยุดโรงงานแล้วต้องเจออะไรต่อไป

“เราคิดว่าวันนี้มันจะได้บทเรียนอย่างหนึ่งว่า อย่างน้อยๆ แนวทางการต่อสู้มันสามารถหยุดโรงงานได้ มันสามารถทำให้คนเข้ามาดูเรื่องความผิดเรื่องที่ดิน เรื่องการทุจริต เรื่องการเข้ามาของโครงการ เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรมากขึ้น โดยใช้กรอบของกฎหมาย และกรอบของกฎหมายนั้นมันต้องมองในระยะยาวต่อไปอีกว่ามันเอื้อกับใครในระยะยาว” เจ้าแม่นักเคลื่อนไหวกล่าว

ขณะเดียวกัน แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูด ก็ยกตัวอย่างเหรียญสองด้านของการใช้กฎหมายว่า ปี 2548 เธอถูกสั่งจากศาลอุทธรณ์ว่าเป็นผู้บุกรุกและอาจถูกสั่งให้จำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ขณะที่ในปี 2552 มีกรณีการบุกรุกที่ดินของบริษัทโรงไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดให้โรงไฟฟ้าต้องคืนที่ดินให้กับรัฐ 6 ไร่ จะเห็นได้ชัดว่าในขณะที่เกิดปัญหาเรื่องคดีอาญากับชาวบ้าน แต่ในอีกซีกหนึ่งกลุ่มทุนคุณต้องคืนที่ดิน

“ไม่ว่าวันที่ 11 ต.ค.ผลจะออกมาอย่างไร มันเป็นความชอบธรรม อย่างที่ชาวบ้านเขาคิดอยากปลอบใจเรา เขาบอกว่าไม่เป็นไร จำคุก 6 เดือน แลกโครงการ 6 หมื่นล้าน เท่ากับจำคุกเดือนละ 1 หมื่นล้าน อันนี้ถ้าถามชาวบ้านเนี่ยคุ้ม แต่ถามว่าเราอยากให้เกิดไหม เราก็ไม่อยากให้เกิด แต่สิ่งหนึ่ง เราก็บอกว่านี่คือขบวนที่ชาวบ้านต้องภาคภูมิใจว่า วันนี้ชาวบ้านได้ทำจนสุด จนวันที่เราไม่ต้องเสียค่าโง่ 340,000 ล้าน วันนี้เราไม่ต้องสูญเสียที่ดินสาธารณะให้กับทุนฟรีๆ วันนี้เราไม่เสียธรรมชาติ วันนี้เรารักษาสิทธิชุมชน เราคืนความเป็นบ้านกรูด เราคืนความเป็นคนมาได้ เพราะฉะนั้นวันนี้มันจะแลกบ้าง มันก็จำเป็น” แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูดให้ความเห็น

สิทธิตามรัฐธรรมนูญ VS ความผิดตามกฎหมายอาญา

คดีความที่จะถูกพิจารณาโดยศาลสูงสุดในวันที่ 11 ต.ค.นี้ สืบเนื่องจากกรณีที่ชาวบ้านซึ่งคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบุกเข้าไปในบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอบเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 13 ม.ค.44 และใช้ของเน่าเสียสกปรกขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการจัดงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปี ของโครงการฯ ส่งผลให้จินตนาถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุก และต่อมาทางอัยการก็ได้ฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาล

ในมุมมองของชาวบ้าน การจัดงานเลี้ยงในวันนั้นคือการสร้างภาพของความจริงที่ถูกบิดเบือนโดยบริษัทที่บอกว่า “สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้” และอาจส่งผลให้กลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจร่วมลงทุนโครงการนี้ พวกเขาเชื่อว่า หากปล่อยให้เกิดงานเลี้ยงสนุกสนาน มีดนตรี อาหาร ตลกคาเฟ่ เพียง 3 ชั่วโมง ก็อาจทำลายอนาคตของคนบ้านกรูดไปตลอด

จินตนา ให้ความเห็นกับคดีนี้ไว้ว่า ในขณะที่กลุ่มทุนพยายามใช้กฎหมายอาญาจัดการชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็พยายามแย้งโดยใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันว่าความจริงแล้วสังคมไทยจะเลือกอย่างไร ระหว่างชาวบ้านใช้สิทธิที่จะต่อสู้เพื่อลดการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในแบบเมื่อก่อน กับอีกฝ่ายหนึ่งที่บอกว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญมันใช้ไม่ได้ ให้ใช้กฎหมายอาญา ในที่สุดมันนำไปสู่ความรุนแรงหรือเปล่า

คดีล้มโต๊ะจีน ‘มาตรฐานหลากหลาย’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง “อาชญากรหรือนักสู้เพื่อชุมชน?” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 แสดงความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยในคดีของจินตนา
 


 

สมชาย กล่าวว่า ความน่าสนใจของคดีความนี้คือ “คำพิพากษาของศาล” โดยเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2548 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กลับมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ไม่รอลงอาญา จากที่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 20 ก.ย.46 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว

ประเด็นที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชี้แจงคือ ศาลชั้นต้น มีการตัดสินโดยอ้างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิชุมชน ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องรูปแบบที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่ารัฐธรรมนูญในอดีต

“ไม่ใช่ว่าตัดสินว่าคุณจินตนาไม่ผิด แต่ในแง่หนึ่งผมคิดว่าศาลเริ่มต้นด้วยการพูดถึงรัฐธรรมนูญก่อน เจตจำนงของรัฐธรรมนูญคืออะไร เมื่อชาวบ้านอ้างว่าใช้สิทธิตามนี้ก็ต้องพิจารณาภายใต้ความมุ่งหมายนี้”

ในส่วนของศาลอุทธรณ์ ไม่มีการพูดถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และพิพากษาให้จำเลยมีความผิด โดยวิเคราะห์ว่าพยานโจทก์ 4 คน ซึ่งเบิกความในศาลแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวน อาจเนื่องจากพยานโจทย์เหล่านี้ “เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลย” หรือมิฉะนั้นอาจกลับใจเบิกความเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นผิด

อีกทั้ง เมื่อพิจารณาคำให้การของพยานแล้ว เห็นว่าสอดคล้องเชื่อมโยงกับคำเบิกความของพยานโจทก์อื่นๆ จึงเชื่อว่า “พยานทั้ง 4 คนให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง ยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้ในชั้นศาล”

คำถามสำหรับสมชาย คือ ถ้าเราเชื่อคำให้การในชั้นตำรวจมากกว่าคำให้การในชั้นศาล แล้วเราจะมีศาลไว้เพื่ออะไร?

 

นอกจากนั้น ในกรณีที่ความเห็นต่อพยานโจทก์ของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังแตกต่างกัน เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินว่าพยานบางคนมีคดีกับจินตนาและยังมีคดีความยังคาอยู่ในศาล แต่ศาลอุทธรณ์บอกว่าพยานโจทก์ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุสงสัยว่าจะปรักปรำใส่ร้ายจำเลย

คำถามในฐานะนักเรียนกฎหมายคือ  “มาตรฐานอยู่ที่ไหน?” หากพยานน่าสงสัยไม่น่าเชื่อถือ ทำไมศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่มองไปในทางเดียวกัน แต่กลับมองตางกันจากขาวเป็นดำ ทั้งที่พยานเป็นพยานชุดเดียวกัน สำนวน คำให้ปากคำเป็นชุดเดียวกัน ในส่วนนี้ก็ให้เกิดข้อสงสัยต่อความรู้ในวิชากฎหมาย เพราะทำให้คิดได้ว่า “คำตัดสิน” นั้นขึ้นอยู่กับ “ความเห็น” ของผู้พิพากษาล้วนๆ

“ตรงนี้ไม่ใช่เรื่อง 2 มาตรฐาน แต่เป็นเรื่องความมีหรือไม่มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนให้ความเห็น ทั้งยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ คดีที่ผ่านมานั้น เรากำลังเผชิญอยู่กับกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา นับตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ และชั้นศาล

 ‘ไม่มีพระพุทธเจ้าในศาล’ ข้อเสนอตรวจสอบศาล

สมชาย แสดงความเห็นต่อมาว่า สิ่งที่สำคัญที่ต้องผลักดันภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมไม่หลุดลอยไปจากสังคม คือ

1.เสรีภาพในการแสดงความเห็น การใช้ดุลยพินิจของศาลหากอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้การใช้ดุลยพินิจถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ต่อคำพิพากษาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การด่าศาล แต่ต้องวิจารณ์ได้ ในหลายประเทศศาลต้องเขียนคำพิพากษาอย่างระมัดระวังและใช้เหตุผลอย่างรอบคอบ เพราะรู้ว่าจะถูกวิจารณ์ แต่ในเมืองไทยการวิพากษ์วิจารณ์ต่อศาล หรือคำพิพากษาของศาลมีน้อยมาก

“เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันจะดึงให้คำพิพากษาต้องอยู่ในสังคม ไม่ใช่อยากจะเขียนอะไรก็เขียนไป เพราะใครก็ด่าอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ไอ้แบบนั้นแหละที่ทำให้คำพิพากษามันลอยไป” อาจารย์คณะนิติศาสตร์

2.ต้องทำให้ศาลสัมพันธ์กับประชาชน เพราะปัจจุบันศาลยุติธรรมไทยไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนเลย อีกทั้งไม่มีกระบวนการใดๆ ไปควบคุมตรวจสอบ ถือเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระมาก ยกตัวอย่างเช่น ในอเมริกา ศาลสูงสุดมาจากการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีให้วุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่ นับเป็นการอยู่ใต้การกำกับของสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเลือกตั้งประธานศาลฎีกา แต่มีวิธีการมากมาย โดยส่วนตัวมีความเชื่อว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ใช้อำนาจแล้วลอยออกจากสังคม ไม่ถูกตรวจสอบ ก็พร้อมจะเหลิงได้

“ทุกคนพร้อมที่จะเหลิงได้ เพราะทุกคนเป็นมนุษย์ ไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่ในศาล คนที่อยู่ในศาลก็คือมนุษย์ธรรมดา เมื่อใดที่การใช้อำนาจของเราไม่ถูกตรวจสอบ ผมคิดว่าคนทุกคนพร้อมที่จะเหลิงได้” สมชายกล่าว

‘ไม้ขีด’ ก้านสุดท้าย ปฏิรูประบบยุติธรรมเพื่อคนตัวเล็ก

สมชาย ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาราว 10 ปี ก่อนหน้าที่ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาติจะเข้มข้น ขบวนการชาวบ้านค่อนข้างเข้มแข็งและมีเสียงดัง แต่ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เสียงชาวบ้านได้หายไป อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับชาติเริ่มเบาบางลง น่าจะเป็นโอกาสที่นอกจากการสู้ในแต่ละคดีแล้ว ขบวนการชาวบ้านอาจต้องเริ่มกลับมาพูดถึงเรื่องการทำอย่างไรให้กฎหมายเป็นธรรมมากขึ้นกับคนตัวเล็กๆ ในสังคม โดยเชื่อมร้อยให้เห็นว่าคนตัวเล็กๆ ถูกละเมิดโดยไม่เป็นธรรม ทั้งจากตัวกฎหมายและจากกระบวนการยุติธรรม และร่วมผลักดันให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เป็นวาระของขบวนการคนจน

“ผมไม่คิดว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถปฏิรูปได้จากภายในตนเอง ย้ำผมไม่คิดว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถปฏิรูปได้จากภายในตนเอง ผมคิดว่าในการสร้างแรงกดดันด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เสรีภาพของการวิพากษ์วิจารณ์นี่แหละที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยน” สมชายกล่าว

สำหรับคดีของจินตนา สมชายกล่าวว่า หากศาลฎีกาตัดสินให้ยกฟ้องสิ่งที่เกิดขึ้นเราก็จะคิดว่าศาลยังพอพึ่งพาได้ ซึ่งสำหรับชาวบ้านที่บ้านกรูดเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง ศาลอาจพอฟังบ้าง แต่กับชาวบ้านในที่อื่นๆ ก็อาจต้องเดือดร้อนต่อไป แต่หากจินตนาติดคุก เขาคิดว่าเครือข่ายขบวนการประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ในสังคมไทยต้องลุกขึ้นมาพูดอะไรอย่างมากมาย

“ในแง่หนึ่งผมคิดว่าขบวนการประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ขบวนการคนตัวเล็กๆ ในสังคมไทย ตอนนี้ดูเหมือนว่ากำลังรอไม้ขีดซักก้านหนึ่งที่จะตกลงไปเพื่อให้มันลุกพรึบขึ้นมา และก่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำหรับคนตัวเล็กๆ หรือคนจนในสังคมไทย ซึ่งในทัศนะ ผมคุณจินตนาคือไม้ขีดที่ดีที่สุด ที่ผมไม่อยากให้ถูกจุด” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แสดงความเห็น

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รู้ไว้ก่อน: 78 ศูนย์อพยพน้ำท่วมฝั่งตะวันออก กทม.

Posted: 10 Oct 2011 09:08 AM PDT

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงาน สถานที่ที่กรุงเทพมหานครจัดเตรียมเป็นศูนย์อพยพ โดยระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้สั่งการให้สำนักงานเขตฝั่งตะวันออกและ 13 เขตที่อาศัยอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ทำการจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยล่าสุดได้มีการรวบรวมชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น 191 ชุมชน จำนวน 78 ศูนย์อพยพ ใน 4 เขตฝั่งตะวันออกของกทม. ได้แก่

1.เขตมีนบุรี จำนวน 31 ชุมชน มีสถานที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ 10 ศูนย์อพยพ ประกอบด้วย 1.โรงเรียนบึงขวาง(มหาดไทยอุปถัมภ์) 2.โรงเรียนวังเล็กวิทยานุสรณ์ (คลองสี่) 3.โรงเรียนคลองสาม 4.โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน 5.โรงเรียนศาลาคู้ 6.โรงเรียนบ้านเกาะ 7.โรงเรียนบ้านเกาะ 8.วัดใหม่ลำนกแควก 9.โรงเรียนคลองสองต้นนุ่น และ 10.โรงเรียนสุเหร่าแสนแสบ ทั้งนี้ สามารถประสานได้ที่ นางเฉลิมศรี เฉียงอุทิศ เจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี เบอร์โทรศัพท์ 087-980-3681

2.เขตหนองจอก จำนวน 73 ชุมชน มีสถานที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ 32 ศูนย์อพยพ ประกอบด้วย 1.โรงเรียนวัดแสนเกษม 2.โรงเรียนวัดใหม่เจริษราษฎร์ 3.โรงเรียนวัดพระยาปลา 4.โรงเรียนวัดหนองจอก(ภักดีนรเศรษฐ) 5.โรงเรียนสามแยกท่าไข่ 6.โรงเรียนนีลราษฎร์อุปถัมภ์ 7.โรงเรียนสุเหร่าศาลาแดง 8.โรงเรียนหลวงแพ่ง 9.โรงเรียนสุเหร่าหะยีมินา 10.โรงเรียนสุเหร่าใหม่ 11.โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วย 12.โรงเรียนวัดทรัพย์สโมสร 13.โรงเรียนวัดสามง่าม 14.โรงเรียนสุเหร่าคลองเก้า 15.โรงเรียนสุเหร่าคลองสิบ 16.โรงเรียนสุเหร่าคลองสิบเอ็ด 17.โรงเรียนลำบุหรี่พวง 18.โรงเรียนวัดสีชมพู 19.โรงเรียนอิสลามลำไพร 20.โรงเรียนบ้านเจียรดับ 21.โรงเรียนวัดทรัพย์สโมสร 22.โรงเรียนสุเหร่านาดับ 23.โรงเรียนวัดลำต้อยติ่ง 24.โรงเรียนศิริวังวิทยาคาร 25.โรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้ม 26.โรงเรียนวัดราษฎร์บำรุง 27.โรงเรียนวัดใหม่เจริญราษฎร์ 28.โรงเรียนสุเหร่าบ้านเกาะ 29.โรงเรียนลำบุหรี่พวง 30.โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์ 31.โรงเรียนสิริวังวิทยาคาร และ 32.โรงเรียนสังฆประชานุสรณ์ ทั้งนี้ สามารถประสานได้ที่ นายดำรงค์ รื่นสุข เจ้าหน้าที่เขตหนองจอก เบอร์โทรศัพท์ 081-648-5557

3.เขตลาดกระบัง จำนวน 32 ชุมชน มีสถานที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ 16 ศูนย์อพยพ ประกอบด้วย 1.โรงเรียนวัดบึงบัว 2.โรงเรียนวัดสุทธาโภชน์ 3.โรงเรียนลำพะอง 4.โรงเรียนวัดทิพพาวาส 5.โรงเรียนวัดบึงบัว 6.โรงเรียนวัดลาดกระบัง 7.โรงเรียนวัดปลูกศรัทธา 8.โรงเรียนวัดบำรุงรื่น 9.โรงเรียนวัดราชโกษา 10.โรงเรียนประสานสามัคคี 11.โรงเรียนวัดพลมานีย์ 12.โรงเรียนวัดสุทธาโภชน์ 13.โรงเรียนแสงหิรัญ 14.โรงเรียนตำบลขุมทอง 15.โรงเรียนตำบลขุมทอง และ16.โรงเรียนสุเหร่าลำนายโส ทั้งนี้ สามารถประสานได้ที่ นายโฆษิต ธรรมโฆษิต เจ้าหน้าที่เขตลาดกระบัง เบอร์โทรศัพท์ 086-9801-6439

4.เขตคลองสามวา จำนวน 55 ชุมชน มีสถานที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ 20 ศูนย์อพยพ ประกอบด้วย โรงเรียนวัดบัวแก้วสุเหร่าคลองหนึ่ง 1.โรงเรียนประชาราษฎร์อุปถัมภ์สุเหร่าคลอง1 2.โรงเรียนสุเหร่าคลองหนึ่ง 3.โรงเรียนสุเหร่าสามวา 4.โรงเรียนวัดสุขใจ 5.โรงเรียนวัดศรีสุก 6.โรงเรียนสุเหร่าคลองสี่ 7.โรงเรียนวัดลำกระดาน 8.โรงเรียนวัดสุทธิสะอาด 9.โรงเรียนสุเหร่าคลองสี่ 10.โรงเรียนวัดสุทธิสะอาด 11.โรงเรียนบ้านแบนชะโด 12.โรงเรียนวัดแป้นทอง 13.โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ 14.โรงเรียนวัดบัวแก้ว 15.โรงเรียนวัดบัวแก้ว วัดสุขใจ วัดสุทธิสะอาด 16.โรงเรียนสุเหร่าแสบแสบ 17.โรงเรียนสุเหร่าเกาะขุนเณร 18.โรงเรียนสุเหร่าเกาะขุนเณร 19.โรงเรียนวัดบัวแก้ว และ 20.โรงเรียนบ้านแบนชะโด ทั้งนี้ สามารถประสานได้ที่ นายชลอ เฉียงอุทิศ เจ้าหน้าที่เขตคลองสามวา เบอร์โทรศัพท์ 087-017-0111

ส่วน 13 เขตที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำที่ กทม.สำรวจได้แก่ 1.เขตบางซื่อ ได้แก่ ชุมชนพระราม 6 (ฝั่งติดแม่น้ำ) และชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ 2.เขตดุสิต ได้แก่ ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ (เชิงสะพานกรุงธน) ชุมชนซอยสีคาม (ซอยสามเสน 19) ชุมชนปลายซอยมิตรคาม (ซอยสามเสน 13) และชุมชนวัดเทวราชกุญชร (ถนนศรีอยุธยา) 3.เขตพระนคร ได้แก่ ชุมชนท่าวัง ชุมชนท่าช้าง และชุมชนท่าเตียน 4.เขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ ชุมชนวัดปทุมคงคา (ท่าน้ำสวัสดี) และชุมชนตลาดน้อย5.เขตบางคอแหลม ได้แก่ ชุมชนวัดบางโคล่นอก ชุมชนหน้าวัดอินทร์บรรจง ชุมชนซอยมาตานุสรณ์ และชุมชนหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 6.เขตยานนาวา ได้แก่ ชุมชนโรงสี (ถนนพระราม 3) 7.เขตคลองเตย ได้แก่ ชุมชนสวนไทรริมคลองพระโขนง 8.เขตบางพลัด ได้แก่ ชุมชนวัดฉัตรแก้ว 9.เขตบางกอกน้อย ได้แก่ ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ ชุมชนปากคลองน้ำตาล-คลองพิณพาทย์ ชุมชนตรอกวังหลัง และชุมชนดุสิต-นิมิตรใหม่ 10.เขตธนบุรี ได้แก่ ชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่ 11.เขตคลองสาน ได้แก่ ชุมชนเจริญนครซอย 29/2 12.เขตราษฎร์บูรณะ ได้แก่ ชุมชนดาวคะนอง และ 13.เขตทวีวัฒนา ได้แก่ ชุมชนวัดปรุณาวาส

ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมศูนย์อพยพจำนวน 23 ศูนย์อพยพ พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์คอยดูแล ประกอบด้วย 1.โรงเรียนวัดสร้อยทอง ประสานได้ที่ นายนพดล วรวิชา เบอร์โทรศัพท์ 083-425-8944 2.โรงเรียนมัชฌันติการาม 3.โรงเรียนวัดจันทรสโมสร ประสานได้ที่ ว่าที่ ร.อ.ตรีทรงศร กัลยาสุนทร เบอร์โทรศัพท์ 086-060-2211 4.โรงเรียนวัดราชผาติการาม 5.โรงเรียนวัดเทวราชกุญธร 6.วัดอินทรวิหาร ประสานได้ที่ นายถวิล ทวีวัน เบอร์โทรศัพท์ 081-929-8622 7.วัดมหาธาตุ 8.โรงเรียนวัดพระเชตุพน 9.วัดปทุมคงคา ประสานได้ที่ นายสมบัติ พหุรวงษ์ เบอร์โทรศัพท์ 089-992-6329 10.โรงเรียนวัดจันทร์ใน ประสานได้ที่ นางพรพิมล ม่วงศรีจันทร์ เบอร์โทรศัพท์ 081-925-0383 11.โรงเรียนวัดลาดบัวขาว

12.โรงเรียนวัดบางโคล่นอก 13.โรงเรียนวัดจันทร์นอก 14.โรงเรียนวัดช่องลม ประสานได้ที่ นายมานะชัย กฤตอำไพ เบอร์โทรศัพท์ 086-335-9584 15.วัดสะพาน 16.โรงเรียนวัดฉัตรแก้วจงกลนี ประสานได้ที่ นางฤทธิพร ชัยสุรินทร์ เบอร์โทรศัพท์ 086-765-7889 17.โรงเรียนวัดดุสิต ประสานได้ที่ นางอริษา แสวงผล เบอร์โทรศัพท์ 081-643-2775 18.โรงเรียนมัธยมวัดดุสิต 19.โรงเรียนสตรีวัดระฆัง 20.โรงเรียนวัดกัลยาณมิตร ประสานได้ที่ นายยงยุทธ ศรัทธาธรรมกุล เบอร์โทรศัพท์ 081-820-8886 21.วัดเศวตฉัตร ประสานได้ที่ นายสุภกิจ สุรจินตนาภรณ์ เบอร์โทรศัพท์ 081-823-5534 22.โรงเรียนวัดบางปะกอก ประสานได้ที่ นายสมนึก การีมี เบอร์โทรศัพท์ 089-789-8390 และ 23.โรงเรียนวัดปุรณาวาส ประสานได้ที่ นายวิชาญ เหรียญวิไลรัตน์ เบอร์โทรศัพท์ 081-700-6968

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานด้วยว่า ในวันที่ 11 ต.ค. เวลา 10.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เตรียมเดินทางไปเป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก ที่ ศาลาประชาคม เขตมีนบุรี จากนั้นเวลา 14.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เดินทางไปตรวจพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่ชุมชน เมืองเอก จ.ปทุมธานี

 

.....................
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองกำลังว้า - เมืองลา – บรรลุข้อตกลงสันติภาพรอบ 2 กับรัฐบาลพม่า

Posted: 10 Oct 2011 08:53 AM PDT

กองกำลังเมืองลา NDAA และกองกำลังว้า UWSA ลงนามข้อสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลใหม่พม่ารอบสอง ขณะที่ทั้งสองกลุ่มยื่นข้อเสนอต่อรองรัฐบาลอีกหลายเรื่อง รวมทั้งขอสัมปทานตัดไม้ ยอมให้องค์กรมนุษยธรรมเข้าพื้นที่ และขอเปิดสำนักงานในเขตพม่า

แผนที่แสดงพื้นที่ครอบกองกำลังว้า UWSA (สีส้ม) กองกำลังเมืองลา NDAA (สีเหลือง) ในรัฐฉานภาคตะวันออก ติดชายแดนจีน (SHAN)

 
แหล่งข่าวรายงานจากชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดเชียงราย ว่า เมื่อวานนี้ (9 ต.ค.) คณะผู้นำระดับสูงกองกำลังเมืองลา NDAA จำนวน 10 คน ได้พบเจรจาเพื่อสันติภาพกับคณะตัวแทนรัฐบาลใหม่พม่าเป็นครั้งที่สอง ที่กองบัญชาการกองทัพภาคสามเหลี่ยม (เชียงตุง) รัฐฉานภาคตะวันออก ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบลงนามข้อตกลงร่วมกัน 7 ข้อ คือ 1.กำหนดข้อสัญญา 4 ข้อ จากการเจรจาเมื่อต้นเดือนก.ย. เป็นข้อตกลงร่วมกัน 2. กองกำลัง NDAA จะไม่แยกตัวออกจากสหภาพพม่า 3. สองฝ่ายเห็นชอบส่งเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่ โดยพม่าจะส่งเข้าประจำเมืองลา และฝ่ายเมืองลา NDAA จะส่งไปประจำเมืองเชียงตุง

ข้อ 4. สองฝ่ายจะร่วมมือกันพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุข การคมนาคม ในพื้นที่เมืองลา 5. ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และการไฟฟ้าในเขตพื้นที่เมืองลา 6.กองกำลังเมืองลาจะให้ความร่วมมือรัฐบาลพม่าในการปราบปรามยาเสพติด และ 7. ตัวแทนสองฝ่ายจะพบหารือกันต่อเนื่อง เพื่อให้ความสัมพันธ์ดียิ่งขึ้น
 
หลังการลงนามแล้วเสร็จ ทางฝ่ายกองกำลังเมืองลา NDAA ได้ยื่นข้อเสนอต่อตัวแทนรัฐบาลพม่า 14 ข้อ ในนั้นมีหัวข้อหลักคือ ขอเปิดสำนักงานประจำกรุงย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ เมืองตองจี และท่าขี้เหล็ก, ให้รัฐบาลพม่าออกบัตรประจำตัวประชาชนและป้ายทะเบียนรถในพื้นที่เมืองลา, ขอให้เปิดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวไทย-จีนเข้าพื้นที่เมืองลา, ขอรัฐบาลช่วยเหลือด้านข้าวสาร น้ำมัน และเงินเช่นที่ผ่านมา, ขอสัมปทานตัดไม้สัก 1 หมื่นตัน ไม้เนื้อแข็ง 1 หมื่นตัน ต่อปี ตลอดจนขอให้รัฐบาลอนุญาตให้องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างชาติเข้าประจำ พื้นที่เมืองลา เป็นต้นฯ 
ทั้งนี้ ในส่วนกองกำลังว้า UWSA ได้ส่งตัวแทนพบเจรจากับตัวแทนรัฐบาลพม่าที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานภาคเหนือ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ทั้งสองมีการลงนามข้อสัญญาในลักษณะเดียวกันกับกองกำลังเมืองลา NDAA และทางฝ่ายว้า UWSA ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลพม่านำไปพิจารณารวม 14 ข้อ เช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ 6-7 ก.ย. กองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้น 4 ข้อ กับรัฐบาลทหารพม่าที่เมืองเชียงตุง ข้อสัญญาประกอบด้วย 1. สองฝ่ายจะไม่ให้เกิดการสู้รบกัน 2. สองฝ่ายจะเปิดสำนักงานประสานงานในพื้นที่ระหว่างกัน 3. หากทหารฝ่ายใดติดอาวุธจะเข้าเขตพื้นที่อีกฝ่ายให้แจ้งล่วงหน้า และ 4. แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเจรจากัน

กองกำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA เป็นอดีตกลุ่มแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์พม่า CPB-Communist Party of Burma เช่นเดียวกันกองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIA และกองกำลังไทใหญ่ “เหนือ” SSA/SSPP ซึ่งหลังแยกตัวออกจาก CPB ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าเมื่อปี 2532 (1989) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางปี 2549 ได้ถูกรัฐบาลทหารพม่ากดดันให้เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) แต่หลังปฏิเสธก็ถูกกำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย ขณะที่กองกำลังไทใหญ่ “เหนือ” SSA/SSPP และกองกำลังคะฉิ่น KIA กำลังถูกกองทัพพม่าใช้กำลังเข้าโจมตีอย่างหนัก
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น