โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ป.ป.ช. ส่งหนังสือถึง 'ประวิตร' อีก ให้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมปมนาฬิกาหรู

Posted: 28 Feb 2018 09:56 AM PST

เลขาธิการ ป.ป.ช. เผยเพิ่งลงนามในหนังสือเพื่อส่งถึง พล.อ.ประวิตร ให้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมปมนาฬิกาหรู

28 ก.พ.2561 ความคืบหน้าการตรวจสอบนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ล่าสุดวันนี้ (28 ก.พ.61) ข่าวสดออนไลน์ รายงาน ว่า วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ล่าสุดตนได้ลงนามในหนังสือ เมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา เพื่อส่งถึง พล.อ.ประวิตร ให้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมแล้ว โดยจะครบกำหนดภายในเดือนมี.ค.นี้ เนื่องจากกรณีดังกล่าวมีรายละเอียดของนาฬิกาถึง 25 เรือน เราจึงอยากให้พล.อ.ประวิตรตอบถึงรายละเอียด โดยเราได้กำหนดชัดเจนว่าต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจน

วรวิทย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ รายละเอียดในหนังสือครั้งล่าสุดนี้เป็นคนละประเด็นคำถามกับหนังสือที่เคยส่งให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจง ครั้งที่ 3 อย่างไรก็ตามครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรจะขอขยายเวลาได้หรือไม่นั้น ต้องดูเหตุผลของพล.อ.ประวิตรก่อน ว่าท่านตอบมาเรียบร้อยหรือไม่ หรือติดปัญหาอะไร แต่โดยปกติเราจะให้ความเป็นธรรม เพราะในแต่ละเรื่องจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างกรณีนี้มีประเด็นจำนวนมาก และเรื่องก็ย้อนหลังจึงต้องให้เวลาท่านพอสมควร นอกจากนั้นในส่วนพยานบุคคลที่ป.ป.ช.ได้เชิญมาให้ถ้อยคำก่อนหน้านี้ จำนวน 4 คน ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว พบว่าในเบื้องต้นจำเป็นต้องเชิญพยานบุคคลอีก 2 คน เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาทั้งสิ้น ขณะนี้ได้ส่งหนังสือเชิญบุคคลดังกล่าวไปแล้ว คาดว่าวันที่จะดำเนินการสอบถ้อยคำภายในสัปดาห์หน้า

ต่อคำถามที่ว่าพยานใหม่ทั้ง 2 คน เป็นคนรู้จักหรือใกล้ชิดพล.อ.ประวิตรใช่หรือไม่ นั้น วรวิทย์ กล่าวว่า เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกา เพราะทั้งหมดมี 25 เรือน ถ้าพบว่าเรือนไหนมีใครไปเกี่ยวข้องเราก็จะเชิญมา

เมื่อถามว่า การส่งหนังสือถึง พล.อ.ประวิตรเรื่องให้ชี้แจงเรื่องนาฬิกาถึง 3 ครั้งที่ผ่านมา มีความชัดเจนหรือน่าพอใจมากน้อยแค่ไหน เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า หนังสือ 2 ฉบับแรกที่ถามไปข้อมูลที่เรารวบรวมได้ยังไม่มากพอ แต่เมื่อได้รวบรวมจนมากเพียงพอแล้ว จึงถามไปในหนังสือ ครั้งที่ 3 และครั้งล่าสุดนี้ โดยลงรายละเอียดนาฬิกาแต่ละเรือน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: วิกฤติล้ม กกต.

Posted: 28 Feb 2018 08:25 AM PST

 

สนช.มีมติ "ล้มโต๊ะ" ไม่เห็นชอบว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน อย่างเซอร์ไพรส์ ทำให้ชาวบ้านด่าขรม นี่จะเลื่อนเลือกตั้งอีกใช่ไหม

อันที่จริง ถ้ารีบสรรหา กกต.ใหม่ ดูตามขั้นตอนกฎหมาย ก็ไม่กระทบโรดแมปหรอก แม้มีผลข้างเคียง ก็ไม่ถึงกับมีนัยสำคัญ แต่ประชาชนไม่ไว้วางใจเสียแล้วไง ขนาดท่านผู้นำให้คำมั่น "เลือกตั้ง พ.ย. 61" สนช.ยังเลื่อนได้ นี่ กกต.สรรหากันเองในหมู่ผู้มีอำนาจ ยังตบเท้าล้มหน้าตาเฉย แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไร ว่าไม่มีเลศนัย

มีอย่างที่ไหน วันก่อนหน้านั้น โฆษกกรรมาธิการตรวจสอบประวัติเพิ่งยืนยัน ทั้ง 7 คนไม่มีปัญหา ชาวบ้านก็คิดว่าน่าจะผ่านฉลุยเป็นฝักถั่ว ที่ไหนได้ ฝักถั่วพลิกข้าง อ้างว่าไม่มีประสบการณ์จัดเลือกตั้ง ซึ่งฟังไม่ขึ้น คนหนึ่งเป็นอดีตผู้ว่า 2 คนเป็นผู้พิพากษา (จะมีประสบการณ์ได้ไง) "สเปกมหาเทพ" ยากอยู่แล้วที่จะได้คนมีประสบการณ์ ถ้าอยากเปลี่ยนตัวบุคคลก็ลงมติเฉพาะราย ทำไมต้องเหมาเข่ง

แล้วเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร ไม่ทราบสิครับ แต่มีบทวิเคราะห์ รายงาน ของสื่อหลายสำนัก ชี้ว่าอาจเป็นเพราะการสรรหาว่าที่ กกต. 2 คน โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีปัญหาการตีความ "เปิดเผยแปลว่าอะไร" ที่ลงมติมานั้นใช่การลงมติโดยเปิดเผยหรือไม่ เพราะ กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร ทักท้วงมีเหตุผล แต่เมื่อศาลยืนยันว่าท่านถูก สนช.ก็กระอักกระอ่วนไม่รู้จะท้วงอย่างไร ทีแรกว่าจะปล่อยไป แต่ก็มีใบสั่งให้คว่ำนาทีสุดท้าย เพราะกลัวมีปัญหาภายหลัง ครั้นจะคว่ำแค่ 2 คนก็ไม่ได้ จะถูกมองว่าเจาะจงก็เลยต้องพาลล้มโต๊ะ

"แหล่งข่าวนักกฎหมายระดับสูง" ให้สัมภาษณ์สื่อหลายค่ายพร้อมกัน (ต้นฉบับเดียวกัน ก๊อปแจก สันนิษฐานว่าเป็นคนสำคัญ สื่อจึงให้ความสำคัญ) ออกตัวว่าใช่เรื่องนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ดีแล้วละ เดี๋ยวได้เป็น กกต.แล้วจะเสี่ยงถูกร้องเรียนคุณสมบัติ การตีกลับเป็นหนทางดีที่สุด เชื่อว่าเมื่อสรรหาใหม่ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะลงมติ "เปิดเผย" เมื่อถามว่าเป็นการหักหน้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือไม่ ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะไม่ได้พูดออกมาอย่างเป็นทางการ ว่าเป็นสาเหตุนี้ จริงหรือไม่ก็ไม่รู้

จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ ตลกดีนะ เรื่องใหญ่ระดับชาติ จู่ๆ ลงมติล้มโต๊ะไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีเหตุมีผล ประชาชนไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง ซึ่งถ้าเป็นจริงอย่างว่า ก็แปลว่ารัฐบาล คสช.แบกหม้อก้นดำ ถูกชาวบ้านรุมด่าด้วยความเข้าใจผิด แต่เมื่อไม่บอกความจริง แล้วจะแก้ตัวอย่างไร ก็สมควรถูกด่าต่อไป ซ้ำเติมขาลง

จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ถ้าเป็นจริง แม้แปลว่าไม่ได้เจตนาเลื่อนเลือกตั้ง ก็อย่ามองโลกในแง่ดี เพราะมันสะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่า ซึ่งซ่อนอยู่ภายใน นั่นคือวิกฤติเชิงระบบ เมื่ออำนาจขัดกัน

ไม่เห็นจำเป็นเลย ที่ต้องเขียนกฎหมายให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติเปิดเผย แต่ กรธ.ดันเขียนมา แล้วที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ตีความคำว่า "เปิดเผย" ให้งงทั้งประเทศ สนช.ก็ไม่กล้าค้าน ไม่รู้จะเอาไง ตอนแรกจะให้ผ่านแต่เช้าวันลงมติก็สั่งคว่ำ ล้มทั้งกระดาน เผลอๆ จะบานปลายมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันหลายฝ่าย

นี่ถ้าเป็นจริงนะ (จริงไหมไม่รู้ ฮิฮิ) ก็แปลว่าเราอยู่ในระบบที่เละเทะมาก ขนาดทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องโลกาวินาศได้


ที่มา: นสพ.ข่าวหุ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: ภูมิใจที่เคยเป็นเสื้อแดง ภูมิใจที่จุดยืนตรงข้ามกับ “สลิ่ม”

Posted: 28 Feb 2018 08:13 AM PST

ในยุคนี้มีนักประชาธิปไตยดีๆ บางคน ออกมาพูดว่าเราไม่ควรใช้คำว่า "สลิ่ม" แล้ว และเราควรจะก้าวพ้นความแตกแยกในสังคมที่เกิดขึ้นตั้งแต่เสื้อเหลืองออกมากวักมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา นอกจากนี้นักประชาธิปไตยบางคนก็พูดทำนองว่า "อย่ามาพูดเรื่องเสื้อแดงอีก" และมีการพยายามที่จะปฏิเสธว่าคนเสื้อแดงออกมาร่วมในการประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนที่แล้ว

ในแง่หนึ่งผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยากลดความตึงเครียดในสังคม แต่ข้อเสนอที่พวกนี้เอ่ยถึงข้างบน มันพาคนไปเข้าสู่เกมหรือโรดแมปของทหารเผด็จการ

เราควรเข้าใจว่าทหารเผด็จการ นอกจากจะต้องการสืบทอดอำนาจไปนานหลังการเลือกตั้ง ผ่าน "ยุทธศาสตร์แห่งชาติ" แผนใหญ่ของเขาคือการบังคับปรองดองจอมปลอมบนเงื่อนไขของพวกเผด็จการ และพวกชนชั้นกลางที่เกลียดชังประชาธิปไตย (พวก "สลิ่ม" นั้นเอง)

สิ่งที่ทหารเผด็จการต้องการคือ อยากให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหดหู่ หมดกำลังใจ จนพร้อมจะประนีประนอมกับฝ่ายเผด็จการ และยอมรับประชาธิปไตยครึ่งใบ กับ "ยุทธศาสตร์แห่งชาติ"

นี่คือสาเหตุที่เขากำลังปราบปรามนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่โกหกว่าสิทธิมนุษยชนเป็น "วาระแห่งชาติ" เขาอยากจะทำลายขบวนการประชาธิปไตยที่กำลังก่อตัวขึ้นทุกวันนี้ภายใต้การนำของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เพราะถ้าสามารถทำลายกระแสนี้ได้ อุปสรรคสำคัญที่จะมีการเลือกตั้งภายใต้ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบก็จะหายไป

แน่นอนเราไม่ควรรังเกียจคนที่เคยเป็นสลิ่มที่กลับใจสำนึกผิดและอยากจะร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้ แต่การจับมือกับคนที่ไม่สำนึกผิด ที่มองว่าไทยมีประชาธิปไตย "มากเกินไป" หรือคนที่อวยเผด็จการ หรือคนที่มองว่าพลเมืองไทยส่วนใหญ่ที่ยากจน "โง่" "ขายเสียง" และ "ไม่ควรมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการเลือกรัฐบาล" จะเป็นการยอมจำนนต่อแผนของเผด็จการ นอกจากนี้การจับมือกับคนคลั่งชาติที่มองว่าเขาพระวิหาร "เป็นของไทย" และพร้อมจะเห็นสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องไร้สาระแบบนี้ ก็มีปัญหาเช่นกัน ถ้าเขาไม่กลับใจสำนึกผิด

ผมไม่มีปัญหากับการถกเถียงกับสลิ่ม เพื่อให้เขาเปลี่ยนจุดยืน ใครมีเวลาว่างก็เชิญทำ แต่การประนีประนอมกับจุดยืนของสลิ่มจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด นอกจากนี้การประนีประนอมแบบนั้น จะเป็นการทอดทิ้งเพื่อนเราที่ติดคุกในกรณี 112 อีกด้วย

ในหัวข้อบทความนี้ผมพูดถึงความภูมิใจที่ "เคย" เป็นเสื้อแดง ผมใช้คำว่า "เคย" ไม่ใช่เพราะผมเปลี่ยนจุดยืนแต่อย่างใด แต่เพราะตอนนี้เสื้อแดงหมดพลังในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สาเหตุหลักคือการที่ทักษิณและพรรคพวกของเขาใน นปช. จงใจแช่แข็งและทำลายขบวนการจนมันหมดสภาพ

ในเรื่องเสื้อแดง ทุกคนควรยอมรับว่าการที่มีเสื้อแดงหลายคนไปร่วมในการชุมนุม "คนต้องการเลือกตั้ง" ทำให้มวลชนมีจำนวนมากขึ้น แถมมีการจัดป้ายอย่างเป็นระบบอีกด้วย บางครั้งผมสงสัยว่านักประชาธิปไตยบางคนอยากจับมือและเอาใจ "สลิ่ม" มากกว่าเสื้อแดงอีก แต่ขบวนการเสื้อแดงเคยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ผมไม่เคยสนับสนุนทักษิณ แต่ในยุคเผด็จการผมยินดีทำแนวร่วมกับคนที่รักทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ บางคนอาจคิดว่าถ้านักประชาธิปไตยหรือเสื้อแดงหมดรักในทักษิณ หรือก้าวพ้นทักษิณ เราอาจจับมือกับเสื้อเหลืองหรือ "สลิ่ม" ได้ คนที่คิดแบบนี้เป็นคนที่วิเคราะห์วิกฤตไทยแบบตื้นเขิน เพราะมองว่ามันคล้ายๆ ความขัดแย้งระหว่างคนที่เชียร์ทีมฟุตบอล์สองสี ไม่มีการทำความเข้าใจเนื้อหาทางการเมืองที่เป็นรากฐานความขัดแย้งเลย

โดยรวมแล้วพวกสลิ่มชนชั้นกลางเป็นคนที่คัดค้านการใช้งบประมาณรัฐในการพัฒนาสภาพชีวิตของคนทำงานธรรมดาๆ ในเมืองและในชนบท พวกนี้คัดค้านนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยรักไทย เขาคัดค้านกองทุนหมู่บ้านเพื่อสร้างงาน เขาคัดค้านโครงการประกันราคาข้าวสำหรับเกษตรกร ฯลฯ

จุดยืนแบบนี้คือจุดยืนทางชนชั้น และสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐศาสตร์การเมืองที่บูชากลไกตลาดเสรี หรือนโยบาย Neo-liberal ของฝ่ายขวาทั่วโลกที่ชื่นชมระบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" เขามองว่าคนจนควรเจียมตัวในความยากจน และโกหกสังคมกับตัวเองว่าเขาเองร่ำรวยเพราะ "การขยันทำงาน" และคนจน "ขี้เกียจหลังยาว" นี่คือจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลเผด็จการทหารที่ชอบใช้คำว่า "การรักษาวินัยทางการคลัง" เพื่อคักค้านการใช้เงินรัฐเพื่อพัฒนาชีวิตคนส่วนใหญ่ และแน่นอนพวกนี้ไม่เคยคัดค้านการใช้งบประมาณรัฐเพื่อเพิ่มงบประมาณทหาร งบประมาณพวกอภิสิทธิ์ชน หรือการลดภาษีให้คนรวย [ดู]

เรื่องแบบนี้คือรากฐานความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดงกับสลิ่ม และการปิดหูปิดตาไม่ยอมสนใจ จะไม่นำไปสู่สังคมที่สงบ มันจะนำไปสู่สังคมที่มองไม่เห็นหัวคนส่วนใหญ่ต่างหาก

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: คนหนุ่มสาว กับ พรรคการเมือง "ใหม่"

Posted: 28 Feb 2018 08:01 AM PST

เมื่อ "คนอยากเลือกตั้ง" ออกมาเรียกร้องให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนด ก็มีบางเสียงบอกว่า "เลือกไปก็ได้คนเดิมๆ พรรคเดิมๆ แล้วก็จะกลับไปมีปัญหาแบบเดิมๆ"

วาทกรรมนี้ คิดได้ในบางมุมว่า คนพูดต้องการลดความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งว่า ไม่ใช่ทางออกจากปัญหาที่บ่นๆกันได้หรอก แต่ในบางมุม ผมก็เห็นประเด็นให้คิดต่อว่า ถ้าพรรคการเมืองที่เป็นตัวเลือกไม่มีวิวัฒนาการให้คนอยากเลือกตั้ง ปัญหาที่เผชิญอยู่ ก็เห็นทางออกริบหรี่อยู่เหมือนกัน

ลองคิดเล่นๆต่อไปอีกว่า สมมติ ถ้าการเลือกตั้งเมื่อ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ไม่มีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวเลือกอยู่ในสารบบของการเลือกตั้งครั้งนั้น ถึงแม้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ประกาศใช้แล้ว แต่การเมืองไทยและสังคมไทยย่อมไม่เป็นเช่นที่เห็นในวันนี้อย่างแน่นอน

การเมืองไทยที่ไม่มีพรรคไทยรักไทย คงย้อนกลับไปเหมือนทศวรรษ 2530 ที่พรรคต่างๆหมุนเวียนกันขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาลผสม ไม่มีการชูนโยบายในการเลือกตั้งอย่างจริงจัง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นได้เพียงความใฝ่ฝันของคุณหมอสงวน กองทุนหมู่บ้านไม่เคยเกิดขึ้น ส่วน OTOP และ SME เป็นคำย่อที่ไม่มีใครรู้จัก และเราอาจยังทยอยจ่ายหนี้ให้ IMF อยู่

การเมืองไทยที่ไม่มีพรรคไทยรักไทย คงไม่มีการสร้างความขัดแย้งของสีเสื้อ เพราะเกิดการหมุนเวียนของอำนาจ ไม่มีพรรคใดชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่ต้องอาศัยการเมืองบนท้องถนนเพื่อขับไล่รัฐบาล เพราะอายุรัฐบาลสั้นเพียง 1-2 ปี

การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยจึงเปลี่ยนการเมืองไทยและสังคมไทยในทศวรรษ 2540 โดยสิ้นเชิง

ผมคิดสนุกๆต่อไปอีกว่า ถ้าพรรคไทยรักไทยปี 2544 เดินทางข้ามเวลามาเสนอตัวรับเลือกตั้งในปี 2561 หรือ 2562 พรรคไทยรักไทยจะเป็นตัวเลือกที่เปลี่ยนการเมืองไทยและสังคมไทยได้หรือไม่

ฟันธงเลยว่า ไม่ได้ เพราะระบบนิเวศของสังคมเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก คนหนุ่มสาววันนี้ รับแรงกดดันจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส ความบีบคั้นจากการแข่งขัน และเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, Blockchain, IOT, EV ฯลฯ กำลังรื้อถอนสิ่งที่เขาเคยชินอย่างดุดันด้วยความเร็วแบบยกกำลัง ส่งผลให้เขาเหล่านั้นเรียกร้องหาพรรคการเมืองที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ ซึ่งแน่นอน...พรรคไทยรักไทยยุค 2544 ทำไม่ได้

พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองอื่นๆที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรับความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแค่ การซ่อม (Fix), ปรับปรุง (Renovate) หรือใหญ่ขนาด รื้อถอน (Disrupt) ก็ตาม

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ พรรคการเมือง "ใหม่" ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ สามารถเสนอตัวเป็นทางเลือก หากพรรคการเมืองเดิม อุ้ยอ้าย ขยับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้

ผมสัมผัสได้ถึงกระแสลมของพรรคคนรุ่นใหม่ที่พัดแรงขึ้นทุกที ท่ามกลางคลื่นประชาธิปไตยของ "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ก่อตัวใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น

และเมื่อมองย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคการเมือง "ใหม่" ก็ไม่เคยว่างเว้นจากการเมืองไทย และบางครั้งยังเคย "เขย่า" การเมืองอย่างเข้มข้นมาแล้ว

ในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน หลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่พรรคการเมืองซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ได้รับเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลต่อการเมืองไทยในขณะนั้น

1) การเลือกตั้งวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 พรรคการเมือง"ใหม่"ที่เพิ่งก่อตั้งเพียง 45 วันอย่างพรรคประชากรไทย มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 29 ที่นั่งจากทั้งหมด 32 ที่นั่ง เหลือเพียง 3 ที่นั่งให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายเกษม ศิริสัมพันธ์ จากพรรคกิจสังคม และ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ จากพรรคประชาธิปัตย์

2) การเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 พรรคพลังธรรมที่มี พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 32 ที่นั่งจากทั้งหมด 35 ที่นั่ง เหลือเพียง 3 ที่นั่งให้ นายสมัคร สุนทรเวช และ ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ จากพรรคประชากรไทย และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

3) การเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทยที่มี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไป 29 ที่นั่งจากทั้งหมด 37 ที่นั่ง เหลือเพียง 8 ที่นั่งให้พรรคประชาธิปัตย์

อ่านทบทวน 3 ครั้ง คุ้นๆไหมครับ คำว่า "กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานคร" - พื้นที่ที่เชื่อกันว่า ไม่มีการซื้อเสียง แต่ผู้เลือกเปลี่ยนใจได้เสมอหากผู้ที่ได้รับเลือกไปแล้ว ทำงานไม่ถูกใจ และผู้เลือกพร้อมอ้าแขนรับผู้เสนอตัวรับเลือกตั้งรายใหม่ๆตลอดเวลา

การเลือกตั้งครั้งหน้า ผมจึงไม่เพียงอยากให้มาถึงในเร็ววัน แต่ยังอยากเห็นพรรคการเมือง"ใหม่" ที่ขับเคลื่อนโดยคนหนุ่มสาว เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน และหากพวกเขาทำการบ้านได้ดีพอ เราอาจได้เห็นการ "กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานคร" อีกครั้ง

ที่จริงแล้ว พรรคการเมือง"ใหม่" และนักการเมือง"แบบใหม่" กำลังเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลก เพราะคนหนุ่มสาวทั้งโลกในวันนี้ ต่างเผชิญกับแรงบีบคั้นรุนแรงอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเหมือนๆกัน

อีกทั้ง คนหนุ่มสาวยังถูกผลักไสให้เป็น "คนนอก" กระเด็นไกลจากแวดวงการเมืองที่มีผลต่อชีวิตและอนาคตของเขา ดังนั้น จึงเกิดการก่อตัว เรียกร้องให้มีตัวแทนของพวกเขาที่เป็นอิสระจากพวก "ขาใหญ่" ในการเมืองแบบดั้งเดิม

ไม่น่าแปลกใจ ที่ตัวแทนซึ่งให้ความรู้สึกแบบ "คนนอก" จึงเป็นที่ยอมรับในกลุ่มก้อนของคนหนุ่มสาว การผงาดขึ้นมาของคนแบบ Bernie Sanders ของสหรัฐอเมริกา, Jeremy Corbyn ของอังกฤษ, Justin Trudeau ของแคนาดา, Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส และ Pablo Iglesias ของสเปน อธิบายความคับข้องของคนหนุ่มสาวยุคนี้ได้พอสมควร

วันนี้ เราเห็นคนหนุ่มสาวของไทยลุกขึ้นมาแสดงความรู้สึกว่า "อยากเลือกตั้ง" อย่างคึกคัก ไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ

พร้อมๆกัน ก็มีคนหนุ่มสาวบางคนเริ่มคิดดังๆ ให้ได้ยิน วาดหวังถึงตัวแทนของพวกเขาในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เช่น

"การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น ไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลา อดทน มุ่งมั่น แต่การใช้เวลา ไม่ได้หมายความว่า รอเวลาอย่างเดียว โดยไม่ลงมือทำ ผมเชื่อว่า ยังมีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดดีๆ และมุ่งมั่นตั้งใจอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ทำการเมืองแบบใหม่ให้ประเทศนี้อีกมาก

"การเมือง" เป็นเรื่องของเรา หากเราไม่ทำ คนอื่นก็จะเข้ามาทำ หากเราต้องการให้การเมืองเป็นแบบใด เราต้องลงมือทำเอง เราต้องสร้าง "ทางเลือกใหม่" ให้สำเร็จให้จงได้ "ทางเลือกใหม่" อาจไม่ชนะในวันนี้ แต่อย่างน้อย ต้องทำให้ผู้คนมี "ความหวัง" กับการเมือง... การเมืองแบบใหม่ ประชาชนสร้างได้"

- ปิยบุตร แสงกนกกุล

ผมทำนายว่า หลังวันที่ 1 มีนาคมนี้ เราจะได้เห็นคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาตั้งพรรคการเมืองของพวกเขาเอง ขับเคลื่อนโดยวิธีคิดแบบคนหนุ่มสาว เพื่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกเขาจะใช้ชีวิตไปอีก 50-60 ปี

คนรุ่นใหม่ อนาคตใหม่

 

ที่มา: เฟสบุ๊ค สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระบบตลาดในสถาบันการศึกษา

Posted: 28 Feb 2018 07:41 AM PST

 

หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่าทำไมระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อตัวเราจึงไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กๆ แยกจากครอบครัวเพื่อไปเรียนโรงเรียนในเมืองหรือในกรุงเทพ  ภาพที่พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนพิเศษเพื่อสอบให้ได้เกรดสูงๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ทั้งๆ ที่วัยอนุบาลเป็นวัยที่เด็กควรจะได้เรียนรู้โลกและธรรมชาติรอบตัว รวมถึงมีโอกาสได้เล่นกับเพื่อนๆ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตามธรรมชาติของเด็ก ทว่าสังคมในยุคปัจจุบันกลับบังคับให้เด็กต้องละทิ้งความสนุกสนานเหล่านั้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของระบบการศึกษาที่พยายามที่จะแสวงหาประโยชน์จากการเรียนของเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว ระบบการศึกษาในปัจจุบันจึงทำให้สมาชิกในครอบครัวห่างเหินกันมากขึ้น เด็กๆ จำนวนมากถูกบังคับให้ต้องเรียนหนังสือเพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวของระบบตลาดในสถาบันการศึกษา เด็กๆ จึงกลายเป็นเครื่องมือของระบบการศึกษาที่ถูกครอบงำโดยสถาบันเศรษฐกิจแบบตลาดที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์อย่างแยบยล โดยปลูกฝังให้สถาบันครอบครัวมีส่วนในการส่งเสริมให้เด็กเรียนหนังสือเพื่อเลื่อนลำดับชั้นภายใต้ระบบการศึกษาในโรงเรียน และเพื่อให้เด็กเรียนได้ผลการเรียนดีหรือเกรดสูงๆ มากกว่าสอนให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ด้วยเหตุนี้ความรู้หลายแขนงจึงไม่ต่างจากสินค้าที่ต้องแลกมาด้วยการซื้อขายผ่านผู้ผลิตคือสถาบันการศึกษาและผู้บริโภคคือเด็กๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อเป็นเช่นนั้นสถาบันการศึกษาจึงไม่ใช่พื้นที่ของการแสวงหาความรู้ของเด็กและนักศึกษาอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นสถาบันเศรษฐกิจที่ผลิตหรือแปรรูปความรู้ทางการศึกษาให้มีลักษณะเหมือนกันในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ โดยความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นเป็นองค์ความรู้ที่มีสภาพตายตัวเพื่อสอนให้ทุกคนคิดเหมือนกัน รู้เท่ากัน เชื่อฟังและคล้อยตามแบบเดียวกัน  การศึกษาในปัจจุบันจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเด็กให้เป็นคนที่คิดนอกกรอบ  แต่สอนให้เด็กรักษากรอบแบบเดิมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดการศึกษา  เพื่อให้ผู้ผลิตเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการทำให้ความรู้กลายเป็นสินค้าผ่านการผลิตซ้ำทางความคิดที่ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากเชื่อว่าเด็กจะประสบความสำเร็จต่อเมื่อเรียนได้คะแนนดีและสามารถสอบแข่งขันเพื่อประเมินความรู้ทางวิชาการได้เท่านั้น

กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นคือระบบตลาดได้ประโยชน์อย่างมากจากการที่ระบบการศึกษากำหนดให้เด็กทุกคนต้องไปโรงเรียนและเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ จากโรงเรียนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดการศึกษานั่นคือการผลิตแรงงานเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้ตลาดเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากเด็กๆ ในสถาบันการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงขั้นตอนเดียวคือขั้นตอนของการแปรรูปองค์ความรู้ทางการศึกษาเพื่อนำไปสอนตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงขั้นตอนที่ระบบการศึกษาได้เข้ามายึดครองความคิดของผู้ศึกษาผ่านการปลูกฝังค่านิยมและพฤติกรรมแบบบริโภคนิยมและปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นการดึงความสัมพันธ์แบบตลาดเข้ามาเพื่อครอบงำมนุษย์ในระดับจิตใจ  ดังนั้นตลาดการศึกษาจึงเปรียบเสมือนโรงงานที่ทำหน้าที่เปลี่ยนความคิดและจิตสำนึกของมนุษย์ให้กลายเป็นมนุษย์ที่คำนึงถึงต้นทุนและกำไรเป็นสำคัญ

กระบวนการครอบงำทางความคิดเป็นกระบวนการที่ถูกกล่อมเกลามาเป็นเวลาหลายปี ไล่เรียงมาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยมและมหาวิทยาลัย  ลักษณะการหล่อหลอมแบบนี้จึงแสดงให้เห็นถึงวิกฤตของระบบการศึกษาอย่างชัดเจน ดังนั้นการเป็นพันธมิตรกับทุนเพื่อรับใช้กลไกตลาดอย่างสุดโต่งส่งผลให้สถาบันการศึกษาไม่ใช่พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ  หรือพื้นที่สำหรับการจรรโลงความคิดของผู้ศึกษาเพื่อออกไปทำงานรับใช้สังคมแต่เป็นการผลิตคนเพื่อรองรับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) เพื่อให้การสะสมทุนทวีความเข้มข้นมากขึ้น  ระบบการศึกษาจึงเปรียบเสมือนพื้นที่ของการผลิตซ้ำวาทกรรมกระแสหลักผ่านกรอบคิดแบบปัจเจกชนนิยม (individualism) และนิยามความสำเร็จของปัจเจกบุคคลในมิติเดียวนั่นคือมิติของการมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม ความร่ำรวยและชื่อเสียงเกียรติยศ

อย่างไรก็ตามสถาบันการศึกษาในปัจจุบันจำนวนมากเน้นหนักไปที่การเรียนการสอนแบบแยกย่อย กล่าวคือ ระบบการเรียนการสอนในปัจจุบันไม่ได้นำการเรียนรู้หลากหลายมิติมาปรับใช้ในห้องเรียนทำให้กระบวนการคิดและทักษะการวิเคราะห์ของผู้เรียนไม่สามารถคิดเชิงวิพากษ์และหลุดจากกรอบคิดแบบจารีตในอดีตได้ ดังนั้นนอกจากเราจะพบปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยแล้วเรายังพบปัญหาในเชิงเทคนิคร่วมด้วย กล่าวคือ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการออกแบบขั้นตอน เทคนิคและกระบวนการเรียนและการทำรายงานให้มีความซับซ้อนมากขึ้น  ทำให้ระบบการเรียนที่สลับซับซ้อน ที่มีขั้นตอนดำเนินการหลายขั้นตอนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้นคว้าวิจัยและแสวงหาความรู้ของอาจารย์และนักศึกษา เพื่อให้แต่ละคนสามารถผลิตงานวิชาการที่มีคุณภาพออกสู่สังคมอันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยในอนาคต ทว่ารูปแบบและกฎเกณฑ์การประเมินที่ซ้ำซ้อนและการวัดคุณภาพการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพกลับสร้างภาระงานให้กับอาจารย์และนักศึกษาเกินความจำเป็น 

ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดการศึกษาให้มีขอบเขตที่กว้างขวางออกไปโดยเน้นการทำรายงานและผลิตงานวิจัยเชิงปริมาณเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของระบบตลาด  ดังนั้นองค์ความรู้ที่เคยหลากหลายและมีคุณค่าจึงถูกหดให้แคบลง องค์ความรู้จากงานวิจัยหลายชิ้นจึงไม่เพียงพอที่จะนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาสังคมหรือคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างที่ควรจะเป็น 

ความรู้สึกสิ้นหวังกับระบบการศึกษาในห้วงเวลาปัจจุบันจึงกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้อย่างแพร่หลายผ่านการแสดงความคิดเห็นจากนักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน  โดยเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม  เนื่องจากในอดีตมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของนิสิตนักศึกษาในการแสดงออกทางการเมือง ตลอดจนส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ และเคยเป็นพื้นที่ในการสร้าง "พลเมืองที่เข้มแข็ง" ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ที่มีการประกาศให้สถาบันการศึกษาบางแห่งออกจากระบบใน พ.ศ. 2541 ก็ทำให้ระบบการเรียนการสอน รวมถึงการประเมินคุณภาพการศึกษามีหน้าตาที่เปลี่ยนไป  มหาวิทยาลัยกลายเป็นสถาบันที่มุ่งผลิตแรงงานทักษะ (skill labour) เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดแรงงาน

ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันจึงไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้าง "พลเมืองที่เข้มแข็ง" เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ทว่าระบบการศึกษาไทยกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  ตลอดจนออกแบบกฎระเบียบที่ขัดขวางการสรรค์สร้างงานวิชาการที่มีคุณภาพของบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างขนานใหญ่ซึ่งนับว่าเป็นภัยคุกคามทางวิชาการที่ร้ายแรง

ดังนั้นปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่เรื้อรังมาหลายปี จึงควรถูกนำมาทบทวนเพื่อนำไปสู่การถกเถียงและหารือกันของภาครัฐ และภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาทั้งตัวครู อาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยอย่างจริงจังในอนาคต โดยอาจเริ่มจากการลดกฎระเบียบและลดขั้นตอนต่างๆที่ซับซ้อนและยืดเยื้ออันก่อให้เกิดการขัดขวางประสิทธิภาพทางการศึกษาของนักศึกษา และขยับขยายกรอบการปฏิรูปไปยังพื้นที่อื่นๆตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตามสิทธิทางการศึกษาเป็นสิ่งที่เกิดจากต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา อาจารย์และบุคคลากรในสถาบันแต่ละแห่ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐเข้าแทรกแซงและปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อลดทอนอำนาจของระบบตลาดที่ยึดครองและมีบทบาทชี้นำระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน

ดังนั้นรัฐต้องสร้างกลไกในการลดผลกระทบจากการนำระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบตลาด โดยอาจออกมาตรการเยียวยาหรือนโยบายที่ช่วยลดต้นทุนทางการศึกษาและตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลระบบการศึกษาภายในโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในอนาคตมากยิ่งขึ้นเพื่อปฏิรูปโครงสร้างและระบบการศึกษาทั้งระบบ

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นุชประภา โมกข์ศาสตร์ มหาบัณฑิตเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.สุขภาพ เคลื่อนขบวนสร้างสุขภาวะพระสงฆ์-ตั้งเป้ายกระดับทุกวัดใน 5 ปีข้างหน้า

Posted: 28 Feb 2018 05:26 AM PST

สนง.พระพุทธศาสนา - กก.สุขภาพ ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศให้บรรลุผล ตั้งเป้ายกระดับทุกวัดใน 5 ปีข้างหน้า

28 ก.พ.2561 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่า วันนี้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในงานแถลงข่าว "การดูแลสุขภาพพระสงฆ์" จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ณ วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี ว่า ขณะนี้องค์กรภาคีที่ร่วมขับเคลื่อน ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ทั้ง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศให้บรรลุผล

ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ได้ใช้ หลักทางธรรมนำทางโลก ในการดำเนินงาน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1.การดูแลสุขภาพตนเองของพระสงฆ์ เช่น การฉันอาหารหรือการขยับกายที่เหมาะสมตามฐานานุรูป 2.การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพโดยญาติโยม เช่น การใส่บาตร การถวายอาหารหรือน้ำปานะ หรือการดูแลกรณีพระสงฆ์เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น และ 3.บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำส่งเสริมสุขภาพชุมชนและสังคม

"ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ประกาศใช้แล้ว มีแผนดำเนินงานที่ทุกองค์กรภาคี ได้พยายามคิดให้เกิดรูปธรรม อาทิ กรมอนามัย ได้ผลักดันให้เกิดวัดส่งเสริมสุขภาพ มีวัดต้นแบบหนึ่งตำบลหนึ่งวัด ซึ่งปัจจุบันเรามี 7,000-8,000 ตำบล และอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็นทุกวัดทั้ง 29,000  แห่ง"

นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า เป้าหมายของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 คือ ทำให้พระสงฆ์กลับมาเข้มแข็ง เป็นเสาหลักทางจิตใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น วัดเป็นสถานที่สร้างเสริมสุขภาวะ สงบ ร่มรื่น เป็นเสาหลักทางจิตวิญญาณให้ประชาชนที่เดือดเนื้อร้อนใจ สามารถเข้าไปปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ หรือสวดภาวนาได้

"ปัญหาสำคัญคือ พระสงฆ์มีพระธรรมวินัย ไม่สามารถเลือกอาหารฉันได้ ดังนั้น ญาติโยมสำคัญมาก ต้องช่วยรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ด้วย เช่น อาหารทำบุญตักบาตร ควรเปลี่ยนจากอาหารทางโลกเป็นอาหารสุขภาพหรืออาหารทางธรรมที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ"

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 โดยเริ่มโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพแล้ว 4,000 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นเป็นทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร พระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (พระ อสว.) ทุกตำบลและใน 5 ปีข้างหน้าจะมีพระ อสว. ทุกวัด เป็นแกนหลักขับเคลื่อนดูแลสุขภาพตามหลักธรรมวินัย พร้อมส่งเสริม สื่อสาร สร้างความรอบรู้ ให้ชุมชนรอบๆ วัดคิดถึงสุขภาพพระสงฆ์

พระมหาทวี โพธิเมธี เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันพระมีปัญหาสุขภาพมาก เช่น ไขมันส่วนเกินและอีกหลายโรค เพราะญาติโยมมุ่งทำบุญวันสำคัญทางศาสนา เช่น มาฆบูชา ก็จะเตรียมอาหารที่ดีที่สุด อร่อยที่สุด จึงเชิญชวนให้ ลด ละ รสหวานมันเค็ม ส่วนการออกกำลังกาย พระมีการเดินจงกลม กวาดลานวัด หรือเดินบิณฑบาต ถือว่าเพียงพอ แต่อาจทำได้ไม่เต็มที่เหมือนฆราวาสทั่วไป

"ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ต่อไป เพราะเมื่อพระมีสุขภาพดี คนก็สุขภาพดีไปด้วย ดังนั้นหากมีวัดส่งเสริมสุขภาพได้ทุกแห่งก็ยิ่งดี" พระมหาทวี กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย 'อะเบ' ชาวลีซู ถูกทหารยิงตาย ทนายแถลงประสงค์จะสืบพยาน 4 ปาก

Posted: 28 Feb 2018 04:49 AM PST

คดีไต่สวนการตาย 'อะเบ แซ่หมู่' ชาวชาติพันธุ์ลีซู ซึ่งถูกทหารยิงตาย ผู้ร้องแถลงหมดพยาน ด้านทนายความพ่อ-แม่ผู้ตาย แถลงประสงค์จะสืบพยานทั้งหมด 4 ปาก นัดครั้งต่อไป 30 เม.ย.นี้ ศาลจังหวัดหัวหิน สืบพยานโจทก์ กรณีสามเยาวชนถูกซ้อมทรมาน และตกเป็นจำเลยคดีปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

28 ก.พ.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา  ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ ช.18/2560 กรณี อะเบ แซ่หมู่ ชาวชาติพันธุ์ลีซู ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560 เหตุเกิดที่ถนนสายระหว่างหมู่บ้านรินหลวง-หมู่บ้านป่าบงงาม ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ในวันดังกล่าว พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ร้อง ได้นำพยานมาศาล 1 ปาก ได้แก่ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ อาเบ ขึ้นเบิกความ ภายหลังพยานปากดังกล่าวได้เบิกความเสร็จแล้ว พนักงานอัยการฯ ผู้ร้อง แถลงต่อศาลหมดพยานที่จะนำเข้าสืบเพียงเท่านี้ ส่วนทางด้านทนายความมารดาและบิดาผู้ตายแถลงประสงค์จะสืบพยานทั้งหมด 4 ปาก ด้วยเหตุนี้ศาลจึงได้อนุญาตให้สืบพยานมารดาและบิดาผู้ตายใน วันที่ 30 เม.ย.2561 เวลา 09.00น. ถึง 16.30 น.

นอกจากนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังแจ้งด้วยว่า เมื่อวันที่ 20-23 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดหัวหินออกนั่งพิจารณาคดีหมายเลขคดีดำที่ ทอ.2/2560 กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวอิตาลี และชาวโมรอคโค ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.สามร้อยยอด ว่าทั้งสองได้ถูกคนร้ายซึ่งใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ร่วมกันทำร้ายร่างกายแล้วปล้นทรัพย์ ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ณ บริเวณริมถนนปราณบุรี-สามร้อยยอด หมู่ที่ 1 ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 
โดยพนักงานอัยการ ทนายความโจทก์ได้นำพยานเบิกความต่อศาล 14 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจำเลย พยาบาลในเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และประจักษ์พยานในวันเกิดเหตุ เนื่องจากฝ่ายโจทก์ได้นำบันทึกวิดีโอซึ่งเป็นบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ปรากฏว่าบันทึกวิดีโอดังกล่าวไม่สามารถเปิดดูได้ทั้งหมด ทนายความของสามเยาวชน (ทนายจำเลยทั้งสาม) ได้แถลงต่อศาล ว่าบันทึกวิดีโอซึ่งเป็นพยานวัตถุฝ่ายโจทก์ที่โจทก์ได้นำเข้าสืบ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ไม่สามารถเปิดดูได้ทั้งหมด ทนายจำเลยจึงขอให้โจทก์ส่งบันทึกวิดีโอดังกล่าวให้ศาลอีกครั้ง
 
ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ให้โจทก์ส่งบันทึกวิดีโอให้ศาลอีกครั้งภายใน 7 วัน และให้เลื่อนสืบพยานโจทก์ไปสืบพร้อมกับนัดสืบพยานจำเลย ในวันที่ 13-15 มี.ค. 2561
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดูโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. ซ่อนความมั่นคงในนามการพัฒนา

Posted: 28 Feb 2018 03:46 AM PST

ชวนดูความสัมพันธ์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับ กอ.รมน. และกองทัพในสมัยสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน สะท้อนถึงพื้นที่นอกกรมกองของหน่วยงานความมั่นคงในวันที่ไม่ได้รบทัพจับศึกกับใคร แล้วจะมีพลเรือนไว้ทำไมถ้าทหารเป็นทุกอย่างให้หมดแล้ว

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.)  ในสมัยสงครามเย็น ยุทธวิธีการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในระยะนั้น มีการใช้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อเอาชนะใจประชาชนไม่ให้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจและการเมือง หนึ่งในกลไกที่ทำงานสอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนาคือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ

ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของงานวิจัย "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เขียนในงานวิจัยของเธอว่า ลักษณะของโครงการในพระราชดำริด้านการพัฒนาที่ประสานกับทหารและตำรวจเพื่อความมั่นคง เป็นลักษณะเฉพาะของโครงการที่เกิดขึ้นในยุคการพัฒนาเพื่อความมั่นคง โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือราษฎรในพื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่นและมีการขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ ทั้งยังช่วยบรรเทาภาระของรัฐในด้านงบประมาณและบุคลากร โดยมุ่งพัฒนาในพื้นที่ที่มีความล่อแหลมและห่างไกลความเจริญ และยังเป็นการอาศัย "พระบารมี" ในการระดมทุนสนับสนุนและช่วงชิงมวลชนอีกด้วย

ปัจจุบัน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายพันโครงการทั่วประเทศยังมีอยู่และเดินหน้าต่อไป แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ กอ.รมน. ยังคงมีบทบาทในการสานต่อแนวทางของโครงการในพระราชดำริอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แม้ภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์จะหมดลงแล้วก็ตาม ดังที่เว็บไซต์ของ กอ.รมน. ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า

"อำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการ อำนวยการ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ พร้อมทั้งดำเนินการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่จะเทิดทูน พิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการน้อมนำแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"เป็นหลักในการดำเนินงาน"

การที่หน่วยงานความมั่นคง ผูกพันตัวเองอยู่กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจนถึงทุกวันนี้ชวนให้ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ประชาไทได้สืบค้นโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวพันกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในสมัยสงครามเย็น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง กอ.รมน. และกองทัพที่มีกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเส้นทางยาวไกลที่ตัวแสดงทั้งสามได้เดินทางมาบนยุทธศาสตร์เดียวกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังทอดยาวมาถึงวันนี้ที่ไม่ได้มีการสู้รบแล้วเมื่อ กอ.รมน. เข้ามาดูแลข่ายงานด้านการพัฒนาในภาคพลเรือนผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โครงการในพระราชดำริและพระราชกรณียกิจสมัยสงครามเย็น กับการสนับสนุนยุทธศาสตร์ช่วงชิงมวลชน

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่าง กอ.รมน. กับโครงการในพระราชดำริว่า แม้เวลาพูดถึงจะพูดแยกกัน แต่ทหารคือหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการพระราชดำริ

พวงทอง ภวัครพันธุ์

"กอ.รมน. เป็นส่วนที่วางยุทธศาสตร์และแผนโดยใช้การเมืองและเศรษฐกิจในการต่อสู้ ข้อสำคัญคือโครงการพัฒนาเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นในพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ที่คอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลสูง หรือพื้นที่ที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ยึดพื้นที่ได้ ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้ต้องใช้กลไกกองทัพควบคู่กับการพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อกองทัพยึดพื้นที่จากคอมมิวนิสต์ได้ก็ตั้งหมู่บ้าน เอาประชาชนไปใส่ไว้ที่นั่น ซึ่งก็เป็นประชาชนจัดตั้งของ กอ.รมน. กลุ่มต่างๆ ให้ที่ดินกับประชาชนที่เข้าไปอยู่ ให้การอบรมศึกษาเกี่ยวกับความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันประชาชนเหล่านี้ก็ช่วยเป็นหูเป็นตาว่า คอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอย่างไร ใครเป็นสายให้คอมมิวนิสต์"

พวงทอง ภวัครพันธุ์: 10 ปี กม.ความมั่นคงภายใน ประชาธิปไตยคือภัยความมั่นคง

"เมื่อมองกลับไปจะเห็นว่าเขาพยายามรักษาอำนาจของทหารไว้ในกลไกทางการเมืองผ่าน กอ.รมน. เช่น การจัดตั้งมวลชนที่ยังดำเนินต่อไปในหลายส่วน รวมถึงการขยายบทบาทของทหารในมิติอื่นที่ไม่ใช่มิติการสู้รบ ถ้าดูยุทธศาสตร์ของกองทัพบกและของ กอ.รมน. จะเห็นว่าภารกิจและการนิยามปัญหาความมั่นคงของไทยขยายออกไปสู่ปัญหายาเสพติด สิ่งแวดล้อม การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย เรื่องการพัฒนาก็ยังอยู่ บทบาทไม่ได้ลดลงเลย โดยบอกว่าตัวเองสนับสนุนโครงการพระราชดำริ ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่มีใครเถียงหรือคัดค้านได้" พวงทอง กล่าว

ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นข้อมูลจากห้องสมุดสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และพบว่าในช่วงปี 2526-2527 โครงการในพระราชดำริที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นภูมิภาคที่เป็นแหล่งซ่องสุมของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) บางโครงการมีวัตถุประสงค์ระบุชัดเจนว่าเป็นการสนับสนุนปฏิบัติการในการเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนี้

โครงการจัดสร้างและปรับปรุงเส้นทางเชื่อมโยงจากหมู่บ้านบ่อแก้ว - บ.ดงสามหมื่น - อ.วัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ รับผิดชอบโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ "พัฒนาให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสนับสนุนการปฏิบัติการด้านจิตวิทยาของรัฐจากการปลุกระดมของฝ่ายตรงข้าม"

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ.ของต้น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชาวเขามูเซอร์ดำจำนวน 26 ครอบครัวเกี่ยวกับด้านอาชีพและการจัดระเบียบชุมชนตลอดจนก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว และเพื่อให้ชาวเขารักถิ่นฐานที่อยู่ของตน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กองทัพภาคที่ 3 และ กอ.รมน. ภาค 3

ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในบริเวณพื้นที่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อจัดตั้งโครงการผลิตอาหารสำเร็จรูปเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษร และเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีโดยดำเนินการทางปรับปรุงด้านการเกษตร การศึกษา ศาสนา และอนามัยไปพร้อมๆ กัน โดยมีพื้นที่ดำเนินการอยู่ที่โรงเรียนร่มเกล้า กองอำนวยการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ และ 6 หมู่บ้านใน ต.โนนดินแดง อ.ละหานทราย โดย ต.โนนดินแดงในช่วงนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการปะทะระหว่างกองกำลังคอมมิวนิสต์กับทางกองทัพไทย (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์)

นอกจากนั้นยังมีโครงการสร้างความมั่นคงในชนบทที่หมู่บ้านในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครอบคลุมหมู่บ้านจาก จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิและ จ.อุบลราชธานี รวมกันทั้งสิ้นจำนวน 42 หมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ภาค 2  และเพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวโดยการฝึกอบรมผู้นำหมู่บ้านและวิทยากรประจำหมู่บ้าน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการประสานงานสร้างความเข้าใจระหว่างทางราชการและราษฎรตามแผนการปฏิบัติการด้านจิตวิทยาการเข้าถึงประชาชนของรัฐบาล

ความสัมพันธ์ระหว่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กับยุทธศาสตร์การเอาชนะคอมมิวนิสต์ที่ดำเนินโดยกองทัพ ถูกพูดถึงในงานของชนิดา ระบุถึงเนื้อความในวารสารเศรษฐกิจและสังคม ฉบับพิเศษ ธ.ค. 2528 จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับกองทัพไทยในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ กองทัพไทย ซึ่งจัดทำโดยกองทัพ ว่า ที่มาโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความมั่นคง เริ่มต้นในปี 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมทหารที่กองพันพิเศษค่ายสฤษดิ์เสนา จ.พิษณุโลก ในระหว่างที่เครื่องบินโจมตี เอฟ-5 ของกองทัพบกถูกยิงตกบริเวณเขาค้อเมื่อ 11 มิ.ย. 2519 และการสู้รบกับ พคท. ได้ยืดเยื้อนานถึง 6 สัปดาห์ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีได้ให้สัมภาษณ์เล่าถึงความเป็นมา ใจความว่า วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เสด็จมาที่ค่ายฯ ตนได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า ได้พยายามปราบปรามและทำให้ราบคาบมานานแล้ว ใช้วิธีสร้างถนนเข้าไปเพื่อสนับสนุนฝ่ายเราให้สามารถควบคุมพื้นที่ให้ได้ แต่ว่าพื้นที่ยากลำบาก และการสร้างทางมีอุปสรรค พระองค์จึงซักถามว่า ทำไมราษฎรไม่ใช้ถนนหรอกหรือ จึงได้กราบบังคมทูลว่า ไม่มีราษฎรอยู่อาศัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 จึงทรงแนะนำให้ตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นสองข้างทางถนนที่สร้าง โดยเอาราษฎรอาสาสมัครที่ไม่มีที่ทำกินของตัวเอง จึงได้คัดเลือกราษฎรมาได้ 400 กว่าคน หัวหน้าครอบครัวอาสาสมัคร 400 กว่าคน แล้วนำมาฝึกและติดอาวุธ 3 สัปดาห์ที่ค่ายสฤษดิ์เสนา แต่ก็ยังนำราษฎรลงพื้นที่ไม่ได้ เพราะติดเรื่องการขออนุมัติจากกองทัพบกและ กอ.รมน. หลายเดือน

โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาจึงเริ่มต้นขึ้นที่พื้นที่เขาค้อ โดยมีการจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนาขึ้นในพื้นที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งสำหรับเป็นทุนในการดำเนินงานครั้งแรก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก" โดยมีการจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาทางยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก" ต่อมา กองทัพภาคที่3 กำหนดแผนยุทธศาสตร์ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กตั้งแต่ปี 2520 โดยมีกระบวนการ 4 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างทำลายกำลังติดอาวุธของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่เขาค้อ สะเดาพง เขาย่า และหนองแม่นา

  2. ก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์ เข้าสู่ขุมกำลังของฝ่ายผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่โครงการ

  3. จัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์ตามแนวสองข้างทาง โดยคัดเลือกราษฎรอาสาสมัครที่เคยรบ และทหารกองหนุน ซึ่งยังไม่มีที่ดินทำกินให้เข้าไปตั้งถิ่นฐาน โดยทางการจะดำเนินการจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ตลอดจนจัดบริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้อย่างพร้อมมูล

  4. ดำเนินการส่งมอบพื้นที่หมู่บ้านยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความปลอดภัยและได้รับการพัฒนาจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้แล้วให้แก่ฝ่ายปกครองเพื่อบริหารงานตามสายงานปกติต่อไป

นอกจากนั้นยังมีการก่อตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนกว่า 700 โรงเรียน อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่รับผิดชอบโดยกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งก่อตั้งครั้งแรกในปี 2499 เพื่อให้การศึกษากับประชาชนในถิ่นทุรกันดาร สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ระบุเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของโรงเรียน ตชด. มีไว้เพื่อสอนให้การศึกษาประชาชนในถิ่นทุรกันดารได้เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นสื่อกลางในการสร้างความคุ้นเคยและไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านและตำรวจตระเวนชายแดน

พระราชกรณียกิจบางประการยังสะท้อนถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อรักษาความมั่นคงในประเทศในสมัยสงครามเย็น ในบันทึกพระราชกรณียกิจที่อยู่ในห้องสมุด กปร. ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณห้วยปลาดุก บริเวณรอยต่อ อ.ปากชม กับ อ.เชียงคาน กิ่ง อ.นาด้วง และ อ.เมืองเลย ที่ จ.เลย  โครงการฯ นี้ กองบัญชาการหน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร 21 เป็นฝ่ายริเริ่มดำเนินการตามพระราชดำริเพื่อจัดที่ดินทำกิน จัดสรรที่อยู่อาศัยในรูปหมู่บ้านป่าไม้ที่มีความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ราษฎรที่ยากจนซึึ่งถูกภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย และเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำลำธารและปลูกสวนป่าทดแทน

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ไปยังพิธีรวมพลังประชาชน 16 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.สกลนคร และได้มีการปฏิญาณตนจากกองพลังประชาชนซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา นักศึกษาวิชาการทหาร ยุวกาชาด เนตรนารี สตรีอาสารักษาดินแดน ลูกเสือชาวบ้าน ลูกเสือป่าภูพาน เยาวชนในค่ายทหาร สมาคมไลออนส์ หน่วยบรรเทาสาธารณะภัย สมาคมกรรมกรสามล้อ ไทยอาสาป้องกันชาติ อาสารักษาดินแดน พลเรือน ตำรวจและทหาร จากนั้นกองพลังประชาชนจึงได้เดินแถวผ่านพลับพลาที่ประทับ

เมื่อเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า  "หน้าที่สำคัญของเหล่าอาสาสมัคร นอกเหนือจากหน้าที่พลเมืองที่ประชาชนทุกคนพึงปฏิบัติก็คือ ช่วยรักษาความปลอดภัยของท้องถิ่น และป้องกันมิให้มีผู้ประสงค์ร้ายมาเบียดเบียน ไม่ว่าจะเป็นพวกที่มาโจรกรรมเพียงทรัพย์สิน หรือพวกที่หวังจะมาโจรกรรมบ้านเมืองของเรา เพื่อให้เป็นที่อยู่ของคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้น อาสาสมัครจึงต้องมีความสามัคคีเข้มแข็ง เสียสละ มีระเบียบวินัย และซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนั้น ยังต้องฝึกฝนให้มีความรู้ ทั้งในด้านการพัฒนาตนเอง ตลอดจนวิธีการป้องกันและต่อต้านการคุกคามจากผู้ประสงค์ร้ายต่อประเทศชาติ เพื่อช่วยกันรักษาบ้านเมืองของเราให้เป็นปึกแผ่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและดำรงอิสรภาพตลอดไป"

ทหารยังอยู่ในกิจการพลเรือนผ่านโครงการพระราชดำริ ชวนตั้งคำถาม พลเรือนมีไว้ทำไม

ปัจจุบัน กอ.รมน. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่หลายที่ จากการค้นหาข้อมูลพบว่า กอ.รมน. ได้ใช้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นหนึ่งในกลไกในการบรรลุซึ่งหน้าที่รับผิดชอบ ในการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นแกนหลักในการจัดตั้งมวลชนในท้องที่ต่างๆ

3 พ.ย.2559 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก รายงานว่า พล.ท.วิษณุ ไตรภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่ง (ศปป.1 กอ.รมน.) จัดให้มีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงใน 8 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ ศปป.1 กอ.รมน. ร่วมกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ กอ.รมน.4 กองทัพภาค จำนวน 34 โครงการ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบล จำนวน 7,424 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนั้นยังมีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กอ.รมน. ภาค 4 ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จัดตั้งขึ้นเมื่อ ตุลาคม 2551 เป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง และสิ่งแวดล้อมโดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน กองทัพภาคที่ 4 / กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ขับเคลื่อนและดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และในช่วงต้นปีนี้ กอ.รมน. ยังมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการปราชญ์เพื่อความมั่นคงสนับสนุนการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.สระบุรีอีกด้วย

แม้ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ได้จมหายไปในกงล้อประวัติศาสตร์ แต่กลไกในการจัดตั้งมวลชน ปลูกฝังอุดมการณ์เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ยังคงดำเนินต่อไป พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้สถาปนาอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวไว้กับ กอ.รมน. อย่างเป็นทางการ

คำถามที่น่าถามในวันนี้คือ การมีส่วนร่วมของกองทัพเช่นว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนในยามที่ไทยไม่ได้มีสมรภูมิสงครามอย่างในอดีต ถ้าหน่วยงานความมั่นคงตีความหน้าที่รับผิดชอบจนลามมาถึงเรื่องที่หน่วยงานพลเรือนหรือประชาชนสามารถดูแลได้ ประเทศไทยวันนี้จะต่างอะไรกับสมัยสงครามเย็นที่หน่วยงานความมั่นคงกลายเป็นตัวแสดงหลัก เรามีข้อปุจฉาได้หรือไม่ว่า ปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ใช้สู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในวันนั้นถูกนำมาใช้กับประชาชนในวันนี้

คำถามที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ชื่อดังตั้งว่า "ทหารมีไว้ทำไม" อาจต้องมีการถามอีกหนึ่งคำถามขนานกันไปว่า "พลเรือนมีไว้ทำไม" สังคมเราชินชา และยอมรับกับพื้นที่นอกกรมกองของทหารใช่หรือไม่

จริงอยู่ที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยให้การยอมรับให้ทหารออกมาช่วยประชาชนในยามที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรงต่างๆ เพราะด้วยกำลังคนและทรัพยากร กองทัพคือหน่วยงานที่มีความเหมาะสมในการรับมือกับภัยอันตรายนานาชนิด แต่การมีกฎหมายอนุญาตให้หน่วยงานที่มีทหารเป็นแกนหลักกระจายเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ให้อำนาจในการสร้างมวลชนของตัวเองเพื่อทำงานด้านความมั่นคงที่นิยามกว้างขวางดั่งเกษียรสมุทรเป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถามได้ เพราะข่ายงานที่กว้างย่อมหมายถึงงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมหาศาล และงบประมาณจะมาจากไหนถ้าไม่ใช่ภาษีของประชาชน ประชาชนต้องมีอำนาจที่จะถาม ตรวจสอบ และตัดสินใจได้ว่าปฏิบัติการทั้งหลายตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ กองทัพ ทหาร หน่วยงานความมั่นคงจะถูกใช้ในปริมณฑลใดบ้าง มีโครงสร้าง อำนาจ หน้าที่อย่างไร และพลเรือนควรตรวจสอบกองทัพได้ เพราะการให้คนกลุ่มหนึ่งพกอาวุธสงคราม กินเงินเดือนจากยศและตำแหน่งนั้นย่อมมีพันธสัญญากับประชาชนผู้ให้อาญาสิทธิ์ดังกล่าวตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และแน่นอน ในตอนนี้ กลไกสร้างอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของ กอ.รมน. และการดำเนินงานของรัฐบาลทหารก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพฯ กฟผ. แต่งดำจี้ รมว.พลังงาน ลาออก แนะทำประชามติถาม ปชช. ปมโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา

Posted: 28 Feb 2018 02:57 AM PST

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่งดำ ค้าน MOU รมว.พลังงาน กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพายุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมจี้  รมว.พลังงาน ลาออก แนะรัฐบาลทำประชามติถามความเห็นของประชาชน

ที่มาภาพ ศูนย์ข่าวพลังงาน 

28 ก.พ.2561 ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. กลุ่มพนักงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของ พนมทวน ทองน้อย รองสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) จำนวนประมาณ 130 คน แต่งกายชุดดำ เดินทางมายัง ศูนย์เอ็นเนอยี คอมเพล็กซ์ ที่ตั้งของกระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือ ถึง ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอความชัดเจน ในนโยบาย และทิศทาง พลังงานไฟฟ้าของประเทศ  โดยมี ธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนของกระทรวงพลังงานรับหนังสือ  

ทั้งนี้ พนักงานจาก สร.กฟผ. ได้มีการจัดขบวนเดินถือป้าย ระบุข้อความที่เรียกร้องให้ ศิริ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย อย่างไรก็ตามบรรยากาศการเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ มาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัย  

ศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานด้วยว่า พนมทวน ทองน้อย รอง สร.กฟผ. เปิดเผยกับสื่อมวลชนที่มาร่วมทำข่าว ถึงเนื้อหาสำคัญในหนังสือที่ยื่นถึง ศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สืบเนื่องจากการไปลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีพลังงาน กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพายุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่า  มีด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1. ท่านเข้าใจบทบาทหน้าที่ของรมว.พลังงาน มากน้อยเพียงใดเพราะแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และอนุมัติให้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA EHIA ) จากคณะรัฐมนตรี การที่สั่งยกเลิกโดยอ้างถึงการทำ MOU กับเครือข่ายปกป้องฝั่งทะเล ท่านลุแก่อำนาจไม่เป็นไปตามหลักการและระเบียบปฏิบัติที่ควรเป็นหรือไม่ 2. ท่านได้ให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ให้การยอมรับเสมอภาคเท่าเทียมกับกลุ่มคัดค้านหรือไม่ เพราะการทำงานของกฟผ.ตลอดเวลาทำตามคำสั่งของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานทั้งสิ้นจนเกิดความเข้าใจแต่สุดท้ายก็ล้มแบบไม่ใยดีกลายเป็นความไม่น่าเชื่อถือในนโยบายของเจ้ากระทรวงต่อไปใครจะเชื่อถือนโยบายจากท่าน

3. ท่านให้ข่าวว่า 5 ปีจากนี้ภาคใต้ไม่จำเป็น้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยากทราบว่า ท่านมีข้อมูลอะไรหรือนโยบายรายวันในประเด็นความมั่นคงเชื้อเพลิงการผลิตและราคาที่ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟในภาพรวมอย่างไร และหากภาคใต้มีการใช้ขยายตัวและต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีซึ่งข้อมูลตามระบบจะมีปัญหาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปจะทำอย่างไร และ 4.กระบวนการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสูงเกือบ 70% เป็นความเสี่ยงที่ท่านก็ทราบดีและการกระจายความเสี่ยงการใช้เชื้อเพลิงต้องมีความสมดุลย์ และมั่นคงในระบบของประเทศ ราคาค่าไฟไม่เป็นภาระต่อประชาชนส่วนใหญ่จะทำอย่างไร

พนมทวน กล่าวว่า วิธีการบริหารของรัฐมนตรีพลังงาน นับตั้งแต่ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง นั้นทำให้ผู้รับนโยบายเกิดความสับสน  โดย กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐ ที่พนักงานทุกคนพร้อมจะทำหน้าที่ตามนโยบายของรัฐที่ถูกต้องชอบธรรม ซึ่งไม่ใช่การสั่งการหรือกำหนดนโยบาย ตามความรู้สึก หรือสั่งการผ่านสื่อมวลชน โดยเห็นว่า รัฐมนตรีจะต้องทำหน้าที่ให้ทุกฝ่ายที่เห็นต่าง มีสิทธิแสดงความเห็น รับฟังด้วยความเท่าเทียม ด้วยหลักประชาธิปไตย มิใช่บริหารแบบเถ้าแก่ ที่มุ่งเน้นให้ตัวเองกลายเป็นพระเอก แต่หน่วยงานในสังกัดที่รับนโยบายไปปฎิบัติกลับกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาสังคม

ทั้งนี้ สร.กฟผ.ยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวอื่นๆ นอกจากการนัดแต่งกายในชุดดำ ในครั้งนี้ ซึ่งพนักงาน กฟผ. ที่กระจายอยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ก็ให้ความร่วมมือและแสดงลัญลักษณ์ โดยยังรอดูท่าทีของรัฐมนตรีพลังงานและ การตอบข้อคำถามทั้ง 4 ข้อ เสียก่อน 

สร.กฟผ.ใต้ ร้องผู้ว่าฯ กระบี่ ค้าน MOU ชะลอโรงไฟฟ้า แนะทำประชามติ

วันเดียวกัน เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'กฟผ. โรงไฟฟ้ากระบี่' โพสต์ภาพพร้อมข้อความรายงานด้วยวา  สร.กฟผ. สาขาภาคใต้ นำโดย สุวรรณ เอ่งฉ้วน ประธานที่ปรึกษา สร.กฟผ. ภาคใต้ เลอศักดิ์ เอ่งฉ้วน ประธานอนุกรรมการ สร.กฟผ. สาขาภาคใต้ และสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เดินทางมายื่นหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับ MOU ที่ รมต.พลังงานกับกลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล เทพา-กระบี่ และเรียกร้องให้รัฐมนตรียกเลิก MOU ฉบับดังกล่าว เพราะเป็นการขัดต่อคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่เคยให้ใว้เมื่อเดือน กพ. 60 ที่บอกใว้ว่าให้ กฟผ. ทำความเข้าใจกับปรัชาชนและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่ และในขณะที่ กฟผ.ดำเนินการตามนโยบายอย่างถูกต้อง แต่ รมว.พลังงานกลับทำข้อตกลงขัดกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี และสุดท้ายทางกลุ่มสหภาพแรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลทำประชามติถามความเห็นของประชาชนชาวกระบี่เพื่อตัดสินใจ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดกระบี่ ในการนี้โดย พันตำรวจโท หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้มอบหมายให้ สมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และศิวเรศ ธรรมวิเศษ พลังงานจังหวัดกระบี่ และศรณ์ รักรงค์ ป้องกันจังหวัดกระบี่ รับหนังสือจากกลุ่มสหภาพแรงงาน กฟผ(สร.กฟผ) สาขาภาคใต้ ณ ศาลากลางจังหวัดกระบี่

ที่มาภาพ เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'กฟผ. โรงไฟฟ้ากระบี่'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 มี.ค.นี้ ศาลยุติธรรมนำร่องใช้ 'กำไลข้อเท้า' ติดตามผู้ต้องหาหรือจำเลย แทนหลักทรัพย์ค้ำประกัน

Posted: 28 Feb 2018 01:31 AM PST

นำร่องใช้กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์สวมข้อเท้าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว แทนหลักทรัพย์ประกันในคดีเล็กน้อย 1 มี.ค.นี้ ลดความเหลื่อมล้ำและปริมาณผู้ต้องขัง ฝ่าฝืนผิดเงื่อนไข-ทำลายอุปกรณ์ ออกหมายจับทันที

ที่มาภาพ เว็บไซต์ สำนักส่งเสริมงานตุลาการ

28 ก.พ.2561 สำนักส่งเสริมงานตุลาการ รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 12 อาคารศาลอาญา สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้จัดแถลงข่าว "โครงการส่งเสริมการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลไปใช้ในการปล่อยชั่วคราว" (Electronic Monitoring - EM) ซึ่งขณะนี้สำนักงานศาลยุติธรรมมีศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางการควบคุมและติดตามผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่มีระบบที่พร้อมตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทาง ซึ่งเปิดดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมงและจะเปิดดำเนินการระบบการติดตามแบบเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มี.ค.นี้ เพื่อใช้กับศาลนำร่องจำนวน 23 ศาล  ทั้งนี้ "โครงการส่งเสริมการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการดินทางของบุคคลไปใช้ในการปล่อยชั่วคราว" สอดคล้องกับนโยบายประธานศาลฎีกาที่เป็นการเพิ่มการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดีและเพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วยิ่งขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

ผู้จัดการอนไลน์ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ หรือพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง ก็เป็นดุลพินิจศาลว่าจะใช้กำไลข้อเท้าควบคุมหรือไม่ ที่ผ่านมาจากการประเมินพบว่ามีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยจะเริ่มใช้กำไลข้อเท้าจำนวน 5,000 เครื่อง กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา วันที่ 1 มี.ค.นี้กับศาลนำร่องทั่วประเทศ 23 ศาลทั่วประเทศ เช่น ศาลอาญา 600 เครื่อง ศาลจังหวัดมีนบุรี 600 เครื่อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ 300 เครื่อง ศาลอาญาธนบุรี 300 เครื่อง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 50 เครื่อง โดยกำไลข้อเท้าจะทำให้เจ้าพนักงานศาลรู้ว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยปฏิบัติ ตามเงื่อนไขศาลหรือไม่ เช่น ป้องกันการหลบหนี หรือจะก่อเหตุประทุษร้ายกับผู้เสียหายอีก การออกนอกพื้นที่ หรือการฝ่าฝืนเงื่อนไข ศาลจะพิจารณาออกหมายจับต่อไป การนำเทคโนโลยีมาใช้การจัดการบริหารคดีนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สะดวก รวดเร็ว ประหยัด เป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา

กำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า กำไลข้อเท้า EM ซึ่งติดระบบ นำทาง GPS ไว้มีน้ำหนักเบา 230 กรัม จะถูกสวมที่ข้อเท้าผู้ต้องหาหรือจำเลย ตลอดเวลา เพื่อใช้กำหนดพื้นที่การเดินทาง ความเคลื่อนไหว และพื้นที่ต้องห้าม สอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้ หากมีการกระทำผิดเงื่อนไข เช่น ออกนอกพื้นที่มีการทำลายกำไลข้อเท้า ฯลฯ เครื่องจะแสดงสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมฯ ให้เจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ผลัดละ 8 คน 8 ชั่วโมง รายงานต่อผู้พิพากษาเวร แต่ละศาลเพื่อพิจารณาออกหมายจับ ผู้ต้องหาหรือจำเลยทันที สำหรับกำไลข้อเท้า EM นี้ในปีแรก ทางศาลยุติธรรมจะเริ่มใช้ จำนวน 5,000 เครื่อง ใช้งบประมาณ 80.8 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 10,000 เครื่อง ให้แก่ศาลอื่นๆ ในปีที่ 2 โดยจะมีการประเมินผลการใช้งานแบบปีต่อปี 

สุริยัณห์ หงส์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสรรอุปกรณ์กำไลข้อเท้า EM ไปแต่ละศาลนำร่อง 23 แห่งนั้นในจำนวนที่แตกต่างกันนั้นก็พิจารณาจากปริมาณคดีที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขการพิจารณาใช้กำไลข้อเท้า EM ในแต่ละศาล โดยหลังจากเริ่มใช้นำร่องในวันที่ 1 มี.ค.นี้แล้ว ศาลก็จะประเมินประสิทธิภาพด้วยภายในสิ้นปี 2561 นี้ ว่าใช้ได้ดีเพียงใด มีข้อใดต้องปรับและพัฒนาอีกหรือไม่ อย่างไรก็ดี โครงการส่งเสริมการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยชั่วคราว หรือกำไลข้อเท้า EM นั้น เบื้องต้นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ก็มีมติที่จะให้เพิ่มศาลนำร่องอีก 3 แห่งด้วย คือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2, ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกศาลละ 50 ชุด โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับงบประมาณที่ต้องเพิ่มต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: กฎหมายคืออะไรกันแน่

Posted: 28 Feb 2018 12:11 AM PST

 

ข้อถกเถียงในยุครัฐบาลทหารที่ใช้มาตรา 44 ออกประกาศและคำสั่ง คสช.มาใช้บังคับอย่างมากมาย พร้อมกับการสำทับว่าทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ตามหลักกฎหมายดั้งเดิมที่เล่าเรียนกันมาในอดีต อีกทั้งยังเคยมีคำพิพากษาฎีกาออกมายืนยันมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้ และผู้คนก็ยังเชื่อในแนวความคิดนี้มาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ในนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงของนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์สมัยใหม่ได้มีการเปลี่ยนแนวความคิดนี้มานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากในรัฐประชาธิปไตยหลายๆ รัฐจะมีข้อห้ามหรือลดความความสัมพันธ์กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแล้วออกกฎหมายมาใช้เอง เป็นต้น

ประเภทของแนวความคิดที่ใช้อธิบายว่ากฎหมายคืออะไร

1) แนวความคิดแบบอำนาจนิยม คือ แนวความคิดที่เชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำกับควบคุมประชาชน โดยกฎหมายไม่ได้มีไว้เป็นเครื่องมือในการจำกัดอำนาจรัฐหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งแนวความคิดนี้อธิบายว่า "กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมได้รับโทษ" แนวความคิดแบบนี้งอกงามได้ดีในรัฐอำนาจนิยม 

แนวความคิดแบบนี้ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ เป็นความสัมพันธ์ทางเดียวจากข้างบนสู่ข้างล่าง ประชาชนไม่มีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย กฎหมายที่ออกมาล้วนแล้วแต่สนับสนุนการใช้อำนาจรัฐและลดทอนอำนาจของสังคมกับประชาชน ข้อเสียที่สำคัญคือมีลักษณะหยุดนิ่งและมีแนวโน้มที่จะล้าหลังตามยุคสมัยไม่ทัน

2) แนวความคิดแบบเสรีประชาธิปไตย คือ แนวความคิดที่เชื่อว่ากฎหมายเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนที่ให้อำนาจรัฐบางเรื่องและในขณะเดียวกันก็จำกัดอำนาจรัฐด้วยการปกป้องประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ แนวความคิดแบบนี้งอกงามในรัฐเสรีประชาธิปไตย

แนวความคิดแบบนี้ถือว่ากฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม คือ เป็นเรื่องความคิดความเชื่อ และวัตรปฏิบัติของคนในสังคมในปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน แนวความคิดนี้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้ดีเพราะเป็นความสัมพันธ์หลายทาง จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน และในระนาบเดียวกัน มีการรับฟังเสียงจากประชาชน เช่น การทำประชามติ ประชาพิจารณ์ การมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย มีการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ ที่สำคัญที่สุดคือออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของประชาชนหรือฝ่ายบริหาร(กรณีกฎหมายลำดับรองที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติลงมา)ที่ประชาชนเป็นผู้เลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งอาจจะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้

กฎหมายในแนวความคิดนี้จะมีลักษณะที่จำกัดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้กับสังคม มิใช่ใช้กฎหมายได้ครอบจักรวาลและหาความแน่นอนไม่ได้อันเป็นผลทำให้เกิดการขาดความมั่นคงทางกฎหมาย  แนวความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยนี้จะมีลักษณะพลวัตร สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ การเปลี่ยนของสังคม

อีกอย่างหนึ่งในแนวความคิดนี้กฎหมายไม่จำเป็นที่ต้องมีสภาพบังคับให้ต้องลงโทษตามแบบแนวคิดดั้งเดิมเท่านั้น  เพราะกฎหมายในยุคใหม่นี้อาจเป็นเพียงกฎหมายในรูปแบบพิธีเท่านั้น เช่น พ.ร.บ.งบประมาณฯ ,พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ฯลฯ

แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ยังคงมีการต่อสู้กันในทางความคิดระหว่าง 2 แนวความคิดนี้อยู่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าในสังคมใดมีลักษณะการปกครองแบบใด ถ้าเป็นในสมัยโบราณที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ประชาชนเคารพศรัทธายอมรับในความชอบธรรมของพระราชา (รากศัพท์ของคำว่า "ราชา"  ก็คือ "รช" ซึ่งแปลว่า ยินดีหรือพอใจ) หรือในปัจจุบันที่บางสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการก็จะใช้แนวความคิดแบบที่ 1 คือ แบบอำนาจนิยมนี้มาอธิบาย

แล้วกฎหมายไทยอยู่ในแนวความคิดแบบใด

แน่นอนว่าในอดีตเราอยู่ในแบบที่ 1 แล้ววิวัฒนาการมาอยู่ในแบบที่ 2 แล้วก็มีการพยายามหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสู่แบบที่ 1 อีก เป็นระยะๆ ปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพการณ์ที่เรียกว่าแปลกประหลาด เพราะทั้งๆ ที่มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า             

"อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม"

ไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 มาประกอบกับมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญฯปี 60 ซึ่งเป็นข้อยกเว้น ออกประกาศและคำสั่งโดยไม่ได้ยึดบทบัญญัติตามมาตรา 3 นี้ซึ่งเป็นบทบัญญัติหลักแต่อย่างใด

อีกทั้งยังมีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯปี 60 ในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 อันเป็นกฎหมายในเรื่องเดียวกันแต่ออกมาทีหลัง ซึ่งตามหลักกฎหมายทั่วไป กฎหมายใหม่ย่อมลบล้างกฎหมายเก่า จนผู้อยากเลือกตั้งต้องไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตกลงเป็นอย่างไรกันแน่ ฤาว่ามาตรา 44 ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญแล้วหรือไร

อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐธรรมนญฯ ปี 60 มาตรา 213 จะกำหนดให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อวินิจฉัยการกระทำนั้นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยไม่ได้บัญญัติเหมือนรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 ที่ต้องให้ไปใช้สิทธิโดยวิธีอื่นก่อน เพียงแต่กำหนดว่าให้เป็นไปตามเงื่อนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่จากข้อมูลของไอลอว์พบว่า นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯปี 60 จนถึงวันที่ 29 มกราคม 61 มีการยื่นคำร้องตามมาตรา 213 เข้าสู่ศาลธรรมนูญทั้งหมด 73 เรื่อง แบ่งเป็นในปี 2560 จำนวน 67 เรื่อง และในปี 2561 อีกจำนวน 6 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาแล้วทั้งหมด 55 ฉบับ ซึ่งทุกฉบับศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยรับพิจารณาคำร้องของประชาชนที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเลย

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดที่ 1 หรือ ที่ 2 ก็ตาม ย่อมอยู่ที่บริบทของสังคมและการยอมรับของประชาชนในสังคมนั้นๆ ซึ่งก็คือ "ความชอบธรรม หรือ legitimacy" นั่นเอง ฉะนั้น การที่ผู้ฉีกกฎหมายสูงสุดเรียกร้องขอให้ประชาชนเคารพกฎหมายหรือปฏิบัติตามกฎหมายที่ตนเองออกมาบังคับใช้ ย่อมยากต่อการยอมรับของประชาชนในสังคมนั้นเป็นธรรมดา
 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษา มธ. ชี้คนรุ่นใหม่มีหัวใจเป็นอาวุธ พร้อมประกาศสงครามกับความล้าหลัง

Posted: 28 Feb 2018 12:10 AM PST

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปราศรัยประกาศสงครามในนามของอนาคต ต่อยุคสมัยเก่าและความคิดที่ล้าหลัง เชื่อพลังคนรุ่นใหม่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แม้ไม่มีอำนาจจากปลายกระบอกปืน แต่มีหัวใจเป็นอาวุธ ย้ำกาลเวลาไม่เคยอยู่ข้างผู้กดขี่

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงาน "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ: 3-2-1 ถึงเวลาเปลี่ยน" ภายในงานมีการจัดตลาดนัดช็อปช่วยทาส จำหน่ายอาหาร หนังสือ และสินค้าบางส่วนเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือนักโทษการเมือง มีการตั้งป้ายคนสวมนาฬิการอเลือกตั้ง หีบเลือกตั้งจำลอง เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายรูปด้วย ทั้งนี้มีการเล่นดนตรีสลับการปราศรัยท่ามกลางฝนตกในช่วงบ่าย โดยในการปราศรัย เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ประกาศสงครามในนามคนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ และยุคสมัยใหม่ ต่อคนรุ่นเก่าที่ยังมีความคิดล้าหลัง และแย่งชิงอนาคตไปจากคนรุ่นใหม่ ระบุกาลเวลาไม่เคยอยู่ข้างผู้กดขี่ พร้อมเชิญชวน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ออกมาต่อสู้เพื่อกำหนดอนาคตของตัวเอง

00000

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาภาพจาก Banrasdr Photo

นี่คือสงครามระหว่างยุคสมัยใหม่ กับยุคสมัยเก่า นี่คือการปะทะกันระหว่างคนยุคเก่าที่กะโหลกกะลา ซึ่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาลในตอนนี้ พวกเขาเป็นคนหัวเก่า รับใช้ความคิดแบบเก่า โตมากับโลกเก่า และโลกของพวกเขากำลังจะล้มสลาย ผู้ท้าชิงที่จะมาล้มพวกเขานั้นคือพวกเรา คือคนยุคใหม่ ที่มีหัวใหม่ และเติบโตมากับโลกแบบใหม่ และโลกของเรากำลังก่อกำเนิดขึ้นมา

ขอให้ลองสังเกตุดูนะครับ ถ้าใครไม่เชื่อผม ลองดูว่าขณะนี้ใน คสช. หรือใน ครม. มีคนรุ่นใหม่ไปนั่งสักกี่คน ไม่มี อายุเฉลี่ยของ สนช. สภาเฮงซวย อายุเฉลี่ยของคนที่มากำหนดอนาคตเราอีกนานแสนนานอยู่ที่ 64 ปี อายุเยอะที่สุดของ สนช. อยู่ที่ 92 ปี อ่อนที่สุดก็ปาไปแล้วตั้ง 51 ปี ไม่มีเด็กสักคน อนาคตของพวกเราไม่มีเพราะพวกเขาไม่ได้มาเพื่อสร้างอนาคต พูดตรงๆ วันก่อนผมเห็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคนหนึ่งมาประชุมเดินเองไม่ได้ต้องมีคนพยุง ถ้าเป็นผมผมลาออกไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานแล้ว แต่ถามว่าทำไมพวกเขาถึงยังฟื้นสังขารมาทำอะไรที่โลกจะประณามเขาไปชั่วกัลปาวสานแบบนี้ ทำไมครับ เพราะพวกเขากลัวธรรมชาติ เขาฟื้นธรรมชาติ เพราะเขากลัวธรรมชาติที่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย พวกจะกอดเก้าอี้ที่พวกเขาอุตส่าห์แย่งชิงมาไปตลอด จนตายไปแล้วก็ยังไม่เลิกกอด

พี่น้องคงเห็นแล้วว่ามุมของยุคสมัยมันมาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของเราได้อย่างไร ทีนี้ผมจะอธิบายธรรมชาติของคนพวกนี้ว่าเป็นอย่างไร ในตอนนี้มันมีคนสองแบบ บางทีก็เป็นสองแบบในคนเดียว พวกหนึ่งคือ พวกที่นอนฝันถึงโลกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว โลกเมื่อ 40 ปีที่แล้วมันเป็นอย่างไร มันเป็นโลกที่ทหารควบคุมประชาชน ข้าราชการเป็นเจ้านายประชาชน และคนรวยเป็นเจ้าชีวิตคนจน พวกเขาเคยชินกับโลกแบบนั้น และพวกเขาก็ฝันว่าเมื่อเขาแก่ตัวลงเขาจะได้ใช้อภิสิทธิ์แบบนั้นบ้าง พวกเขาเป็นเทวดาตกสวรรค์ที่พยายามตะเกียกตะกายไปสร้างวิมานบนหลังคน แต่อนิจจาถ้าคิดว่าอุดมการณ์ของพวกเราเป็นฝันลมๆ แล้งๆ แต่พวกเขาเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ กว่าเราเสียงอีก เพราะกาลเวลาไม่เคยอยู่กับผู้กดขี่ โลกจะไม่เป็นไปตามที่เขาอยากให้เป็นอีกต่อไป พวกนี้ผมเรียกว่าเป็นพวกที่จมอยู่กับอดีต

คนอีกพวกหนึ่ง พวกนี้อยากมีชีวิตที่ดี แต่ตัวเองหวาดกลัว ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีความกล้าหาญ ไม่มีปัญญาแม้แต่จะคิดเพื่อจะเปลี่ยนแปลงอะไร และพวกเขาคิดไปเองว่าคนในสังคมจะดักดานเหมือนกับพวกเขา พวกนี้เลยไม่ยอมให้ใครเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ยอมแม้กระทั่งให้คนอื่นได้พูด โดยที่อ้างเสมอว่าเดี๋ยวจะเกิดความวุ่นวาย พวกนี้ไม่มีสมบัติผู้ดี เลยพูดจาดีๆ กันไม่เป็น พวกนี้คือกบที่อยู่ในกะลา กบที่อยู่ในกะลามันกลัวแสงแดด มันอยู่แต่ในที่มืดจนไม่รู้ว่าแสงแดดคืออะไร เมื่อมีใครจะเปิดกะลาให้มัน มันก็จะปิดเพราะมันกลัวแสงแดด คนพวกนี้ต่อให้มีทางออกให้มันก็ไม่ยอมออก

ผมจะยกตัวอย่างนักแต่งเพลงชื่อดังคนหนึ่ง ผมจะไม่เอ่ยชื่อ เพราะเดี๋ยวจะโดนฟ้องหมิ่นประมาทเหมือนที่นักการเมืองคนหนึ่งฟ้องคุณจตุพร พรหมพันธุ์ แต่จะบอกนามแฝงที่ชื่อว่า ด้ง นิติพี

เขาพูดว่า อย่าให้มีการเลือกตั้งเลยเดี๋ยวบ้านเมืองจะวุ่นวายอีก เขารู้ได้อย่างไรว่าจะวุ่นวาย หรือพวกนี้เลือกตั้งกันไม่เป็น ทำเป็นแต่ปิดการเลือกตั้ง ปิดคูหาหรืออย่างไร ผมไม่รู้ แต่สิ่งที่รู้ได้คือ เขากลัวอนาคต พวกเขาจึงยอมที่จะอยู่กับแบบนี้ เขาไม่เชื่อว่ามนุษย์เราสร้างชีวิตที่ดีกว่าได้ คนพวกนี้คือ พวกเกลียดกลัวอนาคต

สรุปว่าทุกวันนี้เรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะเรากำลังต่อสู้กับศัตรูของชาติ ศัตรูของประชาชน แต่ศัตรูของประชาชนไม่ใช่แค่นายพลสามสี่คน ไม่ใช่แค่ข้าราชการ ไม่ใช่แค่นายทุน แต่คือเขาพวกทั้งหมด พวกเขาที่เป็นคนยุคเก่ารับใช้ความคิดเก่าๆ หลงอยู่ในอดีตและเกลียดกลัวอนาคต คนพวกนี้แย่งอนาคตเราไปตั้ง 4 ปีแล้ว แต่ถ้าเรายังนิ่งเฉยมันก็จะมีปีที่ 5 6 7 8 เรายอมได้หรือไม่

ที่มาภาพจาก Banrasdr Photo

ตอนนี้ชาติของเรามีปรสิต มาเกาะกินผลที่เราอุตส่าห์สร้างมาจากน้ำพักน้ำแรงของเรา เรายอมได้หรือไม่ ผมรับไม่ได้ที่เสรีภาพของเราจะถูกลดทอน ความยุติธรรมของเราจะถูกทำลาย และอนาคตของเราจะถูกแย่งชิง คนที่มาทำอย่างนี้กับพวกเราก็คือ คนแก่หลงยุคที่ขนาดคำว่าจิตสำนึกยังสะกดไม่เป็น คนรุ่นใหม่เราทนไม่ไหวแล้ว เราทนมานานจนทนต่อไปไม่ไหวแล้ว เราคงอยู่ร่วมโลกกับคนที่ปล้นอนาคตเราไปไม่ได้ เมื่อเลือดเก่าไม่ยอมหลีกทางให้เลือดใหม่ การต่อสู้มันจึงต้องเกิดขึ้น นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างความล้าหลัง และความก้าวหน้า นี่คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ นักประวัติศาสตร์จะเขียนเรื่องของเราว่านี่คือการสร้างสรรค์โลกใหม่ โดยคนรุ่นใหม่ ให้โลกนี้จดจำว่า เด็กสร้างเมืองได้

ข้าพเจ้าในนามของยุคสมัยใหม่ ในนามของอนาคตขอประกาศสงครามต่อยุคสมัยเก่า ขอประกาศสงครามกับความล้าหลัง แม้พวกเขาไม่ยอมให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่เราจะเอาชีวิตของเรากลับคืนมา ในสงครามครั้งนี้คนรุ่นใหม่จะเป็นขุนศึกพาเราไปสู่ชัยชนะ เราจะชนะด้วยพลังของอนาคต เราจะชนะด้วยพลังของประชาชน สงครามครั้งนี้คือสงครามครั้งสุดท้าย ถ้าเราชนะสงครามแห่งกาลเวลา สงครามแห่งยุคสมัยครั้งนี้ เราจะมีชีวิตที่ดีกว่า และชีวิตของเราใครจะมาแย่งไปไม่ได้อีกแล้ว

อย่างที่ผมพูด สงครามครั้งนี้คนนำคือ คนรุ่นใหม่ ผมของเวลาอีก 5 นาทีในการพูดกับสหายร่วมรบของผม เพื่อนคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย นักเรียน นิสิต นักศึกษา เรามีภาระอันหนักอึ้งประจำรุ่นของเราคือการขจัดคนยุคเก่าที่ทำตัวเป็นปลิงดูดเลือด กอบโกยผลประโยชน์โอกาสและอนาคตออกปจากมือเราต่อหน้าต่อตา คนแก่พวกนั้น เช่นคุณมีภัย ฤชุพันธุ์ คนเหล่านั้นถ่วงพวกเรามานานเกินไปแล้ว และถ้าเราเฉยพวกเขาก็จะถ่วงพวกเราอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ นี่คือชีวิตของเรา นี่คืออนาคตของเรา ถ้าไม่ต่อสู้ ใครหน้าไหนมันจะต่อสู้ให้เรา

ช่วงเวลามาถึงแล้ว ผมขอยกคำพูดของเพื่อผมคนหนึ่ง ผู้ใหญ่มันจะพูดว่าเราคือ อนาคต แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เราไม่ใช่แค่อนาคตเพราะการเปลี่ยนแปลงที่จะนำโดยเรานั้นไม่ได้เกิดในวันพรุ่งนี้ แต่มันเกิดวันนี้ เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ ดังนั้นนี่คือ ช่วงเวลาของเรา นี่คือการต่อสู้เพื่ออนาคตที่จะต้องเกิดขึ้นนับแต่วันนี้เป็นต้นไป

เพื่อนทั้งหลาย เพื่อนครับ เราไม่ใช่นักเรียน เราไม่ใช่นิสิต นักศึกษา แต่เราเป็นนักรบ เราไม่มีปืน แต่เรามีอาวุธที่ทรงพลังที่สุดนั่นคือหัวใจของเราเอง คือหัวใจที่เต็มไปด้วยพลัง ความหวัง และความหาญกล้า มีแต่หัวใจของเราเท่านั้นที่จะนำพาสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไทย เมื่อเวลามาถึงขอให้พวกเรานำหัวใจอันแข็งแกร่งของเราพกติดตัวออกมาสู่ลานกว้าง สู่ท้องถนน และนำพาผู้คนหนึ่งล้าน สิบล้าน เจ็ดสิบล้านคนไปตะโกนไล่คนแก่กะโหลกกะลาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อไหร่ที่เวลานั้นมาถึง เมื่อไหร่ที่หัวใจของเราพร้อม คนแก่ที่ถ่วงเรา ที่ทำลายอนาคตเราจะพ่ายแพ้ และเราจะมีชัยชนะอนาคตของเราจะกลับคืนมา

สุดท้ายนี้ผมไม่อยากเสียเวลา ไม่อยากเสียน้ำลาย ไม่อยากเสียเส้นเสียงไปกับการพูดกับคนแก่ที่เกินจะแกงพวกนั้นอีกแล้ว ผมจึงขอพูดสั้นๆ กับเขาว่า อนาคตของเราเอาคืนมา เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โอไอซี' ลงพื้นที่ยะลาชมการแก้ไขปัญหาทุกฝ่ายในพื้นที่

Posted: 27 Feb 2018 11:42 PM PST

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยโอไอซีลงพื้นที่ยะลา ชมการแก้ไขปัญหาทุกฝ่ายในพื้นที่ ขณะที่'มาราปาตานี' ระบุโอไอซียังไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการพูดคุยสันติภาพ แต่ติดตามความคืบหน้าสม่ำเสมอและมีมติที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

 

28 ก.พ.2561 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) รายงานว่า วานนี้ (27 ก.พ.61) เวลา 13.00 น. Salih Mutlu Sen เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรตุรกีประจำ องค์การความร่วมมืออิสลาม และคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา ตรวจเยี่ยมตลาดสดพิมลชัย (ตลาดสดรถไฟ) ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา  โดยมี พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ , นายก้องสกุล จันทราช นายอำเภอเมืองยะลา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ

วันเดียวกัน (27 ก.พ.61) เวลา 14.00 น. เดินทางต่อไปยัง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลโท ชินวัฒน์ แม้นเดช ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และคณะทำงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การต้อนรับ

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังรายงานด้วยวา ในโอกาสนี้ Salih Mutlu Sen เอกอัครราชฑูตคณะผู้แทนถาวรตุรกีประจำ องค์การความร่วมมืออิสลาม  กล่าวว่า  รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาเยือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ พร้อมทั้งได้ทราบถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และขอชื่นชมการทำงานของทุกฝ่าย ที่มุ่งส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการให้ความสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกัน  อย่างไรก็ตามยังมีความห่วงใยต่อระบบการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งเห็นด้วยกับการดำเนินงานด้านพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของผู้คนในพื้นที่ เพราะนอกเหนือจากการเรียนในเรื่องของศาสนาแล้ว การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาชีพเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพในชีวิตประจำวัน ก็เป็นสิ่งสำคัญ  

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรตุรกีประจำ องค์การความร่วมมืออิสลาม  ยังกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ ไม่ใช่ ปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนา หรือ ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์  ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ทุ่มเทสรรพกำลังทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี ตนขอแสดงความชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายด้วย

มาราปาตานีระบุโอไอซียังไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการพูดคุยสันติภาพ

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม โฆษกมาราปาตานี ต่อกรณี การที่โอไอซีลงมาในพื้นที่สื่อถึงสัญญาณที่โอไอซีจะมามีบทบาทในการพูดคุยสันติภาพมากขึ้นหรือไม่นั้น โฆษกมาราปาตานี กล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการมาลงพื้นที่จังหวัดยะลาครั้งนี้เป็นเพียงกาาติดตามผล การมาของโอไอซีคณะใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 59 ซึ่งการมาครั้งนั้น คณะโอไอซีก็ได้มาพบกับมาราปาตานีด้วย 
 
โฆษกมาราปาตานี เสริมว่า ตอนนี้โอไอซียังไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการพูดคุยสันติภาพ แต่โอไอซีติดตามความคืบหน้าการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ และมีมติที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เมื่อการพูดคุยผ่านขั้นการสร้างความไว้ใจ (confidence building) ไปแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

#งานขายก็มา 'เนติวิทย์' จ่อส่งเล่มใหม่ให้อ่านฟรีๆ หลัง 'ศรีวราห์' ฟ้องแอบอ้างชื่อโปรโมทหนังสือ

Posted: 27 Feb 2018 11:03 PM PST

พล.ต.อ.ศรีวราห์ แจ้งความ ปอท.เอาผิด 'เนติวิทย์' แอบอ้างชื่อโปรโมทขายหนังสือ ด้านเนติวิทย์ พร้อมขอโทษ ยันไม่มีเจตนาร้าย จ่อส่งหนังสือเล่มใหม่ไปให้อ่านฟรีๆ 

เนติวิทย์ โพสต์ภาพขณะที่ตนเองเซ็นหนังสือให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ชื่อหนังสือคือ "แด่ศตวรรษของเรา: ความเรียงสามชิ้นของไอเซยา เบอร์ลิน (Messages to Our Century: Three Essays of Isaiah Berlin)" แปลโดย ตนเอง และ ชยางกูร ธรรมอัน และธรณ์เทพ มณีเจริญ พร้อมช่องทางสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ที่ https://goo.gl/forms/SBWuUe1i2zEwXXsm1 โดย เนติวิทย์ ย้ำด้วยว่าเหลือน้อยเล่มแล้ว พร้อมโฆษณาด้วยว่า เดือนหน้าพบกับหนังสือแปลเล่มใหม่ของตนอีกสองเล่ม

28 ก.พ.  2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ร.ต.อ.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ในคดีอาญาที่ 10/2561 เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้เฟสบุ๊ค ชื่อ Netiwit Chotiphatphaisal ที่โพสต์ข้อความขายหนังสือ แด่ศตวรรต ของเรา : ความเรียงสามชิ้นของ ไอเซยาเบอร์ลิน (Isaiah Berlin) โดยได้แอบอ้างชื่อและมีข้อความ ว่า "พล.ต.อ.ศรีวราห์ พูดในที่ประชุมว่า หนังสือดีนะพวกมึงมีหรือยัง" ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนผู้อ่านข้อความดังกล่าวเข้าใจผิด และเกิดความเสียหาย จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ในฐานความผิด "โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน"

สำหรับหนังสือดังกล่าว เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้มอบหนังสือเล่มดังกล่าวให้กับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ในวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ในขณะที่เดินทางเข้ามอบตัวที่ สน.ปทุมวัน ซึ่ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ได้รับไว้และได้ส่งมอบให้หัวหน้าพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เพื่อนำไปรวมไว้ในสำนวนประกอบคดีความมั่นคงฯในวันดังกล่าว

เนติวิทย์ พร้อมขอโทษ ยันไม่มีเจตนาร้าย จ่อส่งหนังสือใหม่ไปให้อีก

ล่าสุดวันนี้ (28 ก.พ.61) เมื่อเวลา 11.52 น. ที่ผ่านมา เนติวิทย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Netiwit Ntw' ระบุพร้อมขอโทษ และยืนยันด้วยว่าไม่ได้เจตนาร้ายอย่างไร พร้อมจะส่งหนังสือเล่มใหม่ไปให้อ่านฟรีๆ 

รายละเอียดที่ เนติวิทย์ โพสต์

คุณลุงศรี

ผมเพิ่งทราบข่าวว่า ถูกพลตำรวจเอกศรีวราห์ฟ้องเอาผิดว่าแอบอ้างเอาชื่อท่านมาโปรโมทหนังสือแปล ฟังดูก็น่าขันดี จริงๆ ผมก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า มันจะจริงหรือที่คุณลุงศรีจะอ่านหนังสือของผม ข้อแรกก็คือ นี่เป็นหนังสือแปลของนักแปลมือสมัครอย่างผมและเพื่อนซึ่งเป็นนิสิตที่ไม่ได้เรียนการแปลโดยตรง มีแต่ใจรัก ครูพักลักจำ ภาษาอาจไม่สละสลวยวิเศษ ข้อสองก็คือ นี่เป็นงานเขียนปรัชญาของนักปรัชญาอังกฤษที่ไม่โด่งดังเป็นที่รู้จักในไทยนักแม้ในโลกตะวันตกชื่อเสียงเขาจะโด่งดัง และนี่เป็นงานแปลเล่มแรกของเขาเลยในโลกภาษาไทย และข้อสามก็คือ คุณลุงศรีจะมีเวลาอ่านหรือ เพราะต้องหมกมุ่นกับคดีอีกหลายอย่างที่สำคัญเช่น กรณีของเปรมชัยที่ยิงเสือดำอย่างโหดเหี้ยมซึ่งสาธารณชนก็ทราบดีอยู่ทั่วแล้ว

แต่ผมก็คิดว่าเป็นไปได้ที่คุณลุงศรีจะสนใจและแนะนำให้คนอื่นๆ อ่าน นั่นก็เพราะ ตอนผมนำหนังสือไปให้คุณลุงศรี คุณลุงขอให้ผมเซ็นหนังสือให้ และขอบคุณที่ท่อน้ำเลี้ยงผมมาจากการสุจริตใช้กำลังปัญญาตนเอง ขายได้ก็เล่มละไม่กี่บาท แล้วก็ต้องเอาเงินกำไรที่ได้มาพิมพ์มาจ่ายทำเล่มใหม่อยู่เรื่อยๆ เพื่อเพิมพูนปัญญาของสังคม ถ้าลุงอ่านด้วยความเมตตากรุณาก็คงเป็นไปได้ นอกจากนี้ ลองดูตัวอย่างในเล่ม เช่น

"เราควรที่จะมีการประนีประนอมกัน มีการแลกเปลี่ยน และการจัดเตรียมข้อกำหนดต่างๆ ถ้าข้อตกลงจะต้องถูกสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น...เรื่องหนึ่งผมรู้ดีคือ นี่ไม่ใช่ธงที่คนหนุ่มสาวผู้กระตือรือล้นและเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมคติอยากจะถือนำเดินขบวนสักเท่าไหร่ - มันดูเชื่องเกินไป มีเหตุผลมากไป ... แต่คุณเชื่อผมเถิดว่า ไม่มีใครสามารถได้ทุกอย่างตามที่หวังหรอก ไม่ใช่แค่ในทางปฏิบัติ แต่ในทางทฤษฏีก็เช่นกัน การปฏิเสธความจริงดังกล่าว การหาอุดมคติที่สูงสุดหนึ่งเดียวเพียงเพราะมันเป็นหนึ่งเดียวและแท้จริงสำหรับมนุษยชาติ ในที่สุดแล้วจะนำมาซึ่งการบีบบังคับด้วยกำลัง การทำลายล้าง และการนองเลือด" (หน้า 44)

จากข้อความข้างต้นในหนังสือที่ผมยกมาสั้นๆ นั่นถ้าคุณลุงศรีอ่านจริงและแนะนำลูกน้องอ่าน นั่นก็แสดงว่าคุณลุงศรีเปี่ยมความรู้ คิดลึกซึ้ง ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม มีชั้นเชิงทางความคิด มองโลกอย่างเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งแนะนำให้ลูกน้องอ่านด้วยแล้วนี่จะไม่ประเสริฐหรอกเหรอที่มีผู้นำที่มีความรู้ ความชำนาญ ไม่เหมือนนายตำรวจใหญ่ๆ ที่ชาวบ้านเขาเกลียดชังกัน ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลนักการเมือง นักธุรกิจและทหาร 

ผมไม่รู้หรอกว่าคุณลุงศรีจะอ่านหนังสือแปลผมจริงๆ หรือไม่ กี่เปอร์เซ็นต์ถึงขนาด ผมก็บอกอยู่ว่าได้ยินจากนายตำรวจท่านหนึ่งมาอีกที หรือที่ฟ้องผมก็ด้วยความไม่พอใจหรือต้องการอะไรอื่นๆ ถ้าหากคุณลุงศรีไม่อ่านจริงๆ ก็น่าเสียดาย แต่ก็ไม่แปลกใจหนังสือผมคงดีไม่พอ และคุณลุงก็อาจจะเป็นคนไม่อ่านหนังสือด้วยอยู่แล้ว หรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ แต่ผมก็พร้อมขอโทษคุณลุงศรี - ไม่ได้เจตนาร้ายอย่างไรเลย และจะส่งหนังสือเล่มใหม่ไปให้อ่านฟรีๆ 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอดคำปราศรัยของทนายอานนท์ เมื่อการเลือกตั้งเป็นเพียงก้าวแรกของการล้างระบอบ คสช.

Posted: 27 Feb 2018 09:04 PM PST

อานนท์ นำภา ชี้การเลือกตั้งภายในปีนี้เป็นข้อเรียกร้องเริ่มต้นเท่านั้น ก้าวที่เหลือคือการล้างเผด็จการออกจากระบอบการเมืองไทย ผ่านสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการบรรจงกากบาทของประชาชน ขออย่ากลัว เพราะการเรียกร้องการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงาน "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ: 3-2-1 ถึงเวลาเปลี่ยน" ภายในงานมีการจัดตลาดนัดช็อปช่วยทาส จำหน่ายอาหาร หนังสือ และสินค้าบางส่วนเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือนักโทษการเมือง มีการตั้งป้ายคนสวมนาฬิการอเลือกตั้ง หีบเลือกตั้งจำลอง เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมถ่ายรูปด้วย ทั้งนี้มีการเล่นดนตรีสลับการปราศรัยท่ามกลางฝนตกในช่วงบ่าย โดยในการปราศรัย อานนท์ นำภา ทนายความอาสา ได้ขึ้นกล่าวถึงสาเหตุที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ว่า เพื่อเป็นการล้างระบอบที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้วางไว้ โดยการเลือกตั้งเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

000000

ทนายอานนท์ นำภา ที่มาภาพจากเพจ Banrasdr Photo

สวัสดีครับพี่น้องทุกท่าน วันนี้การปราศรัยอาจจะไม่หวือหวาหรือปลุกเร้าเท่าที่ควร ผมมาที่นี่วันนี้เพื่อที่จะตอบคำถามเพียงคำถามเดียวว่า ทำไมเราถึงต้องการการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ มาตราที่ 265 บัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ปฏิบัติหน้าที่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง การที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้เช่นนี้หมายความว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง เมื่อมีคณะรัฐมนตรี คสช. จะต้องออกไปโดยปริยาย นี่คือเหตุผลเดียวที่เราต้องการการเลือกตั้งภายในปีนี้ พี่น้องบางส่วนยังตั้งคำถามว่าเลือกไป คสช. ก็ยังอยู่ อันนี้ไม่จริง เพราะถ้ามีการเลือกตั้ง มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คสช. จะต้องออกไปตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ นั้นคือก้าวแรกของการสร้างประชาธิปไตยของพวกเรา

ก้าวต่อไปทำไมเวลาเราทำสัญลักษณชูสามนิ้ว นิ้วที่สองจึงหมายถึง เผด็จการจงพินาศ เราทุกคนทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันกำจัดบรรดาประกาศ และคำสั่งของ คสช. ที่เป็นเผด็จการทั้งหมดให้ออกไปจากระบอบการเมืองของพวกเรา คำสั่งที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เราต้องแก้ไขผ่านรัฐสภาที่มาจากประชาชน คำสั่งที่เกี่ยวกับการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์กับนายทุน หรือคำสั่งที่เอาป่าไม้ ทรัพยากรของเราไปให้กับนายทุน เราต้องแก้ไข คำสั่งหรือประกาศต่างๆ ที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเราต้องมีการแก้ไขโดยสภาที่มาจากพวกเรา นี่คือความสำคัญของการเลือกตั้ง

หลังจากนั้นเราทุกคนจะช่วยกันปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง ไอ้กลุ่มคนกลุ่มเดิมที่มาอ้างเรื่องปฏิรูป กลุ่มคนเหล่านั้นไม่ใช่คนที่จะมาปฏิรูป เขาคือกลุ่มคนที่ต้องเรียกว่าเป็นพวกปฏิกูล ปฏิกูลในที่นี้หมายถึง กลุ่มคนที่เป็นภาระเป็นจุดอับของสังคมไทย ข้ออ้างทั้งหมดของการปฏิรูป นับตั้งแต่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศว่าจะมีการปฏิรูป นั่นคือการสร้างหนทางอันนำมาสู่การรัฐประหารของประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีความจริงใจหรือเนื้อหาใดๆ ที่จะมีการปฏิรูป การเลือกคนของตัวเองเข้ามาทำหน้าที่แทนพวกเรา เลือก สนช. แล้วให้ สนช. มาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ นั่นคือระบบเผด็จการอย่างแท้จริง

นอกจากนั้นการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งพวกเราทุกคนในที่นี้ ไม่มีมีส่วนร่วมแม้แต่นิดเดียว ร่างให้ 5 ปีแรก ส.ว. ที่การแต่งตั้งโดยประยุทธ์ ทั้งหมด ส.ว. ที่มาจากเผด็จการทั้งหมด มีสิทธิเท่า ส.ส. ของพวกเราในการโหวตเลือกนายกฯ ร่างโดยยกตำแหน่งถึง 6 ตำแหน่งให้ทหาร ล็อคตำแหน่งไว้ให้กับคนของตัวเอง สิ่งเหล่านี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปหลังจากที่เรามีการเลือกตั้งคือ เอา ส.ว. ที่มาจากคณะรัฐประหารออกไปจากระบอบการเมืองของพวกเราผ่านทาง ส.ส. ที่พวกเราทุกคนบรรจงกากบาทเลือกเข้าไป

นอกจากนั้นเราทุกคนจะต้องยืนหยัดในการปฏิรูปเอากลุ่มบุคคลที่ไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชนออกไปจากระบอบการเมือง เอาองค์กรอิสระที่เป็นคนของพวกเขา คนที่พวกเขาแต่งตั้ง และที่เขาจะแต่งตั้งผ่านมาตรา 44 ในเวลาอันใกล้นี้ออกไป พี่น้องทราบไหมครับระบบการเมืองตอนนี้ถ้าเราไม่มีการเลือกตั้ง ถ้าเรายังเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ คสช. ก็ยังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปเรื่อยๆ กินเงินเดือนเราไปเรื่อยๆ องค์กรอิสระที่ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะง่อยเปลี้ยเสียขาไปทั้งหมด ป.ป.ช. ที่ออกแบบมาให้ตรวจสอบการทุจริต ตอนนี้ขนาดเด็กอมมือก็ยังรู้ว่านาฬิกาของประวิตร มันส่อไปในทางทุจริตแน่ๆ แต่ ป.ป.ช. ก็ทำอะไรไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปหลังจากที่มีการเลือกตั้งคือการลดทอน และสกัดหยุดกระบวนการที่มันเป็นเผด็จการทั้งหมดออกไปจากระบอบการเมืองของประเทศไทย

เราอาจจะไม่เห็นผลภายในวันสองวันนี้ แต่ผลของการเมืองที่ดี การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ลูกหลานของป้าๆ ทุกคน ลูกหลานของผมถ้ามี จะได้รับผลพวงของพวกเราที่ต่อสู้ในวันนี้อย่างแน่นอน ขอให้พี่น้องทุกคนจงเชื่อใจในตัวเอง จงมั่นใจในตัวเองว่าเราทุกคนเลือกทางที่ถูกต้องแล้ว และต้องช่วยกันทำงานให้มากกว่านี้ นัดชุมนุมครั้งหน้าอย่าไปคิดว่าเป็นกิจกรรมหน่อมแน้ม กิจกรรมบันเทิง ชุมนุมครั้งหน้าเป็นการชุมนุมทางการเมืองอย่างแน่นอน ชุมนุมเพื่อขับไล่ คสช. ออกไปจากระบบการเมือง

ไม่ต้องไปกลัวถ้าเขาจะมาตั้งข้อหาเรา ว่าเราไปปลุกระดม ทำเรื่องนอกรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องการเลือกตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญร้อยเปอร์เซ็นต์ วันนี้มีพี่น้องเราที่ออกมาต่อสู้ที่เชียงใหม่ถูกตั้งขอหาดำเนินคดีไป 6 คน วันนี้มีพี่น้องที่เชียงใหม่ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเดินทางจากเชียงใหม่มาร่วมชุมนุมกับพวกเราด้วย ไม่ต้องไปกลัว MBK 39 เขาจับ เขาตั้งข้อหา อยากให้เรากลัว จับป้าคนหนึ่งอายุ 74 ปี จับป้าๆ อีกหลายคนอายุกว่า 50-60 ปี ออกหมายเรียกวันที่ 29 มกราคม แต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ป้าๆ ทั้งหมดยังมาพร้อมกันที่ราชดำเนิน ที่สำคัญไปกว่านั้นตั้งข้อหาส่งไปทั้งสองศาล ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลแขวงปทุมวันทุกศาลยกคำร้องขอฝากขังทั้งหมด เราไม่ได้บอกว่าศาลเข้าข้างเราแต่วันนี้องค์การตุลาการ อยู่เคียงข้างกับความถูกต้องเมื่อไหร่ที่เราเรียกร้องความถูกต้องตุลาการจะอยู่เคียงเรา

ตำรวจ ทหาร ที่เมื่อวานนี้รับใช้เผด็จการขอให้ทุกคนพึ่งสังวรไว้ ลมเริ่มเปลี่ยนทิศแล้ว คนที่รับใช้เผด็จการอย่างออกหน้าออกตา พวกเราจะจดชื่อเตรียมเช็คบิลกันทุกคน วันนี้เราจัดกิจกรรมใช้เวลาไม่มากเพื่อที่จะรวมพี่น้องอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะฟิตซ้อม และทำความเข้าใจ กลับไปก็ไปบอกกับพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงหรือเพื่อนๆ ของเราว่าทำไมเราต้องมีการเลือกตั้งไปบอกเขาว่ามาตรา 265 ถ้ามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ คสช. จะต้องออกไปโดยปริยาย ไปบอกเขาว่าหลังจากที่มีการเลือกตั้ง พวกเราทุกคนจะร่วมกันปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง

ในวันที่ 10 มีนาคม เป็นอีกวันหนึ่งที่เรานัดหมายกันมาชุมนุม ขอให้พวกเราใส่รองเท้าผ้าใบมัดให้แน่นๆ พี่น้องที่มีลูกมีหลานเป็นตำรวจทหารสั่งมันให้ลางานแล้วมาร่วมกับพวกเรา ในวันนั้นเราจะมีพี่น้องเราจากต่างจังหวัดมีลูกๆ หลานๆ ที่เป็นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างจังหวัดมาร่วมกับพวกเรา ขอให้พวกเราจงมั่นใจว่า ถ้าเราอยู่ในสิ่งที่ถูกต้อง เรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องประชาชนทั้งประเทศจะอยู่ข้างเรา

ขอบคุณพี่น้องที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด มาจากเชียงใหม่ก็ดี อุบลฯ ก็ดี มีพี่น้องที่โดนข้อหาจากพะเยาก็เดินทางมา ขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ให้พื้นที่ และยืนเคียงข้างการต่อสู้ของประชาชนเรื่อยมา ขอบคุณพี่น้องทุกคนที่ช่วยยืนยันให้ทุกคนได้รู้ว่า เรามาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง ขอบคุณครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai