ประชาไท | Prachatai3.info |
- แอมเนสตี้ฯ ชวนทั่วโลกส่งจดหมายร้องไทยยุติคดี MBK39
- กวีประชาไท: กลางปลักตม!
- ผู้ชนะประมูล ภาพสมศักดิ์เจียม โดย ไข่แมว เผย ประมูลไปก็โชว์ใครไม่ได้
- ผบ.ทบ.ไม่สนรัฐบาลขาลง เพราะมีหน้าที่เพียงดูแลความสงบ เชื่อ พ.ค. นี้ไม่มีความรุนแรง
- สมช. เผยยังหาท่อน้ำเลี้ยงคนอยากเลือกตั้งอยู่ พร้อมหาความเชื่อมโยง เพื่อไทย-ทักษิณ
- สมชัยเตรียมลาพักร้อน 15 มี.ค. รอ กกต. ชุดใหม่รับตำแหน่ง
- วงเสวนาชี้ ขั้นตอน EIA มีปัญหา รณรงค์สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนแยกการเมืองไม่ได้
- กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยื่นหนังสือค้านโรงงานน้ำตาล ต่อ รมช.กระทรวงเกษตรฯ
- ก้าวที่ 800,001 ตั้งพรรคภาค ปชช.-ทำความสะอาดรัฐธรรมนูญ-สร้างความเท่าเทียม
- กวีประชาไท: สลิ่มที่รัก
- อ่าน 'แสง น้ำ และรวงข้าว' เพื่อสดับฟังคนอื่นและความเป็นอื่น
แอมเนสตี้ฯ ชวนทั่วโลกส่งจดหมายร้องไทยยุติคดี MBK39 Posted: 19 Feb 2018 05:58 AM PST แอมเนสตี้ฯ ชวนทั่วโลกส่งจดหมายเรียกร้องไทยยุติคดี MBK 39 ระบุละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ขัดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล 19 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกกรม และผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกให้ร่วมกันส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มนักกิจกรรม MBK 39 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมาหน้าศูนย์การค้า MBK ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างสันติของนักศึกษาและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและทวงสัญญาของรัฐบาลที่ระบุว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจได้แจ้งดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมไปจนถึงผู้สังเกตการณ์รวม 39 คน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียก MBK 39 รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ทั้ง 39 คนถูกแจ้งข้อหาฐานละเมิดคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่ห้ามการชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานตาม ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดหนึ่งปี นอกจากนี้ เก้าคนในนั้นยังโดนแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นเพิ่มด้วย โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำการชุมนุมดังกล่าว หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดอีกคนละเจ็ดปี แอมเนสตี้เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เขียนจดหมายเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อกลุ่ม MBK 39 และคนไทยทุกคนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ตลอดจนยกเลิกและปรับปรุงกฎหมาย ไปจนถึงคำสั่งต่างๆ ให้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย แอมเนสตี้ระบุด้วยว่า ตลอดช่วงสามปีครึ่งหลังจากรัฐประหาร รัฐบาลทหารปราบปรามและจำกัดพื้นที่การใช้สิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ เห็นได้จากผู้ที่แสดงความเห็นต่อต้านรัฐประหารหรือรัฐบาลทหารผ่านช่องทางต่างๆ หลายคนถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งของรัฐบาลทหาร และถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างมาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 19 Feb 2018 03:47 AM PST
เอาพรมผืนใหญ่ปิดไว้ ดิ้นทุรนทุรายขึ้นที่สูง วันหนึ่งก็ถึงวันมาบรรจบ เป็นผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้ลำบาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้ชนะประมูล ภาพสมศักดิ์เจียม โดย ไข่แมว เผย ประมูลไปก็โชว์ใครไม่ได้ Posted: 19 Feb 2018 12:43 AM PST ผู้ชนะการประมูลภาพวาด 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' โดยเพจไข่แมว เปิดเผยว่า เป็นการประมูลร่วมกันของนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนลิเบอรัล โดยที่แม้จะได้รูปนี้ไปก็ไม่สามารถแขวนภาพให้ใครเห็นได้ เพราะเกรงจะกระทบธุรกิจของตนเอง 19 ก.พ. 2561 ชายหนุ่มผู้ชนะการประมูลภาพวาด อาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่วาดโดยไข่แมว พร้อมลายเซ็นสมศักดิ์จากปารีส ได้ให้สัมภาษณ์ประชาไท โดยไม่ขอให้ระบุชื่อ กล่าวว่า เขาและเพื่อนตัดสินใจประมูลภาพโดยใช้เงินสูงถึง 221,120 บาท เพราะสองเหตุผล คือ หนึ่ง ภาพดังกล่าวเปรียบเหมือนงานศิลปะที่บันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จึงอยากเก็บเอาไว้ และสองคือ เงินที่จ่ายไปก็จะเป็นการบริจาคเงินช่วยผู้ต้องหา และนักโทษคดีการเมือง "ผมคิดว่า การ์ตูนล้อเลียนการเมืองอย่างไข่แมวเป็นการแสดงออกที่สงบ และไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ หรือรุนแรง มันเน้นใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมันตรงใจกับเรา" เขากล่าว และเสริมว่า เขาไม่ได้เป็นแฟนคลับของสมศักดิ์ แต่ติดตามเพจสมศักดิ์เพื่อรับข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่ไม่มีรายงานโดยสื่อประเทศไทย ภาพดังกล่าวมีขนาด 6 X 8 นิ้ว ถูกประมูลผ่านเพจ 'ขายหมดทุกสิ่งอย่างบนโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล' โดยเปิดประมูลตั้งแต่เวลา 14.00 น.และปิดประมูลเวลา 22.00 น. คืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รายได้ทั้งหมดจากการประมูลครั้งนี้ถูกระบุว่า จะนำไปสมบทกองทุนช่วยเหลือผู้ต้องหาทางการเมืองและความคิด ผู้ชนะประมูลกล่าวว่า การประมูลครั้งนี้เป็นการประมูลร่วมกับเพื่อน ซึ่งพวกเขาคิดไว้แล้วว่า จะมายื่นประมูลในนาทีสุดท้ายก่อนปิดประมูล และมีเพดานในการประมูลอยู่ที่ประมาณสองแสนบาท ซึ่งก็ประมูลได้ไปในราคาที่ตั้งใจไว้ ชายผู้ประมูลภาพนี้ได้กล่าวว่า "คงจะแขวนภาพให้คนเห็นไม่ได้" เพราะว่า การแสดงจุดยืนทางการเมืองอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ "ต้องเก็บจุดยืนทางการเมืองมากเลย อย่างเพื่อนผมที่ร่วมประมูลกันเนี่ยบอกเลยว่า ห้ามเอ่ยชื่อเขา เพราะเขารับโปรเจคต์จากรัฐบาลเยอะมาก" เขาเล่าด้วยว่า ตนเองอายุ 36 ปี เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งเพื่อศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อถามว่ามีอะไรจะฝากถึงไข่แมวและสมศักดิ์หรือไม่ เขากล่าวว่า "ขอให้ปลอดภัยครับ" ภาพดังกล่าววาดโดยเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'ไข่แมว' เพจการ์ตูนล้อเลียนสังคมการเมืองชื่อดัง ที่เพิ่งกลับมาโพสต์ในเพจเครือข่ายอีกครั้งที่ชื่อ 'ไข่แมวx' ภายหลังจากการหายไป ตั้งแต่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยยังไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งก่อนหายไปนั้นมียอดกดถูกใจกว่าสี่แสนราย ขณะที่ สมศักดิ์ เป็นอดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ ณ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผบ.ทบ.ไม่สนรัฐบาลขาลง เพราะมีหน้าที่เพียงดูแลความสงบ เชื่อ พ.ค. นี้ไม่มีความรุนแรง Posted: 19 Feb 2018 12:38 AM PST พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เผยคนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้ง แต่รอเวลาได้ ไม่ต้องการให้เกิดความวุนวายในประเทศ ระบุไม่สนใจเรื่องรัฐบาลขาลงเพราะมีหน้าที่ดูแลความสงบของประเทศเท่านั้น เชื่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ พ.ค. จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก แฟ้มภาพ 19 ก.พ. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่กระจายการชุมนุมไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดว่า ฝ่ายความมั่นคงได้ติดตามความเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งก็สอดคล้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่เข้าใจในเหตุผลความจำเป็นและขั้นตอน จึงยอมที่จะให้ใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ดีกว่าที่จะเผชิญหน้ากันแล้วทำให้สถานการณ์กลับไปสู่วังวนเดิม ขอยืนยันว่า รัฐบาลและ คสช. ก็เข้าใจและต้องการให้มีการเลือกตั้งเช่นกัน การที่กลุ่มนักศึกษาจะกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด จะเป็นการเพิ่มจำนวนคนมาร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่นั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความสงบ และไม่ใช่ว่ารัฐบาลประกาศว่าไม่มีการเลือกตั้ง ทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการ อย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้ง เพียงแต่หากเร่งนำคนออกมาเผชิญหน้ากัน จะกลายเป็นปัญหาบานปลาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็พยายามใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม โดยรองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าให้ดูแลอำนวยความสะดวก ดูแลเรื่องความปลอดภัย หากผิดกฎหมายก็ใช้ดำเนินการตามความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาก็ควบคุมสถานการณ์ได้ "เขาต้องคิดได้ด้วยตัวเอง มองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะถ้าบอกว่าเป็นกลุ่มนักศึกษา ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจและความคิด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา และเวลานี้ผู้แทนพรรคการเมืองก็ออกมาบอกว่าทุกอย่างควรเดินไปตามกลไกกระบวนการที่ถูกต้องมากกว่าการใช้กำลังแล้วเผชิญหน้ากัน นำประเทศกลับไปสู่ความเสียหายเหมือนเดิม เชื่อว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่การยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ไม้แข็ง เพราะรองนายกรัฐมนตรีก็ย้ำให้ดำเนินการตามกฎหมายในกรอบที่เหมาะสม ที่ผ่านมายังไม่มีการกระทบกระทั่งกันเลย" ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว ผู้บัญชาการทหารบก มั่นใจว่า เดือน พ.ค. นี้จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นตามที่มีการคาดการณ์ และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจว่าประเทศไทยผ่านวิกฤติมาแล้ว และอยากให้ทุกอย่างเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ยังเชื่อว่าฝ่ายการเมืองก็เข้าใจเรื่องนี้และต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส่วนที่มีการมองว่าขณะนี้รัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของกองทัพที่มีต่อรัฐบาลหรือไม่นั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ตนไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาขึ้นหรือขาลง เพราะตนมีหน้าที่ดูแลความสงบของบ้านเมืองเพื่อให้รัฐบาลบริหารประเทศไปได้ ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมเลือกเดือน พ.ค. ในการเคลื่อนไหวนั้น ตนมองว่าอาจเป็นการครบวงรอบ 4 ปี จึงมีการจุดประเด็นนี้ขึ้นมา แต่ทางปฏิบัติก็ต้องขึ้นอยู่กับคนส่วนใหญ่ เท่าที่ตนเห็นก็ไม่ได้มีเหตุการณ์วิกฤติใดที่คนต้องออกมาชุมนุม ซึ่งจะถือว่าเป็นความต้องการที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬหรือไม่นั้น ตนตอบไม่ได้ แต่ขอฝากทุกฝ่ายให้นึกถึงผลประโยชน์ของประเทศ คงบังคับใครไม่ได้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคนว่าจะนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติมากน้อยอย่างไร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมช. เผยยังหาท่อน้ำเลี้ยงคนอยากเลือกตั้งอยู่ พร้อมหาความเชื่อมโยง เพื่อไทย-ทักษิณ Posted: 18 Feb 2018 11:54 PM PST เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุ ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งหน่าวยงานความมั่นเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวและความสัมพันธ์ 3 กลุ่ม ทักษิณ-เพื่อไทย-คนอยากเลือกตั้ง เผยฝ่ายความมั่นคงจับตาหาท่อน้ำเลี้ยงอยู่ ส่วนม็อบค้านถ่านหินไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายกำลังรอบพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างที่มีการนัดชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คัดค้านการสืบทอดอำนาจ คสช . เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561/แฟ้มภาพประชาไท 19 ก.พ. 2561 มติชนออนไลน์ และไทยโพสต์ออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งหน่วยงานความมั่นคง จับตาความเคลื่อนไหวของ 3 กลุ่ม คือการปรากฏตัวทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนํามวลชน รวมถึงการชุมนุมของแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า ต้องดูแต่ละส่วนว่ามีความเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ในส่วนของ กลุ่มม็อบคนอยากเลือกตั้ง คิดว่าหากไม่มีใครยุยงสร้างสถานการณ์ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ในส่วนของการขยายผลท่อน้ําเลี้ยงนั้น ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็จับตาดูอยู่ว่ามีความเกี่ยวพันกับใครบ้าง เมื่อถามว่าแกนนํากลุ่มคนอยากเลือกตั้งประกาศจะจัดกิจกรรมยาวจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง พล.อ.วัลลภกล่าว ว่า เป็นแผนการดําเนินการของเขา ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อยู่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้รุนแรง อะไร มีเพียงการเคลื่อนไหวเพื่อทํากิจกรรมเท่านั้น ส่วนจะมีคนมาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ตนมองว่า บางพื้นที่ประชาชนก็ไม่ได้ให้ความสนใจมาก เมื่อถามย้ําว่า มีความเป็นห่วงว่ากลุ่มดังกล่าวจะจุดกระแสติดหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า "ตอนนี้สถานการณ์ ยังมีความเรียบร้อยอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทําหน้าที่ดูแล อีกทั้งติดตามสถานการณ์ในภาพรวม คิดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไรอย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งขาติ (คสช.) ได้เน้นย้ำาว่าต้องดูแลสถานการณ์ให้มีความเรียบร้อยและระมัดระวังอย่าให้มีมือที่สามหรือ ใครมาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงได้ พล.อ.วัลลภ ยังระบุถึง กรณีที่เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ และเตรียมเคลื่อนย้ายไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 ก.พ. ว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องค่อยดูแลอยู่ เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่บานปลาย และคิดว่าคงไม่มีใครเข้าไปยุยง หรือทำให้สถานการณ์บานปลายได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ได้จับตามองอยู่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมชัยเตรียมลาพักร้อน 15 มี.ค. รอ กกต. ชุดใหม่รับตำแหน่ง Posted: 18 Feb 2018 11:04 PM PST สมชัย ศรีสุทธิยากร ระบุ 7 กกต.ใหม่ อาจจะเริ่มงานช่วงเดือนเมษายน เผยเมื่อมีการนำรายชื่อทูลเกล้าฯ กกต.ชุดปัจจุบันจะยุติการพิจารณาเรื่องสำคัญ ส่วนตนเองจะลาพักร้อนหลัง 15 มี.ค. เป็นต้นไป และค่อยเริ่มงานใหม่หลังสงกรานต์ หากนายจ้างคนใหม่รับเข้าทำงาน 19 ก.พ. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติว่าที่ กกต. ของกรรมาธิการใน สนช.จะครบ 60 วัน และเสนอเข้า สนช. เพื่อลงมติวันที่ 22 ก.พ. 2561 หลังจาก สนช.ลงมติแล้ว ผู้ผ่านการลงมติเลือกจาก สนช.ต้องไปลาออกจาก ตำแหน่งงานทุกอย่างที่เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ภายใน 15 วัน และนำหลักฐานมายื่นสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นับไป 15 วัน คือวันที่ 9 มี.ค. 2561 หลังจากนั้น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะนัดหมาย กกต.ใหม่ทั้งหมดมาประชุมร่วมกันเพื่อ ประชุมคัดเลือกผู้เป็นประธาน กกต. ซึ่งคาดว่า น่าจะประชุมได้ ภายใน 14 มี.ค. 2561 สมชัย กล่าวว่า จากนั้น ประธาน สนช. เป็นผู้นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งน่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ ภายใน 15 มี.ค. 2561 ระยะเวลาในกระบวนการโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อลงมา เป็นพระราชอำนาจ ซึ่งไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนได้ เพียงแต่คาดการณ์ได้ว่า หากโปรดเกล้าฯ ลงมาภายใน 15 วัน คือ 1 เมษายน หากลงมาภายใน 30 วัน คือ 15 เมษายน 2561 วันใดที่โปรดเกล้าฯลงมา วันรุ่งขึ้นคือวันที่ กกต.ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่ง "นับแต่วันที่ ประธาน สนช.ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อขึ้นไป กกต.ชุดปัจจุบันต้องเก็บข้าวของให้เรียบร้อย และไม่ควรตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ในทุกกรณี เว้นแต่หากไม่ตัดสินใจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ" สมชัยกล่าว สมชัย กล่าวว่า สำหรับตำแหน่งเลขาธิการ กกต. ที่จะปิดรับสมัครสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผู้ตัดสินใจคัดเลือก และทำสัญญาจ้าง คือ กกต.ชุดใหม่ระเบียบและการกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม น่าจะให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา และการรับสมัครและคัดเลือก ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วงการเลือกตั้งประมาณ 4 เดือน และพร้อมทำงานในทุกจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นหน้าที่ กกต.ชุดใหม่ ที่จะเป็นคนคัดคนที่ไว้วางใจได้ด้วยตนเอง "ส่วนผม สั่งเจ้าหน้าที่ทยอยเก็บของให้เสร็จภายใน 15 มีนาคม และ ทำเรื่องพักร้อนหลัง 15 มีนาคม แล้ว หลังจากนั้นค่อยเริ่มงานใหม่หลังสงกรานต์ หากนายจ้างใหม่เขารับ"สมชัย กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วงเสวนาชี้ ขั้นตอน EIA มีปัญหา รณรงค์สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนแยกการเมืองไม่ได้ Posted: 18 Feb 2018 10:52 PM PST วงถกเรื่องสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมระบุ คำสั่งหัวหน้า คสช. งดเว้นทำ EIA หวั่นรัฐบาลฮั้วเจ้าของโครงการ EIA ทำอย่างไรก็ผ่านเพราะเจ้าของโครงการจ้างทำ โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้กระทบทั้งประเทศ การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมแยกกับการเมืองไม่ออก ปฏิบัติการของ จนท. ไปคาดโทษชาวบ้าน กองทุนยุติธรรมเข้าถึงยาก คสช. ไม่อดทนกับการตั้งคำถาม ซ้ายไปขวา: ปกรณ์ อารีกุล ประสิทธิชัย หนูนวล พนัส ทัศนียานนท์ อังคณา นีละไพจิตร จักรพล ผลละออ เมื่อ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาหัวข้อ 'อนาคตสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนไทยใต้เงา คสช.' จัดขึ้นโดยวิชาระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ร่วมกับพรรตใต้เตียง มธ. และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) มีปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อังคณา นีละไพจิตร จากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยจักรพล ผลละออ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ติง ใส่คำสั่งหัวหน้า คสช. งดเว้นทำ EIA ใน พ.ร.บ. หวั่นรัฐบาลฮั้วเจ้าของโครงการพนัสกล่าวว่า สิทธิชุมชนได้รับการยอมรับมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้รับรองสิทธิชุมชนอย่างชัดเจนและขยายขอบเขตกว้างขวางกว่าฉบับ 2540 ในมาตรา 66 นอกจากสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ยังได้รับรองสิทธิชุมชนทุกประเภท ที่สำคัญคือไม่มีการกำหนดบทบาทของรัฐว่า 'ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ' คือไม่มีช่องให้ไม่คุ้มครองสิทธิชุมชนไม่ทำหากไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สิทธิชุมชนได้รับการยอมรับในมาตรา 43 ส่วนที่เกี่ยวกับวงเล็บ 1 และ 2 เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งมีใน 2550 นอกเหนือจากนั้นยังมีการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเข้าชื่อ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ และจัดให้มีระบบสวัสดิการชุมชน แต่มีข้อสังเกตว่า สิ่งที่หายไปก็คือสิทธิชุมชนในการฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ในส่วนที่ 4 เรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเห็นได้ว่าสอดคล้องกันระหว่างสิทธิกับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่น่าจะก้าวหน้าไปอีกขั้น เพราะมีการกำหนดหน้าที่ของรัฐด้วย แต่ก็มีข้อสังเกตในเรื่องการประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA, EHIA) แต่ในมาตรา 57 ที่ระบุว่าหน้าที่การประเมินผลกระทบว่าโครงการจะมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ในเบื้องต้นคงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าของโครงการ อันนี้เชื่อว่าต่อไปจะเป็นประเด็นที่จะมีการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้น และคงจะฟ้องต่อศาลปกครองถ้าหากยังไม่มีการตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ส่วนในมาตรา 72 ว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐ ให้รัฐพึงดำเนินการประการต่างๆ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้อบังคับ เพราะใช้คำว่า "พึง" คือไม่ทำก็ได้ พนัสกล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 ที่ไปแก้ไข พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม) แสดงให้เห็นชัดว่า คสช. เอง คิดว่ากฎหมายว่าด้วยเรื่อง EIA เป็นอุปสรรคในการริเริ่มโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลต้องรีบเร่งทำเพื่อปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็มีภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนก็ไม่เห็นด้วย เพราะหวั่นเกรงว่าจะมีการประนีประนอมกันระหว่างรัฐบาลกับเจ้าของโครงการ "ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดําเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่งการชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้" (เนื้อความในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2559) อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์กล่าวว่า พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ได้รับการบัญญัติหลัง NGO โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผู้เริ่มนำเสนอว่าควรมีการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งประจวบเหมาะกับปี 2535 สมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เลยมีการแก้ไขกฎหมาย ยกร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมในปี 2535 ใช้มาจนถึงปัจจุบัน และมีปัญหาในการบังคับใช้มากทีเดียว ในประเด็นเรื่องการใช้สิทธิชุมชน ในอดีตไม่มีกฎหมายฉบับใดที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าไปบริหารกิจการบ้านเมือง เพิ่งมาเกิดในปี 2530 กว่าๆ และเป็นกระแสต่อเนื่องจนมาเป็นกฎหมาย แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะประกันสิทธิชุมชนมากขึ้นกว่าเดิมถ้าดูตามตัวหนังสือ แต่โดยสาระจริงๆ จะขึ้นจริงหรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ต้องถกกันต่อไป EIA ทำอย่างไรก็ผ่าน เพราะเจ้าของโครงการจ้างทำ อัด สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะเทือนปากท้อง สุขภาพ เศรษฐกิจทั้งประเทศประสิทธิชัยกล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตนคิดว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องคนไปทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวกับการจัดสรรโครงสร้างอำนาจและกลุ่มทุนในยุค คสช. กลายเป็นกติกาและพลังอำนาจที่จะไปจัดการสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าเป็นแค่หนึ่งในตัวขับเท่านั้น สิ่งที่เป็นปัญหามากระหว่างการต่อสู้ของประชานเรื่องของ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม 2535 คือเรื่อง EIA ที่เป็นข้อขัดแย้งทั่วประเทศ ทำที่ไหนก็ตีกันที่นั่น เพราะขั้นตอนและข้อกำหนดทุกอย่างเป็นปัญหา เจ้าของโครงการจ้างบริษัทมาทำ EIA ให้ แล้วจ่ายเงินตอบแทนเป็นงวด EIA ในไทยจึงไม่มีฉบับไหนที่ไม่ผ่าน เปรียบเทียบเหมือนทำการบ้านส่งครู และผู้ที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ชำนาญการในการทำรายงานดังกล่าวกลับไม่รู้จักบริบท รายละเอียดต่างๆ ในพื้นที่ มันก็ผ่านทุกฉบับ การพูดเรื่องพลังงานอ้างอิงข้อมูลในปี 2542 ในรายงานราคาพลังงานหมุนเวียนแพงมาก แต่ข้อมูลล่าสุดในรอบห้าปีไม่ได้ถูกอ้างอิง ถ้าสมมติว่าเราแก้ พ.ร.บ. ปี 2535 ให้ผู้ที่ทำรายงานต้องเป็นคนกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับผู้รับจ้าง ก็อาจมีส่วนให้ข้อเท็จจริงปรากฏ ความเลวร้ายมีมากขึ้นในยุค คำสั่งหัวหน้า คสช. 4/2559 ที่ยกเลิกการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท กระบี่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้หากอิงตามกฎหมายผังเมือง เพราะเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลนี้ก็ให้มีการยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองในกิจการพลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงสร้างได้ นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ไปแก้กฎหมายพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ให้สร้างโรงไฟฟ้าได้ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประการถัดมา เวลาทำรายงานสิ่งแวดล้อมจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ในเวทีรับฟังความเห็นที่เทพากับกระบี่มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารนับพัน อาวุธครบมือ ที่เทพามีทั้งลวดหนามและรถถัง ส่วนที่กระบี่ต้องไปตากแดด 3-4 ชั่วโมง เพราะเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ ถูกตรวจอาวุธ กระบวนการมีส่วนร่วมในยุคนี้จึงไม่มีอยู่จริง พอเกิดภาวะแบบนี้ก็ทำให้กระบวนการตามกฎหมายที่จะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าผ่านได้ง่ายขึ้น ประสิทธิชัยกล่าวต่อไปว่า เดิม พ.ร.บ. 2535 ว่าด้วยการจัดทำรายงาน EIA มันก็ผ่านง่ายอยู่แล้ว พวกตนเคยไปล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุที่ว่าบริษัทไม่มีความชอบธรรม เพราะในกฎหมายเขียนว่าจะต้องให้เวลาประชาชนเท่าไหร่ บริษัทต้องชี้แจงเท่าไหร่ และมันไม่เป็นไปตามกติกา ก็เลยไปล้มเวที เหลือผู้สนับสนุนโครงการเพียง 10-20 คน เราก็นึกว่าจะไม่ผ่านเพราะกระบวนการมีส่วนร่วมไม่ครบ แต่ปรากฏว่าผ่าน เลยไม่รู้ว่ามีมาตรฐานอะไรในการจัดทำ EIA สิทธิของเราถูกทำลายลงจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบวนการมันก้าวหน้าจนจะนำไปสู่การก่อสร้างแล้ว แม้หลายวันก่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่าจะเลื่อนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไป 3 ปี แต่ในระหว่างที่เลื่อน กฟผ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการสามารถดำเนินการจัดทำ EIA ได้ มันก็เท่ากับไม่เลื่อน เพราะในกรณีของ จ. กระบี่ต้องใช้เวลาทำ EIA สามปีอยู่แล้ว ของเทพา EIA เสร็จไปแล้วสองฉบับ การเลื่อนไม่มีนัยอะไรเลย เหมือนกับบอกชาวบ้านว่าให้หยุดชุมนุมได้แล้ว เพราะเราเลื่อนแล้ว แต่ก็ปล่อยให้ กฟผ. ดำเนินการต่อ เหมือนมัดมือคนหนึ่งแล้วปล่อยมืออีกคนหนึ่งให้ชกอยู่ฝ่ายเดียว และถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นจริง ชาวบ้านราว 1,000 คนในพื้นที่เทพาที่เป็นชุมชนมุสลิมจะถูกย้ายไปที่ไหนไม่รู้ สำหรับกระบี่ ถ้าเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ กระบี่ตั้งอยู่พื้นที่ทะเลอันดามันที่กระแสน้ำและกระแสลมเชื่อมกันหมดตั้งแต่สตูลถึงระนอง เวลาขนถ่านหินจากอินโดนีเซียจะมาทาง จ.ตรัง แล้วถ้าเรือล่ม กระแสลมและคลื่นจะพามาถึงอ่าวพังงา ก็หายนะกันหมด กระบี่ พังงา ภูเก็ต สามจังหวัดนี้ทำรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศได้ปีละ 5 แสนล้านบาท ก่อเกิดการจ้างงานแสนตำแหน่ง รัฐบาลนี้มีปัญญาทำรายได้ 5 แสนล้านจากไหนแบบที่ไม่ต้องลงทุนอะไร เพราะการท่องเที่ยวมันมาจากธรรมชาติ เพียงแค่รักษาธรรมชาติไว้ก็จะสามารถสร้างรายได้และการจ้างงานจำนวนมหาศาล ถ้าเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในกระบี่ อันดามันทั้งอันดามันจะได้รับผลกระทบ พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติในอันดามันที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญจำนวน 1.5 ล้านไร่ ไล่มาตั้งแต่ตรังจนถึงระนอง ถ้าแหล่งชุ่มน้ำตรงนี้ปนเปื้อนเมื่อไหร่ ระบบอาหารเจ๊งทันที ผู้บริโภคอาหารทะเลจากภาคใต้ อันดามันและอ่าวไทย ถ้าอ่าวไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา ส่วนอันดามันมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ผู้บริโภคจะได้รับอาหารทะเลที่ปนเปื้อนสารพิษ ได้รับผลกระทบทั่วถึงกันไปหมดจากการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ พี่น้องจึงได้มาประท้วงกันที่กรุงเทพฯ หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงอดอาหาร เพราะว่าพี่น้องที่ภาคใต้ลองมาทุกวิธีแล้วก็ยังไม่ได้ผล หนังสือกองที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นร้อยฉบับแล้ว เลยใช้วิธีเอาความยากลำบากของชีวิตไปแลกกัน แมน NDM ระบุ เคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมแยกกับการเมืองไม่ออก คนรุ่นใหม่ยังติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมปกรณ์กล่าวว่า เราน่าจะต้องคุยกันอย่างตรงไปตรงมาว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนคือเรื่องการเมือง ถ้าเข้าใจแบบนี้แล้ว เวลาที่มันเกิดโครงการใดๆ ไม่ว่าจะเกิดในท้องที่เราหรือท้องที่ของคนอื่น ที่ถูกจัดสรรด้วยระบบกรเมืองที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็จะรู้สึกว่ามันสร้างไม่ได้ บางทีสุ้มเสียงการพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม เหมือนจะอยู่ในโทนที่พยายามไม่โยงกับเรื่องการเมือง ทั้งๆ ที่เวลาเกิดการยกเลิกผังเมือง แปรสภาพพื้นที่ ล้วนเกิดจากมาตรา 44 และล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าจะหยุดเขื่อนแม่วงก์ก็ต้องหยุด ม.44 ด้วย ตนเคยคุยกับประสิทธิชัย หนูนวลว่า ถ้าเขื่อนแม่วงก์ถูกสร้าง แล้วสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้จริง แม้จะเสียพื้นที่ป่าบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ได้ผลประโยชน์ คนส่วนน้อยได้รับการเยียวยาที่พวกเขาพึงพอใจและสุดท้ายเขาเลือกแบบนั้น NGO ก็ไม่ต้องได้ค้านอะไร แต่ในเมื่อเงื่อนไขแบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้น กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้การดำเนินการของรัฐเป็นไปอย่างเป็นธรรมยังมีปัญหา ก็ต้องมีคนแบบพวกเราอยู่ร่ำไป เราไม่มีทางหยุดโครงการพัฒนาของรัฐบาลชุดนี้ได้ถ้าเราไม่พูดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลายครั้งคนที่เราถูกทำให้การเมืองเป็นเรื่องสกปรก นักการเมืองเป็นคนเลว คนโกง ทำให้การเมืองมันไกลกับชีวิต แต่ก็มีคนรุ่นใหม่หลายกลุ่มเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม การออกค่ายอาสาไปที่ห่างไกล เป็นเพราะโครงสร้างทางการเมืองที่ชนชั้นนำบางกลุ่มผูกขาด เราจึงเข้าใจว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องการเมือง มันอาจมีการสื่อสารทางยุทธวิธีบ้างว่า การมาเรียกร้องครั้งนี้เป็นเรื่องการเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การเมือง คำพูดแบบนี้ก็เป็นการสื่อสารทางการเมือง นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) กล่าวว่า ตนไปอยู่ในลิสต์การติดตามของ คสช. และโดนเรียกปรับทัศนคติครั้งแรกมากจากการรณรงค์เรื่องสิทธิชุมชนกรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า จากนั้นจึงนำเสนอสไลด์ภาพการทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มต่างๆ เพื่อรณรงค์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนในช่วงรัฐบาลเลือกตั้งที่ปกรณ์เองก็มีส่วนร่วม พบว่าไม่มีทหาร ไม่มีเจ้าหน้าที่สันติบาลไปนั่งเฝ้า หลังรัฐประหารปี 2557 การอ้างสิทธิการชุมนุม การแสดงความเห็นนั้นไม่สามารถทำได้ ในปี 2557 การชุมนุมนิสิต ม.เกษตรเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ทำไม่ได้ กลุ่มดาวดินเคลื่อนไหว ชูป้าย เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก คัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียม ก็ทำไม่ได้ การเคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อมในปี 58-59 ทำไม่ได้เลย แต่ในปี 60-61 พอจะทำได้บ้าง การถูกจับดำเนินคดีน้อยลง อนาคตการเคลื่อนไหว เป็นที่ทราบกันดีว่าจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 และ 74/2559 ว่าด้วยการหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นคำสั่งที่เปลี่ยนที่ดินป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวรเป็นที่ดินรองรับการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ป่าจำนวน 4 พันไร่ที่ อ.แม่สอด เปลี่ยนสถานะภายในคืนเดียว ชุมชนที่อาศัยกับป่าก็โดนให้ย้ายออก โครงการเหล่านี้ ถ้าดำเนินต่อไป คนรุ่นใหม่ที่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมเขาก็จะสู้ ถ้าคิดว่าเลือกตั้งแล้วจะมีอะไรที่ดีกว่านี้เขาก็จะเลือกตั้ง เขาก็อยากเห็นการเลือกตั้งก่อน เพราะว่าถ้ามีการเลือกตั้งเร็วแล้วเรื่องเหล่านี้มันแก้ไขได้มันก็เกี่ยวกัน กรณีที่เจ้าหน้าที่พบเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรพร้อมซากเสือดำก็มีคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงความไม่พอใจมาก แถลงการณ์จากกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรณีเสือดำก็มีความก้าวหน้า คือไม่ได้สรุปว่าเปรมชัยผิด แต่ให้เข้ารับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมในบรรทัดฐานเดียวกันกับที่คนยากคนจนโดน ซึ่งตนคิดว่าคนรุ่นใหม่มีท่าทีของความเข้าใจและติดตามข่าวสาร ส่วนตัวไม่คิดว่าเปรมชัยจะติดคุก ถ้าเปรมชัยติดคุกภายในปี 61 ตนจะบวชให้ คสช. 7 วัน 'อังคณา' ระบุ ปฏิบัติการของ จนท. คาดโทษชาวบ้าน ข้อบังคับกองทุนยุติธรรมทำให้ได้เงินประกันยาก คสช. ไม่อดทนกับการตั้งคำถามอังคณากล่าวว่า กสม. ไม่ได้ผูกพันอยู่กับกฎหมายในประเทศอย่างเดียว แต่ยังผูกพันกับข้ออนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้สัตยาบรรณไว้ ให้มาทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ พร้อมทั้งทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ส่วนตัวเชื่อว่าความเป็นพลเมืองไม่สามารถแยกกับการเมือง และสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐได้ ทั้งยังไม่สามารถแยกกับการขับเคลื่อนทางการเมืองได้เลย รัฐธรรมนูญ 2560 มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการกำหนดหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายคือ สิทธิชุมชนท้องถิ่น กับสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหายไป เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ทาง กสม. ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการบรรจุอะไรเพิ่มเติม ในส่วน กสม. ในช่วง 2 ปีเศษๆ ที่ตนปฏิบัติหน้าที่ จำนวนเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือเรื่องสิทธิชุมชน ผลกระทบของโรงกำจัดขยะ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โรงไฟฟ้า เหมือง เป็นต้น ชาวบ้านบางทีไม่รู้ว่า EIA, EHIA คืออะไร แต่จะรู้สึกว่ามีผลกระทบอย่างไรกับชุมชนผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นน้ำในลำห้วยที่เคยใช้อาบ ดื่ม ก็ใช้ไม่ได้ ผัก หญ้า สัตว์ที่หาได้จากริมน้ำก็หาไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้าน ช่วงปีที่ผ่านมา กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชนหลายเรื่อง นโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นกรณีตัวอย่างที่ กสม. ได้ทำการตรวจสอบ ในตัวคำสั่งไม่ได้บอกผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งต้องแยกแยะประเภทป่าอย่างไร เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้ในการใช้ดุลพินิจให้เป็นคุณ คำสั่งนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม กล่าวโทษราษฎรในความผิดอาญาด้วย ทำให้ประชาชนที่เคยอาศัยในพื้นที่ป่าได้รับความเดือดร้อนมาก การออกคำสั่งที่ไม่มีความยืดหยุ่น และส่งผลกระทบต่อราษฎร ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับประชาชน ทำให้เห็นว่าการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตมายาวนานกลายเป็นคนผิด อย่างในกรณีสุภาพ คำแหล้ เป็นต้น ในวันที่ได้รับอิสรภาพของสุภาพ คำแหล้ สตรีนักสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ศาลฏีกาสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา ภรรยาเด่น คำแหล้ คดีรุกที่ป่าสงวน เปิดบ้าน 'เด่น-สุภาพ คำแหล้' หลังฎีกาจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีรุกที่ป่าสงวน อังคณาระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่กังวลคือบางทีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งเป็นทหาร วิธีการที่ใช้ก็ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ปราบก่อน จับก่อน แล้วมาพิสูจน์ทีหลัง ประชาชนจำนวนมากจึงต้องรับภาระในการพิสูจน์ ซึ่งตามหลักการควรมีหลักในการคุ้มครองก่อนจะฟ้องร้อง ดำเนินคดี รัฐบาลควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ การดำเนินการของรัฐ สามารถโต้แย้ง คัดค้านกระบวนการจัดการของรัฐ มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ และเน้นย้ำให้รัฐบาลสร้างหลักประกันว่า การไล่รื้อจะเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ส่วนตัวอังคณาดีใจที่รัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ผิดหวังที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิทุกด้านของประชาชน เพราะรัฐบาลเน้นย้ำเรื่องธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลบอกจะนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติที่ว่า ธุรกิจทุกชนิดต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จะต้องมีหลักการในการเคารพ คุ้มครอง ถ้ามีการละเมิดต้องมีการเยียวยา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงยังคงเป็นคนละเรื่อง โครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือบริษัททุนขนาดใหญ่มีการฟ้องร้องคนในชุมชนไม่ใช่น้อย เพื่อที่จะทำให้ประชาชนไม่กล้าคัดค้าน หรือที่เรียกว่าการฟ้องเพื่อปิดปาก ชาวบ้านหลายคนโดยเฉพาะผู้หญิงโดนกันคนละ 6-7 คดี ซึ่งชาวบ้านมีข้อจำกัดในเรื่องการหาเงินมาประกันตัวเวลาถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ตนเคยคุยกับผู้หญิงอายุ 77 ปีจากภาคอีสานที่มาร้องเรียนว่า โดนข้อหาชุมนุมสาธารณะเพราะไปคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล กองทุนยุติธรรมบอกว่าให้เงินประกันตัวไม่ได้เพราะว่าเธอมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง แต่เธอบอกว่า ถ้าไม่มีที่ดินก็ไม่มีหลักทรัพย์เหลืออยู่แล้ว ทั้งยังมีลูกชายที่เป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย จึงอยากจะเก็บที่ดินเอาไว้เผื่อว่าจำเป็นจะต้องใช้เงิน ถ้าเอาเงินไปประกันตัวก็จะไม่มีหลักทรัพย์ที่จะใช้ อังคณายังระบุว่า เคยตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในเรื่องการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมและพบระเบียบที่เขียนว่า อนุญาตให้คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรม ให้อนุกรรมการผู้ได้รับมอบหมายใช้ดุลยพินิจพิจารณาคนที่มาขอเงินจากกองทุนฯ ว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ว่าทุกคนต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาล ระเบียบเช่นว่าจึงอาจเป็นอุปสรรคของชาวบ้านในการที่จะเข้าถึงเงินประกันตัว กองทุนยุติธรรมจึงยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง มีข้อบังคับบางอย่างที่ควรยกเลิกเพื่อให้คนเข้าถึงทรัพยากรจากกองทุนยุติธรรมได้มากขึ้น ผู้แทนจาก กสม. คิดว่าถ้ารัฐบาลนี้มีความจริงใจ ก็ควรชะลอโครงการขนาดใหญ่เอาไว้จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนสามรรถใช้สิทธิ เสรีภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ รัฐบาลต้องไม่ยอมที่จะให้ประชาชนถูกกลั่นแกล้งจากการฟ้องร้อง ดำเนินคดีจากบริษัทหรือทุนใหญ่ ในช่วงเวลานี้ ปัญหาสำคัญคือ แม้รัฐบาลจะเชื่อมั่นว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาล คสช. ไม่มีคือ รัฐบาลทหารไม่มีความอดทนที่จะถูกท้าทาย ถูกตรวจสอบโดยประชาชน ในเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนแล้ว ทุกฝ่ายก็จำเป็นต้องเคารพรัฐธรรมนูญ และควรอดทนกับการตั้งคำถามของประชาชน เหมือนกรณีเทพา ที่ชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือกับนายกฯ แต่นายกฯ ก็บอกให้ไปยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรม ทั้งที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิโดยตรงด้วยการชุมนุมหรือขอเข้าพบผู้นำรัฐ บางครั้งการไปนั่งคุยมันเป็นลักษณะการเสวนาโต้ตอบ ถ้าผู้นำไม่เข้าใจก็สามารถถามชาวบ้านกลับไป หรืออะไรที่ชาวบ้านไม่รู้ก็จะได้รับทราบกัน ไม่เหมือนการส่งจดหมายที่ล่าช้า และไม่ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีได้เลย อังคณาขอให้รัฐบาลรักษาสัญญาให้ไว้กับประชาชน รีบให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว คำสั่ง คสช. ต่างๆ ที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ต้องปรับปรุง รัฐต้องไม่มองว่าคนที่เห็นต่างกับรัฐเป็นศัตรู เพราะเราต้องอยู่ด้วยกัน และตรวจสอบด้วยกัน เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วภายใต้ภาวะไม่ปรกติ ที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เสรีภาพที่พึงมี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยื่นหนังสือค้านโรงงานน้ำตาล ต่อ รมช.กระทรวงเกษตรฯ Posted: 18 Feb 2018 10:03 PM PST กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย รุดยื่นหนังสือค้านโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ต่อรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุการมีโรงงาน และโรงไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2561 ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์อนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เข้ายืนหนังสือต่อ วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ลงพื้นที่พบปะรับฟังปัญหาพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ โดยได้มีการยืนหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน โรงไฟฟ้าชีวมวลขนขนาด 61 เมกะวัตต์ ที่มีแผนโครงการจะสร้างขึ้นที่บ้านน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นรอยต่อกับตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งพื้นที่ตั้งนั้นอยู่ใกล้ชุมชนและนำล้ำเซบาย และจะมีกระบวนการแย่งชิงน้ำลำเซบายจากการอุปโภคและบริโภค มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นขัดกับหลักจังหวัดยโสธรที่ได้กำหนดตำแหน่งการพัฒนา (Positioning) เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์และได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งให้จังหวัดยโสธรเป็นเมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล มาอย่างต่อเนื่อง โดยพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรเพาะปลูกมากขึ้น และเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดเป็นจำนวนมาก คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยจังหวัดยโสธรมีกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งรวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน ปัจจุบันจังหวัดยโสธรมีพื้นที่ที่ ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์จำนวน 46,626 ไร่ อยู่ในพื้นที่อำเภอกุดชุม มหาชนะชัย ค้อวัง ป่าติ้ว ทรายมูล ไทยเจริญ และ เลิงนกทา และมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่มีศักยภาพเข้มแข็งและได้รับการรองรับมาตรฐานสากล จำนวน 10 กลุ่ม สมาชิก 3,000 ราย จังหวัดยโสธรจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธรสู่สากล เพื่อมุ่งขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้ได้ 100,000 ไร่ ภายในปี 2561 มะลิจิตร กล่าวต่อว่า การดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธรดำเนินการในรูปแบบประชารัฐมีการบูรณาการร่วมกันจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และองค์กรเกษตรกร ซึ่งมีเครือข่ายกลุ่มเกษตรอินทรีย์จังหวัดยโสธรที่เข้มแข็ง ช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ จากผลการดำเนินงานส่งเสริมข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์หลักทั้ง 10 กลุ่ม ประมาณ 3,000 ราย มีความสุข ความพึงพอใจในหลายด้าน เช่น มีรายได้เพิ่มขึ้น สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ความต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูข้าวมากขึ้น ตลาดผู้บริโภคให้การยอมรับ ผลผลิตไม่มีความแตกต่างจากผลิตข้าวเคมีมากนัก แต่สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศดีขึ้นตามธรรมชาติ นวพร เนินทราย เลขากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกล่าวว่า ทางกลุ่มได้ติดตามกระบวนการต่างๆ ขอโครงการมาโดยตลอด ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ไม่ถูกต้อง ในขณะที่ชาวบ้านทุกคนตระหนักดีว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขาดน้ำชาวบ้านอยู่ไม่ได้ และทรัพยากรน้ำก็มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของประชาชนตลอดสายน้ำลำเซบาย เช่น กรณีในเขตตำบลเชียงเพ็ง มีการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง การประปาตลอดทั้งปี หรืออาชีพอื่นๆ ของคนในชุมชน และผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นก็ทราบดีมาโดยตลอดในปัญหาน้ำไม่เพียงพอ หากชาวบ้านเห็นชอบจึงมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับ เป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การที่ชาวบ้านมายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันนี้ ก็เพื่ออยากสื่อสารให้รัฐมนตรีได้รับรู้ว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเป็นอีกพื้นที่ในการชูเรื่องเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ และชาวบ้านจะปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อไม่อยากให้โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งผมมองว่าการที่ชาวบ้านพยายามรวมกลุ่มเพื่ออยากจะสื่อสารถึงสารธารณะว่าการคัดค้านโรงงานเรามองว่ากระบวนการทำ EIA ไม่เป็นธรรม ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น ทั้งนี้การชุมชนมีความกังวลการใช้น้ำจากลำเซบาย มีการใช้น้ำแหล่งเดียวกับชาวบ้าน ซึ่งปริมาณน้ำลำเซบายไม่เพียงพอต่อกิจกรรมของชาวบ้าน และสถานการณ์น้ำไม่แน่นอนในแต่ละปี ขาดรายละเอียดการใช้น้ำของชุมชนโดยรอบ ทำให้ชาวบ้านตระหนักดีว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ขาดน้ำชาวบ้านอยู่ไม่ได้ และทรัพยากรน้ำก็มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของประชาชนตลอดสายน้ำลำเซบาย เช่น กรณีในเขตตำบลเชียงเพ็ง มีการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง การประปาตลอดทั้งปี หรืออาชีพอื่นๆ ของคนในชุมชน และผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นก็ทราบดีมาโดยตลอดในปัญหาน้ำไม่เพียงพอ และเกิดการบริหารจัดการน้ำร่วมกันมาโดยที่เป็นลายลักษณ์อักษรคือ บันทึกข้อตกลงร่วมกันในบริหารจัดการน้ำภาครัฐและประชาชนในท้องที่เพื่อการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งการแก้ปัญหาใดๆ เรื่องน้ำในอนาคต ควรมีการรับฟังและมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนพื้นที่นั้นๆ ให้ร่วมตัดสินใจด้วย เพราะการดำเนินการก่อสร้าง/ดำเนินการเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางระบบนิเวศตลอดสายน้ำ ต้องมีการมีการมีส่วนร่วมตัดสินใจจากประชาชนพื้นที่ก่อนเสนอโครงการ หากชาวบ้านเห็นชอบจึงมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับ เป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไป โครงการอุตสาหกรรมประเภทนี้มีการใช้น้ำในปริมาณมากต่อวัน และต้องมีบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ในโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด นี้ก็เช่นเดียวกัน แม้โครงการจะมีมาตรการเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำของโรงงานอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่มาตรการป้องกันปัญหาให้ชุมชนแต่อย่างไร กลับเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้น้ำรายใหม่(ใช้น้ำปริมาณมาก) กลับเป็นการเพิ่มปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่าการขอใช้น้ำของโครงการฯนี้ จะไม่เกิดผลกระทบตามต่อชาวบ้าน สมมุติหากโครงการโรงงานอุตสาหกรรมได้ตั้งในอนาคต ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมมีน้ำใช้เพียงพอ แต่ชาวบ้านโดยรอบมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ยังจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีร่าง พรบ.น้ำ ฉบับปี 2560 ที่มีการกำหนดระเบียบการใช้น้ำ ให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ผันน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะสำหรับใช้ในกิจการโรงงานอุตสาหกรรมได้ ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และเป็นการตีค่าทรัพยากรน้ำให้ด้อยคุณค่าเหลือเพียงปัจจัยการผลิตในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น สิริศักดิ์ ทิ้งทายว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเล็งเห็นว่า "น้ำคือชีวิต" น้ำเป็นปัจจัยต้นทุนของวิถีชีวิต อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่พึ่งพิงลำน้ำแห่งนี้ดำรงชีพทำมาหากิน และลำเซบายเปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงทุกคนในชุมชนตลอดสายน้ำ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย ต.เชียงเพ็ง จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการอนุญาตให้ใช้น้ำ/ผันน้ำ/สูบน้ำ จากลำเซบาย แก่ โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด เพราะส่งผลกระทบต่อวงจรการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ตลอดจนระบบนิเวศแวดทางสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านไม่ยินยอมให้โรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นใช้น้ำจากลำเซบายโดยเด็ดขาด และคัดค้านที่จะมีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ก้าวที่ 800,001 ตั้งพรรคภาค ปชช.-ทำความสะอาดรัฐธรรมนูญ-สร้างความเท่าเทียม Posted: 18 Feb 2018 10:01 PM PST We Walk ตั้งวงคุยปิดท้ายการเดิน ชี้ประสบความสำเร็จเกินคาดเพราะประชาชนกำลังอึดอัดกับรัฐบาลเผด็จการและสามารถรวมประเด็นสำคัญให้เห็นภาพรวม ก้าวต่อไปคือสร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชน ทำความสะอาดรัฐธรรมนูญ ล้างความสกปรกที่ คสช. ทำไว้ และลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ในที่สุดการเดินเท้า 800,000 ก้าวของ We Walk หรือเดินมิตรภาพก็จบลงไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา แม้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะไม่ยอมให้ใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรม ทว่า ในที่สุดกลุ่ม We Walk ก็ได้ใช้พื้นที่ของวัดป่าอดุลยาราม ในตัวเมืองขอนแก่นเป็นที่จัดกิจกรรมปิดท้ายแทน นอกจากนิทรรศการบอกเล่าสถานการณ์ของประชาชนในแต่ละภูมิภาคที่ต้องเผชิญปัญหาจากการลงทุนของเอกชน กฎหมายและนโยบายรัฐ การบายศรีสู่ขวัญแล้ว ยังมีเรื่องราวการเดินเท้าตลอดเส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่นกว่า 400 กิโลเมตร ช่วงบ่ายมีวงเสวนาปิดท้ายในหัวข้อ 'รัฐธรรมนูญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนบนถนนประชาธิปไตย' หนึ่งในผู้เสวนาคือจอน อึ๊งภากรณ์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เขากล่าวว่า การเดินครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดหมาย ยิ่งผู้มีอำนาจพยายามกลั่นแกล้งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากเท่านั้น จอนสะท้อนประเด็นความสำเร็จออกมา 3 ประเด็นคือ 1.เป็นกิจกรรมที่แสดงว่าองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานคนละด้านมีความสามัคคีและสามารถทำงานร่วมกันได้ "เมื่อมารวมกันแล้ว มันกลายเป็นนโยบายแห่งชาติที่สำคัญมาก ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอเลย ไม่ว่ารัฐสวัสดิการ ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่กลั่นกรองมาจากความทุกข์ของประชาชนทั่วประเทศที่เคยเสนอมาแล้ว แต่ครั้งนี้เห็นเป็นภาพรวม" 2.คนที่เคยมีความคิดเห็นต่างกันสามารถมาร่วมกันได้ จุดยืนได้ถูกปรับจูนเป็นจุดยืนเดียวกัน 3.ได้หาหนทางฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน แม้ว่าจะโดนปิดกั้นทุกทาง แต่ก็ยังสามารถเดินมาถึงที่หมายจนได้ นี่คือความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม จอนแสดงความเห็นว่าสิ่งที่ท้าทายคือการทำให้เครือข่ายภาคประชาชนมีความเข้มแข็งกว่านี้ ทุกเครือข่ายที่มาเดินร่วมกันต้องวางแผนขยายและสร้างความเข้มแข็ง เป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะเป็นฐานของการมีส่วนร่วมมากขึ้น "ปัญหาของไทยคือเราไม่มีพรรคการเมืองภาคประชาชน ในขณะนี้ พรรคการเมืองไม่ได้จากประชาชน แต่ผมคิดว่าพรรคการเมืองภาคประชาชนสามารถเกิดจากเครือข่ายประชาชนได้ เราต้องมีส่วนร่วมมากขึ้นในระบบพรรคการเมือง ที่ผ่านมาเสนอกฎหมายกี่ครั้งไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีตัวแทนภาคประชาชนที่แท้จริง" จอนให้ความหวังว่า อย่าเพิ่งท้อแท้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ภาคประชาชนต้องสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ผลักดัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน สร้างความเป็นปึกแผ่น สร้างโอกาสเกิดพรรคการเมืองภาคประชาชนในอนาคต "ประเด็นคือแล้วรัฐธรรมนูญจะทำยังไง ตอน คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ยึดอำนาจ ตอนนี้สี่ปีแล้ว สร้างมลภาวะทั่วประเทศ คือทำให้ทุกสิ่งอย่างสกปรก โดยเฉพาะระบบยุติธรรม ใช้ ม.44 เอาสมุนตัวเองไปเป็นสภาปลอม ทั้งหมดนี้สร้างมลภาวะต่อระบบยุติธรรม เราต้องรอทำความสะอาดในภายหลัง รัฐธรรมนูญเขียนอะไร แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นตรงกันข้าม เช่นอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่พอประชาชนจะออกไปเดินตามถนนก็ถูกห้ามปราม ผมมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญนี้อยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ไม่ถึงยี่สิบปี แต่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม" ด้านเดชรัต สุขกำเนิด จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เห็นว่าความสำเร็จของ We Walk ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกิจกรรมนี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เป็นความอึดอัดของผู้คนที่แม้ว่ามีรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ก็เหมือนไม่มี รัฐบาลจะออกคำสั่งอะไรก็ออก ประชาชนจะเดินก็จับด้วยคำสั่ง 3/2558 เหมือนไม่มีกฎหมาย "แต่ We Walk ก็แหวกออกมาได้ ออกมาสู่สิทธิเสรีภาพของประชาชนจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง และต้องขยายไปสู่กรณีอื่นๆ อย่างเอ็มบีเค 39 ราชดำเนิน เราต้องสื่อสารว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดำเนินไปอย่างสงบสันติ ปราศจากอาวุธ ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ คสช. ไม่มีอำนาจเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ" ปัจจัยความสำเร็จประการต่อมาคือเนื้อหาที่ We Walk เรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่เป็นธรรมกับเกษตรกร จึงทำให้ We Walk ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก เดชรัต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "เงินที่รัฐบาลนำให้เป็นเบื้อยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 8 ล้านคน 6 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ข้าราชการ 7 แสนคน ได้รับเงินบำนาญจากรัฐบาล 195,000 ล้านบาท แต่ที่ประชาชนเราเรียกร้องบำนาญแห่งชาติแค่เส้นความยากจนที่ 2900 บาทต่อเดือน แต่ข้าราชการสามสี่ห้าหรือหกหมื่นบาทต่อเดือน นี่คือความไม่เท่าเทียม และคนจำนวนมากอยากเปลี่ยนสิ่งนี้ เราต้องก้าวต่อไป" ประเด็นลักษณะนี้มักถูกตั้งคำถามว่าจะเอาเงินงบประมาณจากไหน เดชรัต กล่าวว่า "แล้วรัฐบาลจะเอาเงินจากไหน ปีที่แล้วเราขาดดุลงบ 5 แสนกว่าล้าน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ คำตอบคือเราลดหย่อนภาษีให้นักลงทุนปีละ 22,000 หมื่นล้าน เราต้องเอากลับมา ถ้าเราเก็บภาษีที่ดินที่ตอนนี้ถูกชะลอ ถ้าเก็บไร่ละ 1,000 บาท จะมีเงินจากภาษีที่ดินประมาณ 1 แสนล้านบาท นอกจากยังต้องเอาเงินกลับคืนมา เงินที่ให้นักลงทุน ให้ข้าราชการ เอาคืนมา แล้วจัดสรรให้เท่าเทียมและเป็นธรรม" ขณะที่กิติมา ขุนทอง สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ ส่วนตัวมองว่าเป็นความผิดเพี้ยนของคนมีอำนาจที่กำลังบอกว่ากำลังก้าวสู่ประชาธิปไตย แต่กลับไม่เข้าใจและไม่ศรัทธาประชาธิปไตย จึงไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง "มันเป็นความจนตรอกที่เราถูกผลักออก ตัวเองสัมพันธ์กับประเด็นเหมืองโปแตส โรงงานน้ำตาล เราเคยขอความเป็นธรรมต่อรัฐ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือการฟ้องร้องชาวบ้านที่เลย ที่ชัยภูมิ ที่กุสุมาลย์ หรือตอนเราไปชี้แจงที่ คชก. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการ) เป็นบรรยากาศที่ควรมีส่วนร่วม แต่เราถูกปิดกั้น แล้วมีเวลาพูด 15 นาที พูด 10 คน แล้วเราจะบอกเรื่องราวอย่างไร จะจัดนิทรรศการเรื่องข้าวก็ทำไม่ได้ เราถูกลดทอนความเป็นคน ดังนั้น การเมืองบนท้องถนนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราออกมาเคลื่อนไหวเพื่อบอกว่าเราเผชิญอะไรอยู่" กิติมายังตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา บทบาทของผู้หญิงมีความสำคัญมากคิดเป็นร้อยละ 70-80 ทำไมผู้หญิงจึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองสาธารณะมากขึ้น นั่นเป็นเพราะผู้หญิงต้องดูแลปากท้องของครอบครัว มันหมายถึงการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงอาหาร ต้องดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว แต่สถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่กำลังเผชิญคือการถูกปล้นทรัพยากร ถูกกีดกันจากสวัสดิการของรัฐ การออกมาเคลื่อนไหวของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะเพราะประเด็นเหล่านี้กระทบต่อบทบาทหน้าที่ของผู้หญิง "พออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ รัฐที่ไม่เข้าใจจึงกลัวมาก ปิดกั้น ข่มขู่ วิธีการเหล่านี้สะท้อนความกลัวของรัฐต่อประชาชน ที่ใดมีการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่นั่นย่อมมีการขัดขืน" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 18 Feb 2018 08:47 PM PST
...ความหมายคล้ายจะอยู่ที่เดิม สร้างนิยามว่าตัวเองเป็นกลุ่มใหม่ "คนชั้นกลาง คนเมืองใหญ่ คนฉลาด ...ความหมายคล้ายจะอยู่ตรงนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อ่าน 'แสง น้ำ และรวงข้าว' เพื่อสดับฟังคนอื่นและความเป็นอื่น Posted: 18 Feb 2018 08:31 PM PST เราเป็น "คนอื่น" เมื่อเรา "ฟัง"มีคำกล่าวหลายครั้งจาก อ.เดชา ตั้งสีฟ้า จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อพูดถึงความเป็น "เรา" และ "คนอื่น" ในบริบทของหนังสือ แสง น้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น เขากล่าวหลายครั้งว่า เมื่อเราได้ฟังเสียง ได้ฟังเรื่องราวของคนอื่น เราจะกลายเป็นคนอื่น เป็นคนอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา ลังเลและสงสัยในคำกล่าวของ อ.เดชา ไม่น้อย เมื่อได้ยินประโยคนี้ในครั้งแรก และอีกหลายๆ ครั้งก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยในระดับทวีคูณ นั่นเพราะว่าการ "ฟัง" เป็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่มีชีวิตอยู่แล้วไม่ใช่หรือ และส่วนใหญ่เราก็ฟังเสียงของ "คนอื่น" นั่นอย่างไร กล่าวคือเราอาจะคุยและฟังกับตัวเองบ้าง แต่ส่วนใหญ่เขาพูด เล่า อธิบาย เราก็ฟัง แล้วเราจะกลายเป็นคนอื่นได้อย่างไร แม้ว่าจะลังเลและสงสัย แต่คงเป็นโอกาสดีไม่น้อย หากจะลองฟัง อ.เดชา และฟังหนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ อีกสักหนหนึ่งก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจอีกครั้งเราเป็นอื่นหรือไม่ เมื่อเราฟัง ราวสี่โมงเย็นของวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมีงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "แสง น้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น" ที่ จ.ปัตตานี ณ Patani Artspace พื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของ อ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในศิลปินจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเสวนาครั้งนี้มี อ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ อ.เดชา ตั้งสีฟ้า ผู้เขียนหนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ อ.สุรัยยา สุไลมาน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี และคุณซะการีย์ยา อมาตยา กวีซีไรต์ปี 2553 ก่อนเวทีจะเปิดทำการ ผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน ทั้งคนหนุ่มสาวและคนทำงานในพื้นที่สามจังหวัดฯ ต่างทยอยหามุมนั่งจับจองกัน ทั้งในส่วนเก้าอี้จัดวางหน้าเวที ศาลาไม้ในส่วนในร้านกาแฟ หรือพื้นหญ้าริมบึงน้ำด้านข้างเวที บรรยากาศขณะนี้คึกคักและมีชีวิตชีวาเต็มที เดชา ตั้งสีฟ้า: ความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่ในแสง น้ำ และรวงข้าวฯความตั้งใจในการเขียนหนังสือแสง น้ำ และรวงข้าวฯ เล่มนี้ เพื่อเป็นข้อมูลหลักคิดทางวิชาการในเรื่องทักษะวัฒนธรรมสำหรับคนทำงานของโครงการทักษะวัฒนธรรม ซึ่งเขาได้รับมอบหมายให้เขียนจาก อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มธ. ที่ปรึกษาโครงการทักษะวัฒนธรรม กระนั้นเรื่องราวในหนังสืออาจไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดฯ ในภาคใต้ทั้งหมดทีเดียว แต่เป็นไปเพื่อเรื่องของทักษะวัฒนธรรม หรือความสามารถทางปัญญาในการแยกแยะความต่าง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ต่างในวัฒนธรรม สิ่งที่หนังสือพยายามบอกกับผู้อ่าน คือความอ่อนน้อมถ่อมตนเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ต่างวัฒนธรรม ให้เหมือนกับสายน้ำที่อ่อนนุ่ม ลื่นไหล และไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ ซึ่งคล้ายกับการโน้มเอียงของรวงข้าวลงสู่พื้นดินเช่นเดียวกัน โดยหนทางที่จะทำให้เราจะสามารถอ่อนน้อมถ่อมตนได้นั้น คือการไม่วางตนเองเป็นศูนย์กลางของการปฏิสัมพันธ์ เปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างได้เปล่งเสียง และฟังเสียงนั้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเสียงของคำพูดหรือข้อความ แต่ยังเป็นเสียงการดำรงอยู่ของคนอื่นด้วย
หากจะสรุปใจความสำคัญของทักษะวัฒนธรรม สำหรับเขาแล้ว นั่นคือ การฟัง |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น