โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กสม. ห่วงกลุ่มประท้วงอดอาหารค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขอรัฐบาลคุยกับผู้ชุมนุม

Posted: 15 Feb 2018 11:11 AM PST

กสม. เตือนใจ – อังคณา แสดงความห่วงใยประชาชนอดอาหารประท้วงคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา – เสนอรัฐบาล ประชุมหารือระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับผู้ชุมนุม  

ภาพขวา ผู้ชุมนุมนำเพื่อนที่อดอาหารประท้วงขึ้นท้ายรถตำรวจเพื่อไปรับการรักษาพยาบาล
 
15 ก.พ.2561 จากกรณีที่มีการชุมนุมเครือข่ายปกป้องสองฝั่งเล กระบี่-เทพา ยุติโครงการถ่านหิน หน้าบริเวณหน้าอาคารที่ทำการองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน โดยปรากฏว่ามีเครือข่ายประชาชนที่อดอาหารเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถูกนำส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 14 ก.พ.61 จำนวน 7 คน เนื่องจากมีอาการเหนื่อยล้าจากสภาพอากาศที่ร้อนและพักผ่อนไม่เพียงพอ นั้น
 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ในฐานะดูแลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า  ตนมีความเชื่อมั่นว่ากลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งเล กระบี่ – เทพา ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี รวมถึงการจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลและยั่งยืนของประชาชนแล้ว ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของประชาชนและการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล  เนื่องจากการใช้วิธีอดอาหาร แม้จะเป็นการดำเนินการอย่างสันติวิธี อาจไม่ใช่วิถีที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ประกอบกับรัฐบาลได้ให้คำมั่นต่อประชาชนแล้วว่าจะชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจ และร่วมกันหาแนวทางในการยุติปัญหาที่ยั่งยืน จึงขอเสนอให้รัฐบาลและผู้แทนกลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งเล กระบี่ – เทพา ได้มีการประชุมรับฟังข้อมูลที่รอบด้านและรอบคอบต่อไป
 
 
ขณะที่ เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในเบื้องต้นมีประเด็นข้อห่วงใยจากนักวิชาการว่า รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ มีความคลาดเคลื่อนทางวิชาการ ซึ่งจะได้มีการรวบรวมความเห็นทางวิชาการและจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอดอาหารของเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้อดอาหาร ดูแลสภาพความเป็นอยู่และอำนวยความสะดวกในการชุมนุม ทั้งนี้ ควรจัดให้มีการประชุมหารือระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับผู้ชุมนุมเพื่อร่วมกันพิจารณาข้อมูลที่ยังมีความแตกต่างกัน รวมถึงการพิจารณาทางเลือกของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า เช่น การพัฒนาพลังงานทดแทน  โดยยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและกรอบปฏิญญาว่าด้วยสิทธิการพัฒนาแห่งของสหประชาชาติ ซึ่งรับรองให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน ตลอดจนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายและการได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารแจงปมฟ้อง 'ผู้จัดการออนไลน์' หลังรายงานซ้อมทรมาน เพื่อรักษาสิทธิของหน่วยทหาร

Posted: 15 Feb 2018 10:59 AM PST

กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ชี้แจงเหตุ-แนวทางเข้าจัดกิจกรรมในโรงเรียนตาดีกา รวมทั้งอธิบายกรณีแจ้งความดำเนินคดี 'ผู้จัดการออนไลน์' หลังเผยแพร่ปมผู้ต้องสงสัยถูก จนท.ชุดซักถามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ
 
15 ก.พ.2561 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า) แจ้งว่า วันนี้ พ.อ.ปราโมทย์  พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มด้วยใจและองค์กรเครือข่ายได้มีจดหมายข่าวร้องเรียน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารในโรงเรียนตาดีกา โดยกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิเด็กและความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ และพร้อมกันนี้ได้เผยแพร่หนังสือดังกล่าวผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ นั้น
 
โฆษก กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ชี้แจงว่า การจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาติไทย เช่น การใช้ภาษาไทย, การทำกิจกรรมหน้าเสาธง การร้องเพลงชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนยอมรับการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม โดยไม่ทำลาย   อัตลักษณ์อันดีงามของท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการตรวจพบบุคคลบางกลุ่มได้แอบแฝงเข้าไปปลูกฝังความคิดความเชื่อที่ผิดๆ ในสถานศึกษา ที่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังและใช้ความรุนแรงในปัจจุบัน  
 
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้กำหนดแนวทางในการเข้าไปพบปะพัฒนาสัมพันธ์และทำกิจกรรมในโรงเรียนด้วยความระมัดระวังและไม่กระทบต่อการเรียนการสอน โดยให้หลีกเลี่ยงการพกพาอาวุธในขณะที่ทำกิจกรรมกับเด็กนักเรียน ทั้งนี้จะต้องมีการแจ้งให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำศาสนาในพื้นที่ทราบก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกครั้ง ผลจากการปฏิบัติที่ผ่านมาทำให้สามารถสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของบุคลากรครู, ผู้นำศาสนา, ผู้นำท้องถิ่นและผู้ปกครอง รวมทั้งสร้างการยอมรับในการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สำหรับเหตุการณ์ตามที่ได้ร้องเรียนนั้น ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่อาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยได้พกพาอาวุธในขณะทำกิจกรรม ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 หรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วยเข้าไปสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมกับเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
 
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุด้วยว่า ผลจากการเข้าไปพบปะพัฒนาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมในโรงเรียนตาดีกาตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการปฏิบัติภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศไทย โดยไม่มีการละเมิดสิทธิเด็กและความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ทั้งนี้เพราะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มิใช่เป็นพื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธ หรือพื้นที่สงครามตามที่กล่าวอ้างและยกระดับแต่อย่างใด จึงขอให้กลุ่มด้วยใจและองค์กรเครือข่าย เคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีนัยยะอื่นแอบแฝงด้วยการช่วยกันต่อต้านกลุ่มที่ใช้สถานศึกษาปลูกฝังเด็กให้เข้าสู่วงจรความรุนแรง จึงจะถือเป็นการปกป้องสิทธิเด็ก อย่างแท้จริง มิเช่นนั้นอาจทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนให้มีการใช้ ความรุนแรงเช่นเดียวกับอีกหลายๆ กลุ่ม ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน 
 

แจงปม ฟ้อง 'ผู้จัดการออนไลน์' เพื่อรักษาสิทธิของหน่วยทหาร

ขณะเดียวกัน พ.อ.ธนาวีร์  สุวรรณรัตน์  รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้มอบหมายให้ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์หลังจากที่นำเสนอบทความโดยระบุว่า ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงรายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ชุดซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ทำการซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพในระหว่างถูกควบคุมตัวในศูนย์ซักถามโดยเนื้อหาระบุถึงลักษณะการกระทำทารุณด้วยวิธีการต่างๆ นั้น ยังมีสำนักข่าวบางแห่งอ้างความเห็นจากองค์กรสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็น และสิทธิ ในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ นั้น
รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงว่า การฟ้องดำเนินคดีต่อสื่อผู้จัดการออนไลน์ เป็นการฟ้องเพื่อรักษาสิทธิ และปกป้องศักดิ์ศรีของหน่วยงานภาครัฐ คือ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ที่โดนสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ใส่ร้ายทำให้หน่วย และกองทัพเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่มีเจตนาต้องการปิดปากหรือใช้กฎหมายเพื่อปกปิดข้อเท็จจริง ตรงกันข้ามการฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่รายงานข่าวโดยคลาดเคลื่อนไม่ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เปิดทางให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลและพยานหลักฐานในชั้นศาล เป็นกระบวนการที่เอื้อต่อการเปิดเผยข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง มิใช่กระบวนการปิดปากตามที่องค์กรสิทธิมนุษยชนบางแห่งกล่าวหา

รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า  ระบุด้วยว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เคารพในสิทธิ และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนก็ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องไม่กล่าวหาให้บุคคล หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นจริยธรรมพื้นฐานของสื่อมวลชนเช่นกัน

 พ.อ.ธนาวีร์ ชี้แจงต่อว่า การควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยในคดีความมั่นคง และกระบวนการซักถาม ณ ศูนย์ซักถามของหน่วย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน มีการบันทึกภาพในทุกขั้นตอน มีกำหนดห้วงเวลาให้ญาติของผู้ต้องสงสัยเข้าเยี่ยมได้ และผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นได้เน้นย้ำกวดขันไม่ให้มีการบังคับ หรือซ้อมทรมานตามที่สื่อผู้จัดการออนไลน์รายงาน เผยแพร่แต่อย่างใด จึงขอให้มั่นใจในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยความยุติธรรม ตามพยานหลักฐานและยึดหลักสิทธิมนุษยชน จึงขอให้สื่อมวลชนได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง  ให้รอบคอบ และสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผสานวัฒนธรรม' ขอทหาร ถอนฟ้อง 'อิสมาแอ เต๊ะ-ผู้จัดการออนไลน์ ' หลังแฉปมซ้อมทรมาน

Posted: 15 Feb 2018 10:20 AM PST

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เรียกร้อง แม่ทัพภาคที่ 4 พิจารณาถอนคำร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดี อิสมาแอ เต๊ะ และผู้จัดการออนไลน์ จากกรณีเผยแพร่เรื่องราว จนท.ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่

ภาพจากคลิปรายการนโยบาย By ประชาชน ซึ่ง อิสมาแอ เต๊ะ กล่าวไว้ในนาทีที่ 14.58 เป็นต้นไป https://youtu.be/JaNsOqR6AbA?t=898

15 ก.พ.2561 จากกรณีวานนี้ (14 ก.พ.61) แผนกฎหมาย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้รับมอบหมายจาก พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดี กับ อิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย ผ่านรายการนโยบาย by ประชาชน ออกอากาศทางช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ยื่นเอกสารและข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับหน่วยความมั่นคงต่อ พ.ต.ท.ถนัด ค่ำควร รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี เพื่อฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ทั้งปวง เอาผิดตามกฎหมายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว อันส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อ กองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นั้น

วันนี้ (15 ม.ค.61) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง พล.ท.ปิยวัฒน์ พิจารณาทบทวนและถอนคำร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดี อิสมาแอ และผู้จัดการออนไลน์ จากกรณีเผยแพร่เรื่องราวที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ในจังหวัดชายแดนใต้ได้ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว

แถลงการณ์ยังระบุถึง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อ 19 ต.ค. 59 โดยระบุว่า อิสมาแอ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายหลังถูกจากถูกจับกุมควบคุมตัวปรากฎพยานหลักฐานตามสำเนาเวชระเบียนจึงมีคำพิพากษาให้กองทัพบกจ่ายค่าเสียหายแก่ อิสมาแอ  เป็นเงิน 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 5,000 บาท แต่แม้มีคำพิพากษาเช่นนั้นไม่ปรากฎว่าได้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดแต่อย่างใด 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า การฟ้องร้องดังกล่าวของกองทัพอาจเข้าข่ายกลั่นแกล้งใช้คดีเพื่อปิดปากนักสิทธิมนุษยชนไม่ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ

รายละเอียดแถลงการณ์และคำสั่งศาลปกครงสูงสุด มีดังนี้ : 

แถลงการณ์ กรณีแม่ทัพภาค 4 แจ้งความดำเนินคดีนายอิสมาแอ เต๊ะ ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาให้กองทัพบก จ่ายค่าชดเชยกรณีควบคุมตัวเกินกฎหมายกำหนดและซ้อมทรมานแล้วเมื่อปี 2559 อาจเข้าข่ายกลั่นแกล้งใช้คดีเพื่อปิดปากนักสิทธิมนุษยชนไม่ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ

ตามที่มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที 14`กุมภาพันธ์ 2561 พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้มอบอำนาจให้ พันโทเศรษฐสิทธิ์ แก้วคูเมือง รองหัวหน้าแผนกกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4  แจ้งความต่อพันตำรวจโทถนัด ค่ำควร รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหากรณีที่นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองจากการถูกเจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดชายแดนใต้ซ้อมทรมาน ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่าทำให้กองทัพภาค4 และกอ.รมน.ภาค 4 เสื่อมเสียชื่อเสียง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้แทนกอ.รมน. ภาค 4 ที่พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4  ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้จัดการออนไลน์ ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่าสื่อมวลชนดังกล่าวได้เผยแพร่เรื่องราวที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ในจังหวัดชายแดนใต้ได้ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว

ในรายการนโยบาย by ประชาชนเรื่อง "ยุติซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ ต้องมีกฎหมาย" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสดังกล่าว นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนถูกจับกุมที่จังหวัดยะลาและระหว่างการถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีโดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารบางคนซ้อมทรมาน และถูกควบคุมตัวเกินกำหนดที่กฎหมายให้อำนาจไว้  ต่อมานายอิสมาแอ เต๊ะ ได้นำคดีฟ้องต่อศาลปกครองและเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2559 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยระบุว่า นายอิสมาแอ เต๊ะถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายหลังถูกจากถูกจับกุมควบคุมตัวปรากฎพยานหลักฐานตามสำเนาเวชระเบียนจึงมีคำพิพากษาให้กองทัพบกจ่ายค่าเสียหายแก่นายอิสมาแอ เต๊ะ เป็นเงิน 100,000.- บาท และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 5,000.- บาท แต่แม้มีคำพิพากษาเช่นนั้นไม่ปรากฎว่าได้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดแต่อย่างใด 

การที่นายอิสมาแอ เต๊ะ เล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวการที่ตนเองถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหารและขอความเป็นธรรมจากสังคม เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กอ.รมน. ภาค 4 ทั้งๆศาลก็ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นความจริง ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบธรรม อันพึงกระทำได้ ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ดังที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ที่กำหนดว่า

"ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต

(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"

หลังจากได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้ร่วมกับเพื่อนๆ รวมทั้งผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่  จัดตั้ง เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)  ขึ้นเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการซ้อมทรมานให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการชดใช้เยียวยา และเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ อันเป็นการดำเนินการตามสิทธิโดยชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ

การที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และต้องถูกตรวจสอบได้ แจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ โดยหวังผลเพื่อยุติการตรวจสอบ หรือยุติเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่  ทั้งๆที่รู้ว่า การกระทำของสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนดังกล่าวมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และในที่สุดอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง ถือว่าเข้าข่ายเป็นการฟ้องคดีปิดปาก (Strategic Litigation Against People Participation-SLAPP)  และอาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือมาศาลโดยมือที่ไม่สะอาดได้

สำหรับกรณีนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า แทนที่แม่ทัพภาค 4 หรือ ผอ.รมน.ภาค 4 และผู้บังคับบัญชาระดับสูง จะสืบสวน สอบสวนเอาผู้ที่ซ้อมทรมานและควบคุมขังนายอิสมาแอ เต๊ะโดยมิชอบ จนศาลปกครองสูงสุด   ได้มีคำพิพากษาให้กองทัพบกต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายอิสมาแอ เต๊ะ เพื่อนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษทางวินัยและทางอาญา แต่กลับฟ้องร้องดำเนินคดีนายอิสมาแอ เต๊ะ ที่ยังคงแสวงหาความยุติธรรมอยู่นั้น อาจทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้เห็นว่า การที่ประชาชนจะแสวงหาความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่ยากยิ่งและมีความเสี่ยงสูงในการร้องขอความเป็นธรรม แทนที่ประชาชนจะเป็นโจทก์และได้รับความเป็นธรรม อาจกลับกลายเป็นจำเลยและเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีผลให้ในที่สุดประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ไม่กล้าร้องเรียน และกลัวที่จะเปิดเผยความจริงต่อสังคม  เจ้าหน้าที่บางคนที่กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ไม่คิดที่จะปรับปรุงแก้ไขการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ กระทั่งถูกมองว่าส่งเสริมหรือให้ท้ายเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ให้ประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อไป ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้อย่างยิ่ง

กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่จะต้องตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่ง ในระยะกว่าสิบปีที่ผ่านมา ได้ใช้งบประมาณนับแสนล้านบาท จากเงินภาษีของประชาชน จะได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นให้เสร้างความสงบและสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างไร

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงร้องเรียนให้  พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้โปรดพิจารณาทบทวนและถอนคำร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีนายอิสมาแ เต๊ะ และผู้จัดการออนไลน์ 

รายละเอียดของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.55-56/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1309-1310/2559ระหว่าง นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องที่1 กับนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องที่ 2 กับ กองทัพบกที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  จากกรณีที่นายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏยะลาถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัวเพื่อให้รับสารภาพอันจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง อีกทั้งถูกควบคุมตัวเกินกำหนดตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457

ศาลพิพากษาให้กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมชดเชยความเสียหายให้แก่อิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่1จำนวน 305,000 บาท และอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่2 จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดี ( 14 มกราคม 2552 )  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ  โดยมีรายละเอียดดังนี้

-     การควบคุมตัวเกินกำหนดตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ใช้อำนาจโดยมีพฤติการณ์ที่ไม่นำพาต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวน 50,000 บาท

-     ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ระบุไว้ ห้ามมิให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเหมือนเป็นผู้กระทำผิดโดยที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากทั้งสองคนนี้ยังไม่ถูกดำเนินคดีหรือแจ้งข้อหา การควบคุมตัวดังกล่าวได้มีการปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 อย่างไม่ถูกต้อง และเกินความจำเป็นระหว่างการควบคุมตัวถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่นำพาต่อกฎหมาย มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้อง ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวน 100,000บาท

-     ค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียศักดิ์ศรี ถูกดูหมิ่นจากเพื่อนบ้านและเพื่อนนักศึกษา ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ได้มีการร้องขอให้มีการจัดการประกาศลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง-หนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบกที่ 1 ศาลพิจารณาว่าการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ก็เป็นการปฏิบัติงานและใช้อำนาจทางกฎหมาย หากแต่เป็นการกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเช่นกัน ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นตำนวนเงิน 50,000 บาท และยกคำขอให้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและจดหมายเวียน

-     กรณีส่วนต่างของค่าชดเชยของผู้ฟ้องคดีที่หนึ่งและผู้ฟ้องคดีที่สองจำนวน 105,000 บาท เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จับกุม และในขณะควบคุมตัวมีการทำร้ายร่างกายนายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่1 โดยมีหลักฐานว่าถูกทำร้ายร่างกายตามสำเนาเวชระเบียน ส่วนนี้ศาลเห็นควรให้มีการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฎหลักฐานใดๆ ว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในขณะถูกควบคุมตัว จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลิกนัดสืบพยานไว้ชั่วคราว รอฟังคำสั่งว่าคดีถูก ตร.ปราจีนฯซ้อมให้รับสารภาพ อยู่ในเขตอำนาจศาลไหน

Posted: 15 Feb 2018 10:01 AM PST

ศาลจังหวัดปราจีนบุรียกเลิกนัดสืบพยานไว้ชั่วคราว รอฟังคำสั่งประธานศาลอุทธรณ์ว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ คดี ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ฟ้องตำรวจกรณีถูกซ้อมทรมานที่ จ.ปราจีนบุรี

 

15 ก.พ.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปราจีนบุรีออกนั่งพิจารณานัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำที่ อ.925/2558 กรณี ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี 7 นาย ว่าได้ร่วมกันซ้อมทรมานเพื่อให้ตนรับสารภาพในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด โดยศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์จำเลย วันที่ 13-16 และ 20-21 กุมภาพันธ์ 2561  ซึ่งคดีนี้เหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นจำเลย ที่ยังต่อสู้คดีอยู่ 2 นาย (จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยศพันตำรวจโท) เนื่องจากศาลยกฟ้อง 3 นายด้วยเหตุไม่มีมูล ส่วนตำรวจอีก 2 นาย สำนึกผิด ได้ทำการขอโทษโจทก์และครอบครัวพร้อมทำหนังสือสารภาพความจริงว่าตนกับพวกร่วมกันซ้อมทรมานโจทก์จริงตามฟ้องโจทก์และครอบครัวให้อภัยและถอนฟ้องให้ตำรวจทั้งสองนายดังกล่าวและหนังสือสารภาพว่าร่วมกันซ้อมทรมานโจทก์ดังกล่าวยื่นต่อศาลไว้ในสำนวนคดีแล้ว

นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกนี้ (13 ก.พ.61) อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ได้มอบหมายให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค2 เข้าร่วมในการพิจารณาคดีด้วย  โดยในวันดังกล่าว ฤทธิรงค์ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีเดินทางมาศาลพร้อมทีมทนายความของตน ส่วนฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินทางมาศาลพร้อมทีมทนายของตนเช่นกัน ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล โดยอ้างว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2559 และคดีนี้ศาลประทับรับฟ้องภายหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว คือเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2559 คดีนี้จึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

 ศาลพิเคราะห์ตามคำร้องของจำเลยที่ 3 เห็นว่า กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ และต้องส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลจังหวัดปราจีนบุรีจึงมีคำสั่งยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยตามที่นัดไว้เดิมทั้งหมด และกำหนดนัดฟังคำสั่งประธานศาลอุทธรณ์ในการวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลและนัดพร้อมเพื่อดำเนินการตามกระบวนพิจารณาคดีต่อไป ในวันที่ 4 เม.ย.นี้ เวลา 09.30 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 เดือน พบว่างงานพุ่ง 1.11 แสนคน จาก ธ.ค.60 เทียบ ม.ค.61

Posted: 15 Feb 2018 09:17 AM PST

สนง.สถิติแห่งชาติ เผยภาวะการทำงานของประชากรเดือน ม.ค.61 พบช่วงเมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันของปี 60 จำนวนผู้มีงานทำลดลง 1.4 แสนคน ขณะที่ผู้ว่างงาน เดือน ธ.ค.60 เทียบ ม.ค.61 เพิ่มขึ้น 1.11 แสนคน
 
 
15 ก.พ.2561 สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่รายงานสรุปผลการสำรวจ ภาวะการทำงานของประชากรเดือน ม.ค.2561 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 56 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.79 ล้านคน ผู้มีงานทำ 37.07 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.75 แสนคน​​ และผู้รอฤดูกาล 2.43 แสนคน
 
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำลดลง 1.4 แสนคน จาก 37.21 ล้านคน เป็น 37.07 ล้านคน ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 2.6 หมื่นคน จาก 4.49 แสนคน เป็น 4.75 แสนคน และเมื่อเทียบผู้ว่างงาน เดือน ธ.ค.60 มี 3.64 แสนคน ขณะที่  ม.ค.61 มี 4.75 แสนคน เท่ากับมีผู้ว่างานเพิ่มขึ้น 1.11 แสนคน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมาพันธ์นักกฎหมายสิทธิ' ขอ จนท.ยุติดำเนินคดี 'คนอยากเลือกตั้ง' ทันที

Posted: 15 Feb 2018 08:28 AM PST

สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ ขอ จนท. ยุติดำเนินคดี 'คนอยากเลือกตั้ง' ทันที ชี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้มีความมุ่งหมายไปในทางที่ผิดต่อกฎหมายและกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ พร้อมประกาศให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

15 ก.พ.2561 จากกรณี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ 7 แกนนำและผู้ร่วมชุมนุม 43 คน ที่ร่วมชุมนุม เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่บริเวณถนนราชดำเนิน ในวันที่ 10 ก.พ.61 นั้น

ล่าสุด สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 / 2561 ระบุว่าการชุมนุมดังกล่าว ไม่ได้มีความมุ่งหมายไปในทางที่ผิดต่อกฎหมายและกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐแต่อย่างใด เพราะเรียกร้องขอให้รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการดำเนินคดีกับประชาชนดังกล่าวทันที

สกสส. ประกาศ ด้วยว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับประชาชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรม โดยประชาชนสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือจากสมาพันธ์ฯ ได้โดยตรง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับแล้ว อดีตการ์ด กปปส. คดียิงตำรวจตายขณะคุมฝูงชนปิดล้อมรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เดือน ธ.ค.56

Posted: 15 Feb 2018 08:11 AM PST

สอบปากคำ อดีตการ์ด กปปส. คดียิงตำรวจตายขณะคุมฝูงชนปิดล้อมรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 ศรีวราห์ เผยจากการสอบปากคำ ผู้ต้องหารับมีส่วนเกี่ยวข้องกับ 'ชุมพล จุลใส' พร้อมสั่งค้นรถทนาย เจอปืน.380 สั่งดำเนินคดีอีก

15 ก.พ.2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีรายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้านมั่นคงและกิจการพิเศษ สั่งการให้ พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รอง ผบก.น.1 ในฐานะคณะพนักงานสอบสวน ตามคำสั่ง ตร. ที่ 50/2561 และ พ.ต.ท.สุภัทร ทองส้ม รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ดินแดง รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ออกหมายจับ เอกชัย พลภักดี อายุ 37 ปี ชาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผู้ต้องหาใช้อาวุธปืนยิง ด.ต.ณรงค์ ปิติสิทธิ์ ผบ.หมู่ สน.ตลาดพลู ขณะปฏิบัติหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชนการชุมนุมปิดล้อมขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ของกลุ่ม กปปส. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 โดยกระสุนเข้าอกขวาได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และมีเจ้าหน้าที่อื่นๆ พร้อมทั้งสื่อมวลชนบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้อีกหลายราย

ต่อมาศาลอาญาอนุมัติหมายจับ เลขที่ 70/2561 ลงวันที่ 13 ก.พ. 2561 ให้จับกุม เอกชัยในข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนใว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว โดยให้ ผกก.สน.ดินแดง จับตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับสาเหตุที่พนักงานสอบสวนเพิ่งไปขอศาลอนุมัติออกหมายจับเอกชัยนั้น เนื่องจากเอกชัยถูกตำรวจ สน.มักกะสัน จับกุมในคดีครอบครองอาวุธปืน จึงมีการส่งอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวให้กองพิสูจน์หลักฐานกลางใช้เครื่องมือตรวจพิเศษ (IBIT) ตรวจพิสูจน์ และพบว่าตรงกับอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุในคดียิง ด.ต.ณรงค์ พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับดังกล่าว

การสืบสวนทราบว่าเอกชัยได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.โดยทำหน้าที่เป็นการ์ดให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะนี้อยู่ระหว่างการควบคุมตัวส่งพนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องคดีในข้อหาความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ก่อนควบคุมตัวมาที่ สน.ดินแดง เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีฆ่าเจ้าพนักงาน 

โดยต่อมา มติชนออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า 19.30 น. วันนี้ (15 ก.พ.61) พล.ต.อ.ศรีวราห์เดินทางไปสอบปากคำผู้ต้องหาด้วยตนเอง และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การยืนยันว่าเป็นบุคคลตามที่ถูกออกหมายจับจริง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสอบปากคำอย่างละเอียด และคัดค้านประกัน ในส่วนของคดีนั้น เวลานี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงทำคดีตามปกติ แต่จะเสนอให้  ผบ.ตร.พิจารณาก่อนโอนให้ทางดีเอสไอ เป็นผู้รับผิดชอบคดีการชุมนุมทางการเมืองไปดำเนินการต่อไป สำหรับในส่วนของหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีคือภาพคือคนร้ายใช้อาวุธปืนซุ่มยิงหน้าประตู จากการสอบสวนทราบว่า เอกชัย เป็นการ์ดกปปส. และมีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกหมี (ชุมพล จุลใส) เพราะจากอาวุธปืนที่ถูกยึดได้ที่สน.มักกะสันมี 2 กระบอก กระบอกหนึ่งเป็นของลูกหมี ขอยืนยันว่าทำตามหน้าที่ ตามปกติที่ต้องทำ ทุกฝ่าย เสมอภาค ตรงไปตรงมา

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะที่คณะของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รองผบ.ตร.มาถึงสน.ดินแดง พบรถต้องสงสัย จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถตู้ยี่ห้อฮุนได ทะเบียน ฮพ 9010 กรุงเทพมหานคร มี เชาว์ มีขวด ทนายของ เอกชัย เป็นคนขับ จากการตรวจค้นพบอาวุธปืน ขนาด .380 ยี่ห้อบาเร็ตต้า พร้อมกระสุน 13 นัด อยู่ในกระเป๋าสะพาย จึงจับกุมก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หาดใหญ่วาเลนไทน์: มอบความรักจากนักศึกษาถึงประชาชน

Posted: 15 Feb 2018 07:46 AM PST

เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรัก เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.เพื่อสังคม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "Write for Love ส่งมอบความรักจากใจนักศึกษาถึงประชาชน" เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกของนักศึกษาต่อกรณีปัญหา การเมือง 112 ชัยภูมิ ป่าแส น้องเมย We Walk เทใจให้เทพา และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง


 

14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลุ่มกิจกรรมนักศึกษา ม.อ. หาดใหญ่ ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.เพื่อสังคม (MOM- Mor-Or for Mankind network ) ได้จัดกิจกรรม "Write for Love" มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้มีเสรีภาพในการแสดงออก โดยเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นผ่านการเขียน ลงในกระดาษ post-it ถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม 

การแสดงออกผ่านกระดาษ post-it มีทั้งเรื่องราวของ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง #MBK39 ที่ออกมาชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วโดนแจ้งข้อหา,การชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้จัดกิจกรรมโดนจับจำนวนถึง 4 คน ,กรณีเทใจให้เทพา ซึ่งตอนนี้ชาวเทพาและกระบี่ กำลังนั่งอดอาหารประท้วงรอคำตอบยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินจากรัฐบาลอยู่ ,กรณีการเดินมิตรภาพ We Walk เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เดินจาก กทม.จนเกือบที่จะถึงจุดหมายที่ขอนแก่น ,กรณีการล่าสัตว์อนุรักษ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือดำ ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หรือประเด็นทางการเมือง สังคม อื่นๆ ที่สนใจ

 







นอกจากนั้นยังได้มีกิจกรรมการเขียนโปสการ์ด "เขียนเพื่อเพื่อนมนุษย์" เพื่อส่งมอบความรักและกำลังใจถึงประชาชนที่กำลังต่อสู้ต่ออำนาจรัฐในประเด็นต่างๆ เนื่องในโอกาสวันแห่งความรัก ซึ่งทางผู้จัดจะได้นำโปสการ์ดเหล่านี้เดินทางไปให้กำลังใจพี่น้องประชาชนกลุ่มเทใจให้เทพา ,We Walk และ  กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง #MBK39 ในโอกาสต่อไป

อลิสา บินดุส๊ะ นศ.คณะนิติศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ หนึ่งในคณะผู้จัดกิจกรรมกล่าวว่า  กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมนอกมหาวิทยาลัย ที่ไม่ว่าจะเป็นตัวมหาวิทยาลัยหรือชมรมกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเองไม่ได้ให้ความสนใจนัก ให้เข้าสู่การรับรู้ของนักศึกษา และประชาชนที่ผ่านไปมาเพื่อย้ำว่าเสรีภาพเป็นของเราทุกคน

กิจกรรมที่จัด มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณหนึ่งร้อยคน ส่วนหนึ่งมีความรับรู้เรื่องราวเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้แสดงออก ในกิจกรรมเขียนกระดาษ Post-it มีคนเขียนถึงไผ่ดาวดิน เขียนถึงกรณีการเสียชีวิตของน้องเมย เขียนเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีชัยภูมิ ป่าแส ไปจนถึงระบายความอึดอัดใจที่มีต่อการเมืองปัจจุบัน รวมถึงตัดพ้อ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง คืนประชาธิปไตย คืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน

คิดว่ากิจกรรม Write for Love ครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่กิจกรรมที่จะเป็นพื้นที่เสรีภาพที่ขยายกว้างขึ้นในเร็ววันนี้ อลิสากล่าว


 

















ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.แจ้งจับ 7 แกนนำ 'อยากเลือกตั้ง' พร้อม 43 ผู้ร่วมชุมนุม อนุสาวรีย์ ปชต.

Posted: 15 Feb 2018 03:21 AM PST

พ.อ.บุรินทร์ แจ้งความ 7 แกนนำ คนอยากเลือกตั้ง ค้าน คสช. สืบทอดอำนาจ พร้อม 43 ผู้ร่วมชุมนุม อนุสาวรีย์ ปชต. ฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ด้าน 'รังสิมันต์ โรม' ยันแจ้งจัดกิจกรรมไปกับ ตร.แล้ว 17 ก.พ.นี้ นัดแถลงข่าวที่ มธ.

15 ก.พ.2561 มติชนออนไลน์และโพสต์ทูเดย์ รายงานว่า วานนี้ (14 ก.พ.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าพบพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ 1. รังสิมันต์ โรม ,2. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ,3. กาณฑ์ พงษ์ประพันธ์ ,4. อานนท์ นำภา, 5. ณัฏฐา มหัทธนา และ 6. สกฤษณ์ เพียรสุวรรณ หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด 

ในข้อหา ร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนคนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป และร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธี อื่นใด อันมิใช้เป็นการกรทำ ภายในความมุ่งหมาย แห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชม โดยสุจริต  เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน  หรือกระด้างกระเดื่อง ในหมู่ประชาชน ถึงขนาดจะก่อความไม่สงบ ขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมาย แผ่นดิน เหตุเกิดวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา บริเวณข้างร้านสเต็กติดมัน และบริเวณถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ  

รายงาน่าวระบุด้วยว่า พฤติการณ์ของคดีนั้น พบว่าก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน กับพวก ซึ่งเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ได้นัดชุมนุมทางการเมือง กับผู้ชุมนุมกันที่บริเวณถนนราชดำเนิน ในวันที่ 10 ก.พ.61 เวลาประมาณ 16.00 น. ซึ่งมีการนัดแนะกันในวันที่ชุมนุมบริเวณสกายวอล์ค และทางเฟสบุ๊คของกลุ่มแกนนำ ต่อมาตามวันเวลาดังกล่าวผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ได้ขึ้นปราศรัยกล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล และคสช. ด้วยถ้อยคำโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง และพยายามยุยงปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล และคสช. ทำให้คสช.ได้รับความเสียหาย จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายเข้าร้องทุกข์ดำเนินคดี กับผู้ต้องหาทั้ง 6 คน หรือผู้อื่นที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป

รายงานข่าวระบุต่อว่า วันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา พ.อ.บุรินทร์ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ในการดำเนินคดีกับแกนนำอีก 1 คน คือ ชลธิชา แจ้งเร็ว หลังจากมีการตรวจสอบพบว่า เป็นแกนนำขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ร่วมกระทำผิดกับผู้ต้องหาทั้ง 6 คน

นอกจากนั้นยังได้ตรวจสอบพบ 43 คน ที่ร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ จึงได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ในความผิดฐาน มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย. 58 ข้อ 12 เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด จนกว่าคดีจะสิ้นสุด

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม รังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มดังกล่าว ยืนยันวาได้แจ้งจัดกิจกรรมไปกับ สน.สําราญราษฎร์ แล้ว และวันที่ 17 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทางพวกตนจะมีแถลงข่าวเรื่องดังกล่าวและเรื่องการคเลื่อนไหวอื่นๆ ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องพลวัตเพลงเพื่อชีวิต จาก ‘คนกับควาย’ ถึง ‘คุกกี้เสี่ยงคุก’

Posted: 15 Feb 2018 03:10 AM PST

ภาพจำของเพลงเพื่อชีวิตหนีไม่พ้นวงคาราวาน คาราบาว กรรมาชน ฯลฯ แต่ในปัจจุบันความเป็นเพลงเพื่อชีวิตก็มีพลวัตในตัวมันเอง แล้วความหมายของคำว่าเพลงเพื่อชีวิตจริงๆ แล้วคืออะไร วงเสวนา "เพลงกับการเมือง" ในเวทีสัมมนา Marxism 2018 อาจช่วยตอบคำถามนี้

เมื่อพูดถึง "เพลงเพื่อชีวิต" เราอาจนึกถึงเพลงที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม การเมือง การต่อสู้ทางชนชั้น การถูกกดขี่ ภาพจำของเพลงเพื่อชีวิตหนีไม่พ้นวงคาราวาน คาราบาว กรรมาชน ฯลฯ แต่ในปัจจุบันความเป็นเพลงเพื่อชีวิตก็มีพลวัตในตัวมันเอง แล้วความหมายของคำว่าเพลงเพื่อชีวิตจริงๆ แล้วคืออะไร กินความหมายกว้างแค่ไหน เพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันนอกเหนือจากภาพจำของเพลงในยุค 6 ตุลาแล้วคืออะไร เพลงเพื่อชีวิตจะเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักได้หรือไม่

วงเสวนา "เพลงกับการเมือง" ในเวทีสัมมนา Marxism 2018 ที่จัดขึ้น ณ ห้อง 302 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ร่วมเสวนาโดย กิติภูมิ จุฑาสมิต แฟนพันธุ์แท้เดอะบีเทิลส์, ฮามีร อ่อนทอง วง Amata/Group of Comrades, ทักษภณ โฆษิตพิพัฒน์ วง Kalibut/Group of Comrades และผู้ร่วมฟังเสวนาที่อาจช่วยตอบคำถาม และขยายคำถามให้กว้างขึ้นไปอีก เพราะบางคำถามก็ยังคงต้องถูกถกเถียงกันต่อไป

ทำไมดนตรีถึงเกี่ยวข้องกับการเมือง?

กิติภูมิ จุฑาสมิต แฟนพันธุ์แท้เดอะบีเทิลส์ อธิบายว่า ความจริงแล้วคาร์ล มาร์กก็เป็นคนชอบศิลปะ ในทฤษฎีมาร์กซิสต์เองก็พูดเรื่องศิลปะอยู่ไม่น้อย โดยงานศิลปะส่วนใหญ่ที่มาร์กพูดคือหนังสือ เพราะเป็นศิลปะอย่างเดียวที่แพร่หลายในตอนนั้น แต่ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่มีสตรีมมิ่ง ที่หาเพลงอะไรก็ได้

กิติภูมิ กล่าวว่า มาร์กบอกว่าการต่อสู้ทางชนชั้นมีในทุกอย่าง เรามักนึกถึงการต่อสู้ด้วยมวลชน แต่มาร์กมองว่าการต่อสู้ไม่ได้มีแค่นั้น การต่อสู้สามารถอยู่ในอย่างอื่นได้ ปัญญาชนที่สนใจศิลปวัฒนธรรมสายมาร์กซิสต์ คือ อันโตนิโอ กรัมชี่ ซึ่งหันมาสนใจวรรณกรรมพื้นบ้านในฐานะการต่อสู้ทางชนชั้นของประชาชน วรรณกรรมของอิตาลี 'เดกาเมรอน' เป็นนิทานร้อยเรื่องที่ชาวบ้านช่วยกันแต่ง แต่ละเรื่องเป็นเรื่องลามกจกเปรต

กิติภูมิ เล่าว่า กรัมชี่ติดคุก เขียนหนังสือในคุกชื่อ 'Prison Notebook' เขียนถึงเดกาเมรอนว่าเป็นเครื่องมือของชาวบ้านในการต่อสู้ทางชนชั้นกับฝ่ายอมาตย์ เพราะในเรื่องมักให้อมาตย์ขุนนางดูอ่อนแอ ไม่มีสมรรถภาพทางเพศ ส่วนผู้หญิงชนชั้นสูงก็จะมีต้องการทางเพศสูง ชนชั้นไพร่จะมีความแข็งแรง หล่อ มีพลังตอบสนองความต้องการของผู้หญิงได้ ในที่สุดอมาตย์ก็จะแพ้เรื่องบนเตียง

วรรณกรรมพื้นบ้านจึงเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ในเมืองไทย เช่น ศรีธนญชัย พระราชาในเรื่องจะโง่ๆเซ่อๆ โดนศรีธนญชัยหลอก หรือนิยายจักรๆ วงศ์ๆ อย่างสังข์ทอง พระราชาก็มักโดนหลอก โดนปั่นหัว

ในส่วนของเพลงหรือดนตรีก็เช่นกัน ในทางมาร์กซิสต์ ศิลปินเป็นปัญญาชนชนิดหนึ่ง ถ่ายทอดอุดมการณ์ ให้ครอบงำสังคมได้

เพลงเพื่อชีวิตต้องดูที่เนื้อหา ดนตรีเป็นแค่ส่วนประกอบ?

ทักษภณ โฆษิตพิพัฒน์ วง Kalibut ยกตัวอย่างวงดนตรีเพื่อชีวิตสากลที่มีรูปแบบดนตรีหลากหลายแนวทั้งร็อก พังก์ แร็พ เมทัล เช่น Sepultura จากบราซิล, Anti-Flag, Dead Kennedys, Frank Zappa จากอเมริกา, Napalm Death เนื้อหาซ้ายสุดขั้ว แนวดนตรีหนักหน่วงรุนแรง, Public Enemy แนวแร็พยุคบุกเบิก ซาวน์มีเสียงสแครชท์แผ่น, Manic Street Preachers, Rage Against The Machine ที่ทำเพลงที่เกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้น และทำงานเป็นนักกิจกรรมไปด้วย ให้ความสนับสนุนฝ่ายซ้าย, Rise Against, System of a Down

กิติภูมิ กล่าวว่า จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าวงการเพลงเพื่อชีวิตของที่อื่นไม่ได้จำกัดเป็นโฟล์คหรือสามช่าแบบบ้านเรา แต่มีอื่นแนว เช่น เมทัล พังก์ แร็พ ดังนั้นถ้าจะดูความเป็นเพื่อชีวิตต้องดูที่เนื้อหา

ฮามีร อ่อนทอง วง Amata กล่าวว่า ในช่วงยุค 6 ตุลา เพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงโฟล์ค แล้วเราก็เรียกเพลงเหล่านั้นว่าเพลงเพื่อชีวิต แต่ไม่ได้ให้ความหมายกับเพลงเพื่อชีวิตว่าคือความหมายหรือเนื้อหา อย่างอ.ศิลป์ พีระศรีมองว่าเนื้อหาคือศิลปะ ส่วนดนตรีเป็นแค่เทคนิค แต่ถ้ามองแบบเสรีนิยมก็จะมองว่าความงามของดนตรีก็เป็นศิลปะแบบหนึ่ง หรือถ้ามองแบบจิตร ภูมิศักดิ์ ก็จะมองว่าคำว่าเพื่อชีวิตคือเนื้อหา ไม่ใช่ดนตรี ซึ่งคนเรียนดนตรีเองก็ยังเข้าใจความหมายของเพลงเพื่อชีวิตผิดเพี้ยนไป

เขากล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ารสนิยมด้านดนตรีเป็นปัจเจกในตัวเอง เรื่องดนตรีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในแต่ละพื้นที่ก็นิยมดนตรีที่ต่างกันไป ดังนั้นถ้าจะให้เข้าถึงในหลายพื้นที่ก็ต้องมีดนตรีหลากหลายแนว หากเล่นดนตรีที่ไม่คุ้นหูเขาก็จะไม่สนใจฟัง กลายเป็นว่าเนื้อหาของเพลงก็ไปไม่ถึงผู้รับด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องโฟกัสที่เนื้อหาด้วยเช่นกัน

อมต หนึ่งในผู้เข้าร่วมฟังเสวนาแสดงความเห็นว่า ส่วนตัวคิดว่าการทำดนตรีของนักดนตรีก็มีความเป็นการเมืองในตัวของมันเองอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเคสในโซเวียต มีกลุ่มอนาคิสต์ที่ทำเพลงอาวองการ์ด ด้วยตัวมันเองมันเป็นเหมือนเพลงคลาสสิกทั่วไป แต่สิ่งที่เขาทำคือเขาต่างคนต่างเล่น ไม่มีโน้ตร่วมกัน ซึ่งเขาพยายามตั้งคำถามกับวงดนตรีจัดตั้งของโซเวียต ที่เป็นวงดนตรีออเคสตรา เพลงปฏิวัติ ซึ่งเครื่องดนตรีทุกชิ้นต้องเล่นไปพร้อมกัน เพื่อความพร้อมเพรียง ความฮึกเหิม จึงคิดว่าด้วยตัวดนตรีเองมันก็มีสารของมันอยู่

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องที่โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) พูดว่าผู้สร้างงานศิลปะจะตายลงเมื่อสร้างงานศิลปะเสร็จแล้ว งานศิลปะแต่ละชิ้นมันมีความหมายและฟังก์ชันของมันที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับผู้สร้างเลยก็ได้ เหมือนถ้าเราพูดถึงเพลง "สู้ไม่ถอย" ที่ยุคหนึ่งเคยเป็นเพลงสมัย 14 ตุลา ก็กลายมาเป็นเพลงของ กปปส. มันถูกเปลี่ยนความหมายใหม่ไปเรื่อย ดังนั้นบางทีศิลปินเองก็ควบคุมเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อออกไปไม่ได้เหมือนกัน

"นักกิจกรรมดนตรี" คืออะไร

ทักษภณ กล่าวถึงแนวคิดที่ต่อยอดมาจากทฤษฎีการคงอยู่ของรัฐของกรัมชี่คือแนวคิดของ หลุยส์ อังทุสแซ (Louis Althusser) เรื่อง "กลไกทางกระบวนการของรัฐ" ว่า รัฐในสถานะหนึ่งเป็นเครื่องมือการกดขี่ทางชนชั้น การที่รัฐรัฐหนึ่งจะคงสภาพความเป็นรัฐอยู่ได้ ต้องมีกลไกด้านการปราบปราม และกลไกทางอุดมการณ์ โดยกลไกด้านการปราบปรามเป็นอำนาจแข็ง ประกอบไปด้วยทหาร ตำรวจ ศาล คุก เป็นต้น ส่วนกลไกทางอุดมการณ์ซึ่งเป็นอำนาจอ่อนประกอบด้วย โรงเรียน ครอบครัว วัด เป็นต้น เช่น การสวดมนต์ทุกวัน การร้องเพลงชาติทุกวัน ทำให้เราระลึกว่าตัวเราเป็นคนพุทธ เป็นคนไทย ซึ่งจะสังเกตได้ว่าชนชั้นผู้มีอำนาจ หรือฝ่ายขวาในสังคมได้ยึดกุมอำนาจส่วนนี้ไว้อย่างแข็งขัน

เขาชี้ว่า นักกิจกรรมในไทยจะต่อสู้ในด้านอำนาจแข็ง ออกมาประท้วงบนท้องถนน แต่ในขณะเดียวกัน กลับไม่มีกลไกทางอุดมการณ์ ในการเผยแพร่อำนาจอ่อนเลย อาจจะเคยมีในสมัย 6 ตุลา เช่น วงกรรมาชน วงคาราวาน หรือจิตร ภูมิศักดิ์ก็มีการแต่งเพลงออกมา แต่ในปัจจุบันวงเพื่อชีวิตถูกช่วงชิงความหมายไป ไม่ได้เป็นดนตรีเพื่อสังคม แต่เป็นดนตรีของคนที่แต่งตัวบ้านนอก

"นักกิจกรรมดนตรี" คือการเอานักกิจกรรมผู้ที่ต่อสู้ทางการเมืองมาผสมกับนักดนตรี เกิดเป็นนักกิจกรรมดนตรี ซึ่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นานมากตั้งแต่ยุคคาราวาน คาราบาว ซึ่งวงเหล่านี้หลังๆ มาก็ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมดนตรีแล้ว แต่เป็นเพลงเพื่อชีวิตตัวเองมากกว่า จึงอยากให้เกิดการร่วมมือกันในการคืนชีพนักกิจกรรมดนตรี เพื่อให้ฝ่ายซ้ายเรามีเครื่องมือในการต่อสู้เกี่ยวกับศิลปะบ้าง

นักกิจกรรมดนตรีของเราอาจแบ่งเป็นสองฟังก์ชั่น ฟังก์ชั่นแรกคือด้านถ่ายทอดอุดมการณ์ ทำให้คนฟังเกิดการตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อมันจริงรึเปล่า ฟังก์ชั่นสองคือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก มีคนตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้ทำให้นักกิจกรรมบางคนซึมเศร้า เราก็อาจจะทำเพลงที่ปลุกใจให้นักกิจกรรมออกมาสู้ใหม่

ฮามีร กล่าวถึงคำว่า "นักกิจกรรมดนตรี" ถ้าเป็นนักดนตรีเขาจะสนใจเรื่องดนตรีมาก่อนเนื้อหา ส่วนนักกิจกรรมคือคนที่สนใจขับเคลื่อนด้านการเมือง นักกิจกรรมดนตรีจึงมีวิถีของดนตรีอีกแบบหนึ่ง

ฮามีร มองว่าดนตรีในฐานะเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองนั้นแตกต่างจากศิลปะประเภทอื่น เช่น ภาพวาด ภาพเขียน ตรงที่ดนตรีมีความเหนือกว่าในการปลุกเร้าอารมณ์

เพลงเพื่อชีวิตเข้าไม่ถึงกลุ่มคนฟังอีกฝ่าย?  เพลงป๊อบ-ลูกทุ่ง ไม่ถือเป็นเพื่อชีวิต?

ผู้ร่วมฟังเสวนาท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า เราอาจต้องเริ่มจากการตั้งคำถามก่อนว่าเพลง ดนตรี ศิลปะ มันมีหน้าที่อะไรและสัมพันธ์อย่างไรกับการเมือง โดยอาจตั้งต้นว่าเพลงและดนตรีเป็นการสร้างความรับรู้ของผู้คนที่มาแชร์ความทรงจำของคนที่มีร่วมกัน มากกว่าเรื่องที่ว่าเพลงและดนตรีไปกวาดเอาผู้คนจากฝั่งซ้ายฝั่งขวามาไว้ นี่เป็นคุณค่ากลางของศิลปะที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์ม ตัวดนตรีอาจเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นกลาง แต่ตัวเนื้อหาของเพลงจะทำหน้าที่ และจะทำหน้าที่ได้ดีต่อเมื่อเราละเมียดละไมกับการประดิษฐ์คำใส่เข้าไปในดนตรี ประดิษฐ์จังหวะที่สร้างความเข้าถึงหรือมีอิทธิพลต่อการรับรู้ร่วมกันของผู้คนมากกว่า ซึ่งคิดว่าหน้าที่แบบนี้ฝ่ายขวาทำหน้าที่ได้ดีกว่าฝ่ายซ้ายเสียอีก

เขาชี้ว่า เราบอกเล่าความทุกข์ยากของผู้คน การถูกกดขี่ ขูดรีด ผ่านเพลงมันมีข้อจำกัด แต่ข้อดีของเพลงคือมันขยายผัสสะการรับรู้ ให้เห็นถึงความทุกข์ยากผ่านเสียง ซึ่งมากกว่าเป็นเพียงตัวหนังสือ แล้วจะทำอย่างไรให้คนเกิดความรับรู้ร่วมกัน เห็นตรงกัน เราละเมียดละไมพอที่จะทำให้เพลงของเราขยายไปสู่อีกฝั่งหนึ่งได้ไหม ให้เขาเห็นตรงกันกับเรา ซึ่งที่สุดแล้ว เขามองว่า คนอย่างดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ทำหน้าที่ได้ดีกว่า

อาทิตย์ ศรีจันทร์ ผู้ร่วมเสวนาอีกคนตั้งข้อสังเกตว่า ความจริงแล้วฝ่ายซ้ายก็มีความสามารถในการใช้ภาษาและวรรณกรรม แต่เป็นชุดคำที่เห็นแล้วจะรู้ทันทีว่าเป็นฝ่ายซ้าย เช่นคำว่า ชนชั้น สังคม กรรมมาชีพ แต่ดูเหมือนฝ่ายซ้ายจะไม่ค่อยพัฒนาการใช้ภาษาเอาเสียเลยทั้งดนตรีและวรรณกรรม

" อีกอย่างคือเวลาเราพูดถึงเพลงเพื่อชีวิต ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ แต่มันดูเหมือนมีท่าทีรังเกียจเพลงป๊อบและเพลงลูกทุ่งอยู่ในที เพลงเหล่านี้หายไปไหน ทั้งที่เพลงเหล่านี้คือวิถีชีวิตของผู้คนธรรมดา เราเอาไมค์ ภิรมย์พร เอาต่าย อรทัยไว้ตรงไหนของการต่อสู้ทางสังคม หรือแม้กระทั่งใบเตย อาร์สยาม หรือ BNK48" อาทิตย์ตั้งข้อสังเกต

ต่อคำถามของอาทิตย์ว่า เพลงลูกทุ่งอยู่ตรงไหนของการต่อสู้ทางชนชั้น ทักษภณ ตอบว่าเพลงลูกทุ่งควรเป็นส่วนหนึ่งในนั้น โดยเขาแบ่งเพลงออกเป็น 3 ประเภท หนึ่งคือถ่ายทอดอุดมการณ์ สองคือสะท้อนสังคม เช่น เพลงของต่าย อรทัย, ไมค์ ภิรมย์พร ฯลฯ สามคือจุดประเด็นความคิด วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งอันนี้นักดนตรีอาจต้องทำงานร่วมกับนักวิชาการในการจุดประเด็นที่แหลมคมขึ้นมา

ขณะที่กิติภูมิเสนอว่า นักดนตรีหรือศิลปินก็ต้องร่วมมือกับคนกลุ่มอื่น ทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ นักกิจกรรม และต้องศึกษาเรื่องราวทางด้านอื่นทางสังคม ปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ศึกษาเพียงดนตรีตัวโน้ต ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างเพลงหนึ่งเพลงให้ได้อะไรครบถ้วน ถ้าพูดถึงเพลงลูกทุ่ง ยกตัวอย่างเช่นเพลง "คนบ้านเดียวกัน" ก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้คนอีสานทั่วประเทศสามัคคีกันได้ แต่การสวนกระแสในเชิงศิลปวัฒนธรรมหรืออุดมการณ์มันยากเสมอ กปปส. พันธมิตรฯ ก็ใช้เวลานานกว่าจะทำให้อุดมการณ์ครอบงำสังคม และต้องร่วมประสานกันหลายๆ กลุ่มด้วยถึงทำได้สำเร็จ

เพลงเพื่อชีวิตในยุค 6 ตุลา หายไปแล้วในสังคมปัจจุบัน?

สมศักดิ์ อิสมันย์ อดีตนักดนตรีในวงของศรคีรี ศรีประจวบ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังในอดีต เล่าถึงความประทับใจแรกที่ได้ฟังเพลง "คนกับควาย" ว่า ช่วงปี 2517-2518 คนไทยยังฟังเพลงสุนทราภรณ์อยู่ พวกที่เรียกว่าหัวใหม่จะไปฟังเพลงฝรั่ง ฮาร์ดร็อกเพิ่งเข้ามา

"ผมฟังวงคาราวาน ครั้งแรกตอนนั้นผมเล่นแตรวงในรำวง ผมฟังแล้ว เฮ้ย มันทำได้ยังไง คือต้องใช้คำว่าอหังการ์ เอาดนตรีอีสานซึ่งคนภาคกลางดูถูกมากมาเล่น แล้วร้องเรื่องราวที่มันพลิกไปจากสิ่งที่เราเคยถูกสั่งสอนมาว่าคนจนมันขี้เกียจ โง่ เลยต้องไปเลี้ยงควาย ชาวนาเป็นคนชนชั้นล่าง เป็นทาสที่ไม่เท่าเทียมกับคนในเมือง พอเราได้ยินเพลงคนกับควาย 'คนกับคนทำนาประสาคน คนกับควายทำนาประสาควาย สำคัญมั่นคงคือความตาย' มันเข้าไปถึงในใจ แล้วมันเปิดโลกทัศน์ใหม่ของเรา เราเคยมองโสเภณีว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี มักมากเรื่องกาม เราถูกสอนมาแบบนั้น แต่เพลงทำให้ทัศนคติของเราเปลี่ยนไป

"ผมว่ามันอยู่ที่เวลาพวกเราทำเพลงเราคิดอะไร เราคิดจะเผยแพร่อะไรออกมา อย่าไปคิดว่าทำยังไงคนจะฟัง เราทำได้ยังไงเราทำไปอย่างนั้น อย่าไปกลัวว่าคนจะฟังไม่ฟัง" สมศักดิ์กล่าว

โชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวว่า รู้จักคนหนึ่งที่ชอบเพลงเพื่อชีวิตมาก ผมไปนั่งคุยกับเขาเรื่องที่มาของเพลงแต่ละเพลง แล้วผมคิดว่าสิ่งที่คุยกันมันแทบไม่โยงอะไรกับสถานการณ์ปัจจุบันเลย ดังนั้นเวลาเราบอกว่าทำไมคนไม่ฟังเพลงคาราบาว ด้านหนึ่งอาจจะเพราะว่ามันพูดถึงช่วงที่เรายังไม่เกิด ถ้าเราเกิดไม่ทัน 6 ตุลา ไม่เคยดูวิดีโอเกี่ยวกับ 6 ตุลา เราอาจจะไม่อินกับมันเลยก็ได้ แต่ทำไมเพลง "คนบ้านเดียวกัน" ถึงแพร่หลายในหมู่คนจำนวนมาก เพราะมันตอบโจทย์กับชีวิตคน หรืออย่างเพลง "คุกกี้เสี่ยงคุก" ที่เป็นเพลงแปลงจากเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย" ของ BNK48 เนื้อหากลายเป็นคนละเรื่อง พูดเรื่องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มียอดวิวเกือบสามล้านวิว เราอาจเคลมได้ว่าคนที่ดูพวกนี้เป็นคนรุ่นใหม่ คำถามคือทำไมคนรุ่นใหม่ถึงดูเพลงนี้เยอะ แล้วไม่ไปฟังเพลงของคาราวาน

ทักษภณกล่าวว่า ทำไมคนรุ่นหลังถึงไม่ค่อยฟังเพลงเพื่อชีวิตสมัย 6 ตุลา ถ้าเราโยงเรื่องทฤษฎีของมาร์กซิสต์มา ผมคิดว่าน่าจะมีที่มาจากการเปลี่ยนไปของกระบวนการผลิต จากทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ โครงสร้างส่วนล่างจะกำหนดโครงสร้างส่วนบน หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตจะกำหนดวัฒนธรรม ค่านิยม รวมถึงแนวเพลงที่ได้รับความนิยมด้วย ในสมัยก่อนผมรู้สึกว่ามีความหลากหลายของเพลงตลาดมากกว่า เพราะยังไม่เกิดการผูกขาดของกลุ่มทุน แต่ปัจจุบันเมื่อความสัมพันธ์ทางการผลิตเปลี่ยน การผลิตแผ่นซีดีออกมาขายเปลี่ยนเป็นการฟังจาก MP3 เปลี่ยนเป็นการโหลดฟรี แนวดนตรีที่ไม่ได้รับความนิยมในหมู่มากเช่นแนวเพื่อชีวิตก็ค่อยๆ ตายไป ทางแก้ก็คือนักกิจกรรมดนตรีควรเริ่มแต่งเพลงที่เข้าไปชิงพื้นที่ทางอารมณ์ผู้ฟัง

 กิติภูมิกล่าวว่า บางทีคำตอบมันอาจอยู่ที่คุณยืนหยัดเป็นตัวของตัวเองไม่ตามกระแส ถ้าคุณเชื่อมั่นในฝ่ายซ้าย คุณทำเพลงฝ่ายซ้ายออกมา คุณเชื่อมั่นในแจ๊ส คุณทำแจ๊สฝ่ายซ้ายออกมา ทำไปเรื่อยๆๆ 10 ปีเมื่อไหร่คุณจะกลายเป็นสถาบัน อย่างเลียวนาร์ด โคเฮน ทำเพลงตอนแรกคนก็บอกเป็นเพลงบ่นงึมงำๆ หรือบ็อบ ดีแลนด์ บ่นงึมงำๆ แต่ว่าพอมันยืนหยัดไปถึงขั้นหนึ่ง สังคมยอมรับ ไม่ใช่ไหลไปตามกระแสแล้วสังคมยอมรับ แต่เป็นการต้านกระแส ต้านไปเรื่อยๆๆ จนอายุ 60 ต้านไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นสถาบัน คนก็รับฟัง คำตอบมันอาจเป็นแบบนี้ แต่คงไม่ใช่สำหรับทุกคน

เพลงที่มีอุดมการณ์การเมืองฝ่ายขวาจะถือเป็นเพลงเพื่อชีวิตด้วยไหม?

ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์ นักศึกษาผู้ร่วมฟังเสวนากล่าวว่า เพลงสำหรับผมมีฟังก์ชั่นหลายรูปแบบ มีเพลงประเภทที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง แต่มันมีเพลงที่ทำให้คนลืมด้วยว่าถูกกดขี่ ทำให้คนไม่ตั้งคำถาม ที่ทำให้คนหลุดพ้นจากความเป็นจริง วงดนตรีเองก็มีพลวัต ยุคหนึ่งเขาทำเพลงให้ฝ่ายซ้าย ยุคต่อมาเขาอาจจะทำเพลงให้ฝ่ายขวา แล้วเราจะเรียกเพลงนี้ว่าเพื่อชีวิตด้วยไหม หรือเพลงเพื่อชีวิตคือเพลงมีเนื้อหาทางการเมืองที่ไปต้านการกดขี่ ต้านฝ่ายขวาอย่างเดียว ศิลปินที่เรียกตัวเองว่าศิลปินเพื่อชีวิตแต่ตอนนี้ก็เป็นฝ่ายขวาก็มี เพลงเพื่อชีวิตจะต้องเป็นของฝ่ายซ้ายอย่างเดียวไหม หรือเป็นเพลงที่มีนัยทางการเมืองของฝ่ายขวาด้วย ซึ่งถ้าตามประวัติศาสตร์เพลงเพื่อชีวิตก็เกี่ยวกับการลุกขึ้นมาของฝ่ายซ้าย ถ้าบริบทของประเทศไทยก็คือสมัยเดือนตุลา เกิดในยุคที่ฝ่ายซ้ายพยายามสร้างศิลปะแบบนี้ขึ้นมา แต่ในตอนนี้นิยามของเพื่อชีวิตเปลี่ยนไปขนาดไหน

สงวน จุงสกุล อีกหนึ่งผู้ร่วมฟังเสวนากล่าวว่า ถ้าสมมติว่าเพลงเพื่อชีวิตคือเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมือง ยกตัวอย่างเพลงของ กปปส. ซึ่งล้วนแต่เป็นเพลงในป่า หรือในทำนองรูปแบบนั้น และผมเชื่อว่าเขาแต่งเพลงเหล่านั้นด้วยความรู้สึกภูมิใจ อาจจะเป็นการผลิตเพลงเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่มันก็เป็นเนื้อหาทางการเมืองแบบหนึ่ง นี่ถือเป็นเพื่อชีวิตหรือไม่ ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองทั้งหมด สมมติฝ่ายซ้ายแพ้ทางการเมืองระดับโลก ข้างล่างเราก็จะรู้สึกว่าการต่อสู้ทางวัฒนธรรมเราก็เพลี่ยงพล้ำ แต่มันก็เป็นการต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด แต่ผมคิดว่าเราก็ต้องยืนหยัดต่อสู้ในความเชื่อของเราไป และผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นเพลงแมสหรือไม่แมสที่มีเนื้อหาเหล่านี้ ก็ล้วนเป็นการต่อสู้ทั้งสิ้น

กิติภูมิยกตัวอย่างเพลงสองเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมือง คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ทำหน้าที่เป็นเพลงชาติด้วย แต่หลังพ.ศ. 2475 ทหารรวมถึงข้าราชการพลเรือนต้องการจะมีเพลงชาติ การเกิดขึ้นของเพลงชาติไทยส่วนหนึ่งก็มีนัยทางการเมือง เป็นการต่อสู้ระหว่างคณะราษฎรกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ที่แปลกก็คือตอนนี้ทั้งสองเพลงกลายเป็นเพลงที่แตะต้องไม่ได้แล้ว เป็นเพลงที่จับมือกันไปแล้ว เพลงชาติก็ไม่สามารถมีใครมาเปลี่ยนทำนองได้ เพลงสรรเสริญพระบารมีอาจมีเอามาเรียบเรียงใหม่เป็นแนวคลาสสิก ป๊อบ แต่ไม่มีใครเอามาเรียบเรียงเป็นเพลงแร็พ ลูกทุ่ง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครูสโลเวเนียประท้วงขอขึ้นเงินเดือน 10%

Posted: 15 Feb 2018 02:38 AM PST

สหภาพแรงงานครูสโลเวเนียขอขึ้นเงินเดือนอีก 10% ชี้อาชีพครูได้เงินเดือนต่ำมากเมื่อเทียบกับคนที่สำเร็จการศึกษาในระดับเดียวกันที่ทำงานภาครัฐอื่น ๆ และไม่ได้ขึ้นค่าแรงมาเกือบ 10 ปี แล้ว

เมื่อวันวาเลนไทน์ (14 ก.พ. 2561) ที่ผ่านมาโรงเรียนเกือบทุกแห่งในประเทศสโลเวเนียต้องหยุดการเรียนการสอนหนึ่งวันเนื่องจากครูทั่วประเทศประมาณ 40,000 คน ทำการหยุดงานประท้วงขอขึ้นค่าจ้าง โดยในเมืองหลวงลุบยานา (Ljubljana) มีครูประมาณ 10,000 คน รวมตัวกันที่จัตุรัสกลางเมือง

แกนนำในการนัดหยุดงานประท้วงนี้คือสหภาพแรงงานครูสโลเวเนีย (SVIZ) ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานภาคการศึกษายุโรป (ETUCE) ทั้งนี้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสหภาพแรงงานและรัฐบาลสโลเวเนียได้มีการเจรจากันหลายรอบแต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

สหภาพแรงงานครูขอขึ้นเงินเดือนอีกร้อยละ 10 โดยให้เหตุผลว่าอาชีพครูได้เงินเดือนต่ำมากเมื่อเทียบกับคนที่สำเร็จการศึกษาในระดับเดียวกันที่ทำงานภาครัฐกลุ่มอื่น ๆ แต่รัฐบาลได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน โดยระบุว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 1 พันล้านยูโรต่อปี (ประมาณ 38,790 ล้านบาท) ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะการคลังของประเทศ

แต่กระนั้นรัฐบาลสโลเวเนียคาดว่าปีงบประมาณ 2561 นี้รัฐจะมีรายได้เกินดุลร้อยละ 0.4 เทียบกับปีงบประมาณก่อนที่ขาดดุลร้อยละ 0.8 และคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 เพราะมีการส่งออกและลงทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้รัฐบาลสโลเวเนียได้ออกกฎหมายจำกัดการขึ้นค่าแรงพนักงานภาครัฐมาตั้งแต่ครั้งวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2551 ซึ่งความเห็นของผู้ชุมนุมมีการระบุว่าค่าแรงของครูตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลจนถึงโรงเรียนมัธยมต้องเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤต

"ฉันไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความรักในอาชีพของฉันเท่านั้น" ครูที่ประท้วงคนหนึ่งระบุ "เราต้องการจ่ายค่าจ้างที่ดีขึ้น เนื่องจากค่าจ้างของเราต่ำ ถึงแม้ว่าเราจะทำงานได้ดีเป็นอย่างมาก" ผู้ประท้วงซึ่งเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งระบุ

สหภาพแรงงานครูระบุว่าหากยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลก็จะมีการนัดหยุดงานประท้วงอีกครั้งในวันที่ 14 ม.ค. 2561

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา พนักงานภาครัฐในสโลเวเนียก็เคยหยุดงานประท้วงหนึ่งวันมาแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลของสโลเวเนียกำลังถูกสหภาพแรงงานภาครัฐกดดันให้ขึ้นเงินเดือนให้ทัดเทียมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว  โดยมีการวิเคราะห์ว่ารัฐบาลจะตอบรับข้อเสนอของสหภาพแรงงาน เนื่องจากสโลเวเนียจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มิ.ย. 2561 นี้

 

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Slovenian Teachers Strike For More Pay In Week Of Public Sector Protests (starspost.com, 14/1/2018)
Slovenia Teachers Rally, Schools Close as Part of Strike (VOA, 14/1/2018)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองสูงสุดยังคุ้มครองกิจกรรมเดินมิตรภาพต่อ

Posted: 15 Feb 2018 02:07 AM PST

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่ให้ ผบ.ตร.สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และ 4  มิให้ปิดกั้น ขัดขวาง การชุมนุมและคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในกิจกรรม "We walk เดินมิตรภาพ"

ที่มาภาพ 'People GO network'

15 ก.พ.2561 รายงานข่าวจากสำนักงานศาลปกครองระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 14.00 น. ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งของ ศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์กับพวกรวม 4 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)กับ พวกรวม 7 คน จากการร่วมชุมนุมและจัดกิจกรรม "We walk เดินมิตรภาพ" จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มุ่งสู่จังหวัดข่อนแก่น โดยมีคำขอให้ สตช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการดำเนินการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายและให้ดูแล การชุมนุมสาธารณะ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ชุมนุม กับให้ชดใช้ ค่าเสียหายจากการละเมิด ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้ สตช. โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมิให้กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ ขอบเขตของกฎหมาย และใช้อำนาจหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะและรักษาความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัด จนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2561

แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานก็ชอบจะพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมหรือแก้ไข หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญ ประการหนึ่งของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้แต่จะถูกจำกัดได้ เฉพาะแต่กรณีเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรม อันดีของประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิ ชุมนุมสาธารณะไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ได้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานี ตำรวจภูธรคลองหลวงแล้ว ซึ่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขหรือคำสั่งห้าม การชุมนุมแต่อย่างใด และจากพยานหลักฐานมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีการปิดกั้น ขัดขวาง และทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้เข้าร่วมชุมนุมรู้สึก หวาดกลัว ซึ่งอาจมีการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปในเหตุที่ถูกฟ้องร้อง อันกระทบต่อสาระสำคัญของ สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของ ศาลไม่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของ สตช. แต่อย่างใด แต่ระหว่างที่มีการชุมนุม หากเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่ามีการกระทำใด ๆ อันนำไปสู่การชุมนุมสาธารณะ

ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือมีคำสั่งหรือประกาศให้มีการแก้ไขหรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกชุมนุมหรือสั่งให้ยุติการกระทำนั้น หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้
 
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง กสท. กรณีปรับ ThaiPBS จากรายการตอบโจทย์ ตอน สถาบันกษัตริย์ฯ

Posted: 15 Feb 2018 01:10 AM PST

ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง กสท. กรณีปรับ ThaiPBS จากรายการตอบโจทย์  ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ปี 56 เหตุ พล.ท.พีระพงษ์ ลงมติไม่เป็นกลาง

15 ก.พ.2561 วานนี้ (14 ก.พ.61) iLaw รายงานว่า ศาลปกครองมีคำพิพากษา ในคดีที่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยื่นฟ้อง กสทช. จากกรณีสั่งปรับทางสถานีเป็นเงิน 50,000 บาท เพราะเนื้อหาของรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ที่ออกอากาศเมื่อเดือน มี.ค.2556 มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ต้องห้ามตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 โดยศาลปกครองเห็นว่า พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ หนึ่งในสองกรรมการที่ลงมติครั้งนี้มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง พร้อมทั้งสั่งให้กสทช.คืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยกับไทยพีบีเอส อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองไม่ได้วินิจฉัยลงรายละเอียดว่า เนื้อหาของรายการที่ออกอากาศเข้าข่ายต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่

ลำดับข้อเท็จจริงในคดี  iLaw  ได้สรุปไว้ดังนี้นี้

1. เดือนมีนาคม 2556 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ทั้งหมด 5 ตอน โดยมีภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ 2 ใน 5 ตอนของรายการมีแขกรับเชิญเป็นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งการออกอากาศรายการทั้งสองตอนก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการชะลอการออกอากาศรายการบางตอนไว้ระยะหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดรายการทุกตอนก็ได้ออกอากาศจนครบและทางสถานีก็มีการออกคำชี้แจงเกี่ยวกับกรณีนี้ด้วย

2. มีประชาชนมาร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช. ให้ตรวจสอบว่า การออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนดังกล่าว เป็นการทำลายความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หรือไม่

3. กสท. ซึ่งเป็นคณะกรรมการส่วนกิจการวิทยุโทรทัศน์ของ กสทช. ได้มอบหมายให้อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการพิจารณาเนื้อหาของรายการตอบโจทย์ที่ถูกร้องเรียน คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา ต่อมาคณะทำงานมีความเห็นว่า เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ของรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวของกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม จึงไม่อาจพิจารณาได้ว่า รายการดังกล่าวขัดต่อมาตรา 37 หรือไม่ ทั้งเนื้อหารายการก็ไม่ปรากฏชัดถึงคำพูดที่ก่อให้เกิดการล้มลางการปกครงในระบอบประชาธิปไตยันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4. วันที่ 4 ส.ค. 2557 คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมี พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจเป็นประธาน ลงมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับคณะทำงาน เพราะเห็นว่า รายการนี้มีเนื้อหาต้องห้าม และเสนอเรื่องไปยัง กสท. ซึ่งมีกรรมการเข้าร่วมประชุม 4 คน ลงมติเห็นว่า รายการมีเนื้อหาบางช่วงเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ มีผู้รับเชิญและผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม จึงเห็นได้ว่า แม้รายการดังกล่าวไม่มีผลเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่รายการดังกล่าวมีเนื้อหาในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ขัดต่อมาตรา 37 โดยกรรมการที่เห็นด้วยกับการลงมตินี้ 2 คน คือ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ, ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ไม่เห็นด้วย 1 คน คือ สุภิญญา กลางณรงค์ และงดออกเสียง 1 คน คือ พ.อ.นที ศุกลรัตน์

5. วันที่ 30 ก.ย. 2557 กสท. ออกคำสั่งทางปกครองให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ชำระค่าปรับ 50,000 บาท ภายใน 15 วัน และไทยพีบีเอสก็ได้นำค่าปรับไปชำระเรียบร้อยแล้ว

6. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า การออกคำสั่งของ กสท. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ

6.1) ในการประชุมของ กสท. มี พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ร่วมประชุมและลงมติด้วย ซึ่งจากพฤติกรรมในบันทึกการประชุมเห็นว่า พล.ท.พีระพงษ์ มีความเห็นว่า รายการตอบโจทย์มีความผิดมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นอนุกรรมการฯ และได้คัดค้านรายงานของคณะทำงาน และยังมาลงมติในการประชุมของ กสท. อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นผู้มีความเห็นเป็นประปักษ์ มีอคติ และขาดความเป็นกลาง การลงมติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6.2) ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ผู้ที่ให้ข้อมูลว่า รายการนี้ขัดต่อกฎหมายล้วนมาจากฝ่ายความมั่นคง กสท. ฟังข้อเท็จจริงจาก กอ.รมน. สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ได้ฟังจากนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน ขัดกับหลักการฟังความสองฝ่าย

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2561 ศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีนี้เห็นว่า พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้ทั้งในฐานะประธานอนุกรรมการฯ และกรรมการ กสท. ทั้งสองคณะ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาไว้ จึงต้องนำเอาพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาบังคับใช้ ซึ่งมีมาตรา 3 กำหนดว่า กรรมการผู้พิจารณาต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่กรณี และไม่มีพฤติการณ์อื่นซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันจะทำให้ไม่เป็นกลาง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.ท.พีระพงษ์ ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะทำงาน และในการประชุมลงมติของคณะอนุกรรมการซึ่ง พล.ท.พีระพงษ์ เป็นประธาน พล.ท.พีระพงษ์ ก็ยังเข้าลงมติฝ่ายเสียงข้างมากที่เห็นว่า รายการนี้ขัดต่อมาตรา 37 เมื่อ พล.ท.พีระพงษ์ ยังเข้าประชุมในฐานะกรรมการ กสท. ก็ย่อมต้องมีความเห็นเช่นเดิม ซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี กรณีนี้ถือได้ว่า เป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และเป็นกรณีที่ไม่อาจถือได้ว่า จำเป็นเร่งด่วนไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้ คำวินิจฉัยของ กสท. ที่ให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจ่ายค่าปรับ 50,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปัญหาอื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

ศาลปกครองพิพากษาให้ เพิกถอนคำสั่งของ กสท. และให้สำนักงาน กสทช. คืนเงินค่าปรับ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคสนามปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยากับ “คนอื่น”

Posted: 15 Feb 2018 01:01 AM PST

 

1. เกริ่นนำ

ภาคสนามสำหรับนักมานุษยวิทยามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่จะให้เข้าใจโลกของคนอื่น และในขณะเดี่ยวกันยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราสะท้อนย้อนคิด ตรึกตรอง และที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ที่ทดสอบสติปัญญา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงวิธีการที่จะเข้าถึงข้อมูล ซึ่งการลงภาคสนามจะเป็นประสบการณ์ที่นักมานุษยวิทยาใช้ไปจนกว่าจะเลิกล้มในฐานะนักมานุษยวิทยา หนังสือเรื่อง "Reflections on Fieldwork in Morocco" ของ Paul Rabinow[2] เป็นงานที่เสนอปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยา คือ ตัวของ Rabinow ขณะที่ทำภาคสนามในโมร็อกโก ในช่วงปี ค.ศ. 1968-1969 เป็นการเผยให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาทำงานอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูล มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรในขณะที่ลงพื้นที่ภาคสนาม และนักมานุษยวิทยาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือจัดการปัญหานั้นๆ อย่างไร เพราะการลงภาคสนามของนักมานุษยวิทยาเป็น "พื้นที่แห่งการเปลี่ยนผ่าน" เพื่อที่จะได้เป็นนักมานุษยวิทยาอย่างแท้จริง พื้นที่จึงไม่ได้เป็นแต่ "สนาม" ของข้อมูลเท่านั้น ยังเป็นพื้นที่แห่งการใคร่ครวญ สะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่านักมานุษยวิทยามี "ตัวตน" อย่างไร ซึ่งการลงพื้นที่ภาคสนามทำให้นักมานุษยวิทยาต้องเผชิญกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง และจะเปลี่ยนผ่านอย่างไรเพื่อให้เข้าไปสู่ชุมชน และวัฒนธรรมที่ตนเองศึกษา

การที่ Rabinow เขียนหนังสือเล่มนี้มาเป็นการสะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่าการลงภาคสนาม คือ การที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมอื่น และต้องเผชิญกับวิธีคิดแบบอื่นเพื่อที่จะเข้าใจมัน ยกตัวอย่างที่ Rabinow เล่าคือ การที่เขาเป็นคนตะวันตก ที่มีความเชื่อเรื่อง "ปัจเจกนิยม" แต่พอเข้าไปในพื้นที่เขากับพบวัฒนธรรมอื่น เช่น การยืมรถ หรือการที่จะมีเรื่องชกต่อยกับ Ali ในงานเลี้ยง เพราะอาลีคิดว่าเขาเป็นเพื่อนที่มีพันธะอะไรบางอย่างต่อกัน แต่ตัวของ Rabinow กลับมีความเชื่อเรื่องความเป็นปัจเจก ทำให้วัฒนธรรมความเชื่อปะทะกัน และสะท้อนให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาแก้ไขปัญหาอย่างไร

Rabinow, Paul. Reflections on fieldwork in Morocco. CA. : University of California Press, 1977.


Clifford, James and George E. Marcus. (Edited). Writing Culture : The Poetics and Politics of Ethnography. CA. : University of California Press, 1986.

การเปิดเผยให้เห็นว่าขณะที่นักมานุษยวิทยาลงพื้นที่ต้องเผชิญกับ "ความเป็นอื่น" ในหลายระนาบ แล้วนักมานุษยวิทยาแก้ไข จัดการปัญหานั้นๆ อย่างไร เพื่อก้าวเข้าไปเป็นนักมานุษยวิทยาเต็มตัว
 

2. สนามของนักมานุษยวิทยาปฏิสัมพันธ์กับความเป็นอื่น

การศึกษามานุษยวิทยา มีมโนทัศน์เกี่ยวกับ field / champ (fr.) ของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu, 1930-2002) หมายถึง สนาม, สนามประลองหรือวงการ (ตามการบัญญัติคำของ รศ.นพพร ประชากุล) สื่อถึงโครงสร้าง / พื้นที่ทางสังคมที่มีการประชันขันแข่งกันด้วยความรู้ รสนิยม หรือวัฒนธรรมระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม โดยการแสดงออกผ่านการปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่นในวงการบันเทิง วงการไฮโซ วงการการเมือง หรือแม้แต่ในวงการวิชาการ ตามความหมายดังกล่าวนี้ "สังคม" ที่เรามีชีวิตอยู่ จึงเป็นพื้นที่ของการซ้อนทับกันของ "สนาม" ในแบบต่างๆ ที่รอให้นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา และผู้สนใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้ศึกษาเรียนรู้ สยบยอม เปลี่ยนแปลงหรือพยายามทำความเข้าใจ "สนาม" จึงเป็นพื้นที่สาธารณะอันเป็นที่มาแห่งความรู้ เห็นความซับซ้อนของอำนาจที่ไหลเวียนอยู่รายรอบ[3]

พื้นที่สนาม หรือ field ของนักมานุษยวิทยา ในอดีตมักเป็นพื้นที่หมู่บ้านขนาดเล็ก หรือไม่ก็ชนเผ่าที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก สามารถกำหนดขอบเขตได้ เช่น การศึกษาชนเผ่าเบดูอิน ของ ของ Lila Abu-Lughod[4] ที่เข้าไปศึกษาเรื่องการใช้ ghinnawa หรือบทกวี ที่หญิงชาวเบดูอินใช้แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก เพื่อต่อต้านอำนาจของผู้ชาย หรือการศึกษาของ Nancy Eberhardt[5] ในพื้นที่หมู่บ้านบ้านชาวไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอน ที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านในช่วงชีวิตของคนในหมู่บ้านภายใต้พิธีกรรมต่างๆ สนามจึงเป็นพื้นที่ที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ หรือไม่ก็มีความสัมพันธ์ของคนในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่เลื่อนไหล เปลี่ยนแปรได้ แต่อยู่ภายใต้พื้นที่จำกัดหนึ่ง เช่น หมู่บ้าน เป็นต้น

"สนามไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทางกายภาพ แต่บรรจุเอาความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่มาก่อน (เจ้าของวัฒนธรรม) ที่มีความสัมพันธ์และสำคัญต่อสนามในระดับที่แตกต่างกัน กับผู้มาใหม่ (นักมานุษยวิทยา) ที่ไม่ได้ถูกต้อนรับในฐานะแขกผู้มาเยือนอย่างเดียว แต่อาจถูกตรวจสอบข้อมูล ถูกตีความ ถูกเอาเปรียบ ถูกทดสอบความอดทนในรูปแบบต่าง ๆ จากผู้คนในสนามด้วย

Coleman, Simon and Peter Collins. Locating the Field : Space, Place and Context in Anthropology. Oxford ; NY. : Berg, 2006.


Lila Abu-Lughod. Veiled sentiments : honor and poetry in a Bedouin society. Berkeley : University of California Press, 1988.

เนื่องจากการเข้าไปศึกษาวัฒนธรรมนั้นไม่ได้เรียบง่ายและราบรื่น แต่ต้องผ่านการถูกทดสอบความสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ ทำให้ตัวตนของนักมานุษยวิทยานั้นถูกกระทบจากวัฒนธรรมและวิธีคิดที่ต่างไปจากสังคมที่ตนเองจากมา การปรับตัว การประนีประนอม ผ่อนปรน หรือยืนกราน คือกระบวนการที่ถูกปรับใช้ในสนาม นักมานุษยวิทยาไม่สามารถเป็นผู้รุกไล่เอาข้อมูลมาได้โดยง่ายตามใจต้องการ เพราะชุมชนไม่ได้เป็นฝ่ายรับที่รอการถูกค้นพบ แต่เป็นตัวของตัวเอง มีวัฒนธรรมของตนเอง มีพื้นที่ (สนาม) เป็นของตนเอง ซึ่งนักมานุษยวิทยาต่างหากคือผู้แปลกหน้าที่ก้าวเข้าไปยังพื้นที่ของชาวบ้าน การเรียนรู้ที่จะรู้จักวัฒนธรรมของชาวบ้าน จึงไม่ได้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเก็บข้อมูลแล้วจากมาอย่างประสบความสำเร็จโดยง่าย แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องของการทำความรู้จัก การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผิดหวัง สมหวัง ได้ข้อมูล เกิดความผิดพลาด ขัดแย้งและปรับตัว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเกิดขึ้นกับนักมานุษยวิทยาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับชาวบ้าน (โดยเฉพาะผู้ให้ข้อมูลซึ่งทำงานร่วมกับนักมานุษยวิทยา) อีกด้วย ทั้งสองฝ่ายจึงมีโอกาสที่จะสะท้อนย้อนคิดทบทวนถึงตัวตนของตนเองหลังการปะทะดังกล่าว


ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, บรรณาธิการ. คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2545.

การปะทะทางวัฒนธรรมนั้นยังสะท้อนให้เห็นความพยายามของคนในที่จะตอบสนองต่อคนนอก ในการเปิดโอกาสให้นักมานุษยวิทยาทำความเข้าใจวัฒนธรรมของตนนั้น ไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ แต่เกิดจากการจงใจในการเลือกที่จะสื่อความหมายบางอย่างที่คิดว่าจะทำให้คนนอกเข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง ดังนั้นนอกจากการเรียนรู้ความแตกต่างของความเป็น Moroccan จากผู้ให้ข้อมูลทั้งหลายแล้ว ประสบการณ์ภาคสนามยังสะท้อนให้เห็นว่า วัฒนธรรมคือความจริงที่ถูกสร้าง และถูกตีความ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากคนในผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม และคนนอกอย่างนักมานุษยวิทยา จึงไม่มีวัฒนธรรมไหนที่สมควรถูกตีความว่าดั้งเดิมหรือป่าเถื่อน (primitive) กว่าวัฒนธรรมอื่นเพราะทุกวัฒนธรรมก็คือระบบวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างกัน ที่อาจจะถูกตีความแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งตามสายตาและความเข้าใจของทั้งผู้เก็บข้อมูลและผู้ให้ข้อมูล"[6]

เรามักเข้าใจกันว่า นักมานุษยวิทยา คือ คนที่เข้าไปศึกษาวัฒนธรรมคนอื่น ทั้งด้านวัฒนธรรมความคิดความเชื่อ ในอดีต คือ การเข้าไปศึกษา "คนอื่น" หรือวัฒนธรรมอื่น อาทิเช่น วัฒนธรรมชนเผ่า แต่ในปัจจุบันก็มีการศึกษาสังคมวัฒนธรรมของตนเองมากขึ้น

นักมานุษยวิทยามิได้เข้าไปในพื้นที่ภาคสนามโดยปราศจากอคติ ความคิด ความเชื่อ แต่เรา "แบก" อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปด้วย ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนั้นมีผลอย่างสำคัญต่อการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล การที่ลงภาคสนามนักมานุษยวิทยาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต่อสู้กับ "ตัวตน" (Self) ของนักมานุษยวิทยากับข้อมูลที่ได้ 

การลงพื้นที่ภาคสนามจึงเป็นการใคร่ครวญ สะท้อนย้อนคิดของนักมานุษยวิทยา ซึ่งไม่ได้เป็นแต่การเข้าใจ "คนอื่น" แต่บางทีก็เป็นการเข้าใจ "ตนเองด้วย" การลงพื้นที่ภาคสนามจึงเป็นเหมือน Dialectic ที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา และคนอื่น[7]

นอกจากนี้นักมานุษยวิทยายังต้องแบก (1) "หน้าที่" เพื่อทำความเข้าใจคนอื่น (2) เพื่อที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เราศึกษา เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองที่เราเข้าไปอยู่ (3) เรากลับมือเปล่าโดยที่ไม่รู้อะไรเลยไม่ได้ พื้นที่ภาคสนามเหมือนพื้นที่ที่เราเข้าไปเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็น "นักมานุษยวิทยา" ซึ่งแตกต่างจากนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่โดยไม่ต้องแบกรับ "หน้าที่" ของการศึกษาวัฒนธรรมอื่น และไม่ต้องคิดว่าพื้นที่เป็นบ้าน นักท่องเที่ยวสามารถอยู่อย่างที่บ้านนำพาบ้านจากที่อื่นมาในพื้นที่ที่ท่องเที่ยวได้ ไม่ต้องเปลี่ยนผ่านเพื่อที่จะเป็นคนในวัฒนธรรม และสามารถจากไปโดยไม่ต้องเรียนรู้อะไร หรือมีอะไรติดมือไปก็ได้ เพราะถือว่ามาเที่ยวแล้ว

พื้นที่ภาคสนามจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อนักมานุษยวิทยาเพราะเราได้นำพาตัวตน วัฒนธรรมของเราไปสู่คนอื่น เพื่อทำความเข้าใจคนอื่น

แต่อย่างไรก็ดี นักมานุษยวิทยาก็ไม่ได้เป็นแต่ผู้ที่ถูกศึกษา แต่นักมานุษยวิทยายังเป็นผู้ที่ถูกศึกษาด้วย นักมานุษยวิทยามิได้เข้าไปอย่างเปลือยเปล่าในทางกลับกันคนในพื้นที่ก็ตรวจสอบนักมานุษยวิทยาเช่นกัน ตัวอย่างกรณีของ Rabinow ก็ถูกมองว่าเป็นหมอสอนศาสนาคริสต์ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนศาสนาคนในพื้นที่ หรือถูกมองจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะเป็นสายลับที่เข้าไปสืบความลับต่างๆ ในที่นี้นักมานุษยวิทยาจึง "เป็นคนแปลกหน้า" หรือ "คนอื่น" ของคนในพื้นที่ที่เราศึกษา ไม่ได้รับความไว้วางใจ เชื่อใจ

นักมานุษยวิทยาอาจเป็นเหมือน "แหล่งทรัพยากร" ที่คนในพื้นที่เข้าไปช่วงใช้ประโยชน์ เช่น Rabinow ก็ถูกคนในพื้นที่ยืมรถ หรือกรณีของ Ibrahim ที่มุ่งจะแสวงหาประโยคจาก Rabinow หรือกรณีประเทศไทยพบว่ามักมานุษยวิทยาได้กลายมาเป็นปากเสียง และเป็นแหล่งข้อมูลที่ชาวบ้านใช้ต่อสู้กับรัฐ ทุน ซึ่งทำให้เห็นว่าชาวบ้านเองก็ช่วงใช้นักมานุษยวิทยาในหลากหลายรูปแบบ

อาจกล่าวได้ว่าชาวบ้านในพื้นที่ก็มิได้เป็นเสมือนวัตถุที่แน่นิ่งที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา แต่ในทางตรงกันข้ามนักมานุษยวิทยาก็เป็นเสมือน "สิ่งของ วัตถุ วัฒนธรรม คนอื่น" ที่ชาวบ้านศึกษาด้วย ทั้งสองฝ่ายต่างศึกษาซึ่งกันและกัน และตัวของชาวบ้านก็ไม่ได้ใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว แต่ "มีการเมือง" ของพื้นที่ด้วย ฉะนั้น ในพื้นที่จึงมีทั้งสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่ทำไม่ได้ บางอย่างนักมานุษยวิทยาทำได้ บางสิ่งทำไม่ได้

การที่เราเห็นอาจเป็นเหมือนหน้ากากที่มีข้างหลังฉากที่เราไม่รู้ อย่างกรณีของแบรีแมน ที่ศึกษาหมู่บ้านในเทือกเขาหิมาลัยต่ำ ทางตอนเหนือของอินเดีย เขาพบว่าสิ่งที่ชาวบ้านแสดงให้เห็นกับสิ่งที่อยู่หลังฉากบางครั้งไม่ใช่สิ่งเดี่ยวกัน สิ่งที่ชาวบ้านแสดง คือ สิ่งที่ต้องการให้เขารับรู้ แต่ข้างหลังฉากคือความจริงที่ต้องการซ่อนเร้น เช่น การกินเนื้อของพวกวรรณะพราหมณ์ หรือกรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินของคนในพื้นที่ ซึ่งเรื่องความขัดแย้งชาวบ้านมักไม่เล่าให้นักมานุษยวิทยา หรือคนอื่นฟัง การที่นักมานุษยวิทยาจะได้ข้อมูลต้องอาศัยการศึกษาจากสภาวะแวดล้อม หรือคนอื่นในพื้นที่ ซึ่งอยู่ที่เทคนิคของแต่ละคน อย่างไรก็ตามนักมานุษยวิทยาก็คือ "คนอื่น" "ที่ถูกศึกษา" ในพื้นที่ที่ศึกษา ซึ่งแบรีแมนก็พบเจอกับสถานการณ์เช่นนี้เหมือนกัน[8]

ความสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยากับ "พื้นที่/สนาม" จึงเป็นปฏิสัมพันธ์แบบ Dialectic หรือความสัมพันธ์สองทางที่ต่างก็ศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ได้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเหมือนวัตถุที่ให้ศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียว การลงพื้นที่ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาจึงเป็นเสมือนพื้นที่แห่งการเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้าใจโลกของตนเอง และโลกของคนอื่น
 

3. นักมานุษยวิทยา: โลกของ "ตน" หรือโลก "คนอื่น" ผ่านการเขียน "วัฒนธรรม"

ส่วนหนังสือเรื่อง Writing Culture: The Poetics and Politics of Ethnography ที่ James Clifford และ George E. Marcus[9] เป็นบรรณาธิการ ได้นำเสนอให้เห็นการศึกษาของนักมานุษยวิทยาทั้งการเขียน การลงภาคสนาม หรือการใช้มุมมองทางทฤษฎีเพื่อศึกษา "คนอื่น" โดยมานุษยวิทยาเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจคนอื่น เพื่อที่จะเข้าใจ "โลกของเราเอง" บางครั้งเราก็เอาโลกของเราไปทาบทาโลกของคนอื่น โลกของคนอื่น จึงเป็นโลกที่เราสร้างขึ้น โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี

นักมานุษยวิทยามักทึกทักเอาว่าเราเขียนสิ่งที่คนอื่นคิด แท้จริงแล้วเรากับเขียนเรื่องที่เราเป็นท่ามกลางการจัดเรียงข้อมูล เราเลือกที่จะเขียนเรื่องที่เราสนใจ ละเลยข้อมูลที่ไม่เข้าพวก

ธเนศ วงศ์ยานนาวา ได้ให้คำจำกัดความว่า "วิชามานุษยวิทยาก็เป็นวิชาที่ทะลุทะลวงพื้นที่ของความเป็นส่วนตัวอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาทางสังคมศาสตร์แบบอื่นๆ จนทำให้เกิดคำกล่าวตลกๆ ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า อะไรคือครอบครัวของพวกอินเดียนแดงในทวีปอเมริกา ครอบครัวเดี่ยวของอินเดียนแดงประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูกและนักมานุษยวิทยาอีกหนึ่งคน ครั้นเมื่อสังคมชนเผ่าหาได้น้อยลง ดินแดนอย่างปาปัวนิวกีนีก็เป็นสวรรค์ของนักมานุษยวิทยา ดังนั้นครอบครัวเดี่ยวของสังคมปาปัวนิวกีนี ก็ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูกและนักมานุษยวิทยาหนึ่งคน เพียงแต่คราวนี้หลากหลายชาติ"[10] วิชามานุษยวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่พยายามเข้าใจคนอื่น เพื่อส่องสะท้อนโลกของเราเอง

การศึกษาของนักมานุษยวิทยา คือ การศึกษาโลกที่ไกลโพ้น ที่มีสมมติฐานว่าแตกต่างจากเรา ซึ่งการศึกษา คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ "ผู้ที่ถูกศึกษา" โดยเชื่อว่าจะเป็นกระจกที่ส่องสะท้อนความเป็นจริง (represent) ชีวิตวัฒนธรรมของผู้ถูกศึกษาสู่ผู้อื่น ซึ่งผู้ศึกษาจะต้องเรียนรู้ผู้ถูกศึกษาอย่างปลอดอคติ ความคิด ความเชื่อ และค่านิยมที่ตนเองมี หรือพูดได้ว่าเป็นเหมือนกระจกที่ส่องสะท้อนความจริงให้ผู้อื่นได้รับรู้[11]

แม้ภายหลังแนวคิดที่ว่าการศึกษาของนักมานุษยวิทยาได้แปรเปลี่ยนไป มิได้เป็นการศึกษาที่ปราศจากอคติ ความเชื่อเจือปน เป็นแต่การศึกษาชาติพันธุ์วิทยาที่ "สร้างภาพแทนความจริง" (representation) ของคนพื้นเมือง หรือผู้ถูกศึกษา ภายใต้บริบทของสังคม วัฒนธรรมของนักชาติพันธุ์วิทยา และงานชาติพันธุ์วิทยาก็เป็นแต่เพียงงานประพันธ์ของนักมานุษยวิทยา ที่มีฐานะไม่แตกต่างจาก "นวนิยาย" แม้มีความแตกต่างในแง่นักมานุษยวิทยาจะเอ่ยอ้างหลักวิชาการในการเก็บข้อมูล และเรียบเรียงข้อมูลให้ลงรอยกันเท่านั้น (Clifford 1986)

การศึกษาของนักมานุษยวิทยาจึงเป็นการศึกษาที่ก้าวเข้าไปอยู่โลกของคนอื่น ที่อาจเหมือน หรือต่างจากเรา แต่ไม่ใช่โลกของเราอย่างแน่แท้ "โลก" ในยุคแรกเป็นโลกที่ต้องการหาความเป็นแบบแผนเพื่อเข้าใจโลกที่เราอยู่ว่ามีพัฒนาการอย่างไร แม้ต่อมาจะก้าวหน้าจนศึกษาการใช้เหตุผลตรรกะ หรือการอธิบายโลกของผู้ศึกษาแล้ว แต่ก็เป็นโลกของผู้อื่นอยู่ดี

การศึกษามานุษยวิทยาจึงเป็นการศึกษา "คนอื่น" โดย "คนอื่น" นักมานุษยวิทยาจึงเป็นเหมือนผู้ข้ามโลกของตนเอง และโลกของผู้อื่น ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ว่าการการข้ามไปสู่โลกของคนอื่น เราจะสามารถละทิ้งความเข้าใจโลกของตนเองได้ และฉายสะท้อนโลกของคนที่เราศึกษาได้อย่างหมดจดเหมือนกระจก

นำมาสู่การสร้างวิธีวิทยาที่หลากหลายเพื่อให้เข้าใจโลกของคนอื่น เช่น การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เราศึกษา การลงภาคสนามอย่างเข้มข้น การสร้างทฤษฎีในการอธิบายอย่างซับซ้อน หรือแม้แต่เผยตัวตนของนักมานุษยวิทยาว่ามีฐานคติอย่างไร ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ทราบตัวตนของนักมานุษยวิทยา หรือแม้แต่ให้ผู้ถูกศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาก็เป็นวิธีการหนึ่ง ที่นักมานุษยวิทยาทำเพื่อให้เข้าใจโลกของคนอื่น

แต่อย่างใดก็ตามการข้ามโลกไม่ง่าย และการข้ามฐานคติของตนยิ่งไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะนักมานุษยวิทยาเมื่อลงภาคสนามย่อมมีเครื่องไม้เครื่องมือทางทฤษฎีอย่างมากมาย เพื่ออธิบายโลกที่เราไม่คุ้นชิน และ "แว่น" (ทฤษฎี) ที่เรานำติดตัวไปย่อมนำมาสู่การจัดเรียงข้อมูลภาคสนามที่เราศึกษา นำมาสู่ข้อมูลที่ไม่เข้าพวก และไม่สามารถอธิบายได้ สิ่งที่เราทำคือ เราเก็บข้อมูลนั้นไว้ หรือไม่ก็ทิ้งมันไป[12]

แล้วอะไรละคือความจริงที่เราศึกษา ก็ข้อมูลที่เข้าพวกเรียงร้อยออกมาในความเข้าใจของเรา ผ่านโลกของเราที่เรารับรู้ ผ่านตรรกะเหตุผลที่เราอธิบายได้

ส่วน "ความเป็นคนนอก – คนในนั้นไม่ได้ติด (fixed) อยู่กับตัวนักมานุษยวิทยาหรือผู้ให้ข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างในการกำหนดสภาวะดังกล่าว เช่น ตัวตนทางสังคม การได้รับการยอมรับ/ปฏิเสธ ระดับของความผ่อนปรนหรือความเข้มงวดของระบบทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมจึงเป็นกระบวนการทำงานที่จริง ๆ แล้ว อาจจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะเมื่อเราสังเกตการณ์อย่างจริงจังเราอาจจะไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เพราะเราต้องการเก็บรายละเอียด ขณะที่เมื่อเรามีส่วนร่วมอย่างจริงจังเราอาจจะไม่ทันสังเกตการณ์อะไรบางอย่างเพราะเราปล่อยตัวไปกับสภาวะการมีส่วนร่วมดังกล่าว

นอกจากนี้ความเป็นคนนอก หรือความเป็นกลางซึ่งเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่มักถูกระบุไว้ในความเป็นนักมานุษยวิทยา ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นในงานชิ้นนี้ว่า มันอาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก ความเป็นกลางหรือวางตัวเองออกนอกวัฒนธรรมที่กำลังศึกษา ซึ่งอาจหมายรวมถึง ตัวตนของนักมานุษยวิทยาถูกดึงออกมา และไม่ถูกกระทบหรือเข้าไป "อิน" กับชุมชนหรือพื้นที่"[13]

ฉะนั้น แม้นักมานุษยวิทยาจะพกพาเครื่องมือลงภาคสนาม เพื่อ "ข้ามโลก" ไปเข้าใจโลกของคนอื่นอย่างไรก็ตาม โลกที่เราศึกษาย่อมเป็นโลกที่ทาบทาด้วยโลกของเราอย่างไม่อาจส่องสะท้อนโลกของคนอื่นได้อย่างหมดจด 

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าการศึกษาของเราไร้ค่า หาแก่นสารไม่ได้ แต่มันแสดงว่าในฐานะมนุษย์ที่ไม่สามารถออกจากโลกของตนได้ เราได้สร้างโลกของเหรียญสองด้านคือการเข้าใจตนเอง และเข้าใจโลกของคนอื่น แม้ไม่สามารถส่องสะท้อนโลกของคนอื่นได้หมดจด แต่มันกลับส่องสะท้อนโลกที่เราอยู่ให้เข้าใจมากขึ้น
 

4. multi-sited ethnography สนามไร้พรมแดน

การเปลี่ยน "สนาม" ของนักมานุษยวิทยาที่หลุดไปจากพื้นที่ที่มีอาณาบริเวณจำกัด หรือมีพื้นที่ทางกายภาพที่แน่นอน เป็นพื้นที่เล็กๆ เช่น หมู่บ้าน ที่เราสามารถ ควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ เป็นพื้นที่ที่หลากหลาย ไม่มีขอบเขตแน่นอน เช่น พื้นที่ในโลกไซเบอร์ ที่คนที่มีปฏิสัมพันธ์อาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตา เป็นโลกที่ไม่พรมแดนแน่นอน หนังสือเรื่อง Locating the field : space, place and context in anthropology โดย Simon Coleman and Peter Collins[14] เป็นบรรณาธิการ ได้เสนอให้เห็น Locating the Field พูดถึงการเปลี่ยนแปลงมุมมองในการมอง field แบบใหม่ จากการมอง สนาม เป็นพื้นที่ทางกายภาพ ไปสู่พื้นที่ที่มีความหลากหลาย ซึ่ง George Marcus ใช้คำว่า multi-sited field โดยคำนี้มีความหมาย 2 ด้าน ทั้งด้านพื้นที่และวิธีวิทยา ผ่านการที่นักมานุษยวิทยาศึกษาความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ การมอง field แบบใหม่นี้ เปิดโอกาสให้มองพื้นที่แบบลื่นไหล ไม่ตายตัว ให้ความสำคัญกับการปรากฏขึ้นของ field แบบ emergence จากเดิมที่นักมานุษยวิทยามอง field หรือสนาม เป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่มีอาณาเขต ผู้คน ที่มีลักษณะเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปสู่การมองแบบไม่ยึดติดกับพื้นที่ ขยายไปสู่การมองสนามไม่จำกัดอยู่เพียงอาณาบริเวณ แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของผู้คนที่เข้าไปศึกษา เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ของผู้คนบนโลกอินเตอร์เน็ต วิถีชีวิตของคนพลัดถิ่น (diaspora) เป็นต้น ไม่ได้เน้นตัวพื้นที่ศึกษาในลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือกายภาพ แต่เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม Locating the Field พยายามอธิบายความสำคัญของ field ในหลากหลายระดับ เช่น ระดับที่หนึ่งคือการมอง field ในระดับท้องถิ่น (local) ที่มีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม เช่น การศึกษาการใช้พื้นที่ใน South African City ระดับที่สองคือการมอง field ในลักษณะสากล เช่น ความสัมพันธ์ในโลก cyber ซึ่งเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลกที่มีความสัมพันธ์ต่อกันผ่านสื่อสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้า field แบบนี้สะท้อนให้เห็นการไม่มีพื้นที่ทางกายภาพ แต่มีความสัมพันธ์ที่แตกต่างในโลกอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ยังชี้ชวนให้เรามองไปยังมุมอื่นที่นักมานุษยวิทยามักจะละเลย คือ เวลาเราศึกษาเรามักมองเฉพาะพื้นในบ้าน และพื้นที่สาธารณะ แต่แท้จริงแล้วยังมีพื้นที่อื่นที่เราสามารถศึกษาหรือมองได้ เช่น พื้นที่ระเบียง ที่เป็นพื้นที่ระหว่างถนน กับบ้าน หรือบ้าน กับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการเปลี่ยนมุมมอง หรือจุดที่เรายืน ทำให้เราเห็น/เข้าใจโลกของคนอื่นเพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้น งานชิ้นนี้จึงเป็นการชี้ชวนให้นักมานุษยวิทยาได้เปลี่ยนมุมมองจาการศึกษาพื้นที่ที่มีขอบข่ายที่แน่นอน มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เป็นการศึกษาที่ "ความสัมพันธ์" ของผู้คน ที่มีขอบข่ายโยงใยที่กว้างขวาง สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในหลายระนาบ

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ในโลกปัจจุบัน ผนวกกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ ก่อให้เกิดความจำเป็นในการศึกษาแบบพหุสนามแทนการศึกษาแบบฝังตัวในพื้นที่ภาคสนามแห่งเดียวเป็นเวลานาน (Intensively-focus-upon single-site of ethnographic observation and participation) ที่เป็นขนบเดิมทางมานุษยวิทยา ในวัฒนธรรม/สังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในเมืองหรือชนบทปัจจุบันล้วนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันเข้ากระแสทุนนิยมและโลกาภิวัตน์มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในทางกายภาพอาจดูเหมือนว่าอยู่ห่างไกลจากกลุ่มอื่นๆ งานของ Appadurai[15] ชี้ให้เห็นการไหลเวียนของผู้คนสื่อ ที่ข้ามรัฐ ไม่มีพรมแดนที่แน่นอน แต่เทคโนโลยีการสื่อสารและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ตลอดจนบริบททางสังคมการเมืองต่างๆ ได้สร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันกับท้องที่ที่อยู่ห่างไกล (ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ) อย่างแยกไม่ออก เช่น การเดินทางข้ามแดนเพื่อการศึกษา การทำงาน การแต่งงาน การตั้งถิ่นฐาน การท่องเที่ยว เป็นต้น การศึกษาจากจุดใดเพียงจุดเดียวย่อมทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะในด้านการผลิตและบริโภคสินค้า ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันและแกนหลักของสังคมสมัยใหม่ไปแล้ว เช่นเดียวกับงานของ Aihwa Ong[16] ก็แสดงให้เห็นว่าการที่คนจีนโพ้นทะเล ในประเทศต่างๆ ต่างสร้างสายสัมพันธ์แบบใหม่ภายใต้การเป็นพลเมืองของโลก ที่ไม่ยึดติดกับพรมแดนประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ปรับตัว เปลี่ยนปรับความสัมพันธ์ให้เข้ากับบริบทของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการศึกษามานุษยวิทยาแบบยึดติดกับพื้นที่ไม่สามารถทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่งานทั้งสองชิ้นข้างต้นได้ใช้การศึกษา multi-sited ethnography ที่ศึกษาการไหลเวียนของผู้คน ผ่าน "ความสัมพันธ์" มากกว่าขอบเขตของพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดเด่นของการศึกษาด้วยวิธีการนี้[17]

สำหรับหัวใจของการศึกษาพหุสนามคือวิธีการของเลือกพื้นที่แบบต่างๆ Marcus เสนอว่า (1) การติดตามคนกลุ่มเดิมไปในสถานการณ์หรือสถานที่ต่างๆ (2) การติดตามเส้นทางการผลิตและการกระจายของสินค้า/ของขวัญ/เงิน/งานศิลปะ/ทรัพย์สินทางปัญญา/สิ่งอื่นๆ (3) การติดตามเส้นทางของสัญญะ สัญลักษณ์ และการอุปมาที่บ่งชี้ถึงร่องรอยความสัมพันธ์ภายในสังคม และพื้นฐานของความเชื่อมโยงกัน (4) การติดตามโครงเรื่อง เรื่องราว หรือการเปรียบเทียบ, (5) การติดตามประสบการณ์ชีวิตที่ต่อเนื่องของปัจเจกบุคคล (6) การติดตามคู่กรณีความขัดแย้ง และ (7) การศึกษาตามสถานการณ์อย่างมีกลยุทธ์[18]

การศึกษา multi-sited ethnography จึงเป็นการศึกษาที่ไม่มีขอบเขต พรมแดนพื้นที่ตายตัว แต่เน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สิ่งของ ความทรงจำ ฯลฯ ซึ่งเป็นการให้ความสนใจการไหลเวียน เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่งติดตรึงพื้นที่


5. ภาคสนามในฐานะพื้นที่เปลี่ยนผ่าน: ข้ามโลกเพื่อส่องสะท้อนตัวเรา

การแปรเปลี่ยนของของสนามที่ทำให้ความเป็นคนใน คนนอก และพรมแดนพื้นที่พร่าเลือนนำมาสู่การศึกษาแบบ multi-sited ethnography ได้ทำให้พื้นที่สนามของนักมานุษยวิทยาเปลี่ยนไป จากมีพื้นที่ที่แน่นอน มาเป็นพื้นที่ที่มีความเลื่อนไหลตามแต่ "ความสัมพันธ์" ของผู้คนแทน ทำให้สนามของนักมานุษยวิทยาไร้พรมแดน แต่อย่างไรก็ดีการศึกษาแบบ multi-sited ethnography ก็ทำให้เราลงลึกในเรื่องที่ศึกษาได้น้อยลง เพราะไม่สามารถติดตามชีวิต และความสัมพันธ์ของบุคคลได้ แต่ในทางตรงกันข้ามก็ทำให้เกิดความรอบด้าน หลากหลายในการศึกษา ซึ่งเป็นทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดของ multi-sited ethnography[19]

ส่วนการศึกษาในแบบ Rabinow แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของ informant แต่ละคน ซึ่งมีส่วนในการทำให้งานของนักมานุษยวิทยาเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังช่วยให้เกิดความเข้าใจเรื่องการปะทะทางวัฒนธรรม การสะท้อนย้อนคิดถึงตัวตนของนักมานุษยวิทยาในระหว่างการทำงานภาคสนาม และได้ทบทวน ตั้งคำถามกับการทำงานของนักมานุษยวิทยาในสนาม จึงเป็นการส่องสะท้อนให้เห็นเบื้องหน้าเบื้องหลังของการทำงานของนักมานุษยวิทยา ที่ไม่ง่ายนักในการทำงานภาคสนาม ทั้งต้องเผชิญกับวัฒนธรรมที่ตนไม่คุ้นชิน เผชิญกับตัวตนของตัวเอง ที่ทั้งขัดและแย้งกับสิ่งที่เห็นและสิ่งที่วาดฝันไว้ งานชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนการถ่ายทอดประสบการณ์ที่นักเรียนมานุษยวิทยาต้องเผชิญ เป็นงานที่ไม่ค่อยมีใครเขียนมากนักทั้งที่งานภาคสนามหรือประสบการณ์ภาคสนาม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าเรามักจะเห็นแต่เบื้องหน้าคือ เมื่องานเสร็จแล้ว แต่เราไม่เห็นการ "ถ่ายทำ" หรือเบื้องหลังการเก็บข้อมูล ซึ่ง Rabinow ได้สะท้อนให้เห็นการทำงานในภาคสนามซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญของงานชิ้นนี้ เพราะวิชามานุษยวิทยามิใช่ (1) เรื่องภาคสนามเพียงอย่างเดี่ยว (2) เพราะเรานำเอาปราชญา ความคิดไปศึกษาการกระทำ และวัฒนธรรมของมนุษย์ จึงเป็นเหมือนปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคสนามกับความคิดนามธรรมเพื่อให้เราเข้าใจ "มนุษย์" 

ภาคสนามเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ทำให้เราเป็นนักมานุษยวิทยาเต็มตัว[20] จึงเป็นการสะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่าในฐานะนักมานุษยวิทยาที่ศึกษา "คนอื่น" "โลกของคนอื่น" จึงต้องตระหนักรู้ว่าเรากำลังทำอะไร ภายใต้ฐานคติอะไร เพื่อไม่ให้เราทึกทักว่าสิ่งที่เราศึกษาเป็น "ความจริง" ที่ไม่อาจโต้แย้งได้ แท้จริงแล้วสิ่งที่เราศึกษา หรือนิพนธ์ขึ้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความจริงทั้งหมดตามที่เราเข้าใจ จึงทำให้นักเรียนมานุษยวิทยาไม่เอ่ยอ้างว่าเป็นผู้สถาปนาความจริง แท้จริงแล้วเราเป็นแต่เพียง "ผู้ข้ามโลก" ของเราและของคนอื่น เพื่อเข้าใจตัวเราและโลกเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น[21]

ฉะนั้น นักมานุษยวิทยาที่เป็นทั้งคนข้ามโลกเพื่อศึกษาคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ถูกศึกษาด้วยเช่นกัน

 

เชิงอรรถ

 

[1] เอกสารประกอบการบรรยายให้นักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ วันที่ 27 กันยายน 2560

[2] Rabinow, Paul. Reflections on fieldwork in Morocco. CA. : University of California Press, 1977.

[3] สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. สนาม. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2555).

[4] Lila Abu-Lughod. Veiled sentiments : honor and poetry in a Bedouin society. Berkeley : University of California Press, 1988.

[5] Nancy Eberhardt. Imagining the course of life : self-transformation in a Shan Buddhist community / Nancy Eberhardt. Honolulu : University of Hawaii Press, 2006.

[6] เอามาจากการสรุปเพื่อส่งในวิชาสัมมนาระดับปริญญาเอกของ ผศ. ปรารถนา จันทรุพันธุ์ อ. มหาวิทยาลัยศิลปากร

[7] ดูข้อถกเถียงเรื่องนี้ใน, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, บรรณาธิการ. คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2545.

[8] ดูเพิ่มใน, เจอรัลด์ ดี แบรีแมน, อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย แปล. เบื้องหลังหน้ากาก = Behind many masks. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549.

[9] Clifford, James and George E. Marcus. (Edited). Writing Culture : The Poetics and Politics of Ethnography. CA. : University of California Press, 1986.

[10] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. ม(า)นุษย์โรแมนติค. สืบค้นจาก http://bookmoby.com/2013/02/14/romantic-anthropology/. [เข้าถึงวันที่ 3 มีนาคม 2557]

[11] ยุกติ มุกดาวิจิตร. อ่าน 'วัฒนธรรมชุมชน' วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548.

[12] ดูเพิ่มใน, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, บรรณาธิการ. คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2555.

[13] เอามาจากการสรุปเพื่อส่งในวิชาสัมมนาระดับปริญญาเอกของ ผศ. ปรารถนา จันทรุพันธุ์ ผศ. มหาวิทยาลัยศิลปากร

[14] Coleman, Simon and Peter Collins. Locating the Field : Space, Place and Context in Anthropology. Oxford ; NY. : Berg, 2006.

[15] Appadurai, Arjun. Modernity at Large Cultural Dimensions of Globalization. U of Minnesota Press, 1996. 

[16] Ong, Aihwa. Flexible citizenship : the cultural logics of transnationality. Durham, N.C. : Duke University Press, 1999.

[17] เบญจวรรณ นาราสัจจ์. เรียนรู้การทำงานแบบพหุสนาม. ค้นจาก http://tpir53.blogspot.com/2010/11/blog-post.html

[18] Marcus, George E. 1995. "Ethnography in/of the World System : The Emergence of Multi-Sited Ethnography" Annu.Rev. Anthropol. 24 : 95-117.

[19] Coleman, Simon and Peter Collins. Locating the Field : Space, Place and Context in Anthropology. Oxford ; NY. : Berg, 2006.

[20] Rabinow, Paul. Reflections on fieldwork in Morocco. CA. : University of California Press, 1977.

[21] Clifford, James and George E. Marcus. (Edited). Writing Culture : The Poetics and Politics of Ethnography. CA. : University of California Press, 1986.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้งกมธ.ร่วมทบทวบ กม. ส.ส.-ส.ว. พรเพชรชี้หากคว่ำจริง ถือเป็นความรับผิดชอบ สนช.

Posted: 14 Feb 2018 11:59 PM PST

ที่ประชุม สนช. ตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ส.ส.-ส.ว. นัดประชุม ครั้งแรก 19 ก.พ. ประธาน สนช. เชื่อแก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้การเลือกตั้งสมบูรณ์แบบ ไม่กลับไปทะเลาะกันเหมือนอดีต ยันไม่มีเจตนาคว่ำกฎหมาย แต่หากมีการคว่ำจริงถือเป็นความรับผิดชอบของ สนช.

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แฟ้มภาพ

15 ก.พ. 2561 ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 10/2561 ซึ่งมีสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานในที่ประชุม มีวาระสำคัญคือ การตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามมาตรา 267 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญฯ หลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งความเห็นแย้งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมาให้ สนช.ตั้ง กมธ.ร่วม เนื่องจากยังมีประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

สำหรับการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ประชุม สนช. ได้ตั้ง กมธ.ร่วม 11 คน ประกอบด้วย ตัวแทน สนช.5 คน ได้แก่ วิทยา ผิวผ่อง, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, มหรรณพ เดชวิทักษ์, ชาญวิทย์ วสยางกูร และสมชาย แสวงการ ตัวแทน กรธ.5 คน ได้แก่ ภัทระ คำพิทักษ์, ธนาวัฒน์ สังข์ทอง, นรชิต สิงหเสนี, ศุภชัย ยาวะประภาษ และพล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช ส่วนตัวแทน กกต.1 คน ได้แก่ ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ประชุม สนช.ตั้ง กมธ.ร่วม 11 คนประกอบด้วย ตัวแทน สนช.5 คน ได้แก่ สมคิด เลิศไพฑูรย์, พล.อ.อู้ด เบื้องบน, พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ, นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และสมชาย แสวงการ ด้านตัวแทน กรธ.5 คน ได้แก่ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ม อัชพร จารุจินดาม อุดม รัฐอมฤตม ปกรณ์ นิลประพันธ์ และอภิชาต สุขัคคานนท์ ส่วนตัวแทน กกต.1 คน ได้แก่ ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.

สุรชัยแจ้งว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ กมธ.ร่วมต้องพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายให้เสร็จภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อส่งให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาลงมติต่อไป โดยร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประชุมนัดแรกในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เวลา 13.30 น. และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประชุมนัดแรกในวันเดียวกันใน เวลา 15.30 น.

สำหรับเวลาที่ กมธ.ทั้ง 2 คณะต้องพิจารณาข้อโต้แย้งพร้อมทำรายงานให้แล้วเสร็จ ภายใน 15 วันนั้นจะครบกำหนดในวันที่ 1 มีนาคม แต่ในวันดังกล่าวเป็นวันมาฆบูชาซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ทำให้ กมธ.ทั้ง 2 คณะ ต้องพิจารณาพร้อมส่งรายงานให้บรรจุวาระประชุม ก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

ด้านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ระบุว่า สนช. มีความมุ่งมั่นตั้งใจพิจารณากฎหมายให้ดีที่สุด เพราะร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การที่มองว่า สนช. มีความพยายามคว่ำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้น ขอยืนยันว่า สนช. ไม่มีเหตุผลที่จะทำอย่างนั้น และหากจะทำจริงก็สามารถทำได้ก่อนหน้านี้แล้วในชั้นพิจารณาของ สนช. ซึ่งใช่เสียงเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าจะคว่ำในชั้นนี้จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 คือ 166 เสียง จาก 248 เสียง ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก และประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับก็ถือเป็นเรื่องที่พูดคุยเจรจากันได้

"สนช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เราไม่ใช่ศัตรูกัน ที่จะไปรบไปคว่ำ ความเห็นต่างทางกฎหมายก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันก็จบ เพร้าราต้องการให้กฎหมายออกมาดีที่สุด ที่ผมออกมาพูดในวันนี้เพราะประเด็นนี้กำลังมีผลกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง จึงต้องออกมายินยันว่าโรดแมปจะเป็นไปตามกฎหมายลูก ซึ่งที่ผ่านมามีการคำนวณแล้วหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้วันที่ 6 เมษายน 2560 คำนวณคร่าวๆ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลาบปี 61 จนต่อมา สนช. มีการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ขยายเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้พรรคการเมืองได้มีเวลาเตรียมตัว ทำให้โรดแมปขยายถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรืออาจจะเกินไป4-5 วันหากนับแบบเต็มที่ ขอยืนยันว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ไม่เป็นปัญหา บ้านเมืองสงบสุข ไม่นำไปสู่ความขัดย้ง และไม่ทะเลาะกันก่อนหรือหลังเลือกตั้ง และถ้าหากมีการคว่ำกฎหมายจริงก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของ สนช." พรเพชร กล่าว

เรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ , ผู้จัดการออนไลน์ , สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น