โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

“ลูกโป่งที่ลอยไปแล้ว” จากแม่ถึงการ์ตูน NDM

Posted: 13 Feb 2018 10:49 AM PST

"พอเรื่องจริงเกิดขึ้นกับเรา มันไม่ใช่อย่างที่เราคิดเลย มันมีความรู้สึกว่า เหมือนลูกโป่งมันลอยไปแล้ว เรามองมันทั้งเสียดาย ทั้งเศร้า เหมือนมันจะไม่ลอยลงมาหาเราอีกแล้ว แล้วเราก็นึกถึงช่วงเวลาที่เขาเถียงกับพ่อ ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับมาตรานี้ คนรอบตัวเขาก็โดนผลกระทบจากมาตรานี้ เขาเห็นว่ามาตรานี้ควรมีการเปลี่ยนแปลงเพราะมันไม่เป็นธรรมในสังคมระบอบประชาธิปไตย และบอกว่าถ้าเขาโดนมาตรานี้เขาจะขอลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น"

คือส่วนหนึ่งจากการคุยกับแม่ของ การ์ตูน-ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ที่เว็บไซต์บีบีซีไทย รายงานซึ่งมีผู้แชร์ร่วมกันกับเธอราว 2,800 คน ลงในเฟสบุ๊คตั้งแต่ ธ.ค.ปี 2559

หมายนัดมาถึงบ้านของเธอในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม ซึ่งตรงกับวันเด็กที่ผ่านมา ตอนนั้นครอบครัวยังเข้าใจว่าคือหมายที่มาเป็นประจำเกี่ยวกับคดีอุทยานราชภักดิ์ที่เธอต้องไปขึ้นศาลอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อเธอได้อ่านมันและพบว่าเป็นหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาคดี 112 นำมาสู่การตัดสินใจลี้ภัยอย่างเร่งด่วนในวันต่อมา ท่ามกลางความตกใจของครอบครัวที่พบว่า การจากไปครั้งนี้ของเธออาจหมายถึงการไม่ได้กลับมาอีก

ระหว่างคุยเรามีน้ำตาซึม อาจเพราะเรื่องราวที่คุยนอกเหนือจากตัวบทกฎหมายตามหลักการแล้ว เราได้เห็นผลกระทบจริงที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวหนึ่ง เราเห็นความรักและความผูกพันของครอบครัว แม้พ่อจะเห็นต่างทางการเมืองกับลูก แม้พ่อและแม่จะเป็นห่วงความปลอดภัยของลูก แต่ก็ไม่เคยห้ามไม่ให้แสดงออก เราค้นพบความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกันในครอบครัวจากเรื่องเล่านี้ เราพบความเข้มแข็ง ไม่หวาดกลัว จึงอยากให้คุณลองทำความรู้จักกับการ์ตูนและครอบครัวไปพร้อมกับเราผ่านแม่ของเธอ


วัยเด็กของการ์ตูนเป็นยังไง

การ์ตูนเป็นลูกสาวคนแรกของครอบครัว ทั้งครอบครัวเห่อเพราะเป็นลูกสาวคนแรก การ์ตูนเป็นเด็กชอบเรียนรู้ วันเกิดตอน 3 ขวบ แม่ถามเขาว่าอยากได้อะไร เขาตอบว่าอยากได้หนังสือ การ์ตูนไม่ชอบเล่นตุ๊กตา แต่ชอบอ่านหนังสือ ต่างจากเด็กอื่นทั่วไปในวัยเดียวกัน

พอตูนอายุได้ประมาณ 4-5 ขวบ น้องก็เพิ่งคลอดได้ 5 เดือน คุณยายที่เป็นพี่เลี้ยงก็เสียไปพอดี ทุกคนเลยต้องมาดูน้องที่เพิ่งคลอด เขาก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง เลยค่อนข้างจะเข้มแข็งและช่วยเหลือตัวเองมาตั้งแต่เล็ก พอย้อนกลับมาดูแล้วระหว่างน้องกับเขา แม่คิดว่าแม่เลี้ยงต่างกันเยอะเลย เพราะพอน้องอายุ 4-5 ขวบเหมือนกัน เราก็มีแม่บ้านซึ่งจะคอยดูแล คอยโอ๋น้อง พาไปส่งถึงห้องเรียน ในขณะที่ตูนในตอนอายุเท่านั้นต้องช่วยเหลือตัวเอง รู้สึกผิดหน่อยๆ เหมือนกัน

เขาเป็นคนที่ค่อนข้างต้องการได้รับการยกย่อง จากสายตาที่พ่อแม่ดู เช่น ถ้าเขาเรียนดีมีคนชมเชย พ่อแม่ยกย่อง เขาก็จะมุ่งไปทางนั้น หรือตอนป.2 อยู่ๆ เขาก็มาบอกว่า แม่ หนูจะประกวดนางนพมาศ ซึ่งเราก็แปลกใจ ไม่เคยเห็นเขาจะมาสนใจอะไรแบบนี้เลย ซึ่งในความคิดของเขาตอนนั้นคือ ถ้าคนที่สวยงามก็จะได้รับการยกย่อง ก็เลยไปสมัครประกวดเอง

แม่คิดว่าเขาเป็นคนมีความคิดดี แต่ในสังคมเมืองไทยเขาจะออกไปในแนวแข็งหน่อย ที่บ้านทั้งตระกูลเขาจะนิยมให้ลูกหลานเรียนภาษาอังกฤษ การ์ตูนเป็นคนไม่ชอบการชี้นำ พอบอกว่าเรียนภาษาอังกฤษ เขาก็จะ 'ไม่' ทันที ก็เลยไปเรียนภาษาญี่ปุ่นแทน

ตูนเป็นคนทำอะไรด้วยตัวเอง การมาบอกแม่คือการแจ้งให้ทราบ เหมือนกับการลงท้ายว่า 'จึงเรียนมาเพื่อทราบ' จุดฟูลสต็อป แล้วจบ ตอนเข้าม.4 ตูนคิดว่าเรียนจบจะไปเรียนต่อโครงการทุนของญี่ปุ่น ซึ่งต้องสอบภาษาอังกฤษด้วย เป็นสิ่งที่เขาไม่ถนัด เขาก็เลยคิดว่าถ้างั้นต้องไปแลกเปลี่ยนโครงการต่างประเทศ และจะได้ภาษาแน่ๆ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเขาเป็นคนหาเองแล้วมาแจ้งพ่อแม่ เราก็ เหรอๆ อย่างนี้เหรอ แล้วก็ไปอยู่อเมริกาปีหนึ่ง แล้วกลับมาก็ได้ภาษา

พอตอนต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ญาติๆ ฝั่งพ่อก็เชียร์มากว่าต้องธรรมศาสตร์ เพราะทุกคนก็เรียนธรรมศาสตร์ พอเป็นแบบนั้นปั๊บ เขาก็ลบลิสต์รายการที่เป็นธรรมศาสตร์ออกหมดเลย ข้อดีของนิสัยตรงนี้เขาคือมันเป็นแรงผลักอย่างดีในการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งโดยไม่ต้องการการชักจูง การชี้นำ แต่มาจากการตัดสินใจของเขาเอง แต่ข้อเสียก็คือเขาลืมมองว่าสิ่งที่คนอื่นชักจูงมันดีรึเปล่า เขาจะไม่คิดเลย เขาจะคิดแค่ว่าเขามีสิทธิที่จะตัดสินใจ สุดท้ายเขาก็ติดรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
 

ความคิดทางการเมืองของการ์ตูนช่วงเข้ามหาวิทยาลัยเป็นยังไง

ช่วงนั้นการเมืองก็เปลี่ยนคนมาหลายยุคหลายสมัย ทางครอบครัวฝั่งพ่อสนใจเรื่องการเมือง เขาก็จะอยู่ฝั่งประชาธิปัตย์กัน แต่พอตูนเรียนรัฐศาสตร์ ความคิดเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปอีกแนวหนึ่ง ช่วงนั้นเขาค่อนข้างเก็บตัว เพราะเหมือนคุยกันแล้วคุยไม่รู้เรื่อง การเมืองไทยก็แรงขึ้น การรับรู้ของเขาเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อย่างเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจะมาพูดกับพ่อเสมอ พ่อก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วยที่จะไปยุ่ง เพราะเพื่อนพ่อก็โดนมาตรานี้แล้วก็ติดคุก แต่เขาก็จะบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยที่จะมีมาตรานี้ ซึ่งเขาก็ไม่เคยหมิ่นหรืออะไร เขาก็แสดงความคิดเห็นในเชิงหลักการ

การเรียนรู้ของเขาอาจไม่เหมือนกับสมัยพ่อแม่ ของเราอาจจะเรียนรู้จากแค่ตำรา แต่ของตูนเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในตอนนั้นด้วย อาจารย์ก็จะกล้ามากกว่าในรุ่นของพ่อแม่ นักเรียนก็จะกล้ากว่าในการแสดงความคิดเห็น ก็กลายเป็นว่าเขาได้รับรู้บางสิ่งที่ไม่มีในตำรา แล้วเขาก็เกิดคำถามขึ้นมา

ก่อนหน้านั้นเขาก็มีกิจกรรมการเมืองที่เขาค่อนข้างจะเป็นแกนนำอยู่ ตอนนั้นในครอบครัว พ่อก็ไปอีกทาง เขาก็ไปอีกทาง เขาบอกว่าเขายึดหลักประชาธิปไตย ส่วนแม่กับน้องสาวก็จะขอความสงบ ไม่อยากยุ่งกับการเมือง เราเห็นว่าพอมันเกิดความเห็นต่าง เราเองก็ได้รับผลกระทบ เรามองแค่ตัวเราเอง แต่ไม่ได้มองไกลออกไปเหมือนกับที่พ่อและลูกเขามองกัน บ้านนี้จะคุยอะไรทีต้องระวังเดี๋ยวล้ำเส้น ก็ต้องเบรกกันหัวทิ่มเหมือนกัน น้องสาวก็จะไม่เอาเรื่องการเมืองเลย ไม่ชอบฟังพ่อกับพี่ทะเลาะกัน แต่เราก็อยู่กันได้ พอมันจูนกันไปจูนกันมาก็เคารพในความคิดกัน ไม่ล้ำเส้นกัน


6 ต.ค. 2558 การ์ตูน (ซ้ายสุด)  พร้อมสมาชิก NDM แสดงออกเชิงสัญลักษณ์วางศพจำลอง ชื่อ 'นายประชาธิปไตย' 12 ศพ พร้อมดอกไม้จันทน์ สื่อถึงรัฐประหาร 12 ครั้งที่ได้ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยไปแล้ว หน้ารัฐสภา 
 

วันที่โดนข้อหา 112

เริ่มตั้งแต่คืนนั้นเขาแชร์บทความของ บีบีซีไทย ในเฟสบุ๊คตอนที่เขาอยู่บราซิล พ่อก็กังวลมาก เลยโทรไปบอกเขา คืนนั้นพ่อนอนไม่หลับ เพราะพ่อคิดว่าเขากลับมาต้องมีสิทธิถูกล็อกตัว พ่อคิดว่าลูกสาวไม่ควรจะต้องมาติดคุกเพราะเรื่องนี้ พ่อพูดกับแม่ว่า บอกตูนว่าไม่ต้องกลับมา ให้อยู่ที่บราซิลเลยดีกว่า แล้วเขาจะส่งเสียเอง ซึ่งแม่บอกว่าไม่ได้หรอก แล้วจะส่งเสียไปถึงเมื่อไหร่ แล้วถ้าเกิดพ่อตายขึ้นมาก่อนแล้วใครจะส่งเสียเขาต่อ คือยังไงก็คงต้องกลับมาแล้วว่ากันอีกทีหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเราก็กังวลอยู่ว่าเขากลับมาแล้วจะได้เข้าประเทศรึเปล่า แต่ก็เข้าได้ไม่มีเหตุการณ์อะไร

หมายเพิ่งมาตอนต้นปีนี้ ตอนที่หมายมาเป็นวันเด็ก แม่ก็ไปต่างจังหวัด เขาก็ไปต่างจังหวัด ตูนกลับมาวันจันทร์เขาก็คิดว่าเป็นหมายปกติที่เป็นคดีราชภักดิ์ซึ่งเขาต้องไปขึ้นศาลอยู่เรื่อยๆ พอเขารู้ว่าเป็นหมายนี้ ก็เหมือนเดิมคือเขาไปปรึกษากับเพื่อนเขา แล้วก็มาบอกแม่ เป็นการ 'แจ้งมาเพื่อทราบ' เหมือนทุกครั้ง พ่อเขาก็มีความเห็นเหมือนกับเพื่อนๆ คือพ่ออยากให้ไปที่อื่นดีกว่า ถ้าเป็นคดีอื่นพ่อเขาก็ไม่คิดจะให้ไปที่อื่น อย่างคดีราชภักดิ์ ก็สู้กันไป ถ้าพิพากษามายังไงก็ตามนั้น แต่คดีนี้พ่อเขาก็คิดว่าไม่ต้องสู้อะไร ไปเถอะ

ตอนที่เขาต้องจากบ้านและครอบครัวไปทุกคนช็อก ความรู้สึกของแม่ตอนที่รู้ว่าเขาต้องไปแล้วไม่ได้กลับ มันบอกไม่ถูก เหมือนกับว่ามันอึ้งๆ จะร้องไห้ไหมมันก็ไม่ออก มันมีความรู้สึกว่านี่มันเป็นเรื่องจริงเหรอ แต่ตอนนั้นเราก็มีอะไรให้ต้องคิดเยอะเลย ว่าต้องเตรียมอะไรยังไง ต้องเอาโน้ตบุ๊กเขาไปซ่อม ประเด็นสำคัญเรื่องเงินทองที่เขาจะไม่มีใช้ ทุกอย่างต้องจัดการภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ก่อนหน้านี้เขาเคยคุยกับพ่อเรื่องทำนองนี้ ตอนนั้นเราคิดว่าถ้าเขามีความเห็นต่างแบบนี้ อยู่ประเทศอื่นเขาอาจจะมีความสุขกว่ามั้ง แต่พอเรื่องจริงเกิดขึ้นกับเรา มันไม่ใช่อย่างที่เราคิดเลย มันมีความรู้สึกว่า เหมือนลูกโป่งมันลอยไปแล้ว เรามองมันทั้งเสียดาย ทั้งเศร้า เหมือนมันจะไม่ลอยลงมาหาเราอีกแล้ว แล้วเราก็นึกถึงช่วงเวลาที่เขาเถียงกับพ่อ ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับมาตรานี้ คนรอบตัวเขาก็โดนผลกระทบจากมาตรานี้ เขาเห็นว่ามาตรานี้ควรมีการเปลี่ยนแปลงเพราะมันไม่เป็นธรรมในสังคมระบอบประชาธิปไตย และบอกว่าถ้าเขาโดนมาตรานี้เขาจะขอลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น

พอเขาไปแล้วเราก็มีความรู้สึกว่าหันมามองจริงจังกับเรื่องนี้ ซึ่งแต่ก่อนแม่ไม่ได้สนใจเลย เราไม่เคยคิดจะขยับเข้าไปใกล้มาตรา 112 ตั้งแต่แรกที่ลูกไปก็คิดว่า เรื่องแค่นี้เลยเหรอที่ทำให้เราต้องพลัดพรากกันขนาดนี้ คือเหมือนการจากมันมีจากเป็นกับจากตาย จากตายมันก็โหดร้าย แต่มันจบเร็ว แต่จากเป็นมันมีความทุกข์ใจ เศร้าใจ เป็นห่วงไปตลอด แล้วไม่ว่าลูกอยู่ใกล้อยู่ไกลแค่ไหน ในยามที่เขามีความทุกข์ พ่อแม่ก็จะต้องเป็นห่วงเขาเป็นธรรมดา พ่อก็รู้สึกอาจจะยิ่งกว่าแม่ เพราะเขาก็รักมาก ตอนนี้ที่บ้านก็เหมือนซอมบี้ มันมีบรรยากาศอึมๆ ครึมๆ เป็นห่วงเขามากว่าเขาจะอยู่ยังไง อนาคตเขาจะเป็นแบบไหน

 

พอเป็นแบบนี้เคยคิดไหมว่าเขาไม่น่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง

ตั้งแต่ตอนแรกที่ตูนโดน ความคิดพวกนี้ไม่มีอยู่ในหัวเลย พอเขาต้องไปก็คิดแค่ว่าทำยังไงให้เขาไปอยู่ที่อื่นโดยปลอดภัยได้แน่ๆ พอหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเป็นอาทิตย์ แม่ก็เริ่มหาข้อมูล เริ่มหาตัวบทของมาตรานี้ เริ่มอ่านเคสต่างๆ รู้เกี่ยวกับมาตรานี้เยอะขึ้น แล้วแม่ก็ไม่รู้ว่าเข้าข้างลูกมากเกินไปรึเปล่า เหมือนกับคนที่เรารักโดน เราก็จะมีความไม่เป็นกลาง เราเข้าใจคนที่เขาต่อต้านมาตรานี้ว่าเขามีความคิดอะไรยังไง เราก็คิดว่ามันไม่น่าขนาดนี้เลย ทั้งโทษที่หนักไป ความผิดที่ไม่ชัดเจน ความผิดครอบคลุมกว้างขวาง ใครฟ้องก็ได้ เกิดการกลั่นแกล้งกันโดยใช้มาตรานี้อย่างที่มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว แล้วการพิพากษาก็ค่อนข้างเห็นชัดเจนว่าเป็นยังไงสำหรับคดีนี้ ถึงได้เข้าใจว่ามาตรานี้ที่เขามีการรณรงค์ปรับเปลี่ยนแก้ไขยกเลิกเพราะอะไร

แล้วก็เพิ่งมารู้ว่าครอบครัว ยังไงก็มีความรักกันโดยสายเลือด น้องสาวของตูนจะบุคลิกตรงข้ามกับเขา ถ้าคนภายนอกดูก็จะรู้สึกว่าพี่สายโหด น้องจะสายอ่อนโยน แต่จริงๆ สองคนนี้แกนในเขาแข็งพอๆ กัน พี่ก็ไม่ยอมน้อง น้องก็ไม่ยอมพี่ ปะทะคารมกันทีก็ไม่มีใครยอมใคร มีเรื่องทะเลาะกันมาประมาณ 4 เดือนแล้ว ไม่พูดกันเลย อยู่กันมาแบบอึดอัด พอถึงวันที่พี่เขาต้องไป น้องไม่อยู่เพราะน้องอยู่หอ กลับบ้านเฉพาะศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันที่พี่ตูนไปคือวันอังคาร แม่ก็ไม่ได้บอกน้องเพราะช่วงนั้นเราไม่กล้าที่จะบอกใคร ห่วงความปลอดภัยของตูน จนกระทั่งวันที่ไปรับน้องกลับบ้าน แล้วเล่าให้ฟังในรถ น้องก็ซึมไปเลย เป็นความรู้สึกสูญเสีย ร้องไห้ ซึ่งแม่ก็ร้องไห้ บอกว่าพี่ตูนเขาไปแล้วนะ ไม่ได้กลับแล้ว แล้วเขาก็วิดีโอคอลคุยกัน พอเราเห็นพี่น้องพอถึงเวลาต้องพลัดพรากจากกันจริงๆ มันจะลืมเรื่องอื่นทั้งหมดไปเลย

แล้วตอนนี้มันก็ยังเป็นความทุกข์ใจของที่บ้าน เขาไปตั้งแต่ 16 มกรา วันเกิดเขาวันที่ 5 กุมภา เราก็ไม่ได้อวยพรเลย ก็เลยทำการ์ดกันสามคนพ่อแม่ลูกแล้วก็ส่งไปให้เขา แล้วตอนนี้ก็วาเลนไทน์ แต่ก่อนทุกปีแม่จะให้ช็อคโกแลตเขาทั้งคู่ ปีนี้น้องก็มาบอกว่า แม่ไม่ต้องซื้อให้หนูแล้วนะ เพราะว่าพี่ตูนก็ไม่ได้ หนูก็ไม่ได้เหมือนกันดีกว่า

บางคนบอกว่าทำไมไม่ให้เขาไปรายงานตัว ถ้าติดคุกจริงๆ ก็แค่ 5 ปี ถ้ารับสารภาพก็ 2 ปีครึ่ง เหมือนคดีของไผ่ พ่อบอกว่าพ่อไม่เห็นด้วย พ่อบอกว่าสถานที่นั้นไม่ใช่ที่อยู่ของลูก ถ้าลูกฆ่าคนตายหรือไปทำให้คนเดือดร้อนแล้วต้องไปอยู่แบบนั้น พ่อเขารับได้ แต่กับเรื่องนี้ให้ลูกไปอยู่แบบนั้นกลับมาเขาก็ต้องไม่ได้ลูกคนเดิม เพราะสภาพจิตใจของตูนจะต้องเปลี่ยนไปแน่นอน เหมือนเขาจะได้รับโทษในสิ่งที่เขาคิดอยู่แล้วว่ามันไม่ถูกต้อง มันยิ่งทำร้ายจิตใจเขา ถ้าต้องเข้าไปอยู่ในสภาพแบบนั้นก็จะสร้างความโกรธแค้นต่อจิตใจเขามากขึ้น ให้ลูกไปเผชิญปัญหาข้างหน้าอยู่ข้างนอกยังดีกว่าต้องไปอยู่ในนั้น พ่อเขาคิดแบบนี้ตั้งแต่ตอนที่ลูกแชร์โพสต์ที่บราซิลแล้ว พ่อเขาเป็นทนายด้วย ก็เลยจะรู้เรื่องอะไรพวกนี้เยอะกว่าแม่


สภาพจิตใจของครอบครัวตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ก่อนหน้านี้ตอนเราอยู่ด้วยกัน ความคิดเห็นไม่ตรงกันเราก็จะหงุดหงิดกันบ้าง แต่ตอนนี้มันรู้สึกถึงความรัก ความคิดถึงกัน น้องสาวก็ห่วงพี่เขา ห่วงพ่อแม่ ห่วงสภาพจิตใจในครอบครัว แล้วเหมือนเราก็ไม่อยากคุยเรื่องแบบนี้กับใครมากขึ้น มันมีความซึมเศร้า พอคุยกับบางคนที่เขาไม่ได้เจอกับตัวเอง เขาก็มีความคิดเห็นว่า "สมน้ำหน้า" หรือ "ก็มันทำมันก็ต้องได้รับผล" บางคนก็มาถามเราแต่บางครั้งคำพูดมันก็ยิ่งทำให้เราแย่ลงไปอีก ขนาดคนที่เราสนิท พอเขารู้เรื่องจากที่ตูนโพสต์ว่าโดนข้อหา 112 เขาโทรมาบอกว่า เนี่ย น่าสงสารแม่กับพ่อจริงๆ เลย เรารู้สึกปรี๊ดขึ้นมา เราน่าสงสารตรงไหน เหมือนกับลูกเรามันแย่มันเลว ทำให้พ่อแม่ต้องน่าสงสารในสายตาคนอื่น ซึ่งจริงๆ เรามองกลับกันว่าลูกเราไม่ควรจะต้องโดนถึงขนาดนี้ แต่บางคนที่เขารับรู้เรื่องแบบนี้มาเขาก็เข้าใจหัวอกแล้วก็ให้กำลังใจ ช่วยเหลือกัน


ตอนนี้เชื่อมั่นในการ์ตูนไหม

การ์ตูนเหมือนจะเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง แต่จริงๆ เขาเซ้นสิทีฟเยอะ อารมณ์เขาไม่นิ่งพอ เจอเรื่องกระทบที่ไม่ถูกใจขึ้นมาก็จะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แล้วไปอยู่ไกลขนาดนั้น ไปอยู่ในถิ่นที่ไม่ได้ใช้ภาษากำเนิด สถานะก็ปรับเปลี่ยนไป ความสะดวกสบายก็ไม่มี แม่ว่าก็ต้องลำบากแน่นอน ตอนนี้เขาทำเรื่องขอสถานะอยู่ถ้าไม่ได้ขึ้นมา ก็ทำงานไม่ได้ ปริญญาที่จบไปก็เหมือนไม่มีค่าในต่างแดน แล้วเขาก็จะมีความรู้สึกว่าอายุขนาดเขา เขาไม่อยากมาเป็นที่เดือดร้อนของพ่อแม่ เขาก็จะดิ้นรนให้มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ แต่ดีอย่างที่ตอนนี้เขาก็เริ่มแฮปปี้กับสถานที่กับผู้คนแล้ว และถ้าเขาได้รับสถานะแล้วการที่เราจะไปหาเขามันก็ไม่ใช่เรื่องยาก

แม่ภูมิใจที่เขาเป็นเด็กมีความคิด เป็นคนกล้าแสดงออกทางความคิด แต่ส่วนที่แม่ไม่ค่อยประทับใจเขาก็คือ  เวลาใครเห็นต่างจากเขา เขาก็จะแรงๆ เหมือนกัน ซึ่งอันนี้แม่ก็คิดว่าเขาน่าจะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง แต่เราก็ไม่รู้ว่าโลกของเขาเขาเผชิญกับความขัดแย้งมาเยอะจนกระทั่งต้องมองโลกแบบนั้นรึเปล่า

เขาไม่ค่อยคุยเรื่องการเมืองกับแม่ จะเป็นแบบ 'แจ้งมาเพื่อทราบ' ฟูลสต็อป จบ ประมาณนั้น แล้วเขาก็รู้ว่าทำไปแม่ก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าไหร่ เราก็จะห่วงความปลอดภัยเขา แต่เราก็ไม่เคยห้าม ที่เขาแสดงออกมันไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เขาก็เต็มที่ไปในสิ่งที่เขาจะทำ แล้วเขาก็มีวุฒิภาวะพอในการตัดสินใจ ถึงแม้ทางที่เขาเลือกเดินเราจะรู้สึกว่า อย่าไปเลยทางนั้นมันลำบาก มาทางนี้ดีกว่า อยากบอกแต่ก็รู้ว่าไม่มีประโยชน์ ฝืนใจกันเปล่าๆ ก็เลยไม่พูด


ที่บ้านมีเจ้าหน้าที่มาสอบถามอะไรบ้างไหม

ยังเลย แต่ก่อนหน้านี้ที่เขาทำกิจกรรมตอนอยู่มหาวิทยาลัยมีเยอะเลย เยอะแบบเปิดบ้านต้อนรับ บางทีเราจะออกไปธุระข้างนอก เขาก็จะมาแบบไม่มีการแจ้งมาก่อน ข้างบ้านก็จะมองในแง่ว่า มาอีกแล้วทหาร มาปรับทัศนคติ แต่พอดีหมู่บ้านที่อยู่ส่วนใหญ่ก็มีความคิดเห็นไปในแนวเดียวกับการ์ตูน เราเลยไม่ค่อยอึดอัดใจกับเพื่อนบ้านเท่าไหร่


ตอนนี้กลัวไหม

ในแง่ของพ่อกับแม่ เราเลยจุดความกลัวมาแล้ว เรามีความรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำผิด การที่ลูกเราได้รับผลขนาดนี้ก็เกินไปแล้ว และไม่สามารถสู้ในชั้นศาล ถ้าสู้ก็คือแพ้อยู่แล้ว

แม่เป็นนักบัญชี ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง มีความรู้สึกว่ามันน่าเบื่อหน่ายมาก พอเจอเหตุการณ์นี้เราก็ค้นคว้าศึกษา เราอยากรู้จริงๆ ว่าคดีนี้มันเป็นยังไง พออ่านแล้วก็รู้สึกว่า เหมือนกับผู้หญิงทำไมแต่งงานแล้วต้องใช้นาง เพราะผู้ชายเขียนกฎหมาย เรารู้สึกว่ามันเป็นการเขียนกฎหมายโดยไม่ชอบธรรม เราโชคไม่ดีที่อยู่ในประเทศที่เราไม่ได้มีส่วนในการเขียนกฎหมาย เราได้รู้ละเอียดขึ้น เยอะขึ้น แล้วเราก็รู้ว่าสิ่งที่ลูกคิด ลูกพูดที่ผ่านมามันมีเหตุมีผล

อย่างกรณีไผ่ หรืออย่างของการ์ตูน เรารู้ว่าเด็กเขาทำไปด้วยความกล้าของเขา บางทีเด็กก็มีความกล้ากว่าคนที่ผ่านโลกมาเยอะ มันน่าจะให้โอกาสเขามากกว่านี้ แล้วกลายเป็นว่าทำให้คนรู้สึกไม่พอใจกับมาตรานี้มากขึ้น จากคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวแต่พอมารู้ผลกระทบแล้วมันก็รู้สึกว่าอะไรกันขนาดนี้ มันไม่ควรเป็นความผิดตั้งแต่แรก แต่พอทัศนคติไม่ตรงกัน ก็ต้องไปจำกัดสถานที่เขา จำกัดอนาคตเขา จำกัดความคิดเห็นเขา จำกัดการแสดงออก จำกัดไปหมดเลย มันอยู่ด้วยกันแบบนี้ไม่ได้หรอก เหมือนอย่างที่บ้านเราก็ทัศนคติต่างแต่อยู่กันได้ เคารพความเห็นของแต่ละคน ประคองให้อยู่ด้วยกันได้ สังคมก็ต้องมีความเอื้ออาทร เอื้อเฟื้อทางด้านจิตใจกันมากกว่านี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

Posted: 13 Feb 2018 08:19 AM PST

นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ร่วมเขียนป้ายผ้าแสดงสัญลักษณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวังเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาร่วมแสดงจุดยืนปกป้องสิทธิชุมชนและให้กำลังใจเครือข่ายฯ ที่กำลังเคลื่อนไหวประท้วงอดอาหาร

13 ก.พ.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (12 ก.พ.61) เมื่อเวลา เวลา 11.00 น. ที่ บริเวณหน้าอาคารเรียนรวม 19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)  ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับนักศึกษาทั่วไป จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยเปิดให้นักศึกษารวมทั้งผู้ที่สัญจรผ่านมีส่วนร่วมเขียนป้ายผ้าเพื่อแสดงจุดยืนเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ได้อธิบายถึงการทำกิจกรรมของนักศึกษาในครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นทางการเมืองเกี่ยวปัญหาสิทธิชุมชนในพื้นที่ เนื่องจากการออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาต่อประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพายังคงมีจำนวนน้อย จึงอยากให้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษาที่มีโอกาสเข้าร่วมได้แสดงออกร่วมกัน

ขณะที่ กัสมา นักศึกษาสาขาชีววิทยา คณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า เป็นการแสดงออกเล็กๆ ที่อยากให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมต่อประเด็นปัญหา ไม่ใช่แค่กลุ่มเครือข่ายที่ออกมาคัดค้านอย่างเดียว ไม่อยากให้นักศึกษานิ่งเงียบเพราะหากไม่เคลื่อนไหวก็เท่ากับยอมรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

กัสมา กล่าวต่อว่า ตนเคยมีโอกาสลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พบว่าแต่ละบ้านมีการแสดงสัญลักษณ์ชัดเจนว่าบ้านหลังใดสนับสนุนหรือคัดค้าน หากสนับสนุนจะมีธงสีชมพูหน้าบ้าน หากคัดค้านจะมีธงสีเขียวอยู่หน้าบ้าน โดยกัสมาได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่สนับสนุนพบว่าเขาได้รับข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และได้รับเงินจากการขายที่ดินสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้า

กัสมา ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงบ้านที่สนับสนุนเพราะเขามักปิดบ้าน หรือแปะป้ายไว้ว่าไม่มีคนอยู่

สำหรับกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวจัดขึ้นจนถึงเวลา 15.00 น. ทั้งนี้ ทางนักศึกษาที่มีส่วนร่วม มีความคาดหวังว่าการแสดงออกดังกล่าวนอกเหนือเป็นการแสดงจุดยืน ยังถือเป็นการให้กำลังใจเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยนักศึกษาทราบว่าเครือข่ายคัดค้านจะเริ่มมีการประท้วงอดอาหารที่ได้เริ่มไปเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียวปรับอัตราโทษอาญาไม่ร้ายแรงสอดคล้อง รัฐธรรมนูญ ม.77

Posted: 13 Feb 2018 07:55 AM PST

13 ก.พ.2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า  พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาการกำหนดโทษทางอาญาของกฎหมายให้สอดคล้องกับ ม.77 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้หน่วยงานเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนจะมีการตรากฎหมายขึ้น รวมถึงให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น โดยเห็นว่าควรปรับโทษทางอาญาที่ไม่รุนแรงให้เป็นโทษอื่น โดยเน้นที่กฎหมายที่กำลังจะตราขึ้นใหม่ และไม่ใช่เรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง และกระทบกับประชาชน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้ปรับโทษปรับอาญาเป็นโทษปรับทางปกครอง ซึ่งจะไม่มีการจดบันทึกในประวัติ นอกจากนี้ยังให้พิจารณาปรับโทษที่เท่ากันในความผิดที่มีความรุนแรงต่างกัน และให้แยกโทษนิติบุคคลออกจากโทษของบุคคลธรรมดา โดยให้กฤษฎีกาเป็นผู้ทำกฎหมายกลางเพื่อกำหนดโทษใหม่ที่ใช้แทนโทษทางอาญาเพื่อไม่ต้องแก้กฎหมายทุกฉบับ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันในที่ประชุมครม.ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีฐานะ เพราะได้กำหนดให้ทำได้เฉพาะความผิดที่ไม่ร้ายแรงและไม่กระทบต่อศิลธรรมอันดี ดังนั้นผู้มีรายได้น้อยจึงจะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน  ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงว่าสังคมจะตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีสตางค์หรือไม่  ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม ระบุว่าต้องเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและมีผลต่อส่วนรวมเท่านั้น โดยครม.มีมติเห็นชอบซึ่งถือเป็นกระบวนการปฎิรูปกฎหมาย 

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว

รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ขึ้นค่าตอบแทน 10 % ให้ 'ศาล-องค์กรอิสระ' ย้อนหลังถึงปี 57

Posted: 13 Feb 2018 07:26 AM PST

 

ครม.เห็นชอบ เรื่องการปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่ง ศาล-องค์กรอิสระ 10% มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ธ.ค.57 เว้นศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลย้อนหลังถึงปี 55 แต่ไม่รวมข้าราชการการเมืองทั้งหมด

13 ก.พ. 2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบ เรื่องการปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานและกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประธานและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานและกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ประธานและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) และกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) ฉบับที่ พ.ศ….

ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฉบับที่ พ.ศ…. ร่างพ.ร.บ.เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และกฤษฎีกาประโยชน์ค่าตอบแทนของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือวินิจฉัยร้องทุกข์ โดยจะได้รับปรับเพิ่มค่าตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 เว้นศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลย้อนหลังถึงปี 2555

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าตอบแทนดังกล่าว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับข้าราชการที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นก่อนหน้าที่คสช. จะเข้ามาบริหารเหมือนกับข้าราชการประจำ ซึ่งการปรับขึ้นค่าตอบแทนครั้งนี้จะไม่รวมข้าราชการการเมืองทั้งหมด ทั้งรัฐสภา รัฐบาล โดยให้ตีกลับเรื่องส่งต้นสังกัด เพื่อป้องกันข้อครหาว่าขึ้นค่าตอบแทนให้กับตัวเอง หรือหากจะพิจารณาปรับขึ้นก็จะมีผลกับรัฐบาลหน้าที่จะเข้ามาบริหาร นอกจากนั้นครม.ยังมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเรื่องค่าตอบแทนของตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า การปรับขึ้นเงินค่าตอบแทนตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด จะได้ปรับเพิ่มเป็น 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท ประธานกรรมการในองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้รับ 81,920 บาท จากเดิม 74,420 บาท ขณะที่อัยการสูงสุด รองประธานศาลฎีกาหรือเทียบเท่า รองประธานศาลปกครองสูงสุดหรือเทียบเท่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับ 81,920 จากเดิม 73,240 บาท
 
ประธานก.พ.ค. กรรมการในองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้รับ 80,540 บาท จากเดิมได้รับ 73,240 บาท ตุลาการศาลยุติธรรมตำแหน่งอื่นชั้น 4 ตุลาการศาลปกครองตำแหน่งอื่นชั้น 3 ได้รับ 76,800 บาท จากเดิม 69,810 บาท โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด แต่จะตัดเงินเพิ่มพิเศษที่เคยได้รับให้ไปอยู่กับเงินค่าตอบแทนที่ได้เพิ่มขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณ ทั้งนี้ จะมีผลหลังจากกฎหมายใช้บังคับ
 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.อนุมัติร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยกำหนดให้ตำแหน่ง รองผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) เป็นตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง และกำหนดให้ตำแหน่งผอ.สนทช.และรองผอ.สนทช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ในอัตรา 21,000 บาท และ 14,500 บาทตามลำดับ
 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ และมติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกชัยอดมอบ 'นาฬิกา-ดอกไม้' ให้ประวิตรอีกครั้ง

Posted: 13 Feb 2018 07:03 AM PST

'เอกชัย-โชคชัย' มาทำเนียบฯ  เพื่อมอบนาฬิกา-ดอกไม้ ให้ประวิตรอีกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าพบตามเคย ขณะที่ 'ประวิตร' ยื่น ป.ป.ช.ขอขยายเวลาชี้แจงปมนาฬิกาหรู

ภาพจากเฟสบุ๊ค เอกชัย หงส์กังวาน

13 ก.พ.2561 ความคืบหน้ากรณีตรวจสอบนาฬิกาหรูจำนวนมาก ที่ปรากฎตามสื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้น

ล่าสุดวันนี้ (13 ก.พ.61) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ เดินทางไปมอบนาฬิกาพร้อมดอกไม้ให้กับ พล.อ.ประวิตร แต่ไม่ได้เข้าพบเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

'ประวิตร' ยื่น ป.ป.ช.ขอขยายเวลาชี้แจงปมนาฬิกาหรู

ไทยพีบีเอส รายงานว่า วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ให้ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีแหวนเพชรและนาฬิกาหรู รอบที่ 3 ซึ่งครบกำหนดยื่นเอกสารเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า พล.อ.ประวิตร ได้ส่งหนังสือขอขยายระยะเวลาในการชี้แจงข้อเท็จจริงออกไปอีก 7 วัน โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศ

วรวิทย์ ระบุว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าต้องเรียกสอบพยานเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพราะต้องรอคำชี้แจงครั้งล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร ก่อน ซึ่งจะครบกำหนดอีกครั้งในวันที่ 15 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประวิตร จะขอขยายระยะเวลาเพิ่มเติมอีก ก็ต้องดูเหตุและผลว่าสามารถขยายได้หรือไม่

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ยืนยันว่าการพิจารณากรณีเรื่องนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตามที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยได้ทำท่าชูนิ้วชี้จุ๊ปาก และปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงรายละเอียดอื่นๆ อีก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ฝากผู้ปกครองดูแลกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว

Posted: 13 Feb 2018 05:53 AM PST

ประยุทธ์ ยันสถานการณ์เคลื่อนไหวขณะนี้อยู่ในระดับไม่น่ากังวล ฝากผู้ปกครองดูแลกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ย้ำต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกับทุกคน

13 ก.พ. 2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 14.20 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีมีการรวมตัวนัดชุมนุมว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือเปล่า ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือไหม รวมไปถึงทำให้การจราจร ถนนเสียหายไปด้วยหรือไม ซึ่งเมื่อรู้อยู่ว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ก็อย่าไปทำ ขอให้รอเวลาก่อนค่อยทำ พร้อมทั้งขอให้นึกถึงส่วนรวมบ้าง

หัวหน้า คสช. กล่าวถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า ที่มีหลายกรณีที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอยู่ในระดับไม่น่ากังวล เป็นเพียงการทำผิดกฎหมาย ขัดคำสั่ง คสช.

"รัฐบาลไม่ได้มุ่งปิดกั้นหรือทำร้ายใคร แต่พบว่ามีความพยายามกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหลายครั้ง ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลและผ่อนปรนมาพอสมควร ทั้งการให้ประกันตัว ตักเตือน แต่ยังมีกลุ่มเดิมออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ทราบความต้องการที่แท้จริง ขอฝากประชาชนและผู้ปกครองดูแลกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะอาจจะมีปัญหาในอนาคต ผมไม่ได้ข่มขู่ แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกับทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมคสช.ยังมีการหารือถึงเรื่องของรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดมาหลายอย่าง จึงต้องไปดูว่าจะต้องทำอะไร แค่ไหน อย่างไร ประชุมแล้วไม่ใช่ว่าออกคำสั่ง ๆ มันไม่ใช่ ตนต้องการใช้คำสั่งให้น้อยลง และเท่าที่จำเป็น จึงต้องมาหาทางออกทางอื่นด้วยกฎหมายปกติ หรือทางอื่น ๆ ด้วย วันนี้จึงไม่มีคำสั่ง
 
สำหรับคำถามที่ว่าถามว่าทางกลุ่มนักศึกษายืนยันที่จะชุมนุมต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ชุมนุมไปก็ผิดกฎหมาย สื่อก็ต้องไปบอกเขา ว่าเขาทำผิดกฎหมาย และทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถนนหนทางก็เสียหาย รวมถึงการจราจรก็มีปัญหา สังคมต้องสอนเขาแบบนี้ และยังไปพ่นสีถนนจนเลอะเทอะไปหมด ก็ผิดกฎหมายทั้งนั้น และสื่อจะไปเปิดพื้นที่ให้เขาทำไม ในเมื่อรู้อยู่ว่ากฎหมายทำไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งทำ เอาไว้เวลาทำได้ ค่อยไปทำ แล้วไม่คิดถึงคนอื่นที่เขาเดือดร้อนหรือ รถติด การจราจรไปไหนไม่ได้ คนจะไปทำธุระอะไรก็ไม่ได้ นึกถึงคนอื่นเขาบ้าง
 
"ท่านบอกว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือละเมิดเสรีภาพ ผมขอถามว่าแล้วคนอื่นเขาไม่มีสิทธิเสรีภาพบ้างหรือ คนที่ไม่มาชุมนุม นึกถึงคนอื่นเขาบ้าง เข้าใจหรือยัง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, สำนักข่าวไทย และมติชนออนไลน์ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค้านโรงไฟฟ้าเทพา-กระบี่อดข้าวประท้วงหน้าตึกยูเอ็นต่อ เมินคำสั่ง ตร. ให้แยกย้าย

Posted: 13 Feb 2018 05:49 AM PST

ผอ.รพ.จะนะ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมเผย อดอาหารคืืออารยะขัดขืนสูงสุด เอากาย ใจ เข้าแลกเพื่อปกป้องบ้านเกิด อัด รมว.พลังงานประกาศเลื่อนพิจารณาตั้งโรงไฟฟ้า 3 ปี แต่ยังให้เตรียมการอย่างอื่นไปก่อนได้เป็นการเลื่อนที่ไม่จริงใจ ตร.สน.นางเลิ้ง ยื่นหนังสือให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่เวลา 16.00 น. แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่ต่อ

ที่มาภาพ: เพจหยุดถ่านหินกระบี่

13 ก.พ. สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินและเครือข่ายคนสงขลาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน (กระบี่ - เทพา) จำนวนกว่า 150 คน ปักหลักชุมนุมกันที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อแสดงจุดยืนให้รัฐบาลยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสองพื้นที่

ผู้ชุมนุมได้อดอาหารประท้วง โดยดื่มเพียงของเหลวเท่านั้น ล่าสุดมีผู้ร่วมอดอาหารแล้วทั้งหมด 63 คน โดยสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โพสท์ในเฟสบุ๊กเพจตัวเองว่า การอดข้าวประท้วงคือการอารยะขัดขืนขั้นสูงสุดที่มนุษย์พึงกระทำได้ เพื่อแสดงการเอากายและใจเข้าแลกเพื่อปกป้องบ้านเกิด ลูกหลาน ให้พ้นจากภัยจากนโยบายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาโดยไม่ฟังเสียงประชาชน แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะระบุว่าจะเลื่อนการพิจารณาสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าไปอีก 3 ปี แต่ก็ไม่ปรากฏลายลักษณ์อักษรใดๆ และในระหว่างสามปียังได้อนุญาตให้มีการเตรียมการอื่น เช่น ให้มีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) การเลื่อน 3 ปีจึงไม่ใช่การเลื่อนที่จริงใจ ทั้งการที่รัฐจะมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบนพื้นที่ที่มีทะเลสวย สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมากเป็นความคิดที่แค่คิดก็ผิดแล้ว

สำหรับคนกระบี่และเทพา เขาศึกษาข้อมูลจนมีความชัดเจนแล้วว่า ทั้งกระบี่และเทพาอุดมสมบูรณ์เกินกว่าที่จะมาแลกด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่เมืองท่องเที่ยวโลก ผู้คนทั่วโลกมากระบี่เพราะทะเลสวยฟ้าใสอากาศดี สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 500,000 ล้านบาท สร้างงานสร้างเงินแก่คนนับแสน ยั่งยืนยาวนาน แต่รัฐกลับจะมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แค่คิดก็ผิดแล้ว
 
ส่วนที่เทพาเมืองแห่งวิถีชีวิตที่สุขสงบในธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากการทำลายธรรมชาติแล้ว ยังต้องมีการบังคับโยกย้ายพี่น้องเทพาออกจากบ้านเกิดเมืองนอนที่ฝังรกรากถึง 240 หลังคาเรือนเพื่อเอาที่ดินมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กว่า 1,000 คนที่ต้องระหกระเหินไปหาที่อยู่ใหม่ คนอีก 25,000 คนต้องทนอยู่อาศัยในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ควรเกิดขึ้นแล้วในยุคนี้
ข้อความตอนหนึ่งจากโพสท์เฟสบุ๊กของ นพ.สุภัทร

สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้พูดคุยประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินวันนี้ แต่ที่ผ่านมาได้พยายามหารือกับทุกฝ่ายเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่ทราบผลการศึกษา ถ้าจะเรียกร้องให้ยกเลิก คำตอบในปัจจุบันคือเป็นไปไม่ได้

สุภัทรได้โพสท์ในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า ในวันนี้ได้มีหนังสือมาจากตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากหน้ายูเอ็นในเวลา 16.00 น. โดยอ้างว่ากีดขวางการจราจร แต่ชาวบ้านกระบี่-เทพา ทั้งที่อดข้าวและมาสนับสนุนจำนวนรวมกันเป็นร้อยคนยังคงยืนยันจะนั่งที่เดิมต่อ โดยรายงานล่าสุด เมื่อเวลา 18.00 น. ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับผู้มาชุมนุม

เมื่อ 9 ก.พ. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการนำประกาศจากกองบังคับการตำรวจนครบาล ที่ 54/2561 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2561 เข้าไปติดที่บริเวณของการทำกิจกรรมชุมนุม ประกาศฉบับดังกล่าว ระบุเรื่องห้ามการไม่ให้มีการชุมนุมในรัศมี 50 เมตร รอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยอ้างอำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคท้าย ประกาศระบุว่าเนื่องจากกองบังคับการตำรวจนครบาล (บก.น.) เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องจำนวนหลายกลุ่ม และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการใช้ทางเดินเท้าถนนพิษณุโลก โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้แผ่นไวนิลซึ่งติดแสดงข้อเรียกร้องและใช้ทำเป็นทีบังแดด ทำให้ประชาชนผู้ใช้ทางเดินเท้าไม่สามารถเดินผ่านได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่อง 4+3 ประเด็นเห็นแย้งกฎหมายลูก ส.ส. – ส.ว. เผย 5+5 รายชื่อ กรธ. นั่งพิจารณาร่วม

Posted: 13 Feb 2018 05:48 AM PST

กรธ. สรุปความเห็นแย้งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. 4 ประเด็น จำกัดสิทธิคนไม่ไปเลือกตั้งห้ามได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งต่างๆ การจัดมหรสพ การขยายเวลาลงคะแนนเสียง และการออกเสียงแทนผู้พิการ ส่วนกฎหมายสรรหา ส.ว. เห็นแย้ง 3 ประเด็น เรื่องลดจำนวนกลุ่มอาชีพ แก้เลือกไขว้ และแยกประเภทผู้สมัคร

13 ก.พ. 2561 อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงข่าวถึงการส่งข้อโต้แย้งของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. .... ว่ามีทั้งหมด 4 ประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบด้วย

1.มาตรา 35 (4) และ (5) และวรรคสามการจำกัดสิทธิในการได้รับแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ โดย กรธ.เห็นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การจำกัดสิทธิบางประการของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยมิได้แจ้งเหตุอันสมควรเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อเป็นการลงโทษผู้นั้นมิให้ได้รับประโยชน์จากการใช้สิทธิบางประการที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งหมายถึงสิทธิเฉพาะตัวของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นเองที่ผู้นั้นสามารถเลือกที่จะใช้สิทธินั้นได้ตามอำนาจที่กฎหมายรับรอง โดยสิทธิที่จะจำกัดต้องไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การจำกัดสิทธิของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ใช่การจำกัดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้นั้นที่จะเลือกให้มีผลได้ด้วยตนเอง แต่เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และอาจเป็นผลลงโทษให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งนั้นต้องรับผิดชอบหากแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวโดยไม่ทราบว่าเป็นผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิด้วยเหตุผลดังกล่าว โดยเฉพาะข้าราชการการเมืองบางตำแหน่ง

2.มาตรา 73 การจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ซึ่งเดิมมีบทบัญญัติห้ามไว้ เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การที่ สนช. ตัดบทบัญญัติดังกล่าวออกไปจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมืองที่มีฐานะทางการเงินแตกต่างกันได้

3. มาตรา 86 การขยายระยะเวลาการออกเสียงลงคะแนน ที่กำหนดให้เริ่มตั้งแต่เวลา 7.00 - 17.00 น. นั้น กรธ.เห็นว่ากำหนดเวลาการออกเสียงลงคะแนนตามที่กำหนดไว้แต่เดิม คือ ตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.00 น. เป็นระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งสามารถปฏิบัติงานได้โดยเรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการขยายระยะเวลาเลือกตั้งนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ กกต.โดยตรง และอาจส่งผลต่อการจัดการเลือกตั้งในบางพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความสงบในพื้นที่ได้ อาทิ 3จังหวัดชายแดนใต้ และ

4. มาตรา 92 การออกเสียงลงคะแนนแทนคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ที่ สนช.ได้แก้ไขให้คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ นั้น กรธ.เห็นว่า วิธีการดังกล่าว ไม่ตรงตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ หากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับแล้ว การเลือกตั้งก็ไม่อาจที่จะเป็นการเลือกตั้งโดยเสรีได้ ดังนั้น กรธ.เห็นว่า กกต.ต้องหาวิธีดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กรธ. ได้มีมติเสนอรายชื่อกรรมการ กรธ. ที่จะเข้าร่วมหารือในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย พลเอกอัฎฐพร เจริญพานิช , ภัทระ คำพิทักษ์ , ศุภชัย ยาวะประภาษ , ธนาวัฒน์ สังข์ทอง และนรชิต สิงหเสนี ทั้งนี้ กรธ.เห็นว่าข้อโต้แย้งทั้ง 4 ประเด็นเป็นเรื่องทางเทคนิค ที่สามารถหารือให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันได้

ขณะที่ข้อถกแย้ง ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. .... มีทั้งหมด 3 ประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบด้วย

1. มาตรา 11 การเปลี่ยนแปลงจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม โดย กรธ.มีเจตนารมณ์ให้ ส.ว.เป็นสภาที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้แท้จริง โดยประชาชนซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด สามารถสมัครเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติได้ ดังนั้น การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ลดจำนวนกลุ่มลงเหลือเพียง 10 กลุ่ม จากเดิมที่ กรธ.กำหนดไว้ 20 กลุ่ม จึงเป็นการลดทอนหลักประกันว่าวุฒิสภาจะเป็นสภาที่ประกอบด้วยประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง

2.มาตรา 13 การแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่สมัครโดยอิสระ กับประเภทที่สมัครโดยต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรตามที่กำหนด และให้ผู้สมัครในแต่ละประเภทเลือกกันเองเท่านั้น ไม่สามารถเลือกข้ามประเภทได้แม้จะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของการเลือกกันเองตามมาตรา 107 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถสมัครรับเลือกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างเสรี โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเสนอชื่อหรือรับรองหรือผ่านการคัดกรองจากองค์กรใดๆ ก่อน และ

3. การยกเลิกการเลือกไขว้ ตามมาตรา 42 มาตรา 43 และมาตรา 44 กรธ. เห็นว่า การกำหนดมาตรการเลือกไขว้จะทำให้การสมยอมกันในการเลือกทำได้ยากขึ้น อันจะทำให้การเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ สนช.ตัดมาตรการเลือกไขว้ออกโดยไม่มีมาตรการที่เท่าเทียมหรือเข้มข้นกว่าในการลดความเป็นไปได้ในการสมยอมกันในการเลือกมาแทน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสมยอมกันโดยไม่สุจริตในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ทั้งนี้ที่ประชุม กรธ.ได้มีมติเสนอ 5 รายชื่อกรรมการ กรธ. ที่จะเข้าร่วมหารือในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย อัชพร จารุจินดา , อภิชาต สุขัคคานนท์ , ชาติชาย  ณ เชียงใหม่ , ปกรณ์ นิลประพันธ์และ อุดม รัฐอมฤต ทั้งนี้ คาดว่า สนช.จะตั้ง กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ในการประชุม สนช.วันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ.นี้ และจะต้องพิจารณาร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

 

เรียบเรียงจาก: เว็บข่าวรัฐสภา 1 , 2

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อยศาลปกครอง กรณีขอทุเลายึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์จำนำข้าว

Posted: 13 Feb 2018 05:06 AM PST

องค์คณะพิเศษของศาลปกครอง 7 เสียงยกคำร้องขอทุเลาการยึดทรัพย์ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ความเสียหายจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านไปเมื่อปลาย ม.ค. แต่มี 2 เสียงที่เห็นแย้ง โดยเฉพาะภานุพันธ์ ชัยรัต ที่พิจารณาถึงที่มาของรัฐบาลประยุทธ์ และพูดถึงสถานการณ์อันไม่ปกติของประเทศไทยซึ่งทำให้ศาลจำเป็นต้องตรวจสอบอำนาจและพิจารณาคดีแบบ Judicial Activism (ตุลาการภิวัตน์)

<--break- />

คดี "จำนำข้าว" เป็นคดีใหญ่ที่มีผลทางการเมืองอย่างมาก ข้อถกเถียงสำหรับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ว่ามันคือ "การทุจริต" หรือ "การดำเนินนโยบายทางการเมืองปกติ" เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่แม้ในคำวินิฉัยของศาลปกครองที่วินิจฉัยเรื่องการขอทุเลาคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ของยิ่งลักษณ์ เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากโครงการนี้เป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท

เรื่องค่าเสียหายนี้เป็นอีกคดีหนึ่งที่แยกออกมาจากคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตัดสินไปเมื่อ 27 กันยายน 2560 ให้จำคุกยิ่งลักษณ์เป็นเวลา 5 ปีโดยไม่รอการลงโทษ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าว

ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้านนี้เป็นคำสั่งทางปกครองของกระทวงการคลังที่กำหนดให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องชดใช้ให้รัฐ นับเป็นจำนวน 20% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมดที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโครงการจำนำข้าวสรุปมาว่า เสียหายกว่า 1.7 แสนล้านบาท ยิ่งลักษณ์จึงได้ยื่นคำฟ้อง นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ที่ 2) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (ที่3) ปลัดกระทรวงการคลัง (ที่ 4) ต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจนถึงปัจจุบันศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษา ระหว่างนั้นยิ่งลักษณ์ก็ได้ยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งกระทรวงการคลัง) ด้วย เพราะจะส่งผลให้ถูกยึดทรัพย์หลายรายการ ครั้งแรกศาลปกครองยกคำขอ และครั้งล่าสุด ศาลปกครองก็ยกคำขอเช่นกันสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจคือ คำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย 2 เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งปกครองครั้งล่าสุด (จากทั้งหมด 7 เสียง) คือ นายภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง และนายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครอง โดยมีเหตุผลที่น่าสนใจ เช่น เรื่อง "ความไม่เป็นกลาง" ของการออกคำสั่งทางปกครอง มูลค่าความเสียหายที่กระทรวงการคลังอ้างถึงนั้นยังไม่เป็นข้อยุติ ยิ่งลักษณ์ไม่เป็น "เจ้าหน้าที่" ตามนิยามของกฎหมาย เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของนายภานุพันธ์นั้นนับเป็นคำวินิจฉัยที่เราอาจเห็นได้ไม่บ่อยนัก

"นอกจากนี้ ตุลาการในองค์คณะฝ่ายเสียงข้างน้อยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีปกครองลักษณะทั่วไปซึ่งเป็นข้อพิพาททางปกครองในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีสภาพการปกครองตามปกติ แต่เป็นคดีปกครองที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องทางการเมืองและมีการใช้อำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศทุกระดับ จึงเกี่ยวข้องกับอำนาจทางปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และจะต้องวินิจฉัยคดีนี้ตามหลัก Judicial Activism เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทำการรัฐประหาร (Coup d'etat) ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นการได้อำนาจรัฐมาโดยไม่ใช่วิถีทางของระบอบประชาธิปไตยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่ใช่วิถีการปกครองซึ่งได้รับการรับรองจากนานาอารยะประเทศและองค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศแล้ว ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาใช้บังคับ โดยตัดบทบัญญัติความว่า "การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม" ซึ่งเป็นหลักการสำคัญอันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อนหน้าที่ออกไป ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้และคดีการระบายข้าว เพื่อให้กรมบังคับคดีซึ่งมีอำนาจในการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลเข้ามามีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามคำสั่งของฝ่ายปกครอง จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกได้ดำเนินการพิจารณาทางปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และมีหนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค ๐๒๐๖/๔๔ ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๐ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีขายทอดตลาด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐและการบริหาราชการแผ่นดินจากผู้ฟ้องคดี ยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับนิติธรรม จากนั้นได้พิจารณาเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีต่อผู้ฟ้องคดี จะเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาเป็นข้อพิรุธทำให้เคลือบแคลงสงสัยต่อการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทางปกครองต่อมาในภายหลัง ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐจึงต้องตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองตามที่กล่าวมาให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกฟ้องคดี"

"ในสภาพการณ์ที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองซึ่งไม่ปกติ เพราะประเทศถูกปกครองโดยคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดซึ่งมาจากการทำรัฐประหารโดยในการปกครองประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินไม่มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่แท้จริงตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อคณะบุคคลดังกล่าวได้ใช้อำนาจทางปกครองต่อประชาชน เกิดเป็นข้อพิพาทและนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองซึ่งทำหน้าที่ในนามศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐและมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต้องตระหนักและสำนึกต่อการทำหน้าที่ตุลาการเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำคัญขององค์กรตุลาการในรัฐสมัยใหม่ตามหลักกฎหมายมหาชน ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองและการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมในฐานะรัฐที่ดี เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจหรือไม่เป็นธรรม และเพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจแก่สังคมไทย ตลอดจนความเชื่อถือในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองของศาลปกครองไทยต่อสังคมโลก"

เพื่อให้เข้าใจภาพรวมได้อย่างกระชับที่สุด ด้างล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบเหตุผลในคำวินิจฉัยกลางขององค์คณะ กับ ตุลาการเสียงข้างน้อย 2 เสียงดังกล่าว ส่วนล้อมกรอบด้านล่างเป็นคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย 2 เสียงฉบับเต็ม ขณะที่ในไฟล์แนบเป็นฉบับสมบูรณ์ของทุกส่วน ขอให้ทุกท่านตามอ่านด้วยความสนุกสนาน

 

คำวินิจฉัยกลางขององค์คณะ
หน้า  1-16
ความเห็นแย้ง
(ภาณุพันธ์ ชัยรัต)
หน้า 17-33
ความเห็นแย้ง
(วชิระ ชอบแต่ง)
หน้า 34-47
การจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานใดได้ต้องมี 3  องค์ประกอบ 1.คำสั่งนั้น "น่าจะ" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.ถ้าให้ใช้บังคับในระหว่างพิจารณาคดีจะสร้างความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาภายหลัง 3.หากสั่งทุเลาแล้วจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของหน่วยงานรัฐ
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า 
 
1.ในชั้นนี้ยังบอกไม่ได้ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นประเด็นเนื้อหาของคดีที่ศาลต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไป
 
2.หากคำสั่งนี้ใช้บังคับไม่ยากแก่การเยียวยาภายหลัง กระทรวงการคลังมีศักยภาพชดใช้ให้ได้ และในการอายัดบัญชีเงินฝากเห็นว่า เงินเหลือเพียง 1.9 ล้านจากเดิมมี 24 ล้าน จึงเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์จริง
 
ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบ 3 ประการศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังได้ ให้ยกคำขอ
การมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองด้วยเหตุผลว่า คำสั่งนั้น "น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยเนื้อหาคดี หรือมีผลต่อการแพ้ชนะคดี เพียงเป็นการวินิจฉัยวิธีการชั่วคราวเพื่อมุ่งคุ้มครองสิทธิประชาชน 
 
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า 
 
1.การออกคำสั่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากขาด "ความเป็นกลาง" เพราะผู้ออกคำสั่งเป็นผู้ยึดอำนาจ (ยิ่งลักษณ์) เป็นสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคำสั่งไม่เป็นกลาง 
 
1.1 การออกคำสั่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เป็นข้อยุติแล้ว แต่ประเด็นค่าเสียหายเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติ เพราะคำสั่งเองก็ระบุว่าหากขายข้าวได้ราคาสูงกว่าที่คำนวณไว้เบื้องต้นให้นำเงินมาหักคืนแก่ยิ่งลักษณ์ 
 
1.2 ตามหลักทฤษฎีสาธารณะ ไม่สามารถคำนวณเพียงเรื่องกำไรขาดทุนทางบัญชีได้เพราะมีเป้าหมายอื่นด้วย เช่น การเกื้อหนุนอาชีพทำนา การทำให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 
 
1.3 ยิ่งลักษณ์ไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่" ตามนัยของกฎหมายที่ใช้ยึดทรัพย์ 
 
2.เรียกค่าสินไหมทดแทนสูงมาก หากยึดทรัพย์ขายทอดตลาดทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ยุติจะส่งผลกระทบวงกว้าง รวมไปถึงครอบครัวและบริวาร รวมถึงความเสียหายอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ความเป็นปกติสุข สถานภาพทางสังคม ซึ่งเป็นความเสียหายร้ายแรงอันไม่อาจเยียวยาได้ในภายหลัง 
 
3.คำสั่งทุเลาการบังคับยึดทรัพย์นั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐและบริการสาธารณะ เพราะนายกฯ ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับให้อำนาจในการตรวจสอบและป้องกันการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินของยิ่งลักษณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีมาตรา 44 ในมือ ซึ่งถูกบรรจุต่อเนื่องไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย 
 
3.1 คดีนี้ไม่ใช่คดีปกครองทั่วไปแต่เป็นข้อพิพาททางปกครองในสถานการณ์ที่ประเทศไทยไม่ปกติ มีความเกี่ยวเนื่องกับการเมือง และมีการใช้อำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จทุกระดับ ศาลปกครองจึงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องวินิจฉัยคดีนี้ตามหลัก Judicial Activism 
 
3.2 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองตัดสินให้ยิ่งลักษณ์ผิดฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ "ความเสียหาย" ดังกล่าวสามารถยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ได้ แต่รัฐกลับเลี่ยงมาใช้วิธีพิจารณาทางปกครองเพื่อให้มีการออกคำสั่งกระทรวงการคลัง และไม่ว่าคดีอาญาผลจะออกมาอย่างไร ศาลปกครองก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบความชอบของกฎหมายของคำสั่งกระทรวงการคลังนี้ 
 
จึงเห็นควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งกระทรวงการคลัง) ห้ามกระทำการใดๆ ต่อโฉนดที่ดิน 2 แปลงและบ้านพักอาศัยในเขตนวมินทร์ซึ่งกรมบังคับคดีอายัดไว้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น 
 
ต้องมี 3 องค์ประกบครบอถ้วน หากไม่ครบแม้ข้อใดข้อหนึ่ง ศาลยกคำขอได้
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
 
1.ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่" ตามกฎหมาย แต่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและโครงการนี้เป็นการดำเนินงานทางนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ไม่ใช่การดำเนินการทางปกครอง อีกทั้งกระทรวงการคลังก็ไม่ใช่ผู้เสียหายตามที่ออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะกระทรวงการคลังได้มาร่วมวางกรอบเงื่อนไข กำหนดราคา งบประมาณที่จะใช้ในโครงการนี้ด้วย นอกจากนี้ยังไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต เมื่อมีคำท้วงติงมาจาก ป.ป.ช.และกระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ 276 คดี
 
แม้การพิจารณาว่าคำสั่งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นการพิจารณาใน "เนื้อหา" คดี แต่เท่าที่รับฟังเบื้องต้นเห็นได้ว่าคำสั่งนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
2. บรรดาเงินในบัญชีที่ถูกอายัด ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่น (ที่ไม่ใช่บ้าน) นั้นเป็นส่วนที่กระทรวงการคลังสามารถเยียวยาความเสียหายได้ในภายหลังหากพบว่ายิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย แต่กรณีบ้านพักอาศัยและที่ดินของบ้านหากให้กรมบังคับคดีขายทอดตลาดจะทำให้ครอบครัวและบริวารไม่สามารถอยู่อาศัยได้ สร้างความเสียหายร้ายแรงที่ไม่อาจเยียวยาภายหลัง
 
3. แม้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลัง กรมบังคับคดีและหน่วยงานต่างๆ ก็ยังดำเนินการเตรียมสืบทรัพย์เพื่อยึดหรือายัดทรัพย์ได้ภายหลัง คำสั่งทุเลาฯ จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งทุเลาคำสั่งพิพาททั้งหมดจะส่งผลให้กรมบังคับคดีไม่สามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองได้เลยในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ยิ่งลักษณ์ยังคงมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินทั้งหมดตามปกติเสมือนไม่มีคำสั่งพิพาทใช้บังคับเลย พิจารณาแล้วเห็นควรสั่งห้ามดำเนินการขายทอดตลาดในส่วนที่ดิน 2 แปลงและบ้านที่อยู่อาศัยที่กรมบังคับคดียึดไปแล้ว  
 


ความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อย 2 เสียง

 

ความเห็นแย้ง                                คดีหมายเลขดำที่ ๑๙๙๖/๒๕๕๙

นายภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง ตุลาการในองค์คณะฝ่ายข้างน้อย เห็นสมควรที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงทำความเห็นแย้งไว้ดังนี้

คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องครั้งที่ ๑ มาพร้อมกับคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค๐๒๐๖/๔๔ ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๐ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีขายทอดตลาด ตุลาการในองค์คณะฝ่ายเสียงข้างมากวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งศาลปกครองกลางลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๐ ให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องครั้งที่ ๒ ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี เนื่องจากกรมบังคับคดีได้แจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ฟ้องคดีและเงินส่วนแบ่งทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง และยื่นคำร้องครั้งที่ ๓ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๐ ขอให้ศาลเพิกถอนการอายัดของกรมบังคับดคีในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๕ และเลขที่ ๗๐๓๘๙ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านพักอาศัย ๒ ชั้น เลขที่ ๓๘/๙ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ตุลาการในองค์คณะฝ่ายเสียงข้างมากวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งศาลปกครองกลาง ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๑ ให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี

ตุลาการในองค์คณะฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของตุลาการในองค์คณะฝ่ายเสียงข้างมากที่กล่าวมา เห็นว่า คำวินิจฉัยของสองคำสั่งต้องสมเหตุสมผลและมีเหตุผลสอดคล้องกัน เนื่องจากเป็นการใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีเพื่อขายทอดตลาดซึ่งไม่ใช่การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลที่เป็นที่สุดแล้ว เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและขายทอดตลาดภายใต้คำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ "ย่อมถือเป็นขั้นตอนปฏิบัติการที่อยู่ภายใต้คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี" ดังนั้น ตามคำร้องขอครั้งที่ ๑ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจะดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและขายทอดตลาดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีหรือไม่ก็ตามย่อมถือเป็นการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการภายใต้คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการภายใต้คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีมากล่าวอ้างเป็นเหตุผล เพื่อไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีและยังมีผลบังคับใช้อยู่ เพราะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายของกฎหมายว่าด้วยการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลปกครองใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองในการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี "ในเบื้องต้นก่อนการพิพากษา" เนื่องจากหากให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายมีผลใช้บังคับต่อไปย่อมกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งทางปกครองที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว

ในปีพ.ศ.๒๕๕๙ มีการแก้ไขสาระสำคัญของวิธีพิจารณาคดีปกครอง กรณีการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ โดยระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ ซึ่งความใหม่แตกต่างจากความเดิม โดยข้อ ๗๑ วรรคหนึ่ง กำหนดว่าเมื่อได้รับคำขอตามข้อ ๖๙ วรรสอง และเป็นกรณีที่ศาลมิได้มีคำสั่งตามข้อ ๗๐ ให้ศาลส่งสำเนาคำขอให้คู่กรณีทำคำชี้แจงคัดค้านคำขอและแสดงพยานหลักฐานโดยเร็ว และหากเห็นสมควรศาลจะนัดไต่สวนหรือแสวงหาข้อเท็จจริงโดยวิธีอื่นใดเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวด้วยก็ได้ แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวโดยไม่ชักช้า วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่มีคำขอตามข้อ ๖๙ แต่ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีให้ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นโดยจะไต่สวนก่อนหรือไม่ก็ได้

จะเห็นว่า การแก้ไขกระบวนการยุติธรรมทางปกครองกรณีการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน เพราะการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองในเบื้องต้นโดยองค์กรตุลาการก่อนการพิพากษาคดีเป็นเรื่องสำคัญ และได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลปกครองมาตั้งแต่จัดตั้งศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เหตุผลเนื่องมาจากสภาพการปกครองของประเทศไทยเกิดปัญหาที่รัฐสภาตรากฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองและฝ่ายบริหารออกกฎหมายลำดับรองเป็นจำนวนมาก ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือทำให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจตามกฎหมายในการออกกฎหรือคำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด เพื่อดำเนินกิจกรรมทางปกครองอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีการกระทำที่ล่วงล้ำสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระทำการไปโดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ที่ประโยชน์ได้เสียของเขาได้รับผลกระทบกระเทือน กระทำการโดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง หรือกระทำการไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในเรื่องนั้นๆ หลายกรณีเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น

ดังนั้น จึงบัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองในเบื้องต้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยการกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี "และให้ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้เองโดยจำเป็นต้องมีคำร้องขอจากคู่กรณี"

สำหรับความตามข้อ ๗๒ วรรสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลเห็นว่ากฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและการให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ทั้งการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธาณณะ ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ตามที่เห็นสมควรนั้น

ตุลาการในองค์คณะฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่า การวินิจฉัยว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น "น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ไม่ได้หมายความว่า คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" และการวินิจฉัยว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี "น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีและมีผลเป็นการชี้ขาดการแพ้ชนะของคดี เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีตามหลักเกณฑ์ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ส่วนการวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีเพื่อจัดทำคำพิพากษาเป็นการวินิจฉัยว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามมาตรา ๔๒ ถึงมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ รวมทั้งแสวงหาข้อเท็จจริงที่แท้จริงโดยระบบไต่สวนตามที่กำหนดไว้ในวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งผลของคำพิพากษาอาจเหมือนหรือต่างจากคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง

และเห็นว่า การให้คำสั่งทางปกครองที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายมีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง หมายรวมถึงความเสียหายต่อบุคคลภายนอกและประโยชน์ส่วนรวมด้วย และยังหมายรวมถึง ความเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้ด้วยตัวเงินในภายหลัง เช่น การดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข สถานภาพทางสังคม และอื่นๆ โดยศาลต้องทำการไต่สวนอย่างรอบด้านเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่อาจรับฟังเพียงคำชี้แจงของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีนั้น ส่วนคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ หมายรวมถึง หากศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองแล้ว คำสั่งของศาลจะมีผลทำให้ฝ่ายปกครองไม่สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองในเรื่องนั้นได้เลย หรือเป็นอุปสรรคต่อหน่วยงานทางปกครองที่จะทำหน้าที่ในการบริการสาธารณะแก่ประชาชนโดยทั่วไป

คดีนี้ การวินิจฉัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อ ๗๒ วรรคสาม แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ ตุลาการในองค์คณะฝ่ายเสียงข้างน้อยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า

กรณีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นความเป็นกลางในการพิจารณาทางปกครองเพื่อออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พิเคราะห์เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา๕ บัญญัติว่า "การพิจารณาทางปกครอง" หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง "เจ้าหน้าที่" หมายความว่า บุคคล คณะบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม "คู่กรณี" หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านคำขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองเนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง มาตรา ๑๓ บัญญัติว่า เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ (๑) เป็นคู่กรณีเอง (๒) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี (๓) เป็นญาติของคู่กรณี คือเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้ภายในสามชั้น หรือเป็นญาติที่เกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น (๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี (๕) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี (๖) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา๑๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้

จะเห็นว่า กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีเจตนารมณ์ที่สำคัญคือ การประกันความเป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง จึงวางหลักสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐ "เมื่อจะทำการพิจารณาทางปกครองต้องมีความเป็นกลางต่อทุกฝ่าย" และ "บัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่ซึ่งมีเหตุที่มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางทำการพิจาณาทางปกครองในเรื่องนั้น" เพราะขัดกับหลักความเป็นกลางซึ่งเป็นหลักนิติธรรมที่สำคัญในการพิจารณาทางปกครอง หากมีการฝ่าฝืนหลักความเป็นกลางอาจมีผลทำให้ต้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้น

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาทางปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่๑ (ผู้ดำรงตำแหน่งขณะมีการยื่นฟ้องคดีนี้) ใช้อำนาจในฐานะเจ้าหน้าที่หรือมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองต่อผู้ฟ้องคดีผู้ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุที่มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้เกิดการพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เพราะอาจทำการพิจารณาทางปกครองด้วยความมีอคติลำเอียง ทำให้มีข้อเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความเป็นกลางในการพิจารณาทางปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงมีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี

ประเด็นจำนวนค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องดคี พิเคราะห์เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (๑) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ (๒) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง และ (๓) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ จะเห็นว่า กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดให้คำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งข้อเท็จจริงที่นำมารับฟังเป็นสาระสำคัญเพื่อจัดทำคำสั่งทางปกครอง จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติเป็นที่สุด ดังนั้น ในการออกคำสั่งทางปกครองจึงต้องนำข้อเท็จจริงอันถึงที่สุดมาพิจารณาทางปกครองเพื่อเตรียมการและจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกกล่าวอ้างในคำสั่งดังกล่าวว่า จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีจงใจกระทำละเมิดเป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๑๗๘,๕๘๖,๓๖๕,๑๔๑.๑๗ บาท จึงให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ ๒๐ ของความเสียหายทั้งสิ้น คิดเป็นเงิน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘.๒๓ ตามนัยมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ อนึ่ง หากทางราชการมีการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๕๕/๕๖ และปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่คุณอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาของรัฐบาล ให้นำมาคำนวณเป็นมูลค่าสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และนำมาหักคืนแก่ผู้ฟ้องคดีตามสัดส่วนที่ได้ชำระไว้ต่อไป จะเห็นว่า จำนวนเงิน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘.๒๓ บาท ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกกล่าวอ้างมาในคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีและแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติเป็นที่สุด เพราะอาจมีเงินจำนวนหนึ่งที่ต้องนำคือแก่ผู้ฟ้องคดีในภายหลังตามที่ระบุไว้ในคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี

นอกจากนี้ เห็นว่า หากนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเป็นนโยบายสาธารณะแล้ว ตามหลักทฤษฎีนโยบายสาธาณะจุดมุ่งหมายและเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่กำไรเป็นมูลค่าเงิน เนื่องจากนโยบายสาธารณะมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายเพื่อทำให้ได้มาซึ่งความอยู่ดีมีสุดของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ หากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นนโยบายสาธารณะแล้ว ต้องนำประโยชน์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาประกอบการพิจารณาด้วย เช่น การเกื้อหนุนอาชีพทำนาให้คงความเป็นฐานการผลิตทางเกษตรกรรมของชาติ การทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของชาวนา ผลประโยชน์ของผู้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่ต่อเนื่องจากอาชีพทำนา สังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และหากโครงการรับจำนำข้าวทำความเสียหายต่อรัฐจริงตามคำกล่าวอ้าง ค่าเสียหายที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ก็ไม่อาจพิจารณาจากผลกำไรขาดทุนทางบัญชีจากการซื้อและขายข้าวตามข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเพียงปัจจัยเดียว เพราะเป็นการตีราคาตามมาตรฐานการบัญชี โดยประเมินมูลค่าตามราคาทุนหรือราคาเฉลี่ยตามประกาศของกรมการค้าภายในหรือราคาเฉลี่ยของ อคส. หรือ อตก. ซึ่งการปิดบัญชีดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงเฉพาะผลการขาดทุนสุทธิที่มีสาเหตุมาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้วาในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดเท่านั้น ซึ่งในคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ก็ระบุว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวยังมีต้นทุนทางการเงิน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและดอกเบี้ยที่จ่ายสำหรับเงินกู้ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากส่วนต่างราคารับจำนำข้าวเปลือกกับราคาตลาดซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายให้เกษตรกรซึ่งไม่ได้นำต้นทุนทางการเงินดังกล่าวมาคำนวณเป็นค่าเสียหายด้วย โดยความเสียหายพิจารณาจากสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดซึ่งคำนวณความเสียหายได้ทั้งหมด จำนวน ๒๘๖,๖๓๙,๖๔๘,๒๐๑.๔๕ บาท โดยคำนวณจากต้นทุนขาย จำนวน ๖๕๓,๘๖๓,๐๕๔,๑๗๐.๓๙ บาท หักด้วยรายได้จำนวน ๑๘๙,๕๕๓,๘๔๐,๒๗๖.๖๒ บาท และหักด้วยเงินส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว จำนวน ๑๗๗,๖๖๙,๕๖๕,๖๙๒.๓๒ บาท

จะเห็นว่า ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ตามที่กล่าวมาเพื่อกำหนดค่าเสียหายที่ยุติเป็นที่สุด รวมทั้งหากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวไม่ชอบและทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ยังมีประเด็นการเรียกเงินคืนจากผู้ที่ได้รับไปจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ชอบในฐานะลาภมิควรได้ ดังนั้น เมื่อยังมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยการกำหนดค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวที่แน่นอน ซึ่งผลการวินิจฉัยอาจส่งผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงค่าเสียหายที่จะสั่งให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมา

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำนวนค่าเสียหายที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดียังไม่ยุติเป็นที่สุด จึงมีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่วนผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เพียงใดนั้น เป็นประเด็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลปกครองต้องวินิจฉัยโดยดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ต่อไป

ประเด็นการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งมาในคำฟ้องว่า โครงการรับจำนวนข้าวเป็นการกระทำทางการเมืองหรือการกระทำทางรัฐบาล มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ที่จะตกอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลร่วมหลายพรรคและได้แถลงต่อรัฐสภาในการเข้าบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ซึ่งในคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีก็ได้ระบุไว้เช่นเดียวกันว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายรัฐบาลที่ผู้ฟ้องคดีแถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งผู้ฟ้องคดีในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่นให้เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ โดยในการบริหารราชการแผ่นดินต้องดำเนินการตามรัฐธรมนูญ ตามกฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายโดยทั่วไปของคณะรัฐมนตรี จะเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องดคีไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งจะต้องรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งเป็นการกระทำทางรัฐบาล อยู่ในอำนาจการตรวจสอบและรับผิดชอบทางรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
 

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๗๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามมาตรา ๗๕ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ และเมื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบิราชการแต่ละปีตามมาตรา ๗๖ วรรคสอง บัญญัติว่า ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้ และมาตรา ๑๗๘ บัญญัติว่า ในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงไว้ตามมาตรา ๑๗๖ และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ที่บัญญัติว่า "เจ้าหน้าที่" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด มาตรา ๑๕ บัญญัติว่า ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ระบุเหตุผลว่า การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำต่างๆ เป็นการเฉพาะตัวเสมอไป เมื่อการที่ทำไปทำให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใดก็จะมีการฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้น ทั้งที่บางกรณีเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจหรือความผิดพลาดเล็กน้อยในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนั้นยังมีการนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมในระบบกฎหมายแพ่งมาบังคับใช้เจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้อื่นด้วย ซึ่งระบบนั้นมุ่งหมายแต่จะได้เงินครบโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมีต่อเจ้าหน้าที่แต่ละคน กรณีเป็นการก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาในการบริหารเพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินงานเท่าที่ควรเพราะเกรงความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้นแก่ตน อนึ่งการให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ยังมีวิธีการในการบริหารงานบุคคลและการดำเนินการทางวินัยกำกับดูแลอีกส่วนหนึ่งอันเป็นหลักประกันมิให้เจ้าหน้าที่ทำการใดๆ โดยไม่รอบคอบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และให้แบ่งแยกความรับผิดชอบของแต่ละคน มิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลร่วมหลายพรรคที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ผู้ฟ้องคดีมีสถานภาพทางกฎหมายเป็นนายกรัฐมนตรีและต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายโดยทั่วไปของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้ตามหมวด ๒ ส่วนที่ ๑ การตรวจสอบทรัพย์สิน ส่วนที่ ๒ การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่วนที่ ๓ การถอดถอนจากตำแหน่ง และส่วนที่ ๔ การดำเนินคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำหรับ "เจ้าหน้าที่" ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ หมายถึง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้เพื่อใช้กับบุคคลที่มีสถานภาพทางกฎหมายเป็น "เจ้าหน้าที่" ตามที่กล่าวมา และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีสถานภาพทางกฎหมายหลายสถานภาพและขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีสถานภาพทางกฎหมายแตกต่างจาก "เจ้าหน้าที่" ตามกฎหมายเดียวกัน จึงมีปัญหาความไม่น่าชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี

ส่วนประเด็นผู้ฟ้องคดีจะมีสถานภาพเป็น "เจ้าหน้าที่" ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และจะต้องรับผิดตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีหรือไม่อย่างไร เป็นประเด็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลปกครองจะต้องวินิจฉัยต่อไป รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ซึ่งจะต้องนำมาวินิจฉัยก่อนในเบื้องต้น

กรณีการให้คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีที่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนทั้งสิ้น ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๗๒๘.๒๓ บาท ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติเป็นที่สุด ย่อมเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ฟ้องคดี รวมทั้งบริวารและบุคคลภายนอกอีกเป็นจำนวนมากที่มีธุรกรรมหรือกิจกรรมเกี่ยวข้องกับผู้ฟ้องคดี ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลในวงกว้างต่อเนื่องตามมา ตลอดจนความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ซึ่งไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้ด้วยตัวเงินในภายหลัง เช่น การดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข สถานภาพทางสังคม และอื่นๆ ซึ่งสภาพความเสียหายอย่างร้ายแรงไม่อาจพิจารณาเพียงคำชี้แจงของคู่กรณีเท่านั้น เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกและผู้ฟ้องคดีไม่สามารถชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบถ้วน ทั้งนี้ ข้อ ๗๒ วรรคสามของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ ความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังจากความไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง หมายถึงที่จะเกิดแก่บุคคลภายนอกและประโยชน์ของส่วนรวมด้วย จึงเห็นว่า การให้คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี บริวารและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

กรณีการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ และเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐจำนวนมาก จึงมีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานอื่นๆ ตรวจสอบการทำธุรกรรมรต่างๆ และการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีย้อนหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแม้ศาลปกครองจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังมีอำนาจพิเศษเหนือศาลที่จะสั่งระงับยับยั้งคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวได้ตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติหรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชาการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วรายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว ซึ่งบทบัญญัที่กล่าวมายังมีผลใช้บังคับต่อไปในมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงเห็นว่า การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ

นอกจากนี้ ตุลาการในองค์คณะฝ่ายเสียงข้างน้อยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีปกครองลักษณะทั่วไปซึ่งเป็นข้อพิพาททางปกครองในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีสภาพการปกครองตามปกติ แต่เป็นคดีปกครองที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องทางการเมืองและมีการใช้อำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศทุกระดับ จึงเกี่ยวข้องกับอำนาจทางปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และจะต้องวินิจฉัยคดีนี้ตามหลัก Judicial Activism เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทำการรัฐประหาร (Coup d'etat) ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นการได้อำนาจรัฐมาโดยไม่ใช่วิถีทางของระบอบประชาธิปไตยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่ใช่วิถีการปกครองซึ่งได้รับการับรองจากนานาอารยะประเทศและองค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศแล้ว ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาใช้บังคับ โดยตัดบทบัญญัติความว่า "การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม" ซึ่งเป็นหลักการสำคัญอันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อนหน้าที่ออกไป ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้และคดีการระบายข้าว เพื่อให้กรมบังคับคดีซึ่งมีอำนาจในการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลเข้ามามีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามคำสั่งของฝ่ายปกครอง จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกได้ดำเนินการพิจารณาทางปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และมีหนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค ๐๒๐๖/๔๔ ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๐ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีขายทอดตลาด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐและการบริหาราชการแผ่นดินจากผู้ฟ้องคดี ยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับนิติธรรม จากนั้นได้พิจารณาเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีต่อผู้ฟ้องคดี จะเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาเป็นข้อพิรุธทำให้เคลือบแคลงสงสัยต่อการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทางปกครองต่อมาในภายหลัง ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐจึงต้องตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองตามที่กล่าวมาให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกฟ้องคดี

ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงการกระทำของกรมบังคับคดีซึ่งดำเนินการภายใต้การคุ้มครองของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๘๖/๒๕๕๙ ศาลปกครอง (คดีการระบายข้าว นายมนัส สร้อยพลอย ผู้ฟ้องคดี) ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ลับ ที่ ๔๕๓/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยขัดกฎหมายและหลักนิติธรรม ด้วยการอายัดเงินบำนาญและเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยบำนาญ (ช.ค.บ.) ซึ่งต้องห้ามอย่างชัดแจ้งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๕ และมาตรา ๒๘๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช ๒๔๗๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ และมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่กรมบังคับคดีดำเนินการในคดีดังกล่าว ซึ่งมาตรา ๒๘๕ บัญญัติไว้เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับดคี เช่น เครื่องนุ่งห่มหลับนอนหรือเครื่องใช้ในครัวเรือนหรือเครื่องใช้สอยส่วนตัว หรือเครื่องมือหรือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพหรือประกอบวิชาชีพ หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เป็นต้น และมาตรา ๒๘๖ บัญญัติไว้เกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างในหน่วยราชการและเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายแก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นต้น และบทบัญญัติที่กล่าวมายังมีผลใช้บังคับตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐

เมื่อกรมบังคับคดีซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สิน ภายใต้การคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ ได้อายัดเงินบำนาญและเงิน ช.ค.บ.ในบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ลับ ที่ ๔๕๒/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งที่ต้องห้ามอย่างชัดแจ้งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลปกครองจึงมีคำสั่งให้ชี้แจงการกระทำดังกล่าว กรมบังคับคดีอ้างว่าเป็นการอายัดเงินตามคำร้องขอของกรมการค้าต่างประเทศ และแจ้งว่าได้เพิกถอนการอายัดเงินดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นคำชี้แจงที่ไม่มีเหตุผลจะนำมารับฟังได้ เพราะกรมบังคับคดีเข้ามาดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ ซึ่งไม่ใช่การยึดหรืออายัดตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าทรัพย์สินที่จะยึดหรืออายัดตามคำร้องขอของกรมการค้าต่างประเทศต้องห้ามยึดหรือายัดตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่มุ่งหมายแต่จะยึดและอายัดทรัพย์สินเพื่อให้ได้จำนวนเงินตามคำสั่งดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมาย

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศและมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการออกคำสั่งในคุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับ และที่ผ่านมาได้มีคำสั่งให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการมาแล้วเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีหลักประกันว่ากรมบังคับคดีและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคณะที่กล่าวมาจะดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ ภายใต้หลักการปฏิบัติราชการที่ดีและหลักนิติธรรมดังปรากฏข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐฝ่ายเดียวโดยไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอีกดังข้อเท็จจริงที่กล่าวมา จึงสมควรที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีก่อนดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีต่อไป

เห็นว่า ในสภาพการณ์ที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองซึ่งไม่ปกติ เพราะประเทศถูกปกครองโดยคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดซึ่งมาจากการทำรัฐประหารโดยในการปกครองประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินไม่มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่แท้จริงตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อคุณบุคคลดังกล่าวได้ใช้อำนาจทางปกครองต่อประชาชน เกิดเป็นข้อพิพาทและนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองซึ่งทำหน้าที่ในนามศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐและมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต้องตระหนักและสำนึกต่อการทำหน้าที่ตุลาการเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำคัญขององค์กรตุลาการในรัฐสมัยใหม่ตามหลักกฎหมายมหาชน ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองและการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมในฐานะรัฐที่ดี เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจหรือไม่เป็นธรรม และเพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจแก่สังคมไทย ตลอดจนความเชื่อถือในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองของศาลปกครองไทยต่อสังคมโลก

กรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.๒๒/๒๕๕๘ คดีหมายเลขแดงที่ อม.๒๑๑/๒๕๖๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต ได้พิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอญามาตรา ๑๕๗ (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ ให้ลงโทษผู้ฟ้องคดีนั้น

เห็นว่า ในการยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกล่าวอ้างว่า "ผู้ฟ้องคดีดำเนินโครงการับจำนำข้าวเปลือกทำความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาล" ซึ่งความเสียหายที่กล่าวอ้างสามารถยื่นฟ้องขอให้ศาลยุติธรรมมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายตามข้อกล่าวหาพร้อมกันไปเพื่อให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล เพราะเป็นค่าเสียหายที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลยุติธรรม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกเลี่ยงมาใช้วิธีการพิจารณาทางปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สั่งผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่อ้างว่าทำความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาลดังกล่าว และให้กรมบังคับคดีดำเนินการยึดหรือายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีภายใต้คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีแทนการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาล เห็นว่า ไม่ว่าผลของคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สุดแล้วจะเป็นประการใด และผู้ฟ้องคดีจะมีสถานภาพในทางคดีอาญาอย่างไรต่อไป แต่ในคดีปกครองที่ผู้ฟ้องคดีนำมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองก่อนมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองข้างต้น เกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี ศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีต่อไป ภายใต้กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง เพื่ออำนวยความยุติธรรมทางปกครองแก่ผู้ฟ้องคดีให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งกาฟ้องคดีมีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ทั้งการทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อ ๗๒ วรรคสาม ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ ศาลปกครองจึงมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี

จึงเห็นสมควรที่ศาลปกครองจะสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแก่การฟ้องคดี และห้ามการกระทำใดๆ ต่อไปที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๕๐๕ และเลขที่ ๗๐๓๘๙ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านพักอาศัย ๒ ชั้น เลขที่ ๓๘/๙ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรมบังคับคดีได้อายัดไว้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นายภานุพันธ์ ชัยรัต

รองอธิบดีศาลปกครองกลาง

 

ความเห็นแย้ง                                 คดีหมายเลขดำที่ ๑๙๙๖/๒๕๕๙

ข้าพเจ้านายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและตุลาการเจ้าของสำนวนเสียงข้างน้อยในองค์คณะพิเศษ ไม่เห็นพ้องด้วยตุลาการเสียงข้างมากในประเด็นที่สองที่มีคำสั่งให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีใหม่อีกครั้ง โดยเห็นควรให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่พิพาทบางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่มุ่งให้ความคุ้มครองผู้ฟ้องคดีระหว่างการพิจารณาคดีของศาล โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบกัน ซึ่งตุลาการเสียงข้างน้อย ขอเสนอความเห็นแย้งตามลำดับดังนี้

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องและคำขอ สรุปความได้ว่า ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๔-พ.ศ.๒๕๕๘ รัฐบาลของผู้ฟ้องคดีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยให้นำโครงการจำนำข้าวมาใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกร และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการนำนโยบายดังกล่าวมาบรรจุในแผนบริหาราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๕๕- พ.ศ.๒๕๕๘ เรียบร้อยแล้ว จากนั้นผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติขึ้นมาบริหารโครงการ โดยมีผู้ฟ้องคดีเป็นประธาน พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก ๑๓ ชุด เพื่อติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย ต่อมาในระหว่างดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงอันมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่ และได้มีมติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดทางอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงส่งความเห็นให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและนายสมหมาย ภาษี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันมีคำสั่งกระทรวงการคลัง ลับ ที่ ๔๔๘/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๘ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้น และต่อมาได้มีการแก้ไขอีกครั้งตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ลับ ที่ ๑๘๒๔/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ ผลการสอบข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ ๒๐ ของความเสียหาย ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน ๓๕,๗๑๗.๒๗๓,๐๒๘.๒๓ บาท ตามนัยมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ให้แก่กระทรวงการคลังภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง และหากทางราชการได้มีการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวนาปี ปีการผลิต ๒๕๕๕/๕๖ และปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ ได้ในราคาที่สูงกว่าให้นำมาหักคืนให้กับผู้ฟ้องคดีตามสัดส่วนที่ได้ชำระไว้ต่อไป ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ โต้แย้งไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่สุจริตและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี และไม่มีข้อเท็จจริงรองรับอย่างเพียงพอในการออกคำสั่ง ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีคำสั่งดังกล่าว

ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่พิพาทมาพร้อมกับคำฟ้อง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการลางคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา

ศาลมีคำสั่งลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๐  ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี

ต่อมาในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้อง ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ และลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๐ สรุปความได้ว่า ในขณะนี้กรมบังคับคดีได้ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีแล้ว ได้แก่ บัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดี รวม ๑๖ บัญชี อายัดเงินส่วนแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง กรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน ๓๗ รายการ โดยในส่วนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๕๐๕ และ ๗๐๓๘๙ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ ๓๘/๙ ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัย ๒ ชั้น เป็นการรีบเร่งดำเนินการโดยไม่รอการพิจารณาวินิจฉัยของศาลในการพิจารณาคำขอทุเลาคำสั่งที่พิพาท

ตุลาการเสียงข้างมากในองค์คณะพิเศษเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีในคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่พิพาทไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่มาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๗๒ วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ กำหนดไว้ กรณีตามคำขอของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งยกคำขอดังกล่าว
 

ตุลาการเสียงข้างน้อยได้ตรวจพิจารณาคำฟ้อง คำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง คำคัดค้านคำขอทุเลาการบังคับตามคำส่งทางปกครอง คำชี้แจงของกรมบังคับคดีและเอกสารอื่นๆ ในสำนวนคดี รวมทั้งได้พิจารณาคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี และตรวจพิจารณาบทกฎหมายและกฎที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว ขอเสนอความเห็นแย้งดังนี้

คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ออกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ ๒๐ ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘.๒๓ บาท ต่อมากระทรวงการคลังได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค ๐๒๐๑/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ แจ้งคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โต้แย้งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพิกเฉย จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค ๐๒๐๖/๔๔ ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๐ แจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งผู้ฟ้องคดีรับหนังสือดังกล่าวเมื่อ ๗ มกราคม ๒๕๖๐ และได้ครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ กระทรวงการคลังได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดี รวม ๑๖ บัญชี และในวันเดียวกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือถึงสถาบันการเงินดังกล่าวเพื่อแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดี ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยื่นหนังสือถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขออายัดเงินส่วนแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขดำที่ ล.๑๓๔๓๐/๒๕๕๒ จากนั้นเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการยึดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๓๗ รายการ ส่วนเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวน ๑๖ บัญชี ตามบัญชีรายงานแสดงทรัพย์สินของผู้ฟ้งคดีที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อพ้นจากตำแหน่ง ๑ ปี มียอดเงินรวม ๒๔,๙๐๘,๔๒๐.๒๘ บาท เปรียบเทียบการอายัดเงินฝากในธนาคารของกรมบังคับคดี ลดลงจากเดิมจำนวน ๒๒,๙๓๘,๕๓๕ฬ๙๗ บาท โดยมียอดเงินคงเหลือจำนวน ๑,๙๖๙,๘๘๔.๓๑ บาท

กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดี หรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๕๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลปกครองเห็นสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาคดี ไม่ว่าจะมีคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่ ให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด วรรคสอง บัญญัติว่า การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหางานของรัฐประกอบด้วย และข้อ ๗๒ วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลเห็นว่ากฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและการให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ทั้งการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ตามที่เห็นสมควร

จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไขสามประการประกอบกัน คือ ประการแรก กฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประการที่สอง การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง กล่าวคือ แม้ต่อมาภายหลังศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลก็ไม่อาจแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการบังคับตามผลของกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นในระหว่างการพิจารณาคดีให้หมดไปโดยสิ้นเชิง และประการที่สาม การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง การชะลอหรือระงับการบังคับตามผลของกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีจะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธาณระ โดยเงื่อนไขทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้นต้องเกิดขึ้นครบถ้วน ศาลจึงมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นได้ และให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะต้องพิจารณาตามที่เห็นสมควร เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีในระหว่างพิจารณาคดีของศาล โดยไม่ให้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะในขณะเดียวกัน แต่หากคำขอดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้แม้เพียงประการเดียว ศาลย่อมมีอำนาจจะยกคำขอดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า คำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขทั้งสามประการตามที่ข้อ ๗๒ วรรคสามแห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ กำหนดไว้หรือไม่

สำหรับเงื่อนไขที่ว่า คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๔- พ.ศ.๒๕๕๗ และได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในการเข้าบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ โดยตามข้อ ๑.๑๑ ของนโยบายดังกล่าวได้กำหนดให้นำระบบจำนำข้าว สินค้าเกษตร มาใช้เสริมสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้นำโครงการรับจำนำข้าวมาบรรจุไว้ในแผนบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๕๕-พ.ศ.๒๕๕๘ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยมีผู้ฟ้องคดีเป็นประธาน มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวหลายกรณี และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรวม ๑๓ คณะ เพื่อให้มีการติดตาม กำกับดูแล กาปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่อนุมัติอย่างรอบคอบและครอบคลุมทุกขั้นตอนของการรับจำนำข้าว หลังจากที่ได้มีการดำเนินการตามนโยบายโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต ๒๕๕๔/๒๕๕๕ ปี ๒๕๕๕/๒๕๕๖ แล้ว ต่อมาคณะกรรมการป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่ และได้มีมติว่าผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดทางอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงส่งความเห็นให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น และเมื่อผู้ฟ้องคดีได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและนายสมหมาย ภาษี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันมีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๔๔๘/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๘ และแก้ไขตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๘๒๔/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้ง จากนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ดำเนินการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง ประกอบกับด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว พยานที่เป็นฝ่ายผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาซึ่งรวมผู้ฟ้องคดีด้วย และได้รายงานผลสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทราบ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๘ สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายเป็นเงิน ๒๘๖,๖๓๙,๒๐๑.๔๕ บาท และให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนดังกล่าวข้างต้น ตามนัยมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาแล้ววินิจฉัยยืนความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยในระหว่างนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๖/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๙ มอบหมายให้กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองในกรณีที่มีการออกคำสั่งให้ชดใช้เงินจากโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาตั้งแต่ปีการผลิต  ๒๕๔๘ จนถึงปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ จากนั้นได้มีการเสนอผลสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดกับโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรที่มีผลขาดทุนทำให้รัฐต้องรับภาระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นอันมาก และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยส่งออกรายอื่นได้ประโยชน์ ในขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถขายข้าวได้ ซึ่งผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ไม่ได้พิจารณารายละเอียดและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากกฏตามหนังสือทักท้วงของหน่วยงานตรวจสอบ แต่กลับเพิกเฉย ละเลย ปล่อยให้มีการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวต่อไป กำหนดเป้าหมายไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกและรับจำนำสูงกว่าราคาตลาด ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทันต้องเก็บรักษาไว้นานจนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสียน้ำหนัก แต่เนื่องจากความเสียหายดังกล่าวข้างต้นได้รวมโครงการรับจำนำข้าวก่อนปีการผลิต ๒๕๕๔/๕๕ ไปด้วย ซึ่งผู้ฟ้องคดียังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงคงเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้นในปีการผลิต ๒๕๕๕/๕๖ และปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วถือว่า เป็นการจงใจกระทำละเมิด ทำให้กระทรวงการคลังเสียหายเป็นเงิน ๑๗๘,๕๘๖,๓๖๕,๑๔๑.๑๖  บาท ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงได้ออกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ ๒๐ ของความเสียหาย ซึ่งคิดเป็นเงิน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘.๒๓ บาท ตามนัยมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัตความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และหากทางราชการได้มีการระบายข้าวในโครงการจำนำข้าวนาปี ปีการผลิต ๒๕๕๕/๕๖ และปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ ได้ในราคาที่สูงกว่า ให้นำมาหักคืนให้กับผู้ฟ้องคดีตามสัดส่วนได้ชำระไว้ต่อไป ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ โต้แย้งว่า คำสั่งให้ชดใช้เงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายกรณีดังที่ปรากฏตามคำฟ้องข้างต้น แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้กับผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพิพาทดังกล่าวนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงข้อกล่าวหาและรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคำสั่งพิพาทแล้ว เป็นการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ จงใจไม่สั่งระงับหรือยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย ตามนัยมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ๒๕๓๙ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินดังกล่าวและโดยที่ความรับผิดของผู้ฟ้องคดีที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละฐานะย่อมมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีในตำแหน่งดังกล่าว จึงอาจเป็นงานทางนโยบายหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางปกครองก็ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (๑) กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่นชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้ และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น (๒) ... ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่า คำสั่งพิพาทดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงมีข้อพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า คำสั่งพิพาทที่ได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบชดใช้เงินนั้น เป็นการกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบใช้เงินตามฐานะใด ซึ่งจะมีผลถึงการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่จะมีคำสั่งในเรื่องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมา เพราะคำสั่งให้ชดใช้เงินดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหลักความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามที่มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ บัญญัติไว้ โดยสรุปว่า หน่วยงานของรัฐที่เสียหายจะมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้เงินเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดได้ ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำการละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ในกรณีที่การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อหน่วยงานของรัฐที่มิใช้การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐที่เสียหายหามีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินเป็นค่าสินไหมทดแทนไม่ คงมีแต่เพียงสิทธิจะฟ้องคดีต่อศาลที่คดีอยู่ในเขตอำนาจให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนได้เท่านั้น ในเมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่อ้างเหตุผลในคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่พิพาทว่าเป็นเพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกระทรวงการคลังได้มีหนังสือท้วงติง และคำแนะนำเกี่ยวกับผลการดำเนินการโครงการรับจำนวนข้าวตามนโยบายของผู้ฟ้องคดีมีผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหายกับงบประมาณแผ่นดินทั้งได้มีการตั้งกระทู้ถามรวมถึงมีการอภิปรายในรัฐสภาเรื่องปัญหาโครงการรับจำนำข้าว แต่ผู้ฟ้องคดีกลับเพิกเฉย ละเลย ปล่อยให้มีการดำเนินการรับจำนำข้าวต่อไป ไม่ใส่ใจสั่งการให้ตรวจสอบหรือดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่และภาวะวิสัยที่ควรจะกระทำภายใต้กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการจงใจกระทำละเมิดเป็นเหตุให้กระทรวงการคลังเสียหาย แต่ผู้ฟ้องคดีได้อ้างว่า ในการดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าว ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลในการบริหารประเทศและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้กับกระทรวงการคลังหรือสำนักนายกรัฐมนตรี และในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ออกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๔๔๘/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๘ และแก้ไขตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๘๒๔/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดผู้ฟ้องคดีนั้น ผู้ฟ้องคดีได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติไปแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้มีฐานะเป็น "เจ้าหน้าที่" ตามนิยามในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และโครงการรับจำนำข้าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เป็นเรื่องการกระทำทางรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา มิใช่การกระทำทางปกครองและกระทรวงการคลังมิใช่เป็นผู้ได้รับความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากเป็นผู้ร่วมมีมติกับคณะรัฐมนตรีตั้งแต่การอนุมัติกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ เงื่อนไขและงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการ กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักของฝ่ายปฏิบัติในขั้นตอนของการนำนโยบายรับจำนำข้าวไปปฏิบัติเท่านั้น อีกทั้งเมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือท้วงติงและคำแนะนำจากหน่วยงานตรวจสอบดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการโดยส่งเรื่องให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว และเพื่อให้เป็นไปตามข้อทักท้วงและคำแนะนำตามหนังสือจากหน่วยงานดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว การเยียว ฟื้นฟู และป้องกันสาธารณภัยและการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการที่ผู้ฟ้องคดีแต่งตั้งสามารถติดตามจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรวม ๒๗๖ คดี ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้เพิกเฉยหรือจงใจปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้ผู้ใดก่อการทุจริตและก่อความเสียหายตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ และดุลพินิจที่ใช้ในการออกคำสั่งพิพาทในหลายกรณี ซึ่งแม้ว่าข้ออ้างในบางกรณีจำต้องพิจารณาในส่วนที่เป็นเนื้อหาของคดีก็ตาม แต่จากข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีในชั้นนี้ ก็มีเหตุผลพอที่จะรับฟังได้ว่าคำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ออกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘.๒๓ บาท จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย

คดีมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่า การให้คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น มีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่ เห็นว่า ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ อีกครั้งในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีได้เคยยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทครั้งหนึ่งมาแล้ว ตามคำขอลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ซึ่งในครั้งนั้นศาลได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๐ ให้ยกคำขอทุเลาของผู้ฟ้องคดี โดยเห็นว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการเพื่อที่จะนำไปสู่การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งยังมีขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในหลายกรณี และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ทำคำสั่งทางปกครองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายได้มานำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ชี้แจงว่าหากมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีไปแล้วหากต่อมาศาลได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่พิพาทในภายหลัง กระทรวงการคลังย่อมมีศักยภาพในการเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีได้ แต่โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทในครั้งนี้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร ๖ ได้มีหนังสือแจ้งการอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีตามคำขอของกระทรวงการคลัง ได้แก่ ๑.อายัดบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดี รวม ๑๖ บัญชี ๒. อายัดเงินส่วนแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขดำที่ ล.๑๓๔๓๐/๒๕๕๒ และยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการจำนวน ๓๗ รายการ จึงต้องถือว่าขณะนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีได้เข้าไปดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีแล้ว ทั้งยังปรากฏจากคำชี้แจงต่อศาลของกรมบังคับคดี เมื่อันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๐ สรุปได้ว่า เมื่อได้ดำเนินการแจ้งการยึดทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการจัดทำประกาศขายทอดตลาดเพื่อส่งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบกำหนดการขายทอดตลอดและทำการปิดประกาศขายทอดตลาดตามสถานที่ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ.๒๕๕๙ ต่อไป ส่วนระยะเวลาที่จะดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้นั้น เนื่องจากทรัพย์สินที่ยึดไว้มีหลายรายการ มีผู้เกี่ยวข้องหลายรายและเป็นการยึดตามสำเนาเอกสารสิทธิ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้องทราบและปิดประกาศยึดทรัพย์ ณ ที่ตั้งทรัพย์ ซึ่งมีที่ตั้งทั้งที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดให้ครบถ้วน รวมถึงต้องแจ้งให้ผู้ยึดถือเอกสารสิทธิในการนำต้นฉบับเอกสารสิทธิเหล่านั้นมาส่งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อตรวจสอบสารบัญการจดทะเบียนของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวข้างต้นต้องใช้ระยะเวลาตามสมควร อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้นครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้นำทรัพย์ที่ยึดไว้ออกขายทอดตลาดทันที เท่านั้น

เมื่อพิจารณาคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทของผู้ฟ้องคดีในครั้งนี้โดยตลอดและคำชี้แจงของกรมบังคับคดีดังกล่าวข้างต้นโดยตลอดแล้ว แม้ผู้ฟ้องคดีจะขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทกับบรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไปแล้ว รวมถึงการดำเนินการในอนาคตก็ตาม แต่เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีคำขอหลักเพื่อคุ้มครองบ้านและที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๕ และเลขที่ ๗๐๓๘๙ พร้อมบ้านเลขที่ ๓๘/๙ ซอยนวมินทร์ ๑๑๑ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เป็นสำคัญ ซึ่งศาลเห็นว่า บรรดาทรัพย์สินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินในบัญชีธนาคาร เงินส่วนแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ที่ดินและห้องชุดที่กรมบังคับคดีได้ดำเนินการยึดหรืออายัดไว้นั้น หากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีได้นำทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีไปขายทอดตลาด และต่อมาศาลได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งพิพาทนั้น เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่สามารถเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายในภายหลังให้แก่ผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินในส่วนนี้ได้ แต่ในกรณีของบ้านพักอาศัยและที่ดินดังกล่าวซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานจำเป็นในการดำรงชีวิตของผู้ฟ้องคดีและครอบครัว หากให้คำสั่งพิพาทใช้บังคับกับทรัพย์สินเฉพาะที่เป็นบ้านและที่ดินดังกล่าวต่อไปจนกระทั่งถูกนำไปขายทอดตลาดแล้ว ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีและครอบครัวไม่อาจอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวได้อีกต่อไป กรณีจึงถือเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาในประการสุดท้ายว่า การให้คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุของการฟ้องคดีซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังใช้บังคับต่อไป จะเป็นปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ และศาลได้มีคำสั่งยกคำขอดังกล่าว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีได้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี ดังจะเห็นได้จากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร ๖ ได้มีหนังสือแจ้งอายัดตามคำขอของกระทรวงการคลัง ได้แก่ ๑. อายัดบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดีรวม๑๖ บัญชี ๒. อายัดเงินส่วนแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขดำที่ ล.๑๓๔๓๐/๒๕๕๒ และยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน ๓๗ รายการ และจะดำเนินการนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชดใช้ให้กับกระทรวงการคลังต่อไป กรณีจึงเห็นได้ว่า แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และกรมบังคับคดีก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการในส่วนของการเตรียมการสืบทรัพย์เพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีเพื่อนำมาขายทอดตลาดต่อไปได้ คำส่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทจึงมิได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่โดยสิ้นเชิง การมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทจึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะแต่อย่างใด

จากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น ในเมื่อเงื่อนไขที่จะให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกิดขึ้นครบถ้วน ศาลจึงมีอำนาจสั่งทุเลาคำสั่งที่พิพาทได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๗๒ วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี พ.ศ.๒๕๔๓

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีนี้ศาลจะมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่มุ่งคุ้มครองคู่กรณีในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแล้ว การที่ศาลมีคำสั่งทุเลาคำสั่งที่พิพาททั้งหมดซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และกรมบังคับคดีไม่สามารถดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยการยึดหรืออายัและขายทอดตลาดทรัพย์สินใดๆ ของผู้ฟ้องคดีได้เลยในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ย่อมทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะตามมาได้ และทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิใช้สอยบรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ได้ตามปกติเสมือนไม่มีคำสั่งพิพาทใช้บังคับเลย ทั้งๆ ที่ผู้ฟ้องคดียังคงมีหน้าที่ชดใช้เงินตามคำสั่งพิพาท และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้น โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐ และพิจารณาถึงความเสียหาย ความจำเป็นในการใช้ที่อยู่อาศัยและครอบครองเคหะสถานโดยปกติสุขของผู้ฟ้องคดี ครอบครัวและบริวารแล้ว กรณีจึงเห็นสมควรมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕๑/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน ๓๕,๗๑๗.๒๗๑.๐๒๘.๒๓ บาทบางส่วน ด้วยการห้ามมิให้คำสั่งพิพาทดังกล่าวมีผลใช้บังคับเฉพาะบ้านและที่ดิน ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๕ และเลขที่ ๗๐๓๘๙ พร้อมบ้านเลขที่ ๓๘/๙ ซอยนวมินทร์ ๑๑๑ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีว่า ขณะนี้บ้านและที่ดินดังกล่าว กรมบังคับคดีได้มีคำสั่ง ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ให้เจ้าหน้าที่ปิดประกาศยึดทรัพย์ ณ ที่ตั้งทรัพย์ และแจ้งเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้ฟ้องคดี รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียแล้ว และอยู่ในระหว่างการดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป

ตุลาการเสียงข้างน้อย จึงเห็นสมควรมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่พิพาทบางส่วน โดยศาลควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาท โดยห้ามมิให้มีการขายทอดตลาดบ้านและที่ดิน ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๕ และเลขที่ ๗๐๓๘๙ พร้อมบ้านเลขที่ ๓๘/๙ ซอยนวมินทร์ ๑๑๑ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องคดี ครอบครัวและบริวาร รวมถึงบรรดาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านหลังดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นายวชิระ ชอบแต่ง

ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง

 

 

ขอขอบคุณภาพต้นฉบับจาก เพจ Banrasdr Photo 

AttachmentSize
full.pdf2.97 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ครม.มติรับทราบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม 16 สาขาอาชีพ

Posted: 13 Feb 2018 03:23 AM PST

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ จำนวน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 16 สาขาอาชีพ

 

13 ก.พ.2561 วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และภายหลังการประชุม เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานผลการประชุม โดย ครม. มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 30 ต.ค. 2560 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับต่อไป ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ

ดังนี้ 1. การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน โดยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนี้มุ่งที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกจ้างมีการพัฒนาฝีมือแรงงานและมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น  เพื่อรองรับการพัฒนาของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 2. คณะกรรมการค่าจ้างได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จำนวน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาและจัดทำร่างอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม 16 สาขาอาชีพ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 ครั้งที่ 9/2560 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จำนวน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 16 สาขาอาชีพ โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนี้

อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม 16 สาขาอาชีพ

กลุ่มอุตสาหกรรม / สาขาอาชีพ

ระดับ 1

ช่วงห่าง

ระดับ 2

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก

(1) พนักงานหลอมเหล็กเตาอาร์คไฟฟ้า

480

100

580

(2) พนักงานปรุงแต่งน้ำเหล็กในเตาปรุงน้ำเหล็ก (Ladle Furnace)

500

100

600

(3) พนักงานหล่อเหล็ก

460

100

560

(4) พนักงานควบคุมการอบเหล็ก

440

100

540

กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก

(5) ช่างเทคนิคเครื่องฉีกพลาสติก

380

70

450

(6) ช่างเทคนิคเครื่องเป่าถุงพลาสติก

380

70

450

(7)ช่างเทคนิคเครื่องเป่าภาชนะกลวง

380

70

450

(8) ช่างเทคนิคการซ่อมเครื่องเป่าถุงพลาสติก

410

70

480

กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์

(9) พนักงานเตรียมวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง

340

30

370

(10) พนักงานผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ

380

60

440

(11) พนักงานประกอบเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง

350

50

400

(12) ช่างทำสีเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง

360

40

400

กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า

(13) พนักงานตัดวาดรองเท้า

370

35

405

(14) พนักงานอัดพื้นรองเท้า

380

40

420

(15) ช่างเย็บรองเท้า

380

40

420

(16) พนักงานประกอบรองเท้า (เย็น)

360

30

390

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: บานปลาย! ตั้งเลขาฯ ศาลปกครอง

Posted: 13 Feb 2018 02:47 AM PST


 

สำนักข่าวอิศราตีข่าว เลือกเลขาฯ สนง.ศาลปค.ใหม่วุ่น! ปิยะ สั่งล้มคกก.สรรหา ชงชื่อ'จำกัด'ปาดหน้า 'อติโชค'  สรุปความได้ว่า ท่านปิยะ ปะตังทา (ชื่อเดิม เกษม คมสัตย์ธรรม) ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองคนใหม่ แทนนายไกรรัช เงยวิจิตร ที่ลาออกไป แต่ปรากฏว่า หลังจากคณะกรรมการเปิดรับสมัคร ให้ผู้สมัครเข้าสอบสัมภาษณ์ แสดงวิสัยทัศน์ จนลงมติเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม และส่งชื่อมาให้ท่านประธานแล้ว ท่านกลับเสนอชื่ออีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สมัครเข้ารับคัดเลือกด้วยซ้ำ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ลงมติเห็นชอบ

ก.ศป.ไม่ยอมรับ โดยแย้งว่าท่านประธานจะทำเช่นนี้มิได้ เพราะเมื่อท่านตั้งคณะกรรมการคัดเลือกแล้ว ก็ต้องทำให้จบกระบวนการ มิใช่ผลการคัดเลือกยังค้างเติ่งอยู่ ก็มาเสนอบุคคลอื่น

วันรุ่งขึ้น ท่านประธานจึงลงนามในคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ เสีย และเตรียมจะเสนอชื่ออีกทีในการประชุม ก.ศป.ครั้งต่อไปวันพุธ วันแห่งความรักนี่เอง

เรื่องยังบานปลายอีกว่า การแต่งตั้งเลขาธิการศาลปกครองครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังการแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครองครั้งล่าสุด ซึ่งเพิ่มมาตรา 78 /1 "เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอาจแต่งตั้งจากตุลาการศาลปกครองโดยความเห็นชอบของ ก.ศป." พูดง่ายๆ ก็คือ เพิ่มตัวเลือกจากมาตรา 78 เดิม ที่ตั้งจากข้าราชการฝ่ายสำนักงานศาลปกครอง มาเป็น "อาจ" แต่งตั้งจากฝ่ายตุลาการ โดยมีข้อแตกต่างว่า เลขาธิการซึ่งตั้งตามมาตรา 78 มีวาระ 4 ปี เลขาธิการซึ่งมาจากตุลาการตามมาตรา 78/1 มีวาระ 2 ปี

แล้วก็บังเอิญ สำนักข่าวอิศราเผยว่า ในการคัดเลือกครั้งนี้ มีผู้สมัคร 3 ราย ได้แก่ นายประเวศ รักษพล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น นายเกียรติภูมิ แสงศศิธร ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น และนายอติโชค ผลดี รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอันดับ 1

แล้วคณะกรรมการซึ่งมีนายนพดล เฮงเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน ลงมติ 6-1 เลือกนายอติโชค แต่ท่านประธานกลับเสนอชื่อนายจำกัด ชุมพลวงศ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นอีกคน ซึ่งไม่ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเลย


อำนาจประธาน ไหงทำให้งง

นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด โฆษกศาลปกครอง ชี้แจงว่า กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เพียงต้องเสนอ ก.ศป.ให้ความเห็นชอบเท่านั้น

ชี้อำนาจเลือกอยู่ที่ ปธ.ศาล ปค.สูงสุด! โฆษกรับ 'ปิยะ' สั่งล้ม คกก.สรรหาเลขาฯ สนง.ใหม่

ใช่เลยครับ ก็เป็นอย่างท่านชี้แจง ก.ศป.ไม่มีอำนาจเลือก ท่านประธานเลือก แล้วมาให้ ก.ศป.เห็นชอบ แต่ถ้า ก.ศป.ไม่เห็นชอบ ท่านก็ต้องเสนอคนใหม่

"กฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกเลขาธิการของประธานศาลปกครองสูงสุด ว่าต้องดำเนินการโดยวิธีใด และไม่ได้กำหนดให้ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ดังนั้นหากมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ประธานจะนำมาประกอบการพิจารณา โดยประธานไม่จำต้องคัดเลือกตามข้อเสนอของคณะกรรมการ"

อันนี้ก็ใช่อีก ท่านประธานไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ท่านจะจิ้มชื่อใครมาเสนอ ก.ศป.ก็ได้ ก็ยังงงกันอยู่ไง งงทั้งศาลปกครอง ว่าท่านตั้งกรรมการขึ้นทำไม ตั้งมา 7 ท่าน เป็นตุลาการผู้ทรงเกียรติทั้งนั้น มีรองฯ นพดลเป็นประธาน ทั้ง 7 ท่านอุตส่าห์เปิดรับสมัคร ให้แสดงวิสัยทัศน์ สอบสัมภาษณ์ ลงมติเสร็จสรรพ ท่านกลับไม่ใช้ผลการคัดเลือกนั้น เออ แล้วจะตั้งมาทำไม

คำถามคือแม้เป็นอำนาจของท่าน แต่เมื่อตั้งแล้ว มีผลผูกพันการตัดสินใจไหม เพราะนักกฎหมายบางคนก็ยกหลักกฎหมายปกครองข้อหนึ่งว่า "ฝ่ายปกครองต้องเคารพหลักเกณฑ์ที่ตนเองตั้งขึ้น"

ผมก็ตอบไม่ได้ ขอตั้งปุจฉาทิ้งไว้ดีกว่า เป็นข้อสอบวิชากฎหมายปกครอง สมมตินะ สมมติ อธิบดี ก.มีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้ากอง โดยกฎหมายไม่กำหนดขั้นตอนไว้ อธิบดีอยากตั้งใครก็ได้ แต่ดันไปตั้งคณะกรรมการคัดเลือก คณะกรรมการมีมติเลือกนาย ข. แล้วอธิบดีกลับไม่เอาตาม อธิบดีกลับข้ามไปตั้งนาย จ. ถามว่าถ้านาย ข.ฟ้องศาลปกครอง ศาลจะตัดสินอย่างไร อธิบดีผิดหรือไม่

ท่านโฆษกยังชี้แจงด้วยว่า "ก.ศป. มีข้อสังเกตว่า ก่อนที่ประธานจะเสนอชื่อผู้อื่น ประธานควรยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก และแจ้งผู้สมัครทราบก่อน ประธานจึงขอถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการประชุมหลังจากนั้น ประธานจึงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก"

ประเด็นนี้ก็ฟังแล้วงงกันไป เพราะไม่เห็นจำเป็นที่ท่านประธานจะต้องยุบคณะกรรมการ ซึ่งทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว คัดเลือกบุคคลแล้ว สิ่งที่ท่านต้องทำ ก็แค่ทำให้จบกระบวนการ คือเปิดเผยผลการคัดเลือกต่อผู้สมัคร แจ้งให้เขาทราบ แต่ใช้อำนาจประธานสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับผลการคัดเลือก เท่านั้นก็จบ


ทำไมต้องเจาะจงตุลาการ

โฆษกศาลยังชี้แจงอีกตอนหนึ่งว่า "การคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองในครั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกได้เสนอผลการคัดเลือกตามความเห็นของเสียงข้างมาก แต่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือก และความเหมาะสมของผู้ที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ รวมทั้งมีข้อเรียกร้องให้การแต่งตั้งเลขาธิการในครั้งแรกหลังจากมีการแก้กฎหมาย ควรแต่งตั้งจากตุลาการ ประธานศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว จึงไม่เสนอชื่อบุคคลที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ และได้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจากบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่าและไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆ เสนอต่อ ก.ศป. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561"

คำชี้แจงของท่านข้อนี้ แทนที่จะยุติปัญหา อาจทำให้บานปลาย ในเมื่อสำนักข่าวอิศราเผยออกมาแล้วว่า คณะกรรมการคัดเลือกรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอันดับ 1 แต่ท่านโฆษกแถลงว่ามีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกและ "ความเหมาะสม" จึงได้คัดเลือกบุคคลอื่นที่ "มีความเหมาะสมมากกว่าและไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆ"

ขณะเดียวกันก็ผสมประเด็นที่มา ว่าการแต่งตั้งครั้งแรกหลังแก้กฎหมาย "มีข้อเรียกร้องให้" แต่งตั้งจากตุลาการ โดยอ้างถึงการแก้ไขกฎหมายว่า ต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสอดคล้องเป็นทิศทางเดียวกับการพิจารณาคดีของศาล โดยเทียบเคียงการแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมที่กฎหมายกำหนดให้ต้องตั้งจากผู้พิพากษาเท่านั้น

โดยท่านยังอ้างอีกว่า ครั้งนี้ถ้าตั้งตุลาการ ก็จะอยู่ในวาระแค่ 2 ปี ซึ่งท่านประธานปิยะจะหมดวาระพอดี ใครมาเป็นประธานคนใหม่ก็จะได้คัดเลือกเลขาธิการใหม่ เทียบเคียงแนวปฏิบัติศาลยุติธรรมที่เมื่อเปลี่ยนประธานศาลฎีกา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะขอโอนกลับไปเป็นผู้พิพากษาเพื่อให้ประธานศาลฎีกาคนใหม่คัดเลือกเลขาธิการใหม่

ฟังแล้วก็ไม่ทราบว่าข้าราชการสำนักงานศาลปกครองจะรู้สึกอย่างไร เพราะเหมือนการยืนยันว่ายังไงๆ รองเลขาธิการก็ไม่ได้เป็นแหงๆ โดยไม่ใช่แค่เรื่องที่มา ที่อ้างว่าเมื่อแก้กฎหมายแล้วก็ควรแต่งตั้งจากฝ่ายตุลาการ แต่ยังพาดพิงตัวบุคคลว่า มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความเหมาะสม จึงคัดเลือกบุคคลอื่นที่เหมาะสมกว่าและ "ไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆ"

คำถามมีอยู่ว่า ถ้าจะเอาอย่างศาลยุติธรรม ทำไมไม่แก้กฎหมายให้สะเด็ดน้ำเสียเลยละครับ ว่าให้เลขาธิการมาจากตุลาการเท่านั้น ข้าราชการสำนักงานไม่มีวาสนา แต่การแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 78/1 กลับใช้คำว่า "อาจ" และกำหนดวาระเพียงกึ่งหนึ่งคือ 2 ปี

เจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร ตีความแบบบ้านๆ ก็เห็นได้ว่า เขียนเผื่อให้ตั้งตุลาการได้ในกรณีไม่มีบุคคลที่เหมาะสม แต่ถ้ามีบุคคลที่เหมาะสมแล้วก็ไม่จำเป็น นี่ตีความแบบบ้านๆ นะครับ ถ้าตีความแบบมือกฎหมายก็สามารถใช้คำว่า "อาจ" เป็นช่องแต่งตั้งตุลาการไปชั่วกัลปาวสาน

ก็ไม่ทราบเขียนกฎหมายมาอย่างนี้ทำไม ไม่คิดหรือว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งเปล่าๆ

เก้าอี้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งมาเกือบปีแล้ว หลังจากนายไกรรัช เงยวิจิตร ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว มีผลเมื่อเดือน พ.ค.2560 ตอนนั้นก็ตั้งรักษาการไว้ก่อน กระทั่งกฎหมายใหม่ประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อ 26 ก.ย.2560 ท่านประธานก็ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2560 คณะกรรมการเปิดรับสมัคร สอบสัมภาษณ์ ให้แสดงวิสัยทัศน์ และมีมติตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.2560 ซึ่งท่านประธานจะต้องนำชื่อเสนอ ก.ศป.เพื่อให้ความเห็นชอบ (หรือไม่ก็ใช้อำนาจของท่าน ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการคัดเลือก)

แต่ปรากฏว่า นายเกียรติภูมิ แสงศศิธร ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองชั้นต้น หนึ่งในผู้สมัคร ทำหนังสือร้องเรียนว่า นายนพดล เฮงเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พูดจาโน้มน้าวต่อคณะกรรมการ โดยอ้างความเห็นบุคคลระดับสูงในศาลปกครองว่า ข้าราชการฝ่ายสำนักงานไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ตุลาการมาดำรงตำแหน่ง เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้า และอาจไม่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนการทำงานเท่าที่ควร ในการประชุมวันที่ 20 ธ.ค.ท่านประธานจึงนำหนังสือร้องเรียนมาเสนอต่อที่ประชุม ก.ศป. แต่ที่ประชุมทักท้วงว่า การพิจารณาหนังสือร้องเรียน เป็นอำนาจหน้าที่ของประธาน ที่ประชุมไม่รับพิจารณา และเห็นว่าเมื่อท่านตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าเห็นชอบกับมติคณะกรรมการหรือไม่ ท่านก็ถอนเรื่องกลับไป และค้างคามาจนนำเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 7 ก.พ. แล้วก็ต้องเสนอใหม่ในวันแห่งความรัก

ผลการประชุมครั้งนี้ออกมาอย่างไร ไม่ใช่เรื่องเล็กแน่ เพราะเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว อย่างน้อย รองประธานศาลปกครองสูงสุด ก็ถูกกล่าวหา คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก็ถูกยุบ ขณะที่ข้าราชการฝ่ายสำนักงานจะมีปฏิกิริยาอย่างไร หากรู้สึกว่ามีการ "ตั้งธง" ให้ฝ่ายตุลาการมาเป็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าอ่านตามข่าว ก็จะเห็นว่า ก.ศป.หลายคนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการตัดสินใจของท่านประธาน แต่จะเป็นเสียงข้างมากข้างน้อยและส่งผลอย่างไร คงได้รู้กัน

   

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตผู้นำมัลดีฟส์เตือนประเทศอาจถูกจีนยึด เหตุหนี้สินมหาศาลในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์

Posted: 13 Feb 2018 02:33 AM PST

อดีตประธานาธิบดีมัลดีฟส์ผู้ที่บอกว่าเคย "ถูกเอาปืนจี้" ให้ลาออก พูดถึงวิกฤตของประเทศตัวเองที่ให้จีนแผ่อิทธิพลผ่านโครงการให้เงินกู้ยืมในแบบที่จ่ายคืนไม่ได้ และเตือนว่าหากการเลือกตั้งในประเทศเดือน ส.ค. นี้ดำเนินไปอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็มีโอกาสที่จีนจะอ้างเรื่องหนี้สินยึดครองพื้นที่ประเทศ ทำมัลดีฟส์สูญเสียอธิปไตยได้

13 ก.พ. 2561 อดีตประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด นาชีด แห่งมัลดีฟส์กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อนิคเคอิเอเซียนรีวิวว่า การที่มัลดีฟส์ติดหนี้เป็นจำนวนมหาศาลราว 1,500 - 2,000 ล้านดอลลาร์อาจจะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียดินแดนให้กับจีนภายในปี 2562 

มัลดีฟส์เป็นประเทศเกาะแถบมหาสมุทรอินเดียที่เป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม รัฐจัดเก็บรายได้น้อยกว่า 100 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนทำให้นาชีดประเมินความเป็นไปได้ว่าถ้าหากการเลือกตั้งประธานาธิบดีมัลดีฟส์ในปี 2561 เกิดปัญหา จีนก็อาจจะยึดครองประเทศได้

โมฮัมเหม็ด นาชีด เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีมัลดีฟส์ในช่วงปี 2551-2555 เขาลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่มีผู้ประท้วงซึ่งมีตำรวจและทหารร่วมชุมนุมด้วย เขาบอกว่าเขา "ถูกปืนจี้" ให้ลาออก เขาลี้ภัยไปที่อังกฤษในปี 2559 หลังจากถูกลงโทษจำคุกภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายเพราะเคยสั่งจับกุมผู้พิพากษารายหนึ่งขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้ตอนนี้นาชีดใช้ชีวิตเดินทางไปมาระหว่างอังกฤษกับศรีลังกา

จากข้อมูลช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาระบุว่ามัลดีฟส์ติดหนี้จีนคิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของหนี้ต่างชาติทั้งหมด โดยที่เงินส่วนใหญ่ไปอยู่ในโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สนามบิน หรือสะพาน แต่นาชีดก็บอกว่าโครงการเหล่านี้เป็นแค่โครงการในเชิง "อวดเบ่ง" ไม่ได้มีประโยชน์จริง ทำให้เกิดสนามบินว่างเปล่า ถนนที่ไม่ได้นำทางไปที่ใดเลย ทำให้เกิดแต่ภาระหนี้สิน และถ้าหนี้สินเหล่านี้จ่ายคืนจีนไม่ได้ จีนก็จะอ้างเรื่อง "กรรมสิทธิ์หุ้นส่วน" ในการขอยึดพื้นที่จากมัลดีฟส์ไปฟรีๆ

"การรุกคืบยึดครองพื้นที่เช่นนี้ทำให้อธิปไตยของพวกเรากลวงเปล่าจากข้างใน" นาชีดกล่าว เขาบอกอีกว่าวิธีการของจีนเป็นวิธีการอาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจในการแผ่อิทธิพลโดยไม่ต้องใช้กำลังอาวุธใดๆ เขากล่าวหาว่าในช่วงสมัยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน อับดุลลา ยามีน จีนได้ "ยึดไปแล้ว 16 เกาะ" แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่ามีเกาะใดบ้าง

การยึดครองดังกล่าว นาชีดเผยในรายละเอียดว่ามาจากการที่จีนเข้าไปสร้างท่าเรือพาณิชย์ แต่มันจะตกเป็นสมบัติของกองทัพได้ง่ายมาก และกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศจิบูตีที่มีจีนลงไปตั้งฐานทัพเรือเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้รัฐบาลของยามีนที่มีจีนหนุนหลังยังคอยลิดรอนเสรีภาพของฝ่ายต่อต้านมาเป็นเวลาหลายปี เช่น กรณีที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสั่งจำคุกผู้พิพากษาศาลสูงสุด หลังจากที่ผู้พิพากษาเหล่านี้ยกเลิกความผิดของนาชีดและสั่งให้มีการปล่อยตัวและคืนตำแหน่งให้นักโทษการเมืองฝ่ายค้านในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

นาชีดเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้พิพากษาและทำตามคำตัดสินของศาล ขณะเดียวกันก็โต้ตอบในเรื่องนี้ด้วยการเรียกร้องให้ตัวแทนจากอินเดียที่มีกองทัพหนุนหลังเข้าไปแก้ไขวิกฤตการณ์ อินเดียทำตามด้วยการเพิ่มกำลังเรือในพื้นที่น่านน้ำสากลรอบเมืองหลวงมาเลของมัลดีฟส์ ในระยะห่างที่ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม. แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชาวมาเลบางส่วนก็ไม่สบายใจกับการวางกำลังเช่นนี้ของอินเดีย ขณะที่นาชีดบอกว่ากองกำลังของอินเดียไม่ได้มาเพื่อยึดครองแต่มาเพื่อ "ปลดปล่อย" นาชีดบอกอีกว่าถ้าหากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของมัลดีฟส์ที่จะมีขึ้นในเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้ไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมก็จะทำให้จีนยึดครองประเทศและกลายเป็นภัยสำหรับภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย

 

เรียบเรียงจาก

Maldives faces Chinese 'land grab' over unpayable debts, ex-leader warns, Asian Nikkei Review, 13-02-2018

https://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/Maldives-faces-Chinese-land-grab-over-unpayable-debts-ex-leader-warns

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชัย เผย 1 เสียงของ กกต. อาจชี้ขาดคว่ำหรือไม่ กฎหมายลูก ส.ว.

Posted: 13 Feb 2018 02:02 AM PST

สมชัย เผย 1 เสียงของประธาน กกต. ในฐานะกรรมาธิการร่วมพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจเป็นเสียงชี้ขาดว่า จะมีการคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ระบุ ไม่ว่าเลือกทางไหนก็ต้องมีเหตุผลที่ดีชี้แจงต่อสังคม เผยจากการประชุม กกต. ยันไม่โหวตแย้ง สนช. แต่ ปธ.กกต มีอิสระในการตัดสินใจ

แฟ้มภาพประชาไท

13 ก.พ. 2561 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ว .ซึ่งจะประกอบไปด้วยกรรมาธิการจาก กกต. 1 คน และคณะกรรมาธิการจาก สภานิตบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฝ่ายละ 5 คน

สมชัยระบุว่า ขณะนี้ทาง กรธ. และ สนช. มีความเห็นไม่ตรงกับในประเด็นการจำแนกประเภทผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ที่เป็นผู้สมัครอิสระ กับองค์กรที่เป็นนิติบุคคล การลดจำนวนกลุ่มอาชีพ และการเปลี่ยนวิธีการเลือกไขว้มาเป็นการเลือกตรง ซึ่งจะมีผลต่อโครงสร้างใหญ่ของกฎหมาย ถ้าหากเลือกความคิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กฎหมายก็จะถูกเขียนใหม่ไปในทางหนึ่ง ดังนั้นในขั้นของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย หากไม่สามารถที่จะเจรจากันด้วยเหตุผล และยังยืนยันความเห็นของตัวเองอยู่ เสียงของศุภชัย สมเจริญประธาน กกต. หนึ่งเสี่ยงจะกลายเป็นเสียงสำคัญ เป็นเสียงที่ชี้ขาด ว่ามติของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย จะเป็นไปทางไหน หากประธาน กกต. เลือกเหตุผลของ กรธ. ผลที่เกิดขึ้น อาจกลายเป็นแพ้โหวต ก็อาจทำให้กฎหมายล้มไปทั้งฉบับ ถูกคว่ำไปในที่สุด และจะต้องไปร่างกันใหม่

สมชัย กล่าวว่า ท่าทีของประธาน กกต. สำคัญมาก ไม่ว่าจะโหวตไปฝ่ายไหน ก็ต้องมีเหตุผลที่จะชี้แจงต่อสังคม ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ประธาน กกต.เองก็จะกลายเป็นจำเลยของสังคมอีกคนหนึ่งว่า มีส่วนในการที่จะช่วยทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ไปในทิศทางที่เป็นปัญหาต่อบ้านเมือง ซึ่งจริงๆ แล้ว ทาง กกต. ควรจะโหวตไปทาง สนช. เนื่องจากในความเห็นแย้งจากที่ประชุมของ กกต. ที่ส่งไปยัง สนช. นั้น เราไม่ได้ทำความเห็นแย้งไปในประเด็นที่ กรธ. เสนอ เราไม่ติดใจเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งประเภท การแบ่งกลุ่ม และวิธีการเลือกตรงหรือเลือกไขว้ เราถือว่ากระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการออกแบบ ซึ่งสามารถออกแบบอย่างไรก็ได้ แต่ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าอะไรที่สามารถป้องกันการทุจริต ป้องกันการฮั้ว ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ได้ดีกว่ากัน เป็นเพียงแค่การคาดการของแต่ละฝ่ายว่า แบบนี้ดีกว่า แบบนั้นดีกว่า ดังนั้น เรายังไม่เห็นอนาคตว่าเป็นยังไง เราก็ไม่ได้ทำความเห็นแย้งว่ามันขัดกับรัฐธรรมนูญ

"ท่าทีที่ปลอดภัยกับทาง กกต. คือโหวตไปทางซีกของ สนช. ก็เท่ากับว่าไม่ได้ไปขัดกับสภาใหญ่ แล้วก็ไม่ได้ทำให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่การคว่ำกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็แล้วแต่ท่านประธาน กกต. เพราะท่านก็มีความเห็นอิสระในการที่จะคิดตัดสินใจเอง ท่านไม่มีความจำเป็นต้องกลับมาถาม กกต. อีก เพราะเป็นเรื่องที่เราคุยกันในกรรมการ กกต. แล้ว ว่าจะไม่แย้ง เมื่อไม่แย้งความเห็น กกต.จึงเห็นว่าไม่เป็นปัญหา ดังนั้น ถ้ายึดตามมติเดิมแปลว่า กกต. ไม่ติดใจ ก็ไม่น่าจะต้องไปโหวตในฝั่งของ กรธ."สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า หากวันที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย กรธ. มีเหตุผลที่ดีมากๆ ทำให้จูงใจ สนช. และกกต.ให้สนับสนุน ก็ยังมีโอกาสเสี่ยง ว่า ตัวแทนของ สนช. ที่มาร่วมเป็นกรรมาธิการนั้นไม่ได้เป็นเสียงของ สนช.ทั้งหมด อาจทำให้ สนช.ทั้งหมดร่วมกันโหวตด้วยเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยทำให้กฎหมายดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ 

 

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ศึกษาฯ ขอโทษประวิตร ปมพาดพิงนาฬิกาหรู รับเสียมารยาท ยันยังไม่ลาออก

Posted: 13 Feb 2018 01:44 AM PST

นพ.ธีระเกียรติ เผยแจ้ง 'ประยุทธ์' และขอโทษ 'ประวิตร' การณีกล่าวพาดพิงนาฬิกาหรูแล้ว รับพูดจริง แต่ไม่เป็นทางการ ยันยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี

13 ก.พ. 2561 จากกรณีวานนี้(12 ก.พ.61) บีบีซีไทย เผยแพร่คลิปเสียงของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพูดถึงประเด็นนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะพูดคุยกับนักเรียนไทย และนักธุรกิจไทยที่มาร่วมงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่าหากเป็นตนเองคงลาออกไปตั้งแต่นาฬิกาเรือนแรกแล้ว นั้น

ล่าสุดวันนี้ (13 ก.พ.61) นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า วันนี้ได้ชี้แจงเหตุการณ์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทราบ และยอมรับว่าได้พูดจริงตามคลิป แต่ไม่ใช่การสัมภาษณ์เป็นทางการ เป็นการยืนคุยภายหลังการบรรยายโดยไม่รู้ว่าถูกอัดเทป ยืนยันว่าไม่ได้ตัดต่อ เพียงแต่เสียงกับภาพเป็นเหตุการณ์คนละที่เท่านั้น

รมว.ศึกษาธิการกล่าวยอมรับว่า การพูดดังกล่าวเป็นการเสียมารยาท และได้ขอโทษ พล.อ.ประวิตรแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประวิตรพยักหน้ารับ มั่นใจว่าจะไม่กระทบการทำงานร่วมกับ พล.อ.ประวิตร ใน ครม. ไม่มีปัญหามองหน้ากันไม่ติด เพราะเมื่อสักครู่นี้ก็ยังมองหน้ากัน และตนเองจะยังอยู่ในตำแหน่ง ทำงานในรัฐบาลต่อไป เพราะเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี

"ท่านก็พยักหน้ารับ ผมก็ขอโทษท่านนะครับว่า ผมจะเรียกว่าเสียมารยาทนะครับ" นพ.ธีระเกียรติ เล่าถึงตอนกล่าวขอโทษ พล.อ.ประวิตร 

รมว.ศึกษาธิการกล่าวยอมรับว่า สิ่งที่พูดในคลิปนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ใครก็มีความคิดเห็นส่วนตัวได้ ส่วนความคิดเห็นในโลกโซเชียลฯ นั้นก็มีทั้งสองด้าน และยอมรับว่าตนเองมีส่วนผิดที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ และเฟสบุ๊ค Wassana Nanuam

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาววานรนิวาส ยื่นอุทธรณ์คำสั่งหลังอุตสาหกรรมจังหวัดสกลฯ ไม่เปิดข้อมูลเหมืองแร่โปแตซ

Posted: 13 Feb 2018 12:45 AM PST

เครือข่ายประชาชนวานรนิวาสส่งหนังสืออุทธรณ์คำสั่งกับประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร หลังอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลเหมืองแร่โปแตชวานรนิวาส ระบุการดำเนินโครงการต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ

13 ก.พ. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มะลิ แสนบุญศิริ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส ได้ส่งหนังสือ อุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ไปยังประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ หลังจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร มีหนังสือปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามหนังสือขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ของบริษัท ไซน่า หมิงต๋า โปแตชคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ของเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส

วันนี้ตัวแทนชาวบ้านได้เดินทางไปส่งจดหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่ทำการไปรษณีย์ อ.วานรนิวาส เพื่อขอให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ พิจารณาให้เปิดเผยข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตชในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร กับประชาชน พร้อมทั้งระบุด้วยว่า แม้จะพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่ให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ตั้งแต่พ.ศ. 2540 แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ประชาชนยังคงถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร การดำเนินโครงการต่างๆ ของทั้งภารัฐและเอกชน ที่จะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน การปกปิดข้อมูลเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชน เมื่อถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ย่อมทำให้ชาวบ้านเกิดความสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐ ว่าปฏิบัติหน้าที่เพื่อใคร โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

เครือข่ายวานรนิวาสได้ใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารในหนังสือฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2560 ถึงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ของบริษัท ไซน่า หมิงต๋า โปแตชคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 มีรายการดังต่อไปนี้

รายการที่ 1 เอกสารแผนผังการสำรวจแร่โปแตช ตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งแผนที่ประกอบตามรายการดังกล่าวด้วย

รายการที่ 2 เอกสารอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และแผนที่แนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องรายการอื่นๆ ด้วย

ต่อมาทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครมีหนังสือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร เลขที่ สน 0033(4.1)/85 ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561 ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 โดยชี้แจงดังนี้

1. แผนผังการสำรวจแร่โปแตล ตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช 
คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งแผนที่ประกอบตามรายการดังกล่าวด้วย

2. อาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12 /2558 และแผนที่แนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องรายการอื่นๆ ด้วยทั้งนี้ขอให้แจ้งผลเป็นลายลักษณ์อักษรมายังที่อยู่ที่ปรากฏบนหนังสือฉบับนี้ ภายใน 15 วัน นั้น

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร พิจารณาเห็นแล้วว่า เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูล เอกสารแผนผังการสำรวจแร่โปแตช ตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น(ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆรวมทั้งแผนที่ประกอบตามรายการดังกล่าว พร้อมทั้งอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และแผนที่แนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องรายการอื่นๆ อาจมีรายละเอียดข้อมูลที่กระทบถึงผลประโยชน์ได้เสียของบุคคลอื่น จึงไม่อาจสำเนาให้ท่านได้ 

ดังนั้นการที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร มีหนังสือปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามรายการที่ 1-2 ข้างต้นนั้น ข้าพเจ้าในนามผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส และภาคีเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ดังกล่าวและอาจจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการดำเนินการเจาะสำรวจตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัทเอกชนดังกล่าว จึงอาจจะได้รับความเสียหายจาก คำสั่งปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารข้างต้นนั้น จึงมีความประสงค์อุทธรณ์โต้แย้ง คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังนี้

ข้อ 1) อาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัดถือเป็นใบอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่ ซึ่งออกให้โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม นับเป็นใบอนุญาตให้สิทธิสำรวจแร่ทางธรณีวิทยาในขั้นรายละเอียด โดยกำหนดเงื่อนไขการเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจแร่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน และต้องทำการฝังกลบพร้อมฟื้นฟูพื้นที่หลังเสร็จสิ้นการสำรวจ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชให้แก่บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 116,875 ไร่ อาชญาบัตรพิเศษมีอายุ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 สิ้นอายุวันที่ 
4 มกราคม 2563 โดยได้กำหนดเงื่อนไขการเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจแร่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มเข้าสำรวจแต่ได้มีการดำเนินการเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่โดยไม่มีการแจ้งแก่ประชาชนทราบ เช่น ได้มีการเจาะสำรวจในที่ราชพัสดุ โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งก่อความเสียหายมาแล้ว และได้ทำการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการสำรวจแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จังหวัดสกลนคร ชี้ว่าบริษัทมีความผิดจริงเพราะมิได้ขออนุญาตขุดเจาะน้ำบาดาลดังกล่าว ดังนี้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมบัติสาธารณะดังที่เคยเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนรวมติดตามตรวจสอบ
การสำรวจแร่ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงถือเป็นสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการสำรวจแร่ดังกล่าวโดยละเอียดถูกต้อง

ข้อ 2) เอกสารแผนผังการสำรวจแร่โปแตช ตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (รายการที่ 1) และเอกสารอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และแผนที่แนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องรายการอื่นๆ (รายการที่ 2) ซึ่งประกอบด้วยเอกสารประกอบการออกอาชญาบัตรพิเศษได้แก่

2.1 แผนงานและวิธีการสำรวจแร่ เหมือนกับการขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่
2.2 รายละเอียดเกี่ยวกับคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอ ประทานบัตร แปลงอื่นๆ ที่ผู้ขอได้ยื่นคำขอไว้ก่อนแล้ว หรือที่ผู้ขอถืออยู่ในขณะยื่นคำขอ
2.3 ข้อผูกพันสำหรับการสำรวจแร่ โดยแจ้งจำนวนเงินที่จะใช้เพื่อการสำรวจในแต่ละปี ตลอดอายุของอาชญาบัตรพิเศษ
2.4 รายการข้อเสนอผลประโยชน์พิเศษที่ประสงค์จะให้แก่รัฐ เมื่อได้รับมอบอาชญาบัตรพิเศษ
2.5 หลักฐานแสดงทุนทรัพย์ในการสำรวจแร่ โดยใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ตามวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสำรวจแร่ ซึ่ง กพร. ได้กำหนดไว้ 30-60 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ยื่นขอสำรวจ หลักฐานนี้จะใช้ในขั้นตอนก่อนรับมอบอาชญาบัตรพิเศษภายหลังจากได้รับอนุญาตแล้ว

ดังนั้นเอกสารรายการที่ 1 และ 2 พร้อมเอกสารประกอบอื่น ๆ ที่ร้องขอให้มีการเปิดเผยซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร จึงถือเป็นเอกสารข้อมูลข่าวสารของราชการที่ต้องเปิดเผยแก่ประชาชนได้ตาม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 มาตรา 9 (6) "สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ" และตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9 (8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ข้อ 11 "สัญญา สัมปทนา ใบอนุญาต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือการดำเนินการที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และหรือสังคม รวมทั้งสัญญา สัมปทาน และหรือใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้วย" ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการดังกล่าวไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ดังนั้นข้อมูลข่าวสารที่ร้องขอยกเว้นสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลนั้น อุตสาหกรรจังหวัดสกลนครซึ่งมีข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในครอบครองจึงจะต้องเปิดเผยแก่ประชาชนได้ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ผู้อุธรณ์ขอเรียนว่าพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีเจตนารมณ์ที่กำหนดเป็นหลักการสำคัญว่า"ข้อมูลข่าวสารของราชการ" จะต้องเปิดเผยเป็นการทั่วไป ส่วนการปกปิดไม่เปิดเผยเป็นเพียง "ข้อยกเว้น" ซึ่งความหมายว่า ในกรณีที่หน่วยงานรัฐจะมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้โดยชัดแจ้ง หรือหากเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจหน่วยงานรัฐผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารสามารถใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลนั้น ก็จะต้องระมัดระวัง กล่าวคือ ต้องตีความข้อยกเว้นให้กระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงขข้อมูลข่าวสารประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งข้อมูลที่อุทธรณ์ได้ขอไปนั้น เป็นข้อมูลที่มีความจำเป็นต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างทั่วกัน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสิทธิประชาชนและชุมชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและข้อมูลข่าวสารดังกล่าวยังมิใช่ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ข้อมูลความลับทางการค้าที่มีกฎหมายห้ามเปิดเผยหรือข้อมูลที่การเปิดเผยจะกระทบต่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอันต้องสอบถามยินยอมจากผู้มีส่วนได้เสียนั้นก่อน ตรงกันข้ามกลับเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนและประโยชน์สาธารณะด้วย

ดังนั้น การที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร มีหนังสือลงวันที่ 19 มกราคม 2561 ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครอง โดยอ้างเอกสารที่ร้องขออาจกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของบุคคลจึงมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อข้อกฎหมายและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผู้อุทธรณ์จึงขอให้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 18 แห่ง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ มีคำวินิจฉัยสั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร เปิดเผยเอกสารทั้ง 2 รายการโดยให้สำเนาเอกสารดังกล่าวแก่ผู้อุทธรณ์ตามคำขอทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสร้างบรรทัดฐานที่ดีเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้หน่วยยึดถือปฏิบัติต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น