โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' ขอ บ.ธรรมเกษตร ถอนฟ้อง 14 คนงานเมียนมา ข้อหาหมิ่นประมาท

Posted: 06 Feb 2018 08:43 AM PST

องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้อง บ.ธรรมเกษตร จํากัด ถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทต่อ 14 คนงานข้ามชาติเมียนมาทันที หลังกลุ่มคนงานฟ้อง กสม.ปมละเมิดสิทธิ แนะทางการไทยควรลดการเอาผิด ทางอาญากับการหมิ่นประมาท

ภาพกลุ่มคนงานดังกล่าวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.59

6 ก.พ.2561 องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ออกแถลงการณ์เรียกร้องบริษัท ธรรมเกษตร จํากัด ควรถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่อคนงานข้ามชาติ 14 คนจากเมียนมาทันที และเสนอให้ทางการไทยควรลดการเอาผิด ทางอาญากับการหมิ่นประมาท ทั้งนี้ศาลแขวงดอนเมืองที่ กรุงเทพฯ  มีกําหนดเริ่มพิจารณาในคดีนี้ตั้งแต่ วันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.61)  และคาดว่าจะใช้เวลาสามวัน  หากศาลตัดสินว่ามีความผิดคนงานเหล่านี้อาจได้ รับโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี 

"ประเทศไทยควรคุ้มครองคนงานข้ามชาติและนักปกป้องสิทธิ  ซึ้งออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติมิชอบและให้ลดการเอาผิดทางอาญากับการหมิ่นประมาทโดยเร่งด่วน" เอมี สมิธ (Amy  Smith) ผู้อํานวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว  พร้อมระบุว่า คดีลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศไทย  ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกต้นทุนราคาแพงที่ผู้แจ้งข้อมูลและผู้บอกเล่าความจริงต้องจ่ายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตน   

ฟอร์ตี้ฟายไรต์อธิบายถึงที่มาของกรณีดังกล่าวว่า ในวันที่ 7 ก.ค.2559  คนงาน 14 คนยื่นจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวหาว่า บริษัทธรรมเกษตร จํากัด บริษัทเลี้ยงไก่ของคนไทยใน จ.ลพบุรี ละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน  โดยมีการจ่ายค่าแรงให้คนงานต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด  ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาและมีการยึดเอกสารประจําตัวของพวกเขา รวมทั้งหนังสือเดินทาง  ในวันที่  6 ต.ค.2559  บริษัทธรรมเกษตร จํากัด แจ้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาตามมาตรา 137  และ 326  ของประมวลกฎหมายอาญาต่อคนงาน 14 คน  กล่าวหาว่าการร้องเรียนของพวกเขากับ กสม.ทำลายชื่อเสียงของ บริษัท คนงานทั้ง  14  คนซึ่งประกอบด้วยชาย 9  คนและหญิง 5  คน มีภูมิ ลําเนาอยู่ที่ภาคพะโค  เมียนมา  

สำหรับมาตรา 137 ของประมวลกฎหมายอาญากําหนดเป็นความผิดอาญาฐาน "แจ้งข้ อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน"  ซึ่ง "อาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย" และกําหนดโทษจําคุกไม่ เกินหกเดือน  และ/หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  ในทํานองเดียวกัน มาตรา  326  กําหนดเป็นความผิดอาญาฐาน "ใส่ความ" ผู้อื่น "ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทําให้ ผู้อื่นนั้นเสีย ชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง"  และกําหนดโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี  และ/หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ   

ในวันที่ 19 ก.ย.2560 ภาคประชาสังคม  กลุ่มธุรกิจ  และสมาชิกรัฐสภา 87 คนและกลุ่ม  ได้ ยื่นจดหมายร่วมถึง นายกรัฐมนตรี กระตุ้นให้ทางการคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของคนงานและนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน และประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน   

"รัฐบาลและภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้รวมถึงหน้าที่ในการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน" เอมี สมิธกล่าว และเสนอด้วยว่า ทางการควรยุติอุปสรรคขัดขวางที่ไม่เป็นธรรมนี้และประกันให้คนงานได้รับความยุติธรรม  

นอกจากนี้แถลงขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ ยังระบุด้วยว่า ในวันที่ 4 พ.ย. 2559 บริษัท ธรรมเกษตร จํากัดยังฟ้องคดี ต่ออานดี้  ฮอลล์  (Andy  Hall) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ โดยกล่าวหาว่าเขาได้ทําความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา  และละเมิด พ.ร.บ.ว่าด้ วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากการใช้ โซเชียลมีเดียเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมและให้มีการชดเชยอย่างเพียงพอต่อคนงานข้ามชาติ 14 คน  โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีกําหนดนัดพร้อมในวันที่ 4 มิ.ย.นี้   

ในวันที่ 24  ต.ค. 2560 บริษัทธรรมเกษตร จํากัด ยังได้แจ้งข้อหาลักทรัพย์ต่อคนงานสองคนคือ ยินยินและโซยาง และสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานโครงการของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีฐานสมาชิกและทํางานกับคนงานข้ามชาติจากเมียนมาที่อาศัยและทํางานในประเทศไทยโดย บริษัท ธรรมเกษตร จํากัด ฟ้องคดีกับศาลจังหวัดลพบุรี กล่าวหาว่าคนงานข้ามชาติและเจ้าหน้าที่  MWRN  "ลักทรัพย์"  โดยเป็นบัตรตอกลงเวลาของคนงาน หลังจาก คนงานได้ แสดงบัตรดังกล่าวให้ กับเจ้าพนักงานตรวจแรงงานจากสํานักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดลพบุรีดูเพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อร้องเรียนว่าต้ องทํางานติดต่อกันเป็นเวลานาน ศาลจังหวัดลพบุรีจะเริ่มไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 ก.พ. 2561 เพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องคดีหรือไม่    

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ อธิบายว่า สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกได้ รับการคุ้มมครองตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International  Covenant  on  Civil  and  Political  Rights-ICCPR)  ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การจํากัดเสรีภาพในการแสดงออกอาจกระทําได้เมื่อมีการกํ าหนดเป็นการเฉพาะในกฎหมาย เมื่อได้สัดส่วน และเมื่อจําเป็นเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่ชอบธรรม โทษอาญาสําหรับการหมิ่นประมาทซึ่งรวมถึงโทษจําคุกถื อเป็นการลงโทษที่ไม่ได้ สัดส่วน ซึ่งละเมิดสิทธิที่จะมี เสรีภาพในการแสดงออก 

ในวันที่ 31 พ.ค.2560 ทางการไทยและภาคธุรกิจแสดงพันธกิจที่จะดําเนินการตามหลักการชี้นําแห่ง สหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หรือ หลักการชี้นำ  (U.N.  Guiding  Principles  on  Business  and  Human  Rights)  โดยในบรรดาพันธกรณีข้อต่างๆ หลักการชี้นํากําหนดให้รัฐควร"คุ้มครองไม่ให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน ในเขตแดนและ/หรือเขตอํานาจศาลของบุคคลที่สาม รวมทั้งในหน่วยงานธุรกิจ" และประกันว่า "จะไม่มีการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ที่ชอบธรรมด้วยความสงบของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน"   

คณะทํางานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นสิทธิมนุษยชนและบรรษัทข้ามชาติและหน่วยงานธุรกิจอื่นๆ (คณะทํางานฯ) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญอิสระจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างเดือน มี.ค. และ เม.ย. 2561  เพื่อประเมิ นการดําเนินงานของประเทศไทยตามหลักการชี้นํา คณะทํางานฯจะนําเสนอข้อสรุปของ คณะทํางานฯ ในที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนหลังจากเสร็จภารกิจการเยือน 

บริษัท ธรรมเกษตร จํากัด ควรถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่อคนงานข้ามชาติ 14 คน  และอานดี้ ฮอลล์ และข้อหาลักทรัพย์ต่อยินยิน โซยาง และสุธาสินี แก้ วเหล็กไหล โดยทันที  ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว  พร้อมเสนอในรัฐบาลไทยยังควรลดการเอาผิดทางอาญากับการหมิ่นประมาทโดยทันที เพื่อแก้ไขให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ   

"ในฐานะผู้หญิงและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ดิฉันคิดว่าถ้ารัฐบาลไทยยังคงปล่อยให้ ภาคธุรกิจฟ้องคดีอาญากับคนงาน จะทําให้แรงงานจะไม่กล้าพูดถึงความจริงในการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน" สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ  (MWRN)  กล่าว พร้อมย้ำด้วยว่า "ถ้าแรงงานไม่สามารถพูดความจริงได้   จะไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้"   

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับนักแสดงละครใบ้ต้านคอร์รัปชัน สกายวอล์ค ช่องนนทรี ยังไม่แจ้งข้อหา

Posted: 06 Feb 2018 07:08 AM PST

จนท.จับตัว ธัชพงศ์ แกดำ สมาชิกกลุ่ม YPD ไป สน.ยานนาวา ขณะเตรียมแสดงละครใบ้ต้านคอร์รัปชัน หลังสอบสวน ยึดอุปกรณ์การแสดงแล้วปล่อยตัวโดยยังไม่แจ้งข้อหา เจ้าตัวเชื่อตั้งใจขัดขวางการแสดง ยืนยันจะหาโอกาสแสดงต่อจนกว่าคนที่ปรากฎใบหน้าอยู่ในหน้ากากจะ Get Out!

6 กพ. 2561 เวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่าสิบคน เข้าทำการควบคุมตัว ธัชพงศ์ แกดำ นักกิจกรรมการเมืองจาก กลุ่ม YPD - Young People for Social-Democracy Movement ที่ประกาศว่าจะเล่นละครใบ้ต้านคอร์รัปชันที่สกายวอล์ค ช่องนนทรี ในวันนี้ ขึ้นรถตู้ไปสอบปากคำที่ สน.ยานนาวา

การเข้าทำการควบคุมตัว เกิดขึ้นก่อนที่ธัชพงศ์จะทำการแสดง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาหรือแสดงหมายจับบอกเพียงแค่ว่าจะคุมตัวไปเพื่อพูดคุยเท่านั้น หลังจากการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารแล้วเสร็จ เวลา 19.00 น. ธัชพงศ์จึงได้รับการปล่อยตัว

หลังการปล่อยตัว ธัชพงศ์เล่าว่า ได้ให้การไปว่ามันเป็นการแสดงที่เป็นศิลปะ การสื่อถึงอะไรนั้นจะขึ้นอยู่กับคนฟังจะตีความ และยังได้ยืนยันว่ามาทำกิจกรรมคนเดียว ไม่ได้มีการชักชวนมาชุมนุมแต่อย่างใดและไม่ใช่เรื่องทางการเมือง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่าจะพิจารณาอีกครั้งว่าเข้าองค์ประกอบความผิดอะไรหรือไม่ หากจะดำเนินคดี จะมีหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงได้แก่ หน้ากาก และแผ่นกระดาษ A4 จำนวน 3 แผ่น ที่มีข้อความว่า สวัสดี, ป้อม, คนดี ไป

"ผมคิดว่า เขาจำผมเพื่อยุติกิจกรรมที่กำลังดำเนินการของผม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะถ้าสามารถแสดงไปจนจบ คิดว่ามันจะเป็นการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากๆ"

"เจ้าหน้าที่พยายามถามผมว่าหน้ากากที่ใช้ในการแสดงหมายถึงใคร ผมตอบไปว่าหมายถึงดาราชาวจีนคนหนึ่ง"

ธัชพงศ์บอกว่าจะหาจังหวะในการแสดงต่อไปจนกว่า ดาราหนังจีน ในรูป "Get Out!!!  ออกไป !!!"

ก่อนหน้านี้ ธัชพงศ์เคยถูกจับในกรณีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นอย่างน้อย คือกรณีการเคลื่อนไหวรำลึก 1 ปี รัฐประหาร คสช.เมือวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 บริเวณหอศิลป์ กทม. และครั้งที่สอง ถูกจับกุมตัวที่บริเวณสกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากการเล่นละครใบ้ ต่อต้านคอร์รัปชั่น เมื่อวันที่ 2 กพ.ที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้นักแสดงทั้ง 4 คน ได้ถูกจับกุมและปรับเงินคนละ 10,000 บาท

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 มุม 5 เรื่องเล่าระหว่าง ‘เดินมิตรภาพ’

Posted: 06 Feb 2018 06:25 AM PST

เสาร์ที่ 27 มกราคม 2561

ตอนตีหนึ่งครึ่งที่ผ่านมาศาลปกครองส่งแฟกซ์พร้อมอีเมลไปให้กลุ่มทนายของกลุ่มเดินมิตรภาพ ท่ามกลางความยินดีของทีมทนายสองคนผู้รู้ข่าวก่อนใครเพื่อนว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กับการเดินมิตรภาพในครั้งนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่การเดินมิตรภาพในครั้งนี้ถูกศาลตัดสินว่าถูกต้องตามกฎหมาย

7.00 น.

ที่พักใกล้กับบ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 จ.นครราชสีมา

ตื่นมาพร้อมเสียงมือถือของพี่ร่วมห้อง หนึ่งในทนายกลุ่มเดินมิตรภาพที่ได้รับโทรศัพท์แต่เช้า หลังจากนั้นจึงเป็นเสียงคุยประสานงานอย่างเร่งด่วนให้มีการนำสรุปคำสั่งของศาลขึ้นในเพจ People Go Network

"ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว" พี่ทนายยิ้มบอกเมื่อฉันถามถึงคำสั่ง แล้วกลับไปวุ่นกับการประสานงานต่อ

10.00 น.

บ้านมลฤดี ถนนมิตรภาพซอย 8 จ.นครราชสีมา

วงประชุมอยู่กันพร้อมหน้า พี่น้องจากหลายเครือข่ายแนะนำตัวเอง สีหน้าทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส พวกเขาพูดคุยกันถึงข่าวดีที่สุดในรอบหลายวันที่ผ่านมา ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะเดินต่อได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตาม ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีที่พัก

หลังบรรยากาศตึงเครียดตั้งแต่วันแรกที่เดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นขบวนเดิน จนต้องเปลี่ยนแผนเป็นการเดินทีละ 4 คน เรื่องวุ่นวายตามมาไม่หยุดหย่อนจากคำบอกเล่าของพี่คนหนึ่งในทีมเดิน ทั้งวัดที่ขอนอนไว้ไม่ยอมให้นอนเพราะถูกเจ้าหน้าที่กดดัน ทั้งการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 200 นาย และโดนตรวจค้นตัว ค้นรถ ถ่ายบัตรประชาชน โดนขับรถตามประกบไม่ลดละ กระทั่งแวะพักกินข้าว เจ้าหน้าที่เรียกเจ้าของร้านไปคุย แล้วเจ้าของร้านก็เดินมาถ่ายรูปทั้งกลุ่มไว้

"ตอนนั้นมันรู้สึกว่า ถึงขนาดนี้เลยเหรอ แค่เจ้าหน้าที่ไม่พอ ยังเป็นคนทั่วไปด้วยที่มาถ่ายรูปเรา เราร้องไห้เลย" น้องคนหนึ่งในทีมเดินมิตรภาพเล่าให้ฟัง

วงประชุมเห็นตรงกันว่านี่คือชัยชนะก้าวแรก แต่หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป

พอถึงพักเที่ยงหลายคนเดินไปตักอาหาร ส้มตำคือเมนูยอดฮิตตลอดกาลของที่นี่ ไม่ว่ามาจากเครือข่ายไหน ภาคไหน ส้มตำคืออาหารแห่งความสมัครสมาน เรียกได้ว่าเป็นอาหารแห่งมิตรภาพในการเดินมิตรภาพครั้งนี้

โต๊ะกับข้าววันนี้นอกจากส้มตำที่แยกออกไปต่างหากแล้ว มีหมูทอด แกงไตปลา แกงเขียวหวาน ขนมจีน ข้าวสวย และบรรดาผักมากมายหลายชนิดจนจำไม่หมด จัดวางอย่างสวยงามบนกระจาดไม้สานขนาดใหญ่ ใกล้ๆ กับโต๊ะกับข้าว ณัทฐวรรณ อิสระทะ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า 'พี่แมว' หญิงร่างเล็กวัยกลางคน แม่ครัวใหญ่ของทีมกำลังคุยกับใครอีกคนอย่างออกรส

ช่วงบ่ายมีวงเสวนาเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับรัฐสวัสดิการกินเวลาจนถึงเย็น หลังจากนั้นจึงเป็นคิวของนักดนตรีขึ้นมาเล่นและร้องขับกล่อมคลอกับบรรยากาศสบายในวันพักผ่อน พร้อมอาหารเย็นที่อร่อยไม่แพ้อาหารกลางวัน ก่อนที่วันอาทิตย์พรุ่งนี้จะเริ่มเดินกันต่อ

ฉันกับพี่อีกคนเริ่มต้นสัมภาษณ์ หญิง-จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ จากเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาวร่างเล็กหนึ่งในทีมสื่อ ถึงการไลฟ์สดลงเพจตลอดเวลาการเดิน และบรรยากาศทั้งในโซเชียลและนอกโซเชียล เธอพูดถึงความรู้สึกเป็นทีมเดียวกันของทุกคน ไม่มีใครเป็นแกนนำ แต่ทุกคนได้มีส่วนแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องที่ผิดพลาดในแต่ละวัน ทำให้เรื่องผิดพลาดนั้นกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่นำมาหยอกล้อกันได้ เธอพูดชมอาหารไม่ขาดปากว่าอาหารรสชาติเยี่ยมแค่ไหน ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งไม่มีข้อโต้แย้ง

เมื่อถามหญิงถึงเรื่องที่พักในแต่ละวัน หลังจากที่วัดไม่ให้เข้าพักเพราะถูกเจ้าหน้าที่กดดัน "ต้องไปคุยกับพี่ตรอง" หญิงบอก ชี้ไปที่ชายร่างสูงใหญ่ซึ่งกำลังแบกถังน้ำไปกรอกน้ำจากแท้งค์ ฉันจึงเห็น ตรอง-นิติกร ค้ำชู จากขบวนการอีสานใหม่ที่ทำหน้าที่ฝ่ายสถานที่และสวัสดิการ

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียการสัมภาษณ์ฝ่ายต่างๆ ในกลุ่มเดินมิตรภาพ แม้สื่อต่างๆ จะนำเสนอภาพการเดินของกลุ่ม แต่นอกจากทีมเดินที่มาจากหลากหลายภาค หลากหลายเครือข่าย ซึ่งทุกคนเต็มใจที่จะเดินเพื่อสื่อสาร 4 ประเด็นหลัก คือ รัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร และรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่เบื้องหลังนอกจากนั้นยังมีทีมสื่อที่ต้องทั้งเดิน ทั้งไลฟ์ ทั้งบรรยายระหว่างเดิน มีทีมอาหารฝีมือเยี่ยมที่ทำให้ความอิ่มในทุกมื้อมีแต่ความอร่อย มีทีมสถานที่และสวัสดิการที่ต้องวิ่งวุ่น ทั้งคอยเสิร์ฟน้ำระหว่างทาง คอยประสานงานเรื่องจุดพักระหว่างเดินและหาที่นอน มีทีมทนายที่คอยช่วยเหลือด้านกฎหมายมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่การเดินถูกปิดกั้น

จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ระยะทาง 450 กิโลเมตร จำนวน 800,000 ก้าว ทุกก้าวของคนที่เดินจึงมาจากกำลังกายและกำลังใจจากทุกฝ่ายที่ผลักดัน พยายาม และทุ่มเทอย่างเต็มที่ในหน้าที่ของตัวเอง มีอุปสรรคขัดขวาง มีความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อย แต่ทุกคนเชื่อมั่นว่าการเดินครั้งนี้ของพวกเขาจะไปถึงขอนแก่นและได้ส่งเสียงของตัวเองสะท้อนปัญหาไปสู่สังคมไม่มากก็น้อย และหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายรัฐอย่างแท้จริง

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน









ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘เดินมิตรภาพ’: ทีมทนาย ผู้ช่วยเหลือด้านกฎหมายตั้งแต่วันแรกที่โดนขัดขวางการเดิน

Posted: 06 Feb 2018 06:24 AM PST

การเดินเท้าระยะทางกว่า 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยกลุ่ม 'We Walk เดินมิตรภาพ' ของเครือข่าย People Go Network ที่เริ่มต้นวันแรก (20 ม.ค. 61) ก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 คน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แม้ท้ายสุดกลุ่มเดินมิตรภาพจะออกเดินต่อได้ แต่ช่วงแรกของการเดินก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย มาตั้งด่านตรวจค้น ถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคน การติดตามและบันทึกภาพตลอดทางอย่างใกล้ชิด การกดดันวัดที่ทางกลุ่มประสานไว้ไม่ให้รับกลุ่มเข้าพัก จนกระทั่งทางกลุ่มตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ชั่วคราว)

ประชาไทชวนคุยกับ อัมรินทร์ สายจันทร์ และพูนสุข พูนสุขเจริญ ทีมทนายความของกลุ่ม  We Walk เดินมิตรภาพ ผู้อยู่ในสถานการณ์กับกลุ่มเดินมิตรภาพมาตลอด และให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายทั้งหลายเพื่อให้การเดินครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ทั้งการต้องพิมพ์เอกสารสดๆ ร้อนๆ กันบนรถเพื่อจะนำไปศาล การต้องรอแฟกซ์คำสั่งศาลจนถึงตีหนึ่งครึ่ง พร้อมข้อสังเกตต่อกระบวนการยุติธรรมไทย

ทีมทนาย-แนวร่วมจากหลายองค์กรทางกฎหมาย

กิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพเป็นของเครือข่าย People Go Network ซึ่งต้องการสื่อสารปัญหาต่างๆ ต่อสังคม 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อมีการวางแผนการเดินทาง เครือข่ายจึงได้ประสานมาเนื่องจากต้องการที่ปรึกษาเรื่องกฎหมาย เราจึงประชุมวางแผนให้คำปรึกษาทางกฎหมายรวมถึงในกรณีที่มีการจับกุม ทีมที่ปรึกษากฎหมายนั้นเป็นทนายความจากหลายองค์กร ทั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มาร่วมประชุมและทำงานด้วยกันตั้งแต่แรก เพราะเราประเมินสถานการณ์ว่าอาจมีกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่มาปิดกั้นขัดขวาง

ซึ่งสุดท้ายวันที่เริ่มจัดกิจกรรมก็เกิดขึ้นจริงๆ แต่เรายืนยันและมั่นใจว่าเราได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้าและปฏิบัติถูกต้องตามที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะกำหนดไว้แล้วทุกประการ เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือตอบกลับมาโดยตั้งเงื่อนไขและคำแนะนำต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ เราก็ทำหนังสือยืนยันกลับไปว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด และเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรอง

 

วันแรกที่โดนตำรวจขัดขวาง-คำฟ้องศาลที่ส่งไม่ได้เพราะเป็นวันเสาร์

เช้าวันที่ 20 ม.ค. พอขบวนเดินมาถึงหน้าประตูมหาวิทยาศาสตร์ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่มาตั้งแนวรั้วปิดกั้นประตูทางออกไว้ พอช่วงสายๆ ทางทีมกฎหมายเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ตอนประมาณ 10.00 น. ทีมทนายเราเลยตัดสินใจกันที่จะเขียนคำฟ้องเพื่อยื่นขอให้ศาลสั่งเจ้าหน้าที่ให้ยุติการปิดกั้นขัดขวางการชุมนุมเพราะคิดว่าเป็นอำนาจเดียวที่จะถ่วงดุลกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ โดยคิดว่าจะไปยื่นที่ศาลยุติธรรมก่อนเพราะเป็นวันเสาร์ ก็พิมพ์คำฟ้องคำร้องกันสดๆ ตรงนั้นใกล้ๆกับจุดที่ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนขวางทางไว้

แต่เนื่องจากวันนั้นเป็นวันเสาร์ ศาลเปิดถึงเที่ยงครึ่ง เราต้องทำงานแข่งกับสถานการณ์และเวลา พิมพ์เอกสารกันบนรถด้วย เพื่อจะไปยื่นศาลให้ทัน ไปถึงก็ประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าวันเสาร์รับเฉพาะคดีอาญาที่เป็นพวกฝากขัง ขอออกหมาย ส่วนของเราตอนนั้นถือเป็นคดีแพ่งเจ้าหน้าที่จึงไม่ยอมรับคำฟ้อง และตอนไปถึงศาลก็ปิดไปแล้ว ตรงนี้ถือเป็นปัญหาในการอาศัยช่องทางตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอด

หากติดช่วงเสาร์อาทิตย์เจ้าหน้าที่สามารถขอออกหมายได้ แต่ประชาชนเราไม่สามารถยื่นคำฟ้องหรือคำร้องอะไรได้เลย เช่น หากมีกรณีควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเราก็ไม่สามารถยื่นคำร้องตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ หรืออย่างกรณีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เมื่อช่วงต้นปีก่อน ศาลมีหมายนัดไต่สวนการชุมนุมสาธารณะมาวันศุกร์โดยนัดไต่สวนในวันจันทร์ ในขณะที่วันเสาร์เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดแล้ว การชุมนุมไปไม่ถึงวันจันทร์ แม้กฎหมายชุมนุมสาธารณะจะให้ไต่สวนโดยด่วนก็ไม่ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อยื่นคำฟ้องต่อศาลไม่ได้ในวันนั้นก็ต้องถือว่าการชุมนุมในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์นี้ยิ่งตกอยู่ในความเสี่ยง ต่อมาในช่วงบ่ายทราบว่าทีมเดินจะปรับแผนกิจกรรมเป็นการเดินผลัดละ 4 คน ฝ่ายกฎหมายจึงแบ่งกันขับรถติดตามสังเกตการณ์กลุ่มที่เดิน เพราะแม้ตอนนั้นจะแบ่งเป็น 4 คนแล้วและออกมาเดินได้ แต่อาจจะมีกรณีที่เจ้าหน้าที่จะตามมาปิดกั้นขัดขวางหรือจะควบคุมตัวขึ้นรถไปได้เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวมาก่อน

พอเวลาใกล้ 18.00 น. เราก็แจ้งเตือนทางเครือข่ายว่าควรจะหยุดเดินแล้วแม้จะยังไม่ถึงจุดหมายที่จะพักในคืนนั้นเพราะเราไม่ต้องการละเมิดกฎหมายแม้ความจริงแล้วจะเป็นการเดินไปตามฟุตบาทธรรมดาก็ตาม  วันนั้นมีรถหน่วย S.W.A.T ตามมาสองคัน รถตู้ตำรวจอีกสี่คัน และรถของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกจำนวนหนึ่ง รวมๆ แล้วมากกว่าทีมเดินมาก แต่สรุปแล้ววันนั้นก็สามารถเริ่มกิจกรรมได้แม้จะมีการปิดกั้น และติดตามบันทึกภาพตลอดเวลา

 

เหตุการณ์ตั้งด่านตรวจค้นที่วัดลาดทราย-4 คนถูกสอบปากคำ ทนายห้ามเข้า

คืนวันที่ 20 ม.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไปพักกันที่วัดลาดทราย อยุธยา แม้ก่อนหน้านั้นทางวัดจะปฏิเสธไม่ให้เข้าพักตามกำหนดเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับทางวัดก่อนหน้าแต่เมื่อทางผู้ชุมนุมเข้าไปชี้แจงทางวัดก็เข้าใจและยินยอมให้เข้าพักตามที่ตกลงไว้แต่เดิม แต่ก็มีเจ้าหน้าที่นับสิบนายมาเฝ้าอยู่บริเวณรอบวัด พอตอนเช้าวันที่ 21 ม.ค.ประมาณ 6.00 น. ทางทีมกฎหมายได้รับแจ้งจากกลุ่มที่อยู่ในวัดว่าเจ้าหน้าที่ประมาณเกือบ 200 นายมาตั้งด่านตรวจค้นตัวผู้ชุมนุมก่อนผู้ชุมนุมออกเดินทาง มีการถ่ายรูปบัตรประชาชนของทุกคน บันทึกภาพผู้ชุมนุม และตรวจรถ โดยคันสุดท้ายที่เป็นรถฝ่ายสวัสดิการขนของกินของใช้ก็ถูกกั้นไว้ แล้วถูกบังคับให้ไปที่ อบต.ลำไทร ซึ่งอยู่ปากซอยทางเข้าวัด

เจ้าหน้าที่ได้ค้นรถโดยไม่มีหมายค้น และพาคนที่อยู่ในรถ 4 คนขึ้นไปสอบปากคำ เรากับน้องอีกคนซึ่งเป็นทนายที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ตามไปที่ อบต. เจรจากับตำรวจ แจ้งว่าเราเป็นทนายความ ขอเข้าไปร่วมสอบปากคำด้วยแต่ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ายังไม่ได้เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี เป็นการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่ให้ทนายเข้า พยายามเจรจาอยู่หลายรอบเขาก็ไม่ยอมให้ทนายขึ้นไป

เราก็ข้องใจเหมือนกันว่าขนาดผู้ต้องหายังมีสิทธิมีทนาย เมื่อไม่ใช่ผู้ต้องหายิ่งต้องมีสิทธิดีกว่า แต่อันนี้อยู่ดีๆ โดนเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวขึ้นไปสอบเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้รับแจ้ง แล้วก็ถูกปฏิเสธไม่ให้มีทนายหรือคนที่ไว้วางใจเข้าไปร่วมด้วย แม้แต่ทีมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นไปก็ไม่ได้รับแจ้งว่าเป็นการให้การในฐานะใด จนกระทั่งเห็นเอกสารที่จะให้ลงชื่อในภายหลัง

ประมาณ 10.30 น. ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว  สุดท้ายในเรื่องการค้นรถเขาก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายอะไร แต่ในส่วนสอบคำให้การ ทีมทนายข้างล่างได้แจ้งให้ทั้ง 4 คนที่ถูกสอบไม่ต้องลงลายมือชื่อ เพราะเราเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเราไม่รู้ว่าจะถูกเอามาใช้ในเรื่องอะไร แต่ก็มีบางคนที่ลงลายมือชื่อไปแล้ว เพราะในสถานการณ์ตรงนั้นมีแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ไม่มีทนายร่วมรับฟังและให้คำแนะนำข้างๆ ด้วย


เช้าวันที่ 21 ม.ค. ขณะสอบปากคำ 4 คน ที่ อบต.ลำไทร
ทนายพยายามขอเข้าร่วม แต่ถูกตำรวจปฏิเสธ

 

ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ในช่วงบ่ายทีมทนายความที่กลับมาที่กรุงเทพฯ ประชุมปรึกษาหารือกันว่าจะต้องใช้การดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมเพื่อยุติการคุกคามการชุมนุม โดยมีประเด็นว่าเราจะฟ้องคดีต่อศาลใด เพราะขั้นตอนตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะนั้นกำหนดให้ใช้กลไกศาลยุติธรรม และมีโอกาสที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะอ้างว่า การชุมนุมเป็นการกระทำผิดกฎหมายและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ความจริงแล้วปฏิบัติการปิดกั้นการชุมนุมของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นปฏิบัติการทางปกครอง เราจึงเลือกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพราะถือว่านี่เป็นการใช้อำนาจปฏิบัติการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง พอตัดสินใจกันได้ก็เริ่มร่างคำฟ้องกัน นับเวลาจริงๆ ก็ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เพื่อยื่นให้เร็วที่สุด สุดท้ายเรามายื่นกันตอนประมาณบ่ายสามโมงของวันจันทร์ที่ 22 ม.ค.

วันนั้นเรายื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อให้ศาลสั่งคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่ยุติพฤติกรรมการข่มขู่คุกคามเพื่อให้สามารถใช้เสรีภาพเดินต่อไปได้อย่างปลอดภัย เพราะในวันที่ 20-21 ม.ค. นอกจากการปิดกั้นก็มีการตามไปบันทึกภาพ การติดต่อเจรจากดดันวัดที่ผู้ชุมนุมประสานไว้ว่าจะไปพัก ทำให้วัดหรือเจ้าของสถานที่ไม่กล้าให้ผู้ชุมนุมเข้าไปพัก ซึ่งก็มีบางวัดที่แจ้งปฏิเสธเรามา รวมถึงเหตุการณ์ตรวจค้นรถและถ่ายรูปบัตรประชาชนต่างๆ ด้วย เราขอให้ศาลไต่สวนโดยฉุกเฉิน แต่วันนั้นศาลก็บอกว่าข้อมูลยังไม่ชัดเจน ต้องฟังความจากเจ้าหน้าที่ด้วยจึงไม่ได้เรียกไต่สวนฉุกเฉิน

ในระหว่างวันที่ 23 – 25 ม.ค. กิจกรรมเดินมิตรภาพก็ยังพอดำเนินไปได้แบบกลัวๆ ยังต้องเดินกันผลัดละ 4 คน เพราะกลัวเขาจะใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.มาเอาผิดผู้ชุมนุม ตำรวจก็ยังมาตามประกบทีมเดินตลอด ส่วนทีมทนายเราก็ผลัดเวรกันไปคอยติดตามสังเกตการณ์เป็นระยะ เผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้เข้าช่วยเหลือกันได้ทันที จนกระทั่งเย็นวันที่ 25 ม.ค. ก็ได้รับการติดต่อจากศาลปกครองแจ้งว่าศาลจะทำการไต่สวนคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวบ่ายวันที่ 26 ม.ค. และศาลมีคำสั่งเรียกผู้ถูกฟ้องคดีมาเพิ่มอีกสามราย คือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และภาค 4 จากเดิมที่เราฟ้องเพียงสี่รายคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้กำกับ สภ.คลองหลวง ผู้กำกับจังหวัดปทุมธานี และผู้กำกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

คืนวันที่ 25 ม.ค.เรารวบรวมข้อมูลที่จะชี้แจงศาลเพิ่มเติม และเช้าวันที่ 26 ม.ค.ทีมกฎหมายและตัวแทนผู้ฟ้องคดี 2 คน ก็ต้องประชุมเตรียมข้อมูลและหลักฐาน เพื่อแสดงให้ศาลเห็นถึงภัยคุกคามการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้น การไต่สวนเริ่มตั้งแต่ 13.00 น. ถึงประมาณ 19.00 น. โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่ากิจกรรมส่วนหนึ่งคือการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่ก็ยอมรับว่าการชุมนุมของ People Go Network นั้นเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยกำหนดเงื่อนไขหรือดำเนินการให้เลิกชุมนุมตามขั้นตอนกฎหมายชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด และการมีคำสั่งตามคำขอบรรเทาทุกข์นั้นไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารราชการ  ในขณะที่ทางผู้ฟ้องคดียืนยันเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงชี้แจงเหตุการณ์ที่มองว่าเป็นการจำกัดหรือปิดกั้นเสรีภาพที่เกิดขึ้น
 

ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่จนท.จากอำเภอยังกดดันวัดไม่ให้เข้าพัก

เมื่อไต่สวนเสร็จศาลแจ้งว่าจะมีคำสั่งวันนี้เลยว่าจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ เนื่องจากศาลรับฟังข้อมูลแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เราก็กลับมารอกันที่สำนักงานเพราะศาลจะส่งคำสั่งให้ทางแฟกซ์กับทางอีเมล สุดท้ายศาลส่งคำสั่งมาประมาณ 01.30 น. โดยศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราว สั่งผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 3 และภาค 4  ห้ามไม่ให้ตำรวจคุกคามขัดขวางการชุมนุม และให้ดูแลการชุมนุมตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัดจนกว่าการเดินมิตรภาพจะเสร็จสิ้นในวันที่ 17 ก.พ. อันเป็นการรับรองว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมทำอยู่เป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบ และไม่ได้ทำผิดกฎหมาย  คดีนี้น่าจะเป็นคดีแรกๆหลังมีการบังคับใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะในปี 2558 ที่มีการทดลองใช้ช่องทางศาลปกครอง และเราก็หวังว่าคดีนี้จะเป็นตัวอย่างและทำให้เจ้าหน้าที่รัฐระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมายที่จะมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมหรือการแสดงออกมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. หลังจากศาลมีคำสั่ง สถานการณ์ดีขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการมาแจ้งรายงานตัวกับทีมเดินว่ามีใครมาติดตามดูแลการชุมนุมบ้าง ทีมเดินก็มีความมั่นใจมากขึ้นที่จะเดินพร้อมกันหลายๆ คน มีพี่น้องประชาชนกล้าออกมาให้กำลังใจและมาร่วมเดินกันมากขึ้น แต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาในพื้นที่โคราช เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าใจว่าเป็นจากอำเภอ มาพูดคุยกดดันทางวัดอีก ในลักษณะที่จะไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพัก ทีมกฎหมายเราก็กำลังปรึกษากันอยู่ว่าจะมีมาตรการทางกฎหมายอย่างไร เพราะตามคำสั่งของศาลปกครองแม้จะสั่งไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกฟ้องคดี แต่จริงๆ ก็เท่ากับเป็นการรับรองว่าการเดินมิตรภาพของเราเป็นกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ห้ามการปิดกั้นคุกคามต้องผูกพันเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายด้วยไม่ใช่แค่ตำรวจ เพราะฉะนั้นเขาต้องเคารพในคำสั่งศาลตัวนี้ด้วยเช่นกัน
 

ความคืบหน้าคดี 8 ผู้ชุมนุม ปฏิเสธข้อกล่าวหา นัดรายงานตัวอีกครั้ง 26 ก.พ.

ในส่วนคดีที่มีทหารไปแจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนผู้ชุมนุม 8 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ตอนแรกตำรวจนัดไปรับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 28 ม.ค. แต่ทีมทนายได้ไปยื่นหนังสือขอเลื่อนเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เตรียมความพร้อมกันก่อน และตอนนี้ก็ได้ไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงมาแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางเราให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และทางทีมทนายจะได้ทำคำให้การยื่นเป็นหนังสือไปภายหลัง ยืนยันว่าเราใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือคำสั่ง คสช. ตามที่ถูกกล่าวหา โดยตำรวจนัดไปรายงานตัวเพื่อฟังว่ามีความเห็นสั่งฟ้องและจะส่งตัวให้อัยการต่อไปหรือไม่ในวันที่ 26 ก.พ.นี้

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน








 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘เดินมิตรภาพ’: ทีมอาหาร-แม้ทุกคนมาจากหลายที่แต่ส้มตำคือสิ่งที่ต้องมีในทุกวัน

Posted: 06 Feb 2018 06:15 AM PST

การเดินเท้าระยะทางกว่า 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพถึงขอนแก่น ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยกลุ่ม ' We Walk เดินมิตรภาพ' ของเครือข่าย People Go Network ที่เริ่มต้นวันแรก (20 ม.ค. 61) ก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 คน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แม้ท้ายสุดกลุ่มเดินมิตรภาพจะออกเดินต่อได้ แต่ช่วงแรกของการเดินก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย มาตั้งด่านตรวจค้น ถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคน การติดตามและบันทึกภาพตลอดทางอย่างใกล้ชิด การกดดันวัดที่ทางกลุ่มประสานไว้ไม่ให้รับกลุ่มเข้าพัก จนกระทั่งทางกลุ่มตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ชั่วคราว)

ประชาไทชวนคุยกับ ณัทฐวรรณ อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ หัวหน้าทีมอาหาร ' We Walk เดินมิตรภาพ' เบื้องหลังพลังงานความอร่อย หากขาดไปคงไม่มีใครเดินถึง 800,000 ก้าว เธอเล่าถึงความประทับใจกับจำนวนอาหารมากมายก่ายกองที่ทุกคนนำมา และความพยายามปรุงอาหารไม่ให้ซ้ำกันแต่ละวัน แม้ทุกคนมาจากหลายที่แต่ส้มตำคือสิ่งที่ต้องมีทุกวันและทุกคนกินได้

 

ความประทับใจ

เรารับผิดชอบเรื่องอาหารของคนเดิน เราจะรู้สึกดีใจที่เห็นพี่น้องที่มาเดินติดของจากที่หมู่บ้านเขามา พริก น้ำปลา เกลือ หอม กระเทียม พริกไทย ฟัก แฟง แคปหมู รวมถึงข้าวด้วย แล้วจะมาแบบเป็นกระสอบ มาจนรู้สึกว่ามันเยอะเกิน ผลัดแรกเดินก็เอามา พอเขากลับไป ผลัดที่สองมาก็เอามาอีก จนตอนนี้ของที่มีทั้งหมดอยู่ได้เกินเดือนแล้ว

เราจะมีความรู้สึกว่ามันเหลือเฟือ แล้วมันก็ต้องทิ้ง เสียดาย เวลาทีมไหนมาใหม่ก็จะทำข้อตกลงกัน พยายามไม่ใช้ถุงพลาสติก ห่อใบตองแทน ปรากฎว่าที่บ้านแหง เขาดูไลฟ์สดตอนพี่ห่อใบตอง เขาเลยเอาใบตองมาอีกกระสอบหนึ่ง ซึ่งใบตองโดนความร้อนก็จะใช้ไม่ได้ จนตอนนี้ต้องสั่งระงับ ใครจะมารอบต่อไปไม่ต้องเอาอะไรมาแล้ว

เราต้องมาหนักใจเพิ่มจากการที่ต้องปรุงอาหารในแต่ละวันไม่ให้ซ้ำกัน แต่เราทำไม่ได้ ตั้งแต่มวกเหล็กเราได้หมูปิ้งมา 400 ไม้ ลำพังคนเดิน 20-50 คนต่อมื้อกินไม่เท่าไหร่หรอก ต้องคิดแปลงเมนูอาหาร เอาหมูปิ้งมาใช้ในทุกมื้ออยู่สองวันจนถึงลำตะคลองถึงหมด เอาหมูปิ้งมาทอดบ้าง เอามาสับเป็นเหมือนหมูสับทำข้าวต้ม ใส่ในข้าวผัด ผัดกระเพรา ทำลาบ ทำน้ำตก จนเวลาประชุมกลุ่มย่อยยังแซวกันว่า ชาตินี้เราจะไม่กินหมูปิ้งไปอีกนานเนอะ

ประทับใจอีกอย่างคือทุกคนมาจากหลายที่ ก็มีวัฒนธรรมการกินต่างกัน เช่น การหม่าข้าว การนึ่งข้าว แต่ก็กินรสกลางของเราได้ หรือส้มตำก็จะเป็นของที่ทุกคนกินได้ ทุกคนกินข้าวง่ายมาก ไม่มีอะไรกินก็ขอให้มีส้มตำ แล้วทุกคนก็จะเตรียมปลาร้ามาเองด้วย ตอนสองวันแรกที่ยังไม่รู้ชะตากรรมเราได้มะละกอถุงใหญ่มาถุงหนึ่งมาตำส้มตำ ก็ช่วยไปได้สองวัน

ที่เห็นอย่างหนึ่งคือทุกคนมีใจ เห็นชัดมาก เขาใช้เงินกองกลางของหมู่บ้านในการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งต้องผ่านการยอมรับในหมู่บ้านก่อนถึงเอามาใช้ได้ แสดงว่าเขาเห็นว่าเขาได้อะไรจากการเดินครั้งนี้ ได้เรียนรู้อะไร ได้ไปช่วยอะไรชุมชน พอมีเวทีแบบนี้มันเหมือนเป็นวิชาเรียนของชาวบ้านด้วย มีวงคุย วงเสวนา แม้กระทั่งเรื่องกฎหมาย การฟ้องร้อง มันสร้างความแข็งแกร่งให้ชาวบ้าน

ได้เดินไหม

เขาวางแผนให้เราเดินเมื่อวันก่อน แต่เราไม่ได้เดิน เราเก็บของออกมาช้า แล้วมีรถตามเราคันหนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นใคร เราถามเขาแล้วว่าเป็นใครจากหน่วยไหนแต่เขาไม่บอก พอเขาไม่บอกเราเลยรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ยังคิดว่ามีโอกาสที่เราได้เดินอยู่ อาจจะมีวันพักที่มีคนมาช่วยทำ ซึ่งทุกคนก็เปิดทางให้เราเดินอยู่แล้ว

ใจเรามาเที่ยวนี้อยากเดินตามขบวนมากกว่า อยากเป็นสวัสดิการให้น้ำอะไรแบบนั้น สนุก แต่มันไม่มีใครสะดวกไปมากกว่าเรา ก็เลยต้องมาทำฝ่ายนี้ และเขาก็ไว้ใจให้เราทำหน้าที่นี้ จริตเรามันเป็นจริตบริการอยู่แล้ว พี่น้องที่ไม่รู้จักกันเราก็ทำให้รู้จักกันได้ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขาได้ ให้เขารู้สึกมีเพื่อน
 

ประสบการณ์กับเจ้าหน้าที่

วันแรกๆ ที่ถูกค้นรถ เขาขอดูใบขับขี่ก็ให้ดู เขาถามว่าอุปกรณ์อะไรในรถ ก็ให้ดู เขาก็มองหน้าแล้วเอาบัตรไปถ่ายรูป แล้วก็ยังไม่คืน เอาเดินไปไหนไม่รู้สักพักแล้วก็กลับมา เราก็ต้องรออยู่ในรถ ซึ่งเราไม่เคยเจอแบบนี้

รถเราเป็นเป้าหนึ่งที่เขาจะตามง่าย เพราะเราเอามุ้งไว้บนหลังคา แล้วเต็มไปด้วยอุปกรณ์ครัว มีที่นั่งข้างคนขับที่นั่งได้ที่เดียว นอกนั้นเต็ม เราชอบซื้อ ชอบเก็บอุปกรณ์ทำอาหารอยู่แล้ว อุปกรณ์ที่เอามาเกือบทั้งหมดก็เป็นของเรา เราอยู่เครือข่ายเกษตร ซึ่งก็จะมีออกงานบ่อยมาก บางทีงานก็มีประเภทสาธิตทำอาหาร

วันแรกที่นอนที่วัด ตอนตี่สี่ครึ่งเราตื่นมาต้มน้ำจะทำข้าวต้มให้เขากินกัน ก็มีนายตำรวจมาถามว่าใครเป็นแกนนำช่วยปลุกให้หน่อยได้ไหม เราบอกว่า พวกเราที่อยู่นี่ก็แกนนำ แล้วเราก็บอก ขอโทษค่ะเขาเพิ่งนอนกันอย่าให้เรียกเลย ถ้าจะคุยด้วยรอก่อนนะคะ แต่ถ้ารีบ คุยกับคนนี้(ชี้ตัวเอง)ก็ได้ คนนี้ก็เป็นแกนนำเหมือนกัน ถ้าไม่มีคนนี้ทุกคนก็ไม่ได้กินข้าว คนนี้เป็นหัวหน้าค่ะ หัวหน้าแม่ครัว เขาก็ไปเลย หายไปเลย (หัวเราะ)

 

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน







ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘เดินมิตรภาพ’: ทีมสื่อ เดิน-ถ่าย-พูด ขณะไลฟ์ เหนื่อยแต่ได้กำลังใจจากคนตามเพจ

Posted: 06 Feb 2018 05:58 AM PST

การเดินเท้าระยะทางกว่า 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยกลุ่ม 'We Walk เดินมิตรภาพ' ของเครือข่าย People Go Network ที่เริ่มต้นวันแรก (20 ม.ค. 61) ก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 คน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แม้ท้ายสุดกลุ่มเดินมิตรภาพจะออกเดินต่อได้ แต่ช่วงแรกของการเดินก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย มาตั้งด่านตรวจค้น ถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคน การติดตามและบันทึกภาพตลอดทางอย่างใกล้ชิด การกดดันวัดที่ทางกลุ่มประสานไว้ไม่ให้รับกลุ่มเข้าพัก จนกระทั่งทางกลุ่มตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ชั่วคราว)

ประชาไทชวนคุยกับ จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีมสื่อของ 'We Walk เดินมิตรภาพ' หนึ่งในผู้ทำหน้าที่ไลฟ์ตลอดการเดินทาง ทั้งเดิน ทั้งถ่าย ทั้งพูดคุย โต้ตอบ เล่าสถานการณ์กับเหล่าคอมเมนต์ในเพจ นี่จึงไม่ใช่หน้าที่ง่ายๆ สบายๆ ที่ใครก็ทำได้ แต่เพราะกำลังใจที่ได้รับจากผู้ติดตามเพจที่เธอบอกว่าเป็นความรู้สึกดีๆ น่าชื่นใจ

 

บรรยากาศของการเดินและการไลฟ์ในเพจเป็นอย่างไร

วันแรกๆ ยังไม่มีใครรู้จัก แต่พอวันที่สองที่สามเริ่มมีคนเข้ามาให้กำลังใจ เอาน้ำมาให้ เอาอาหารมาให้ ของที่ได้ก็หลากหลาย ขึ้นเรื่อยๆ หมูปิ้งสี่ร้อยไม้ มีน้ำ ขนม ผลไม้ มันแกว ฝรั่ง พุทรา แล้วไม่ใช่แค่เราเดินที่สระบุรีแล้วจะมีแต่คนสระบุรีมา แต่บางคนก็ตามมาจากกรุงเทพฯ บางคนมาจากอยุธยา บางคนมาจากโคราช ส่วนใหญ่ที่เขามาเพราะเขาเห็นไลฟ์ในเพจ เขาก็จะรู้ว่าเราเดินถึงไหนแล้ว อีกแบบคือคนที่อยู่ในที่ที่เราเดินผ่าน บางคนก็ไม่รู้จักเราแต่ก็เอาของมาช่วย บางคนก็เคยเห็นในทีวีเลยตามมา

การเดินไปบนถนนมันเข้าถึงคนได้จริงๆ อาจไม่ใช่คนเยอะ แต่คนที่เห็นเราเดินระหว่างทาง เขารู้ว่าเรากำลังทำอะไร เราได้บอกเล่าเรื่องราวไปในตัว คนที่เห็นเราเดินผ่านเขาก็ถาม ไปไหนกัน เดินไปทำอะไร เราก็ฝากเพจ แล้วเราก็เริ่มมีแผ่นพับ โปสเตอร์แจก เขาก็ได้อ่าน บางคนก็ถึงขั้นอยากคุยจริงจัง เราก็หยุดพูดได้บ้างสักหน่อย ไม่ได้นาน


ทั้งเดิน ทั้งถ่าย ทั้งบรรยาย ตลอดการเดินทาง เหนื่อยไหม

เหนื่อยแต่พอเราเป็นคนไลฟ์ เราก็จะเห็นคอมเมนต์ ก็รู้สึกได้ว่าเขาติดตามเราอยู่ ใครจะคิดว่าแค่คนเดินจะมีคนดู มีคนรอ ถ้าไม่ได้ไลฟ์เพราะอุปกรณ์เรามีปัญหาก็จะมีคนอินบ็อกซ์เข้ามาถามแล้วว่า ตอนบ่ายไปไหน ทำไมตอนบ่ายไม่ไลฟ์ เห็นคนที่พร้อมสนับสนุนพร้อมเปิดใจ มีคนมาห่วงใยเรา ระวังรถนะ อะไรแบบนี้ เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน

เราไลฟ์ตอน 8 โมง บางคนก็ตื่นมาแต่เช้ามานั่งรอเรา อินบ็อกซ์มาแล้ว เนี่ย รออยู่นะ มันชื่นใจ ว่าสิ่งที่เราทำมีคนสนใจ คนที่เข้ามาดูเรา ก็รู้สึกมาจากทั่วทั้งประเทศ มาจากหลายๆ จังหวัด มันคือความหลากหลาย

มีคนที่ต่อต้านบ้าง เช่น เดินผ่านตลาดก็ได้ยินว่า ทำไมไม่ไปทำมาหากิน มาเดินทำอะไรกัน หรืออย่างบางวันจะมีผู้ชายคนหนึ่งมาไลฟ์เรา แล้วก็บอกว่า นี่นะครับ พวกนี้เป็นพวกถ่วงความเจริญ แต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจในจุดนั้น เราก็พยายามเดินของเราเพื่อสื่อสารต่อไป ในโซเชียลก็มีเหมือนกันที่มาบอกว่า "จุดไม่ติดหรอก มาทำอะไรกัน" แต่คุณมาตามทุกไลฟ์เลย (หัวเราะ) เราก็มองว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็ดีนะ เขาไม่เห็นด้วยเขายังมาตามดูเราเลย

มิตรภาพในทีมเป็นอย่างไร

ทีมเดินก็จะมีคนจากหลายเครือข่าย พอได้มาเดินด้วยกัน ทำให้เราได้เรียนรู้กันมากขึ้น พอเขาต้องกลับไปที่หมู่บ้านเพื่อสลับให้ผลัดสองมา เขาจะคิดถึงการเดิน คิดถึงเพื่อน อยากอยู่ต่อ

ในแต่ละวันที่เดินก็มีเรื่องความผิดพลาด แต่ทุกตอนเย็นเราจะมีวงคุยเพื่อสรุปกัน แล้วจากเรื่องที่ผิดพลาดมันก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เอามาคุยหยอกล้อกันได้ แล้วทำให้เรารู้ว่าที่เขาผิดพลาดมันเพราะอะไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ให้อภัยกันได้ ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไข ชาวบ้านทุกคนมีส่วนร่วมที่จะบอกว่าตรงนี้ยังไม่ดีเราจะแก้ยังไง ช่วยกันสรุปบทเรียน ไม่มีแกนนำ เป็นเรื่องของทีม


มิตรภาพจากคนรอบข้าง

เราใช้โทรศัพท์เรามาตั้งแต่วันแรก ใช้มาเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันตาย คือเปลี่ยนแบตแล้วก็ยังใช้ไม่ได้ แล้วตอนแรกเราไม่ได้มีอุปกรณ์ช่วยอะไรเลย ตลอดสามชั่วโมงเราเดินถือเอา เดินไปด้วย ถือไปด้วย พูดไปด้วย ตอนแรกเราขอยืมโทรศัพท์จากทีมเดินมาไลฟ์ แต่เราก็กลัวว่ามันจะพังไปอีก ก็ปรึกษากันในทีมแล้วก็ลองประกาศลงในเพจดูว่ามีใครจะเอื้อเฟื้ออุปกรณ์ไหม จนตอนนี้ก็ได้พาวเวอร์แบงค์มาเยอะมาก น่าจะประมาณ 20 อัน โทรศัพท์อีก 2-3 เครื่อง มีคนถามมาว่าส่งเงินมาให้เราไปซื้อได้ไหม เราก็ไม่เอา มีแผงโซลาร์ไว้ชาร์จแบตด้วย แต่ก็หนัก (หัวเราะ) แล้วก็มีขาตั้งกล้อง ไม้เซลฟี่ อุปกรณ์ตอนนี้พร้อมขึ้นเยอะ


ประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร

ตอนวันแรกๆ ที่ทางวัดปฏิเสธ เราไม่ได้นอนที่วัดแล้ว มันเหนื่อยมาก แทนที่เสร็จแล้วจะได้นอน แล้วก็โดนตำรวจตามอีก เราก็กลัวเขาจะมากั้นตรงทางเข้าวัด ตรวจค้นเหมือนวันแรกๆ ที่โดน เราก็ต้องคอยหนีตำรวจเหมือนเราเป็นโจร ไม่ให้เขาตามไปที่พัก ซึ่งเขาตามแบบจี้ตูด ขับรถจี้ ไม่ได้ตามห่างๆ แต่ตามแบบที่ทำให้เรารู้สึกโดนคุกคาม ถามก็ไม่ตอบ ถ่ายรูปอย่างเดียว แต่พอเริ่มแก้ไขสถานการณ์ได้ เริ่มมีคนมาเสนอที่นอน พอมีที่นอนแล้วมันก็รู้สึกผ่อนคลาย มีเวลาทำกิจกรรม มีเวลาพูดคุยกันเยอะขึ้น ช่วงก่อนหน้าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองไม่กี่วัน ตอนอยู่แถวปากช่อง ตำรวจก็เริ่มเข้ามาแบบดีๆ เริ่มเข้ามาแนะนำตัว บอกว่ามาจากหน่วยไหน ไม่เหมือนตอนแรกที่ถามไม่ตอบ

 

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน







ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ควันหลงงานบอล: คุยกับประธานขบวนสะท้อนสังคมจุฬาฯ ย้อนดูการเซ็นเซอร์ทั้งใน-นอกรั้วมหา’ลัย

Posted: 06 Feb 2018 05:30 AM PST

จบไปเป็นครั้งที่ 72 แล้วสำหรับฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ สิ่งที่สังคมจับโฟกัสนอกจากผลเสมอของทีมฟุตบอลในสนามคือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบผืนหญ้าเขียวของสนามศุภชลาศัย ขบวนสะท้อนสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย ไม่ว่าจะเป็นการรอดูว่านิสิตนักศึกษาสองสถาบันจะหยิบจับประเด็นอะไรมาเล่นอย่างแหลมคมมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นการรอลุ้นว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะหยิบจับหุ่น หรือป้ายผ้าในขบวนออกจากขบวนที่เตรียมตัวเข้าสนาม

ขบวนของสะท้อนสังคมของจุฬาฯ ในปีนี้ที่หยิบประเด็นการศึกษา ปัญหาครอบครัว ตั้งข้อสงสัยกับการใช้งบประมาณอันมาจากภาษีประชาชนของรัฐบาล และหุ่นที่จัดว่าเป็นหมัดเด็ดคือหุ่นชายนิรนามใส่เสื้อฮาวายและท่ามือบังหน้าที่โด่งดังที่มาพร้อมกับป้ายผ้า ใจความว่า "ห้ามล้อนาฬิกา เข้มบอลประเพณี ทำหุ่นคล้าย 'ผู้นำ' ก็ไม่ได้ นิสิตโวยโดนเซ็นเซอร์ อ่านต่อหน้า 15"

ภายใต้บรรยากาศความกดดันที่เห็นตามหน้าสื่อเรื่องการล้อเลียนนาฬิกา แหวนเพชรและตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำลังเป็นข่าวอื้อฉาวกรณีเครื่องประดับที่ปรากฏชิ้นใหม่มาเรื่อยๆ และหนังสือของทางสำนักบริหารกิจการนิสิตจุฬาฯ เรื่องข้อปฏิบัติ 4 ข้อ ที่ขอให้นิสิตทำกิจกรรมให้อยู่ในกรอบกฎหมาย คำนึงถึงชื่อเสียงมหาวิทยาลัย และเชื่อฟังบุคลากรของมหาวิทยาลัย การทำขบวนออกมาเช่นนั้นนับว่าเหนือความคาดหมาย

ในวันนี้แม้สนามศุภชลาศัยจะร้างผู้คน หุ่นที่ถูกนำไปเดินขบวนทั้งหลายหมดสิ้นแล้วซึ่งหน้าที่ แต่คำถามเรื่องเส้นทางก่อนที่ขบวนสะท้อนสังคมของจุฬาฯ จะปรากฏสู่สายตาสาธารณชนยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงมาก ประชาไทจึงชวน 'ณัฐนันท์ กำแพงสิน' นิสิตคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 อุปนายกฝ่ายกิจการมหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ที่ควบตำแหน่งประธานขบวนสะท้อนสังคม มาเล่าเรื่องว่าด้วยความยาก กระบวนการ 'คัดกรอง' เนื้อหาจากทั้งนิสิตและผู้ใหญ่ และทรรศนะของเธอที่บอกว่าขบวนสะท้อนการเมืองสามารถไปได้ไกลกว่านี้ หากแต่โครงสร้างสำหรับการทำขบวนสื่อสารเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมของทางจุฬาฯ ไม่ถูกสถาปนาให้มีความต่อเนื่องในรั้วสีชมพู

 

ประชาไท: งานจบแล้วรู้สึกอย่างไร สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ไหม

ณัฐนันท์: มันก็เป็นไปตามแผน เราวางแผนไว้ว่าจะพยายามพลิกแพลง เอานาฬิกา เอาแหวนไปใส่ พอวันจริงหุ่นทุกตัว ป้ายผ้าทุกผืนสามารถเอาเข้าไปได้ แผนที่จะเพิ่มออปชั่นในสนามก็ทำได้โดยที่ไม่มีใครเป็นอะไร ถือว่ามันโอเค เป็นไปตามแผนทั้งหมด กระแสตอบรับค่อนข้างดี เลยรู้สึกว่ามันก็โอเคในระดับหนึ่ง

 

อะไรคือความยากในการทำขบวนสะท้อนสังคม

เอาจริงๆ มันยากมากๆ หนึ่ง ระบบของเราต่างจากขบวนล้อการเมืองของธรรมศาสตร์ ที่มีโครงสร้างองค์กรที่ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร ค่อนข้างอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อ อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) หรือองค์กรใดๆ เลยของมหาวิทยาลัย จะดีลกับทางผู้ใหญ่ที่เป็นสปอนเซอร์ได้เลย ไม่มีใครสามารถแทรกแซงเนื้อหาได้ แต่เขาก็ทำในกรอบของเขา ในทางกลับกันของจุฬาฯ ด้วยระบบที่ไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรที่เป็นอิสระขนาดนั้น แต่ละปี ขบวนฯ จะถูกประมูลไปตามคณะแต่ละปี (การประมูลคือการที่ตัวแทนแต่ละคณะเข้าไปอาสารับหน้าที่ต่างๆ จากการประชุมกลาง การประมูลอาจใช้การพูดคุย ต่อรองกันระหว่างตัวแทนแต่ละคณะ อาจจะใช้ทรัพยากรที่แต่ละคณะมีเช่น คณะที่ทำงานศิลปะเก่งก็อาจจะประมูลเอางานที่มีการออกแบบ เป็นต้น - ประชาไท) ทำให้การทำงาน การสร้างสรรค์ไม่มีความต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับว่าคณะอะไรทำ และไม่มีความเป็นอิสระ เพราะขึ้นตรงกับ อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) บอร์ดจัดงานที่เป็นนิสิต ขึ้นตรงกับทางผู้ใหญ่ข้างใน ทำให้เราไม่มีอิสระในการรังสรรค์เนื้อหาที่เราอยากจะทำได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่แรก ตอนแรกก็โดนกรอบมาเลยว่า ไม่ทำการเมืองนะ อย่าทำแบบการเมืองจ๋า เราเป็นขบวนสะท้อนสังคมนะ ไม่ใช่ขบวนการเมือง จริงๆ เราอยากทำมาก มีประเด็นหลายเรื่องมากที่เราสามารถทำได้และเป็นกระบอกเสียงได้ เช่น การจัดการภาษีก็น่าทำ ทำไมพี่ตูนต้องออกมาวิ่ง เรื่องน้ำท่วม เลื่อนเลือกตั้ง มีประเด็นหลายอย่างที่เราคิดว่าควรนำมาพูดถึงในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม แต่เขากลับมองว่ามันเป็นการเมืองมากเกินไป ซึ่งมันหลุดคอนเซปต์ขบวน ทำให้การทำเนื้อหายากตั้งแต่แรก

เขายังอยากให้เนื้อหาเป็นเนื้อหาที่ต่อกันทั้งขบวน ซึ่งต่างจากของขบวนล้อฯ เพราะเขาสามารถทำหุ่นขึ้นมาตัวหนึ่งที่มีเนื้อหาในตัว และไม่จำเป็นต้องต่อกันทั้งขบวน แล้วเขาก็พูดเรื่องนโยบาย หรือพูดถึงปัญหาต่างๆ ในหุ่นตัวนั้น แต่เราไม่ได้ ต้องมีธีม ต้องต่อกันทั้งขบวน เขาจะได้รู้ว่าสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร
 

แล้วช่วงหลังๆ ของการทำงานดีขึ้นไหม

ช่วงหลังเราก็เริ่มมาหยวนๆ กัน ขอให้มีตัวหนึ่งสะท้อนสังคมในเรื่องการเมืองที่ควรต้องพูด แล้วพยายามยัดทุกอย่างเข้าไป เรายัดพี่ตูน ยัด ม.44 ยัดประเด็นคอร์รัปชัน เรื่องผู้นำเข้าไปในหุ่นตัวนี้แล้วบอกว่า นี่คือ element หลักของสังคมในปัจจุบัน เราก็บอกเขาว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราไม่พูดถึงไม่ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีหุ่นอื่นเช่นเรื่องครอบครัว เรื่องระบบการศึกษาที่ทั้งหมดคือสังคม แต่คุณปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ่นใส่ชุดฮาวายที่เป็นหุ่นตัวสุดท้ายเป็นตัวการเมืองที่ค่อนข้างจะเป็นประเด็นที่ใหญ่ แล้วก็เราก็รู้สึกว่ายังไงก็ต้องมี เขาก็บอกว่าโอเค

ช่วงหลังๆ มีสกรีน(คัดกรอง)คำพูด มีสกรีนกลอน เหมือนเขาจะมีคีย์เวิร์ดที่เวลาเราแต่งกลอนส่งไปเขาจะบอกว่า เปลี่ยนไหม เปลี่ยนนะ เพราะมันมีคีย์เวิร์ดที่เขาไม่อยากให้มีคำที่รุนแรงเกินไป เช่น คำว่า 'รัฐ' 'ผู้นำ' 'กะลา' แบบนี้ไม่ได้ บางคำก็สมเหตุสมผล เช่นคำว่า 'กะลา' มันอาจจะแรงไปที่เด็กจุฬาฯ จะมาพูดว่าประเทศไทยเป็นกะลา แต่บางคำมันก็เกินไป เช่นคำว่า 'รัฐ' 'ผู้นำ' ทำไมเราพูดไม่ได้ ทำไมต้องสั่งแก้

มีช่วงหนึ่งที่เขาสั่งมาแล้วก็ให้เขียน มีกลอนหนึ่งที่เขาบอกว่าให้แก้ตามนี้ เขียนตามนี้ หนูก็จะฟิวส์ขาดแล้ว แต่ไหนๆ น้องก็พยายามขนาดนี้แล้วเราก็ยอมเขาไปแล้วกัน หลังๆ เราก็ทำกันเอง แล้วค่อยไปบอกเขาว่าทำไม่ทัน ไม่ค่อยส่งอะไรให้เขาดูเท่าไหร่จนเขามาถาม เขาก็คงเข้าใจว่ามันคงไม่ทัน เพราะมันส่งแล้วแก้กันไปมาเป็นอาทิตย์ บางทีมันก็ไม่ได้สมเหตุสมผลขนาดนั้น หนูเลยบอกว่าไม่เป็นไร ทางเขาก็บอกว่าถ้าไม่ทำตามนี้เดี๋ยวจะมีปัญหานะ หนูก็บอกว่าไม่เป็นไร ค่อยไปลุ้นหน้าสนามเลยแล้วกัน เพราะมันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงขนาดนั้น และใจความก็ไม่ได้แตกต่างกันหนักหนาขนาดนั้น แค่คีย์เวิร์ดไม่กี่คำเอง หน้างานมีสื่อ มีกล้อง เขาไม่กล้าทำอะไรหรอก
 

เวลาพูดว่า 'เขา' หมายถึงใคร ลำดับการสั่งการเป็นอย่างไร

เท่าที่รู้คือจะมี สนจ. (สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ) เป็นบอร์ดฝั่งผู้ใหญ่ เขาจะร่วมมือกับ อบจ. แล้วใน อบจ. ก็จะมีบอร์ดของนิสิต ที่จะมีฝ่ายเนื้อหา ซึ่งขบวนสะท้อนสังคมสังกัดในฝ่ายเนื้อหา ตัวกรรมการในเนื้อหาน่าจะทำงานกับกิจการนิสิต น่าจะมีอาจารย์ที่คอยดูเนื้อหาส่วนนี้ทั้งหมด น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะหนูไม่เคยเข้าไปคุยเอง เคยขอเข้าไปคุยเองเขาก็บอกว่าไม่ต้อง เดี๋ยวคุยให้

ป้ายดำที่มาพร้อมหุ่นเสื้อฮาวายมีที่มาที่ไปอย่างไร

หนูเห็นข่าวนั้น (ห้ามล้อนาฬิกา แหวน) แล้วก็คุยกับประธานล้อการเมือง มธ. ที่โดนสื่อมาสัมภาษณ์ แต่ประธานล้อฯ ก็บอกว่าสื่อพาดหัวเกินจริงไปมาก แต่หนูก็บอกว่าทางหนูโดนแบบนี้จริงๆ คือห้ามใส่นาฬิกา ห้ามใส่แหวน ล้อฯ ก็บอกว่าจริงเหรอ ฝั่งล้อฯ ไม่โดน เดี๋ยวจะแก้ข่าวให้ ป้ายผ้าดำนั้นเตรียมเอาไว้เป็นแผนสำรองในกรณีที่หุ่นเข้าไม่ได้ก็จะให้น้องๆ ถือเข้าไป แต่พอวันจริงก็ไม่ได้หนักหนาอะไรขนาดนั้น ก็ให้ถือป้ายหน้าหุ่นเลย ให้คนรู้ว่าเราใส่นาฬิกาเข้ามาไม่ได้จริงๆ เขามาสกรีนหุ่นเราหน้างานตอนกลางคืน มีทหารนอกเครื่องแบบเยอะพอสมควรในวันก่อนหน้า ตอนที่ล้อฯ เอาหุ่นทุกตัวมาลง ตอนเช้าก็มาสกรีน มาถามว่า อันนี้ไม่ได้ซ่อนอะไรไว้ใช่ไหม ไม่ได้ติดนาฬิกาไว้ใช่ไหม หนูก็บอกว่าไม่มี ไม่ได้ติด

เขาค่อนข้างอ่อนไหวมากเลย มาตรวจข้างในหุ่น มาถามว่าด้านในซ่อนหุ่นไว้อีกตัวหรือเปล่า หัวเปิดออกมาจะเป็นหน้าคนอื่นไหม หนูก็บอกว่าเปิดไม่ได้ ก็ให้เขาทำดู เขาก็โทรรายงานว่า พี่ครับมีหุ่นตัวนี้ที่สุ่มเสี่ยง แต่ผมว่าไม่น่ามีอะไร มันเปิดไม่ได้ เราก็พยายามซ่อนอุปกรณ์ไว้เพราะรู้เลยว่าถ้าติดไปแต่แรกยังไงก็เข้าไม่ได้
 

มีความพยายามในการกดดันจากภาครัฐส่วนอื่นบ้างไหม

ไม่แน่ใจว่าจากภาคไหน หนูไม่เคยได้ยินจากหูตัวเอง แต่บอร์ดข้างในเขาใช้คำว่าผู้ใหญ่กับทหาร หนูก็ไม่รู้ว่าอันไหนผู้ใหญ่ อันไหนทหาร แต่วันที่มาตรวจ เขาก็เหมือนมากับกิจการนิสิตของเรา ใส่เสื้อเชียร์มา ไม่รู้ว่าเป็นตำรวจหรือทหาร แล้วก็มีบัตรที่ดูเป็นทางการมากเขียนว่า 'กิจการนิสิต'
 

แล้วเขาให้เหตุผลอะไรบ้าง

เขาบอกว่า มันเป็นมาตรการ เขามาตรวจหุ่นทุกตัว เข้าใจว่าขบวนสื่อแนวคิดของงานบอล ขบวนเฉลิมพระเกียรติก็โดนตรวจเหมือนกัน แต่หุ่นของเราค่อนข้างที่จะชัดเจนว่าเป็นหุ่นที่ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนี้ เขาก็มาเช็คค่อนข้างละเอียด


การที่จุฬาฯ กับ มธ. ได้มาแสดงออกทางการเมืองในงานบอล เหมือนโฟกัสสังคมมันขยับมาอยู่กับเรา คิดว่าเป็นเอกสิทธิ์ไหม ที่อื่นควรมีพื้นที่แสดงความเห็นเท่านี้หรือเปล่า

เห็นด้วย รู้สึกว่าทุกคนควรมีสิทธิและอิสระในการแสดงออก มันไม่ใช่สิ่งที่ผิด จุฬาฯ กับธรรมศาสตร์ค่อนข้างโชคดีที่เรามีพื้นที่ตรงนี้ ธรรมศาสตร์เองก็ทำการบ้านมาดีทุกปี ส่วนจุฬาฯ ในอนาคตควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีด้วยซ้ำ หนูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องที่ทำไปปีนี้จะได้รับการสานต่อในปีหน้าหรือเปล่า เพราะเรื่องระบบข้างในมันอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลง อยากให้น้องๆ นิสิตตระหนักว่าเรามีพื้นที่แสดงความเห็นโดยเสรี ภายใต้กฎหมาย มันควรเป็นสิ่งที่เป็นของนิสิตทุกคน ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นก็เคยได้ยินเหมือนกัน เช่น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีการแปรอักษร หนูก็คิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยอื่นสามารถทำได้ ก็จะเป็นการแสดงพลังของคนรุ่นใหม่ ถ้ามันแข็งแรงมากพอ ผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่ ผู้มีอิทธิพลในสังคมตอนนี้ก็คงเห็นว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมคิดอย่างไร ก็คิดว่าคงมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
 

อะไรทำให้เรารู้สึกว่าขบวนสะท้อนสังคมไม่ได้รับความสำคัญพอที่จะทำเป็นสถาบันเหมือนที่คฑากร ผู้นำเชียร์ หรือชมรมเชียร์เป็น

คิดว่าผู้บริหารเขาคงไม่อยากให้จุฬาฯ มีภาพลักษณ์เหมือนธรรมศาสตร์ที่สปอตไลท์ทุกตัวฉายไปที่ขบวนล้อการเมือง แต่ฝั่งจุฬาฯ ไม่ใช่ คงเพราะฐานคิดที่ว่า จุฬาฯ ก็ซอฟต์ๆ มีภาพลักษณ์ให้รักษา

แต่หนูคิดว่าเราก็ทำได้ในขอบเขตที่เรามี ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบล้อฯ ก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องมีพื้นที่บางอย่างให้นิสิตในการแสดงออก ในการสะท้อนว่าเราเห็นอะไรและทำอะไรกับสังคมได้บ้าง มันควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง การโยนภาระนี้ให้คณะใดคณะหนึ่งมันค่อนข้างจะจำกัด และตีกรอบเขามาก ถ้าปีหน้าระบบไม่เปลี่ยนก็จะกลายเป็นว่าทุกคณะจะจ้องมาที่คณะรัฐศาสตร์ว่า ทำไมคุณไม่ทำ สิ่งนี้มันเหมาะกับคุณที่สุดแล้ว ถ้าเราไม่สามารถจัดตั้งองค์กรที่เป็นอิสระที่จะส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ ก็จะทำให้คณะรัฐศาสตร์ผูกขาดหน้าที่ทำขบวน ซึ่งบอกตรงๆ ว่าไม่สามารถการันตีได้ว่าสโมฯ ทุกรุ่นจะประมูลมา ทำให้เราไม่สามารถมั่นใจว่าจะส่งต่ออะไรได้เหมือนที่ทางล้อฯ ทำได้ทุกปี

ปีนี้ก็ได้เปิดรับทีมงานนอกคณะดูก็ได้คนที่มีคุณภาพมา แต่ถ้ามันมีความหลากหลายตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นอิสระพอที่จะทำอะไรได้ตามที่ตกลงกันไว้แต่แรก ไม่มีการสั่งแก้ทีละขั้นตอน มีน้องที่จะให้ส่งต่องาน หนูคิดว่าขบวนมันไปได้ไกลกว่านี้เยอะ ประหยัดงบประมาณได้เพราะจะมีความรู้สะสม เรื่องเนื้อหา ระบบงาน การดีลกับคนข้างในก็จะง่ายขึ้นเยอะ ดีกว่าเริ่มใหม่หมดทุกปี
 

ทีมขบวนสะท้อนสังคมมีแกนหลักทำกันมากน้อยแค่ไหน

แรกเริ่มมีทีมเนื้อหา 10 คน ตัวหลักๆ มีประมาณ 2-3 คน แต่พอมาทำหุ่นจริงๆ กลายเป็นว่าเราขาดทักษะเยอะมาก ก็ได้เพื่อนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ที่รับผิดชอบขบวนอื่นด้วยกันก็มาช่วยกัน หลังๆ ก็มีการเปิดรับน้องๆ จากคณะอื่นมา ทำให้ได้รับความหลากหลายทางความคิดและทักษะเยอะมาก จนน้องๆ เหล่านั้นกลายมาเป็นแกนหลัก ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ในวันจริงก็สปิริตแรงมาก ทุกคนมาช่วยกัน

 

คิดอย่างไรกับหนังสือของจุฬาฯ ว่าด้วยข้อปฏิบัติ 4 ข้อ

เห็นครั้งแรกคือวันที่ 2 ก.พ. คือกลัวมาก ต้องขึ้นไปคุยกับกิจการนิสิตคณะนานมาก เพราะโดนกำชับจากข้างในเรื่องแหวนกับนาฬิกา เรื่องไม่เปิดเผยหน้ามาหนักมาก ซึ่งตอนแรกหุ่นทำมามีทั้งแหวน นาฬิกา เปิดหน้า แล้วก็โดนสกรีนกลับมา ก็แก้ด้วยการปิดหน้า ให้ใส่ปี๊บคลุมแทน แหวนกับนาฬิกาก็ไม่ใส่ เหมือนคุยกับน้องในทีมว่าจะเอาไปใส่ข้างใน แต่หนูก็กลัวมากว่า ถ้าทำแบบนั้นกันจริงๆ น้องๆ จะปลอดภัยหรือเปล่า จะมีใครมาทำอะไรน้องๆ เราไหม ไหนจะเรื่องป้ายผ้าที่ซ่อนเอาไว้ ก็กลัวเหมือนกัน ก็เลยคุยกับอาจารย์ กับกิจการนิสิตว่าควรทำอย่างไร เพราะหนังสือเองก็เปิดไว้ให้ตีความได้กว้างมาก แบบไหนคือไม่เชื่อฟังบุคลากรมหาวิทยาลัย แบบไหนคือทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง หนูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำลงไปมันเข้าข่ายหรือเปล่า แล้วเขาจะทำอะไรเราได้หรือเปล่า ก็คุยกับอาจารย์มา แล้วก็ดีที่คืนก่อนหน้านั้นมีรุ่นพี่ที่เคยเป็นบอร์ดจัดงานเก่าๆ โทร. มาให้คำปรึกษาเรื่องเทคนิคการพลิกแพลงเพื่อเอาสิ่งของเข้าสนาม ขั้นตอนการเจรจากับคนหน้าประตู ก็เลยได้ขอร้องให้มีอาจารย์บางคนเข้าไปอยู่กับขบวนด้วย อยู่กับขบวนเลย เพื่อให้เห็นว่ามีอาจารย์ มีฝ่ายกิจการนิสิตมาด้วย ก็เลยคิดว่าเขาคงไม่ทำอะไร
 

ปีนี้ประสาน พูดคุยกับทางล้อฯ ของ มธ. บ้างไหม

มี ปีนี้ค่อนข้างจะประสานงานกันเยอะพอสมควร ตอนแรกมีเพื่อนในสโมฯ รู้จักกับประธานล้อฯ แล้วล้อฯ เขาชวนมาทำหุ่นร่วมกัน ก็มีไปหากันคนละครั้ง คุยกันมาตลอดเรื่องหุ่นตัวสุดท้ายของขบวนล้อ (พานรัฐธรรมนูญยักษ์หาม) เราก็บอกว่าเรามีข้อจำกัดเยอะมาก เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ลองโยนไอเดียว่าอะไรจะมีแรงกระเพื่อมในสังคมมาก แล้วลองมาแบ่งงานรับผิดชอบกัน ก็ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ คอนเซปต์ก็ประมาณว่ารัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้ผู้ร่างมากๆ แล้วก็แบ่งงานกันซึ่งทางเราก็บอกไปว่าทำหุ่นไม่ไหว ไม่มีทักษะ ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร งบประมาณจำกัด ล้อฯ ก็รับทำหุ่นให้ ส่วนเรารับทำป้ายผ้าสีแดงที่ประกอบในสนาม คือให้เป็นพรมแดงประกอบกับหุ่นเพื่อไปประกอบในสนาม


 

เงินและงบประมาณมีผลกับทิศทางการทำขบวนไหม

มี ตอนแรกของบไปก็โดนตัดมาครึ่งหนึ่งเลย หุ่นก็ค่อนข้างที่จะได้แค่สามตัว ซึ่งก็เกินงบแล้ว แต่ก็เข้าใจว่าทั้งงานก็โดนตัดงบทุกฝ่าย หุ่นสามตัว รวมงบอื่นๆ ก็เจ็ดหมื่นเกือบแปดหมื่น เดี๋ยวต้องไปดูว่ามีฝ่ายที่ใช้เงินไม่ถึงหรือเปล่า ก็อาจจะมีการโยกงบมาโปะ
 

ผลตอบรับตอนนี้เท่าที่ได้ยินเป็นอย่างไร

ตอนนี้ค่อนข้างเป็นไปในทางบวก จากนักข่าวเองก็มองว่าจุฬาฯ ได้ขยับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง หนูก็ดีใจที่เขาไม่ได้เอาขบวนเราไปเปรียบกับขบวนล้อฯ ทุกอย่าง เขาก็ค่อนข้างรู้ว่าจุฬาฯ ทำได้ขนาดไหน ซึ่งเท่านี้ก็ถือว่าได้แสดงออกในระดับหนึ่งแล้วถ้าเทียบกับที่ผ่านๆ มา เมื่อกี้ก็เพิ่งคุยกับอาจารย์ เขาก็บอกว่าอธิการบดีฯ ก็ฝากมาชมว่าขบวนดี ไม่เบาและไม่แรงไป
 

ขบวนสะท้อนสังคมทำหน้าที่อะไรให้กับมหาวิทยาลัยและสังคมข้างนอก

มันคือการสะท้อนสังคม เหมือนเขาอยากให้เราเป็นตัวปลุกสปิริต ตามธีม Our Rise ใช้สิทธิของเราในการบอกกับสังคมภายนอกว่าสังคมมีปัญหาอะไร และเราสามารถทำอะไรได้บ้างในฐานะคนรุ่นใหม่ ขบวนสะท้อนน่าจะสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วอย่างน้อยก็เรียกร้อง ชี้แนะให้คนที่เห็นมาร่วมกันแก้ปัญหา
 

คนทำงานในทีมเชื่อมโยงตัวเองกับการเมืองติดไหม

น้องๆ หลายคนที่มาทำในขบวนก็เป็นนักกิจกรรม บางคนที่มาจากคณะอื่นที่ไม่ได้สนใจการเมืองแต่พอมาทำงานด้วยกันแล้วเขาก็บอกว่าสนุก ตอนวันจริงหนูกลัวมากเลยถามน้องๆ ว่า ไหนๆ ก็มีป้ายผ้าสีดำแล้ว เราจะไม่ติดนาฬิกาดีไหม ห่วงความปลอดภัยของน้อง แต่น้องๆ ที่มาจากคณะอื่นก็ตอบมาว่า ไหนๆ ก็มาขนาดนี้แล้วพี่ ทำให้สุดไปเลย เราก็รู้สึกว่า หรือเราก็สามารถทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งนี้มันสำคัญกับเขา กับสังคม กับคนที่มองเห็น ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นให้คนที่ไม่สนใจการเมืองเชื่อมตัวเองกับการเมืองและสังคมภายนอก

 

แล้วคิดอย่างไรเวลาได้ยินว่านักศึกษาไม่รักชาติ

เราเข้าใจว่าเราเติบโตมาคนละยุคกัน โลกของเขาคงไม่ได้ตั้งอยู่บนตรรกะเดียวกันกับเรา แต่เอาจริงๆ ถ้าทุกคนมีเจตนาดีต่อประเทศเหมือนกันหมด ถ้ามีวิธีสื่อสารที่สร้างสรรค์คิดว่าเขาคงเปิดใจยอมรับและเข้าใจบ้าง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประณามการจับกุม-ดำเนินคดี 'เกษตรกรดอยเทวดา-น.ศ.' หนุนเดินมิตรภาพ

Posted: 06 Feb 2018 05:23 AM PST

เครือข่ายนักกิจกรรมออกแถลงการณ์ ประณามการจับกุมชาวบ้านดอยเทวดาและแจ้งข้อกล่าวหาเนื่องจาก จัดกิจกรรมให้กำลังใจ "We walk เดิน...มิตรภาพ" ชี้ขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 
 
ภาพซ้าย : กลุ่มชาวบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำกิจกรรมหนุน "We walk เดินมิตรภาพ" เมื่อช่วงกลางวัน วันที่ 5 ก.พ. ก่อนถูกเรียกสอบช่วงค่ำที่ สภ.ภูซาง ภาพขวา : เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเรียกกลุ่มชาวบ้านดอยเทวดา สอบกลางดึก (ที่มา: เพจสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ)
 
6 ก.พ.2561 จากกรณีกลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา และนักศึกษา รวม 14 คน จัดกิจรรมเดินมิตรภาพเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจกลุ่ม People Go Network เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเรียกตัวไปสอบสวนช่วงดึกของวันเดียวกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อชาวบ้านและนักศึกษา รวมทั้งหมด 14 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย 
 
ล่าสุด เครือข่ายซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน นักกิจกรรมเพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมและดำเนินคดีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แม้ว่า ที่ ผ่านมาทางรัฐบาลไทย ได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีที่ร่วมลงนาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ พลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติเมื่อ วันที่ 29 ต.คม. 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2540 
 
เครือข่ายดังกล่าวยังเรียกร้องให้ ทางรัฐบาลต้องทำตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศที่ทางรัฐบาลไทยได้รับรองไว้ และนำไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นจริง  และเรียกร้องให้ศาลดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ต้องหาในคดีนี้อย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมทางสังคมและประโยชน์ของประชาชนในด้านสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนพึงได้รับจากการรับรองตามกฎหมาย
 
รายละเอียดแถลงการณ์ :
 

ประณามการจับกุมชาวบ้านดอยเทวดาและแจ้งข้อกล่าวหาเนื่องจาก จัดกิจกรรมให้กำลังใจ "We walk เดิน...มิตรภาพ" เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ได้จัดกิจกรรม "We walk เดินมิตรภาพ เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต" เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจเครือข่าย People Go ที่จัดกิจกรรม We walk เดิน...มิตรภาพ โดยก่อนจัดกิจกรรมหนึ่งวัน ได้โทรศัพท์ไปแจ้งต่อนายอำเภอภูซางเพื่อขออนุญาตจัดกิจกรรมว่า จะเดินจากเทศบาลตำบลสบบง มายังหมู่บ้านดอยเทวดา แต่นายอำเภอไม่อนุญาตให้เดิน อย่างไรก็ดีทางกลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดายังยืนยันที่จะทำกิจกรรมต่อไป 

เวลาประมาณ 12.00 น. กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดาประมาณ 15 คน ได้ทำกิจกรรมการเดินดังกล่าวจากปลายหมู่บ้านไปยังกลางหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 500 เมตร มีการถือป้ายและธง "สนับสนุน we walk เดินมิตรภาพ", "สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ บ้านดอยเทวดา" ก่อนจะมาหยุดที่หน้าศาลาประชาคมหมู่บ้าน เพื่ออ่านแถลงการณ์ที่มีใจความว่า กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดาสนับสนุนการเดินมิตรภาพ we walk และจบกิจกรรมภายในเวลา 10 นาที แต่ต่อมาชาวบ้าน 11 คนและนักกิจกรรม นักศึกษา 3 คน ถูกตำรวจ สภ.ภูซางเรียกตัว ไปสอบปากคำ และควบคุมตัวไว้ตลอดทั้งคืน โดยแยกนักกิจกรรมและชาวบ้านออกจากกัน

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2561) เวลาประมาณ 6.00 น. ทั้งหมดถูกตำรวจตั้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ตำรวจจึงนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงคำ 

อีกทั้งระหว่างการควบคุมตัว ชาวบ้าน 1 ใน 11 คนนั้นมีอาการป่วยเป็นโรคประจำตัว (โรคเบาหวาน) ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้ยา แต่เจ้าหน้าที่ก็มิได้ปล่อยตัวให้ผู้ต้องหาคนนั้นออกไปรับยา อีกทั้งยังเป็นการควบคุมตัวไว้เพื่อการสอบปากคำทั้งคืน จนระยะเวลาล่วงเลยมาถึงเช้าวันถัดไป เท่ากับว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดต้องอยู่ที่โรงพักทั้งคืนโดยไม่ได้พักผ่อน ซึ่งการกระทำทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการกระทำถือได้ว่าเลวร้าย ขัดต่อหลักการของควบคุมตัวผู้ต้องหาที่จะต้องแจ้งข้อกล่าวหา และให้ผู้ถูกคุมขังมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสมควร 

การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แม้ว่า ที่ผ่านมาทางรัฐบาลไทย ได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีที่ร่วมลงนาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540 จึงขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เลวร้าย ป่าเถื่อน รุนแรง ปราศจากความมีมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง 

เครือข่ายซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน นักกิจกรรมเพื่อสังคม มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ทางรัฐบาลต้องทำตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศที่ทางรัฐบาลไทยได้รับรองไว้ และนำไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดขึ้นจริง 

2. ขอเรียกร้องให้ศาลดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ต้องหาในคดีนี้อย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมทางสังคมและประโยชน์ของประชาชนในด้านสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนพึงได้รับจากการรับรองตามกฎหมาย

ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แถลง ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

รายนามองค์กร
1.กลุ่ม Gen เรา
2.เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
3.กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ (NGC)
4.กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิดอาสาสมัครชุมชนด้านทรัพยากร จ.สตูล
5.กลุ่มโกงกาง
6.กลุ่มลูกชาวบ้าน
7.กลุ่มรักษ์เขาชะเมา
8.กลุ่ม Law Long Beach
9.เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและมหาวิทยาลัยทักษิณ
10.เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
11.กลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม
12.กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
13.เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
14.สิงห์ภูพาน
15.ขบวนการอีสานใหม่ 
16.ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

รายนามนามบุคคล
1.กรกช แสงเย็นพันธ
2.ชูเวช เดชดิษฐรักษ์
3.ชินภัทร วงค์คม
4.ณัฐวุฒิ กรมภักดี
5.ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์
6.บดินทร์ สายแสง
7.งามศุกร์ รัตนเสถียร
8.ธนพล แสงจันทร์
9.นายอัครวินท์ กุลภา 
10.นายเกียรติศักดิ์ อุปชา

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มือกราฟิตี้ 'นาฬิกาประวิตร' เผยจบเรื่องแล้ว หลังจ่ายค่าปรับคดีทำลายทรัพย์สินสาธารณะ

Posted: 06 Feb 2018 02:20 AM PST

ผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ 'Headache Stencil' ที่ยอมรับว่าเป็นผู้พ่นสีเป็นภาพนาฬิกาซึ่งมีใบหน้าของ พล.อ.ประวิตร ระบุจบเรื่องแล้ว หลังชำระค่าปรับที่ สน. มีเพียงคดีทำลายทรัพย์สินสาธารณะเท่านั้น

6 ก.พ. 2561 หลังจากผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ 'Headache Stencil' ที่ยอมรับว่าเป็นผู้พ่นสีเป็นภาพนาฬิกาซึ่งมีใบหน้าของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บริเวณสะพานลอยย่านสุขุมวิท เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา แะลได้โพสต์เฟสบุ๊คเมื่อ 3 ก.พ.61 ว่ากำลังถูกตำรวจไล่ล่า และมีการคุกคามบ้านคนรู้จักของตนกลางดึก ต่อมาเขาโพสต์เฟสบุ๊คอีกว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเปลี่ยนเวรเฝ้าที่คอนโดตลอด 24 ชั่วโมง

 
ล่าสุดวันนี้ (6 ก.พ.61) เมื่อเวลา 13.13 น. เฟสบุ๊คดังกล่าวโพสต์ข้อความว่า จบเรื่องแล้ว ได้รับการประสานให้เข้าไปชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจตามกฏหมาย โดยมีเพียงคดีทำลายทรัพย์สินสาธารณะเท่านั้น
 
นอกจากนี้ เขายัง ขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจ ขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยเหลือตั้งแต่วันแรกที่ต้องหนี และขอโทษที่อาจจะไม่สะดวกตอบหลายๆ คนที่ติดต่อมา และขอบคุณทุกคำแนะนำจากฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) และยูเอ็น
 
"ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิคิดและแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่คิดว่ามันไม่ถูกต้องต่อสังคมได้อยู่นะครับ ถึงแม้ว่ามันอาจจะมีอุปสรรคมาขัดขวางการพูด การคิดบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราต้องเปิดปากของเราได้ เปิดตาของเราได้ เพราะมันคือสิทธิ์ของเรา วันนี้ผมดีใจแล้วที่ได้รับรู้ว่าผมสามารถเปิดปากผมได้อยู่ ผมยังเป็นมนุษย์จริงๆด้วย" เฟสบุ๊คชื่อ 'Headache Stencil' ระบุตอนนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘เดินมิตรภาพ’: ทีมสถานที่-เติมส่วนที่ขาด ปัญหาเรื่องที่พักที่ต้องประสานวันต่อวัน

Posted: 06 Feb 2018 02:14 AM PST

การเดินเท้าระยะทางกว่า 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยกลุ่ม 'We Walk เดินมิตรภาพ' ของเครือข่าย People Go Network ที่เริ่มต้นวันแรก (20 ม.ค. 61) ก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 คน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แม้ท้ายสุดกลุ่มเดินมิตรภาพจะออกเดินต่อได้ แต่ช่วงแรกของการเดินก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย มาตั้งด่านตรวจค้น ถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคน การติดตามและบันทึกภาพตลอดทางอย่างใกล้ชิด การกดดันวัดที่ทางกลุ่มประสานไว้ไม่ให้รับกลุ่มเข้าพัก จนกระทั่งทางกลุ่มตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ชั่วคราว)

ประชาไทชวนคุยกับ นิติกร ค้ำชู ผู้ประสานงานอีสานใหม่ ทีมสถานที่และสวัสดิการของกลุ่ม We Walk เดินมิตรภาพ เบื้องหลังของที่พักและการอำนวยความสะดวก กับปัญหาที่พักในแต่ละวัน ที่เขาเล่าว่า "ต้องเสิร์ฟน้ำตลอดทั้งวัน กลางคืนต้องวิ่งไปเตรียมที่พัก" เฉลี่ยแล้วในทีมเขาต้องขับมอเตอร์ไซค์วันละร้อยกิโลเมตร เพื่อเตรียมการด้านต่างๆ และในฐานะของขบวนการอีสานใหม่ที่เขาอยากประสานการเคลื่อนไหวในพื้นที่ไปพร้อมกับขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

หน้าที่ของฝ่ายนี้ทำอะไรบ้าง

เป็นทั้งเซอร์เวย์และเซอร์วิส หรือเรียกง่ายๆ ว่าเจเนอรัลเบ๊ ทั้งบริการน้ำและหาที่พัก เรื่องที่พักอาจมีการประสานช่วยกันหลายๆ ทีม แต่พอได้ที่พัก ฝ่ายเราต้องเป็นคนไปดู ต้องไปเตรียมพร้อม หรือจุดพักระหว่างเดินเราก็ต้องไปสำรวจไว้ก่อน ตอนตื่นอาจจะตื่นพร้อมกันแต่ทีมนี้ต้องนอนทีหลังเพื่อน พอเข้ากิจกรรมเราก็ต้องเก็บของกันอีก แต่ดีหน่อยที่เราไม่ต้องเดิน แต่ก็ขับรถตามข้างหลัง คอยให้น้ำ บางทีก็ไปวิ่งโบกรถ เลยอาจจะเหนื่อยล้าสะสม ทีมนี้หลักๆ มีสี่คน แต่ก็มีเพื่อนมาช่วยสมทบอยู่ แต่ก็ต้องมีสลับกันกลับไปทำงานประจำของตัวเองบ้าง


ทำไมถึงทำงานนี้

เพราะมันไม่มีคน ตอนแรกเราคุยกับพี่เลิศศักดิ์ (คำคงศักดิ์) ว่าเดี๋ยวผมไปช่วย ให้ช่วยตรงไหนว่ามา เขาก็เลยให้ทำฝ่ายนี้

จริงๆ แล้วอยากทำอะไร

(หยุดคิด) อยากทำอันนี้แหละ อยากทำอันไหนก็ได้ที่มันขาด อันไหนก็ได้ที่ต้องทำ อยากเดินมั้ยก็อยากเดิน อยากทำอันนี้มั้ยก็อยากทำ แต่อันนี้มันขาดเราก็มาเติมตรงนี้ ถ้าจะเดินก็เดินได้ ก็สลับให้คนที่เดินแล้วมาขับรถก็ได้ แต่คิดว่าไม่น่าเดินหรอก เหนื่อย แค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว (หัวเราะ)
 

ปัญหาที่เราเจอระหว่างที่การทำงาน

วันที่ 20 ที่เริ่มเดินออกมา พอมีการสกัดกั้น มีการบล็อค ต่อสายไปหาพระที่วัดที่เราติดต่อไว้ พอเราโทรไปที่วัดเขาก็บอกไม่อยากให้มานอน เพราะทหารตำรวจบอกว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มการเมืองแอบแฝง พระหรือวัดไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

คืนแรกก็เลยคุยกันว่าจะนอนสนามฟุตบอลที่อยู่แถวนั้น ใช้ลานแล้วก็ปั่นไฟตั้งแคมป์นอนกันเอง แต่สุดท้ายจริงๆ พอเข้าไปที่วัด ไปคุย เขาก็ให้นอนคืนนั้น พอตื่นเช้ามาก็โดนดักอีก มาตั้งแต่ตีสี่ มาเติมกำลังหลายกองร้อย มาสมทบเรื่อยๆ ทีมเดินเขาก็ออกไปก่อน เหลือรถเราเป็นรถเสบียงคันสุดท้าย เก็บของอยู่ ก็เลยได้ออกคันสุดท้าย โดนกักที่ด่าน ขอค้น ทำให้ไม่ได้ตามขบวนไป เราถูกเอาไปสอบสวน

ปัญหาอีกอันคือ รถมีน้อย สัมภาระมีทั้งสวัสดิการเครื่องดื่ม อาหาร และอุปกรณ์ที่พัก ก็เลยมารวมอยู่ที่รถสองคัน ของเรากับของพี่แมว (ณัทฐวรรณ อิสระทะ) พอเริ่มเดินได้ 3-4 วัน น้ำล้นรถ ทั้งน้ำเปล่า สปอนเซอร์ ตอนนี้ก็พยายามหารถมาเพิ่มเพื่อกระจายของไป

ปัญหาเรื่องที่พักประสานวันต่อวัน ประเมินวันต่อวัน เราต้องขับไปดูก่อนทุกวัน ทั้งต้องเสิร์ฟน้ำตลอดทั้งวัน กลางคืนต้องวิ่งไปเตรียมที่พัก เป็นแบบนี้ทุกวัน

ส่วนมากที่พักที่ได้มาคือเขาประสานมาเอง เขาเต็มใจให้พัก เขาพร้อมรับสถานการณ์กดดันทุกอย่าง เราไม่ได้ติดต่อไปก่อน ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ เช่น โดนตรวจค้นตรวจสอบ ก็จะมีทีมทนายของติดตามอยู่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับคนที่ให้การสนับสนุน

คืนที่สองไปนอนบ้านพี่เลิศศักดิ์ คืนนั้นเป็นคืนที่ตำรวจน่าจะโกรธมากเพราะไม่รู้ว่าเราไปนอนที่ไหน วันต่อมาเขาเลยตามติดเลย รถเรามีสี่คัน ก็จะมีรถตำรวจสี่ห้าคันตามประกบ เขาจะต้องรู้ให้ได้ว่านอนที่ไหน แต่เขาแค่ติดตามเฉยๆ ไม่ได้เข้ามาทำอะไร

ตอนนี้มันเริ่มนิ่ง เริ่มชัดเจนก็โอเค ตอนแรกมันอาจจะฉุกละหุกหน่อย เรื่องการสื่อสารระบบทั้งขบวน เช่นจุดพัก บางทีก็ไม่ตรงกัน เพราะใช้จีพีเอสในการจับ ถึงจะวางแผนกันมาก่อน แต่พอทำก็มีปัญหาอยู่ดี แต่พอได้ประชุม สรุปบทเรียนก็ปรับเปลี่ยนจนเริ่มโอเคขึ้น

น้องทีมนี้เฉลี่ยทั้งวันขับมอเตอร์ไซค์ประมาณร้อยกว่ากิโล คอยรับส่งคนเข้าห้องน้ำบ้าง คอยวิ่งไปดูที่พัก จุดพักระหว่างเดิน พักเที่ยงจะเอาตรงไหน หรืออย่างวันนี้เดินเสร็จถ้าว่างก็จะบอกน้องให้ขับไปมาร์คจุดไว้คร่าวๆ สำหรับวันพรุ่งนี้ไว้ก่อนเลยก็ได้ ถ้ามันปรับเปลี่ยนยังไงก็ค่อยว่ากัน เช่น พรุ่งนี้คนมาเยอะ ที่กินข้าวเล็ก ก็อาจจะต้องเปลี่ยน มาร์คจุดก็รวมถึงต้องประสานงานกับที่นั้นๆด้วย บางทีก็อาจจะต้องขอปั๊ม

เรื่องที่พัก พอมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทางตำรวจก็อ้างมาว่ามหาเถระสมาคมมีหนังสือถึงทุกวัดให้สนับสนุนขบวนเดิน เขาก็อยากให้เรานอนวัดเดิมที่เราเคยติดต่อไป แต่เราก็มีประสบการณ์การนอนวัดที่ไม่ดีตั้งแต่วันแรกที่เขามาตั้งด่านตรวจค้นในเช้าวันถัดมา ถ้านอนวัดก็อาจจะต้องโพสต์ลงโซเชียลให้ทุกคนช่วยจับตา จริงๆที่รอดมาได้ก็น่าจะเพราะโซเชียลนี่แหละ

ประทับใจอะไรบ้างในกิจกรรมเดินมิตรภาพครั้งนี้

คนประสานความช่วยเหลือเข้ามามากมาย เอาของมาให้ เสนอที่พัก คนที่คิดแบบเรา เชื่อ ฝันแบบเราก็มีเยอะ แต่เขาอาจจะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ หรือบทบาทหน้าที่ที่มาทำไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาเห็นเขาก็สนับสนุนเต็มที่เท่าที่เขาทำได้
 

แล้วส่วนตัวทำไมถึงอยากเข้าร่วมกิจกรรมนี้

เราอยู่กลุ่มขบวนการอีสานใหม่ ซึ่งกลุ่มเราอยากมีขบวนที่สู้ในส่วนโครงสร้างนโยบาย เราคิดว่าต้องประสานการเคลื่อนไหวในท้องที่ การพัฒนาชุมชน ไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงนโยบาย การสู้อยู่ในพื้นที่ ค้านเหมือง ค้านเขื่อน มันไม่พอ มันแก้ปัญหาได้ไม่ยั่งยืน แล้วเราก็ต้องค้านกันไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานถ้านโยบายมันไม่เปลี่ยน

อีกปัญหาหนึ่งคือ บางพื้นที่รวมเครือข่ายกันไปสู้ พอสำเร็จในประเด็นนั้นก็หายไป ไม่ออกมาเคลื่อนไหวช่วยในประเด็นอื่น ของเราอีสานใหม่ก็จะใช้หลักการในการเคลื่อนไหว คือต้องมีสิทธิชุมชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติภาพ สถานการณ์ในพื้นที่ก็ยังต้องสู้ต่อไป แต่การมารวมกันของเราเป็นอีสานใหม่จะสู้เรื่องนี้โดยเฉพาะ อยากชวนคนอีสานมาออกแบบภาคอีสานใหม่ด้วยกัน

ระหว่างทำกิจกรรมก็มีการคุยกันในวงประชุม แลกเปลี่ยนกัน ก็คุยกันใน 4 ประเด็นหลัก ซึ่งก็อยู่ในหลักการของอีกสานใหม่อยู่แล้ว ทั้ง 4 ประเด็น
 

มีอะไรที่หนักใจตอนนี้บ้างไหม

กลัวแรงหมดก่อน กลัวไปกระทบงานประจำตัวเอง กลัวรถพัง เป็นรถเก่าซื้อมาได้สามเดือน ตอนนี้ช่วงล่างก็เริ่มดังก๊อกแก๊กแล้ว เพราะมันต้องบรรทุกของหนักเป็นตันทุกวัน ตอนนี้น้ำกับสปอนเซอร์มีเยอะมาก ใครที่จะเอามาให้ อาจจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ถ้าต้องการตอนนี้คือน้ำถังใหญ่ เพราะถ้าเป็นน้ำขวดเวลาได้มาต้องรีบเทใส่กระติก เพราะมันเปลืองพื้นที่ในรถ

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน







ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘เดินมิตรภาพ’: ทีมเดิน “อยากสื่อสารเพราะเราไม่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญเลย”

Posted: 06 Feb 2018 02:01 AM PST

การเดินเท้าระยะทางกว่า 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยกลุ่ม 'We Walk เดินมิตรภาพ' ของเครือข่าย People Go Network ที่เริ่มต้นวันแรก (20 ม.ค. 61) ก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 คน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แม้ท้ายสุดกลุ่มเดินมิตรภาพจะออกเดินต่อได้ แต่ช่วงแรกของการเดินก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย มาตั้งด่านตรวจค้น ถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคน การติดตามและบันทึกภาพตลอดทางอย่างใกล้ชิด การกดดันวัดที่ทางกลุ่มประสานไว้ไม่ให้รับกลุ่มเข้าพัก จนกระทั่งทางกลุ่มตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ชั่วคราว)

ประชาไทชวนคุยกับ ชุทิมา ชื่นหัวใจ กลุ่มรักษ์บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ผู้ร่วมเดินในกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ตั้งแต่วันแรก เล่าประสบการณ์การเดินในทุกสภาพถนน "บางทีเป็นเนิน ไม่มีฟุตบาท สิบล้อพุ่งลงมาแล้วเบรกแรง เราก็ตกใจ เฉียดเราไปเลย" และประเด็นที่เธออยากสื่อสารให้สังคมรับรู้ "ทุกวันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญเราไม่มีส่วนในการร่างเลย ซึ่งมันก็ส่งผลมายังกฎหมายลูกทั้งเรื่องหลักประกันสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากร"


มีอุปสรรคอะไรบ้างตอนที่เดิน

เราเป็นคนนอกพื้นที่ เป็นคนบ้านนอก ไม่เคยเดินบนถนนไกลขนาดนี้ อย่างที่เราเจอตรงจุดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ มันไม่มีฟุตบาท อันนั้นเราจะกังวลมาก ชาวบ้านที่เป็นรุ่นแม่ๆ 50-60 เขาก็จะแอบกลัวนิดๆ ตอนรถพุ่งมาเร็วๆ เราต้องหลบแต่มันมีแบริเอ้อขวาง ก็หลบได้ไม่เต็มที่ หรือบางทีเป็นเนิน ไม่มีฟุตบาท สิบล้อพุ่งลงมาแล้วเบรกแรง เราก็ตกใจ เฉียดเราไปเลย แล้วเราเป็นคนถือธง จะสังเกตว่าธงปลิวว่อน แล้วตรงปลายมันจะยุ่ยหมดเลย เพราะลมสิบล้อมันพัด

อีกเรื่องคือเรื่องอากาศ ช่วงบ่ายจะร้อนมาก อากาศที่นี่ (สระบุรี) กับที่ลำปางร้อนแตกต่างกัน ที่ลำปางไม่ร้อนเยอะขนาดนี้ สระบุรียิ่งร้อน คอนกรีตเยอะ สิ่งก่อสร้างเยอะ บ้านเราไม่มีเลย มีแต่ต้นไม้ แต่ตอนหลังเหมือนเราปรับสภาพได้ เราคุ้นชินกับอากาศแล้ว ก็เดินได้เฉยๆ แป๊บเดียวสามกิโลแล้ว แต่ทีมที่มากับเราก็จะมีพวกแม่ๆ มาด้วย เรากลัวเขาจะป่วยจะไข้ จะร้อน
เวลาเดินเสร็จก็ต้องรีบพุ่งไปถามเขาก่อน เขาก็จะบอกว่า แม่ไหวลูก แม่ไหว แม่อยู่บ้านแม่ก็ทำไร่ทำนาอยู่แล้ว แล้วเขาก็ไม่เป็นอะไรจริงๆ มีแม่อยู่สองคนที่เดินไปสองรอบ คือเดินรอบแรกเสร็จแล้วก็เสนอตัวเองขอเดินอีกรอบ (เพื่อเลี่ยงการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ทีมเดินมิตรภาพแบ่งการเดินออกเป็นครั้งละ 3-4 คน รอบละ 3 กม.-ประชาไท) แล้วเขาก็เดินไหว เขาบอกว่าแม่ตั้งใจมาแล้ว เขาอยากเป็นคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนสื่อสารประเด็นออกไป เขามีความภูมิใจที่มาทำกิจกรรมนี้

แต่มีอยู่คนหนึ่งเป็นแม่ๆ ในกลุ่มเรา เป็นชาวไร่ชาวนานี่แหละ เราคิดว่าเขาเดินเร็วแน่ๆ เลย เพราะเขาเดินขึ้นเขา เดินเข้าป่าตลอด เราก็ไม่สนใจเขา พอหันกลับไปมองอีกทีเขาเดินรั้งอยู่ข้างหลัง เหงื่อแตกซ่ก เขาบอกว่าทำไมมันร้อน ร้อนไม่เหมือนบ้านเราเนอะ เราก็จะคอยดูถ้าเขาหอบๆ หน้าแดงๆ เราก็จะเดินช้าลง
 

ประเด็นส่วนตัวที่เราอยากสื่อสารให้สังคมรู้

ประเด็นหลักของเราเป็นเรื่องทรัพยากรและกฎหมายสิ่งแวดล้อม  ของเราเป็นเรื่องที่บริษัทจะมาสร้างเหมืองแร่ แต่ยังอยู่ระหว่างขอสัมปทาน ก็สู้เรื่องนี้กันมาตลอด

แต่ในความจริงแล้วทั้ง 4 ประเด็นเกี่ยวข้องกับเราหมด อย่างเรื่องบัตรทอง บ้านแหง ส่วนมากใช้บัตรทองกัน เขาก็กังวลว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงไป กลัวเรื่องการจ่ายร่วม เพราะปัญหาสุขภาพเดี๋ยวนี้โรคเรื้อรังก็เยอะ ค่าใช้จ่ายก็มากตาม แล้วบ้านเรา 90 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวโพดเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เราก็ไม่ปฏิเสธว่าทุกวันนี้เราก็ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ของเขา เศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันสูง ต้องรีบทำ ต้องส่งลูกหลานเรียน ต้องผ่อนเงินที่กู้มา เราก็ต้องเอาเมล็ดพันธุ์ที่โตเร็ว แข็งแรง เราก็กังวลกันเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์หรือเรื่องกฎหมายที่อาจจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อไม่ได้ ส่วนรัฐธรรมนูญอันนี้ยิ่งเป็นหลักเลย ทุกวันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญเราไม่มีส่วนในการร่างเลย ซึ่งมันก็ส่งผลมายังกฎหมายลูกทั้งเรื่องหลักประกันสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากร ซึ่งพวกแม่ๆ เขาก็รู้

คาดหวังจากการเดินครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน

ก่อนหน้านี้ก็มีการคุยกันมาก่อนว่าที่เราเดินอย่าไปหวังผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอยากสื่อสาร อย่างน้อยให้สังคมรับรู้ว่าเรารู้เรื่องนี้นะ ไม่เอาแบบนี้นะ ต้องการแสดงออกแบบนี้นะ ก็เตรียมการว่าใครจะไป แต่ช่วงนี้ที่บ้านกำลังทำการเกษตรอยู่ ปลูกกระเทียม ช่วงนี้ต้องสูบน้ำใส่กระเทียม กระเทียมกำลังสวย แล้วก็มีเก็บถั่วดำ ที่เขาเอาไว้ไถกลบ แต่ปีนี้ถั่วดำแพง ก็ต้องเก็บเอาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ปีหน้าต่อ บางคนถ้าเก็บได้เยอะก็ขาย ดังนั้นภาระเขาก็เยอะ การเดินทางก็ไกล ตอนแรกเหมือนจะไม่มีใครมา ใครๆ ก็ห่วงหน้าพะวงหลัง ห่วงครอบครัว ชุดแรกมาไม่ถึง 7 วัน ก็ต้องกลับไปก่อน

พอมีกระแสจากโซเชียล จากข่าวในทีวี หนังสือพิมพ์ มีบางส่วนก็กลัวที่เห็นตำรวจเยอะ แต่เราก็ไปคุยให้ฟังว่ามันยังไม่เกิดอะไรขึ้น จนเขาก็ยอมมา พอมาแล้วเขาก็เล่าให้คนที่บ้านเขาฟังว่าเขาภูมิใจที่ได้มาเดิน แล้วเรื่อง 4 ประเด็นหลักถ้ากฎหมายผ่านมันกระทบกับเราเยอะนะ เราต้องมาทำตรงนี้นะ เขาก็เชิญชวนกัน มีการอธิบายกันเองได้มากขึ้นเพราะเขามาแล้วเข้าใจจากกิจกรรมนี้ จากวงคุย วงเสวนา แล้วเขาก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย ก็เดินเฉยๆ ตำรวจจะถ่ายรูปก็ปล่อยเขาไป เขาก็ไม่ได้จับ พอมาคราวนี้เช็คไปทางบ้าน ก็อาจจะเกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองด้วย ปรากฏว่าอยากมากันเยอะ จนเราต้องเพิ่มรถ แต่งบเราก็จำกัด

เราใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ เราได้สัมผัสได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ตอนอยู่ที่บ้านเรารับรู้จากแค่สื่อที่ออกไป มีสื่อมาถ่ายทำเราทั้งวันแต่เอาไปตัดต่อเหลือนาทีสองนาที ก็ไม่มีใครรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเราจริงๆ ตัวเราเท่านั้นที่จะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น พอเขาได้มาสัมผัสกับที่นี่จริงๆ เขาก็ลดความกลัวความกังวล แล้วก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนเรื่องพวกนี้


มีประสบการณ์ยังไงกับเจ้าหน้าที่บ้าง

วันที่สองเราเจอ เรานอนกันอยู่เขาก็มาเรียก เรานั่งอยู่ในรถคันแรกที่ออกมา เจ้าหน้าที่ก็เอาบัตรประชาชนของคนขับไปถ่ายรูป และทำบันทึก แล้วปล่อยไป หลังจากนั้นเราก็โดนตามเข้มข้นมาตลอด แต่เราอยู่รวมกลุ่มกันเลยไม่มีความกลัว เขาก็ตามเพราะเป็นหน้าที่ของเขา แต่เวลาจะขับไปถึงที่พักจะต้องดูว่ามีใครตามมาไหม เพราะเราจะไม่เปิดเผยที่พัก บางทีเขาก็มาถามเราว่าจะเดินไปไหน จะพักที่ไหน เราก็จะพยายามไม่ตอบเรื่องที่พัก ส่วนใหญ่เขาก็จะถ่ายรูปทุกคน พวกแม่ๆ ก็ไม่กลัว เพราะเขาก็มีประสบการณ์มาแล้วจากในพื้นที่ของเราเอง เคยปะทะกับตำรวจมาแล้ว เคยไปชุมนุมที่ตัวจังหวัดมาแล้ว เขาก็มีความแกร่งของเขาอยู่ ไม่กลัวเจ้าหน้าที่รัฐเท่าไหร่แล้ว


มีความประทับใจอะไรบ้างในการเดินครั้งนี้

ประทับใจคนที่เจอระหว่างทาง มีคนหนึ่งเอาของมาให้ บอกว่าพ่อดูไลฟ์จากเพจแต่มาไม่ได้ เลยฝากลูกสาวเอารองเท้ามาให้แทน เป็นรองเท้ามือสอง ยารักษาโรค สบู่ แชมพู ยาสีฟัน

ส่วนทีมที่เดินด้วยกันก็ห่วงใย ไถ่ถาม เอาน้ำไหม หรือทีมสื่อเขาต้องเป็นคนไลฟ์ไปด้วย เดินไปด้วย พูดไปด้วย มีคนมาให้น้ำให้สปอนเซอร์ระหว่างทางบางทีทีมสื่อก็ต้องเป็นคนแบกด้วย เราจะช่วยเขาก็บอกว่าไม่เป็นไร พี่เดินไปเหอะ สุดท้ายคนที่เดินก็ช่วยกันแบก กระจายกันไป

ตอนพักก็มีวงแชร์ เล่าปัญหาของพื้นที่ตัวเอง เขาก็สนใจ ถามไถ่ว่าจะช่วยเหลือกันยังไงได้บ้าง

และที่ประทับใจอีกอย่างคืออาหารการกินดีมาก อร่อยมาก เยอะมาก แทนที่มานี่จะลดความอ้วน แต่ไม่เลยกินมื้อละสองจานสามจาน ชื่นชมฝ่ายอาหารมาก

 

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน







ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.สั่งปิด 'พีซทีวี' (อีกแล้ว) 15 วัน

Posted: 06 Feb 2018 01:34 AM PST

6 ก.พ.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.03 ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ" โพสต์ข้อความพร้อมภาพ ระบุว่า ช่วงบ่าย 2 กว่า ๆ เจ้าหน้าที่ กสทช. ได้เดินทางมาถึงสถานี  พีซทีวี (PEACE TV) โดยมีผู้บริหารสถานีรอรับหนังสือแจ้งให้ทราบว่าจะสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง พีซทีวี เป็นเวลา 15 วัน คาดว่าจะตัดสัญญาณในเวลาหลังเที่ยงคืนของคืนนี้

ธิดา กล่าวว่า ปี 59 ช่วงประชามติถูกสั่งให้ปิด 30 วัน และเมื่อปีที่ผ่านมาถูกเรียกไปพบ 4 ครั้ง ใน 4 ครั้ง บางครั้งถูกปรับ 50,000 บาท ส่วนครั้งนี้จากเนื่องหาในรายการทิศทางประชาธิปไตยไทย เท่าที่ตนทราบนั้นมาจากการสัมภาษณ์ประชาชนแล้วประชาชนนั้นพูดจากความรู้สึก ไม่ได้เกี่ยวกับผู้ดำเนินรายการหรือวิทยากรในรายการ ยอมรับว่าทางเจ้าหน้าที่คิดไม่ถึงว่าคำพูดของประชาชนสั้นๆ นั้น จะผลขนาดนี้
 
"ในฐานะที่เราเป็นสื่อฝ่ายประชาธิปไตย มันก็ต้องขัดแย้งกับระบอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" ธิดา กล่าว
 
ก่อนหน้านั้น เพจ PEACE TV รายงานด้วย่ามติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) สั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง พีซทีวี 15 วัน มีผลตั้งเที่ยงคืนวันนี้ (6 ก.พ.61) เป็นต้นไป เนื่องจากที่ กสทช. ได้รับร้องเรียนการออกอากาศรายการ ทิศทางประชาธิปไตยไทย เมื่อวันที่ 4, 10 ,และ 11 ต.ค. 2560 เวลา 09.00-10.00 โดย กสทช. ชี้แจงว่าเนื้อที่ออกอากาศในวันนั้นเป็นเนื้อหามิให้มีการออกอากาศตามกฎหมาย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัดทหารเอี่ยวปั่นรายชื่อคนหนุนประวิตร หลัง Change.org ตัดหมื่นกว่ารายชื่อเพราะเลข IP ซ้ำ

Posted: 06 Feb 2018 01:34 AM PST

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. เชื่อ ทหารไม่เกี่ยวข้องโหวตหนุน-ไม่หนุน "พล.อ.ประวิตร" ยืนยัน กองทัพใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อทำความเข้าใจในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนเป็นหลัก

แฟ้มภาพประชาไท

6 ก.พ. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) กล่าวถึง กรณีสังคมออนไลน์ตั้งข้อสังเกตความผิดปกติของจำนวนผู้ใช้งานบางเว็บไซต์ ในแคมเปญสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่ในตำแหน่งต่อ ว่าอาจมีคนในกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้งานเว็บไซต์นี้ว่า โดยทั่วไปแล้ว การใช้งานโซเชียลมีเดีย ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลของกำลังพลในกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ หรือ การโหวตต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม พ.อ.วินธัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบและประเมินเบื้องต้น เชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับคนในกองทัพ เพราะเมื่อเปรียบเทียบจากจำนวนบุคลากรในกองทัพที่มีจำนวนหลักแสนคน กับสถิติผู้ที่ใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว ถือว่าไม่สอดคล้องกัน และเจ้าของเว็บไซต์ก็ออกมาระบุว่า จากการตรวจสอบจำนวนผู้ใช้งานที่ผิดปกติมีที่มาจากต่างประเทศ 

"ยืนยันว่า ที่ผ่านมากองทัพจะใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจข้อคิดเห็น และการเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมเป็นหลักเท่านั้น" พ.อ.วินธัย กล่าว 

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใช้ชื่อว่า Invisible Hands ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org โดยเป็นการร่วมลงชื่อ "สนับสนุนท่านรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร ให้อยู่ต่อ เพื่อความมั่นคงของประเทศและบอลโลก 2018" พร้อมระบุเนื้อหาในการรณรงค์ว่า

1. คสช. บริหารประเทศมา 3 ปีกว่า บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีหรือไม่?

2. ประเด็นนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหรือไม่?

3. ขณะนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ส่งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนาฬิกาไปให้ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว เราควรจะรอผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. ก่อนไหม?

4. เราอยากดูบอลโลกอย่างสบายใจเหมือนชาวโลก?

โดยในช่วงวันที่ 3 ก.พ. 2561 พบว่ามีผู้ร่วมลงชื่อกับแคมเปญดังกล่าวประมาณ 16,434 รายชื่อ แต่ในวันที่ 5 ก.พ. พบว่าจำนวนรายชื่อได้ถูกเว็บไซต์ Chang.org ปรับลดลงไปเหลือประมาณ 281 รายชื่อ เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่าไม่การลงชื่อโดยใช้ IP Address เดียวกันจำนวนมาก

ขณะที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ CSI LA เปิดเผยด้วยว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางรายถูกลักลอบนำอีเมลไปใช้ลงชื่อให้กับแคมเปญดังกล่าวด้วย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โบว์ ณัฏฐา' ประกาศระดมทุนประกันตัวกลุ่ม MBK 39 พบหมายเรียกที่ 2 มีข้อหาเพิ่ม

Posted: 06 Feb 2018 12:39 AM PST

ณัฏฐา มหัทธนา ประกาศระดมทุนเงินประกันตัว MBK 39 เดิมวางแผนไปดื่มกาแฟและจองห้องที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพื่อแถลงข่าว แต่ตำรวจ สน.ลุมพินีเรียกผู้บริหารสมาคมฯ ไปคุยจนตัดสินใจไม่ให้เช่าสถานที่ สุดท้ายได้แถลงข่าวกันที่ลานจอดรถ ผู้สื่อข่าวพบหมายเรียกครั้งที่สองของบางคนถูกเพิ่มข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

ณัฏฐา มหัทธนา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ลานจอดรถอาคารมณียา

6 ก.พ. 2561 ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรโทรทัศน์และอาจารย์ หนึ่งในเก้าผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ความผิดตามมาตรา 116 หรือที่รู้จักกันในชื่อข้อหา 'ยุยงปลุกปั่น' และข้อหาร่วมกันขัดขืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 จากการเข้าร่วมกิจกรรม รวมพลคนอยากเลือกตั้ง ที่สกายวอล์กหน้าหอศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ที่อาคารมณียาเพื่อดื่มกาแฟ และแถลงข่าวสืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาดังกล่าวและการระดมทุนประกันตัว การแถลงข่าววันนี้มีผู้ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์เดียวกันหรือที่รู้จักกันในนาม MBK39 มาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

ตร.ไม่ให้ MBK39 เลื่อนฟังข้อกล่าวหา แต่จะออกหมายเรียกรอบสอง 8 ก.พ.นี้

คุยกับ 'แม่จ่านิว' เหตุแห่งน้ำตาในวันรับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมสกายวอล์ก

เมื่อเวลาราว 10.00 น. ผู้สื่อข่าวที่รออยู่บนชั้น Penthouse ที่ตั้งของสมาคมฯ ถูกผู้จัดการอาคารขอให้ลงไปรอณัฏฐาที่ด้านล่าง โดยผู้สื่อข่าวรานงานว่าแต่เดิมการแถลงข่าวจะมีขึ้นที่สมาคมฯ แต่ต้องเปลี่ยนแผนเพราะผู้จัดการอาคารมณียาไม่สะดวกให้ใช้อาคาร ผู้สื่อข่าวมาทราบภายหลังจากโจนาธาน เฮด อดีตประธานสมาคมฯ และผู้สื่อข่าว BBC ที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าเมื่อวานนี้ทางสมาคมฯ ได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ลุมพินีเรื่องการมาของณัฏฐาว่าอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ ถ้ามีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมาคมฯ ในฐานะสถานที่จึงตัดสินใจไม่ให้จัดแถลงข่าวเพราะอาจมีผลต่อการเปิดทำการของสมาคมฯ แต่ณัฏฐาสามารถเข้ามานั่งดื่มกาแฟได้ตามปรกติในฐานะสมาชิก

เวลาราว 10.30 น. ณัฏฐาได้เดินทางมาถึงอาคารมณียา และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตอนนี้มีความกังวลเพราะ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้บอกผ่านสื่อว่าตั้งใจจะฝากขังแน่ๆ ซึ่งผิดหลักการกฎหมายเพราะกฎหมายทั่วโลกนั้นผู้ต้องหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วจะมาตั้งข้อสันนิษฐานว่าจะหนีได้อย่างไรในเมื่อเราไปรอรายงานตัวมาแล้ว การที่ ศวร บอกผ่านสื่อว่าจะเป็นคนขอฝากขังเอง จะคัดค้านการประกันตัวจึงเป็นข้อกังวลมากสำหรับ MBK 39 เพราะเงินประกันตัวโดยรวมนั้นสูงกว่า 2 ล้านบาท คนที่เหลืออีก 30 คนที่ไม่ใช่แกนนำ ตอนนี้ทนายความแจ้งว่าเงินประกันตัวเพิ่มเป็น 60,000 บาท ซึ่งเหลือเวลาระดมทุนอีก 2 วัน ตรงนี้ก็เป็นอีกข้อกังวลหนึ่ง

ณัฏฐาระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ติดต่อผ่าน FCCT ในฐานะสมาชิก ซึ่งก็ติดต่ออย่างกระชั้นชิดว่าจะมาจ่ายเงินค่าเช่าสถานที่หน้างานเป็นเงินจำนวน 8,000 บาท แต่เมื่อวานนี้ สน.ลุมพินี ได้มีการติดต่อกับผู้บริหาร สมาคมฯ ให้ไปพบเพราะกังวลว่าการแถลงข่าวจะมีความผิดข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน กลัวจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง สารพัดจะอ้าง ทางสมาคมฯ จึงไม่มีทางเลือกเพราะกลัวจะโดนตั้งข้อหา เลยได้ติดต่อมาบอกว่าคงลำบากที่จะรับการจอง ซึ่งเธอก็เข้าใจ แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิก ทาง FCCT ก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้เธอมาใช้พื้นที่เพื่อดื่มกาแฟ จึงเดินทางมาเพื่อดื่มกาแฟตามที่ระบุไว้ในเฟสบุ๊ก และก็พบว่าการมาดื่มกาแฟทำให้เจอลูกไม้ใหม่ เมื่อเล่น FCCT ไม่ได้ ก็ไปติดต่อทางเจ้าของอาคารให้เจ้าหน้าที่มาต้อนนักข่าวลงมารออยู่ด้านล่าง

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์แสดงบทสัมภาษณ์ของตนให้ผู้สื่อข่าวดูที่ลานจอดรถอาคารมณียา

กรณีที่มีการนัดหมายชุมนุมที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 10 ก.พ. ณัฐฐาระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าทางทีมงานจะมีการแจ้งขอชุมนุมตามปรกติและเป็นไปอย่างสันติ ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงด้วยกัน พูดในประเด็นที่อยากพูดจากนั้นก็แยกย้าย จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่อยากไปร่วม

10.51 ณัฏฐา ได้ประกาศระดมทุนเป็นเงินประกันแก่กลุ่ม MBK39 จากนั้นจึงได้ขึ้นมาดื่มกาแฟตามแผน โดยผู้ต้องการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองในการระดมทุนประกันตัวกลุ่ม MBK39 สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธ.ไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี นางสาวชลิตา บัณฑุวงศ์ และ/หรือ นางสาวไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา หมายเลขบัญชี 264-271845-1

ณัฏฐา มหัทธนาประกาศระดมทุนเงินประกันตัวกลุ่ม MBK 39

หลังให้สัมภาษณ์ ณัฏฐาได้ขึ้นลิฟท์ไปยังสมาคมฯ เพื่อดื่มกาแฟ โดยผู้สื่อข่าวที่พากันตามไปถูกทางสมาคมฯ ขอความร่วมมือให้นั่งกระจายตัว ไม่ให้รวมกลุ่มพูดคุยกับณัฏฐา ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจตีความว่าเข้าข่ายการแถลงข่าวได้

ล่าสุด ในกลุ่ม 39 คนที่ถูกกล่าวหา มี 9 คนที่ถูกกล่าวหาในข้อหาผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาร่วมกันขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อีก 30 คนแต่เดิมถูกตั้งข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ แต่ว่าตอนนี้มีบางคนที่มีข้อหาขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หมายเรียกครั้งที่ 2 ได้มาถึงผู้ถูกกล่าวหากลุ่ม MBK 39 บางคนแล้ว ที่เห็นตอนนี้มีของสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ โชคชัย ไพบูลรัชตะและอ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ โดยมีข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อย เพิ่มเข้ามา แต่เดิมมีเพียงข้อหาความผิดตาม พระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ ว่าด้วยการร่วมกันชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากวังของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป

ล่าสุด นพเกล้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวข่าวสด หนึ่งใน 39 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 และ พรบ.ชุมนุมฯ ได้โพสท์เฟสบุ๊กรายงานว่าตนได้เข้าไปรับฟังข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวันแล้วในวันนี้ (6 ก.พ. 61) โดยพนักงานสอบวนสวนนำตัวนพเกล้าไปที่ศาลเพื่อส่งฟ้องต่ออัยการ ซึ่งนพเกล้าปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอัยการเองก็ยังไม่สั่งฟ้อง เพียงแต่ให้พนักงานสอบสวนไปทำสำนวนมาใหม่ พนักงานสอบสวนจึงทำเรื่องผลัดฟ้องเพื่อกลับไปทำสำนวนใหม่ และฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน นพเกล้าจึงใช้หลักทรัพย์จำนวน 30,000 บาทประกันตัวออกมา และต้องไปรายงานตัวที่ศาลทุกๆ 6 วัน

 

หมายเรียกโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ครั้งที่สอง

หมายเรียกสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ครั้งที่สอง

หมายเรียกอ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ ครั้งที่สอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมอมงคล' ย้ำสวัสดิการรักษาพยาบาลต้องเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน

Posted: 06 Feb 2018 12:33 AM PST

อดีต รมว.สาธารณสุข  ย้ำระบบรัฐสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลต้องเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน ชี้หากเลือกสงเคราะห์เฉพาะคนจน แล้วคนที่เลยเส้นแบ่งความจนขึ้นไปจะมีกี่คนที่ไม่ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล อัดรัฐมีของดีที่ทั่วโลกให้การยอมรับแต่กลับมองเป็นภาระทางการเงิน แต่เวลาซื้อของไม่เข้าท่าทั้งหลายกลับบอกว่าเป็นสิ่งจำเป็น

 

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

6 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ประเด็นเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเด็นของแคมเปญ "We Walk...เดินมิตรภาพ" ว่า ระบบสวัสดิการด้านสุขภาพของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ทำได้ดี ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกทั้งจากองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก มีหลายประเทศมาดูงานในไทย เช่น จีน เวียดนาม แล้วนำกลับไปปรับใช้ แต่ภาครัฐของไทยกลับมองเรื่องนี้ว่าเป็นภาระด้านการเงิน ไม่ได้มองว่าเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าการสาธารณสุข การดูแลสุขภาพประชาชน เป็นการสร้างกำลังในการพัฒนาประเทศ

อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าว อีกว่า การคิดว่าระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลเป็นภาระ เป็นการคิดที่ไม่มีเหตุผล ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีการเก็บข้อมูลพบว่าในปีหนึ่งๆ มีนับแสนครอบครัวที่ล้มละลายจากภาระการรักษาพยาบาล แต่ปัจจุบันไม่เห็นภาพเหล่านี้แล้ว ดังนั้นทำไมต้องไปลดความสุขของคนยากจนคนยากไร้ โดยทำสวัสดิการในลักษณะของการสังคมสงเคราะห์ เลือกดูแลเฉพาะคนจนซึ่งก็เป็นเรื่องยากในการบอกว่าใครจนหรือไม่จน

"สำหรับคนจนนั้นจนอยู่แล้ว แต่คนที่เลยเส้นแบ่งความจนขึ้นไปจำนวนเท่าไหร่ล่ะที่รอล้มละลายเมื่อเจ็บป่วย ไม่เคยมีใครศึกษาในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องการรักษาพยาบาลต้องเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนไม่ว่าจนหรือรวยจะต้องมีสิทธิเท่าๆ กัน แล้วทุกคนก็จะได้มีพลังในการสร้างชาติ" นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวต่อไปว่า การใช้เครื่องมือรณรงค์แค่การเดินอาจมีคนเห็นระหว่างทางไม่เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันปลุกพลังของคนที่ได้รับสิทธิให้ตื่นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้ล้างไต ผู้ที่ได้รับยาเอดส์ ยามะเร็ง รวมทั้งคนที่ครอบครัวเคยล้มละลายจากการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้มีความรู้สึกอยู่ ถ้าปลุกกันจริงๆ ให้เครือข่ายเหล่านี้เข้าใจว่าถ้าสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลหายไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็น่าจะมีคนเป็นล้านๆ คนที่จะเข้ามาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ

"มันเป็นความฉลาดมากหรือน้อยของผู้บริหารประเทศ ทำไมเราถึงไม่ทำในสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น แต่กลับทำลาย ไปบั่นทอนให้พลังในการดูแลผู้ป่วยผู้ยากไร้ลดลง มองว่าเรื่องนี้เป็นประชานิยม ไม่ชอบใจกับคำว่าประชานิยม ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ทำประชานิยมตลอดเวลา คิดว่าเรื่องนี้เป็นภาระแต่เวลาซื้อของไม่เข้าท่าทั้งหลายกลับบอกว่าเป็นสิ่งจำเป็น" อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าว

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.มงคล ได้เปิดบ้านใน จ.นครราชสีมา ให้ขบวนเดินมิตรภาพเข้าพักในช่วงที่เจ้าหน้าที่รัฐกดดันวัดไม่ให้ผู้เดินรณรงค์เข้าพัก โดย นพ.มงคล ให้เหตุผลว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อหาประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นการทำเพื่อผู้เดือดร้อนผู้ยากไร้ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมในทุกๆ เรื่อง เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ถ้าไม่ช่วยปกป้อง ไม่ช่วยดูแล แล้วจะเหลือคนดีในประเทศได้อย่างไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น