โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักศึกษาเชียงใหม่-ปัตตานี-ม.เกษตรเรียกร้องตำรวจยุติดำเนินคดี MBK39

Posted: 02 Feb 2018 12:22 PM PST

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ (DPY) ม.เชียงใหม่ สโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยฯ ม.เกษตร ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการละเมิดสิทธิพลเมือง และเรียกร้องให้ตำรวจ สน.ปทุมวัน ยุติการดำเนินคดีต่อประชาชน 39 รายที่ร่วมกิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง"

กิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง" เมื่อ 27 ม.ค. 2561 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

3 ก.พ. 2561 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวันออกหมายเรียกประชาชน 39 รายจากการร่วมกิจกรรมนัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง ที่สกายวอล์คบริเวณห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ให้มารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ม.116 และ พ.ร.บ.การชุมนุม ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ก.พ.) จนเกิด แฮชแท็ก #MBK39 ซึ่งถูกพูดถึงจำนวนมาก จนติดเทรนด์อันดับสามของทวิตเตอร์ ประเทศไทยนั้น

 

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ ม.เชียงใหม่ กังวลการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานพลเมือง

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 2 ก.พ. พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ (DPY) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ "เรื่อง การแสดงจุดยืน และข้อกังวลต่อการออกหมายเรียกประชาชนตามการกล่าวอ้างว่าขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 / 2558" โดยมีรายละเอียดดังนี้

"เนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 ณ บริเวณ สกายวอล์ค เขตปทุมวัน ได้มีการจัดกิจกรรม "นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านการสืบทอดอำนาจ คสช." โดย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และเพื่อนนักศึกษาจำนวนมาก เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการเลื่อนการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม คือ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2561 ไปเป็น เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562 และกรณีความไม่โปร่งใสเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำลังเป็นที่ตั้งข้อสังเกต และเกิดคำถามเป็นวงกว้างทั้งในสังคมออนไลน์ และสังคมไทยในขณะนี้ ซึ่งในกิจกรรมนั้น ได้มีประชาชน และนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 100 คน

ภายหลังการจัดกิจกรรมพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลเขตปทุมวัน ได้ออกหมายเรียกประชาชน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีขัดขืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 / 2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ทว่าในความเป็นจริงประชาชนกลุ่มดังกล่าวเพียงกระทำการไปภายใต้สิทธิ และเสรีภาพในฐานะพลเมืองในรัฐ เป็นการแสดงพลังในฐานะพลเมือง แสดงหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ตื่นตัวในการแสดงสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของตน ตลอดจนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบในความไม่โปร่งใสของรัฐบาล ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ เช่นเดียวกันกับกรณีเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบรัฐบาลชุดต่าง ๆ เช่นในอดีต อีกทั้งการกระทำต่าง ๆ ในกิจกรรมนี้ก็มิได้สร้างความเสียหาย ตลอดจนทำลายความมั่นคงใด ๆ ในรัฐเลย

ในฐานะเยาวชนของราชอาณาจักรไทย พวกเรารู้สึกถึงความอยุติธรรมในสังคมที่ปรากฎในเหตุการณ์นี้ เราเชื่อมั่นในการกระทำของประชาชนชาวไทย เพื่อนนักศึกษา และเยาวชน ว่ากระทำไปภายใต้ขอบเขตในสิทธิ และเสรีภาพในฐานะพลเมืองในรัฐ การออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา จึงเสมือนหนึ่งเป็นการคุกคามต่อการแสดงออกในสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองที่ตื่นตัวในรัฐต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในรัฐ

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ จึงขอแสดงความกังวลต่อการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่มีจุดยืน และความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ตลอดจนกังวลถึงการที่รัฐมาบังคับใช้กฎหมายกับพลเมืองที่แสดงความคิดเห็นต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง และการเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบความโปร่งใสของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วกิจกรรมดังกล่าว ตลอดจนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวพึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ ตลอดจนขอเรียกร้องให้ยกเลิกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาในกรณีดังกล่าวด้วย

ท้ายที่สุด พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทบทวนบทบาทของตน ที่ได้ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง จากการกระทำดังกล่าว และพึงระลึกถึงหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตลอดจนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

"เชื่อมั่นในนักศึกษา ศรัทธาในผองชน"
พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2 กุมภาพันธ์ 2561"

 

สโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี

โดยก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ใช้สิทธิเสรีภาพ เช่นกัน

โดยตอนหนึ่งระบุว่า

"ทางสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีดังกล่าว ที่ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีจุดยืนเห็นต่างจากรัฐบาลและขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับนักศึกษา คณาจารย์ และประชาชน ทั้ง 39 คน และเคารพต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ซึ่งอาศัยอำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นั้นขัดต่อมาตรา 34 และ 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ จึงใคร่ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงประชาชนและกติกาในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพื่อแสดงความตั้งใจจริงของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ประชาธิปไตย ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้แก่ปวงชนชาวไทย ทางสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงขอยืนยันและยืนหยัดต่อเสียงสะท้อนของ "ภาคประชาชน" ที่จะนำพาประเทศชาติสู่การพัฒนา ด้วยเจตนารมณ์ที่ยึดมั่นในคำปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกดังพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ว่า " ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัว เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง"

"อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์"

 

เครือข่ายนักกิจกรรม ม.เกษตร เรียกร้องยุติดำเนินคดีกับผู้รวมตัวสกายวอล์คแยกปทุมวัน

นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "เรื่อง ยุติการดำเนินคดีกับประชาชน นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษา ที่ออกมารวมตัวกันบริเวณ Skywalk แยกปทุมวัน" โดยท้ายแถลงการณ์มีองค์กรลงชื่อประกอบด้วย 1. กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ 2. กลุ่มเสรีนนทรี 3. ประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน 4. เพจ KU ไม่ลืม และมีผู้ร่วมลงชื่ออีก 33 รายชื่อ (อ่านแถลงการณ์)

โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

"เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 เวลา 17:30 น. ได้มีประชาชน นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาร่วมกันจัดกิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." ขึ้นบริเวณ Skywalk แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นการชุมนุมตามสิทธิ์ที่ได้ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาพันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อดำเนินคดีกับประชาชนจำนวน 7 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2561 พันตำรวจโทสมัคร ปัญญาวงศ์ รองผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเพิ่มเติมกับประชาชนจำนวน 39 คน ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พุทธศักราช 2558 มาตรา 7 วรรคแรก ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีนิสิต และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมอยู่ด้วย

เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอยืนยันในสิทธิเสรีภาพของ การแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคนไทยทุกคน การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีจุดยืนต่างจาก คสช. โดยใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ มาบังคับใช้เป็นกฎหมายกับประชาชนย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่ม และบุคคลซึ่งเป็นศิษย์เก่า นิสิตปัจจุบัน และคณาจารย์ ตามรายชื่อแนบท้าย ได้มีความเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้

1. คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้ขัดต่อมาตรา 34 และมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมไว้ การที่กลุ่มประชาชน นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาได้ออกมารวมตัวกันนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญด้วย ฉะนั้นทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการคุกคามและดำเนินคดีกับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช."

2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหาร เพื่อเข้ามาบริหารประเทศเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี โดยได้ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความสมานฉันท์ให้กับทุกคน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คสช. กลับสร้างปัญหาความทุกข์ยาก ปิดกั้น ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เมื่อประชาชนและนักวิชาการจัดกิจกรรมเพื่อบอกกล่าวถึงปัญหา คสช. และรัฐบาลกลับคุกคาม สกัดกั้น และในบางครั้งได้แจ้งความเอาผิดกับประชาชน ซึ่งทางเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความเห็นว่า ระยะเวลาที่ คสช. เคยขอโดยไม่ถามความเห็นประชาชนนั้น ได้ล่วงเลยมาเกือบ 4 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่นานเกินไปแล้ว ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้คืนอำนาจนั้นกลับสู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นภายในปีนี้

3. การที่ คสช. ไม่รักษาคำพูดที่เคยให้ไว้กับประชาชน ย่อมทำให้อำนาจที่ คสช. เคยมีเสื่อมสลายลงไป และทำให้ประชาชนไม่สามารถเชื่อถือคำสัญญาที่ คสช. จะให้อีกต่อไปได้ ทางเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอเรียกร้องให้ คสช. คืนอำนาจกลับสู่ประชาชนโดยเร็ว และยุติการสืบทอดอำนาจของพวกพ้องตนเองอีกต่อไป ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะไม่ต้องการให้ คสช. กลับมาเป็นรัฐบาลอีก

เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3 กุมภาพันธ์ 2561"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.WHO ชมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยช่วยคนได้เสมอหน้า แนะบอกเล่าความสำเร็จให้โลกรู้

Posted: 02 Feb 2018 11:00 AM PST

ผอ.WHO ชื่นชมรัฐบาลทำให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยกล้างไตช่องท้องเป็นการขยายบริการสาธารณสุขไปที่บ้านของผู้ป่วย โดยมีชุมชนคอยช่วยเหลือ ทำให้ระบบยั่งยืน เพราะการรักษาไม่ใช่แค่เรื่องของบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แนะไทยบอกเล่าความสำเร็จให้โลกรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมีคุณภาพโดยไม่มีอุปสรรคการเงินมาขวางกั้น

2 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ทีโดรส อัดฮานอม (Tedros Adhanom) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และ พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) ดูงานผลสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย โดยลงพื้นที่ ซ.พระเจน ชุมชนบ่อนไก่ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. เยี่ยมบ้านผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนการบริการสาธารณสุขภายในชุมชนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี โดยมี ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร, พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้การต้อนรับ

ทีโดรส กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยล้างไตช่องท้องในวันนี้ ตนได้รับแรงบันดาลใจที่สำคัญว่า ที่ประเทศไทยผู้ป่วยได้รับบริการสาธารณสุขที่ดี โดยไม่มีอุปสรรคทางด้านการเงินมาขวางกั้น เพราะมีรัฐบาลให้การสนับสนุน เมื่อตนถามผู้ป่วยล้างไตช่องท้องท่านนี้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลไม่สนับสนุน เขาตอบว่า เราก็แค่รอความตายเท่านั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทำลายกำแพงด้านการเงินลงได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สำคัญของระบบนี้ นั่นคือ ไม่ให้การเงินเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงการรักษาของประชาชน

"สิ่งสำคัญคือ ผมชื่นชมประเทศไทยเป็นอย่างมากที่กล้าหาญสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนในขณะที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่รอให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งนี้ยืนยันว่า ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวยคุณก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ และสามารถเพิ่มการเข้าถึงการรักษา ยาจำเป็นราคาแพง และยังทำลายกำแพงการเงินที่เคยเป็นอุปสรรคขวางกั้นลงได้"

ทีโดรส กล่าวต่อว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยและรับทราบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในชุมชนแห่งนี้ ตนมีความประทับใจว่า ที่นี่หมอและพยาบาลสามารถฝึกอบรมผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้นได้ ผู้ป่วยสามารถล้างไตเองได้ที่บ้าน โดยมีญาติคอยช่วยเหลือ และชุมชนที่มาในรูปของอาสาสมัครสาธารณสุขคอยติดตามดูแล นี่เป็นการขยายบริการลงไปที่บ้าน โดยมีครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยมีความยั่งยืน เพราะการรักษาไม่ใช่แค่เรื่องของแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องทำให้ญาติและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยด้วย และนี่เป็นต้นแบบที่น่าสนใจที่ไทยสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประเทศอื่นๆ ได้

ทีโดรส กล่าวว่า จากสิ่งที่ได้เห็นในวันนี้ เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมี 2 ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ 1.การที่รัฐบาลสามารถทำลายกำแพงการเงินที่เคยขวางกั้นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนลงได้ ด้วยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ 2.การส่งเสริมให้ชุมชนและครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย

"แล้วก้าวต่อไปของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยควรเดินไปอย่างไร ผมเห็นว่ามี 2 ประการ คือ 1.ปฏิรูประบบให้ดีขึ้น ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น และ 2.ช่วยประเทศอื่นโดยการบอกเล่าความสำเร็จของคุณให้โลกได้รับรู้ นี่จะเป็นต้นแบบที่ดีให้แต่ละประเทศได้เรียนรู้เพื่อที่ประเทศอื่นๆ จะได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองเพื่อประชาชนของพวกเขาเอง" ทีโดรส กล่าว  

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทีโดรส ได้เยี่ยมและพูดคุยกับชาญ จันอุไร อายุ 69 ปี ชาวชุมชนบ่อนไก่ ซ.พระเจน ซึ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง โดยทีโดรสถามชาญว่า หากไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและรัฐบาลไม่สนับสนุนระบบนี้จะเป็นอย่างไร ชาญตอบว่า ก็คงได้แต่รอความตายเท่านั้น ซึ่งทีโดรสได้หันมาพูดคุยกับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินีว่า saving life, giving hope หรือการช่วยชีวิตคนหนึ่งไว้เท่ากับได้ให้ความหวังใหม่ของชีวิตกับคนนั้นต่อ

ทั้งนี้ชาญป่วยด้วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และไตวายระยะสุดท้าย เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง มีหน่วยบริการประจำอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี เข้ารับการรักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และเริ่มล้างไตช่องท้องเมื่อเดือนกันยายน 2560 โดย รพ.บ้านแพ้ว สาขาพัฒนาการ และได้รับการเยี่ยมติดตามดูแลที่บ้านอย่างต่อเนื่องจากศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินีและอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน โดยผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารพม่ากับการเมืองระยะเปลี่ยนผ่าน

Posted: 02 Feb 2018 10:59 AM PST

พม่า (เมียนมา) คือ "รัฐเสนาธิปัตย์ (Praetorian State)" ที่ทหารเข้าครองอำนาจทางการเมืองยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษนับแต่ครารัฐประหารโดยนายพล เนวิน เมื่อปี ค.ศ. 1962 จนถึง การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 หลังจากนั้น ดูเหมือนว่า ทหารพม่าจะค่อยๆ ลดบทบาททางการเมืองลงบ้าง แม้ว่าในภาพรวม กองทัพยังสามารถกุมอำนาจหลักในโครงสร้างรัฐสืบไป

คำถามหลักทางรัฐศาสตร์ คือ ทำไมทหารพม่าถึงตัดสินใจเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และ ทหารพม่ามีบทบาทหรืออิทธิพลทางการเมืองแค่ไหน อย่างไร ในยุคที่พม่ากำลังแปลงสัณฐานเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยท่ามกลางมรดกตกทอดจากอำนาจนิยมเก่า

มีเหตุผลมากมายที่นักวิชาการพม่าศึกษา หยิบยกขึ้นมาอธิบายมูลเหตุที่อยู่เบื้องหลังการสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ เช่น ความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งและพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อให้รัฐพม่ามีภาพลักษณ์และโอกาสเพิ่มขึ้นในการรับความช่วยเหลือสนับสนุนจากต่างประเทศ การใช้โครงการประชาธิปไตยเป็นเกราะกำบังหรือฉากบังหน้าเพื่อให้ชนชั้นนำทหารถอยลงจากอำนาจได้ปลอดภัย หรือแม้กระทั่ง ความพยามยามสร้างระบอบการเมืองลูกผสม (Hybrid Regime) ของผู้นำทหารพม่าเพื่อให้องค์ประกอบของระบอบอำนาจนิยมกับประชาธิปไตยสามารถประสานทำงานร่วมกันได้ ต่อประเด็นนี้ Michael Aung Thwin และ Maitrii Aung Thwin (2012) สองนักประวัติศาสตร์พม่า เห็นว่าระบอบการปกครองโดยทหารและพลเรือน ซึ่งเคยก่อตัวหมุนเวียนขึ้นในวงจรประวัติศาสตร์นับแต่ครั้งที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1948 ล้วนมีข้อดีข้อเสียในตัวมันเอง กอปรกับปัญหาสงครามกลางเมืองและกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติของพม่าที่ยังไม่มั่นคงพอ จึงทำให้ระบอบทหารมีความจำเป็นต่อเอกภาพรัฐ แต่ทว่า การครองอำนาจที่ยาวนานของทหาร ก็นำมาซึ่งปัญหาหลายประการเช่นกัน ทั้งในแง่การคว่ำบาตรเศรษฐกิจจากนานาชาติและเกียรติภูมิรัฐที่ลดน้อยลงท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยโลก ดังนั้น จึงพอเป็นไปได้อยู่บ้าง ที่ผู้นำทหารอาจเห็นว่าการผสานหลอมรวมเอาจุดเด่นของสองระบอบเข้าด้วยกัน คือ สูตรการเมืองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรัฐพม่าซึ่งน่าจะมั่นคงวัฒนาขึ้นได้ด้วยระบอบ "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน (Flourishing Discipline Democracy)"

สำหรับรูปแบบเปลี่ยนผ่านการเมือง ทหารพม่า มิได้ถูกโค่นล้มหรือถูกบีบบังคับให้ลงจากอำนาจเพราะแรงลุกฮือของพลังประชาชนเหมือนกรณีคลื่นปฏิวัติประชาธิปไตยอาหรับ (Arab Spring) ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 หรือ มิได้เกิดจากการโจมตีรุกรานของกำลังต่างชาติ เช่น กรณีของ Manuel Noriega ในปานามา (1989-1990) Saddam Hussein ในอิรัก (2003) และ Muammar Gaddafi ในลิเบีย (2011) หากแต่เกิดจากการวางแผนไว้ล่วงหน้าของผู้นำทหารเพื่อค่อยๆถอนตัวออกจากการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งถือเป็นรูปแบบเปลี่ยนผ่านที่ทหารสามารถควบคุมจังหวะเปลี่ยนแปลง และประกันความมั่นคงปลอดภัยให้กับคณะผู้ปกครองในระบอบเก่า พร้อบช่วยเนรมิตให้ระบอบการเมืองลูกผสมที่ประชาธิปไตยค่อยๆปรับตัวสมานพลังกับอำนาจนิยมสามารถก่อตัวขึ้นได้ในสังคมการเมืองพม่า (แม้จะเกิดแรงปะทะกระแทกกันบ้างระหว่างคุณลักษณะที่แตกต่างกันของประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม) โดยตามมุมมองของ Egreteau (2016) การแปลงสัณฐานทางการเมืองของทหารพม่านั้น ดูจะคล้ายคลึงกับพฤติกรรมผู้นำทหารในแอฟริกาและละตินอเมริกาช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 (เช่น ซาอีร์ เอธิโอเปีย ไนจีเรีย บราซิล และ ชิลี) ซึ่งทหารในรัฐเหล่านี้ต่างประสบความสำเร็จมิน้อยในการถอนตัวกลับเข้ากรมกองและพัฒนาประชาธิปไตยแบบทีละขั้นทีละตอน

ทั้งๆ ที่พม่าคือภาพสะท้อนวิถีการเปลี่ยนผ่านจากบนลงล่าง (Top-Down Transition) โดยอาศัยการตัดสินใจของชนชั้นนำทหารเป็นหลัก แต่ถือได้ว่า ทหารพม่าเริ่มลดบทบาททางการเมืองลงบ้างแล้ว นักรัฐศาสตร์การทหารอย่าง Nordlinger (1977) เคยแบ่งประเภททหารออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. ทหารผู้ดูแลไกล่เกลี่ย (Moderator) ซึ่งเข้ามากดดันแทรกแซงการบริหารของพลเรือนเป็นครั้งคราวเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคมหรือประกันผลประโยชน์กองทัพ

  2. ทหารผู้พิทักษ์คุ้มครอง (Guardian) ที่ตัดสินใจยึดอำนาจพลเรือนชั่วคราวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติและสร้างเอกภาพรัฐในช่วงสถานการณ์พิเศษ แต่มักปกครองรัฐทางอ้อมผ่านตัวแทนในช่วงเวลาสั้นๆ และ

  3. ทหารผู้ปกครอง (Ruler) ซึ่งเข้าปกครองรัฐโดยตรงและกินระยะเวลายาวนาน

 

หากดูที่พลวัตการเมือง จะเห็นว่า ทหารพม่าได้ปรับบทบาททางการเมืองขึ้นลงไปตามวิวัฒนาการประวัติศาสตร์ โดยเร่ิมจากทหารผู้ดูแลไกล่เกลี่ยในช่วงที่พม่าใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาระหว่างปี 1948 ถึง 1958 จากนั้นทหารจึงแปลงสภาพเป็นทหารผู้พิทักษ์ผ่านรูปแบบรัฐบาลรักษาการณ์ในช่วงปี 1958 ถึง 1960 เพื่อแก้วิกฤตความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีของชนในชาติ แต่ต่อมา เมื่อทหารผู้พิทักษ์จัดให้มีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลพลเรือนเข้าปกครองรัฐไปอีกซักระยะ ทหารพม่าก็ทำรัฐประหารในปี 1962 แล้วปกครองพม่าเป็นเวลายาวนานถึง 26 ปี จนแม้เมื่อเกิดการลุกฮือประชาชนในปี 1988 ทหารพม่าก็ยังเข้าปกครองรัฐโดยตรงต่อไปอีกจนถึงปี 2011 อันเป็นห้วงเวลาที่นายพล ตานฉ่วย ตัดสินใจยุบสลายระบอบการปกครองทหารพร้อมถ่ายโอนอำนาจไปสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่ใต้การบริหารของประธานาธิบดี เต็งเส่ง

นับจากนั้น ทหารพม่าได้ค่อยๆลดบทบาททางการเมืองลงจากทหารผู้ปกครองเข้าสู่สภาวะผสมผสานระหว่างทหารผู้พิทักษ์กับทหารผู้ดูแลไกล่เกลี่ย โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ได้วางรากฐานให้ทหารเข้าไปเจรจาต่อรองไกล่เกลี่ยผลประโยชน์กับพลเรือนผ่านการกันโควต้าของ ส.ส. ทหาร ทั้งในส่วนรัฐสภาแห่งสหภาพและสภาประจำภาคและรัฐต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน หากมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการล่มสลายแห่งรัฐหรือภาวะอนาธิปไตยในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะถือครองอำนาจบริหารจัดการรัฐจนทำให้กองทัพกลายร่างเป็นผู้พิทักษ์ที่เข้าปกครองรัฐหรือดินแดนต่างๆในเขตอธิปไตยพม่าเป็นการชั่วคราว หากแต่ต้องยุติความระส่ำระส่ายในบ้านเมืองโดยเร็ว เพื่อถอนตัวให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ปกครองสูงสุดในช่วงสถานการณ์ปกติต่อไป

จึงนับว่า มาตรวัดเสนาธิปัตย์ (Scale of Praetorianism) ได้ไต่ระดับลงมาจากทหารที่แข้าแทรกแซงการเมืองแบบเข้มข้นที่สุด (เช่นในสมัยนายพล เนวิน ทำรัฐประหารใหม่ๆ หรือในยุคนายพล ตานฉ่วย) เข้าสู่ทหารที่เร่ิมถอนอิทธิพลหรือลดบทบาททางการเมืองลง (หลังกระบวนการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2011)

หากมองในแง่ความสัมพันธ์ทหาร-พลเรือน (Civil-Military Relations) กล่าวได้ว่า ทหารพม่าได้คลายอำนาจทางการเมืองลงบางส่วนจริงๆ Croissant และ คณะ (2012) ได้วางกรอบวิเคราะห์พลังอำนาจทหารที่มีอยู่เหนือพลเรือนในห้าปริมณฑลหลัก ได้แก่

  1. การระดมชนชั้นนำเข้าสู่แผงอำนาจการเมือง ซึ่งหากทหารมีบทบาทสูงในการคัดเลือกกะเกณฑ์รัฐมนตรีประจำกระทรวงหรือเจ้าพนักงานปกครองตามกรมต่างๆ ก็เท่ากับว่า พลเรือนมีอำนาจต่ำกว่าทหารในการบริหารปกครองรัฐ

  2. นโยบายสาธารณะ ที่เน้นอิทธิพลทหารในการกำหนดดำเนินนโยบายสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม

  3. ความมั่นคงภายใน ที่ทหารมีอำนาจเหนือตำรวจในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ต่อต้านการก่อการร้ายและจัดระเบียบชายแดน

  4. การป้องกันประเทศ ซึ่งทหารยังคงมีหน้าที่หลักในการปกป้องอธิปไตยรัฐและไม่ปล่อยให้พลเรือนมีอำนาจนำในการตัดสินใจนโยบายป้องกันประเทศ และ

  5. การจัดองค์กรทหาร ที่กองทัพยังคงมีอิสระในการจัดโครงสร้างหน่วยงาน พัฒนาเหล่าทัพ กำลังพลและยุทโธปกรณ์ โดยปราศจากการแทรกแซงชี้นำจากพลเรือน

 

จากกรอบวิเคราะห์ดังกล่าว แม้ทหารพม่าจะเคยกุมกำลังเหนียวแน่นเหนือห้าปริมณฑลหลักในช่วงสมัยการปกครองนายพล ตานฉ่วย หรือ รัฐบาล SLORC/SPDC หากแต่หลังการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2011 กองทัพได้ทยอยถอนกำลังทางการเมืองลง โดยยังครองอิทธิพลเหนียวแน่นในเรื่องการป้องกันประเทศและการจัดองค์กรทหาร หากแต่ในเรื่องการระดมชนชั้นนำและการกำหนดนโยบายสาธารณะ กองทัพได้เปิดพื้นที่ให้พลเรือนเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ส่วนในเรื่องการรักษาความมั่นคงภายใน กองทัพยอมคลายอำนาจให้ตำรวจหรือองค์กรบังคับใช้กฏหมายอื่นๆ หากแต่ก็มีการกลับเข้ามากระชับอำนาจสลับกันไปมา

ตัวอย่างเด่นชัด คือ ขณะที่พรรค NLD ของนางอองซาน ซู จี เข้าไปครองที่นั่งในสภาและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี พร้อมมีกำลังในการจัดทำนโยบายสาธารณะในด้านต่างๆ มากขึ้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็มีอำนาจเสนอชื่อแต่งตั้งให้ทหารเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหม มหาดไทยและกิจการชายแดน ซึ่งส่งผลให้ทหารพม่ามีอิทธิพลในการระดมชนชั้นนำและบริหารนโยบายสาธารณะด้านการเมืองความมั่นคง อนึ่ง การจัดทำแผนนโยบายป้องกันประเทศ การกำหนดหลักยุทธศาสตร์สงครามและการบริหารกองทัพ ยังคงตกอยู่ใต้วงอำนาจของกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพพม่าอย่างเหนียวแน่น ในอีกมุมหนึ่ง แม้ว่าตำรวจพม่าจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ทว่า สถานการณ์ในบางพื้นที่ เช่น ภาวะก่อการร้ายจลาจลในรัฐยะไข่ พบว่าทหารพม่ามีอิทธิพลสูงกว่าตำรวจ นอกจากนั้น ตำรวจ อาสาสมัครพลเรือน และ กองกำลังชายแดน ถือเป็นกำลังเสริมที่ตกอยู่ใต้การควบคุมบังคับบัญชาของกองทัพพม่าอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น จึงพอประมาณได้ว่า ทหารพม่าได้รั้งบทบาทการเมืองในปริมณฑลสำคัญสืบไป หากแต่มีการปรับลดบทบาทในบางมิติลง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่สะท้อนภาวะคลายตัวของพลังเสนาธิปัตย์บนเวทีการเมืองพม่า

ทหารพม่าคือกรณีศึกษาที่สื่อให้เห็นถึงการปรับตัวขององค์อธิปัตย์ที่เคยปกครองรัฐโดยตรงยาวนาน หากแต่ค่อยๆแปลงรูปเปลี่ยนร่างคลายสัณฐานเพื่อให้การเปิดกว้างทางการเมืองตั้งอยู่บนฐานความมั่นคงรัฐแบบมีสมดุล ซึ่งแม้จะมีลักษณะเป็นเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม หากแต่ระบอบเช่นนี้ก็ช่วยกระตุ้นให้ทหารพม่าเร่ิมปรับตัวใต้ระเบียบการเมืองใหม่จนค่อยๆนำไปสู่การลดระดับหรือคลายความเข้มข้นของพลังเสนาธิปัตย์ลงในวงการเมือง กระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของพม่าก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทายหลายประการ ที่อาจดึงให้พม่าถอยหลังกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมเก่าหรืออยู่ในภาวะที่ประชาธิปไตยถูกฉุดรั้งมิให้ผลิดอกออกผลรวดเร็วจนเกินไปนัก ต่อความท้าทายนี้ ผู้เขียนขอยกสามประเด็นวิเคราะห์หลักที่เชื่อมร้อยสัมพันธ์กัน โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

 

1. ทั้งๆ ที่ทหารพม่าถือครองอำนาจทางการเมืองอยู่ แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า ทหารพม่าได้คลายอิทธิพลลงบางส่วนแล้ว เพียงแต่ว่า กระบวนการดังกล่าว ยังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนรอมชอมกับขั้วอำนาจพลเรือนท่ามกลางวิวัฒนาการของระบอบการเมืองลูกผสมในระยะเปลี่ยนผ่าน ในมิตินี้ อาจจำแนกทหารพม่าออกเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่

1.1. อดีตชนชั้นนำทหารที่เปลี่ยนร่างจากทหารเข้าสู่นักการเมืองพลเรือน เช่น อดีตประธานาธิบดี เต็งเส่ง อดีตประธานรัฐสภาสหภาพ ธุระฉ่วยมาน รวมถึง บรรดารัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงระดับต่างๆ ทั้งในสมัยรัฐบาล เต็งเส่ง และ รัฐบาล ติ่นจ่อ-ซูจี โดยในกลุ่มนี้ พบว่า อดีตผู้นำทหารได้ยอมรับหลักการประชาธิปไตยและความเหนือกว่าของพลเรือนในการกำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้น หากแต่ยังหลงเหลือกรอบคิดธรรมเนียมปฏิบัติแบบทหารในสมัยรัฐบาลชุดเก่าของนายพล ตานฉ่วย อยู่บ้าง และแม้ว่ารัฐบาลพรรค NLD จะสะท้อนถึงที่มาอันยิ่งใหญ่ของพลังประชาชน แต่การกำหนดกรอบยุทธศาสตร์และการตัดสินใจนโยบายภายในกระทรวงกลาโหม มหาดไทยและกิจการชายแดนนั้น ยังตกอยู่ใต้วงอำนาจของชนชั้นนำทหาร

1.2. กลุ่ม ส.ส. ในรัฐสภาเมียนมาที่เป็นทหารที่ถูกแต่งตั้งจากนายพล มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส. แห่งกองทัพพม่า ซึ่งแม้กลุ่มนี้จะทรงอำนาจในสมัยรัฐบาล USDP ของ เต็ง เส่ง แต่กลับกลายเป็นเสียงส่วนน้อยในสภาอย่างเด่นชัดในสมัยรัฐบาล NLD ซึ่งครองที่นั่งส่วนใหญ่ในโครงสร้างสภา ทว่า ก็พบเห็นความพยายามปรับตัวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองแบบสันติระหว่าง ส.ส. ทหาร ส.ส. พรรค NLD และ ส.ส. จากพหุพรรคการเมืองอื่นในบางประเด็น เช่น การพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจสังคม

1.3. กลุ่มทหารผู้กุมกำลังในหน่วยรบ เช่น กองอำนวยการยุทธการพิเศษ กองทัพภาคทหารบก กรมทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ฯลฯ กลุ่มนี้มีพลังทางการเมืองความมั่นคงตามพื้นที่รัฐชาติพันธุ์ที่เต็มไปด้วยการปะทะทางการทหาร อาทิ แม่ทัพภาคเหนือที่มิตจีน่าในรัฐคะฉิ่น แม่ทัพภาคสามเหลี่ยมที่เชียงตุงในรัฐฉาน หากแต่ด้วยการที่พม่าปัจจุบันใช้โครงสร้างปกครองแบบกึ่งสหพันธรัฐ (Federation) จึงทำให้เกิดตำแหน่งมุขมนตรี พร้อมด้วยสถาบันการเมืองใหม่อย่างสภาและรัฐบาลประจำภาคและรัฐต่างๆ ซึ่งทำให้ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่เคยมีอำนาจเต็มที่ในอดีต ต้องแบ่งกำลังถ่วงดุลกับมุขมนตรี จนทำให้ในบางพื้นที่ มุขมนตรีอาจมีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าแม่ทัพภาค แต่ในรัฐชาติพันธุ์ที่มีปัญหาความมั่นคงบางแห่ง เช่น รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รวมถึง รัฐยะไข่ พลังแม่ทัพภาคอาจมีใกล้เคียงหรือสูงกว่ามุขมนตรี

ดังนั้น ทหารพม่าจึงอยู่ในช่วงเจรจาต่อรองปรับสมดุลกับกลุ่มการเมืองพลเรือน ทั้งในโครงข่ายนโยบายสาธารณะ โครงสร้างรัฐสภา และ ขอบเขตการบริหารราชการแผ่นดินในรัฐและภาคต่างๆ

 

2. เพื่อยุติความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองที่ฝังรากลึกในสังคมพม่ายาวนาน รัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันได้วางเป้าหมายหลักไปที่การพัฒนาสันติภาพที่ยั่งยืนผ่านการสถาปนาระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Democratic Federation) ที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลในภาคพม่าแท้กับรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ มีอำนาจมากขึ้นในการระดมทรัพยากรพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการออกแบบสหพันธรัฐผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์ รวมถึงตัวแสดงการเมืองอื่นๆ เช่น รัฐสภา พรรคการเมืองและภาคประชาสังคม กองทัพพม่า ยังถือเป็นตัวแปรหลักที่มีกำลังมหาศาลต่อวิถีสหพันธ์ภิวัฒน์ (Federalization) ในพม่าระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งที่ผ่านมา ทหารพม่ามักชูประเด็นเรื่องเอกภาพชาติและบทบาทกองทัพในฐานะองครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐในประวัติศาสตร์เข้าชะรอกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและสหพันธรัฐนิยมมิให้เคลื่อนตัวรวดเร็วฉับพลันเกินไปนัก

กอปรกับการสัประยุทธ์ทางทหารประปรายระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหรือระหว่างกองกำลังเผ่าต่างๆ ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เช่น การสู้รบในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะฉิ่น จึงทำให้ทหารพม่ามีบทบาททั้งในแง่การจัดระเบียบชายแดนหรือในการกำหนดยุทธศาสตร์สงครามและระดมกำลังพลเข้าโรมรันกับกลุ่มกำลังปฏิปักษ์ โดยแม้มีการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่ากับกองทหารชนกลุ่มน้อยบางส่วน หากแต่มรดกตกค้างจากสงครามกลางเมืองและความไม่ไว้วางใจหรือการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในอดีต กลับส่งผลให้ทหารพม่าซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการรณรงค์สงครามมีอำนาจอิทธิพลสืบไปบนวิถีการสร้างรัฐพม่า

 

3. ภาวะจลาจลและความขัดแย้งศาสนาชาติพันธุ์ที่ร้าวลึกแหลมคมและเชื่อมโยงกับทั้งการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ เช่นกรณีขับไล่มุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ก็มีผลให้ทหารพม่าสามารถรักษาอิทธิพลทางการเมืองต่อไป อันที่จริง ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่มาพร้อมกับการปกป้องอธิปไตยรัฐและความทนทานของรัฐพม่าในการทัดทานแรงกดดันจากมหาอำนาจและชุมชนนานาชาติแบบที่เกิดขึ้นในยะไข่รอบล่าสุด กลับกระตุ้นให้ชาวพม่าส่วนใหญ่เล็งเห็นความสำคัญของกองทัพพม่าในแง่สมรรถนะการรบและความเข้มแข็งดุดันในการจัดการปัญหาความไม่สงบระส่ำระส่ายแห่งรัฐ โดยถึงแม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่า แท้จริงแล้ว กองทัพพม่าเข้าไปพัวพันกับเหตุรุนแรงเองเพื่อถือโอกาสกวาดล้างขับไล่ชาวโรฮิงญาหรือไม่ และ ทั้งๆที่ อาจมีประชาชนในพม่าส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของกองทัพ แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้หนักหน่วงใดๆซึ่งพอบ่งชี้ได้ว่าการขับไล่โรฮิงญาของทหารพม่า ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยต่อเสถียรภาพรัฐยะไข่หรือในรัฐพม่าโดยรวม กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าเบื้องหลังของภาวะจลาจลในยะไข่จะมีที่มาที่ไปอย่างไร ผลลัพธ์ที่แน่ชัด คือ การทรงบทบาททางการเมืองความมั่นคงของทหารพม่าสืบไปนั่นเอง

 

ท้ายที่สุด คงพอสรุปได้ว่าทหารพม่ากำลังอยู่ในช่วงแปลงโฉมคลายสัณฐานอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั้งๆที่ทหารพม่าได้ลดบทบาททางการเมืองลงในบางปริมณฑลอำนาจ หากแต่ก็มีความพยายามกระชับอำนาจถ่วงดุลกับพลเรือนอยู่เป็นระยะ ซึ่งวิถีโคจรเช่นนี้ สะท้อนธรรมชาติการเปลี่ยนผ่านในรัฐที่เต็มไปด้วยปมขัดแย้งที่รุนแรงร้าวลึกและตกอยู่ใต้อาญาสิทธิ์ทหารมายาวนาน หากแต่ก็จำเป็นต้องมีระบอบการเมืองที่เปิดกว้างเสรีขึ้น เพียงแต่ว่า ระหว่างเส้นทางการเปลี่ยนแปลงนั้น ทหารพม่าได้ขันอาสาเข้าเป็นผู้พิทักษ์จัดสรรดุลอำนาจรัฐให้อยู่ในระดับพอเหมาะพอควร แต่กองทัพก็ปวารณาตนเอง (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือมิตั้งใจก็ตาม) ให้เป็นทั้งผู้ควบคุมและผู้ได้รับแรงกระทบจากวิถีการเปลี่ยนผ่านซึ่งมีพลังกระตุ้นการปรับตัวของทหารพม่าในบางแง่มุมจนเกิดการคลายอิทธิพลทางการเมืองลงเป็นเปราะๆ กระนั้นก็ตาม ด้วยการตกตะกอนสะสมของสงครามกลางเมืองและกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติพม่าที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้ทหารพม่ายังคงมีจังหวะที่เหมาะสมเสมอในการกระตุกอำนาจกลับจากพลเรือนผ่านโครงการเอกภาพชาติและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศ รวมถึงจากทักษะความชำนาญของทหารพม่าเองในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างรัฐผ่านยุทธสงคราม

 

เอกสารอ้างอิง

Abbot, A. 1983. 'Sequences of Social Events: Concepts and Methods for the Analysis of Order in Social Processes', Historical Methods, 16(4): 129-147.

Anderson, L. 1999. Transitions to Democracy. New York, NY: Columbia University Press.

Ba Than. 1962. The Roots of the Revolution: A Brief History of the Defence Services of the Union

of Burma and the Ideals for which they stand. Rangoon: the Director of Information and

Defence Services Historical Research Institute.

Buchanan, J. 2016. Militias in Myanmar. Yangon: The Asia Foundation.

Callahan, M. P. Making Enemies: War and State Building in Burma. Ithaca, NY: Cornell University Press, 2005.

Carothers, T. 2002. 'The End of the Transition Paradigm', Journal of Democracy, 13(1): 5-21.

Casper, G. and Michelle M. T. 1996. Negotiating Democracy: Transitions from Authoritarian Rule. Pittsburgh, PA: University of Pittsburgh Press.

Collier, R. B. 1999. Paths toward Democracy: The working Class and Elites in Western Europe and South America. Cambridge: Cambridge University Press.

Croissant, A. et al. 2012. Breaking with the Past? Civil-Military Relations in the Emerging Democracies of East Asia. Honolulu, HI: East-West Center.

Egreteau, R. 2016. Caretaking Democratization: The Military and Political Change in Myanmar. London: C. Hurst & Co. (Publishers) Ltd.

Egreteau, R. and Jagan, L. 2013. Soldiers and Diplomacy in Burma: Understanding the Foreign Policies of the Burmese Praetorian State. Singapore: NUS Press.

Finer, S.E. 1975 (1962). The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics (revised edition).

New York: Praeger.

Fredholm, M. 1993. Burma : Ethnicity and Insurgency. Westport, CT: Praeger Publishers.

Guelke, A. 2012. Politics in Deeply Divided Societies. Cambridge: Polity Press.

Huntington, S.P. 1957. The Soldier and the State. Cambridge, MA: Belknap.

Janowitz, M. 1960. The Professional Soldier: A Social and Political Portrait. Glencoe, IL: The Free Press.

Jenna, B. 2008. The Robust Federation: Principles of Design. Cambridge: Cambridge University Press.

Kahin, G.M.T. (ed.). 1959. Government and Politics of Southeast Asia. Ithaca, NY: Cornell University Press.

Klesner, J.L. 2014. Comparative Politics: An Introduction. New York, NY: McGraw-Hill Education.

Kyaw Yin Hlaing. (ed.). 2014. Prisms on the Golden Pagoda: Perspectives on National Reconciliation in Myanmar. Singapore: NUS Press.

Lasswell, H. 1941. 'The Garrison State', American Journal of Sociology, 46(4): 455-468.

Levitsky, S. and Way, L. 2010. Competitive Authoritarianism: Hybrid Regimes after the Cold War. New York,

NY: Cambridge University Press.

Linz, J. 1990. 'Transitions to Democracy', The Washinton Quarterly, Summer: 143-164.

----------2000. Totalitarian and Authoritarian Regimes. Boulder, CO: Lynne Rienner Publishers, Inc.

Maung Zarni and Cowley, A. 2014. 'The Slow-Burning Genocide of Myanmar's Rohingya', Pacific Rim Law & Policy Journal, 23(3): 683-754.

Michael Aung-Thwin and Maitrii Aung-Thwin. 2012. A History of Myanmar since Ancient Times: Traditions and Transformation. London: Reaktion Book Ltd.

Min Maung Maung. 1993. The Tatmadaw and its Leadership Role in National Politics. Yangon: Ministry of

Information, News & Periodicals Enterprise.

Ministry of Information. 2008. Constitution of the Republic of the Union of Myanmar. Yangon: Printing and Publishing Enterprise.

Minye Kaungbon. 1994. Our Three Main National Causes. Yangon: News and Periodical Enterprise.

Mya Han et al. 1993. Myanma Nainnganyei Sanitpyaung Karla (1962-1974) (Myanmar's Politics in the Period of Systematic Change), Vol.I. Yangon: University Press.

Nixon, H. et al. 2013. State and Region Government in Myanmar. Yangon: Asia Foundation.

Nordlinger, E. A. 1977. Soldiers in Politics: Military Coups and Governments. London: Prentice Hall.

O'Donnell, G. and Schmitter, P. 1986. Transitions from Authoritarian Rule: Tentative Conclusions about Uncertain Democracies. Baltimore, MD: Johns Hopkins University press.

Roger, B. 2010. Than Shwe: Unmasking Burma's Tyrant. Chiang Mai: Silkworm Book.

Seekins, D. M. 2002. The Disorder into Order: The Army State in Burma since 1962. Bangkok: White Lotus.

Slater, D. 2010. Ordering Power: Contentious Politics and Authoritarian Leviathan in Southeast Asia. Cambridge: Cambridge University Press.

Steinmo, S. 2010. The Evolution of Modern States: Sweden, Japan and the United States. New York, NY: Cambridge University Press.

Svolik, M.W. 2012. The Politics of Authoritarian Rule. New York, NY: Cambridge University Press.

Taylor, R. 1990. 'The Evolving Military Role in Burma', Current History, 89(545): 105-135.

-------------.2015. The Armed Forces in Myanmar's Politics: A Terminating Role? Singapore: ISEAS Trends no.2.

Tilly, C. 1985. 'War Making and State Making as Organized Crime', in Evans, P.B. et al. (eds.), Bringing the State Back In, pp. 161-191. Cambridge: Cambridge University Press.  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘แม่จ่านิว’ เหตุแห่งน้ำตาในวันรับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมสกายวอล์ก

Posted: 02 Feb 2018 08:55 AM PST


ผู้ถูกกล่าวหาบางส่วนขณะเตรียมยื่นขอเลื่อนรับฟังข้อกล่าวหา

การชุมนุมบนสกายวอล์กเรียกร้องการเลือกตั้งและยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ดำเนินอยู่ราว 3 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมกะคร่าวๆ น่าจะไม่เกิน 200 คน หากไม่รวมกองทัพนักข่าวและนอกเครื่องแบบอีกจำนวนมาก ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเพียงไม่กี่นายคอยควบคุมสถานการณ์ด้านล่างหน้าหอศิลป์ ซึ่งผิดไปจากครั้งอื่นๆ  ไม่มีการห้ามปราม ยื้อยุดฉุกกระชากอะไรกัน การชุมนุมเป็นไปโดยสะดวกโยธิน กลุ่มผู้นำการชุมนุมเริ่มปราศรัยในเวลาเย็นย่ำมากแล้ว โดยใช้โทรโข่งตัวเล็กๆ ผลัดกันพูดราว  2 ชั่วโมง ได้ยินเสียงเพียงกระจุกของนักข่าวด้านหน้าและผู้ที่สนใจร่วมจริงจังกลุ่มหนึ่ง คนอีกจำนวนมากเดินไปเดินมาหรือยืนคุยกันเอง ราวกับมางานดนตรีในสวน พวกเขายิ้มแย้มและนัดแนะกันในการชุมนุมครั้งหน้า 10 ก.พ.

ไม่กี่วันถัดมา พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ชุมนุม 7 คนในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และปลุกระดมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี ถัดมามีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหากับผู้ชุมนุมเพิ่ม รวมเป็น 39 คน ในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ นับเป็นครั้งแรกหลังรัฐประหาร (2557) ที่มีการกวาดแจ้งข้อกล่าวหาผู้ไปร่วมชุมนุมในจำนวนมากขนาดนี้ และประกาศว่าจะแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 66 คน

ในจำนวนนี้มีแม่ลูกคู่หนึ่งที่ถูกดำเนินคดีด้วย นั่นคือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือที่คนคุ้นเคยในชื่อ "จ่านิว" กับแม่ของเขา พัฒน์นรี ชาญกิจ สิรวิชญ์ถูกดำเนินคดีมาหลายคดีจากการทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล คสช.ของเขา บางคดีสิ้นสุดลงแล้ว ส่วนพัฒน์นรีนั้นโดนคดีใหญ่คือ 112 แต่สามารถประกันตัวได้ระหว่างสู้คดี (อ่านที่นี่)  

หลายคนประเมินว่านี่เป็นแทคติกเพื่อหยุดยั้งการชุมนุมวันที่ 10 ก.พ. เพื่อให้ขาประจำไม่กล้าขยับและสร้างความกลัวให้ผู้คิดเข้าร่วม

หากมองเฉพาะหน้า หลายคนบอกว่าคดีของผู้ชุมนุม 39 คนที่ผิดเพียง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเป็นข้อหาเล็กน้อยไม่น่ากังวลนัก น่าจะสามารถรับทราบข้อกล่าวหากันแล้วได้รับการปล่อยตัว หากแต่เมื่อชาวบ้านไปถึง สน.ตามนัดหมาย พวกเขาพบว่าตำรวจเตรียมฝากขังและต้องใช้เงินประกันตัว ผู้ต้องหาคนหนึ่งบอกว่า เธอเห็นพัฒน์นรีร่ำไห้ทั้งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนและรู้สึกสะเทือนใจมาก

เธอกำลังคิดอะไร มันคือน้ำตาของความรู้สึกแบบไหน

เสร็จสิ้นภารกิจจาก สน.ปทุมวัน เธอกลับบ้านไปแล้ว แต่ระหว่างที่เล่าให้ฟังทางโทรศัพท์เธอก็ยังคงสะอื้นเป็นช่วงๆ ตลอดการสนทนา
 

ก่อนไปรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อทราบเรื่องรู้สึกอย่างไร

มันไม่มีใครคิดเลยว่าจะโดนข้อหาแบบนี้ [วันดังกล่าว] ทุกคนก็เห็นว่าเลิกงานแล้ว ขายของเสร็จแล้วก็มาดูหลานๆ กัน ลึกๆ แล้วทุกคนเครียดหมด แต่ที่ยิ้มกันได้เพราะมีกำลังใจเยอะ

คุยกับทนาย ทนายบอกว่าไม่ได้เป็นคดีร้ายแรง โทษน่าจะแค่เปรียบเทียบปรับ แม่ก็เลยบอกว่าจะไปรายงานตัวพร้อมทุกคน ทั้งที่ใจแม่กลัวมาก เพราะแม่มีเงื่อนไขตอนประกันตัวคดี 112 อยู่แล้วว่าห้ามชุมนุม แม่จะระวังตัวตลอด เวลามีกิจกรรมของนิว แม่จะอยู่รอบนอกมาก จะไม่ไปทำอะไรอยู่แล้ว วันที่ไปสกายวอล์ก แม่ก็อยู่ข้างนอกยืนดูให้เห็นนิวอยู่ในสายตา เพราะถ้านิวโดนจับหรือมีใครปองร้าย เราจะได้รู้ได้เห็นหรือตามได้ทันท่วงที จากประสบการณ์ของแม่เมื่อก่อนแม่เอาแต่ทำงาน ให้นิวทำกิจกรรม แล้วแม่ก็ต้องมาวิ่งตามนิวทีหลัง ไม่รู้เขาจับนิวไปไหน เป็นยังไงแล้ว มันเครียด มันเหนื่อย ช่วงหลังๆ ก็ขอตามไปดูอยู่ในสายตา ทนายก็บอกว่ารับทราบข้อกล่าวหาแล้วก็คงได้กลับ ไปสู้กันที่ศาล แต่อาจต้องอยู่ทั้งวันเพราะหลายคน เราก็ทำใจแล้วว่าคงไม่ได้ทำงานวันนี้

พอไปถึงเขาบอกจะส่งตัวไปฝากขังที่ศาล เอ้า มันขนาดนั้นเลยเหรอ แม่ก็เลยจิตตก จะมีปัญหาไหม จะถูกถอนประกันไหม แล้วแม่ก็ร้องไห้ ที่แม่ร้องไห้ เนี่ย พอพูดแล้วมันก็ร้องออกมาเอง (ร้องไห้ สะอื้น)

แม่รู้สึกว่า ยัด 112 แล้วยังไม่หนำใจอีกเหรอ แค่โดนคดีนั้นมันก็แย่มากแล้ว ชีวิตเราเปลี่ยนไปเลย มันคิดตลอด แม่โดน 112 นิวโดน 116 มันแย่มากนะสำหรับแม่

แล้วการอยู่ในเรือนจำ มันไม่มีเรื่องดีเลย ไม่มีความทรงจำอะไรดีๆ เลย มันไม่ไหว มันก็เลยร้องไห้ออกมาเลย แล้วยิ่งได้ยินคุณโบว์ (ณัฏฐา มหัทธนา หนึ่งในเจ็ดนักกิจกรรม) บอกว่า จะไป ยืนยันว่าบริสุทธิ์ ก็เลยคิดว่า คุณโบว์รู้ไหมว่าในนั้นมันโหดร้ายขนาดไหน และไม่รู้วิธีการจัดการของเขาอีกหรือ แต่สำหรับแม่มันพังไปมากแล้ว แล้วเพิ่งฟื้นกำลังใจ เริ่มออกมายืนในสังคมได้ เริ่มมีการมีงานทำอีกครั้งหนึ่งก็มายัดคดีนี้ที่ทุกคนพูดว่า "คดีไร้สาระ" ให้แม่อีก มันไม่ไหวแล้วไง มันไม่ไหวแล้วไง ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้าครอบครัว เราต้องคิดยาวๆ ถ้าเราไม่อยู่ คนในครอบครัวจะเป็นไง ถ้านิวโดนอีกคน ที่บ้านไม่เหลือใครแล้วไง คราวที่แล้วแม่ยังเบาใจหน่อยว่านิวยังอยู่ มันเลยแค้น จะเอายังไงกับเรา มันจุกหมดเลย มันพูดไม่ถูก


(แฟ้มภาพ) พัฒน์นรี ชาญกิจ ถูกจับคดี 112 
 7 พ.ค. 2559 

หลังจากโดนคดี 112 สภาพเป็นยังไง

ช่วงสองสามเดือนแรก กลายเป็นคนจิตตก ไม่กล้าออกไปไหน ไม่กล้าเจอใคร เพราะมันเจอคนขู่ทำร้าย ขู่ฆ่า จากทางเฟสบุ๊ค เขาอินบ็อกซ์มาเลย ประมาณว่า กูจะเอาลูกมึงไปประจานให้ทั่วโลกรู้เลยว่ามึงมันอีพวกหมิ่นเจ้า, มึงเตรียมย้ายบ้านหนีได้เลย, กูจะตามล่ามึงทั้งบ้าน, มึงกับลูกมันสมควรตาย แม่โดนขนาดนั้น พวกคลั่งเขามาพูดแบบนี้ แม่เครียดมาก แล้วก็ไม่มีงานทำ ไปไหนก็ไม่สบายใจ

ช่วงหลังๆ ก็เริ่มดีขึ้น การขึ้นศาลมันก็ทิ้งห่างมากขึ้น ยอมรับว่าเพิ่งใช้ชีวิตปกติได้เมื่อครึ่งปีหลังของปี 2560 นี่เอง พอเราใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ทุกคนเริ่มลืมหน้าแม่จ่านิว ก็เริ่มมายัดข้อหาให้อีก มันเป็นฟีลที่มันแค้น เราระวังมาก เราไม่ได้ทำอะไรเลย ในเฟสบุ๊คก็โพสต์แต่หมาแมว กับข้าว ทุกครั้งก็แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าเรามาดูลูก เราห่วงลูก แล้วแม่ก็ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เจอแบบนี้แม่ไม่ไหวจริงๆ

เมื่อกี้ที่คุณให้เพื่อนแม่พิมพ์ถามมาว่าสัมภาษณ์ได้ไหม แม่พิมพ์ตอบเพื่อนไปก็น้ำตาไหลไป มันไม่รู้จะบรรยายยังไง มันรู้สึกแย่
 

คดี 112 ตอนนั้นโดนฝากขังกี่วัน

นอนที่ สน.ทุ่งสองห้องหนึ่งคืน นอนกองปราบฯ หนึ่งคืน แล้วส่งตัวไปเรือนจำ อยู่ในเรือนจำ 4 ชม. อีกครึ่งชั่วโมงต้องขึ้นเรือนนอนแล้ว ทำใจแล้ว เขาบอกว่าถึงเวลาขึ้นเรือนจำคุณไม่ได้ประกันตัว แม่ผ่านขั้นตอนของเขาทุกอย่าง การตรวจอัตลักษณ์ ตรวจภายในหาสิ่งเสพติด ใส่ชุดนักโทษแล้ว เข้าไปในแดนในของเขาแล้ว เห็นหมดห้องน้ำห้องท่า ความเป็นอยู่ ถึงได้อยากบอกคุณโบว์ว่า อย่าคิดเลยว่า เขาไม่มีสิทธิจะเอาเราเข้าคุก มันไม่ใช่ เข้าใจว่าคุณโบว์ไม่กลัว แม่ก็ไม่กลัวตอนนั้น เราพูดกับตัวเองว่า ในคุกเขาอยู่กันสามสี่พันคนยังอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ พยายามองบวก พอนั่งดูแล้ว กูอยู่ไม่ได้แน่ ถ้าต้องอยู่จะกลั้นใจตาย เราแทงตัวตายไม่ได้ เราผูกคอตายไม่ได้ เราจะกลั้นใจตาย จริงๆ นะ มันไม่ใช่ อยู่ไม่ได้ แล้ววันที่ไปอยู่ในเรือนจำเป็นวันที่มีประจำเดือน แล้วต้องผ่านการตรวจหาสิ่งเสพติด มันโหดร้ายมาก แค่พูดก็ขยะแขยงแล้ว แค่นึกก็ไม่ไหว มันไม่ได้กลัว แต่ทุกวันนี้ใครจะมาบอกเราได้ว่าเธอถูกหรือผิด เราหวังตรงนั้นไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้เราเห็นกันอยู่ว่าสังคมมันเป็นอย่างไร

เราคิดถึงมันแล้วน้ำตาไหล พี่ลูกตาล (สุวรรณา ตาลเหล็ก 1 ใน 39 คน) เขาก็เข้ามากอด เราเลยบอกแกว่า หนึ่งไม่ได้กลัวนะ แต่หนึ่งแค้น หนึ่งไม่ไหวแล้ว (สะอื้น)


ผู้ต้องหาคนอื่นๆ รู้สึกยังไงในวันนี้

มีคนหนึ่งกลัวเรื่องเงินประกัน อาจยังไม่รู้ว่าจะมีการระดมเงินช่วยประกัน พอรู้ว่าต้องใช้เงินสองหมื่นประกันตัว เขาก็ร้องไห้ บอกว่าเขาไม่มีเงินขนาดนั้นหรอก หลายคนดูแล้วก็น่าจะขัดสนเรื่องเงินทอง ป้าอีกคนหนึ่งบอกว่าเลื่อนเป็นวันที่ 8 ก็ดีจะได้รีบไปหากินหาเงินจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนนี้ก่อน แต่สำหรับคนอื่นก็ยังมีกำลังใจดี แต่ลึกๆ ของทุกคน การบอกว่าเข้าคุก ไม่มีใครยิ้มรับหรอก ณ ตรงนั้นนั่งกันอยู่ยี่สิบกว่าคน พอรู้ว่าต้องฝากขัง สิ่งแรกที่คิดเลยคือ ครอบครัว หลายคนไม่ได้บอกกล่าวครอบครัวด้วยซ้ำ อยู่ดีๆ หายไป 3 วันติดต่อญาติไม่ได้เขาจะเป็นยังไง แม่ก็เครียด ยายกับน้องนิวอีก 2 คนจะทำยังไง มันหนักไปหมด ทุกอย่างเริ่มเข้ามา
 

ครอบครัวแม่นิวเองมีสถานะเศรษฐกิจอย่างไร ทำงานอะไร

ช่วงแรกๆ ไม่มีงานเลย เพราะอยู่ในชุมชนของคนที่เป็นเสื้อเหลืองเต็มตัว หลายคนก็ไม่โทรหาอีก หรือขนาดเราโทรไปเขาก็บอกว่าไม่มีงานแล้ว ได้คนใหม่แล้ว ตอนนั้นแม่รับจ้างทำความสะอาดตามบ้านคน ตามออฟฟิศ แต่เป็นฟรีแลนซ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัท ตอนนั้นคนปฏิเสธงานเยอะ เราก็อดทนไป เพราะเรารู้ว่าเราโดนอะไรมา แต่ก็ไม่เคยอธิบายกับใคร ไม่ได้บอกว่า พี่ให้หนูทำงานเถอะ หนูไม่ได้ทำแบบนั้น ถ้าเขาไม่ชอบเราก็เฟดตัวเองออกมา แล้วตอนหลังงานก็เริ่มเข้ามาหลังจากพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) คุณโบว์ ช่วยประกาศให้ แต่มันก็เป็นงานที่ไกลเสียมาก พระราม 2 บางแค แต่เราก็ต้องไปเพราะในเมื่อหาเงินใกล้บ้านไม่ได้ก็ต้องไปไกลขึ้น ตอนนี้ก็ยังไม่อยู่ตัวนัก บางวันก็ไม่มีงาน รับทำอะไรได้ก็ต้องทำ ไม่มีข้อแม้อะไรมากมายเพราะเรารับผิดชอบหาเงินเป็นหลักสำหรับดูแล ยาย น้องนิวอีกสองคน เราเองจะทำงานประจำก็ไม่ได้ เดี๋ยวต้องพาแม่ไปหาหมอ เดี๋ยวนิวขึ้นศาล เดี๋ยวแม่ขึ้นศาล แต่ถ้าทำฟรีแลนซ์ เราขอยืดหยุ่นเวลากับคนจ้างได้ ฉะนั้น พูดถึงเรื่องเงินประกันไม่ต้องพูดถึงเลย แต่โดยประสบการณ์เราพอรู้อยู่ว่าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะช่วยระดมเงินมาช่วย แค่เรื่องปากเรื่องท้องเราก็เครียดมากแล้ว แล้วยังต้องมาเจอเรื่องแบบนี้อีก บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า เราเป็นผู้หญิงคนนึงที่แบกเยอะไปไหม

เมื่อก่อนจะพูดอยู่เสมอว่า นิวมีหน้าที่ต่อสู้สู้ไปเลย หน้าที่เลี้ยงยายเลี้ยงน้องเป็นหน้าที่ของแม่ แล้ววันหนึ่งที่เราโดนคดีเอง (สะอื้น) แล้วเราจะทำหน้าที่นั้นได้อีกไหมล่ะคุณ

มีแต่คนบอกว่า ทำไมไม่ให้นิวเลิกเป็นนักกิจกรรม หางานทำ แม่ก็ได้แต่ย้อนว่า น้องนิวเป็นลูกแม่มันเป็นหน้าที่ของแม่ ยายนิวก็เป็นแม่ของแม่มันจึงเป็นหน้าที่ของแม่ แต่พอโดนคดีเราก็ทำได้น้อยลง
 

ได้คุยกับนิวไหม

นิวเขายังกำลังใจดีอยู่ ยังเป็นนิวของเขาอย่างนั้น แต่เวลาที่เราคุยกันนิวจะไม่แสดงความเครียดหรือความกลัวให้แม่เห็น แม่ก็ไม่แสดงความเครียดความกลัวให้ลูกเห็นเหมือนกัน มนุษย์ทุกคนก็มีความกลัวหมดแต่เราต้องไม่ให้คนอื่นไม่สบายใจ ถ้าเราบอกว่า นิว แม่กลัวนะ แล้วนิวเขาจะคิดยังไง ใช่มั้ย (สะอื้น)
 

ทำไมแม่เข้าใจเขาได้ขนาดนั้น

แม่ไม่รู้จะพูดยังไง บางทีแม่ก็น้อยใจชีวิต บางทีอยากจะบอกว่า คำชมแบบนี้ (สะอื้น) มันฟังแล้วชื่นใจนะ แต่ชีวิตมาเจอะแบบนี้มันช่วยอะไรไม่ได้เลย เวลาใครชม ใครรักนิว แม่ชื่นใจมาก แต่บางทีแม่ก็ท้อ (ร้องไห้)

อีกคำหนึ่งที่แม่สะอึกมาก "เงินแม้ว" แม่ฟังแล้วจุก "นิวรับเงินทักษิณมาทำ" ฟังแล้วจุกมาก คือ คุณหักหาญน้ำใจลูกเราเกินไป (ร้องไห้) แล้วความลำบากในทุกวันนี้ของเรามันลบคำว่า "เงินทักษิณ" ไม่ได้เลยหรือ บ้านเคยค้างค่าเช่าจนเขาจะไล่ ไฟก็เกือบโดนตัด ถ้ามีเงินทักษิณคงไม่ใส่ไหฝังดินซ่อนอยู่หรอก เคยมีใครรู้ถึงความทุกข์ยากของเราบ้างไหม พอพูดเรื่องนี้ออกไปก็ถูกหาว่า เกาะกระแสนิวหากิน แกล้งจน ดราม่า แม่เลยบอกว่า พวกคุณไม่เคยจน คุณไม่รู้หรอกว่าความลำบากมันขนาดไหน วันนี้แม่รู้สึกไม่ไหวจริงๆ ตอนที่ร้องไห้ก็รู้สึกผิด ทุกคนก็บอกว่า ร้องทำไม เขาไม่เคยเห็นแม่ร้องไห้ขนาดนี้ เขาเห็นเราเป็นคนสนุกสนานเฮฮา แต่วันนี้สิ่งที่เจอมันรู้สึกไม่ไหว
 

ตอนนี้คดี 112 ไปถึงไหน

ตอนนี้เพิ่งสืบเสร็จปากแรกไป แต่มันก็ยังระแวง เหมือนหงอคงมีเหล็กรัดหัว พอทำอะไรขึ้นมาก็ถูกเหล็กรัดให้ปวด (สะอื้น) หรือมันเหมือนมีอะไรปักหลังอยู่ รู้สึกขึ้นได้ก็จะเจ็บแปลบ วันนี้นิวก็เป็นห่วงโทรหาอยู่ว่าเราเป็นยังไงบ้าง และฝากให้กำลังใจป้าๆ แต่นี่เลื่อนไปวันที่ 8 ศรีวราห์เขาก็บอกแล้วว่าต้องฝากขังอยู่ดี เราก็ไม่รู้ว่าจะประกันกันทันไหมเพราะคนเยอะ มันก็ไม่รู้จะต้องเข้าคุกกันไหมระหว่างทำเรื่อง ไม่รู้จะไปยังไง มันเหมือนตัวหมากฮอส หมากรุก ที่เขาจับเราเดิน เราลิขิตชีวิตเราเองด้วยการทำมาหากิน ส่วนอย่างอื่นถ้าคุณเดินพลาดก็โดนกินฮอสไป แม่เหนื่อย และมันเป็นความเหนื่อยที่เราก็ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถาบันนิติฯ เผยตรวจ DNA ชิ้นส่วนอวัยวะ 'นักเรียนเตรียมทหาร เมย' ไม่ได้

Posted: 02 Feb 2018 08:41 AM PST

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุเนื้อเยื่อจากอวัยวะต่างๆ มีสารพันธุกรรมในปริมาณและคุณภาพที่ไม่เหมาะสมในการตรวจวิเคราะห์ ไม่สามารถระบุแบบสารพันธุกรรม เปรียบเทียบว่าเป็นของบุคคลใดได้ ขณะที่ตำรวจ สภ.บ้านนา เห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทำร้าย 

2 ก.พ.2561 รายงานข่าวระบุว่า สมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 และพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครนายก ได้ส่งศพ ภคพงศ์มาชันสูตรซ้ำที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2560 โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการชันสูตรตามขั้นตอนต่างๆ จนแล้วเสร็จ

สมณ์ กล่าวต่อว่า และจัดทำรายงานผลชันสูตรเบื้องต้นให้กับพนักงานสอบสวนและญาติผู้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2560 สำหรับอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจและสมอง เป็นต้น ที่พนักงานสอบสวนและญาติผู้เสียชีวิตได้นำมาให้ตรวจพิสูจน์ภายหลัง เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 เพื่อยืนยันว่าเป็นอวัยวะของน้องเมยจริงนั้น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ยืนยันได้ เนื่องจากสารพันธุกรรมของเนื้อเยื่อในอวัยวะที่ผ่านการดองน้ำยาฟอร์มาลินมีการเสื่อมสลาย

สมณ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการตรวจพิสูจน์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์  จึงส่งอวัยวะต่างๆดังกล่าว ไปให้คณะแพทย์ศาตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจพิสูจน์ยืนยันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560 โดยคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์แล้ว พบว่า เนื้อเยื่อจากอวัยวะต่างๆ มีสารพันธุกรรมในปริมาณและคุณภาพที่ไม่เหมาะสมในการตรวจวิเคราะห์ต่อไป ทำให้ไม่สามารถระบุแบบสารพันธุกรรม เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าเป็นของบุคคลใดได้

ขณะที่วานนี้ (1 ก.พ.61) สุพิชา ตัญกาญจน์ พี่สาวของ ภคพงศ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางครอบครัวเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งความคืบหน้า การสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านนา จังหวัดนครนายก ลงวันที่ 24 มกราคม 2561 หลังจากที่ครอบครัว ได้แจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และพนักงานสอบสวน ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ดำเนินการตามกฏหมายนั้น

ล่าสุดพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ และแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ พร้อมกับได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ไว้แล้ว ก่อนพนักงานสอบสวน มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา โดยจะส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการ มณฑลทหารบกที่ 12 พิจารณาอีกครั้ง

ส่วนการนำผลทางนิติวิทยาศาสตร์เสนอต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นอกจากภาพถ่าย ร่างกายของน้องเมยขณะยังมีชีวิตอยู่ พบรอยช้ำหลายจุด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการฝึกทางทหาร และการถูกธำรงวินัยที่รุนแรงเกินไป ยังเชื่อว่าอาจจะนำไปสู่การถูกทำร้ายร่างกาย เนื่องจากพบว่า มีเลือดออกบริเวณลำคอ เหนือไหปลาร้าทั้งซ้ายและขวา ซึ่งพนักงานสอบสวนและแพทย์ให้ความเห็นตรงกันว่า อาจจะเกิดจากการถูกล็อคคอและกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงซ้าย ฟกช้ำคล้ายถูกของแข็ง ไม่มีคมกระแทกจากด้านหน้าไปด้านหลัง

ที่มา : ไทยพีบีเอส และข่าวสดออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับคนรณรงค์ 'เลือกตั้ง 2 ก.พ.' ในวาระ 4 ปี ที่ถูกทำให้โมฆะและนัยเลือกตั้งครั้งหน้า

Posted: 02 Feb 2018 07:46 AM PST

รำลึก 4 ปี เลือกตั้ง 2 ก.พ.57 คุยกับ 'พวงทอง สปป.' 'อ้วน กลุ่มพอกันที!' 'จิตรา พลังประชาธิปไตย' และ 'เอก Respect My Vote'  ถ้าเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ถูกทำให้โมฆะ และนัยของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปที่ไม่รู้ว่าจะเมื่อไหร่ กับการเอาทหารออกจากการเมือง

ครบรอบ 4 ปีการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ.2557 หากไม่ถูกทำให้โมฆะและรัฐประหารในเวลาต่อมาไปเสียก่อน รัฐบาลจากการเลือกตั้งหากอยู่ครบเทอมก็จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยการทำให้โมฆะโดยศาลรัฐธรรมนูญยกเหตุผลว่า "การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน" แต่สาเหตุที่ไม่สามารถจัดขึ้นได้ในวันเดียวเนื่องจากบางหน่วยถูกขัดขวางอย่างหนักจากกลุ่ม กปปส. จนไม่สามารถลงคะแนนได้ตั้งแต่วันเปิดรับสมัคร วันลงคะแนนเสียงล่วงหน้าและวันที่ 2 ก.พ.57 และเป็นคดีความบางที่ยกฟ้อง ขณะที่บางที่ศาลตัดสินจำคุก เช่น เมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพัทลุงสั่งจำคุก 5 ปี ทวี ภูมิสิงหราช อดีต ส.ว.พัทลุง และแกนนำ กปปส.พัทลุง โดยไม่รอลงอาญา พร้อมด้วยพวกรวม 10 คน โดยได้รับโทษลดลงไป 1-5 ปี

แม้จะมีกลุ่มที่ขัดขวางแต่ก็มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงกว่า 20 ล้านคน จัดการเลือกตั้งสำเร็จถึง 89.2 % ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด และมี 59 จังหวัดที่สามารถจัดได้โดยมีมีปัญหา นอกจากประชาชนที่ไปใช้สิทธิแล้ว ยังมีกลุ่มประชาชน นักกิจกรรมและนักวิชาการที่ออกมารณรงค์หาทางออกวิกฤติการเมืองขณะนั้น ด้วยการสนับสนุนให้ใช้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นทางออกที่เคารพทุกเสียง เช่น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กลุ่มพอกันที หรือพรรคการเมืองทางเลือกอย่างพรรคพลังประชาธิปไตย เป็นต้น

โดยประชาไท พูดคุยกับ พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กิตติชัย งามชัยพิสิฐ จากกลุ่มพอกันที! หรือ 'อ้วน YT' (Youth Training Center) ในแวดวงนักกิจกรรมทางสังคม จัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงานและผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่สองของพรรคพลังประชาธิปไตย (เบอร์ 8) รวมทั้ง เอก อัตถากร ผู้ชูป้าย 'Respect My Vote' ใส่ 'อภิสิทธิ์' ขณะร่ายพิมพ์เขียวปฎิรูปประเทศไทย ช่วงก่อนเลือกตั้งดังกล่าว เพื่อสอบถามถึงมุมมองของพวกเขาหากเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ไม่ถูกทำให้โมฆะ การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร รวมทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช. ที่ถูกเลือนออกไปเรื่อยๆ นี้

00000

ภาพ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)จัดกิจกรรม "คนเท่ากัน เดินหน้าเลือกตั้ง ร่วมกันปฏิรูป" ณ อาคารบรรยายรวม 4 (บร.4) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 22 ธ.ค.2556

พวงทอง ภวัครพันธุ์ : สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กล่าวถึงการเคลื่อนไหวช่วงการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ว่า ตอนที่เราพยายามที่จะคัดค้านกลุ่ม กปปส. ที่ต้องการขัดขวางการเลือกตั้ง เรายืนยันว่าต้องมีการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยไปปฏิรูปทีหลังนั้น จริงๆ แล้วเป้าหมายเรามองเห็นถึงความพยายามของกลุ่ม กปปส. และอำนาจที่หนุนหลังเขาอยู่นั้น จะสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ เพราะลำพัง กปปส. ต่อให้ยึดกรุงเทพฯได้เป็นเดือน แต่พลังของคนกรุงเทพฯ ค่อนข้างอ่อนแอไม่สามารถร่วมการชุมนุมได้นาน และช่วงท้ายของ กปปส.นั้นก็อ่อนแอมาก ฉะนั้น กปปส.เองก็ต้องการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ทหารเข้ามาแทรกแซงยึดอำนาจรัฐบาล เพราะก็หวังว่าจะขัดขวางความพยายามนี้ เพราะมองเห็นว่าหากมีการยึดอำนาจจากบทเรียนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รัฐบาลทหารที่ไม่มีปัญหาในเรื่องของการบริหารเรื่องคอร์รัปชั่น และปัญหาเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างกว้างขวาง มันยากมากเมื่อเอาทหารเข้ามาแล้วจะเอาออกจากการเมือง ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าต้องใช้วิธีการไล่ตลอดและมีการเสียเลือดเสียเนื้อ เรามองเห็นปัญหาเหล่านี้ เราก็ไม่อยากให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น

หากมองย้อนกลับไป ถามว่าถ้าวันนั้นสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้สำเร็จ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ประกาศให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 โมฆะ กกต.ทำหน้าที่ของตัวเอง ถามว่าวันนี้ประเทศชาติจะสงบอย่างเป็นปกติไหม ก็คงไม่ เพราะว่ากลุ่มขงอำนาจอนุรักษ์นิยมนี่ ซึ่งมี กปปส.เป็นแนวหน้าหลักในการเคลื่อนไหว เขาก็คงไม่ยุติความพยายามที่จะทำลายกลุ่มการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหมายถึงการทำลายระบอบการเมืองประชาธิปไตยรัฐสภาด้วย เป้าหมายของเขาทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้ทักษิณออกไปจากการเมือง ซึ่งการที่ทักษิณออกจากการเมืองได้ แน่นอนว่าเขาไม่สนใจว่าการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภามันจะได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะฉะนั้นหลังเลือกตั้งเขาก็คงหาทางพยายามที่จะทำทุกอย่างที่จะยึดอำนาจขับไล่ทักษิณออกไป ปรากฎการณ์แบบ กปปส. ก็จะกลับขึ้นมาอีก และก็จะสามารถสร้างเงื่อนไขบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อระดมให้คนกรุงเทพฯ หรือคนภาคใต้ลุกฮือประท้วงขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเราก็จะเห็นว่าในช่วง 2 ปีกว่าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ทำงานลำบากมาก โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ ก็จะถูกขัดขวางโดยองค์กรอิสระทั้งหลายที่อยู่ภายใต้เครือข่ายอำนาจอนุรักษ์นิยมนี้

ฉะนั้นการเมืองไทยมันยากที่จะปรับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะว่ามีกลุ่มอำนาจที่ไม่ยอมรับกติกาทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เพราะเขามองว่ากติกานี้มันจะทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะกลับมาเป็นผู้นำทางการเมืองและกำหนดทิศทางของประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็เหมือนถูกสาปโดยความเชื่อของกลุ่มอำนาจเหล่านี้ ซึ่งมีชนชั้นกลางจำนวนมาก คนกรุงเทพจำนวนมากที่คล้อยตามแนวคิดของคนพวกนี้อย่างง่ายดาย

เราคงถูกสาปที่จะต้องอยู่กับการรัฐประหารแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ผ่านมาเมื่อมีรัฐประหารเมื่อใด ตามมาด้วยการนองเลือด เราก็คิดว่าเราได้สรุปบทเรียนแล้ว เราจะไม่ให้ทหารกลับเข้ามามีอำนาจอีก แต่หลังจากนั้นผ่านมาไม่ทันใด ไม่ถึงชั่วอายุคนเลย คนจำนวนมากก็ลืมประวัติศาสตร์เหล่านี้ แล้วก็เชื่อว่ากลุ่มอำนาจใหม่จะไม่เหมือนกลุ่มอำนาจเดิม เพราะเชื่อวาคนที่มาใหม่จะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม โดยไม่สนใจว่าระบบที่พวกเขาช่วยทำลายมันไม่มีทางที่จะทำให้คนที่มีอำนาจเข้ามาจะถูกตรวจสอบ

สำหรับการใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาความขัดแย้งแทนที่จะเป็นการรับประหารนั้น พวงทองกล่าวว่า มันแก้ได้ หากคนยอมรับกติกา แต่ปัญหาคือสิ่งที่ห็นจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 นั้น คนอีกฝั่งหนึ่งก็ไม่สนใจกติกาทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงบรรดาองค์กรอิสระและศาลที่ไม่ได้สนใจเรื่องกฎนิติรัฐเลย เพราะฉะนั้นการเมืองหากไม่มีหลักเกณ์หรือหลักการมันก็นำประเทศไทยมาสู่ภาวะทางตัน มันทำลายองค์กรทั้งหลายที่ร่วมมือกันทำลายกระบวนการตามกฎหมาย พวกเขาก็สูญเสียความชอบธรรมวันนี้พูดอะไรก็ไม่มีใครฟัง

องค์กรทั้งหลายที่เกิดมาจากรัฐธรรมนูญจะต้องทำตามหน้าที่ตามหลักการที่ได้สร้างองค์กรเหล่านั้นขึ้นมา และตามกฎหมาย แต่เราจะเห็นว่ามันมีการบิดเบือน ตีความมากมายเพื่อี่จะทำลายกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามของตัวเอง พร้อมกับทำลายความชอบธรรมของตัวเองไปด้วย

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น พวงทองกล่าวว่า การเลือกตั้งโดยปกติที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเป็นการแข่งขันกันของพรรคการเมืองที่จะเข้าไปบริหารประเทศ แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นถ้าจะมี ซึ่งไม่มั่นใจเลยว่าจะมีเมื่อไหร่ ถ้าจะมีนั้นประเด็นอันหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากพรรคการเมืองใหญ่ในขณะนี้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้จะเป็นคู่ขัดแย้งต่อกัน แต่มีประเด็นร่วมกันก็คือการเอาทหารออกจากการเมืองอย่างไร แต่ประชาธิปัตย์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยังต้องการทหารอยู่ อย่างไรก็ตามประเด็นร่วมที่ว่าจะเอาทหารออจากการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะฝ่ายที่เห็นแล้วว่าในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ คสช. มีปัญหามากมายที่เราไม่สามารถที่จะตรวจสอบเอาผิดผู้ที่ใช้อำนาจได้เลย

นอกจากนี้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปนั้น ในขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ต้องการเอาทหารออกจาการเมืองแล้ว ประชาชนจำนวนมากที่เห็นปัญหาและไม่พอใจกับการรัฐประหารที่คิดว่ามีครึ่งค่อนประเทศนั้น เขาก็หวังว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นการเอาทหารออกจากการเมืองไปด้วย แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญที่จะมากำกับการเลือกตั้งนั้น มันเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบรัฐสภาเข้ามาแทรกแซง อำนาจนอกระบบรัฐสภาในที่นี้หมายถึงทหาร กลุ่มชนชั้นนำที่อยู่เบื้องหลังทหารด้วย และสามารถที่จะทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งหากมาจากพรรคการเมืองที่ไม่ยอมรับอำนาจเขา หรือเป็นพรรคการเมืองที่เขาไม่ชอบ เช่น พรรคเพื่อไทย ก็จะประสบกับปัญหาในการบริหารประเทศ โอกาสที่เราจะเห็นรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งสามารรถผลักดันนโยบายของตัวเองได้ นโยบายที่สัญญากับประชาชนในช่วงการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งนี้

ที่บอกว่ามีประชาชนจำนวนมากหวังว่าการเลือกตั้งนี้จะเอาทหารออกจากการเมืองนั้น ก็มีประชาชนอีกไม่น้อยเหมือนกันโดยเฉพาะกลุ่มที่ไปร่วมกันเป่านกหวีดกับ กปปส. ที่ทุกวันนี้ยังมองไม่เห็นว่าภายใต้อำนาจทหารมันก่อให้เกิดปัญหาประเทศนี้อย่างไร กลุ่มเหล่านี้คงไม่แคร์ที่จะเห็นทหารหรืออำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง แล้วก็จะฟังแต่วาทกรรมหรูๆทางการเมืองที่คุ้นเคยหูของเขาเท่านั้นเอง ปัญหาใหญ่คือความเกลียดชังนักการเมืองและพรรคการเมืองในกลุ่มชนชั้นกลางสูงมากๆ เสียจนเขาไม่สนใจว่าการเมืองต่อไปนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือกฎหมายอย่างไรแล้ว เพราะฉะนั้นอำนาจอื่นอะไรก็ได้ที่จะมาทำลายหรือทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอได้เขาจะยินดี ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ และก็จะกระทบต่อพวกเขาด้วยแต่พวกเขาไม่เห็น

เป้าหมายของการเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 นั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร และปกป้องประชาธิปไตยรัฐสภาที่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจตัดสินว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบเข้ามา และเราก็จะได้รัฐบาลที่อ่อนแอหลังจากนั้น ยกเว้นว่าจะเป็นรัฐบาลซึ่งกลุ่มอนุรักษ์นิยมและทหารยอมรับ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลุ่มอำนาจนิยมก็จะหาทางที่จะทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ นักกิจกรรมกลุ่มพอกันที

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ : กลุ่มพอกันที! จุดเทียนเขียนสันติภาพ

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ นักกิจกรรมกลุ่มพอกันที กล่าวว่าถ้ารณรงค์ให้ทุกฝ่ายยอมรับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 ได้สำเร็จ ความขัดแย้งก็จะยังคงมีอยู่ ฝ่ายที่ชอบหรือไม่ชอบนักการเมืองก็คงเคลื่อนไหวตามจุดยืนของตนเองต่อไป แต่จะยังคงอยู่ในกติกาประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะต้องจัดการกับการชุมนุมตามวิถีทางประชาธิปไตยที่เคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันของคนสังคม ต่างจากการรัฐประหารที่ใช้กำลังกดข่มความขัดแย้ง มันไม่ช่วยให้สังคมเติบโตขึ้น เสียโอกาสในการแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างมีวุฒิภาวะ

นอกจากนั้น ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กระบวนการตรวจสอบนโยบายและโครงการขนาดใหญ่จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประชาชนจะได้ตรวจสอบโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูง พรบ.คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย เราจะได้พิจารณากฎหมายใหม่ๆ ที่ทางเครือข่ายประชาชนเสนออย่างการปฏิรูปที่ดิน พรบ.คู่ชีวิต พรบ.บำนาญแห่งชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย

และที่สำคัญ ถ้าเลือกตั้งในวันนั้นสำเร็จ ในวันนี้เราจะได้เลือกตั้งใหม่อีกครั้ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนว่าต้องการให้ประเทศไทยไปในทิศทางใด

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น กิตติชัย กล่าวว่า การเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจและรัฐธรรมนูญที่กำเนิดมาจากคณะรัฐประหารและห้ามรณรงค์ไม่รับร่างนี่นะ ผมคุยกับหลายคน ค่อนข้างเห็นตรงกันว่า ณ วันนี้สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือความหวัง เราขัดแย้งทางการเมืองกันด้วยเรื่องคอรัปชั่น เรื่องเกลียดใครชอบใคร เรื่องการพยายามรักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเก่าๆ แต่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้เถียงกันเรื่องประเทศไทยจะไปทางไหนอย่างมีความหวังต่ออนาคตเลย หลายคนถึงขั้นอยากกลับสู่อดีตด้วยซ้ำไปในท่ามกลางบรรยากาศที่ความขัดแย้งถูกกดข่มไว้ด้วยความรุนแรง  ผนวกกับภาวะไร้ความหวังของสังคมไทย ร่วมกับรัฐธรรมนูญฉบับริดรอนอำนาจประชาชน การเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนี้ อาจจะมีฐานะเพียงพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาจอย่างยาวนานของเครือข่ายรัฐประหารก็ได้ ออกจะดูย้อนแย้งปนขำนิดหน่อย เพราะว่ามันไปพ้องกับคำพูดติดปากช่วงหนึ่งของกลุ่มขัดขวางเลือกตั้ง 2 กพ. ว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง"

อย่างไรก็ตาม ผมยังคงสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งนะครับ อย่างน้อยนี่คือหนทางที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เป็นวิถีทางที่เราต้องยืนหยัด ยืนยันว่าประชาชนคือคนกลางที่จะตัดสินว่าใครคือตัวแทนของตนเองในการบริหารประเทศ จากนั้นทั้งในรัฐสภาและภาคประชาสังคมเองก็ต้องขยับขับเคลื่อนกันเพื่อนำพาประเทศไทยสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น สร้างสังคมที่เคารพกติกาประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษชน ขจัดอำนาจนอกระบบ และสร้างความหวังต่ออนาคตร่วมกัน

แกนนำพรรคพลังประชาธิปไตยเดินสายหาเสียงที่จังหวัดเชียงใหม่

จิตรา คชเดช : พรรคพลังประชาธิปไตย

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่สองของพรรคพลังประชาธิปไตย (เบอร์ 8) ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 กล่าวว่า ไม่เคยคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นจะสำเร็จไ เพราะตอนนั้นพรรคการเมืองใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทยไม่สร้างบรรยากาศการเลืกตั้ง ไม่พยายามให้มีการเลือกตั้ง มีเพียงพรรคเล็กและประชาชนที่มาจุดเทียบให้มีการเลือกตั้ง ประกอบกับมีการขัดขวางการเลือกตั้ง มีการรณรงค์ไม่เอาเลือตั้งจากกลุ่ม กปปส.อีกด้วย

แต่ถ้าการเลือกตั้งครั้งนั้นสำเร็จ คิดว่าพรรคเพื่อไทยคงมีเสียงข้างมากเหมือนเดิมและคงมีพรรคเล็กเข้ามาบ้าง และมันคงจบอย่างรวดเร็วยังไม่ได้ดำเนินการอะไร คงเกิดรัฐประหารตั้งแต่ตอนนั้นเลย คงไม่รอเวลาจนถึง 22 พ.ค.2557 เพราะคิดว่าเป็นช่วงที่ทหารหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะรัฐประหารอยู่แล้ว ถ้าเลือกตั้งสำเร็จ รัฐประหารก็เร็วเท่านั้นเอง

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเดขึ้นนั้น คิดว่าคงอีนานจนกว่า คสช.จะมั่นใจว่าการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคเล็ก จะมีพรรคการเมืองใหม่ที่อดีต ส.ส.จะเข้าสังกัดภายใต้ทหาร การเลือกตั้งจึงจะเกิดขึ้น เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนุญทำให้กลุ่มอำนาจทหารยังคงอยู่ การแต่งตั้ง สนช.เป็นเครื่องมือสำคัญของอำนาจทาร ประชาชนเป็นเพียงเครืองมือให้เผด็จการดูเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นเอง แต่เสียงของประชาชนไม่สามารถกำหนดทิศทางการเมืองได้

สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น จิตรา กล่าวว่า ต่างจากการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 อย่างแน่นอน เพราะการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้เป็นการสร้างภาพให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเป็นารแปลงร่างขงเผด็จการที่จะสืบทอดอำนาจอย่างชอบธรรม เงื่อนไขรัฐธรรมนูญก็แตกต่างกันหลายอย่าง เพราะการเขียนรัฐธรรมนุญ 60 นั้น เป็นการเขียนเพื่อเป้าหมายให้ประชาชนไม่มีอำนาจที่แท้จริงผ่านการเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้ประชาชนมีประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพที่แท้จริง เพราะรัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าวงจึงจะทำให้ประเทศมีประชาธิปไตย การเลือกตั้งด้วยเงื่อนไขเผด็จการไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้

เอก อัตถากร ผู้ชูป้าย 'Respect My Vote' ในงานปฏิรูปประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากทวิตเตอร์ @doung_dailynews)

เอก อัตถากร :  Respect My Vote

เอก อัตถากร ผู้ชูป้าย 'Respect My Vote' ในงานปฏิรูปประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงก่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่แตกต่างอะไรกับปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ สุดท้ายผลการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นโมฆะ  ด้วยเหตุจากพรรคประชาธิปัตย์ที่จะหาเรื่องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งจาก กกต. ที่ตั้งธงปฏิเสธการจัดการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า ทั้งจากกลุ่มกปปส.ที่จับมือกับกลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบันตามที่นายสุเทพเคยให้สัมภาษณ์ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่กลุ่มต่างๆ สร้างขึ้นจะเป็นข้ออ้างให้คณะ คสช.เปิดเกมรัฐประหารตามแผนที่วางไว้ร่วมกับขั้วอำนาจต่าง ๆ ที่อยู่ตรงข้ามรบ.ในขณะนั้น

"เลือกตั้งสำเร็จ ก็ปฏิวัติเหมือนเดิม" เอก กล่าวย้ำ

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้า เอก มองว่า แตกต่างจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 อย่างสิ้นเชิง มีอยู่อย่างเดียวที่เหมือนกันคือจะเป็น "การเลือกตั้งในสถานการณ์ไม่ปกติ" ขอไม่พูดถึงรายละเอียดและปัญหาของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาตามที่พวกเราทราบข้อมูลกันดี แต่ที่น่าเป็นกังวลคือเลือกตั้งในครั้งใหม่นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของฉนวนความขัดแย้ง จากรธน. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กลุ่ม ส.ว.ลากตั้งทั้งคณะ ม.44 ฯลฯ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่มาก ๆ ที่คสช.กับคณะวางไว้ให้กับประเทศ เพราะหากพิจารณาดี ๆ ไม่ว่าผลจะออกมายังไง ทั้งฝ่ายทหารปัจจุบัน หรือฝ่ายการเมืองตรงข้ามชนะเลือกตั้ง ไม่ว่าใครได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีปัญหา

หากทหารในคราบนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองฝากฝั่งทหารชนะ ได้ฟอกขาวตัวเองผ่านการเลือกตั้ง รวมเสียงจากสว.ลากตั้งที่เตรียมไว้เลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ รัฐบาลก็จะโดนต่อต้านจากทั้งในและต่างประเทศ ประชาชนอาจจะถูกลิดรอนสิทธิอย่างถูกกฏหมาย และประเทศจะติดกับดักยุทธศาสตร์ชาติเต็มรูปแบบ แถมยังกลายเป็นรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ผ่านกม.พิเศษที่ตัวเองร่างไว้ล่วงหน้า

หากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามชนะเลือกตั้ง จนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะกลายเป็นรัฐบาลง่อยเปลี้ยเสียขา เกิดความขัดแย้งรุนแรงจากกลุ่มสว.ลากตั้ง และคณะกรรมการต่าง ๆ ที่คสช.กับพวกได้วางหมากไว้ รวมถึงกองทัพที่เป็นฝากฝั่งเดียวกับคสช.ก็ดักทางทุกอย่างไว้ รัฐบาลจะไม่สามารถบริหารประเทศได้ 100%

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: การปกครองแบบสองระบบอำนาจที่ขัดกัน

Posted: 02 Feb 2018 07:33 AM PST



ประชาชนที่ใช้เสรีภาพเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความดำเนินคดี
ที่มา: www.matichonweekly.com/hot-news/article_78962

อันที่จริงทั้งนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ หรือนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปควรจะส่งเสียงออกมาอย่าง "เอกฉันท์" ได้แล้วว่า การดำรงอยู่ของ ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ที่ขัดแย้งกับเสรีภาพในการแสดงออก คือ "ความขัดแย้งภายในตัวระบบการปกครอง" ที่กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดกันเองอย่างสับสนอลเวง

ความขัดแย้งภายในตัวระบบการปกครอง คือการที่ "อำนาจรัฐมีสองลักษณะขัดแย้งกัน" โดยผู้มีอำนาจรัฐอ้างว่าตนเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ถามว่าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อิงกฎหมายใด ก็คงอิง "ม.44" เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ฉะนั้น ตามรัฐธรรมนูญประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุด รัฐบาลต้องใช้อำนาจภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายใดๆ ที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพตามที่รัฐธรรมรับรองไว้ ม.44 และคำสั่ง คสช.ที่ขัดรัฐธรรมนูญจึงต้องถูกยกเลิกไปตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว

แต่การที่รัฐบาล คสช.ยังคง ม.44 ไว้ เท่ากับว่ารัฐบาล คสช.ได้สร้างระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจขัดแย้งกันเองขึ้นมาให้กลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเสียเอง

เนื่องจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตาม ม.44 เป็น "อำนาจแบบเผด็จการ" ขณะที่อำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็น "อำนาจแบบประชาธิปไตย" (ผมตระหนักดีว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่อง "ความเป็นประชาธิปไตย" อยู่มาก แต่ในที่นี้พูดให้เห็นความแต่งต่างระหว่าง สองอำนาจคร่าวๆ) สองระบบอำนาจนี้อยู่บนปรัชญาการเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

เพราะอำนาจแบบเผด็จการเรียกร้องความภักดี เชื่อฟังผู้ปกครอง ประชาชนไม่มีสิทธิและอำนาจเป็นของตัวเอง ไม่มีเสรีภาพในการตรวจ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่อำนาจแบบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิและอำนาจเป็นของตนเอง มีเสรีภาพในการตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การสร้างระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจขัดแย้งกันเช่นนี้ขึ้นมา จึงเป็นการสร้างระบบการปกครองที่ "ประหลาดมาก" เพราะมันส่งผลให้สิ่งที่รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนกลายเป็น "สารที่ไร้ความหมาย" เช่นเมื่อรัฐบาลพูดเรื่อง "ความมั่นคง" คำถามที่ตามมาคือ ความมั่นคงของอะไร ถ้าเป็นความมั่นคงของอำนาจแบบประชาธิปไตย อำนาจนี้ก็ไม่มั่นคง หรือเป็นไปไม่ได้ เพราะมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตาม ม.44 กดทับไว้ แต่ถ้าหมายถึงความมั่นคงของอำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ก็ไม่มีหลักประกันว่าอำนาจแบบนี้จะมั่นคงได้ เพราะประชาชนก็ย่อมอ้างอิงรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้วว่า มันจะมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เหนือรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่มีเหตุผล และความชอบธรรมใดๆ รองรับ

ฉะนั้น ความขัดแย้งของสังคมไทย ณ วันนี้ ไม่ได้เกิดจากประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่เกิดจากรัฐบาล คสช.สร้างระบบการปกครอง (ซึ่งไม่รู้จะเรียกระบบการปกครองอะไร) ที่มีสองระบบอำนาจที่ขัดแย้งกันเองขึ้นมา คืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตาม ม.44 ที่ละเมิดหลักเสรีภาพในการแสดงออกและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรม ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออก

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองสองระบบอำนาจนี้ คือ "ความขัดแย้งในทางปฏิบัติของรัฐบาล คสช.เอง" เพราะสองอำนาจที่ตัวเองสร้างขึ้นมานี้ทำให้รัฐบาล คสช.ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล และขัดแย้งในตนเองตลอดเวลา

เช่น ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ขณะที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างสันติถูกแจ้งความดำเนินคดี แต่ประชาชนกลุ่มที่ออกมาเชียผู้มีอำนาจในรัฐบาลกลับไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ฯลฯ


ประชาชนที่เชียร์พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความดำเนินคดี
ที่มา: www.matichon.co.th/news/824500

ที่สำคัญก็คือ ไม่ควรมีประชาชนกลุ่มใดๆ ที่ใช้เสรีภาพแสดงออกอย่างสันติต้องถูกดำเนินคดี เพราะเป็นการใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การดำเนินคดีกับประชาชนจึงเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญเสียเอง

การใช้อำนาจขัดกันเช่นนี้ย่อมทำให้รัฐบาลขัดแย้งกับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็สะท้อนความขัดแย้งในคำพูดและการกระทำของรัฐบาลเอง เพราะรัฐบาลประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมป และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชาติ แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลกลับไม่ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง

เมื่อไม่ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช.ที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญรับรอง ก็เท่ากับคงสภาวะขัดแย้งระหว่างสองระบบอำนาจไว้ให้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นเหตุเป็นผลและขัดแย้งในตัวเองตลอดเวลา

การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจร่วมกันได้ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อไม่สามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจร่วมกันได้ ความปรองดองสมานฉันท์ก็เกิดขึ้นจริงไม่ได้ การใช้อำนาจปิดปากประชาชนด้วยการดำเนินคดีแบบเหวี่ยงแหก็ย่อมไม่อาจนำไปสู่ความสงบสุขทางสังคมได้จริง

สังคมเราจึงควร "ตาสว่าง" และมีวุฒิภาวะที่จะยอมรับ "ความเป็นจริง" ร่วมกันเสียทีว่า ประชาชนทุกฝ่ายที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ผู้สร้างความขัดแย้ง แต่ระบบการปกครองที่มีสองระบบอำนาจซึ่งขัดแย้งกันเองต่างหาก คือสภาวะความขัดแย้งในตัวมันเอง และกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้านรัฐประหารและฝายที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ล้อการเมืองธรรมศาสตร์จัดคนเฝ้าขบวนโต้รุ่งที่สนามศุภชลาศัย

Posted: 02 Feb 2018 07:27 AM PST

กลุ่มอิสระล้อการเมือง ม.ธรรมศาสตร์ เคลื่อนย้ายหุ่นล้อทั้งหมดจากรังสิตมาถึงสนามศุภชลาศัยแล้ว พร้อมจัดคนเฝ้าทั้งคืน ไฮไลต์พิเศษยังไม่ขอเปิดเผย ขอให้รอดูกันต่อไป

ตามที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 ที่สนามศุภชลาศัย วันที่ 3 ก.พ. นี้ ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มนั้น ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 2 ก.พ. ผู้สื่อข่าวสอบถามลัทธพล ยิ้มละมัย ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าเมื่อเวลา 20.00 น. ทางกลุ่มได้เคลื่อนย้ายหุ่นล้อการเมืองทั้งหมดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มาที่สนามศุภชลาศัยแล้ว

โดยขบวนหุ่นล้อการเมืองทั้งหมดไปถึงภายนอกสนามศุภชลาศัยตั้งแต่เวลา 21.00 น. พร้อมจัดกำลังคนเฝ้าขบวนหุ่นล้อการเมืองตลอดทั้งคืนนี้

ทั้งนี้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. จะเริ่มเตรียมความพร้อมขบวนหุ่นล้อการเมือง ทางทิศตะวันออกของสนามศุภชลาศัย และเปิดลงทะเบียนทั้งสื่อมวลชนและนักศึกษาเข้าร่วมแบกหุ่น โดยขบวนจะเริ่มเคลื่อนเวลา 13.00 น. คาดว่าจะใช้คนเคลื่อนขบวนมากกว่า 300 คน

ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมืองฯ ยืนยันว่าในช่วงเตรียมการเคลื่อนย้าย มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเข้ามาตรวจสอบและรับทราบเนื้อหาแล้ว โดยไม่มีการปรับแก้ขบวนหุ่น และทางกลุ่มไม่มีความกังวลเรื่องนี้ เนื่องจากทางกลุ่มก็มีขอบเขตการทำตลอดระยะเวลา 72 ปี ที่ผ่านมาของกลุ่มล้อการเมือง หากเกิดปัญหาก็ต้องแก้ไขด้วยการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทางกลุ่มได้มีการจัดเตรียมคนเพื่อรับมือกับสถานการณ์แล้ว

ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมืองฯ ยังตอบคำถามเรื่องไฮไลต์ของขบวนล้อการเมืองว่า ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เพราะหุ่นล้อการเมืองต้องพูดเรื่องการเมืองอยู่แล้ว จะมีเซอร์ไพรส์หรือไม่ขอให้ดูกันต่อไป

อนึ่งทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างออกหนังสือแถลงเกี่ยวเนื่องกับงานกีฬาฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 .พ. โดยทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอให้นิสิตปฏิบัติตามกฎหมาย กฎมหาวิทยาลัย คำนึงถึงชื่อเสียงมหาวิทยาลัย เชื่อฟังคำสั่ง คำเตือนอาจารย์-เจ้าหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย ส่วนทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ความเห็นของ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรพรรณ โพชนุกูล อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระบุว่าไม่ปิดกั้นเรื่องการแสดงออก แต่จะอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในรายงานของบีบีซีไทย อ้างคำพูดของ พล.ต.สุวิทย์ เกตุศรี ผบ.พล ม.2 รอ. ที่ปฏิเสธข่าวเข้าตรวจหุ่นล้อการเมืองว่าไม่เป็นความจริง เพราะทางหน่วยมีภารกิจเพียงเข้าดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตำรวจ สำนักงานเขต และเทศกิจเพียงเท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล: คสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์!

Posted: 02 Feb 2018 07:16 AM PST

การที่ในประเทศไทยยอมรับกันเป็นการทั่วไปว่าคณะผู้ยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น มาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 (คำพิพากษาศาลฎีกา 45/2496) และ พ.ศ. 2505 (คำพิพากษาฎีกา 1662/2505) ซึ่งทำให้เกิดบรรทัดฐานว่า ผู้ที่ยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองสำเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดในรัฐ ทำอะไรก็ไม่มีวันผิด และประกาศอะไร หรือมีคำสั่งอะไรมาบังคับประชาชน ก็ทำได้ทั้งสิ้น โดยศาลจะยอมรับเป็นกฎหมายใช้บังคับประชาชนให้

บรรทัดฐานนี้ความจริงก็มีปัญหามากอยู่แล้ว พอท่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงกล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาว่า 'คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์' ผมเกรงว่าจะทำให้เกิดทัศนะความเข้าใจที่จะคลาดเคลื่อนไปกันใหญ่ ในฐานะอาจารย์กฎหมายจึงขออนุญาตพูดถึงเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในแวดวงนักศึกษากฎหมาย และเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปด้วย

ที่ว่าคลาดเคลื่อนก็เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งผ่านประชามติ และพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 มีมาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า #อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ รัฏฐาธิปัตย์ คือประชาชนชาวไทย ไม่ใช่ คสช. ครับ!

แล้วความจริง รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก็มีมาตรา 3 บัญญัติไว้เหมือนกันว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ดังนั้น คสช. ไม่เพียงแต่ไม่ใช่รัฐาธิปัตย์มาตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 เท่านั้น แต่ไม่ใช่รัฐาธิปัตย์มาตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 แล้วครับ!

ที่ คสช. ยังมีอำนาจไม่จำกัดก็เพราะ รัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ไปเขียนบทเฉพาะกาลให้มาตรา 44 ยังอยู่จนกว่าคณะรัฐมนตรีใหม่หลังเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ แต่การที่ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ไม่ได้แปลว่า คสช. จะยังเป็นรัฐาธิปัตย์ และจะทำอะไรก็ได้

ที่สำคัญที่สุด เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว คสช. ก็ควรต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน - ประชาชนซึ่งเป็น 'รัฏฐาธิปัตย์' ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ คสช. เอามาให้ประชาชนลงประชามติ และใช้บังคับในขณะนี้ครับ

 

ที่มา: Facebook Prinya Thaewanarumitkul

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ ขอนิสิตเชื่อฟังอาจารย์ ด้าน มธ. ไม่ปิดกั้นล้อการเมือง แต่ต้องทำตาม กม.

Posted: 02 Feb 2018 06:42 AM PST

จุฬาฯ - มธ. ออกหนังสือแถลงเกี่ยวเนื่องกับงานกีฬาฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ทางจุฬาฯ ออกหลักปฏิบัติ 4 ข้อ ขอนิสิตปฏิบัติตามกฎหมาย-กฎมหาวิทยาลัย คำนึงถึงชื่อเสียงมหาวิทยาลัย เชื่อฟังคำสั่ง คำเตือนอาจารย์-เจ้าหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย ทาง มธ. ระบุ เปิดกว้างล้อการเมืองแต่ต้องปฎิบัติตามกฎหมาย

เมื่อ 31 ม.ค. 2561 มีประกาศจากสำนักบริหารกิจการนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการปฏิบัติตนในการร่วมงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (3 ก.พ. 2561) โดยมีหลักปฏิบัติ 4 ประการ ดังนี้

  1. กิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ มีเพื่อเสริมสร้างความสามัคคี กลมเกลียวระหว่างสถาบันทั้งสอง นิสิตพึงจัดกิจกรรมและดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นี้เป็นสำคัญ
  2. ห้ามมิให้นิสิตจัดกิจกรรมหรือกระทำการใดที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย
  3. นิสิตพึงจัดกิจกรรมหรือประพฤติตนโดยคำนึงถึงชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในสังคมในวงกว้าง
  4. นิสิตต้องเชื่อฟังคำสั่ง คำแนะนำและตักเตือนของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยมอบหมายอย่างเคร่งครัด

ในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็มีหนังสือออกมา แต่เนื้อความเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม มติชน รายงานว่า ทาง มธ. มีเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ หัวข้อ "มธ. ชูจิตวิญญาณ "ธรรมศาสตร์" ยัน ไม่ปิดกั้น "ล้อการเมือง" แต่ต้องไม่ขัดกฎหมาย" โดย ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มธ. มีจุดยืนและเสรีภาพทางวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ชัดเจนมาโดยตลอด ไม่ได้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา ย้ำว่ากิจกรรมจะอยู่บนข้อตกลงที่จะไม่ปิดกั้นความเห็นและกระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นปัญหาของสังคมและขบคิดร่วมกัน โดยจะอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย สิทธิเสรีภาพการแสดงออกภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ดูเตอร์เต' ขู่ไล่นักศึกษาที่วอล์กเอาท์ บอกจะเอาชนกลุ่มน้อยมาเรียนแทน

Posted: 02 Feb 2018 04:28 AM PST

ในการปราศรัยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ขู่ว่าจะไล่นักศึกษาที่ประท้วงเขาออกจากมหาวิทยาลัย แล้วจะเอาชาวลูมาดซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมินดาเนามาเรียนแทน

โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์โต้ตอบการประท้วงของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ดิลลิมานหรือ UP หลังจากที่นักศึกษาประท้วงด้วยการเดินออกจากชั้นเรียนเพื่อแสดงออกเป็นส่วนหนึ่งของ "วันวอล์กเอาท์แห่งชาติเพื่อต่อต้านทรราชและเผด็จการ" ซึ่งเป็นวันที่จัดโดยกลุ่มก้าวหน้าในฟิลิปปินส์
 
ดูเตอร์เตโต้ตอบกลุ่มคนเหล่านี้โดยบอกว่าพวกเขาไม่ยอมเข้าเรียนแม้ว่าทางรัฐบาลจะเป็นผู้ให้งบประมาณสนับสนุนการศึกษา "พวกเขาอยากจะออกไป พวกเขาไม่อยากจะมาโรงเรียนอีกแล้ว นั่นมันเป็นเงินประชาชนนะ" ดูเตอร์เตยังบอกอีกว่าถ้านักศึกษาเหล่านี้ไม่อยากจะเข้าเรียนก็ควรจะออกจากมหาวิทยาลัยไป แล้วเขาจะเอานักศึกษาที่เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่ "ดูมีอนาคตสดใส" มาเข้าเรียนแทน
 
ดูเตอร์เตบอกอีกว่าเขาจะอนุญาตให้คนที่ประท้วงไม่ต้องมาเรียนเป็นเวลา 1 ปี แล้วให้คนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาแต่อยากได้รับความเป็นเลิศเข้ามาเรียนแทน เพราะการศึกษาที่นั่นฟรี จากนั้นจึงอ้างว่าจะนำชาวลูมาด ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในมินดาเนาที่ "เก่งคณิตศาสตร์" มาเรียนแทนเพื่อเอาเข้าโรงเรียนเตรียมทหารของฟิลิปปินส์
 
นอกจากนี้ ดูเตอร์เตยังเสนอว่าจะให้ชาวลูมาดได้รับการศึกษาในสถานศึกษาแพงๆ อย่างมหาวิทยาลัยอันเตนีโอเดอมะนิลา และมหาวิทยาลัยเดอลาซาล โดยได้ทุนจากรัฐบาล
 
การประท้วงเดินออกจากห้องเรียนของนักศึกษา UP เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เป็นการเรียกร้องให้ประชาชน "ต่อสู้กับระบอบเผด็จการของดูเตอร์เต" พวกเขาพากันถือป้าย "ไม่เอาเผด็จการดูเตอร์เต" "ปกป้องเสรีภาพสื่อ" "ต่อสู้กับการเก้กฎหมาย" "ดูเตอร์เตออกไป" และ "ดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพพลเมือง"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Duterte threatens to kick out protesting UP students, Inquirer, 02-02-2018
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวบ 4 นักกิจกรรม YPD เล่นละครใบ้ล้อประวิตร ผิด พ.ร.บ.ชุมนุม

Posted: 02 Feb 2018 03:24 AM PST

ธัชพงศ์ แกดำ ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD และเพื่อนอีกสามคน ถูกจับที่สกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังเล่นละครใบ้ล้อ พล.อ.ประวิตร จนท.ตร.เอาผิดฐานละเมิด พ.ร.บ.ชุมนุม

 
2 ก.พ. 2561 เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา มีรายงานว่า ธัชพงศ์ แกดำ, ธิวัชร์ ดำแก้ว, ปัญจศักดิ์ บุญงาม และ "ลักษณ์" นามสมมติ ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD  ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับที่สกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เบื้องต้นถูกนำตัวไปที่ สน.พญาไท  
 
ธัชพงศ์ แกดำ ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้ระงับกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและถูกพาตัวมายัง สน.พญาไท โดยถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรา 10 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ (ให้แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มไม่น้อยกว่า 24 ชม.) และจะเปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท 
 
ธัชพงศ์ กล่าวว่า ทางกลุ่ม YPD ไม่ได้แจ้งเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุม เพราะมองว่า นี่ไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นการแสดงละครใบ้ ไม่มีการปราศรัยหรือใช้เครื่องขยายเสียงใดๆ และคนเข้าร่วมเพียงแค่ 4 คน นี่ไม่ควรถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง และไม่ควรเข้าเงื่อนไขของ พ.ร.บ. ชุมนุม ทั้งนี้เขาเห็นว่า พ.ร.บ. นี้มีปัญหามากๆ พร้อมตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย
 
เขาเปิดเผยต่อว่า ละครใบ้ 'ตามใจ 'ป้อม'' เล่าเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและข้อครหาต่างๆ ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถูกตั้งคำถาม ตั้งแต่กรณีน้องเมย นักเรียนเตรียมทหาร, ยืมนาฬิกาเพื่อน และเรื่องฮาวาย เป็นต้น  โดยเมื่อเล่นละครซึ่งมีความยาวราว 30 นาทีจบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้ามา 
 
ล่าสุด 20.00 น. ธิวัชร์ ดําแก้ว หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัว เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปรับพวกตนทั้ง 4 คน รวม 10,000 บาท ความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 จากกรณีไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน 24 ชั่วโมง และได้รับการปล่อยตัวแล้ว
 
ธิวัชร์ ยืนยันว่าพวกตนไปจัดเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ไม่ได้ชุมนุม เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการตรวจสอบการคอร์รัปชัน ที่ควรเป็นมาตรฐานของทุกรัฐบาลที่ประชาชนจะเรียกร้องได้ ร่วมทั้งเรียกร้องให้ คสช.และ พล.อ.ประวิตร ลาออกตามที่เคยพูดว่า หากประชาชนไม่ต้องการแล้วก็พร้อมจะออกด้วย
 
ธิวัชร์ ยังกล่าวด้วยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุม จัดการกับประชาชน เพราะเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิที่ประชาชนควรกระทำได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เจ็ดวันที่แสนเศร้า (Seven lonly day)

Posted: 02 Feb 2018 02:16 AM PST

 

สวัสดีวันจันทร์
อำนาจมืดยังคงฝันว่ามันยิ่งใหญ่
มืดบอดบ้าใบ้เบ่งเบี้ยวกันต่อไป
ความเป็นจริงป่วยไข้ใต้ฝ่าตีน

สวัสดีวันอังคาร
ผู้สังหารเล่นบทคนถือศีล
โคลนเลนปลักตมทุกข์เฝ้าป่ายปีน
ฝรั่งแขกญี่ปุ่นเกาหลีจีนล้วนอัศจรรย์ใจ

สวัสดีวันพุทธ
อาชีพซื้ออาวุธร่ำรวยได้
ไม่ต้องคิดไม่ต้องถามสิ่งใดใด
ซื้อจากไหนจำเป็นไหมไร้กฏเกณฑ์

สวัสดีวันพฤหัสบดี
ความถูกต้องของที่นี่เป็นของเล่น
ใช้ถูกเรื่องเชียร์ถูกคนเล่นให้เป็น
ดีเห็นเห็นบอกชัดชัดเสียงดังดัง

สวัสดีวันศุกร์
ห้ามผู้คนมีความทุกข์นี่คำสั่ง
คืนวันศุกร์คนฟังทุกข์จำทนฟัง
เขาจะขังด้วยข้อหาผิดอัตธรรมนูญ

สวัสดีวันเสาร์
วันชำเราสามัญสำนึกให้สิ้นสูญ
ใครใคร่คิดใครใคร่ถามหมายหัวด้วยปืนและปูน
ทบทวีตรีคูณกักขฬะถ่อยระยำ

สวัสดีวันอาทิตย์
ฝ่าตีนอำมหิตเหยียบและย่ำ
ความดีความจริงความเป็นธรรม
อยู่ต่ำใต้ตีนอำนาจทมิฬ

เจ็ดวันแสนเศร้าของผู้คน
คือสัปดาห์จำทนที่โหดหิน
นี่คือความเป็นไปบนแผ่นดิน
นี่คือถิ่นกาขาวรอโค่นล้ม


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทาริค รอมฎอน' นักวิชาการออกซ์ฟอร์ดถูกจับในฝรั่งเศสหลังถูกเปิดโปงกรณีข่มขืน

Posted: 02 Feb 2018 01:02 AM PST

ทางการฝรั่งเศสจับกุมตัว ทาริค รอมฎอน นักวิชาการสายหนุนอิสลามอนุรักษ์นิยมในฐานะผู้ต้องสงสัยก่อเหตุข่มขืน หลังจากที่มีสตรีมุสลิมสายโลกวิสัยเปิดโปงเรื่องนี้มาตั้งแต่หลายเดือนที่แล้ว รวมถึงมีคนอื่นที่ออกมาพูดเรื่องนี้ โดยรอมฎอนประกาศฟ้องกลับบุคคลที่กล่าวหาเขาในเรื่องนี้
 
2 ก.พ. 2561 ทาริค รอมฎอน นักวิชาการด้านอิสลามจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดถูกทางการฝรั่งเศสจับกุมเมื่อวันที่ 31 ม.ค. จากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาในเรื่องข่มขืน หลังจากที่หลายเดือนก่อนหน้านี้มีผู้หญิงสองคนที่ฟ้องร้องเขาในเรื่องนี้
 
รอมฎอนเป็นนักวิชาการสัญชาติสวิส ผู้ที่เป็นศาสตราจารย์ด้านอิสลามร่วมสมัยศึกษาและสอนวิชาเกี่ยวกับเทววิทยาและศาสนาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ปู่ของเขาเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์
 
คนที่กล่าวหาเขาคือ เฮนดา อยารี อดีตมุสลิมสายซาลาฟีซึ่งเป็นสายอนุรักษ์นิยมจัดจนกระทั่งต่อมาเธอก็ละทิ้งอัตลักษณ์เดิมกลายเป็นนักเขียน นักสตรีนิยม และนักกิจกรรมสายโลกวิสัย (secular) เธอยังก่อตั้ง "สมาคมลิเบอราทริกซ์" เพื่อคุ้มครองผู้หญิงและป้องกันไม่ให้มีการกล่อมเกลาผู้คนให้สุดโต่งทางศาสนา
 
อยารีเคยยื่นฟ้องร้องรอมฎอนเมื่อเดือน ต.ค. 2560 โดยกล่าวว่ารอมฎอนเคยล่วงละเมิดทางเพศเธอในโรงแรมแห่งหนึ่งที่กรุงปารีสเมื่อปี 2555 อยารีบอกว่าสิ่งที่ทำให้เธอออกมาพูดถึงเรื่องนี้ต่อสาธารณะมาเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากกระแสการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศที่เรียกว่า #MeToo โดยที่เธอเปิดโปงผ่านทางเฟสบุ๊คในเดือนเดียวกันกับที่เธอฟ้องร้องด้วยแฮชแท็ค #balancetonporc ซึ่งเปรียบเสมือน #MeToo ของฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เธอเคยระบุถึงเรื่องที่เธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในหนังสือของตัวเองที่ออกมาในปี 2559
 
อยารีระบุว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากสำหรับเธอในการกล่าวหารอมฎอน เธอเล่าว่ารอมฎอนเคยบีบคอเธอแรงมากจนเธอคิดว่าจะตายเสียแล้ว นอกจากนี้จากคำบอกเล่าของอยารี รอมฎอนยังพูดกับเธอไว้ในตอนนั้นว่า "เธอควรจะสวมผ้าคลุมศีรษะหรือไม่เช่นนั้นก็ถูกข่มขืน"
 
หลังจากที่อยารีเปิดโปงในเรื่องนั้นก็มีคนพิการอายุ 45 ปีอีกรายหนึ่งที่เปิดเผยว่ารอมฎอนล่อลวงเธอเข้าไปในห้องของเขาในโรงแรมแล้วจากนั้นก็ใช้กำลังข่มขืนเธอ เหตุเกิดขึ้นในปี 2552
 
อย่างไรก็ตามรอมฎอนโต้ตอบด้วยการฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทกลับโดยระบุในเฟสบุ๊คของเขาว่าเพื่อเป็นการโต้ตอบ "การโฆษณาโกหก" ที่มาจากศัตรูของเขา รอมฎอนปฏิเสธว่าข้อกล่าวหาของเขาเป็นเท็จและขัดแย้งต่ออุดมคติที่เขาใฝ่หาและขัดต่อความเชื่อของเขา
 
สื่อเดอะโลคัลของฝรั่งเศสระบุว่ารอมฎอนเป็นที่นิยมของกลุ่มมุสลิมสายอนุรักษ์นิยม แต่ก็ถูกสายโลกวิสัยวิจารณ์ว่าเขาเป็นคนส่งเสริมอิสลามในทางการเมือง
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Islam scholar Tariq Ramadan 'held in France' over rape accusations, The Local, 31-01-2018
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ไม่อาจพิจารณาปมละเมิดสิทธิฯ คณะส่องโกงราชภักดิ์ได้ เหตุทหารไม่มาแจงข้อเท็จจริง

Posted: 02 Feb 2018 12:26 AM PST

กสม. เสนอ 'กลาโหม-คสช.' ให้ความร่วมมือตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานทางทหาร หลังไม่สามารถพิจารณาปมละเมิดสิทธิฯ กรณีควบคุม 'คนนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง' ได้ เหตุเรียกทหาร 2 ครั้งแล้วไม่มาชี้แจง


 

2 ก.พ.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น.  วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. แถลงว่า ที่ประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4/2561 วันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบ กรณีนักศึกษาจำนวน 3 คนร้องว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ขัดขวางไม่ให้เดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และควบคุมตัวโดยไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ยุติเรื่อง แต่ให้เสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการกระทำอันอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกระทรวงกลาโหมและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (1) ต่อไป

วัส กล่าวว่า คำร้องนี้สืบเนื่องจากนักศึกษา 3 คนได้ร้องเรียนต่อ กสม. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2558 มีเนื้อหาสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558 ผู้ร้องทั้งสามกับพวกเดินทางด้วยรถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรีเพื่อเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" เมื่อขบวนรถไฟมาถึงสถานีรถไฟบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้ถูกสกัดขบวนรถไฟ ก่อนที่จะตัดตู้โดยสารและปล่อยขบวนรถไฟที่เหลือเดินทางต่อไป พร้อมกับถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีรถไฟเป็นเวลา 5 ชั่วโมง จากนั้นได้ถูกนำตัวไปที่กองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่ 9 อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน

ประธาน กสม. กล่าวว่า กสม. พิจารณาประเด็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของผู้ร้องทั้งสามกับพวก ได้ข้อเท็จจริงว่า อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องทั้งสามกับพวกรวม 6 คนเป็นจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 ข้อ 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ประกอบกับการใช้มาตรการสกัดกั้นกลุ่มผู้ร้องเป็นผลจากการประเมินว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างจากกลุ่มผู้ร้อง ชุมนุมอยู่ที่อุทยานราชภักดิ์ หากปล่อยให้ผู้ร้องทั้งสามกับพวกเดินทางต่อไป อาจทำให้เกิดความวุ่นวายและเกิดการปะทะกันได้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่าการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน อันอยู่ภายใต้เงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้กระทำได้

วัส กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวกไปที่กองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่ 9 อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และให้ผู้ร้องลงลายมือในเอกสารเพื่อยอมรับข้อตกลงและได้มีการปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2558 เจ้าหน้าที่ทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี เพื่อแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้ร้องทั้งสามกับพวกที่ร่วมเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งเป็นการดำเนินคดีแก่ผู้ร้องทั้งสามกับพวกภายหลังการถูกควบคุมตัว ดังนั้นการนำตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวกไปทำการควบคุมตัวเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558 จึงมิใช่เป็นไปเพื่อการดำเนินคดี และมิใช่การจับกุมหรือคุมขังที่จะต้องกระทำโดยอาศัยหมายของศาลหรือเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

"การจะพิจารณาประเด็นปัญหานี้ให้ได้ข้อยุติ จำเป็นต้องได้รับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานของทหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจ โดยสำนักงาน กสม. ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแจ้งข้อขัดข้อง และแม้จะพิจารณาตรวจสอบไปตามพยานหลักฐานเท่าที่มีอยู่แล้วก็ยังมิอาจได้ข้อยุติที่ชัดเจนว่าการควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวก ผู้ถูกร้องได้ใช้อำนาจตามกฎหมายใด และไม่อาจพิจารณาได้ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสามกับพวกหรือไม่" วัส ระบุ

ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า กสม. จึงมีมติเห็นควรเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขการกระทำอันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกระทรวงกลาโหมและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนี้

(1) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามคำสั่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด เฉพาะเจาะจง และไม่ตีความให้นำไปสู่การกระทำใด ๆ ที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจนเกินกว่าความจำเป็นหรือถึงขั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน อันอาจถือเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ได้สัดส่วนกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมตลอดถึงเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้รับทราบเหตุผลความจำเป็นและผลการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วย

(2) กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่การพิจารณาคำร้องนี้ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากทุกฝ่ายได้ เนื่องจากไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานทางทหาร ประกอบกับเวลาล่วงผ่านมาพอสมควร กสม. จำเป็นต้องสรุปความเห็นโดยที่ไม่อาจให้ความเห็นอันเป็นแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานทางทหารได้ ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงกลาโหมและคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาให้ความร่วมมือต่อกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. ในอนาคตต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น