ประชาไท | Prachatai3.info |
- อิสราเอลตอบโต้ปาเลสไตน์ประท้วง ตาย 52 สหรัฐฯ เปิดสถานทูตที่เยรูซาเล็มแล้ว
- จ่อเสนอ กฎหมาย 'พลตรี' เทียบเท่าตำแหน่ง 'อธิบดี'
- เผย 6 เกม ชิงชัยอีสปอร์ตครั้งแรกในเอเชี่ยนเกมส์ RoV, LoL, Hearthstone
- ชาวอิหร่านประท้วง 'ทรัมป์' หลังถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์
- ราชกิจจาฯ ประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- เนติบริกร , รัฐศาสตร์บริการ , เศรษฐศาสตร์จัดให้
- ใบตองแห้ง: มาตรฐาน ‘เอาตาย’
- พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: Critical thinking กับนิยายน้ำเน่าการศึกษาไทย
- ปัญหาของอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชที่วานรนิวาส
- สกว.เปิดเวทีเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่าน“นักเทษขันที-ชาวเปอร์เซีย”
- ทนายวิญญัติ จ่อร้องอัยการสูงสุด เร่งนำตัว กปปส.ที่ยังเหลือฟ้องต่อศาล
- ฟัง 4 ตัวแทนพรรคการเมืองตอบคำถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร?
- ตร. ออกประกาศสั่งชาววานรนิวาสยุติการชุมนุมค้านบริษัทจีนเจาะสำรวจแร่โปแตช
- กวีประชาไท: เสรีพังก์ เสรีภาพ
- นิด้าโพล เผย 57.52% อยากเห็นพรรคการเมืองใหม่ ๆ เข้ามาเป็นรัฐบาล
อิสราเอลตอบโต้ปาเลสไตน์ประท้วง ตาย 52 สหรัฐฯ เปิดสถานทูตที่เยรูซาเล็มแล้ว Posted: 14 May 2018 11:31 AM PDT ชาวปาเลสไตน์ประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิการกลับคืนถิ่นหลังถูกอิสราเอลทำให้พลัดถิ่นเป็นเวลา 70 ปี แต่ถูกตอบโต้ด้วยกระสุนจริง เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 52 บาดเจ็บกว่า 2,400 สหรัฐฯ เปิดสถานทูตที่เยรูซาเล็ม 33 ประเทศร่วมงานรวมถึงไทย อัลจาซีรารายงานสถานการณ์ที่ฉนวนกาซา (ที่มา: Youtube/Aljazeera) เมื่อ 14 พ.ค. 2561 สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า ชาวปาเลสไตน์ซึ่งกระจายตัวประท้วงตามรั้วติดกับประเทศอิสราเอลที่ฉนวนกาซา ถูกทหารอิสราเอลสังหารไปแล้วอย่างน้อย 52 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,400 คน โดยทางทหารอิสราเอลได้ใช้กระสุนจริง แก๊สน้ำตา และระเบิดไฟใส่กลุ่มผู้ชุมนุม การประท้วงเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเดินทางกลับสู่พื้นที่ที่ถูกอิสราเอลขับไล่ออกมาตั้งแต่ปี 1948 ซึ่งจะดำเนินเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยในวันเดียวกันนี้เป็นวันที่สหรัฐฯ ย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอิสราเอลที่เดิมตั้งอยู่ในเมืองเทล อาวีฟ ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม หลังจากประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2560 ว่ากรุงเยรูซาเล็มคือเมืองหลวงของอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ทหารอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 90 คน และทำให้บาดเจ็บไปแล้วกว่า 10,500 คน การประท้วงมีขึ้นก่อนที่จะถึงวันรำลึกประจำปีที่ชาวปาเลสไตน์เรียกว่า นัคบา หรือแปลว่า "หายนะ (catastrophe)" ในวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่อิสราเอลประกาศตัวเป็นประเทศเมื่อปี 1948 และเริ่มดำเนินการขับไล่ชาวปาเลสไตน์จากถิ่นที่อยู่เดิมอย่างรุนแรงเป็นจำนวนราว 7 แสนคน จนบัดนี้เป็นเวลา 70 ปีที่ชาวปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่น ปัจจุบันชาวปาเลสไตน์จำนวน 2.6 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา ทางทิศตะวันตกของอิสราเอล อีกจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ทางทิศตะวันออกของอิสราเอล ทั้งสองพื้นที่ปัจจุบันเป็นดินแดนที่อิสราเอลยึดครองอยู่ จนปัจจุบัน เว็บไซต์ข่าว VOX รายงานว่ามีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ทั้งสิ้นมากกว่า 7 ล้านคน มากกว่าประชากรชาวยิวที่มีอยู่ในประเทศอิสราเอลในปัจจุบันเสียอีก หากวันหนึ่่งอิสราเอลเปิดประเทศให้ชาวปาเลสไตน์กลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ ชาวยิวจะเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศทันที เมื่อ 14 พ.ค. ประธานาธิบดีของปาเลสไตน์ มาห์มูด อับบาส กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่าเหตุการณ์ที่ทหารอิสราเอลใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในวันที่ทารุณที่สุดที่ประชาชนชาวปาเลสไตน์เคยพบเจอ รวมทั้งระบุว่า การที่สหรัฐฯ ตั้งสถานทูตในเยรูซาเล็มส่งผลให้สหรัฐฯ ไม่สามารถเป็นตัวกลางในกระบวนการสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลางได้อีกต่อไป ในวันเดียวกัน ริยาด มันซูร์ ทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติประณามอิสราเอลที่โจมตีชาวปาเลสไตน์ที่ไร้อาวุธ รวมทั้งให้ความเห็นในประเด็นสถานทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอลว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก "เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พวกเขา (สหรัฐฯ) เฉลิมฉลองการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่อิสเราเอลกำลังเข่นฆ่าและทารุณชาวปาเลสไตน์จำนวนนับพัน" "เป็นวันที่เศร้าโศกของชาวปาเลสไตน์ และเป็นที่น่าละอายใจสำหรับผู้ที่เมินเฉยต่อความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์" ริยาดกลาว ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์ได้เรียกร้องผ่านทวิตเตอร์ ให้ประชาชนในฉนวนกาซาไปยังศูนย์บริจาคเพื่อบริจาคเลือด ในวันเดียวกันนี้ สหรัฐฯ และอิสราเอลได้มีพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอลในกรุงเยรูซาเล็ม ท่ามกลางกระแสการประณามในภูมิภาค รวมถึงปาเลสไตน์ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศส่งตัวแทนไปร่วมพิธีเปิดสถานทูตใหม่รวมถึงไทย ทางกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลระบุว่า ได้เชิญตัวแทนจาก 86 ประเทศที่มีทูตประจำอยู่ในอิสราเอล และประเทศที่ตอบรับว่าจะเข้าร่วมมีจำนวน 33 ประเทศ ได้แก่ อัลเบเนีย แองโกลา ออสเตรีย แคเมอรูน สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ไอวอรี โคสท์ สาธารณรัฐเช็ค สาธารณรัฐโดมินิกัน เอลซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย กัวเตมาลา จอร์เจีย ฮอนดูรัส ฮังการี เคนยา เมียนมาร์ ไนจีเรีย ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ โรมาเนีย รวันดา เซอร์เบีย ซูดานใต้ ไทย มาซิโดเนีย ยูเครน เวียดนาม ปารากวัย แทนซาเนีย และแซมเบีย เยรูซาเลมคืออะไรเยรูซาเลมเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนระหว่างอิสราเอลกับเขตเวสต์แบงก์ เป็นเมืองที่มีศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนายูดายและอิสลาม จึงเป็นเมืองที่ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็หมายปองจะใช้เป็นเมืองหลวง แนวคิดเรื่องการแบ่งเมืองเยรูซาเลมอย่างยุติธรรมที่สุดยังคงเป็นปัญหาที่คุยกันไม่จบ ในช่วง 20 ปีแรกหลังอิสราเอลก่อตั้งประเทศ จอร์แดนเป็นเจ้าของพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของเทมเปิลเมาท์ หน้าผาที่เป็นที่ตั้งของกำแพงเวสเทิร์นวอลล์อันเป็นกำแพงโบราณจากวัดยิวที่ยังเหลืออยู่ ถือเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของศาสนายูดาย และยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดอัล-อัคซา และโดมทองแห่งเยรูซาเลม (Dome of the Rock) ที่เป็นทั้งศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองศาสนาที่กล่าวมา แต่หลังสงครามกับชาติอาหรับที่มีขึ้นอีกครั้งในปี 1967 อิสราเอลก็ได้เยรูซาเลมตะวันออกมาเป็นของตัวเอง ทุกวันนี้อิสราเอลใช้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็แทบไม่มีประเทศไหนให้การยอมรับ สะท้อนจากการตั้งสถานทูตของหลายประเทศในเมืองเทล อาวีฟ แทนที่จะเป็นเยรูซาเลม ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ประกาศยอมรับสถานภาพเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอล เนื่องจากท่าทีเช่นว่าอาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นตัวกลางสานสันติภาพ และอาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมา กระนั้นก็ตาม แม้ท่าทีของทรัมป์ในปัจจุบันจะค้านสายตานานาประเทศอย่างไร แต่ก็ยังคงเหลือพื้นที่ให้เจรจาแบ่งกรุงเยรูซาเลมกันได้อยู่ เพราะทรัมป์เองก็ไม่ได้พูดชัดๆ ว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงที่แบ่งให้ปาเลสไตน์ไม่ได้ แปลและเรียบเรียงจาก US opens embassy in Jerusalem: Which countries attended?, Aljazeera, May 15, 2018 Gaza protests: All the latest updates, Aljazeera, May 14, 2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จ่อเสนอ กฎหมาย 'พลตรี' เทียบเท่าตำแหน่ง 'อธิบดี' Posted: 14 May 2018 09:50 AM PDT โฆษก กมธ.สนช. เผย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชพลเรือน พ.ศ. .... ที่อยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อเสร็จแล้วจะนำเข้าครม. ก่อนส่งมายัง สนช.
14 พ.ค.2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับสำนักข่าวไทย อสมท ว่า ความคืบหน้าในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชพลเรือน พ.ศ. .... ที่อยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นของประชาชน ขณะนี้ยังไม่เห็นร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกรรมาธิการกำลังรวบรวมความคิดเห็น เมื่อเสร็จแล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนส่งมายัง สนช. ส่วนในกฎหมายที่กำหนดให้ตำแหน่งพลตรีจะเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีนั้น นพ.เจตน์ บอกว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ส่วนตัวเห็นว่าการจะให้คนทั้งกองทัพได้ตำแหน่งอธิบดีเพียงคนเดียว คือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเหมาะสม เพราะมีกำลังพลมาก และเงื่อนไขหากจะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ จะต้องมีคุณสมบัติเคยเป็นอธิบดีไม่ต่ำกว่า 5 ปี ยิ่งถือเป็นการปิดโอกาสคนในกองทัพ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชพลเรือน พ.ศ. .... มีเนื้อหาอยู่ 7 มาตรา เนื้อหาสำคัญอยู่ในมาตรา 4 ที่ระบุว่า ข้าราชการทหารที่รับราชการ หรือเคยรับราชการ และมีหน้าที่และมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินระดับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ชั้นยศ พล.ต. พล.ร.ต. พล.อ.ต. ให้เทียบเท่าข้าราชการพลเรือนที่รับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดี จากข้อมูลในเว็บไซต์ กองบัญชาการกองทัพไทย ระบุ มาตรา 4 ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไว้น่าสนใจว่า "ข้าราชการทหารที่รับราชการหรือเคยรับราชการและมีหน้าที่และมีอำนาจ ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ชั้นยศ พลตรีพลเรือตรี พลอากาศตรีให้เทียบเท่าข้าราชการพลเรือนที่รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดี" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เผย 6 เกม ชิงชัยอีสปอร์ตครั้งแรกในเอเชี่ยนเกมส์ RoV, LoL, Hearthstone Posted: 14 May 2018 09:26 AM PDT สมาคมกีฬาอีสปอร์ต เผย 6 เกม ชิงชัยอีสปอร์ตครั้งแรกในเอเชี่ยนเกมส์ LoL RoV StarCraft II Hearthstone Pro Evorution Soccer 2018 และ Clash Royale 14 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ระบุว่าก่อนหน้านี้ อีสปอร์ตเข้าเป็นกีฬาสาธิตในเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ทางโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทย ก็มีการยืนยันแล้วว่า จะส่งนักกีฬาอีสปอร์ตเข้าร่วมการแข่งขันแน่นอน ซึ่งจะมีการติดต่อถึงวิธีการและแนวทางร่วมกับสมาคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งนั่นก็คือสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยนั่นเอง เอเชี่ยนเกมส์ 2018 จะมีเกมที่ใช้แข่งขันทั้งหมด 6 เกม ซึ่งมีหลายๆ สื่อที่คาดการณ์ถึงความน่าจะเป็นในการคัดสรรเกมที่จะใช้แข่งขัน ซึ่งหน้าที่นั้นตกเป็นของ Asian Electronic Sports Federation หรือ AESF เป็นคนกำหนด ซึ่งจากที่ประชุม มีการคัดเลือกแล้ว 6 เกม ได้แก่ 1. League of Legend หรือ LoL แนวเกม : MOBA ประเภทเครื่อง : PC พัฒนาโดย : Riot Games ลิขสิทธิ์ : Riot Games, Tencent Games ให้บริการในประเทศไทยโดย : บริษัท การีนา ประเทศไทย จำกัด 2. Arena of Valor หรือ RoV แนวเกม : MOBA ประเภทเครื่อง : Mobile, Nintendo Switch พัฒนาโดย : Timi Studio Group ลิขสิทธิ์ : Tencent Games ให้บริการในประเทศไทยโดย : บริษัท การีนา ประเทศไทย จำกัด 3. StarCraft II แนวเกม : RTS ประเภทเครื่อง : PC พัฒนาโดย : บลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ลิขสิทธิ์ : บลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ 4. Hearthstone แนวเกม : Card Game ประเภทเครื่อง : PC, Mobile พัฒนาโดย : บลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ลิขสิทธิ์ : บลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ถือสิทธิ์ในประเทศไทยโดย : บริษัท อินิทรี ดิจิตอล จํากัด (มหาชน) 5. Pro Evorution Soccer 2018 แนวเกม : Sport ประเภทเครื่อง : PC, Playstation 4, Xbox, Mobile พัฒนาโดย : Konami Digital Entertainment ลิขสิทธิ์ : Konami Digital Entertainment ถือสิทธิ์ในประเทศไทยโดย : Sicom Amusement 6. Clash Royale แนวเกม : Tower Defense ประเภทเครื่อง : Mobile พัฒนาโดย : ซูเปอร์เซล ลิขสิทธิ์ : ซูเปอร์เซล ถือสิทธิ์ในประเทศไทยโดย : Tencent Games สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ระบุด้วยว่า ทั้งหมด 6 เกม ทางสมาคมฯ จะดำเนินการคัดสรรนักกีฬาตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ต่อไป ส่วนจะคัดแบบไหนนั้น จะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชาวอิหร่านประท้วง 'ทรัมป์' หลังถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์ Posted: 14 May 2018 08:17 AM PDT การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านและละเมิดข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ประชาชนอิหร่านหลายคนกังวลว่าการที่สหรัฐฯ กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา รายงานในคอมมอนดรีมส์ระบุว่า ชาวอิหร่านนับหมื่นคนออกมาชุมนุมบนท้องถนนในหลายเมืองของอิหร่านเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 เพื่อแสดงความไม่พอใจการที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านและละเมิดข้อตกลง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศและอิหร่านร่วมเจรจากันได้สำเร็จในช่วงรัฐบาลบารัค โอบามา ในปี 2558 ซึ่งเป็นการยอมยกเลิกการผลิตอาวุธนิวเคลียร์และให้ต่างชาติเข้าไปตรวจสอบโดยแลกกับการผ่อนปรนการคว่ำบาตรบางส่วน ผู้ประท้วงในกรุงเตหะรานและในเมืองอื่นๆ พากันเดินประท้วงถือป้าย มีป้ายหนึ่งระบุข้อความว่า "คุณทรัมป์ คุณกำลังพูดจาเหลวไหล" ซึ่งเป็นป้ายที่นำมาจากคำกล่าวของผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อาลี คาเมเนอี โดยที่คาเมเนอีวิจารณ์ในเรื่องนี้ตังแต่เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว เขากล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โกหกเกี่ยวกับข้อตกลงรวมถึงวิจารณ์การถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงว่าทั้งเป็นการกระทำที่ทั้ง "งี่เง่า" และ "ยโสโอหัง" มีหนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงที่กรุงเตหะรานระบุว่าการถอนตัวของทรัมป์ถือเป็นการกระทำ "ไร้สติ" เป็นการ "ทำสงครามจิตวิทยา" และถือเป็นการละเมิดข้อตกลง แถลงการณ์ยังระบุในทำนองว่า "ถ้อยคำของเขา (ทรัมป์) ที่ตอบโต้อิหร่านอันเกรียงไกรเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นลักษณะแบบจักรวรรดินิยมของอาชญากรอย่างผู้นำอเมริกัน" รวมถึงระบุในเชิงว่าพระเจ้าของพวกเขาจะช่วยให้พวกเขายืนหยัดต่อสู้เพื่อ "ทำลายศัตรูของอิสลามและประเทศที่ถูกกดขี่ให้พินาศย่อยยับ" นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองกลุ่มเล็กๆ ของอิหร่านที่ประท้วงด้วยการเผาธงสหรัฐฯ ในรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา อาลี ลาริจานี กล่าวว่า "มันเห็นได้ชัดว่าทรัมป์รู้จักเพียงแค่ภาษาของการใช้กำลัง" ข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านมีชื่อเป็นทางการว่าแผนการปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) หลังจากที่ทรัมป์ประกาศจะถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนี้ก็ทำให้ผู้นำประเทศที่มีส่วนร่วมในหารือข้อตกลงนี้อย่างประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี พยายามโน้มน้าวทรัมป์ให้เคารพข้อตกลงนี้ รวมถึงมีชาวอเมริกันร้อยละ 63 ที่ยังคงต้องการให้สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในข้อตกลงนี้จากการสำรวจโพลล์ของสื่อซีเอ็นเอ็น นอกเหนือจากเรื่องการเมืองระหว่างประเทศแล้ว การเปลี่ยนแปลงของข้อตกลงดังกล่าวนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวอิหร่านเองด้วย โดยถ้าหากข้อตกลงถูกยกเลิกทั้งหมดก็จะกลายเป็นการยกเลิกการตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านและข้อบังคับเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านไปด้วย พร้อมกับที่สหรัฐฯ จะกลับมาคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันและอุตสาหกรรมภาคส่วนอื่นๆ ของอิหร่าน อามีร์ อาห์มาดี แอริอัน ศาตราจารย์ด้านวรรณกรรมและรอห์มัน บูวซารี นักข่าวในอิหร่าน เขียนบทความในนิวยอร์กไทม์ถึงกรณีนี้ว่าชาวอิหร่านมีความกังวลต่อเรื่องการคว่ำบาตร เพราะตั้งแต่ก่อนหน้าจะมข้อตกลงนี้การคว่ำบาตรทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาวอิหร่านมากโดยที่รัฐบาลที่มีลักษณะอำนาจนิยมและทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใดและไม่ค่อยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ แต่ข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์ของปี 2558 ก็ทำให้ชาวอิหร่านมีความหวังมากขึ้น ชาวอิหร่านผู้เขียนบทความในนิวยอร์กไทม์ระบุต่อไปว่า ทว่าการประกาศออกจากข้อตกลงของทรัมป์ก็ทำให้ประชาชนชาวอิหร่านทั่วไปส่วนใหญ่รู้สึกขมขื่นและท้อถอย ไม่ว่าจะเป็นบนโต็ะอาหาร ในแถวเข้าคิวซื้อขนมปัง ในวงคนขับแท็กซี่ ผู้คนในอิหร่านต่างก็พูดคุยกันถึงความทรงจำแย่ๆ ของชีวิตในช่วงที่อิหร่านถูกคว่ำบาตร ทั้งการถูกตัดงบประมาณ ภาวะเงินเฟ้อหนัก ค่าจ้างล่าช้า และขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะการนำเข้ายาซึ่งมีหลายชีวิตที่ต้องใช้มัน เรียบเรียงจาก Thousands of Iranians Take to Streets, Enraged By Trump's 'Insane' Breach of Nuclear Deal, Common Dreams, 11-05-2018 What Sanctions Mean to Iranians, Amir Ahmadi Arian and Rahman Bouzari, New York Times, 10-05-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ราชกิจจาฯ ประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา Posted: 14 May 2018 05:36 AM PDT ราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ตั้ง บอร์ดกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใน 60 วัน รับฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 14 พ.ค.2561 TNN Thailand 24 รายงานว่า วันนี้ (14พ.ค.61) นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 10 พ.ค.2561 โดยมีเนื้อหารายละเอียดทั้งหมด 18 หน้า 55 มาตรา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ นพ.สุภกร กล่าวว่า ตามความในมาตรา 51 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในวาระเริ่มแรกคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ.2553 จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และผู้จัดการ สสค. จะเป็นผู้จัดการกองทุนตาม พ.ร.บ.นี้ ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ โดยรับฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งแรก ในวันอังคารที่ 19 มิ.ย.2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะต้องจัดทำแผนการใช้งบประมาณ เพื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบเป็นรายปี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินงานได้ภายในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งในระยะแรกคณะกรรมการ สสค. จะทำหน้าที่เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้แก่กองทุน เช่น การจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ของกองทุน การจัดทำคำขอทุนประเดิม การจัดเตรียมความพร้อมขององค์กรเพื่อให้กองทุนสามารถเริ่มดำเนินงานได้ตามกรอบระยะเวลา สำหรับ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 54 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการ หรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุน ได้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี โดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ อ่านรายละเอียด พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/033/1.PDF ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เนติบริกร , รัฐศาสตร์บริการ , เศรษฐศาสตร์จัดให้ Posted: 14 May 2018 03:53 AM PDT
(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 ธ.ค. 60) เหตุใดและทำไม นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพและนักเทคนิคจำนวนมาก ต่างเต็มใจสนับสนุนและยอมทำงานรับใช้ใกล้ชิดกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจอย่างเสมอมา โดยที่ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจเลย เหตุใดและทำไม รัฐราชการจึงเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นและขยายขอบเขตอำนาจมากขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร เหตุผลสำคัญก็คือ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารจำเป็นต้องพึ่งพา พึ่งพิง และใช้กลไกรัฐราชการในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ทั้งการควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อย การป้องกันการต่อต้านจากประชาชน รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการปกครองคนให้เชื่อฟังและคล้อยตามถึงสาเหตุในการปฏิวัติรัฐประหารด้วย อีกทั้งหากรัฐราชการให้การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารแล้ว ก็จะถือเป็นข้ออ้างสำคัญที่สร้างความชอบธรรมเพื่อจะตอบคำถามของสังคมได้ด้วย ตัวอย่างผลประโยชน์ต่างตอบแทน เช่น การแต่งตั้งนักวิชาการ , บุคคลทั่วไป , นักธุรกิจ , ข้าราชการพลเรือนและทหาร เข้าเป็นส่วนหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย อันได้แก่ 1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2. คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 4. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 5. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการยิบย่อยอื่นๆ ที่แต่งตั้งตามมาอีกมากมาย เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) , คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป) เป็นต้น อีกทั้งเต็มไปด้วยแผนงาน , คณะกรรมการ , สโลแกน คำขวัญ คำปลอบขวัญ หรือคำชวนฝันจรรโลงใจ ที่สวยหรูแต่ปฏิบัติได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน และที่สำคัญก็คือ การโยกย้ายคนในเครือข่ายของตนลงในตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีอำนาจ และโยกย้ายคนของฝ่ายตรงข้ามเข้ากรุเพื่อไม่ให้มีอำนาจใดๆ น่าแปลกใจที่บรรดาข้าราชการประจำและนักวิชาการส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นนำของประเทศ มักเชื่อเสมอมาว่า ช่วงเวลารัฐบาลเผด็จการทหารจะเป็นช่วงเวลาพิเศษที่เป็นจังหวะเหมาะสมและโอกาสเปิดที่จะเข้ามาทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง ด้วยการนำความรู้ ความสามารถ เข้ามาพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเห็นผลภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจของใครหลายคนว่า เหตุใดนักเศรษฐศาสตร์จึงชอบทำงานร่วมกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเหมือนกับที่เคยวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคนหนึ่ง เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ 101 One-on-One ว่า "นักเศรษฐศาสตร์มีเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญคือ 'Cost-Benefit Analysis' คือ การวิเคราะห์ต้นทุนกับประโยชน์ ถ้าประโยชน์ไม่มี แต่ต้นทุนมันเยอะ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็จะบอกว่า ลูกยังเล็ก ถ้าวิจารณ์ทหารมากเกินไป ต้นทุนที่ตกกับครอบครัวจะสูงไป" ในแวดวงวิชาการนั้น เศรษฐศาสตร์ถือเป็นราชินีแห่งสายสังคมศาสตร์ เพราะเป็นศาสตร์เชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและสมการคณิตศาสตร์จำนวนมาก โดยที่สังคมภายนอกเข้าใจได้ยากเนื่องจากมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน และก็มีเพียงนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่สามารถอธิบายความหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งได้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจว่า ตัวเองมีความรอบรู้และมุ่งมั่นตั้งใจดี ดังนั้นการชี้นำสังคม การนำเสนอและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในช่วงสภาวะพิเศษเช่นในรัฐบาลเผด็จการทหารจะสามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่เรื้อรังมานานได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายขึ้น โดยที่ไม่ถูกตรวจสอบจากระบอบรัฐสภาและภาคประชาสังคม แต่ความตั้งใจดีนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างประเมินค่ามิได้เช่นกัน ดังตัวอย่าง การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน , การสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างจงใจ (โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มทุนบางกลุ่ม โดยถ่ายโอนเงินงบประมาณภาครัฐเข้าสู่กระเป๋าของกลุ่มทุนรัฐชาติขนาดใหญ่ โดยไม่ผ่านมือประชาชน) เพราะในรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งจะมีระบบตรวจสอบ , ถ่วงดุล , คานอำนาจ จากภาคการเมืองและสังคม ซึ่งจะทำให้นโยบายเกิดความชอบธรรม มีความรอบคอบ และรัดกุมมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ และไม่ให้ผลประโยชน์ดังกล่าวนั้นตกอยู่กับกลุ่มทุนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหารมาทุกยุคทุกสมัย หรือมองอีกมุมหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจตามแนวคิดของตนเองผ่านระบอบการเมืองและนักการเมืองได้ในสภาวะปกติ เพราะต้องมีการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน การเมืองในระบอบรัฐสภาจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งรังเกียจเดียดฉันท์ อึดอัดไม่สบายใจ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงมีความยินดีปรีดา รู้สึกเป็นมิตร และผ่อนคลายมากขึ้นที่จะผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจผ่านรัฐบาลเผด็จการทหาร และรัฐบาลเผด็จการทหารเองก็ให้เกียรติพร้อมจะรับฟังและให้การยอมรับนับถือ เนื่องจากตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจที่มากพอ ดังนั้นการนิยามความหมายของกลุ่มบุคคลที่เป็นอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ก็เพื่อพยายามเข้าใจลักษณะ แนวคิด และวิธีการเข้าสู่อำนาจ รวมทั้งจุดมุ่งหมายในการรับใช้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนี้ |
Posted: 14 May 2018 03:27 AM PDT
นอกจากไล่จับไล่รื้อ ปปง.ยังอาจยึดทรัพย์ฐานฟอกเงิน อ้อๆ สรรพากรคงตรวจภาษีย้อนหลังอีกต่างหาก ฟังแล้วไม่ทราบคนไทยจะชื่นชมเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าเข้มแข็งเอาจริงเอาจัง หรือตั้งคำถามว่าทำไมปล่อยปละละเลยจนป่านนี้ แล้วที่อื่นล่ะมีไหม บางคนยังสงสัยว่า นี่ถ้า พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาตลาด ผู้กว้างขวางในยุทธจักร ไม่กร่างใส่เจ้าหน้าที่ จะเจอหนักอย่างนี้หรือเปล่า แม้แต่กรณีเมจิกสกิน ซึ่งมาไล่บี้เอาผิดดารารับจ้างรีวิว ก็มีคำถามย้อนกลับว่าทำไมผลิตภัณฑ์หลอกลวงไร้มาตรฐานจึงมีสัญลักษณ์ อย. สามารถวางขายมาเป็นปี ๆ มีคัทเอาท์ใหญ่โตตามถนน ลงโฆษณาทีวี ขายดิบขายดีจนฉลอง 900 ล้านระหว่างนั้น อย.ไปหลับอยู่ที่ไหน ไม่มีใครทราบ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเฉลยว่า เครื่องสำอางขอสัญลักษณ์ อย.ง่ายมาก แค่ขอจดแจ้งออนไลน์ ระบุสถานที่ผลิต รายละเอียดตามกำหนด ก็ผลิตและวางขายได้เลย ประชาชนก็หลงเชื่อ จนกระทั่ง อย.ไปตรวจสอบภายหลัง พบว่าโรงงานที่แจ้งไว้กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า บางคนบอกว่าตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ไปโดนเขาหลอกทำไม ปัดโธ๋ ขนาดน้องแบมฮีโร่ปราบโกงเงินคนจนยังโดนหมดตัว ถามหน่อย เรามีหน่วยงานกำกับดูแลไว้ทำไม พูดอย่างนี้ไม่ใช่ดารารีวิวไม่ผิด ต้องว่าเป็นราย ๆ บางรายก็เว่อร์เกิน แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดฐานบกพร่อง รับแต่ความชอบเท่านั้นหรืออย่างไร แบบเดียวกับตลาดใหม่ดอนเมือง ชาวบ้านฟังเจ้าหน้าที่สาธยายก็เชื่อว่าผิดแหง ๆ แต่สงสัยอยู่มาได้ไง ทำไมเพิ่งโดน (อย่าโยนรัฐบาลที่แล้วเพราะอยู่มาสี่ปี) พอโดนก็จัดเต็ม จัดหนัก เพื่อโชว์ความเฉียบขาดของอำนาจรัฐ สนธิกันงัดกฎหมายทุกฉบับมาบังคับใช้ ทั้งตำรวจ โยธา ธนารักษ์ ปปง. สรรพากร (ถ้ายังเหลือซาก ก็ต้องบอกว่านายแน่มาก) ปรากฏการณ์แบบนี้ฟังคุ้นๆ เหมือนจับเปรมชัยแล้วจับรีสอร์ทพี่สาวรุกป่าที่จังหวัดเลย เหมือนจับทัวร์ศูนย์เหรียญตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ปปง.ยึดทรัพย์ได้ทันที หรือคดีป้าทุบรถ ปล่อยปละมาสิบปีทุบทีเดียว กทม.สั่งกวาดเหี้ยน นี่เป็นวิถีการทำงานแบบรัฐราชการไทย คือปกติก็หย่อนยาน พอเป็นข่าวเป็นกระแสก็แข็งขันเอาจริงทุกอย่าง ซึ่งดูเหมือนดี แต่พอทำไม่ได้ทุกที่ ก็ไม่เป็นมาตรฐาน ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น เร่าร้อนเป็นพักๆ แล้วก็กลับไปหย่อนยานอีก อย่างที่คนไทยคุ้นเคยดี การโชว์ออฟโชว์พาวกันอย่างนี้ ชาวบ้านอย่างเราดูแล้วก็สนุกดีครับ แต่ถ้าให้ดีต้องไล่จี้ว่าอย่ามีโชว์เฉพาะฉาก เอาจริงก็ต้องกวาดให้หมด ทุกยี่ห้อทุกตลาด แล้วต้องยกระดับการทำงาน ให้สม่ำเสมอครอบคลุม มองภาพกว้าง เรากำลังอยู่ในช่วง "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" รัฐราชการโชว์ภาพเข้มแข็ง จริงจัง ไล่จัดระเบียบ กวาดล้าง ปราบโกง ฯลฯ มองมุมหนึ่งน่าชื่นชม แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็มาจากรัฐราชการฉ้อฉลหย่อนยานนั่นเอง ไม่ใช่ว่ารัฐราชการเป็นใหญ่จะดูแลประชาชนได้อย่างที่พยายามโชว์
ที่มา: www.kaohoon.com/content/229601
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: Critical thinking กับนิยายน้ำเน่าการศึกษาไทย Posted: 14 May 2018 03:19 AM PDT
ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ถูกขับเคลื่อนโดยความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยเอง ได้มีการวางรูปแบบ หรือแบบแผนการคิดและการแสดงออกทางความคิดอย่างชัดเจน ซึ่งก็คือการศึกษาถึงบริบททางความคิดว่าส่งผลต่อความเป็นไปของสังคมในแต่ละขณะอย่างไรบ้าง เราจึงเห็นว่าอเมริกันให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางความคิดอย่างยิ่ง เพราะไม่ง่ายเลยที่คนเราจะแสดงออกหรืออธิบายความคิดของแต่ละคนให้ชัดเจนลงไป ซึ่งก็คือการรู้จักตัวตนของเขานั่นเอง แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของการฝึกการแสดงออกเชิงความคิด ย่อมได้แก่สถาบันการศึกษา ที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานสำคัญของการฝึกฝนอบรมทางปัญญาของมนุษยชาติโดยทั่วไป ปัญหาอยู่ที่สถาบันการศึกษาเหล่านี้จะตอบสนองต่อความคิดของผู้กำลังศึกษาอย่างไร ต่อยอดของความคิดให้เกิดความแหลมคม นำมาใช้เพื่อพัฒนาสังคมมนุษย์ได้มากน้อยขนาดไหน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ต่างมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาแบบปัญญาญาณหรือที่ก่อให้เกิดปัญญาญาณ โดยวิธีการพัฒนาความคิดประกาหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือ วิจารณญาณทางความคิดหรือ Critical thinking ที่อาศัยการวิธีการวิเคราะห์วิพากษ์แบบแยบยล ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ เชื่อว่าปาฏิหาริย์ เกิดจากความคิดหรือความคิดคือปาฏิหาริย์ ยกเว้นแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้นที่พยายามสกัดกั้นความคิดอิสระแบบนี้ ซึ่งว่าที่จริงแล้ว มันเชื่อมโยงไปถึงการกำเนิดนวัตกรรมโดยตรง ร้ายสุดในประเทศเผด็จการคือ การปิดกั้นการแสดงออกของเจ้าของความคิดอย่างนักศึกษา ปัญญาชน จากการวิพากษ์ของพวกปัญญาชนเหล่านี้ การปิดกั้นดังกล่าวไม่ได้ช่วยพัฒนาต่อยอดทางความคิดเอาเลย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่เห็นความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ การปิดกั้นดังกล่าวมีแต่พาสถาบันการศึกษาเหล่านี้ไปอยู่อันดับท้ายๆ ในบรรดาสถาบันการศึกษาที่เลวร้ายที่สุดของโลก เพราะเทรนด์ของโลกพัฒนาไปในเชิงการคิดวิเคราะห์ และวิพากษ์ หาใช่การเอามือซุกหีบแต่อย่างใดไม่ ท้ายสุดก็คงไม่มีใครยืนหยัดกู้ชีพสถาบันการศึกษาเหล่านี้ได้ สถาบันการศึกษาเหล่านี้ต่างทำตัวเองทั้งสิ้น นอกจากสิ้นเปลืองงบประมาณสนับสนุนการศึกษาโดยรัฐแล้ว สถาบันฯแบบนี้ยังเป็นกาฝากของสังคมอีกด้วย เพราะไร้ประโยชน์ มีชื่อและอยู่ได้เพราะดูดทรัพยากรที่ประชาชนอุดหนุนอยู่อย่างน่าละอายยิ่ง เลยไปจากเทคโนโลยีที่จับต้องได้แล้ว ความจำเป็นของ Critical thinking จึงอยู่ในสายการศึกษาปรัชญาและสังคมศาสตร์ มิใช่ว่าจะวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีเพียวๆ จะไปได้ เพราะทักษะการคิด การวิเคราะห์และการวิจารณ์ ถือว่าสำคัญมากในโลก 4.0 อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาจากการเรียนการสอนตามสถาบันการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ ยังปรากฏว่า บรรยากาศห้องเรียนยังไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย คือยังมีลักษณะเผด็จการในห้องเรียนอยู่ ครูอาจารย์กับวิธีการเรียนการสอนแบบเกรียนหรือแบบล้าหลังที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเลิกใช้กันมานานแล้ว โดยที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้น กล่าวได้ว่าสิงคโปร์คือแม่แบบของการเรียนการสอนแบบ critical thinking เลยก็ว่าได้ เป็นเหตุให้สิงคโปร์ ติดอันดับประเทศชั้นดีทางการศึกษาแบบเดียวกับกลุ่มประเทศ OECD กรณีของประเทศไทยนั้น นอกจากต้องแก้ไขตัวสังคมที่เป็นไปในเชิงอำนาจนิยมโดยส่วนใหญ่แล้ว การจัดตั้งองค์กรเพื่อขับเคลื่อนด้านพัฒนาการศึกษาก็ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน เหมือนที่เพื่อนคนไทยของผู้เขียนจากสหรัฐอเมริกาดำริที่จะทำ กล่าวคือจัดตั้งมูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ หรือ Education for Freedom Foundation ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยกันกระตุ้น ขับเคลื่อนและยกระดับให้ระบบการศึกษาของไทยสอดคล้องกับสังคมโพสต์โมเดิร์น ยุค 4.0 เพราะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สถาบันการศึกษาของไทยและหน่วยงานของรัฐทางด้านการศึกษา ณ เวลานี้ แทบไม่เคยติดที่จะทำเอาเลย น้ำเน่าเต็มตัว อาจารย์ผู้สอนเองทำงานรูทีนแบบซังกะตายไปวันๆ เท่านั้น ไม่รวมถึงว่าเราได้งานวิจัยแบบห่วย แตกจากสถาบันอุดมศึกษาโหลยโท่ยที่เห็นๆ กันอยู่ โดยที่งานวิจัยดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ปัญหาสังคมใดๆ ดังที่เห็นกัน ภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทยจึงไม่ต่างไปจากหอคองาช้าง นักวิชาการส่วนใหญ่เท้าลอยเหนือดิน ไม่ลงมาสัมผัสปัญหาที่แท้จริงของสังคม ไม่รวมถึงการประเมินผลและวัดคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานคุมมาตรฐานการศึกษาของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เกี๊ยเซี๊ยะตามฟอร์มของระบบอุปถัมภ์ เล่นพรคเล่นพวกในบรรดาคณาจารย์ และสองมาตรฐานชัดเจน เช่น มีคนมองว่า มาตรฐานการตรวจสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของสงฆ์กับสถาบันการศึกษาของคฤหัสถ์ต่างกัน เป็นต้น ทั้งที่วุฒิบัตรที่ออกโดยสถาบันการศึกษาภายใต้สกอ.เหมือนกัน สรุปคือ การศึกษาไทยยังบกพร่องด้านการเรียนการสอนและการปฏิบัติเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับ critical thinking และควรปรับเปลี่ยนแบบแผนการเรียกการสอนให้เป็นแบบเปิดคือคำถามเปิดมากขึ้นให้ผู้เรียนใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ด้วยตัวของเขาเอง เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลกหรือกระแสสากล มิเช่นนั้น ไทยก็จะคงระบบล้าหลังทางการศึกษาเอาไว้อย่างนี้ ซึ่งรังแต่จะบั่นทอนโอกาสการพัฒนาและศักยภาพของประเทศในทุกๆ ด้านลงเรื่อยๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปัญหาของอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชที่วานรนิวาส Posted: 14 May 2018 03:04 AM PDT
มาตรา 189 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือ 'กฎหมายแร่ฉบับใหม่' ที่ใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 หรือ 'กฎหมายแร่ฉบับเก่า' ที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น บัญญัติไว้่ว่า "บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ยังคงใช้ได้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมืองและการจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามมาตรา 32 การฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทําเหมือง การวางหลักประกัน และการจัดทําประกันภัยตามมาตรา 68 (8) และ (9) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในการออกประทานบัตร" ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ มี 'หลักเกณฑ์' อะไรบ้างที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ให้อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาสที่ออกตามความกฎหมายแร่ฉบับเก่า[[1]]ต้องปฎิบัติตาม ?
ประเด็นที่ 1มาตรา 16 วรรคสอง ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้ต้องมีฐานข้อมูล 5 ด้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตามมาตรา 12 (1) ดังนี้ (1) พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมืองของประเทศ (2) การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ (3) การประเมินสถานการณ์และพิจารณาขีดจำกัด (4) ความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว (จากข้อ (2) และ (3)) เพื่อการทำเหมืองในภาพรวมให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง (5) ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มาตรา 17 วรรคแรก ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูล ดังนี้ (1) การสำรวจทรัพยากรแร่ (2) แหล่งแร่สำรอง (3) การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ (4) พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ (5) พื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็น 'เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง' (คำที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศเดี่ยวน่าจะมีความหมายตรงกับ 'เขตสัมปทานแร่' หรือ Mining zone) มาตรา 17 วรรคสี่ ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ระบุไว้ชัดเจนว่า 'เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง' ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ําหรือป่าน้ําซับซึม มาตรา 19 วรรคแรก ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้การอนุญาตทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็น 'เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง' ตามมาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่เสียก่อน ดังนี้ "เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่ การอนุญาตให้ทําเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กําหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และในกรณีที่แหล่งแร่ใดมีศักยภาพในการพัฒนา แต่เทคโนโลยีที่จะใช้ในการทําเหมืองและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนยังไม่เหมาะสม ให้สงวนแหล่งแร่นั้นไว้จนกว่าจะมีเทคโนโลยี และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม ในกรณีการทําเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูง ในการอนุญาตต้องกําหนดให้มีการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมือง และจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย" แต่อาจจะมีข้อโต้แย้งตามมาว่า (1) อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัทฯได้รับอนุญาตเมื่อปี 2558 ก่อนที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ถูกใช้บังคับ จึงถือว่าเป็นอาชญาบัตรพิเศษตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า ซึี่งมาตรา 189 ก็รับรองไว้แล้วว่าบรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ (2) 'เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง' ตามยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ดังที่กล่าวถึงนั้นเป็นนิยามความหมายของการบริหารจัดการแร่ที่อยู่ในอีกขั้นตอนหนึ่งที่ยังมาไม่ถึง นั่นคือ ขั้นตอนการขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ซึ่งต้องทำหลังจากการสำรวจแร่โปแตชตามอาชญาบัตรพิเศษเสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้ว เมื่อสำรวจพบว่ามีแร่โปแตชในเชิงพาณิชย์ที่คุ้มค่าน่าลงทุนก็จึงไปขอประทานบัตรเพื่อขอทำเหมืองแร่เป็นขั้นตอนต่อไป ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดตามข้อโต้แย้งที่ยกมาก็คือ กฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดนิยามคำว่า 'การบริหารจัดการแร่' ไว้ในมาตรา 4 ดังนี้ "การบริหารจัดการแร่" หมายความว่า การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การสำรวจแร่ การทำเหมือง การทำเหมืองใต้ดิน การขุดหาแร่รายย่อย การร่อนแร่ การประกอบธุรกิจแร่ การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม รวมทั้งการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการเรื่องดังกล่าว นั่นก็แสดงว่า วัตถุประสงค์ของการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ไม่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการแร่เฉพาะในขั้นตอนการขอประทานบัตรเพื่อขอทำเหมืองแร่แต่อย่างเดียว แต่กฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้จัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการบริหารจัดการแร่เพื่อแจกแจงพื้นที่และข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่อีกด้วย ดังนั้น ตามมาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่ และมาตรา 19 วรรคแรกย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแจกแจงว่าพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัทฯมีพื้นที่และข้อมูลประเภทใดอยู่ในนั้นบ้าง ด้วยเหตุที่กล่าวมา บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า จึงไม่สามารถถือได้ว่าเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้โดยปริยาย ก็เพราะว่ามาตรา 189 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่บังคับให้บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่เสียก่อน ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็คือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคแรกซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับมาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 17 วรรคแรก และมาตรา 17 วรรคสี่ ตามที่กล่าวมานั่นเอง ประเด็นที่สองประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร พ.ศ. 2560 หนึ่งในอนุบัญญัติอีกหลายฉบับภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ในข้อ 6 (6) ระบุว่าแผนงานและวิธีการสำรวจแร่ต้องมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแผนควบคุมและฟื้นฟูผลกระทบจากการสำรวจด้วย ประเด็นที่สามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดแบบอาชญาบัตร แบบประทานบัตร แบบใบอนุญาต และแบบอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 พ.ศ. 2560 อีกหนึ่งในอนุบัญญัติหลายฉบับภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ ระบุไว้ในแบบแร่ 1 (3) ลำดับที่ 4 ข้อ 3 ซึ่งเป็นเงื่อนไขการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษว่า ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษจะสำรวจแร่ในที่ซึ่งมีบุคคลใดมีสิทธิครอบครอง หรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกฎหมายมิได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น คำถามร่วมกันสำหรับประเด็นที่สามและสี่ก็คือ อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชของบริษัทฯทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ มีการลงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแผนควบคุมและฟื้นฟูผลกระทบจากการสำรวจและได้แสดงให้เห็นว่ามีที่ดินที่ซึ่งมีบุคคลมีสิทธิครอบครอง หรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกฎหมายอื่นไว้หรือไม่ อย่างไร เพราะถ้าไม่มีรายละเอียดแสดงไว้ ก็ต้องเอาอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลงดังกล่าวกลับมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้
ประเด็นที่สี่จึงไม่แปลกที่ประชาชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสได้รวมตัวกันเพื่อขัดขวางการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชหลุมที่ 4 ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา โดยหยิบยกมาตรา 188 ขึ้นมาเรียกร้องเพราะเห็นว่าบรรดาคําขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ตั้งแต่กฎหมายแร่ฉบับเก่ายังมีผลใช้บังคับ แม้ว่าบรรดาคำขอเหล่านั้นถูกอนุโลมให้เป็นคําขอตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ แต่จะเป็นคำขอตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ไม่ได้หากไม่พิจารณาดําเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ด้วย ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรังวัดกำหนดเขตคำขอตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 พ.ศ. 2560 ประกาศใช้บังคับ จึงต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประกาศฉบับดังกล่าวโดยเคร่งครัดด้วยการตรวจสอบพื้นที่ที่ยื่นคำขอว่าเป็นพื้นที่ที่ห้ามยื่นขอตามกฎหมายว่าด้วยแร่หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ โดยลงรายละเอียดข้างเคียงให้ครบถ้วน ทั้งแสดงแนวเขตการทับคาบเกี่ยวพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย พื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี และพื้นที่ตามมาตรา 20 แห่งกฎหมายแร่ฉบับใหม่ด้วย ถึงแม้ประกาศฉบับดังกล่าวออกมาเพื่อใช้บังคับสำหรับ 'คำขออาชญาบัตรพิเศษ' และคำขอประเภทอื่น ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนได้รับ 'อาชญาบัตรพิเศษ' หรือใบอนุญาตประเภทอื่น จึงไม่น่าที่จะเอาประกาศฉบับดังกล่าวมาใช้กับกรณีของอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทั้ง 12 แปลงของบริษัทฯได้ เพราะคนละขั้นตอนกัน แต่เพราะพวกเขาเห็นว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลงของบริษัทฯกำลังเกิดสภาพติดหล่มตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ จึงควรย้อนกลับไปแก้ไขอาชญาบัตรพิเศษเสมือนว่ายังอยู่ในขั้นตอนของคำขออาชญาบัตรพิเศษ ก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้แล้วในประเด็นที่หนึ่งถึงสามว่าถึงแม้ส่วนราชการและบริษัทฯจะอ้างว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อทำเหมืองแร่โปแตชทั้ง 12 แปลงของบริษัทฯออกก่อนกฎหมายแร่ฉบับใหม่ใช้บังคับ และกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็รับรองไว้แล้วว่าให้ถือเป็นอาชญาบัตรพิเศษตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะติดหล่มที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ดังที่กล่าวไว้แล้วในประเด็นที่หนึ่งถึงสามว่ามันได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงแบบแก้ปัญหาไม่ตกในเรื่องสำคัญที่ว่าในพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทัั้ง 12 แปลงของบริษัทฯมีการลงรายละเอียดว่ามีพื้นที่และข้อมูลประเภทใดตาม (1) ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ (2) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร พ.ศ. 2560 และ (3) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดแบบอาชญาบัตร แบบประทานบัตร แบบใบอนุญาต และแบบอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 พ.ศ. 2560 หรือไม่และอย่างไรบ้าง ถ้าตอบไม่ได้ นั่นก็แสดงว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัทฯมีความไม่สมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่
เชิงอรรถ [1] อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง 12 แปลง ประมาณ 120,000 ไร่ ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 (จะหมดอายุลงในวันที่ 11 มกราคม 2563 โดยอาชญาบัตรพิเศษแต่ละแปลงมีอายุ 5 ปี) ซึ่งออกตามความกฎหมายแร่ฉบับเก่า หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ต่อมากฎหมายแร่ฉบับเก่าถูกยกเลิกจากผลของการประกาศใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2560 เป็นต้นมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สกว.เปิดเวทีเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่าน“นักเทษขันที-ชาวเปอร์เซีย” Posted: 14 May 2018 01:19 AM PDT สกว.จัดเวทีเสวนาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนักเทษขันทีสมัยกรุงศรีอยุธยา ระบุชัดไม่มีขันทีชายไทยต้องนำเข้าจากต่างชาติแต่ไม่ใช่จีน ชี้บทบาทชาวเปอร์เซียเริ่มจาก "พ่อค้า" ก่อนเข้ามารับราชการในราชสำนัก เพราะพระมหากษัตริย์หวังรายได้จากการค้าขายและต้องการผู้มีความรู้เฉพาะด้านเข้ามาทำงาน ภาพวงเสวนา "นักเทษขันทีและชาวเปอร์เซียในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา" 14 พ.ค. 2561 รศ.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านมนุษยศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการเสวนา "นักเทษขันทีและชาวเปอร์เซียในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา" ณ ห้องประชุม สกว. เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนักเทษขันทีและชาวเปอร์เซียในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งมีบทบาทในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา อันจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยสนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น รศ.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิ สกว. กล่าวถึงชาวเปอร์เซียในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเริ่มมีบทบาทในฐานะ "พ่อค้า" ที่เข้ามาค้าขายในคาบมหาสมุทรอินเดีย ทำรายได้มหาศาล ขายต่อสินค้าจากจีนและญี่ปุ่นผ่านไปสู่เอเชียตะวันตก ทั้งดีบุก ผ้าไหม ม้า น้ำหอม ฯลฯ สิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือ การเดินทางเข้ามาผ่านทางอินเดีย ชาวเปอร์เซียค้าขายเก่ง มีวิชาการปฏิบัติตนในราชสำนักและมีวัฒนธรรมสูง มีชุมชนชาวเปอร์เซียกระจัดกระจายไปทั่วเอเชียรวมถึงไทย การค้าที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาคือ การค้าชายฝั่งทางส่วนใต้ของทวีปอินเดีย (จุลมณฑล) ตั้งแต่สมัยคริสตวรรษที่ 16 และเป็นใหญ่เป็นโตในสมัยคริสตวรรษที่ 17 ขณะที่สยามชอบดึงเศรษฐีต่างชาติเข้ามารับราชการในวัง ได้รับตำแหน่งเป็นที่โปรดปรานจนมีบทบาทขึ้นมา เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไทยต้องการรายได้จากการค้าขายกับต่างประเทศ อีกทั้งยังมีความรู้ในการเดินเรือ การตลาด มีสินค้าที่เป็นที่ต้องการ มีเครือญาติที่อยู่ในเมืองท่าต่าง ๆ ที่สะดวกต่อการติดต่อ ซึ่งนอกจากเปอร์เซียแล้วยังมีตุรกีและชาวตะวันตกด้วย โดยใช้ภาษาโปรตุเกสในการติดต่อสื่อสารกับชาติต่าง ๆ เนื่องจากเข้ามาอยู่นาน รวมถึงภาษาจีน นอกจากนี้ยังมีการนำเข้ากองทหารม้า ใช้ม้าในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เพราะม้าจากยุโรปสวยงาม ทหารม้ามีรูปร่างสูงใหญ่ จึงเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ไทย รวมถึงมีนักเดินเรือ ผู้มีความสามารถความชำนาญเฉพาะด้าน ผู้มีความรู้ เทคโนโลยี เช่น แพทย์จีน แต่ไม่ปรากฏกระบวนการนำเข้าในเอกสารชั้นต้น เพราะคนไทยชอบอะไรที่สำเร็จรูป โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งการค้าที่กว้างขวางและมีการติดต่อกับต่างชาติจำนวนมาก ภาพขันทีชาวเปอร์เซีย ด้าน วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวว่า การแบ่งฝ่ายในราชสำนักแบ่งเป็นส่วนราชการซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร กับฝ่ายในซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน ห้ามบุรุษล่วงล้ำเข้าไปในราชสำนัก โดยการแบ่งหน่วยงานราชการรับอิทธิพลจากจีนที่แบ่งเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาเพื่อคานอำนาจกันระหว่างขุนนาง ส่วนความสนใจเรื่อง "ขันที" นั้นเริ่มจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับขันทีจีนเพราะคนไทยชื่นชมภาพยนตร์จีนกำลังภายในกันมาก จึงได้มีโอกาสแปลหนังสือและศึกษาเรื่อยมา ซึ่งพบว่าขันทีในราชวงศ์ชิงของจีนมีนับแสนคน ขณะที่ฝั่งตะวันตกอย่างอิตาลีมีนักร้องประสานเสียงในโบสถ์ที่ตัดอวัยวะเพศชายจำนวนมากประมาณ 7,000 คนต่อปี เพราะเชื่อว่าเมื่อตัดอวัยวะเพศทิ้งจะทำให้มีฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้นและมีเสียงสูงคล้ายผู้หญิง เดิมนั้นตนเคยคิดว่าขันทีน่าจะมากจากภาษาอาหรับว่า "ขะซี" แต่เมื่อพิจารณานามของศิขัณฑินหนึ่งในตัวละครสำคัญในมหาภารตยุทธ์จึงค้นคว้าใหม่ พบว่าคำว่า ขณฺฑ (ภาษาสันสกฤต) แปลว่า ทำลาย จึงพอจะทำให้ลากไปได้ว่า ไม่สมบูรณ์ ขาดหายไป ทำลายหรือตัดเป็นชิ้น สันนิษฐานว่าขันทีเป็นการเขียนแบบไทย ส่วน "นักเทษ" มาจากคำว่า นักปรเทษ หมายถึงท่านที่มาจากที่อื่น มาจากตะวันออกกลาง เช่น เปอร์เซีย ตุรกี มีการกล่าวถึงบรรดารัฐต่าง ๆ ทั้งเวียดนามและเกาหลีก็มีการส่งขันทีไปถวายจักรพรรดิจีนด้วย แต่กฎหมายของจีนในสมัยนั้นห้ามคนออกนอกประเทศ จึงคิดว่าขันทีในไทยไม่ได้มาจากเมืองจีน และตามความเชื่อของศาสนาพุทธการตัดสมบัติความเป็นชายทิ้งถือเป็นบาปกรรม จึงไม่มีขันทีชายไทยแต่นำเข้าจากต่างชาติ ทั้งนี้ขันทีจีนมีมาตั้งแต่กว่า 1,300 ปีสมัยก่อนคริสตกาลในสมัยราชวงศ์ซาง การลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการตัดสมบัติของความเป็นชายถือเป็นเรื่องน่าอับอายมาก เพราะการมีลูกเป็นเรื่องสำคัญมากในประเทศจีน ถ้าถูกตอนก็จะมีครอบครัวสืบลูกสืบหลานไม่ได้ ต่อมาตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมามีคนสมัครใจเข้าไปรับใช้ในราชสำนักกันมากขึ้นโดยหวังให้เข้าถึงส่วนในมากที่สุด และมีการแบ่งขั้วกับฝ่ายในเพื่อเพ็ดทูลความดีความชอบ ขันทีจึงมีบทบาทมาก "สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นไม่แน่ใจว่าเป็นเชิงสัญลักษณ์หรือไม่ แต่ระบบราชการไทยฝ่ายในมีกรมนักเทษและกรมขันทีทำหน้าที่เป็นองครักษ์ของฝ่ายใน เป็นผู้จำทูลพระราชสาส์น พนักงานพิธีกรรม จัดขบวนแห่ โดยแบ่งหน้าที่ให้ขันทีเป่าสังข์ นักเทษตีกลับ ทำให้สันนิษฐานว่าขันทีรับวัฒนธรรมเปอร์เซียที่ใกล้ชิดกับพราหมณ์ ทั้งนี้ขันทีในสายตาของคริสต์ศาสนามี 3 จำพวก พวกหนึ่งเป็นขันทีเพราะธรรมชาติบันดาล อีกพวกเกิดเป็นชายแต่ถูกทำให้เป็นขันที และพวกที่ 3 พอใจอุทิศตัวเป็นขันทีเพื่อพระเจ้าหรือเพื่อประโยชน์แห่งศาสนา เช่น สมัครใจตัดสมบัติตนเองทิ้งเพื่อไม่เปิดโอกาสให้เกิดกามราคะและรักษาพรหมจรรย์ รวมถึงรับใช้พระเจ้า อย่างไรก็ตาม ขันทีมักคุ้นหูโดยเฉพาะผู้ชอบเรื่องจีน แต่คำนี้มิใช่คำจีนที่เรียกขันทีว่า "ไท้ก่ำ" สังคมสมัยก่อนทั้งในยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และประเทศสุดบูรพาทิศ (จีน เกาหลี และเวียดนาม ยกเว้นญี่ปุ่น) ต่างใช้ขันทีในราชสำนักทั้งสิ้น โดยมีหลักฐานเกี่ยวกับการตอนขันทีอยู่ที่เมืองกาลาซในวัฒนธรรมสุเมเรียนย้อนหลังไปถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล" จากหลักฐานพบว่าไทยมีขันทีตั้งแต่สมัยศรีอโยธยาจนถึงสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 เพราะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศในขบวนแห่ฝ่ายใน (พระสนมกำนัล) มีขันทีสองคนชื่อราขาร และสังขสุรินทรเป็นผู้กำกับขบวนด้วย ซึ่ง ดร.วินัยได้ตรวจดูพบว่าอาณาจักรเพื่อนบ้านสมัยโบราณก็ล้วนมีขันทีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อาระกัน (ยะไข่) พม่า อินเดีย เวียดนาม และชวา แม้แต่ในภาษามมอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (ก็อมนอย) ที่แปลโดยศัพท์ว่า ชายที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ และดูเหมือนว่ากรมขันทีและกรมนักเทษจะเลิกไปสมัยเสียกรุงศรีอยุธยา เพราะในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ตอนหนึ่งกล่าวถึงการเฉลิมราชมณเฑียรที่ระบุถึงสนมนางในโดยไม่ได้กล่าวถึงขันทีและนักเทษ แต่ก็ยังมีความทรงจำเกี่ยวกับขันทีอยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังปรากฏในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ทนายวิญญัติ จ่อร้องอัยการสูงสุด เร่งนำตัว กปปส.ที่ยังเหลือฟ้องต่อศาล Posted: 14 May 2018 01:13 AM PDT ระบุเหตุเนิ่นช้า และอาจเอื้อประโยชน์แก่ผู้ต้องหารายหนึ่งรายใดหรือทั้งหมดเป็นกรณีพิเศษ ส่อไปในทางเพื่อการประวิงคดี ย้ำหากไม่ดำเนินการโดยเร็ว จะกล่าวโทษอัยการและฟ้องดำเนินคดีต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป 14 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 8.58 น. ที่ผ่านมา วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ระบุว่า วันอังคารที่ 15 พ.ค. 2561 เวลา 10:00 น. ณ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก ตนจะเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ให้เร่งนำตัวผู้ต้องหา กลุ่ม กปปส.ที่ยังเหลือฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งยังมีผู้ต้องหาคนสำคัญอีกหลายคน รวมทั้งทายาทตระกูลดังด้วย "เนื่องจากเป็นการเนิ่นช้า ไม่เร่งรีบ หรืออาจมีการกระทำในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ต้องหารายหนึ่งรายใดหรือทั้งหมดเป็นกรณีพิเศษ ไม่นำตัวมาฟ้องคดีต่อศาลหรือดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวมาฟ้อง อันส่อไปในทางเพื่อการประวิงคดี จะให้งดการดำเนินคดี หรือชะลอการฟ้องคดีแก่ผู้ต้องหารายหนึ่งรายใดหรือทั้งหมด ซึ่งหากไม่ดำเนินการโดยเร็ว จะกล่าวโทษอัยการและฟ้องดำเนินคดีต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป" วิญญัติ โพสต์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฟัง 4 ตัวแทนพรรคการเมืองตอบคำถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร? Posted: 14 May 2018 12:59 AM PDT เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ "อภิวัฒน์สยาม 2562 ความหวังและอนาคตประเทศไทย" โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ 4 คน คือ วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ เสถียร วิริยะพรรณพงศา โดยตอนหนึ่งได้มีผู้ตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยในความคิดของแต่ละคนคืออะไร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตร. ออกประกาศสั่งชาววานรนิวาสยุติการชุมนุมค้านบริษัทจีนเจาะสำรวจแร่โปแตช Posted: 14 May 2018 12:36 AM PDT 14 พ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า พันตำรวจเอก ยงยศ พลเดช ผู้กำกับสถานนีตำรวจภูธรวานรนิวาส ได้ออกประกาศ เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะเรื่อง ขอให้ยุติการชุมนุมสาธารณะของกลุ่มรักษ์วานรนิวาส ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยการสำรวจรวแร่โปแตชในพื้นที่ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยหนังสือในหนังสือระบุว่า ตามที่นายกิจตกรณ์ น้อยตาแสง และนางสาวสุดตา คำน้อย ได้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ ที่ถนนรอบเมือง บริเวณหน้าสถานที่ที่จะทำการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช แห่งที่ 4 หมู่ที่ 3 ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ปรากฎว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ เป็นการจัดการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ่งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 2561 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาศัยอำนาจตามมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงของให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 2561 อย่างไรก็ตามเวลา 14.20 กลุ่มชาวบ้านยังคงปักหลักชุมนุมคัดค้านการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่โปแทชต่อไป เนื่องจากเห็นว่าก่อนที่บริษัทจะดำเนินการใดๆ ก็ตาม ควรที่จะมีการชี้แจงข้อมูลต่างๆ ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ทราบก่อน พร้อมทั้งต้องได้รับความยินยอมจากชาวบ้านในพื้นที่ก่อน ประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในเวลานี้คือ บริษัทจะต้องเปิดเผยข้อมูลว่าการรับอาชญาบัตรพิเศษตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสำรวจแร่ได้ทั้งหมด 120,000 ไร่ จะต้องมีแผนที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการสำรวจในพื้นที่ใดบ้าง และในพื้นที่ทั้งหมดจะต้องมีการแจกแจงว่าเป็นพื้นที่ประเภทคุณภาพลุ่มน้ำประเภทใด หรือเป็นพื่นที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ช่วงเดือน มี.ค. 2560 ชาวบ้านในกลุ่มรักษ์วานรนิวาสได้ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันนี้ไปแล้ว แต่สุดท้ายศาลได้ยกฟ้องในคดีดังกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 14 May 2018 12:04 AM PDT
เกิดจากความไม่พอใจ พังก์คือวิถี อย่าหวังว่าพังค์จะหมอบคลาน เสรีพังก์ เสมอพังก์ ภราดรพังก์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นิด้าโพล เผย 57.52% อยากเห็นพรรคการเมืองใหม่ ๆ เข้ามาเป็นรัฐบาล Posted: 13 May 2018 11:23 PM PDT 32.24% หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน 32.16% เลือก พรรคเพื่อไทย 25.12% เลือกพรรคพลังประชารัฐ ที่หนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ อันดับ 3 คือพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 19.20% ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ 11.60% โดย 57.76% ไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง ก.พ.62 เพราะเลื่อนมาแล้วหลายครั้งเลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น 14 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 2)" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 9 พ.ค. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง ด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.52 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคใหม่ ๆ เพราะ อยากเห็นคนใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ๆ พรรคการเมืองใหม่ ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองเก่า ร้อยละ 37.36 ระบุว่า พรรคการเมือง พรรคเก่า เพราะ มีประสบการณ์ ทำงานอย่างมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน มีความคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี เข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่ และร้อยละ 5.12 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 32.24 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 17.44 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 14.24 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 4 ร้อยละ 10.08 ระบุว่าเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคอนาคตใหม่) อันดับ 5 ร้อยละ 7.92 ระบุว่าเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) อันดับ 6 ร้อยละ 6.24 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) อันดับ 7 ร้อยละ 3.44 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) อันดับ 8 ร้อยละ 2.08 ระบุว่าเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) อันดับ 9 ร้อยละ 0.72 ระบุว่าเป็น นายปิยบุตร แสงกนกกุล (พรรคอนาคตใหม่) และนายอนุทิน ชาญวีรกูล (หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน และอันดับ 10 ร้อยละ 0.64 ระบุว่าเป็น พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ (พรรคพลังชาติไทย) เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (10 อันดับแรก) พบว่าส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 32.16 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 25.12 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ (หนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี) อันดับ 3 ร้อยละ 19.20 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 4 ร้อยละ 11.60 ระบุว่าเป็น พรรคอนาคตใหม่ อันดับ 5 ร้อยละ 2.32 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชนปฏิรูป (นายไพบูลย์ นิติตะวัน) และพรรคเสรีรวมไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 6 ร้อยละ 2.08 ระบุว่าเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา อันดับ 7 ร้อยละ 1.92 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.28 ระบุว่าเป็น พรรคพลังชาติไทย (พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์) อันดับ 9 ร้อยละ 0.72 ระบุว่าเป็น พรรคเกรียน และอันดับ 10 ร้อยละ 0.08 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธรรมไทย สำหรับปัญหาที่อยากให้นายกคนต่อไปเข้ามาแก้ไขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.04 ระบุว่า ปัญหาปากท้อง หนี้สินของประชาชน ปัญหาการว่างงาน และราคาพืชผลตกต่ำ รองลงมา ร้อยละ 13.84 ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 6.40 ระบุว่า ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ ร้อยละ 4.64 ระบุว่า ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบัน ร้อยละ 2.72 ระบุว่า ปัญหาด้านสุขภาพการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองความเสี่ยงของผู้บริโภค ร้อยละ 1.12 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาการคมนาคม ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ทุกข้อรวมกัน และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.76 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเพราะ ยังไม่มีความพร้อม สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งเลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 31.68 ระบุว่า เชื่อมั่น เพราะ บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะ ปกติแล้ว เชื่อมั่นในความสามารถและความพร้อมของรัฐบาล และจะได้เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลได้วางไว้ และร้อยละ 10.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 9.04 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 27.04 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.56 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 31.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.76 มีภูมิลำเนา อยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 55.28 เป็นเพศชาย และร้อยละ 44.72 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 4.72 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.52 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.04 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 36.24 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 21.92 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 91.84 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.24 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.88 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 18.32 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.52 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.96 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 30.16 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.96 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.00 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.68 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.28 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 10.88 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.44 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.96 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.28 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.48 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.88 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.16 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 12.24 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.84 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.04 ไม่ระบุรายได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น