โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ชูสามนิ้ว' ไกลถึงนอร์เวย์ เนติวิทย์เล่าสถานการณ์ปัญหาพร้อมชวนต่างชาติร่วมกิจกรรม

Posted: 30 May 2018 08:47 AM PDT

วีดิโอด้านบนนี้เป็นการกล่าวปาฐกถาของบุคคลในชาติต่างๆ ที่ไปร่วมงาน Oslo Freedom Forum ที่จัดขึ้นที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ (ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค.2018) ในวันที่สองของงาน หนึ่งในคนที่ขึ้นพูดในเวทีนี้มาจากประเทศไทย นั่นคือ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่เพิ่งถูกปลดไปเร็วๆ นี้) ในหัวข้อ
The Student vs. The Military

ประมาณนาทีที่ 1.14.00 จะปรากฏภาพเขาเริ่มพูดถึงจุดเริ่มต้นความสนใจการเมืองของเขาและสถานการณ์ขาดไร้เสรีภาพในประเทศไทยภายใต้รัฐบาล คสช. กระทั่งในนาทีที่ 1.24.00 จะเห็นว่าเขาจบการพูดที่โพเดียมและเดินออกมายืนหน้าเวทีเพื่อเชิญชวนผู้ร่วมฟังในห้องประชุมนั้น "ชูสามนิ้ว" อันเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลทหารในประเทศไทย เพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เขาบอกว่าสัญลักษณ์นี้เป็นที่น่าหวาดกลัวมากสำหรับรัฐบาล แต่เชื่อมมั่นว่าทุกคนที่นี่จะไม่โดนจับแน่นอน
 
เวทีแห่งนี้จัดมาเป็นครั้งที่ 10 แล้ว นับตั้งแต่ปี 2009 มีสโลแกนหลักว่า "ท้าทายอำนาจ" มันเป็นเวทีที่รวมบรรดาบุคคลผู้กล้าหาญทั่วโลก ทั้งในแวดวงนักกิจกรรม ผู้ประกอบการสร้างสรรค์, สื่อมวลชน, ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี, ผู้ผลิตนโยบายทั้งหลาย รวมถึงบรรดาศิลปิน มาร่วมกันแลกปลี่ยนประสบการณ์และหาหนทางในการขยายพื้นที่เสรีภาพและปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์

สำหรับเนื้อหาการพูดของเนติวิทย์นั้น Voice TV ได้จัดแปลไว้ครบถ้วน ดังนี้

"ผมคงไม่ได้มาที่นี่ถ้าผมถูกจับพร้อมเพื่อนที่ออกไปประท้วงในวันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร เพื่อทวงการเลือกตั้งจากรัฐบาลทหาร ผมอยากจะขอยกย่องความมุ่งมั่นในจิตวิญญาณประชาธิปไตยของพวกเพื่อนๆ ผม ที่พยายามจะนำมา (ซึ่งประชาธิปไตย) ให้กับพวกเรา

ชีวิตผมไม่ได้ต่างจากเด็กไทยทั่วๆ ไป ผมโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางของสังคมไทย ผมเป็นเด็กที่เรียนได้ในระดับพอใช้ ผมไม่สนใจเรื่องการเมือง ผมยอมตัดผมเกรียนและสวมเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่ตั้งคำถาม จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้ทำหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน และเขียนบทความตั้งคำถามว่าทำไมครูถึงต้องมายุ่งกับศีรษะนักเรียน ผมขอให้ครูที่ผมเชื่อใจช่วยอ่านบทความ และต่อจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้ยินเสียงเรียกจากเครื่องกระจายเสียงของโรงเรียน ให้ผมเข้าไปพบที่ห้องพักครู ผมถูกกักบริเวณ 5 ชั่วโมง เพียงเพราะผมเขียนบทความ ถามคำถามง่ายๆ ว่าทำไมครูต้องมายุ่งกับศีรษะของนักเรียน ประสบการณ์นี้ทำให้ภาพของผมในสายตาของครูเปลี่ยนไป จากนักเรียนธรรมดา กลายเป็นนักเรียนที่เป็นภัยต่อโรงเรียน ซึ่งผมถือว่ามันเป็นคำชมที่เป็นเกียรติกับผมมาก

จนกระทั่งปี 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกองทัพคณะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล และส่งทหารไปควบคุมทั่วประเทศ เพราะมีการเคลื่อนไหวประท้วงการก่อรัฐประหาร และพวกเขาก็ตอบโต้ด้วยการจับกุมผู้ประท้วง ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้มีอำนาจในประเทศไทยใช้กำลังปะทะกับผู้ชุมนุม เมื่อ 40 ปีก่อน นักศึกษาจำนวนมากก็ถูกสังหารหมู่ด้วยฝีมือของผู้มีอำนาจในระดับที่ไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของจีน

เมื่อปี 2559 ในฐานะที่เป็นนิสิตคนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกมองว่าเป็นสถาบันของพวกอนุรักษนิยม เพื่อนร่วมชั้นของผม และตัวผมเอง ได้ตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญด้วยการพยายามจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ผมเชิญโจชัว หว่อง แกนนำกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยในฮ่องกงเพื่อเข้าร่วมเวทีพูดคุย เพื่อให้เขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในไทย แต่ผมตกใจมากเมื่อผมไปรอเขาที่สนามบินอยู่นานกว่า 8 ชั่วโมง แต่เขาก็ไม่มา และตอนหลังผมเพิ่งรู้ว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ของทางการไทยควบคุมตัว และถูกส่งตัวกลับฮ่องกงในวันต่อมา นั่นเป็นครั้งแรก ภายใต้อรัฐบาลทหาร ที่ผมรู้สึกว่า ประเทศไทยได้สูญเสียเสรีภาพที่เราเคยมี และประเทศของผมตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีนเสียแล้ว

ปีถัดมา ผมได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมและเพื่อนร่วมสภาได้ตัดสินใจเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่แรกเข้า ซึ่งนักศึกษาปี 1 ต้องหมอบกราบต่อหน้าพระรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผมเลือกที่จะยืนขึ้นแทน เพื่อรำลึกถึงพระดำริของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงประกาศเลิกทาส สิ่งที่ผมและเพื่อนทำลงไปกลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงวิชาการ และอาจารย์จำนวนหนึ่งกล่าวหาว่าผมแสดงอาการก้าวร้าวแข็งข้อ และพยายามจัดฉาก และศิษย์เก่าหลายคนเรียกร้องให้ไล่ผมออก รวมถึงปลดผมออกจากการเป็นประธานสภานิสิต เช่นเดียวกับเพื่อนนิสิตคนอื่นๆ ที่เลือกจะยืน ถูกตัดคะแนนประพฤติทั้งหมด

พวกเราเจอลงโทษหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่จากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้พวกเราได้รับการสนับสนุนจากคนไทยจำนวนมาก รวมถึงนักวิชาการทั่วโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบล 8 ราย และนักวิชาการอีกกว่า 100 ราย แสดงความกังวล และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทบทวนการกระทำดังกล่าว เพราะพวกเราก็เป็นแค่นิสิตที่ต้องการแสดงความคิดเห็นของเราออกมา พวกเราไม่ได้มีอาวุธ แต่เรากลับถูกทำให้เงียบ

ล่าสุด ในประเทศไทย นักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งเปิดโปงกระบวนการทุจริตครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการฉ้อโกงเงินช่วยเหลือคนยากจน แต่อิทธิพลของกองทัพกำลังเข้าครอบงำสถาบันการศึกษาไทย พวกเขาได้เพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับหน้าที่พลเรือน ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์เลยแม้แต่นิดเดียว แต่เป็นการสอนให้คุณเป็นนักเรียนที่ดีที่เชื่อฟัง และผู้ดูแลการตรวจสอบขบวนการทุจริตที่ผมว่าก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีซึ่งมีนาฬิกาหรูอยู่ในครอบครอง 25 เรือน และยังไม่มีใครแตะต้อง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เปิดทางให้รัฐบาลทหารกลับมามีอำนาจได้ใหม่ในอนาคต วุฒิสมาชิกจำนวนเกือบครึ่งจะถูกแต่งตั้ง แทนที่จะถูกเลือกตั้งมาโดยประชาชน สิ่งเหล่านี้ยังไม่รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้ที่เห็นต่าง เช่น เพื่อนของผมซึ่งเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งชื่อว่า ไผ่ ดาวดิน แชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยในเฟซบุ๊ก และเขาเป็นคนเดียวที่ถูกจับ แต่คนอีกกว่า 2,600 คนที่แชร์บทความเดียวกัน กลับไม่ได้ถูกจับแต่อย่างใด

และในปีนี้ หลังจากที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ทำให้ผมได้รับเกียรติอีกครั้ง ด้วยการถูก (ตำรวจ) ตั้งข้อหา เป็นแกนนำ ยุยงปลุกปั่น และก่อให้เกิดความไม่สงบ ละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งถ้าถูกตัดสินว่าผิดจริงก็อาจจะถูกลงโทษจำคุก 6-7 ปี และผมเพิ่งได้รับข่าวจากเพื่อนว่าผมอาจจะโดนเพิ่มอีกข้อหา แต่ผมก็ยังมีความหวังว่าไทยจะดีขึ้น ความหวังนั้นยังไม่หายไปไหน

เมื่อไม่กี่วันก่อน เป็นวันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร เฟซบุ๊กเพจที่แสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลทหาร ได้จัดทำโพลสอบถามความเห็นประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าพวกเขายังคงสนับสนุนรัฐบาลทหารอยู่หรือเปล่า น่าประหลาดใจมากที่ร้อยละ 97 ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 300,000 คน ตอบว่า 'ไม่' แม้ว่าจะมีการประท้วงและล้มเหลว บางครั้งเราถูกจับ และบางครั้งทหารก็ตามไปถึงบ้านคนที่ออกมาประท้วง แต่คนไทยไม่ยอมแพ้ และเวลานั้นจะมาถึง เวลาที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเราทำนั้นถูกต้อง"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชกิจจานุเบกษาถอดสมณศักดิ์ 7 พระผู้ใหญ่-ศาลอนุมัติฝากขังอดีตพระพรหมสิทธิ

Posted: 30 May 2018 08:20 AM PDT

 

ราชกิจจานุเบกษาถอดสมณศักดิ์พระสงฆ์ 7 รูป ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและถูกดำเนินคดีอาญาฐานสนับสนุนพนักงานยักยอกทรัพย์ ฟอกเงิน ขณะเดียวกันอดีตพระพรหมสิทธิ หรือธงชัย สุขโข ติดต่อกองปราบขอมอบตัวคดีฟอกเงิน 150 ล้านบาท โดยศาลไม่อนุมัติประกันตัว ทำให้ถูกคุมตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

30 พ.ค. 2561 กรณีอดีตพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) หรือธงชัย สุขโข เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แสดงความประสงค์จะเดินทางเข้ามอบตัวที่กองปราบปราม คดีทุจริตฟอกเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติกว่า 150 ล้านบาท ล่าสุดภายหลัง พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เดินทางไปรับตัวพระพรหมสิทธิที่วัดสระเกศ

ล่าสุดเมื่อเวลา 15.15 น. มติชนออนไลน์ ระบุว่า ตำรวจกองปราบได้นำตัวพระธงชัย มายื่นขอฝากขัง 12 วัน ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ทั้งนี้ทนายความและฆราวาสซึ่งเป็นนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 1 ล้านบาทประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัว เนื่องจากเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์การกระทำความผิดมีผลกระทบต่อพุทธศาสนาและทำเป็นขบวนการ หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้จับสึกถอดชุดขาวและคุมตัวไปขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยทนายความจะยื่นอุทธรณ์ของประกันตัวต่อไปในวันที่ 31 พ.ค.

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่ ประกาศเรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

ด้วยปรากฏว่ามีกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่า กระทําการทุจริตและถูกดําเนินคดีอาญา ในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต

อาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ตามความในมาตรา 5 ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอนสมณศักดิ์ จํานวน 7 รูป ดังนี้

1. พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
2. พระพรหมเมธี (จํานงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม
3. พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา
4. พระราชอุปเสณาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระเมธีสุทธิกร) (สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
5. พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
6. พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา
7. พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คํามา) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ยกเว้นลําดับที่ 3 5 6 และ 7 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ถูกจับกุมและสละสมณเพศ

ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรธ.ชี้คำนวณเวลาเต็มเพดานแล้ว เลือกตั้งไม่เกิน เม.ย.62

Posted: 30 May 2018 06:45 AM PDT

หลังศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียกฎหมายประกอบ รธน.ว่าด้วย ส.ส. ประธาน กรธ.คำนวณได้เลือกตั้ง เม.ย.62 แต่จะเป็น ก.พ.ตามโรดแมพก็ได้ ถ้ารัฐบาลคุย กกต.ให้จัดเลือกตั้งเร็วขึ้น

30 พ.ค.2561 นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องส่งคำวินิจฉัยกลับมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อส่งร่างกฎหมายต่อไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะมีระยะไม่เกิน 90 วัน และเมื่อร่างกฎหมายได้รับการโปรดเกล้าฯ ก็จะทำให้กฎมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ แต่จะยังไม่สามารถนับหนึ่งในกระบวนการจัดการเลือกตั้งได้ เพราะต้องนับไปอีก 90 วัน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ถึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งนั่นเป็นผลดีเพราะพรรคการเมืองจะได้เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง

จากนั้นทันทีที่ครบ 90 วัน รัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะหารือกันเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งให้จัดขึ้นภายใน 150 วัน ดังนั้นเมื่อคำนวณระยะเวลาแบบเต็มเพดานการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใน 11 เดือนนับจากเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะไปตรงกับเดือนเมษายน 2562 พอดี แต่หากรัฐบาลต้องการให้จัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้ ก็จะต้องไปหารือกับ กกต.ให้ประกาศวันเลือกตั้งภายใน 90 วัน ไม่ต้องใช้เวลาถึง 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็จะสามารถจัดได้ตามกรอบเวลาเดิมได้

    

ที่มา: เว็บไซต์มติชน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'แพทย์ชนบท' ลั่นต้องเลิก 'ระเบียบคลัง' ถึงจะงดชุมนุม 1 มิ.ย.นี้ - เปิดปมสวัสดิการลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐ

Posted: 30 May 2018 06:37 AM PDT

ปม 'ระเบียบคลังใหม่ว่าด้วยการจ้างพนักงาน' รมว.สาธารณสุข นำทีมถก รมว.คลัง 31 พ.ค.นี้ ด้าน'แพทย์ชนบท' ลั่นต้องยกเลิก และแก้ระเบียบเงินบำรุง สธ. ข้อ 10 ถึงจะงดชุมนุม 1 มิ.ย.นี้ นักวิจับสิทธิแรงงานเปิดประเด็นสวัสดิการลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐที่หายไปจากกระแส

ภาพการประชุมปัญหาข้อห่วงใยเกี่ยวกับการออกระเบียบกระทรวงการคลัง 30 พ.ค.2561 ที่กระทรวงสาธารณะสุข (ที่มาภาพเฟสบุ๊ค เพจ ชมรมแพทย์ชนบท )

 

30 พ.ค.2561 จากกรณีกระทรวงการคลัง ออกระเบียบใหม่ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าด้วยการจ้างพนักงาน หรือ ลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ 2561 จนเกิดกระแสคัดค้านจาก ชมรมแพทย์ชนบทนัดรวมตัวแต่งดำมาประท้วงที่กระทรวงการคลัง วันที่ 1 มิ.ย.61 นั้น

รมว.สาธารณสุข นำทีมถก รมว.คลัง 31 พ.ค.นี้

ล่าสุดวันนี้ (30 พ.ค.61) เดลินิวส์ รายงานว่า นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผอ.รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารเขตสุขภาพ ราวๆ 800 คน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับระเบียบดังกล่าว

โดยในช่วงแรก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนในการรับฟังความคิดเห็นก่อน โดยการประชุมดำเนินไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะกรรมการชมรมแพทย์ชนบทได้ขึ้นแสดงความคิดเห็น โดยกล่าวตอนหนึ่งแนวตัดพ้อ ว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้ถึงเวลาเกษียณแล้วควรทำอะไรที่ถูกต้อง และไม่ควรอิงตามระเบียบกระทรวงการคลัง และปรับปรุงระเบียบเงินบำรุง ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่แตกต่างจากระเบียบกระทรวงการคลังเลย ปรากฎว่าระหว่างที่นพ.อารักษ์กล่าวอยู่นั้น พบว่ามีแพทย์จำนวนหนึ่งต่างทยอยเดินออกจากห้องประชุม ซึ่งจากการสอบถามต่างรู้สึกไม่พอใจและต้องการทำความเข้าใจเรื่องระเบียบที่ออกมาจริงๆ ไม่ได้ต้องการมาฟังอะไรแบบนี้  จนกระทั่งนพ.เจษฎา เดินทางมาถึงที่ประชุมกลุ่มแพทย์จึงได้กลับเข้าไปในห้องประชุมอีกครั้ง

นพ.เจษฎา กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการรือร่วมกับกระทรวงการคลังเบื้องต้นในวันที่ 31 พ.ค.นี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข พร้อมทั้งผู้แทนกทระทรวงฯอีก 5 คน ได้นัดหารือร่วมกับรมว.คลัง เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังบอกด้วยว่าระเบียบของกระทรงวการคลังไม่ชัดเจน ทำให้ตีความยากและขอให้มีการปรับปรุง ดังนั้นเชื่อว่าในการหารือระดับรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้น่าจะจบ 

ด้าน ประธานชมรมแพทย์ชนบทขอร่วมวงถก ลั่นต้องยกเลิกระเบียบ ก.คลัง และแก้ระเบียบเงินบำรุงสธ. ในข้อ 10 ถึงจะงดชุมนุมในวันที่ 1 มิ.ย.นี้

ส่วนหนึ่งของภาพบุคลากรของสาธารณะสุข แสดงออกซึ่งการคัดค้านระเบียบดังกล่าว ที่เผยแพร่ในเฟสบุ๊คแฟนเพจ ชมรมแพทย์ชนบท

'แพทย์ชนบท' ลั่นต้องยกเลิก และแก้ระเบียบเงินบำรุง สธ. ข้อ 10 ถึงจะงดชุมนุม 1 มิ.ย.นี้

เดลินิวส์รายงานด้วยว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ยืนยันว่าการเรียกร้องของเราไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง  และตนก็จะขอไปรวมพูดคุยกับกระทรวงการคลังในวันที่ 31 พ.ค.นี้ด้วย ซึ่งผลสรุปของวันพรุ่งนี้จะเป็นที่มาว่าเราจะยกเลิกการชุมนุมที่กระทรวงการคลังในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ หรือไม่ โดยเราขอยืนยันว่าให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลัง และปรับแก้ระเบียบเงินบำรุงกระทรวงสาธารสุข ในข้อที่ 10 เพราะมีการเอาไปผูกโยงให้การจ้างงานลูกจ้างต้องขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง ดังนั้นต้องยกเลิก 2 ข้อนี้ 

สำหรับกรณีมีกระแสข่าวถูกฝ่ายปกครองกดดันเรื่องการปลดป้ายคัดค้าน และห้ามมาชุมนุมในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า มีบางรพ.ที่มีทหารไปเจรจา ส่วนตนได้รับการเจรจาทางโทรศัพท์ ก็ไม่เป็นไร ไม่ให้ขึ้นป้ายหน้ารพ.เราก็ย้ายไปขึ้นป้ายหน้าห้องผู้ป่วยนอกแทน
 

ครม. แจง หากมีความจำเป็น ให้ไปทำความตกลงกับคลังก่อน

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสาระสำคัญ คือ ปรับเพิ่มการจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้ประกันตน จากเดิมเดือนละ 400 บาทต่อบุตร 1 คน ปรับเป็น 600 บาทต่อบุตร 1 คน ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค.61 และปรับเพิ่มจำนวนบุตรจากเดิม 2 คน อายุไม่เกิน 6 ปี เป็นบุตร 3 คน อายุไม่เกิน 6 ปี โดยให้มีผลย้อนหลังถึง 20 ต.ค.58
 
ส่วนกรณีที่กรมบัญชีกลางได้ออกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณปี 2561 เช่น กระทรวงสาธารณสุขอาจมีรายได้จากการเปิดคลินิกนอกเวลาแล้วนำรายได้ดังกล่าวไปจ้างพนักงาน หรือลูกจ้างชั่วคราว ต่อจากนี้ไประเบียบฯ ขอให้หน่วยงานราชการพึงหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการในลักษณะดังกล่าว แต่หากหน่วยงานใดได้ดำเนินการไปก่อนที่ระเบียบฯ จะออกมาก็ให้ยุบเลิกตำแหน่งดังกล่าวเมื่อหมดสัญญา แต่หากมีความจำเป็นขอให้ไปทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน
 
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มี.ค.61 มีลูกจ้างที่เป็นแพทย์ 181 อัตรา, ทันตแพทย์ 4 อัตรา, เภสัชกร 202 อัตรา เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีข้อตกลงกับกระทรวงการคลังไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะบังคับใช้กับหน่วยงานอื่น

ประเด็นสวัสดิการลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐที่หายไปจากกระแส

ขณะที่ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน ให้สัมภาษณ์กับประชาไท กรณีนี้ด้วยว่า ที่น่าอดสูใจที่สุดในเรื่องนี้ คือ บรรดาแพทย์ชนบทจำนวนมากต่างออกมาประณามระเบียบฉบับนี้ว่า ถอยหลังเข้าคลอง รวบอำนาจ ต่างๆ นานา แต่แทบไม่มีซักคนที่ใหญ่ๆ โตๆ เหล่านั้น ที่พูดถึงสวัสดิการที่ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐกลุ่มนี้ต้องเผชิญจากการจ้างด้วยวิธีคิดแบบนี้ โดยเฉพาะการที่ระบุว่าให้จ้างได้ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่งและวุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง มีแต่กล่าวเพียงว่าตนเองจะประสบปัญหาใดบ้างจากระเบียบดังกล่าว แต่ไม่สนใจว่าลูกจ้างเหล่านี้เผชิญปัญหาใดบ้าง 
 
ที่ผ่านมานั้นการจ้างลูกจ้างชั่วคราวจากเงินนอกงบประมาณนั้น อย่างน้อยที่ผ่านมาก็มีระเบียบปฏิบัติปี 2542 เป็นหนังสือจากกระทรวงการคลัง ที่กค. 0527.6/ว31 ลงวันที่ 26 เม.ย. 2542 ระบุว่าส่วนราชการใดจะจ้างให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน ยกเว้นหน่วยงานที่ไม่ต้องขอตกลงกับกระทรวงการคลังก็สามารถจ้างได้เลย ต่อมาได้มีจดหมายจากกระทรวงการคลังที่ กค. 0415/ว.23 ลงวันที่ 20 มี.ค. 2546 ได้เปลี่ยนใหม่ว่า ให้หัวหน้าส่วนราชการเจ้าสังกัด ใช้ดุลยพินิจสามารถจ้างลูกจ้างเงินชั่วคราวได้เอง โดยไม่ต้องขอตกลงกับกระทรวงการคลัง และต่อมาก็มีระเบียบกระทรวงการคลัง 18 พ.ค. 2561 กลับไปเหมือนเดิม คือ เหมือนปี 2542 คือ ต้องขออนุญาตกระทรวงการคลังก่อน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ระเบียบทุกฉบับ ยังคงระบุว่า การจ้างลูกจ้างชั่วคราวให้จ้างในอัตราไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่งและไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง ทั้งนี้หากจะจ้างในอัตราสูงกว่าอัตราค่าข้างขั้นต่ำให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน
 

ยกเว้นเพียงกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นที่ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงฯ โดยไม่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง กรณีนี้พึ่งระบุเมื่อ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหากไปดูระเบียบกระทรวงสาธารณะสุขก็ยังคงใช้คำเดียวกันคือ ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ยกเว้นเพียงการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นที่ใช้บัญชีเงินเดือนข้าราชการและเลื่อนค่าตอบแทนประจำปีได้

 

 

บุษยรัตน์ ตั้งคำถามว่า คนกลุ่มนี้ได้สิทธิอะไรบ้าง พร้อมอธิบายว่า (1) ลาป่วยตามจริง แต่ได้ค่าจ้าง 15 วัน หากลาเกินจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ลา (2) ลาคลอดบุตร 90 วัน ได้ค่าจ้าง 45 วัน และต้องทำงานมาแล้วประมาณ 7 เดือนถึงใช้สิทธินี้ได้ และใช้ได้เฉพาะรายเดือนเท่านั้น (3) ไม่มีสิทธิลากิจใดๆทั้งสิ้นในทุกกรณี หากลาเกิน 15 วัน สามารถถูกเรียกสอบสวนทางวินัยได้ (4) ลาพักผ่อนไม่เกิน 10 วัน และ (5) อื่นๆเป็นไปตามสิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33

 

อีกเรื่องที่สำคัญและคุณหมอๆ ควรใส่ใจ คือ ยังคงมีลูกจ้างอีกกลุ่มที่เรียกว่า จ้างเหมาบริการ เช่น พนักงานขับรถยนต์พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด แม่บ้าน คนสวน คนงานต่างๆ เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล การจ้างแบบนี้เป็นไปตามที่หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนมาก ที่ กค 0406.4/ว 67 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2553 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ้างไว้ว่า เป็น สัญญาจ้างทำของ ไม่ถือเป็นบุคคลของรัฐที่จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ สวัสดิการที่พึงได้รับจากทางราชการเช่นเดียวกับข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หรือบุคลากรอื่นของรัฐได้รับ และไม่อยู่ในความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งปัญหาลูกจ้างกลุ่มนี้ คือ ทำงานเหมือนข้าราชการ พนักงานของรัฐ หรือลูกจ้างประจำ กระทั่งลูกจ้างชั่วคราวทุกประการ แต่ไม่มีสิทธิใดๆคุ้มครองทั้งสิ้น

 

แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ยืนยันว่า จ้างเหมาบริการ คือ จ้างแรงงาน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะลูกจ้าง แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังละเลย คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 349/2556, อ. 531/2557 เนื่องจากลูกจ้างเหล่านี้ต้องมาปฏิบัติงานตามวันเวลาราชการ และต้องปฏิบัติงานภายใต้การบังคับบัญชาของผู้แทนของส่วนราชการ หาใช่เป็นการปฏิบัติงานโดยมีอิสระเพียงเพื่อให้ได้ผลสำเร็จของงานเท่านั้น อีกทั้งยังมีการจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่ใด มิได้มีการตรวจรับงาน คำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ตามที่สัญญาจ้างทำของระบุแนวทางไว้

 

สัญญาจ้างเหมาบริการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่ใช่เป็นสัญญาจ้างทำของ และเมื่อเป็นสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์จึงเป็นนิติสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้าง ดังนั้นการที่ส่วนราชการไม่ได้ขึ้นทะเบียนลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติกรณีดังกล่าว แม้จะกำหนดชื่อสัญญา ว่าเป็น สัญญาจ้างเหมาบริการ หรือฝ่ายลูกจ้างจะลงชื่อตามที่ระบุไว้ในสัญญาในฐานะเป็นผู้รับจ้างหรือฝ่ายนายจ้างจะลงชื่อระบุว่าเป็นผู้ว่าจ้างก็ตาม ในการพิจารณานิติสัมพันธ์ที่แท้จริงจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่า สัญญาจ้างเหมาบริการ มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของอำพรางสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นนิติสัมพันธ์ที่แท้จริง และลูกจ้างเหล่านี้ก็กลายเป็นแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ได้เท่านั้นเอง แม้มีนายจ้างชัดเจนเพียงใดก็ตาม

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติเอกฉันท์! กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส. ไม่ขัด รธน.

Posted: 30 May 2018 03:58 AM PDT

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ พ.ร.ป.ส.ส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไฟเขียวลงคะแนนคนพิการ-คนแก่ ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 นัด 5 มิ.ย. ลงมติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

30 พ.ค.2561 เว็บไซต์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นคำร้องจากความเห็นของสมาชิก สนช. 27 คนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 35(4) และ (5) ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสามหรือไม่ และมาตรา 92 วรรคหนึ่งขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 85 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 35 (4) และ( 5) ที่บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่มอาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์ (4) การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งตามาตราดังกล่าวเป็นสิทธิชนิดหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ออกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสาม

ส่วนมาตรา 92 วรรคหนึ่งของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนนให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง ตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการ หรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการเแทนโดยความยินยอม และเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ว่าไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอำนวยความสะดวกหรือจัดให้มีความช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการหรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุตามมาตราดังกล่าว ยังอยู่ในขอบเขตของวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 85 วรรคหนึ่ง

ขณะที่กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 , 26 , 27 และมาตรา 45 หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายและนำไปสู่การวินิจฉัย และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยตามคำร้อง พร้อมทั้งนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จะสอนประวัติศาสตร์ 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' อย่างไร ในยุคที่ผู้เล่าเรื่องจากไปแล้ว?

Posted: 30 May 2018 02:51 AM PDT

เมื่อประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องท่องจำชื่อ-ตัวเลขไปสอบ นักการศึกษาของสหรัฐฯ เสนอมุมมองเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคที่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กำลังจะจากไป โดยเน้นย้ำความสำคัญว่าการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไม่เพียงแค่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ แต่ยังมีความสำคัญแม้กระทั่งในชีวิตประจำวันของเด็กอย่างการต่อสู้กับการถูกข่มเหงรังแก และการจัดการกับเรื่องความเกลียดชังแบบเหมารวม

อนุสรณ์สถานรำลึกเหตุสังหารหมู่โฮโลคอส ที่เบอร์ลิน เยอรมนี
ที่มาของภาพ: Kevin O'Brien/Dodlive

เมื่อไม่นานนี้มีการสำรวจพบว่าเยาวชนยุคมิลเลนเนียลในสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 22 ที่ไม่รู้ว่าเคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น หรือไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ร้อยละ 66 ไม่รู้จักค่ายกักกันนาซีที่ชื่อ "ค่ายเอาชวิตซ์" ที่มีการกวาดต้อนและใช้ลงโทษชาวยิวในนั้น

อลัน มาร์คัส ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านศึกษาศาสตร์และหลักสูตรการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยคอนเนคติคัตกล่าวว่าในฐานะที่เขาเป็นนักวิชาการด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 การเรียนรู้ประวัติศาสตร์แค่ในแง่ของข้อเท็จจริงยิบย่อยเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยสำหรับเขา สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือนักเรียนจะเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้บ้าง และในยุคสมัยที่จำนวนผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ผู้จะเล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคนั้นได้เริ่มเหลือน้อยลงทุกที พวกเขาต้องหาวิธีการในการสอนเรื่องเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง

แล้วทำไมนักเรียนถึงควรเรียนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตด้วย แซม ไวน์เบิร์ก นักการศึกษาด้านประวัติศาสตร์มองว่าประวัติศาสตร์มีความสามารถในการทำให้คนเราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ขณะที่คีธ บาร์ตัน และลินดา เลฟสติก โต้แย้งว่าควรจะส่งเสริมการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ทำให้นักเรียนมีมุมมองต่อความเป็นมนุษย์กว้างขึ้น และส่งเสริมให้มีการเน้นทำเพื่อประโยชน์ต่อสังคม

จากแนวคิดแบบนี้ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่สมาชิกสภานิติบัญญัติในหลายรัฐพยายามแก้ปัญหาอาชญากรรมจากความเกลียดชังด้วยการส่งเสริมให้เรียนรู้เหตุการณ์สังหารหมู่หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จนถึงตอนนี้มี 10 รัฐแล้วในสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายบรรจุการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ลงในแบบเรียน

อย่างไรก็ตามมาร์คัสระบุว่าในแง่วิธีการสอนในตอนนี้อาจจะต้องมีการปรับตัวเนื่องจาก ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่ให้การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ พวกเขาเหล่านี้มีบทบาทในการสอนทั้งในทางกายภาพ ทางอารมณ์ความรู้สึก และทางข้อมูลความรู้ บุคคลเหล่านี้ยังกลายมาเป็นแรงผลักดันให้สร้างอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น

มีการประเมินว่าประชากรผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหล่านี้อาจจะลดลงเหลือราว 67,000 คน ในปี 2563 เนื่องจากอายุขัยของพวกเขา นักประวัติศาสตร์อย่างไวน์เบิร์กมองว่าความทรงจำของผู้ที่มีชีวิตผ่านช่วงนั้นมามีความสำคัญแตกต่างจากความทรงจำที่ผ่านการเรียนรู้เอาทีหลัง ผู้รอดชีวิตเหล่านี้จะสามารถทำให้คนรุ่นหลังเชื่อมโยงตัวเองกับประวัติศาสตร์ได้มากกว่าผ่านปฏิสัมพันธ์โดยตรงร่วมกับคนรุ่นหลัง และทำให้เกิดความรู้สึกเข้าถึงหัวอกผู้อื่นได้

มาร์คัส ระบุว่าเมื่อผู้บอกเล่าความทรงจำผ่านประสบการณ์จริงเหล่านี้ลดลงเรื่อยๆ กลุ่มครู นักพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และภัณฑารักษ์ ต่างก็หันมาพัฒนาระบบพิพิธภัณฑ์ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้โดยอาศัยเทคโนโลยี เช่น โครงการฟอร์เอเวอร์โปรเจกต์ ของศูนย์และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งชาติอังกฤษ โครงการนี้มีการถ่ายเก็บภาพวิดีโอผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในแบบสามมิติเพื่อให้นักเรียนได้รับชมการบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาได้ โดยสามารถให้นักเรียนซักถามและมีรายการคำตอบต่างๆ เตรียมไว้

ในสหรัฐฯ มีโครงการคล้ายๆ กันจากมูลนิธิโชอาห์ ฟาวเดชัน ที่ใช้วิธีการบันทึกวิดีโอผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบหลายมิติไว้ ศูนย์แอนน์ แฟรงค์ เพื่อการเคารพกันและกัน ในนิวยอร์กก็พยายามผลักดันโครงการให้มีการสอนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน 50 รัฐ ของสหรัฐฯ โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

มาร์คัส ระบุว่าในปัจจุบันการสอนเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าในอดีต เพราะมันมีศักยภาพในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่คิดว่าจะพัฒนามนุษยชาติอย่างไร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการแบบปัจเจกหรือการปฏิบัติการแบบรวมกลุ่ม "การสอบ" ที่แท้จริงสำหรับการเรียนการสอนในเรื่องนี้คือการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น ถ้าหากพวกเขาพบเห็นคนๆ หนึ่งกำลังถูกข่มเหงรังแก พวกเขาจะทำอย่างไร ถ้าหากมีนักการเมืองที่มีนโยบายส่งเสริมการเหมารวมและความเกลียดชังพวกเขาจะทำอย่างไร

เรียบเรียงจาก

Teaching the Holocaust Will Change After All Survivors Are Dead, Alan Marcus, Yes!, 24-05-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจ้งความอีก 62 ราย ชุมนุม 'คนอยากเลือกตั้ง' ตอนครบ4ปีรัฐประหาร

Posted: 30 May 2018 02:40 AM PDT


แฟ้มภาพ การชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง 22 พ.ค.61

30 พ.ค.2561 สื่อมวลชนรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่มาร่วมชุมนุมในวาระครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหารของ คสช.

ผู้ถูกกล่าวหาแยกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก มี 21 คนถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/ 2558  และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) โดยมีพฤติการณ์เป็นแกนนำผู้ชุมนุม ซึ่งได้แบ่งงานกันทำเริ่มตั้งแต่มีการโพสต์ข้อความชักชวนกลุ่มบุคคลมาร่วมชุมนุม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ในหมู่ประชาชนเพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และในการชุมนุมในวันที่เกิดเหตุ นายรังสิมันต์กับพวก ได้ขึ้นพูดปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช. อย่างรุนแรง

รายชื่อมีดังนี้ 1.นายรังสิมันต์ โรม 2.นายอานนท์ นำภา 3.นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว 4.นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว 5.นางสาวณัฏฐา มหัทธนา 6.นายปิยรัฐ จงเทพ 7.นายเอกชัย หงส์กังวาล 8.นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ 9.นายนิกร วิทยาพันธ์ 10.นายภัทรพล จันทร์โคตร 11.นายประสงค์ วางวัน 12.นายวิเศษณ์ สังขวิศิษฏ์ 13.นายวิโรจน์ โตงามรักษ์ 14.นางสาวศรีไพร นนทรีย์ 15.นายวันเฉลิม กุนเสน 16.นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ 17.นายธนวัฒน์ พรมจักร 18.นายประจิณ ฐานังกรณ์ 19.นายบุญสิน หยกทิพย์ 20.นายคีรี ขันทอง 21.นายพุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์

กลุ่มที่ 2 พ.อ.บุรินทร์ยังได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีก 41 คนในข้อหาความผิดละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ทั้งนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5-22 พ.ค.61 เวลาประมาณ 15.30 น.ต่อเนื่องกันที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ และหน้าอาคารยูเอ็น ถนนราชดำเนินนอก แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน

ทั้งนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดการชุมนุมมาหลายครั้ง และถูกแจ้งข้อกล่าวหามาแล้วรวม 4 ครั้ง ได้แก่ MBK39 (สกายวอล์คหน้าห้าง MBK ผู้ต้องหารวม 39 คน) RDN50 (ถนนราชดำเนิน ผู้ต้องหารวม 50) ARMY57 (หน้ากองทัพบก ผู้ต้องหารวม 57 คน) และครั้งล่าสุดคือครั้งนี้ครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร โดยแต่ละครั้งมีทั้งผู้ที่เป็นแกนนำการชุมนุมและประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม ทั้งหมดนี้นับเป็นครั้งแรกที่รัฐดำเนินคดีกับประชาชนธรรมดาที่ร่วมชุมนุมด้วย

มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
          (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
          (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
          (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 

ที่มาบางส่วน: ข่าวสดออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกฎหมายสิทธิเรียกร้องกลไกคุ้มครองชาวบ้านร้องเรียน-ปิดทาง "ฟ้องคดีปิดปาก"

Posted: 30 May 2018 01:54 AM PDT

เวทีเสวนา "ฟ้องคดีปิดปาก" ส.รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมายสิทธิยกกรณีเอกชน "เหมืองแร่เมืองเลย" ฟ้องคดีชาวบ้านหวังสร้างภาระทางคดีให้ยุ่งยาก เพื่อนำมาต่อรองเรื่องอื่น นอกจากนี้ในระยะหลังยังพบการใช้ "พ.ร.บ.ชุมนุม" เพื่อขวางชาวบ้านร้องเรียน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ชี้การฟ้องคดีปิดปากกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทั้งในทางกฎหมาย อำนาจเงิน และอำนาจรัฐ

(ภาพใหญ่) เหตุการณ์เมื่อ 15 พ.ค. 2557 กรณีชายฉกรรจ์ร่วม 300 คน อำพรางใบหน้าพร้อมอาวุธ เข้าเปิดทางให้รถบรรทุกขนย้ายแร่ทองคำออกจากเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บร่วม 30 คน ต่อมาชาวบ้านติดป้ายประท้วง "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" และ "ปิดเหมืองฟื้นฟู" ที่หน้าทางเข้าหมู่บ้าน ทำให้ในปี 2558 บริษัทเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท (ภาพเล็ก) ส.รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

30 พ.ค. 2561 มีการจัดเวทีเสวนา "การพัฒนากฎหมายและกลไกป้องกันการ "ฟ้องคดีปิดปาก" เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ" โดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ หรือ "SLAPP" (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือที่เรียกว่า "การฟ้องคดีปิดปาก" เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้กระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อยับยั้ง ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการฟ้องคดีปิดปาก โดยมิได้มุ่งที่ผลแพ้ชนะของคดี แต่มุ่งที่จะข่มขู่ให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ หรือมุ่งก่อให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ถูกดำเนินคดี

โดยแนวทางแก้ไขนั้น ศาลยุติธรรมกำลังจะผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 เพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก โดยการฟ้องไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง หรืออาจจะกลั่นแกล้งเอาเปรียบกับฝ่ายจำเลย หรือว่ามีการมุ่งหวังประโยชน์ในทางที่มิชอบ

ตอนหนึ่ง ส. รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ยกกรณีการใช้การฟ้องคดีปิดปาก กรณีเหมืองแร่เมืองเลย ที่เมื่อปี 2558 บริษัททุ่งคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% จากชาวบ้าน "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กรณีทำป้าย "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" ทีซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย "ปิดเหมืองฟื้นฟู" ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน

โดยชาวบ้านร้องเรียนว่าการขนแร่ในพื้นที่มีกระบวนการไม่โปร่งใส และเกรงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะที่บริษัทไม่เลือกวิธีแก้ไขปัญหา แต่ใช้วิธีฟ้องกลับ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเอกชนใช้การฟ้องร้องคดีให้เกิดความยุ่งยาก โดยการฟ้องคดีไม่ใช่แค่ฟ้องปิดปาก แต่ใช้การฟ้องคดีเพื่อต่อรองหวังขนแร่ทองคำออกจากพื้นที่ด้วย

และไม่เพียงแต่กลุ่มชาวบ้านที่ถูกฟ้อง แต่นักวิชาการและผู้สื่อข่าวก็ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ว่าทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัท เช่นสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ช่วงนักข่าวพลเมือง เผยแพร่รายงานข่าวของเยาวชนในพื้นที่วังสะพุง ก็ทำให้บริษัทฟ้องร้อง โดยศาลชั้นต้น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลยกฟ้อง เห็นว่าการนำเสนอเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่พอถึงศาลอุทธรณ์ ศาลบอกว่าข้อความดังกล่าวยังไม่ต้องวินิจฉัย ให้ไต่สวนว่ามีมูลหรือไม่ จึงรับฟ้องคดี

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้การฟ้องคดีหมิ่นประมาทเวลาชาวบ้านไปร้องเรียนว่ามีปัญหากับหน่วยงานนั้นๆ

เช่น เหมืองถ่านหินลิกไนต์ ที่ อ.งาว จ.ลำปาง มีกรณีที่ปลัดอำเภอฟ้องชาวบ้านในข้อหาหมิ่นประมาท หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าปลัดอำเภอปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องในช่วงรับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านร้องเรียนว่าปลัดอำเภอเขียนรายงานไม่ถูกต้อง แต่คดีนี้ศาลไกล่เกลี่ยและให้ปลัดอำเภอการถอนฟ้อง

ส.รัตนมณี กล่าวว่า คดีเหล่านี้ถึงที่สุดถ้าไม่มีการกลั่นกรองโดยผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นต้น เช่น ถ้าตำรวจไม่กรอง คดีก็ไปถึงอัยการ ไปถึงศาล

ทั้งนี้มีกรณีฟ้องนักวิชาการ ที่วิจารณ์โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยเอกชนฟ้องด้วยการนำข้อความที่นักวิชาการดังกล่าวโพสต์ ไปแจ้งความตำรวจ พอตำรวจสั่งฟ้องถึงชั้นอัยการ ก็มีการร้องเรียนที่ชั้นอัยการ แม้ว่าอัยการจะยังไม่ส่งฟ้องศาลทันทีโดยขอสอบสวนเพิ่ม แต่นักวิชาการที่ถูกแจ้งความ ยังต้องไปรายงานตัวกับอัยการทุกๆ 1 เดือน ซึ่งถ้ามีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ถูกฟ้องอาจยังไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าถูกฟ้องในต่างจังหวัดไกลๆ ก็จะเป็นปัญหา

ทนายความด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมกล่าวด้วยว่า นอกจากการฟ้องร้องหมิ่นประมาทแล้ว ในระยะหลังจะพบกรณีที่หน่วยงานราชการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฟ้องชาวบ้านที่มายื่นหนังสือด้วย ซึ่งแทนที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการใช้กกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมมาควบคุมชาวบ้าน กลายเป็นว่าทุกฝ่ายนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อไม่ให้ชาวบ้านชุมนุม

กรณีของโรงไฟฟ้าเทพา ที่ จ.สงขลา เมื่อปลายปี 2560 ที่ชาวบ้านเดินทางจาก อ.เทพา จะไปยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ถูกดำเนินคดี ไม่เพียงแต่ข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเท่านั้น แต่มีการฟ้องเพิ่มทั้งเรื่องทำร้ายร่างกาย ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน พกพาอาวุธ ฯลฯ รวมกว่า 5 ข้อกล่าวหา นอกจากนี้ในบางกรณีอาจถูกฟ้องสูงสุดถึง 7-8 ข้อกล่าวหา

ทั้งนี้การใช้กฎหมายปิดปากชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวร้องเรียนนั้น ได้สร้างภาระทางคดีความให้กับชาวบ้านอย่างมาก โดย ส.รัตนมณี ยกกรณีของชาวบ้านที่ประท้วงคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องมาตั้งแต่ปี 2545 จนศาลฎีกายกฟ้องชาวบ้านทุกคดีความใช้เวลากว่า 12 ปี  นอกจากนี้ยังไม่นับระยะเวลาที่ชาวบ้านฟ้องคดีกับต่อเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ซึ่งคดีความจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่จบ

ส.รัตนมณี กล่าวด้วยว่าขณะนี้ยังไม่มีกลไกเยียวยาและคุ้มครองสิทธิประชาชน หากพวกเขาชนะคดี ทั้งนี้พวกเขาต้องได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมด้วย และถ้ามีการฟ้องกลับ ศาลต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิทางศาลของแต่ละฝ่าย

อย่างกรณีเขาภูผา เมื่อชาวบ้านชนะคดี มีการเรียกค่าเสียหาย เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาควรได้รับความคุ้มครองหรือไม่ โดยศาลสืบพยานจนครบ โดยศาลเห็นด้วย ให้เอกชนชดเชยค่าเสียหาย ได้แก่ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ค่าประสานงาน ส่วนเรื่องตอบแทนการขาดรายได้ ศาลใช้วิธีคำนวณรายได้ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่ก็ไม่ใช่ผู้พิพากษาทุกคนจะเข้าใจ เพราะพอใช้วิธีเรียกค่าเสียหายเดียวกันนี้กับอีกคดี ผู้พิพากษาไม่เข้าใจ บอกว่าที่บริษัทฟ้องหมิ่นประมาท เป็นการใช้สิทธิทางศาล ฟ้องโดยสุจริต

ส.รัตนมณี กล่าวว่า หากประชาชนต้องการแสดงออกในการมีส่วนร่วมกับประโยชน์สาธารณะ การเรียกร้องสิทธิ ต้องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องได้รับความคุ้มครอง ปัจจุบันนี้เรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองเวลาคนมายื่นหนังสือร้องเรียนราชการ ต้องการคุ้มครองประชาชนว่าถ้าเป็นเรื่องยื่นหนังสือร้องเรียน ไม่สามารถเอาคดีมาฟ้องร้องประชาชนได้

ส่วน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า มีคนบางกลุ่มอาศัยยืมมือกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้เป้าหมายของตัวเองบรรลุผล ทำให้คนที่ร้องเรียนเงียบเสียง ทำให้เขามีภาระทางศาลจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือใช้วิธีฟ้องร้องเยอะๆ เพื่อต่อรอง แล้วขอแลกผลประโยชน์ที่พวกเขาต้องการ โดยไม่ได้หวังผลทางคดี ซึ่งเขาเชื่อว่าบุคลากรกระบวนการยุติธรรมก็เข้าใจ และคงเห็นปัญหาเหล่านี้

การฟ้องคดีปิดปาก ไม่ใช่ปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว ไม่ใช่นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ กรณีของคู่ค้าเอกชนเองก็ใช้วิธีฟ้องเช่นนี้ เพื่อให้ฝ่ายอีกฝ่ายเหนื่อยเล่นๆ ต้องไปศาลทุกนัด ทำให้คดีรกโรงรกศาล อาจกล่าวได้ว่า มีการใช้การฟ้องคดีปิดปากมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของคนที่มีอำนาจทั้งในทางกฎหมาย อำนาจเงิน และอำนาจรัฐ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัว 'เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง' หวังขยับมาตรฐานแรงงานไทย

Posted: 30 May 2018 01:38 AM PDT

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2561 สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) เปิดตัวเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานประมง (FRN) อย่างเป็นทางการเพื่อต่อสู้กับการละเมิดและเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย

ทาง ITF ระบุว่าเครือข่ายนี้นับเป็นสภาพแรงงานประมงที่เป็นอิสระและมีความเป็นประชาธิปไตย ได้รับการยอมรับจากสมาพันธ์สหภาพแรงงานจากทั่วโลก รวมถึงสภาแรงงานแห่งชาติทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ รวมถึงบริษัทไทยยูเนี่ยน ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่ใหญ่ที่สุด

จอห์นนี ฮาเซน ประธานสาขาประมงของ ITF แสดงความยินดีที่เกิดเครือข่ายนี้อย่างเป็นทางการเพื่อจะได้มีการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของแรงงานประมงทุกคนในประเทศไทย

"ผมเคยเป็นลูกเรือประมงและคนทำงานเรือเดินทะเลในประเทศนอร์เวย์มาเป็นเวลา 13 ปี การเอารัดเอาเปรียบแรงงานประมงที่มีอยู่กว้างขวางในประเทศไทยและเรื่องราวที่ผู้ใช้แรงงานประมงเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับสภาพที่พวกเขาถูกบังคับให้ต้องอดทนเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรมเมื่อเทียบกับมาตรฐานแรงงานสากล"

"การเอารัดเอาเปรียบนี้ได้ถูกเปิดเผยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทั้งสหภาพยุโรปและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประณามและลงโทษรัฐบาลไทยสำหรับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าต่อการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงานและขาดการควบคุม"

"เราได้ลงปฏิบัติงานในพื้นที่มาเป็นเวลา 14 เดือน ทำงานพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติทั้งกัมพูชาและเมียนมาร์หลายร้อยคน และถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากนานาชาติและการเปลี่ยนแปลงกฎหมายไทย แรงงานประมงได้บอกกับเราว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวพวกเขาไม่มากนัก การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่ในอุตสาหกรรมนี้"

"บทเรียนจากประเทศที่มีสหภาพแรงงานประมงคือ การปราศจากสิทธิที่พึงได้รับในที่ทำงานและความไม่เข้มแข็งที่มาจากเสียงของสหภาพแรงงานจะทำให้การละเมิดสิทธิแรงงานประมงในประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป FRN กำลังสร้างขีดความสามารถในการจัดตั้งและสร้างพันธมิตรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ทั่วประเทศและทั่วโลก"  ฮาเซนกล่าว

นอกจากนี้ในการเปิดตัวครั้งนี้ เครือข่ายสิทธิแรงงานประมงได้มีข้อเรียกร้องเบื้องต้น ดังนี้

-การกำจัดแรงงานขัดหนี้ ซึ่งรวมไปถึงค่าธรรมเนียมในการทำหนังสือเดินทาง บัตรสีชมพู ใบอนุญาตทำงานจากตัวแทนและนายหน้า

-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแก่แรงงานประมง และปรับปรุงสภาพการทำงานและสิทธิแรงงานแก่แรงงานประมงทุกคนในอุตสาหกรรมประมงไทย

-แรงงานประมงทุกคนต้องได้รับสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรในภาษาของตนเอง

-แรงงานประมงทุกคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้นและสามารถเข้าถึงชุดปฐมพยาบาลที่จัดไว้บนเรือแต่ละลำ

-เรือทุกลำต้องมีขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติในกรณีการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน

-การจัดให้มีจรรยาบรรณในการเดินเรือบนเรือทุกลำที่ทำประมงในน่านน้ำไทย

-รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรองรับอนุสัญญา ILO87,98,188 และการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถมีเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม และเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานที่พวกเขามีส่วนร่วมได้

ทั้งนี้องค์กรที่ให้การรับรองเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานประมงมีดังนี้  International Trade Union Confederation (ITUC), Building and Woodworkers International Union (BWI), American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations (AFL-CIO) – United States, Australian Council of Trade Unions (ACTU) – Australia, Cambodian Labor Congress (CLC) – Cambodia, Trades Union Congress (TUC) – United Kingdom, State Enterprises Workers Confederation (SERC) – Thailand, Belgian Transport Workers Union (BTB) – Belgium, Building and Woodworkers Trade Union Federation of Cambodia (BWTUC), Cambodian Transport Workers Federation (CTWF) – Cambodia, Independent Democratic of Informal Economy Association (IDEA) – Cambodia, International Longshore and Warehouse Union (ILWU) – Canada, Marine Transport Workers Trade Union of Ukraine (MTWTU) – Ukraine, Marine Engineers' Beneficial Association (MEBA) – United States, Maritime Union of Australia (MUA) – Australia, Maritime Union of New Zealand (MUNZ) – New Zealand, Norwegian Seafarers Union (NSU) – Norway, Norwegian Transport Workers Union (NTF) – Norway, Seafarers International Union (SIU) – Canada, Seafarers Union of Russia (SUR) – Russia

ในส่วนสหภาพแรงงานในประเทศไทย ได้แก่ Building and Wood Workers International Council of Thailand (BWICT), International Transport Workers' Federation Thailand (ITF Thai), Labor Union of Government Pharmaceutical Organization (LUGPO), Metropolitan Electricity Authority Workers Union (MEAWU), Rubber Authority of Thailand State Enterprise Worker Union (RAOT SWEU), SEWU Marketing Organization of Farmers (SEWU MOF), State Enterprise Electrified Train Workers Union (SEETU), State Railway Union of Thailand (SRUT), Thailand Automobile Workers Union (TAW), Thai Airways International Union (TG Union), Thai Confederation of Electronic, Electrical Appliances, Auto and Metal Workers (TEAM), Thai Labour Solidarity Committee (TLSC), Wingspan Workers Union (WWU), TOT Public Company Limited Workers Union (TOT)

องค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ Ethical Trading Initiative, International Labor Rights Forum (ILRF), Greenpeace Southeast Asia, Raks Thai Foundation, Union Aid Abroad (APHEDA), Thai Union PCL

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวเน็ต-รัฐบาลจีน ไม่พอใจนักแสดงแต่งกายลอกเลียน 'เหมาเจ๋อตุง' ขึ้นเวทีในงานประชุมไอที

Posted: 30 May 2018 12:14 AM PDT

ในการจัดประชุมเกี่ยวกับบล็อกเชนที่มณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 พ.ค. 2561) มีการแสดงในเชิงเลียนแบบอดีตผู้นำเหมาเจ๋อตุงทั้งรูปลักษณ์และการแสดงออก รวมถึงมีการเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ของจีน ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจและถูกเซนเซอร์โดยทางการจีนในเวลาต่อมา จนกระทั่งฝ่ายผู้จัดงานออกมาขอโทษ

ผู้ที่แต่งกายลอกเลียนอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในประวัติศาสตร์ผู้นี้คือ ชูกั๋วเฉียง แต่งกายในชุดสีเทาพูดด้วยสำเนียงหูหนานแบบเดียวประธานเหมา โดยมีการกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีงานประชุมโป๋เอ๋าบล็อกเชนฟอรัมต่อหน้าผู้คนที่เข้าร่วมงาน โดยที่วิดีโอการกล่าวสุนทรพจน์ของเขามีการแชร์ต่อไปยังโซเชียลมีเดียของจีนอย่าง WeChat 

ชูกั๋วเฉียง ผู้แสดงเป็นประธานเหมากล่าวต่อผู้ร่วมงานว่า "พวกคุณมีคุณค่าพอที่จะถูกเรียกว่าเป็นหลานชายหลานสาวของประเทศจีน และผมขอขอบคุณในนามของเหมาเจ๋อตุง"

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเผยแพร่ภาพวิดีโอนี้ออกไปคนในโลกออนไลน์ก็แสดงความไม่พอใจ โดยมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การแสดงเรียกความสนใจนี้ว่าไม่เคารพต่อประธานเหมา และต่อมาก็มีการเซนเซอร์จากทางการจีนไม่ให้ชาวจีนเข้าถึงได้

เซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ระบุว่า ในสายตาของคนจำนวนมากในจีนเหมาเจ๋อตุงยังคงถูกมองว่าเป็นผู้ก่อตั้งชาติจีนในยุคสมัยใหม่ มีกฎหมายจีนห้ามไม่ให้ใช้รูปภาพหรือชื่อของเหมาเจ๋งตุงเอาไปใช้ในทางการค้า

ถ้อยแถลงขอโทษของผู้จัดงานระบุว่า "ทางคณะกรรมการจัดงานโป๋เอ๋าบล็อกเชนฟอรัมขอแสดงการขอโทษอย่างจริงใจต่อผู้ชมทุกคนจากการที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจผ่านทางความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่องานประชุมในครั้งนี้"

หลังจากเหตุการณ์นี้บริษัทลงทุนอย่างแพนดาแคปปิทัลที่เคยโฆษณาตัวเองว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานรีบปฏิเสธว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานโดยทันที ส่วนงานประชุมที่ชื่อคล้ายกันอย่างโป๋เอ๋าฟอรัมแห่งเอเชียซึ่งเป็นงานประชุมนานาชาติที่มีนักพูดมีชื่อเสียงทั้งในแวดวงธุรกิจและแวดวงการเมืองเข้าร่วมจำนวนมาก ก็แถลงเป็นทางการผ่านโซเชียลมีเดียว่าทั้งสองงานนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน 

งานโป๋เอ๋าบล็อกเชนฟอรัมมีผู้นำจัดงานคือบริษัทสื่อด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลเข้ารหัส (cryptocurrency) ที่ชื่อ BiKuai.org พวกเขาระบุว่ามีบริษัทต่างๆ ที่น่าจะเข้าร่วมงานในครั้งนี้ 5,000 บริษัท โดยที่เทคโนโลยีบล็อกเชนนี้คือการเก็บบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมของผู้คนที่มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายโดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง เป็นเทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวข้องกับการเงินดิจิทัลแบบเข้ารหัส

 

เรียบเรียงจาก

Anger over Mao Zedong lookalike at China blockchain conference, South China Morning Post, 29-05-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: อุ้มทีวีปิดปากสื่อ

Posted: 29 May 2018 10:31 PM PDT

 

คสช.ใจดี? ออกคำสั่งที่ 9/2561 อุ้มทีวีดิจิทัล แต่มาพร้อมเงื่อนไข ต้องทำตัวเป็นเด็กดี อยู่ในโอวาท

คำสั่ง คสช.มี 2 ข้อดูเหมือนใจดี ข้อแรก ให้พักชำระค่าธรรมเนียมไม่เกิน 3 ปี (แต่มีดอกเบี้ย) ข้อสอง ให้เอาเงินกองทุนวิจัยและพัฒนามาช่วยค่าเช่าโครงข่ายครึ่งหนึ่ง เป็นเวลา 2 ปี

แต่ความช่วยเหลือนี้มิได้ถ้วนหน้า เพราะคำสั่งข้อ 9 ระบุว่า ให้จัดทำผังรายการที่เหมาะสมสอดคล้องวัตถุประสงค์ มีการผลิตรายการที่ดี ให้ข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน มีสาระเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรมอันดี บลา ๆ ๆ ๆ ส่งให้สำนักงาน กสทช.พิจารณาว่าจะให้ความช่วยเหลือหรือไม่ หรือหากช่วยไปแล้ว ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็ยกเลิกได้ทุกเมื่อ

ภาษากฎหมายอาจฟังยาก ต้องฟังฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.พูดชัดเจนกว่า

"ใครที่ทำผิดเงื่อนไข ดำเนินการใด ๆ ที่ผิดเงื่อนไขต่าง ๆ สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้เป็นผู้พักชำระหนี้ในระยะเวลา 3 ปี และได้รับค่าสนับสนุนในการเช่าโครงข่ายหรือไม่ …ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิดเงื่อนไขบ่อยหรือมีเหตุอื่นในการดำเนินการ เราจะมีหนังสือแจ้งตอบไปว่าไม่ให้ดำเนินการดังกล่าว จะต้องนำเงินมาชำระพร้อมอัตราดอกเบี้ย"

"ในส่วนที่สอง เมื่อได้รับการพักชำระหนี้ไปแล้ว หากสำนักงาน กสทช. ยังตรวจพบภายหลังว่าการจัดทำผังรายการต่าง ๆ หรือการดำเนินการประกอบกิจการ ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและมีสาระสำคัญต่างๆ ทางสำนักงานฯ มีสิทธิที่จะประกาศยกเลิกได้ในภายหลังอีก"

ใครฟังก็บอกว่าไม่ใช่ทีวีขายครีมแหง ๆ มีแต่คนชี้มาที่ Voice TV ซึ่งถูกปิดหลังรัฐประหาร ถูก กสทช.ใช้อำนาจตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 สั่งลงโทษทั้งปิดทั้งปรับทั้งงดรายการมาแล้ว 16 ครั้ง

บางคนอาจบอกว่าช่างหัว Voice of Thaksin แต่ถามจริง เงื่อนไขนี้ไม่พันธนาการอีก 21 ช่องหรือ สามปีจากนี้ไป อีก 21 ช่องจะต้องตัวลีบไหม ถ้าวันหนึ่งใครเผยอขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ก็อาจถูกยกเลิกความช่วยเหลือได้ แถมบางช่องก็มีสื่ออื่นในค่าย จะถูกต่อรองให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองหรือต้องเชียร์ผู้มีอำนาจไหม

น่าเศร้าใจที่องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลายไม่ยักมองมุมนี้ มองแต่ว่าช่างหัว Voice of Thaksin มันสิ

บางคนย้อนว่า คสช.อุตส่าห์อุ้ม เป็นผู้มีพระคุณก็ต้องตอบแทน ว่าตามเนื้อผ้า 2 ข้อนี้ไม่ถึงกับอุ้ม เพราะค่าธรรมเนียมยังต้องจ่ายแค่ให้พักหนี้มีดอกเบี้ย ค่า MUX ก็เถียงกันอยู่ว่าโครงข่ายไม่พร้อมดังสัญญา อย่าลืมว่าต้นเรื่องมาจากเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ฟ้องศาลปกครองชนะ กสทช.จึงต้องเสนอ คสช.ออกมาตรการ win-win (นี่ยังไม่พูดถึงใครนะ เอาช่วงไพรม์ไทม์ไปพูดคนเดียวโดยไม่จ่ายค่าเช่าเวลา)

ประเด็นเลอะเทอะที่สุดคือนี่เป็นการเอามาตรการ "เลือกไม่ช่วย" มายุ่งเหยิงกับอำนาจกำกับดูแลที่ กสทช.มีอยู่แล้ว ทั้งตามปกติ และโดยประกาศ คสช. พูดง่าย ๆ คือถ้า กสทช.เห็นว่าช่องใดทำผิดสั่งปรับ สั่งงดรายการ หรือสั่งปิด ก็เสียหายอยู่แล้ว นี่ยังต้องเสียสิทธิที่จะได้พักหนี้ ได้ลดค่า MUX ซ้ำเติมเข้าไปอีก แต่ยุคนี้สมัยนี้ไม่ยักมีใครท้วงว่าไม่เป็นธรรม

ที่น่าสังเกตคือ คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ ยกอำนาจพิเศษให้สำนักงาน กสทช. ภายใต้เลขาธิการ เป็นผู้พิจารณาว่าจะช่วยใคร ไม่ช่วยใคร ประหลาดไหม เพราะกฎหมายปกติ อำนาจกำกับดูแลเป็นของกรรมการ กสทช. ไม่ใช่หรือ

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/233837

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนาคตใหม่ของการกระจายอำนาจ

Posted: 29 May 2018 10:21 PM PDT



เรื่องของการกระจายอำนาจของไทยเราได้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงและพยายามขับเคลื่อนมาหลายต่อหลายครั้งในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงก็ดี หรือการพยายามที่จะให้เชียงใหม่มีกฎหมายเป็นของตนเองในรูปแบบของการเป็นมหานครก็ดี จนต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 การกระจายอำนาจก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างจนได้มีการออกพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ที่มีหลักการสำคัญให้มีการกระจายรายได้และถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อมีการรัฐประหาร 2549 และมีรัฐธรรมนูญปี 50ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงสัดส่วนรายได้ที่จะต้องแบ่งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 281 ก็ยังเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้ปกครองตนเองโดยท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้และมาตรา 78 (3) ที่บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ "กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น"

จนเป็นที่มาของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ อันเป็นต้นแบบของ "จังหวัดจัดการตนเอง"กว่า 50จังหวัดต่อรัฐสภาโดยภาคประชาชนและตามมาด้วยการยกร่าง พ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองตนเองฯ โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(ในสมัยนั้น)เพื่อให้ใช้เป็นกฎหมายกลาง แต่น่าเสียดายที่ทั้งร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ที่เสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2556 และการพยายามรณรงค์ร่าง พ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองปกครองตนเองฯ ในต้นปี2557ต้องมีอันเป็นไปด้วยเหตุแห่งการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 แล้วรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนดังเช่นรัฐธรรมนูญปี 40และ50 ทำให้ผู้คนที่มุ่งหวังที่จะให้มีการกระจายอำนาจมองไม่เห็นทางที่จะเดินต่อไป

แต่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ได้มีการเสนอร่างข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ปี พ.ศ.2561 เสนอต่อที่ประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เพื่อให้การรับรอง โดยในหมวด 1 ลักษณะ 2ว่าด้วยนโยบายของพรรคการเมือง ข้อ 7 (3)นโยบายด้านการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ได้กำหนดไว้ว่า

"พรรคอนาคตใหม่สนับสนุนการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกรูปแบบต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่น กำหนดให้การจัดทำบริการสาธารณะในแต่ละพื้นที่เป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก และราชการส่วนกลางมีอำนาจกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เฉพาะเท่าที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่ราชการส่วนกลางเห็นว่าข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือการดำเนินการใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ราชการสวนกลางไมอาจออกคำสั่งยับยั้งได้ แต่ให้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือการดำเนินการนั้น

พรรคอนาคตใหม่จะผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้แก่องค์กรปกครองส่วนทองถิ่น โดยการพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินเป็นขั้นตอนเพื่อมุ่งสู่การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคในที่สุด ให้คงเหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น ในส่วนของราชการส่วนท้องถิ่นจะแบ่งเป็น ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด และระดับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล

ในช่วงขั้นตอนระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค พรรคอนาคตใหม่จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆเพื่อลดทอนอำนาจของราชการส่วนกลางและราชการสวนภูมิภาคที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนทองถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการอนุมัติอนุญาตต่างๆ  พรรคอนาคตใหม่จะสนับสนุนให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพิ่มมากขึ้น โดยพิจารณาจากความพร้อมของท้องถิ่นและความสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ

พรรคอนาคตใหม่จะผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีและมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ของตน โดยต้องกำหนดสัดส่วนการแบ่งภาษีระหว่างราชการส่วนกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีได้เอง โดยไม่ต้องให้ราชการส่วนกลางเป็นผู้จัดเก็บแล้วจึงแบ่งโอนกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีรายได้จากแหล่งอื่นนอกจากภาษี ไมว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือรายได้จากวิสาหกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พรรคอนาคตใหม่ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ คนในท้องถิ่นยอมมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆขององค์กรปกครองสวนท้องถิ่น การออกเสียงประชามติในระดับท้องถิ่น ตลอดจนการตรวจสอบ  การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

จากข้อบังคับฯ ดังกล่าวทำให้บรรดาผู้ขับเคลื่อนในเรื่องของการกระจายอำนาจและผู้ที่อยากเห็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นเกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ถูกทำให้หยุดชะงักและพยายามที่จะทำให้ถอยหลังกลับไปไกลกว่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งปวงนี้จะประสพความสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มี พ.ร.บ.เกิดขึ้นมารองรับไม่ว่าจะเป็นในชื่อหรือรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งโอกาสในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ในลักษณะนี้โดยภาคประชาชนได้ถูกปิดลงโดยสิ้นเชิงเพราะไม่เข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 ว่ากฎหมายที่จะเสนอโดยการเข้าชื่อของภาคประชาชนจะต้องเสนอในหมวดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของรัฐเท่านั้น จึงเหลือเพียงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้โดยคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปเท่านั้น

ฉะนั้น การกระจายอำนาจจะมีผลในทางปฏิบัติก็ย่อมขึ้นอยู่กับการที่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคใดก็ตามที่มีแนวนโยบายเช่นนี้ได้รวมกันเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ เพื่อที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ในลักษณะเช่นนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ เพราะโอกาสที่ภาคประชนที่จะเสนอกฎหมายในลักษณะนี้ได้ถูกปิดลงไปแล้ว

อนาคตใหม่ของการกระจายอำนาจย่อมขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนโดยแท้ที่จะผลักดันให้พรรคที่มีแนวนโยบายเช่นนี้ซึ่งมีอยู่หลายพรรคได้เข้าไปมีสิทธิมีเสียงในสภาฯ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไปข้างหน้านี้ นั่นเอง

อนาคตใหม่ของการกระจายอำนาจอยู่ในมือท่านแล้วครับ



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2561
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่ออนาคตที่เราจะได้กำหนดเอง

Posted: 29 May 2018 10:09 PM PDT

 

ข้อเสนอเรื่องการรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่ผมพูดในการแถลงข่าววันประชุมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งประชาชน สื่อมวลชน นักการเมือง ไปจนถึงรัฐบาลคสช.และ กกต. ว่าการล้มรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำได้จริงหรือไม่ ทำอย่างไร และจะนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคมหรือไม่

ประเด็นแรก พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ผู้มีอำนาจโดยตรงในการพิจารณาว่าพรรคการเมืองทำอะไรได้หรือไม่ได้ ตอบชัดเจนแล้วว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะบางมาตรา หรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองสามารถเสนอได้ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเอาด้วยหรือไม่ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงตามโรดแมปของ คสช.เอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หรือพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเรื่องนี้จะทำให้พรรคเรามีปัญหาหรือไม่ และผมก็ยืนยันว่าเราไตร่ตรองดีแล้วว่าการมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือทางออกของสังคม เพื่ออนาคตใหม่ที่เสรี เป็นธรรม ไร้การสืบทอดอำนาจ เราไม่สามารถอยู่กับมรดก คสช.ชิ้นใหญ่ ที่ทำขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และวางกลไกเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจที่แท้จริงในการบริหารประเทศได้

ประเด็นต่อมา การรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วร่างใหม่ทั้งฉบับ มีความชอบธรรมหรือไม่ และจะทำได้อย่างไร? เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยผู้ที่ถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ไม่ได้ผ่านการฟังความเห็นจากประชาชน แม้มีการลงประชามติ ก็เป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม คนจำนวนมากที่รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือวิจารณ์ข้อเสียของมัน ถูกจับกุมคุมขัง ถูกคุกคาม จึงไม่สามารถอ้างได้ว่านี่คือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะมีความชอบธรรมแน่ หากทำโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำโดยวิธีการเดียวกับที่เคยก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา นั่นก็คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีประชามติ ให้ประชาชนตัดสินใจว่าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีอย่างน้อย 2 พรรคแล้วที่เห็นด้วยกับแนวทางของผม นั่นก็คือการชูธงยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนจะกำหนดอนาคตของตัวเอง

ส่วนคนที่กลัวว่าข้อเสนอของอนาคตใหม่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะนำไปสู่วังวนความวุ่นวายเหมือนในอดีต ผมขอยืนยันว่าการฉีกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารต่างหาก ที่นำมาซึ่งความเสียหายย่อยยับอันไม่อาจประเมินได้ แต่การรื้อรัฐธรรมนูญอันเป็นมรดกรัฐบาลทหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น ประชาพิจารณ์อย่างรอบด้าน ไม่มีทางทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ความเห็นต่างย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่เราจะอยู่กันได้ภายใต้กฎกติกาที่ทุกคนเคารพร่วมกัน มอบความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม

คนกลุ่มไหนกันที่จะเห็นแย้งกับการคืนอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชน?
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยพบ ภาวะโลกร้อนมีส่วนให้เชื้อโรคดื้อยามากขึ้น

Posted: 29 May 2018 09:51 PM PDT

ผลวิจัยจากกลุ่มนักระบาดวิทยาล่าสุดชี้ ภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลให้เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น ผู้วิจัยคาด เชื้อดื้อยาอาจคร่าชีวิตคนมากถึง 10 ล้านคนภายในปี 2593

ภาพย้อมสีจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของแบคทีเรียอี.โคไล ซึ่งเป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่ถูกใช้ในงานวิจัย  (ที่มา:วิกิพีเดีย)

29 พ.ค. 2561 สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่า ภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมีผลร้ายต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่าที่คิด มีการรายงานในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Climate Change ระบุว่าภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้มากขึ้น กลุ่มผู้วิจัยในเรื่องนี้คือนักระบาดวิทยาจากหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต

บทคัดย่อของงานวิจัยระบุว่าแบคทีเรียหรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่สามารถต้านทานยาปฏิชีวนะได้กลายเป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจำนวนมาก และอาจจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้มากถึง 10 ล้านคนภายในปี 2593 เดเรก แมคฟาร์เดน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อผู้มีส่วนร่วมเขียนงานวิจัยนี้กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีการวิจัยเรื่องที่โลกร้อนมีผลกระทบต่อโรคติดเชื้อหลายโรค แต่ในคราวนี้เป็นครั้งแรกที่พบว่าภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้เชื้อดื้อยาโดยไม่จำกัดแต่เฉพาะในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ใดที่หนึ่ง

นักวิจัยทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเชื้อโรคที่มักจะพบกรณีการดื้อยาได้แก่ E. coli, K. pneumoniae และ S. aureus (staph) โดยอาศัยข้อมูลจากสถานพยาบาลหลายร้อยแห่งจาก 41 รัฐ พวกเขาพบว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 10 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 5-6 องศาเซลเซียส) จะทำให้ E. coli ดื้อยามากขึ้นร้อยละ 4.2 ทำให้  K. pneumoniae ดื้อยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และ S. aureus ดื้อยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7

นักวิจัยระบุอีกว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการดื้อยาของเชื้อโรคคือการเพิ่มขึ้นของประชากร พวกเขาระบุว่าการเพิ่มขึ้นของประชากร 10,000 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ไมล์ (ราว 1.6 กม.) เขื้อ E. coli จะดื้อยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ขณะที่ K. pneumoniae จะดื้อยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6

จอห์น บราวน์สไตน์ หัวหน้าแผนกนวัตกรรมและผู้อำนวยการกลุ่มระบาดวิทยาเชิงคำนวณจากบอสตันและฮาร์วาร์ดกล่าวว่าการค้นพบนี้ควรจะมีการวิจัยต่อยอดไปอีกเพื่อทำความเข้าใจว่าตัวแปรเหล่านี้มีการเชื่อมโยงกันยังไง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคภัย ยารักษา และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม

หน่วยงานควบคุมโรคของสหรัฐฯ เคยบันทึกว่ามีประชากรสหรัฐฯ 2 ล้านคนต่อปีติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 23,000 รายต่อปีจากการติดเชื้อเหล่านี้ ขณะที่องค์การอนามัยโลกเคยประกาศว่าการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียถือเป็นภัยร้ายแรงระดับต้นๆ ต่อสุขภาวะประชากรโลก ความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาในยุคปัจจุบัน

เรียบเรียงจาก

Climate Change Could Supercharge Threat of Antibiotic Resistance: Study, Common Dreams, May 25,

Antibiotic resistance increases with local temperature, Nature, May 21, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น