โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 อาจไม่มีอยู่จริง ส่องทางเดินสู่คูหาที่รางเลือน

Posted: 18 May 2018 11:49 AM PDT

ส่องเส้นทางสู่การเลือกตั้งเมื่อคำพูดไม่ได้เป็นนายคน เลือกตั้ง พ.ย. 61 ถูกเลื่อนแล้ว เลือกตั้ง ก.พ. 62 ยังเลือนราง ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. – ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่รู้ชะตากรรม หากตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน มิ.ย. นี้ เลือกตั้งจึงไม่อาจเลื่อนได้อีก นอกเสียจากจะใช้ ม.44

ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 6 เม.ย. 2560 ขั้นตอนที่จะนำพาประเทศไทยกลับสู่การได้มาซึ่งรัฐบาลโดยมีการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในกระบวนการได้มา คือการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมด 4 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง , พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา(ส.ว.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้มีการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 150 วันภายหลังจากที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับตามที่กล่าวมามีผลบังคับใช้

ทว่าหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์ มีเวลาในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด 10 ฉบับภายในระยะเวลา 240 วัน แต่กลับไม่ได้เร่งดำเนินการส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณาเป็นลำดับแรก แม้จะมีการส่งร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แล้วร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นลำดับแรกๆ แต่กลับส่งร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นลำดับสุดท้าย

ปัจจุบันนี้มีกฎหมายสองฉบับแรกมีผลบังคับแล้ว ขณะที่สองฉบับสุดท้ายแม้จะผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. แล้ว แต่ตอนนี้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผู้ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นสมาชิก สนช. ทั้งหมด 30 คนลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และอีก 27 สนช. ร่วมลงชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  ซึ่งเป็นการยื่นหลังจากที่ส่งร่างกฎหมายไปให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเตรียมขึ้นทูลเกล้าฯ แต่สุดท้ายก็ชักกลับมาเพื่อยื่นตีความ ทั้งที่ก่อนหน้านี้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อยู่กับ สนช. นานเกือบสองเดือนก่อนที่จะส่งไปยังนายกรัฐมนตรี

การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายทั้งสองฉบับซึ่งเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. 2561 ปฎิเสธไม่ได้ว่ากลายมาเป็นฐานความชอบธรรมให้กับการเลือนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการแก้ไขร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลบังคับ 90 วันหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ตาม แต่เหตุผลที่ว่าต้องการจะเพิ่มเวลาให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ทันเวลานั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมือง เช่นการจัดประชุมใหญ่ได้ หรือดำเนินกิจกรรมทางธุรการได้คือ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57/25557 อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดให้มีการจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ กับการยืนยันสถานะสมาชิกพรรคการเมืองเดิมเท่านั้น ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ยังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ประชุมพรรคการเมืองยังไม่สามารถทำได้ การนำเสนอนโยบายยังไม่สามารถทำได้ เพราะติดล็อคที่ คสช. วางเอาไว้ตั้งแต่ต้น

"การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ย. 2561" คือคำสัญญาในช่วงปลายปี 2560 ที่ประกาศต่อสาธารณชนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ประกาศหลังจากเดินทางไปพบกับประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ทว่าก็เป็นอีกครั้งที่ คำพูดไม่ได้มีสถานะเป็นนายคน คำสัญญาถูกลบล้างจากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น และถูกแทนที่ด้วยคำสัญญาใหม่ ภายหลังจากที่เกิดการรวมตัวของประชาชน หรือกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "คนอยากเลือกตั้ง" ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารทำตามสัญญาที่ได้ประกาศไว้

บรรยากาศการชุมนุมรายครั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2560 มาจนถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2561 เห็นได้ชัดว่ามีคนออกมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนครั้งที่ดูจะเป็นเรื่องน่ากังวลใจที่สุดสำหรับรัฐบาลทหารคือ การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากการคาดคะเนของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่ามีผู้ร่วมชุมนุมในครั้งนี้ราว 1,500 คน เป็นอย่างน้อย ต่อมา 27 ก.พ. 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาประกาศชัดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งไม่เกิน ก.พ. 2562 อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเส้นทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ก.พ. 2562 พบว่าเส้นทางที่มองเห็นอยู่นั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่นัก ผลการพิจารณาตีความร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่จะเป็นตัวแปรสำคัญ หากผลออกมาในเวลาอันรวดเร็วว่าร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ. 2562 ก็อาจจะเกิดขึ้นได้จริง แต่เส้นตายที่สำคัญคือจะต้องมีการประกาศกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในเดือน มิ.ย. 2561 เพราะกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับต้องรอไปอีก 90 วัน

แน่นอนไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร สิ่งที่รู้ในเวลานี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดลงมติพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวันที่ 23 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ส่วน พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. นั้นยังไม่มีการกำหนดวันลงมติ          

อย่างไรก็ตาม สมชัย สรีสุทธิยากร เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นที่ยื่นเข้าไปว่าเป็นการขัดแย้งในสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งมีความเป็นไปได้เนื่องจากสิ่งที่มีการส่งให้ศาลพิจารณาก็คือเรื่องของวิธีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา แม้จะอยู่ในบทเฉพาะกาลก็ตาม หากศาลเห็นว่า ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องร่างกันใหม่ทั้งฉบับ หรือส่งให้กลับไปแก้ไขร่างกฎหมายบางมาตรา ซึ่งเท่ากับว่าระยะเวลาในการแก้ไขกฎหมายจะถูกเพิ่มขึ้นไปอีก

ส่วนประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันในร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น คือการตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ว่าจะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสามหรือไม่

โดยมาตรา 95 วรรคสาม ระบุว่า "ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยมิได้แจ้งเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจถูกจํากัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติ"

และประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงต่อมาคือ เรื่องด้วยด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้พิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุนั้นโดยถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น ว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 85 หรือไม่

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 85 ระบุว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธี ออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ...."

จะอย่างไรก็ตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังคงรอการกำหนดวันลงมติของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ และสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งจะไม่เกินไปกว่าเดือน ก.พ. คือการประกาศกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน มิ.ย. นี้ เพราะช้าไปกว่านี้มาเท่าใดนั้นเท่ากับเปิดโอกาสให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปไกลได้เท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะใช้โอกาสที่อาจจะเปิดไว้นี้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่

สุดท้ายสิ่งที่พลังอำนาจมากที่สุดซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากเกมบนกระดานนี้คือ อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งสามารถทำอะไรก็ได้ โดยที่ทุกการกระทำจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญทันที

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานไทยในต่างแดน ทำรายได้กลับประเทศปีละกว่า 1.2 แสนล้าน

Posted: 18 May 2018 08:29 AM PDT

รมว.แรงงาน เปิดโครงการ "แรงงานไทยในต่างแดน" เผย แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้วกว่า 4 แสนคน มีเม็ดเงินกลับประเทศปีละกว่า 1.2 แสนล้านบาท 'พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย' เข้าพบ รมว.แรงงาน หารือแนวทางการดำเนินงาน
 
18 พ.ค.2561 กระทรวงแรงงาน รายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการ "แรงงานไทยในต่างแดน" และพบปะให้กำลังใจแก่แรงงานที่ได้รับการคัดเลือกไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ จำนวน 400 คน ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า ในวันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปทำงานในต่างแดน ซึ่งทำให้มีงานทำ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะการได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้การพัฒนาประเทศ ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศประมาณ 440,000 คน มีเม็ดเงินกลับประเทศปีละกว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2561 ได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 40,000 คน ในประเทศที่เป็นตลาดแรงงานที่สำคัญ อาทิ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศแถบตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นต้น กระทรวงแรงงานมีนโยบายว่า การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีขั้นตอนที่เปิดเผยและตรวจสอบได้ มีกระบวนการคัดเลือกที่ชัดเจน เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเตรียมการที่ดีทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และกฎหมาย รวมทั้งเมื่อประสบปัญหาจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ซึ่งขอให้แรงงานไทยมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะดูแลอย่างเต็มที่ โดยแรงงานจะต้องเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
 
 
พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้กล่าวถึงแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศว่าทุกคนถือเป็นตัวแทนประเทศไทย ซึ่งจะต้องช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ โดยมีความรับผิดชอบ อุทิศตนตั้งใจทำงาน เชื่อฟังนายจ้าง ซื่อตรง มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา ที่สำคัญต้องรู้จักการออม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและการพนัน รวมทั้งเก็บเกี่ยวประสบการณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำกลับมาประยุกต์ใช้ต่อยอดอาชีพให้มีมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต
 
อนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการชี้แจงให้แรงงานได้รับทราบเกี่ยวกับการจัดทำสัญญาจ้างที่แรงงานจะต้องทำกับนายจ้าง และให้รับทราบการเตรียมตัวเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะต้องนำไปเป็นค่าใช้จ่ายตามกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งกรมการจัดหางาน ได้ดูแลให้ความคุ้มครองแรงงานไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่ก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางไปทำงานแล้วยังคงให้ความคุ้มครองดูแลอย่างต่อเนื่อง หากแรงงานประสบปัญหาในต่างประเทศ สำนักงานแรงงานในต่างประเทศที่ประจำอยู่ใน 12  ประเทศ หรือสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศจะเป็นตัวแทนรัฐบาลในการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศเช่นกัน
 
ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (IFAD) ระบุแรงงานต่างชาติจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งเงินกลับบ้านเกิดถึงประมาณ 256 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 8.2 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา
 

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เข้าพบ รมว.แรงงาน หารือแนวทางการดำเนินงาน

วันเดียวกัน เวลา 12.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์ ให้การต้อนรับ ทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สุนี ไชยรส รองประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคแรงงาน ในนามของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในโอกาสเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมขอรับการสนับสนุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน 
 
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบาย และรับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณา โดยขอให้มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จัดทำแผนการดำเนินงานให้ชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาและเพื่อให้การดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ฯ สอดคล้องตามวัตถุประสงค์และยั่งยืนต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เพื่อไทย' ขู่ฟ้องกลับหากตั้งข้อหาแรงเกินจริง - ตร.เรียก 8 แกนนำรับทราบข้อกล่าวหา 22 พ.ค.นี้

Posted: 18 May 2018 05:47 AM PDT

'เพื่อไทย' ขู่ฟ้องกลับเพื่อปกป้องสิทธิหากตั้งข้อหาแรงเกินจริง ยันไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ย้ำ คสช.ทำไม่ดี ต้องถูกวิจารณ์ ขณะที่ ตร.เรียก 8 แกนนำเพื่อไทยรับทราบข้อกล่าวหา 22 พ.ค.นี้ 

ภาพการแถลงข่าว 3 คน (ที่มาภาพ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย)

18 พ.ค.2561 จากกรณีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฟ้องดำเนินคดีกับแกนนำพรรคเพื่อไทย หลังแถลงข่าวเรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย ณ ที่ทำการของพรรคเพื่อไทย ย่าน ถ.เพชรบุรี ในวาระครบรอบ 4 ปี คสช. 4 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57/2557 ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการไลฟ์สด ในเฟสบุ๊ค และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น นั้น

ล่าสุดวันนี้ ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ได้แถลงเรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และคสช.ของสมาชิกพรรคเพื่อไทย และวันเดียวกันนั้นตัวแทน คสช.ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรวม 4 ข้อหานั้น การที่สมาชิกของพรรค ออกมาแสดงความเห็น วิจารณ์ผลงานของรัฐบาล และคสช.นั้น ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความเห็นตามปกติที่รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองไว้ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปที่วิจารณ์รัฐบาล

ภูมิธรรม กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นหน้าที่สำคัญทางการเมืองในฐานะตัวแทนประชาชน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและคสช.เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ไม่มีการกระทำใดเข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศ คสช.หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. และตลอด 4 ปี แกนนำที่เป็นสมาชิกของพรรคได้แสดงความคิดเห็น วิจารณ์รัฐบาลและคสช.มาตลอด แต่พรรคไม่เคยจัดประชุมหรือทำกิจกรรมการเมืองใดที่จะฝ่าฝืนข้อห้ามของ คสช. แม้จะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำพรรค แต่พรรคเพื่อไทยยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบและวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและ คสช.ต่อไปเช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ ที่ทำตามหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน

ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ คสช.ส่งตัวแทนไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการแถลงการณ์นั้น ตนไม่หนักใจ เพราะถือว่าตนและสมาชิกพรรค ทำหน้าที่ในฐษนะประชาชนคนหนึ่ง พรรคการเมืองก็ถือเป็นตัวแทนของประชาชน เมื่อ คสช.และรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน เมื่อทำงานไม่ดีและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ย่อมต้องถูกวิจารณ์เป็นธรรมดา
 
ชูศักดิ์ กล่าวว่า การแถลงเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อสื่อ เป็นการทำโดยเจตนาสุจริต ไม่ถือว่ามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ขัดต่อคำสั่งหรือประกาศของ คสช. และไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน หรือยุยงปลุกปั่นประชาชน อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 116 และมิใช่นำข้อความอันเป็นเท็จมากล่าวที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตามที่ตัวแทน คสช.อ้าง ก็ย่อมไม่มีการกระทำที่ขัดคำสั่ง คสช.หรือผิดกฎหมายอาญา ตนจะรอพนักงานสอบสวนว่าจะตั้งข้อหาอะไรบ้าง หากเห็นว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินจริง จะใช้สิทธิทางกฎหมาย ดำเนินคดีกลับเพื่อปกป้องสิทธิของตนเช่นกัน
 

ตร.เรียก 8 แกนนำเพื่อไทยรับทราบข้อกล่าวหา 22 พ.ค.นี้

โลกวันนี้ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ประชุมติดตามความคืบหน้าคดีที่ คสช. ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่เปิดแถลงข่าวประเมินผลงาน คสช. ในวาระครบรอบ 4 ปี ใน 4 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องการห้ามดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเก่า ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประชุมพรรค 2.ความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมที่มีการมั่วสุมเกิน 5 คน 3.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการไลฟ์สดเฟสบุ๊คการแถลงข่าว 4.ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น
 
พล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุว่า พนักงานสอบสวนพิจารณาออกหมายเรียกแกนนำพรรคเพื่อไทย จำนวน 8 คน มาดำเนินคดี คือ
 
วัฒนา เมืองสุข จาตุรนต์ ฉายแสง ชูศักดิ์ ถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามกฎหมาย อาญา มาตรา 116 ส่วน นพดล ปัทมะ ชัยเกษม นิติสิริ ภูมิธรรม เวชยชัย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในความผิดฐาน ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.
 
นอกจากนี้ยังดำเนินคดีแอดมินเพจเฟสบุ๊คของพรรคเพื่อไทย ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยหมายเรียกนัดหมายให้ทั้งหมดมาพบพนักงานสอบสวนวันที่ 22 พ.ค. นี้ แต่ถ้าแกนนำพรรคเพื่อไทยจะเดินทางมาพบก่อนในวันที่ 21 พ.ค. ตามที่ประกาศไว้ทางตำรวจก็ไม่ขัดข้อง ส่วนข้อหาทำกิจกรรมพรรคการเมืองนั้น พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งไว้เพื่อทำการสอบสวนในเบื้องต้นเท่านั้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจกพัด 'ยุทธนอคคิโอ' ชวนไปทวงเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล

Posted: 18 May 2018 04:21 AM PDT

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งแจกพัด "ยุทธนอคคิโอ" เชิญชวนให้คนไปทวงเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล ตร.พยายามห้ามและให้ยุติการแจก พร้อมขอตรวจบัตรประชาชน

ภาพจาก  Banrasdr Photo

18 พ.ค.2561 Banrasdr Photo รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS อโศก กลุ่มคนอยากเลือกตั้งแจกพัด "ยุทธนอคคิโอ" เชิญชวนให้คนไปทวงเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยระหว่างที่แจกตำรวจพยายามห้ามและให้ยุติการแจก แต่ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ยังเดินแจกจนพัดที่เตรียมมาหมด และก่อนที่จะเดินทางกลับตำรวจได้ขอตรวจบัตรประชาชนหนึ่งในสมาชิกที่มาร่วมแจก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะผู้เชี่ยวชาญ UN ประณามการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทปิดปาก ‘อานดี้ ฮอลล์’

Posted: 18 May 2018 04:17 AM PDT

คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติระบุ กังวลการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากนักปกป้องสิทธิฯ หวั่นลดทอนความชอบธรรมการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน แนะรัฐบาลปรับปรุงกฎหมายและวิธีพิจารณาความแพ่ง อาญา ป้องกันบริษัทเอกชนใช้หมิ่นประมาทในทางที่ผิด

กลาง: อานดี้ ฮอลล์ (แฟ้มภาพ: 29 ต.ค. 57)

เมื่อ 17 มี.ค. มีแถลงการณ์จากคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเจนีวา (17 พฤษภาคม 2561) – คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN)* วิจารณ์การใช้บทบัญญัติทางกฎหมายในประเทศไทยว่าด้วยการหมิ่นประมาทเพื่อปิดปาก อานดี้ ฮอลล์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องฯ คนอื่นๆ ที่รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ

ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 อานดี้ต้องเผชิญกับคดีแพ่งและอาญาหลายคดีจากการเปิดเผยข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในบริษัทไทยหลายบริษัท

คณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ กล่าวว่าการดำเนินคดีเขาถือเป็นคดีสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการฟ้องคดีเพื่อสกัดการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (strategic lawsuits against public participation- SLAPP) อันกำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในประเทศไทย คดีเหล่านี้ดำเนินการฟ้องร้องโดยบริษัทธุรกิจหลายแห่งเพื่อกลบเสียงความกังวลใจอันชอบธรรมเกี่ยวกับสภาพการทำงานในบางอุตสาหกรรม

"เป็นเรื่องน่ากังวลยิ่งที่เราเห็นการใช้คดีหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือในการลดทอนความชอบธรรมของสิทธิและเสรีภาพของชุมชนและผู้ครอบครองสิทธิ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นผู้ที่มาจากกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคม ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกใช้เพื่อตอบสนองต่อการทำให้การทำงานอันชอบธรรมด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอาชญากรรมเท่านั้นและอาจเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อของพวกเขา" คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว

"คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุชัดว่า รัฐทั้งหลายพึงพิจารณาว่าทั้งการลงโทษคดีหมิ่นประมาทหรือแม้กระทั่งในคดีร้ายแรงที่สุด การจำคุกเป็นอัตราโทษที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐบาลไทยในการปรับปรุงกฎหมายแพ่งและอาญารวมทั้งวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญาเพื่อป้องกันการใช้บทบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นประมาทในทางที่ผิดโดยบริษัทเอกชน" คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวเสริม

คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและบรรษัทข้ามชาติและกิจการธุรกิจอื่นๆ เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 26 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2561 "ในระหว่างการปฏิบัติภาระกิจครั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ ได้หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทเสนอต่อรัฐบาลไทยและได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรับรองว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องประสานความร่วมมือกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการป้องกัน ลดทอนและเยียวยาผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชน" คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว

อานดี้ถูกดำเนินคดีเมื่อเดือน ก.ย. 2559 ในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและฐานความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อันเนื่องมาจากการทำงานของเขาในตำแหน่งนักวิจัยชั้นต้นของรายงานชื่อ "Cheap has a high price" ที่ตีพิมพ์โดยฟินน์วอท์ช องค์กรเอกชนจากประเทศฟินแลนด์ ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าวบันทึกข้อกล่าวหาร้ายแรงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย การค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติโดยบริษัทผลิตอาหารแห่งหนึ่งของไทย คดีดังกล่าว เขาถูดตัดสินจำคุก 4 ปี รวมทั้งถูกสั่งปรับเป็นเงิน 200,000 บาท (5,200 ยูโร) ต่อมามีการลดโทษลงเหลือโทษจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี และปรับ 150,000 บาท

วันที่ 26 มี.ค. 2561 ศาลฎีกาสั่งให้อานดี้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 10 ล้านบาท (ราว 320,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่บริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต จำกัด ในคดีหมิ่นประมาททางแพ่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางคดีและค่าธรรมเนียมศาลด้วย

ก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทอีกคดีใหม่โดยบริษัทธรรมเกษตร จำกัด โดยทั้งที่คดีกับบริษัทเนเชอรัล ฟรุ๊ต ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์  อานดี้เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อเดือน พ.ย. 2559 โดยอ้างว่าเขาไม่สามารถทนทานการคุกคามโดยใช้กระบวนการทางศาลได้

ข้อกล่าวหาใหม่ของอานดี้เกี่ยวข้องกับการทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ 14 รายที่รายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์แรงงานจากสภาพการทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ธรรมเกษตร แรงงานข้ามชาติยื่นคำร้องอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมในในคดีดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทกลับดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาททางอาญากับแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 ราย รวมทั้งข้อหาให้การอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานด้วย

"เราขอแสดงความกังวลอย่างจริงจังกับผลกระทบจากการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ซึ่งพยายามเปิดเผยและบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในต่างประเทศ" คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว

"ธุรกิจวิสาหกิจ มีหน้าที่หลีกเลี่ยงการเป็นตัวการ หรือ มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายในมิติด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่ยังพบเห็นบริษัทธุรกิจแจ้งความดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการประสานงานในกิจกรรมที่มีความชอบธรรม" คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว

"คดีต่างๆ ที่ดำเนินอยู่กับอานดี้ และกับแรงงานผู้ซึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดจากสภาพการทำงานอาจยิ่งส่งเสริมให้บริษัทอื่นๆ กล้าฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญาคล้ายๆ กันนี้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ซึ่งจะสร้างผลกระทบและความเสียหายต่อการทำงานอันสำคัญและมีความชอบธรรมในการยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน" คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวสรุป

*คณะผู้เชี่ยวชาญ: Mr. Michel Forst, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน; Mr. Clement Nyaletsossi Voule, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติและการสมาคม; Mr. Felipe Gonzalez Morales, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ; Mr. Urmila Bhoola, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยรูปแบบร่วมสมัยของการใช้แรงงานทาส รวมทั้งสาเหตุและผลต่อเนื่อง; Ms. Maria Grazia Giammarinaro, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก; Mr. Dante Pesce, รองประธานคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและบรรษัทข้ามชาติและกิจการธุรกิจอื่นๆ

ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของ กลไกพิเศษ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนกลไกพิเศษนี้ เป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ที่สุดที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระในระบบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นชื่อเรียกโดยทั่วไปของกลไกของคณะมนตรีฯ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนซึ่งทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ในประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ หรือทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ตามกลุ่มประเด็นจากสถานการณ์ทุกส่วนของโลก คณะผู้เชี่ยวชาญของกลไกพิเศษเหล่านี้ทำงานบนพื้นฐานอาสาสมัครกล่าวคือ พวกเขามิใช่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ และมิได้รับเงินเดือนจากการทำงาน พวกเขาเป็นอิสระจากรัฐใดๆ หรือองค์กรใดที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะปัจเจก (ส่วนตัว)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน ธ.โลก ชี้ คนข้ามเพศไทยจำนวนมากเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ สังคม

Posted: 18 May 2018 03:13 AM PDT

รายงานธนาคารโลกเผย LGBTI ไทยกว่าครึ่งถูกเลือกปฏิบัติในโลกการทำงาน-บริการภาครัฐ ทหาร-ตำรวจ-สถาบันศาสนาปัดรับเข้าทำงานมากสุด คนไม่ข้ามเพศเกือบครึ่งยอมรับถ้ามีการเลือกปฏิบัติ เสนอ 6 ด้านพัฒนาหลายมิติ วงเสวนาแนะ ถ้าพนักงานสะดวกใจก็จะทำงานได้ดีขึ้น

ซ้ายไปขวา: ก้าวหน้า เสาวกุล แกรี่ ชโรเดอร์ พอลล์ เฮย์แมน ณัฐพงศ์ วิธิศุภกร ภูมิใจ ไกรสินธุ์ อูลริค ซาเกา

เมื่อ 17 พ.ค. ที่สถานทูตประเทศเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย มีการนำเสนอรายงานของธนาคารโลก เรื่อง 'การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย' และเวทีเสวนาต่อเนื่องจากรายงาน เนื่องในโอกาสวันต่อต้านการเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศสากล (IDAHOT - International Day Against Homophobia and Transphobia)

วงเสวนาเล่าปัจจัยบวก-ลบ LGBTI ในที่ทำงาน แนะตัวอย่างต่างประเทศ ถ้าพนักงานสะดวกใจก็จะทำงานได้ดีขึ้น

หลังจากรายงานงานวิจัย มีเวทีเสวนาต่อประเด็นที่งานวิจัยนำเสนอ และรับประเด็นถาม-ตอบจากผู้ร่วมงาน โดยเวทีเสวนามีอูลริค ซาเกา (Ulrich Zachau) ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคในมาเลเซีย ไทย เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ณัฐพงศ์ วิธิศุภกร จากฝ่ายบริหารความหลากหลายและความเป็นเอกภาพ บริษัทกรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต แกรี่ ชโรเดอร์ จากบริษัท Amadeus พอลล์ เฮย์แมน จากบริษัท OutBKK และก้าวหน้า เสาวกุล ผู้ก่อตั้ง TEAK - Trans Empowerment ชุมชนผู้ชายข้ามเพศ ไทย-อินโดนีเซีย เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยภูมิใจ ไกรสินธุ์

ก้าวหน้าระบุว่า ตนมีงานประจำในบริษัทจากประเทศมาเลเซีย ในอดีตเคยทำงานที่ธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งในไทยและไม่สะดวกใจกับการปฏิบัติของเพื่อนร่วมงานต่อคนต่างเพศจึงตัดสินใจลาออก และเมื่อย้ายที่ทำงานก็พบกับผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยน ทั้งยังพบว่าที่ทำงานจ่ายเงินให้เธอและเขาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่เมื่อถามเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าจะทำงานที่นี่ต่อไปเพราะรู้สึกปลอดภัย แต่ทำไมเราต้องเสียสละเงิน ตำแหน่งงาน อะไรมากมายเพื่อทำให้ได้เป็นตัวของตัวเอง เพดานที่มองไม่เห็น (glass ceiling) ยังมีมากในสังคมไทย

แกรี่กล่าวว่า ในฐานะคนอเมริกัน รู้สึกแปลกใจกับการเลือกรับคนเขาทำงานตามเกณฑ์อายุ เพศ เช่น เป็นเพศหญิง อายุ 17-35 ปี เป็นต้น เพราะที่สหรัฐฯ ไม่สามารถทำได้ และกล่าวว่า บริษัทเองก็อยากจะได้คนที่เก่ง สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพที่สุดอยู่แล้ว ยิ่งต้องเข้าหาลูกค้าที่มีความหลากหลายแล้ว การตัดโอกาสให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเท่ากับตัดโอกาสที่จะเชื่อมต่อกับความหลากหลายของกลุ่มลูกค้าออกไป

ในสหรัฐฯ บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล ไมโครซอฟท์ ต่างเปิดกว้างกับคนข้ามเพศมาก ในพาเหรดของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (pride parade) บริษัทเหล่านี้ต่างแสดงออกอย่างชัดเจนเพื่อดึงดูดให้คนมาทำงานด้วย หลายบริษัทแข่งกันเรื่องสวัสดิการคนข้ามเพศ ทั้งนี้ สิ่งเล็กๆ ที่จะเริ่มทำได้คือการให้คนข้ามเพศเป็นที่ยอมรับ เช่น ทำให้พวกเขาสะดวกใจที่จะวางภาพของคู่รักเพศเดียวกันในที่ทำงาน เหมือนที่เพื่อนร่วมงานวางรูปสามี ภรรยา สัตว์เลี้ยง หรืออื่นๆ แค่นั้นก็อาจทำให้คนทำงานไม่ต้องพะวงกับเรื่องอัตลักษณ์ และให้ความสำคัญกับผลิตภาพของงาน

ณัฐพงศ์กล่าวว่า ที่กรุงไทย-แอกซ่า อยากให้คนที่มาทำงานมีความสุขและเป็นในสิ่งที่อยากเป็น ดังนั้นเวลาเปิดตำแหน่งงานจึงไม่ได้จำกัดเพศ สิ่งสำคัญคือเรื่องวัฒนธรรม เมื่อเรารับคนเข้ามาทำงาน ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความยึดโยงกับบริษัท ตอนแรกตัวเองก็รู้สึกลำบากใจที่จะระบุตัวตนในที่ทำงาน แต่ที่ทำงานก็มีวัฒนธรรมที่ทำให้สะดวกใจ มีการเปิดฝ่ายบริหารความหลากหลายและความเป็นเอกภาพ บุคลากรที่มีความหลากหลายทางเพศและรู้สึกไม่สบายใจสามารถขอรับคำปรึกษาได้ นอกจากนั้นยังมีการขยายการยอมรับไปยังลูกค้าที่มีความหลากหลายทางเพศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรุงไทย-แอกซ่าระบุไว้ให้ทุกแผนประกันชีวิตของกรุงไทย-แอกซ่า สามารถระบุคู่ชีวิตเพศเดียวกันเป็นผู้รับผลประโยชน์

อูลริคกล่าวว่า กลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) ถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดและมีส่วนที่เหมือนกันในสังคมที่เป็นปิตาธิปไตย (Patriarchy) คือการถูกเลือกปฏิบัติในส่วนที่มีความเกี่ยวพันกับเพศหญิง ซึ่งถูกมองเป็นเพศผู้ตามในสังคมเช่นว่า การถูกเลือกปฏิบัติอยู่บนฐานว่า เหตุใดคนที่เกิดเป็นชายอยู่แล้วจึงสมัครใจลดตัวไปเป็นเพศหญิง

ต่อประเด็นว่าเหตุใดธนาคารโลกจึงใส่ใจเรื่องการไม่กีดกันความหลากหลายทางเพศ เพราะว่าธนาคารโลกมีเป้าหมายที่จะลดความยากจนและช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นผู้เสียเปรียบทั่วโลกให้มีสิทธิและโอกาสในการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น และเนื่องจากในสังคมส่วนใหญ่นั้นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้ที่ตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ ในฐานะของสถาบันธนาคารโลก รวมถึงตัวเขาเองจึงยืนหยัดในคุณค่าดังกล่าว

รายงานเผย LGBTI กว่าครึ่งถูกเลือกปฏิบัติในโลกการทำงาน-บริการภาครัฐ

ข้อมูลทางสถิติได้มาจากการสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์จากบุคคลจำนวน 3,502 คนที่อาศัยในประเทศไทย ในจำนวนนี้ 1,200 คน เป็นผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ใช่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และผู้ตอบแบบสอบถามที่ป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวน 2,302 คนที่ระบุตนว่าเป็นเกย์ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กซ์ หรือเพศอื่นๆ อีกทั้งได้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบของ "เรื่องราวชีวิต" จากผู้ให้ข้อมูลที่มีความหลากหลายทั้งในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศจำนวน 19 คนทั่วทุกภูมิภาคหลักของไทย โดยรายงานได้ระบุว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นความพยายามในการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก

การตอบแบบสำรวจออนไลน์พบว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยถูกเลือกปฏิบัติในทุกๆ ด้านของชีวิตในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยร้อยละ 60 ของกลุ่มคนข้ามเพศ (transgender) ร้อยละ 30 ของกลุ่มเลสเบี้ยน และร้อยละ 20 ของกลุ่มเกย์ตอบว่ามีการเลือกปฏิบัติในการทำงานของพวกเขา มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ใบสมัครของพวกเขาโดนปฏิเสธเพราะมีอัตลักษณ์เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

นอกจากนั้น บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกเลือกปฏิบัติเมื่อเข้าถึงบริการของภาครัฐ การอบรม การศึกษา การเช่า การซื้ออสังหาริมทรัพย์ บริการทางการเงินและประกันสุขภาพ การเลือกปฏิบัติในการทำงานที่พบบ่อยที่สุดคือการถูกปฏิเสธใบสมัครงาน การคุกคามในสถานที่ทำงาน  ประมาณหนึ่งในห้าของกลุ่มเกย์กล่าวว่าพวกเขาถูกมองข้ามในช่วงเวลาที่มีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง หรือไม่ได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพราะสถานภาพความเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ทหาร-ตำรวจ-สถาบันศาสนาปัดคน LGBTI เข้าทำงานมากสุด คนไม่ข้ามเพศเกือบครึ่งยอมรับกับการเลือกปฏิบัติ

การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับงานและในแวดวงการทำงานมีลักษณะแตกต่างหลากหลายกันไปตามอาชีพและภาคเศรษฐกิจ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะไม่สามารถเข้าถึงอาชีพในหน่วยงานตำรวจ ภาคส่วนที่เกียวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย กองทัพ และสถาบันเกี่ยวกับศาสนาได้ แต่เข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้นในภาคการเกษตร ธุรกิจค้าปลีก ความงามและสุขภาพ ซึ่งบ่งชี้เรื่องการแบ่งแยกกีดกันทางอาชีพด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศกับข้อจำกัดในความคล่องตัวและความก้าวหน้าทางอาชีพ

"ฉันสมัครไป แต่พวกเขาบอกฉันว่า 'ตำแหน่งงานนี้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น เธอไม่ใช่ผู้หญิง' ดังนั้นพวกเขาจ้างฉันไม่ได้ 'ฉันรู้นะว่าเธอมีความสามารถ ผู้คนเขาสรรเสริญเธอ แต่ว่าสำหรับตำแหน่งนี้ ทางผู้ใหญ่เขาต้องการผู้หญิงแท้ๆ เธอไม่ใช่ผู้หญิง เธอมีคำนำหน้าว่านาย'" รายงานระบุคำพูดของบุคคลเพศกำกวมวัย 27 ปีจากปริมณฑล กรุงเทพฯ

ผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเผชิญอุปสรรคท้าทายสำคัญในการเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น การขอออกบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวสำคัญอื่นๆ กลุ่มเกย์ร้อยละ 40.6 เลสเบี้ยนร้อยละ 36.4 กลุ่มคนข้ามเพศร้อยละ 46.9 ที่ร่วมตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับบริการที่แสวงหาจากรัฐ ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความหลากหลายทางเพศตอบว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติแบบไม่ให้เกียรติในยามที่ไปขอรับบริการจากรัฐ มากกว่าร้อยละ 30 กล่าวว่าโดนคุกคาม ล้อเลียน และถูกเรียกร้องให้ต้องทำตามข้อบังคับเพิ่มเติมมากว่าประชาชนทั่วไปในยามที่ต้องการใช้บริการรัฐ

ทั้งนี้ ร้อยละ 37.4 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ไม่ใช่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบอกว่ายอมรับได้หากว่าผู้จ้างงานเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48) กล่าวว่าเป็นเรื่องสมเหตุผลแล้วที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศประสบกับการเลือกปฏิบัติบางรูปแบบในเวลาที่เข้าใช้บริการรัฐ

ในด้านการตระหนักรู้ว่าไทยประกาศคุ้มครองต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกฎหมาย รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 พบว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศร้อยละ 7 กับกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้มีความหลากหลายทางเพศร้อยละ 1 รู้ว่าในไทยมีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

รายงานของธนาคารโลกได้ให้ข้อเสนอแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้

การสร้างความตระหนักรู้เรื่องนโยบายสาธารณะ

  1. พัฒนาและดำเนินโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ เรื่องสิทธิในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (SOGI - Sexual Orientation Gender Identity) และความหลากหลายทางเพศ กฎหมายที่ว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติและนโยบายตลอดทั้งกลไกรัฐ โดยครอบคลุมไปยังภาคเอกชน ประชาสังคม องค์กรสื่อสารมวลชน และสังคมในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดอบรมและสร้างความตระหนัก

  2. รัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงในระดับสูง ในการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าเป็นพลังของสังคมมากยิ่งขึ้น และต้องยืนยันว่าประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีเส้นแบ่งเกี่ยวกับเพศ วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ตัวอย่างเช่น ผู้นำรัฐบาลอาจแถลงนโยบายดังกล่าว หรือกำหนดให้มีการขับเคลื่อนเรื่องการมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศ

ความเท่าเทียมของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในการจ้างงาน

  1. พัฒน่าร่างและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมและห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกันการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ

  2. จัดตั้งกลไกการบังคับใช้และติดตามผลการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ดังกล่าว และให้มีการเยียวยาในกรณีที่มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนข้ามเพศ

  3. จัดตั้งคณะกรมการการจ้างงานอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการดังกล่าวในฐานะกลไกร้องทุกข์ระดับประเทศ

  4. ส่งเสริมการสานเสวนาทางสังคมระหว่างนายจ้างในภาคเอกชน กลุ่มลูกจ้างและพนักงานซึ่งเป็นบุคคลมีความหลากหลายทางเพศในการคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง และส่งเสริมการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ

ความเท่าเทียมกันในการดูแลสุขภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

  1. จัดทำแนวปฏิบัติและบูรณาการประเด็นการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเข้าไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากรที่ให้บริการด้านสาธารณสุข

  2. พัฒนาและใช้มาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการประกันสุขภาพเอกชนซักถามเกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์

  3. พัฒนาและนำมาใช้ซึ่งมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตเอกชนต้องออกกรมธรรม์คุ้มครองผู้อาประกันที่เปิดทางให้คู่ชีวิตไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ได้แต่งงานก็ตาม ไม่ว่าจะมีเพศหรืออัตลักษณ์ทางใดก็ตาม สามารถมีสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์จากการเอาประกันภัยได้

การมีส่วนร่วมในการศึกษาสำหรับทุกคน

  1. บูรณาการแนวปฏิบัติว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศและการไม่เลืกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมทั้งก่อนและระหว่างการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียนและครู ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่และที่รับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใหม่

  2. สร้างความตระหนักรู้ในชุมชนโรงเรียนทั้งหมดเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ การรายงานเหตุความรุนแรงและกลไกกาส่งต่อเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างขีดความสามารถในการใช้กลไกนั้นเพื่อป้องกันและรับมือเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ รวมทั้งการรังแกและการคุกคามทางโลกไซเบอร์

ความเสมอภาคในสิทธิตามกฎหมาย

  1. ให้มีการออกกฎหมายรับรองเพศสภาพ

  2. ให้มีการออกกฎหมายที่รับรองสถานะคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน โดยให้กฎหมายนี้คำนึงถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะอนุญาตและรับรองการใช้ชีวิตคู่อย่างมีเสถียรภาพระหว่างบุคคลสองคน บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ

  3. บูรณาการประเด็นวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเต็มรูปแบบไว้ใน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในแผนพัฒนาหรือนโยบายการพัฒนาในประเทศ

  4. สนับสนุนยอย่างจริงจังให้กลุ่มเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวลและผู้หญิงข้ามเพศในทุกๆ ความพยายามให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เรื่องสิทธิผู้หญิง การเสริมพลังให้ผู้หญิง และการป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก

  5. เสริมสร้างและบังคับใช้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อความรุนแรงทุกรูปแบบอันเนื่องมาจากเพศสภาพ และต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

การศึกษาวิจัยเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้

  1. เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณในภาคส่วนหลัก โดยแจกแจงมิติวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

  2. พัฒนาและบูรณาการฐานข้อมูลที่ผสมผสานกรณีต่างๆ และข้อมูลเกี่ยวกับการกีดกันกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและจากองค์กรประชาสังคม

  3. เพิ่มเติมส่วนข้อมูลว่าด้วยวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ในการทำสำรวจระดับประเทศหรือทำข้อมูลทะเบียนราษฎร์จากกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

  4. วิเคราะห์แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการป้องกันและเผชิญเหตุความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

  5. ประเมินนโยบายและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในประเทศไทย

  6. ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการรายงานเหตุความรุนแรงต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

  7. ให้ทุนทำวิจัยศึกษาเพื่อประเมินมูลค่าของต้นทุนทางเศรษฐกิจและการเงินที่กระทบต่อสังคม อันมีสาเหตุจากการกีดกันและปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและประโยชน์ของการที่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมเต็มที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยื่นหนังสือนายกฯ ขอยกเลิกใบอนุญาต รง.4 โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์

Posted: 18 May 2018 02:30 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยื่นหนังสือนายกฯ ขอยกเลิกใบอนุญาต รง.4 โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ชี้ไม่มีส่วนร่วมจากประขาชนในพื้นที่ หวั่นแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้ชุมชน ทั้งการดำเนินโครงการขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

18 พ.ค. 2561 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายได้เดินทางเข้ายื่นหนังสื่อถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้พิจารณาทวนยกเลิกใบอนุญาตโรงงาน ของโครงการโรงงานน้ำตาลทราย ขนา 20,000 ตันต่อวัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยสาธิต สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ได้ออกมารับหนังสือดังกล่าว

ใจความในหนังสือระบว่า ตามที่บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค โครงการโรงงานน้ำตาลของบริษัทฯ ซึ่งจัดทำโดย บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยีจำกัด แล้วเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ดำเนินการพิจารณา โดยโครงการทั้งหมดมีขนาด 716 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา มีกำลังผลิต 20,000 ตันต่อวัน โดยได้รับมติเห็นชอบรายงานไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 โดยให้ผู้เสนอกลับไปแก้ไขเพิ่มตามแนวทาง รายละเอียดตามที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนด

ต่อมาได้มีการส่งรายงานฉบับชี้แจงเพิ่มเติม แต่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีมติไม่เห็นชอบรายงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดกระบวนการพิจารณารายงานแล้ว แต่ต่อมาบริษัทได้เสนอรายงานฉบับใหม่เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 โดยมีการลดขนาของโครงการเหลือพื้นที่ 702 ไร่ 2 งาน 53.77 ตารางวา ฝ่ายเลขานุการได้พิจารณาเบื้องต้น มีข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการจัดการน้ำ รายละเอียดของโครงการ และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคม การมีส่วนร่วมของประชาชน พื้นที่สีเขียว

ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม คณะกรรมการผู้ชำนาญการ มีมติ เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 11/2561) ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทางบริษัทที่ปรึกษากลับไปทำรายงานฉบับสมบูรณ์ และในปัจจุบันทางบริษัทกำลังดำเนินขั้นตอนในการขอใบอนุญาต รง.4

ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีพื้นที่อยู่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตร รวมทั้งชุมชนอื่นๆ อีกมากมายที่พึ่งพิงลำเซบายเป็นหลัก ถือว่าใกล้พื้นที่จะเกิดโรงงานน้ำตาล การมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรจากดิน ลำน้ำเซบาย ป่าชุมชน ป่าบุ่งป่าทาม ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักที่จะมีโรงงานใกล้ชุมชนและทรัพยากรที่ชุมชนได้อาศัยอันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีของชุมชน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจฐานรากที่หาได้จากทรัพยากร วัฒนธรรม และอื่นๆ

จึงขอคัดค้านมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวของ คชก. โดยทางกลุ่มขอเรียนยืนยันตามข้อมูลข้อเท็จจริงและเหตุผล รวมถึงข้อคิดเห็นท้วงติงและข้อคัดค้านของหน่วยงานองค์กรและนักวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับเหตุความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการ ซึ่งได้เคยยื่นส่งเป็นเอกสารและส่งตัวแทนเข้าร่วมชี้แจงในการประชุมพิจารณารายงาน EIA ของ คชก. แล้ว โดยกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ขอเรียนเน้นย้ำถึงเหตุผลข้อคัดค้านอันเป็นสาระสำคัญถึงความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการและยังมีข้อขัดแย้งทางข้อมูลต่อพื้นที่ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กระบวนการไม่มีส่วนร่วมของชุมชน การมีส่วนร่วมของของชุมชนถือว่าเป็นกระบวนการหลักถ้ามีโครงการหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2550 มาตรา 67 ที่ผ่านมา ระบุถึง "การให้สิทธิแก่ชุมชน" ไว้ว่า "สิทธิ ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม  ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม" และปัจจุบันตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560 มาตรา ตามมาตรา 57 (1) รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม จัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการทำกิจกรรม โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น  มีส่วนร่วมด้วย ตามมาตรา 57 (2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวิตภาพ โดยต้องให้ประชาชน และชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์ด้วย และตามมาตรา 78 รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน

ฉะนั้นทำให้กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง วิเคราะห์ว่า บริษัทที่ปรึกษาซึ่งทำ EIA ของโรงงงานน้ำตาล ไม่ได้ทำตามขั้นตอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่แท้จริง โดยเฉพาะ 1. การมีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารของโรงงานน้ำตาล จะต้องให้ข้อมูลทั้งสองด้านคือด้านลบและด้านบวก เพื่อให้คนในพื้นที่และระดับนักวิชาการได้ร่วมพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าจะเหมาะสมกับพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนจะทำให้ชุมชนได้มีโอกาสในการไตร่ตรองข้อมูล ก่อนตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดเวที ได้ติดตามกระบวนการชี้แจงการดำเนินโครงการ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 และวันที่ 10 มี.ค. 2560 ซึ่งในเวทีกระบวนการเข้าร่วมเวทีของกลุ่มผู้มีส่วนที่กังวลต่อผลกระทบได้ถูกกำหนดจำนวนคนให้เข้าร่วมเวที ตลอดจนเวทีในวันที่ 10 มี.ค. 2560

ประเด็นที่ 2 ไม่มีการทำความตกลงกับชุมชนให้ชัดเจนถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่หน่วยงานอนุญาตหรือที่ชุมชนยอมรับร่วมกัน ทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และยังไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำเซบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลากเดือนส.ค – เดือนก.ย. 2 ล้าน ลบ.เมตร/ปี การกำหนดปริมาณน้ำที่ต้องผันจากลำน้ำเซบายนั้นกำหนดโดยบริษัทเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีการปรึกษาหารือหรือรับฟังความเห็นของชุมชนในเรื่องนี้โดยซึ่งหน้า และไม่มีการพิจารณาประเมินผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพในบริเวณจุดผันน้ำลำเซบาย นอกจากนี้เนื่องด้วยลำน้ำเซบายเป็นทางน้ำสาธารณะที่มีประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมและมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 จังหวัด 105 ตำบล 530 หมู่บ้านโดยเป็นพื้นที่บางส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี มีชุมชนระดับเทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 6 แห่ง มีประชากรรวมทั้งลุ่มน้ำ 281,210 คน หากโครงการต้องการจะผันน้ำลำเซบายเข้ามาใช้ในโครงการจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน จัดทำประชาคมหมู่บ้านหรือกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่นๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในลำน้ำเซบายที่จะได้รับผลกระทบจากการผันน้ำดังกล่าว

2.1 ไม่มีการศึกษากิจกรรมของการใช้น้ำทั้งลำน้ำเซบายว่าชุมชนมีกิจกรรมอะไรเกี่ยวข้องกับลำน้ำเซบายบ้าง อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทำการศึกษาปริมาณน้ำที่จะผันน้ำเข้าโรงงานเพียงเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมที่ชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากลำน้ำเซบายหลายด้าน เช่น การเกษตรในการทำนาปี(บางปีฝนแล้งสถานีสูบน้ำตลอดลำน้ำจะต้องดึงน้ำจากลำเซบายขึ้นไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว และชุมชนจะต้องดึงน้ำขึ้นมาเพื่อทำการประปาชุมชนและเมือง) โดยเฉพาะการใช้น้ำประปาจังหวัดอำนาจเจริญ มีสำนักงานประปาภูมิภาคประมาณ 5 แห่ง โดยมีหน่วยบริการในตำบลน้ำปลีก มีจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 966 ครัวเรือน หน่วยบริการอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีจำนวนผู้ใช้น้ำ 755 ครัวเรือน หน่วยบริการพนา มีจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 1,098 ครัวเรือน หน่วยบริการลืออำนาจมีจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 658 ครัวเรือน และมีแม่ข่ายอยู่ที่สำนักงานประปาอำนาจเจริญ มีจำนวนผู้ใช้น้ำประมาณ 10,656 ครัวเรือน ตลอดจนการทำข้อตกลงในการใช้น้ำ

ประเด็นที่ 3 การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ. 2560 – 2564  การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ใน จ.อำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียงตามที่บริษัทได้พิจารณาทางเลือกของโครงการนั้นยังมีข้อขัดแย้งกับแนวคิดนโยบายและยุทธศาสตร์แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ. 2560 – 2564 ของจังหวัดยโสธร และอำนาจเจริญ ที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ และการปฏิบัติของชุมชน โดยเฉพาะการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเป็นเมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล และจังหวัดอำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตรอินทรีย์ ด้วย

ประเด็นที่ 4 ความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเชิงพื้นที่ 

4.1 ที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่จะจัดตั้งในจังหวัดอำนาจเจริญตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ชุมชน รอยต่อพื้นที่ตำบลน้ำปลีก ตำบลนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ และตำบลเขียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ประมาณ  0.8-1 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีชุมชนและประชาชนอาศัยอยู่มากและทรัพยากรยังคงอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านจึงมีความกังวล ถ้าเกิดมีการตั้งโรงงานเกิดขึ้นการก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรจากลำน้ำเซบาย ที่ดิน ป่า วิถีชีวิตชุมชน ปัญหาสังคม เป็นต้น

4.2 ที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่จะจัดตั้งในตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ลำเซบาย ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนตำบลน้ำปลีก ตำบลนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ และฝั่งตรงข้าม ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร      

ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร จึงขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

1. พิจารณาทบทวนยกเลิกการขอใบอนุญาตโรงงาน ของโครงการโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ คชก. มีมติเห็นชอบ แต่ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจึงมองว่าเป็นข้อมูลที่หลายประเด็นยังขัดแย้งกับข้อมูลความเป็นจริงในระดับพื้นที่ตามที่เสนอข้างต้น

2. ให้ สผ. ทบวนยกเลิก มติเห็นชอบ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อมาเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น

3. ให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment - SEA ) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้เห็นความเหมาะสมของพื้นที่ในการพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับ SEA หากว่าสอดคล้องจึงค่อยมีการทำ EIA/EHIA หากไม่สอดคล้องต้องไม่ต้องดำเนินการโครงการนั้น

4. ให้มีกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดย

- ผู้จัดทำรายงานต้องเป็นหน่วยงานกลางที่มีการยอมรับร่วมกัน

- ความสัมพันธ์ของเจ้าของโครงการและบริษัทผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง

- มีการจัดทำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นโดยการมีส่วนร่วม และแสดงถึงผลการพิจารณาข้อคิดเห็นของประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

- กำหนดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปโดยชอบธรรมโดยมีคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมดูแลในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะ

- กำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงขั้นตอนการทำรายงานฯ ได้ตลอด ทั้งในระยะก่อนเริ่มดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังจากดำเนินการ 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ปลูกมันสำปะหลังร้องรัฐช่วยด่วน ชี้เลิกใช้พาราควอต กระทบต้นทุนเพิ่ม

Posted: 18 May 2018 02:00 AM PDT

ผู้ผลิตมันสำปะหลัง ระบุประสบความเดือดร้อนต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น หากไม่ให้ใช้สารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช ชี้พาราควอตจำเป็นต่อการเกษตร ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคและอาการต่าง ๆ
 
18 พ.ค.2561 สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รายงานว่า ภมร ศรีประเสริฐ อุปนายก สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังสูงกว่า 550,000 ครัวเรือน ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 7.9 ล้านไร่ ผลผลิตสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 2 ของโลก และส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยผลผลิตสามารถใช้ได้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย เพื่อการบริโภค อุปโภค และใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน เอทานอล
 
ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด โดยแต่ละโรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อน
 
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สารพาราควอต เป็นเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตที่สำคัญ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ให้ผลดีกว่าสารชนิดอื่นๆ พาราควอตจะทำลายเฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียวของวัชพืชเหนือดิน ไม่ทำลายระบบรากใต้ดิน ในทางกลับกัน การใช้พาราควอตมีส่วนช่วยในการรักษาหน้าดินและลดการสูญเสียน้ำในดิน เพราะซากวัชพืชจะช่วยคลุมดินไว้ ขณะเดียวกัน พาราควอตไม่สะสมในดิน เนื่องจาก พาราควอต จะสลายตัวโดยแสงและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดิน หากมีการสะสมในดินจริง วัชพืชคงไม่เติบโตขึ้นในพื้นที่เดิมที่เคยใช้สารพาราควอต รวมถึงกลุ่มนักวิชาการและแพทย์ชี้ข้อเท็จจริงแล้วว่า พาราควอต มีความจำเป็นต่อเกษตรกร และประเด็นด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่าง ๆ ดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น
 
นอกจากนี้ ยังคงมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในอีกหลายประการเกี่ยวกับสารพาราควอตกับการเกษตร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องพบสารพาราควอตตกค้างในเห็ด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการใช้สารดังกล่าวในการเพาะเห็ด เนื่องจากเห็ดเป็นการเพาะในระบบปิดหรือโรงเรือนปิดที่มีการควบคุม ส่วนคำกล่าวอ้างที่พาราควอตปนเปื้อนแหล่งน้ำและเห็ดธรรมชาติดูดซึมเข้าไปได้จนเป็นพิษนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากพาราควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคดิน และตะกอนดินในน้ำและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในที่สุด
 
สมบัติ ศรีจันทร์รัตน์ รองเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยลำมูลบน กล่าวว่า การใช้พาราควอต เห็นผลในเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังฉีดพ่น ออกฤทธิ์เฉพาะส่วนสีเขียวที่ได้รับสารเท่านั้น เช่น หากฉีดโดนใบ ก็จะทำให้ใบไหม้เท่านั้น จึงเรียกพาราควอตว่า ยาเผาไหม้ ไม่ดูดซึมเข้าราก หรือต้นพืช ปลอดภัยต่อพืชประธาน หรือ มันสำปะหลัง ส่วนการใช้เครื่องจักรมาช่วยในการกำจัดวัชพืชนั้น มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในเรื่องราคาต้นทุนของอุปกรณ์สูง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อมาครอบครองได้ และไม่สามารถใช้ได้เมื่อฝนตก รวมทั้ง การใช้เครื่องจักร อาจทำให้เกิดความเสียหายกับมันสำปะหลังได้ นอกจากนี้ การใช้พืชคลุมดินเพื่อกำจัดวัชพืชนั้น ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เนื่องจาก การใช้พืชคลุมดิน เป็นการเพิ่มต้นทุนและเวลาในการทำงาน อาทิ ค่าเมล็ดพันธ์พืชคลุมดิน ค่าสารกำจัดวัชพืช ค่าปลูกพืชคลุมดิน ค่าไถกลบพืชคลุมดิน ดังนั้น จึงไม่มีแนวทางใดที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนสารพาราควอต ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และต้นทุนได้ ณ ปัจจุบัน
 
รองเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยลำมูลบน ระบุด้วยว่า ปัจจุบัน ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้ดีขึ้น แต่การยกเลิกไม่ให้ใช้ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เหมือนเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไม่ให้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก เพราะทำให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากเดิมใช้สารพาราควอตต้นทุน ประมาณ 150 บาทต่อไร่ หากใช้แรงงานคน ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น 300-600 บาทต่อไร่ และใช้เวลาในการทำงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐคำนึงถึง เกษตรกร ในฐานะกระดูกสันหลังของชาติมาเป็นอันดับแรก เพราะเกษตกรกรคือ ผู้ผลิตแหล่งอาหารสำคัญให้แก่ประชาชนคนไทย และประชากรโลก หากเกษตรกรไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ ก็ไม่สามารถผลิตอาหารให้ทุกคนบริโภคต่อไปได้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้รณรงค์เรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และกรรมการวัตถุอันตราย สั่งยกเลิกการใช้พาราควอตในการประชุมวันที่ 23 พ.ค.นี้ หลังยืดเยื้อมากว่าปี เพราะข้อมูลจากนักวิชาการระบุชัดถึงอันตรายทั้งพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง และการตกค้างในสิ่งแวดล้อมรวมถึงสัตว์และคน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปี 2560 แรงงานต่างชาติจากเอเชียส่งเงินกลับบ้านเกิดถึง 8.2 ล้านล้านบาท

Posted: 18 May 2018 01:47 AM PDT

กองทุนเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (IFAD) ระบุแรงงานต่างชาติจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งเงินกลับบ้านเกิดถึงประมาณ 256 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 8.2 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

ที่มาภาพประกอบ: ILO in Asia and the Pacific

19 พ.ค. 2561 กองทุนเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (IFAD) เปิดเผยรายงาน RemitSCOPE - Remittance markets and opportunities – Asia and the Pacific เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่าแรงงานต่างชาติจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งเงินกลับบ้านเกิดประมาณ 256 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8.2 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของแรงงานต่างชาติทั้งโลก และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้แรงงานต่างชาติจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งเงินกลับบ้านเกิดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.87 ตั้งแต่ปี 2551 (ค.ศ. 2008)

ในรายงานของ IFAD ยังระบุว่าปัจจุบันเอเชียแปซิฟิกคือจุดหมายปลายทางของเงินที่ส่งกลับบ้านที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก โดยแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศอื่นนั้นส่วนใหญ่อยู่ในภาคการก่อสร้าง การดูแลเด็ก คนชราและผู้ป่วย รวมทั้งทำงานภายในบ้าน ซึ่งแรงงานจากเอเชียแปซิฟิกมักเดินทางไปทำงานที่ประเทศเจริญแล้วในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ภูมิภาคตะวันออกกลาง สหรัฐฯ และยุโรป มากที่สุดตั้งแต่งานระดับล่างไปจนถึงระดับกลาง ซึ่งประเทศในแถบเอเชียด้วยกันที่เป็นเป้าหมายของแรงงานจากชาติยากจนกว่าในแถบเอเชียได้แก่ ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย

โดยในปี 2560 'ฮ่องกง' เป็นประเทศปลายทางที่แรงงานต่างชาติไปทำงานแล้วส่งเงินกลับสู่บ้านเกิดสูงสุดประมาณ 17,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยออสเตรเลีย 16,888 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่น 9,138 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาเลเซีย 6,187 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิงคโปร์ 6,176 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ 5,989 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนประเทศที่ได้รับเงินส่งกลับบ้านมากที่สุด คือ 'อินเดีย' ประมาณ 68,968 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, จีน 63,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ 32,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปากีสถาน 19,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนาม 13,781 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบังกลาเทศ 13,469 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินส่งกลับบ้านเกิดของแรงงานต่างชาติเหล่านี้ได้ช่วยครอบครัวต่างๆ ในแถบเอเชียแปซิฟิกประมาณ 320 ล้านครอบครัว

ในรายงานของ IFAD ยังระบุว่าแรงงานต่างชาติประมาณ 80 ล้านคน จะส่งเงินกลับบ้านโดยเฉลี่ย 8-10 ครั้งต่อปี ซึ่งแต่ละคนต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินข้ามประเทศประมาณร้อยละ 7 ของมูลค่าเงินทั้งหมดที่ส่งกลับ หลายครั้งเป็นการส่งแบบไม่ผ่านบัญชีธนาคารซึ่งค่าธรรมเนียมนี้ลดลงจากระดับร้อยละ 20-25 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่กระนั้นก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่

ทั้งนี้ IFAD เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ค่าธรรมเนียมนี้ลดต่ำลง

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
RemitSCOPE - Remittance markets and opportunities – Asia and the Pacific (ifad.org, 7/5/2018)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัว 'เครือข่ายการสังเกตการณ์และบันทึกการชุมนุมสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน' เริ่มงาน 19 พ.ค. นี้

Posted: 18 May 2018 12:50 AM PDT

สมาชิกภาคประชาสังคมเปิดตัว "เครือข่ายการสังเกตการณ์และบันทึกการชุมนุมสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน" เพื่อสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะ โดยใช้หลักการที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ประกาศเริ่มงาน 19 พ.ค. นี้

18 พ.ค.2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า สมาชิกเครือข่ายการสังเกตการณ์และบันทึกการชุมนุมสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน ประกอบไปด้วยอาสาสมัครที่สนใจและให้ความสำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดผ่านการฝึกอบรม แลกเปลี่ยนความรู้และทักษะการเฝ้าสังเกตการณ์และการบันทึกการชุมนุมสาธารณะอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งเนื้อหาหลักสูตรการอบรมบางส่วนมาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วยและผ่านการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี

ปิยนุช โคตรสาร ตัวแทนเครือข่ายการสังเกตการณ์และบันทึกการชุมนุมสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า การรวมตัวกันของเครือข่ายมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความชอบธรรมของผู้สังเกตการณ์ว่ามิได้เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม ต้องการบันทึกข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอิงจากตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชน และเสริมทักษะการเฝ้าสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างมืออาชีพ
 
"หลักการสำคัญของเครือข่ายคือ ผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่แสดงความคิดเห็นถึงการชุมนุมสาธารณะ ไม่ส่งเสริมหรือทำลายขวัญกำลังใจของผู้ที่ประสงค์จะมาร่วมชุมนุม และที่สำคัญคือผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่มีส่วนร่วมหรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อการชุมนุม การดำเนินกิจกรรมจะทำโดยเข้าไปสังเกตการณ์ จดบันทึกและรวบรวมข้อมูลที่บันทึกได้จัดทำเป็นเอกสารสำหรับรายงานต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป"
 
 
ปิยนุช ยังกล่าวเสริมว่า เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออก การรวมตัวและสมาคม ซึ่งรัฐบาลของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องไม่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ เพราะสิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
 
โดยทางเครือข่ายแจ้งว่าการสังเกตการณ์การชุมนุมครั้งแรกจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคมนี้ที่บริเวณแยกราชประสงค์เนื่องในวันครบรอบการสลายการชุมนุมเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยสมาชิกเครือข่ายจะมีการแขวนป้ายและใส่เสื้อสีเขียวเหลือง ซึ่งมีคำว่า "ผู้สังเกตการณ์" ระบุไว้อย่างชัดเจน เพื่อแยกว่าผู้สังเกตการณ์มิได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พ.ร.บ.อีอีซี รวบอำนาจสารพัดกม.ใส่มือคณะกรรมการฯ ประกาศเขตเพิ่มได้โดย ครม.

Posted: 17 May 2018 11:18 PM PDT

ไม่รอกฎหมาย ใช้อำนาจ คสช. ประกาศเขตส่งเสริม 19 แห่ง 75,000 ไร่ ก่อนกฎหมายประกาศใช้ 7 วัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวบ ทับซ้อน แย่งยึดอำนาจจากกฎหมายอื่น ตีตั๋วเปล่าประกาศเขตพัฒนาพิเศษเพิ่มได้โดยไม่ต้องผ่านสภาพ ประกาศผังเมืองได้เอง ใช้ที่ดิน สปก. ได้โดยไม่ต้องเพิกถอน ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

  • รัฐบาลให้อำนาจ คสช. ประกาศเขตส่งเสริม 19 แห่ง เนื้อที่ 75,000 ไร่ ก่อนกฎหมายประกาศใช้ 7 วัน
  • พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มีเนื้อหาที่รวบ ทับซ้อน และแย่งยึดอำนาจจากกฎหมายอื่น
  • คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสามารถประกาศเขตพื้นที่เพิ่มได้ในอนาคต ด้วยการใช้มติ ครม. ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ต้องผ่านสภา

และแล้วอภิโปรเจกต์ที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามทุกหนทางเพื่อผลักดันก็บรรลุผลอีกขั้น วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561

เป็นที่รับรู้มาก่อนหน้าแล้วว่า พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไว้สูงมาก นอกจากนี้ ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะประกาศใช้ รัฐบาล คสช. ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 3 ฉบับเพื่อเร่งให้นโยบายเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1.คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่  2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

2.คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่  28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

3.คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่  47/2560 เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

เมื่อดูเนื้อหากฎหมาย พบว่า หลายมาตราเป็นการนำคำสั่งที่ 2/2560 มาเขียนเป็นกฎหมายและให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายฯ ซ้อนทับกับกฎหมายอื่น หรืออาจเรียกได้ว่ามีอำนาจมากกว่า

ใช้คำสั่ง คสช. ประกาศเขตส่งเสริม ก่อนกฎหมายออก 1 สัปดาห์

น่าสังเกตว่า ก่อนประกาศใช้กฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพียง 1 สัปดาห์ คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ใช้อำนาจตามคำสั่งที่  2/2560 ออกประกาศถึง 19 ฉบับ กำหนดให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 19 แห่งเป็นเขตส่งเสริม รวมเนื้อที่กว่า 75,000 ไร่ ประกอบด้วย

1.นิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา 2.นิคมอุตสาหกรรม ที เอฟ ดี 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ 841 ไร่ 42 ตารางวา 3.นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ อินดัสทรีส์ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 690 ไร่ 92 ตารางวา 4.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง พื้นที่ 1,357 ไร่ 1 งาน 54.7 ตารางวา 5.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (แหลมฉบัง) จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 704 ไร่ 6.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 3) จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,561 ไร่ 7.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 4) จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 653 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา 8.นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,472 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา 9.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร พื้นที่ 18,840 ไร่ 31 ตารางวา 10.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร (โครงการ 2) พื้นที่ 6,100 ไร่

11.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด พื้นที่ 8,003 ไร่ 12.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง 36 จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,281 ไร่ 1 งาน 42.4 ตารางวา 13.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) พื้นที่ 3,747 ไร่ 14.นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) พื้นที่ 9,689 ไร่ 15.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด พื้นที่ 8,003 ไร่ 16.นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 3 จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 2,198 ไร่ 17.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 3,502 ไร่ 18.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรีแห่งที่ 2 พื้นที่ 632 ไร่ และ 19.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี พื้นที่ 3,482 ไร่

โดยในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มาตรา 67 ยังสำทับว่า ให้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและเขตส่งเสริมตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม พุทธศักราช 2560 เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าคณะกรรมการนโยบายตามพระราชบัญญัตินี้จะได้มีมติให้ยกเลิกหรือกําหนดเป็นอย่างอื่น

ชวนให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลไม่ต้องการรอกฎหมายซึ่งอาจล่าช้าไม่ทันใจ จึงเร่งประกาศพื้นที่เขตส่งเสริมก่อนโดยอาศัยอำนาจของ คสช. หรือไม่

ตีตั๋วเปล่าประกาศเขตเพิ่ม-ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

การประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัตินี้ ในอนาคตเขตพัฒนาพิเศษอาจขยายออกไปอีก เพราะเนื้อหากฎหมายมาตรา 6 ระบุว่า ให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 'และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กําหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' เท่ากับตีตั๋วเปล่าให้คณะรัฐมนตรีประกาศเขตเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสภา

ในส่วนที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมคือมาตรา 8 ที่มีการใช้ช่องทางพิเศษโดยกำหนดว่า โครงการที่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชํานาญการเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือความเห็นชอบรายงานของโครงการหรือกิจการนั้น และต้องดําเนินการให้เสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานที่ถูกต้องและมีข้อมูลครบถ้วน

เนื้อหากฎหมายมาตรา 6 ระบุว่า ให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 'และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กําหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' เท่ากับตีตั๋วเปล่าให้คณะรัฐมนตรีประกาศเขตเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสภา

และกรณีที่ไม่มีผู้ชํานาญการสําหรับโครงการหรือกิจการใดหรือมีแต่ไม่เพียงพอ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่อนุญาตให้มีผู้ชํานาญการเพิ่มขึ้นให้เพียงพอโดยเร็ว โดยไม่ต้องเอาบทบัญญัติว่าด้วยการขอและการออกใบอนุญาต และคุณสมบัติของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาหรือจัดทํารายงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาใช้บังคับ และยังสามารถอนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาหรือจัดทํารายงานได้

ให้อำนาจเหนือกฎหมายหลายฉบับ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกยังมีอำนาจที่ซ้อนทับกับกฎหมายอื่น เช่น การจัดทำผังเมือง ในมาตรา 29 ให้สำนักงานฯ มีอำนาจจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม มาตรา 32 ยังกำหนด้วยว่า แผนผังที่จัดทําขึ้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองในส่วนที่ใช้บังคับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอยู่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนผังนั้นเป็นอันยกเลิกไป และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดําเนินการจัดทําผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังดังกล่าว ในระหว่างที่ยังจัดทําผังเมืองไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าแผนผังที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองสําหรับแต่ละจังหวัดที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ในกฎหมายยังเขียนด้วยว่า คณะกรรมการนโยบายฯ สามารถพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตหรือให้ความเห็นชอบแทนหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายได้ แต่ต้องแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจอนุมัติหรืออนุญาตหรือให้ความเห็นชอบตามกฎหมายนั้นทราบก่อนเข้าดําเนินการ  และหน่วยงานของรัฐนั้นมีหน้าที่ให้ความร่วมมือและอํานวยความสะดวกแก่หน่วยงานของรัฐหรือสํานักงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ มาตรา 36 ยังให้อำนาจสำนักงานฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี สามารถเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ สปก. ที่ได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยไม่ต้องเพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินส่วนนั้น

ส่วนในมาตรา 43 ยังได้ให้อำนาจแก่เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอํานาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมาย 8 ฉบับ ประกอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวตามมาตรา 54 (1) หรือ (2) อยู่ต่อในราชอาณาจักร กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

มาตรา 59 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน

ธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน?

เห็นได้ว่า กฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายฯ และเลขาธิการไว้สูงมากในการอนุมัติ ลัดขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายอื่นๆ กำหนดไว้ ซึ่งสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระที่ติดตามโครงการในภาคตะวันออกเรียกวว่า เป็นการรวบ ทับซ้อน และแย่งยึดอำนาจจากกฎหมายอื่น ทั้งยังทำลายธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน

"อย่างเรื่องการเช่าที่ดิน กฎหมายอีอีซีเขียนว่าสามารถเช่าได้ไม่เกิน 50 ปี ถ้าจะเช่าต่อก็สามารถเช่าได้อีก 49 ปี แต่ว่าผู้เช่าอาจเช่าถึงปีที่ 3 แล้วต่อสัญญาไปเลยอีก 49 ปี เป็น 99 ปี ซึ่ง พ.ร.บ.อสังหาฯ ทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องให้ครบ 50 ปีก่อนจึงจะต่อได้ เท่ากับเป็น พ.ร.บ. ให้เช่ายาวๆ ไปเลย ถือเป็นการแย่งยึดที่ดิน"

สมนึกยังกล่าวว่า แผนการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหรือผังเมือง ทางคณะกรรมการนโยบายฯ ล้วนเป็นคนออกแบบเองทั้งสิ้น

"ไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ในอนาคตท้องถิ่นจะไม่มีอำนาจเลย อำนาจจะอยู่ในมือสำนักงานอีอีซี ที่ดิน ถมทะเล การพิจารณาอีไอเอ พื้นที่ สปก. ผังเมือง การควบคุมอาคาร ทั้งหมดจะอยู่ในมืออีอีซีทั้งหมด ทั้งที่เมื่อก่อนจะวิ่งไปที่จังหวัด"

สมนึกตั้งคำถามว่า

"ทั้งหมดนี้เป็นธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ประชาชนในพื้นที่ถูกกระทำมา 2 รอบแล้วจากอีสเทิร์นซีบอร์ดทั้ง 2 เฟส อีอีซีคืออีสเทิร์นซีบอร์ด เฟส 3 ตัวคำสั่ง คสช. เองก็เขียนว่าจะให้ประชาชนร่วมออกแบบ แต่ความจริงไม่ได้ทำแบบนั้น แต่ใช้วิธีกดทับลงมา กำหนดประเภทกิจการ กำหนดพื้นที่กันเอง ไม่เกิดกระบวนการรับฟังอย่างถูกต้อง กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีการกล่าวถึงสิทธิแรงงานเลย แบบนี้ถือว่าละเมิดแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร้อง 'ประยุทธ์ - กรรมการวัตถุอันตราย' แบน 'พาราควอต'

Posted: 17 May 2018 11:00 PM PDT

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ขอ ประยุทธ์ และกรรมการวัตถุอันตราย สั่งยกเลิกการใช้พาราควอตในการประชุมวันที่ 23 พ.ค. นี้ หลังยืดเยื้อมากว่าปี ชี้ข้อมูลจากนักวิชาการระบุชัดถึงอันตรายทั้งพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง และการตกค้างในสิ่งแวดล้อมรวมถึงสัตว์และคน 

18 พ.ค.2561 สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจาก ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการพบการปนเปื้อนสารพาราควอตใน กบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง มีค่ามากกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จำกัดให้มีในอาหาร (เนื้อสัตว์) ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยปริมาณที่พบในปูนา อยู่ระหว่าง 24 – 56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 – 1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1 – 12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 – 7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อีกทั้งยังพบในอาหารแปรรูปอย่างน้ำปู๋ (น้ำปู) ซึ่งโดยกระบวนการผลิตต้องผ่านความร้อนที่สูงมาก ยังพบว่าปริมาณการตรวจพบพาราควอตไม่ได้ลดลงกว่าปูนา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย "ปริมาณที่พบไม่ได้เกินน้อย ๆ นะ มันเกินไปจนกว่า 200 เท่าในบางรายการ เห็นค่าการตกค้างแบบนี้ยังอยู่เฉยกันได้อีกหรือ?" "เมื่อก่อนนี้เรามีไร่มีนา เราสามารถจับสัตว์ในไร่นากินได้ เห็นค่าการตกค้างแบบนี้แล้ว ใครจะกล้าเอาของในไร่ในนาหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติใกล้ไร่นามากิน ข้อมูลมันชัดมากว่าไม่ใช่แค่ผู้ใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยง คนทุกคนมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน ตอนนี้เป็นปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารด้วย"

บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากการตรวจพบในสิ่งแวดล้อมแล้ว นักวิจัย (ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์) เขายังมีข้อมูลว่ามีการตกค้างในร่างกายคน สารกำจัดวัชพืชมันส่งต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้ มีการตกค้างของพาราควอตในซีรัมเด็กแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20 % เขายังบอกอีกว่าคนท้องที่ทำเกษตรช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอตตกค้างมากกว่าคนท้องที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่าและตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กแรกเกิดสูงถึง 54.7% "มันเกือบครึ่งหรือเกินครึ่งนะ เด็ก 2 คนที่เกิดในพื้นที่เกษตร อาจจะมี 1 คนที่ได้สารอันตรายแถมมาโดยที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง" "ทำไมต้องเพิ่มความเสี่ยงให้กับเด็กที่จะเกิดมา" อีกทั้งข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังบอกว่า พาราควอตเป็นพิษในระยะยาว และก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และอาจจะเกี่ยวกันกับมะเร็ง ยิ่งไปกว่านั้นนี้ยังมีข้อมูลว่า 50 กว่าประเทศมีการยกเลิกหรือประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตแล้ว รวมถึงประเทศที่เป็นผู้ผลิตอย่างอังกฤษ จีน และสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง ลาว เขมร และเวียดนาม เขาก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย "ประเทศนี้ความรู้ทางเกษตรสู้ประเทศอื่นที่เขายกเลิกการใช้ไม่ได้ใช่ไหม เราบอกว่าเราเป็นผู้นำของอาเซียนในเรื่องเกษตรกรรม พูดแบบนี้มานาน ทีเรื่องการผลิตอย่างปลอดภัยกลับอยากเป็นผู้ตาม" "เราจะปล่อยให้ประเทศเราเป็นผู้รับสารเคมีอันตรายของต่างงประเทศหรือ"

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้อยากเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นแก่ความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค เห็นแก่สุขภาพของคนทั้งประเทศขอให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ในการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 23 พ.ค. นี้

สารี กล่าวต่อว่า ขอเชิญชวนประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจร่วมเวทีความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต ในวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค. 61 ระหว่างเวลา 9.30 น. – 13.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น