โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แอมเนสตีเผยหลักฐานกลุ่มติดอาวุธ ARSA สังหารหมู่ชาวฮินดู-ลักพาตัวจากหมู่บ้าน

Posted: 26 May 2018 10:23 AM PDT

แอมเนสตีเปิดเผยว่ามีหลักฐานกรณีที่กองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรืออาร์ซา (ARSA) ก่อเหตุสังหารหมู่และลักพาตัวคนในหมู่บ้านชาวฮินดูในช่วงปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตทั้งชาย หญิง และเด็ก ซึ่งตัวแทนของแอมเนสตีบอกว่าถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเหี้ยมโหด

 
 
องค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลเปิดเผยว่าพวกเขาพบหลักฐานเรื่องที่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรืออาร์ซา (ARSA) ทำการสังหารหมู่ประชาชนชาวฮินดูไป 99 ราย ทั้งชาย หญิง และเด็ก รวมถึงการลักพาตัวชาวฮินดูจากหมู่บ้านในช่วงเดือน ส.ค. 2560 
 
แอมเนสตีเปิดเผยว่าพวกเขามีหลักฐานทั้งจากรูปถ่ายที่ได้รับการวิเคราะห์จากนักนิติพยาธิวิทยาและการสอบปากคำผู้คนทั้งในพื้นที่รัฐยะไข่และข้ามฝั่งไปยังประเทศบังกลาเทศ ทิรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝฝ่ายรับมือวิกฤตการณ์ ของแอมเนสตีกล่าวว่าการสืบสวนในครั้งนี้เปิดเผยให้เห็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มติดอาวุธอาร์ซา ฮัสซันระบุอีกว่าเรื่องการก่อเหตุอย่างโหดเหี้ยมของอาร์ซามีความสำคัญมากพอๆ กับประเด็นเรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กองทัพเมียนมาร์ก่อไว้ในรัฐยะไข่
 
หนึ่งในเหตุสังหารหมู่ดังกล่าวเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน Ah Nauk Kha Maung Seik ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชาวฮินดูอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ โดยพวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ใกล้กับหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อีกทั้งในบริเวณเดียวกันยังมีหมู่บ้านระขิ่นซึ่งมีชาวพุทธอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่
 
เหตุในหมู่บ้าน Ah Nauk Kha Maung Seik เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 ส.ค. 2560 มีคนติดอาวุธสวมชุดดำกับชาวบ้านโรฮิงญาในพื้นที่นั้นช่วยกันกวาดต้อนชาวฮินดูทั้งชาย หญิงและเด็ก มีการปล้นทรัพย์ จับมัด และปิดตาพวกเขาออกไปที่เขตรอบนอกของหมู่บ้าน จากนั้นจึงมีการแยกผู้ชายออกจากหญิงและเด็ก หลายชั่วโมงต่อมาก็มีการสังหารคน 58 คนในแบบจ่อยิงโดยไม่ให้ขัดขืน (execution-style) โดยเริ่มจากสังหารผู้ชายก่อน มีการไว้ชีวิตหญิง 8 คน กับเด็กอีก 8 คน ซึ่งถูกลักพาตัวไป กลุ่มอาร์ซาบังคับให้ผู้หญิง "เปลี่ยนศาสนา" เป็นอิสลาม ผู้รอดชีวิตถูกบีบให้ต้องหนีไปยังบังกลาเทศอีกหลายวันหลังจากนั้น ก่อนที่จะได้รับการส่งตัวกลับภูมิลำเนาในเดือน ต.ค. 2560 จากการสนับสนุนของรัฐบาลบังกลาเทศและเมียนมาร์
 
บินา บาลา หญิงอายุ 22 ปี ที่รอดชีวิตบอกเรื่องที่เกิดขึ้นต่อแอมเนสตีว่ามีชายถือมีดและไม้พลองเหล็กยาวๆ จับเธอมัดมือแล้วก็ปิดตาพวกเธอ พอถามว่าจะทำอะไรมีคนหนึ่งบอกว่าพวกเขากับชาวระขิ่นมีศาสนาต่างจากพวกเขา ไม่ควรจะอยู่ที่นั่น จากนั้นคนติดอาวุธจึงเรียกเอาทรัพย์สินที่พวกเธอมี แล้วก็ทุบตีพวกเธอ พวกเธอให้เงินกับทองพวกเขาไปในที่สุด
 
ผู้รอดชีวิตรายอื่นๆ เล่าว่าพวกเธอถูกสั่งไม่ให้มองตอนที่กลุ่มติดอาวุธเหล่านั้นสังหารหมู่ผู้ชายที่เป็นญาติของพวกเธอ ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งเล่าว่าตอนที่เธอกำลังถูกต้อนไปที่อื่นเธอแอบหันไปมองเห็นกลุ่มติดอาวุธกำลังจับปาดคอผู้หญิงและเด็กรายอื่นๆ ในกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตมีเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี ถึง 14 ราย
 
อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน Ye Bauk Kyar มีชาวฮินดูทั้งชาย หญิง และเด็ก จำนวน 46 คน หายตัวไปในวันเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ใน Ah Nauk Kha Maung Seik โดยถึงแม้ว่าจะมีการขุดพบหลุมฝังศพหมู่ของชาว Ah Nauk Kha Maung Seik รวม 45 รายแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครค้นพบผู้หายตัวไปจากหมู่บ้าน Ye Bauk Kyar 
 
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันคือวันที่ 26 ส.ค. 2560 ในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้าน Myo Thu Gyi มีลุ่มติดอาวุธอาร์ซาสังหารชาวฮินดู 6 ราย เป็นเด็ก 3 รายรวมถึงทำให้หญิงรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ หญิงที่รอดชีวิตเล่าว่าสามีและลูกสาวอายุ 5 ปี ของเธอถูกสังหารโดยคนที่สวมชุดดำทำให้ไม่เห็นใบหน้ามองเห็นแต่ดวงตาเขา ตัวเธอก็ถูกยิงที่หน้าอกด้วยแต่รอดชีวิตมาได้
 
มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่ใกล้กับเหตุการณ์กลุ่มอาร์ซาบุกทำลายด่านตรวจของทางการเมียนมาร์ 30 แห่ง ทำให้พลเรือนชาวโรฮิงญาถูกสังหารหมู่และเผาทำลายหมู่บ้านจากทางการเมียนมาร์เป็นการโต้ตอบ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงเช่นกัน ฮัสซันเรียกร้องให้กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ควรถูกประณามทั้งสองฝ่าย "การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ถือเป็นการให้ความชอบธรรมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มอื่นๆ" ฮัสซันกล่าว
 
ฮัสซันกล่าวอีกว่า ครอบครัวของผู้รอดชีวิตทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรม ได้รับทราบความจริง และได้รับการชดเชยเยียวยาจากความเสียหายที่พวกเขาได้รับ อีกทั้งฮัสซันยังประณามสิ่งที่กลุ่มอาร์ซาทำว่าเป็นการก่ออาชญากรรมที่โหดร้าย สมควรนำตัวผู้กระผิดมารับผิดชอบ
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Myanmar: New evidence reveals Rohingya armed group massacred scores in Rakhine State, Amnesty, 22-05-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

GDPR: คุ้มครองความเป็นส่วนตัวอย่างไร?

Posted: 26 May 2018 09:03 AM PDT



ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

GDPR (General Data Protection Regulation) เป็นกฎระเบียบของ EU ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชนในกลุ่มประเทศ EU จากการที่ความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลถูกล่วงละเมิดมากขึ้นในโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นการปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งออก EU Directive เมื่อปี 1995

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ได้รับความสนใจหรือตระหนกตกใจกันมาก น่าจะเป็นบทลงโทษที่ระบุไว้ว่า การเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน EU ที่ไม่ปฎิบัติตาม GDPR จะถูกปรับเป็นจำนวนเงินถึง 20 ล้านยูโร หรือ 2-4% ของรายได้ต่อปีทั่วโลก ขึ้นอยู่กับว่าวงเงินใดมากกว่า กฎระเบียบนี้มีผลใช้บังคับกับหน่วยงานที่อยู่ใน EU และรวมไปถึงหน่วยงานนอก EU

หลักการคุ้มครองข้อมูลยังคงเป็นไปตามมาตรฐานของ EU Directive โดยมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในข้อกำหนดใน GDPR ดังนี้

1. ขอบเขตการบังคับใช้เชิงพื้นที่

GDPR บังคับใช้ในทุกหน่วยงานที่มีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลพลเมืองที่อาศัยอยู่ใน EU ไม่ว่าบริษัทจะตั้งอยู่ที่ไหน นั่นคือ GDPR บังคับใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูลใน EU ไม่ว่าการประมวลผลจะทำใน EU หรือไม่ก็ตาม โดยจะบังคับใช้กับทุกกิจกรรมที่เป็นการจำหน่ายสินค้าและบริการแก่พลเมือง EU และทุกกิจกรรมที่มีลักษณะการติดตามพฤติกรรมของพลเมืองที่เกิดขึ้นใน EU หากเป็นธุรกิจของประเทศอื่นที่ไม่ใช่สมาชิก EU (Non-EU Business) ก็ต้องดำเนินการแต่งตั้งผู้แทนใน EU ด้วย

2. บทลงโทษ

ในกรณีที่เกิดความเสียหายหรือการรั่วไหลของข้อมูล (Data Breach) หน่วยงานที่ไม่ปฎิบัติตามข้อกำหนดจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินถึง 20 ล้านยูโร หรือ 2-4% ของรายได้ต่อปีขึ้นอยู่กับว่าวงเงินใดสูงกว่า ซึ่งเป็นโทษปรับสูงสุดในกรณีร้ายแรง เช่น การไม่ขอความยินยอมที่เหมาะสมเพียงพอในการประมวลผลข้อมูล หรือการปฏิบัติขัดหลักการ Privacy by Design บางกรณีมีโทษปรับ 2% เช่นกรณีการไม่มีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ การไม่แจ้ง Supervising Authority และเจ้าของข้อมูลเมื่อเกิดเหตุรั่วไหล หรือการไม่จัดทำ Privacy Impact Assessment

3. การให้ความยินยอม

หลักความยินยอมได้รับการยืนยันเข้มแข็งมากขึ้น โดยระบุว่าการขอความยินยอมต้องดำเนินการในรูปแบบที่เข้าใจได้และสามารถเข้าถึงได้สะดวก (Intelligible and easily access) ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการประมวลผลข้อมูลในการขอคำยินยอม โดยการขอความยินยอมต้องมีความชัดเจน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย การยกเลิกการให้ความยินยอมก็ต้องดำเนินการได้โดยสะดวก


สิทธิของเจ้าของข้อมูลภายใต้ GDPR

สิทธิที่จะได้รับแจ้งเมื่อเกิดความเสียหาย (Breach Notification)

ภายใต้ GDPR ถือว่าการแจ้งเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เมื่อเกิดความเสียหายหรือการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งเกิดผลกระทบมีความเสี่ยงต่อสิทธิเสรีภาพของเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้การแจ้งต้องดำเนินการภายใน 72 ชั่วโมง โดยผู้ประมวลผลต้องแจ้งต่อลูกค้าและผู้ควบคุมข้อมูลโดยไม่ชักช้าหลังจากเกิดความเสียหาย

สิทธิที่จะรู้และเข้าถึงข้อมูล (Right to Access)

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะได้รับการแจ้งจากผู้ควบคุมข้อมูลว่า มีการประมวลผลข้อมูลหรือไม่ การประมวลผลดำเนินการที่ไหน มีวัตถุประสงค์อะไร และเมื่อร้องขอ ผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องจัดหาสำเนาข้อมูลดังกล่าวให้เจ้าของข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ข้อกำหนดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลและเป็นการยืนยันความเข้มแข็งของเจ้าของข้อมูล

สิทธิที่จะขอให้ลบข้อมูล (Right to be Forgotten/Right to erase)

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ (1) ในการแจ้งให้ลบข้อมูล ระงับการเผยแพร่ หยุดการประมวลผลโดยบุคคลที่สาม (2) มีสิทธิในการแจ้งให้ลบข้อมูลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บครั้งแรก และ (3) มีสิทธิในการลบข้อมูลที่เจ้าของข้อมูลได้ยกเลิกความยินยอม

ทั้งนี้ผู้ควบคุมต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาเปรียบเทียบสิทธิของเจ้าของข้อมูลกับประโยชน์สาธารณะในการมีอยู่ของข้อมูลนั้น

สิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง (Data Portability)

สิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง ในรูปแบบที่สามารถใช้งานได้ตามปกติรวมทั้งรูปแบบที่อ่านได้ด้วยเครื่องมือ/อุปกรณ์ (machine-readable format)

สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตั้งแต่ต้น (Privacy by Design/Privacy by Default)

กำหนดให้มีการวางระบบความคุ้มครอง(Protection) ตั้งแต่ในโอกาสแรกของการออกแบบระบบ มากกว่าการมาเพิ่มการดำเนินการในภายหลัง โดยกำหนดว่าต้องมีการใช้มาตรการทางเทคนิคและการบริหารที่เหมาะสม โดยยึดหลักประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเป็นการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูล

ผู้ควบคุมข้อมูลจะเก็บและและประมวลผลข้อมูลได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ภารกิจสำเร็จ (data minimization) และต้องมีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลโดยผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับการประมวลผล

สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองโดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ (Data Protection Officers: DPO)

ใช้ระบบการเก็บบันทึกข้อมูลภายในองค์กร (Internal Record Keeping) แทนระบบการรายงานต่อ Data Protection Authorities (DPA) และกำหนดให้มีการแต่งตั้ง DPO สำหรับผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และมีภารกิจหลักในการติดตามและประมวลผลข้อมูลเป็นประจำและเป็นระบบ (Regularly and Systematic monitoring Data Subjects)

การแต่งตั้ง DPO ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติด้านวิชาชีพและความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและภาคการปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ภายในองค์กรหรือผู้ให้บริการภายนอก ต้องแจ้งข้อมูลการติดต่อกับทาง DPA และต้องมีทรัพยากรเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจและพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญของ DPO ทั้งนี้ DPO มีระบบรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง และต้องไม่ทำหน้าที่อื่นที่อาจเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นคร เสรีรักษ์ เป็นอาจารย์ผู้สอนอยู่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นผู้ก่อตั้ง PrivacyThailand

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีฮิญาบที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ข้อท้าทายในการร่วมเเก้ปัญหา

Posted: 26 May 2018 08:43 AM PDT

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
 
ภาพบรรยากาศ นักเรียนและผู้ปกครองมุสลิมมอบดอกไม้ให้ผู้อำนวยการและคณะครูโรงเรียนอนุบาลปัตตานีแทนการขอบคุณที่พวกเขาได้สวมใส่ฮิญาบเข้าเรียนได้ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นข่าวดังในโลกโซเซียลว่าเขาไม่สามารถแต่งได้  จนทำให้รัฐโดยรัฐบาลส่วนหน้าเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหิญาบโดยนำเรื่องกฎระเบียบกระทรวงที่อนุญาตให้มุสลิมแต่งกายฮิญาบเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี (โรงเรียนของรัฐ)ได้ก่อนจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่เพิ่มดีกรีความรุนแรงชายแดนใต้เหมือนเหตุประท้วงที่ยะลา เมื่อ 30 กว่าปีที่วิทยาลัยครูยะลาขณะนั้นไม่อนุญาตให้มุสลิมสวมฮิญาบเข้าเรียน (โปรดอ่านรายละเอียดใน https://www.isranews.org/south-news/other-news/66105-apparel.htm)

ความเป็นจริงถึงแม้การใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ  และกฎกระทรวงที่อยู่เหนือระเบียบโรงเรียนเข้ามาแก้ปัญหาอาจเป็นทางออกหนึ่ง  แต่ลึกๆแล้วความขัดแย้งทางความรู้สึกแพ้ชนะแต่ละฝ่ายที่มีกองเชียร์ (สามารถดูได้จากกระแสโลกโซเซียล)กำลังคุกกรุนที่พร้อมจะระเบิดหากไม่สามารถใช้กระบวนการเสวนาอย่างมีศาสตร์และศิลป์ของข้องกังวลอีกฝ่ายได้และพร้อมจะเป็นเชื้อปะทุโหมกระหน่ำไฟใต้ได้ตลอดเช่นกันดังที่มีเเถลงการณ์ของชาวพุทธกลุ่มหนึ่งเเละพระส่วนหนึ่งประกาศไม่ยอมพร้อมสู้กับประกาศที่เขามองว่าขาดความชอบธรรม(โปรดอ่านรายละเอียดใน https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/66220-monk.html)
 
นายแพทย์ Fahmi Talebได้ตั้งข้อเกตปรากฏการณ์ฮิญาบครั้งนี้ผ่านเฟสส่วนตัวว่า   มีเรื่องชวนคิด จากเหตุการณ์เรื่องฮิญาบของรร.อนุบาล ปัตตานีเรื่องแรก คือ อิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย   ประเด็นเรื่องฮิญาบในสถานศึกษา ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัย 30 ปี ก่อน มีประท้วงใหญ่    โรงเรียนอนุบาลปัตตานี เป็นโรงเรียนรัฐ ที่มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไทยพุทธ ครูก็เช่นกัน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองปัตตานี อยู่ตรงข้ามวัด บริบททั้งหมดเหมาะสมแก่การศึกษาของบุตรหลานชาวไทยพุทธและชาวจีนในพื้นที่ ส่วนนักเรียนมุสลิมที่เข้าเรียนที่นี่ มักเป็นคนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง ลูกหลานของนักธุรกิจ หรือข้าราชการ   ภรรยาผมก็เป็นศิษย์เก่าที่โรงเรียน เข้าใจสภาพโรงเรียนดี   นักเรียนมุสลิมสมัยก่อนๆ ไม่ได้มาจากครอบครัวสาย Islamic conservative หรืออนุรักษ์นิยมตามวิถีอิสลาม   ส่วนครอบครัว Islamic conservative หรือ ชาวบ้านมุสลิมทั่วไปๆ ในตัวเมืองปัตตานี ก็มักหาตัวเลือกอื่นในการเรียนประถมศึกษาให้ลูกอยู่แล้ว  ก่อนหน้านี้หลายสิบปี ที่ไม่เคยมีปัญหา เพราะผู้ปกครองมุสลิมที่เข้าเรียนโรงเรียนอนุบาล ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากเรื่องฮิญาบ ซึ่งเป็นไปตามระดับความเคร่งครัดของครอบครัว ดังนั้นจึงไม่เคยมีปัญหาเรื่องเหล่านี้ หรืออาจมี แต่ผู้ปกครองที่อยากให้ใส่คงไม่ได้คัดค้านอะไรมากนัก
 
ปัจจุบัน ชนชั้นกลางมุสลิมมีมากขึ้น รวมถึงสื่อการสอนศาสนาผ่านโลกออนไลน์มีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในด้านความเคร่งครัดในศาสนาของคนชั้นกลาง โดยผ่านตัวกลางคือสื่อออนไลน์ก็มีมากขึ้น ดังนั้นประเด็นเรื่องฮิญาบ จึงกลายเป็นความสนใจที่ผู้ปกครองเอาใจใส่มากขึ้น
 
มิติด้านพหุวัฒนธรรมที่ถูกพูดถึงในพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็ถูกใช้ในการเรียกร้องครั้งนี้ด้วยแต่มีข้อสำคัญที่ควรนึกถึง คือ ไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม ล้วนหวงแหนพื้นที่และอำนาจของตัวเอง และปฏิกริยาในการป้องกันพื้นที่ที่เขาหวงแหนนั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ
เช่นกรณีที่บุคลากรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน รร.อนุบาลปัตตานี อ้างสิทธิ กฏระเบียบของโรงเรียน หรือ อ้างอิงถึงธรณีสงฆ์ กล่าวอ้างขึ้นมา แม้เป็นเหตุผลที่ฝ่ายเรียกร้องสิทธิฮิญาบบอกว่าไม่มีเหตุผล เพราะมีกฏหมายประเทศเรื่องระเบียบเครื่องแต่งกายตามศาสนาที่อยู่ในลำดับสูงกว่าอยู่   ความรู้สึกที่เห็นว่า พื้นที่ที่ตัวเองเคยมีอำนาจ (โรงเรียน, ชุมชน, มัสยิดศูนย์กลาง) กลับถูกท้าทายด้วยผู้เล่นใหม่ที่เข้ามา และการสกัดกั้นตามสัญชาตญาณจึงออกมาเช่นที่เป็นปรากฏ  ดังนั้นการได้รับอนุญาตให้นักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไม่ใช่ชัยชนะของมุสลิม และไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของคนไทยพุทธในพื้นที่มุสลิมได้รับสิทธิที่ไม่ได้กระทบกับวิถีปฏิบัติของชาวไทยพุทธเรื่องนี้คือเรื่องพื้นฐานมากๆ

ปรากฏการณ์เรื่องนี้มีแค่นิดเดียวนั้นคือ นักเรียน 7 คนที่ครอบครัวและตัวนักเรียนต้องการสวมใส่ฮิญาบตามหลักศาสนา ได้รับอนุญาตจากทางโรงเรียน และทางโรงเรียนก็ไม่ได้สูญเสีย การเรียนการสอนก็ยังคงเป็นไปตามเดิม ครูทุกคนก็ทำหน้าที่เหมือนเดิม การทำความเข้าใจที่ดีในเรื่องซับซ้อนเช่นนี้คงต้องใช้เวลา เหตุผลที่ดีย่อมเอาชนะผู้มีปัญญาทั้งหลายแน่นอน ด้วยระยะเวลาและวิธีที่เหมาะสม ยกเว้นว่าต่างฝ่ายต่างไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลที่ดี และวิธีที่เหมาะสมได้ 

นางอังคณา  นีลไพจิต ได้แสดงทัศนะผ่านเฟสส่วนตัวว่า  #นักสิทธิมนุษยชนและนักสันติวิธีบางคนเรียกร้องให้ใช้กระบวนการทางศาล เรื่องระเบียบโรงเรียนขัดรัฐธรรมนูญ #ส่วนตัวขอยืนยันว่า การใช้หลักนิติศาสตร์เพียงลำพังไม่สามารถแก้ปัญหาความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ได้ หนำซ้ำยังอาจทำทำให้เกิดการปะทะทางความคิดมากขึ้น ซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งไดๆได้ เรื่องนี้จึงควรใช้หลักรัฐศาสตร์ในการเจรจาประนีประนอม โดยยึดเอาผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ในระยะยาว  (โปรดดูข้อกังวลและข้อเสนอชาวพุทธจชต.ผ่านงานวิจัย1. https://mgronline.com/south/detail/9610000048952 2.https://deepsouthwatch.org/th/node/11160 ) ทุกฝ่ายควรเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในทุกความคับข้องใจ เพราะน่าจะมีหลายเรื่องที่ควรพูดคุยระหว่างคนต่างศาสนาเพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ท่านที่ติดตามเรื่องราวปัญหาใน จชต. คงทราบว่านอกจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานนับสิบปีแล้ว ยังมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ที่เคยอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน ไว้วางใจและร่วมทุกข์ร่วมสุข แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์และความรู้สึกดีๆเหล่านี้หายไป แถมยังแปรเปลี่ยนเป็นความหมางเมิน หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ เด็กๆที่เคยมีเพื่อนสนิทเป็นคนต่างศาสนิก ได้เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา พบว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เติบโตแบบแยกกันเรียน แยกกันเล่น เด็กมุสลิมส่วนมากเรียนในโรงเรียนที่สอนศาสนาอิสลามด้วย ส่วนเด็กพุทธก็เรียนในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งบางโรงเรียนแทบไม่มีมุสลิมเรียน ไม่นานมานี้ มีกรณีความไม่สบายใจของคนไทยพุทธในพื้นที่กรณีที่โรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดยะลา ประกาศให้อาหารในโรงพยาบาลเป็นอาหารฮาลาลทั้งหมด โดยให้มีครัวฮาลาลครัวเดียว โดยให้เหตุผลว่า "อาหารฮาลาลทุกคนรับประทานได้" แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรับประทานอาหารทั่วไปก็ต้องนำอาหารพร้อมภาชนะมาเอง เรื่องนี้แม้ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็สร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมต่อผู้ป่วยและญาติที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ทั้งที่ที่จริงโรงพยาบาลสามารถจัดให้มีสองครัวได้ ทั้งครัวอาหารฮาลาลและครัวอาหารทั่วไป โดยต้องยอมรับว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร หรืออาจอยากทานอาหารที่ตนเองคุ้นเคย ซึ่งก็ย่อมมีสิทธิที่กระทำได้ อีกทั้งต้องยอมรับว่า คนป่วยทุกคนไม่ได้มีญาติมาเยี่ยมทุกวัน หรือสามารถส่งอาหารให้ได้ทุกมื้อ ผู้ป่วยหลายคนนานๆจะมีญาติมาเยี่ยม เพราะอาจไม่สะดวกเรื่องการเดินทางหรือค่าใช้จ่ายอื่น ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเรื่องโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ที่เมื่อเร็วๆนี้ชาวบ้านอำเภอสุคิริน ที่ส่วนมาเป็นคนไทยพุทธออกมาคัดค้าน ไม่ต้อนรับผู้ "กลับบ้าน" ต่างศาสนา
 
ดร.สุชาติ เศรษฐมาลีนี นักวิชาการมุสลิมจากมหาวิทยาลัยพายัพเขียนไลน์มาให้บอกว่าเห็นด้วยกับผู้เขียนว่าการเเก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอเเละยั่งยืน ควรมที่มุสลิมเองเเละต่างศาสนิกหรือคู่ขัดเเย้งตั้งสติสานเสวนาหาทางออก" 
 
จากประสบการณ์..ไม่ว่าฝ่ายพุทธหรือมุสลิม... การแก้ปัญหาโดยอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมของตนฝ่ายเดียวโดยไม่รู้จักใช้ฮิกมะฮ์(วิทยปัญญา)และไม่รู้สึกรู้สาความรู้สึกของอีกฝ่าย จะไม่มีทางนำความรุ่งเรืองสู่ศาสนาของตนเอง 
 
ผมเคยยกตัวอย่างหลายที่หลายทางเกี่ยวกับ ชุมชนแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซียยุคก่อนอิสลามซึ่งเป็นชุมชนฮินดู อิหม่ามขณะนั้นขอร้องมุสลิมอย่ากินเนื้อวัว เพราะถึงแม้จะเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของมุสลิมแต่ไปทำลายความรู้สึกชาวฮินดู มุสลิมจึงหันไปกินเนื้อควายแทน จนในที่สุด ด้วยความงดงามของอิสลามและวิถีของมุสลิมในชุมชนนั้น ชาวฮินดูจึงได้หันมารับอิสลามและกลายเป็นชุมชนมุสลิมที่แทบไม่กินเนื้อวัวมาจนทุกวันนี้ [ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่า กรณีโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ต้องให้เด็กมุสลิมทิ้งอัตลักษณ์ตนเอง ต้องเลิกคลุมฮิญาบนะครับ] เพียงแต่ต้องการบอกว่า ทั้งฝ่ายพุทธและมุสลิมไม่ควรเริ่มต้นคุยกันด้วย "สิทธิ์" ของตนเป็นตัวตั้ง แต่หันมาคุยกันด้วยความรัก ด้วยเหตุด้วยผล ตอนนี้ฝ่ายพุทธก็ยืนยัน "สิทธิ์" และมองว่า "การที่โรงเรียนที่ตั้งบนพื้นที่วัดอนุญาตให้มุสลิมคลุมผมเป็นการทำลายแก่นของพุทธศาสนา" (คำพูดในคลิปของพระที่เป็นรองประธานสมาพันธ์ชาวพุทธ 3 จชต.) ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่อ่อนมากๆ ว่าการคลุมผมของเด็กมุสลิมไปทำลายแก่นของศาสนาพุทธอย่างไร ชาวพุทธไม่ควรยอมรับความคับแคบในการนิยามแบบนี้เพราะรังแต่จะสร้างความเสียหายให้พุทธศาสนามากกว่า เพราะศาสนาพุทธที่ผมเข้าใจมีความใจกว้าง และสันติกับทุกศาสนาโดยไม่ยึดติดกับอัตตาของตนเอง 
 
ผมเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงครับ เพราะได้กลายเป็นสงครามอารมณ์ความรู้สึก และมุ่งเอาชนะคะคานกันมากกว่าพูดคุยกันด้วยเหตุผล อีกทั้งมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายขยายวงสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนามากยิ่งขึ้น น่าจะต้องมีทีมรีบพูดคุยทำความเข้าใจโดยเร็วครับ โดยเราต้องช่วยกันคิดโดยใช้ฮิกมะฮ์เพื่อให้เขายอมรับเราโดยไม่รู้สึกว่าเป็นการเสียหน้า เสียสิทธิ์ และหันหน้ามายอมรับซึ่งกันและกัน...

เพื่อนอีกคนขอสงวนนาม(ทำงานสานเสวนาเเก้ปัญหาความขัดเเย้งอธิบายว่า

" ถ้า เข้าใจเขาได้ เท้าก็สามารถแตะบันไดขั้นแรก ถ้า ไม่เข้าใจเขา ข้อดีก็คือแสดงว่าเราสามารถรู้ว่า "ทำไมเขาถึงไม่เข้าใจเรา "  หาให้เจอได้จากตัวเรานี่เอง (ถ้าเอาจริง)ก็จะเริ่มเข้าใจเขาในประเด็นสำคัญ "ความเข้าใจ"เป็นปฐมบทและเป็นแรงใจสำคัญ (เจอแรงม๊อบอาจท้อได้)
 
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนจะเป็นอย่างไรในอนาคต  ประชาชนก็ยังต้องอยู่กับประชาชนด้วยกัน" หากสามารถสานเสวนาพูดคุยด้วยใจท้ายสุดร่วมกันใช้อำนาจเพราะ อำนาจอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อำนาจร่วม คือ ตัดสินโดยใช้อำนาจร่วมกัน เกิดจาก เข้าใจกัน เห็นฟ้องต้องกัน ยินยอมพร้อมใจกัน  
 
ถึงเเม้ตอนนี้ดูจะสายไป แต่อาจไม่สายไป เพราะปัญหาทุกอย่าง ความเสียหายทุกชนิดล้วนเป็นเหตุเตือนให้เราเริ่มต้นแก้ปัญหาให้ถูกทางอยู่เสมอ
 
ครับหวังว่า งานสานเสวนา Interfaith ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สูญเสียงบประมาณกันไปมากมายที่ดูอาจจะล้มเหลวต้องทำต่อไปและถอดบทเรียนว่าทำไม 

สิทธิทางศาสนาและวัฒนธรรม ไม่ได้หมายความว่า ศาสนาหรือวัฒนธรรมใดจะสามารถอยู่เหนือศาสนาและวัฒนธรรมอื่น แต่ทุกศาสนาและวัฒนธรรมล้วนมีความเท่าเทียมกันในการประพฤติปฏิบัติตามความเชื่อของตน หลักการศาสนาอิสลามเคารพสิทธิของคนกลุ่มน้อยในรัฐอิสลาม ไม่เบียดเบียน ไม่กดทับ และเชื่อว่านี่เป็นหลักการของทุกศาสนาด้วยเช่นกัน และหากปล่อยให้เหตุการณ์ความไม่เข้าใจในลักษณะเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้น ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า "#พื้นที่พหุวัฒนธรรม" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นงานที่ท้าทาย
ครับหวังว่าข้อคืดเห็นที่หลากหลายเหล่าจะนำพาไปสู่ทางสว่างในการเเก้ปัญหาที่ท้าทายร่วมกันในจชต.เเละสังคมไทยในภาพรวม

 
 
เกี่ยวกับผู้เขียน: อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) เป็น  กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้  Shukur2003@yahoo.co.uk
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทวงคืน ปตท. : การประกอบสร้างอุดมการณ์และความคิด

Posted: 26 May 2018 08:29 AM PDT


 

กระแสการทวงคืน ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ของประเทศไทย ปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสการนำ ปตท. กลับมาเป็นของรัฐในรอบล่าสุดเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้นในรอบ 4 ปี ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล คสช. กระแสในโลกออนไลน์ทั้งการส่งข้อความผ่านไลน์และการแชร์ข้อความต่อผ่านเฟสบุ๊ค อาทิ การตั้งคำถามถึงราคาน้ำมันในประเทศที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การตั้งคำถามกับการบริหารจัดการแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในประเทศ ไปจนถึงการรณรงค์ไม่ให้ใช้บริการในกิจการของ ปตท. ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่สนับสนุนแนวคิดในกลุ่มแรก ได้ออกมานำเสนอให้เห็นว่า การบริหารจัดการพลังงานภายในประเทศไม่สามารถแยกขาดจากสถานการณ์พลังงานในตลาดโลกได้ การบริหารจัดการพลังงานของไทยดำเนินไปบนบรรทัดฐานสากลอันเป็นที่ยอมรับ และการต่อต้าน ปตท. ไม่ใช่การต่อต้านราคาน้ำมันที่แพงขึ้น หากแต่เป็นการต่อต้านเครือข่ายทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น อันได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันและพนักงานในปั้มน้ำมัน ปตท.

การทวงคืน ปตท. ไม่ใช่เพียงแค่วิวาทะของการนำ ปตท. กลับมาเป็นของรัฐหรือนำ ปตท. ออกจากตลาดหุ้น เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง ภายใต้วาทกรรม"ทวงคืน ปตท." นี้ ได้ซ่อนชุดอุดมการณ์ความคิดและความสัมพันธ์ทางการเมืองที่น่าสนใจไว้หลายชุด หากจะเริ่มต้นพิจารณาวาทกรรมทวงคืน ปตท.ผ่านการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดคงต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นที่ ปี 2547 และต่อเนื่องถึงปี 2549 การทวงคืน ปตท. ในห้วงเวลาดังกล่าว วางอยู่บนการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดใน 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกเรื่องการทุจริต อาทิ ข้อกล่าวหาเรื่องการกระจายหุ้น การขัดกันของประโยชน์ในกระบวนการแปรรูป ประเด็นที่สอง อุดมการณ์ชาตินิยมทางพลังงาน กล่าวคือ การมองว่า ปตท. เป็นสมบัติและมรดกทางทรัพยากรของชาติ ที่จะพรากความเป็นเจ้าของจากรัฐไปให้เอกชนและต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ การแปรรูป ปตท. จึงเป็นการขายมรดกของชาติที่จะนำไปสู่การสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางพลังงาน (พิจารณา ผู้จัดการออนไลน์, ไล่บี้ฟ้องศาลทวงคืน ปตท. ทับซ้อนชินฯ, วันที่ 31 มีนาคม 2549, https://mgronline.com/daily/detail/ 9490000043225

กระแสการทวงคืน ปตท. ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในสังคมอีกครั้งราวกลางปี 2554 การประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อสนับสนุนการทวงคืน ปตท. ในห่วงเวลานี้ อิงอยู่กับความสลับซับซ้อนในกระบวนการการกระจายหุ้น และหนึ่งในวิธีการกระจายหุ้นนั้นส่อไปในทางฉ้อฉล  จนสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ถูกเรียกว่า "ธรรมาภิบาลทางพลังงาน" การทวงคืน ปตท. จึงเป็นการทวงคืนสาธารณะสมบัติกลับมาเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลทางพลังงาน (พิจารณา ผู้จัดการออนไลน์, ฟ้อง ปตท.ฉ้อฉล ปล้นประชาชน-สมบัติแผ่นดินกลางแดด, วันที่ 4 สิงหาคม 2554, https://m.mgronline.com/specialscoop/detail/9540000096705)

การประกอบสร้างชุดความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. รอบล่าสุด (พฤษภาคม 2561) ดูเหมือนว่าจะอิงอยู่กับความคิดเชิงเปรียบเทียบในระดับราคาพลังงาน (ทั้งราคาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ) กล่าวคือ เพราะการแปรรูป ปตท. เป็นเหตุ ทำให้ระดับราคาพลังงานภายในประเทศสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเปรียบเทียบ การส่งออกพลังงานที่ผลิตได้ในแผ่นดินไทยไปขายให้กับต่างชาติ จึงเป็นกระบวนหนึ่งเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้แก่ ปตท. และผู้ถือหุ้น (พิจารณาเฟสบุ๊คกลุ่มทวงคืน ปตท., https://www.facebook.com/groups/ptt.gb/)

การประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. นับตั้งแต่ การทุจริต ชาตินิยมทางพลังงาน ธรรมาภิบาลทางพลังงาน และโครงสร้างราคาเชิงเปรียบเทียบ จะดูเบาให้เป็นเพียงแค่ความคิดที่ถูกบิดเบือน หรือความเข้าใจผิดของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ คำถามที่น่าสนใจและน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านคือ ทำไมการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. จึงดำรงอยู่ได้ ทำไมจึงยังมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งในสังคมที่สมาทานความเชื่อเหล่านี้อยู่ อุดมการณ์ทวงคืน ปตท.ถูกประกอบสร้างภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร เพื่อจะสื่อสารและส่งสารทางการเมืองออกไป ผู้เขียนขอตอบคำถามเหล่านี้โดยพิจารณาจากการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. ใน 3 ช่วงเวลาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนี้

ประการแรก การแปรรูป ปตท. ในฐานะการเมืองของการต่อต้านระบอบทักษิณ คงต้องยอมรับว่าภาพการแปรรูป ปตท. ถูกโยงอย่างแยกไม่ขาดไปจากภาพของรัฐบาลอดีตนายกทักษิณ กล่าวอย่างถึงที่สุด การแปรรูป ปตท. ถูกวาดภาพให้เป็นมรดกทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณ ดังนั้นตราบใดที่ระบอบทักษิณยังถูกผลิตซ้ำในฐานะอาวุธที่ทรงอานุภาพในสมรภูมิทางการเมือง ตราบนั้นการทวงคืน ปตท. ก็ยังคงเป็นการทำงานทางความคิดเพื่อให้ระบอบทักษิณยังคงความน่าหวาดกลัวอยู่ 

ประการที่สอง การทวงคืน ปตท. ในฐานะภาษาเพื่อประกอบสร้างเครือข่าย กิจการของ ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติมีผลผูกพันต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และกิจกรรมของผู้คน ตั้งแต่การหุงต้มในห้องครัว ไปจนถึงการเดินทาง ขนส่ง ต้นทุนสินค้าและบริการ การทวงคืน ปตท. จึงเป็นไวยากรณ์ที่สำคัญเพื่อกำกับโครงสร้างทางภาษาและการสื่อสารของกลุ่มบุคคลที่อาจไม่พอใจต่อการบริหารงานและการจัดการด้านพลังงานของ ปตท. ไวยากรณ์และภาษาชุดนี้เองที่สามารถระดมคน เพื่อประกอบสร้างเครือข่าย และดำรงรักษาเครือข่ายของผู้ที่ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย และไม่เชื่อมั่นต่อตัว ปตท.      

ประการที่สาม การทวงคืน ปตท. ในฐานะเครื่องมือตอกย้ำความเปราะบางของรัฐบาล หากพิจารณาการจุดกระแสการทวงคืน ปตท. ใน 3 ช่วงเวลาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น พร้อมกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองร่วมสมัยที่ผ่านมา เราจะพบว่า การประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. เกิดขึ้นไปพร้อมกับสภาวะที่ถูกเรียกว่า "ขาลงของรัฐบาล" หรือภาวะที่รัฐบาลพึ่งจะเข้าสู่อำนาจได้ไม่นาน ดังจะเห็นได้ว่า การจุดกระแสทวงคืน ปตท. ในช่วงแรก (2547-2549) เกิดขึ้นไปพร้อมกับขาลงของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเกิดการประท้วงที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง กระแสการทวงคืน ปตท. ในช่วงที่ 2 (2554) เกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพียง 1- 2 เดือน และกระแสการทวงคืน ปตท. รอบล่าสุด ซึ่งเกิดในช่วงเวลานี้ (พฤษภาคม 2561) ก็เกิดขึ้นภายใต้การเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อส่งสารที่มีความหมายทางการเมืองไปยังรัฐบาล คสช.        

ในท้ายที่สุด เราจะมีท่าทีต่อการประกอบสร้างอุดมการณ์ความคิดเพื่อทวงคืน ปตท. อย่างไร การประเมินอุดมการณ์ความคิดที่ต้องการทวงคืน ปตท. ให้มีค่าเพียงแค่ขั้วตรงข้าม เป็นความบิดเบือน เป็นความเชื่อที่ผิด อาจเป็นท่าทีที่ง่ายและสะดวกที่จะแสดงออก แต่ไม่ใช่ท่าทีที่ระแวดระวัง กล่าวคือ ไม่นำไปสู่การสำรวจตรวจสอบว่าที่ผ่านมาทำไม ปตท. จึงประสบความสำเร็จน้อยในการสื่อสารกับสังคมในประเด็นเหล่านี้ ไม่นำไปสู่การพิจารณาโครงสร้างของนโยบายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำเนินงานของ ปตท. ไม่นำไปสู่การพิจารณาทบทวนแนวทางการปฏิรูปพลังงานที่พึ่งจัดทำแล้วเสร็จในช่วงก่อนหน้านี้ โจทย์ใหญ่เหล่านี้จึงต้องพิจารณาการทวงคืน ปตท. ในฐานะชุดความสัมพันธ์ทางการเมืองที่สลับซับซ้อน มีนัยที่เป็นอาวุธทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็เป็นสำนวนภาษาที่ใช้ประกอบสร้างเครือข่ายทางการเมือง และมีข้อความทางการเมืองที่แฝงฝังความหมายอยู่ 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พยาบาลแคนาดา' พบปัญหาสุขภาพจากการทำงาน-ถูกผู้ป่วยทำร้าย

Posted: 26 May 2018 06:25 AM PDT

แม้พยาบาลจะเป็นอาชีพที่ดูแลสุขภาพผู้อื่น แต่จากงานศึกษาหลายชิ้นพบว่ากลับต้องเจอกับปัญหาด้านสุขภาพเสียงเอง ตัวอย่างเช่น 'พยาบาลแคนาดา' มีปัญหาสุขภาพจากการทำงาน ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

สถาบันหัวใจแห่งมหาวิทยาลัยออตโตวา (University of Ottawa Heart Institute) ได้เผยแพร่งานศึกษา Influence of the workplace on physical activity and cardiometabolic health: Results of the multi-centre cross-sectional Champlain Nurses' study เมื่อเดือน พ.ค. 2018 รายงานชิ้นนี้เผยว่าร้อยละ 77 ของพยาบาลในโรงพยาบาลของแคนาดา ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ คืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

ทั้งนี้พยาบาลเป็นอาชีพที่ค่อยทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของผู้อื่นแต่การทำหน้าที่ของเขากลับต้องเผชิญปัญหาด้านสุขภาพ ปัจจุบันแคนาดามีพยาบาลในโรงพยาบาลประมาณ 4 แสนคน ซึ่งต้องพบกับปัญหาทางด้านสุขภาพและการละเมิดระหว่างการทำงานจากผู้ป่วย

สื่อ CBC/Radio-Canada ของแคนาดารายงานเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาระบุว่า เจนนิเฟอร์ รีด (Jennifer Reed) นักวิจัยจากสถาบันหัวใจแห่งมหาวิทยาลัยออตโตวา ผู้ทำการตีพิมพ์งานศึกษาดังกล่าวให้ความเห็นว่า 'สัดส่วนที่ไม่เหมาะสม' ของพยาบาลในแคนาดา ที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรเป็นสาเหตุของปัญหา  

"เราต้องเริ่มคิดถึงเรื่องการดูแลคนที่คอยดูแลเรา พวกเธอ(พยาบาล)ต้องทำงานแบบไร้ตัวตน ทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อผู้ป่วย ทำให้สุขภาพของพวกเธอเองแย่ลง" รีดระบุ

รีดยังให้ความเห็นว่าปัญหาหลักๆ เกิดจากการทำงานเป็นกะที่ยาวนานและสับเปลี่ยนไปมา "พวกเขาต้องทำงานอย่างหนักในเวลาที่ยาวนาน ต้องยืนบนพื้นปูนหลายชั่วโมงกว่าจะได้พักก็ปาเข้าไปหมดวันแล้ว หลังจากเลิกงานนั้นส่วนใหญ่จะออกไปหาอาหารกิน และเหลือเวลาน้อยมากๆ สำหรับการออกกำลังกาย"

นอกจากนั้น รีดยังพบว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตทำงานของพยาบาล มีความเสี่ยงที่จะเป็นทั้งโลกหัวใจหรือหลอดเลือด ทั้งมีโอกาสนำไปสู่ภาวะอ้วนและความดันสูง โดยพบว่าร้อยละ 58 ของพยาบาลมีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน และยังพบว่าพยาบาลมีภาวะซึมเศร้าและมีการวิตกกังวลมากกว่าผู้หญิงทั่วไปในแคนาดาทั่วไป

"ฉันคิดว่าเราต้องมีที่สถานที่ทำงาน ผู้บริหาร และนโยบายที่ตะหนักถึงเรื่องนี้ พัฒนายุทธศาสตร์ให้การออกกำลังกายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพยาบาล" รีดกล่าว

30 ปีในอาชีพพยาบาล เลสลี่ ริชมอนด์ (Lesli Richmond) อายุ 50 ทำงานในศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งหนึ่ง ที่ต้องใช้ชีวิตบนท้องถนนเกือบตลอดเวลาในการออกไปดูแล 'ผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง' (palliative care)

"ฉันต้องอยู่ในรถตั้งแต่ 7 โมงเช้า ลากยาวไปถึง 6 โมงเย็น แล้วต้องกลับมาจัดการกับเอกสารนิดหน่อยที่โรงพยาบาลในช่วงค่ำ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องออกกำลังกายเลย" ทั้งนี้ริชมอนด์มีปัญหาด้านสุขภาพหลายประการที่เธอต้องเผชิญทั้งความดันที่สูง และปัญหาเรื่องข้อเข่า

"ฉันว่าฉันแก่กว่าอายุจริง 20 ปีนะ" ริชมอนด์ กล่าว

ถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกายระหว่างปฏิบัติงาน

ด้าน สำนักงานด้านสถิติของแคนาดา (Statistics Canada) ได้ออกรายงาน Factors related to on-the-job abuse of nurses by patients เมื่อเดือน ก.ค. 2560 ที่เผยว่าพยาบาลร้อยละ 35 เคยถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกายระหว่างปฏิบัติงาน โดยเกินกว่าครึ่งของความรุนแรงที่เกิดในโรงพยาบาลจะเกิดกับพยาบาล

"พยาบาลมักถูกตบ ต้อย เตะ ถ่มน้ำเลยใส่ สารพัด ยังไม่รวมถึงการทำร้ายจิตด้วยคำพูดต่างๆ" เฮนริเอตตา ฟาน ฮูล (Henrietta Van hulle) ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ให้บริการสาธารณะด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Public Services Health and Safety Association หรือ PSHSA) โดยได้มีการจัดอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานให้แก่ผู้ที่อาชีพให้บริการด้านสุขภาพ ฟาน ฮูล เห็นว่าการใช้ความรุนแรงต่อพยาบาลมักจะไม่ถูกรายงาน เพราะมักจะมีความคิดที่ว่าเป็นเรื่องปกติในส่วนหนึ่งของอาชีพ

ทั้งนี้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะของแคนาดา ได้เริ่มให้โรงพยาบาลทุกแห่งส่งรายงานเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายร่างกาย ทั้งในบางโรงพยาบาลยังมีเครื่องมือแจ้งเตือนส่วนตัว และปุ่มกดสำหรับส่งข้อความช่วยเหลือไว้ตามกำแพงโรงพยาบาลในกรณีที่พยาบาลถูกทำร้าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพชวนทำกิจกรรมฟื้นฟูป่าระยะเร่งรัด 27 พ.ค. นี้

Posted: 26 May 2018 04:19 AM PDT

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้ประกาศเชิญชวนคนเชียงใหม่หัวใจสีเขียว ร่วมกันฟื้นฟูป่าระยะเร่งรัด เรียนรู้ระบบนิเวศป่าดอยสุเทพ ดินสำรวจห้วยชะเยืองสายน้ำบนดอยสุเทพ  27 พ.ค. 2561 นี้

 
 
26 พ.ค. 2561 เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้ประกาศเชิญชวนคนเชียงใหม่ร่วมกิจกรรม 'รวมพลังคนเชียงใหม่หัวใจสีเขียว ฟื้นฟูป่าระยะเร่งรัด เฉพาะหน้า' เรียนรู้ระบบนิเวศป่าดอยสุเทพ ทำฝายชะลอน้ำ ป้องกันภัยพิบัติ น้ำท่วม โคลนถล่ม พร้อมเยี่ยมชมบ้านป่าแหว่งให้เห็นกับตา และเดินสำรวจห้วยชะเยืองสายน้ำบนดอยสุเทพ ในเวลา 08.30 น. วันที่ 27 พ.ค. 2561
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่านายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีสำนักงานโครงการชลประทานเชียงใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เชียงใหม่เขียวสวยหอม สโมสรนักเขียนเชียงใหม่ และชุมนุมนักกิจกรรมภาคเหนือ จัดกิจกรรม ป่านี้มีอะไร สร้างคนสร้างกล้า Making Smart Seeds & Seedlings เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องที่ได้คุยกับเชียงใหม่เขียว สวย หอมว่า อยากเข้าไปเรียนรู้ความหลากหลายและระบบนิเวศในป่ารอบอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นทางบ้านพักตุลาการ อยากให้เยาวชนไปทำความรู้จักและเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ สำรวจสภาพพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ โดยในส่วนของตนได้เสริมเรื่องความรู้พันธุ์ไม้สมุนไพร การปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนต้องใช้เวลา แต่อยากให้เขาได้ปลูกกล้าด้วยมือตนเอง เริ่มตั้งแต่การเก็บเมล็ดพันธุ์มาเพาะแล้วปลูกให้เติบโตเป็นต้นไม้ ซึ่งเขาจะมีความรู้สึกรักในต้นไม้ที่ปลูกเองกับมือแล้วเติบโตขึ้นในธรรมชาติ
 
ส่วนในวันที่ 27 พ.ค. ที่จะมีการเข้าไปปลูกป่ากันนั้น นายจตุภูมิกล่าวว่าคาดว่าคนจะเยอะมากจึงไม่แน่ใจว่าเยาวชนจะเข้าไปมากน้อยแค่ไหน เพราะจำนวนต้นไม้และกล้าไม้ไม่มากเท่าจำนวนคน เพียงแค่เจ้าหน้าที่ทหารและป่าไม้ก็เยอะแล้ว และศาลอนุญาตให้เข้ามากน้อยแค่ไหน และตนยังพูดคำเดิมว่าห่วงการปลูกป่าในพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้รื้ออาคารออก เพราะหากต่อไปจะรื้อก็จะมีผลกระทบต่อต้นไม้ที่ปลูกในวันนี้ซ้ำอีก เท่ากับว่าเราต้องปลูกแล้วปลูกอีก โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่จำนวน 35 ต้น ที่ปลูกแล้วจะต้องมีการล้อมต้นไม้ แต่ต้นไม้ใหญ่ที่ว่าไม่มีรากแก้ว หากฝนตกหนักและมีดินสไลด์ ต้นไม้จะสไลด์ลงมาด้วย ซึ่งอันตรายมาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สช.ห่วงมติ คกก.วัตถุอันตรายสั่งไม่แบน 3 สารเคมีเกษตร

Posted: 26 May 2018 12:01 AM PDT

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ห่วงมติ คกก.วัตถุอันตรายสั่งไม่แบน 3 สารเคมีเกษตร-เดรียมผนึกสมัชชาสุขภาพจังหวัดเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์-แนะผู้บริโภคพึ่งตนเอง ด้าน 'รศ.ดร.จิราพร' แถลงการณ์เสียงข้างน้อยต้านไม่ไหว ชี้กรรมการบางคนไม่แสดงจุดยืนมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่?

 
26 พ.ค. 2561 นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ไม่ยกเลิกการใช้และนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต นั้น มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ออกมา ถือว่าไม่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัย รวมถึงหลักการ "ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ" (Health in All Policies : HiAP) ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงจะขับเคลื่อนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อไป โดยเฉพาะพาราควอต ที่ขณะนี้กว่า 50 ประเทศไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว
 
"เรายังมีความหวังจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คือความตื่นตัวของสังคมและประชาชน เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ถึงปัญหาของสารเคมีเกษตรอันตราย เชื่อว่าจากนี้ไปเครือข่ายจะแข็งแรงและเติบโตมากยิ่งขึ้น"
 
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า สช. จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและสนับสนุนให้ ลด ละ เลิก การใช้พาราควอต รวมถึงสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ ผ่านสมัชชาสุขภาพจังหวัดและเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มี 'วาระจังหวัด' สอดคล้องกับแนวทางเกษตรและอาหารปลอดภัย อาทิ 20 จังหวัดภาคอีสาน เช่น หนองบัวลำภู ยโสธร อำนาจเจริญ รวมถึงจังหวัดในภาคอื่นๆ อาทิ ฉะเชิงเทรา สตูล กำแพงเพชร เป็นต้น พร้อมผลักดันธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ซึ่งได้รับการตอบสนองจากผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างดี
 
"เราคงต้องหันกลับมาสู่แนวทาง การจัดการตนเอง เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายสารเคมีเกษตร เช่น รณรงค์ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ขณะที่ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเอง สุดท้ายสังคมอาจเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจ เปลี่ยนแปลงมติและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต"
 
สำหรับการโต้แย้งของภาคส่วนต่างๆ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประเมินว่า เป็นการให้เชิงข้อมูลและงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้สาธารณะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้าน เพื่อภาครัฐตัดสินใจบนฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพมากขึ้น
 
ด้าน รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า ส่วนตัวได้ลงมติให้คณะกรรมการฯ มีมาตรการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) คือยกเลิกการใช้ทั้ง 3 รายการนี้ และขอให้นำมาตรา 12 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่ระบุว่า "การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ... กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น" มาใช้ แต่ปรากฏว่าไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีกรรมการท่านใดสละสิทธิ์ลงคะแนน
 
ขณะเดียวกันได้นำข้อมูลของประชาคมวิชาการและเครือข่าย 14 หน่วยงาน ซึ่งสะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นพิษแก่ผู้บริโภคและเกษตรกร เกิดโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม โดยเฉพาะผลต่อเด็กและทารก ตรวจพบการตกค้างทั้งในผัก ผลไม้ สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 รายการในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยขณะที่ยังไม่ยกเลิกให้กรมวิชาการเกษตรจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้
 
"ในฐานะ กรรมการเสียงข้างน้อย ดิฉันได้ทำความเห็นประกอบความเห็นในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ รวมถึงข้อมูลวิชาการที่สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้และผลกระทบต่อสุขภาพอย่างละเอียดแล้ว" รศ.ดร.จิราพร ระบุ 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกมาราปาตานีระบุจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยต้องเลื่อนไป เพราะไทยไม่เซ็นเอกสาร

Posted: 25 May 2018 11:41 PM PDT

สื่อ 'เบนาร์นิวส์' ระบุ โฆษกองค์กรมาราปาตานี เผยแพร่บทความ "การเจรจาถึงทางแยกอีกครั้ง" ระบุว่าคณะกรรมการทางเทคนิคฝ่ายไทยปฏิเสธการลงนามในเอกสารข้อตกลงในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าการเจรจายังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนั้นจำเป็นต้องยืดเวลาออกไป

 
สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ว่านายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม โฆษกองค์กรมาราปาตานี ได้เผยแพร่บทความเรื่อง "การเจรจาถึงทางแยกอีกครั้ง" โดยกล่าวว่า คณะกรรมการทางเทคนิคฝ่ายไทยปฏิเสธการลงนามในเอกสารข้อตกลงในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าการเจรจายังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนั้นจำเป็นต้องยืดเวลาออกไป
 
นายอาบู ฮาฟิซ ได้ส่งบทความถึงผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. โดยได้กล่าวว่า ทีมเทคนิคร่วมของสองฝ่ายได้เจรจากันครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ของปีนี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ ก่อนที่นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบ ในการเจรจาของคณะพูดคุยชุดใหญ่ ซึ่งสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่ฝ่ายรัฐบาลมาเลเซียจัดตั้งขึ้นมา
 
"มีการประชุมกันของคณะกรรมการทางเทคนิคของสองฝ่าย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 เป็นการพิจารณาการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ ก่อนที่จะส่งต่อให้คณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group-Peace Dialogue Process - JWG-PDP) เพื่อการรับรองก่อนหน้าที่จะมีการลงมือจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย สองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันถึงการกำหนดวัน ที่จะมีการประกาศการจัดตั้งอย่างคร่าวๆ แต่มสามารถตกลงกันได้ในการลงนามในเอกสารความตกลง ฝ่ายไทยแย้งว่าการเจรจายังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร" นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวในบทความ
 
ทางด้าน พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ แต่เพียงว่า มาราปาตานี สามารถแถลงถึงความคืบหน้าในการเจรจาได้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดถึงข้อกล่าวอ้างของนายอาบู ฮาฟิซ
 
"เขาแถลงของเขาไป เราก็แถลงของเรา มีการดำเนินการก็ต้องมีการชี้แจง มีการประชุม มีการแถลงให้ทราบ ทุกอย่างของกระบวนการพูดคุยยังเดินหน้า ทุกฝ่ายยังปฏิบัติภารกิจปกติ ทุกอย่างมีความคืบหน้า" พลเอกอักษรา กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเบนาร์นิวส์
 
ในก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จะมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง
 
ความไม่แน่นอนหลังมหาเธร์คืนสู่อำนาจ
 
ในบทความดังกล่าว นายอาบู ฮาฟิซ อัล-ฮากิม ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศมาเลเซีย โดยพรรคนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด เอาชนะพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ไปได้อย่างถล่มทลายเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะมีผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพ
 
"เมื่อพูดถึงกระบวนการพูดคุย ย่อมได้รับผลกระทบไม่โดยทางใดก็ทางหนึ่ง จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของมาเลเซียหรือไทยก็ตาม ซึ่งเป็นความจริง เช่นเดียวกับการที่ทหารไทยยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในมาเลเซียในตอนนี้ คงมีผลกระทบบางอย่างต่อกระบวนการพูดคุย" นายอาบู ฮาฟิซ กล่าว
 
ในปี 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามดำเนินการเจรจากับฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดน โดยการสนับสนุนของรัฐบาลของนายนาจิบ ราซัค ในขณะนั้น โดยมาเลเซีย รับเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาให้กับทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายขบวนการส่วนหนึ่ง ได้ก่อตั้งองค์กรร่มขึ้นมาชื่อว่า มาราปาตานี เพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยมี ดาโต๊ะซัมซามิน เป็นผู้ดูแลผ่านทางสำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งการเจรจาได้สะดุดลงเป็นช่วงๆ
 
นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวว่า ในเดือน ก.ย. 2556 คณะกรรมการทางเทคนิคร่วมของสองฝ่าย ได้ตกลงในเงื่อนไข (ทีโออาร์) ในการจะจัดตั้งเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและได้มีการพูดคุยกันมา สิบเก้าเดือนหลังจากนั้น ได้มีการบรรลุกรอบทั่วไปในการตั้งพื้นที่ปลอดภัย การจัดตั้งเซฟเฮ้าส์ และคณะกรรมการทำงานร่วมในพื้นที่ ซึ่งรวมเงื่อนไขการปล่อยตัว "นักโทษการเมืองชาวมลายูด้วย
 
ด้าน พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ว่า กระทรวงยุติธรรม กำลังดำเนินการเรื่องการพักโทษนักโทษสามรายอยู่ และกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเลเซีย ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการพูดคุยมากนัก
 
"การพูดคุย เป็นเรื่องของนโยบายเป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ การเปลี่ยนรัฐบาลก็ถือว่ามีผลกระทบบ้าง... ปัจจุบันโลกแสวงหาสันติภาพอยู่ แนวทางการพูดคุยถือว่าเป็นแนวทางสันติวิธี เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ย่อมดำเนินวิธีที่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้ เป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ" พล.อ.อักษรา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
 
ชาวบ้านอย่างนายอับดุลปอซู เจ๊ะแมเราะ อายุ 58 ปี ชาวบ้านในอำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส กล่าวว่า ตนเองไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีมหาเธร์ จะเดินหน้าการพูดคุยฯ
 
"นายกมาเลเซีย มีนโยบายที่ค่อนข้างแข็งกร้าวและเป็นคนที่ชาญฉลาดในการเดินหมาก เรื่องใดที่จะส่งผลกกระทบต่อประเทศเขา คำนวณแล้วเสียเปรียบ เขาจะไม่ทำแน่นอน เพราะมีหลายอย่างที่ซับซ้อนเกี่ยวกับกลุ่มขบวนการในมาเลเซีย" นายอับดุลปอซู กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปตท. ขู่ดำเนินการตามกฎหมายกลุ่มบิดเบือนข้อมูล

Posted: 25 May 2018 10:38 PM PDT

ปตท. ประกาศผ่านเฟสบุ๊คเพจ PTT News จะดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญากับกลุ่มไม่หวังดีบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อ ปตท. ย้ำขอให้คิดก่อนแชร์ข้อความในลักษณะที่อาจบิดเบือนและสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของ ปตท. เพราะเป็นความผิดทางกฎหมาย

 
 
26 พ.ค. 2561 เว็บไซต์ Energy News Center รายงานว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยแพร่ข้อความบนเฟสบุ๊คเพจ PTT News เพื่อชี้แจงถึงกระแสต่อต้านการเติมน้ำมัน ปตท. และการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่สร้างความเสียหายให้แก่บริษัทฯ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ โดยย้ำให้ประชาชนคิดก่อนเผยแพร่ข้อมูลที่อาจบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะมีความผิดตามกฎหมาย ในขณะเดียวกัน จะดำเนินการตามกฎหมายต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่บิดเบือนข้อมูลและสร้างความเสียหายให้แก่บริษัท โดยข้อความในเพจ PTT News มีดังนี้
 
"ตามที่มีข้อความต่างๆ ต่อต้านการเติมน้ำมัน ปตท. กล่าวหาว่า ปตท. ปล้นคนไทย อีกทั้งยังชักชวนให้ประชาชนแชร์เพจเกี่ยวกับการกล่าวหาว่า ปตท. ฉ้อฉล รวมถึงมีการนำภาพและข้อมูลที่อ้างอิงถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหรือ ผู้บริหาร ปตท. ผ่านสื่อต่างๆ โดยกล่าวหาว่า ผู้บริหารของ ปตท. ไม่รับฟังหรือทำความเข้าใจ หรือใส่ใจในเรื่องราคาน้ำมันที่มีผลกระทบกับประชาชน ตลอดจนยังใส่ร้ายว่า ปตท.จะมีการปลดพนักงานจำนวนมากออกจากงานในบริษัทนั้น
 
ปตท. ขอชี้แจงว่าการนำเสนอข้อความหรือข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ปตท. ได้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนผ่านสื่อช่องทางต่างๆ มาโดยตลอด แต่ยังมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดี พยายามบิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ได้รับอยู่ตลอดเวลา
 
ในเรื่องนี้ ปตท. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดทั้งในทางแพ่งและทางอาญาจนถึงที่สุดต่อไป ทั้งนี้ ปตท. ขอแจ้งให้ทราบว่าการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือฝ่าฝืนต่อความจริงไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ทั้งเป็นการแชร์เพจหรือโพสต์ข้อความในลักษณะที่อาจจะทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงของ ปตท. นั้น เป็นความผิดทางกฎหมาย"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘รพ.ชุมชน’ เผยถูกทหารกดดัน ปมขึ้นป้ายค้านระเบียบคลัง

Posted: 25 May 2018 10:16 PM PDT

ประธานชมรม ผอ.รพ.ชุมชน แห่งประเทศไทย ทำจดหมายเปิดผนึกกรณีมีการออกคำสั่งให้ทหารปลดป้ายการคัดค้าน ก.คลัง ของ รพ.ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ระบุ ผอ.รพ.ชุมชน หลายแห่งถูกทหารกดดัน ขอ คสช. ออกคำสั่งห้ามทหารคุกคาม ผอ.รพ.ชุมชน

 
จนถึงวันที่ 26 พ.ค. 2561 พบโรงพยาบาลต่างๆ ยังทะยอยขึ้นป้ายค้านระเบียบ ก.คลัง อยู่ ที่มาภาพ: ชมรมแพทย์ชนบท
 
 
26 พ.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้า ระบุว่า ชมรมแพทย์ชนบท ได้เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกของชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อ้างถึงหนังสือของกระทรวงการคลัง เลขที่ กค 0402.3/ว45 ลงวันที่ 21 พ.ค. 2561 ซึ่งว่าด้วยระเบียบห้ามโรงพยาบาลจ้างพนักงานชั่วคราวนอกเงินงบประมาณ และหากจ้างแล้วก็ห้ามขึ้นเงินเดือน โดยเมื่อเห็นจำเป็นต้องจ้างให้มาขอกระทรวงการคลังนั้น
 
ข้อเท็จจริงคือจำนวนผู้ป่วนนอกเพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 1.4-1.6 เท่า ภายในเวลาเพียง 3 ปี สวนทางกับบุคลากรทางการแพทย์จากเงินงบประมาณแผ่นดินที่ลดลง จึงจำเป็นต้องจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณ เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างราบรื่น แต่หากยึดระเบียบดังกล่าวของกระทรวงการคลัง ลูกจ้างเดิมก็จะเสียกำลังใจ ลาออก และไม่สามารถหาบุคลากรทดแทนได้ในเวลาอันสั้น กระทบต่อประชาชนที่มารับบริการ
 
"โรงพยาบาลต่างๆ จึงขึ้นป้ายดำเพื่อไว้อาลัยกระทรวงการคลัง ตามหลักสันติชน เพื่อให้กระทรวงการคลังได้ยกเลิกประกาศฉบับนี้ อันจะส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งผู้อำนวยการถูกเจ้าหน้าที่ทหารมากดดันไม่ว่าจะเป็นทางตรง คือ มาหาที่โรงพยาบาล หรือทางอ้อม คือโทรศัพท์มาให้ปลดป้ายออก โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งมีผู้นำสูงสุดคือท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการ"
 
ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย เป็นห่วงว่าหากมีคำสั่งเช่นนี้จริงอาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่ง เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อันเป็นการขัดต้อนโยบายของนายกฯ ซึ่งจะนำความสงบสุขมาสู่คนในชาติ หรือหากเป็นการแอบอ้างก็จะทำให้ชื่อเสียงของรัฐบาลและนายกฯ ต้องมัวหมอง เพื่อทำให้สถานการณ์ชัดเจน ชมรมฯ ขอให้ท่านนายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งห้ามทหารคุกคาม ผอ.รพ.ชุมชน ที่แสดงความเห็นหรือขึ้นป้ายอย่างสันติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและรัฐบาลต่อไป
 
"ชมรมแพทย์ชนบท" ยังระบุด้วยว่าจดหมายดังกล่าวลงนามโดย นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผอ.รพ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย
 
นอกจากนี้ ยังรายงานอีกว่า ไม่เพียงแต่บุคลากรด้านสาธารณสุข กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เท่านั้นที่แสดงจุดยืนคัดค้านระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ล่าสุด สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ก็ร่วมคัดค้านเช่นกัน เนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งต้องจ้างบุคลากรนอกงบประมาณ ทั้งครู เจ้าหน้าที่ธุรการ และนักการภารโรง ที่รัฐไม่ได้จัดสรรอัตรากำลังให้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บัญญัติ' ชี้ 4 ปี คสช. เรื่องปรองดองล้มเหลว

Posted: 25 May 2018 09:44 PM PDT

'บัญญัติ บรรทัดฐาน' อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มอง 4 ปี คสช.ไม่สามารถปราบคอร์รัปชั่น ล้มเหลวเรื่องความปรองดอง ยอมรับ 'สุเทพ' ตั้งพรรค กระทบฐานเสียงในภาคใต้

 
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย)
 
26 พ.ค. 2561 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการครบรอบ 4 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า หลายคนได้พูดเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ความรู้สึกส่วนตัวมองว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลที่ทำงานหนักพอสมควร โดยหลายเรื่องเป็นมรรคเป็นผล แต่เรื่องที่เป็นจุดประสงค์หรือเป็นความหวังของประชาชน เช่น การปราบคอร์รัปชั่น การปฏิรูป และการปรองดอง ต้องพูดตรง ๆ ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องการปรองดองที่ดูไปดูมาจะขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง
 
นอกจากนี้นายบัญญัติยังได้กล่าวถึงกรณีที่นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เดินทางไปจดแจ้งชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยจะมีนายสุเทพ เป็นที่ปรึกษาพรรคว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ซึ่งนายสุเทพก็ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ขณะนี้มีพรรคเกิดใหม่ถือเป็นเรื่องธรรมดาเป็นทางเลือกให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเปรียบเทียบ และเชื่อว่าประชาชนรับรู้อะไรมากขึ้น รวมถึงจะสนับสนุบพรรคไหนหรือไม่ ย่อมมีเหตุมีผลอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าอาจจะกระทบต่อฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้อยู่บ้าง แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยชินกับเรื่องนี้ เพราะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองก็จะมีการแย่งคะแนนเสียงจึงไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่
 
ส่วนที่มองว่าที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปนั้นนายบัญญัติ กล่าวว่าในช่วงแรกมีท่าทีที่ชัดเจนแต่ช่วงหลังนายสุเทพพูดเรื่องนี้น้อยลงอาจเป็นเพราะหนักอกหนักใจที่ผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้าตา
 
"รัฐบาลควรจะจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น หากไม่เลือกตั้งคราวนี้จะลำบาก เพราะเลื่อนการเลือกตั้งมา 3-4 ครั้งแล้ว และยังไปบอกกับนานาชาติไว้แล้ว เมื่อไม่เป็นไปตามนั้นก็เสียรางวัดมามากแล้ว ถ้าเลื่อนอีกก็ไปกันใหญ่ หากมีการเลื่อนออกไปอีกนิดหน่อยก็ต้องมีเหตุผล ซึ่งการเลื่อนหรือไม่เลื่อนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ต้องพูดให้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดในเดือนกุมภาพันธ์แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง" นายบัญญัติ กล่าว
 
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า การที่มีคนออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ควรไปตำหนิ เพราะมีการเลื่อนมาหลายครั้ง ขณะเดียวกันแม้กระบวนการทางกฎหมายมีอุปสรรคจนอาจกระทบต่อการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลมีคำสั่ง คสช. มาตรา 44 อยู่ในมือ จึงควรยืนยันด้วยว่าหากมีปัญหาทางเทคนิคทางกฎหมายก็พร้อมใช้คำสั่ง คสช.มาตรา 44 จัดการเลือกตั้ง เชื่อสังคมจะรับได้ และการเมืองจะนิ่ง
 
"เมื่อจะมีการเลือกตั้ง การปลดล็อคต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยต้องตั้งอยู่พื้นฐานความเข้าใจ จึงควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ที่อยากเห็นประเทศเดินไปทางนี้ จะเดินไปทางอื่นไม่ได้แล้ว เพราะเพื่อนบ้านจะไม่คบ" นายบัญญัติกล่าว
 
ส่วนกรณีที่รัฐบาล คสช.เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น นายบัญญัติกล่าวว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ารัฐบาล คสช.จะลงเลือกตั้ง การเปิดกว้างให้พรรคการเมืองต้องมีอย่างเท่าเทียมกันเป็นเรื่องจำเป็นมาก และตนคิดว่าสังคมไทยต้องพูดกันตรงๆ จะพูดง่าย แต่ถ้าเอารัดเอาเปรียบกัน บางทีเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ การปรองดองที่เป็นวัตถุประสงค์สำคัญจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย นอกจากนี้มองว่าผู้มีอำนาจเริ่มดูด ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจจะกระทบบ้าง ก็ต้องแก้ไขกันไป ไม่มีอะไรที่ราบเรียบไปหมดถ้าราบเรียบก็ไม่ใช่การเมือง
 
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น