โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คสช.เอาจริง แจ้งความเอาผิด 'เพื่อไทย' 4 ข้อหา หลังแถลงข่าว 4 ปีที่ 'รบ.-คสช.' ล้มเหลว

Posted: 17 May 2018 10:49 AM PDT

หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. แจ้งเอาผิดพรรคเพื่อไทย ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 57/2557 และ 3/2558 ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการไลฟ์สด ในเฟสบุ๊ค และ ข้อหายุยงปลุกปั่น

ภาพ ตร.เตือนพรรคเพื่อไทย เกรงจะผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. พร้อมขอสังเกตการณ์การแถลงข่าว (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Charan Ampornklinkeaw)

18 พ.ค.2561 จากกรณีมีรายงานข่าวว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมดำเนินคดีกับ พรรคเพื่อไทย จากการแถลงข่าวเรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย ณ ที่ทำการของพรรคเพื่อไทย ในวาระครบรอบ 4 ปี คสช. นั้น

ล่าสุด มติชนออนไลน์ รานงานว่า เมื่อเวลา 19.30 น.วันที่ 17 พ.ค. พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.ท.ภิรมย์ เมืองไสย สว.(สอบสวน) กก.1 บก.ป.เพื่อดำเนินคดีกับแกนนำพรรคเพื่อไทย หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเปิดแถลงประเมินผลการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล-คสช.ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยชี้ 7 เรื่องที่ล้มเหลว และหนึ่งในนั้น คือเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

พล.ต.วิจารณ์ กล่าวว่ามาร้องทุกข์แจ้งความในฐานความผิด 4 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 57/2557 ข้อ 2 ได้แก่ ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง, ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ในข้อ 12 ได้แก่ ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการไลฟ์สด ในเฟสบุ๊ค และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น ส่วนจะเป็นบุคคลใดบ้าง จะต้องตรวจสอบในรายละเอียดอีกครั้ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'แกร็บ' รับเร่งหารือภาครัฐหาทางออก หลังวินมอเตอร์ไซค์บุกประท้วง

Posted: 17 May 2018 10:11 AM PDT

วินมอเตอร์ไซค์รวมตัวประท้วง 'แกร็บ' ล้ำเส้น ไม่ทำตามกฎหมาย ป้ายขาววิ่งรับคน ด้านริษัท แกร็บแท็กซี่ รับเร่งหารือภาครัฐหาทางออก

17 พ.ค.2561 จากกรณีที่ ชมรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะแห่งกรุงเทพมหานคร ออกประกาศ เชิญชวนผู้ขี่จักรยานยนต์สาธารณะประท้วง บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ว่าเมื่อไหร่จะหยุดทำผิดกฎหมาย และจะนำพวงหรีดไปวางไว้หน้าบริษัท เพื่อไว้อาลัยแก่การนำรถมารับ-ส่งอย่างผิดกฎหมาย นั้น

วันนี้ (17 พ.ค.61) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า 13.00 น. วันนี้ (17 พ.ค.) กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ได้รวมตัวกันหลายร้อยคนบริเวณ ที่ทำการบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ โดยนำพวงหรีดมาวางเพื่อทำการประท้วง 

พร้อมกันนี้ยังได้แจกเอกสารเรื่อง หยุดทำร้ายประเทศไทย ลงชื่อโดย เพื่อนแท้ชาววิน ส่งถึงผู้บริหารระบุว่า จากการที่ กอ.รมน. ได้เรียกผู้บริหาร บริษัทแกร๊บ แท็กซี่ ไปพูดคุยและมีคำสั่งให้บริษัทหยุดนำรถป้ายขาว มารับ ส่ง ผู้โดยสารเพราะผิดกฎหมาย และเกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะวิวาทกับวินมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียนมาถูกต้องตามกฎหมาย บางครั้งก็มีการทำร้ายร่างกาย จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดี แต่ก็ยังมีการวิ่งรถป้ายขาวอยู่ จึงอยากให้บริษัทปฏิบัติตามคำสั่งของ กอ.รมน. เพราะเป็นการทำผิดกฎหมาย

'แกร็บ' รับเร่งหารือภาครัฐหาทางออก

ด้าน ท่าทีของ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า บริษัท แกร็บแท็กซี่ได้ออกแถลงการณ์กรณีดังกล่าว โดยระบุว่า กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างรวมตัวเพื่อเรียกร้องกรณีแกร็บไบค์ นั้น บริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบว่าบริษัทฯ รับทราบเรื่องแล้ว และได้มอบหมายให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเจรจากับกลุ่มผู้เรียกร้องและติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาทางออกที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ในช่วงที่ผ่านมา แกร็บ ได้มีการพูดคุยกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอถึงประโยชน์ของการใช้แอปพลิเคชันมือถือเรียกรถจักรยานยนต์ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อมอบการเดินทางที่สะดวกสบาย ปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมถึงช่วยเพิ่มงานเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งระบบ โดยเรามุ่งทำความเข้าใจอันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย พร้อมขอให้ภาครัฐพิจารณาและดำเนินการสนับสนุนการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณชนเป็นสำคัญ ซึ่งทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
 
ในฐานะบริษัทที่มุ่งมั่นให้บริการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเดินทางขนส่ง เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้ แกร็บเล็งเห็นว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเดินทางและการให้บริการของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ อาทิ บริการรับคนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินไปยังจุดจอดรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนผู้ขับขี่ก็ไม่ต้องเสียเวลาในการนั่งรองานเป็นเวลานาน หรือวกรถเปล่ากลับมาที่จุดจอดเดิมหลังจากส่งผู้โดยสารถึงจุดหมาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและเชื้อเพลิงโดยเปล่าประโยชน์ และเพิ่มต้นทุนในการให้บริการ นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่บริษัทฯ นำมาใช้สำหรับบริการเรียกรถรับส่งดังกล่าว ยังสร้างโอกาสให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีงานและมีรายได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับเลี้ยงครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะในช่วงเวลาที่ไม่ได้รับ-ส่งผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ยังสามารถรับงานส่งพัสดุผ่านบริการแกร็บไบค์ (เดลิเวอรี่) และส่งอาหารผ่านบริการแกร็บฟู้ด เพิ่มเติมได้อีกด้วย ทำให้ผู้ขับขี่สามารถใช้เวลาที่มีค่าในการหารายได้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
ยิ่งไปกว่านั้น แกร็บ ยังมีมาตรฐานความปลอดภัยที่ห่วงใยทั้งพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร อาทิ การมีศูนย์ช่วยเหลือที่ทั้งพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลทั้งสำหรับพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร โดยเฉพาะในส่วนของผู้โดยสารนั้น แกร็บได้พัฒนาฟีเจอร์หลักที่สร้างความมั่นใจและปลอดภัยในการเดินทางให้กับผู้โดยสาร อาทิ การแจ้งข้อมูลผู้ขับขี่และพาหนะเมื่อมีการเรียกรถ การติดตามการเดินทางผ่าน GPS ฟีเจอร์แชร์การเดินทางแบบเรียลไทม์ให้กับบุคคลที่ห่วงใย ระบบการให้คะแนนบริการผู้ขับขี่ และปุ่มฉุกเฉินภายในแอปพลิเคชันเพื่อสามารถกดแจ้งเหตุด่วนได้ในทันที โดยเรากำลังพัฒนาฟีเจอร์ปุ่มฉุกเฉินดังกล่าว เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถใส่เบอร์มือถือรับแจ้งเพิ่มเติมซึ่งเจ้าของจะได้รับข้อความเตือนทันทีเมื่อผู้โดยสารกดปุ่มฉุกเฉิน ซึ่งในปัจจุบัน มีทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต่างก็เห็นถึงประโยชน์และมีความต้องการบริการในรูปแบบดังกล่าว
 
ทั้งนี้ แกร็บ มีการแยกบริการแกร็บไบค์ (วิน) สำหรับการรับส่งผู้โดยสาร และแกร็บไบค์ (เดลิเวอรี่) สำหรับการรับส่งเอกสารและพัสดุออกจากกันอย่างชัดเจน โดยป้ายทะเบียนสีขาวใช้สำหรับการรับส่งเอกสารและพัสดุเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีผู้เรียกใช้บริการมากเป็นพิเศษ แต่มีจำนวนรถให้บริการไม่เพียงพอ มีความเป็นไปได้ที่ระบบมีการแบ่งงานทับซ้อนกัน ซึ่งสำหรับในเรื่องที่มีผู้เสนอให้นำผู้ขับขี่ที่เป็นป้ายดำอยู่ไปขออนุญาตป้ายเหลืองทั้งหมดนั้น บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย เนื่องจากการที่ผู้ขับขี่จะจดเป็นป้ายเหลืองได้นั้น จำเป็นต้องมีการรับงานประจำวินและรับงานเฉพาะเขตที่ระบุเท่านั้น ซึ่งไม่สอดรับกับการใช้งานจริงของทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมถึงสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาได้ในปัจจุบัน
 
แกร็บ พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยยกระดับรายได้และมาตรฐานการให้บริการและคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่ พร้อมพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของประเทศให้ปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้นแก่สาธารณชนผู้ใช้บริการ ซึ่งบริษัทฯ มองว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อีกทางหนึ่ง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหมืองบานชอง: มังกรหลับใหลที่ถูกปลุกโดยบริษัททำเหมืองข้ามพรมแดน

Posted: 17 May 2018 09:53 AM PDT

"ถ่านหินที่ถูกขุดขึ้นมาจากพื้นดินในจำนวนมหาศาล ไม่ต่างอะไรจากมังกรที่ถูกปลุกขึ้นมาจากการหลับใหลใต้พิภพพร้อมที่จะเข่นฆ่า ประหัตประหาร แผดเผา ทำลายผู้คนให้มอดไหม้ หากแต่ถ่านหินนั้นไม่ได้คร่าชีวิตผู้คนด้วยการพ่นไฟออกมา แต่มันเลือดเย็นกว่านั้น ถ่านหินกลืนกินมนุษย์ สัตว์ป่า ต้นไม้ใบหญ้า และแม่น้ำลำธาร" 


กว่า 7 ปีที่หมู่บ้านกุนชองยี หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงคริสต์ ต้องเผชิญกับภัยคุกคามในหมู่บ้านที่ไม่ใช่ภัยจากการสู้รบที่พวกเขาเผชิญระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังกะเหรี่ยง อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หลายทศวรรษ อันเปรียบเสมือนปีศาจตนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องล้มตายจากการสู้รบ หรือแม้กระทั่งระหกระเหินออกจากถิ่นเกิดเมืองนอนไปอาศัยอยู่ ณ ที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือ เข้ามาประสบพบเจอกับชะตากรรมในต่างแดนอย่างประเทศไทย หากแต่เป็นเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 504.8 เอเคอร์ หรือประมาณ 1262 ไร่


พื้นที่เหมืองถ่านหินบานชอง ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านกุนชองยี
พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นพื้นที่ทำกินของชุมชนมาก่อน

ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทีมงาน The Mekong Butterfly ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะนักเดินทางที่กำลังติดตามการดำเนินการของเหมืองบานชอง เหมืองถ่านหินที่ดำเนินการโดยบริษัทคนไทยในพื้นที่ชาวกะเหรี่ยง ภายใต้อิทธิพลทางอำนาจของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เพื่อติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลังจากที่เหมืองดังกล่าวเริ่มดำเนินการไปได้กว่า 7 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เมื่อมีการลงนามในสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท อีส สตาร์ จำกัด และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU โดยทาง KNU อนุญาตให้ทางบริษัทเข้าดำเนินการบนพื้นที่เหมืองถ่านหินแห่งนี้ ปัจจุบันพื้นที่เหมืองที่ถูกดำเนินการไปแล้ว โดยบริษัท อีสสตาร์ มีเฉพาะพื้นที่แปลงที่ 2 (จากทั้งหมด 6 แปลง) ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 60 เอเคอร์ บนพื้นที่ของหมู่บ้านกุนชองยี

The Mekong Butterflyและคณะฯ ออกเดินทางจากเขตแดนประเทศไทยไปยังด่านพุน้ำร้อน จ. กาญจนบุรี เพื่อเดินทางข้ามเส้นพรมแดนสมมติทางธรรมชาติและด่านตรวจคนเข้าเมืองไปยังเมืองทิคิ  ภูมิภาคตะนาวศรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองมารับด้วยรถยนต์ จากนั้นข้ามเขาผ่านพื้นที่ป่าตะนาวศรีไปยังหมู่บ้านกุนชองยี โดยใช้ถนนเข้า – ออกชั่วคราว (access road) ที่ทางบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ตัดขึ้นเพื่อเข้าสู่พื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประมาณ 45 นาที จากนั้นจึงใช้เส้นทางแยกที่ทางบริษัท อีส สตาร์ ตัดเข้าไปยังหมู่บ้านกุนชองยี อันเป็นถนนที่ถูกใช้เพื่อลำเลียงและขนส่งถ่านหินที่ขุดได้จากเหมือง ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง รวมเวลาเดินทางจากด่านพุน้ำร้อนไปยังหมู่บ้านกุนชองยี ประมาณ 4 ชั่วโมง โดยระหว่างเราเดินทางผ่านพื้นที่เขตป่าดิบชื้นอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงานอนุรักษ์ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ข้ามผ่านแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ขณะนี้เหือดแห้งลงเนื่องจากยังไม่เข้าสู่ช่วงหน้าฝน จึงทำให้เราสามารถเดินทางข้ามแม่น้ำโดยใช้รถกระบะได้ แต่เมื่อเข้าสู่วสันตฤดู แม่น้ำตะนาวศรี สายเลือดใหญ่ของคนทวายและผู้คนในภูมิภาคตะนาวศรี ก็จะกลับมามีชีวิตชีวาและเอ่อล้นแผ่ขยายอาณาเขตลำน้ำอย่างกว้าขวาง จึงจำเป็นที่ว่าหากต้องการเดินทางข้ามแม่น้ำก็ต้องใช้เรือในการเดินทางเท่านั้น


ชาวบ้านกำลังเตรียมผ่าหมากและนำไปตาก:
หมากนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของชุมชน

ทันทีที่ทางทีมงานและคณะเดินทางเข้าไปถึงหมู่บ้านกุนชองยี เราพบว่าหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่คล้ายหุบเขา อยู่ท่ามกลางผืนป่าเขียวชอุ่ม บริเวณพื้นที่ใจกลางของหมู่บ้านนับเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ประกอบกิจกรรมของชุมชน มีลักษณะเป็นลานกลางแจ้งขนาดใหญ่ สะดวกต่อการรวมพล ประกอบพิธีการ พิธีกรรมต่าง ๆ  ตามบ้านเรือนต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ แพะ และสุนัข บริเวณใจกลางหมู่บ้านจะมีโบสถ์โปรเตสแตนท์ โดยโบสถ์นี้ได้รับการสร้างและต่อเติมจนทันสมัยด้วยเงินสนับสนุนจากคนในหมู่บ้านที่อพยพลี้ภัยสงครามไปอยู่สหรัฐอเมริกา  บริเวณลานกลางแจ้งเป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่ มีโรงเรียน 1 แห่ง เวทีกิจกรรมของชุมชน 1 แห่ง และโรงครัวเพื่อประกอบอาหารและเลี้ยงอาหารของชุมชน 1 โรง ภายในใจกลางหมู่บ้านมีบ้านเรือนที่ปลูกแยกเดี่ยวแต่อยู่ไม่ห่างกันนัก ส่วนบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ไกลออกไปจากใจกลางหมู่บ้านจะตั้งกันอยู่กระจัดกระจายแต่อยู่ใกล้ลำน้ำลำห้วย ซึ่งมีแม่น้ำกุนชองยี อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำบานชอง ซึ่งหล่อเลี้ยงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงกว่า 20 หมู่บ้าน ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเรียกตามแม่น้ำแห่งนี้


โบสถ์คริสต์ใจกลางหมู่บ้าน: ศูนย์รวมจิตใจและพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน

หากกล่าวถึงรายละเอียดเชิงตัวเลขและระบบประชากร ผู้ใหญ่บ้านกุนชองยีได้ให้ข้อมูลกับเราว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรทั้งสิ้น 400 คน 110 ครัวเรือน โดยเกือบ 1 ใน 3 ของประชากร เป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถึง 150 คน ซึ่งมีจำนวนสูงมาก

นอกจากสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว เรายังพบว่าผู้คนในหมู่บ้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี หลายคนสามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ไม่ยากนัก ชาวบ้านหลายคนอาสาเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ให้เราอย่างเต็มใจ และยินดีพาพวกเราสำรวจพื้นที่ชุมชน และพื้นที่บริเวณเหมืองแบบที่พวกเราไม่ต้องออกปากขอให้ช่วย

ชาวบ้านที่พูดภาษาไทยได้หลายคนเล่าให้เราฟังว่า พวกเขาเคยเข้าไปทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมานานนับสิบปี ออกจากหมู่บ้านไปตั้งแต่ยังเป็นเด็กหรือยังเป็นวัยรุ่น เนื่องจากต้องหลบหนีภัยสงคราม และหาที่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต หลายคนต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในฝั่งประเทศไทยอยู่นับสิบปี แล้วจึงย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม บางคนย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอีกฟากหนึ่งของโลก เช่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังคงนึกถึงคนที่นี่บ้างแวะกลับมาเยี่ยมเยียน บ้างส่งกำลังแรงเงินแรงใจมาสนับสนุนคนในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ หลังจากที่มีการลงนามในสัญญาหยุดยิง สงครามค่อย ๆ สงบลง ชาวบ้านหลายคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ทยอยกลับเข้ามาในหมู่บ้าน แดนมาตุภูมิของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง  แม้หลายต่อหลายชีวิตจะไม่ได้กลับเข้ามาอยู่บ้านเรือนหรือพื้นที่เดิมที่เขาเคยอยู่แล้ว แต่ก็ยังได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัวมากยิ่งขึ้น

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ชาวบ้านที่นี่และบริเวณใกล้เคียงจึงมีฐานทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับพวกเขา รายได้และความมั่งคั่งของชุมชนจึงมาจากการปลูกพืช ทำไร่หมุนเวียน โดยจะปลูกข้าวไร่ และพืชผักสวนครัวอื่น ๆ แต่พืชที่มีความสำคัญ นอกเหนือจากการบริโภคในครัวเรือน คือ มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา มะม่วง ทุเรียน เงาะ และที่สำคัญคือ หมาก ซึ่งชาวบ้านจะส่งออกไปขายนอกชุมชน โดยขนไปขายที่เมืองทวาย และจากนั้นหมากและมะม่วงหิมพานต์จะถูกกระจายและส่งออกไปทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายในย่างกุ้ง ทั้งยังส่งออกไปต่างประเทศด้วย เช่น จีนและอินเดีย

ทางคณะฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจตัวเหมืองบานชอง รวมไปถึงการดำเนินการของเหมือง โดยมีชาวบ้านในหมู่บ้านกุนชองยี และหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวนราว 10 คน นำคณะฯ เข้าไปยังพื้นที่เหมือง โดยพื้นที่ดำเนินการมีขนาด 60 เอเคอร์ สร้างทับพื้นที่ทำกินของชุมชนซึ่งแต่เดิมเป็นเนินเขาเล็ก ๆ ที่ใช้สำหรับปลูกสมุนไพรที่มีชื่อว่า "พารา"แต่ปัจจุบันเนินเขามีขนาดใหญ่และสูงขึ้น เพราะเกิดจากการทับถมของดินที่บริษัทนำมาถมเพื่อฝังกลบการลุกไหม้ของถ่านหิน ถ่านหินที่พบทั้งหมดเป็นถ่านหินประเภทลิกไนต์ ซึ่งมีคุณภาพต่ำและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เหมืองมีหลุมขนาดใหญ่ที่เกิดจากการขุดถ่านหินซึ่งมีน้ำขังอยู่ภายใน นอกจากนั้นยังพบบ่อพักตะกอนเก่า จำนวน 2 บ่อ ที่มีรั้วไม้ล้อมรอบท่ามกลางพงหญ้าและต้นไม้ที่ขึ้นใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำสายเล็ก ที่ชื่อว่า "แม่น้ำดะบุโผละ" เพียงไม่ถึง 5 เมตร โดยบ่อพักตะกอนทั้งสองบ่อมีขนาดไม่ใหญ่นัก ทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำจากเหมืองไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านโดยรอบ นอกจากนี้ยังพบบ่อกักเก็บตะกอนในอีกบริเวณหนึ่งซึ่งอยู่ด้านตรงข้ามกับสองบ่อแรก โดยมีทั้งหมด 3 บ่อ ซึ่งมีขนาดเล็กและมีรั้วไม้ล้อมรอบ รวมทั้งสิ้นมีบ่อเก็บตะกอน 5 บ่อ



บริเวณจุดที่มีน้ำแข็งขนาดใหญ่จากการดำเนินการขุดเหมือง

เตง อู อดีตอาจารย์วัยเกษียณโรงเรียนในหมู่บ้านกุนชองยี ให้ข้อมูลกับเราว่า บ่อกักเก็บตะกอน 3 บ่อ เพิ่งถูกขุดขึ้นหลังจากชาวบ้านเรียกร้องและทำข้อตกลงให้มีการขุดเพิ่ม เนื่องจากไม่เพียงพอที่จะสามารถกักเก็บน้ำและตะกอนจากเหมืองได้ แต่ชาวบ้านกล่าวว่าแม้จะมีการขุดบ่อกักเก็บตะกอนเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังมีการล้นทะลักของน้ำจากเหมืองอยู่ และเมื่อฝนตกก็ทำให้สารพิษจากการชะของน้ำแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำและอากาศได้ง่ายขึ้น ขณะที่ทางคณะฯ กำลังสำรวจเหมือง พบว่ายังคงพบเห็นควันที่เกิดจากการลุกไหม้ของถ่านหินกระจายออกมาจากหน้าดินที่ใช้ฝังกลบอยู่เป็นระยะ ชาวบ้านกล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางบริษัทเพิ่งจะฝังกลบไปหลังจากที่เกิดการลุกไหม้อีกครั้ง


บ่อกักเก็บตะกอน 3 บ่อ ที่เพิ่งถูกขุดขึ้นใหม่ตามข้อเรียกร้องของชุมชน
แต่ก็ยังมีขนาดเล็ก และการป้องกันยังขาดความรัดกุม

ใกล้กับบ่อกักเก็บตะกอนที่ขุดขึ้นใหม่ 3 บ่อ พบลำธารสายเล็กที่อยู่ใกล้กับตัวเหมือง มีการปนเปื้อนดินตะกอนที่ไหลออกมาจากเหมืองอย่างเห็นได้ชัด น้ำในลำธารกลายเป็นสีส้มเข้มละมีความข้นมาก ต้นไม้ที่อยู่กลางลำธารยืนต้นตายนับสิบต้น นอกจากนี้ยังมีต้นหมากยืนต้นตายในบริเวณดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด ในบริเวณดังกล่าวมีป้ายไวนิลสีเหลี่ยมที่มีข้อความระบุถึงปัญหาที่เกิดจากการล้นทะลักของน้ำจากเหมือง ทั้งในรูปแบบภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษากะเหรี่ยง ปรากฏข้อความ เช่น "สูญเสียลำน้ำเพราะของเสีย" "ต้นหมากตายเพราะน้ำจากเหมือง" "น้ำจากเหมืองไหลลงในแม่น้ำ" และยังพบป้ายรณรงค์อื่น ๆ ด้วย


แนวหมากยืนต้นตายใกล้กับเหมือง หลังจากที่น้ำจากเหมืองล้นทะลักปนเปื้อนลำธาร

หะ มิ ชายวัยกลางคน อายุ 36 ปี เจ้าของบ้านริมน้ำดะบุโผละ ใกล้บ่อกักเก็บตะกอน ระบุว่า ครอบครัวของเขายังคงใช้น้ำและดื่มน้ำจากแม่น้ำแห่งนี้อยู่เป็นประจำ ลูก ๆ ของเขายังคงไปอาบน้ำที่แม่น้ำแห่งนี้ และหลังจากอาบน้ำก็มักจะพบตุ่มใส ๆ ตามลำตัว และมีอาการคันตามผิวหนัง หะ มิ เล่าประสบการณ์ที่สะเทือนใจต่อไปว่าผลกระทบที่เห็นได้ชัดไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับลูกของเขาเท่านั้น ภรรยาวัย 34 ปี ของเขา ชื่อ ปาน พิว เคยแท้งลูกไปแล้วสองคน ซึ่งแท้งติดต่อกันถึง 2 ปี คือ ช่วงปี 2558 – 2559 และช่วงปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมา โดยในการแท้งลูกคนแรกนั้น ภรรยาของเขามีอายุครรภ์ได้ 3 เดือน และแท้งคนที่สองมีอายุครรภ์ 5 เดือน หะ มิ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าก่อนแท้ง ภรรยาของเขาไม่ได้ทำงานหนักและไม่ได้ยกของหนักแต่อย่างใด ใช้ชีวิตตามปกติ แต่ดื่มน้ำจากแม่น้ำดะบุโผละ และได้รับกลิ่นควันจากการลุกไหม้ของถ่านหิน ส่งผลให้ภรรยา ตัวเขา และลูก ๆ ต้องรีบหลบเข้าบ้าน ปิดห้องอย่างมิดชิด เพื่อหลบกลิ่นควันจากการลุกไหม้ของถ่านหินที่คละคลุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ บางครั้งทนไม่ไหวต้องหนีควันและกลิ่นไปหลบที่บ้านแม่ใหญ่ซึ่งอยู่ห่างออกไปใกล้กับแม่น้ำบานชอง เขาเล่าต่อไปว่าภรรยาของเขามีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัว แสบตา และมีความดันสูง ก่อนที่จะแท้งลูก ขณะหลังแท้งภรรยาของเขาได้รับการรักษาจากหมอตำแยและแพทย์แผนปัจจุบันในหมู่บ้าน โดยเขา ภรรยา และหมอทั้งสองแผนคิดว่าการแท้งของภรรยาน่าจะเป็นผลมาจากควันของถ่านหิน


หะ มิ ชาวบ้านหมู่บ้านกุนชองยี ซึ่งอาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำดะบุโผละ

แม้จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างหนัก แต่ปัจจุบันเขายังไม่พบเห็นความผิดปกติหรือผลกระทบที่เกิดกับผลผลิตทางการเกษตรของเขา หมาก และพืชผลอื่น ๆ ที่ปลูกไว้ตามบ้านยังคงออกดอกออกผลตามปกติ และยังไม่ยืนต้นตาย เหมือนต้นที่อยู่ใกล้บ่อกักเก็บตะกอนหรืออยู่ใกล้แม่น้ำตะบุโผละที่ปลูกไว้ในระดับเดียวกับแม่น้ำ เพราะสวนของเขาอยู่เหนือแม่น้ำจึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ บ้านที่อยู่ในปัจจุบันนี้ปลูกมากว่า 8 ปี ก่อนเหมืองจะเปิดดำเนินการ โดยก่อนที่เหมืองจะเปิดดำเนินการพวกเขาก็ใช้ชีวิตตามปกติและไม่ได้รับผลกระทบจากอะไรทั้งสิ้น

ไม่ไกลจากบ้านของหะ มิ อีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำดะบุโผละ ปรากฏบ้านไม้ชั้นเดียวถูกทิ้งร้างหนึ่งหลัง อยู่กลางดงไม้อันรกชัฏ…หม่อง โต๊ะ หนึ่งในสมาชิกหมู่บ้านที่มาร่วมเดินทางสำรวจ คือ จ้าของบ้านหลังนี้ เขาพาเราเดินฝ่ากิ่งไม้ใบหญ้าที่ขึ้นเหลื่อนกลาดและไม่ได้รับการตัดแต่งเข้าไปยังตัวบ้านของเขา พร้อมทั้งพาสำรวจบ้านและบริเวณโดยรอบ พร้อมเล่าสาเหตุที่เขาต้องปล่อยบ้านหลังนี้ให้ทิ้งร้างไว้ว่า

"ผมและเมียย้ายออกมาจากบ้านหลังนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ราวปี 2558 – 2559) เพราะทนกลิ่นจากการลุกไหม้ (ถ่านหิน) ไม่ไหว หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย ตอนนี้อยู่กับญาติที่กลางหมู่บ้าน" 

คงไม่แปลกนักที่เขาจะทิ้งบ้านหลังนี้ไปด้วยเหตุผลดังกล่าว เพราะไม่ไกลจากตัวบ้าน ประมาณ 300 เมตร คือภูเขาดินทรายที่เกิดจากการนำดินมากลบถ่านหินที่มีการลุกไหม้อยู่เป็นระยะ เขาเล่าว่าช่วงใกล้ฝนตกหรือช่วงหน้าฝนควันจากบริเวณดังกล่าวจะลอยคลุ้งและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนอย่างมาก


หม่อง โต๊ะ ชายสูงวัย ผู้ต้องทอดทิ้งบ้านของตนเองเพื่อหลบหนี
จากกลิ่นและควันของถ่านหิน

ใกล้กับบริเวณยังมีสวนหมากและไม้ยืนต้นหลายชนิดที่เขาและภรรยาเป็นเจ้าของ ปัจจุบันเขายังคงแวะเวียนมาเก็บผลผลิตบ้าง แต่ก็ไม่ได้มาดูแลเหมือนเมื่อก่อน ขณะที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้พวกเขาใช้น้ำจากลำธารขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เหมืองเป็นปกติ และพบว่าพืชผลทางการเกษตรของเขาที่อยู่ใกล้แม่น้ำเติบโตได้ไม่เต็มที่ บ้างก็ยืนต้นตาย หลังจากที่ย้ายออกมาจากบ้านหลังนี้ เขาไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ทั้งยังไม่เคยได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการทำเหมืองแต่อย่างใด

แม้หม่อง โต๊ะ จะไม่มีอาการที่เกิดจากการได้รับควันจากการลุกไหม้ของถ่านหินมากนัก แต่ภรรยาของเขา พอ ละวา วัย 52 ปี กลับไม่เป็นเช่นนั้น เธอมีอาการปวดหัว ปวดหลัง วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก และเหนื่อยง่ายมากขึ้น คันตามผิวหนัง มีลอยคราบเหมือนรอยไหม้สีดำเป็นปื้นตามแขนและลำตัว

"ช่วงที่บริษัทเริ่มเข้ามาทำเหมืองใหม่ ๆ ยังไม่มีอาการผิดปกติมากนัก แต่หลังจากช่วงปี 2556 ผ่านไป 1 ปี ก็เริ่มมีอาการปวดหัวและวิงเวียนศีรษะ เลยย้ายออกมา ตอนนี้ก็เริ่มหายใจสะดวกขึ้น แต่ยังหน้ามืดและปวดหัวอยู่บ้าง"

เธอพบว่าเพื่อนบ้านของเธอที่อยู่ใกล้เหมืองก็มีอาการคล้าย ๆ กัน พร้อมกับกล่าวว่ารู้สึกเสียใจที่ต้องย้ายออกมาจากบ้านและที่ดินของตน ทำให้ต้องบุกเบิกแหล่งทำกินใหม่ ในส่วนของการรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกายของเธอ  เธอต้องหาซื้อยาแก้อาการคันตามร้านขายของบริเวณหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงทาน ต้องเสียค่ายาเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000 จั๊ต หรือราว 100 บาท นอกจากนี้พอ ละวา ยังเคยได้รับการตรวจสุขภาพจากแพทย์ชาวไทยที่ทางบริษัท อีส สตาร์ จัดหามา เนื่องจากอยู่ในเงื่อนไขข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ที่ทางชุมชนเรียกร้องต่อบริษัท โดย 1 ใน 11 ข้อ ได้มีการกำหนดให้ทางบริษัทต้องจัดหาแพทย์มาเพื่อตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้าน แต่ถึงกระนั้นแม้จะมีการตรวจสุขภาพคนในชุมชน แต่ทางบริษัทก็ไม่ได้มีการเปิดเผยผลตรวจใด ๆ แก่ผู้รับการตรวจ ทั้งยังไม่มีคำแนะนำใด ๆ จากแพทย์ ปัญหาทางสุขภาพจึงไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด โดยพอ ละวา กล่าวว่าแม้จะมีการตรวจสุขภาพแต่ไม่ได้มีการตรวจเชิงลึก เช่น การนำเลือดไปตรวจ


พอ ละวา ภรรยาของหม่อง โต๊ะ มีอาการผิวหนังมีรอยคราบไหม้ตามแขน ขา และลำตัว

"เราอยากกลับไปอยู่ในที่ที่เป็นของเรา บ้านของเราที่ถูกทิ้งร้าง อยากเรียกร้องให้มีการชดเชยความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และบริษัทต้องหยุดทำเหมืองอย่างถาวร เพราะหากหยุดได้ แหล่งน้ำได้รับการฟื้นฟู และแน่นอนเราจะได้กลับบ้านกันสักที" สองสามีภรรยากล่าวทิ้งทาย

นอกจากครอบครัวของหะ มิ และหม่อง โต๊ะ แล้ว ยังมีอีกลายคนครอบครัวที่ได้สะท้อนปัญหาที่พวกเขาประสบพบเจอให้เราฟัง ชาวบ้านหลายรายกล่าวว่านับตั้งแต่เหมืองเริ่มเปิดดำเนินการ ในปี 2555 พวกเขาได้รับกลิ่นเหม็นจากควันที่เกิดจากการลุกไหม้ของถ่านหิน รวมถึงตะกอนที่ปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ ส่วนใหญ่มีอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบตา สายตาพร่ามัวมากขึ้น มีอาการแพ้ เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลง่ายขึ้น หายใจได้ไม่เต็มที่ มีรายงานว่าเด็กวัย 11 ขวบ ในหมู่บ้านมีอาการชัก ถึง 3 ครั้ง ชาวบ้านบางรายที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองมีอาการหนักกว่าชาวบ้านที่อยู่ห่างออกไป หลายรายออกทำงานไม่ได้ หมดแรงโดยไม่ทรายสาเหตุ ต้องนอนพักผ่อนอยู่ที่บ้านมีอาการเพลียอยู่ตลอดเวลา ซ้ำยังมีอาการปวดข้อกระดูก ซึ่งชาวบ้านอธิบายว่ามีความแตกต่างจากอาการปวดเมื่อยทั่วไป บางรายมีอาการข้อไม้ข้อมือข้อนิ้วล็อก เหมือนชา รู้สึกเกร็ง หมดแรงหยิบจับโดยไม่สามารถระบุได้ เช่น ถือของอยู่ดี ๆ ก็หล่นหรือหลุดมือ โดยที่ยังมีสติอยู่ แต่ควบคุมไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นบางรายมีอาหารปัสสาวะขัด มีชาวบ้าน 3 รายที่ป่วยหนักจนต้องให้อาหารทางหลอด เพราะมีอาการเจ็บและแสบคออย่างมาก ส่งผลให้ไม่สามารถทานอาหารแบบปกติได้ นอกจากนี้ชาวบ้านยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดและมะเร็งกระดูกที่บริเวณเข่า รวม 2 ราย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่แพทย์ประจำหมู่บ้านกล่าวว่าผู้เสียชีวิตป่วยเป็นมะเร็ง นอกจากควันและกลิ่นที่เกิดจากการลุกไหม้ของถ่านหินแล้ว ฝุ่นละอองที่เกิดจากการรถบรรทุกขณะขนส่งถ่านหินเองก็ส่งผลให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายลงสู่แม่น้ำ สวนหมาก พืชผลการเกษตร และอากาศตามรายทางขณะที่รถเคลื่อนตัว ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำที่มีการปนเปื้อนของฝุ่นถ่านหินที่มีกับรถบรรทุก และทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่กล้าใช้น้ำในลำธาร

โซ เด คิ หนึ่งในสมาชิกชุมชนเล่าให้ฟังว่า พร้อมชูประจักษ์พยานตามเนื้อตัวของเขาว่าเขามีอาการผิวหนังปูดบวมตามเนื้อตัวแบบผิดปกติ เป็นก้อนนิ่มบ้าง แข็งบ้าง ตามแขนและลำตัว ซึ่งนับเป็นอาการประหลาดที่เขาและทางคณะฯ ไม่เคยพบเจอ จากนั้นชาวบ้านก็เริ่มพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน พร้อมชี้ให้เห็นความผิดปกติของร่างกายที่ปรากฏร่องรอยบนผิวหนังของเด็ก ๆ ที่มาเข้าร่วมประชุม ชาวบ้านขอให้เด็กคนหนึ่งเลิ่กเสื้อผ้าขึ้น สิ่งที่เราพบเห็นคือแผลถลอกบนแผ่นหลังลามไปถึงก้นเป็นจุด ๆ  และมีรอยดำตามตัว ชาวบ้านเล่าว่าร่องรอยพวกนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เด็ก ๆ อาบน้ำในแม่น้ำที่อยู่ใกล้เหมือง แรกเริ่มมีอาการเป็นตุ่มใส และผิวหนังพุพอง รวมทั้งมีอาการคันอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งก่อนที่จะมีการดำเนินการของเหมืองไม่มีใครเคยมีอาการลักษณะนี้

อิ เสะ คุณพ่อ วัย 30 ปี ขณะนี้มีลูกน้อย 2 คน เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ
จากควันถ่านหินเล่าให้ฟัง ขณะที่เขายืนอยู่หน้าบ้านหลังเก่าของตัวเองว่า

"ผมย้ายออกจากที่นี่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะทนกลิ่นควันไม่ไหว กลิ่นเหม็นมาก กลิ่นเหมือนน้ำมันรถยนต์และยางมะตอย ผมกับเมียมีอาการปวดหัวและคลื่นไส้ทุกครั้งที่เกิดกลุ่มควัน ผมทนอยู่บ้านหลังนี้มา 4 ปี ตั้งแต่บริษัทเข้ามาทำเหมือง ทนกลิ่นเหม็นมา 2 ปี จนต้องย้ายออก อีกอย่างที่สำคัญเลยคือผมเป็นห่วงเมียและลูก ๆ" นี่คือน้ำเสียงของหัวหน้าครอบครัวและผู้เป็นพ่อ

อิ เสะ มีลูกสามคน คนแรกอายุ 3 ปี และคนสุดท้องมีอายุ 6 เดือน กล่าวได้ว่าในขณะที่เขาย้ายออกมาจากบ้านหลังนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ลูกคนแรกชองเขามีอายุเพียง 1 ปี เท่านั้น นั่นหมายความว่าเด็กแรกเกิดต้องทนรับควันจากการลุกไหม้ของถ่านหินอยู่นานถึง 1 ปีเต็ม อิ เสะ กล่าวต่อไปว่าก่อนที่จะย้ายบ้าน ลูกของเขาเริ่มมีอาการหอบหืดแล้ว จึงได้ตัดสินใจย้าย และคิดว่าหากยังอยู่ต่อก็จะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของลูก จนถึงตอนนี้ลูกคนโตชองเขาก็ยังมีอาการหอบหืดอยู่

คำบอกเล่าข้างต้นเป็นข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านในหมู่บ้านกุนชองยีประสบมานานเกือบ 7 ปี หลังจากเหมืองบานชองเปิดดำเนินการ ความรุนแรงและพัฒนาผลกระทบที่ถูกบอกเล่าจากปากคำของชุมชนอาจสะท้อนให้เห็นถึงผลที่ตามมาจากการขุดเหมืองถ่านหินในระดับอุตสาหกรรมได้ และหากเป็นในแง่มุมทางวิชาการล่ะ จะมีคำอธิบายอย่างไร

การเดินทางสำรวจและสอบถามผลกระทบในครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงทีมงานของเราเท่านั้น สิ่งที่จะมาเติมเต็มความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น คงต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่กับประเด็นปัญหาลักษณะนี้มาเป็นเวลานาน และมีเนื้อหาทางวิชาการมาแถลงไขให้ชุมชนและทีมงาน The Mekong Butterfly ได้รับทราบ

ดร. อาภา หวังเกียรติ หนึ่งในคณะสำรวจ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับถ่านหิน และผลกระทบจากถ่านหินที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเริ่มจากการอธิบายถึงประเภทของถ่านหิน กล่าวว่าถ่านหินในเหมืองบานชองเป็นถ่านหินประเภทลิกไนต์ ซึ่งนับเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำที่สุด (จาก 4 ประเภท คือ ลิกไนต์ ซับบิทูมินัส บิทูมินัส และแอนทราไซด์) มีปริมาณกำมะถันสูง ส่งผลให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีกลิ่นคล้ายไข่เน่า น้ำมัน หรือยางมะตอย ในถ่านหินมีตัวให้ความร้อนที่เรียกว่า "ไฮโดรคาร์บอน" ซึ่งเกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันมาเป็นเวลานานนับล้านปี โดยจะปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของบางประเภท เช่น ไส้ดินสอ ยางรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารโลหะหนักและสารประกอบโลหะอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 25 ชนิด โดยสารโลหะหนัก เช่น สารหนู ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ทองแดง นิกเกิล โครเมียม แมงกานีส เหล็ก สังกะสี เป็นต้น และสารประกอบโลหะ เช่น อลูมิเนียม เงิน แบเรี่ยม พลวง โมลิเดียม และวานาเดียม นอกจากนั้นแล้ว ในถ่านหินยังมีสารที่ทำให้เกิดกรดแก๊ส และสารก่อมะเร็งด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย สังเกตได้จากควันถ่านหินเมื่อเกิดการเผาไหม้แล้วจะมีกลิ่นระเหยคล้ายน้ำมันที่ใช้เติมรถยนต์  หากสูดเข้าไปในปริมาณมากและนานจะกลายเป็นสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ในถ่านหินยังมีสารกัมมันตภาพรังสี อาทิ ยูเรเนียม ทรอเลียม เรเดียม และสารที่สามารถตกค้างได้ยาวนานเป็นแสนเป็นล้านปี หากปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ พลอยได้รับสารพิษไปด้วย หากรับประทานเข้าไปสารพิษก็จะเข้าสู่ร่างกาย

เธออธิบายเพิ่มเติมว่าควันถ่านหินนั้น หากลอยไปในอากาศและปะทะเข้ากับฝนก็จะส่งผลให้สารพิษตกลงมาพร้อมกับฝนด้วย ฝนที่ตกลงมาจะกลายเป็นฝนกรด ส่งผลให้สารพิษปนเปื้อนลงบนพื้นดินและแม่น้ำ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อพืชและสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของชุมชน ไหลวนสู่ห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งสารพิษที่ลอยอยู่ในอากาศและแหล่งน้ำก็จะเข้าไปในร่างกายผ่านทางการหายใจ และการสัมผัสโดยตรง เช่น การดื่มและอาบน้ำ หรือนำน้ำไปประกอบอาหารก็จะทำให้สารพิษตรงเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนัง รูขุมขน หรือปาก เข้าไปยังอวัยวะภายใน เช่น ตับ ปอด ไต และไหลเวียนอยู่ในระบบเลือดทั่วร่างกาย ส่งผลต่อระบบสมองส่วนกลางซึ่งมีหน้าที่สั่งการการเคลื่อนไหว ดังนั้นการไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ เช่น ถือของอยู่แล้วหลุดมือ นั่นอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติของสมองส่วนกลางที่ได้รับสารพิษต่าง ๆ อาการปัสสาวะขัดหรือเจ็บกะเพราะปัสสาวะก็มาจากความผิดปกติของไตที่ได้รับสารพิษในปริมาณมากและสะสมเป็นเวลานาน ถึงกระนั้นก็ยังมีสารพิษบางประเภทที่สามารถถูกขับออกจากร่างกายได้ เช่น ตะกั่ว แต่หากจะให้แน่ใจว่ามีสารพิษเหล่านี้อยู่ในร่างกายหรือไม่ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจโรคอย่างละเอียดผ่านการวิเคราะห์ผลเลือด โดยสถานการณ์ทางสุขภาพที่เกิดขึ้นในขณะนี้จากการสำรวจลงพื้นที่ทั้งในช่วงเช้า และอาการตามที่เห็นแล้ว ถือว่าอยู่ในขั้นเตือนภัย ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤต ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยจากสัดส่วนประชากรในหมู่บ้านทั้งหมดราว 400 คน เกือบ 50% ของประชากรในหมู่บ้านเป็นเด็ก จึงถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากสารพิษต่าง ๆ ที่เกิดจากถ่านหินนั้นจะมีผลอย่างมากกับกลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และกลุ่มเด็ก เพราะอวัยวะภายในยังเติบโตไม่เต็มที่และมีขนาดเล็ก จึงไม่สามารถรับสารพิษได้มาก หลอดอาหารและทางเดินหายใจของเด็กที่เล็กสั้นจะส่งผลให้เด็กรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น เด็กอาจมีพัฒนาการสมองและสติปัญญาช้าลง อาจเป็นโรคปัญญาอ่อนได้

หลังจากที่ได้ฟังคำอธิบายจากปากคำของ ดร. อาภา หลายคนดูมีความกังวลมากขึ้น ว่าในอนาคตข้างหน้า พวกเขาจะมีสุขภาพอย่างไร และเศรษฐกิจชุมชนจะเปลี่ยนไปอย่างไร นี่คงเป็นคำถามคาใจ เพื่อหาคำตอบต่อไปในอนาคต แต่ดูเหมือนว่าทิศทางข้างหน้าที่ชัดเจนที่สุด คือ ให้บริษัทหยุดการดำเนินเหมืองอย่างถาวร และเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ… ฝังกลบมังกรเพชฌฆาตให้หลับใหลลงไปชั่วนิรันดร์

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://themekongbutterfly.com/2018/05/01

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตของประเทศ ในการเลือกตั้ง

Posted: 17 May 2018 08:56 AM PDT

 

น่าประหลาดที่การเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ทำให้เสียงของประชาชนไร้ความหมาย กลับให้ผลที่มีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของการเมืองไทย จนทำให้การเลือกตั้งที่จะต้องจัดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครั้งนี้ (ไม่ภายใต้คณะรัฐประหารชุดนี้ ก็คณะรัฐประหารชุดหน้า) แตกต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมด

ความพิเศษของการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวของมันเอง แต่เพราะประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง พอจะเทียบได้กับ 2475, 2501, หรือ 14 ตุลาฯ ส่วนจะเปลี่ยนผ่านหรือเปลี่ยนไม่ผ่านนั้นทำนายไม่ถูก แต่แน่ใจได้ว่า หากเปลี่ยนไม่ผ่านโดยสงบ ก็เท่ากับสะสมภาวะตึงเครียดให้สูงยิ่งขึ้น จนวันหนึ่งเมื่อเปลี่ยนผ่านได้ ก็คงเป็นไปด้วยความรุนแรงและความสูญเสียอย่างที่การเมืองสมัยใหม่ของไทยไม่เคยเผชิญมาก่อนเลย

อย่าลืมว่า สัญญาณแห่งความรุนแรงดังกล่าวมีมาตลอดทศวรรษกว่าที่ผ่านมา การใช้อำนาจเด็ดขาดของคณะรัฐประหารทำให้ความรุนแรงในรูปอื่นไม่ปรากฏให้เห็น เหลือแต่ความรุนแรงของอำนาจเด็ดขาดซึ่งคณะรัฐประหารผูกขาดเอาไว้แต่ผู้เดียว

ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน ก็เพราะทุกภาคส่วนของสังคมได้เปลี่ยนมาก่อนแล้ว หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะสภาวะใหม่ที่ถอยกลับไม่ได้

ชนชั้นนำที่ถืออำนาจปกครอง (ruling elite) ซึ่งประกอบด้วยหลายกลุ่ม กำลังมีปัญหาด้านอัตลักษณ์อย่างหนัก ความเป็นไทยคืออะไร คนดีคืออย่างไร อำนาจที่เหมาะกับสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตควรเป็นอย่างไร จะรักษาการครอบงำ (domination) ของตนต่อไปได้อย่างไร ท่ามกลางความเสื่อมศรัทธาต่อพิธีกรรมและแบบแผนธรรมเนียมอย่าง "ไทยๆ" ของคนรุ่นใหม่ ฯลฯ เรื่องซึ่งเคยมีฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำซึ่งถืออำนาจปกครอง กำลังกลายเป็นปัญหาที่ตอบได้ไม่ตรงกัน บางคนอาจหันกลับไปหาอดีต และบางคนกลับอยากก้าวให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์มากกว่า

คนกลุ่มนี้ โดยจำนวนแล้วมีน้อยนิดเดียว ไม่มีความหมายในคะแนนเสียงเลือกตั้งแต่อย่างไร แต่มีอำนาจชี้นำสังคมสูง หากทว่าอำนาจชี้นำนี้กลับลดลงในช่วงนี้ เพราะความไม่ชัดเจนด้านอุดมการณ์ อันเนื่องมาจากปัญหาอัตลักษณ์ดังกล่าวแล้ว

คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก แต่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างมาก สืบเนื่องกันมาหลายทศวรรษแล้วคือนายทุน สถานการณ์ในประเทศไทยก็กำลังเปลี่ยนเช่นกัน

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้พบมานานแล้วว่า ผู้ลงทุนมีอำนาจต่อรองได้สูงกว่ารัฐเป็นอันมาก เพราะรัฐไม่สามารถทำอะไรได้ หากนายทุนหยุดการลงทุน (หรือเพียงไม่ลงทุนเพิ่ม ก็ทำให้เกิดปัญหามากแล้ว) หรือเคลื่อนย้ายทุนออกไปยังแหล่งอื่น

การกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งหมด เช่นทำให้คนว่างงานมีจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งผู้ปกครองรัฐอาจอยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้ ดังนั้นรัฐจึงมักฟังเสียงของผู้ลงทุน ซึ่งอาจสื่อสารกับรัฐโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้จัดการด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เอื้อต่อการทำกำไรของนายทุน

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้พบต่อไปด้วยว่า นายทุนแต่ละประเภทมีอำนาจในการเคลื่อนย้ายทุนได้ไม่เท่ากัน เช่นนายทุนขนาดเล็ก แทบจะเคลื่อนย้ายทุนของตนไม่ได้เลย เพราะต้นทุนอาจสูงจนไม่คุ้ม นายทุนผู้ประกอบการด้านหัตถอุตสาหกรรมมักเคลื่อนย้ายทุนได้ยากกว่านายทุนการเงินอย่างเทียบกันไม่ได้เลย ยกเว้นแต่ว่ามีการลงทุนในประเทศอื่นๆ อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ด้วยเหตุดังนั้น นายทุนที่เคลื่อนย้ายทุนได้ยากจึงมักเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง นับตั้งแต่อุดหนุนพรรคการเมือง, อุดหนุนการรัฐประหาร, หรือวิ่งเต้นเอาพรรคพวกหรือสมุนไปนั่งในตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ

ในขณะที่นายทุนซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายทุนได้ง่าย (ด้วยเหตุใดก็ตาม) มักเพียงแต่ส่งสัญญาณพอใจหรือไม่พอใจให้รัฐเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแทรกแซงทางการเมืองเกินจำเป็นไปกว่านั้น

ถามว่านายทุนไทยเป็นนายทุนประเภทไหน?

คำตอบก็คือ ทุนไทยมีลักษณะอยู่ติดที่มากกว่าเคลื่อนย้ายได้ง่าย การลงทุนต่างประเทศของไทยมีน้อยมาก ตัวเลขของ BOI คือเพียง 4% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเท่านั้น (สำนักสถิติเศรษฐกิจเอกชนบางสำนักให้ตัวเลขสูงถึง 8.4% แต่ก็รวมการขยายการผลิตของทุนข้ามชาติไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย)

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะทุนไทยมีขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ๆ ก็มีลักษณะติดที่เหมือนกัน และเหตุที่ติดที่ก็เพราะสภาพแวดล้อมของการลงทุนในประเทศไทยนั้นต้องถือว่าดีเลิศ กล่าวคือเอื้อต่อการทำกำไรได้สูง แรงงานไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างรัดกุม ทั้งโดยกฎหมายและโดยการปฏิบัติ (แรงงานประท้วงนอกโรงงานแต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐทุบตี เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว, ไม่เคยมีการนัดหยุดงานทั่วไปหรือ general strike เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แรงงานไทยเลย ฯลฯ) กฎหมายและการบังคับใช้ด้านสิ่งแวดล้อมหย่อนยาน ระบบภาษีหลบหรือเลี่ยงได้ง่าย รัฐคอยเงี่ยหูฟังเสียงหรือสัญญาณจากทุน จนแทบไม่ได้ยินเสียงจากคนกลุ่มอื่นอีกเลย ยังไม่พูดถึงการผูกขาดในทางปฏิบัติอีกหลายเรื่อง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่มีประโยชน์หรือเพิ่มกำไรในการเข้าไปแข่งขันในตลาดการลงทุนต่างประเทศ

ขอยกตัวอย่างจากทุนใหญ่ๆ ในกลุ่มประชารัฐ ทุนสัมปทานน้ำเมาและที่ดินอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่อาจเคลื่อนย้ายไปไหนได้อยู่แล้ว จะมีรัฐอะไรหรือที่ออกกฎหมายกีดกันมิให้คนทั่วไปผลิตน้ำเมาแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ และจะมีประเทศอะไรหรือที่สะสมทรัพย์ในรูปที่ดินเท่าไรก็ได้ โดยไม่เกิดภาระทางภาษีเพิ่มขึ้นเลย

เงื่อนไขที่สามารถกระจายความเสี่ยงในการผลิตอ้อยไปยังคนเล็กคนน้อย ในพื้นที่กว้างขวาง ย่อมทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลมั่นคงและทำกำไรได้อย่างที่ไม่อาจหาแหล่งลงทุนอื่นที่ดีกว่าได้ ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงโครงสร้างพื้นฐานซึ่งดีเลิศ ทั้งด้านขนส่งคมนาคมและพลังงาน

อุตสาหกรรมอาหาร (ทั้งคนและสัตว์) ซึ่งสามารถกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจให้เกษตรกรอีกนับล้านเข้าร่วมรับด้วย โดยรัฐไม่สร้างมาตรการปกป้องเกษตรกรไว้อย่างเพียงพอ จึงทำกำไรได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงเครือข่ายในระบบราชการและสื่อซึ่งสร้างหรือซื้อไว้จำนวนมากแล้ว

ทุนใหญ่เหล่านี้อาจขยายการลงทุนไปต่างประเทศ หรือซื้อหุ้นธุรกิจต่างประเทศ แต่ฐานใหญ่อยู่ในประเทศไทยเสมอ และด้วยเหตุดังนั้นทุนใหญ่จึงเข้าแทรกแซงทางการเมืองตลอดมา และต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ตลอด 5-6 ทศวรรษที่ผ่านมา ทุนใหญ่สามารถรักษาฐานของโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจ, ป่าไม้, แรงงาน, ตลาด, ภาษี ฯลฯ ให้เอื้อต่อการทำกำไรของตนตลอดมา

แม้ว่าส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองไทยอาจพลิกผันไปมาระหว่างทหาร, นักการเมือง, ข้าราชการ, เทคโนแครต, เจ้าสัว-เจ้าพ่อก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษท้ายๆ นี้ เริ่มมีคนแปลกหน้ากลุ่มใหม่ขึ้นมาบนเวทีการเมือง ที่สำคัญได้แก่คนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเรียกร้องนโยบายที่ไม่เป็นผลดีแก่การทำกำไรในการลงทุนนัก (เช่น ต่อต้านการเลี้ยงปลากระชัง ที่ทำความเสียหายให้แหล่งน้ำ… ต้นทุนวัตถุดิบในการทำอาหารย่อมมีทีท่าจะสูงขึ้น และอาจขายอาหารปลาได้ลดลง) ดังนั้น หากเวทีการเมืองเปิดกว้างต่อไป การแทรกแซงทางการเมืองของทุน เพื่อรักษาฐานโครงสร้างของนโยบายไว้ย่อมจะยากขึ้น จนอาจล้มเหลวได้ จึงพร้อมจะสนับสนุนและร่วมมือกับกลุ่มที่ต้องการจำกัดเวทีการเมืองไว้ให้แคบเท่าเดิม

ไม่เคยมีการรัฐประหารของกองทัพครั้งไหน ที่นายทุนใหญ่ออกหน้าสนับสนุนอย่างชัดเจนเท่าครั้งนี้ แต่ก่อนนายทุนสนับสนุนการยึดอำนาจด้วยการโอนเงินเพื่อเป็นทุนทำการแก่กลุ่มผู้นำอย่างลับๆ เมื่อสำเร็จแล้วจึงนำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้ต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อพลิกสถานะผู้จ้างเป็นเพียงลูกสมุนต่อสาธารณชน

แต่รัฐประหารครั้งนี้ พวกเขาเข้าร่วมมีบทบาทอย่างออกหน้า ส่งสมุนและพรรคพวกไปนั่งในตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น ในที่สุดก็ได้รัฐธรรมนูญที่จำกัดคนซึ่งจะขึ้นไปบนเวทีการเมืองให้แคบลงเป็นคนหน้าเดิม ทั้งตัวเขาเองหรือลูกสมุนก็มีทีท่าว่าจะได้นั่งในตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นโอกาสให้ควบคุมนโยบายที่เปิดการทำกำไรให้แก่ทุนของเขาอย่างอ้าซ่าตลอดไป

แม้แต่ทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท (ซึ่งจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) ที่เตรียมไว้สำหรับการแสวงหาความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจและระบบ จำนวนมากในนั้นคงมาจากการลงขันของเหล่านายทุนซึ่งร่วมการรัฐประหารมาแต่ต้นเหล่านี้

การใช้เงินและตำแหน่งในรัฐบาลใหม่เป็นเหยื่อล่อนักการเมือง ย่อมทำให้ได้แต่กลุ่มเจ้าสัว-เจ้าพ่อท้องถิ่นมาเป็นฐานเสียง คนกลุ่มนี้เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ในท้องถิ่น และทำให้ได้รับเลือกตั้งสืบมาหลายครั้ง ปัญหามาอยู่ที่ว่าระบบอุปถัมภ์จะเข้ามาทดแทนนโยบาย (ที่ถูกเรียกว่าประชานิยม) ได้หรือไม่ ในทรรศนะของชาวบ้านในท้องถิ่น คนจนคงไม่เกี่ยง จะเป็นอย่างไหนก็ได้ที่ทำให้ตนเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นบ้าง แต่คนจนมีจำนวนน้อยกว่าคนชั้นกลางระดับล่าง (หรือ "ชาวนาการเมือง")

เรื่องของเรื่องจึงมาอยู่ที่ว่า ระหว่างบุคคลซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์กับนโยบาย คนชั้นกลางระดับล่างจะเลือกอะไรในสถานการณ์ที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้แล้วว่า ตัวแทนของประชาชนไม่อาจวางนโยบายได้เองอย่างอิสระ

กลุ่มคนที่เป็นคะแนนเสียงบล็อกใหญ่มากคือคนชั้นกลางระดับล่าง นอกจากมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดในสังคมแล้ว พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งยังค่อยๆ หันมาสู่การเลือกนโยบายมากขึ้น ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทยและพรรคลูกหลาน ประสบความสำเร็จในการวางนโยบายที่ทำให้ได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้เป็นบล็อก จึงชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นตลอดมา

ก่อนหน้าพรรคไทยรักไทย คนกลุ่มนี้ไม่เคยลงคะแนนเสียงเป็นบล็อก อย่างน้อยไม่เคยในการเลือกตั้งระดับชาติ แต่เลือกที่จะสร้างสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับบุคคลที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ ผ่านหัวคะแนนประเภทต่างๆ ในท้องถิ่น โดยวิธีเช่นนี้ทำให้เขาได้รับส่วนแบ่งทรัพยากรเท่าที่ ส.ส.ของเขาจะสามารถดึงมาได้

(นี่คือเหตุที่ ส.ส.ต้องการสังกัดพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลมากกว่าเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน เพราะสามารถดึงทรัพยากรรัฐเข้าสู่ท้องถิ่นได้มากกว่า เท่ากับประกันความมั่นคงในที่นั่ง ส.ส.ในท้องถิ่นของตน ส่วนใหญ่ของ ส.ส.ที่ชิงกระโดดเข้าสู่แรงดูดของคณะรัฐประหารในช่วงนี้คือ ส.ส.ประเภทนี้)

แต่นโยบายของพรรคไทยรักไทยและพรรคลูกหลาน ให้หลักประกันว่า คนกลุ่มนี้จะได้รับการอุดหนุนจากทรัพยากรกลางมากขึ้นกว่าที่เคยได้มาอย่างแน่นอน จึงทำให้ส่วนใหญ่หันมาลงคะแนนเสียงเป็นบล็อกแก่พรรค

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับอัปลักษณ์ที่ใช้บังคับอยู่เวลานี้ ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจวางนโยบายได้อย่างอิสระเอง เพื่อให้แน่ใจว่าการอุดหนุนของรัฐจะยังมีอยู่แก่พวกเขาต่อไป คนชั้นกลางระดับล่างจะเลือกพรรคหรือเลือกบุคคล?

หากย้อนกลับไปดูกำเนิดและประวัติของคนชั้นกลางระดับล่างในเมืองไทย จะพบว่ารัฐมีส่วนอย่างสำคัญ ไม่น้อยกว่าหรืออาจมากกว่าตลาดเสียอีกในกำเนิดและการเติบโตของคนกลุ่มนี้ ตั้งแต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา รัฐภายใต้เผด็จการทหารเต็มใบ ค่อนใบ, ครึ่งใบ หรือเสี้ยวใบล้วนให้ความสำคัญแก่การพัฒนาชนบท อย่างน้อยก็เพื่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเอง (ประชาชนส่วนใหญ่พอใจ และนักการเมือง-ข้าราชการได้กินนอกกินในจากโครงการ) คนชั้นกลางระดับล่างเติบโตมาจากการอุปถัมภ์ของรัฐ โดยตรงหรือโดยอ้อม (เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทุนย่อมเปิดตลาดของเกษตรกรให้กว้างขึ้นด้วย) ปัญหาของเขาก็คือจะเติบโตไต่เต้าต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างแรงงานนอกภาคเกษตรเสียแล้ว

เช่นจะจัดให้มีแหล่งเงินกู้ที่เหมาะกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางระดับล่างอย่างไร ทำอย่างเป็นระบบหรือทำโดยการโยนเงินลงไปเป็นกองทุนหมู่บ้าน การทำอย่างเป็นระบบเพื่อให้เข้าถึงได้อย่างกว้างขวางและยืดหยุ่นได้ตามเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องทำได้ยากมาก (คุณทักษิณ ชินวัตร เคยพูดว่าจะขยายกองทุนหมู่บ้านขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นธนาคารในที่สุด แต่เท่าที่ทำจนสิ้นอำนาจ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะพัฒนาขึ้นเป็นระบบได้)

หากการเมืองที่มีการเลือกตั้งยังอยู่ คนชั้นกลางระดับล่างอาจเคลื่อนไหวไปในทางที่จะได้อำนาจในการต่อรองนโยบายกับรัฐมากขึ้น แต่เพราะการเมืองแบบนั้นสะดุดลง โดยยังไม่สามารถจัดองค์กรเพื่อการเคลื่อนไหวเช่นนั้นได้ จึงทำนายได้ยากมากว่า ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ คนชั้นกลางระดับล่างจะลงคะแนนเสียงให้พรรคที่ต่อสู้กับเผด็จการทหาร หรือจะลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครที่จะได้ร่วมรัฐบาล และมีศักยภาพจะดึงทรัพยากรรัฐเข้ามาอุดหนุนคนในท้องถิ่น

ที่เชื่อกันว่า การ "ดูด" ส.ส.เก่าจะไม่ให้ผลอย่างที่คณะทหารซึ่งครองอำนาจอยู่เวลานี้คาดหวัง ผมไม่ค่อยแน่ใจ เพราะอาจเป็นไปได้ทั้งการเทคะแนนให้พรรคที่ประกาศสู้กับ คสช. หรือทั้งการเทคะแนนให้ผู้สมัครที่ประกาศสนับสนุน คสช.

อนาคตของการเมืองไทย ขึ้นอยู่กับผลการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว

คนอีกกลุ่มหนึ่งคือคนชั้นกลางผู้มีการศึกษาและอยู่ในเมือง ซึ่งเพิ่มสัดส่วนในหมู่ประชากรสูงขึ้นตลอดมา แม้ว่ายังห่างจากการเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่อาจกล่าวได้ว่า ก่อนสมัยพรรคไทยรักไทย เป็นคนกลุ่มเดียวที่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นบล็อกได้ พรรคการเมืองที่จะได้คะแนนจากคนกลุ่มนี้มีอยู่ไม่กี่พรรคในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดในระยะหลัง ทำให้เสียงของคนชั้นกลางระดับนี้ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวดังเดิมเสียแล้ว

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือ คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนมากที่สุด ดังนั้น จึงทำให้มีทัศนคติทางการเมืองที่ใกล้เคียงกัน แต่ในระยะประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักไม่ได้เป็นผู้กำหนดวาระทางสังคมและการเมืองอีกแล้ว คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมืองสามารถสื่อทรรศนะของตนผ่านสื่อออนไลน์นานาชนิดได้ ดังนั้น คะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงน่าจะแตกแยกค่อนข้างสูง พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่คงได้คะแนนไปไม่น้อยจากคนกลุ่มนี้ แต่โอกาสที่จะได้ ส.ส.เขตจากเมืองมีไม่มากนัก เพราะท่ามกลางเสียงที่แตกแยก กลไกหาและสร้างคะแนนเสียงของพรรคเก่าน่าจะรวบรวมคะแนนเสียงได้เป็นกอบเป็นกำในแต่ละเขตมากกว่า

แต่คำทำนายนี้อาจผิด เพราะเรายังไม่อาจหยั่งสำนึกทางการเมืองที่เปลี่ยนไปของคนกลุ่มนี้ได้กว้างและลึกพอ

คนกลุ่มที่เหลือกระจายอยู่ตามเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ (ไม่นับชาวมลายูมุสลิมในสามหรือสี่จังหวัดภาคใต้) แต่จำนวนไม่มากพอจะเลือก ส.ส.เขตของตนเองได้สักเขตเดียว อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับอัปลักษณ์กำหนดให้นำคะแนนเสียงของพรรคที่แพ้การเลือกตั้งในทุกเขตมารวมกัน เพื่อกำหนดที่นั่งของ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ดูเหมือนคะแนนเสียงของคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะไม่เทไปที่พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่น่าจะเฉลี่ยไปในหลายพรรค ซึ่งในคณิตศาสตร์การเลือกตั้งมีค่าเท่ากับศูนย์

นอกจากผลประโยชน์เฉพาะตนและเฉพาะกลุ่มแล้ว คนเรายังลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะอุดมการณ์ด้วย เป็นแต่เพียงว่าจำนวนคนที่เปิดให้อุดมการณ์ชี้นำจะมีมากหรือน้อย และสัดส่วนของอุดมการณ์ในกระบวนการตัดสินใจจะมีมากหรือน้อยเท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งใดที่อุดมการณ์จะมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งเท่ากับครั้งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้านี้ คงต้องยกให้แก่การกระทำของชนชั้นนำที่ร่วมมือกันล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และสถาปนารัฐบาลทหารขึ้นถืออำนาจสืบมากว่า 4 ปี นับเป็นคุณูปการในทางกลับ

ผลก็คืออุดมการณ์ที่ถูกตีความให้เป็นประโยชน์แก่อำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ถูกตั้งคำถามจากสังคมในวงกว้างอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลย ในช่วงสงครามเย็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประสบความสำเร็จพอที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามแก่อุดมการณ์เก่ามาแล้ว แต่ พคท.ไม่เคยลงแข่งขันทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง (และยังถูกกีดกันมาจนถึงทุกวันนี้)

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า อุดมการณ์จะมีสัดส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองสูงขึ้นอย่างมาก คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะเลือกพรรคใดก็ได้ที่อาจรักษาอุดมการณ์เก่าไว้ และคงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะเลือกพรรคใดก็ได้ที่อาจนำอุดมการณ์ใหม่เข้ามา หรืออย่างน้อยก็ให้ความหมายใหม่แก่อุดมการณ์เก่า

(โดยส่วนตัว ผมอยากประเมินว่า คนในวงการเมืองประเมินความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ต่ำเกินไป ดังจะเห็นได้ถึงการโจมตีพรรคของคนรุ่นใหม่ด้วยอุดมการณ์เก่า และคำปฏิเสธหรือออกตัวของพรรคคนรุ่นใหม่เมื่อต้องเผชิญกับการถูกโจมตีด้วยอุดมการณ์เก่า)

การเมืองไทยมาถึงจุดที่เป็นทางสองแพร่ง

หากพรรคที่ประกาศสนับสนุน คสช.ได้คะแนนเสียงที่รวมกับวุฒิสมาชิกแล้ว อาจจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก็หมายความว่าการเมืองไทยเลือกจะเดินไปสู่หนทางที่จะรักษาโครงสร้างอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไว้ดังเดิมต่อไป และหากพรรคที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ต่อต้าน คสช.ได้คะแนนเสียงมากพอที่จะขัดขวางมิให้ คสช.สืบทอดอำนาจได้ (ท่ามกลางกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมของรัฐธรรมนูญ) ย่อมหมายความว่าหนทางเดิมที่การเมืองไทยดำเนินมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 ไม่อาจดำรงอยู่ได้อีกแล้ว

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่การเลือกนักการเมืองหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการเลือกอนาคตของประเทศ ไม่ว่าจะเลือกอย่างไร ก็น่ายินดีที่เราได้เลือกผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่สงครามกลางเมือง

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในประเทศไทยในระยะ 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นไปทั้งในทางลึกและทางกว้างเสียจนยากมาก ที่จะไม่เกิดการเปลี่ยนผ่าน แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านในทันที แต่หากทุกฝ่ายรักษากติกาการเลือกตั้งที่แม้ไม่เป็นธรรมนี้ไว้ โอกาสที่การเปลี่ยนผ่านโดยสงบก็ยังเป็นไปได้อยู่ เพียงแต่ให้น่าสงสัยว่าชนชั้นนำซึ่งมีกองทัพอยู่ในมือ จะปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในระยะยาว เป็นไปโดยสงบหรือไม่เท่านั้น

 

ที่มา:

www.matichon.co.th/columnists/news_942942

www.matichon.co.th/columnists/news_952809

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: สงสารผีพฤษภาทมิฬ

Posted: 17 May 2018 08:38 AM PDT



วันนี้แล้วสินะ ครบรอบ 26 ปี "พฤษภาทมิฬ" ซึ่งหลายปีให้หลัง จัดงานรำลึกอย่างเงียบเหงา น่าเศร้าใจแทนวีรชน ผู้พลีชีพเรียกร้องนายกฯ จากเลือกตั้ง คัดค้าน "เสียสัตย์ เพื่อชาติ" สืบทอดอำนาจรัฐประหาร

26 ปีผ่านไป ในยุคสืบทอดอำนาจเพื่อแผ่นดิน คนรุ่นนั้นอยู่ไหนกันบ้าง นอกจากจตุพร พรหมพันธุ์ อยู่ในคุก คนเคย ลุกขึ้นสู้ที่สนามหลวง ราชดำเนิน ยังภาคภูมิใจอยู่ไหม กับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ "ม็อบมือถือ" การลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยของคนชั้นกลางในเมือง

ถ้ายังภูมิใจอยู่ ก็ช่วยเล่าให้คนรุ่นหลัง คนอยากเลือกตั้ง อย่างโบว์ ณัฏฐา, จ่านิว, โรม รังสิมันต์ ได้ฟังบ้าง

พฤษภาทมิฬเป็นวีรกรรมที่ต้องยกย่องภาคภูมิ นักศึกษาประชาชน ต่อสู้ทหารด้วยสองมือเปล่า จนบาดเจ็บล้มตายระนาว ไม่ต่างจาก 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์นองเลือดทั้งสองครั้งเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ในเชิงโครงสร้าง 14 ตุลาโค่นเผด็จการทหาร แม้ลมขวาจัดพัดกลับเกิด 6 ตุลา 2519 ก็อยู่ได้ไม่นาน ต้องเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ พฤษภา 35 ก็ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดการกระจายอำนาจ เกิดประชาธิปไตยกินได้ การแข่งขันด้วยนโยบาย ให้ประชาชนได้รักษาฟรี เรียนฟรี

แต่ไฉน คนชั้นกลางในเมืองยุคนี้ กลับยกย่องตัวเองเป็น "ยอดมนุษย์" ภาคภูมิใจกับการเป่านกหวีดปิดเมือง ขัดขวางเลือกตั้ง ไล่รัฐบาลพลเรือนที่ไม่มีน้ำยา ไม่สามารถสั่งทหารใช้กระสุนจริง จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร ก็ไชโยโห่ร้องกลับบ้านใครบ้านมัน หวังว่าจะมีปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

แล้วตอนนี้ ขณะที่พรรคสามัคคีธรรมแปลงร่าง กลับมาดูดนักการเมืองอย่างไม่อาย พล.อ.สุจินดา คราประยูร คนจำนวนหนึ่งกลับไปดีใจกับมาเลเซีย มหาเธร์ วัย 92 กลับมาชนะเลือกตั้ง จนหูตาฝ้าฟาง เห็นมหาชวน จำปาดะ เป็นมหาเธร์ไปซะงั้น

จากม็อบมือถือ มาสู่ม็อบคาบนกหวีด คนชั้นกลางในเมืองได้มีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศครั้งสำคัญ คือเปลี่ยนประชาธิปไตยกลับหลัง ให้อำนาจจากเลือกตั้งอยู่ใต้อำนาจจากแต่งตั้ง สถาปนาระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่ ภายใต้หน่วยงานความมั่นคง แม้ต่อให้ปีหน้ามีเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 ก็พันธนาการไว้ 5 ปี 20 ปี หรือชั่วกัลปาวสาน

ถึงทนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ ก็แก้ไขไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี อย่างที่ ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวไว้ ฉะนั้น ยอมจำนนเสียเถอะ ใช้ชีวิตชิกๆ คูลๆ ไปดีกว่า เสพโคเคนยังไม่เสี่ยงหมดอนาคตเท่าอยากเลือกตั้ง

ทำไมคนชั้นกลางเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่คนรุ่นพฤษภา ขนาดคนรุ่นตุลาศิลปิน นักเขียน เป่านกหวีดแล้วกลับมาฉลอง200ปี คาร์ล มาร์กซ์ รำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ศรีบูรพา แต่พอพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชวนมากิจกรรมอยากเลือกตั้ง กลับโดนบางคนเยาะเย้ยด้วยซ้ำ

แต่ครั้นจะโดน กทม.ยึดหอศิลป์ กระแสสิทธิเสรีภาพก็มากันตรึม เฮ้ย มาร์กซ์ยังไม่ตาย ทฤษฎีชนชั้นใช้ได้ชั่วกัปชั่วกัลป์

45 ปีหลัง 14 ตุลา 26 ปีหลังพฤษภา 35 คนชั้นกลางในเมืองมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น แม้แต่คนที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าไม่กลายเป็นคนระดับบนคนมั่งมี ก็มีสถานะในระบบราชการ ในสถาบันทางวิชาการ หรือสถาบันทางสังคม (แม้แต่ NGO) ขณะที่การพัฒนาทุนนิยมอย่างก้าวกระโดด ก็ให้วิถีชีวิตสะดวกสบาย ให้ทางเลือกมากมาย

สังคมคนชั้นกลางในเมืองวันนี้ ถ้าเปรียบนิยายวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนอยู่ในโดมที่มองไม่เห็น คือเป็นสังคมที่พึงพอใจว่ามีสิทธิเสรีภาพ มีทางเลือก ไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับระบอบเผด็จการเหมือนยุคก่อน 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 มีความใกล้ชิดกับรัฐทหาร ระบบราชการ พูดคุยกันได้ ยิ่งกว่านักการเมืองจากเลือกตั้ง ส่วนนอกโดมออกไป คือสิทธิเสรีภาพของคนระดับล่าง ของเสื้อต่างสี ช่างหัวมัน ไม่งั้นโดมที่คุ้มครองไว้จะแตกสลาย

เราจึงเห็นคนชั้นกลางยุคนี้ เกลียดทรัมป์ ด่าอิสราเอลยิงชาวปาเลสไตน์ ประณามการเหยียดผิว แบ่งชนชาติ (ยกเว้นโรฮิงยา) สลิ่มไทยในอเมริการักเดโมแครต แต่กลับมาบ้านตัวเอง ไม่อยากเลือกตั้ง สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ กระทั่งดูดปากยี้ห้อยร้อยยี่สิบที่เคยเกลียดชังก็รับได้ เพื่อรักษาสภาพนี้ไว้

26 ปีพฤษภาทมิฬจึงเศร้าใจ แทนวีรชนที่พลีชีพไป เพราะคุณค่าประชาธิปไตยไม่เหลืออยู่ในคนชั้นกลางที่เคยเป็นพลังม็อบมือถือ นอกจากการเมืองแยกเทพมาร ความเกลียดชังเหมือนเมื่อครั้งไชโยโห่ร้องที่ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ แต่งชุดขาวรอเก้อ กระทั่งยอมทิ้งหลักการ หนุนนายกฯ ทหารไม่ต้องลงเลือกตั้ง

จิตวิญญาณวีรชนพฤษภา หากจะมีที่ฝากฝัง ก็อยู่ที่คน รุ่นใหม่ คนอยากเลือกตั้ง แต่จะมีพลังเพียงไร และต้องรอจังหวะโอกาสอีกนานแค่ไหน ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน 

 

ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_1099009

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ไอลอว์' ชี้ 4 ปี ที่ คสช. ปฏิรูป แค่ให้ทหารเข้าไปอยู่ทุกที่ เตือนอย่าอ้างเพื่ออยู่ต่ออีก

Posted: 17 May 2018 06:46 AM PDT

ไอลอว์สรุป 4 ปี คสช. การปฏิรูปตำรวจ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น แค่ให้ทหารเข้าไปอยู่ทุกที่ เตือนอย่าอ้างปฏิรูปอีกเพื่ออยู่ต่อ
 
17 พ.ค.2561 เนื่องในโอกาสใกล้ครบ 4 ปี ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเข้ายึดอำนาจและปกครองประเทศ พร้อมกับอ้างถึงความจำเป็นของการปฏิรูปประเทศอยู่หลายครั้งโดยในเฉพาะ 3 ประเด็นหลักที่เป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่ม กปปส. ก่อนการเข้ายึดอำนาจ คือ การปฏิรูปตำรวจ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น นั้น
 
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวว่า จากการติดตามการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายจำนวนมากในยุค คสช. พบว่า มีการออกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยอาศัย มาตรา 44 รวมกันแล้วอย่างน้อย 520 ฉบับ โดยเป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ คสช. คิดเองและประกาศใช้เอง ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน 
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ไอลอว์
 
ในประเด็นการปฏิรูปตำรวจ ผู้จัดการ ไอลอว์ ระบุว่า คสช. ออกประกาศและคำสั่งเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไปแล้วรวม 9 ครั้ง ในหลายประเด็น เช่น เพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนฝ่ายทหารเข้าไปคุมตำรวจ และลดสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจาก 11 คนเหลือ 2 คน  ให้อำนาจกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งแต่งตั้งตำรวจตั้งแต่รอง ผบ.ตร. ถึงผู้กำกับได้ นอกจากนี้ คสช. ยังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและผลิตข้อเสนอแล้วสี่ชุด เมื่อจบแต่ละชุดก็ตั้งชุดใหม่มาทำงานต่อจนถึงตอนนี้ถึงห้าชุดแล้ว ตั้งวนอยู่เช่นนี้แต่ข้อเสนอที่ผลิตออกมายังไม่ได้รีบนำไปใช้อย่างจริงจัง
 
ในประเด็นการกระจายอำนาจ ยิ่งชีพ กล่าวว่า พ.ร.บ.หลายฉบับที่ออกมาในยุค คสช. มุ่งแก้ไขสัดส่วนกรรมการให้เป็นคนจากราชการส่วนกลางมากขึ้น และภาคส่วนอื่นน้อยลง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศก็ถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ระงับการเลือกตั้งไว้เป็นเวลาเข้าปีที่สี่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยาก็มาจากการแต่งตั้งด้วยอำนาจมาตรา 44 อีก และยังมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 88/2557 ตั้งกรรมการที่มีทหารเป็นส่วนใหญ่ไปกำกับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
 
"แนวทางที่ คสช. กำลังเดินหน้าไปดูเหมือนตรงกันข้ามกับการกระจายอำนาจ ข้อเสนอที่เคยพูดกันเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็ไม่เห็น คสช. ยกขึ้นมาพูดถึงอีก หากใครที่เคยมีความหวังว่า คณะรัฐประหารชุดนี้จะมาปฏิรูปประเทศเพื่อกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ก็น่าจะเริ่มรู้สึกผิดหวังได้แล้ว" ผู้จัดการไอลอว์ กล่าว
 
สำหรับการแก้ไขปัญหาทุจริต ยิ่งชีพ กล่าวว่า คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาอีกมากมายที่มีทหารผู้ใหญ่เข้าไปนั่งอยู่ในนั้น แต่วันนี้ก็ไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรมนัก สิ่งที่พอจะเห็นได้ชัดเจน คือการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทุจริต และการใช้ทั้ง "มาตรา 44" บวกกับบทบาทของ สนช. เพื่อเอาคนที่ คสช. "ไว้ใจ" เข้าไปอยู่ในองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตทุกแห่ง ผลที่เกิดขึ้นจึงพบว่า ในยุคนี้ไม่มีการตรวจสอบการทุจริตของกองทัพเลย แม้ว่าจะมีข่าวลือในทางเสียหายอยู่หลายครั้งก็ตาม  
 
ยิ่งชีพ กล่าวสรุปในภาพรวมว่า สี่ปีที่ผ่านมา คสช. ได้ขับเคลื่อนสังคมไปแล้วหลายประการ ส่วนใหญ่เป็นการใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ/คำสั่ง เป็นการทำโดย คสช. แต่เพียงลำพัง นับแล้วเป็นการออกประกาศ/คำสั่ง เกี่ยวกับประเด็นคอร์รัปชั่นอย่างน้อย 29 ฉบับ เกี่ยวกับการจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อย 12 ฉบับ เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจอย่างน้อย 11 ฉบับ เน้นไปในทางส่งทหารและคนของ คสช. เข้าไปอยู่ในกลไกต่างๆ ตัดโอกาสให้กลไกอื่นๆ ในสังคมได้เติบโต และไม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน 
 
ตลอดสี่ปีของ คสช. มีความพยายามบอกสังคมว่า คสช. กำลังดำเนินการปฏิรูปประเทศอยู่หลายครั้ง เริ่มจากการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำงานอยู่หนึ่งปีเต็มใช้งบประมาณกว่า 700 ล้านบาท ผลิตข้อเสนอ 505 ข้อ ครอบคลุมทุกเรื่องในสังคม แต่ไม่มีอะไรใหม่ และปฏิบัติไม่ได้ ต่อด้วยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ทำงานอยู่ 20 เดือน ใช้งบประมาณไปกว่า 1,000 ล้านบาท มีข้อเสนอและวิธีการปฏิรูปนับได้อย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่เป็นข้อเสนอที่นำไปปฏิบัติได้ทันทีเพียงประมาณ 1 ใน 4 ทั้งสองสภารวมกันแล้วเสนอร่างกฎหมายมากกว่า 110 ฉบับ ปัจจุบันประกาศใช้แล้วอย่างน้อย 6 ฉบับเท่านั้น ต่อมารัฐธรรมนูญของ คสช. ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 6 ด้าน เพื่อผลิตข้อเสนออกมาอีกเป็นชุดที่สาม ซึ่งก็เสร็จภารกิจไปเมื่อเดือนเมษายน 2561 แล้ว 
 
"คสช. ถืออำนาจพิเศษที่จะออกคำสั่งอะไรก็ได้อยู่เป็นเวลาสี่ปีเต็มแล้ว และออกคำสั่งสารพัดอย่าง หาก คสช. คิดได้ว่า ควรแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างไรก็ควรจะทำเสร็จไปหลายปีแล้ว หากหลังจากนี้ คสช. ยังอ้างภารกิจที่จะต้องปฏิรูปประเทศต่ออีก ก็เป็นเพียงการหาข้ออ้างใช้งบประมาณ และหาข้ออ้างอยู่ในอำนาจต่อให้นานขึ้นเท่านั้นเอง โดยไม่ได้ตอบข้อเรียกร้องที่ประชาชนอยากเห็นแต่อย่างใด" ยิ่งชีพ กล่าว
 
ข้อมูลรายละเอียดจาก iLaw : 
ดูข้อมูล สี่ปี คสช. ปฏิรูปคอร์รัปชั่น ที่ https://ilaw.or.th/node/4807
ดูข้อมูล สี่ปี คสช. ปฏิรูปตำรวจ คลิกที่ https://ilaw.or.th/node/4811
ดูข้อมูล สี่ปี คสช. ปฏิรูปกระจายอำนาจ คลิกที่ https://ilaw.or.th/node/4809
ดูรายงานสรุปผลงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) https://ilaw.or.th/node/3839
ดูรายงานสรุปผลงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) https://ilaw.or.th/node/4577

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนักงานกูเกิลลาออกประท้วงบริษัทร่วมมือพัฒนา AI ช่วยโครงการของกองทัพสหรัฐฯ

Posted: 17 May 2018 05:27 AM PDT

มีการประท้วงเรื่องที่กูเกิลให้ความร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ ในโครงการที่จะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ช่วยตรวจสอบระบุตัวตนจากภาพถ่ายโดรน มีพนักงานกูเกิลส่วนหนึ่งลาออกเพื่อประท้วงในเรื่องนี้และสหภาพแรงงานด้านเทคโนโลยีกับปัญญาชนเทคโนโลยีบางส่วนออกจดหมายประท้วงในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่าเป็นโครงการที่เอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้แบบเป็นอันตรายกับผู้คน

17 พ.ค. 2561 พนักงานของกูเกิลลาออกเพื่อประท้วงการที่บริษัทตัดสินใจช่วยเหลือด้านระบบปัญญาประดิษฐ์แก่กองทัพสหรัฐฯ ในโครงการที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งอย่าง 'โครงการมาเวน'

ตั้งแต่สามเดือนที่แล้วมีการเปิดเผยต่อสาธารณะในเรื่องที่กูเกิลจะให้การช่วยเหลือด้านระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอแก่ 'โครงการมาเวน' ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการนำเอไอมาใช้ช่วยให้วิเคราะห์รูปถ่ายจากโดรนเพื่อระบุตัวตนของรูปคนและรูปวัตถุได้เร็วขึ้น มีพนักงานของกูเกิลหลายสิบรายลาออกเพื่อประท้วงในเรื่องนี้

ลูกจ้างของกูเกิลลาออกเพื่อประท้วงด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุเรื่องจรรยาบรรณของการใช้เอไอในสงครามโดรน ไปจนถึงความเป็นห่วงเรื่องการตัดสินใจทางการเมืองของกูเกิลที่อาจจะทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้ใช้งาน

ถึงแม้ว่าโฆษกกูเกิลจะแถลงว่าสิ่งที่พวกเขาทำร่วมกับโครงการมาเวนนั้น "มีวัตถุประสงค์ในเชิงที่ไม่ใช่การโจมตีทางการทหาร" แต่ในจดหมายเปิดผนึกที่มีพนักงานกูเกิลเกือบ 4,000 รายชื่อลงนามประท้วงในเรื่องนี้ระบุว่า "เทคโนโลยีใดก็ตามที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการทหาร เมื่อถูกนำไปใช้แล้ว ก็อาจจะกลายเป็นตัวช่วยในภารกิจที่ร้ายแรงต่อชีวิตคนได้โดยง่าย"

ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวยังเรียกร้องให้กูเกิลยกเลิกโครงการดังกล่าวทันทีโดยระบุว่า "พวกเราเชื่อว่ากูเกิลไม่ควรจะกลายเป็นธุรกิจแห่งสงคราม"

หนึ่งในพนักงานกูเกิลที่ลาออกประท้วงกล่าวว่าเขาไม่เข้าใจสาเหตุว่าทำไมกูเกิลถึงร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่กูเกิลก็เป็นบริษัทไอทีขนาดใหญ่ที่น่าจะหาลูกค้าอื่นได้ในการให้ความร่วมมือกับระบบเอไอ เขาบอกอีกว่ามันน่าจะเข้าท่ากว่าด้วยซ้ำสำหรับกูเกิลและชื่อเสียงของกูเกิลเองถ้าหากพวกเขาไม่เข้าร่วมโครงการมาเวน พนักงานรายนี้กล่าวอีกว่าการเรียกร้องจากภายในสำหรับเขายังไม่พอ การแสดงออกที่หนักแน่นที่สุดที่เขาสามารถทำได้คือการลาออก

นอกจากพนักงานกูเกิลแล้วมีกลุ่มอื่นที่ต่อต้านความร่วมมือของกูเกิลกับโครงการการทหารสหรัฐฯ เช่นกัน คณะกรรมการนานาชาติเพื่อการควบคุมอาวุธหุ่นยนต์ (International Committee for Robotics Arms Control หรือ ICRAC) แสดงการผนึกกำลังร่วมกับพนักงานกูเกิลด้วยการออกจดหมายประท้วงที่มีนักวิจัยและนักวิชาการด้านเอไอมากกว่า 200 รายชื่อร่วมลงนาม ในจดหมายดังกล่าวเรียกร้องให้กูเกิลยกเลิกสัญญากับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยระบุว่ากูเกิล "มีพันธกรณีในการไม่ควรติดอาวุธให้กับเทคโนโลยีตัวเอง"

จดหมายของ ICRAC ระบุอีกว่าถ้าหากจรรยาบรรณของบริษัทเทคโนโลยีคือการคำนึงถึงว่าใครจะได้รับผลกระทบทางบวกหรือในเชิงที่เป็นอันตรายจากเทคโนโลยีนั้นๆ แล้ว เทคโนโลยีการช่วยเหลือโดรนสหรัฐฯ จะกลายเป็นอันตรายต่อประชาชนในแง่ที่มันใช้ระบบอัตโนมัติคำนวนเอาเองว่ามีเป้าหมายใดที่จะถูกสังหารจากระยะไกลได้บ้างโดยไม่ต้องรับผิดชอบกับการก่อเหตุของตน

ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มสัมพันธมิตรแรงงานภาคเทคโนโลยี (Tech Workers Coalition) ลงนามต่อต้านในเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้กูเกิลยกเลิกความร่วมมือโครงการมาเวน หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทไอทีอื่นๆ อย่างไอบีเอ็มและแอมาซอน ต่างก็ปฏิเสธไม่ยอมร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ มาก่อนแล้ว

"พวกเราไม่สามารถละเลยอคติที่เป็นอันตราย การละเมิดวามเชื่อมั่นในวงกว้าง และการขาดการพิทักษ์จรรยาบรรณจากอุตสาหกรรมของพวกเราและจากเทคโนโลยีของพวกเราอีกต่อไปแล้ว ... เรื่องนี้เป็นเรื่องความเป็นความตาย" สัมพันธมิตรแรงงานภาคเทคโนโลยีระบุในแถลงการณ์

 

เรียบเรียงจาก

A dozen Google employees quit over military drone project, Ars Technica, 15-05-2018

Google Employees Resign in Protest Against Pentagon Contract, Gizmodo, 14-05-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เซ็นสัญญาจ้าง ตั้ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์เป็นเลขาธิการ กกต.คนใหม่ หลังตำแหน่งว่าง 2 ปี

Posted: 17 May 2018 03:42 AM PDT

17 พ.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงนามในสัญญาว่าจ้าง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ตามที่กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมาคัดเลือกให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.และมติ กกต.วานนี้ (16 พ.ค.) ที่ให้เซ็นสัญญาจ้าง และมีคำสั่งแต่งตั้งให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  ก่อนที่จะส่งเรื่องประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงาน กกต. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมาตามที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งเลขาธิการ กกต. 2560 ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดว่าเมื่อได้รับคัดเลือกจาก กกต.แล้วจะต้องลาออกจากตำแหน่งข้าราชการหรือพนักงานหน่วยงานของรัฐที่ดำรงตำแหน่งอยู่ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับการคัดเลือก ซึ่งเงื่อนไขตามสัญญาจ้างกำหนดให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี คือตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 16 พ.ค. 2565 โดยจะประเมินผลการปฏิบัติงานทุกปี หากไม่ผ่าน กกต.สามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้    

ทั้งนี้  ตำแหน่งเลขาธิ การกกต.ว่างเว้นมานานกว่า 2 ปี หลังจากที่ กกต.มีมติเลิกจ้าง ภุชงค์ นุตราวงศ์ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2558 แม้ว่าจะประกาศรับสมัครและ กกต.มีมติคัดเลือก อำพล วงศ์ศิริ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แต่ที่สุดได้ยกเลิกการคัดเลือก เนื่องจากอำพล ติดปัญหา ป.ป.ช.ชี้มูลว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ท. ต่อมาได้มีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. การคัดเลือกจึงล่าช้ามา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข: กัญชารักษาโรค เปลี่ยนเสียงร้องไห้ให้กลายเป็นเสียงหัวเราะ

Posted: 17 May 2018 02:51 AM PDT

ไบร์ททีวีสัมภาษณ์สด พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด เปิดช่องให้วิจัยใช้กัญชารักษาโรคกับมนุษย์ ชี้กัญชาเป็นของมีประโยชน์รอเพียงแค่การปลดล็อคทางกฎหมาย

17 พ.ค. 2561 ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ Bright TV : Digital TV ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์สด พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด โดยอรพรรณ ขันทองคำ ผู้สื่อข่าวไบร์ททีวี ในประเด็นเรื่องการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หลังจากที่ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 ได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายยาเสพติด 3 ฉบับ โดยสาระสำคัญคือการเปิดโอกาสให้มีการใช้กัญชาทดลองวิจัยเพื่อรักษาโรคกับมนุษย์ได้ ก่อนหน้านี้ทำได้เพียงแค่ทดลองกับสัตว์เท่านั้น

คิดเห็นอย่างไรกับกฎหมายที่มีการอนุมัติให้นำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้?

เป็นคุณูปการของคนไทย ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง กฎหมายที่มีอยู่เริ่มล้าหลังแล้ว เพราะว่ายาเสพติดมันเป็นแปลงรูปแบบไปเรื่อยๆ ก็คงจะมีแค่ฝิ่น กัญชา กระท่อม ที่ยังเป็นพืชอยู่ ที่เหลือจะเป็นสารเสพติดที่ผลิตโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก็ดีนะถ้ามันจะเป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ อะไรที่เป็นประโยชน์มันก็น่าเอามาใช้

มองว่าการนำกัญชามาใช้รักษาโรคไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไร?

ที่มันผิดเพราะตัวมันผิดกฎหมายไง ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เหมือนใบยาสูบ ใบยาสูบมีการควบคุมการปลูก การขนย้าย กระทรวงการคลังต้องดูแล เพราะไม่อย่างนั้นจะเก็บภาษีไม่ได้ แต่ปัจจุบันตอนนี้คนก็ปลูกน้อยลง โรงงานยาสูบก็แย่ไปแล้วนี่ แต่นี่เป็นเรื่องที่มีมาเป็นร้อยเป็ฯพันปีแล้วที่เขาใช้ แต่เราไปถูกประเทศที่เจริญกว่าเข้ามาทำสงครามในบ้านเรา แล้วคนของเขาใช้มากเพราะมันบำบัดทางจิตได้ พวกความเครียดทางสงคราม แล้วก็มีการเสพกันจนเกินขนาด กลายเป็นฟุ้งซ่านเป็นโรคจิตกันเยอะ จริงๆ แล้วมันไม่ได้ทำลายเท่าไหร่ถ้าใช้ไม่มาก

พอเป็นแบบนี้เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศที่ดีเราก็ต้องกำหนดกัญชาเป็นยาเสพติด เพราะมันเริ่มนำเข้าไปทางประเทศยุโรป อเมริกาเยอะมาก เป็นอุตสาหกรรมเลย เราก็ต้องมีวิธีการที่จะลดการผลิตลงไม่อย่างนั้นคนของเขาก็จะมีความสนุกสนานกันทั้งประเทศควมคุมไม่ได้

แล้วมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีช่องให้คนอีกกลุ่มนำกัญชาในทางอื่นๆ หรือไม่?

แน่นอน กฎหมายคุมครองผู้บริโภคเองก็ยังโดนฉีกเป็นชิ้นๆ อยู่เรื่อย กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ก็โดน ถูกละเมิดลิขสิทธิตลอด ฉะนั้นตรงไหนก็มีช่องว่างหมด แต่เพื่อเป็นการตอบแทนประชาชนที่เฝ้าระวังกัญชามานานแล้ว ก็ให้กัญชามาเยียวยาเขาบ้างสิ คุณผลิตได้ คุณก็เอามารักษาคนไทยได้ อยางน้อยถ้าเป็นบริษัท หรือรัฐบาลจะทำเอง แต่รัฐบาลก็ต้องเอามารักษาคนที่ป่วยรออยู่เยอะแยะไปหมด เพราะคนเขาก็ใช้แรงงานเขาก็กินก็เสพอะไรหลายๆ อย่างเข้าไปแล้วมันก็เป็นพิษในร่างกายแล้วก็เป็นสารก่อมะเร็ง ฉะนั้นมีอย่างเดียวเมื่อเก็บภาษีเขาก็ต้องดูแลเขา คนพวกนี้ไม่ได้พิการเขาทำงานได้ มีสติปัญหาดีแต่ไม่มีแรงรอความตาย ก็แค่เอาตัวร้ายออกไปก็จบ ร่างกายก็ดีขึ้น อย่างนี้ผมว่าเป็นคุณูปการของรัฐบาลชุดนี้ที่ท่านกรุณาพิจารณากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา

เห็นบอกว่ามีคนรู้จักที่นำกัญชามาใช้แล้วได้ผล?

แรกๆ ไม่รู้หรอกว่าเป็นสมุนไพรอะไร ก็เห็นเขาเคี่ยว เขาปรุงกันก็ถามว่าว่าคืออะไร เขาก็บอกกัญชา แล้วมันจะช่วยได้เหรอ เขาบอกว่าขายมาหลายคนแล้ว มีคนหายมาหลายคนแล้ว วิธีการของเขาคือเอาใบสดๆ มาปั่นให้ดื่ม อาจจะมีใส่น้ำผึ่งลงไป แล้วก็มีส่วนหนึ่งที่เอาไปต้มในหม้อหุ้งข้าว ใช้เอทิวแอลกอฮอล์ เอามาผสมต้มจะมันกลายเป็นยางออกมา แล้วก็เอายางนั่นไปรักษา

หลังจากที่คุยมาเดือนหนึ่ง มะเร็งที่อยู่ในตับก้อนเท่ากำปั้นมันลดขนาดลงเหลือแค่ 4 เชนติเมตร ต่อมาอีก 5 เดือนมันเหลือแค่ 1 เชนติเมตรเดียว คุณคิดดูสิมันลดลงมาขนาดนี้ มันหายไหมละ ค่าของเลือดก็เปลี่ยนหมดเลย แต่พี่สาวคนนี้ก็เสียชีวิตไปแล้ว คือคนทุกข์ทรมานมานาน แล้วมันสู้ไม่ไหว คนที่รู้ว่าตัวเองจะตายใจมันหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง มารู้ตอนหลังจากที่ร่างกายมันทรุดโทรมไปแล้วมันก็สู้ไม่ไหว แต่ผมยืนยันว่าการรักษาได้ผลแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเตรียมตัวดี ดูแลตัวเองดี

มองว่าความเป็นไปในวงการการแพทย์ในการนำกัญชามารักษามะเร็งตอนนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

จากการติดตามข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต ต่างประเทศเขาก็ทำสำเร็จไปแล้ว ประเทศลาวก็ดึงตัวผู้ที่ทำเรื่องกัญชารักษามะเร็ง ที่เราไปไล่จับเขา เขาก็ข้ามไปฝั่งนู้น ตอนนี้เขาก็กำลังทำวิจัยอยู่เปิดศูนย์ฯ ใช้กัญชาบำบัดมะเร็งอยู่ นี่คือคนไทยที่ไปทำ ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยรังสิตก็ทำอยู่ ทดสอบมาเยอะแยะแล้ว ขอกัญชาจากการกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดไป 100 กิโลกรัม ซึ่งน่าสงสารเขานะเพราะต้องไปคัดแยกเฉพาะส่วนที่ไม่ติดเชื้อรา เดี่ยวมันไม่สะอาด มันก็เหลือไม่เยอะ เขาเอาไปทดลองกับหนู มันได้ผลหมดเลย ส่วนถ้าจะทดลองกับคนก็ต้องรอ แต่ผมไม่รู้ว่าเขาทดลองไปหรือยัง นักวิทยาศาสตร์เขาไม่รอโอกาสหรอก แต่เนื่องจากตอนนี้การทดลองในคนยังเป็นความผิดอยู่ แต่คนเมื่อรู้ว่าตัวเองจะตายก็ขอเสี่ยงได้ไหม ขอไปคุยกับอาจารย์หมอเหล่านี้หรือเปล่า แล้วความลับมันก็ต้องปิดไว้ ถ้าเปิดก็ผิดกฎหมายหมดเลยเพราะจะไปเอากัญชาที่ไหนนักหนาเพราะขอจากเราไปแค่ 100 กิโลกรัม ที่เหลือจะไปเอามาจากไหน นำเข้าก็ผิดแล้ว ผมถือว่ามหาวิทยาลัยรังสิตมีคุณูปการนะกล้าหาญชาญชัยมาก ที่จะดู ที่จะเสี่ยงเรื่องนี้ ถ้าพลาดก็จบ ฉะนั้นตอนนี้เขาขอโอกาส เพื่อจะเอากรณีศึกษาไปแถลงว่ามันสำเร็จแล้วแต่ยังไม่กล้าพูดตรงๆ เขารอถ้าคุณปลดเมื่อไหร่ก็ประกาศผลทันที

มีคนคิดว่าผมเป็นหมอโทรมาให้ช่วย ผมน้ำตาจะไหลนะ ผมอยากจะช่วยจริงๆ เพราะอะไรรู้ไหม ผมจับคนมาเยอะแล้ว พรากลูกพรากเมียเขาพรากสามี พ่อแม่เขา เอามาขังคุก วันนี้ถ้าผมจะคืนความยุติธรรมที่ใช้กฎหมายไปจับเขาให้เขารอดตายกันได้บ้าง ผมไม่ทำบุญใหญ่เลยเหรอ ไม่ต้องไปเสียสละทรัพย์อะไรเลย สละแต่ความคิดและอำนาจออกไป  

อะไรที่ทำให้เชื่อว่ากัญชารักษามะเร็งได้จริงๆ ?

ก็ผมเห็นมาเองผมถึงเชื่อ แค่ฟังขาเล่าคุณจะเชื่อเหรอ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ทดลองก็ไม่เชื่อ ผมเรียนวิทยาศาสตร์มา ผมจบวิทยาศาสตร์มานะ เพราะฉะนั้นผมชอบทดลองอยู่แล้ว ตำรวจทุกคนเรียนสายวิทย์มาทั้งนั้น เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ลึกๆ เรารู้มากกว่านี้อีก แต่เราพูดไม่ได้  ผมไม่อยากพูดมาก รอให้มันถูกต้องก่อนผมจะเล่าให้ฟังเลยว่ามันคืออะไร

แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีแล้วใช่ไหม?

ผมไม่สนว่าสัญญาณจะดีไม่ดี สัญญาณผมต้องดีอยู่แล้ว คุณไม่ทำเดี๋ยวประเทศอื่นเขาก็ทำ แล้วอายเขาไหมทั้งๆ ที่คนของเรามีความสามารถสูงกว่า และทำได้ดีกว่า เครื่องมือทันสมัยกว่า แล้วไม่สนับสนุนเขา แล้วจะไปสนับสนุนใคร ถ้าไม่ใช่รัฐบาลนี้ก็ทำยาก ดีใจกับคนไทย ถ้าจับมาสุดท้ายก็เอาไปเผา กัญชาเนี่ยผมจับมาเป็นร้อยตัน ต้องเผาทิ้งหมด เผาทิ้งแล้วได้อะไนได้แต่หมอกควัน นกกาหัวเราะกันทั้งโลกเพราะกลิ่นกัญชา แต่คนเจ็บป่วยนอนทุกข์ทรมาน นอนร้องไห้ คุณเอาเสียงหัวเราะของนกกามาเป็นเสียงหัวเราะของคนป่วยบ้างได้ไหม ให้ลูก ให้สามี ให้ครอบครัวเขามีความสุขได้ไหม เพราะเขารอเรื่องนี้มานานแล้ว ทุกข์ต้องแก้ที่ตัวทุกข์ ไม่ใช่ไปแก้ที่ปลายเหตุ ตรงไหนทุกข์ไปแก้ตรงนั้น ตอนนี้ความเจ็บป่วยของประชาชนคือทุกข์ เขาต้องการรักษาเพื่อจะไปทำมาหากินต่อนะคุณคนเหล่านี้ไม่ใช่รักษาหายป่วยแล้วไปเสพสูบไม่ใช่

คนต่างประเทศมา ถ้าเขามองประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคุณูปการต่อชีวิตเขาไม่ดีเหรอ เงินก็เข้ามา สินค้าก็ขายได้ ความยากจนก็ถดถอยลงไป เติ่มเต็มหมดเลยดีไหมละ แค่ยารักษาโรคตัวเดียวเท่านั้นเอง ที่สำคัญกัญชามันรักษาเอดส์ได้นะรู้เปล่า ต่างประเทศเขาถึงได้ให้มีการจำหน่ายกัญชาได้สำหรับคนเป็นโรคเอดส์ แล้วก็สูบ แต่เขาไม่ได้บอกว่าปริมาณการตายลดลงหรือเพิ่มขึ้นนะ เขาปิด แต่เรารู้มาว่าปริมาณการตายลดลง ร่างกายดีขึ้น

ในประเทศไทยจะเป็นไปได้ไหมถ้าจะเอามารักษาโรคเอดส์?

ถ้ามันถูกต้องมันก็รักษาได้โดยแพทย์กระทรวงสาธารณสุขควบคุม ทำไมจะรักษาไม่ได้ แต่ต้องให้อยู่ในสายตาของแพทย์เท่านั้นก็เหมือนมอร์ฟีน คุณไม่มีสิทธิไปซื้อมอร์ฟีนตามร้านขายยาได้ อย่างไรก็ต้องมีกฎหมายควบคุม

คิดไหมว่าหากมีการบอกแพทย์ว่าเอาไปรักษา แต่จริงๆ แล้วเอาไปใช่ในทางอื่นจะทำอย่างไร?

ในโลกนี้มีศรีธนญชัยเกิดขึ้นตลอดเวลา คุณจะต้อเจอกับมนุษย์ที่เป็นศรีธนญชัยทุกเรื่อง ฉะนั้นคุณจะต้องหยุดศรีธนญชัยให้ได้ ศรีธนญชัยไม่กี่ตัวจะเอามาทำลายสังคมได้อย่างไร คุณเสพถ้าผิดกฎหมายก็โดนจับอยู่ดี ไม่มีปัญหาตำรวจต้องทำหน้าที่อยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราพูดถึงความสุขของประชาชนก่อน เรื่องความทุกข์อย่างนั้นไม่ยากเหรอ ปกติยังไม่ปลดล๊อคถ้าเสพเราก็จับอยู่แล้ว คนไม่มีกี่กลุ่มมันสนุกสนาน แต่มันได้ชั่วร้ายนะคนเสพกัญชา ไม่ได้ไปไล่ฆ่าใคร แต่ไอ้คนที่ไปขนเข้ามาแล้วเอากำไร นี่แหละที่ผมไม่ชอบ ทำเพื่อการค้าถ้าไม่ถูกต้องผมไม่ชอบ

นั่นแปลว่ายังมีช่องว่างตรงนี้อยู่?

เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเขาคิด อย่าไปคิดแทนเขา เขามี ครม. มีนักกฎหมายเพียบ เขาก็ต้องปิดช่องว่างไป ขณะประชุมกันไม่รู้กี่ร้อยวันกฎหมายออกมาแต่ละฉบับก็ยังมีช่องว่าง ก็บอกแล้วไงศรีธนญชัยมันเยอะ มันหาช่องว่างจนได้ แต่เราจะไปสนใจทำไม ตรงไหนมันเป็นช่องว่างก็แก้กันไป แต่ถามว่าคนส่วนใหญ่รอเราอยู่เราคิดมากแล้วถ้าเขาตายละ เวลาทำสงครามก็เอาระเบิดไปทิ้งเขา ตายทีเท่าไหร่ วันนี้แทนที่จะเอาระเบิดไปทิ้งคุณเอาความสุขมาทิ้งให้เขาบ้างสิ เปลี่ยนเสียงร้องไห้เป็นเสียงหัวเราะบ้าง ลงทุนก็ไม่ต้องลงทุน เพียงแค่เปิดโอกาสให้ใช้ได้จบเลย

อย่างนี้ถือว่าเป็นความหวังของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย?

ไม่ใช่ระยะสุดท้าย ไม่ใช่แค่มะเร็ง แต่หลายโรคที่มันมีเงื่อนงำสลับซับซ้อน มันจะมีการแก้ เหมือนกับสิ่งนี้คือทฤษฎี เอามาแก้โรคต่างๆ โดยที่เรายังไม่รู้มาก่อน ทฤษฎีพวกนี้เขาไปแทรกในความเป็นโรคร้ายต่างๆ ได้ คุณก็เอาทฤษฎีนี้เข้าไปจับ เอามะเร็งมาดู แก้ฟังค์ชั่นมันออกมา ตอบคำถามมันได้จบ

ในขณที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีการวิจัยและผลักดันให้ใช้กัญชาในการรักษาจริงๆ แต่ทำไมในหลายๆ รัฐบาลจึงไม่หยิบเรื่องนี้มาแก้ตั้งแต่แรก?

รัฐบาลแต่ละรัฐบาลก็มีเหตุผลของเขา ผมคงไม่ก้าวล่วง เราจะไปพูดว่าคนนั้นดีไม่ดี เราไม่พูด เขามีเหตุผลบางครั้งก็อาจจะทำไม่ทัน ผมเชื่อนะว่าผลประโยชน์ของประชาชนรัฐบาลทุกรัฐบาลเขาอย่างตอบแทน  แต่รัฐบาลนี้ใช้เวลาเร็วมากไม่ให้ต้องใช้มาตรา 44 ด้วย คณะรัฐบาลมาจากทหารท่านไม่ชอบให้ใครมาบังคับ แต่เอาข้อมูลไปให้ท่านเยอะๆ เอาการทดสอบไปให้ท่านดู ท่านมีคนเก่งในรัฐบาลที่มาตรวจสอบแล้วยอมรับได้ วันนี้ก็ประสบความสำเร็จแล้วไม่ใช่เหรอ ท่านก็ยอมรับแล้วไม่ใช่หรอก ไม่อย่างนั้นเอามาตรา 44 ไปปลดปล่อยข้างนอกเขาไม่ยอมรับ

ต่างประเทศมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไปแล้ว คุณไม่ดูเขาเลยเหรอ แล้วประเทศเรา ประเทศลาว ได้ชื่อว่ามีกัญชาที่ดีที่สุดในโลกแล้วไม่เอามาทำไปตัดทิ้งทำไม เสียดายไหม เผาเป็นร้อยๆ ตัน เสียดายไหม ให้นกกาหัวเราะแต่คนร้องไห้ตลกไหม นกกาทั่วโลกได้กลิ่นกัญชาหัวเราะหมด แต่คนป่วยร้องเจ็บปวดเพราะกัญชาหายไป เอาเสียงหัวเราะของนกมาเป็นเสียงหัวเราะของประชาชนไม่ดีกว่าเหรอ เข้าท่าไหม ผมคิดอย่างนี้

 

 

.

ทันตแพทยสภา - สคบ. ร่วมคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินคดี 'ยาสีฟันใช้ข้อมูลเท็จโฆษณาออนไลน์'

Posted: 17 May 2018 02:26 AM PDT

ทันตแพทยสภา - สคบ.ร่วมคุ้มครองผู้บริโภค แถลงข่าวดำเนินคดี 'ผู้ประกอบธุรกิจยาสีฟันที่โฆษณาขายสินค้า โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จ' สรรพคุณเหลือเชื่อ รักษาฟันผุ สลายหินปูนได้ภายใน 1 เดือน แถมช่วยฟันขาววิ้ง เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน กันถูกหลอก ด้านพิธีกรชื่อดัง 'กาละแมร์' ร่วมแจง หลังถูกแอบอ้างชื่อ

17 พ.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่สถาบันทันตกรรม กระทรวงสาธารณสุข วันนี้ ทันตแพทยสภา โดย ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา, ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา และ ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดย พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ร่วมแถลงข่าวกรณีมีผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณยาสีฟันที่เข้าข่ายหลอกลวงและให้ข้อมูลเท็จ โดยมี พัชรศรี เบญจมาศ หรือกาละแมร์ พิธีกรชื่อดังช่อง 3 ที่ถูกอ้างอิงในสื่อโฆษณายาสีฟัน มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ตามที่มีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ เผยแพร่ข้อมูลสินค้าประเภทยาสีฟัน อวดอ้างสรรพคุณถึงผลลัพธ์จากการใช้ใน 1 สัปดาห์ ทำให้ฟันขาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คราบเหลืองหายไป และหลังจากการใช้ 1 เดือน ฟันผุและหินปูนหายไป ทั้งฟันยังขาวขึ้นอีก 4-5 ระดับนั้น ทันตแพทยสภาในฐานะสภาวิชาชีพด้านทันตกรรมขอยืนยันว่า ข้อเท็จจริงในทางการแพทย์ ไม่เคยมียาสีฟันประเภทใดที่จะมีประสิทธิภาพสามารถซ่อมแซมฟันที่ผุและทำให้หินปูนสลายเองภายใน 1 เดือนได้ รวมไปถึงการทำให้ฟันขาวขึ้น 4-5 ระดับ โดยไม่ต้องรับการบูรณะหรือทำทันตกรรมจากทันตแพทย์แต่อย่างใด     

การระบุข้อความโฆษณาดังกล่าวในทางวิชาการไม่สามารถเป็นไปได้อย่างแน่นอน จึงเข้าข่ายการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและเกิดความเข้าใจผิดเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้ประชาชนสูญเสียการดูแลฟันที่ดี จนกระทั่งส่งผลต่อสุขภาพของช่องปากในระยะยาวได้

ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนไม่ให้ถูกหลอกลวงและเกิดความเสียหาย ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาจึงได้ประสานไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจและผู้โฆษณาอวดอ้างข้อความยาสีฟันดังกล่าวแล้ว

"บทบาททันตแพทยสภา นอกจากการพัฒนาวิชาชีพทันตแพทย์ให้ก้าวหน้าแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองประชาชนในกรณีที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทันตกรรมเพื่อความปลอดภัย อย่างกรณีการลงข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณยาสีฟันอันเป็นเท็จนี้ ทั้งนี้ทันแพทยสภาขอฝากเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวังการรับข่าวสาร โดยเฉพาะการรีวิว การโฆษณาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยต้องทำการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงได้" นายกทันตแพทยสภา กล่าว

พ.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า จากกระแสสื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางขายสินค้า ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ส่วนหนึ่งใช้ดารา หรือเน็ตไอดอล รีวิวสินค้า โดยใช้ข้อความโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ หรือเกินจริง เพื่อมุ่งหวังให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า สคบ.ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ คุ้มครองผู้บริโภค โดย พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างมาก โดยกรณีการโฆษณายาสีฟันที่ใช้ข้อมูลเป็นเท็จนี้ สคบ.ได้ร่วมกับทันตแพทยสภา ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดกับผู้ประกอบธุรกิจรวมทั้งผู้โฆษณาธุรกิจยาสีฟันรายนี้ พร้อมเสนอให้มีการระงับการโฆษณาข้อความดังกล่าวทางสื่อออนไลน์แล้ว

อย่างไรก็ตามด้วยความนิยมของผู้ประกอบการจำนวนมากในการขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ขณะนี้ นอกจากการเฝ้าระวังโดย สคบ.แล้ว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคประชาชน เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อย่างกรณีการตรวจจับโฆษณายาสีฟันที่ใช้ข้อมูลเท็จนี้ที่เกิดความร่วมมือจากทันตแพทยสภา นอกจากนี้ขอฝากเตือนไปยังประชาชนในการรับข้อมูลสินค้าควรใช้วิจารณญาณตรวจสอบให้รอบคอบก่อน เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงและส่งผลเสียในภายหลัง 

พัชรศรี เบญจมาศ พิธีกรที่ถูกแอบอ้างชื่อ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับโฆษณายาสีฟันดังกล่าว ทราบเรื่องแม่เอามาให้ดูว่าลูกไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ได้อ่านเนื้อหาแล้ว รู้สึกตกใจมาก เพราะมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงไปมาก เสียใจที่มีผู้ไม่หวังดีมาใช้ชื่อของตนเพื่อไปหลอกลวงประชาชน หากมีผู้หลงเชื่อ ก็จะเกิดผลกระทบในทางที่เสียหายต่อสุขภาพอย่างมาก หลังจากทราบเรื่องได้พยายามติดต่อไปเพื่อให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ก่อนหน้านี้เคยบอกผ่านสื่อให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ยุติ ในวันนี้จึงได้มาร่วมแถลงข่าวกับทันตแพทยสภาและ สคบ.เพื่อเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อ และจากที่มีปัจจุบันมีสื่อออนไลน์จำนวนมากโฆษณาเรื่องสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่น ดัดฟันแฟชั่น หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกินจริง ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณอย่าหลงเชื่อ และควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอกชัย' ส่งการ์ดเชิญ 'บิ๊กตู่-ป้อม' ร่วมกินแมคฯราชประสงค์ 19 พ.ค.นี้

Posted: 17 May 2018 01:47 AM PDT

'เอกชัย' มาทำเนียบ ส่งการ์ดเชิญ 'บิ๊กตู่-ป้อม-พล.ต.ต.สุรเชษฐ์' ร่วมกินแมคฯราชประสงค์ 19 พ.ค.นี้ ขณะที่ 'บก.ลายจุด' แจ้ง ตร.ขอปรับจาก 30,001 คน เหลือ 3 คน หลัง สน.ลุมพิธี ขอให้แก้ไขจำนวนผู้ร่วมชุมนุม

 

 

17 พ.ค.2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.15 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำบัตรเชิญขนาดเท่ากระดาษเอสี่ มีรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อเชิญทั้ง 3 คนไปร่วมกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ ซึ่งจัดโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่ร้านแมคโดนัลด์สาขาราชประสงค์ ในวันที่ 19 พ.ค. เวลา 17.00 น. ซึ่งตรงกับวันครบรอบการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จากนั้น เอกชัย ได้ชูการ์ดเชิญบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตไม่เข้าไปด้านใน

เอกชัย ระบุว่า แม้จะเข้าไปเทียบเชิญในทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ แต่ขอเชิญผ่านสื่อ เผื่อจะได้รับการตอบรับผ่านคำเชิญนี้ ซึ่งตนจะไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เมื่อทำกิจกรรมเสร็จสิ้น เอกชัยได้ขึ้นรถโดยสารประจำทางเดินทางกลับ โดยไม่เกิดเหตุรุนแรงใดๆ

สำหรับกิจกรรม รำลึก 19 พ.ค.นั้น เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ สมบัติ  ทำหนังสือถึง สน.ลุมพินี แจ้งความประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะเพื่อชวนกินแมค ฯ ดังกล่าว ต่อมามีหนังสือตอบกลับของ สน.ลุมพินี  1. ให้มาแก้จำนวนตัวเลขผู้ชุมนุมใหม่เพราะเยอะไป และ 2. ให้ไปขออนุญาตหัวหน้า คสช

โดยวานนี้ (16 พ.ค.61) เว็บไซต์คมข่าว รายงานว่า สมบัติ เดินทางมายัง สน.ลุมพินี เพื่อปรับตัวเลขผู้ร่วมชุมนุมในกิจกรรม กินแมคฯ เขากล่าวว่า ขอให้มีการปรับลดตัวเลขลง ดังนั้น จึงได้แจ้งตัวเลขเพียง 3 คน จากเดิม 30,001 คน

สมบัติ  กล่าวถึงส่วนประเด็นที่ต้องไปขออนุญาต คสช.ชุมนุมทางการเมืองนั้นว่า ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่ เพราะจำนวนผู้ชุมนุมมี่ได้ชักชวนมีเพียง 3 คนเท่านั้น

บก.ลายจุด ยังได้กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมตลอด 8 ปีของเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนด้วยว่าเป็นที่น่าเสียดายที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งยังติดอยู่ที่กระบวนการของป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.จ่อเอาผิด 'เพื่อไทย' หลังแถลงข่าว 4 ปีที่ 'รบ.-คสช.' ล้มเหลว นำปท.มืดมน-อันตราย

Posted: 17 May 2018 12:41 AM PDT

ตร.เตือน จะผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้านเพื่อไทยแก้เกมลดคนแถลงจาก 7 เป็น 3 แถลงข่าว 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย ขณะที่ฝ่ายกฎหมาย คสช. จ่อเอาผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. พ.ร.บ.การชุมนุมและพ.ร.บ.คอมฯ

 

ภาพ ตร.เตือนพรรคเพื่อไทย เกรงจะผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. พร้อมขอสังเกตการณ์ (ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Charan Ampornklinkeaw)

17 พ.ค.2561 ภายหลังจากพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวเรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย ณ ที่ทำการของพรรคเพื่อไทย ในวาระครบรอบ 4 ปี คสช. นั้น

ล่าสุด สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการเตรียมดำเนินคดีกับ พรรคเพื่อไทย จากการแถลงข่าวดังกล่าว ว่า การแถลงข่าวดังกล่าว เข้าข่ายความผิดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามมีการประชุมพรรคการเมือง แต่พรรคเพื่อไทย กลับมีการแถลงข่าวพาดพิง คสช. เท่าที่ตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า เข้าข่ายความผิด 3 เรื่อง คือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องการห้ามดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเก่า ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประชุมพรรค และ ความผิด พ.ร.บ.การชุมนุม ที่มีการมั่วสุมเกิน 5 คน รวมถึงความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก
 
จากนี้ ทางฝ่ายกฎหมาย คสช. อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนจะดำเนินคดีกับใครบ้าง หรือ จะดำเนินคดีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา
 
ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ระบุว่า คสช. สามารถร้องทุกข์ กล่าวโทษ ที่ใดก็ได้ ทั้ง สถานีตำรวจพื้นที่ หรือที่กองปราบปราม จากนั้น ก็จะมีการส่งเรื่องมาให้พิจารณา ว่าจำเป็นต้องตั้งเป็นคณะทำงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ยังไม่เคยมี การดำเนินคดีกับพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่อย่างใด
 

ตร.เตือน จะผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้านเพื่อไทยแก้เกมลดคนแถลงจาก 7 เป็น 3

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคและสมาชิกพรรคทยอยเดินทางเข้าพรรคกันอย่างคึกคัก อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จาตุรนต์ ฉายแสง ชูศักดิ์ ศิรินิล นพดล ปัทมะ ชัยเกษม นิติสิริ และวัฒนา เมืองสุข เพื่อเตรียมข้อมูลแถลงข่าวประเมินผลงาน 4 ปีดังกล่าว
ที่มาภาพ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย
 
ไทยรัฐออนไลน์  รายงานต่อว่า เวลาประมาณ 10.15 น. พ.ต.อ.เทียนชัย คามะปะโส รอง ผบก.น.1 เข้าสังเกตการณ์ พร้อมแจ้งต่อแกนนำพรรคเพื่อไทยเกรงว่า จะกระทำผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง โดย ภูมิธรรม ชี้แจงว่าไม่มีปัญหาหากจะเข้าสังเกตการณ์ และเคยแถลงข่าวมาโดยตลอดอยู่แล้ว จากนั้น พ.ต.ท.ศักดิเดช กัมพลานุวงศ์ รอง ผกก.สส.สน.มักกะสัน และ พ.ต.ท.ปุญรัสมิ์ โชติ รอง ผกก.ป.สน.มักกะสัน ได้ชี้แจงข้อกฎหมายต่อ พล.ต.ท.วิโรจน์ ภูมิธรรม และชูศักดิ์ อีกครั้งว่า ย้ำถึงการแถลงข่าวที่อาจละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งต่อ คสช.
 
กระทั่งเวลา 10.45 น. แกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันจะแถลงตามเดิม แต่มีการลดจำนวนผู้แถลงลงจากเดิม 7 คนเหลือ 3 คน ประกอบด้วย ชูศักดิ์ จาตุรนต์ และวัฒนา ส่วนแกนนำคนอื่นยืนอยู่ด้านล่างเวที เช่นเดียวกับนายตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นายที่เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวในฐานะผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้แกนนำที่มาแถลงล้วนไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเชื่อมโยงนำไปสู่ประเด็นทางข้อกฎหมายที่อาจเกิดผลกระทบกับพรรค
 
โดย ชูศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนแถลงข่าว มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาบอกการแถลงวันนี้อาจขัดคำสั่ง คสช. 3/2558 แต่ยืนยันการแถลงเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ สามารถดำเนินการได้ พรรคแถลงไม่รู้กี่ครั้งไม่เคยมีปัญหา แต่ครั้งนี้เมื่อจะแถลงประเมินผลงานครบรอบ 4 ปีรัฐประหารกลับมีปัญหา จากผู้ที่จะแถลง 7 คนจึงต้องลดผู้แถลงเหลือเพียง 3 คน ก็ขอให้สื่อแปลเอาเองว่าหมายความว่าอย่างไร ส่วนผลงาน 4 ปี ของ คสช.ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ในประกาศฉบับที่ 1 คสช. ระบุว่า ต้องการให้เกิดความรักความสามัคคี สัญญาจะใช้อำนาจเผด็จการไม่นาน ปราบปรามการทุจริต วันนี้ครบ 4 ปี พบว่าการสร้างความปรองดอง ไม่เคยเห็นความจริงใจ คสช.กลายมาเป็นคู่ขัดแย้ง ที่บอกจะคืนประชาธิปไตยใน 15 เดือน มีการเลื่อนเลือกตั้งมา 4 ครั้ง จะปฏิรูปโครงสร้างการเมืองกลับได้รัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมืองที่ถอยหลัง ได้ประกาศคำสั่ง คสช.ที่ทำลายพรรคการเมือง การประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ คนในสังคมยังมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ถือว่าประกาศฉบับที่ 1 ล้มเหลว รัฐบาลและคสช. นำประเทศไปสู่ความมืดมน การแถลงครั้งนี้เรามา 3 คน ไม่ได้มา 3 หมื่นคนเต็มสนามฟุตบอล เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า อย่างไหนเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง

4 ปีที่ล้มเหลว นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย 

สำหรับรายละเอียดคำแถลงพรรคเพื่อไทย เรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย มีดังนี้
 

คำแถลงพรรคเพื่อไทย 

เรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย

วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 จะเป็นวันครบรอบ 4 ปี ของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าและยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน

คสช.ได้ให้เหตุผลในการยึดอำนาจตามประกาศฉบับที่ 1/2557 ว่า ต้องการให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ให้ประชาชนเกิดความรัก ความสามัคคี ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ ให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย พร้อมกับสัญญาว่าจะใช้อำนาจเผด็จการไม่นาน และต่อมาก็ประกาศว่าจะปราบปรามและแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังโดยไม่เลือกปฏิบัติ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า 4 ปี ของการรัฐประหารเป็น 4 ปีแห่งความล้มเหลวที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ทำให้ประชาชนและประเทศต้องสูญเสียโอกาส และจะนำประเทศไปสู่ความมืดมน และอันตราย

1.  ความล้มเหลวในการทำตามข้ออ้างในการยึดอำนาจ

พลเอกประยุทธ์ ฯ แถลงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ว่าจะมุ่งสร้างความปรองดอง  ในสามเดือน แต่ไม่เห็นความจริงใจในการสร้างความสามัคคีปรองดอง ความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายยังคงมีอยู่ โดย คสช. ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง การคืนความเป็นธรรม ให้ความชอบธรรมกับทุกฝ่ายไม่เกิดขึ้น กลับมีแนวโน้มที่จะทำให้เงียบหายไป

ประกาศว่าจะทำให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยใน 15 เดือน แต่ครบ 4 ปีแล้ว ประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้น หาเหตุเลื่อนการเลือกตั้งมาโดยตลอดหลายครั้งหลายหน

ประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง  แต่กลับมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปไกล ทำลายพรรคการเมือง ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ เลย

ประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม แต่กลับทำให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจนขึ้น กำลังซื้อหดหาย ปัญหาสังคมที่รุนแรงมากขึ้น

การปฏิรูปด้านอื่นๆ ก็ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว ทั้งที่ต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปจำนวนมหาศาล

2.  ล้มเหลวในการสร้างความปรองดอง

  คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นขาดความเป็นอิสระมีแต่คนในรัฐบาล ข้าราชการในกองทัพ และข้าราชการอื่นๆ ไม่มีองค์ประกอบในส่วนของภาคประชาชน และองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วม แนวทางการสร้างความปรองดองถูกควบคุมและเห็นชอบโดยหัวหน้า คสช. กระบวนการสร้างความปรองดองไม่เป็นไปตามหลักการสากล ขาดการยอมรับจากภาคส่วนของสังคม ไม่ศึกษาสาเหตุแห่งความขัดแย้งที่แท้จริง และไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ที่หัวหน้า คสช. และคนใน คสช. เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งในอดีต และมาเป็นคู่ขัดแย้งในปัจจุบัน สัญญาประชาคมที่ทำขึ้นเป็นลักษณะสัญญาฝ่ายเดียวของ คสช. จึงไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

3.  ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น

การปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพียงเพื่อสร้างภาพ คสช. แต่งตั้งกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ แต่ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม ไม่มีการประชุมมาแล้วถึง 8 เดือน ปัญหาคอรัปชั่น กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล และ คสช. ที่จะใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อคนในรัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ กรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งบริษัทในค่ายทหาร นำเงินราชการลับไปใส่ในบัญชีภรรยา แม้แต่กรณีนาฬิกาหรู ขนาดรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลยังให้สัมภาษณ์ว่า หากตนเองถูกเปิดโปงเพียงเรือนแรก ก็จะลาออกไปแล้ว แต่กลับมีการปกป้องพวกพ้องอย่างเห็นได้ชัด ละเลยที่จะดำเนินการ ขณะที่ผู้ร้องเรียนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ บางคนถูกดำเนินคดี ส่วนองค์กรตรวจสอบต่างๆ ก็มุ่งช่วยเหลือปกปิด หรือทำให้ล่าช้า และสุดท้ายก็เงียบหายไป องค์กรตรวจสอบต่างๆ เช่น ป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับการต่ออายุให้อยู่ครบวาระ และเลยวาระ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่บางองค์กรกลับให้สิ้นสุดลง  4 ปีที่ไม่มีนักการเมืองกลับพบการทุจริตอย่างกว้างขวาง ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเกี่ยวกับดัชนีสถานการณ์คอรัปชั่นไทย (CSI) เดือนธันวาคม 2560 พบว่า สถานการณ์คอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้น ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอรัปชั่นของประเทศไทย (CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ปรับตัวในทิศทางตกต่ำลง เมื่อเทียบกับห้วงเวลาก่อนการรัฐประหาร

4.  ล้มเหลวในการทำให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตย

นับแต่รัฐประหาร เป็นต้นมา ประเทศต้องอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน การแสดงออกทางความคิดเห็นถูกปิดกั้น ได้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปอย่างมาก วางกลไกที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก ซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งไม่มีประเทศใดเคยใช้มาก่อน วางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจโดยในวาระเริ่มแรกให้อำนาจ คสช. เลือกผู้สมควรได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 244 คน ให้วุฒิสภามีอำนาจออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. การคงอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไว้เพื่อให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจพิเศษเหนือองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายพรรคการเมืองจะประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 แต่จนถึงปัจจุบัน คสช. ก็ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองตามกฎหมายดังกล่าว ซ้ำร้ายยังออกคำสั่ง คสช.รีเซ็ตสมาชิกพรรค และยุบสาขาพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วทั้งหมด การกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้บังคับเป็นเวลาถึง 20 ปี เป็นการพันธนาการประเทศและประชาชนไว้กับแนวคิดของ คสช. โดยที่ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ขาดการมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว การรัฐประหารอันถือเป็นความผิดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรง คสช. กลับกำหนดในรัฐธรรมนูญ  ให้นิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้อง กำหนดให้การกระทำของตนและพวกทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย

5.  ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน

นับแต่รัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอย่างต่อเนื่อง การออกคำสั่งให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหาและไม่ต้องมีหมายของศาล เรียกบุคคลที่เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ ไปปรับทัศนคติ ดำเนินคดีกับบุคคลที่เรียกร้องให้ตรวจสอบการทุจริต หรือเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง มีคำสั่งให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร จำกัดและริดรอนสิทธิ เสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางเฟสบุ๊คของบุคคล เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ใช้กฎหมายและคำสั่งที่ตนเองออกใช้บังคับเพื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับแล้ว ประชาชนก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ได้ ทั้งนี้ เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวข้างต้น ปรากฏตามรายงานประจำปี 2560/61 ของ AMNESTY INTERNATIONAL

6.  ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

การบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศในระยะยาว รัฐทุ่มเทงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันมากตลอด 4 ปีงบประมาณ นับเป็นการใช้เงินเกินตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาล คสช. ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีเดียว เท่ากับยอดเงินฯ ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถึง 2 ปีงบประมาณ คือ ปี 2556 รวมกับปี 2557

รัฐบาล คสช. มีแนวโน้มใช้เงินเกินตัวมากขึ้นทุกๆ ปี อย่างก้าวกระโดดจนน่าตกใจ ซึ่งต่างจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่สามารถบริหารให้การขาดดุลงบประมาณลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เป็นรัฐบาล หากรัฐบาล คสช.ปล่อยให้แนวโน้มการใช้จ่ายเช่นนี้ดำเนินต่อไป วินัยทางการคลังของประเทศย่อมได้รับความกระทบกระเทือน

ถึงแม้รัฐบาล คสช. จะใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ผลที่ได้ต่อระบบเศรษฐกิจกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจไทยในยุค คสช. เติบโตในอัตราที่ต่ำมากอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับท้ายๆ ในอาเซียนในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ด้วยแนวคิด ทัศนะ และนโยบายของรัฐที่ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาดของสินค้า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะ "รวยกระจุก จนกระจาย" ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ กำลังซื้อภาคประชาชนลดลง ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ผู้มีรายได้น้อยถูกทิ้งขว้างตามยถากรรม เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ได้รับการแก้ไข เงินที่รัฐบาลใส่ลงในระบบไม่เกิดการใช้จ่าย เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

7. ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

รับปากต่อประชาชนว่าจะเข้ามาชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหา และจะอยู่ไม่นาน แต่กลับอยู่ยาวถึง 4 ปี และมีแนวโน้มจะมุ่งสืบทอดอำนาจต่อไป เมื่อเข้ามายกตนว่าเป็นคนดี ด่าว่า และกล่าวร้ายนักการเมือง และปฏิเสธว่าตนไม่ใช่นักการเมือง แต่สุดท้ายมายอมรับว่าตนเป็นนักการเมือง และยังไปชักชวนนักการเมืองมาร่วมรัฐบาล เพื่อพยุงอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไป ประกาศว่าจะคืนประชาธิปไตยใน 15 เดือน แต่ผ่านมา 48 เดือน ประชาธิปไตยยังมืดมน ทั้งๆ ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชน และรับปากต่อผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อนั้นเมื่อนี้ แต่สุดท้ายก็เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วถึง 4 ครั้ง การกระทำและพฤติการณ์ส่อว่าได้เสพติดอำนาจ และวางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป เริ่มตั้งแต่การวางกลไกในรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี และที่มาและอำนาจของ ส.ว. การทุ่มเทงบประมาณเพื่อนโยบายต่างๆ ที่มีลักษณะหวังผลทางการเมือง ล่าสุดมีการดูดนักการเมืองจากค่ายต่างๆ เพื่อมาร่วมงานกับตนเอง อันแตกต่างจากการประกาศครั้งแรก เมื่อเข้ามายึดอำนาจ

โดยสรุปสิ่งที่ คสช. และหัวหน้า คสช.ทำในช่วง 4 ปี คือ การใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด การทำทุกวิถีทางเพื่อการสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องการสร้างรัฐเผด็จการโดยใช้ระบบราชการเป็นกลไก ทำให้กลไกภาคประชาชนและพรรคการเมืองอ่อนแอ ใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และการแต่งตั้งคนในองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เพื่อปกป้องและเอื้อต่อตนเอง

ดังนั้น 4 ปีของ คสช. คือ การนำประเทศไปสู่อนาคตที่มืดมน และอันตราย ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยถูกมองเป็นเพียงบ่าว ทั้งๆ ที่พวกเขาคือนาย เพราะเป็นผู้เลือกส.ส.และรัฐบาล จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องช่วยกันนำระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนมา  พร้อมด้วยหลักนิติธรรม ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ฯลฯ และไม่ยอมให้เผด็จการทำลายประชาธิปไตยอีกต่อไป เพื่ออนาคตที่สดใสและเกิดความรัก ความสามัคคี ความเมตตา ปรารถนาดีระหว่างประชาชน อย่างแท้จริง

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

พรรคเพื่อไทย
17 พฤษภาคม  2561

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาติพลาสติก: ความจอมปลอมของความเป็นไทย

Posted: 16 May 2018 11:20 PM PDT


 

ในที่สุด หนังสือเรื่อง "A Plastic Nation: The Curse of Thainess in Thai-Burmese Relations" ก็ได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งไทยศึกษาอย่างเต็มตัว โดยได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดยมีผมเป็นผู้แปลเอง และได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในการจัดพิมพ์และออกวางจำหน่าย ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณผู้รีวิวหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทย พร้อมให้ข้อคิดและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ต่อการปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไปในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ 

หนังสือเล่มนี้ฉบับดั้งเดิมเป็นภาษาอังกฤษ ได้รับการแปลงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมภายใต้ชื่อเรื่อง "Thainess: Hegemony and Power: A Study of Thai Nationhood and Its Implications on Thai-Burmese Relations, 1988-2000" จากมหาวิทยาลัยที่ผมจบการศึกษามา นั้นคือ School of Oriental and African Studies (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อปี พ.ศ.2545 ฉบับที่ออกมาเป็นหนังสือครั้งแรกตีพิมพ์โดยสำหนักพิมพ์ University Press of America ในปี 2548 จากนั้น ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 จากสถาบัน Institute of Southeast Asian Studies ของสิงคโปร์ในปี 2553 เล่มที่แปลเป็นภาษาไทยนี้ ผมได้เพิ่มเติมส่วนคำนำนี้ และบทส่งท้ายสั้นๆ สรุปถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ในช่วงต่อจากที่ผมได้ทิ้งไว้ในหนังสือต้นฉบับ และวิเคราะห์ว่า แนวคิด "ความเป็นไทย" ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้หรือไม่และอย่างไร

ในระหว่างที่ผมศึกษาเรื่องความเป็นไทยในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่านั้น ผมได้วิเคราะห์สามประเด็นหลักที่มีความเกี่ยวโยงกับแนวคิดการสร้างชาติของไทย ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับเพื่อนบ้าน ในส่วนของพม่า ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ผมหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เป็นที่ประจักษ์ว่า ความเป็นไทยเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมทัศนคติบางอย่างในผู้นำไทยต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มีกับพม่า ในหลายครั้ง พม่าคือศัตรูหมายเลขหนึ่ง ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ พม่ายังคงแสดงบทบาทการเป็นอริสำคัญที่ทำลายกรุงเก่า--อยุธยาของไทย

นอกเหนือไปจากการตอกย้ำถึงความยาวนานของความเป็นชาติไทยในประวัติศาสตร์ การวาดภาพพม่าให้เป็นอริก็เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำไทยในการดำเนินนโยบายต่อต้านพม่า บนการปลุกระดมความรักชาติ (patriotism) ในหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนคนไทยยอมเสียสละตัวเองเพื่อต่อสู้กับภัยที่มาจากต่างประเทศ และขณะเดียวกัน ในการยอมรับต่อความจำเป็นของการมีอยู่ของระบอบการเมืองทหารหรือเผด็จการ เพราะเชื่อว่า เป็นระบอบเดียวที่สามารถพาชาติพ้นภัยได้

ทั้งหมดนี้ ผู้นำไทยอธิบายทัศนคติดังกล่าวผ่านความเป็นไทย คอนเซ็ปท์ความเป็นไทยจึงมีลักษณะรวบอำนาจ (authoritative) กลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ที่ค้ำจุนสถาบันหลักของชาติ ใครก็ตามที่ทำลายหรือย่ำยีความเป็นไทย คนเหล่านั้นต้องถูกกำจัดไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม เมื่อพม่าถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของภัยต่อความเป็นไทย จึงสมควรต้องถูกกำจัดไปด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ความเป็นไทยมีความไหลลื่น (fluid) และเปลี่ยนแปลงง่าย (malleable) ไม่มีลักษณะตายตัว ขึ้นอยู่กับการหล่อหลอม ปั้นแต่ง ของผู้นำไทย เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้นำในแต่ละยุค จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ทำไม นโยบายของไทยต่อพม่าจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงจากขั้วหนึ่งไปยังขั้วตรงข้าม จากศัตรูอันดับหนึ่งของชาติกลายมาเป็นพันธมิตร จากอริที่เคยเผากรุงเก่า กลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยในยุคต่อมา

ในกระบวนการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพม่านี้ ความเป็นไทยถูกนำมาใช้ในการให้ความชอบธรรมกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเป็นไทยก็ถูกเปลี่ยนความหมาย หน้าที่และความรับผิดชอบ สิ่งที่ผู้นำเคยคิดว่าเป็นหัวใจของชาติกลับถูกเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือเรื่องนี้ A Plastic Nation หรือชาติพลาสติก เพราะต้องการสื่อความหมายว่า ความเป็นชาติของไทยมันผกผันไปตามผลประโยชน์ของผู้นำ มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ ของปลอม เป็นพลาสติก ที่หล่อให้เป็นรูปแบบใดๆ ก็ได้ แต่ยังคงอานุภาพที่ร้ายแรงและยังมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบหรือความรับผิดชอบใด

ในหนังสือเล่มนี้ ผมได้ศึกษาความสัมพันธ์ไทย-พม่าระหว่างปี 2531-2543 ช่วงที่ศึกษานี้ ผมได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในความหมายของความเป็นไทยและผลกระทบที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ที่ไทยมีต่อพม่า ปี 2531 เป็นปีเริ่มต้นของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการเมืองภายในที่ไทยหลุดพ้นจากรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และได้มีการเลือกตั้งที่นำไปสู่รัฐบาลพลเรือน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคก็เห็นเด่นชัด สงครามเย็นใกล้จะสิ้นสุด กำแพงเบอร์ลินถูกโค่นจากนั้นไม่นาน จักรวรรดิของสหภาพโซเวียดก็แตกสลายต่อมา ประเทศเพื่อนบ้านที่ตกอยู่ในการครอบงำของคอมมิวนิสต์เริ่มหาหนทางในการ reinvent ตัวเอง

พลเอกชาติชายจึงได้เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ความเป็นไทยเพื่อให้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในภูมิภาค จากสนามรบในอินโดจีนกลายเป็นสนามการค้า จากอริกลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และความเป็นไทยที่เคยตั้งอยู่บนความสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติ กลายมาเป็นความเป็นไทยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แนวคิดนี้ได้รับการผลิตซ้ำในยุคของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่หล่อหลอมความเป็นไทยแบบใหม่ แบบที่ "โกอินเตอร์" โลกไร้พรมแดน แบบที่ธุรกิจนำการเมือง แต่ความเป็นไทยทั้งแบบของชาติชายและทักษิณถูกปฏิเสธจากกลุ่มอำนาจเดิม ผลที่ปรากฏก็คือ การทำรัฐประหารล้มทั้งสองรัฐบาล (ในความเป็นจริงคือทั้งสามรัฐบาล หากรวมรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วย) สิ่งที่ปรากฏขึ้นจากนั้น คือการดึงเอาความเป็นไทยกลับไปสู่ความหมายเดิมที่เต็มไปด้วยชาตินิยมแบบสุดโต่ง ความรักสถาบันกษัตริย์แบบสุดโต่ง (จนมีกำเนิดศัพท์ใหม่ว่า "ไฮเปอร์รอยัลลิสต์") และ obsession ที่มีต่อการยึดติดกับหลักกฎหมาย (แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปแล้ว) ความเคร่งครัด ระเบียบและวินัยตามแนวทางของกองทัพ (ส่วนหนึ่งเพราะไทยอยู่ภายใต้ระบอบทหารในขณะนี้) ดังที่ปรากฏให้เห็นล่าสุดถึงอุดมการณ์ "ไทยนิยม" ที่ได้รับการเผยแพร่และสนับสนุนโดยรัฐบาล คสช.

ประเด็นที่ผมพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ กลุ่มต่อต้านชมกลุ่มน้อยในพม่า ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน และกรณีการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่าในปี 2540 ในประเด็นแรกนั้น ในช่วงที่มีสงครามกลางเมืองในพม่า ไทยได้ให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มตามแนวพรมแดน โดยเปลี่ยนให้พื้นที่ที่ปกครองโดยชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นรัฐกันชน (buffer states) เพื่อป้องกันภัยที่มาจากพม่า ในการให้ความช่วยเหลือนี้ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของการส่งผ่านต่ออาวุธไปยังชนกลุ่มน้อย สร้างเศรษฐกิจตามแนวชายแดนเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยมีรายได้ในการค้ำจุนสงครามกลางเมืองต่อไป

การดำเนินนโยบายรัฐกันชนนี้สอดคล้องกับความเป็นไทยที่ตั้งอยู่บนการกำหนดให้พม่าเป็นศัตรูสำคัญทั้งในยุคประวัติศาสตร์และในห้วงแห่งสงครามเย็น (แม้ในความเป็นจริงผู้นำทหารไทยยังมีความสัมพันธ์ปกติกับผู้นำทหารพม่าก็ตาม) แต่การวาดภาพพม่าให้เป็นภัยแห่งชาติได้รับการค้ำจุนจากการมีอยู่ของสงครามกลางเมืองในพม่าเอง และการที่ไทยได้ประโยชน์จากสงครามกลางเมืองนั้น ผมเองได้มีโอกาสลงไปทำงานวิจัยในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก และได้สัมภาษณ์นักรบชนกลุ่มน้อยหลายคน ต่างเห็นพ้องกันว่า ไทยเองมีส่วนส่งเสริมให้สงครามกลางเมืองพม่าคงอยู่ ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะพิสูจน์ความเป็นไทย แต่ในที่สุด ก็เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้นำ

เมื่อมีการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ชนกลุ่มน้อยที่เคยเป็นมิตรกลับกลายมาเป็นศัตรู กรุงเทพฯ ได้เปิดการค้ากับย่างกุ้ง ซึ่งกลายมาเป็นมิตรใหม่ ขณะที่ชนกลุ่มน้อยที่ไทยเคยอุ้มชูกลับกลายเป็นเป็นภาระทางการเมืองและสังคม ความเป็นไทยแบบเดิมที่มองพม่าในทางลบ กลับเปลี่ยนแปลงไป ความเป็นไทยแบบใหม่เข้าแทนที่ แม้พม่าจะยังล้าหลัง ด้อยพัฒนา แต่พม่าต้องการความช่วยเหลือจากไทย และการให้ความช่วยเหลือพม่านี้ คือความเป็นไทยแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจนำการเมือง

ในประเด็นที่ 2 เรื่องการค้ายาเสพติดนั้น ส่วนสำคัญคือผลกระทบที่มาจากการสร้างรัฐกันชน การค้ายาเสพติดนำมาซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการค้ำจุนสงครามกลางเมือง ในกระบวนการนี้ มีผู้มีอิทธิพลของไทย ทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ไทยกลายมาเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า เป็นตลาดนัดยาเสพติดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ภายใต้การเมืองสกปรกแบบนี้ ความเป็นไทยถูกนำมาใช้ในการฟอกขาวผู้มีอำนาจของไทย ความเป็นไทยถูกผูกกับหลักพุทธศาสนา ที่ใช้อธิบายถึงความขาวสะอาดและศีลธรรมของผู้ปกครอง เริ่มต้นจากวาทกรรมที่ว่า ยาเสพติดไม่มี "พื้นที่" ในความเป็นไทย ยาเสพติดคือ "สิ่งแปลกปลอม" (extrinsic) ที่มาจากภายนอก แม้เยาวชนไทยจะติดยาเสพติดอย่างแพร่หลาย แต่เยาวชนเหล่านี้เป็นเหยื่อของผู้ค้าที่มาจากต่างประเทศ

เมื่อยาเสพติดถูกเปลี่ยนให้เป็น "สิ่งภายนอก" มันเป็นการปกปิดภาพที่มืดดำให้กับผู้ค้าภายใน และเป็นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งพม่าและชนกลุ่มน้อยคือ "คนอื่น" (othernesses) ในความเป็นไทย เป็น "คนอื่น" ที่จ้องทำลายความเป็นไทยโดยการมอมเมาเยาวชนไทยด้วยยาเสพติด แม้ว่าในความเป็นจริง การค้ายาเสพติดก็มีต้นตอจากผู้ค้าภายในเช่นกัน

ในประเด็นสุดท้ายเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่า ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากชุมชนระหว่างประเทศอย่างมาก ประการเแรกเนื่องจาก พม่าเองในขณะนั้นยังอยู่ภายใต้ระบอบทหารที่โหดร้าย ยังถูกมองโดยตะวันตกว่าเป็น pariah state ที่ไม่นับรวมว่า ในฃ่วงเวลาเดียวกันนั้น อองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรค National League for Democracy (NLD) ยังถูกจองจำในบ้านพักตัวเอง

ประการที่สองเกี่ยวข้องการความต้องการอาเซียนที่ต้องการให้สังคมโลกมององค์การของตัวเองอย่างซีเรียส ส่วนหนึ่งโดยผ่านการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) ของประเทศในภูมิภาค นั่นคือการนำเอาพม่าเข้ามาเป็นสมาชิก (พร้อมๆ กับลาว และต่อมาอีกสองปี คือในปี 2542 กัมพูชาก็เข้าเป็นสมาชิกเช่นเดียวกัน) ทั้งๆ ที่พม่ายังไม่มีความพร้อม ทั้งในแง่การขาดการปฏิรูปทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น การรับพม่าเป็นสมาชิกอาเซียนจึงได้รับการต่อต้านจากหลายประเทศในตะวันตก ในทางกลับกัน ไทยกลับให้การสนับสนุนพม่าอย่างเต็มที่ในการเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน เช่นเดียวกัน โดยการเปลี่ยนท่าทีเดิมของความเป็นอริ ไปสู่การสร้างภารดรภาพผ่านอาเซียน

ในจุดนี้ นอกจากความเป็นไทยจะเป็นเรื่องของการแสดงอัตลักษณ์แห่งชาติแล้ว ยังเป็นการแสดงออก (expression) ต่อความต้องการในภูมิภาคด้วย ความเป็นไทยแบบใหม่ที่อิงภูมิภาคนิยม (regionalism) ถูกนำมาใช้ในการต่อต้านตะวันตก การผูกขาดทางอุดมการณ์ของฝรั่ง และการปลดปล่อยประเทศ/ภูมิภาคจากการครอบงำทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่าในความเป็นจริง ไทยจะหวังผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจจากพม่า อันเป็นผลมาจากสมาชิกภาพของพม่าในอาเซียนก็ตาม

หลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก สถานการณ์ความสัมพันธ์ไทยและพม่าได้เปลี่ยนไปมาก ผมได้สรุปส่วนเพิ่มเติมนี้ไว้ในบทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ ความสัมพันธ์ทวิภาคีได้เปลี่ยนไป ยุคทักษิณนำมาซึ่งนโยบายต่างประเทศแบบใหม่ แม้จะอื้อฉาว แต่ก็เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและการต้องการสร้างความเป็นเจ้าของไทยในภูมิภาค ในยุคนี้ความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับพม่ามีความราบรื่นมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการที่ไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลง หลังจากเกิดรัฐประหารในไทยในปี 2549 โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ไทยก็ตกอยู่ในวิกฤตการเมืองจนถึงปัจจุบัน จากจุดนั้น ได้เกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 คราวนี้ โค่นรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ที่มีบทลงเอยโดยยิ่งลักษณ์ได้เดินทางหนีออกจากไทย และดังที่ปรากฏในข่าว กำลังอยู่ในระหว่างการขอลี้ภัยที่ประเทศสหราชอาณาจักร

แม้ช่วงทักษิณ การทูตของไทยมีความคึกคัก แต่หลังจากจบยุคทักษิณไปแล้ว รัฐบาลไทยในหลายๆ ชุดให้ความสนใจกับประเด็นทางการเมืองภายในเท่านั้น ในด้านนโยบายต่างประเทศ จะมีแต่ก็เพียงการต้องคอยตอบคำถามประเทศในตะวันตกเกี่ยวกับความคืบหน้าของปัญหาการเมืองภายในเป็นหลักเท่านั้น จนมาถึงไทยในยุค คสช การต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถวัดความอยู่รอดของรัฐบาลทหาร ไทยได้ใช้ความสำคัญของที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในการสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ที่มีกับมหาอำนาจ ในบริบทนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและจีน เมื่อไทยถูกกดดันจากประเทศตะวันตกอย่างมาก มันกลับเป็นแรงผลักดันให้ไทยหันไปสู่จีนมากขึ้น และการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพม่าเป็นส่วนหนึ่งของความอยู่รอดของระบอบทหารของไทย

ในพม่าเองก็มีการเปลี่ยนแปลง ในที่สุด กองทัพตัดสินใจเดินออกจากการเมือง แม้จะไม่ออกไปอย่างเต็มตัว (เพราะกองทัพยังคงที่นั่งในรัฐสภาไว้มากถึงร้อยละ 25) แต่ก็เป็นการเปิดทางให้ระบบการปกครองค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ความเป็นพลเรือนมากขึ้น หรือ civilianisation มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 คือในปี 2553 และอีกครั้งในปี 2558 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรค NLD ของซูจีได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เนื่องจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ทำให้ซูจีไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จึงนับว่า การเมืองพม่ายังไม่นิ่ง ยังมีประเด็นที่ท้าทายรัฐบาลของซูจีอย่างมาก รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่มีกับกองทัพ และที่สำคัญไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ที่มีต่อชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในกรณีของชาวโรฮิงญา

ความเป็นไทยเปลี่ยนโฉมไปตามการเวลาและระบอบการปกครอง ระยะเวลาของการศึกษาในหนังสือเล่มนี้ เมื่อผู้อ่านได้อ่านสาระที่อยู่ข้างในเล่ม จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้น จวบจนวันนี้ แม้ความเป็นไทยเปลี่ยนแปลงไป แต่การฉวยประโยชน์จากความเป็นไทยของผู้นำยังไม่เคยเปลี่ยน ความเป็นไทยในวันนี้ต่างไปจากความเป็นไทยภายใต้ทักษิณ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเหมือนกับยุคที่มีเผด็จการครองเมืองในอดีต ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถปั้นแต่งได้ใหม่ ดึงให้ยืด ลดให้หด ตามความต้องการของรัฐไทย และในที่สุด ความเป็นไทยมันยังสามารถนำเอามาอธิบายความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับพม่าได้ แม้แต่ในยุคปัจจุบันเช่นกัน

แต่เนื่องจากส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่คงอยู่ในห้วงเวลา 2531-2543 ผมจึงขอยุติการวิเคราะห์ไว้เพียงในห้วงเวลานั้น บทส่งท้ายเป็นแต่การสรุปเพียงสั้นๆ เพื่ออัพเดทสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและการเปลี่ยนความหมายของความเป็นไทย นับตั้งแต่ยุคทักษิณ จนถึงยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ากำลังหันไปทิศทางใด และมันตกอยู่ในวาทกรรมความเป็นไทยมากน้อยแค่ไหนในวันนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า ความเป็นชาติไทยยังมีความพลาสติก จอมปลอม และเป็นเครื่องมือของผู้นำอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

 

หมายเหตุ: ชาติพลาสติก จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รายละเอียด ติดต่อสั่งซื้อได้ที่
https://www.facebook.com/commerce/products/2032980793413078/?rid=154616211254113&rt=6

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ สังกัดศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำสั่งตั้ง 'สนธยา-อิทธิพล คุณปลื้ม' เป็นที่ปรึกษานายกฯ-กรรมการผู้ช่วยรมว.ท่องเที่ยว

Posted: 16 May 2018 10:38 PM PDT

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งสํานักนายกฯ และประกาศสํานักนายก ตั้ง 'สนธยา-อิทธิพล คุณปลื้ม' เป็นที่ปรึกษานายกฯ-กรรมการผู้ช่วยรมว.ท่องเที่ยวฯ

17 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 93/2561 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง โดยระบุว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 24 ส.ค.2557 นั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 จึงแต่งตั้งให้ สนธยา คุณปลื้ม ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมือง ตําแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2561 เป็นต้นไป

วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้ อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา

อ่านรายละเอียด :

- คำสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 93/2561 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/110/29.PDF

- ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/110/14.PDF

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น