โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หลากหลายสาขาวิชาชีพร่วมให้กำลังใจ-เรียกร้องปล่อยตัว "คนอยากเลือกตั้ง"

Posted: 23 May 2018 01:32 PM PDT

"แถลงการณ์จากคณะบรรณาธิการ นักเขียน ศิลปิน นักวิชาการ และประชาชน เรื่อง ปล่อยตัวผู้เรียกร้องการเลือกตั้งโดยไม่มีเงื่อนไข" โดยประชาชนร่วมลงชื่อเกิน 500 รายชื่อ นอกจากนี้นักศึกษา-ประชาชนเครือข่ายต่างๆ ทั้งสมัชชาคนจน, People Go Network, พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ ม.เชียงใหม่, ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัว "คนอยากเลือกตั้ง" โดยไม่มีเงื่อนไข

ที่มาของภาพ: กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

24 พ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานการเผยแพร่แถลงการณ์ขององค์กร และกลุ่มบุคคลในวงการต่างๆ เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.) เรียกร้องให้ปล่อยตัว "คนอยากเลือกตั้ง" มีรายละเอียดดังนี้

คณะบรรณาธิการ-นักเขียน-ประชาชน
ร่วมเรียกร้องปล่อยตัวคนอยากเลือกตั้ง

โดยในเพจของ Way Magazine เมื่อ 23 พ.ค. มีการเผยแพร่ "แถลงการณ์จากคณะบรรณาธิการ นักเขียน ศิลปิน นักวิชาการ และประชาชน" "เรื่อง ปล่อยตัวผู้เรียกร้องการเลือกตั้งโดยไม่มีเงื่อนไข" โดยแถลงการณ์ดังกล่าวซึ่งมีบรรณาธิการ นักเขียน และบุคคลในวงการอาชีพต่างๆ ร่วมลงชื่ออาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, เวียง วชิระ บัวสนธ์, อธิคม คุณาวุฒิ, รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์, โกวิท โพธิสาร ฯลฯ โดยจนถึงขณะนี้ (24 พ.ค. 2561 เวลา 03.30 น.) มีผู้ลงชื่อ 548 รายชื่อแล้วมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์จากคณะบรรณาธิการ นักเขียน ศิลปิน นักวิชาการ และประชาชน
เรื่อง ปล่อยตัวผู้เรียกร้องการเลือกตั้งโดยไม่มีเงื่อนไข

ตามที่ประชาชนจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายในปลายปี 2561 กระทั่งถูกจับกุม แจ้งความเอาผิด และคุมขัง ในข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามมาตรา 215 และข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน

คณะบรรณาธิการ นักเขียน และนักวิชาการ ที่ติดตามความเคลื่อนไหวนี้ด้วยความห่วงใย ขอยืนยันว่า การเรียกร้องให้เกิดความชัดเจนในการจัดการเลือกตั้ง เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่พลเมืองผู้จ่ายภาษีให้กับประเทศพึงเรียกร้องจากรัฐได้ การจับกุม คุมขัง และตั้งข้อหาดังกล่าวต่อแกนนำผู้ชุมนุม นอกจากจะขยายขอบเขตเพิ่มระดับความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้นแล้ว ยังสร้างความสับสน วิตก ห่วงใย จากนานาประเทศที่แม่นยำในหลักสิทธิเสรีภาพตามอารยธรรมกฎหมาย

เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำผู้ถูกจับกุมทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข และยุติการข่มขู่คุกคามผู้เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในทุกกรณี

สมัชชาคนจนย้ำการเลือกตั้งเป็นหลักการพื้นฐาน
ตามระบอบประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ในเพจของ สมัชชาคนจน ได้เผยแพร่แถลงการณ์สมัชชาคนจน "การเลือกตั้งเป็นหลักการพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย ที่ว่าด้วยเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ ของประชาชน" มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์สมัชชาคนจน

การเลือกตั้งเป็นหลักการพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย
ที่ว่าด้วยเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ ของประชาชน

จากเหตุการณ์การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึก 4 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่จัดให้มีกิจกรรมการเดินขบวนรณรงค์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ และเป็นคำมั่นสัญญาเรื่องการเลือกตั้ง ที่รัฐบาล คสช. เคยให้ไว้กับประชาชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายังบริเวณทำเนียบรัฐบาล

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเพียงต้องการแสดงออกโดยการรณรงค์ถึงหลักการด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าเป็นการขัดคำสั่ง คสช. ก็ตาม เพื่อย้ำจุดยืนเพียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความสับสน, วุ่นวาย, รุนแรงใดๆ ต่อสังคม ตามที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. กล่าวหาโดยมีการระบุว่า มีการจ้างกลุ่มฮาร์ดคอร์หัวละ 1,000 บาท ให้มาเคลื่อนไหวในการชุมนุมแต่อย่างใด จนนำไปสู่การควบคุมตัวแกนนำและประชาชนนักกิจกรรมไปร่วม 14 ราย ซึ่งการจับกุมดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหาร คสช.ไม่มีเจตนาผ่อนคลายมาตรการจำกัดสิทธิต่างๆ และการขัดขวางการชุมนุมประท้วงอย่างสงบทำให้เห็นว่า คำสัญญาที่ให้ไว้ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะยกเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในไทย เป็นเรื่องเหลวไหล

สมัชชาคนจนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นการกระทำที่สนับสนุนหลักการพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยที่ว่าด้วยเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน และการเลือกตั้ง แต่การกระทำของรัฐบาล คสช.โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และขัดต่อหลักในการชุมนุมอย่างสงบ จึงขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม ที่ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งทั้ง 14 คน โดยให้ถอนฟ้องและยุติการดำเนินคดีต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทุกคดี อย่างไม่มีเงื่อนไขโดยทันที และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ

People Go ยืนยันการเรียกร้องเลือกตั้งเป็นสิทธิอันชอบธรรม

ส่วนแถลงการณ์ของเครือข่าย  People Go Network "ยืนยัน เรียกร้องเลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพชอบธรรมของประชาชน" มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์เครือข่าย People Go Network
ยืนยัน เรียกร้องเลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพชอบธรรมของประชาชน

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจไม่ชอบธรรมยึดประเทศด้วยการรัฐประหาร อ้างว่า เข้ามารักษาความสงบแห่งชาติ แต่กลับใช้อำนาจอย่างเกินเลย ด้วยการใช้คำสั่งที่เหนือกฎหมาย ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอด การบริหารประเทศด้วยอำนาจเผด็จการ การมีความเห็นวิจารณ์การทำงานของคสช. การเรียกร้องให้แก้ไขหรือเสนอนโยบายโดยประชาชน ถูกปิดกั้น และต้องเผชิญกับอำนาจข่มขู่คุกคามต่อคนที่มีความเห็นต่างด้วยการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

4 ปีของ คสช. ได้สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของการบริหารประเทศด้วยอำนาจพิเศษแบบรวมศูนย์ คุณภาพชีวิตของประชาชนย่ำแย่ลง ที่สำคัญสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย ถูกลดทอนลงอย่างเห็นได้ชัด การออกมาเรียกร้อง วิจารณ์ แสดงความเห็นต่างในวิถีประชาชนธิไตย กลับถูกคำสั่ง คสช. บังคับ ใช้เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นเหตุให้หลายคนถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

เครือข่าย People Go Network ขอทวงคืนสิทธิการมีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินอนาคตของตนเอง และยืนยันว่า การออกมาเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของ #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมที่ประชาชนทุกคนมีสามารถเรียกร้องและส่งเสียงไม่ว่าในรูปแบบใด และขอประณามการปิดกั้น ขัดขวาง การจับกุม ประชาชน "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่มาแสดงออกบนวิถีประชาธิปไตย และขอเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการจัดการเลือกตั้งทันที

สุดท้ายนี้ ขอให้เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เครือข่ายประชาชน People GO Network Forum

 

พรรคยุวธิปัตย์ ม.เชียงใหม่ เรียกร้องให้ปล่อยตัวคนอยากเลือกตั้ง
ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. ที่ขัดรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ "แสดงจุดยืนต่อกรณีการชุมนุมของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง" มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์

เรื่อง  แสดงจุดยืนต่อกรณีการชุมนุมของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 โดยไม่มีเงื่อนไข

จากกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยที่การชุมนุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรำลึก 4 ปีของการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้เป็นการชุมนุมอย่างสงบ ใช้วิธีการแบบสันติวิธี อยู่ในการสังเกตการณ์ของเครือข่ายผู้สังเกตการณ์การชุมนุมและการสังเกตการณ์ นำเสนอข่าวของสื่อมวลชน รวมทั้งอยู่ในขอบเขตการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยข้อเรียกร้องต่างๆเป็นไปตามที่ระบุในแถลงการณ์กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง การควบคุมพื้นที่ ปิดกั้น ผลักดัน และยังรวมไปถึงการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมและผู้ที่กำลังจะเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุม การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนินนอก ตลอดจนการควบคุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่โดยรถควบคุมผู้ต้องหา แกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างน้อย 15 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี ถูกร้องทุกข์โดย คสช.ในหลายข้อหา รวมถึงความผิดฐานละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามการชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป โดยได้แยกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท และสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตามที่หลายสำนักข่าวได้รายงานไปแล้วนั้น

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะพรรคนักศึกษาที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และในฐานะผู้แทนนักศึกษา พร้อมปกป้องสิทธิ เสรีภาพของนักศึกศึกษาและประชาชน จึงขอแสดงความกังวลต่อการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่มีจุดยืน และความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล ตลอดจนกังวลถึงการที่รัฐบังคับใช้กฎหมายกับพลเมืองที่แสดงความคิดเห็นต่อการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ ซึ่งได้ติดตามและสังเกตการณ์สถานการณ์การชุมนุมของ " กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง " มาตลอด และเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการแสดงออกตามสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันได้รับการรับรองไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 25 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 44 และมาตรา 63 และขอเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ขอให้มีการปล่อยตัวกลุ่มนักกิจกรรม แกนนำ และผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด

2. ขอให้รัฐบาลเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน

3. ขอให้รัฐบาลยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

4. ขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลิกปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนและยุตติการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนทุกรูปแบบ

5. ขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนับสนุนกิจกรรมตามกระบวนการแห่งประชาธิปไตยอย่างเหมาะสม ปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพของนักศึกษา รวมทั้งไม่ปิดกั้น ขัดขวาง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา

ท้ายที่สุด พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งหมด ทบทวนบทบาทของตน ที่ได้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง จากการกระทำดังกล่าว และพึงระลึกถึงหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตลอดจนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

"เชื่อมั่นในนักศึกษา ศรัทธาในผองชน"
พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
23 พฤษภาคม 2561

ประธานสภานิสิตจุฬาฯ เรียกร้องปล่อยตัวไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้ธนวัฒน์ วงค์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2561 ได้ออกแถลงการณ์ส่วนตัวมีรายละเอียดดังนี้

"ในนามของประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2561 ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกจับกุมทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข ยุติการข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในทันที

ธนวัฒน์ วงค์ไชย
ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2561
23 พ.ค. 2561"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจไม่ให้ 'เสรีพิศุทธ์' ประกันตัว '15 คนอยากเลือกตั้ง' อ้างไม่ใช่ญาติ

Posted: 23 May 2018 12:24 PM PDT

ผกก.สน.ชนะสงคราม ทำหนังสือไม่อนุมัติการประกันตัวมามอบให้ 'พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส' ที่วางหลักทรัพย์ 1.5 ล้านบาทยื่นขอประกันตัว 15 "คนอยากเลือกตั้ง" โดยอ้างว่าไม่ใช่ญาติ และยื่นประกันตัวแบบกลุ่มไม่ได้ ต้องยื่นรายคน ทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์โต้ว่าทำได้และทำแบบนี้เหมือนการกลั่นแกล้งกัน

แฟ้มภาพ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ทำเรื่องขอประกันตัว "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อ 23 พ.ค. 2561

24 พ.ค. 2561 ความคืบหน้ากรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยื่นหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝาก 1.5 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัว 15 ผู้ต้องหา "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ถูกควบคุมตัวหลังชุมนุมในโอกาสครบรอบ 4 ปี คสช. เมื่อ 22 พ.ค. นั้น

โดยล่าสุดเมื่อกลางดึกคืนวานนี้ (23 พ.ค.) หลังจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตระเวนเยี่ยมผู้ต้องหาที่ สน.ดินแดง และที่ สน.พญาไท ต่อมาในระหว่างเยี่ยม "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ สน.พญาไท พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผกก.สน.ชนะสงคราม ได้นำหนังสือไม่อนุมัติการประกันตัวมามอบให้ โดยให้เหตุผลว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่ใช่ญาติ และไม่สามารถประกันเป็นกลุ่มได้ ต้องทำสัญญาประกันรายคน

ทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ โต้ว่า ตนในฐานะอดีต ผบ.ตร. ยืนยันว่าสามารถประกันตัวทั้งหมดได้ ข้ออ้างดังกล่าวเพียงเป็นการกลั่นแกล้งกันเท่านั้น ตลอดทั้งวันได้ไปทำเรื่องขอประกันตัวที่ สน.ชนะสงครามมาหลายชั่วโมง จากนั้นก็ไปเยี่ยมผู้ต้องหา "คนอยากเลือกตั้ง" ทั้งที่ สน.ดินแดง และ สน.พญาไท ดังกล่าว โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้กล่าวด้วยว่าหมดอำนาจเมื่อไหร่โดนแน่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ส่วนในวันนี้ (24 พ.ค.) คาดว่าพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จะประสานมายังศาลอาญาเพื่อนำผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลอาญา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนา เมืองสุข ฝากบอกผู้มีอำนาจ ออกกำลังกาย-รักษาสุขภาพอยู่จนถึงเวลาขึ้นศาล

Posted: 23 May 2018 11:41 AM PDT

วัฒนา เมืองสุข เยี่ยม "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ สน.พญาไท ชี้ภาวะนี้ไม่มีอะไรดีกว่าให้กำลังใจกัน พร้อมเตือนผู้มีอำนาจ ถ้าวันใดอำนาจกลับมาเป็นของประชาชนก็อย่าร้อง ท่านที่กระย่องกระแย่งเดินเหมือนจะตาย ขอให้กินอาหารให้เป็นประโยชน์ ออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ เวลาเดินขึ้นศาล จะได้ไม่ต้องให้ลูกน้องพยุง

ที่มาของภาพ: มติชนทีวี

24 พ.ค. 2561 คืนวานนี้ (23 พ.ค.) วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังเดินทางมาเยี่ยม "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่ สน.พญาไท ช่วงหัวค่ำคืนวานนี้ว่า ในภาวะนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่ากันให้กำลังใจกัน สิ่งที่พวกเขาทำชนะแล้ว อย่างน้อยทำให้คนไทยได้ตื่นตัว อยากเลือกตั้ง ทำให้ประชาคมโลก ตั้งแต่สหประชาชาติ องค์กรต่างประเทศที่สำคัญทั้งฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลให้ความสนใจเรื่องนี้

ทั้งนี้วัฒนากล่าวด้วยว่าได้คุยกับผู้ถูกควบคุมตัวทุกคน ทั้งที่ สน.ดินแดง และ สน.พญาไท โดยทุกคนเข้มแข็ง พร้อมที่จะต่อสู้ รู้ว่าสิ่งที่ปฏิบัติกับเขาไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมตั้งแต่วิธีการดำเนินคดี ตั้งแต่การเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของเขาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไรโอเวอร์รีแอค หรือทำอะไรเวอร์ๆ เขาก็ออกจากธรรมศาสตร์ไปอ่านแถลงการณ์จบเขาก็กลับบ้าน แต่ที่ไปบล็อก พยายามสร้างเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ แถลงข่าวโหมกระพือว่าไปพบวัตถุระเบิด ไปจ้างคนนู้นคนนี้มา เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐจะทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าปล่อยให้เขาเคลื่อนมา เสร็จเขาก็กลับ

แล้วหลังจากที่เขาอ่านแถลงการณ์เสร็จ เขาไปมอบตัว ก็ไปจับกุมเขาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เป็นความพยายามยั่วยุ สร้างเงื่อนไขตลอดเวลา ที่สำคัญเขาปฏิเสธตลอดการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งใช้เวลาสอบสวน 2 ชั่วโมงก็จบแล้ว แต่้เลห์เพทุบายให้ครบ 48 ชั่วโมงเพื่อจะฝากขังศาล พฤติกรรมแบบนี้มันแกล้ง

"ก็ไม่เป็นไร ฝากบอกเจ้าหน้าที่ไว้ ประชาชนเห็น ไว้อำนาจกลับมาเป็นของประชาชนแล้วอย่าร้อง"

ตอนผมแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยครบรอบ 4 ปี คสช. ก็ถูกฟ้อง ม.116 ผมก็บอกไม่เป็นไร คุณทำตามคำสั่งอำนาจปืน คุณยืนตรงข้ามประชาชน เป็นปฏิปักษ์ประชาชน วันใดอำนาจกลับมาเป็นของประชาชนอย่าร้อง อย่าอ้างว่าทำตามคำสั่ง อย่าอ้าง วันนั้นขอให้รักษาสุขภาพให้ดี ท่านที่กระย่องกระแย่งเดินเหมือนจะตาย ขอให้กินอาหารให้เป็นประโยชน์ ออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ เวลาเดินขึ้นศาล หลังจากประชาชนมีอำนาจ จะได้ไม่ต้องให้ลูกน้องพยุง"

นายวัฒนากล่าวถึง กระแสนักการเมือง เดินสายมาให้กำลังใจ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า ผมไปตั้งแต่เขาชุมนุมมานานแล้ว เพียงแต่ว่าแต่อะไรที่จะทำ ให้พวกเขาเสียความชอบธรรมผมก็หลีกเลี่ยง แต่ถ้าถามว่าหนุนไหม หนุนทั้งกายทั้งใจหนุนเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วย

"แต่วันนี้เขาได้รับการกลั่นแกล้งเหมือนเขาเจ็บป่วย เรามาเยี่ยมเขาก็คือเรามาแสดงน้ำใจไม่มีอะไรเสียหาย บอกพี่น้องประชาชนว่าช่วยกันให้กำลังใจเขา เขาทำเพื่อพวกเราทุกคน ขอให้พวกเรามั่นใจในพลังของประชาชน วันนี้เผด็จการหวั่นไหวครบ 4 ปี กลัวหัวหด แล้วพวกเขาน่ายกย่อง สู้ด้วยมือเปล่า มาได้ขนาดนี้มาไกลแล้ว อีกไม่นานๆ"

เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้ง วัฒนากล่าวว่า "ผมไม่เคยเชื่อว่าเผด็จการอยากลงจากอำนาจ เพราะในโลกนี้ไม่เคยมีเผด็จการลงจากอำนาจเอง มีแต่ถูกถีบลง ที่ผ่านมาชาวบ้านถีบลงทั้งนั้น ถ้ายังไม่รู้ตัวก็ไม่แคล้วจะเหมือนกัน ทำท่าอยากจะสืบทอดอำนาจ ประชาชนอย่าไปกลัวไอ้พวกสถุนนี้ ขี้ขลาด คุณเคยเห็นพวกนี้กล้าไปไหนคนเดียวเหมือนพวกเราไหม เวลาจะไปไหนไปกันทีเป็นฝูงเป็นโขยง เสือกับหมา ต่างกันตรงไหนรู้หรือไม่ เสือเดินตัวเดียวที่เดินกันเป็นฝูงๆ นั่นหมาจำเอาไว้ด้วย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสรีพิศุทธ์ตระเวนเยี่ยม "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ สน.ดินแดง-พญาไท

Posted: 23 May 2018 08:21 AM PDT

หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวศ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไป สน.ชนะสงคราม ยื่น 1.5 ล้านขอประกัน "คนอยากเลือกตั้ง" ล่าสุดช่วงหัวค่ำเดินสายเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวที่ สน.ดินแดงและพญาไท โดยเปิดเผยว่ายังไม่ต้องวางเงินประกัน 1.5 ล้าน เพราะตำรวจยังสอบไม่เสร็จ ส่วนวันพรุ่งนี้ในขั้นตอนส่งฝากขังที่ศาล จะเป็นเครือข่ายนักวิชาการที่จะยื่นขอประกันเอง แต่หากขาดเหลือเขายินดีช่วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าไม่กลัวถูกมองเป็นพวกคนอยากเลือกตั้งหรือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถามกลับว่า "น้องชอบเผด็จการหรือ ถ้าไม่ชอบเผด็จการก็ต้องเลือกตั้งเท่านั้นเอง คุณประยุทธ์ผิดสัญญามากี่ครั้งแล้ว เดี๋ยวนี้กล้าเปิดเพลงคืนความสุข ขอเวลาอีกไม่นานไหม?" นอกจากนี้ยังกล่าวถึง คสช. ว่า เป็นเพราะไม่อยากปรองดอง แต่คิดจะเป็นใหญ่ คิดจะสืบทอดอำนาจไม่รู้จักพอเสียที

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ให้สัมภาษณ์ที่ สน.ดินแดง หลังเข้าเยี่ยมแกนนำ "คนอยากเลือกตั้ง"

23 พ.ค. 2561 หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเดินทางมาที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อขอประกันตัว "คนอยากเลือกตั้ง" โดยตำรวจยังไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากสอบสวนไม่เสร็จนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง [1], [2]) ต่อมา พล.อ.เสรีพิศุทธ์ เดินทางไปเยี่ยมแกนนำที่ถูกย้านสถานที่ควบคุมตัวมาที่ สน.ดินแดง

โดยหลังการเยี่ยม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน (ชมคลิปให้สัมภาษณ์) โดยระบุว่าเขายังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 1.5 ล้านบาท เนื่องจากตำรวจอ้างว่ายังสอบสวนไม่เสร็จ และขณะนี้เครือข่ายนักวิชาการได้เรี่ยไรเงินประกันแล้ว เมื่อถึงขั้นตอนศาลพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) ที่ตำรวจจะขออำนาจศาลฝากขัง ก็จะเป็นเครือข่ายนักวิชาการที่ดำเนินการยื่นคัดค้านการฝากขัง และขอประกันต่อศาลก่อน แต่หากวงเงินประกันไม่เพียงพอ สามารถติดต่อมาที่เขาได้ทันที ซึ่งเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือเรื่องวงเงินประกัน

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เปิดเผยว่าได้เข้าเยี่ยมพูดคุยแกนนำคนอยากเลือกตั้งที่ สน.ดินแดง และได้สอบถามสารทุกข์สุกดิบเหมือนลูกหลาน และยินดีเป็นที่ปรึกษาให้ทุกเรื่อง โดยกลุ่มคนอยากเลือกตั้งยืนยันว่ากำลังใจดี การย้ายมาที่ สน.ดินแดง ก็สภาพดีขึ้น เพราะสถานที่กว้างขวางนอนสบาย ขณะที่ สน.ชนะสงคราม อยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่

ส่วนการขอฝากขังที่ศาลวันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.)  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์บอกว่าตัวเขาคงไม่ต้องไป และจะเป็นฝ่ายของเครือข่ายนักวิชาการที่เข้าไปช่วยเหลือขอประกันตัวแกนนำคนอยากเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมาศาลยังไม่เคยเรียกหลักทรัพย์ประกันในอัตราที่สูง

นอกจากนี้เขายังตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการในขั้นตอนสอบสวนล่าช้า สอบสวนไม่จบเสียที ส่วนคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่าการเข้ามาช่วยเหลือแปลว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" หรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ตอบกลับว่า "น้องชอบเผด็จการหรือ ถ้าไม่ชอบเผด็จการก็ต้องเลือกตั้งเท่านั้นเอง คุณประยุทธ์ผิดสัญญามากี่ครั้งแล้ว เดี๋ยวนี้กล้าเปิดเพลงคืนความสุข ขอเวลาอีกไม่นานไหม?"

ทั้งนี้เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อยู่แถวนั้นได้ถาม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ว่า "นักการเมืองพรรคอื่นก็บอกอยากเลือกตั้ง แต่ทำไมมีท่านและอีกไม่กี่คนเท่านั้นที่มา ทำไมท่านถึงกล้าแสดงตัวเปิดเผย" ทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตอบว่า "มีอะไรมั้ย ถามว่ามีอะไรมั้ย วันที่ธรรมศาสตร์น้องก็ไปไม่ใช่หรือที่ผมบอกคุณประยุทธ์ก็รุ่นน้องผมเรียนทหารมาด้วยกัน สถาบันเดียวกัน คุณประวิทย์ก็รุ่นพี่ผม เรียนทหารเหมือนกัน แต่ขอโทษนิสัยไม่เหมือนกัน"

"นิสัยไม่เหมือนกันจริงๆ ถ้าเป็นผมเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น บอกจะสร้างความปรองดองไง แล้วมันจะปรองดองกับหมาอะไร ใช่ไหม ปรองดองไม่ได้หรอก เพราะคุณไม่ยอมปรองดองกับเขา คิดจะเป็นใหญ่ คิดจะสืบทอดอำนาจไม่รู้จักพอเสียที"

ถ้าอยากปรองดองเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย น้องๆ อยากเลือกตั้งหรือ อยากแสดงสัญลักษณ์มาเลย ตำรวจไปช่วยดูแล จัดการจราจร ให้เขาเดินให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มาถึงเขาจะประกาศให้เขาประกาศไป เอาตำรวจมากันเหตุการณ์เสียหน่อยไม่ให้มีปัญหาอะไร แค่นี้ก็จบแล้ว เรื่องก็ไม่เกิด นี่ให้ตำรวจอดหลับอดนอน เป็นเสียอย่างนั้น เมื่อกี้ขึ้นไปที่สถานีตำรวจบางคนยังนอนแอ้งแม้งอยู่เลย ไม่ได้พักได้ผ่อนกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง"

โดยหลังการให้สัมภาษณ์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เดินทางไปเยี่ยมแกนนำ "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ สน.พญาไท เป็นสถานที่ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: หลัง 4 ปี คสช. ก้าวข้าม ‘การเมืองที่ผิดเพี้ยน’

Posted: 23 May 2018 06:49 AM PDT

 

เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน ผู้มาปักหลักอยู่ภาคอีสาน ตั้งข้อสังเกตว่า "ตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics ด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics" เขาแปล "absurd politics" ว่า "ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน" ซึ้งเห็นได้จาก

1. เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริง หมายถึง โครงสร้างเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นในสังคม ผิดเพี้ยน มั่วซั่วไปหมด และเส้นแบ่งที่ว่าก็ถูกลบหายไป ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริง

2. ถ้าเรานิยาม politics ว่าคือการใช้อำนาจสาธารณะ ก็หมายความว่า ประเทศไทยตอนนี้ไม่มีการเมือง เพราะแนวคิดในการปกครองของ คสช. ได้ยึดความเป็นสาธารณะ (publicness) ในสังคมไทยไปแล้ว

3. เพราะไม่มีการเมืองและไม่มีอำนาจสาธารณะ จึงไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมได้ จะมีเพียงแค่ปรากฏการณ์บางอย่างที่ต่อเนื่อง แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ที่ คสช. 'แสดง' ให้ประชาชนรับรู้รับชมเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ พูดอีกแง่หนึ่งคือสังคมไทยถูกแช่แข็งแล้ว

4. การกระทำของ คสช. ไม่เพียงแต่เป็นการทำตามอำเภอใจ (act arbitrarily) อย่างเดียว แต่เป็นการกระทำแบบไร้จุดหมาย (act randomly) ด้วย

5. สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คสช. ไม่เคยโกหก เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งประหลาดๆ ที่เขาพูดและทำเป็นเรื่องจริง

โดยสรุปก็คือระบบการเมืองในสังคมไทยตอนนี้ผิดเพี้ยนไปหมด

(ดู the101.world/thoughts/david-streckfuss-interview/)

ผมคิดว่า "ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน" ตามความหมายข้างบน คือภาพรวมที่ชัดเจนที่สุดของ "ผลงาน" รัฐบาล คสช.ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา ทว่าระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ก็ไม่ใช่ผุดขึ้นมาลอยๆ แต่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 ที่ตามมาด้วยรัฐประหาร 2557

การเมืองที่ผิดเพี้ยนเริ่มจากเกิดมวลชน (พธม.) ไม่พอใจการทุจริตของนักการเมืองและไม่พอใจนโยบายประชานิยม แต่แทนที่จะยึดกระบวนการประชาธิปไตยแก้ปัญหา กลับไปโจมตี "การเลือกตั้ง" จนดูเลวร้ายเกินเหตุ เช่นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยแค่ 4 วินาที เป็นเครื่องมือของนักการเมืองโกง ดูถูกคนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้งว่าไร้การศึกษา ไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกหลอก ถูกซื้อ ฯลฯ ทำให้เกิดกระแสไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง กลัวการเลือกตั้งในบรรดาชนชั้นกลางการศึกษาดีที่มีเสียงดังกว่าในสังคม

ขณะที่มีมวลชนสร้างกระแสไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่อย่างประชาธิปัตย์แทนที่จะปกป้องระบบเลือกตั้งเป็นเวทีต่อสู้กันทางการเมือง กลับบอยคอตการเลือกตั้ง และเสนอนายกฯ ตามมาตรา 7 ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐประหาร 2549

ความกลัวการเลือกตั้งชัดเจนยิ่งขึ้นอีก เมื่อเกิดการประท้วงในปี 2553 ของคนเสื้อแดงซึ่งไม่พอใจรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่ฉก "กลุ่มเนวิน" มาเป็นแนวร่วมตั้งรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของทหาร จึงขอให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ความกลัวการเลือกตั้งมากอย่างเหลือเชื่อ ถึงขนาดทำให้รัฐบาลขณะนั้นปฏิเสธข้อเรียกร้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ด้วยการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง มีคนตายร่วมร้อยและบาดเจ็บร่วมสองพัน

ในปี 2557 พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งอีกครั้ง และแกนนำระดับสูงของพรรคประชาธิปัตย์ก็ผันตัวเองมาเป็น "หัวหอก" นำประท้วงขัดขวางการเลือกตั้งเสียเอง จนเป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร 2557 แล้ววาทกรรม "คืนความสุข" ที่เคยใช้ในการสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ถูกนำมาใช้ "อย่างจริงจัง" อีกครั้งในรัฐประหารครั้งนี้ ตามมาด้วยวาทกรรม "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ของ กปปส.ที่ รัฐบาล คสช.นำมาใช้ยื้อเวลาจากที่ขอ 1 ปี ยาวมาจน 4 ปี และเป็น 4 ปี ที่หัวหน้า คสช.พยายามตอกย้ำเสมอๆ ว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง" และ "อย่าติดกับดักประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง"

แท้จริงแล้ว ความไม่ไว้วางใจนักการเมือง พรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติมากในสังคมประชาธิปไตย แต่การเอาความไม่ไว้วางใจนักการเมือง พรรคการเมืองมาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความไม่เชื่อถือและความกลัว "การเลือกตั้ง" จนกระทั่งบอยคอตการเลือกตั้ง ขวางเลือกตั้ง และทำรัฐประหารล้มระบบประชาธิปไตย นี่เป็นความ "ผิดเพี้ยน" (absurd) ของกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พธม., กปปส.และของพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์

เมื่อความผิดเพี้ยนดังกล่าวผสมพันธุ์กับ "โครงสร้างอำนาจรัฐที่ผิดเพี้ยน" คือ โครงสร้างอำนาจรัฐที่มีอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องอยู่ใต้ "อำนาจนอกระบบเลือกตั้ง" อีกที โครงสร้างอำนาจรัฐที่ผิดเพี้ยน (ไม่เป็นประชาธิปไตย) เช่นนี้ ย่อมทำให้มีการเมือง 2 แบบเหลื่อมซ้อนกันอยู่เสมอ คือ การเมืองแบบเลือกตั้งซึ่งเป็นการเมืองที่ชอบธรรม กับการเมืองนอกระบบเลือกตั้งซึ่งเป็นการเมืองที่ผิดเพี้ยน และอำนาจนอกระบบเลือกตั้งที่ทำการเมืองแบบผิดเพี้ยนก็สามารถแทรกแซงหรือล้มระบบการเมืองแบบเลือกตั้งได้ตลอดเวลา เมื่อมีเงื่อนไขสุกงอม

คำถามคือ หลัง 4 ปี คสช.สังคมเราจะก้าวข้าม "การเมืองที่ผิดเพี้ยน" ไปได้อย่างไร คำถามนี้มีนัยสำคัญเชื่อมโยงกับความคาดหวังต่อพรรคการเมืองและมวลชนทุกฝ่าย บางคนอาจจะบอกว่าเราควรก้าวข้ามพรรคการเมืองเก่าๆ และมวลชนที่แบ่งสีแบ่งฝ่ายไปเลย คงหวังอะไรอะไรไม่ได้กับคนเหล่านี้

แต่ผมคิดว่าเรามี "เหตุผล" ที่จะคาดหวังต่อนักการเมือง, พรรคการเมือง และมวลชน ไม่ใช่เพราะเราเชื่อว่านักการเมืองเป็นคนดีหรือสะอาดหมดจด หรือมวลชนเป็น "พลังบริสุทธิ์(?)" อะไรแบบนั้น เหตุผลที่เราควรคาดหวังจากนักการเมืองและมวลชนต่างๆ คือตราบที่เรายืนยันการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราก็ยังต้องเลือกนักการเมือง พรรคการเมือง และยังเป็นไปได้เสมอที่จะเกิดมวลชนเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ (มันเป็นเรื่องตลกที่ใครยืนยันประชาธิปไตย แต่มองนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชนอย่างไร้ค่า ไร้ความหวัง) แต่การคาดหวังจะต้องคาดหวังอย่างวิพากษ์ นั่นคือเราต้องอ้างอิงหลักการ กติกา ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมาเป็น "กรอบ" ตั้งคำถามกับนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชนต่างๆ ให้มากขึ้น (แน่นอนรวมทั้งถามกับตัวเองเองด้วย)

ดังนั้น เมื่อเรานำหลักการ กติกา ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมาเป็น "กรอบ" ตั้งคำถามและกำหนดความคาดหวังต่อนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชนทุกฝ่าย ย่อมเป็นไปได้ที่สังคมเราจะก้าวข้ามการเมืองที่ผิดเพี้ยน ถ้าเริ่มจากข้อเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย, ประชาธิปัตย์ และทุกพรรคต้องสามัคคีกัน ไม่ใช่สามัคคีแบบคิดเหมือนกัน หันมาจูบปากกันอะไรแบบนั้น แต่หมายถึง สามัคคีเรียกร้อง "ความชัดเจน" และแน่นอนเชื่อถือได้ในการกำหนดวันเลือกตั้ง และคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ทุกวิถีทาง

นักการเมืองทุกพรรค ประชาชนทุกสี ทุกฝ่ายอาจเห็นต่างกันในเรื่องอื่นๆ เถียงกันไป ทะเลาะ ขัดแย้งกันไป แต่ต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่า คุณยืนยันที่จะต่อสู้ แข่งขัน เอาชนะกันผ่านระบบเลือกตั้ง,กระบวนการประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน  

เมื่อทุกพรรคการเมือง คนทุกสี ทุกฝ่ายยืนยันอย่างเป็นสาธารณะที่จะต่อสู้ แข่งขัน ขัดแย้งกันตามกระบวนการประชาธิปไตย และยืนยันที่จะปกป้องระบบประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกันอย่างถึงที่สุดเท่านั้น คือหนทางเดียวที่จะก้าวข้ามการเมืองที่ผิดเพี้ยนไปได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ส่ง สนช.พิจารณาต่อ

Posted: 23 May 2018 06:10 AM PDT

คณะรัฐมนตรี อนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. .... ร่างพ.ร.บ.  พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ส่ง สนช. พิจารณาต่อ 

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอ สนช. ต่อไป

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สรุปไว้ 10 ประเด็น ดังนี้

1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งป่าชุมชน และพื้นที่ป่าที่มีการจัดตั้งเป็นป่าชุมชนแล้ว ให้คงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎกระทรวงว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ พ.ร.บ. นี้จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายในการจัดตั้ง การจัดการป่าชุมชนและเครือข่ายป่าชุมชนหรือพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับป่าชุมชน เสนอแนะในการออกกฎหมาย กำหนดระเบียบ พิจารณาอุทธรณ์ และเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อการกำหนดงบประมาณ มาตรการ หรือกลไกทางการเงิน

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและประกาศคำขอ เพิ่ม ลด หรือเพิกถอนป่าชุมชน ตรวจสอบรายละเอียดที่ระบุในคำขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ถอดถอนกรรมการจัดการป่าชุมชน แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และประเมินผลการจัดการป่าชุมชนในจังหวัดแล้วจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอจัดตั้งป่าชุมชน โดยในพื้นที่ป่าชุมชนจะต้องกำหนดบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือบริเวณเพื่อการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน และวัตถุประสงค์ของป่าชุมชน และการจัดตั้งป่าชุมชนมีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

5. กำหนดให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการป่าชุมชน และกำหนดให้มีแผนจัดการป่าชุมชน รวมทั้งกำหนดให้มีหลักเขต ป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าชุมชนบริเวณเพื่อการอนุรักษ์และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ตามสมควร เพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตป่าชุมชน

6. กำหนดให้มีการควบคุมดูแลป่าชุมชน กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และกำหนดการห้ามกระทำการภายในป่าชุมชน คือ ห้ามทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ ห้ามใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน ห้ามบุคคลใดก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า ขุดหาแร่ ล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน เว้นแต่เป็นการกระทำตามที่พ.ร.บ. นี้บัญญัติให้กระทำได้ ทั้งยังกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตให้บุคคลเข้าไปกระทำการใด ๆ เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

7. กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนป่าชุมชนทั้งแปลงหรือแต่บางส่วนได้โดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนขอให้เพิกถอนป่าชุมชน ทอดทิ้งไม่จัดการฟื้นฟูป่าชุมชนนั้น ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ. นี้ หรือระเบียบ หรือข้อบังคับที่ออกตามพ.ร.บ. นี้ อันจะเป็นเหตุให้ป่าชุมชนได้รับความเสียหายหรือมีเหตุไม่ควรไว้วางใจให้จัดการป่าชุมชนต่อไป และเมื่อมีเหตุผลความจำเป็นทางด้านกิจการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ซึ่งการเพิกถอนป่าชุมชนให้มีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ ทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอนหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้กรมป่าไม้เก็บไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมจัดการป่าชุมชน

8. กำหนดให้บุคคลชำระเงิน ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน หรือค่าบริการ เนื่องในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน โดยเงินที่เก็บได้ดังกล่าว เงินที่มีผู้บริจาค เงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเงินรายได้อื่น ๆ ให้เก็บรักษาไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมการจัดการป่าชุมชน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

 9. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนและข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน และผู้กระทำการฝ่าฝืนการทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน นอกจากนี้ บรรดาไม้หรือของป่าที่ได้มา หรือมีไว้เป็นความผิด หรือทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม

10. กำหนดให้มีการออกกฎกระทรวง และระเบียบเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.  นี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.  นี้ใช้บังคับ

นอกจากนี้ ครม. ยังมติอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.  พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงาน สนช. พิจารณา ก่อนเสนอ สนช. ต่อไป

โดย สาระสำคัญของร่าง พรบ. ฉบับนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า เป็นการกำหนดเพิ่มกลไกในการกำกับดูแลโดยเพิ่มระบบการแจ้งการมีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี หรือเครื่องกำเนิดรังสีที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับใช้เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์และไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ และใช้งานในสถานพยาบาลหรือสถานพยาบาลสัตว์ เป็นอีกระบบหนึ่งในการกำกับดูแล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายจากโบว์: ห้องขังสกปรกเผด็จการโสโครก

Posted: 23 May 2018 06:03 AM PDT

คืนที่สองที่ โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและเพื่อนอีก 14 คน ได้ถูกจับตัวขังไว้ในห้องขังของสถานีตำรวจ เธอได้เขียนชี้แจงถึงการที่เธอถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ใส่เศษกระดาษฝากออกมาแทนคำสื่อสาร 

ประเด็นการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกักขังกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

1. "จับกุมหรือมอบตัว"

หลังจาก พ.อ.บุรินทร์ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็ยังไม่ได้มีการออกหมายเรียก แต่แกนนำกลุ่มได้เป็นผู้เสนอกับตำรวจเอง ว่ายินดีให้นำตัวไปหลังอ่านแถลงการณ์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเสนอ "มอบตัว" โดยไม่ได้มีการจับกุม แต่ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหากลับใช้คำว่า "จับกุม" ซึ่งนอกจากจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแล้ว ยังเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดน้ำหนักในการยื่นคำร้องขอศาลฝากขัง และคัดค้านการประกันตัว โดยพนักงานสอบสวนต่อไป

2. กลั่นแกล้ง "กักขัง" มิชอบ

เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจในการกักขังชั่วคราวก่อนส่งคำร้องขอฝากขัง ทั้งที่ไม่มีเหตุจำเป็น เพราะ "อิสรภาพของผู้ต้องหาไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน" แต่พนักงานสอบสวนก็ยังกักขังกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ทั้งที่ได้เซ็นเอกสารการสอบปากคำเรียบร้อยแล้วหลังการมอบตัว คือ ไม่ตอบคำถามด้วยวาจา แต่จะส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรตามสิทธิผู้ต้องหา อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ได้กักขังผู้ต้องหาทันที ซ้ำร้ายยังกลั่นแกล้งเพิ่มเติม ด้วยการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจากเดิมที่มีถึงห้าข้อหาแล้ว เพื่อหาเหตุในการฝากขังต่ออีกหนึ่งวัน โดยอ้างว่าต้องสอบปากคำเพิ่ม ทั้งที่ไม่มีเหตุต้องกักขังเพื่อสอบ จึงเป็นการกักขังมิชอบ โดยคาดว่ามีแรงจูงใจ เพื่อไม่ให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งสามารถสื่อสารกับสังคมและสื่อมวลชนได้ และเพื่อเตรียมคำร้องขอฝากขัง โดยอ้างเหตุอันเป็นเท็จต่าง ๆ เพื่อให้ศาลเห็นตามจนถึงขั้นอาจไม่ให้ประกันตัว ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่เพียงเป็นความพยายามที่ไม่สุจริต แต่ยังสะท้อนความตื้นเขิของเผด็จการ และสมุนรับใช้ โดยเฉพาะนายตำรวจระดับสูง ในการจะฟอกขาวให้ตัวเองและตบตาสังคม ใส่ร้ายป้ายสี เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง และหวังว่า ประสบการณ์เลวร้ายในที่คุมขัง จะทำให้พวกเราเข็ดขยาด

ขอบอกว่า การกระทำครั้งนี้ และการกระทำที่ผ่านมาของเผด็จการ ไม่เพียงไม่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวใด ๆ กับพวกเรา แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงความเลวร้ายของการใช้อำนาจโดยมิชอบตามอำเภอใจ ซึ่งจะมีปรากฏให้เห็นโดยเด่นชัดเป็นกิจวัตรในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

และนั่นเป็นอีกเหตุผลที่เราต้องหยุดอำนาจนี้ให้ได้โดยเร็ว ด้วยการเรียกร้องให้ คสช. ยุติบทบาทรัฐบาล กลายเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ เพื่อจัดการเลือกตั้งภายในปีนี้ หยุดการยืดเวลาเพื่อบ่อนทำลายประเทศอีกต่อไป

"ในห้องกักขังนี้มีความสกปรกโสมม ซึ่งคอยเตือนใจให้เราไม่ลืมความโสโครกของเผด็จการ"

 

โบว์

 




 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน. ชี้ ร่าง พ.ร.ป.ส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ - นัดลงมติร่าง พ.ร.ป. ส.ส. 30 พ.ค.นี้

Posted: 23 May 2018 05:50 AM PDT

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ร่าง พ.ร.ป.ส.ว.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหลือนัดลงมติร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 30 พ.ค.นี้ ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/60 นัดอภิปรายต่อ 30 พ.ค.นี้เช่นกัน

อ่านรายละเอียด : เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ 

23 พ.ค.2561 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 91,92,93,94,95 และ 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรก มีเนื้อหากำหนดให้การสรรหา ส.ว.มีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัครและกระบวนการเลือก แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งส.ว.ตามบททั่วไป ไม่มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ประกอบมาตรา 269

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการอภิปรายในคำร้องที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของ สนช.27 คนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรค 1 (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 35 (4) และ (5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสิทธิการรับราชการของผู้ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรค 3 หรือไม่ และมาตรา 92 วรรค 1 กรณีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและทุพพลภาพในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 85 หรือไม่ โดยนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในวันที่ 30 พ.ค.นี้

ส่วนคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 25, 26, 27 และ 45 หรือไม่นั้น ศาลได้มีคำสั่งรับคำชี้แจงที่หัวหน้า คสช.ได้ส่งความเห็นและข้อมูลทีเกี่ยวข้องเป็นหนังสือ รวมถึงคำชี้แจงของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ส่งหนังสือความเห็นเพิ่มเติมเข้ามาแล้ว โดยนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันที่ 30 พ.ค.นี้

 

ที่มา เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิยบุตร แสงกนกกุล-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี | เอาไงกับรัฐธรรมนูญ 60 และมรดก คสช.

Posted: 23 May 2018 05:36 AM PDT

ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ และอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ ตอบโจทย์หลัง 4 ปี คสช. พรรคการเมืองจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะเอาอย่างไรกับมรดก คสช. จะแก้ไข รธน.60 หรือไม่ โดยปิยบุตรเสนอแก้มาตรา 279 เปิดทางให้แก้ได้ทั้งฉบับ อรรถวิชช์เสนอลองใช้ก่อน ถ้าใช้แล้วไม่ดียังไงก็แก้ได้ ออกตัวเป็นพลเรือนไม่ถนัดฉีก ด้านปิยบุตรตอบกลับแก้ รธน.ได้ไม่ต้องฉีก ที่ผ่านมาสังคมไทยเคยผลักดัน รธน.ฉบับประชาชนเมื่อปี 40 มาแล้ว 

ส่วนหนึ่งของเสวนาสาธารณะ "The Move We Decide ก้าวที่เลือกได้" ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชวนตัวแทน 4 พรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ โดยช่วงหนึ่งปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่ และอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคประชาธิปัตย์ตอบคำถามเรื่อง "หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะสร้างความแตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร ในเมื่อมีตัวล็อกทั้งแผนปฏิรูปต่างๆ และยุทธศาสตร์ชาติ?"

ทั้งนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่ เสนอให้จัดการสิ่งที่เรียกว่า "มรดก คสช." ทิ้งทั้งหมด ทั้งคำสั่ง ประกาศ คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฯลฯ ยกเว้นในบางคำสั่งที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารราชการแผ่นดินและในชีวิตประจำวัน ที่มีผู้ได้ประโยชน์โดยสุจริต อาจให้อยู่ต่อ แต่เปลี่ยนรูปมาเป็นพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายลำดับศักดิ์รองๆ

และให้ผู้ได้รับความเสียหายจากคำสั่ง คสช. ผู้ถูกดำเนินคดีจับกุมคุมขังหลังรัฐประหาร 2557 ต้องยุติการดำเนินคดี ต้องได้รับการนิรโทษกรรม รวมทั้งต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเริ่มต้นได้เลยที่การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ต้องยกเลิกทันที เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ ได้โต้แย้งประกาศคำสั่ง คสช. และเปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านการประชามติ

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชาธิปไตย 80 กว่าปี เราเสียเวลาร่างรัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญ มากกว่าเวลาใช้มัน รัฐธรรมนูญมี 20 ฉบับแก้อีกนับไม่ถ้วน เรากำลังครุ่นคิดอยู่กับรัฐธรรมนูญแบบใหม่ แบบนี้ไม่ดี ทหารมา ฉีกทิ้ง แล้วก็เอาใหม่ หรือของทหารไม่ดี ฉีกทิ้ง แล้วก็เอาใหม่ มันจะสาละวนอยู่กับเรื่องนี้

"ผมอยากชวนคิดแบบนี้ถ้าเราเห็นว่าอยากแก้ ต้องแก้ได้ ต่อให้เขียนให้แก้ยากสุดๆ ผมว่าก็แก้ได้ ยุทธศาสตร์ชาติบอกแก้ไม่ได้ ก็ไม่จริง ถ้าดูให้ดีในรัฐธรรมนูญ มันเป็นข้อแนะนำ เขาว่า "รัฐพึง" เสมอ รัฐพึงทำอะไร ไม่ทำอะไร ไม่ใช่หน้าที่ ก็แก้ได้อีก มันอยู่ที่ว่าเราคิดแล้วตกผลึกร่วมกันว่าอะไรคือจุดโหว่ของมัน นี่คือหัวใจของเรื่อง เพราะฉะนั้นผมไม่ติดยึดว่ารัฐธรรมนูญ เมื่อเข้ามาแล้วต้องฉีกทิ้ง เพราะผมเป็นพลเรือนไม่ถนัดฉีกรัฐธรรมนูญ ขอคิดไปแบบนี้ก่อนว่า อย่าเพิ่งไปรังเกียจมัน รัฐธรรมนูญ 2560 มองอีกมุมหนึ่ง เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเสียงการประชามติ 15.5 ล้านเสียง เยอะเหมือนกัน ผมว่าเราลองใช้ แต่ถ้าไม่ดีแก้แน่ แล้วยืนยันว่าไม่มีอะไรแก้ไม่ได้"

ส่วนกรณีที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น ตอนหนึ่งอรรถวิชช์นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแปลกประหลาดคือว่าตอนทำประชามติมีคำถามพ่วงผ่านมาด้วยว่าให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะฉะนั้นเกิดอาการหวยล็อกคือทางทหารไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง เพราะมี ส.ว.แต่งตั้งมาร่วมเลือกอยู่แล้ว

ทำให้เกิดนายกรัฐมนตรีได้ 2 เรื่องคือมีนายกรัฐมนตรีคนใน กับนายกรัฐมนตรีคนนอก นายกรัฐมนตรีคนในหมายความว่าเป็นชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา 3 คน แล้วพรรคการเมืองนั้นต้องได้เสียง 25 เสียง คือกรณีพรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น เขาต้องได้ ส.ส. ในมือ 25 เสียง ไม่อย่างนั้นเขาไม่มีสิทธิเสนอ 3 รายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี นี่คือบริบทนายกรัฐมนตรีคนใน จึงเห็นอาการดูดมหาศาล เหล้าเก่าเข้าขวดใหม่ เพื่อต้องการเสียงให้ครบ

"ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีคนนอกคือแบบนี้ ยกตัวอย่างว่าเกิดว่าใน ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน สมมติว่าพรรคฝั่ง A ไปรวบรวม ส.ส. ได้มาเกินครึ่ง รัฐธรรมนูญปกติตั้งรัฐบาลได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งไม่ได้ จะต้องได้เสียง ส.ว. อีก 250 เสียงมาใส่ในนี้ด้วย เพราะไม่ได้เอาเสียง ส.ส. ตั้ง ต้องเอา ส.ว. มารวม ทำให้เป้าคือต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นว่ากลไกแบบนี้มีโอกาสเดดล็อกกลางอากาศ เลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย จับขั้วได้เรียบร้อย ได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะ ส.ว. รับฟังคำสั่งจาก คสช. ถ้าเดดล็อกแบบนี้บ้านเมืองจะวุ่นวาย"

"เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่าหนทางการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ไม่รับเด็ดขาด ยืนยัน"

"แต่ว่าผมชวนคิดอีกครับ ในทางกลับกันถ้าทหาร ไม่รู้ว่าเขาใช้วิธีการดูดหรือคิดสะระตะมาแบบไหนก็แล้วแต่ เขาใช้สิทธิในความเป็นพลเรือนของเขา ที่เขาจะเข้าสู่การเมืองได้ ผมว่าไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจถ้าทหารจะอยู่ในการเมืองไทย เพราะก่อนหน้านี้ทหารก็ชนะเลือกตั้งมา ผมไม่ได้หมายถึงองค์กร ผมหมายถึงพวกพลเอก พลโทต่างๆ ท่านมีสิทธิด้วยความเท่าเทียมกัน ถ้าเปิดโอกาสว่าประชาชนไม่ระแวงทหาร ทหารไม่ระแวงประชาชน แบบนี้โอกาสเลือกตั้งมีสูง"

"ผมชวนคิดแบบนี้ก่อนว่า รัฐธรรมนูญ กฎ กติกาต่างๆ ไม่จำเป็นต้องฉีกทิ้ง พวกเราไม่ชำนาญเรื่องฉีกทิ้ง ไม่ใช่หน้าที่พลเรือน เราลองใช้มันดู ถ้ามันไม่ดี ไม่มีอะไรขวางได้ ไม่ว่ากติกาจะยากขนาดไหน คิดว่าแก้ได้" อรรถวิชช์กล่าว

ทั้งนี้ปิยบุตร ตอบอรรถวิชช์ด้วยว่า วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญเสมอไป และที่ผ่านมาสังคมไทยเคยมีรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยผ่านฉันทามติของทั้งสังคมอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2540

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ้าวเฮ้ย! เพจหนุนประยุทธ์ ทำโพล แต่เกือบ 2 แสนกลับโหวตไม่หนุนให้บริหารบ้านเมืองต่อ

Posted: 23 May 2018 05:20 AM PDT

เพจ 'ขอล้าน Like สนับสนุนให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก' ตั้งโหวตถาม คนตอบเกือบ 2 แสนบอก 'ไม่สนับสนุน' พล.อ.ประยุทธ์ ให้บริหารบ้านเมืองต่อ

 
23 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟสบุ๊คแฟนเพจ ชื่อ 'ขอล้าน Like สนับสนุนให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก' ซึ่งเป็นเพจที่มีคนกดถูกใจ 3 แสน มักโพสต์สนับสนุน คสช. และโจมตีกลุ่มที่ต่อต้าน คสช. นั้น ตั้งโหวต ภายใต้โจทย์ ว่า "คุณยังสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้บริหารบ้านเมืองต่อหรือไม่" เริ่มโหวตเมื่อวานนี้ เวลา 16:25 น.  
 
ล่าสุดเมื่อเวลา 19.00 น. ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมโหวต 2.2 แสน โดย 88% หรือประมาณ 1.9 แสนโหวตว่า ไม่สนับสนุน ขณะที่มีเพียง 12% ที่ตอบว่าสนับสนุน
 
ทั้งนี้เมื่อ วันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยระบุว่า บุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 32.24 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลให้เวลาต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาขอบคุณนิด้าโพลรวมทั้งโพลต่างๆและประชาชนที่ได้ตอบแบบสอบถาม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธนาธรอัด คสช. ใช้ ม.116 เล่นงาน "คนอยากเลือกตั้ง" นี่มันตลกชัดๆ

Posted: 23 May 2018 04:57 AM PDT

"เราต้องการความสมานฉันท์เพื่อเรียกร้องเรื่องนี้ ถ้าเราไม่กลัว คนที่ต้องกลัวเราคือเผด็จการ" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เมื่อ 22 พ.ค. 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เดินทางมาให้กำลังใจ 5 แกนนำที่ถูกควบคุมตัวที่ สน.พญาไท และเปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมแกนนำว่า แกนนำทุกคนกำลังใจดี และแข็งแรงดี ซึ่งพวกเขาคือคนที่เราต้องการ ให้มายืนร่วมกันและบอกว่าเราจะไม่ยอมจำนนอีกต่อไป

"นี่คือห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ เราเห็นว่ามีความตื่นตัวขึ้นสูงมาก เมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมาในเรื่องของการเรียกร้องประชาธิปไตย เราต้องการความสมานฉันท์เพื่อเรียกร้องเรื่องนี้ ถ้าเราไม่กลัว คนที่ต้องกลัวเราคือเผด็จการ"

ดังนั้นผู้คนที่อยู่ด้านนอกต้องเข้มแข็ง เหนียวแน่น และพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าต่อไปด้วยกัน

ธนาธรบอกด้วยว่าปิยบุตร แสงกนกกุล เดินทางไปที่ สน.ชนะสงคราม เช่นกัน จะไปเยี่ยมแกนนำที่ถูกควบคุมตัวเช่นกัน

เมื่อถูกถามว่าไม่กลัวว่าจะถูก คสช. เหมารวมว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ ธนาธรกล่าวว่าไม่กลัวเพราะ "เราทุกคนเป็นเพื่อนกัน" เขามาให้กำลังใจคนอยากเลือกตั้ง และไม่ได้มาประกันตัว เพราะมีองค์กรที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว จึงคิดไม่ออกว่าจะส่งผลต่อการตั้งพรรคอย่างไร

ธนาธรถามด้วยว่า คสช. จะใช้ประมวลกฎหมายมาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น มาเล่นงานพวกเขาหรือ เพราะ 1. คนเหล่านี้ใจแข็งอย่างกับหิน ข้อกฎหมายของคุณที่ไม่มีความยุติธรรมจะทำอะไรจิตใจที่กล้าหาญของคนเหล่านี้ไม่ได้ 2. หากใช้มาตรา 116 เล่นงานคนพวกนี้คืออะไร ข้อหายุยงปลุกปั่นเพื่อให้สังคมเป็นประชาธิปไตย กลายเป็นเรื่องผิดในสังคมนี้หรือ? นี่มันเรื่องตลกชัดๆ ถึงเวลาแล้วครับที่เราต้องกล้าหาญ และพูดความจริงกับสังคม

"นี่คือห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ เราเห็นว่ามีความตื่นตัวขึ้นสูงมาก เมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมาในเรื่องของการเรียกร้องประชาธิปไตย เราต้องการความสมานฉันท์เพื่อเรียกร้องเรื่องนี้ ถ้าเราไม่กลัว คนที่ต้องกลัวเราคือเผด็จการ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลตุรกีจำคุกตลอดชีวิต 104 ทหารเอี่ยวรัฐประหารล้มเหลวเมื่อปี 2559

Posted: 23 May 2018 04:27 AM PDT

สื่อรัฐบาลตุรกีรายงาน ศาลจำคุกตลอดชีวิตผู้มีเอี่ยวรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2559 จำนวน 104 คน อีก 51 คนโดน 7-20 ปี ฐานช่วยลอบสังหารประธานาธิบดี-เป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย ย้อนดูรัฐประหารที่ประชาชนไม่ซื้อ แต่สุดท้ายผู้นำกลับกำเริบเสิบสานขึ้นเรื่อยๆ

ภาพรถถังที่ออกมารัฐประหารในตุรกีแต่ประสบความล้มเหลว (ที่มา: Flickr/Eser Karadağ)

เมื่อ 22 พ.ค. 2561 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์อ้างอิงรายงานของสื่อรัฐบาลตุรกีว่า ศาลประเทศตุรกีตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในความพยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือน ก.ค. 2559 จำนวน 104 คน

เหล่าอดีตนายทหารถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตเมื่อวันจันทร์ โดยสื่ออนาโดลูของรัฐบาลตุรกีระบุว่า นายทหารที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจาก "ความพยายามโค่นล้มระเบียบตามรัฐธรรมนูญ" ทั้งนี้ โทษจำคุกตลอดชีวิตที่ถูกใช้แทนที่การประหารชีวิตจะมีคุณภาพชีวิตลำบากกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตปกติ โดยนายทหารที่ต้องขึ้นศาลไต่สวนในกรณีการยึดอำนาจไม่สำเร็จมีทั้งสิ้น 280 คน ในกลุ่มผู้ถูกจำคุกตลอดชีวิตนั้นมีอดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พลโทฮัสซัน ฮุสซีอิน เดมิราสลาน และอดีตหัวหน้าคณะเสนาธิการหน่วยทหารบกอีเจียน พลตรีเมมดูห์ ฮักบิเลน

ศาลตัดสินผู้ต้องสงสัย 21 คนให้จำคุก 20 ปีโทษฐาน "ช่วยเหลือการลอบสังหารประธานาธิบดี" ที่สันนิษฐานว่ามีขึ้นในคืนเดียวกันกับความพยายามในการรัฐประหาร ในขณะที่อีก 31 คนถูกตัดสินจำคุกระหว่างเจ็ดปีหกเดือน ไปจนถึงสิบปีหกเดือนโทษฐานเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อการร้ายติดอาวุธ

ย้อนดูรัฐประหารที่ประชาชนไม่ซื้อ แต่สุดท้ายผู้นำกลับกำเริบเสิบสานขึ้นเรื่อยๆ

ความพยายามยึดอำนาจที่ตุรกีในวันที่ 15 ก.ค. 2559 เริ่มต้นเมื่อทหารตุรกีกลุ่มหนึ่งดำเนินปฏิบัติการร่วมในเมืองใหญ่หลายเมืองเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลและนำประธานาธิบดีเออร์โดกันลงจากอำนาจ

ในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกีและนครอิสตันบูลซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญเต็มไปด้วยทหาร รถถังและเสียงระเบิดที่ดังขึ้นหลายครั้ง เครื่องบินเจ็ตของตุรกีได้ทิ้งระเบิดลงที่อาคารรัฐสภา หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วม ฮูลูซี อะการ์ ถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของตนเอง

เหตุการณ์ดำเนินไปหลายชั่วโมงจนดูเหมือนว่าตุรกีกำลังจะเผชิญกับการรัฐประหารครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์การเมือง 95 ปีของประเทศ แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อประชาชนนับพันทราบข่าวความพยายามยึดอำนาจผ่านจากสื่อโซเชียลได้ออกมารวมตัวกันบนท้องถนนและจัตุรัสเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ โดยไม่มีอาวุธอะไรติดตัวมากไปกว่าอุปกรณ์ทำครัว

ฝูงชนต่อต้านการยิงจากรถถังและระเบิดจากเครื่องบิน และได้รับการช่วยเหลือจากตำรวจและทหารของฝั่งรัฐบาลจนกระทั่งสามารถเอาชนะกลุ่มที่จะยึดอำนาจได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นรัฐบาลรีบออกมาประกาศชัยชนะ ต่อมาทหารที่เข้าร่วมการรัฐประหารจำนวนมากตัดสินใจยอมแพ้ที่สะพานบอสฟอรัสในนครอิสตันบูล ความพยายามยึดอำนาจครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 240 คน จำนวนนี้ไม่ได้รวมยอดจากฝ่ายรัฐประหาร นอกจากนั้นยังมีประชาชนมากกว่า 2,000 คนบาดเจ็บ

ทำไมรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว?: บทเรียนและคำถามสำคัญ

Vox คุยกับนักวิชาการผู้ศึกษา 'รัฐประหาร' เหตุใดรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว

ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่ถูกประกาศหลังความพยายามรัฐประหารจบลงเพียงวันเดียว ประชาชนจำนวนหลักหมื่นถูกจับกุม เจ้าหน้าที่รัฐหลายพันคนถูกไล่ออกหรือพักงานด้วยข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักรบชาวเคิร์ดหรือไม่ก็เฟตุลเลาะห์ กูเลน อดีตครูสอนศาสนา นักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวตุรกีที่เป็นผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาชื่อว่า ฮิซเมต (Hizmet) ที่ได้ลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ ผู้ถูกเออร์โดกันกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งดังกล่าว

กูเลนเคยให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวไม่กี่คน ณ ที่อยู่ของเขาในเมืองเซย์เลอร์สเบิร์กเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2559 โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของเออร์โดกันที่อ้างว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามก่อรัฐประหาร กูเลนบอกอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่การพยายามรัฐประหารในครั้งนี้อาจจะเป็นการจัดฉากของฝ่ายรัฐบาลเพื่อกล่าวหากูเลนและผู้ติดตามของเขา

ฟังความอีกด้าน เฟตุลเลาะห์ กูเลน อัดรัฐบาลตุรกีจัดฉากรัฐประหาร

เจ้าหน้าที่ทหาร ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ นักวิชาการ แม้กระทั่งครูนับพันถูกไล่ออกจากงานจากข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายและกูเลน มีการปิดสื่อหลายสิบหัวจากข้อสงสัยว่าสื่อเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มฮิซเมตของกูเลนซึ่งเป็นเจ้าของมูลนิธิ สมาคม สื่อ และโรงเรียนหลายแห่งในตุรกีและต่างประเทศ

นอกจากนั้น อำนาจในการเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในตุรกีถูกโอนไปที่ตัวเออร์โดกาน จากเดิมที่มหาวิทยาลัยสามารถเลือกอธิการบดีได้เอง รัฐบาลตุรกีกล่าวว่าการกวาดล้างดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นในการที่จะ "ถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้สนับสนุนการรัฐประหารจากกลไกรัฐ"

เสรีภาพสื่อในตุรกีถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ทางการตุรกีได้ฟ้องร้องเหล่านักข่าว สำนักข่าวและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียฐานดูหมิ่นเออร์โดกานและผู้นำตุรกีคนอื่นๆ รวมไปถึงการดูหมิ่น "ความเป็นตุรกี" อีกด้วย หนังสือพิมพ์รายวัน Cumhuriyet ของตุรกี นำเสนอข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม เรื่องจำนวนคดีดูหมิ่นสารพัด ตั้งแต่ตัวประธานาธิบดี ชาติและสาธารณรัฐตุรกี รัฐสภา รัฐบาล สถาบันยุติธรรมต่างๆ ที่เข้าสู่ชั้นศาลในปี 2559 มีจำนวนถึง 46,193 คดี

เมื่อปี 2561 คณะกรรมการเพื่อปกป้องนักข่าว (Committee to Protect Journalism - CPJ) ขนานนามตุรกีว่าเป็นคุกคุมขังสื่อที่ย่ำแย่ที่สุด ซีพีเจนับจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 มีจำนวนอย่างน้อย 73 คน โดยผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกเพราะการทำงานในตุรกีกำลังถูกสอบสวน และถูกกล่าวหาในข้อหากระทำอาชญากรรมต่อต้านรัฐ ข้อกล่าวหาส่วนมากระบุว่าจำเลยให้การช่วยเหลือ จัดทำโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรผู้ก่อการร้าย

องค์กรพิทักษ์สื่อจัดอันดับผู้นำจอมกดขี่เสรีภาพ 5 สาขา 'อองซานซูจี' ชนะสาขาถอยหลังเข้าคลอง

จากความพยายามในการเช็คบิลย้อนหลังของรัฐบาลตุรกี ทำให้ประเทศพันธมิตรจากตะวันตกและกลุ่มนักกิจกรรมวิพากษ์วิจารณ์ตุรกีอย่างหนัก และขอให้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินเสียที

17 เม.ย. 2560 ตุรกีมีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการมีรัฐสภาและถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจประธานาธิบดี โดยฝ่ายโหวต "เยส" ชนะประชามติ ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 51.3

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้โดยนอกจากจะมีการยกเลิกรัฐสภาในแบบเดิมเปลี่ยนเป็นระบบการบริหารผ่านประธานาธิบดี (executive presidency) แล้วยังมีการให้อำนาจประธานาธิบดีในการแต่งตั้งและปลดรัฐมนตรีออก อีกทั้งยังสั่งปลดหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมถึงเจ้าหน้าที่ศาลได้ นอกจากนี้ยังให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้ 5 ปี และยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองไปในเวลาเดียวกันได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการให้อำนาจประธานาธิบดีมากเกินไป ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลตุรกีอ้างว่าพวกเขาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อทำให้ตุรกีเข้มแข็งขึ้น โดยนอกจากที่กล่าวถึงข้างต้นแล้วพรรครัฐบาลยังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งยุบสภา ออกบัญญัติบริหารพิเศษ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้

ชาวตุรกีหลายแสนประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยม เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง

ฝ่ายโหวต 'Yes' ประกาศชัยชนะอย่างไม่เป็นทางการ ในประชามติเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีตุรกี

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ประชาชนนับแสนคนเดินขบวนเป็นระยะทาง 250 ไมล์เข้าสู่กรุงอังการาหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการนัดเดินขบวนในนาม "การเดินขบวนเพื่อความยุติธรรม" เป็นเวลา 25 วัน ผู้ที่จัดการชุมนุมในครั้งนี้เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านจากพรรคซีเอชพีที่ชื่อ เคมาล คิริกดาโรกลู เริ่มเดินขบวนกับนักการเมืองคนอื่นๆ เพื่อประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยมของเออร์โดกัน

สื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่าเออร์โดกันจากพรรคเอเคพีเริ่มมีลักษณะการนำแบบเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการพยายามปิดปากสื่อและการสั่งถอดถอนผู้พิพากษาศาลสูงสุดเพื่อพยายามควบคุมอำนาจตุลาการ นอกจากนี้หลังจากการพยายามก่อรัฐประหารที่ไม่สำเร็จในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาทำให้เออร์โดกันเริ่มกวาดล้างคนที่ต่อต้านเขาหนักขึ้นทั้งนักข่าว ข้าราชการ และคนทำงานสายอื่นๆ หลายหมื่นคนต่างก็ถูกจับกุมหรือถูกขับออกจากงาน การกวาดล้างในครั้งนี้ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหภาพยุโรปและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

สิ่งที่ทำให้น่าเป็นห่วงว่าเออร์โดกันจะพยายามยึดกุมอำนาจในประเทศมากขึ้นไปอีกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้ยุบระบบรัฐสภาทิ้งและให้อำนาจประธานาธิบดีในการควบคุมรัฐบาลได้แม้จะมีผู้เห็นด้วยอ้างว่ามันจะนำประเทศพัฒนาได้เร็วขึ้นแต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่ามันจะกลายเป็นการทำให้ตุรกีดิ่งลงสู่การปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม

แปลและเรียบเรียงจาก

Turkey coup trial: Court sentences 104 army 'plotters' to life, Aljazeera, May 23, 2018

Turkey's failed coup attempt: All you need to know, Aljazeera, Jul 15, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ธรรมศาสตร์ ลาออกจากสภาฯ ประท้วงต้นหญ้าบนสนามที่ปิดช่วงคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุม

Posted: 23 May 2018 04:20 AM PDT

ศุภณัฐ กิ่งแก้ว ประธาน กมธ.สิทธิและสวัสดิการนักศึกษา ลาออกจากสภานักศึกษา ธรรมศาสตร์ ประท้วงให้ต้นหญ้าบนสนาม ที่ปิดให้ใช้เพื่อลงปุ๋ยและยากำจัดศตรูพืช ช่วงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุม

23 พ.ค.2561 จากกรณีที่มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ติดประกาศ งดใช้สนามชั่วคราว กำลังลงปุ๋ยและยากำจัดศตรูพืช วันที่ 20-23 พ.ค.2561 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดจัดกิจกรรมนั้น

ล่าสุดวันนี้ (23 พ.ค.61) เฟสบุ๊คแฟนเพจ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เผยแพร่ประกาศสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ฉบับที่ 8 / 2560 เรื่อง การสิ้นสมาชิกภาพของสมาชิกสภานักศึกษา โดยระบุว่า ตามที่ ศุภณัฐ กิ่งแก้ว ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการสิทธิและสวัสดิการนักศึกษา สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้ทำการลาออกจากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องจากอดรนทนเห็นพฤติกรรมของหญ้าบนสนามไม่ไหว ที่นานวันหลายปีไม่เคยจะเหี่ยวเฉาอ่อนแอ แต่กลับเลือกที่จะมีอาการในวันที่มีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องทางการเมือง จนต้องเดือดร้อนให้ทางมหาวิทยาลัยรีบเร่งมากำจัดศัตรูพืช และใส่ปุ๋ยบำรุงเป็นการด่วน ทำให้เสียงบประมาณ และเสียโอกาสแก่ผู้ที่ต้องการใช้สนามบอลในวันดังกล่าวไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม จึงขอลาออกประท้วงให้ต้นหญ้าบนสนามหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว เพื่อไม่ให้ธรรมศาสตร์เป็นที่ตลกขบขัน และถูกล้อเลียนว่า เสรีภาพทุกตารางนิ้ว และเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ที่ธรรมศาสตร์ย้ำอยู่เสมอ ต้องถูกจำกัดลงเพียงเพราะต้นหญ้าที่อ่อนแอเพียงหย่อมหนึ่งเท่านั้น 

โดยได้ยื่นหนังสือลาออกต่อประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2561 
 

อาศัยอำนาจตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา พ.ศ. 2522 ข้อ 17 (3) มีผลให้นายศุภณัฐ กิ่งแก้ว สิ้นสมาชิกภาพของการเป็นสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผลให้พ้นจากการดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการสิทธิและสวัสดิการนักศึกษา สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อีกด้วย จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2561

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ไทยพีบีเอส' ปฏิเสธข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท บ.เหมืองทอง จ.เลย ยืนภารกิจสื่อสาธารณะ

Posted: 23 May 2018 03:47 AM PDT

ผู้บริหารไทยพีบีเอสขึ้นศาลนัดพร้อม คดี 'เหมืองทองเลย' ฟ้องหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน เหตุเยาวชนนักข่าวพลเมืองรายงานข่าวค่ายเด็ก แถลงให้การปฏิเสธทุกข้อหา ยืนยันในภารกิจไทยพีบีเอสนำเสนอข้อมูลที่สมดุล ให้เสียงของประชาชนได้มีโอกาสพูดโดยสุจริตใจ

ภาพขุมเหมือง เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 (แฟ้มภาพประชาไท)

23 พ.ค.2561 นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. ห้อง 909 ศาลอาญารัชดา รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ในฐานะผู้แทนนิติบุคคล พร้อมจำเลยในคดีบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องไทยพีบีเอสและบุคลากร ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและโทรทัศน์ เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เดินทางมาขึ้นศาลครั้งแรกในนัดพร้อมเพื่อสืบคำให้การจำเลย

จำเลยทั้ง 5 คน ที่เดินทางมาศาล ประกอบด้วย 1. วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงข่าวพลเมือง 2. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยรศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้แทน 3. สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ส.ส.ท. 4.ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว และ 5. โยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ

ในวันดังกล่าว (21 พ.ค.61) จำเลยทั้ง 5 แถลงขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา พร้อมยื่นขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ด้านทนายโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลโดยส่งประกาศราชกิจจานุเบกษาแนบท้ายคำร้องแจ้งว่าปัจจุบันโจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และแถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเสียหายส่วนแพ่งเข้ามาด้วยเป็นจำนวนเงิน 50 ล้านบาท มีความจำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาร่วมในคดีหรือไม่

ศาลแจ้งทนายโจทก์ว่า คำขอส่วนแพ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา คดีนี้โจทก์ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ศาลจำต้องพิจารณาในส่วนคดีอาญาไปก่อน ส่วนค่าเสียหายทางแพ่งนั้นศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญา และยังเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอน เนื่องจากต้องรอผลคดีส่วนอาญาเสียก่อน

นอกจากนั้น ศาลได้แจ้งให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ไกล่เกลี่ยหาข้อยุติในคดี เนื่องจากข้อหานั้นไม่ร้ายแรงและเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายไม่ขัดข้อง ศาลจึงกำหนดวันนัดไกล่เกลี่ยเป็นวันที่ 13 ก.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายจำเลยในคดีกล่าวว่า แนวทางต่อสู้คดีของจำเลยจะเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยเป็นสื่อสาธารณะ และเป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และสะท้อนปัญหาเรื่องของคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมของประชาชนซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ ถือว่าเป็นประเด็นสาธารณะที่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอต่อประชาชน

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท. กล่าวว่า ในฐานะสื่อสาธารณะ เราต้องยืนยันในภารกิจของเรา ในเรื่องของการเสนอข้อมูลที่สมดุล และการให้เสียงของประชาชนที่เขาได้รับผลกระทบจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของทรัพยากรได้มีโอกาสที่จะได้พูดโดยสุจริตใจ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของไทยพีบีเอสก็คือมาแสดง มายืนยันในภารกิจนี้ของสื่อสาธารณะ

ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ จำเลยที่ 3 ในคดี ให้ความเห็นต่อการทำงานของนักข่าวพลเมืองว่า นักข่าวพลเมืองคือตัวแทนของพลเมืองหรือชาวบ้านที่อยู่ในท้องถิ่น เขาก็มีสิทธิ มีเสียง และสามารถที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความทุกข์ ความเดือดร้อน กรณีที่สิ่งแวดล้อมรอบๆ หมู่บ้านสร้างผลกระทบต่อเขาก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เขาสามารถที่จะบอกกล่าวต่อสังคมได้ว่ากำลังจะเกิดอะไรกับพวกเขา นี่คือบทบาทที่สำคัญที่นักข่าวพลเมืองนั้นได้ทำออกมา และแน่นอนว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบก็จะต้องมีการเชื่อมต่อกันระหว่างข่าวในกระแสหลัก

วิรดา แซ่ลิ่ม ให้ความเห็นว่า คดีนี้สะท้อนถึงสิทธิในการแสดงออกของประชาชนและสื่อที่แยกกันไม่ออก โดยเป็นการสื่อสารผ่านพื้นที่นักข่าวพลเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดให้กับเจ้าของประเด็น คนในพื้นที่ได้ออกมาสื่อสารกับสังคมด้วยตัวของเขาเอง โดยไม่ได้ผ่านนักข่าว จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อว่าสิทธิตรงนี้ของประชาชนที่ต้องการสื่อสารเรื่องของความจริงเชิงประจักษ์ของคนในพื้นที่แต่กลับต้องมาโดยคดี ซึ่งคดีที่เกิดไม่ได้ทีเฉพาะคดีของไทยพีบีเอส แต่ยังมีอีกหลายคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้อง

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก จากการสื่อสารประเด็นของเยาวชนนักข่าวพลเมือง ผ่านรายการนักข่าวพลเมืองตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำใน จ.เลย ต่อไทยพีบีเอสและบุคคลากร ไปจนถึงมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเยาวชนนักข่าวพลเมือง

ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสได้ดำเนินการช่วยเหลือทางคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องตามระเบียบขององค์กร รวมทั้งสื่อสารประเด็นเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเยาวชนนักข่าวพลเมืองได้ยุติไป เนื่องจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยมีความเห็นไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องเยาวชนนักข่าวพลเมืองต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี กล่าวหาเยาวชนนักข่าวพลเมืองว่าหมิ่นประมาท โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพระบายสี ภาพยนตร์ฯ ไม่มีการดำเนินคดีต่อ

สำหรับคดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสมชาย ไกรสุทธิวงศ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ฟ้องร้องต่อไทยพีบีเอสและบุคคลากรรวม 5 คน เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและโทรทัศน์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 พร้อมความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ 16 เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2559 โดยในคำพิพากษาระบุว่า จำเลยทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาข่าวในข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เสนอข้อมูลตามที่มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานราชการ แม้จะทำให้เกิดความเข้าใจว่าโจทก์เกี่ยวข้องทำให้เกิดผลกระทบ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริง ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่เกินขอบเขตวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำได้

ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 ศาลอาญารัชดา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ประทับฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กับรับฟ้องโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา และให้มีการนัดพร้อม ในวันที่ 21 พ.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

ดังนั้น รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในฐานะตัวแทนนิติบุคคล และจำเลยทุกคนจึงต้องเดินทางไปศาลในวันและเวลาดังกล่าวเพื่อแสดงตน

สำหรับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย มีกรณีการดำเนินการฟ้องร้องระหว่างบริษัทฯ กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2550 และผลประกอบการของบริษัทฯ ขาดทุนสะสมเกือบพันล้าน เมื่อปี 2555 ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

จากกรณีธนาคารดอยซ์ แบงก์ เอจี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้บริษัทฯ ล้มละลาย และศาลได้มีคําสั่งลงวันที่ 14 ก.พ. 2561 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ทุ่งคํา จํากัด จําเลย เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 ปีรัฐประหาร: เศรษฐกิจภายใต้รัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0

Posted: 23 May 2018 03:26 AM PDT

4 ปีรัฐประหารกับเศรษฐกิจภายใต้รัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0 เมื่อ คสช. ผูกขาดตลาดนโยบาย ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทำชนบทไทยขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ กีดกันคนจนออกจากการพัฒนา ทุนใหญ่กินรวบ ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงเอกสารที่รวบรวมถ้อยคำสวยหรู แต่ขาดวิสัยทัศน์

คลิปเศรษฐกิจภายใต้รัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0 | เสวนา D-Move 

 

  • การพัฒนาเศรษฐกิจของ คสช. เป็นการพัฒนาแบบ Exclusive Growth ที่กีดกันคนจนออกไปและมุ่งส่งเสริมทุนขนาดใหญ่
  • แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเพียงเอกสารที่รวบรวมคำสวยหรู ขาดวิสัยทัศน์ และขาดการลำดับความสำคัญ
  • คสช. ผูกขาดตลาดการเมืองวาดภาพอนาคตเกษตกรโดยที่เกษตรกรอาจไม่ต้องการ

 

4 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวได้ว่าเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การรัฐประหารครั้งนี้สร้างความเสียหายอะไรบ้างให้แก่เศรษฐกิจและภาคชนบทไทย แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นแผนหรือแค่เอกสารที่รวบรวมคำสวยหรูกันแน่

'D-Move ก้าวที่ดี เลือกทางที่เดิน' จัดงานเสวนาหัวข้อ เศรษฐกิจภายใต้รัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และไทยแลนด์ 4.0 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการทั้ง 3 คนฉายภาพเศรษฐกิจและชนบทไทยที่ถูกบ่อนทำลายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และความคลอนแคลนจากแผนยุทธศาสตร์ที่ไม่ใช่แผนในอีก 20 ปีต่อจากนี้

 

คสช. กำลังพัฒนาเศรษฐกิจที่กีดกันคนจนออกไป

อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เศรษฐกิจไทยโตประมาณ 3.9 แต่ทำไมชาวบ้านจึงไม่รู้สึก ขณะเดียวกันชาวบ้านหรือชาวชนบททั้งหลายกลับรู้สึกว่าการหารายได้ การเลื่อนสถานะ เกิดขึ้นได้ยากมาก เราจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้อย่างไร ซึ่ง คสช. เองก็ไม่เข้าใจ และพยายามคุยว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ทำไมชาวบ้านจึงมองไม่เห็น

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าชาวบ้านหรือชาวชนบทมีฐานเศรษฐกิจ 2 ด้านมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว เพียงแต่ว่ามีมากน้อยไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งคือเกษตรกรรม อีกด้านคือการรับจ้างทั้งในและนอกภาคเกษตร หรือที่ผมใช้คำว่าภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ ฐานสองฐานของชาวบ้านมันสมดุลกันมาช่วงหนึ่ง แล้วตอนหลังภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการของชาวบ้านขยายตัวขึ้น สิ่งสำคัญก็คือในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้มีปรากฏการณ์ที่สำคัญมากคือสินค้าการเกษตรราคาตกต่ำเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ขาด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านจึงตกต่ำลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการรับจ้างก็ลดลงทั้งในและนอกภาคการเกษตร

สำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่ามีคนว่างงาน 3-5 แสนคน สำนักงานสถิติบอกว่าน้อย แต่ 3-5 แสนคนมีคำถามคือสำนักงานสถิติฯ วัดการมีงานทำอย่างไร นี่คือคำถามหลัก

ที่น่ากลัวที่สุดคือลูกจ้างชั่วคราวในระบบราชการ ที่พูดว่าระบบข้าราชการขยายตัว ผมเห็นด้วย แต่มันขยายตัวพร้อมกับการขูดรีดจากลูกจ้างชั่วคราว ในมหาวิทยาลัยทั่วไปร้อยละ 40-60 เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ต้องต่อรายปี และพวกนี้มีความเสี่ยงมาก ลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน และคนเหล่านี้ไม่ได้รับสวัสดิการ แรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคนก็อยู่ในเงื่อนเดียวกันคือไม่มีประกันสังคม

เราพบว่าขาอีกข้างของชาวบ้านคือรายได้จากการรับจ้างก็ตกต่ำลง สำนักงานสถิติฯ เห็นหรือไม่ เห็น แต่เขาใช้คำที่เบาลงมากคือรายได้ลดลงเล็กน้อย ขาสองข้างของชาวบ้านที่เราพูดถึงมันพังในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมากขึ้น หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น สำหรับผมเองคิดว่าน่าวิตก แต่นักเศรษฐศาสตร์อาจคิดว่าพอไหว การบริโภคครัวเรือนลดลง ที่น่าตกใจคือสินเชื่อที่ให้ครัวเรือนลดลงจากปี 2559 ส่งผลให้หนี้นอกระบบของชาวบ้านสูงขึ้น รัฐบาลนี้ออกมาคุยว่าจัดการหนี้นอกระบบ คุณต้องตั้งคำถามก่อนว่าทำไมชาวบ้านมีหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นหลังจากมันลดลงไปแล้ว ไม่ใช่ทำให้หนี้นอกระบบถูกกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนี้นอกระบบสูงมากขึ้นกว่าหนี้ในระบบ การจัดการหนี้นอกระบบต้องจัดการอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบที่คุณประยุทธ์กำลังทำให้หนี้นอกระบบถูกยอมรับ

รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำปี 2559 พบว่า ครัวเรือนยากจนภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 6.7 แสนเป็น 8.6 แสน ครัวเรือนยากจนนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 6.4 แสนเป็น 8.7 แสน ทั้งหมดคือ 5.7 ล้านคนที่อยู่ในสภาพย่ำแย่มากขึ้น กลายเป็นคนจนมากขึ้น รายงานนี้เป็นของรัฐบาล แต่ถูกเมินเฉย

สิ่งสำคัญคือคนเกือบจนที่มีจำนวนประมาณ 11.6 ล้านคน อยู่ในภาวะที่อาจพูดได้ว่าไม่มีเสถียรภาพในชีวิต และเราจะเห็นชัดเจนว่าตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าคนยากจนลำบากคือเรามีคนเกือบจนมากมาย และคนเกือบจนเหล่านี้พร้อมจะเป็นคนจน ถ้าเสถียรภาพของรัฐบาล เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ดี คนเหล่านี้กำลังเคลื่อนสู่การเป็นคนจนมากขึ้น ถ้ารายงานชิ้นนี้กลับมาอีกทีในปีนี้ ผมเชื่อว่าคนจนจะเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

ผมอยากจะบอกว่าใน 4 ปีที่ผ่านมา คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐนตรี พูดคำว่า Inclusive Growth คือการเติบโตอย่างทั่วถึง ผมบอกว่ามันไม่ใช่ Inclusive แต่เป็น Exclusive Growth สิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำคือการจรรโลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเดิมทุกอย่างที่เป็น Exclusive Growth คือทำให้การเจริญเติบโตตกแก่คนบางกลุ่มมากขึ้น ถ้าใครไปอ่านสิ่งที่คุณประยุทธ์พูดจะพบว่ามันเฟคเกือบทั้งหมด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่สำคัญใน Exclusive Growth นี้การกีดกันคนอื่นออกไปมีความรุนแรงมากขึ้น รุนแรงในทุกระดับ

คนรวยในชนบทมีรายได้มากกว่าคนจนเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อก่อนห่างกันประมาณ 4 เท่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาขยับเป็น 10 เท่า แปลว่าท้ายสุดแล้ว 4 ปีนี้ การแช่แข็งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้กลุ่มคนรวยตรงนี้แสวงหาประโยชน์ต่อเนื่องได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด 4 ปี จนกระทั่งมีรายได้สูงกว่าคนจน 10 เท่า พร้อมกันนั้นเอง Exclusive Growth ทำให้การบริโภคฉีกขาดออกจากกัน รถเบนซ์ยอดขายเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์

อะไรทำให้โครงสร้าง Exclusive Growth โตขึ้นตลอดมา ผมอยากจะพูด 2 ประเด็น รัฐบาล คสช. ที่รักษาโครงสร้างเดิม มันเป็นโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจชุดเดิม เราจะเห็นว่ามีกลุ่มทุนใดบ้างที่อยู่ข้างหลังประชารัฐ กระบวนการนี้ทำให้ Exclusive Growth หรือโครงสร้างเศรษฐกิจชุดเดิมสร้าง Party of Order คือเครือข่ายหรือกลุ่มของโครงสร้างเดิมที่เหนียวแน่นมากขึ้น วันนี้ผมคิดว่ากลุ่มชนชั้นนำเชื่อมกันเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันชุดหนึ่งที่ถักสานกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการหักหลัง หลังเลือกตั้งอาจมีการแทงข้างหลัง แต่ในช่วงนี้ Party of Order มันแน่นมากๆ

ผมยืมมาจากการอภิปรายช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ปีกขวาทั้งหมดเข้ามาเชื่อมกันและชนะการเลือกตั้งฝรั่งเศสอยู่ช่วงหนึ่ง ผมคิดว่าตรงนี้เป็นตัวรักษาสถานภาพเดิมค่อนข้างมาก คสช. เห็นปมนี้หรือไม่ ผมคิดว่าพอใกล้ๆ 3 ปีกว่า พอคิดว่าจะเลือกตั้งต่อ คสช. เริ่มเห็นปม Exclusive Growth และพยายามจะแก้ไขและเน้น Inclusive Growth เพื่อรักษา Party of Order นี้ให้ได้ จึงพยายามเสนอนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการกีดกันนี้ แต่เพราะอยู่ในโครงสร้างเดิมจึงแก้ไม่ได้

"แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ตนเอง (คสช.) ทำกลับทำลายสังคมไทย ทำลายชนบทไทย ทำลายโอกาสของสังคมไทย อะไรปิดกั้น คสช. จากความเป็นจริงตรงนี้ ผมสรุปว่าง่ายๆ ว่าอุดมการณ์ของความเป็นรัฐไทย รัฐไทยเป็นรัฐที่มีความเมตตา คนที่เป็นผู้ปกครองต้องมีเมตตา แต่เป็นความเมตตาที่อยู่บนเงื่อนไขว่า เขาจะต้องโน้มกายลงมาช่วยเหลือ เอ็งอย่าขึ้นมาเสมอข้า"

เราดูสามสี่เรื่อง นโยบายการท่องเที่ยวใน 4 ปีที่ผ่านมาเป็นการท่องเที่ยวที่อยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้น สิ่งที่เราเห็นคือรัฐบาลพยายามเสนอการเที่ยวเมืองรอง แต่คำถามคือคุณได้คิดอะไรกับการท่องเที่ยวเมืองรองหรือไม่ คุณแค่หยิบที่ท้องถิ่นทำอยู่แล้วมาโฆษณา มาทำให้ดูเด่นขึ้นเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับนโยบายกลับบ้านเกิดคุโรซาโตะของญี่ปุ่นแล้ว เป็นหน้ามือกับหลังมือเลย

พร้อมๆ กันนั้นในจังหวะที่สินค้าเกษตรบางตัวขยายตัว เช่น ผลไม้ รัฐบาลนี้รีบกระโดดเข้ามาส่งเสริม ลำไยตอนนี้ล้งจีนยึดไปแล้ว ทุเรียนล้งจีนกำลังจะยึด ท้ายสุดการส่งเสริมลำไยที่ขยายตัวคืออะไร รัฐบาลนี้แค่ลิปซิงค์เท่านั้นเอง

ตัวอย่างที่ 3 คือความพยายามจะขจัดหนี้นอกระบบที่เพิ่มมากขึ้น กลับเป็นการทำให้หนี้นอกระบบถูกทำนองคลองธรรมมากขึ้น แทนที่จะสร้างหนทางการเข้าถึงเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น กลับไปออก พ.ร.ก. ไม่ให้คิดดอกเบี้ยหนี้นอกระบบเดิม ซึ่งไม่ใช่ ถ้าเราคิดตรงนี้ให้ชัดๆ ตัวอย่างวิกฤตปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤตของภาคการเงิน เปิดโอกาสให้นอน-แบงค์ กลุ่มการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเกิดขึ้นและเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ บัตรเครดิตไทยก่อนปี 2540 มีประมาณ 1.2 ล้านใบ หลังปี 2542 มีบัตรเครดิต 11.2 ล้านใบ และผู้ถือบัตรเครดิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และกลายเป็นผู้ประกอบการที่เคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ 1.2 ล้านใบก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเป็นผู้ชายและข้าราชการ เป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ดังนั้น ถ้าคุณประยุทธ์คิดแค่ทำให้เงินนอกระบบเป็นแบบนี้ คุณไม่มีกึ๋น

การบรรเทาความเดือดร้อนด้วยบัตรสวัสดิการของรัฐก็ช่วยได้เล็กๆ น้อยๆ ความล้มเหลวของ Helicopter Money หรือการหว่านโปรยเงิน มันพิสูจน์มาแล้วว่าล้มเหลวทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือญี่ปุ่น แต่การหว่านโปรยเงินแบบนี้กลับไม่ให้อิสระกับชาวบ้าน

การจัดการที่ดินให้ชาวบ้านที่คุณประยุทธ์พูด 3.6 หมื่นราย น้อยมากเมื่อเทียบกับโครงการทวงคืนผืนป่าที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน 2 หมื่นกว่าชุมชน ตัวเลขที่คุณพูดมา คุณอาจจะภูมิใจ แต่ภาคประชาชนเห็นว่ามันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

หากจะหยิบประเด็นต่างๆ ที่นายกฯ พูดโฆษณาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 สามารถวิจารณ์ได้ทุกประเด็น และชี้ได้ว่าสิ่งที่ท่านพูดมีอะไรซ่อนอยู่อีกมากมาย นี่คือตัวอย่างว่า Exclusive Growth คุณจะแก้แค่ผิวๆ ไม่ได้

อะไรทำให้ คสช. ล้มเหลว ก่อนจะถึงตรงนี้ผมอยากพูดว่ากลไกประชารัฐที่รัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องเด่น โครงการประชารัฐยังไม่มีการศึกษาหรือประเมินอย่างแท้จริง แต่เมื่อผมเข้าไปนั่งอ่านทั้งหมด แล้วเผอิญมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นประชารัฐจังหวัด พบว่าท้ายสุดแล้ว โครงการประชารัฐทั้งหมด เชย ล้าสมัย เป็นการเลือกหยิบงานของเอ็นจีโอมาโฆษณา ถ้าไปดูโฆษณาประชารัฐจะพบว่ามันเป็นโฆษณาสินค้า แชมพู สบู่ ยาสีฟัน เขาทำมา 30 ปีแล้ว เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีกึ๋นพอ จึงเลือกใช้งานของเอ็นจีโอบางกลุ่มและเลือกหยิบงานเดิมมาส่งเสริม ท้ายสุดแล้วไม่ได้แตกต่างจากงานอื่นๆ เลย เป็นการทำงานแบบนักพัฒนาเอกชนกลุ่มเดิมๆ ซึ่งไม่ได้สร้างผลสะเทือน อาจจะมีผลดีต่อคนบางกลุ่ม เช่น ขายน้ำยาซักผ้าหรือยาสระผมเพิ่มขึ้น 200 ขวด แต่ก็เป็นกลุ่มเดิม นี่คือความล้มเหลวของวิธีคิดแบบประชารัฐ ประชารัฐจึงเป็นกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่รัฐบาลนี้ แต่ไม่มีผลในวงกว้าง และไม่มีผลต่อการปิด Exclusive Growth เลย ขณะเดียวกัน ถ้าเราไปถามชาวบ้าน ชาวบ้านไม่เคยได้ยินประชารัฐเลย หรือถ้าเคยได้ยินก็ไม่รู้จัก เพราะมันเป็นการทำงานกับกลุ่มเอ็นจีโอเล็กๆ ที่ทำงานในพื้นที่เล็กๆ

อะไรทำให้ คสช. ล้มเหลวใน 4 ปีนี้ ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยเลย ผมอยากเรียกคณะทำงานเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ว่า นักวิสัยทัศน์ที่ไร้พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งหมดมีวิสัยทัศน์ แต่ไม่มีฐาน ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เปิดโอกาสให้คนในชนบทสามารถสร้างขาที่แข็งแรงนอกภาคเกษตร ผมใช้คำว่าผู้ประกอบการในชนบท ซึ่งตอนนี้เป็นแนวคิดที่กำลังใช้ทั่วโลกเพื่อบอกว่านี่คือการลดความยากจน คือการทำให้การเติบโตมันทั่วถึงมากขึ้น

แต่โอกาสที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการในชนบทถูกทำลายลง เพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ คสช. ทำ การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้เกิดขึ้นบนฐานที่ผู้ประกอบการสามารถคิดน้ำยาสระผมได้อย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นเพราะมีการสร้างเครือข่ายหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านจำนวนมากที่เริ่มเปลี่ยนไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย รายกลางในพื้นที่ เขาสามารถเข้าไปกดดันผู้มีอำนาจในท้องถิ่นให้แบ่งทรัพยากรมาเอื้อประโยชน์กับเขา ทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น ผมกับทีมอีกเจ็ดแปดคนศึกษาพบว่า ชาวบ้านสามารถกดดันเปลี่ยนนายก อบต. ได้ตลอดถ้าคุณไม่ตอบสนองชาวบ้าน ดังนั้น ผู้ประกอบการในชนบทจึงเข้าไปสัมพันธ์กับการสร้างเครือข่ายขึ้นใหม่ที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้ได้มากขึ้น

แต่สิ่งที่ คสช. ไม่รู้คือคุณไปแช่แข็ง อปท. ทันทีที่คุณแช่แข็ง มันทำให้เครือข่ายเดิมอยู่ตรงนั้น ผลประโยชน์เดิมอยู่อย่างนั้น ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้เครือข่ายเกื้อหนุนเขาได้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดเป็นความตกต่ำของภาคเกษตรหรือชนบททั้งหลายก็คือตรงนี้ ความไม่รู้แบบนี้จึงทำให้คนชนบทตกอยู่ใต้อำนาจอื่นๆ มากมาย อำนาจของคนที่รวยขึ้น 10 เท่า ความไม่รู้แบบนี้จึงทำลายผู้ประกอบการซึ่งควรจะเป็นอนาคตของชนบทไทย ย้ำนะครับ การศึกษาหรือผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการในชนบทเป็นหนทางลดความยากจนในโลกเลยนะครับ

ความไม่รู้ ไม่เข้าใจตรงนี้ก็คือสิ่งที่ คสช. คิดว่าตัวเองทำถูก แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ตนเองทำกลับทำลายสังคมไทย ทำลายชนบทไทย ทำลายโอกาสของสังคมไทย อะไรปิดกั้น คสช. จากความเป็นจริงตรงนี้ ผมสรุปว่าง่ายๆ ว่าอุดมการณ์ของความเป็นรัฐไทย รัฐไทยเป็นรัฐที่มีความเมตตา คนที่เป็นผู้ปกครองต้องมีเมตตา แต่เป็นความเมตตาที่อยู่บนเงื่อนไขว่า เขาจะต้องโน้มกายลงมาช่วยเหลือ เอ็งอย่าขึ้นมาเสมอข้า เป็นความเมตตาแบบที่ฉันให้กับผู้ที่อ่อนด้อย อุดมการณ์นี้มันปิดตา ปิดหู ทำให้ คสช. มองไม่เห็นและรู้สึกว่าตนได้ทำประโยชน์แก่สังคมไทย

สิ่งที่เราต้องคิดคือเราจำเป็นต้องคิดว่าเราจะใช้การเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์อย่างไร เราจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยเพื่อให้เกิดการเติบโตของผู้ประกอบการในชนบทไทยอย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราพูดถึง Inclusive Growth เราต้องคิดถึงการเติบโตของชาวบ้าน ของคนจนจริงๆ การเติบโตจะ Inclusive ก็ต่อเมื่อมันลงไปอยู่ในพื้นที่ที่คนจนทำงานอยู่ จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่คนจนมีชีวิตอยู่ ถ้าเราจะพูดถึง Inclusive Growth เราต้องคิดกระบวนการแบบนี้ ไม่ใช่ Exclusive Growth แบบที่รัฐบาลกำลังทำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลนี้ทำให้เกิด Exclusive Growth แต่มันสืบเนื่องมา รัฐบาลนี้ทำให้มันเข้มข้นขึ้น

4 ปีของ คสช. คือการหยุดโอกาสที่จะทำให้ชนบทหรือพี่น้องคนจนทั้งหลายได้เติบโต หยุดโอกาสโดยการคิดอยู่บนฐานอุดมการณ์ของรัฐไทย เราจะทำอย่างไร ผมคิดว่านี่คือโจทย์ใหญ่

 

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนที่ไร้แผนและไร้วิสัยทัศน์

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ

ตนเองพยายามไปทำการบ้านตามโจทย์คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะกำลังจะประกาศใช้เดือนกรกฎาคมนี้แล้ว และจะสะท้อนข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ด้วย เวลามองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็อาจจะมองจากงานหลักที่ทำอยู่ตอนนี้ในฐานะนักวิจัยด้านความยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ใช้คีย์เวิร์ดว่ามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นธงนำการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ

อยากจะพูดถึงประเด็นใหญ่ 3 ประเด็น ข้อสังเกตที่ 1 คือเวลาเห็นเอกสารอะไรก็ตามที่มีคำศัพท์สวยหรูอยู่ในเอกสารชิ้นเดียวกัน เช่น คำว่าโอเพ่น ดาต้า เกษตรแปรรูป เป็นต้น แล้วทุกอย่างที่อยากได้มันอยู่ในนั้นหมดเลย มองไม่เห็นลำดับความสำคัญหรือเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหน มันจะเรียกว่าแผนยุทธศาสตร์ได้หรือไม่

ประเด็นที่ 2 คิดว่าน่าเสียดายที่ 4 ปีที่ผ่านมาเราได้ยินเสียงนักเศรษฐศาสตร์น้อยลงมาก เมื่อก่อนมีบรรยากาศการถกเถียงที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่บรรยากาศแบบนี้หายไปเลย หวังว่าเมื่อเราเดินเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เราจะได้ยินเสียงของนักเศรษฐศาสตร์มากขึ้นในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและข้อเสนอของนักการเมืองต่างๆ ด้วย

ประเด็นที่ 3 ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของ คสช. คือรัฐบาลนี้พยายามพูด ซึ่งเราก็พยายามฟัง ข้อสังเกตคือเขาพูดเยอะมาก แต่สิ่งที่เขาพูดมีน้อยมากที่จะสะท้อนถึงประสิทธิผลของสิ่งที่ทำไปแล้ว ส่วนใหญ่จะพูดว่ากำลังทำอะไรอยู่และอนาคตจะเป็นออย่างไร พูดในลักษณะไปข้างหน้าตลอดเวลา ปัญหาอย่างหนึ่งคือหลายเรื่องที่เขาพูดไม่ว่าจะเป็นแผนหรือความตั้งใจก็แล้วแต่ มันสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน สภาพความเป็นจริงหมายถึงนโยบายที่ทำไปแล้วและมีมาตรา 44 อยู่จำนวนหนึ่ง มีกฎหมายที่แก้ไขและเกี่ยวข้องกับเรื่องที่พูด โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจรู้สึกว่ามันมีความลักลั่นสูงมาก

หลังจากใช้ความพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจแผนยุทธศาสตร์ชาติ ต้องยอมรับว่าไม่น่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ได้เลย เป็นการยำสิ่งที่คิดว่าสำคัญใส่เข้าไป ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญอย่างชัดเจน ในระดับเป้าหมายของเขาเป็นเป้าหมายฉบับโลกสวย ฟังดูดีมาก เช่น จะเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรเป็น 15,000 เหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2579 โดยตอนนี้เราอยู่ที่ประมาณ 6,000 เหรียญ ซึ่งต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า หรือจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็น 40 เปอร์เซ็นต์จากวันนี้อยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ใครที่ทำเรื่องพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดก็ฟังดูน่าสนใจ มีเรื่องการจัดการขยะ มลพิษตกค้างต่างๆ ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ความสามารถในการจัดการขยะได้ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ มันมีเป้าหมายที่ฟังดูดี ถ้าทำได้ก็ดีนะ ในแง่เป้าหมายคงไม่มีใครปฏิเสธว่ามันไม่ดีนะ ปัญหาคือเวลามาดูตัวยุทธศาสตร์จริงๆ ที่เป็นเนื้อหา ส่วนใหญ่เลยจะใช้คำว่าส่งเสริม ส่งเสริมเทคโนโลยี ส่งเสริมสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ มีคำเหล่านี้เต็มไปหมด แล้วมันก็ไม่เห็นภาพชัดเจนเท่าไหร่ว่าวิธีไหนที่เป็นวิธีที่เหมาะสม

ทีนี้ถ้าถอยมามองยุทธศาสตร์ชาติในระดับวิธีคิดของคนเขียนแผน ส่วนตัวเชื่อว่าเวลาใช้คำว่าความยั่งยืน โดยตัวมันเองมันมีนัยอยู่แล้วว่าต้องคำนึงถึงมากกว่าจีดีพี เวลาพูดว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนหรือทั่วถึงกว่าเดิม นัยของมันคือเราจะเลิกใช้จีดีพีเป็นสรณะ เราจะเพิ่มให้ประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ผ่านมามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดนโยบายการพัฒนา นี่คือนัยของการใช้คำว่า Inclusive Growth หรือคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นจึงมีการใช้คำว่าความยุติธรรมทางสังคม จะทำอย่างไรให้คนที่ได้รับผลกระทบที่ผ่านมามีปากมีเสียงมากขึ้น เพื่อให้สะท้อนว่าเขากังวลเรื่องอะไรบ้าง และโครงการพัฒนาจะดูแลหรือเยียวยาอย่างไร

เมื่อดูในเนื้อหาของแผน ถ้าจะสรุปออกมา ในแง่หนึ่งมันดูคล้ายๆ เสรีนิยมใหม่หรือเชื่อในระบบตลาด แต่มันก็ไม่ใช่เสรีนิยมใหม่เสียทีเดียว เพราะรัฐมีบทบาทสูงมาก แล้ววิธีการเท่าที่สกัดได้จากยุทธศาสตร์ชาติ หลายเรื่องเจาะจงใส่ลงไปเลยว่าให้ตั้งองค์กรใหม่ของรัฐ ยกตัวอย่างเรื่องขยะและมลพิษก็มีการพูดเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนต่างๆ แล้วมีข้อหนึ่งบอกให้จัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลจัดการขยะและมลพิษอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ ซึ่งก็สะท้อนวิธีคิดปัจจุบันเหมือนกันคือการตั้งองค์กรใหม่ ประเด็นคือมันไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ซึ่งก็ขัดแย้งกับที่บอกว่าต้องการให้รัฐมีขนาดเล็กลง เสรีนิยมใหม่สนับสนุนการแปรรูป สนับสนุนให้รัฐเล็กลง รัฐอยู่เฉยๆ ให้ได้มากที่สุด แต่นี่มีการขยายขอบเขตของรัฐค่อนข้างมาก มันจึงไม่ใช่เสรีนิยมใหม่ ดูไปดูมาอาจจะคล้ายๆ Fascist Corporatism พูดง่ายๆ คือมีการสนธิกำลังกันระหว่างรัฐ ราชการ และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเชื่อว่าการจับมือกันจะช่วยนำพาประเทศไปข้างหน้าได้ ประกอบกับที่อาจารย์อรรถจักร์พูดไปเมื่อสักครู่เรื่องประชารัฐ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ประชารัฐทำหลายเรื่องมันเหมือนซีเอสอาร์ของธุรกิจ

"ในแง่หนึ่งมัน (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ดูคล้ายๆ เสรีนิยมใหม่หรือเชื่อในระบบตลาด แต่มันก็ไม่ใช่เสรีนิยมใหม่เสียทีเดียว เพราะรัฐมีบทบาทสูงมาก... มีการขยายขอบเขตของรัฐค่อนข้างมาก มันจึงไม่ใช่เสรีนิยมใหม่ ดูไปดูมาอาจจะคล้ายๆ Fascist Corporatism พูดง่ายๆ คือมีการสนธิกำลังกันระหว่างรัฐ ราชการ และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเชื่อว่าการจับมือกันจะช่วยนำพาประเทศไปข้างหน้าได้"

เห็นด้วยกับอาจารย์อรรถจักร์ที่ว่ามันค่อนข้าง Exclusive เพราะมันไม่ได้มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเพิ่มโอกาสให้กับคนที่อยู่ฐานรากจริงๆ สักเท่าไหร่ คือเวลาใช้คำว่า Inclusive Growth มองได้ 2 มุม มุมหนึ่งคือการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อย ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มศักยภาพได้ ส่วนหนึ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้คือเรื่องสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิทางการเมืองด้วย เพราะการเข้าถึงงบประมาณท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขา นโยบายต่างๆ เท่าที่อ่านเนื้อหาแผนยุทธศาสตร์ไม่ได้พูดเรื่องเหล่านี้ ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่วนตัวคิดว่าจำเป็นต้องแก้เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ Inclusive Economy มันต้องมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการเพิ่มขึ้น ในแผนยุทธศาสตร์มีการแตะไว้บ้าง พูดว่าให้ขยายฐานภาษี แล้วดูเรื่องภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก แต่ก็ไม่มีการพูดอะไรชัดเจน ในแง่นี้คิดว่าแผนปฏิรูปที่อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ชัดกว่านี้เยอะในการสร้าง Inclusive Economy เพราะมีการพูดชัดเจนว่าให้จำกัดการถือครองที่ดิน 50 ไร่ โดยรวมๆ คิดว่ามันเป็นแผนที่พยายามจะนำประเทศด้วยธุรกิจขนาดใหญ่กับรัฐ โดยราชการยังมีบทบาทสูงมาก

ทีนี้ถ้ามาดูสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ดูจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือการปรับแก้กฎหมายต่างๆ ที่ดูจะคาบเกี่ยวกับการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนหรือว่า Inclusive Economy คิดว่าเป็นภาพที่ค่อนข้างน่ากังวล เช่น เรามีกฎหมายอะไรบ้างหรือไม่ที่ขยายสิทธิชุมชนออกไปให้มีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้นในการมีส่วนร่วมกับโครงการพัฒนาหรือเพิ่มพลังพลเมืองในการมีส่วนร่วมด้านงบประมาณ ยกตัวอย่างในหลายประเทศที่เริ่มทำการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ให้คนในท้องถิ่นโหวตโครงการต่างๆ ที่ อปท. ใช้เงินด้วยตัวเอง ซึ่งยังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้และเป็นไปในทางตรงกันข้ามมากกว่า และส่งคนส่วนกลางเข้าไปคุม ทิศทางจึงไม่เป็นตามแนวโน้มที่จะยั่งยืนกว่าเดิม

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมก็มีการใช้มาตรา 44 มากมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี ซึ่งเข้าใจว่าเพื่อปลดล็อกสิ่งที่มองว่าเป็นข้อจำกัดต่างๆ ของระบบราชการ แต่มันก็รวมไปถึงการไม่ต้องทำตามกฎหมายผังเมือง มีการออกมาตรา 44 เพื่อให้เอาที่ดิน สปก. มาใช้ประโยชน์ที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรได้ ออก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่โดยระบุว่าโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนให้จัดหาเอกชนมาเตรียมดำเนินโครงการได้เลย โดยไม่ต้องรอให้อีไอเอเสร็จก่อน ถ้าเราบอกว่ากลไกธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อมไร้ประสิทธิภาพในบางส่วน ไม่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือไม่เอื้อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราบอกว่ากฎหมายผังเมืองมีปัญหาการบังคับใช้ สิ่งที่พยายามทำไม่ใช่การแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่เป็นการยกเว้นกลไกเหล่านั้นไปเลย มันจะนำไปสู่โครงการพัฒนาที่ดีกว่าเดิมได้จริงหรือ

มันนำมาสู่ความลักลั่นมากมาย จึงเกิดความสงสัยว่าท่านที่นั่งร่างยุทธศาสตร์ได้คุยกับคนที่ทำนโยบายประจำวัน คนที่ออกมาตรา 44 หรือดำเนินมาตรการมากน้อยแค่ไหน กลายเป็นว่าความลักลั่นซึ่งหลายครั้งก็คือความขัดแย้งเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าคนที่ร่างแผนยุทธศาสตร์กำลังลอยอยู่ที่ไหนสักแห่ง โดยไม่ได้มาดูเลยว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น

ถ้าพูดในแง่ดีในความแย่ของแผนยุทธศาสตร์ก็คือเมื่อมันกว้างขนาดนี้ รวมทุกอย่างที่ถูกต้อง พรรคการเมืองอาจไม่ต้องกลัวมากก็ได้ เพราะทำอะไรก็น่าจะเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่ง แต่มันเป็นอะไรที่น่าวิตก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้เงินงบประมาณรัฐทำเรื่องปฏิรูปมากมาย แต่ความชัดเจน การนำไปปฏิบัติได้จริง มันด้อยลงเรื่อยๆ ส่วนตัวคิดว่าน่าเศร้า

ส่วนตัวจึงเห็นต่างจากอาจารย์อรรถจักรว่า ไม่คิดว่าแผนนี้มีวิสัยทัศน์ การที่พูดว่าเราต้องเป็นสังคมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มันไม่ใช่วิสัยทัศน์ แล้วสังคมไหนไม่อยากมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แล้วในบริบทโลกก็น่าสนใจ หลายประเทศยกเลิกการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบ 5 ปีไปแล้ว เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์และทันสถานการณ์ อย่างมาเลเซียก็บอกว่าการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับองคาพยพที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานกึ่งรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น บทบาทของแผนส่วนกลางอาจจะด้อยลง

 

ภาคการเกษตรและตลาดการเมืองที่ถูกผูกขาด

นนท์ นุชหมอน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากโจทย์ที่ได้รับก็พยายามขยายโจทย์ด้านนโยบายการเกษตรออกมาว่า เวลาพูดถึงรัฐราชการ แผนยุทธศาสตร์ และไทยแลนด์ 4.0 พอนำมาประยุกต์กับภาคการเกษตร เราได้เห็นนโยบายของ คสช. ที่ดำเนินมาตลอด 4 ปีอย่างไรบ้าง

ผมขอเริ่มจากการ์ตูนประกอบหนังสือ The Road to Serfdom ของ Friedrich Hayek เป็นหนังสือที่ต้องการเล่าว่าการวางแผนจากส่วนกลางเกิดขึ้นได้อย่างไรในบริบทของประเทศเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาบอกว่า ตอนแรกการขึ้นมาของผู้วางแผนจากส่วนกลางเกิดจากคนรู้สึกไม่มั่นคงบางอย่างในชีวิต หลังจากนั้นจะรู้สึกโหยหาความมั่นคง กระทั่งมีคนเสนอว่าการจะทำให้เกิดความมั่นคง การมีแผนแห่งชาติสามารถช่วยได้ แผนแห่งชาติสามารถดึงกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนักคิด นักวิสัยทัศน์หลายกลุ่ม หลายๆ ครั้งที่คนรู้สึกเคลิ้มหรือเชื่อตามสิ่งที่เราฝันว่าจะเกิดขึ้นผ่านกระบวนการสื่อสารต่างๆ จนสุดท้ายมีผู้นำที่บอกว่าเราจะพาประเทศเราไปทางนี้

หลังจากนั้นเราจะพบว่าการที่มีนักวางแผนอยู่หลายคน สุดท้ายแล้วคนที่เป็นนักวางแผน คนที่เป็นนักฝัน มักจะหาข้อสรุปร่วมกันไม่ค่อยได้ สุดท้ายก็ขัดแย้งกัน คนที่ถืออำนาจสูงสุดก็บอกว่าผมจะพาประเทศไปทางนี้ แต่สิ่งที่ตามมาจากการ์ตูนเรื่องนี้คือเมื่อคนเริ่มมอบสิทธิเสรีภาพบางส่วนของเราไปเรื่อยๆ จะพบว่าคนที่วางแผนจากส่วนกลางค่อยๆ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ ของเรา ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

คำถามคือเราสามารถนำสิ่งที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1944 มาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเห็นว่าเราเริ่มมีสิทธิเสรีภาพบางอย่างน้อยลง แต่คำถามคือสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เราจะพบว่าหลายคนกลับไม่รู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจกำลังสูญเสีย หลายคนยังรู้สึกว่าประกอบอาชีพได้ตามปกติ แม้จะมีความไม่มั่นคงมากขึ้น คำถามคือความแตกต่างตรงนี้คืออะไร

ผมนำกรอบที่อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยเขียนไว้เมื่อปี 2532 ว่า นโยบายสาธารณะหรือแผนพัฒนาต่างๆ ในทางเศรษฐศาสตร์มันคือผลผลิตอย่างหนึ่งที่เกิดจากผู้ผลิตและมีคนที่ต้องการนโยบายนี้ มันคือตลาดประเภทหนึ่ง แต่ตลาดนโยบายถูกกำหนดโดยผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายได้ แต่ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายมาจากการเลือกตั้งโดยตลอด ในช่วงที่มีการเลือกตั้งถือว่าตลาดการเมืองมีรูปแบบการแข่งขันอย่างหนึ่ง คนที่เป็นผู้ซื้อสามารถมอบอำนาจให้คนที่ถูกเลือกตั้งได้รับอำนาจนี้ไปบริหารต่อ ทำให้คนที่ได้รับเลือกตั้งให้สัญญาประชาคมบางอย่างว่าเราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าทำไม่ได้หรือทำโดยไม่ชอบธรรม ก็มีกลไกทางรัฐศาสตร์บางอย่างที่แก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

แต่หลังปี 2558 เป็นต้นมา เราพบว่าตลาดการเมืองไม่เกิดการแข่งขันอีกแล้ว อำนาจต่างๆ ถูกรวบไว้โดยคณะบุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นของตลาดการเมืองที่ไม่มีการแข่งขัน เราพบว่าเกิดอุปสรรคในการเข้ามาร่วมแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 44 คำสั่ง คสช. ที่ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะหรือแม้กระทั่งรูปแบบการตักเตือนแบบไม่เป็นทางการต่างๆ หากมีความพยายามเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบที่ไม่ถูกขนบกับที่ผู้มีอำนาจคิดไว้ การเมืองภาคประชาชนถ้าต้องการเข้ามามีส่วนร่วมก็จะมี Transaction Cost ที่ค่อนข้างสูงมาก

ที่ผ่านมาจะพบว่าตลาดนโยบายแบบนี้มีการส่งสารกันระหว่างคนเลือกตั้งกับผู้ออกนโยบาย ในแง่ว่าผู้ออกนโยบายต้องสร้างความพึงพอใจบางอย่างให้แก่ผู้เลือกตั้ง คนที่ออกนโยบายไม่ใช่แค่รัฐบาล บางทีเป็นขุนนางนักวิชาการ หรือพรรคการเมืองที่เป็นผู้ผลิตนโยบาย กับกลุ่มที่เรียกร้องนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป เอ็นจีโอ แต่พอมีการผูกขาด เราจะพบว่ากลไกการสื่อสารเหล่านี้เริ่มหายไป แผนพัฒนาหรือนโยบายกลายเป็นว่าผู้ที่ออกนโยบายอยากจะขายแบบนี้ ผู้บริโภคก็บริโภคไป ฉันจะผลิตแบบนี้ การออกแบบไม่ได้มีการสะท้อนความต้องการ กลไกนี้หายไปเยอะมาก

"หลังปี 2558 เป็นต้นมา เราพบว่าตลาดการเมืองไม่เกิดการแข่งขันอีกแล้ว อำนาจต่างๆ ถูกรวบไว้โดยคณะบุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นของตลาดการเมืองที่ไม่มีการแข่งขัน เราพบว่าเกิดอุปสรรคในการเข้ามาร่วมแข่งขัน... การเมืองภาคประชาชนถ้าต้องการเข้ามามีส่วนร่วมก็จะมี Transaction Cost ที่ค่อนข้างสูงมาก"

กลายเป็นว่าผู้ผลิตนโยบายคิดว่านี่คือสิ่งที่ดีสำหรับประชาชน แต่มันอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการเสมอไปก็ได้ คำถามคือเมื่อตลาดนโยบายแบบนี้มาประยุกต์เข้ากับภาคการเกษตร เราจะพบว่า นอกจากนโยบายจะเป็นเรื่องของผู้ผลิตกับผู้ที่ต้องการแล้ว มันยังมีปัจจัยอื่นด้วย เช่น โครงสร้างส่วนบนหรือวัฒนธรรมทางการเมืองไทยบางอย่างที่มีผลต่อรูปแบบการกำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบราชการ ซึ่งเราจะพบว่าเมื่อมีการรวบอำนาจเข้าสู่คณะบุคคล มีความคาดหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาจากรัฐบาลก่อนๆ ได้ ลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลง ลดประชานิยมลง เพราะมองว่าตลาดนโยบายที่ผ่านมาที่สนองความต้องการประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ พอมีการรวบอำนาจ แต่ระบบอุปถัมภ์ยังคงอยู่ ระบบราชการยังคงอยู่ ทำให้เกิดนโยบายแบบไหน

อีกประการหนึ่งที่บริบทเปลี่ยนไปจากที่ Friedrich Hayek กล่าวไว้ค่อนข้างมากคือ ทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์มากขึ้นในแง่การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเราส่งออกมากขึ้น การคำนึงถึงที่ยืนของเราในเวทีโลกก็มีความสำคัญเพิ่มขึ้นด้วย ด้วยเหตุผลนี้ อาจารย์รังสรรค์ใช้คำหนึ่งว่า ตลาดการเมืองคือตลาดที่ซื้อขายบริการความสุข แต่จะเป็นอย่างไรถ้าตลาดนี้ถูกออกแบบโดยคนกลุ่มหนึ่งและอนุมานว่าเราจะมีความสุขแบบที่เขาต้องการ

พอเอาตลาดนโยบาย ตลาดการเมือง มาจับกับตลาดผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดขึ้น โครงสร้างการเกษตรทุกวันนี้ มีผู้บริโภค มีช่องทางการจัดจำหน่าย การแปรรูป ย้อนไปถึงต้นทางคือเกษตรกร แต่ผู้ผลิตก็ต้องซื้อปัจจัยการผลิตหลายอย่าง เราพบว่าปัจจุบันนี้หลายประเทศในโลกเกิดปรากฏการณ์ควบรวมกันระหว่างห่วงโซ่อุปทานในหลายกิจกรรมมากขึ้น บางครั้งคนที่เป็นคนขายปัจจัยการผลิต คนแปรรูป และคนที่ควบคุมช่องทางการกระจาย เป็นคนคนเดียวกัน ทำให้โครงสร้างการผลิต อำนาจการผูกขาดตกกับผู้รับซื้อสินค้าเกษตรมากขึ้น รวมถึงคนที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าอาหารก็ตกอยู่ในมือคนกลุ่มนี้มากขึ้น ทำให้มีอิทธิพลค่อนข้างมากในการกำหนดรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการกระจายและการผลิตต่างๆ

เมื่อการกำหนดนโยบายแบบที่ราชการนำมาเจอกับภาคการเกษตรแบบนี้ มันนำไปสู่นโยบายแบบไหนบ้าง หนึ่ง-ในพืชการเมือง ช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะนโยบายของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นโยบายข้าวมีผลต่อการได้รับคะแนนเสียงและถือเป็นนโยบายเชิงเศรษฐกิจและการเมืองควบคู่กัน พอ คสช. เข้ามา นโยบายที่พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของชาวนา พบว่าราชการพยายามเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหา เพราะราคาข้าวตกลงมาก เราจึงไม่อาจบอกว่าราชการละทิ้งเกษตรกร แต่ความช่วยเหลือหรือโครงการเหล่านี้มันเป็นประโยชน์แค่ไหน

สอง-เราจะพบว่าตัวละครหนึ่งที่เป็นผลของวัฒนธรรมการเมืองที่ดำรงอยู่บวกกับรูปแบบการตลาดที่บรรษัทมีผลค่อนข้างมาก ในหลายๆ พืช ปุ๋ย ไก่ สุกร น้ำตาล สารเคมีเกษตร มีกลุ่มทุนที่มีความสามารถในการคุมเกมมากกว่าเกษตรกรรายย่อย นโยบายต่างๆ เหล่านี้ทำให้รายใหญ่ได้รับประโยชน์หรือข้อได้เปรียบบางอย่าง โดยอาจจะพึ่งนโยบายรัฐหรือไม่ก็ได้

ภาพต่อมาคือเราเห็นความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมการเกษตร พอมาดูแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของกระทรวงเกษตรฯ เราจะพบว่า กระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้เกษตรกรมีความรู้ มีข้อมูลข่าวสารที่ทันสถานการณ์ และขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา สอง-กระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สาม-อยากเห็นการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ มากขึ้น การมียุทธศาสตร์ชาติตรงนี้มันกลายเป็นแผนที่รวบรวมคีย์เวิร์ดต่างๆ เข้ามารวมว่าเราต้องการเห็นอะไร ซึ่งตัวแผนนี้บอกว่าคณะกรรมการที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน ซึ่งก็เป็นคนของ คสช. เองและผู้เชี่ยวชาญที่ คสช. เชิญมาร่วมร่าง และกำหนดสิ่งที่อยากเห็นในสังคมไทย

การที่เราฝันและพาคน 70 ล้านคนไปทางไหนต่อ ในภาคเกษตรเขาบอกว่าเป็นฐานการผลิตไบโอเบสที่สำคัญ เป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงปลอดภัย เราจะพบว่ามันมีภาพบางอย่างที่เราอยากเห็นเกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ อีกภาพคืออยากเห็นเกษตรกรที่พอเพียง พึ่งพาตัวเองได้ ไม่โลภมาก เป็นอีกภาพที่ทับซ้อนกันอยู่เหมือนกัน

นี่คือภาพตัวอย่างของยุทธศาสตร์ที่บอกว่าต้องการเกษตรกรเข้มแข็งต้องทำยังไง อยากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกษตรกรทุกคนต้องเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ให้ได้ แล้วก็มีเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรทุกคนต้องเข้าถึงงานวิจัยได้ พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนต้องอยู่ที่ 10 ล้านไร่ คำถามคือเขาเอาภาพเหล่านี้มาจากไหน ทำไมถึงอยากเห็นภาพแบบนี้ และภาพนี้เป็นภาพเดียวกับที่เกษตรกรต้องการหรือเปล่า

พอพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 และภาคการเกษตร เราฝันอยากเห็นเกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ แต่ผมแสดงความเห็นว่า หลายครั้งที่เรามีภาพที่คาดหวังว่าอยากให้เขาเป็นแบบไหน แต่ภาพที่เกษตรกรอยากจะเป็นในชีวิตบางทีไม่ตรงกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น