โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พุทธพาณิชย์: การเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

Posted: 04 May 2018 09:39 AM PDT

 

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของพุทธพาณิชย์ในสังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่ง "ศาสนา" คือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล โดยเริ่มจากศาสนาผีจนผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ กระทั่งเกิดหลากหลายของศาสนาในปัจจุบัน ซึ่งรูปแบบแต่ละศาสนามีการดำเนินการในสังคมที่แตกต่างกัน จนเกิดการเคลื่อนของความเป็นอารยะของศาสนาอื่นเข้ามาแทนที่ศาสนาดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดการเป็นวัฒนธรรมหลักและวัฒนธรรมรองในสังคม แต่ในระบบสากลศาสนาพุทธหรือพราหมณ์นั้นไม่ใช่วัฒนธรรมหลัก แต่กลับเป็นศาสนาของชาติตะวันตกที่เป็นวัฒนธรรมสากล ในปัจจุบันโลกาภิวัตน์เป็นพลังขับเคลื่อนแนวคิดเสรีนิยมไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับหลักคิดของทุนนิยมและบริโภคนิยม ศาสนาพุทธจึงได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ดังกล่าว จนละเลยหลักคำสอนดั้งเดิม อันเป็นผลจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ทำให้บทบาทของเงินตรามีอำนาจนำในสังคม ศาสนสถานกลายเป็นตลาดธุรกิจชั้นดี เน้นการแสวงหาผลกำไรได้อย่างเสรี เช่น วัด สำนักนิกายใหม่ ที่ตอบสนองคุณค่าทางวัตถุมากกว่าคุณค่าทางจิตใจน นอกจากนี้ทุนนิยมไม่ได้อยู่ในขอบเขตเพียงด้านเศรษฐกิจ แต่กลับข้ามผ่านไปมีผลในด้านสังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งสังคมไทยในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าอยู่ในสังคมบริโภคนิยม แม้แต่ศาสนาก็ถูกทำให้เป็นธุรกิจเช่นกัน

 

บทนำ

"พุทธพาณิชย์"ถูกมองว่าเป็นกิจกรรมหรือกระบวนการที่อาศัยช่องทางความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ในทางพาณิชย์ทุกรูปแบบ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลักธรรม ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติที่ผิดไปจากแนวทางคำสอน เช่น การรับบริจาคเงินหรือปัจจัยจากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาเพื่อสมทบทุนสร้างสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัด โดยเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมกับสมณะวิสัย หรือเพื่อการนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นที่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย แล้วมาเป็นข้ออ้างหรือเหตุผลในการทำกิจกรรม หรือที่เรียกว่าเป็นการ "ขายความเชื่อ" ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งบางกรณีอาจมีวัตถุมงคลเหรียญต่างๆ รวมถึงพระพุทธรูปหรือรูปเคารพของเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงให้เป็นสิ่งตอบแทน การหาเงินในการขายความเชื่อเรื่องบุญ ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าบูชาพระเครื่อง ถวายสังฆทานเวียน ทำบุญหยอดเหรียญเงินใส่ตู้บริจาค เป็นต้น ซึ่งพุทธพาณิชย์เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในทุกสถาบันทางศาสนาในประเทศ ถือเป็นศูนย์กลางดึงดูดความศรัทธาจากญาติโยมให้มาทำบุญใช้บริการกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด นอกจากนั้นยังมีเรื่องของบุญหรือการทำบุญมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้าขาย ความเชื่อดังกล่าวจนอาจมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการขายบุญไปด้วยการจัดงานบุญตามเทศกาลต่างๆ งานเทศกาลประจำปีนมัสการปิดทอง พิธีไหว้ครู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้เข้าวัดและนำไปใช้ในกิจการทั้งในเชิงสาธารณะและเชิงปัจเจกบุคคล ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จัดอยู่บนพื้นฐานเรื่องบุญในพุทธศาสนา เพราะวัดถือเป็นแหล่งสร้างบุญ และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนซื้อขายบุญ (ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์, 2555, หน้า 6-7)

การนำหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามาแปรเปลี่ยนเป็นต้นทุนทางธุรกิจ เพื่อดำเนินการแสวงหาช่องทางการทำรายได้อย่างเป็นระบบ การกระทำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่วัดและพระสงฆ์จะกระทำได้ เนื่องจากขัดกับพระธรรมวินัยและหลักคำสอน ซึ่งพระสงฆ์บางรูปหรือบุคลากรในวัดบางคนก็ไม่เห็นด้วย ยอมรับว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแต่ด้วยข้อจำกัดในบทบาทหน้าที่ทางการปกครองจึงไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เพราะไม่มีอำนาจในการสั่งการหรือวางแผนนโยบาย และอีกประการหนึ่งกระบวนการพุทธพาณิชย์ไม่ได้เกิดจากพระสงฆ์ฝ่ายเดียว แต่มีฆราวาสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น กลุ่มหมอดู กลุ่มผู้ประกอบการตู้หยอดเหรียญทำบุญอัตโนมัติ และรวมไปถึงฆราวาสภายในวัด เช่น กรรมการวัด ซึ่งกิจกรรมหลายอย่างเป็นผลงานและความคิดของฆราวาส ซึ่งยอมรับว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นฆราวาสทั้งสองกลุ่มต่างก็มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เช่น เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่เพื่อหาผลประโยชน์กับวัดในทางหนึ่ง และอีกนัยหนึ่งพุทธพาณิชย์ คือการทำบุญที่ต้องมีการกำหนดราคา ไม่ใช่การทำบุญตามแต่ศรัทธาของญาติโยม แต่การทำบุญนี้กลับมีเงื่อนไขสิ่งตอบแทน เช่น ค่าดอกไม้ธูปเทียน 20 บาท ค่าสังฆทานชุดละ 199 บาท ทำบุญ 100 บาทจะได้บูชาพระ 1 องค์ เป็นต้น (ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์, 2555, หน้า 6-7)

พุทธศาสนาไม่ได้มีเพียงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของพิธีกรรมและความเชื่ออื่นที่เข้ามาผสมกลมกลืนกับพระพุทธศาสนา ตลอดจนความเชื่อพื้นฐานของคนไทยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งลึกลับ และความเข้าใจในศาสนาที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงตามหลักพุทธธรรม ทำให้การพิจารณาความหมายของพุทธพาณิชย์จึงจำเป็นที่จะต้องนำปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เข้ามาร่วมพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ภายใต้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเพราะหากพิจารณาอย่างสุดโต่งตามรากศัพท์ที่มีแนวทางจากพุทธศาสตร์ พุทธพาณิชย์จะเป็นเพียงการค้าที่อาศัยหลักธรรมคําสอนของพุทธศาสนามาหาผลประโยชน์ ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เรื่องการทำบุญกลายเป็นสิ่งที่เสริมสร้างค่านิยมที่ผิดไปจากหลักคำสอน โดยสามารถสังเกตจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่การทำบุญถูกเน้นหนักไปที่การบริจาคเงิน บริจาควัตถุ ยิ่งมีกำลังทรัพย์มากก็จะได้บุญมาก เป็นลักษณะของการซื้อขายตามวิถีแห่งสังคมบริโภคนิยม ซึ่งบ่งบอกถึงความคับแคบในจิตใจของคนในยุคปัจจุบันที่ทำบุญแบบเห็นแก่ตัว มองเรื่องบุญเป็นปัจเจกนิยมเป็นการทำเพื่อตัวเองมากกว่าผู้อื่น มุ่งที่ความต้องการส่วนตนเป็นหลัก กล่าวคือต้องการทำบุญเพื่อเสริมสร้างอำนาจ วาสนา บารมีและความสำเร็จให้กับตัวเอง พุทธศาสนิกชนไทยยึดถือปฏิบัติแนวทางนี้อย่างเป็นเรื่องปกติ มันจึงเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มพระพุทธศาสนา ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของหลักพุทธศาสนาได้ (ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์, 2555, หน้า 140)

ศรัทธากับพาณิชย์ ในปัจจุบันธุรกิจการทำบุญถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถามต่อสังคม โดยมองว่าการทำบุญเป็นเรื่องของความศรัทธาหรือเป็นเรื่องของพาณิชย์กันแน่ สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้วัดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ประกอบพิธีทางศาสนา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งดึงดูดเงินจำนวนมากจากความศรัทธาของคนชอบทำบุญ จนเกิดเป็นวิถีแห่งพุทธพาณิชย์ตามมา ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันสำนึกของปัจเจกบุคคลที่มีต่อศาสนาได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากบทบาทของศาสนาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมที่ต่างไปจากเดิม โดยอิงกับกระแสของความทันสมัยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีนัยของระบบทุนนิยมแฝงอยู่ ปัจเจกบุคคลมองว่าความเชื่อเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่บันดาลให้มีชีวิตที่ดี และความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะเรื่องความร่ำรวยที่เป็นผลมาจากตรรกะของระบบทุนนิยม ซึ่งวัดเป็นศูนย์กลางของความคาดหวังของปัจเจกบุคคล บทบาทของวัดให้ความสำคัญกับการสะสมทุนและการแสวงหากำไร กระบวนการแสวงหากำไรบนความศรัทธาจึงเกิดเป็นพุทธพาณิชย์ขึ้นในหลายรูปแบบ การเข้ามาของทุนนิยมโดยคลื่นโลกาภิวัตน์ยังก่อให้เกิดกระบวนการทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในศาสนาลดน้อยลง โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดนั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่จะนำมาทำการศึกษาการก่อตัวของพุทธศาสนาในเชิงธุรกิจ โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การพุทธพาณิชย์ ดังนั้นคณะผู้ศึกษาจึงมีความประสงค์ที่จะนำเสนอถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของพุทธพาณิชย์ในสังคมไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ (พระครูสังฆรักษ์ศุภณัฐ ภูริวฑฺฒโน และ ศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์, 2559, หน้า 142-143)
 

พุทธศาสนาในอดีต ฐานะเครื่องมือทางการเมือง

การปรับตัวของศาสนาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในยุคของโลกาภิวัตน์เท่านั้น แต่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การแผ่ขยายศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนดั้งเดิม กล่าวคือการแทนที่กันของศาสนา ในอดีตศาสนากับการเมืองถือเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม แต่ในปัจจุบันพลังในการขับเคลื่อนสังคมคือ เศรษฐกิจและการเมือง โดยศาสนาผีเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก พื้นฐานความเชื่อของคนในโลกมักนับถือศาสนาผีก่อนศาสนาอื่น ซึ่งในไทยมีนักปราชญ์ร่วมสมัยเคยอธิบายไว้ว่า "ศาสนาผีที่เคลือบด้วยพราหมณ์กับพุทธ" เฉพาะไม่ขัดกับหลักผี คนไทยโดยทั่วไปคิดว่าตนนับถือศาสนาพุทธ แต่ในบ้านและวัดมีทั้งศาลผี ศาลพระภูมิ และทรงเจ้าเข้าผีมากกว่าอย่างอื่น ในยุคก่อนหมอผีเป็นผู้มีพลังพิเศษสามารถสื่อสารติดต่อกับผีได้ ซึ่งเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558)

ศาสนาผี เพศหญิงได้รับการยกย่องให้เป็นใหญ่ เรียกว่าเจ้าแม่ หมอผี หรือหัวหน้าพิธีกรรม โดยมีผู้ชายเป็นบริวาร ซึ่งผู้หญิงที่เป็นหมอผีหรือหัวหน้าพิธีกรรม จะมีบทบาทเป็นหัวหน้าเผ่าและทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยทางการเมืองแรกสุดและเก่าที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาเรื่องความเป็นผู้นำทางพิธีกรรมด้วย เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงทางพืชพันธุ์ธัญญาหารของชุมชน โดยหัวหน้าเผ่าและเครือญาติ คือกลุ่มคนที่ควบคุมเข้าถึงความมั่งคั่งและอำนาจ ขณะเดียวกันก็กีดกันคนส่วนใหญ่ในชุมชนให้ออกไปจากความมั่งคั่งและอำนาจ  (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558)

หลังรับศาสนาจากอินเดีย บรรดาหัวหน้าเผ่าพื้นเมืองเริ่มเปลี่ยนจากหญิงเป็นชายผู้นำทางศาสนาตามแบบแผนการเมืองการปกครองจากอินเดียด้วย เห็นได้จากชื่อตำแหน่งหัวหน้าเผ่าถูกเปลี่ยนเป็นภาษาบาลี-สันสกฤตที่ได้จากชื่อศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย เช่น พรหม หรือพรหมเทพ เป็นกษัตริย์หรือราชาองค์แรก ในโองการแช่งน้ำเรียกพระพรหม มหาเทพในศาสนาพราหมณ์ด้วยคำพื้นเมืองว่าขุนแผน (ที่กลายจากคำว่าแถน) เท่ากับเป็นร่องรอยว่าหลังรับศาสนาจากอินเดียได้ปรับเปลี่ยนจากหมอผีเป็นพระราชา (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558)

หัวหน้าเผ่าบางชุมชนจะเปลี่ยนเป็นผู้ชาย เพราะริบอำนาจจากผู้หญิง และบางชุมชนอาจแยกเป็นคนละคนกันระหว่างหัวหน้าเผ่ากับหมอผี เฉพาะหมอผีจะเปลี่ยนเป็นนักบวชในศาสนาพราหมณ์และพุทธ  ต่อไปข้างหน้าหมอผีจะได้ชื่อใหม่เป็นทางการด้วยภาษาศักดิ์สิทธิ์จากอินเดียว่าพระครู  โหราธิบดี  โหราจารย์ ศาสตราจารย์ นักวิชาการ ฯลฯ นักบวชเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้หัวหน้าเผ่า บางทีนักบวชทำงานทางการเมืองด้วยตนเอง ดังนั้นศาสนาผีนั้นแสดงให้เห็นว่า เป็นรากฐานของเครื่องมือในอดีตที่แสดงถึงอำนาจ ที่ก่อให้เกิดการเมืองการปกครองในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้พระราชพิธีในพระราชวงศ์ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ศาสนาผีอยู่กับเราตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่คนเลือกที่จะไม่พูดถึง และลืมไป เพราะความเชื่อนี้ขัดกับศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2558)

แต่เดิมเพศหญิงมีบทบาทนำในการปกครองเป็นผู้นำในการปกครอง จะเห็นได้จากผู้ที่เป็นหมอผีหรือหัวหน้าชนเผ่าจะเป็นเพศหญิงและมีบริวารเป็นเพศชายเพราะเชื่อว่าเพศหญิงสามารถสื่อสารกับผีได้ เนื่องจากเพศหญิงมีความใกล้ชิดธรรมมชาติมากกว่าผู้ชายตามแนวคิดของกลุ่มสตรีนิยม (Feminism) ต่อมาเมื่อมีการเข้ามาของอำนาจใหม่ที่เข้ามาแทนที่อำนาจเก่า อย่างศาสนาจากอินเดียที่เข้ามาแทนที่ศาสนาผีที่เป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างในกรณีที่เห็นจาก บทบาทของผู้หญิงซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจนำ แต่ว่าเมื่อมีศาสนาอินเดียเข้ามาอำนาจถูกเปลี่ยนมือจากอำนาจหญิงไปสู่อำนาจชาย อย่างเช่น ในวรรณกรรมหนังสืออุรังคธาตุที่แสดงเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ปราบนาคซึ่งแสดงให้เห็นว่านาคเป็นตัวแทนของศาสนาผีและพระพุทธเจ้าเป็นตัวแทนจากศาสนาที่มาจากอินเดีย ซึ่งเกิดการปะทะกันนำไปสู่การขัดแย้งระหว่างศาสนาใหม่กับศาสนาดั้งเดิมของชาวพื้นเมือง

การคืบคลานของศาสนาสากล สำหรับในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธเคยเป็นบทบาทนำ (ฐานะของ Core) ของประเทศได้ถูกลดบทบาทลงอย่างเห็นได้ชัด ในสมัยก่อนคณะสงฆ์จะมีบทบาทในการพูดให้คนเชื่อฟัง แต่ในปัจจุบันกลับมีอำนาจอื่นที่เข้ามามีบทบาทนำแทน และศาสนาพุทธที่เคยเป็นวัฒนธรรมหลักในไทยแต่เป็นเพียงวัฒนธรรมรองในระบบสากล ถูกกลืนกินไปภายใต้ศาสนาสากลที่เรียกว่า ศาสนาคริสต์ เช่นวันฉลองวันประสูติของพระเยซูในวันคริสต์มาส, การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม ทั้งที่แต่ก่อนคือวันที่ 13 เมษายน แต่ด้วยความเป็น Universal Law หรือกฎสากล จึงผลให้พระพุทธศาสนาเสื่อมบทบาท (จนตกอยู่ในฐานะของ Sub) ลงอย่างที่ไม่สามารถต้านได้ เนื่องจากในสากลโลก ศาสนาที่เป็นถือเป็นที่หนึ่งคือศาสนาคริสต์ ซึ่งมาจากชาติตะวันตก ต่อไปในอนาคตศาสนาคริสต์อาจขึ้นมาเป็น Core อย่างเต็มตัว โดยหลงลืมศาสนาเริ่มแรกอย่างศาสนาพุทธ เหมือนที่พุทธศาสนาทำกับศาสนาผี

 

พุทธพาณิชย์ในยุคโลกาภิวัตน์ ฐานะเครื่องมือเศรษฐกิจ

การที่กระแสโลกาภิวัตน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในปัจจุบันนั้น  มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยหลักแรก ได้แก่ ภาวะทันสมัย โดยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากสังคมที่มีรูปแบบการยังชีพที่เรียบง่าย ไปสู่สังคมแบบเมืองและสังคมอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับโลกของวัตถุ ลักษณะเด่นของสังคมสมัยใหม่ คือ การเป็นสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมอุตสาหกรรม  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเรื่องของการเมือง วัฒนธรรมและศาสนาด้วย  ปัจจัยที่สองที่กระตุ้นให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ ได้แก่ กระบวนการเหตุผลนิยม ซึ่งเป็นผลพวงของภาวะทันสมัย (วชิรวัชร งามละม่อม, 2558)    

ความสำคัญของเหตุผลนิยมและภาวะทันสมัยที่มีต่อกระแสโลกาภิวัตน์ คือ การที่ภาวะทันสมัยหรือการเปลี่ยนแปลงสังคมจากประเพณีนิยมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้ กระบวนการคิด ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเฉพาะในเรื่องของอุตสาหกรรม กระบวนการผลิต เทคโนโลยี หรือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงระบบคิดของผู้คนในสังคมในด้านต่างๆ

การที่โลกเข้าสู่สภาวะไร้พรมแดนและมีการสื่อสารที่ไร้ขอบเขตดังกล่าว นอกจากทำให้เกิดวัฒนธรรมสากลขึ้นแล้ว ยังทำให้โลกได้มองเห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของสังคมต่างๆ ทั่วโลก และยังทำให้อำนาจในการปกครองหรืออำนาจของรัฐบาลที่เคยควบคุมพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งลดลงไปด้วย  ซึ่งทำให้ดูเหมือนไม่มีศูนย์กลางของการปกครอง ทั้งนี้เพราะอำนาจทางการเมืองในการควบคุมความคิดของคนไม่ได้อยู่ในมือขององค์กรใดองค์หนึ่งอีกต่อไป แต่คนกลับมีอิสระในการแสวงหาความรู้หรือตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นได้อย่างเสรี จนบางครั้งแม้จะละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รัฐก็ไม่สามารถเข้าควบคุมได้อย่างเด็ดขาด

ความหลากหลายของความคิด ทำให้สิ่งที่ผู้คนในสังคมเคยยึดถือเป็นมาตรฐานควบคุมพฤติกรรม ซึ่งเราเรียกว่า บรรทัดฐาน ที่ประกอบด้วย วิถีประชา จารีต และกฎหมายต่างๆ ถูกลดความความสำคัญลง  ผู้คนมีแนวโน้มจะยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน ค่านิยมหรือแนวคิดที่เคยถูกปฏิเสธหรือต่อต้านในอดีตได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น การยึดถือความสุขทางวัตถุเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต การปฏิเสธหลักคำสอนในศาสนาหรือการแสดงตนเป็นบุคคลไม่มีศาสนา โลกาภิวัตน์ได้ลดทอนความสำคัญของศาสนาลง

กระบวนการสร้างความทันสมัย มักตามมาด้วยการเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรีนิยม โดยมักสวนทางหรือขัดแย้งกับแนวคิดทางศาสนา ซึ่งมีผลทำให้แนวคิดทางศาสนานั้นถูกลดบทบาทลง ในหลายประเทศนั้นนโยบายสร้างความทันสมัยมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดทางศาสนาโดยตรง เนื่องจากมีแนวความคิดว่า ศาสนานั้นขัดขวางความเจริญของประเทศ คือการทำให้รัฐเป็น "รัฐทางโลก" หมายถึง การลดอภิสิทธิ์ของศาสนาที่มีอยู่เดิม โดยทางการผลักศาสนาออกไปจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาจำนวนมาก รู้สึกว่าศาสนากำลังถูกบ่อนทำลาย ทำให้เกิดการเติบโตของกลุ่มเคร่งจารีตในแวดวงศาสนาต่างๆทั่วโลก และสภาวะโลกาภิวัตน์นี้เอง ได้มีส่วนขยายปฏิกิริยาและเพิ่มความเข้มข้นให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ ทำให้แนวคิดและค่านิยมแบบรัฐทางโลกแพร่ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การท่องเที่ยว ค่านิยมแบบรัฐทางโลก และนำมาซึ่งวัฒนธรรมบริโภคนิยม (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 1)

สำหรับพระพุทธศาสนา เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ดูเหมือนว่าการเผยแผ่ศาสนาจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่อีกด้านหนึ่งของสภาวะโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือ การแพร่ขยายของลัทธิบริโภคนิยมไปทั่วทั้งโลก จนอาจกล่าวได้ว่าบริโภคนิยมได้กลายเป็นวัฒนธรรมโลกอย่างหนึ่งไปแล้ว ด้วยความที่โลกาภิวัตน์ในปัจจุบันถูกผลักดันโดยทุนนิยม ซึ่งสนองผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ สิ่งที่ตามมา คือการแพร่หลายของกระบวนการทำให้เป็นสินค้า และการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคโดยผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งนั่นก็หมายถึงวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสินค้า การกระตุ้นการบริโภคโดยผ่านสื่อต่างๆการที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติสามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังถูกใช้กับศาสนาหรือเพื่อหวังความมั่งคั่งทางวัตถุมากกว่าความสงบเย็นในจิตใจ หรือถ้าต้องการความร่มเย็นในจิตใจ แต่เลือกที่จะคิดว่าใช้เพียงแค่เงินก็สามารถบรรลุความต้องการได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ท่าทีบริโภคนิยมได้เข้ามากำหนดจุดมุ่งหมายและวิธีการในการเข้าหาศาสนา เมื่อผู้คนมีพฤติกรรมดังกล่าว จึงเป็นธรรมดาที่ศาสนาจะปรับตัวให้สอดคล้องปรากฏการณ์เช่นกัน (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 1)

การปรับตัวของศาสนาให้เข้ากับบริโภคนิยมจะมีลักษณะสำคัญคือ 1. เน้นคุณค่าแบบวัตถุนิยมเพื่อการมุ่งสนองความต้องการทางวัตถุ เช่น ประสบความสำเร็จทางธุรกิจร่ำรวย 2. สัญลักษณ์และบริการทางศาสนาถูกทำให้เป็นสินค้า โดยผู้ซื้อหวังว่าจะได้รับโชคหรือรางวัลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เงินจึงกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการบรรลุความต้องการทางศาสนา 3. พิธีกรรมทางศาสนาถูกย่นย่อให้กระชับสั้น ใช้เวลาไม่นานและมีความสะดวกมากขึ้น 4. ลักษณะปัจเจกนิยม คือตอบสนองความต้องการของปัจเจกบุคคล โดยไม่คำนึงว่าหากสนองความต้องการดังกล่าวแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นหรือส่วนรวมอย่างไร (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 2)

ศาสนาแบบบริโภคนิยมจะเห็นได้ทั่วไปทั้งในศาสนาหลัก เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ ศาสนาใหม่ ดังตัวอย่างขบวนการเอลชัดได (ฟิลิปปินส์) และธรรมกาย ศาสนาเหล่านี้สามารถดึงดูดทั้งคนจนและคนรวย แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้คนที่ต่างฐานะทางเศรษฐกิจสังคมจะแยกการเข้าหาศาสนาที่คิดว่าเหมาะกับตนเองมากที่สุด ขณะเดียวกันศาสนาส่วนมากจะพยายามพัฒนาจุดขาย เพื่อดึงผู้ศรัทธามาให้ได้มากที่สุด และการแข่งขันผลิตสินค้าทางศาสนาเพื่อดึงเงินจากผู้ศรัทธา ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ตลาดศาสนา" โดยการใช้วาทกรรม

ซึ่งเป็นกลุ่มถ้อยคำที่ใช้แสดงความรู้หรือวิธีการนำเสนอความรู้ ถือเป็นกระบวนการการผลิตความรู้ผ่านภาษา แต่เนื่องจากปฏิบัติการในสังคมก่อให้เกิดความหมาย และความหมายนั้นย้อนกลับมามีอิทธิพลต่อปฏิบัติการที่เรากระทำ ดังนั้นปฏิบัติการต่างๆ จึงถือว่าเป็นปฏิบัติการเชิงวาทกรรม ซึ่งวาทกรรมไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะภาษา แต่การกระทำในสังคมมีมิติของความเป็นวาทกรรมอยู่ด้วย เป็นการผลิต-สร้างวาทกรรม และพยายามสถาปนาวาทกรรมที่ตนเองผลิต-สร้างขึ้นมา ให้มีอำนาจหรือครองความเป็นเจ้าเหนือวาทกรรมชุดอื่น เปรียบดังกรณีของวาทกรรมของธรรมกาย คือ การใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนามาพูดเพื่อแสวงหาผู้เลื่อมใสให้มาอยู่ใต้อำนาจ ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวคนทั่วไปอาจมองเป็นเรื่องที่เกินความจริง แต่สำหรับผู้ที่ศรัทธากลับเชื่อมั่นในคำสอน และนำไปสู่ปฏิบัติการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการถูกครอบงำผ่านตัวภาษา เช่น "ปิดบัญชีทางโลก เปิดบัญชีทางธรรม" ซึ่งใครถวายเงินมากจะมีโอกาสใกล้ชิดเจ้าสำนัก, "ต้นธรรม ต้นธาตุ" โดยหมายถึงตนเหนือกว่าพระพุทธเจ้า, "พระรุ่นดูดทรัพย์" มีไว้แล้วจะโคตรรวย โคตรรวย, "ไม่ได้ไม่มี ไม่มีไม่ได้ ไม่ได้ต้องเอาให้ได้ ต้องได้และดี และให้ดีกว่าดีที่สุด" หรือในกิจกรรมการจัดธุดงค์ธรรมชัย ก็กล่าวว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อสร้างบุญใหญ่และสิริมงคลให้แผ่นดินไทย ปัดเป่าภัยพิบัติให้แผ่นดิน แสดงความกตัญญูอย่างสูงสุด เป็นผลทำให้คนบางกลุ่มลุ่มหลงอยู่กับภาษาที่สวยงาม

คำพูดที่แฝงด้วยนัยได้อย่างแยบยล สุดท้ายก็นำไปสู่ปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย แต่นั่นกลับทำให้คนเกิดความหวังและใคร่ที่จะได้มา จนถึงขั้นกระหายในสินค้าบุญ แม้จะต้องใช้เงินเป็นสะพานถึงกับให้ทำบุญด้วยเงินมากจะบุญได้มาก ให้ขายบ้านขายรถจนคนหมดตัว อย่างไรก็ตามหนังสือที่มูลนิธิธรรมกายจัดขึ้น ยังถือเป็นเครื่องมือในการบรรจุวาทกรรมชั้นดี เพื่อการเผยแพร่หลักคำสอนของศาสนาธรรมกายในแง่ดี กล่อมเกลาให้คนมัวเมาและเชื่อตามตำรา และยังมีการนำเสนอเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ อย่าง ช่องรายการทีวี DMC หรือสื่อออนไลน์ เป็นต้น  ซึ่งสามารถแทรกซึมผ่านการสัมผัสรับรู้ได้ง่าย อันส่งผลต่อความคิดของผู้คนที่จะหันมานับถือศรัทธา และเหตุผลที่นำไปสู่ความเข้าใจของผู้ที่นับถือศาสนาธรรมกาย ทำไมจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาโดยยอมตกอยู่ในฐานะผู้ถูกครอบงำ ซึ่งเกิดจากคนมีความกลัว ในที่นี้คือการกลัวที่จะมีเสรีภาพ (Free from Freedom) โดยจะมีลักษณะบุคลิกแบบอำนาจนิยม (Authoritative personality) ทั้งยอมอยู่ภายใต้อำนาจและพร้อมกับยกย่องผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นผลจากการปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว ด้วยผ่านการสั่งสอนและการปฏิบัติให้เห็นจากพ่อแม่ว่าศาสนาพุทธเป็นสิ่งดี คือแนวทางของการดำเนินชีวิต หากเข้าวัด ทำบุญ ฟังเทศน์แล้วจิตใจจะสงบ แต่กลับมีนัยของการครอบงำให้เราปฏิบัติตามแบบแผนของศาสนา ทำให้เกิดความเชื่อและยอมปฏิบัติตาม โดยภายใต้ศาสนาใหม่แบบทุนนิยมนี้จะทำให้บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมมีตัวตนและสามารถดำรงอยู่ได้โดยปริยาย ซึ่งถือเป็นการทำให้มนุษย์ยอมอยู่ใต้อำนาจบางอย่าง

หากแนวทางของบริโภคนิยมสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณได้ ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็น แต่บริโภคนิยมกลับไม่สามารถบำบัดทุกข์ของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ซ้ำยังสร้างความทุกข์ให้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนาจะก้าวเข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์โดยไม่ยึดติดกับอดีต ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้จากศาสนาใหม่ซึ่งมีความยืดหยุ่นและฉับไวในการตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากกว่า อย่างไรก็ตามศาสนาใหม่นั้นมีแนวโน้มงเช่นเดียวกับศาสนาเก่า จนขาดชีวิตชีวาและขาดพลังในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง ดังนั้นจึงต้องพร้อมที่จะปฏิรูปตนเองอยู่เสมอ ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการตอบสนองความต้องการทางวัตถุเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของกลุ่มศาสนาเป็นอันมาก (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 3)

สำหรับศาสนาในอดีตได้มีบทบาททั้งทางด้านวัตถุ สังคมและจิตวิญญาณโดยไม่แยกจากกัน การแยกบทบาททางด้านจิตวิญญาณให้แก่ศาสนาและบทบาทวัตถุและสังคมให้แก่สถาบันทางโลก เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง การแพร่ขยายของบริโภคนิยมในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนาในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้คน การคล้อยตามบริโภคนิยมอย่างที่วัดจำนวนไม่น้อยกำลังทำอยู่ไม่ใช่ทางออกสำหรับพุทธศาสนาจะต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ทางด้านการปกครองและการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจริยธรรมและสามารถชี้นำผู้คนให้เข้าถึงความสงบสุขภายในท่ามกลางความไม่แน่นอนของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่กล่าวมาหลักธรรมดังกล่าวถูกละเลยไปจนผู้คนเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนแค่ "ทำดี ละชั่ว" เท่านั้น (ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ม.ป.ป.,หน้า 4)

อย่างในกรณีการเช่าบูชาจตุคามรามเทพ หรือวัตถุมงคลต่างๆที่ใช้สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ จะเป็นการที่เราเข้าไปลุ่มหลงงมงายกับสินค้าทางวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่า "Culture Commodity Fetishism" โดยเป็นการสร้างมายาภาพของวัตถุ (Reification) ให้สะท้อนถึงบทบาททางด้านจิตวิญญาณของศาสนา ถึงแม้ว่าบทบาททางด้านจิตวิญญาณจะเป็นสิ่งสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็ต้องไม่ละเลยความต้องการทางด้านวัตถุและสังคมของมนุษย์ บทบาททางจิตวิญญาณต้องไม่แยกจากบทบาททางด้านวัตถุและสังคม เพราะความผาสุกทางด้านจิตวิญญาณนั้นสำคัญกับความผาสุกทางวัตถุและสังคม

ศาสนาจึงเป็นปัจจัยให้วัฒนธรรมการบริโภค รวมทั้งรสนิยมการบริโภคแบบตะวันตก สามารถรุกล้ำเข้าไปในโลกและมีอิทธิพลต่อความคิดและวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น วัฒนธรรมการบริโภคนิยมใช้เงินเป็นอุปกรณ์สำคัญ นับว่าได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลและมีผลกำหนดวิถีชีวิต และทัศนคติของผู้คนอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งกลายมาเป็นการกำหนดความสัมพันธ์ในสังคม เช่น พ่อแม่แสดงความรักต่อลูกด้วยการซื้อของราคาแพงให้กับลูกแทนที่จะให้เวลากับลูก ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนิสิตในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ ดังนั้นศาสนาแบบบริโภคนิยม จึงสามารถบรรลุได้ โดยไม่ต้องเพียรพยายาม ปัญหาชีวิตสามารถแก้ได้โดยไม่ต้องมีการลงทุนลงแรงก็สามารถเข้าถึงได้ เพียงแค่ใช้เงินเป็นเครื่องมือของบริโภคนิยมในการแก้ปัญหา

ความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปศาสนา ศาสนาสามารถทำให้เกิดความสุขสงบในจิตใจ แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งปรนเปรอทางวัตถุและความบันเทิงที่ได้มาโดยฉับพลัน ทำให้ความสุขสงบในจิตใจกลับเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ผู้คนเชื่อว่าเงินตราจะทำให้มีความสุข แต่เมื่อมีเงินมาก ชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นแต่กลับเป็นทุกข์ โดยความทุกข์ท่ามกลางความมั่งคั่งที่ทำให้ผู้คนตระหนักว่าศาสนาอาจเป็นคำตอบได้ แต่ศาสนาก็ไม่สามารถให้ความสงบอย่างที่ต้องการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยึดติดกับประเพณีและรูปแบบ ซึ่งเป็นเพียงแค่เปลือกนอกของศาสนา จนละเลยบทบาทสำคัญ ได้แก่ การบำบัดความทุกข์ทางจิตวิญญาณ ยิ่งไปกว่านั้นสถาบันศาสนายังถูกอิทธิพลของบริโภคนิยมครอบงำ ทำให้ผู้คนหมดศรัทธากับศาสนา


ปรากฏการณ์ที่นำไปสู่พุทธพาณิชย์

  • ปัจจัยทางสังคม ความเสื่อมของพุทธศาสนา

ภาพของพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำทางศาสนากับสีกา(ผู้หญิง) ที่มีความสัมพันธ์กันเชิงชู้สาว ตามที่เราเห็นจากสื่อต่างๆอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พุทธศาสนิกชนหลายฝ่ายมองว่า พระพุทธศาสนากำลังจะเสื่อมถอยลง ซึ่งเราจำเป็นที่ยอมรับข้อเท็จจริงว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่ทำให้เกิดความแตกแยก และเกิดความเสื่อมทางด้านศีลธรรม นอกจากนี้ยังมีความรุนแรง อาชญากร และยาเสพติดของนักบวชปรากฏขึ้นตามสื่ออยู่เสมอ  ส่วนฆราวาสกลับไปยึดในพิธีกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น ในที่สุดก็จะไม่เห็นคุณค่าของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อารยธรรมต่างประเทศที่ผ่านสื่อเข้ามาทั้งหลาย แล้วมาทำให้วิถีชีวิตของคนให้แสดงออกในทางความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและมีความสนใจในหลักธรรมหรือคำสอนของศาสนาน้อยลง (พลังจิต, 2549)

ซึ่งความเสื่อมของพุทธศาสนานำไปสู่การกำเนิดนิกายในศาสนา มีสาเหตุดังนี้

1. ความแตกต่างกันทางความประพฤติ การถือปฏิบัติในวินัยทางศาสนาที่นักบวช หรือศาสนิกชนแต่ละคน ประพฤติมีความแตกต่างกัน เช่น การเชื่อถือตามการสอนของอาจารย์ในคณะของตน ว่าเราควรปฏิบัติอย่างนั้น เราควรปฏิบัติอย่างนี้ โดยไม่ได้ยึดถือวินัยดั้งเดิมที่ศาสดาได้บัญญัติไว้ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่แพร่หลายทางคำสอนที่จะผ่านมา รวมถึงสาวกรุ่นหลังไม่มีโอกาสที่จะได้รับฟังโดยตรง จึงต้องฟังจากอาจารย์ ซึ่งอาจารย์บางท่านก็อาจจะประพฤติต่างจากวินัยดั้งเดิม จึงส่งผลให้ลูกศิษย์ประพฤติตามอาจารย์ไปด้วย เมื่อคณะนักบวชหลายๆคณะมีความแตกต่างกันทางความประพฤติ จึงเกิดการไม่ยอมรับความประพฤติของนักบวชจากสำนักอื่นและได้เกิดการแยกเป็นนิกายต่างๆขึ้น

2. ความแตกต่างของการตีความในคำสอน ซึ่งในคำสอนของพระศาสดาแต่ละท่าน หลังจากยุคของพระพุทธเจ้า ได้เกิดการตีความคำสอนจากสาวกรุ่นหลัง รวมไปถึงการยึดถือปฏิบัติในลักษณะที่ต่างกัน ก็เกิดการแยกเป็นนิกายขึ้น

3. ความเชื่อของชาวพุทธเกิดการเสื่อมลง ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าและขยายตัวกว้างขวาง ซึ่งระดับการเรียนรู้ของคนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน สามารถเข้าใจในส่วนของจิตวิทยาเชิงพุทธได้มากกว่าคนในอดีต และหากส่วนของความเชื่อไม่ได้ลดลง ส่วนของวิทยาศาสตร์ก็จะเห็นไม่ชัดเท่าตอนนี้ ซึ่งเป็นการแปรผันกันโดยตรง เพราะในเมื่อปัจจุบันนี้ องค์ความรู้เชิงพุทธได้มีการนำไปตีความ วิเคราะห์ในเชิงของวิทยาศาสตร์ทางจิตอย่างกว้างขวาง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และโลกก็รู้จักพุทธในส่วนของการนำมาพัฒนาระดับจิตใจ มากกว่าการนำมาใช้ได้เพียงแค่เป็นที่พึ่งทางใจแล้ว โดยเฉพาะชาวตะวันตก ซึ่งไม่ต้องมายึดติดกับส่วนของความเชื่ออย่างชาวตะวันออก จะรู้จักพุทธ ในมุมที่เป็นประโยชน์ จึงจำเป็นต้องใช้ส่วนของความเชื่อ(ศาสนา) เป็นหีบห่อเพื่อส่งต่อภูมิความรู้จากรุ่นสู่รุ่นอีกต่อไป

สรุปว่าการแตกของนิกายหรือการเกิดนิกายขึ้นมานั้น มาจากความแตกต่างทางการปฏิบัติทางพระวินัย และการเชื่อถือปฏิบัติตามธรรมะที่แตกต่างกัน กลายเป็นเหตุแห่งการแตกนิกายขึ้น การเกิดขึ้นของความคิดความเชื่อชุดใหม่ที่เลือกใช้หลักธรรมคำสอนบางอย่างมาบูรณาการผนวกเข้ากับแนวความคิดของตนเอง โดยผ่านปฎิบัติการทางวาทกรรม ที่สามารถทำให้ผู้คนหันมานับถือเลื่อมใสศรัทธาในนิกายใหม่ เนื่องจากผู้คนต่างหมดความเชื่อมั่นกับศาสนาเดิมไปแล้ว

 

  • ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ทุกพื้นที่ทางสังคมที่ตกอยู่ภายใต้เหตุผลแบบเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นรัฐ สังคม องค์กรธุรกิจ ปัจเจกบุคคลและทุกหน่วยย่อยทางสังคม ต่างก็ถูกบริหารจัดการด้วยตรรกะของเศรษฐกิจแบบตลาด แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหรือการซื้อขายด้วยเงินเลยก็ตาม  แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็สามารถถูกทำให้เป็นราวกับเป็น "บริษัท" ที่ขับเคลื่อนไปด้วยแรงจูงใจทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น (ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี, 2559)

การดำรงอยู่และขยายตัวของโลกาภิวัตน์ในช่วงเวลาสามสิบปีทีผ่านมามีความเกี่ยวข้องอันแนบแน่นกับการแพร่กระจายของแนวคิดเสรีนิยมใหม่อย่างยากที่จะปฏิเสธได้เนื่องจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ได้สร้างระเบียบที่ให้สิทธิอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจแก่ทุนและบริษัทเอกชนที่เป็นกลุ่มที่พร้อมจะขยายขอบเขตของการปฏิบัติการข้ามพรมแดนรัฐชาติตลอดเวลา พร้อมกับจำกัดบทบาทของรัฐในการเข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับปริมณฑลทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากการปฏิวัติในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่นเดียวกับแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิคที่เคยเป็นแกนกลางให้โลกาภิวัตน์ในศตวรรษที่ 19 (ตฤณ ไอยะรา, มปป)

แนวคิดเสรีนิยมคลาสสิกและเสรีนิยมใหม่ต่างมีจุดร่วมในการส่งเสริมให้ทุนทำตามตรรกะในการสร้างและขยายขอบเขตการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็ไม่สามารถรักษาสัญญาในเรื่องของการสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการบรรลุถึงเสรีภาพทางเศรษฐกิจของมนุษยชาติ อันเห็นได้จากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ความเหลื่อมล้ำในชุมชนโลกและชะตากรรมของพลเมืองโลกบางกลุ่มที่ต้องเผชิญกับภาวะไร้เสรีภาพทางเศรษฐกิจ (ตฤณ ไอยะรา, มปป)

โลกขับเคลื่อนไปด้วยเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้แนวคิดเสรีนิยม ซึ่งจะอยู่ในรูปของอุตสาหกรรม วัดหรือสถาบันทางศาสนาได้ถูกตีความและจัดอยู่ในประเภทของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Culture Industry) ที่มองว่าวัฒนธรรม ประเพณีหรือแนวทางการปฏิบัติทางศาสนา ถูกนำเข้าไปอยู่ในกระบวนการให้กลายเป็นสินค้า (Commodification Of Culture) ที่เป็นวัตถุที่สามารถจับต้องได้ ขายได้และทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างเสรี ปราศจากปิดกั้น สินค้าทางศาสนาเป็นอำนาจอ่อนอันทรงพลัง (Soft power) หรืออำนาจละมุนที่สามารถแทรกซึมผ่านผู้คนได้อย่างแนบเนียน และได้ผล สินค้าทางศาสนาถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจมีผลอย่างมาก ต่อความคิด ความเชื่อ และการยอมรับนับถือของผู้คนในสังคม  และจากที่พุทธศาสนาอยู่ในรูปแบบของ Artistic stage ที่มีศาสนาคุณค่าในตัวเอง สะท้อนถึงความงามอย่างมีศิลปะ มีสุนทรีย์แฝงอยู่ในสิ่งก่อสร้างทางศาสนา เช่น วัด อุโบสถ แต่ต่อมาด้วยภาวะของ Culture Industry ความงามนั้นค่อยๆ หายไปเป็น Industrial state คือ ในสมัยก่อนผู้คนไปวัดเพื่อชมความงามทางศิลปะของพระพุทธรูป อุโบสถ วิหาร เห็นว่าวัดมีความร่มรื่นทั้งทางกายและจิตใจสงบ แต่ในปัจจุบันผู้คนเข้าวัดเพราะจะไปสะเดาะเคราะห์ ถวายสังฆทานหรือไปรอดโบสถ์ โดยมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารอดพ้นจากภัยอันตราย มีสุขภาพแข็งแรง มีชีวิตที่ดีขึ้นมีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สร้างรายได้ให้กับพุทธพาณิชย์

นอกจากนี้ในแต่ละวัดมักจะมีกิจกรรมการทำบุญในปัจจุบัน อย่างเช่น ตู้หยอดเหรียญทำบุญอัตโนมัติ ใบเซียมซีหยอดตู้ งานวัดปิดทอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าถูกทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ( Standardization ) นำไปสู่ Mass production คือ การผลิตมวลชน การผลิตที่มีรูปแบบตามๆ กันไป และยังทำให้มวลชนกลายเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ( Mass Victimization ) ต้องตกเป็นเหยื่อการตลาดทางศาสนา อย่างเช่น การสะสมพระเครื่อง เครื่องรางของขลังต่างๆ เป็นต้น ที่จะต้องใช้การแลกเปลี่ยนเงินตราในการแลกมาซึ่งวัตถุทางศาสนา ที่เราเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งที่ทำให้เราสงบ ภายในใจได้ และวัตถุมงคลบางรายการมีมูลค่าที่สูงมาก บางวัตถุอาจมีรวมมูลค่าถึงหลักล้านแล้วแต่ความนิยมในตัววัตถุมงคล กับพระเกจิอาจารย์นั้นๆ เช่นในกรณีของตะกรุดของ วัดสายไหม ที่มีผู้คนไปเข้าแถวต่อคิวเพื่อรอรับวัตถุมงคลเป็นจำนวนมาก โดยถือว่าเป็นการแสดงภาพให้ชัดว่าพุทธศาสนาในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงวัดที่ใช้คำว่าหลักธรรมคำสอนมาใช้ในการเผยแผ่ศาสนา แต่เป็นการดำเนินการโดยใช้ความคลาดเคลื่อนของหลักคำสอนผิดไปจากเดิมในการใช้ทำให้วัดเป็นตลาดธุรกิจ

ความเชื่อเรื่องศาสนาภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบศาสนา เป็นระบบความเชื่อ และหลักปฏิบัติของผู้คน ซึ่งสืบทอดผ่านทางพิธีกรรมและคัมภีร์ทางศาสนา สิ่งที่สำคัญทำให้ศาสนาทุกศาสนาดำรงอยู่ได้ คือ การทำให้ศาสนาของตนมีความเป็นสากล (Universal religion) เป็นสัจธรรมสูงสุดที่ครอบคลุมมนุษย์ทุกคน ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับระบบทุนนิยมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ โดยมี งานวิจัยของ Peter. A. Jackson ที่ศึกษาว่าในช่วงทศวรรษ 2530 ว่าเป็นยุคศาสนาแห่งความมั่งคั่ง ซึ่งจะเน้นให้ผลตอบแทนเป็นทรัพย์สินมากกว่าการหลุดพ้นจากกิเลส โดยอิงกับกระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยมรุนแรงมากขึ้น ศาสนาแห่งความมั่งคั่งของประเทศไทยก็ยิ่งเป็นหลักเป็นฐานมากขึ้น ด้วยรูปแบบการผสมผสานความเชื่อทางศาสนาที่มายาวนานกับ พิธีกรรมป้องกันและส่งเสริมโชคชะตา ดังนั้น งานวิจัยของ Peter. A. Jackson จึงชี้ให้เห็นว่า ระบบทุนนิยมกับความเชื่อทางศาสนาสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ และงานวิจัยของ Walter Benjamin กล่าวถึงลักษณะของทุนนิยมที่มีบางอย่างคล้ายกับศาสนา โดยตั้งข้อสังเกตดังนี้ ทุนนิยมและศาสนาเป็นลัทธิที่บริสุทธิ์ โดยที่ไม่มีสิ่งที่เคร่งครัดจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นทุนนิยมและศาสนา จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่ตายตัวโดยทั้งสองขึ้นอยู่กับโอกาสและแนวคิดของแต่ละบุคคล ทุนนิยมและศาสนา มีระยะดำเนินไปอย่างมีความแน่นอนตายตัว โดยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงภายใต้สำนึกของบุคคล (พระครูสังฆรักษ์ศุภณัฐ ภูริวฑฺฒโน และ ศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์, 2559, หน้า 141)

ทุนนิยมและศาสนามีความสัมพันธ์กับระบบการเมืองการปกครองของรัฐอย่างแยกไม่ออก จะเห็นว่าระบบทุนนิยมกับความเชื่อเรื่องศาสนาสามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งเหตุผลของการดำรงอยู่ร่วมกัน คือการที่ลักษณะของระบบทุนนิยมและความเชื่อศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้นำไปใช้ แต่อย่างไรนั้นก็ใช่ว่าระบบทุนนิยมจะสอดคล้องกับความเชื่อของศาสนาเสมอไป เนื่องจากพื้นฐานของระบบทุนนิยมที่เน้นการแสวงหากำไรและสะสมทุน จึงทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ศาสนาจึงไม่สามารถรับพื้นฐานของระบบทุนนิยมได้ เนื่องจากศาสนามีพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน การดำรงอยู่ของศาสนาในยุคทุนนิยมในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การอยู่ร่วมกันเป็นเพียงการยึดโยงในกิจกรรมบางกิจกรรมเท่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมที่มีการปรับเอาแนวคิดทางศาสนามาบูรณาการกับระบบเศรษฐกิจ แบบทุนนิยม ขึ้นกับว่าสังคมนั้นจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับทุนนิยมอย่างไร (พระครูสังฆรักษ์ศุภณัฐ ภูริวฑฺฒโน และ ศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์, 2559,หน้า 141)      

แนวคิดเสรีนิยมใหม่นำมาซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก่อให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม คนหันมาบริโภคทางวัฒนธรรมมากขึ้น แนวคิดความเป็นเสรีทำให้ทุกอย่างสามารถขายได้ เป็นการเปิดกว้างทางความคิด มีสิทธิที่จะผลิตสินค้าทุกอย่างได้เพื่อสนองความต้องการของตลาด มนุษย์มีสิทธิเลือกตามความปรารถนาที่หลายหลาก การเกิดขึ้นของความเชื่อและความศรัทธาในแบบนิกายใหม่ จึงเสมือนเป็นอีกสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวพุทธได้

และแนวคิดเสรีนิยมใหม่จะชี้ให้เห็นว่าไม่มีศาสนาใดครองความเป็นหนึ่งได้ เนื่องด้วยฐานคิดปัจเจกชนนิยมที่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตามความประสงค์

ในสถานการณ์ปัจจุบันมีทั้งความพยายามที่จะคุ้มครองศาสนาพุทธด้วยอำนาจรัฐ ขณะเดียวกันเรายอมรับเสรีภาพทางศาสนา แต่กลับไม่ยอมรับความเสมอภาคทางศาสนา  เราจะพบว่าศาสนาอื่นๆ ปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่เมื่อปรากฏตัวขึ้น มันจะถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่ภายใต้ศาสนาพุทธ แต่มีเพียงศาสนาเดียวที่ไม่ถูกพุทธศาสนากลืนคือ ศาสนาอิสลาม เพราะเขามีกรอบและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จะเข้าไปละเมิดไม่ได้ หากเรามองความเป็นจริง ศาสนาพุทธก็ถูกลดความสำคัญลงเช่นกัน ในทุกวันนี้คนไทยพุทธก็ฉลองวันสำคัญของศาสนาคริสต์เป็นปกติ โดยไม่ได้รู้สึกหรือตั้งคำถามว่า เบื้องหลังของเทศกาลดังกล่าวมันไม่ใช่รากของศาสนาพุทธที่ตนนับถือเลย แล้วเหตุใดจึงต้องร่วมฉลองไปกับเขาด้วย เช่น เทศกาลวาเลนไทน์หรือคริสต์มาส ซึ่งแสดงให้เห็นถึง "ความไร้พลังของพุทธศาสนาในประเทศไทย" ขณะที่รัฐพยายามผลักดันบทบาทและตีแผ่ภาพลักษณ์ที่ดีของศาสนาพุทธอย่างเต็มที่ แต่คนไทยพุทธกลับให้ความสำคัญกับศาสนาอื่น (นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, 2558)


สรุป

ในอดีตพุทธศาสนา ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือทางการเมือง  การปรับตัวของศาสนาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในยุคของโลกาภิวัตน์เท่านั้น แต่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การแผ่ขยายศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนดั้งเดิม กล่าวคือการแทนที่กันของศาสนา ในอดีตศาสนากับการเมืองถือเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม แต่ในปัจจุบันพลังในการขับเคลื่อนสังคมคือ เศรษฐกิจและการเมือง โดยศาสนาผีเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก พื้นฐานความเชื่อของคนในโลกมักนับถือศาสนาผีก่อนศาสนาอื่น 

ศาสนาในฐานะเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ด้วยความหลากหลายของความคิด ทำให้สิ่งที่ผู้คนในสังคมเคยยึดถือเป็นมาตรฐานควบคุมพฤติกรรม ซึ่งเราเรียกว่า บรรทัดฐาน ที่ประกอบด้วย วิถีประชา จารีต และกฎหมายต่างๆ ถูกลดความความสำคัญลง  ผู้คนมีแนวโน้มจะยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน ค่านิยมหรือแนวคิดที่เคยถูกปฏิเสธหรือต่อต้านในอดีตได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น การยึดถือความสุขทางวัตถุเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต การปฏิเสธหลักคำสอนในศาสนาหรือการแสดงตนเป็นบุคคลไม่มีศาสนา โลกาภิวัตน์ได้ลดทอนความสำคัญของศาสนาลง ซึ่งแนวคิดเสรีนิยมใหม่นำมาซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก่อให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม คนหันมาบริโภคทางวัฒนธรรมมากขึ้น แนวคิดความเป็นเสรีทำให้ทุกอย่างสามารถขายได้ เป็นการเปิดกว้างทางความคิด มีสิทธิที่จะผลิตสินค้าทุกอย่างได้เพื่อสนองความต้องการของตลาด เกิดกระบวนการทำให้ศาสนากลายเป็นสินค้า โดยมนุษย์มีสิทธิเลือกตามความปรารถนาที่หลายหลาก การเกิดขึ้นของความเชื่อและความศรัทธาในแบบนิกายใหม่ จึงเสมือนเป็นอีกสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวพุทธได้และแนวคิดเสรีนิยมใหม่จะชี้ให้เห็นว่าไม่มีศาสนาใดครองความเป็นหนึ่งได้ เนื่องด้วยฐานคิดปัจเจกชนนิยมที่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตามความประสงค์

ปัจจัยด้านอื่นที่มีผลนำไปสู่พุทธพาณิชย์  คือ ด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ โดยในด้านสังคม ศาสนาเกิดความเสื่อมจากการตีความที่ต่างกันในแต่ละยุคสมัย ส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักบวช จนทำให้คนหมดความศรัทธา ประกอบกับได้มีการเกิดขึ้นของศาสนาใหม่  ส่วนในด้านเศรษฐกิจการเกิดขึ้นของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ผ่านช่องทางจากกระแสโลกาภิวัตน์ ได้นำแนวคิดภายใต้ระบบทุนนิยมมาเผยแพร่ในสังคมโลก หลักคิดการผลิตเพื่อแสวงหากำไรและผลประโยชน์ ใช้เงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้า แม้แต่ความคิดความเชื่อในศาสนาที่ถูกแลกเปลี่ยนความศรัทธาผ่านเงินตรา ทำให้สังคมตกอยู่ในสภาวะที่ถูกครอบงำด้วยลัทธิบริโภคนิยม ศาสนาเกิดการปรับตัวให้เข้ากับปรากฏการณ์ จึงเป็นเหตุที่นำไปสู่ธุรกิจทางศาสนาหรือเรียกว่า "พุทธพาณิชย์"


 

บรรณานุกรม

ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี. (2559). มีอะไร 'ใหม่' ในเสรีนิยมใหม่: บทวิเคราะห์ชีวิตทางสังคมและผลกระทบต่อระบอบ       ประชาธิปไตย. วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จากhttps://prachatai.com/journal/2016/07

/66824

ตฤณ ไอยะรา. (ม.ป.ป.). รัฐ ตลาด และโลกาภิวัตน์ : ประวัติศาสตร์อย่างย่อของการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก.  

วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จาก https://www.tci-thaijo.org/index.php/psujssh

/article/view/64093

ธรรมะสติปัฏฐาน 4. (2561). เหตุปัจจัยอะไรทำให้ศาสนาเสื่อม. วันที่ค้นข้อมูล 30 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จาก

http://dhamma-free.blogspot.com/2010/03/blog-post_25.html

นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. (2558). ต้นฉบับบรรยายให้สภาหน้าโดม หัวข้อ ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้? :      ศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย. วันที่ค้นข้อมูล 5 กุมภาพันธ์ 2561. เข้าถึงได้จาก     https://prachatai.com/journal/2015/02/58086

พระครูสังฆรักษ์ศุภณัฐ ภูริวฑฺฒโน และศิลาวัฒน์ ชัยวงศ์. (2559). "มอดศาสนา" ภัยคุกคามที่พระสงฆ์อาเซียนต้อง        ระวัง.                 วารสารพุทธอาเซียนศึกษา, ปีที่ 1, ฉบับที่ 2 ก.ค.-ธ.ค. : หน้า 142-145.

พลังจิต. (2549). ความเสื่อมของพุทธศาสนาในไทย. วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จาก

https://palungjit.org/threads/           

ภณกุล ภวคุณวรกิตติ์.(2555). พุทธพาณิชย์และไสยพาณิชย์ในพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติของไทย : กรณีศึกษาวัดในจังหวัด            นครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาพัฒนามนุษย์และสังคม, บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์           มหาวิทยาลัย.

มูลนิธิธรรมกาย. (2556). พุทธประเพณี The longest journey. ปทุมธานี : มูลนิธิธรรมกาย.

วชิรวัชร  งามละม่อม. (2558). ทฤษฏีภาวะทันสมัย (ModernizationTheory). วันที่ค้นข้อมูล 18 มีนาคม 2561.

เข้าถึงได้จาก http://learningofpublic.blogspot.com/2015/09/modernization-theory.html

ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ. (มปป). การปะทะของพุทธศาสนากับสภาวะโลกาภิวัตน์. งานวิจัยเบื้องหลังรายการ "เถียงให้รู้         เรื่อง" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. วันที่ค้นข้อมูล 10 กุมภาพันธ์ 2561. เข้าถึงได้จาก http://www.fes-  thailand.org/wb/media/Debate%20Show/Religion%20and%20Globalization_final.pdf

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2558). ต้นฉบับบรรยายให้สภาหน้าโดม หัวข้อ ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้? :      ศาสนาผีกับการเมือง. วันที่ค้นข้อมูล 29 มกราคม 2561. เข้าถึงได้จาก               https://prachatai.com/journal/2015/02/58086

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์: ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย #3 [คลิป]

Posted: 04 May 2018 06:50 AM PDT

30 เม.ย. 2561 ดิเรกเสวนา และ book talk "ประชานิยมในโลก(ไร้)ประชาธิปไตย" พร้อมเปิดตัวหนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา (Populism: A Very Short Introduction) โดยสำนักพิมพ์ bookscape โดยช่วงที่สามเป็นการนำเสนอของ  เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกันศึกษา หนึ่งในดินแดนต้นแบบประชานิยม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ สั่งจับตานักการเมืองพบ 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์'

Posted: 04 May 2018 06:35 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ สั่งจับตานักการเมืองพบ 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์' ที่สิงคโปร์ ขณะที่ พล.อ.ประวิตรบอกพบได้ เพราะยกเลิกคำสั่งห้ามของ คสช.แล้ว ส่วน กกต.เตือนหากมีความผิด อาจยุบพรรค-ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 

ภาพ ไผ่ ลิกค์ หรือ "ไผ่ วันพอยท์" อดีต ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์อินสตาแกรม Paionepoint พร้อมรูปคู่กับ ทักษิณ -ยิ่งลักษณ์ โดยเช็กอินที่ประเทศสิงคโปร์ (ที่มา : เว็บไซต์คมข่าว)

4 พ.ค.2561 จากกรณีที่มีกระแสข่าวจะมีนักการเมืองเดินทางไปพบ ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ สิงคโปร์ นั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในข้อเท็จจริงไม่สามารถทำได้ และจะให้ คสช.ติดตามอย่างใกล้ชิด ว่ามีใครไปทำอะไรผิดกฎหมายบ้าง เพราะหลายคนได้ฉวยโอกาสใช้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปพบปะประชาชน  ซึ่งฝ่ายกฎหมายกำลังตรวจสอบ และพิจารณาว่าเข้าข่ายการหาเสียงหรือไม่ 

"จะยังไม่มีการออกคำสั่ง คสช.ใดๆ มาควบคุมอีก แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจ และรู้สิทธิหน้าที่ของตัวเอง  เพราะหากออกคำสั่ง คสช. อีก ก็จะมีปัญหา และมีคนมาคัดค้าน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง และการลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ที่ จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ในสัปดาห์หน้า เป็นการลงพื้นที่เหมือนจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรพิเศษ  และไม่ต้องการพบกับนักการเมือง หรือต้องไปทำสัญญาใดๆ กับใคร แต่หากจะมีนักการเมืองมาต้อนรับหรือมาพบปะก็ห้ามไม่ได้  

ประวิตรบอกพบได้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า สามารถเดินทางไปได้ เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2557 เรื่องห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ก็มีการยกเลิกไปแล้ว และตนก็ไม่ได้ประเมินการปรากฎตัวของทั้งสองอดีตนายกรัฐมนตรีว่าจะมีความเชื่อมโยงกับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้หรือไม่

กกต.เตือนหากมีความผิด อาจยุบพรรค-ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีนี้เช่นกันว่า  ต้องดูว่าเข้าลักษณะการครอบงำ ชี้นำโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ เพราะตามกฏหมายพรรคการเมือง ไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว รวมถึงการนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาสู่พรรค ก็ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อน หากพบว่าผิดจริง ตามกฎหมายกำหนดโทษให้ต้องยุบพรรคและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ขณะนี้เริ่มมีการออกรายการโทรทัศน์ในลักษณะของการหาเสียงเพื่อหวังผลของการเลือกตั้งนั้น กกต.ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะยังไม่อยู่ในช่วงของการควบคุมการหาเสียง จึงเป็นเรื่องของเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องระมัดระวังว่าอย่าให้ไปละเมิดผู้อื่น

 

เพียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวมือปารองเท้าใส่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ลงสมัคร ส.ส. อิรัก

Posted: 04 May 2018 06:26 AM PDT

มุนดาเซอร์ อัลไซดี นักข่าวคนที่เคยขว้างรองเท้าใส่จอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาฯ อิรัก โดยบอกว่าเพื่อช่วยสร้างอิรักหลังการทำลายจากกองทัพรัฐบาลอเมริกัน

4 พ.ค. 2561 "นี่คือจูบลาจากชาวอิรัก ไอ่หมาเอ้ย! นี่สำหรับหญิงม่ายและเด็กกำพร้า และสำหรับทุกคนที่ถูกสังหารในอิรัก" เจ้าของประโยคนี้คือ มุนตาเซอร์ อัลไซดี นักข่าวอิรักผู้พูดประโยคด่าทอพร้อมขว้างรองเท้าใส่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2551 ซึ่งสื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่าเป็น "เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลืมเลือน"

ในตอนนี้อัลไซดีกำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาฯ อิรัก เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกำหนดทิศทางของประเทศหลังจากที่บุชและกลุ่มพวกพ้องของเขาทำให้ประเทศเสียหายในช่วงบุกอิรักในปี 2546 เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุให้มีชาวอิรักเสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคน

อัลไซดีถูกสั่งจำคุก 9 เดือนจากเหตุการณ์นี้ หลังจากออกจากคุกได้ไม่นานเขาก็เขียนในสื่อของเดอะการ์เดียนว่าการขว้างของเท้าของเขาถือเป็นการขว้างใส่หน้าของ "อาชญากร" เขาต้องการแสดงออกปฏิเสธคำโกหกของบุช ต่อต้านการยึดครองประเทศของเขา ต่อต้านการสังหารประชาชนประเทศเขา ต่อต้านทางการสหรัฐฯ ที่เข้ามายึดครองสมบัติประเทศเขา ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเขาและทำให้ลูกหลานของพวกเขาต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น

แต่การกระทำเชิงประท้วงของอัลไซดีนี้เองที่มีคนในโลกออนไลน์มองว่าเป็นการประท้วงที่น่าจะนำมาเป็นโฆษณารณรงค์หาเสียง

นอกจากเรื่องปารองเท้าแล้ว ยังมีคนรู้เรื่องอื่นๆ ของอัลไซดีน้อยมาก จากข้อมูลของสื่อ Buzzfeed ระบุว่าอัลไซดีเคยก่อตั้งมูลนิธิไม่แสวงผลกำไรในชื่อตัวเองโดยมีภารกิจคือต้องการ "แสวงหาบรรยากาศที่ปลอดภัยให้กับเด็กผู้ที่สูญเสียพ่อแม่ไปในช่วงที่สหรัฐฯ ยึดครองอิรัก" และเพื่อ "พิสูจน์ความผิดของทุกคนที่มีส่วนพัวพันกับการยึดครองอิรักทั้งผู้นำตะวันตกและเจ้าหน้าที่ทางการ"

 

เรียบเรียงจาก

Man Celebrated for Throwing Shoes at 'Criminal' Bush Is Running for Iraqi Parliament, Common Dreams, 01-05-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

200 ปีชาตกาลคาร์ล มาร์กซ์: ผีที่ไม่ยอมลงหลุม

Posted: 04 May 2018 06:24 AM PDT


ภาพการ์ตูนเพื่อการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 2 ศตวรรษ วันคล้ายวันเกิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งกำลังจะมาถึงในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2018. มาร์กซ์เกิดในวันที่ 5 พฤษภาคม
ค.ศ. 1818 และเสียชีวิตในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1883. รวมอายุได้ 64 ปี.
แหล่งที่มา: WorldNetDaily

ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา, วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกๆปีเคยถือว่า เป็นวันที่สำคัญยิ่งต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ เนื่องจากเป็นวันฉัตรมงคลซึ่งถือเป็นวันหยุดราชการที่รัฐบาลมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยได้ระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเศกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, กษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี. ในวาระสำคัญประจำปีที่ว่านี้, กิจกรรมที่พสกนิกรชาวไทยมักจะทำกันก็คือ การประดับธงชาติตามบ้านเรือนและสถานที่ราชการ, ทำบุญตักบาตรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล, และกล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดีให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญและทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน. อย่างไรก็ดี, ด้วยกฎของกาลเวลาที่ยังคงรักษาพลังและความเที่ยงตรงของมันอยู่ไม่เสื่อมคลาย, การเสด็จสวรรคตของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ในปีพ.ศ. 2559 ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ: รัฐบาลไทยได้ยกเลิกระเบียบราชการที่กำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมเป็นวันฉัตรมงคล เนื่องจากรัชสมัยของกษัตริย์รัชกาลที่ 9ได้สิ้นสุดลง และพลอยทำให้การเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ในรัชกาลดังกล่าวจำต้องสิ้นสุดลงไปด้วยโดยปริยาย.[1] จากที่เคยเป็นวันหยุดสำคัญประจำปีของคนไทยมาหลายทศวรรษ, วันที่ 5 พฤษภาคมในปัจจุบันดูจะกลายเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรอีกต่อไป.

กระนั้นก็ตาม, หากเราขยายการตระหนักรู้ทางสังคมออกไปให้กว้างกว่าราชอาณาเขตของรัฐไทย, วันที่ 5 พฤษภาคมในบริบทของสากลโลก ถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx), นักปรัชญา, นักเศรษฐศาสตร์, นักประวัติศาสตร์, นักคิดทฤษฎีการเมือง, และนักปฏิวัติสังคม ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกได้เคยรู้จักมา. โดยในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1818 (หรือ พ.ศ. 2361 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรีของราชอาณาจักรสยาม), มาร์กซ์ได้ลืมตาขึ้นมาบนโลกใบนี้ที่เมืองเทรียร์ ในราชอาณาจักรปรัสเซีย. จากเด็กชายลูกหลานชาวเยอรมันเชื้อสายยิวในเมืองเล็กๆของปรัสเซีย, มาร์กซ์เติบโตและใช้ชีวิตของเขาอย่างโลดโผน, มีสีสัน, ขมขื่น, สมหวัง,  และผิดหวังคละเคล้ากันไปตามวิสัยมนุษย์. จากนักดื่มตัวยงสู่นักเขียนฝีปากกล้า, จากนักเรียนกฏหมายสู่นักศึกษาปรัชญา, จากนักหนังสือพิมพ์สู่นักเคลื่อนไหวสังคมนิยม, จากแกนนำสันนิบาตคอมมิวนิสต์สู่นักทฤษฎีเศษฐศาสตร์การเมือง, จากปัญญาชนกระฎุมพีสู่สหายนักปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ, จากเบอร์ลินสู่ปารีส, จากบรัสเซลล์สู่ลอนดอน, จากพลเมืองเต็มขั้นชาวเยอรมันสู่ผู้ลี้ภัยไร้สิทธิพลเมือง, จากห้องสมุดมหาวิทลัยสู่ชุมชนแออัดของผู้อพยพ, และจากคนนอกคอกในหมู่ฝ่ายซ้ายสู่เสาหลักทางปัญญาของนักปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก—ชีวิตอันพลิกผันของมาร์กซ์ที่ดูจะมีทุกรสชาติของการใช้ชีวิตของคนๆหนึ่ง เปรียบเป็นดั่งนวนิยายชั้นดีที่น่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ.
 

มาร์กซ์ตายแล้ว; มาร์กซ์ยังไม่ตาย

แม้จะมีชีวิตส่วนตัวที่มีสีสันและควรค่าแก่การรำลึก, ศึกษา, และถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลัง, ความยิ่งใหญ่ของคนที่ชื่อมาร์กซ์ หาใช่ชีวประวัติอันโลดโผนของเขา หากแต่เป็นมรดกทางความคิดที่เขาได้ฝากไว้ให้กับคนรุ่นหลัง. แม้แนวคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ, การกดขี่ขูดรีด, การวิพากษ์ระบบทุนนิยม, การต่อสู้ทางชนชั้น, สังคมนิยม, คอมมิวนิสต์, การปฏิวัติ, และชนชั้นกรรมาชีพ จะดำรงอยู่และมีต้นกำเนิดอันยาวนานมาก่อนที่มาร์กซ์จะลืมตาดูโลก, แต่คงไม่เป็นการเกินเลย หากจะกล่าวว่า ไม่มีนักคิดและนักปฏิวัติคนไหนที่จะอธิบาย, วิเคราะห์, และพัฒนาต่อยอดแนวคิดเหล่านั้นออกมาได้อย่างชัดเจน, เป็นระบบ, เป็นองค์รวม, และเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างทรงพลังและทรงอิทธิพลได้มากเท่ากับมาร์กซ์อีกแล้ว. อิทธิพลของความคิดมาร์กซ์นั้นทรงพลังมากถึงขนาดมีการตั้งชื่อให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่แพร่หลายในหมู่นักคิดและนักปฏิวัติที่เชื่อและปฏิบัติตามความคิดของเขา นั่นก็คือ อุดมการณ์มาร์กซิสต์ (Marxism). ในแง่นี้, มาร์กซ์ดูจะทรงอิทธิพลมากกว่าเหล่านักคิดที่เกิดก่อนหน้าและอยู่ร่วมสมัยกับเขา ที่ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการทางความคิดของมาร์กซ์. กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นคานท์, เฮเกล, ฟอยเออร์บัค, สมิท, ริคาโด, รุสโซ, ฟูริเออร์, แซงต์-ซิมอง, พรูดอง, หรือกระทั่งเองเกิลส์, อิทธิพลของนักคิดนามกระเดื่องที่ว่ามาได้รับการเชิดชูให้เป็นอย่างมากก็แค่คำคุณศัพท์ (adjective) ขยายคำอื่นๆ. ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดแบบคานเทียน (Kantian) หรือ แนวคิดแบบเฮเกลเลียน (Hegelian) เป็นต้น. แต่ในกรณีของมาร์กซ์, อิทธิพลของเขามันเป็นมากกว่านั้น. มันคืออุดมการณ์ทางการเมือง, ลัทธิ, คัมภีร์การปฏิวัติ, หรือกระทั่งพิมพ์เขียวในการสร้างระบอบและสังคมคอมมิวนิสต์. มันได้กระตุ้น, ปลุกระดม, และสร้างแรงบันดาลใจให้มวลชนผู้ใช้แรงงานทั่วโลกหาญกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้อง, ต่อสู้, ไปจนถึงปฏิวัติล้มระบอบการปกครองของชนชั้นนายทุน. และมันยังได้ถูกบิดเบือนโดยผู้นำและพรรคการเมืองเผด็จการเพื่อใช้กดขี่ขูดรีดประชากรของตนเอง จนนำไปสู่ความยากจน, ความอดอยาก, ความทุกข์ทรมาน, และการอดตายของคนหลายสิบล้านทั่วโลก ภายใต้ระบอบการเมืองที่อ้างชื่อของมาร์กซ์ ซึ่งเป็นโศกนาฎกรรมที่ยังเป็นฝันร้ายของผู้ที่ศรัทธาในความคิดมาร์กซ์ตราบถึงปัจจุบัน. ดังนั้น หากจะพูดถึงชื่อของคนสักคนหนึ่งที่อื้อฉาว, มีทั้งคนรักและคนชัง, และยังไม่ลงตัวสักทีว่าคนรุ่นหลังควรจะแสดงความคารวะหรือเคียดแค้น, มาร์กซ์คือชื่อต้นๆที่หลายคนน่าจะนึกถึง. มันคือชื่อที่ยังตามหลอกหลอน, ผลุบๆโผล่ๆตามหน้าหนังสือพิมพ์, บทความ, หรือกระทั่งภาพยนตร์, และนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน.

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, ศูนย์กลางและแนวหน้าของระบบทุนนิยมโลกในรอบศตวรรษที่ผ่านมา, มาร์กซ์กลายเป็นชื่อสำคัญที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในต้นศตวรรษที่ 21—ทั้งในหมู่ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย. ในหมู่ฝ่ายขวา, คำว่า "อุดมการณ์มาร์กซิสต์เชิงวัฒนธรรม (Cultural Marxism)" กลายเป็นคำยอดนิยมที่เอาไว้ใช้พาดพิงถึงปัญญาชนฝ่ายซ้าย, นักคิดมาร์กซิสต์, นักการเมืองเสรีนิยม, นักศึกษาหัวก้าวหน้า, ไปจนกระทั่งนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม, เพศ, ชาติพันธุ์, และสีผิวในสังคมอเมริกัน.  แม้ผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็นพวก "มาร์กซิสต์เชิงวัฒนธรรม" เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นพวกมาร์กซิสต์ หรือบางคนกระทั่งปฏิเสธแนวคิดของมาร์กซ์ด้วยซ้ำไป, แต่นั่นก็ดูจะไม่สลักสำคัญอะไรในสายตาของฝ่ายขวาอเมริกัน ที่พร้อมจะใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อเหมารวมเอาใครก็ตามที่เห็นตรงข้ามกับตน ว่าเป็นต้นเหตุของการทำให้ "อารยธรรมตะวันตก," คำสอนในศาสนาคริสต์, กฏหมายและความมั่นคง, และอิสระเสรีภาพของอเมริกันชนตกต่ำลง. ในมุมมองของฝ่ายขวา, การต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อ "กู้ชาติ" อเมริกันเป็นสิ่งที่จำเป็น ตราบใดที่พวกนิยมแนวคิดของมาร์กซ์ยังคงทำการ"ล้างสมอง" ยัดเยียดใส่แนวคิดของมาร์กซ์เข้าไปในระบบการศึกษา, การสื่อสารมวลชน, และกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่.[2]

ในขณะเดียวกัน, ในหมู่ฝ่ายซ้าย, หลังจากชื่อนี้เคยเสื่อมความนิยมลงไป นับจากความพ่ายแพ้ของลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับระบบทุนนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่แล้ว, มาร์กซ์ได้กลายเป็นชื่อที่กลับมาติดหูอีกครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดในสหรัฐฯในช่วงปลายทศวรรษ 2000. ในมหาวิทยาลัย, ฐานที่มั่นของฝ่ายซ้ายไม่กี่ที่ที่ยังลงเหลืออยู่ในสังคมอเมริกัน, งานของมาร์กซ์คือหนึ่งในงานที่อาจารย์มอบหมายให้นิสิตอ่านมากที่สุด.[3] "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto)," ผลงานอันโด่งดังที่สุดที่มาร์กซ์ร่วมเขียนกับเองเกิลส์ในปีค.ศ. 1848, ได้กลายเป็นงานยอดนิยมที่ได้รับการอ่าน, วิเคราะห์, และถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในห้องเรียน ไม่ต่างจากงานที่เป็นยาสามัญประจำบ้านของนักอ่านอเมริกันอย่างคัมภีร์ไบเบิ้ลและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ.[4] โดยเฉพาะในรอบสองปีที่ผ่านมา, วาระสำคัญๆในหมู่ฝ่ายซ้ายที่ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งได้ทำให้ชื่อของมาร์กซ์ยิ่งกลายเป็นชื่อที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์, หน้าปกหนังสือออกใหม่, และชื่องานประชุมสัมมนาในมหาวิทยาลัยต่างๆเป็นว่าเล่น. ปีค.ศ. 2017, วาระของการครบรอบหนึ่งศตวรรษของการปฏิวัติเดือนตุลาคม (The October Revolution) ในประเทศรัสเซียได้รับการรำลึกและเฉลิมฉลองอย่างกว้างขวาง. นอกจากมรดกทางประวัติศาสตร์ของเลนิน, พรรคบอลเชวิก, และระบอบโซเวียตจะกลายเป็นคำสำคัญในการรำลึกถึงวาระดังกล่าว, ชื่อของมาร์กซ์ยังกลายเป็นชื่อที่ถูกนำไปผูกติดกับมรดกเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ในฐานะนักคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างสูงต่อการปฏิวัติรัสเซียและการสร้างรัฐใหม่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นแห่งแรกของโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว.[5] และในปีเดียวกันนี้เอง, งานชิ้นโบว์แดงของมาร์กซ์ที่ชื่อ ทุน เล่มที่1 (Capital Volume I) ก็ได้มีอายุครบ 150 ปีพอดี หากนับจากการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ. 1867. ด้วยวาระที่สำคัญนี้เอง, นักคิดฝ่ายซ้ายได้ผลิตหนังสือเล่มใหม่ๆและจัดงานสัมมนาเพื่อทำการสดุดี, ตีความ, ไปจนถึงวิพากษ์งานชิ้นเอกของมาร์กซ์กันอย่างคึกคัก.[6] ที่สำคัญที่สุด, วันคล้ายวันเกิดของมาร์กซ์กำลังจะเวียนมาบรรจบครบสองศตวรรษในปีค.ศ. 2018 นี้เอง. และนั่นก็ทำให้ หนังสือที่ว่าด้วยชีวประวัติของมาร์กซ์, บุคคลที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาร์กซ์, แนวคิดของมาร์กซ์, และอุดมการณ์มาร์กซิสต์—ซึ่งตามปกติ ก็ล้วนเป็นหัวข้อยอดนิยมในอุตสาหกรรมการพิมพ์หนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว—น่าจะกลายเป็นสินค้าที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในตลาดปีนี้.[7] ในแง่นี้, หากไม่นับบริบททางการเมืองของราชอาณาจักรไทยในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้ระบอบเผด็จการทหารและห้ามงานเฉลิมฉลองรื่นเริงหลังการสวรรคตของประมุขอันเป็นที่รักของพสกนิกร, มาร์กซ์ยังคงเป็นชื่อยอดนิยมที่ปรากฏในการชุมนุมทางการเมือง, การประท้วง, การสัมมนา, และการเฉลิมฉลองของชนชั้นล่างและคนชายขอบทั้งหลาย. มันยังคงเป็นชื่อที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกฮึกเหิม, มีพลัง, สงสัยใคร่รู้, ไปจนถึงรังเกียจ, กลัว, และหวาดผวา อย่างไม่เสื่อมคลาย แม้เขาจะเกิด, อยู่, และตายจากโลกนี้ไปนานแล้ว. หากชีวิตส่วนตัวตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีสีสันและน่าสนใจ, เรื่องราวของมาร์กซ์หลังความตายของเขาก็ดูจะน่าสนใจไม่แพ้กัน. และจากอิทธิพลของแนวคิดมาร์กซ์ที่ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายในสังคมอเมริกันตามที่ได้ยกตัวอย่างมา, คงไม่เป็นการเกินเลยหากจะกล่าวเปรียบเปรยว่า มาร์กซ์นั้นไม่ต่างไปจาก "ผี" สุดเฮี้ยนที่ไม่ยอมหลงหลุมสักที หากแต่ยังตามหลอกหลอนคนรุ่นหลังๆอย่างไม่ยอมเลิกรา.


คนงานกำลังเตรียมการติดตั้งรูปปั้นสูง 5.5 เมตรของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ใจกลางชุมชน
เมืองเทรียร์  บ้านเกิดของมาร์กซ์ในประเทศเยอรมนี เพื่อเป็นการรำลึกวาระครบรอบ
2 ศตวรรษวันคล้ายวันเกิดของมาร์กซ์. โดยรูปปั้นขนาดใหญ่อันนี้เป็นของขวัญที่
เทศบาลเมืองเทรียร์ได้รับจากสาธารณรัฐประชาชนจีน. ชาวเมืองเทรียร์จะทำการเฉลิมฉลองเปิดตัวรูปปั้นนี้พร้อมกันในวันที่ 5 พฤษภาคม ปีนี้.
แหล่งที่มา: Deutsche Welle

คน, ผี, ปีศาจ

จะว่าไปแล้ว, การเปรียบเปรยว่า มาร์กซ์นั้นไม่ต่างไปจากภูติผีปีศาจที่ยังตามหลอกหลอนคนเป็นในยุคปัจจุบัน ดูจะเป็นเรื่องตลกร้ายอยู่ไม่น้อย. ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ตัวมาร์กซ์เองมักจะวิเคราะห์ปัญหาบ้านเมืองในยุคของเขาโดยใช้คำอุปมาอุปมัยที่ว่าด้วยคนเป็น, คนตาย, ผีห่าซาตาน, ภาวะลูกผีลูกคน, และการหลอกหลอน อยู่หลายครั้งในงานเขียนของเขา. ที่โดดเด่นและมีสีสันเป็นพิเศษก็คือการใช้คำอุปมาประเภทนี้ในงานชิ้นสำคัญของเขาสามชิ้น นั่นก็คือ "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์," "วันที่สิบแปด เดือนบรูแมร์ของหลุยส์ โบนาปาร์ต (The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte)," และ ทุน เล่มที่1. ใน "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์," มาร์กซ์เปิดตัวแถลงการณ์ชิ้นนี้ด้วยประโยคสั้นๆหนึ่งประโยค ที่ต่อมาจะกลายเป็นประโยคอันทรงพลังที่ฝ่ายซ้ายทุกคนในโลกล้วนจำได้จนขึ้นใจ: "ผีตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรปอยู่—ผีแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์."[8] ประโยคที่ว่านี้มีความสำคัญในแง่ที่ว่า ก่อนที่มาร์กซ์กับเองเกิลส์จะตีพิมพ์แถลงการณ์อันโด่งดังชิ้นนี้, ชนชั้นผู้ปกครอง, เจ้าหน้าที่รัฐ, และชนชั้นกระฎุมพีในยุโรปได้รู้จักลัทธิคอมมิวนิสต์มาก่อนแล้ว และดูจะหวาดผวากับพลังในการท้าทายโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของมันเป็นอันมาก จนถึงขนาดตีตราให้มันเป็นภูติปีศาจที่น่าสะพรึงกลัว. ที่น่าสนใจก็คือ, หลังจากที่มาร์กซ์กับเองเกิลส์ปล่อยแถลงการณ์ชิ้นนี้สู่สาธารณชน, "ผีแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์" ไม่เพียงแต่ทรงพลังมากขึ้นและจองเวรจองกรรมกับเหล่านายทุนในยุโรปอย่างไม่เลิกรา หากแต่ผีตนนี้ขยายอำนาจในการหลอกหลอนชนชั้นกระฎุมพีไปในระดับโลก จนมหาอำนาจทุนนิยมและจักรวรรดินิยมทั้งหลายต่างต้องระดมพลกัน "ไล่ผีคอมมิวนิสต์" กันชุลมุนวุ่นวายเป็นร้อยๆปี.

ใน "วันที่สิบแปด เดือนบรูแมร์ของหลุยส์ โบนาปาร์ต," บทความวิเคราะห์วิกฤตการเมืองของฝรั่งเศสทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารของหลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1852, มาร์กซ์ได้พูดถึงความยากลำบากของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคน เนื่องจากมรดกทางประวัติศาสตร์อันหนักอึ้งที่คนรุ่นเก่าได้ทิ้งเอาไว้. กล่าวคือ การฝังรากลึกของอุดมการณ์และค่านิยมที่คนรุ่นเก่าๆได้ปลูกฝังไว้อย่างช้านาน ได้กดถ่วงมิให้คนรุ่นปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก. ซ้ำร้ายไปกว่านั้น, กลับกลายเป็นว่า นักปฏิวัติทั้งหลายที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมกลับต้องหันไปพึ่งธรรมเนียม, ภาษา, ชื่อ, หรือกระทั่งเครื่องแต่งกายของคนที่ตายไปแล้วเพื่อสร้างความชอบธรรมในเปลี่ยนแปลงสังคมของคนที่ยังมีชีวิตอยู่. มาร์กซ์มองว่า ปรากฏการณ์ที่ว่านี้มันไม่ได้ต่างไปจาก ผีของคนตายที่ยังวนเวียนไม่ไปผุดไปเกิด และเป็นทั้งฝันร้ายและสัมภาระอันหนักอึ้งที่กดทับอยู่บนบ่าของคนเป็นไม่ว่าจะเดินเหินไปที่ไหน. ดังที่ประโยคอันโด่งดังของเขาที่ได้บรรยายไว้ในย่อหน้าแรกๆของงานชิ้นนี้ ซึ่งมาร์กซ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า:

มนุษย์สร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง, แต่พวกเขากลับไม่ได้สร้างมันออกมาได้อย่างที่อยากให้เป็น; พวกเขาไม่ได้สร้างมันภายใต้บริบทที่ได้เลือกสรรเอาไว้เอง, แต่ภายใต้บริบทที่ประสบกับตัวเองโดยตรง, ที่ถูกหยิบยื่นให้, และที่ส่งต่อมาให้จากอดีต. ประเพณีจากคนรุ่นที่ตายไปแล้วถ่วงทับสมองของคนเป็นดั่งเป็นฝันร้าย. และในขณะที่คนเป็นทั้งหลายดูจะหมกมุ่นกับการปฏิวัติตนเองและสิ่งรอบตัว, สร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน, ณ ห้วงเวลาของวิกฤตการปฏิวัตินั้นเอง ที่พวกเขาจะใจจดใจจ่อกับการร่ายคาถาปลุกเหล่าภูติผีจากอดีตขึ้นมารับใช้, หยิบยืมชื่อเสียงเรียงนาม, คำขวัญในการต่อสู้, และเครื่องแต่งกาย มาจากผีเหล่านั้น เพื่อที่จะนำเสนอประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกด้วยการอำ   พรางผ่านการคารวะอดีตกาลและภาษาที่หยิบยืมเขามาอีกทีหนึ่ง.[9]

และใน ทุน เล่มที่1, มันก็เป็นอีกครั้งที่คำอุปมาเกี่ยวกับคนเป็น, คนตาย, และความสัมพันธ์ระหว่างผีกับคน ได้กลายมาเป็นโครงเรื่องหลักในการเปิดตัวของงานของเขา. ในบทนำของหนังสือ, มาร์กซ์ได้เกริ่นนำกับผู้อ่านว่า หนังสือเล่มนี้จะใช้ข้อมูล, เอกสาร, และตัวอย่างจากประเทศอังกฤษเป็นหลักในการวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า ทุน.[10] ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจาก ในบริบทเศรษฐกิจการเมืองยุคศตวรรษที่ 19, อังกฤษถือเป็นประเทศแรกและเป็นแม่แบบของการใช้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเต็มตัว อีกทั้งเป็นประเทศแนวหน้าและศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลก. แม้ว่าสิ่งที่ผู้อ่านจะได้พบในหนังสือเล่มนี้คือสภาพอันทุกข์ยากของชนชั้นแรงงานในอังกฤษที่โดนกดขี่ขูดรีดโดยชนชั้นกระฎุมพี, มาร์กซ์ยอมรับว่า กรณีของอังกฤษนั้นยังถือว่าดีกว่ากรณีของประเทศอื่นๆในยุโรปแผ่นดินใหญ่ เพราะอย่างน้อยในประเทศอังกฤษ รัฐสภาได้ผ่านกฏหมายโรงงาน, จำกัดการทำงานของคนงานไม่ให้เกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน, และมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบโรงงาน, สุขภาพและบ้านพักของกรรมกร, และการกดขี่แรงงานสตรีและเด็กในโรงงาน. ในทางตรงกันข้าม, ที่ยุโรปแผ่นดินใหญ่—โดยเฉพาะที่เยอรมนี แผ่นดินเกิดของมาร์กซ์ ที่กำลังจะผนวกรวมกันเป็นรัฐ-ชาติสมัยใหม่ภายใต้การนำของราชอาณาจักรปรัสเซียในอีกเพียงสี่ปีหลังจากหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์—กรรมกรไม่ได้โชคดีอย่างที่อังกฤษและมีชีวิตที่ย่ำแย่กว่าเป็นอย่างมาก. เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาต้องต่อสู้กับความเลวร้ายของการทำงานหนักในโรงงานสมัยใหม่ โดยไร้ซึ่งการสอดส่องตรวจตราหรือควบคุมใดๆจากภาครัฐ, กรรมกรในประเทศเหล่านี้ที่พัฒนาการของทุนนิยมยังตามหลังอังกฤษอยู่เป็นอย่างมาก ยังต้องต่อสู้กับรัฐ, กฎหมาย, ปรัชญา, วัฒนธรรม, และอุดมการณ์ ที่ตกค้างมาจากระบอบเก่าและยากเย็นในการขุดรากถอนโคนเอามันออกไปให้สิ้นซาก. พูดง่ายๆผ่านการใช้คำอุปมาอุปมัยก็คือ ในประเทศที่การพัฒนาของทุนนิยมยังไม่เสร็จสมบูรณ์เต็มขั้น, กรรมาชีพไม่เพียงแค่ต้องต่อสู้กับปีศาจนายทุนในโรงงานที่คอยกดขี่ขูดรีดแรงงานด้วยระบบการผลิตแบบใหม่ หากแต่ยังต้องเผชิญหน้ากับเหล่าภูติผีซากเดนศักดินา ที่ยังจองล้างจองผลาญคอยถือครองอำนาจรัฐในสถาบันการเมือง, สถาบันกองทัพ, และสถาบันตุลาการแบบไม่ยอมปล่อยมือ. มาร์กซ์ได้ยกตัวอย่างสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่เยอรมนีในยุคของเขาด้วยข้อความที่แฝงความกังวลปนกับความขุ่นข้องหมองใจไว้ดังนี้:

[ในเยอรมนี] สภาพของกรรมกรย่ำแย่กว่าในอังกฤษเป็นอย่างมาก, เนื่องจากยังไม่มีกฏหมายโรงงาน. ในด้านอื่นๆ, เยอรมนีก็เป็นเหมือนประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันตกที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่, ไม่เพียงแค่เราต้องทนทุกข์จากพัฒนาการผลิตแบบทุนนิยม, หากแต่เราต้องทนทุกข์กับการพัฒนาที่ยังไม่สมบูรณ์เสร็จสิ้นของมัน. ขนาบข้างไปกับปีศาจแห่งยุคสมัยใหม่, เรายังถูกกดขี่โดยฝูงปีศาจเป็นขโยงที่ตกทอดเป็นมรดกกันมา, มันฟื้นขึ้นมาจากภาวะตายยากตายเย็นของวิถีการผลิตแบบโบราณและล้าสมัยไปแล้ว, พร้อมกับพ่วงเอาความสัมพันธ์ทางการเมืองและสังคมอันคร่ำครึติดตัวมาพร้อมกับพวกมันด้วย. ไม่เพียงแต่เราต้องทนทุกข์กับคนเป็น, แต่ยังรวมไปถึงคนตาย. คนตายมันคอยฉุดรั้งคนเป็นไม่ให้ไปไหนได้สักที![11]


ใบปิดงานสัมมนา "มาร์กซ์ 200" ที่กำลังจะจัดกันที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศ
สหราชอาณาจักร ในวันที่ 5 พฤษภาคม ปีนี้ เพื่อรำลึกถึง 200 ปีชาตกาลของมาร์กซ์.
โดยมีปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวสังคมสายมาร์กซิสต์เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
แหล่งที่มา: Eventbrite

ภารกิจพิชิตผี

แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปเป็นหลักศตวรรษนับตั้งแต่ยุคที่มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่และตีพิมพ์งานชิ้นสำคัญเหล่านั้น, การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นกระฎุมพี, ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา, และคนเป็นกับคนตาย ก็ยังคงเป็นการต่อสู้ที่ไม่เสร็จสิ้น อีกทั้งยังไม่ได้ลดระดับความเข้มข้นและความรุนแรงลงแต่อย่างใด. ฝ่ายขวาที่ประกอบไปด้วยชนชั้นผู้ปกครอง, เจ้าหน้าที่รัฐ, นายทุน, และชนชั้นกลางในเมืองที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมยังคงกล่าวหาผู้ที่เห็นต่างกับอุดมการณ์หลักของรัฐว่าเป็นพวกที่ถูก "ผีลัทธิคอมมิวนิสต์" เข้าสิงร่างและจำต้องถูก "ไล่ผี" โดยการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ.  ในขณะเดียวกัน, ประวัติศาสตร์ในรอบศตวรรษที่ผ่านมาก็ชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมชนิดพลิกฟ้าคว้ำแผ่นดินนั้น ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายดายแต่อย่างใด. ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมรดกทางประวัติศาสตร์อันหนักอึ้งที่ฉุดให้คนในสังคมไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย. อีกทั้งนักปฏิวัติเองก็ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองได้เลย หากไม่เอาตัวเองไปผูกติดกับตำนาน, ค่านิยม, จารีต, และอุดมการณ์ที่คนรุ่นเก่าที่ตายไปนานแล้วได้ถ่ายทอดต่อมาให้กับคนรุ่นหลัง. ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "นักปฏิวัติ" ในอดีตจำนวนไม่น้อย, ปัจจุบันได้ผันตัวเองมาเป็นกระบอกเสียงและขายบริการให้กับชนชั้นผู้ปกครองและชนชั้นนายทุนกันอย่างไม่รู้สึกกระดากใจแต่อย่างใด. จากคนเป็นที่ต้องการล้มล้างและถอนรากมรดกของคนตาย, อดีต "นักปฏิวัติ" เหล่านี้กลายมาเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ให้กับอุดมการณ์ที่แสนจะคร่ำครึและล้าสมัยไปอย่างน่าฉงน.

และที่สำคัญที่สุด, สิ่งที่ชนชั้นกรรมาชีพและสหายฝ่ายซ้ายทั้งหลายในปัจจุบันยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาของระบบทุนนิยมก็ดูจะไม่ต่างไปจากสิ่งที่มาร์กซ์เป็นกังวลในยุคของเขา. กล่าวคือ ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรป, อเมริกาเหนือ, โอเชียเนีย, และล่าสุดเอเชียตะวันออก ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการตามรอยตัวแบบคลาสสิคของทุนนิยมในอังกฤษ, ประเทศส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ซึ่งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้, เอเชีย, และอาฟริกา กลับมีแนวโน้มของการพัฒนาทุนนิยมที่เบี่ยงแบนออกไปจากตัวแบบอังกฤษ.  การจัดความสัมพันธ์ให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้สถาบันการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย, การจัดความสัมพันธ์ให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือน, การถอดเขี้ยวเล็บทางการเมืองของชนชั้นสูงเลือดขัตติยะทั้งหลายให้เป็นเพียงแค่หัวโขนเชิงวัฒนธรรมของชนชั้นกระฎุมพี,  การเปิดช่องให้กรรมาชีพส่งพรรคการเมืองของตนเองเข้าไปสู้กับนายทุนในรัฐสภา, และที่สำคัญที่สุด การทำให้ปัญหาเรื่องแรงงานกลายเป็นเรื่อง "เศรษฐกิจ" ล้วนๆระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หาใช่ปัญหา"การเมือง" ของระบบทุนนิยมที่ต้องล้มล้างด้วยการปฏิวัตินอกโรงงาน—ปรากฏการณ์ที่ว่ามาเหล่านี้คือความสำเร็จของโมเดลรัฐทุนนิยมในอังกฤษที่หลายๆประเทศหันมาเอาเป็นแบบอย่าง จนเกิดการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบก้าวหน้าไปตามๆกันในศตวรรษที่ผ่านมา.[12] อย่างไรก็ดี, ในกลุ่มประเทศ "กำลังพัฒนา" และ "ด้อยพัฒนาทั้งหลาย"—ซึ่งคงไม่ถือเป็นการดูถูกดูแคลนกันจนเกินไปนัก หากจะนับเอาราชอาณาจักรไทยเอาไว้ในกลุ่มนี้ด้วย—สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลับกลายเป็นว่า โมเดลแบบอังกฤษดูจะล้มเหลวในการนำมาปฏิบัติในระดับท้องถิ่น, การพัฒนาทุนนิยมยังเป็นไปแบบครึ่งๆกลางๆ, และเศษซากของอุดมการณ์ค่านิยมจากยุคการผลิตแบบศักดินาก็ยังไม่ได้สูญพันธุ์ไปแต่อย่างใด.  ดังนั้น, ในกรณีของประเทศเหล่านี้, ขนาบข้างไปกับชีวิตอันโหดร้ายในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยเป็นที่สุด, กรรมาชีพยังต้องเผชิญกับการปกครองอันกดขี่ของศักดินาเก่า, การใช้กำลังของขุนศึก, ระบบชนชั้นวรรณะ, ระบบอุปถัมป์, ค่านิยมพ่อเป็นใหญ่, และการเอาแน่เอานอนไม่ได้ของสถาบันการเมือง, กองทัพ, และศาล. เสร็จจากการโดนกดขี่ในโรงงาน, พวกเขายังต้องเจอกับผี, ปีศาจ, และเจ้าที่เจ้าทางที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิด หากแต่ยังคงนั่งขี่กดทับอยู่บนบ่าของกรรมกรทุกคน ไม่ว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง, ไปชุมนุมประท้วง, รับประทานอาหาร, สันทนาการ, เข้าวัด หรือกระทั่งเข้านอน. มันคือภาวะลูกผีลูกคนที่กรรมาชีพใน "ประเทศโลกที่สาม" ทั้งหลายต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน.

ดังนั้น, ในวาระที่ชาตกาลของมาร์กซ์ได้หวนมาบรรจบครบรอบสองศตวรรษในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561, คงไม่มีกิจกรรมใดที่จะเป็นการรำลึกและเฉลิมฉลองให้กับนักปฏิวัติสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่คนนี้ ได้ดีไปกว่า การกลับไปทบทวนงานเขียนของเขา, วิพากษ์ข้อแตกต่างของบริบททางประวัติศาสตร์ของงานที่เขาเขียนกับบริบทในโลกร่วมสมัย, และแสวงหาแนวทางในการประยุกษ์เอาทฤษฎีของเขามาใช้ขับเคลื่อนการต่อสู้ของมวลชนผู้ใช้แรงงานให้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน. นี่อาจเป็นภารกิจที่ทะเยอทะยานและไม่เหมาะสมกับตารางการทำงานของประชากรไทยส่วนใหญ่ที่ล้วนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำในยุคสมัยที่วันที่ 5 พฤษภาคมไม่ถือว่าเป็นวันหยุดฉัตรมงคลอีกต่อไป. กระนั้นก็ตาม, การตั้งคำถามและถกเถียงกับเพื่อนร่วมวงสนทนา (ไม่เกินห้าคน) ว่า อะไรคือ "ผี" ที่ยังเฮี้ยนตามหลอกหลอนสังคมไทยไม่เลิกรา? "ผี" ตนนี้ทำไมถึงฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากหลุมศพทางประวัติศาสตร์และขึ้นมาครองอำนาจเคียงบ่าเคียงไหล่กับชนชั้นนายทุน? และอะไรคือยุทธวิธีในการจับ"ผี" ตนนี้ลงหม้อและถ่วงลงน้ำ? คงเป็นภารกิจที่น่าจะไม่เหนือบ่ากว่าแรงจนเกินไปนัก. อีกทั้งยังน่าจะเป็นภารกิจที่นำไปสู่การประเทืองปัญญา, รู้จักคิดวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองรอบตัว, และแลกเปลี่ยนสนทนากันด้วยอารมณ์ขันแบบแสบๆ คันๆ ซึ่งถือเป็นการสดุดีให้กับมาร์กซ์ไปในตัว เนื่องจากตัวเขาเองก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่เคยหยุดตั้งคำถาม, วิพากษ์, กระแนะกระแหน, และเสียดสีความไม่ชอบมาพากลของสังคมรอบข้างโดยแฝงอารมณ์ขันแบบเย้ยหยันอยู่เสมอ. นี่อาจจะเป็นของขวัญวันเกิดชั้นเลิศให้กับชายคนนี้ในวาระครบรอบ 2 ศตวรรษชาตกาลของเขา, คาร์ล มาร์กซ์—"นายผี" ผู้เป็นนักปราบผีตัวยงในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ.

 

เชิงอรรถ

[1] "มติครม.เลิกวันหยุด 'วันฉัตรมงคล' และให้เพิ่มวันหยุดอีก 2 วัน." มติชน. 11 เมษายน 2560.

[2] Scott Oliver, "Unwrapping the 'Cultural Marxism' Nonsense the Alt-Right Loves." Vice. February 24, 2017. https://www.vice.com/en_us/article/78mnny/unwrapping-the-conspiracy-theory-that-drives-the-alt-right (accessed April 30, 2018).

[3] Thu-Huong Ha, "These Are the Books Students at the Top US Colleges Are Required to Read." Quartz. January 27, 2016. https://qz.com/602956/these-are-the-books-students-at-the-top-us-colleges-are-required-to-read/ (accessed April 30, 2018).

[4] Tom Bemis, "Karl Marx Is the Most Assigned Economist in U.S. College Classes." Wall Street Journal. January 31, 2016.

[5] ตัวอย่างของงานที่ผลิตออกมาเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ ได้แก่ Tariq Ali, The Dilemmas of Lenin: Terrorism, War, Empire, Love, Revolution (New York: Verso, 2017); V. I. Lenin and Slavoj Žižek, Lenin 2017: Remembering, Repeating, and Working Through (New York: Verso, 2017); China Miéville, October: The Story of the Russian Revolution (New York: Verso, 2017).

[6] ตัวอย่างของงานที่ผลิตออกมาเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ ได้แก่ David Harvey, Marx, Capital, and the Madness of Economic Reason (New York: Oxford University Press, 2017);  Ingo Schmidt and Carlo Fanelli, eds., Reading "Capital" Today: Marx After 150 Years (London: Pluto Press, 2017); William Roberts, Marx's Inferno: The Political Theory of Capital (Princeton: Princeton University Press, 2017).

[7] ตัวอย่างของงานที่ผลิตออกมาเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ ได้แก่ Sven-Eric Liedman, A World to Win: The Life and Works of Karl Marx, trans. Jeffrey N. Skinner (New York: Verso, 2018);  Yvonne Kapp, Eleanor Marx: A Biography (New York: Verso, 2018); Stathis Kouvelakis, Philosophy and Revolution: From Kant to Marx, trans. G. M. Goshgarian (New York: Verso, 2018).

[8]  Karl Marx and Friedrich Engels, "The Communist Manifesto" in Karl Marx: Selected Writings, ed. David McLellan (Oxford: Oxford University Press, 1997).

[9] Karl Marx, "The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte" in Karl Marx: Selected Writings.

[10] นอกจากในบทนำของหนังสือแล้ว, ตัวเนื้อหาของ ทุน เล่มที่ 1  ก็มีแนวคิดเรื่องความเป็นและความตาย ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ. ที่โดดเด่นคือ การแบ่งแยกระหว่าง แรงงานที่มีชีวิต กับแรงงานที่ตายไปแล้ว (dead labor) ซึ่งแรงงานประเภทหลังในมุมมองของมาร์กซ์ก็คือ ทุน นั่นเอง.

[11] Karl Marx, "Preface to the First Edition" in Capital Volume I, trans. Ben Fokes (New York: Penguin Books, 1976).

[12] สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใดอังกฤษถึงเป็นต้นกำเนิดและแม่แบบของระบบทุนนิยม และอะไรคือลักษณะเด่นของระบบทุนนิยมในอังกฤษ โปรดดู Ellen Wood, The Pristine Culture of Capitalism: A Historical Essay on Old Regimes and Modern States (New York: Verso, 1991); ibid., The Origin of Capitalism: A Longer View (New York: Verso, 2002).

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความ Yes! วิจารณ์รัฐบาล 'ทรัมป์' ร่างกม.ตรวจสอบโซเชียลมีเดียนักท่องเที่ยวก่อนได้วีซา

Posted: 04 May 2018 06:16 AM PDT

"ช่วงหยุดฤดูใบไม้ผลิ" มีบางคนที่จะหาโอกาสได้เดินทางออกไปต่างแดนเพื่อพบปะสิ่งใหม่ๆ มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ สหรัฐฯ เองเป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น แต่ทว่านโยบายเกี่ยวกับคนเข้าเมืองบางอย่างของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีการจ้องตรวจโซเชียลมีเดียของคนเข้าเมืองที่ไม่ใช่ผู้อพยพ กำลังจะทำให้การท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ฝ่อลงไปอีกหรือไม่

ก่อนหน้านี้ทางการสหรัฐฯ เคยเปิดเผยว่านักท่องเที่ยวจากต่างชาติลดลงร้อยละ 3 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 จนสหรัฐฯ ตกอันดับจากการเป็นประเทศที่ผู้คนนิยมท่องเที่ยว หลังจากที่มีนโยบายและโวหารแบบกีดกันคนเข้าเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาหลายครั้ง

บทความนิตยสาร Yes! ของทาห์มินา วัตสัน ทนายความด้านผู้อพยพเข้าเมืองในซีแอตเทิล ระบุถึงประเด็นนี้ว่า แทนที่ทรัมป์จะเล็งเห็นปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากบรรยากาศกีดกัน ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลกลับเสนอกฎหมายใหม่ที่จะขอข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อบัญชีผู้ใช้งานในโซเชียลมีเดียของผู้ที่ต้องการวีซ่าแบบที่ไม่ใช่วีซาผู้อพยพ เรื่องนี้จะกระทบผู้คนถึง 14.7 ล้านคน

วัตสันระบุว่ามุมมองที่ชาวโลกมีต่อสหรัฐฯ นั้นกระทบต่อการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ด้วย จากกรณีที่รัฐบาลทรัมป์ทำการตรวจสอบเข้มงวดต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่มในปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงการพยายามเก็บข้อมูลส่วนตัวโซเชียลมีเดียพวกเขาตั้งแต่สมัยปลายรัฐบาลโอบามา แต่รัฐบาลทรัมป์เพิ่มมาตรการเก็บข้อมูลดังกล่าวหนักขึ้น

รายละเอียดของร่างกฎหมายขอบัญชีโซเชียลมีเดียของผู้ขอวีซาที่ไม่ใช่ผู้อพยพนั้น ระบุให้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ถามถึงบัญชีโซเชียลมีเดียในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของผู้ต้องการขอวีซา โดยอ้างว่าการเก็บข้อมูลเป็นไปเพื่อ "การจำแนกตัวตนและการตรวจสอบข้อมูลว่ามีคุณสมบัติตามกฎหมายของผู้ขอวีซาหรือไม่"

กฎหมายนี้ถ้าบังคับใช้จะไม่เพียงแค่กระทบนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงคนที่ต้องการขอวีซาทำงานหรือวีซ่านักเรียกนักศึกษารวมถึงคนที่เข้าประเทศด้วยสาเหตุเรื่องการทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย

นอกจากนี้วัตสันยังชี้ให้เห็นปัญหาถึงประโยคในตัวกฎหมายที่อาจจะถูกนำมาใช้ตีความกว้างๆ ได้ โดยไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่ามาตรฐานของมันคืออะไร เช่น คนที่โพสต์มีมวิจารณประธานาธิบดีจะถูกปฏิเสธวีซาหรือไม่ พวกเขาจะตีความตามอำเภอใจตัวเองหรือเปล่าว่าโพสต์ของบุคคลนั้นๆ เป็นโพสต์แบบสุดโต่งทางศาสนาถ้าหากเพียงแค่เขาโพสต์ถึงวันหยุดสำคัญทางศาสนาพวกเขา เมื่อพิจารณาจากการออกคำสั่งแบนคนจากกลุ่มประเทศมุสลิมใหญ่ๆ และการพิจารณาเรื่องต่างๆ ของรัฐบาลนี้แล้ววัตสันก็กังวลว่าพวกเขาจะใช้อำนาจตามอำเภอใจกันเหมือนเป็นเรื่องปกติ

นอกจากเรื่องกระบวนการการขอวีซาที่อุทธรณ์ไม่ได้แล้ว วัตสันยังวิจารณ์อีกว่าการอาศัยข้อมูลโซเชียลมีเดียมาเป็นตัวชี้วัดว่าคนหนึ่งจะเข้าประเทศได้หรือไม่นั้นถือเป็นสิ่งที่หลงผิดเพราะเป็นการเข้าใจไปเองว่าโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมหรือทวิตเตอร์จะบ่งบอกถึงตัวตนของคนๆ นั้นทั้งหมด ส่วนคนที่อยากมาสหรัฐฯ จริงๆ คงไม่ด่าสหรัฐฯ แบบเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านโซเชียลฯ ขนาดนั้น

การตรวจโซเชียลมีเดียคนเข้าเมืองไม่เพียงแต่ผิดฝาผิดตัวในการตัดสินคนแต่ยังอาจจะส่งผลให้คนที่ต้องการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทั้งด้วยเหตุผลทางธุรกิจ การท่องเที่ยว หรือเยี่ยมครอบครัว อาจจะรู้สึกไม่อยากเข้าสหรัฐฯ อีก

"ในตอนนี้สถานที่อย่างดีสนีย์แลนด์และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศต่อคิวกันเข้า แต่ถ้าหากกฎหมายเหล่านี้ออกบังคับใช้ ฉันเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง และขณะที่สมาคมการท่องเที่ยวสหรัฐฯ เคยรายงานเมื่อปีที่แล้วว่าการหดตัวของการท่องเที่ยวสหรัฐฯ ทำให้สูญเสียรายได้ 4,600 ล้านดอลลาร์และทำให้สูญเสียตำแหน่งงานไป 40,000 ตำแหน่ง แต่การสูญเสียในอนาคตจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและจะส่งผลกระเพื่อมต่อเนื่องอย่างประเมินค่าไม่ได้" ทาห์มีนา วัตสัน ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Tourists, Beware: Trump Administration Wants Your Social Media Handles Before You Travel, Yes!, 25-04-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคาะ 5 รายชื่อกกต. (สรรหารอบ 2) เตรียมเสนอ สนช. พิจารณา

Posted: 04 May 2018 05:57 AM PDT

5 รายชื่อ กกต. รอบสอง ได้ 1 ศาสตราจารย์ 2 อธิบดี และ 2 อดีตผู้ว่าฯ กรรมการสรรหาเตรียมจัดทำรายงานเสนอชื่อให้ สนช. พิจารณา

<--break- />

4 พ.ค. 2561 เมื่อวานนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่ประชุมกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. ตามมาตรา 8(1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.  จำนวน 5 คน แล้ว หลังเชิญผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จำนวน 24 คน เข้าสัมภาษณ์และแสดงความคิดเห็น ก่อนคณะกรรมการสรรหาจะมีมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ได้รายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. 5 คน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต กรุงโนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี บุรีรัมย์ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี  ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ลำปาง

สำหรับขั้นตอนจากนี้ คณะกรรมการสรรหา กกต. จะจัดทำรายงานเสนอรายชื่อดังกล่าวไปยังประธาน สนช. เพื่อส่งให้กรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิป สนช.) พิจารณานำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช. โดยรวมกับอีก 2 รายชื่อ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกมา เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 5 คน จากนั้นส่งให้ที่ประชุมใหญ่ สนช. ลงมติต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต. ชี้ชื่อ 'พรรคเกรียน' ไม่เหมาะสมสังคมสับสน แจ้ง 'บก.ลายจุด' แก้ใหม่

Posted: 04 May 2018 05:24 AM PDT

กกต. ระบุชื่อ  'พรรคเกรียน' สังคมอาจสับสน จะขัดต่อความสงบหรือศีลธรรมอันดีของ ปชช. ขอให้แก้ไข ด้าน  'บก.ลายจุด' โพสต์จะไป กกต. เพื่อแก้ชื่อหรือไปศาลปกครองดี

4 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน โพสต์จดหมายจากนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา แจ้งการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ขอให้แก้ไขชื่อพรรคการเมืองให้ถูกต้องและมีความหมายที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จและจัดส่งเอกสารให้นายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 15 วัน 

สมบัติ โพสต์ด้วยว่า กกต. มีจำหมายตอบว่ากลับแล้วว่าไม่ผ่านชื่อพรรคเกรียน กำลังคิดว่าไป กกต. เพื่อแก้ชื่อหรือไปศาลปกครองดี

สำหรับจดหมายชี้แจงของ กกต. ระบุด้วยว่า จากข้อเท็จจริงคําว่า "เกรียน สํานักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายไว้หลายนัย โดยเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปผ่านวิทยุรายการ "รู้รัก ภาษาไทย ออกอากาศทางสถานี วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 ต.ค.2555 เวลา 7.30 น. กล่าวคือ ความหมายแรก หมายถึง สั้นเกือบติดหนังหัว หรือผิวหนัง หรือพื้นที่ เช่น เขาตัดผมเกรียนเหมือนนักเรียนเตรียมทหาร ทรงผม ทันสมัยของหนุ่มยุคใหม่ต้องทรงเกรียน สุนัขพันธุ์ไทยมักจะมีขนเกรียน บ้านนั้นเขาตัดหญ้าเกรียนดีจริงๆ ความหมายที่สองใช้เรียกแป้งซึ่งนวดด้วยน้ําร้อนแล้วยังไม่น่าย ยังเป็นเม็ดปนอยู่เมืดนั้น เรียกว่า เกรียน นอกจากนี้ยังเรียกปลายข้าวละเอียดๆ ว่า ข้าวปลายเกรียน ความหมายที่สาม เป็นชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่ ตอกสีขาว หรือม่วงอ่อน เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง 

ปัจจุบันคําว่า เกรียน มีผู้นําไปใช้เป็นคําสแลงเพื่อเรียกบุคคลหรือ กลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทําอะไรโดยไม่สนใจใคร ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล หรือทําอะไรๆ ไปตาม อารมณ์โดยปราศจากการไตร่ตรอง เช่น หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของพวกเกรียน มีแต่เด็กขอบใช้อารมณ์ ไร้เหตุผล ในเว็บไซต์นี้ชอบมีพวกเกรียนมาก่อกวนเสมอและตามพจนานุกรมคําใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 ได้ให้ความหมายว่า เกรียน หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล

ดังนั้น จากความหมายดังกล่าวข้างต้นการใช้ชื่อพรรคการเมืองว่า "พรรคเกรียน" จึงอาจทําให้ สังคมเกิดความสับสนในความหมายอันอาจไม่มีความเหมาะสมและจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ ซึ่งจะไม่เป็นไปตามมาตรา 38 ประกอบมาตรา 35 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งอาศัยอํานาจตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และข้อ 250 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศรีวราห์' สั่งสอดส่อง 'คนอยากเลือกตั้ง' ชุมนุม 5 พ.ค.นี้ ปูดพบมือที่ 3 เคลื่อนไหว

Posted: 04 May 2018 03:27 AM PDT

รอง ผบ.ตร.สั่ง จนท.สอดส่องบุคคลที่มีหมายจับ ในการชุมนุม 'คนอยากเลือกตั้ง' 5 พ.ค.นี้ ปูดพบมือที่ 3 เคลื่อนไหวแต่ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ ผบ.ทบ.ยังไม่มีข้อมูล ขนคนจาก ตจว.มาสมทบ

4 พ.ค.2561 กรณีกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชวนร่วมกิจกรรม 'หยุดระบอบ คสช. หยุดยื้อเลือกตั้ง' ที่ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป วันที่ 5 พ.ค.นี้

วันนี้ (4 พ.ค.61) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่นัดแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 5 พ.ค.นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพราะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล แต่ตำรวจและทหารมีแผนและมาตรการดูแลทั้งภายในและด้านนอก โดยจัดกำลังสอดส่องบุคคลที่มีหมายจับ พร้อมเตรียมกองร้อยสนับสนุน หากเคลื่อนไหวออกนอกพื้นที่ พร้อมยอมรับจากการข่าว พบการเคลื่อนไหวของกลุ่มมือที่ 3 อยู่บ้างแต่ยังไม่ชัดเจน จึงสั่งการให้ตำรวจสันติบาล ติดตามการข่าวอย่างใกล้ชิด 

พล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุว่า การชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มมือที่ 3 พร้อมย้ำ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน หากละเมิดกฎหมาย ตำรวจจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด

ผบ.ทบ.ยังไม่มีข้อมูล ขนคนจาก ตจว.มาสมทบ

ขณะที่ ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม คิดว่า ไม่มีอะไรต้องเพิ่มเป็นพิเศษ และไม่น่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น เพราะที่ผ่านมา เรามีการพูดคุยทำความเข้าใจกันมาตลอด และขอความร่วมมือในบางเรื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชน ซึ่งต่างฝ่ายต่างยืนในจุดที่เหมาะสม ซึ่งพวกเขาอยากแสดงความคิดเห็นก็แสดงออกมาได้ แต่ต้องไม่มีผลกระทบต่อสังคม

ต่อกรณีคำถามที่ว่าจะมีการขนคนจากต่างจังหวัดมาสมทบการเคลื่อนไหววันที่ 5 พ.ค. หรือไม่ นั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลดังกล่าวและยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมการไว้อยู่แล้ว และไม่กังวลการยกระดับชุมนุมกลางเดือนนี้ 

"ผมคิดว่า เจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ส่วนการแสดงออกครบรอบ 4 ปี คสช. ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็มีกรอบการปฏิบัติต่างๆ ที่เหมาะสม และทุกวันนี้ทุกอย่างก้าวสู่กระบวนการเป็นประชาธิปไตย มีขั้นตอนที่ชัดเจน" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

มอบกองทัพภาค 3 ดูแลความเรียบร้อย ปมบ้านพักศาล 6 พ.ค.นี้

ขณะที่ ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบ้านพักตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ ผบ.ทบ. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้แต่งตั้งคณะทำงานจากส่วนกลางเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและรายละเอียดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 พ.ค.นี้ สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย ซึ่งตนได้มอบหมายกองทัพภาคที่ 3 ทำหน้าที่ประสานงานและดูแลความเรียบร้อย เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น
 
ส่วนการที่กลุ่มผู้คัดค้าน ออกมายืนยันว่าจะไม่ชุมนุมใหญ่ในวันที่ 6 พ.ค.นี้ เป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ต้องใช้เวลาคลี่คลาย แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

ที่มา สำนักข่าวไทย  แนวหน้า และเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: บทเรียนบ้านพักศาล

Posted: 04 May 2018 02:40 AM PDT

 

คนเชียงใหม่คัดค้านบ้านพักศาลเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ เป็นสิครับ แต่ไม่ใช่การเมืองเรื่องเสื้อสี อย่างที่บางคนพยายามป้ายสี

มิตรสหายท่านหนึ่งเทียบขำ ๆ ว่าคนไม่เอา "หมู่บ้านป่าแหว่ง" มีทุกสี แต่คนด่าฝ่ายคัดค้านมีหลากสี นั่นคือ "สลิ่ม" ผู้การศึกษาสูงแต่สมองพิการ คิดแต่ว่าคนเชียงใหม่เป็นพวกทักษิณจ้องล้มศาลล้มรัฐบาล

ไม่รู้หรือไงว่าคนเชียงใหม่คัดค้านการใช้พื้นที่ดอยสุเทพในทางที่ไม่เหมาะสม มาตั้งแต่สมัยจะสร้างกระเช้าไฟฟ้าปี 2529 รัฐบาลทักษิณปี 2548 จะสร้างไนท์ซาฟารี พืชสวนโลก กระเช้าไฟฟ้า อุทยานช้าง สวนสนุก ก็โดนค้าน แม้ 2 โครงการแรกขวางไม่สำเร็จ แต่ที่เหลือต้องระงับไป ส่วนบ้านพักศาลทำไมเพิ่งค้าน เขาค้านมาตั้งแต่ปี 2558 ไม่มีใครฟัง จนคนทั้งประเทศเห็นภาพถ่ายทางอากาศ "ป่าแหว่ง" เห็นบ้านพักสวยงาม จึงเกิดกระแสลุกลามใหญ่โต

บ้านพักศาลเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องสิทธิพลเมือง เป็นเรื่องสำนึกของประชาชน ที่รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะ ขัดแย้งกับรัฐและส่วนราชการ ที่คิดว่าตนมีอำนาจจัดการดูแล ใช้สอย ตามระเบียบกฎหมาย โดยไม่ต้องถามชาวบ้าน

ความขัดแย้งเช่นนี้เราเห็นได้ทั่วไป ในโครงการต่าง ๆ เขื่อน โรงไฟฟ้า แต่ครั้งนี้คือดอยสุเทพ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเชียงใหม่ แถมยังผนวกกระแสรักษ์ป่า ที่คนจังหวัดอื่นภาคอื่นเมื่อเห็นภาพถ่ายทางอากาศก็รู้ว่าไม่เหมาะสม ถึงแม้ภาครัฐยืนยันว่าถูกกฎหมาย

ถูกกฎหมายแต่ถางป่า นี่ก็เป็นประเด็นเสียดแทงใจ เพราะคนยากคนจนทำมาหากินในเขตป่าเสื่อมโทรม หรือถูกประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน ล้วนถูกจับกุมคุมขัง ตามนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" และถูกศาลตัดสินจำคุกไปจำนวนมาก

ซึ่งไม่ใช่รักษาป่าได้ เพราะกฎหมายมีปัญหา เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจล้น การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำให้เกิดความเป็นธรรม แต่ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ (ข้อนี้กระแสรักษ์ป่าควรเข้าใจเช่นกัน ว่ายิ่งส่งเสริมอำนาจเจ้าหน้าที่ ยิ่งอาจทำให้ชาวบ้านตาดำ ๆ ประสบชะตากรรม)

บ้านพักศาลจึงเป็นเรื่องการเมืองภาคพลเมืองโดยพื้นฐาน ไม่สำคัญว่าเป็นบ้านพักหน่วยงานไหน โครงการนี้ดำเนินการโดยสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม จึงไม่ใช่อำนาจตุลาการ แต่ก็มีคำถามซ้อนทับเช่นกันว่า ถ้าเป็นหน่วยราชการอื่น จะกล้า ๆ สร้างอย่างนี้ไหม

ข้อนี้ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองเช่นกัน แต่ไม่ใช่ใครจ้องล้มศาล เพราะไม่มีใครสร้างบ้านให้ สังคมไทยเคารพยกย่องพร้อมทั้งเกรงกลัวอำนาจตุลาการ ไม่ค่อยมีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอาจละเมิดอำนาจศาลติดคุกได้

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทักท้วงตั้งแต่แรกเสียงไม่ดัง จนกระทั่งอารมณ์สังคมระเบิดตูม ก็กลายเป็นเรื่องบานปลาย ซึ่งพอกระแสจุดติด ฝ่ายตุลาการพูดอะไรแม้ไม่ตั้งใจ ก็ผิดหูชาวบ้าน เป็นบทเรียนอีกชั้นว่าท่านเคยแต่นั่งบนบัลลังก์ ไม่เข้าใจภาวะของคนที่ตกเป็นจำเลย โดยเฉพาะเมื่อเป็นจำเลยสังคมโดยไม่รู้ตัว

ในแง่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยังไงรัฐบาลกับศาลก็ต้องร่วมกันหาทางลง เพราะขนาดเพจไทยคู่ฟ้าเปิดให้แสดงความเห็น ยังมีคนแห่ไปเมนท์ล้นหลาม

แต่ถ้ามองการณ์ให้ไกล ไม่ว่าอำนาจฝ่ายไหนก็ต้องตระหนัก เก็บรับบทเรียน ทั้งเรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน เคารพสิทธิสาธารณะ รวมทั้งรับรู้ไว้เถิดว่า ประชาชนกำลังไม่พึงพอใจทุกอำนาจ ทุกกลุ่มอภิสิทธิ์ชน และจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พลาดไม่ได้เชียว

 

ที่มา: www.kaohoon.com/content/228461

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: รอยเท้าบอบช้ำในประเทศสารขัณฑ์

Posted: 04 May 2018 02:27 AM PDT



ฝนหยดลงปรอยๆ ในฤดูร้อน
อุณหภูมิชีวิตพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ทุกวัน
บนถนนทอดยาวสู่ความมืด
กลางวันไม่ต่างจากกลางคืน
ห้วงงันอันยาวนาน
ท้องฟ้าถูกปกปิดด้วยอยุติธรรม
มืดสนิทราวกับที่นี่ไม่มีดวงอาทิตย์
ชีวิตบางชีวิตหอบฝันพลัดถิ่น
สู่มหานครศิวิไลซ์ในความคิด
จินตนาการถึงอนาคตอันแสนหวาน
ร่ำไห้ต่อความจริงซึ่งหิวโซ
หากการมาถึงของอาหารมื้อเช้า
การดิ้นรนต่อชะตากรรมอันแสนเศร้า
เริ่มขึ้นอีกครั้ง
เริ่มขึ้นโดยไม่รู้ว่าบทสรุปเป็นอย่างไร
ความรู้สึกบอบบาง
เสรีภาพปลิดปลิวไปตามสายลม
ที่หอบหิ้วสายฝนให้ซัดสาดหยดน้ำลงมา
จนเปื่อยยุ่ย
รอยเท้าละลานตาหลากหลายรุ่น
ย่ำทันอดีตอย่างไม่รู้ตัว
อดีตที่ตำราเรียนไม่เคยบรรจุไว้หมด
อดีตที่ไม่เคยได้รับการศึกษา
บนทางเท้า
ในตลาด
สะพานลอย
ตรอกซอยทุกๆ ซอกตึก
เราเดินสวนกับแพะมากมาย
บางวันเป็นคนนั้น
บางทีเป็นคนนี้
บางครั้งเป็นคนนู้น
หรือแม้แต่เราก็อาจตกเป็นแพะเหมือนกัน
หยดฝนในฤดูร้อนเดือนพฤษภาฯ
การพัฒนายังมาไม่ถึง
อีกกี่ปีแสงที่ท้องฟ้าจะสว่างทั่วทุกหย่อมหญ้า
ในประเทศสารขัณฑ์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: การใช้ศีลธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองของอเมริกัน

Posted: 04 May 2018 02:20 AM PDT


 
ในการแข่งขันทางการเมืองเพื่อชิงตำแห่งประธานาธิบดีของคนอเมริกันทุกครั้ง "ศีลธรรม" ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหาเสียงและโจมตีกันและกันทุกครั้ง ทั้ง 2 พรรค คือ เดโมแครตและรีพับลิกันมักอ้างเสมอว่าพรรคและผู้สมัครของพรรคตนใส่ใจกับศีลธรรมอันดีของตนเองและต้องการผลักดันนโยบายเชิงศีลธรรม แม้ว่าระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของอเมริกันกำหนดให้ศีลธรรมหรืออาจเป็นศาสนา แยกออกไปคนละส่วนจากการเมืองการปกครองของรัฐก็ตาม

ข้อเท็จจริงก็คือ ทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ของอเมริกัน ต่างผูกติดกับระบบคำสอนของศาสนาคริสต์ไม่มากก็น้อย ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายทางศีลธรรมที่แตกต่างกัน  จนเกิดมีการแยกฝ่ายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ได้แก่ ฝ่ายที่เรียกว่า pro-life กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า pro-choice

ฝ่ายแรก หมายถึง พรรครีพับลิกัน ส่วนฝ่ายที่สองหมายถึงพรรคเดโมแครต

คำว่า "บาป" ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องในการประกาศตน (จุดยืน) ทางการเมืองของแคนดิเดทแต่ละคน ในแต่ละพรรค พรรคอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกัน ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับนโยบายการทำแท้ง รักร่วมเพศ (ของเพศที่สาม) และความสำส่อนทางเพศเชิงการมีมากกว่าผัวเดียวเมียเดียว รวมถึงการปฏิเสธเรื่องประโลมโลกของชุมชนฮอลลีวูด

จึงไม่น่าแปลกที่ไม่ว่าในยุคสมัยใดโดยส่วนมากแล้ว พรรครีพับลิกัน จะไม่ได้เสียงสนับสนุนจากชาวฮอลลีวูด ยกเว้นแต่เพียงดาราบางคน อย่างอดีตผู้ว่ารัฐ แคลิฟอร์เนีย อาร์โนลด์ ซวากสเนกเกอร์ คือมีดาราเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สนับสนุนรีพับลิกัน

พรรครีพับลิกัน จึงถูกกล่าวหาว่า เป็นพรรคฝ่ายเสรีนิยมขวา ไม่เป็นที่ประทับใจคอการเมืองชนกลุ่มน้อย(minority group) เว้นเสียแต่ การกล่าวเลยไปจากการได้รับการเลือกตั้งของสส.ผิวขาวบางคนอย่าง Dana Rohrabacher  แห่งออร์เร้นจ์ เค้าน์ตี้ ที่ครั้งหนึ่งเขา (Rohrabacher)  เคยบอกผมทำนองว่า เขาเข้าถึง Sense of Asian คือเข้าถึงความรู้สึกของคนเอเชียในเขตเลือกตั้งของเขา Huntington beach area เขตออเรนจ์เค้าน์ตี้ แคลิฟอร์เนีย

มีแต่คนไทย โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ในเขตแคลิฟอร์เนีย ยิ่งในชุมชนแอล.เอ.ด้วยแล้ว อาจไม่มีทางเข้าใจ Conservative  morality senses หรือความรู้สึกด้านศีลธรรมแนวอนุรักษ์นิยมได้ง่ายๆ เท่านั้นเอง

หากเพราะคนไทยส่วนใหญ่หรือแม้แต่สื่อไทยจำนวนไม่น้อย ถูกกล่อมเกลาโดย "สำนึกความเป็นชนกลุ่มน้อย" จากวาทกรรมเชิงตรรกะ "รีพับลิกันไม่มีทางเข้าใจคนจน เอาใจแต่คนรวย เพราะผู้บริหารพรรคส่วนใหญ่ เป็นคนรวย ดังนั้นพรรคนี้จึงจะไม่ช่วยเหลือคนจน หรือไม่มีวันเข้าใจหัวอกคนจน" การพิสูจน์ดังกล่าว ดำเนินต่อมาตราบเท่าการเทคโอเวอร์ของนักการเมืองแดโมแครตเกิดขึ้น  ดังเช่น ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียคนก่อน Gray Davis เป็นอาทิ กระทั่งรัฐเดียวกันนี้ถึงกับล้มละลายบนกองสวัสดิการอันไพบูลย์, เอเชียนอเมริกันเพื่อนผมที่เมืองเฟรสโนบางคน หากิน (เงินสวัสดิการของรัฐ)กับบรรดาลูกๆ นับโหลหรือมากกว่านั้นของพวกเขา โดยไม่ต้องทำงานเป็นเวลานับสิบๆ ปี นี่คือความฝันง่ายๆ แบบเดโมแครตใช่หรือไม่?

ถ้าประเมินจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ  การอ้างระบบศีลธรรมของฝ่ายรีพับลิกัน อย่างเช่น ส่วนตัวของมิทท์ รอมนีย์ แคนดิเดทประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ที่มีเงื่อนเงาทะมึนของนิกายคริสตศาสนามอร์มอนทอดทับอยู่นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ต่อมความรู้สึกของเอเชียนอเมริกันหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในอเมริกานึกถึงเมือง Salt Lake City มลรัฐ Utah ศูนย์กลางของนิกายดังกล่าวแล้ว แม้แต่ชาวรีพับลิกันด้วยกันเอง ก็อดประหวั่นเรื่อง "ความเคี่ยว เชิงจารีต" ของรอมนีย์ไปด้วยไม่ได้ ดีหน่อยที่แบคกราวด์ของรอมนีย์ ไม่ได้"เคี่ยวเชิงจารีต" เท่าคนในนิกายมอร์มอนเป็นกัน แต่ Image ของอดีตผู้ว่าการรัฐแมสสาซูเซสส์ "ขวากลาง" ก็ชัดว่า เขา pro-life อย่างไม่สามารถเลี่ยงได้, เพื่อนผมที่ลาสเวกัส แซวว่า หากรอมนีย์ไปลาสเวกัส เขาคงไม่เอาด้วยกับอบายมุข เกมพนันและเซ็กส์โชว์ที่มีอยู่เกลื่อนเมืองเป็นแน่ หากแต่เขาจะเลือกเพียงไวน์ชั้นดีในห้องส่วนตัวที่ Bellagio ไม่ก็ในบ่อนอื่นในเครือเอ็มจีเอ็ม แกรนด์

ขณะที่ อีกฝ่าย "กลยุทธ์หาเสียงกับคนจนยังใช้ได้ผล" บารัก โอบามา ขวัญใจโรบินฮู้ด ก็มุ่งทำงานหาเสียงของเขาอย่างขะมักขะเม้น

ใช่แน่นอนถ้าจะบอกว่า โอบามา คือ ผู้ลบภาพเชิงลบของ "คนผิวสี"ในอเมริกาออกได้บางส่วน อย่างน้อยก็ต่อคนส่งทูโกคนไทยในเขตแอล.เอ. ที่ชีวิตของเขาเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากคนผิวสีอเมริกัน-แอฟริกัน มาอย่างใจหายใจคว่ำ เมื่อชายผิวดำร่างยักษ์จับข้อเท้าของเขายกขึ้น เอาหัวห้อยลง  เขย่าตัวเขากรุ๊งกริ๊งให้เศษเหรียญจากกระเป๋าของเขาหล่นลงบนพื้น ปล้นเอาแม้กระทั่งเหรียญเพนนีเล็กๆ ขณะเขากำลังส่งทูโกในวันหนึ่ง

อิมเมจเชิงศีลธรรมของโอบามา แตกต่างจากอิมเมจเชิงศีลธรรมของรอมนีย์หรือกระทั่งทรัมป์ อย่างแทบสิ้นเชิง เพราะแท้จริงแล้ว คนนิกายเดโมแครตส่วนหนึ่งที่กำลังโตขึ้นอย่างมากนั้น พวกเขาประกาศตนเองด้วยซ้ำว่า "ไม่มีศาสนา"   โอบามาเองก็ถูกเคลือบแคลงจากมหาชนอเมริกันเช่นกันว่า "เป็นไปได้อย่างไรกันที่โซเชียลลิสต์ (โอบามา) จะนับถือพระเจ้า"

กระนั้น ก็ยังเป็นที่ถูกใจของเสรีชน สุขนิยม โดยเฉพาะสุขนิยมทางเพศชาวฮอลลีวูด พวกเขาส่งสัญญาณที่ดีในตอนนั้นว่า จะเลือกยืนข้างโอบามาก ไม่ต่างจากเลือกเพศที่สาม, การณ์เป็นไปถึงขนาดว่า ศิลปินนักร้องจำนวนหนึ่งตั้งท่ายื่นฟ้องต่อรอมนีย์ ฐานนำเพลงของเขาไปเปิดนำ (introduce) ขณะหาเสียงบนเวที, แสดงให้เห็นว่า รอมนีย์เอง ยังลำบากคับแค้น ถึงขนาดต้องวิ่งขอลิขสิทธิ์เพลงเพื่อเปิดนำบนเวทีหาเสียงด้วยความลำบากยากเข็ญ

ก่อนหน้านั้นฐานแห่งการเป็น pro-choice ของเดโมแครตและโอบามา ถูกนักวิจัยความสุขที่นิวยอร์คกระตุกมาแล้ว เมื่อดัชนีความสุขที่เป็นผลของการวิจัยชิ้นเดียวกัน บ่งว่า พวกpro-life มีความสุขมากกว่าพวก pro-choice จากเหตุผล เงื่อนไขทางศีลธรรมและความตั้งมั่นในสถานภาพ และเพศสภาพ อีกเหตุผลหนึ่งคือ ชาวprolife ไม่มีการตั้งคำถามกับชีวิตและสังคม มากมายเหมือนชาว pro-choice มีข้อสรุปส่วนหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ว่า "ของความทุกข์ของคนเราเกิดจากวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)" ของพวกเขาเองนั่นแหละ (พวกมีปัญหาและตั้งคำถามเยอะ)

ชาว pro-life จึงพอใจในสภาพที่ตนเองเป็นอยู่มากกว่าชาว pro-choice รวมถึงความพอใจในระบบการใช้ชีวิตแบบครอบครัวผาสุก ผัวเดียวเมียเดียว จึงแทบไม่ต้องสงสัยว่า เรื่องราวของ บิล คลินตันกับโมนิกา เลวินสกี้ กลายเป็นโจ๊กโอเปร่าของชาวเดโมแครตในเวลาไม่ช้า แต่ฝังหัวรีพับลิกันอยู่นาน

อีกแง่หนึ่ง ประเด็นทางด้านศีลธรรมทำให้นักการเมืองอเมริกันที่คาดกันว่า จะมีอนาคตรุ่งโรจน์ต้องเสียคนมานักต่อนักแล้ว

แต่รอมนีย์เองก็คงจะนึกไม่ออกว่า โอบาม่า มีอะไรเสื่อมเสียทางศีลธรรมบ้าง คนรวยอย่างเขาผิดตรงไหน ทั้งๆที่เขาเองก็มีที่มาไม่ต่างจาก Harry Reid  อดีตประธานสภาสูง (Senate) สว. เสียงข้างมากของแดโมแครต Reid นั้น เป็นถึงลูกชายของเจ้าของเหมืองแร่ใหญ่ แห่งเมือง Searchlight รัฐทะเลทราย อย่างเนวาดา

ศีลธรรมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ตราบเท่าไม่นำระบบศีลธรรมไปบีฑา หรือบังคับให้คนอื่นเชื่อในระบบศีลธรรมแบบเดียวกับตน เหมือนที่ รอมนีย์กำลังเชื่อศีลธรรมกระแสหลัก(คริสตธรรม) และโอบามากำลังเชื่อศีลธรรมกระแสรอง(อัตตธรรม/ไร้ศาสนา)

เพราะการไปวัด ไปโบสถ์ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ,หรือการไปโบสถ์ของบุคคลสำคัญทางการเมืองหรือนักการเมือง ไม่ได้บ่งเสมอไปว่า เขาผู้นั้นเป็นคนดีมีศีลธรรม !

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ถูก จนท.ขัดขวางกิจกรรมวันกรรมกรสากล

Posted: 04 May 2018 02:13 AM PDT

เก็บตกวันกรรมกร ไม่เพียงแรงงานที่ กทม.หรือปริมณฑล เท่านั้นที่ถูก จนท. ขัดขวงการจัดกิจกรรม 'เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ' ก็โดนด้วย ก่อนยื่น 10 ข้อเรียกร้องต่อ รบ.ไทย 3 ข้อต่อ รบ.เมียนมา 2 ข้อต่อก.แรงงาน และ 1 ข้อต่อผู้ว่าฯ จ.เชียงใหม่

วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือวันกรรมกรสากล กิจกรรมของคนงานถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจกีดกันอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ก่อนวันนั้น ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ถูกเจ้าหน้าที่เรียกคุยพร้อมสั่งห้ามชูป้ายข้อความประเด็นการเมือง โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 'เลือกตั้งปีนี้' หรือช่วงเช้าวันกรรมกรสากล กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มหาชัยถูกเจ้าหน้าที่ยึดป้ายข้อความ นักสหภาพแรงงานเจเนอร์รัลมอเตอร์ 4 คน ก็ถูกคุมตัวโดยตำรวจหลังจากที่พวกเขาได้จัดชุมนุมหน้าสถานทูตอเมริกาเพื่อพูดถึงการเลิกจ้างคนงานโดยบริษัทฯ เป็นต้น จนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกมาแสดงท่าทีกังวลต่อการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว พร้อมย้ำให้ไทยเครารพต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกด้วย

ไม่เพียงแต่พื้นที่กรุงเทพหรือปริมณฑลเท่านั้นที่ถูกเจ้าหน้าที่กีดกัน ในวันกรรมกรสากลที่ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รวมตัวกันของ 15 องค์กรในประเด็นแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคมก็ถูกเจ้าหน้าที่กีดกันการจัดกิจกรรมวันกรรมกรสากลด้วยเช่นกัน

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา หนึ่งเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ในวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายมีกำหนดการจัดกิจกรรม ช่วงเช้าจัดเสวนาวิชาการที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่ช่วงบ่ายจะเดินขบวนตั้งแต่อนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ ถึงสวนบวกหาด ซึ่งทางเครือข่ายทำกิจกรรมลักษณะแบบนี้เป็นปกติทุกปี แต่ปีนี้คณะทำงานของเครือข่ายถูก ตำรวจ สภ.ภูพิงค์ เชิญตัวไป พร้อมแจ้งว่าการจัดชุมนุมนี้มันอาจผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

ศุกาญจน์ตา กล่าวว่าเราแจ้งขอจัดกิจกรรมทุกปี แต่หนังสือตอบรับไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือ เราก็ใช้วิธีการนี้มาโดยตลอด ครั้งนี้ก็ขอเทศบาล ขอตำรวจจราจรให้มาช่วยอำนวยความสะดวก แต่มาปีนี้มันผิดปกติ สภ.ภูพิงค์ กลับเรียกไปแจ้งว่า จะเข้า พ.ร.บ. ชุมนุม และพาพวกเราไปที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ (กองเมือง) โดยที่ตอนแรกก็อนุญาตให้เดินขบวนได้ แต่ให้รอหนังสือตอบจากผู้การฯ ก่อน ซึ่งรอตั้งแต่เช้าถึง 16.00 น. สุดท้ายขอไม่ให้พวกตนเดิน ถ้าจำเป็นจริงๆ ให้ไปจัดที่สวนบวกหาดเลย โดยที่ทางตำรวจบอกกับผู้ประสานงานเครือข่ายด้วยว่า ถ้ามีคนมาแจ้งความใช้เสียงรบกวน ก็จะดำเนินคดี ทำให้พวกตนไม่เดินขบวน และจัดเวทีกับพื้น และยกเลิกการใช้เครื่องเสียง เปลี่ยนเป็นโทรโข่งแทน และไปจัดที่สวนบวกหาด เนื่องจากผู้แทนภาครัฐรับปากมารับหนังสือเราที่นั่น 

สำหรับกิจกรรมที่สวนบวกหาดนั้น ศุกาญจน์ตา กล่าวว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่  18.00 - 20.00 น. มีผู้รวมเหลือประมาณ 100 คน จากเดิมที่ประมาณกันไว้ที่ 300 คน เนื่องจากคนงานหลายคนกลัวตำรวจจึงเดินทางกลับก่อน โดเมื่อมีตัวแทนภาครัฐมารับหนังสือเครือข่ายก็เดินทางกลับเช่นกัน
 
ศุกาญจน์ตา ยังกล่าวด้วยว่า ปีก่อนๆ เครือข่ายจะเดินทางไปยื่นที่ศาลากลางจังหวัด โดยมีผู้ว่าฯ มารับหนังสือข้อเรียกร้อง แต่ครั้งนี้ไม่มา เครือข่ายจึงเชิญแรงงานจังหวัดมาแทนในฐานะตัวแทนกระทรวงแรงาน 
 
ข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ แบ่งเป็น 10 ข้อ เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 2 ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน  1 ข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าฯ จ.เชียงใหม่ และ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

  1. ขอให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยเพิ่มจำนวนและกระจายศูนย์บริการไปยังระดับอำเภอ มีขั้นตอนดำเนินการที่สั้น ง่าย ใช้เอกสารน้อย และลดค่าใช้จ่ายลงให้น้อยกว่าที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติจากนายหน้า
  2. รัฐบาลต้องเข้มงวดในการดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่อแรงงานทุกคนตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ
  3. เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า "แรงงานต่างด้าว" ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น "แรงงานข้ามชาติ" 
  4. ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ในอัตรา 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงาน และสมาชิกครอบครัว ตามที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องไว้ในปี 2560
  5. ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ภายในปี 2561
  6. ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ภายในปี 2561 เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน
  7. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  8. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการ ผู้ทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ ไม่เลือกปฏิบัติ
  9. ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
  10. ขอให้รัฐบาลประเทศไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางมาปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน

  1. ให้กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ในประเด็นสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ
  2. แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิการพัฒนาฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสิทธิได้รับประกาศนียบัตร และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง

ข้อเรียงร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

  1. เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ให้จังหวัดเชียงใหม่ จัดระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ  ครอบคลุมและราคาถูกสำหรับคนทำงานทุกคน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

  1. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดูแลให้แรงงานที่กลับไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่นทางทะเบียนราษฎร์ ทางการศึกษา สุขภาพและอาชีวอนามัย และสิทธิพลเมือง
  2. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเปิดให้จดทะเบียนสมรสและทำบัตรประชาชนได้ในสถานฑูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย
  3. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดำเนินการให้มีระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน
ในแถลงข้อเรียกร้องดังกล่าวของเครือข่ายระบุด้วยว่า เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนคนทำงานงานทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ด้านแรงงานภายในพื้นที่ภาคเหนือ และพบว่า แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของภาคเหนือยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และไม่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ คนงานทำงานบ้านและคนทำงานในภาคเกษตรกรรมไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน  รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ วันหยุดที่ได้รับค่าจ้าง วันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น
 
แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสิทธิเฉกเช่นแรงงานทั่วไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ และเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอาชีพ และเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน นายจ้างบางรายไม่ได้นำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม และคนงานส่วนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตร และกรณีการรับเงินบำเหน็จชราภาพ มีการเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย และแรงงานในภาคบริการยังคงถูกเลือกปฏิบัติและตีตราจากสังคม ด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางเพศ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพเฉกเช่นแรงงานทั่วไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สธ. สั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้กัญชาทางการแพทย์

Posted: 04 May 2018 01:46 AM PDT

กระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบาย และแผนการพัฒนา รวมทั้งวางระบบการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ปลูก พัฒนาสายไป ไปจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์

4 .พ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำสั่งกระทรวงเลขที่  530/2561 เรื่อง แต่ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  โดยเนื้อหาในคำสั่งดังกล่าวระบุว่า มีข้อมูลปรากฎว่ามีการนำกัญชา ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างหลากหลายในต่างประเทศ ประกอบกับขระนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อการรักษาโรค หรือเพื่อการศึกษาวิจัยได้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการรองรับกับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพท์ และการศึกษาวิจัยในประเทศมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม รัดกุม เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นไปตามหลักวิชาการ และกฎหมาย จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 รํฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงออกคำสั่งดังนี้

1.ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งหมด 22 คน ดังนี้

1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข                                      ที่ปรึกษาคณะกรรมการ

2.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข                                                    ที่ปรึกษาคณะกรรมการ

3.โสภณ เมฆธน                                                                    ประธานกรรมการ

4.ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข                              กรรมการ

5.ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม                                            กรรมการ

6.ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรรมการ

7.ธเนศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข                  กรรมการ

8.อธิบดีกรมการแพทย์                                                            กรรมการ

9.อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก            กรรมการ

10.อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์                                        กรรมการ

11.อธิบดีกรมสุขภาพจิต                                                          กรรมการ

12.เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา                                  กรรมการ

13.เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด       กรรมการ

14.ศาสตราจารย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา                                         กรรมการ

15.คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต                          กรรมการ

16.ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรัญญู พูลเจริญ                                      กรรมการ

17.ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร กีรตินิจกาล                                   กรรมการ

18.สริตา ปิ่นมณี                                                                      กรรมการ

19.อนันตชัย อัศวเมฆิน                                                             กรรมการ

20.รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ที่ได้รับมอบหมาย   กรรมการและเลขานุการ

21.ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สนง.คกก.อาหารและยา  กรรมการและผู้ช่วย

                                                                                             เลขานุการ

22.ผู้อำนวยการสถันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม               กรรมการและผู้ช่วย

                                                                                              เลขานุการ

2.ให้คณะกรรมการตามข้อที่ 1 มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

1.เสนอแนะนโยบายและแผนการพัฒนาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัยภายในประเทศต่อกระทรวงสาธารณสุข
2.ให้คณะกรรมการตามข้อที่ 1 มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

2.พัฒนาและวางระบบการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ให้ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การปรับปรุงสายพันธุ์ การผลิตสารสำคัญที่ได้จากกัญชา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการควบคุม

3.พัฒนาและวางระบบกรศึกษาวิจัยเพื่อนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ภายในประเทศ พร้อมทั้งเสนอความเห็น และคำแนะนำที่เกี่ยวข้อง

4.ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุน และเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเมินผลการปฎิบัติงานตามนโยบายและแผนการพัฒนาตามข้อ 1

5.แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจาณรา ศึกษา หรือดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

6.ปฎิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ้านพักตุลาการ: ผูกขาดทรัพยากรในมือรัฐ ความไม่เป็นธรรมบนบ่าประชาชน

Posted: 04 May 2018 01:42 AM PDT

กรณีบ้านพักตุลาการเป็นภาพสะท้อนการผูกขาดการใช้ทรัพยากรโดยรัฐ ประชาชนไม่มีสิทธิ ทำไมตุลาการอยู่กับป่าได้ แต่ชาวบ้านอยู่กับป่าไม่ได้ เกิดเป็นความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างที่ฝังอยู่ในกฎหมาย นักวิชาการระบุว่าเป็นการจัดการทรัพยากรแบบรัฐนิยมที่ไม่เห็นหัวประชาชน

 

  • กรณีบ้านพักตุลาการคือภาพสะท้อนการผูกขาดและการบริหารจัดการทรัพยากรโดยรัฐ
  • กรณีโคอิหรือปู่คออี้ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า หรือการไม่มีกฎหมายป่าชุมชน แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่มีสิทธิในทรัพยากรของประเทศ
  • การจัดการทรัพยากรแบบรัฐนิยมที่ไม่เห็นหัวประชาชน

 

ก่อนจะเข้าเนื้อหาตามพาดหัว มีบางข้อมูลที่ควรรับรู้เพื่อประกอบการอ่าน ดังนี้

13 มีนาคม 2561 ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 ระหว่างนายโคอิ หรือ ปู่คออี้ มีมิ และพวก 6 คน ชาวไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายปกากะญอกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพวกรวม 2 คน จากกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเดินทางไปยังบ้านของผู้ฟ้อง และหัวหน้ากรมอุทยานฯ ได้สั่งให้ผู้ฟ้องออกจากบ้านโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร ก่อนทำการจุดไฟเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของผู้ฟ้อง ตามโครงการขยายผลการอพยพผลักดันหรือจับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามแนวชายแดนไทย–สหภาพเมียนมาร์ ที่มีชื่อเรียกว่า ยุทธการตะนาวศรี ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2554

ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า แม้ผู้ฟ้องจะอ้างว่างบรรพบุรุษตั้งถิ่นฐานมาช้านาน แต่ไม่มีเอกสารยืนยันได้ว่าครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวมาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี 2524 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ทำให้ผู้ฟ้องทั้งหกคนไม่มีสิทธิในพื้นที่ตามที่อ้าง ส่วนการดำเนินการรื้อถอนและเผาทำลายทรัพย์สิน เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 จึงพิพากษาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคนละ 10,000 บาท

เรื่องต่อมา คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านโยบายทวงคืนผืนป่า พบว่าในช่วงปี 2557-2558 กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับชาวบ้านจำนวน 9,231 คดี และในช่วงปี 2557-2559 กรมอุทยานฯ ก็ดำเนินคดีกับชาวบ้านไปประมาณ 6,000 คดี โดยข้อมูลจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คาดการณ์ว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าทำให้หมู่บ้านอย่างน้อย 9,000 แห่งได้รับผลกระทบ กล่าวได้ว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าคือการเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐแล้วใช้กลไกและอำนาจที่มีอยู่ไปลดอำนาจประชาชน เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากถูกแย่งยึดที่ดินทำกินและมีคดีติดตัว

ผูกขาดทรัพยากรในมือรัฐ

บางคนอาจเกิดข้อถกเถียงในใจว่า พื้นที่ป่ากับที่ดินของรัฐที่ยกให้สร้างบ้านพักตุลาการเป็นพื้นที่คนละชนิด แต่เราต้องการให้ดูภาพที่ใหญ่กว่า เพราะมันคือเรื่อง 'ทรัพยากร' ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีงานศึกษามากมายที่ชี้ชัดว่า ทรัพยากรในประเทศนี้ ที่ดิน น้ำ ป่า ทะเล คลื่นความถี่ ฯลฯ ถูกรวบและผูกขาดการบริหารจัดการโดยรัฐมาอย่างยาวนาน การจะใช้ประโยชน์หรือยกทรัพยากรให้ใครใช้ประโยชน์จึงขึ้นกับความต้องการของรัฐ โดยมิพักจำเป็นต้องถามไถ่ประชาชนว่าต้องการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างไร

เฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับ 'ประชาไท' ว่า เดือนสิงหาคมปี 2560 มีการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพมากกว่า 2,349 ไร่ ให้แก่หน่วยงานรัฐหลายแห่ง เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น โดยเป็นการเพิกถอนภายหลังที่หน่วยงานรัฐได้เข้าไปใช้ประโยชน์ก่อนแล้ว เมื่อติดขัดข้อกฎหมายที่ว่าการใช้พื้นที่เขตอุทยานต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อผืนป่าจึงทำการเพิกถอนเขตอุทยานเสีย โดยไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมหรือความจำเป็นของการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานของหน่วยงานรัฐ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการจัดสรรและใช้ทรัพยากรที่ถูกผูกขาดไว้ในมือรัฐ

กีดกันประชาชนจากทรัพยากร

กฎหมายป่าชุมชนซึ่งมีการพูดถึงมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2534 และสิทธิในการมีส่วนร่วมและบริหารจัดการทรัพยากรที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทว่า กฎหมายและสิทธิดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ถูกใช้ในทางปฏิบัติ

อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมผลักดันกฎหมายป่าชุมชน อธิบายว่า การจัดการทรัพยากรของประเทศไทยเป็นการจัดการเชิงเดี่ยว หมายความว่าผูกขาดโดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ตีความ นิยาม กำหนด และจัดการครบวงจร

"มันเห็นได้ชัดว่านี่คือระบบหรือโครงสร้างการจัดการทรัพยากรที่ไม่เห็นหัวผู้คน ถ้าระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองให้ใช้ประโยชน์ได้ พอถึงวันหนึ่งก็เพิกถอนได้ นี่จึงเป็นการจัดการทรัพยากรที่ให้ความสำคัญกับรัฐเป็นหลัก"

"การจัดการเชิงเดี่ยวแบบนี้ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาพบว่าทั้งที่เขาจัดการคนเดียว กลับไม่ค่อยแสดงความรับผิดชอบเวลาป่าหายไป เขาก็จะโทษว่าประชากรเพิ่มมากขึ้นและบุกรุกพื้นที่ป่า การมีบทบาท หน้าที่ อำนาจ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบ สะท้อนว่าการจัดการเชิงเดี่ยวไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ"

ความคิดหลักของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน คือการเปิดให้มีการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย เรียกว่าการจัดการเชิงซ้อน จากเดิมที่เน้นสิทธิความเป็นเจ้าของ โดยมีรัฐเป็นเจ้าของป่าตามกฎหมาย เปลี่ยนไปสู่การกระจายสิทธิออกเป็นหลายสิทธิ โดยไม่ได้ปฏิเสธสิทธิความเป็นเจ้าของของรัฐ แต่เพิ่มสิทธิการใช้และการจัดการโดยชุมชนเข้าไป และสร้างสิทธิตรวจสอบถ่วงดุลให้กับภาคประชาสังคมเพื่อร่วมดูแลป่า กล่าวคือมี 3 ฝ่ายร่วมกันดูแล

จนถึงบัดนี้ กฎหมายป่าชุมชนก็ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐไม่อาจไถ่ถอนความคิดที่ว่าตนเป็นเจ้าของทรัพยากรทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ประชาชนไม่เกี่ยว

"เมื่อการจัดการเป็นการจัดการเชิงเดี่ยว เขาก็จะอ้างกฎหมายเพื่อจะเข้าไปใช้หรือกีดกัน ก็ทำได้หมด ซึ่งการให้หน่วยงานเดียวเป็นผู้ใช้ ผูกขาด ตีความ แน่นอน มันอาจทำให้เกิดการลักลั่นในการใช้ เพราะไม่เข้าใจเรื่องสิทธิการใช้ สิทธิการจัดการ ที่เราพยายามผลักดันในกฎหมายป่าชุมชน มองด้านหนึ่งเหมือนการให้สิทธิ ให้อำนาจกับรัฐ แต่อีกทางหนึ่งคือมันไปกีดกันคนอื่นๆ ในสังคมไม่ให้เข้ามามีส่วนในการใช้ จัดการ หรือหน้าที่อื่นใดปัญหาของเราเป็นปัญหาย้อนแย้งที่ว่า เราผูกขาดการจัดการไว้จนชาชินและไม่ปล่อยให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม" อานันท์ กล่าว

การบริหารจัดการทรัพยากรแบบ 'รัฐนิยม'

"กรณีบ้านพักตุลาการเป็นภาพสะท้อนของการบริหารจัดการทรัพยากร" สมชาย อธิบาย "โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ แบบรัฐนิยม ในแง่ของระบบกฎหมายที่เป็นอยู่และที่เจ้าหน้าที่รัฐยึดถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายป่าไม้ อุทยาน ที่ราชพัสดุ มันเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการเป็นเจ้าของ การตัดสินใจใช้ประโยชน์ โดยที่แทบไม่ได้เกี่ยวกับชุมชนและสังคมเลย มันเป็นกฎหมายที่ออกมาเนิ่นนานแล้ว เพราะฉะนั้นการคำนึงถึงเสียงประชาชนจึงไม่ได้ปรากฏอยู่ในกฎหมายเหล่านี้"

สมชายยังกล่าวอีกว่า กฎหมายเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการใช้ทรัพยากรไม่ใช่สิ่งที่หน่วยงานรัฐจะคิดเองเออเองแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังต้องคิดถึงส่วนต่างๆ ด้วย เพียงแต่กฎหมายเหล่านี้ยังไม่ถูกปรับแก้ให้สอดคล้องกับสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เมื่อหน่วยงานรัฐจะทำอะไรโดยอ้างกฎหมาย มันจึงเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ซึ่งเขาคิดว่าจะนำมาสู่ความขัดแย้งในสังคม

สมชายจึงเห็นว่า กรณีบ้านพักตุลาการ แม้จะถูกกฎหมายแต่เลี่ยงรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการสร้างบ้านพักนี้เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 2540 และ 2550 แต่ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ เวลาพูดว่าถูกกฎหมาย มันจึงหมายถึงกฎเกณฑ์ของหน่วยงานเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ซึ่งเขาเห็นว่าหน่วยงานรัฐควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการตามกฎหมาย

"ประเด็นที่สองคือสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากร รัฐธรรมนูญก็รับรองไว้ตั้งแต่ฉบับปี 2540 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลักการสำคัญ ไม่ใช่เพียงคิดว่าโครงการนั้นกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่เพียงอย่างเดียว ต่อให้ไม่กระทบ แต่ถ้ามันเป็นพื้นที่ที่ผู้คนรับไม่ได้ มันก็ต้องรับฟัง เพราะฉะนั้นเวลาบอกว่าถูกกฎหมาย ใช่ แต่ผมเห็นว่าเลี่ยงรัฐธรรมนูญ

"การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนคือการรับฟังเจตจำนงของประชาชนในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร มันจะทำให้การดำเนินการของรัฐสะดวกและมีประโยชน์ต่อส่วนร่วมมากขึ้น การที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ มันคือความพยายามทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรไม่ได้ตัดสินใจโดยหน่วยงานรัฐเพียงฝ่ายเดียว"

โครงสร้างการจัดการทรัพยากรที่ไม่เห็นหัวผู้คน

ถึงตรงนี้อาจพอทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นบ้างว่า กรณีบ้านพักตุลาการไม่ใช่ประเด็นที่จำกัดเฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่ประเด็นว่าถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย แต่เป็นภาพสะท้อนของความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรที่ฝังอยู่ในกฎหมายและอำนาจรัฐที่แผ่คลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยกล่าวถึงกรณีบ้านพักตุลาการว่า เรื่องมาถึงขั้นนี้แล้วคิดว่าป่ากับคนต้องอยู่กันให้ได้ เราสามารถตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า แล้วเหตุใดโคอิ มีมิ และพวก 6 คนในพื้นที่ป่าแก่งกระจานหรือหมู่บ้านอีกกว่า 9,000 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าจึงไม่สามารถอยู่กับป่าได้ แม้ว่าพวกเขาจะอยู่กับป่ามานานกว่าบ้านพักตุลาการมาก

สมชายสรุปว่า

"มันเห็นได้ชัดว่านี่คือระบบหรือโครงสร้างการจัดการทรัพยากรที่ไม่เห็นหัวผู้คน ถ้าระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองให้ใช้ประโยชน์ได้ พอถึงวันหนึ่งก็เพิกถอนได้ นี่จึงเป็นการจัดการทรัพยากรที่ให้ความสำคัญกับรัฐเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเวลาหน่วยงานรัฐเข้ามาใช้ก็จะคิดว่าเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ จึงอนุญาตให้ใช้ นี่คือปัญหาใหญ่ที่อยู่ในโครงสร้างของระบบกฎหมายที่แทบจะไม่เห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย รัฐธรรมนูญเองก็ถูกตีความให้มีผลบังคับใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็เลยทำให้รัฐธรรมนูญไม่ศักดิ์สิทธิ์พอ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น