โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สั่งย้าย 'ผกก.พญาไท' หลังปล่อยนักข่าวต่างชาติสัมภาษณ์ 'คนอยากเลือกตั้ง' หน้าห้องขัง

Posted: 25 May 2018 09:37 AM PDT

บช.น. สั่งย้าย 'ผกก.พญาไท' หลังปล่อยนักข่าวต่างชาติสัมภาษณ์แกนนำ 'คนอยากเลือกตั้ง' หน้าห้องขัง ทำให้เกิดภาพที่ไม่เหมาะสม ถือว่ามีความบกพร่อง 'ศรีวราห์' สั่งเพิ่มเงินเดือน 2 ขั้น ให้ตำรวจที่ถูกทำร้าย

พ.ต.อ.นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ผกก.สน.พญาไท

25 พ.ค.2561 จากที่กลุ่มประชาชนในนาม "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" จัดการชุมนุมในวาระครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารของ คสช. เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งภายในปลายปีนี้ และให้ คสช. หยุดสืบทอดอำนาจ  โดยการชุมนุมเริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 21 พ.ค.และมีการเคลื่อนขบวนไปใกล้ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงสาย 22 พ.ค.61 แต่ได้ถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าตำรวจหลายกองร้อยทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเคลื่อนขบวนไปถึงทำเนียบรัฐบาลได้ และในที่สุดเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมแกนนำการชุมนุมและผู้ชุมนุม และแกนนำบางส่วนตัดสินใจเข้ามอบตัว รวมแล้วมีผู้ถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีอย่างน้อย 15 คน นั้น

เด้ง ผกก.พญาไท ปล่อยนักข่าวต่างชาติสัมภาษณ์แกนนำคนอยากเลือกตั้งหน้าห้องขัง

ล่าสุด ไทยรัฐออนไลน์ และข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (25 พ.ค.61) เมื่อเวลา 20.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ต.เสนิต สำราญสำรวมกิจ ผบก.น.1 เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เลขที่ 125/2561 ลงวันที่ 25 พ.ค.61 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติราชการ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการและให้การบริหารงานในภาพรวมของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ข้อ 8(3)

จึงมีคำสั่งให้ พ.ต.อ.นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ผกก.สน.พญาไท ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1(ศปก.บก.น.1) โดยขาดจากหน้าที่เดิม และให้ พ.ต.อ.สรเสริญ ใช้สถิตย์ รอง ผบก.น.1 รักษาราชการแทนตำแหน่งผกก.สน.พญาไท อีกหน้าที่หนึ่งโดยไม่ขาดจากตำแหน่งเดิม

ทั้งไทยรัฐออนไลน์และข่าวสดออนไลน์ ระบุว่า การโยกย้ายดังกล่าวมีขึ้น เนื่องจากกรณีมีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ ไปสัมภาษณ์ ณัฐฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง บริเวณหน้าห้องคุมขัง สน.พญาไท เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาพที่ไม่เหมาะสม ถือว่ามีความบกพร่อง ขัดต่อข้อปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

'ศรีวราห์' สั่งเพิ่มเงินเดือน 2 ขั้น ให้ตำรวจที่ถูก 'คนอยากเลือกตั้ง' ทำร้าย

ขณะที่วานนี้ (24 พ.ค.61) ไทยโพสต์ รายงานว่า  พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.)จะเข้าพบเพื่อตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับการพาดพิง และใช้ถ้อยคำดุด่าให้ร้ายตำรวจควบคุมฝูงชน ในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมาซึ่งมีการบันทึกคลิปหรือวีดีโอไว้ขณะเดียวกันจะสั่งให้ ตำรวจ ปอท.ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลที่มีการเผยแพร่ข้อความให้ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเผยแพร่ภาพและข้อความ "บิ๊กตู่" ฟิวขาด ด่ากราดประชาชน ไล่ให้เติมน้ำเปล่าแทนดีเซล อย่าโง่ วอนประชาชนอย่าเรื่องมาก เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องเท็จ และไม่มีมูล

รองผบ.ตร. กล่าวต่อว่า สั่งการให้พนักงานสอบสวน ปอท. เร่งหาบุคคล หรือเจ้าของข้อมูลที่มีการเผยแพร่ นำตัวมาดำเนินคดี เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้ยังแจ้งไปยังประชาชน ให้ระมัดระวังการแชร์ และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพราะมีความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งขณะนี้ ตำรวจ ปอท. กำลังเร่งติดตามตัวผู้กระทำผิด

รองผบ.ตร.กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตำรวจขที่ถูกทำร้ายร่างกาย ได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย ขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายร่างกายแล้ว และให้ฝ่ายกำลังพลตรวจสอบรายชื่อตำรวจกลุ่มนี้เพื่อพิจารณาให้เพิ่มเงินเดือน 2 ขั้น เป็นกรณีพิเศษด้วยเพื่อเป็นการให้กำลังใจ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิสราเอล:รัฐไซออนนิสต์มือเปื้อนเลือด

Posted: 25 May 2018 09:05 AM PDT

ทุกคนที่รักความเป็นธรรมต้องประณามอิสราเอลที่ใช้ความรุนแรงสุดขั้วในการถล่มชาวปาเลสไตน์ที่กาซา อิสราเอลใช้สไนเปอร์และกระสุนจริงฆ่าชาวปาเลสไตน์ที่ประท้วงโดยไร้อาวุธตรงจุดชายแดน คาดว่าเสียชีวิต 58 คน รวมถึงเด็กด้วย และมีผู้บาดเจ็บ 2,700 คน

การยิงผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธแบบนี้ ไม่ต่างจากอาชญากรรมที่คนอย่างประยุทธ์กระทำกับเสื้อแดงในไทย

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อิสราเอลทำลายชีวิตของชาวปาเลสไตน์ภายใต้ความคิด "ไซออนนิสต์" สุดขั้ว

แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้ทรัมพ์ มีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมของอิสราเอลด้วย เพราะย้ายสถานทูตไปที่เมืองเยรูซาเล็ม ทั้งๆ ที่เมืองนี้ถูกสหประชาชาติแบ่งเป็นสองซีก คือซีกปาเลสไตน์กับซีกอิสราเอล และรัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกมองว่าไม่สมควรที่จะเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล


ภาพสร้างเพื่อประชดการเปิดสถานทูตสหรัฐใหม่โดยลูกสาวทรัมพ์


สหรัฐกับอิสราเอลร่วมกันก่ออาชญากรรมครั้งนี้ และสหรัฐถือหางให้อิสราเอลตลอด

น้ำมันในตะวันออกกลางเป็นสิ่งที่จักรวรรดินิยมต้องการควบคุมเป็นอย่างยิ่งในปลายศตวรรษที่ 20 และในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษทำข้อตกลงกับผู้ปกครองเมือง เมกกะ ชื่อ ชาริฟ ฮุเซน เพื่อยุให้กบฏต่ออาณาจักรเตอร์กี โดยที่อังกฤษสัญญาว่าเขาจะได้ครองพื้นที่อาหรับทั้งหมด รวมถึงปาเลสไตน์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันอังกฤษสัญญากับพวก "ไซออนนิสต์" ว่าจะยกปาเลสไตน์ให้คนยิวจากยุโรป เพราะอังกฤษอยากให้ ไซออนนิสต์ เป็นตัวป่วนและสร้างอุปสรรค์กับการปลดแอกตนเองของชาวอาหรับ ทั้งนี้เพราะอังกฤษกลัวว่าชาวอาหรับจะเอาน้ำมันในพื้นที่ของตนเองมาเป็นทรัพยากรของชาติ แทนที่จะให้บริษัทต่างชาติครอบครอง

รัฐบาลอังกฤษแก้ปัญหาสำหรับตนเอง โดยการถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ และปล่อยให้กองกำลังไซออนนิสต์ยึดพื้นที่จำนวนมาก โดยเข่นฆ่าชาวบ้านปาเลสไตน์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ในที่สุดมีการสถาปนา "รัฐอิสราเอ็ล" ขึ้น เพื่อดูแลผลประโยชน์ตะวันตก โดยที่มหาอำนาจต่างๆ สนับสนุน การตั้งรัฐอิสราเอ็ลทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากกลายเป็นผู้หลี้ภัยที่ต้องจากบ้านเกิดไป ในไม่ช้าอิสราเอ็ลกลายเป็น "สุนัขเฝ้าพื้นที่ตะวันออกกลาง" ให้ตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ แต่สถานการณ์นี้ไม่ได้สร้างความสงบแต่อย่างใด

สิ่งที่เราควรเข้าใจแต่แรกคือนี่ไม่ใช่การกระทำของ "คนยิว" ทุกคน เราควรรู้อีกว่าคนยิวส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอ็ล หรือสนับสนุนการกระทำของรัฐอิสราเอ็ลแต่อย่างใด ในยุคนี้ยิวส่วนใหญ่ในโลกไม่เห็นด้วยกับความโหดร้ายของอิสราเอ็ล


"ไซออนนิสต์" แนวคลั่งชาติปฏิกิริยาสุดขั้ว

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวโดยพวกนาซีในเยอรมัน ซึ่งทำให้ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนถูกเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน แนวคิดคลั่งเชื้อชาติแบบ ไซออนนิสต์ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในแวดวงชาวยิวนัก กระแสหลักในหมู่คนยิวยุโรปคือแนวสังคมนิยมและแนวมาร์คซิสต์ เพราะทั้ง มาร์คซ์ ตรอทสกี และโรซา ลัคแซมเบอร์ค ล้วนแต่เป็นยิว และพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของยิวก็แพร่หลายไปทั่ว สายมาร์คซิสต์มองว่าชาวยิวถูกรังแกในยุโรปในลักษณะแพะรับบาปของชนชั้นนายทุนที่ต้องการเบี่ยงเบนการต่อสู้ทางชนชั้น เหมือนกับที่รัฐบาลไทยสร้างพี่น้องคนพม่าขึ้นมาเป็นแพะรับบาปในไทย ดังนั้นทางออกในการปกป้องยิวและทางออกเพื่อปลดแอกผู้ถูกกดขี่ขูดรีดทั้งหลายเป็นทางออกเดียวกัน คือกรรมาชีพทุกเชื้อชาติต้องสามัคคีต่อสู้กับนายทุนทุกเชื้อชาติ

ยิวสาย ไซออนนิสต์ คือพวกฝ่ายขวาชาตินิยมจัด พวกนี้ต่อต้านการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพ และมองว่ายิวอยู่กับคนอื่นอย่างสันติไม่ได้เพราะเขาเชื่อว่าเชื้อชาติที่ต่างกันย่อมฆ่ากันหรือขัดแย้งกันเสมอ ดังนั้นเขาเสนอว่าวิธีการปกป้องชาวยิวคือต้องสร้างชาติ "บริสุทธิ์" ของตนเองขึ้นมา สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้ายและกรรมาชีพในเยอรมัน นำไปสู่ชัยชนะของนาซีในยุค ฮิตเลอร์ และการสังหารชาวยิวถึง 6 ล้านคน เหตุการณ์นี้มีผลในการหนุนกระแสฝ่ายขวา "ไซออนนิสต์" แทนแนวมาร์คซิสต์ จนมีการก่อตั้งประเทศอิสราเอ็ลหลังสงครามโลก ปัญหาสำคัญคือ รัฐอิสราเอ็ลถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่มีคนอื่นอาศัยอยู่ คือพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์และชาวยิวอาศัยร่วมกัน ดังนั้นรัฐเชื้อชาติเดียวที่ถูกสร้างขึ้นต้องอาศัยการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเกิด


เราควรสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์

การต่อสู้อันยาวนานของชาวปาเลสไตน์เป็นการต่อสู้ที่ควรให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทุกคนทั่วโลก เพราะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เคยยอมแพ้ทั้งๆ ที่เผชิญหน้ากับกำลังอาวุธของอิสราเอ็ลที่เหนือกว่าเสมอ และอิสราเอ็ลได้รับการหนุนหลังโดยจักรสรรดินิยมอเมริกา เราทุกคนควรจะสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างเต็มที่ เพราะในรอบ 70 กว่าปีที่ผ่านมาอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ได้อาศัยสมุนรับใช้ในตะวันออกกลางในรูปแบบประเทศอิสราเอ็ล เพื่อสร้างความปั่นป่วนในหมู่ชาวอาหรับ จักรวรรดินิยมจะได้ควบคุมแหล่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดในโลกเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่

 

ที่มา: https://turnleftthai.wordpress.com/2018/05/15

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรงเรียน ฮิญาบ และความเปราะบางของชุมชนชายแดนใต้

Posted: 25 May 2018 08:26 AM PDT



เรียนพี่น้องชาวไทยพุทธ

เหตุการณ์ที่โรงเรียนอนุบาลวันนี้ทำให้สังคมมุสลิมตระหนักถึงความคับข้องหมองใจที่ครุกรุ่นในพื้นที่ ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยอคติ ภยาคติ โทสาคติ หลายฝ่ายวิตกกังวลถึงอนาคตและชะตากรรมของสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ที่อุดมไปด้วยความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลาย ว่าท้ายที่สุดแล้วจะลงเอยไปในทิศทางใด เมื่อสายสัมพันธ์ของผู้คนถูกบั่นทอนตัดขาดลงทุกเมื่อเชื่อวัน จนไม่เหลือที่ว่างให้ระลึกถึงความสัมพันธ์ในอดีต

เพื่อนพี่น้องชาวพุทธครับ อดีตตอนที่ชาวมุสลิมยังไม่มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เด็กพุทธ-มุสลิมทุกคนต้องเรียนในโรงเรียนของรัฐ และไม่ใช่เพราะโรงเรียนของรัฐหรอกหรือที่ทำให้คนพุทธ-มุสลิมในพื้นที่ได้รู้จักมักคุ้น คบหาสานสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ใช่โรงเรียนหรอกหรือที่ทำให้มุสลิมได้เรียนรู้มารยาท เรียนรู้วัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่โรงเรียนของรัฐหรอกหรือที่ทำให้พี่น้องมุสลิมรู้จักพุทธศาสนา ศาสนาที่มุ่งสอนถึงเรื่องเมตตาธรรม และการพ้นทุกข์ เช่นนี้โรงเรียนรัฐ คือพื้นที่ของการเรียนรู้ความต่างทั้งทางความเชื่อ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตโรงเรียนคือ ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ร้อยรัดความสัมพันธ์ ความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน

แม้วันนี้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สำหรับพี่น้องมุสลิม เพราะรัฐเปิดโอกาสให้มีการจัดการศึกษาตามความเชื่อความศรัทธาของคนในท้องถิ่น มุสลิมต้องการปลูกฝังให้ลูกหลานได้มีวิถีชีวิตตามบทบัญญัติของศาสนา เด็กส่วนใหญ่ถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา มีการเรียนการสอนที่เอิ้อต่อวิถีชีวิตของมุสลิมมากกว่าโรงเรียนของรัฐ แต่ก็น่าเสียดายว่าเยาวชนมุสลิมเสียโอกาสในการเรียนรู้ความต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่างไปวัฒนธรรมของตนเอง และขาดโอกาสที่จะสานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างศาสนิก ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของปฎิสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ปัจจุบันแม้ความรุนแรงพยายามตัดขาดความสัมพันธ์ของผู้คน สร้างความหวาดระแวงต่อกัน แต่โรงเรียนรัฐก็ยังทำหน้าที่เป็น พื้นที่ "กลาง" ได้อย่างเหนียวแน่น ข้าพเจ้าขอหยิบงานวิจัยเรื่องความคิดของเด็กที่เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่แห่งหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ข้าพเจ้าสัมภาษณ์เด็กพุทธ-มุสลิมที่คนในครอบครัวเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบหลังปี 2547 คำถามหลักที่ข้าพเจ้าถามเด็ก คือ เขารู้สึกอย่างไรกับเพื่อนต่างศาสนิก คำตอบที่ข้าพเจ้าได้รับน่าอัศจรรย์ใจพอสมควร กล่าวคือ เด็กทั้งพุทธ-มุสลิมบอกว่า เขายังรู้สึกเช่นเดิมกับเพื่อนต่างศาสนิก เพราะเขารู้ว่าคนพุทธ-มุสลิมก็มีคนดีและไม่ดีเช่นกัน แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว พวกเขายังคบค้าสมาคมกับเพื่อนต่างศาสนิก เพราะคบค้าไปมาหาสู่กันมาก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นกับครอบครัว คำพูดในลักษณะเช่นนี้ของเด็กทำให้ข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของโรงเรียนรัฐในฐานะ "พื้นที่กลาง" ให้คนได้รู้จักเรียนรู้ ถักทอความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราทั้งพุทธ-มุสลิมควรที่จะโอบอุ้มรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมเช่นนี้เอาไว้ไม่ใช่หรือ แน่ล่ะที่วันนี้เด็กมุสลิมจำนวนมากเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่ก็มีผู้ปกครองมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ยังเห็นความสำคัญของโรงเรียนรัฐในฐานะเป็นพื้นกลางที่จะช่วยถักทอความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ไว้ หากพิจารณาให้ถี่ถ้วน คงไม่เกินเลยที่จะพูดได้ว่า เด็กมุสลิมที่เรียนในโรงเรียนของรัฐ คือ "ข้อต่อ" ของความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่ในอนาคต ภาพของการคลุมฮิญาบในโรงเรียนของรัฐอาจจะทำให้ท่านรู้สึกไม่สบายใจ แต่มันเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นความพยายามรักษาความสัมพันธ์เช่นอดีตของผู้คนทั้งสองฝ่ายไม่ใช่หรือ

ฮิญาบเป็นแค่อาภรณ์ห่อหุ้มอวัยวะบนร่างกายของพวกเขาเท่านั้น หาใช่การรุกคืบกลืนกลายวัฒนธรรม ผู้ปกครองเหล่านี้สวนกระแสการส่งบุตรหลายไปเรียนในโรงเรียนแบบวัฒนธรรมเดียว เหตุใดเราไม่มองพวกเขาเป็นต้นทุนของสังคมนี้ ขอให้รวมกันทบทวนเพื่อให้อนาคตของพื้นที่เป็นอนาคตของคนทุกหมู่เหล่า

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

GDPR: มาตรฐานข้อมูลส่วนตัวล่าสุดจากอียู

Posted: 25 May 2018 08:03 AM PDT

 

ความสนใจหรือความตระหนักรู้เรื่องความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยนับว่ามีอยู่ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่คนไทยนิยมใช้โซเซียลมีเดียกันจนติดอันดับต้นๆ ของโลก การโพสต์และแชร์เรื่องราวส่วนตัวและการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นมากมายทุกๆ วัน โดยไม่เคยตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในความเป็นส่วนตัว ที่น่าห่วงกว่านั้นก็คือการไม่ตระหนักถึงอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการนำข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์ในทางไม่ชอบ จนพูดกันกันว่าความเป็นส่วนตัวไม่มีอีกแล้วหรือตายไปแล้วจากโลกดิจิทัลวันนี้

ระยะหลังๆ นี้ เริ่มมีการพูดถึงข้อมูลส่วนบุคคลกันมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูล การติดต่อสื่อสาร และธุรกิจที่มีฐานข้อมูลส่วนบุคคลขนาดใหญ่ นั่นคือความกังวลต่อ GDPR ซึ่งเป็นข้อบังคับของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการเก็บและการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ที่กลัวกันมากก็เพราะบทลงโทษของผู้ที่ไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ GDPR จะถูกปรับสูงถึง 20 ล้านยูโร ที่สำคัญคือจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่กำลังจะมาถึง

จริงๆ แล้ว เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระดับนานาชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีพัฒนาการมากมายทั้งในกฎหมายต่างประเทศและในระดับกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลในนานาประเทศอาจแตกต่างหรือมีมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่ในภาพรวมบทบัญญัติกฎหมายทั้งหลายนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คือ

1. ในการจัดเก็บข้อมูล ต้องมีการบอกกล่าวหรือการแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ ซึ่งหมายถึงการกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประมวลผลข้อมูลที่แน่นอนชัดเจน

2. การคุ้มครองข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนตัวที่มีลักษณะเฉพาะหรือมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ (Sensitive data) เป็นประเด็นที่ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัด

3. การส่งข้อมูลระหว่างประเทศ (International data transfers or Transborder data flows) เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยส่วนมากจะไม่ยินยอมให้มีการเข้าถึงข้อมูลหรือส่งข้อมูลออกไปยังประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองข้อมูลในระดับมาตรฐานที่น่าพอใจ เช่นในกรณีการอนุญาตให้มีเสรีในการส่งข้อมูลภายในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป และในขณะเดียวกันได้มีการห้ามการส่งข้อมูลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ไปยังประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และประเทศซึ่งไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการคุ้มครองข้อมูล

4. ส่วนมากบทบัญญัติคุ้มครองข้อมูลจะเริ่มต้นด้วยขอบเขตในการคุ้มครอง เช่น การเก็บข้อมูล ขอบเขตการประมวลผลข้อมูล ที่อาจมีได้ในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งการมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ที่จะป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่มีการส่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

5. สิทธิของเจ้าของข้อมูล ซึ่งได้แก่ สิทธิในการอนุญาตให้ใช้ข้อมูล สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของตนเอง สิทธิในการได้รับการแจ้งการใช้ข้อมูล สิทธิในการแก้ไขข้อมูลเมื่อพบว่าข้อมูลของตนมีความผิดพลาด และสิทธิในการได้รับการเยียวยาเมื่อได้รับความเสียหาย

6. การห้ามการกระทำบางอย่างในกิจกรรมบางอย่างบางประเภท เพื่อทำให้การคุ้มครองข้อมูลสำเร็จด้วยดี

สำหรับในระดับกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ การคุ้มครองข้อมูลมีปรากฏในหลายเวที เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ข้อตกลงของรัฐสภาแห่งยุโรป ข้อบังคับสหภาพยุโรป แนวทางของสหประชาชาติ แนวทางตามกรอบความร่วมมือของ APEC แนวทางของอาเซียน และ TPP

EU Directive 95/46 เกิดขึ้นในปี 1995 เป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับระหว่างประเทศฉบับแรกที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ถูกสร้างขึ้นโดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ข้อบังคับนี้ให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของข้อมูล ทั้งยังให้การรับรองว่าข้อมูลจะได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตลอดทั้งตลาดร่วมยุโรป โดยมีหลักการที่เป็นสาระสำคัญดังนี้

1. การรักษาคุณภาพของข้อมูล

2. มาตรการของการประมวลผลข้อมูลที่ชอบด้วยกฎหมาย

3. ข้อกำหนดในการประมวลผลข้อมูลพิเศษ/ข้อมูลที่อ่อนไหว (sensitive data)

4. สิทธิในการได้รับแจ้งการเก็บข้อมูลต่างๆ

5. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล

6. สิทธิในการคัดค้านการประมวลผล

7. การรักษาความปลอดภัยในการประมวลผลข้อมูล

8. การส่งผ่านข้อมูลส่วนบุคคลไปยังประเทศที่สาม

นอกจากการควบคุมการส่งข้อมูลภายในประเทศสมาชิกแล้ว สำหรับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หากจะทำการติดต่อรับ-ส่งข้อมูลกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ก็ต้องมีมาตรการการคุ้มครองข้อมูลที่เหมาะสมเป็นที่พอใจแก่สหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน ซึ่งมาตรการที่เหมาะสมที่อียูได้ตั้งไว้ แม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมากที่สุด และมีการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารมากที่สุด ก็ยังต้องพยายามหาวิธีการประนีประนอมเพื่อเป็นทางออกและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย

EU Directive 95/46 ใช้บังคับมานานกว่า 20 ปี และโดยที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริบทการสื่อสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการเติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก จึงมีการปรับปรุงแก้ไข Directive ดังกล่าว ซึ่งในที่สุดรัฐสภาแห่งยุโรปก็ได้เห็นชอบ General Data Protection Regulation (GDPR) เมื่อ 14 เมษายน 2559 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561



เกี่ยวกับผู้เขียน: นคร เสรีรักษ์ เป็นอาจารย์ผู้สอนอยู่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นผู้ก่อตั้ง PrivacyThailand

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: สืบทอดอำนาจเจอสืบทอดอุดมการณ์

Posted: 25 May 2018 07:30 AM PDT

 


คารวะผู้กล้ามาที่นี้               เมล็ดพันธุ์เสรีที่ปลูกไว้

แผ่นดินนี้มีให้เห็นเป็นอย่างไร          คนรุ่นใหม่ได้เชื้อเชิญเดินด้วยกัน

เหมือนต้นไม้หมายมั่นยืนยันร่าง     หยัดกายกลางแดดพรายดังหมายมั่น

รากลงลึกผนึกโคนโค่นยากครัน          ลงยืนยันพันธ์ุตนบนโลกา



ผู้กล้าก็เช่นกันไม่หวั่นไหว     พวกเขาไม่ใช่ไม้ล้มลุกทุกใบหน้า

หยัดยืนสู่อนาคตปลดบีฑา          ไม่รอช้าเฉดศรีษะเผด็จการ

บอกล่วงหน้าว่าจะมาเวลานัด     ไม่มีผลัดวันประกันพรุ่งมุ่งสื่อสาร

สู่ทางทวง"อธิปไตย" ให้ชาวบ้าน     แม้ทางผ่านภยันตรายหมายรุมล้อม



จิตวิญญาณการต่อสู้ผู้สืบทอด     หมายทำคลอดประชาธิปไตยให้งามหอม

รุ่นต่อรุ่นกรุ่นกลีบชมให้ดมดอม          เป็นพยอมน้อมคนสากลนิยม

เป็นอ๊อกซิเจนกลางใจเข้าในปอด     เมืองมืดบอดแต่ผู้กล้าดังผ้าห่ม

อบอุ่นใจวัยเยาว์ เฒ่าแก่ชม          ผองท่านคมคายท้ากล้าเดินทาง



หัวใจรุกบุกเบิกสู่เกริกเกียรติ          ระบบเบียดบังสิทธิ์ต้องปิดขวาง

เปิดประตูสู่คูหาปากกาวาง          ใครล้มล้างทางกากบาทปลาตไป

อธิบายด้วยหลักการผ่านคำพูด          ถ้อยดึงดูดได้ยินสิ้นสงสัย

เห็นหนุ่มสาวกล้าแกล้วแล้วชื่นใจ     คำปราศรัยให้เหตุผลคนชมเอย

 

                                                          

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: อนาคตใหม่ VS โลกเก่า

Posted: 25 May 2018 07:20 AM PDT


วันอาทิตย์นี้ จะมีการชุมนุมใหญ่ของผู้รักประชาธิปไตยไม่เอาการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สามารถเข้าร่วมโดย คสช.ไม่ห้าม

อ้าว ก็ประชุมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยธนาธร-ปิยบุตร นั่นไง ออกบัตรเชิญ 4,000 ใบ ไม่มีบัตรเชิญก็ไปได้ ถ้าอยากร่วมกำหนดอนาคตประชาธิปไตย

ในเวลาแค่ 3 เดือน ธนาธร ปิยบุตร ปลุกทั้งฟีเวอร์ หมั่นไส้ และความเกลียดชัง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ ถ้าพวกโลกเก่าไม่หวั่นกลัวก็คงไม่ปลุกความเกลียดชัง เฉพาะผู้มีอำนาจ พูดกระแหนะกระแหนถึง 3-4 ครั้ง เช่นว่าเดินสายหาเสียงเอาเปรียบพรรคอื่น ทั้งที่ตัวเองเดินสายปราศรัยกับคนสามหมื่น แถมไปหาเสียงกับลิงอุรังอุตัง

ว่าตามเนื้อผ้า คอประชาธิปไตยบางส่วนก็แซะพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเข้าใจได้ ในสถานการณ์ที่ต่อสู้กันอย่างซีเรียส บางคนอาจรู้สึกว่าฟีเวอร์บางเรื่องไร้สาระ เช่น สาววายสายจิ้น กระแสนิยมบุคลิก ความหล่อ หรือบางคนก็มองว่า ธนาธรฟีเวอร์มาจากพวกโลกสวย ฉาบฉวย อยากก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้

บางคนก็บ่นไปอีกแบบ เช่นว่าตัวบุคคลยังไม่กว้างขวาง แนวทางนโยบายยังไม่ชัดเจน ฯลฯ ซึ่งผมเองก็ไม่ชัดนักหรอก แต่อยากย้อนถาม จะให้ประกาศ Manifesto ตั้งพรรคปฏิวัติหรือไงวะ ถึงต้องงามพร้อมสมบูรณ์เสียทุกอย่าง

อะไรคือภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ พูดกันตรงๆ ก็คือการปลุกความหวังของคนรุ่นใหม่ คนที่เติบโตมาในยุคดิจิตอล ที่มีความใฝ่ฝัน มีความแตกต่างหลากหลาย แต่ติดกับดักทางการเมือง ที่ปิดกั้นไปถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา ความคิด วัฒนธรรม ให้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ ของตัวเอง เพื่อก้าวข้าม ก้าวพ้น ฟันฝ่า กับดักนี้ไปให้ได้

ซึ่งขอบอก ผมมองแง่ร้าย ผมไม่คิดว่าก้าวข้ามก้าวพ้นได้ง่ายๆ แต่มันก็มีความหมายยิ่ง ในการปลุกพลังปลุกความหวังคนรุ่นใหม่ขึ้นมาปะทะกับโลกเก่า

นั่นเอง ด้วยความรักผูกพันเป็นส่วนตัว จึงบอกผู้ก่อตั้งว่าไม่อยากให้ตั้งพรรคเลย เป็นห่วง เมื่อคำนึงถึงอันตรายที่ต้องเผชิญข้างหน้า แม้เห็นด้วยว่ามันเป็นโอกาส เป็นภารกิจ ที่จะต้องมีคนจุดประกาย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ก็พิสูจน์ว่าใช่เลย และยิ่งต้องคารวะในความกล้าเสียสละ

ด้วยภารกิจนี้ ผมจึงไม่เรียกร้องว่าธนาธรจะต้องตอบปัญหาได้ทุกเรื่องในโลก ทุนนิยม สหภาพแรงงาน สังคมนิยมประชาธิปไตย ฯลฯ ปิยบุตรจะไม่พูดบางเรื่อง ไม่เห็นเป็นไร ตราบใดที่สามารถปลุกความหวัง ปลุกพลัง และยังยืนหยัดจุดยืนลบล้างผลพวงรัฐประหาร ไลฟ์สดรำลึก 99 ศพ "โชคไม่ดี เราจำได้"

เรายังไม่ถึงขั้นก้าวสู่สิ่งใหม่ แค่รวบรวมความหวังขึ้นมาท้าทายสิ่งเก่า สำหรับพรรคอนาคตใหม่ คือการรวบรวมพลังประชาธิปไตยและความหวังของคนรุ่นใหม่ขึ้นมาถามสังคมคนชั้นกลางในเมืองว่า เฮ้ยนี่ไง ที่ปากบอกว่ารักประชาธิปไตย แต่เกลียดทักษิณเกลียด นปช.จนขัดขวางเลือกตั้ง เป็นความจริงไหม (ไม่จริงหรอก)

พูดอย่างนี้ไม่ใช่เชียร์เฉพาะพรรคอนาคตใหม่ เพราะยังไม่ได้บอกว่าจะเลือก การกาบัตรของคนรักประชาธิปไตยขึ้นกับยุทธศาสตร์โค้งสุดท้าย ว่าเลือกพรรคไหน สะท้อนความ คับแค้นต่อความอยุติธรรม และ "เอาคืน" ได้มากกว่ากัน

มองภาพกว้าง ไม่ใช่แค่อนาคตใหม่หรอก เป็นโอกาสของพรรคการเมืองทุกพรรค ประชาชนทุกกลุ่ม ที่จะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมทางการเมือง แม้อยู่ในภาวะมืดมน แต่ถ้าไม่จุดเทียนแห่งความหวังในค่ำคืนอย่างนี้ จะรอถึงเมื่อไหร่

คิดถูกบ้างผิดบ้าง ขอให้อยู่ในแนวทางประชาธิปไตยก็ไม่เป็นไร ขอเพียงไม่ใช่พรรครวมดาวเป่านกหวีดปิดสนามบินขัดขวางเลือกตั้ง แล้วยังทำหน้าซินตึ๊งบอกชาวบ้านว่าปรองดอง

ช่วงเวลาที่เหลือ 8 เดือน (ถ้ายังเปิดเพลงเราจะทำตามสัญญา) แม้โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ปิดกั้นอำนาจจากเลือกตั้งแน่นหนา แต่มติมหาชนก็อาจจุดไม้ขีดแห่งความเปลี่ยนแปลง สร้างอนาคตของตัวเองได้

4 ปี ไม่ดีจริงอยู่ไม่ได้ ผลงานหนาเป็นคืบเป็นศอก เป็นไงล่ะ ขอล้านไลก์ให้อยู่ต่อ ที่ไหนได้ คนโหวตไปแล้ว 5 แสน 90% โหวตไล่ ก็เชิญอยู่ตามที่สบายใจ

ไม่ได้บอกว่าไชโย เห็นอนาคตแล้ว เพราะยังมืดอยู่ดี แต่สถานการณ์ต่อไปนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญยิ่ง ในการตัดสินว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

จะยอมรับประชาธิปไตย 99.99% แบบอยู่ในโอวาท ประชาชนต้องรู้จักหน้าที่ เคารพ เชื่อฟัง น้ำมันขึ้นราคาก็ต้องช่วยชาติ หรือจะโวยกลับว่าอำนาจเป็นของเรา



 

ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_1129960

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 'พลเมืองฟ้องกลับ' ประยุทธ์และพวกฐานกบฏ 22 มิ.ย.นี้

Posted: 25 May 2018 05:58 AM PDT

ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดี พลเมืองฟ้องกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ในข้อหาเป็นกบฏ ม.113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหาร ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย 22 มิ.ย.นี้ 

25 พ.ค.2561 เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen' เผยแพร่หมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดี พลเมืองฟ้องกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ในข้อหาเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งกลุ่มมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยระบุให้มาฟังวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เวลา 9.30 น.  

โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ค.58 ศาลได้พิจารณาคดีดำที่ อ. 1805/58 และคดีแดงที่ อ.1760/58 ตามที่ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องไว้แล้วนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด โดยยึดหลักกฎหมายมาตรา 48 ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 52 อีก 3 เดือน

Posted: 25 May 2018 04:50 AM PDT

ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 52 อีก 3 เดือน พล.อ.ประวิตร กำชับหน่วยงานความมั่นคง เอาผิดใช้โซเชียลเผยแพร่ข้อมูลเท็จกระทบความมั่นคง-บิดเบือน-ประชาชนตื่นตระหนก

25 พ.ค.2561 วันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2561 – 19 ก.ย. 2561 เป็นการขยายครั้งที่ 52  โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ จ.นราธิวาส จะยกเว้น อ.สุไหง โก-ลก จ.ยะลา ยกเว้น อ.เปตง และ จ.ปัตตานี ยกเว้น อ.แม่ลาน

ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ให้เหตุผลในการเสนอขอปรับลดพื้นที่ อ.สุไหง โก-ลก ออกจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะประเมินแล้วผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัด และจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานตามโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
 
นอกจากนี้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ได้กำชับทุกหน่วยงานความมั่นคง ให้ติดตามการให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จและมีลักษณะการบิดเบือน รวมทั้งข้อมูลที่สร้างความโกรธ เกลียดชังกันในสังคม ซึ่งพบมากขึ้นในปัจจุบัน  โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหากพบข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หรือเกิดความเสียหายกับประชาชน

"การนำเสนอข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ที่มีหลากหลายลักษณะ ทั้งข้อมูลอันเป็นเท็จ ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน บิดเบือน ตัดต่อเชื่อมโยงทั้งภาพและข้อมูล การสมอ้างคำพูด โดยพยายามสร้างความสนใจ ใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด เหยียดหยามให้เกิดอารมณ์โกรธเกลียดชังกันในสังคม" โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว

พล.ท.คงชีพ ยังขอเตือนไปยังบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่อาจไม่มีเจตนา หรือ มีเจตนากระทำการดังกล่าว ว่ากำลังก้าวล่วง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นให้ตระหนักถึงผลกระทบทางกฎหมายที่จะตามมา  พร้อมกันนี้ ขอให้ประชาชนทุกคน ได้ใช้ดุลยพินิจในการรับข้อมูลข่าวสาร ร่วมกันติดตามและแจ้งแหล่งที่มาของข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่สร้างความเสียหายกับส่วนรวมและประเทศชาติให้เจ้าหน้าที่รัฐทราบร่วมกัน 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต. เตรียมสรรหา ส.ว. 1 เดือนหลังกฎหมายบังคับใช้

Posted: 25 May 2018 03:52 AM PDT

ประธาน กกต. เผยเตรียมการสรรหา ส.ว.แล้ว คาด 1 เดือนหลังกฎหมายใช้บังคับเริ่มกระบวนการได้ เผย คสช.ส่งร่างแก้ไข คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/60 แล้ว เชื่อหาก คสช.ประกาศแก้ไขปัญหาพรรคการเมืองได้

ภาพจากสำนักข่าวไทย

25 พ.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการคัดเลือกสมาชิกวุฒสภา (ส.ว.)หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า สำนักงาน กกต.ได้ยกร่างระเบียบรองรับแล้ว รอแค่ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะออกระเบียบได้ทันทีเพื่อเตรียมการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยที่มา ส.ว.มาได้สองทางคือ สมัครอิสระ และองค์กรนิติบุคคลส่งสมัคร ซึ่งเมื่อกฎหมาย ส.ว.และระเบียบที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับแล้ว ก็จะมีการประกาศให้องค์กรวิชาชีพที่เป็นนิติบุคคลมาลงทะเบียนกับ กกต. เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับก็ประกาศวันสมัครและเริ่มกระบวนการเลือกทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ก่อนที่จะส่ง 200 รายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน คาดว่าภายใน 1 เดือนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะเห็นกระบวนการเลือก ส.ว.ใหม่ได้ ยืนยันได้ว่าดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

ศุภชัย ยังกล่าวถึงการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ กกต.เสนอให้มีการแก้ไขว่า ทาง คสช.ได้ส่งร่างแก้ไขมาที่ กกต.แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง อย่างไรก็ตามประเด็นที่แก้ไขก็เป็นเรื่องที่ กกต.ได้ท้วงติงไป หากมีการแก้ไขตามนั้นก็น่าจะแก้ปัญหาของพรรคการเมืองได้ ส่วนจะแก้ไขเมื่อไหร่เป็นเรื่องของ คสช. กกต.ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้

สำหรับกรณีที่ คสช.เตรียมจะเชิญพรรคการเมือง และ กกต.ไปประชุมร่วมกันนั้น ศุภชัย กล่าวว่า กกต.คงไม่สามารถให้คำแนะนำ คสช.ได้ เพราะเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น และยังไม่ทราบว่าจะมีการประชุมเมื่อใด ทั้งนี้ในส่วนของพรรคการเมืองอาจไม่สะดวกหาก คสช.เป็นผู้เชิญประชุม แต่หากจะให้ กกต.เป็นเจ้าภาพเชิญพรรคการเมืองประชุมก็ยินดี

เมื่อถามต่อว่าวางบทบาทของ กกต.แบบนี้อาจถูกมองว่าอยู่ภายใต้ คสช.หรือไม่ ศุภชัย กล่าวว่า ไม่ใช่ กกต.ไม่ได้ขึ้นกับ คสช.แต่ต้องดูว่า วันนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ คนที่มีอำนาจออกตามมาตรา 44 คือ คสช. เราก็ต้องทำตามกฎหมาย ทั้งนี้ยอมรับว่า กกต.มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายพรรคการเมือง แต่เมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 กกต.ก็ไม่สามารถก้าวล่วงได้ต้องแยกกัน ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ตามกรอบของรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นหลังจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ให้ดำเนินการเลือกตั้งภายใน 150 วัน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จากนั้น กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง โดยตามกฎหมาย กกต.ไม่ต้องหารือใครก็ได้ แต่การหารือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรค ซึ่งการจัดการเลือกตั้งอาจใช้เวลาไม่ถึง 150 วันก็ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ไม่หวั่นไหว แม้เกือบครึ่งล้านโหวต ไม่หนุนบริหารบ้านเมืองต่อ

Posted: 25 May 2018 03:09 AM PDT

โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผย  'ประยุทธ์' ไม่หวั่นไหว แม้เกือบครึ่งล้านโหวตไม่หนุนบริหารบ้านเมืองต่อในเพจอวย พร้อมแจงข่าวเก่า ยันไม่มีนโยบายปรับขึ้น VAT ขณะที่ปมนำมันแพง สั่งใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาไม่ให้เกิน 30 บาทแล้ว

25 พ.ค.2561 จากกรณีเฟสบุ๊คแฟนเพจ ชื่อ 'ขอล้าน Like สนับสนุนให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก' ซึ่งเป็นเพจที่มีคนกดถูกใจ 3 แสน มักโพสต์สนับสนุน คสช. และโจมตีกลุ่มที่ต่อต้าน คสช. นั้น ตั้งโหวต ภายใต้โจทย์ ว่า "คุณยังสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้บริหารบ้านเมืองต่อหรือไม่" เริ่มโหวตเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 16:25 น. จนล่าสุดวันนี้ (25 พ.ค.61) มีจำนวนโหวต 5.3 แสน โดย 90% หรือประมาณ 477,000 โหวตตอบไม่เห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารบ้านเมืองต่อ โดยมีเพียง 10% เท่านั้นที่โหวตสนับสนุน

ล่าสุดวันนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว ถึงกรณีดังกล่าวซึ่งมีสื่อมวลชมนำเสนอว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว และไม่รู้สึกหวั่นไหวต่อข้อมูลดังกล่าว เพราะที่ผ่านมามีผลโพลออกมาจากหลายสำนัก หลายประเภท ซึ่งมีทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยยืนยันว่าจะทำหน้าที่ทุกอย่างให้ที่ดีสุด จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง จากนั้นประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง

เพจต้นทาง ตอนนี้เข้าไม่ได้แล้ว

เพิ่มเติม เมื่อเวลา 10.50 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟสบุ๊คแฟนเพจ ชื่อ 'ขอล้าน Like สนับสนุนให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก' (URL : https://www.facebook.com/Lovegenprayut)ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

โดยเมื่อเข้าเพจดังกล่าว ระบบแจ้งว่า "ขออภัย เนื้อหานี้ไม่พร้อมใช้งานในขณะนี้ ลิงก์ที่คุณได้ติดตามอาจหมดอายุไปแล้ว หรือเพจนี้อาจจะมองเห็นได้เฉพาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้รวมถึงคุณด้วย"

 

แจงข่าวเก่า ยันไม่มีนโยบายปรับขึ้น VAT

กรณีที่มีการแชร์ข้อความและภาพระบุ "ประยุทธ์ขอประชาชนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 8% ถ้าไม่ขึ้นประเทศจะล้มละลาย" ในช่วงนี้นั้น  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อความและภาพดังกล่าวเป็นเรื่องเก่าเมื่อเดือน มี.ค. 60 ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ชี้แจงไปแล้วว่า ไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ของนายกฯ แต่เป็นการตีความที่คลาดเคลื่อน พร้อมทั้งยืนยันด้วยว่าไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อกังวลว่า รัฐบาลจะปรับขึ้นภาษี VAT 9% (รวมภาษีท้องถิ่นอีก 1% อัตรารวมคือ 10%) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.61 ตามที่ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ต.ค.60 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นภาษี VAT ตามที่ระบุไว้กฎหมาย โดยยังคงไว้ที่อัตรา 7% เพราะไม่อยากผลักภาระให้ประชาชนเดือดร้อน จึงไม่อยากให้สังคมตื่นตระหนกและหลงเชื่อ หรือนำไปวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความสับสน"
 
ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วรัฐบาลจะต้องขึ้นภาษี VAT อีก 3% เป็น 10% เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประมวลรัษฎากร แต่รัฐบาลได้ออกกฎหมายลดอัตราภาษี VAT โดยให้จัดเก็บจริงที่ 7%  ซึ่งเป็นอัตราคงที่ต่อเนื่องกันมาทุกปี

ใช้กองทุนน้ำมัน อุดหนุนราคา ไม่ให้เกิน 30 บาท

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลยังรายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการดูแลราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สแอลพีจี ว่า รัฐบาลไม่ได้บริหารงานโดยยึดหลักเศรษฐศาสตร์หรือกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนด้วย หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือประสบปัญหาก็จำเป็นต้องเข้าไปแก้ไขอย่างเร่งด่วน

"โดยจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และอุดหนุนราคาแก๊สแอลพีจี 10 บาทต่อขนาดถัง 15 กก. ทำให้ราคาแอลพีจีลดลงเหลือไม่เกินถังละ 363 บาท มีผลวันที่ 28 พ.ค.นี้"
 
นายกรัฐมนตรีขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สแอลพีจีอยู่ในระดับที่ควบคุมได้อย่างเหมาะสม จึงจะไม่กระทบต่อราคาสินค้าและบริการที่ต้องใช้น้ำมันและแก๊สดังกล่าว และรัฐบาลขอให้เชื่อมั่นว่าจะดูแลเรื่องนี้อย่างดีที่สุดและเกิดผลดีต่อประชาชนอย่างแน่นอน
 
"นายกฯ ยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าและบริการให้เป็นปกติ เช่น ค่าโดยสาร ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะรัฐบาลประกาศชัดเจนแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยย้ำว่าเมื่อประเทศต้องประสบปัญหาใด ๆ ก็ตาม คนไทยทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันฝ่าฟันไปให้ได้"
 
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกติดตามราคาสินค้าและบริการที่สำคัญ เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาและเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจส่งฟ้อง 9 แกนนำคนอยากเลือกตั้ง (MBK 39) อัยการนัดฟังคำสั่ง 28 มิ.ย.

Posted: 25 May 2018 03:00 AM PDT

รังสิมันต์ โรม เผยหลังตำรวจส่งฟ้อง 9 แกนนำคนอยากเลือกตั้งกลุ่ม MBK 39 ระบุปากกาไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่อำนาจอันไม่ชอบธรรม ส่วนอัยการนัดฟ้องคำสั่งฟ้องหรือไม่ 28 มิ.ย. นี้

แฟ้มภาพ

25 พ.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เวลาประมาณ 10.45 น. ที่สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษอาญากรุงเทพใต้ 4 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นัดหมายผู้ต้องหาแกนนำในคดีชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง ที่บริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 หรือคดี MBK39 เพื่อส่งตัวและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ

สำหรับในส่วนของแกนนำในคดีนี้ มีผู้ต้องหา 9 คน ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, อานนท์ นำภา, เอกชัย หงส์กังวาน, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, ณัฏฐา มหัทธนา, สมบัติ บุญงามอนงค์ และวีระ สมความคิด ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่เกิน 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ

ในวันนี้วีระ สมความคิด ไม่สามารถเดินทางมาตามนัดได้ เนื่องจากติดภารกิจที่ศาลอื่น ทำให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหา 8 คน ให้พนักงานอัยการ โดยที่ทางพนักงานสอบสวนมีความเห็นให้สั่งฟ้องคดีนี้ ในส่วนพนักงานอัยการเมื่อได้รับสำนวนไว้ จะพิจารณามีความเห็นทางคดีต่อไป และให้นัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 28 มิ.ย. 2561 เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ คดีนี้หากมีการฟ้องต่อศาล จะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้

รังสิมันต์ โรม เปิดเผยหลังจากเข้ารับทราบนัดจากอัยการ ว่าการดำเนินคดีกับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งล้วนเป็นคดีทางการเมือง เป็นข้อหาทางการเมืองทั้งหมด โดยผู้จัดการชุมนุมก็ทราบว่ามีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดี และตระหนักว่าปากกาไม่ได้อยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่อำนาจที่ไม่ชอบธรรม จึงไม่แปลกที่จะถูกดำเนินคดีเยอะแยะมากมาย แต่ทางเราก็พร้อมต่อสู้เต็มที่ แม้คดีต่างๆ จะก่อภาระมากมาย ให้ต้องเดินทางมาต่อสู้คดี แต่อีกด้านหนึ่งเราเชื่อว่าคดีของเราจะทำให้สังคมได้เห็นว่าใครคือคนที่ถูกรังแก และใครเป็นผู้รังแก

รังสิมันต์ยังย้ำว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเวลาพูดถึงเรื่องความวุ่นวายนั้น แท้จริงความวุ่นวายไม่ได้เกิดจากผู้ชุมนุม อย่างกรณีวันที่ 22 พ.ค. การปิดถนนเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ชุมนุมมีการแจ้งการจัดการชุมนุมต่อตำรวจ แจ้งเส้นทางที่ชัดเจน มีการขอใช้พื้นผิวถนน 1 ช่องทางจราจร และเดินขบวนไปโดยสงบ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของคดีของผู้เข้าร่วมชุมนุมกรณี MBK 39 ซึ่งแยกออกจากแกนนำนั้น เหลือผู้ต้องหาจำนวนอีก 28 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ อัยการก็ยังไม่ได้มีความเห็นทางคดีเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทำให้ต้องรอฟังผลการพิจารณาจากอัยการสูงสุด นัดครั้งต่อไปในวันที่ 26 มิ.ย. 2561 เวลา 10.00 น.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติกรรมการการเงินการคลังรัฐตั้งสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี

Posted: 25 May 2018 02:22 AM PDT

มติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มี 'บิ๊กตู่' เป็นประธาน กำหนดกรอบวินัยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี สัดส่วนเงินสำรองจ่าย งบชำระเงินกู้ สัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี

24 พ.ค. 2561 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรายงานว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 62 บัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติในเรื่องเกี่ยวกับกรอบวินัยการเงินการคลังที่สำคัญ สามารถสรุปได้ ดังนี้

1. คณะกรรมการฯ ได้กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
1.1 สัดส่วนสำหรับใช้เป็นกรอบวินัยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกอบด้วย
1.1.1 สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี  
1.1.2 สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยในส่วนของงบประมาณเพื่อการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องตั้งตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น
1.1.3 สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
1.1.4 สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
1.2 สัดส่วนสำหรับใช้เป็นกรอบวินัยในการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินงานซึ่งรัฐบาลรับภาระที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้ โดยกำหนดอัตราการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายต้องมียอดคงค้างรวมกันไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
1.3 สัดส่วนเพื่อใช้เป็นกรอบวินัยในการบริหารหนี้ประกอบด้วย
1.3.1 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 60
1.3.2 สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกินร้อยละ 35
1.3.3 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกินร้อยละ 10
1.3.4 สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ต้องไม่เกินร้อยละ 5
 
2.  คณะกรรมการฯ ได้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง โดยมีเป้าหมายการคลัง คือ "การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล" ทั้งนี้ รายละเอียดในแผนการคลังระยะปานกลางประกอบด้วย สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ สถานะและประมาณการการคลัง สถานะหนี้สาธารณะ และภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล โดยแผนการคลังระยะปานกลางดังกล่าวจะต้องนำไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.เผยเรตติ้งทีวีเม.ย. 61 ช่อง 7HD ยังแชมป์ ชี้ MONO 29 ผังรายการส่งความนิยมสูงขึ้น

Posted: 25 May 2018 02:08 AM PDT

กสทช. รายงานเรตติ้งช่องรายการทีวีภาคพื้นดินเดือน เม.ย. 61 จากการสำรวจของ Nielsen พบ ช่อง 7HD ยังเป็นที่ 1 ตามด้วย 3HD MONO 29 โดยหลังจากละคร "บุพเพสันนิวาส" ค่าความนิยมเฉลี่ย 3HD  ค่อยๆ ลดลง
 
 
25 พ.ค.2561 ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. รายงานค่าความนิยมของช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในเดือน เม.ย. 2561 จากการสำรวจของ Nielsen พบว่า ช่องรายการที่มีผู้ชมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ช่อง 7HD เรตติ้ง 1.750 อันดับ 2 ช่อง 3HD เรตติ้ง 1.583 อันดับ 3 ช่อง MONO 29 เรตติ้ง 0.848 อันดับ 4 ช่อง WORKPOINT เรตติ้ง 0.759 อันดับ 5 ช่อง 8 เรตติ้ง 0.584 อันดับ 6 ช่อง ONE HD เรตติ้ง 0.549 อันดับ 7 ช่องไทยรัฐ ทีวี เรตติ้ง 0.301 อันดับ 8 ช่อง AMARIN TV HD เรตติ้ง 0.285 อันดับ 9 ช่อง 3SD เรตติ้ง 0.265 และอันดับ 10 ช่อง MCOT HD เรตติ้ง 0.186
 
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าความนิยมของช่องรายการภาคพื้นดินในเดือน มี.ค. 2561 พบว่า ช่อง MONO 29, ช่อง WORKPOINT,  ช่อง 8, ช่องONE HD และช่อง 3SD มีค่าความนิยมเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยด้านผังรายการที่ส่งผลให้ช่องดังกล่าวได้รับค่าความนิยมที่สูงขึ้น คือ ช่อง MONO 29 มีซีรีส์และภาพยนตร์ต่างประเทศมาแรงอย่างต่อเนื่อง ส่วนช่อง WORKPOINT มีรายการถ่ายทอดสดกีฬามวยที่ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมอย่างเนืองแน่น สำหรับช่อง 8 ละครอินเดีย เรื่องหนุมานฯ เรตติ้งแรงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ ช่อง ONE HD ละครดาวจรัสฟ้าและวาไรตี้รู้ไหมใครโสดเรียกเรตติ้งได้ดี และสำหรับช่อง 3SD ละครรีรันเป็นที่นิยม เช่น สะใภ้เจ้า ปัญญาชนก้นครัว และหนึ่งในทรวง
 
สำหรับช่อง 3HD พบว่า ค่าความนิยมเฉลี่ยค่อยๆ ลดลง ภายหลังจากละคร "บุพเพสันนิวาส" ได้อวสานลงเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2561 ส่งผลให้ช่อง 7HD สามารถกลับมามีค่าความนิยมของช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินสูงสุดเป็นอันดับ 1 ประจำเดือน เม.ย. 2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยผลสำรวจนักศึกษา 19 มหาวิทยาลัย 72.6% บอกรัฐประหารแก้ปัญหาไม่ได้

Posted: 25 May 2018 02:00 AM PDT

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองแถลงข่าว "การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย" สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 19 มหาวิทยาลัย72.6% บอกรัฐประหารแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ 75.2% ไม่เอานายกฯ คนนอก ส่วนจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 70.6% ยังไม่ระบุว่าใคร แต่ในส่วนนี้ 35% บอกใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนการเลือกพรรคการเมือง จะเลือกประชาธิปัตย์ 22.7% เพื่อไทย 20.3% อนาคตใหม่ 10%

20 พ.ค. 2561 ในการเสวนา "D-Move ก้าวที่ดีเลือกทางที่เดิน" มีการแถลงข่าวและอภิปรายผล "การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย" ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส.

แถลงผลโดย ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปรายผลโดย ธนพล พันธุ์งาม นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศศวัชร์ คมนียวนิช นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,175 คน จาก 19 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ผลสำรวจแบ่งเป็น 3 หมวด 1. รัฐประหารและ คสช. เริ่มจาก"การติดตามรายการคืนความสุข" พบว่านักศึกษาร้อยละ 72.7 ไม่ติดตาม/ติดตามน้อย และร้อยละ 27.3 ติดตาม ส่วนคำถามคิดว่าการรัฐประหารแก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่ ร้อยละ 72.6 ตอบว่าไม่ได้ และร้อยละ 27.4 เห็นว่าได้

ผลการทำงานของรัฐบาลในรอบ 4 ปี ร้อยละ 70.6 เห็นว่า แย่/แย่มาก ร้อยละ 29.4 เห็นว่าดี/ดีเยี่ยม ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบถึงทหารที่ยึดอำนาจสามารถบริหารประเทศได้ดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 86.2 บอกไม่เห็นด้วย ร้อยละ 13.8 เห็นด้วย

หมวด 2. รัฐธรรมนูญ 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ เริ่มจากคำถามถึงความเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งแบ่งเป็น 5 ด้านคือ ปราบโกง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แก้การซื้อเสียง แก้คอร์รัปชั่น ปกป้องสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมสวัสดิการ พบว่า นักศึกษาเกินครึ่ง ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ปัญเหล่านั้นได้ ส่วนความเชื่อมั่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้หรือไม่ ร้อยละ 70.8 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 29.2 เชื่อมั่น

หมวด 3. ความหวังและการเลือกตั้ง เริ่มจากความหวังสำหรับอนาคตประชาธิปไตย พบว่า หมดความหวังถึงร้อยละ 75.4 มีความหวังเพียงร้อยละ 24.6 ส่วนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีนายกรัฐมนตรีคนนอก ร้อยละ 75.2 บอกไม่เห็นด้วย มีเห็นด้วยเพียงร้อยละ 24.8

ส่วนในอนาคตมีการเลือกตั้ง นักศึกษาจะไปหรือไม่ ร้อยละ 72.9 ระบุไป ร้อยละ 4.2 ไม่ไป และร้อยละ 21.6 ยังไม่ตัดสินใจ ส่วนจะลงคะแนนเสียงให้พรรคใด พบว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22.7 บรรดาพรรคทางเลือกใหม่ๆ ร้อยละ 21.6 พรรคเพื่อไทยร้อยละ 20.3 พรรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 10 พรรคอื่นๆ ร้อยละ 8.6 พรรคทหาร ร้อยละ 2.5 และไม่เลือกพรรคใด ร้อยละ 14.4

สำหรับคนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี 10 อันดับแรก พบว่าร้อยละ 70.6 ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นใคร แต่ในส่วนนี้ร้อยละ 35 ระบุใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ ถัดมาร้อยละ 6.8 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 5.7 นายทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 4.1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 1.9 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 1.6 นายอุดม แต้พานิช ร้อยะละ 1.3 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ร้อยละ 1.1 นายอาทิวราห์ คงมาลัย และนายชูวิทย์ กลมวิศิษฎ์ ร้อยละ 0.9

การแถลงข่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวิชาการ "D-Move ก้าวที่ดีเลือกทางที่เดิน" 19-20 พฤษภาคม 2561 ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม Social Science Forum ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และกลุ่มองค์กรทางสังคมต่างๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการศาลแขวงเชียงใหม่เลื่อนฟังคำสั่ง 2 คดีชุมนุม ทั้งคดีไทยศึกษา-คนอยากเลือกตั้ง

Posted: 25 May 2018 12:48 AM PDT

อัยการเลื่อนฟังคำสั่ง 2 คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ที่เชียงใหม่ ทั้งคดีคนอยากเลือกตั้งชุมนุมหน้า มช. และคดีชูป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" โดยอัยการคดีศาลแขวงระบุยังไม่มีความเห็นใดๆ จึงให้ผู้ต้องหาเซ็นเพื่อรับทราบนัด ให้มารายงานตัวพร้อมกันในวันที่ 25 มิ.ย.นี้

25 พ.ค.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมาเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 5 ผู้ต้องหากรณีร่วมกิจกรรมการชุมนุม "รวมพลคนอยากเลือกตั้ง" ใน "เทศกาลแห่งความหมดรัก" เมื่อวันที่ 14 ก.พ.61 ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือคดี CMU06 ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต  ได้เข้ารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งของอัยการแขวงตามที่ได้นัดหมาย ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 ราย คือ ยามารุดดิน ทรงศิริ ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวไว้ก่อนนี้ เนื่องจากติดสอบ

หลังผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้เข้ารายงานตัว อัยการแขวงระบุว่ายังไม่มีคำสั่งทางคดีในวันนี้ จึงให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 ทำการเซ็นรับทราบนัดหมายและให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 มิ.ย. 61 เวลา 13.30 น.

ก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ผ่านอธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากการฟ้องคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่อัยการยังไม่ได้มีคำสั่ง

ขณะที่ 24 พ.ค. 61 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ทาง 4  ผู้ต้องหาในคดีติดป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการตามนัดหมาย ส่วนอีก 1 ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากติดภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศ

หลังจากผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้เซ็นชื่อรายงานตัว อัยการแขวงระบุว่ายังไม่มีคำสั่งทางคดีในวันนี้ จึงให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 มิ.ย. 61 เวลา 13.30 น. พร้อมกับคดีของคนอยากเลือกตั้งหน้ามช.ต่อไป
 
ทั้งสองคดีนี้มี ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 รับมอบอำนาจจากผู้บังคับบัญชาในกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาเช่นเดียวกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น