โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ยูเอ็นแสดงความกังวลต่อรัฐบาลไทย เหตุจำกัดเสรีภาพในวันแรงงานสากล

Posted: 02 May 2018 09:29 AM PDT

สนง.ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ ประจำภูมิภาค แสดงท่าทีกังวลต่อการจำกัดเสรีภาพในวันแรงงานสากล ชี้รัฐบาลไทยเป็นรัฐสมาชิกกับกติการะหว่างประเทศต้องดำเนินการให้สิทธิอย่างเต็มที่

2 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 16.09 น. ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'UN Human Rights - Asia' เผยแพร่ท่าทีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีต่อสถานการณ์การจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมต่อกลุ่มประชาสังคมในวันแรงงานสากลที่ผ่านมา

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนฯ มีความกังวลต่อการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมต่อกลุ่มประชาสังคมในวันแรงงาน

"รัฐบาลไทยในฐานะที่เป็นรัฐสมาชิกกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมืองต้องดำเนินการให้สิทธิเหล่านี้ได้รับการเคารพอย่างเต็มที่" ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว
 
เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้หยุดรถบัสสองคันที่บรรทุกสมาชิกของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยคนที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ทำให้พวกเขาไม่สามารถเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่รัฐได้
 
ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดป้ายของสหพันธ์แรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร นักสหภาพแรงงานเจเนอร์รัลมอเตอร์จำนวนสี่คนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากที่พวกเขาได้จัดชุมนุมหน้าสถานทูตอเมริกาเพื่อพูดถึงการเลิกจ้างคนงานโดยบริษัทฯ
 
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำภูมิภาคฯ มีความกังวลว่าการคุกคามโดยใช้มาตรการดังกล่าวจะสร้างผลกระทบให้เกิดสภาวะความหวาดกลัวต่อองค์กรและชุมชนที่ต้องการที่จะพูดถึงประเด็นคล้ายคลึงกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาแล้ว! สนช.นัดตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องการจัดการวัคซีนพิษสุนัขบ้า พรุ่งนี้

Posted: 02 May 2018 09:00 AM PDT

สนช.นัดประชุม 3 พ.ค. นี้ ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องการจัดการวัคซีนพิษสุนัขบ้า พร้อมขอมติไม่เปิดเผยรายงานประชุมลับการให้ความเห็นชอบผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขณะคณะกรรมการสรรหาฯ กกต. นัดพิจารณาเลือกผู้มีคุณสมบัติเป็น กกต. 5 คน เสนอรายชื่อให้ที่ประชุม สนช.  

2 พ.ค.2561 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า วันนี้ เจตน์ ศิรธรานนท์ และ ยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ สนช. จะมีการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 3 พ.ค.นี้ เพื่อรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหาวิกฤตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีปัญหาน้ำเสียในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ล้มละลายและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พร้อมกันนี้ จะมีการตั้งกระทู้ถามเรื่องการจัดการวัคซีนพิษสุนัขบ้าโดย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ถามนายกรัฐมนตรี และการขอมติมิไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมรายงานการประชุมลับ สนช. ในการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

โฆษกวิป สนช. กล่าวต่อไปว่าที่ประชุมวิป สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. การรักษาประโยชน์ทางทะเล ซึ่งเป็นร่างกฎหมายใหม่ ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) เข้ามาทำหน้าที่และอำนาจหลักในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล และมาตรการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และกำหนดให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการบูรณาการและประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช.ในวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ค.นี้ ส่วนการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใหม่นั้น คณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อจำนวน 5 คน และจะนำไปรวมกับบุคคลที่ได้รับคัดเลือกจากสายศาลยุติธรรม จำนวน 2 คน คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ก่อนเสนอต่อประธาน สนช. เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษก กอ.รมน. ขอประชาชนระวังข่าวบิดเบือน กรณีชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง”

Posted: 02 May 2018 08:35 AM PDT

โฆษก กอ.รมน. ขอประชาชนเสพข่าวคนอยากเลือกตั้งอย่างระมัดระวังข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมขอให้แกนนำดูแลผู้ชุมนุมให้ดี เพื่อป้องกันมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์

2 พ.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.พีรวัฒน์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง วันที่ 5 พ.ค. นี้ ว่า เป็นพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ส่วน กอ.รมน.มีหน้าที่ติดตามข้อมูลข่าวสารเท่านั้น ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวังข้อมูลข่าวสารที่อาจมีการบิดเบือน ซึ่งประชาชนจะต้องทราบว่ากฎหมายใดที่สามารถทำได้ หรือไม่ได้  ทั้งนี้ไม่ได้ประเมินว่าผู้ชุมนุมจะมีจำนวนเท่าใด และยังไม่ได้รับรายงานถึงกระแสข่าวการขนคนจากต่างจังหวัดเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย

"ขอให้แกนนำระมัดระวัง และดูแลผู้ร่วมการชุมนุมให้ดี เพื่อป้องกันมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ หรือก่อเหตุความวุ่นวาย ในส่วนเจ้าหน้าที่ได้เตรียมแผนเผชิญเหตุไว้รองรับ หากมีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น" โฆษก กอ.รมน. กล่าว

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามโรดแมป เดือนก.พ. 2562 โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า เบื้องต้นจะเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้เข้าใจถึงขั้นตอนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม โฆษก กอ.รมน. ไม่ขอตอบว่าขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการการเลือกตั้งหรือไม่ โดยระบุเพียงว่า ทราบเพียงแต่ทุกคนอยากให้เร่งแก้ไขปัญหาปากท้องให้ดีขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนขับรถบัสญี่ปุ่น 'สไตรค' ประท้วงนายจ้างด้วยการให้ประชาชนโดยสารฟรี

Posted: 02 May 2018 08:09 AM PDT

ในจังหวัดโอคายาม่า ประเทศญี่ปุ่น มีการ "นัดหยุดงาน" ประท้วงของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะเรียวบิกรุ๊ปในแบบที่แปลกไปจากการ "นัดหยุดงาน" อื่นๆ ทั่วไป เพราะวิธีการที่พวกเขาใช้ไม่ใช่การหยุดงานขนส่งมวลชนที่พวกเขาทำ แต่ยังคงทำงานขับรถประจำทางรับส่งผู้โดยสารตามเส้นทางเดิม เพียงแค่ "สไตรค" ด้วยการไม่เก็บค่าโดยสารเท่านั้น

2 พ.ค. 2561 พนักงานขับรถสาธารณะที่ดำเนินงานโดยเรียวบิกรุ๊ปในจังหวัดโอคายาม่า ประเทศญี่ปุ่น เกิดความไม่พอใจหลังจากที่มีบริษัทเมกุริน บริษัทขนส่งสาธารณะของคู่แข่งเริ่มวางเส้นทางเดินรถทับซ้อนกับของเรียวบิตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2561 โดยที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันคือมีค่าโดยสารถูกกว่า และดีไซน์รถบัสก็ดูน่ารัก พนักงานเหล่านี้กลัวว่าจะส่งผลกระทบกับหน้าที่การงานของตัวเอง จึงพยายามเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของเรียวบิปรับปรุงความมั่นคงในหน้าที่การงานของพวกเขา แต่ฝ่ายบริหารเรียวบิก็ไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เท่าที่ควรจึงมีการสไตรคเกิดขึ้น

แต่การสไตรคหรือการ "นัดหยุดงาน" ของพวกเขาในครั้งนี้ ไม่เชิงเป็นการหยุดงานประท้วงเสียทีเดียว แต่เป็นการยังคงทำงานขับรถโดยสารต่อไปตามหน้าที่ สิ่งที่ต่างออกไปคือพวกเขาไม่เก็บค่าโดยสาร หมายความว่าพวกเขาสไตรคด้วยการทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้รถโดยสารฟรีในช่วงเวลาการประท้วงของพวกเขา

สื่อเจแปนทูเดย์ระบุว่า ในกรณีที่มีการประท้วงนัดหยุดงานเช่นนี้ฝ่ายผู้บริหารของบริษัทมักจะหาข้ออ้างนำปฏิบัติการหยุดงานมาทำลายคนขับรถโดยสารเสียเอง ข้ออ้างที่ว่าคือการกล่าวในทำนองว่าคนขับรถเหล่านี้เอาผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อนสาธารณะ แต่ในการประท้วงครั้งนี้ปฏิบัติการของคนขับรถเรียวบิทำให้ฝ่ายนายจ้างอ้างแบบเดิมไม่ได้อีก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในโลกที่มีการสไตรคด้วยการให้ผู้โดยสารใช้รถฟรี เคยมีการประท้วงแบบเดียวกันในเมืองบริสเบนและซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียเมื่อปีที่แล้ว (2560) ในช่วงที่มีข้อพิพาทแรงงาน แต่การประท้วงด้วยการให้โดยสารฟรีก็เกิดขึ้นมานานแล้วในยุโรปหรือละตินอเมริกา ครั้งแรกสุดที่มีการบันทึกไว้คือกรณีการประท้วงของแรงงานรถรางในคลีฟแลนด์ สหรัฐฯ ปี 2487

เจแปนทูเดย์ระบุว่ามีหลายปัจจัยที่จะส่งผลลัพธ์ต่อข้อพิพาทแรงงาน แต่ปฏิบัติการเช่นนี้ก็เป็นการทดลองที่น่าสนใจว่าจะใช้ได้กับวัฒนธรรมการจัดการในแบบของญี่ปุ่นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่คนขับรถของเรียวบิทำถือเป็นการช่วยรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองไปพร้อมๆ กับการรักษาความสัมพันธ์กับผู้โดยสารไปพร้อมๆ กัน

ในการแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและสนับสนุนการประท้วงของพนักงานขับรถเหล่านี้แต่ก็มีบางส่วนแสดงความเห็นห่วงว่าพวกเขาจะ "ทำงานฟรี" หรือไม่ บางความคิดเห็นตั้งคำถามว่าถ้าหากใช้วิธีการหยุดเดินรถไปเลยจะเป็นการกดดันฝ่ายบริหารได้มากกว่าหรือเปล่า

 

เรียบเรียงจาก

Okayama buses strike by continuing to run and refusing to take anyone's money, Japan Today, 02-05-2018

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

P-Move ออกแถลงการณ์ 4 ปียังไม่เห็นความสุขที่ คสช. คืน พร้อมปักหลักชุมนุมค้างคืน

Posted: 02 May 2018 07:49 AM PDT

เครือข่ายP-Move ออกแถลงการณ์ 4 ปียังไม่เห็นความสุขที่ คสช. คืน ชี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 3 ของโลก ยันปักหลักชุมนุมค้างคืนหน้ามหาดไทย

2 พ.ค. 2561 ตั้งแต่ช่วงเช้า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move ประมาณ 200-300 คน ได้รวมตัวกันบริเวณด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติเพื่อเตรียมเข้ายื่นหนังสือ ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกิน ลดความเหลือมล้ำ และสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับประชาชน

โดยก่อนหน้านี้ ดิเรก กองเงิน แกนนำ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เปิดเผยกับ สำนักข่าวชายขอบ ว่าในวันที่ 2 พ.ค. (วันนี้) ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐในด้านต่างๆ จะเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล หลังจากเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อขอให้รัฐบาลจัดประชุมพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ดังที่เคยยื่นไว้และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแล้ว แต่กลไกลดังกล่าวกลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ซึ่งภายหลังจากยื่นหนังสือไปได้บอกให้รัฐบาลแจ้งความคืบหน้าภายใน 30 วัน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกลับเพิกเฉย 

เวลาประมาณ 11.00 น. ชาวบ้านกว่า 300 คนได้เดินทางจากบริเวณด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ไปยังทำเนียบรัฐบาล จนในเวลา 11.30 น. สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเจรจากับตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม

โดยสุวพันธุ์ รับปากว่าจะนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา ก่อนจะนำข้อสรุปมาพูดคุยหารือกับอนุคณะกรรมการที่ตนเองเป็นประธาน และไม่อยากให้ชุมนุมปักหลักค้างคืน เพราะจะทำให้ลำบาก ให้กลับไปที่ภูมิลำเนาและรอคำตอบจะดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะขอปักหลักค้างคืน ไม่กลับบ้านจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมามาชุมนุมเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยไม่ได้รับการแก้ปัญหา โดยได้ปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณกระทรวงมหาดไทย

ทั้งทางกลุ่มได้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง "ลดความเหลื่อมล้ำ คืนความเป็นธรรม ปกป้องชุมชน" โดยระบุว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศนั้นพบว่านโยบายของรัฐไม่ได้เป็นไปเพื่อทำให้ประเทศลดความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ทั้งที่ผ่านมายังมีการบังคับใช้กฎหมายกับคนจนเป็นหลัก นโยบายทวงคืนผืนป่าไม่ครอบคลุมที่ดินเอกชนที่หมดสัญญาเช่า มีการทำลายป่าอย่างถูกกฎหมาย โดยการเพิกถอนพื้นที่ป่าเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม การอนุญาตให้ทำธุรกิจในป่า มีนโยบายให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ในขณะที่ที่ดินมีการกระจุกตัว คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการถือครองที่ดิน มีการเพิกเฉยต่อมาตรการ แนวทาง และรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคง และยั่งยืน

000000

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

"ลดความเหลื่อมล้ำ คืนความเป็นธรรม ปกป้องชุมชน"

นับเป็นเวลากว่า 4 ปี ที่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ โดยอ้างว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ขจัดคอรัปชั่น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม "คืนความสุขให้ประชาชน" สร้างความ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยจะ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" รัฐบาลได้ลงนามขานรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ถึงเดือน ส.ค. พ.ศ. 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย อาทิ ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ พีมูฟ) ในฐานะเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐ ได้มีการผลักดันมาตรการแนวทางและรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคง และยั่งยืนมาอย่างยาวนานต่อทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากการรัฐประหาร พบว่านโยบายและการปฏิบัติงานของรัฐไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง มิหนำซ้ำทำให้ยิ่งเกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจายมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยถูกจัดอับดับเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกอันดับที่ 3 ของโลก โดยคนรวยเพียง 1% สามารถครอบครองทรัพย์สินและความมั่นคั่งมากถึง 58% โดยมีรูปธรรมที่เกิดขึ้น คือ

1. มีการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับคนจนเป็นหลัก
​แต่ในอีกด้านหนึ่ง ได้ปรากฏข่าวสารทางสาธารณะหลายกรณีถึงการงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับส่วนราชการ และเอกชน อาทิ การอนุญาตให้ส่วนราชการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า การไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่มีการออกโดยมิชอบ การละเว้นการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดคนรวยที่บุกรุกป่าและล่าสัตว์ป่า

2. นโยบายทวงคืนผืนป่าไม่ครอบคลุมที่ดินเอกชนที่หมดสัญญาเช่า

​3. มีการทำลายป่าอย่างถูกกฎหมาย โดยการเพิกถอนพื้นที่ป่าเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม การอนุญาตให้ทำธุรกิจในป่า เช่น เหมืองแร่ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การอนุญาตให้ส่วนราชการสร้างอาคารในป่า

4. มีนโยบายให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ในขณะที่ที่ดินมีการกระจุกตัว คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการถือครองที่ดิน

5. มีการเพิกเฉยต่อมาตรการ แนวทาง และรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคง และยั่งยืน ดังจะเห็นได้จาก

5.1) ข้อเสนอในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ภายใต้ "ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า" เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินตามขนาดการถือครองที่ดิน คนที่มีที่ดินน้อยจ่ายน้อย คนที่มีที่ดินมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่า แล้วนำเงินภาษีเหล่านั้นส่วนหนึ่งมาสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินสู่คนจน แต่ปัจจุบันรัฐบาล และ สนช. ถ่วงเวลาและบิดเบือนเจตนารมณ์ร่าง พ.ร.บ.ให้กลายเป็นเพียงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีผลเพียงแค่ลดภาระงบประมาณที่รัฐบาลส่วนกลางจะต้องอุดหนุนให้แก่การปกครองส่วนท้องถิ่นท้องถิ่น ซ้ำร้ายการงดเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อแปลงทำให้เพดานของการเก็บภาษีสูงขึ้นจนไม่สามารถเก็บภาษีได้จริงในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจัดเก็บภาษีที่ดินทุกประเภท ในอัตราเดียวกัน จนท้ายที่สุดร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับของรัฐบาลน่าจะไม่สามารถนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินได้ในทางปฏิบัติ

5.2) การจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกและช่องทางให้คนจนและเกษตรกรเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยนำรายได้จากภาษีที่ดิน มาสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารที่ดิน เพื่อมิให้เป็นภาระด้านงบประมาณ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่ปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังปฏิเสธหลักการสำคัญของการจัดตั้งธนาคารที่ดินที่ผลักดันโดยประชาชน ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินที่รัฐบาลกำลังดำเนินการยกร่างและผลักดันอยู่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นเพียงรูปแบบของสถาบันการเงินหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นเพียงจุดผ่านงบประมาณไปยังผู้ประสบปัญหาเพื่อชะลอการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรเฉพาะหน้า และมีเพียงวิธีคิดรัฐราชการเป็นใหญ่ มีลักษณะการบริหารจัดการแบบดังเดิมที่รัฐบาลบังคับว่าไม่ควรที่ธนาคารที่ดินจะต้องพึ่งพางบประมาณประจำปีจากรัฐบาล จนกระทั้งต้องถูกบีบแสวงหากำไร ไม่ต่างไปจากธนาคารของรัฐที่จัดตั้งตามวัตถุประสงค์เฉพาะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีตัวชี้วัดชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ หนำซ้ำยังเป็นกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของประชาชน ซึ่งทั้งนี้คงไม่ต้องกล่าวถึงแนวทางในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ที่มีหลักการดำเนินการเพื่อกำไรเป็นสำคัญ

5.3) การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ โดยการกระจายอำนาจและรองรับสิทธิชุมชน ในการบริหารร่วมกับรัฐ ในรูปแบบ "โฉนดชุมชน" หรือกรรมสิทธิ์ร่วม รัฐบาลได้บิดเบือนข้อเสนอ โดยการรวมศูนย์อำนาจกลับไปยังรัฐภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เปลี่ยนจากการรองรับสิทธิชุมชน เป็นเพียงการอนุญาตจากหน่วยงานรัฐตามกฎเกณฑ์ และระเบียบของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งปัจจุบันพบว่า การจัดการที่ดินตามแบบคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังสร้างความขัดแย้งในชุมชนระหว่างผู้ที่ได้รับที่ดินและไม่ได้รับที่ดินในชุมชนเดียวกัน ตลอดจนกระทั่งข้อครหาเกี่ยวกับโครงการที่รัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจนกระทั้งประชาชนไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้จริง

5.4) การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมที่เป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ ในการเข้าถึงการประกันตัว การแสวงหาข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี แต่ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่รัฐบาลประกาศใช้ กลับกลายเป็นกลไกหนึ่งภายใต้กระบวนการยุติธรรม และให้อำนาจคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานอัยการ ฯลฯ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เป็นองค์คณะในการพิจารณา ส่งผลให้ ในหลายกรณีคนจนที่ขอใช้บริการจากกองทุนยุติธรรม ถูกปฎิเสธจากกองทุน เนื่องจากถูกกรรมการกองทุนฯ พิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

6. กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชนล้มเหลว และไม่มีประสิทธิภาพ เช่น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และมอบหมายให้นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในขณะที่กลไกที่เอื้อประโยชน์นายทุน อาทิ คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) คณะกรรมการร่วมรัฐ และเอกชน (กรอ.) ถูกผลักดันและขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น จากกระบวนการและกลไกการแก้ไขปัญหาที่ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดความไม่เป็นธรรมและชุมชนถูกกระทำจากนโยบายและแผนพัฒนาของรัฐ ขปส.จึงต้องนำเสนอให้รัฐบาลมีการเร่งรัดและสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำและคืนความสุขที่แท้จริงให้กับคนจนในช่วงระหว่างนี้ ซึ่ง ขปส. จะเฝ้ารอคำตอบจากรัฐบาลจนเสร็จสิ้นทุกประเด็น โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

1. ให้รัฐบาลสั่งการไปยังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) (องค์กรมหาชน) เพื่อให้ปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. ให้รัฐบาลเร่งผลักดัน ร่าง พรบ.ธนาคารที่ดิน เพื่อให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ในรูปแบบที่เป็นองค์กร เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงที่ดินของคนจนและเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ขปส. คัดค้านแนวคิดของกระทรวงการคลัง ที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นภายใต้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)

3. ให้รัฐบาลดำเนินการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ในทันที ทั้งนี้ ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันโดยทันที

4. ให้รัฐบาลยุติแผนแม่บททวงคืนผืนป่าในทันที เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช. ที่ต้องการดำเนินการกับนายทุน อีกทั้ง ยังเป็นการขัดคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ซึ่งให้การคุ้มครองประชาชนผู้ยากไร้ โดยเสนอให้รัฐบาลผลักดันการแก้ไขกฎหมายนโยบายเพื่อรองรับสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนโดยเร็ว

5. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาชาวเลตามข้อเสนอของคณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล

6. ให้รัฐบาลสั่งการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรบ้านวังตะเคียน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้ง 6 ราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายเขตเศรษฐกิจแม่สอด ทดแทนการจ่ายเงินเยียวยา โดยทันที


ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
2 พ.ค. 2561

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สกว.แชร์เคล็ดลับความสำเร็จนักวิจัย มีครูไอดอล-ระวัง ‘คำถามวิจัยปลอม’

Posted: 02 May 2018 06:08 AM PDT

สกว.เปิดเวทีแชร์เคล็ดลับความสำเร็จของเส้นทางนักวิจัยอาชีพ ชี้นักวิจัยพี่เลี้ยงต้องเป็น 'ครูและแบบอย่างที่ดี' ไม่มีอคติกลัวลูกศิษย์จะทำผลงานแข่ง สำคัญคือระวัง 'คำถามวิจัยปลอม' โจทย์ผิดตั้งแต่แรก ย้ำ 'นวัตกรรม' ไม่ใช่สินค้าที่ขายได้เท่านั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูงให้ประเทศ

2 พ.ค.2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  รายงานว่า รศ. ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน สกว. เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการฝ่ายวิชาการ สกว. สัญจร ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ทุนวิจัยรูปแบบใหม่ของ สกว. รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักวิจัยอาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีนักวิจัยที่สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

ในการเสวนา "นักวิจัยพี่เลี้ยง (mentor): เข็มทิศนำทางชีวิตนักวิจัย" ศ. นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นักวิจัยพี่เลี้ยงที่ดีต้องเป็น "ครูและแบบอย่างที่ดี" ให้ลูกศิษย์ทำตามอย่างได้ หัวใจสำคัญคือต้องมีทัศนคติที่ดีต่อลูกศิษย์ สนับสนุนให้ลูกศิษย์ได้ดี มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้เร็ว เพราะได้ครูดีเป็นคนชี้แนะ ไม่ใช่คิดว่ามาทำงานแข่งกับครู การเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติเป็นสิ่งจำเป็น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยต่างชาติที่อาจจำไปสู่โจทย์วิจัยและการทำงานข้ามศาสตร์ แม้ในระดับประเทศก็ต้องมีการเตรียมตัวที่จะขอความรู้และความช่วยเหลือจากนักวิจัยอาวุโสได้ มีความรักและความสุขกับการทำงาน

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่านักวิจัยพี่เลี้ยงที่ดีต้องผลักดันให้นักวิจัยในทีมประสบความสำเร็จโดยใช้เวลาน้อยกว่าที่ตัวเองเคยทำร้อยละ 50 และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่คิดว่านักวิจัยพี่เลี้ยงเป็นเข็มทิศนำชีวิตที่จะทำให้นักวิจัยไปสู่ความสำเร็จได้ ลดความทุกข์ในกระบวนการทำวิจัยให้ผ่านพ้นไปด้วยความราบรื่น เทคนิคการหานักวิจัยพี่เลี้ยงควรเริ่มจากนักวิจัยใกล้ตัวก่อน หากไม่สามารถหาได้จริง ๆ อาจเข้าหานักวิจัยที่เป็น "ไอดอล" ที่อาจพบกันในงานประชุมวิชาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบกับนักวิจัยเก่ง ๆ จำนวนมาก และพึงระลึกว่าการบรรยายผลงานทางวิชาการนักวิจัยจะต้องสร้างความมั่นใจว่าเรารู้ดีในเรื่องที่นำเสนอมากที่สุด

"งานวิจัยที่ดีจะไม่ขึ้นหิ้ง แต่ต้องระวังการเริ่มต้นด้วย "คำถามวิจัยปลอม" ที่ซ้ำกับคนอื่น ถ้ามองผิดตั้งแต่ขั้นตอนแรกงานวิจัยนั้นก็จะเป็นขยะและขึ้นหิ้ง ดังนั้นระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ก้าวไปอย่างมั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืน รวมถึงต้องรู้จักการให้ให้เป็น มีความเพียรเป็นนิจ และกตัญญู ทั้งนี้นวัตกรรมเป็นได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวสินค้า ทั้งการตีพิมพ์ผลงานที่มีคุณภาพสูง รางวัลจากความสำเร็จของผลงานวิจัย และที่สำคัญสิ่งที่คนมักจะละเลย คือ การผลิตบุคลากรวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของประเทศ จึงไม่ควรพยายามปลูกฝังว่านวัตกรรมคือผลิตภัณฑ์ที่ขายได้เท่านั้น"

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายหสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า นักวิจัยต้องตั้งทิศของตัวเอง เป็นที่พึ่งและเป็นหลักของตัวเราเอง และหมั่นขอความรู้จากนักวิจัยพี่เลี้ยง แต่อย่าไปยึดติดว่าเรามีเทพธิดาหรือเทพบุตรประจำตัว โลกของวิชาการต้องเปิดกว้างให้คนคุยกัน และอย่าโกรธคนที่ติงานวิจัยของเรา โลกวิชาการควรมีแต่กัลยาณมิตร ไม่ใช่ศัตรู ปกติในสายสังคมไม่ค่อยสนใจนักวิจัยพี่เลี้ยงมากนัก เพราะอยู่ที่ระบบคิด สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิจัยอาวุโสได้ตลอด ไม่ได้ทดลองในห้องปฏิบัติการเหมือนสายวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามเราอาจไม่เจอพี่เลี้ยงที่มีเคมีเหมาะสมกับเราเสมอไป ถ้าเถียงกันทุกวันจะถ่อไปได้อย่างไร ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราไม่มีเวทีแลกเปลี่ยนมากพอ ทำให้ความรู้จำกัดอยู่ในวงแคบ จึงต้องสร้างบรรยากาศทางวิชาการ ถ่อซึ่งกันและกัน บางคำถามจากนักวิจัยรุ่นใหม่เป็นคำถามที่ดีมาก ยิ่งโลกเปลี่ยนไปยิ่งมีคำถามแปลกไปมากขึ้น "เคล็ดลับแห่งความสำเร็จอยู่ที่ตัวเรา ต้องทำให้ทุกวันเป็นวันที่ดีที่สุด มีผลงานที่ดีที่สุด และวันพรุ่งนี้ต้องทำให้ดีกว่าวันนี้ สุดท้ายเมื่อมองย้อนกลับไปเราไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจเพราะทำดีที่สุดแล้ว ล้มเหลวได้และกลับมาทำให้ดีขึ้น พยายามมองโลกในแง่ดี มองหาโอกาส หามิตรที่ดี ทุกคนเป็นครูของเราได้เสมอ"

ทพ. ดร.เอดวาร์ดโด ซูซูกิ และ รศ. ทพญ. ดร.บุญศิวา ซูซูกิ กล่าวระหว่างการบรรยาย "การสร้างนวัตกรรมจากองค์ความรู้" ว่านอกจากการทำวิจัยแล้วทั้งคู่ยังต้องรักษาคนไข้ด้วย จึงนำปัญหาที่พบในการทำงานมาตั้งเป็นโจทย์วิจัยเพื่อหาคำตอบที่จะมาแก้ไขปัญหานั้น เช่น การควบคุมขบวนการผ่าตัดกระดูกรองรับฟันทั้งสามมิติโดยใช้ทวินแทรกดิสแทรกชั่นร่วมกับการใช้หมุดเกลียวขนาดเล็กเพื่อรักษาคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่และคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุทำให้มีผลต่อฟัน รวมถึงการทำโมเดลต้นแบบเพื่อวัดแรงยึดกระดูกฟัน สิ่งสำคัญต้องมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนา และความหลงใหลในการทำวิจัย ซึ่งการทำวิจัยไม่ใช่แต่จะได้รับองค์ความรู้ แต่ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไข้ด้วย โดยผลงานได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ จดสิทธิบัตร และต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตเครื่องมือทันตกรรมใหม่ ๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ปลดล็อกคำสั่ง คสช. คืนเสรีภาพประชาชน' สมาคมนักข่าวชวนรณรงค์ 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก'

Posted: 02 May 2018 05:54 AM PDT

สมาคมนักข่าวฯ ชวนร่วมกิจกรรม และเปลี่ยนโปรฟายรณรงค์ "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" ภายใต้สโลแกน "ปลดล็อกคำสั่ง คสช. คืนเสรีภาพประชาชน" สะท้อนสถานการณ์ของประเทศในด้านเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นของประชาชน

2 พ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องด้วยวันที่ 3 พ.ค.ของทุกปี เป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World press freedom day) ซึ่งกำหนดโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก" ที่องค์กรสื่อทั่วโลกจะมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญในการมีเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งหมายถึงการมีเสรีภาพของประชาชน 

ดังนั้นในปีนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดกิจกรรมวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ในวันพฤหัสบดีที่ 3 พ.ค. 2561 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน(ตรงข้ามรพ.วชิระ) ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. ภายใต้สโลแกน "ปลดล็อกคำสั่ง คสช. คืนเสรีภาพประชาชน" เพื่อสะท้อนสถานการณ์ของประเทศในด้านเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นของประชาชน ท่ามกลางบรรยากาศที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ห้วงเวลาของการเลือกตั้งที่มีการบังคับใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน  แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จำกัดเสรีภาพอยู่หลายฉบับ  โดยเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ข้อ5) 

โดยกิจกรรมภายในงานจะมีการกล่าวไว้อาลัยแก่สื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่  อ่านแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เสวนา หัวข้อ "ปลดคำสั่ง 0.4 เดินหน้าเสรีภาพประชาชน" โดยเชิญวิทยาจากหลายภาคส่วน ได้แก่ นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายก้าวโรจน์ สุตาภักดีนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความและหัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมเวทีเสวนา ซึ่งดำเนินรายการ นายมานพ ทิพย์โอสถ ที่ปรึกษาฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯและมอบรางวัลให้กับผู้รับรางวัลการประกวดสโลแกนวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

ปรัชญาชัย กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจในกิจกรรม สามารถร่วมรณรงค์ด้วยการเปลี่ยนภาพประจำตัว หรือ ภาพโปรฟาย ใน Facebook โดยเริ่มจากเข้าไปที่แก้ไขภาพประจำตัว จากนั้นไปที่ "เพิ่มกรอบรูป"  แล้วใส่คำว่า 2018worldpressfreedom ในช่องค้นหา จากนั้นจะมีกรอบโลโก้รณรงค์ที่มีข้อความว่า "ปลดล็อกคำสั่งคสช. คืนเสรีภาพประชาชน" ให้ใส่ แล้วจึงกดยืนยันเพื่อบันทึกภาพ และสามารถเซฟรูปโปรฟายนั้นไปใช้ในสื่อโซเชียลอื่นๆได้ด้วย 

สโลแกนวันเสรีภาพสื่อฯโลก กระจกสะท้อน 'เสรีภาพ' ของประเทศ

สำหรับสโลแกน "ทวงคืนเสรีภาพสื่อ ปลดล็อกคำสั่ง คสช." เป็นของของ "เหน่ง" หรือ อัญชลี บุญชนะ ผู้สื่อข่าวสายการเมือง จาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า คือสโลแกนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดในวันเสรีภาพสื่อมวลชนในปีนี้จากผู้ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 35   สโลแกน

อัญชลี ระบุเหตุผลในการคิดสโลแกนนี้ว่า "หลัง คสช. รัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 สื่อถูกจำกัดเสรีภาพ ในการแสดงออก ไม่สามารถเสนอข่าวสารและวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างอิสรเสรี และคนทำสื่อยังถูกคุกคามในลักษณะต่างๆ แม้องค์กรวิชาชีพจะพยายามรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาล และ คสช. หยุดลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อก็ตาม  จึงเป็นเวลาที่จะต้องทวงคืนเสรีภาพสื่อกลับคืนมา โดยวิธีการก็คือ การปลดล็อก หรือ การยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช."

ส่วนแนวคิดในการตั้งสโลแกน นักข่าวนสพ.แนวหน้า เล่าว่า เริ่มจากการตีโจทย์ในกติกาของการประกวด ที่ให้ยึดเนื้อหา จากคำสั่งและประกาศ ของ คสช. ที่มีผลจำกัดต่อสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน ควบคุมการทำงานของสื่อ นับตั้งแต่มีรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน ทั้งๆที่อีก 1 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐบาล

"โดยพยายามคิดคำที่ตรงกับโจทย์ที่ให้มา สั้น กระชับ และใช้คำเข้าใจง่ายมากที่สุด  และศึกษาจากสโลแกนที่ชนะเลิศปีที่แล้ว ที่มีการตีตรวนสื่อ ปีนี้ซึ่งใกล้จะเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่มีการปลดล็อก กฎหมาย ของ คสช. ที่มีผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน  เช่น ให้อำนาจ คสช. สามารถปิดการทำงานของสื่อได้ สื่อจึงจำเป็นต้องทวงคืนเสรีภาพ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน ที่มีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง และเชื่อว่าหากมีการปลดล็อกคำสั่งและประกาศต่างๆ ของ คสช.ได้ ก่อนการเลือกตั้ง นอกจากจะเป็นการคืนสิทธิเสรีภาพให้กับสื่อมวลชนได้อย่างแท้จริงแล้ว  จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร อย่างรอบด้าน เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือก คนที่จะมาเป็นรัฐบาล บริหารประเทศต่อไปในอนาคตได้"

นอกจากรางวัลยอดเยี่ยมแล้วยังมีรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล ที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินลำบากใจไม่น้อย คือสโลแกนที่ว่า  "คืนเสรีภาพสื่อ คืนสิทธิ์รับรู้ประชาชน" ของ "แจ๊ค-อนุพนธ์ ศักดิ์ดา" จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  สโลแกน "เลิก" ปิดกั้นสื่อ "หยุด" ครอบงำประชาชน" ของ "แมน-อนุชา ทองเติม" จากหนังสือพิมพ์มติชน  และ สโลแกน "เอาคำสั่ง คสช. คืนไป เอาเสรีภาพสื่อคืนมา" ของ เขมิกา พลายงาม จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายวัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรธน. นัดลงมติร่าง พ.ร.ป. ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 23 พ.ค.

Posted: 02 May 2018 05:34 AM PDT

ศาลรธน. นัดลงมติ พ.ร.ป. ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 23 พ.ค. นี้ ส่วนร่าง พ.ร.ป. ส.ส. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 นัดวินิจฉัยต่อวันเดียวกัน พร้อมขยายเวลาให้คสช. แจงคำสั่ง 53/2560 ถึงวันที่ 11 พ.ค.

2 พ.ค. 2561 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานว่า ในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดี 3 คดี ประกอบด้วย 1.กรณีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ร่างพระร่างบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในมาตรา 91 , 92 , 93 , 94 , 95 และ 96 ว่ามีข้อความที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่

โดยข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรวม 30 คน เห็นว่าร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในบทเฉพาะกาลมาตรา 91 ถึงมาตรา 96 ที่กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ซึ่งการกำหนดจำนวนผู้สมัคร วิธีการสมัคร และกระบวนการเลือก ในบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้กําหนดไว้แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามบททั่วไป มีข้อความ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงเสนอความเห็นต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ ส่งความเห็นดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. . มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 95 และมาตรา 96 มีข้อความขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

ต่อมาประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กิตติ วะสีนนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายผู้เสนอความเห็น สมชาย แสวงการ ผู้แทนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ลงมติเห็นชอบในวาระที่สาม และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 วรรคห้า ได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือต่อศาล ภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด

ผลการพิจารณา ศาลพิจารณาความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวแล้ว มีคําสั่งรับรวมไว้ในสํานวน ต่อจากนั้นศาลได้กําหนดประเด็นและอภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัย นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และ ลงมติในวันพุธที่ 23 พ.ค. 2561

2. กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 140 และมาตรา 143 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่

ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า พลตํารวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนต่อผู้ร้องว่าคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ร้องพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าคําสั่งหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติดังกล่าวมีสถานะเป็น "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) และบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ประกอบมาตรา 45 อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร แก่เหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความ แตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางสังคม และความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาค ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ ผู้ร้องจึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็น ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่าพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45

ต่อมาประธานกรรมการการเลือกตั้ง พลตํารวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้า พรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือและ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาล ภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด

ผลการพิจารณา ศาลพิจารณาความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว มีคําสั่ง รับรวมไว้ในสํานวน สําหรับกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีหนังสือขอขยายระยะเวลาในการส่ง ความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นวันศุกร์ที่ 11 พ.ค. 2561 นั้น ศาลพิจารณาแล้ว มีคําสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคําขอ และนัดอภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัยในวันพุธที่ 23 พ.ค. 2561

3. กรณีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ จํานวน 27 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร พ.ศ. ... มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... มาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 7/2563)

ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับคณะ รวม 27 คน เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสาม และร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... มาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 จึงเสนอความเห็นต่อผู้ร้องเพื่อส่งความเห็นดังกล่าว ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 263 วรรคห้า และมาตรา 263 และผู้ร้องได้ส่งความเห็นดังกล่าวมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 263

ต่อมา ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ปรีชา วัชราภัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายผู้เสนอความเห็น ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. . ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 วรรคห้า และประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาล ภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด

ผลการพิจารณา ศาลพิจารณาความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว มีคําสั่ง รับรวมไว้ในสํานวน ต่อจากนั้นศาลได้กําหนดประเด็นและอภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัย และนัดอภิปราย เพื่อนําไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันพุธที่ 23 พ.ค.2561


 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารอ้างคสช. สั่งจับ 3 แกนนำ สกน. ที่ลำพูน สกัดชุมนุมหน้าทำเนียบ

Posted: 02 May 2018 04:13 AM PDT

2 พ.ค. 2561 เว็บไชต์ landwatchthai.org รายงานว่า เวลา ประมาณ 15.45 น. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ สนธิกำลังเข้าจับกุมแกนนำชาวบ้าน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่ต้องการไปร่วมชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการสกัดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเดินทางมายังกรุงเทพเพื่อร่วมชุมนุมเป็นเวลาเกือบ 24 ชั่วโมงแล้ว

'ทหาร-ตร.' คุมตัวคนขับรถ กักตัวเครือข่าย P-move ขณะเดินทางเข้ากรุงชุมนุมหน้าทำเนียบ

แกนนำที่ถูกจับตัวไปมีทั้งหมด 3 คน คือ ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สุแก้ว ฟุงฟู รองประธานสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และรังสรรค์ แสนสองแคว ประธานโฉนดชุมชนบ้านไร่ดง

เบื้องต้น นายทหารท่านหนึ่่งที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้ทำการชี้แจงกับประชาชนที่เหลือว่า มีความจำเป็นต้องทำ เพราะได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติเนื่องจาก ชาวบ้านได้กระทำความผิดฐาน ชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งผิด พรบ. ชุมนุมที่สาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งเพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อความมั่ยคงและความสงบสุขของชาติ และอาจส่งผลร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ

จากนั้นในเวลาไม่ถึง 15 นาที อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้เดินทางเข้ามาพบผู้ชุมนุมที่ถูกกักตัวอยู่ที่ด่านแม่ทา โดยพยายามให้พี่น้องประชาชนกลับบ้าน โดยมีคำพูดตอนหนึ่งพูดว่า "เราไม่ได้กักตัวพี่น้องประชาชน เราพร้อมที่จะให้พี่น้องประชาชนกลับบ้าน" แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านมีความต้องการที่จะไปร่วมชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ยังได้มีการบอกว่าชาวบ้านที่ถูกกักตัวอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้กลับบ้านไปแล้วเช่นกัน และได้บอกพี่น้องประชาชนว่าให้พี่น้องประชาชนฝากเรื่องไว้กับตน และตนจะเป็นคนดำเนินเรื่องให้พี่น้องประชาชนเอง

การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มีขึ้นในวันที่ 2 พ.ค. 2561 นี้ เป็นผลจากการที่ชาวบ้านรู้สึกว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 4 ปี โดยรัฐบาล คสช. นั้นไม่คืบหน้าและทำให้สถาการณ์แย่ลง โดยมีรูปธรรมที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การมีนโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี การดำเนินการทางด้านกฎหมายกับพี่่น้องในเครือข่าย P-move อย่างเข้มงวด มีการจำคุกชาวบ้าน ไล่รื้อบ้านเรือนพืชผลอาสินของชาวบ้าน ในขณะเดียวกันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ดูเหมือนจะไม่สามารถแก้ปัญหาการกระจุกตัวในการถือครองที่ดินได้

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวทั้ง 3 แกนนำแล้ว โดยได้พาขึ้นรถไปปล่อยตัวที่จังหวัดเชียงใหม่ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทักษิณ' ทวีตไม่เกินคาดหมาย หลังศาลปกครองสูงสุดชี้ยกเลิกพาสปอร์ตชอบด้วยกฎหมาย

Posted: 02 May 2018 03:08 AM PDT

ทักษิณ ชินวัตร ระบุไม่ได้เกินความคาดหมาย แจงที่ฟ้องเพียงต้องการอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมของไทยได้มีโอกาสปรับตัวจากการถูกปรามาสว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนไม่เป็นที่พึ่งของสังคม

2 พ.ค.2561 จากกรณีวานนี้ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในชั้นอุทธรณ์ ชี้ว่ายกเลิกพาสปอร์ต 'ทักษิณ ชินวัตร' ชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น

ต่อมา ทักษิณ ทวีตผ่านทวิตเตอร์ @ThaksinLive กรณีดังกล่าวว่า วันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่ตนฟ้องกระทรวงต่างประเทศที่ยกเลิกหนังสือเดินทางตนโดยมิชอบ ซึ่งก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย การที่ตนฟ้องไม่ใช่เพราะตนเดือดร้อนอะไร ที่ไม่ได้ใช้หนังสือเดินทางของไทย แต่ตนเพียงต้องการอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมของไทยได้มีโอกาสปรับตัวจากการถูกปรามาสว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนไม่เป็นที่พึ่งของสังคม เพราะได้ดำเนินการไปโดยขัดหลักนิติธรรมสากล และเลือกปฏิบัติต่อคนเฉพาะกลุ่มเฉพาะฝ่ายมาโดยตลอด

สำหรับคดีดังกล่าว ทักษิณ ยื่นฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กรณียกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 2 ฉบับของตน โดยศาลปกครองสูงสุดได้ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางว่า คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนของประเทศเกาหลี ซึ่งเนื้อหามีการพาดพิงต่อองคมนตรี ซึ่งเป็นผู้ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์  ในทำนองว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  ถ้อยคำดังกล่าวจึงเป็นปรปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  อันเป็นการกระทบต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง การยกเลิกหนังสือเดินทาง เป็นการไม่รับรองให้ทักษิณสามารถเดินทาง โดยอ้างสิทธิการอนุญาตของประเทศไทยอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแปลความหรือวินิจฉัยถ้อยคำการให้สัมภาษณ์ของทักษิณ ว่าเข้าหลักเกณฑ์ข้อห้ามที่กำหนดไว้หรือไม่ 

ส่วนกรณีที่ ทักษิณ อ้างว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมนั้น ศาลเห็นว่า การที่จะอ้างว่าเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมนั้น หากผู้ร้องเป็นผู้กระทำความผิดเอง ก็ไม่สามารถอ้างว่า หน่วยงานผู้ใช้อำนาจเรื่องการเลือกปฎิบัติได้ จึงถือว่าคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางนั้นชอบด้วยกฎหมาย  ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางที่มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว 

ขณะที่ วัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า คำพิพากษาของศาลถือเป็นที่สุดแล้ว หลังจากนี้จะประสานไปยังทักษิณ เพื่อแจ้งคำพิพากษาของศาลให้รับทราบต่อไป 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ป่วยไตวายขอบคุณสิทธิ์บัตรทองช่วยปลูกถ่ายไตใหม่ ลดภาระครอบครัว

Posted: 02 May 2018 02:18 AM PDT

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เผยบัตรทองช่วยปลูกถ่ายไตใหม่ ลดภาระค่าใช้จ่ายครอบครัว หลังการผ่าตัด มีสุขภาพดีและใช้ชีวิตได้ปกติทั่วไป อยากให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ต่อไป  

2 พ.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ณัฐพร ภู่โชติ อายุ 22 ปี ผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายไต สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่ประมาณ 4 ปีที่แล้ว ช่วงอายุ 18-19 ปี อยู่ๆ เกิดภาวะหน้ามืด ความดันขึ้นสูง และไม่มีแรง จึงไปตรวจรักษาที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งย่านวงเวียนใหญ่ และได้ส่งต่อไปรักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งย่านบางประกอก โดยมีการเจาะเลือดตรวจพบว่าตนเองป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (SLE) ทั้งยังพบภาวะของเสียในไตมาก แรกเริ่มคุณหมอให้การรักษาด้วยการให้ยากิน แต่ต่อมาได้มีการเจาะไตเพื่อดูค่าการทำงานของไต ซึ่งพบว่าไตอยู่ในภาวะเสื่อมแล้ว คุณหมอจึงได้เริ่มให้ทำการฟอกไต

หลังการฟอกไตประมาณ 1 ปี ได้รับคำแนะนำการรักษาจากคุณหมอให้ทำการปลูกถ่ายไตโดยใช้ไตข้างหนึ่งจากคุณแม่ และใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการปลูกถ่ายเพราะมีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมถึง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งยังต้องรับยาและติดตามการรักษาต่อเนื่อง โดยก่อนรับการปลูกถ่ายไตได้มีการเตรียมความพร้อมร่างกายประมาณ 1 ปี ทั้งตนเองและคุณแม่ และได้มีการเลื่อนผ่าตัดปลูกถ่ายไต 1 ครั้ง เนื่องจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ความดันสูง ทำให้ยังไม่สามารถปลูกถ่ายไตได้ รอจนกระทั่งร่างกายมีความพร้อม และเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 จึงได้เข้ารับการปลูกถ่ายไตที่โรงพยาบาลวชิระ ซึ่งภายหลังการปลูกถ่ายไตก็สุขภาพที่แข็งแรงดี สามารถทำงานได้ และทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกอย่างเป็นปกติ ขณะที่คุณแม่ปกติเป็นคนแข็งแรงอยู่แล้ว และหลังผ่าตัดก็มีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกัน   

"ระบบบัตรทองเป็นระบบที่ดีสำหรับคนไทยทุกคน หากไม่มีระบบนี้ ครอบครัวคงรับภาระค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายไตไม่ไหว เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยในช่วงที่ต้องรับการฟอกไตในระหว่างรอการปลูกถ่ายไตนั้น ต้องจ่ายค่าฟอกไตเองทั้งหมด เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1,800 บาท ที่เป็นภาระหนักมาก ซึ่งปัจจุบันยังคงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการติดตามการรักษาต่อเนื่องรวมถึงการรับยา มีเพียงยานอกบัญชีบางรายการเท่านั้นที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม แต่ส่วนใหญ่ก็เบิกจ่ายได้" ณัฐพร กล่าวและว่า ประเทศไทยมีระบบนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยลดภาระค่ารักษาให้กับคนไทยไปได้มาก ทำให้เข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้ และส่วนตัวอยากให้ระบบบัตรทองนี้มีอยู่ตลอดไป 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดีวิสามัญ 'อะเบ' นักข่าวเบิกความระบุชาวบ้านเห็นทหารลากศพ แต่ไม่มีระเบิดในมือผู้ตาย

Posted: 02 May 2018 01:44 AM PDT

ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดไต่สวนประจักษ์พยาน 2 ปาก วันที่ 30 พ.ค.นี้ คดีไต่สวนการตาย 'อะเบ แซ่หมู่' ชาวชาติพันธุ์ลีซู ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต

<--break- />

ภาพระเบิดในมือศพของ อะเบ ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ

2 พ.ค.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ออกนั่งพิจารณานัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ ช.18/2560 กรณี อะเบ แซ่หมู่ ชาวชาติพันธุ์ลีซู ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560  เหตุเกิดที่ถนนสายระหว่างหมู่บ้านรินหลวง-หมู่บ้านป่าบงงาม ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ทนายความของบิดาและมารดาของอะเบ ผู้ตาย ได้นำพยานมาศาล 3 ปาก ได้แก่ มารดาของอะเบ น้าของอะเบ และ อดีตนักข่าวจากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ขึ้นเบิกความ โดยมารดาและน้าของอะเบ เบิกความยืนยันว่าในวันเกิดเหตุ หลังจากอะเบได้ขี่รถจักรยานยนต์พามารดาไปไร่ข้าวโพดแล้ว อะเบ ได้กลับบ้านเพื่อเตรียมข้าวของเครื่องใช้สำหรับไปนอนที่ไร่ข้าวโพดเพื่อช่วยบิดามารดาเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพด ซึ่งในครอบครัวอะเบ เป็นกำลังหลักในการทำไร่มาโดยตลอด และวันดังกล่าวอะเบ ได้พาเพื่อนเดินทางไปด้วยซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานกัน 

ก่อนนั้น อะเบ เคยไปช่วยเพื่อนทำงานเก็บเกี่ยวข้าวโพดมาแล้ว เส้นทางไปไร่กับเพื่อนก็เป็นทางปกติที่ไปส่งมารดาและเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินทางไปไร่กันทั้งหมู่บ้านโดยตลอดสองข้างทางก็เป็นไร่ข้าวโพดชาวบ้านนั้นเอง อะเบกับเพื่อนไม่ได้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดดังที่เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหา ทั้งไม่เคยมีหรือเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนและระเบิด การที่เจ้าหน้าที่ทหารยิงอะเบเสียชีวิต และกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดและมีการใช้อาวุธปืนและระเบิดต่อสู้กับเจ้าหน้าที่นั้นไม่เป็นความจริง สอดคล้องกับคำเบิกความของนักข่าวที่ได้นำคลิปสัมภาษณ์ชาวบ้านซึ่งขับรถยนต์กลับจากไร่เห็นเจ้าหน้าที่ทหารลากศพ อะเบออกจากไปข้างทางเพื่อให้รถของตนผ่านไปได้ และเห็นว่าไม่มีระเบิดในมืออะเบ แต่อย่างใด มีแต่ข้าวของสำหรับเตรียมไปไร่ของอะเบที่หล่นกระจัดกระจายอยู่

ภายหลังพยานทั้งสามปากดังกล่าวได้เบิกความเสร็จและหมดเวลาราชการ ทนายความของบิดาและมารดา อาเบ ผู้ตาย แถลงต่อศาลว่าเหลือพยานอีก 2 ปาก ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน คนหนึ่งคือเพื่อนของ อะเบ ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปกับอะเบ ส่วนอีกคนหนึ่งบุคคลที่เห็นศพอะเบก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมาชันสูตรพลิกศพผู้ตายก็คือบุคคลตามที่ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวนั่นเอง ศาลจึงได้กำหนดนัดสืบพยานทั้งสองปากดังกล่าว ในวันที่ 30 พ.ค. 2561 เวลา 09.30 - 16.30 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัฒนา เมืองสุข: ป่าแหว่ง ประชาธิปไตยโหว่

Posted: 02 May 2018 01:44 AM PDT

ผมขอชื่นชมพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมกันแสดงพลังอย่างกล้าหาญปกป้องผืนป่าดอยสุเทพจนได้รับชัยชนะ การรวมตัวครั้งนี้บ่งบอกถึงนัยสำคัญว่าแม้จะเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนซึ่งถือเป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่เมื่อประชาชนรวมตัวกันได้เป็นจำนวนมากเผด็จการก็ไม่กล้าดำเนินคดี แต่หากมีคนน้อยจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรงเหมือนพี่น้องประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง

น่าเสียดายคือคนไทยกล้าออกมาทวงสิทธิของตัวเองเพียงบางเรื่อง แต่หลงลืมที่จะทวงคืนสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่จะนำไปสู่การปกป้องสิ่งที่เหลือทั้งหมดนั่นคือประชาธิปไตย จึงปล่อยให้ลูกหลานและเพื่อนร่วมชาติต่อสู้เพียงลำพังจนถูกเผด็จการตั้งข้อหาร้ายแรงเพื่อปิดปาก เราทนเห็นผืนป่าถูกทำลายไม่ได้แต่กลับทนได้ที่เห็นเผด็จการทำลายประชาธิปไตย ทำลายการเมืองและหลักนิติธรรม กระทำสิ่งที่น่ารังเกียจเพื่อสืบทอดอำนาจ เช่น ใช้ทำเนียบรัฐบาลตั้งพรรคทหาร ดูดนักการเมืองเข้าก๊วน หาเสียงด้วยเงินภาษีประชาชน ยื้อการเลือกตั้งโดยไม่ละอายและไม่เคยเห็นหัวประชาชน

หากคนไทยเห็นว่าประชาธิปไตยที่หายไปมีค่าไม่น้อยกว่าป่าแหว่ง เราคงจะได้ร่วมกันทวงคืนศักดิ์ศรีเจ้าของประเทศกลับคืนได้ในเร็ววัน ผมได้ยินว่าวันที่ 5 พฤษภาคม น้องๆ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อหยุดระบอบ คสช. ใครสนใจจะไปร่วมรับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาก็เชิญได้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ การรวมตัวของพี่น้องชาวเชียงใหม่ได้สร้างบรรทัดฐานให้เห็นแล้วว่า หากประชาชนพร้อมใจกันเมื่อไรต่อให้ร้อยประยุทธ์ก็เอาไม่อยู่ เพราะเผด็จการไม่เคยชนะประชาชน
 


เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Watana Muangsook

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดชรัต สุขกำเนิด: ภยาคติในการรื้อถอนหมู่บ้านป่าแหว่ง

Posted: 02 May 2018 01:30 AM PDT

เพื่อนๆ เคยสังเกตมั้ยครับว่า รัฐบาล คสช. ไม่เคยรีรอในการ "ตัด" ต้นยางของชาวบ้าน ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่รัฐบาลเดียวกันกลับรีรอในการรื้อถอนหมู่บ้านป่าแหว่ง และใช้วิธีสอบถามความเห็นของประชาชน ทั้งๆ ที่ไม่เคยสอบถามความเห็นในกรณีที่ตัดต้นยาง

เราลองมาแยกแยะความแตกต่างระหว่าง การตัดต้นยาง กับการรื้อถอนหมู่บ้านกัน

ความแตกต่างระดับแรกคือ ระดับกายภาพ เป็นไปได้มั้ยว่า รัฐบาลอาจคิดว่า การตัดต้นยางนั้นง่ายกว่าการรื้อถอนบ้าน

แต่มาคิดอีกทีไม่น่าจะใช่ เพราะรัฐบาลก็เคยไม่รีรอในการรื้อบ้านพักของรีสอร์ท ที่เข้าไปตั้งในที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ หากเราลองในเชิง "ชีวภาพ" บ้าง เราจะพบว่า ต้นยางสามารถเอื้อต่อการฟื้นฟูสภาพป่าได้ระดับหนึ่ง เช่น เป็นร่มเงาให้กล้าไม้ที่กำลังเพิ่งปลูก หากมีวิธีการจัดการที่เหมาะสม ในขณะที่ บ้านสุดหรูนั้นไม่น่าจะเอื้อต่อการฟื้นฟูสภาพป่าเลย

ถ้าไม่ใช่โจทย์เชิงกายภาพหรือชีวภาพ งั้น เราลองมาดูข้อแตกต่างในเชิง "การบริหาร (ราชการ)" บ้าง

รัฐบาล คสช. อาจอ้างว่า บ้านพักสุดหรูเป็นสมบัติของทางราชการ แต่ต้นยางเป็นสมบัติของเอกชน

แต่การอ้างเช่นนี้ ก็คงไม่ถูกต้องเช่นกัน ด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ หนึ่ง ตัวศาลยุติธรรมก็เคยรื้ออาคารศาลฎีกาหลังเก่า ซึ่งเป็นสมบัติของทางราชการ และเป็นอาคารประวัติศาสตร์ของชาติ มาแล้วเช่นกัน และสอง เมื้อรื้อแล้ว ป่าไม้ที่ได้กลับคืนมาก็เป็นสมบัติของทางราชการเช่นเดิม

เพราะฉะนั้น การรื้อบ้านพักป่าแหว่ง จึงไม่ใช่การทำให้สมบัติของทางราชการลดลง แต่เป็นการเปลี่ยนสมบัติอย่างหนึ่ง (คือ บ้านพัก) ไปเป็นสมบัติอีกอย่างหนึ่ง (คือป่าที่จะหายแหว่ง) มากกว่า

แถมสมบัติที่จะได้กลับคืนมาคือ ป่าที่หายแหว่งนั้น ยังเป็นสมบัติที่สาธารณชนมีส่วนจะได้รับประโยชน์ร่วมกันมากกว่าบ้านพักของผู้ดำรงตำแหน่งไม่กี่ตำแหน่งเสียอีก

แล้วถ้าเช่นนั้น รัฐบาล คสช. กลัวอะไรกับการ "รื้อ" หมู่บ้านป่าแหว่ง

ผมคิดว่า สิ่งที่รัฐบาลกลัวการ "รื้อ" ไม่ใช่ตัวหมู่บ้านเองหรอก แต่รัฐบาลน่าจะกลัวการ "รื้ออำนาจ" ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจใช้พื้นที่ป่าแหว่งแห่งนั้นมากกว่า

เปล่าครับ ผมไม่ได้ถึง "การรื้อถอนอำนาจ" ของบุคคลแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเซ็นอนุมัติโครงการดังกล่าว แต่หมายถึง "การรื้อถอนอำนาจของสถาบันรัฐ" ที่ตัดสินใจใช้พื้นที่ป่าต่างๆ กันอยู่ตามลำพังมากกว่า

หากการ "รื้อถอนอำนาจ" ครั้งนี้ ทำสำเร็จ รัฐก็อาจกังวลว่า จะมีการ "รื้อถอนอำนาจ" ในกรณีอื่นๆ ทั้งที่ได้ขออนุญาตไปแล้ว และจะขอต่อไปในอนาคต

เราต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา มีการขอใช้พื้นที่ป่า (ที่อ้างว่าเสื่อมโทรม) ไปทำโรงงานเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไปทำสนามบิน ไปใช้กิจการของทหาร รวมถึง มีการอนุญาตให้พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ซึ่งก็มาจากป่าเสื่อมโทรม) ไปทำกิจการด้านพลังงานต่างๆ มากมาย

เกือบทุกโครงการที่ขออนุญาตนั้น สาธารณชนแทบจะไม่ทราบเรื่อง หรือมีส่วนร่วมในการพิจารณาเลย จนกระทั่ง เรื่องแดงขึ้นมานั่นแหละ ครั้งนี้ที่หมู่บ้านป่าแหว่งก็เช่นกัน

นี่คือ ภยาคติ ที่รัฐบาลกลัวในการ "รื้อ" หมู่บ้านป่าแหว่งครั้งนี้ ยิ่งหากไม่สามารถกล่าวโทษผู้ใดในทางกฏหมายเป็นรายบุคคลได้ รัฐบาลยิ่งกริ่งเกรงว่า สิ่งที่จะถูกรื้อถอนไปพร้อมกับหมู่บ้านป่าแหว่งด้วยคือ อำนาจของสถาบันรัฐ ในการจัดการพื้นที่ป่าสาธารณะตามลำพัง นั่นเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักแสดงตลก 'มิเชลล์ วูล์ฟ' ล้อผู้นำ สะท้อนประเด็นโต้เถียงใน 'เสรีภาพสื่อ' สหรัฐฯ

Posted: 02 May 2018 01:29 AM PDT

นักแสดงตลก มิเชลล์ วูล์ฟ ถูกต่อต้านจากชนชั้นนำส่วนหนึ่งในสหรัฐฯ ด้วยข้ออ้างที่ว่าเธอพูดจา "ไม่มีอารยะ" เพียงเพราะเธอเสียดสีโดนัลด์ ทรัมป์ จิกกัดพรรคเดโมแครต และวิพากษ์สื่อบรรษัทใหญ่ ผ่านการแสดงในงานเลี้ยงอาหารค่ำสื่อของทำเนียบขาว จนสมาคมนักข่าวของทำเนียบขาว (WHCA) ออกมาขอโทษและวิจารณ์โต้ตอบวูล์ฟ ขณะเดียวกันคนทำงานสื่อหลายคนก็ไม่พอใจการแสดงจุดยืนแบบของ WHCA

Michelle Wolf ที่มาภาพจาก Erin Nekervis

2 พ.ค. 2561 ในการเมืองสหรัฐฯ ทำเนียบขาวจะจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำสื่อเป็นธรรมเนียมรายปีและในงานมักจะมีผู้ให้ความบันเทิงเป็นนักแสดงตลก-นักพูดเรื่องตลก แต่ในปีล่าสุดนี้เกิดเรื่องพิพาทเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานนี้เป็นปีที่สองแล้วกลับแสดงความไม่พอใจนักพูดตลก มิเชลล์ วูล์ฟ จากที่เธอพูดล้อเลียนเสียดสีรัฐบาลกับสื่อชนชั้นนำ

วูล์ฟ ไม่เพียงแค่วิจารณ์ต่อทรัมป์และคนรอบตัวเขาเท่านั้น เธอยังกล่าวติดตลกต่อพรรคเดโมแครตด้วยว่าไม่ค่อยมีอะไรให้ล้อเลียนเสียดสีสักเท่าใดเพราะเป็นพรรคที่ "ไม่ได้ทำอะไรเลย"

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทำให้สมาคมนักข่าวของทำเนียบขาว (WHCA) ออกแถลงการณ์ขอโทษการแสดงของวูล์ฟ ทั้งเรื่องการวิจารณ์ความไร้ประสิทธิภาพของพรรคเดโมแครต การพูดถึงการโกหกของรัฐบาลทรัมป์ และการพูดถึงการที่บรรษัทสื่อใหญ่มีส่วนได้ประโยชน์ในการที่ทรัมป์อยู่ในอำนาจ WHCA อ้างว่าสิ่งที่วูล์ฟพูดนั้นเป็นการ "ละเมิดการสนทนาอย่างมีอารยธรรม" เพียงเพราะเธอวิจารณ์คนที่มีอิทธิพลในทำเนียบขาว

เรื่องนี้ทำให้นักข่าวและนักวิจารณ์หลายคนวิพากษ์แถลงการณ์ของ WHCA ตอบกลับไปว่า "น่าสังเวช"

"ในสายตาของพวกสื่อชนชั้นนำในวอชิงตันดีซี เรื่องตลกเกี่ยวกับการสังหารผู้คนด้วยโดรนและการทำสงครามที่คร่าชีวิตชาวอิรักมากกว่า 1 ล้านคนถูกจัดอยู่ในกรอบของสิ่งที่มีอารยธรรม แต่อารมณ์ขันที่มุ่งเป้าไปที่คนที่มีอำนาจนั้นกลับเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้" คอมมอนดรีมส์ระบุในรายงานข่าว

แถลงการณ์ของ WHCA ระบุอีกว่ารายการเลี้ยงอาหารค่ำสื่อของทำเนียบขาว เป็นไปเพื่อ "แสดงถึงพันธกิจร่วมกันเกี่ยวกับสื่อที่เสรีและทรงพลัง ไปพร้อมๆ กับการยกย่องความมีอารยะ" WHCA ระบุถึงวูล์ฟว่า "แต่บทพูดของผู้ให้ความบันเทิงไม่ได้มีจิตวิญญาณของภารกิจนี้เลย"

สื่อสหรัฐฯ Mic วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประเพณีการจัดงานของทำเนียบขาวในทุกวันนี้ถูกบิดเบือนจุดประสงค์ไปจากเดิมมาก เดิมทีแล้วการจัดงานมีวัตถุประสงค์ถือการส่งเสริมเสรีภาพสื่อและทำให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับงานสำคัญของนักข่าวคือการตรวจสอบคนที่มีอำนาจในสังคม แต่ในยุคหลังๆ งานเลี้ยงสื่อของทำเนียบขาวกลายเป็นแค่งานสังสรรค์ได้กระทบไหล่คนดังและกลายเป็นพื้นที่ที่นักการเมืองกับสื่อใช้เพิ่มความสนิทสนมเป็นพี่เป็นน้องกัน ทำให้กลุ่มเฝ้าระวังสื่อแสดงความไม่ไว้ใจในความเป็นมืออาชีพของสื่อเหล่านี้ฃ

ในบทพูดตลกของวูล์ฟเธอวิจารณ์สื่อบรรษัทใหญ่ว่าพวกเขาสร้าง "สัตว์ประหลาด" อย่างทรัมป์ขึ้นมาแล้วก็หาผลประโยชน์จากเรื่องนี้ มีนักเขียนและคนทำงานสื่อหลายคนวิพากษ์การที่ WHCA ขอโทษแทนวูล์ฟโดยเฉพาะในเรื่องความลำเอียงต่อ "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" ที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น คริสเตียน คริสเตนเซน นักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าขณะที่ WHCA โจมตีนักแสดงตลกที่วิจารณ์รัฐบาลพวกเขากลับปล่อยให้ผู้นำรัฐบาลพูดโอ้อวดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ พูดถึงการใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิม และกล่าวโจมตีเสรีภาพสื่อมาโดยตลอด

เกลน กรีนวัลด์ จากสื่อดิอินเตอร์เซปต์กล่าวว่าสำหรับตัวแทนสื่อใหญ่ในสหรัฐฯ แล้วพวกเขาไม่ได้เป็นห่วงเรื่องการทิ้งระเบิดคร่าชีวิตผู้คนแต่กลับมาเป็นห่วงเรื่อง "ความมีอารยะ" ที่เอามาอ้างใช้ปกป้องชนชั้นนำในรัฐบาล

 

เรียบเรียงจาก

Wonder what Michelle Wolf said to make everyone so mad? Read it here., Vox, 30-04-2018

 

The real problem with the White House correspondents' dinner and access journalism, Mic, 01-05-2018

 

'Pathetic': To Shield Elites From Deserved Ridicule, WHCA Apologizes for Michelle Wolf's Epic Performance, Common Dreams, 30-04-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น