โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งขีดเส้น 22 พ.ค. ถ้าไม่หยุดยื้อเลือกตั้ง เจอกันหน้าทำเนียบรัฐบาล

Posted: 05 May 2018 04:02 AM PDT

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งแถลงข่าวยืนยัน 3 จุดยืน เลือกตั้งปีนี้-คสช.ยุติบทบาท-กองทัพหยุดสนับสนุนคสช. ย้ำหากภายในวันที่ 22 พ.ค. รัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องเตรียมเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล

5 พ.ค. 2561 16.00 น. ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้จัดกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองเพื่อคัดค้านการยื้อการเลือกตั้ง และการสืบทอดอำนาจของคสช. รังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยเน้นย้ำในจุดยืนเดิมคือ การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นภายในปี 2561 และเรียกร้องให้ คสช. ยุติบทบาทในทัน ให้เหลือไว้เพียงรัฐบาลรักษาการณ์เท่านั้น

รังสิมันต์ ระบว่า จุดยืนของกลุ่มคนอยากตั้งคือ การต้องการเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ย. 2561 ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นการเลือกตั้งที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม พรรคการเมืองจะต้องมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และ คสช. จะต้องยุติบทบาทของตัวเอง พร้อมเรียกร้องให้กองทัพหยุดสนับสนุน คสช. หยุดเป็นเครื่องมือให้ คสช. ในการบ่อนทำลายประเทศ

"ถึงเวลาแล้วที่การเมืองไทยจะต้องเปิด ทหารจะต้องกลับเข้ากรมกอง นี่คือจุดยืน 3 ข้อ ของพวกเรา ส่วนเรื่องอื่นๆ กลุ่มคนอยากเรื่องตั้งเราสนับสนุนอีกหลายเรื่อง เราสนับสนุนกลุ่มที่กำลังล่ารายชื่อเพื่อปลดอาวุธ คสช. อย่างไอลอว์ พ่อแม่พี่น้องคนไหนที่ไม่เห็นด้วยกับระบบ คสช. ไม่ไว้วางใจที่สิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ท่านสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลงรายชื่อได้เลย " รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า หากสุดท้ายแล้วข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล และ คสช. ก่อนวันที่ 22 พ.ค. จะมีการเดินขบวนชุมนุมประท้วงจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อที่จะบอกกับรัฐบาล คสช. ว่า 4 ปีที่ผ่านมาพอได้แล้วกับระบอบนี้

"ถ้าพวกเขาไม่ทำตามที่เราเรียกร้อง สิ่งที่เราจะทำคือ เราจะไปที่ทำเนียบรัฐบาล ไปป่าวประกาศถึงจุดยืนสิ่งที่ประชาชนต้องการว่า ประชาชนนั้นต้องการอะไร 4 ปีสำหรับประชาชนทั่วๆ ไป 4 ปีเราควรคิดถึงอนาคตได้แล้ว ถามว่าวันนี้เรามีอนาคตไหมครับ ภายใต้หน้ากากของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมคิดว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคตถ้าเราไม่ร่วมกันสู้ด้วยกัน" รังสิมันต์ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจากการชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมาคิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ รังสิมันต์ ตอบว่า จากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา หลายคนยังสงสัยว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อสู้ไปเพื่ออะไรในเมื่อสู้ไป คสช. ก็ยังไม่ออกไป แต่สิ่งที่ทางกลุ่มเห็นคือ เพราะวันนี้ยังมีคนที่ต่อสู้อยู่ ความต้องการของ คสช. จึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เช่นการประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 ก็ได้มาจากการที่มีผู้คนออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง ออกมากดดัน ทำให้รัฐบาลต้องรีบชิงประกาศวันเลือกตั้ง เพื่อให้ดูเหมือนว่าไม่ได้ขยับวันเลือกตั้งออกไปนานเกินสมควร เพราะหากยังไม่มีความชัดเจน หรือมีการขยับวันเลือกตั้งออกไปนานเกิน รัฐบาลเกรงว่าจะทำให้ประชาชนออกมารวมตัวกัน

"ประเทศไทยเรามีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาอย่างยาวนาน ผมเคยเข้าไปในกองทัพ ทหารเขาบอกกับผมว่า เขาใช้ความว่า 16 ตุลาฯ ไม่ใช่ 14 ตุลาฯ เขาบอก 16 ตุลาฯ เป็นเพียงแค่นิทานของพวกเราเท่านั้น มันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเองก็หวาดกลัวเมื่อเขากระทำย่ำยีต่อประชาชน ดังนั้นการมารวมตัวกันของประชาชนแบบนี้มันจึงเป็นนิมิตรหมายว่า เรายังคงเฝ้าจับตาดู ถ้าคุณไม่ทำในสิ่งที่คุณควรจะทำ ไม่ทำในสิ่งที่ควรจะเป็น ประชาชนพร้อมจะออกมา"รังสิมันต์ กล่าว

 

สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นไปอย่างคึกครื้นมีร้านค้ามาออกบูทขายของประมาณ 20 ร้าน และมีประชาชนทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนหลายสำนักติดตามรายงานข่าวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำเสื้อแดงเผยถูกฝ่ายความมั่นคงเชิญสอบถามเบื้องหลังชุมนุมขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ

Posted: 05 May 2018 03:46 AM PDT

แกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่เผยฝ่ายความมั่นคงเชิญ 4 แกนนำพูดคุยสอบถามเบื้องหลังชุมนุมขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ ระบุเสื้อแดงไม่ได้เป็นแกนนำคัดค้าน แต่เป็นเครือข่ายขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพกว่า 50 องค์กรที่เป็นแกนนำ ไปร่วมชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม

 
 
 
5 พ.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ด.ต.พิชิต ตามูล แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงเชียงใหม่ เผยว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางฝ่ายความมั่นคงพร้อมเจ้าหน้าที่ได้เชิญตน พร้อมด้วยนายองอาจ ตันธนสิน แกนนำกลุ่มรักประชาธิปไตย นายศรีวรรณ จันทร์ผง และพ.ต.ท.สุพล ฟูมูนเจริญ แกนนำแดงเชียงใหม่ รวม 10 คน ไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้าน ป.ชานเมือง ย่านถนนวงแหวนรอบนอก เพื่อพูดคุยถึงการเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านบ้านพักศาล หรือ "ป่าแหว่ง" หลังเข้าร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านที่ข่วงประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา พร้อมสอบถามการชุมนุมดังกล่าวว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือการเมืองแอบแฝงหรือไม่ ซึ่งตนได้ตอบว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่มีสีหรือผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ เป็นเรื่องของชาวเชียงใหม่ที่รวมตัวกันเป็นสีเขียว เพื่อคัดค้านเรื่องดังกล่าวเท่านั้น
 
ด.ต.พิชิต กล่าวว่าทั้งนี้ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงจึงขอตัวกลับ ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวดังกล่าว หมิ่นเหม่กฎกหมายหรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งขัดต่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ตนยืนยันว่าไปร่วมชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เป็นการชุมนุมสาธารณะ ไม่เกี่ยวกับการเมืองใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ได้นำหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายของตน รวมทั้งแกนนำเสื้อแดงทุกคนที่ร่วมชุมนุมวันดังกล่าวมาแสดง พร้อมระบุว่าแกนนำเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมหรือคัดค้านเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก จึงตอบกลับไปว่าพื้นที่เชียงใหม่มีเสื้อแดงจำนวนมาก ไม่แปลกที่ไปร่วมชุมนุมหรือคัดค้านที่ข่วงท่าแพ แต่เจ้าหน้าที่กลับจับตาหรือโฟกัสมาที่เสื้อแดงเป็นพิเศษ ทั้งที่มีเสื้อหลากสีเข้าร่วมชุมชนไม่น้อย แต่กลับไม่ถูกจับตามอง หรือถูกโฟกัสน้อยกว่าเสื้อแดงมาก
 
"ขอยืนยันเสื้อแดงไม่ได้เป็นแกนนำคัดค้านเรื่องดังกล่าว แต่เป็นเครือข่ายขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ กว่า 50 องค์กรที่เป็นแกนนำ และไม่ให้การเมืองหรือนักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวการเคลื่อนไหวคัดค้านดังกล่าว แต่สามารถมาร่วมคัดค้านหรือให้กำลังใจได้เท่านั้น เพื่อไม่ให้รัฐบาล หรือ คสช.มองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเป็นข้ออ้างไม่ให้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านบ้านพักศาลอีก เพราะกลัวเหตุการณ์บานปลายนำไปสู่การขับไล่รัฐบาล และคสช.ในอนาคต จึงมองว่ารัฐบาล และคสช.หวาดระแวงมากเกินไป ทั้งที่ชาวเชียงใหม่ที่ต้องการปกปักรักษาดอยสุเทพ และป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเท่านั้น"
 
ด.ต.พิชิต กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามหลังได้พูดคุยและชี้แจงกับเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่มีท่าทางเข้าใจเจตนาแกนนำเสื้อแดงมากขึ้น พร้อมแสดงท่าทีขอความร่วมมือไม่ให้เสื้อแดงเคลื่อนไหวหรือชุมนุมคัดค้านเรื่องดังกล่าวอีก แต่ตนได้ปฏิเสธเพราะไม่ใช่แกนนำการเคลื่อนไหวคัดค้าน หรือจัดตั้งเครือข่ายดังกล่าว แต่การเคลื่อนไหวคัดค้านถือเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ต้องการมีส่วนร่วมปกปักรักษาดอยสุเทพเท่านั้น ดังนั้นอย่ามองเป็นเรื่องการเมือง หรืออยู่เบื้องหลังการชุมนุมเคลื่อนไหวดังกล่าวอีก รัฐบาลและ คสช.ควรดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายดังกล่าว โดยรื้อทิ้ง หรือเตขว้าง บ้านพักศาล เพื่อสร้างบรรทัดฐานไม่ให้ส่วนราชการ หรือองค์กรใด ใช้พื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่เป็นจิตวิญญาณของคนท้องถิ่น พร้อมอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าตามเจตนารมย์ของชาวเชียงใหม่ และผู้คัดค้านทั่วประเทศดีกว่า
 
นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม
 
ด้าน เว็บไซต์ Nation TV รายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 พ.ค. 2561 ที่วัดล่ามช้าง เครือข่ายของคืนพื้นที่ป่าได้จัดเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง "ผลกระทบจากบ้านป่าแหว่ง สู่ระบบนิเวศน์ ชุมชน และสังคม" โดยมีนาย โชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า นายวสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง และสิ่งแวดล้อม นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มช. และนายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิ ชุมชนท้องถิ่น เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้
 
นายโชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า กล่าวว่า โครงสร้างทางวิศวกรรมของบ้านพักข้าราชการตุลาการ หากมีคนเข้าไปอยู่จะเปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเวลา เนื่องจากมีความเสี่ยงของพื้นที่มีความลาดชันสูง บริเวณก่อสร้างอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ที่พร้อมจะเกิดฟ้าป่า น้ำหลาก ดินสไลด์ พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากมีการเปิดหน้าดินทั้งหมดออก ไม่มีรากต้นไม้ที่จะคอยยึดดินไว้ เมื่อดินเกิดการชุ่มน้ำมาก ไม่สามารถซึมลงใต้ดินได้แล้ว น้ำที่ไหลบริเวณหน้าดินไม่มีรากต้นไม้ยึดเกาะดินทำให้เกิดดินสไลด์ได้ ประกอบบ้านพักข้าราชการตุลาการ สร้างบนพื้นที่ลาดชันสูง ด้วยวิธีการวางฐานรากแผ่ลงไปบนชั้นดินที่ไม่มีรากต้นไม้ยึดเกาะดิน เมื่อฝนตกต่อเนื่องดินพร้อมที่จะเคลื่อนตัวไปง่าย ประกอบกับไม่มีป่าไม้อยู่ในบริเวณดังกล่าวเมื่อฝนตกลงจากภูเขาสูงจะเกิดน้ำป่าไหดมาบริเวณบ้านพักได้
 
นายวสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าได้มีการประชุมกันในสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ ซึ่งมีความเป็นห่วงในเรื่องของโครงการสร้างเชิงวิศวกรรม ที่เข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ลาดชันสูง มีการเปิดหน้าดินจนทำให้ให้มีความเสี่ยงของการพังทลายได้โดยง่าย ซึ่งการเปิดหน้าดินออกไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศน์โดยรวมไปถึงป่าชั้นใน พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอย่างยิ่ง โครงสร้างที่สังเกตเห็นได้ในปัจจุบันไม่หลงเหลือป่าอยู่ในพื้นที่ การเปลี่ยนสภาพป่าในลักษณะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น รวมไปถึงกระทบต่อจิตวิญญาณของชาวล้านนาในพื้นที่นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มช. กล่าวว่า การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นฟู จากการวิจัยพบว่าการฟื้นฟูพื้นที่ป่าจะต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูประมาณ 20,000-25,000 บาท/ไร่ ซึ่งต้องทำการผลิตกล้าไม้ สำรวจพื้นที่ ดูแลแปลง ใส่ปุ๋ย สำหรับพื้นที่ในบริเวณบ้านพักตุลาการที่ต้องทำการฟื้นฟูประมาณ 58 ไร่ ใช้งบประมาณ 1.45 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังไม่รวมค่าเสียหายที่เกิดจากการขุดหน้าที่ออกไป ซึ่งกว่าที่พื้นที่ดังกล่าวจะสะสมธาตุอาหารที่จำเป็นต่อต้นไม้ต้องใช้เวลาประมาณ 80 ปี ซึ่งขณะนี้ได้สูญเสียไปแล้ว จริงแล้วพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในทางกฎหมายจะต้องมีต้นไม่อยู่ 25 -40 ต้นแต่พื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้อยู่เยอะกว่านี้แน่นอน พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอย่างแน่นอน จริงๆ แล้วหน่วยงานฟื้นฟูป่า จะต้องเข้ามาเป็นหน่วยงานท้ายๆ ที่จะเข้ามาฟื้นฟู ในความเห็นส่วนตัว การฟื้นฟูป่าที่จะให้กลับไปเหมือนเดิมจะใช้เวลานานมาก ปรับพื้นที่หน้าดินในลักษณะที่ดำเนินการอยู่ การฟื้นฟูอาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นป่าได้เหมือนเดิมในระยะเวลาอันสั้น หรือาจจะไม่ได้เห็นป่ากลับมาเหมือนเดิมในช่วงชีวิตของตนเอง แต่หากจะดำเนินการฟื้นฟูก็ควรจะเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป หน่วยงานวิจับฟื้นฟูป่า พร้อมที่จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำและปรึกษาในการฟื้นฟูพื้นที่
 
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิ ชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าการเข้าไปก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการในบริเวณดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เรื่องการตีความของกฎหมายว่าเป็นที่ราชพัสดุหรือเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งในแง่ของกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งเพื่อความชัดเจนของพื้นที่ เนื่องจากมีสถานะทางกฎหมายทับซ้อนกัน 2-3 ข้อกฎหมาย ต้องมาตีความประกับกันโดยใช้กฎหมายหลายตัวเข้ามาตีความ การที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อปลุกสร้างอาคารที่พักอาศัย และบ้านพักข้าราชการ ซึ่งไม่คำนึงถึงความเสียหายของสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนั้นการตัดสินใจเข้าไปก่อสร้างบ้านพักในบริเวณดังกล่าวยังขาดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ พื้นที่ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินการ ตรวจสอบไม่ได้ ชาวบ้านไมได้เข้าไปมีส่วนร่วม การก่อสร้างไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รถไฟตกรางที่สถานีเชียงใหม่

Posted: 05 May 2018 03:23 AM PDT

รถไฟขบวนรถด่วน เชียงใหม่-กรุงเทพฯตกรางขณะที่กำลังถอยเข้าล้างทำความสะอาดชานชาลา เพื่อจะนำล้างทำความสะอาด เตรียมรับผู้โดยสารเดินทางเข้ากรุงเทพในช่วงเย็น โชคดีที่ผู้โดยสารลงจากขบวนหมดแล้ว

 
 
5 พ.ค. 2561 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 11.0 น. วันที่ 5 พ.ค.61 ได้เกิดอุบัติเหตุรถไฟขบวนรถด่วน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่รางทางเข้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ ห่างจากสถานีประมาณ 300 เมตร ตกราง 2 ขบวน ขบวนแรกเป็นโบกี้นั่งธรรมดาอีกโบกี้เป็นโบกี้รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้น 2 เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างการรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำรถเครนขนาดใหญ่ มายกเอาตู้รถไฟที่ตกรางทั้ง 2 โบกี้ ขึ้นมาจากรางใช้เวลากู้ร่วม 2 ชม.จนสามารถเปิดรางรถไฟใช้งานได้ตามปกติ
 
นายสมคิด ดีลอย หัวหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ กล่าวว่าขณะที่ขบวนรถด่วนขบวนพิเศษ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ขบวนที่ 13 ที่บรรทุกผู้โดยสารจากสถานีหัวลำโพงมาถึงสถานีเชียงใหม่ตอน 08.30 น.ของเช้าวันนี้ หลังจากที่ผู้โดยสารลงหมดแล้ว พขร.กำลังจะถอยเข้ามายังชานชาลาเพื่อจะนำเข้าไปล้างทำความสะอาด เพื่อเตรียมรับผู้โดยสารเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงเย็นวันนี้ ก็ได้เกิดตกรางไป 2 โบกี้ ทำให้ขบวนโบกี้รถไฟขวางทางอยู่ จึงได้เร่งให้เจ้าหน้าที่นำรถเครนมายกเพื่อเคลียร์พื้นที่
 
จนสามารถใช้งานได้ตามปกติไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟในช่วงเย็นนี้แต่อย่างใด ส่วนโบกี้รถไฟไม่ได้เสียหายอะไรมาก ทางฝ่ายช่างได้ลงไปเพื่อตรวจสภาพของสาเหตุการตกรางในวันนี้ สาเหตุยังไม่ทราบอยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างต่อไป อย่างไรก็ตาม ขบวนโบกี้รถไฟเคยตกรางใกล้จุดที่เกิดเหตุมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 ม.ค.60 และก็มาเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนขึ้นอีกในวันนี้ โชคดีที่ไม่มีผู้โดยสารอยู่ในรถ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สหภาพพยาบาล’ เรียกร้องให้ ‘ข้าราชการ-ลูกจ้างรัฐทุกประเภท’ เข้าถึงกองทุนเงินทดแทนเพื่อ ‘ความเสมอภาค-เท่าเทียมกัน’

Posted: 05 May 2018 12:58 AM PDT

'สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย' เรียกร้องให้มีการทบทวน 'ร่าง พ.ร.บ. เงินทดแทน ฉบับปรับปรุง' เพื่อให้ 'ข้าราชการ' และ 'ลูกจ้างภาครัฐทุกประเภท' เข้าระบบกองทุนเงินทดแทนที่คุ้มครองระยะยาวเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เพิ่มเติมคำนิยาม 'ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐ' ให้ครอบคลุมบุคคลที่ทำงานให้รัฐทุกประเภทไม่ว่าจะมีชื่อเรียกหรือสภาพการจ้างเป็นอย่างไรให้เกิดมาตรฐานในการตีความ เพื่อให้ทุกคนมี 'สิทธิขั้นพื้นฐานที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน' เตรียมร่วมประชุมกับ กมธ. ร่างกฎหมาย 8 พ.ค. นี้

มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และพันตำรวจโทหญิงฐชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ อุปนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ ขอให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ ทุกประเภท เข้าระบบกองทุนเงินทดแทนที่คุ้มครองระยะยาว เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับที่ (..) พ.ศ.(....) ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2561 (ที่มาภาพ: สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย)

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และพันตำรวจโทหญิงฐชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ อุปนายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการ เป็นตัวแทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย  ยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทเข้าระบบกองทุนเงินทดแทนที่คุ้มครองระยะยาว เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ที่รัฐสภา

ทั้งนี้ได้มีการขอให้ทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากในมาตรา 4 การให้ความคุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันจากการทำงานยังไม่ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้าง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกจ้างประจำ กลุ่มลูกจ้างที่มีกฎหมายเว้นการเข้าถึงระบบกองทุนเงินทดแทน และลูกจ้างเหมาที่บางกรณีไม่มีทั้งระบบประกันสังคมและระบบกองทุนเงินทดแทน พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลถูกชนจากความเร่งรีบ ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐเช่นเดียวกันแต่มีสถานะต่างกันจะได้รับการเยียวยาต่างกันหรือบางกลุ่มอาจไม่ได้รับสิทธิเยียวยาใดเลย

ดังนั้นสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย  จึงขอเรียกร้องให้ กมธ. วิสามัญฯ ทบทวนหลักการ และแก้ไขเพิ่มเติมความคุ้มครองให้คนทำงานทุกประเภทมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นการขจัดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และหลักทฤษฎีการประกันสังคมสากลที่จะต้องขยายความคุ้มครองแก่ประชากรทุกกลุ่มทุกคนในอนาคต

นอกจากนี้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยเห็นว่าควรเพิ่มมาตราให้หน่วยงานหรือองค์กรที่รัฐมีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบให้ความคุ้มครองคุณภาพชีวิตแก่ลูกจ้าง หรือสมาชิกของตน ให้สามารถเข้าถึงระบบความคุ้มครองการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานด้วยความสมัครใจ และต้องเข้าทั้งองค์กรเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มเติมคำนิยาม คำว่า "ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐ" ให้ครอบคลุมบุคคลที่ทำงานให้รัฐทุกประเภทไม่ว่าจะมีชื่อเรียกหรือสภาพการจ้างเป็นอย่างไรเพื่อให้เกิดมาตรฐานในการตีความ

อนึ่งในวันที่ 8 พ.ค. 2561 นี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้เชิญตัวแทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงแก่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่อาคารรัฐสภา 2 เวลา 14.00 น.

 

หนังสือ 'ขอร้องทุกข์ให้ทบทวน (ร่าง)  พระราชบัญญัติเงินทดแทน  พ.ศ.(....) ฉบับปรับปรุง'

ในอดีตเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยร่วมกับ 39 องค์การผู้ปฏิบัติงานภาครัฐหลายกระทรวง ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรี (ผ่านหน่วยงานรับเรื่องร้องทุกข์ กทม.) ร้องทุกข์หลายประเด็น ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ร้องขอ คือ "ขอให้รัฐจัดสวัสดิการเพื่อคุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน" เช่น ประเทศเพื่อนบ้านและอารยประเทศทั่วไปมีการคุ้มครอง โดยขอเพียงมีสิทธิพื้นฐาน เช่น ลูกจ้างและประชาชน (รวมลูกจ้างต่างด้าว) ที่ได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537

คำร้องนั้นไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด สหภาพพยาบาลฯ จึงได้ร่วมกับสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขและสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการจัดทำบทวิเคราะห์สรุป (เอกสารที่ส่งมาด้วย 1) ศึกษาสถานการณ์ด้านกฎหมาย ระเบียบ การจัดการ และเปรียบเทียบการคุ้มครองฯ เสนอคำร้องต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเวลาหนึ่ง ผลคือ ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด จึงประมวลเรื่องเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา) ขณะนั้น ได้รับคำตอบว่าเข้าใจปัญหาและได้ส่งเรื่องไปหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องแล้ว (เอกสารที่ส่งมาด้วย 2) เรื่องเงียบหายยาวนาน จึงได้นำเสนอทางเลือก โดยเสนอขอเข้าระบบกองทุนเงินทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล) ขณะนั้นแต่ไม่ได้รับความกรุณาให้เข้าพบ เพียงตอบเป็นหนังสือประกันสังคม ที่ รง 0607/15417 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 (เอกสารที่ส่งมาด้วย 3) มีนัยว่าจะขยายการคุ้มครองไปถึงลูกจ้างของส่วนราชการ ส่วนข้าราชการหรือลูกจ้างหรือพนักงานของส่วนราชการนั้น มีกฎหมายให้การคุ้มครองกรณีได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานอยู่แล้ว โดยมิได้เปรียบเทียบระบบการจัดการสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่และการจัดการเพื่อการเข้าถึงสิทธิว่าต่างกันอย่างไร เช่น การให้ความคุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐเป็นระบบสงเคราะห์ (Welfare) มิใช่สิทธิพื้นฐาน (Fundamental of Rights) ที่คนทำงานทุกประเภทควรได้รับเท่าเทียมกันก่อนการรับสิทธิสงเคราะห์ที่ไม่เท่าเทียมกันที่ตามหน่วยงานจัดให้ตามกรณีหรือตามสถานการณ์ของการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ จึงเป็นเพียงการสงเคราะห์เฉพาะเหตุเฉพาะกรณีและเป็นคราวเดียว หากพิการหรือตาย ในระยะยาวต้องใช้เงินบริจาคด้วยความเวทนาจากกลุ่มที่เคยทำงานด้วยกันและญาติมิตรเพื่อเลี้ยงชีพ ทายาทขาดการดูแลระยะยาวตามสิทธิ ตามปรัชญาสากลที่กำหนดให้การประกันสังคมตามอนุสัญญา 102 จะต้องมีการดูแลครอบครัว ตามควร(Family Allowance) ไประยะหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ทุกขเวทนาและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่การคุ้มครองลูกจ้างและประชาชนคนทำงานทั่วไป แม้กระทั่งแรงงาน ต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนทำงานตามกฎหมายก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเพื่อดูแลตนเองและดูแลทายาทในระยะยาวเป็นพื้นฐาน ดังนั้นกลุ่มผู้ร้องนอกจากจะเสียขวัญและกำลังใจในการเป็นพลเมืองไทย ที่เป็นข้าราชการและคนทำงานให้รัฐแล้ว การไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในหลักประกันชีวิตและการไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐให้มีความมั่นคงเช่นประชาชนทั่วไปในฐานะคนทำงาน (Worker) ผู้สร้างเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับเศรษฐกิจชาติ แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาคตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเวทีโลกอีกด้วย

ขอกราบเรียนยกตัวอย่าง เช่น พยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในภาครัฐเช่นเดียวกันแต่มีสถานะต่างกันถึง 6 แบบ คือ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างจ้างเหมา เมื่อทำงานร่วมกันและหากเสียชีวิตร่วมกันจากการทำงาน เช่น เกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลถูกชนจากความเร่งรีบ จะได้รับการเยียวยาที่ต่างกัน เพราะไม่มีการจัดการให้มีสิทธิพื้นฐานที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันก่อนที่จะได้รับการดูแลจากสิทธิอื่นๆ ทั้งระบบสงเคราะห์บริจาค หรือระบบสวัสดิการของหน่วยงาน ที่จัดขึ้นเองที่สามารถแตกต่างกันได้อย่างมีเหตุผลและเป็นธรรม (ความแตกต่างที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยชึ่งอารยสังคมยอมรับ) บางกลุ่มก็ไม่ได้รับเลยก็มี ตามสถานการณ์ของหน่วยงานเป็นที่น่าสงสัยและสงสารเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยและสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการได้ติดตามเรื่องและได้รับทราบระดับหนึ่งจากวารสารประกันสังคม (เอกสารที่ส่งมาด้วย 4 ) ทราบตามข่าวว่าได้มีการเสนอร่างกฎหมายเงินทดแทนนี้แล้ว โดยมาตรา 4 ยังไม่ขยายความคุ้มครองให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐอีก 3 กลุ่มคือ กลุ่มลูกจ้างประจำ กลุ่มลูกจ้างที่มีกฎหมายเว้นการเข้าถึงระบบกองทุนเงินทดแทน และลูกจ้างจ้างเหมาที่บางกรณี ไม่มีทั้งระบบประกันสังคมและระบบกองทุนเงินทดแทนด้วย (มีการฟ้องศาลปกครองและมีคำพิพากษาตามเอกสารที่ส่งมาด้วย 8) กลุ่มผู้ร้องจึงได้มีหนังสือ ที่ สพยท 2/2561 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 (เอกสารที่ส่ง มาด้วย 5) เพื่อขอความกรุณาให้กระทรวงแรงงานทบทวนก่อนนำเสนอเข้าวาระการนิติบัญญัติ แต่กลุ่มผู้ร้อง ก็ไม่ได้รับคำตอบและไม่ได้รับความกรุณาให้เข้าพบแต่อย่างใด หลังวันที่ 23 มีนาคม 2561 (วันรับหลักการในวาระ 1 ของสภานิติบัญญัติ) จึงได้ทราบข่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้รับ (ร่าง) พ.ร.บ. ดังกล่าวในวาระ 1 ไปแล้ว อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา (ร่าง) ปรับปรุงพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องขอกราบเรียนให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้โปรดให้ความเมตตาทบทวนหลักการแก้ไขเพิ่มเติมความคุ้มครองคนทำงาน (Worker) ของประเทศทุกประเภทให้ถ้วนหน้า (Universal Coverage) ขจัดความเหลื่อมล้ำ โดยให้คนทำงานทุกคนมีสิทธิพื้นฐานจำเป็น (Basic Essential Benefits) ที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน สร้างขวัญและศักดิ์ศรีของคนทำงานซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ พัฒนาระบบแรงงานให้เป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งจะเกิดผลดีต่อประเทศชาติดังนี้ :-

(1) ประหยัดและคุ้มค่าในการใช้งบประมาณภาครัฐ ด้วยสามารถกำหนดอัตราเงินสมทบหลัก และอัตราประสบการณ์แก่กลุ่มข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐเป็นกรณีพิเศษที่ให้เหตุผลต่อสังคมและวิชาการได้ตามหลักวิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย สถานการณ์ของสังคม หลักการปกครองและอื่นๆ เป็นสหวิทยาการ ที่สามารถจัดการและออกแบบระบบการส่งเงินสมทบได้ว่าจะตั้งเป็นงบประมาณรวม จ่ายจากกรมบัญชีกลางโดยตรง หรือให้แต่ละหน่วยงานตั้งงบประมาณจ่ายเงินสมทบเข้าระบบกองทุนเงินทดแทนเป็นรายปีหรือออกแบบอื่นใดให้เหมาะสมกับ ประเภท งานราชการก็สามารถพิจารณากระทำได้ นอกจากนั้น กองทุนเงินทดแทนยังมีการลงทุนที่ปลอดภัย สร้างดอกผลให้เกิดการคุ้มครองที่เพียงพอและยาวนาน ย่อมเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตของพลเมืองโดยรัฐ ที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมหาศาลแก่ประเทศสืบไป  

(2) เป็นการวางระบบการคุ้มครองการทำงานตามหลักสากลโดยมิต้องให้กระทบเงินกองทุนอื่นๆเช่นกองทุนประกันสุขภาพ (บัตรทอง) และเงินกองทุนประกันสังคม (กรณีเจ็บป่วย) ที่ปัจจุบันเกิดการใช้สิทธิผิดประเภท (Adverse Selection) และเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากกรมบัญชีกลางมาจ่ายเมื่อคนทำงานภาครัฐทุกประเภทเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน เป็นการใช้เงินค่ารักษาเยียวยาให้ถูกหลักการคุ้มครองคนทำงานที่เป็นสากล ถูกต้องตามหลักวิชาทางการเงิน การรักษาวินัยการเงินการคลัง และหลักรัฐประศาสนศาสตร์

(3) สร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทเมื่อมีสิทธิเท่าเทียมพื้นฐาน เช่นลูกจ้างและประชาชนทั่วไปและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐ ให้ทัดเทียมหลายประเทศเพื่อนบ้านและอารยประเทศที่มีการคุ้มครองคนทำงานภาครัฐโดยเสมอภาค

(4) มีความสะดวกในด้านการจัดการ การเข้าถึงสิทธิด้วยมีหน่วยงานสำนักงานประกันสังคม กระจายทุกพื้นที่ทุกจังหวัด ส่งผลให้รัฐไม่ต้องจัดให้มีกองทุนใหม่ และสามารถใช้ระบบสารสนเทศ ตลอดจนทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของสำนักงานประกันสังคม วินิจฉัยเงินทดแทนได้รวดเร็วกว่าการใช้กฎหมายสงเคราะห์ต่างๆ ที่มีอยู่เดิม (ควรยกเลิกบางฉบับไป) เนื่องจากล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน (มีกฎหมายตั้งแต่ ปี 2498,2516,2546) เช่น การใช้สิทธิขอรับการสงเคราะห์ ต้องส่งเรื่องเข้าวินิจฉัยในส่วนกลางล่าช้า และข้าราชการและผู้บริหารส่วนใหญ่ ไม่ทราบสิทธิ จึงขาดการเสนอเรื่อง มีข้อจำกัดการเข้าถึงด้วยบุคคลที่จะขอรับได้จะต้องเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างที่จ้างด้วยเงินงบประมาณเท่านั้น การหลุดจากสิทธิขอรับการสงเคราะห์จึงมีหลายกรณี จากการเยี่ยมสำรวจของสหภาพพยาบาลและสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการพบว่า มีข้าราชการที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกฎหมายและระเบียบที่ภาครัฐมีอยู่ ได้รับแต่เพียง เงินบริจาคหลายราย และถึงแม้จะได้รับการสงเคราะห์ตามกฎหมาย ก็ได้รับการคุ้มครองคราวเดียว ส่งผลต่อการดำรงชีวิตลำบากในระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่าได้เงินสงเคราะห์น้อยกว่าสิทธิในระบบกองทุนเงินทดแทนหลายเท่า (เอกสารตามที่ส่งมาด้วย 1) หากเป็นกรณีตาย จะต่างกันกว่า 5 เท่า      

(5) เป็นประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปในการคุ้มครองคนทำงานภาครัฐทุกประเภทให้ทัดเทียมก้าวทันอาเซียนและอารยประเทศ เป็นลักษณะของการปฏิรูป (Reform) ที่สมบูรณ์

(6) สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ที่มีนัย คือ ไม่ต้องมีกฎหมายใหม่เกินความจำเป็น มีการทบทวนให้ทันสมัย ไม่ต้องจัดตั้งกองทุนใหม่ ประหยัด คุ้มค่า พัฒนาธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหลักทฤษฎีของการประกันสังคมสากล ที่จะต้องขยายความคุ้มครองให้ถ้วนหน้าแก่ประชากรทุกกลุ่มทุกคนในอนาคต และเป็นนโยบายของรัฐบาลทุกยุคสมัยเสมอมา

อนึ่งกลุ่มผู้ร้องได้ศึกษาและตระหนักว่าการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ให้คุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภทนี้ จะส่งผลกระทบต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ที่อาจต้องยกเลิก หรือปรับแก้บางมาตรา เพื่อสร้างระบบให้สมบูรณ์ จึงเป็นการยากที่จะ "ปฏิรูป" ในยุครัฐบาลปฏิรูปนี้ได้ทั้งหมด จึงขอกราบเรียนเป็นข้อเสนอว่า เพื่อเปลี่ยนผ่านการขยายความคุ้มครองของพระราชบัญญัติเงินทดแทน อาจเพิ่มมาตราที่เปิดทางให้หน่วยงานหรือองค์กรที่รัฐมีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบให้ความคุ้มครองคุณภาพชีวิตแก่ลูกจ้างหรือ ผู้รับจ้างเหมาหรือสมาชิกของตน เข้าระบบความคุ้มครองการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานได้โดยสมัครใจ แต่ต้องเข้าทั้งองค์กรเท่านั้น รอเวลาให้หน่วยงานและองค์กรแก้กฎหมายของตนเองหรืออาจใช้อำนาจของ คสช. (มาตรา 44) เพื่อปรับระบบกฎหมายและแนวปฏิบัติต่างๆได้ หรืออาจมีทางเลือกอื่นๆ ตามที่ท่านเห็นควรให้เกิดความคุ้มครองพื้นฐานเท่าเทียมจากรัฐ ขอให้เพิ่มเติม คำนิยาม คำว่า"ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐ" ให้ครอบคลุมคนทำงานให้รัฐทุกประเภทไม่ว่าจะมีชื่อเรียกหรือสภาพการจ้างเป็นเช่นใด ให้เกิดมาตรฐานในการตีความ ในอนาคต ผู้ร้องและข้าราชการทุกคนตลอดจนคนทำงานภาครัฐทุกกลุ่มผู้ตกจากสิทธิ ตามร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงเงินทดแทนฉบับนี้ ใคร่ขอความเมตตาได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง อันจะเป็นประวัติศาสตร์ ของระบบแรงงานของประเทศไทยสืบไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘I Am My Own Wife’ แด่มนุษย์ผู้พยายามเขียนประวัติศาสตร์และค้นหาอัตลักษณ์ของตนเอง

Posted: 05 May 2018 12:41 AM PDT

จากบทละครพูลิทเซอร์ประจำปี 2004 สู่ละครเวที 'I Am My Own Wife' เล่าเรื่องจริงของ คุณยายกระเทย' นักสะสมของเก่าชาวเยอรมันผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ณ กรุงเบอร์ลิน ผู้ใช้ชีวิตโดยการแต่งเป็นหญิงและอยู่ใต้การปกครองที่กดขี่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 ทั้งกลุ่มทหารนาซี และกลุ่มคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออก 

ภายในห้องสี่เหลี่ยมไม่ใหญ่นัก ขนาดประมาณ 7x10 เมตร ตรงกลางของห้องคือเวทีทำการแสดง มีเพียงโต๊ะไม้และเก้าอี้สองตัววางอยู่ ชิดริมผนัง ทางซ้ายคือเครื่องเล่นกระบอกเสียงเอดิสันสแตนดาร์ดดูเก่าแก่มีมนต์ขลัง ส่วนทางขวาคือนาฬิกาติดผนังเก่าแก่ไม่แพ้กัน เขาเดินออกมาจากประตู ยิ้มละไม สวมชุดกระโปรงสีดำคุลมทับด้วยสเวตเตอร์สีดำมีลายดอกไม้สีขาวแซม สวมสร้อยไข่มุก และโผกหัวด้วยผ้าสีดำ แล้วการแสดงก็เริ่มขึ้น เขาเปิดแผ่นเสียงจากเครื่องเล่น เสียงเพลงแห่งอดีตก็แว่วดังขึ้น เรื่องราวเริ่มต้น ณ บัดนั้น

'I Am My Own Wife' เล่าเรื่องของ Charlotte von Mahlsdorf (ชาร์ลอททา ฟอน มาล์สดอฟ) นักสะสมของเก่าผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ Gründerzeit Museum ณ กรุงเบอร์ลิน) ผู้ใช้ชีวิตโดยการแต่งเป็นหญิงและอยู่ใต้ การปกครองของกลุ่มบริหารที่กดขี่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 ทั้งสอง ได้แก่กลุ่มทหารนาซี และกลุ่มคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออก

ชาร์ลอททา เกิดเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เธอคือไข่มุกที่ซ่อนตัวอยู่ในประวัติศาสตร์เควียร์โลก แต่ก็เป็นที่โจษจันและชวนค้นหาสำหรับผู้ที่เคยพบพาน เธอได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สำหรับคุณงามความดีใน การปกป้องรักษาสถานเริงรมย์คาบาเร่ต์แบบฉบับสาธารณรัฐไวมาร์ในชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์ของเธอ เธอเป็นที่นับถือของ ชุมชน LGBTQI ในฐานะ "คุณยายกระเทย" ขณะเดียวกัน เธอก็ได้รับการลงทัณฑ์จากสาธารณชนเพราะเคยทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลหน่วยสอดแนมสตาซี (Stasi) ในช่วงสงครามเย็น ชาร์ลอททา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี 2002 สิบสามปีหลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน

'I Am My Own Wife' (ไอ แอม มาย โอน ไวฟ์) โดยนักเขียนบทละคร Doug Wright (ดั๊ก ไรท์) เจ้าของรางวัลพูลิทเซอร์ประจำปี 2004 เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ในปี 2003 ที่ Playwrights Horizons และได้ย้ายไปที่โรงละคร Lyceum ณ บรอดเวย์ และการแสดงโปรดักชั่นบรอดเวย์ก็ได้รับรางวัลโทนีประจำปีเดียวกัน ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และละครยอดเยี่ยม

เจมส์ เลเวอร์

และในปีนี้ คณะละคร 'Peel the Limelight' ซึ่งก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2014 โดยกลุ่มศิลปินจากทั้งไทยและต่างประเทศ มีผลงานการแสดงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 เรื่อง ได้รับเสียงตอบรับและคำวิจารณ์ที่ยอดเยี่ยม ได้นำ 'I Am My Own Wife' มาจัดแสดงอีกครั้งผ่านการตีความและกำกับใหม่โดย Jaime Zúñiga (ไฮเม่ ซูนิกา) และ นำแสดงโดย James Laver (เจมส์ เลเวอร์) ที่นอกจากตัวละครหลักอย่าง ชาร์ลอททา เจมส์ยังต้องเล่นเป็นตัวละครอีกกว่า 30 ตัว จึงท้าทายทั้งความสามารถในการกำกับและแสดง รวมถึงท้าทายจินตนาการของคนดูไปพร้อมกัน

นอกจากการกำกับและการแสดงอันยอดเยี่ยมแล้ว เสน่ห์สำคัญของละครเรื่องนี้หนี้ไม่พ้นบทละครที่ ดั๊ก ไรท์ ผู้เขียนบท ได้ใส่ทั้งตัวเขาเองลงไปในบทด้วย โดยเล่าถึงตอนที่เขาเดินทางไปพบปะพูดคุยกับชาร์ลอททาถึงความทรงจำทั้งหมดในชีวิตของเธอเพื่อกลั่นออกมาเป็นบทละครเรื่องนี้ ดังนั้นคนดูจึงไม่ได้เห็นเพียงมุมมองจากชาร์ลอททาเท่านั้น แต่ยังเห็นมุมมองของดั๊ก มุมมองของสื่อ มุมมองของเพื่อน ทำให้เรายิ่งตั้งคำถามว่าตกลงแล้วชาร์ลอททาคือใครกัน คือกระเทยยุคบุกเบิกที่ยืนหยัดในสิ่งที่เธอเป็น คือสายลับที่ทรยศเพื่อนตัวเอง คือนักสะสมผู้หลงใหลในของเก่า คือเด็กตัวน้อยที่อยากหลีกหนีจากความทรงจำที่เลวร้าย ทั้งด้านดีและไม่ดีที่ถูกเผยออกทีละชั้นๆ เราเห็นความทรงจำของผู้คนที่ประกอบร่างสร้างตัวละครชาร์ลอททาขึ้นมา ขณะเดียวกันก็เห็นประวัติศาสตร์ของสังคมที่ดำเนินไปเป็นพลวัตร แต่ก็เหมือนจะถอยกลับมาเป็นวงจนไม่รู้จบซ้ำไป

ประชาไทชวน ไฮเม่ ซูนิกา ผู้กำกับการแสดง 'I Am My Own Wife' ของคณะละคร 'Peel the Limelight' ผู้ย้ายมาอยู่ประเทศไทยในปี 2013 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะละคร Peel the Limelight เขาเป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับจากในเวทีนานาชาติ คุยถึงการเลือกบทละครนี้กลับมาทำอีกครั้ง และตีความใหม่โดยไฮเม่กล่าวว่า เรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่เกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์

ไฮเม่ ซูนิกา

 

ทำไมคุณถึงเลือกเรื่องนี้มาแสดงอีกครั้ง?

เรื่องนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นละครในแบบที่เราอยากทำ บทมีความท้าทายสำหรับนักแสดง ผู้กำกับ ทีมโปรดักชั่น และคนดู เราทำละครมาหลายเรื่องซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิง เช่น 'How I learn to drive' สิ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศและเรื่องเซ็กส์ของผู้หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือเรื่อง 'The True History of the Tragic Life and Triumphant Death of Julia Pastrana, the Ugliest Woman in the World' เป็นเรื่องของผู้หญิงที่เกิดมาหน้าเป็นลิงแล้วถูกจับไปอยู่ในคณะละครสัตว์ ซึ่งจริงๆ มันคือเรื่องการค้ามนุษย์ รวมถึงมีเรื่องความรักสอดแทรกด้วย ส่วนเรื่องนี้เราอยากลองสำรวจผู้หญิงในรูปแบบอื่น มันคือการให้นิยามความเป็นผู้หญิงในรูปแบบอื่นๆ ด้วย และขณะเดียวกันเรากำลังหาบทที่เหมาะสมสำหรับเจมส์ซึ่งเป็นนักแสดงที่มีพรสวรรค์และความสามารถหลากหลายมากๆ

เจมส์ เลเวอร์

มีสิ่งที่นำมาจากบอร์ดเวย์บ้างไหม?

ส่วนตัวของผมไม่อยากไปดูงานที่คนอื่นตีความไว้แล้วเพราะจะกระทบกับความคิดสร้างสรรค์ของผม ผมอยากเริ่มตั้งแต่ศูนย์เลยคืออ่านบทและตีความเอง และอยากให้มีทัศนะของตัวเองโดยที่ไม่ต้องไปยึดของที่คนอื่นทำมาก่อน

ในบอร์ดเวย์มีที่นั่งมากกว่า 500-1200 ที่นั่ง ซึ่งเป็นโรงละครขนาดใหญ่มาก ดังนั้นประสบการณ์ในการดูในโรงละครบอร์ดเวย์จึงแตกต่างจากการดูในโรงละครโรงเล็กแบบนี้ที่จุคนได้ประมาณ 40 คนเท่านั้น ซึ่งผู้ชมสัมผัสการแสดงอย่างใกล้ชิด ถ้าคุณพยายามลอกเลียนโปรดักชั่นของบอร์ดเวย์มาไว้ที่นี้ ในงบประมาณที่ไม่เท่ากัน มันจึงยากมาก และไม่ตรงกับกลุ่มคนดูขนาดเล็กแบบนี้ ดังนั้นเราต้องปฏิบัติต่อสถานที่ทำการแสดงเหมือนกับที่เราปฏิบัติต่อผืนผ้าใบที่ใช้วาดรูป ถ้าเรามีกำแพงขนาดใหญ่ให้วาดเรา รูปที่วาดก็จะต่างจากการวาดลงบนผืนผ้าใบเล็กๆ เมื่อเรามีโรงละครที่เล็กเราจึงต้องสร้างสรรค์การแสดงและอารมณ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ชมมากกว่า

นอกจากนี้ผู้ชมที่บอร์ดเวย์ก็แตกต่างจากผู้ชมในกรุงเทพฯ ที่นี่เรามีคนไทยและชาวต่างชาติที่หลากหลายจากทั่วโลก แม้เรามีบทที่สามารถสัมผัสถึงผู้คนได้ แต่ผมก็จะคิดเสมอว่าผมจะทำการแสดงเพื่อใคร การสร้างสรรค์ทั้งหมดต้องมีความหมายสำหรับผู้คนที่เข้ามาชมการแสดงของเรา ผู้คนที่ใช้ชีวิต ทำงาน มีความรัก และสร้างสรรค์เรื่องราวในชีวิตของพวกเขาในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ในบอร์ดเวย์

เรื่องนี้เกิดเมื่อ 20-30 ปีก่อน คุณคิดว่ามันมีความเกี่ยวเนื่องกับตอนนี้อย่างไร?

เรื่องนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเพศ แต่เกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ทั่วโลก ความหมายของอัตลักษณ์นั้นมีความสำคัญและมีการตั้งคำถามมากขึ้นกว่าที่เคย ในซีนของการแสดงคือซีนของทอล์กโชว์ที่ ชาร์ลอททา เล่าถึงเหตุการณ์ที่นีโอนาซีมาถล่มบ้านของเธอ บริบทตอนนั้น เป็นช่วงที่กำแพงเบอร์ลินถล่ม และนีโอนาซีกลับมา ความเกลียดกลัวพวกรักร่วมเพศก็กลับมาด้วย นั้นคือในยุค 90 และมาถึงตอนนี้เรามีโดนัลด์ ทรัมป์ เรามี Brexit เราเห็นเหตุการณ์ทั่วทุกมุมโลกที่ทำให้เห็นว่า การเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติได้กลับมาอีกครั้ง ดังนั้นประวัติศาสตร์มันจึงเป็นวงจรที่วนกลับมาที่เดิม และที่กรุงเทพฯ นี้เองก็มีคำถามไม่ต่างจากที่อื่นนั้นคือคำถามเรื่องอัตลักษณ์และการนิยาม ผมเห็นบทความหลายชิ้นจากสื่อไทยในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ที่พูดถึงว่า ใช่ ประเทศไทยเปิดกว้างและยอมรับเรื่องอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ แต่ขณะเดียวกันนั่นเป็นมายาคติหรือเปล่า เรายอมรับอัตลักษณ์และความแตกต่างหลากหลายทางเพศของคนได้จริงหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่สื่อไทยถาม ไม่ใช่ผม และผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่การแสดงครั้งนี้กำลังพูดถึง

คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวละครหลักของคือ ชาร์ลอททา ซึ่งสามารถมองได้หลากหลายมุมมองมาก?

เธอพูดในตอนท้ายว่าเราต้องแสดงสิ่งของในแบบที่มันเป็น และนั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับการแสดง เพราะในมุมหนึ่งเธอเป็นเหมือนฮีโร่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเธอเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของเกย์และเควียร์ไว้ในหลายมิติ ในขณะเดียวกันด้านมืดของเธอก็ปรากฎเมื่อเธอถูกค้นพบว่าเป็นหน่วยสอดแนมให้กับพวกสตาซี แล้วนี่คือสิ่งที่เลวร้าย แต่ผมคิดว่านี้คือคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ที่ทั้งคิดผิดและคิดถูก และผมคิดว่าบทละครนี้ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการนำเสนอคำถามในความเป็นเธอ นี่ใช่คำจำกัดความของชาร์ลอททาหรือไม่ ผมเลือกให้ผู้ชมกลับบ้านไปด้วยคำถามใหญ่คำถามนี้ เพราะนั้นคือความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวทุกคนที่ตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ และบางทีแม้กระทั่งชาร์ลอททาเองก็ยังไม่รู้จะนิยามตัวเองอย่างแน่ชัดว่าอย่างไร เธอเรียกตัวเองว่าเลสเบี้ยนบ้าง กระเทยบ้าง เธอเรียกตัวเองด้วยคำที่หลากหลาย และนั่นคือสิ่งที่ผมต้องการนำเสนอ มนุษย์เราพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองและนิยามอัตลักษณ์ตัวเอง คือการที่เรากำลังพยายามก้าวหน้าไป และมันจะไม่ใช่บทสรุป แต่จะมีคำถามเกิดขึ้นเสมอ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อนุพงษ์' ระบุไม่พบความเคลื่อนไหวนำคนต่างจังหวัดร่วมชุมนุม 'คนอยากเลือก'

Posted: 04 May 2018 11:24 PM PDT

'อนุพงษ์ เผ่าจินดา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุไม่พบความเคลื่อนไหวนำคนต่างจังหวัดเดินทางมาร่วมชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ ม.ธรรมศาสตร์ วันนี้ (5 พ.ค.) เชื่อน่าจะชุมนุมเรียบร้อยไม่มีปัญหา โฆษก คสช.ชี้ไม่ใช้กฎหมายพิเศษคุม ยังไม่พบมือที่สามจ้องป่วน

 
5 พ.ค. 2561 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุถึงกรณีที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดรวมกันทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้  โดยเชื่อว่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่น่ามีปัญหา หากคนกลุ่มนี้รวมตัวกันด้วยความสงบ ไม่ทำอะไรที่เป็นการผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายผิดเงื่อนไขการชุมนุม ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจากพื้นที่อื่นๆ ที่จะเคลื่อนไหวมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งขณะนี้ยังไม่พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการนำคนจากจังหวัดหรือพื้นที่ใดจะเคลื่อนไหวมาสมทบ
 
โฆษก คสช.ชี้ไม่ใช้กฎหมายพิเศษคุม ยังไม่พบมือที่สามจ้องป่วน
 
ด้าน พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์  ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการดูแลความเรียบร้อยการจัดกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เย็นวันนี้ว่าฝ่ายความมั่นคงได้เตรียมความพร้อม เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยไว้แล้ว โดยจะใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก ซึ่งการจัดกำลังพลจะเป็นไปตามความเหมาะสม กับกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมที่คาดว่าจะมีประมาณ 150-300 คน และการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวทาง คสช. จะใช้กฎหมายปกติ จะไม่นำกฎหมายพิเศษมาใช้ เนื่องจากทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการขออนุญาตชุมนุมกับทาง คสช. แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วมงานในภาพรวม
 
"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำชับให้ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมและระมัดระวังกลุ่มผู้ไม่หวังดีมาสร้างสถานการณ์ แต่ทางการข่าวในขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งถึงกลุ่มบุคคลที่สามเข้ามาแฝงตัวเพื่อสร้างสถานการณ์แต่อย่างใด ซึ่งทาง คสช.มั่นใจว่าจะดูแลสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อยได้" พล.ต.ปิยพงศ์กล่าว
 
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรับฟ้องคดีครีมทาผิวขาว 'เพิร์ลลี่' เป็นคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มคดีแรกในประเทศไทย

Posted: 04 May 2018 11:09 PM PDT

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุศาลรับฟ้องคดีครีมทาผิวขาว 'เพิร์ลลี่' นับเป็นคดีผู้บริโภคคดีแรกในประเทศไทย ที่ศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม

 
 
5 พ.ค. 2561 จากกรณีที่ มีผู้เสียหายจำนวนหนึ่งเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2559 ว่าใช้โลชั่นทาผิวยี่ห้อ 'เพิร์ลลี่' แล้วเกิดอาการผิวหนังแตกลาย มพบ.จึงนำตัวอย่างครีมดังกล่าวไปตรวจสอบ และพบว่ามีส่วนผสมของสารต้องห้ามในครีมดังกล่าว จนมีการฟ้องดำเนินคดีกับบริษัทผู้ผลิต ในลักษณะคดีกลุ่มนั้น
 
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่าในช่วงแรกของการฟ้องร้อง ศาลจังหวัดสตูลมีคำพิพากษาไม่รับเป็นคดีกลุ่ม เนื่องจากยังมีข้อกังขาในหลายประเด็น มพบ. จึงยื่นอุทธรณ์และชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รับฟ้องคดีดังกล่าว ถือเป็นคดีผู้บริโภคคดีแรกที่ศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ส่วนสาเหตุที่ฟ้องคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากผู้เสียหายมีจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีลักษณะความเสียหายคล้ายกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถฟ้องคดีเองได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีสูงกว่ามูลค่าของสินค้า
 
 
"การฟ้องคดีแบบกลุ่ม จะทำให้ผู้เสียหายจากการใช้เพิร์ลลี่รายอื่นที่ไม่ใช่โจทก์ สามารถเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อร่วมฟ้องคดีได้  และเมื่อเกิดการพิจารณาคดีจนมีบทลงโทษแล้ว กลุ่มสมาชิกทั้งหมดจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเท่าเทียมกัน" นางนฤมลกล่าว
 
นางนฤมล กล่าวต่ออีกว่า มพบ. ได้ส่งหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้เพิกถอนเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่ประกาศเป็นเครื่องสำอางห้ามใช้และยังมีขายในท้องตลาด  จึงได้ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว กล่าวคือ ให้ผู้ประกอบการระงับการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภครายอื่นๆ ต่อไป
 
รับชมผลกระทบของครีม 'เพิร์ลลี่' และรายละเอียดของคดีได้ทาง https://www.facebook.com/fconsumerthai/videos/1558280124295544/

และสามารถอ่านประโยชน์ และรายละเอียดของการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ที่ http://www.consumerthai.org/สินค้าและบริการ/3880-600419_news.html
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมคุ้มครองสัตว์ 5 ชนิด จ่อออกประกาศห้าม 'ทารุณกรรม'

Posted: 04 May 2018 10:50 PM PDT

เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ตาม ม.3 พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ คุ้มครองลูกผสมสัตว์ตระกูลเสือ อีเห็นข้างลาย นกเขาชวา หมูป่า และกระรอกหลากสี

 
 
เว็บไซต์แนวหน้า รายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2561 ว่านายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่านายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมลงนามในร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ พ.ศ. ... ตามมาตรา 3 ในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557
 
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ได้พิจารณาให้ความเห็นว่าลูกผสมสัตว์ตระกูลเสือ อีเห็นข้างลาย (หรืออีเห็นธรรมดา) นกเขาชวา หมูป่าและกระรอกหลากสี เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งพบปัญหาการถูกทารุณกรรมบ่อย และควรได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ โดยอยู่ระหว่างเสนอ นายลักษณ์ ลงนามในประกาศและส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำประกาศที่ลงนามแล้วไปลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุ 'เผาสายโทรศัพท์-แขวนป้ายผ้า-เผายาง' หลายพื้นที่ชายแดนใต้

Posted: 04 May 2018 10:11 PM PDT

สื่อ Wartani รายงาน เกิดเหตุเผาสายส่งสัญญาณโทรศัพท์ แขวนป้ายผ้า และเผายางในหลายพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อเช้ามืดวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา

 
 
สำนักข่าว Wartani สำนักข่าว Wartani รายงานว่า เมือวันที่ 4 พ.ค. 2561 เวลาประมาณ 5.00-6.00 น. เกิดเหตุก่อกวนเผาสายส่งสัญญาณโทรศัพท์ แขวนป้ายผ้า และเผายางหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย
 

จ.ยะลา

 
1.พื้นที่ อ.เมืองยะลา 
-เผาสายส่งสัญญาณโทรศัพท์ ม.5 ต.พร่อน 1 จุด
-เผายางบนถนนหน้าป่าช้าจีน ม.3 บ.เปาะเยาะ ต.ลำใหม่ 1 จุด
 
2.พื้นที่ อ.ยะหา
-เผาสายไฟพื้นที่หมู่5บ้านปอเนาะ ต.กาตอง อ.ยะหา สายไฟจำนวน 3 ม้วนถูกเผาริมถนน
 
3.พื้นที่ อ.บันนังสตา
-เผายางรถยนต์ หน้าสำนักงานที่ดินอำเภอ 1 จุด 
-เผายางรถยนต์บนถนนทางเข้าเงาะกาโปร์ ม.2 ต.บันนังสตา 1 จุด
-เผายางรถยนต์บนถนนสายบ้านตือระ ม.8 ต.บันนังสตา 1 จุด
-เผายางรถยนต์หน้าสถานนีอนามัยบ้านบือซู ม.6 ต.บันนังสตา 1 จุด
 
4.พื้นที่ อ.ธารโต
-ลอบเผายางรถยนต์หน้าโรงพยาบาลธารโต จำนวน 1 จุด
-แขวนป้ายผ้า 1 จุด บริเวณสวนกาแฟ ม.2 ห่างจากถ้ำฤษี ประมาณ 100 เมตร
-แขวนป้ายหัวสะพานบ้านแหร ม.1 ต.บ้านแหร
-แขวนป้ายที่ กศน.บ้านแหร ม.5 ต.บ้านแหร
 
5.พื้นที่ อ.กรงปีนัง
-ลอบเผายางรถยนต์พื้นที่ ม.3 บ.กะดูโด๊ะ ต.สะเอะ จำนวน 1 จุด
-ลอบเผายางรถยนต์พื้นที่ ม.1 บ.บาโงยือรา ต.สะเอะ จำนวน 1 จุด
 

จ.ปัตตานี

 
6.พื้นที่ อ.เมืองปัตตานี
-แขวนป้ายผ้า เผาถังขยะ พท.ม.5. บ้านพงสตา อ.ยะรัง
-แขวนป้ายผ้า เผายางรถยนต์ ถนนสาย 42 ม.7 บ้านโคดม่วง ต.ตุยง
 
7.พื้นที่ อ.หนองจิก
-แขวนป้ายผ้า เผาสายเคเบิล ม.1 ต.ลูโบ๊ะยือไร อ.มายอ 
-แขวนป้ายผ้า เผายางรถยนต์ ม.3 ต.เขาตูม อ.ยะรัง พท.สภ.โสร่ง
-แขวนป้ายผ้า พื้นที่ ต.ตะโละดือรามัน อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี
 
8.พื้นที่ อ.กะพ้อ 
-แขวนป้ายผ้า พื้นที่ ต.ตะโละดือรามัน 
 
9.พื้นที่ อ.ยะรัง
- แขวนป้ายผ้าและเผาถังขยะในพื้นที่ บ.พงสตา ม.5 ต.ยะรัง
- แขวนป้ายผ้าและเผายางรถยนต์ในพื้นที่ ม.3 ต.เขาตูม
 

จ.นราธิวาส

 
10.พื้นที่ อ.ตากใบ 
-แขวนป้ายผ้าและระเบิดเสาไฟฟ้า พื้นที่บ้านน้ำแบ่ง ม.10 ต.ไพรวัน
 
11.พื้นที่ อ.บาเจาะ 
-เผาศาลาพื้นที่บ้านอีโยะ ม.5 ต.บาเระเหนือ
 
12.พื้นที่ อ.รือเสาะ 
-เผายางรถยนต์ในพื้นที่ ม.2 ต.รือเสาะออก
 
13.พื้นที่ อ.สุไหงปาดี 
-แขวนป้ายผ้าในพื้นที่ ม.3 ต.โต๊ะเด็ง
 
14.พื้นที่ อ.สุไหงโกลก 
-เผายางรถยนต์และแขวนป้ายผ้า 1 จุด บริเวณยูเทริน วิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก
 

จ.สงขลา

 
15.พื้นที่ อ.สะบ้าย้อย 
-เผายางรถยนต์และแขวนป้ายผ้าในพื้นที่ บ.คอลอมุดอ ม.1 ต.จะแหน 
 
16.พื้นที่ อ.เทพา 
-แขวนป้ายผ้า ในพื้นที่ ม.10 ต.ลำไพล
 
สำหรับข้อความบนป้ายผ้ากล่าวว่า "สยามขูดรีดทรัพยากรแผ่นดินโดยอ้างการพัฒนา สยามอ้างกฏหมายเข่นฆ่าคนเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สยามสร้างวาทกรรมสันติสุขเพื่อยึดครองปาตานีตลอดการ"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคมบริดจ์อนาไลติกาปิดตัวลงแล้ว หลังกรณีซื้อขายข้อมูลบุคคลกับเฟสบุ๊ค

Posted: 04 May 2018 08:21 PM PDT

องค์กรวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล เคมบริดจ์อนาไลติกาและบริษัทลูกเอสซีแอลประกาศปิดตัวลงแล้วหลังจากที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการขายข้อมูลใฟ้เฟสบุ๊ค แต่ทว่าหน่วยงานสืบสวนในอังกฤษกังวลว่าพวกเขาปิดตัวลงเพราะต้องการทำลายข้อมูลตัวเองทำให้การสืบสวนยากขึ้น โดยที่อดีตซีอีโอของเคมบริดจ์อนาไลติกาและทีมบริหารอีกส่วนหนึ่งไปตั้งบริษัทใหม่คือ Emerdata

 
 
5 พ.ค. 2561 สื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่าบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเคมบริดจ์อนาไลติกาปิดตัวลงแล้ว หลังจากมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการที่เฟสบุ๊คถูกกล่าวหาว่าขายข้อมูลให้พวกเขา จนทำให้ทั้งเฟสบุ๊คและเคมบริดจ์อนาไลติกาต้องเผชิญกับการตรวจสอบและถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว
 
ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องอื้อฉาวจากการที่เคมบริดจ์อนาไลติกาเก็บข้อมูลของผู้คนชาวอเมริกัน 50 ล้านคน และชาวอังกฤษอย่างน้อย 1 ล้านคน ทางเคมบริดจ์อนาไลติกาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้แต่ก็บอกว่าการที่สื่อนำเสนอภาพพวกเขาในทางลบทำให้พวกเขาไม่มีลูกค้าและมีแต่รายจ่ายด้านการสู้คดีพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ในถ้อยแถลงของบริษัทเคมบริดจ์อนาไลติการะบุว่า ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมี "ความมั่นใจว่าลูกจ้างของพวกเขาปฏิบัติตัวอย่างเป็นไปตามหลักศีลธรรมและกฎหมาย แต่การถูกปิดล้อมจากสื่อที่ทำข่าวก็กลายเป็นการขับไล่ทั้งลูกค้าและผู้จัดหาวัตถุดิบของพวกเขาทั้งหมดอย่างเห็นได้ชัด" และระบุว่าด้วยสาเหตุนี้เองทำให้ทางเคมบริดจ์อนาไลติกาประกาศปิดตัว
 
นอกจากนี้ในถ้อยแถลงยังมีการเปิดเผยอีกว่ามีบริษัท เอสซีแอลล์ อิเล็กชัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในอังกฤษที่อยู่ในเครือเคมบริดจ์อนาไลติกาก็ประกาศจะปิดตัวด้วยเช่นกัน รวมถึงกำลังเข้าขั้นตอนกระบวนการล้มละลาย
 
หลังจากทราบข่าวการประกาศล้มละลายของบรัษัทนี้ เดอะการ์เดียนก็ส่งคนไปที่สำนักงานของเคมบริดจ์อนาไลติกาบนถนนย่านหรูของแมนฮัตตัน แต่ดูเหมือนว่าคนทำงานที่นั่นจะออกจากที่ทำงานไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อนักข่าวได้พบแต่คนๆ หนึ่งที่บอกว่าเธอไม่ได้ทำงานที่บริษัทนี้ และเมื่อถามว่ามีใครที่ทำงานให้เคมบริดจ์อนาไลติกาหรือเอสซีแอลอยู่ที่นี่หรือไม่เธอก็บอกว่าพวกเขาเคยอยู่ที่นี่ แต่ตอนนี้ออกไปกันหมดแล้ว
 
เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นมาจากการที่เคมบริดจ์เก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากโปรแกรมแอพพลิเคชันเกี่ยวกับการสำรวจบุคลิกภาพผ่านช่องทางของเฟสบุ๊ค โดยที่คริสโตเฟอร์ ไวลี ผู้เปิดโปงกรณีนี้กล่าวว่าข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกดไลก์ การเช็คอิน สถานที่ รูปภาพ ศาสนา แนวคิดทางการเมือง และรายละเอียดความสัมพันธ์ ต่างก็ถูกนำไปใช้กับซอฟต์แวร์ที่คัดกรองประวัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อส่งโฆษณาเกี่ยวกับการเมืองที่พวกเขาคิดเอาเองว่าผู้ใช้รายนั้นๆ จะสนใจ
 
อย่างไรก็ตามอเล็กซานดร์ โคแกน บุคคลที่เคยสร้างโปรแกรมเก็บข้อมูลดังกล่าวเคยให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีในเขิงตัดพ้อว่าเขารู้สึกเหมือนตกเป็นแพะรับบาปทั้งจากเฟสบุ๊คและจากเคมบริดจ์อนาไลติกา ตัวเขาเองมองว่าตัวเองทำในสิ่งที่ปกติธรรมดาทั่วไป ส่วนอเล็กซานเดอร์ นิกซ์ ซีอีโอของเคมบริดจ์อนาไลติกาก็เคยถูกสั่งพักงานหลังจากให้สัมภาษณ์ในทำนองว่าพวกเขามีส่วนในการทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง นิกซ์ยังเคยเปิดเผยอีกว่าพวกเขามีระบบที่ทำให้อีเมลล์ของบริษัททำลายตัวเองทิ้งได้โดยไม่มีหลักฐานเหลือไว้
 
อย่างไรก็ตามถึงแม้เคมบริดจ์อนาไลติกาจะปิดตัวลงไปแล้ว แต่เดอะการ์เดียนก็รายงานว่ามีทีมที่อยู่เบื้องหลังกำลังก่อตั้งบริษัทใหม่ที่เรียกว่า Emerdata ซึ่งในรายชื่อผู้บริหารมีนิกซ์เป็นผู้อำนวยการและมีฝ่ายบริหารคนอื่นๆ จากเอสซีแอลรวมไปด้วย
 
ดาเมียน คอลลินส์ ประธานกรรมการรัฐสภาอังกฤษที่เป็นผู้ตรวจสอบกรณีการปล่อยข้อมูลส่วนบุคคลในครั้งนี้แสดงความเป็นห่วงว่าการปิดบริษัทตัวเองของเคมบริดจ์อนาไลติกาอาจจะเป็นการสร้างอุปสรรคให้กับการสืบสวนสอบสวนบริษัทของพวกเขาเพระามีการลบประวัติของตัวเองจากการปิดบริษัท
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Cambridge Analytica closing after Facebook data harvesting scandal, The Guardian, 02-05-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น