โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ตร. เชิญตัววงพั๊งก์ไป สน. ขอตรวจฉี่หลังร้องเพลงด่า และเผารูปประยุทธ์

Posted: 12 May 2018 11:07 AM PDT

วงดนตรีแนวพั๊งก์ ถูกตำรวจเชิญตัวไป สน. เพื่อสอบประวัติหลังจัดงานคอนเสิร์ต "จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สัตว์" ร้องเพลงด่า และเผารูปประยุทธ์ ตอนแรกขอตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด นักดนตรียินดีให้ตรวจแต่ขอรอทนายความก่อน สุดท้ายตำรวจไม่ตรวจปล่อยตัวก่อน

ภาพจากสำนักข่าวหมียักษ์

12 พ.ค. 2561 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 4 แยกคอกวัว ตั้งแต่ช่วงเย็นวันนี้ได้มีการจัดงานคอนเสิร์ต "จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สัตว์" ซึ่งเป็นงสนดนตรีแนวพั๊งก์ โดยบรรยากาศภายในงานดำเนินไปด้วยดีโดยตลอด ท่ามกลางการกระจายกำลังเฝ้าจับตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ

'จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์' งานดนตรีเด็กพังก์หัวขบถ เมื่อเราต่างเป็นผลิตผลของการเมือง

'จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์' เปลี่ยนชื่องานเป็น 'จะ4ปีแล้วนะ' หลังผู้ดูแลสถานที่จัดงานขอ

 

ภาพจากสำนักข่าวหมียักษ์

ต่อมาเวลา 23.00 น. หลังจากวงดนตรีที่ชื่อว่า "บัดโซะ" เล่นจบนักดนตรี 3 คน หนึ่งในนั้นคือ "เกื้อ เพียวพั๊งก์" และแฟนเพลงอีก 4 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เชิญตัวไปยัง สน. เนื่องจากระหว่างที่เล่นดรตรี มีการใช้ถ้อยคพที่รุนแรงต่อนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา   และมีการเผาโปสเตอร์ที่มีภาพของประยุทธ์ด้วย จึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องนำตัวมาเพื่อสอบประวัติไว้ก่อน โดยตอนแรกทางตำรวจจะขอการตรวจปัสสวะและสารเสพติด โดยทางกลุ่มนักดนตรีได้แย้งไปว่า ไม่ปฏิเสธกระบวนการนี้ แต่จะยังไม่เข้าสู่กระบวนการจนกว่าทนายจะมาถึง ตำรวจจึงตัดสินใจแค่สอบประวัติโดยละเอียด และปล่อยตัวกลับทันที

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย จัดขบวนหุ้นล้อนายทุน ในงานบุญบั้งไฟประจำปี

Posted: 12 May 2018 05:36 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย จัดขบวนหุ้นล้อนายทุน ในงานบุญบั้งไฟประจำปี เผยต้องการสื่อสารสาธารณว่า ไม่อยากได้โรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 เวลาประมาณ 15.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กว่า 100 คน ได้จัดขบวนหุ่น ล้อโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในงานประเพณีบุญบั้งไฟประจำปีของตำบลเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

มิตร มรรคผล  กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง หนึ่งในทีมงานที่ร่วมกันออกแบบหุ่นล้อ กล่าวว่า มีทีมงานทั้งหมดที่ช่วยกันทำหุ่นล้อเลียนทั้งหมด 10 กว่าคน เราช่วยกันคิดและออกแบบหุ่นซึ่งมีความสูงประมาณ 3 เมตร โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชนของเราคือไม้ไผ่ในการนำมาสานแต่ละชิ้นอย่างปราณีตแล้วนำมาประกอบเป็นหุ่น หลังจากนั้นเราจึงค่อยตกแต่งและติดข้อความต่างๆ ที่สามารถจะสื่อสารกับสาธารณะได้ว่าเราไม่อยากได้โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา และที่สำคัญทีมงานยังได้ออกแบบโรงงานจำลองของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีปล่องควัน 3 ปล่อง และมีควันไฟลอยออกจากปล่อง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าถ้ามีโรงงานอุสาหกรรมรูปแบบก็จะเป็นประมาณนี้

ด้านมะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า ขบวนแห่ที่ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ร่วมกันจัดขบวนล้อโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างมากเนื่องจากเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ในขบวนแห่บั้งไฟประจำปีของตำบลเชียงเพ็ง ซึ่งทางกลุ่มฯ นอกเหนือที่จะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนแล้ว ทางกลุ่มก็ยังให้ความสนใจในการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนที่ชุมชนสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และในวันนี้ก็อยากจะให้ชาวบ้านในตำบลเชียงเพ็ง มีความตระหนักและตื่นรู้ในประเด็นการปกป้องทรัพยากรชุมชน การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งก็เพื่อสื่อสารให้ชาวบ้านตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยทางกลุ่มพยายามสื่อสารกับชุมชนถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

1.การแย่งชิงทรัพยากรน้ำลำเซบาย  ซึ่งจะทำให้น้ำจากลำเซบายซึ่งใช้ในการบริโภค-อุปโภค การเกษตร และอื่นๆ ถูกแย่งชิงไปแม้แต่ปัจจุบันน้ำก็ไม่มีเพียงพอในการให้ชุมชนในบางปี  

2.กระบวนการมีส่วนร่วมที่กลุ่มเรียกร้องว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่มีความเป็นธรรม

3.มีการบิดเบือนข้อมูลถือเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จะมีมติเห็นชอบ จาก คชก. แต่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมในรัศมี 5 กิโลเมตรและชุมชนที่อาศัยทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย ก็ยังไม่เชื่อถือและไม่ยอมรับในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทุกคนไม่เคยหวั่นไหวต่อกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมกลับยิ่งทำให้พี่น้องตื่นตัวคัดค้านเพิ่มมากขึ้น มีแนวทางในการต่อสู้ที่ชัดเจน

ขณะที่ สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษาลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง  กล่าวว่า การจัดขบวนหุ่นล้อโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในงานแห่บั้งไฟประจำปีของตำบลเชียงเพ็ง ผมมองว่าเป็นการแสดงออกในคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างสร้างสรรค์ เท่าที่ผมสังเกตในขบวนแห่ชาวบ้านสองข้างทางให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นสิทธิของกลุ่มฯแในการแสดงออกและการให้ข้อมูลผ่านหุ่นที่มีการล้อโรงงานว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับชุมชนบ้าง ถึงแม้ว่าขั้นตอนของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จะมีมติเห็นชอบ จาก คชก. ทั้ง 2 โครงการแล้ว โดยเฉพาะทางโรงงานน้ำตาลซึ่งขั้นตอนอยู่ในการขอใบอนุญาตประกอบโรงงาน ซึ่งทางกลุ่มฯกำลังปรึกษาหารือกันว่าจะเดินกิจกรรมอะไรเพื่อให้เกิดการยับยั้งกระบวนการออกใบอนุญาตประกอบโรงงาน ให้กับโรงงานน้ำตาล เพราะชาวบ้านมองว่ากระบวนการจัดทำอีไอเอ ยังมีหลายประเด็นที่มีข้อขัดแย้งกับข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธนาธร ชูสานต่อภารกิจคณะราษฎร 3 พรรคดันยกเลิก รธน. 60

Posted: 12 May 2018 04:41 AM PDT

เก็บประเด็นเสวนางานวันปรีดี พนมยงค์ 4 พรรคการเมืองเห็นการเลือกตั้งจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย 3 พรรคการเมืองดันยกเลิก/แก้ไข/ร่างใหม่รัฐธรรมนูญ แต่ตัวแทนประชาธิปัตย์ยังเห็นว่าหากมีโอกาสก็จะแก้ แต่ไม่ใช่วาระแรก ด้านธนาธรชี้หากได้เป็นรัฐบาลจากสานต่อภารกิจคณะราษฎร เพื่อลงหลักปักฐานประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ "อภิวัฒน์สยาม 2562  ความหวังและอนาคตประเทศไทย" โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ 4 คน คือ วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ เสถียร วิริยะพรรณพงศา

การเลือกตั้งที่ (อาจ) จะเกิด จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองอย่างไร

วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่าการเลือกตั้งในปี 2562 ตามที่รัฐบาลประกาศเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนไทยหลาย 10 ล้านคนในกลุ่มคน Gen-Y.Z ที่มีโอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้งต่างก็ต้องการออกมาใช้สิทธิของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงจะมีเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในเวลามีข้อด้อย และมีกลไกต่างๆ ที่คอยควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

"การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการหักด้ามพร้าด้วยเข่า การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว หลายคนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมเองก็คิดว่ามีหลายข้อที่จะต้องแก้ ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่เราจะสามารถนำการเปลี่ยนแปลงกลับมาสู่ประเทศไทยได้อีกครั้ง" วราวุธ กล่าว

วราวุธ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ผลการเลือกตั้งในประเทศมาเลเชีย เป็นเรื่องเหนือความคาดคิด โดยประชาชนของมาเลีเซียได้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพยายามเลื่อนการเลือกตั้ง หรือพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งโดยรัฐบาลก็ตาม แต่สุดท้ายก็ได้มีล้มผู้นำรัฐบาลครั้งก่อนได้จากเสียงของประชาชน

"การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไทยนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ คนไทยกว่า 50 ล้านคนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง และหลาย 10 ล้านคนจะมีสิทธิเป็นครั้งแรก จะเป็นช่งเวลาที่ทุกคนจะต้องออกมาแสดงให้เห็นว่าก้าวต่อไปของประเทศไทยเราอยากจะให้เป็นอย่างไร มันจะเป็นจุดเริ่มตนของความเปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่จะเอามาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งที่เป็นตัวถ่วงให้กับประเทศชาติ" วราวุธ กล่าว

ด้าน รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าเบื้องต้นการเลือกตั้งต้องเป็นการได้มาซึ่งตัวแทนที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง หากได้ ส.ส. แต่ ส.ส. กลับเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจ กลุ่มเผด็จการ กลุ่มทุน การเลือกตั้งก็จะไม่มีความหมาย และประชาขนเองต้องรู้เท่าทันพรรคการเมือง และนักการเมืองด้วย

"ดิฉันมั่นใจว่าถ้ามีการเลือกตั้งปีหน้า จะมีนโยบายเก๋ไก๋สไลเดอร์ออกมาแน่นอน บางนโยบาย เป็นนโยบายที่ดีนำไปสู่ความหยั่งยืนของประเทศ แต่มาอาจจะไม่โดนใจไม่เท่ ไม่ถูกใจ บางนโยบายอาจจะดูแล้วใช่เลย เห็นชัดๆ เลยว่าจะฉันจะได้อะไร เป็นเนื้อเป็นหนัง แต่ถ้าคิดให้ดีมันอาจจะเป็นอันตรายต่อประเทศในระยะยาว ในช่วงระยะนี้มันคือโอกาสที่จะทำให้ประชาชนได้เตรียมตัวศึกษานโยบายของแต่ละพรรค ดูว่าบ้านเมืองของเราที่ผ่านมาเกิดปัญหาอะไร นโยบายที่ใช้ๆ กันมาอันนี้ที่ดีควรจะทำต่อ อันไหนที่บกพร่องใครเสนอมาฉันไม่เลือกอีกแล้ว และต้องวิเคราะห์ว่านโยบายที่จะเลือกสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านหรือไม่" รัชดา กล่าว

รัชดา กล่าวต่อว่า ประชาธิปไตยไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจด้วย ต้องนำไปสู่การยกเลิกการผูกขาดของนายทุน ของบริษัทใหญ่ๆ และต้องให้โอกาสกับประชาชนรายย่อยได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ และมีความเท่าเทียมกันในสังคม นอกจากนี้ยังมีเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไปหลังจากการเลือกตั้ง

ขณะที่ ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย เห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นการแปลงเปลี่ยนประเทศ โดยจะมีผู้สิทธิใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งคนกลุ่มนี้ยังไม่เคยได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่เพียงคนรุ่นใหม่ที่จะได้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่คนรุ่นเก่าเองก็ไม่ได้มีโอกาสเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 ก็มีความคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ

"4 ปีรัฐประหาร เราพิสูจน์ได้แล้วว่า การรัฐประหารไม่ได้ช่วยให้ประเทศ เศรษฐกิจของประเทศ และภาพรวมของประเทศดีขึ้นแต่อย่างใด สิ่งที่เราควรจะทำคือนำประเทศกลับไปสู่แนวทางประชาธิปไตย คืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน สิ่งนี้คือความสวยงามของประชาธิปไตย และการเลือกตั้งในปีหน้าอย่างนี้จะต้องไม่มีอำนาจนอกระบบมาแทรกแซงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น" ขัตติยา กล่าว

ขัตติยา กล่าวต่อว่า ปัญหาการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเสียงข้างมากเองก็ถูกตรวจสอบโดยฝ่ายค้านในรัฐสภาอยู่แล้ว แต่ที่สุดแล้วกลับกลายเป็นปัญหาเพราะความรู้สึกว่ากระบวนการตามปกคิไม่ทันใจของคนบางกลุ่ม หรือความต้องการที่จะเข้ามามีอำนาจโดยอาศัยช่วงเวลาที่วุนวาย หรือไม่ยอมปล่อยให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยระบบ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยมีปัญหา

"หากตอนนั้นคนยอมรับ และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบอย่างทุกต้อง ประชาชนก็จะเห็นเอง ตอนนี้ข่าวสารเทคโนโลยี มีการสะส้อนสื่อสารออนไลน์ได้หมด เพราะฉะนั้นให้ประชาชนได้เป็นคนตัดสินดีกว่าว่า อะไรควรจะอยู่หรืออะไรควรจะไป และอะไรคือสิ่งที่ควรเลือก และไม่ควรเลือก" ขัตติยา กล่าว

ส่วนธนาธร กล่าวถึงคุณูปการของปรีดี พนมยงค์ว่า เป็นหนึ่งในผู้นำการอภิวัฒน์ 2475 เป็นผู้นำเสรีไทย และเป็นผู้ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอีกหลายเรื่องที่ปรีดีได้ทำ รวมทั้งเป็นผู้วางรากฐานการปรองครองสมัยใหม่ในประเทศไทยไว้

"การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปแล้ว และมีความสำคัญอย่างมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ผมอ้างตามคำพูดของอาจารย์ ณัฐพล ใจจริงนะครับว่า  2475 คือสัญญาประชาคมใหม่ ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน กษัตริย์มียอำนาจสูงสุด ถ่ายโอนอำนาจสูงสุดนั้นไปสู่พลเมืองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการรองรับสิทธิและเสรีภาพที่ว่าของประชาชน สัญญาที่ว่านี้หลักใหญ่ใจความคือ กษัตริย์คืออำนาจให้กับประชาชน แต่ผ่านมา 86 ปี เรารู้กันว่าจนถึงปัจจุบันประชาชนก็ยังไม่ได้รับ ผมคิดว่านี้คือเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดให้ชัดว่าหลักการ ความเป็นพลเมืองในประเทศไทยยังไม่ได้ถูกสถาปนา หลักการที่เป็นเสาค้ำยันการอภิวัฒน์ 2475 อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายยังไม่ได้ถูกสถาปนาให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย"

ธนาธร กล่าวต่อว่า สถานะพลเมืองที่เกิดขึ้นจากการปฎิวัติ 2475 คือการยึดหลักเสรีภาพ และความเสมอภาค ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการยกสถานะตัวเองจากผู้ที่ถูกปกครองเป็นสู่การเป็นเจ้าของประเทศที่มีสิทธิและอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมในการกำหนดอนาคตของประเทศร่วมกัน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีในสังคมไทย

"การเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีจริงในปี 2562 จำเป็นจะต้องนำภาระกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ทำไม่เสร็จมาทำให้เสร็จ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดด้วยโอหัง หรือทนงตน แต่พูดด้วยความเข้าใจถึงสภาพการในปัจจุบันที่ไร้สิทธิ ไร้เสรี และไร้เสรีภาพ พูดด้วยความเข้าใจดีว่าสังคมไทยไม่มีความหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากการเลือกตั้ง 2562 มีจริง ธงที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งหน้า คือการเอาหลักหมุดหมายของการอภิวัฒน์ 2745 เอาจิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง นั่นคือ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย"

ปัญหาความเหลือมล้ำยังสูง ประชาธิปไตยทางด้านเศรษฐกิจยังไม่เกิดขึ้น จะแก้ไขกันอย่างไร

วราวุธ เห็นว่า ความเหลือมล้ำสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเมือมองไปที่สังคมเมือง และสังสังคมชนบทของประเทศไทย ฉะนั้นการให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น โอกาสในการขึ้นถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ในประเทศไทย 50 โรงเรียนที่ได้คะแนน O-NET ดีที่สุด 34 โรงเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนโรงเรียนที่เหลือกระจุกตัวอยู่ใน 9 จังหวัดเท่านั้น การเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยปัจจุบันยังมีความไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรักษาพยาบาลที่ยังมีความเหลือมล้ำในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีของไทยเองก็ยังมีปัญหาอยู่ หลายสิ่งหลายอย่างจำเป็นที่จะได้รับการแก้ไข โดยการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน

ส่วน รัชดา เริ่มต้นกล่าวว่า จากที่ผู้ดำเนินรายการระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมาหลายแล้ว มีมุมต่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เธอเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็น รัฐบาลมาหลายรอบก็จริง แต่เป็นเข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่มีวิกฤตบ้านเมืองทั้งนั้น ฉะนั้นแนวนโยบายในการบริหารประเทศในช่วงวิกฤตกับช่วงเวลาปกติมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

"ในสมัยชวน 1 เป็นช่วงที่พลเอกชวลิต ลาออก และเป็นช่วงที่มีวิกฤตการทางการเงิน ทางออกของเราในตอนนั้นคือ ต้องเอาประเทศออกจากการสูญเสียเอกราชการทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นก็ต้องรัดเข็มขัด พอมาในยุคของคุณอภิสิทธิ์ ก็เป็นยุคที่วุนวายมาตัวนายกเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอด ถูกไล่ตี มีการประท้วงชุมนุมกัน ฉะนั้นความง่ายในการบริหารประเทศมันต่างจากรัฐบาลอื่นอย่างมาก" รัชดา กล่าว

สำหรับปัญหาความเหลือมล้ำในปัจจุบันเธอเห็นว่า ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่า คนที่รวยที่สุดในประเทศไทย 50 คนแรก มีทรัพย์สินรวมกัน 5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณของประเทศไทยซึ่งปีนี้มี 2.9 ล้านล้านบาทเท่านั้น สิ่งที่เห็นคือความกระจุกตัวของทรัพย์สินในประเทศ การจะคลี่ความกระจุกตัวนี้ให้กระจายมาสู่คนชั้นกลาง และคนที่มีรายได้น้อย จะต้องทำในหลายมิติ สิ่งหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เน้นย้ำมาตลอดคือให้โอกาสคนจนได้มีที่ดินทำกิน ขณะที่การศึกษาก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเหลือมล้ำของประเทศ

ด้านขัตติยา มองว่า หากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียม จะมีส่วนสำคัญในการลดความเหลือมล้ำ เพราะหากในแต่ละพื้นที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ ก็จะโตขึ้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

"ไม่ว่าจะอยู่ในเมือง หรืออยู่ในท้องถิ่นไหน หากการคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานเข้าถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจจะตามมา และเคยคิดไหมค่ะว่าทำไมวัยรุ่นต่างจังหวัด ถึงคิดว่าตัวเองด้อยกว่าวัยรุ่นที่เดินสยาม ตรงนี้ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานไปในท้องถิ่นนั้นๆ ไปในจังหวัดนั้นๆ ให้คนเขารู้สึกว่าจังหวัดเราก็มี เขาก็จะรู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ความเหลือมล้ำตรงนี้ก็จะลดลงไป และการเข้าไปแก้ไขปัญหาตรงนี้ การที่จะรู้สภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่และสะท้อนออกไป แน่นอนว่าจะต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" ขัตติยา กล่าว

ขณะที่ ธนาธร เริ่มต้นพูดถึงปัญหาความเหลือมล้ำด้วยการยกเหตุการณ์น้ำท่วมอยุธยา สุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำ โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ปีหนึ่งจะประสบปัญหาน้ำท่วม 2-3 เดือนต่อปี และเมื่อน้ำลดสิ่งที่ประชาชนต้องเจอต่อไปคือ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบ้าน ส่วนสาเหตุที่น้ำท่วมเกิดจากการที่มีกั้นน้ำไม่ให้ไหลทะลักเข้ามาในเขตเมือง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะแทนที่จะเอาเงินไปลงทุนทำอย่างอื่น กลับต้องใช้เงินในการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังจากน้ำลง ส่วนกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำแบบนี้คือไม่โดนน้ำท่วม กลับไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย

"ในขณะที่เราบอกว่าเราจะแก้ปัญหาความเท่าเทียม ต้องให้ชัดอย่างหนึ่ง ความเท่าเทียมไม่ใช่เรื่องของบุญกรรมไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แทนเป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิทางการเมือง เรื่องจะการระบายน้ำก็ต้องมาคุยกันในพื้นที่ลุ่มน้ำตรงนั้นว่าใครจะระบายน้ำ ถ้าตกลงฉันทามติว่า ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งเดือดร้อน จากการที่น้ำไม่ระบายและต้องไปท่วมในพื้นที่ของเขา คนกลุ่มนี้ต้องได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนี่คือ เรื่องความเท่าเทียม" ธนาธร กล่าว

ธนาธร กล่าต่อไปถึงเรื่องการทำระบบการขนส่งมวลชนในจังหวัดขอนแก่นว่า มีบริษัทในเมืองขอนแก่นที่ต้องการพัฒนาระบบรางในตัวเมืองขอนแก่น ซึ่งดำเนินการมาได้หลายปีแล้ว และทุกคนต่างเชิดชูกระทำนี้เป็นโมเดิลการพัฒนาส่วนท้องถิ่นที่ดี แต่กลุ่มคนที่ทำเรื่องนี้ต้องใช้เวลา 3 ปีครึ่งเพื่อขอใบอนุญาติจากรัฐไทย เพื่อให้ทำรถไฟฟ้าในท้องถิ่นของตัวเองได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าอำนาจรัฐไทยโยงใยไปในทุกย่อมหญ้า ทรัพยากรทุกอย่างในประเทศมันถูกดึงเข้ามารวมศูนย์ที่ส่วนกลาง อำนาจการจัดสรรอนาคตของตัว ซึ่งคืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากรที่อยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง ไม่เคยไปถึงประชาชนในท้องถิ่น ไม่วาจะเป็นเรื่องหมอกควันในเชียงใหม่ หรือจะเป็นเรื่องประมงพื้นบ้านในภาคใต้ เป็นปัญหาเดียวกันทั้งคือ อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรถูกดึงมาอยู่ที่รัฐส่วนกลาง

"เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกท่านพูดเรื่องการกระจายอำนาจ ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่เราต้องเข้าใจคือ โครงสร้างที่คำยันกลุ่มอภิสิทธิ์ชน และกองทัพ ที่ทำให้สังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ทุกวันนี้มันมีอะไรบ้าง และรัฐราชการ รัฐรวมศูนย์อำนาจเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ ความเหลือมล้ำไม่เป็นเพราะโชคชะตา แต่เป็นเพราะคนที่อยู่ในพื้นที่ถูกดึงทรัพยากรออกมา โดยที่ตัวเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรนั้น" ธนาธร กล่าว

เขาระบุต่อว่า การจัดการปัญหาเรื่องความเหลือมล้ำจะไม่สามารถทำได้เลย หากไม่พูดเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน

ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีสักหนึ่งวัน อะไรคือสิ่งที่อยากจะทำมากที่สุด

วราวุธระบุว่า ถ้าได้เป็นนายกหนึ่งวัน จะตั้ง สสร. ขึ้นใหม่ โดยยกตัวอย่างเมื่อปี 2538 สมัยนั้นนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เริ่มความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของหลายฝ่าย แต่ว่าเราก็ผลักดันจนเราตั้ง สสร. ซึ่งเป็นการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากคนทุกภาคส่วน เรามีการตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ผมเชื่อว่าไม่ขายขี้หน้าอารยะประเทศแม้ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง

"วันนี้การที่ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกฎกติกาในการบริหารประเทศ เราจะต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ถ้าผมได้เป็นนายกรัฐมนตรีแค่วันเดียวสิ่งที่จะทำคือ ผมอยากตั้ง สสร. ใหม่ อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าพ่อผม แต่ก็อยากจะลองทำดูสักครั้ง" วราวุธ กล่าว

ส่วน ขัตติยา เองก็เห็นเช่นเดียวกันกับวราวุธ โดยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้อีกครั้ง จากนั้นให้มีการตั้ง สสร. ขึ้นมาใหม่เพื่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน

"อาจต้องทำประชามตินำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีรากฐานจากประชาชน จากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดย สสร. ที่มาจาการเลือกตั้ง แล้วก็มีการทำประชามติอีกครั้ง เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" ขัตติยา กล่าว

รัชดา เห็นว่าจะใช้สรรพกำลัง และบนบานศาลกล่าวในทุกบารมี ที่จะช่วยให้สิ่งที่เธออยากได้ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งคือเรื่องการกระจายอำนาจ โดยแบ่งเป็นสามส่วน ในเรื่องของตำรวจ การกระจายอำนาจจะคลอบคลุมในเรื่องของกรปฏิรูปตำรวจ บ่อน ส่วย หวย ซ่อง เป่าคดี ซื้อตำแหน่ง ข้าราชการเงินเดือนไม่พอที่จะปฏิบัติภาระกิจ เรื่องตำรวจต้องการให้หมด และเบื้องต้นต้องกระจายอำนาจจากตำรวจที่อยู่ในศูนย์กลาง ให้ไปอยู่ในระดับภูธร จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาของการบริหารงานตำรวจ

ต่อมาเธอเห็นว่า การกระจายอำนาจเรื่องที่สองคือ การกระจายอำนาจการศึกษา คนไทยอยากให้ประเทศไทยก้าวหน้า แต่ถ้าการศึกษาเด็กไทยยังสอบตก คณิต วิทย์ ทักษะ ยังสอบตก ไปไหนไม่ได้ ถ้าการเรียนยังเป็นการยัดเยียด การไปโรงเรียนไม่สร้างแรงบรรดาลใจให้เด็ก ถ้าการศึกษายังเป็นแบบนี้ประเทศไทยก็ไปไม่รอด ฉะนั้นจุดสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาคือการกระจายอำนาจให้ไปอยู่ในระดับท้องถิ่น พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชนจริงๆ

ต่อมาเธอเห็นว่า การกระจายอำนาจเรื่องที่สาม คือการกระจายอำนาจในเรื่องการปกครองในจังหวัดต่างๆ คือการเลือกตั้งผู้ว่า พร้อมระบุว่า พรรคประชาธิปไตยจริงจังเรื่องนี้มาก ท่านลองนึกดีๆ เรามี อบต. อบจ. ขึ้นมาก็เกิดขึ้นในยุคสมัยของชวน 1 ชวน 2 ต่อไปหากเธอได้มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสปกครองประเทศ จะผลักดันเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

--ตอบเพิ่มรอบสอง หลังจากฟังคำตอบจากธนาธร—

"พรรคประขาธิปัตย์โดยส่วนตัวหลายคนในพรรค โดยเฉพาะท่านหัวหน้าเองก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าในวาระเร่งด่วนถ้าเรามีอำนาจแค่ 1 วัน ดิฉันคิดว่าเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างไรเราก็ทนอยู่กับมันได้ แม้ว่ามันจะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด แต่แนวทางที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าของพรรคเราคือ อยากจะทำอะไรที่มันตอบโจทย์ปัญหาของบ้านเมืองแก้ไขปัญหาได้ รัฐธรรมนูญถ้ามีโอกาสก็ต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะหยิบเป็นวาระแรก"

ขณะที่ ธนาธร ระบุว่า ดีใจมากที่มาวันนี้และได้ยินพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทยพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 จริงๆ ใข้แก้คงไม่ถูกนักต้องใช้คำว่ายกเลิกถึงจะเหมาะสมกว่า เขากล่าวต่อว่า การมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเราเชื่อว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย เราก็ต้องเชื่อว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของราษฎรทั้งหลายเช่นกัน ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือทั้งที่มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญขัดต่อหลักการนี้ ไม่มีความเชื่อไม่มีความยึดโยงกับหลักการนี้ ว่าอำนาจเป็นของประชาชน และอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญก็เป็นของประชาชนด้วย

"รายละเอียดเดี๋ยวมาคุยกัน ผมยินดีที่มีการพูดเรื่องกระจายอำนาจ การปฏิรูปการศึกษา ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เราเห็นด้วยกันหมด ป่วยการที่จะพูดถึง อยากได้อะไรเดี๋ยวไปเขียนกันที่รัฐธรรมนูญ อยากได้อะไรไปตกลงกันเมื่อมี สสร. ที่มาจากประชาชน แต่สิ่งที่ชัดคือต้องเอาสิ่งที่เป็น อประชาธิปไตย ออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ก็ต้องให้เครดิตคุณ บรรหาร นะครับ แล้วถ้าย้อนกลับไปดูกระแสธงเขียวในเวลานั้น เราจะเห็นว่าก่อนธงเขียว ทุกคนมีเครื่องหมายคำถามตัวเบ้อเริ่มเลยในสังคมไทยว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงๆ เหรอ เพราะธงเขียวมันพูดถึงการกระจายอำนาจในสังคมไทย ก่อนจะมี พ.ร.บ.การปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาในปี 2542 แต่มันมีการรับรองไว้ก่อนในรัฐธรรมนูญ 2540 มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า ทุกคนในเวลานั้นมีคำถามว่า มันจะเกิดขึ้นได้จริงเหรอ

ปัญหาก็คือ ในรัฐธรรมนูญ 2560 มันเขียนกลไกต่างๆ ไว้เยอะมาก คุณไม่มีทางที่จะแก้มันได้เลย มีวิธีเดียวที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ได้คือต้องเอาจิตวิญญาณของธงเขียวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง คือต้องสร้างการเห็นด้วยกันทั้งสังคมว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสิ่งที่ต้องแก้เป็นสิ่งที่ต้องยกเลิก และต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน ต่อให้ได้ 400 เสียงในสภาก็แก้ไม่ได้ เงื่อนไขเดียวคือสังคมทั้งสังคมต้องเห็นร่วมกัน และผมดีใจมากที่อย่างน้อย 3 ใน 4 พรรค ที่นั่งอยู่บนเวทีวันนี้เห็นร่วมกัน ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ ใครอยากกระจายอำนาจ ใครจะยกเลิกการผูกขาด ใครอยากเอาโรงเรียน ไปไว้กับกระทรวงกรมไหนค่อยไปถกกันในรายละเอียด ไปคุยกันใน สสร." ธนาธร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟยุติการชุมนุม หลังบรรลุข้อตกลงมีการตั้งกรรมการแก้ไขปัญหา

Posted: 12 May 2018 04:31 AM PDT

'ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม' (ขปส.) หรือ 'พีมูฟ' แถลงยุติการชุมนุม หลังบรรลุข้อตกลงให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ชี้เป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติการตามแนวทางที่ตกลงร่วมกันไว้ แต่หากไม่ทำตามที่ตกลงจะยกระดับการเคลื่อนไหว

 
 
12 พ.ค. 2561 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ออกแถลงการณ์ยุติการชุมนุม โดยระบุว่านับเป็นเวลากว่า 10 วัน ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้เดินทางจากภูมิลำเนา มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร ในฐานะศูนย์กลางอำนาจรัฐ และศูนย์กลางการตัดสินใจของเรื่องราวต่างๆ ซึ่งพวกเราประสบอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
 
การเคลื่อนไหว ติดตามการแก้ไขปัญหาเริ่มดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 โดยมุ่งไปที่หน่วยงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งสิ้น 7 แห่ง โดยผลการติดตามดังกล่าว มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการ เช่น กรณีที่ต้องมีการตัดสินใจทางนโยบาย และต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ การเร่งรัดติดตามระดับพื้นที่ เป็นต้น กระทั่งนำมาสู่การประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล และมีการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งโดยภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่สามารถคาดหวังได้ว่าเรื่องราวต่างๆ จะคืบหน้าไปได้ หากมีปฏิบัติการจริง
 
วันที่ 11 พ.ค. 2561 พลเอกนัฐพล นาคพานิชย์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขานุการ กขป.5 ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่ห้องประชุมกระทรวงการคลัง โดยบรรลุข้อตกลงร่วมกันทั้งสิ้น 5 ข้อ ทั้งนี้ ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อน และการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป. 5) เพื่อเป็นกลไกในการเร่งรัด ติดตามการดำเนินงานอีกทางหนึ่งด้วย
 
วันนี้ พวกเราในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้มีการพิจารณาร่วมกัน และประเมินผลการติดตามปัญหาตลอดช่วง 10 วันที่ผ่านมา จึงมีมติร่วมกันที่จะประกาศยุติการชุมนุมในครั้งนี้ และเดินทางกลับภูมิลำเนา
 
อย่างไรก็ตาม การยุติการชุมนุมในครั้งนี้ หาใช่การยุติการติดตามการแก้ไขปัญหา หากแต่ คือจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติการตามแนวทางที่ตกลงร่วมกันไว้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย หากการดำเนินงานที่จะเป็นไปในอนาคต มีความบกพร่อง ไม่เป็นไปตามบันทึกร่วมกัน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พร้อมที่จะดำเนินการเคลื่อนไหวในคุณภาพที่ยกระดับมากขึ้น และช่วงเวลาภายหลังจากนี้ มีแต่รูปธรรมในการแก้ไขปัญหาทุกกรณีที่บรรลุข้อตกลงร่วมกันเท่านั้น จะเป็นปัจจัยชี้ขาด หรือข้อพิสูจน์ร่วมกัน
 
พวกเรา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จะคอยติดตาม และแจ้งข้อมูลข่าวสาร ต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และขอขอบพระคุณสื่อมวลชน เพื่อนมิตร แนวร่วมทุกภาคส่วนที่คอยให้กำลังใจ และสนับสนุนพวกเราตลอดมา และหากการแก้ไขปัญหาไม่มีข้อยุติ เราจะได้พบกันอีกครั้ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยนอกเรื่องการเมืองกับ ‘Prakammanu’ เพจดังทะลุแสนแชร์วาดการ์ตูนล้อการเมือง

Posted: 12 May 2018 02:42 AM PDT

คุยกับแอดมินเพจ 'Prakammanu' เพจที่มีคนแชร์โพสต์เกินแสน กับรูปวาดล้อการเมืองไทยผสมกับหนังอเวนเจอร์ภาคสามที่ลายเส้นประณีตสวยคม แม้เขาจะบอกว่าไม่รู้ลึกเรื่องการเมืองและเพจก็นำเสนอเรื่องอื่นด้วย แต่เขาคิดว่า "เรื่องการเมืองจะเป็นเรื่องที่คนพูดถึงบ่อยๆ มีเรื่องราวแปลกๆ ที่สามารถเอามาเป็นวัตถุดิบได้เรื่อยๆ" ยันเดินหน้าวาดพาร์ทสามต่อ

ต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา 'Prakammanu' อาจจะเป็นเพจเฟซบุ๊คที่หลายคนเห็นผ่านตา หลายคนอาจหัวเราะแล้วแชร์อัลบั้มรูปวาดล้อเลียนการเมืองไทยผสมกับหนังอเวนเจอร์ภาคสามที่ลายเส้นประณีตสวยคม เปิดเรื่องด้วยปมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างเผ็ดร้อนอย่างเรื่องบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ แล้วยกทัพเหล่าคนดังทางการเมืองและทางมีมในอินเตอร์เน็ตที่แปรสภาพมาเป็นตัวละครในหนังอเวนเจอร์อย่างแนบเนียน เช่น บิ๊กตู่ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) บิ๊กป้อม (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เสธ.ไก่อู (พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด) สศจ. (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ธัมมี่ (พระธัมมชโย) เนเน่ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) ส่งผลให้โพสต์นั้นมียอดแชร์ถล่มทลายเป็นแสนโพสต์ในไม่กี่วัน

'Prakammanu' หรือชื่อภาษาไทยว่า 'ประกัมมนู' มีเจ้าของเพจเพียงหนึ่งเดียวคือมือกราฟฟิควัย 26 ปีแห่งบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง เขายืนยันกับประชาไทว่าไม่ได้รู้ลึกเรื่องการเมือง และเพจเองก็นำเสนอมุกตลกอื่นนอกจากเรื่องการเมือง เพียงแต่เรื่องการเมืองนั้นผ่านตาเขาแทบทุกวันในฟีดเฟซบุ๊ค และหลายเพจก็นำมาล้อ มาแซวกันอย่างขำขันเป็นเรื่องปกติ จนเขาเองก็อยากนำมาทำให้ตลกในมุมของเขาบ้าง และแม้เขาจะไม่ได้ตามเรื่องการเมืองตลอดเวลา แต่เมื่อจะนำมาวาดเขาก็จำเป็นต้องศึกษาและถามผู้รู้เพิ่มเติม เพื่อไม่ให้วาดออกมาแบบมั่วๆ เขายืนยันว่าไม่อยากพูดถึงเรื่องการเมือง เราจึงจะคุยกับเขาในเรื่องอื่นนอกเหนือจากนั้น

แอดมินเพจ 'Prakammanu'

ชื่อเพจมาได้ไง?

ประกัมมนู มาจากนามสกุล มันมาจากตอนเด็กๆ ที่เราวาดรูปแล้วอยากมีนามปากกา เรานึกไม่ออกก็เลยใช้นามสกุลตัวเองเป็นนามปากกา ซึ่งตอนนี้เริ่มอยากเปลี่ยนชื่อแล้ว เพราะกลายเป็นว่าเราตามหาตัวง่ายมากๆ เสิร์ชจากนามสกุลก็เจอเลย (หัวเราะ)

กระแสตอบรับจากการ์ตูนล้ออเวนเจอร์ทั้งพาร์ทแรกพาร์ทสอง (หรือในชื่อ 'วิกฤตประเทศไทย') ดีขนาดนี้รู้สึกยังไงบ้าง?

พาร์ทสองตอนแรกคนแชร์เป็นหมื่นเราก็ดีใจมากแล้ว แต่มันกลายเป็นแสนแชร์ เราก็รู้สึกมันไปไกลขนาดนั้นได้ไง เราทำเพจมาประมาณ 5-6 ปี คนไลก์ไม่เกินหนึ่งแสนคน แต่พอโพสต์นั้นออกไปโพสต์เดียวยอดไลก์เพิ่มมาอีกแสนคน ใจหนึ่งก็ดีใจนะ แต่อีกใจก็กังวล

มีคนชอบมาแซวว่า พี่ยังอยู่อีกเหรอวะ พี่ยังไม่โดนจับอีกเหรอวะ พ่อเราถึงกับโทรมาว่า "ระวังให้ดีเหอะมึง" ลูกพี่ลูกน้องก็โทรมาบอกว่า "โดนแน่ อยากกินอะไร ข้าวผัดไหม โอเลี้ยงไหม" เอาจริงพอทุกคนพูดแบบนี้เราเริ่มกังวล แต่พอมันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเราก็เลยเลิกกังวลไปแล้ว กำลังเดินหน้าพาร์ทสามอยู่ เพราะพาร์ทสองมันยังไม่จบ คิดอยู่ว่ามันจะพีคเท่าอันเดิมไหม แต่ถึงไม่เท่าก็ไม่เป็นไร เพราะผมก็อยากทำให้มันสุดของมัน

เราทำงานอยู่อเจนซี่โฆษณา เขาก็จะบอกกันว่าแสนแชร์มันไม่ใช่ง่ายๆ บูสท์โพสต์ก็ยังอาจจะไม่ได้ แสดงว่ากระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้มันคงมาจริงๆ ทั้งหนังที่เราเอามาใช้ และเหตุการณ์จริงที่หยิบมา

แล้วก็มีคนทักมาหลังไมค์ถามว่าคุณสีเสื้อไหน ที่คุณวาดมันก็ดีนะแต่มันบิดเบือนความจริง เราก็ตอบไปว่าผมไม่มีสีเสื้อไหนครับ แค่อยากแซวเฉยๆ สุดท้ายแล้วเรื่องนี้มันคือเรื่องที่แต่งขึ้น ผมไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนความจริง ก็ขอโทษด้วย เราก็พูดกันดีหลังไมค์ (ในแชท) แต่ในโพสต์ก็มีคอมเมนต์ดุเดือดมากๆ

เป็นแบบนี้แล้วยังรู้สึกคุ้มที่จะเล่นไหม?

ส่วนตัวผมมองว่ามุกมันฮา ผมไม่ได้คิดเรื่องความสมจริงสมจังของเนื้อหา แต่ผมคิดว่าเราใส่มุกนี้แม่งฮาแน่นอน ซึ่งมันฮาจริงๆ คุ้มไหมผมคิดว่าก็คุ้ม แต่ครั้งหน้าแค่ต้องระวังเรื่องบางเรื่อง คนชอบมันก็มี คนเกลียดมันก็มี ตอนนี้ก็เริ่มปลงๆ เรารู้สึกว่าเราล้อขำๆ เราไม่ได้ล้อแบบปลุกระดมให้คนลุกขึ้นมาต่อต้าน

กดดันไหม?

แรกๆ ไม่กดดัน ตอนนี้เริ่มกดดันแล้ว มันเริ่มมีความคาดหวังจากทุกคนเยอะ เริ่มมีคนบอกว่าเอาตัวนั้นเข้ามาสิ ตัวนี้เข้ามาสิ หลังจากพาร์ทสามถ้าจะมีอีกก็คงจะไม่ใช่เกี่ยวกับอเวนเจอร์ภาคสามแล้ว ก็อาจจะต้องรอหนังเรื่องใหม่ หรืออเวนเจอร์สี่เข้า ก็อาจจะผลัดไปเล่นมุกตลกในชีวิตประจำวันอีก จริงๆ การเมืองในเพจเรามันก็มาไม่บ่อย เราเพิ่งมาทำในช่วงหลัง เพราะเวลาเราตัน เรื่องการเมืองจะเป็นเรื่องที่คนพูดถึงบ่อยๆ มีเรื่องราวแปลกๆ ที่สามารถเอามาเป็นวัตถุดิบได้เรื่อยๆ

คุณคิดว่าอารมณ์ขันมีพลังไหม?

(พยักหน้า) ใช่ สมัยผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเรามักเป็นตัวล้อเพื่อน แกล้งเพื่อน ทำให้เกิดเสียงหัวเราะขึ้นในกลุ่ม แล้วเราก็รู้สึกดีเอง แล้วยิ่งพอเราไปทำในเพจแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ของคนหัวเราะไปกับเรา มันอาจจะมีคนที่เครียดจากงาน ทะเลาะกับแฟนมา แต่ถ้าเขามาเห็นมุกเราแล้วเขาหัวเราะ เรารู้สึกชอบความรู้สึกนี้  และไม่เคยคิดว่าเพจเราจะมีคนมากดไลก์เยอะขนาดนี้ ก่อนหน้านี้เราก็วาดเรื่องอื่นซึ่งคนก็ชอบเกินคาดเหมือนกัน แน่นอนว่ายอดไลก์ที่เพิ่มขึ้นแสนหนึ่งมันมาจากที่เราวาดเกี่ยวกับการเมือง แต่จุดมุ่งหมายการทำเพจคือเราไม่อยากทำเพจซีเรียส อยากทำเพจขำๆ เล่าเรื่องฮาๆ

ฝึกวาดรูปมานานรึยัง?

ชอบวาดมาตั้งแต่เด็ก แต่ก่อนจะอ่านการ์ตูนแล้วก็จะเปิดการ์ตูนพวกนี้วาดรูปตาม แต่ผมอ่านการ์ตูนไม่เยอะ ที่อ่านก็อย่างเช่น วันพีช เดธโน้ต ทเวนตี้เซนจูรี่บอย ที่ชอบที่สุดคงเป็นเดธโน้ต ตอนเด็กๆ เราพยายามจะก็อปลายเส้นเดธโน้ตมาเป็นลายเส้นของตัวเราเอง แต่ก็รู้สึกว่ามันเกินความสามารถเรา โตขึ้นมาเราเจอนักเขียนการ์ตูนไทยคนหนึ่งชื่อ 'เดอะดวง' เริ่มตามผลงานเขา เขาเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราหันมาวาดการ์ตูนอย่างจริงจัง รู้สึกว่างานเขามันดี มีโอกาสได้ไปเจอเขาตอนเข้าแคมป์ฝึกวาดการ์ตูนตอนม. 4 ด้วย

หลังจากนั้นเราก็ฝึกวาดจากงานของเดอะดวง ตอนนั้นมีความคิดว่ายิ่งเราวาดเหมือนเขาเท่าไหร่ยิ่งเก่งเท่านั้น วาดให้เพื่อนดูเพื่อนก็บอกว่าเหมือนเดอะดวงเลย เรารู้สึกภูมิใจ 'เราเป็นเงาของเดอะดวงเลยนะเว้ย' หลังๆ รู้สึกว่า 'เออ นี่เราเป็นเงานี่หว่า' เราเลยรู้สึกต้องฉีกออกมา เราได้ดูงานเยอะขึ้น ที่ประทับใจคืองานของศิลปินเกาหลีชื่อ 'คิมจุงกิ' ที่ผมรู้สึกว่าเขาไม่เหมือนใครและสกิลเขามันสุดจริงๆ ปกติเวลาเราจะวาดอะไรเราต้องร่างก่อนแต่เขาไม่ต้องร่างเลย เหมือนภาพทุกอย่างอยู่ในหัว เราซื้ออาร์ตเวิร์คเขามาหลายเล่ม แล้วก็เข้าเว็บไซต์ Pinterest หาพวกงาน illustration ดูเยอะๆ ฝึกมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ก็ไม่มีใครทักว่างานเราเหมือนเดอะดวงแล้ว  

ที่มาของเพจ?

ย้อนไปสมัยปี 2012 เราวาดรูปแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊คตัวเอง เพื่อนๆ ก็ยุว่าเปิดเพจไหม จะได้เอาผลงานไปลง เราก็เลยลองเปิด ตอนแรกๆ ที่เปิดเพจจะวาดรูปแนวโชว์สกิล วาดสวยๆ งามๆ แต่ตอนหลังเริ่มรู้สึกว่าวาดโชว์ไปแล้วมันยังไงต่อ คนดูแล้วก็คิดว่าสวยดี แล้วก็ผ่านไป เราเลยคิดว่าต้องเอาอะไรมาใส่ มาเล่าเรื่องหน่อย คนถึงจะชอบกัน เลยเริ่มมาทำเป็นการ์ตูนแก๊กที่เล่าเรื่องทีละแผ่นๆ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว แล้วก็ลองทำมาเรื่อยๆ

ความตลกมาได้ไง?

บอกไม่ได้ว่ามันมาได้ไง รู้สึกว่าเราก็เป็นคนร่าเริงคนหนึ่ง แล้วเราก็มักจะเอามุกตลกที่เล่นๆ กันกับเพื่อนมาใช้ในงานบ่อยๆ แต่เมื่อก่อนเราจะวาดมุกตลกบ้าง เศร้าบ้าง ผสมกันไปแล้วแต่ว่าเราอยู่ในอารมณ์แบบไหน แต่บางทีเราอยู่ในช่วงอารมณ์เศร้าเราก็จะวาดแต่เรื่องเศร้าๆ จนมีอยู่วันหนึ่งมีลูกเพจมาบอกว่าช่วงนี้เศร้าจังเลยเนอะ เราก็รู้สึกสะอึกขึ้นมาว่าการวาดให้คนอินเรื่องเศร้าไปกับเรามันแย่เนอะ เราอยากให้พลังด้านบวกกับคนดูมากกว่า

หลังๆ ก็เลิกทำเรื่องเศร้า เน้นเรื่องตลกอย่างเดียวเลย ซึ่งบางทีมันก็ยากที่จะคิดเรื่องตลก ทำให้คนตลกไปกับเรา บางทีหยุดไปเกือบเดือนเพราะไม่รู้จะวาดอะไรให้มันตลก แต่เวลามันจะมามันก็มา เราชอบดูหนังมากๆ บางทีเราจับหนังที่เราไปดูมาผสมผสานกับโลกแห่งความเป็นจริง มันเข้ากันพอดีเป๊ะเลยว่ะ มันเลยกลายเป็นมุกตลกอีกมุกหนึ่งขึ้นมา

มุกตลกเกี่ยวกับหนังเคยทำแล้วตอนที่ไปดูสตาร์วอร์มาแล้วเอามาวาดล้อธรรมกาย เวลาไปดูหนังมันอิน แล้วอยากจะวาด พอมาเรื่องอเวนเจอร์ก็คิดอยู่ว่าต้องวาดอีก ตอนแรกก็ไม่รู้จะเอาเรื่องอะไรมาผสม แต่พอคิดไปคิดมา การเมืองมันก็เข้ากับเรื่องนี้นี่หว่า ตอนโพสต์พาร์ทหนึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี เนติวิทย์เขาก็ทักมาขอรูปไปแชร์ เราก็ดีใจมากเลยมีเซเลปขอไปแชร์ด้วย ตอนแรกกะทำแค่พาร์ทหนึ่งแล้วจบ แต่พอคนบอกว่ามันต้องมีต่อแล้วพี่ เราก็เอาวะ ต่อพาร์ทสอง

ซึ่งที่ผ่านมาเราก็แซวทุกกลุ่มการเมือง อะไรที่มันเป็นข่าวในตอนนั้น เวลามันหมดมุกแบบไม่รู้จะวาดอะไรเลยจริงๆ ผมก็เปิดดูข่าวว่าอะไรที่มันเป็นกระแสในตอนนั้น มันก็จะมีบางช่วงที่เรารู้ว่าต้องเอาข่าวนี้มาเล่น แต่ก็มีบางอันที่ไม่รู้จะเล่นยังไง ไม่รู้จะร้อยเรียงยังไงก็ปล่อยผ่านไป อย่างเรื่องเสือดำ ก็ไม่ได้เล่น เพราะคนอื่นก็เล่นกันหมดแล้ว

วิธีการร้อยเรื่อง?

เราจะคิดต้น กลาง จบ ไว้ก่อน แต่ระหว่างทางเราจะเอาอะไรไปใส่ค่อยคิดอีกที บางทีเราอาบน้ำ ไปเดินห้าง เรานึกอะไรออก หรือบางทีเราคุยกับเพื่อนแล้วมันตลก เรารีบจด รีบแคปไว้เลยเป็นมุก แล้วพอเราจะวาดเราก็มาเปิดดูว่าเราจะเอามุกนี้ใส่เข้าไปในช่วงไหน

อย่างพาร์ทสองเราคิดต้น กลาง จบ แล้วก็คิดไปทำไประหว่างทางด้วย ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ต้องตามหนังเป๊ะๆ แต่เราจะสามารถฉีกได้แค่ไหน พลังของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องตามหนัง แต่เอาชีวิตจริงที่เขามีประเด็นอะไรกันมาวิเคราะห์แล้วดัดแปลงว่าคนนี้เหมาะกับพลังแบบนี้ มันมีทั้งความเรียลและความไม่เรียลอยู่ด้วย

เอาเวลาไหนไปทำ?

พาร์ทหนึ่งทำไม่นานเพราะมี 20 กว่ารูป แต่พาร์ทสองมี 70 รูป ก็ทำระหว่างหลังเลิกงาน ทำอยู่อาทิตย์หนึ่ง ตั้งแต่ประมาณห้าทุ่มเที่ยงคืนจนถึงตีสี่ แล้วก็ตื่นสิบโมงมาทำงาน วันสุดท้ายเราทำถึงหกโมงเช้า เพราะอยากปล่อยให้ทันเวลาที่ตั้งไว้ พาร์ทหนึ่งกับสองเลยปล่อยห่างกันอาทิตย์หนึ่งพอดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: พฤษภาคมตามหาความมั่นคงของราษฎร

Posted: 12 May 2018 02:29 AM PDT

 


เมื่อนิ้วชี้ที่ไกกระดิก ก็พลิกผัน     ประชาพลันร่วงผล็อยเหมือนด้อยค่า

ความมั่นคงของชนชั้นสุดพรรณา     เหนือผักปลารากหญ้าประชาชน

มิใช่คิดติดยึด เพียงพฤษภาคม     ระลึกปมปืนที่ปังดังห่าฝน

เครือข่ายยิงมาสิงสู่สั่งผู้คน     รัฐมนตรีกี่ตำแหน่งแฝงองค์กร


น้ำตาคนปนเลือดเชือดชีวิต     ถนนสิทธิ์เสรีที่หลอกหลอน

สู้สู่เสียงส่วนใหญ่ชาติ ราษฎร     กี่กองฟอนเสียสละเหลือระอา

สามนิ้วชู ชี้,กลาง,นาง ทางนี้     ไม่เคยชี้ให้ใครตาย หายจากหล้า

เสรีภาพ เสมอภาครากชีวา     กติกาพื้นฐานงานของเรา ?


พฤษภามาทุกปีที่หมองหม่น     ในวังวนแห่งหวังความหลังเศร้า

ท้องฟ้าปี 53 งำเงื้อมเงา     เฝ้าคอยเขาขึ้นศาล พาลต้องแพ้

ให้นิ้วนางนำทางไปไม่ยอกย้อน     ภราดรขั้นตอนท้ายจึงหายแผล

นิ้วชี้ที่ลั่นไกใส่ดวงแด     ควรถ่องแท้ยุติธรรมนำพี่น้อง


มองใบหน้าประชาเห็นว่าเป็นเป้า     เพียงแค่เราคิดต่างช่างเศร้าหมอง

กองกำลังใครสั่งได้ใช้ปกครอง     ไม่ปกป้องน้องพี่ ภาษีเรา?

ความมั่นคงของชาติลืมราษฎร     เหนื่อยอ่อนถอนใจในสร้อยเศร้า

่ความมั่นคงของคหบดีชีวิตเขา     คือเงื้อมเงาคลุมสังคมอมทุกข์เอย


                                           

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ขมขื่น

Posted: 12 May 2018 02:22 AM PDT


โรงเรียนใกล้เปิดเทอม
พ่อแบกกระสอบข้าวไปขาย
กำเงินกลับมาด้วยเหงื่อ

พ่อเอาน้ำตาจิ้มแจ่ว
แม่ร้องไห้จับหวดนิ่งข้าว
พรุ่งนี้ฉันไม่ได้ไปเรียน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนบุรีรัมย์' เดินขบวนเรียกร้อง 'หยุดดูถูก' ว่าถูกเกณฑ์ไปรับ 'ประยุทธ์'

Posted: 12 May 2018 02:02 AM PDT

ประชาชนจากหลายตำบลใน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กว่า 100 คน เดินขบวนถือป้ายที่มีข้อความว่า "หยุด..ดูถูกประชาชนชาวบุรีรัมย์" หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการเกณ์ชาวบ้านไปมาร่วมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 
 
 
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่าตัวแทนประชาชนจากหลายหมู่บ้าน ตำบล ใน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กว่า 100 คน ได้รวมตัวกันแสดงพลังตอบโต้และปกป้องศักดิ์ศรีคนบุรีรัมย์  โดยการถือป้ายที่มีข้อความว่า "หยุด..ดูถูกประชาชนชาวบุรีรัมย์" เดินจากบริเวณศาลาริมลำน้ำมูล ในเขตเทศบาลตำบลสตึก ไปยังหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก พร้อมตะโกนคำว่า "ชาวบุรีรัมย์ สู้สู้" ไปตลอดทาง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรักความสามัคคีและเจตนารมณ์ของคนบุรีรัมย์ หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการเกณ์ชาวบ้านไปมาร่วมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ที่เดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 3/2561 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7-8 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจุดที่สนามช้างอารีน่า ซึ่งมีคนมารอต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ จนแน่นเต็มสนามว่าเป็นการเกณฑ์คนมาหมู่บ้านละ 30 คน นั้นไม่เป็นความจริง ทุกคนต่างมาด้วยความตั้งใจไม่ได้มีใครบังคับ มาต้อนรับในฐานะเป็นเจ้าบ้านที่ดีในนามประชาชนคนบุรีรัมย์ แต่กลับมีคนที่ไม่หวังดีไปโจมตีกล่าวหาทั้งที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้น จึงได้ร่วมกันออกมาแสดงพลังเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีคนบุรีรัมย์ พร้อมเรียกร้องให้หยุดการกระทำดังกล่าวด้วย
 
นายพงศ์ศักดิ์  มีสิทธิ์ และ น.ส.สายเพชร   พาเจริญ  ในฐานตัวแทนประชาชนชาว อ.สตึก กล่าวว่าจากกรณีที่มีนักการเมืองบางคนออกมากล่าวหาว่า คนบุรีรัมย์ ถูกเกณฑ์ให้ไปร่วมต้อนรับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่มาประชุม ครม.สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7-8 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นคนบุรีรัมย์และทำให้สังคมเข้าใจผิด จึงได้ร่วมกันออกมาแสดงพลังให้ทุกคนได้รับรู้ว่าประชาชนที่ไปร่วมต้อนรับนายกฯ ต่างไปด้วยใจไม่ได้ถูกเกณฑ์ไปอย่างที่ถูกกล่าวหา  
 
"ทุกคนไปต้อนรับขับสู้ในฐานะเป็นเจ้าบ้านที่ดีตามธรรมเนียมประเพณีไทย ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาช้านาน และไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ หรือเดินทางไปจังหวัดไหน ก็เชื่อว่าประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ก็ต้องต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี  เหมือนกับประชาชนชาว จ.บุรีรัมย์ เช่นกันจึงอยากวิงวอนให้บุคคลที่ไม่หวังดีหยุดออกมากล่าวหา หรือดูหมิ่นคนบุรีรัมย์"
 
ด้านนายวรชาติ คุ้มภิรา ปลัดอำเภอ หัวหน้าฝ่ายอำนวยความเป็นธรรม อ.สตึก ได้กล่าวภายหลังเป็นตัวแทนมาพบปะและรับเรื่องถึงเจตนารมณ์ของชาวบ้านที่ร่วมกันออกมาแสดงพลังในครั้งนี้ ว่าในนามของส่วนราชการมีก็เข้าใจในความรู้สึกของประชาชนคนบุรีรัมย์ ที่แสดงให้เห็นถึงความรักความสามัคคี ในการไปร่วมต้อนรับบุคคลต่างๆ ที่เดินทางมาเยือน จ.บุรีรัมย์ ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเจ้าบ้านที่ดีที่จะต้องไปต้อนรับขับสู้และดูแลแขกผู้มาเยือนเป็นอย่างดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ขอขอบคุณประชาชนชาว อ.สตึก  ที่ได้ร่วมกันออกมาแสดงพลัง เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ถึงเจตนาที่แท้จริงซึ่งก็จะได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบตามขั้นตอนต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสำรวจระบุแอร์โฮสเตสอเมริกัน 68% เคยถูกคุกคามทางเพศ

Posted: 11 May 2018 11:09 PM PDT

ผลสำรวจองค์กรสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับผู้โดยสารบนเครื่องบินในสหรัฐฯ พบร้อยละ 68 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในระหว่างการให้บริการบนเครื่องบิน

<--break- />

ที่มาภาพประกอบ: afacwa.org

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา สมาคมพนักงานต้อนรับผู้โดยสารบนเครื่องบิน [Association of Flight Attendants-CWA (AFA-CWA)] ซึ่งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยผลสำรวจ Survey Reveals Widespread Harassment of Flight Attendants ซึ่งได้ทำการสำรวจความเห็นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 3,500 คน จากสายการบินสัญชาติอเมริกัน 29 แห่ง ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-26 มี.ค. 2561 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 68 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในระหว่างการให้บริการบนเครื่องบิน

ร้อยละ 35 ระบุว่ามีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยวาจา (การพูดจาลามก หรือแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสม) จากผู้โดยสารในรอบปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 68 ของผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดในรอบปีที่ผ่านมา ถูกล่วงละเมิดสามครั้งหรือมากกว่านั้น

ร้อยละ 18 ระบุว่ามีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางกาย (ถูกจับต้องร่างกาย ที่หน้าออก บั้นท้าย และเป้า มีทั้งการดึง จับ ลูบคลำ นวดคลึง ลูบไล้ หรือแม้กระทั่งตบตี) จากผู้โดยสารในรอบปีที่ผ่านมา โดยมากกว่าร้อยละ 40 ถูกคุกคามทางร่างกายสามครั้งหรือมากกว่านั้น

แต่กระนั้นผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่าพวกเธอยังมองไม่เห็นถึงความพยายามของสายการบินต้นสังกัดที่จะแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และมีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่เคยรายงานว่าถูกคุกคามทางเพศระหว่างการทำงานต่อต้น

AFA เรียกร้องให้อุตสาหกรรมการบินของสหรัฐฯ หาวิธีการต่อสู้กับการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และควรตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการบิน เพราะนอกเหนือจากผลกระทบที่ส่งผลต่อพนักงานต้อนรับที่ถูกกระทำแล้ว การคุกคามดังกล่าวยังมีผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะทำให้บั่นทอนความมั่นใจของพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

ซาราห์ เนลสัน ประธาน AFA ระบุว่าถึงเวลาแล้วที่สายการบิน สหภาพแรงงาน เจ้าหน้าที่รัฐและผู้โดยสาร ควรร่วมกันหาทางยุติพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อศักดิ์ศรีและสวัสดิภาพของพนักงาน รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้เดินทางที่อยู่ในความดูแลของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

 

ที่มาเรียบเรียงจาก

Survey Reveals Widespread Harassment of Flight Attendants [Association of Flight Attendants-CWA (AFA-CWA), 10/5/2018]

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขหวัง 'มาราปาตานี' รับ อ.เจาะไอร้อง เป็น 'เซฟตี้โซน'

Posted: 11 May 2018 09:24 PM PDT

เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้หวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับทางคณะเจรจาชุดใหญ่ของมาราปาตานี ในการจัดตั้ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ได้ในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อสามารถมอบเป็นของขวัญให้แก่คนในพื้นที่ทันการฉลองเทศกาลฮารีรายอในปีนี้

 
 
 
สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่า พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่าทางคณะฯ คาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับทางคณะเจรจาชุดใหญ่ของมาราปาตานี ในการจัดตั้ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ได้ในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อสามารถมอบเป็นของขวัญให้แก่คนในพื้นที่ทันการฉลองเทศกาลฮารีรายอในปีนี้
 
ทั้งนี้เมื่อเดือน ม.ค. พลเอกอักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กล่าวว่าทางคณะทำงานทางเทคนิคของไทยและของมาราปาตานี สามารถตกลงกันได้ในเบื้องต้น ในการเลือกหนึ่งอำเภอ ที่จะตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยในภายหลังว่าจะเป็น อำเภอเจาะไอร้อง ในนราธิวาส
 
อย่างไรก็ตาม นายอาบูฮาฟิซ อัล-ฮากิม โฆษกมาราปาตานี กล่าวกับทางเบนาร์นิวส์เพียงว่าคณะเทคนิคของสองฝ่ายพบปะกันครั้งล่าสุดในวันที่ 25 เม.ย. ศกนี้ แต่ถึงปัจจุบัน ทางคณะพูดคุยชุดใหญ่ของสองฝ่าย ยังไม่ได้ประชุมเพื่อพิจารณาลงความเห็นร่วมกันในการเลือกอำเภอหนึ่งอำเภอใด
 
"ยืนยันการพูดคุยสันติสุขมีความคืบหน้ายังเดินหน้าต่อไปได้ ทางคณะสามารถได้ข้อตกลงแล้วระหว่างฝ่ายเทคนิคทั้งสองฝ่าย คือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศ" พล.ต.สิทธิ กล่าวในการให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์
 
"ในส่วนของการประกาศอย่างเป็นทางการนั้น เนื่องจากคณะพูดคุยชุดใหญ่ยังไม่มีข้อตกลงในเรื่องนี้ จึงต้องรอให้มีการกำหนดการพูดคุยในโอกาสข้างหน้าก่อน ซึ่งเมื่อไหร่ยังไม่รู้ แต่ก็หวังว่าจะเป็นเดือนรอมฎอนนี้ เพื่อสามารถประกาศให้เป็นของขวัญกับพี่น้องในพื้นที่ ช่วงเทศกาลรายอ" พล.ต.สิทธิ กล่าวเพิ่มเติม
 
สำนักงานประสานงานการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยพร้อมแล้ว
 
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นี้ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางคณะพูดคุยฯ ของไทย จะขอใช้พื้นที่ในอาคารสองแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 63 บ้านทุ่งนเรนทร์ หมู่ที่ 1 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ติดกับศูนย์เสริมสร้างสมรรถนะอิหม่ามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่ตั้งศูนย์ประสานงานในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งจะมีฝ่ายรัฐบาลหรือปาร์ตี้-เอ ฝ่ายมาราปาตานีหรือปาร์ตี้-บี และภาคประชาชนเข้าร่วมทำงาน ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่ง จะใช้เป็นที่พัก หรือเซฟเฮ้าส์ ของฝ่ายผู้เข้าร่วมพูดคุย ซึ่งทาง พล.ต.สิทธิ์ กล่าวว่าเจ้าหน้าที่เราก็ได้รับกุญแจห้องของทั้งสองส่วนไปเรียบร้อยแล้ว และอาจจะเข้าไปทำงานก่อนเดือนรอมฎอนนี้
 
"สำหรับห้องที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดปัตตานี ทางคณะฯ จะทำเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายก็จะส่งตัวแทนมาร่วมทำงาน เมื่อมีการประสานงาน หรือมีชาวบ้านติดต่อเข้ามา และจะต้องมีการพูดคุยหรือดำเนินการ และเป็นที่สำหรับพักบางครั้งชาวบ้านเดินทางมาไกลๆ ก็ไม่สามารถเดินทางกลับได้ทันที" พล.ต.สิทธิ กล่าว
 
สำหรับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในภาพใหญ่นั้น จะมีสามขั้นตอน คือ หนึ่ง การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน สอง การทำความตกลงร่วมกันในการแก้ไขข้อขัดแย้งในแต่ละเรื่อง และ สาม การดำเนินการเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนที่หนึ่ง ซึ่งจะมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เพื่อทดสอบความไว้วางใจกัน
 
ตามข้อมูลของฝ่ายไทย ในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนั้น ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งภาคประชาชน จะร่วมระดมสมองและสำรวจความคิดชาวบ้านว่า พื้นที่ปลอดภัยควรมีลักษณะอย่างไร ในขั้นตอนนี้ ใช้เวลาประมาณสามเดือน จากนั้น จะตั้งพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา และมีการติดตามสถานการณ์และประเมินผลอีกเป็นเวลาสามเดือน
 
"การพูดคุยที่มาเลเซียเราก็จะมีไปเรื่อย จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงทั้งหมด และในระหว่างที่ดำเนินการเรื่องของพื้นที่ปลอดภัย ที่ศูนย์ประสานงาน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการไปจนกว่าจะสามารถขยายพื้นที่ปลอดภัยไปให้ได้ ที่มีการเสนอในแผน" พล.ต.สิทธิ กล่าวเพิ่มเติม
 
กระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการพักโทษนักโทษสามราย
 
เมื่อก่อนหน้านี้ ฝ่ายมาราปาตานี ได้ยื่นเงื่อนไขว่า ขอให้ทางการไทยปล่อยตัวฝ่ายผู้เห็นต่างที่ถูกลงโทษจำคุกอยู่ จำนวนสามราย เพื่อให้ทั้งสามรายมาร่วมการดำเนินการพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งพล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวว่าทางการไทยกำลังดำเนินการอยู่
 
"สามคนที่ดำเนินการเรื่องขอพักโทษ ทางกระทรวงยุติธรรมก็ดูแล้ว เข้ากับหลักเกณฑ์ ตอนนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการในการพักโทษส่วนจะพักโทษอย่างไรนั้น ต้องรอดูกระบวนการอีกที" พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ในขณะที่ พล.อ.อักษรา ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของนักโทษทั้งสามราย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นักโทษสองราย มาจากนราธิวาส และอีกหนึ่งราย มาจากจังหวัดยะลา ซึ่งจะมาพักที่เซฟเฮ้าส์
 
ผลกระทบจากการเปลี่ยนรัฐบาลมาเลเซีย
 
รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามดำเนินการเจรจากับฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ ปี 2556 โดยรัฐบาลของนายนาจิบ ราซัค รับเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาให้กับทั้งสองฝ่าย
 
จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายขบวนการส่วนหนึ่ง ได้ก่อตั้งองค์กรร่มขึ้นมาชื่อว่า มาราปาตานี เพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2558 โดยการเจรจาเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
แต่เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 ประเทศมาเลเซีย ได้มีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งที่ 14 ปรากฏว่าพรรคแนวร่วมแห่งชาติของนายนาจิบ กลับพ่ายแพ้แก่พรรคแนวร่วมปากาตัน ฮารัปปัน ของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด จนทำให้เกิดข้อกังวลว่า รัฐบาลใหม่ของมาเลเซียจะสนับสนุนการเจรจาสันติสุข และดำเนินการอย่างไรกับ ดาโต๊ะซัมซามิน สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group-Peace Dialogue Process - JWG-PDP) ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวก
 
ในเรื่องนี้ พล.อ.อักษรา กล่าวว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่ามาเลเซียจะให้การสนับสนุนต่อไป
 
"การพูดคุย เป็นเรื่องของนโยบายเป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ การเปลี่ยนรัฐบาลก็ถือว่ามีผลกระทบบ้าง... ปัจจุบันโลกแสวงหาสันติภาพอยู่ แนวทางการพูดคุยถือว่าเป็นแนวทางสันติวิธี เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ย่อมดำเนินวิธีที่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้ เป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ" พล.อ.อักษรา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยไม่มีกฎหมายควบคุม 'ชาเขียว-น้ำอัดลม' ห้ามทำการตลาดชิงโชค

Posted: 11 May 2018 09:03 PM PDT

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยไม่มีกฎหมายควบคุม 'ชาเขียว-น้ำอัดลม' ห้ามทำการตลาดชิงโชค มีแต่ประกาศคุม 'เครื่องดื่มกาเฟอีน' ที่ห้ามโฆษณาชักจูงโน้มน้าวให้บริโภค 

 
 
MGR Online รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่า นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการควบคุมการชิงโชคเครื่องดื่มประเภทชาเขียว หรือน้ำอัดลม ว่าตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 แล้ว เราไม่มีการควบคุมเรื่องของการชิงโชค แต่จะเป็น พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ที่ต้องยื่นขออนุญาตกับกระทรวงมหาดไทย และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่กำกับดูแล ส่วนของ อย.จะมีเพียงประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องหลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน พ.ศ. 2555 เท่านั้น ซึ่งห้ามเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ห้ามโฆษณาโน้มน้าวชักจูงให้บริโภค
 
นพ.พูลลาภกล่าวว่า ประกาศดังกล่าวกำหนดว่า การโฆษณาดังต่อไปนี้ถือว่าเข้าข่ายเชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณของเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน โดยทางตรงหรือทางอ้อม คือ 1. โฆษณาทำให้เกิดทัศนคติว่า การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนจะทำให้เพิ่มกำลังงาน มีพลังทำงานได้มากขึ้นโดยไม่รู้จักเหนื่อย ตื่นทันที ไม่ง่วงนอน ตื่นอยู่ตลอดเวลา หรือทำให้ประสบความสำเร็จทางสังคมและทางเพศ 2. โฆษณาที่ใช้นักกีฬา ผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้แสดงแบบโฆษณา 3. โฆษณาที่ใช้ดารา นักร้อง นักแสดง ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้แสดงแบบโษณา และ 4. โฆษณาที่ชักจูงหรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภค เพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล ทั้งนี้ การโฆษณาต้องแสดงคำเตือน คือ ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม หากผิดจากนี้จะมีโทษตามมาตรา 40 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
"ส่วนชาเขียว และน้ำอัดลม แม้บางส่วนจะมีกาเฟอีน แต่ก็เป็นส่วนผสมที่น้อยมาก และไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องดื่มประเภทกาเฟอีน จึงไม่เข้าเกณฑ์ของประกาศดังกล่าว หากจะควบคุมเรื่องของการชิงโชค ควรเป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือมหาดไทยมากกว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องควบคุมเรื่องของกาเฟอีนเพราะมีเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนออกมามากขึ้น มีการผสมกาเฟอีนที่มากไปกว่าปกติ และโฆษณาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดื่ม จึงมีการควบคุมให้เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนซึ่งจำหน่ายมีส่วนผสมปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และคุมเรื่องของการโฆษณา ดื่มได้ไม่เกินวันละเท่าไร ต้องมีการออกคำเตือนให้ชัดเจน แต่ชาเขียว น้ำอัดลม มีกาเฟอีนโดยธรรมชาติ ไม่ได้เป็นการเติมเข้าไป" นพ.พูลลาภกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการควบคุมโฆษณาน้ำอัดลม หรือชาเขียว แบบเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะมีปริมาณน้ำตาลมาก ส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน นพ.พูลลาภกล่าวว่า ตอนนี้ พ.ร.บ.อาหาร ไม่มีกฎหมายที่เขียนไว้ หากจะควบคุมก็ต้องผ่านคณะกรรมการอาหารในการพิจารณา ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่าสถานการณ์มีมากน้อยแค่ไหน จำเป็นที่ต้องมีการควบคุมการโฆษณาหรือไม่ แต่เราพยายามเน้นในเชิงบวกมากกว่า ในการให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมีน้ำตาลน้อยลง ซึ่ง อย.จะโปรโมตในเรื่องเหล่านี้มากกว่า ให้เขาผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยๆ ออกมาจำนวนมากจะดีกว่า ซึ่งก็ยอมรับว่ามีเยอะขึ้น โดยขณะนี้ก็มีเครื่องดื่มที่มาขอและได้สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)" ซึ่งจะต้องผ่านเกณฑ์ โดยมีส่วนผสมของน้ำตาลน้อยกว่า 6 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร หรือ 6% ก็มีมากกว่า 400 ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแล้ว และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างชาเขียวก็มีจำนวนมากที่ได้ฉลากทางเลือกสุขภาพ
 
"ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มที่มาขอสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพนั้น จะยื่นปริมาณรวมของเครื่องดื่มอยู่ที่ประมาณ 300 มิลลิลิตร ซึ่งเมื่อน้ำตาลน้อยกว่า 6% ก็ส่งผลให้การดื่มเครื่องดื่มนั้นได้รับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ถือเป็นการส่งเสริมการบริโภคเพื่อสุขภาพ" นพ.พูลลาภกล่าว
 
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในช่วงราวปี 2546 ที่ อย.มีการออกประกาศควบคุมไม่ให้เครื่องดื่มชูกำลังมีการชิงโชค แจกของรางวัลต่างๆ เป็นการขอความร่วมมือและออกประกาศโดยที่ อย.ไม่มีฐานอำนาจ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า อย.ก็ไม่มีอำนาจที่จะไปควบคุมเรื่องของการชิงโชค ส่วนที่ว่าการโฆษณาชิงโชคเข้าข่ายเป็นการโฆษณาโน้มน้าวชักจูงตามประกาศ อย.หลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน พ.ศ. 2555 ที่ควบคุมเรื่องกาเฟอีนหรือไม่นั้น ก็เคยมีการตีความแล้วว่าค่อนข้างก้ำกึ่งและไม่ได้อยู่ในฐานอำนาจของ อย. จึงทำให้ปัจจุบันยังคงมีการโฆษณาชิงโชคกันได้ เพราะผู้ที่อนุมัติเป็นส่วนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้ง กมธ.สอบประวัติว่าที่ 7 กกต.ก่อนลงมติเดือน ก.ค.นี้ พบ 2 คน ติดคดี

Posted: 11 May 2018 08:43 PM PDT

สนช. ตั้งกรรมาธิการฯ สอบประวัติว่าที่ 7 กกต. ก่อนลงมติต้นเดือน ก.ค. พบ 2 คน ติดคดี "เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ พยายามฆ่าและยาเสพติด"

 
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานการพิจารณาสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และมีมติเห็นชอบสรรหาให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ จำนวน 17 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. จำนวน 7 คน หลังคณะกรรมการสรรหาทำการพิจารณาเสร็จสิ้น ซึ่งที่ประชุม สนช. ได้กำหนดเวลาให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน 
 
นอกจากนี้ที่ประชุม สนช. ได้เปลี่ยนผู้ทำหน้าที่ใหม่ โดยให้กรรมาธิการฯ ของ สนช. แต่ละคณะส่งตัวแทนมา 1 คน รวมทั้งตัวแทนวิป สนช. อีก 1 คน รวมเป็น 17 คน และจะเชิญเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ เพื่อตัดปัญหาข้อข้องใจเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งตามขั้นตอน และกรอบเวลา คณะกรรมาธิการฯ จะต้องตรวจสอบประวัติให้แล้วเสร็จ และส่งรายละเอียดกลับมาให้ สนช. ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. จำนวน 7 คน ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้
 
ทั้งนี้จากประวัติของผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. คณะกรรมการสรรหาได้รับแจ้งจากสำนักงานศาลยุติธรรมพบว่านายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดคดีแดง ในฐานะจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างที่คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ชี้มูลฐานใช้อำนาจในฐานะอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ถอดถอนนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ออกจากประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น เพื่อปกป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หลังพบความผิดชัดเจน โดยกรรมการ ป.ป.ช. จะตรวจสอบและชี้มูลในวันที่ 6 ส.ค. นี้
 
ส่วนนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในคดีของศาลจังหวัดสระบุรี จำนวน 12 คดี เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ พยายามฆ่าและยาเสพติด ซึ่งนายธวัชชัย ปฏิเสธต่อคณะกรรมการสรรหา ว่าไม่เคยทราบหรือได้รับแจ้งว่าถูกฟ้องร้องคดีและไม่ได้ขึ้นศาลแต่อย่างใด
 
ขณะเดียวกันที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ลงมติคัดเลือกบุคคลเพื่อได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. โดยเป็น 2 รายชื่อที่เคยลงมติคัดเลือกมาก่อนหน้านี้ คือ 1.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 2.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่ได้แก้ไขระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. พ.ศ. 2561 ใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมให้การลงมติคัดเลือกกระทำโดยเปิดเผย และให้เลขานุการศาลฎีกา เก็บรักษาบัตรลงคะแนนไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อให้ปราศจากข้อกังวลทางกฎหมาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลระบุพ่อแม่ยุคใหม่ 66.8% เชื่อส่งลูกเรียนพิเศษมีความจำเป็นมาก

Posted: 11 May 2018 08:23 PM PDT

กรุงเทพโพลระบุเปิดเทอมนี้ พ่อแม่ยุคใหม่ร้อยละ 66.8 ระบุว่าการส่งลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มมีความจำเป็นมากสำหรับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ต้องการในรัฐบาลสนับสนุนมากที่สุดคือสร้างหลักสูตรทางเลือกที่หลากหลายเหมาะกับศักยภาพของเด็กและให้ครูสอนเต็มที่จะได้ไม่ต้องให้ลูกไปเรียนพิเศษเพิ่ม

 
 
 
12 พ.ค. 2561 ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมการวางแผนในด้านการศึกษาแก่บุตรหลานสำหรับปีการศึกษาใหม่ กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "พ่อแม่ยุคใหม่วางแผนอย่างไรเมื่อใกล้เปิดเทอม" โดยเก็บข้อมูลจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานศึกษาอยู่ในระดับชั้น อนุบาล-มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสิ้น1,175 คน มีผลสำรวจดังนี้
 
เมื่อถามว่าระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันมีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.8 ระบุว่า จำเป็นมาก รองลงมาร้อยละ 20.4 ระบุว่าจำเป็นน้อย และมีเพียงร้อยละ 12.8 ระบุว่าไม่จำเป็นเลย
 
ส่วนการวางแผนเพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถให้กับลูกๆ ในเทอมใหม่นี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.8 จะเน้นด้านภาษาที่3  เช่น ภาษาจีนภาษาญี่ปุ่น รองลงมาร้อยละ 38.0 เน้นด้านกีฬา และร้อยละ 23.6 เน้นด้านดนตรี/ร้องเพลง/นาฏศิลป์
 
โดยวิธีการสนับสนุนเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถให้แก่ลูกๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.8 ให้ลูกเรียนเสริมในสิ่งที่เค้าชอบไม่บังคับหรือกำหนดให้ลูก รองลงมาร้อยละ 46.5 กำหนดให้ลูกไปเรียนเพื่อสร้างทักษะเฉพาะเช่น ดนตรี กีฬา คณิต ศิลปะ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ และร้อยละ 37.8 ให้ลูกเรียนพิเศษด้านวิชาการในวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์
 
ด้านค่าเรียนพิเศษเพื่อเสริมทักษะความสามารถให้แก่ลูกๆ ด้านต่างๆ ในปัจจุบันร้อยละ 49.9 ระบุว่า ราคาพอดีแล้ว รองลงมาร้อยละ 29.0 ระบุว่าราคาสูงแต่พอรับได้ และร้อยละ 5.3 ระบุว่า ราคาสูงมากจนไม่สามารถรับได้ 
 
สำหรับการจัดเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการศึกษาของลูกๆ ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.6 ระบุว่ามีการจัดสรรเงินไว้สำหรับการศึกษาของลูกโดยเฉพาะ รองลงมาร้อยละ 31.7 ระบุว่านำเงินเก็บออมออกมาใช้ และร้อยละ 10.5 ระบุว่าหยิบยืมจากญาติเพื่อนกรณีหมุนเงินไม่ทัน
 
ทั้งนี้เรื่องที่ต้องการการสนับสนุนด้านการศึกษาจากรัฐบาลมากที่สุดร้อยละ 17.7 คือสร้างหลักสูตรทางเลือกที่หลากหลายเหมาะกับศักยภาพของเด็กรองลงมาร้อยละ 17.5 คือให้ครูสอนเต็มที่จะได้ไม่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม และร้อยละ 15.9 ให้พัฒนาครูให้มีเทคนิคการสอนโดยยึดนักเรียนเป็นหลัก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิเคราะห์เผย 'ทรัมป์' กำลังนำสหรัฐฯ สู่สงครามอย่างชัดเจน กรณีถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียรอิหร่าน

Posted: 11 May 2018 08:05 PM PDT

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงผู้เคยเขียนหนังสือตีแผ่อุตสาหกรรมอาวุธ ระบุถึงกรณีการถอนตัวออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะทำให้สหรัฐฯ จะกลายเป็นผู้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวเสียเอง และแทบจะไม่มีโอกาสเลยที่สหรัฐฯ จะ "ประสบความสำเร็จ" ในการใช้กำลังกับอิหร่าน

 
 
 
11 พ.ย. 2561 วิลเลียม ดี ฮาร์ตุง ผู้อำนวยการโครงการยุทโธปกรณ์และความมั่นคงจากศูนย์เพื่อนโยบายนานาชาติ นำเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่าน
 
ฮาร์ตุง ผู้เคยเขียนหนังสือตีแผ่อุตสาหกรรมค้าอาวุธล็อคฮีท มาร์ติน ชื่อ "Prophets of War: Lockheed Martin and the Making of the Military-Industrial Complex" ระบุถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดสงครามได้ แม้แต่ โจเซฟ โวเทล ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการกลางสหรัฐและ เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่าการตัดสินใจนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างที่สุด และอาจจะส่งผลร้ายแรง
 
การตัดสินใจออกจากข้อตกลงของสหรัฐฯ ถูกประเมินจากฮาร์คุงว่าจะทำให้อิหร่านมีโอกาสตัดสินใจครอบครองอาวุะนิวเคลียร์มากขึ้น ทำให้พวกนักการเมืองสายการทหารสุดโต่งอย่าง จอห์น โบลตัน กับไมค์ ปอมเปโอ อ้างใช้ทำสงครามกับอิหร่านได้ในอนาคต ขณะเดียวกันกลุ่มของโบลตันก็มองว่าควรมีการใช่วาจาแข็งกร้าวกับการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน MEK ที่ไม่ได้รับความนิยมและจะได้ผลในการกำจัดรัฐบาลอิหร่านถือเป็นเรื่องเพ้อฝัน
 
จากข้ออ้างของทรัมป์ที่บอกว่าจะเจรจาหารือให้ได้ "ข้อตกลงที่ดีกว่า" นั้นฮาร์ตุงก็มองว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังดูไม่มีทิศทาง อีกทั้งข้อตกลงกับอิหร่านที่มีอยู่เดิมก็ได้ผลอยู่แล้ว จากการที่สามารถทำให้มีการลดการสะสมยูเรเนียมเสริมสมรรถนะในอิหร่านลงร้อยละ 98 ทำให้เกิดการสั่งปิดโรงงานผลิตพลูโตเนียมขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการนิวเคลียร์ต่างๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ขณะที่แผนการเดิมมีการยับยั้งตั้งแต่การได้มาวึ่งวัตถุดิบพัฒนานิวเคลียร์สำหรับอิหร่าน แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่ได้มีแผนการทางการทูตอื่นใดเลย
 
ฮาร์ตุงยังประเมินอีกว่าแผนการ "โจมตี" อิหร่านของโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่า "ความสำเร็จ" ที่ว่าจะหมายถึงการยุติโครงการนิวเคลียร์หรือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลให้เป็นมิตรกับสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากนี้การโจมตีของสหรัฐฯ จะยิ่งเร่งให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย และถ้าหากมีปฏิบัติการทางทหารในอิหร่านเกิดขึ้นจริงก็อาจจะทำให้ทรัมป์ดูเป็นคนพูดอย่างทำอย่างจากเดิมที่เขาเคยประกาศว่าการรุกรานอิรักเป็น "หายนะ" มาก่อน
 
ทั้งนี้ ยังไม่รู้ว่าประเทศอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, รัสเซีย และจีน ที่ร่วมหารือและลงนามในข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านจะกอบกู้ข้อตกลงนี้อย่างไรหลังจากที่ทรัมป์นำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนี้แล้ว ฮาร์ตุงมองว่ามันก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าสหรัฐฯ เป็นคนทำลายข้อตกลงนี้เสียเองไม่ใช่อิหร่าน และฮาร์ตุงก็เสนอว่าควรจะมีใครทำให้รัฐบาลทรัมป์ต้องชดใช้อย่างหนักกับการตัดสินใจที่ไม่สร้างสรรค์เช่นนี้
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Make No Mistake: Trump Is Paving the Way for War with Iran, FPIF, 09-05-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา: อำนาจ อาหาร และทางเลือก

Posted: 11 May 2018 08:02 PM PDT

จากกรณีรถมินิบิ๊กซีถึงร้านสะดวกซื้อที่อยู่ทุกตรอกซอกซอย อาหารการกินกลายเป็นเรื่องง่ายดาย แต่ 'กิ่งกร' จากโครงการกินเปลี่ยนโลก บอกว่ามันไม่ควรง่ายแบบนั้น ชวนพิจารณาทางเลือกแท้-เทียมของผู้บริโภคในการกิน อาหารที่เราหยิบเข้าปากแต่ละคำเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ อำนาจ และความเป็นธรรมอย่างลึกซึ้ง

  • ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของไทยไม่ใช่ระบบที่ปกป้องคุ้มครองคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองน้อย
  • ระบบอาหารต้องมีความเป็นธรรม อาหารไม่ควรมีราคาถูกเกินไป และกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง
  • ผู้บริโภคต้องเชื่อว่าตนมีทางเลือกและสร้างทางเลือกเพื่อไม่ให้ถูกครอบงำจากระบบอาหารโดยธุรกิจขนาดใหญ่

เรื่องราวของรถพุ่มพวงฉบับบิ๊กซีซาซบจากหน้าสื่อ ไม่มีใครรู้ว่าการทดลองโมเดลธุรกิจของบริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้บทสรุปเช่นไร อารมณ์สังคมเมื่อแรกภาพรถมินิบิ๊กซีปรากฏออกไปทางขัดเคืองและวิตกกังวลแทนผู้ค้ารายย่อยที่กำลังถูกทุนใหญ่รุกราน ร้อนถึงกระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาแสดงท่าที

สำหรับกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากโครงการกินเปลี่ยนโลก กรณีข้างต้นเป็นความปกติธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องหาหนทางเข้าถึงตัวลูกค้าให้ได้มากที่สุด และยังเป็นความผิดปกติในคราวเดียวกันว่าเหตุใดจึงไม่มีกลไก มาตรการ กฎหมายในการควบคุมบริษัทใหญ่จากการพยายามครอบครองตลาดและปกป้องผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย หรือว่ามีแต่มันไม่ทำงาน

ในสังคมทุนนิยม การแข่งขันของบรรดาธุรกิจในลักษณะนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือ? เรายิงคำถาม

"มันต้องตั้งคำถามย้อนไปว่า การซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ผู้บริโภคได้อะไรบ้าง เพราะมันก็เป็นโมเดลย่อของซุปเปอร์มาร์เก็ต คนขายของคุณรู้หรือไม่ว่าสินค้าอะไรเป็นอะไร คนขายสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้อ คุณสามารถคุยกับผู้ขายได้รู้เรื่องหรือเปล่า..."

แล้วบทสนทนาก็ดำเนินต่อไปในท่วงทีที่ค่อยๆ กะเทาะประเด็นปากท้องและอาหารการกินของเราในยุคศตวรรษที่ 21 เราคงคิดคล้ายๆ กันว่าเรามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ กินได้ทุกเวลา ไม่มีข้อจำกัดด้านฤดูกาล ใช่, มันเป็นเช่นนั้น แต่กิ่งกรถามกลับว่า ถึงที่สุดแล้ว เรามีอำนาจมากแค่ไหนกันในการกำหนดว่าจะหยิบอะไรเข้าปาก และหลังจากกลืนลงท้องแล้ว อาหารที่เรากินทิ้งบาดแผลอะไรไว้บ้างหรือเปล่า

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ใช่แค่เรื่องโรแมนติก

การสยายปีกเข้าชิงส่วนแบ่งการตลาดจากรถพุ่มพวงของบิ๊กซีและเจ้าอื่น การแทนที่และแก่งแย่งลูกค้ากันเป็นวิถีปกติของธุรกิจ ถ้าบริษัทใหญ่สามารถเสนอทางเลือกที่ผู้บริโภคเห็นว่าดีกว่า รถพุ่มพวงดั้งเดิมก็ต้องพ่ายแพ้ไปตามสภาพ

"เพราะไม่มีอะไรช่วยป้องกันผู้ประกอบการรายย่อย ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนี้ไม่ใช่ระบบที่ปกป้องคุ้มครองคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองน้อย คุณก็กัดฟันดิ้นรนไปเอง แล้วผู้บริโภคก็ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะช่วยรักษาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ"

กิ่งกรเล่าว่า ผู้บริโภคในตะวันตกเห็นความสำคัญของการมีผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เห็นคุณค่าของการมีเกษตรกรรายย่อยที่ยังสามารถปลูกพืชแบบเคารพธรรมชาติ ให้คุณค่ากับการทำงานด้วยมือ ให้คุณค่ากับการลดต้นทุนสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การไม่สร้างขยะ แต่ผู้บริโภคในสังคมไทยยังขาดมิติข้างต้น

"คนขายของรถพุ่มพวงมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้อ เขารู้ว่าบ้านนี้จะเอาอะไร เขาฝากซื้อ ฝากขอกันได้ แล้วมันอาจจะถูกพัฒนาขึ้นมาได้ เรายังเคยคิดว่าน่าจะสามารถกระจายผลผลิตที่มีความหลากหลายสูงผ่านกลไกรถพุ่มพวง ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่ครอบคลุมคนกินในพื้นที่เฉพาะที่มีลักษณะเหมือนตลาดท้องถิ่น ระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย มันเป็นความสัมพันธ์ที่มีความเป็นมนุษย์กว่า สื่อสารกันมากกว่า เรียกร้องกันได้ ตรวจสอบกันได้บ้าง ถ้าผู้ซื้อรู้ว่าควรจะตรวจสอบ"

คำถามของกิ่งกรคือซุปเปอร์มาร์เก็ตให้ความสัมพันธ์ที่มีความเป็นมนุษย์แบบนี้หรือเปล่า

แน่นอน เราสามารถถามกลับได้ ทำไมผู้บริโภคจึงต้องสนใจอะไรที่ดูโรแมนติกแบบนี้ด้วย คำตอบของกิ่งกรคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการให้ได้อาหารที่ดี คุณซื้อกับใครต้องเรียกร้องที่คนนั้น ต้องสื่อสารกับผู้ขาย ทำให้ผู้ขายสื่อสารกับคุณ ตอบโจทย์คุณ

เรื่องกินต้องไม่ใช่เรื่องง่าย...เกินไป

"ทุกวันนี้ธุรกิจพยายามตอบโจทย์คุณ โดยที่เขาสร้างโจทย์อะไรบางอย่างขึ้นเอง สิ่งที่เขาสร้างขึ้นและผู้บริโภคเชื่อคือทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้ ถ้าจะให้เราเถียง เราก็จะบอกว่าจะง่ายมากไปไหน เราถูกทำให้เชื่อว่าอาหารการกินต้องถูกทำให้ง่าย แต่มันไม่ง่าย ถ้าคุณอยากได้อาหารดี มีคุณภาพ มีการกระจายที่เป็นธรรม มีต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่ถูก ทุกวันนี้เรากินอาหารที่มีต้นทุนสิ่งแวดล้อมแพง แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัทการค้าสมัยใหม่ หรือธุรกิจขนาดยักษ์ ทำให้คุณเชื่อว่าเขาจัดการเรื่องอาหารให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณได้ ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนี้ผิด"

แล้วที่ถูกคือ? "มันไม่ควรง่ายขนาดนั้น"

กิ่งกรอธิบายว่า การทำให้เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องง่ายดาย มันต้องแลกด้วยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และความเป็นธรรม ขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนน้อยกลุ่ม ความเสี่ยงกลับตกอยู่ในมือผู้ประกอบการรายย่อย

"มันเป็นระบบที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ตอบโจทย์ในด้านความประหยัดต่อขนาดกระจายสู่ผู้ผลิตในวงกว้างและมีระยะทางที่ห่างไกลกัน เป็นระยะทางของการสื่อสาร ความรู้ ความเข้าใจเรื่องที่มาของอาหาร จะแก้ปัญหานี้ต้องย่นระยะความรู้ ความเข้าใจเรื่องการจัดการอาหาร เข้าใจความซับซ้อนในการทำให้อาหารมีคุณภาพ มีความปลอดภัย ดีต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ยังพูดซ้ำๆ ว่าอาหารที่ดี ที่ตอบโจทย์มนุษยชาติต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสุขภาพ ต้องกระจายความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ต้องมีความยั่งยืน

"ระบบอาหารที่พึงปรารถนาคือระบบอาหารที่ต้องการความรู้ ความเข้าใจ การสื่อสาร และไม่คิดว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องง่ายแบบที่ระบบการค้าสมัยใหม่พยายามครอบงำทางวัฒนธรรม คนเราก็เลยกินวันหนึ่งมากกว่า 3 มื้อ ทำมาหากินแล้วค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งคือค่าอาหาร แต่ว่าไม่ได้ใส่ใจเลยว่าจะได้อาหารมาอย่างไร"

อาหารและความเป็นธรรม

กิ่งกรเอ่ยคำว่า ความเป็นธรรม บ่อยครั้ง ดูเหมือนว่าทุกครั้งที่หยิบอาหารเข้าปาก ความเป็นธรรมเชิงโครงสร้างควรเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องนึกถึง ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่โตเกินจิตนาการ เธออธิบายว่า

"ความเป็นธรรมในระบบอาหาร มันคือการกระจายรายได้ กระจายอาชีพ ทุกวันนี้ ถ้าคุณกินอาหารกับระบบผูกขาด คุณก็สร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มเดียว เหมือนคุณไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต คุณก็สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต ถ้ามองในแง่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ผู้บริโภคห้าหกสิบล้านคน เป็นลูกค้ารายใหญ่มากของกลุ่มทุนเหล่านี้ เศรษฐกิจในการกระจายอาหารมันใหญ่มาก เกี่ยวพันกับชีวิตคน ร้อยละ 25-40 ของรายได้โดยเฉลี่ยนคือค่าอาหาร คุณก็ต้องเลือกว่าจะเอาเงินในกระเป๋าไปให้แก่ใคร ถ้าคุณเลือกให้เกิดการกระจาย คุณก็กระจายที่ซื้อ กระจายพ่อค้าแม่ค้า"

กิ่งกรเรียกร้องอีกว่า ในด้านกลับกัน บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ควรลดกำไรของตนลงบ้าง เพื่อนำกำไรส่วนที่ลดลงนั้นกระจายไปยังส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทาน การเรียกร้องผลักดันส่วนนี้ค่อนข้างยากเย็นกว่า ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง...

"คุณสามารถสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ด้วยการกระจายเงินในกระเป๋าคุณไปสู่หลายๆ กระเป๋า"

อาหารราคาถูกเกินไปหรือเปล่า?

การคลุกคลีกับประเด็นอาหารอย่างต่อเนื่อง กิ่งกรยอมรับว่ารูปแบบการค้าสมัยใหม่ ทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ตอบสนองวิถีชีวิตผู้คนได้พอดิบพอดีกว่า แต่ความสะดวกที่ว่าเป็นคนละเรื่องกับคุณภาพและรสชาติ หันกลับมาดูอาหารปรุงสุกหรือสตรีท ฟู้ด เธอบอกว่าคุณภาพก็ถดถอยลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

"เอาเข้าจริงๆ แล้วทางเลือกนอกห้าง นอกร้านสะดวกซื้อ ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดิบดีอะไร เพราะมันไม่มีทางเลือก ห้างหรือร้านสะดวกซื้อจึงเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นมา สถานการณ์ตอนนี้จะโทษว่าเพราะร้านสะดวกซื้อรุกคืบและทำลายผู้ประกอบการรายเล็กก็ไม่ใช่ หรือจะบอกว่าเข้ามาทำลายทางเลือกดีๆ ของอาหาร มันก็ไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น คำถามคือใครทำลายคุณภาพอาหารของเรา ณ เวลานี้"

"ความเป็นธรรมในระบบอาหาร มันคือการกระจายรายได้ กระจายอาชีพ ทุกวันนี้ ถ้าคุณกินอาหารกับระบบผูกขาด คุณก็สร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มเดียว... ถ้าคุณเลือกให้เกิดการกระจาย คุณก็กระจายที่ซื้อ กระจายพ่อค้าแม่ค้า"

แล้วใครล่ะที่ทำ?

"ถ้าไปเดินดูสตรีท ฟู้ด ราคาถูกทั่วไปอย่างในสก็อตแลนด์ ถ้ากินแซนด์วิชราคา 2-5 ปอนด์ มันกินได้ ไม่ต่างกันมาก ถ้าไม่ได้กินในร้านอาหาร แล้วมันไม่แย่ คำว่าแย่ในที่นี้หมายถึงมันไม่ได้กระหน่ำใส่สารอะไรเต็มไปหมด รวมทั้งความหวาน ความเค็มที่สูงมากจนเกินขีด ที่อื่นเขารักษามาตรฐานขั้นต่ำแบบนี้ไว้ได้อย่างไร ทำไมของเรารักษาไม่ได้

"เนื่องมาจากการที่คุณใช้เนื้อสัตว์ราคาถูกมาปรุงอาหาร คุณต้องใช้สารปรุงแต่งสูงมากเพื่อให้มันมีรสชาติดีขึ้นมา อาจต้องใช้สารกันบูดด้วย สิ่งเหล่านี้มันถูกชี้นำโดยอะไรก็ไม่รู้และมันไม่เคยมีการควบคุมแบบจริงจังเลย ทั้งสองฝั่งนี้ทำระบบอาหารให้แย่ด้วยกันทั้งคู่ โดยที่ผู้บริโภคก็ไม่รู้อะไรเลย หน่วยงานของรัฐก็ดูไปไม่ถึง"

กิ่งกรตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยทำให้อาหารมีราคาถูกเกินไปหรือไม่ เราควรต้องตั้งคำถามว่า ถ้าต้องการอาหารที่ดี มีคุณภาพ คนขายอยู่ได้ คนทำอยู่ได้ คนกินอยู่ได้ ราคาควรจะเป็นอย่างไร กล่าวโดยรวมแล้ว คุณภาพความปลอดภัยของอาหารในสังคมไทยตกต่ำอย่างน่าใจหาย แต่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครตระหนัก กลไกกำกับดูแลและกฎหมายต่างๆ ไม่แข็งแรง ไม่เพียงพอ ผู้บริโภคมีความรู้น้อยและอยู่กับมายาคติที่ว่าต้องกินถูกเข้าไว้ ต้องประหยัดเวลา

"นั่นคือคุณไม่ใส่ใจไง มันต้องพยายามสร้างความหลากหลายของที่มาอาหารให้ได้มากที่สุด คือเราก็ท้าทายผู้บริโภคแบบนี้ เพราะถ้าคุณตั้งใจจะจัดการมัน เราคิดว่าทำได้ ไม่ได้บอกว่าไม่ให้กินเลย แต่ถ้าคุณมีความเชื่อว่ายังไงก็ไม่มีทางเลือก มันก็จะอยู่อย่างนั้น เราจึงพยายามสนับสนุนให้คนลองเลือก ลองหาทางเลือก เสร็จแล้วมันจะเป็นกระแสให้คนอยากเลือกมากกว่าที่มีการเสนอมาให้เลือก"

การหายไปของอำนาจในการจัดการอาหารของผู้บริโภค

เดี๋ยวก่อน เราสงสัยว่าอำนาจในการจัดการอาหารของผู้บริโภคเริ่มหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และหายไปได้อย่างไร ...เป็นไปได้ว่าการปฏิวัติเขียวคือจุดเริ่มต้น

"มันอาจจะเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต การเปลี่ยนมาปลูกพืชพันธุ์ใหม่ที่มีผลผลิตสูง เปลี่ยนพันธุ์ไก่ พันธุ์หมูที่มีอายุการเลี้ยงสั้นลง ตรงนี้ผลิตอาหารราคาถูกได้มหาศาล เราให้อำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิต วิธีการผลิต และเลือกที่จะผลิต เป็นชุดหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ประการที่ 2 วิถีการบริโภคที่อาศัยความเร็ว กินนอกบ้านมากขึ้น ไม่มีฤดูกาล มันทำลายความรู้ ความมั่นใจของบริโภคในการเลือก ผู้บริโภคก็ได้สละอำนาจของตัวเองในการเลือกสิ่งที่เราจะกินไปโดยไม่รู้ตัว ให้กับคนที่บอกว่าทำไก่มีคุณภาพ ทำอาหารปรุงพร้อมกินที่มีคุณภาพ มีความหลากหลายให้คุณเลือกทุกเวลา แล้วทำให้คนเชื่อว่าระบบการผลิตอาหารแบบนี้ตอบโจทย์คนในยุคสมัยใหม่"

การผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรม การกินอาหารแบบซ้ำๆ ไม่กี่อย่าง ไม่มีฤดูกาล ถูกกำหนดโดยธุรกิจขนาดใหญ่และวิถีบริโภคข้างต้น ประสบการณ์ชีวิตของกิ่งกรพบว่า มันใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้นที่อาหารแช่แข็งเข้ามาแทนที่

การจะดึงอำนาจการหยิบอาหารใส่ปากกลับคืนมา กิ่งกรบอกว่า ง่ายนิดเดียว มันคือการเดินไปตลาดสด ออกไปถามหาผักตามฤดูกาล ไปถามว่าใครมีไก่บ้านหรือมีหมูหลุมให้กินบ้าง มันเป็นการแสดงความต้องการออกมาว่าเราต้องการกินอะไร เริ่มต้นจากความต้องการสร้างทางเลือกในการกินให้กับตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ เริ่มหาความรู้ว่าถ้าไม่ต้องการการผลิตแบบนี้ แล้วมีอะไรให้เรากินบ้าง กิ่งกรคิดว่าความรู้เกี่ยวกับอาหารการกินยังพอมีอยู่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีวัฒนธรรมอาหารของตัวเอง ซึ่งตอบโจทย์ระบบนิเวศอาหารพอสมควรและยังหลงเหลือให้รื้อฟื้น

"คุณต้องจัดเวลาให้ตัวเองเพื่อเพิ่มทางเลือก อาทิตย์หนึ่งสักสี่ห้ามื้อมั้ยที่จะกินแบบที่เราสามารถกำหนดได้ เราเชื่อว่าโดยการรวบรวมความเป็นปัจเจกเหล่านี้ ถ้าเปลี่ยนไปเป็นร้อยเป็นพันคน ตลาดจะเปลี่ยน"

ความตื่นตัวในระดับผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธมาตรการในระดับนโยบายไม่ได้ นโยบายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมของอาหารที่ปลอดภัยและมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นต้องทำไปพร้อมๆ กัน กิ่งกรยกตัวอย่างสถานการณ์สารปรุงรสอาหาร

"ตอนนี้เรามีสารปรุงรสอาหารหลายตัวมาก แสดงว่าวัตถุดิบทุกวันนี้มันแย่มาก ถึงต้องปรุงรสกันหนักขนาดนี้หรือเปล่า มันต้องมีการกำกับดูแลลงไปคุมการใส่สารเหล่านี้ให้จริงจังมากขึ้น ตอนนี้ทำไมไม่คุม สาเหตุหนึ่งเพราะไม่มีความรู้ สารพวกนี้เพิ่มจำนวนเยอะขึ้นๆ เป็นพัฒนาการของเทคโนโลยีอาหารที่ต้องการให้อาหารมีอายุนานขึ้น หน้าตาดี ไม่เปลี่ยนรูปร่าง ไปดูของ อย. (องค์การอาหารและยา) มีเขียน สารตัวนี้สำหรับทำอันนี้ ใส่ได้เท่าไหร่ ตามความเหมาะสม สารนี้ ตามความเหมาะสม ตามความเหมาะสมหมดเลย แสดงว่าไม่มีความรู้ที่จะกำหนดค่ามาตรฐานว่าจะใส่เท่าไหร่ แล้วมันควรจะใส่ผสมกันเท่าไหร่ ผู้กำกับดูแลเกี่ยวกับการปรุงแต่งรสอาหารให้มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำ ไม่มี ถ้าไม่รวยจัด ก็ไม่มีทางเลือกพอๆ กัน

"ด้านหนึ่งเราเชื่อในการขับเคลื่อนผู้บริโภคให้มีพลังเปลี่ยนแปลงและกดดันให้ฝ่ายกำกับดูแลทำหน้าที่หรือพัฒนาความรู้ในสิ่งที่เติมลงไปในอาหารให้มากขึ้น ตรงนี้ถ้าผู้บริโภคหรือก็คือพลเมืองไม่ลุกขึ้นมาบอก ลุกขึ้นมากดดัน ไม่มีใครทำอะไรให้คุณหรอก ไม่ต่างกับเรื่องทางการเมือง มันคือเรื่องเดียวกัน"

อาหารและการเมือง

จุดเปลี่ยนที่จะดึงอำนาจในการจัดการอาหารกลับคืนมาต้องเริ่มจากตัวความคิดเป็นหลัก กิ่งกรบอกว่าผู้บริโภคต้องเชื่อก่อนว่าตนเองมีทางเลือก อย่าเชื่อว่ามีเฉพาะทางเลือกที่ธุรกิจเลือกให้ เพราะนั่นเป็นชุดความคิดที่ใช้กำกับผู้บริโภคให้อยู่ในร่องในรอย ไม่กล้าลองผิดลองถูก

"จะบอกว่าเราเป็นพวกโลกสวยก็ได้ แต่เราเชื่อว่านี่เป็นชุดความคิดที่สำคัญมากที่ทำให้เขากำกับเราได้ มีคนจัดการให้ดิบดีแล้ว ผู้บริโภคไม่ต้องเลือกหรอก เหมือนกับที่กำกับความคิดเราว่าต้องเป็นทหารเท่านั้นถึงจะปฏิรูปได้ ชุดความคิดเดียวกันเลย มันทำให้คนจำนวนมากเชื่อไปว่าการลองผิดลองถูก แล้วพัฒนากันไป เป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้

"การสร้างระบบอาหารที่ดี ที่เป็นธรรม ปลอดภัย มีคุณค่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กับการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ที่มีรากฐานจากประชาชนที่เข้มแข็งเป็นสิ่งที่ใช้วิธีการเดียวกัน วิธีการนั้นคือการเปลี่ยนคน เปลี่ยนวิธีคิดของคน คลายจากความเป็นทาสมาเชื่อว่าเราสามารถกำหนดได้ เลือกได้ และต้องสร้างทางเลือกนั้นด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาสร้างให้ แบบเดียวกัน เราต้องสร้างการเมืองที่มีคุณภาพ แล้วเราก็จะเลือกมันอย่างมีความสุขมากขึ้น ถ้าเราร่วมสร้างมัน"

สรุปคือเราต้องเชื่อว่าเราเลือกอาหารเข้าปากได้ แต่เรายังเลือกตั้งไม่ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น