ประชาไท | Prachatai3.info |
- แม่ทหารสิงคโปร์ที่ถูกลงโทษสวนสนามกลางแดดจนเสียชีวิตเรียกร้องยกเลิก 'ลงโทษที่ล้าสมัย'
- หมายเหตุประเพทไทย #208 พหุวัฒนธรรมในงานโฆษณาเป็นไปได้หรือไม่
- 'นักวิชาการ-นักกิจกรรม' แจงถูกสื่อเขียนถึงบิดเบือน
- นักเศรษฐศาสตร์ประเมินโอกาส ข้อจำกัด ความเสี่ยง EEC
- 'ทักษิณ' มั่นใจคนยังเลือก พท. ท่วมท้น 'องอาจ' ชี้พลังดูดไม่กระทบ ปชป.
- ตลาดนัดนโยบายแรงงาน : ค่าจ้างที่เป็นธรรม เลี้ยงชีพตนเอง + 2 คนในครอบครัว
- โพลระบุ 'ดูดนักการเมือง' เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย
- ผลประชุมร่วมกรณี 'บ้านพักตุลาการดอยสุเทพ' ให้รังวัดแบ่งพื้นที่ชัดเจน-ฟื้นฟูป่า
- สารเคมี 'โรงไฟฟ้าแม่เมาะ' รั่วไหล
- โฆษก คสช.ชี้ภาพรวมชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียบร้อย
- กองทุนเอดส์บัตรทอง ปี 2560 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงรักษาเร็วขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 เม.ย.-6 พ.ค. 2561
- โพลสำรวจคนไม่ถึงครึ่งคิดว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะสำเร็จ
แม่ทหารสิงคโปร์ที่ถูกลงโทษสวนสนามกลางแดดจนเสียชีวิตเรียกร้องยกเลิก 'ลงโทษที่ล้าสมัย' Posted: 06 May 2018 08:17 AM PDT สื่อสิงคโปร์รายงานเหตุลงโทษนายทหารประจำกองทัพสิงคโปร์ เดฟ ลีฮันซวน ที่รุนแรงจนทำให้เขาเสียชีวิต โดยแม่ของเดฟ เรียกร้องความเป็นธรรมและเรียกร้องให้หยุดการลงโทษด้วยวิธีที่รุนแรงในกองทัพ โดยหวังว่าการเสียชีวิตของลูกชายเธอจะส่งสารให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 6 พ.ย. 2561 ในสิงคโปร์มีการลงโทษในระบบฝึกทหารที่เรียกว่า "เตอกัน" (tekan) ซึ่งหมายถึงการลงโทษอย่างรุนแรงหรือปฏิบัติในแบบ "การกลั่นแกล้ง" หรือ "การข่มเหงรังแก" จากความหมายของพจนานุกรมสิงคโปร์ โดยกรณีล่าสุดนี้เกิดขึ้นกับนายทหารยศสิบโทชั้นหนึ่ง เดฟ ลี ฮัน ซวน ผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2561 หลังจากที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลชางกีเป็นเวลา 7 วัน เดฟอายุ 19 ปี แสดงอาการของโรคลมแดดตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. หลังจากร่วมการสวนสนามเร็ว 8 กม. ในค่ายทหารเบอด็อก โดยที่หน่วยทหารกองพันที่ 1 ของสิงคโปร์เปิดเผยว่าผู้บัญชาการของเดฟมี "พฤติกรรมสะเพร่า" บังคับให้เขาสวนสนามเร็วต่อไปทั้งๆ ที่เดฟแสดงให้เห็นอาการอ่อนแรงทางร่างกายอย่างหนัก ซึ่งมาจากการที่ไม่ยอมให้เดฟได้พักผ่อนอย่างเพียงพอในช่วงก่อนการเดินขบวน ในงานศพของเดฟเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา แจสมิน โย แม่ของเดฟบอกว่าควรจะมีการหยุดประเพณีการลงโทษที่ล้าสมัยแบบ "เตอกัน" ได้แล้ว การให้คนตากแดดนานๆ ทำให้เกิดอาการของโรคลมแดด (Heat Stroke) ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตได้ เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เธอจึงหวังว่าการสูญเสียลูกของเธอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังกับระบบฝึกทหารในสิงคโปร์ แจสมินกล่าวอีกว่าภารกิจที่สำคัญคือการฝึกทหารในการต่อสู้กับข้าศึกและที่สำคัญที่สุดคือการทำให้พวกเขาได้กลับบ้านมาพบกับคนรักได้อย่างปลอดภัย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอนั้นนับเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดในชั่วชีวิตจากการที่เธอรับรู้ว่าลูกของเธอไม่สามารถกลับมาที่บ้านได้อีกแล้ว ในการกล่าวรำลึกถึงเดฟนอกจากเพื่อนและครอบครัวที่เข้าร่วมราว 150 รายแล้ว ยังมีกำลังพลเข้าร่วมงานด้วย 700 นาย อีกคนที่ขึ้นพูดสดุดีเดฟคือเพื่อนทหารของเขา พลตรีแดนนี โพห์ เขาบอกว่าก่อนหน้างานศพแม่ของเดฟขอร้องอยากคุยกับเพื่อนทหารของลูกชาย แจสมินบอกว่าถึงแม้เธอจะสูญเสียลูกชายคนหนึ่งไปแต่ตอนนี้เหมือนเธอมี "ลูกชายมากมาย" เธอบอกอีกว่าขอให้เพื่อนร่วมกองทัพของลูกชายเธอทุกคนระมัดระวังความปลอดภัยตนเองในช่วงที่ฝึกซ้อมด้วย และขอให้ติดต่อกับผู้ปกครองของตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รับรู้ว่ายังปลอดภัย โพห์กล่าวในงานศพว่าเดฟเป็น "ทหารที่ดี" ที่ไม่ย่อท้อเมื่อต้องเผชิญความท้าทายและมักจะช่วยเหลือเพื่อนฝูงเสมอ แม้ว่ากองพันจะเสียใจอย่างสุดซึ้งในการจากไปของเขาแต่การแสดงออกถึงจิตมุ่งมั่นของเดฟก็กลายเป็นขวัญกำลังใจให้กับกองพันและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกนับไม่ถ้วน ญาติของเดฟเรียกร้องต้องการให้มี "คำอธิบายฉบับเต็ม" จากกองทัพสิงคโปร์ (SAF) หลังจากมีทหารพูดถึงการที่เดฟไม่ได้รับการพักผ่อนเพียงพอก่อนถูกสั่งให้สวนสนามแพร่ออกไปทางอินเทอร์เน็ต ฝ่ายรัฐมนตรีกลาโหมโพสต์แสดงความไว้อาลัยเดฟผ่านเฟสบุ๊คว่ากลาโหมและกองทัพขอแสดงการคารวะต่อการจากไปของ "ทหารที่ภักดีและยึดมั่นในหน้าที่" รวมถึงขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวอย่างสุดซึ้ง ทางตำรวจสิงคโปร์บอกว่ากำลังสืบสวนสอบสวนการตายของเดฟและอาจจะมีการชันสูตรศพ และก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมของสิงคโปร์ก็บอกว่าจะมีการสืบสวนแยกต่างหากโดยคณะกรรมาธิการที่มีประธานมาจากกระทรวงศึกษาธิการ เรียบเรียงจาก Late NSF Dave Lee's mother calls for changes to training systems, end to 'outdated punishments' , Today, 06-05-2018 A Dictionary of Singlish and Singapore English ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #208 พหุวัฒนธรรมในงานโฆษณาเป็นไปได้หรือไม่ Posted: 06 May 2018 06:43 AM PDT แนวคิดพหุวัฒนธรรมหรือการเน้นความหลากหลายที่นับรวมทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สามารถไปด้วยกันได้กับงานโฆษณาหรือไม่ หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ประภาภูมิ เอี่ยมสม และคำ ผกา ชวนอภิปรายจากกรณีศึกษาโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตะวันตกที่พยายามฉายภาพความหลากหลายของผู้คนในสังคม อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้เกิดการเบ่งบานของพหุวัฒนธรรมในงานโฆษณา อาจไม่ได้มาจากเคารพความหลากหลาย มากเท่ากับเหตุผลทางการตลาด ที่นักออกแบบโฆษณาและนักการตลาดมองเห็นว่ามีประชากรคนกลุ่มน้อยในสังคม ต่างก็เป็นกลุ่มลูกค้าของพวกเขา พร้อมชวนพิจารณาพหุวัฒนธรรมในโฆษณาไทย ว่านอกจากโฆษณาน้ำมันเครื่องคั่นรายการมวยแล้ว โฆษณาไทยอื่นๆ มองเห็นกลุ่มลูกค้าของพวกเขาหรือไม่ ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'นักวิชาการ-นักกิจกรรม' แจงถูกสื่อเขียนถึงบิดเบือน Posted: 06 May 2018 03:53 AM PDT ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ชี้แจงถูกผู้ใช้นามปากกา 'เขื่อนขันธ์' เขียนใส่ร้ายป้ายสีและยุยงปลุกปั่น เรียกร้องให้ยุติพฤติกรรมดังกล่าว ด้าน 'พริษฐ์ ชิวารักษ์' ชี้แจงหลังถูกเขียนถึงด้วย 6 พ.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่าน เฟสบุ๊คสวนตัว Anusorn Unno ระบุว่าถูกผู้ใช้นามปากกา 'เขื่อนขันธ์' เขียนใส่ร้ายป้ายสีและยุยงปลุกปั่น พร้อมกันนี้กำลังพิจารณาการดำเนินคดีกับผู้ใช้นามปากกา 'เขื่อนขันธ์' ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่ยุติพฤติกรรมดังกล่าว จากการที่ผู้ใช้นามปากกา "เขื่อนขันธ์" เขียนพาดพิงผมในคอลัมน์ "คมคิด คนเขียน" ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จำนวนสองครั้ง คือ วันที่ 19 เมษายน 2561 และวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ดังลิงค์ที่แนบมา ผมขอชี้แจงดังนี้ 1) การหารือของกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" ในการจัดกิจกรรมในวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้อาคารสถานที่ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการหารือแต่อย่างใด กลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" มีสถานที่และมีกระบวนการหารือเป็นการภายในของตนเอง 2) ผมไม่มีส่วนรู้เห็นกรณีเงินสองแสนบาท โฆษกนักเคลื่อนไหวที่ต้องกินยาระงับประสาท และ "ตัวป่วน" ที่เดินทางเข้าออกประเทศกัมพูชา ซึ่งโยงมาว่าจะส่งผลให้นักศึกษาทนไม่ไหวและรวมตัวกันขับไล่ผม 3) ผมไม่ทราบและไม่เคยมีการร้องเรียนว่าผู้ปกครองนักศึกษาถูกข่มขู่คุกคามจากกองกำลังอารักขากลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" บริเวณหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้อความที่ผู้ใช้นามปากกา "เขื่อนขันธ์" เขียนในคอลัมน์ทั้งสองครั้งจึงเป็นเท็จ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลให้ผม กลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" และผู้เกี่ยวข้องเสื่อมเสีย หากแต่ยังเป็นการยุยงปลุกปั่นให้สถานการณ์อาจลุกลามเป็นความรุนแรงดังที่เคยเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมจึงขอให้เจ้าของนามปากกา "เขื่อนขันธ์" ยุติพฤติกรรมใส่ร้ายป้ายสีและยุยงปลุกปั่น รวมถึงขอให้ผู้บริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์คำนึงถึงจริยธรรมของสื่อมวลชน ที่จะต้องเสนอข้อมูลที่เป็นจริงและวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มิใช่อาศัยข้อมูลเท็จในการยุยงปลุกปั่นหรือสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือการตลาดก็ตาม พร้อมกันนี้ ผมจะพิจารณาการดำเนินคดีกับผู้ใช้นามปากกา "เขื่อนขันธ์" ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่ยุติพฤติกรรมดังกล่าว จึงชี้แจงให้ทราบทั่วกัน อนุสรณ์ อุณโณ 6 พฤษภาคม 2561 นอกจากนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรม ยังได้โพสต์ผ่าน เฟสบุ๊คส่วนตัว Parit Chiwarak เกี่ยวกับกรณีที่ถูกผู้ใช้นามปากกา 'เขื่อนขันธ์' เขียนบทความพาดพิงด้วย เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ Dailynews ดังที่มีผู้ใช้นามปากกา "เขื่อนขันธ์" เขียนบทความกล่าวถึงผมในทำนองว่าเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อฝึกอาวุธหรือฝึกการพรางตัว ตามรูปภาพและลิงค์ที่ได้แนบไว้ ขอให้ท่านใช้วิจารณญาณคัดกรองเนื้อหาที่จะตีพิมพ์ให้ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณสื่ออย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้สื่อของท่านทำร้ายใคร และที่สำคัญ หนังสือพิมพ์ไม่ควรตีพิมพ์เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะให้ผมไปฝึกอาวุธ ฝึกพรางตัว แค่เดินขึ้นตึกคณะผมก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม อาจจะมีการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้เป็นมาตรฐานการดำเนินงานของสื่อมวลชนเป็นอันดับต่อไป เว้นเสียแต่ว่า ทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จะตีพิมพ์ข้อความว่า "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ต้องการให้เลือกตั้งปีนี้" ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ ผมจะไม่ติดใจเอาความแต่อย่างใด สุดท้าย อยากบอกว่านครวัดสวยมากนะครับ อยากไปอีกรอบ แต่ขัดสนงบประมาณ หากทางคุณเขื่อนขันธ์จะร่วมสมทบทุนจะยินดีมากครับ ด้วยรักและเคารพ พริษฐ์ ชิวารักษ์ 6 พฤษภาคม 2561 ลิงค์ข่าว: https://www.dailynews.co.th/article/641601 อัพเดทข้อมูลเมื่อเวลา 19.53 น. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินโอกาส ข้อจำกัด ความเสี่ยง EEC Posted: 06 May 2018 01:54 AM PDT คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินโอกาส ข้อจำกัดและความเสี่ยงนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและการลงทุนใน EEC ชี้มีแนวโน้มโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อาจเกิดความแออัดและการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรม มีผลกระทบให้เกิดมลพิษต่างๆ ต่อชุมชนโดยรอบได้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ) 6 พ.ค. 2561 ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นถึงนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและ การลงทุนใน EEC ว่า นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกนั้นต้องไม่มุ่งเพียงแค่การดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติและกลุ่มทุนในประเทศโดยละเลยในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาวบนฐานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยเอง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ที่จะสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นกับภาคการผลิตของไทย อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ไทยควรเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นและเติบโตในพื้นที่ EEC อย่างไรก็ตาม เรามีข้อจำกัดเรื่องทักษะแรงงาน ขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง จึงขอเสนอให้มีกฎระเบียบ กลไกและระบบในการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างชัดเจน การพัฒนาจัดตั้งศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและการลงทุนในพื้นที่ EEC จะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยไม่ชักช้า การกระหายอยากได้การลงทุนจากต่างชาติต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลโดยไม่เสนอให้สิทธิพิเศษและผลประโยชน์มากจนเกิดต้นทุนต่อประเทศในระยะยาวและคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อะไร โดยเฉพาะสิทธิในการเช่าที่ดินและถือครองที่ดิน 99 ปี ควรต้องมีการทบทวน และ ไม่มีประเทศอาเซียนประเทศไหนที่ให้เช่าที่ดินหรือถือครองที่ดินยาวนานขณะนั้น ส่วนใหญ่จะให้เช่าที่ดินเพียง 50 ปี โดยภาพรวม สิทธิประโยชน์ในการลงทุนใน EEC สามารถแข่งขันได้กับทุกประเทศในเอเชีย ฉะนั้นไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการถือครองที่ดินโดยนักลงทุนต่างชาติถึง 99 ปีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ แน่นอนว่าการลงทุนใน EEC ย่อมส่งผลกระตุ้นภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ ขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพมูลค่าประมาณ 7.13 แสนล้านบาท ใช้เงินงบประมาณรัฐบาลราว 21% งบประมาณจากรัฐวิสาหกิจราว 12% ส่วนกว่า 60% ที่เหลือเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนและเอกชนลงทุนโดยตรง ในส่วนของการใช้งบประมาณของรัฐต้องพิจารณาถึงการกระจายความเจริญไปยังส่วนอื่นๆของประเทศด้วย ส่วนโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนนั้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังได้รัฐบาลที่มีมาจากการเลือกตั้ง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพครั้งใหญ่นี้จะไม่นำไปสู่ปัญหาฐานะทางการคลังในอนาคตและการลงทุนเกินความต้องการก็ต่อเมื่อโครงการ EEC ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และสิ่งที่เป็นหลักประกันความสำเร็จ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการกำกับดู ความต่อเนื่องของนโยบายและและเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นักลงทุนใน EEC ได้รับสิทธิประโยชน์มากมายจากกฎหมายส่งเสริมการลงทุน 2560 กฎหมายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ พระราชบัญญัติ EEC เมื่อให้สิทธิพิเศษมากเช่นนี้ผ่านกฎหมายใหม่ๆที่เพิ่งออกมา เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 13 ปี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงควรกำหนดรูปแบบของการใช้สิทธิประโยชน์ตามความสำคัญคุณค่าของโครงการ (Merit-Based Incentives) ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมและความกินดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ และพิจารณาประเภทของกิจการ (Activity-Based Incentives) เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือไม่ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความสำคัญต่อพื้นที่ EEC ในการสร้างอุตสาหกรรม 4.0 และเทคโนโลยีดิจิทัลนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น มีแนวโน้มโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมากในพื้นที่ EEC อาจเกิดความแออัดและการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรม มีผลกระทบให้เกิดมลพิษต่างๆ ต่อชุมชนโดยรอบได้ คุณภาพชีวิตที่แย่ลงและค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้รัฐจำเป็นต้องออกระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลคุณภาพชีวิตและค่าครองชีพประชาชนในพื้นที่ สภาพการจ้างงาน รวมทั้งการให้สัมปทานกลุ่มทุนในโครงการขนาดใหญ่ต้องรอบคอบและโปร่งใส ไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในเตรียมรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและกระบวนการฝึกอบรมทักษะแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ในอนาคต สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจะได้เป็นสินค้าที่ไทยผลิตเองได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และ ต้องตระหนักด้วยว่า เราไม่ควรแลกการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการลงทุนของต่างชาติ กับ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของผู้คน ตลอดจนการยอมเป็น "สภาพกึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจ" ของทุนข้ามชาติโดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายไปยังประชาชนส่วนใหญ่และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ทักษิณ' มั่นใจคนยังเลือก พท. ท่วมท้น 'องอาจ' ชี้พลังดูดไม่กระทบ ปชป. Posted: 06 May 2018 01:35 AM PDT 'ทักษิณ' เตือนทหารระวังดูดมากได้แต่คนสีเทา เชื่อเลือกตั้งครั้งที่จะถึง 'เพื่อไทย' ยังได้เสียงท่วม 'องอาจ' ย้ำทุกครั้งเลือกตั้ง ส.ส.ย้ายปกติ ล่าสุด 'ประชาธิปัตย์' ยื่นออกแค่ 3 ราย แต่ยังมีรุ่นใหม่ขอแจ้งเกิด ส่วนสมาชิกพรรคแสนคน รอตรวจสอบเอกสารส่ง กกต. 6 พ.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่ารายงานว่า จากการที่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวมทั้งอดีตรัฐมนตรี ได้เดินทางไปพบนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น นายทักษิณ ได้การพูดถึงเรื่องพลังดูดตอนหนึ่งว่า ไม่รู้สึกกังวลใจในเรื่องนี้เลย เพราะเป็นเรื่องธรรมดา ที่ผ่านมาอดีตส.ส. และคนในพรรคเพื่อไทย ก็เคยเผชิญกับอะไรมามากและรู้แล้วว่าอะไรเป็นยังไง ดังนั้นจึงไม่รู้สึกว่าจะต้องกังวลเรื่องพลังดูดแต่เป็นฝ่ายทหารเองมากกว่าที่ต้องระวังเพราะดูดไปมากๆ ก็ระวังจะได้คนสีเทาๆ เพราะนิสัยของนักกาเมือง ได้ประโยชน์ก็ไป ดังนั้นคนที่ต้องระวังจึงไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ อย่างไรก็ตามนายทักษิณยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับมาได้คะแนนอย่างท่วมท้นแน่นอนและแลนด์สไลด์ที่เคยเป็นของพรรคก็จะยังคงเป็นของพรรค นอกจากนี้นายทักษิณยังได้มีการพูดถึงทิศทางการเมืองไทย ทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและเรื่องบ้านเมืองโดยย้ำว่าเป็นการวิเคราะห์ในฐานะคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาเท่านั้น ทั้งนี้ช่วงค่ำวันเดียวกันนายทักษิณได้จัดเลี้ยงอาการโต๊ะจีนแก่บรรดาอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.ที่บินไปพบประมาณ 50 คน จำนวน 8-9 โต๊ะ ที่ห้องอาหารจีนแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีสมาชิกของครอบครัวชินวัตรที่บินไปพบเข้าร่วมรับประทานอาหารด้วย 'องอาจ' ชี้พลังดูดไม่กระทบ ปชป. ด้าน เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.ว่า ตามปกติทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ก็จะมี ส.ส.ตัดสินใจย้ายพรรคด้วยหลากหลายเหตุผลอยู่แล้ว แต่จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคที่ย้ายออกจะไม่ค่อยมากเท่าใด ส.ส.เก่าส่วนมากยังอยู่พรรคเดิม ขณะที่การย้ายพรรคน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ 1. ย้ายสังกัดพรรคอื่น เพราะอุดมการณ์สอดคล้องกัน หรือ ย้ายออกไปจัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ตามอุดมการณ์ของตน และ 2. ย้ายเพราะพลังดูด โดยได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทนรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ผลประโยชน์ที่ได้รับอาจเป็นตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง หรือการช่วยเหลือทางธุรกิจ การช่วยเหลือเรื่องคดีความต่างๆ รวมถึงการอุดหนุนปัจจัยให้โดยตรง อย่างไรก็ดีในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้มีอดีต ส.ส.แจ้งความจำนงลาออกจากพรรคเพียง 3 ราย แต่อดีต ส.ส. ส่วนมากเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังสมัครใจทำงานรับใช้ประชาชนร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ทั้งนี้การลาออกของอดีต ส.ส.จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ เพราะขณะเดียวกันก็มีหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ไฟแรง ขอแจ้งเกิดทางการเมืองสนใจที่จะลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคตามเขตพื้นที่ต่างๆจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการ, ผู้เชี่ยวชาญ, คนทำงานภาคประชาสังคมจากหลากหลายภาคส่วนที่มีชื่อเสียง สนใจทำงานการเมืองรูปแบบต่างๆ กับพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย ส่วนเรื่องการยืนยันสมาชิกพรรคที่ผ่านมานั้น ขณะนี้พรรคกำลังตรวจสอบข้อมูลเอกสารของสมาชิกที่มายืนยันการเป็นสมาชิกประมาณ 100,000 คน อย่างรอบคอบ เพื่อนำส่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน คือภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ อย่างไรก็ดีพรรคประชาธิปัตย์กำลังรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 (คำสั่งปลดล็อกพรรคการเมือง) ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของสมาชิกพรรค และเพิ่มภาระให้กับสมาชิก และมีระยะเวลาดำเนินการกระชั้นชิด เป็นการสร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองเกินสมควรหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเป็นไปตามที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องก็อาจทำให้สมาชิกพรรคมีสถานะคงเดิม ไม่ต้องหมดจากสมาชิกภาพเพราะไม่ได้มายืนยันสมาชิกแต่อย่างใด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตลาดนัดนโยบายแรงงาน : ค่าจ้างที่เป็นธรรม เลี้ยงชีพตนเอง + 2 คนในครอบครัว Posted: 06 May 2018 01:10 AM PDT สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนอัตราเดียวเลี้ยงครอบครัวได้ สิทธิเลือกตามที่ตั้งของสถานประกอบการ การคำนึงแรงงานข้ามชาติ เลิกจ้างงานไม่มั่นคง สิทธิรวมตัวต่อรองของคนงาน พร้อมนโยบาย 4 เพิ่มสร้างความมั่นคงจ้างงาน ฯลฯ ผ่านไปแล้วกับสัปดาห์วันกรรมกรสากลภายใต้การควบคุมขัดขวางการแสดงออกของกลุ่มคนงานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่ นอกจากแรงงานหลายกลุ่มจะมีข้อเรียกร้องอย่าง "การเลือกตั้งปีนี้" แล้ว ยังมีข้อเรียกร้องเชิงนโยบายแรงงานหลายๆ เรื่องที่เรียกร้องอย่าต่อเนื่องมาหลายปีแต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ ในโอกาสที่พรรคการเมืองใหม่ๆ เริ่มเปิดตัวมาสักระยะแล้ว ประชาไทจึงประมวลข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานต่างๆ มา เปิดที่ข้อเสนอที่องค์กรสภาแรงงานรวมกับกระทรวงแรงงาน จัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2561 นำโดย พนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การแรงงานลูกจ้างแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานได้นำข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ 2561 จำนวน 10 ข้อ ยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร ประกอบด้วย 1. ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี 2. ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือน 3.ให้ผู้ประกันตนที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ไม่ถูกตัดสิทธิ์การรับเงินบำนาญ 4. ให้ประกันสังคมใช้ฐานค่าจ้างตามมาตรา 33 เดิม คำนวณเป็นฐานรับบำนาญให้ลูกจ้างที่พ้นจากการเป็นผู้ประกันตน 5.ให้รัฐบาลกำหนดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้นแก่ลูกจ้าง 6.ให้เร่งออกกฎหมายที่สนับสนุนระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ และยุติการแปรสภาพ 7.ให้ออกกฎหมายคุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ 8.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 9.ให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 ให้เป็นภาคบังคับ และมีโทษอาญา 10.ให้รัฐบาลสั่งกระทรวงแรงงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัด โดยให้นายจ้างลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันดำเนินการตัดสินใจโดยเฉพาะระบบแรงงานสัมพันธ์ โดยรวมแล้วแยกเป็นประเด็นเรื่องสวัสดิการทั้งในกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม ประเด็นสิทธิในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรองเป็นสหาพแรงงาน ประเด็นการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ภาพคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ค่าจ้างที่เป็นธรรม เลี้ยงชีพตนเอง + 2 คนในครอบครัวขณะที่ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ที่จัดกิจกรรมแยกมาจากนั้นมีข้อเรียกร้องเดิมจากปีก่อน 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ 2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี 3.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและ การเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48) 4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้ 4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ 5. รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว 6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้ 6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม 6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน 6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33 6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย 6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558 6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์ 7 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53) 8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตามผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซินเทติค เท็กสไทล์ จำกัด) 9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ และ 10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ มีประเด็นนอกเหนือจากองค์กรก่อนหน้าคือเรื่องรัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน ต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ กำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน
ภาพกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เลือกตั้งปีนี้และสิทธิเลือกตามที่ตั้งของสถานประกอบการขณะที่สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทยนอกต่างจากองค์กรต่างๆ ก่อนหน้านี้ในส่วนที่มีข้อเรียกร้องทางการเมือง คือให้ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนโดย "เลือกตั้งปีนี้" และให้ยกเลิก ม.44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ ณ วันนี้ ยังมีข้อเรียกร้องอื่นทางด้านนโยบายแรงงาน ประกอบด้วย ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง สส.สว.ในเขตพื้นที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ และยกเลิก การขยายอายุรับบำนาญชราภาพ สำหรับประเด็นอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้ รัฐ ต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า มีค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม กำหนดค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี และต้องมีปฏิรูปการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการและการเลี้ยงดูบุตร และจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ขณะที่กลุ่มคนงานที่จัดกิจกรรมนอกกรุงเทพกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง มีข้อเสนอประกอบด้วย 1. รัฐสวัสดิการ 2. การปรับค่าจ้างที่เป็นธรรม 3. ให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงาน 4. ดูแลความปลอดภัยในการทำงาน 5. ประชาธิปไตย และ 6. เลือกตั้งปีนี้ ภาพการจัดกิจกรรมของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ประเด็นแรงงานข้ามชาติจากเครือข่ายแรงงานภาคเหนือนอกจากนี้ ที่ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ มีข้อเรียกร้องประกอบด้วย 10 ข้อ เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 2 ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน 1 ข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าฯ จ.เชียงใหม่ และ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมีรายละเอียดดังนี้ ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย
ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน
ข้อเรียงร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
4 เพิ่มสร้างความมั่นคงจ้างงาน กับ บุษยรัตน์เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ประชาไท ได้พูดคุยกับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน ถึงทิศทางการสร้างความมั่นคงในการจ้างงานของภาคแรงงานทั้งระบบ บุษยรัตน์ กล่าวว่าถึงข้อเสนอเชิงนโยบายด้านแรงงาน 4 เพิ่ม ประกอบด้วย เพิ่มค่าจ้าง เพิ่มสวัสดิการแรงงาน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มอำนาจการต่อรอง จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่แรงงานกลุ่มต่างๆ ต่างต้องเผชิญกับ "สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำขั้นพื้นฐานไม่มากก็น้อย" อย่างน้อยใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 : รายได้ ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และชั่วโมงการทำงาน บุษยรัตน์ กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ 2560 แรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบส่วนใหญ่ ยังมีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนเป็นอันดับแรก โดยเฉลี่ยแล้วแรงงานนอกระบบมีรายได้ 7,801-9,000 บาทต่อเดือน ส่วนแรงงานในระบบมีรายได้ 9,001-15,000 บาทต่อเดือน ค่าจ้างจริง ค่าจ้างที่หักผลกระทบจากเงินเฟ้อแล้ว ไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่มีการกำหนดเรื่องโครงสร้างอัตราค่าจ้างรายปี ทำให้แรงงานที่ทำงานมากว่า 10-20 ปี อาจไม่มีการปรับค่าจ้างเลยก็ได้ หากค่าจ้างที่ได้รับเลยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว บุษยรัตน์ กล่าวต่อว่ายังมีการยกเว้นในลูกจ้างทุกประเภทของราชการ , ลูกจ้างทำงานบ้าน , ลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงานเกษตรกรรมตลอดปี , ลูกจ้างที่ทำงานในองค์กรที่ตีความได้ว่าไม่ได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ แรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดจนชั่วโมงในการทำงาน และค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด นายจ้างมีสิทธิกำหนดค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงานเท่าใดก็ได้ รวมทั้งการยกเว้นค่าชดเชย ซึ่งไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มไม่มีกฎหมายคุ้มครอง มีเฉพาะพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 คุ้มครองเฉพาะกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านเท่านั้น ทั้งแรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบ ส่วนใหญ่ทำงาน 41–50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อแลกกับรายได้ที่ไม่เพียงพอจากการทำงานตามเวลาปกติแรงงานนอกระบบและในระบบบางส่วน มีปัญหาทำงานไม่ตรงกับเวลาปกติ(ผลิตแบบระบบ 3 กะ หรือ 4 หยุด 2 ซึ่งไม่มีวันหยุด ชั่วโมงการทำงานมากเกินไป และลาพักผ่อนไม่ได้อีกด้วย ด้านที่ 2 : หลักประกันทางรายได้หลังเกษียณ บุษยรัตน์ ยกรายงานภาวะสังคมไทย 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่มีหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณมีประมาณ 18 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 50 ของกำลังแรงงาน ไม่รวมเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บางส่วนเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ผู้ที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้หลังเกษียณส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ เมื่อเกษียณอายุต้องพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานและเบี้ยยังชีพ ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงด้านรายได้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ในสถานประกอบการหนึ่งๆ สามารถมีการจ้างงานในหลายรูปแบบ ทำให้ลูกจ้างมีความเสี่ยงในการจ้างงานมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่การจ้างงานแบบประจำ โอกาสที่จะมีงานทำที่มั่นคงต่อเนื่องจึงลดลง และนี้ย่อมส่งผลต่อหลักประกันทางรายได้หลังเกษียณอย่างยากจะหลีกเลี่ยง การใช้ระบบการจ้างแบบเหมาค่าแรง รายวัน ชั่วคราว ทำให้คนงานมีความเสี่ยงในการทำงานแบบไม่มั่นคงตลอดเวลา มีปัญหาหนี้สินมากขึ้น อัตราการออมเงินจะยากขึ้นหรือลดลง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ยังมีการยกเว้นลูกจ้างบางประเภทที่ไม่ต้องได้รับการคุ้มครอง แม้มีนายจ้างชัดเจน ได้แก่ ลูกจ้างเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่ได้ทำงานตลอดปี, ลูกจ้างตามฤดูกาล , ลูกจ้างทำงานบ้าน , ลูกจ้างหาบค้าเร่หรือแผงลอย ด้านที่ 3 : ผลิตภาพของแรงงาน บุษยรัตน์ กล่าวว่า บริษัทจำนวนมากยังยึดวิถี รับจ้างผลิตหรือขายสินค้าราคาถูกด้วยแรงงานราคาถูก เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าจำนวนชิ้นที่เพิ่มขึ้น ไม่มีการลงทุนเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน เช่น การฝึกอบรม ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ประเทศเพื่อนบ้านล้วนเติบโตเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย ด้านที่ 4 : อำนาจการต่อรอง บุษยรัตน์ ยกข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานปี 2560 ซึ่งระบุว่า ทั่วประเทศมีสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึงร้อยละ 1 ของแรงงานทั้งหมด เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในเอเชีย มีสถานประกอบกิจการเพียงร้อยละ 2.53 และลูกจ้างเพียงร้อยละ 6.65 ที่ได้รับการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแรงงานนอกเหนือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สาเหตุส่วนหนึ่งคือ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทำให้คนงานที่เป็นแกนนำถูกเลิกจ้าง นายจ้างขัดขวางและกลั่นแกล้งแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพได้โดยง่าย สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานไทยยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานสากล ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยที่ยังไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง การจ้างงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถยกเว้นการใช้กฎหมายด้านแรงงานบางฉบับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 , พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อเอื้อให้ทุนสามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่ เช่น ห้ามรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองด้านค่าจ้างและสวัสดิการ ด้านที่ 5 : การได้รับบาดเจ็บหรือป่วยด้วยโรคจากการทำงาน รายงานประจำปี 2559 กองทุนเงินทดแทน บุษยรัตน์ ระบุว่า แรงงานที่ประสบอันตรายฯ ร้ายแรง มีจำนวนทั้งสิ้น 28,715 คน หรือมีอัตราเท่ากับ 9.47 ต่อลูกจ้างพันราย ปัญหาสำคัญที่ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบเผชิญ คือ สารเคมีเป็นพิษและปัญหาจากเครื่องจักรหรือเครื่องมือที่เป็นอันตราย และปัญหาอิริยาบถในการทำงาน เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือป่วยด้วยโรคจากการทำงาน สุดท้ายแรงงานกลุ่มนี้ต้องออกจากงาน ทั้งที่ถูกเลิกจ้างและลาออกเอง บางรายไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ ไม่มีหน่วยงานใดให้การสนับสนุนหรือเยียวยาหลังจากต้องออกจากงาน พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ยังกำหนดกิจการที่ยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ นี้จึงส่งผลต่อการที่แรงงานในระบบในหลายกลุ่มไม่สามารถเข้าสู่การคุ้มครองตามกองทุนเงินทดแทนได้ ในกลุ่มแรงงานนอกระบบเมื่อบาดเจ็บจากการทำงาน ไม่มีกฎหมายด้านการจ้างงานคุ้มครอง ต้องใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน จากสถานการณ์ 5 ด้านข้อต้น บุษยรัตน์ กล่าวว่าข้อเสนอสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาทั้ง 5 ด้าน ที่รัฐหรือพรรคการเมืองควรดำเนินการหรือเป็นแนวนโยบาย ได้แก่ เพิ่มค่าจ้าง เพิ่มสวัสดิการแรงงาน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มอำนาจการต่อรอง โดยมีรายละเอียดนโยบาย 4 เพิ่ม ดังนี้ (1) เพิ่มค่าจ้าง - ลูกจ้างไร้ฝีมือและทำงานใหม่ควรได้รับค่าจ้างที่พอจะทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ - คำนึงถึงค่าจ้างในฐานะที่เป็นค่าตอบแทนแก่ฝีมือการทำงาน - ลูกจ้างที่มีประสบการณ์มากควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกจ้างพยายามพัฒนาฝีมือของตนเอง - อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องบังคับใช้ในแรงงานทุกกลุ่มและต้องเท่ากันทั้งประเทศ (2) เพิ่มสวัสดิการแรงงาน - คนทำงานทุกคนต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้มีหลักประกันในชีวิตทั้งระหว่างทำงานและเกษียณ รวมทั้งเมื่อบาดเจ็บจากการทำงาน ต้องมีกลไกในการรักษาและเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนให้เป็นอิสระในการบริหารงานจากระบบราชการ - คนพิการและผู้สูงอายุในระบบการจ้างงาน ต้องได้รับการคุ้มครองเป็นการเฉพาะ - การจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงาน - ออกกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการต้องจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการเลิกกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องแต่อย่างใด (3) เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน - ยกระดับการศึกษาของแรงงาน มีเวลาในการศึกษาต่อเพิ่มเติม - เพิ่มความรู้และทักษะในอาชีพ ปฏิรูประบบการพัฒนาฝีมือแรงงาน - การคำนึงถึงการจ้างงานในระบบโรงเรียน-โรงงาน / แรงงานข้ามชาติ - การกำหนดสัดส่วนการจ้างงานในสถานประกอบการให้ชัดเจน - การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความมั่นคงในการจ้างงาน - การเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ณ จุดผ่านแดนถาวร (4) เพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน - ยกระดับการจัดการองค์กรเพื่อการต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ มีนโยบายและกลไกการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรแรงงานในทุกระดับ เช่น ฐานข้อมูลแรงงานทั้งระบบ , แรงงานทุกกลุ่มเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือรวมกลุ่มเป็นองค์กรแรงงานที่ถูกกฎหมายได้ , การเลือกตั้งผู้แทนในเขตที่ตั้งของสถานประกอบการที่คนงานทำงานอยู่ ฯลฯ - การจ้างงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แรงงานต้องได้รับการคุ้มครองเฉกเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีการยกเว้น - การปฏิรูปกลไกและกระบวนการยุติธรรมของศาลแรงงาน เลิกจ้างงานไม่มั่นคง ค่าจ้างอัตราเดียวเลี้ยงครอบครัวได้ สิทธิรวมตัวต่อรองขณะที่ 'พจนา วลัย' เขียนบทความไว้ในประชาไท เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านแรงงาน เนื่องในวันกรรมกรสากล ปีนี้ ไว้อย่างน่าสนใจ โดย พจน กล่าวไว้ในบทความดังกล่าวว่า พรรคการเมืองที่เตรียมการเลือกตั้งในอนาคตควรโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงานซึ่งมีข้อเสนอ 6 ข้อ ดังนี้ ข้อเสนอที่ 1 ยกเลิกรูปแบบการจ้างงานไม่มั่นคง เช่น ลูกจ้างเหมาช่วง ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างสัญญาจ้างระยะสั้น ที่ดำรงชีวิตแบบวันต่อวัน ดิ้นรนในการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ไม่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจและคุณภาพของกำลังแรงงานในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายการจ้างงานที่มั่นคง (Job security) ไม่ใช่พร่ำถึงแต่ความมั่นคงแห่งชาติ โดยบรรจุลูกจ้างชั่วคราวในภาครัฐและเอกชนให้เป็นพนักงานรายเดือน ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน และจ้างงานโดยตรง ข้อเสนอที่ 2 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศและครอบคลุมสมาชิกครอบครัวอีก 2 คนตามมาตรฐานแรงงานสากล ไม่ใช่ค่าจ้างที่เลี้ยงคนทำงานเพียงคนเดียวเพราะเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่จะปล่อยให้คนหาเลี้ยงชีพแบบวันต่อวัน ซึ่งผลักให้คนงานต้องทำงานยาวนาน พึ่งพาการทำงานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น ไม่มีเวลาพักผ่อน ดูแลครอบครัว ศึกษาหาความรู้ อบรมทักษะฝีมือเพิ่มเติม ตามระบบสามแปด และส่งผลต่อการสร้างภาระหนี้สินซึ่งนายจ้างต้องปรับตัวเพื่อให้กำลังแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ไปพร้อมกับขึ้นเงินเดือนแก่ลูกจ้างตามอายุงานด้วย ข้อเสนอที่ 3 สร้างเสริมสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าทุกด้านตั้งแต่เกิดจนตาย และเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนทุกคน (รัฐสวัสดิการ) เช่น เรียนฟรี มีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพราคาถูก มีบำเหน็จบำนาญที่สามารถดำรงชีพได้ ข้อเสนอที่ 4 ยอมรับอำนาจเจรจาต่อรองและบทบาทในการบริหารองค์กรร่วมของลูกจ้าง โดยรัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองร่วม ต้องเปิดพื้นที่และออกกฎระเบียบที่เอื้อให้ลูกจ้างรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน โดยปราศจากการกลั่นแกล้งจากนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนและให้สหภาพแรงงานอยู่ในโครงสร้างการบริหารองค์กรหรือบุคคลร่วมกับนายจ้างเพื่อสร้างความรับผิดชอบ (accountable) ซึ่งกันและกัน ข้อเสนอที่ 5 ควบคุมตรวจสอบภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานแรงงานสุขภาพอนามัย ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยจัดให้ตัวแทนลูกจ้าง ประชาชนในชุมชนใกล้เคียง เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิต การควบคุมภายใน เพื่อประกันความปลอดภัยในการทำงาน ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ข้อเสนอที่ 6 สังคมไทยจะต้องไม่ยอมรับวัฒนธรรมอำนาจนิยม การใช้ความรุนแรง และเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่แตกต่างกันในเรื่องเพศ อายุ ร่างกาย เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา ความคิดเห็นทางการเมือง เช่น แรงงานข้ามชาติ แรงงานหญิง แรงงานผู้พิการ เพศที่หลากหลาย ผู้เสียประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก ประชาธิปไตยและความสมานฉันท์ในสังคม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โพลระบุ 'ดูดนักการเมือง' เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย Posted: 06 May 2018 01:09 AM PDT สวนดุสิตโพล สำรวจความเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 1,158 คน 50.94% มองกรณีการดูด ส.ส.ในแวดวงการเมืองไทยถือเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย ที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้น 24.82% มองว่าแต่ละพรรคมีการแข่งขันกัน เสนอผลประโยชน์ให้กับ ส.ส. ตามด้วย 6 พ.ค. 2561 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,158 คน ระหว่างวันที่ 2-5 พ.ค. 2561 พบว่าประชาชน 50.94% มองกรณีการดูด ส.ส.ในแวดวงการเมืองไทยถือเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย ที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้น รองลงมา 24.82% มองว่าแต่ละพรรคมีการแข่งขันกัน เสนอผลประโยชน์ให้กับ ส.ส. ตามด้วย 21.79% มองว่าไม่น่าเกิดขึ้น ไม่สร้างสรรค์ ทำให้การเมืองไม่พัฒนา, 15.87% มองว่ามีทั้งผลดีผลเสีย ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน และ 11.83% มองว่าพรรคการเมืองต้องการรักษาอำนาจ ต้องการคนที่น่าจะชนะการเลือกตั้ง โดยข้อดีของการดูด ส.ส.ตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่ 41.51% มองว่าพรรคการเมืองได้จำนวน ส.ส. เพิ่มมากขึ้น ได้ฐานเสียงตามที่ต้องการ รองลงมา 37.83% มองว่าเกิดการแข่งขัน มีความหลากหลาย ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น ตามด้วย 27.61% มองว่าเป็นการหมุนเวียน ส.ส.ทำให้พรรคมีคนเก่งมากขึ้น ส่วนข้อเสียของการดูด ส.ส. ตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่ 54.36% มองว่าเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ทะเลาะเบาะแว้ง โจมตีกัน รองลงมา 36.92% มองว่าการเมืองไม่เข้มแข็ง ไม่มีจุดยืน ขาดอุดมการณ์ ตามด้วย 29.06% มองว่าขาดความน่าเชื่อถือ ภาพลักษณ์ไม่ดี ประชาชนส่วนใหญ่ 44.21% มองว่าการดูด ส.ส.เป็นเรื่องที่ไม่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย เพราะเป็นเรื่องที่มีมานาน เคยเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งมักจะมีการย้ายพรรค นักการเมืองมีสิทธิที่จะเลือก เป็นความสมัครใจ ฯลฯ รองลงมา 35.15% ไม่แน่ใจเพราะต้องดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง มีทั้งข้อดีข้อเสีย ต้องพิจารณาหลายด้าน ฯลฯ และตามด้วย 20.64% มองว่าขัดหลักประชาธิปไตย เพราะไม่ควรทำ เป็นการใช้อำนาจในทางที่ไม่เหมาะสม ควรแข่งขันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียม นักการเมืองควรมีอิสระ ฯลฯ ประชาชนส่วนใหญ่ 45.82% มองว่าการดูด ส.ส.ครั้งนี้สะท้อนการเมืองไทยเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ รองลงมา 32.58% มองว่าเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง ต้องการสืบทอดอำนาจ และตามด้วย 20.21% มองว่าการเมืองไม่พัฒนา เหมือนอดีตที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไม่ก้าวหน้า, 15.85% มองว่าพฤติกรรมนักการเมืองเหมือนเดิม ไม่มีอุดมการณ์ และ 12.72% มองว่าถึงเวลาต้องปฏิรูปการเมืองให้มีคุณภาพ เข้มแข็ง การที่ ส.ส.ย้ายพรรคหรือถูกดูด ประชาชนส่วนใหญ่ 58.81% มองว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือก ส.ส.ของประชาชน เพราะดูที่ตัวบุคคล เลือกจากพรรคที่ชอบ สามารถพิจารณาตัดสินใจเองได้ ดูจากประวัติ ผลงานที่ผ่านมา ฯลฯ รองลงมา 41.19% มองว่ามีผล เพราะต้องพิจารณาตัดสินใจ เกิดความลังเล ไม่แน่ใจ รู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัว ส.ส.ที่ย้าย ทำให้เบื่อหน่าย ฯลฯ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผลประชุมร่วมกรณี 'บ้านพักตุลาการดอยสุเทพ' ให้รังวัดแบ่งพื้นที่ชัดเจน-ฟื้นฟูป่า Posted: 06 May 2018 12:46 AM PDT ประชุมร่วม รมว.สำนักนายก เครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปจะมีการทำรังวัดแนวเขตพื้นที่ป่าดั้งเดิมแบ่งเขตให้ชัดเจน ทำการฟื้นฟูป่า โดยอาคารชุด 9 หลังและบ้านพัก 45 หลังจะไม่มีผู้อยู่อาศัย ส่วนด้านล่างลงมายังให้ศาลได้ใช้ประโยชน์อาคารสำนักงานและอาคารชุด 3 หลัง อาจมีการตั้งกรรมการร่วมรัฐ-ประชาชนในเรื่องการปลูกต้นไม้ 6 พ.ค. 2561 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ กับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 50 เครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพว่า ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีมา 3 ข้อ คือ ข้อที่ 1 จะไม่มีผู้อยู่อาศัยและเข้าไปใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งแนวทางปฏิบัติจะให้กรมธนารักษ์เข้าดำเนินการรังวัดและกำหนดพื้นที่ และให้ศาลคืนพื้นที่ดังกล่าวให้กรมธนารักษ์จากนั้นให้กรมธนารักษ์ คืนพื้นที่ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ข้อที่ 2 การฟื้นฟู ปลูกป่า นายกรัฐมนตรีอยากให้ทำทันที และอยากเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ร่วมปลูกป่าด้วย โดยจะคิกออฟในวันที่ 27 พ.ค. 2561 ทั้งนี้ ส่วนราชการมีแผนที่จะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่อยู่แล้ว และเปิดโอกาสให้ประชาชนและเครือข่ายแนะนำข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูพื้นที่ร่วมกัน ข้อที่ 3 นายกรัฐมนตรีให้มารับฟังประเด็นอื่นที่ทางเครือข่ายภาคประชาชนจะเสนอเข้ามา โดยได้มีการเสนออยากให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ร่วมถึงจะดำเนินการอย่างไรกับอาคารชุด 9 หลัง บ้านพัก 45 หลัง จะมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการต่อไป เบื้องต้นให้ผู้รับเหมาก่อสร้างส่งมอบงานให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2561 ตามกำหนดเวลาก่อน ด้านนายธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่าพร้อมให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูให้ผืนป่าดั้งเดิมกลับคืนมา และเชื่อว่าจะไม่มีการยื้อเวลาจากทางภาครัฐโดยเครือข่ายจะยังคงติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด พร้อมให้เวลาภาครัฐในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ในวันที่ 7 พ.ค. 2561 จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเร่งเดินหน้าในการแก้ไขปัญหา ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่าในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นายสุวพันธ์ ระบุว่า "สรุปว่าเรื่องที่ไม่มีผู้เข้าไปอยู่อาศัย จะมีการทำรังวัดโดยกรมธนารักษ์ในแนวเขตพื้นที่ป่าดั้งเดิม คืออาคารชุด 9 หลัง และ บ้านพัก 45 หลัง ก็จะไม่มีผู้อยู่อาศัย จะมีการแบ่งเขตให้ชัดเจน และทำการฟื้นฟูพัฒนาให้เป็นป่าที่สมบูรณ์แบบต่อไป ส่วนด้านล่างลงมาจะทำให้เป็นเขตชัดเจนเพื่อให้ศาลได้ใช้ประโยชน์ทั้งอาคารสำนักงานและอาคารชุด 3 หลัง จะให้ชัดเจนและเกิดการประสานงานและดำเนินการได้ ในเรื่องการฟื้นฟูจะดำเนินการไปตามแผน อาจมีการตั้งกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชนในเรื่องการปลูกต้นไม้ ส่วนเรื่องอื่นๆ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องที่คุยกันกับตัวแทนเครือข่าย อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ และดูแลพื้นที่ที่นอกเหนือไปจาก 147 ไร่นี้อีกว่าจะทำอย่างไร พื้นที่ที่เป็นที่ราชพัสดุ และมีสภาพคล้ายๆ ป่า ควรจะทำอย่างไร ก็คุยกันแล้วและเห็นว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดำเนินการทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่และเรื่องการทำให้เป็นป่าสมบูรณ์แบบ" ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำในลักษณะนี้เป็นการเสียงบประมาณจากการก่อสร้าง นายสุวพันธุ์ กล่าวว่าวันนี้ต้องใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะปัญหานี้มีเรื่องทับซ้อนอะไรอยู่ จึงคิดว่าแก้ไปที่ละเปลาะ หากยังหางบประมาณไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามวิธีการของการหางบประมาณ ส่วนการรื้อนั้นวันนี้ยังไม่ได้คุยกันลงไปลึกถึงเหตุผล ถ้าเรื่องนี้ยังมีการติดใจอยู่ มีคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องสิ่งปลูกสร้างว่าควรจะเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดจากกระบวนการภาคประชาชนที่ร่วมกันคิด วันนี้สิ่งที่ได้รับความประทับใจมากที่สุดคือ ความร่วมมือของตัวแทน ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 50 องค์กรที่มาทำงานและพูดคุยกันไดก้ด้วยความเข้าใจและมองถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีงานที่ต้องทำอีกมาก "เรื่องนี้ที่ต้องทำระยะสั้น ทำได้เลยทันที เช่น การรังวัดพื้นที่ให้ชัดเจน กำหนดเขตชัดเจน ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เรื่องอื่นๆ มันอาจมีระยะเวลาของมัน ต้องมีการศึกษาอะไร สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน สะท้อนความห่วงใยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคราชการได้มานั่งฟังก็เป็นเรื่องระยะยาวที่เราต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพิ่มเติม ฉะนั้นในส่วนของระยะสั้นเราก็อยากทำให้ 147 ไร่แก้ปัญหาได้ ไม่มีการพบกับครึ่งทาง ปลายทาง ไม่มีทั้งสิ้นเลย เป็นการพบกันด้วยความเข้าใจ ด้วยความร่วมมือและตั้งใจดีของทุกฝ่าย ในส่วนของศาลยุติธรรมท่านบอกมาชัดเจนแล้วว่า ศาลมอบให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาแทน และอะไรที่รัฐบาลตัดสินใจศาลน้อมรับและพร้อมปฏิบัติ และรัฐบาลรับมาทำแทน ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่ สังคม ภาคประชาชน และราชการได้รับการเรียนรู้ว่า ต่อไปเราจะทำอะไรต้องคำนึงถึงสิทธิและอะไรอีกหลายอย่างที่กระทบต่อภาพรวม ความรู้สึก และภาพรวมของประเทศ พวกเราได้รับบทเรียนพร้อมกันทุกฝ่าย" นายสุวพันธุ์ กล่าวและว่าสำหรับสัญญาการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามสัญญาเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคเอกชน เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ยื้อเวลาเลย รัฐบาลแก้ปัญหาบนผลประโยชน์ของส่วนรวม ตามที่รัฐบาลส่งตนมา และนายกรัฐมนตรีได้พูดความในใจของท่าน และการที่ตนมารับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาจะยื้อเวลา โดยจะมีคณะกรรมการมาดูแลเรื่องสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) จังหวัดเชียงใหม่จะมีการเรียกประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการและธนารักษ์จะเข้าทำการรังวัดในสัปดาห์หน้านี้" ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุวพันธุ์ มีโอกาสเข้าไปดูพื้นที่จริงหรือไม่ นายสุวพันธุ์ตอบว่า ได้เห็นแล้ว และนำมาซึ่งการเดินทางมาประชุมในวันนี้กับแกนนำเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ต่อมานายธีระศักดิ์ ได้แถลงท่าทีของเครือข่ายว่าจากการหารือกับรัฐมนตรีในวันนี้ สิ่งที่เราได้หลายประการ แต่หลักๆ คือ เราจะได้ผืนป่าดอยสุเทพ หรือ บ้านป่าแหว่งกลับเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ดั้งเดิม ส่วนวิธีการที่จะทำต่อไป คือ ช่วงนี้จะมีการฟื้นฟูพื้นที่ล้ำแนวป่าขึ้นไป คือ อาคารชุด 9 หลัง และบ้านพัก 45 หลัง จะได้รับการรังวัดโดยด่วนโดยธนารักษ์ และจะมีการทำทางเข้าด้านข้างศาล หรือ บริเวณศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเข้าไปดำเนินการด้านอื่นๆ เมื่อรังวัดเสร็จแล้ว ศาลจะทำการโอนพื้นที่ที่แปลงนี้คืนธนารักษ์ แล้วธนารักษ์จะโอนไปให้ป่าไม้หรืออุทยานฯ เพื่อประกาศเป็นเขตอุทยานฯ "ส่วนการรื้อถอนนั้น เราจะไม่พูดว่ารื้อ แต่เราจะใช้คำว่าสิ่งปลูกสร้างแทนคำว่าเตขว้าง โดยมีกรรมการเข้ามาดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้าง แต่สิ่งที่เราได้ คือ คำมั่นสัญญาว่าเราจะได้ป่าดอยสุเทพกลับคืนเป็นป่าอุดมสมบูรณ์แน่นอนมีความหมายว่า จะไม่มีอาคารเหลืออยู่แน่นอน และมีปัญหาข้อกฎหมายนิดหน่อย โดยคณะกรรมการที่จะตั้งเข้ามาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญว่าจะใช้กฎหมายแก้ไขอย่างไร หากตั้งเป็นอุทยานแล้ว จะต้องใช้กฎหมายอุทยานในเรื่องจะดำเนินการสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ โดยจะเข้าไปฟื้นฟูก่อนแบบประชารัฐร่วมใจในจุดที่มีการก่อสร้าง รู้สึกพอใจผลการเจรจาในวันนี้ และเครือข่ายจะให้เวลาระยะหนึ่งในการทำงานของคณะกรรมการ โดยจะจับตาอย่างใกล้ชิด วันนี้ถือว่าเป็นข่าวดี ถือว่าเป็นดอยสุเทพโมเดล ในการทำงานร่วมกันของ 52 องค์กร ฝากไปถึงบุคคลอื่นๆว่า ห้ามโหนกระแสทำกิจกรรมอื่นใด เพราะต่อไปนี้ คือ การฟื้นฟู และเพื่อเป็นการฉลองใหญ่เป็นชัยชนะของเรา ด้วยการจัดกิจกรรม 'ฮ้องขวัญดอยสุเทพ' หลังจากแกนนำได้หารือกันในเร็วๆนี้ เราจะมีกิจกรรมต่อเนื่อง แต่เน้นการฟื้นฟูเชิงสร้างสรรค์และพูดคุยแต่เรื่องดีๆ ไม่มีการรับบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น ฝากขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สนใจปัญหาของประชาชน หวังว่าจะแก้ไขปัญหาให้ไวๆ ขอขอบคุณที่ทำให้ประชาชนดีใจตามคำสัญญาที่ท่านให้ไว้ว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน ขอฝากท่านช่วยดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด และให้ป่ากลับคืนมาโดยเร็ว" นายธีระศักดิ์ กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สารเคมี 'โรงไฟฟ้าแม่เมาะ' รั่วไหล Posted: 06 May 2018 12:05 AM PDT สารเคมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง รั่วไหลบริเวณจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงที่ 4-7 กฟผ.สั่งอพยพคนงานออกแล้ว ทั้งหมดปลอดภัยมีบางคนเกิดอาการแพ้ กฟผ. ยันสารเคมีรั่วที่โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนไม่ใช่ไซยาไนด์ ขณะนี้สถานการณ์ปกติแล้ว 6 พ.ค. 2561 MGR Online รายงานว่าหลังจากช่วงเช้าจนถึงเวลาประมาณ 10.00 น.เศษ ได้มีกระแสข่าวออกมาว่าเกิดสารพิษรั่วไหล บริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนที่ 4-7 ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ติดกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 13 ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ทำให้คนงานที่เข้าไปทำงานวันนี้ บางคนเกิดอาการแพ้ จากนั้นทางโรงไฟฟ้าได้ให้คนงานทั้งหมดอพยพออกจากบริเวณสถานที่ทำงานตามแผนฉุกเฉิน ล่าสุดนางสาวนณภัทร หวันแก้ว ปลัด อบต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้า กฟผ.แม่เมาะ บอกว่าได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง โดยสารที่รั่วไหลออกมาคือ ก๊าซไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารพิษ หากมีการสูดดมเข้าไปจำนวนมาก และผู้ที่แพ้จะมีอาการหายใจติดขัด ชักและหมดสติ กระทบระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไต และระบบหัวใจได้ ส่วนสาเหตุว่าสารพิษดังกล่าวรั่วไหลมาจากไหนนั้นยังไม่ทราบ แต่มีแหล่งข่าวระบุว่าเกิดจากการล้างท่อ แต่สาเหตุที่แท้จริงต้องรอการตรวจสอบอีกครั้ง เบื้องต้นคนงานทุกคนปลอดภัย มีเพียงบางคนที่เกิดอาการแพ้เท่านั้น ทั้งนี้จากการเข้าตรวจสอบโดยรอบสถานที่ก่อสร้างพบว่าไม่มีคนงานทำงานแล้ว สำหรับโรงไฟฟ้าทดแทน 4-7 นั้น ได้ก่อสร้างแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอายุใช้งานมากว่า 25 ปี กฟผ. ดำเนินการโครงการฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2557 ในวงเงิน 36, 811 ล้านบาท กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในวันที่ 13 พ.ย. 2561 นี้ กฟผ. ยันสารเคมีรั่วที่โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนไม่ใช่ไซยาไนด์ ขณะนี้สถานการณ์ปกติแล้ว Energy News Center รายงานว่านายศานิต นิยมาคม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงถึงกรณีที่ช่วงเช้าวันนี้ (6 พ.ค. 2561) มีสื่อมวลชนบางแห่ง ได้นำเสนอข่าวว่าเกิดเหตุสารไซยาไนด์รั่วภายในบริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 4-7 และมีการอพยพคนงานออกจากพื้นที่ดังกล่าว กฟผ. จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า สารเคมีดังกล่าวไม่ใช่สารไซยาไนด์ ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุสารเคมีที่ใช้ปรับสภาพน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้ามีการรั่วซึม ได้มีการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยเร่งด่วนจนสถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่สภาวะปกติเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่และคนงานกลับเข้าไปปฏิบัติงานได้ตามปกติแล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีผู้ได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว อัพเดทข้อมูลเมื่อเวลา 19.42 น. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โฆษก คสช.ชี้ภาพรวมชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียบร้อย Posted: 05 May 2018 10:46 PM PDT โฆษก คสช.ชี้ภาพรวมการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียบร้อย การประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่และแกนนำเป็นไปด้วยดีไม่มีการกระทบกระทั่งกัน เตรียมประเมินสถานการณ์รองรับชุมนุมใหญ่ 22 พ.ค. ภาพการชุมนุมเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2561 (แฟ้มภาพประชาไท) 6 พ.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) ว่ากิจกรรมทั้งหมดอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่มีการเคลื่อนขบวนไปที่ไหน ถือว่าการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่และแกนนำเป็นไปด้วยดี ซึ่งภายในงานมีการปราศัย การแสดงดนตรี การออกร้านจำหน่ายสินค้า และอาหาร ส่วนคนที่มาร่วมงานก็มีทุกเพศ ทุกวัย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่าการจัดกิจกรรมล่วงเลยเวลาที่ระบุไปราว 1 ชั่วโมง คือ เสร็จสิ้นในเวลา 21.00 น. จากที่กำหนดไว้ คือ 16.00-20.00 น. แต่ภาพรวมทั้งหมดก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการกระทบกระทั่งกัน การอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วนการปราศรัยบนเวทีจะมีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ก็ติดตามดูอยู่เป็นรายคน ส่วนที่แกนนำประกาศจัดชุมนุมใหญ่ วันที่ 22 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปี คสช. นั้น ก็ต้องติดตามสถานการณ์ และองค์ประกอบต่างๆ เพื่อนำมาประเมินมาตรการที่จะใช้รองรับต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กองทุนเอดส์บัตรทอง ปี 2560 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงรักษาเร็วขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต Posted: 05 May 2018 10:09 PM PDT สปสช.เผยผลดำเนินงาน "กองทุนเอดส์บัตรทอง ปี 2560" ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เข้าถึงการรักษารวดเร็วขึ้น มีคุณภาพชีวิตเพิ่ม ผลจากนโยบายจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีไม่จำกัด CD4 และรณรงค์ให้ประชาชนตรวจเอชไอวีได้ปีละ 2 ครั้ง พร้อมปี 2561 รุกงานบริการผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ต่อเนื่อง เดินหน้างานบริการส่งเสริมป้องกัน หนุนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ 6 พ.ค. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากปี 2548 ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์และการบริการตรวจเชื้อเอชไอวี ได้ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลจากการพัฒนาระบบและบริการเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย องค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ เป็นต้น จากข้อมูลรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ได้รายงานผลการดำเนินงานด้านการบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ พบว่าการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 295,858 คน มีผู้ป่วยที่ทราบสถานการติดเชื้อถึงจำนวน 285,671 คน หรือร้อยละ 96.56 และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส จำนวน 250,722 คน หรือร้อยละ 87.77 โดยเป็นจำนวนที่มากกว่าเป้าหมายตั้งไว้ ขณะที่ผู้รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้มีจำนวน 184,953 คน หรือร้อยละ 73.77 นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เมื่อดูข้อมูลผลการดำเนินงานเฉพาะในส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ รายใหม่ พบว่าผู้ติดเชื้อเข้าถึงบริการได้รวดเร็วขึ้น สะท้อนจากข้อมูลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ รายใหม่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงมาก หรือค่า CD4 ต่ำกว่า 100 cells/mm3 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 57.51 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 38.79 ในปี 2560 และผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานดีอยู่ หรือค่า CD4 มากกว่า 500 cells/mm3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 2.61 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 13.93 ในปี 2560 ที่สอดคล้องกับนโยบายการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนได้รับยาต้านไวรันโดยไม่คำนึงถึงระดับ CD4 ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 และการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการรับคำปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบสถานะการติดเชื้อฯ และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี สำหรับในปี 2561 นี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบเพื่อให้ สปสช.ดำเนินงานบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการเดินหน้างานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ซึ่งจากข้อมูลในปี 2560 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 5,801 คน หรือเฉลี่ยวันละ 16 คน ยังเป็นอัตราการติดเชื้อรายใหม่ที่สูงไม่น้อย "การจัดบริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการจัดบริการป้องกันการติดเชื้อนั้น ไม่เพียงแต่มุ่งดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นการดำเนินงานที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 ให้บรรลุเป้าหมาย หยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขภายในปี พ.ศ.2573 ด้วย" เลขาธิการ สปสช. กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 เม.ย.-6 พ.ค. 2561 Posted: 05 May 2018 09:51 PM PDT ไฟไหม้โรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าในไต้หวัน คนไทยเสียชีวิต 2 คน/ผลโพลเผยพนักงาน 37% อยากลาออกหางานใหม่/กยศ.เชิญหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคราชการ เตรียมความพร้อมหักเงินข้าราชการและลูกจ้างส่งเงินคืนกู้ยืมกองทุนกว่า 195,000 ราย/นายกรับ 10 ข้อร้องเรียนแรงงาน/'นายจ้าง-แรงงานต่างด้าว' เฮ! พรก.2 ฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว/สมาคมแต่งผม-เสริมสวย จ.เชียงใหม่ คัดค้านการปลดล็อคอาชีพสงวน อมตะจัดมหกรรมดึงแรงงานป้อนเข้าการผลิต 5.5 พันราย 6 พ.ค. 2561 นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน และจังหวัดชลบุรี จัดงาน "มหกรรมนัดพบแรงงานจังหวัดชลบุรี" ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงานมีผู้ประกอบการโรงงานกว่า 150 บริษัท มาร่วมเปิดบูธรับสมัครงาน พร้อมตำแหน่งงานว่างกว่า 5,500 อัตรา ซึ่งมีอัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อาหาร ขนส่ง ก่อสร้าง เป็นต้น ณ ลานอเนกประสงค์ ด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี ทั้งนี้การเปิดรับอัตราแรงงานที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากตลาดมีความต้องการแรงงานเข้าสู่ระบบภาคการผลิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไม่ว่าจะเป็นแรงงานฝีมือ และแรงงานที่มีความชำนาญการเฉพาะด้าน เช่น ด้านเทคโนโลยี และช่างกล ที่อยู่ในสายอาชีวะศึกษา ที่ขณะนี้เป็นบุคคลากรที่มีความต้องการของตลาดเป็นจำนวนมาก "หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งในภาคการผลิตและส่งออก ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ต้องการแรงงานฝีมือเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นจากจำนวนการเปิดรับสมัครงานของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง ทั้งใน อมตะ ซิตี้ ชลบุรี และอมตะ ซิตี้ ระยอง ซึ่งการเปิดมหกรรมนัดพบแรงงานในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้สถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้ที่ต้องการหางานได้พบปะกันโดยตรง และส่งเสริมการจัดหาแรงงานที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการผลิตต่อไป" นายวิบูลย์ กล่าว ก.แรงงานติวเข้มเชฟไทยปีนี้ไป ตปท.แล้ว 1,101 คน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าในปัจจุบันพ่อครัวแม่ครัวไทย ยังคงเป็นที่ต้องการของร้านอาหารไทย โรงแรม สถานประกอบกิจการท่องเที่ยวและบริการในต่างประเทศ จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าในปี 2560 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ตำแหน่งคนครัว จำนวน 3,224 คน ส่วนในปี 2561 (1 มกราคม-30 เมษายน 2561) จำนวน 1,101 คน มีรายได้เฉลียประมาณ 40,000-90,000 บาทต่อเดือน ประเทศที่พ่อครัวแม่ครัวไทยนิยมเดินทางไปทำงาน ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือ เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้เป็นแรงงานทักษะ กพร. ได้ดำเนินการฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก ดำเนินการแล้ว 3,318 คน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,740 คน สำหรับคนที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศในตำแหน่งคนครัว นอกจากจะเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว อยากเชิญชวนให้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับทาง กพร. ด้วย เนื่องจากในแต่ละประเทศมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการรับเข้าทำงาน กสร.เตือนมีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ต้องจัดห้องพยาบาล นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการจัดสวัสดิการที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้าง เช่น การจัดให้มีน้ำดื่มสะอาด ห้องน้ำ ห้องส้วม สิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาล เป็นต้น สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนมาก เช่น มีลูกจ้างทำงานในเวลาเดียวกันตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีห้องพยาบาลและพยาบาลไว้ประจำอย่างน้อยหนึ่งคนตลอดเวลาทำงาน รวมทั้งต้องจัดแพทย์อย่างน้อยหนึ่งคนเพื่อตรวจรักษาลูกจ้างไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงในเวลาทำงาน สำหรับสถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในเวลาเดียวกันตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป จะต้องจัดให้มีห้องพยาบาลและพยาบาลอย่างน้อยสองคนประจำตลอดเวลาทำงาน และต้องจัดให้มีแพทย์เพื่อตรวจรักษาไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 12 ชั่วโมงในเวลาทำงาน รวมทั้งจัดเตรียมยานพาหนะพร้อมที่จะนำลูกจ้างส่งสถานพยาบาลได้ อธิบดีกสร. กล่าวต่อว่า ในกรณีที่ไม่สะดวกในการจัดแพทย์ประจำ นายจ้างสามารถทำความตกลงกับสถานพยาบาลที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นสถานพยาบาลที่นายจ้างสามารถนำลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลได้โดยสะดวกและรวดเร็ว แทนการจัดให้มีแพทย์มาตรวจรักษาได้ ทั้งนี้ต้องได้รับการอนุญาตจากกสร.ก่อน สำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะมีความผิด โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 4/5/2561 ก.แรงงานตั้งเป้าปี 2561 ส่งแรงงานทำงาน ตปท.4 หมื่นคนใน 10 ปท. นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าปี 2561 จะส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจำนวน 40,000 คน ใน 10 ประเทศ ภูมิภาคเอเชียจำนวน 30,000 คน ภูมิภาคตะวันออกกลาง 5,000 คน ภูมิภาคยุโรป 5,000 คน เพื่อหวังให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมีศักยภาพและได้รับการคุ้มครองตามหลักสากลทั้งก่อนการเดินทาง ระหว่างการทำงาน และเมื่อเดินทางกลับประเทศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานไทย สมาคมแต่งผม-เสริมสวย จ.เชียงใหม่ คัดค้านการปลดล็อคอาชีพสงวน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.00 น .ณ.อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมแต่งผม -เสริมสวย จ.เชียงใหม่ ชมรมช่างเสริมสวยลำพูน และ สมาคมช่างผมภาคเหนือแห่งประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการปลดล็อคอาชีพสงวน เกรงแรงงานต่างด้าวแย้งอาชีพ นายพัฒนา หน้าผ่อง นายกสมาคมแต่งผม-เสริมสวย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีแนวคิดที่จะเปิดให้แรงงานต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผม ช่างเสริมสวยในประเทศไทยได้ จากเดิมที่เคยสงวนไว้ให้เฉพาะคนไทยที่มีสัญชาติไทย สามารถประกอบการอาชีพนี้ได้เท่านั้น ซึ่ง อาชีพช่างตัดผม ช่างเสริมสวย ไม่ได้เป็นอาชีพที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องเปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพช่างตัดผม-ช่างเสริมสวยในประเทศไทย พวกเราผู้ประกอบการร้านแต่งผม เสริมสวย จึงขอคัดค้านแนวคิดดังกล่าวของกระทรวงแรงงาน ฯ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ไปยังรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ได้โปรดระงับความคิดดังกล่าวและสงวนอาชีพช่างตัดผม ช่างเสริมสวยไว้ให้เฉพาะคนไทย ที่มีสัญชาติไทยดังเดิม โดยมีนายศเนติ จิรภาสอังกูร ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่และตัวแทนแรงงานจังหวัด เชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบหนังสือคัดค้าน ผ่านไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและรัฐบาล อาจารย์เฉลิมชัย พรมมา นายกสมาคมช่างผมภาคเหนือแห่งประเทศ กล่าวว่า ในนามสมาคมช่างผมภาคเหนือแห่งประเทศ พร้อมคณะ เป็นตัวแทนสมาชิก ฯ มายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง ขอคัดค้าน ปลดล็อคอาชีพตัดผม-เสริมสวย พร้อมได้แนบรายชื่อผู้ร่วมคัดค้านมาด้วย ทั้งนี้เนื่องจากว่า อาชีพช่างตัดผม-ช่างเสริมสวย ไม่ได้เป็นอาชีพที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดให้แรงงานต่างด้าว เข้ามาประกอบอาชีพนี้ ในประเทศไทย จึงขอคัดค้านแนวคิดดังกล่าว ของกระทรวงแรงานฯ ผ่านมาทางผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ไปยังรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องได้โปรดระงับความคิดดังกล่าว และขอสงวนอาชีพช่างตัดผม-ช่างเสริมสวยไว้ให้เฉพาะคนไทย สัญชาติไทย ดังเดิม ผมว่าการปลดล็อคครั้งนี้ ทางรัฐบาลต้องทบทวนเพราะว่าช่างตัดผม เสริมสวย ปัจจุบันมีมากพอสมควรแล้ว เป็นอาชีพสงวน สำหรับคนไทยมานานแล้ว อยากสงวนให้คนไทยต่อไป ด้านนายธนกฤต สุวรรณพรหม ประธานชมรมช่างเสริมสวยลำพูน กล่าวว่า ร้านเสริมสวยและร้านบาร์ เบอร์ เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ เพราะจะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับเทศบาล ในส่วนที่อยู่ต่างจังหวัด ถ้าอยู่ที่กรุงเทพก็ขึ้น ทะเบียนกับเขต ซึ่งจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเสริมสวย ต้องมีความเชี่ยวชาญ ความสามารถ หลายๆระดับ ระดับที่ 1- ระดับที่ 4 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 4 เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่ ถ้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำอาชีพช่างตัดผม เสริมสวย เราจะเอาเครื่องมืออะรัยมาวัด มีใบประกอบวิชาชีพมัย ปัญหามากมายจะตามมา จึงขอให้ปลดล็อคอาชีพสงวน ช่างตัดผมช่างเสริมสวย คนไทยเราก็ทำอาชีพนี้เยอะอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็แข่งขันกันเองอยู่แล้ว ไม่ได้ขาดแคลน แต่อย่างใด ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 3/5/2561 'นายจ้าง-แรงงานต่างด้าว' เฮ! พรก.2 ฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว 2 พ.ค.2561- เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา หน้า 31 เล่ม 135 ตอนที่ 31 ก ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ศ.2561 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงนามแล้ว โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2561 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ศ.2561 รวม 2 ฉบับไปเพื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้นในคราวประชุม สนช.ครั้งที่ 24/2561 วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2561 ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติอนุมัติพระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว จึงประกาศมาตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ประชุมได้มีมติมติเอกฉันท์ 177 เสียง เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และมีมติ 176 เสียง เห็นชอบกับ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองที่ ครม.เป็นผู้เสนอ สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้มีการใช้ระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น และกำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน อาทิ กรณีนายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายทำงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน รวมถึงยกเลิกประกาศเขตที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว โดยให้แรงงานสามารถทำงานและพักที่ใดก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ จนเป็นเหตุให้เกิดการค้ามนุษย์ รวมทั้งการปรับปรุงอัตราโทษให้มีความเหมาะสม เช่น มาตรา 101 ที่กำหนดโทษแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตจากเดิมจำคุก 5 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 1 แสนบาท ได้ตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 5 พัน-5 หมื่นบาท มาตรา 102 ที่กำหนดให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จากโทษปรับเดิมตั้งแต่ 4-8 แสนบาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน เหลือ 1 หมื่น-1 แสนบาทต่อคน และใครทำผิดซ้ำซากจะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5 หมื่น-2 แสนบาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดมิให้นำมาตราที่ถูกพักการบังคับใช้มาบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 1 ก.ค.นี้ ส่วนสาระสำคัญของ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 23 ชีวิตกระเด็นออกจากรถ! กระบะขนแรงงานยางระเบิด! พลิกคว่ำดับ 1 เจ็บระนาว เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ร.ต.อ.เดช ภูมิสถาน ร้อยเวรสอบสวน สภ.ระเบาะไผ่ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งเหตุรถกระบะเสียหลักพลิกคว่ำ บนถนนทางหลวงหมายเลข 359 สาย สระแก้ว-เขาหินซ้อน หลักกม.ที่ 64-65 บ้านมาบเหียง ม.10 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หลังจากรับแจ้งจึงรุดไปตรวจสอบพร้อมพ.ต.อ.กนกศักดิ์ สิงห์ทอง ผกก.สภ.ระเบาไผ่ นายพงษ์สิทธิ์ เนื่องจำนง นายอำเภอศรีมหาโพธิ เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย สว่างบำเพ็ญ และร่วมกตัญญู ที่เกิดเหตุเป็นถนนฝั่งขาเข้าจ.สระแก้ว พบรถกระบะ 4 ประตู ยี่ห้อโตโยต้า สีดำ ทะเบียน ชภ-9026 กรุงเทพฯ สภาพพลิกหงายท้องล้อชี้ฟ้าอยู่บนกลางถนน พบสิ่งของกระเป๋าเป้สัมภาระต่างๆกระจัดกระจายเกลื่อนถนน และพบผู้บาดเจ็บจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ได้เร่งนำส่งโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ และโรงพยาบาลโสธรเวช นอกจากนี้ พบผู้เสียชีวิตเป็นชาย 1 ราย นอนเสียชีวิตอยู่ล่องกลางถนน ส่วนคนขับรถยนต์คันดังกล่าว คาดว่าน่าจะอาศัยความมืดหลบหนีไปก่อนเจ้าหน้าที่เดินทางไปถึง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เดินทางมากับรถคันดังกล่าวทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ต่อมาได้ตรวจสอบที่โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ และโรงพยาบาลโสธรเวช พบว่ามีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 23 ราย โดยมีอาการสาหัส 5 ราย เป็นชาย 1 ราย หญิง 4 ราย จากการสอบถามแรงงานชาวกัมพูชาที่พอจะพูดภาษไทยได้ ทราบว่า รถยนต์คันดังกล่าวได้รับแรงงานทั้งหมดมาจากอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อจะเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยมีสองสามีภรรยาที่เป็นคนไทยและเป็นเจ้าของรถพามา โดยนั่งมาในตัวรถ 12 คน และนั่งกระบะหลัง 11 คน แรงงานชาวกัมพูชา กล่าวต่อว่า จากนั้น รถก็ขับมาตามเส้นทางดังกล่าว พอมาถึงที่เกิดเหตุเกิดเสียงดังคล้ายยางรถยนต์ระเบิดด้านล้อหลัง จากนั้น รถก็เสียการทรงตัวพุ่งตกลงไปในล่องกลางถนน ก่อนที่จะพลิกคว่ำข้ามไปอีกฝั่งของถนน ส่งผลให้ผู้โดยสารที่นั่งมาด้านท้ายกระบะกระเด็นไปคนละทิศละทางเกิดเหตุดังกล่าว กรุงเทพโพลล์: "ความในใจของแรงงานไทย 4.0" เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ความในใจของแรงงานไทย 4.0" โดยเก็บข้อมูลกับผู้ใช้แรงงาน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,045 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 308- 330 บาท ตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 35.7 ยังไม่ทราบ เมื่อถามต่อว่าได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 ได้รับแล้ว ขณะที่ร้อยละ 40.4 ยังไม่ได้รับ เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปี ติดต่อกัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.7 รู้สึกมีความสุข อยากให้ขึ้นแบบนี้ทุกๆปี ส่วนร้อยละ 35.7 รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 11.6 รู้สึกแย่ คิดว่าน่าจะขึ้นมากกว่านี้ ทั้งนี้เมื่อถามว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.9 ระบุว่า ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม ส่วนร้อยละ 29.2 ระบุว่า พอดีกับค่าใช้จ่ายจึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม สำหรับเรื่องที่กังวลหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกันพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.5 กังวลว่าข้าวของจะราคาแพงขึ้น เพราะต้นทุนผู้ประกอบการสูงมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 25.1 กังวลว่าค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ขึ้นอีกหลายปี และร้อยละ 19.8 กังวลว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน เมื่อถามว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำไปทั่วทุกภูมิภาค ทำให้อยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิดหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.3 อยากกลับ ขณะที่ร้อยละ 37.7 ไม่อยากกลับ โดยในจำนวนนี้ ให้เหตุผลว่า ในกทม. และปริมณฑลมีสวัสดิการดีกว่า (ร้อยละ 43.4) รองลงมาคือ มีงานให้เลือกน้อย (ร้อยละ41.4) และชอบอยู่กทม.และปริมณฑลมากกว่า (ร้อยละ 37.2) สุดท้ายเมื่อถามถึงความในใจที่อยากบอกกับนายจ้างพบว่า เรื่องที่อยากบอกนายจ้างมากที่สุดคือ อยากให้เพิ่มเงินรายวันให้มากขึ้น(ร้อยละ 35.0) รองลงมาคือ อยากให้เพิ่มสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล (ร้อยละ 17.1) และอยากให้มีงานจ้างทุกวัน (ร้อยละ 13.8) นายกรับ 10 ข้อร้องเรียนแรงงาน 1 พ.ค. 2561 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธานในการพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ พ.ศ.2561 โดยมีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และแรงงานกว่า 1 พันคนเข้าร่วมต้อนรับ จากนั้นนายพนัส ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการฯจัดงาน ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อนายกฯในวันแรงานแห่งชาติปีนี้ ประกอบด้วย 1. ขอให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี ในกรณีที่ลูกจ้างอายุครบ 55 ปี ประสงค์จะลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างอนุญาต และให้ลาออกโดยได้รับสิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุทุกประการ 2.ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยมีอัตราเริ่มต้นที่ 500 บาท 3.ผู้ประกันตนเมื่อพ้นสภาพการเป็นมาตรา 33 และรับบำนาญ ให้มีสิทธิ์สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้โดยไม่ตัดสิทธิ์การรับบำนาญ 4.ในกรณีที่ลูกจ้างพ้นจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้สปส.ใช้ฐานค่าจ้างตามมาตรา 33 เดิม คำนวณเป็นฐานรับบำนาญ 5. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นภาคบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้นและกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ ได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง 6.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎหมายที่สนับสนุนการสร้างระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ ให้กลายเป็นองค์กรมหาชนหรืออื่น ๆ ที่เป็นการแบ่งผลกำไรจากรัฐไปให้เอกชน 7.ให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิ์จัดตั้งองค์กรได้ 8.ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่87,98 9. ขอให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา11/1ให้เป็นภาคบังคับและมีโทษอาญา ในกรณีที่นานจ้างไม่ปฎิบัติตาม และ10.ให้รัฐบาลดำเนินการสั่งให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัด โดยให้นายจ้างและรัฐบาลต้องร่วมกันดำเนินการตัดสินใจโดยเฉพาะในระบบแรงงานสัมพันธ์ จากนั้นนายกฯกล่าวว่า ยินดีได้พบอีกครั้งในวันแรงงานแห่งชาติ การพบปะวันนี้มีเจตนาอันบริสุทธิ์ร่วมกัน และเป็นเวทีรับฟังความเห็นหารือร่วมกันในการเข้าถึงทุกปัญหา แรงงานทุกคนเป็นพลังงานสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่เนื่องจากเรามีรายได้น้อย เราก็ต้องไปแก้ปัญหาค่าแรงที่ได้มีการปรับไปแล้ว รัฐบาลนี้จริงจังจริงใจแก้ไขปัญหาให้กับคนทุกระดับ เพราะทุกคนมีความเป็นคนเท่ากับตน สิ่งที่คาดหวังคือลูกหลาน องค์กรของเราจะอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร โดยไม่มีความขัดแย้งในสังคม ข้อเสนอที่ยื่นมา 10 อย่างทำได้ 6 อย่างเหลือ 4 อย่างต้องหารือกันต่อไป ถ้าดึงดันทำทั้งหมดก็ทำไม่ได้ ถ้าเราตามข้อเรียกร้องอย่างเดียวระบบแรงงานจะอันตรายและล้มเหลว นายกฯ กล่าวว่าเรื่องที่อยากให้รัฐบาลเน้นความคุ้มครองทางสังคม ความมั่นคงในอาชีพ ค่าตอบแทนและรายได้ที่ต้องสูงขึ้นตามสัดส่วนที่เหมาะสม ความปลอดภัยและมาตรการทางสังคม สิทธิตามกฎหมาย รัฐบาลยินดีทุกเรื่องและจะทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งแรงงานต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย สิ่งที่รัฐบาลทำมาได้เยอะพอสมควร แต่ไม่ได้บอกว่าดีที่สุดหรือดีแล้ว แต่จะทำให้ได้มากที่สุดกว่าห้วงที่ผ่านมา สำหรับแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทย 5 ปีเราเน้นสหภาพแรงงาน ความมั่นคง ความเข้มแข็ง เกียรติยศ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความสมดุลที่ดีขึ้นเรื่อยๆและได้รับการยอมรับจากสากล ชมแรงงานไทยยอดเยี่ยม นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้รับการร้องเรียนว่ามีหลายกิจการบีบให้คนไทยออก และรับแรงงานต่างด้าวแทน เพราะค่าจ้างถูกกว่า ตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใจร้ายกันแบบนี้ เดี๋ยวจะให้ไปสำรวจทั้งหมด ถ้ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย ขอให้แจ้งมาทุกช่องทาง วันนี้ไม่ต้องกลัวตกงานกันหมดเพราะเป็นไทยแลนด์ 4.0 รายได้แพง ใช้คนน้อย โดยใช้เครื่องจักร แต่ที่ต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือยังอยู่ ส่วนเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ต้องปราบปรามให้ได้ จะมาบอกว่ารัฐบาลก็ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ ต้องช่วยกันดูช่วยกันแจ้ง ถ้าแจ้งกระทรวง หน่วยงานแล้วไม่ทำก็แจ้งที่นายกฯ จะได้สอบสวนและเล่นงานคนรับผิดชอบโดยตรงได้ กอง บก.สปริงนิวส์ระส่ำ! ผู้บริหารสั่งปลด พนง.80 คน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ขณะนี้สถานีโทรทัศน์ สปริงนิวส์ มีนโยบายปรับลดพนักงานบริษัทลง โดยกำหนดเป้าหมายปลดพนักงานล็อตแรกจำนวน 80 คน ในเดือนพ.ค.2561 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานฝ่ายข่าว ใช้วิธีการโทรศัพท์แจ้งผลโดยตรงถึงพนักงานที่อยู่ในข่ายถูกปลดออกเพื่อให้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งมีพนักงานหลายคนได้รับแจ้งผลทางโทรศัพท์ไปแล้ว ในช่วงค่ำวันที่ 30 เม.ย.2561 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่พนักงาน หมดกำลังใจในการทำงาน เพราะไม่แน่ใจว่าจะถูกแจ้งให้ออกจากงานด้วยหรือไม่ แหล่งข่าวจาก สปริงนิวส์ กล่าวว่า เหตุผลที่ สถานีโทรทัศน์ สปริงนิวส์ ต้องปลดพนักงานฝ่ายข่าวลงจำนวนมาก เป็นเพราะปัจจุบันมีการโยกพนักงานบางส่วนไปทำงานที่เนชั่น หลังจากเข้าไปบริหารงาน และปัจจุบันผู้บริหารมีนโยบายขายเวลาให้กับรายการทีวีไดเร็คจำนวนมาก เนื่องจากมีรายได้ตอบแทนสูง ส่งผลทำให้เวลาในการออกอากาศรายการข่าวต้องปรับลดลดลง รวมเวลาประมาณ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน รายการข่าวหลักๆ ที่ออกอากาศในปัจจุบันเหลืออยู่แค่ไม่กี่รายการ ทำให้พนักงานในกองบรรณาธิการที่มีอยู่จำนวน 400 กว่าคน มีจำนวนมากเกินไปทำให้ต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงเพื่อให้เหมาะสมกับนโยบายการทำธุรกิจในปัจจุบัน สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สถานีโทรทัศน์ สปริงนิวส์ เป็นของบริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2553 ทุน 2,000 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 333 อาคารเล้าเป้งง้วน 1 ชั้น 11 ซอยเฉยพ่วง ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2559 แจ้งว่ามีรายได้รวม 156,182,733.04 บาท รวมรายจ่าย 910,240,206.14 บาท ขาดทุนสุทธิ 839,391,565.84 บาท ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 1/5/2561 กยศ.เชิญหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคราชการ เตรียมความพร้อมหักเงินข้าราชการและลูกจ้างส่งเงินคืนกู้ยืมกองทุนกว่า 195,000 ราย นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่าสืบเนื่องมาจากประกาศพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ซึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้องค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืม เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบผ่านกรมสรรพากร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กองทุนกำหนด กองทุนจึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงานองค์กรนายจ้างทุกแห่ง โดยเริ่มดำเนินการจากหน่วยงานราชการก่อน รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และภาคเอกชนตามลำดับ สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ กองทุนได้เชิญกรมบัญชีกลางและกรมสรรพากรมาร่วมชี้แจงแนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการหักเงินเดือน ให้แก่ผู้แทนหน่วยงานราชการที่มีการใช้ระบบจ่ายตรงเงินเดือน หรือ direct payment 224 แห่ง ได้รับทราบ และร่วมมือกันดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินและความรับผิดชอบของข้าราชการและลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมกองทุนกว่า 195,000 ราย ในการชำระเงินคืนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป สพฐ.จ่อเปิดช่อง'ไร้ตั๋ว'สอบครูผู้ช่วยสาขาขาดแคลน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณี สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) มีข้อกังวลเรื่องการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจะรับสมัครในเดือนพฤษภาคม 2561 จัดสอบโดยส่วนกลาง หรือสพฐ. และให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เป็นผู้ออกข้อสอบ ว่าคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะผ่านมติให้เปิดให้ผู้ที่จบสาขาอื่นให้มาสอบในสาขาขาดแคลนโดยไม่สอบถามความเห็นจากสถาบันฝ่ายผลิต ว่า เท่าที่คิดและ ได้หารือในที่ประชุมก.ค.ศ.ครั้งล่าสุด มีหลักเกณฑ์ว่า การกำหนดสาขาขาดแคลน ต้องสำรวจจากพื้นที่มาก่อน และถ้าพื้นที่บอกว่าขาดแคลน ก็ต้องมาดูภาพรวมว่าขาดแคลนทั้งประเทศหรือไม่ ถ้าขาดแคลนเฉพาะพื้นที่อาจจะกำหนดให้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในพื้นที่ดังกล่าว ประกาศเป็นบัญชีขาดแคลนเฉพาะในพื้นที่นั้น แต่ถ้าเป็นขาดแคลนทั้งประเทศ จะต้องประกาศเป็นมติภาพรวม เช่น จังหวัดชลบุรี มีผู้ทรงคุณวุฒิของก.ค.ศ. สะท้อนว่า ทางจังหวัดเปิดรับวิชาเอกนาฏศิลป์ แต่ไม่มีคนไปสอบ เพราะสถาบันผลิตในพื้นที่อาจไม่เปิดสอนเอกนาฏศิลป์ ดังนั้น จังหวัดชลบุรี อาจจะประกาศให้เอกนาฏศิลป์ เป็นสาขาขาดแคลน ซึ่งต้องมาดูว่าจะยกเว้นให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสามารถสมัครสอบได้หรือไม่ ทั้งนี้ในการประชุมก.ค.ศ.ครั้งต่อไปสพฐ.จะต้องสรุปข้อมูลและเสนอให้ก.ค.ศ. อนุมัติเปิดสอบ โดยสพฐ.จะประกาศรับสมัครครูผู้ช่วยในวันที่ 21 พฤษภาคม ดังนั้นทุกอย่างจะต้องเรียบร้อยก่อนวันประกาศรับสมัคร "ผมจะหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานก.ค.ศ. เรื่องสอบบรรจุครูผู้ช่วย เพื่อวางแนวทางสำรวจข้อมูล ดูทั้งสาขาที่ขาดแคลนซ้ำซาก ไม่มีครู ไม่มีใครย้ายไป และสำรวจว่าในพื้นที่มีมหาวิทยาลัยใดที่ผลิตในสาขาที่ขาดแคลนดังกล่าวบ้าง หรืออยู่ระหว่างการผลิตแต่ยังไม่จบ โดยจะขอให้กศจ. ส่งข้อมูลมา เมื่อได้ข้อมูลจะเชิญคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มาประชุม เพื่อให้มีความเห็นร่วมกันว่า เป็นสาขาขาดแคลนเฉพาะพื้นที่หรือเป็นสาขาขาดแคลนภาพรวมทั้งประเทศ"นายบุญรักษ์ กล่าว และว่า ทั้งนี้เมื่อกำหนดสาขาขาดแคลนแล้ว จะเปิดกว้างให้ผู้ที่ไม่ได้จบครู มาสอบด้วยหรือไม่นั้น คิดว่าน่าจะมี เพราะการสอบครูผู้ช่วยปีที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้สอบได้ ปีนี้ก็คงต้องมี แต่คิดว่าน้อยมาก เพราะต้องเป็นสาขาขาดแคลนจริงๆ จนไม่มีคนมาสมัคร เช่น สายอาขีพเพราะขณะนี้โรงเรียนเปิดสายอาชีพค่อนข้างมาก และคนที่จบในสาขาเหล่านี้ ไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นครู ดังนั้น ต้องมีช่องทางให้เขาสามารถเข้ามาเป็นครูได้ สพฐ. เลือกเปิดสอบสาขาขาดแคลนตามประโยชน์ของเด็ก ไม่ใช่ตามประโยชน์ของใคร ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ค.ศ.ท.ระบุว่าผู้ที่จบสาขาอื่นมาสอบเป็นครูสอนไม่เป็น นายบุญรักษ์ กล่าวว่า อาจจะไม่จริงทุกคน ที่สอนเก่งก็เห็นจำนวนมาก เพราะคนที่เป็นติวเตอร์ดัง ก็ยังมาสอบเป็นครูผู้ช่วยสังกัดสพฐ. ส่วนที่บอกว่าเก่งแต่ติวนั้นใครตัดสินได้ ต้องดูที่ผลลัพธ์ของเด็ก ผลโพลเผยพนักงาน 37% อยากลาออกหางานใหม่ ริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทำผลสำรวจดัชนีความสุขในการทำงานของพนักงานไทยจากกลุ่มตัวอย่าง 1,108 คน ตลอดทั้งปี 2560 พบ 60% ของคนไทยมีความสุขกับการทำงาน แต่ค่าเฉลี่ยของคะแนนดัชนีความสุขคิดเป็น 4.55 คะแนน ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าครึ่ง และน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2559 ส่วนดัชนีความสุขในการทำงานอีก 6 เดือนข้างหน้า มีทิศทางลดลงเหลือ 4.51 คะแนน 5 สายงานที่มีความสุขในการทำงานสูงสุดในปี 2560 ได้แก่ งานบริหาร (4.95 คะแนน), งานธุรการและทรัพยากรบุคคล (4.94 คะแนน), งานวิศวกรรม (4.86 คะแนน), งานไอที (4.74 คะแนน) และงานขนส่ง (4.73 คะแนน) เมื่อเทียบระดับความสุขของพนักงานใน 7 ประเทศ รวมไทย ที่ร่วมทำการสำรวจครั้งนี้ คือ ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย พบว่า พนักงานไทยมีระดับความสุขเป็นอันดับที่ 5 (ปีก่อนได้อันดับ 3) เป็นรองแรงงาน อินโดนีเซีย (5.27) เวียดนาม (5.19) ฟิลิปปินส์ (4.97) และมาเลเซีย (4.65) รั้งท้ายด้วย ฮ่องกง (4.45) และสิงคโปร์ (4.31) และเมื่อสอบถามว่า อะไรคือความสุขของพนักงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า 37% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถาม เลือกลาออกจากงานเพื่อหางานใหม่ ขณะที่ 20% จะพอใจกับชีวิตการทำงานในองค์กรเดิมมากขึ้นหากได้รับการปรับเงินเดือน และ 8% จะมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นหากได้รับการยอมรับในผลงานหรือได้รับรางวัลจากการทำงาน ที่มา: news.bectero.com, 30/4/2561 แรงงานไทย 2 คน เสียชีวิตเหตุเพลิงไหม้ในไต้หวัน ได้ชดเชยคนละ 40,000 บาท จากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในโรงงานชินพูน สาขาผิงเจิ้น ในเมืองเถาหยวน เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา และลุกลามมาติดหอพักแรงงาน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เวลานานกว่า 9 ชั่วโมง จึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้ เนื่องจากโรงงานแห่งนี้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้า มีวัตถุไวไฟเป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เสียชีวิต 5 คน และแรงงานไทยเสียชีวิต 2 คน ทราบชื่อคือ นายภาณุพงษ์ แสงลำ อายุ 24 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายเชิดศักดิ์ บุรัมย์สูง อายุ 42 ปี มาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย จัดส่งโดยบริษัทจัดหางาน เอสพี ลีดเดอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (ไทย) และบริษัทจัดหางาน SUMMIT ไต้หวัน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน ยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน เป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ไปทำงานในต่างประเทศ จึงได้รับเงินชดเชยคนละ 40,000 บาท และค่าทำศพจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนี้ยังมอบหมายให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดแจ้งญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อประสานงานและให้การช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวในเบื้องต้น ส่วนสำนักงานแรงงานไทยในไต้หวัน อยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากนายจ้าง สำหรับโรงงานชินพูน สาขาผิงเจิ้น แจ้งว่าจ้างแรงงานต่างชาติประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 250 คน เวียดนาม 220 คน และฟิลิปปินส์ 30 คน หอพักที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มีคนงานต่างชาติพักรวมกัน 380 คน ที่เหลือพักอยู่ในหอพักนอกโรงงาน ขณะนี้นายจ้างได้จัดให้คนงานทั้ง 380 คน พักตามหอพักในโรงงานชินพูนสาขาหนานข่านและหอพักชั่วคราวแล้ว ไฟไหม้โรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าในไต้หวัน คนไทยเสียชีวิต 2 คน เมื่อเวลา 21:26 น. วันที่ 28 เม.ย. 2561 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานชินพูน (CHIN POON INDUSTRIAL) สาขาผิงเจิ้น เนื่องจากเป็นโรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าหรือ PCB รายใหญ่ของโลก เพลิงลุกลามไปยังหอพักคนงานต่างชาติที่อยู่ติดกัน คนงานต่างชาติในหอพัก ซึ่งประกอบด้วยคนงานไทยเพศชาย 180 คน และแรงงานหญิงเวียดนาม 130 คน ขณะเกิดเหตุบางคนทำงานกะกลางคืน บางคนนอนอยู่ในหอพัก แต่ละคนวิ่งหนีกันอลหม่าน ข้าวของส่วนใหญ่ไม่ได้เอาติดตัวไปด้วย ตำรวจดับเพลิงรุดไปที่เกิดเหตุ แต่เนื่องจากภายในโรงงานมีวัตถุไวไฟปริมาณมากและเกิดการระเบิดหลายครั้ง จนถึงรุ่งเช้า 06.00 น. จึงควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม เหตุเพลิงไหมครั้งนี้ สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง มีตำรวจดับเพลิงเสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย ในส่วนของแรงงานไทย เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ นายภานุพงษ์ และนายเชิดศักดิ์ โรงงานชินพูน สาขาผิงเจิ้น ผลิตแผลวงจรไฟฟ้าหรือ PCB ว่าจ้างแรงงานต่างชาติประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 250 คน เวียดนาม 220 คน และฟิลิปปินส์ 30 คน หอพักที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มีคนงานต่างชาติพักรวมกัน 380 คน ที่เหลือพักอยู่ในหอพักนอกโรงงาน ขณะนี้ นายจ้างได้จัดให้คนงานทั้ง 380 คน ไปพักตามหอพักในโรงงานชินพูนสาขาหนานข่านและหอพักชั่วคราวแล้ว ที่มา: Radio Taiwan International, 29/4/2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โพลสำรวจคนไม่ถึงครึ่งคิดว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะสำเร็จ Posted: 05 May 2018 09:16 PM PDT บ้านสมเด็จโพลสำรวจความเห็นประชาชน 1,258 คน พบ 52.9% เชื่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นและไม่ถึงครึ่งคิดว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในปัจจุบันประสบความสำเร็จ 6 พ.ค. 2561 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,258 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 4 พ.ค. 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย บนวิสัยทัศน์ที่ ว่า "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ ความหลากหลายเชิงชีวภาพ และ ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เน้น ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง การขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งเน้นการใช้แนวทางพลังประชารัฐ คือ การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ชุมชน จังหวัด สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่างๆ รวมทั้งยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์ของพระราชาเป็นพื้นฐานในการพัฒนา และใช้ความได้เปรียบของประเทศไทยในความหลากหลายเชิงชีวภาพ และความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ตลอดจนยึดหลักการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก เป้าหมายของ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นอกจากเศรษฐกิจ 4.0 แล้ว ยังมีสังคม 4.0 คือการที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีความเป็นธรรม เข้มแข็ง มีความเหลื่อมล้ำน้อย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถผนึกกำลังเพื่อพัฒนาประเทศร่วมกัน และคนไทย 4.0 คือคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 มีความรู้ ทักษะ ความสามารถสูง มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคม ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เข้าใจกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ร้อยละ 53.5 และคิดว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น ร้อยละ 52.9 คิดว่าการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานแทนการจ้างแรงงานคน ร้อยละ 52.1 และคิดว่าในอนาคต แรงงานคน จะได้รับผลกระทบกับบริษัทหรือโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์แทนคน ร้อยละ 57.7 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าอาชีพที่จะตกงานมากที่สุดเมื่อบริษัทหรือโรงงานใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ อันดับหนึ่งคือ อาชีพพนักงานโรงงาน ร้อยละ 33.3 อันดับที่สองคือ อาชีพบัญชี ร้อยละ 21.9 อันดับที่สามคือพนักงานขาย ร้อยละ 19.7 คิดว่าประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการเน้นเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และภาคบริการ ร้อยละ 53.3 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในปัจจุบันประสบความสำเร็จ ร้อยละ 46.3 และคิดว่ารัฐบาลได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ร้อยละ 48.4 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น