ประชาไท | Prachatai3.info |
- กวีประชาไท: อยากจะนั่งรถไฟฟ้าไปหาเธอ
- อ่านหิญาบนักเรียนในสถานการณ์ชายแดนใต้
- ใบตองแห้ง: จะ 12 ปีแล้วนะ
- 8 ปี เหตุการณ์ชุมนุมกลุ่ม นปช. 19 พฤษภาคม 2553
- กวีประชาไท: ปะติลูบ
- ผูกผ้าแดงแยกราชประสงค์-รำลึก 8 ปีที่นี่มีคนตายพฤษภา 53
- 8 ปี 19 พฤษภา 53 'พะเยาว์ อัคฮาด' ทำบุญให้ลูกสาว-ตำรวจเฝ้าพรึบ
- พาดหัวข่าวที่ไม่มี 'ผู้กระทำ' นิตยสารฝ่ายซ้ายตั้งข้อสังเกตสื่อใหญ่พาดหัวข่าวกรณีทหารอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์
- ทหารตรวจยึดโดรนชาวบ้าน สงสัยเชื่อมโยงเหตุระเบิดฐานที่ยะลา
- สั่งตั้งด่านตรวจค้นอาวุธทั่วประเทศ ก่อนชุมนุม 22 พ.ค.
- 'พีซทีวี' ยื่นขอ กสทช. เป็นธรรม หลังถูกสั่งปิด 30 วัน ยันไม่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่น
- บก.ทัพไทยสั่งสำรองราชการนายทหารพัวพันกับคดีเงินทอนวัด
- โพลระบุคนจะเลือกนายกที่มีนโยบายประชานิยม-รักษาฟรี 57%
- สถิติคุกคามประชาชนยุค คสช. นับพัน ศูนย์ทนายความฯ ชี้ต้องจัดการกฎหมายที่ออกโดย คสช.
- กวีประชาไท: บทเพลงแห่งความตาย 19 พฤษภา 53
กวีประชาไท: อยากจะนั่งรถไฟฟ้าไปหาเธอ Posted: 19 May 2018 08:21 AM PDT
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อ่านหิญาบนักเรียนในสถานการณ์ชายแดนใต้ Posted: 19 May 2018 08:06 AM PDT
สืบเนื่องจากกรณีความขัดแย้งเรื่องการอนุญาตให้นักเรียนคลุมผมในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานีซึ่งโรงเรียนดังกล่าวมีครูส่วนใหญ่เป็นครูไทยพุทธและอ้างเรื่องเขตธรณีสงฆ์ในการไม่อนุญาตให้นักเรียนคลุมหิญาบ ภายหลังการอนุญาตครูคนพุทธแสดงความไม่พอใจเริ่มหยุดงาน และกลุ่มผู้ปกครองและศิษย์เก่าคนพุทธเริ่มไม่พอใจเช่นกัน มองเผินๆ เรื่องนี้คล้ายกับกรณีหิญาบวัดหนองจอก และบางคนอาจจะเชื่อมโยงกรณีนี้เข้ากับการประท้วงใหญ่เรียกร้องสิทธิการคุลมหิญาบของพื้นที่เมื่อปี พ.ศ.2531 |
Posted: 19 May 2018 07:26 AM PDT
จะสี่ปีแล้วนะ ไอ้… สะใจกับวงพังก์ "บัดโซะ" ที่ถูกตำรวจบันทึกประวัติ เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีความกล้าหาญ ว่าที่จริง ไม่ใช่แค่จะ 4 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 หากยังจะครบ 8 ปีกระสุนจริง 19 พฤษภา 2553 และจะครบ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เราอยู่ในวิกฤตยาวนาน 12 ปี ติดกับอับจนมา 4 ปี โดยยังไม่มีทางออก มองไม่เห็นอนาคต แม้แต่การเลือกตั้ง พูดจริงๆ ก็ไม่ใช่ทางออก แค่เคลื่อนย้ายไปติดกับดักใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เพียงแต่เป็นโอกาสให้แสดงพลังประชาธิปไตย และเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลที่ไม่มี ม.44 เท่านั้น วงจรอุบาทว์ยังไม่สิ้นสุด เราอาจมาอยู่แค่กึ่งกลาง หรือค่อนทาง ของวิกฤต 16 ปี 20 ปี 24 ปี ไม่มีใครรู้ แม้แต่วันนี้ก็ไม่รู้ว่าเมื่อครบ 12 ปี 4×3 จะพลิกผันอะไรอีกไหม ขณะที่ คสช.ขาลงถูกรุมกระหน่ำ ดิ้นรนสืบทอดอำนาจอย่างโจ๋งครึ่ม ยิ่งกว่า รสช. แต่สังคมก้มหน้าก็เฉยเมย ไม่รู้สึกรู้สากับความไม่ชอบธรรม ต่างคนต่างเอาตัวรอดไปวันๆ 12 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่ แต่สร้างบาปกรรมให้คนรุ่นใหม่ ที่ปี 49 ยังเรียนประถมหรืออนุบาลอยู่เลย วันนี้โตมาร้องว่า "บัดโซะ" ก็ถูกจับ แค่อยากเลือกตั้งก็เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ถูกขู่ว่าจะหมดอนาคต ทั้งที่หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศก็ไม่มีอนาคตอยู่แล้ว 12 ปีผ่านไป ความขัดแย้งเรื่องโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยยังไม่สามารถหาจุดลงตัว ไม่เกิดสมดุลใหม่ หรือฉันทามติ ว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร นอกจากอยู่ใต้ คสช. ม.44 ที่บังคับทุกคนไว้ ด้วยตำรวจทหารและการออกคำสั่งเป็นกฎหมาย 17 ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญ 2540 การเลือกตั้ง 2544 ทำให้เกิดรัฐบาลไทยรักไทย ที่ได้คะแนนนิยมถล่มทลายจากการหาเสียงด้วยนโยบาย ทำให้ประชาชนตระหนักว่า "ประชาธิปไตยกินได้" แน่ละ รัฐบาลทักษิณถูกวิพากษ์ว่าอำนาจนิยม ผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ความผิดร้ายแรงคือไปทำลายโครงสร้างอำนาจเดิม ประชาธิปไตยใต้ระบบอุปถัมภ์ แบบมีเลือกตั้ง แต่ไม่มีอำนาจเต็ม ต้องพึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ คนดีมีศีลธรรม กำกับดูแลจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมกะด่างกะดำ แต่รัฐประหารก็เข้ามาประสานงากับอำนาจประชาชน อำนาจเลือกรัฐบาล ที่เลือกพรรคพลังประชาชนกลับมา ทำให้รัฐประหาร "เสียของ" จนเกิดการยุบพรรค ช่วงชิง ส.ส.ไปให้ประชาธิปัตย์ จนถูกลุกฮือต้านในปี 52,53 แม้ถูกปราบถูกฆ่าด้วยกระสุนจริง ถูกบิ๊กคลีนนิ่ง เมื่อมีเลือกตั้ง 2554 พรรคเพื่อไทยก็ยังชนะถล่มทลาย 19 พฤษภา 53 เป็นจุดปักหมุด เป็นสัญลักษณ์ ว่าคนชนบทคนชั้นล่างเสียงข้างมาก ที่ใส่เสื้อแดง "เลือดไพร่" ไม่ยอมเสียอำนาจเลือกรัฐบาล กระทั่งพร้อมยอมตาย เพื่อทวงอำนาจหนึ่งคนหนึ่งเสียง สิทธิเท่าเทียม ตามหลักการประชาธิปไตย ในขณะที่ม็อบนกหวีดปิดเมือง อีก 4 ปีต่อมา คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี "เห็นคนไม่เท่ากัน" ใช่เลย นิรโทษสุดซอย ลักหลับตอนตีสี่ รัฐบาลเลือกตั้งทำผิดมหันต์ แต่ต่อให้ไม่มีนิรโทษ ก็ถึงจุดแตกหักสักวัน เพราะโดยโครงสร้าง มันคือการเผชิญหน้าระหว่างอำนาจอุปถัมภ์ กับอำนาจจากเลือกตั้ง จนนำมาสู่ยุค "ตู่กู้ชาติ" รัฐประหารสี่ปีไม่มีทางลง สี่ปี คสช.ทำอะไรบ้าง ชัดเจนที่สุด สถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ทำลายอำนาจเลือกตั้ง ครอบงำโดยอำนาจอุปถัมภ์ ไม่ยึดโยงประชาชน สถาปนารัฐราชการเข้มแข็ง ใหญ่โต ทำประชารัฐ ไทยนิยม จัดระเบียบสังคม ส่งทหารลงชนบท ปลดหนี้ แก้ปากท้อง แจกบัตรคนจน ฯลฯ และพยายามปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่ปฏิเสธเลยว่ารัฐบาลแข็งขัน ทำดีๆ แต่ทำเพื่ออะไร ก็เพื่อให้เห็นว่า "รัฐประหารกินได้" ไม่ต้องมีประชาธิปไตย ประชาชนไม่ต้องมีอำนาจเลือกรัฐบาล รัฐราชการที่แสนดี จะดูแลทุกอย่างให้ ไม่ต้องมีเสรีภาพ ไม่ต้องมีสิทธิชุมนุม แบบพีมูฟถูกอุ้ม ก็ยังแก้ปัญหาให้ คสช.และกองทัพทุ่มเททุกอย่าง ก็เพื่อให้ประชาชนไม่ทวงอำนาจ แต่ถามว่าแก้ปัญหาได้จริงไหม จะอยู่อย่างนี้เรื่อยไปได้ไหม ก็รู้กันอยู่แก่ใจ ตราบใดที่ไม่สามารถหาจุดสมดุล ฉันทามติ โครงสร้างที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ มันก็แค่ปราสาททรายชายหาด ที่วางไว้บนระเบิดเวลา เพียงยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน และผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เท่านั้นเอง
ที่มา: www.khaosod.co.th/politics/news_1103816 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
8 ปี เหตุการณ์ชุมนุมกลุ่ม นปช. 19 พฤษภาคม 2553 Posted: 19 May 2018 07:18 AM PDT ในฐานะแกนนำคนหนึ่ง ผมได้แสดงความรู้สึก รำลึก อาลัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาทุกปี เพื่อยืนยันหลักการประชาธิปไตยและปกป้องจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของประชาชนผู้ร่วมต่อสู้ ขณะเดียวกันตัวผมและพรรคพวกก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ทุกข้อกล่าวหา ซึ่งทุกคดีอยู่ในชั้นศาล วาระของการรำลึกมาถึงอีกครั้ง แม้มีคำพูดมากมาย แต่ลึกสุดใจผมมีเรื่องเดียวที่อยากสื่อสารกับสังคมไทย
8 ปีแล้วคดีคนตาย 99 ศพยังไม่ถึงศาล ปปช.ยังไม่มีคำอธิบาย ไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอใดๆเพื่อให้สังคมได้สัมผัสความโปร่งใสของคดีนี้ จนกระทั่งผมได้รับแจ้งจากผู้รักความเป็นธรรมในสำนักงานปปช.ว่ามติยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ไม่มีรายละเอียดในสำนวนที่เราร้องขอมาตลอด มีเพียงเอกสารข่าว 2 หน้ากระดาษที่ใช้แจกสื่อมวลชน เรื่องนี้ตั้งคำถามผ่านสื่อไปแล้วแต่ทุกอย่างกลับเงียบ ไม่มีแม้แต่เสียงปฏิเสธจากปปช. จนผมหวั่นใจว่าถ้าความจริงเป็นตามข้อมูลที่ได้รับมาแล้วบ้านเมืองนี้จะเดินไปข้างหน้ากันอย่างไร มีวาทกรรมมากมายอธิบายความชอบธรรมให้การฆ่า เช่น มีการเผาบ้านเผาเมืองจึงต้องปราบปรามด้วยความรุนแรง เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นหลังยุติการชุมนุม ทุกคนถูกฆ่าตายก่อนหน้านั้น และเหตุเพลิงไหม้ทั้งหมดรอบพื้นที่การชุมนุมในกรุงเทพฯศาลมีคำพิพากษายกฟ้องผู้ถูกกล่าวหาไปทุกรายแล้ว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เรารวบรวมหลักฐานไว้ครบถ้วน และจะได้นำสืบว่าฝ่ายไหนคือผู้ลงมือในการต่อสู้คดีก่อการร้าย เหตุที่มีคนตายเพราะเจ้าหน้าที่ต้องจัดการกองกำลังติดอาวุธ ข้อเท็จจริงประเด็นนี้ไม่ซับซ้อน เพราะประชาชนที่เสียชีวิตไม่มีศพไหนมีอาวุธอยู่กับตัว ที่มือไม่มีคราบเขม่าดินปืน ทุกคนมีตัวตน ไม่ปรากฏว่าใครเคยมีประวัติเป็นอาชญากรหรือมีพฤติการณ์นอกกฎหมายมาก่อน ฝ่ายผู้ชุมนุมใช้กองกำลังฆ่าประชาชนเพื่อใส่ร้ายรัฐบาลขณะนั้น ต้องอำมหิตแค่ไหนถึงคิดได้แบบนี้ ทุกคนที่ออกมาต่อสู้ผูกพันกันเสมือนญาติ หลายรายที่ตายเพราะเห็นเพื่อนล้มแล้วเข้าไปช่วยจึงถูกยิงตายตามกัน ไม่มีทางที่จะคิดฆ่ากันเอง มีหลายรายที่ศาลไต่สวนสาเหตุการตาย เช่น 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ในคำวินิจฉัยชี้ว่าเสียชีวิตจากปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ ระบุชัดด้วยว่าไม่ปรากฏชายชุดดำยิงตอบโต้ตามที่กล่าวอ้าง แม้แต่นายอภิสิทธิ์ยังเคยโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อปี 2554 ว่ามีการฆ่ากันเองแล้วเผาศพจนเป็นเถ้าถ่านหน้าวัดปทุมวนาราม อ้างว่าเป็นคดีอยู่ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อผมตามไปตรวจสอบกลับไม่พบหลักฐานแม้กระทั่งบันทึกประจำวันในกรณีดังกล่าว ผมไม่คิดใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขทางการเมือง แต่ไม่เห็นประโยชน์ที่จะรำลึกถึงเหตุการณ์โดยแกล้งลืมคนตาย จึงอยากสื่อสารกับสังคมและกระตุ้นเตือนปปช.ว่าความยุติธรรมมิได้ก่อขึ้นด้วยเม็ดทราย แต่เป็นรากฐานของความเป็นมนุษย์ จึงมิอาจปล่อยให้ปลิวหายไปในสายลมและกาลเวลา คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 อัยการสั่งไม่ฟ้อง ปปช.จ้างทนายฟ้องเอง พอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง ปปช.ยังอุตส่าห์มีมติอุทธรณ์กรณี พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว แต่คดีกลุ่ม นปช.ปี 2553 ปปช.ยกคำร้องและมีท่าทีว่าจะไม่ยกขึ้นพิจารณาใหม่ แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าความผิดคดีฆ่าซึ่งอัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองไว้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ปปช.ก็ยังไม่แสดงความพยายามจะทำให้คดีไปถึงศาล แม้เวลาจะผ่านเลยแล้ว 8 ปี แต่ความเป็นไปของคดีนี้จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อภารกิจของคณะรัฐประหาร เพราะความปรองดองจะเกิดได้อย่างไรในเมื่อคนถูกฆ่าตายเป็นร้อยกลางเมืองหลวงไม่ได้รับความยุติธรรม การปฏิรูปก็ไม่มีทางสำเร็จเพราะกระบวนการยุติธรรมขาดความโปร่งใสจนถูกมองว่า 2 มาตรฐาน และการปราบทุจริตคอร์รัปชันจะเป็นจริงไม่ได้หากยังมีการคอร์รัปชันความยุติธรรมอย่างที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ประเทศไทยอยู่ในวังวนขัดแย้งมากว่า 10 ปี จนถึงขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็นหลักประกันใดๆที่จะออกจากหลุมดำนี้ได้ เราไม่มีหลักประกันเรื่องการเลือกตั้ง ไม่มีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่มีหลักประกันว่าความขัดแย้งใหญ่จะไม่กลับมาอีกครั้งภายใต้กติกาและวิถีอำนาจที่เป็นอยู่นี้ และไม่มีหลักประกันว่าประชาชนจะไม่ถูกปราบปรามโดยอำมหิตหากมีการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็ไม่มีหลักประกันเช่นกันว่าจะกลับคืนสู่สังคมไทยได้ตามที่ประกาศกันไว้ ผมเข้าใจว่าการรำลึกอดีตคือการสรุปบทเรียนเพื่อก้าวไปข้างหน้า แต่สำหรับเหตุการณ์เมษา – พฤษภา 53 กลับเป็นการรำลึกที่จองจำหัวใจคนจำนวนมากเอาไว้ เพราะบทเรียนที่ได้คือการเชือดเฉือน เย้ยหยันคนตายในนามอำนาจแห่งกระบวนการยุติธรรม สภาพเช่นนี้ แม้เราอยากก้าวเดินแต่อนาคตก็มืดมนเกินกว่าแสงแห่งความหวังจะแทรกผ่านมาได้ 8 ปีมาแล้ว มีภาพเหตุการณ์ที่ผมลืมไม่ลงมากมาย แต่ความยุติธรรมของคนตายคือเรื่องที่ผมจำได้แม่นยำที่สุด และจะพยายามอย่างที่สุดไม่ให้เรื่องนี้ถูกลบเลือนไป วันหนึ่ง คดีคนตาย 99 ศพต้องถึงศาลให้ได้
เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊คแฟนเพจ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 19 May 2018 07:06 AM PDT
ข้าพเจ้า ไม่เชียร์ เลียรัฐบาล อ้างจะมา ปฏิรูป ก่อนเลือกตั้ง บอกว่าอยู่ มาได้ กว่าสี่ปี คนเห็นต่าง ทางออก บอกไม่ใช่ ทำงามหน้า ตาตั้ง ขวางความคิด ก็ยังคง หลงตัว มัวอำนาจ ข้าพเจ้า ไม่เอา เผด็จการ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผูกผ้าแดงแยกราชประสงค์-รำลึก 8 ปีที่นี่มีคนตายพฤษภา 53 Posted: 19 May 2018 06:37 AM PDT แมคโดนัลด์ปิด-แต่คนไม่กลับ บก.ลายจุดมาตามนัด ชวนผูกผ้าแดง-วางดอกไม้รำลึก 8 ปีสลายการชุมนุมพฤษภาคม 2553 ตะโกน "ที่นี่มีคนตาย" ขณะที่ตำรวจตรึงกำลังเข้ม-เฝ้าแยกราชประสงค์ถึงดึก แม้ผู้ร่วมกิจกรรมแยกย้ายกลับบ้านหมดแล้ว 19 พ.ค. 2561 เวลา 17.00 น. ที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า ซึ่งเดิมมีการนัดหมายของสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน ซึ่งนัดรับประทานแมคโดนัลด์ก่อนเดินจากจุดนัดหมายดังกล่าวไปที่แยกราชประสงค์เพื่อรำลึก 8 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 อย่างไรก็ตามแมคโดนัลด์ได้ปิดไปตั้งแต่เวลา 15.00 น. ด้านสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเกรียน ระบุว่าได้แจ้งตำรวจไปว่าจะมา 3 คนเท่านั้น เพื่อไปผูกผ้าแดงแยกราชประสงค์ ทั้งนี้เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ยังไม่ถูกชำระ มีความเสียหายเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ยังไม่ยอมยื่นเรื่องดังกล่าวสั่งฟ้อง เพราะองค์ประกอบไม่ครบ จึงอยากให้ ปปช. ช่วยเปิดเผยข้อมูลว่าที่ไม่สั่งฟ้อง เพราะ ปปช. คิดว่าไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใช่หรือไม่ ในขณะที่คนที่ร่วมเหตุการณ์ดังกล่าวรู้สึกติดใจ และต้องการทวงถามความยุติธรรมถึงปี ทั้งนี้ พ.ต.อ.อัตรวุฒิ ธานีรัตน์ ผกก.สน.ลุมพินี ได้ชี้แจงกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าให้เดินไปตามถนนอย่างเป็นระเบียบ ส่วนสื่อมวลชนให้ทำข่าวบนสะพานลอยจะได้ไม่เกิดปัญหาการจราจร ทั้งนี้เมื่อผู้ชุมนุมมาถึงป้ายสี่แยกราชประสงค์ มีการวางดอกไม้ จุดธูปเทียนเพื่อรำลึก มีการร้องเพลงนักสู้นิรนาม และตะโกน "ที่นี่มีคนตาย" ทั้งนี้เอกชัย หงส์กังวานได้นำธูปมาเต็มกำมือ 36 ดอก เพื่อจุดรำลึกเหตุการณ์นี้ด้วย ขณะที่ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์หลังร่วมกับทีมอาสาสมัครสังเกตการณ์ชุมนุม การจัดกิจกรรมรำลึก 8 ปี พฤษภาคม 2553 ที่แยกราชประสงค์ว่า กิจกรรมวันนี้บททดสอบสำคัญว่าการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะมีพื้นที่หรือไม่ เพราะแม้การชุมนุมไม่ถูกขัดขวาง แต่มักมีการดำเนินคดีร้ายแรงเช่น ม.116 ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ผิด พ.ร.บ.ชุมนุม ต้องดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ และภายหลังการชุมนุมจะมีการเช็คบิลย้อนหลังหรือไม่ สุณัย กล่าวด้วยว่าการจัดทีมสังเกตการณ์ขนาดใหญ่ในวันนี้ เพราะประเทศไทยเข้าสู่การนับถอยหลังเพื่อจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปแล้ว ถ้ามีการดำเนินคดีมากมาย การเลือกตั้งจะเป็นแค่พิธีกรรมเพื่อหวังให้ได้รับความชอบธรรมจากนานาชาติ แต่ความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 19.10 น. ระบุว่า ยังคงเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายกำลังเฝ้าบริเวณแยกราชประสงค์ รวมทั้งป้ายสี่แยกราชประสงค์ แม้ผู้ชุมนุมจะเลิกกิจกรรมและทยอยกลับบ้านจนหมดแล้ว ประมวลภาพ : ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
8 ปี 19 พฤษภา 53 'พะเยาว์ อัคฮาด' ทำบุญให้ลูกสาว-ตำรวจเฝ้าพรึบ Posted: 19 May 2018 05:03 AM PDT "ดิฉันมาทำบุญให้ลูกสาว ตำรวจมากันทำไมเยอะแยะคะ?" พะเยาว์ อัคฮาด 19 พ.ค. 2561 พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาล เดินทางไปทำบุญที่วัดปทุมวนารามให้กับลูกสาวซึ่งเสียชีวิตขณะทำหน้าที่พยาบาลอาสาในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 ย่านศาลาแดง-ราชประสงค์ ทั้งนี้มีอานนท์ นำพา ทนายความ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสวิสเข้าร่วมงานทำบุญด้วย อย่างไรก็ตามในระหว่างทำบุญมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สน.ปทุมวัน และกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ตรึงกำลังและเฝ้ารอบพื้นที่ ที่มา: เฟสบุ๊คพะเยาว์ อัคฮาด ทั้งนี้เมื่อเวลา 13.00 น. พะเยาว์ได้โพสต์ภาพในเฟสบุ๊คและลงข้อความด้วยว่า "ดิฉันมาทำบุญให้ลูกสาว ตำรวจมากันทำไมเยอะแยะคะ?" ขณะเดียวกันมีผู้โพสต์ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนาย นั่งอยู่ในศาลาของวัดปทุมวนาราม โดยเจ้าหน้าที่บางนายก็กำลังก้มหน้าเช็คโทรศัพท์มือถือของตนด้วย ในรายงานของมติชนออนไลน์ พะเยาว์ให้สัมภาษณ์ภายหลังทำบุญว่า 8 ปีที่ผ่านมาเวลามาทำบุญที่วัดจะถูกกลั่นแกล้งทุกครั้ง ไม่เคยทำได้อย่างสบายใจ จะมีทหารทั้งใน และนอกเครื่องแบบคอยรังควาน แต่เราอดทนมาตลอด ช่วงที่ตนจะมาทำบุญที่นี่ เจ้าหน้าที่โทรมาขอร้องว่า อย่าประณามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เธอจึงตอบไปว่าเป็นความชอบธรรม แต่ก็มีมารยาทมากพอที่จะไม่ด่า คสช. แต่ด่าศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพราะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และยังมีความคิดว่า ศอฉ.ที่แปลงร่างมาเป็นคสช.เป็นผู้ร่วมรู้เหตุในการตายของประชาชน ดังนั้นหากท่านมีคำสั่งให้หยุดการสอบสวน และหยุดความยุติธรรม เพื่อล้มความผิดให้ตนเอง และกองทัพหรือไม่ ทั้งนี้พะเยาว์กล่าวด้วยว่า ระยะเวลา 8 ปีนานเกินไปแล้ว หากไม่มีคำตอบเรื่องสลายการชุมนุมจากรัฐบาลจะเดินทางไปร้องขอต่อนายกรัฐมนตรีเองที่ทำเนียบรัฐบาล หรือที่ไหนก็ตามที่นายกรัฐมนตรีอยู่ โดยหลังการทำบุญ พะเยาว์และญาติๆ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยสวมชุดพยาบาลอาสาทาหน้าขาว และฉายคลิปเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ใช้เครื่องขยายเสียง โดยยอมให้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และฉายคลิปเท่านั้น Banrasdr Photo รายงานด้วยว่า 10.30 น. แกนนำนปช.และญาติผู้สูญเสียพร้อมด้วยประชาชน ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารบางเขน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 19 May 2018 03:53 AM PDT จากเหตุการณ์ทหารอิสราเอลสังหารหมู่ประชาชนชาวปาเลสไตน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตจาก บก. นตยสารฝ่ายซ้ายสหรัฐฯ ว่าพาดหัวข่าวของสื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ มักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึง "ผู้กระทำ" เวลาเกิดเหตุสังหารในปาเลสไตน์ หรือในบางกรณีก็ถึงขั้นทำให้ดูคลุมเครือเหมือนมีความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายพอๆ กัน ทั้งที่ชาวปาเลสไตน์มีความสามารถก่อความรุนแรงได้น้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับความรุนแรงจากทางการอิสราเอล 19 พ.ค. 2561 นิตยสารฝ่ายซ้าย เคอร์เรนต์ แอฟแฟร์ส ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อสหรัฐฯ เวลารายงานเรื่องการเสียชีวิตของผู้คนปาเลสไตน์ โดยระบุว่าสื่อสหรัฐฯ มักจะพาดหัวข่าวโดยใช้ประโยคแบบไม่มีผู้กระทำ มีแต่ผู้ถูกกระทำ เช่นในกรณีการขีปนาวุธของอิสราเอลทำลายคาเฟในฉนวนกาซาเมื่อปี 2557 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ขณะพวกเขากำลังนั่งดูฟุตบอลทางทีวี สื่อนิวยอร์กไทม์ก็รายงานโดยพาดหัวข่าวว่า "ขีปนาวุธที่คาเฟริมชายหาดของกาซาเล็งเป้าโดนลูกค้าที่นั่งจับจ้องดูฟุตบอลโลก" และ "ใต้ซากของคาเฟริมหาดในกาซา ออกล่าเหยื่อที่มาดูฟุตบอล" พาดหัวข่าวหลังนี้ถึงขั้นไม่มีคำว่าขีปนาวุธูอยู่อย่างที่ควรจะมี นอกจากนี้ยังทำเหมือนขีปนาวุธนี้ยิงตัวเองได้โดยไม่มีผู้กระทำ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างพาดหัวข่าวอื่นๆ อย่างกรณีตำรวจสังหารประชาชนก็ใช้พาดหัวข่าวว่า "มีคนตายเมื่อวานนี้ในการยิงกันที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง" หรือแม้กระทั่งตอนที่ทหารยิงชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็มีข้อความแค่ว่า "ผู้ประท้วงได้ตายไปแล้ว" นาธาน เจ โรบินสัน บรรณาธิการ เคอร์เรนต์ แอฟแฟร์ส ระบุถึงพาดหัวข่าวเหล่านี้ว่า การใช้คำที่เน้นกรรมถูกกระทำแบบไม่มีประธานผู้กระทำเช่นนี้เป็นเครื่องมือของพวกโฆษณาชวนเชื่อทั่วโลกที่ไม่อยากยอมรับว่าตัวเองทำความผิดอะไรไป ในเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่รัฐบาลอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ไปราว 60 คน รวมถึงเด็กอายุ 8 เดือน นั้นโรบินสันตั้งข้อสังเกตว่าเขาเห็นการใช้พาดหัวข่าวแบบถูกกระทำน้อยลง เช่น วอชิงตันโพสต์ถึงขั้นโพสต์ตรงๆ ว่า "อิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ แต่นิวยอร์กไทม์ก็ยังคงพาดหัวข่าวกำกวมว่า "การประท้วงอย่างรุนแรงทำให้มีคนตายหลายสิบคน หลังจากที่มีการเปิดสถานทูตในเยรูซาเลม" ซึ่งคนอาจจะไม่รู้ว่าคนตายที่ว่าเหล่านี้คือผู้ประท้วงเอง แต่รูปประโยคกลับทำให้รู้สึกเหมือนผู้ประท้วงเป็นคนกระทำ ทั้งที่จริงๆ แล้วสไนเปอร์ของอิสราเอลเป็นผู้ก่อเหตุสังหาร แต่การใช้คำอย่าง "การประท้วงอย่างรุนแรง" ก็สะท้อนได้ว่าคนพาดหัวข่าวบิดเบือน ไม่ซื่อสัตย์ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าถึงแม้จำนวนผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์จะเยอะมากกว่าเหตุการณ์ที่เรียกว่า "การสังหารหมู่ในบอสตัน" เมื่อปี 2313 แต่ก็ไม่เคยมีการใช้คำว่า "การสังหารหมู่" ในพาดหัวข่าวของสื่อกระแสหลักเวลารายงานเรื่องปาเลสไตน์เลย และนี่ก็สะท้อนในเรื่องที่ว่าสื่อเหล่านี้พยายามนำเสนอความตายให้ดูคลุมเครือเหมือนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ โรบินสันตั้งข้อสังเกตว่าการใช้คำแบบมีแต่ผู้ถูกกระทำเช่นนี้ยังสะท้อนความไม่แยแสต่อชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ในสายตาของคนอเมริกันเองด้วย ถึงแม้ว่าความนิยมในตัวอิสราเอลจะลดลงแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการสนับสนุนการประท้วงของชาวปาเลสไตน์ในกาซามากพอถึงแม้ว่าพวกเขาจะประท้วงอย่างสงบและใช้วิธีการอารยะขัดขืนต่างๆ ก็ตาม สื่อกระแสหลักก็มักจะไม่นำเสนอปฏิบัติการที่สันติของพวกเขา แต่กลับปล่อยให้เกิดภาพจำซ้อนทับกับกลุ่มกบฏที่ใช้กำลังอย่างฮามาส แม้กระทั่งเบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งเป็นนักการเมืองคนเดียวในสหรัฐฯ ที่ประณามความรุนแรงจากอิสราเอล แต่เขาก็ไม่วายพูดประณาม "ความรุนแรงจากฮามาส" เช่นกัน โดยไม่ได้พูดรายละเอียดถึงสัดส่วนความรุนแรงจากแต่ละฝ่าย โรบินสันระบุอีกว่าถึงแม้ชาวกาซาจะต้องมีสภาพชีวิตอยู่ในแบบที่คล้าย "คุกแบบเปิด" และมีสาธารณูปโภคที่ย่ำแย่ พวกเขาต้องการชุมนุมเพื่อรำลึกครบรอบ 70 ปี ที่ถูกขับไล่ด้วยความรุนแรงออกไปจากถิ่นฐานของตัวเอง พวกเขาแค่พยายามข้ามเขตแดนที่กั้นพวกเขาไว้จากบ้านเกิดแม้จะถูกห้ามหรือกระทั่งถูกยิง แต่ก็มีการปราบปรามจากฝ่ายอิสราเอล โดยฝ่ายอิสราเอลก็มีข้ออ้างที่ฟังดูไม่น่าเชื่อถือในการอ้างความชอบธรรมใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ พวกเขาอ้างว่าทำไปเพื่อป้องกันตนเองจากการก่อการร้ายและความรุนแรงของชาวปาเลสไตน์ แม้แต่ "ความรุนแรง" จากนิยามของเจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลเองก็ระบุไว้ว่าหมายถงแค่การพังรั้ว เช่นในข้อความนี้ "ไม่ว่าคนๆ นั้นจะถือดอกไม้อยู่หรือไม่ก็ตามถ้าเขากำลังพังรั้วลง นั้นถือเป็นความรุนแรงที่เป็นภัยคุกคาม" เรื่องนี้เทียบกับกรณีการสังหารหมู่ที่บอสตันนั้นต่างกัน ในกรณีของบอสตันซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 2313 นั้น ทหารอังกฤษสังหารผู้ประท้วงปฏิวัติอเมริกันที่ต่อต้านทางการอังกฤษไป 5 ราย และทหารที่มีส่วนร่วมในการสังหารผู้คนในวันนั้นก็ถูกจับกุมฐานฆาตกรรมทันที แต่สหรัฐฯ ในวันนี้กลับไม่ยอมให้สหประชาชาติเข้าไปสืบสวนสอบสวนกรณีการสังหารหมู่จากอิสราเอล โรบินสันตั้งข้อสังเกตอีกว่าในขณะที่ฝ่ายอิสราเอลและสื่อบางแห่งที่เล่นตามคำอ้างของอิสราเอลต่างก็ดำเนินไปตามข้ออ้างการสังหารผู้ชุมนุมจากฝ่ายอิสราเอลว่าทำไปเพื่อป้องกันตัวเองคล้ายคำกล่าวอ้างแบบที่ตำรวจสหรัฐฯ ยิงผู้ต้องสงสัย แต่ข้ออ้างเหล่านี้กลับละเลยที่จะมองจากมุมที่ว่าปาเลสไตน์เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกขับไล่และมีทรัพยากรในการใช้ความรุนแรงได้น้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังความสามารถในการใช้ความรุนแรงของกองทัพอิสราเอล นอกจากนี้ยังมีมุมมองในเรื่องอคติทางเชื้อชาติระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตนที่สะท้อนออกมาในสื่อเหล่านี้ด้วย เรียบเรียงจาก Israel and the Passive Voice, Nathan J. Robinson, Current Affairs, 15-05-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ทหารตรวจยึดโดรนชาวบ้าน สงสัยเชื่อมโยงเหตุระเบิดฐานที่ยะลา Posted: 19 May 2018 03:46 AM PDT สื่อ 'เบนาร์นิวส์' รายงานเจ้าหน้าที่ทหารเข้ายึดโดรนของชาวบ้าน ที่บ้านใน อ.ยะหา จ.ยะลา เพราะเชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับเหตุโจมตีฐานชุดคุ้มครองตำบล เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ทหารเข้ายึดโดรนของชาวบ้าน ที่บ้านใน อ.ยะหา จ.ยะลา เพราะเชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับเหตุโจมตีฐานชุดคุ้มครองตำบล ภาพวันที่ 17 พ.ค. 2561 (ภาพโดย: มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (17 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ทหารพรานเข้ายึดโดรนของชาวบ้าน ใน อ.ยะหา จ.ยะลา เพราะเชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับเหตุโจมตีฐานชุดคุ้มครองตำบลของอาสาทหารพราน เมื่อวันอังคารในบ้านลีมาปูโระ หมู่ 3 ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน แต่การตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าโดรนลำดังกล่าว อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบ พ.อ.อภิชัย เรืองฤทธิ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ ทหารพรานที่ 47 กล่าวว่า ได้นำเจ้าหน้าที่ทหารพราน และเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 63/1 ม.3 บ้านลีมาปูโร๊ะ ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา เพราะสงสัยว่ามีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการก่อเหตุความไม่สงบ "เป็นบ้านของ นางคอรียะ สะดียามู เพื่อขอเข้าไปค้นหาโดรน ตามที่แหล่งข่าวได้แจ้งให้ทางหน่วยทราบ ซึ่งผลการปฏิบัติ สามารถตรวจพบโดรน 1 ลำ และได้ส่งตรวจสอบอยู่ จะใช่ตัวเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องรอผลการตรวจสอบ ตอนนี้อยู่ระหว่างนำโดรนไปตรวจสอบ" พ.อ.อภิชัยกล่าว ต่อมา นายชัยชนะ กฤตยานาถ นายอำเภอ อำเภอยะหา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น และการสอบปากคำเจ้าของโดรนลำดังกล่าวพบว่า โดรนลำที่ยึดได้ อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบ "อาจไม่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว เนื่องจากภายหลังการตรวจยึด เจ้าหน้าที่ได้นำตัว นางคอรียะ สะดียามู ไปสอบปากคำที่ สภ.ยะหา และให้การว่า เป็นของนายมะรุดิง สามี ไว้ใช้ถ่ายภาพมุมสูงในการแข่งขันมอเตอร์ไซค์วิบาก และออฟโรด ในพื้นที่ ต.บาโงยซิแน" นายชัยชนะกล่าว "จากการตรวจสอบเบื้องต้น โดรนลำที่ตรวจยึดมา ระยะหลังไม่ได้นำออกมาใช้ เนื่องจาก นายมะรูดิง ซึ่งสามารถใช้ได้แต่เพียงผู้เดียว ไปทำงานเป็นล่ามให้กับบริษัททำเหมืองแร่แห่งหนึ่ง ในประเทศอินโดนีเซีย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดโดรนไว้ เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อ" นายชัยชนะกล่าวเพิ่มเติม ขณะที่ ชาวบ้านบ้านลีมาปูโร๊ะ (สงวนชื่อและนามสกุล) รายหนึ่ง ระบุว่า "โดรนนั้นเป็นของสามีเขา ชาวบ้านเห็นอยู่ เขาเล่นกัน แต่ช่วงหลังมานี้สามีเขาไม่อยู่" การเข้าตรวจยึดโดรนเพื่อตรวจสอบมีสาเหตุจาก เมื่อวันอังคารที่ 15 พ.ค. 2561 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืน เอ็ม.79 ยิงถล่มฐานที่ตั้งของชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ในพื้นที่บ้านลีมาปูโระ หมู่ 3 ต.บาโงยซิแน ในเวลาประมาณ 4.25 น. เป็นเหตุให้อาสาทหารพราน 2 นาย ได้รับบาดเจ็บ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำฐานชุดคุ้มครองตำบล พบว่า ก่อนเกิดเหตุ 2-3 วัน เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นโดรนไม่ทราบฝ่ายบินวนรอบฐาน เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายส่อง โดรนก็บินหนีไป ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบใช้โดรนสอดแนม ก่อนลงมือโจมตี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สั่งตั้งด่านตรวจค้นอาวุธทั่วประเทศ ก่อนชุมนุม 22 พ.ค. Posted: 19 May 2018 02:20 AM PDT รอง ผบ.ตร. ระบุสนธิกำลังตำรวจ 3 กองร้อยดูแลการชุมนุม 'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' 22 พ.ค. นี้ สั่งตั้งด่านความมั่นคงระดมตรวจค้นอาวุธทุกประเภทตั้งแต่เที่ยงคืน 19 พ.ค. ที่ผ่านมาถึงสิ้นเดือน ย้ำถ้าเคลื่อนขบวนออกจาก มธ.ท่าพระจันทร์ เจอกฎหมายเล่นงานแน่ 19 พ.ค. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณ์กุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) กล่าวถึงมาตรการดูแลการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. 2561 นี้ ว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตไม่ละเมิดกฎหมาย การชุมนุมในที่ตั้งบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สามารถกระทำได้ เพราะถือเป็นสถานที่ส่วนบุคคลเจ้าของสถานที่ อนุญาตไม่ผิดกฎหมาย แต่หากจะเคลื่อนไหวหรือเครื่องขบวนออกนอกพื้นที่ไปยังจุดใดถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะการเคลื่อนขบวนย่อมส่งผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่ที่ขบวนเคลื่อนไป และตำรวจไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้มีการชุมนุมบนผิวการจราจร เบื้องต้นทางนครบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักได้แจ้งไปยังแกนนำกลุ่มแล้วว่าไม่อนุญาตให้เคลื่อนขบวนโดยเด็ดขาด ซึ่งหากฝ่าฝืนจะต้องดำเนินการตามกฏหมาย พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวอีกว่าอย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาทได้สั่งการเฝ้าระวังปัญหามือที่ 3 ที่อาจใช้สถานการณ์นี้ก่อความวุ่นวายโดยให้ตำรวจทั่วประเทศ ตั้งด่านความมั่นคงระดมตรวจค้นอาวุธทุกประเภทตั้งแต่เที่ยงคืนที่ผ่านมาถึงสิ้นเดือนนี้ ส่วนในวันที่ 22 พ.ค.ได้เตรียมกำลังตำรวจนครบาลหนึ่งร่วมกับตำรวจฝ่ายสืบสวนและตำรวจทุกภาคส่วนจำนวน 3 กองร้อยไว้ดูแลความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่การชุมนุมและตลอดเส้นทาง สำหรับการพูดคุยกับทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นในส่วนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำรวจเป็นเรื่องของทหารที่จะต้องเข้าไปพูดคุยเจรจาในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'พีซทีวี' ยื่นขอ กสทช. เป็นธรรม หลังถูกสั่งปิด 30 วัน ยันไม่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่น Posted: 19 May 2018 12:42 AM PDT ผู้ประกาศข่าว 4 สาวตัวแทน PEACE TV ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ กสทช. ร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกสั่งปิด 30 วัน ยันออกอากาศไม่มีเนื้อหายุย เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา PEACE NEWS รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจกา หลังคณะกรรมการกิจการกระจาย
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาในเวทีเสวนา "ปลดคำสั่ง 0.4 เดินหน้าเสรีภาพประชาชน" ซึ่งจัดขึ้น เนื่องใน "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความและหัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวไว้ด้วยว่า มีประกาศคำสั่งหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการที่ คสช. ออกมาควบคุมสื่อ สื่อเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ หลังรัฐประหารก็มีการห้ามสื่อออกอากาศ จากสถิติของ ILaw ในช่วง 4 ปี คสช. โดย กสทช. ควบคุมสื่อโดยการลงโทษ 52 ครั้ง สื่อที่ถูกลงโทษมากที่สุดคือ วอยซ์ทีวี รองลงมาคือ พีซทีวี โดยทั้งหมดมี 34 ครั้ง ที่ลงโทษเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศของ คสช. ซึ่งมีฉบับหลักๆ คือ 97/2557, 103/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 แม้ว่าประกาศที่ 97/2557 จะควบคุมสื่อไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาที่กระทบหรือวิพากษ์วิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริต และเป็นประกาศฉบับหลักที่ใช้ควบคุมสื่อ แต่คำสั่งที่ 41/2559 เป็นการยื่นดาบให้ กสทช. อีกชั้นหนึ่ง ถ้า กสทช.เห็นว่าเนื้อหารายการไหนเข้าข่ายฝ่าฝืน ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ถือว่าผิดมาตรา 37 ของ กสทช. ทันที ซึ่งหาก ให้อำนาจของ กสทช. อย่างเดียวจะมีศาลปกครองช่วยดูว่าชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ถ้าเราจำได้ คำสั่งที่ 41/2559 ออกมาตอนที่พีซทีวีมีการฟ้อง และศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว การออกคำสั่งฉบับนี้มาทำให้ตัดอำนาจศาลปกครองออกไปในการตรวจสอบสื่อขึ้นมาทันที ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บก.ทัพไทยสั่งสำรองราชการนายทหารพัวพันกับคดีเงินทอนวัด Posted: 19 May 2018 12:38 AM PDT บก.ทัพไทยสั่งสำรองราชการ 'ร.ท.ฐิติทัศน์ นิพนธ์พิทยา' นายทหารสังกัดศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับคดีเงินทอนวัด ชี้ภายใน 15 วันไม่มารายงานตัว ถูกปลดออกจากราชการทันที ด้านกองปราบบุก 3 จุด บ้านหรู-ร้านสังฆภัณฑ์ คุ้ยโอน 5 ล้านเอี่ยวเงินทอนวัด 19 พ.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.หัสพงศ์ ยุวนวรรธนะ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการแทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ลงนามในคำสั่ง กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ 208/2561 สำรองราชการ ร.ท.ฐิติทัศน์ นิพนธ์พิทยา นายทหารสังกัดศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับคดีเงินทอนวัด ทั้งนี้หากภายใน 15 วัน ร.ท.ฐิติทัศน์ ไม่มารายงานตัว ก็จะถูกปลดออกจากราชการทันที สืบเนื่องมาจาก พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นการเร่งด่วน และคณะกรรมการได้พยายามติดตามตัว ร.ท.ฐิติทัศน์ มาสอบสวน แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าจากการตรวจสอบประวัติการเข้ารับราชการของ ร.ท.ฐิติทัศน์ พบว่าได้ใช้วุฒิปริญญามหาบัณฑิตนิเทศศาสตร์ สื่อสาร การท่องเที่ยวและบันเทิง มหาวิทยาลัยเกริก เข้ารับราชการทหารประจำ ศรภ. เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2559 ในยุคที่ พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด จากนั้นได้ถูกส่งตัวมาช่วยราชการที่สำนักงานของ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เสนาธิการทหาร ที่ในขณะนั้นเป็นรองเสนาธิการทหาร แต่ปรากฏว่า ร.ท.ฐิติทัศน์ ไม่เคยมาทำงานที่สำนักงาน รอง เสธ.ทหาร มีแต่ชื่อขอฝากเอาไว้เท่านั้น เพราะถูกขอตัวไปช่วยราชการที่สำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อไปดูแลนายพิศิษฐ์ ลีลาวัชโรภาส ผู้ว่าฯ สตง.ตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้ตามระเบียบทางราชการผู้ว่าฯ สตง.สามารถร้องขอนายทหาร ไปติดตามดูแลได้ เพราะการทำหน้าที่ของผู้ว่าฯ สตง.ในเรื่องการตรวจสอบต่าง ๆ อาจมีอันตราย ซึ่ง ศรภ.มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งนายทหารไปดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญตามคำร้องขอ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าจากการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนฯ ปรากฎว่าไม่พบว่ามีหนังสือขอตัวไปช่วยราชการที่ สตง.ของ ร.ท.ฐิติทัศน์ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด แต่ทว่าเป็นที่รับรู้กันภายในว่า ร.ท.ฐิติทัศน์ ไปติดตามนายพิศิษฐ์ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปค้นบ้านพักและพบอาวุธปืนจำนวนมาก กองปราบบุก 3 จุด บ้านหรู-ร้านสังฆภัณฑ์ คุ้ยโอน 5 ล้านเอี่ยวเงินทอนวัด เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 พ.ค.2561 พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) และเจ้าหน้าที่ปอท.พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามจำนวนหนึ่ง นำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เลขที่ 64/16 หมู่บ้านธรินกรณ์วิลล่า ม.4 ต.วัดชะลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี หลังตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีเงินที่ทางสำนักพระพุทธศาสนาโอนให้กับวัดชื่อดังแห่งหนึ่งใน กทม.จำนวน 5,000,000 บาท เพื่อนำไปใช้สอนพระปริยธรรม แต่กลับพบว่าวัดดังกล่าวไม่ได้นำเงินไปใช้ในการสอนแต่กลับโอนเงินเข้าบัญชีมาให้กับบุคคลที่อยู่ในบ้านหลังดังกล่าว โดยทางเจ้าของบ้านได้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นแต่ไม่ยอมให้สื่อมวลชนที่มารอทำข่าวตามเข้าไปภายในบ้านแต่อย่างใด โดยใช้เวลาในการตรวจค้นภายในบ้านนานกว่า 2 ชั่วโมง พล.ต.ต.ไมตรี กล่าวว่าสืบเนื่องจากกรณีที่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนามีการตรวจสอบพบการทุจริตเงินทอนวัดจนพบว่ามีวัดขนาดใหญ่ใน กทม.เข้าข่ายกระทำผิดนั้น จนมีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ปปป.ทำการตรวจสอบ ในส่วนของกองปราบปรามนั้นได้ตรวจสอบพระและวัดที่มีพฤติกรรมไม่ชอบในเรื่องนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบในวันนี้เป็นการลงพื้นที่พร้อมกันทีเดียว 3 จุด คือที่บ้านหลังดังกล่าวและร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์กับทาวน์เฮาส์หลังหนึ่ง ซึ่งเจ้าของคือบุคคลภายในบ้านโดยมีความสนิทสนมและเลื่อมใสในวัดแห่งหนึ่ง ที่พบว่ามีการโอนเงินจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจำนวน 5,000,000 บาท มาให้ที่วัดก่อนที่ทางวัดจะโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีบุคคลในบ้านจำนวน 3 ครั้งเป็นเงิน 5,000,000 บาท นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าบุคคลในบ้านที่เป็นเจ้าของบัญชี พบว่ามีการทำธุรกรรมร่วมกับวัดในเรื่องการเช่าที่ดินจากวัดแถวสะพานปิ่นเกล้า กทม. ในราคา 30,000 บาทต่อเดือน แต่นำไปปล่อยเช่าต่อในราคา 300,000 บาทต่อเดือน หลังจากนี้จะเชิญตัวบุคคลในบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปให้ปากคำเพิ่มเติมที่กองบังคับการตำรวจปราบปราม พร้อมอายัดเอกสารและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับทางวัดที่พบในบ้านไปตรวจสอบอีกด้วย โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลใดภายในบ้านจนกว่าจะสอบสวนเสร็จก่อนเดินทางกลับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โพลระบุคนจะเลือกนายกที่มีนโยบายประชานิยม-รักษาฟรี 57% Posted: 18 May 2018 11:55 PM PDT กรุงเทพโพลสำรวจประชาชน 1,205 คน 57% ยกนโยบายประชานิยม รักษาฟรี ประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้เลือกเข้ามาเป็นนายก 64.4 % ระบุนายกคนต่อไปอยากให้เป็นผู้นำที่มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่มีประวัติคอร์รัปชั่น 19 พ.ค. 2561 กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "นายกฯ แบบไหนที่โดนใจคนไทย" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,205 คน พบว่านโยบายประชานิยมที่โดนใจประชาชนทำให้อยากเลือกเข้ามาเป็นนายกฯ มากที่สุดคือ นโยบายรักษาฟรี ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ร้อยละ 57.0) รองลงมาคือ นโยบายช่วยเกษตรกร ผลผลิตเกษตรกร (ร้อยละ 54.4) นโยบายสวัสดิการ และค่าครองชีพ รายได้ (ร้อยละ 48.3) นโยบายช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ร้อยละ 48.0) และ นโยบายเกี่ยวกับการปราบการทุจริตคอร์รัปชั่น (ร้อยละ 46.9) เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีแบบไหนที่อยากได้มาดำรงตำแหน่งคนต่อไป ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.4 อยากให้เป็นผู้นำที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประวัติคอร์รัปชั่น รองลงมาร้อยละ 46.6 เป็นผู้นำที่มีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจในการบริหารประเทศ ร้อยละ 45.9 เป็นผู้นำที่มีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประจักษ์หรือโครงการใหม่ๆ และร้อยละ 45.2 เป็นผู้นำที่มีความขยันทุ่มเทในการทำงานเพื่อประชาชน ส่วนเมื่อถามว่าการที่นายกฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ไปตามจังหวัดต่างๆ ท่านคาดว่าจะทำให้ได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.5 เห็นว่าจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 43.5 เห็นว่าจะได้เพิ่มขึ้นน้อยถึงน้อยที่สุด สุดท้ายเมื่อถามว่าหากวันนี้ ท่านมีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ท่านจะออกเสียงสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 40.0 จะสนับสนุน (เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเดือน ม.ค. 2561 ร้อยละ 3.2) ขณะที่ร้อยละ 25.5 จะไม่สนับสนุน ส่วนร้อยละ 34.5 งดออกเสียง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถิติคุกคามประชาชนยุค คสช. นับพัน ศูนย์ทนายความฯ ชี้ต้องจัดการกฎหมายที่ออกโดย คสช. Posted: 18 May 2018 11:37 PM PDT ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4 ปี หลังรัฐประหาร คสช. พบว่า มีผู้ถูกปรับทัศนคติและติดตามคุกคามมากกว่าพันคน ขณะที่พลเรือนสองพันกว่าคนต้องขึ้นศาลทหารจากการออกกฎหมายของ คสช. และผลกระทบจะยังอยู่แม้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนักศึกษากลุ่มดาวดินเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ที่ จ.ขอนแก่น (แฟ้มภาพประชาไท) 19 พ.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4 ปี หลังรัฐประหาร คสช. ในเวทีนิติรัฐที่พังทลายและก้าวใหม่หลัง คสช. ในงาน D-Move ก้าวที่ดี เลือกทางที่เดิน ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พบว่าจากข้อมูลคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และข้อมูลจากการสังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มีประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ มีผู้ที่ถูกข่มขู่ คุกคามและติดตาม อย่างน้อย 1,138 คน กิจกรรมสาธารณะถูก คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นและแทรกแซง อย่างน้อย 264 กิจกรรม มีกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ชุมชน หรือประชาสังคม ที่ถูกปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม แล้วอย่างน้อย 66 กลุ่ม นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อย่างน้อย 378 คน ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 214 คน และถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่นหรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 92 คน ข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญถึงเดือน ต.ค. 2560 พบว่ามีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 1,886 คดี นับเป็น 2,408 คน ในจำนวนนี้ยังพิจารณาคดีไม่เสร็จสิ้น 369 คดี หรือ 450 คน ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีอย่างน้อยจำนวน 162 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างน้อย 101 คน และยังมีผู้ร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นระหว่างควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกอย่างน้อย 18 ราย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามสถิติข้างต้นเป็นผลมาจาก 3 ประการสำคัญ คือ 1. การจัดการพลเรือนโดยใช้วิธีคิดและปฏิบัติการแบบทหารด้วยการทำให้การแสดงออกทางการเมืองโดยสงบสันติ กลายเป็นเรื่อง "ความมั่นคงของรัฐ" การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจและการชุมนุมทางการเมือง ถูกทำให้กลายเป็น "ความไม่สงบเรียบร้อย-ความวุ่นวาย" 2. การสถาปนาการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่อำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน และจะมีผลต่อไปแม้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และ 3. การปกครองโดย "กฎหมาย" ของ คสช. ดังกล่าวส่งผลให้ระบบกฎหมายของ คสช. บ่อนทำลายระบบกฎหมายเดิมและทำให้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปลอดจากถูกตรวจสอบและไม่ต้องรับผิด เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เสนอว่าการจัดการผลพวงการรัฐประหารที่จะตกค้างต่อไปในอนาคตต้องแยกทหารออกจากการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน และจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดการกับกฎหมายของ คสช. ที่มาจากโครงสร้างหรือวิธีการออกโดยมิชอบ "จากนั้นเราต้องปฏิรูปกระบวนการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการใช้ฐานด้านสิทธิมนุษยชนส่งเสริมให้ศาลวินิจฉัยหรือพิพากษาเพื่อรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน โดยเป็นการพิจารณาการปฏิรูปกระบวนการทั้งระบบและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของทหาร" หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว เยาวลักษ์ เพิ่มเติมว่าการเยียวยานั้นต้องเยียวยาทั้งประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ไม่ถูกดำเนินคดี และประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการถูกรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี นอกจากนี้จะต้องลบล้างความชอบด้วยกฎหมายและการรับรองความสมบูรณ์ของการกระทำรัฐประหาร ด้วยการทำให้คำพิพากษาที่ผ่านมาสิ้นผลไป และนำคำพิพากษาในส่วนที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นผลจากการกระทำของ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านกฎหมายของ คสช. มาทบทวนและทำให้สิ้นผลไปเช่นกัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: บทเพลงแห่งความตาย 19 พฤษภา 53 Posted: 18 May 2018 07:34 PM PDT
เพื่อนพ้อง ผู้ร่วมทาง ร่างล้ม เลือดหลั่งริน **กี่ปี ไม่มีเปลี่ยน วันนี้ ยังมืดดำ **กี่ปี ไม่มีเปลี่ยน วันนี้ จงจดจำ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น