โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปิยบุตร-สุดารัตน์-เสรีพิศุทธ์-อรรถวิชช์ | พรรคจะสร้างความแตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมาอย่างไร

Posted: 20 May 2018 09:25 AM PDT

ตัวแทน 4 พรรคการเมือง 1) ปิยบุตร แสงกนกกุล 2) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 3) พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และ 4) อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ร่วมตอบคำถามพรรคการเมืองจะสร้างความแตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร พร้อมตอบโจทย์ประเด็น คสช.สืบทอดอำนาจ นายกรัฐมนตรีคนนอก รัฐธรรมนูญ 2560

โดยปิยบุตรเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เริ่มต้นที่แก้มาตรา 279 เปิดทางไปสู่การแก้ทั้งฉบับ และล้างมรดก คสช. ทิ้งทั้งหมด สุดารัตน์บอกหากกลไกกติกาไม่เอื้อต่อการทำงานของผู้แทนประชาชน ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยืนยันไม่เอาเผด็จการ พร้อมชวน 4 พรรคจับมือทำสัตยาบรรณไม่เอาเผด็จการ ขณะที่อรรถวิชช์ ออกตัวเป็นพลเรือนไม่ถนัดฉีกรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ลองใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน แต่ถ้าไม่ดีก็แก้แน่ ลั่นไม่ยอมรับนายกฯ คนนอก แต่หากทหารจะลงเล่นการเมืองโดยใช้สิทธิแบบพลเรือนก็เชิญ

20 พ.ค. 2561 ส่วนหนึ่งจากเสวนาสาธารณะ "The Move We Decide ก้าวที่เลือกได้" ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชวนตัวแทน 4 พรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบด้วย 1) ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ 2) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคเพื่อไทย 3) พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย และ 4) อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์

โดยหนึ่งในคำถามที่ชวนตัวแทนพรรคการเมืองตอบคือ "หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะสร้างความแตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร ในเมื่อมีตัวล็อกทั้งแผนปฏิรูปต่างๆ และยุทธศาสตร์ชาติ?"

ทั้งนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่ เสนอให้จัดการสิ่งที่เรียกว่า "มรดก คสช." ทิ้งทั้งหมด ทั้งคำสั่ง ประกาศ คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฯลฯ ยกเว้นในบางคำสั่งที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารราชการแผ่นดินและในชีวิตประจำวัน ที่มีผู้ได้ประโยชน์โดยสุจริต อาจให้อยู่ต่อ แต่เปลี่ยนรูปมาเป็นพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายลำดับศักดิ์รองๆ

และให้ผู้ได้รับความเสียหายจากคำสั่ง คสช. ผู้ถูกดำเนินคดีจับกุมคุมขังหลังรัฐประหาร 2557 ต้องยุติการดำเนินคดี ต้องได้รับการนิรโทษกรรม รวมทั้งต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเริ่มต้นได้เลยที่การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ต้องยกเลิกทันที เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ ได้โต้แย้งประกาศคำสั่ง คสช. และเปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านการประชามติ

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย เสนอว่า เมื่อกลไกมีปัญหา ไม่สามารถเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นระบอบที่เอื้ออำนวยประชาชน ต่อปากท้องต่อการทำมาหากิน ต้องเดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยที่กฎหมายล็อกด้วยว่าไม่ทำตามจะมีความผิด ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่นักการเมืองและพรรคการเมืองจะถูกยุบพรรคและตัดสินติดคุกจากการนำเสนอนโยบาย

ในเมื่อกลไกไม่สามารถเอื้ออำนวยต่อการทำงานของผู้แทนราษฎรที่จะแก้ไขปัญหาประชาชน มันต้องกลับไปแก้ที่จุดปัญหาคือแก้ที่กติกา แล้วรัฐธรรมนูญแน่นอนแก้ยาก แค่ประกาศว่าจะแก้รัฐธรรมนูญไม่รู้จะติดคุกหรือเปล่า แก้ยาก แต่ส่วนตัวเชื่อว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าเป็นความต้องการของประชาชน

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย กล่าวตอบว่า "การเลือกตั้งครั้งนี้คุณชอบเผด็จการหรือเปล่า ผมไม่เอาแม่งแน่" และกล่าวต่อไปว่า พูดสุภาพกับพวกนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมไม่เอาเผด็จการแน่ และหลังจากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ถามตัวแทนอีก 3 พรรคการเมืองว่าเอาเผด็จการหรือไม่ และพูดว่า "4 พรรคไม่เอาเผด็จการ จับมือกันนะ รับรองชนะแน่ เผด็จการมาไม่ได้แน่"

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวด้วยว่า "บรรดาหัวหน้าพรรคต้องแสดงวิสัยทัศน์ให้ประจักษ์ชัดว่า จะต้องเข้ามาแก้ปัญหาประเทศชาติให้ได้ โดยเฉพาะยุคนี้เผด็จการยิ่งใหญ่เหลือเกิน เพราะฉะนั้นต้องแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะปราบเผด็จการให้ได้ ไปเจอทหารแล้วหงอ หงอได้ไง ต้องปราบสิ เราเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทหารต้องอยู่ได้การปกครองของรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี จะมายึดอำนาจแบบคราวที่แล้วไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์ เพราะผมรู้ไส้รู้พุงหมด เป็นนักเรียนเตรียมทหารเหมือนกัน รุ่นพี่คุณประยุทธ์ รุ่นน้องคุณประวิตร โรงเรียนเดียวกัน แต่นิสัยไม่เหมือนกัน"

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชาธิปไตย 80 กว่าปี เราเสียเวลาร่างรัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญ มากกว่าเวลาใช้มัน รัฐธรรมนูญมี 20 ฉบับแก้อีกนับไม่ถ้วน เรากำลังครุ่นคิดอยู่กับรัฐธรรมนูญแบบใหม่ แบบนี้ไม่ดี ทหารมา ฉีกทิ้ง แล้วก็เอาใหม่ หรือของทหารไม่ดี ฉีกทิ้ง แล้วก็เอาใหม่ มันจะสาละวนอยู่กับเรื่องนี้

"ผมอยากชวนคิดแบบนี้ถ้าเราเห็นว่าอยากแก้ ต้องแก้ได้ ต่อให้เขียนให้แก้ยากสุดๆ ผมว่าก็แก้ได้ ยุทธศาสตร์ชาติบอกแก้ไม่ได้ ก็ไม่จริง ถ้าดูให้ดีในรัฐธรรมนูญ มันเป็นข้อแนะนำ เขาว่า "รัฐพึง" เสมอ รัฐพึงทำอะไร ไม่ทำอะไร ไม่ใช่หน้าที่ ก็แก้ได้อีก มันอยู่ที่ว่าเราคิดแล้วตกผลึกร่วมกันว่าอะไรคือจุดโหว่ของมัน นี่คือหัวใจของเรื่อง เพราะฉะนั้นผมไม่ติดยึดว่ารัฐธรรมนูญ เมื่อเข้ามาแล้วต้องฉีกทิ้ง เพราะผมเป็นพลเรือนไม่ถนัดฉีกรัฐธรรมนูญ ขอคิดไปแบบนี้ก่อนว่า อย่าเพิ่งไปรังเกียจมัน รัฐธรรมนูญ 2560 มองอีกมุมหนึ่ง เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเสียงการประชามติ 15.5 ล้านเสียง เยอะเหมือนกัน ผมว่าเราลองใช้ แต่ถ้าไม่ดีแก้แน่ แล้วยืนยันว่าไม่มีอะไรแก้ไม่ได้"

ส่วนกรณีที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น ตอนหนึ่งอรรถวิชช์นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแปลกประหลาดคือว่าตอนทำประชามติมีคำถามพ่วงผ่านมาด้วยว่าให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะฉะนั้นเกิดอาการหวยล็อกคือทางทหารไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง เพราะมี ส.ว.แต่งตั้งมาร่วมเลือกอยู่แล้ว

ทำให้เกิดนายกรัฐมนตรีได้ 2 เรื่องคือมีนายกรัฐมนตรีคนใน กับนายกรัฐมนตรีคนนอก นายกรัฐมนตรีคนในหมายความว่าเป็นชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา 3 คน แล้วพรรคการเมืองนั้นต้องได้เสียง 25 เสียง คือกรณีพรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น เขาต้องได้ ส.ส. ในมือ 25 เสียง ไม่อย่างนั้นเขาไม่มีสิทธิเสนอ 3 รายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี นี่คือบริบทนายกรัฐมนตรีคนใน จึงเห็นอาการดูดมหาศาล เหล้าเก่าเข้าขวดใหม่ เพื่อต้องการเสียงให้ครบ

"ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีคนนอกคือแบบนี้ ยกตัวอย่างว่าเกิดว่าใน ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน สมมติว่าพรรคฝั่ง A ไปรวบรวม ส.ส. ได้มาเกินครึ่ง รัฐธรรมนูญปกติตั้งรัฐบาลได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งไม่ได้ จะต้องได้เสียง ส.ว. อีก 250 เสียงมาใส่ในนี้ด้วย เพราะไม่ได้เอาเสียง ส.ส. ตั้ง ต้องเอา ส.ว. มารวม ทำให้เป้าคือต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นว่ากลไกแบบนี้มีโอกาสเดดล็อกกลางอากาศ เลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย จับขั้วได้เรียบร้อย ได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะ ส.ว. รับฟังคำสั่งจาก คสช. ถ้าเดดล็อกแบบนี้บ้านเมืองจะวุ่นวาย"

"เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่าหนทางการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ไม่รับเด็ดขาด ยืนยัน"

"แต่ว่าผมชวนคิดอีกครับ ในทางกลับกันถ้าทหาร ไม่รู้ว่าเขาใช้วิธีการดูดหรือคิดสะระตะมาแบบไหนก็แล้วแต่ เขาใช้สิทธิในความเป็นพลเรือนของเขา ที่เขาจะเข้าสู่การเมืองได้ ผมว่าไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจถ้าทหารจะอยู่ในการเมืองไทย เพราะก่อนหน้านี้ทหารก็ชนะเลือกตั้งมา ผมไม่ได้หมายถึงองค์กร ผมหมายถึงพวกพลเอก พลโทต่างๆ ท่านมีสิทธิด้วยความเท่าเทียมกัน ถ้าเปิดโอกาสว่าประชาชนไม่ระแวงทหาร ทหารไม่ระแวงประชาชน แบบนี้โอกาสเลือกตั้งมีสูง"

"ผมชวนคิดแบบนี้ก่อนว่า รัฐธรรมนูญ กฎ กติกาต่างๆ ไม่จำเป็นต้องฉีกทิ้ง พวกเราไม่ชำนาญเรื่องฉีกทิ้ง ไม่ใช่หน้าที่พลเรือน เราลองใช้มันดู ถ้ามันไม่ดี ไม่มีอะไรขวางได้ ไม่ว่ากติกาจะยากขนาดไหน คิดว่าแก้ได้" อรรถวิชช์กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตลกร้าย ทนายประเวศ หลักการพิจารณาโดยเปิดเผย และสิทธิที่หายไปจากรัฐธรรมนูญ

Posted: 20 May 2018 08:03 AM PDT


ที่มาภาพ เพจ Banrasdr Photo

ลับ ลับ ลับ เป็นคำสั่งจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีซึ่งทนายความประเวศ ประภานุกูล ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากการโพสต์ข้อความใน facebook ส่วนตัวจำนวน 10 ข้อความ และข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาอีก 3 ข้อความในวันสืบพยานโจทก์ปากแรกในวันนี้(8 พ.ค.61) โดยศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ


หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

หลักการพิจารณาโดยเปิดเผยเป็นหลักการหนึ่งในสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to Fair Trial) ซึ่งถูกรับรองไว้ทั้งในข้อ 10 และข้อ 11 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน( Universal Declaration of Human Rights) และ ข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights ) เป็นหลักการสากลที่ยอมรับว่าในการพิจารณาคดีหนึ่งๆนั้นจำเป็นจะต้องกระทำโดยเปิดเผย บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่คู่ความในคดีสามารถเข้ามารับฟังการพิจารณาได้ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินคดีนั้นเป็นไปโดยโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้แก่บุคคลว่าบุคคลทุกคนจะมีความเสมอภาคเบื้องหน้าของกฎหมาย ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และได้รับการพิจารณาจากศาลที่เป็นอิสระและเป็นกลาง สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยจึงยิ่งมีความสำคัญเนื่องจากไม่ใช่เพียงสิทธิโดยตัวของมันเองเท่านั้น แต่เป็นหลักประกันสิทธิว่าคู่ความในคดีจะสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆในกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย

ในส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความของไทยได้กำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินคดีอาญานั้น รองรับการพิจารณาโดยเปิดเผยไว้ในมาตรา 172 แต่หลักการดังกล่าวก็ได้รับการยกเว้นในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศตามมาตรา 177


ทนายประเวศในฐานะทนายความ เคยคัดค้านว่าการพิจารณาคดีลับขัดรัฐธรรมนูญ

แม้สิทธิพิจารณาคดีโดยเปิดเผยจะเป็นหลักการสากล แต่หลักการดังกล่าวเพิ่งได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญครั้งแรกในมาตรา 40(2) รัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 เมื่อทนายประเวศได้ทำหน้าที่ทนายความในคดีที่นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาจากการปราศรัยในปี 2551 และศาลอาญาสั่งพิจารณาลับ ทนายประเวศได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ามาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขัดต่อมาตรา 29 (ซึ่งรับรองว่าการจำกัดสิทธินั้นต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิไม่ได้ อีกทั้งการตรากฎหมายจำกัดสิทธิยังต้องระบุรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการจำกัด) และขัดต่อมาตรา 40(2) (ซึ่งรับรองหลักการพิจารณาโดยเปิดเผย) หรือไม่  โดยทนายประเวศได้ใช้สิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 38/2552 ไม่รับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่านางสาวดารณียังสามารถใช้สิทธิอื่นได้ อย่างไรก็ตามในคดีเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นของนางสาวดารณีว่าการที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งประเด็นที่จำเลยโต้แย้งเรื่องการพิจารณาลับไปศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลยุติธรรมจึงดำเนินการส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนุญวินิจฉัย ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 30/2554 ว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิ

"…แม้ว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (2) จะบัญญัติให้การพิจารณาคดีต้องกระทําโดยเปิดเผย เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ก็กําหนดให้มีการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ แต่ต้องกระทําเท่าที่จําเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ถือเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายในลักษณะดังกล่าว กล่าวคือ บทบัญญัติมาตรานี้เป็นข้อยกเว้นของการพิจารณาและสืบพยานโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักประกันการอํานวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และให้มีการตรวจสอบการดําเนินกระบวนพิจารณาของคู่ความและของศาล แต่ลักษณะคดีอาญาบางประเภทหากมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าถ้ามีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว จะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความปลอดภัยของประเทศ ศาลมีอํานาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับเพื่อคุ้มครองคู่ความและบุคคลที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นได้ อันเป็นการสอดคล้องกับหลักประกันขั้นพื้นฐานที่อารยประเทศพึงให้เป็นสิทธิแก่บุคคลในกระบวนพิจารณาของศาล อนึ่ง การพิจารณาเป็นการลับ ก็มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมและมิได้จํากัดสิทธิของจําเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กําหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความของโจทก์จําเลย และทนายความของจําเลย ผู้ควบคุมตัวจําเลย พยาน ผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ถึงแม้จะมีผลเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จําเป็นมิได้กระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2)"

คดีดังกล่าวนี้นับเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักการพิจารณาโดยเปิดเผยครั้งแรก แม้จะคัดค้านไม่สำเร็จแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนของทนายประเวศ


ตลกร้าย ข้อยกเว้นยังอยู่ แต่หลักการหายไปจากรัฐธรรมนูญ 2560

แม้คำวินิจฉัยที่ 30/2554 ของรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่าการพิจารณาโดยลับตามมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่โดยหลักการแล้วก็ยังมีข้อวิจารณ์ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 40 (2) รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นในการจำกัดสิทธิไว้ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญจะสามารถกำหนดข้อยกเว้นไว้เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตามข้อวิจารณ์ดังกล่าวนั้นกลับหายไปพร้อมรัฐธรรมนูญ 2550 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมทั้งยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยที่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยกลับไม่มีการรับรองไว้ กลายเป็นว่าข้อยกเว้นหลักการโดยเปิดเผยนั้นถูกท้าทายโดยทนายประเวศหนึ่งครั้ง และหลักการดังกล่าวถูกทำให้หายไปในรัฐธรรมนูญฉบับถัดมา ในขณะที่มาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้นก็ยังดำรงอยู่และถูกนำมาใช้กับการพิจารณาในคดี 112 อีกหลายคดี อาทิเช่น คดีจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาซึ่งแชร์พระราชประวัติ รัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าว BBC[1]


ตลกร้าย การพิจารณาโดยลับ ถูกนำมาใช้กับทนายประเวศในฐานะจำเลยมาตรา 112

เมื่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยถูกปิดกั้น ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ นั่นย่อมทำให้ถูกตั้งคำถามจากประชาชนถึงความไม่ชอบมาพากล มาตรา 112 ที่ดูเป็นแดนสนธยาตั้งแต่สิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกลดทอน การปล่อยตัวชั่วคราวที่ถูกปฏิเสธบ่อยครั้ง ข้อความซึ่งไม่เคยถูกเปิดเผยว่าจำเลยถูกกล่าวหาด้วยถ้อยคำลักษณะใด คำพิพากษาส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุว่าข้อความนั้นเป็นการ "ดูหมิ่น" "หมิ่นประมาท" หรือ"แสดงความอาฆาตมาดร้าย" เมื่อมีการพิจารณาคดีลับเกิดขึ้นอีกก็ย่อมที่จะสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

โดยเฉพาะกรณีทนายประเวศซึ่งได้แถลงการณ์ไม่รับกระบวนการพิจารณาของศาลโดยตั้งคำถามถึงความมีส่วนได้เสียของศาลซึ่งประกาศตัวว่ากระทำในนามพระปรมาภิไธยมาโดยตลอด และไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนใดๆ โดยการถอนทนายความ ไม่ให้การ ไม่ถามค้าน และไม่นำพยานใดๆเข้าสืบในฐานะจำเลย การที่ศาลมีคำสั่งพิจารณาลับในคดีทนายประเวศระหว่างการสืบพยานโจทก์วันที่ 8-10 พ.ค.61 ที่ศาลอาญา จึงทำให้ความสนธยาของคดี 112 และ การพิจารณาโดยลับ กลับมาบรรจบกันอีกครั้ง และน่าสนใจว่าท่ามกลางการพิจารณาคดีที่จำเลยไม่ได้ประกันตัว ไม่ร่วมกระบวนการพิจารณาคดีและศาลสั่งพิจารณาลับ อะไรจะเป็นหลักประกันสิทธิให้กับทนายประเวศ

 

เชิงอรรถ

[1] ดูรายละเอียด "คดี 112 กับความยุติธรรมที่ปิดลับ" http://www.tlhr2014.com/th/?p=5125

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Thai Lawyers for Human Rights 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #210 ล้อแบบนี้ไม่ขำ

Posted: 20 May 2018 07:51 AM PDT

ขอบเขตของการล้อเลียนและเรื่องตลกอยู่ตรงไหน ยกกรณีคนฝรั่งเศสไม่พอใจ 'โดนัลด์ ทรัมป์' กล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ล้อเลียนเหตุสังหารหมู่ที่ปารีส เพื่อยกเหตุผลหนุนการพกอาวุธปืน ขณะเดียวกันคนหนุนรัฐบาลทรัมป์ก็ไม่พอใจที่นักแสดงตลกหญิงชื่อดังเปรียบเทียบบทบาทของ Sarah Huckabee Sanders โฆษกหญิงทำเนียบขาวกับสโมกกี้อายส์ที่ใบหน้าของเธอ

ทั้งหมดนี้นำมาสู่การชวนตั้งคำถามทั้งเรื่องขอบเขตความตลก เสรีภาพในการแสดงออก และการล้อเลียนในฐานะเครื่องมือตอบโต้ของผู้ด้อยอำนาจ โดยติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทยกับ คำ ผกา และประภาภูมิ เอี่ยมสม

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มองทหาร-ตำรวจตระเวนเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง ในฐานะปฏิบัติการจิตวิทยา

Posted: 20 May 2018 07:44 AM PDT

"กรณีที่นักศึกษาอ้างว่าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่นั้น ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการกฎหมาย ถ้านักศึกษาทำผิด ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการเข้าไปติดตามนักศึกษา เพียงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามปกติธรรมดา ไม่ได้นำอาวุธยุทโธปกรณ์หรือรถถังเข้าไป"

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชูป้ายประท้วงต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปคุกคามที่บ้านและมหาวิทยาลัย (11 เม.ย. 2561)

นอกจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้คสช. กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนและยุติการสืบทอดอำนาจ หรือที่ถูกสื่อมวลชนเรียกว่า "คนอยากเลือกตั้ง" จะถูกดำเนินคดีจำนวนถึง 106 คน แล้ว หากตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ยังมีรายงานกรณีประชาชนผู้เคยเข้าร่วมการชุมนุมหรือนักศึกษาที่แสดงออกทางการเมือง ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วย ทั้งทหารและตำรวจ เข้าติดตามที่บ้านหรือมหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ โดยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายคนตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ดูบางส่วนในรายงาน ปฏิบัติการเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง เพิ่มอุณหภูมิแล้งร้อนให้ประเทศไทย)

แม้นายทหารผู้เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะชี้แจงบางเหตุการณ์ไว้ว่าเป็นเพียง "การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติธรรมดา" แต่คำถามที่น่าไถ่ถามต่อ คือการเดินทางไปที่บ้านหรือมหาวิทยาลัยเพื่อติดตามผู้แสดงออกทางการเมืองนั้น เป็น "การปฏิบัติหน้าที่" อะไรของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ? เราจะเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ ในช่วงก่อนการชุมนุมรำลึก 4 ปี การรัฐประหารที่กำลังจะมาถึงได้อย่างไรบ้าง?

รายงานชิ้นนี้ทดลองทำความเข้าใจปฏิบัติการของทหารหรือตำรวจในการติดตามผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ผ่านแว่นของการดำเนินการ "ปฏิบัติการจิตวิทยา" ซึ่งเป็นความรู้และปฏิบัติการทางการทหารรูปแบบหนึ่ง พร้อมกับเชื่อมโยงปัญหาการใช้ปฏิบัติการเหล่านี้เข้ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทำความรู้จัก "ปฏิบัติการจิตวิทยา" (ปจว.)

ปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ "ปจว." (Psychological Operations – PSYOP) หรือบางทีก็ถูกเรียกสลับไปมากับคำว่า "สงครามจิตวิทยา" (Psychological Warfare) เป็นส่วนหนึ่งของวิชาและความรู้ในหลักสูตรทางการทหาร มีที่มาและถูกพัฒนาขึ้นให้เป็นระบบสำหรับทหารโดยกองทัพของสหรัฐอเมริกา

เอกสารการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ระบุความหมายของปฏิบัติการจิตวิทยาว่าหมายถึงการสงครามจิตวิทยา และกิจกรรมทางจิตวิทยาอื่นๆ ที่ได้วางแผนไว้แล้ว โดยมุ่งที่จะให้มีอิทธิพลต่อความคิดเห็น อารมณ์ ท่าที ทัศนคติ และพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายเดียวกัน ในหนทางที่จะให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของชาติ

พื้นฐานของการใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาทางทหาร คือการเห็นว่าในการทำสงครามหรือต่อสู้ระหว่างกำลังสองฝ่าย มาตรการสำคัญที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกำลังและอาวุธเท่านั้น พลังทางจิตวิทยายังเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่ง  เอกสารของโรงเรียนนายร้อยฯ ดังกล่าวได้ยกตัวอย่างเวลาปลากัดจะกัดกัน สีของมันจะเข้มข้น ครีบหางแผ่ และเกล็ดพอง หรือเวลาวัวชนกัน มักจะกระทืบพื้น นักมวยจะชกกันต้องมีการไหว้ครู หรือทำท่าจดจ้อง ย่างสามขุม เหตุผลของกิริยาเหล่านี้ ก็เพื่อข่มขวัญ หรือทำลายอำนาจจิตของฝ่ายตรงข้าม ให้เกิดความหวั่นไหว ลังเล หรือตกใจ และลดกำลังใจในการสู้รบลง

วัตถุประสงค์ของการดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยาที่สำคัญที่สุด คือเพื่อให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายเป็นกลาง ให้มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจของฝ่ายตน  นอกจากนั้นอาจมีวัตถุประสงค์ย่อยอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพทางขวัญ ทั้งฝ่ายศัตรู ฝ่ายเรา, เพื่อสามารถลดประสิทธิภาพทางการรบของฝ่ายศัตรูลงไปได้ หรือยุยงให้เอาใจออกห่างทหารฝ่ายศัตรู เป็นต้น


ภาพเจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการจิตวิทยา พูดผ่านเครื่องขยายเสียงกับประชาชน
บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมเปิดเพลงคืนความสุข ขณะยังมีกระแส
ต่อต้านการรัฐประหาร  วันที่ 8 มิ.ย. 2557 (ภาพจาก ARM WORAWIT)

ในจุลสารความมั่นคงศึกษา (มิ.ย. 2553) ซึ่งมีสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพศึกษาคนหนึ่งเป็นบรรณาธิการ ระบุถึงหลักการสำคัญของปฏิบัติการจิตวิทยา คือการเข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม อาจดำเนินการด้วยการข่มขู่ (intimidating) การทำให้เสียขวัญ (demoralizing) การทำให้ไม่สามารถมองเห็นความเป็นจริง (mystifying) การชี้นำในทางที่ผิด (misleading) และการสร้างความประหลาดใจ (surprising)  ปฏิบัติการนี้จึงมีความแตกต่างจากการประชาสัมพันธ์ ที่เน้นการนำเสนอและสร้างความเข้าใจให้ผู้รับสารเพียงอย่างเดียว ขณะที่ปฏิบัติการจิตวิทยามีบทบาทในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจหลีกเลี่ยงแนวทางปฏิบัติการที่ฝ่ายเราได้กำหนดไว้ และให้ความร่วมมือด้วย

รูปแบบการปฏิบัติการจิตวิทยาในสงคราม อาทิเช่น การยุยงด้วยการใช้สื่อประเภทต่างๆ ทำให้ทหารชั้นผู้น้อยของฝ่ายตรงข้ามไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาของเขา, การทำให้เกิดการเดินขบวนของประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลของตนเอง หรือการสร้างความหวาดกลัวด้วยการใช้ใบปลิวหรือสื่อต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้ข้าศึกยอมแพ้โดยไม่ต้องทำการรบ นอกจากนั้นการใช้โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ยังเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งของปฏิบัติการทางจิตวิทยาด้วย


ภาพเจ้าหน้าที่กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ร้องเพลงและทำกิจกรรมร้องเพลง
บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังการรัฐประหาร วันที่ 11 มิ.ย. 2557
(ภาพจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)

ภายในกองทัพไทยเองก็มีการใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือบทบาทของกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน.ปจว.) ซึ่งสังกัดอยู่ภายใต้กองทัพบก และตั้งหน่วยประจำอยู่ที่ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี

ช่วงหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ใหม่ๆ กองพันนี้มีบทบาทในการเข้าไปเป็นกลไกปฏิบัติการหนึ่งในการระงับการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร อาทิ การเข้าไปช่วยประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กองทัพ โดยมุ่งชี้แจงต่อประชาชนที่อยู่รอบๆ บริเวณการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร, การจัดวงดนตรีทหารเข้าไปช่วยประชาสัมพันธ์เรื่อง "การคืนความสุข", การจัดชุดปฏิบัติการจิตวิทยาออกไป "พบปะ" ประชาชนหรือส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งการเข้าไปฝึกระเบียบวินัยให้นักเรียนในโรงเรียน และการจัดรายงานวิทยุเพื่อความมั่นคงต่างๆ  (ดูในรายงานโดยโพสต์ทูเดย์ "พ.ท.ชัยภัทร หริกุล เปิดหลังม่าน"มหกรรมคืนความสุขให้ประชาชน"")

นอกจากนั้น งานทางด้านปฏิบัติการจิตวิทยายังถูกแทรกอยู่ในหน่วยต่างๆ ของกองทัพ อาทิเช่น ในหน่วยที่เกี่ยวกับกิจการพลเรือน ทั้งในกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองทัพทั้งสามเหล่าทัพ หรือภายในโครงสร้างกองบัญชาการกองทัพไทย ยังได้มีการจัดตั้งสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง อยู่ภายใต้สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ทำหน้าที่ด้านการศึกษาอบรมและวิจัยเกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารและปฏิบัติการจิตวิทยาอีกด้วย


การบุกเยี่ยมบ้าน–แสดงตัวสอดส่อง ในฐานะปฏิบัติการจิตวิทยา

แม้ปรากฏการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเข้าไปติดตามกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ทั้งที่บ้านและมหาวิทยาลัยตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมา รวมไปถึงกรณีที่ทหารเข้าติดตามบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร จะไม่ได้มีการระบุต่อสาธารณะว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจิตวิทยาโดยตรง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายกรณี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการไป "หาข่าว""ขอข้อมูล" หรือ "พูดคุยทำความเข้าใจ" ดังที่เจ้าหน้าที่มักกล่าวอ้างเท่านั้น หากกลับมีลักษณะของการไปกดดัน ข่มขู่ หรือข่มขวัญให้เกิดความหวาดกลัวอย่างชัดเจน

รูปแบบที่สะท้อนการข่มขู่กดดันดังกล่าว จนพิจารณาได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจิตวิทยา อาทิเช่น การมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปที่บ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งทหารและตำรวจ เพื่อติดตามบุคคลเพียงคนเดียว (หลังรัฐประหารใหม่ๆ มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า 30-40 นาย บุกไปที่บ้านของแกนนำคนเสื้อแดงในหลายจังหวัด)

ลักษณะการแสดงกำลังนั้น นับเป็นลักษณะของปฏิบัติการจิตวิทยาแบบหนึ่ง กล่าวสำหรับกองทัพโดยทั่วไป ปฏิบัติการอย่างการสวนสนาม การซ้อมรบโดยเปิดเผย หรือการแสดงแสนยานุภาพในลักษณะต่างๆ มีความสำคัญทางจิตวิทยาในแง่เป็นการแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นถึงพละกำลังหรือแสนยานุภาพที่เหนือกว่า และป้องปรามฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้กระทำการใดๆ ที่ฝ่ายตนไม่ต้องการ การนำกำลังเจ้าหน้าที่ 6-7 นาย ไปพบคนอยากเลือกตั้งเพียงคนเดียว จึงดูจะเข้าข่ายลักษณะการกระทำนี้


ภาพเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปพบ "อมรัตน์" หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง
ที่บ้าน วันที่ 27 เม.ย. 2561

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ ยังเกิดขึ้นในรูปแบบของการเดินทางไปพบโดยไม่ได้มีการนัดหมายใดๆ ล่วงหน้า ทั้งที่ผู้ถูกติดตามหลายคน เจ้าหน้าที่ก็มีช่องทางติดต่ออยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดลักษณะเป็นการจู่โจมของเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ถูกไปพบไม่ได้ตั้งตัว เกิดความตกใจหรือเสียขวัญในการเดินทางมาของเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้นัดหมาย

นอกจากนั้น ในหลายกรณีเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มุ่งจะพบตัวบุคคลที่ติดตามให้ได้ เป็นแต่เพียงการแสดงตัวให้เห็นหรือให้รับรู้ว่ากำลังมีการติดตามหรือจับตาอยู่ โดยไม่ต้องเข้าไปพูดคุยหรือพบกับเจ้าตัวโดยตรง  บางกรณีที่มีการใส่เครื่องแบบเพื่อแสดงตัว ยังเป็นการแสดงให้คนในชุมชนรอบๆ บ้านได้พบเห็นอีกด้วย

อาทิเช่น กรณีของเนติวิทย์และธนวัฒน์ สองนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประสบเหตุการณ์ที่มีชายขับรถยนต์สีดำปิดทึบ คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มาสอบถามหาที่พักจากเพื่อนของทั้งสองคนในมหาวิทยาลัยตอน 22.00 น. โดยในช่วงหัวค่ำก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ถามถึงที่พักของเนติวิทย์ด้วยแล้ว

หรือในกรณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินทางไปที่ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าหน้าที่เดินทางไปโดยไม่ได้มีการนัดหมายกับใครล่วงหน้า และไม่ระบุแน่ชัดว่าต้องการพบใคร แต่ถามหาหัวหน้าภาควิชา เมื่อเธอไม่อยู่ จึงพยายามไปสอบถามว่าจะมีนักศึกษาไปร่วมงานวันที่ 22 พ.ค. หรือไม่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ก็มีช่องทางติดต่ออาจารย์ของภาควิชาไว้อยู่แล้วก่อนหน้านั้น

ในกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกดำเนินคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ก็ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปหาที่บ้านซึ่งอยู่อีกจังหวัดหนึ่งถึงสองครั้งในเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่รู้ว่านักศึกษารายนั้นได้ไปศึกษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่เจ้าหน้าที่เลือกจะมาแสดงตัวที่บ้านอีกจังหวัดหนึ่งซ้ำๆ เพื่อสอบถามข้อมูลสั้นๆ จากญาติของนักศึกษารายนั้น พร้อมกับอ้างถึงคำสั่งของ "นาย" ให้มาติดตาม


โพสต์เรื่องราวของณัฏฐา มหัทธนา หรือ "โบว์" หนึ่งในผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561

นอกจากนั้น ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นหลายกรณียังมีลักษณะมุ่งต่อบุคคลแวดล้อม เจ้าหน้าที่มักจะเข้าไปพูดคุยหรือแสดงตัวกับคนแวดล้อม เช่น ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือผู้นำในชุมชน โดยไม่ได้เข้าไปพูดคุยกับบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง ปฏิบัติการลักษณะนี้นำไปสู่การเกิดแรงกดดันจากบุคคลรอบตัวต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ครอบครัวห้ามปรามนักศึกษา หรือทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นที่จับตาของชุมชนที่ตนสังกัด

กรณีการละเมิดสิทธิโดยการคุกคามญาติพี่น้องนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ แล้ว (ดูเรื่องนี้เพิ่มเติมในรายงาน) จนถึงปัจจุบัน นักศึกษาหรือนักกิจกรรมที่ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ ก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบครอบครัวที่บ้านอยู่เป็นระยะ อาทิเช่น ชลธิชา แจ้งเร็ว หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางมาพบมารดาของเธอที่บ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครอบครัวเคยเกิดความเครียดและวิตกกังวล จากภาวะการคุกคามความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (ดูเรื่องเล่าบางส่วนของเธอ)

ส่วนกรณีการคุกคามบุคคลแวดล้อมของคนอยากเลือกตั้งในช่วงเดือนที่ผ่านมา อาทิเช่น กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยาที่เคยไปร่วมชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง นอกจากถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลไปพบที่บ้าน เจ้าหน้าที่ยังไปพบผู้ใหญ่บ้าน เพื่อขอให้มาคุยกับที่บ้านของนักศึกษา ให้หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย  หรือกรณีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไปชูป้าย "ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)" ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูลส่วนตัวและเข้าพูดคุยกับครอบครัวที่บ้านด้วย รวมทั้งกรณีของเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตำรวจนอกเครื่องแบบได้เดินทางไปที่บ้าน เมื่อได้พบภรรยา ก็ได้แจ้งขอพูดคุยเรื่องการเมือง ภรรยาจึงแจ้งให้ไปพบที่มหาวิทยาลัย พร้อมกับให้เบอร์โทรศัพท์ไป แต่ก็ไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปพบเดชรัตน์ที่มหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

ตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนลักษณะการดำเนินการในลักษณะปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างชัดเจน คือกรณีของศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ 2 นาย เข้าไปติดตามยังห้องพักที่อยู่ตามบัตรประชาชน พร้อมเข้าสอบถามเพื่อนของศรีไพรถึงข้อมูลส่วนตัว ฝากห้ามไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง ทหารยังถ่ายรูปห้องพัก และพยายามขอเบอร์โทรศัพท์และถ่ายรูปเพื่อนรายนั้น นอกจากนั้น ในช่วงเย็นยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6-7 นาย เดินทางมาที่ห้องซ้ำอีกด้วย แม้จะไม่เจอเธอเลยก็ตาม

"ศรีไพร กล่าวว่าปกติหากเจ้าหน้าที่จะพบกับตนจะโทรตามเพื่อให้ไปพบเอง แต่ครั้งนี้มาถึงห้อง พร้อมนอกเครื่องแบบด้วย ตนไม่รู้ว่าเขามาทำไม ก่อนวันแรงงาน ทั้งตำรวจและทหารก็เรียกตนไปพบที่โรงพัก เขาก็มีเบอร์โทรติดต่อ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาที่บ้าน และตำรวจก็มาจำนวนมาก จึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมากันขนาดนี้ด้วย" (ดูในรายงานข่าว 'ทหาร-ตร.' เข้าคุยคนงานรังสิตถึงห้องพัก บอกไม่อยากให้ร่วม 'คนอยากเลือกตั้ง')

ทำไมเจ้าหน้าที่จึงไม่ติดต่อนัดหมายมาหากต้องการพบ และทำไมต้องนำกำลังจำนวนมากเข้ามาติดตามผู้หญิงในกลุ่มแรงงานเพียงคนเดียวซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่ได้พบตัว  หากคิดภายใต้การดำเนินพูดคุย "ทำความเข้าใจ" ตามที่ทหารมักกล่าวอ้าง อาจจะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ชัดเจนเลย แต่หากพิจารณาภายใต้การดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยาแล้ว น่าจะช่วยทำให้ "เข้าใจ" การกระทำของเจ้าหน้าที่ได้ชัดเจนขึ้น


ภาพเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไปที่บ้านของครอบครัว "จตุพล"
หนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 11 เม.ย. 2561

ปฏิบัติการจิตวิทยาเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นในรูปแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐรุกล้ำเข้าไปถึงพื้นที่ส่วนบุคคลของพลเมือง อย่างที่บ้าน ห้องพัก ที่ทำงาน หรือการเข้าไปแสดงออกในลักษณะการขอข้อมูลส่วนบุคคลจากมหาวิทยาลัยหรือจากญาติ (ทั้งที่ข้อมูลหลายอย่างเจ้าหน้าที่ก็ดูเหมือนจะทราบดีอยู่แล้ว) ก็นับได้ว่าเป็นการสอดส่องเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคล ทำให้ผู้ถูกติดตามรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย-ความไม่มั่นคงในชีวิต

รวมถึงการเข้าถ่ายรูปภาพในลักษณะต่างๆ ทั้งตัวบุคคล ญาติ หรือบ้าน-ที่พัก ก็แสดงถึงการกำลังจับตาสอดส่อง และล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว กระทั่งเนื้อตัวร่างกายของพลเมืองเองอีกด้วย

นอกเหนือจากการบุกเยี่ยมบ้าน ตลอดเดือนที่ผ่านมา ทาง คสช. และกองทัพ ยังให้ข่าวในลักษณะข่มขู่-ป้องปรามต่อผู้ร่วมกิจกรรมชุมนุมหรือคิดจะเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น หัวหน้าคสช.เตือนเรื่องการชุมนุมจะทำให้ไม่สงบ และจะยิ่งไม่ได้เลือกตั้ง, ผบ.ทบ.ระบุเรื่องการเคลื่อนขบวนการชุมนุมจะผิดกฎหมาย ดำเนินคดีแกนนำ, เลขาฯ สมช. กล่าวอ้างเรื่องการให้ย้อนดูความไม่สงบเรียบร้อยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จึงไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลาย, รองผบ.ตร.ให้ความเห็นว่าการชุมนุมระวังตกเป็นเครื่องมือของบุคคลที่ 3 เข้ามาแอบแฝง เป็นต้น

การชุมนุมโดยสงบนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศซึ่งไทยเป็นภาคี การเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย การออกมาป้องปรามโดยพร้อมเพรียงกันเหล่านั้น ดูจะมีลักษณะของการข่มขวัญเพื่อไม่ให้มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งอาจถูกดำเนินคดี หรือบิดผันข้อมูลในลักษณะว่าจะเกิดความไม่สงบต่างๆ ขึ้น

การดำเนินคดี ปฏิบัติการคุกคามของเจ้าหน้าที่ และการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายทหาร โดยรวมแล้ว จึงไม่ได้ส่งผลเพียงต่อบุคคลที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ยังถูกมุ่งทำให้มีอิทธิพลทางจิตวิทยาต่อประชาชนทั่วไปที่ได้รับทราบข่าวสาร ซึ่งแม้จะเห็นด้วยกับการเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้ง แต่เมื่อเห็นถึงการถูกคุกคาม การถูกดำเนินคดี ก็มีแนวโน้มจะทำให้พลเมืองเหล่านั้นไม่กล้าออกไปร่วมชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ในทางสาธารณะอีกด้วย


ปฏิบัติการจิตวิทยา กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

จะเห็นได้พื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของการดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยา คือการแบ่ง "ฝ่ายเรา" ออกจาก "ฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรู" ปฏิบัติการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ "ฝ่ายเรา" มีความเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม ทั้งในแง่ของการลดทอนประสิทธิภาพ/ขวัญกำลังใจของฝ่ายตรงข้าม และสร้างเสริมประสิทธิภาพ/ขวัญกำลังใจของฝ่ายตนเอง เพื่อให้เอาชนะในทางการรบในที่สุด

หลักการพื้นฐานนี้อาจดูไม่ผิดแปลกอะไร เมื่อคิดถึงการนำมาใช้ในการสงคราม หรือในการต่อสู้กับอริราชศัตรู แต่คำถามตัวใหญ่ๆ คือเป็นสิ่งสมควรหรือไม่ที่กองทัพจะนำปฏิบัติการจิตวิทยามาใช้กับพลเมืองภายในประเทศของตนเอง ทั้งยังเป็นพลเมืองที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหรือกองกำลังติดอาวุธใดๆ เป็นเพียงแต่ผู้แสดงออกทางการเมืองโดยสงบสันติ ผู้เรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย? และเป็นสิ่งสมควรหรือไม่ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะคิดถึงพลเมือง ในฐานะ "ฝ่ายตรงข้าม" ที่ต้องต่อสู้เอาชนะเช่นเดียวกับในการรบ?

ในเอกสารการเรียนของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าข้างต้นเอง ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยา ว่าถ้าเป็นบุคคลในชาติเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน ต้องระมัดระวังอย่าใช้คำอย่างการปฏิบัติการจิตวิทยาหรือสงครามจิตวิทยาเป็นอันขาด แม้ไม่ได้ระบุเหตุผลให้ชัดเจน แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าสำหรับตำราทหารเอง ก็ดูเหมือนจะตระหนักว่าการใช้ปฏิบัติการจิตวิทยามีความไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้กับบุคคลในชาติเดียวกัน


ภาพเจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์
ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 ปฏิบัติงานที่โรงเรียนปราสาทเบงวิทยา
จังหวัดสุรินทร์  วันที่ 5 ก.พ. 2559 (ภาพจากเว็บไซต์โรงเรียน )

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการเข้าคุกคามความเป็นส่วนตัว การพยายามเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและไม่ทราบแน่ชัดว่านำข้อมูลส่วนบุคคลไปทำอะไร การเดินทางเข้าไปในบ้านหรือพื้นที่ส่วนตัว การพยายามห้ามปรามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ล้วนแต่เป็นการละเมิดต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของปัจเจกบุคคล ตั้งแต่สิทธิในด้านความมั่นคงปลอดภัยของพลเมือง สิทธิที่จะไม่ถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร รวมทั้งสิทธิในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ

สิทธิหลายด้านเหล่านี้ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกบัญญัติไว้เป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วย ได้แก่ สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว การละเมิดหรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์จะกระทำมิได้ (มาตรา 32)  เสรีภาพในเคหสถาน การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมจะกระทำมิได้ (มาตรา 33) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (มาตรา 34) เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ (มาตรา 44)

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐข้างต้น จึงเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งตัวร่างก็ถูกผลักดันมาโดยคสช. เอง ก่อให้เกิดสภาวะที่สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติไร้ความหมายใดๆ ราวกับไม่มีรัฐธรรมนูญอยู่ในความเป็นจริง

อีกทั้ง แม้การเข้าไปติดตามประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ถึงที่บ้านหรือที่มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่รัฐจะ "ไม่ได้นำอาวุธยุทโธปกรณ์หรือรถถังเข้าไป" แต่หากมองผ่านแว่นของปฏิบัติการจิตวิทยาดังกล่าวแล้ว "การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติธรรมดา" ของเจ้าหน้าที่กลับเป็นนำปฏิบัติการที่โดยปกติแล้วควรใช้ใน "การรบ" และ "การทำสงคราม" เท่านั้น เข้าไปเป็น "อาวุธ" ในการดำเนินการกับพลเมืองในประเทศของตนเองถึงอาณาบริเวณส่วนตัวของทุกๆ คน ในตลอดสี่ปีที่ผ่านมา…

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Thai Lawyers For Human Rights 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุระเบิดหลายจุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

Posted: 20 May 2018 07:19 AM PDT

20 พ.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อเวลา 19.00 น. มีรายงานเกิดเหตุระเบิดในหลายพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จุดเกิดเหตุระเบิดส่วนมากเป็นตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่างๆ โดยเกิดระเบิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน
 
ที่ จ.ปัตตานี เกิดระเบิดขึ้นภายในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี จุดที่ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย จุดที่ 2.หน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จุดที่ 3.หน้าธนาคารกรุงไทย จุดที่ 4.หน้าธนาคารออมสิน จุดที่ 5 หน้าธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และนอกเขตเมือง เกิดเหตุระเบิดที่หน้าธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย อ.สายบุรี ด้วย
 
ส่วนที่ จ.ยะลา เกิดเหตุระเบิดหน้าธนาคารกรุงไทย สาขา อ.กาบัง และ อ.รามัน 
 
จ.นราธิวาส เกิดเหตุระเบิดหน้าธนาคารออมสิน สาขา อ.ระแงะ 
 
นอกจากนี้ บางพื้นที่ยังพบวัตถุต้องสงสัยอีกหลายจุด ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘Realframe’ ความจริงของภาพถ่ายในทัศนะประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

Posted: 20 May 2018 05:55 AM PDT

 

จากซ้ายไปขวา ปฏิภัทร จันทร์ทอง, ยศธร ไตรยศ, ธิติ มีแต้ม

'Realframe' (เรียลเฟรม) คือกลุ่มช่างภาพที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน เกิดจากการพบปะพูดคุยกันของสมาชิกในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ Shutter-J เว็บไซต์รวมงานถ่ายภาพเชิงสารคดี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน ได้แก่ ปฏิภัทร จันทร์ทอง, ยศธร ไตรยศ, ธิติ มีแต้ม, สมศักดิ์ เนตรทอง, วิศรุต แสนคำ, ชลิต สภาภักดิ์, วัฒย์จนพล ศรีชุมพวง และวิชาญ เจริญเกียรติภากุล แต่ละคนมีทั้งที่ทำงานประจำเป็นช่างภาพข่าว ช่างภาพอิสระ นักข่าว หรือทำงานอิสระแตกต่างกันไป แต่พวกเขามีจุดร่วมเหมือนกันคือการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นรูปถ่ายที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

 "ตอนนั้นพวกเราชอบถ่ายรูปภาพที่เล่าเรื่องราว ประเด็นเชิงสังคม การเมือง ซึ่งสมัยนั้นไม่มีพื้นที่อะไรให้ปล่อยของ เราก็ไปเจอกันในเว็บบอร์ด ได้คุยกัน เริ่มสนิท แล้วเราก็รู้สึกว่าพื้นที่ในบอร์ดมันมีข้อจำกัดอยู่ประมาณหนึ่ง หลายคนในเว็บบอร์ดไม่ได้อินการเมือง แล้วเขาก็เครียด ไม่ชอบเวลาเราลงภาพ เลยลองทำให้มันจริงจังไปเลย แล้วดูว่ามันจะไปถึงไหน ไม่ได้มีกรอบอะไรมาก ทำกันสนุกๆ จำได้ว่าจุดเริ่มต้นคือเรานั่งอยู่ในร้านส้มตำ นั่งคุยกัน 4-5 คน แล้วเราก็คิดว่ามาทำกลุ่มกัน ประกวดชื่อกันที่ร้านนั้น ได้มาเป็น Realframe ทำโลโก้ เปิดเว็บไซต์ด้วยงบประมาณ 10,000 บาท แทบจะผ่อนกันแล้วตอนนั้น ใช้งบส่วนตัวกัน บางคนก็ยังเรียนไม่ได้มีตังเยอะ" ยศธร และ ปฏิภัทร สองสมาชิกเล่าย้อนให้ฟัง

พวกเขาเห็นว่าในสมัยนั้นภาพถ่ายในข่าวยังมีคุณภาพไม่สูงนัก และพวกเขาก็อาจจะทำได้เช่นกันหรือทำได้ดีกว่า และมีข้อดีที่ได้เล่าเรื่องในประเด็นที่เป็นอิสระได้มากกว่า โดยไม่มีกรอบ ไม่มีสำนักข่าวใดมาควบคุม เล่าผ่านตัวละคร หรือวิธีการใดๆ ตามที่แต่ละคนถนัด อาจเล่าถึงประเด็น มุมมอง หรือผู้คนที่ไม่มีใครสนใจ แต่พวกเขาเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ประเด็นในเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ได้

ประชาไทชวนคุยกับ ปฏิภัทร จันทร์ทอง, ยศธร ไตรยศ และธิติ มีแต้ม สามสมาชิก Realframe เล่าประสบการณ์และทัศนคติของพวกเขาที่มีต่อการถ่ายภาพ ระหว่างความเป็นข่าวและความเป็นศิลปะ ที่แนวคิดศิลปะไทยยังยึดกับอุดมการณ์กระแสหลัก ไม่เกิดการถกเถียงมากพอ ไปจนถึงเส้นบางๆ ระหว่างเสรีภาพและการละเมิดสิทธิในภาพถ่าย และการละเมิดลิขสิทธิ์ที่สื่อไทยยังไม่ให้ความสำคัญ

ธิติ มีแต้ม

งานที่ทำให้ Realframe ต่างจากงานประจำหรืองานอื่นที่ทำยังไงบ้าง?

ธิติ: รู้สึกไม่ต่าง อาจเพราะเราเป็นนักข่าวด้วย เราเลยเลือกได้ว่าจะโฟกัสประเด็นไหน อย่างตอนที่ทำข่าวสดออนไลน์ เขาก็ยอมรับแบบที่เรานำเสนอไปประมาณหนึ่ง แต่มันก็จะมีประเด็นที่เรารู้ว่าเราไปไม่ถึง ทำไมถึง ไม่สามารถออกมาเป็นภาพที่มีพลังได้ โครงการก็จะพับเก็บไปโดยปริยายโดยไม่ต้องรอให้ต้นสังกัดมาเซ็นเซอร์

อิสระในการทำงานเรารู้สึกว่าไม่ต่างเท่าไหร่ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำงานอย่างมีอิสระกับตัวเองจริงๆ แต่มันเป็นความคิดในเชิงการต่อสู้ทางการเมือง ในช่วงเหตุการณ์แบบนี้มันคือการเลือกมายืนฝั่งต่อต้าน รูปถ่ายมันก็ต่อต้านอำนาจ ถ้าพูดแบบเห็นแก่ตัวหน่อยก็คือเรามีเครื่องมือเป็นทั้งข่าวสดออนไลน์ Realframe และตอนนี้มี 101 ด้วย (The101.world) เราอยากจะพูดอเจนด้านี้ ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในสิ่งที่เราอยากจะพูด แต่เราก็รู้ว่าพื้นที่ที่เราใช้อยู่แต่ละที่มันมีเพดานประมาณไหน

ถ้าวันหนึ่ง Realframe มันเริ่มเข้าไปอยู่ในพรมแดนของการ propaganda ทางการเมืองเราก็คงถอย แต่ที่ผ่านมามันมีเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนจำนวนมาก propaganda โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว แต่ Realframe มองว่าความเป็นจริงเป็นยังไง มากกว่าจะไปเซ็ตให้แกนนำนกหวีดดูเท่ หรือแม้แต่ นปช. เองเราก็ไม่ทำ มันก็เลยจะมีภาพที่ชาวบ้านนอนโยคะอยู่ในเต๊นท์ ตอนชุมนุมอะไรแบบนี้

แต่สิ่งที่ควรจะทำแล้วไม่ได้ทำคือ เอามูลค่าจากที่มันถูกเผยแพร่ไปเยอะๆ ในข่าวสดมาทำให้ Realframe โตไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก

ชาวบ้านในที่ชุมนุม นปช. โดย Realframe

ปฏิภัทร: ข้อดีของการทำงานประจำเป็นช่างภาพข่าวคือเราได้เข้าไปในพื้นที่เฉพาะบางอย่าง หรือทำให้การทำงานง่ายขึ้น แล้วเราก็อาศัยประโยชน์ตรงนั้นในการทำ Realframe ไปด้วย เช่น การเข้าทำเนียบ หรือเวลาไปทำข่าวในสถานการณ์ที่ฉุกละหุก เช่น ตอนนั้นเราไปถ่ายภาพนักศึกษาทำกิจกรรมแล้วถูกทหารจับ เรายังอ้างได้ว่าเป็นช่างภาพข่าวจากบางกอกโพสต์ทำให้ไม่เกิดปัญหาอะไร ทำงานราบรื่น แต่ถ้าเป็นในนาม Realframe ซึ่งเขาไม่รู้จักก็อาจจะยากกว่า แต่การทำงานประจำ พื้นที่เราก็จะถูกกรองด้วยบรรณาธิการภาพ ไปจนถึงกองบรรณาธิการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ออกไปมันก็อาจจะไม่ใช่เราเหมือนที่เราทำ Realframe สมมติมีเหตุการณ์นักศึกษาโดนจับ ถ้าถ่ายให้ออฟฟิศก็อาจจะพูดในภาพรวมมากกว่า ขณะที่ของ Realframe อาจเป็นการหยิบบางอย่างที่เราอยากพูดมาพูด

ยศธร: อาจจะบอกว่าถ้างานสื่อคือการพยายามพูดอย่างเป็นกลาง งาน Realframe คืองานที่มีอเจนด้าเรื่องหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เช่น ถ้าสื่อเรียกท่านนายกฯ ของเราคือประยุทธ์ เราเรียกว่าเป็นเผด็จการได้ เราถือว่าเรา against อะไรที่ผิดไปจากหลักการนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องระวัง ประนีประนอม กลัวว่าจะไม่เป็นกลาง

แต่บ้านเรายังไม่ให้ความสำคัญกับช่างภาพอิสระ คนที่เป็นสื่ออิสระไม่ได้ถูกเคารพจากภาครัฐ มันยังไม่เหมือนต่างประเทศที่คนเป็นสื่ออิสระก็มีสิทธิเท่าสื่อ สามารถทำหน้าที่ได้เท่ากัน แต่ของเราพอมันเป็นสถานการณ์ชุลมุนไม่รู้ใครเป็นใคร คิดในแง่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจจะโทษเขาไม่ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นงานเหตุการณ์ทางการเมืองหลักๆ ก็จะเป็นคนที่เป็นนักข่าวที่เข้าไปในสถานการณ์ได้

ดังนั้นโดยหลักการแล้วประชาชนทั่วไปก็ควรถ่ายเหตุการณ์ทางการเมืองได้โดยไม่ถูกห้าม?

ยศธร: ใช่ๆ โดยหลักมันควรเป็นแบบนั้น เพียงแต่คุณก็ต้องคำนึงเรื่องสิทธิของผู้ที่ถูกถ่ายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอาจจะต้องไปเซ็นเซอร์ตัวเองอีกทีในตอนนั้น แต่เราต้องไม่ควรถูกเซ็นเซอร์จากรัฐ เราควรมีมาตรฐานบางอย่างที่เป็นสากลที่เขาใช้กัน ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานของรัฐที่เป็นเผด็จการแบบนี้

แต่ทุกวันนี้ถ้าในฐานะช่างภาพอิสระ เราก็ดูว่าพื้นที่ไหนที่เราควรไปเล่น แล้วก็คุยกันว่าถ้าสื่อกระแสหลักเล่นกันหมดแล้ว เราก็อาจไม่มีความจำเป็นจะทำเนื้อหาซ้อนเขา เงื่อนไขของการทำแบบเขาคือ รูปเราต้องดีกว่า ใหม่กว่า สดกว่า แต่ถ้าหาอะไรแบบนั้นไม่ได้ เราก็ต้องหาประเด็นอื่นๆ จากในงานเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน

ยศธร ไตรยศ

ทัศนคติต่อรูปถ่ายของ Realframe?

ยศธร: แรกๆ รูปจะหลากหลายกว่านี้ มีเชิง traditional บ้าง ซึ่งในเชิงประเด็นอาจจะไม่ได้เล่าอะไรมากเท่าแอคชั่นที่มันดูว้าว แต่ถ้าจะมีแบบนั้นอีกก็ดี เอามาเบรคบ้าง แต่เราก็ไม่มีเวลาไปทำ และโดยธรรมชาติของเรามันอยู่กับเรื่องแนวคิดทางการเมือง ต่อให้เล่าเรื่องเชิง  traditional มันก็ยังมีประเด็นที่เป็นการเมืองซ่อนอยู่ ต่อให้ไปถ่ายเรื่องไทใหญ่ เราก็ยังพูดเรื่องคนไร้สัญชาติ ความเป็นคนชายขอบได้อยู่ดี แต่อาจจะพูดผ่านการถ่ายเกี่ยวกับงานประเพณีบางอย่าง การเล่าผ่านบางอย่างที่อาจจะเบาหน่อย แต่โดยเบื้องหลังมันมีการเมืองที่หนักแน่นในตัวเอง คนดูก็รับง่ายกว่า เช่น เราเคยพูดประเด็นเรื่องบัตรทอง แต่เล่าผ่านมุมมองของลูกที่ต้องดูแลพ่อที่ป่วย มันทำให้เรื่องนั้นเข้าถึงคนที่ไม่ได้สนใจการเมืองได้ง่ายขึ้น แต่มันเป็นเรื่องการเมืองชัดๆ เลย พอมันมีคอนเทนต์แบบนี้บ้างเราก็ได้ผู้ชมที่กว้างขึ้น และมันนำไปสู่เรื่องการผลักดันเชิงนโยบาย เชิงโครงสร้าง หรือก็คือเรื่องการเมืองนั้นแหละ

ธิติ: แล้วในพื้นที่ของข่าวรายวันซึ่งมีจำกัด เราก็ต้องพยายามเน้นเรื่องพวกนี้ เรื่องทัศนะทางสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาถ้าเราดูภาพเหตุการณ์ที่เป็นเชิงละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการออกมาต่อต้านอำนาจรัฐ มันมีช่างภาพทั่วไปที่ถ่ายภาพไว้อยู่แล้ว แม้ว่าทัศคติทางการเมืองเขาอาจจะไม่มีหรือมีแต่เป็นอีกแบบ แต่เราก็จำเป็นต้อง concentrate กับเรื่องนี้ด้วย เราเลยต้องให้พื้นที่มันมากขึ้น และเราต้องใช้มันเป็นเครื่องมือในการพูดในเชิงภาพ หรือแม้แต่ในเชิงวิชาชีพ เพื่อที่จะเอาไปยันกับข่าวอื่นๆ ที่มันมีมากมายเต็มไปหมด  

เพราะฉะนั้นมันคือการรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเลือกที่จะไปถ่ายคนที่ออกมาต้านรัฐประหารอย่างเดียว ถ้ามันมีฝ่ายอนุรักษ์นิยมเราก็ต้องไปบันทึกเหมือนกันในความหมายว่ามันคือความเป็นจริงที่มีอยู่ และมันมีอยู่อย่างทรงพลังมาก ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่จะบอกว่าความเป็นอนุรักษ์นิยมมันกำลังกระทำกับคนอีกกลุ่มอยู่

ยศธร: เวลาถ่ายคอนเทนต์ที่เป็นเชิงอนุรักษ์นิยม เราก็จะถ่ายมันออกมาในเชิงตั้งคำถามด้วย แต่เราก็ไม่ได้ไปชี้ว่าเขาผิดชัดเจน

ธิติ: และต่อให้ลงไปถ่ายในมวลชนที่อนุรักษ์นิยมจ๋าก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีปัญหากับคน เราปกติกับเขามากเลย แต่เราทำให้เห็นว่าเวลาม็อบอนุรักษ์นิยมถูก propaganda ให้เป็นม็อบคนดี แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เวลาคุณตะโกนด่าผู้นำทางการเมืองสักคนเส้นเลือดคุณปูด แล้วคนก็ชูป้าย ไอ้เหี้ยทักษิณ อะไรแบบนี้ ซึ่งมันหมายความว่าถ้าเราเห็นมวลชนฝั่งแดงมีความ aggressive แล้วสังคมพยายาม propaganda ว่าม็อบอีกฝั่งเป็นม็อบที่ดี ที่เรียบร้อย มันก็ไม่จริง เพราะเราเห็นแล้วว่าเขาก็ aggressive  เหมือนกัน แต่เราไม่ได้จี้ไปที่ความเป็นปัจเจกของเขา

มันต้องเลิกพูดกันได้แล้วว่าข่าวคือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว ข่าวคือความคิดทางการเมืองด้วย ข่าวหมาแมวก็คือความคิดทางการเมืองประเภทหนึ่ง เพราะมันคือการที่คุณเลือกที่จะนำเสนอและไม่นำเสนออะไรในพื้นที่ที่มีจำกัด ทันทีที่คุณจัดสรรพื้นที่ข่าวในหน้าหนึ่ง การให้พื้นที่มากน้อยนั้นกับข้อเท็จจริงใด มันคือความคิดทางการเมืองบวกการตลาด หรือแม้แต่ตัวนักข่าวเองจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามทุกครั้งที่พิมพ์นิ้วลงไปเพื่อที่จะรายงาน ภาษาที่คุณใช้ หรือข้อเท็จจริงที่คุณใช้เพื่อที่จะรายงานมันก็คือความคิดทางการเมือง เช่น ข่าวตำรวจแถลงจำยาบ้า การที่คุณเลือกจะนำเสนอชื่อของตำรวจชั้นนายพลขึ้นก่อนแล้วชั้นประทวนเอาไว้ล่างๆ หรืออาจจะไม่ใส่เลย นี่ก็เป็นความคิดทางการเมือง เพราะคุณต้องการจะดีลกับอำนาจหรือสร้างความสัมพันธ์บางอย่าง

ชุมนุม กปปส. โดย Realframe

มองเรื่องความเป็นศิลปะในภาพถ่ายของ Realframe ยังไงบ้าง?

ยศธร: โดยส่วนตัวเราไม่อาร์ตเลย ดูงานศิลปะไม่เป็นด้วยซ้ำ เราอาจจะดูเป็นแค่ว่ามันสวยดี โดยหลักๆแล้วเรามองว่ามันแบ่งเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ กับศิลปะเพื่อสังคม ศิลปะเพื่อศิลปะเขาก็จะแคร์เรื่องสุนทรียะล้วนๆ ไม่ได้มองเรื่องคอนเทนต์ เป็นงานที่อิงกับตัวเองสูง กับศิลปะเพื่อสังคมที่แคร์เรื่องคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับสังคม ซึ่งเราเข้าใจงานแบบนี้มากกว่า  

เราดูที่คอนเทนต์มากกว่าที่จะมองแค่ภาพสวยอย่างเดียว ชอบรูปที่มันมีอิมแพค มันสื่อสารได้ ซึ่งมันอาจจะมีส่วนผสมของศิลปะอยู่บ้างในธรรมชาติของมัน แต่เราคงไปไม่ถึงขั้น fine art หรืองานคอนเซปชวล อาจจะเรามองว่าเราอยู่ไกลจากโลกของศิลปินก็ได้

บ้านเรามันมีความพยายามแบ่งพรมแดนระหว่างงานศิลปะกับงานข่าว และคอนเทนต์ของเขาก็ไม่ได้แตะเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เพราะงั้นงานเชิง documetary, photo journalist แทบจะไม่ได้ถูกไปอยู่ในแกลลอรี ในนิทรรศการ และอีกอย่างคือมันไม่ขาย ไม่รู้จะเอาไปขายใคร งานเราเลยไม่ตอบโจทย์ในแง่การค้าเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็เลยจะเป็นงานแคมเปญ งานรณรงค์ แต่เราไม่ได้จะจำกัดตัวเอง เพียงแต่ถ้าพูดแบบน้อยใจหน่อยก็ต้องบอกว่าถูกเขาจำกัดไปแล้ว

ปฏิภัทร: เราก็คล้ายๆกัน แต่นอกจากตัวคอนเทนต์ ถ้ามันสวยด้วย คนมันก็จะดูง่าย ดูแล้วรู้สึก

ธิติ: จริงๆ เราไม่ได้คิดเรื่องศิลปะเลย เรามองเรื่องคอนเทนต์อย่างเดียว แต่เวลาเราดูงานของต่างประเทศ ต้องยอมรับว่ากล้องมันเป็นของเล่นของโลกตะวันตกมานานกว่า และเขาคงเลิกเถียงกันไปแล้วมั้งว่าภาพข่าวมันเป็นคอนเทนต์หรือศิลปะ เพราะบางทีก็ถ่ายสวยมาก ดูอาร์ตมาก ทั้งที่มันคือภาพข่าว เราว่าสังคมไทยพยายามจะสร้างขอบเขตว่าศิลปะคือ Pure Art มากที่สุดก็คือสื่อผสม installation art

มันก็มีงานของศิลปินไทยที่พยายามจะพูดเรื่องหนักเชิงการเมือง เชิงวิพากษ์แบบนี้ให้มันเป็นศิลปะเหมือนกัน เช่น หฤษฏ์ ศรีขาว, ธาดา เฮงทรัพย์ เขาก็พยายามหารูปแบบ วิธีการ ที่จะทำให้คอนเทนต์หนักๆ มันเข้าไปอยู่ในโลกศิลปะได้ แต่ศิลปินบางคนก็มองฟอร์มเป็นคอนเทนต์ไปโดยปริยาย ในขณะที่เราเห็นแต่ฟอร์มแต่ไม่เห็นคอนเทนต์ แต่ช่างภาพที่เรารู้สึกชื่นชมคือช่างภาพที่เรามองเห็นทั้งคอนเทนต์และศิลปะไปพร้อมกัน แม้ว่าตัวเขาจะไม่ได้บอกว่าตัวเขาเป็นศิลปินหรือนักข่าว อย่าง Damir Sagolj ช่างภาพรอยเตอร์

สังคมศิลปะของบ้านเรามันยังไม่สะเด็ดน้ำ ไม่ว่าจะแวดวงวรรณกรรมหรืองานศิลปะหรืออะไรก็ตาม มันยังไม่ได้ถกเถียงกันมากพอที่จะยอมรับความหลากหลายจริงๆ สังคมไทยทำได้แต่ศิลปะบางประเภท บางประเภททำไปก็โดนจับ ติดคุก อย่างที่เราคุยกับเพื่อนที่เยอรมัน เขาไม่ได้ให้ความสำคัญเลยว่านี่เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือนี่เรื่อง Pure Art ทุกคนเท่ากัน เพราะความเป็นมนุษย์คุณเท่ากัน เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะถกเถียงมันไม่ใช่เรื่องว่าอะไรน่าสนใจกว่าอะไร เพราะมันหลากหลายมาก

สังคมไทยยังไม่เคยเถียงกันว่าตกลงเรามี Pure Art ได้จริงๆ หรือยัง ตัวอย่างเช่นวัดร่องขุน งานแบบนั้นเป็น Pure Art ไหม ถ้าสมมติคนสร้างกำลังพยายาม Propaganda พุทธศาสนาในขณะที่สังคมไทยไม่ได้มีแต่คนพุทธ เราสามารถบอกได้ไหมว่านั้นเป็น Pure Art แล้วศิลปินที่สามารถทำงานที่มันมีเสรีภาพในตัวเองได้จริงๆ บ้านเรามันมีรึยังล่ะ

พื้นที่ส่วนใหญ่ในการประกวดงานศิลปะ หรือแม้กระทั้งในแกลลอรี ยังเป็นพื้นที่ที่ให้รางวัลในการส่งเสริมคุณค่า อุดมการณ์กระแสหลักของสังคมไทย และพื้นที่ตรงนั้นมันไม่เคยเป็นของคนทำงานอย่างเราอยู่แล้ว  

ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ถ้ามีคนอยากเข้าเป็นสมาชิก Realframe?

ยศธร: ไม่เอา คือไม่ได้ใจร้าย แต่มันคือความเป็นเพื่อนกันมานาน มันต้องผ่านกระบวนการอะไรกันเยอะแยะกว่าเราจะคุยกันได้

ปฏิภัทร: ทั้งทะเลาะกัน ด่ากัน น้อยใจกัน จนรู้ว่าพูดกันได้ คอมเมนต์กันได้ ก่อนหน้านี้มันมีวิธีการว่าคุณทำมาก่อน แล้วมาโหวตกันว่าผ่านไหม มีคนที่เป็นเหมือนบก. มาชี้อีกทีจะเอาไม่เอา ดูว่ามันควรปรับตรงไหนไหม ใครคิดว่าต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง มีอะไรเซ้นสิทีฟ ก็มาคุยกันก่อนจะลง หลังๆ มันก็เป็นการเชื่อมือกัน ทุกคนเข้าใจตรงกัน ทุกคนเป็นบรรณาธิการในเรื่องของตัวเองในระดับหนึ่ง ทุกคนเป็นแอดมินเพจ ทุกอย่างมันรันง่ายขึ้นไม่ต้องรอใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมันเท่ากัน จนเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถเอาคนที่เราไม่รู้จักมานั่งทำกระบวนการคุยแลกเปลี่ยนแบบนี้ได้ในทันที คุยกันในไอเดียเท่ากัน

ยศธร: แล้วเราไม่รู้ว่าเราให้อะไรกับเขาได้ คือถ้าคุณบอกว่าคุณอยากทำงานแบบนี้ คุณทำไปเลย คุณไม่ต้องอยู่ Realframe ก็ได้ เราซับพอร์ทแล้วเราก็เชียร์ให้ทุกคนลุกขึ้นมาเล่าเรื่องใกล้ตัว เล่าเรื่องที่ตัวเองสนใจ โดยไม่ต้องอยู่ ถ้าคุณอยากแลกเปลี่ยน เรายินดีให้คำปรึกษา เอางานมาให้เราดูได้ ส่งเมล์มาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาเจอตัว อย่างต้นปีที่ผ่านมาเราทำเวิร์คช็อปฟรีเพื่อแชร์ไอเดียในการทำงานของเรา  เลยไม่รับนักศึกษาฝึกงาน ถ้าเขาอยากเรียนจริง บอกให้อาจารย์ชวนเราไปบรรยายได้ (หัวเราะ) เพราะหลายคนในนี้ก็เคยไปบรรยาย เราก็ยินดี

กรณีขอให้ลบรูปโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในงานคอนเสิร์ตดนตรีพังก์ 'จะ4ปีแล้วนะ'?

Realframe: เพิ่งเคยมีกรณีแบบนี้ครั้งแรก เขาขอมาในนามส่วนตัว เราดูท่าทีที่เขาขอด้วย แม้มันจะเป็นตัวอักษร แต่เราตีความว่ามันไม่มีท่าทีคุกคาม ข่มขู่ เรามาคุยกันในกลุ่มแล้วเห็นว่า โอเคเราถอยได้ แต่มันไม่ใช่ถอยเต็มตัว มันต้องมีอะไรที่หยัดยืนอยู่บ้าง เราก็เขียนไปประมาณว่าเราลบออกให้แล้ว และเราเคารพเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็คาดหวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ควรจะเคารพในการทำงานของเราด้วย แล้วก็กรณีแบบนี้คราวหน้าก็คงจะต้องถกกันให้มากกว่าเดิม ไม่ใช่มีมาตรฐานไปเลยว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่คงแล้วแต่กรณี และคงไม่ยอมง่ายแบบนี้ คงต้องมีเหตุผลในการลบที่เซ้นสิทีฟกว่านี้ ไม่ใช่แค่เพราะคุณเขิน

บางทีก็ยากที่หลักการเราคือเรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ แต่เราก็มีหลักการเรื่องสิทธิด้วย ซึ่งบางอย่างมันมีความขัดแย้งกันในตัว พอคุณอ้างเรื่องความเป็นส่วนตัว ก็ยอมรับว่าเรามีความลังเล แต่ดีที่เรื่องพวกนี้ถูกหยิบมาพูดถึง อย่างน้อยมันเกิดการถกเถียง แล้วเราไม่ได้มองว่าเราเป็นสื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเราเป็นสื่อเราอาจปฏิเสธที่จะลบรูปเขา

ปกติเวลาถ่ายเราก็จะเคารพคนที่เราถ่ายอยู่แล้ว หน้างานจริงๆ มันไม่ใช่การเดินเข้าไปขออนุญาต แต่เราสามารถตีความได้จากภาษากายของเขา เช่น เราถ่ายห่างจากคุณเมตรหนึ่ง ถ้าคุณไม่ยอมให้ถ่ายเราคงถ่ายไม่ได้ ถ้าคุณถามเราก็จะบอกว่าเราเอาไปทำอะไร ซึ่งเราก็อาจจะบอกแบบคลุมเครือว่าเอาไปลงเพจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกรูปที่เราถ่ายมันจะถูกนำมาใช้ เราคงไม่ได้เดินไปขออนุญาตทุกคน แต่เราก็พูดคุยกับเขา เขารู้ว่าเราเป็นช่างภาพ เราถ่ายรูปเขา

หรือบางทีก็เป็นเรื่องเงื่อนไขการทำงาน เหตุการณ์มันเกิดแล้วคุณต้องรีบเข้าไปถ่ายก่อน หรือคุณต้องรีบถ่ายรีบส่งเพื่อที่จะปิดเล่มให้ทันเดดไลน์ มันก็อาจจะไม่มีเวลาไปทำความรู้จัก ไปอธิบายเหมือนงานที่มีเวลา

เห็นยังไงบ้างเรื่องการนำรูปของ Realframe ไปใช้?

Realframe: มีเรื่องที่มติชนสุดสัปดาห์ดึงรูปเราไปใช้โดยที่ไม่ได้ขออนุญาต ก็ว่ากันเรื่องของลิขสิทธิ์ ซึ่งสื่อบ้านเราไม่ให้ความสนใจ แต่สุดท้ายเขาก็ขอโทษ ก็เคลียร์กันได้ แต่มันน่าเห็นใจตรงที่ถ้าเป็นช่างภาพ แล้วคุณไม่สนใจจะเห็นเครดิตเขาเลย เขาก็คงไม่ได้เติบโต

เรามองว่าเราเป็นเหมือนแอคทิวิสต์ที่ทำงานเรื่องรูปเพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นงานแคมเปญ งานที่ไม่ได้เอาไปขายหากำไร เรายินดีให้เอาไปใช้ฟรี แค่ขออนุญาต ใส่เครดิตให้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเรื่องการค้าเราว่ามันต้องคุยกัน ถ้าคุณจ่ายได้ก็จ่ายให้พวกเราหน่อย และที่มันดาร์กคือเวลาเราไปบอกว่าเขาใช้ภาพแล้วไม่จ่ายเงิน เราจะดูหน้าเงินทันที ประเทศนี้ตลกตรงนี้ คุณต้องเป็นคนดี มีน้ำใจ เราเป็นองค์กรอยากแสวงหาผลกำไรแต่ทุกวันนี้เราหาไม่ได้ (หัวเราะ)

สรุปก็คือสื่อเก่ายังคิดว่าตัวเองทำงานแบบอุดมการณ์ แต่จริงๆ แล้วคุณกำลังทำธุรกิจ เวลาบอกว่าให้ระลึกถึง อิศรา อมันตกุล นึกถึง ศรีบูรพา แต่จริงๆ แล้วคุณอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มันไม่เม้กเซ้นส์

 

ติดตามผลงาน Realframe ได้ที่ Facebook, Website

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเรียนสหรัฐฯ ถูกจับขณะประท้วงเรียกร้อง กม. ควบคุมอาวุธปืน

Posted: 20 May 2018 05:40 AM PDT

"จับไปหนึ่งคน จับไปสี่คน หรือจับไปเป็นพันคนก็ไม่สามารถหยุดพวกเราได้" คือคำประกาศของนักเรียนรายหนึ่งที่ถูกตำรวจสหรัฐฯ จับขณะกำลังประท้วงหน้าสำนักงานประธานสภาฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการลงมติร่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืน หลังจากที่เกิดเหตุน่าเศร้าอีกครั้งจากการกราดยิงในโรงเรียนของรัฐเท็กซัสจนมีคนตายไป 10 คน

 
 
20 พ.ค. 2561 นักเรียนไฮสคูลของรัฐแมรีแลนด์ 4 ราย ถูกจับกุมโดยตำรวจเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมาตามเวลาของสหรัฐฯ หลังจากที่พวกเขาไปประท้วงหน้าสำนักงานของพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการผ่านร่างกฎหมายอาวุธปืนที่เข้มงวดขึ้น 
 
การประท้วงของนักเรียนไฮสคูลเหล่าเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากกรณีกราดยิงครั้งล่าสุดที่โรงเรียนซานตาเฟ รัฐเท็กซัส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย แดเนียล เกลิลโล สมาชิกกลุ่มนักเรียนจากเทศมณฑลมอนต์โกเมอรี่เพื่อการควบคุมอาวุธปืนกล่าวว่า "พวกเราไม่อยากจะอยู่ในประเทศที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนพร้อมกับกลัวว่าอาจจะถูกส่องด้วยลำกล้องของอาวุธปืนไรเฟิล"
 
เกลิลโลและเพื่อนร่วมประท้วงเรียกร้องการควบคุมอาวุธปืนที่พื้นหน้าห้องสำนักงานของพอล ไรอัน ในช่วง 4 โมงครึ่งของวันที่ 18 พ.ค. พร้อมกับป้ายข้อความที่ระบุว่า "ขอให้มีการลงมติ" ในเรื่องกฎหมายอาวุธปืน แต่ก็มีนักเรียน 4 รายถูกจับกุมด้วยข้อหา "ก่อฝูงชน กีดขวาง เป็นอุปสรรคการสัญจร" จากการประท้วงนี้
 
สาเหตุที่พวกเขาไปประท้วงหน้าสำนักงานของไรอันเป็นเพราะว่าไรอันปฏิเสธไม่ให้สภาพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ที่จะทำให้ระบบการซื้อขายและการเป็นเจ้าของอาวุธปืนเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ทั้งพรรคเดโมแครตและนักกิจกรรมรณรงค์เรื่องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนกล่าวประณามไรอันในเรื่องนี้
 
ในที่ประท้วงหน้าสำนักงานของไรอัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเตือนนักเรียนที่ประท้วงอยู่วาจะถูกจับกุมถ้าหากไม่ออกไปจากพื้นที่ แต่หนึ่งในผู้ประท้วงก็โต้ตอบกลับไปว่า "พวกเราไม่ใส่ใจถ้าจะถูกจับ" และเมื่อตำรวจทำการจับกุมนักเรียน 4 คน ก็มีนักเรียนคนหนึ่งที่ประกาศว่า "จับไปหนึ่งคน จับไปสี่คน หรือจับไปเป็นพันคนก็ไม่สามารถหยุดพวกเราได้จนกว่าจะไม่มีเด็กต้องตายในโรงเรียนเพราะปล่อยให้ปืนไปอยู่ในมือของคนผิดอย่างไม่จำเป็น" 
 
กลุ่มผู้รอดชีวิตจากการกราดยิงในโรงเรียนมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ส่งข้อความแสดงการชื่นชมผู้ประท้วงกลุ่มล่าสุด พวกเขาเองเคยรวมตัวกันประท้วงในนาม #NeverAgain และ March for Out Lives ที่เป็นการเคลื่อนไหวทั่วประเทศมาก่อน
 
เดวิด ฮอกก์ หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส กล่าวชื่นชมผู้ประท้วงพร้อมๆ กับวิจารณ์รัฐบาลว่าจับกุมนักเรียนเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการประท้วงอย่างสันติ
 
เหตุกราดยิงครั้งล่าสุดในโรงเรียนซานตาเฟ รัฐเท็กซัส มีผู้ต้องสงสัยก่อเหตุชื่อ ดิมิทริออส พาเกิร์ตซิส อายุ 17 ปี โดยอาศัยอาวุธปืนของพ่อเขา นหกลุ่มผู้เสียชีวิตมีทั้งครูสอนแทน 2 ราย และนักเรียนแลกเปลี่ยนจากปากีสถานอีก 1 รายชื่อ ซาบีกา ชีค ผู้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนของกระทรวงการต่างประเทสสหรัฐฯ และมีกำหนดการจะได้กลับประเทศในเดือนหน้า
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Hours After Texas School Shooting, Students Detained for Peacefully Protesting Outside Paul Ryan's Office, Common Dreams, 19-05-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารคุมตัวผู้ให้เช่าเครื่องเสียงของ 'คนอยากเลือกตั้ง' เข้า มทบ.11

Posted: 20 May 2018 05:28 AM PDT

ทนายอานนท์ เผย ทหารคุมตัว 'จี๊ด' ผู้ให้บริการเครื่องเสียงของคนอยากเลือกตั้ง เข้า มทบ.11 เบื้องต้นปล่อยภรรยาออกมาแล้ว ทีมทนายความกำลังประสานครอบครัวเขา พร้อมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ

อุทัย แถวโพธิ หรือ 'จี๊ด' ผู้ให้บริการเครื่องเสียง
 
20 พ.ค.2561 อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไท ว่า อุทัย แถวโพธิ หรือ 'จี๊ด' ผู้ให้บริการเครื่องเสียง ซึ่งรับให้บริการกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วยนั้น เขาถูกทหารควบคุมตัวจากบ้านพักพร้อมภรรยาในเวลาประมาณ 16.00-16.30 น. ไปที่ มบท.11 จากนั้นภรรยาได้รับการปล่อยตัวมาเพียงคนเดียว จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเขาไปด้วยสาเหตุใด 
 
เบื้องต้น อานนท์ คาดว่าเป็นเพราะจี๊ดเป็นผู้ให้เช่าเครื่องเสียงกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในการชุมนุมวันที่ 22 พ.ค. ที่จะถึงนี้ จี๊ดมีอาชีพให้เช่าเครื่องเสียงให้กับคนโดยทั่วไป ไม่ใช่ให้เฉพาะกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ขณะนี้มีการประสานไปกับองค์กรระหว่างประเทศแล้ว และทีมทนายความกำลังประสานครอบครัวเขาอยู่
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึง

Posted: 20 May 2018 02:46 AM PDT



มีความจริงอยู่เพียงส่วนหนึ่ง

มีความลวงมากมายบนป้ายชวนเชื่อ

เหนือตึกตระหง่านสูงเสียดฟ้าที่แสงไฟไม่เคยหลับใหล

ใครสักคนบัญชาการอยู่เหนือแสงสว่าง

ไม่มีใบหน้าและนามเรียกขาน

ผ่านความมืดอันสงัด

ดวงไฟกระพริบเป็นระยะ ระยะ

เพียงจุดเล็กๆเท่านั้น

ส่องประกายผ่านรูที่ประทับบนเรือนร่าง

ถ้อยแถลงที่ไม่เคยเป็นความจริง

การพิสูจน์ยังเดินทางไปไม่ถึง

โศกนาฏกรรมซ้ำย้ำในทรงจำ

เปิดฉายในโรงละครแห่งความคิดไม่มีวันหยุด

แด่ความตายนับร้อย

แด่ยุติธรรมที่ตายตกไปด้วย

บทกวีไม่สามารถทุเลาเศร้านี้ได้

ความจริงที่พยายามถูกทำให้เงียบนั่นต่างหาก

ความจริงที่ผู้ถามหากลายเป็นอาชญากรนั่นต่างหาก

ที่จะทุเลาความโศกเศร้านั้นได้

ระยะทางทอดยาวสู่อนาคต

ความปรองดองที่ปีศาจเพรียกหา

ความสงบที่กดทับเสียงอึกทึกด้วยปลายปืน

ไม่มีวันนิรันดร์

มันรอคอยการมาถึงของจุดเดือด

ปะทุเป็นเสียงกู่ร้องหายุติธรรม

พิสูจน์ทราบเถิด

ให้ความจริงได้ทำงานเสียบ้าง

ให้ค้อนแห่งยุติธรรม

ได้ตอกประทับบนความถูกต้อง

และปลดปล่อยฆาตกร

ให้เดินไปตามยถากรรม

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แมงมุมยักษ์ในป่าทึบท้องที่ อำเภอใจ

Posted: 20 May 2018 02:33 AM PDT



ยึดอำนาจชาตินี้ 4 ปีแล้ว     ยังอยู่แถวไหนนี่พี่น้องเอ้ย

ปฏิรูปจุดธูปถามเจ้าทรามเชย     พี่น้องเอยเอานกหวีดปรี้ดจนพัง

ขอเวลาไม่นานผลาญความทุกข์     คืนความสุขให้หรือคือความหวัง

ตาอินกับตานาด่ากันจัง     ตาอยู่พากระหังกระสือฮือเข้ากิน


สร้างระบบสืบทอดอำนาจชาติของตน     สี่ปีปี้ป่น ผลหนี้สิน

งบประมาณล้านแสน ทั่วแดนดิน     สี่ปีสิ้นแสนล้าน ๆ เบิกบานใคร

ไทยยั่งยืนกลืนน้ำลายมองป้ายเขา     ผู้รับเหมาประชารัฐจัดมาให้

รัฐธรรมนูญคูณยุทธศาสตร์มาดหมายไกล     น่าเหนื่อยใจไล่แห่เพิ่มแผลลึก


ง้างปากช้างหวังปล่อยเอาอ้อยออก     ไม่เหมือนปอกกล้วยเข้าปากยากสะอึก

แมงมุมยักษ์ทอใยเต็มไพรพฤกษ์     ยากจะนึกทางออกบอกปวงชน

เสียงคนอยากเลือกตั้งดังมาอย่าลิดรอน     ราษฎรแม้อ่อนแอแต่ฝึกฝน

ครบ 4 ปีมี 1 ครั้งดั่งสากล     สรุปผลจนรวยด้วยตนเอง


แล้วทีนี้จะทำอย่างไรให้ข้องขัด......โรดแมปจัดเลือกตั้งเขายังเบ่ง

เลื่อนมาหลายครั้งแล้วแนวนักเลง     แถมด้วยเพลงแต่งใหม่มีให้ฟัง

เสียงคนอยากเลือกตั้งดังคึกคัก     แมงมุมยักษ์ถักใยขวางอย่างบ้าคลั่ง

ทั้งแวมไพร์ซอมบี้ผีฮือกระสือกระหัง     รวมพลังแตร็กคูล่ามาขวางเอย
                                         
                                             

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้การปฏิรูปอาจก้าวหน้า หาก คสช. ไม่คิดสืบทอดอำนาจ

Posted: 20 May 2018 01:07 AM PDT

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมิน 4 ปี รัฐบาล คสช. ระบุการปฏิรูปด้านต่างๆ อาจมีความก้าวหน้ามากขึ้น หาก คสช. ไม่คิดสืบทอดอำนาจและหาทุนจัดตั้งพรรคการเมือง ใช้อำนาจหรือผลประโยชน์ในการดูดกลุ่มการเมืองให้สนับสนุนตัวเองหลังการเลือกตั้ง

 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจและผลงานด้านต่างๆ ในช่วง 4 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช. และอนาคต คสช.ว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การปิดกั้นเสรีภาพและการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การทำงานต่างๆ ของรัฐบาลไม่บรรลุเป้าหมายการกระจายอำนาจ กระจายโอกาส การเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจะช่วยให้การแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ผลงานต่างๆ และการปฏิรูปด้านต่างๆ อาจมีความก้าวหน้ามากขึ้นหาก คสช. ไม่คิดสืบทอดอำนาจและหาทุนจัดตั้งพรรคการเมืองหรือใช้อำนาจหรือผลประโยชน์ในการดูดกลุ่มการเมืองให้สนับสนุนตัวเองหลังการเลือกตั้ง การไม่สืบทอดอำนาจจะทำให้รัฐบาล คสช. เป็นอิสระจากการเสพติดอำนาจและผลประโยชน์และสามารถใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหาให้บ้านเมืองและการปฏิรูปมากขึ้น สามารถเอาเวลาและเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปนั่งพิจารณาว่าควรเร่งรัดการปฏิรูปอะไรบ้างด้วยการกำหนดวาระและกรอบเวลาให้ชัดเจน เปลี่ยนการปฏิรูปในเอกสารมาเป็นการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ การดำเนินการไม่ควรล่วงเลยเกินกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าตามที่สัญญาเอาไว้และส่งมอบภารกิจให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต่อไป 
 
การไม่สืบทอดอำนาจจะช่วยลดความขัดแย้งก่อนและหลังเลือกตั้งจากการเผชิญหน้าของแนวร่วมประชาธิปไตยและแนวร่วม คสช. ควรปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นกลไกในการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง บ้านเมืองจะได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย กลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งเป็นการลดความเสี่ยงของประเทศในการเดินเข้าสู่วิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่จากการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. และคัดค้านรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ จะได้หลีกเลี่ยงกับดักทางการเมืองอันเป็นต้นทุนและอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนและภาคการลงทุน  
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่ายุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศจะสามารถดำเนินการภายใต้ความต้องการของประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ รัฐบาล คสช. ควรเปิดกว้างให้มีสิทธิเสรีภาพ กระบวนการสานเสวนา และ วางตัวเป็นกลางและเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการเป็นคู่ความขัดแย้ง เลิกกดทับโดยใช้อำนาจเพื่อยุติการวิพากษ์วิจารณ์เพราะไม่ได้ช่วยทำให้ความขัดแย้งลดลงแต่อย่างใด 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแม้นว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่อัตราการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนตลอดสี่ปีที่ผ่านมาและมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 1% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 3.9% ในปี 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้มากกว่า 4% โครงสร้างการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้มแข็งมากขึ้นทำให้การกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมายังประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมีข้อจำกัดและอุปสรรค ทำให้เกิดสภาวะความเป็นไม่ธรรมโดยทั่วไป ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นโดยภาพรวมแต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังคงเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญ เพิ่มอำนาจรัฐ ลดทอนอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจถดถอยลง และการบริหารงานแบบขาดการมีส่วนร่วมและการสั่งการจากบนลงล่างตลอดระยะสี่ปีที่ผ่านมา จะไม่สามารถแก้ไขปัญหารวยกระจุก จนกระจายได้  
 
ส่วนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวมากขึ้นของปริมาณการค้าโลก ด้านฐานะทางการคลังรัฐบาลได้ก่อหนี้มากขึ้นทุกปี ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นในปี 2558 ทำขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ปี 2559 3.9 แสนล้านบาท ปี 2560 ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท ปี 2561 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท รัฐบาลไม่สามารถกลับคืนสู่งบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังในปี 2560 และในปี 2458-2561 รัฐบาล คสช. ยังทำขาดดุลงบประมาณโดยรวมสูงถึง 16.4 ล้านล้านบาท หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โครงการลงทุนต่างๆไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้าหมาย มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤติฐานะทางการคลังในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าและปริมาณหนี้สาธารณะสะสมคงค้างอาจแตะระดับ 7 ล้านล้านบาทได้ในอนาคต
 
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่พร้อมอิทธิพลของกลุ่มทุนข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจึงควรเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยโดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ การลงทุนภาครัฐฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาแต่การทุจริตรั่วไหลจากการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐยังไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญแต่อย่างใด ผลบวกของการลงทุนภาครัฐต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้น การบริโภคภาคเอกชนเติบโตแบบกระจุกตัวสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ต่ำ ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 77.5% ในปี 2560 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% ที่หนี้ครัวเรือนแตะระดับสูงสุด รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.97 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจสี่ปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 4.93แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่องแม้นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัวหรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้ 
 
ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่ พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้นมีอำนาจซ้อนทับกับกฎหมายอื่น เช่น การจัดทำผังเมือง อำนาจจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม ในกฎหมายยังเขียนด้วยว่าคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตหรือให้ความเห็นชอบแทนหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายได้ จึงต้องใช้อำนาจพิเศษนี้อย่างระมัดระวังและยึดหลักธรรมาภิบาลในการตัดสินใจ 
 
ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่องฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจและในปีที่สี่ภาคส่งออกยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอันเป็นผลจากปัจจัยภายนอกเป็นด้านหลัก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำแต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% มาโดยตลอดแต่มีสัญญาณว่าอัตราการว่างงานอาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไปโดยอัตราการว่างงานล่าสุดในไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3% มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 500,000 คนและมีการลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การว่างงานเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างการผลิตโดยสถานประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรเตรียมการรับมือผลกระทบของเทคโนโลยีต่อตลาดแรงงาน 
 
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางกิจการและการไหลกลับของแรงงานต่างด้าว ขณะที่รัฐบาลสามารถจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวได้และแก้ปัญหาการใช้แรงงานทาสได้ดีระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามรายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องในช่วงสามปีแรกของ คสช และเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลา 3 ปีและเมื่อปรับเพิ่มในปีนี้ก็ปรับเพียงเล็กน้อยทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ  
 
ด้านการปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงินโดยเฉพาะในส่วนของกองทุนประกันสังคมมีความคืบหน้าดีพอใช้ ส่วนในระบบสาธารณสุขนั้นยังไม่มีข้อสรุปหรือความก้าวหน้าชัดเจนนัก การปฏิรูประบบสวัสดิการสาธารณสุขต้องอยู่ฐานคิดของการทำให้สวัสดิการสาธารณสุขเป็นสิทธิของประชาชนไม่ใช่เป็นเรื่องการสงเคราะห์โดยรัฐ   
  
ประเมินผลงานด้านการยุติความขัดแย้งรุนแรงและลดความเสี่ยง ขจัดเงื่อนไขเฉพาะหน้าอันนำไปสู่ความรุนแรงและการนองเลือดได้ระดับหนึ่งด้วยวิธีกดทับปัญหาเอาไว้ ซึ่งอาจไม่เกิดสันติสุขอย่างแท้จริงในระยะยาวและไม่สามารถสร้างความปรองดองได้อย่างแท้จริง เนื่องจากการปรองดองอย่างแท้จริงต้องเกิดจากกระบวนการปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้าง ใช้กระบวนการประชาธิปไตย แสวงหาข้อเท็จจริง สถาปนานิติรัฐเอาผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ คืนความเป็นธรรมให้นักโทษทางการเมือง 
 
ประเมินผลงานด้านสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ การผ่อนคลายทางด้านสิทธิเสรีภาพยังไม่เกิดขึ้นทั้งที่ควรดำเนินการโดยด่วน ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ มีการสร้างกลไกสถาบันและกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมและไม่ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ นอกจากนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆการรับรองอนุสัญญาต่างๆขององค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิแรงงานให้ดีขึ้น
 
ประเมินผลงานทางด้านการศึกษา มียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนและกระบวนการในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวทางการศึกษาอยู่บนข้อมูลการวิจัยและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่ยังต้องเพิ่มการกระจายอำนาจทางการศึกษา ปฏิรูปครูและปฏิรูปการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น มีแผนปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาและระบบวิจัยของประเทศ 4 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่ 4 ของ คสช. ก่อนการเลือกตั้ง ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 6 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจาก Supply-side เป็น Demand-side มากขึ้นเพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษาและงบประมาณ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น    
 
ผลงานด้านความมั่นคงและระบบการป้องกันประเทศ มีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ แทนที่จะนำงบประมาณมาลงทุนวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศเองผ่านทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ควรนำงบประมาณลงทุนพัฒนาบุคลากรของกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ เพิ่มระบบทหารอาสา ลดสัดส่วนทหารเกณฑ์และทำให้คุณภาพชีวิตและผลตอบแทนของทหารเกณฑ์และกำลังพลดีขึ้น ขณะที่การก่อเหตุความไม่สงบในประเทศลดลงแต่ไม่ได้หมดไปจึงต้องลดเงื่อนไขการก่อเหตุที่กระทบความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนลดลงอย่างชัดเจนอันเป็นผลบวกต่อการค้าการลงทุนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช ไม่ได้ปฏิรูปกองทัพเลย จึงเสนอให้ปฏิรูปกองทัพให้มีสมรรถนะสูงสุดในการป้องกันประเทศโดยยึดหลักการดังนี้ กองทัพต้องยอมรับอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทหารต้องเน้นภารกิจหลัก โดยลดภารกิจที่ไม่ใช่กิจการของกองทัพ ทหารต้องเป็นทหารอาชีพและไม่แทรกแซงระบบการเมือง 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า "รัฐธรรมนูญปี 2560 อาจสร้างปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งและทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับความนิยมในตัวบุคคลมากกว่านโยบาย ระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช ไม่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ การรัฐประหารในปี 2557 เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี 2549 เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังอำนาจที่อิงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กับพลังอำนาจที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง ทำอย่างไรที่จะทำให้การแข่งขันเชิงอำนาจอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่สูญเสียหลักการประชาธิปไตยและความมั่นคงของระบบการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมสันติธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมต้องได้รับการแก้ไข สร้างโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ลดปัญหาสองมาตรฐานในระบบยุติธรรมไทย" 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรผู้บริโภคจับมือภาคธุรกิจยุติการใช้สารพาราควอต

Posted: 20 May 2018 12:42 AM PDT

ประชุมองค์กรผู้บริโภคจับมือภาคธุรกิจยุติการใช้สารพาราควอต ส่งสัญญาณ "เราหยุดแล้ว ใยท่านจึงไม่หยุด" ชวนจับตามติคณะกรรมการวัตถุอันตราย 23 พ.ค. นี้ "ถ้ารัฐจะเห็นแก่ผลประกอบการของนักธุรกิจข้ามชาติ มากกว่าสุขภาพของประชาชนในประเทศ ก็ให้รู้กันไป"

 
 
20 พ.ค. 2561 เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดประชุม "ความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต" เห็นร่วมกันต้องยุติการใช้สารกำจัดวัชพืชในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งพาราควอต เพื่อความปลอดภัยของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค พร้อมเสนอนายก-กรรมการวัตถุอันตรายประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอต
 
ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทางวิชาการ คอบช. สรุปได้ว่า สารเคมีกำจัดวัชพืช "พาราควอต" มีอันตรายสูงทั้งต่อตัวผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติที่จะมีการจำกัดและควบคุมการใช้สารนี้อย่างปลอดภัย ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นร่วมกันที่จะยุติการใช้สารพาราควอตในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่ง คอบช. จะได้ทำหนังสือไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อให้พิจารณาประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อไป
 
"นักวิชาการสายเกษตรของบ้านเราชอบแนะนำการใช้สารเคมีอันตรายโดยอาศัยหลักการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติเขียว หลักการนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่จะอยู่กับสารอันตรายอย่างไรให้ปลอดภัย ทำให้ละเลยต่อผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งด้วยหลักการนี้ทำให้การยกเลิกสารอันตรายแต่ละตัวลำบากยิ่ง แต่หากเราใช้หลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) ที่เน้นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน แล้วนั้น พาราควอตและสารเคมีอันตรายอื่น ๆ ที่มีข้อมูลวิชาการสนับสนุนถึงอันตรายชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่ คงถูกยกเลิกไปนานแล้ว หวังว่าท่านนายกและคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะก้าวหน้า ใช้หลักการระวังไว้ก่อนประกอบการพิจารณายกเลิกการใช้สารพาราควอต" ผศ.ดร.ยุพดี กล่าว
 
"คอบช. ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำหนังสือไปสอบถามบริษัทน้ำตาลจำนวน 47 บริษัทเรื่องนโยบายในการผลิตน้ำตาลว่ามีการใช้พาราควอตหรือไม่ และมีนโยบายหรือมีข้อคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับกลับมาทั้งสิ้น 7 บริษัท มี 3 บริษัทคือ บริษัท มิตรผล จำกัด บริษัท เกษรตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ที่ตอบมาชัดเจนว่ามีนโยบายไม่สนับสนุนการใช้พาราควอต ขณะที่อีก 4 บริษัทตอบมาในลักษณะที่ว่ามีความพร้อมหากจะไม่ใช้พาราควอตในกระบวนการผลิตอ้อย ส่วนอีก 40 บริษัทที่เหลือ เราสามารถตีความได้ว่า 'ยังไม่มีนโยบายในการยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอตในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำตาล'" 
 
นายวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์การใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยถือว่ามีปริมาณการใช้ต่อพื้นที่การเกษตรที่มีสัดส่วนการใช้สูงเป็นอันดับ 5ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดแมลง โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้าทุกชนิดรวมทั้งพาราควอตซึ่งในแต่ละปีมีการใช้ยาฆ่าหญ้าทุกชนิดถึง 120 ล้านกิโลกรัม จำนวนการใช้มากมายขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบทั้งผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน มีทั้งผลกระทบต่อผู้ใช้จนเกิดโรคเนื้อเน่า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรโต้แย้งว่าเกิดจากการใช้อย่างผิดวิธี สวมชุดป้องกันที่ถูกต้อง แต่คงลืมว่าประเทศไทยเป็นร้อนการใส่ชุดป้องกันดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะพยายามป้องกันอย่างไรก็ตาม แต่การใช้อยู่เป็นประจำก็ไม่มีทางรอดพ้นจากการได้สัมผัสเข้าสู่ร่างกาย เนื่องเหตุที่เป็นสารพิษที่รุนแรงและไม่มียาต้านพิษ เพราะฉะนั้นผู้ได้รับสารพาราควอตจึงต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอน ถ้าไม่เชื่อผมขอจ้างในราคาที่มากกว่าทั่วไปสักท่านอนุกรรมการมาเป็นคนฉีดยาสัก 1 อาทิตย์ ซึ่งผู้ประกอบการทางเกษตรที่มีฐานะบ้างก็จะจ้างคนอื่นที่มีความจำเป็นต้องการเงินยังชีพ ก็จะยอมที่จะมารับความเสี่ยงโดยการรับจ้างฉีดยา ชีวิตการทำงานของคนเหล่านี้โดยทั่วไปจะสามารถทำงานได้แค่ 2 – 4 ปีเท่านั้น ก็จะเสียชีวิตอย่างแน่นอน สิ่งนี้คือการผลิตอาหารให้คนอื่นที่แลกด้วยชีวิตของผู้อื่น ไม่อยากให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับการตายของคนอื่นเพื่อแลกต่ออาหารให้เราทานเป็นเรื่องปกติ 
 
ผมในฐานะตัวแทนเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) ขอเรียกร้องให้ภาคธุรกิจทางอาหารและเครื่องดื่มออกมาแสดงท่าทีและนโยบายของบริษัทที่จะไม่รับผลผลิตแะวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในธุรกิจ นี่คือจุดยืนที่สำคัญในการทำ CSR ที่ทรงคุณค่าต่อสังคม และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจของท่าน และสามารถแยกแยะองค์กรของท่านออกจากธุรกิจที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงขอเรียกร้องว่านี่เป็นโอกาสที่สำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เข้าสู่งสังคมที่มีอาหารที่ปลอดภัยโดยพลังของภาคธุรกิจ และขอสื่อสารถึงภาครัฐว่าการตัดสินใจของท่านที่จะไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงทั้งหลายรวมถึงพาราควอตนี้ จะส่งผลต่ออนาคตในเรื่องความล้มเหลวของระบบหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าที่จะไม่สามารถรับภาระผู้เจ็บป่วยในอนาคตของประเทศ อันส่งผลให้ในท้ายที่สุดจักต้องมีการยกเลิกหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าต่อไป
 
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากตัวเลขการนำเข้าพาราควอต 44.5 ล้านกิโลกรัมเมื่อปี 2560 (เป็นการนำเข้ามากถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 2557) จะเห็นว่ามีการนำเข้ามากกว่าในปี 2559 กว่า 41% (31.5 ล้านกิโลกรัม) จำนวนสารเคมีที่มากขนาดนี้จะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและอาหารแค่ไหน เป็นเรื่องน่าสนใจ ดังนั้นนอกจากการยุติการใช้แล้ว เราจะร่วมกันเฝ้าระวังการตกค้างหรือปนเปื้อนของสารพาราควอตทั้งในอาหารและในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ ในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากสารพาราควอตและสารเคมีอันตรายอื่น ๆ 
 
เราคาดหวังว่าการประกาศยุติการใช้สารพาราควอตโดยเครือข่ายผู้ประกอบการในครั้งนี้จะทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจในการประชุมวันที่ 23 พ.ค. นี้ ง่ายขึ้นในการยกเลิกการใช้สารพาราควอตทั้งประเทศ "ถ้ารัฐจะเห็นแก่ผลประกอบการของนักธุรกิจข้ามชาติ มากกว่าสุขภาพของประชาชนในประเทศ ก็ให้รู้กันไป"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14-20 พ.ค. 2561

Posted: 19 May 2018 10:56 PM PDT

จ่อประกาศ! กฎหมายคุ้มครองคนทำงานที่สูง หากฝ่าฝืนโทษหนักคุก 1 ปี

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ   ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานที่ที่อันตรายจากการตกจากที่สูงวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้นายจ้าง  จัดให้มีข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยเพื่อการทำงานในที่สูงดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน รวมไปถึงการบำรุงรักษาและตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัยก่อนใช้งาน กรณีที่ลูกจ้างทำงานในที่สูงหรือที่ลาดชัน นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้าน ราวกั้นหรือรั้วกันตก เข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิตหรืออุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับการป้องกันอันตรายจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย นายจ้างต้องจัดให้มีราง ปล่อง เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมป้องกันอันตรายจากวัสดุสิ่งของกระเด็น ตลอดจนกำหนดเขตอันตรายและติดป้ายเตือน รวมทั้งจัดให้มีสิ่งปิดกั้นเพื่อป้องกันลูกจ้างได้รับอันตรายจากการตกลงไปภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ ทั้งนี้ หากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า การยกร่างกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้และคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานให้กับลูกจ้างที่ทำงานที่สูงได้อย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างนำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ที่มา: สปริงนิวส์, 20/5/2561

ก.แรงงาน แจง รัฐบาลคุ้มครองแรงงานประมง ยึดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียม

เพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี ที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานประมงและการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลการวิจัยของเครือข่ายประมงพื้นบ้านร่วมกับองค์การภาคประชาสังคมด้านแรงงาน สาระสำคัญระบุว่า 1) ขอให้ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบชั่วโมงการทำงานให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น 2) แรงงานส่วนใหญ่ถูกนายจ้างยึดเอกสารสำคัญไว้ 3) ขอให้รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมกันออกกฎหมายห้ามเรียกเก็บค่านายหน้าจากแรงงานข้ามชาติ ปรับปรุงให้มีช่องทางการสื่อสารร้องเรียนกับแรงงาน จัดตั้งศูนย์สวัสดิการฯ 4) ปัจจุบันยังมีการทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อทะเลไทย 5) ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการทรัพยากรทะเล รวมทั้งยังระบุว่าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ยังทำไม่ได้จริง

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของแรงงานในกิจการประมง ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมุ่งเน้นการตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิหน้าที่ และการดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแก่ลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้ดำเนินการ ดังนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้พยายามปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ให้แรงงานภาคประมงได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ ได้แก่ การตรวจแรงงาน หากพนักงานตรวจแรงงานพบว่ามีกำหนดเวลาพักไม่ถูกต้อง และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในทันที ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2561 เป็นต้นมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งทีมตรวจจับพิเศษทางทะเลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

สำหรับการติดตามผลการดำเนินการ ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) ใน 22 จังหวัดติดชายทะเลให้ตรวจสอบเรือประมงทุกลำ ที่แจ้งเข้า - ออก พร้อมรายงานผลการตรวจแรงงานเป็นประจำทุกวัน โดยระหว่าง 1- 18 พ.ค. 2561 พบการกระทำความผิดทั้งหมด 70 ลำ โดยเป็นกรณีกระทำผิดในเรื่องเวลาพัก จำนวน 20 ลำ ซึ่งได้ออกคำสั่งให้นายจ้างดำเนินการแก้ไขให้ปฏิบัติถูกต้องตามระยะเวลาที่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะส่งเรื่องดำเนินคดีต่อไป ส่วนปัญหาสำคัญที่พบ คือ การสื่อสารด้านภาษากับแรงงานต่างด้าว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดจ้างผู้ประสานงานด้านภาษาประจำศูนย์ (PIPO) ทุกศูนย์ จำนวน 30 ศูนย์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ โดยได้เผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน รวมถึงกรมการจัดหางานได้เปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ อาทิ โทรศัพท์สายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694 และเปิดระบบรับแจ้งปัญหาแรงงานต่างด้าว/แรงงานไทย ชื่อ  DOE Help Me ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/helpme โดยแรงงานสามารถเลือกภาษาได้ 6 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษากัมพูชา ภาษาลาว ภาษาเมียนมา และภาษาเวียดนาม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติ ในภาคประมง มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ในภาษาของแรงงานต่างด้าว พร้อมกันนี้ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในภาคประมงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ส่วนกรณีการเรียกเก็บค่านายหน้าและการยึดใบอนุญาตทำงานจากแรงงานต่างด้าวนั้น ปัจจุบันกฎหมายก็ได้กำหนดไว้แล้วว่า ห้ามเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่าย จากคนต่างด้าวทุกกรณีในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย และการยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวของแรงงานต่างด้าวไว้นั้นถือเป็นความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามจากการตรวจที่ผ่านมายังไม่พบการกระทำผิดในเรื่องดังกล่าว

"ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะยังคงดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงไปอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าวและสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน"นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 19/5/2561

เทรนเด็ก ปวส. 2 ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ฝึกประสบการณ์จริง 10 เดือน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประมาณความต้องการกำลังคน 5 ปีข้างหน้าของกระทรวงแรงงาน โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ ระหว่างปี 2558 –2568 พบว่ากลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ จะมีความต้องการแรงงานในระยะ 5 ปี จำนวนทั้งสิ้น 118,373 คน เป็นผู้จบการศึกษาระดับ ปวช./ ปวส.จำนวน 27,211 คน ที่เหลือต้องการผู้จบการศึกษาในระดับ ม.3 หรือต่ำกว่า และจบระดับปริญญาตรี,ปริญญาโท ในขณะที่ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ระดับที่ 1 (Tier 1) มีความต้องการแรงงานระยะ 5 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 339,153 คน เป็นในระดับ ปวช./ปวส. จำนวน 71,051 คน ที่เหลือต้องการผู้จบการศึกษาในระดับ ม.3 หรือต่ำกว่า และระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การพัฒนากำลังแรงงานของประเทศสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ที่มีความต้องการช่างฝีมือจำนวนมาก และ กพร.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือให้กับแรงงานไทย จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร ร่วมกันขับเคลื่อนโดยใช้แนวทางประชารัฐ ดำเนินการฝึกทักษะให้กับคนทำงาน นักเรียน นักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถตรงกับความต้องการ โดยมีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ในปี 2561 จำนวน 9,800 คน ดำเนินการแล้ว 6,831 คน (ณ 14 พฤษภาคม 2561)

นายสุรพล พลอยสุข รองอธิบดี กพร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) เป็นหน่วยงานของ กพร. ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเป็น Excellence Center ด้านยานยนต์ จึงร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ยกระดับทักษะฝีมือให้แก่นักศึกษา ปวส.ปีที่ 2 ในสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีระยะเวลาการฝึกทั้งสิ้น 162 ชั่วโมง เนื้อหาประกอบด้วย การใช้งานโปรแกรม CAD/CAM สำหรับงานกัดและงานกลึง ทักษะงานช่างอุตสาหกรรมการ  ไฟฟ้าเบื้องต้น การเชื่อม MAG สำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  Introduction (QCDS, 5S) และนิสัยอุตสาหกรรม มีวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 แห่ง ระยะเวลาการฝึกอบรมดังกล่าว มีการฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบกิจการ 10 เดือน โดยมีสถานประกอบกิจการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานถึง 15 แห่ง โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 มีนักศึกษาผ่านการอบรมจำนวน 63 คนและทุกคนมีงานทำ สำหรับในปี 2561 AHRDA มีเป้าหมายและดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วรวม 108 คน

ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน จะช่วยยกระดับฝีมือของแรงงานไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น นักศึกษามีความพร้อมเข้าสู่การทำงาน สถานประกอบกิจการได้พนักงานที่มีทักษะในการทำงานสูงและตรงกับความต้องการ สามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมให้แก่พนักงานใหม่ กรณีรับนักศึกษากลุ่มนี้เข้าทำงาน และหากทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชียได้ในที่สุด อธิบดี กพร. กล่าว

ที่มา: สปริงนิวส์, 18/5/2561

กรมการจัดหางานรับสมัครทดสอบภาษาและทักษะไปทำงานเกาหลี

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) เพื่อไปทำงานเกาหลีในกิจการ เกษตรกรรม/ปศุสัตว์ และกิจการก่อสร้าง ระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. 2561 และสามารถลงทะเบียนออนไลน์เลือกวันเวลาที่จะสมัครได้ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึง 3 มิ.ย. 2561

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 5 ใน 2 ประเภทกิจการคือกิจการเกษตรกรรม/ ปศุสัตว์ และกิจการก่อสร้าง โดยจะขึ้นบัญชีไว้ประเภทกิจการละ 1,100 คน คุณสมบัติเป็นเพศชาย หรือหญิง อายุ 18 39 ปีบริบูรณ์ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สายตาไม่บอดสี ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติกระทำผิดทางอาญาหรือเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคง เป็นบุคคลซึ่งไม่ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นบุคคลซึ่งไม่มีประวัติการถูกเนรเทศ หรือเคยถูกปฏิเสธการเข้าสาธารณรัฐเกาหลี หรือเคยกระทำผิดกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี เป็นบุคคลซึ่งไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด ไม่เคยพำนักอาศัยในสาธารณรัฐเกาหลีด้วยวีซ่า E-9 หรือ E-10 หรือ วีซ่า E-9 และ E-10 รวมกัน 5 ปี หรือมากกว่า 5 ปีขึ้นไป

หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ต้องระบุวันเดือนปีเกิดให้ครบถ้วน จำนวน 2 ใบ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ต้องชัดเจนและระบุวันเดือนปีเกิดให้ครบถ้วน จำนวน 2 ใบรูปถ่ายสีขนาด 1.5 นิ้ว ฉากด้านหลังสีขาว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน ผู้สนใจต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ ศูนย์การรับสมัคร มี 4 แห่งคือ 1. ศูนย์การรับสมัครกรุงเทพฯ อาคารเดอะฮับ รังสิต ชั้น 3 บริเวณศูนย์การค้าเซียร์รังสิต 2. ศูนย์การรับสมัครจังหวัดลำปาง หอประชุมจังหวัดลำปาง ศาลากลางจังหวัดลำปาง 3. ศูนย์การรับสมัครจังหวัดอุดรธานี ศูนย์การค้า ตึกคอมแลนด์มาร์คอุดรธานี 4. ศูนย์การรับสมัครจังหวัดนครราชสีมา ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 สมัครตั้งแต่วันที่ 1-3 มิถุนายน 2561 เวลา 09.00-16.00 น.

โดยให้คนหางานที่ประสงค์จะสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีลงทะเบียนเพื่อเลือกประเภทกิจการ ศูนย์ที่จะสมัคร และวันที่ที่จะสมัครได้ที่เว็บไซด์ toea.doe.go.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2561 เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนหางาน

นายอนุรักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจสามารถสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานการสมัครภายในวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวข้างต้น และเมื่อลงทะเบียนเลือกวัน เวลาที่จะสมัครทางเว็บไซต์แล้ว ขอให้ไปสมัครตามวัน เวลาที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อความสะดวกในการสมัคร จะได้ไม่ต้องรอนาน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 02245-9429 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: เนชั่นทีวี, 18/5/2561

รมว.แรงงาน หารือประเด็นด้านแรงงานกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในปีนี้ทางอิสราเอลจะเปิดโควต้าให้แรงงานไทย 5,000 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายเมอีร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และคณะเข้าเยี่ยมคารวะ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (17 พ.ค. 61) เวลา 10.30 น. โดยหารือประเด็นความร่วมมือให้มีการจัดการด้านการตรวจสุขภาพประจำปีและกำหนดโรคต้องห้าม/พาหะของโรคสำหรับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล การบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานไทยตามสัญญาจ้าง การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล โดยจะปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกและจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอล กลไกการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแรงงานไทย และการพัฒนาศักยภาพแรงงานก่อนเดินทางไปทำงาน โดยการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถด้านทักษะเกษตรแก่แรงงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC)

ทั้งนี้ นายเมอีร์ฯ กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่มีความตกลงโครงการ TIC ทำให้สามารถประหยัด ค่านายหน้าให้กับแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 200 ล้านนิวเชเกล และเป็นช่องทางที่ทำให้มีการคัดเลือกแรงงานไทยที่มีคุณภาพไปทำงานที่อิสราเอล

รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า "แรงงานไทยที่จะไปทำงานภาคเกษตรกรรมที่อิสราเอล จะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งในปีนี้ทางอิสราเอลจะเปิดโควต้าให้แรงงานไทย 5,000 คน โดยคัดเลือกผ่านโครงการ TIC พร้อมตรวจสุขภาพและอบรมเตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องวัฒนธรรมและข้อมูลต่างที่เป็นประโยชน์ก่อนไปทำงาน รวมทั้งมีหลักประกันสังคมให้แก่แรงงานที่ไปทำงานในอิสราเอล ส่วนปัญหายาเสพติดที่เกิดจากแรงงานไทย ที่อยู่เกินกำหนดระยะอนุญาตการทำงาน และนำยาเสพติดไปจำหน่ายแก่แรงงานไทยในอิสราเอล ทางการอิสราเอลจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ในส่วนของแรงงานไทยที่เสพยาจะมีการสุ่มตรวจ แล้วส่งแรงงานที่กระทำผิดกลับประเทศไทย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ขยายของยาเสพติดอีกต่อไป"

สถิติแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) ตั้งแต่ 27 มิถุนายน 2555 - 31 มีนาคม 2561 รวมทั้งสิ้น 29,768 คน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 17/5/2561

AIA ปรับตัวรับแข่งขันตั้งเป้าลดพนักงาน 10%

รายงานข่าวจากบริษัท เอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากทั้งเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีนโยบายเปิดให้พนักงานสามารถเกษียณอายุก่อนกำหนด และยังคงได้รับสวัสดิการการเกษียณอายุตามปกติ ปีที่ผ่านมามีนโยบายปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยพิจารณาอนุมัติให้พนักงานสามารถเกษียณอายุก่อนกำหนด และยังคงได้รับสวัสดิการการเกษียณอายุตามปกติ" รายงานข่าวระบุรายงานข่าวยืนยันว่า การปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากเอไอเอ ประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีในงานฉลองครบรอบ 80 ปีของบริษัท มีการประกาศรายชื่อพนักงานที่ถูกให้ออกจากงานให้กับหัวหน้าแต่ละแผนก คาดว่าจะมีประมาณ 10% ของพนักงานทั้งหมด 2,000 คนทั่วประเทศ หรือประมาณ 200 คน ซึ่งบางแผนกที่มีพนักงานประมาณ 200 คน จะมีรายชื่อให้ออก 18 คน โดยไม่ทราบล่วงหน้า เพราะบริษัทไม่ได้ประกาศโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พนักงานที่ถูกให้ออกจะได้รับการชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

สำหรับผลประกอบการ 3 เดือนแรกของเอไอเอ มียอดขายเบี้ยปีแรก 4,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เบี้ยต่ออายุของลูกค้าเก่า 23,330 ล้านบาท อัตราการต่ออายุ 87% เบี้ยชำระครั้งเดียว หรือซิงเกิลพรีเมียม 1,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% รวมเบี้ยทุกประเภท 29,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ซึ่งเอไอเอยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัท แมนูไลฟ์ ประกันชีวิต (ประเทศไทย) ได้ประกาศยกเลิกช่องทางการขายผ่านตัวแทนอย่างเป็นทางการ นับเป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกในไทย ทั้งนี้เพื่อหันมาพัฒนาใช้ช่องทาง การขายผ่านระบบออนไลน์และช่องทางขายตรงแทน เพื่อรองรับแนวโน้มธุรกิจดิจิทัล ซึ่งกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจประกันเหมือนที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอื่นๆ

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 17/5/2561

เครือข่ายแรงงานระบุ 'ลูกจ้างราชการ' 4-5 แสนคน ถูกจ้างเหมาไม่เป็นธรรม-ไร้สิทธิสวัสดิการ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)  และประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่านอกจากประเด็นค่าจ้างที่ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่แม้จะได้ค่าจ้างตามเกณฑ์กฎหมายแรงงาน แต่กลับพบว่าไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ เลย และไม่ใช่แค่ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่พบว่า มีทุกกระทรวงที่มีปัญหาดังกล่าว นั่นคือ กลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มสัญญาจ้างเหมาทำของ โดยในส่วนนี้เป็นลูกจ้างส่วนราชการ เพราะส่วนเอกชนจะได้สิทธิจากประกันสังคมอยู่แล้ว แต่ส่วนนี้พวกเขาจะถูกจ้างงานเฉลี่ยได้เดือนละ 8,600 บาทบวกกับค่าครองชีพ 1,200 บาท ก็จะเป็น 9,800 บาทต่อเดือน แต่สิทธิสวัสดิการอื่นๆไม่ได้รับ ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลก็ต้องไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งให้กับคนไทยทุกคนอยู่แล้ว

"ปัญหาคือแม้ขณะนี้จะมีการเดินหน้าเรื่องร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน ฉบับ พ.ศ. ซึ่งจะให้สิทธิสวัสดิการเงินทดแทนการขาดรายได้ หรือการประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วยจากการทำงานก็จะได้รับการช่วยเหลือ และหากพิการ ทุพพลภาพก็จะได้รับเงินช่วยเหลือไปตลอดนั้น ปัญหาคือ พ.ร.บ.นี้เมื่อประกาศใช้ในช่วงปี 2561 แม้จะครอบคลุมลูกจ้างทั้งส่วนราชการ และส่วนเอกชน แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาภายใน พ.ร.บ.กลับพบว่าอาจไม่ได้รวมลูกจ้างเหมากลุ่มนี้ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ประมาณ 4-5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานทำความสะอาดในบางกลุ่ม แม่บ้าน รวมทั้งธุรการ คนเดินเอกสารต่างๆ เป็นต้น " นายมนัส กล่าว

นายมนัสกล่าวว่า ปี 2552  ที่ผ่านมาเคยมีกรณีลูกจ้างเหมาบริการร้องต่อศาลปกครองถึงกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งศาลมีคำสั่งออกมาในปี 2556 มองว่า พวกเขาเป็นลูกจ้าง ควรต้องเข้าประกันสังคมด้วย แต่จากร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ ฉบับใหม่ เมื่อไปพิจารณาในรายละเอียดกลับไม่ได้ครอบคลุมลูกจ้างกลุ่มนี้ และจากที่เคยหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความและระบุว่า เนื่องจากการจ้างงานเป็นการนำเงินหมวดวัสดุมาจ้างในคนเพื่อให้ทำงาน และมีสัญญาจ้างระบุว่า เป็นการทำของอิงจากการนำเงินหมวดวัสดุ ทำให้ต้องตีความว่า เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างคนทำงาน เครือข่ายฯ จึงห่วงว่า ในร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ จะครอบคลุมลูกจ้างส่วนราชการที่จะเข้าใหม่เพียง 940,000 คน และอีก 4-5 แสนคนที่เป็นลูกจ้างส่วนราชการด้วย แต่เป็นการจ้างคนละประเภทก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากจุดนี้

"ขณะนี้เครือข่ายฯ และภาคีต่างๆ กังวลเรื่องนี้มาก และกำลังจะหารือร่วมกันว่า จะมีแนวทางช่วยหลืออย่างไร เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานที่ต่ำกว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้แต่เรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ การช่วยเหลือที่ลูกจ้างพึงได้รับ คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ต้องออกมาเป็นนโยบาย และเดินหน้าเป็นกฎหมาย ซึ่งต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ดำเนินการ โดยทางพเครือข่ายและภาคีต่างๆ จะมีการหารือร่วมกัน และคาดว่าจะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลมองเรื่องความเท่าเทียมเป็นสำคัญ แต่ในส่วนราชการกลับยังมีประเด็นเรื่องเหล่านี้อยู่ จึงมองว่า ควรทำในส่วนราชการด้วย ไม่ใช่มุ่งเน้นนโยบายออกมาเพื่อให้เอกชนทำเท่านั้น " นายมนัส กล่าว

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า ตามกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่มีนายจ้าง เพราะถือเป็นการจ้างงาน  แต่กรณีการจ้างทำของต้องดูในสัญญา เนื่องจากการจ้างทำของ จะกำหนดชัดเจนว่าทำอะไร เมื่อไร เช่น กวาดถูทำความสะอาดในบริเวณหนึ่ง หากเสร็จก็เป็นอันจบ ไม่มีการบังคับบัญชาเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมาอาจมีบางแห่งมีการจ้างผิดไป ซึ่งตรงนี้ลูกจ้างที่มองว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนและฟ้องต่อศาลแรงงานได้ เนื่องจากถือว่าขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งหากผ่านตามขั้นตอนต่างๆ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะประกาศใช้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างเหมาดังกล่าว จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร นพ.สุรเดช กล่าวว่า มีม.40 ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเอง โดยเฉลี่ยจะมีทางเลือกการจ่ายให้ เช่น จ่ายเดือนละ 300 บาท ก็จะได้กรณีหากหยุดงานเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุมีใบรับรองแพทย์ ก็สามารถมายื่นรับเงินทดแทนได้วันละ 300 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินสงเคราะห์บุตร มีเงินทดแทนการทุพพลภาพ มีเงินค่าทำศพ เป็นต้น ซึ่งสามารถสอบถามมาได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/5/2561

ก.แรงงาน ลุยตรวจสนามกอล์ฟ 4 แห่งใน กทม.ไม่พบแคดดี้ต่างด้าว

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2561 นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ชุดปฏิบัติการตรวจการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกสนามกอล์ฟห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทุกสัญชาติเป็นแคดดี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือเมียนมา หากพบจะมีความผิดที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยใน กทม. มีหลายสนาม ได้ตรวจไปแล้ว 4 สนาม ยังไม่พบว่ามีการใช้ต่างด้าวเป็นแคดดี้ ได้ให้เร่งตรวจต่อไปทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ซึ่งมีรวมกว่า 200 สนาม จะมีการรายงานภาพรวมการตรวจทั่วประเทศ ในวันที่ 17 พ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ได้ออกตรวจสอบการจ้างแรงงานต่างด้าว ในสนามกอล์ฟในพื้นที่ กทม. จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย สนามกอล์ฟ ปัญญา อินทรา กอล์ฟ คลับ ถนนรามอินทรา เขตคันนายาว พบว่ามีการจ้างหญิงไทย 577 คน แยกเป็น พริตตี้ 30 คน และแคดดี้ 547 คน มีอายุระหว่าง 18-55 ปี เดอะ เลกาซี่ กอล์ฟ คลับ ตั้งอยู่ถนนปัญญาอินทรา เขตคลองสามวา มีการจ้างคนไทยเป็นแคดดี้ 190 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี สนามกอล์ฟ สมาคมกรุงเทพกรีฑา เขตบางกะปิ มีแคดดี้ 523 คน และบริษัท ชนาธิป พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เขตสะพานสูง มีการจ้าง แคดดี้ 130 คน ผลการตรวจสอบไม่พบแรงงานต่างด้าวทำงานแคดดี้ เจ้าหน้าที่ได้สร้างความรับรู้ในการจ้างแรงงานต่างด้าว ให้นายจ้างปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่ากระทรวงแรงงานได้เร่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. ให้สามารถทำงานกรรมกร และรับใช้ในบ้าน ได้เพียง 2 อาชีพ โดยเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ทั่วประเทศ เพื่อทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงาน ต่างด้าว ถึงวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียน 1,320,035 คน และได้เปิดศูนย์ฯ รอบสอง ระหว่าง 23 เม.ย.-30 มิ.ย. เพื่อดำเนินการกลุ่มที่ตกค้าง 479,299 คน โดยล่าสุดถึงวันที่ 16 พ.ค. มียอดเข้ามาดำเนินการแล้ว 147,319 คน แยกเป็น เมียนมา 90,493 คน กัมพูชา 50,032 คน ลาว 6,794 คน คงเหลือยอดที่ต้องดำเนินการ 331,980 คน

ที่มา: ไทยรัฐ, 16/5/2561

'ปิยะสกล' ประกาศทุก รพ.ต้องจ่ายค่าจ้างตาม กม.ขั้นต่ำ พร้อมตั้งทีมหารือเคลียร์ปมปัญหา 3 เดือนรู้ผล

จากกรณีสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) จากทั่วประเทศประมาณ 400- 500 คน นำโดย นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธานสสลท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินทางมารวมตัวกันที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องประเด็นจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ถึงเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ และได้เดินเท้าฝ่าสายฝนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ปรากฏว่าต้องกลับมาค้างคืนที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรอหารือกับนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 16 พฤษภาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข และผู้บริหารสธ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.อริยะ พันธุฟัก ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ได้เชิญตัวแทนของสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) ที่ออกมาเรียกร้อง คือ นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สสลท. เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่า จากข้อร้องเรียนเรื่องโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม เรื่องนี้กำชับแล้วว่าต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และในประเด็นข้อเรียกร้องอื่นๆ อีก 3 เดือนจะมีการนัดหารือกัน โดยในวันที่ 15 สิงหาคม เวลา 09.30 น. จะเชิญทุกฝ่ายมาหารือกันอีกครั้ง โดยระหว่างนี้ก็จะมีคณะทำงานย่อยหาข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ทุกคนที่มาคือคนของกระทรวงสาธารณสุข อยู่กันมาเป็น 20 ปี เขาก็อยากได้สิ่งดีๆ ดังนั้น การมาเรียกร้องเรารับฟังและร่วมมือแก้ไขให้ดีขึ้น

เมื่อถามว่ากลุ่มที่มาเรียกร้องจะถูกหมายหัวหรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่ามีการเช็กชื่อ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขอยืนยัน จะไม่กระทบกับการทำงานแน่นอน ไม่ต้องห่วง ขอยืนยันว่า เราทำตามเป้าหมายของกระทรวงฯ คือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข นี่คือสิ่งที่เราจะร่วมกันทำงานต่อไป ส่วนข้อเรียกร้องกรณีพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลจ้าง แทนเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องคุยในระดับนอกเหนือกว่านั้น เพราะถ้าทำได้ตนทำให้ไปนานแล้ว แต่ที่แน่ๆ กระทรวงฯ ทำได้คือ จากนี้ไป โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งต้องไม่มีการจ้างงานที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ปลัดสธ.ไปดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้ทำได้เลย ส่วนอีก 3 เดือนจะเป็นการตามงานและร่วมกันปรับแก้ไขในประเด็นข้อเรียกร้องต่างๆที่เสนอมา

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรี ได้กำชับอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เนื่องจากทางกลุ่มเรียกร้องได้เดินทางไปทำเนียบเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่คิดว่าท่านนายกฯ ให้ความสำคัญ ซึ่งเราก็ต้องดำเนินการ เพราะเราทุกคนอยู่ในกระทรวง เราคุยกันได้

เมื่อถามว่าจะมีการออกหนังสือกำชับห้ามรพ.จ้างงานต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้ท่านปลัดสธ.ดำเนินการอยู่แล้ว

นพ.เจษฎา กล่าวว่าเรื่องนี้เราทำมานานแล้ว และได้กำชับแล้วว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดสธ.ต้องจ้างค่าจ้างที่เป็นธรรม และไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขมีหลายรูปแบบมากทั้งการจ้างรายวัน รายเดือน จ้างเหมา ก็จะต้องมาดู ตอนนี้แนวทางเราอยากให้การจ้างงานเป็นระบบจะทำให้สามารถดูแลเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิอื่นๆ ได้เป็นระบบมากขึ้น และฝ่ายบริหารก็ต้องดูด้วยว่าจะบริหารจัดการเรื่องงบประมาณอย่างไรให้สามารถดำเนินการเรื่องการจ้างงานที่เหมาะสมกับภาระงานมากขึ้น ตอนนี้จะเร่งดึงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานขึ้นมาดูทั้งหมดเพื่อการดูแลต่อไป

ด้านนายโอสถ กล่าวว่า จากการพูดคุยกันในวันนี้ ทางรัฐมนตรีฯ และท่านปลัดฯ ยืนยันว่า ตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อนั้น ในส่วนเงินงบประมาณนั้น กระทรวงก็จะมีคณะทำงานร่วมขึ้นมา และในวันที่ 15 สิงหาคมก็จะมาหารือกัน แต่ระหว่างนี้ก็จะมีชุดอนุกรรมการศึกษาแต่ละเรื่อง ส่วนเรื่องการจ้างลูกจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ท่านยืนยันว่า จะไม่มีอีกเด็ดขาด ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการจ้างต่ำกว่าเกณฑ์มากน้อยแค่ไหน นายโอสถ กล่าวว่า มีหมดทั่วประเทศ มากน้อยเฉลี่ยกันไป บ้างก็ต่ำกว่า 10 % 20 % 30% อย่าง 10,200 บาท ในวุฒิการศึกษาปวส. ไปจ่ายแค่ 6,500 บาท

เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงกลับมาค้างคืนที่กระทรวงสาธารณสุข นายโอสถ กล่าวว่า เดิมพวกตนตั้งใจไปเรียกร้องที่ทำเนียบ ซึ่งเมื่อไปถึงทางฝ่ายความมั่นคงได้มีตัวแทนมาหารือและไม่อยากให้พวกเราค้างคืน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายการชุมนุม แต่ขอให้เราประสานกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในนามตัวแทนรัฐบาล ให้มาหารือกันจะดีกว่า ซึ่งในวันนี้ (16 พ.ค.) ก็พอใจในระดับหนึ่งที่มีคณะกรรมการทำงานร่วมกัน และมีอนุกรรมการฯเพื่อดูแต่ละประเด็นเลย และสรุปกันอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

นายโอสถ กล่าวว่า โดยข้อเรียกร้องมี 4 ข้อ คือ 1. ขอให้พิจารณาจัดจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขด้วยเงินงบประมาณของรัฐโดยตรง ไม่ใช่เงินบำรุงของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานบริการ 2.ขอให้พิจารณาลูกจ้างทุกคนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมารายเดือน รายวัน ให้ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขครบทุกคน 3. ขอทบทวนให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่บรรจุรอบก่อน ให้ได้รับการเยียวยาค่าประสบการณ์ ในการปฏิบัติงานมายาวนานตามอายุงาน 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี ตามที่สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน และ4. ขอให้ลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยตามนโยบายรัฐบาลและ คสช.

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/5/2561

ธุรกิจรับสร้างบ้านผวาแรงงานกัมพูชากลับบ้านเกิด

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาเรียกร้องให้แรงงานชาวกัมพูชาที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศไทย ให้เดินทางกลับไปทำงานในบ้านเกิด โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันกัมพูชาขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก เหตุเพราะมีโครงการลงทุนต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก โดยการออกมาประกาศของสมเด็จฮุนเซนในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมกับชาวกัมพูชา ที่เข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจหรือเลือกจะทำงานก่อสร้างกันแล้ว แม้ว่าจะได้ค่าแรงแพง นั่นก็เพราะเป็นงานที่หนักเหนื่อยและสกปรก ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทที่ต้องใช้ทักษะหรือกรรมกรก่อสร้างก็ตาม ฉะนั้นหากแรงงานกัมพูชาส่วนหนึ่งเดินทางกลับตามคำเรียกร้อง ปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น การปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเพื่อแย่งชิงแรงงานก็จะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก

"สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) ประเมินว่า นับวันปัญหาแรงงานขาดแคลนและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น หากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใด ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจหรือผลประกอบการก็จะค่อย ๆ ถดถอยลงหรือรับงานได้น้อยลง และอาจถึงขั้นจะต้องออกจากธุรกิจนี้ไป เพราะการดำเนินธุรกิจและแข่งขันจะยากลำบากมากขึ้น เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะว่าในปัจจุบันและในอนาคตพฤติกรรมหรือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ การตอบสนองจากสินค้าและบริการคือ "คุณภาพ สะดวก รวดเร็ว" ซึ่งการก่อสร้างรูปแบบเดิม ๆ ไม่ตอบโจทย์และควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปก็เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว สังเกตได้จากการที่ดีเวลลอปเปอร์และบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ เช่น กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แสนสิริ พฤกษา แลนดี้โฮม และ พีดีเฮ้าส์ ฯลฯ ที่ใช้ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูป ต่างมีมูลค่าแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและขยายตลาดได้ทั่วประเทศ"

สถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบก่อสร้างรูปแบบเดิม ๆ คือหล่อคอนกรีตในที่ หรือการผูกเหล็ก ประกอบไม้แบบ และเทคอนกรีตโครงสร้าง ณ สถานที่ก่อสร้างนั้น โดยยังคงต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก สวนทางกับดีเวลลอปเปอร์ที่ต่างเปลี่ยนมาใช้ระบบพรีแฟบกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว อย่างไรก็ดี ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมากนัก สาเหตุเพราะว่าไม่คุ้นเคยและที่สำคัญคือ ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทั้งการออกแบบด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การคำนวณต้นทุน การผลิต การขนส่งจากโรงงานไปยังสถานที่ก่อสร้าง และการติดตั้งที่ต้องอาศัยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ฯลฯ เป็นต้น

นายสิทธิพร แนะว่าปัจจุบันมีโรงงานรับจ้างผลิตที่เป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สามารถผลิตตามออเดอร์หรือความต้องการของลูกค้าได้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่ต้องการหันมาใช้ระบบพรีแฟบ จึงไม่จำเป็นจะต้องลงทุนสร้างโรงงานผลิตของตัวเองเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะอาศัยความเชี่ยวชาญของกันและกันในการสร้างบ้านทุกหลัง เหลือเพียงแค่ผู้ประกอบการกำหนดวิสัยทัศน์และเร่งปรับตัวเอง เพื่อให้พร้อมจะดำเนินธุรกิจต่อไปในระยะยาว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ระบบพรีแฟบทั้งแบบโครงสร้างคอนกรีตและโครงสร้างเหล็ก จะเข้ามาแทนที่ระบบก่อสร้างแบบเดิม ๆ มากขึ้น และช่วยให้การส่งมอบคุณภาพงานสร้างบ้านทุกหลังเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคมากขึ้น ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านก็จะมีความเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือในวงกว้างเพิ่มมากขึ้นตามกัน

อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 4 เดือนเศษที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 2561) ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ หรือคิดเป็นมูลค่า 6 เดือนแรก 7.5-8 พันล้านบาท สำหรับความต้องการสร้างบ้านในต่างจังหวัด พบว่าในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้หลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางเริ่มมีความต้องการและกำลังซื้อดีขึ้นมาก เช่น เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา และสระบุรี ฯลฯ เป็นต้น 

ที่มา: บ้านเมือง, 16/5/2561

"ประกันสังคม" เร่งคืนสิทธิผู้ประกันตนตาม ม.39

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้ส่งหนังสือแจ้งเรื่องการกลับเป็นผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพไปให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนจำนวน 777,228 คน ได้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้ง

ดังนั้นรีบดำเนินการติดต่อยื่นคำขอคืนสิทธิได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งที่ท่านสะดวก หรือทางไปรษณีย์ (แนบแบบ สปส. 1-20/1) หรือทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 19 เมษายน 2562

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะต้องชำระเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้กลับเป็นผู้ประกันตน โดยจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไขได้หลายช่องทางด้วยกันคือ จ่ายด้วยเงินสด ณ สำนักงานประกันสังคมได้ทั่วประเทศ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ทุกสาขา ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา (seven-eleven) ผ่านระบบ Pay at Post ที่เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ หรือจ่ายทางธนาณัติ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ พร้อมแนบแบบส่งเงิน ( สปส.1-11) ส่งให้สำนักงานประกันสังคม ผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (บริษัทห้างเซ็นทรัล)

นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายเงินสมทบโดยวิธีหักบัญชีธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณีเช่นเดิม คือ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรา กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเสริมว่า ขอให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 กลุ่มที่สิ้นสภาพดังกล่าว ได้เห็นถึงความสำคัญถึงสิทธิความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคม ที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ให้สามารถคุ้มครองแรงงานได้อย่างทั่วถึง โดยเพิ่มและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี คืนสิทธิให้ผู้ประกันตน มาตรา 39 ได้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้ง

ที่มา: เนชั่นทีวี, 16/5/2561

แรงงานไทยหนีสงครามลิเบีย 200 คน เดือดร้อนหนัก-หนี้สินท่วม ร้องรัฐช่วยเยียวยา

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 พ.ค. ที่ห้องประชุมประจักษ์ศิลปาคม ศาลากลาง จ.อุดรธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิสิษฐ์ พึ่งกล่อม อายุ 51 ปี ตัวแทนแรงงานอุดรธานีที่เคยไปทำงานที่ประเทศลิเบีย พร้อมแรงงานกว่า 200 คน ที่ถูกส่งตัวกลับช่วงภาวะสงครามในประเทศลิเบีย เมื่อปี 2554 เดินทางเพื่อยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ขอให้เร่งรัดความช่วยเหลือ โดยมีนายธรพล จันทรนิมิ รอง ผู้ว่าฯ อุดรธานี นายอำพัน เอกทัตร แรงงาน จ.อุดรธานี นายอภิชาติ วงศ์กาฬสินธุ์ รักษาราชการ จัดหางาน จ.อุดรธานี ร่วมรับฟังความต้องการ

นายพิสิษฐ์ พึ่งกล่อม ตัวแทนแรงงาน เปิดเผยว่าแรงงานที่ถูกส่งกลับจากลิเบียช่วงสงคราม ยังคงได้รับความเดือดร้อน จากการเสียค่าหัวคิวถึงคนละ 90,000-200,000 บาท มีแรงงานหลายคนที่ทำงานไม่ถึงปี บางคนเพิ่งไปได้เพียงเดือนเศษ ต้องหนีกลับและถูกส่งตัวกลับไทย ทำให้ต้องเป็นหนี้สินมาจนถึงทุกวันนี้ จึงรวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือต่อ ผวจ.อุดรธานี เพื่อขอให้เร่งช่วยเหลือ

"จากแรงงานเคยไปร้องเรียน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี แจ้งประสานส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงาน และศาลแรงงานกลาง ดำเนินการกับผู้จัดส่งแรงงาน แต่ก็ยังประสบปัญหา การยื่นเรื่องของแรงงานแต่ละคน จึงมาขอให้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ให้แจ้งประชาสัมพันธ์ถึงแรงงานที่เคยไปทำงานที่ประเทศลิเบีย แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือได้รับทราบ มาลงชื่อสำหรับการรับความช่วยเหลือ "นายพิสิษฐ์กล่าว

นายอภิชาติ วงศ์กาฬสินธุ์ รักษาราชการจัดหางาน จ.อุดรธานี กล่าวว่าเป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในลิเบียปี 2554 ซึ่งมีทั้งที่ทำงานมานาน และที่เพิ่งเดินทางไป ยังไม่ได้ค่าจ้างงาน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้เมื่อเดินทางกลับจากภัยสงครามมา ทางกระทรวงแรงงานได้ช่วยเหลือรายละ 15,000 บาท และค่าพาหนะอีก 1,500 บาท รวมกว่า 2 หมื่นคน โดยเป็นชาวอุดรธานี 559 คน ซึ่งแรงงานที่มาวันนี้ก็ได้รับตามสิทธิไปแล้ว

"การเดินทางมาวันนี้ เพื่อต้องการใช้สิทธิตามกระบวนการทางศาล เรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ทางบริษัทฯจัดส่งเรียกเก็บเกิน ซึ่งในส่วนของกรมการจัดหางาน มีแกนนำส่วนหนึ่งจะมาขอรายชื่อแรงงานที่เคยไปทำงานที่ลิเบีย แต่ติดที่เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ทางกรมการจัดหางานจึงไม่สามารถให้รายชื่อไปได้ โดยเราได้แจ้งแกนนำให้รับทราบแล้ว แต่ทางแกนนำเป็นห่วงว่า รายชื่อจะต้องนำไปใช้ตามกระบวนการทางศาล อยากให้ทางจังหวัดนำรายชื่อแรงงานเหล่านี้ให้

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่าจังหวัดจะให้นายอำเภอทั้ง 20 อำเภอ สั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้สำรวจรายชื่อแรงงานที่เคยไปทำงานที่ลิเบีย ส่งไปให้ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อที่จะส่งให้กับทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอน และจะส่งต่ออีกครั้งให้ทางนิติกรของศาลแรงงานกลาง เพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้กับแรงงานที่ไปทำงานที่ลิเบียต่อไป ตามสิทธิที่แรงงานจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงค้างจ่าย ค่าหัวที่เดินทางไป แต่ยังไม่ได้ทำงาน ซึ่งค่าหัวที่บริษัทฯจัดส่งเก็บเกินจากที่กฎหมายกำหนด ทางกรมการจัดหางาน ก็มีการดำเนินการทั้งพักใบอนุญาต

"เรื่องเหล่านี้ทางแรงงานจังหวัดรับเรื่องไปดำเนินการ แต่ขณะนี้ติดปัญหาที่สถานฑูตไทยที่ลิเบียเปิดไม่ได้ จึงไม่สามารถตามสิทธิประโยชน์กับทางนายจ้างให้ได้ และเรื่องดังกล่าวทาง สนช.มีมติออกมา ที่จะให้ความช่วยเหลือกับแรงงานเหล่านี้ จึงเกิดความหวังว่า จะได้รับความช่วยเหลือจากส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายอภิชาติกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 15/5/2561

สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทยกว่า 500 คน รวมตัวที่ สธ. เรียกร้องรัฐบาลส่งตัวแทนเจรจา เสนอขอให้จ้างด้วยเงินงบประมาณ

15 พ.ค. 2561 เมื่อเวลา 08.00 น. สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) จากทั่วประเทศกว่า 500 คน นำโดย นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สสลท. และ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินทางมารวมตัวกันที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้จ้างลูกจ้างของ สธ. ด้วยเงินงบประมาณ แทนการจ้างผ่านระบบเงินบำรุงโรงพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.นนทบุรี และตำรวจควบคุมฝูงชนกว่า 100 นาย เข้ามาดูแล

ทั้งนี้ แกนนำได้เข้าไปเจรจรากับ นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะออกมาปลุกระดมลูกจ้างอีกครั้ง พร้อมยืนสงบนิ่งให้ นายคณาพันธุ์ ปานตระกูล อดีตลูกจ้างชั่วคราวแผนกฟอกย้อมของ รพ.โพธาราม ที่ฆ่าตัวตายเซ่นความอยุติธรรมของระบบ 1 นาที

นายโอสถ กล่าวว่า บรรดาลูกจ้าง สธ. ทั้งลูกจ้างรายวันและรายเดือน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) มีความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ สธ.มีบัญชีโครงสร้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 2556 แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้าง ขนาดแรงงานข้ามชาติทั้งหมดยังอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน แต่ สธ. มีระเบียบคุ้มครองแต่ปล่อยปละละเลย ไม่สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้ลูกจ้างอย่างเป็นธรรม เช่น ลูกจ้างที่จบ ปวช. ด้านบัญชีระเบียบให้จ่าย 10,200 บาท แต่ต้นสังกัดจ่าย 6,500 บาท ถือว่า สธ. ปล่อยปละละเลยหรือ ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นแบบนี้ทั้งประเทศ

นายโอสถ กล่าวว่า สธ. ออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 11 ให้ผู้ปฏิบัติงาน แต่ให้การคุ้มครองข้าราชการเงินเดือน 4 - 5 หมื่น แต่ลูกจ้างไม่ได้รับเลย อ้างว่า จ่ายไม่ได้เดี๋ยวผิดระเบียบ ถามว่าผิดระเบียบตรงไหน เพราะ สธ. ออกระเบียบมาเอง เคยเสนอให้ออกระเบียบอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้ได้รับใหม่ แต่ก็ไม่ทำ ทั้งนี้ สธ.รับปากหลายเรื่องจะแก้ปัญหา แต่ก็ไม่เคยทำ จึงตัดสินใจไปพบยังนายกรัฐมนตรีให้จ้างเราโดยเงินงบประมาณโดยตรง เพราะได้ตามที่จ้างจริง เช่น จ้าง 1 หมื่นบาทเราก็ได้ 1 หมื่นบาท แต่ถ้าจ้างผ่านนายหน้าอย่าง สธ. บอกว่าจ้าง 1 หมื่น เราได้รับแค่ 6 พัน แบบนี้ไม่เป็นธรรม ไม่แตกต่างจากการค้ามนุษย์ สธ. ปากก็บอกว่าไม่มีเงิน แต่มีเงินไปศึกษาดูงาน ไปออกระเบียบค่าตอบแทนฉบับนั้น ฉบับนี้เพิ่มเงินผู้บริหาร พวกเราแม้แต่พันบาทก็ไม่ได้

"ลูกจ้าง สธ. มี 1.4 แสนคน ค่าจ้างต่ำสุดที่ลูกจ้างได้รับวันนี้ คือ 5,500 บาท สูงสุด 11,000 บาท แต่กว่าจะได้ก็ต้องทำงานจนหัวขาว ถามว่า มีด้วยหรือในสังคมไทยขณะนี้ ค่าครองชีพอย่างนี้ อัตราเงินเฟ้อแบบนี้ แต่ลูกจ้าง สธ. ได้ค่าจ้างแค่นี้ ต่ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เงินสวัสดิการอย่างอื่นไม่มี มีเพียงโอทีที่ต้องทำกันอย่างหนักหากอยากได้เงินเพิ่ม เงินค่าเสี่ยงภัยต่างๆ ก็ไม่มี การจ่ายค่าตอบแทนมต้องสามารถดูแลคนในครอบครัวได้อีก 2 คน ตามกติกาสากล แต่เราทำงานกันทั้งบ้านก็ยังไม่พอส่งลูกเรียน เรื่องนี้คุยกับผู้บริหารมาตั้งแต่ปี 2559 แต่ไม่เคยได้รับการเยียวยาแก้ไข เลยขอเรียกร้องรัฐบาลนำเราเข้าสู่เงินงบประมาณ ไม่ต้องผ่านนายหน้าอย่าง สธ. อีกต่อไป" นายโอสถ กล่าวและว่า วันนี้เราไม่คุยกับ สธ.แล้ว เพราะคุยมาหลายครั้ง ดังนั้น จะขอคุยกับรัฐบาล ตัวแทนรัฐบาลที่มีอำนาจในการลงนามข้อตกลง มีการตั้งคณะทำงานต่างๆ ถ้าส่งตัวแทนมาที่ สธ. ก็พร้อมเจรจา หากไม่มาเราจะเคลื่อนพลทั้งหมดไปที่ทำเนียบรัฐบาล และหากไม่มีข้อตกลงที่เป็นธรรมก็จะปักหลักค้างคืน ขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ เพราะ สธ. เป็นเจ้าภาพที่ล้มเหลวไปแล้ว

นายสาวิทย์ กล่าวว่า สสลท. เป็นลูกจ้างภาครัฐ การให้ขวัญกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่หลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายนี้ได้มาเรียกร้องเรื่องค่าจ้างว่าให้มีการจ้างด้วยเงินงบประมาณ แต่รัฐก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ถ้าดูการจ้างงานตอนนี้จะเห็นว่าเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำกว่าแรงงานกัมพูชา ลาว พม่า ซึ่ง สธ.บอกว่าเป็นรัฐไม่สามารถไปคิดตามเรตของกระทรวงแรงงานได้ ซึ่งไม่จริง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ การจ้างงานที่ต่ำที่สุดแล้วทุกหน่วยงานไม่ควรจ้างต่ำกว่ายิ่งเป็นหน่วยงานของรัฐยิ่งต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ถ้าจากนี้ยังไม่ได้ตามที่เสนอทาง สรส. ที่มีสมาชิกกว่า 47 สหภาพแรงงานก็จะมีการประสานหารือกันเพื่อร่วมกันเรียกร้องให้ทุกอาชีพมีหลักประกัน โดยเฉพาะอาชีพลูกจ้าง สธ. มีความเสี่ยงโรคภัย ต่างหากเขายังไม่ได้รับการดูแลที่ดีแล้วจะไปดูแลใครได้ ไม่คิดจริงๆ ว่า สธ. จะใจจืดใจดำกับลูกจ้างขนาดนี้

ที่มา: MGR Online, 15/5/2561

DEPA เผยผลสำรวจร่วม TDRI ชี้ชัดแรงงานดิจิทัลไทยไม่ขาดแคลนแต่ทักษะต่ำเกินทำงานได้

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เปิดเผยผลการศึกษาโครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Manpower) รองรับอุตสาหกรรมS-Curve และ หนุนการเติบโตพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เปิดเผยว่าผลจากการศึกษาพบว่าในภาพรวมเหมือนประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล แต่จริงๆ แล้วกำลังคนด้านดิจิทัลที่จบมาจากสถาบันการศึกษามีจำนวนมากในปี 2560 ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เฉพาะสาขาคอมพิวเตอร์มีเกือบ 20,000 คน โดยยังไม่รวมผู้จบการศึกษาในสาขาอื่น ๆ แต่ปรากฏว่าในจำนวนนี้มีผู้ว่างงานเกือบ 7,000 คน ขณะที่กำลังคนด้านดิจิทัลที่ภาคธุรกิจต้องการมีเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คน ทั้งยังสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง

ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทยคือ คนไม่ได้ขาดแคลน แต่บุคลากรที่ผลิตออกมามีทักษะต่ำเกินกว่าจะทำงานได้ ซึ่งหากยังไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง ก็จะใช้ทางแก้แบบเดิมคือ คิดว่าคนขาดแคลนและเร่งผลิตจนมีแต่ผู้ที่มีทักษะต่ำล้นตลาดแรงงาน

โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้คือ หลักสูตรในสถาบันการศึกษาปัจจุบันไม่ได้ปรับให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอย่างเร่งด่วน ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรและสร้างหลักสูตรอบรมระยะสั้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) เพื่อเพิ่มทักษะให้กับแรงงานที่มีอยู่ในตลาดแล้ว ทั้งยังควรกำหนดมาตรการที่เอื้อต่อการเข้ามาทำงานของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อาทิ มาตรการสมาร์ทวีซ่า แต่ต้องครอบคลุมทั้งผู้เชี่ยวชาญระดับสูงและระดับกลาง เพื่อจะนำเข้ามาอบรมผู้ปฎิบัติการระดับต้นได้มาขึ้น

ทั้งยังต้องสร้างกลไกในระยะยาวที่จะให้เอกชนให้ข้อมูลทักษะกำลังคนที่ต้องการแก่สถาบันการศึกษา เพื่อให้วางแผนผลิตคน รวมถึงปรับปรุงหลักสูตรได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/5/2561

เผย 'นายกฯ' ห่วงแรงงานต่างด้าวเป็นแคดดี้ แย่งคนไทย

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แสดงความเป็นห่วงกรณีกระแสข่าวแรงงานต่างด้าวทำอาชีพแคดดี้ สนามกอล์ฟจำนวนมาก โดยเป็นการบีบแรงงานไทย ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงว่าผู้มีรายได้น้อยจะถูกเอาเปรียบ ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวกระทรวงแรงงานไม่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงานเป็นแคดดี้ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพกรรมกรและแม่บ้านเท่านั้น แรงงานที่ทำงานผิดประเภทจะมีความผิด อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่แรงงานทุกจังหวัดตรวจสอบ พร้อมพูดคุยกับผู้ประกอบการเพื่อทำความเข้าใจแล้ว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/5/2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.ย้ำเอาผิด 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย

Posted: 19 May 2018 09:46 PM PDT

โฆษก คสช. แจงกรณีดำเนินคดี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฏหมาย ไม่หวั่นฟ้องกลับได้เป็นสิทธิ์ 

 
20 พ.ค. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าพันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทยจะแจ้ง คสช.พนักงานสอบสวนกองปราบปรามเพื่อร้องทุกข์ กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับทางพรรคเพื่อไทยและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์ผลงาน 4 ปีรัฐบาล คสช. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่าเป็นสิทธิ์ของแกนพรรคเพื่อไทยที่จะแจ้งความ คสช. สุดแล้วแต่เลยถ้าจะดำเนินการแบบนั้น หากแกนนำพรรคเพื่อไทยแจ้งความจริงก็ต้องไปสู้คดีกันในกระบวนการ
 
อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องทุกข์กล่าวโทษการแถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาล 4 ปีของพรรคเพื่อไทยนั้น ดำเนินการไปตามกรอบกฎหมาย อำนาจหน้าที่ เพื่อที่จะรักษากฎกติกาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองให้ได้มากที่สุด
 
ทั้งนี้ก่อนนหน้านี้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ส่วนปฏิบัติการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับมอบหมายจาก คสช. ตามหนังสือที่ คสช.(สลธ.)1.10/ ลงวันที่ 17 พ.ค. 2561 ให้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเพื่อร้องทุกข์ กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับทางพรรคเพื่อไทยและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ประกอบไปด้วย 1.นายวัฒนา เมืองสุข 2.นายจาตุรนต์ ฉายแสง 3.นายชูศักดิ์ ศิรินิล 4.นายนพดล ปัทมะ 5.นายชัยเกษม นิติสิริ 6.นายภูมิธรรม เวชยชัย 7.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์
 
8.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กับพวก ในความผิดกรณีร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 เวลากลางวัน โดยทั้งหมดมีพฤติการณ์คือ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 เวลาประมาณ 09.00 น. นายวัฒนา กับพวก ได้ร่วมกันชุมนุมทางการเมือง โดยจัดให้มีการแถลงข่าวหัวข้อ 4 ปี ที่ล้มเหลวของรัฐบาลและคณะ คสช. นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย โดยได้แถลงข่าว ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่
 
ซึ่งเนื้อหาการแถลงข่าวมีลักษณะเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมาย แห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลำดับเวลาการตายจากการสลายชุมนุมเสื้อแดง พ.ค.53 และความ(ไม่)คืบหน้าของคดี

Posted: 19 May 2018 09:43 PM PDT

ประมวลลำดับเวลาการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเสื้อแดง ช่วง 13-19 พ.ค.53 พร้อมอัพเดทความคืบหน้าคดี

เนื่องวันครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ส่งผลให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น

ประชาไทจึงขอรวบรวมลำดับเวลาการเสียชีวิตตั้งแต่ 13 พ.ค.-19 พ.ค.2553 และความคืบหน้าทางคดี ที่นำเสนอผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจประชาไทไว้เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนี้

13 พ.ค. : เสธ.แดง  ทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ฝั่งสวนลุมพินี 

13 พ.ค. :  ชาติชาย วิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านทหาร

14 พ.ค. : ถนนพระราม 4 - ลานพระบรมรูป ร.6 สวนลุมพินี บุญมี เริ่มสุข เสน่ห์ นิลเหลือง และ สมศักดิ์ ศิลารักษ์

14 พ.ค. : จากสามเหลี่ยมดินแดง ถ.ราชปรารภ ถึงแยกจตุรทิศ

ทิพเนตร เจียมพล ชัยยันต์ วรรณจักร ธันวา วงศ์ศิริ กิตติพันธ์ ขันทอง บุญทิ้ง ปานศิลา มนูญ ท่าลาด สัญธะนา สรรพศรี สรไกร ศรีเมืองปุน และเหิน อ่อนสา

หลังเที่ยงคืนของคืนวันที่ 14 พ.ค. : แอร์พอร์ตลิงค์ราชปรารภ

คุณากร ศรีสุวรรณ และพัน คำกอง ทั้งคู่ศาลสั่งเสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

ช่วงสาย 15 พ.ค. :  ถ.ราชปรารภ สมาพันธ์ ศรีเทพ สุภชีพ จุลทัศน์ และอำพล ชื่นสี

บ่าย 15 พ.ค. : ความตายของ 4 คนหนุ่มและอาสามนุษยธรรม ที่ บ่อนไก่- ปากซอยงามดูพลี พระราม 4

วารินทร์ อาสาสมัครศูนย์นเรนทร มานะ อาสาสมัครป่อเต็กตึ๊ง พรสวรรค์ พนักงานโรงแรม และเกรียงไกร คนขับแท็กซี่

บ่าย 15 พ.ค. : ชาญณรงค์ พลศรีลา อุทัย อรอินทร์ และ ธนากร ปิยะผลดิเรก 

ช่วงสาย 16 พ.ค. : บ่อนไก่ ถ.พระราม 4 ความตายของ สมชาย พระสุพรรณ และ สุพรรณ์ ทุมทอง

บ่าย-เย็น 16 พ.ค. : บ่อนไก่ ถ.พระราม 4

เฉลียว ดีรื่นรัมย์ วุฒิชัย วราห์คัม ประจวบ ประจวบสุข เกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และสมัย ทัดแก้ว

17 -18 พ.ค. : ถนนสีลม-ราชปรารภ- สามเหลี่ยมดินแดง ตั้งแต่ทหารอากาศโยธิน ถึงชาวพม่า

ช่วงสาย 19 พ.ค. :  ศาลาแดง ราชดำริ- สามเหลี่ยมดินแดง  4 คน แล้วที่ศาลสั่งแล้วว่ากระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร

ช่วงสาย 19 พ.ค. :  ความตายนอกกรุงเทพฯ 

ที่ 'อุดร-ขอนแก่น' เพิน วงศ์มา อภิชาติ ระชีวะ และ ทรงศักดิ์ ศรีหนองบัว

ช่วงเย็น-ค่ำวันที่ 19 พ.ค. กับ 6 ศพวัดปทุมที่ศาลสั่งว่ากระสุนสังหารมาจากทหาร

และความตายอีก 3 ศพช่วงเวลานั้น

สำหรับความคืบหน้าคดีนั้น เมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมา จากที่ประชาไทสัมภาษณ์ โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมไว้ ภาพรวมของคดีสลายการชุมนุม ทนายโชคชัย สรุป เป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่ม 1 คือกลุ่มผู้สั่งการ ที่ผู้ต้องหาประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น คดีอยู่กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะที่ กลุ่มที่ 2 ในส่วนผู้กระทำการนั้น คดีอยู่กับอัยการสูงสุดซึ่งเป็นคดีที่ตนเองไปติดตามกับอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

รายละเอียดเพิ่มเติม 2 กลุ่มดังกล่าว โชคชัยกล่าวว่า กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มผู้สั่งการ คดีที่มีการไต่สวนการตาย เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบศพ หลังจากเกิดเหตุมีการไต่สวนไปหลายคดีมากแล้ว กลุ่ม 10 เม.ย.นั้น มีคำสั่งศาลมาแล้วว่าผู้ตายถูกกระสุนจากฝั่งทหาร เช่น เกรียงไกร คำน้อย หรือ จรูญ ฉายแม้น เป็นต้น  ส่วน พ.ค.53 นั้นมีหลายศพที่ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายถูกกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่เช่นกัน หรือในส่วนของ 6 วัดปทุมฯ ก็ชัดแล้วว่าศาลสั่งว่าถูกกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร โดยกระบวนการในสำนวนการไต่สวนหลังจากที่ศาลมีคำสั่งแล้ว ก็จะกลับไปที่เจ้าหน้าที่ในท้องที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละท้องที่จะส่งมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพราะคดีเหล่านี้เป็นคดีพิเศษทั้งหมด ซึ่ง DSI ก็มีการสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้สั่งการ คือ สุเทพ และอภิสิทธิ์ ในการตายทั้งหมดของผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553 รวมฟ้องเดียวกัน เมื่อสั่งแล้วก็ส่งให้อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดก็มีคำสั่งฟ้อง ทั้งสุเทพและอภิสิทธิ์ ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา

ซึ่งสุดท้ายมีการสู้คดีกันศาลฎีกาฯ ตัดสินมาว่า สุเทพและอภิสิทธิ์ เป็นนักการเมือง ทาง DSI ไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาดังกล่าว แต่ ป.ป.ช.มีอำนาจสอบ เมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้ว เราก็มีการยื่นขอความเป็นธรรมเพื่อให้อัยการส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการไต่สวนในข้อหานี้ใหม่ เพราะว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ไต่วนในข้อหาฆ่าคนตายเลย ปัจจุบันทราบว่าสำนวนนี้อัยการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แล้ว และเราก็ไปตามความคืบหน้าเหมือนกันว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว แต่ก็ยังเงียบอยู่ ซึ่งเราก็จะเห็นว่ามีข่าวการเรียกหาพยานหลักฐานหม่ของ ป.ป.ช. จึงสงสัยว่าจะต้องมีหลักฐานใหม่อะไรบ้าง เพราะเราก็ยืนยันว่าหลักฐานใหม่ก็คือคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่บอกว่า ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนเรื่องนี้ และสำนวนทั้งหมดที่ DSI สอบสวนไว้ และที่อัยการสั่งฟ้อง เป็นสำนวนใหม่ที่ ป.ป.ช.ต้องไปพิจารณา เพราะว่าพยานหลักฐานที่ DSI สอบสวนไว้และสั่งฟ้องสุเทพ อภิสิทธิ์ มันชัดเจนอยู่แล้ว ในเรื่องข้อหาฆ่าคนตาย แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช.ก็ยังเงียบอยู่ จึงมีแผนที่ต้องไปติดตามความคืบหน้าต่อไปอีกก่อนวันที่ 19 พ.ค.นี้ จะไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง
 
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้กระทำการ คดีกลุ่มนี้ก็จะไปติดตามความคืบหน้าที่ อัยการสูงสุด อีกเช่นกัน ว่าได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง เนื่องจากที่ตนทราบมาว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนไปให้อัยการเหมือนไม่มีตัวผู้ต้องหา ยังหาตัวผู้กระทความผิดไม่ได้ ทั้งที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะมันมีกรณีที่ชัดเจนอย่าง 6 ศพวัดปทุม ที่มีตัวคนยิงอย่างชัดเจนบนรางรถไฟฟ้านั้นก็ชัดอยู่ ในคดีของผู้กระทำการไม่เหมือนคดีของผู้สั่งการ ของผู้สั่งการนั้นทาง DSI รวมทั้งหมดเพราะคำสั่งมันต่อเนื่องจาก 10 เม.ย.-19 พ.ค.53 แต่ผู้กระทำการนั้นเป็นการกระทำการเฉพาะเรื่อง เฉพาะรายในต่างวันต่างเวลากัน จึงต้องแยกคดีออกมาให้ชัดเจน
 
โชคชัย กล่าวถึงคดีอื่นๆ ว่ายังมีคดีไต่สวนการตายอีกหลายศพที่ยังไม่ได้ทำเลย ยังนิ่งอยู่ ตรงนี้ก็ต้องรื้อมาให้ทำ ซึ่งมีอายุความคดี 20 ปี 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น