ประชาไท | Prachatai3.info |
- เปิดรายงาน คอป. ครั้ง2 : ภาพรวมคดีสลายชุมนุม53 – ม. 112 – ต้นตอปัญหา “คดีซุกหุ้น”
- สร้างพื้นที่เจรจาสันติภาพ อีกบทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้
- นักศึกษาอินโดนีเซียพลีชีพ จุดไฟเผาตัวเองประท้วงรัฐ
- สนนท.-แนวร่วม ค้าน ม.นอกระบบ ย้ำบทเรียนที่เห็นส่งผลกระทบ นศ.โดยตรง
- ฮิลลารี คลินตัน, ฤาเธอจะเป็นนารีขี่ม้าขาว?
- "เฉลิม" ดีเดย์ปราบ "เว็บหมิ่น" 13 ธ.ค.
- น้ำตาสลิ่ม#3: ไปให้ไกลกว่าการติดป้ายสลิ่ม
- ฟังเสียงชาวนา! ข้อเสนอฟื้นภาคเกษตรหลังน้ำลด
- รายงาน : “เขาหาว่า ผมยิงอาร์พีจี (ใส่กลาโหม)”
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3 - 9 ธ.ค. 2554
- อีกครั้งกับโฮย่าฯ น้ำท่วมหรือข้ออ้างทำลายสหภาพแรงงาน?
- โฮยายังยันเลิกจ้าง สหภาพฯ หวัง กมธ.แรงงานตัวกลางขึ้นโต๊ะเจรจาอีก
- เม้าท์มอย: ศิษย์เก่าดีเด่น มช. Mark Zuckerberg เจอดี และท่าทีอเมริกาต่อคดี โจ กอร์ดอน
เปิดรายงาน คอป. ครั้ง2 : ภาพรวมคดีสลายชุมนุม53 – ม. 112 – ต้นตอปัญหา “คดีซุกหุ้น” Posted: 12 Dec 2011 10:14 AM PST
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ คอป. ได้ออกรายงานความคืบหน้า “ฉบับที่ 2” (17 มกราคม- 16 กรกฎาคม 2554) ซึ่งมีเนื้อหาใหญ่ แบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลักคือ Ø ความคืบหน้าเรื่อง ความรุนแรงเดือน เม.ย.-พ.ค.53 Ø ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินคดีจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ Ø รากเหง้าของปัญหา โดยเฉพาะการละเมิดหลักนิติธรรม ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในคดี “ซุกหุ้น” ทั้งนี้ คอป.แต่งตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน มีกรรมการ 8 คน และมีอนุกรรมการด้านต่าง 5 ชุด
สลายการชุมนุม เกือบ 2 ปี กับข้อเท็จจริงที่ได้ รายงานเน้นการแสดงตัวเลขภาพรวมของคดี ผู้ถูกคุมขัง และกิจกรรมการจัดเวทีรับฟังปัญหาทั่วประเทศของ คอป. Ø การดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งสิ้น 258 คดี โดยแบ่งประเภทความผิดออกเป็น 4 กลุ่มคดี คือ กลุ่มที่ 1 การก่อการร้าย (เหตุร้ายต่างๆ) 147 คดี กลุ่มที่ 2 การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ 22 คดี กลุ่มที่ 3 การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 69 คดี กลุ่มที่ 4 การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ 20 คดี จากจำนวนคดีพิเศษที่รับไว้ทำการสอบสวนทั้งสิ้น 258 คดี นั้น สอบสวนแล้วเสร็จ 102 คดี มีผู้ต้องหา 642 คน จับกุมได้ 274 คน หลบหนี 366 คน (เสียชีวิตแล้ว 2 คน) Ø คดีวางเพลิง มีทั้งหมด 62 คดี แบ่งเป็น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 49 คดี และต่างจังหวัด 13 คดี ทั้ง 62 คดี มีผู้ต้องหาทั้งหมด 457 คน จับกุมได้ 144 คน5 โดยมีอาคารสถานที่ถูกเพลิงไหม้ประมาณ 71 แห่ง แบ่งเป็นในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 37 แห่ง และต่างจังหวัด 34 แห่ง Ø สรุปข้อมูลผู้ต้องขังในคดีความผิดต่อพระกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยอดรวมใน 14 เรือนจำและทัณฑสถาน ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 - ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวน, พิจารณา จำนวน 64 คน - ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา จำนวน 21 คน - ผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด จำนวน 20 คน คงเหลือรวมทั้งสิ้น จำนวน 105 คน Ø จัดให้มีโครงการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Hearing) ในแต่ละประเด็นของทุกเหตุการณ์ Ø การเยียวยา ฟื้นฟูเหยื่อ ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด , ลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกคุมขัง , เยี่ยมเจ้าหน้าที่กองทัพเรือและกองทัพบก, จัดตั้งศูนย์ประสานงานเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ Ø จัดจ้างที่ปรึกษา (TOR) โครงการปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและแนวทางสู่ความปรองดอง: ศึกษาเฉพาะกรณีจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน, การปฏิรูปองค์การด้านความมั่นคง, มิติสังคมและวัฒนธรรมของความรุนแรงทางการเมืองไทยและแนวทางแก้ไข, การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ขอบเขตการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย, รากเหง้าของความขัดแย้งสู่ทางออกเพื่อความปรองดอง
ข้อเสนอแนะ คล้ายรายงานครั้งที่ 1 ข้อเสนอแนะโดยสรุปมีดังนี้ Ø รัฐบาลต้องยึดหลักนิติธรรม , ตรวจสอบว่าเจ้าพนักงานปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด , ให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ , ตรวจสอบและผลักดันให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อได้รับการพิจารณาวินิจฉัยอย่างเท่าเทียมกัน Ø เรียกร้องทุกฝ่ายระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการกระทำการใดๆ ซึ่งอาจเป็นการกระทบกระเทือนถึงบรรยากาศในการปรองดอง Ø ความผิดที่มีมูลฐานเริ่มต้นจากความคิดเห็นในทางการเมือง มีความเห็นว่าการดำเนินคดีอาญาในคดีความผิด -พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ควรดำเนินการดังนี้ 1. ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ 2. ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยสามารถต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ รัฐบาลควรจะจัดหาหลักประกันให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้ อนึ่ง พึงตระหนักว่าการถูกตั้งข้อหาร้ายแรงนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราว 3. เนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุทางการเมือง หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต 4. สมควรขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญาเหล่านี้ไว้ โดยยังไม่พิจารณานำคดีขึ้นสู่ศาล โดยรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ในระหว่างศึกษาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) 5. รัฐบาลต้องดำเนินการในเรื่องการเยียวยาอย่างรวดเร็วและจริงจัง ครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงก่อนและหลังรัฐประหาร ทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่ ชุมชนและย่านการค้าที่กระทบ รวมถึงผู้ต้องขัง กรณีที่ศาลยกฟ้องต้องมีการจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสม
ให้น้ำหนักกับปัญหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คอป. แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ค่อนข้างมากเห็นได้จากรายละเอียดที่นำเสนอ (แต่ไม่เห็นจากการรายงานข่าว) เนื่องจากการฟ้องคดีเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ อีกทั้งยังเห็นว่าการดำเนินคดีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขณะที่ต่างชาติก็จับตามองและติดตามสถานการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงขอให้ดำเนินการดังนี้ 1. ทุกฝ่ายยุติการอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง 2. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ มีกลไกที่สามารถ 3. กำหนดนโยบายในทางอาญาที่เหมาะสม สามารถจำแนกลักษณะของคดีโดยพิจารณาจากความหนักเบาของพฤติกรรม เจตนา แรงจูงใจในการกระทำ สถานภาพของบุคคลที่กระทำ และบริบทโดยรวมของสถานการณ์ที่นำไปสู่การกระทำ 4. อัยการควรให้ความสำคัญกับแนวทางการสั่งคดีโดยใช้ดุลพินิจ (OpportunityPrinciple) ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการอันเป็นสากล แม้ว่าคดีมีหลักฐานเพียงพอในการสั่งฟ้อง แต่อัยการต้องให้ความสำคัญกับการชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลดีผลเสียในการดำเนินคดีด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์สูงสุดในการปกป้องและถวายพระเกียรติยศที่เหมาะสมแด่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ อันเป็นแนวทางที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น 5. รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากข้อหาที่ร้ายแรงมิได้เป็นเหตุตามกฎหมายที่ทำให้ไม่ได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ดังที่ศาลได้อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวในคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าอัตราโทษในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น 6. รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนการดำเนินคดีที่นำเอาประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง อาทิเช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ "ล้มเจ้า" ซึ่งอาจมีการตีความกฎหมายที่กว้างขวางจนเกินไปและอาจส่งผลต่อความปรองดองในชาติ และไม่เป็นผลดีต่อการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีต่อไปจะต้องมีการพิจารณาโดยมีพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเฉพาะบุคคลที่ชัดเจนที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม 7. รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ การวิเคราะห์ปัญหาสั่งสมยาวนาน ย้ำเริ่มต้นที่พิษ “ซุกหุ้น” ส่วนสุดท้ายของรายงาน เป็นส่วนที่ได้รับการหยิบยกไปเป็นข่าวมากที่สุด เนื่องจากมีการให้น้ำหนักและบรรยายถึง “จุดเริ่มต้น” ของการละเมิดหลักนิติธรรมในปี 2547 ในคดี “ซุกหุ้น” ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยในตอนต้นรายงานได้สรุปว่าจากการทำงานที่ผ่านมากว่าปี คอป.เห็นว่าความรุนแรงในปี 53 เป็นผลของเหตุการณ์ต่างๆ สืบเนื่องการ โดยไล่เรียงสถานการณ์สำคัญ อาทิ การปฏิรูปการเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 40 , การคอรัปชั่นเชิงนโยบายสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, การก่อเกิดของพันธมิตรฯ, การไม่ลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์, การประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ, การก่อเกิดของ นปก., การยึดสนามบิน, การรัฐประหาร จากนั้นจึงขยายความโดยละเอียดถึงการละเมิดหลักนิติธรรมในการตัดสินคดี “ซุกหุ้น” โดยอธิบายว่าตุลาการรัฐธรรมนูญกระทำการผิดหลักกฎหมายอย่างไร และย้ำว่า ตั้งแต่นั้นมารัฐยังละเลยและไม่ได้เข้าไปตรวจสอบถึงรากเหง้าของความไม่ชอบมาพากลหรือความที่น่ากังขาของเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนั้น คอป. จึงขอเสนอแนะให้รัฐและสังคมได้ตรวจสอบการยึดถือปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||
สร้างพื้นที่เจรจาสันติภาพ อีกบทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้ Posted: 12 Dec 2011 09:09 AM PST เป็นที่ถกเถียงกันในการประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ครั้งที่ 3/2554 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 เกี่ยวกับการเจรจาพูดคุยสันติภาพ (peace dialogue) ซึ่งเป็นการหยุดความรุนแรงทางตรง โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเจรจาระหว่างกับคู่ขัดแย้งในพื้นที่อย่างสันติวิธี นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ คณะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการเจรจาพูดคุยสันติภาพว่า เป็นนโยบายหนึ่งของภาคประชาสังคม ซึ่งหวังให้การเจรจาพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเรียนรู้ประเทศที่เกิดความขัดแย้ง ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย แคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ประเทศปากีสถาน หรือแม้กระทั่งประเทศอังกฤษ ก็ยังมีกองกำลังไออาร์เอต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลกลาง สุดท้ายต่างก็จบลงด้วยการเจรจาทั้งสิ้น ความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ก็เช่นกัน ถ้าไม่สนใจตั้งวงเจรจาสร้างสันติภาพ เหตุการณ์ก็จะรุนแรงจนหาข้อยุติไม่ได้ ที่ผ่านมา ถึงรัฐบาลจะไม่มีนโยบายที่จะเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ก็มีการพูดคุยกันระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาแล้วหลายรอบ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สภาความมั่นคงแห่งชาติเปิดเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ปีนัง ประเทศมาแลเซีย และที่อินโดนีเซีย อย่างไม่เป็นทางการ ล่าสุด ประมาณเดือนกันยายน 2554 ก็มีการพบปะกันอยู่ แต่ก็ยังเป็นการพูดคุยกันธรรมดา ที่ประเทศมาเลเซีย โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติเจ้าเดิม เนื่องเพราะรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะเปิดวงเจรจา การพูดคุยครั้งนี้จึงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเช่นเคย กระทั่งภายในหน่วยงานความมั่นคงเอง ก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะกำหนดนโยบายไปคนละทิศคนละทาง ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไม่อยากให้มีการเจรจา เพราะมองว่าหากตั้งโต๊ะเจรจา เท่ากับเป็นการยกระดับฝ่ายขบวนการขึ้นมา จนนำไปสู่การร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติก็แอบไปตั้งวงพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่เป็นระยะ ถ้าจะเลือกเส้นทางการเจรจา รัฐบาลจะต้องคุยกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน เพราะในความเป็นจริงสองหน่วยงานนี้ มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงเหนือกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่สามารถอะไรได้เลย ถ้ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกับสภาความมั่นคงแห่งชาติไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ พยายามพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงบ้างแล้ว เห็นได้จากการประชุมร่วมระหว่างสภาประชาสังคมชายแดนใต้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ สำหรับประเด็นที่กังวลกันอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่รัฐจะเจรจาด้วย เป็นผู้นำตัวจริงหรือตัวปลอม นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ มองว่า ประเด็นนี้ไม่เป็นปัญหา ต่างฝ่ายต่างรู้อยู่ว่าใครเป็นตัวจริง เนื่องจากสามารถสืบหาข้อมูลและที่มาของบุคคลเหล่านี้ได้ ภาคประชาชนมีพลังที่จะสร้างพื้นที่การเจรจาได้อย่างไร เป็นอีกหนึ่งคำถามในที่ประชุม ซึ่งนายอับดุลอาซิซ ตาเออินทร์ มองว่า องค์กรที่สามารถดึงเข้ามาอยู่ในส่วนกระบวนการเจรจาได้นั้น ต้องเป็นองค์กรที่ได้การยอมรับจากทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ โดยต้องไปเจรจาในประเทศที่มีความเป็นกลางมากที่สุด เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ประเทศมาเลเซีย หรือประเทศอินโดนีเซีย ที่ผ่านมา บางประเทศต้องใช้ระยะเวลาถึงสิบปีในการเจรจา นั่นหมายถึงว่าภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งต้องจะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องอดทนรอ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งจะจบลงด้วยการเจรจาอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้คือ เนื้อหาในการพูดคุยประเด็นการเจรจาสู่สันติภาพ ระหว่างรัฐไทยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในที่ประชุมคณะกรรมการการสภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้ จากคำบอกเล่าของนายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
นักศึกษาอินโดนีเซียพลีชีพ จุดไฟเผาตัวเองประท้วงรัฐ Posted: 12 Dec 2011 08:35 AM PST
สำนักข่าวจาการ์ตา โกลบอล ประเทศอินโดนีเซีย รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 นายซนดัง ฮูตาฆาลุง อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ได้ราดน้ำมันเบนซินทั่วร่างกาย จากนั้นจุดไฟเผาตัวเอง แล้ววิ่งไปยังป้ายรูปของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายซูซีโล่ บัมบัง ยุดโดโยโน่ ก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยร่างกายถูกไฟไหม้กว่าร้อยละ 98 นับเป็นครั้งแรกที่เกิดกรณีเผาตัวตายประท้วงรัฐบาล ในประเทศอินโดนีเซีย ผู้อยู่ในเหตุการณ์รายหนึ่ง เปิดเผยผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวจาการ์ตา โกลบอลว่า ก่อนจุดไฟเผาตัวเอง ผู้ก่อเหตุได้ตะโกนคำกล่าวต่อต้านรัฐบาลด้วย “ตอนนี้ เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมผู้ตายจึงจุดไฟเผาตัวเอง เราจะสืบสวนต่อไป” พ.ต.อ.อังเกสต้า โรมาโน่ โยโยล โฆษกตำรวจอินโดนีเซีย กล่าว ขณะที่บาฮารุดิน จาฟาร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนาย เปิดเผยว่า ยังไม่สามารถตรวจสอบถึงแรงจูงใจในการกระทำดังกล่าวได้ ตำรวจเห็นนายซนดังครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 ขณะเข้าร่วมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีการตายของนายมูนิร ธาลิบ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรม ที่ถูกลอบวางยาพิษเสียชีวิต ระหว่างเดินทางบนเครื่องบินของสายการบินการูด้า แอร์ไลน์ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
สนนท.-แนวร่วม ค้าน ม.นอกระบบ ย้ำบทเรียนที่เห็นส่งผลกระทบ นศ.โดยตรง Posted: 12 Dec 2011 08:29 AM PST สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึ 12 ธันวาคม 2554 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แถลงการณ์ เรื่อง การแปรรูปมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) ระบุ เมื่อมหาวิทยาลัยถูกทำให้ออกนอกการควบคุมของรัฐแล้วใครจะเป็นคนขัดเกลาพลเมืองของรัฐ คงเหลือแต่เงินตราที่เป็นตัวชี้ทางให้กับสังคมเท่านั้น เรียกร้องให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และทำประชามติ และสร้างหลักประกันว่าจะไม่ผลักภาระให้กับผู้เรียนในทุกๆ ด้าน และมหาวิทยาลัยต้องแสดงความโปร่งใสในการบริหารงาน ระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุด รัฐจึงต้องมีหน้าที่สนับสนุน ด้านกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึ แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) การแปรรูปมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการหรือที่เรียกง่ายๆว่า “ม.นอกระบบ” นั้นเป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจของวงการการศึกษา เมื่อผู้ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยออกนอกรระบบผลิตชุดความคิดที่ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว จะมีคุณภาพที่ดีกว่าการอยู่ในการควบคุมของรัฐ ทั้งในด้านความคล่องตัวในการบริหารจัดการและคุณภาพการศึกษา อาจลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และมหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่ถูกป้อนเข้าสู่สังคมให้เกิดการเชื่อและคิดตามว่า การเปลี่ยนให้เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้นดีกว่าการอยู่ในระบบที่ควบคุมโดยรัฐ ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า เมื่อรัฐสมัยใหม่ถูกสถาปนาให้ทำหน้าที่ดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยต่อพลเมืองในรัฐ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้รัฐมีความมั่นคงคือ พื้นฐานทางการศึกษาของพลเมือง แต่รัฐกลับไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ รัฐกลับตอบสนองความต้องการทางด้านการเงินกลับกลุ่มทุนเพียงอย่างเดียว โดยการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ดังนั้น เราจะมีรัฐทำไม เพื่ออะไร และเราได้รับอะไรจากรัฐ? เมื่อการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับมนุษย์ เป็นหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม(socialization)ที่รัฐต้องให้กับสังคม แต่เมื่อมหาวิทยาลัยถูกทำให้ออกนอกการควบคุมของรัฐแล้วใครจะเป็นคนขัดเกลาพลเมืองของรัฐ คงเหลือแต่เงินตราที่เป็นตัวชี้ทางให้กับสังคมเท่านั้นหรือ จากข้างต้น จึงขอแจกแจงสภาพปัญหาของมหาวิทยาลัยนอกระบบเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้ 1.ปัญหาความไม่เท่าเทียม และการเพิ่มค่าเทอม เมื่อระบบการศึกษาถูกกำหนดด้วยเงินตราแล้ว ความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาคงยากที่จะได้เห็น และเมื่อค่าเล่าเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นลิ่บลิว ตัดโอกาสทางการศึกษาผู้ที่มีรายได้น้อยทางอ้อม แม้จะมีสมองคิดเหมือนๆกันแต่โอกาสที่จะได้เรียนที่ดีๆต่างกัน การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยจะสูบบุคลากรของชาติเข้าสู่ระบบโรงงานผลิตความรู้และสร้างเครื่องจักรที่เรียกว่ามนุษย์เข้าสู่ระบบตลาดเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยจะสามารถมีอิสระในการบริหารจัดการ สามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ตามมาคือ การปิดตัวลงของคณะหรือหลักสูตรที่ไม่คุ้มทุนในการสอน เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ที่มีค่าอุปกรณ์ที่แพงแต่ความต้องการของตลาดแรงงานกลับน้อยลงเท่ากับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มทุน คณะเหล่านี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องปิดตัวลงไป 2.ปัญหาความไม่โปร่งใสของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาต้องจ่ายให้กับมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและทำการบริหารโดยอยู่ในสถานะที่เกือบเทียบเท่ากับองค์กรเอกชนแล้ว เราจะไม่สามารถทราบถึงความไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการเงินที่นักศึกษาจ่ายไปได้เลย เราไม่สามารถทราบได้ว่าเงินที่ได้มาจากนักศึกษานั้นทางมหาวิทยาลัยใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้มิใช่เพียงความโปร่งใสทางด้านการเงินอย่างเดียว แต่ทางด้านบุคลากรที่จะเกิดระบบฝาก ยัด หรือติดสินบนในการรับบุคลากร หรือไล่บุคลากรออก มากขึ้น ฝ่ายบริหารจะมีสถานะที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างเด็ดขาดโดยที่ไม่ต้องมีหลักการหรือข้อบังคับใดๆ ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก 3.ปัญหารัฐสวัสดิการที่เรายังได้ไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ หลักการของรัฐสวัสดิการคือ รัฐบาลต้องดูแลประชาชนในทุกๆด้าน ครอบคลุมทั้งทางด้านสาธารณสุข คมนาคม การศึกษา ฯลฯ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา ที่รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลและรับภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศในยุโรป ทั้งนี้ในประเทศไทย รัฐมิได้มีสวัสดิการทางด้านการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ และยังด้อยคุณภาพอีกด้วย เห็นได้ชัดว่ารัฐมิได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชนอย่างจริงจังแต่อย่างใด จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) จึงมีข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆฝ่าย ดังต่อไปนี้ 1. ควรมีการทำประชามติถึงข้อดี-ข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และผลักดันให้มีเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์และรวบรวมข้อเสนอ แนวทาง ปัญหาต่างๆอย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ตามหลักประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารต้องฟังเสียงของนักศึกษาและรับฟังความเดือดร้อนและผลกระทบของนักศึกษาอย่างรอบด้านและปราศจากอคติ 2. มหาวิทยาลัยควรมีหลักประกันในการที่จะไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้เรียนในทุกๆ ด้าน และมหาวิทยาลัยต้องแสดงความโปร่งใสในการบริหารงาน ทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์เรียน ฯลฯ เพราะการผลักภาระค่าใช้จ่ายโดยการขึ้นค่าเทอม ค่าอุปกรณ์ ค่าอื่นๆ เป็นเสมือนการคัดคนเข้าเรียนไปในตัวว่าต้องมีเงินเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าเรียนได้ ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่า และเรื่องความโปร่งใส มหาวิทยาลัยต้องแจกแจกค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนักศึกษาให้สามารถตรวจสอบการทำงานและการบริหารด้านการเงินภายในของมหาวิทยาลัยได้ว่าเกิดประโยชน์สูงสุดเพียงใด 3. เมื่อประชาชนเป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ในการบริหารจัดการประเทศให้เจริญ ระบบการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุด รัฐต้องสนับสนุนทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนถึงตายโดยเฉพาะด้านการศึกษา ไม่ควรเป็นการผลักภาระด้านการศึกษาให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งบริหารจัดการ การศึกษาต้องเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้กับประชาชน การศึกษาต้องเข้าถึงประชาชน ทั้งนี้อย่าถามเราเลยว่ารัฐบาลจะสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากมายมหาศาลนี้ได้เช่นไร เพียงแค่ลดงบประมาณจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงไอซีที หรือกระทรวงอื่นๆที่ไม่จำเป็นในการพัฒนาประเทศซ้ำยังทำหน้าที่ฉุดรั้งสังคมด้วยการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในการทำสงครามเข่นฆ่าประชาชน ตีกรอบศีลธรรมอันคับแคบให้ประชาชน หรือปิดปากปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดลงไปบ้าง แล้วให้ความสำคัญกับการศึกษาที่จะเพิ่มคุณภาพความคิด ความรู้ ความสามารถให้กับประชาชนในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันมิใช่ดูแลนายทุนหรือกลุ่มอำมาตย์เพียงกลุ่มเดียว เราขอร่วมเดินต่อสู้เคียงข้างพี่น้องนิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและของพี่น้องนิสิตนักศึกษาเป็นสำคัญ ด้วยจิตคารวะ 0 0 0 แถลงการณ์ “ตราบใดที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ จะไม่มีการนำมหาวิทยาลัยใดๆออกนอกระบบเป็นอันขาด” เป็นคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ซึ่งประกาศชัดเจนต่อหน้านักศึกษา แต่ผ่านไปไม่กี่เดือน รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) นายสุเมธ แย้มนุ่น ได้เผยยืนยันความพร้อมในการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยของรัฐ 4 แห่ง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งความจริงที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคือความรีบเร่งในการนำมหาวิทยาลัยทุกที่ในประเทศออกนอกระบบ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยไม่สนใจในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ใช้แต่ชุดความคิดที่ฟังแล้วดูดีต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและคุณภาพของการศึกษาที่ดีขึ้น เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอีกทั้งมหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ซึ่งคำถามสำคัญคือ รัฐไม่สามารถที่จะตอบสนองเรื่องการศึกษาได้ใช่หรือไม่ จนต้องปล่อยให้มหาวิทยาลัยบริหารควบคุมดูแลเองโดยกลุ่มผู้บริหารเพียงกลุ่มเดียว แต่หากมองความเป็นจริงที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งได้ติดตามและเฝ้าระวังการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบร่วมกันวิเคราะห์แล้วกลับพบว่า จะส่งผลกระทบต่อตัวนักศึกษาโดยตรงและเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่กล่าวอ้างทั้งสิ้น ทั้งด้านที่มาและความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย ดังนี้ 1. ด้านที่มา พบว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อความมีตัวตนของรัฐ เมื่อรัฐมีไว้เพื่อรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของพลเมือง และหนึ่งในการทำให้รัฐมีความมั่นคงและความปลอดภัยคือพื้นฐานทางการศึกษาของพลเมือง หากปล่อยให้การศึกษาไร้การควบคุมโดยรัฐแล้ว จะรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติได้อย่างไร ประเทศอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยพลเมืองที่มีคุณภาพในประเทศ หากประเทศไร้ซึ่งพลเมืองที่มีคุณภาพทางการศึกษาแล้วประเทศคงล้มสลายมลายหายไป หรือเรียกได้ว่ารัฐอ่อนแอ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็เปรียบเสมือนการทำลายรัฐเพราะการศึกษาเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ สุดท้ายมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นโรงงานผลิตพลเมืองสำหรับป้อนเข้าสู่ระบบตลาดโรงงานไปในที่สุด 2. ด้านความชอบธรรม พบว่าในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นไม่ได้เป็นไปตามถ้อยคำที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการทำตามระเบียบขั้นตอน การนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ การร่างพระราชบัญญัติ การเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ที่ไม่มีการยึดโยงกับนักศึกษาเลย ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งนักศึกษาและอาจารย์ แต่เป็นการตัดสินใจโดยคณะกรรมการบริหารของมหาวิทยาลัยแต่เพียงกลุ่มเดียว ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงประสบอุทกภัยในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยที่ สกอ.มีการเสนอสอบถามความพร้อมในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ส่งเรื่องกลับไปให้ สกอ.ว่ามีความพร้อมในการออกนอกระบบ ทั้งๆที่ในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังประสบอุทกภัย ดังนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการทำประชาวิจารย์กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นประชากรกลุ่มมากในมหาวิทยาลัย จากสภาพดังกล่าวได้นำมาสู่ปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปจากมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านความไม่เท่าเทียมของการศึกษา เนื่องด้วยการศึกษาไม่ได้คัดคนเข้าศึกษาที่ความสามารถแต่เป็นการคัดคนเข้าศึกษาโดยความรวย-ความจน ด้วยมีการเพิ่มค่าเทอม อันเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของผู้ที่มีรายได้น้อยไปโดยปริยาย เช่นมหาวิทยาลัยบูรพาที่ออกนอกระบบไปในปี 50 คณะเภสัชศาสตร์ได้เพิ่มค่าเทอมแบบเหมาจ่าย กว่า 40,000 บาท ซึ่งแพงมากเมื่อเทียบกับค่าเทอมของมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ออกนอกระบบ และปัญหาด้านความไม่โปรงใสของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาต้องจ่ายให้กับมหาวิทยาลัยในการบริหารจัดการของผู้บริหารว่าเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากน้อยเพียงใดต่อตัวนักศึกษาเอง จากสภาพปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยดังกล่าว กลุ่มนักศึกษาหลากมหาวิทยาลัยที่เฝ้าระวังและติดตามการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยจึงได้ศึกษาร่วมกันถึงข้อดี-ข้อเสีย มีข้อเสนอต่อสังคมและผู้มีอำนาจ ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยทุกที่ออกนอกระบบ จนกว่าจะมีการศึกษาจากหลายๆ ฝ่ายว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรและร่วมกันหาทางออกสำหรับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้บริหาร ฝ่ายคณาจารย์และฝ่ายนักศึกษาและประชาชนผู้เสียภาษีให้กับรัฐ 2. ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้เป็นที่รับรู้ต่อคนทั่วไปโดยเฉพาะนักศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด 3. ข้อให้มีการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในทุกขั้นตอนจากนักศึกษาและประชาชนอย่างทั่วถึง หยุดการแปรรูปมหาวิทยาลัยบนคราบน้ำตาประชาชน ด้วยจิตคารวะ
1.เครือข่ายนักศึกษาสี่ภาค
2.สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)
3.กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
4.เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านม.นอกระบบ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
5.เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาไม่เอาม.นอกระบบ
6.กลุ่มแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
7.กลุ่มปูกฮัก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
8.กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา
9.กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10.กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
11.ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง
12.กลุ่มประกายไฟ
13.กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
14.ชมรมฅนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยสารคาม
15.กลุ่มอาสากลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
16.กลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
17.กลุ่มเพื่อนวันสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
18.ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา ม.ขอนแก่น
19.กลุ่มเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยสารคาม
20.ชมรมมหาวิทยาลัย-ชาวบ้านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
21.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดอุดรธานี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ฮิลลารี คลินตัน, ฤาเธอจะเป็นนารีขี่ม้าขาว? Posted: 12 Dec 2011 08:03 AM PST หมายเหตุ ผู้เขียนขอใช้คำว่า “เมียนมาร์” แทน “เบอร์มาร์” ในบทความนี้ เป็นความเห็นส่วนบุคคล จะขออธิบายในบทความอีกบทความหนึ่งที่จะเขียนขึ้นในเร็ว ๆ นี้
การเดินทางเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ทุกเล่ม และเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง คลินตันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯคนแรกในรอบ 56 ปีที่เยือนเมียนมาร์ ทำให้ชื่อของประเทศยากจนที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างเมียนมาร์กลับมาปรากฎต่อสายตาผู้เสพสื่ออย่างเราๆ ท่านๆ อีกครั้งหลังจากที่ชื่อของประเทศนี้ถูกทำให้เลือนหายไปในความทรงจำมาเนิ่นนานนับตั้งแต่รัฐบาลทหารเมียนมาร์เริ่มปิดประเทศมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 บทบาทของฮิลลารี คลินตัน กับท่าทีที่ค่อนข้างผ่อนคลายของรัฐบาลเมียนมาร์ต่อรัฐบาลสหรัฐฯอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในครั้งนี้อาจทำให้สาธารณชนประหลาดใจ แต่ “ไม่พลิกโผ” สำหรับนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองและประวัติศาสตร์เมียนมาร์ นอกจากการเยือนเมียนมาร์ของหญิงเหล็กอย่างคลินตันจะเป็นประเด็นร้อนในหมู่ผู้บริโภคสื่อทั่วไป ประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ปรมาจารย์ด้านเมียนมาร์ศึกษา (อันหมายรวมถึงทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมวิทยา ฯลฯ) หลายคนต้องออกโรงวิจารณ์ประเด็นนี้ในสื่อหลายแขนง ทั้งในรูปแบบของบทความในหนังสือพิมพ์ชั้นนำ หรือบทวิจารณ์ในเว็บไซต์ต่าง ๆ อันเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก โรเบิร์ต เอช เทเลอร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อสายอเมริกันที่คลุกคลีในวงการวิชาการการเมืองเมียนมาร์มาอย่างยาวนานกว่านักวิชาการคนอื่น ๆ ทั้งยังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลเมียนมาร์ เขียนบทความที่น่าสนใจชื่อว่า “US commentary misguided” ลงหนังสือพิมพ์ Strait Times ในบทความชิ้นนี้ เทเลอร์วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯที่มีต่อเมียนมาร์ (และกับประเทศขนาดเล็กอื่น ๆ) อย่างหนัก เขาเห็นว่า ท่าทีของสหรัฐฯที่เน้นประเด็นเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยในเมียนมาร์เป็นพิเศษ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการกันเมียนมาร์ออกจากใต้ร่มอิทธิพลของจีนนั้นเป็นเรื่องที่ชวนให้ขบคิดอย่างมาก[1] หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการในปีเดียวกับที่สงครามเวียดนามปะทุขึ้น เหตุผลหลักและเหตุผลเดียวที่ทำให้ฟอสเตอร์ ดัลเลสจำเป็นต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์กับเมียนมาร์และให้ความสำคัญกับเมียนมาร์เป็นพิเศษทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีชาวอเมริกันน้อยคนที่รู้จักประเทศนี้คือ สหรัฐฯมีความจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อโน้มน้าวให้เมียนมาร์เข้าร่วมสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน โดยหวังว่า เมียนมาร์จะเชื่อมั่นการเป็นผู้นำฝ่ายเสรีประชาธิปไตยของสหรัฐฯและยอมเซ็นสนธิสัญญาซีโต (SEATO – Southeast Asia Treaty Organization) ตามไทยและฟิลิปปินส์ เทเลอร์จึงเห็นว่า การเยือนกรุงย่างกุ้งและกรุงเนปยีด่อของคลินตันในครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้นที่แทบจะไม่แตกต่างจากการเยือนเมียนมาร์ของ ดัลเลสในปี 1955 เทเลอร์เชื่อมั่นว่า จุดประสงค์การเยือนเมียนมาร์ในครั้งนี้ของคลินตัน ไม่ได้มีจุดหมายปลายทางอยู่แต่กับเมียนมาร์เท่านั้น แต่สหรัฐฯยังต้องการแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่า สหรัฐฯยังเป็น “เพื่อน” และเป็น “ที่พึ่ง” ให้กับเอเซียได้อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง การเยือนเมียนมาร์ของทั้งดัลเลสและคลินตันถูกทำให้กลายเป็น “ความสำเร็จ” ก้าวใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและเมียนมาร์ แต่เทเลอร์ได้เตือนให้เราคิดว่า ในอันที่จริงการที่รัฐบาลสหรัฐฯจะตัดสินใจเป็นมิตรหรือศัตรูกับรัฐบาลเมียนมาร์แทบไม่เกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองของเมียนมาร์เลย เมื่อนายพลเนวินเยือนสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ปี 1966 ทั้งเมียนมาร์และสหรัฐฯต่างฝ่ายต่างไม่มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องใด ๆ ทำให้นายพลเนวินกลับเมียนมาร์มือเปล่า และด้วยความที่เมียนมาร์รักษาสถานะความเป็นกลางในช่วงสงครามเย็น ทำให้สหรัฐฯเองก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากฝ่ายเมียนมาร์ได้อีก การเยือนเมียนมาร์ของคลินตันในครั้งนี้ ถ้าดูให้ดี ๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากการเยือนสหรัฐฯของนายพลเนวินเมื่อ 45 ปีก่อนเท่าใดนัก เหตุการณ์ที่ติดตราตรึงใจผู้ติดตามข่าวนี้ ไม่ใช่การพบปะหารือระหว่างคลินตันกับประธานาธิบดีเตงเส่ง ณ กรุงเนปยีด่อ แต่เป็นการพบกันครั้งแรกของสตรี 2 คนที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า เป็นสตรีที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการเมือง ช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงสองวันกับอองซานซุจี แสดงให้เห็นว่า ทีมงานของคลินตันทั้งที่วอชิงตันดีซีและในย่างกุ้ง (สถานเอกอัครทูตสหรัฐฯประจำเมียนมาร์ก็แทบจะอยู่ติดกับรั้วบ้านพักของอองซานซุจี) ทำงานอย่างหนัก เพราะแม้ว่าคลินตันจะอภิปรายประเด็นการเมืองหนัก ๆ ทั้งกับอองซานซุจีและกับประธานาธิบดีเตงเส่ง แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าฝ่ายเมียนมาร์จะรู้สึกอึดอัด แม้แต่กระบอกเสียงที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลเมียนมาร์อย่างหนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar (เมียนมาร์อะลิ่ง) ก็พูดถึงการเข้าคารวะอองซานซุจีของนางคลินตัน [2] ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ในสมัยรัฐบาลทหาร ชื่อของอองซานซุจี ถือเป็นชื่อต้องห้ามที่ไม่มีสื่อใดกล้าพูดถึงเลยนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 สำหรับเทเลอร์ การพบกันของสตรีทั้งสองดูเหมือนจะไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับเขา เทเลอร์ลงท้ายบทความของเขาด้วยคำพูดที่อาจจะทำให้นักเรียกร้องประชาธิปไตยหลาย ๆ คนอาจต้องผิดหวัง เขากล่าวไว้ว่า “นางคลินตันจะมีโอกาสถ่ายรูปร่วมกับอองซานซูจี แต่อองซานซูจีคงจะจำได้ว่า การพบปะสนทนาที่มีใจความเกี่ยวกับเธอและความสำคัญของประชาธิปไตยในประเทศที่ชาวอเมริกันยังคงยืนกรานจะเรียกว่าเบอร์ม่า (Burma) ทั้งเธอและเบอร์ม่าหรือเมียนมาร์ไม่ได้อยู่ในความทรงจำของทั้งประธานาธิบดีบิล คลินตัน และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชอีกต่อไปแล้ว แมเดอลีน อัลไบรท์เป็นข้าราชการชั้นสูงสหรัฐฯคนสุดท้ายที่ได้ถ่ายรูปกับ ‘คุณหญิง’ (‘The Lady’ - เป็นชื่อเรียกที่หลายคนโดยเฉพาะสื่อต่างชาติใช้เรียกเพื่อแสดงความยกย่องอองซานซุจี – ผู้เขียน) แต่ว่าใครยังจำอัลไบรท์ได้ในทุกวันนี้ล่ะ?” ความเห็นของเทเลอร์เป็นความเห็นที่ออกจะเอียงไปในทางสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาร์ เพราะเขาเป็นนักวิชาการตะวันตกในสายรัฐศาสตร์หนึ่งในสองคน (เท่าที่ผู้เขียนทราบ) ที่มีสายสัมพันธ์ขั้นดีมากกับรัฐบาลเมียนมาร์ แต่สำหรับนักวิชาการที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเมียนมาร์โดยสิ้นเชิงอย่าง เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักวิชาการ-นักหนังสือพิมพ์ชาวสวีเดน (ลินท์เนอร์อยู่ในบัญชีดำที่ห้ามเข้าประเทศเมียนมาร์) ที่คร่ำหวอดในวงการศึกษา “คนชายขอบ” หลาย ๆ กลุ่มตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ก็จะมีความเห็นที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ความเห็นของลินท์เนอร์ ปรากฎในเวบไซท์ของนิตยสาร Foreign Policy โดยใช้หัวเรื่องว่า ‘Realpolitik and the Myanmar Spring’[3] ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนเริ่มนำนโยบายปฏิรูปของเมียนมาร์ไปเปรียบเทียบกับนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสทรอยกาของโซเวียต และถึงกับเริ่มเรียกประธานาธิบดีเตงเส่งว่า “กอบาชอฟแห่งเมียนมาร์” ด้วยนโยบายการเมืองและการต่างประเทศที่ดู “ซอฟท์” ลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับในรัฐบาลนายพลตานฉ่วยก่อนหน้านี้ ‘การปฏิรูปทางการเมือง’ ดังกล่าวเห็นได้จากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี การปล่อยตัวอองซานซุจี การปล่อยนักโทษการเมืองหลายคน หรือแม้แต่การที่รัฐบาลเมียนมาร์แสดงเจตจำนงที่จะปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เราสามารถเชื่อได้เพียงใดว่า รัฐบาลเมียนมาร์มีความจริงใจอย่างแท้จริง? ลึก ๆ แล้วการเยือนเมียนมาร์ของคลินตันครั้งนี้ก็คงมาจากความสงสัยหรือความหวาดระแวงเมียนมาร์ตรงจุดนี้มากกว่าเรื่องอื่น แต่ลินท์เนอร์กลับมองการเยือนเมียนมาร์ของบุคคลสำคัญในรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาในครั้งนี้ว่า เต็มไปด้วยวาระซ่อนเร้นที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ (ทั้งลับและไม่ลับ) ของเมียนมาร์ กับจีน และเกาหลีเหนือ สำหรับจีน การคว่ำบาตรที่โลกตะวันตกมีต่อเมียนมาร์ นับตั้งแต่เหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดที่รู้จักกันในนาม 8888 ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 เป็นโอกาสที่ดีของจีนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับโลกเสรีตะวันตกอยู่แล้วในการขยายแผนการลงทุนในเมียนมาร์ ส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุนานาชนิดที่ยังมีอยู่เหลือเฟือในเมียนมาร์ อีกส่วนหนึ่ง เพราะจีนเล็งเห็นโอกาสด้านการส่งออกในเมียนมาร์ ลินท์เนอร์อ้างข้อเขียนของนาย Pan Qi อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสารของจีน ชื่อเรื่องว่า ‘Opening to the Southwest: An Expert Opinion’ ที่เขียนมาตั้งแต่ปี 1985 ลินท์เนอร์อ้างว่า ข้อเขียนชิ้นที่ปรากฎในนิตยสาร Beijjing Review ถือเป็นการเริ่มต้นนโยบายต่างประเทศสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทางการค้าและการทหารระหว่างจีนกับเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ การลงทุนและมูลค่าการส่งออกมหาศาลไหลจากจีนไปสู่เมียนมาร์ ลินท์เนอร์อ้างว่า ในระหว่างปี 1988 ถึง 1998 มูลค่าการส่งออกอาวุธที่จีนขายให้กับเมียนมาร์มีมูลค่าสูงถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเมียนมาร์เป็นไปในลักษณะ “วิน-วินซิตูเอชั่น” มาตลอดต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้จีนได้สัมปทานการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่จะเชื่อมอ่าวเบงกอล (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ ในเขตรัฐยะไข่) กับเมืองคุนหมิงในมณฑลยุนนานของจีน ด้านเมียนมาร์ก็ได้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลราว 4,000 ล้านดอลลาร์เพื่อนำไปใช้ลงทุนหลัก ๆ เช่น ในโครงการสร้างเขื่อน ซึ่งพลังงานที่ได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะถูกส่งกลับไปยังจีน นโยบายแลไปข้างหน้าด้วยกันของทั้งจีนกับเมียนมาร์ได้แสดงให้โลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯอเมริกา (ส่วนชาติต่าง ๆ ในยุโรปคงห่วงแต่สถานภาพทางการเงินของตนเองก่อนในขณะนี้) ต้องเริ่มหันกลับมาทบทวนนโยบายต่างประเทศของตน ไม่ใช่แต่เฉพาะกับเมียนมาร์ แต่กับจีนและชาติอื่น ๆ ในอาเซียนที่ต่างได้ผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของเมียนมาร์ทั้งสิ้น แม้ความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเมียนมาร์จะดูดี แต่คงจะไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า ในโลกแห่งผลประโยชน์และการเมืองระหว่างประเทศย่อมไม่มีมิตรรักและศัตรูถาวร เมียนมาร์เองก็มิได้พอใจกับบทบาทและอิทธิพลของจีนที่มีอยู่ล้นเหลือในประเทศของตนสักเท่าใดนัก การผลักดันชาวจีนที่ไหลทะลักเข้ามายังทางตอนเหนือของเมียนมาร์กลับประเทศ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เมียนมาร์เริ่มบาดหมางกับจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่มาเห็นได้ชัดขึ้น เมื่อนายพลขิ่นยุ้น นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่เป็นกระบอกเสียงใหญ่ให้กับรัฐบาลจีนถูกปลดเมื่อปี 2004 และยิ่งมาปะทุหนักเมื่อรัฐบาลของเตงเส่งในปัจจุบัน ตัดสินใจแขวนโครงการสร้างเขื่อนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่มีจีนเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ นโยบายแลไปข้างหน้าและการลงทุนมูลค่ามหาศาลระหว่างจีนกับเมียนมาร์ในสมัยประธานาธิบดีเตงเส่งจึงถูกพับเอาไว้ คนในรัฐบาลเมียนมาร์หลายคนก็เริ่มทักท้วงให้รัฐบาลเปลี่ยนทีท่าและเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯอีกครั้งหนึ่งพร้อม ๆ กับการหันมาแสดงทีที่เป็นมิตรกับอาเซียนมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้สหรัฐฯจำเป็น (หรือจำใจ) ต้องคิดใหม่เกี่ยวกับเมียนมาร์ และทำตัวเป็นนักการทูตแทนที่จะเป็นนักสิทธิมนุษยชนคือข่าวความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาร์กับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะความร่วมมือทางการทหารและพลังงานที่มีข่าวว่าทั้งสองประเทศร่วมกันพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์[4] ลินท์เนอร์อ้างว่า การเยือนเกาหลีใต้ของคลินตันเพียงไม่กี่วันก่อนการเยือนเมียนมาร์เป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีว่า สหรัฐฯต้องการให้เกาหลีใต้ช่วยตนตะล่อมให้เมียนมาร์เลิกติดต่อกับเกาหลีเหนือ ด้านโทรทัศน์ช่องข่าวอัลจาซีรา ที่ทำสกู๊ปเจาะลึกประเด็นนี้ได้เด่นกว่าช่องอื่น ๆ ได้สัมภาษณ์นักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีผลงานเกี่ยวกับเมียนมาร์ ไมตรี อ่องทวิน และหม่องซานี อาจเป็นนักวิชาการสองคนที่ไม่เป็นที่รู้จักนักในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาร์โดยตรง แต่สำหรับผู้ที่คลุกคลีกับนักวิชาการด้านเมียนมาร์แล้ว ทั้งไมตรี อ่องทวิน และหม่องซานี เป็นนักวิชาการยังเติร์กที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ประเด็นที่น่าสนใจมากที่ผู้ดำเนินรายการเจมส์ เบส์ ถามหม่องซานีคือประเด็นการบ้านการเมืองชื่อประเทศเมียนมาร์ ที่หลายคนยังคงยึดกับชื่อเก่าคือ “เบอร์ม่า” แทนที่จะเรียกว่า “เมียนมาร์” แต่สำหรับฮิลลารี คลินตัน เมื่อเลือกจะไม่ใช้ทั้งสองชื่อ หมายความว่า เลือกที่จะละชื่อประเทศ สำหรับเรื่องนี้หม่องซานี ให้ความเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า สหรัฐฯต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เมียนมาร์น้อยใจหรือตะขิดตะขวงใจ ซานีเชื่อว่า นี่คือสงครามเย็นระลอกใหม่ที่สหรัฐฯจะรบกับจีน จึงทำให้คลินตันต้องเดินสายพบปะพูดคุยกับพันธมิตรในฝ่ายของตนที่มีอยู่แต่เดิมและก็ต้องสร้างมิตรเพิ่มขึ้นด้วย[5] ซานียังเสริมด้วยว่า สิ่งที่ทำให้รัฐบาลเมียนมาร์เกรงกลัวเป็นพิเศษ ไม่ใช่การคว่ำบาตรหรือการลดความสัมพันธ์กับจีน แต่เป็นความเกรงกลัวที่เกิดจากการปฏิวัติประชาธิปไตยในอาหรับ (Arab Spring) ที่รัฐบาลที่ผูกขาดอำนาจมาอย่างยาวนานทั้งในอียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย ฯลฯ ต่างก็มีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก ความกลัวและความระแวง (ที่ในอดีตส่งผลให้กษัตริย์หลายพระองค์หรือแม้แต่รัฐบาลทหารย้ายเมืองหลวงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง-ผู้เขียน) นี้ เป็นหอกทิ่มแทงใจนายพลในรัฐบาลและกองทัพเมียนมาร์มาหลายยุค รัฐบาลเมียนมาร์จึงชิงปล่อยตัวอองซานซุจี เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนการประท้วงที่ต่อมาจะพัฒนาเป็นการปฏิวัติในอียิปต์ กล่าวโดยสรุป แม้สื่อหลายแขนงจะให้ความสำคัญกับการเยือนเมียนมาร์ของคลินตันมาก บ้างเรียกว่าเป็น “การเยือนเมียนมาร์ครั้งประวัติศาสตร์” แต่ในวงการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองเมียนมาร์แล้ว ไม่มีนักวิชาการแนวหน้าคนใดที่เห็นว่าการปรากฎตัวของคลินตันในประเทศที่ปิดตายตัวเองมากว่า 2 ทศวรรษ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นหรือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในเมียนมาร์ในรอบหลายปี แต่นักวิชาการเกือบทุกคนเห็นว่า ความพยายามปฏิรูปการเมืองในเมียนมาร์พร้อม ๆ กับการก่อตัวของประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า ยิ่งเมียนมาร์ได้รับเลือกให้เป็นประธานอาเซียนในปี 2014 และกับบทบาทเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเนปยีด่อในอีก 2 ปีข้างหน้า ไม่แน่ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอาจจะเป็นยุค “เมียนมาร์ฟีเว่อร์” ก็เป็นได้
ป.ล. อย่าลืมว่าที่ผ่านมา เลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่เป็นคนเอเซียมีอยู่เพียง 2 คน คนหนึ่งคือนายบันคีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนปัจจุบัน และอีกคนหนึ่งคือ อูถั่น และอูถั่น ยังเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่ดำรงตำแหน่งนี้นานที่สุด ถึง 10 ปีด้วย
[1] บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Strait Times เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม แต่ไม่สามารถเข้าถึงบทความนี้จากเวบไซท์ของหนังสือพิมพ์ Strait Times ได้ แต่สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ http://file2.uploadfile.biz/i/IMIMMEIIIXENWM [2] ‘US Secretary of State Mrs Hillary Clinton concludes visit’ ใน New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2011 http://www.myanmar.com/newspaper/nlm/index.html [3] อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ http://www.foreignpolicy.com/articles/2011/11/30/democracy_myanmar_china_clinton [4] ดูรายงานของอัลจาซีราห์เรื่องความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเมียนมาร์ (มี 4 ช่วง) ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=oUa_OODAjNQ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
"เฉลิม" ดีเดย์ปราบ "เว็บหมิ่น" 13 ธ.ค. Posted: 12 Dec 2011 07:36 AM PST "เฉลิม อยู่บำรุง" ลั่นเตรียมปิด 200 เว็บในไทยเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน - ชง ครม.ซื้อเครื่องมือตัดสัญญาณเว็บต่างประเทศมูลค่า 400 ล้านบาท ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวก่อนประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า ในประเด็นนี้หลายรัฐบาลได้ทำมา แต่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ เนื่องจากมีการอ้างว่าเว็บไซต์เหล่านั้นมีการเปิดมาจากเมือนอก ซึ่งการดำเนินคดีเป็นไปได้ยาก และมีเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันภายในประเทศไทยบ้าง แต่ไม่สามารถจับกุมได้ ฉะนั้นบุคคลใดพูดอย่างนี้ถือว่าโกหก ส่วนเว็บไซต์ในต่างประเทศนั้นห้ามไม่ได้จริง แต่ถ้ารู้ว่าไม่เหมาะสมสามารถบล็อกและตัดสัญญาณออกได้ ครั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้ตนและ ผบ.ตร.ดูแลเรื่องเกี่ยวกับการจัดการเว็บไซต์หมิ่นต่างๆ งานนี้จะไม่มีประชุมแต่เน้นจัดการทันที ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า มี รอง ผบก.ปอท.นายหนึ่ง ซึ่งเก่งด้านนี้ บอกว่า สำหรับเว็บไซต์มาจากภายนอกประเทศ มีเครื่องมือที่สามารถตัดสัญญาณได้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท ฉะนั้นตนได้แจ้งเลขาธิการนายกฯ ในที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ จะให้กระทรวงไอซีทีตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวเข้ามาใช้ อย่างไรก็ตามตนและ ผบ.ตร.ไม่ได้มีความต้องการที่จะใช้งบประมาณดังกล่าว และตำรวจไม่เอา แต่ตำรวจพร้อมที่ทำงานให้ จากนี้ต่อไปจะมีมากน้อยเท่าไหร่ไม่แน่ แต่ต้องน้อยกว่าเดิมและมีมาตรการเข้ม ข้อความไม่บังควรเราไม่เผยแพร่ แต่ถ้าได้เครื่องมือที่ตัดสัญญาณได้ก็เรียบร้อย ผู้สื่อข่าวถามว่า เครื่องมือดังกล่าวจะสามารถตัดสัญญาณได้ 100% หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า นายตำรวจคนดังกล่าวชี้แจงว่าสามารถดำเนินการได้เกือบ 100% เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ทำไม่ได้ เว้นแต่จะทำจริงหรือไม่ โดยมีบางคนไปพูดมาก ถ้าไปทำเรื่องนี้เอ็นจีโอ หรือต่างชาติจะดูไม่ดี แต่ที่นี่เมืองไทย เราไม่ได้ละเมิดสิทธิ เพราะอะไรที่แสดงออกตามพื้นฐานความชอบธรรม ก็ควรทำไป ส่วนจะเริ่มปฏิบัติการวันไหนนั้น เราจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. แต่ภายในวันนี้จะกำหนดว่าใครมีหน้าที่อะไร เมื่อถามว่ามีกลุ่มเป้าหมายแล้ว ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า มีกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเกรงใจ ที่ผ่านมาก็กลัวกัน บอกไม่ได้ว่ามีกี่เป้าหมาย แต่ที่ผ่านมาได้มีเจ้าของเว็บไซต์ติดต่อมาว่า ไม่มีการทำอะไรหมิ่นประมาทอย่างนั้น แต่ไม่ได้ดู แต่คุณอ้างอย่างนี้ไม่ได้ เมื่อคุณรับทราบคุณต้องแก้ไข เมื่อถามว่ามีบางกลุ่มที่หมิ่นสถาบัน เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง ร.ต.อ.เฉลิม ตอบว่า ไม่ว่าสีเสื้อไหนถ้าทำผิกกฎหมายก็ผิด เสื้อสีไหนก็ต้องจับหมด เรามีการเก็บข้อมูลไว้หมดแล้ว อยากจะฝากบอกไปยังเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาเรียกร้องละเมิดสิทธิ ถ้าอยู่ที่เมืองไทยก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ทั้งนี้ในที่ประชุมได้รายงานว่า กระทรวงไอซีที มีรายชื่อเว็บไซต์ในไทย 200 แห่งที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันและสามารถสั่งปิดได้ในทันที โดยเตรียมพร้อมประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินการแล้ว
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
น้ำตาสลิ่ม#3: ไปให้ไกลกว่าการติดป้ายสลิ่ม Posted: 12 Dec 2011 07:27 AM PST “เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร” ชี้วิธีการแปะป้ายให้คนกลุ่มหนึ่งเป็น “สลิ่ม” คือวาทกรรมที่ผลักคนและกีดกันคนส่วนหนึ่งออกจากขบวน พร้อมเสนอในขบวนการต้องมีประชาธิปไตย พร้อมเสนอบทเรียนจาก Occupy Wall Street ใช้ยุทธศาสตร์ “เราคือ 99%” ตัดข้ามชนชั้น ทำให้คนที่เข้าไปร่วมในขบวนการมีความรู้สึกร่วม บรรยากาศงานเสวนาน้ำตาสลิ่ม: ชนชั้นกลางเป็นภัยต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยจริงหรือ? เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ร้าน 9 บรรทัด จ.เชียงใหม่ มีการจัดเสวนา: น้ำตาสลิ่ม: ชนชั้นกลางเป็นภัยต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยจริงหรือ? วิทยากรประกอบด้วย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ จากกลุ่มประกายไฟ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากกลุ่มทุนนิยาม และวิทยากร บุญเรือง นักวิจัยจากศูนย์วิจัยหมูหลุม (Mooloom Intelligence Unit - MIU) ดำเนินรายการโดย น.ส.ยุภาวดี ทีฆะ กลุ่มนักศึกษาไร้สังกัด
สลิ่มในฐานะโครงการทางการเมือง ภายหลังการนำเสนอของวิทยากร บุญเรือง [1] และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ [2] เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากกลุ่มทุนนิยาม กล่าวว่าจากบทความของตนเรื่อง “สลิ่ม” กับการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมและการเมืองภายในชนชั้น (กลาง) ได้เสนอว่าการนิยามสลิ่ม จริงๆ แล้วเป็นโครงการทางการเมือง (political project) โดยชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างระยะห่างของตัวเองจากชนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งชนชั้นกลางกลุ่มที่ถูกเรียกว่าสลิ่ม โดยปกติแล้วเราจะติดป้ายให้เขาแล้ว ว่าเขาเป็นคนเสื้อเหลือง หรือเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ในความหมายว่าเป็นพวกรักเจ้าจนไม่ลืมหูลืมตา จนลืมอุดมการณ์ประชาธิปไตยบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม ความเสมอภาค หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างชีวิตคน ในคำอธิบายสลิ่มของใบตองแห้ง ก็บอกว่าสลิ่มไม่ได้เป็นแต่เพียงพวกนิยมเจ้า แต่เป็นรักเจ้าอย่างไม่สร้างสรรค์ คือมักใช้เหตุผลเรื่องสถาบันมาทำลายล้างคนอื่นที่คิดเห็นไม่ตรงกับตัวเอง ซึ่งอาจจะถกเถียงได้กับนิยามนี้ ผมคิดว่าไอ้นิยามที่มันเคร่งครัดขึ้นที่เราใส่ให้กับคำว่าสลิ่ม มันช่วยให้เราเห็นอย่างหนึ่งว่าพวกที่เป็นสลิ่มในความเข้าใจของคนหลายๆ คน ไม่ได้รักษาไม่หาย พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่เป็นพวกที่แก้ไขไม่ได้ แต่คนพวกนี้ต้องการการศึกษาทางการเมือง แต่ว่าการนิยามสลิ่มโดยชนชั้นกลุ่มหนึ่งนี้เอง ได้ปฏิเสธสิทธิของคนที่ถูกหาว่าเป็นสลิ่มที่จะได้รับการศึกษาทางการเมืองไปแล้วหรือเปล่า อันนี้เป็นคำถาม หมายความว่าการที่เราไปแปะป้ายให้เขาเป็นสลิ่ม เป็นการปฏิเสธสิทธิในการที่เขาจะได้รับการศึกษาทางการเมืองหรือเปล่า เพราะว่าเราเติบโตมาในสังคมที่วัฒนธรรมเป็นแบบปิด ถกเถียงอะไรไม่ได้เลย ในบทความสั้นๆ ของผม ก็ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าเนื่องจากเราสามารถเพิ่มรายละเอียดให้กับคำว่าสลิ่มเข้าไปในรายการได้ไม่รู้จบ การแตกแยกย่อยเฉดสีของความเป็นสลิ่มจึงสามารถเกิดขึ้นได้ไม่รู้จบเช่นกัน ประเด็นก็คือว่าความเป็นสลิ่มมันไม่มีอะไรชัดเจนแน่นอน ผมเองปฏิเสธการนิยามสลิ่มตั้งแต่ต้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่สลิ่มคืออะไร แต่อยู่ที่สลิ่มสัมพันธ์กับเราอย่างไรในพื้นที่ทางการเมือง สลิ่มเป็นใครไม่สำคัญหรอก เพราะคุณสามารถเติมนิยามของแต่ละคนไปได้เรื่อยๆ แต่ว่าไอ้การกำหนดป้ายให้เขา มันมากำหนดวิธีคิดของเราต่อความสัมพันธ์กับคนที่เป็นสลิ่มไปแล้ว ในบทความนี้ ผมยังบอกว่าเรื่องสลิ่มยังเป็นเรื่องรสนิยมทางการเมือง ที่เราไปบอกว่าคนกลุ่มนี้เป็นสลิ่ม หมายความว่าคนพูดรู้สึกว่าพวกนี้ไร้รสนิยมทางการเมืองมาก ซึ่งเรื่องรสนิยมเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนที่ใช้คำว่าสลิ่มเป็นชนชั้นกลาง
ไปให้ไกลกว่าการสร้างสลิ่ม เกรียงศักดิ์เสนอต่อถึงปัญหาของการสร้างสลิ่ม และการวางความสัมพันธ์ของกับคนที่เป็นสลิ่ม จากการที่มีคนพยายามโต้แย้งเยอะว่าคนอย่างคุณคำ ผกา ที่พูดเรื่องสลิ่มเยอะ ก็ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมการเมือง ให้กับเสื้อแดง ทำไมเราต้องไปปฏิเสธคุณคำ ผกา ทำไมต้องวิพากษ์วิจารณ์เขา ทั้งที่ความคิดหรือทัศนคติแบบสลิ่ม มันเป็นสิ่งที่ครอบงำสังคมอยู่ เพราะฉะนั้นเราควรเปิดโอกาสให้มีคนอย่างคุณคำ ผกาเยอะๆ เพื่อที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ความคิดกระแสหลัก อันนี้คือข้อโต้แย้งที่เรามักจะได้ยิน แต่คำตอบของผมก็คือว่าจริงๆ แล้วถ้าคนอย่างคุณคำ ผกา หรือนักเขียนนักวิจารณ์ของเสื้อแดงคนอื่นๆ อยากที่จะส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตยแบบเสื้อแดงจริงๆ ก็จะต้องไปให้ไกลกว่านั้น ไปให้ไกลกว่าการติดป้ายสลิ่ม สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือว่าจะต้องไม่ใช่บอกแค่ว่าสลิ่มคือใคร แต่หลังจากนี้จะต้องแสดงตัวตนของตัวเอง แสดงจุดยืนและอภิสิทธิ์ของตัวเอง ที่มีในสังคมไทย ท่ามกลางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำด้วย เพราะว่าเราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรมขึ้นจากการสร้างความเป็นอื่น หรือการพยายามกีดกันหรือผลักคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปได้ อันนี้มันมีเหตุผลอยู่สองสามข้อที่อธิบายว่าทำไมเขาต้องไปไกลกว่านั้น ข้อแรกก็คือว่าชนชั้นกลางจำนวนมากที่เป็นเจ้าของวาทกรรมสลิ่ม เป็นกลุ่มที่เราน่าจะเรียกว่า “Elite” ก็คือคนที่เป็นคนชั้นสูงในสังคมระดับหนึ่ง คือมีสถานะทางสังคม สามารถเข้าถึงทุนทางสังคมระดับหนึ่ง ในแบบที่คนเสื้อแดงบางคนยังเข้าถึงไม่ได้ แต่ว่าคนกลุ่มนี้ คือไม่สามารถที่จะตอบคำถามทุกอย่าง รู้ทุกอย่าง พูดแทนคนทุกอย่างในสังคมได้ เพราะคนกลุ่มนี้ก็เติบโตมาในสังคมแบบหนึ่ง ประเด็นสำคัญคือถ้าคนแบบนี้ไม่สามารถที่จะแสดงตัวตน หรือสะท้อนความเป็นอภิสิทธิ์ของตัวเองท่ามกลางสังคมที่เหลื่อมล้ำได้ ก็จะเกิดปัญหาได้ว่าเขาก็จะพูดแทนคนจำนวนมาก และเขาอาจจะพูดผิดด้วย ประการที่สอง คนกลุ่มนี้ต้องไม่ลืมว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำมาตั้งนานแล้ว แล้วตัวเองก็เป็นเครื่องจักร หรือส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่ผลิตซ้ำความคิดที่ครอบงำคนอื่นในสังคมอยู่ อันนี้คือเหตุผลข้อสองว่าเขาต้องออกมาแสดงถึงอภิสิทธิ์ของตนเองนะครับ อาจารย์ นักเขียน คอลัมน์นิสต์ต่างๆ ก็ไม่ต่างจากหมอ วิศวกร หรือสถาปนิก ที่ถูกติดป้ายว่าสลิ่ม อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ก็เขียนในบทความว่ากลุ่มหมอ กลุ่มอะไรพวกนี้มีปัญหาในเชิงวัฒนธรรม แต่จริงๆ แล้วกลุ่มที่เป็นนักเขียน เป็นคอลัมน์นิสต์นี้ ก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน ไม่นานมานี้ ผมก็ได้ยินจากคนรู้จักว่ามีนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียง ก็เปิดเผยความในใจว่ารู้สึกไม่มั่นคงทางด้านจิตใจแล้วล่ะ เพราะว่าสถานะของตนเองเริ่มบั่นทอน ในเมื่อมีคนอย่างจิตรา คชเดช ได้รับความนิยมกับคนเสื้อแดงมากขึ้น ไม่ต้องไปเรียนหนังสือที่เมืองนอก หรือว่าพูดอะไรแล้วคนฟัง ฉะนั้นนักวิชาการที่ไปเรียนเมืองนอก เกิดในชนชั้นกลาง ที่เคยมีพื้นที่ที่ปลอดภัยเริ่มรู้สึกว่าสูญเสียสถานะบางอย่าง เพราะฉะนั้นนักวิชาการกลุ่มนี้ ที่เป็นปัญญาชนอยากจะอยู่ข้างคนเสื้อแดงจริงๆ ก็ต้องพูดออกมาอย่างเต็มที่ อย่างจริงใจด้วยว่าตัวเองนี้ มีส่วนร่วมอยู่ในสังคมที่มันสร้างความเหลื่อมล้ำมาอย่างไร แล้วก็จะช่วยให้คนเสื้อแดงได้พูดแบบที่คนเสื้อแดงอยากขยายเสียงตัวเองอย่างไร โดยที่ไม่พูดแล้วเสียงตัวเองดังขึ้น แต่ยิ่งพูดแล้วเสียงคนอื่นต้องยิ่งดังขึ้น ประการสุดท้ายก็คือว่าในการต่อต้านอำนาจ ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ฉะนั้นเราต้องไม่ลืมว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าโอกาสที่เท่าเทียมกันในการต่อต้าน มันมี Equal right หรือ Equal opportunity to resistance เหมือนกัน คือในขบวนการต้องมีประชาธิปไตยด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นคนฉลาดในขบวนการ คุณเป็นหัวนำได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่เป็นปัญญาชนเสื้อแดงจำนวนมาก ถึงยังได้พูดอะไรอยู่ได้โดยที่มันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเท่าไรนัก
วาทกรรมใหม่ๆ ที่ไม่ผลักคน ประเด็นสำคัญคือผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าวาทกรรมสลิ่มเป็นวาทกรรมที่ผลักคน และกีดกันคนส่วนหนึ่งออกไปนะครับ ถ้าเราอยากจะพูดถึงตัวอย่างที่สามารถดึงคนได้ ผมอยากจะพูดถึงขบวนการที่ชื่อว่า Occupy Wall Street ที่ผมมีโอกาสได้ไปร่วมมาเมื่อเดือนก่อน Occupy Wall Street คือขบวนการที่ต่อต้านทุนนิยมในอเมริกาตอนนี้ แล้วก็พยายามที่จะสร้างวาทกรรมใหม่ เพื่อที่จะบอกว่ามันมีคนจำนวนหนึ่ง 1% ในประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ แล้วก็เข้าสู่อำนาจทางการเมือง แล้วคนกลุ่มนี้ก็ทำให้สังคมมันเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นข้อความหรือวาทกรรมที่กลุ่ม Occupy ใช้ เขาเริ่มต้นด้วยการเสนอว่า “we are 99%” พวกเราคือคน 99 เปอร์เซ็นต์ วาทกรรมนี้มีคุณูปการมาก เพราะมันตัดข้ามชนชั้น ตัดข้ามอัตลักษณ์ แล้วมันทำให้คนที่เข้าไปร่วมในขบวนการหรือรู้สึกร่วม มันมีตั้งแต่คนอายุ 18 ไปจนถึงคนอายุ 65 มีตั้งแต่คนที่เป็นภารโรงไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย มีตั้งแต่คนที่เป็นคนงานไปจนถึงคนที่เป็นผู้จัดการธนาคารมาก่อน กรอบที่เราสร้างวาทกรรมแบบนี้ มันสามารถรวมคนจำนวนมากได้เพื่อที่จะขับเคลื่อน มันไม่ดีกว่าหรือ หรือว่าเราต้องการที่จะด่าสลิ่มไปอย่างเดียว เพื่อที่จะขับคนกลุ่มหนึ่ง และบอกว่าจุดยืนของฉันคือฉันเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดงมากกว่าคนกลุ่มนั้นนะ แล้วก็จบลงตรงนั้น
การอธิบายชนชั้นกับการสร้างความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูด ซึ่งอาจารย์เก่งกิจพูดเรื่องชนชั้นไปเยอะ แต่ไม่ได้เน้นก็คือว่าชนชั้นมันเป็นประเด็นทางการเมือง ตอนที่คาร์ล มาร์กซ์เสนอว่าชนชั้นมีสองชนชั้น สังคมทุนนิยมจะสร้างกรรมาชีพหรือคนชั้นล่าง กับกระฎุมพีหรือชนชั้นกลาง แล้วก็ต่อสู้กัน แล้วสุดท้ายผลักดันไปสู่การเกิดสังคมนิยมเนี่ย มาร์กซ์ไม่ได้พูดอย่างนั้นเพราะว่าสังคมตอนนั้นมีสองชนชั้น แต่มาร์กซ์พูดเพื่อที่จะสร้างเงื่อนไขของความเป็นไปได้ หมายความว่าเวลาเราบอกว่าชนชั้นจะเกิดสองชนชั้นในอนาคต มันกำหนดวิธีคิดของเราในอนาคต ว่าเราจะร่วมกับใคร เพื่อที่จะสร้างเป็นชนชั้นไหน ฉะนั้นประเด็นเรื่องชนชั้นหรือการศึกษาชนชั้นในทางวิชาการ มันมีความหมายในการกำหนดวาระด้านการเมืองด้วย ทุกวันนี้เวลาอาจารย์มหาวิทยาลัยเริ่มต้นศึกษาชนชั้น ก็จะต้องพบกับทางเลือกสองทาง ก็คือแนวคิดชนชั้นแบบมาร์กซ์ ก็คือสองขั้ว ชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่าง หรือแนวคิดแบบเสรีนิยม ก็คือเป็นเรื่องอัตลักษณ์ ผิวดำหรือผิวขาว มีเพศสภาพอย่างไร แล้วก็จะมีชนชั้นจำนวนมากซ้อนทับกันอยู่ สิ่งที่นักวิชาการมาร์กซิสต์รุ่นหลังๆ อาจารย์เก่งกิจพูดถึง Hardt กับ Negri สองคนนี้ก็อธิบายว่าการแบ่งชนชั้นสองลักษณะนี้ มันถูกทั้งคู่ มีความเป็นจริงอยู่ในนั้นทั้งสองแบบ การเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งจึงผิด เพราะว่าเราต้องเข้าใจว่าสังคมมันมีลักษณะอย่างไร ฉะนั้นการเลือกอธิบายชนชั้นจริงๆ แล้ว ควรจะเลือกอธิบายชนชั้นในลักษณะที่สร้างเงื่อนไขในอนาคตให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราต้องการ ฉะนั้นการเลือกอธิบายชนชั้นแบบสลิ่ม ผมพูดตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นโครงการทางการเมือง (political project) คือคนที่อธิบายสลิ่มแบบนั้น เขากำหนดแนวทางทางการเมืองของเขาไปแล้ว ว่าเขาจะสร้างชนชั้นอย่างไร แล้วเขาจะยืนอยู่ตรงไหนกับชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง เขาก็ยืนอยู่ในที่ของเขาที่ปลอดภัยนั่นแหละ และเขาจะยืนต่อไป เพราะมันเป็นที่ๆ เขาก็สามารถที่จะได้รับประโยชน์จากอภิสิทธิ์ จากการเขียนหนังสือ จากการที่พูดแล้วมีคนฟัง ผมอยากจะจบด้วยข้อความที่แปลมาจากหนังสือของ Hardt กับ Negri จากหนังสือชื่อ Multitude นะครับ มันอธิบายการขับเคลื่อนของชนชั้นในอเมริกาตอนนี้ได้ดีมากนะครับ ผมแปลเป็นไทยเพราะมันช่วยให้อธิบายเรื่องชนชั้นกับการต่อสู้ได้ดี “ชนชั้นถูกกำหนดโดยการต่อสู้ทางชนชั้น แน่นอนเรามีวิธีแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่มได้ไม่สิ้นสุด สีผม กรุ๊ปเลือด และอื่นๆ แต่ชนชั้นที่สำคัญคือบรรดาชนชั้นที่ถูกกำหนดจากแนวทางการต่อสู้ร่วมกัน ในแง่นี้ เชื้อชาติก็มีลักษณะแนวคิดทางด้านการเมือง ไม่ต่างกับชนชั้นทางเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ลักษณะของชนกลุ่มที่เหมือนหรือต่างกัน หรือสีผิวที่เป็นตัวกำหนดการแบ่งเชื้อชาติ แต่ว่าเชื้อชาติถูกกำหนดจากการต่อสู้ร่วมกันของชนชั้นในทางการเมือง “บางคนยืนยันว่าเชื้อชาติถูกกำหนดจากการกดขี่ทางเชื้อชาติ อย่างเช่น ฌอง ปอล ซาร์ตร์ บอกว่าลัทธิการต่อต้านยิวสร้างคนยิว ตรรกะนี้ควรจะถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เชื้อชาติเกิดขึ้นจากการต่อต้านการกดขี่ทางเชื้อชาติร่วมกัน ชนชั้นทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นจากลักษณะของการกระทำรวมหมู่ เพื่อต่อสู้กับการต่อต้าน “ดังนั้นการทำความเข้าใจกับชนชั้นทางเศรษฐกิจ ก็เช่นเดียวกับการศึกษาเชื้อชาติ ไม่ควรจะเริ่มจากการทำบันทึกความแตกต่างที่เห็นในเชิงประจักษ์เท่านั้น แต่ควรจะสอดคล้องกับแนวทางเรื่องการต่อต้านกับอำนาจแบบรวมหมู่ พูดสั้นๆ คือชนชั้นเป็นแนวคิดทางการเมือง ในแง่ที่ว่าชนชั้นสามารถเป็นการกระทำรวมหมู่ที่ต่อสู้ร่วมกันได้ ในความหมายนี้ก็คือว่าเราอธิบายชนชั้นอย่างไร เราก็กำลังบอกว่าเงื่อนไขที่เป็นไปได้ในการที่จะสร้างการต่อสู้ร่วมกันในอนาคตจะเป็นอย่างไร” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ฟังเสียงชาวนา! ข้อเสนอฟื้นภาคเกษตรหลังน้ำลด Posted: 12 Dec 2011 03:32 AM PST เปิดเวทีความทุกยากของเกษตรกร ชาวบ้านร้องจ่ายค่าชดเชยให้เป็นธรรม ไม่ใช่บนฐานคิดความเมตตากรุณา นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จวกรัฐเลี่ยงความรับผิดชอบ “ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ” กระทบการช่วยเหลือ-ฟื้นฟู ชู “ภาษีน้ำท่วม” ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ
000 ขณะที่ภาพมหาอุทกภัยใน หลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ เริ่มลบเลือน เหลือเพียงรอยคราบน้ำ แต่ความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติยังไม่หมดสิ้น โดยเฉพาะในส่วนเศรษฐกิจภาคการเกษตร ซึ่งเมื่อมองจากแผนการฟื้นฟูเยียวยาของรัฐบาลก็ดูจะยังไม่ชัดเจนว่า ได้มีการเตรียมการเพื่อให้ครอบครัวเกษตรกรกลับมาทำการผลิต และฟื้นฟูวิถีชีวิตของหลังน้ำลดอย่างไร เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.54 ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และสหกรณ์บ้านคลองโยง จ.นครปฐม จัดสัมมนา “การฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อย หลังวิกฤตน้ำท่วม” ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสรุปบทเรียน กำหนดแผนการฟื้นฟูชีวิตและอาชีพเกษตรกร และผลักดันเป็นข้อเสนอหลังวิกฤตน้ำท่วมต่อรัฐบาล เปิดเวทีข้อมูลความทุกยากของเกษตรกรไทย นางสม ชนะภัย อายุ 61 ปี ชาวบ้านคลองบอน ต.พนมเศรษฐ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ครอบครัวของเธอมีที่ดินราว 90 ไร่ ขณะนี้เริ่มทำนาได้บ้างแล้วหลังถูกน้ำท่วมมานานหลายเดือน ความช่วยเหลือหลักที่เธอต้องการจากรัฐบาลคือเรื่องเงิน เพื่อเกษตรกรจะได้ไม่ต้องเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น นางสม ให้ข้อมูลด้วยว่า เงินชดเชยนาข้าวไร่ละ 2,222 บาทนั้นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของชาวนา เนื่องจากต้นทุนปลูกข้าวไม่รวมค่าแรงอยู่ที่ 4,500 บาทต่อไร่ อีกทั้งหากเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ทันช่วงที่มีการประกันราคาข้าว ก็จะถูกโรงสีกดราคา ทั้งนี้เรื่องการควบคุมราคาจำนำข้าวนี้ชาวนาเดือดร้อนมานาน และอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ในเวทีดังกล่าว ตัวแทนเกษตรกรจากมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์ ให้ข้อมูลความเดือดร้อนว่า แม้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จะเริ่มบรรเทาเบาบางลงแล้ว แต่พื้นที่นายังมีน้ำท่วมขังอยู่ เป็นความเสียหายที่หนักกว่าปี 38 และ 49 อีกทั้งยังมีปัญหาการช่วยเหลือเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ตรงตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจึงการช่วยเหลือของรัฐบาลควรเป็นในรูปของเงินเพื่อนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์เอง ส่วนชาวสวนบางคนก็ยังไม่แน่ใจในการที่จะลงทุนเพาะปลูกเนื่องจากเกรงว่าในปีต่อๆ ไป จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำอีก ที่ทำได้ตอนนี้คือการปลูกพืชระยะสั้น และมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังต้องการกล้าพันธุ์เพื่อนำไปทำการเพาะปลูก ขณะที่นายประภาส ปิ่นตกแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะตัวแทนชาวบ้านสมาชิกสหกรณ์ที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม ว่า ระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ ต.คลองโยงรวมทั้งตำบลใกล้เคียงไม่สามารถทำกินได้ และมีการประเมินกันว่าไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็อาจยังต้องทนอยู่กับสภาพเช่นนี้ต่อไปอีก หากไม่มีการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลในทิศทางที่ควรจะเป็น สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือน้ำถูกผันมาให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระ ทั้งในส่วนเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ รวมทั้งลูกจ้างโรงงานต่างได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น การฟื้นฟูที่ชาวบ้านในพื้นที่อยากได้คือ 1.ทำอย่างไรที่จะกู้ที่ดินขึ้นมาทำมาหากิน 2.การกู้เรื่องรายได้ที่ต้องสูญเสียไป เพื่อที่ชีวิตจะคืนกลับมาสู่ปกติ นายประภาส กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันชาวบ้านหลายตำบลซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุ่งพระพิมลราชาบนแนวเขื่อนกั้นน้ำเหนือคลองมหาสวัสดิ์ยังต้องอยู่กับน้ำระดับความสูงเกือบ 2 เมตร โดยระดับน้ำล่าสุดลดไปเพียง 65 เซนติเมตร จากระดับน้ำท่วมสูงสุด เนื่องจากมีปัญหาการระบายน้ำเพราะถูกกั้นด้วยทางรถไฟ และแนวคันกั้นน้ำยาว 26 กิโลเมตรตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ โดยการระน้ำผ่านประตูระบายน้ำและการสูบน้ำทำได้เพียงประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น ขณะที่ปริมาณน้ำในทุ่งมีสูงถึง 365 ลบ.ม.และถูกเติมจากทุ่งด้านบนตลอดเวลา “ทุ่งข้างบนสามสี่ทุ่ง น้ำกำลังแขวนอยู่มหาศาล ในขณะที่กรุงเทพฯ ฉลองกันแล้ว อันนี้คือสภาพที่มันเป็นอยู่ตอนนี้” นายประภาสกล่าว สภาพพื้นที่เกษต ชาวบ้านร้องจ่ายค่าชดเชยให้เป็นธรรม ไม่ใช่บนฐานคิดความเมตตากรุณา เอกสารข้อเสนอจากตัวแทนชาวบ้าน ต.คลองโยง และ ต.ลายตากฟ้า จ.นครปฐม ระบุข้อเสนอสำคัญต่อ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) คือ 1.ให้เปิดประตูระบายน้ำตามแนวคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองให้ ศปภ.และกทม.พิจารณาเปิดประตูระบายน้ำเพื่อไม่ให้ชาวนนทบุรีเดือดร้อน และให้มีการสูบน้ำเพื่อระบายน้ำลงไปสู่ด้านใต้ซึ่งมีความพร้อมในการผลักดันน้ำลงทะเล 2.พัฒนาระบบคูคลองที่เชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ลงไปสู่ด้านใต้ เพราะจากการสำรวจพบว่าคลองเหล่านี้มีสภาพรกร้างและมีกิจกรรมที่ขวางทางน้ำหลายช่วง 3.สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเก็บวัชพืชในคลองเพื่อให้น้ำไหลเร็วขึ้น “ขอให้พิจารณาการจ่ายค่าชดเชยในสภาพความเสียหายที่เป็นจริงและเป็นธรรม และไม่ควรอยู่บนฐานคิดแบบจ่ายเพื่อความกรุณาหรือความเมตตา เพราะภัยน้ำท่วมใหญ่ที่พวกเราได้รับอยู่ในขณะนี้มาจากปัญหาการบริหารจัดการเพื่อให้พื้นที่ของพวกเราเป็นเขตรับน้ำแทน กทม.” ข้อเรียกร้องข้อสุดท้ายจากชาวบ้านคลองโยง แจงความเสียหายของชุมชนเกษตรกรรม ในมุมนักเศรษฐศาสตร์ นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความเสียหายของชุมชนเกษตรว่า แบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ 1.ความเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตร อย่างเรือกสวน ไร่ นา และบ้านเรือน 2.ค่าเสียโอกาสของเกษตรกร ที่ไม่สามารถใช้ที่ดินทำการผลิตได้ เช่น ชาวนาไม่สามารถทำนารอบใหม่ได้จนกว่าน้ำจะลด และในปีหน้าอาจทำนาได้เพียงรอบเดียว หรือชาวสวนที่ต้องรอหลายปีกว่าจะปลูกไม้ผลและต้องรอจนกว่าจะให้ผลผลิต และ 3.ความสูญเสียที่ตามมาหากไม่ช่วยเหลือและชดเชยอย่างทันท่วงที คือความสูญเสียที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ทัน ซึ่งจะเกิดเป็นการขายสินทรัพย์เพื่อมาชดเชยกับภาระหนี้สินต่างๆ หรือการที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่มากขึ้น “ตรงนี้เป็นเหตุที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรพยายามพูดอยู่เสมอว่าต้องมาให้เร็วหน่อย รวมไปถึงน้ำควรจะต้องลดลงให้เร็วหน่อย เพราะส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องค่าเสียโอกาสนี้เขาจะได้มาตั้งหลักให้เร็วขึ้น และหากเขาตั้งหลักได้ความเสียหายส่วนที่ 3 ก็จะได้ไม่เกิดขึ้น มันก็จะได้ไม่ทำให้เขาต้องเสียที่นาเสียอะไรต่างๆ ตามมา สำหรับความเสียหายส่วนแรกไม่ต้องพูดถึงแล้วมันไปกับน้ำแล้ว” นายเดชรัต กล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบอยู่ในขณะนี้คือความเสียหายส่วนที่ 2 ไม่ได้ถูกรวมเข้าไว้ในการให้ความช่วยเหลือของรัฐ ส่วนความเสียหายส่วนแรกก็ให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ครบถ้วน เช่น ในส่วนปศุสัตว์ โค กระบือจะให้ความช่วยเหลือไม่เกิน 2 ตัวต่อราย สุกรให้รายละไม่เกิน 10 ตัว ขณะที่ในความเป็นจริงเพื่อความอยู่รอดเกษตรกรต้องเลี้ยงสุกรหลักร้อยตัวขึ้นไป จวกรัฐเลี่ยงความรับผิดชอบ “ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ” กระทบการช่วยเหลือ-ฟื้นฟู ส่วนสาเหตุของการเกิดอุทกภัย นายเดชรัตแบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ 1.ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความจริงตัวเลขที่ทำให้รู้ว่าฝนจะมามากกว่าปี 38 ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค.แต่ไม่มีใครเอาใจใส่ว่าภัยพิบัติกำลังมาเยือน 2.การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน ตรงนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลเพราะการดำเนินการทุกอย่างต้องมีการแจ้งต่อหน่วยงานรัฐที่ดูแลพื้นที่อยู่ และ 3.การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเขื่อน และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่ในโชนด้านล่างเพื่อป้องกันน้ำท่วม นายเดชรัต ขยายความว่า ในเรื่องการบริหารเขื่อน ทางหน่วยงานราชการพยายามบอกว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการปล่อยน้ำของแต่ละเขื่อน (Operating Rule Curve) ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำด้วยเส้นระดับน้ำควบคุมที่ผันแปรตามช่วงเวลาในรอบปี ซึ่งคำนวณจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนในอดีต แต่เนื่องจากปริมาณฝนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ดังนั้นการพึ่งหลักเกณฑ์การปฏิบัติเดิมจึงทำให้เกิดปัญหา และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2549 ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อมาว่า ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการผัน ชะลอ และระบายน้ำเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถตัดสินใจได้ ดังนั้นจึงต้องยอมรับและพูดให้ชัดว่าส่วนไหนคือการบริหารจัดการที่ผิดพลาดทำให้เกิดน้ำท่วม และส่วนไหนเป็นความตั้งใจที่จะให้น้ำท่วมนานกว่าจุดอื่น ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและเกิดการปะทะตามมา ตรงนี้รวมถึงแนวคิดเรื่องการทำฟลัดเวย์ รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภาพความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่บนเส้นทางน้ำหลาก และความรับผิดชอบนี้จะเชื่อมโยงสู่การช่วยเหลือหรือชดเชย ซึ่งการช่วยเหลือจะใช้เมื่อมีสาเหตุที่เกิดเป็นไปตามธรรมชาติ “สำหรับพื้นที่ซึ่งเป็นการท่วมเนื่องมาจากการจัดการของรัฐบาล ที่รัฐบาลตั้งใจจะให้พื้นที่นี้จำเป็นต้องท่วมนานกว่าพื้นที่อื่น สิ่งที่รัฐบาลควรต้องดำเนินการคือการชดเชย ซึ่งคำนี้ไม่มีการพูดถึงเลย” นายเดชรัต กล่าว ชู “ภาษีน้ำท่วม” รูปธรรมตัวเงิน ช่วยผู้ได้รับผลกระทบตรงความต้องการที่สุด นายเดชรัต กล่าวด้วยว่า หน่วยงานของรัฐพยายามอธิบายว่าเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น หรืออาจอ้างว่าการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งตรงนี้ทำให้ยิ่งควรต้องชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย เพราะการอ้างว่ามีการตัดสินใจนั้น เท่ากับได้ชั่งน้ำหนักแล้วว่าจะพิทักษ์รักษาพื้นที่หนึ่งไว้เพราะเห็นถึงผลประโยชน์ที่มากกว่า แต่ทำไมไม่มีกลไกที่จะดึงเอาผลประโยชน์ที่รักษาไว้ได้มาชดเชยและฟื้นฟูพื้นที่ที่ต้องรับชะตากรรมน้ำท่วมนานเป็นพิเศษ นายเดชรัต แสดงความเห็นว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องเรื่อง “ภาษีน้ำท่วม” ขึ้นมาในรูปภาษีประเมินพิเศษ หรือ ภาษีผลประโยชนพิเศษ ดังเช่นในระบบของต่างประเทศ ซึ่งมีการจัดเก็บในกรณีที่บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์เป็นพิเศษอันเนื่องมาจากการตัดสินใจของภาครัฐ โดยนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป้องกันอุทกภัยเป็นพิเศษ ตรงนี้จะทำให้มีรูปธรรมที่เป็นตัวเงินในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบได้ตรงตามที่ต้องการมากที่สุด และอาจเป็นฐานหนึ่งในการจัดการพื้นที่ฟลัดเวย์ หรือในพื้นที่อื่นๆ อาจถูกใช้เป็นเบี้ยประกันสำหรับการประกันภัยพืชผลของเกษตรกรได้ แรงงานเดือดร้อนไม่ต่างเกษตรกร ชี้คนตกงานกระทบรายได้ชนบทแน่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำท่วมต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมว่า แรงส่วนหนึ่งต้องตกงาน ส่วนหนึ่งได้รับค่าจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งก็เดินทางกลับบ้าน ความเดือดร้อนที่มีไม่ต่างจากเกษตรกรในจังหวัดนครปฐม อีกทั้งสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันการตกงานของคนงานมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการลดรายได้ของคนชนบท ตัวเลขในภาคอีสาน รายได้ 100 บาท มาจากการทำงานในไร่นาเพียง 24 บาท มาจากนอกไร่นาถึง 76 บาท ซึ่งตรงนี้โดยหลักคือเงินส่วนที่ลูกที่เข้ามาทำงานในโรงงานส่งไปให้ เพราะฉะนั้นการที่คงตกงานไม่มีรายได้จะส่งผลไปถึงรายได้ของครอบครัวในชนบทด้วย การชดเชย 5,000 บาทไม่สามารถช่วยเหลือหรือเป็นค่าชดเชยได้ แต่สามารถรับในฐานะเป็นค่าทำขวัญ ผลตั้งโต๊ะฟ้องรัฐ พบคนเรียกค่าเสียหายถึงหลักร้อยล้าน นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ที่มีการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนว่ารับเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ พบว่ามียอดค่าเสียหายพุ่งไปถึงหลัก 100-200 ล้านบาท ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าจะนำเงินภาษีประชาชนมาใช้ในส่วนนี้ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะนำเอาเงินคงคลังมาฟื้นฟูเศรษฐกิจถ้ายังมีทางเลือกอื่น และไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีรีดเลือดเอาจากปู แต่เห็นว่าควรมีการเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ให้เหตุผลประกอบว่า ทุกวันนี้ทั่วโลกมีการเก็บค่าภาคหลวงตรงนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งมีการแบ่งกำไรคืนกลับอีก 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศไทยเก็บเพียงแค่ราว 10 เปอร์เซ็นต์เศษๆ และเมื่อรวมกับการแบ่งกำไรคืนกลับทั้งหมดแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 26-27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากเก็บค่าภาคหลวงตามมาตรฐานโลก เราจะได้ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน ซึ่งหากรัฐบาลอยากทำก็สามารถผลักดันในสภาให้มีการออก พ.ร.บ.ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมนี้ใหม่ได้ แต่ถามว่ากล้าทำหรือไม่ “เรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น เราต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติก็ไม่ว่ากัน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นความผิดพลาดในการจัดการ ซึ่งส่วนนี้ผู้ที่รับผิดชอบก็คือหน่วยงานราชการ ยืนยันนะครับ พวกเราคือสภาทนายความและผมเราไม่ได้ฟ้องรัฐบาล เราฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องก็จะโดนหมด ศาลจะไล่เบี้ยไปเอง และถ้าวันหนึ่งศาลไล่เบี้ยไปถึงนายก มันก็เรื่องของศาลไม่ใช่เรื่องของผมนะครับ” นายณรงค์กล่าว เผยแนวทางตั้งรับ-ทำข้อมูล สำหรับอนาคตเมื่อน้ำมาเยือน! นายประเชิญ คนเทศ รองประธานชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม กล่าวว่า ปัญหาของความเสียหายจากอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ความผิดอยู่ที่การบริหารจัดการข้อมูลและความจริง และมีเวลาเพียงแค่ 3-6 เดือนสำหรับกระบวนการที่จะทำต่อไปเพื่อแก้ปัญหาและตั้งรับ เพราะขณะนี้ทั้งเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนป่าสัก ปริมาณน้ำยังมีอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และมีน้ำค้างทุ่งพระพิมลอยู่อีกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งจำนวนนี้ไม่รวมน้ำที่จะไหลรินเข้ามาเพิ่มอีก คาดว่าต้องใช้เวลาผันถึงเดือนกุมภาพันธ์อย่างแน่นอน นายประเชิญ กล่าวถึงแผนการต่อไปเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ว่า 1.ทำการศึกษา โดยนึกถึงอำเภอข้างเคียงด้วย คือ บางใหญ่ ไทรน้อย บางบัวทอง และบางกรวย จ.นนทบุรี จะต้องร่วมพูดคุยกับคนคลองโยง มหาสวัสดิ์ ไปจนถึงสะพานเสาวภา จ.นครปฐม ในฐานะพื้นที่รับน้ำร่วมชะตากรรม และต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ถึงทิศทางของน้ำ 2.จับมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการศึกษาระบบฟลัดเวย์กับคลองเดิมของตะวันออก-เจ้าพระยา กับตะวันตก-ท่าจีนไปจนออกทะเลว่า คลองที่มีอยู่เดิมหายไปไหน และจะต้องเติมทางลัดน้ำอย่างไรเพื่อให้พุทธมณฑลรอจากน้ำท่วม 3.ศึกษาฟลัดเวย์ใหม่ เพื่อช่วยให้น้ำไหลจากสะพานเสาวภาและดึงน้ำจากคลองโยงลงไปได้เป็นหนึ่งโปรเจกต์ และอีก 2 โปรเจกต์คือทางน้ำทางเหนือกับทางตะวันออก นอกจากนั้นยังมีโปรเจกต์ฟื้นฟูอีก 2 โปเจกต์ คือที่ ต.บางระกำ จ.นครปฐม และที่ ต.คลองโยง ซึ่งจะต้องมีการทำวิจัยไปในตัวด้วยเนื่องจากต้องก้าวสู่การเตรียมรับโลกร้อน นายประเชิญกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีองค์ความรู้จากคลองจินดาซึ่งทำในระดับสมบูรณ์ และกำลังจะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ เพื่อป้องกันพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ คลองจินดาเคยถูกบอกว่าจะเป็นพื้นที่ที่จมน้ำพร้อมกรุงเทพฯ ใน 30 ปีข้างหน้า แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาคลองจินดารอดมาได้ด้วยระบบการเตือนภัยตามแผนที่ “เรื่องของการมองอนาคตเพื่อเตรียมรองรับ ทำให้การฟื้นฟูไปรอด คือถ้าเราไม่มองอย่างนี้วันหน้าน้ำก็มาอีก” นายประเชิญกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
รายงาน : “เขาหาว่า ผมยิงอาร์พีจี (ใส่กลาโหม)” Posted: 12 Dec 2011 12:23 AM PST
บัณฑิต สิทธิทุม เกิดเมื่อพ.ศ. 2510 บ้านเดิมอยู่ที่ อ.พล จ.ขอนแก่น จบการศึกษาที่ โรงเรียนตำรวจภูธร 2 จังหวัดชลบุรี ออกจากราชการประมาณปี 2545 เนื่องจากกระทำความผิดฐาน พ.ร.บ.ป่าไม้ มีลูก 3 คน ลูกชายคนเล็กอายุ 12 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บางแสน ชลบุรี เขาถูกจับกุม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 18.30 น.ในบ้านพักอาศัยที่บางแสน เขาเล่าว่า ขณะเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมมีเจ้าหน้าที่ร่วมจับประมาณ 20 นาย อาวุธครบมือ หลังจากบุกเข้าจับที่บ้านพัก ตำรวจก็ค้นบ้านประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นก็นำตัวเขาไปขัง โดยเริ่มแรกยังไม่ได้ผูกตาเขา แต่เมื่อคุมตัวมาถึงย่านบางนา เขาถูกเจ้าหน้าที่นำผ้ามาปิดตา ต่อมาเมื่อเขาถูกเปิดผ้าปิดตาออกเขาจึงรู้ตัวว่าเขาถูกจับนำตัวมาที่ร้านคาราโอเกะ โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบถามเขาว่า ใครเป็นคนจ้างให้เขายิงระเบิด และถามว่าบิ๊กจิ๋วใช่หรือไม่ เขาเล่าว่าเขาถูกเจ้าหน้าสอบถามมากมาย พร้อมทั้งข่มขู่เขาว่าถ้าไม่ตอบ ไม่บอกความจริง จะเอาไปให้ทหารยิง ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวเขาไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นย่านรามอินทรา จากนั้นจึงนำตัวมาที่กองปราบฯ คุณน้ำฝน ภริยาของบัณฑิต เล่าว่าหลังจากถูกจับกุมแล้ว เธอไม่ได้รับการติดต่อจากบัณฑิตเลยและไม่รู้ว่าจะไปติดต่อที่ไหน หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน เห็นข่าวว่าคนเสื้อแดงถูกจับไปไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามจึงทราบว่าสามีของเธอถูกขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้วจึงได้เดินทางมาเยี่ยมบัณฑิต ในชั้นจับกุมเจ้าหน้าที่แจ้งว่า เขาเป็นคนยิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมเมื่อเดือนมีนาคม 2553 และครอบครองอาร์พีจีและอาวุธสงครามอื่นๆ เช่น ปืนกล ระเบิด รวมทั้งปลอมทะเบียนรถ เขากล่าวว่าเขาได้รับสารภาพไปแล้ว และเหตุที่เขารับสารภาพเนื่องจากเจ้าหน้าที่ข่มขู่ว่าจะเอาไปให้ทหารและเอาไปยิงทิ้ง หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 อัยการได้ยื่นฟ้องโดยระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553 เขาร่วมกันกับคนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ใช้เครื่องยิงอาร์พีจียิงใส่กระทรวงกลาโหมเพื่อข่มขู่ให้รัฐบาลไทยอันมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ประกาศยุบสภาตามความประสงค์ของจำเลยกับพวก อันเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการปกครองระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอันเป็นการก่อการร้าย นอกจากข้อหาก่อการร้ายและสนับสนุนก่อการร้ายแล้ว บัณฑิตยังถูกฟ้องด้วยข้อหาอื่นด้วย โดยมีข้อหา ครอบครองเครื่องยิงจรวดอาร์พีจีจำนวน 1 กระบอก และเครื่องกระสุนปืนอาร์พีจีจำนวน 1 นัด ครอบครองลูกระเบิดเครื่องชนิดสังหาร แบบ 88 เอ็ม 67 จำนวน 3 ลูกไว้ในครอบครอง อันเป็นการสนับสนุนการก่อการร้ายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ร่วมกันมีอาวุธปืนกลมือขนาด .45 จำนวน 1 กระบอกกับซองกระสุนปืน 1 อัน ไว้ในความครอบครองร่วมกันมีกระสุนปืน ออโตเมติกขนาด .45 จำนวน 48 นัดไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และระเบิดไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันปลอมทะเบียนป้ายทะเบียนรถและใช้ป้ายทะเบียนรถปลอม บัณฑิตเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้เขาถูกย้ายเรือนจำไปหลายแห่ง เนื่องจากพยานบุคคลอยู่ต่างจังหวัด โดยเขาถูกย้ายไปที่เรือนจำสงขลา เรือนจำพัทยา เรือนจำชลบุรี แต่ละครั้งที่เขาย้ายไปนั้นประสบความลำบากมาก เนื่องจากไม่มีเงินติดตัวไปเลย ส่วนญาติก็ไม่ได้ตามไปเยี่ยม โดยเฉพาะเมื่อไปเรือนจำทางภาคใต้ ในด้านการสืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญานั้น มีพนักงานสอบสวนจากดีเอสไอ พ.ต.ท.สมชาย ขำล้อมเพชร มาเบิกความว่า ขณะทำการสอบสวนรับราชการอยู่ที่ สน.พลับพลาไชย 1 ตำแหน่งพนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการและได้รับคำสั่งให้เป็นพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเขาเบิกความว่า ประมาณปลายปี 2552 นปช.ได้ชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและมีการชุมนุมและได้ก่อวินาศกรรมตามสถานที่ราชการหลายแห่งจนนำไปสู่การประกาศพื้นที่ห้ามชุมนุมตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 โดยห้ามชุมนุมที่กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ภายหลังมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีการชุมนุมโดย นปช.ได้ตั้งเวทีใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าและปิดถนนตั้งแต่แยกมิกสิกาวันจนถึงแยกผ่านฟ้าถึงเชิงสะพานปิ่นเกล้าทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เส้นทางและทำให้ประชาชนเดือดร้อน มีวัตถุประสงค์เรียกร้องครั้งนี้ให้นายกฯยุบสภา โดย นปช.ได้วางแผนเป็นขั้นตอนในการปลุกระดมมวลชนขับเคลื่อนไปสู่ความขัดแย้ง ปลุกปั่นบิดเบือนความจริง ยุยงส่งเสริมด้วยคำพูดรุนแรงก้าวร้าวเพื่อสร้างความปมขัดแย้ง อาฆาตมาดร้าย ให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล จนนำไปสู่ความรุนแรงซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย ในการชุนนุม นปช.มีการสะสมอาวุธและกำลังพล และมีการก่อวินาศกรรมควบคู่ไปกับการชุมนุมประท้วงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติซึ่งทำให้ประขาชนหวาดกลัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นายกฯยุบสภา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553 มีคนร้ายเป็นชายสองคน ได้ใช้เครื่องยิงอาร์พีจีไปยังที่กระทรวงกลาโหมแต่จรวดยิงไปถูกสายไฟที่ ถ.อัษฎางค์ ฝั่งตรงข้ามกระทรวงกลาโหมทำให้จรวดไม่ตกตามเป้าหมาย การระเบิดทำให้ทรัพย์สินเสียหายและมีผู้บาดเจ็บ จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุได้มีผู้พบเห็นคนร้ายชายสองคนขับรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ ที่ซอยแพร่งนรา ผ่านมาและจอดรถรถแวะทักทายพูดคุยกับพยานที่ซอยแพร่งนรา หลังจากนั้นไม่นานก็ได้เกิดเสียงระเบิดขึ้นที่ปากซอยแพร่งภูธร ต่อมามีผู้พบเห็นคนร้ายทั้งสองขับรถไปทิ้งไว้ที่โรงแรมที่อยู่ข้างศาลเจ้าพ่อเสือและคนร้ายทั้งสองลงจากรถและรีบเดินหนีไป พยานที่พบเห็นคนร้ายที่จอดรถเดินหนีไปเป็นผู้หญิง 2 คน โดยคนทั้งสองได้เห็นหน้าคนร้ายที่นั่งคู่คนขับ พยานทั้งสองคนได้ไปให้ปากคำที่ สน.สำราญราษฎร์พร้อมกับพยานอีก 3 คนที่เห็นคนร้ายทั้งสองก่อนเกิดเหตุ เมื่อไปดูสถานที่เกิดเหตุพบว่า สภาพรถยนต์กระจกรถด้านซ้ายแตกและกระจกด้านขวา(แคป)แตก ภายในรถพบเครื่องยิงอาร์พีจี ระเบิด 3 ลูก อาวุธปืนกล พบเสื้อผ้าพร้อมกระเป๋าเอกสารต่างๆ หลายรายการ และพบขวดน้ำดื่มภายในรถ จึงได้รวบรวมพยานวัตถุต่างๆ ที่ตรวจพบไปให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตรวจสอบตรวจพิสูจน์ต่อไป ผลของการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า 1.พบรอยลายนิ้วมือคนร้ายที่ประตูรถ 2.ที่ขวดน้ำพบดีเอ็นเอ ส่วนพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า เธอได้รับพยานวัตถุต่างๆ จากพนักงานสอบสวนโดยมีกระเป๋าสะพายที่พบในรถกระบะ โดยขณะทำการตรวจสอบพยานวัตถุได้เปิดกระเป๋าและดึงเสื้อออกมาเพื่อจะทำการตรวจหาดีเอ็นเอ ขณะดึงเสื้อออกมาปรากฏว่าซิมโทรศัพท์ได้หล่นออกมาจากกระเป๋าเสื้อแจ็คเก็ตสีดำ เธอจึงนำส่งซิมนี้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วน พ.ต.ท.ธนกฤต คณิตกุล เบิกความว่า เขาเป็นผู้ไปรับมอบซิมการ์ดจากเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ ปรากฏว่ามีการบันทึก 141 หมายเลข รายชื่อส่วนใหญ่เป็นชื่อของนักเรียนพลตำรวจภูธร 2 จ.ชลบุรี จากนั้นมีการตรวจสอบข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ และเปรียบเทียบกับข้อมูลเว็บไซต์ของนักเรียนพลตำรวจโรงเรียนตำรวจภูธร 2 ชลบุรี ปรากฏว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ของจำเลย ทั้งนี้ พยานโจทก์ที่มาเบิกความเป็นพยานว่าเบอร์โทรศัพท์นี้เป็นเบอร์ที่จำเลยใช้ คือ เพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นนักเรียนพลตำรวจด้วยกัน ส่วนจำเลยได้เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนภริยาของจำเลยเบิกความว่าวันเกิดเหตุวันที่ 20 มีนาคม 2553 ตัวจำเลยไปกินข้าวที่ร้านอาหารอีสานย่านบางแสน และวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.54) จะมีการพิพากษาคดีนี้ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา เวลา 9.00 น. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3 - 9 ธ.ค. 2554 Posted: 12 Dec 2011 12:12 AM PST ชงตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วย อุ้มคนติดหนี้บัตรเครดิต ปิดแล้ว 39 รง.-ตกงานหมื่นคน มีการประชุมคณะทำงานกำหนดนโยบายและแนวทาง การแก้ปัญหาจากอุทกภัย ซึ่งนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ถึงผลการ ประชุมดังกล่าวว่า ในที่ประชุมทางกรรมการฝ่ายลูกจ้างเสนอให้กระทรวงแรงงานออกมาตรการช่วยเหลือ แรงงานที่ได้รับผลกระทบ จากน้ำท่วม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ผ่อนชำระสินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยเรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงานก็จะรับไปศึกษาในรายละเอียดโดยเบื้องต้นจะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในเชิงลึกเพื่อหามาตรการ ช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้ กรรมการฝ่ายลูกจ้างยังได้เสนอให้ตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินรองรับลูกจ้าง ที่เดือดร้อนในช่วงวิกฤติ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา ถึงความเป็นไปได้ โดยให้นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขอให้สบายใจได้ว่าลูกจ้าง 90% ใน 3 นิคมอุตสาหกรรมในจ.พระนครศรีอยุธยาได้กลับเข้าสู่ระบบการทำงานแล้วรมว.แรง งาน กล่าว และว่าแต่ยังมีผู้ประกอบการ 39 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และเป็นโรงงานเกี่ยวกับชิ้นส่วนประกอบ รถยนต์ที่ประกาศเลิกกิจการหลังจากเกิดเหตุอุทกภัยและมีคนงานจำนวน 10,957 คน ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะคนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้าง มีการชดเชยและ สิทธิประโยชน์อื่นๆ และกระทรวงแรงงานก็มีอัตรางานรองรับอยู่แล้วกว่าแสนอัตรา นอกจากนั้นทางกระทรวงแรงงานได้มีการทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการแล้วในการ ขอรับ การช่วยเหลือจากรัฐบาลจะต้องไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งผู้ประกอบการก็ยินดีที่จะเปิดประกอบกิจการเช่นเดิมและจ้างแรงงาน ต่อ วันนี้สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือจะขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำ เพราะแรงงานบางส่วนไม่มั่นใจในสภาพการทำงาน เช่น น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ ผู้ประกอบการจะปิดกิจการหรือเปล่า ด้านนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวตนมีแนวคิดที่เสนอให้จัดตั้งกองทุนประกันการมีงานทำ เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือ ลูกจ้างในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยมีการส่งเงินสมทบ 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาลนายจ้างและลูกจ้างในลักษณะเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ซึ่งจะช่วยให้ลูกจ้างมีรายได้ในช่วงหยุดงาน ทั้งนี้ อาจจะร่วมกับกองทุนประกันการว่างงานในการให้สิทธิประโยชน์เพราะปัจจุบัน กองทุนนี้จะให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่ถูกเลิกจ้างแต่ไม่ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างที่ ต้องหยุดงาน แต่ไม่ถูกเลิกจ้าง โดยอาจมีการแก้พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้สามารถโยกเงินจาก 2 กองทุนนี้มีมาจ่ายสิทธิประโยชน์ร่วมกันได้ รวมไปถึงอาจกำหนดให้มีการจ่ายเงินสมทบทั้ง 2 กองทุนโดยไม่กระทบกับลูกจ้างมากนัก เนื่องจากปัจจุบันลูกจ้างส่งเงินสมทบเข้าในกองทุนนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อหักจากกองทุนรวมของประกันสังคมที่จ่ายอยู่ที่ร้อยละ 5 แล้ว ซึ่งอาจจะจ่ายใน 2 กองทุนรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 0.6-0.7 หรือมากน้อยกว่านั้นตามความเหมาะสม อธิบดี กสร.ยังกล่าวต่อว่า ตอนนี้กำลังศึกษารูปแบบกองทุนประกันการมีงานทำของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีที่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติบ่อยครั้งอย่างเกาหลีก็มีกองทุน ลักษณะนี้และจ่ายให้ลูกจ้างในยามวิกฤติร้อยละ 60-80 ขณะนี้ประเทศไทยก็เริ่มมีเหตุการณ์ ภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีกองทุนลักษณะนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดข้างต้นของผม จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของรัฐบาล สปส.และผู้ประกันตนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก่อนที่จะส่งมอบต่อให้นักวิชาการทำการศึกษาผลดีผลเสียต่อไป อธิบดีกสร. กล่าว นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า อุทกภัยหนนี้ สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยด้านภาคการผลิต ซึ่งประกอบด้วย ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม บริการและการท่องเที่ยว สำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง (สศค.) ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น อยู่ที่ 127,162-254,324 ล้านบาท และส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงาน ซึ่งสอดคล้อง กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติได้รายงานวิกฤติอุทกภัยทำให้อัตราการว่างงาน ในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.8-2.3 หรืออยู่ที่ประมาณ 730,000-920,000 คน และส่งผลให้ประชาชน มีรายได้ลดลงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยคาดว่าอาจมีประชาชนบางส่วนที่หันไปพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบเพิ่มมาก ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้สถาบันการเงินต่างๆ 5 แห่ง เปิดจุดบริการสำหรับรับปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนและพิจารณาให้สิน เชื่อแก่ประชาชนในทุกสาขาทั่วประเทศคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย,ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (แนวหน้า, 3-12-2554) ปลัดแรงงาน ย้ำนายจ้างเบี้ยวขึ้นค่าแรง 300 บ.มีความผิดตามกฎหมาย นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยความคืบหน้าการเตรียมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทว่า ขณะนี้ประกาศของกระทรวงแรงงาน เรื่องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ในทุกจังหวัด ทำให้ค่าจ้างใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี และภูเก็ต เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2555 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ล่าสุดได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ สถานประกอบการต่างๆ จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-12-2554) โฮย่าเจรจานัดแรก ยังไม่ได้ข้อตกลง สหภาพฯ-บริษัทโฮย่า เจรจาไตรภาคีนัดแรก ผู้แทนฝ่ายนายจ้างรอผู้บริหารกลับจาก ตปท. นัดเจรจาอีก 9 ธ.ค. นี้ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน ได้นัดให้มีการเจรจากันระหว่าง บริษัทโฮยากลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้แทนลูกจ้าง กรณีที่บริษัท โฮย่าฯ จะเลิกจ้างลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2555 นั้น ผลการเจรจานัดแรกปรากฎว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยผู้แทนลูกจ้างต้องการให้บริษัทโฮย่าทบทวนการเลิกจ้างทั้งหมด โดยให้ยกเลิกนโยบายเลิกจ้างนี้ ส่วนฝ่ายผู้แทนนายจ้างจะขอเวลานำข้อเสนอนี้ไปให้ฝ่ายบริหารที่จะกลับมาจาก ต่างประเทศพิจารณา พร้อมทั้งจะแจ้งให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมเจรจาด้วย โดยการเจรจานัดต่อไปกำหนดให้มีในวันที่ 9 ธ.ค. 54 เวลา 9.00 น. ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน (ประชาไท, 6-12-2554) ก.แรงงาน เผยลูกจ้างกว่า 600,000 คน ยังไม่กลับทำงาน คาดตกงาน 130,000 คน ก.แรงงาน 6 ธ.ค.- อธิบดีกรมสวัสดิการฯ เผยลูกจ้างกว่า 600,000 คน ยังไม่กลับเข้าทำงาน คาดลูกจ้างเอาท์ซอร์สตกงานก่อน 130,000 คน ชี้อยุธยา ปทุมธานี เลิกจ้างมากสุด เตือนคนงานเร่งแสดงตนให้รู้ว่ายังพร้อมทำงาน ขณะที่โครงการชะลอเลิกจ้าง รัฐช่วยจ่ายเดือนละ 2,000 บาท ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 200,000 คน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับสถานประกอบการทั่วประเทศ รวม 31 จังหวัด จำนวนกว่า 28,000 แห่ง ผู้ใช้แรงงานจำนวนกว่า 9.9 ล้านคน ล่าสุดหลายพื้นที่ปัญหาเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยพบว่า มีสถานประกอบการจำนวน 15,474 แห่ง ลูกจ้าง 35,1640 คน กลับมาเปิดกิจการแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือสถานประกอบการ จำนวน 13,205 แห่ง ลูกจ้าง 642,304 คน ยังคงไม่สามารถเปิดกิจการได้ โดยในจำนวนนี้ คาดว่าลูกจ้างประมาณ 130,000 คน อาจต้องถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทจ้างเหมาค่าแรง หรือ เอาท์ซอร์ส ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ซึ่งทางกระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการรองรับโดยเตรียมจัดงานนัดพบแรงงานย่อย ภายในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มต้นในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป (สำนักข่าวไทย, 6-12-2554) ไฟเขียว นำเข้าแรงงานต่างด้าวกว่า 2 แสนคน ใช้เครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน มีแนวคิดนำเข้าแรงานต่างด้าว โดยเฉพาะสัญชาติพม่า ที่ผ่านข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า เพื่อนำมาชดเชยแรงงานต่างด้าวที่หนีน้ำท่วมเดินทางกลับประเทศประมาณ 2 แสนคน เป็นแรงงานพม่าประมาณ 1.2 แสนคน จากการหารือล่าสุดกับรัฐบาลพม่าได้ข้อสรุปว่า จะนำเข้าโดยเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานกับทางกระทรวงการต่างประเทศ ในการตั้งด่านออกเอกสารรับรองที่สนามบินสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางาน ได้เปิดให้สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน มายื่นเอกสารขอโควตาแรงงานต่างด้าวได้ตลอดเวลาที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งกรมการจัดหางาน จะส่งเรื่องไปยังรัฐบาลพม่า ให้จัดส่งแรงงานตามจำนวนที่ทางนายจ้างร้องขอ (มติชน, 6-12-2554) พนง.โรงงานสีปากน้ำประท้วง ขอขึ้นค่าแรง-รับโบนัส เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 ธ.ค. 54 บริเวณหน้า บริษัทสีไทยกันไซเพ้นท์ จำกัด เลขที่ 180 หมู่ 3 ถนนเทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสี สีพ่นรถยนต์และจักรยานยนต์ ยี่ห้อสีตราพัด ได้มีกลุ่มพนักงานลูกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานคัลเลอร์ มอเตอร์ประเทศไทย ราว 200 คน รวมตัวกันชุมนุมอยู่บริเวณหน้าโรงงาน ภายหลังบริษัทปิดประกาศ แจ้งปิดงาน งดจ้างกรรมการสหภาพ และสมาชิกสหภาพแรงงานคัลเลอร์ มอเตอร์ประเทศไทย จึงสร้างความไม่พอใจกับพนักงานและรวมตัวกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สภ.สำโรงเหนือ คอยดูแลความปลอดภัย นายอดิพร ยอดรัก รองสหภาพแรงงานคัลเลอร์ มอเตอร์ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ ระหว่างที่พวกตนเดินทางมาทำงานตามปกติก็เห็นป้ายติดประกาศเลิกจ้างพวกตน จึงสร้างความไม่พอใจให้พนักงานที่เดินทางมาทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ประมาณ 500 คน และพนักงานที่โรงงานของระยองก็มีติดประกาศเช่นกันจึงได้เดินทางมาร่วม ประท้วงด้วย เพื่อให้บริษัทอนุมัติตามข้อเรียกร้อง ซึ่งข้อเรียกร้องที่ทางสหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นขอเรียกร้องประจำปี ต่อคณะผู้บริหารโรงงานไป เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น ให้พิจารณาเพิ่มค่าแรงขึ้น จากเดิมอีกคนละ 900 บาทต่อเดือน รวมทั้งขอเงินโบนัสเพิ่มเป็น 6 เดือน พร้อมกับเงินพิเศษอีกคนละ 20,000 บาท และสวัสดิการอื่นๆ อีกรวม 15 ข้อ ซึ่งก็ได้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายผู้แทนนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างมาโดยตลอดรวม 7 ครั้ง แต่ทางนายจ้างไม่อนุมัติตามที่ทางสหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเสนอ โดยอ้างว่า บริษัทขาดทุนเนื่องจากที่ผ่านมา เกิดปัญหาน้ำท่วมยอดการสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงทำให้บริษัทขาดทุน จึงไม่สามารถอนุมัติให้ตามที่ยื่นข้อเรียกร้องได้ นายอดิพร กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบงบดุลของบริษัท พบว่ามีกำไรมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพราะช่วงต้นปีก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม บริษัทมียอดการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก พนักงานในบริษัทฯ ทั้งที่สมุทรปราการและระยอง ทำงานล่วงเวลาทุกวัน โดยในแต่ละเดือนรวมทั้ง 2 โรงงานบริษัทสามารถผลิตสีได้ประมาณ 2,100 ตัน รวมถึงข้อเรียกร้องที่ทางสหภาพแรงงานฯ ยื่นนั้นคิดจากกำไรของปีที่ผ่านมา จึงไม่พอใจที่บริษัทอาศัยช่วงภาวะเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ไม่อนุมัติตาม ที่ทางสหภาพแรงงานฯ ยื่นเสนอ และหากตกลงกันไม่ได้พวกตนก็จะชุมนุมกันอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าทาง บริษัทจะยอมตามข้อเรียกร้อง เบื้องต้น ทางฝ่ายผู้แทนนายจ้างอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างร่วม กับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อหาข้อยุติสำหรับปัญหาดังกล่าว ซึ่งหากได้ข้อยุติ ผู้สื่อข่าวจะรายงานต่อไป (ไทยรัฐ, 6-12-2554) ทีดีอาร์ไอจี้กรมสวัสดิการฯประสานสภาทนายให้ความรู้แรงงาน วันนี้ (7 ธ.ค.) จากกรณีที่มีการเลิกจ้างพนักงานบริษัท โฮยา กลาส ดิสก์ ที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน กว่า 2,000 คน เมื่อวันที่ 11 พ.ย.-30 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์และขาดทุน แต่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ตัวเลขผลกำไรของบริษัท ที่ผ่านมา ล่าสุด ปี 2553 มีกำไร 591 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศเวียดนาม ทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการหลีกเลี่ยงนโยบายการเพิ่มค่าจ้าง 40% ให้พนักงาน ที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2555 โดยใช้เครื่องจักรใหม่มาแทนกำลังคน เนื่องจากมีการขนย้ายเครื่องจักรเข้าออกโรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิม บริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มตามส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำหากมีการปรับขึ้น (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-12-2554) คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบลดอัตราเงินสมทบปี 2555 ช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ประสบอุทกภัย สำนักงานประกันสังคม เผยมติคณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตน ม.33 และม.39 ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์อุทกภัยในวงกว้าง โดยลดอัตราเงิน สมทบกองทุนประกันสังคมปี 2555 เตรียมเร่งยื่นเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อออกกฎกระทรวงบังคับใช้ต่อไป นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินต่อบ้านเรือน บริษัทห้างร้านสถานประกอบการต่างๆ และส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับความเดือดร้อนโดยทั่วกัน ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันสังคม โดยคณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแก่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 1 ปี ในปี 2555 โดยลดจากอัตราเงินสมทบที่จ่ายในปัจจุบันฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ดังนี้ ครึ่งปีแรก (1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2555) จ่ายในอัตราฝ่ายละร้อยละ 3 ลดลงจากเดิม ฝ่ายละร้อยละ 2 ครึ่งปีหลัง (1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2555) จ่ายในอัตราฝ่ายละร้อยละ 4 ลดลงจากเดิม ฝ่ายละร้อยละ 1 ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงจ่ายสมทบในอัตราเดิม คือ 2.75 การลดอัตราเงินสมทบในครั้งนี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละประมาณ 16,700 ล้านบาท ในส่วนของผู้ประกันตนแบ่งเบาภาระ ได้เฉลี่ยคนละประมาณ 1,700 บาท/ปี (คำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยของผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39) การลดอัตราเงินสมทบดังกล่าวผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมทุกกรณี โดยเฉพาะการรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (8-12-2554) เผยคนใช้สิทธิประกันว่างงานเกือบครบ แรงงานขาดแคลน น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันระบบประกันการมีงานทำ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการประกันว่างงาน สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและไม่มีงานทำให้มีรายได้ช่วงตกงาน เช่น กองทุนประกันว่างงาน และการประกันการจ้างงาน ที่นำเงินกองทุนไปช่วยเหลือนายจ้าง เพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน ซึ่งเป็นระบบที่ไทยและเวียดนามใช้แต่เวียดนามกำลังศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นกองทุนประกันการมีงานทำ ซึ่งการก้าวไปสู่จุดนั้น ต้องมีความพร้อมเรื่องระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากต้องมีความร่วมมือหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนของไทยส่วนใหญ่ ใช้สิทธิกรณีว่างงานจนเกือบเต็มสิทธิ์ คือ 6 เดือน และไม่ยอมกลับไปทำงาน ทั้งที่มีตำแหน่งงานว่างรองรับ และตรงตามคุณสมบัติที่นายจ้างต้องการ เนื่องจากผู้ประกันตนได้รับเงินชดเชย จึงไม่รีบกลับเข้าทำงาน ส่งผลให้ตัวเลขขาดแคลนแรงงานสูงขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือลูกจ้าง อย่าใช้สิทธิเต็มที่ และกลับเข้าทำงานตามสถานการณ์ที่เป็นจริง เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไป ล่าสุดได้มีแนวคิดที่จะเสนอให้ผู้ที่ใช้สิทธิไปแล้ว 1-2 เดือน ให้รับเงินชดเชยส่วนที่เหลือในลักษณะเป็นเงินก้อน เพื่อจูงใจให้กลับเข้าทำงานโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างเต็ม 100 % รวมทั้งได้รับเงินล่วงเวลาและสวัสดิการต่างๆ ด้วย (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8-12-2554) กรมการจัดหางานส่งแรงงานไทย 5 พันคน ทำเกษตรอิสราเอล (9 ธ.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวภายหลังการสุ่มรายชื่อคัดเลือกแรงงานเข้าร่วมโครงการความร่วมมือ ไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Worker : TIC) ซึ่งเปิดรับสมัครรหว่างวันที่ 21 ต.ค.-18 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) ว่า จะมีการส่งแรงงานไทยจำนวน 5,000 คน จากโควตานำเข้าแรงงาน จำนวน 27,000 คน ที่ลงนามในเอ็มโอยูร่วมกัน ไปทำงานภาคเกษตรที่ประเทศอิสราเอล โดยมีการคัดเลือกแรงงานด้วยวิธีการสุ่มเรียงด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากแรงงาน ที่สนใจมาสมัครไปทำงานรวมทั้งสิ้น 6,583 คน เพื่อความโปร่งใส ยุติธรรมมากที่สุด (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-12-2554) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
อีกครั้งกับโฮย่าฯ น้ำท่วมหรือข้ออ้างทำลายสหภาพแรงงาน? Posted: 11 Dec 2011 08:59 PM PST สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมาส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ มากน้อยแตกต่างกันไป และกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งถูกน้ำท่วม ไล่มาตั้งแต่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ อ.อุทัย นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ที่ อ.บางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน แฟตตอรี่แลนด์ เขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีการคาดการณ์จะส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง กว่า 500,000 คน ถึงแม้ว่าจะมีการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการโดยให้เงินช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจ่าย เงินเดือนค่าจ้างให้กับลูกจ้าง 2,000 บาท/เดือน/ราย โดยผู้ประกอบการต้องทำข้อตกลงจะว่าจ้างลูกจ้าง 3 เดือนขึ้นไปเป็นอย่างน้อย และบริษัทจะต้องจ่าย 75 % แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีหลายบริษัทได้เลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งกระจายไปในหลายพื้นที่ ทั้งอยุธยา รังสิต อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และที่สำคัญใน พื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากน้ำท่วมได้แก่ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ก็มีการประกาศใช้มาตรา 75 หยุดงานและจ่ายค่าจ้าง75 % และเลิกจ้างด้วยเช่นกันโดยอ้างเหตุผลน้ำท่วมทำให้ออร์เดอร์สินค้าลดลง บริษัทโฮย่ากลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดลำพูน เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่บอกว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยประมาณเดือนตุลาคม 2554 บริษัทฯ จัดทำโครงการเกษียณอายุ เพื่อลดจำนวนพนักงาน ต่อมาเดือนพฤศจิกายน ได้ประกาศใช้มาตรา 75 ในโรงงานที่ 2 โดยจ่ายค่าจ้าง75% เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2554 บริษัทฯ ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานในโรงงานที่ 2 ทั้งหมดจำนวนเกือบ 2,000 คน โดยให้การเลิกจ้างเป็นผลในวันที่ 21 มกราคม 2555 การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทโฮย่าฯ แจ้งเหตุผลว่า “ประสบกับปัญหาการขาดทุนตั้งแต่เดือน เมษายน 2554 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบส่งผลให้ยอดการผลิตมีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก” แต่จากการพูดคุยกับแกนนำสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) และลูกจ้างบางส่วนของบริษัทโฮย่าฯ พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสงสัยว่า การประกาศเลิกจ้างของบริษัทโฮย่าฯ ในครั้งนี้เป็นเหตุมาจากน้ำท่วมอย่างเดียวจริงหรือไม่? หรือมีเหตุผลอื่นที่แฝงอยู่ เนื่องจากฝ่ายบริหารของบริษัทโฮย่าฯ แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการเลิกจ้างลูกจ้างในโรงงานที่ 2 ทั้งหมด เพราะถึงแม้ว่าจะประกาศเป็นโครงการสมัครใจเลิกจ้าง แต่หากมีลูกจ้างในโรงงานที่ 2 ไม่สมัครใจเข้าร่วมโครงการก็จะเลิกจ้าง ทั้งหมดอยู่ดี จากการกระทำเช่นนี้ของบริษัทโฮย่าฯ ทำให้สงสัยว่า น่าจะมีเบื้องหลังในการเลิกจ้างครั้งนี้ ประกอบการการเจรจาระหว่างฝ่ายสหภาพแรงงาน กับฝ่ายบริหารของบริษัทโฮย่าฯ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้เนื่องจากฝ่ายบริหารของบริษัทโฮย่าฯ ยืนยันที่จะเลิกจ้างลูกจ้างในโรงงานที่ 2 หากคนงานสมัครเข้าร่วมโครงการเลิกจ้างโดยสมัครใจไม่ครบจำนวน ก็จะเลิกจ้างคนงานโรงงานที่ 2 จนกว่าจะครบตามจำนวน ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมถึงต้องเลิกจ้างคนงานที่โรงงานที่ 2 ให้ได้? การที่บริษัทบอกว่าต้องเลิกจ้างคนงานในโรงงานที่ 2 เพราะคอร์สสูงกว่า ผลผลิตแย่กว่าประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่า น่าจะไม่ใช่เหตุผลหลักเสียแล้ว เพราะมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่น่าคิดว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทแสดงเจตนารมณ์แน่วแน่เช่นนี้ คือ ในโรงงานที่ 2 นั้น มีคณะกรรมการสหภาพแรงงาน 19 คนจากทั้งหมด 28 คน และกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งหากมีการเลิกจ้างคนงานโรงงานที่ 2 ทั้งหมดตามที่บริษัทโฮย่าฯ ยืนยัน ก็จะทำให้สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) อ่อนแอลงอย่างมาก และโอกาสที่จะเติบโตเข้มแข็งคงจะเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น นอกจากนี้ในอดีตที่ผ่านมาในช่วงเริ่มตั้งสหภาพแรงงาน บริษัทโฮย่าฯ ก็ใช้วิธีการเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงานและแกนนำกว่า 60 คนเพื่อล้มล้างสหภาพแรงงานมาแล้ว ดังนั้นเหตุการณ์เลิกจ้างครั้งนี้ของบริษัทโฮย่าฯ จึงทำให้น่าคิด และน่าจับตามองยิ่งขึ้นว่าบริษัทโฮย่าฯ “เลิกจ้างเพราะน้ำท่วม หรือข้ออ้างในการทำลายสหภาพแรงงาน” อีกครั้ง ? และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานฯ ต้องตรวจสอบว่าขัดกับนโยบายของรัฐบาล? ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอย่างไร ? เช่นกัน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
โฮยายังยันเลิกจ้าง สหภาพฯ หวัง กมธ.แรงงานตัวกลางขึ้นโต๊ะเจรจาอีก Posted: 11 Dec 2011 08:02 PM PST
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (พนักงานบริษัทโฮย่า) เปิดเผยว่าในการเจรจาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมานั้น ผลจากการประชุมระหว่างตัวแทนพนักงาน นายวชิระ ศรีบัวชุม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน ร่วมกับด้วยนายเทเคมิ มิยาโมโต ประธานบริษัท นายโตชิอะกิ โยชิมูระ ผู้จัดการทั่วไป ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ โดยนายจ้างยังคงยืนยันที่จะให้มีการเลิกจ้างอยู่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทางสหภาพแรงงานมิอาจจะยอมรับได้ โดยทางสหภาพแรงงานฯ เห็นว่าถึงแม้จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ข้ออ้างนั้นอาจจะไม่สมเหตุสมผล และอาจจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการปลดคนงานในที่ต่างๆ แบบนี้ได้ (บริษัทฯ อ้างว่าขาดทุน แต่ยังขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศเวียดนาม รวมถึงบริษัทฯ อ้างถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย) ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานฯ ระบุว่าในขณะนี้ความหวังของคนงานก็คือต้องรอคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนลูกจ้างกับนายจ้างอีกครั้ง หลังจากที่สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยผ่านนายสถาพร มณีรัตน์ กรรมาธิการแรงงาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้ติดตามและลงมาดูแลในกรณีนี้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.54 โดยทางสหภาพฯ คาดหวังว่าจะได้ความชัดเจนในเร็วๆ นี้ อ่านข่าวเกี่ยวข้อง: คนงานโฮย่าจี้ผู้ว่าลำพูนช่วยเหลือ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
เม้าท์มอย: ศิษย์เก่าดีเด่น มช. Mark Zuckerberg เจอดี และท่าทีอเมริกาต่อคดี โจ กอร์ดอน Posted: 11 Dec 2011 05:15 PM PST เม้าท์มอย สัปดาห์นี้ พบกับหลิ่มหลีและชามดองเช่นเคย พากันมาเม้าท์ๆ มอยๆ เรื่องของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ศิษย์เก่าดีเด่นปีปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทียบกับศิษย์เก่าดีเด่นรุ่นก่อนๆ เม้าท์กันต่อเรื่องระบบความปลอดภัยของเฟซบุค ที่ขนาด Mark Zuckerberg ยังโดนแฮครูปที่แชร์กันเฉพาะกลุ่มออกไปแบ่งปันให้สาธารณชนได้ดูกัน และปิดท้ายด้วยท่าทีของอเมริกาต่อคดีแปลหนังสือ The King never smiles ของโจ กอร์ดอน และคำเตือนด้วยความหวังดีจากหลิ่มหลีถึงพรรคเพื่อไทย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น