ประชาไท | Prachatai3.info |
- มุกหอม วงษ์เทศ: ความยุติธรรมอยู่ที่อื่น
- การกำหนดผู้มีสิทธิฟ้องคดีมาตรา 112 ต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการเท่านั้น - อธิบายโดยลำดับเหตุผลอย่างไร?
- รัฐบาลพม่าอาจปล่อยนักโทษรอบใหม่ปีหน้า
- ยกฟ้องอีกคดี บึ้มโรงแรมซีเอส.ปัตตานี
- blognone: จดหมายเปิดผนึกถึงกสทช. เรื่องข้อเสนอสิทธิแห่งผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
- สภาที่ปรึกษาฯ รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ “ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์”
- รายงาน: ตามหานิยาม ‘นักโทษการเมือง’ และเสียงสะท้อนจากห้องขัง
- ส.ศิวรักษ์: กระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
- สภาทนายความออกแถลงการณ์จี้ ผบ.ตร.-รมว.ไอซีทีจัดการเว็บหมิ่น
- ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เผย 10 พื้นที่อันตรายสำหรับสื่อมวลชน
- การจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- รายงาน: สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ค้นทางดับไฟสู่การจัดการตนเอง
- เปิดคำพิพากษาฉบับเต็มคดี ‘อากง’-ทนายขอขยายเวลาอุทธรณ์
- หรือแรงงานนอกระบบจะเป็นประชาชนชั้นสองในสายตากระทรวงแรงงาน ?
- 10 ล้านคน หมอ 2 คน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์
มุกหอม วงษ์เทศ: ความยุติธรรมอยู่ที่อื่น Posted: 23 Dec 2011 10:02 AM PST น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญไทยมิได้ใส่บทบัญญัติตามที่หลวงวิจิตรวาทการเคยเสนอไว้อย่างน่ายกย่องในความสุขุมคัมภีรภาพว่า “สยามจะต้องมีพระมหากษัตริย์ทรงราชย์และปกครองชั่วนิรันดร ถ้ามีข้อความดั่งนี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาจารีตประเพณีของเราอันหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นบทบังคับว่าเราจะเป็นรีปับลิกไม่ได้” เพราะหากประกาศอย่างชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรดังนี้แล้วก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาซักถามแบบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตามสนามบินที่เข้มงวดว่า เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า โชคดีที่ประเทศ “มุขปาฐะ” อย่างเราไม่ได้อยู่กันด้วย “ลายลักษณ์อักษร” ถึงไม่มีบทบัญญัติ เราก็ได้รับการอบรมบ่มเพาะกันมาอย่างดีโดยไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือออกด้วยซ้ำว่า ความเชื่องเป็นทั้งคุณธรรมและคู่มือการเอาชีวิตรอด ในสังคมที่ “รีปับลิก” หรือระบอบใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ระบอบที่ให้ประมุขของรัฐสืบทอดทางสายโลหิต เป็นรสนิยมหรือจุดยืนทางการเมืองในนรกที่สงวนไว้สำหรับคนที่พร้อมจะตายแบบไร้เมรุและไม่ขอเกิดใหม่ในประเทศเดิมแล้วเท่านั้น คำถามและหัวข้อที่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าถกเถียงแบบมีอารยะกว่า “Monarchy or Anti-Monarchy?” ได้แก่ “Monarchy : Pride or Shame?” คดี “อากง” ทำให้นานาอารยะประเทศต้องหันมาจับจ้องประเทศไทยด้วยดวงตาลุกโพลงมากขึ้นสมกับที่ฝันใฝ่กันมานานที่จะอวด “ความเป็นไทยที่ทำให้โลกตะลึง” แม้จะจุดชนวนความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่คดีอากงซึ่งกลายเป็นคดีตัวอย่างสมบูรณ์แบบของความเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ต้องไม่ถูกใช้เพื่อจำกัดขอบเขตของประเด็นแค่ว่า จำต้องเป็นกรณีที่จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ “ ไม่ได้ทำอะไรเลย” เท่านั้น จึงสมควรแก่เหตุที่จะปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ มิฉะนั้น “ใครก็ได้” ก็อาจตกเป็นเหยื่อโดยการฟ้องของ “ใครก็ได้” เมื่อใดก็ได้ โดยมีพยานหลักฐานชี้ชัดหรือไม่ก็ได้ โดยมาตรฐานความยุติธรรมสากลแล้ว ต่อให้จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจริง (ซึ่งถูกห้ามไม่ให้เผยแพร่ราวกับเป็นข้อความที่มีเวทมนต์) ก็ต้องไม่ใช่ความผิดโดยอัตโนมัติ และต่อให้มีการกระทำการ “ดูหมิ่น” หรือ “หมิ่นประมาท” จริง ก็ไม่อาจถูกดำเนินคดีและลงโทษตามมาตรฐานไทยอย่างที่เป็นอยู่ได้ สำหรับประเทศที่มีระดับความเจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจสูงกว่าไทย (โดยไม่ได้ต้องสมาทานพุทธศาสนา) พวกเขาทั้งหลายต่างตะลึงพรึงเพริดกันว่า ประเทศที่ลงทัณฑ์คนคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความส่วนตัวไปถึงคนอีกคนหนึ่งด้วยการจำคุกยี่สิบปีนั้นมันเป็นประเทศชนิดใดกัน? ประเทศเยี่ยงนี้ไม่ใช่ประเทศเสรีประชาธิปไตย ประเทศเยี่ยงนี้เป็นประเทศป่าเถื่อนไม่ศิวิไลซ์ ประเทศเยี่ยงนี้ไม่ใช่ประเทศที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม (เลิกหน้าด้านอ้าง เลิกหลอกทั้งตัวเองและนานาชาติเสียทีเถอะ) “ประเทศเหี้ยอะไรวะ!” ด้วยความเคารพและด้วยความสุจริตใจ ในประเทศแบบคำกึ่งอุทานกึ่งจำกัดความข้างต้น การวิจารณ์เรื่องบางเรื่องโดยไม่ดูหมิ่นในทางใดทางหนึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เหตุอันควรยกเว้นความผิดจึงอาจจะคือ ดูหมิ่นโดยสุภาพและมีหลักวิชา ดูหมิ่นเพราะเหลืออดต่อความอยุติธรรม ดูหมิ่นเพราะสุดทนกับความต่ำช้าสามานย์ ดูหมิ่นเพราะตื่นตระหนกกับความตลบแตลง ดูหมิ่นเพราะรำคาญความงี่เง่าปัญญาอ่อน หรือดูหมิ่นเพราะมันเป็นความจริง แต่ในเมื่อทุกวันนี้ทุกฝ่ายต่างดูหมิ่นกันและกันเป็นนิจสินอย่างมิอาจรอมชอมกันได้ แถมยังใช้โวหารอ้างมโนทัศน์เดียวกันอย่างสุดมหัศจรรย์ การใคร่ครวญความชอบธรรมและบริบทของการดูหมิ่นด้วยเหตุด้วยผล หรือพินิจพิจารณาว่าดูหมิ่นจากฐานคิดอะไรและด้วยวิธีการแสดงออกอย่างไรจึงอาจจะดีกว่า และช่วยในการตีความและชั่งน้ำหนักว่า แบบใดสมควรแก่เหตุ แบบใดต่ำทรามถ่อยสถุล หรือแบบใดยากจะชี้ชัดและต้องโต้แย้งไม่มีที่สิ้นสุด คำดูหมิ่นและหมิ่นประมาทประเทศข้างต้นนั้นความจริงแล้วสบถกันในประเทศนี้ได้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที หรือถ้าจะทำให้เป็นกิจวัตร ไม่ฟุ่มเฟือยจนเสียสุขภาพจิต จะเจ็ดแปดโมงเช้าที ห้าหกโมงเย็นที ทุ่มสองทุ่มอีกที ก็กำลังดี “เหี้ย-ระยำ-บัดซบ” คำทำนองนี้อาจเป็นคำหยาบคาย เป็นคำระบายความโกรธแค้นและอัดอั้นตันใจ หรือเป็นเพียงอาวุธอันอ่อนปวกเปียกของผู้อ่อนแอที่กำลังถูกเหยียบขยี้ด้วยจารีต ด้วยกฎหมาย และด้วยความบ้าคลั่งที่ยังตกต่ำไม่ถึงขีดสุด
112 ผลสะเทือนของความเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 ทำให้เหล่ารอยัลลิสต์ชั้นนำที่ไม่ใช่กลุ่มล่าแม่มดกระหายเลือดหรือสื่ออัปรีย์ออกอาการได้สติบ้าง ไม่ได้สติต่อไปบ้าง กรณีที่จนถึงขนาดนี้แล้วยังไม่ได้สติก็เป็นเรื่องน่าสลดใจ ส่วนกรณีที่ได้สติ สติที่ได้ก็อยู่ภายใต้เพดานของความเป็นรอยัลลิสต์ไทย คือเป็นสติที่ไม่สมประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง เสแสร้งตบตา หรือหลอกตัวเอง สติที่ไม่สมประกอบนั้นก็คือการยอมรับเฉพาะประเด็นว่าสถาบันกษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ประเด็นที่ถูกอ้างซ้ำๆ จนฟกช้ำนี้จะจริงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การยก “เฉพาะ” ประเด็นนี้ประเด็นเดียวกลับคือการใช้ประเด็น “สถาบันฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ในการแสดงทัศนะของตนเองเพื่อสร้างความไขว้เขวแก่สาธารณชนว่านี่เป็นจุด “เดียว” ของประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งเป็นการดึงปัญหาออกนอกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่าการรณรงค์การปฏิรูปหรือยกเลิก 112 ก็เป็นการเมืองเช่นกัน แต่เป็นการเมืองของการเรียกร้องให้เปิดพื้นที่เพื่อการถกเถียงปัญหาที่แท้จริงกันอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ไม่ใช่การเมืองของการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาเพื่อที่จะโฟกัสไปที่จุดเดียว และปกปิดจุดอื่นๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าต่อไป ปัญหาใหญ่ที่ถูกกลบเกลื่อนคือความจริงที่ว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ถูกใช้ทางการเมืองฝ่ายเดียว และการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมโฆษณาชวนเชื่อดังที่เป็นอยู่มีความไม่ถูกต้องตามหลักการแห่งระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักเสรีประชาธิปไตยอยู่อย่างมากล้น ไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายนิยมเจ้าระดับอีลีตจะยอมรับว่า 112 มีปัญหา แม้จะสร้างความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นและดูน่าเลื่อมใสกว่าพวกนักเทศน์ไม่ลืมหูลืมตาและพวกอันธพาลที่เชื่อว่าการไล่คนออกนอกประเทศเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ แต่การยอมรับนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์ช่วงชิงการกำหนดเนื้อหาและทิศทางเพื่อการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้น้อยที่สุดและรักษาอุดมการณ์ สถานะ อำนาจ บารมีเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด แล้วจึงยกเป็นข้ออ้างว่าได้ “ปรับปรุง” ให้เหมาะสมดีงามทุกประการแล้ว พวกเรียกร้องเสรีภาพจงหุบปากแล้วกลับบ้านไปสำนึกในบุญคุณที่ได้รับเสรีภาพปริมาณเท่าเดิมแต่ติดคุกน้อยลง แต่ถ้าฝ่ายรอยัลลิสต์จะมีความซื่อสัตย์ต่อความเชื่อตนเอง ก็ควรยอมรับอย่างตรงไปตรงมาและไม่กะล่อนว่า พวกเขาต้องการให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจ “ล้นเกิน” แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องรับผิด และไม่ถูกจำกัดอำนาจด้วยกฎเกณฑ์ข้อบังคับของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามครรลองประชาธิปไตย การยอมรับง่ายๆ เช่นนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยสะดวกและปลอดภัย เพราะจะไม่ถูกกระบวนการยุติธรรมมาตอแยเพื่อจัดสรรปันส่วนความอยุติธรรมให้ ในบรรดาข้อโต้แย้งต่างๆ ของฝ่ายนิยมเจ้าที่ต้องการจะบอกเพียงแค่ว่าทุกอย่างที่เป็นอยู่นั้น “ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว” พวกไม่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งอย่ามาสะเออะ ไม่มีอะไรจะน่าทึ่งไปกว่าการอ้างหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม หลักความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ศีลธรรม คุณธรรม มนุษยธรรม ผสมปนเปกับความเป็นไทยอันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ประวัติศาสตร์ไทยอันเก่าแก่โบราณ ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทยอันล้ำเลิศประเสริฐศรี เมื่อฟังหรืออ่านจนหายเคลิ้มแล้ว อรรถาธิบายอันไพเราะเพราะพริ้งเหล่านี้กลับทำให้อีกฝ่ายหมดกำลังใจจะโต้เถียง อับจนถ้อยคำจะชี้แจง และได้แต่แจ้งให้ทราบเพื่อพิจารณาว่า ความวิกลจริตเชิงตรรกะหรือการงดเว้น (โดยรู้หรือไม่รู้ตัว) การใช้หลักเหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์ในฐานะบุคคลและสถาบันเป็นลักษณะเด่นของวัฒนธรรมการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยมไทยในปัจจุบันโดยแท้ กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงกฎหมายอาญามาตราหนึ่ง แต่กำลังยึดครองสถานะเป็นป้อมปราการแห่งชาติและศาสตราวุธแห่งจารีตประเพณีที่ต้องปกปักรักษายิ่งชีพ เมื่อโต้แย้งหักล้างกันด้วยเหตุผลไม่ได้ ฝ่ายนิยมเจ้าจะยกข้ออ้าง “จารีตประเพณี” (หรือ “อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว”) มาเป็นไม้ตายเพื่อยุติการถกเถียง แต่หากจะมองกันในแง่นี้จริงๆ การเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลกก็กลับจะคล้ายการเลิกทาส เลิกประเพณีหมอบคลาน เลิกการทรมานนักโทษ เลิกวิธีการลงโทษแบบโหดร้ายทารุณ และเลิกจารีตประเพณีที่ “ไม่ดีงาม” ต่างๆ แม้จะเข้าใจได้ว่ายุทธศาสตร์ในการสื่อสารกับสังคมกระแสหลักต้องมุ่งไปที่เรื่องความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ว่าการกระทำแบบไหนเป็น “คุณ” หรือเป็น “โทษ” ต่อสถาบันฯ แต่โดยหลักการและจิตสำนึกที่ควรบ่มเพาะขึ้นใหม่นั้น ลำดับความสำคัญของเหตุผลในการรณรงค์ปฏิรูปหรือยกเลิกมาตรา 112 ไม่ควรเริ่มต้นด้วยขนบภาษาเดียวกันกับลูกเสือชาวบ้านหรือขนบภาษาเฉลิมพระเกียรติที่เชิดชูปกป้องสถาบัน (เอาเจ้าซึ่งในวัฒนธรรมไทยคือ “อภิมนุษย์” เป็นตัวตั้ง) เท่ากับการเชิดชูปกป้องสิทธิมนุษยชน (เอาประชาชนซึ่งในวัฒนธรรมสากลคือ “มนุษย์” เป็นตัวตั้ง ซึ่งย่อมรวมถึงเจ้าซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันด้วย) การอภิปรายและรณรงค์เรื่องใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ควรจะต้องแยกจากเรื่องความ “จงรักภักดี” กล่าวอีกอย่างว่าการถกเถียงอย่าง free และ fair (ซึ่งไม่เคยมี ยังไม่มี และอาจจะไม่มีวันมีในวัฒนธรรมไทย) และไม่ข่มขู่กรรโชกกันแบบด้อยพัฒนา ต้องไม่ยกประเด็นความจงรักภักดีมาสนับสนุน คัดง้าง ประจบประแจง หรือใส่ร้ายป้ายสี นั่นหมายถึงการต้องลดความชอบธรรมหรือถอดถอนมโนทัศน์และโวหาร “จงรักภักดี” ออกจาก public discourse ที่ยึดโยงกับความมั่นคงของชาติ, ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์, ความเป็นไทย, ประชาธิปไตย, กฎหมาย ฯลฯ และนั่นแปลว่าเมืองไทยต้องอนุญาตให้มีทั้งคนที่ผลิตออกมาตรงตามสเป็คในโรงงาน และคนที่ผลิตออกมาไม่ตรงตามสเป็คในโรงงาน หากระบอบการปกครองในปัจจุบันมิใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความไม่จงรักภักดีย่อมไม่ใช่อาชญากรรม และไม่ได้นำไปสู่การก่ออาชญากรรม ตรงกันข้าม คนที่จงรักภักดีอย่างท่วมท้นต่างหากที่มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมและกระทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรมสูงกว่าหลายร้อยเท่า “ในนามของความจงรักภักดี” ตั้งแต่ยิงให้ตาย, ใช้เก้าอี้ฟาด, หัวเราะดีใจที่เห็นคนเยอะแยะถูกฆ่าหมู่, ส่งเสียงเชียร์หรือเข้าร่วมกลุ่มรณรงค์ให้กวาดล้างกำจัดคนเห็นต่างจากพวกตน, ตะเพิดคนออกจากประเทศ, แสดงความเกลียดชังและอาฆาตมาดร้ายตลอดเวลา, แต่งเรื่องโกหกให้ร้ายคนอื่น, พาดหัวข่าวด้วยข้อมูลเท็จ ด้วยความประสงค์ร้าย และด้วยสันดานสถุลเพื่อทำลายกันทางการเมือง, สอดส่องเป็นหูเป็นตาให้รัฐช่วยจับคนเข้าคุก, อยากให้ประหารชีวิตคนที่กระด้างกระเดื่องให้หมดแผ่นดิน ฯลฯ ภายในห้องค่ายกลอำมหิตที่รอจังหวะคนก้าวพลาดเพื่อที่อาวุธนานาชนิดที่ซ่อนอยู่จะได้พุ่งเข้าเสียบเป้าหมายอย่างพร้อมเพรียง (คง)ไม่เคยมีใครประกาศว่าไม่จงรักภักดี ทั้งๆ ที่ความหมายของการไม่จงรักภักดีในทางการเมืองคือการมีจักรวาลทัศน์และจินตนาการเกี่ยวกับชาติคนละแบบกับผู้จงรักภักดีเท่านั้น ดังนั้นการไม่จงรักภักดีจึงไม่ควรถูกใส่ไคล้ให้เห็นเป็นภัยอันน่าสะพรึงกลัวที่จะทำร้ายประเทศชาติ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน คนไม่จงรักภักดีก็ไม่มีสิทธิสร้างเรื่องโกหกหลอกลวงเพื่อทำลายคนอื่นทางการเมืองเช่นกัน วัฒนธรรมการเมืองที่มีวุฒิภาวะต้องเลิกอ้าง เลิกกล่าวหา เลิกพาดพิง เลิกตอแหล เลิกเล่นลิ้นเรื่องความจงรักภักดีราวกับเป็นสังคมที่อยู่กันแบบ “ชนเผ่า”(แต่ล้าหลังและดัดจริตกว่าสังคมชนเผ่าจริงๆ) และถกเถียงอภิปราย “เนื้อหา” ของสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา ความจงรักภักดีต้องถูกจำกัดให้เป็นความรู้สึกส่วนตัวของปัจเจกบุคคลที่ไม่ใช่ข้อบังคับในกฎหมายหรือข้อผูกมัดทางจารีตสังคม
เมื่อการฟ้องร้องกล่าวโทษและคำพิพากษาคืออาชญากรรม และเมื่อกฎหมายไม่ใช่กฎหมาย “ข้อสำคัญประเทศแต่ละประเทศย่อมมีความระแวดระวังในเรื่องที่ต่างกัน ถ้ามองในแง่มุมของอีกประเทศหนึ่งอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร แต่คนที่เจริญแล้วเขาก็ต้องยอมรับนับถือประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ไม่ไปตัดสินจากความคุ้นเคยหรือความเคยชินของตนเอง...ที่สำคัญต้องไม่นำเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหวแตกต่างกันไป” (1) “กฎหมายคือกฎหมาย ถ้าเราไม่ทำผิด เขาก็อยู่ในกระดาษเท่านั้นเอง ก็อย่าทำผิดก็เท่านั้น” (2) “ผู้พิพากษาไม่สามารถจะอำนวยการให้บังเกิดความยุติธรรมโดยการอ้างอิงบทบัญญัติทางกฎหมายที่ไม่เพียงอยุติธรรม แต่ยังมีความเป็น อาชญากรรม เราขอเรียกร้อง สิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งปวง และเราขอเรียกร้องกฎเก่าแก่อันไม่อาจพรากจากมนุษย์ที่ปฏิเสธมิให้คำสั่งที่เป็นอาชญากรรมของทรราชย์โหด มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ด้วยข้อควรพิจารณาเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าบรรดาผู้พิพากษาที่ได้ให้คำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกับหลักปฏิบัติต่อมนุษยชาติ...จักต้องถูกดำเนินคดี” (3)
ข้อความแรกอยู่ในข้อเขียน “ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา” และหนึ่งในข้ออ้างใหญ่ที่ยกมา “คัดค้าน” การแตะต้องกฎหมายหมิ่นฯ คือ “ขนบธรรมเนียมประเพณี” เมื่อเหล่านักกฎหมายรอยัลลิสต์พากันไม่ถกเหตุผลประเด็นความชอบธรรมของกฎหมายและระบอบการปกครองตามหลัก “สากล” แต่หันไปยกเอาประเพณี วัฒนธรรม ความรู้สึก ความอ่อนไหว “ท้องถิ่น” มาเป็นตัวตัดสิน ก็ถึงจุดที่คนทั่วไปในสังคมที่ไม่จำเป็นต้องร่ำเรียนกฎหมาย (เพราะเรียนแล้วก็เอาแต่อ้างจารีตประเพณี) ต้องอภิปรายกันว่าหลักใดจะสำคัญ ชอบธรรม เป็นธรรม และปลดปล่อยมนุษย์จากการกดขี่ขืนใจมากกว่ากัน และ “คนที่เจริญแล้ว” (ที่ไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยวที่เมื่อไปเที่ยวบ้านเมืองไหนก็ต้องเคารพให้เกียรติประเพณีวัฒนธรรมบ้านเมืองนั้น อันเป็นจรรยาบรรณพื้นฐานปกติของทัวริสต์ที่ศิวิไลซ์ รวมทั้งไม่อยากมีปัญหาระหว่างเที่ยว ต่อให้ไปเจอะกับประเพณีวัฒนธรรมที่พวกเขา “รับไม่ได้”) ยอมรับนับถือสิ่งใดมากกว่ากันแน่ คำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ไม่ใช่นักกฎหมายแบบคนแรกอันถัดมาต่อคำถามเรื่องความเหมาะสมของการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แสดงการยึดมั่นในกฎหมายของบ้านเมืองอย่างหนักแน่นดุจภูผาว่า “A law is a law.” เสมือนฝ่ายกุมอำนาจที่กอดหลัก Legalism ที่เน้นบทลงโทษรุนแรงเฉียบขาดโดยไม่ต้องแยแสเรื่องสิทธิเสรีภาพเพื่อให้ผู้อยู่ใต้การปกครองเชื่อฟัง ยำเกรงและเข็ดหลาบของ Han Fei นักนิติปรัชญาจีน หรือกอดคำขวัญของสำนัก Legal Positivism เวอร์ชั่นโบราณล้าสมัย ที่ไม่ต้องขยายความซับซ้อนต่อให้ยุ่งยากต่อการรีบเร่งรวบรัดใช้กฎหมายลงโทษคนทำผิด คำประกาศลำดับสุดท้ายมีขึ้นเมื่อเกือบเจ็ดสิบปีมาแล้วที่ประเทศเยอรมนี แต่มันอาจเป็นคำกล่าวที่หาญกล้าและสง่างามเกินกว่าแม้แต่จะกระซิบกระซาบกันในแวดวงเนติตุลาการมหาดเล็กในบางประเทศ ถึงแม้ว่าวงการกฎหมายไม่ว่าที่ไหนคงไม่ได้มีพัฒนาการบนการยั่วล้อท้าทายแบบประชดประชันอย่างประวัติศาสตร์และทฤษฎีศิลปะที่ทำให้เกิดคำถาม “But is it art?” แต่เราก็ควรยืมวิธีตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้เพื่อแสดงความกังขาว่า “But is it law?” พร้อมทั้งพิจารณากรณีศึกษาในประเทศอื่นที่คำถามนี้กลายเป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่ต่อมโนธรรมสำนึกว่าด้วยความยุติธรรมในสังคม หลังสงครามโลกครั้งที่สองและการล่มสลายของระบอบนาซี Gustav Radbruch นักนิติปรัชญาชาวเยอรมันอภิปรายถึงคดีหนึ่งซึ่งโยงกับคดีที่มีชื่อเสียงอีกคดีหนึ่งในสมัย Third Reich หรือยุคฮิตเลอร์-นาซีเรืองอำนาจในบทความเรื่อง “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law” เริ่มต้นเรื่องว่า นาย Puttfarken เจ้าหน้าที่ประจำ justice department ถูกดำเนินคดีและพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตโดยศาลอาญา Thuringian เนื่องจากในสมัยรัฐบาลนาซี Puttfarken ได้กล่าวฟ้องนาย Gottig ว่าเป็นผู้เขียนข้อความบนกำแพงห้องน้ำว่า “ฮิตเลอร์เป็นฆาตกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงคราม” อันมีผลทำให้ Gottig ถูกศาลนาซีพิพากษาลงโทษ ความผิดของ Gottig ไม่เพียงจาก “ข้อความ” ที่เขาเขียนบนกำแพง แต่ยังรวมทั้งการที่เขามักจะชอบแอบฟังวิทยุกระจายเสียงของต่างชาติด้วย (แทนที่จะฟังแต่วิทยุโฆษณาชวนเชื่อของนาซี) ประเด็นสำคัญที่หัวหน้าอัยการตั้งขึ้นมาก็คือ การกระทำของ Puttfarken (แจ้งความดำเนินคดีกับคนเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ฮิตเลอร์) เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่? หัวหน้าอัยการอภิปรายเหตุผลว่า การที่จำเลยให้การอ้างว่าความเชื่อใน National Socialism (ซึ่งมิใช่เพียงความนิยมในพรรคการเมืองของฮิตเลอร์ แต่กินความถึงความศรัทธาในอุดมการณ์-โลกทัศน์-จุดหมายทางการเมืองแบบนาซี) ทำให้เขาแจ้งความดำเนินคดีนาย Gottig (ซึ่งเขียนข้อความต่อต้านและประณามท่านผู้นำ) นั้น เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ว่าใครจะมีความคิดความเชื่อทางการเมืองอย่างไร ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายใดที่บังคับให้ใครคนนั้นไปแจ้งความดำเนินคดีผู้อื่น แม้แต่ในสมัยฮิตเลอร์เอง ก็ไม่มีพันธะผูกมัดทางกฎหมายเช่นนั้นดำรงอยู่ เช่นนั้นแล้ว บนสมมติฐานว่าระบบตุลาการพึงตั้งมั่นอยู่ที่การธำรงความยุติธรรม Puttfarken ได้กระทำการที่เป็นไปเพื่อความยุติธรรมหรือไม่? ระบบตุลาการจำเป็นจะต้องมีความซื่อตรงต่อหลักการ มุ่งผดุงความเป็นธรรม และสร้างบรรทัดฐานของกฎหมาย แต่คุณลักษณะอันขาดไม่ได้ทั้งสามประการนี้ล้วนแล้วแต่ไม่ปรากฎมีในระบบศาลที่ถูกการเมืองบงการแทรกแซงในสมัยของระบอบนาซี ใครก็ตามที่แจ้งความดำเนินคดีคนอื่นในสมัยฮิตเลอร์จำต้องรู้-และจริงๆ แล้วก็รู้อยู่แก่ใจ-ว่าเขากำลังส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้กับองค์กรตุลาการที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไร้ขื่อแป หาใช่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำนองคลองธรรมอันจะนำไปสู่คำพิพากษาอันยุติธรรมไม่ เป็นที่ตระหนักกันดีว่าสถานการณ์ในเยอรมนีสมัยนาซีนั้น เราสามารถเชื่อมั่นได้เลยว่า ใครก็ตามที่ถูกแจ้งข้อหาว่าเป็นผู้เขียนข้อความ “ฮิตเลอร์เป็นฆาตรกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงคราม” ย่อมไม่มีทางรอดชีวิตแน่ๆ คนอย่าง Puttfarken คงไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าระบบตุลาการนั้นสร้างความวิปริตให้กฎหมายได้ “อย่างไร” แต่อย่างน้อยเขาจะต้องกระจ่างแจ้งแก่ใจพอที่จะรู้ว่ามันย่อมเป็นเช่นนั้นได้ คดีนี้จึงสรุปได้ว่า สาวกนาซีแจ้งความดำเนินดคีกับผู้เป็นปฏิปักษ์กับระบอบนาซี โดยที่แม้แต่ในสมัยนาซีเองก็มิได้มีกฎหมายบังคับให้ใครต้องร้องทุกข์กล่าวโทษใคร และโดยที่สาวกนาซีนั้นก็รู้อยู่แก่ใจว่าระบบยุติธรรมภายใต้ระบอบฮิตเลอร์นั้นโหดร้ายป่าเถื่อนและผิดทำนองคลองธรรม ถึงที่สุดแล้วคำประกาศอันหาญกล้าของ Gottig ที่ว่า “ฮิตเลอร์เป็นฆาตรกรสังหารหมู่และต้องถูกประณามที่ทำให้เกิดสงครามโลก” คือความจริงอันชัดแจ้ง ใครก็ตามที่ประกาศและเผยแพร่ความจริงข้อนี้มิได้คุกคามความมั่นคงของประเทศเยอรมนี แต่เป็นความพยายามช่วยขจัดผู้คิดทำลายประเทศเยอรมนีต่างหาก และดังนั้นจึงเป็นการช่วยปกป้องชาติ Puttfarken ยอมรับว่าเขามีเจตนาอยากให้ Gottig ขึ้นตะแลงแกงประหารชีวิต ซึ่งตามบทบัญญัติทางกฎหมายอาญาแล้วเท่ากับว่าการแจ้งความของเขาเป็นการวางแผนฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต่อความจริงที่ว่าศาลนาซีเป็นผู้ตัดสินประหารชีวิต Gottig ก็ไม่ได้ทำให้ Puttfarken รอดพ้นจากอาชญากรรมที่เขาก่อ Radbruch ประณามศาลอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ไม่เคยมีใครคาดฝันมาก่อนว่าศาลเยอรมันจะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อการฆาตกรรมของอาชญากร การแจ้งความของ Puttfarken จึงเข้าข่ายการฆาตกรรมทางอ้อม หรือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการฆาตกรรม อีกทั้งยังใช้ศาลเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุความประสงค์ร้ายของตนต่อผู้อื่น และเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเหล่าผู้พิพากษาภายใต้การปกครองของรัฐบาลนาซีที่ตัดสินลงโทษประหารชีวิต Gottig จะต้องถูกถือว่าเป็นฆาตกรด้วยเช่นกัน แต่จะทำอย่างไรหากสังคมหนึ่งมีคนอย่าง Puttfarken (รวมทั้งคนสนับสนุน-แอบสะใจ) เต็มไปหมด? จะทำอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนระบอบจากระบอบที่บิดเบือนความยุติธรรมให้วิปริต (เช่น เผด็จการนาซี) ไปสู่ระบอบที่มีหลักความยุติธรรมสากลเป็นพันธกิจ (เช่น ประชาธิปไตย) ซึ่งแปลว่าระบอบแรกจะต้องหมดอำนาจและถูกแทนที่ด้วยระบอบหลัง อันจะนำไปสู่การไต่สวนแสวงหาความยุติธรรมและสถาปนาบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่ ก็ยังไม่เกิดขึ้นและยังมืดมนมองไม่เห็นอนาคต? จะทำอย่างไรกับสังคมที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับความยุติธรรมและความจริง/ข้อเท็จจริง เท่ากับความสามัคคีและสถานภาพลำดับชั้นเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรมที่ความจริงไม่อาจสร้างความระคายเคืองได้? จะทำอย่างไรกับสังคมที่ง่อยเปลี้ยกับความสามารถจะยึดมั่นในหลักการนามธรรม แต่แข็งขันกับการติดยึดงมงายกับตัวบุคคลโดยเฉพาะบรรดาผู้ทรงอำนาจบารมีทางวัฒนธรรมตลอดเวลา? การง่อยเปลี้ยกับหลักการนามธรรม การบังคับกล่อมเกลาและเผยแผ่แต่คำเทศนาโดยปราศจากวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์อย่างกว้างขวางทะลุทลวงมาเป็นเวลายาวนานมิใช่หรือ ที่เป็นเหตุที่ทำให้บุคคลที่อยู่ในเครือข่ายชนชั้นนำสามารถออกมาพูดอะไรก็ได้ที่น่าตกใจและน่าหัวร่อในความดัดจริต หน้าด้าน ไร้ยางอาย มือถือสากปากถือศีล หาก “ปรับใช้” (โดยมิได้หมายความว่าเป็นกรณีที่จะเทียบให้เหมือนหรือแม้แต่คล้ายกันได้ เพราะไม่มีอะไรในโลกเทียบกับฮิตเลอร์-นาซีได้ แต่หลักการนี้ตั้งเป็นทฤษฎีให้ใช้กับกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะไม่เป็นธรรมรุนแรงถึงขั้น “มิอาจทนได้” ได้เช่นกัน) หลักการลบล้างและเอาผิดคำพิพากษาของศาลนาซีกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่อุดมการณ์คลั่งเจ้าแผ่ซ่านแทรกซึมไปทั่วทุกองคาพยพในสังคม ต่อให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ แต่หากคำพิพากษาตามบทบัญญัตินั้นดำเนินไปภายใต้ระบอบกฎหมาย-ตุลาการ-ความยุติธรรมที่ฉ้อฉลและละเมิดหลักนิติธรรม ก็ควรที่จะต้องมีการดำเนินคดีอาญากับคำพิพากษาที่ไร้ทั้งความยุติธรรมและมนุษยธรรม หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า ด้วยความรู้สึกผิดบาปและด้วยสปิริตของการคิดแก้ไขในสิ่งที่ผิดแบบประเทศเยอรมนีหลังยุคนาซี เราไม่สามารถปล่อยให้คำพิพากษา (หรือ “ผังล้มเจ้า” ฯลฯ) ที่เป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการซ่อนรูปลอยนวล แต่ต้องเอาผิดกับอาชญากรรมและความเท็จที่กระทำในสถานะของคำพิพากษานั้น ประกาศลบล้างหรือความเป็นโมฆะของคำพิพาษา และชดเชยเยียวยาเหยื่อทั้งหมด (แม้ในความเป็นจริงแล้ว ดูจะทำไม่ได้สักอย่างเดียว) คำพิพากษาซึ่งวางอยู่บนฐานของความไร้มนุษยธรรมย่อมไม่มีสถานะและศักดิ์ศรีที่จะเป็นกฎหมายตั้งแต่แรก ความอยุติธรรมอย่างรุนแรงไม่ใช่และไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย สังคมที่เห็นดีเห็นงามกับการดำเนินคดีและการลงโทษอย่างป่าเถื่อน อันถือเป็น state legitimized injustice คือสังคมที่ล้มละลายทางศีลธรรม นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จวบจนบัดนี้ อันเป็นช่วงของปรากฏการณ์ “อำนาจเหนือรัฐ-อำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย”, “ตุลาการภิวัตน์”, “ตาสว่าง-ปากสว่าง”, “ความเป็นไทย/รอยัลลิสต์บ้าคลั่ง”, “สองมาตรฐาน”, “มหันตภัยมาตรา 112” อาจถือได้ว่าคือช่วงเวลาที่เทียบเคียง “อย่างห่างๆ” ได้กับที่ Radbruch ตั้งทฤษฎีว่าคือช่วงเวลา “exceptional/extraordinary” (โดยมีเยอรมนียุคนาซีเป็นตัวแบบ) ช่วงเวลา “พิเศษ/ไม่ปกติ” เช่นนี้คือช่วงเวลาที่บทบัญญัติทางกฎหมาย (ในกรณีของไทยต้องครอบคลุมถึง “อุดมการณ์วัฒนธรรมการเมือง” ที่กำกับการใช้กฎหมาย) มีลักษณะที่ขัดกับหลักความยุติธรรมอย่างใหญ่หลวงในระดับที่ “สุดจะทนทาน” จนถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดพลาด-เลวร้ายอย่างรุนแรง ด้วยเหตุแห่งความผิดพลาด-เลวร้ายดังกล่าวจึงถือได้ว่ากฎหมายนั้นปราศจากสถานภาพความเป็นกฎหมาย และเราต้องใช้ดุลยพินิจที่อิงกับหลักความยุติธรรม “แทน” ตัวบทกฎหมาย (รวมทั้งประเพณีและการเมืองของการใช้กฎหมาย) ที่อยุติธรรมและสามานย์ ฉะนั้นเฉพาะในกรณีที่ “extreme” หรือ “unique” เท่านั้น ที่เราพึงใช้มโนธรรมสำนึกทางศีลธรรมแทนการเชื่อฟังกฎหมาย และร่วมตระหนักโดยทั่วกันว่า กฎหมายไม่ใช่กฎหมายอีกต่อไป โดย “กฎหมาย” ในที่นี้จำต้องตีความให้กว้างขวางครอบคลุมถึงกระบวนการยุติธรรม(ระยำๆ)ทั้งระบบ ตั้งแต่การฟ้องร้องไปจนถึงคำพิพากษา แต่ในความเป็นจริง กระบวนการลบล้างหรือประกาศให้ผลพวงของบทบัญญัติที่ผิดหลักนิติธรรมเสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลทางกฎหมาย, การไต่สวนเอาผิดการกระทำที่เคยถูกต้องตามกฎหมายป่าเถื่อน และการสถาปนาหลักการแห่งความเป็นธรรมขึ้นใหม่ ย่อมกระทำได้ก็ต่อเมื่อระบอบนาซีล่มสลายไปแล้ว เพราะในห้วงเวลาที่ท่านผู้นำแห่งอาณาจักรไรค์ที่สามครองอำนาจ ข้อความที่ว่า “ฮิตเลอร์เป็นฆาตกรสังหารหมู่” (หรือข้อความใดก็ตามที่แสดงการวิพากษ์วิจารณ์และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบนาซี) แม้จะเป็นความจริงแท้ที่สุด ก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายนาซี ถูกสาวกนาซีนำไปฟ้องร้อง และถูกศาลนาซีตัดสินประหารชีวิต ถ้าไม่หน้ามืดตามัวเกินไป มันเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายมาก กฎหมายที่ดีจะต้องตราขึ้นเพื่อผดุงหลักความยุติธรรมพื้นฐานอย่างเสมอภาค มิใช่ผดุงอุดมการณ์ผู้นำเผด็จการหรือผู้นำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมแบบสากล (ซึ่งยึดหลักการสูงสุดว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย) ที่ไม่มีอุดมการณ์วัฒนธรรมแบบไทยๆ (ซึ่งยึดหลักการสูงสุดว่า คนไม่มีวันจะเท่ากัน ไม่ว่าต่อหน้ากฎหมาย หรือหน้าไหนๆ) ปนเปื้อนเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยของการพูดความจริง ส่วนความยุติธรรมแบบครึ่งๆ กลางๆ แบบประนีประนอมหรือแบบปลอมๆ อาจเป็นการผ่อนหนักมากเป็นหนักน้อย แต่มิใช่ความยุติธรรมตามมาตรฐานสากลที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง แม้จะดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แต่ความจริงแล้วความยุติธรรมแบบสากลมิอาจได้มาอย่างมั่นคงด้วยการต่อรองหรือการกดดันตามสถานการณ์ทางการเมือง เพราะความยุติธรรมเช่นนั้นจะลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงก็ด้วยการเปลี่ยนอุดมการณ์ความคิดจิตใจ คุณค่า และค่านิยมของทั้งสังคมเท่านั้น “ความไม่เสมอภาค” เป็นโครงสร้าง ระเบียบแบบแผน และหลักการสูงสุดและสำคัญที่สุดในสังคมไทย การเชื่อในระเบียบสังคมแนวดิ่งอันเป็นหัวใจของวัฒนธรรมไทยนี่เองที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของความคิดสากลเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความยุติธรรม เพราะเมื่อ “คนไม่เท่ากัน” สิทธิก็ต้องไม่เท่ากัน เสรีภาพไม่เท่ากัน อำนาจไม่เท่ากัน ได้รับการปฏิบัติไม่เท่ากัน ถูกขังฟรี-ตายฟรีไม่เท่ากัน ความยุติธรรมในสังคมไทยคือความยุติธรรมที่อยู่บนฐานของความไม่เท่ากันของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น คนที่มีช่วงชั้นสถานะทางวัฒนธรรมสูง ทำอะไรผิดก็ไม่ผิด ส่วนคนที่มีช่วงชั้นสถานะทางวัฒนธรรมต่ำ ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ผิด ทั้งหมดนี้เราจะเห็นแบบโจ่งแจ้งบ้าง ปิดบังอำพรางบ้าง และแนบเนียนจนเกือบไม่เห็น(เพราะเคยชิน)บ้าง เช่นนี้แล้ว วัฒนธรรมของกระบวนการยุติธรรมของไทยจึงอยู่ในภาวะที่ “ไม่ค่อยปกติ” มาแต่แรกอยู่แล้ว มันจึงไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ (ordinary/extraordinary) แบบกรณีเยอรมันก่อนนาซีกับช่วงนาซี แต่เป็นการ “เพิ่มขึ้น” ของดีกรี “extraordinary” ที่ดำรงอยู่แล้วนั่นเอง หากช่วง “อปกติ” ในยุคนาซีคือช่วง “สะดุดชั่วคราว” ของสังคมเยอรมัน ความ “อปกติ” ของไทยคือสภาวะอันไม่สะดุดของการไปไม่ถึงมาตรฐานสากลและเต็มใจที่จะอยู่กับความ “พิการ” ซึ่งไม่ถูกตระหนักว่าเป็นความพิการ ทว่ากลับถือกันเป็น “ลักษณะพิเศษอย่างไทย” ที่ควรทนุถนอมสืบไป ภาวะ “ไม่ปกติ” นี้จะขึ้นลงแปรผันตามระดับการอ้างความเป็นไทย ยิ่งเป็นไทยมากเท่าไหร่ กล่าวคือไม่ฟังเสียงท้วงติงและกระเหี้ยนกระหือจะต่อสู้กับโลกสากลเพื่อโชว์ว่าไทยเจ๋งสุดในจักรวาลทางช้างเผือกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสำแดงอาการไม่ปกติหรือวิปริตวิตถารมากเท่านั้น เท่าที่เพดานของความเป็นไปได้จะเอื้ออำนวย แถลงการณ์และข้อเสนอทั้งหลายของกลุ่มนิติราษฎร์จึงคือการพยายามขจัดความวิปริตและสถาปนาความอารยะให้กับวงการตุลาการและระบบกฎหมายไทยที่วางอยู่บนอุดมการณ์และปฏิบัติการแบบยุคก่อน Enlightenment อันที่จริงแล้ว อิทธิฤทธิ์ของอุดมการณ์และโครงสร้างวัฒนธรรมอนุรักษนิยมในสังคมไทยแผ่แสนยานุภาพเหนือหลักการสากลทั้งปวงที่ไทยรับจากตะวันตก ฤทธิ์เดชของความเป็นไทยๆ ที่แทรกซึมอยู่ในหลักการสากลต่างๆ จึงทำให้หลักการสากลล้วนแล้วแต่ทุพพลภาพเมื่อถูกใช้ในเมืองไทย แทบทุกหลักการและกฎเกณฑ์สากลเมื่อถึงคราวจะต้องปะทะขัดแย้งก็จะพ่ายแพ้และต้องหลีกทางให้กับวัฒนธรรมหลายมาตรฐาน วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย วัฒนธรรมคลั่งเจ้า วัฒนธรรมอุปถัมภ์ วัฒนธรรมผู้ใหญ่-ผู้น้อย วัฒนธรรมเอาหน้า-หน้าใหญ่-ไม่ยอมเสียหน้า วัฒนธรรมประจบและให้อภิสิทธิ์คนใหญ่คนโต วัฒนธรรมนักเลงโต วัฒนธรรมใต้โต๊ะ วัฒนธรรมตอแหล-มือถือสากปากถือศีล ฯลฯ วัฒนธรรมอันดีงามเหล่านี้ทำให้เราต้องย้ำซ้ำอีกครั้งว่า กระบวนการยุติธรรมแบบสากลที่ไทยเอาอย่างฝรั่ง แม้ในยามปกติ (ซึ่งในความหมายของ Radbruch คือสภาวะปกติที่เราต้องเคารพตัวบทกฎหมายที่ผ่านกระบวนการโดยถูกต้องชอบธรรม) ก็ไม่ถูกต้องตามหลักการและหลักปฏิบัติที่พึงเป็นอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมโดยเสมอหน้า ไม่มีความชัดเจนแน่นอนที่เป็นมาตรฐาน ไม่มีคนที่เท่ากันเบื้องหน้ากฎหมาย ไม่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ การยืนยันว่าระบบกฎหมายไทยเคารพสิทธิเสรีภาพและยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากลที่เสมอภาคและเป็นธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามทุกประการ จึงเป็นการแก้ตัวที่โป้ปดเหลวไหล และเผยให้เห็นวัฒนธรรมไร้ยางอายแบบไทยๆ ที่พบเจออยู่เป็นปกติวิสัยเท่านั้นเอง เราจึงตั้งสมมติฐานได้ว่าวงการยุติธรรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะไม่ได้ปกป้อง “justice” แต่ปกป้อง “authority” ของตนเอง ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับสถาบันทุกชนิดในสังคมไทยโดยเฉพาะสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้อง “authority” ไม่ให้คำวิจารณ์หรือข้อเท็จจริงในทางลบใดๆ มาสั่นคลอนสถานะอำนาจของตนเองได้ แน่นอนว่าในหลายๆ กรณี อะไรคือความ “ยุติธรรม” ย่อมถกเถียงโต้แย้งกันได้ แต่กรณีสุดโต่งคือกรณีที่ปรากฏชัดถึงความ “อยุติธรรม” อย่างสิ้นสงสัย (“beyond reasonable doubt”) ความพยายามจะสงสัยหรือสาดโคลนในสิ่งที่พ้นไปจากความน่าสงสัย เป็นเพียงละครสัตว์เพื่อกลบเกลื่อนการไร้ซึ่งมโนธรรมสำนึกของสิ่งมีชีวิตในคณะละคร ควรหรือไม่ที่ความอยุติธรรมและความป่าเถื่อนจะเป็นสิ่งที่ประนีประนอมได้? ในการวางหลักเกณฑ์บรรทัดฐานที่ถูกต้อง ก็ย่อมไม่ควร การกระทำที่ไม่ควรต้องติดคุก ย่อมไม่ควรถูกประนีประนอมด้วยการลดจำนวนปีที่ติดคุกหรือรอรับการอภัยโทษ เพราะการลดโทษหรือลดการฟ้องร้องพร่ำเพรื่อก็ไม่ได้ทำให้เรามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เรื่องที่ไม่อาจถกเถียง อภิปราย เปิดเผย หรือไต่สวนได้ ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป ในการรณรงค์ ผลักดัน เคลื่อนไหว กดดัน การจำเป็นต้องประนีประนอม หรือการพึงใจในหนทางแห่งการปรองดอง ไม่ได้ทำให้หลักการที่ควรจะเป็น หรือหลักการอันไม่ควรจะประนีประนอม (นั่นคือการ “ยกเลิก” สิ่งที่ “ควรต้อง” ยกเลิกมากมายหลายประการที่ผิดหลัก constitutional monarchy หรือการไต่สวนหาความจริง) ถูกต้องน้อยกว่า และไม่ได้ทำให้การประนีประนอม (โดยเฉพาะที่มิได้ถูกบีบบังคับ แต่เพราะศรัทธาในอุดมการณ์กษัตริย์นิยมอย่างเหนียวแน่น และมีความเป็น “ไทยๆ” สูง) ถูกต้องมากกว่า แต่ถึงจุดหนึ่งแล้ว เราอาจเลือกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะประนีประนอมหรือไม่ ไม่ว่าในที่สุดแล้วการปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 จะทำได้หรือไม่เพียงใด จะถูกประนีประนอมหรือฉวยโอกาสบิดเบือนหรือไม่เพียงใด องค์ประกอบของที่มา อุดมการณ์ เจตนารมย์ วัฒนธรรมการตีความและบังคับใช้ (ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยคณะรัฐประหาร ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ใครฟ้องก็ได้ ไม่ให้เผยแพร่เนื้อหา ไม่ให้ประกันตัว พิจารณาคดีลับ ใช้วิธีพิจารณาคดีผิดหลักนิติธรรม ใช้โซ่ตรวน สัดส่วนโทษต่อความผิด) คำวินิจฉัยพิพากษา บทลงโทษ รวมทั้งเหยื่อที่ตกทุกข์ได้ยาก ล้วนทำให้มาตรา 112 มีลักษณะที่เข้าข่าย “arbitrary, cruel, criminal law” และ “crimes against humanity” ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และความอยุติธรรมอย่างรุนแรงที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกก็อาจทำให้บทบัญญัตินี้ไม่สมควรมีสถานะเป็นกฎหมายตั้งแต่แรกและอีกต่อไป ท้ายที่สุด หากใช้กฎของ Radbruch ที่ว่า “equality” (ความเสมอภาคมาตรฐานเดียวภายใต้กฎหมาย “To judge without regard to the person, to measure everyone by the same standard.”) คือแก่นของความเป็นกฎหมายแล้วไซร้ ไม่เพียงไม่มีความยุติธรรม ประเทศไทยคือประเทศที่ไม่มีกฎหมาย
ความยุติธรรมนอกอาณาเขต โลกนี้มักเต็มไปด้วยตลกร้ายอันรวดร้าว เมื่อนึกถึงกรณีอย่าง Harry Nicolaides, Oliver Jufer หรือ Joe Gordon ไฉนเลยเราจะไม่คิดอยากรื้อฟื้นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเพื่อมอบให้กับชาวต่างชาติทั้งหลายที่ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ อย่างไม่เป็นธรรมและไร้มนุษยธรรม (Extraterritorial Right คือสิทธิพิเศษที่จะไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายท้องถิ่น หรือสิทธิพิเศษที่จะใช้กฎหมายของประเทศหนึ่งบังคับแก่บุคคลที่เป็นพลเมืองของตนที่ไปอยู่ในดินแดนอื่น เช่น คนอังกฤษหรือคนในบังคับอังกฤษที่ทำผิดกฎหมายไทยไม่ต้องขึ้นศาลไทย แต่ให้ไปขึ้นศาลกงสุลของอังกฤษ ฝรั่งอ้างว่าเพราะระบบพิจารณาคดีของสยามล้าหลังป่าเถื่อน -- จริงของเขา!) อุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์นิยมในประวัติศาสตร์นิพนธ์ขับเน้นความชอกช้ำของการ “เสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล” จากการถูกบีบให้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยคิงมงกุฏ ในขณะที่สร้างและโทษภัยคุกคามต่างๆ นานาว่ามาจากภายนอก อุดมการณ์เดียวกันนี้ก็ทั้งอำพรางและค้ำจุนความอยุติธรรมที่เบ่งบานจนกลายเป็นระเบียบสังคมปกติอยู่ภายในสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ อันมาจากโลกทัศน์และโครงสร้างอำนาจแบบไทยเองที่ไม่ยอมปล่อยให้ความศิวิไลซ์อยู่เหนือกว่าความเป็นไทย ใครเล่าจะนึกฝันไปถึงว่า วันหนึ่งในศตวรรษที่ 21 ชาวพื้นเมืองจะหวาดกลัว สิ้นหวัง เสียใจและอับอายเสียจนอยากจะขอเอามรดกการเอารัดเอาเปรียบของลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 กลับมาใช้เป็นเครื่องมือปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนให้กับลูกหลานญาติมิตร (รวมทั้งผู้ได้สัญชาติ) ของเจ้าอาณานิคมในปัจจุบันที่ตกเป็นเหยื่อของระบบยุติธรรมในประเทศของพวกเขา - ประเทศที่มีวิวัฒนาการความอนารยะทะยานไปไกลบนความลำพองใจที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น การมีอธิปไตยทางการศาลจะมีค่าอันใดในเมื่ออำนาจอธิปไตยยังไม่ได้เป็นของราษฎรทั้งหลาย ในยุคสมัยที่ความเป็นคนไทยกำลังกลายเป็นโรคทางจิตเวชแบบรุนแรงชนิดหนึ่ง พร้อมๆ กับที่ความเจ็บปวดคับแค้นกำลังกลายเป็นอาการสามัญในชีวิตประจำวันของผู้คนที่โดนฝูงคนไข้โรคจิตชี้หน้าว่าไม่ใช่คนไทยบ้าง เป็นคนไทยอกตัญญูเนรคุณบ้าง ชาวพื้นเมืองที่ถูกพิษตกค้างของระบอบเก่ากดขี่ข่มเหงอย่างทารุณอีกมากมายอาจจะปรารถนาสิทธิสภาพต่างแดนนี้ในแดนตนเช่นกัน Justice is Elsewhere.
*** อ้างอิง 1. มีชัย ฤชุพันธุ์. “ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา.” http://www.meechaithailand.com/ver1/rhyme112.html 2. มติชนออนไลน์. วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1324559235&grpid=00&catid=&subcatid= 3. Radbruch, Gustav. “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law (1946).” & “Five Minutes of Legal Philosophy (1945).” Translated by Bonnie Litschewski Paulson and Stanley L. Paulson in Oxford Journal of Legal Studies, Vol. 26, No. 1 (2006), pp. 1-11, 13-15. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
การกำหนดผู้มีสิทธิฟ้องคดีมาตรา 112 ต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการเท่านั้น - อธิบายโดยลำดับเหตุผลอย่างไร? Posted: 23 Dec 2011 09:35 AM PST ตามที่ "นิติราษฎร์" จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา คราว แถลงการณ์ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2554 ข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้แพร่หลายในสังคม กระทั่งขณะนี้คือปลายปี มีประเด็นโต้แย้งข้อเสนอฯ ของนิติราษฎร์ ในเรื่อง "ผู้มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษ" ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เหตุใด อำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษ ควรจำกัดให้ สำนักราชเลขาธิการ ? (ซึ่ง "นิติราษฎร์" นำเสนอไว้ใน ข้อเสนอฯ ประเด็นที่ 7) [1] ท่านทั้งหลายอาจพิจารณาได้จากการมอบหมายอำนาจหน้าที่หรือภารกิจตามกฎหมายของ สำนักราชเลขาธิการ ในฐานะเป็น "ส่วนราชการ" ซึ่งมีสถานะเป็น "กรม" เพื่อสำรวจอำนาจหน้าที่ภายในสำนักราชเลขาธิการ หรือ "หน่วยงานภายในบังคับบัญชา" ของสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งปรากฎในระบบกฎหมายไทยอยู่แต่เดิมแล้ว ต่อไป ดังกล่าวแล้วว่า ตามระบบกฎหมายไทยถือว่า "สำนักราชเลขาธิการ" มีสถานะเป็น "กรม" ตามมาตรา 8 ฉ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543 [2] การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักราชเลขาธิการ ต้องตราเป็นกฎกระทรวง พร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ (กฎกระทรวง เป็นผลิตผลจากการใช้อำนาจของรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายปกครองระดับสูงสุด ตามพระราชบัญญัติที่มอบหมายอำนาจ) มาตรา 8 ฉ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543
เช่นนี้ อำนาจหน้าที่ของ "หน่วยงาน" ใน สำนักราชเลขาธิการ ต้องพิจารณาตาม กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553 [3]
คำปรารภระบุฐานก่อตั้งอำนาจของ "กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553" ฉบับนี้ ข้อ 2 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553
จะพบว่า ข้อ 2 (7) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553 ก่อตั้งหน่วยงาน "กองนิติการ" ไว้ด้วย ซึ่ง "กองนิติการ" จะมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้างนั้น ต้องพิจารณาตาม ข้อ 11 กฎกระทรวงฉบับเดียวกัน ข้อ 11 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553
เห็นได้ว่า ข้อ 11 (1) กำหนดหน้าที่ของ "กองนิติการ" ไว้ว่า กองนิติการ มีอำนาจหน้าที่ "ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และงานส่วนพระองค์และดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในความรับผิดชอบของสำนักราชเลขาธิการ" และข้อ 11 (4) "ดำเนินการเกี่ยวกับงานนิติกรรมและสัญญา ความรับผิดในทางแพ่งและอาญา งานคดีปกครอง และงานคดีอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการ" ในชั้นนี้ เราทราบแล้วว่า ในโครงสร้างหน่วยงานของสำนักราชเลขาธิการ (ซึ่งมีสถานะเทียบเท่า "กรม" ในส่วนราชการ ที่เรียก สำนักราชเลขาธิการ) มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และริเริ่มดำเนินคดีอาญา อยู่แต่เดิมแล้ว และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจของ "กองนิติการ" ในสำนักราชเลขาธิการ เช่นนี้ โดยหลักแล้ว เมื่อปรากฎในระบบกฎหมายกำหนดผู้มีอำนาจฟ้องคดีไว้โดยชัดแจ้ง (กฎกระทรวง เป็นผลิตผลทางกฎหมายประเภทหนึ่งซึ่งก่อตั้งชีวิต บันดาลผล ตลอดจนสิ้นผลลงได้ ในระบบกฎหมาย) แม้แต่ในระบบกฎหมายปัจจุบัน สมควรถือว่า "สำนักราชเลขาธิการ" เป็นผู้มีอำนาจเหนือวัตถุแห่งคดี ในอันที่จะกำหนดว่า จะให้มีการเริ่มกระบวนพิจารณาหรือไม่ และจุดมุ่งหมายหรือฟ้องคดีอะไร เป็นอำนาจเฉพาะ มิใช่ว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในมาตรา 112 เปิดโอกาสให้ บุคคลใดๆ ร้องทุกข์ได้โดยทั่วไป โดยองค์กรเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจโดยตรง ไม่ต้องทำงาน ตามภารกิจในข้อ 11 (1), (4) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.2553 หรือแม้กระทั่ง "หน่วยงาน" (กองนิติการ) ดำเนินการตามหน้าที่โดยใช้ดุลยพินิจฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ในฐานะที่ตนมีอำนาจเหนือวัตถุแห่งคดี (ในการริเริ่มกระบวนการพิจารณาหรือไม่) ภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน "อำนาจผู้ฟ้องคดี" เปิดเป็นการทั่วไป (ใครจะร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็ได้) - ไม่อยู่ในโครงสร้างบรรทัดฐานของระบบกฎหมาย จึงปรากฏเสมอๆ ว่า ผู้ถูกกล่าวหาในคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ถูกดำเนินคดีโดยไร้ความสมเหตุสมผล เพราะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย ปราศจากความรับผิดชอบ ในการตัดสินใจฟ้องคดี (อย่างเป็นเหตุเป็นผล) ทั้งองค์กรผู้ชี้ขาดผลของคดี ก็ปราศจากความรับผิดชอบในผลของการใช้อำนาจพิพากษาของตน (เช่น การบิดผันการใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งในระบบกฎหมายไทยไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งให้เอาผิดผู้พิพากษาได้ รวมถึงการแกล้งให้จำเลยรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้น) ในแง่ทรัพยากรที่สูญเสียให้แก่องค์กรเหล่านี้ในแต่ละปี จะพบว่า ตามงบประมาณประจำปี 2554 [4] จากเงินภาษีของราษฎรทั้งหลายปรากฏงบประมาณแผ่นดินประจำปีของ สำนักราชเลขาธิการ เป็นจำนวนเงิน 474,124,500 บาท [อ่านว่า สี่ร้อยเจ็ดสิบสี่ล้านหนึ่งแสนสองหมื่นสี่พันห้าร้อยบาท] หรือ สำนักพระราชวัง เป็นจำนวนเงิน 2,606,293,900 บาท [อ่านว่า สองพันหกร้อยหกล้านสองแสนเก้าหมื่นสามพันเก้าร้อยบาท] บรรดาหน่วยงานใดๆ ใน "ส่วนราชการ" ก็ควรทำงานในภารกิจโดยรับผิดชอบ (กองนิติการ อาศัยฐานตามกฎกระทรวงมีหน้าที่เป็นผู้ริเริ่มคดี) มาตรา 25 พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
บางท่านอาจกังขาว่า เหตุใด "นิติราษฎร์" จึงไม่ให้ "สำนักพระราชวัง" ทำหน้าที่นี้ด้วยเล่า , (ผมเข้าใจว่า เหตุผลที่นิติราษฎร์เสนอเช่นนี้ส่วนหนึ่ง ก็คือ) สำนักพระราชวัง ไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ดำเนินงานทางกฎหมายในส่วนราชการ เป็น "หน่วยงานโดยตรง" (อย่างเช่น กองนิติการ) ท่านจะเห็นภาพพจน์ชัดเจนขึ้นเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตาม ข้อ 3 (1) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2547 [5] ดังนี้ ข้อ 3 (1) (ก) ถึง (ข) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2547
ข้อ 3 (1) (ค) ถึง (ช) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2547
จะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ของสำนักพระราชวัง มอบให้ สำนักงานเลขานุการกรม ทำงานทางธุรการ เป็นหลัก หาได้มี "หน่วยงานเฉพาะด้าน" มีอำนาจหน้าที่ ใช้หรือดำเนินการทางกฎหมายโดยตรงดั่งกองนิติการในสำนักราชเลขาธิการ ไม่ เมื่อในระบบกฎหมาย ได้มี "หน่วยงานเฉพาะ" ของ สำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว หากจะดำรงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ไว้ต่อไป , ณ ปัจจุบัน ข้อเสนอ "ให้สำนักราชเลขาธิการ (หรือ กองนิติการ ในสังกัดฯ) ทำหน้าที่คัดกรองและฟ้องคดี หรือริเริ่มกระบวนบวนพิจารณา" จึงเป็นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เช่น จะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นคัดกรองคดีโดยอ้างเรื่อง "ความไม่เหมาะสม/บังอาจ" ที่จะให้สำนักราชเลขาฯ ฟ้องเอง จึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเป็นหน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการ มีเงินเดือน ตามงบประมาณแผ่นดิน(ภาษีของราษฎรทั้งหลาย) ก่อตั้งอยู่มาแต่เดิมแล้ว. [ตัวอย่างภาคปฏิบัติ] สยามรัฐ [หนังสือพิมพ์รายวัน]. ปีที่ 58 ฉบับที่ 19958, ประจำวันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2550. หน้า 1.
เชิงอรรถ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
รัฐบาลพม่าอาจปล่อยนักโทษรอบใหม่ปีหน้า Posted: 23 Dec 2011 08:18 AM PST ระหว่างการเจรจาสันติภาพกับพรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party – NMSP)) นายอองมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่งทางรถไฟที่ร่วมโต๊ะเจรจาได้บอกกับพรรครัฐมอญใหม่ว่า รัฐบาลพม่ามีแผนจะนิรโทษกรรมนักโทษรอบใหม่ในวันที่ 4 เดือนมกราคมและวันที่ 12 เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ทั้งนี้ นายหงษ์สา ผู้นำพรรครัฐมอญใหม่ได้เปิดเผยว่า ตัวแทนจากรัฐบาลพม่าได้บอกกับเขาว่า รัฐบาลนั้นมีแผนจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองรอบใหม่ โดยให้รอดูวันที่ 4 มกราคม ซึ่งตรงกับวันเอกราชของพม่า และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ตรงกับวันสหภาพพม่า มีรายงานเช่นกันว่า นางอองซาน ซูจี ได้บอกกับนายทุนมิ้นอ่อง หนึ่งในแกนนำของกลุ่มนักศึกษาปี 1988 ระหว่างที่ทั้งสองประชุนกันเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า รัฐบาลพม่านั้นมีแผนปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีก ขณะที่ ข่าวนี้สร้างความหวังให้กับครอบครัวของนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก ส่วนหลังการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลพม่าและพรรครัฐมอญใหม่ นายอองมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่งทางรถไฟพม่ากล่าวว่าเขาพอใจกับการเจรจาครั้งนี้มาก “ผมพอใจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์กับการหารือในครั้งนี้ เพราะว่า ชนกลุ่มน้อยให้ความไว้วางใจเราเหมือนเช่นที่เราไว้วางใจพวกเขา” อย่างไรก็ตาม นายอองมินกล่าวว่า การเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลนั้นมีอยู่ 3ขั้น ขั้นที่ 1คือการยุติสู้รบ ขั้นที่สองคือการตั้งโต๊ะเจรจาทางการเมืองกับชนกลุ่มน้อยทั้งหมด และขั้นที่ 3 คือการนำเอาข้อตกลงที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยเห็นด้วยไปสู่ในรัฐสภาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการหารือระหว่างฝ่ายรัฐบาลและมอญ มีรายงานว่า ฝ่ายมอญได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการโจมตีรัฐคะฉิ่น และอนุญาตให้คนมอญเรียนภาษามอญและวรรณกรรมมอญ รวมทั้งอนุญาตให้ภาษามอญเป็นภาษาราชการในรัฐมอญ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังเห็นด้วยที่อีกฝ่ายสามารถเข้าไปยังเขตควบคุมของอีกฝ่ายพร้อมอาวุธได้ แต่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ตัวแทนจากรัฐบาลพม่าและมอญจะเจรจาสันติภาพอีกครั้งในเดือนหน้า อีกด้านหนึ่ง แหล่งข่าวของ KNU (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง -Karen National Union) รายงานว่า KNU นั้นอาจทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าในวันที่ 12 เดือนมกราคมปีหน้า หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายรบกันมาเป็นเวลา 64 ปี ขณะที่การเจรจาสันติภาพครั้งล่าสุดระหว่างทั้งสองฝ่ายมีขึ้นเมื่อวันพุธ(21 ธันวาคม)ที่ผ่านมา ทั้งนี้ KNU ถือเป็นชนกลุ่มน้อยติดอาวุธอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า Mizzima /Irrawaddy 23 ธันวาคม 54 ซูจี เดินทางเยือนเนปีดอว์รอบสองเพื่อนำ NLD จดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง หลังจากรัฐบาลพม่าชุดใหม่ไฟเขียวให้พรรคเอ็นแอลดีจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง ล่าสุด นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีเดินทางถึงกรุงเนปีดอว์แล้วในวันนี้ เพื่อดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง มีการคาดการณ์กันว่า นางซูจีจะเดินทางเยือนรัฐสภาพม่าและเข้าพบปะกับนายฉ่วยหม่าน โฆษกสภาล่างและสภาสูงของพม่าเป็นครั้งแรกด้วย “นายฉ่วยหม่านและนางซูจีจะพบปะกันในช่วงบ่ายนี้ โดยทั้งสองจะพบกันที่รัฐสภา” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นางซูจีพร้อมกับผู้นำระดับสูงของพรรคคนอื่นๆได้ดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนพรรคเอ็นแอลดีเป็นพรรคการเมืองที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งพม่าในกรุงเนปีดอว์เมื่อเช้าที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า นางซูจีจะเข้าพบปะกับประธานาธิบดีเต็งเส่งและนายฉ่วยหม่าน โฆษกสภาล่างและสภาสูงของพม่าในการเยือนครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม นับเป็นการเยือนกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่เป็นครั้งที่สองของนางซูจี โดยการเยือนครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น นางซูจีได้รับเชิญจากทางรัฐบาลพม่าให้เข้าร่วมฟังการเสวนาเรื่องเศรษฐกิจ และนางซูจีได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งเป็นครั้งแรก โดยทั้งสองหารือกันถึงปัญหาสถานการณ์ภายในประเทศและการปฏิรูปประเทศ โดยหลังการหารือครั้งนั้นนางซูจีกล่าวแสดงความพอใจ Irrawaddy / AFP /ภาพ AP 23 ธันวาคม 54 แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ยกฟ้องอีกคดี บึ้มโรงแรมซีเอส.ปัตตานี Posted: 23 Dec 2011 08:12 AM PST เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 23 ธันวาคม 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลจังหวัดปัตตานี นายปาลิต สันทนาคณิต ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายฮันนาน หรืออาริกดิง จารง คดีหมายเลขดำที่ 1921/2552 และนายอับดุลย์ กามะ คดีหมายเลขดำที่ 328 /2553 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ฯลฯ ในคดีลอบวางระเบิดโรงแรมซีเอส ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 12 คน เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 15 มีนาคม 2551 คำพิพากษาสรุปว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดที่เกิดเหตุ แสดงให้เห็นเพียงว่า มีรถยนต์ยี่ห้อแดวู สีเขียว ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนด้านหน้า ขับเข้าไปที่จอดในเกิดเหตุเวลา 16.57 น. และขับออกไปเวลา 18.24 น. จากนั้น 2 นาที มีรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเลขทะเบียน พน 5029 กรุงเทพมหานคร (บางข่าวเขียน ภน 5029 กรุงเทพมหานคร) คันที่เกิดระเบิดได้ขับเข้าไปในโรงแรม แต่ไม่ปรากฏภาพรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิซิ เข้าไปจอดแทนรถยนต์แดวู ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง คำพิพากษาสรุปอีกว่า ทั้งยังไม่ปรากฏชัดว่า รถยนต์ยี่ห้อแดวูได้เลี้ยววนเข้าไปรับผู้ที่ขับรถยนต์มิตซูบิซิออกจากที่เกิดเหตุ ตามที่พนักงานฝ่ายสืบสวนสันนิฐานไว้ พยานหลักฐานของโจทก์เท่านี้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการรับฟังว่า ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ยี่ห้อแดวูมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับการนำรถยนต์ที่มีระเบิด เข้าจอดในที่เกิดเหตุ แม้พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยทั้ง 2 นั่งที่ลานชาชักของโรงแรมในวันเกิดเหตุและมีผู้เสียหายเคยให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยทั้ง 2 คือบุคคลที่อยู่ในรถยนต์ยี่ห้อแดวูคันดังกล่าว ก็ไม่ได้หมายความว่า จำเลยทั้ง 2 มีประพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิด ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 2 คือคนร้ายที่ก่อเหตุวางระเบิดโรงแรงซีเอส ปัตตานี คำพิพากษาสรุปต่อไปว่า นอกจากนั้นโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่สืบให้เห็นว่า จำเลยทั้ง 2 เป็น ผู้ก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดงเมื่อใดและร่วมกับใคร มีการฝึกทางร่างกายและจิตใจ ศาลไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้ง 2 ได้ พิพากษายกฟ้อง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
blognone: จดหมายเปิดผนึกถึงกสทช. เรื่องข้อเสนอสิทธิแห่งผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม Posted: 23 Dec 2011 07:56 AM PST note: วันนี้ผมมาร่วมงาน NBTC Public Forum ที่รับฟังความคาดหวังของภาคประชาสังคมต่อกสทช. ผมและ mk จึงร่างจดหมายเพื่อแสดงความคาดหวังของเราในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อแสดงต่อกสทช. ในงานนี้ครับ ถึง กสทช. ทุกท่าน ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริการโทรคมนาคมมีความสำคัญต่อชีวิตประชาชนขึ้นอย่างมาก คนจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยีโทรคมนาคม คนจำนวนมากมีชีวิตโดยต้องพึ่งพิงโทรคมนาคมเพื่อการดำรงค์ชีวิต ทั้งการอาชีพและการปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมตามอัตภาพ เป็นเรื่องน่ายินดีที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้กำหนดให้จัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) โดยที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้ก็ได้มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิผู้บริโภคในประเด็นต่างๆ เรื่อยมา แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในช่วงหลัง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมของไทยเป็นวงกว้าง แม้สบท. และกสทช. จะออกมาแถลงการเตือนผู้บริโภคต่อเหตุการณ์เหล่านั้น แต่กลับไม่ได้ออกแสดงถึงเจตน์จำนงค์ที่จะยืนยันสิทธิแห่งผู้บริโภค การออกแถลงการณ์เตือนให้ผู้บริโภคต้องระวังตัวเองนั้นแม้จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้บริโภคแต่ในทางหนึ่งกลับเป็นการยอมรับให้ผู้บริโภคถูกกระทำ ทีมงาน Blognone ขอเสนอสิทธิแห่งผู้บริโภค ที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งกสทช. และสบท. ควรต้องยืนยันสิทธิเหล่านี้ให้กับผู้บริโภคทุกคน และเรียกร้องให้มีการสร้างกฏเกณฑ์เพื่อบังคับใช้ในการคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ให้กับผู้บริโภคทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ผู้บริโภคพึงสามารถใช้งานตามปรกติสุขได้โดยไม่ต้องมีกังวล: กรณีคดีอากง SMS เป็นคดีที่สร้างความกังวลต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก การเตือนให้ผู้บริโภคพกเครื่องไม่ห่างตัวไม่ใช่การใช้งานอย่างเป็นปรกติสุขโดยทั่วไป หากการใช้งานโดยทั่วไปมีความเป็นไปได้ที่การกระทำจากตัวเครื่อง กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคต้องให้ความคุ้มครอง และเรียกร้องต่อสิทธิการใช้งานอย่างเป็นปรกติต่อไปโดยไม่มีความเสี่ยงใดๆ ผู้บริโภคมีสิทธิกำหนดขอบเขตการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย: ปัญหาค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ผู้บริโภคคาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากในประเทศ หรือการใช้งานจากต่างประเทศ สร้างปัญหาและเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่องตามประวัติของสบท. และในอนาคตก็คาดว่าจะมีปัญหาในรูปแบบอื่นๆ ในแนวทางเดียวกันอีก จากความซับซ้อนของระบบการคิดค่าบริการของบริการโทรคมนาคม ผู้บริโภคควรมีสิทธิกำหนดขอบเขตการรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง เช่นหากผู้บริโภคกำหนดความรับผิดชอบไว้ที่ 15,000 บาท เป็นหนัาที่ของผู้ให้บริการ ที่จะต้องไม่ปล่อยให้มีการใช้งานเกินกว่า 15,000 บาท โดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับแจ้งและมีการยินยอมเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบนี้ หากผู้ให้บริการให้บริการเกินกว่าขอบเขต ต้องถือเป็นความผิดของผู้ให้บริการและผู้บริโภคไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้เงื่อนไขและข้อจำกัดอย่างชัดเจน: เงื่อนไขของการใช้งานบริการต่างๆ ทางโทรคมนาคมนั้นมักมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนหลากหลาย หลายครั้งผู้ให้บริการเลือกที่จะนำข้อดีของบริการในเงื่อนไขหนึ่งๆ มาโฆษณาร่วมกับข้อดีในเงื่อนไขอื่นๆ ผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง และต้องมีการคุ้มครองให้ข้อความในโฆษณานั้นอยู่ภายในเงื่อนไขเดียวกัน เช่นโฆษณา "อินเทอร์เน็ตความเร็ว 7.2Mbps ไม่จำกัด" ที่จริงแล้วกลับเป็น "อินเทอร์เน็ตความเร็ว 7.2Mbps ในปริมาณ 5GB แรก และความเร็ว 512kbps ไม่จำกัด" หากการโฆษณาจำเป็นต้องรวบรัดเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่โฆษณา ผู้บริโภคควรได้รับความคุ้มครองที่จะเห็นโฆษณาในเงื่อนไขเดียวกันเช่น "อินเทอร์เน็ต 7.2Mbps ปริมาณ 5GB" หรือ "อินเทอร์เน็ตไม่จำกัด 512kbps" โดยข้อความทั้งหมดต้องเด่นชัดในระดับเดียวกัน ผู้บริโภคต้องได้รับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล: บริการต่างๆ ทางด้านโทรคมนาคมนั้น เป็นผู้ให้บริการที่รับผิดชอบต่อข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทั้งข้อมูลทั่วไปเข่น ข้อมูลที่อยู่อาศัย หมายเลขโทรศัพท์ ตลอดจนถึงข้อมูลการสื่อสารระหว่างกัน กสทช. ต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่จะไม่ถูกนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานอย่างไม่เป็นธรรม เช่นการส่งต่อข้อมูลไปยังบริษัทในเครือหรือคู่ค้าเพื่อใช้ส่งโฆษณา จนถึงการส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง ผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกประเภทบริการที่ต้องการใช้งาน: บริการโทรคมนาคมหลายประเภทในตอนนี้มักผูกติดกันหลายต่อหลายประเภทบริการ เช่นบริการเสียงเพลงรอสายที่ผูกมากับบริการโทรศัพท์, หรือบริการอินเทอร์เน็ต ขณะที่มันอำนวยความสะดวกให้คนจำนวนมากเข้าถึงบริการต่างๆ ได้โดยง่าย ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งกลับไม่ได้ใช้บริการเหล่านั้น และไม่ต้องการให้บริการเหล่านั้นมารบกวนการทำงานประจำวัน ผู้บริโภคพึงสิทธิในการตัดบริการใดๆ ออกจากการรับบริการ เช่น บริการโทรศัพท์, บริการ SMS, บริการข่าวสาร, บริการโทรระยะไกล, หรือบริการอื่นๆ ผู้บริโภคทุกคนพึงมีสิทธิในการเลือกรับหรือไม่รับบริการเหล่านี้ตามความต้องการของตนเอง เช่น ผู้ใช้บางรายที่ต้องการใช้งานเฉพาะการโทรศัพท์ พึงมีสิทธิที่จะตัดบริการอื่นออกทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีความกังวลกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทีมงาน Blognone เชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคในสิทธิที่เสนอมาเหล่านี้จะทำให้ปัญหาร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกสทช. และสบท. น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว จากการคุ้มครองสิทธิอย่างสมเหตุผลให้กับผู้บริโภคก่อนที่จะเกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ผู้บริโภคจะสามารถมั่นใจที่จะใช้บริการต่างๆ และสามารถวางใจที่จะใช้บริการโทรคมนาคมได้สืบไป เราหวังว่า กสทช., สบท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะรับพิจารณาข้อเสนอนี้ และมีการดำเนินการให้ออกมาเป็นข้อบังคับในส่วนที่อยู่ในอำนาจกสทช. และข้อเรียกร้องหรือการดำเนินการอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากอำนาจของกสทช. เพื่อให้มีผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามที่สมควรได้รับต่อไป วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ดูแลเว็บไซต์ Blognone.com สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สภาที่ปรึกษาฯ รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ “ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์” Posted: 23 Dec 2011 04:28 AM PST วันนี้ (23 ธ.ค.) คณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาฯ จัดการสัมมนา เรื่อง“ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์” เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากแต่ละภาคส่วน โดยนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าต่อสังคม ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ การสัมมนาเป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน โดยมี นายสมพร เทพสิทธา ประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กล่าวเปิดการสัมมนา และร่วมอภิปรายโดย รศ.ดร.เพ็ญแข ประจนปัจจนึก นักวิชาการด้านการพัฒนามนุษย์ และ ผศ.ดร. สมบัติ กุสุมาวลี สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ดำเนินรายการโดย พลตรีหญิงอุษณีย์ เกษมสันต์ ณ อยุธยา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 70 คน การพัฒนามนุษย์นั้น นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ เพราะความสำเร็จขององค์กรและประเทศชาติ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของบุคลากร หากประเทศใดมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสูง และมีคุณธรรมจริยธรรม ย่อมสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน การพัฒนาประเทศจึงต้องอาศัยกระบวนการและแนวทางของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น ในการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างชัดเจน โดย นายสมพร เทพสิทธา กล่าวว่า การพัฒนามนุษย์ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักทางด้านศาสนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยึดเป็นแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์ต่อไป ทั้งนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลที่ผ่านมาได้กำหนดแผนต่างๆมามากมาย แต่ไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้าน รศ.ดร.เพ็ญแข ประจนปัจจนึก กล่าวว่า ในปัจจุบันการพัฒนามนุษย์ เป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นในทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาคนเป็นอันดับแรก และควรทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเป็นการพัฒนาในระยะยาว เริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ควรปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้ลงลึกจนถึงระดับจิตสำนึก เพื่อให้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ด้าน ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนามนุษย์ที่สำคัญต้อง การทบทวนอดีต เพ่งพิจารณาอนาคต กำหนดปัจจุบัน เพราะประเทศไทยมีแผนต่างๆในการพัฒนาประเทศมากมาย แต่เราไม่เคยทำให้เกิดขึ้นจริง จึงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้การพัฒนามนุษย์ก้าวไปพร้อมกับโลกในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้มีผู้เข้าร่วมอภิปรายได้เสนอความเห็นที่หลากหลาย โดยสาระสำคัญคือ ให้จัดตั้งศูนย์ศีลธรรมขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้คนมีพื้นฐานจิตใจที่ดี และควรขยายระยะเวลาการเกษียณอายุราชการจาก 60ปี เป็น 70 ปี เพื่อพัฒนาบุคคลในวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย รวมถึงสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควรเป็นหน่วยงานในการส่งเสริมให้มีการสนับสนุนวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ด้วย ผลจากการสัมมนารับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์ นั้น สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อมูลที่ได้มาประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อดำเนินการวางยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์ ประกอบการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
รายงาน: ตามหานิยาม ‘นักโทษการเมือง’ และเสียงสะท้อนจากห้องขัง Posted: 23 Dec 2011 03:10 AM PST “คุกการเมือง” ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เป็นอันเลื่อนจากกำหนดเดิม 21 ธ.ค.54 ออกไปโดยยังไม่มีกำหนดใหม่แน่ชัด เพราะสถานที่ยังปรับปรุงไม่เสร็จ และรัฐบาลกำลังเร่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้ต้องขังว่าใครเข้าข่ายถูกย้าย หลังนิยาม “นักโทษการเมือง” ถูกทักถามอย่างหนัก เบื้องหลังของคำถามคือความกลัวว่าจะเป็นการเตรียมสถานที่ไว้ให้ “ทักษิณ ชินวัตร” คนต้นคิดอย่าง คอป.เองก็ไม่ได้นิยามคำนี้ไว้ คณิต ณ นคร ประธาน คอป.ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทย “ไม่มี” นักโทษการเมืองแล้วในยุคนี้ แต่ยังยืนยันให้มีการแยกคุมขัง “ผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุทางการเมือง หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถาน ที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต” ตอนหนึ่งในข้อเสนอครั้งที่ 2 ของคอป. ซึ่ง หมายรวมไปถึงคดี มาตรา 112 ด้วย ในที่สุดข้อเสนอนี้ก็ถูกนำมาปรับใช้ หลังจาก คอป.พูดถึงเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 54 และออกรายงานฉบับที่ 2 ย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง พร้อมมอบภาระให้รัฐบาลเป็นผู้จำแนกแจกแจงเอาเอง
หน่วยงานที่ทำเรื่อง “นักโทษการเมือง” มายาวนานที่สุด หนีไม่พ้นองค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ เอไอ (AI:Amnesty international) เบนจามิน ซาวากกี้ (Benjamin Zawacki) นักวิจัยของเอไอ ให้ความเห็นว่า โดยปรกติแล้วแอมเนสตี้ไม่ได้เรียกร้องให้มีการแยกกันระหว่างนักโทษการเมืองจากนักโทษอื่นๆ ในแง่ของนโยบาย อย่างไรก็ตาม อาจมีในบางกรณีที่แอมเนสตี้อาจจะเรียกร้องให้มีการแยกการคุมขังนักโทษ รวมถึงนักโทษการเมืองด้วยเหตุผลอื่นๆ คือ นักโทษที่อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาคดีควรแยกออกจากนักโทษที่ถูกตัดสินแล้ว (ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองในที่ต่างๆ) ตามกฎมาตรฐานเบื้องต้นในการปฏิบัติต่อนักโทษ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวดูจากสถานะการถูกตัดสินของนักโทษ ซึ่งมีผลกับนักโทษที่ยังไม่ถูกตัดสินทุกคนรวมถึงนักโทษการเมืองด้วย เช่นเดียวกัน หากว่านักโทษการเมืองตกอยู่ในความเสี่ยงจากนักโทษคนอื่นๆ แอมเนสตี้ก็จะเรียกร้องให้เขาถูกแยกคุมขัง โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องมีหน้าที่ในการปกป้องนักโทษจากภัยอันตรายโดยบุคคลที่สาม เช่นเดียวกัน นี่ก็ไม่ได้มีผลเฉพาะกับนักโทษการเมืองเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับนักโทษไม่ว่าใครก็ตาม ส่วนในกรณีของประเทศไทย แอมเนสตี้สนับสนุนข้อเสนอแนะของคอป. ตราบใดที่เกี่ยวข้องกับนักโทษที่อยู่ในระหว่างการรอพิจารณา และนักโทษที่เสียงต่ออันตรายจากนักโทษคนอื่นๆ หากเราค้นในเว็บไซต์ของเอไอจะพบว่า เอไอให้นิยามคำว่านักโทษการเมืองว่าเป็นนักโทษที่มีองค์ประกอบของความเป็นการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจของการกระทำของนักโทษ การกระทำ หรือแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคำว่าความเป็นการเมืองนั้นหมายถึงแง่มุมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” เอไอมีจุดยืนเรียกร้องให้นักโทษการเมืองต้องได้รับการพิจารณาคดีและไต่สวนอย่างยุติธรรมภายในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ได้หมายถึงว่านักโทษการเมืองเหล่านี้ได้รับสถานะพิเศษหรือควรได้รับการปล่อยตัว นักโทษการเมือง รวมถึงนักโทษมโนธรรมสำนึก (Prisoners of Conscience) หมายถึงนักโทษที่คัดค้านหรือต่อต้านระบบการเมืองทั้งระบบ หรือนักโทษที่ทำงานอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือระบบการเมืองของประเทศนั้นๆ และต้องไม่ใช้ความรุนแรง นักโทษประเภทนี้เป็นประเภทเดียวที่เอไอเรียกร้องให้ปล่อยตัวโดยทันที ซึ่งในประเทศไทยเอไอระบุไว้เพียงรายเดียวคือ ผู้ต้องหาหมิ่นฯ ชาวจังหวัดระยอง จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ตัวอย่างนักโทษการเมืองที่เอไอให้ไว้ เช่น · บุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือตัดสินจากคดีทางอาญาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เช่นการฆาตกรรมหรือการปล้นที่เป็นไปเพื่อสนับสนุนจุดประสงค์กลุ่มฝ่ายค้านทางการเมือง · บุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกตัดสินจากคดีอาญาในบริบททางการเมือง เช่น ที่การประท้วงของกลุ่มสหภาพปรงงานหรือชาวนา · สมาชิกของกลุ่มติดอาวุธที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหากบฏหรือเป็นภัยต่อสังคม (คดีความมั่นคง)
พิภพ อุดมอิทธพงศ์ นักกิจกรรมจากกลุ่ม Article 112 ให้ความเห็นว่า คำว่า “นักโทษการเมือง” เป็นคำทีเป็นปัญหาเนื่องจากไม่มีนิยามที่ชัดเจน แม้แต่ในทางสากล ทำให้การนิยามหลายครั้งยังลักลั่น อย่าง ดา ตอร์ปิโด จะนับเป็นนักโทษทางความคิดหรือนักโทษการเมืองหรือไม่ หากนับนักโทษคดีหมิ่นฯ บางรายเป็นนักโทษทางความคิด องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับพม่าก็จะนับว่าฝ่ายค้านทั้งหมดที่อยู่ในเรือนจำคือนักโทษการเมือง สำหรับความเห็นส่วนตัว พิภพ คิดว่า คนที่แสดงความเห็นในทางต่อต้านรัฐบาลแล้วถูกจับควรนับเป็นนักโทษการเมือง แต่โดยทางสากลแล้ว แม้แต่ยูเอ็นก็ไม่ได้จำแนกให้มีข้อปฏิบัติเป็นพิเศษ แต่มีข้อปฏิบัติพื้นฐานสำหรับนักโทษทุกคน ดังนั้นโดยหลักการเขาจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการปฏิบัติที่แตกต่าง แต่ควรพัฒนาหลักปฏิบัติขั้นต่ำสำหรับนักโทษในเรือนจำทั้งหมด และยังเห็นว่าการพยายามจำแนกนักโทษการเมืองเป็นการแก้ปัญหาแบบไทย ไม่ได้แค่ที่ระบบ นอกจากนี้ยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรวมนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นนักโทษทางการเมืองได้ หากต้องจัดทำหลักการเป็นกฎหมายก็เชื่อว่ากฤษฎีกาจะไม่ยอมผ่านแน่นอน และเชื่อว่า คอป.เสนอโดยที่รู้อยู่แล้วว่าปัญหานี้อย่างไรก็ไม่สามารถแก้ได้ทะลุ “แต่เฉพาะหน้าผมก็เห็นใจ คนที่ติดคุกมันก็แย่ แต่โดยหลักการแล้วการจำแนกเช่นนี้ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว” ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) นักวิจัยประจำภาควิชาการการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเข้ามาทำวิจัยในประเทศไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คอป. และการจัดการแยกการคุมขังคดีที่เกี่ยวพันกับการเมือง และเห็นว่านักโทษการเมืองควรมีนิยามครอบคลุมคนที่ถูกดำเนินคดีอาญาธรรมดาเนื่องจากการมีความเห็นที่แตกต่าง และกระบวนการยุติธรรมถูกทำให้เป็นการเมืองในกรณีดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ชัดในคดีเกี่ยวกับความผิดในมาตรา 112 หรือแม้แต่คดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากตัวพ.ร.ก.ฉุกเฉินเองก็มีปัญหาความชอบธรรม และจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง สำหรับทางออกนั้น ไทเรลเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมควรมีความโปร่งใสและเปิดให้ตรวจสอบ แต่การแก้ปัญหาที่ยากยิ่งกว่าคือ “อุดมการณ์” ซึ่งนักโทษจำนวนมากเมื่อมีอุดมการณ์แตกต่างจากคนส่วนใหญ่แล้วก็จะถูกมองว่าไม่เป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นกระแสทั่วโลก แม้แต่ประเทศเสรีอย่างอเมริกาก็มีความพยายามผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ที่จะให้คุมขังผู้ต้องหาเกี่ยวกับคดีก่อการร้ายอย่างไม่จำกัดเวลา
เสียงจากเรือนจำ กว่าที่ คอป.จะนำเสนอข้อเสนอแยกที่คุมขังเวลาก็ล่วงเลยมากว่าปี ผู้ต้องหาจำนวนมากที่โดนคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ คอป.ระบุถึงอย่างชัดเจนล้วนอยู่ในเรือนจำมาจนเต็มเวลาและได้ออกจากเรือนจำไปเป็นจำนวนมากแล้ว รวมถึงส่วนที่โทษยังเหลืออยู่เล็กน้อยและได้รับการอภัยโทษไปเมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ต้องขังอีกจำนวนหนึ่งถูกคุมขังอยู่ระหว่างสู้คดี หรือแม้แต่คดีถึงที่สุดแล้วแต่ไม่ได้รับอภัยโทษเพราะมีโทษสูง ธันฐวุฒิ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ ที่ต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกตัดสินจำคุก 13 ปี เขาถูกขังมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ต่อสู้คดี พิพากษา กระทั่งชั้นศาลอุทธรณ์เกือบ 2 ปี โดยไม่ได้รับกาประกันตัว ธันย์ฐวุฒิ เป็นผู้หนึ่งที่เรียกร้องให้มีการแยกการคุมขังตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำใหม่ๆ รวมทั้งการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังโดยทั่วไป เนื่องจากพบสภาพผู้ต้องขังล้นเกิน อีกทั้งยังมีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้เขายังระบุอีกว่าผู้ต้องขังจากเหตุเกี่ยวเนื่องกับการเมืองทั้งหมดไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่พวกเขาร่วมต่อสู้เท่าที่ควร ทำให้ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างยากลำบากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนจน คนชั้นล่างของสังคมที่เข้ามาร่วมขบวนการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ขณะที่ญาติของผู้ต้องขังในต่างจังหวัดบางส่วนอาจจะมีมุมมองที่ต่างออกไป เพราะหากสามี พ่อ ลูกชาย ของพวกเขาเข้ามาอยู่ที่คุมขังแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาเยี่ยมมากกว่าเดิม
(สำหรับผู้สนใจสถานการณ์ในเรือนจำ เตรียมพบกับจดหมายของผู้ต้องขังเล่าเรื่องชีวิตในเรือนจำ และคู่มือปฏิบัติสำหรับผู้เข้าเยี่ยม เร็วๆ นี้) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ส.ศิวรักษ์: กระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน Posted: 23 Dec 2011 03:02 AM PST หมายเหตุ: บรรยาย ณ ห้องประชุม ๗๐๙ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ แม้ว่า “สิทธิมนุษยชน” จะเป็นคำใหม่ และเราไม่มีเอกสารที่ชัดเจนว่าในอดีต บรรพชนของเราได้ต่อสู้เพื่อสิทธิดังกล่าวมาอย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อย ตั้งแต่เกิดความทันสมัยขึ้นในสยาม เราก็รู้ได้ว่าในรัชกาลที่ ๕ มีนักสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย ๒ คน ที่ต่อสู้กับอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ แต่ก็พ่ายแพ้ไปทั้งคู่ นั่นก็คือ เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร.กุหลาบ โดยที่สยามเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปแต่ในรัชกาลที่ ๔ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในรัชกาลหลังๆ จึงใช้จุดอ่อนอันี้ ต่อสู้กับระบอบราชาธิปไตย โดยเฉพาะก็ผู้ซึ่งใช้หนังสือพิมพ์โจมตีรัฐบาล เขาเหล่านี้มักอาศัยร่มธงของประเทศมหาอำนาจ โดยยอมให้คนซึ่งมีสัญชาติอันมิใช่ไทย เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ถ้าทางราชการไทยจะฟ้องร้องเขาเหล่านั้นก็ต้องขึ้นศาลกงศุลของต่างประเทศ จึงถือได้ว่านี่เป็นวิธีการต่อสู้กับรัฐเผด็จการก่อนเกิดประชาธิปไตยขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ส่วนคนไทยที่ต่อสู้กับรัฐบาลอย่างเด่นชัดที่สุดโดยไม่ได้อาศัยร่มเงาของอภิมหาอำนาจปกป้องล้วนพ่ายแพ้อำนาจรัฐมาแล้วทั้งนั้น ที่เด่นที่สุด เห็นจะได้แก่ นรินทร์ กลึง หรือ นายนริทร์ ภาษิต ซึ่งถูกถอดออกจากบรรดาศักดิ์ แล้วถูกหาว่าวิกลจริตอีกด้วย เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลสยามโดยการนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้สามารถแก้สนธิสัญญาต่างๆ กับนานาประเทศ จนหมดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปจากราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือได้ว่าเราได้รับเอกราชอันสมบูรณ์ ดังมีเพลงซึ่งเป็นที่นิยมบรรเลงกันในสมัยนั้นว่า ยี่สิบสี่มิถุนา-- ยนมหาสวัสดิ์ ปฐมฤกษ์ของรัฐ-- ธรรมนุญของไทย เริ่มระบอบแบบอา-- รยะประชาธิปไตย เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิ์เสรี สำเริงสำราญ ชื่นบานเต็มที่ เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์ จากปี ๒๔๗๕-๒๔๙๐ แม้เราจะมีเผด็จการ ป.พิบูลสงคราม และทหารเป็นรัฐภายในรัฐ ครอบงำอยู่มิใช่น้อย ตลอดจนผลกระทบจากสงครามโลก และการยาตราทัพเข้ามาของทหารญี่ปุ่น ซึ่งยึดครองประเทศไทยไว้กลายๆ แต่กฎหมายไทยและรัฐสภาไทยก็ยังเป็นใหญ่อยู่ เมื่อเผด็จการทหารจะขจัดศัตรูทางการเมืองของตน ก็ต้องตั้งศาลพิเศษขึ้น นอกเหนือจากศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งมีความเป็นกลางอย่างน่ายกย่อง ทั้งอัยการก็มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และเข้าใจเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมายอย่างน่าชื่นชม แม้ตำรวจในสมัยนายพลตาดุ อดุลย์ อดุลเดชจรัส จะมีชื่อเสียงเสียทางด้านการทารุณโหดร้าย แต่ก็มักไม่ถูกกล่าวหาว่ารับสินบาทคาดสินบน กระบวนการยุติธรรมของเราเริ่มหันเข้าไปสู่ความเสื่อมทราม เมื่อเราหมดความเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว จากการรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ เป็นต้นมา เริ่มจากกรณีสวรรคตเอาเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้เพื่อสังหารเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย คณะรัฐประหารและผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำลายล้างนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำของขบวนการสันติประชาธรรม ให้กลายสภาพจากดอกบัวมาเป็นกงจักร แม้จะฆ่าเขาไม่ได้โดยขบวนการยุติธรรม ก็สังหารบริษัทบริวารในวงการสันติประชาธรรมของเขาแทบทั้งหมด นอกเหนือขบวนการยุติธรรม หรือเพียงใช้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้เป็นผู้สังหารนักสิทธิมนุษยชนอย่างป่าเถื่อน โดยให้คนในเครื่องแบบเหล่านั้นขจัดศัตรูทางการเมืองแทบทุกคน ว่าเฉพาะคดีสวรรคตนั้น พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับคณะรัฐประหารโดยตรงคือเมื่อ ทำรัฐประหารโค่นล้างรัฐบาลประชาธิปไตยของ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สำเร็จ (โดยที่นายปรีดี พนมยงค์ รอดชีวิตไปได้) รัฐบาลควง อภัยวงศ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ก็ได้ตั้งพระพินิจชนคดี (พี่เขยของ ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คู่ปรับของนายปรีดี พนมยงค์) ซึ่งออกจากราชการไปแล้ว ให้กลับมารับราชการใหม่ ในฐานะประธานกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีสวรรคต พระพินิจได้ใช้วิธีปั้นพยานเท็จและข่มขู่บุคคลต่างๆ ให้มาเป็นพยานในคดีนี้อย่างเลวร้ายที่สุด เมื่อพลตำรวจตรีหลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจได้มีคำสั่งตั้งนายตำรวจสิบนายเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ มี พ.ต.อ. เนื่อง อาขุบุตร เป็นหัวหน้า แต่แล้วรัฐบาลภายใต้ฉายาของคณะรัฐประหาร ก็ตั้งให้ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ มาเป็นอธิบดีแทนหลวงชาติฯ เผ่าเป็นลูกเขยของผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร และเป็นเผด็จการตัวฉกาจ โดยเผ่าได้ปลด พ.ต.อ. เนื่อง ออกจากหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ หากให้ พ.ต.ท. หลวงแผ้ว พาลชน มาเป็นหัวหน้าแทน ทั้งๆ ที่ ตอนนั้นหลวงแผ้ว ขอลาไปอุปสมบทอยู่ ก็ต้องลาสิกขามารับหน้าที่นี้ ครั้นสำนวนการสอบสวนมาถึงอัยการ พระสารการประสิทธิ์ อธิบดีกรมอัยการ เมื่อตรวจสำนวนแล้วก็ขอลาออกจากตำแหน่ง ครั้นเมื่อหลวงอรรถไกวัลวาที รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอัยการ เมื่อตรวจสำนวนแล้วก็ขอลาออกจากราชการ ส่วนหลวงอรรถวาทประวิทย์ หัวหน้ากองคดีกรมอัยการก็ได้ลาออกจากราชการอีกด้วย รัฐบาลของฝ่ายรัฐประหารจึงแต่งตั้งนายเล็ก จุณณานนท์ (น้องชาย พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ซึ่งเคยตั้งสำนักงานทนายความ เสนีย์-อรรถการี ร่วมกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อยู่ที่ถนนราชดำเนิน) เป็นอัยการโจทก์ในคดีสวรรคต ส่วนการตัดสินคดีของศาล ตั้งแต่ศาลอาญา และศาลอุทรณ์ จนศาลฎีกา ล้วนเป็นไปโดยขาดความยุติธรรมขั้นพื้นฐานอย่างน่าสังเกตเช่น ศาลทราบอยู่แล้วว่า การตีความบทกฎหมายนั้นต้องพิจารณาตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ มาตรา ๒๐๘ ทวิ ได้บัญญัติขึ้นโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๗ มาตรา ๓ นั้นดดยความเรียกร้องของฝ่ายตุลาการที่ปรารถนาให้โจทก์และจำเลยได้รับความเป็นธรรมในคดีสำคัญๆ มิใช่ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นฝ่ายริเริ่มขึ้นมาก่อน ดังนั้นมาตรา ๒๐๘ ทวินั้น จึงมีความมุ่งหมายให้คดีสำคัญเป็นกรณีพิเศษนั้นได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ และให้ศาลฎีกาใช้บทกฎหมายนั้นโดยอนุโลมด้วย แม้คำตอบท้ายวรรคต้นแห่งมาตรา ๒๐๘ ทวิ ใช้คำว่า “ก็ได้” ซึ่งให้อธิบดีศาลใช้ดุลพินิจก็ดี แต่อธิบดีศาลศาลฎีกาก็ได้เคยใช้ดุลพินิจถูกต้องตามความมุ่งหมายแห่งบทกฎหมายนั้นมาก่อนคดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ แล้ว คือได้นำคดีสำคัญ ๆ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัย แต่คดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ ซึ่งเป็นคดีสำคัญใหญ่ยิ่งกว่าคดีใดๆ ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์แห่งศาลสถิตยุติธรรมนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามิได้เป็นผู้วินิจฉัย หากเป็นคณะผู้พิพากษาเพียง ๕ ท่าน คือ (๑) พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ (๒) พระยาธรรมบัณฑิต (๓) พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ (๔) พระศิลปสิทธิ์วินิจฉัย (๕) พระนาถปริญญา ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีอยู่ในขณะนั้น ฉะนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาโดยท่านผู้พิพากา ๕ นายเป็นผู้วินิจฉัยคดีสวรรคตนั้นจึงเป็นโมฆะ(๑) อนึ่งการลอบปลงประชนม์พระมหากษัตริย์นั้นมีอัตราโทษถึงประหารชีวิต ฉะนั้นศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีสวรรคตโดยจำเลยมิได้มาฟังการสืบพยาน ข้อเท็จจริงปรากฎชัดแจ้งว่า ในการที่ ศาลอาญาเดินเผชิญสืบในหลวงองค์ปัจจุบันและสมเด็จพระราชชนนี (พระอิสริยยศขณะนั้น) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ นั้น ศาลอาญาไม่อนุญาตให้จำเลยในคดีสวรรคตได้ไปเฝ้าขอพระราชทานกราบทูลถาม ๒ พระองค์นั้นซึ่งทรงเป็นพยานสำคัญของอัยการโจทก์ในคดีสวรรคต ศาลอาญาได้ส่งเพียงผู้พิพากษาและอัยการโจทก์เท่านั้นขอพระราชทานพระราชกระแสดังปรากฏในสำนวนคดีสวรรคตแล้ว จำเลยจึงไม่มีโอกาสกราบทูลซึ่งตามภาษากฎหมายเรียกว่า “ซักค้าน” ตามที่อัยการโจทก์ได้กราบทูลขอพระราชทานพระราชกระแสไว้ ดังนั้นการพิจารณาคดีสรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ จึงเป็นโมฆะเพราะเหตุฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(๒) นายสุพนจ์ ด่านตระกูล ผู้เขียนเรื่อง ๕๐ ปี พระทูลกระหม่อมแก้ว จากพสกนิกรไปแล้ว ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ และเรื่อง ในหลวงอานันท์ฯ นายปรีดี พนมยงค์ กับ... และกรณีสวรรคต ยืนยันว่าถ้าทนายจำเลย มีโอกาสซักค้าน พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน จะจับข้อเท็จจริง อันได้จากคำให้การของพระองค์ว่าคลาดเคลื่อนอย่างไร แต่แล้วจำเลยทั้งสามในคดีสวรรคต คือนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปทัมศริน ก็ถูกศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิต จอมพลป.พิบูลสงคาม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น อ้างว่าได้ทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบจากเบื้องบน ซึ่งก็อ้างว่าไม่ได้รับฎีกาดังกล่าว และก้มีพระราชดำรัสว่าบุคคลทั้ง ๓ บริสุทธิ์ โดยนายปรีดี พนมยงค์ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย แต่แล้วก็ไม่อาจคืนชีวิตให้กับบุคคลทั้งสามนั้นได้ ดังชื่อเสียงเกียรติคุณของนายปรีดี ก็ถูกบดขยี้ มหาชนคนส่วนใหญ่ ที่ถูกสื่อสารมวลชนกระแสหลักมอมเมาไปในทางที่ให้ผู้คนคลั่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็ยังคงถูกมอมเมา จนชื่อเสียงเกียรติคุณของนายปรีดีก็ยังไม่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเลย โดยยังไม่เคยมีการขอขมาลาโทษจากชนชั้นบนที่เนรคุณมากับท่านและขบวนการสันติประชาธรรมทั้งหลายอีกด้วย II ที่กล่าวถึงอดีตมานั้น ก็เพื่อยืนยันว่าจะเข้าใจสภาพในปัจจุบันได้ เราจำต้องรู้ถึงพื้นภูมิ หลังของเราด้วย เสมอไป การที่คดีของนางจินตนา แก้วขาว ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกนั้น เมื่อเปรียบกับคดีสวรรคต ซึ่งขึ้นถึงศาลฎีกาด้วยเหมือนกัน ก็ต้องถือว่าคดีของจินตนาเบากว่าหากเป็นการฉ้อฉลของขบวนการยุติธรรมเช่นกัน อย่างน้อยศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้ปล่อยตัวจำเลยไปแล้ว แต่อัยการขาดการุณยธรรม เฉกเช่นบริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ก็เช่นกัน มิใยต้องเอ่ยถึงศาล โดยที่ไม่มีใครในขบวนการนี้เข้าใจถึงสิทธิมนุษยชน และบุคลลผู้เสียสละชีวิตและทุกๆ อย่างเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สังคมมีสันติประชาธรรม ยิ่งนายเจริญ วัดอักษรด้วยแล้ว ถึงกับโดนขบวนการนอกกฎหมายสังหารชีวิตเอาเลย ดังที่สี่อดีตรัฐมนตรีและนักต่อสู้ทางการเมืองในทางประชาธิปไตยที่ถูกปลิดชีพไปในสมัย เผ่า ศรียานนท์ และคนอื่นๆ อีกไม่น้อยที่โดนฆ่าโดยคำสั่งของเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มิใยต้องเอ่ยถึงทักษิณ ชินวัตร กับกรณีกรือแซะ และกรณีการสังการผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดต่างๆ อย่างปราศจากกระบวนการยุติธรรมใดๆ ทั้งกรณีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้อำนาจอย่างเผด็จการสังหาร ผู้ที่มาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ควรแก่การตราไว้เช่นกัน ผู้ที่ประท้วงนั้นๆ ก็ดี จินตนา แก้วขาว ก็ดี ล้วนมีเจตนาที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและสิทธิในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ดังข้าพเจ้าเองก็ถูกจับมาแล้ว กับการขัดขวางการสร้างท่อแกสที่เมืองกาญจน์ โดยใช้เวลากว่า ๕ ปี จึงจะชนะคดี หากหนังสือของข้าพเจ้า เรื่องค่อนศตวรรษประชาธิปไตยไทย ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ที่ยืนหยัดอยู่ข้างสิทธมนุษยชน ก็ถูกตำรวจยึดไปอย่างไม่เข้าใจในเนื้อหาสาระของสันติประชาธรรมด้วยประการใดๆ ดังข้าพเจ้าได้ฟ้องศาลปกครอง แต่ก็ได้รับความล้มเหลวมาแล้ว และข้าพเจ้าก็ไม่เชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดจะเข้าใจเนื้อหาสาระในทางสิทธิมนุษยชนอีกเช่นกัน เทียบกับกรณีสวรรคต ที่อธิบดีกรมอัยการกี่คนกล้าลาออกไป เพราะไม่ต้องการทำคดีที่ตำรวจเสนอขึ้นมาอย่างปราศจากเนื้อหาสาระในทางความยุติธรรม โดยที่อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้นมีอำนาจในทางเผด็จการอย่างล้นเหลือ สมัยนี้เรามีอัยการสูงสุดคนไหนที่กล้าหาญในทางจริยธรรมบ้างไหม อัยการส่วนใหญ่รับซองขาวจากตำรวจแทบทั้งนั้นมิใช่หรือ และตำรวจซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มีกี่คนที่เป็นสุจริตชน ไม่ใช่เราไม่มีคนดี แต่ขบวนการยุติธรรมของเรารวนเร และขบวนการศึกษาของเราก็ล้มเหลว ตลอดจนระบบราชการของเราก็คลอนแคลน ข้าราชการส่วนใหญ่สมาทานลัทธิทุน นิยมบริโภคนิยม ซึ่งแนบสนิทไปกับระบอบเสนาอำมาตยาธิปไตย ที่นับถือความสำเร็จ ที่ชื่อเสียงเกียรติยศ อันจอมปลอม โดยเชื่อมั่นว่าเงินกับอำนาจสามารถบันดาลอะไรๆ ได้ทั้งนั้น แม้นั่นจะขัดกับความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนยิ่งนัก ในขณะที่พุทธศาสนา ไม่เน้นเพียงแค่สิทธิของมนุษย์ หากให้มนุษย์เข้าใจถึงสิทธิของสัตว์และธรรมชาติทั้งหมดอีกด้วย ความยุติธรรมต้องประกอบไปด้วย ความดี ความงาม และความจริง โดยผู้ที่อยู่ในขบวนการนี้ ต้องฝึกใจไว้ให้ปราศจากอคติทั้ง ๔ ประการ คือ ภยาคติ (ความกลัว) ฉันทาคติ (ความรัก) โทษาคติ (ความชัง) และโมหาคติ (ความเขลา) พร้อมๆ กันนั้น การให้ความยุติธรรม ต้องประกอบไปด้วย เมตตาและกรุณาด้วยเสมอไป ยิ่งเป็นผู้รับผิดชอบที่สำคัญมากเท่าไร ต้องเข้าใจในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนให้มากเท่านั้น ถ้าตำรวจก็ดี อัยการก็ดี รวมถึงทนายความและผู้พิพากษาในศาลต่างๆ ได้มีเวลาเข้าไปเยื่ยมคนในคุก ได้มีเวลาไปคุยกับคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อ ปลายแขม และคนที่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ธรรมชาติ และต่อสู้เพื่อสังคมอันยุติธรรม เขาเหล่านี้อาจเข้าใจอะไรๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจาก ติดอยู่แต่กับตัวบทกฎหมาย และถ้าเขามีสติปัญญามากพอ เขาน่าจะตระหนักไว้ด้วยถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง ถ้าผู้ที่อยู่ในขบวนการยุติธรรมไม่เข้าใจความข้อนี้ เขาจะเป็นมนุษย์ได้เหนือไปจากความเป็นคนที่มุ่งเพียงแค่ กิน กาม เกียรติได้อย่างไร คุณสมบัติขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ นั้นสำคัญเหนือการเป็นตำรวจ เป็นทนายความ เป็นอัยการ และเป็นตุลาการเป็นไหนๆ ยิ่งผู้พิพากษาด้วยแล้วต้องใช้สติและวิจารณญาณอย่างรอบคอบ อย่าเคารพนับถือบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีเกียรติ อันสังคมยัดเยียดให้ อย่างหลับหูหลับตา แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นบุคคลที่ถูกเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นดังคนในอุดมคติเพียงใดก็สุดแท้ ในขบวนการยุติธรรมนั้น มีใครเคยสงสัยในจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของบิดาทางกฎหมายของไทยบ้างไหม มิใยต้องเอ่ยถึงพ่อแห่งชาติ จึงขออ้างพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงกล่าวถึงกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสว่า ขอให้พิจารณาดูเถิด. ความรักกันฉันพ่อกับลูก มีอยู่ที่ตรงไหน, ความเห็นแก่ราชการมีอยู่ที่ตรงไหน, ความจงรักภักดีฉันเจ้ากับข้ามีอยู่ที่ตรงไหน? ควรที่จะไว้ใจได้หรือแก่คนที่โทโษวู่วามถึงเพียงนี้ หรือจะให้วางใจความคิดคนที่เอาแต่ความปราถนาของตัว, ไม่นึกถึงพ่อ, ไม่นึกถึงเจ้า, ไม่นึกถึงน่าที่ที่ตัวทำราชการอยู่, ไม่นึกถึงแผ่นดินที่ตัวเกิดและอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่, เพราะเห็นแก่ตัว, หรือจะว่าให้ดีอีกนิดว่าใจเด็ดเดี่ยวรักเพื่อนไม่ทิ้งกัน, สิ่งที่เสียสละแลกเพื่อนคือพ่อ, เจ้า, และแผ่นดิน, เปนของควรแลกกันหรือ? ถ้ายอมรับ “ปรินซิเปอล” (หลักธรรม) อันนี้แล้วพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินไม่ได้, ยิ่งเปนเจ้าแผ่นดินที่จำจะต้องใช้เสนาบดีเช่นนี้ จะถอยหลังเข้าคลองไปเกินรัชกาลที่ ๔ เสียแล้ว*. ถ้าที่พูดมาทั้งหมดนี้ มีคุณค่าอันควรแก่การรับฟัง ข้าพเจ้าก็พอใจ ฟังแล้วอย่าเชื่อ ขอให้ใช้สติพิจารณา นั่นแลปัญญาจึงจะเกิด ............................... (๑) คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร๘ สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ ๒๕๔๓ หน้า ๑๐๙-๑๑๐ (๒) เล่มเดียวกันหน้า ๑๐๘ * ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ โดย ราม วชิราวุธ สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ๒๕๕๒ หน้า ๓๖๔-๓๖๕
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สภาทนายความออกแถลงการณ์จี้ ผบ.ตร.-รมว.ไอซีทีจัดการเว็บหมิ่น Posted: 23 Dec 2011 02:14 AM PST 23 ธ.ค. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่าสภาทนายความ นำโดย นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ ได้ออกแถลงการณ์สภาทนายความ เรื่องขอให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามกฎหมาย แก่ผู้กระทำผิดอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางออนไลน์ เพื่อเรียกร้องให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดำเนินการสืบสวนหาข้อมูลการกระทำผิด แจ้งข้อกล่าวหาสืบสวนดำเนินคดี ต่อผู้กระทำผิด กรณียังไม่พบตัว ขอให้มีการเร่งรัดดำเนินการ โดยใช้มาตรการตอบโต้ โดยยื่นหนังสือคำร้องต่อศาล เพื่อมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ และขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ พิทักษ์รักษา สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ทั้งนี้ สภาทนายความไม่ประสงค์ ที่จะเห็นหน่วยงานต่างประเทศ นำบรรทัดฐานของกฎหมายต่างกันมาใช้ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความมั่นคงของชาติใดชาติหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทางสภาทนายความ ได้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และอยู่ในช่วงรอการติดต่อกลับ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เผย 10 พื้นที่อันตรายสำหรับสื่อมวลชน Posted: 23 Dec 2011 02:07 AM PST ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน รายงานสถานการณ์เสรีภาพและสวัสดิภาพของสื่อมวลชนทั่วโลกในปี 2011 พบสื่อถูกสังหารเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 16 เปอร์เซ็นต์ มีการปิดกั้นสื่อ 499 แห่ง และกว่า 68 ประเทศทั่วโลกมีการวางมาตรการปิดกั้นข่าวสาร พร้อมจัดอันดับ 10 พื้นที่อันตรายสำหรับสื่อมวลชน ตัวเลขของสื่อ บล็อกเกอร์และประชาชนที่ใช้อินเตอร์เน็ตซึ่งถูกคุกคามในปีที่ผ่านมา มีดังนี้
ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า ปี 2011 เป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับเสรีภาพสื่อ ปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” เป็นจุดศูนย์กลางความสนใจ ซึ่งตัวเลขผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารไปทั้งสิ้น 66 รายในปีที่ผ่านมานั้น มี 20 รายที่ถูกสังหารในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2010 ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารในตะวันออกกลางมีจำนวนเท่ากับที่ถูกสังหารในละตินอเมริกา ปากีสถาน เป็นประเทศที่มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารถึง 10 รายในปีที่ผ่านมา ขณะที่ จีน อิหร่าน และเอริเทรีย (ทางตอนเหนือของแอฟริกาตะวันออก) ก็กำลังเป็นคุกขนาดใหญ่ของสื่อ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรวบรวมสถิติการคุกคามสื่อในรูปแบบต่างๆ ตามแต่ละภูมิภาคของโลกดังนี้
ปรากฏการณ์การอาหรับสปริงนั้นมีผลสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศใกล้gคียงเช่น อาเซอร์ไบจัน ซูดาน รวมถึงการประท้วงบนท้องถนนที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่งโลกเช่น กรีซ เบลารุส อูกานดา ชิลี และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีผู้สื่อข่าวถูกจับกุมมากขึ้น คือ จากเดิมที่มีผู้ถูกจับกุม 535 คนในปี 2010 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1044 คน ในปี 2011 และมีผู้สื่อข่าวจำนวนมากถูกกีดขวางทางกายภาพด้วยเหตุที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เช่น ถูกกักขังในระยะสั้นๆ หรือถูกสอบปากคำ สถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะยับยั้งข้อมูลข่าวสาร เมื่อเทียบกับปี 2010 ผู้สื่อข่าวถูกทำร้ายร่างกายมากขึ้นถึง 43 เปอร์เซ็นต์ และพลเมืองอินเตอร์เน็ตถูกจับมากขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์ โดยพลเมืองเน็ตที่เป็นเป้าหมายของการจับกุมก็คือคนที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเรียกร้องบนท้องถนนในขณะที่สื่อถูกปิดกั้นข่าวสารเหล่านั้น ประชาชนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องบนท้องถนนถูกฆ่าตายไป 5 คนในปีที่ผ่านมา โดย 3 ใน 5 ถูกฆ่าตายในเม็กซิโก
ตารางเปรียบเทียบการเพิ่ม-ลด ของการคุกคามสื่อในปี 2010 กับ 2011
สำหรับพื้นที่อันตรายสำหรับสื่อมวลชนในปีที่ผ่านมา เรียงลำดับตามตัวอักษรของชื่อประเทศมีดังนี้ มานามา, บาห์เรน (Manama, Bahrain) รัฐบาลบาห์เรนทำทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้นานาประเทศรับรู้เกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในเมือมานามา เมืองหลวง โดยปฏิเสธให้สื่อมวลชนต่างชาติเข้าไปทำข่าว รวมถึงการคุกคามและทำร้ายร่างกายสื่อมวลชนต่างชาติ ขณะที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะช่างภาพชาวบาร์เรนถูกคุมขังเป็นเวลาหลายชั่วโมงไปจนถึงหลายสัปดาห์ มีบล็อกเกอร์รายหนึ่งยังคงถูกจำคุกโดยศาลทหาร อาบิดจัน, ไอวอรี่ โคสต์ (Abidjan, Côte d’Ivoire) อาบิดจัน และเมืองรอบข้างล้วนกลายเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับสื่อในช่วงครึ่งปีแรก สื่อมวลชนต้องเผชิญการสอบสวนที่มีการใช้กำลัง หรือการทำร้ายร่างกาย สำนักงานใหญ่ของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเป็นเป้าในการโจมตีทางอากาศ ในเดือนพฤษภาคม ผู้ประกาศของสถานีวิทยุกลายเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมที่ไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด โดยผู้กระทำผิดคือเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพ การปะทะกันระหว่างกองกำลังที่สนับสนุนผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองฝ่าย คือ โลรองท์ บากโบ กับอลัสซาน อูอัตทารานั้นส่งผลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว จัตุรัสตาฮีร์, กรุงไคโร, อียิปต์ (Cairo’s Tahrir Square, Egypt) ฝ่านเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งสามารถโค่นฮอสนี มูบารักลงจากอำนาจได้ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมานัน เริมต้นขึ้นในปลายเดือนมกราคมที่จัตุรัสตาฮีร์ สื่อมวลชนต่างชาติถูกทำร้ายอย่างเป็นระบบในเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากการรณงรงค์ต่อต้านสื่อมวลชนต่างชาติในระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ. มีรายงานเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกว่า 200 ครั้งสื่อมวลชนท้องถิ่นก็กลายเป็นเป้าหมายด้วย เหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นอีกใน 6 เดือนให้หลัง คือช่วงวันที่ 19-28 พ.ย. และวันที่ 17-18 ธ.ค. ในระหว่างการการปราบปรามการชุมนุมรอบใหม่ซึ่งเรียกร้องให้สภาสูงสุดของกองทัพอียิปต์ลาออก มิสราตา, ลิเบีย (Misrata, Libya) หลังจากที่กลุ่มผู้ต่อต้านกัดดาฟีเข้ายึดเมืองมิสราตา ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเมืองใหญ่ของลิเบียได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ผู้สื่อข่าวตกอยู่ในความเสี่ยงของภาวะสงคราม ผู้สื่อข่าวสองคนเสียชีวิตในเมืองมิสราตา ในปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตในลิเบียในปีที่ผ่านมามีทั้งหมด 5 คน เวอราครูซ, เม็กซิโก (Veracruz state, Mexico) เวอราครูซ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนอ่าวแม็กซิโก และเป็นศูฯย์กลางของอาชญากรรมนานาชนิด ตั้งแต่การค้ายา ค้ามนุษย์ ไปจนถึงค้าน้ำมันเถื่อน ในปีที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสามรายถูกสังหาร 10 รายหนีออกจากประเทศ เนื่องจากการภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉยหรือบางครั้งก็เป็นผู้ร่วมกระทำการคุกคามเสียเอง กุซดาร์, ปากีสถาน (Khuzdar, Pakistan) ผู้สื่อข่าวจำนวนมากถูกคุกคามและสังหารในเมืองกุซดาร์ และมีการคุกคามสื่อที่รุนแรงในพื้นที่นี้ โดยผู้สื่อข่าวนั้นอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกองทัพของปากีสถานกับกองกำลังแบ่งแยกดินแดน กรณีล่าสุดคือ จาเว็ด นาซีร์ ริน อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการของ เตวาร์ เดลี ซึ่งถูกพบศพเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังถูกลักพาตัวไปกว่า 3 เดือน ขณะที่กลุ่มต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนที่เรียกตัวเองว่า บัลเลาะห์ มัสซาลาห์ เดฟา เผยรายชื่อสื่อมวลชน 4 รายที่เป็นเป้าหมายการสังหารเมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มะนิลา, เซบู, คากายัน เดอ โอโร่, ฟิลิปปินส์ (The Manila, Cebu and Cagayan de Oro metropolitan areas on the islands of Luzon and Mindanao, Philippines) การสังหารและการทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวในประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นใน 3 เมืองดังกล่าว โดยผู้ก่ออาชญากรรมนั้นคือกองกำลังส่วนบุคคลของนักการเมืองท้องถิ่นและกองกำลังทหาร รัฐบาลที่เพิ่งเข้ามาบริหารในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่น่าพึงพอใจใดๆ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น กลุ่มกองกำลังต่างๆ ยังคงไม่ได้รับการลงโทษ เหล่านี้เป็นผลของการคอร์รัปชั่น ความเชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองและการก่ออาชญากรรม และระบบยุติธรรมที่ไม่เป็นอิสระเพียงพอ โมกาดิชู, โซมาเลีย (Mogadishu, Somalia) โมกาดิชูเป็นเมืองแห่งความตายของผู้สื่อข่าว ซึ่งอาจจะเสียชีวิตได้จากระเบิด หรือการกราดยิง รวมไปถึงการที่สื่อออนไลน์ตกเป็นเป้าของกองกำลังทหาร ผู้สื่อข่าว 3 รายเสียชีวิตในโมกาดิชูในเดือน สิงหาคม ตุลาคม และธันวาคมตามลำดับ ช่างภาพชาวมาเลเซียถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสในเดือนกันยายนขณะที่เข้าไปในพื้นที่พร้อมกับเอ็นจีโอมาเลเซียเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เดราห์, ฮอมส์ และดามัสกัส, ประเทศซีเรีย (Deraa, Homs and Damascus, Syria) เดราห์ และฮอม เป็นสองศูนย์กลางการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด พื้นที่ทั้งสองนี้และเมืองดามัสกัดเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับสื่อมวลชนในปีที่ผ่านมา รัฐบาลของอัล อัสซาด ปิดกั้นข่าวอย่างเบ็ดเสร็จ ปฏิเสธการออกวีซาให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศและเนรเทศผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คลิปวิดีโอการประท้วงของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นถูกถ่ายและเผยแพร่โดยประชาชนธรรมดา ซึ่งการทำเช่นนั้นก็เสี่ยงภัยต่อชีวิตเช่นเดียวกัน หลายคนถูกจับกุม ลักพาตัว ทำร้ายและทารุณกรรม กองทัพไซเบอร์ถูกนำมาใช้เพื่อคุกคามสื่อมวลชน ความรุนแรงต่อร่างกายกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ บล็อกเกอร์และผู้สื่อข่าวจำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ คาดว่าขณะนี้มีผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขังอยู่ราว 30 คน จัตุรัสแห่งการเปลี่ยนแปลง เมืองซานา, เยเมน (Sanaa’s Change Square, Yemen) จัตุรัสแห่งการเปลี่ยนแปลง ในเมืองซานา ประเทศเยเมนเป็นศูนย์กลางการประท้วงต่อต้านประธ่นาธิดี อาลีอับดุลาห์ ชาเลห์ และกลายเป็นพื้นที่ของความรุนแรงและการละเมิดผู้สื่อข่าวด้วย มีผู้สื่อข่าว 2 คนเสียชีวิตขณะทำข่าวการประท้วงที่มีการเหตุปะทะกับกองกำลังทหารหลายครั้ง มีการใช้กำลังกับผู้สื่อข่าว ยึดอุปกรณ์การทำงาน ลักพาตัว ทำลายออฟฟิศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบ ที่มา: The 10 most dangerous places for journalists สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
การจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น Posted: 23 Dec 2011 01:58 AM PST หมายเหตุ: งานในส่วนนี้เป็นการสำรวจพรมแดนความรู้ของการจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากวิทยานิพนธ์และหนังสือที่ศึกษา อปท. ในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดจึงทำได้ในระดับหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการจัดการ ข้อจำกัด และแนวทางที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การศึกษานโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่ อปท.และชุมชน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคประชาชน และการขยายพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อย่างไรก็ตามงานชิ้นนี้ได้รับความเมตตาจาก ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร ที่ให้ความรู้ และโอกาสในการทำงาน ร่วมรับฟังการสัมนา และลงพื้นที่ในหลายๆ ที่ซึ่งทำให้เกิดความรู้ ความคิด และความเข้าใจต่อ อปท.อย่างมากมาย ขอบคุณ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ครูผู้กรุณาในหลายวาระ หลายโอกาส ร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุยอย่างเท่าเทียม ขอบคุณเพื่อนร่วมงานทุกๆท่านโดยเฉพาะพี่อร ที่เป็นธุระในหลายเรื่องให้ ชัยนุวัฒน์ ปูนคำปีน, รุ่งเกียรติ กิติวรรณ, ฟิวส์, ท็อป, แดน, ที่เป็นธุระในเรื่องต่างๆ ให้ อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องของงานชิ้นนี้ไม่ว่าเกิดจากปัจจัยใด ย่อมเป็นของผู้เขียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกริ่นนำ การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ในรูปแบบสุขาภิบาล โดยให้ข้าราชการประจำเป็นผู้บริหาร เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชา และให้สนองตอบต่อนโยบายส่วนกลาง การปกครองส่วนท้องถิ่นมีวิวัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่การตั้งสุขาภิบาลในปี พ.ศ. 2440 สภาตำบล ในปี พ.ศ. 2499 องค์การบริหารส่วนตำบลในปี พ.ศ. 2537 ท่ามกลางกระแสเรียกร้องความเป็นอิสระของท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2540 ได้ให้ความสำคัญแก่การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้บัญญัติเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวดที่ 9 ถึง 10 มาตรา ได้ทำให้เกิดกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีการเริ่มใช้แผนในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2545ตามลำดับ โดยปัจจุบันใช้แผนฯฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 (กอบกุล รายะนาคร,มปป. : 1,2) รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ได้รักษาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มีการบัญญัติเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวด 14 ในมาตรา 281-290 โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินนโยบายการบริหาร การจัดการบริหารสาธารณะ การบริหารบุคคล การเงินและการคลังได้ (กอบกุล รายะนาคร, มปป. : 3) โดยเฉพาะมาตรา 290 ให้ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 1. การจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่ 2. การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน 3. การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ 4. การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 290 ) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ในมาตรา 66-72 ได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่ขององค์บริหารส่วนตำบล (อบต.) ในมาตรา 67 จัดให้มีและบำรุงทางน้ำและทางบก ให้มีการรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เป็นต้น ส่วนในมาตรา 16 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดการบริการสาธารณะโดย อปท. มีหน้าที่ถึง 31 ด้าน เพื่อบริการแก่ประชาชน อย่างเช่น การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง, การจัดให้มี และบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การส่งเสริมการท่องเที่ยว, การกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย, การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, การดูแลรักษาที่สาธารณะ เป็นต้น (รักษ์เกียรติ ศิริจันทรานนท์, 2551 : 10-11) จะเห็นว่า อปท. มีบทบาท และหน้าที่อย่างกว้างขวาง ในที่นี้มุ่งศึกษาเฉพาะการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจัดการที่หลากหลาย อุปสรรคปัญหาของแต่ละท้องถิ่น ที่มีความแตกต่างและเหมือนกันตามสภาพภูมิประเทศและสังคม รวมถึงข้อจำกัดของกฎหมายเฉพาะอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 เป็นต้น ในที่นี้จะทำให้เห็นถึงรูปแบบวิธีการจัดการ ข้อจำกัด ของ อปท. ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ 1. การจัดการทรัพยากรน้ำของ อปท. น้ำ ถือว่าเป็นทรัพยากรสาธารณะมีลักษณะสำคัญสองประการคือ ไม่มีคู่แข่งในการบริโภค (non-rivalin consumption) และไม่สามารถกีดกันการเข้าถึงโดยเด็ดขาด (non-excludability) แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสมบัติส่วนรวมจึงไม่สามารถกีดกันผู้อื่นเข้าใช้ประโยชน์ได้ ทำให้แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ไม่สามารถกำหนดให้ใช้ในปริมาณมาก-น้อยได้ รวมถึงทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำในจากคุณสมบัติข้างต้น (จันทนา สุทธิจารี, 2539 : 2-3) การจัดการทรัพยากรน้ำเป็นหน้าที่หนึ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับโอนมาจากส่วนกลาง นำมาสู่วิธีการจัดการที่แตกต่างกันของแต่ละ อปท. นำมาซึ่งปัญหาอุปสรรคในหลายมิติ การจัดการน้ำของ อปท. สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การจัดการโดย อปท. และ อปท. มีส่วนร่วมในการจัดการ 2. การจัดการโดยชาวบ้าน(ชุมชน)โดย อปท. มีบทบาทน้อย การจัดการโดย อปท. และ อปท. มีส่วนร่วมในการจัดการ การจัดการน้ำโดย อปท. ส่วนใหญ่จะพบว่ามีการจัดการในหลายรูปแบบ โดย อปท. จะอยู่ในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดการทรัพยากรร่วมกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ เพราะ อปท. แต่ละแห่งแม้มีอำนาจ หน้าที่ที่ได้รับมาจากส่วนกลางแต่โดยศักยภาพขององค์กร บุคลากร งบประมาณ และองค์ความรู้ยังมีข้อจำกัดอยู่ อย่างไรก็ตามท่ามกลางปัญหาและอุปสรรค อปท. แต่ละแห่งได้สร้างมิติใหม่แก่การจัดการปัญหาและการใช้ทรัพยากรตามบริบทของแต่ละพื้นที่ที่มีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกันไป การจัดการทรัพยากรน้ำของ อปท. แยกออกเป็นสองลักษณะ คือ ลักษณะแรก คือ อปท. เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (โดย อปท.ในที่นี้) คือ อบต. มักมีบทบาทเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อม ลักษณะที่สองเป็นแหล่งที่มาของอำนาจและแหล่งทุนเพราะ อบต. มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับและใช้ทรัพยากร อบต. จึงเป็น “พื้นที่แห่งผลประโยชน์” ที่มีการแย่งชิงและครอบครองจึงถูกดึงดูดเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยและร่วมเสนอแนะแนวทางการจัดการรวมถึงมีงบประมาณในการจัดการจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ อปท.(อบต.) จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพยากร (ชาญยุทธ เทพา, 2550 : 136) แนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำของ อบต. แยกออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1. การใช้อำนาจอย่างเป็นทางการ คือ การอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ได้รับโอนมา 2. การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นทางการ อำนาจอย่างไม่เป็นทางการนี้ คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งสมาชิก อบต. นายก อบต. ต้องรักษาเครือข่ายความสัมพันธ์ของตนกับชาวบ้าน ทำให้การแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรต้องเกิดความพึงพอใจของคู่ความขัดแย้ง (ชาญยุทธ เทพา, 2550 : 152-156) ดังกรณีต่อไปนี้ ลุ่มน้ำแม่ตาช้าง : ความร่วมมือข้ามแดนของ อบต. บ้านปง อบต. หนองควาย และ อบต. น้ำแพร่ อ. หางดง จ. เชียงใหม่ ปัญหาสำคัญของพื้นที่ อบต. ทั้ง 3 แห่ง คือ มีโรงงานเข้ามาใช้ประโยชน์จากน้ำแม่ตาช้าง โรงแรม รีสอร์ททำฝายกั้นน้ำกักน้ำไว้ใช้ ชาติพันธุ์ม้งในพื้นที่สูงทำการเกษตรแบบเข้มข้น(ปลูกลิ้นจี่) ทำให้น้ำแม่ตาช้างแห้ง จากปัญหาข้างต้น อบต. ทั้ง 3 แห่ง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหากับชาวบ้านคือ 1. อบต. ทั้งสามแห่งได้ร่วมมือกันในการทำแผนพัฒนา อบต. 5 ปี (2545-2549) ให้สอดคล้องกัน ทั้ง 3 อบต. 2. อบต. หนองควาย และ อบต. บ้านปง ได้เปิดการเจรจาให้ชาวบ้านในสอง อบต. สร้าง ข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกัน 3. อบต.ทั้ง 3 แห่งได้จัดสรรงบประมาณ ขุดเจาะบ่อบาดาล ทำฝายกั้นน้ำ ปรับแต่งฝายที่มีอยู่ไม่ให้ส่วนที่สูงกว่าจนทำให้ผู้ที่อยู่ต่ำลงมาเดือดร้อน 4. เสาะหาแหล่งน้ำอื่นมาทดแทนการพึ่งพาแต่น้ำแม่ตาช้าง 5. การที่ชาวบ้านมองว่า อบต. เป็นตัวแทนของตนอย่างแท้จริงทำให้การทำงานของ อบต. เกิดประสิทธิภาพ 6. อบต. มีกฎหมายรองรับทำให้มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการ (ธนัน, จันทนา, ไพสิฐ, 2545 :56) 7. อบต. อยู่ในฐานะตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างชาวบ้าน นักธุรกิจ และชาวม้ง (ธนัน,จันทนา, ไพสิฐ, 2545 :58) 8. ชาวบ้านมีความคาดหวังว่า อบต. จะเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผล อย่างแท้จริง (นิศาชล ทองขาว, 2547 : 33) 9. อบต. มีบทบาทในการจัดการประชุมไกล่เกลี่ยปัญหารวมถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า การเดินสำรวจสายน้ำและผืนป่า และสร้างแนวกันไฟ เป็นต้น (นิศาชล ทองขาว, 2547 : 48) อย่างไรก็ตามแม้ว่า อบต. ทั้งสามแห่ง จะอาศัยกลไก และงบประมาณ ในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำแม่ตาช้างไปได้ในระดับหนึ่งแต่ปัญหาน้ำแม่ตาช้างก็ยังเรื้อรังอยู่ อบต. อยู่ในฐานะตัวกลางของความขัดแย้ง และเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าที่จะเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา รวมถึงอุปสรรคปัญหาของ อบต. ที่ล่าช้าในช่วงแรกเกิดจาก 1. การจัดตั้ง อบต. ในช่วงแรกต้องอาศัยเวลาในการจัดตั้งองค์กร การสรรหาผู้บริหาร เลือก สมาชิก อบต. รวมถึงการเรียนรู้งานของบุคลากร สอดคล้องกับงานของ ชาญยุทธ เทพา(2550 : 136) ที่ชี้ให้เห็นว่าการจัดตั้ง อบต. ในส่วนแรกทำให้มีสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้การทำงานไม่มีเอกภาพ 2. บุคลากรของ อบต. มีจำกัด ในปี 2543 อบต.บ้านปง มีบุคลากร 9 คน อบต.หนองควาย มี 6 คน อบต. น้ำแพร่ มี 9 คน (ธนัน, จันทนา, ไพสิฐ, 2545 :53) ซึ่งสอดคล้องกับงานของรักษ์เกียรติ ศิริจันทรานนท์ (2551: 42) ที่ศึกษา อบต. ในจังหวัดลำพูนก็พบปัญหาด้านบุคลากรเช่นเดียวกัน เพราะ อบต.รับภาระกิจจากการกระจายอำนาจมาจำนวนมาก 3. ปัญหาน้ำแม่ตาช้างเกิดขึ้นในบริเวณกว้างและอยู่ในเขตอำนาจความรับผิดชอบของ อบต. ถึง 3 แห่งทำให้เกิดความซับซ้อนของปัญหา และพื้นที่ ไม่เกิดเอกภาพในการจัดการปัญหาของ อบต.ทั้ง 3 แห่ง ทำให้แก้ปัญหาได้ล่าช้า 4. อบต. ขาดแผนกลยุทธ์หรือสร้างเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งจากการใช้น้ำ ที่ผ่านมาใช้การประนีประนอมชะลอปัญหาเท่านั้น(ธนัน, จันทนา, ไพสิฐ, 2545 :59) จะเห็นว่าการที่ อบต. ได้รับการกระจายอำนาจในการจัดการและควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อปท. มีด้านศักยภาพและขีดความสามารถในการจัดการปัญหาความขัดแย้งจากการใช้น้ำอยู่พอสมควร การจัดการทรัพยากรน้ำของ อบต. ทาปลาดุก อ. แม่ทา จ. ลำพูน อบต. ทาปลาดุก มีรูปแบบการจัดการทรัพยากรน้ำแตกต่างจาก อบต. อื่น เพราะไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรน้ำ จึงมุ่งสร้างระบบการกักเก็บน้ำ เพื่อใช้สอยในพื้นที่เพราะในเขต อบต. ทาปลาดุกมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ รูปแบบการจัดการ คือ 1. สนับสนุนการก่อสร้าง การขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ลำห้วย และน้ำแม่ทา (เพื่อปรับปรุงแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรกรรม 2. สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง 3. สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำให้ได้ประโยชน์ในหมู่บ้าน 4. สนับสนุนการซ่อมแซมระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตร 5. สนับสนุนการก่อสร้างเตาเผาขยะชุมชน (เพื่อแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทิ้งขยะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย 6. สนับสนุนการขุดลอกแม่น้ำทา (ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์, 2550 : 121) จะเห็นว่าจากแนวการจัดการของ อบต. หรือ อปท. มุ่งเน้นที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างเช่น อ่างเก็บน้ำ ฝายรางน้ำหรือริน เครื่องสูบน้ำ โครงการของ อบต. ทาปลาดุกเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงปี พ.ศ. 2548-2550 จำนวน 42 โครงการ ต้องใช้งบประมาณถึง 187,336,800 บาท โครงการเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น (กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน) เป็นจำนวนงบถึง 187,150,800 บาท คิดเป็นร้อยละ 99.90 ใช้งบประมาณในท้องถิ่นเพียง 186,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.10 (ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์, 2550 : 127) สอดคล้องกับงานของมณีภัทร เพชรคำ (2551 : 120) และ แพรว ตรีรัตน์ (2551: 50) ที่ชี้ให้เห็นว่า อบต. ดอยแก้ว และ อบต. บ้านต๋อม (อ.เมือง จ.พะเยา) ก็มุ่งสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบระบายน้ำที่มีขนาดใหญ่ บางครั้งไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน กับ อบต. เช่น นโยบายการจัดการด้านทรัพยากรน้ำของ อบต. บ้านต๋อม เช่น สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ดูแลและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ สนับสนุนส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในครัวเรือนโดยการจัดทำหลุมซึมบำบัดน้ำเสียทุกครัวเรือน จัดให้มีการสร้างฝาย สร้างอาคารแบ่งน้ำ ขุดลอกลำเหมือง ดาดคอนกรีตลำเหมืองและคลองส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร จัดให้มีการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ ฝายน้ำล้น อาคารแบ่งน้ำ ดานคอนกรีตลำเหมือง คลองส่งน้ำ และสร้างทำนบเก็บกักน้ำไว้ใช้การเกษตรได้ตลอดปี (แพรว ตรีรัตน์, 2551: 50) จะเห็นว่าจากนโยบายข้างต้นยากที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณหรือความไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น การทำที่บำบัดน้ำเสียรวมถึงนโยบายที่เป็นนามธรรม เป็นต้น นอกจากนี้การมุ่งสร้างระบบกักเก็บและระบายน้ำขนาดใหญ่ ดังกรณีของ อบต.ทาปลาดุก ตามแผนงบประมาณ ต้องอาศัยงบประมาณจากภายนอกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ อบต. อาศัยงบประมาณของ อบต. เพียง 186,000 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในท้ายที่สุดโครงการทั้งหมดก็ไม่สามารถดำเนินการได้ (ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์, 2550 : 127 และ 131) และยังพบว่า อบต. ให้ความสำคัญกับแผนงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลำดับท้ายสุด จัดงบประมาณสนับสนุนในจำนวนที่จำกัดดังพบใน อบต. ช่างเคิ่ง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ (ธนกร คำมาเร็ว, 2552 : 86) พบว่าบทบาทการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำระหว่างชุมชนและอบต. ซึ่ง อบต. มีบทบาทน้อยมาก (ธนกร คำมาเร็ว, 2552 : 58-60) รวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำบางส่วนไม่ยอมรับอำนาจการจัดการแก้ไขปัญหาของ อบต. ซึ่งเป็นองค์กรขนาดเล็ก ไม่มีอำนาจตัดสินใจ รวมถึงองค์กรภาคประชาชนเรียนรู้การต่อรองกับองค์กรภาครัฐขนาดใหญ่ อบต. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น อำนาจตามกฎหมายระหว่างหน่วยงานของรัฐกับ อบต. ก็มีความทับซ้อนกันทำให้ไม่มีผู้รับเป็น “เจ้าภาพ” รวมถึงปัญหาทรัพยากรน้ำก็มีอาณาบริเวณที่กว้างขวางมากกว่าหนึ่ง อบต. ทำให้การจัดการขาดเอกภาพ อบต. จึงไม่มีศักยภาพและบทบาทมากนักในการจัดการน้ำ(ธนกร คำมาเร็ว, 2552 : 82-83 ดู,สุวารี วงศ์กองแก้ว : 2540, ชาญยุทธ เทพา, 2550 : 144 และ ภูเบศร์ จักรสมศักดิ์, 2546 : 70) ฉะนั้นในที่นี้เราจะเห็นว่า อปท. มีบทบาทมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละพื้นที่ การจัดการทรัพยากรน้ำ อปท. ส่วนใหญ่จะมุ่งสนใจการสร้างระบบกักเก็บและระบายน้ำขนาดใหญ่มากกว่าการจัดการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ อปท. มีบทบาทเป็นเพียงตัวกลางในการจัดการทรัพยากรน้ำมากกว่าที่เป็นผู้มีบทบาทหลักซึ่งเกิดจากข้อจำกัดในหลายๆด้านดังที่กล่าวไว้ข้างต้น (ชาญยุทธ เทพา, 2550 : 147) การจัดการทรัพยากรน้ำโดยชาวบ้าน(ชุมชน) โดย อปท. มีบทบาทน้อยมาก อดีตการจัดการ “น้ำ” อยู่ในความควบคุมของคนในชุมชนโดยเฉพาะภาคเหนือมีระบบ “เหมืองฝาย” ดังปรากฏมาถึงปัจจุบัน เช่น การเลี้ยงผีขุนน้ำ ชุมชนหรือคนที่ใช้น้ำในลำน้ำเดียวกัน หรือฝายเดียวกันจะทำการเลือก “แก่ฝาย” หรือหัวหน้าเหมืองฝายจากผู้ที่ใช้น้ำฝายเดียวกันคนหนึ่งขึ้นมาเพื่อเป็นผู้ดูแลการจัดการน้ำ ซึ่งมักเลือกจากผู้ใช้น้ำที่อยู่ปลายน้ำหรือปลายฝาย เพื่อจัดการน้ำให้เท่าเทียมระหว่างคนต้นน้ำและคนปลายน้ำ เหมืองฝายแต่ละแห่งจะมีกฎเกณฑ์แตกต่างกันแล้วแต่สภาพชุมชนซึ่งจะมีความยืดหยุ่นสูงในท้องถิ่น ระบบเหมืองฝายจะมีการทำ “เหมืองซอย” ขนาดเล็กต่อจากเหมืองขนาดใหญ่เพื่อผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรและที่พักอาศัย เหมืองซอยขนาดเล็กนี้จะมีข้อกำหนดว่าพื้นที่แต่ละแห่งจะสามารถใช้น้ำได้เท่าไหร่และคนที่ใช้น้ำทุกคนจะเป็นเจ้าของเหมืองร่วมกันถือว่า “เหมือง” เป็นพื้นที่สาธารณะห้ามบุกรุก ถม หรือทำลายเหมืองฝาย ใครที่บุกรุกถือว่า “ขึด” ในแง่จารีตประเพณี และผิดกฎข้อบังคับต้องโดน “ปรับ” ตามระเบียบที่ตั้งไว้ นอกจากนี้คนที่ใช้น้ำทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลเหมืองฝาย ถ้าผู้ใดไม่ดูแล เช่น ถึงฤดูตีฝายหรือ “ล้องเหมือง” ไม่ไปขุดลอกเหมือง คนผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ใช้น้ำ ถ้าไม่ไปก็ต้องจ้างผู้อื่นทำแทน ซึ่งไม่ต้องเสียค่าปรับ หรือค่าตอบแทนอย่างอื่น เป็นต้น จะเห็นว่าการจัดการทรัพยากรน้ำก่อนการมาของรัฐ อยู่ในรูปของ “ทรัพยากรร่วม” ที่ทุกคนเข้าถึงและเป็นเจ้าของ ไม่ใช่สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด (มณีภัทร เพชรคำ, 251 : 112-115, วันวิสาข์ สมควร, 2548 : 182-185, ดวงพร ภู่แก้ว, 2548 : 69-70 และ 77-78 และ เบญจภา ชุติมา, 2546, 42-50 ) การจัดการน้ำโดยชาวบ้านสามารถจำแนกรูปแบบออกเป็น 1. การจัดแบ่งการใช้น้ำเป็นรอบเวรหรือหมุนเวียนกัน โดยแบ่งผู้ใช้น้ำออกเป็นหมวดๆละ 3 วัน เกษตรกรที่อยู่ต้นน้ำใช้ก่อนแล้วเรียงลำดับไปจนถึงหมวดสุดท้ายแล้วเวียนใหม่ จะทำให้ทุกคนสามารถใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง 2. มีการแบ่งน้ำตามความต้องการของเกษตรกร ประเภทกิจกรรมการเกษตรและพื้นที่การเกษตร ผู้ที่มีพื้นที่มากใช้น้ำมาก ผู้มีพื้นที่น้อยใช้น้ำน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเพาะปลูก ในที่นี้ผู้ที่ต้องการใช้น้ำเพิ่มก็สามารถขอได้ 3. การใช้น้ำให้เหมาะสมกับชนิดของพืชเพราะพืชบางชนิดใช้น้ำมาก เช่น การทำนาปลูกข้าว สวนลำไย แต่การทำพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลืองใช้น้ำน้อยกว่า 4. การใช้น้ำของเกษตรกรจะมีหัวหน้าหมวดตรวจตราดูแลรักษาและป้องกันการลักขโมยน้ำ ผู้ดูแลการใช้น้ำของชาวบ้านจะเป็นผู้นำที่ไม่เป็นทางการแต่เป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้วางใจหรือมีบารมี บางครั้งอาจเป็นผู้นำที่เป็นทางการในขณะเดียวกันด้วย เช่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ ส.อบต. ก็ได้ 5. มีกฎระเบียบควบคุมการใช้น้ำและลงโทษผู้กระทำผิดของกลุ่ม เช่น ถ้าผู้ใช้น้ำทำผิดกฎปรับ 500 บาท ถ้าหมวดทำผิดปรับ 1,000 บาท 6. เกษตรกรมีส่วนรับผิดชอบต่อการใช้น้ำของตนเอง เช่น ต้องคอยดูแลรักษาลำเหมืองไม่ให้ตื้นเขิน ช่วยกันควบคุมผู้ใช้น้ำในหมวดเดียวกันหรือฝายเดียวกันไม่ให้ทำผิดกฎ เป็นต้น (อาภากร ว่องเขต, 2545 : 108-110) การจัดการน้ำโดยชาวบ้านอาศัยความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการในชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ รวมถึงชาวบ้านทุกคนที่ใช้น้ำในเหมืองฝายเดียวกันมีความ “เป็นเจ้าของ” ซึ่งจะแตกต่างจากรัฐที่ผู้ใช้น้ำไม่มีสิทธิหรือความเป็นเจ้าของเป็นแต่ผู้ใช้ประโยชน์จึงไม่มีผู้ดูแลรักษา เราจะเห็นว่าอะไรที่เป็นของรัฐมักมีแต่ผู้เข้าใช้ประโยชน์แต่ไม่มีผู้ดูแล การจัดการบริหารน้ำโดยชาวบ้านหรือภาคประชาชน นอกจากอาศัยรูปแบบที่ไม่เป็นทางการยังมีการประยุกต์วิธีการสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการจัดการ เช่น มีการตั้งกฎเกณฑ์กติการวมถึงการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการเป็นผู้ควบคุมการใช้น้ำ และเห็นได้ว่าการจัดการโดยชาวบ้านประสบผลสำเร็จและมีปัญหาน้อยกว่าการจัดการโดยรัฐ หรือ อปท. เพราะชาวบ้านใช้ประเพณีความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและระบบอาวุโสในการจัดการปัญหาข้อพิพาท (ธนกร คำมาเร็ว, 2552 : 84-85) แม้ว่าในภายหลังกระทรวงมหาดไทยจะมีแนวคิดตั้ง “ประชาคม” เพื่อให้เป็นองค์กรภาคประชาชนเพื่อหาแนวคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน ประชาคมจะประกอบไปด้วย ตัวแทนฝ่ายบริหาร เช่น ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลประจำหมู่บ้าน 2 คน และตัวแทนกรรมการหมู่บ้าน 3 คน ตัวแทนฝ่ายประชาชน เช่น ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ปราชญ์ชาวบ้าน พระภิกษุ เป็นต้น ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการน้ำ (ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์, 2550 : 140-141) แต่ประสบปัญหาว่าผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการไม่ได้เป็นผู้ใช้น้ำโดยตรงไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเน้นบทบาทของผู้นำที่เป็นทางการมากจนเกินไปทำให้ประชาคมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากองค์กรดั้งเดิมที่เข้ามาจัดการน้ำแล้วภาคองค์กรเอกชนก็เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ รวมถึงนำเทคนิควิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการน้ำ รวมถึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการรณรงค์ในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ท้ายสุดจะเห็นได้ว่าการจัดการทรัพยากรน้ำโดย อปท. มีปัญหาอุปสรรคในหลายๆ กรณีแม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่โดยตรง แต่ขาดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และงบประมาณ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงข้อกฎหมายที่มีความเหลื่อมซ้อนในอำนาจหน้าที่ขององค์กรรัฐภาคต่างๆทำให้ อปท. ไม่กล้าตัดสินใจ (วันวิสาข์ สมควร, 2548 : 171-177 และ โชติมา เพชรเอม, 2550 : 57 ) แผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมักเป็นแผนงานสุดท้าย มีงบประมาณสนับสนุนน้อยมากทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนบทบาทด้านการจัดการทรัพยากรได้ มุ่งสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น ฝาย อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ ส่วนใหญ่มักจะลอยตัวเหนือปัญหา เป็นได้แต่เพียงตัวกลางในการจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่มี อปท. ไหนที่มีบทบาทเด่นในการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งแตกต่างจากภาคประชาชนที่มีบทบาทอย่างมากทั้งในรูปแบบระบบเหมืองฝายที่อาศัยภูมิปัญญา และความสัมพันธ์ส่วนตัวในการจัดการทรัพยากรน้ำซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนก็มีบทบาทอย่างมากในการเข้ามาสร้างองค์ความรู้ในการจัดการน้ำ ในที่นี้ อปท. ต้องศึกษาและเรียนรู้ร่วมมือกับองค์กรนอกภาคราชการเหล่านี้เพื่อที่จะสามารถเป็นองค์กรหลักในการจัดการทรัพยากรน้ำต่อไปในอนาคตตามเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจเพราะ อปท. เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น
................. แหล่งอ้างอิง กอบกุล รายะนาคร. องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น : สถานภาพ และช่องว่างการศึกษา. เชียงใหม่ : สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554. โกวิทย์ พวงงาม. การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2546. _______. การจัดการตนเองของชุมชนและท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, 2553. ชัยพงษ์ สำเนียง. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม. สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554, (อัดสำเนา). ชาญยุทธ เทพา. พื้นที่ทางการเมืองขององค์การบริหารส่วนตำบลในการจัดการความขัดแย้ง ทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาลุ่มน้ำย่อยแม่ศึก ในตำบลปางหินฝน ตำบลแม่ศึก และตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. โชติมา เพชรเอม. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติในหมู่บ้านสบวิน ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. ฐิติรัตน์ ลิอุโมงค์. ศักยภาพและข้อจำกัดขององค์การบริหารส่วนตำบลทาปลาดุกในการจัดการ ทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำทา จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. ดวงพร ภู่แก้ว. การจัดการทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาบ้านปงไคร้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์. นโยบายการคลังสาธารณะ. เชียงใหม่ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี(นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553. ธนกร คำมาเร็ว. การศึกษาเปรียบเทียบบทบาทองค์การบริหารส่วนตำบลช่างเคิ่งกับภาคประชา สังคมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ลุ่มน้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระรัฐศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552. ธนัน อนุมานราชธน, จันทนา สุทธิจารี และไพสิฐ พาณิชย์กุ. แนวทางการจัดการความขัดแย้ง เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเขตอำนาจขององค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2549. ______. สถานภาพและทิศทางการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในอนาคต : รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544. นิธิ เอียวศรีวงศ์. วัฒนธรรมความจน. กรุงเทพฯ : แพรว, 2541. ______. เชิงอรรถสังคมไทยในสายตานักวิเคราะห์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2532. ______. บนหนทางสู่อนาคต : รายงานประกอบการประชุม. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2536. นิศาชล ทองขาว. การมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดการ ทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาลุ่มน้ำแม่ตาช้าง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2547. เบญจภา ชุติมา. การจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำและการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ของเกษตรกรลุ่มน้ำแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546. พิมลพรรณ สะกิดรัมย์. ความเป็นพลวัตของประชาคมน่านกับการจัดการความขัดแย้งด้าน ทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำขุนสมุน อำเภอเมืองน่าน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. แพรว ตรีรัตน์. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ กรณีศึกษา ตำบลบ้าน ต๋อม อำเภอเมือง จังพะเยา. การค้นคว้าแบบอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551. มณี เพชรคำ. ความขัดแย้งเรื่องน้ำจากการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างเข้ม : กรณีศึกษาชุมชน ในลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ. แนวทางนโยบายการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทย เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2544. ภูเบศร์ จักรสมศักดิ์. การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำของตำบลสถานอำเภอเชียงของ จังหวัด เชียงราย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545. วรัญญา ศิริอุดม. การใช้ประโยชน์และการจัดการป่าน้ำซับของชุมชนในลุ่มน้ำหนองหอย ตอนบน ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551. วันวิสาข์ สมควร. ผลกระทบของการผลิตและการใช้ที่ดินอย่างเข้มต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาบ้านช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548. วิชัย กิจมี. กระบวนการเรียนรู้กับศักยภาพของชุมชนในการจัดการที่ดินร่วมกันในลุ่มน้ำลี้ จังหวัดลำพูน.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550. สุวารี วงศ์กองแก้ว. ความขัดแย้งอันเกิดจากการจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐ : กรณีศึกษาอ่างเก็บ น้ำแม่สาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540. อาภากร ว่องเขต. มิติทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน. วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษานอกระบบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
รายงาน: สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ค้นทางดับไฟสู่การจัดการตนเอง Posted: 23 Dec 2011 01:36 AM PST เริ่มต้นปี 2555 คือการเข้าสู่ปีที่ 8 ของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 4 มกราคม ซึ่งคงเป็นช่วงที่ยอดคนตายพุ่งทะลุ 5,000 รายไปแล้ว เป็นช่วงเดียวกับที่องค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังจะจัดงานใหญ่ เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาผ่านกระบวนการปฏิรูปประเทศ นั่นคือ เวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้ชื่องาน “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4-5 มกราคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งจัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ขับเคลื่อนร่วมกับข่ายงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ที่สนับสนุนโดยสำนักงานปฏิรูป (สปร.) เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ สปร. ที่มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน เวทีดังกล่าวเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ การกระจายอำนาจ กระบวนการยุติธรรมและการเยียวยา เฉพาะประเด็นกระจายอำนาจ จะมีการนำเสนอรูปแบบทางเลือกการปกครองท้องถิ่นพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 ตัวแบบ (โมเดล) โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี รองนายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดประเด็นรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมและสะท้อนความต้องการที่ชัดเจนในพื้นที่ นับว่า สมัชชาปฏิรูปครั้งนี้เป็นเวทีใหญ่เวทีหนึ่ง ซึ่งตามแผนดำเนินการจะตามมาด้วยการเดินสายจัดเวทีขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจด้วยวิธีการ Public Deliberation หรือเรียกว่า เวทีประชาหารือ รวม 200 เวทีตลอดปี 2555 จากนั้น เมื่อครบรอบ 9 ปีไฟใต้ ก็จะมีเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 มกราคม 2556 ภายใต้หัวข้อ “ปฏิรูปอำนาจ – สร้างความเป็นธรรม” อันเป็นการเริ่มต้นช่วงเดินทัพทางไกลเพื่อเสนอกฎหมายการปกครองท้องถิ่นพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยภาคประชาชน แผนต่อไป คือการจัดเวทีสมัชชาฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 ในวันครบรอบ 10 ปีไฟใต้ 4 มกราคม 2557 หัวข้อ “ยุติสู้รบ จัดการตนเอง” ถัดไปอีกปีหรือวันครบรอบ 11 ปีไฟใต้ 4 มกราคม 2558 เวทีสมัชชาปฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 4 จะใช้ขื่อหัวข้อว่า “ใต้อยู่เย็น ประเทศเป็นสุข” ทำไมต้องสมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้ให้ความหมายของคำว่า “สมัชชาปฏิรูป” ว่า หมายถึง กระบวนการทางสังคมที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและชุมชนภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ สมัชชาปฏิรูป มีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้มีคำสั่ง คสป. ที่ 12/2554 แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ยังมีคำสั่ง คสป. ที่ 13/2554 แต่งตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์สนับสนุนการปฏิรูปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ เป็นประธาน ก่อนที่จะมาเป็น เวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” มีการเตรียมการอย่างต่อเนื่องหลายเดือนมาแล้ว เริ่มจากมติที่ประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554 ที่มีมติรับเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ร่วมกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) พร้อมกับร่างแผนการจัดสมัชชาปฏิรูปรวม 4 ครั้ง 7 ขั้นตอน ขณะเดียวกัน คณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดประชุมเตรียมงานมาแล้ว 3 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2554 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กำหนดเป้าหมายของสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดภาคใต้ว่า มีเป้าหมายหลักคือ ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนวัตถุประสงค์ คือ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบโดยไม่เป็นธรรม เพื่อเรียกร้องและเสนอแนะต่อรัฐบาลในการยกเลิกหรือต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อสร้างความเข้าใจในรูปแบบทางเลือกการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการจัดการตัวเอง และเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันในชุมชนท้องถิ่นและสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม จากเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุว่า เวทีสมัชชาจะให้ประชาชนเข้าใจว่า การกระจายอำนาจคืออะไร เมื่อประชาชนเข้าใจแล้ว จึงจะสามารถดึงความต้องการของประชาชนออกมาได้ แต่ประเด็นคือ ประชาชนเข้าใจคำว่าสมัชชามากน้อยแค่ไหน จึงจำเป็นที่ภาคประชาสังคมต้องทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน นับเป็นอีกหนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้พอสมควร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็มคดี ‘อากง’-ทนายขอขยายเวลาอุทธรณ์ Posted: 23 Dec 2011 12:30 AM PST 23 ธ.ค.54 นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ “อากง” ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากกรณีส่ง SMS และถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเมื่อวันที่ 23 พ.ย.54 ระบุว่า ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายเวลาอุทธรณ์เป็นเวลา 30 วัน เป็นวันที่ 23 ม.ค.55 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเพิ่งได้คำพิพากษาฉบับเต็มเมื่อเร็วๆ นี้ และคดีมีรายละเอียดมาก อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่าทางอัยการก็ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์เช่นกัน สำหรับคำพิพากษาฉบับเต็มนั้น มีจำนวน 13 หน้า ลงนามโดยผู้พิพากษา นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ และนางสาวภัทรวรรณ ทรงกำพล ทนายความจำเลยระบุว่าคำพิพากษาฉบับเต็มมีการเพิ่มเติมข้อความที่ไม่ได้อ่านในวันพิพากษาหลายจุด และ ‘ประชาไท’ ขออนุญาตตัดข้อความที่เป็นคดีและข้อมูลส่วนบุคคลออก (สามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ด้านล่าง .pdf)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
หรือแรงงานนอกระบบจะเป็นประชาชนชั้นสองในสายตากระทรวงแรงงาน ? Posted: 22 Dec 2011 10:54 PM PST แรงงานนอกระบบ อันได้แก่ ผู้ที่รับงานจากภาคอุตสาหกรรมมาทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย ผู้ขับขี่แท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำที่ใช้แรงงานแลกเงินจำนวนน้อยนิดมาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว นับเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมไทย (เพราะทั่วประเทศมีจำนวนรวมกันถึงยี่สิบสี่ล้านคน) ที่การจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเขามีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะข้อจำกัดทางเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเพราะรัฐไม่ได้ให้การคุ้มครองและสร้างหลักประกันที่เพียงพอในการดำเนินชีวิต แม้พวกเขาจะผ่านการเคลื่อนไหวเรียกร้องมาอย่างยาวนาน น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ซ้ำเติม เพิ่มความลำบากให้แก่แรงงานนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่มีบ้านอยู่อาศัยและที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่รอบนอกที่รัฐบาลปล่อยให้เป็นพื้นที่น้ำแช่ขังเพื่อรักษากรุงเทพฯชั้นใน 21 ธันวาคม 2554 เมื่อน้ำลด และศึกษาดูแล้วว่ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยที่รัฐบาลประกาศออกมานั้นไม่ได้มีการระบุความช่วยเหลือที่ตรงไปสู่แรงงานนอกระบบ หรือเมื่อพยายามใช้สิทธิตามที่รัฐบาลประกาศก็พบว่าไม่สามารถเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จึงได้นัดหมายเข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บรรยากาศการต้อนรับและแลกเปลี่ยนพูดคุยของท่านรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และหัวหน้าส่วนราชการระดับอธิบดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นไปด้วยไมตรีจิต แต่ผลสรุปความช่วยเหลือเยียวยาที่แรงงานนอกระบบเรียกร้องยังดูเหมือนจะย้ำว่า แรงงานนอกระบบยังคงเป็นประชาชนชั้นสองในสายตากระทรวงแรงงาน เพราะ...
นอกจากนี้ผู้นำแรงงานนอกระบบยังได้ทวงถามถึงการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ พฤศจิกายน 2553 และตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายได้กำหนดเวลาเตรียมการของกระทรวงแรงงานไว้ 6 เดือน นั่นคือจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา แต่กระทรวงแรงงานดำเนินการล่าช้า และยังทำ "กฎหมายลูก" อันได้แก่ ระเบียบ ประกาศต่างๆ ไม่แล้วเสร็จจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ผู้นำกลุ่มคนทำงานบ้านได้ยกประเด็นปัญหาที่เธอและสมาชิกกลุ่มไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมไม่ว่าจะผ่านมาตรา 39 หรือ 40 ขึ้นมาถามหาความเป็นธรรม แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ แม้จะมีคำตอบในทางบวกอยู่บ้าง เช่น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับปากว่าจะไปประสานกระทรวง กรุงเทพฯมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ ให้ตามข้อเรียกร้อง รวมทั้งการที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้แจ้งว่า ในการขอแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ขอแก้ไขมาตรา 40 ให้รัฐร่วมจ่ายสมทบ จึงไม่เกินเลยความเป็นจริงที่จะกล่าวว่า แรงงานนอกระบบยังเป็นประชาชนชั้นสองในสายตากระทรวงแรงงาน จะต้องมีการเข้าพบรัฐมนตรีอีกกี่คน? จะต้องมีการยื่นหนังสืออีกกี่ครั้ง? หรือจะต้องมีการชุมนุมอีกกี่หน? ประชาชนกลุ่มนี้จึงจะเข้าถึงความเป็นธรรม รัฐจึงจะคุ้มครองและสร้างหลักประกันให้แก่แรงงานกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
10 ล้านคน หมอ 2 คน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ Posted: 22 Dec 2011 09:57 PM PST
ชื่อบทความนี้ดูแล้วอาจแปลกๆ ไปนิด ว่ามันจะเกี่ยวอะไรกันกับ 10 ล้านคน หมอ 2 คน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กว่า 1 ปี ที่ได้ติดตามการทำงานด้านการแพทย์ของระบบประกันสังคม ก็พบว่าทั้ง 3 เรื่องนั้นมีความสัมพันธ์และเป็นเหตุและเป็นผลซึ่งกันและกัน ดังนี้ 10 ล้านคน คือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เป็นพลเมืองชั้นสองเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวจากคนไทย 65 ล้านคน ที่ยังต้องเสียสองต่อในการรักษาพยาบาล คือ เสียภาษีเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และยังต้องเสียค่ารักษาสุขภาพของตนเองผ่านระบบประกันสังคม จึงถือได้ว่า 10 ล้านคน เป็นพลเมืองชั้นสอง ในด้านการรักษาพยาบาล รองจาก ข้าราชการ ผู้ถือบัตรทอง และหากเปรียบเทียบกับท่าน ส.ส. ส.ว. ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ยิ่งต้องช้ำใจ เพราะท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายได้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ต่างกับ 10 ล้านคน ราวกับรถเฟอรารี่กับรถอีแต๋น ก็ว่าได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แม้มีความพยายามในการเรียกร้องสิทธิให้กับคน 10 ล้านคน มาเกือบ 1 ปี แต่ดูจะไม่เห็นเป็นรูปธรรม ผู้ประกันตน 10 ล้านคนกลุ่มนี้ ยังต้องจ่ายเงินเอง เหมือนกับพวกเขาไม่ใช่คนไทย ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ส.ว. ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ที่อ้างตัวว่ามารับใช้พี่น้องประชาชน ต้องรับผิดชอบดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของคน 10 ล้านคน แต่กลับไม่ทำอะไรเลย แถมยังขึ้นค่ารักษาพยาบาล เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ตัวเอง ทำให้คน 10 ล้านคน พลเมืองชั้นสอง เจ็บใจเล่น หมอ 2 คน เชื่อไหมว่า บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์มีหน้าที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบด้านการแพทย์ ในสำนักงานประกันสังคมของคน 10 ล้านคน ในปัจจุบันมีหมอเพียง 2 คน คนแรก คือ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นประธานบอร์ดประกันสังคม และคนที่สองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เมื่อรวมกับเจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานก็มีแค่ 20 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่มีพื้นฐานด้านการแพทย์และประกันสุขภาพ ทั้งที่บุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะต้องออกแบบ สิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงิน ตรวจสอบ ติดตาม คุณภาพ หน่วยบริการ เพื่อดูแลผู้ประกันตน จึงไม่มีทางที่จะทำให้ได้ดี เพราะแค่ตามจ่ายเงินให้หน่วยบริการทั่วประเทศให้ตรงเวลาก็แย่แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าลำพังหมอ 2 คน กับเจ้าหน้าที่เพียง 20 คน ย่อมไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดบริการสุขภาพให้กับผู้ประกันตน 10 ล้านคนได้แน่นอน ประเด็นที่สำคัญที่ทราบมาก็คือ บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้บริหารส่วนใหญ่ในสำนักงานประกันสังคมเองก็เบื่อเต็มที ไม่ได้อยากดูแลด้านการแพทย์ เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญ อยากจะยกภาระหน้าที่นี้ให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ แต่กลับไปติดอยู่ที่ผู้บริหารบางคนที่ยังมีความดันทุรังสูง อาจจะด้วยเหตุผลความอยากเอาชนะหรือไม่ก็ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เราๆ ท่านๆ อาจมองไม่เห็น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณีการแพทย์ของประกันสังคมก็ดูไม่ต่างจากกรณีน้ำท่วมเท่าไหร่ ที่คนในรัฐบาลต่างคนต่างทำ ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของรัฐมนตรีแถวสาม เพราะการที่รัฐบาลปล่อยให้สำนักงานประกันสังคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมาแถลงอย่างน่าชื่นตาบานเพราะคิดว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ว่าจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับหน่วยบริการ 1 RW = 15,000 บาท มากกว่า ข้าราชการและบัตรทองที่ 1 RW = 12,000 และ 9,000 บาท ตามลำดับ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลบัตรทองก็ไม่รู้เรื่องว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อบัตรทอง เพราะการจ่ายเงินแบบนี้จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อบัตรทองและเพิ่มภาระงบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการทันที ดังนี้
ดังนั้นการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หวังจะเห็นโครงการบัตรทองมีคุณภาพมากขึ้นนั้นย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากสถานการณ์ข้างต้น รวมถึงความเคลื่อนไหวหลายประการในแวดวงบัตรทอง ณ เวลานี้ ก็สะท้อนถึงความรู้ไม่เท่าทันกลเกมต่างๆ ที่การเมืองมีต่อขั้วอำนาจทั้งหลายในแวดวงสาธารณสุข หากการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายกุมนโยบายไม่ทันเกม ทั้งยังไม่ตระหนักถึงความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่รัฐบาลไทยรักไทยเป็นผู้ทำคลอดจากข้อเสนอที่เคลื่อนไหวมายาวนานของภาคประชาชน ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีกลุ่มการเมืองใดกล้าพอที่จะยอมรับกับข้อเสนอนี้ ก็พอจะเดาได้ไม่ยากว่า ในที่สุดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคเพื่อไทยก็จะกลายเป็นโครงการที่พรรคเพื่อไทยเขียนด้วยมือและลบด้วยเท้าในไม่ช้า
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น