โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รายงานสถานการณ์เด็กขอทานรอบปี 2554

Posted: 26 Dec 2011 08:22 AM PST

ในปีรอบปี 2554 นี้ ถือได้ว่าสภาพปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา ปรากฎจากข่าวการช่วยเหลือเด็กขอทานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมเกือบ 20 ข่าวตลอดทั้งปี ซึ่งในแต่ละครั้งนอกจากจะสามารถช่วยเหลือเด็กขอทานได้เป็นจำนวนมากแล้วยังกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดชลบุรี , ระยอง , เชียงใหม่ ,สุรินทร์ , สมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยมีทั้งที่เป็นลักษณะของขบวนการค้ามนุษย์รวมถึงการลักพาตัวเด็กไปตระเวนขอทานยังพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย

จากการดำเนินบทบาทในการเป็นศูนย์รับแจ้งเบาะแสการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา มีสถิติการรับแจ้งนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 54 สูงถึง 118 ราย โดยนอกจากพื้นที่ที่มีข่าวการกวาดล้างเด็กขอทานตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีจังหวัดภูเก็ต , สุราษฎร์ธานี , อยุธยา , จันทบุรี , ลำพูนและราชบุรี ซึ่งมีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสเข้ามาเช่นเดียวกัน นั่นยอมแสดงให้เห็นว่าปัญหาเด็กขอทานกระจายตัวออกไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยแล้ว

สำหรับภูมิภาคที่เป็นปลายทางที่สำคัญของขบวนการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานนั้น ต้องยกให้กับภาคตะวันออก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ ประกอบกับการกวาดล้างเด็กขอทานอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อเนื่องจากปี 2553 ที่ผ่านมาด้วยจึงทำให้กลุ่มเด็กขอทานหลั่งไหลเข้าพื้นที่ดังกล่าวในที่สุด ซึ่งจากการลงพื้นที่ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหาเด็กขอทานจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ทำให้ทราบว่ามีนายหน้าที่คอยเรียกรับผลประโยชน์จากขอทานที่จะเข้าไปขอทานในพื้นที่ถนนคนเดินพัทยาใต้ (walking street) และบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งนายหน้าบางคนยังใช้วิธีการหาเด็กจากประเทศกัมพูชามาปล่อยเช่า โดยจะนำเด็กพร้อมครอบครัวมาจากประเทศกัมพูชา จากนั้นก็จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม ซึ่งนายหน้าจะเก็บเด็กไว้เพื่อไม่ให้ถูกจับไปด้วย และนำเด็กมาปล่อยเช่า ซึ่งการคิดราคานั้นก็กำหนดตามอายุ เช่น หากเด็กอายุ 7 ปี ก็จะมีค่าเช่าอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท แต่ถ้าอายุ 10 ปี ก็จะคิดค่าเช่า 10,000 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในพื้นที่ภาคตะวันออกก็มีการออกมาตรการณ์ในการกวาดล้างเด็กขอทานอย่างหนักเช่นเดียวกัน ภายหลังจากเกิดกรณีการลักพาตัว ด.ญ.ศิรินทิพย์ สำอาง หรือ “น้องพอมแพม” ไปจากครอบครัวที่จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนที่จะมีพลเมืองดีไปพบขณะกำลังเดินขอทานอยู่ในตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี  จึงทำให้เกิดกระแสการกวาดล้างเด็กขอทานอย่างต่อเนื่องโดยหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งมิใช่เพียงแค่ในจังหวัดชลบุรีเท่านั้นแต่ที่จังหวัดระยองก็มีข่าวคราวเกี่ยวกับการจับกุมนายหน้าชาวกัมพูชาที่ลักลอบนำเด็กเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขอทานเช่นเดียวกัน โดยมีลักษณะการเช่าห้องพักเพื่อให้กลุ่มขอทานพักอาศัยอยู่รวมกัน โดยนายหน้าจะพาเด็กออกไปขอทานตามตลาดนัดต่างๆ ในจังหวัดระยอง และมีการเรียกรับผลประโยชน์จากกลุ่มขอทานเพื่อเป็นค่าเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย รายละ 3,500 บาท ซึ่งหากใครไม่มีนายหน้าจะหักจากเงินที่ขอทานสามารถหาได้ในแต่ละวัน วันละ 400 บาท โดยการจับกุมในครั้งนี้สามารถช่วยเหลือขอทานที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ได้รวม 15 คน และจับกุมนายหน้าได้ทั้งสิ้น 4 คน ด้วยกัน และนอกจากนี้โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ต่อคนในสังคมให้เข้าใจถึงวิธีการช่วยเหลือเด็กขอทานอย่างถูกวิธีอีกด้วย เนื่องจากเห็นว่าการนำเด็กมาขอทานในประเทศไทยสามารถทำได้อย่างง่ายดายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามเด็กขอทานละเลยในการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

ในส่วนของปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานที่เข้าข่ายเป็นลักษณะกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์นั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ก็พบกรณีการนำเด็กชายอายุ 12 ปี ที่ร่างกายมีความพิการตาบอดจากประเทศกัมพูชาเข้ามาขอทานในพื้นที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจากการสัมภาษณ์เด็กขอทานคนดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากข้างถนนแล้ว ทำให้ทราบว่าเด็กคนดังกล่าวเคยถูกนำไปขอทานถึงประเทศมาเลเซียมาแล้วก่อนที่จะเข้ามาขอทานในประเทศไทย ซึ่งในแต่ละวันจะถูกนายหน้าค้ามนุษย์ชาวกัมพูชา 2 คนที่เป็นสามี - ภรรยากัน พาตระเวนออกไปขอทานตามตลาดต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า ตั้งแต่ 5.00 น. – 14.00 น. และช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 16.00 น. – 21.00 น. โดยนายหน้าจะใช้วิธียืนขายลูกโป่งบังหน้า เพื่อเฝ้าเด็กขณะนั่งขอทาน อีกทั้งนายหน้าคนดังกล่าวยังให้ข้อมูลว่าตนเองถูกจ้างวานต่อมาอีกทอดหนึ่ง โดยในแต่ละเดือนจะได้ค่าตอบแทนประมาณ 6,000 บาท ส่วนรายได้จากการขอทานทั้งหมดจะต้องส่งให้กับผู้จ้างวาน

นอกจากกรณีการนำเด็กที่มีร่างกายพิการตาบอดจากประเทศกัมพูชาเข้ามาขอทานแล้ว ยังมีกรณีการลักลอบนำเด็กจากประเทศพม่าเข้ามาขอทานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย โดยในคดีนี้สามารถช่วยเหลือเด็กขอทานทั้งชายและหญิงได้มากถึง 7 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 3 – 14 ปี โดยมีนายหน้าค้ามนุษย์เป็นชาวพม่าทั้งหมด 3 คน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะถูกนายหน้าตระเวนขอทานตั้งแต่เวลา 06.00 – 00.00 น. เป็นประจำทุกวัน หากวันใดไม่สามารถขอทานได้ถึง 500 บาท จะถูกบังคับให้ขอทานต่อจนถึงเวลา 04.00 น. นอกจากนี้เด็กบางคนยังถูกนายหน้าล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย

ทั้ง 2 กรณีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในประเทศไทยมีขบวนการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเครื่องมือในการขอทานอยู่จริง อีกทั้งยังมีสภาพปัญหาที่มีความรุนแรงอย่างมาก ซึ่งทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงาคาดว่า ยังมีเด็กขอทานที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในลักษณะดังกล่าวนี้อีกเป็นจำนวนมากและยังรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์เด็กขอทานในจังหวัดต่างๆ แล้ว ก็คงต้องกล่าวถึงพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งจากการดำเนินบทบาทในการเป็นศูนย์รับแจ้งเบาะแสเด็กขอทานของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบว่าพื้นที่เขตปทุมวันมีสถิติการรับแจ้งสูงที่สุดที่ 14 ราย รองลงมา คือ พื้นที่สุขุมวิท มีทั้งสิ้น 9 ราย ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่นี้ล้วนเป็นเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวในเวลากลางคืนจึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและสามารถพบเห็นเด็กขอทานได้ตลอดทั้งวัน

สำหรับเส้นทางในการเดินทางเข้ามาของขอทานจากประเทศกัมพูชานั้น ยังคงเป็นเส้นทางด่านชายแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เช่นเดิม เนื่องจากมีการพาหนะในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยได้อย่างสะดวก ซึ่งเส้นทางนี้มักปรากฏข้อเท็จจริงตามข่าวการกวาดล้างเป็นอยู่ประจำ แต่ก็มิค่อยมีหน่วยงานใดที่ทำการขยายผลมาจับกุมนายหน้าหรือวางมาตรการณ์ในการสกัดกั้นการเข้ามาของขอทานจากประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด จึงทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กขอทานในประเทศไทยไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร เนื่องจากขอทานที่ได้รับการช่วยเหลือมักเดินทางกลับเข้ามาขอทานในประเทศไทยอีกหลายต่อหลายครั้ง

จากสภาพปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมานี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะยังคงประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.5 (Tier 2 watch list) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีสภาพปัญหาการค้ามนุษย์ที่รุนแรงอยู่นั่นเอง

หากมองถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กขอทานโดยตรงอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว ในปีนี้ถือว่าทางกระทรวงฯ เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานน้อยจนน่าใจหาย เนื่องจากไม่มีการจัดประชุมเพื่อวางแผนหรือกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานแต่อย่างใด มีเพียงการจัดทำสื่อรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อคนในสังคมเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กขอทานเพียงประการเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่ จึงทำให้การทำงานในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานไม่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2554 นี้ ทางโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา คาดว่าสถานการณ์เด็กขอทานในปี 2555 จะยังคงมีสภาพปัญหาที่มีความรุนแรงเช่นเดิม ซึ่งมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้หน่วยงานที่ทำการปราบปรามเด็กขอทานจะมีการเพิ่มงานรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่คนในสังคมเข้ามาในภารกิจของหน่วยงานบ้างหรือไม่  เนื่องจากการปัญหาเด็กขอทานมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวพันกับรายได้ของเด็กขอทานที่มีมูลค่าสูงมากในแต่ละวัน ดังนั้นการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมให้เปลี่ยนพฤติกรรมการให้เงินกับเด็กขอทานเป็นการแจ้งเบาะแสแทน จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานได้อย่างยั่งยืนที่สุด....

 

               

 

               

               

               

               

               

                

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รำลึก 7 ปีสึนามิ ถึงมหาอุทกภัย..บทเรียนที่ควรจดจำ

Posted: 26 Dec 2011 08:15 AM PST


 

พลันที่เกิดมหาอุทกภัยในภาคกลาง เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิก็เคลื่อนพลเข้าสนับสนุนให้การช่วยเหลือทันที

จุดแรกที่พวกเราเข้าไปคือ ศปภ. ทำให้หวนคิดถึงช่วง 5 วันแรกของสึนามิ เมื่อ 7 ปีก่อน ของบริจาคกองเป็นภูเขา มีคนใจอาสาช่วยเหลือกันมากมาย มีระบบการเบิกจ่ายโดยขั้นตอนการขออนุมัติจากคนๆ เดียว ไม่มีบัตรไม่มีสิทธิได้รับ ไม่มีคนรับรองไม่ได้ของบริจาค ระบบราชการทั้งหมดทุ่มสรรพกำลังไปกับการบริหารจัดการของบริจาค

ภาพเดิมๆ ที่คอยทิ่มแทงหัวใจผู้ประสบภัยอย่างผมตลอดมา 7 ปีเต็มๆ แล้ว ที่มันคอยทิ่มแทงอยู่ทุกครั้งยามเกิดภัยพิบัติ ระบบนี้เมื่อไหร่รัฐไทยถึงจะทบทวนสรุปบทเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงเสียที จะตายกันอีกเท่าไหร่ จะเกิดอีกสักกี่หน ถึงจะยอมจำนนต่อธรรมชาติ ยอมกระจายการจัดการ ยอมรับสิทธิชุมชน ยอมรับสิทธิความเป็นมนุษย์ ว่าเขาต้องได้รับการดูแล

“เขาประกาศให้เขตผมอพยพแล้ว เขาบอกหากไม่อพยพ เขาจะตัดความช่วยเหลือทั้งหมด เราจะทำอย่างไรกันดี” ชายคนหนึ่งลุกขึ้นถามในที่ประชุมของชุมชนเคหะบางบัว

“ป้าไม่ไปหรอก เพราะหลานพาป้าไปแล้วที่ศูนย์พักพิง เขาดูแลเราดี ป้าไม่ใช่ผู้ดี บางครั้งป้านึกว่าป้าเป็นผู้ป่วยด้วยซ้ำ เพราะเช้าตื่นมารอข้าวเช้า  กลางวันนั่ง นอน รอข้าวเที่ยง บ่ายนอนพักกลางวันรอข้าวเย็น ป้าก็ว่าป้าไม่ได้ป่วยอยู่ได้ 7 วัน กลับบ้านดีกว่า มีมือมีขาทำอะไรได้อีกเยอะ” ป้าแย่งเล่าให้ฟัง แล้วคำถามก็พรั่งพรูออกมามากมาย

“เราไม่ไป เราจะอยู่อย่างไรดี เราจะเตรียมอย่างไร ทำไงดีครับ บทเรียนสึนามิจะแนะนำอะไรเราได้บ้าง” คำถามสุดท้ายที่ออกจากปากแกนนำชุมชน ทำให้ทีมเราชาไปทั้งตัวเหมือนกันว่า ประสบการณ์เราจะช่วยเขาได้แค่ไหน

“สิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างแรกในสถานการณ์ที่มาถึงขั้นนี้แล้วนะครับ” (น้ำสูง 10 เซนติเมตร) ผมเริ่มกระบวนการเรียนรู้เลย เมื่อพวกเขาสนใจ และยืนยันที่จะอยู่ให้ได้ภายในชุมชน 1.) เราควรรวมกลุ่มกันเพื่อทำข้อมูลชุมชนเรา หากมีแล้วนะครับก็สำรวจเพิ่มเติม เช่น ตรงไหนพอจะเป็นที่พักรวมได้บ้าง อาจมีหลายจุดก็ได้ตามความเหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในชุมชน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก ผู้หญิงเปราะบาง 2.) สำรวจเสบียงว่าหากเราจะอยู่ 1 เดือนโดยตัดขาดจากโลกภายนอก เราต้องเตรียมอะไรบ้าง เท่าไหร่ และเรามีอะไรอยู่บ้างแล้ว 3.) แบ่งบทบาทหน้าที่กันในชุมชน ทีมประสานภายนอก ประสานภายใน ความปลอดภัย เวรยาม แม่ครัว ทีมอสม. (พยาบาล) ยารักษาโรค เครื่องครัว ฝ่ายสุขอนามัย 4.) เราต้องมีทีมวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารและเฝ้าระวังด้วย ต้องหาอุปกรณ์ เครื่องมืออะไรไว้บ้าง เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น เรื่องน้ำ เรื่องไฟฟ้า เรื่องส้วม เรื่องเรือ อื่นๆ นี่คือเรื่องเบื้องต้นในการเตรียมรับมือในภาวะฉุกเฉินในขณะนี้ เราต้องลงมือเตรียมทันที รอใครไม่ได้

จากสึนามิถึงมหาอุทกภัย บทเรียนทั้งหมดที่มีพวกเราไปช่วยเหลือเฉพาะหน้า ด้านกู้ชีพ กู้ภัย ควบคู่กับการแลกเปลี่ยนช่วยให้เขาดูแลตัวเองได้ด้วย อนาคตเมื่อเข้าช่วงฟื้นฟู พวกเรามีความจำเป็นที่จะต้องไปหนุนเสริม เรื่องชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อเขาจะได้ช่วยคนอื่นต่อไป

ครบรอบรำลึก 7 ปีสึนามิ บทเรียนที่ควรจำกลับไม่มีใครอยากจดจำมัน ไม่มีใครอยากเอาเป็นบทเรียนในการดำรงอยู่ในประเทศนี้ ที่มีภาวะเสี่ยงภัยพิบัติ

เมื่อคราวครบรอบ 6 ปีสึนามิ รัฐบาลมีนโยบายว่าจะจัดงานรำลึกเป็นปีสุดท้าย อ้างว่าไม่อยากให้ผู้ประสบภัยระลึกถึงความสูญเสียอีก ยังมีแนวนโยบายต่อว่า การซ้อมอพยพก็ไม่ควรต้องซ้อมทุกปี เพราะไม่รู้เมื่อไหร่จะเกิด ตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา ไม่มีการซ้อมอพยพหลบภัยเกิดขึ้นใน 6 จังหวัดอันดามันเลย

“นักมวยไม่ซ้อมก็ถูกน็อค”

สึนามิแผ่นดินไหวจนเกิดความสูญเสีย มีเวลาเตรียมตัวรับมือไม่เกิน 1 ชั่วโมง น้ำท่วมมีเวลากว่า 2 เดือนในการเตรียมตัว มีคนตายมากกว่า 600 คน แล้วเราจะกำหนดอนาคตตนเองให้อยู่ในความเสี่ยงของสังคมไทยภายใต้ระบบรัฐไทยอย่างไรดี

7 ปี บทเรียนสึนามิจากภัยพิบัติในประเทศไทย เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิได้ขยายตัวออกไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองของเครือข่ายประชาชน จนเกิดพื้นที่รูปธรรมในหลากหลายรูปแบบ

พื้นที่ชุมชนเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มีแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และมีอาสาสมัครที่ช่วยเหลือกันกว่า 200 คน ทั้งที่ช่วยกันเอง และช่วยเหลือเพื่อนๆ

เครือข่ายชุมชนกระเบื้องใหญ่ เกิดแผนเตรียมความพร้อม และแผนบริหารจัดการน้ำ แผนฟื้นฟูชุมชนครบวงจร เมื่อภัยเกิดที่ไหนที่นี่จะส่งทรัพยากรไปช่วยเหลือเพื่อนๆ พร้อมส่งกำลังคนไปหนุนช่วยด้วย

เครือข่ายปทุม หลังจากภัยพิบัติที่ผ่านมาบทเรียนได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นเครือข่ายเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ที่มีระบบการจัดการภายใน และช่วยเหลือกันเอง ช่วยเหลือชุมชนเครือข่ายใกล้เคียง ขณะนี้ยกระดับไปสู่แผนฟื้นฟูชุมชน ด้านพันธุ์พืชต่อไป

พื้นที่เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน มีแผนป้องกันภัยพิบัติ ตั้งแต่แผนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แผนรับมือน้ำท่วม แผนพาน้ำลงทะเล แผนช่วยเหลือกูชีพ น้ำท่วมครั้งนี้เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยขนสรรพกำลังและเครื่องมือทั้งหมด มาประจำการในกรุงเทพฯ กว่า 2 เดือน

ที่ภาคใต้ ก็มีเครือข่ายเขาพนม จังหวัดกระบี่ เครือข่ายชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่รูปธรรมที่ตำบลท่าหิน ที่ตำบลขอนคลาน จังหวัดสตูล และที่อื่นๆ อีกมากมาย

วันนี้ เครือข่ายประชาชนเดินหน้าไปแล้วในหลากหลายมิติ 

7 ปีสึนามิถึงมหาอุทกภัย รัฐควรส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชนหมู่บ้าน และแผนระดับตำบล โดยต้องสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนให้เป็นรูปธรรม ทั้งด้านการอบรมอาสาสมัครให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สนับสนุนเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ ระบบสื่อสารภายใน ตามแผนชุมชน ภัยพิบัติจัดการรวมศูนย์ล้มเหลว การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการเอง รัฐส่วนกลางมีหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรทุกด้าน

ในวาระครบรอบ 7 ปีสึนามิ ซึ่งมีญาติสนิทมิตรสหายเสียชีวิตไปเกือบ 50,000 คน หนึ่งในนั้นคือคุณพ่อของผม เพราะฉะนั้นสึนามิคือบทเรียนที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของคนในชาติ ควรค่าแก่การรำลึกถึง การจัดงานรำลึกขึ้นของคนในหมู่บ้านเล็กๆ บ้านน้ำเค็มที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บทเรียนการต่อสู้ของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เกิดขึ้นเมื่อสูญเสีย

“จงเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติก่อนที่จะสาย อย่าคอยให้สูญเสียแล้วค่อยเตรียม”

 

 

(บทความในวาระการจัดงานรำลึกครบรอบ 7 ปีสึนามิ ณ บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา วันที่ 26 ธันวาคม 2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ว่าสงขลาเล็งทำโครงการประกันผู้ต้องหาคดีป่วนใต้

Posted: 26 Dec 2011 08:08 AM PST

ผู้ว่าสงขลาเยี่ยมคุกคดีความมั่นคง เล็งทำโครงการประกันผู้ต้องหาคดีป่วนใต้ ใช้ผู้นำสี่เสาหลักและตำแหน่งผู้ว่ารับรอง

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 26 ธันวาคม 2554 ที่ห้องประชุม 1 เรือนจำกลางสงขลา นายกฤษฏา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เดินทางเข้าไปพบปะกับผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ นาทวี เทพาและสะบ้าย้อย จำนวนประมาณ 20 คน ที่อยู่ระหว่างการฝากขังในเรือนจำกลางสงขลา

ระว่างพบปะนายกฤษฎา ได้พูดคุยกับผู้ต้องหากลุ่มดังกล่าวถึงนโยบายในการสร้างสันติสุขและแนวทางการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงฟัง

นายกฤษฎา เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2555 นี้ตนจะเรียกประชุมนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอีหม่ามในพื้นที่ 4 อำเภอดังกล่าว เพื่อแจ้งว่า ตนจะขยายโครงการศูนย์ยะลาสันติสุข หรือโครงการประกันตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงโดยให้ผู้นำชุมชนและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับรอง มาดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสงขลาด้วย

นายกฤษฎา เปิดเผยต่อไปว่า ผู้ต้องหาที่จะเข้าโครงการนี้ได้ ต้องมีเงื่อนไข คือ 1.ต้องมีความจริงใจต่อกัน โดยหากได้รับประกันตัวแล้วจะไม่หลบหนี 2.การดำเนินคดีต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหากศาลพิพากษาลงโทษก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และ 3.ต้องให้ผู้นำชุมชนหรือผู้นำสี่เสาหลัก ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โต๊ะอีหม่ามและผู้นำตามธรรมชาติ หมายถึง บุคคลที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในชุมชน เป็นผู้รับรองก่อน จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะรับรองตามไปด้วย เพื่อรับรองว่า ผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัวตามโครงการนี้ จะไม่ทำความผิดอื่นๆ อีกหลังจากได้รับการประกันตัวแล้วและจะไม่หลบหนี

“ระหว่างนี้ให้ผู้ต้องหาทุกคนได้ปรึกษาหารือกับครอบครัวก่อนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้” นายกฤษฎา กล่าว

นายอุดม คุ่ยณรา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงนี้เพราะนายกฤษฎา เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลามาก่อนหน้านี้ ที่จังหวัดยะลาและประสบความสำเร็จดี

นายอุดม กล่าวว่า โครงการนี้สามารถช่วยให้ผู้ต้องขังได้กลับอยู่กับครอบครัวและชุมชนที่เขาเคยอยู่ และสามารถพิสูจน์ความจริงใจของผู้ต้องหาได้ โครงการนี้อาจตอบโจทก์ความไม่เป็นธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในมิติหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้

ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงรายหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการฝากขังในเรือนจำกลางสงขลา กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะเข้าโครงการนี้ดีหรือไม่ เพราะหากได้รับการประกันตัวออกไปแล้ว จะได้รับความปลอดภัยหรือไม่ เพราะเคยมีผู้ต้องหาที่ได้การประกันตัวออกไปแล้ว ถูกทำร้ายร่างกาย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาเลย์เริ่มงานใหญ่ 47 ล้านล้าน ตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ

Posted: 26 Dec 2011 08:06 AM PST

ไตรมาสแรกปีหน้า รัฐบาลมาเลเซียเริ่มโปรเจ็กต์ใหญ่ ตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ดึงต่างชาติร่วมทุนกว่า 47.3 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าอีกปีเริ่มผลิตยุทโธปกรณ์


 

สำนักข่าวเบอรีตาฮารียัน รายงานว่า ดาโต๊ะ ซือรี ดร.อะห์หมัดซาฮิด ฮามีดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาเลเซีย เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2555 รัฐบาลมาเลเซีย จะเริ่มดำเนินการสร้างนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เมืองซุงไก รัฐเปรัค โดยดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นเงิน  4.73 ล้านล้านริงกิต (ประมาณ 47.3 ล้านล้านบาท)

ดาโต๊ะ ซือรี ดร.อะห์หมัดซาฮิด เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นการร่วมลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเป็นบริษัทจากยุโรป 15 บริษัท สหรัฐอเมริกาและอเมริกาเหนือ 8 บริษัท และเกาหลีใต้ 2 บริษัท

ดาโต๊ะ ซือรี ดร.อะห์หมัดซาฮิด เปิดเผยอีกว่า กระทรวงกลาโหมยังได้รับพิจารณาข้อเสนอจากบริษัทในจีนและอินเดียที่สนใจจะร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วย

“นิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะเริ่มผลิตสินค้าได้ในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียมีความเชื่อมั่นว่า หลังจากดำเนินการไปแล้ว 5 ปี นิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศแห่งนี้ จะสามารถดึงเงินลงทุนได้เพิ่มเป็น 15.3 ล้านล้านริงกิต” ดาโต๊ะ ซือรี ดร.อะห์หมัดซาฮิด กล่าว

 

ที่มา
http://www.bharian.com.my/bharian/articles/PusatindustripertahananpertamanegaradiSungkaitarikpelaburanasingRM4_73bilion/Article

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้พิพากษาสั่งปล่อยตัวบล็อกเกอร์ชื่อดังของอียิปต์

Posted: 26 Dec 2011 08:01 AM PST

อะลา อับดฺ เอล ฟัตตาร์ บล็อกเกอร์ชื่อดังของอียิปต์ผู้เคยขับไล่อดีต ปธน. และประท้วงต้านรัฐบาลทหาร ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยยังคงถูกสั่งกักบริเวณ หลังจากที่ถูกจับในข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงในการประท้วงเมื่อเดือนตุลาคม

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2011 สำนักข่าว Egypt Independent (almasryalyoum.com) รายงานว่า ผู้พิพากษาเป็นตัวแทนพนักงานอัยการสั่งให้มีการปล่อยตัวบล็อกเกอร์ชื่อดังของอียิปต์ อะลา อับดฺ เอล ฟัตตาร์ โดย เอล ฟัตตาร์จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านภายในวันจันทร์ (26 ธ.ค.) นี้และถูกสั่งห้ามไม่ได้เดินทางออกจากบ้าน เนื่องจากคดีของเขายังอยู่ในช่วงสืบสวน

อับดฺ เอล ฟัตตาร์ ถูกจับกุมตัวหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงนอกมาสเปโร่เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ทหารและตำรวจนำกำลังเข้าจู่โจมผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสงบ เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิต 27 ราย และทหารเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ในวันนั้นเป็นชาวคริสต์นิกายคอปต์

เอล ฟัตตาร์ และผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ อีก 27 ราย ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหาร, ขโมยอาวุธจากกองทัพ และทำลายสาธารณสมบัติ

โดยผู้ต้องสงสัยทั้ง 27 รายต่างก็ถูกปล่อยตัวจากการคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา

รามี กาเนม หนึ่งในทนายความที่ทำคดีนี้กล่าวให้สัมภาษณ์กับ Egypt Independent ว่ายังไม่มีการถอนข้อหาจากผู้ต้องหาทั้ง 28 รายรวมถึงเอล ฟัตตาร์ พวกเขายังต้องถูกดำเนินคดีอยู่ โดยวันไต่สวนคดียังไม่ได้ถูกกำหนดแน่ชัด

รามี บอกอีกว่า แม้ทางอัยการจะประกาศให้ถ่ายโอนคดีจาก ศาลฉุกเฉินด้านความมั่นคงสูงสุดแห่งรัฐ (Emergency Supreme State Security Court) ไปยังคณะสืบสวนของผู้พิพากษา แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ 

อะลา อับดฺ เอล ฟัตตาร์ เป็นบล็อกเกอร์และนักพัฒนาซอฟท์แวร์ของอียิปต์ มีบิดาเป็นนักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทางการจับกุมและซ้อมทรมานในปี 1983 ก่อนจะถูกสั่งจำคุก 5 ปี ตัวเอล ฟัตตาร์ เองเป็นเจ้าของบล็อก Manalaa ซึ่งได่รับรางวัลจากผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในปี 2005 

ก่อนหน้านี้ เอล ฟัตตาร์ เคยถูกจับกุมตัวในการประท้วงเดือน พ.ย. 2006 ทำให้เกิดกระแสเรียกร้อง "ปล่อยตัวอะลา" ทั่วโลก ก่อนที่เขาจะถูกปล่อยตัวในวันที่ 20 มิ.ย. 2006 ซึ่งในปีนี้เอล ฟัตตาร์ ก็เข้าร่วมชุมนุมขับไล่ ปธน. มูบารัค ที่จัตุรัสทาห์เรียในวันที่ 2 ก.พ. พอหลังจากมูบารัคลงจากตำแหน่งแล้ว เขาก็กลายเป็นผู้ที่ร่วมประท้วงต่อต้านสภาคณะทหารสูงสุดของอียิปต์ (SCAF) ที่ขึ้นมามีอำนาจต่อจากมูบารัค

เขาถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมาในข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงในเหตุการณ์มาสปิโร่ เขาได้ปล่อยตัวในวันที่ 26 ธ.ค. หลังจากที่มีการดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนตามกฏหมายแล้ว

ที่มา
Judge releases arrested blogger Alaa Abd El Fattah, Rana Khazbak, Egypt Independent, 25-12-2011 
http://www.almasryalyoum.com/en/node/567526

ข้อมูลเพิ่มเติม
http://en.wikipedia.org/wiki/Alaa_Abd_El-Fattah

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปสถานการณ์แรงงานในระหว่างและหลังเกิดอุทกภัยและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล

Posted: 26 Dec 2011 03:02 AM PST

ในการประชุมของเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย [1] เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาแรงงานในระหว่างและหลังเกิดอุทกภัย โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์แรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ 2) เพื่อหาทางออกที่ตอบสนองความต้องการแก่ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง โดยจะนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ 3) เพื่อรณรงค์สิทธิของผู้ใช้แรงงานที่พึงได้รับตามหลักการสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานแรงงานสากล

การเจาะจงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟนั้น เนื่องจากเกิดปัญหาเลิกจ้างคนงานอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จึงนำไปสู่การให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวเพราะอุตสาหกรรมนี้เติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้รับสิทธิพิเศษและการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2529 โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ไทยกลายเป็นฐานการผลิตอันดับหนึ่งของโลก มีการสร้างงานประมาณ 100,000 กว่าอัตรา โดยมีการจ้างแรงงานหญิงมากกว่าแรงงานชาย ทั้งนี้มาจากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียง เช่น เวสเทิร์นดิจิตอล ซีเกท ฮิตาชิ โซนี่ อาซาฮี ร่วมกับนักลงทุนไทย และมีเจ้าของคอมพิวเตอร์แบรนด์เนม ได้แก่ ฮิวเล็ต แพ็คการ์ด เดลล์ เข้ามาจ้างผลิต

เมื่อได้รับฟังเรื่องราวปัญหาของผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเขตพื้นที่ที่เกิดและไม่เกิดอุทกภัย ทำให้เกิดข้อกังวลใจเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงข้อกังวลใจเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือเยียวยาแรงงาน และพฤติกรรมของผู้ประกอบการ เพราะเกิดการละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากช่วงระหว่างและหลังเกิดอุทกภัย ผู้ประกอบการสั่งเลิกจ้างพนักงาน โดยที่ไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย สวัสดิการที่เป็นตัวเงิน ค่าชดเชย และเลือกปฏิบัติ ลดเงินเดือนเหลือ 75%, 50%, 25% ในขณะที่มีการหยุดกิจการชั่วคราว ไปจนถึงช่วงฟื้นฟูสถานประกอบการ สั่งโยกย้ายพนักงานไปยังฐานการผลิตอีกแห่ง โดยจะไม่จ่ายค่าจ้างหากไม่ยินยอม รวมไปจนถึงการล้มสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพจำนวนมากทั้งๆ ที่บริษัทมีกำไร 

ปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางดังกล่าวทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ นายจ้างเอกชน นักลงทุนได้แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วหรือยัง เมื่อเกิดปัญหาการตกงาน การสูญเสียรายได้ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ซึ่งจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และรัฐสามารถตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายของนายจ้างได้เพียงใด รวมทั้งปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในยามวิกฤตได้มากน้อยแค่ไหน 

หัวข้อนำเสนอในรายงาน มีดังนี้

1. สถานการณ์ปัญหาแรงงานและตัวอย่างกรณีปัญหา

2. ความไม่เพียงพอของมาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

3. ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล

1.สถานการณ์ปัญหาแรงงานและตัวอย่างกรณีปัญหา

การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงกันยายนถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมากินวงกว้างหลายจังหวัดในเขตภาคกลางของประเทศไทย ทั้งที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยในเมืองและชนบท มีผู้เสียชีวิตถึง 700 คน มีคนเจ็บป่วยจำนวนมาก ที่อยู่อาศัย ไร่นา โรงงานพังเสียหายตีเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท และรัฐบาลได้นำงบประมาณมาใช้ในการช่วยเหลือฟื้นฟูความเสียหายประมาณ 5 แสนล้านบาทแบ่งใช้ตามกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) ประชาชนทั่วไป 2) เกษตรกร 3) แรงงาน 4) ผู้ประกอบการรายกลาง รายย่อย 5) ผู้ประกอบการรายใหญ่ 6) อื่นๆ

สำหรับในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับสถานประกอบการทั่วประเทศ รวม 31 จังหวัด จำนวนกว่า 28,000 แห่ง ผู้ใช้แรงงานจำนวนกว่า 9.9 ล้านคน ล่าสุดหลายพื้นที่ปัญหาเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยพบว่า มีสถานประกอบการจำนวน 15,474 แห่ง ลูกจ้าง 35,1640 คน กลับมาเปิดกิจการแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือสถานประกอบการ จำนวน 13,205 แห่ง ลูกจ้าง 642,304 คน ยังคงไม่สามารถเปิดกิจการได้ โดยในจำนวนนี้ คาดว่าลูกจ้างประมาณ 130,000 คน อาจต้องถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทจ้างเหมาค่าแรง หรือ เอาท์ซอร์ส ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี [2]

กรณีปัญหาจาก 5 พื้นที่ 

กรณีปัญหาจาก 5 พื้นที่ ที่จะช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหานั้น ได้แก่ พื้นที่จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ลำพูน และนครปฐม โดยมีตัวแทนจากสหภาพแรงงาน ตัวแทนพนักงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน นักพัฒนาเอกชนเป็นผู้สะท้อนปัญหา

1. พื้นที่จังหวัดปทุมธานี

1.1 การเลิกจ้างพนักงานบริษัท MMI Precision ประเทศไทย จำกัด บริษัทตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม นวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผลิตชิ้นอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ มีพนักงานประมาณ 250 คน ประกอบด้วยพนักงานประจำ 200 กว่าคน พนักงานเหมาค่าแรง 50 กว่าคน

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2554 น้ำทะลักท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และบริษัท MMI ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ นายจ้างสั่งหยุดงานทันที

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 บริษัท MMI ได้เลิกจ้างพนักงานทางโทรศัพท์โดยให้ฝ่ายบุคคลโทรแจ้งว่า พนักงานถูกเลิกจ้างและให้มารับเช็คในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ส่วนสถานที่จะโทรแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และฝ่ายบุคคลก็ไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด นอกจากนี้ มีพนักงานส่วนหนึ่งในแผนกตรวจสอบคุณภาพชิ้นงานถูกสั่งให้ย้ายไปทำงานที่จังหวัดชลบุรี เป็นบริษัทฯในเครือของ MMI ทว่ามีสมาชิกสหภาพแรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์บางรายไม่พร้อมที่จะไปทำงานที่จังหวัดชลบุรีเนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทางและมีภาระต้องดูแลครอบครัว จึงรู้สึกหวั่นเกรงว่าถ้าไม่ไปจะไม่ได้รับค่าจ้างและค่าชดเชย 

สหภาพแรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ขอเจรจากับทางบริษัทฯเป็นการด่วนเพราะอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง แต่ผู้จัดการฝ่ายบุคคลได้แจ้งว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานประมาณ 90% ส่วนพนักงานที่เหลือเป็นช่างเท่านั้น และยังปฏิเสธที่จะเจรจาพูดคุยกับทางสหภาพแรงงาน อีกทั้งกำลังดำเนินการขออำนาจศาลเลิกจ้างกรรมการสหภาพฯ ด้วย อันเป็นการลดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน

อย่างไรก็ตาม พนักงานเกือบทั้งหมดยอมรับการเลิกจ้าง ด้วยความรู้สึกไม่มีความสุขที่จะทำงานร่วมกับนายจ้างอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาคือ พนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุมาก และมีการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการหางานใหม่ เพราะเมื่อไปตรวจสอบตำแหน่งงานว่างตามที่รัฐบาลประกาศนั้น ปรากฏว่าแทบไม่มีตำแหน่งสำหรับพนักงานหญิงอายุมากและมีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

1.2 การหลีกเลี่ยงจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายแก่พนักงาน ISCM เทคโนโลยี ประเทศไทย

บริษัทไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร เปิดกิจการเมื่อปี 2547 และขยายกิจการที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยาในปี 2551 ทำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นายจ้างเป็นชาวสิงคโปร์ มีจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 500 กว่าคน มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ลูกค้าเป็นชาวญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

ปัญหาคือ ช่วงวิกฤตน้ำท่วม พนักงานได้รับผลกระทบเนื่องจากบริษัทฯได้มีมาตรการให้พนักงานย้ายไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย แต่พนักงานไม่ได้รับความชัดเจนใดๆจากทางบริษัท ซ้ำกลับมีเงื่อนไขว่า ถ้าใครไม่ย้ายไปทำงานที่มาเลเซียจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย และเป็นการกดดันให้พนักงานต้องตัดสินใจย้ายไปทำงาน เพราะกลัวตกงานและไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากบริษัท

ดังนั้น พนักงาน ISCM ต้องการให้นายจ้างมาชี้แจงให้ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน และการย้ายพนักงานไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย

ตัวแทนพนักงานได้ยื่นหนังสือขอให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชิญนายจ้างมาชี้แจงเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ที่สำนักงานสวัสดิการฯ ปทุมธานี และได้เจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้บริหาร (General Manager) ชาวสิงคโปร์และฝ่ายบริหารคนไทย ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ที่สำนักงานสวัสดิการฯจ.ปทุมธานี โดยมีตัวแทนพนักงานและเจ้าหน้าที่ของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย และมีพนักงานให้กำลังใจด้านนอกห้องประชุมร่วมร้อยคน

ผลการเจรจา ปรากฏว่า นายจ้างที่มีอำนาจตัดสินใจเข้ามาชี้แจงแก่ตัวแทนพนักงานถึงการไม่จ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน การข่มขู่พนักงานว่าไม่จ่ายหากไม่ย้ายไปทำงานที่มาเลเซีย และการโยกย้ายการผลิตไปที่มาเลเซีย

1. นายจ้างกล่าวขอโทษที่ปล่อยให้มีการข่มขู่พนักงาน และไม่จ่ายค่าจ้างตามวันเวลาที่กำหนด และอ้างว่าไม่มีเจตนาฉ้อโกงใดๆ เพราะบริษัทที่มีสาขาทั้งสองแห่งคือนิคมอุตสาหกรรมโรจนะและ นวนคร ถูกน้ำท่วมเสียหายจริง จึงต้องหาฐานใหม่เพื่อเปิดทำการผลิตให้ทันต่อคำสั่งซื้อ จึงขอจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 75% ของฐานเงินเดือนแก่พนักงานทุกคน แต่คนท้องได้ 100% รวมถึงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท ภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2554

2. นายจ้างจะยังคงดำเนินกิจการในประเทศไทย โดยจะฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิม แต่จะต้องย้ายไปทำการผลิตชั่วคราวที่ปีนัง ประเทศมาเลเซียเป็นเวลา 6 เดือนก่อนเพื่อรักษาลูกค้าและคำสั่งซื้อไว้ จึงจะขอรับพนักงานไปทำงานและฝึกงานโดยสมัครใจ ส่วนพนักงานที่ไม่ต้องการไป นายจ้างจะไม่มีการเลิกจ้าง แต่จะจ่าย 75% ไปจนกว่าจะเรียกพนักงานกลับเข้ามาทำงาน ณ ฐานการผลิตที่เมืองไทยในต้นปีหน้า อีกทั้งบริษัทได้ทำ MOU เข้าโครงการ 2,000 บาทของรัฐบาลเพื่อชะลอการเลิกจ้างด้วย

3. วิธีการไปทำงานต่างประเทศจะต้องมีการแจ้งอย่างถูกต้องแก่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ว่าไปในลักษณะใด ระหว่างฝึกงานและทำงานเพราะสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน 

อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มคนงานจำนวน 48 คนไม่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างต่อไป เพราะหมดความเชื่อมั่นความไว้วางใจบริษัทอย่างสิ้นเชิง

2.พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

2.1 สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่อยุธยาเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงาน 2 กลุ่มคือ 1) ลูกจ้างประจำ 2) ลูกจ้างชั่วคราวและเหมาค่าแรง (Sub-contract)

ในกลุ่มลูกจ้างประจำจะถูกบังคับด้วยกฎหมายให้นายจ้างอ้างวิกฤตน้ำท่วมจ่ายเงินเดือน 75%, 50%, 25% ส่วนในกลุ่มลูกจ้างเหมาค่าแรงนั้นมีจำนวนมากที่ถูกบอกเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม และค่าชดเชยใดๆ

สำหรับสมาชิกของกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง มีจำนวนประมาณ 20 สหภาพแรงงาน/บริษัทที่ได้รับผลกระทบ ในรูปแบบต่างๆ คือ 1) ได้รับเงินเดือน 75% เช่น ที่บริษัท IPE, นากาชิมา 2) เลิกจ้างเกือบหมดแต่ไม่ปิดกิจการ เหลือพนักงานบางส่วน เป็นเหตุให้มีการเลิกล้มสหภาพแรงงาน เช่น สหภาพแรงงานซันแฟล็ค 3) เลือกเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงาน โดยอ้างวิกฤตน้ำท่วม 

สำหรับสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มี 2 กรณีคือ 1) นายจ้างอ้างวิกฤตน้ำท่วม แต่ไม่ท่วมจริงเพื่อหลีกเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมาย 2) นายจ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมจริง แต่พยายามหลีกเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับกรณีแรก อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกกรณีคือ โรงงานได้รับผลกระทบและปิดกิจการ ได้แก่ บริษัทซันโย 

2.2 กรณีปัญหาเลิกจ้างพนักงานอินทรี-เพล็กซ์

บริษัทอินทรี-เพล็กซ์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.พระนครศรีอยุธยา มีจำนวนพนักงานประมาณ 800 คน ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 4 ปี ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟให้แก่บริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานประจำและเหมาค่าแรง 50% ของพนักงานทั้งหมด โดยจ่ายให้แก่พนักงานรายเดือน รายวัน และเหมาค่าแรงตามเงินเดือนที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนเกิดน้ำท่วมที่จังหวัดอยุธยาเป็นเวลา 2 เดือน บริษัทได้ทำคันกั้นน้ำ และประกาศนโยบายว่าจะไม่เลิกจ้าง อีกทั้งจะจ่ายเงินเดือนครบ 100%

เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม บริษัทสั่งหยุดงานและดำเนินการผลิตที่บริษัท MMI จ.นครราชสีมา จนเมื่อถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 พนักงานทยอยถูกเลิกจ้าง โดยบริษัทจ่ายเงินเดือนให้พนักงานรายวัน 75% นับจากวันที่ 21 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน ค่าตกใจรวมค่าชดเชยจำนวน 2 เดือน แต่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม บริษัทโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีพนักงานเพิ่มอีก 2,000 บาท แต่สำหรับพนักงานที่ไม่ถูกเลิกจ้าง กลับได้รับโบนัสครึ่งเดือนเมื่อเร็วๆ นี้

พนักงานที่ถูกเลิกจ้างรายหนึ่งเล่าว่า รู้สึกไม่พอใจเนื่องจากมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพราะนายจ้างจ่ายโบนัสให้พนักงานที่ยังอยู่ ในขณะที่ตนถูกเลิกจ้าง และต้องแบกภาระครอบครัว และยังไม่มีงานทำมาจนถึงปัจจุบัน แต่ได้เข้าไปเดินเรื่องขอรับค่าชดเชยบ้านถูกน้ำท่วม 5,000 บาท กับผู้ใหญ่บ้าน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลบางกระแท่น อ.บางปะอิน ไปลงทะเบียนขอฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ศึกษาการขอกู้ยืมเงินจากประกันสังคมจังหวัด ซึ่งผลปรากฏว่า 

1. เงื่อนไขในการขอรับค่าชดเชยอาจไม่ครอบคลุมบ้านที่มีน้ำท่วมขังหน้าบ้านเพียงเล็กน้อย และมีขั้นตอนการยื่นเรื่องหลายขั้นตอนและใช้เวลาเกือบเดือนแล้วยังไม่ได้รับการพิจารณา

2. เงื่อนไขในการขอกู้ยืมเงินจากประกันสังคมไม่ครอบคลุมคนงานที่มีรายได้ต่ำเกณฑ์

3. ยื่นขอฝึกอบรมวิชาชีพ เช่น เย็บผ้า วันละ 120 บาท เป็นเวลา 10 วัน ที่ศาลากลางจังหวัด แต่ศูนย์ฝึกอบรมอยู่กลางทุ่งนา แถวบางปะหัน 

4. ไปสมัครฟื้นฟูสอนทักษะพัฒนะฝีมือแรงงานของแรงงานจังหวัด จำเป็นต้องรอเรียกตัวจนกว่าจะมีคนมาลงทะเบียนมากขึ้น จึงจะเปิดฝึกอบรมนั้นๆ ซึ่งรอคอยมาเป็นเวลา 1 สัปดาห์

2.3 การลดเงินเดือนพนักงานเอจีซี เทคโนโลยี ประเทศไทย

บริษัทเอจีซี เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน มีเพียงการลดเงินเดือนพนักงานลงเหลือ 75% จนกว่าจะเปิดกิจการในวันที่ 21 มกราคม 2555

ทว่า บริษัทใช้มาตรา 75 ทั้งในยามวิกฤตและก่อนวิกฤตน้ำท่วม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 นายจ้างประกาศลดเงินเดือนพนักงานให้เหลือ 75% โดยอ้างปัญหาความผิดพลาดในกระบวนการผลิต ทำให้พนักงานรู้สึกคับข้องใจอย่างมากจนเกิดการชุมนุมของพนักงานจำนวนกว่า 500 คนที่โรงอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทยเพื่อให้นายจ้างชี้แจงเหตุผล และเรียกร้องไม่ให้นายจ้างลดเงินเดือน เพราะที่เป็นอยู่ก็มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกปี เหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องนำไปสู่การเลิกจ้างแกนนำสหภาพและสมาชิกสหภาพจำนวน 61 คน และขณะนี้เรื่องยังคงอยู่ในกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเลื่อนกำหนดการไต่สวนไปอีก เพราะติดน้ำท่วม

2.4 การเลิกจ้างพนักงานเหมาค่าแรงและการโยกย้ายพนักงานประจำของบริษัทโซนี่ เทคโนโลยี 

บริษัทโซนี่ เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค หยุดงาน 12 ต.ค.จนถึงปัจจุบัน แต่เรียกบางแผนกมาทำงาน พนักงานได้เงินเดือน 75% ในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทบอกเลิกสัญญากับบริษัทจัดหาพนักงานเหมาค่าแรงทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้พนักงานเหมาค่าแรงไม่ได้รับค่าจ้างค่าจ่าย และค่าชดเชย เพราะไม่ทราบสิทธิของตนเอง 

นอกจากนี้ยังได้มีนโยบายย้ายพนักงานประจำทั้งรายวันและรายเดือนไปทำงานที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งพนักงานสงสัยว่าถ้าไม่โยกย้าย บริษัทจะทำอย่างไร เพราะบริษัทไม่มีความชัดเจนในเรื่องการโยกย้ายพนักงานทั้งสิ้น 4,000 คนไปยังจังหวัดชลบุรี บริษัทแจ้งเพียงว่าจะติดต่อเช่าหอพักเอกชนให้ 2 เดือนเท่านั้น และจะให้เงินช่วยเหลือ 2,000 บาท สวัสดิการอีก 3,000 บาทด้วย พนักงานจึงต้องรอบริษัทประกาศอีกครั้งในวันที่ 19 มกราคม 2555 อย่างไรก็ตามได้มีการย้ายบางส่วนมาที่จังหวัดชลบุรีเพื่อมาทดแทนเด็กฝึกงานที่ถูกบอกเลิกสัญญาไป 

ในช่วงระหว่างนี้ บริษัทจ่ายเงินเดือนแก่พนักงาน 75% แต่ไม่จ่ายสวัสดิการอื่นๆ พนักงานที่มีครอบครัวที่ไม่ประสงค์จะโยกย้าย จึงต้องการทราบถึงสิทธิของลูกจ้างที่จะขอบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่ต้องรอถึงปีหน้า

อีกทั้งพนักงานโซนี่ อยุธยากังวลในเรื่องที่อยู่ที่ชลบุรี เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย การเดินทางไม่สะดวก สวัสดิการไม่เท่าเทียมกับพนักงานโซนี่ ชลบุรี และเงินเดือนที่ได้รับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทั้งกังวลว่าถ้าไม่ย้าย นายจ้างจะประกาศตัดสิทธิถูกคัดออกหรือไม่ พร้อมกับไม่จ่ายค่าชดเชย 

3. พื้นที่จังหวัดชลบุรี

3.1 การลดเงินเดือนพนักงานโซนี่

บริษัทโซนี่ เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร บริษัทสั่งหยุดงานตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 12 ธันวาคม 2554 ได้รับเงินเดือน 75% รวมสวัสดิการ โดยบริษัทอ้างว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม อีกทั้งบริษัทมีแผนการโยกย้ายพนักงานไปยังโกดังบางพลี สมุทรปราการ 

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่หยุดงานเกิดปัญหาพนักงานรอไม่ไหว เพราะค่าใช้จ่ายสูง จึงไปหางานทำใหม่ ทำให้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง

3.2 การลดเงินเดือนพนักงานไดดอง

นายจ้างบริษัทไดดอง ชาวเกาหลีได้ประกาศใช้มาตรา 75 แก่พนักงาน โดยอ้างวิกฤตน้ำท่วม สหภาพแรงงานไดดองจึงทำหนังสือคัดค้านไปยังแรงงานจังหวัด บริษัทจึงยินยอมจ่ายครบ 100%

4. พื้นที่จังหวัดลำพูน

บริษัทโฮยา กลาสดิสก์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานเกือบ 2,000 คน ในโรง 2 จากจำนวนพนักงานทั้งสิ้นกว่า 5,000 คนให้เป็นผลในวันที่ 21 ม.ค. 55 พนักงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยนายจ้างอ้างเหตุผลว่า ลูกค้าเลิกสั่งซื้อแล้ว และขาดทุน จึงจำเป็นต้องปิดการผลิตโรง 2 ก่อนหน้านี้บริษัทจ่ายเงินเดือนพนักงาน 75% ช่วงพ.ย.-ธ.ค. 54 โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม และในระหว่างนี้ได้มีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรใหม่เข้ามา

พนักงานกังวลว่านายจ้างจะใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีมาทดแทนคนงานและเลิกจ้างในช่วงวิกฤตน้ำท่วม ทั้งเป็นการฉวยโอกาสทำลายสหภาพแรงงาน และหนีนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศด้วย เพราะจะนำไปสู่การเพิ่มค่าจ้างตามสัดส่วนและตามอายุงานของพนักงาน ดังนั้นพนักงานจึงเรียกร้องไม่ให้มีการเลิกจ้าง

5. พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม

สมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอนครหลวงเล่าว่า บริษัทไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่อ้างน้ำท่วม เพื่อที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงาน 75% จ่ายโบนัส 2 งวด ทำให้พนักงานไม่พอใจเพราะต้องการให้จ่ายงวดเดียวเช่นเคย ส่วนปัญหาหลักของคนงานย่านอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ที่เข้ามาร้องเรียน ณ ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานของกลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ คือการที่คนงานไม่สามารถมาทำงานได้ เพราะบ้านถูกน้ำท่วมในขณะที่โรงงานไม่ถูกน้ำท่วม บางคนถึงกับต้องลาออกไป อีกทั้งโรงงานหลายแห่งมีพฤติกรรมจ่ายค่าจ้าง 75% จนถึงไม่จ่ายเลยทำให้คนงานเดือดร้อนมาก เพราะกำลังถูกลอยแพ

สำหรับกรณีพนักงานบริษัทไดนามิค นายจ้างได้สั่งให้หยุดงานตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วมและไม่ทำการป้องกันน้ำท่วมแต่อย่างใด ทั้งก่อนหน้านี้นายจ้างไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจนถูกประกันสังคมยึดเครื่องจักรไป ในช่วงระหว่างน้ำท่วม บริษัทไม่ได้ติดต่อพนักงานว่าจะจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายหรือไม่ ซึ่งทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานสงสัยและกังวลใจเป็นอย่างมากเป็นเหตุให้กรรมการสหภาพแรงงานคนหนึ่งเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก นอนอยู่โรงพยาบาล ล่าสุด นายจ้างได้เจรจากับสหภาพแรงงานไดนามิคแล้ว ตกลงว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้คนงานทุกคนๆ ละ 2,000 บาท จนกว่าโรงงานจะเปิดทำการผลิต แต่จะไม่จ่ายค่าจ้างเต็ม ซึ่งเงินจำนวนนี้น้อยมาก ไม่เพียงพอในการดำเนินชีวิต อีกทั้งพนักงานจำนวนมากประสบภัยน้ำท่วม พวกเขาจึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว 

สรุปประเด็นปัญหาแรงงานในช่วงระหว่างและหลังเกิดอุทกภัย

ไม่ใช่เพียงแต่นายจ้างเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน ลูกจ้างก็เช่นเดียวกัน แต่ลูกจ้างยังประสบปัญหาการขาดรายได้ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น สูญเสียสถานภาพของการเป็นลูกจ้าง ขาดความมั่นคงในการทำงาน ไร้อำนาจการต่อรองกับนายจ้าง โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

1.การเลิกจ้างพนักงาน มี 5 รูปแบบ ได้แก่

1.1 เลิกจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรง (sub-contract) โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย อันเป็นการลอยแพผู้ใช้แรงงานที่ถูกจ้างงานอย่างยืดหยุ่น พวกเขาไม่ได้รับการปกป้องสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทันท่วงที 

1.2 เลิกจ้างพนักงาน แต่ยังไม่ปิดกิจการ โดยที่นายจ้างพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย ไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยต่างๆ ทำให้พนักงานไม่พอใจเป็นอย่างมากและรู้สึกถูกซ้ำเติมจากนายจ้าง 

1.3 เลิกจ้างพนักงาน โดยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย แต่ไม่จ่ายสวัสดิการบางส่วน เช่น โบนัส เบี้ยขยัน 

1.4 เลิกจ้างแบบเลือกปฏิบัติ แม้จะมีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่นายจ้างกลับเลือกจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างที่ไม่ถูกเลิกจ้าง ทำให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม

1.5 เลิกจ้างเพื่อมุ่งทำลายสหภาพแรงงาน เลือกเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงาน เลิกจ้างพนักงานเกือบทั้งหมดที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพื่อไม่ให้สหภาพแรงงานดำเนินกิจการได้ และหมดอำนาจการต่อรองในที่สุด

แรงงานประเภทที่ถูกกระทำมากที่สุด โดยเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมาย คือ คนงานเหมาค่าแรง คนงานชั่วคราว คนงานรายวัน ตามลำดับ 

2. การจ่ายเงินเดือนไม่ครบ 100%

2.1 รัฐช่วยเหลือนายจ้างให้สามารถจ่ายเงินเดือน 75% แก่พนักงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างที่สถานประกอบการถูกน้ำท่วม แต่นายจ้างบางคนไม่จ่ายสวัสดิการอื่นๆ ทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้จำนวนมาก เพราะฐานเงินเดือนต่ำอยู่แล้ว ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายประจำ และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอันเนื่องจากบ้านและทรัพย์สินเสียหายจากอุทกภัย ลูกจ้างส่วนหนึ่งจึงออกจากงานไป เพื่อไปหางานทำใหม่ 

2.2 การใช้มาตรา 75 ครอบคลุมไปจนถึงสถานประกอบการที่ไม่ถูกน้ำท่วม ทำให้มีบางแห่งมักอ้างว่าถูกน้ำท่วม หรืออ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย การใช้มาตรา 75 แบบเหมาเข่งนี้ขาดการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างละเอียด ทำให้คนงานเสียสิทธิประโยชน์มากมาย

 

2. ความไม่เพียงพอของมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

จากกรณีปัญหาแรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือ และฟื้นฟูสถานะของความเป็นลูกจ้าง แต่กลับเผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิ และความไม่มั่นคงในการทำงาน อันเนื่องมาจากระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น จึงต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามกฎหมาย

ยังมีข้อสงสัยจากพนักงานถึงเงินช่วยเหลือเยียวยา 2,000 บาท ว่า นายจ้างที่ตกลงทำ MOU กับรัฐบาลเพื่อชะลอการเลิกจ้างนั้น ละเมิดข้อตกลงหรือไม่ และเมื่อเลยระยะเวลา 3 เดือนแล้ว จะมีอะไรประกันว่าพวกเขาจะไม่ถูกเลิกจ้าง เมื่อแรงงานไม่สามารถคงสถานะความเป็นลูกจ้างได้ คำถามคือ มาตรการอื่นๆ นั้นมีประสิทธิภาพเพียงใดในการฟื้นฟูจิตใจ งาน และชีวิตให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุด เช่น 

-เงื่อนไขการกู้เงินที่เป็นอุปสรรคต่อแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์

-ความไม่สะดวกในการเดินทางไปทำงานต่างถิ่น เพราะไม่มีเงินรองก้นกระเป๋าเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการย้ายที่อยู่ใหม่ 

- ความกังวลต่อการกลับเข้ามาทำงานเดิม เนื่องจากยังไม่เห็นว่ามีบริษัทใดประกาศออกมาชัดเจนต่อกรณีที่พนักงานของตนไปทำงานที่อื่นในช่วงเวลาที่โรงงานยังไม่เปิดกิจการ 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจึงมีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของแรงงานและสอดรับกับสภาพความเป็นจริง ดังต่อไปนี้

3. ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาล

มี 5 ข้อดังนี้

1. รัฐต้องปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้แรงงานให้สามารถสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง ในประเด็นต่อไปนี้ 

1.1 ประกาศขยายการใช้มาตรการให้เงินช่วยเหลือแรงงาน 2,000 บาทที่จ่ายผ่านนายจ้างต่อไปอีก เนื่องจากเมื่อชะลอการเลิกจ้างออกไปครบ 3 เดือนแล้ว อาจมีความเป็นไปได้ที่พนักงานจะถูกลอยแพมากขึ้นในช่วงต้นปี 2555 และบังคับให้นายจ้างทำข้อตกลงนี้ทุกคน

1.2 เปิดโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อยประมาณเดือนละ 5,000 บาท สามารถกู้เงินกองทุนประกันสังคมได้ โดยลดเงื่อนไขบางประการ ให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราต่ำ และผ่อนชำระเป็นรายเดือน เมื่อหางานทำใหม่ได้แล้ว 

2. หากสถานประกอบการใดไม่สามารถดำเนินกิจการได้ภายในปี 2555 ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย

3. รัฐควรให้เงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้ใช้แรงงานที่ถูกลอยแพ ได้แก่ กลุ่มคนงานเหมาช่วง คนงานหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังว่างงาน คนงานสูงอายุ เนื่องจากหางานทำยากและอาจใช้เวลานาน เพราะนายจ้างส่วนใหญ่ไม่รับเข้าทำงาน

4. ขยายเวลาประกันการว่างงาน เป็น 10 เดือน เพื่อให้โอกาสแก่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ แรงงานสูงวัย แรงงานที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง

5. รัฐบาลจะต้องตรวจสอบการกระทำไม่เป็นธรรมของสถานประกอบการที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย ลอยแพพนักงาน จงใจทำลายสหภาพแรงงานและอำนาจการต่อรอง เพื่อลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาของแรงงานที่กำลังเกิดขึ้น ดังกรณีปัญหาที่นำเสนอไปแล้วข้างต้น

ทั้งนี้แรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด คือคนส่วนใหญ่ที่ได้ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงควรได้รับสวัสดิการที่ดีอย่างถ้วนหน้า และมีความมั่นคงในการทำงาน อันเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และช่วยสร้างมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้ดีขึ้นด้วย

..........

[1] การผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว สมาชิกประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก (มีสมาชิก 40 สหภาพแรงงาน) โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สภาองค์การสิทธิแรงงาน นักพัฒนาเอกชนจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน สหภาพแรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์  สหภาพแรงงานฟูจิตสึ (บ.โตชิบา) การรวมตัวกันและการทำกิจกรรม ศึกษาวิจัยต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์สากล (ตั้งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์) 

[2] เว็บไซด์โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย. แหล่งที่มา: http://www.thailabour.org/autopagev4/show_page.php?topic_id=1563&auto_id=7&TopicPk= 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ถก พ.ร.บ.แร่ภาคประชาชน จี้ยกเลิกกฎหมายเอื้อนายทุน

Posted: 25 Dec 2011 07:02 PM PST

เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกับการทำเหมืองแร่ เปิดเวทีระดมสมอง นำเสนอมุมมองต่อ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ที่จะออกโดยประชาชนเจ้าของปัญหา เพื่อยกเลิกกฎหมายเก่าที่เอื้อต่อนายทุนเหมืองแร่

 
 
วานนี้ (25 ธ.ค.54) เวลาประมาณ 09.00 น. มูลนิธิสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดเวทีระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการยกร่าง “ร่างพระราชบัญญัติแร่ (ภาคประชาชน)” ณ ห้องประชุมอาคาร 14 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จ.อุดรธานี เพื่อร่วมกันนำเสนอมุมมองต่อการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ ฉบับปี พ.ศ.2510 โดยมีตัวแทนเครือข่ายองค์กรชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการเหมืองแร่เข้าร่วม อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กลุ่มเครือข่ายผลกระทบจากการทำนาเกลือ จ.นครราชสีมา กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย เป็นต้น
 
ในเวทีมีการให้ข้อของมูลกฎหมายดังกล่าวว่า พ.ร.บ.แร่ ฉบับแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2510 โดยเริ่มต้นเพื่อให้สอดคล้องกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ซึ่งหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับแรกอยู่ที่การให้ความสำคัญในการเปิดการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ ให้เกิดการขยายตัวในการขออนุญาตทำเหมืองแร่ และเน้นการผูกขาดการให้อนุญาตอยู่ที่อำนาจรัฐ ต่อมา พ.ร.บ.แร่ (แก้ไข ฉบับที่ 2) ปี พ.ศ.2516 ได้เพิ่มการให้สัมปทานอนุญาตในการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน และ  พ.ร.บ.แร่ (แก้ไข ฉบับที่ 5) ปี พ.ศ.2545 เพิ่มการให้สัมปทานอนุญาตทำเหมืองใต้ดิน โดยทั้งสองฉบับที่แก้ไขเป็นการขยายขอบเขตอำนาจรัฐเพื่อการรองรับการสัมปทานแร่ที่หลากหลายขึ้น โดยใช้หลักการ แร่อยู่ที่ใด แก้กฎหมายให้สัมปทานได้ที่นั่น ที่ผ่านมามีการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ มาแล้วทั้งสิ้น 5 ฉบับ และปัจจุบันยังคงใช้ พ.ร.บ.กฎหมายแร่ ปี พ.ศ.2510
 
อ.ศักดิ์ณรงค์ มงคล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่ติดตาม พ.ร.บ.แร่ อย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า  เราต้องยกเลิก กฎหมายแร่ ฉบับ พ.ศ.2510 นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจในการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศ ไปตกอยู่กับกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการ และภาครัฐเพียงอย่างเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลพื้นฐานของทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในชุมชนตนเอง เพื่อนำสู่การจัดการทรัพยากรแร่ร่วมกัน
 
“ภาคประชาชนต้องร่วมกันออกแบบร่างกฎหมายแร่ ที่ร่างขึ้นจากตัวประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่และจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่เอง หากร่างกฎหมายแร่ภาคประชาชนแล้วเสร็จ ก็จะร่วมกันผลักดันสู่กรอบมติของประชาคมทั่วประเทศต่อไป” อ.ศักดิ์ณรงค์กล่าว
 
ในส่วนของชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้มีความเห็นว่า สิทธิของประชาชนในการจัดการทรัพยากรในปัจจุบันมีอยู่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 66 และ 67 ว่าด้วยสิทธิชุมชน มาตรา 41 สิทธิในทรัพย์สินที่ดิน  และ มาตรา 43 สิทธิในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ซึ่งหากประกอบขึ้นร่วมกับร่างกฎหมายแร่ของภาคประชาชนที่จะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรตนเองได้อย่างยั่งยืนและสมดุล
 
นายถาวร เพชรขุนทด แกนนำกลุ่มเครือข่ายผลกระทบจากการทำนาเกลือ กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายแร่ปล่อยให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการทรัพยากรเพียงฝ่ายเดียวนั้น มักที่จะมีปัญหาตามมา เช่น ในกรณีของ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา ที่ไร่นาของชาวบ้านเสียหายจากการปล่อยน้ำเกลือลงสู่ไร่นาชาวบ้านของอุตสาหกรรมเหมืองเกลือขนาดใหญ่ จนทำนาไม่ได้ คิดเป็นพื้นที่เสียหายกว่า 2,000 ไร่ มิหนำซ้ำกฎระเบียบหรือกฎหมายเองก็ยังเอื้อต่อนายทุนเป็นอย่างมาก
 
“การมีกฎหมายแร่ที่ยกร่างโดยภาคประชาชนนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ผมก็คาดว่าหากเกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยพวกเราเองอย่างแท้จริง” นายถาวรกล่าว
 
ด้าน นายปัญญา โคตรเพชร เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า  ที่ผ่านมาชาวบ้านต้องตกอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายแร่ที่ถูกร่างขึ้นโดย นายทุนผู้ประกอบการผ่านการเอื้อประโยชน์โดยรัฐ ซึ่งชาวบ้านทำได้เพียงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการต่อสู้ หากชาวบ้านมีโอกาสรับรู้และมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายแร่ซึ่งเกิดจากตัว ประชาชนเอง ย่อมจะทำให้สิทธิในการต่อสู้กับทุนที่จะรุกรานทรัพยากรท้องถิ่น มีความเท่าเทียมมากขึ้น
 
“ร่าง พ.ร.บ.แร่ ภาคประชาชนฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้จากการรุกรานทรัพยากรท้องถิ่นของทุนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นกฎหมายที่อ้างอิงจากสภาพจริงและความต้องการของชาวบ้านเอง ไม่ใช่ของภาครัฐและนายทุน” นายปัญญากล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น