ประชาไท | Prachatai3.info |
- ฟื้นฟูประชาธิปไตยเสนอยุบ คสช. เหลือแต่รัฐบาลรักษาการ-จัดเลือกตั้งปีนี้
- เสนอเพิ่มเงินเดือนตำรวจครั้งใหญ่ แก้รีดไถ-รับส่วย
- เครือข่ายสุขภาพจับมือแก้ปัญหาตู้น้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน-ดีเดย์รณรงค์ทั่ว กทม. 30 เม.ย.นี้
- กอ.รมน. แจงข้อร้องเรียนโกงเงินเบี้ยเลี้ยง ตชด. ชายแดนใต้
- นายกฯ รังสิต ระบุ สตง.ท้วงติงท้องถิ่นทำ ‘พิษสุนัขบ้า’ ระบาดพุ่ง ชี้ กม.ไม่ตรงกับสถานการณ์จริง
- เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: นักวิชากาลสังคมศาสน์
- #ออเจ้าได้โปรดทบทวน อดีต ส.ส.กทม. ทวงสัญญาปฏิรูปผังเมือง
- มติเอกฉันท์ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ไม่เซ็ตซีโร่ ชี้ไม่ขัด รธน.
- หมอแคนาดาประท้วงไม่ให้ขึ้นเงินเดือนตัวเอง ให้นำไปช่วยบุคลากรอื่นที่ทำงานหนักและคนไข้
- ผู้หญิงในสเปน 5.3 ล้านหยุดงานประท้วงใหญ่วันสตรีสากล ต้านวัฒนธรรม 'อ้างความเป็นชายกดข่ม'
- วันสตรีสากลในฟิลิปปินส์-สภาพการเมืองที่กดขี่ผู้หญิงและรังแกคนเห็นต่าง
- กวีประชาไท: ทวงถามกระหน่ำทาง (กรณีการสังหาร ชัยภูมิ ป่าแส)
ฟื้นฟูประชาธิปไตยเสนอยุบ คสช. เหลือแต่รัฐบาลรักษาการ-จัดเลือกตั้งปีนี้ Posted: 10 Mar 2018 02:30 AM PST กลุ่ม "ฟื้นฟูประชาธิปไตย" แถลงข่าวและปราศรัยที่ มธ. ชี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ส.-ส.ว. ผ่านแล้ว สามารถจัดเลือกตั้งได้ภายในปีนี้ คสช. ไม่จำเป็นต้องอยู่แล้ว "รังสิมันต์ โรม" เรียกร้องยุบ คสช. คงเหลือแต่รัฐบาลรักษาการทำหน้าที่จัดเลือกตั้งภายในปีนี้ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ย้ำประเทศไทยไม่ต้องการให้ทหารอยู่ในการเมืองอีกแล้ว คลิปช่วงแถลงข่าวของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เรียกร้องยุบ คสช. คงเหลือรัฐบาลรักษาการเพื่อจัดเลือกตั้งปีนี้ บรรยากาศชุมนุม "รวมพลังถอนราก คสช." ช่วงแรก
"รวมพลังถอนราก คสช." ช่วงที่ 2 โบว์ ณัฏฐา มหัทนา ถามทำไมจึงพอใจกับรัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน ช่วงท้ายของกิจกรรม "รวมพลังถอนราก คสช." โดยจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เผย 18 มี.ค. เตรียมจัดกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ขณะที่ทนายอานนท์ นำภา เรียกร้อง คสช. ยุติการปฏิบัติหน้าที่ หวั่น ม.44 แผลงฤทธิ์ช่วงเลือกตั้ง หาก คสช. ยังอยู่ 10 มี.ค. 2561 เมื่อเวลา 16.30 น. กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ตั้งโต๊ะแถลงข่าว "รวมพลังถอนราก คสช." ที่มุมสนามฟุตบอล ด้านตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาเฝ้าและดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ด้วย โดย พ.ต.อ.พิทักษ์ สุทธิกุล ผกก.สน.ชนะสงคราม ระบุว่าผู้จัดชุมนุมได้ขออนุญาตจัดชุมนุมโดยจะขอใช้สนามฟุตบอลตั้งแต่เวลา 16.00 - 21.30 น. ในช่วงแถลงข่าวรังสิมันต์ โรม แกนนำ DRG ย้ำจุดยืนเดิมว่าทางกลุ่มยังเชื่อว่าการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่การที่ สนช. เลื่อนการใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้ง ส.ส. ไป 3 เดือน รวมทั้งการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. สะท้อนความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีนี้ แต่จะเลื่อนไปอย่างน้อยจนถึงปีหน้า ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอเลิก คสช. คงเอาไว้แต่รัฐบาลรักษาการ เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เอาทหารออกจากการเมือง ทั้งนี้ไม่มี คสช. มีแค่รัฐบาลรักษาการ การเลือกตั้งก็สามารถเกิดได้ ประเทศไทยไม่ต้องการให้ทหารอยู่ในการเมืองแล้ว คสช. ที่บอกว่าเข้ามาเพื่อรักษาความสงบนั้น ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว บัดนี้ประเทศไทยต้องการกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ด้านสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ "จ่านิว" กล่าวด้วยว่าประเทศไทย สังคมไทย อยู่กันต่อได้โดยไม่ต้องมี คสช. คงเหลือแค่รัฐบาลรักษาการนำไปสู่การเลือกตั้งที่จริงใจ เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้การคงไว้ซึ่ง คสช. ไม่มีหลักประกันที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะที่ผ่านมา คสช. ใช้อำนาจพิเศษในการบริหารราชการแผ่นดินทุกด้าน สิ่งที่เสนอคือ คสช. ต้องยุติการทำงาน เพราะประเทศไทยมีแค่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยก็พอแล้ว ไม่ต้องมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังแถลงข่าวสิรวิชญ์ หรือ "จ่านิว" นำประชาชนทำกิจกรรมทางสัญลักษณ์ ถอนราก คสช. โดยให้ผู้เข้าร่วมลากรถถังจำลอง "เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คสช. ได้ปลูกต้นไม้พิษไว้ต้นหนึ่ง ตอนนี้รากมันยังเป็นรากฝอย แต่ถ้าปล่อยไว้อีกสองสามปีมันจะเป็นรากแก้ว" "ขอให้วันนี้เป็นหมุดหมายเพื่อถอนรากของ คสช. ให้หมดไปจากสังคมไทย" จ่านิวกล่าว นอกจากนี้ยังมีการปราศรัยบนเวทีที่ทำจากรถบรรทุกติดเครื่องเสียง โดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวว่า 4 ปีของการรัฐประหารเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบกระโดดลงคลอง คำสั่ง คสช. ทำให้ผมต้องเรียนวิชาเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือวิชาหน้าที่พลเมือง เขาให้เราท่องค่านิยม 12 ประการ ผมจำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้างเพราะทุกคนก็รู้ว่ามันมีไว้ล้างสมองเด็ก" "การเมืองจะไปต่อได้ไม่ใช่แค่ คสช. ออกไป แต่คือการสะสางอำนาจเก่าที่สะสมมานาน จะต้องไม่มีรัฐประหารครั้งไหนอีกในสังคมไทย" ปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) ต่อมาปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) ปราศรัยว่า "ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ถ้าไม่ติดวังวนรัฐประหารซ้ำซ้อนและภาวะรัฐซ้อนรัฐ ไทยก็ไม่ต้องมาเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เราจะก้าวหน้าไปไกลกว่านี้" "ทั้งนี้ไทยมีรัฐวิสาหกิจทั้งที่จดและไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 56 องค์กร มีสินทรัพย์รวม 14 ล้านล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 1.5 แสนล้าน แต่ คสช. เข้ามา ให้ทหารไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจแล้ว 80 คน ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งไม่มีใครยอมรับหรอก" "ข้างใน (การไฟฟ้านครหลวง) มีคนที่รอวันมาเข้าร่วมกับพี่น้อง ตั้งแต่ระดับช่างจนถึงผู้บริหาร ทุกวันนี้ไม่มีคำว่าเป็นกลาง มีแต่บ้านเมืองแบ่งเป็นสองสีแล้วว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือเผด็จการ" ณัฏฐา มหัทธนา ณัฏฐา มหัทธนา ขึ้นปราศรัย ระบุถึงผลเสียของการยึดอำนาจของ คสช. ว่า รัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน สื่อไม่มีเสรีภาพในการทำข่าวว่า เหมือนประชาชนได้พ่อบ้านมาหนึ่งคน แล้วก็ฝากกุญแจลิ้นชักเอาไว้กับพ่อบ้าน เท่ากับพ่อบ้านจะไขลิ้นชักเอาเงินก็ได้ หรือจะเอาเงินไปซื้อปืนมายิงประชาชนก็ได้ การที่ประยุทธ์ใช้เวลาช่วงไพรม์ไทม์ ไปออกโทรทัศน์ทุกวันศุกร์สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมสื่อเพราะขาดรายได้ช่วงดังกล่าว นอกจากนั้น นโยบายไทยนิยมที่ออกมาแล้วให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่พลเรือนกับทหาร ในการลงไปให้ความรู้ สอบถามความต้องการชาวบ้านก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือขอบเขตของทหาร และการที่เพิ่งมาทำในโค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งถือว่าผิดมารยาททางการเมืองในฐานะรัฐบาลรักษาการก่อนจะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ควรทำหน้าที่เพียงดำเนินการส่งต่องานให้รัฐบาลหน้า อานนท์ นำภา อานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัย ระบุว่า ความตั้งใจของ คสช. คือ ให้มีการเลือกตั้งแล้วตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพื่อที่ คสช. จะดำรงอยู่ในอำนาจต่อ ตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญมาตรา 265 วรรค 1 (ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลัง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่) โดยทำให้การเมืองหลังเลือกตั้งถึงทางตัน หานายกฯ คนนอก และนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งได้ยากตามระบบการเลือกตั้งที่ถูกเปลี่ยนแปลง จึงขอให้ประชาชนกดดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งสภาอยู่ตรงข้ามกับฝั่งเผด็จการ "เราต้องเดินไปกดดัน ส.ส. 500 คนให้ยืนอยู่ตรงข้ามกับ คสช. เราต้องเดินไปกดดันพรรคการเมืองแต่ละพรรค ให้แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะอยู่ข้างประชาชนหรือเผด็จการ วันนี้พรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนตรงข้ามเผด็จการแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังอ้ำๆ อึ้งๆ พรรคอื่นก็มีสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์" "เรามีนัดกันอีกครั้งที่นี่ในวันที่ 24 มี.ค. ขอให้พี่น้องต่างจังหวัดจองรถ จองเครื่องมาชุมนุมให้เต็มสนามฟุตบอล มธ. มาแสดงให้เห็นว่าประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" อานนท์ กล่าว จ่านิว ขึ้นปราศรัยต่อจากอานนท์ สะท้อนกรณีที่นิสิตฝึกงานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเปิดโปงการโกงงบช่วยเหลือคนจนในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า รมว.พม. ออกมาบอกว่าจะแก้ปัญหาด้วยการใช้มาตรา 44 ซึ่งจ่านิวตั้งข้อสงสัยว่า แล้วบ้านเมืองนี้มีขื่อมีแปหรือเปล่า "สิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่ คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำให้เกิดความเสื่อม นี่คือสัจธรรมที่โลกสอนให้รู้ว่า อำนาจเบ็ดเสร็จนำไปสู่ความเสื่อม เพราะอำนาจมันไม่ชอบธรรมตั้งแต่ยึดอำนาจมาตั้งแต่แรกแล้ว" "วันนี้ข้อเสนอของเราต้องไปถึง พล.อ. ประยุทธ์ ต่อให้เขาจะปิดเฟซบุ๊ค ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ แต่เราจะส่งเสียงของเราไปให้ถึง...ให้เลือกเอาอว่าจะลงจากอำนาจไป แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรี บริสุทธิ์ ยุติธรรม หรือจะจบแบบเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส(ประธานาธิบดีเผด็จการฟิลิปปินส์ที่ปกครองประเทศเป็นเวลาเกือบ 21 ปี และพ้นจากตำแหน่งโดยการหลบหนีออกนอกประเทศ หลังการลุกฮือของประชาชน ในปี 2529)" จ่านิวกล่าว รังสิมันต์ โรม รังสิมันต์ โรม ขึ้นปราศรัยต่อจากจ่านิว โดยเชิญชวนประชาชนให้ออกมาต่อสู้จนกว่าจะได้ประชาธิปไตยคืนมา และเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ลงจากอำนาจ หยุดลากเลือกตั้งออกไป "เราเสียเลือดเนื้อมานาน หลายคนที่บ้านก็บอกว่าไม่อยากมาแล้ว แต่เราต้องการทุกคนเพื่อสิ่งที่พวกเราต้องการที่สุด คือประชาธิปไตย" "หลายปีที่ผ่านมาประชาชนเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว หลายคนเลยคิดว่าอยู๋บ้านดีกว่า ซึ่งถ้าเราไม่สู้เราก็แพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราออกมาสู้ ขอแค่ครั้งเดียวที่เราชนะ แล้วมันจะเปลี่ยน เราจะเห็น พล.อ.ประยุท์ ใส่โซ่ตรวจและชุดนักโทษเหมือนที่พวกเราเคยใส่" "พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าต้องใช้โครงการไทยนิยมเพื่อสร้างความยั่งยืนด้วยการส่งเจ้าหน้าที่รัฐลงไปตามหมู่บ้านเพื่อถามว่าชาวบ้านมีปัญหาอะไร ต้องการอะไร เพราะท่าน (ประยุทธ์) รู้ดีว่าท่านไม่เหลือกองหนุนแล้ว ท่านจึงหันมาหาประชาชน ทั้งที่ 4 ปีที่ผ่านมาท่านไม่เห็นหัวประชาชนเลย" รังสิมันต์ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. หยุดลากการเลือกตั้ง ลงจากอำนาจ หยุดผูกขาดชาติไทยไว้ที่ทหาร ชาติจะต้องเป็นของประชาชน และมีข้อเรียกร้องสองประการ หนึ่ง ยุบ คสช. เอาหทารออกจากการเมืองไทย ให้ไทยมีการเมืองที่เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ อย่าสร้างกติกาที่ไม่เป็นธรรม พอกันทีกับกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ สอง ต้องปลดอาวุธ คสช. ยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 57/2557 ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจการให้เต็มที่ ให้ประชาชนแสดงพลังได้อย่าเต็มที่ กิจกรรมสิ้นสุดลงในเวลาราว 20.30 น. โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมต่างเก็บขยะและแยกย้ายกลับ
ช่วงท้ายของกิจกรรม "รวมพลังถอนราก คสช." โดยจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เผย 18 มี.ค. เตรียมจัดกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้โดยจะเปิดเผยรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนในกรุงเทพฯ จะจัดกิจกรรมอีกครั้งวันที่ 24 มี.ค. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสนอเพิ่มเงินเดือนตำรวจครั้งใหญ่ แก้รีดไถ-รับส่วย Posted: 10 Mar 2018 01:54 AM PST คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เสนอเพิ่มเงินเดือนตำรวจชั้นประทวน 4,300-5,000 บาท/เดือน และระดับอื่น ๆ ตามสัดส่วนที่ต่างกัน แก้ปัญหาอ้างหารายได้พิเศษรีดไถ-รับส่วย 10 มี.ค. 2561 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายมานิจ สุขสมจิตร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการที่มี พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้พิจารณา ถึงประเด็นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการบริหารบุคคลเสนอให้พิจารณา งานตำรวจเป็นงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ระหว่าง 13.56-22.57 เท่า ซึ่งในต่างประเทศนั้นค่าตอบแทนของตำรวจชั้นประทวนกับค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนสามัญมีสัดส่วน ความเสี่ยง 1.28 ต่อ 1 ส่วนระดับสัญญาบัตรมีสัดส่วน 1.74 ต่อ 1 นายมานิจ กล่าวว่าจากผลการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เสนอว่าข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามซึ่งมีความเสี่ยงเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่างานตำรวจในกลุ่มงานอำนวยการและกลุ่มงานสนับสนุนคิดเป็นค่าเฉลี่ย 2.66 ต่อ 2.97 จึงควรได้รับเงินเพิ่มในระดับชั้นประทวนเป็นเงิน 4,300-5,000 บาท ต่อเดือนและในระดับสัญญาบัตรเป็นเงิน 18,500-21,500 บาทต่อเดือน จะมีผลทำให้ตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตำแหน่ง ผบ.หมู่ที่จบจากโรงเรียนนายสิบ ได้เงินเดือนแรกบรรจุเดือนละ 9,330 บาทบวกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งอีก 4,300-5,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 15,630-16,330 บาท ส่วนตำแหน่งรองสารวัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจควรจะได้รับเงินเดือนๆแรกบรรจุ 15,290 บวกกับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง 18,500-21,500 บาทจะทำให้มีรายได้เดือนละ 33,790-36,790 บาท นายมานิจ กล่าวต่อว่านอกเหนือจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลที่ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาหรือที่เรียกว่า "ค่าทำสำนวน" เพิ่มขึ้นอีก 100% เพราะอัตราที่ใช้อยู่ กำหนดไว้เมื่อ พ.ศ. 2534 และยังมิได้ปรับเพิ่มในขณะที่ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นอัตราที่เสนอใหม่จะเป็นดังนี้ (1) กรณีที่เกิดคดีอาญาขึ้นและไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เดิมไม่จ่าย ส่งผลให้พนักงานสอบสวนไม่อยากทำสำนวนหรือไม่รับคดีจึงเสนอให้จ่ายค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาประเภทที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่เกินคดีละ 500 บาท (2) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 500 บาท) (3) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 3-10 ปีเสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 2,000บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท) (4) ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป เสนอให้จ่ายไม่กินคดีละ 3,000(ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,500บาท) "เหตุผลในการเสนอขอปรับอัตราค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวก็เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด" นายมานิจ ระบุ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) กล่าวด้วยว่าในการเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลนั้น ได้เสนออัตรารายได้ของตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปราม ให้ต่ำกว่าอัตราที่เสนอโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพราะไม่อยากให้กระทบต่องบประมาณในภาพรวมของประเทศ แต่เมื่อได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางรวมทั้งเหตุผลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ว่าให้ "มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่้เหมาะสม" ซึ่งเป็นอาชีพเดียวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม "แสดงว่าปัจจุบันนี้ ตำรวจได้รับค่าตอบแทนที่ยังไม่เหมาะสม จึงอ้างว่ารายได้ไม่เพียงพอต้องหารายได้พิเศษจากการรีดไถ และรับส่วย เมื่อเพิ่มรายได้ให้แล้วควรจะได้กวดขันตำรวจที่ทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป ที่ประชุมจึงเห็นสมควรให้ปรับค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตามผลการศึกษาวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และควรมีการพิจารณาค่าตอบแทนดังกล่าวทุกห้าปีด้วย" คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เครือข่ายสุขภาพจับมือแก้ปัญหาตู้น้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน-ดีเดย์รณรงค์ทั่ว กทม. 30 เม.ย.นี้ Posted: 10 Mar 2018 12:56 AM PST เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ "น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน" ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และตัวแทนประชาชนจากเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ร่วมหารือ 10 มี.ค. 2561 รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแหงชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ กล่าวว่า น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน เป็น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2559 เนื่องจากปัจจุบันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ แต่ยังขาดการดูแลและควบคุมมาตรฐานอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเปลี่ยนไส้กรองให้ได้คุณภาพความปลอดภัย ดังปรากฏตู้น้ำดื่มเถื่อนที่ตั้งตามชุมชนต่างๆ จำนวนมากที่ไม่ได้รับอนุญาตและขาดมาตรฐาน อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว โดยที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่า กทม. เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ เพื่อผลักดันแนวทางแก้ปัญหาในระดับนโยบาย โดยจะมีการประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในการจัดการกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเถื่อน ดีเดย์ดำเนินงานวันที่ 30 เม.ย.นี้ และเสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่กำลังดำเนินการออกมาตรฐานทั่วไปให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีสัญญาณแจ้งเตือนการเปลี่ยนไส้กรอง ให้ออกเป็นมาตรฐานบังคับเพื่อให้การบังคับใช้ได้ผลที่สุด "เราต้องการกระตุกสังคมและให้หน่วยงานรัฐเข้ามารับผิดชอบในการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักและระมัดระวังว่ามีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเถื่อนจำนวนมากใน กทม." รศ.ดร.จิราพร กล่าว น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งตามชุมชนต่างๆ กว่า 90% เป็นตู้เถื่อนที่ไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี ถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ต่อไปตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจะกลายเป็นตู้เถื่อนทั้งหมด ในระหว่างนี้จะติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 50 เขตของ กทม. ที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนและมีอำนาจหน้าที่ดูแล รวมถึงขอให้กรมการค้าภายในควบคุมราคาของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ "ภาคีเครือข่ายกำหนดให้วันที่ 30 เม.ย. ซึ่งเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค เป็นวันดีเดย์จัดเดินสายออกไปปิดป้ายตู้เถื่อนในเขต กทม. ให้คนทั่วไปและสาธารณะรับรู้สภาพปัญหาที่ต้องได้แก้ไขเร่งด่วน" ในขณะที่ตัวแทนจากกรมอนามัยรายงานว่า ปัจจุบัน อยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทย พ.ศ.... และจะนำเข้าคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดต่อไป เพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ต่างๆ ด้าน นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. จะประสานสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและเป็นกรรมการเขตสุขภาพกทม. เพื่อเชื่อมการทำงานทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง จะช่วยผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการทำงานเบื้องต้นในการออกไปติดป้ายตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน ควรต้องเริ่มในเขต กทม. ที่เต็มใจและพร้อมให้ความร่วมมือก่อนขยายผลต่อไป นางสำลี ศรีระพุก ผู้ประสานงานโซนเจ้าพระยาคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวนมากขึ้นสนิม ไส้กรองชำรุดเสียหาย แต่ยังเปิดขายได้อยู่ ซึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่พร้อมชี้เป้า ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตและภาคีเครือข่ายให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง เพื่อให้การทำงานเดินหน้าได้ในระยะยาวและแก้ปัญหาได้จริง อนึ่ง ในการประชุมฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นำตัวอย่างผลการวิจัยปี 2558 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขต กทม. จำนวน 855 ตู้ มีใบอนุญาตประกอบกิจการเพียง 3 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีฉลากระบุวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรอง ต่อมาในปี 2559 กลับไปสุ่มสำรวจอีกครั้งพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการแก้ไข ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กอ.รมน. แจงข้อร้องเรียนโกงเงินเบี้ยเลี้ยง ตชด. ชายแดนใต้ Posted: 09 Mar 2018 11:02 PM PST กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจงข้อร้องเรียนกรณีที่มีเพจ CSI LA ระบุว่ามีการโกงเบี้ยเลี้ยง ตชด.ในพื้นที่ภาคใต้ แจงเปลี่ยนแปลงระบบการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแบบใหม่ โดยต้นสังกัดจะโอนเงินเข้าบัญชีของตำรวจเป็นรายบุคคล ล้วเจ้าของบัญชีจะต้องถอนเงินออกมาจ่ายคืนให้กับรายการที่หักค่าใช้จ่ายเอง 10 มี.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.ธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเพจ CSI LA ระบุว่ามีการโกงเบี้ยเลี้ยง ตชด. ในพื้นที่ภาคใต้ ว่าตำรวจตระเวนชายแดนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ละชุดจะได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เท่ากัน หน่วยจึงต้องจัดสรรเบี้ยเลี้ยงให้เหมาะสม ส่วนการร้องเรียนครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแบบใหม่ โดยต้นสังกัดจะโอนเงินเข้าบัญชีของตำรวจเป็นรายบุคคล เริ่มดำเนินการในเดือน ก.พ. 2561 ซึ่งเมื่อเงินเข้าในบัญชีแล้วเจ้าของบัญชีจะต้องถอนเงินออกมาจ่ายคืนให้กับรายการที่หักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าสวัสดิการ ค่าประกอบเลี้ยง หรือค่าอาหารในฐานปฏิบัติการ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และรายการลงบัญชีซื้อสินค้าจากร้านค้าภายในกองร้อยฯ จึงคาดว่าอาจเกิดความเข้าใจผิด และยืนยันว่าไม่ได้เบียดบังสิทธิประโยชน์ของกำลังพลแต่อย่างใด น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดและเข้าใจคลาดเคลื่อน หลังจากนี้จะแจ้งให้กับกำลังพลทราบอย่างละเอียด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นายกฯ รังสิต ระบุ สตง.ท้วงติงท้องถิ่นทำ ‘พิษสุนัขบ้า’ ระบาดพุ่ง ชี้ กม.ไม่ตรงกับสถานการณ์จริง Posted: 09 Mar 2018 10:25 PM PST นายกเทศมนตรีนครรังสิต เผยผลพวงจาก สตง.ทักท้วงท้องถิ่นฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ทำสถานการณ์รุนแรงขึ้น ทำให้ต้องหยุดฉีดยาว 1-2 ปี กว่าจะได้ความชัดเจน ระบุกฎหมายไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เสนอเปิดช่องครอบคลุมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกประเภท นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต จ.ปทุมธานี 10 มี.ค. 2561 นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต จ.ปทุมธานี กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระบาด ภายหลังมีกระแสข่าวว่าเป็นผลพวงมาจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ได้มีภารกิจจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชน หากดำเนินการจะเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายว่า หลังจากที่ สตง.ได้ท้วงติงและยังไม่เกิดความชัดเจนใดๆ ท้องถิ่นจึงต้องหยุดฉีดวัคซีนไป 1-2 ปี ซึ่งระหว่างนั้นในพื้นที่เทศบาลนครรังสิตก็พบสัตว์ที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้าบ้าง แต่ขณะนั้นได้ทำงานร่วมกับปศุสัตว์และได้ใช้วัคซีนของปศุสัตว์ฉีดซ้ำในสัตว์ ตรงนี้ทำให้สามารถจัดการได้และไม่มีการติดโรคมาสู่คน นายธีรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการท้วงทิงจาก สตง.ค่อนข้างมาก เพราะการหยุดฉีดเป็นเวลา 1-2ปี อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ดูรุนแรงขึ้น เพราะท้องถิ่นทุกแห่งก็หยุดฉีดพร้อมกันหมด ซึ่งจริงๆ แล้วการฉีดวัคซีนในอดีตท้องถิ่นก็ไม่ได้รับมาจากปศุสัตว์โดยตรง ส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานร่วมกับภาคสาธารณสุขเป็นหลัก แต่วันดีคืนดีกลับมาบอกว่ารัฐบาลจัดสรรวัคซีนให้กับปศุสัตว์เป็นผู้ฉีดไปแล้ว เมื่อหน่วยตรวจ (สตง.) เอากฎหมายมาตรวจ สถานการณ์จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง "ที่อาจเป็นประเด็นก็คือ ถ้าพื้นที่ใดถูกประกาศให้เป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ คือยังไม่มีสุนัขเป็นบ้าแต่มีความเสี่ยง ตรงนี้เทศบาลลงไปฉีดได้หมด ฉีดฟรี และได้รับเงินจัดสรรมาฉีด แต่ถ้าพื้นที่ใดมีสุนัขตายแล้ว ถูกประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์แล้ว ตรงนี้ต้องฉีดซ้ำทุกตัวในรอบ 1 กิโลเมตร ซึ่งเดิมเราแบ่งว่าเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ดำเนินการ แต่ในความเป็นจริงกรมปศุสัตว์อาจทำไม่ทัน ท้องถิ่นอาจต้องเข้าไปดำเนินการเอง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ถ้าท้องถิ่นจะฉีดอาจต้องขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากปศุสัตว์ หรือถ้าท้องถิ่นจะฉีดเองก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ได้นำไปฉีดซ้ำตัวเดิม คือต้องยืนยันให้ได้ว่าไม่ใช่เป็นการทุจริต" นายธีรวุฒิ กล่าว นายธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า ต้องเข้าใจว่าข้อเท็จจริงในเชิงกฎหมายกับข้อเท็จจริงในเชิงระบาดไม่เหมือนกัน ข้อเท็จจริงในเชิงระบาดคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ และเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา มีประกาศให้เพิ่มแมวเข้ามาอีก 1 ชนิด แต่ในข้อเท็จจริงก็ยังมีสัตว์อื่นอีกมากที่ยังไม่ครอบคลุมอยู่ภายใต้เงื่อนไขการฉีดวัคซีนนี้ เนื่องจากไม่ถูกประกาศเป็นสัตว์ตาม พ.ร.บ.พิษสุนัขบ้า ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องมาดูทิศทางการแก้ไขและแนวทางการในอนาคตให้สอดคล้องต่อไป นายธีรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นเรื่องของงานด้านสาธารณสุข นับเป็นการป้องกันโรค ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หลังจากนั้นมีการพัฒนาของกฎหมายอีกหลายเรื่อง มีกฎหมายที่กำหนดว่าผู้ที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้นั้นจะต้องเป็นสัตวแพทย์หรือผู้ช่วยสัตวแพทย์ นั่นอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะเดียวกันก็มีประเด็นการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน โดย สตง.มองว่าทางกรมปศุสัตว์ได้รับวัคซีนไปแล้ว ท้องถิ่นก็ควรไม่จะต้องไปดำเนินการให้ซ้ำซ้อน "ที่จริงแล้วหน่วยราชการอย่างกรมปศุสัตว์ก็ต้องทำคำของบประมาณไป เช่น ทั้งประเทศอาจต้องใช้ 1 ล้านโดส แต่ก็มีโอกาสถูกตัดงบประมาณ สุดท้ายก็ไม่สามารถรับวัคซีนไปได้หมด แต่ สตง.ไปมองว่าตรงนี้อาจเป็นสิ่งที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ คือ สตง.ไม่ได้มองว่าเราไปฉีดหมาตัวเดียวกันหรือไม่ แต่กลับไปมองว่า ทางปศุสัตว์ได้เงินส่วนนี้ไปแล้ว ท้องถิ่นก็ไม่ควรไปฉีด" นายธีรวุฒิ กล่าว นายธีรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการทำความเข้าใจระหว่างกันและได้ข้อสรุปว่า กรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนให้สุนัขตัวเดียวกันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ ประเด็นต่อมาคือกฎหมายระบุว่าหากเป็นสุนัขที่มีเจ้าของก็จะต้องเก็บค่าฉีดวัคซีน วิธีการแก้ปัญหาคือปศุสัตว์ได้ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ ซึ่งทำให้ท้องถิ่นสามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องเก็บเงิน อย่างไรก็ตามในปีนี้รัฐได้อุดหนุนตามโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า มีการจัดสรรงบเข้ามาให้ท้องถิ่นฉีดเอง ตรงนี้ทำให้ชัดเจนขึ้นและทำให้ปัญหาทุเลาลง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: นักวิชากาลสังคมศาสน์ Posted: 09 Mar 2018 10:24 PM PST กรรมอย่างหนึ่งของนักวิชาการสังคมศาสตร์ที่เป็นผลพวงจากวิธีคิดแบบวิทยาศาสน์ คือการถูกบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ผลิต "สิ่งใหม่" โดยเชื่อว่าสิ่งใหม่ในงานสังคมศาสตร์นี้จะมีประโยชน์ต่อสังคมเฉกเช่นสิ่งใหม่ในงานวิทยาศาสตร์ ปรากฏในรูปเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบตำแหน่งขั้นเงินเดือนผ่านงานวิจัยซึ่งกำหนดควบคุมโดยสถาบันกำกับการศึกษาต่าง ๆ ที่ลดทอนคุณค่างานวิชาการด้านอื่นลงไปขึ้นต่อมิติด้านความใหม่เป็นสำคัญ ที่น่าตระหนกคือ การขูดรีดเอาสิ่งใหม่จากนักวิชาการไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวิธีคิดเกี่ยวกับงานวิจัยและการพิจารณาความดีความชอบของนักวิชาการเท่านั้น แต่ยังแพร่ลามมาถึงการประเมินกิจกรรมทางปัญญาอื่น ๆ ด้วย เสกสรรค์ ประเสริฐกุลเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ถูกคาดเค้นให้ผลิตสิ่งใหม่ตอบสนองผู้ชื่นชอบการบริโภคความใหม่จากงานสังคมศาสตร์ การปาฐกถาที่เสกสรรค์ได้รับเชิญไปกล่าวอย่างน้อย 4 ครั้งหลังรวมถึงงานปาฐกถาล่าสุดในหัวข้อ "ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย" ในวันป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่ว่า "ไม่มีอะไรใหม่" "ไม่มีคอนทริบิวชั่น" แน่นอนว่าปาฐกถาไม่ใช่บทความวิจัยย่อมไม่จำเป็นต้องมีความใหม่เป็นองค์ประกอบหลัก แต่ก็น่าคิดอยู่ว่า "ความใหม่" หรือ "originality" มี "คอนทริบิวชั่น" อย่างไรต่อปัญหาของสังคมไทย ถ้ายึดโยงกับปาฐกถาของเสกสรรค์ ปัญหาเรื้อรังประการหนึ่งของสังคมไทยคือโรคไร้สมรรถนะทางสิทธิเสรีภาพและเสื่อมสมรรถภาพทางประชาธิปไตย รากฐานของปัญหาบางส่วนเกิดจากชนชั้นนำหยิบยืมแนวคิดโบราณกว่าสองพันปีมาเป็นฐานรุกชิงอำนาจจากประชาชนมาไว้ในกำมือ นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ ต่อปัญหานี้ปัญญาชนไทย-เทศจำนวนไม่น้อยทำการสรุปบทเรียนให้มุมมองเสนอแนวคิด "ใหม่" อย่างเป็นระบบต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี ถึงกระนั้น สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในสังคมไทยก็ยังมีสถานะลุ่ม ๆ ดอน ๆ เฟื่องฟูเป็นช่วงสั้น ลดหายเป็นระยะยาวนาน เช่นนี้แล้วคงสรุปเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากข้อเท็จจริงปรากฎให้เห็นว่าแนวคิดใหม่เพียงประการเดียวไม่สามารถผลักดันสังคมไปในทิศทางที่ปรารถนาได้ ข้อแตกต่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์คือ ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาประการหนึ่ง ๆ นั้นมีลักษณะที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับข้อค้นพบหรือแนวคิดเดิมได้ ข้อค้นพบใหม่จะทำให้ข้อค้นพบเดิมหมดประโยชน์ลง (incommensurability) เช่น ข้อค้นพบเรื่องโลกกลมไม่สามารถอยู่ร่วมกับความคิดเรื่องโลกแบนได้ ในขณะที่ความคิดทางสังคมศาสตร์นั้นมีพลวัตพลิกแพลงผันแปรมากกว่าวิทยาศาสตร์มาก เป็นต้นว่าแนวศึกษาชนชั้นแบบช่วงชั้น (stratification) มีข้อบกพร่องในการวิเคราะห์จึงถูกเสริมด้วยแนวศึกษาชนชั้นแบบเวเบอร์และต่อมาแบบมาร์กซิสท์ กระนั้นก็ตามความคิดเรื่องชนชั้นแบบช่วงชั้นก็ยังสามารถนำมาคิดวิเคราะห์หรือประยุกต์ใช้รวมกับการศึกษาเรื่องชนชั้นแบบอื่น ๆ ได้ ลักษณะ incommensurability ของวิทยาศาสตร์ทำให้ "ความใหม่" เป็นองค์ประกอบสำคัญและจำเป็นต่อการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ในทางกลับกัน ทางออกของปัญหาสังคมจำนวนมากไม่ได้เป็นจริงได้ด้วยการผลิตความคิดใหม่ แต่เกิดจากการผลักดันความคิดให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงที่ดำเนินอยู่ หลายปัญหานั้นทางออกเรียบง่ายประจักษ์ชัดติดขัดเพียงยากที่จะขับเคลื่อน และการขับเคลื่อนสังคมนั้นคือการเคลื่อนความคิดผู้คนร่วมชุมชนจำนวนมาก วิถีทางผลักดันพวกเขาอาจมิใช่การระดมความคิดใหม่รายวันเข้าไปในหัวพวกเขา แต่อาจเป็นการทำข้อเสนอใหม่ ๆ และสำคัญจำนวนหนึ่งให้กระจ่างชัด เป็นระบบ เข้าใจง่ายและทรงพลัง เพื่อจูงใจเพื่อนร่วมชุมชนให้เดินไปในทิศทางที่เชื่อว่าดีกว่าเดิม-ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยหากพวกเขาไม่เข้าใจความสำคัญของมันตั้งแต่แรก ความสำเร็จของความพยายามที่จะทำให้ประชาธิปไตยลงหลักมั่นในอเมริกาอาจไม่ใช่การนำเสนอความคิดใหม่ ๆ รายวันเกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่เป็นการสรุปหัวใจของมันลงเหลือเพียง 3 ประวลี คือ "ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" ในแง่นี้ พลังในการขับเคลื่อนสังคมจึงไม่ได้อยู่ที่ "สิ่งใหม่" แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่การ "นำเสนอ" ต่อสังคมด้วยรูปแบบ วิธีการและภาษาต่าง ๆ กัน ต่างกรรมต่างวาระขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายในการนำเสนอ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ นั้นเพื่ออะไรและนำเสนอต่อใคร อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับมาที่ปาฐกถาล่าสุดของเสกสรรค์ นี่ก็ยังมิได้หมายความว่าปาฐกถาของเขา ไม่มีอะไรใหม่หรือไม่มี originality หรือไม่มีคอนทริบิวชั่น ชีลล์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่าหน้าที่ของนักปรัชญาคือการสร้างมโนทัศน์หรือกรอบความคิด หากพูดในระดับที่เบาลงมาหน่อยก็อาจจะกล่าวได้ว่าการผลิตรูปธรรมของความคิดเพื่อให้คนคิดได้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ "คอนทริบิวชั่น" ของนักปรัชญาได้เช่นเดียวกัน อาจจะกล่าวได้ว่าความ "ใหม่" "originality" และ "คอนทริบิวชั่น" ของปาฐกถาเสกสรรค์อาจจะไม่ได้อยู่ที่ paradigm shift หากแต่อยู่ที่การหลอมความคิดนามธรรมที่ล่องลอยในสังคมลงมาเป็นรูปธรรมจนคนทั่วไปฟังแล้วเกิด "ความคิดใหม่" ในหัวของพวกเขาได้ สิ่งต่อไปนี้เป็นประโยชน์ต่อการคิดหรือไม่ การโยงให้เห็นภาพอย่างกระจ่างว่าความดีกับความไม่เท่าเทียมและอำนาจเผด็จการสัมพันธ์กันแนบแน่นอย่างไรผ่านตัวอย่าง สสส. และยังชี้เส้นแบ่งที่ชัดเจนอีกด้วยว่าการทำความดีส่วนบุคคลกับการแอบอ้างความดียึดอำนาจผูกขาดอยู่ที่ "การบังคับให้คนอื่นทำดี" หรือการหยิบยกเงื่อนไข "ราชาปราชญ์" มาแจกแจงแก่สาธารณะว่ามีอะไรบ้างนั้นก็น่าจะนับว่าเป็นคอนทริบิวชั่นสำคัญด้วยความหวังว่าอาจจะพาผู้คนที่มัวเมาเรื่องคนดีปกครองบ้านเมืองให้เหลียวมองดูข้อเท็จจริงบ้างว่าบุคคลที่พวกเขาสนับสนุนนั้นเข้าข่ายเงื่อนไขดังกล่าวกี่ข้อบ้าง และส่วนที่เป็นคอนทริบิวชั่นอย่างสูงของเสกสรรค์อาจจะอยู่ที่การท้วงติงฝ่ายประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นตัวบ่อนทำลายประชาธิปไตยด้วยน้ำมือตนเองด้วย ปาฐกถาเสกสรรค์นั้นนอกจากศิลปะและอารมณ์ขันแล้วยังวางอยู่บนหลักทฤษฎีวิชาการกว้างขวางเข้มข้นที่พูดด้วยภาษามนุษย์ประกอบการทำการบ้านค้นคว้าข้อมูลสนับสนุนอย่างทันสถานการณ์ อีกทั้งยังมีท่าทีสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ในการพูดครั้งหนึ่งของคนเราหากทำได้เช่นนี้แล้วยังถูกประนามอย่างหยาบง่าย สังคมนั้นเรียกร้องต่อผู้อื่นมากไปหรือไม่? หากจะถกเถียงว่าเพราะเป็นเสกสรรค์ จึงต้องถูกคาดหวังสิ่งที่สูงกว่านี้ ก็อาจจะเป็นการเข้าใจผิดว่ากิเลสของท่านกับความก้าวหน้าของสังคมนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
#ออเจ้าได้โปรดทบทวน อดีต ส.ส.กทม. ทวงสัญญาปฏิรูปผังเมือง Posted: 09 Mar 2018 08:53 PM PST 'รัชดา ธนาดิเรก' อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คติดแท็ก '#ออเจ้าได้โปรดทบทวน' ทวงสัญญา 'ประยุทธ์' ไหนว่าจะปฏิรูปผังเมือง อีกหนึ่งวาระที่ริบหรี่ความหวัง เผื่อเสียงนี้จะถึงท่าน 10 มี.ค. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟlบุ๊ค ระบุว่าทวงสัญญานายกฯ ไหนว่าจะปฏิรูปผังเมือง อีกหนึ่งวาระที่ริบหรี่ความหวัง เผื่อเสียงนี้จะถึงท่าน #ออเจ้าได้โปรดทบทวน "ในรายการศาสตร์พระราชาเมื่อ 7 เมษายนปีที่แล้ว นายกฯ กล่าวผ่านสื่อว่าการปฏิรูปผังเมืองประเทศไทยมีความสำคัญอย่างมากเพราะกระทบต่อมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครปฏิรูปสำเร็จ การจัดทำผังเมืองมีปัญหาเพราะมีหน่วยงานของรัฐมากมายเกี่ยวข้อง ผังการใช้ที่ดิน (ผังสี) ที่จัดทำขึ้นไม่ละเอียดเพียงพอ มีปัญหาผังแต่ละพื้นที่ไม่สอดคล้องหรือทับซ้อนกัน นำไปสู่ข้อพิพาทอ้างสิทธิ ผังเมืองรวมที่จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ขาดความศักดิ์สิทธิ์และไม่เป็นหลักยึดถือของหน่วยงานอื่นๆแต่อย่างใด แต่ละหน่วยต่างใช้แผนของตนเอง" "ในวันนั้นนายกฯ มีความชัดเจนมากที่จะให้การปฏิรูปผังเมืองเป็นไปตามแนวทางของ ศ.กิตติคุณเดชา บุญค้ำ ที่ต้องเริ่มจากการมีกฏหมายเฉพาะเหมือนเป็นธรรมนูญการผังเมืองในการกำกับกฏหมายอื่นๆ ไม่ให้หน่วยงานต่างๆละเมิดหรือละเลยไม่ควบคุมการใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามหลักการ และเน้นการสร้างกลไกและกระบวนการบริหารจัดการที่ดินของประเทศที่เชื่อมโยงกันทุกระดับ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวนั้น อนุกรรมาธิการการปฏิรูปผังเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดทำร่างกฏหมาย พ.ร.บ.การผังเมือง ซึ่งเสนอให้แยกเอาสำนักผังเมืองที่ปัจจุบันนี้อยู่ภายใต้กรมโยธาฯ กระทรวงมหาดไทย ออกมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการผังเมืองและการใช้พื้นที่แห่งชาติขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี จะได้แก้ปัญหาในอดีตที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการบูรณาการข้อมูลและกำกับหน่วยงานต่างๆ เป็นที่น่าเสียดาย" "นอกจากจะใช้เวลารอถึงหนึ่งปีกว่าที่ สนช.จะได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การผังเมืองนี้ แต่ที่หดหู่อย่างยิ่งคือความหวังอันริบหรี่อีกวาระหนึ่งต่อการปฏิรูปร่าง พ.ร.บ.การผังเมืองฉบับสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่นายกฯอ้างถึงกลับถูกละเลย ขณะที่ร่าง ครม.ที่เสนอต่อ สนช. นั้นเนื้อหาไม่ได้สะท้อนแนวคิดการปฏิรูปแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ได้แก้ปัญหาเรื้อรัง และยังคงเปิดช่องให้มีการแทรกแซงทางการเมืองได้ ต้องตั้งคำถามว่า ครม.ได้พิจารณาร่างพรบ.นี้อย่างเข้าใจเนื้อหาหรือไม่ หรือเทตามที่กรมโยธาเสนอมา เสียดายโอกาสจริงๆ " รัชดา ระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มติเอกฉันท์ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ไม่เซ็ตซีโร่ ชี้ไม่ขัด รธน. Posted: 09 Mar 2018 08:21 PM PST เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยรายงานว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวถึงสื่อมวลชน กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องกรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. จำนวน 32 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 267 วรรคห้า มาตรา 81 มาตรา 145 และมาตรา 263 ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 185 บัญญัติว่าให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19 (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18 ) มิให้นำมาใช้บังคับ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ ผลการพิจารณา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมและที่ประชุมปรึกษาหารือก่อนลงมติร่วมกันเป็นมติเอกฉันท์ว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 185 ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตาม 11 (1) และ (18 ) มิให้นำมาใช้บังคับ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมอแคนาดาประท้วงไม่ให้ขึ้นเงินเดือนตัวเอง ให้นำไปช่วยบุคลากรอื่นที่ทำงานหนักและคนไข้ Posted: 09 Mar 2018 07:08 PM PST ในแคนาดามีกลุ่มหมอ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและบุคลากรที่เกี่ยวข้องมากกว่า 700 คน ลงนามคัดค้านการขึ้นเงินเดือนตัวเอง และเรียกร้องให้นำเงินเหล่านั้นไปช่วยอาชีพสาธารณสุขที่ได้รับน้อยกว่าอย่างพยาบาลและให้กับคนไข้ที่ต้องการใช้เงินรักษา ในจดหมายเปิดผนึกของพวกเขาระบุว่าในฐานะของแพทย์แห่งรัฐควิเบกผู้เชื่อมั่นอย่างแรกกล้าในระบบสาธารณะ พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมรับการขึ้นเงินเดือนที่สหพันธ์แพทย์เป็นผู้เจรจาได้มาในครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ มีการเปิดให้ลงนามคัดค้านในเรื่องนี้มาตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. จนถึงบัดนี้มีแพทย์จากหลายสายงานร่วมลงนามรวมมากกว่า 700 รายชื่อ พวกเขาคัดค้านการขึ้นเงินเดือนพวกตัวเองในครั้งนี้เพราะเป็นห่วงพยาบาลและพนักงานธุรการที่ต้องรับงานหนัก สภาพการจ้างงานแย่ และคนไข้ที่เสี่ยงถูกปฏิเสธการรักษาเพราะมีการตัดงบประมาณระบบสาธารณสุขในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพราะกระทรวงสาธารณสุขรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แต่เงินสินจ้างของแพทย์กลับได้รับการงดเว้นไม่ถูกตัด ขณะที่ทางรัฐบาลแคนาดาโฆษณาตัวเองว่าประเทศของพวกเขาให้บริการสาธารณสุขครอบคลุมทุกความต้องการพื้นฐานแทนการให้บริการตามความสามารถในการจ่ายได้ อย่างไรก็ตามเหล่าแพทย์แห่งควิเบกก็ขอให้แทนที่จะขึ้นเงินเดือนคนตำแหน่งระดับพวกเขา ควรจะเอาทรัพยากรไปกระจายให้กับคนทำงานดูแลบริการและให้กับระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมกับชาวควิเบก ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมสุขภาวะของประชาชนรวมถึงไม่ผลักให้คนทำงานสาธารณสุขสายอื่นๆ ต้องทำงานหนักเกินไป จากการสำรวจของสถาบันข้อมูลสาธารณสุขแคนาดาเมื่อปี 2560 ระบุว่าหมอแคนาดามีรายได้โดยเฉลี่ยราว 260,924 ดอลลาร์ต่อปี โดยการลงนามล่าสุดเป็นการต่อต้านข้อเสนอขึ้นเงินเดือนให้แพทย์เฉพาะทาง โดยประณามการขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้ว่า "ไม่เหมาะสม" หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมามีกลุ่มพยาบาลนั่งปักหลักประท้วงสภาพการทำงานโดยที่มีกลุุ่มหมอออกจดหมายเปิดผนึกแสดงการสนับสนุนพวกเขา โดยกลุ่มแพทย์ MQRP ที่ออกจดหมายเปิดผนึกระบุว่าใจความสำคัญของการประท้วงของพยาบาลคือเรื่องงานที่หนักเกินไป ภาระงานหนักเช่นนี้เองเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้และอาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาวะของชาวควิเบก พวกเขาจึงอยากย้ำเตือนรัฐบาลว่าสภาวะที่พวกเขาถูกตัดงบประมาณเช่นนี้ไม่ปรกติ เรียบเรียงจาก 500 CANADIAN DOCTORS PROTEST PAY RAISES BECAUSE THEY ALREADY MAKE TOO MUCH MONEY, Newsweek, 07-03-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้หญิงในสเปน 5.3 ล้านหยุดงานประท้วงใหญ่วันสตรีสากล ต้านวัฒนธรรม 'อ้างความเป็นชายกดข่ม' Posted: 09 Mar 2018 06:38 PM PST ในประเทศสเปนมีการนัดหยุดงานประท้วงใหญ่ของผู้หญิงทั่วประเทศเนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยสหภาพแรงงานระบุว่ามีจำนวนผู้หยุดงานประท้วงมากกว่า 5 ล้านคน สาเหตุของการหยุดงานประท้วงในครั้งนี้เพื่อเน้นย้ำให้เห็นปัญหาของเรื่องการเหยียดเพศ ความรุนแรงในครัวเรือน และช่องว่างรายได้ ขณะที่ผู้หญิงที่ทำงานภาคสื่อจำนวนมากลงนามและร่วมประท้วงเรียกร้องให้เห็นปัญหาการอ้างความเป็นชายมากดข่มและปัญหาอื่นๆ ในสายงานของพวกเธอ คณะกรรมาธิการแรงงานและสหภาพแรงงานทั่วไปของสเปนเปิดเผยว่ามีผู้ประท้วง 5.3 ล้านคนประท้วงด้วยการด้วยการวอล์กเอาท์หรือการเดินออกจากที่ทำงานเป็นเวลา 2 ชั่วโมงในวันสตรีสากลที่ผ่านมา ถือเป็นการหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในสเปน โดยการวอล์กเอาท์ในครั้งนี้มีนักการเมืองหญิงของสเปนสองรายแสดงการสนับสนุนคือ มานูเอลา คาร์มีนา นายกเทศมนตรีมาดริดและ อดา โคเลา นายกเทศมนตรีบาร์เซโลนา การประท้วงในครั้งนี้มีผู้จัดตั้งประสานงานหลักๆ คือกลุ่มแนวร่วมใหญ่ที่เรียกว่า "คณะกรรมาธิการ 8 มีนาคม" (8M) โดยมีการรวมกลุ่มกันในเมืองหลายเมืองของสเปนเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมครอบงำคนอื่นด้วยข้ออ้างความเป็นชาย (machista) ที่คงอยู่ในวัฒนธรรมสเปน ในการประท้วงมีการถือป้ายอย่าง "ถ้าพวกเราหยุด โลกก็หยุด" "พวกเขาช่วงชิงจากเรามากเกินไปจนสุดท้ายแล้วก็ช่วงชิงความกลัวไปจากพวกเราด้วย" "ไม่มีหญิงคนไหนถึงจุดสุดยอดได้ด้วยการขัดพื้นครัว" และ "สิทธิสตรี = สิทธิมนุษยชน" โดเลอร์ส มอนต์เซราต รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ และความเท่าเทียม กล่าวว่าปฏิบัติการวันนี้ไม่ใช่ "สงครามระหว่างเพศ" แต่เป็น "การปฏิวัติสังคมสำหรับทั้งชายและหญิง" โดยที่ถึงแม้ว่าการเห็นผู้หญิงจำนวนมากใช้สิทธิในการประท้วงของตัวเองแต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลนั้นๆ ว่าจะตัดสินใจประท้วงหรือไม่ ส่วนหนึ่งที่ร่วมประท้วงคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องเรียนโดยระบุถึงการเหยียดเพศในรั้วโรงเรียน เช่น การเล่นมุขเหยียดเพศ หรือมุขที่เกี่ยวกับการทำงานบ้าน แน่นอนว่าการหลุดงานประท้วงในครั้งนี้รวมถึงงานที่ไม่ได้ถูกให้คุณค่าในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างงานบ้านหรืองานดูแล (care work) ด้วย ผู้ประท้วงปล่อยให้ผู้ชายเป็นคนทำงานเหล่านี้ในวันสตรีสากล อีกกลุ่มหนึ่งที่ประท้วงหยุดงานเป็นจำนวนมากคือผู้หญิงที่ทำงานในสื่อ โดยมีมากกว่า 7,000 คน ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ต่อต้านการครอบงำด้วยข้ออ้างความเป็นชายในอุตสาหกรรมสื่อและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงใหญ่ 8M ซึ่งมีการรณรงค์ผ่านทางแฮชแท็ก #lasperiodistasparamos มาริลิน กอนซาโล ผู้จัดงานรณรงค์ในครั้งนี้อธิบายว่าพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงในงานด้านสื่อก็ต้องเผชิญกับการเหยียดเพศและความรุนแรงแบบงานสายอื่นๆ รวมถึงปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ เพดานที่ปิดกั้นผู้หญิงเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูง การล่วงละเมิดทางเพศ และการดูหมิ่นดูแคลนในเชิงการงาน นอกจากนี้ในแง่ของงานข่าวกอนซาโลก็บอกว่าผู้ที่ตัดสินใจนำเสนอเนื้อหา 2 ใน 3 เป็นชายทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมต่อมุมมองการนำเสนอความจริง สตรีนิยมจึงควรให้ความสำคัญกับงานสื่อด้วย โคเลา นายกเทศมนตรีบาร์เซโลนากล่าวสนับสนุนการประท้วงในครั้งนี้ว่าผู้หญิงอย่างพวกเธอมีหน้าที่ต้องขับเคลื่อนเป็นตัวแทนของคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถหยุดงานประท้วงได้แบบพวกเธอ บอกว่า "นี้คือศตวรรษของผู้หญิงและสตรีนิยม" นอกจากเรื่องการเกยียดกีดกันทางเพศ กับความรุนแรงแล้ว ยังพูดถึงเรื่องช่องว่างรายได้ีระหว่างเพศด้วย จากรายงานของคณะกรรมธิการยุโรปเมื่อปี 2560 ระบุว่าในสเปนมีช่องว่างรายได้ระหว่างชายกับหญิงลดลงเรื่อยๆ จากร้อยละ 18.1 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 14.9 ในปี 2558 และผลการสำรวจเมื่อไม่นานนี้อยูที่ร้อยละ 12.7 แต่ก็ยังถือว่ามีช่องว่างรายได้ ขณะที่มีเหตุรายงานความรุนแรงเพิ่มขึ้นจาก 129.193 ราย ในปี 2558 เป็น 142,893 ราย ในปี 2559 เรียบเรียงจาก More than 5m join Spain's 'feminist strike', unions say, The Guardian, 08-03-2018 Las periodistas paramos! Spanish women journalists rally international support in #IWD strike, Common Space, 08-03-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วันสตรีสากลในฟิลิปปินส์-สภาพการเมืองที่กดขี่ผู้หญิงและรังแกคนเห็นต่าง Posted: 09 Mar 2018 06:19 PM PST ในวันสตรีสากลที่ผ่านมาในฟิลิ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันสตรีสากล ขณะที่ทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองหรื เซเรโน เป็นผู้พิพากษาสูงสุดที่ได้รั อย่างไรก็ตามเซเรโนปฏิเสธข้อกล่ ดูเตอร์เตเป็นประธานาธิบดีฟิลิ ในกรณีของเซเรโนนั้นดูเตอร์ แต่สาเหตุที่มีคนสงสัยในเรื่ ในวันสตรีสากลนักการเมืองหญิงอี "พวกเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ ส.ว.หญิง เดอ ลีมา เคยถูกรัฐบาลฟิลิปปินส์กล่ "นี่ไม่ใช่การต่อสู้ของฉันคนเดี เรียบเรียงจาก First female chief justice in Philippines faces impeachment, Gulf News, 08-03-2018 De Lima urges women to stand up for rights, Inquirer, 08-03-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: ทวงถามกระหน่ำทาง (กรณีการสังหาร ชัยภูมิ ป่าแส) Posted: 09 Mar 2018 04:43 PM PST
คนตายคล้ายต่ำต้อย สัตว์ป่ามีเเคมเปญ ชัยภูมิสู่ภูมิภพ กี่ศพก็กลบซาก ชัยภูมิครบปีผ่าน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น