ประชาไท | Prachatai3.info |
- คนงาน GM เดินเท้าเข้าร้องคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน UN ช่วยแก้ปัญหาการจ้างงาน
- กวีประชาไท: ส.พลอ สหายพันธุ์ใหม่
- คนละ 2 แสน ศาลให้ประกัน 9 แกนนำ นปช. หลังอัยการสั่งฟ้องคดีชุมนุมปี 52
- สมาพันธ์ ปชช.ตรวจสอบรัฐไทย ร้อง กกต. ทบทวนตั้ง 'พรรคอนาคตใหม่' ชี้คิดแก้ ม.112 ส่อทำแตกแยก
- ปิยบุตร แสงกนกกุล: ทำไมต้องยกเลิกมาตรา 279?
- ใบตองแห้ง: ใกล้เอาไม่อยู่
- สมคิดระบุรัฐบาลกระตุ้นจนเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างมาก พร้อมทะยานสู่เศรษฐกิจยุคใหม่-ศูนย์กลางการลงทุน
- คนอยากเลือกตั้งโต้ โฆษกรัฐบาล คสช. ชี้ความวุ่นวายที่ก่อ เกิดขึ้นแค่ในจิตใจ คสช.
- รังสิมันต์ โรม: อธิบายข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
- เปิดคำทำนายที่ 7 อดีต กกต. สมชัย ชี้เลือกตั้งรอบหน้าอาจมีปัญหา จนถึงขั้นเป็นโมฆะ
- ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน Ep.2 ล่าชื่อ กักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป!
คนงาน GM เดินเท้าเข้าร้องคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน UN ช่วยแก้ปัญหาการจ้างงาน Posted: 26 Mar 2018 06:15 AM PDT สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ฯ เดินรณรงค์เพื่อไปเข้าร่วมชี้แจงคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พร้อมยื่น 5 ข้อเรียกร้องให้ช่วยแก้ปัญหาสภาพการจ้างงาน ภาพการเดินรณรงค์ของกลุ่มดังกล่าว
26 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ที่ผ่านมา ตัวแทน สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหาการจ้างงาน เดินเท้าถึงสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน แล้ว หลังจาก เมื่อเวลา 13.00 น. กลุ่มนี้เริ่มเดินจาก หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทเจอเนอรัล มอเตอร์ เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ อาคาร รสาทาวเวอร์ 2 ถนน พหลโยธิน เพื่อไปเข้าร่วมชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อถึงที่หมาย กลุ่มตัวแทนดังกล่าว ได้แถลงต่อ คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อดําเนินการช่วยเหลือให้ สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้รับความเป็นธรรมและให้นายจ้างเคารพกฎหมายและยุติพฤติกรรมที่เป็นการละเมิด กฎหมายแรงงาน และหลักจรรยาบรรณแรงงานสากล เพื่อไม่ให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนและเป็นการส่งเสริม แรงงานสัมพันธ์อันดีในระบบทวิภาคีที่ยั่งยืนตลอดไป จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดําเนินการ โดยมี 5 ข้อเรียกร้อง ต่อบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จํากัด และบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์สเพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จํากัด ดังนี้ 1. ให้บริษัทฯ ทั้งสองรับลูกจ้างกลับเข้าทํางานในสถานที่ทํางานเดิม และตําแหน่งหน้าที่และสภาพการจ้าง เดิมทุกประการ 2. ห้ามมิให้บริษัทฯ ทั้งสอง ขัดขวางการดําเนินงานหรือดําเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม 3. ห้ามมิให้บริษัทฯ ทั้งสอง ขัดขวางการดําเนินการโดยการกลั่นแกล้งการลงโทษหรือเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการและสมาชิกของสหภาพแรงงานฯ ด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรมอีกต่อไป 4. ให้บริษัทฯ ทั้งสองปฏิบัติตามคําสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยเคร่งครัด 5. ขอให้คณะทํางานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ลงตรวจเยี่ยมสถานประกอบการของบริษัททั้งสองพร้อมทั้งให้ผู้แทนของสหภาพแรงงานฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย วานนี้ บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก และกรรมการบริหารสมัชชาคนจนฝ่ายกฎหมายแรงงาน ระบุว่าหลังจากเหตุการณ์การนัดหยุดงานของสหาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย และการปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2556 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่สมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์สกว่า 100 ชีวิตยังคงไม่ได้กลับเข้าทำงาน ถึงแม้สหภาพแรงงานฯ จะได้ยอมถอนข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นต่อบริษัทฯ ไปแล้ว แต่สมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลุ่มนี้ยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้เนื่องจากติดปัญหาจากการปิดงานเป็นรายบุคคลของบริษัทฯ ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยที่กลไกกฎหมายของทางราชการไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงช่วยเหลือพี่น้องแรงงานกลุ่มนี้ได้เลย ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก อธิบายที่มาของการเคลื่อนไหวนี้ว่า สมาชิกสหภาพแรงงานได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พ.ย. 2560 จนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน แต่จนปัจจุบันก็มีพนักงานบางคนที่บริษัทฯ ยังจ่ายไห้ไม่ครบถ้วน หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้มีคำสั่งให้พนักงานเข้าไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน เมื่อพนักงานไปรายงานตัว บริษัทฯ ได้มีคำสั่งให้พนักงานทั้งหมดไปปฏิบัติงานที่ ที่คลังสินค้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งไกลมากจากที่พักและครอบครัวของแรงงานโซนพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี นอกจากนี้ยังปรับลดเงินเดือนพนักงานทุกคนจากเดิม เหลือเพียงค่าแรงขั้นต่ำสุดเพียง 9,600 บาท/เดือน และสวัสดิการอื่นที่เคยได้รับถูกตัดทั้งหมด เช่น ไม่มีรถส่ง ไม่มีเบี้ยต่างจังหวัด ไม่จ่ายปรับค่าจ้าง 3 ปี ไม่จ่ายโบนัสผันแปร 3 ปี และไม่มีอาหารกลางวันให้ ซึ่งทำให้พนักงานกว่า 60 คน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เนื่องจากการบริษัทได้วางมาตรการเงื่อนไขบีบบังคับ พนักงานจึงต้องยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมของนายทุน ตามที่บริษัทเสนอ จึงเหลือพนักงานที่สามารถเดินทางมาทำงานที่คลังสินค้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียง 9 คน และลักษณะงานที่ทำก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงคือจากพนักงานประกอบรถยนต์ ต้องถูกปรับลดลงมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำหน้าที่ขูดสีและทาสีเส้นในคลังสินค้า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: ส.พลอ สหายพันธุ์ใหม่ Posted: 26 Mar 2018 05:59 AM PDT 'ประวัติศาสตร์ประชาชน..ถนนสายอึดอัด' พลันนักรบประชาชนขนเสื้อผ้า นานค่อยเส้นหนังสือลายมือหงิก ..ส.เจริญยนต์,ส.โภชนา,ส.บาร์เบอร์ ลบเลือนยุค ส.สหาย หลายชื่อ ส. ...สิ้นลาย ส.อุดมการณ์,ส.หาญกล้า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนละ 2 แสน ศาลให้ประกัน 9 แกนนำ นปช. หลังอัยการสั่งฟ้องคดีชุมนุมปี 52 Posted: 26 Mar 2018 05:03 AM PDT อัยการสั่งฟ้อง แกนนำ นปช. คดีข้อหายุยง ปลุกปั่น กรณีชุมนุมปี 52 ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล 'เหวง' ตั้งข้อสังเกตุเหตุใดนำคดีมาสั่งฟ้องช่วงเวลานี้ ยันแกนนำไม่ได้มีเจตนาจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย เพียงแค่ต้องการให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น ภาพจาก เพจ Banrasdr Photo 26 มี.ค.2561 เพจ Banrasdr Photo รายงานว่า ศาลอาญาให้ประกันตัว 9 แกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องในข้อหายุยง ปลุกปั่น ตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออก ที่เวทีสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2552 ซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท พร้อมกับนัดทั้ง 9 คนและให้เบิกตัว จตุุพร พรหมพันธ์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาสอบคำให้การในในวันที่ 27 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น. รายงานข่าวระบุดด้วยว่า ในคดีนี้อัยการมีหนังสือเรียกให้ผูู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการทั้งหมดจำนวน 15 คน ประกอบด้วย 1.วีระ มุสิกพงศ์ 2.จตุพร พรหมพันธุ์ (ถูกขังอยู่เรือนจำ) 3.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 4.อดิศร เพียงเกตุ (ขอเลื่อนเหตุป่วย) 5.เหวง โตจิราการ 6.สิรวิชญ์ พิมพ์กลาง 7.พีระ พริ้งกลาง 8.ณรงค์ศักดิ์ มณี 9.ชินวัฒน์ หาบุญพาด (ไม่มา) 10.วิภูแถลง พัฒนภูมิไท 11.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (ไม่มา) 12.สมชาย ไพบููลย์ 13.พายัพ ปั้นเกตุ 14.เมธี อมรวุฒิกุุล (ไม่มา) และ 15.พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง สำนักข่าวไทย รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ เหวง ซึ่ง เขา กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อเนื่องและเป็นกรณีเดียวกันกับการชุมนุมที่แกนนำได้นำมวลชนไปชุมนุมระหว่างการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา ซึ่งเหตุการณ์นั้นมีการส่งฟ้องต่อศาลไปแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนพิจารณา ส่วนตัวมองว่าหากจะมีการดำเนินคดีในกรณีนี้ก็ควรรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน พร้อมขอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดถึงได้มีการนำคดีนี้ขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านไปนานแล้วถึง 9 ปี และขอยืนยันว่าในการชุมนุมเมื่อปี 2552 นั้น แกนนำทุกคนไม่ได้มีเจตนาจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย กระทบต่อความมั่นคง เพียงแค่ต้องการให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมาพันธ์ ปชช.ตรวจสอบรัฐไทย ร้อง กกต. ทบทวนตั้ง 'พรรคอนาคตใหม่' ชี้คิดแก้ ม.112 ส่อทำแตกแยก Posted: 26 Mar 2018 04:31 AM PDT สมาพันธ์ประชาชนตรวจสอบรัฐไทย ร้องต่อ กกต. ขอให้ทบทวนการจัดตั้ง 'พรรคอนาคตใหม่' ชี้แนวความคิด 'ปิยะบุตร' เกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ประกาศ ส่อทำแตกแยก แฟ้มภาพ 26 มี.ค.2561 ผู้จัดการออนไลน์ และข่าวสดออนไลน์ รายงานตรงกันว่า วันนี้ สมาพันธ์ประชาชนตรวจสอบรัฐไทย (สปท.) นำโดย สนธิญา สวัสดี ประธานสมาพันธ์ฯ เข้ายื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ทบทวนการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ สนธิญา กล่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค.ที่พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวและมีการแถลงนโยบาย ปิยะบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมจดจัดตั้งได้มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าไม่ได้แก้ไข แต่จะพิจารณา ตนเห็นว่าแม้ขณะนี้ความเป็นพรรคการเมืองของพรรคอนาคตใหม่จะยังไม่เกิดขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 15 (3) ที่บัญญัติว่า คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค และนโยบายของพรรค ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับพรรคด้วย ซึ่งแนวความคิดปิยะบุตรเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ประกาศก็จะไปเข้าลักษณะต้องห้ามของข้อบังคับตามมาตรา 14 ที่ระบุว่า ต้องไม่มีลักษณะอาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ จึงมายื่นเรื่องให้ประธาน กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณาว่าการขอจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่นั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ "การประกาศนโยบายของพรรคการเมืองนี้ แค่เริ่มต้นก็แตกแยกแล้ว ความจริงแนวทางในการปฏิรูปประเทศมีตั้งมากมายที่ผู้จะจัดตั้งพรรคสามารถนำมาประกาศเป็นนโยบายของพรรค ไม่ควรที่จะไปก้าวล่วงต่อสถาบัน ผมจึงต้องการให้ประธาน กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการมเมืองได้พิจารณาให้ถ่องแท้ว่าถ้าเขายังยืนยันจะมีนโยบายเรื่องนี้อยู่จะให้เขาตั้งเป็นพรรคการเมืองจริงหรือไม่ และถ้าเขาตั้งเป็นพรรคได้เขาจะละลาบละล้วงจาบจ้วงไปมากกว่านี้หรือเปล่า" สนธิญา กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ปิยบุตร ตอบคำถามเรื่องบทบาทที่เขาผลักดันให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงที่เขาเป็นนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ว่า ที่ผ่านมาผลักดันแก้ไขมาตรา 112 เพราะมีการใช้กฎหมายเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ตัวเขาแม้จะเปลี่ยนมาเป็นนักการเมือง แต่ยังคงยืนยันว่าต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อไม่ให้มีการนำกฎหมายไปกลั่นแกล้งศัตรูฝ่ายตรงข้าม หรือบุคคลที่เห็นต่างกันทางการเมือง แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายและการตัดสินใจของสมาชิกพรรคว่าเห็นสมควรจะขับเคลื่อนเรื่องนี้หรือไม่ เพราะคณะนิติราษฎร์เป็นกลุ่มนักวิชาการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่ของเขาคนเดียว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปิยบุตร แสงกนกกุล: ทำไมต้องยกเลิกมาตรา 279? Posted: 26 Mar 2018 02:10 AM PDT รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 รับรองให้บรรดาประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื้องทั้งหมด ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย โดยทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นใด การใช้อำนาจรัฐอื่นใด หรือการกระทำอื่นใด จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากบุคคลผู้เกี่ยวข้องใดสงสัยว่ากฎหมายและการใช้อำนาจของรัฐต่างๆขัดรัฐธรรมนูญ บุคคลนั้นก็มีสิทธิโต้แย้งไปยังศาลเพื่อให้ชี้ขาดว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่? หากศาลเห็นว่าการกระทำใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็จะวินิจฉัยให้สิ้นผลบังคับไป แต่เมื่อมาตรา 279 กำหนดไว้เช่นนี้ นั่นหมายความว่า ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง จะไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญเลย ต่อให้ประกาศ คำสั่งเหล่านี้จะมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เพียงใด ต่อให้ประกาศ คำสั่งเหล่านี้ จะมีเนื้อหาที่ไม่ยุติธรรมเพียงใด ต่อให้ประกาศ คำสั่งเหล่านี้ จะมีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญเพียงใด ต่อให้ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ กำหนดให้พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก ตกทางตะวันออก กำหนดให้ชายเป็นหญิง ให้หญิงเป็นชาย ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ก็จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ เพียงเพราะว่า มาตรา 279 "เสก" ให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หากบุคคลใดโต้แย้งไปที่ศาล ศาลก็จะอ้างมาตรา 279 มาเพื่อบอกว่า มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว หากมาตรา 279 ยังคงดำรงอยู่ต่อไป เท่ากับว่าระบบกฎหมายไทยยอมรับให้การใช้อำนาจของ คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ในขณะที่การใช้อำนาจอื่นๆ ยังถูกตรวจสอบโต้แย้งได้เสมอ เรากำลังจะยอมให้การใช้อำนาจของ คสช. "ใหญ่" กว่ารัฐธรรมนูญ ? ตกลงแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หรือการใช้อำนาจของ คสช. อยู่สูงสุดกันแน่? มาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ กลับทำให้ 278 มาตราที่มาก่อนหน้าสิ้นผลบังคับกลายเป็นเศษกระดาษทันทีเมื่อเจอกับการใช้อำนาจของ คสช. หากยอมรับกันว่า การเข้ามาของ คสช. การครองอำนาจของ คสช. คือ ความจำเป็นของสถานการณ์ ดังนั้นจึงต้อง "ยอม" ให้ คสช. มีอำนาจพิเศษเพื่อจัดการปัญหา ต่อให้เชื่อเช่นนั้นก็ตาม อำนาจพิเศษเช่นว่าก็ต้องดำรงอยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษเท่านั้น เมื่อกลับสู่ระบบปกติ มีรัฐธรรมนูญถาวรประกาศใช้ มีรัฐสภาและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. ทั้งหลาย ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ การยกเลิกมาตรา 279 ไม่ใช่การล้างประกาศ คำสั่ง คสช. ทั้งหมด แต่เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้โต้แย้งว่า ประกาศ คำสั่ง คสช. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. ยังคงมีผลในระบบกฎหมายต่อไป แต่ศาลทั้งหลายก็มีโอกาสตรวจสอบว่า ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมันมีเนื้อหาที่ดี ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจริง มันก็สามารถอยู่ต่อไปอย่างทรงเกียรติมากขึ้น หากไม่ ศาลก็จะวินิจฉัยให้สิ้นผลไป รัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คสช. อยู่ในอำนาจยาวนาน ใช้อำนาจหลายเรื่อง ตลอดเกือบ 4 ปี คสช. ออกประกาศ คำสั่ง จำนวนมากมายหลายร้อยฉบับ ครอบคลุมสารพัดเรื่อง ตั้งแต่ปราบเด้กแว้น ประมง ผังเมือง ย้ายข้าราชการ ถอดยศ ไปจนถึงล่าสุด ปลด กกต ออกจากตำแหน่ง ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องเกี่ยวเนื่องมากมาย มีบุคคลที่ถูกกระทบจำนวนมาก ไม่ใช่มีแต่พวกนักการเมืองเท่านั้น คนทั่วไป หาเช้ากินค่ำ ข้าราชการประจำ นักธุรกิจ เกษตรกร ชาวประมง เอ็นจีโอ ต่างก็ถูกกระทบไปหมด หากเราปล่อยให้ประกาศ คำสั่ง เหล่านี้ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญต่อไป จะมีคนที่เดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก เราจะไม่สามารถพูดได้เลยว่า ประเทศไทยกลับมาสู่ระบบปกติ มีการเลือกตั้ง เพราะ สุดท้าย มันจะมีสองระบบคู่ขนาน คือ ระบบรัฐธรรมนูญ 2560 และระบบ คสช. ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 279 ไม่นำมาซึ่งความสับสนอลหม่าน ไม่นำมาซึ่งความวุ่นวาย ไม่นำมาซึ่งความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องของฝักฝ่ายทางการเมืองหรือสีเสื้อ ตรงกันข้าม การยกเลิกมาตรา 279 นำมาซึ่งหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจ เปิดทางให้ศาลได้เข้ามาตรวจสอบ และทำให้รัฐธรรมนูญมีผลได้จริง การยกเลิกมาตรา 279 ประโยชน์จะตกแก่ประชาชน หากจะมีใครที่ต้องกังวล ก็คงเป็น คสช. และเนติบริกรของ คสช. เท่านั้น แต่ก็นั่นแหละ ถ้าพวกท่านสุจริต ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ท่านก็ไม่จำเป็นต้องกังวล นี่ไม่ใช่การล้างแค้น กวาดล้าง แต่เป็นการฟื้นคืนหลักนิติรัฐ หลักรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดกลับมา รัฐประหารโดยใช้กำลังทหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ ออกประกาศ คำสั่ง ให้มีผลเป็น "กฎหมาย" และเขียนรัฐธรรมนูญรับรองให้ประกาศ คำสั่ง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook Piyabutr Saengkanokkul
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 26 Mar 2018 02:00 AM PDT
ดุสิตโพลเผยผลสำรวจ ประชาชน 51.21% เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยัง "เอาอยู่" ยังควบคุมสถานการณ์การเมืองได้ แหมมี ม.44 คุมกำลังทหาร สั่งทุกคนซ้ายหันขวาหัน กระทั่งองค์กรอิสระยังปลดได้ ทำไมคนเชื่อมั่นน้อยจัง แค่ 51% เท่านั้นหรือ มันน่าจะ 70-80% เป็นอย่างน้อย แถมยังสำรวจก่อนคนอยากเลือกตั้งไปชุมนุมหน้ากองทัพบกเมื่อค่ำวันเสาร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่าทุกครั้ง ขนาดตำรวจซึ่งมักประเมินตัวเลขต่ำยังบอกว่ามีคนเป็นพัน นี่ถ้ากลับไปทำโพลใหม่ เผลอๆ ความเชื่อมั่นจะตกเส้น 50% สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนได้เห็นอะไรๆ หลายอย่าง แรกสุด สนช.ไม่ยอมส่งร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะกลัวโดนด่าว่าอยากเลื่อนเลือกตั้ง สนช.โยนเผือกเผาให้รัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ส่ง ไม่อยากโดนข้อหาเหมือนกัน ขำๆ นะครับ เพิ่งเลื่อนเลือกตั้งไป 3 เดือน โรคพิษกลัวเลื่อนกลับระบาด ใครก็ไม่อยากถูกชี้หน้า ว่าเป็นตัวการเลื่อนเลือกตั้ง บรรยากาศการเมืองกลับมาคึกคัก หลังเปิดให้จดทะเบียนพรรค วันนี้ไม่ใช่แค่ม็อบกลุ่มเล็กๆ หรอก แต่คนทั้งประเทศอยากเลือกตั้ง ไม่ว่าแฟนคลับพรรคไหนล้วน"อยากเลือกตั้ง" แปลว่าอยากให้รัฐบาลนี้ไปๆ เสียที คสช.กลัวข้อหาเลื่อนเลือกตั้ง กระทั่งใช้ ม.44 ปลด กกต.สมชัย ฐานพูดมาก คำนวณสูตรคณิตศาสตร์ แยก Scenario ต่างๆ ให้ชาวบ้านฟัง ว่าถ้าส่งตีความแล้วจะเลือกตั้งช้าเร็วเพียงไร แต่แทนที่จะปิดปากสมชัยได้ เรื่องกลับบานปลาย ถูกวิพากษ์ว่าใช้ ม.44 ปลดองค์กรอิสระ ซึ่งตลอด 4 ปีไม่เคยทำ พอทำ ก็เท่ากับใช้อำนาจล้ำเส้นองค์กรอิสระ เข้าใจตรงกันนะ รัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะปลดองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ประธานศาลฎีกา เสียเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยทำ ที่ผ่านมายังเว้นไว้ พอปลด กกต.สมชัย (ซึ่งแม้ชาวบ้านสะใจ เมื่อนึกถึงบทบาทหอเอน) ในหลักการก็แปลว่าถ้าองค์กรอิสระหรือตุลาการ ทำอะไรไม่ถูกใจ ขวางหูขวางตา สามารถโดน ม.44 ได้ทุกเมื่อ ปลดสมชัยจึงได้ไม่คุ้มเสีย โดนรุมกระหน่ำทั้งที่อีกไม่กี่เดือนสมชัยก็ต้องไปอยู่ดี ใครนะ เป็นกุนซือ เป็นที่ปรึกษากฎหมาย สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯ ยังใช้อำนาจปลดผู้ว่าการยางฯ ธีธัช สุขสะอาด บอกว่าเพื่อประสิทธิภาพ แปลว่าอะไรไม่เข้าใจ รัฐบาลนี้ตั้งธีธัชมาเอง โดนชาวสวนยางต่อต้านก็ยังปกป้อง แต่ตอนนี้ยอมรับแล้วใช่ไหม ว่าตั้งคนผิดมา 2 ปี หรือใครจะยังเชียร์ว่ากล้ายอมรับความผิดพลาด เหมือนกับใช้ ม.44 ปลดบอร์ด ปลดผู้ว่ารถไฟเมื่อปีที่แล้ว แซ่ซ้องกันอื้ออึงทั้งที่รัฐบาลนี้ตั้งมาเอง อ้าว นี่ตั้งผู้ว่ารถไฟคนใหม่ อดีต ส.ส.ปชป.ก็จองกฐินไว้ จะยื่น ป.ป.ช.สอบหลังเลือกตั้ง นับถอยหลัง รัฐบาล คสช.กำลังจะ "เอาไม่อยู่" คือคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้ คะแนนนิยมก็ตกลงทุกที ต่อให้บอกว่าเศรษฐกิจดีๆๆ แต่ทำอะไรก็ทำไม่ขึ้น สังคมเอาแต่เร่งเร้าเมื่อไหร่จะไปเสียทีๆๆ "เอาไม่อยู่" ที่พูดนี้ ยังไม่ถึงกับมีม็อบไล่ ยังไม่ถึงกับเกิดความรุนแรง แต่จะทำอะไรไม่ได้ดังใจ ยิ่งอยู่ๆ ไปยิ่งยุ่งยาก เลื่อนเลือกตั้งอีกก็ไม่ได้ จะกลับมาเป็นนายกฯ คนนอก ก็คงลำบาก แรงต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ความนิยมก็ตกต่ำลงๆ แต่อารมณ์ปรี๊ดขึ้นๆ คงต้องปรึกษากุนซือดีๆ ว่าเอาไม่อยู่แล้วจะหาทางลงอย่างไร
ที่มา: www.kaohoon.com
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมคิดระบุรัฐบาลกระตุ้นจนเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างมาก พร้อมทะยานสู่เศรษฐกิจยุคใหม่-ศูนย์กลางการลงทุน Posted: 26 Mar 2018 01:57 AM PDT 'สมคิด' ย้ำไทยต้องเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รับมือตลาดแรงงานถูก ลดบทบาท ยันรัฐเตรียมเดินหน้าคลอดนโยบายสนับสนุนเอกชนต่อเนื่อง ขณะที่ทาง สวทน. เปิดผลสำรวจด้านการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ ปี 2560 พบเอกชนขานรับลงทุนเพิ่มขึ้น 39% สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน CEO Innovation Forum 2018 "Thailand Shifting Towards Science Technology and Innovation Frontier" ที่จัดขึ้นโดย สวทน. 26 มี.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) รายงานว่า วันนี้ ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน CEO Innovation Forum 2018 "Thailand Shifting Towards Science Technology and Innovation Frontier" ที่จัดขึ้นโดย สวทน. และได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลิกโฉมประเทศไทยสู่ก้าวใหม่ของการพัฒนา" โดยระบุว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เปรียบเสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ส่งผลให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เรามีนโยบาย Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญไปกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เช่น การเปลี่ยนรูปแบบวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตด้วย Advanced materials การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและการบริการ การเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงาน การพัฒนาคนให้มีทักษะใหม่ตลอดเวลาด้วย Advanced robotics และ AI การที่คนจะมีอายุยืนขึ้น "ข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 3-4% เท่านั้น และยังมีความท้าทายจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของกำลังแรงงาน และข้อจำกัด ตลอดจนประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของประเทศ แต่จากความมุ่งมั่น ตั้งใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นอย่างมาก จนเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้พร้อมจะทะยานไปสู่โฉมหน้าใหม่ เป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ในระดับที่พัฒนาขึ้น และพร้อมเป็นศูนย์กลางการลงทุน การคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน โดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญต่อการทะยานในครั้งนี้" ดร.สมคิด กล่าว อย่างไรก็ดี การก้าวไปสู่การพลิกโฉมประเทศ จำเป็นต้องมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยรัฐบาลกำหนดแนวทางพัฒนาไว้ 5 กลุ่มหลัก อันได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มที่ 2 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มที่ 3 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มที่ 4 กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต" และล่าสุดรัฐบาลได้กำหนดให้เพิ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้ามาในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงวิทยาศาสตร์ก็กำลังขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญหลายๆ ประการ เช่น โครงการ Big rock คาราวานวิทยาศาสตร์ การผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การขจัดอุปสรรคการทำธุรกิจนวัตกรรม หรือ Ease of Doing Innovation Business (EDIB) เพื่อมุ่งหวังให้ภาคเอกชนและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ พร้อมพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นก้าวใหม่ในการพัฒนาประเทศ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวและมีการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้นทุกปี จะเห็นได้จากผลของการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2560 สำหรับการจัดงาน CEO Innovation Forum 2018 ในครั้งนี้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวด้วยว่า มุ่งหวังเพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานภาคเอกชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทยจากผลสืบเนื่องของนโยบาย มาตรการของรัฐบาล รวมทั้งได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและกระแสความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต เพื่อรับมือกับความท้าทาย และนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เผยถึง ผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม รอบการสำรวจประจำปี 2560 พบว่า มูลค่าการลงทุนมีมากกว่า 100,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.78 ของ GDP โดยภาคเอกชนไทยมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนารวมทั้งประเทศประมาณ 80,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากรอบการสำรวจประจำปี 2559 ถึงร้อยละ 39 นับเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าในปี 2561 จะมีมูลค่าการลงทุนถึงร้อยละ 1 ของ GDP หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท เลขาธิการ สวทน. ระบุถึงการสำรวจ พบว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการลงทุนสูงถึง 15,051 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสูตรอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป รองลงมาคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการลงทุน 11,879 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ การพัฒนาชิ้นส่วนรถตัวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ และเพื่อลดต้นทุนด้านการผลิต และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่มีการลงทุน 9,251 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น สูตรน้ำมันหล่อลื่นใหม่ เป็นต้น ด้านภาคบริการที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ บริการทางการเงินและประกันภัย มีการลงทุนสูงถึง 4,891 ล้านบาท มาจากวิจัยและพัฒนาปรับปรุงการบริการใหม่ การพัฒนา Fintech เพื่อนำมาใช้พัฒนาการบริการด้านการเงินให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น โปรแกรม Streaming และ e-payment เป็นต้น รองลงมาคือ การบริการวิจัยและพัฒนา ที่ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 4,750 ล้านบาท และบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคม ที่ลงทุน 1,983 ล้านบาท ผ่านการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา (Innovation Center) เพื่อให้พนักงานเสนอความคิดสร้างสรรค์ภายใต้บริบท "Internet of Things" และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลมากขึ้น สำหรับภาคค้าปลีกค้าส่งที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ ห้าง ร้านสะดวกซื้อ และร้านของชำ โดยมีการลงุทน 5,070 ล้านบาท จากการวิจัยและพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าใหม่ และการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทไทยมีนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในบริษัทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 78 โดยส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมทางการตลาด และนวัตกรรมองค์กร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนอยากเลือกตั้งโต้ โฆษกรัฐบาล คสช. ชี้ความวุ่นวายที่ก่อ เกิดขึ้นแค่ในจิตใจ คสช. Posted: 26 Mar 2018 01:52 AM PDT โฆษกนายกฯ โฆษก คสช. ประสานเสียง หากยังวุนวาย จะรับประกันได้อย่างไรว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยเรียบร้อย เผยทีมกฎหมายกำลังดำเนินการตรวจสอบการกระทำผิด กลุ่มคนอยากเลือกตั้งแถลงความวุนวายที่เกิดขึ้นไม่กระทบประชาชน แต่กระทบจิตใจ คสช. ภาพจาก Banrasdr Photo หลังจากที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้เดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 มี.ค. 2561 เพื่อเรียกร้องให้ กองทัพบกยุติบทบาทในการเป็นกองหนุนให้กับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และขอให้ทหารกลับเข้ากรมกอง ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ทางกลุ่มได้ยื่นข้อเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนไปยัง คสช. ว่า ให้ คสช. ยุติบทบาทลง โดยให้เหลือไว้แต่เพียงรัฐบาลรักษาการณ์เพื่อเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งภายในปีนี้ แต่ขอเสนอดังกล่าวได้รับการเมินเฉย ขณะที่ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาตั้งคำถามต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า หากยุบ คสช. แล้ว ใครจะเป็นผู้ดูแลความสงบของชาติ โฆษกรัฐบาล ชี้หายังวุ่นวาย อะไรคือหลักประกันว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อย ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มี.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง ที่ยังคงมีบุคคลบางกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวาย และประกาศจะยกระดับให้เข้มข้นขึ้นอีก หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้สังคมรู้สึกกังวลว่า ภาพเก่าๆ เริ่มปรากฎขึ้นอีกครั้ง จึงอยากให้ประชาชนทุกคนร่วมกันพิจารณาว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ เพื่อประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนรัฐบาล และคสช.จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ไม่ยอมให้ประเทศชาติกลับไปสู่วงจรเดิมอย่างเด็ดขาด พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับดำเนินการกับกลุ่มเคลื่อนไหวด้วยความรอบคอบรัดกุมภายใต้กรอบกฎหมาย พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจดีว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแมป โดยขั้นตอนและวันเลือกตั้งนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และอยากย้ำถึงภารกิจสำคัญที่ คสช. ต้องเข้ามา และมีรัฐบาลบริหารประเทศในช่วงนี้ คือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า หากยังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ อะไรคือหลักประกันว่าบรรยากาศของการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โฆษก คสช. เร่งดำเนินคดี คนอยากเลือกตั้ง ชี้โจมตีรัฐบาลด้วยข้อมูลบิดเบือน ด้าน พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในฐานะทีมโฆษก คสช. เปิดเผยว่า ทั้งสรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว และ รังสิมันต์ โรม ถือว่าเป็นผู้ที่มีคดีติดตัว และศาลมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมในลักษณะของการยุยงปลุกปั่น หรือกระด้างกระเดื่อง นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวมายังกองทัพบก โดยใช้รถขายเสียงในการปราศรัยตลอดเส้นทาง ซึ่งในเวลานี้ ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายใดบ้าง และทำผิดเงื่อนไข พ.ร.บ.การชุมในที่สาธารณะหรือไม่ที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง มีการชุมนุนเกินกำหนดเวลาที่ได้ขออนุญาต และกีดขวางการจราจร เนื่องจากก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าว ทาง คสช. ได้รับการประสานขออนุญาตจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจะเดินทางมายื่นหนังสือที่ กองบัญชาการกองทัพบก แต่ทางแกนนำได้เดินทางมาเพื่อปราศรัยโจมตีการทำงานรัฐบาล และ คสช. ซึ่งมีข้อมูลที่บิดเบือน อย่างไรก็ตาม พล.ต.ปิยพงศ์ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานด้วยความอดทนและเหมาะสม เพื่อให้บรรยกาศการจัดกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถึงแม้จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามผลักดันเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามายังหน้ากองบัญชาการกองทัพบกก็ตาม แต่ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเหตุปะทะกันอย่างรุนแรงเกิดขึ้น รัฐมนตรีกลาโหม ย้ำชัด คสช. กับกองทัพ เป็นเนื้อเดียวกัน แยกไม่ออก ขณะที่วันนี้ 26 มี.ค. 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มีอะไรบ้างที่รัฐบาลบอกว่าจะไม่เลือกตั้ง ตอนนี้บ้านเมืองเดินตามโรดแมปที่กำหนดไว้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ซึ่งเคลื่อนไหวแบบนี้ก็เป็นการป่วน เพราะรัฐบาลประกาศชัดเจนเดินตามโรดแมป และเลือกตั้ง ก.พ. 2562 และไม่มีอะไรเลยที่จะไม่เลือกตั้ง ส่วนที่ขู่ว่าจะบุกทำเนียบรัฐบาลนั้นคิดว่า ก็ให้ขู่ไป เมื่อถามว่า การชุมนุมแบบนี้จะผิด พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2558 หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เขามากันไม่มาก แค่ร้อยกว่าคน ขอให้ดูคนที่มาเป็นพวกไหน มีเจตนาอย่างไรส่วนจะบังคับใช้กฎหมายชุม หรือไม่ คิดว่าก็แล้วแต่ ถ้ามีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อถามว่า มีข้อเรียกร้อง กองทัพ แยกออกจากคสช. พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่แยก เขาไม่แยกจากกันอยู่แล้ว ส่วนที่เรียกร้องให้ กองทัพเลิกสนับสนุน คสช. ขอยืนยันว่ากองทัพเป็นส่วนหนึ่งของ คสช. อยู่แล้ว ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า สรุป ข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าว รัฐบาลจะไม่ทำตาม หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า จะให้ทำอย่างไร การเลือกตั้งมีการกำหนดไว้แล้ว ว่าใครจะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และมีการกำหนดตามรัฐธรรมนูญ แล้วจะไปเร่งรัดได้อย่างไร ดังนั้นทุกอย่างดำเนินการตามที่กำหนด และเป็นไปตามโรดแมป เมื่อถามต่อว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยกระดับการชุมนุม วันที่ 5 พ.ค. จะมีมาตรการดูแลอย่างไร รองนายกฯประวิตร กล่าวว่า เราก็ดูแลสถานการณ์ตามปกติ ส่วนการประกาศเคลื่อนไหววันดังกล่าวเราต้องประเมินสถานการณ์กันอีกที เมื่อถามย้ำอีกทีว่า การเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นภัยความมั่นคงหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็คิดดูเอาเอง เพราะบ้านเมืองกำลังเดินได้ด้วยดี และเป็นไปตามโรดแมปที่กำหนด ภาพจาก Banrasdr Photo คนอยากเลือกตั้งโต้ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับประชาชน แต่เกิดขึ้นในจิตใจ คสช. ส่วนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้ออกแถลงการณ์ผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจกลุ่มมฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยระบุว่า ในการจัดกิจกรรมของ "คนอยากเลือกตั้ง" ทุกครั้งที่ผ่านมา เราได้ให้ความสำคัญและพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะไม่ก่อให้เกิด "ความวุ่นวาย" ที่ส่งผลต่อประชาชน เพราะประชาชนไม่ใช่ศัตรูของเรา ศัตรูของเราคือ คสช. ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้ คือพวกเราได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยดูแลการจราจรและความปลอดภัยอยู่เสมอ แน่นอนว่ามันไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ที่ยืนยันได้อย่างแน่นอน คือการจัดกิจกรรมของพวกเรายังไม่เคยทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ยังไม่เคยทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด พวกเราไม่เคยจัดกิจกรรมโดยมุ่งหมายที่จะทำร้ายร่างกายหรือทำลายทรัพย์สินของใคร (และขอให้คิดในทางกลับกันด้วยว่าการที่ คสช. อยู่ต่อจะสร้างความเดือดร้อนแก่คนมากเท่าไหร่ ยาวนานแค่ไหน) ความวุ่นวายที่พวกเราได้ก่อเอาไว้อย่างใหญ่หลวงจริงๆ เห็นจะมีแต่ความวุ่นวายในจิตใจของ พล.อ.ประยุทธ์ และพลพรรค คสช. เท่านั้น เพราะข้อเรียกร้องของพวกเรามันพุ่งเป้าไปยังความต้องการขั้นสูงสุดในก้นบึ้งหัวใจของ คสช. นั่นคือการสืบทอดอำนาจ และพวกเราเองก็ไม่ได้ต้องการยกระดับการเคลื่อนไหวไปให้มากกว่านี้ เพราะเรารู้ดีว่า คสช. จ้องจะเอาผลกระทบที่เกิดขึ้นมาป้ายสีพวกเราว่าเป็น "ตัวป่วน" และสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองได้อยู่ต่อไป ดังนั้นหาก คสช. ทำตามข้อเรียกร้องของพวกเรา การยกระดับการเคลื่อนไหวก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วทำไมพวกเราต้องพยายามผลักดันข้อเรียกร้องของตัวเองขนาดนั้น? ก็เพราะเราเห็นมาตลอดว่า คสช. บอกว่าจะจัดการเลือกตั้งตามโรดแมป จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เหมือนที่อ้างในครั้งนี้ด้วย แต่เราก็เห็นมาตลอดเช่นกันว่าโรดแมปถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่ คสช. พยายามหาทางสืบทอดระบอบเผด็จการต่อไป ดังนั้นเราจึงเชื่อคำพูดของ คสช. ไม่ได้อีกแล้ว คสช. จะต้องพิสูจน์โดยการกระทำเท่านั้น นั่นคือต้องยุบ คสช. เปลี่ยนสถานะรัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ ยกเลิกคำสั่งจำกัดสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง และให้ทหารกลับเข้ากรมกองเสีย การถามหาหลักประกันว่าการเลือกตั้งจะต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นอีกหนึ่งตลกร้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดออกมา เพราะในประเทศนี้วันนี้ ผู้ที่มีแรงจูงใจและศักยภาพในการทำลายหลักประกันนี้มากที่สุดก็คือ คสช. และกองทัพนั่นเอง เนื่องจากการเลือกตั้งนั้นทำให้ คสช. เสียอำนาจและผลประโยชน์โดยตรง ดังนั้นหากสังคมต้องการหลักประกันนี้จริงๆ ผู้ที่ต้องถูกจับตามองจึงไม่ใช่พวกเรา แต่เป็นฝ่าย คสช. มากกว่า และถ้า คสช. ยังอยู่ต่อไปได้ อย่าว่าแต่หลักประกันว่าการเลือกตั้งจะสงบเรียบร้อยเลย หลักประกันว่าจะเกิดการเลือกตั้งยังไม่มีด้วยซ้ำ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังพยายามขุด "ภาพเก่าๆ" (ที่คงเน้นที่การชุมนุมประท้วงต่างๆ) มาหากินอีกครั้ง พวกเราก็อยากจะบอกเช่นกันว่าสิ่งที่พวกเราทำไปก็เพื่อไม่ให้สังคมไทยต้องไปเจอกับ "ภาพเก่าๆ" อีก ภาพที่เราหมายถึงนั้นเก่ากว่ามาก นั่นคือภาพที่เผด็จการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แม้เป็นภาพเก่าแต่ทว่าชัดเจนอย่างยิ่ง เพราะในวันนี้คนไทยทั้งประเทศถูกยัดเยียดให้ต้องทนเห็นแม้ไม่อยากจะเหลียวมอง เราจึงต้องมีข้อเรียกร้องดังที่กล่าวมา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการลบภาพเก่าๆ นี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับมาอีก สุดท้ายนี้ ถ้า คสช. ไม่อยากให้ประเทศชาติกลับไปสู่วงจรแบบเดิมอีกเด็ดขาดอย่างที่อ้าง ก็ออกไปซะ
เรียบเรียงจาก: PPTV , ข่าวสด , INN
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รังสิมันต์ โรม: อธิบายข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง Posted: 26 Mar 2018 01:52 AM PDT หลายคนคงทราบกันบ้างแล้วว่าข้อเสนอของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น มีทั้งหมดด้วยกัน 3 ข้อ นั้นคือ 1. เลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีนี้ 2. ยุบ คสช. ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพียงแค่เป็นรัฐบาลรักษาการ ที่ทำหน้าที่หลักๆคือการจัดการเลือกตั้ง 3. กองทัพต้องยกเลิกสนับสนุน คสช. เพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้ง จากทั้งหมด 3 ข้อนี้ ผมขออธิบายทีละข้อเพื่อให้เกิดความกระจ่างว่าทำไมเราจึงเสนอเช่นนี้ อะไรคือฐานความคิดสนับสนุนถึงข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งต้องย้ำไว้ตรงนี้ว่า ทั้ง 3 ข้อที่เสนอไม่ใช่ข้อเสนอลอยๆที่ปราศจากหลักการรองรับ
ข้อนี้ง่ายมาก เนื่องจากเป็นการทวงสัญญาที่ คสช. ให้ไว้ คสช. ได้สัญญาเอาไว้ในหลายครั้งหลายคราไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายนอย่างแน่นอน ครั้งสำคัญที่เชื่อว่าหลายคนคงจำได้แน่ๆว่า คสช. เคยสัญญาเอาไว้ คือ เมื่อไปเยือนทำเนียบขาว ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง คสช. พูดออกมาเองว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
(ผมขอไม่ลงรายละเอียดตรงนี้ว่ารัฐบาลรักษาการมีหน้าที่อะไรบ้าง แต่หากใครสนใจสามารถไปดูได้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 169) คอนเซปของข้อเสนอนี้เป็นเรื่องของการที่หากรัฐบาลประยุทธมีความจริงใจที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งจริงๆ สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องทำคือ การยุบ คสช. เพราะ การดำรงอยู่ของ คสช. คือ การคงไว้ซึ่งสถานการณ์พิเศษ ถามว่าในสถานการณ์บ้านเมืองนี้มีอะไรที่เราจำเป็นต้องมีคณะรัฐประหารนี้เอาไว้ ผมคิดว่าเวลาเกือบๆ 4 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าบ้านนี้เมืองนี้สงบราบคาบดีแล้ว ความจำเป็นในการมี คสช. จึงไม่มีอีกต่อไป (หากจะมีความจำเป็นใดๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ในเรื่องของเงินเดือนหรือเปล่า?) ดังนั้น เพื่อให้ระบบการเมืองเปิด ประชาชนได้ถกเถียงอย่างเสรี พรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายต่างๆได้ ไม่ต้องมาแอ๊บเป็นความเห็นส่วนตัว ดังนั้นถ้า คสช. มีความจริงใจต่อประเทศชาติ ก็ต้องยุบ คสช. เสีย ผมขอย้ำอีกครั้งว่า การเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว ที่มี คสช. ถือปืนควบคุมการเลือกตั้งจะเป็นการทำให้ประเทศชาติบอบช้ำไปมากกว่านี้ และความขัดแย้ง ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุก็มาจาก คสช. นั่นแหละ ถามว่า แล้วจะไปจุดนั้นได้ยังไง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ให้ คสช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตาม ม.265 เรื่องนี้สามารถทำได้ 2 วิธี คือ หนึ่ง คสช. แสดงสปิริตเลยครับ ลาออกยกชุด ซึ่งเมื่อลาออกแล้ว คสช. จะแต่งตั้งใครไม่ได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ว่าให้เฉพาะชุดที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น สอง คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิธีการนี้ก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพราะลูกกระจ๊อก คสช. สามารถจัดให้ตามใบสั่งอยู่แล้ว |
เปิดคำทำนายที่ 7 อดีต กกต. สมชัย ชี้เลือกตั้งรอบหน้าอาจมีปัญหา จนถึงขั้นเป็นโมฆะ Posted: 25 Mar 2018 11:56 PM PDT อดีต กกต. สัมชัย ระบุการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชี้มีช่องที่จะทำให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้านวีระ สมความคิด เผย คสช. อยากสืบทอดอำนาจ อยากอยู่นาน และอยากเอาเปรียบการเลือกตั้ง ขณะที่ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ย้ำยุคนี้คือ ยุคศาสตราธิปไตย อำนาจมาจากปลายกระบอกปืน แฟ้มภาพประชาไท เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2561 สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงคำทำนายลำดับที่ 7 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีคำทายในฐานะ กกต. ไปแล้ว 6 เรื่องเป็นจริงตามที่ทำนายทั้งหมด 5 เรื่อง โดยเรื่องที่ 6 คือการคาดการณ์ว่าก็ยื่นส่ง พ.ร.ป. การได้มาซึ่ง ส.ว. อาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนด(ก.พ. 2562) หรืออาจจะช้าออกไปได้มากที่สุด 6 เดือน โดย สมชัย เปิดเผยคำทำนายที่ 7 ว่า หลังจากนี้อาเกิดปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตราที่ 268 ซึ่งกำหนดให้หลังจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประกาศใช้ครบแล้ว อันได้แก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประกาศใช้แล้วทั้งสองฉบับ) , พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. (วาระกระบวนการพิจารณาโดย สนช.) เมื่อกฎหมายทั้งหมดมีผลบังคับใช้ให้มีการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภาย 150 วัน มาตรา 102 และ มาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้ประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส่วน กกต.เป็นคนกำหนดวันเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 45 วัน หรือ 60 วัน โดย กกต.ต้องดำเนินการประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วันหลังจากรัฐบาลประกาศกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้ ครม. หารือ กกต. กรธ. ประธานสนช. และอาจเชิญพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเข้ารือกัน เพื่อให้มีข้อสรุปแจ้ง คสช.ให้แก้ไข คำสั่ง คสช.ทั้งหลายที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง และ กำหนดแผนขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด สมชัย ระบุว่า หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทำให้เห็นว่า มีประเด็นที่อาจเป็นปัญหาในอนาคตอย่างน้อยสองประการคือ 1) ใครเป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง และ 2) วันเลือกตั้งควรใช้เต็มกรอบ 150 วัน หรือ จะเผื่อการประกาศผล เนื่องจากไม่ชัดเจนในคำว่า "การจัดการเลือกตั้งที่แล้วเสร็จ" คืออะไร ใครเป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง สมชัย เชื่อว่าในทางนิตินัย ครม.และ คสช.คงยอมถอย ให้ กกต.เป็นผู้ประกาศตาม กม. เพราะรัฐธรรมนูญย่อมใหญ่กว่าคำสั่ง คสช. แต่ในทางพฤตินัย คสช.คงใช้อำนาจเพื่อให้ กกต.ประกาศตามที่ตนต้องการ โดยอาศัยฉันทามติของการประชุมปรึกษาหารือตามข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แต่การตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วันเลือกตั้งวันใด แม้ในทางพฤตินัยมาจากความเห็นชอบร่วมทุกฝ่าย แต่ในทางนิตินัย หากเกิดความผิดพลาดจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.จะเป็นผู้รับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน หมายถึงประกาศผลด้วยหรือไม่ สมชัยชี้ว่า ในกรณีนี้ พรรคการเมืองที่มีความพร้อมน้อยกว่า ต้องการเวลาในการเตรียมพรรคและการหาเสียง สนง.กกต.ที่ต้องการเวลาที่มากที่สุดในการเตรียมการทางธุรการ รวมทั้งเจตนาในการเลือกตั้งของ ครม. คสช. และ สนช. ย่อมเป็นแรงผลักดันให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้กรอบเวลา 150 วัน เพื่อการลงบัตรอย่างเดียว ไม่หมายรวมถึงการประกาศผลด้วย แต่หาก กกต.ต้องการความปลอดภัยในผลการตัดสินใจ กกต.อาจกำหนดวันเลือกตั้งใน เวลาประมาณ 90-100 วัน และเหลือเวลา 50-60 วันไว้เพื่อประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คนแพ้ ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคนแพ้ที่แท้คือ กกต. สมชัย ระบุว่า หากกำหนดเลือกตั้งยืดตามกรอบ 15 วันเต็ม คนชนะเลือกตั้งคงไม่ทำอะไร แต่หากเป็นแพ้เป็นผู้มีอำนาจอิทธิพล ฟ้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลบอกไม่ผิดก็แล้วไป แต่หากศาลพิจารณาว่า การเลือกตั้งให้แล้วเสร็จคือต้องรวมประกาศผล การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นโมฆะ เงินจัดการเลือกตั้งเกือบ 5,000 ล้านบาทต้องสูญเปล่า กกต.คงไม่อาจอ้างผลการปรึกษาหารือกับใครได้ เพราะการตัดสินประกาศวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ ทางอาญา คือ การตัดสินใจโดยประมาท ปราศจากความรอบคอบ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ทางแพ่ง คือ ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง เกือบ ๕,๐๐๐ ล้านที่ กกต. 4 หรือ 7 คนที่ร่วมกันชดใช้ ด้าน วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง มาตรา 44 เพื่อชาติ หรือเพื่อใคร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ถึงกรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลด สมชัย ศรีสุทธิยากร ออกจากตำแหน่ง กกต. โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าว คสช. มีเจตนาว่าต้องการสืบทอดอำนาจ อยากจะอยู่ยาว แล้วต้องการออกเปรียบการเลือกตั้ง เมื่อได้ยินใครที่พูดจาไม่เข้าหู หรือขัดขวางการเข้ามาสืบทอดอำนาจก็ดำเนินการจัดการทั้งหมด และการปลดสมชัยเอง ก็ถือเป็นภาพสะท้อนว่า คสช. กำลังก้าวก่ายการทำงานของ องค์กรอิสระ "อยากสืบทอดอำนาจ อยากอยู่นานๆ ก็ลงเลือกตั้ง ไม่มีใครว่า มันเป็นสิทธิของคุณ แต่คุณต้องมาตามกรอบกติกา" วีระ กล่าว ด้าน พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวในงานเสวนาเดียวกันว่า การใช้มาตรา 44 ของ คสช. มี 2 ครั้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือการขยายบท เฉพาะกาลใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และการปลดสมชัยออกจาก กกต. ทำให้สงสัยว่าการใช้มาตรา 44 ด้วยเหตุผลอะไรกันแน่ คิดว่าครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจและอารมณ์นำเหตุผลที่แท้จริง ผู้มีอำนาจต้องการเสียงแห่งความเงียบ เสียงแห่งความเชื่อฟัง กลบความเห็นที่ไม่เห็นด้วย สะท้อนการแสดงอำนาจที่ขาดความยั้งคิด เป็นอำนาจของระบอบศาสตราธิปไตย เป็นระบอบที่อำนาจมาจากกำลังอาวุธ มาตรา 44 เป็นผลพวงการสถาปนาของผู้กุมอาวุธเอง จากกรณีนี้อาจทำให้องค์กรอื่นทำงานภายใต้ความกดดัน ไม่กล้าตัดสินใจประเด็นที่กระทบผู้มีอำนาจ ถ้ายังหวาดระแวงเช่นนี้อยู่ จะกลายเป็นความล่มสลายของการตรวจสอบ ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา จะมีผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย อำนาจตามมาตรา 44 ไม่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย ถ้าจะนำพาประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ต้องลดการใช้อำนาจมาตรา 44 โดยใช้กลไกปกติ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน Ep.2 ล่าชื่อ กักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป! Posted: 25 Mar 2018 10:44 PM PDT ปริญญา และทีมงานแคมเปญต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน เปิดภาค 2 รณรงค์ล่ารายชื่อ 20,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ 'การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป' รายละเอียดดู change.org 26 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่แคมเปญ ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน กักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป ผ่าน change.org โดยตั้งเป้ารวบรวม 20,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ 'การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป' โดยมีคำแถลงประกอบแคมเปญดังนี้ รวมพลัง 20,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ 'การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป'ปีที่แล้ว #ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ได้รณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบการประกันตัวเพื่อช่วยเหลือคนจนที่ต้องติดคุกระหว่างรอการพิจารณาคดี ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นยังไม่ถูกศาลตัดสินว่าได้กระทำความผิดจริง แต่พวกเขาต้องติดคุก เพียงเพราะ 'ไม่มีเงินประกันตัว' เราได้นำรายชื่อกว่า 30,000 รายชื่อไปยื่นให้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เพื่อผลักดันให้ 'ระบบประเมินความเสี่ยงว่าจะหนีหรือไม่' มาแทนที่การใช้เงินเป็นหลักประกัน ซึ่งไม่ได้ผล และทำให้คนจนจำนวนกว่า 66,000 คนต่อปีต้องติดคุกก่อนศาลพิพากษา และในวันนี้ เรามีประเด็นใหม่ที่อยากนำเสนอ และเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน .. ท่านทราบหรือไม่ว่า ถ้าท่านไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ท่านอาจจะต้องติดคุก! นี่คืออีกหนึ่งความไม่เป็นธรรมที่คนจนต้องติดคุกเพราะว่าจน! ประเทศไทยไม่ควรเอาใครมาขังคุกเพียงเพราะเขาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ เราจึงขอรณรงค์ให้ 'การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป' โดยจะผลักดันให้ 'การทำบริการสาธารณะ' หรือการทำงานให้รัฐ เป็นทางเลือกของจำเลยที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับตามคำพิพากษาแทนการถูกกักขัง เพราะไม่ควรต้องมีใครติดคุกเพราะจน! เราลองมาดูเรื่องจริงในปัจจุบันกัน ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับแล้วจะต้องทำอย่างไร???ตามประมวลกฎหมายอาญาแต่เดิมนั้น ถ้าผู้ต้องโทษปรับตามคำพิพากษา ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าปรับได้ เนื่องจากจำนวนเงินค่าปรับสูงเกินกว่ากำลังทรัพย์ เช่น หลายหมื่นบาท หรือเป็นแสนบาท ผู้ต้องโทษปรับคนนั้นก็ต้องถูกกักขังแทนการจ่ายค่าปรับ ซึ่งขณะนี้คือวันละ 500 บาท* ถ้าค่าปรับเป็นแสนบาทอาจถูกขังถึงหนึ่งปี หรือสองปี อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.2559 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยให้มีมาตรา 30/1** ให้ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอทำงานบริการสังคม หรือบริการสาธารณะได้ แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับพบว่าการให้ผู้รับโทษปรับไปบริการสาธารณะแทนนั้นยังมีน้อยมาก และยังไม่เป็นแนวทางปฏิบัติของผู้พิพากษาโดยส่วนใหญ่ และตัวผู้ต้องโทษปรับ โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็ยังไม่ทราบถึงสิทธิของตนในการร้องขอทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณะประโยชน์แทนการติดคุก ความจริงแล้วประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งในปี 2559*** ขอความร่วมมือจากผู้พิพากษาให้ถามจำเลยเสียก่อนว่าต้องการทำบริการสาธารณะหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ศาลฎีกาก็ได้มีความเห็นแล้วว่าการบริการสาธารณะแทนการกักขังย่อมเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เกิดการปฏิบัติเป็นการทั่วไป แล้วท่านจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร?เนื่องจากศาลเป็นองค์กรที่ยึดถือบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่เป็นสำคัญ ความเห็นจากสาธารณะในเชิงสนับสนุนและสร้างสรรค์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในการที่จะทำให้ผู้ต้องโทษปรับได้รับรู้ถึงสิทธิที่จะขอทำงานบริการสังคม หรือบริการสาธารณะแทนการถูกกักขัง และให้ศาลได้ใช้มาตรการนี้อย่างกว้างขวางเป็นการทั่วไป รวมถึงการนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายเรื่องนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป หนึ่งเสียงของท่านจึงมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น พวกเราจึงขอเชิญชวนท่านให้ร่วมลงชื่อใน "ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ภาค 2 : กักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป" โดยจะได้นำทุกรายชื่อยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมของ และทำให้คำกล่าวที่ว่า 'คุกมีไว้ขังคนจน' หมดไปจากประเทศไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น