โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กมธ.สาธารณสุขห่วงงบบัตรทองไม่พอ ปี 62 สปสช.ปรับฐานคำนวณใหม่ แก้ปัญหาของบหนุนกลางปี

Posted: 05 Mar 2018 10:44 AM PST

กมธ.สาธารณสุข สนช. เยี่ยมศึกษาดูงาน 'กองทุนบัตรทอง' ห่วงงบประมาณไม่เพียงพอ พร้อมแนะปรับระบบสอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ด้าน สปสช.แจง ปี 62 เตรียมปรับฐานคำนวณใหม่ หลังรองนายกฉัตรชัย แนะของบให้เพียงพอ แก้ปัญหาไม่ต้องของบกลางเพิ่มทุกปี พร้อมลุ้น ครม.พิจารณาอนุมัติงบกลาง หนุนงบผู้ป่วยในกองทุนบัตรทอง พรุ่งนี้ 

5 มี.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พล.อ.โปฎก บุนนาค รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข คนที่ 3 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมด้วยกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) ได้เยี่ยมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความเห็นในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. และคณะผู้บริหาร สปสช. ให้การต้อนรับพร้อมให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม 

พล.อ.โปฎก กล่าวว่า องค์กรด้านสุขภาพนับเป็นองค์กรมีความสำคัญที่สุด เพราะต้องดูแลสุขภาพประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนเสียชีวิตลง ทั้งงบประมาณด้านสุขภาพนับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามตัว จากความเจริญการแพทย์ที่ก้าวหน้า อายุประชากรที่ยืนยาวขึ้น และอัตราเสียชีวิตที่ลดลง ดังนั้นทำอย่างไรให้งบประมาณที่ได้รับเพียงพอต่อการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งหมด ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินับเป็นโครงการที่ดี ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ทำอย่างไรทำให้ระบบที่มีอยู่ขณะนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะงบประมาณ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ทำงานด้วยความสบายใจ ประชาชนได้รับการดูแลที่ดี ทั้งนี้การเยี่ยมดูงานการดำเนินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศที่ดี

ทั้งนี้ที่ประชุมโดย กมธ.สาธารณสุข ได้ซักถามแนวทางแก้ปัญหาความเพียงพอของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาต้องมีการของบกลางเพิ่มเติมจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุน การแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน และการบริหารกองทุนต่างๆ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ     

นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ความพอเพียงของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินับเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินระบบฯ เนื่องจากแต่ละปีงบประมาณที่ สปสช.ได้รับ จะได้รับต่ำกว่างบที่เสนอขาขึ้นเสมอ โดยในปีงบประมาณ 2560 ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้นำทีมเข้าพูดคุยถึงปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอกับนายกรัฐมนตรี จนได้รับอนุมัติงบกลางเพื่อสนับสนุนเพิ่มเติม และในปี 2561 นี้ ศ.นพ.ปิยะสกล ยังเป็นผู้นำทีมเข้าพูดคุยกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณปี 2561 จากงบกลางเพิ่มเติมอีก โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) ซึ่งรอต้องดูว่าจะได้รับอนุมัติงบเพิ่มเติมตามที่เสนอหรือไม่

อย่างไรก็ตามจากที่ พล.อ.ฉัตรชัย ได้ลงมาดูงบประมาณด้านสุขภาพด้วยตนเอง โดยได้มอบนโยบายให้มีการจัดทำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เพียงพอ โดยไม่ต้องขอเพิ่มเติมจากงบกลางทุกปี ดังนั้นในปีงบประมาณ2562 จะเป็นปีแรกที่จะมีการตั้งฐานปรับอัตราการคำนวณใหม่ โดยเฉพาะงบผู้ป่วยใน ซึ่งหากเป็นไปตามที่เสนอจะทำให้สถานการณ์งบประมาณในระบบดีขึ้น 

"ในปี 2562 นี้ จะเป็นปีแรกของการตั้งฐานการคำนวณงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่ ซึ่งจะทำให้ปีต่อไปงบประมาณที่เข้าสู่ระบบเพิมขึ้น ส่งผลให้ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอลดลง อย่างไรก็ตามหากยังคงมีปัญหางบไม่เพียงพอ คงต้องชะลอสิทธิประโยชน์ใหม่เพิ่มเติมซึ่งมีไม่มากแล้ว การปรับประสิทธิภาพการบริหาร แต่ยังคงไม่ถึงจุดที่จะรบกวนประชาชน ซึ่งหากปี 2562 งบประมาณที่ได้รับไม่ต่ำเกินไป ระบบยังคงเดินหน้าต่อไปได้" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ในการจัดทำระบบบัญชีและการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในปีนี้ สปสช.ยังจะมีการจ้างที่ปรึกษาระบบบัญชีระดับโลก มาช่วยวางระบบบัญชีเพื่อทำให้การกระจายงบประมาณมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นพ.จเด็ด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. เพื่อแก้ปัญหาการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในโรงพยาบาลสังกัด สธ. มีการพูดคุยกันในทุกเดือน โดย รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อหารือว่าจะดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างไร ทั้งยังมีการทำงานร่วมกันในระดับคณะกรรมการ 7x7 และคณะกรรมการระดับเขต 5x5 ซึ่งช่วยแก้ความขัดแย้งและลดอุปสรรคต่างๆ ได้มาก ซึ่งจากรายงานงบโรงพยาบาล สธ. ไตรมาสแรก ปี 2561 เป็นปีแรกที่ไม่มีรายงานโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลุยขับเคลื่อนธรรมนูญสงฆ์ 20 พื้นที่นำร่อง ผนึก 5 หน่วยงานจ่อคลอดสิทธิประโยชน์พระ

Posted: 05 Mar 2018 08:09 AM PST

'พระมหาประยูร' แจงแนวทางขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ผนึกกำลัง 5 หน่วยงาน 'สธ.-พศ.-สสส.-สปสช.-สช.' จัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสุขภาพยึดทางธรรมนำทางโลก เชื่อมโยงภารกิจร่วมกับโครงสร้างปกครองคณะสงฆ์ จ่อคลอดสิทธิประโยชน์พระแต่ละพื้นที่

พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) (ที่มาภาพ เว็บไซต์ มจร.)

5 มี.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งได้ประกาศใช้ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อปลายปี 2560 ว่า ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 มีการลงนามในเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

ทั้งนี้ ทั้ง 5 หน่วยงาน จะมีภารกิจต้องร่วมกันทำใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.สุขภาพพระสงฆ์เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเต็มความสามารถ 2.ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ โดยให้ยึดทางธรรมนำทางโลก 3.เน้นการเชื่อมโยงความร่วมมือและบูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานต่อการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับคณะสงฆ์ ประชาชน ชุมชน และสังคม 4.สร้างกลไกการติดตามประเมินผลเพื่อนำไปสู่การทำงานอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนนั้น สช.ได้สนับสนุนให้ขึ้นรูปธรรมนูญและมีการประกาศใช้ ขณะที่ สสส.ได้สนับสนุนให้มีการนำธรรมนูญไปทดลองหรือขับเคลื่อนพื้นที่นำร่อง 20 พื้นที่ทั่วประเทศเพื่อให้เกิดรูปธรรม อาทิ จัดทำสิทธิประโยชน์ของพระสงฆ์ การให้องค์ความรู้แก่พระสงฆ์เพื่อให้เข้าใจสิทธิที่พึงมี ซึ่งแต่ละพื้นที่จะแตกต่างออกไปตามบริบทและสภาพปัญหาของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ในภาพกว้างนั้นการทำงานจะยึดโยงกับโครงสร้างการปกครองของคณะสงฆ์ คือ 1.จะมีฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ซึ่งมีคณะกรรมการทั่วประเทศในระดับจังหวัด รวมแล้วประมาณ 700-800 รูป 2.จะทำงานร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ 3.เครือข่ายสถาบันการศึกษาสงฆ์

พระมหาประยูร กล่าวว่า เนื่องจากองค์กรภาคีด้านสุขภาพต่างๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว ดังนั้นแม้ว่าหลักการในการทำงานเชิงพื้นที่จะใช้ทางธรรมนำทางโลก แต่ในการทำงานจริงนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมมือกัน ตัวอย่างเช่น จ.สุโขทัย พอเจ้าคณะปกครองนัดประชุมกันว่าท่านจะเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติอย่างไร จากนั้นหน่วยงานของ สธ.ก็มาร่วมประชุมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะออกแบบการขับเคลื่อนอย่างไรต่อ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีงบประมาณและวัตถุประสงค์ของตัวเอง ตรงนี้ก็จะต้องคุยกันว่าจะร่วมกันทำงานได้อย่างไร

"ที่เห็นเป็นปรากฏการณ์คือคณะสงฆ์ท่านตื่นตัว และเจ้าคณะปกครองก็ลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือในบางพื้นที่ท่านก็ได้ช่วยสนับสนุนงบประมาณเอง หางบประมาณเพื่อจะขับเคลื่อนเอง ถึงแม้ในชั้นต้นจะมีการนำธรรมนูญไปทดลองใช้ แต่ที่คณะสงฆ์ทำเองควบคู่กันไปด้วยนั้นเยอะมาก" พระมหาประยูร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ความล้าหลัง (ห่วย) ของระบบอุดมศึกษาไทย

Posted: 05 Mar 2018 06:58 AM PST



น่าจะมีคนคาดการณ์ได้บ้างแล้วว่าอนาคตของสถาบันอุดมศึกษาของไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคตจากความล้าหลังของสถาบันการศึกษาเหล่านี้เองที่เคยคาดกันว่าจะบูมในอนาคต มันกำลังปรากฏความถดถอยอยู่ในขณะนี้ และชี้ให้เห็นว่าการคาดการณ์ที่มีแต่แรกนั้นผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงเร็วเสียเหลือเกิน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสถาบันการศึกษาของไทยทุกประเภทปรับตัวไม่ทัน และกำลังกลายเป็นวัตถุโบราณไม่ช้าก็เร็ว

มองกันตามความเป็นจริงก็คือ มิใช่เพียงแค่วงการอุตสาหกรรมโดยทั่วไปที่เปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเอไอ (Artificial intelligence) มาทดแทนแรงงานคน หากในวงการการศึกษาก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นถึงรากถึงโคน ชนิดที่รูปแบบของสถาบันศึกษาแบบเดิมๆ แทบไม่เหลือ

การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มมาจาก ระบบการสื่อสารออนไลน์ที่เข้าถึงตัวของผู้คนทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ บนฐานของปรัชญาการศึกษาแบบสมัยใหม่ยุคโลกาภิวัตน์ คือ การศึกษาแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student center)  เน้นการคิดและวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ เน้นการเรียนมากกว่าการสอน คำตอบของข้อสอบเป็นปลายเปิด ไม่ใช่ข้อสอบปลายปิดดังที่แล้วมา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงถึงอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ ครูคือพี่เลี้ยงมิใช่ผู้สอนหรือมีภาระในการบรรยายอีกต่อไป

ทั้งปรากฏว่าการมุ่งเน้นการพัฒนาคนในระดับอุดมศึกษาอย่างมากของไทยนั้น แทบไม่ได้ผลต่อการพัฒนาคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานภาคความเป็นจริง (Real Sector) เอาเลย ไม่ว่าจะเป็นภาคใดๆ ก็ตาม เพราะเราละเลยการพัฒนาการศึกษาในระดับปฐมวัย แปลว่าเราอาจใส่ใจกาพัฒนาการศึกษาของเด็กน้อยเกินไป พอส่งต่อมาถึงขั้นมหาวิทยาลัย มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะเด็กถูกฝึก ถูกฝังหัวมาในระบบอำนาจนิยม(ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถาม) อย่างยาวนานนับกว่า 10 ปี

สำหรับระบบการศึกษาในประเทศไทย ไม่มีอะไรที่ทำให้เด็กเป็นอิสระได้นับแต่ปฐมวัยจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย ซึ่งหากแช่ระบบดังกล่าวเอาไว้นาน ก็จะทำให้การศึกษาไทยล้าหลัง ห่างออกไปจากระบบการศึกษาสากลมากขึ้น

ไม่มีระบบการศึกษาของประเทศใดในโลกที่สมบูรณ์แบบ แม้แต่ระบบการศึกษาแบบอเมริกันซึ่งถือกันว่าเป็นระบบเปิดแบบ student center อยู่มาก ทั้งๆที่รัฐบาลอเมริกันเองพยายามให้ท้องถิ่นดำเนินการบริหารจัดการการศึกษาด้วยตัวเอง แต่การถูกแทรกจากรัฐบาลกลางก็มีอยู่มาก ข้อดีของการศึกษาแบบอเมริกันที่ทราบกันดีก็คือ การให้ความสำคัญกับผู้เรียน เช่น การวิพากษ์ในห้องเรียนที่หมายถึงความสามารถในการวิเคราะห์ของผู้เรียนนั่นเอง การโต้เถียงโดยใช้เหตุผลในห้องเรียนของนักเรียนอเมริกันจึงเป็นเรื่องปกติ รวมถึงการไม่ไปทางเดียวกับครูผู้สอน

อย่างที่กล่าวไป การเกิดขึ้นของนวัตกรรมอย่างเอไอนั้นส่งผลกระทบต่อการงานทุกระบบ ที่เมือง Mountain View ซิลิคอนวัลเลย์  แคลิฟอร์เนีย เกิดมี Khan Academy  สื่อออนไลน์เพื่อการศึกษาแบบฟรี ที่ไม่ว่าผู้เรียนอยู่ไหนก็สามารถเรียนและมีวุฒิบัตรให้ได้ สถาบันการศึกษากำลังได้รับความนิยมในอเมริกา แม้กระทั่งในโรงเรียนปฐมวัยในอเมริกาเอง เพราะหลักสูตรของ Khan academy  เป็นหลักสูตรเดียวกันกับหลักสูตรของโรงเรียนอเมริกันโดยทั่วไป

ชี้เห็นว่าเทคโนโลยีมีผลต่อการเรียนการสอนอย่างไร ซึ่งความจริงก็ไม่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพื่อนอเมริกันของผมคนหนึ่งสอนภาษาอังกฤษทางไกลให้กับนักเรียนที่เมืองจีนมาร่วมหลายปีแล้วจากบ้านพักของเขาแถวหาดคลองวาฬ ประจวบคีรีขันธ์

แสดงว่าเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในปัจจุบันสามารถรองรับการเรียนสอนได้แบบสบายๆ ตรงกันข้ามเรื่องที่น่าห่วงเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย น่าจะเป็นระบบความคิดเชิงปรัชญาการเรียนการสอนมากกว่า ความล้าหลังทางความคิดของผู้บริการการศึกษา ของครูผู้สอนที่ก็น่าเห็นใจเพราะเป็นแค่ผู้ทำตามนโยบายเท่านั้น เหมือนดังที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ แห่งทีดีอาร์ไอ กล่าวไว้ตอนหนึ่งของการสรุปผลการวิจัยปัญหาการศึกษาไทยว่า "ครูมัวแต่แต่สนใจ (กังวล/กลัว) ผู้บริหารอย่างเช่น ผู้อำนวยการ มากกว่าจะสนใจเด็กนักเรียนในชั้นของตัวเอง" วลีนี้ก็น่าจะพอเพียงที่แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียนถูกเพิกเฉยมากเพียงใด หมอกพิษแห่งอำนาจนิยมแผ่ฝุ่นควันปกคลุมโรงเรียนมากน้อยขนาดไหน

ในระดับอุดมศึกษาของไทยนั้น บางสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันของรัฐที่ภาพภายนอกเห็นว่าแอบอิงกับจารีตศีลธรรมอย่างชัดเจนก็หาได้รอดพ้นไปจากวงจรอุบาทว์ทางการศึกษาแบบไทยๆ ไปไม่ เพราะหากไล่ตั้งแต่กระบวนการรับบุคคลากร โดยเฉพาะคนที่จะมาเป็นอาจารย์แล้ว ต้องนับว่าล้าหลัง ด้วยเหตุแห่งการยืนพิงฝาระบบอุปถัมภ์เส้นสายอย่างมั่นคงไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะกาลเวลาจะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

โดยแทบไม่เคยประเมินผลได้ผลเสียที่เกิดขึ้นจากความไร้ทักษะในการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ เอาแค่เพียงว่าผู้ใดยอมสยบต่ออำนาจนิยมเชิงโครงสร้างการบริหารงานของสถาบันเป็นอันใช้ได้ อย่างนี้การจะหวังถึงความก้าวหน้าของนวัตกรรมย่อมเป็นไปได้ยาก

ในเวลาเดียวกันผู้บริหารหรือผู้สอนในมหาวิทยาลัยเอง ยังจดจ้องอยู่กับการซูเอี๋ยกับผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นคนในรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเชิงโครงสร้างอำนาจ ความหวังในเรื่องความบริสุทธิ์ผุดผ่องในทางวิชาการก็คงเป็นไปได้ยากเช่นกัน

เพราะหากว่ากันตามหลักการสากลแล้ว ความเข้มแข็งทางด้านวิชาการจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีทักษะที่จะอยู่ความขัดแย้งหรือโต้แย้ง ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในอเมริกา ในยุโรปหรือในออสเตรเลียที่ประสบความสำเร็จ จำนวนหนึ่งซึ่งมากด้วย คนพวกนี้คิดไม่ลงรอยกับอาจารย์หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยมาก่อนแทบทั้งสิ้น มิหนำซ้ำพวกเขากลับได้รับการชมเชยจากอาจารย์และผู้บริหารเอาด้วยซ้ำ ทั้งต้องไม่ลืมว่าในแง่วิชาการนั้น นวัตกรรมอย่างเช่นทฤษฎีใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้คิดค้นทฤษฎีจะต้องใช้แรงสติปัญญาเบียดเสียดทฤษฎีเก่าให้ตกขอบไปจนได้ จนทฤษฎีใหม่ได้รับการยอมรับในที่สุด

แต่ในเรื่องนี้ ประเทศไทยน่าจะกำลังเดินถอยหลัง เราไม่น่าจะฝากความหวังไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) หรือแม้กระทั่งสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไม่ได้อีกต่อไป

เพราะจากผลงานของพวกเขาหลายปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าหน่วยงานควบคุมและกำกับมาตรฐานการศึกษาของรัฐเหล่านี้อ่อนด้อยประสิทธิภาพเพียงใด ได้ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ดีขึ้นเทียบเท่าเพื่อนบ้านของไทยหรืออารยประเทศมากน้อยขนาดไหน เห็นชัดว่าไม่

หน่วยงานเหล่านี้สอบตกตั้งแต่ก้าวย่างเข้าไปในสถานศึกษาแล้ว เพราะพวกเขาไม่เคยตั้งคำถามเชิงปรัชญาการศึกษา และคำถามถึงความโยงใยของระบบอุปภัมภ์ภายในมหาวิทยาลัยของรัฐ นอกเหนือไปจากความย้อนแย้งในแง่ความเป็นอิสระทางวิชาการของแต่ละสถาบันชนิดที่ สกอ.ก็มิอาจเข้าไปสอดแทรกได้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลให้ประกัน 'รังสิมันต์ โรม' 5 หมื่น คดีฝืนคำสั่ง คสช. จัดชุมนุม 'หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ'

Posted: 05 Mar 2018 05:17 AM PST

ศาลปล่อยตัวชั่วคราว 'รังสิมันต์ โรม' ในคดีขัดคำสั่ง คสช.และ ม.116 กรณีจัดชุมนุม "หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ" เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่อนุเสาว์รีย์ประชาธิปไตย โดยศาลตีหลักทรัพย์ 50,000 บาท ไม่กำหนดเงื่อนไข ทั้งที่ 4 คนก่อนหน้าศาลยกคำร้องขอฝากขัง

5 มี.ค.2561 เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' รายงานว่า หลังจากเมื่อช่วงเที่ยง รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมาตรา 116 ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาฝากขัง และศาลได้อนุญาติให้ฝากขัง ทนายได้ยื่นประกันตัวทันที และศาลได้อนุญาติให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีหลักทรัพย์ 50,000 บาท โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ

ทั้งนี้ในคดีเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ศาลอาญาได้ยกคำร้องของ ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ที่ขอฝากขัง 4 นักกิจกรรมและนักศึกษาโดยครั้งนั้นศาลพิจารณาว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนเป็นอย่างดีจึงให้ยกคำร้องขอฝากขังทั้ง 4 คน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะผู้แทนเกาหลีใต้เยือนเกาหลีเหนือครั้งประวัติศาสตร์ ดันประเด็นปลดนิวเคลียร์

Posted: 05 Mar 2018 05:13 AM PST

ผู้นำเกาหลีเหนือนัดรับประทานอาหารเพื่อพบปะครั้งประวัติศาสตร์กับคณะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เย็นวันนี้ ที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ คณะเกาหลีใต้ย้ำ มุ่งผลักดันคาบสมุทรเกาหลีไร้นิวเคลียร์ สานเสวนาเกาหลีเหนือ-ใต้-สหรัฐฯ


ขบวนนักกีฬาของสองเกาหลีเดินขบวนในพิธีเปิดร่วมกันภายใต้ธงรวมชาติ (ที่มา: Facebook/ PyeongChang 2018)

5 มี.ค. 2561 สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานว่า คณะผู้แทนพิเศษจากเกาหลีใต้ได้เดินทางไปเยือนกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือเพื่อพบปะกับ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ถือเป็นการพบปะกันครั้งแรกระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้

คิม อืยคยอม (Kim Eui-kyeom)  โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่า ผู้นำเกาหลีเหนือได้จัดให้มีการรับประทานอาหารเย็นร่วมกับคณะผู้แทนที่มาในนามของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูนแจอิน ในเย็นวันนี้

ยอนฮัปรายงานว่า มูนแจอินและคณะได้พยายามผลักดันให้เกิดการพูดคุยระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การหยุดพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี ทั้งยังระบุว่าการไปเยือนเปียงยางครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นไปเพื่อผลักดันให้เกิดการสานเสวนาดังกล่าวขึ้น

"ผมวางแผนที่จะให้มีการพูดคุยเชิงลึกในหลายประเด็นไม่เพียงแต่ระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ แต่ยังหมายรวมถึงเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และกับประชาคมนานาชาติ" ชุงอืยยอง (Chung Eui-yong) หัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษและประธานสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติกล่าวก่อนจะเดินทางไปยังกรุงเปียงยาง

คณะผู้แทนพิเศษของเกาหลีใต้มีทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วยชุงอืยยอง หัวหน้าคณะ ซูฮุน หัวหน้าหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ยุนคุนยัง เจ้าหน้าที่สำนักประธานาธิบดี คิมซังกยึน ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ และชุนเฮซุง รองรัฐมนตรีด้านการรวมชาติ ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ช่วยงานอีก 5 คน รวมกันเป็น 10 คน โดยมีกำหนดเดินทางกลับในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ สถานีแพร่ภาพกระจายเสียงกลางแห่งเกาหลีเหนือได้รายงานว่า เกาหลีใต้เองก็ได้พบปะกับรีซองกวอน เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ หัวหน้าฝ่ายกิจการระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ ในช่วงที่มีการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อ 9-25 ก.พ. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือเกือบจะได้มีการพูดคุยกันในระหว่างที่ผู้แทนทั้งสองประเทศไปเยือนเกาหลีใต้เนื่องในโอกาสการจัดกีฬาโอลิมปิก แต่ฮีเธอร์ นอเอิร์ต โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าทางเกาหลีเหนือตัดสินใจปฏิเสธไม่เข้าร่วมการพูดคุยในนาทีสุดท้าย ในระหว่างพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ได้นั่งใกล้กับคิมโยจอง น้องสาวคิมจองอึน หนึ่งในคณะผู้แทนที่ไปเยือนเกาหลีใต้ แต่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อะไร ทั้งนี้ เพนซ์ ยังได้ปฏิเสธการรับประทานอาหารเย็นร่วมกับคิมโยจองก่อนพิธีเปิดกีฬาจะเริ่มขึ้นด้วย

ผลัดกันเมิน เกาหลีเหนือปัดร่วมประชุมกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ปัจจุบัน เกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรทางการทูตและเศรษฐกิจอย่างหนักจากทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องภายใต้สมัยของคิมจองอึน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเปียงยางกับสหรัฐฯ ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน สะท้อนจากวิวาทะมากมายจนความขัดแย้งยกระดับไปถึงระดับที่เกาหลีเหนือขู่ว่าจะยิงขีปนาวุธไปยังเกาะกวม ฐานที่มั่นทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก นอกจากนั้น กรณีออตโต วอร์มเบียร์ นักศึกษาชาวอเมริกันที่ถูกทางการเกาหลีเหนือตัดสินให้ทำงานหนักเป็นเวลา 15 ปี ภายหลังถูกจับได้ว่าเขาพยายามขโมยแผ่นป้ายโฆษณาชวนเชื่อจากที่พักระหว่างที่เขาเดินทางท่องเที่ยวเกาหลีเหนือในปี 2559 แต่สุดท้ายได้รับการปล่อยตัวกลับสหรัฐฯ ในสภาพโคม่าและเสียชีวิตลงในเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วยังกลายมาเป็นหนึ่งชนวนความขัดแย้งในทางการทูตด้วย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับออตโตในขณะที่อยู่ภายใต้การคุมขังที่เกาหลีเหนือ

แปลและเรียบเรียงจาก

(2nd LD) N. Korean leader meets with S. Korean envoys: Cheong Wa Dae, Yonhap, March 5, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกชัย เข้าร้อง ป.ป.ช. เร่งคดีนาฬิกาประวิตร พร้อมจุดธูป 36 ดอก แต่ถูก จนท.หิ้วปีกออกมา

Posted: 05 Mar 2018 04:54 AM PST

เอกชัย หงส์กังวาน และพวก เข้า ยื่นหนังสือ ป.ป.ช.จุดธูป 36 ดอกไล่สะเนียดจัญไรเพื่อให้เร่งรัดคดีนาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร แต่กลับถูก จนท.หิ้วปีกออกมา จนได้บาดแผนที่นิ้วมือ เหตุไม่ได้ขออนุญาติ

ภาพ เอกชัย แสดงอาการบาดเจ็บที่นิ้วมือ หลังจากที่เจ้าหน้าที่หิ้วปีก (ในภาพขวา)

5 มี.ค. 2561 Spring Radio รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ถนนนนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประชาสัมพันธุ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้เรียกตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าชี้แจงกรณีนาฬิกาหรูที่ตกเป็นภาพข่าวว่า พล.อ.ประวิตร ใส่นาฬิกาที่มีราคาแพงหลายล้านบาทจำนวนหลายสิบเรือน

ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค เอกชัย หงส์กังวาน

โดยที่วานนี้ (4 มี.ค.61) เอกชัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ถึงเหตุผลที่เดินทางมายื่นหนังสือว่า หลังการปรากฏข่าวการครอบครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. จัดให้มีการสอบสวนถึงกรณีนี้ โดย ป.ป.ช. แจ้งถึงการส่งหนังสือชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยถึงจำนวนนาฬิกาที่ พล.อ.ประวิตร ชี้แจง ขณะที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ CSI LA เปิดเผยข้อมูลของนาฬิกาหรูเพิ่มเติมกว่า 10 เรือนในเวลาต่อมา ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงถึงการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.

เอกชัย ระบุต่อว่า พล.อ.ประวิตร ยังคงปฏิเสธการให้ข้อมูลจำนวนนาฬิกาหรูที่ครอบครองต่อ ป.ป.ช. และเลื่อนการชี้แจงหลายครั้งจนถึงกลางเดือนมีนาคมนี้จนทำให้ ป.ป.ช. ไม่สามารถสรุปกรณีนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นประวิงเวลาอย่างชัดเจน หาก ป.ป.ช. ปล่อยปละละเลยในกรณีนี้ย่อมส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช. ลดลง ดังนั้น จึงร้องขอให้ ป.ป.ช. ส่งหนังสือเรียกตัว พล.อ.ประวิตร เข้าชี้แจงกรณีนี้โดยเร็วเพื่อรักษาความมาตรฐานของตนเอง

Spring Radio รายงานคำให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมของ เอกชัย ถึงการเดินทางมายื่นกล่าว โดย เอกชัย กล่าวว่า กรณีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร 2 เดือนกว่าแล้วยังไม่รู้ผล ช้ามาก ถ้าเป็นกรณีของคนอื่นๆ ทั่วไปคงเสร็จไปนานแล้ว จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบผลการตรวจสอบ รวมทั้งคดี เปรมชัย เรื่องเสือดำ แทนที่จะเร่งสอบและดำเนินคดี แล้วที่บอกว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาเพื่อปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่กลับว่าเหมือนมาไล่บี้พวกที่มาตามเรื่องหล่านี้มากกว่า สาเหตุที่มาจุดธูป 36 ดอก เป็นความเชื่อ เพราะก่อนหน้านี้มีคนไปจุดธูปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลก็เกิดเหตุการบางอย่างขึ้น และที่จุดที่ธรรมศาสตร์ก็ปรากฏผลบางอย่างขึ้น ตนจุงได้มาจุดบ้างเผื่อว่าจะเกิดผลบางอย่างที่ตามมา และเป็นการจุดเพื่อไล่เสนียดจัญไรออกไป สิ่งดีๆ อาจเกิดตามมา กรณีนี้อาจกระจ่างขึ้น

รายงานข่าวระบุด้วยว่า หลังจากที่ เอกชัย พยามจะจุดธูปใน ป.ป.ช.ได้ถูกทางเจ้าหน้าที่หิ้วปีกออกมาเนื่องจากไม่ได้ขออนุญาติ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่เจ้าหน้าที่หิ้วปีก เอกชัย เขาโพสต์เล่าด้วยว่า การฉุดกระชากจนได้บาดแผนที่นิ้วกลาง นิ้วนางของมือขวา ด้วย 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำถามคาใจกับการก่อตั้งพรรคคนรุ่นใหม่ของปิยบุตรกับธนาธร

Posted: 05 Mar 2018 02:41 AM PST

 

การที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตั้งพรรคแนวทางใหม่ของคนรุ่นใหม่ ที่ชูแนวคิดพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป เป็นการเริ่มต้นที่ดี และคนจำนวนมากก็คงตั้งความหวังไว้กับการสร้างพรรคนี้

อย่างไรก็ตามผมมีคำถามคาใจหลายประเด็น ที่ผมอยากจะถาม เพื่อให้พวกเราที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมร่วมกันพิจารณา

การที่ อ.ปิยบุตร เอ่ยถึงพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน และพรรคห้าดาวของอิตาลี่ ในแง่หนึ่งก็ดีเพราะกล้าพูดถึงฝ่ายซ้ายหรือพรรคทางเลือกใหม่อย่างเปิดเผย

แต่พรรคที่ อ.ปิยบุตร เลือกมานี้ล้วนแต่มีปัญหาที่ชวนให้เราตั้งคำถามต่อไป

พรรคซีรีซา ชนะการเลือกตั้งและสร้างความหวังกับประชาชนธรรมดาในกรีซจำนวนมาก แต่ในไม่กี่เดือนก็หักหลังประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัดตามแนวเสรีนิยม(Neoliberal) ซึ่งนโยบายดังกล่าวองค์กรระหว่างประเทศในอียูบังคับให้ทำ ตอนนี้รัฐบาลซีรีซาตัดสวัสดิการคนชรา ตัดการบริการของรัฐ และกดค่าแรงหรือปลดคนงานออกในระดับที่รุนแรงกว่าพรรคอนุรักษฺนิยมในอดีต ประเด็นคือถ้า อ.ปิยบุตร เสนอว่าจะต้านนโยบายเสรีนิยม ซึ่งเป็นเรื่องดี พรรคคนรุ่นใหม่ของไทยจะคัดค้านนโยบาย "การรักษาวินัยทางการคลัง" ที่รัฐบาลทหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้มาตลอดอย่างไร? นโยบายดังกล่าวถูกบรรจุในยุทธศาสตร์แห่งชาติของเผด็จการด้วย พรรคคนรุ่นใหม่จะเสนอให้มีการเพิ่มบทบาทและงบประมาณรัฐในการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ทำงานหรือไม่? จะเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแบบยุโรปหรือไม่? และจะมีการเพิ่มรายได้รัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวยและบริษัทใหญ่ในอัตราก้าวหน้าหรือไม่? เพราะการต่อต้านแนวเสรีนิยมต้องมีองค์ประกอบดังกล่าว [ดู ]

แล้วการที่รองประธานบริษัทซัมมิท ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำสำคัญของพรรค จะทำให้พรรคไม่เสนอนโยบายการเก็บภาษีก้าวหน้าหรือไม่?

พรรคซิรีซา และพรรคซ้ายอื่นๆ ในยุโรปมีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ กับขบวนการสหภาพแรงงาน ผมหวังว่าพรรคคนรุ่นใหม่ในไทยจะขยันในการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงาน เรื่องนี้สำคัญเพราะพรรคกระแสหลักเก่าๆ ของไทยล้วนแต่เป็นพรรคของชนชั้นนายทุนทั้งสิ้น สหภาพแรงงานเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความสำคัญ และเป็นการจัดตั้งของคนชั้นล่าง ผมหวังว่าการที่ อ.ปิยบุตร เคยพูดว่า "ชนชั้นไม่ใช่ประเด็นในไทย" ไม่ได้เป็นการจงใจปิดหูปิดตาถึงความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งทางชนชั้นที่ดำรงอยู่ เพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนบริษัทซัมมิท

ในปี 2549 พนักงานบริษัทไทยซัมมิท อีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด จำนวน 260 คน ถูกเลิกจ้างงานเพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย ต่อมาในปี 2557 บริษัทซัมมิทมีการกดดันให้พนักงานทำงานล่วงเวลา แทนที่จะจ่ายค่าจ้างในระดับเพียงพอและรับสมัครคนงานเพิ่ม และบริษัทก็ลงโทษพนักงานที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานล่วงเวลา นอกจากนี้ทางบริษัทได้ออกคำสั่งให้กรรมการสหภาพ 4 ท่าน คือ ประธาน รองประธาน กรรมการพื้นที่แหลมฉบัง และกรรมการพื้นที่ระยอง หยุดปฏิบัติงาน เพื่อหวังปลดออก

สรุปแล้วบริษัทซัมมิทของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีประวัติการปราบปรามสหภาพแรงงาน และละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการรวมตัวกันของลูกจ้าง สิ่งเหล่านี้จะขัดแย้งกับนโยบายของพรรคคนรุ่นใหม่ที่ประกาศว่าจะพาคนไทยออกจากยุคเผด็จการหรือไม่? หรือพรรคจะไม่สนใจประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน? นอกจากนี้พรรคจะมีนโยบายที่ดีกว่ารัฐบาลอื่นๆ ในเรื่องการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่? จะมีนโยบายในการลดชั่วโมงการทำงานของคนทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือไม่?

พรรคโพเดมอสของสเปนเป็นพรรคที่อ้างว่ามีประชาธิปไตยภายในระดับสูงและในรูปแบบใหม่ๆที่อาศัยอินเตอร์เน็ท แต่การที่พยายามปฏิเสธโครงสร้างรวมศูนย์ที่มีผู้แทนพรรคในระดับต่างๆ และการเลือกตั้งภายในจากการประชุมพรรค ทำให้แกนนำที่ปรากฏหน้าบ่อยๆในสื่อ และมี "บารมี" กลายเป็นแกนนำที่ถูกตรวจสอบยากและมีแนวโน้มตัดสินใจทุกอย่างแทนสมาชิก

การที่ อ.ปิยบุตร เสนอว่าพรรคคนรุ่นใหม่จะเน้นการกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง กระจายงานภารกิจไปให้กลุ่มต่างๆ พื้นที่ต่างๆ จังหวัดต่างๆ จะทำให้สมาชิกธรรมดาสามารถควบคุมตรวจสอบผู้นำพรรคในระดับประเทศได้หรือไม่? หรือจะกลายเป็นว่าคนที่มีความมั่นใจสูงและมีชื่อเสียงจะมีอิทธิพลสูงไปโดบปริยาย? โครงสร้างแบบนี้จะทำให้สมาชิกธรรมดากำหนดนโยบายระดับชาติได้ง่ายหรือยาก?

พรรคโพเดมอสใช้ความคิดชาตินิยมจนมีบทบาทในการสนับสนุนการปกป้องรัฐสเปนจากการแบ่งแยกที่อาจเกิดขึ้นจากขบวนการอิสรภาพของคาตาโลเนีย ดังนั้นเราต้องถามว่าในกรณีสังคมเรา พรรคคนรุ่นใหม่จะมีท่าทีอย่างไรต่อความต้องการที่จะปกครองตนเองของชาวปาตานี?

พรรคห้าดาวของอิตาลี เป็นพรรคที่เกือบจะไม่มีนโยบายอะไรนอกจากการประกาศว่าพรรคไม่เหมือนพวกนักการเมืองรุ่นเก่า ในอดีตประเทศไทยก็เคยมี "พรรคพลังใหม่" หลังการลุกฮือ 14 ตุลา พรรคนี้ก็เกือบจะไม่มีนโยบายอะไรที่จับต้องได้นอกจากการพูดว่าเป็นพรรคเอียงซ้ายของคนรุ่นใหม่ พรรคของปิยบุตรกับธนาธรจะออกมาในรูปแบบคล้ายกันหรือไม่ ผมหวังว่าคงไม่ แต่ไม่แน่ใจ

แต่ในแง่หนึ่งพรรคห้าดาวของอิตาลี่มีนโยบายแย่มากคือต่อต้านผู้ลี้ภัยและคนที่พยายามย้ายถิ่นมาอยู่ในยุโรป ซึ่งเป็นนโยบายเหยียดสีผิวกับเชื้อชาติ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น จะส่งเสริมสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในไทยและสิทธิของคนที่เกิดในไทยแต่ยังไม่มีสัญชาติ

การพาสังคมไทยออกจากเผด็จการมีอีกหลายประเด็นที่สำคัญที่ต้องพูดถึง เช่นการยกเลิกกฏหมาย 112 การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน การลดบทบาทและงบประมาณทหาร การส่งเสริมพลังงานทางเลือกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และในการยกเลิกเผด็จการของพวกอนุรักษ์นิยมต่อสิทธิเสรีภาพของสตรี ต้องมีการพูดถึงสิทธิที่จะทำแท้งซึ่งเป็นสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง

แน่นอนพรรคใหม่นี้คงไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้งครั้งแรกเพราะคงใช้เวลาที่จะได้รับการนิยมในสังคม และ อ.ปิยบุตร ได้เสนอว่าพรรคมุ่งหมายทำงานระยะยาวและต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ประเด็นคือจะมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องสำคัญๆ โดยไม่เน้นรัฐสภาอย่างเดียวหรือไม่

 

ที่มา: turnleftthai.wordpress.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ใครจะเลือกพรรคนกหวีด

Posted: 05 Mar 2018 02:18 AM PST



เปิดตัวแล้วด้วยคำใหญ่ ยาวอีกต่างหาก "พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

กกต.สมชัยบอกชื่อยาวไปเสียเปรียบ แต่ไม่เป็นไร ใช้ชื่อย่อได้ พรรค กปปส. โลโก้นกหวีด เรียงหน้าคาบปี๊ดๆ มีลุงกำนันอยู่ข้างหลัง

แต่แปลกจัง อุตส่าห์ตั้งชื่อ "มวลมหาประชาชน" มีน้องเทือกโผล่คนเดียว บรรดายอดขุนพล ถาวร เสนเนียม, ชุมพล จุลใส, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย, วิทยา แก้วภราดัย, อิสสระ สมชัย หรือแม้แต่เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ มีข่าวว่าจะเป่าปี๊ดๆ อยู่ใน ปชป.ต่อไป

อย่าเข้าใจผิด ไม่ได้ทอดทิ้งกัน แต่ขืนมากับลุงกำนัน ลงสู้นายหัวชวนในด้ามขวาน ก็ฆ่าตัวตาย หรือในพื้นที่อื่นถ้าฐานเสียงแตก ระบอบทักษิณก็หยิบชิ้นปลามัน อยู่พรรคไหนไม่ต่างกัน บอยคอตเลือกตั้ง ขัดขวางเลือกตั้ง แยกกันเดิน รวมกันตี รัฐประหารทุกทีตั้งแต่ปี 2490

แต่พอเป็นอย่างนั้น โหร ส.ว.ก็ขำกลิ้ง พรรคกำนันจะเอาคะแนนจากไหน ตั้งพรรคหนุนลุงตู่ ยังไม่เข็ดอีกหรือ 4 ปีราคายางตกต่ำ (ไม่ไปขายดาวอังคาร) ระวังแม้แต่คนสุราษฎร์ฯ ก็ไม่เลือก

ธานี เทือกสุบรรณ ออกตัวว่าไม่ถึงขั้นเทหน้าตักให้ลุงตู่ ต้องดูมติพรรคอีกครั้ง อ้าว ไหงพูดอย่างนั้น แล้วลุงตู่จะเอาส.ส.ที่ไหน ถ้าจะกลับมาเป็นนายกฯ คนนอก เพราะถ้าออกตัวด้วยฟอร์มนี้ เห็นที "มวลมหาประชาชน" จะเป็นได้แค่พรรคต่ำสิบ

ไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นเลย เพราะถ้าตั้งต้นโดยยกธงขาวให้ ปชป.ในพื้นที่เก่า ฐานเสียงเป่านกหวีดใน กทม.และภาคใต้ เขตที่เหลือจะเอาคะแนนจากไหน เว้นแต่ใกล้ๆ เลือกตั้ง จะมีอดีตทหารอดีตข้าราชการตบเท้าพรึ่บพรั่บ แต่ "พรรคทหาร" ก็หลบไปใส่เสื้อตัวอื่นไม่ดีกว่าหรือ ทำไมต้องแบกหม้อก้นดำแทนพวกปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ ขัดขวางเลือกตั้ง

ชะตากรรมคงไม่ต่างกับพรรคการเมืองใหม่ ที่ก่อตั้งหลังปิดสนามบิน จะหาเสียงอย่างไร อวดความภาคภูมิใจไล่ระบอบทักษิณ? ขัดขวางเลือกตั้ง บ้านเมืองหวิดพังภินท์ จนได้ลุงตู่เป็นฮีโร่มัยซินมารักษาความสงบ ครบ 4 ปีแล้วเราจะปฏิรูปหลังเลือกตั้งกันต่อไป? บ่องตง ต่อให้สาวกนกหวีดยังอาย กลับไปเลือก ปชป.หันไปเลือกพรรคใหม่แบบชูอนาคตไทยแลนด์ 4.0 สานต่อไทยนิยม 12 ประการ เพื่อความสงบของบ้านเมืองดีกว่าไหม

ม็อบการเมืองที่ปลุกอุดมการณ์อนุรักษนิยมสลิ่มสุดโต่ง จนเกิดการโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้ง นี่มันเป็นกระดาษชำระที่ต้องใช้แล้วทิ้ง เอามาสานต่อในระบอบรัฐสภาไม่ได้

สู้ม็อบ "ควายแดง" ยังไม่ได้เลยนะ เสื้อแดงยังยืดอกได้ว่ามาเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ตายเพื่อประชาธิปไตย เล่าสู่กันฟังอย่างภาคภูมิใจชั่วลูกชั่วหลาน

ภูมิทัศน์การเมืองถ้ามีเลือกตั้ง จะเป็นการสู้กันระหว่าง 3 พรรคใหญ่ คือเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และ "พรรคทหาร" ที่ยังไม่เห็นตัวตน ไม่รู้จะแหย่ขาลงตรงไหน ที่เหลือก็เป็นพรรคกลางพรรคเล็กที่หวังเป็นอะไหล่

"พรรคทหาร" ติ๊กไว้เป็นตุ๊กตา ยังไม่เห็นตัวตน แต่ถ้าจะตั้งพรรคหนุนนายกฯ คนนอก (คนที่คุณก็รู้ว่าใคร) คิดฉลาดๆ ก็ควรเป็นพรรคใหม่ คนใหม่ ทีมงานรัฐบาล ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ภาคธุรกิจ กลไกประชารัฐ ขายภาพอนาคต สานต่อความมั่นคง ไทยนิยม 4.0

ไม่เห็นต้องพึ่งลุงกำนัน พึ่งภาพเก่า พึ่งแผลเก่า ส่วนในพื้นที่จะเอานักการเมืองเก่า ข้าราชการแก่ ก็มีถมไป กวาดนักการเมืองท้องถิ่นก็ยังได้

การเลือกตั้งจะสู้กันใน 2 ประเด็น เอา-ไม่เอา นายกฯ คนนอก และจะผ่าทางตันสร้างอนาคตใหม่ได้อย่างไร พรรคทางเลือกใหม่ คนรุ่นใหม่ มีความหวังในประเด็นหลัง แต่กระแสเชี่ยวกรากจะสู้กันระหว่างพรรคใหญ่ในประเด็นแรก ซึ่งพูดอีกที หมายถึงการปฏิเสธรัฐประหาร

ใครตั้งพรรคการเมือง อันดับแรกจะถูกถาม หนุนนายกฯ คนนอกไหม จะตอบว่า "ไม่" ด้วยน้ำเสียงเด็ดขาด หรือ "เราพร้อมทำเพื่อชาติบ้านเมือง" (เห็นลิ้นไก่เลย ไอ้สาด)

ภายใต้ระบบบัตรใบเดียว จะบีบให้ประชาชนต้องตัดสินใจแบบเด็ดเดี่ยว แสดงพลังเป็นหนึ่งเดียว เช่นปฏิเสธรัฐประหารก็เทให้เพื่อไทย (แม้แต่พรรคทางเลือกก็จะลำบาก) รักก็เทให้พรรคทหาร ก้ำกึ่งโลกสวยก็ไปทางแมลงสาบ

ถ้าสภาพเป็นแบบนี้ ก็ไม่รู้พรรคนกหวีดจะมีใคร สงสัยต้องวัดใจดาราเซเลบ เป่านกหวีดกันกระจาย สนใจรับใช้ชาติบ้านเมืองไหม อย่าทำเป็นลืมไปเสียล่ะ

 

ที่มา: www.khaosod.co.th

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: เทียบงบประมาณ 10 ปี กอ.รมน. (2552-2561) เน้นภาคใต้-ความมั่นคง

Posted: 04 Mar 2018 11:55 PM PST

เทียบงบประมาณ 10 ปี "กอ.รมน." หลังใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงโดยงบแตะหมื่นล้านมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะเดียวกันยังเน้นทุ่มงบประมาณให้กับ "แผนงานชายแดนใต้" โดยงบภาคใต้แตะ 9.1 พันล้านในปี 2559 ขณะที่ในปี 2560 และ 2561 เพิ่มงบให้กับงานความมั่นคง นอกจากนี้ยังจัดงบสำหรับแผนงานปรองดอง การค้ามนุษย์ ป้องกันและบำบัดผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เปรียบเทียบงบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 จากงบประมาณ 8,222.88 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2552 และเพิ่มขึ้นแตะหลักหมื่นล้านบาทในปี 2559 เป็นต้นมา

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณของ กอ.รมน. กับหน่วยงานต้นสังกัดคือสำนักนายกรัฐมนตรี จะพบว่า กอ.รมน. ได้รับจัดสรรงบประมาณในสัดส่วน 26% ถึง 36% ของงบประมาณที่จัดสรรให้กับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อเปรียบเทียบรายปีแล้วมีสัดส่วนดังนี้

10 ปี เทียบงบประมาณ กอ.รมน. กับหน่วยงานต้นสังกัด (2552-2561)

(คลิกเพื่อชมภาพขยาย)

 

และเมื่อพิจารณาสัดส่วนงบประมาณของ กอ.รมน. ในรอบ 10 ปี ยังพบว่าในช่วงปี 2552 ถึง 2559 งบประมาณเกือบทั้งหมดถูกจัดสรรให้กับ "แผนงานชายแดนใต้" จนกระทั่งในปี 2560 และ 2561 เมื่อมีการแบ่งงบประมาณเป็น งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงาน และงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการ ทำให้สัดส่วนงบประมาณหลักๆ ของ กอ.รมน. อยู่ที่งบประมาณ "แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" และ "แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ" นอกจากนั้นเป็นงบประมาณด้านอื่นๆ เช่น จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์, ป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด,อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ, การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ฯลฯ

 

10 ปี งบชายแดนใต้ของ กอ.รมน. (2552-2561)

(คลิกเพื่อชมภาพขยาย)

และเมื่อพิจารณารายละเอียดของงบประมาณ กอ.รมน. ย้อนหลังระหว่างปี 2552-2561 มีรายละเอียดดังนี้

 

ปีงบประมาณ 2552

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 25,577,283,300 บาท

กอ.รมน. 8,222,878,800 บาท (32% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

(1) แผนงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7,535,000,000 บาท

(2) แผนงานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วนและปราบปรามผู้มีอิทธิพล 190,911,800 บาท

(3) แผนงานบรรเทาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจของประชาชนและผู้ประกอบการ 91,400,000 บาท

(4) แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 253,567,000 บาท

(5) แผนงานบริหารจัดการภาครัฐ 152,000,000 บาท

 

ปีงบประมาณ 2553

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 22,909,850,600 บาท

กอ.รมน. 8,240,272,500 บาท (36% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

(1) แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7,587,604,200 บาท

(2) แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 453,984,300 บาท

(3) แผนงานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด 198,684,000 บาท

 

ปีงบประมาณ 2554

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 24,358,812,100 บาท

กอ.รมน. 8,306,068,400 บาท (34% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

(1) แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7,542,066,200 บาท

(2) แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 567,068,900 บาท

(3) แผนงานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด 196,933,300 บาท

 

ปีงบประมาณ 2555

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 22,123,726,500 บาท

กอ.รมน. 6,915,923,000 บาท (31% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

(1) แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6,276,120,200 บาท

(2) แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 639,802,800 บาท

 

ปีงบประมาณ 2556

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 25,246,817,300 บาท

กอ.รมน. 7,980,125,500 บาท (32% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

(1) แผนงานป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษายาเสพติด 181,225,900 บาท

(2) แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7,280,114,400 บาท

(3) แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 518,785,200 บาท

 

ปีงบประมาณ 2557

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 32,160,329,400 บาท

กอ.รมน. 8,201,570,700 บาท (26% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

(1) แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7,516,131,500 บาท

(2) แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 497,734,200 บาท

(3) แผนงานป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 187,705,000 บาท

 

ปีงบประมาณ 2558

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 33,417,573,700 บาท

กอ.รมน. 8,906,478,600 บาท (27% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

(1) แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 8,191,181,400 บาท

(2) แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 527,592,200 บาท

(3) แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 187,705,000 บาท

 

ปีงบประมาณ 2559

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ 36,001,261,400 บาท

กอ.รมน. 10,200,971,600 บาท (28% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

(1) แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9,143,109,000 บาท

(2) แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 770,375,800 บาท

(3) แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 187,705,000 บาท

(4) แผนงานรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและแก้ปัญหาที่ดินทำกิน 99,781,800 บาท

 

ปีงบประมาณ 2560

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ (รวมงบบูรณาการ) 35,412,304,500 บาท

กอ.รมน. 10,410,393,400 บาท (29% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

1) งบประมาณรายจ่ายหน่วยงานราชการ รวม 6,357,934,200 บาท จำแนกเป็น

(1) แผนงานบุคลากรภาครัฐ 1,035,836,600 บาท

(2) แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ 5,222,315,800 บาท

(3) แผนงานยุทธศาสตร์อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ 99,781,800 บาท

 

2) งบประมาณสำหรับแผนงานบูรณาการ รวม 4,052,459,200 บาท จำแนกเป็น

แผนงานบูรณาการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ (มาตรา 32) 290,180,400 บาท

แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มาตรา 33) 3,554,642,600 บาท

แผนงานบูรณาการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (มาตรา 34) 3,550,000 บาท

แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (มาตรา 35) 204,086,200 บาท

 

ปีงบประมาณ 2561

สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ (รวมงบบูรณาการ) 33,845,807,100 บาท

กอ.รมน. 10,049,512,900 บาท (30% จากงบสำนักนายกรัฐมนตรี) จำแนกเป็น

1. แผนงานบุคลากรภาครัฐ (มาตรา 5) 936,442,100 บาท

2. แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง (งบหน่วยงาน มาตรา 6) 4,777,057,500 บาท

3. แผนงานยุทธศาสตร์อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (งบหน่วยงาน มาตรา 6) 76,212,800 บาท

4. แผนงานบูรณาการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ (มาตรา 32) 296,727,000 บาท

5. แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มาตรา 33) 3,739,113,100 บาท

6. แผนงานบูรณาการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (มาตรา 34) 16,050,000 บาท

7. แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (มาตรา 35) 207,910,400 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สกว.หนุนพัฒนาวัสดุดูดซับน้ำมันรั่วจากยางพารา - พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำแก้ปลูกพืชในหน้าแล้ง

Posted: 04 Mar 2018 11:22 PM PST

สกว.สนับสนุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น 'สุดา เกียรติกำจรวงศ์' ในการพัฒนาวัสดุขั้นสูง/วัสดุปราดเปรื่องเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ทั้งวัสดุดูดซับการรั่วไหลของน้ำมันจากยางพารา พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมากแก้ปัญหาการปลูกพืชในหน้าแล้ง อนุภาคพอลิเมอร์ระดับนาโนเพื่อชีวการแพทย์ และสารตัวรับรู้ทางเคมีชนิดใหม่ที่ตรวจสอบสมบัติการตรวจจับแบบจำเพาะกับสารเคมีและสารปนเปื้อน

5 มี.ค. 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการปีที่ 1 (พ.ศ. 2560-2561) โครงการศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ของพอลิเมอร์ ศ.กิตติคุณ ดร.สุดา เกียรติกำจรวงศ์ และคณะ ภายใต้โครงการ "การพัฒนาวัสดุขั้นสูง/วัสดุปราดเปรื่องเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและความผาสุก" ณ ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยพื้นฐานก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และมีความสำคัญต่อวงการยางธรรมชาติและวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่คณะวิจัยจะได้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในด้านนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนายางธรรมชาติให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาวัสดุดูดซึมน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาพอลิเมอร์เพื่อใช้งานทางชีวการแพทย์ เป็นต้น หลังจากที่ได้สร้างสมองค์ความรู้ได้ในระดับหนึ่งเมื่อครั้งได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ซึ่งนอกเหนือจากงานวิจัยแล้ว สกว. คาดหวังว่าจะมีการขยายผลต่อยอดและผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ที่มีผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ

การจัดประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทางวิชาการระหว่างทีมวิจัยกับผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งงานวิจัยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับกลุ่มวิจัยอื่นที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายวิจัยที่ยั่งยืนทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อันจะส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการและความร่วมมือในการทำวิจัยต่อไป โดยโครงการวิจัยที่จะดำเนินการต่อไปนี้ยังมีแนวทางที่จะขยายงานวิจัยด้วยวิธีวิจัยแบบใหม่และมีความลึกที่จะผลิตผลงานที่มีผลต่อวงการวิชาการ อีกทั้งสามารถต่อยอดขยายส่วนวิจัยในระดับที่ใหญ่ขึ้นในระดับหนึ่ง

งานวิจัยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ยางธรรมชาติดัดแปรและยางธรรมชาติคอมพอสิต ที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติเพื่อประยุกต์เป็นวัสดุสำหรับดูดซับ/ดูดซึม  เช่น การรั่วไหลของน้ำมันในท้องทะเลและในสถานีบริการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการไหลนองบนพื้นผิวถนนที่จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนจากคราบน้ำมันต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วทันท่วงที การใช้วัสดุดูดซึมน้ำมันเป็นวิธีหนึ่งที่ปลอดภัยต่อระบบสิ่งแวดล้อม และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการจัดการกับพื้นที่ที่มีน้ำมันหกรั่วไหลโดยรอบ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการเตรียมยางธรรมชาตินำไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น สามารถนำมาประยุกต์กับวัสดุประเภทเซนเซอร์และวัสดุที่สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าจากการกดทับและการกระทำซ้ำได้

กลุ่มที่ 2 พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมากจากพอลิเมอร์ธรรมชาติและมอนอเมอร์ปิโตรเคมีโดยการดัดแปรโครงสร้าง มุ่งพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมาก (superabsorbent polymers, SAPs) เป็นตัวควบคุมการปลดปล่อยน้ำในภาวะภัยแล้ง โดยใช้วัตถุดิบต่างชนิดต่างแหล่งและใช้สารเติมแต่งหลายชนิดที่จะใส่ในอนุภาคแร่ดิน ให้ได้วัสดุที่มีสมบัติดูดซึมน้ำได้มาก มีความแข็งแรง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายทางชีวภาพได้ด้วยจุลชีพ และนำมาประยุกต์ในทางการเกษตรโดยผสมกับดินเพื่อปลูกพืชในภาวะภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เพิ่มผลผลิตทางเกษตรและเพิ่มโอกาสในการทำเกษตรกรรม รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรได้

กลุ่มที่ 3 การสังเคราะห์อนุภาคพอลิเมอร์ระดับนาโนที่สามารถกักเก็บสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมถึงการศึกษาความเป็นพิษ การนำเข้าสู่เซลล์ และประสิทธิภาพในการนำส่งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพไปยังเซลล์เป้าหมาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการนำไปประยุกต์ทางชีวการแพทย์ เช่น พาหะในการนำส่งยา สารพันธุกรรม โปรตีน สำหรับการบำบัดรักษา ไปจนถึงสารเรืองแสงสำหรับการตรวจวินิจฉัย

กลุ่มที่ 4 การสังเคระห์สารประกอบที่มีโมเลกุลลูกผสมระหว่างสารอินทรีย์กับสารอนินทรีย์ เพื่อเป็นสารตัวรับรู้ทางเคมีชนิดใหม่ที่สังเคราะห์และประกอบได้ สามารถตรวจสอบสมบัติการตรวจจับแบบจำเพาะกับสารเคมีชนิดต่าง ๆ ตรวจสอบทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของสารปนเปื้อน เช่น สารต้องห้าม วัตถุระเบิด ธาตุโลหะหนัก หรือธาตุไอออนชนิดต่าง ๆ ที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปต่อยอดสำหรับการวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเคมีได้จริง ทั้งทางอาหาร หรือน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังใช้ประกอบเป็นตัวรับรู้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตัวเร่งปฏิกิริยา ฯลฯ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุดา เกียรติกำจรวงศ์ 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุดา ระบุว่าผลงานวิจัยเมื่อได้บรรลุจุดสูงสุดของนวัตกรรมด้านการเป็นยางนำไฟฟ้า เซนเซอร์ จะทำให้ชาวสวนยางหันมาผลิตผลิตภัณฑ์ยางเพื่อส่งต่อยังโรงงานแปรรูปยางให้เกิดมูลค่าทางพาณิชย์ ส่วนสารเบื้องต้นสำหรับการเตรียมตัวรับรู้เคมีชนิดใหม่ จะทำให้ได้อุปกรณ์รับรู้ทางเคมีที่มีราคาถูกลง ขณะที่พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำมากสำหรับการรักษาความสมดุลของน้ำในดิน จะช่วยเพิ่มผลผลิตภัณฑ์ทางเกษตร อุตสาหกรรมการบำบัดน้ำเสีย เป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลรักษาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดการใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้สารซูเปอร์แอบซอร์เบนต์ชนิดที่ใช้ในสุขนามัยที่มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ผ้าอนามัยสตรี ผ้าซับเลือด ประทศไทยมีความจำเป็นต้องผลิตโดยคนไทยเอง เพราะปัจจุบันไทยนำเข้าสารเคมีที่ใช้ประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงโรงงานเดียวที่ผลิตสารเคมีดูดซึมน้ำมากและประกอบเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ ซึ่งเป็นโรงงานของชาวต่างชาติที่นำเข้าเทคโนโลยีจากหลายประเทศ

การกำจัดผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วที่มีสารดูดซึมน้ำเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักทั่วโลก จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเพื่อความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมและความผาสุกของประชาชนในภาพรวม โครงการที่พัฒนาขึ้นจะสามารถส่งเสริมภาครัฐให้ผลิตวัสดุทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการเป็นพาหะนำสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพไปยังเซลล์เป้าหมาย สามารถใช้วัสดุชีวภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาเคมีภัณฑ์ที่ไม่ย่อยสลายด้วยตนเองได้ในอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร และยังเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่งของประเทศ

รายงานข่าวจาก สกว. ยังระบุด้วยว่า ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นเป็นทุนระดับสูงสุดของ ฝ่ายวิชาการ สกว. ซึ่งสนับสนุนศาสตราจารย์ระดับแนวหน้าที่มีผลงานวิจัยระดับชาติและระดับนานาชาติให้สามารถพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดหรือก่อประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยในลักษณะสหวิทยาการทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบนักฟุตบอลหลายประเทศไม่มีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร

Posted: 04 Mar 2018 11:03 PM PST

'แค่จับมือก็ผูกมัด' พบนักฟุตบอลหลายแห่งในโลกไม่มีสัญญาจ้างและข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะในแอฟริกา และอีกหลายแห่งพบไม่มีสำเนาสัญญาจ้างเก็บไว้กับตนเอง-ทำ 'สัญญาสีดำ' ช่วยสโมสรเลี่ยงภาษี เรียกร้องทางกฎหมายและสวัสดิการไม่ได้

เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เฮริต้า อิลุงก้า อดีตผู้เล่นเวสต์แฮมและแซงเอเตียน เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันการบังคับทางกฎหมายให้นักฟุตบอลมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากการสำรวจของ FIFPro พบว่านักฟุตบอลอาชีพหลายร้อยคนในแอฟริกาไม่มีสัญญาจ้างและข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อมูลจากรายงาน 2016 FIFPro Global Employment Report ที่ได้ทำการสำรวจสถานภาพและสภาพการจ้างนักฟุตบอลผ่านแบบสอบถาม 13,876 คน ใน 87 ลีก จาก 53 ประเทศ พบว่าประมาณร้อยละ 89 ของนักฟุตบอลอาชีพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกไม่มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร

"โดยปกติข้อตกลงจะผูกมัดด้วยแค่การจับมือ" อิลุงก้า ซึ่งตอนนี้เป็นรองประธานสหภาพแรงงานนักฟุตบอลคองโกระบุ

"นักเตะในคองโกอาจจะมีรายได้ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 12,000 บาท) แต่เขาก็ไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์ได้ว่าเขาควรจะได้รับค่าจ้างนั้น ... ทุกวันนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นว่าพวกเขาจะไม่ได้รับค่าจ้าง มันเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศของเรา" อิลุงก้า ระบุ

รายงานของ FIFPro พบว่าร้อยละ 41 ของนักฟุตบอลที่ตอบแบบสอบถามไม่ได้รับการชำระเงินตรงเวลาโดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55 ในแอฟริกา ทั้งนี้ค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับนักฟุตบอลแอฟริกันนั้นน้อยกว่า 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 9,400 บาท)

นักฟุตบอลที่ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรยังพบเห็นในประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่มอนเตเนโกรมีถึงร้อยละ 46 และเปรูร้อยละ 20 แต่กระนั้นส่วนใหญ่แล้วแพร่หลายในแอฟริกามากที่สุด

FIFPro ยังพบว่าร้อยละ 13 ของผู้เล่น 849 คนในแอฟริกาที่ย้ายออกสโมสรเดิม ไม่มีข้อตกลงค่าธรรมเนียมการโอนย้ายสู่สโมสรอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสโมสรในแอฟริกาพุ่งเป้าที่จะ 'ขายนักเตะให้ได้กำไรมากที่สุด' โดยเฉพาะ

ไม่มีสัญญาจ้างเก็บไว้กับตนเอง

ข้อมูลจากรายงาน 2016 FIFPro Global Employment Report ยังระบุว่าในภาพรวม (จากนักฟุตบอลที่ทำแบบสอบถาม 13,876 คน ใน 87 ลีก จาก 53 ประเทศ) พบว่าร้อยละ 15.70 ไม่มีสำเนาสัญญาเก็บไว้ที่ตัวเองหรือตัวแทนเลย และร้อยละ 6.60 มีเก็บไว้ที่ตัวแทนเท่านั้น เมื่อพิจารณาระดับทวีปในส่วนของผู้เล่นที่ไม่มีสำเนาสัญญาเก็บไว้ที่ตัวเองหรือตัวแทนเลยนั้นอยู่ในทวีปแอฟริกาสูงสุดร้อยละ 31 ทวีปอเมริการ้อยละ 28.10 และทวีปยุโรปร้อยละ 5.70

เมื่อลงรายละเอียดในรายประเทศ พบว่านักฟุตบอลในแคมารูนที่ตอบแบบสอบถามมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 65.4 ตามมาด้วยกาบองร้อยละ 60.2 ไอเวอร์รีโควสต์ร้อยละ 59.9 กัวเตมาลาร้อยละ 57.6 นามิเบียร้อยละ 56.3 และที่น่าตกใจคือประเทศที่ฟุตบอลคือลมหายใจอย่างบราซิลก็มีถึงร้อยละ 47.4 เลยทีเดียว

สัญญาฉบับสีดำ

"น่าเสียดายที่ผู้เล่นบางคนเห็นด้วยเมื่อสโมสรเสนอให้เซ็นสัญญาฉบับสีดำนี้ ... พวกเขาสนใจเฉพาะค่าตอบแทนสุทธิที่จ่ายให้กับพวกเขาและไม่สนใจว่าสโมสรจะจ่ายภาษีที่ต่ำลง หรือไม่สนแม้ว่าในอนาคตจะเกิดความเสียหายแก่พวกเขา"

รอย เวอร์มีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของยุโรปของ FIFPro

นอกจากนี้ FIFPro ยังระบุถึงกรณีตัวอย่างนักฟุตบอลอาชีพในไซปรัสที่กำลังมีปัญหาเรื่องการทำสัญญา 2 ฉบับ ที่ส่งผลต่อการได้รับค่าจ้างอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดย FIFPro ได้รับการร้องเรียนหลายครั้ง และให้คำแนะนำแก่นักฟุตบอล (และตัวแทน/ผู้แทน) ให้ขอสำเนาสัญญาทุกฉบับที่เซ็นลงชื่อกับสโมสรไว้

การลงนามสัญญามากกว่าหนึ่งฉบับสำหรับระยะเวลาจ้างงานเดียวกัน คือการปฏิบัติที่เห็นได้ทั่วไปในวงการฟุตบอลไซปรัส ซึ่งเป็นเทคนิคการลดต้นทุนด้านภาษีของสโมสร ทำให้ผู้เล่นมีหลายสัญญา โดยฉบับที่หนึ่งเป็นการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการกับสมาคมฟุตบอล และฉบับที่สองซึ่งไม่ได้ลงทะเบียนกับสมาคม ในความเป็นจริงนั้นสโมสรจะจ่ายภาษีเฉพาะสัญญาฉบับแรกเท่านั้น แต่ค่าตอบแทนของผู้เล่นสัญญาฉบับที่สองจึงมักจะสูงกว่า (ฉบับที่เลี่ยงภาษี)

"บนเกาะแห่งนี้เรียกมันว่า 'สัญญาฉบับสีดำ' เนื่องจากการจ่ายเงินไม่ได้รับการเปิดเผยต่อหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อเลี่ยงภาษีต่างๆ" รอย เวอร์มีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของยุโรปของ FIFPro กล่าว

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสโมสรไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันของสัญญาฉบับที่สอง หนำซ้ำผู้เล่นก็ไม่มีสำเนาสัญญาฉบับนี้อีกต่างหาก

"ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ค่าตอบแทนของนักฟุตบอลว่าถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งค่าชดเชยใด ๆ จากสัญญาฉบับสีดำนี้" เวอร์มีร์ ระบุ

ผลกระทบอื่น ๆ ของการลงนามในสัญญาที่ไม่ได้ลงทะเบียนคือ ไม่สามารถดำเนินคดีอาญากับสโมสรได้ และไม่ได้รับสวัสดิการเมื่อได้รับบาดเจ็บและเมื่อถูกเลิกจ้างกระทันหัน

จากรายงาน 2016 FIFPro Global Employment Report ระบุว่านักฟุตบอลอาชีพในไซปรัสกว่าร้อยละ 49 ได้เซ็นสัญญาฉบับที่สอง หรือ 'สัญญาฉบับสีดำ' ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

"น่าเสียดายที่ผู้เล่นบางคนเห็นด้วยเมื่อสโมสรเสนอให้เซ็นสัญญาฉบับสีดำนี้ ... พวกเขาสนใจเฉพาะค่าตอบแทนสุทธิที่จ่ายให้กับพวกเขา โดยไม่สนใจว่าสโมสรจะจ่ายภาษีที่ต่ำลง หรือไม่สนแม้ว่าในอนาคตจะเกิดความเสียหายแก่พวกเขา" เวอร์มีร์ กล่าว

ปัจจุบัน FIFPro ยังคงได้รับการร้องเรียนจากผู้เล่นที่ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาและกำลังประสบปัญหาด้านการชำระเงินจากสโมสรอยู่เรื่อย ๆ

เวอร์มีร์ อธิบายว่าผู้เล่นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับสำเนาสัญญาฉบับที่ลงนามไว้ "เป็นการละเมิดกฎหมายถ้าสโมสรไม่ยอมให้สัญญาเดิมและข้อตกลงเพิ่มเติมใด ๆ ข้อตกลงทั้งหมดที่ลงนามจะต้องแบ่งออกเป็นสามฉบับมีสำเนาหนึ่งชุดสำหรับแต่ละฝ่าย- สมาคมฟุตบอล ผู้เล่น และสโมสร "

อนึ่ง FIFPro ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานนักฟุตบอลระดับโลก ได้ตั้งความหวังไว้ว่ากีฬาฟุตบอลนั้นต้องมีกฎหมายที่แข็งแรงและการกำกับดูแลที่ดีขึ้น เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานสำหรับนักฟุตบอลทั่วโลก

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
2016 FIFPro Global Employment Report
AFRICAN FOOTBALL'S 'HANDSHAKE' DEALS (FIFPro, 19/1/2017)
FIFPRO WARNING ON DOUBLE CONTRACTS (FIFPro, 9/1/2018)
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นโยบายสุขภาพเพื่อคนรุ่นใหม่?: วิจารณ์ข้อเสนอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

Posted: 04 Mar 2018 10:58 PM PST


ระบบสุขภาพแต่ละประเทศต่างมีลักษณะเฉพาะและสาเหตุของปัญหาแตกต่างกัน

ระบบสุขภาพเป็นระบบที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนซึ่งมีการพัฒนามาต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการพัฒนาระบบสุขภาพของแต่ละประเทศย่อมมีปัจจัยตัวแปรหลายอย่างที่ส่งผลให้ระบบสุขภาพแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไม่บ้างก็น้อย นับเป็นเรื่องดีที่มีพรรคการเมืองใหม่ที่สนใจปัญหาในระบบสุขภาพและเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ดูเหมือนจะทันสมัยและสร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยอย่างคุณธนาธร แต่ทว่าปัญหาสำคัญที่ปรากฏในข้อเสนอของคุณธนาธรนั้นกลับสะท้อนความไม่เข้าใจระบบสุขภาพไทย และขาดการเข้าถึงประวัติศาสตร์ของการพัฒนาสุขภาพไทยอย่างสิ้นเชิง รวมถึงความเข้าใจพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์สุขภาพ


เทคโนโลยีและการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนไม่ใช่คำตอบเสมอไป

​คุณธนาธรเริ่มต้นด้วยการฉายภาพความล้าสมัยทางเทคโนโลยีและความไม่มีประสิทธิภาพของโรงพยาบาลรัฐ และการขาดอำนาจตัดสินใจของผู้ป่วยว่า "พื้นที่แน่นขนัด, การรอคอยแพทย์ที่ยาวนานไร้ที่สิ้นสุด, กระบวนการจ่ายยาและจ่ายเงินที่ชักช้า, ราคาและต้นทุนการรักษาพยาบาลที่ไม่ชัดเจนและควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญคนไข้รู้สึกไม่สามารถควบคุม/เข้าใจถึงสถานภาพตนเองได้" โดยเสนอว่าเทคโนโลยีใหม่จะสามารถปฏิวัติวงการแพทย์ได้โดยยกตัวอย่างประสบการณ์ Medtech ในอเมริกา

​แต่เทคโนโลยีระบบสุขภาพไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นไม่ได้ล้าหลังแต่อย่างใด โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ ในโรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ได้มีการบันทึกประวัติเวชระเบียนคนไข้ทางอิเลคโทรนิคมาเนิ่นนานแล้ว รวมถึงการจองคิวนัดคิวทางออนไลน์ หรือ อีเมล์ แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ และลดการเข้าแถวรอของคนไข้ได้ แต่ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีวันแก้ไขได้เลยตราบใดที่ อุปสงค์มากกว่าอุปทาน จำนวนบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มากขึ้นของประชาชน

ถึงแม้ในระบบสุขภาพฝรั่งเศสในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทุกอย่างตามที่คุณธนาธรกล่าวมา ทั้งมีการบันทึกเวชระเบียนทุกย่างทางอิเลคโทรนิค มีแอพพลิเคชัน และสามารถนัดแพทย์ทางออนไลน์ได้ทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าปัญหาการเข้าแถวรอในโรงพยาบาลก็มิได้หมดไป ซึ่งผมได้สัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเองในการต้องนัดหมอล่วงหน้าทางออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งเดือนเนื่องจากตารางงานของหมอประจำตัวเต็มหมด หรือแม้กระทั่งการรอการรักษาในแผนกฉุกเฉินถึงแปดชั่วโมงและได้เห็นสภาพคนป่วยคนอื่นที่มีอาการรุนแรงกว่านั่งรอพร้อมๆ กัน

​องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุน public-private partnership เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในทุกประเทศสมาชิก ในอนาคตอันใกล้ทุกๆ ประเทศต่างสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางนโยบายสุขภาพและการบริหารมากขึ้นรวมถึงการเพิ่มอำนาจผู้ป่วยในการเข้าร่วมตัดสินใจการรักษา โดยที่ภาครัฐจะมีขนาดเล็กลงและทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ควบคุมกำกับ (regulator) เพราะเชื่อว่าระบบสุขภาพพัฒนาอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้นเกินกว่าที่สถาบันรัฐจะปรับตัวทัน อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศต่างมีรากเหง้าของปัญหาที่ต่างกัน โมเดลรูปแบบดังกล่าวถึงแม้ประสบความสำเร็จในยุโรป แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จนักในประเทศแอฟริกาและส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนที่จะเริ่มแปรรูปจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาปัญหาอย่างแท้จริงก่อน

ในระบบ public-private partnership จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อทั้งภาครัฐและภาคสังคมต่างมีความเข้มแข็งพอๆ กัน ภาครัฐเองต้องมีระบบข้อมูลและระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งแผ่ขยายครอบคลุมประชากรทุกคนในประเทศถึงจะผันตัวเองเป็น regulator ที่มีประสิทธิภาพได้ ภาคสังคมเองก็ต้องพัฒนาการใช้ความรู้และเหตุผลทางการแพทย์ รวมถึงพัฒนาระบบตรวจสอบที่ดีเพื่อสร้างสมดุลย์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับสังคม ถึงแม้ข้อเสนอของคุณธนาธรที่สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มอำนาจการตัดสินใจของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนอย่างยิ่ง แต่เราต้องตั้งคำถามว่า ระบบ regulation ของรัฐไทยและ health literacy ของสังคมไทยมีความเข้มแข็งพร้อมหรือยัง ถ้ามุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียวโดยขาดการให้ความรู้สุขภาพรวมถึงสิทธิของผู้ป่วย และภาครัฐไม่มีการคุ้มครองสิทธิอย่างจริงจังนั้นย่อมไม่เกิดผลใดๆ ตามมา


ความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนคือปัญหาสำคัญในระบบสุขภาพไทย

​ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความตายได้ แต่ราคาของความตายแต่ละคนไม่เท่ากัน นี่คือปัญหาที่เป็นอยู่ของระบบสุขภาพไทย ความแตกต่างอย่างมากของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเป็นประเด็นที่ขบวนการสังคมและเอ็นจีโอได้เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่าทุกๆ รัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนต่างไม่มีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน รวมถึงรัฐบาลทักษิณที่เสนอนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค แต่ก็มิได้เสนอมาตรการการควบคุมราคาการรักษาโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลทักษิณเล็งเห็นศักยภาพอุตสาหกรรมสุขภาพของไทยที่สามารถเพิ่มรายได้ให้ประเทศ จึงเริ่มนโยบายเมดิคัลฮับ และสนับสนุนการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน

​โรงพยาบาลเอกชนมีทุนและทรัพยากรที่ดีกว่าโรงพยาบาลรัฐและพร้อมจะดูดบุคลากรของโรงพยาบาลรัฐ ในขณะเดียวกันภาระงานที่มากขึ้นในโรงพยาบาลรัฐก็เป็นแรงผลักทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาบุคลากรได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพที่คนไข้เข้าแถวรออย่างเบียดเสียดในโรงพยาบาลรัฐและภาพคนไข้ที่ได้รับการดูแลราวกับพระราชาในโรงพยาบาลเอกชนจึงสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน


สถาบันการเมืองในระบบสุขภาพไทย

​คุณธนาธรได้เสนอว่าเทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาทำลายสถาบันเก่าที่ล้าสมัยโดยยกตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีในภาคการเงินที่ทำลายการผูกขาดของสถาบันล้าสมัยว่า "Bitcoin ปลดปล่อยการผูกขาดตัวกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรัฐชาติและธนาคารกลาง, ebanking ทำลายระบบหน้าร้านของธนาคาร ธุรกรรมสามารถทำได้โดยไม่ต้องไปธนาคารอีกต่อไป, crowd funding อนุญาตให้ผู้ออมและผู้ต้องการเงินลงทุนพบและทำธุรกรรมกันได้โดยตรง เป็นต้น"

​แต่ทว่าสถาบันในระบบการเงินกับระบบสุขภาพมีความแตกต่างกัน เพราะความเสี่ยงของการเจ็บป่วยเป็นความเสี่ยงที่มีความซับซ้อนคำนวณได้ยากกว่าความเสี่ยงภาคการเงิน ข้อมูลในระบบสุขภาพเป็นไปได้ยากที่จะเป็นข้อมูลสมบูรณ์แบบเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง และเมื่อข้อมูลไม่สมบูรณ์แล้วย่อมเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีหาประโยชน์จากช่องว่างดังกล่าวได้ง่ายกว่าภาคการเงิน ยกตัวอย่างเช่น แค่อาการปวดหัวอย่างเดียวก็เชื่อมโยงกับโรคต่างๆ เป็นร้อยเป็นพันโรคซึ่งมีค่ารักษาแตกต่างกันไป ซึ่งถ้ามีแพทย์ที่ไม่มีจรรยาบรรณกำกับ หรือบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาหากำไรโดยการโฆษณาเกินจริงเพื่อชักชวนให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยไม่จำเป็นแล้วย่อมส่งผลเสียหายต่อคนไข้ ค่าใช้จ่ายสุขภาพในระดับประเทศสูงขึ้นตามมาและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค

​นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไปในข้อเสนอของคุณธนาธรคือ อะไรคือสถาบันในระบบสุขภาพไทย? สถาบันสุขภาพไหนที่มีความล้าหลังและควรต้องมีการปรับปรุง? สถาบันไหนที่ไม่ยอมปรับตัว? การเหมารวมว่าทุกสถาบันในระบบสุขภาพไทยนั้นล้าหลังจึงไม่สามารถกำหนดเป้าหมายของปัญหาได้จริง

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Pa ksa

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เชฟโรเล็ต นัดคนงานเซ็นสัญญาจ้างใหม่ในค่ายทหาร คนงานหวั่นถูกบีบให้ลาออก

Posted: 04 Mar 2018 06:28 PM PST

บริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเล็ตที่มีโรงงานตั้งอยู่ นิคมฯ ปลวกแดง จ.ระยอง นัดลูกจ้างรายงานตัวกลับเข้าทำงานในค่ายทหาร ชลบุรี หลัง ครส.มีคำสั่งให้รับกลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าเสียหาย คนงานหวั่นถูกบังคับให้ลาออก

4 มีนาคม 2561 กองเลขานุการสมัชชาคนจนได้รับรายงานว่า ในวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ลูกจ้าง บริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) หลายรายได้รับข้อความ SMS ซึ่งในข้อความระบุว่า " ขอให้ท่านรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานในวันที่ 6 มีนาคม 2561 ณ กองพันทหารปืนใหญ่ ที่ 21 ค่ายนวมินทร์ ชลบุรี เวลา 8.00 น. กรุณาติดต่อกลับที่เบอร์ 084-947-8668 และข้อความที่ 2 ระบุว่า "ให้ท่านสวมใส่ชุดพนักงานและเตรียมเอกสารมารายงานตัวในวันที่ 6 มีค. 61 ดังนี้ 1.บัตรพนักงาน 2.บัตรเจนเนอรัลลี่ของตัวท่านและครอบครัว (ถ้ามี) 3.บัตรประชาชนและสำเนา 5 ชุด 4.สำเนาหน้าสมุดบัญชี ธ.ยูโอบี ที่ยังคงมีการเดินบัญชี 5.เอกสารการเปลี่ยนชื่อ 2 ชุด (ถ้ามี) โดยทั้งนี้ให้ท่านเดินทางมารายงานตัวด้วยตนเอง"

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายนฤพนธ์ มีเหมือน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กล่าวหาว่าบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่ให้ทำงาน และไม่มอบหมายงานแก่ลูกจ้าง จำนวน 66 คน แม้ว่าลูกจ้างจะยินยอมตามข้อเรียกร้องของบริษัทแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งเนื่องจากเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ที่ได้ร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท ตลอดจนการเข้าร่วมการชุมนุม ถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยผู้ร้องได้ขอให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายรวมถึงสวัสดิการต่างๆ จนถึงวันรับกลับเข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และจ่ายโบนัสปี 2559 และปี 2560

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 27 – 92/2561 สั่งให้ผู้แทนบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทยจำกัด รับลูกจ้าง จำนวน 66 คน กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 จนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน โดยให้บริษัทปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 10 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง

นางสาวประภาพรรณ ดำคำ ลูกจ้างบริษัทฯ ที่ได้รับ SMS กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ทำงานบริษัทมาประมาณ 5 ปี แล้ว มีสาเหตุจากบริษัทขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จากเดิมตอนสมัครเข้าทำงานกับบริษัทได้มีการเซ็นสัญญาว่า ใน 1 สัปดาห์ ต้องทำงาน 5 วัน จากวันจันทร์ – วันศุกร์ แต่บริษัทขอเปลี่ยนให้ทำงาน 6 วัน จากวันจันทร์ – วันเสาร์ จึงมีการเจรจากันระหว่างบริษัทและสหภาพแรงงาน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สหภาพแรงงานจึงได้ใช้สิทธินัดหยุดงานเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว บริษัทก็ใช้สิทธิปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานในวันเดียวกัน ด้านลูกจ้างก็ได้ใช้สิทธิในการต่อสู้ตามกฎหมายเรื่อยมา จนกระทั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้บริษัทรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน

ประภาพรรณเป็นหนึ่งในคนงานที่ถูกเลิกจ้างที่ได้ได้รับข้อความ SMS จากบริษัท ให้เดินทางไปรายงานตัวกลับเข้าทำงานที่ค่ายทหาร พร้อมกับเบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อกลับ จึงได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ในข้อความ โดยหมายเลขปลายทางตนเองแจ้งชื่อ – สกุล หลังจากนั้นยืนยันว่า ให้เดินทางไปรายงานตัวโดยให้เตรียมเอกสารไปตามระบุไว้ในข้อความให้ ประภาพรรณมีความกังวลเหตุใดบริษัทถึงไม่ชี้แจงรายละเอียดว่าเหตุจึงการใช้เอกสารหลายชุด เช่น สำเนาบัตรประชาชนจำนวน 5 ชุด เหตุใดจึงให้ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารแทนที่จะเป็นบริษัท จึงทำให้ตนเองเกิดความกังวลกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก

นายฉวี เชื้อฉุน ลูกจ้างบริษัทฯ อีกคนที่ได้รับ SMS กล่าวว่า หลังทราบคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตนเองรู้สึกมีความหวังที่จะได้กลับเข้าทำงาน หลังจากที่ถูกเลิกจ้างมานานราว 5 ปี แต่เมื่อได้รับข้อความ SMS จากบริษัท ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมบริษัทถึงให้ไปรายงานตัวกลับเข้าทำงานในค่ายทหารซึ่งอยู่คนละจังหวัดห่างจากโรงงานกว่าหกสิบกิโลเมตร แทนที่จะเป็นที่ตั้งบริษัทหรือพื้นที่ใกล้เคียง ฉวีเกรงว่าบริษัทจะไม่ทำตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ประกอบกับเอกสารที่บริษัทได้ให้ลูกจ้างแต่ละคนเตรียมไปนั้น ยิ่งทำให้เชื่อว่าบริษัทจะไม่รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานอีก โดยอาจจะเกิดการคุกคามกดดันลูกจ้าง

อีกทั้งการเดินทางไปรายงานตัวดังกล่าวบริษัทได้ให้แต่ละคนเดินทางไปเอง ทั้งที่ปกติในทางการทำงานบริษัทมีรถรับส่ง และหากมีอุปสรรคที่ไม่คาดถึง เดินทางไปไม่ตรงเวลานัดอาจเป็นเงื่อนไขให้ทางบริษัทไม่รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน

นายบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและกรรมการบริหารสมัชชาคนจน ด้านฝ่ายกฎหมายแรงงาน ได้ให้ความเห็นว่า เมื่อมีคำสั่ง ครส.แจ้งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และนายจ้างได้ทราบถึงคำสั่งนั้นแล้วก็ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด หากนายจ้างไม่ยอมดำเนินการก็มีโทษในทางอาญา ในทางกลับกันเมื่อนายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว ลูกจ้างไม่กลับเข้าทำงานภายในเวลาที่กำหนด นายจ้างก็สามารถบอกเลิกจ้างลูกจ้างได้เช่นกัน แต่สำหรับกรณีนี้ การนัดลูกจ้างไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานในค่ายทหารเป็นเรื่องแปลกมาก ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่อยู่ในแวดวงผู้ใช้แรงงานไม่เคยพบเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน

บุญยืนตั้งคำถามว่า บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีเจตนาอย่างไร จึงใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่รายงานตัวลูกจ้างที่กลับเข้าทำงาน ทั้งที่นอกจากค่ายทหารไม่ใช่สถานที่ทำงานแล้วยังเป็นพื้นที่ควบคุมการเข้าออก ยากแก่การตรวจสอบของบุคคลภายนอก ประกอบกับสถานการณ์ในทางการเมืองในปัจจุบัน ฝ่ายทหารมีอำนาจในการบริหารประเทศ และขอตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลรับผิดชอบค่ายนวมินทร์ เหตุใดจึงยินยอมให้บริษัทเอกชนใช้พื้นที่ค่ายทหารเป็นสถานที่รายงานตัวกลับเข้าทำงาน ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของบริษัท จึงอยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาตอบคำถามนี้ต่อสังคมด้วย

บุญยืน แสดงความไม่มั่นใจว่าการนัดหมายระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่จะมาถึงในวันที่ 6 มีนาคม 2561 ว่าเป็นการเจรจาที่เป็นธรรมปราศจากการกดดันใดๆหรือไม่ ลูกจ้างจะยังคงได้ทำงานกับบริษัทนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะจากที่ผ่านมาเมื่อมีนัดหยุดงาน ก็จะมีกลุ่มบุคคลแต่งกายคล้ายทหาร หัวหน้าชุดสามารถพกอาวุธอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ เข้าควบคุมพื้นที่ชุมนุมของคนงาน และในยามวิกาลก็จะเข้ามาก่อกวนทำร้ายคนงานในที่ชุมนุมด้วย จึงอยากขอให้มีนักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน บุคคลที่สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์ในวันที่ 6 มีนาคม นี้ ที่ ค่ายนวมินทร์ จังหวัดชลบุรี และอยากให้คนไทยจับตาเหตุการณ์ดังกล่าว และเพื่อให้การเข้ารายงานตัวกลับเข้าทำงานของลูกจ้างเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม โปร่งใส พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ใจ ไร้เจตนาอื่น ซ้อนเร้น อำพราง หรือแอบแฝง ของนายจ้างและเจ้าของสถานที่ ผมขอเรียกร้องให้บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และทหารเปิดโอกาสให้บุคคล องค์กรต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์การนัดหมายครั้งนี้ด้วย"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น