โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว หายนะภัยสำหรับพรรคการเมือง "หน้าใหม่"

Posted: 25 Mar 2018 09:05 AM PDT



ระบบการนับคะแนนในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ อาจดูว่าเอื้อประโยชน์ต่อพรรคเล็กเพราะทุกคะแนนมีความหมาย แม้จะแพ้ในเขตเลือกตั้ง แต่ก็สามารถเอาไปรวมเป็นคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อได้ เช่นถ้าได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้ง 2554 จำนวน 1 ล้านคะแนน การเลือกตั้งระบบเดิมได้ 4 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งระบบใหม่จะได้ ส.ส. 13-14 ที่นั่งเลยทีเดียว

แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพียงมายาคติว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเอื้อต่อพรรคเล็กหรือพรรคการเมืองหน้าใหม่เพราะนั่นคือระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวนั่นเอง

.........

ถ้านับจากการเลือกตั้ง 2544 เป็นครั้งแรกที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ด้วยแนวคิด เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ

การเลือกตั้ง 6 ครั้งล่าสุด 2544, 2548, 2549, 2550, 2554, 2557 (2 ครั้งโดนศาลตัดสินว่าเป็นโมฆะ คือ 2548,2557) ก็ยืนหลักการนี้มาตลอด

ถ้าจะมีการเลือกตั้งที่แตกต่างไปบ้างก็คือการเลือกตั้้ง ปี 2550 ที่เปลี่ยนระบบเขตจาก เขตเดียวคนเดียว มาเป็นระบบ เขตเล็ก เรียงเบอร์ และระบบบัญชีรายชื่อแบ่งเป็น 8 กลุ่มกลุ่มละ 10 คน) แต่นั่นก็ยังเป็นระบบการเลือกตั้ง ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ด้วยแนวคิด เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ

ผลของการที่ใช้ระบบดังกล่าวคือการสนับสนุนพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่มีฐานะเสียงกระจายอยู่ทั่วประเทศ และไม่ประสงค์จะส่ง ผู้สมัคร ส.ส.เขต (แน่นอนว่าการเลือกตั้ง 3 ครั้งแรกที่ใข้รัฐธรรมนุญ 2540 ทำให้พรรคที่ได้ไม่ถึง 1 % หรีือ 5 คน คะแนนตกน้ำ เช่นพรรคถิ่นไทยในปี 2544 หรือพรรคมหาชนในปี 2548 )

เช่นกรณี พรรครักประเทศไทย ของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ได้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อ 998,603 คะนแน คิดเป็น 0.8% ของคะแนนทั้งประเทศ และได้ส.ส. 4 คน โดยที่ พรรครักประเทศไทยไม่ต้องส่ง ส.ส. เขตให้เหนื่อยเลย

จึงเป็น "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โมเดล" ให้พรรคขนาดเล็กจำนวนหนึ่งสนใจที่จะนำมาใช้


แต่การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ว่าจะเป็นปี 2561 2560 หรือปีใดก็ตาม ภายใต้รัฐธรรมนุญ 2560 ถ้าไม่มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง แม้จะม่ี 2 ระบบเหมือนเดิมคือ ระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ แต่จะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ถือเป็นการปิดฉากแนวคิด เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละเขตเลือกตั้งก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

จากปี 2544, 2548, 2549, 2550 มี ส.ส.เขต 400 คน ปี 2554, 2557 มี ส.ส.เขต 375 คน

แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมี ส.ส.เขตเพียง 350 คน ซึ่งหมายความว่า เขตเลือกตั้งจะใหญ่ขึ้น

ซึ่งหมายความว่าผู้สมัครก็จะเหนื่อยในการหาเสียงขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

เมื่อมารวมกับการที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่สามารถ เลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบได้อีกต่อไป ถ้าพรรคการเมืองขนาดเล็กไม่ส่งผู้สมััครลง ระบบเขต

ถ้ามีความขัดแย้งที่ประชาชนต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่า ส.ส.ในระบบเขตที่ใกล้ชิดกับประชาชนจะเป็นตัวเลือกอันดับแรก พรรคที่ใช่ก็อาจจะไม่ได้รับเลือก 

เลือกคนที่รัก (แต่ไม่ได้)เลือกพรรคที่ชอบ

ขณะที่ พรรคการเมืองที่มีแนวคิดแบบ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โมเดล" ที่เคยได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อเพียงอย่างเดียว 998,603 คะแนน นั้นก็มีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะ

1. จะต้องส่งผู้สมัครให้ครบ 350 เขต

ตัวเลขที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร ลองคำนวนดู แม้จะเป็นพรรรคเล็กก็อาจจะใช้ 40 - 50 ล้า่น ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมการจัดการอย่างน้อย 1 ปีก่อนเลือกตั้ง ไม่้ว่าจะเป็น ค่าสำนักงาน ค่าจ้างพนักงาน หรืออื่น ๆ

'สมชัย' คำนวณค่าใช้จ่ายโชว์ บอกไปคิดใหม่ ใครบอกการเมืองแค่การมีส่วนร่วม ปชช.
https://www.matichon.co.th/news/863712

2. ระบบเบอร์ผู้สมัครที่แตกต่างไปตามเขตเลือกตั้ง ซี่งในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดมีแต่ปี 2550 ที่ระบบเลือกตั้งต่างออกไป ที่ ส.ส.ระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ใข้เบอร์ต่างกัน เป็นเพราะระบบเขตเล็ก เรียงเบอร์

แต่การเลือกตั้งทั้งหมดหลังปี 2544 ใช่้ระบบเบอร์เดียวทั้งนั้น

การเลือกตั้งระบบนี้ อาจจะไม่ยุ่งยากสำหรับพรรคการเมืองเก่าที่มีนักการเมืองเดิม หัวคะแนนเดิมอยู่แล้ว

แต่สำหรับพรรคการเมืองหน้าใหม่เช่น พรรคเสรีรวมไทย ของ เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส พรรคสามัญชน นำโดย กิตติชัย งามชัยพิสิฐ พรรคเกรียน นำโดย สมบัติ บุญงามอนงต์ หรือพรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็จะประสบความยุ่งยากในการหาเสียงเป็นอันมาก เช่น กรุงเทพ 36 เขต ก็อาจจะ 36 เบอร์ แบ่งไปตามเขต ถ้าจะเลือก พรรคเสรีรวมไทย ของเสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส เป็นต้น

กลายเป็นว่า พรรคการเมืองที่อาจจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากระบบเลือกตั้งนี้คือพรรคภูมิใจไทย พรรคการเมืองเก่า ขนาดกลาง ที่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 แทบทุกเขตในอีสาน

ในครั้งนี้คะแนนที่แพ้ จะไม่ "ตกน้ำ" แต่จะเอาไปรวมไว้ที่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้วิเคราะห์เมื่อ 2 วันก่อนว่า เขาประเมินว่าทางพรรคภูมิใจไทยอาจจะถึง 80 ที่นั่งเลยที่เดียว เมื่อรวมกับ ส.ส.ที่รวบรวม / ควบรวมจากที่อื่นมาด้วย

ดังนั้น ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว หายนะภัยสำหรับพรรคการเมือง "หน้าใหม่"

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงเล็กๆ ของนักเรียนคนหนึ่ง คำถามจาก เด็กชายขอบ

Posted: 25 Mar 2018 08:43 AM PDT


ภาพจดหมายของเด็กชั้น ม.1 ก่อนที่เขาจะผูกคอตาย


...หนูได้ฟังข่าวการจากไป ของ ด.ช.คนหนึ่งที่ฆ่าตัวตาย จากทั้งทางโทรทัศน์ และได้อ่านในอินเตอร์เน็ต มันเป็นข่าวที่น่าเศร้ามากสำหรับหนู และทำให้หนูรู้สึกว่าการเรียนของเด็กไทยอย่างเรา ในปัจจุบันมีความกดดันอย่างมาก ทั้งจากที่โรงเรียน และจากทางบ้าน

บางครั้งมันมากเกินไปจนทำให้อยากตายเพื่อให้เรื่องต่างๆ มันจบไป บางครั้งหนูก็สงสัยว่าทำไมครูต้องตีเรา ทำไมต้องทำโทษโดยการตี ใช้วิธีอื่นไม่ได้หรือ

เคยมีคนบอกหนูว่า ครูตีเราเพื่อให้เราเชื่อฟัง อยู่ในกฎระเบียบ ตั้งใจเรียน จะได้โตเป็นคนดีของสังคม หนูคิดว่าบางครั้งการตีก็โหดร้ายเกินไป และคิดว่าครูไม่ควรตีเราหรือทำโทษเรา ด้วยวีธีที่ทำให้เราเจ็บตัว

ในสมัยที่พ่อแม่ปูย่าตายายเราเรียน ครูก็ใช้วีธีการตี แม้ยุคสมัยจะผ่านไปแต่วีธีการตีก็ยังคงอยู่ แสดงให้เราเห็นว่าระบบการศึกษาของเราไม่ได้พัฒนาเลย หนูถูกสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่มาตั้งแต่เด็ก แต่หากในบางครั้งหนูคิดว่าสิ่งที่ครูหรือผู้ใหญ่หลายๆ คนพูดหรือสอนพวกเรามันผิด เราจะมีสิทธิ์แย้งหรือพูดออกไปได้ไหม บางครั้งการที่เราพูดออกไปแบบนั้นผู้ใหญ่อาจคิดว่าเป็นการเถียง ซึ่งมันทำให้เราหลายคนกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น

ทำไมในห้องเรียนมีเพียงบทเรียนให้เราจดจำ เราจะสามารถคิดเองบ้างได้หรือไม่ ในบางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่เด็กอยากจะสื่อ ไม่เข้าใจในความรู้สึกของเด็ก เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในจุดที่พวกหนูอยู่ จะมีผู้ใหญ่สักคนไหมที่พร้อมจะฟังความคิดเห็นของพวกเรา จะมีที่สักที่ไหมที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ พูดได้ในทุกเรื่องที่อยากพูด พูดในสิ่งที่เก็บไว้ในใจมานาน ไม่ต้องเก็บไว้คนเดียวให้อึดอัด

ในบางครั้งพวกเราก็ต้องการคนที่เข้าใจเราและรับฟังเรา สังคมที่รับฟังเรามีอยู่หรือไม่ สังคมที่พร้อมจะฟังเสียงเล็กๆ ของเด็กที่เป็นอนาคตของชาติจะมีบ้างไหม ในเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน คนไทยทุกคนจะช่วยรับฟังเราได้ไหม  เพราะไม่ว่าอย่างไรในอนาคตข้างหน้า เจ้าของเสียงเล็กๆนี่แหละ จะเป็นพลังของชาติไทยต่อไป


เด็กชายขอบ

24 มีนาคม 2561

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาตรการป้องกันไฟป่ากับศรัทธาชาวบ้าน

Posted: 25 Mar 2018 08:25 AM PDT

 

มิใช่ ประสิทธิ์ แสงอ่อน หรือ "เอลวิส ลาสเวกัส" คนเดียวที่อาวรณ์และสำเหนียกถึงมิตรภาพและความสวยงามทางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง อ.ลอง จ.แพร่ ภายใต้การดูแลและบริหารจัดการของท่านหัวหน้าอุทยานฯ พินิจ คงประพันธ์ ผมก็เป็นหนึ่งคนหนึ่งที่ประทับใจและอยากให้คนไทยในประเทศไทยและคนไทยในต่างประเทศได้มีโอกาสไปสัมผัส "ดอยแห่งความประทับใจคุ้มฟ้าเหนือ" แห่งนี้ครับ

เอลวิส ลาสเวกัส ผู้มาปลีกวิเวก ณ ดินแดน จ.แพร่ ณ อุทยานแห่งนี้เป็นครั้งแรก พร้อมด้วยกิจกรรมการกุศลทางการศึกษา ที่เทศบาล ต.เวียงต้า เมื่อปลายปีที่แล้วบอกผมว่า เขาสามารถเห็นอนาคตของตัวเองแจ่มชัดขึ้นว่า ในช่วงบั้นปลายเกษียณของเขา จะเซ็ตชีวิตและชะตากรรมของตัวเองไว้ที่ไหนและอย่างไร

ผมภาวนาขอให้เอลวิสสมหวังตามที่เขาปรารถนา

หากมิใช่เพราะผมกับเอลวิส เคยเดินทางตะรอนๆ ไปอุทยานแห่งชาติในในสหรัฐฯ ทั้งทะเลทรายและในป่าเขากันมานับครั้งแทบไม่ถ้วนแล้ว ผมคงไม่สามารถชี้ชัดหยั่งลึกถึงใจเอลวิสได้เลยว่าเขาเกิดไปสัมผัสกับสิ่งมหัศจรรย์ที่อุทยานแห่งชาติดอยผากลองอย่างไร? ซึ่งก็แน่นอนว่าทุกๆ ที่ ทุกๆ อุทยานฯ ที่เอลวิสไปเยือนมันแทบไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน

แล้วทำไมทีอุทยานแห่งชาติดอยผากลองจึงแตกต่างในทัศนะของ "เอลวิส ลาสเวกัส"ล่ะ?

เขาบอกว่า อุทยานฯแห่งนี้ได้ดึงเอาความรู้สึก (sense) เก่าๆ ในอดีต ของเขาขึ้นมา อย่างน้อยเขาก็เคยไปเมืองในม่านฟ้าหุบเขาแห่งอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่นับครั้งไม่ถ้วน แต่นี่เป็นเมืองแป้ มิใช่เจียงใหม่ หากเขากลับมีความรู้สึกที่แปลกประหลาดต่อดินแดนแห่งนี้ จนเขาจนใจที่จะเอื้อนเอ่ยอธิบายให้ผมฟัง

แน่นอนว่า การจากเมืองไทยไปนานหลายปี ทำเขาเกิดสัมผัสแปลกใหม่จากสภาพของความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างสหรัฐอเมริกากับเมืองลอง จ.แพร่ ความอารีอารอบของผู้คนที่นั่น ในหน้าหนาวเงามืดโรยตัวลงอย่างรวดเร็วจนเราต้องรีบจากตลาดเล็กๆ ใกล้วัดแถวบ้านปิน เพื่อซื้อหาของกินในช่วงเย็นวันหนึ่งแทบมิใคร่จะทัน อย่างว่าเมืองในหุบเขามักมืดเร็ว จนเราต้องบึ่งรถกลับอุทยานดอยผากลอง ถึงที่นั่นเอาเมื่อราตรีคืบคลานมาถึงได้พักใหญ่แล้ว พร้อมของกินท้ายรถ

ด้วยความเอื้อเฟื้อของพี่ๆ เจ้าหน้าที่ป่าไม้สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้การนำของท่านหัวหน้าพินิจ ทำให้เราได้รับสะดวกมากมายทั้งที่พัก แสงไฟ และสัญญาณการสื่อสารในม่านราตรีป่าเขาแห่งนั้น

ว่าไปแล้วอุทยานฯดอยผากลองมิใช่สถานที่อัตคัดกันดารเลย เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางเมืองแพร่ - อ.ลอง สิ่งที่พวกเราเห็น คือความเอื้ออารีของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต่อผู้เดินทางใช้รถใช้ถนนในวันที่อากาศปิดสายฝนโปรายปราย ความเอื้ออารีของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว มิเพียงแค่การทำตามหน้าที่ของพวกเท่านั้น หากยังเผื่อแผ่ออกไปถึงชุมชนใกล้เคียงของที่นั่นด้วย ในความเห็นของผม ผมว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่งและคณะของพวกเราได้ประสบเข้าแล้ว ณ ดอยผากลอง ผมไม่ทราบพวกเขาเรียกชื่อมันว่ากิจกรรมอะไร แต่จะขอตั้งชื่อเพื่อเรียกเองว่า "กิจกรรมชุมชนสัมพันธ์" ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นความคิดของหัวหน้าพินิจ คงประพันธ์ นั่นเอง

จากการคุยทางไกลกับท่านหัวหน้าฯ ทำให้ผมทราบว่า กิจกรรมในลักษณะของการเอื้อเฟื้อต่อชุมชนเขตอุทยานฯ ทางเจ้าหน้าที่ยังคงทำมาอย่างต่อเนื่องครับ เช่น ในตอนนี้ท่านหัวหน้าฯและผู้ใต้บังคับบัญชา กำลังทำกิจกรรมป้องกันไฟป่าซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างมลพิษหมอกควันให้กับจังหวัดภาคเหนือหลายๆ จังหวัดอยู่ทุกปี  ตั้งแต่การเพิ่มความถี่ของการลาดตระเวน การตั้งจุดแจ้งเหตุเฝ้าระวังไฟป่า เป็นต้น

งานนี้จึงมิใช่ว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จะเล่นเป็นพระเอกอยู่ฝ่ายเดียว หากหัวหน้าพินิจได้ระดมสรรพกำลังจากชาวบ้านในพื้นที่ หรือชุมชนบริเวณใกล้เคียงมาเป็นแนวร่วมอีกด้วย อันนี้น่าควรเป็นเยี่ยงอย่างสำหรับข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ ทุกหน่วยงาน กล่าวคือ นอกจากข้าราชการมีหน้าที่รับใช้ประชาชนแล้ว การสร้างแนวร่วมโดยอาศัยภาคประชาชนเป็นตัวช่วย กลับเป็นฐานการทำงานที่สำคัญยิ่ง ผมจึงเชื่อว่าท่านหัวหน้าพินิจมาถูกทางแล้ว

ในทางเทคนิค ผมไม่ทราบว่าการทำแนวป้องกันไฟป่าต้องทำอย่างไร แต่ผมเชื่ออยู่อย่างครับว่า ศรัทธาชาวบ้านนั่นแหละคือแนวป้องกันไฟป่าที่ยอดเยี่ยมมากกว่าแนวป้องกันไฟป่าใดๆ ทั้งสิ้น ผมตระหนักได้ว่า ความคิดของหัวหน้าพินิจนั้นก้าวหน้าเพียงใด

มิใช่แต่เท่านั้นครับ ท่านหัวหน้าบอกกับผมว่า ในช่วงไฟป่าระบาดหนักช่วงหน้าร้อนนี้ ทางกรมอุทยานฯ ได้ส่งกำลังพลจากนอกพื้นที่เข้ามาเสริมในเขตภาคเหนือ ซึ่งก็ทำมาหลายปีแล้วครับ เช่น ในปีนี้ 2561 เริ่มทยอยส่งกำลังพลเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา จากสถานีไฟป่า สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี มาประจำการที่อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง จำนวน 10 นาย และส่งไปที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จำนวน 10 นาย เช่นกัน นับเป็นการย้ายกำลังพล ในช่วงซีซั่นสำคัญของกรมอุทยานฯที่น่าสนใจ เรียกว่าปรับใช้พลิกแพลงตามสถานการณ์

เห็นชัดว่า นอกจาก "กรณีเสือดำ" แล้ว กรมอุทยานฯ มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความภูมิใจอีกมากมายดังกิจกรรมของท่านหัวหน้าพินิจและคณะแห่งอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง อ. ลอง จ.แพร่ เป็นเครื่องหมายว่า เนื้องานที่ทำมีอยู่จริงและได้ลงมือทำไปแล้วอย่างเต็มที่และอย่างน่าภาคภูมิใจ จนเกิดศรัทธาชาวบ้านขึ้นโดยรอบๆ พื้นที่ นี่น่าจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนและดีที่สุดในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชสำหรับประเทศไทย ซึ่งก็คงไม่ต่างจากวิธีการในต่างประเทศ ทั้งที่อเมริกาและแอฟริกาครับ ลองไปศึกษาดูได้

ลองชาวบ้านหรือชุมชนไม่สนใจหรือไม่ร่วมมือด้วยสิ ปราบปรามอย่างเดียวก็เท่านั้น ไปไม่รอดครับ แนวคิดนี้จึงน่าจะถูกขยายโดยรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรง นั่นคือ ให้การศึกษาหรือให้ความรู้จนชาวบ้าน เด็กเยาวชนตระหนัก จนเกิดเป็นจิตสำนึกรักป่า รักธรรมชาติโดยเนื้อแท้หรือโดยใจของพวกเขาเอง เมื่อนั้นก็จะลดภาระด้านกำลังคนและกำลังงบประมาณของรัฐลง เกิดแนวร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว เพราะมีตาวิเศษอยู่ทั่วไป

ที่สำคัญคือ ในช่วงวิกฤตทรัพยากรธรรมชาติที่มีการยื้อแย่งทัพยากรระหว่างชาวบ้านกับรัฐฝ่ายอนุรักษ์จนเกิดเป็นความขัดแย้งที่เห็นกันอยู่นี้ การดึงชุมชนมาเป็นแนวร่วมจะช่วยให้ชาวบ้านตระหนักว่า พวกเขาควรจะมีที่ยืนอยู่ตรงไหน

ลำพังการบุกตะลุยปราบปรามชาวบ้านอย่างเดียวที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แผนหรือนโยบายดังกล่าวสำเร็จหรือล้มเหลวไม่เป็นท่าอย่างไรบ้าง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw: เส้นทางพรรคการเมืองไม่เอาทหาร ยังไม่ง่าย! คสช. วางกลไกขวางไว้เพียบ

Posted: 25 Mar 2018 08:14 AM PDT



เดือนมีนาคม 2561 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดให้คนที่อยากจัดตั้งพรรคการเมืองเริ่มไป "จองชื่อ" กันได้ ทำให้บรรยากาศทางการเมืองเริ่มคึกคักขึ้น เพราะผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่ประกาศตัวลงสนามการเมืองเริ่มทยอยเปิดหน้าและความฝันกันออกมาให้เห็น ทำให้บรรยากาศที่ซบเซาไปหลายปีดูกลับมามีความหวังอีกครั้ง และคำถามถึงช่วงเวลาที่จะจัดการเลือกตั้งได้จริงก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ในบรรดากว่า 60 กลุ่มที่ไปจองชื่อสำหรับพรรคการเมือง มีไม่กี่คนทีประกาศตัวชัดเจนว่า เป็นกลุ่มการเมืองที่ไม่เอาระบอบการปกครองแบบทหารในยุคที่ผ่านมา และสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรคเสรีนำไทย นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวช, พรรคเกรียน นำโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ และ พรรคสามัญชน นำโดยเอ็นจีโอ และนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม

อย่างไรก็ดีเส้นทางของพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับ คสช. นั้นไม่ง่าย เพราะกลไกการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งนั้น ยังต้องเป็นไปตามกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ รวมทั้งประกาศ และคำสั่งของ คสช. ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่ง คสช.วางกลไกกับดักเอาไว้มากมายให้พรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นและเติบโตได้ยาก โดยเฉพาะหากเป็นพรรคการเมืองที่แสดงท่าทีจะสั่นคลอนอำนาจของ คสช. อย่างชัดเจน ก็อาจต้องเจอกับอุปสรรค "เทคนิคทางกฎหมาย" ได้หลากหลายรูปแบบ


1. กติกาตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ ทำให้พรรคเล็กเกิดยาก

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการตั้งพรรคการเมืองเพราะกำหนดเงื่อนไขไว้มากมาย เช่น ต้องมีสมาชิกก่อตั้ง 500 คน ภายใน 1 ปีต้องมีสมาชิกเป็น 5,000 คน และภายใน 4 ปี ต้องมี 10,000 คน ต้องมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ภายใน 1 ปี ต้องมีสาขาพรรคทุกภาคและมีสมาชิกสาขาละ 500 คน โดยสมาชิกทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคปีละ 100 บาท หรือจ่ายแบบตลอดชีพไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ก็ได้ https://ilaw.or.th/node/4654


2. จะทำอะไรต้องขออนุญาต คสช. ก่อนทุกครั้ง

เนื่องจากทุกพรรคการเมืองยังถูกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 สั่งห้ามประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเด็ดขาด แต่ก็มีการผ่อนผันบ้างเล็กน้อยตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ที่กำหนดให้ผู้ที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่สามารถจัดประชุมเพื่อก่อตั้งพรรค เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการพรรค และจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ได้ แต่การประชุมเพื่อยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. และให้ดําเนินกิจกรรมได้ตามเงื่อนไขที่ คสช. กําหนด

library2.parliament.go.th/…/…/ncpo-annouce57-2557.pdf library2.parliament.go.th/ncpo/ncpo-head-order53-2560.pdf
https://ilaw.or.th/node/4709


3. ต้องอายุ 25 ปี ถึงสมัครรับเลือกตั้งได้

พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่อาจชูภาพให้โอกาส "คนรุ่นใหม่" เข้ามาทำงานการเมือง แต่คนรุ่นที่ใหม่มากจริงๆ ก็อาจจะยังเข้าสู่พื้นที่นี้ไม่ได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเอาไว้ ดังนี้ ผู้จัดตั้งพรรคการเมืองต้องอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี ส่วนผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ต้องไม่ติดยาเสพติด ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ถือหุ้นในสื่อมวลชน ไม่เป็นนักบวชในศาสนา ไม่เคยได้รับโทษจำคุก หรือพ้นโทษมาต้องเกินสิบปี ไม่เคยถูกตัดสินในคดีทุจริต หรือถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริต


4. เลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว ทำให้ต้องส่งผู้สมัครทุกเขต

การเลือกตั้ง ส.ส. ตามระบบเดิมประชาชนแต่ละคนต้องกากบาทในบัตรสองใบ ใบแรกเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขต หรือ "เลือกคน" ใบที่สองเลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายช่ื่อ หรือ "เลือกพรรค" แต่ตามระบบใหม่ทุกคนจะกากบาทในบัตรใบเดียว ซึ่งหมายความประชาชนจะต้องเลือกทั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตและผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไปด้วยพร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ หากประชาชนในเขตเลือกตั้งใด อยากลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตลงแข่งขันในเขตเลือกตั้งของตัวเอง ประชาชนก็จะไม่สิทธิ์ลงคะแนนให้กับพรรคที่ชื่นชอบได้ และพรรคการเมืองเองที่หวังจะขายนโยบายเพื่อเอาคะแนนรวมทั้งประเทศมาเพื่อให้ได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่ง ก็ต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งลงทุกเขต หรือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 350 เขต และต้องแข่งกับเจ้าถิ่นในแต่ละท้องที่ ย่อมเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก

https://www.ilaw.or.th/node/4079


5. ผู้สมัครแต่ละเขตของพรรคเดียวกันจะได้เบอร์ไม่ซ้ำกัน

ตาม ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 48 กำหนดไว้ว่า หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตให้เรียงตามลำดับการยื่นใบสมัคร หากมีผู้สมัครมาพร้อมกันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลาก ซึ่งส่งผลให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน ที่ลงสมัครในเขตต่างกัน มีโอกาสมากที่จะได้หมายเลขแตกต่างกัน และอาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ ที่จะจำหมายเลขผู้ที่อยากเลือกไม่ได้ และพรรคการเมืองขนาดเล็กไม่สามารถช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครจากส่วนกลาง โดยใช้หมายเลขของพรรคหมายเลขเดียวได้ง่ายๆ แต่ต้องให้ผู้สมัครทุกเขตต่างคนต่างประชาสัมพันธ์หมายเลขของตัวเอง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

https://ilaw.or.th/node/4752


6. วิธีนับที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์แบบใหม่ อาจจะทำให้เกิดพรรคการเมืองจำนวนมาก

ระบบเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เรียกว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" มีวิธีการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. โดยนำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากทั้งประเทศคำนวณเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นควรจะมี และเมื่อได้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้แล้ว ให้นำมาหักลบกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค วิธีการนี้จะทำให้พรรคขนาดใหญ่มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยลง เพราะหากได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวนมาก ก็จะทำให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลดลง พรรคขนาดกลางมีโอกาสได้ที่นั่งมากขึ้น แม้แพ้เลือกตั้งในแบบแบ่งเขต แต่คะแนนที่ได้จากทุกๆ เขตประกอบกันก็อาจจะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นกอบเป็นกำ ส่วนชะตากรรมของพรรคขนาดเล็กอาจจะหวังยากที่จะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ถ้าหวังจะได้ที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อบ้าง ก็ต้องใช้ทุนและคนจำนวนมากเพื่อนำคะแนนในแต่ละเขตมาเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสักหนึ่งคน ด้วยเหตุนี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน อาจถูกแบ่งปันไปให้กับพรรคการเมืองจำนวนมาก ซึ่งพรรคทหารโดยการสนับสนุนของ คสช.ก็คือหนึ่งในคู๋แข่งนั้น

https://www.ilaw.or.th/node/4079


7. ไม่ว่าพรรคใหญ่เล็กแค่ไหน ก็ต้องทำ Primary Vote

Primary Vote หมายถึงระบบที่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ระบบนี้มีขึ้นเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองถูกผูกขาดโดนนายทุนคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการทำ Primary Vote กำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และกำหนดรายละเอียดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 47-51 กำหนดให้ แต่ละพรรคการเมืองต้องมี "คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง" ขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและส่งรายชื่อผู้สมัครให้ "สาขาพรรค" หรือ "ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด" จัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครในนามพรรค โดยต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน ซึ่งการบังคับให้ต้องทำตามขั้นตอนเหล่านี้สำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีงบประมาณในการจัดการทางธุรการน้อย และมีจำนวนสมาชิกน้อย จะต้องพบความยากลำบากอย่างมาก

https://ilaw.or.th/node/4655


8. เตรียมเจอมาตรฐานทางจริยธรรม กับถ้อยคำกว้างขวาง

มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นกลไกใหม่ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันร่างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อจัดทำเสร็จแล้วจะใช้บังคับกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วย จากร่างมาตรฐานทางจริยธรรมฉบับที่เผยแพร่แล้ว พอจะเห็นแนวคิดของร่างนี้ คือ การกำหนดกรอบการทำหน้าที่ และการวางตัวของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ให้ทำตัวเป็น "คนดี" โดยใช้คำกว้างๆ ที่มีความหมายครอบคลุมได้หลากหลาย เช่น ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน, ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน, อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ฯลฯ การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จะถูกดำเนินคดี โดย ป.ป.ช. และส่งเรื่องให้ ศาลฎีกานักการเมืองฯ วินิจฉัย หากเห็นว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม "อย่างร้ายแรง" ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี

https://www.ilaw.or.th/node/4204

https://ilaw.or.th/node/4642


9. เสนอนโยบายใหม่ต้องแจงวงเงินให้ กกต. ทราบ

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 กำหนดว่า การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องแสดงวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่า ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย หากพรรคการเมืองโฆษณานโยบายโดยไม่อาจชี้แจงรายละเอียดเหล่านี้ ให้ กกต. สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้อง หากยังไม่ดำเนินการอาจถูกปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เท่ากับว่า พรรคการเมืองที่มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆ จะเสนอเพียงไอเดียที่อยากเห็นเป็นภาพฝันอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้อง "ทำการบ้าน" อย่างหนักเพื่อตอบคำถามในทางปฏิบัติให้ได้ด้วย มิเช่นนั้นอาจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากซึ่งพรรคขนาดเล็กอาจไม่มีกำลังจ่ายไหว

https://ilaw.or.th/node/4654


10. แม้จะได้รับเลือกตั้งแล้ว จะดำเนินนโยบายอะไรยังต้องอยู่ภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 142 กำหนดให้ การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 162 กำหนดให้ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งจะเสนอนโยบายแข่งขันกันอย่างไร สุดท้ายเมื่อจะทำจริงก็ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติที่ร่างขึ้นโดยคนของ คสช. โดยมี ส.ว. ชุดแรก 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติอีกชั้นหนึ่งด้วย

https://ilaw.or.th/node/4570

 

ที่มา: Fanpage iLAW

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #202 ควานหาสตรีนิยมในนวนิยายทมยันตี

Posted: 25 Mar 2018 03:11 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา พูดคุยกับ ประภาภูมิ เอี่ยมสม ตามหาแนวคิดสตรีนิยมจากตัวละครและเรื่องราวในนวนิยายของ "ทมยันตี" หรือวิมล ศิริไพบูลย์ นักเขียนชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ทั้งนี้มีนวนิยายหลายเรื่องของทมยันตีที่สะท้อนบทบาทตัวละครผู้หญิง ในฐานะของผู้หญิงแกร่ง ทำงานเก่ง มีหน้าที่การงานที่ดี โดยไม่ต้องพึ่งพาบทบาทและฐานะของตัวละครผู้ชาย

แต่กระนั้นตัวละครหญิงที่ทมยันตีเขียนในบางเรื่องก็ยังมีลักษณะแบบทวิลักษณ์ เพราะถึงแม้ผู้หญิงจะ "เก่ง" และ "แกร่ง" แต่ก็ยังคงอยู่ในขนบของความเป็นแม่ที่ดี หรือเมียที่ดี ซึ่งในบางด้านก็ยังเป็นการจำกัดกรอบของผู้หญิง

สำหรับงานศึกษานวนิยายของทมยันตีในมุมมองสตรีนิยม ยังสามารถอ่านได้ที่ ภัทรพร หงษ์ทอง. "การศึกษาแนวคิดสตรีนิยมในนวนิยายของทมยันตีระหว่างพุทธศักราช 2506-2534." วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต วรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2538) รวมทั้ง วศินี สุทธิวิภากร. "วาทกรรมของมิเชล ฟูโกต์ต่อสถานภาพและบทบาทสตรีไทย ตามที่นำเสนอในนวนิยายของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์." ใน มนุษยศาสตร์สาร, ปีที่ 10, ฉบับที่ 1 (2009)

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: คนชั้นกลางกับระบอบการเมือง

Posted: 25 Mar 2018 02:15 AM PDT

 

หนึ่งในภูมิภาคที่คนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ อาจอ้างได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าเป็นประเทศของคนชั้นกลาง ไม่ต่างจากอังกฤษหรือสหรัฐ มาเลเซียกำลังเดินตามไป

แม้กระนั้น การเมืองของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน "ระบอบ" ปกครองของเกือบทุกประเทศมีอายุเกินครึ่งศตวรรษทั้งสิ้น ยกเว้นอยู่ไม่กี่ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชาและพม่า แต่ก็เป็นข้อยกเว้นที่ต้องขยายความ นอกจาก 4 ประเทศนี้แล้ว "ระบอบ" ปกครองในปัจจุบัน ล้วนสืบเนื่องมาจาก "ระบอบ" เมื่อประเทศเหล่านี้เพิ่งได้รับเอกราช ในสมัยที่เกือบทั้งหมดของประชากรคือเกษตรกรเลี้ยงตนเองที่ยากจนข้นแค้น … เกินสองชั่วอายุคนแล้วที่ประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ภายใต้ "ระบอบ" เดิม

หากจะขยายความประเทศยกเว้น 4 ประเทศ ก็คือแม้ว่าลาวและกัมพูชาได้ผ่านการ "ปฏิวัติ" มา แต่ "ระบอบ" ปกครองของทั้งสองประเทศก็ตั้งมั่นมาเกินหนึ่งชั่วอายุคนแล้ว อีกทั้งไม่มีฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ ถึงผู้นำอาจเปลี่ยนไปตามวาระหรือตามอายุขัย "ระบอบ" ก็ยังอยู่อย่างเก่า พม่าเปลี่ยนมาสู่ "ระบอบ" ที่มีการเลือกตั้งก็จริง แต่อำนาจเด็ดขาดก็ยังสถิตอยู่ที่สถาบันเดิม คือกองทัพ ส่วนอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะเผชิญกับระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแข็งแรงที่สุด แต่หากระยะเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด บางทีก็อาจเกิดการเรียกร้อง "กฎหมายและระเบียบ" อย่างกว้างขวาง จนยอมให้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งหรือผู้นำกองทัพเผด็จอำนาจไว้อีกก็ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดว่า "ระบอบ" ไม่เปลี่ยน ก็อาจจะเป็นการมองข้ามความเปลี่ยนแปลงภายในระบอบไปหมดเลยก็ได้ การดำรงอยู่ของ "ระบอบ" เก่า ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงภายใน "ระบอบ" เสียเลย เราอาจมองบทบาทของคนชั้นกลางจากประสบการณ์ในอดีตของยุโรปตะวันตกมากเกินไป

ภายใต้กรอบโครงอันเดิม เนื้อหาภายในได้เปลี่ยนไปมากขึ้นทุกที ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบโครงหรือ "ระบอบ" ปกครองของประเทศเหล่านี้มีความยืดหยุ่นสูงมาก aristocrat หรือชนชั้นสูงตามประเพณีของสังคมเหล่านี้ไม่แข็งตัวด้วยชาติกำเนิดเพียงอย่างเดียว ช่องทางที่คนชั้นกลางจะขยับขึ้นไปอยู่ในแวดวงของ "ผู้ดีเก่า" มีอยู่หลากหลายช่องทาง ไม่เพียงเท่านั้น ช่องทางสู่อำนาจทางการเมืองก็มีหลากหลาย ทั้งการเลือกตั้ง (ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ) การลงทุนแก่พรรคการเมืองหรือพรรครัฐประหาร การติดสินบน ฯลฯ ตราบจนถึงวันนี้ โอกาสเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ อย่างน้อยก็ทำได้จริงในคนบางกลุ่ม และฝันได้จริงแก่คนทั่วไป (และทำให้คอร์รัปชั่นระบาดไปในทุกวงการ … มองในแง่นี้คอร์รัปชั่นนั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยง "ระบอบ" เก่าเอาไว้ด้วย)

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ไม่เปลี่ยนกรอบโครงเดิม ไม่ได้พบเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พบในจีนและอินเดียเช่นเดียวกัน เป็นอีกสองภูมิภาคที่คนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว


คนชั้นกลางเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน?

งานวิจัยที่ศึกษาคนชั้นกลางชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำในภูมิภาคนี้ยกเว้นประเทศอินโดจีนและพม่า พบว่าเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ที่คนชั้นกลางเกินครึ่งไต่เต้าขึ้นมาจากชนชั้นแรงงานหรือชาวนา แต่ในประเทศอื่นล้วนเป็นลูกหลานของคนชั้นกลางเดิมนั่นเอง (ฐานะทางเศรษฐกิจของคุณทักษิณ ชินวัตรนั้น ไม่ใช่ลูกคนขายโอเลี้ยงอย่างที่เขาใช้ในการโฆษณาหาเสียง แต่เป็นลูกหลานของตระกูลที่ออกจะมั่งคั่งทีเดียวในเชียงใหม่) สถิติของคนชั้นกลางในประเทศเหล่านั้นซึ่งไต่เต้ามาจากคนระดับล่างมีไม่เกิน 25% (อันเป็นตัวเลขของประเทศไทย)

ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ (หากถือเป็นข้อเท็จจริง เพราะงานวิจัยชิ้นนี้มีข้อบกพร่องที่เก็บข้อมูลจากเมืองหลวงเท่านั้น ซึ่งเป็นแหล่งที่ลูกหลานคนชั้นกลางเข้าถึงการศึกษาที่รัฐจัดให้ก่อน ข้อสรุปจึงบิดเบี้ยวในระดับใดระดับหนึ่ง) มีความหมายว่าอะไร? เมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกคือ จีน เกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง คนชั้นกลางของเขาส่วนใหญ่ล้วนเติบโตมาจากคนชั้นแรงงานทั้งสิ้น หากไม่นับจีน ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านั้นมีผลกระทบต่อ "ระบอบ" ปกครองอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ประชาธิปไตยซึ่งตอบสนองต่อความหลากหลายของคนชั้นกลางล้วนมีความมั่นคง แต่ตราบเท่าที่รัฐบาลจีนและสิงคโปร์สามารถรักษาความสำเร็จทางเศรษฐกิจไว้ได้ "ระบอบ" ที่ไม่ยอมเปลี่ยนก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้

การที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้งอกขึ้นมาจากคนชั้นกลางหยิบมือเดียวที่มีมาแต่เดิม คงจะช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใด "ระบอบ" ปกครองจึงไม่ถูกกดดันจากคนชั้นกลางให้ปรับเปลี่ยนไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและคนชั้นกลาง

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การขยายตัวอย่างกว้างขวางของคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเติบโตมาจากเกษตรกรรายย่อยในชนบท กำลังทำให้องค์ประกอบของคนชั้นกลางไทยเปลี่ยนไป พวกเขามีความฝันทางการเมืองที่แตกต่าง แม้ยังไม่ได้จัดองค์กรทางการเมืองที่เป็นอิสระของตนเองในเวลานี้ แต่ก็ได้เรียนรู้การจัดองค์กรทางการเมืองแล้ว ดังนั้น "ระบอบ" ปกครองของไทยที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมานาน คงต้องเผชิญกับการกดดันหนักขึ้นจนอาจไม่สามารถธำรงอยู่ต่อไปได้

เช่นเดียวกับในมาเลเซีย แม้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชั้นกลางยังไม่อาจบ่อนเซาะความมั่นคงของพรรค UMNO ในชนบทได้ แต่จะดำรงอยู่ต่อไปได้นานเพียงไร เมื่อสูญเสียการสนับสนุนของคนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้

แต่การปรับเปลี่ยน "ระบอบ" ของไทยและมาเลเซียในอนาคตคงต่างกัน ถ้าดูจากสภาวะทางการเมืองที่เป็นไปในปัจจุบัน เป็นไปได้สูงว่ามาเลเซียน่าจะ "เปลี่ยนผ่าน" โดยสงบกว่า อย่างน้อยก็เพราะไม่มีชนชั้นนำกลุ่มใดจะสามารถดึงเอากองทัพมาหนุนอำนาจของตนได้ แต่น่าหวั่นว่าการ "เปลี่ยนผ่าน" ในประเทศไทยจะไม่สงบอย่างนั้น

นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า คนชั้นกลางของภูมิภาคนี้มีการแบ่งย่อย (fractionalized) สูงมาก ไม่ใช่เพียงมีบทบาทหน้าที่ซึ่งต่างกันในเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต่างกันในวิถีชีวิต รายได้ที่ห่างกันไกล การศึกษา การพักผ่อนและการท่องเที่ยว ฯลฯ จนกระทั่งความใฝ่ฝันทางการเมืองและสังคมเป็นคนละเรื่องกันเลย<

เป็นนักชาตินิยมเหมือนกัน แต่แสดงความรักชาติต่างกันไกล เป็นศาสนิกเดียวกัน แต่ยึดถือศีลธรรมและการปฏิบัติคนละชุด เป็นนักประชาธิปไตยคนละแบบ ต่อต้านคอร์รัปชันกันคนละมุม อนุรักษ์ป่ากันคนละวิธี ฯลฯ ทั้งไม่ใช่ต่างกันระหว่างสองฝ่าย แต่มีฝ่ายที่ต่างกันอีกเป็นสิบเป็นร้อย

การเมืองของคนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่ใช่รวมตัวกันเพื่อต่อสู้ศัตรูร่วมกัน แต่เป็นการรวมตัวเพื่อต่อสู้กันเอง ระหว่างมุสลิมที่เชียร์อาฮกให้เป็นนายกเทศมนตรีของนครจาการ์ตาต่ออีกสมัย กับมุสลิมที่ร่วมกันปกป้องอิสลามจากอาฮก ระหว่างคนชั้นกลางที่ชื่นชมการฟื้น "กฎหมายและระเบียบ" ด้วยความรุนแรงและเด็ดขาดของประธานาธิบดีดูแตร์เต และคนชั้นกลางที่ห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพมากกว่า

แน่นอนคนเป่านกหวีดเรียกให้ทหารยึดอำนาจคือคนชั้นกลาง แต่คนชูสามนิ้วก็คนชั้นกลางเช่นกัน

นักวิชาการหลายคนมีความเห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแต่คนชั้นกลาง แต่ไม่มีชนชั้นกลาง (อย่างที่ยุโรปตะวันตกเคยมี) เพราะคนชั้นกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีจิตสำนึกทางชนชั้น ความต่างที่เกิดจากการแยกย่อยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ยากที่จะเกิดจิตสำนึกทางชนชั้นได้

ด้วยเหตุดังนั้น พลังทางการเมืองของคนชั้นกลางซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นี้ ถึงมีสูงมาก แต่ก็ไม่ใช่พลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของ "ระบอบ" ปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

ยิ่งกว่านี้ คนชั้นกลางของภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นมาด้วยการฟูมฟักของรัฐโดยแท้ นอกจากการศึกษาซึ่งรัฐจัดให้อย่างไม่เสมอภาคนัก เพราะยากที่ผู้มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตเมืองจะเข้าถึง ในระยะเริ่มแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรม ทุกประเทศก็มักมุ่งสร้างอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ซึ่งต้องการการอุปถัมภ์ของรัฐสูง (ทั้งโดยสุจริตและทุจริต) เช่น กำแพงภาษี โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แหล่งสินเชื่อ มาตรฐานอุตสาหกรรม (ทั้งคุณภาพสินค้าและกระบวนการผลิต) ที่ไม่เคร่งครัดนัก (สิงคโปร์โชคดีที่ถูกขับออกจากมาเลเซียใน 1965 ทำให้ไม่มีตลาดภายในจะรองรับอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ต้องมุ่งสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกทันที)

อย่าว่าแต่กระฎุมพี (เจ้าของทุน) และคนชั้นกลางระดับบนเลย แม้แต่คนชั้นกลางระดับล่างก็ไต่เต้าขึ้นมาจากชาวนาเจ้าที่ดิน หรือพ่อค้าในหมู่บ้าน ด้วยโครงการของรัฐต่างๆ เช่นกัน โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง

จนในภายหลังเมื่อตลาดภายในซึ่งมีกำลังซื้อต่ำอิ่มตัว ต่างต้องหันเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก กระฎุมพีของทุกประเทศยังเรียกร้องและได้มาซึ่งการอุปถัมภ์จากรัฐอย่างสูง กลไกรัฐและความประจวบเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจของโลก ทำให้เงินทุนไหลเข้าและมีตลาดสินค้ารองรับในต่างประเทศ ดูเหมือนเป็นความสำเร็จจากฝีมือรัฐมากกว่าจากฝีมือการแข่งขัน

เปรียบเทียบกับยุโรปตะวันตกในศตวรรษที่ 18-19 กระฎุมพีและคนชั้นกลางในทุนนิยมอุตสาหกรรม มองรัฐเป็นคู่ขัดแย้งของตนมากกว่าผู้อุปถัมภ์ และทำให้ต้องการเข้าไปควบคุมรัฐโดยเป็นพันธมิตรกับฝ่ายแรงงาน ในขณะที่นายทุนอุตสาหกรรมและการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองรัฐเป็นมิตรแท้ หรือบางครั้งเป็นแผนกหนึ่งในบริษัทของตนเท่านั้น

การอุปถัมภ์ของรัฐไม่ใช่สิ่งที่ได้มาฟรี นายพลในกองทัพ, ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งเทคโนแครตของกระทรวงทบวงกรม, และนักการเมือง เข้ามามีส่วนแบ่งกำไรด้วย ยิ่งกว่าส่วนแบ่งกำไรก็คือ เข้ามาร่วมลงทุนกับกิจการ ซึ่งเป็นหลักประกันในอันที่จะได้ "สิทธิพิเศษ" ในรูปต่างๆ ที่มั่นคงกว่าค่าต๋งด้วยซ้ำ คนของรัฐและธุรกิจระดับใหญ่พัวพันกันทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางธุรกิจในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย พม่า อย่างหนัก และอย่างเบาลงมาหน่อยในมาเลเซีย

ด้วยเหตุดังนั้น คนชั้นกลางซึ่งทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่ใช่พลังที่จะนำ "ระบอบ" สู่การเปลี่ยนผ่าน อย่างน้อยก็ไม่อาจนำโดยตรงได้ แต่คนชั้นกลางคือพลวัตที่ทำให้ภายในของ "ระบอบ" ไม่หยุดนิ่ง ภายในกรอบโครงเดิม มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเพราะคนชั้นกลางอยู่ตลอดเวลา และมากขึ้นทุกที จนน่าสงสัยว่าตัวกรอบโครงหรือ "ระบอบ" นั้นจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เพราะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในสังคมที่แทบไม่มีคนชั้นกลางอยู่เลย

สุดทางแห่งความยืดหยุ่นของ "ระบอบ" เมื่อไร "ระบอบ" ก็ต้องเปลี่ยน แต่คนชั้นกลางซึ่งไม่เคยเป็นพลังเด็ดขาดทางการเมืองเลยจะมีส่วนในการสร้าง "ระบอบ" ใหม่แค่ไหน และอย่างไร ยังน่าสงสัยอยู่

 

ที่มา: matichon.co.th

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อยากกลับบ้าน

Posted: 25 Mar 2018 01:39 AM PDT


                                                 
จากถิ่นดินแดนไกล     ลูกจากไปได้ดังหวัง
พ่อแม่แค่สอนสั่ง     อย่าหยุดยั้งทำความดี
ยากจนจงขยัน     ให้ยึดมั่นเป็นวิถี
ทุ่มเทเท่าชีวี     พลีกายจิตคิดตั้งใจ
สุจริตเป็นเกราะป้อง      หลบหลีกจ้องคิดการใหญ่
เพื่อนผองน้องไว้ใจ     ฝากฝังได้ไร้กังวล
วาจาคือคำสัตย์     จะผูกมัดรัดตัวตน
ทำได้ไม่วกวน     ไม่หมองหม่นพ้นศรัทธา
ศึกษาหาความรู้     เกื้อกอบกู้วาสนา
สำเร็จเก่งก้าวหน้า     เติบโตใหญ่ได้ผลนาน
อ่อนน้อมถ่อมตัวตน     ไม่อับจนพ้นภัยพาล
เอ็นดูและสงสาร     สุขสำราญบานอารมณ์
พ่อแม่อยู่พร้อมพรัก     ลูกประจักษ์ความขื่นขม
จากไกลร้าวระทม     โทมนัสทัศนา
ความดีที่ทำไว้     ใส่ในใจใครจะหา
เงินทองมีคุณค่า     ซื้อหาได้ไร้ชีพพลี
เกียจคร้านงานการมาก     ลำบากยากหลบหลีกหนี
เพียรขยันพันทวี     เหน็ดเหนื่อยกายตายทั้งเป็น
ซื่อสัตย์สุจริต     มวลมิ่งมิตรคิดเขม่น
น้ำใสไร้ปลาเป็น     คืนเดือนเพ็ญเว้นดาววาว
วาจาสุภาษิต     ล่องลอยติดเวหาหาว
สำเนียงเสียงแพรวพราว     เสนาะโสตโชติอารมณ์
สอนให้หมั่นฝึกตน     ความรู้ข้นเข้มจนขม
มอบหมายเร่งระดม     สมปรารถนาพาสบาย
อ่อนน้อมย่อมอ่อนแอ     ไม่เหลียวแลแย่ใจหาย
เหนื่อยยากลำบากกาย     คิดถึงแม่แม้จากไกล
พ่อแม่สุดที่รัก     เหน็ดเหนื่อยหนักจะหักใจ
บุญคุณแม่ยิ่งใหญ่     พ่อสร้างไว้ให้ทุกคน
กลับบ้านอยากกลับบ้าน     อยู่นานนานสมานผล
สั่งสอนให้อดทน     ปลอดภัยพ้นแผ้วภัยพาล
ผจญหน่อยนะลูก     จงพันผูกหวังวันหวาน
ครอบครัวยังชื่นบาน     จะเผาผลาญวานวันเวร
ปู่ย่าตาอยู่ครบ     พร้อมประนบเลี้ยงพระเพล
สาดน้ำให้กระเซ็น     ใคร่ครื้นเครงตรุษสงกรานต์
                                    

14 เมษายน 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงาน GM ระยอง เตรียมร้องคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน UN

Posted: 25 Mar 2018 12:47 AM PDT

สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหานายจ้างไม่ให้กลับเข้าทำงาน เตรียมเดินรณรงค์เพื่อไปเข้าร่วมชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 26 มี.ค. นี้

 
 
25 มี.ค. 2561 บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก และกรรมการบริหารสมัชชาคนจนฝ่ายกฎหมายแรงงาน เปิดเผยว่าในวันที่ 26 มี.ค. 2561 นี้ กลุ่มสหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหานายจ้างไม่ให้กลับเข้าทำงาน จะเดินรณรงค์เพื่อไปเข้าร่วมชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) โดยเริ่มออกเดินจากหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทเจอเนอรัล มอเตอร์ เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ อาคาร รสาทาวเวอร์ 2 ถนน พหลโยทิน แขวง จตุจักร เขต จตุจักร กรุงเทพมหานคร ในเวลา 12.00 น. ถึงหน้าสำนักงานอาคารเลขาธิการสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร 
 
ทั้งนี้จะมีการอ่านแถลงการณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมเวลา 15.30 น. โดย สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหานายจ้างไม่ให้กลับเข้าทำงาน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ และนายจ้างงดจ่ายค่าจ้าง และปัญหายังไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไข ซ้ำร้ายสภาพคนงานกลับยิ่งถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ในยุคไทยแลนด์ 4.0
นำโดย นายนฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงานเจอเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย (GMTH) จังหวัดระยอง
 
บุญยืน ระบุว่าหลังจากเหตุการณ์การนัดหยุดงานของสหาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย และการปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2556 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่สมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์สกว่า 100 ชีวิตยังคงไม่ได้กลับเข้าทำงาน ถึงแม้สหภาพแรงงานฯ จะได้ยอมถอนข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นต่อบริษัทฯ ไปแล้ว แต่สมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลุ่มนี้ยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้เนื่องจากติดปัญหาจากการปิดงานเป็นรายบุคคลของบริษัทฯ ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยที่กลไกกฎหมายของทางราชการไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงช่วยเหลือพี่น้องแรงงานกลุ่มนี้ได้เลย
 
สมาชิกสหภาพแรงงานจึงได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พ.ย. 2560 จนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน แต่จนปัจจุบันก็มีพนักงานบางคนที่บริษัทฯ ยังจ่ายไห้ไม่ครบถ้วน หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้มีคำสั่งให้พนักงานเข้าไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน เมื่อพนักงานไปรายงานตัว บริษัทฯ ได้มีคำสั่งให้พนักงานทั้งหมดไปปฏิบัติงานที่ ที่คลังสินค้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งไกลมากจากที่พักและครอบครัวของแรงงานโซนพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี นอกจากนี้ยังปรับลดเงินเดือนพนักงานทุกคนจากเดิม เหลือเพียงค่าแรงขั้นต่ำสุดเพียง 9,600 บาท/เดือน และสวัสดิการอื่นที่เคยได้รับถูกตัดทั้งหมด เช่น ไม่มีรถส่ง ไม่มีเบี้ยต่างจังหวัด ไม่จ่ายปรับค่าจ้าง 3 ปี ไม่จ่ายโบนัสผันแปร 3 ปี และไม่มีอาหารกลางวันให้ ซึ่งทำให้พนักงานกว่า 60 คน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เนื่องจากการบริษัทได้วางมาตรการเงื่อนไขบีบบังคับ พนักงานจึงต้องยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมของนายทุน ตามที่บริษัทเสนอ จึงเหลือพนักงานที่สามารถเดินทางมาทำงานที่คลังสินค้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียง 9 คน และลักษณะงานที่ทำก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงคือจากพนักงานประกอบรถยนต์ ต้องถูกปรับลดลงมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำหน้าที่ขูดสีและทาสีเส้นในคลังสินค้า

 
พนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมาข้างต้นของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยนชนด้านแรงงานอย่างรุนแรง จึงได้ร่วมกันเดินเพื่อที่จะไปส่งตัวแทนสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย เข้าร่วมประชุมและชี้แจงต่อคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) ณ อาคารเลขาธิการสหประชาชาติ
 
ผู้สื่อข่าวสอบถาม ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก เพิ่มเติม โดย เขาระบุว่า พรุ่งนี้จะมีคนงานที่เป็นตัวแทนร่วมเดินประมาณ 20 คน 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย 'กลุ่มวาดะห์' ตั้ง 'พรรคประชาชาติ'

Posted: 24 Mar 2018 11:50 PM PDT

สมาชิกพรรคเพื่อไทย จ.สงขลา ระบุ 'กลุ่มวาดะห์' ซึ่งมีอดีต ส.ส. และผู้บริหาร ศอ.บต.บางคน ก่อตั้ง 'พรรคประชาชาติ' กำลังทาบทาม อดีต ส.ส.และอดีตผู้สมัครในพื้นที่

 
25 มี.ค. 256 มติชนออนไลน์ รายงานว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทย จ.สงขลา ระบุว่า ขณะนี้ กลุ่มวาดะห์ ซึ่งมีอดีต ส.ส.ผู้สมัคร ส.ส.และผู้บริหาร ศอ.บต.บางคน ก่อตั้งพรรค 'ประชาชาติ' หรือภาษาอาหรับคือพรรค 'อุมะห์' กำลังทาบทาม อดีต ส.ส.และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้พรรคประชาชาติ มีเป้าหมายหลักไว้ 15 คน จากผู้สมัคร ส.ส. ใน 6 จังหวัด คือ จ.สตูล 2 คน จ.นราธิวาส 4 คน จ.ปัตตานี 4 คน และ จ.ยะลา 3 คน และเขต 8 จ.สงขลา 1 คน และ เขต 3 จ.พัทลุง 1คน
 
นายบุญญา หลีเหลด ประธานที่ปรึกษาพรรคภราดรภาพ อดีต ส.ว.สงขลา เปิดเผยว่า ตนได้มีคนทาบทามให้เป็นสมาชิกพรรคประชาชาติของกลุ่มวาดะห์ แต่ตนได้ปฏิเสธไปแล้ว ขอให้เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับพรรคภราดรภาพ ส่วนของความเป็นไปได้นั้นมี โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และในชุมชนมุสลิม
 
ด้านนายพีรยศ ลาฮิมมูรา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชป.กล่าวว่า พรรคประชาชาติมีพื้นที่เป้าหมาย ส.ส.คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงทุกชุมชนมุสลิม พรรค ปชป.จะกระทบบ้าง แต่ไม่น่ากลัวเท่ากับอำนาจเงิน ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลประเมิน สปสช. ปีบัญชี 2560 ได้ 4.78 จากคะแนนเต็ม 5

Posted: 24 Mar 2018 11:26 PM PDT

บอร์ด สปสช.รับทราบผลการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีบัญชี 2560 โดยกรมบัญชีกลาง ผลการดำเนินงานในภาพรวมปี 2560 มีคะแนนประเมิน 4.87 คะแนน เทียบกับปีที่ผ่านมา ปี 2559 ได้คะแนน 4.78 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน

 
 
25 มี.ค. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธานได้รับทราบรายงานผลการประเมินการดำเนินงานทุนหมุนเวียน กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2560 โดย กรมบัญชีกลาง และบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะที่ปรึกษากรมบัญชีกลาง ได้รายงานผลการประเมินเบื้องต้นที่จะนำเสนอคณะทำงานจัดทำบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานทุนหมุนเวียนให้ความเห็นชอบ   
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในภาพรวมปี 2560 มีคะแนนประเมิน 4.87 คะแนน เทียบกับปีที่ผ่านมา ปี 2559 ได้คะแนน 4.78 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ทั้งนี้เกณฑ์การประเมินประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเงิน 2.ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.ด้านการปฏิบัติการ 4.ด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน โดยเกณฑ์ด้านที่ 1 และด้านที่ 3 ได้คะแนน เต็ม 5 คะแนน เช่นเดียวกับปี 2559 เกณฑ์ด้านที่ 2 ได้คะแนนเต็ม 5 คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.65 ในปี 2559 และด้าน 4 ได้ 4.59 คะแนน ลดลงจาก 4.61 ในปี 2559
 
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน เป็นการประเมินผลตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและการรายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้กรมบัญชีกลางดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เกณฑ์การประเมิน ปฏิทินการปฏิบัติงาน และเงื่อนไขการประเมินผลการดำเนินงานที่คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนกำหนด อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทุนหมุนเวียนให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน สอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบตามวัตถุประสงค์ทุนหมุนเวียน 
 
"ทั้งนี้มีหน่วยงานที่เข้าเกณฑ์ต้องรับการประเมินในลักษณะเดียวกับ สปสช.อีกกว่า 100 แห่ง สำหรับ สปสช.มีคะแนนการประเมินอยู่ในเกรด A ทุกปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551และได้รับรางวัล เช่น รางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น รางวัลทุนหมุนเวียนเกียรติยศดีเด่น แตกต่างกันในแต่ละปีติดต่อกัน 7 ปี ซึ่งเป็นการสะท้อนกระบวนการดำเนินงาน โดยการนำของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และความร่วมมือด้วยดีจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ทั้ง 4 ด้าน ตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แม่ทัพภาคที่ 4 โต้มาราปาตานีชี้ 'โอไอซี' ยังปลื้ม 'พาคนกลับบ้าน'

Posted: 24 Mar 2018 11:18 PM PDT

25 มี.ค. 2561 ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่ากรณี นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะกลุ่ม "มาราปาตานี" ออกแถลงการณ์ 4 ข้อถึงรัฐบาลไทย ประกอบด้วย 1. การพูดคุยที่ดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ระหว่างมาราปาตานีและรัฐบาลไทย ยังคงเป็นระดับทางเทคนิค ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะทำงานร่วมการพูดคุยสันติสุข (JWG-PDP) ข้อตกลงที่บรรลุก่อนหน้านี้จึงไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย 2. มาราปาตานีเปิดกว้างต่อความคิดเห็นและข้อแนะนำจากประชาชนภายใต้สิทธิกำหนดการปกครองด้วยตนเอง 3. เรามีความเชื่อมั่นในทีมพูดคุยสันติสุขของไทย ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากนายกรัฐมนตรี เป็นกระบวนการทางการที่ถูกพัฒนาให้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นกังวลต่อคำแถลงการณ์และการกระทำบางประการของแม่ทัพภาคที่ 4 ขัดแย้งกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และ 4. มาราปาตานีให้คำมั่นที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งโดยการพูดคุยสันติสุข ต้องการที่เน้นย้ำว่า โครงการพาคนกลับบ้าน กับโครงการการกำหนดเขต พื้นที่ปลอดภัย 14 แห่ง ของแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างมาราปาตานีและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด นั้น
 
พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวถึงกรณีคำแถลงของนายสุกรี แกนนำมาราปาตานีว่า ไม่ได้รู้สึกกังวลใจต่อโครงการที่ปฏิบัติเป็นรูปธรรมไปแล้ว ทั้งโครงการพาคนกลับบ้านและการประกาศเขตพื้นที่ปลอดภัย 14 แห่ง ตนยังคงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และจะทำให้ดีที่สุด ทั้งประชาชนในพื้นที่ที่ต้องช่วยกันร่วมกับข้าราชการทุกภาคส่วน ทั้งนี้ในพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวรวม 14 อำเภอ มีการดำเนินการมานานแล้ว เพียงแต่มิได้เป็นข่าวออกไป แต่ระดับผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นตอนลงไปในพื้นที่จะเข้าใจดีและรับทราบในแนวปฏิบัติ ส่วนการเจรจาสันติสุขของตัวแทนฝั่งผู้เห็นต่างกับตัวแทนรัฐบาลไทยเป็นระดับบนที่ยังพูดคุยหาทางออกของปัญหากันต่อไป
 
"สิ่งที่นายสุกรีพูดออกมาเป็นแถลงการณ์ 4 ข้อและเกี่ยวข้องกับโครงการของกองทัพภาคที่ 4 ในยุคที่ผมทำหน้าที่เป็นแม่ทัพนั้น ผมยิ่งชอบ เพราะในมุมมองของกลุ่มฝ่ายตรงข้ามเห็นและพูดจาพาดพิงนั้นก็เหมือนกับโครงการเหล่านี้บรรลุเป้าหมาย นายสุกรีจึงแสดงความเห็นออกมาเป็นแถลงการณ์ เนื่องจากผู้คนที่เห็นต่างเริ่มเข้าใจว่ารัฐบาลและทหารไทยนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาเขาเหล่านี้กลับมาเผชิญทั้งข้อเท็จจริงและการต่อสู้ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา อย่างนั้นชีวิตหลังจากนี้ไม่ต้องตกอยู่ในกังวลของความมืดมนมองไม่เห็นอนาคตต่อไป มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยบนแผ่นดินเกิดมากกว่าที่นอนรอคำสั่งจากใครไม่ทราบ"
 
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า โครงการพาคนกลับบ้านที่รีเซตขึ้นใหม่นั้น เมื่อกลุ่มผู้เห็นต่างเริ่มคุยกันปากต่อปากและการที่เจ้าหน้าที่ทหารไทยเข้าไปรับฟังปัญหาถึงถิ่นที่พักพิง เป็นการให้คำมั่นที่เห็นผลจริงแล้วเกิดขึ้นจริง หมดการหวาดระแวงในข้อสงสัยอีกต่อไป จึงมีผู้คนเห็นต่างๆ มากมายพาบุตรหลานขอกลับมาอยู่ภูมิลำเนาเดิม
 
"ทางกลุ่มเห็นต่างๆ คงมองว่ากำลังเสียคนของเขาเองกับโครงการพาคนกลับบ้าน แต่หาใช่ไม่เขาเหล่านี้สมควรต้องกลับมาแผ่นดินเกิดของเขา เราสร้างความเข้าใจให้เห็นว่าไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าอยู่บ้านของเราที่ไม่มีวันแบ่งแยกออกไปได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว เราให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินเรื่องคดีให้เขา เราให้อาชีพเขา อยู่กับครอบครัว เด็กๆ และลูกหลานได้ไปโรงเรียน แม้แต่ตัวแทน องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ที่มีสมาชิกชาติมุสลิมกว่า 57 ประเทศ ที่เมื่อเร็วๆนี้เดินทางมาดูและสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังชื่นชมกับโครงการพาคนกลับบ้านที่นำผู้เห็นต่างกลับมายังประเทศไทย ขอให้การดำเนินโครงการนี้สำเร็จ ยังชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้การดูแลพี่น้องมุสลิมเป็นอย่างดี พร้อมที่จะรับฟังแนวทางจากรัฐบาลไทยว่ามีนโยบายอะไรในการพัฒนาและจะดูแลความสงบสุขชาวมุสลิมในประเทศไทยอย่างไร และขอให้พี่น้องชาวมุสลิมให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลไทยในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป ในฐานะประเทศมุสลิมด้วยกันก็ไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรง และอยากให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติต่อไป นี่คือสิ่งที่ตัวแทนโอไอซี กล่าวกับทางไทย"
 
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวต่อว่า "ใครที่บอกว่าเราจัดฉากนั้น ผมไม่เคยทำพร้อมให้ทุกคนได้ลงพื้นที่มาพิสูจ น์ความจริง คนที่มาเข้า ร่วมโครงการ เขารู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ เขาเลยอยากจะกลับมาบ้านจะไปหาญาติพี่น้องของเขา การที่เราจะมาช่วยกันทำพัฒนาประเทศมันดีกว่า ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่รัฐดูแลประชาชนทุกคนเท่าเทียมเหมือนกันหมด แต่ถ้าทำผิดกฎหมายไทย รัฐจับทุกคนไม่มีข้อยกเว้น  ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกเดิน ทางลงพื้นที่ ก็มีการเปิดรับคนเข้าร่วมโครงการ พาคนกลับ บ้าน แล้ว จำนวน 288 คน แล้วก็ยังมีชุดที่ 2 ที่เข้ามาอีก 103 คน ในตอนนี้ก็มีติดต่อเข้ามาแล้วอีกประมาณ 20 - 30 ครอบครัว"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 มี.ค. 2561

Posted: 24 Mar 2018 11:10 PM PDT

เปิดคลินิกอัยการอาสาเคลื่อนที่คุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว

นางสาวนิภาพร รุจนรงค์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการคลินิกอัยการอาสาเคลื่อนที่คุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ ด้านการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมีนายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, รองอธิบดีอัยการภาค 7, รองอธิบดีอัยการ สํานักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน, ผู้อํานวยการ สํานักงานกิจการและโครงการในพระดําริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, อัยการพิเศษฝ่าย, อัยการจังหวัด ผู้แทนจากส่วนราชการ สถานประกอการภาคอุตสาหกรรม เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัด สมุทรสาคร

โดยปัจจุบันมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจํานวนมาก ภาครัฐและเอกชนจึงควรต้องตระหนักถึงความสําคัญของการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทํางานในประเทศไทย ซึ่งหากเป็นการเดินทางเข้ามาทํางานโดยผิดกฎหมายก็อาจ ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งนับวันได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลําดับ เพราะการกระทําดังกล่าวนอกจากจะถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสวัสดิภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็กและสตรีแล้ว ยังพบว่าขบวนการการค้ามนุษย์มีความเชื่อมโยงกับ การประกอบอาชญากรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะถูกใช้เป็นช่องทางในการหารายได้ ให้แก่กลุ่มก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งสหประชาชาติได้ให้ความสนใจ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานต่างด้าวของไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ประเทศไทยได้รับการจัด อันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ ๒ บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2) รัฐบาลจึงให้ความสําคัญ กับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

ทางด้านสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สํานักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน จึงได้จัดโครงการฯ ขึ้นเพื่อจะได้รับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าว กฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รวมถึงการน้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวพระราชดําริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่หลักนิติธรรม ซึ่งสํานักงานว่าด้วยยาเสพติด และอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายตําแหน่งทูตสันถวไมตรี ด้านหลักนิติธรรม สําหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อนํามาใช้เป็นหลักในการดํารงชีวิตและในการประกอบกิจการ

ภายในงานมีการจัดวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ด้านในกฎหมายดังกล่าวจากผู้อํานวยการ สํานักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ผู้กํากับการ กลุ่มงานความมั่นคง กองแผนงานกิจการพิเศษ สํานักงานยุทธศาสตร์ตํารวจ ผู้อํานวยการ สํานักงานกิจการและโครงการในพระดําริพระเจ้า หลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สํานักงานอัยการสูงสุด และอัยการผู้เชี่ยวชาญ สํานักงาน อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สํานักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชน สํานักงานอัยการสูงสุด ที่มาให้ความรู้ด้านต่างๆ ผู้เข้าร่วมโครงการได้นําไปใช้ในการปฏิบัติงานและการประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จะได้รับรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดเอาเปรียบ หรือล่วงละเมิดได้ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศที่สําคัญ

ที่มา: ไทยโพสต์, 24/3/2561

เผยเดือน ก.พ. ประกันสังคมแก้ปัญหาร้องเรียนสำเร็จ 93.87%

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยข้อมูลแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มีนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้เกี่ยวข้องในระบบประกันสังคมยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบจำนวนทั้งสิ้น 489 เรื่อง ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องได้แล้วเสร็จภายใน 25 วันทำการ เป็นจำนวนถึง 459 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.87 ส่วนที่เหลือได้ทยอยแก้ปัญหาได้ลุล่วงไปตามลำดับ

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้วางระบบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ดำเนินเรื่องให้ผู้ร้องได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ โดยด่วนภายใน 7 วัน แต่หากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนให้ดำเนินการตอบกลับภายใน 25 วัน แยกเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาอุปสรรคในการรับบริการสูงที่สุด ได้แก่ 1.ร้องเรียนสถานประกอบการจำนวน 258 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 52.76 2.ร้องเรียนสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม จำนวน 66 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 13.50

3.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่และระบบของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 64 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 13.09 4.ร้องระบบของสำนักงานประกันสังคม และการขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม จำนวน 39 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ7.98 5.ปัญหาอื่นๆ เช่น การใช้สิทธิซ้ำซ้อน จำนวน 14 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 2.86 6.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการข้อมูล 1506 จำนวน 7 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 1.43

หากลูกจ้าง หรือ ผู้ประกันตนมีข้อร้องเรียนหรือมีปัญหาจากการรับบริการในระบบประกันสังคมสามารถแจ้ง สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ ที่ท่านสะดวก โดยยื่นร้องเรียนด้วยตนเอง ผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ www.1111.go.th

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/3/2561

'ประยุทธ์' กำชับเข้มแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนภายใน 31 มี.ค.

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ปรับแผนการดำเนินงานของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) 3 รูปแบบ คือ ลดขั้นตอน โดยให้ทั้งแรงงานต่างด้าวที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว และยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติไปรายงานตัว ขออนุญาตทำงาน ตรวจลงตราวีซ่า และดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด เพื่อให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึง 31 มี.ค. ปี63, เพิ่มเวลา ให้บริการตลอด 24 ชม.

สำหรับศูนย์ OSS ของจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก เช่น จ.เชียงราย ราชบุรี ระนอง ส่วนใน กทม. เปิดให้บริการตลอด 24 ชม.ที่กระทรวงแรงงาน และเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 22.00 น. ที่ศูนย์ OSS เพชรเกษม 65 ไอที สแควร์ และตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ถึง 31 มี.ค.61 รวมถึง เพิ่มช่องทาง ให้บริการที่ สนง.จัดหางาน กทม. พื้นที่ 1-10 สนง.จัดหางานจังหวัด และเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th ตั้งแต่วันที่ 26 – 31 มี.ค.61

ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ต้องดำเนินการที่ศูนย์ OSS จำนวน 1,687,473 คน ดำเนินการแล้ว จำนวน 727,902 คน เหลืออีก 959,571 คน นายกรัฐมนตรีจึงขอย้ำให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวไปรายงานตัว จัดทำทะเบียนประวัติ และดำเนินการตามขั้นตอนตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ทันระยะเวลาที่กำหนด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/3/2561

สหภาพทีโอที-กสท ยกโขยงทำเนียบฯ ค้านตั้งบริษัทลูกแบ่งดูแลโครงข่ายโทรคมนาคม

ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และนายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เดินทางมาด้วยรถบัส จำนวน 15 คัน เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดค้านการจัดตั้งโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) และ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และ ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co)

นายสังวรณ์กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 2 แห่ง ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2550 ที่ระบุว่า การตั้งบริษัทลูกต้องไม่ดำเนินการที่เป็นภารกิจของรัฐวิสาหกิจแม่ และไม่ได้รับอำนาจผูกขาด และสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจแม่ อีกทั้งการโอนย้ายทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายภายในประเทศและโครงข่ายระหว่างประเทศของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ไปยังบริษัททั้ง 2 แห่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ พวกตนพร้อมปฏิรูปองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ขอคัดค้านการจัดตั้งบริษัททั้ง 2 แห่ง เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และยากที่จะเยียวยาในภายหลัง

ที่มา: MGR Online, 23/3/2561

ขอแบบไม่โกงสักเรื่อง เตือน! นายจ้าง/ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบครั้งใด ขอใบเสร็จทุกครั้ง

หลังจากมีเหตุการณ์สถานประกอบบางแห่งหักเงินลูกจ้างเพื่อจ่ายประกันสังคม แต่ทุจริตไม่ได้นำเงินไปจ่ายจริง จนลูกจ้างเสียสิทธิ์ในการใช้สิทธิประกันสังคม ประกันสังคม ออกมาแจงนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ติดต่องานประกันสังคม เพื่อจ่ายเงินสมทบ ณ สำนักงานประกันสังคม ธนาคาร หรือหหน่วยบริการ ขอให้ผู้ประกันตนขอใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง และตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินอย่างละเอียด

เลขาธิการ สปส.เผย เดินหน้าต้านทุจริต พัฒนาระบบบริการนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้บริการรับ จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หวังลดรับจ่ายเงินสดผ่านมือเจ้าหน้าที่เพิ่มความโปร่งใส

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขจัดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น กระทรวงแรงงาน โดย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดให้การขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นวาระสำคัญ ในการปฏิรูปเร่งด่วน ภายใต้แนวคิดกระทรวงแรงงานปลอดทุจริต จากนโยบายดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินงานต้านทุจริตอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีนโยบายห้ามเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมรับฝากเบิกจ่ายเงินสมทบหรือเงินสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และหากพบเบาะแสว่ามีการทุจริต จะดำเนินการ ทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และอาญา กับเจ้าหน้าที่อย่างเด็ดขาดทันที อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคมได้นำระบบรับ–จ่ายเงินทุกช่องทางด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบการให้บริการ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เข้ามาสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อขอรับบริการที่สำนักงานประกันสังคม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มีความทันสมัย มีระบบตรวจสอบเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการทุจริตหรือเกิดความผิดพลาดในการรับ–จ่ายเงินอีกด้วย

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมยังได้แนะนำผู้ประกันตนหมั่นตรวจสอบสิทธิของตนเอง อย่างสม่ำเสมอ ได้ที่ www.sso.go.th หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 บริการตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ได้มาติดต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายเงินสมทบ ขอให้ผู้ประกันตนขอใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง และตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินจากสำนักงานประกันสังคมอย่างละเอียด หากผู้ประกันตนท่านใดพบเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต ขอให้แจ้งสำนักงานประกันสังคมหลายช่องทางด้วย ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก ทั้งนี้ หากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน มีปัญหาจากการรับบริการในระบบประกันสังคม สามารถร้องเรียนได้หลายช่องทางด้วยกัน โดยยื่นร้องเรียนด้วยตนเอง ผ่านโทรศัพท์ สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ www.1111.go.th

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/3/2561

"อดุลย์" ชี้ปรับจ่ายเงินทดแทนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า สาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.เงินทดแทนปี 2537 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ซึ่งมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ไม่อาจคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างได้เท่าที่ควร เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้บังคับกฎหมาย เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ค่าทำศพ ค่าทดแทน และเงินเพิ่มกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบ หรือจ่ายไม่ครบจำนวนร้อยละ 60 อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยในร่างกฎหมายนี้ได้ปรับแก้ไขการจ่ายเงินทดแทนให้ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 รวมทั้งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปรงใสของคณะกรรมการบริหารกองทุน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดหลักเกณฑ์การยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้าง การแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนใหม่ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน ที่สำคัญยังทำให้ลูกจ้างมีหลักประกัน

ขณะที่สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนหลักการของร่างกฎหมายนี้ เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน พร้อมยังเสนอแนะให้ส่งเสริมให้แรงงานผู้สูงอายุ และแรงงานผู้พิการได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ของร่างกฎหมายนี้ให้มากขึ้น เพราะจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างแท้จริง

จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน ด้วยคะแนน 168 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 15 คน กรอบการพิจารณา 60 วัน แปรญัตติ 7 วัน

ที่มา: โลกวันนี้, 23/3/2561

ก.พ. คนว่างงานพุ่งเฉียด 5 แสน – จบมหาวิทยาลัยยังครองแชมป์เตะฝุ่น

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตัวเลขการว่างงานในเดือนก.พ. 2561 มีจำนวน 491,000 คน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.3% มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 61,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ซึ่งอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.1% และเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2561 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 16,000 คน ซึ่งอัตราว่างงานเท่ากันคือ 1.3% ทั้งนี้ เมื่อแยกผู้ว่างงานตามระดับการศึกษาพบว่า ในเดือนก.พ. 2561 ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวน 115,000 คน

รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 103,000 คน, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 103,000 คน, ระดับประถมศึกษาจำนวน 73,000 คน และผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษาจำนวน 19,000 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 จำนวนผู้ว่างงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 52,000 คน, ระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 26,000 คน และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 1,000 คน

ขณะที่เมื่อแยกประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงานจำนวน 491,000 คน ในเดือนก.พ.2561 พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 235,000 คนหรือ 47.9%ของผู้ว่างงานทั้งหมด และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 256,000 คน คิดเป็น 52.1% โดยเป็นผู้ว่างงาจากนอกภาคเกษตรกรรมจำนวน 241,000 คน ประกอบด้วย ภาคการบริการและการค้าจำนวน 137,000 คน และภาคการผลิต 104,000 คน ส่วนผู้ว่างงานจากภาคเกษตรกรรรมมีจำนวน 15,000 คน

ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.2561 มีผู้ที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานจำนวน 38.42 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำจำนวน 37.60 ล้านคน ผู้ว่างงาน 491,000 คน และผู้ที่รอฤดูกาลจำนวน 329,000 คน เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานกับช่วงเดียวกันของปี ก่อนพบว่า จำนวนผู้มีงานทำลดลง 80,000 คน จากจำนวน 37.68 ล้านคนลดเหลือ 37.60 ล้านคน ซึ่งในจำนวนผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรรมจำนวน 11.27 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรรมจำนวน 26.33 ล้านคน

ในส่วนของผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 580,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการปลูกข้าว การปลูกไม้ผล และการปลูกอ้อย ส่วนนอกภาคเกษตรมีจำนวนผู้ทำงานลดลง 660,000 คน ในสาขาก่อสร้างลดลงมากที่สุดจำนวน 260,000 คน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 110,000 คน

ที่มา: ข่าวสด, 22/3/2561

กงสุลเตือนหญิงไทย ค้ากามอินเดีย ระวังจะโดนจับ-โทษหนัก

เปิดเส้นทางไปค้าประเวณีใหม่ของสาวไทย ในเขตเอเชียใต้ได้แก่ อินเดียและศรีลังกา ใช้วีซ่าท่องเที่ยวและวีซ่าธุรกิจ เดินทางไปติดต่อนายหน้าทำงานนวดสปาและค้าประเวณีแอบแฝง บางรายถูกนายจ้างบังคับให้ค้าประเวณี ถูกตำรวจล่อซื้อจับกุม ดำเนินคดีและโดนคุมขังอยู่ในเรือนจำมีความเป็นอยู่อย่างลำบาก กงสุลเตือนหญิงไทยอย่าหลงเชื่อการหลอกลวงและกฎหมายอินเดียโทษหนัก

ปัญหาหญิงไทยไปค้าประเวณีในต่างประเทศทั้งที่เต็มใจและถูกหลอกลวง ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ว่า การสัมมนาสรุปปัญหาคนไทยเขตประเทศเอเชียใต้ ในการประชุมกงสุลสัญจรในต่างประเทศของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จัดขึ้นที่โรงแรมเดอะ อิมพีเรียล กรุงนิวเดลี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 21 มี.ค. มีนายชุตินทร คงศักดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เป็นประธานในการประชุม มีนายอภิรักษ์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อัครราชทูต และ น.ส.ภัทรัตน์ หงษ์ทอง รองอธิบดีกรมการกงสุล พร้อม ด้วยผู้บริหารจากกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กองตรวจลงตราคนต่างด้าว รวมทั้งรองกงสุลใหญ่และกงสุลในเขตประเทศเอเชียใต้ 5 ประเทศได้แก่ อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน และศรีลังกา เข้าร่วมประชุมและรายงานปัญหาเกี่ยวกับคนไทยในด้านต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัญหาที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศแถบเอเชียใต้ ได้แก่ ปัญหาชาวอินเดียใช้หลักฐานปลอม มายื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทยจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจตราอย่างรอบคอบ เป็นภาระหนักของเจ้าหน้าที่กงสุล นอกจากนี้ ยังมีปัญหาชายชาวอินเดีย จ้างผู้หญิงไทยแต่งงาน เพื่อใช้สิทธิมาพำนักและทำงานในประเทศไทย ส่วนที่ปัญหาใหญ่ในขณะนี้อีกปัญหาคือ ปัญหาหญิงไทยได้เปิดเส้นทางใหม่ไปค้าประเวณีในประเทศเขตเอเชียใต้มากขึ้น ได้แก่ อินเดีย และศรีลังกา ไปทำงานเป็นพนักงานนวดสปาด้วยการใช้วีซ่าท่องเที่ยวและธุรกิจ เข้าไปทำงานโดยไม่ได้ขอวีซ่าทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย บางคนฉวยโอกาสค้าประเวณีแอบแฝง รวมทั้งบางรายถูกนายจ้างบังคับให้ค้าประเวณี ขณะนี้มีหญิงไทยหลายรายที่ถูกจับกุมและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดีชั้นศาลที่อินเดีย ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

น.ส.ศรัญญา ปาลีวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เปิดเผยว่า คนไทยที่เข้ามาอยู่ในอินเดีย มีทั้งที่ประกอบอาชีพถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ส่วนที่ไม่ถูกกฎหมายและมีปัญหามากคือ หญิงไทยเข้ามาอินเดียในลักษณะวีซ่าท่องเที่ยว แต่จุดประสงค์ที่มาคือการค้าประเวณีและมีปัญหาเมื่อถูกจับกุมจำนวนมาก เข้ามาทำงาน นวดสปาอย่างผิดกฎหมายและค้าประเวณีแอบแฝง แต่มีหลายกรณีที่ตำรวจใช้วิธีการล่อซื้อและจับกุม เมื่อมีการดำเนินคดีส่งเข้าไปถึงชั้นศาล การให้ความช่วยเหลือคนไทยในส่วนนี้ ทางสถานทูตไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงขบวนการชั้นศาลได้ ลักษณะของการเข้าเมืองของคนไทยในกลุ่มนี้ มักใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการเดินทางมา เมื่อเดินทางมาถึงที่อินเดียแล้ว จะมีการติดต่อกับนายหน้าเพื่อที่จะได้อยู่ในอินเดียและลักลอบทำงาน เมื่อมาอยู่แล้วอาจจะเลยเวลาทำให้วีซ่าขาด จึงอยู่ในอินเดียอย่างผิดกฎหมาย

ด้าน น.ส.ดวงกมล เกียรติบำรุง ทำหน้าที่กงสุลประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เปิดเผยว่า จากการติดตามเกี่ยวกับหญิงไทย ที่ถูกจับกุมข้อหาค้าประเวณี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ถึงปัจจุบันสถานทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้รับรายงานจากตำรวจว่ามีหญิงไทย จำนวน 23 ราย ถูกตำรวจจับและต้องขึ้นศาลกรณีทำความผิดฐานการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ของอินเดีย ในจำนวน 23 ราย มีเพียง 1 รายเท่านั้น ที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว และอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศไทย สำหรับ 22 รายที่เหลือ ยังอยู่ในกระบวนการศาล กรณีการค้าประเวณี กระบวนการศาลของอินเดียใช้เวลา 3-7 ปี กฎหมายค่อนข้างรุนแรง สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำไม่ค่อยสะดวกสบายนัก ต่างจากที่เมืองไทยมาก สำหรับที่นิวเดลีทั้งหน่วยงานศาลและหน่วยงานผู้ควบคุมกฎหมายหรือตำรวจค่อนข้างเข้มงวดมาก ไม่เหมือนเมืองอื่นๆ ทางใต้ของอินเดีย เมื่อมีการจับกุมตัวแล้วจะถูกส่งกลับประเทศเลย ขอเตือนหญิงไทยที่คิดจะมาค้า ประเวณีที่อินเดีย อย่าได้หลงเชื่อนายหน้าที่หลอกลวง เพราะกฎหมายอินเดียมีโทษหนัก

ที่มา: ไทยรัฐ, 22/3/2561

EJF ชื่มชมไทยแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย IUU ต่อเนื่อง หวังไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียน

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้การต้อนรับ นาย Steve Trent ผู้อำนวยการบริหาร Environmental Justice Foundation : EJF จากสหภาพยุโรป (อียู) และคณะ เพื่อหารือและรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

พล.อ.ประวิตร ได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญด้านต่างๆ เช่น การจัดการกองเรือไทย ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนควบคุมเรือประมงทุกลำเกือบสมบูรณ์แล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตามควบคุมและเฝ้าระวังการกระทำผิดในน่านน้ำด้วยการเพิ่มบุคลากรและนำอากาศยานไร้คนขับเฝ้าตรวจ   นอกจากนั้นได้เพิ่มความเข้มบังคับใช้กฎหมายและเร่งความคืบหน้าตัดสินคดีที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อพิจารณาคดีภายใต้ศาลอาญา

พร้อมทั้งดำเนินการตามข้อเสนอแนะล่าสุดของ EJF ในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น การพัฒนากรอบกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างร่างกฏหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO  และได้ปรับแก้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยประกาศให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาจดทะเบียนให้เสร็จสิ้นภายใน 31 มี.ค.61  รวมถึงเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.61 นอกจากนั้นได้พัฒนาระบบจ่ายค่าแรงประมงผ่านบัญชีธนาคาร โดยบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนแรงงานผ่านบัญชีธนาคารผ่านสัญญาจ้างแล้ว เพื่อให้แรงงานได้รับความเป็นธรรม

ทั้งนี้รัฐบาลไทยจะได้ขับเคลื่อนติดตามการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง เพื่อรักษาทรัพยาการทางทะเลร่วมกันและพัฒนาการทำประมงของไทยให้ถูกต้องและยั่งยืน พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะผลักดันบทบาทนำการแก้ปัญหา IUU ในกรอบอาเซียน โดยเสนอให้ EJF เข้ามามีส่วนร่วมด้วย และขอความร่วมมือ EJF ในสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยสามารถปลดใบเหลืองได้โดยเร็ว และสามารถยกระดับความร่วมมือกับ EJF ในการทำงานร่วมกันสู่ภูมิภาคต่อไป

ขณะที่ นาย Steve และคณะ EJF ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญและเห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหา IUU และกล่าวชื่นชม พล.อ.ประวิตร ที่ริเริ่มและช่วยผลักดันขับเคลื่อนแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอด โดยเห็นถึงความพยายามและพัฒนาการของการแก้ปัญหาการทำประมงของไทยที่ผ่านมาอย่างมากแม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ในระยะยาวจะเป็นประโยชน์เพราะจะมีทรัพยากรทางทะเลใช้ร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า ความพยายามอย่างหนักของไทย จะเป็นตัวอย่างที่นานาชาติสามารถนำไปเป็นแนวทางแก้ปัญหา IUU และอยากเห็นไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนและทำงานร่วมกับ EU ในการแก้ปัญหา IUU ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 22/3/2561

กสร. เชิญชวนร่วมกิจกรรม "สถานศึกษาปลอดภัย" รับสมัครบัดนี้-31 พ.ค. 2561

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชิญชวนสถานศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมสถานศึกษาปลอดภัย ประจำปี 2561 มุ่งสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการสูญเสีย เริ่มรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 พฤษภาคม 2561

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร.จัดกิจกรรม "สถานศึกษาปลอดภัย" ประจำปี 2561 เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดขึ้นภายในสถานศึกษา เป็นเครือข่ายความร่วมมือของการพัฒนาและรณรงค์ความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมทั้งสร้างต้นแบบการดำเนินการความปลอดภัยในสถานศึกษา มุ่งลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอเชิญชวนสถานศึกษาทั่วประเทศตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยสถานศึกษาที่มีคะแนนประเมินตั้งแต่ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะได้รับรางวัลดีเด่น ซึ่งสถานศึกษาที่ได้รับเป็นปีแรกจะได้รับโล่รางวัล ปีที่ 2-4 ติดต่อกันได้รับประกาศนียบัตรเกียรติยศ และโล่รางวัลดีเด่นเมื่อได้รับรางวัลเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน สำหรับสถานศึกษาที่มีคะแนนตั้งแต่ 80 แต่ไม่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับประกาศนียบัตรชมเชย

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า สถานศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และจัดทำเอกสารรายละเอียดตามหัวข้อที่กำหนด โดยต้องเป็นผลงานตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2560 และเป็นผลงานจริงที่ได้ดำเนินการด้านความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.oshthai.org และส่งใบสมัคร แบบเสนอชื่อพร้อมเอกสารรายละเอียดได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ทุกพื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดในเขตที่ตั้งของสถานศึกษาของท่าน โดยสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 พฤษภาคม 2561

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 21/3/2561

ค่าแรงพุ่งฉุดดัชนีอุตฯ เดือน ก.พ.วูบ

21 มี.ค. 61 นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.0 ในเดือนมกราคม และเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้สาเหตุมาจาก ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้วนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME ที่ปรับลดลงมาจาก ความกังวลต่อต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างขั้นต่ำ ที่เตรียมปรับขึ้น รวมทั้งตลาดมีการแข่งขันสูง ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์ มีวันทำงานที่น้อยกว่าปกติ และมีวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการส่งออกก็ยังมีความกังวลต่อมาตรการ กีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้กระทบต่อการกำหนด ราคาขายสินค้า

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังอยู่ในระดับดี สะท้อนจากดัชนีฯ ยอดรับคำสั่งซื้อ และยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อาหาร ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.1 ในเดือนมกราคม

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ คือเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ , เจรจากับประเทศที่มีนโยบายกีดกันทางการค้า เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการค้าการลงทุน ,เร่งรัดการจัดทำมาตรฐานสินค้าให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม และสนับสนุนการขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมในท้องถิ่นที่ใช้แรงงานฝีมือ เช่น สินค้าหัตถกรรมและเซรามิก

ที่มา: ไทยโพสต์, 21/3/2561

ประกาศราชกิจจาฯ แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำ สูงสุด 330 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 308 บาท

เว็บไซตต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 9) โดยมีเนื้อหาเป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดย พื้นที่ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดคือ ภูเก็ต ชลบุรี และ ระยอง ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา วันละ 330 บาท ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยที่สุดอยู่ที่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี โดยกำหนดให้วันละ 308 บาท โดยให้มีผลวันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป

ที่มา: คมชัดลึก, 21/3/2561

ครม. ไฟเขียวอัดเงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน ให้คนจนกู้ใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของธนาคารออมสิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน หรือนำไปใช้หนี้นอกระบบ ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล โดยเงื่อนไขการปล่อยกู้ออมสินจะปล่อยกู้ให้คนละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.85% ต่อเดือน คาดว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้นประมาณ 200,000 ราย

ทั้งนี้ โครงการฯ นี้ ถือเป็นโครงการเฟส 2 ต่อเนื่องจากเฟสแรกที่อนุมัติให้ปล่อยกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท และเมื่อม.ค. 2561 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการออกสินเชื่อในลักษณะนี้ไปแล้ว 10,000 ล้านบาท ซึ่งต่อเนื่องจากเฟสแรกที่ออกไปแล้ว 5,000 ล้านบาทเช่นกัน และสินเชื่อในเฟสแรกของออมสินและธ.ก.ส. ขณะนี้ก็ใกล้เต็มวงเงินแล้ว เช่นกัน ดังนั้นเมื่อครม. อนุมัติโครงการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยครั้งนี้ ทำให้วงเงินที่ปล่อยกู้ให้รายย่อยขณะนี้เพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ใน 2 ธนาคาร

"การยื่นกู้สามารถดำเนินการได้เลยหลังจากครม.อนุมัติโครงการ ภายใต้เงื่อนไขมีคนค้ำประกัน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 5 ปีขอสินเชื่อภายใน 31 มี.ค. 2563 ซึ่งทั้ง 30,000 ล้านบาท จะทำให้มีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 6 แสนคน โดยจะไม่นำประวัติการชำระเงินจากเครดิตบูโรมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ"

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สินเชื่อลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง รัฐบาลจึงกำหนดเงื่อนไขในการชดเชยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ ให้ธนาคารออมสินไว้ไม่เกิน 40% คิดเป็นวงเงินประมาณไม่เกิน 4,000 ล้านบาท หรือตามที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่ธ.ก.ส. ยังมีสินเชื่อและเงื่อนไขในการชดเชยเอ็นพีแอล ในลักษณะเดียวกัน คือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของ ธ.ก.ส. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่ครม.เห็นชอบไปแล้ว ดังนั้น ผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน สามารถขอสินเชื่อได้ทั้งที่ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินได้

ที่มา: ข่าวสด, 20/3/2561

ยกระดับโรงงานอุตฯสู่ 'สมาร์ท แฟกตอรี่' เร่งดันโรงงานสีเขียว 5 หมื่นแห่งทั่วไทย

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ "คม ชัด ลึก" ถึงแผนการดำเนินงานการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย นับจากนี้เป็นต้นไปจะใช้แนวทางการส่งเสริมเพื่อมุ่งเน้นพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งนำเอาเทคโนโลยีการผลิต สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมาปรับใช้อย่างบูรณาการ โดยเริ่มจากการสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ประกอบการผ่านการลดขั้นตอนการพิจารณา

ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการขออนุญาต การต่ออายุ หรือแม้กระทั่งการขยายโรงงาน ซึ่งแต่เดิมใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน เมื่อกระบวนดังกล่าวแล้วเสร็จคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการน้อยลงควบคู่ไปกับการนำเอาดิจิทัลมาปรับใช้ ยิ่งทำให้ภาพรวมการดำเนินงานในอนาคตมีทิศทางที่คล่องตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อการขยายความเชื่อมั่นให้แก่การลงทุนแก่ผู้ประกอบการได้อย่างมั่นใจ โดยจะมุ่งหน้าสื่อสาร และมอบองค์ความรู้ เกี่ยวกับ Smart Factory และอุตสาหกรรมสีเขียว ให้แก่ภาคธุรกิจผ่านในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ด้วย

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยต่อว่า สำหรับภารกิจหลักในการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ในขณะที่สามารถช่วยลดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน น้ำ ไฟ และลดการก่อมลภาวะ ซึ่งกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้นได้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ในภูมิภาคที่ตื่นตัวและจัดกิจกรรมในเรื่องดังกล่าวมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน พร้อมศึกษาเทรนด์และองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อตอบสนองการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ยังคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์อีกด้วย

ในแง่ของการกำกับดูแลนั้น มงคลระบุว่าได้เริ่มดำเนินการปรับ พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อให้สอดรับกับงบประมาณและยกระดับการจัดการให้เกิดความสมดุลของกรม อาทิ โรงงานกลุ่มที่ 1 และโรงงานกลุ่มที่ 2 ที่มีกำลังผลิตแรงม้าไม่เกิน 50 แรงม้า ทางหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา สำหรับโรงงานกลุ่มที่ 3 ที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปกำกับดูแลโดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งถ้าแผนดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนด โรงงานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปกำกับดูแลจะเหลือเพียง 8 หมื่นโรง ซึ่งในขณะนี้มีอยู่ 1.4 แสนโรง

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ร่วมกับ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้จัดงานสัมมนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ "Smart Factory สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน" โดยภายในงานมีการบรรยายหัวข้อทางกฎหมายและด้านอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยในการใช้หม้อน้ำ สารเคมี การป้องกันอัคคีภัย ระบบมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมกากอุตสาหกรรม วัตถุอันตราย อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งการจัดนิทรรศการพร้อมโชว์เคสเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวให้เท่าทันในยุคปัจจุบัน

ขณะที่นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมงาน ASEAN Sustainable Energy Week มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการพัฒนาพลังงานของไทยร่วมกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของ BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 หรืองานอุตสาหกรรมเฉพาะทางหนึ่งเดียวในอาเซียน นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความรู้ ยังได้อัพเดทความเคลื่อนไหวจากผู้เข้าร่วมจัดแสดง แบรนด์ดังอย่าง Viessmann และอื่นๆ อีกมากมายกว่า 1,500 แบรนด์ชั้นนำ จาก 35 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม    

พร้อมกันนี้ยังมีพาวิลเลียนชั้นนำจาก 10 ประเทศ อาทิ เยอรมนี สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ อเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและสัมมนาที่น่าสนใจในหลากหลายประเด็น เกี่ยวกับด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3 หมื่นราย จาก 45 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน เข้าร่วมกิจกรรมและชมงานครั้งนี้    

สำหรับ ASEAN Sustainable Energy Week 2018 งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดร่วมกับงาน BOILEX ASIA 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 จัดขึ้นในระหว่างวันพุธที่ 6 ถึงวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ที่มา: คมชัดลึก, 20/3/2561

สพร.7 อุบลฯ ส่งเจ้าหนูวัย 16 เข้าแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 27

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี ส่งผู้เข้าแข่งขันตัวแทนระดับภาค ลงชิงชัยการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 27 (World Skill Thailand 2018) โดยจัดการแข่งขัน จำนวน 28 สาขาอาชีพ ระหว่างวันที่ 19-22 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อคัดเลือกและเฟ้นหาสุดยอดฝีมือเยาวชนไทยเป็นตัวแทนทีมชาติ เข้าแข่งขันในเวทีสากลต่อไป ซึ่งจากในบรรดาผู้เข้าร่วมทำการแข่งขัน จำนวน 375 คน มีตัวแทนจากฝีมือแรงงานอุบลฯ ผู้รับการฝึกหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน รุ่นที่ 38 นายไพวัลย์ ยาเลิศ วัยเพียง 16 ปี เท่านั้นเป็นตัวแทนระดับภาคลงแข่งขันฯ ในสาขาสีรถยนต์ ในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี, 20/3/2561

McKinsey ชี้ คนไทยถูกเทคโนโลยีแทนที่ 6 ล้านคนในปี 2030 ต้องเร่งขยายทักษะงานให้ทัน

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจทั้งรัฐ เอกชน มีสำนักงานสาขาใน 60 ประเทศ เผยเทรนด์ผลกระทบจากเทคโนโลยีต่อแรงงานคนพบว่าในประเทศไทยอาจมีคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถึง 6 ล้านราย ภายในปี 2030 อาชีพที่กระทบสูงคือ อาชีพที่อาศัยทักษะทำงานแบบซ้ำเดิมทุกวัน เช่น แรงงาน, พนักงานออฟฟิศ เป็นต้น

เทคโนโลยีรวมทุกอย่างตั้งแต่ หุ่นยนต์หรือเครื่องมือที่ทำงานซ้ำๆ อัตโนมัติ, Smart workflows หรือการทำงานร่วมกันระหว่างคนและเครื่องจักรที่ให้งานบรรลุได้รวดเร็วกว่า, Machine Learing, Natural Language และ Cognitive agents ที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับ บริการลูกค้าเบื้องต้นได้

ที่มา: Blognone, 19/3/2561

กระทรวงแรงงานเกาะกระแส 'บุพเพสันนิวาส' เปิดอบรมอาชีพบริการ 'ออเจ้า'

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากละคร "บุพเพสันนิวาส" ได้เกิดกระแสสมัยนิยม สืบสานความเป็นไทยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยแหล่งท่องเที่ยวที่กล่าวถึงในละคร มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโบราณสถานวัดเก่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอื่น ๆ ที่สำคัญของประเทศไทย เช่น สุโขทัย พิษณุโลก ลพบุรี นครศรีธรรมราช

เพื่อร่วมส่งเสริมความเป็นไทย และถือเป็นการสร้างรายให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอบรมผลิตพนักงานบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงในสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อยอดสร้างรายได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำของคนทุกเพศ ทุกวัย

โดย กพร.มีเป้าหมายฝึกอบรมฝีมือแรงงาน 19,186 คน ดำเนินการไปแล้วกว่า 12,000 คน มีหลักสูตรรองรับการท่องเที่ยวกว่า 120 หลักสูตร แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ อาทิ สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ หลักสูตรช่างเย็บตัดเสื้อผ้าบุรุษ-สตรี ที่เน้นการตัดเย็บชุดไทยเพื่อรองรับกระแสนิยมความเป็นไทยในขณะนี้ สาขาภาคบริการ ได้แก่ หลักสูตรการบริการโรงแรม ช่างแต่งผมบุรุษ-สตรี การทำขนมไทย นวดไทยและนวดเท้าเพื่อสุขภาพ สาขาช่างก่อสร้าง ได้แก่ หลักสูตรการก่อสร้างบ้านดิน บ้านไม้ไผ่เพื่อการท่องเที่ยว การทำปูนปั้นม้านั่งไม้เทียม สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ หลักสูตรการออกแบบลายผ้าไหมอิงวัฒนธรรมท้องถิ่น การประดิษฐ์ของที่ระลึก เป็นต้น

ที่มา: money.sanook.com, 19/3/2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลชี้คะแนนนิยม 'พรรคเพื่อไทย' ยังนำพรรคอื่นๆ

Posted: 24 Mar 2018 10:57 PM PDT

ประชาชนส่วนใหญ่ 65.4% มองการเปิดให้ยื่นแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองช่วยสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ให้ประชาชนเยอะขึ้น ด้านคะแนนนิยม พรรคเพื่อไทย 14.3% พรรคประชาธิปัตย์ 12.2% พรรคอนาคตใหม่ 3.9%

 
 
25 มี.ค. 2561 กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "อนาคตพรรคการเมืองกับความหวังคนไทยในการเลือกตั้ง"  โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,192  คน พบว่า 
 
ประชาชนร้อยละ 65.4 เห็นว่าสถานการณ์ที่เปิดให้ยื่นแจ้งเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ช่วยสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ประชาชนเยอะขึ้น รองลงมาร้อยละ 39.3 เห็นว่าช่วยทำให้การเมืองคึกคักขึ้น /บรรยากาศเข้าสู่การเลือกตั้ง และร้อยละ 28.7 เห็นว่ามีพรรคการเมืองเยอะไปทำให้เสียงแตก
 
เมื่อถามว่าท่านคาดหวังอยากได้พรรคการเมืองแบบไหน ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.0 อยากให้มีสมาชิกพรรคที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายแขนง รองลงมาร้อยละ 43.2 อยากให้มีนโยบายใหม่ๆ ที่พลิกโฉมประเทศ และร้อยละ 35.7 อยากให้สานต่อนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ เช่น ปฏิรูปประเทศ ปราบทุจริต
 
สำหรับสิ่งที่หวังและรอคอยอยากจะเห็นภายหลังการเลือกตั้งที่จะถึงพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.6 อยากเห็นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ รองลงมาร้อยละ 64.6 อยากเห็นการปฏิรูปด้านสังคม กระบวนการยุติธรรม การศึกษา และร้อยละ 40.8 อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบราชการ
 
ด้านคะแนนนิยมต่อพรรคการเมืองพบว่า พรรคเพื่อไทยอยู่ที่ร้อยละ 14.3  (ลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 3.5) รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ที่มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 12.2 (ลดลงร้อยละ 3.4)  และพรรคอนาคตใหม่มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 3.9
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวหญิงอังกฤษเปิดโปงที่ทำงานตัวเอง-ตัดพ้อฝ่ายบุคคลไม่ปกป้องคนทำงานด้วยกันเอง

Posted: 24 Mar 2018 10:25 PM PDT

นักข่าวหญิงที่ทำงานให้สื่อ Vice UK ออกมาเปิดโปงเรื่องที่สำนักงานของเธอเชื้อชวนให้เธอดื่มเหล้าและใช้สารเสพย์ติดแม้ว่าจะเป็นเยาวชน รวมถึงเรื่องที่ก้ำกึ่งว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ แต่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือฝ่ายบุคคลพยายามปกป้องบริษัทมากกว่าจะปกป้องคนทำงานด้วยกันเอง

 
 
25 มี.ค. 2561 สื่อ Channel 4 ของอังกฤษแฉเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับสภาพการทำงานของสื่อ Vice UK จากปากคำของนักข่าวบิลลี พอร์เตอร์ ผู้ที่ทำงานใน Vice UK ตั้งแต่เธออายุ 16 ปี โดยเมื่อไม่นานนี้พอร์เตอร์โพสต์บล็อกเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของรุ่นพี่ในที่ทำงาน และกลุ่มคนทำงานใน Vice เองก็มีเรื่องอื้อฉาวที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดในที่ทำงานอยู่แล้ว
 
ในวิดีโอที่พอร์เตอร์ให้สัมภาษณ์ต่อ Channel 4 เธอพูดถึงสภาพที่มีการปิดสำนักงานปาร์ตีโดยมีการเชื้อชวนให้คนที่ยังเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี อย่างเธอดื่มเหล้าและใช้สารเสพย์ติด และต้องอยู่ร่วมกับคนทำงานที่มีอายุมากกว่าเธอถึงสองเท่า และเมื่อเธอโตขึ้นแล้วมองย้อนกลับไปในตอนนั้นมันทำให้เธอรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าขยะแขยง
 
นอกจากนี้พอร์เตอร์ยังพูดถึงช่วงที่เธอยังเป็นผู้เยาว์แต่ก็มีคนรุ่นใหญ่กว่าที่ปฏิสัมพันธ์ทางเพศหรือพยายามขอมีสัมพันธ์ทางเพศกับเธอ เธอบอกว่าไม่ได้พูดให้ไขว้เขว แต่ที่ต้องใช้คำเช่นน้เพราะในตอนนั้นเส้นแบ่งของเรื่องการยินยอมพร้อมใจในเรื่องเพศสัมพันธ์ตอนนั้นมความพร่าเลือน ไม่ชัดเจน เพราะความมึนเมาและยา
 
พอร์เตอร์เล่าต่อไปถึงความผิดหวังหลังจากบอกเล่าเรื่องนี้แก่ฝ่ายบุคคลของบริษัท เธอพบว่ากระบวนการสืบสวนของบริษัทเป็นไปเพื่อปกป้องตัวเองในฐานะบรรษัท แต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องคนทำงานของตัวเองเลย นั่นทำให้เธอต้องนำเรื่องนี้ไปเล่าให้คนอื่นอีกไม่กี่คนฟัง
 
พอร์เตอร์กล่าวว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ของเธอ กระทบกับการมองตัวเองของเธอ กระทบการทำงานของเธอ แต่สิ่งที่ทำให้เธอเจ็บปวดที่สุดคือการต้องพูดถึงรายละเอียดของสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกถูกเหยียบย้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่กลับได้รับการตอบกลับในแบบที่ไม่ได้สนใจใยดีความเดือดร้อนของเธอ
 
พอร์เตอร์เริ่มทำงานที่ Vice ตั้งแต่อายุ 16 ปี เธอทำงานที่นั่นมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ เชน สมิทธ์ อดีตประธานบริหารของ Vice เคยขอโทษในเรื่องที่ Vice "ล้มเหลวในการที่จะสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกได้รับความเคารพในฐานะคนๆ หนึ่ง"
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Billie JD Porter on inappropriate behaviour at Vice, Channel 4, 22-03-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น