โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ใบตองแห้ง: พรรคใหม่ ‘ในฝัน’

Posted: 03 Mar 2018 07:09 AM PST

(ซ้าย) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ขวา) ปิยบุตร แสงกนกกุล (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

ข่าวการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่โดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นข่าวฮือฮาสร้างความปีติยินดี ในหมู่ "ฝ่ายก้าวหน้า" ปัญญาชนประชาธิปไตย อย่างกว้างขวาง

ว่าที่จริง เรื่องนี้รู้กัน "วงใน" มาช่วงหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่คิดว่าจะเป็นข่าวครึกโครม อย่างที่บารมี ชัยรัตน์ โพสต์ว่า "มีคนเล่าให้ฟังว่า ธนาธร กับ ปิยบุตร จะตั้งพรรคการเมือง แต่อย่าพึ่งพูดไปนะ เป็นความลับอยู่ เมื่อกี้อ่านข่าว เจอความลับที่ว่า เขาคุยกันให้แซ่ดไปหมดแล้ว มีกูนี่แหละปิดอยู่คนเดียว"

การเป็นข่าวครึกโครม มีทั้งด้านที่น่าดีใจและน่ากังวล ว่าจะกลายเป็นเป้าถล่มของพลังอนุรักษ์นิยม แม้บางคนบอกว่ารักจะสู้แล้วมัวกลัวไม่ได้ ถึงเสี่ยงก็คุ้ม แต่ประเด็นที่ต้องคำนึงคือ ณ วันนี้ เราอยู่ในช่วงของการสถาปนาระเบียบอำนาจใหม่ที่ยังไม่นิ่ง การจัดสรรอำนาจระหว่างชนชั้นนำยังไม่ลงตัว อาจมีความพลิกผันที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

พรรคทางเลือกใหม่ในยุโรปที่ประสบชัยชนะ เขาสู้กับพรรคเก่าในกติกาประชาธิปไตย ไม่ใช่ต้องสู้ทั้งเผด็จการ รัฐพันลึก (ตามนิยามของเออเชนี เมริโอ) และพรรคเก่าในเวลาเดียวกัน แถมอยู่ในสถานการณ์ที่แผ่รังสีอำมหิตระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ อยู่เบื้องลึก

แต่เอาละ เมื่อเห็นว่าต้องจุดประกายความหวังท่ามกลางความมืดมิด ก็ต้องเดินหน้า แต่ต้องระวังอยู่ทุกขณะเช่นกัน

อะไรคือจุดเด่นของพรรคใหม่  หลังจากธนาธรให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ก็มีเสียงตอบรับในวงกว้าง ไม่ใช่แค่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะสังคมไทยอยู่ในช่วงตีบตัน เบื่อทหาร เบื่อรัฐราชการ เบื่อพรรคการเมืองเก่า เบื่อคนแก่ๆ อยากเห็นผู้นำการเมืองรุ่นใหม่ อย่างจัสติน ทรูโด

ธนาธรมีภาพของ "ไพร่หมื่นล้าน" มีความเป็นนักต่อสู้ มีจุดยืนประชาธิปไตยมั่นคง เคยเป็นรองเลขาธิการ สนนท. เคลื่อนไหวกับม็อบสมัชชาคนจน กล้าหาญ อยู่เคียงข้างมวลชน กลางห่ากระสุนในวันที่ 10 เมษา 2553 ในฐานะ "ไพร่" คนหนึ่ง ไม่ใช่เศรษฐี ไม่ใช่แกนนำ นี่คือด้านที่จับใจฝ่ายประชาธิปไตย

แต่ด้านที่กว้างกว่า คือภาพของความเป็นนักบริหาร กล้าคิด กล้าเสี่ยง ปีนเขาขั้วโลกใต้ ไปลงทุนในอเมริกา เข้าใจตรงกันนะ สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จะต้องต่อสู้ดิ้นรนในอนาคตที่ไม่มั่นคง

พูดง่ายๆ ก็คล้าย ปี 44 สังคมไทยอยากได้ทักษิณคนใหม่ คนที่มีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่ตอนนี้ ก็มีคนจำนวนมากตั้งความหวังกับชัชชาติ (โดยไม่จำกัดแค่คนนิยมเพื่อไทย รัฐบาลทหารยังอยากให้ไปเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ)

ที่ทางของพรรคใหม่ จึงอยู่ที่การขายความคิดเพื่ออนาคต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่างปิยบุตรพูดถึงคนอายุ 18-25 ราว 7 ล้านคน ที่ไม่เคยเลือกตั้ง ในยุคสมัยที่คนไทยใช้เฟสบุ๊ค 44 ล้านคน (เพราะพรรคใหม่คงไม่ไปแข่งใช้เงินทำป้ายหาเสียง)

ในขณะเดียวกัน พรรคใหม่ก็จะมีอีกด้านที่ขายจุดยืนประชาธิปไตย ความมั่นคงตรงไปตรงมาในหลักการ ผ่านปิยบุตร ผ่านธนาธร เป็นจุดยืนที่เชื่อมั่นได้ยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยกี่ขั้น คงไม่ต้องเสียเวลาพูดกัน

เพียงแต่พรรคใหม่ก็จะต้องเดินไปพร้อมกันทั้งสองด้าน "2 ขา" ไม่ใช่มีแต่ด้านจุดยืน "เข้มข้น" ที่พวกอนุรักษ์อาจมองว่า "ฮาร์ดคอร์" (เชิงอุดมคติ) เช่น แก้รัฐธรรมนูญ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเท่าที่ทราบ พวกเขาก็เข้าใจ และมีคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมคิดนโยบายเพื่ออนาคต ในด้านต่างๆ

ปมที่ยากคือการทำให้ 2 ขา balance กัน โดยไม่สามารถทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าอ่อนด้านขายอนาคต ก็จะเป็นได้แค่ "พรรคแดงปัญญาชน" ถ้าอ่อนด้านจุดยืน มุ่งพาสังคมก้าวข้าม ไปสู่ความหวังสู่อนาคตใหม่ มันก็จะสลิ่มหน่อยๆ แม้ได้ฐานเสียงกว้างขึ้นจากคนที่เบื่อความขัดแย้ง อยากทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง

พรรคการเมืองต้องเดิน 2 ขา เพราะการเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย กลับมาชนะเลือกตั้งในปี 51,54 ไม่เพียงเพราะถูกรัฐประหาร หรือถูกเข่นฆ่าปี 53 ซึ่งเป็นพลังขับดันในฐานมวลชน แต่ในวงกว้างก็ขาย "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" ให้คนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จากยุคขิงแก่ ยุคอภิสิทธิ์ ที่ฝืดสนิท

ทักษิณคือนักการเมืองที่เก่งที่สุด ในแง่งานขาย แปรนโยบายมาเป็นคำขวัญสั้นๆ โดนใจ "กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท" "30 บาทรักษาทุกโรค" (นักวิชาการคิดอย่างนี้ไม่ได้นะ ในภาษากฎหมาย ภาษาวิชาการ มันใช้คำว่ารักษาทุกโรคไม่ได้)

เพียงแต่ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยก็จะมีปัญหาเช่นกัน ว่าจะขายไอเดียเศรษฐกิจอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญที่บังคับไม่ให้กระดิกกระเดี้ย แถมคนตรงกลางๆ ก็ยังวิตก ว่าถ้าเพื่อไทยชนะถล่มทลายจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายจนไม่ได้ทำมาหากินอีก สุดารัตน์จึงต้องพยายามขาย "ความสงบ" ที่บางคนมองว่าจ้องเกี้ยเซียะ (ความคิดเกี้ยเซียะน่ะมีตลอดแหละ แต่ในสถานการณ์นี้เกี้ยเซียะไม่ง่ายหรอก)

พูดง่ายๆ พรรคเพื่อไทยไม่สามารถชูภาพ "พรรคล้างแค้น" แม้คะแนนพื้นฐานจะมาจากมวลชนที่คับแค้นรัฐประหาร การเมืองเป็นเรื่องกว้างกว่านั้น ต้องคำนึงผลประโยชน์ปากท้องชาวบ้านด้วย (ถ้ามองประชามติ 16 ล้านเสียงต่อ 10 ล้านเสียงให้ลึกซึ้ง จะเข้าใจ) พรรคเพื่อไทยจะต้องเดิน 2 ขาเช่นกัน ขาหนึ่งมีนักสู้อย่าง จาตุรนต์ วัฒนา พิชัย ฯลฯ อีกขามีสุดารัตน์ ทำหน้าใสซื่ออาโนเนะ
 

เพื่อไทย Vs พรรคใหม่

มีคำถามว่า พรรคใหม่จะหวังฐานเสียงจากมวลชนประชาธิปไตยได้เพียงไร ในภาวะที่พรรคเพื่อไทยก็อ่อนแอ แย่งอำนาจกันภายใน ยังไม่พ้นจากทักษิณ ต้องบินไปปักกิ่งสิงคโปร์กันขวักไขว่ (ยังไม่นับความฉิบหายครั้งนิรโทษเหมาเข่ง ลักหลับตอนตีสี่)

ผมตอบว่าไม่ได้เลย หรือแทบไม่ได้ ซึ่งทำให้กองเชียร์หัวร้อนกันใหญ่ แต่เป็นความจริงนะ ผู้สังเกตการณ์หลายคนก็คิดอย่างนี้ เพราะเมื่อเข้าสู่สมรภูมิจริง มันจะเกิดการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ เทให้เพื่อไทยไว้ก่อน

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ใช่แบบ Winner-takes-all อย่างที่หมอเลี้ยบชี้ แต่โดยปกติ สมรภูมิเลือกตั้งโดยเฉพาะโค้งสุดท้าย จะเป็นการประจัญบานระหว่าง 2 ขั้วใหญ่ เหลือพื้นที่ให้พรรคทางเลือกน้อยมาก ถ้ากระแสไม่แรงจริงก็จะถูกกลืนหายไป

ที่สำคัญ นี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร สำหรับมวลชนประชาธิปไตย นี่คือโอกาสของการตอบโต้ "กูไม่ยอมมึง" ใช่ละ คนต้านรัฐประหารเลือกได้ทั้งเพื่อไทยและพรรคใหม่ (จุดยืนประชาธิปไตยชัดกว่าด้วยซ้ำ)

แต่การตอบโต้ใดเล่าจะท้าทายเท่าเลือกเพื่อไทย การตอบโต้ใดเล่าจะสะใจเท่าเลือกเพื่อไทย เพื่อไทยคือผู้ถูกกระทำ ยิ่งลักษณ์คือผู้ถูกกระทำ เสื้อแดงคือผู้ถูกกระทำ มวลชนผู้คับแค้นที่รอวันนี้มานานจะเดินเข้าคูหากาเพื่อไทย เพื่อให้รู้ว่า "เสื้อแดงยังอยู่"

โปรดมองให้ลึก มันไม่ใช่แค่ความผูกพันกับทักษิณ ยิ่งลักษณ์ แต่พรรคเพื่อไทยคือพรรคของคนเสื้อแดง คือพรรคของมวลชน ที่ผูกพันต่อสู้ร่วมกันมา อย่างน้อยก็ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 พฤษภา 53 เพื่อไทยชนะเลือกตั้งคือคนเสื้อแดงชนะเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหารก็คือคนเสื้อแดงถูกรัฐประหาร ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้สิ่งที่เราพูดกันว่าทักษิณทอดทิ้งมวลชน ทักษิณเอาตัวรอด ฯลฯ ไม่ยักมีน้ำหนักอย่างที่คิด

การเลือกเพื่อไทยยังจะเป็นอารมณ์ตอบโต้ทางชนชั้น สลิ่ม ทหาร ขุนนาง อำมาตย์ พวกมึงเกลียดเสื้อแดงนักใช่ไหม เกลียดทักษิณนักใช่ไหม อยากเห็นยิ่งลักษณ์ติดคุกนักใช่ไหม พวกกูจะเลือกเพื่อไทยกลับมาให้พวกมึงดู

การเลือกพรรคใหม่ไม่ได้อารมณ์ร่วม อารมณ์สะใจ อย่างนี้นะ ต่อให้เลือกปิยบุตร นิติราษฎร์ ที่มวลชนชื่นชม

การเลือกตั้งในระบบบัตรใบเดียว ใช่ละ คะแนนไม่ตกน้ำไปไหน สมมติเขตนี้ เพื่อไทยอาจแพ้ 500 เสียง เพราะมีคนเลือกพรรคใหม่ 600 คน แต่เมื่อเอาคะแนนรวมทั้งประเทศไปคำนวณเฉลี่ยกัน จำนวน ส.ส.เพื่อไทยก็ไม่เปลี่ยนนักหรอก เดี๋ยวก็ได้บัญชีรายชื่อทดแทน

ทางทฤษฎีอธิบายได้ แต่อารมณ์คนในวันเลือกตั้ง ไม่มัวมานั่งแยกแยะหรอก ใครก็อยากชนะไว้ก่อน อย่างน้อยก็ทำให้พื้นที่ตัวเองประกาศศักดา "พื้นที่สีแดง" ขณะเดียวกัน การตั้งเป้าให้ได้ ส.ส.อันดับหนึ่ง ให้ท่วมท้นที่สุด (แม้ไม่มีทางได้เป็นรัฐบาล) ก็มีนัยสำคัญ ลองสมมตินะ สมมติเพื่อไทยได้ 220 เสียง พรรคใหม่ได้ 0 กับเพื่อไทยได้ 180 พรรคใหม่ได้ 40 อนาคตประชาธิปไตยคงดีกว่า แต่อารมณ์มวลชนอยากเห็นแบบไหนมากกว่ากัน

ผมจึงบอกว่าโอกาสของการชิงฐานมวลชนจึงน้อยมาก คนชั้นกลางประชาธิปไตยที่แน่วแน่เลือกพรรคใหม่ไม่เลือกเพื่อไทยมีเท่าไหร่กัน ตามระบบนี้ต้องลงสมัครทุกเขตทั่วประเทศ แล้วได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนต่อราวๆ 7 หมื่นคะแนน (ชนะในเขตไม่ต้องหวัง)


อย่าหวังสูง

ความหวังของพรรคใหม่จึงอยู่ที่คนรุ่นใหม่ อายุ 18-25 ราว 7 ล้านคน โดยอาจเลยไปถึงคนอายุ 30 หน่อยๆ ซึ่งก็เป็นฐานที่กว้างใหญ่ แต่ประเมินยากมาก แม้อนุมานได้ว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเบื่อสิ่งเก่า เบื่อคนแก่ที่เอาอนาคตประเทศไปพันธนาการ แต่คนรุ่นใหม่ยุค BNK48 จะออกมาเลือกตั้งไหม จะสนใจจริงจังจนแปรเป็นคะแนนเลือกตั้งได้หรือเปล่า มีคำถามเยอะไปหมด

ในมุมหนึ่งมันเป็นความท้าทาย เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ โซเชียลมีเดียจะมีอิทธิพลสูงมาก ตอนเลือกตั้งปี 54 ยังมีผู้ใช้เฟสบุ๊คแค่ 2 ล้านคน ปัจจุบันมี 44 ล้านคน แต่ในมุมกลับ โลกออนไลน์ก็ไม่ใช่ชีวิตจริง การกดไลค์กดแชร์ในเฟสบุ๊คไม่สามารถนับเป็นคะแนนได้ ฮิลลารี คลินตัน ยังถูกหลอกด้วยกระแสออนไลน์มาแล้ว

พื้นที่ตรงนี้จึงมีได้ตั้งแต่ไม่กี่หมื่นไปถึงล้านๆ เสียง ไม่แน่นอน แต่ก็น่าทดลอง หยั่งดูว่าคนที่ไม่เอารัฐประหาร เบื่อทักษิณ รำคาญแมลงสาบ จะมีสักเท่าไหร่ จะเปิดพื้นที่ใหม่ได้หรือไม่ เพียงแต่ในขณะเดียวกันก็อย่าหวังสูง เมื่อตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นการจุดประกายในความมืดมน มีคนเลือกเท่าไหร่ก็เท่านั้น มุ่งมั่นไปที่การขายความคิด รอโอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง (เชื่อเหอะว่าเลือกตั้งไปก็วินาศสันตะโรอีก แค่จะมีเลือกตั้งได้ไหม ยังไม่รู้เลย)

โอกาสของพรรคใหม่ ในความรู้สึกผม จึงน่าจะอยู่ที่การเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งก็เกี่ยวพันกับสถานการณ์อีกละว่าจะเกิดอะไรขึ้น (ไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะอายุยืน เห็นด้วยกับ อ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าไม่เกิน 3 ปี) ครั้งนี้น่าจะเป็นแค่การจุดประกายไฟ สร้างความหวัง แต่อย่าเพิ่งฝันบรรเจิดว่าจะเกิดได้แบบยุโรป แคนาดา ประชาธิปไตยไทยคดเคี้ยวแค่ไหนก็รู้กัน ขณะที่การเมืองเรื่องเลือกตั้ง ก็ยังมีกลยุทธ์ซับซ้อนที่อาศัยเพียงจุดยืนและความฝันเท่านั้นไม่พอ

ทั้งหมดนี้ก็หวังว่า ผมจะหน้าแตก คาดผิด ยินดีอย่างยิ่งที่จะหน้าแหก เพียงแต่ถ้าคาดถูกก็อย่าท้อ เรายังต้องต่อสู้อีกยาวนาน

  
   

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เริ่มแล้ว! ฤดูกาลสรรหานักศึกษาจบใหม่เข้าเป็นพนักงานของบริษัทในญี่ปุ่น

Posted: 03 Mar 2018 02:55 AM PST

บริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยที่จะจบการศึกษาในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา รูปแบบการสรรหาพนักงานบริษัทล่วงหน้าแบบนี้เป็นดำเนินตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานซึ่งกำหนดโดยสหพันธ์ธุรกิจฯ หรือเคดันเร็ง

3 มี.ค. 2561 สำนักข่าวออนไลน์ Yomiuri Shimbun ของญี่ปุ่นรายงานว่าบริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยที่จะจบการศึกษาในฤดูใบไม้ผลิปี 2562 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา รูปแบบการสรรหาพนักงานบริษัทล่วงหน้าแบบนี้ เป็นดำเนินตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานซึ่งกำหนดโดยสหพันธ์ธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือเคดันเร็ง (Keidanren) โดยบริษัททั่วประเทศญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้จัดสัมมนางานสำหรับนักศึกษาได้ในวันเดียวกัน

หลายบริษัทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นต้องการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่เป็นอย่างมากท่ามกลางการเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าการแข่งขันกันรับสมัครนักศึกษาจบใหม่ของบริษัทต่าง ๆ จะเต็มไปด้วยความดุเดือด ทั้งนี้ผู้สรรหาพนักงานใหม่สามารถเริ่มการคัดเลือกพนักงานได้ในวันที่ 1 มิ.ย.

บริษัทกว่า 1,100 แห่ง และนักศึกษาประมาณ 30,000-40,000 คนมีกำหนดจะเข้าร่วมการสัมมนาร่วมกันสองวันซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุม Makuhari Messe ในจังหวัดชิบะตามที่หน่วยงานจัดหางานจัดขึ้นในต้นเดือน มี.ค. นี้

นอกจากนี้ NHK World ยังรายงานว่าศาสตราจารย์ยุกิ ฮอนดะแห่งบัณฑิตวิทยาลัยศึกษาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้ศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมการหางานทำของนักศึกษาญี่ปุ่นจะเสนอทัศนะเกี่ยวกับความท้าทายที่การหางานทำในญี่ปุ่นกำลังเผชิญ

อาจารย์ฮอนดะบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นสามารถเชิญนักศึกษาให้เข้าร่วมกิจกรรมรับสมัครงานได้ ผู้สรรหาพนักงานใหม่สามารถเริ่มการคัดเลือกพนักงานได้ในวันที่ 1 มิ.ย.

ที่ผ่านมา จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเริ่มลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง ความต้องการนักศึกษาจบใหม่จึงเพิ่มมากขึ้นในหมู่บริษัทเนื่องจากภาวะขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น ตลาดงานจึงเอื้อประโยชน์ต่อนักศึกษา นักสังเกตการณ์ชี้ว่าบางบริษัทมีแนวโน้มที่จะเริ่มติดต่อนิสิตนักศึกษาก่อนวันที่ 1 มีนาคมเป็นเวลานานสำหรับโครงการฝึกงานโดยหวังที่จะรับประกันการจ้างงานตามที่ต้องการได้แต่เนิ่น ๆ นักสังเกตการณ์กล่าวว่ามีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ได้รับการว่าจ้างผ่านโครงการเช่นนี้ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทำหน้าที่คัดเลือกคนเข้าทำงาน

นอกจากนี้ อาจารย์ฮอนดะบอกว่านักศึกษาจำนวนมากต้องการจะทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ และยังคงเลือกจะสมัครงานแต่เฉพาะกับบริษัทเหล่านี้ ผู้สรรหาพนักงานใหม่จากบริษัทขนาดเล็กแสดงความกังวลใจถึงความยากลำบากในการสรรหาคนเข้ามาทำงาน

ผลสำรวจเผยว่านักศึกษาที่ได้รับข้อเสนอเข้าทำงานอย่างไม่เป็นทางการจากหลายบริษัทและยังไม่ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะเลือกทำงานที่ไหนนั้นมีจำนวนมากขึ้นและสิ่งนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของบริษัทต่าง ๆ

อาจารย์ฮอนดะบอกว่าอาจารย์ได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลของวิธีการรับสมัครงานของญี่ปุ่นพร้อม ๆ กันเช่นนี้ โดยทั่วไปแล้ว รูปแบบนี้มี 2 ปัญหาด้วยกัน อย่างแรกก็คือการจัดช่วงเวลาและอย่างที่สองคือระเบียบวิธีหรือข้อกำหนดต่าง ๆ อาจารย์ฮอนดะบอกว่าการจัดช่วงเวลาเช่นนี้มีปัญหาเนื่องจากการเริ่มเปิดรับสมัครงานเป็นเวลากว่า 1 ปีก่อนที่นักศึกษาจะเรียนจบนั้นอาจทำให้นักศึกษาเสียโอกาสที่จะได้รับการประเมินจากผลการศึกษาในตอนที่พวกเขาสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

อาจารย์ฮอนดะบอกว่าหลายบริษัทมีมาตรฐานการรับสมัครงานที่คลุมเครือ เช่น ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครงาน มีการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ และการสัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบบุคลิกภาพซ้ำหลายครั้ง วิธีการเช่นนี้สิ้นเปลืองและก่อความตึงเครียดแก่ทั้งบริษัทและนักศึกษาหางาน อาจารย์ฮอนดะต้องการให้ผู้สรรหาพนักงานใหม่เสนอสัญญาจ้างงานหลังจากที่พวกเขาตรวจสอบผู้สมัครอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ทั้งในแง่ความรู้และความสามารถที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยหลังจากที่นักศึกษาเหล่านี้เสร็จสิ้นการทำวิทยานิพนธ์และงานวิจัยแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ร่วมจ่าย’ กระทบตัดสินใจเข้ารักษา วิจัยระบุทั้งผู้ป่วย ‘จำเป็น-ไม่จำเป็น’ จะไม่มา รพ.

Posted: 03 Mar 2018 01:34 AM PST

ผลวิจัยชี้ชัด 'ร่วมจ่าย' ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลลดลงจริง แต่อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเข้ารับการรักษาที่เกินความจำเป็นเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด เพราะหายไปทั้งผู้ที่จำเป็นและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา  

 
 
3 มี.ค. 2561 นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (Center of Excellence in Health system and Medical Research) และอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงผลการวิจัยเรื่องโครงการความจำเป็นในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจากมุมมองของผู้ป่วยและแพทย์ ซึ่งได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะเมื่อช่วงปลายปี 2560 ตอนหนึ่งว่า จากการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาพยาบาลเองจำนวน 1,060 ราย พบว่าหากมีนโยบายร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้นจะทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เดินทางเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลลดลงจริง แต่ในจำนวนนี้เป็นทั้งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา และผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา
 
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลด้วยการตั้งคำถามให้ผู้ป่วยประเมินตัวเองว่ามีความจำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่ พบว่า 72% ของกลุ่มตัวอย่างมองว่าตัวเองมีความจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ส่วนในมุมมองของแพทย์นั้นมองว่ามีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา 40% นั่นสะท้อนว่าในคนๆ เดียวกันนั้น มุมมองของแพทย์และผู้ป่วยในเรื่องความจำเป็นมีความแตกต่างกัน
 
"ในมุมของแพทย์จะมองความจำเป็นในระดับที่ต่ำกว่าผู้ป่วย ในขณะที่ผู้ป่วยมองว่ามีความจำเป็นและมีความจำเป็นระดับปานกลาง แต่แพทย์จะมองในจำนวนนี้มีกว่า 10% ที่ยังไม่จำเป็นต้องมารับรักษาพยาบาล ขณะที่เมื่อถามถึงอาการป่วยที่ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจเดินทางมารับการรักษาพยาบาล พบว่าท้องอืด จุกเสียด เป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมองความจำเป็นสูงกว่าที่แพทย์ แต่ด้วยอาการเดียวกันนี้ก็ทำให้ผู้ป่วยอีกกลุ่มมองความจำเป็นต่ำกว่าแพทย์ด้วยเช่นกัน
 
"เวลาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเขาไม่ได้มาด้วยโรคแต่เขามาด้วยอาการ ด้วยอาการนำเดียวกันนั้นนำมาซึ่งโรคที่หลากหลาย และด้วยอาการนำเดียวกันนี้ได้ทำให้แพทย์มองว่าผู้ป่วยโอเวอร์เกินจริง และเป็นอาการที่ผู้ป่วยมองว่าตัวเองป่วยน้อยกว่าที่ตัวเองคาดคิดด้วยเช่นกัน สรุปก็คือความเจ็บป่วยมีความซับซ้อนมากกว่าเพียงแค่มองที่อาการนำ" นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
 
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในงานวิจัยเดียวกันนี้ยังได้ถามถึงนโยบายร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยกำหนดอัตราเป็นช่วงราคาตั้งแต่ 50 บาท 100 บาท 200 บาท ฯลฯ ซึ่งพบว่าทั้งในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมีการตัดสินใจไม่เข้ารับการรักษาพยาบาลทั้งคู่ แต่จะมีความแตกต่างกันออกไปคือในขณะที่เพิ่มราคาร่วมจ่ายมากขึ้น อัตราการไม่เข้ารับการรักษาพยาบาลของกลุ่มผู้มีรายได้สูงจะลดลงช้ากว่ากลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ เช่น เมื่อถามว่าพร้อมจะร่วมจ่าย 200 บาทหรือไม่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงเพียง 10% ระบุว่าจะไม่เข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำนั้นมีมากถึง 50% หรือเมื่อถามว่าพร้อมจะร่วมจ่าย 2,000 บาทหรือไม่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 60% จะไม่มาโรงพยาบาล ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึง 85% จะไม่มาโรงพยาบาล
 
"สิ่งที่ผมโยงต่อไปก็คือทั้งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและไม่มีความจำเป็นในมุมมองของแพทย์นั้น หากมีการร่วมจ่ายแล้วกลุ่มไหนจะหายไปจากโรงพยาบาลก่อน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าจะหายไปทั้ง 2 กลุ่ม นั่นหมายความว่าการร่วมจ่ายไม่ได้ตัดเฉพาะคนที่ไม่จำเป็นเข้ารักษาพยาบาลออก แต่เราได้ตัดคนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลออกไปด้วย" นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
 
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า นโยบายร่วมจ่ายทำให้ปริมาณคนที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลดลงจริง แต่เป็นการลดลงทั้งกลุ่มผู้ที่จำเป็นและไม่จำเป็น ผลการศึกษานี้ได้ตอบคำถามว่านโยบายร่วมจ่ายลดความแออัดในโรงพยาบาลได้จริง แต่อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเข้ารับการรักษาที่เกินความจำเป็นเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด เพราะที่สุดแล้วผู้ป่วยจะหายไปทั้ง 2 กลุ่ม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: คณิตศาสตร์การเลือกตั้ง, นายกฯคนนอก และการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์

Posted: 03 Mar 2018 01:01 AM PST

คำเตือน: บทความนี้ยาวมาก และโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

การเปิดให้ลงทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2561 นำความคึกคักให้หวนคืนมาสู่การเมืองไทย

กระแสข่าวพรรคใหม่ที่เป็น "ทางเลือกใหม่" อย่างน้อย 2 พรรค ทำให้เกิดความตื่นตัวและตั้งคำถามเกี่ยวกับการได้มาของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และผลพวงที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะประเด็น "นายกฯคนนอก" และ "การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Voting)

ผมจึงลองทบทวนกฎกติกาสูงสุดเท่าที่ปรากฎข้อมูลในปัจจุบันว่า ถ้าเป็นตนเอง จะตัดสินใจอย่างไร
 

คณิตศาสตร์การเลือกตั้ง

ตามมาตรา 83-91 ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 ผมสรุปที่มาของ ส.ส.ได้ว่า

ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

เมื่อผู้เลือกตั้งเข้าคูหาเลือกตั้ง มีบัตรให้ลงคะแนนเพียง 1 ใบ เพื่อเลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่ตนชื่นชอบ หากผู้สมัครในเขตนั้นไม่ได้สังกัดพรรคที่ตนเองนิยม ผู้เลือกตั้งต้องตัดสินใจว่า จะลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพราะมีเลขหมายต่างกัน ไม่สามารถใช้กลยุทธ์ " 1 ใบเลือกผู้สมัครที่รัก อีก 1 ใบเลือกพรรคที่ชอบ" ซึ่งเราคุ้นเคยมาเกือบ 20 ปีได้อีกแล้ว

เมื่อปิดคูหาเลือกตั้งแล้วรวมคะแนน ผู้มีคะแนนสูงสุดในแต่ละเขตเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส.

จากนั้น คะแนนในแต่ละ "เขตเลือกตั้ง" 350 เขตจะถูกนำมารวมกันทั้งประเทศ ประเทศไทยเสมือนเป็น 1 "มหาเขตเลือกตั้ง"
.
ใน "มหาเขตเลือกตั้ง" มี ส.ส.500 คน ขั้นแรก เอาคะแนนรวมจากทุกเขตเลือกตั้งของ 'ทุกพรรคการเมือง' หารด้วย 500 สมมติผลลัพธ์เท่ากับ X จากนั้น เอา X ไปหารคะแนนรวมจากทุกเขตเลือกตั้งของ 'แต่ละพรรคการเมือง' ได้ผลลัพธ์เท่าไร ถือว่าเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นได้

สรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ จะเท่ากับร้อยละของคะแนนเลือกตั้งที่พรรคนั้นได้รวมกันทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับ 'บัตรดีที่ลงคะแนนเลือกตั้ง' ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ (ไม่รวมบัตรเสีย ไม่รวม No Vote)

เช่น พรรค "ก" ได้คะแนนรวม 20 % คิดเป็นได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 100 คน (20% ของ 500 คน) ไม่มากไปกว่านั้น

ถ้าพรรค "ก" ชนะเลือกตั้งในแต่ละเขต รวมแล้วได้ ส.ส.เขต 85 คน ดังนั้น พรรค "ก" จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 15 คน เพื่อรวมให้ครบ 100 คน

ถ้าพรรค "ก" มีผู้สมัครที่ไม่โดดเด่น แต่นโยบายพรรคเป็นที่พึงพอใจของประชาชน ทำให้ผู้สมัครในหลายเขตแพ้ "สูสี" และมีผู้ชนะในเขตเลือกตั้งเพียง 40 เขต พรรค "ก" จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 60 คน เพื่อรวมให้ครบ 100 คน

ถ้าพรรค "ก" มีผู้สมัครที่โดดเด่นมาก แต่นโยบายพรรคไม่โดนใจประชาชน ทำให้ผู้สมัครในทุกเขตชนะ "สูสี" และมีผู้ชนะในเขตเลือกตั้งถึง 105 เขต พรรค "ก" จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะเกิน 100 คนตามโควต้าของ "มหาเขตเลือกตั้ง" ไปแล้ว

ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะมาถึง เราต้องทิ้งความเคยชินเดิมๆไปให้หมดสิ้น ไม่มีอีกแล้ว..คะแนนเสียเปล่า เพราะทุกคะแนนมีความหมาย

ผลที่ตามมาอีกประการหนึ่งคือ ผู้เคยสมัครแบบบัญชีรายชื่อในระบบเดิม แต่ยังได้รับความนิยมมากในเขตเลือกตั้ง เพราะตนเป็น "เจ้าของพื้นที่" มานาน ก่อนหน้านี้ เคยมอบหมายให้ญาติหรือทีมงานลงสมัคร ส.ส.เขต ส่วนตนเองขึ้นไปสมัครในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ เพราะถ้าชนะเลือกตั้งมากเท่ากับได้มา 2 ที่นั่ง

แต่ในระบบใหม่ เราอาจได้เห็นคนดังเจ้าของพื้นที่จำนวนหนึ่ง กลับคืนสู่เขตเลือกตั้ง เพราะโอกาสได้รับเลือกตั้งสูงกว่าแบบบัญชีรายชื่อตามระบบใหม่ซึ่งมีตัวแปรเพิ่มขึ้นที่ทำนายได้ยาก แม้อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ อาจไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้
 

นายกฯคนนอก

ประเด็นร้อนแรงเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ คือ การสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน "นายกฯคนนอก"

เมื่ออ่านมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 พบว่า เส้นทางของนายกฯคนนอก นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด และอาจนำไปสู่ "สุญญากาศทางการเมือง"

ใน 5 ปีแรกนับจากวันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 (ถ้าสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ 4 ปี เวลา 5 ปีเท่ากับวาระของสภาผู้แทนฯอย่างน้อย 2 ชุด) การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องทำในรัฐสภาที่มีสมาชิกรัฐสภา 750 คน (ส.ส. 500 คน และ ส.ว.250 คน)

นายกฯต้องได้รับความเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียง ถ้าไม่มีใครได้คะแนนถึง จะเดินสู่ขั้นต่อไปคือ

สมาชิกฯอย่างน้อย 375 คนเสนอประธานรัฐสภา เพื่อขอให้จัดประชุมรัฐสภาพิจารณา "เปิดทาง" ให้เลือกนายกฯคนนอก

นายกฯคนนอกจะเข้ามาได้ต้องได้รับความเห็นชอบ "เปิดทาง"จากสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อย 500 คน

หากทางสะดวกแล้ว คนนอกสามารถเข้ามาเป็นตัวเลือกแข่งกับตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่ได้ หากมีผู้ใดได้รับคะแนน 376 เสียงขึ้นไป ถือว่าได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น หาก ส.ส.หรือ ส.ว.อย่างน้อย 251 คนขึ้นไปไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก ประตู"นายกฯคนนอก" จะล็อคกุญแจแน่นหนา ใครก็เข้าไม่ได้

เมื่อนายกฯคนนอกเข้าไม่ได้ สมาชิกรัฐสภาจะกลับมาทบทวน เลือกนายกฯคนในอีกครั้งได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญฯไม่ได้บัญญัติไว้ หรือหากกลับมาเลือกใหม่ได้ แต่ก็ยังไม่มีใครได้ถึง 376 เสียง คราวนี้แหละ สุญญากาศทางการเมืองอาจเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ถึงเวลานั้น มาคอยดูกันว่า ส.ส.จะช่วยกันผ่าทางตัน รวมเสียงกันให้ครบ 376 เสียง เลือกนายกฯคนในเสียที หรือจะให้ รัฐบาล คสช.บริหารประเทศไปพลางๆก่อน หรือจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งกันใหม่

โดยสรุป ถ้าพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอกอย่างแน่วแน่ (ซึ่งอาจมีหลายพรรค) ได้รับเลือกตั้งมารวมกันอย่างน้อย 251 คน ประตู "นายกฯคนนอก" จะถูกลั่นดาล ปิดไปตลอดกาล

 

การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์

การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Voting - SV) เป็นคำศัพท์การเลือกตั้งที่จะถูกพูดถึงมากในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ทันไร ก็มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกกันอย่างกว้างขวาง เพราะมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่มาเป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งในสมการการเมือง จนบางคนต้องตัดสินใจว่า จะเลือกพรรคเดิมที่ชอบ หรือ เลือกพรรคใหม่ที่ใช่ เลือกแบบไหนจะสกัดนายกฯคนนอกได้ เลือกแบบไหนจะแสดงเจตจำนงประชาธิปไตย

SV เป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันมานานแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีตัวอย่างรูปธรรมมากมาย จนถึงกับมีผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า กลยุทธ์เช่นนี้ใช้ในสถานการณ์แบบไหน ได้ผลจริงหรือไม่

กลยุทธ์นี้ ใช้ได้ทั้งในยุทธศาสตร์สร้างความหวัง (Hope) เช่น 'เปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า' และยุทธศาสตร์สร้างความกลัว (Fear) เช่น 'ไม่เลือกเรา เขามาแน่' แต่การสร้างความกลัว เชื่อกันว่า ได้ผลมากกว่า

SV มักถูกใช้ในสถานการณ์ต่อไปนี้

1.การเลือกตั้งนั้นเป็นแบบผู้ชนะกินรวบ (Winner-takes-all) คะแนนที่ไปเลือกตั้งผู้แพ้ ไม่มีความหมาย ไม่ถูกเอามาคิดคำนวณผลเลือกตั้ง

2.มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 2 ราย และคู่แข่งขันอย่างน้อย 2 รายมีเสียงสนับสนุนใกล้เคียงกัน

3.ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องตัดสินใจว่า จะเลือกผู้สมัครที่ตนชอบมากที่สุด ซึ่งอยู่ลำดับที่ 3 หรือยอมตัดใจเลือกผู้สมัครที่ตนชอบน้อยกว่า เพื่อสกัดกั้นผู้สมัครที่ตนไม่ชอบเลย

จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า ในการเลือกตั้งแบบผู้ชนะกินรวบ มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ตกอยู่ในสถานการณ์ตามข้อ 2 และ 3 เพียง 20% (เพราะผู้เลือกตั้งที่สนับสนุนผู้สมัครที่กำลังแข่งขันอย่างคู่คี่ ไม่ต้องตัดสินใจเลือก แต่ลงคะแนนให้คนที่ตนสนับสนุนไปเลย)

และการวิจัยพบต่อไปอีกว่า ผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มีเพียง 20% ที่เมื่อไปลงคะแนนเสียงแล้วตัดใจเลือกตามกลยุทธ์ SV

การวิจัยชิ้นนั้น จึงสรุปว่า กลยุทธ์ SV ไม่ได้มีอิทธิพลมากอย่างที่เราเข้าใจกัน

เมื่อหันมาพิจารณา การเลือกตั้งครั้งหน้าที่เรารอคอยกันอยู่ ในภาพใหญ่ทั้งประเทศสถานการณ์ทั้ง 3 ข้อไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเป็นการเลือกตั้งแบบผู้ชนะกินแบ่ง ทุกคะแนนของผู้แพ้มีความหมาย สามารถสะสมมาใช้คำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อีกทั้ง พรรคลำดับที่ 1 และ 2 ก็มีคะแนนนิยมทิ้งห่างกันพอสมควร แต่ในระดับเขตเลือกตั้งบางพื้นที่ สถานการณ์ข้อ 2 และ 3 อาจมีผลอยู่บ้างเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม คณิตศาสตร์การเลือกตั้งก็ดี นายกฯคนนอกก็ดี การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ก็ดี จะไม่มีความหมายใดๆเลย...ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง

ดังนั้น มาช่วยกันคิดก่อนดีกว่าว่า ทำอย่างไร การเลือกตั้งจึงจะมาถึงในเร็ววัน



เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ 'วิรัช ชินวินิจกุล' พ้นจากตำแหน่งองคมนตรี

Posted: 03 Mar 2018 12:54 AM PST

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชโองการ เรื่อง ให้องคมนตรีพ้นจากตําแหน่ง ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า นายวิรัช ชินวินิจกุล องคมนตรี พ้นจากตําแหน่ง องคมนตรี

 
 
3 มี.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศพระราชโองการ เรื่อง ให้องคมนตรีพ้นจากตําแหน่ง ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า นายวิรัช ชินวินิจกุล องคมนตรี พ้นจากตําแหน่ง องคมนตรี
 
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 11 และมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 
 
ประกาศ ณ วันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน 
 
ผู้รับสนองพระราชโองการ 
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน. โต้แถลงการณ์ภาคประชาชนชายแดนใต้

Posted: 03 Mar 2018 12:26 AM PST

กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า โต้แถลงการณ์ของเครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยุติการคุกคามและปิดปากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

 
3 มี.ค. 2561 พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่าตามที่ได้ปรากฏข่าวกลุ่มเครือข่ายเฉพาะกิจ เพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยุติการคุกคามและปิดปากประชาชน ที่ได้เผยแพร่เมื่อ 2 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมานั้น (อ่านเพิ่มเติม: 38 องค์กรร้อง จนท.รัฐหยุดละเมิดและคุกคาม ปชช. - นักสิทธิ ในสามจังหวัดใต้) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ขอชี้แจงดังต่อไปนี้
   
1.สถานการณ์ปัญหา จชต. ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา นอกจากความสูญเสียของพี่น้องประชาชนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีพฤติกรรมแบบสุดโต่งแล้ว ยังพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่แอบอ้างว่า เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่คอยเคลื่อนไหว บิดเบือนข้อเท็จจริงและทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐดังปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการละเมิดสิทธิและการซ้อมทรมาน ทั้งเรื่องการทำหนังสือร้องเรียนไปยังองค์กรต่างๆ การทำรายงานกล่าวหาเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิและย่ำยีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ โดยไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต่อมาภายหลังเมื่อทำการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เป็นจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นความจงใจทำลายความน่าเชื่อถือและทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล
 
2.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้ความสำคัญและยึดมั่นในหลักการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความสงบสุขของประชาชนภายใต้หลักนิติรัฐ เป็นการปฏิบัติภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติได้ ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ทุกกรณี แต่ทุกครั้งที่มีการบังคับใช้กฎหมาย กลับถูกต่อต้านและบิดเบือนใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานจากกลุ่มที่แอบอ้างว่าเป็นนักปกป้องสิทธิ ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิให้พี่น้องประชาชน ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนร้ายที่ใช้ความรุนแรง ทำให้สังคมเข้าใจว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง
 
3.การแจ้งความดำเนินคดีกับ บก. ผู้จัดการออนไลน์ และนายอิสมาแอ เตะ เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายด้วยการจงใจเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐได้รับความเสียหาย ดังนั้นการขอพึ่งอำนาจของกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการคุกคาม หรือปิดปากประชาชนตามที่กล่าวอ้างและบิดเบือนแต่อย่างใด
 
4.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การเคารพในสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชนที่สามารถแสดงออกโดยไม่ละเมิดต่อกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้กลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหว อย่านำปัญหาความมั่นคงในพื้นที่มาบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มหรือผลประโยชน์ทางการเมือง และให้ยุติหลอกลวงประชาชน ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่อาจทำให้สังคมเกิดความสับสน วุ่นวาย เพราะเป็นพฤติกรรมที่ล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย สำหรับองค์กรต่างๆ ที่มาร่วมเป็นเครือข่ายเฉพาะกิจ และสื่อมวลชนขอให้ใช้ดุลยพินิจในการแสดงออกและนำเสนอข้อมูลข่าวสารบนพื้นฐานของความจริงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่มีนัยยะแอบแฝงที่เข้ามาฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งให้ขยายวงกว้าง ที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชวนคนไทยเป็นสายตรวจโซเชียลปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน

Posted: 02 Mar 2018 11:32 PM PST

เนื่องในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก 3 มี.ค. กรมอุทยานฯ ร่วมกับกลุ่มเอ็นจีโอ เชิญชาวไทยเป็นสายตรวจโซเชียลปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน #ร่วมสืบช่วยสัตว์ #ปกป้องสัตว์ป่าของแผ่นดิน #WildWatchTH

 
 
3 มี.ค. 2561 เนื่องในวันที่ 3 มี.ค.ของทุกปีเป็นวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับกลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า เผยแพร่สื่อรณรงค์บนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ้คภายใต้แนวคิด "ร่วมปกป้องสัตว์่ป่าของแผ่นดิน" พร้อมเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันทำหน้าที่สายตรวจโซเชียล เป็นหูเป็นตา และแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมายผ่านสายด่วนกรมอุทยานฯ 1362  
 
การณรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียในครั้งนี้ริเริ่มจากกรณีที่นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย และพวกตกเป็นผู้ต้องหาลักลอบล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจ และหันมาสนใจในประเด็นการปกป้องสัตว์ป่าที่เป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศ มากยิ่งขึ้น โดยการรณรงค์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรประกอบไปด้วย สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, มูลนิิธิฟรีแลนด์ (Freeland), มูลนิธิโลกสีเขียว (Green World Foundation), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ(IUCN), มูลนิธิรักสัตว์ป่า (Love Wildlife Foundation), กลุ่มเนเจอร์ เพลิน (Nature Play and Learn),  มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (Seub Nakhasathien Foundation), เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ทราฟฟิค (TRAFFIC), องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)
 
เพจกลุ่มบนเฟซบุ้คทั้งที่เป็นแบบเปิดสาธารณะ และแบบกลุ่มปิด คือช่องทางบนโลกออนไลน์ที่สามารถพบเห็นการลักลอบล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างเปิดเผย โดยคนไทยบางส่วนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าสัตว์ที่ตัวเองได้มา หรือซื้อหามานั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งการครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย 
 
ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ ที่มีชื่อว่า ทีมเหยี่ยวดง ได้จับกุมการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า จำนวน 40คดี ผู้ต้องหาจำนวน 41 คน ยึดสัตว์ป่าจำนวน 1,161ตัว ซากของสัตว์ป่า จำนวน 255ซาก และผลิตภัณฑ์จำนวน 360 ชิ้น
 
สื่อรณรงค์ที่ได้เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคมเป็นต้นไป ประกอบไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจของสัตว์ 6 ชนิดที่มักตกเป็นเหยื่อของการค้าและครอบครองโดยผิดกฎหมายมากที่สุดโดย เป้าหมายของการรณรงค์ก็เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดีย ว่าสัตว์บางประเภทที่คนนิยมหาซื้อมาเลี้ยง หรือหาผลประโยชน์นั้น คือสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงหรือขายได้ และเชิญชวนให้ช่วยกันสืบและจับภาพหน้าจอที่แสดงถึงการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงรายละเอียดผู้ค้า และแจ้งมาที่สายด่วน 1362 , เฟซบุ้ค สายด่วน 1362 @1362DNP หรือ เฟซบุ้ค บก.ปทส. Greencop - Thailand @NEDPolice และเฟซบุ้ค ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง @DNP.WILDHAWK
 
ทั้งนี้การเป็นสายสืบโซเชียลอย่างปลอดภัยนั้น มีข้อควรระวังดังนี้
· อย่าถาม ทัก แชท คอมเม้นท์ หรือขอเป็นเพื่อนกับผู้กระทำผิด
· อย่าทำให้ผู้ลักลอบค้า ผู้ซื้อ หรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าสงสัยพฤติกรรมของคุณ
· อย่าล่อซื้อเพื่อเก็บหลักฐาน เพราะถือเป็นการสนับสนุนการค้าและคุณอาจถูกดำเนินคดี
· อย่ากระทำการใดๆ ที่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง 
 
ในการนี้ กรมอุทยานฯ  และกลุ่มเอ็นจีโอขอความอนุเคราะห์สื่อมวลชนทุกท่านร่วมกันเผยแพร่เรื่องราวนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยเพื่อช่วยกันรักษาชีวิตสัตว์ป่าของแผ่นดินไม่ให้สูญพันธุ์   และเชิญชวนกันเป็น
สายตรวจโซเชียลช่วยกันรายงานการล่า การค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือการตัดไม้ทำลายป่า ที่สายด่วน 1362 , เฟซบุ้ค สายด่วน 1362 @1362DNP , เฟซบุ้ค บก.ปทส. Greencop - Thailand @NEDPolice  หรือ เฟซบุ้ค ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง @DNP.WILDHAWK  
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคการศึกษาอังกฤษหยุดงานประท้วงการปรับลดสวัสดิการหลังเกษียณ

Posted: 02 Mar 2018 10:41 PM PST

สื่อฝ่ายซ้าย LeftEast รายงานถึงการนัดหยุดงานประท้วงของอาจารย์และพนักงานภาคอุดมศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดในอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีการร่วมหยุดงานของอาจารย์และนักวิจัยจาก 60 มหาวิทยาลัย รวมถึงมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด, เคมบริดจ์, เอ็กซีเตอร์ และอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน พวกเขาวางแผนว่าจะมีการหยุดงานเป็นเวลา 4 สัปดาห์

 
 
2 มี.ค. 2561 สาเหตุที่พวกเขาหยุดงานประท้วงนั้น สมาชิกสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอังกฤษ (UCU) ซึ่งมีสมาชิกลูกจ้างอยู่ราว 11,000 คน ให้เหตุผลว่าหลังจากการเจรจากับองค์กรตัวแทนมหาวิทยาลัย UUK ล้มเหลว จากกรณีที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายออกนโยบายในทำนองที่จะเป็นการลดเงินบำนาญของอาจารย์และลูกจ้างมหาวิทยาลัยและนำไปผูกกับตลาดหุ้นแทน และนั้นอาจจะยิ่งทำให้คนทำงานมหาวิทยาลัยรุ่นถัดไปได้รับเงินบำนาญน้อยลงกว่าเดิมถึงร้อยละ 40
 
รอรี อาเชอร์ ผู้ช่วยนักวิจัยปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าวว่าการประท้วงหยุดงานอาจจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปฏิรูปภาคส่วนราชการของอังกฤษ
 
ข้ออ้างในการปรับลดสวัสดิการหลังเกษียณอายุของ UKK ล่าสุดอาศัยข้ออ้างเรื่องการขาดดุลงบประมาณและการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit)
 
แต่สหภาพและสื่อเอียงซ้ายก็มองว่าเรื่องนี้เป็นการทำลายความมั่นคงในหน้าที่การงานของคนทำงานภาคการศึกษาและทำลายสิทธิแรงงาน โดยที่เรื่องนี้กระทบลงไปถึงคนทำงานระดับล่าง ๆ อย่างพนักงานจัดจ้างภายนอก (outsourced) หรือภารโรง รวมถึงเรื่องการคุกคามและการข่มเหงรังแกในที่ทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบีบให้ทำงานยาวนานกว่าข้อตกลง ซึ่งการเคลื่อนไหวของอาจารย์ทั้งหลายไม่เพียงแค่เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าจ้างหรือเงินบำนาญเท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและผลกระทบจากการทำให้มหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบตลาดด้วย
 
หลังจากที่มีนโยบายการเก็บค่าเล่าเรียนในสถานอุดมศึกษาอังกฤษสมัยรัฐบาลโทนี แบลร์ ปี 2541 ค่าเล่าเรียนของนักศึกษาเพิ่มสูงขึ้นแต่ทว่าค่าแรงของคนทำงานในมหาวิทยาลัยกลับไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
 
อย่างไรก็ตามมาริยา อิวานเชวา ผู้ช่วยนักวิจัยปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลีดส์แสดงความกังวลว่ามีการปรึกษาหารือกันน้อยเกินไปว่าจะคุ้มครองคนที่มีความเสี่ยงสูงๆ อย่างไรในการนัดหยุดงานประท้วงในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะต้องสูญเสียอะไรมากกว่าคนอื่นเป็นหลายเท่านอกจากการสูญเสียค่าแรง อาจจะสูญเสียโครงการระยะสั้นไปด้วย แต่สุดท้ายเธอก็เริ่มหยุดงานประท้วงเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับพนักงานอื่นๆ ทั้งระดับบนและระดับล่างที่ถูกจับให้ต้องห้ำหั่นกันเอง
 
ทั้งนี้ยังมีเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดกับนักศึกษา มีนักศึกษาที่ล่ารายชื่อได้แล้ว 70,000 รายชื่อ เรียกร้องให้มีการชดเชยการงดชั้นเรียนแต่ทว่าพวกเขาไม่ได้เรียกร้องจากกลุ่มคนทำงานแต่เรียกร้องจากมหาวิทยาลัยโดยตรง เป็นการช่วยร่วมกดดันมหาวิทยาลัยด้วย ทางสหพันธ์นักศึกษาก็สนับสนุนการหยุดงานประท้วงของคนทำงานมหาวิทยาลัย จากการสำรวจพบอีกว่านักศึกษาร้อยละ 63 สนับสนุนการประท้วงหยุดงาน มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่ต่อต้าน ส่วนหนึ่งเพราะนักศึกษาเหล่านี้เข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเองในอนาคตที่อาจจะต้องเข้าไปเป็นหนึ่งในคนทำงานมหาวิทยาลัย
 
อิสกรา ครึสติก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบลเกรดผู้นำเสนอเรื่องนี้ในสื่อฝ่ายซ้ายเปรียบเทียบเรื่องที่เกิดขึ้นในอังกฤษกับเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางหลังยุคสังคมนิยมที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานแบบ "เสรีนิยมใหม่" เช่นกัน การบริหารงานแบบดังกล่าวก่อปัญหาทำให้สภาพการจ้างงานย่ำแย่และทำให้ความมั่นคงในหน้าที่การงานของผู้คนลดลง แต่แนวทางบริหารแบบนี้ก็เสแสร้งพยายามทำเหมือนว่ามันเป็น "เรื่องธรมชาติ" หรือ "เรื่องธรรมดา"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
The USS Strike: pensions are the trigger, but the strike is about discontent with academic working conditions in the UK, Left East, 26-02-2018
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ทีละก้าว กินข้าวทีละคำ

Posted: 02 Mar 2018 10:12 PM PST

 

บอกให้กู กินข้าว ทีละคำ
บ้างย้ำ ขึ้นบันได ไปทีละขั้น
"สันติ อหิงสา" ในครานั้น
รางวัล ส่งท้าย ตายเป็นเบือ

Wait and See สี่ปีเเล้ว พ่อแก้วเอ๋ย
โจรคุ้นเคย อำนาจ ฟาดไม่เหลือ
"ประชามติ" หัวโล้น โจรพายเรือ
กลืนเลือดเนื้อ แล้วทั้งนั้น ทุกกติกา

เดินตามสิทธิ์ ติดกับ ยิ่งทับถม
ตีนย่ำ ติดหล่ม ปมปัญหา
ทีละก้าว เข่าคลาน จนด้านชา
ซ้ำสองบ่า ติดแอก แบกหลังอาน

ฝืดลิ้น กินข้าว คราวละคำ
กลืนกล้ำ ฝืดคอ เพราะแข็งด้าน
กติกา ถูกต้อง พร่องครึ่งจาน
รัฐประหาร ก็ตัดตอน ก่อนวาระ

ทีละก้าว ทีละขั้น เวียนหว่านล้อม
เดินอ้อม ไม่มอง กองขยะ
เลือกตั้ง ครั้งใด ชัยชนะ
กากสวะ ทำลาย ไม่นำพา

ทีละขั้น ทีละก้าว กินข้าวบูด
โดนขูด โดนรีด โดนขีดฆ่า
**ต้องพ่ายแพ้ กี่ครั้ง หลั่งน้ำตา
ตามเกมส์ กติกา มหาโจร??

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 ปี 6 เดือน รัฐบาล คสช. คนกังวลเรื่องเศรษฐกิจ-ความโปร่งใส

Posted: 02 Mar 2018 10:12 PM PST

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจความนิยมรัฐบาล คสช. ครบ 3 ปี 6 เดือน ระบุสิ่งที่บั่นทอนทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลคือเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร และข่าวความไม่โปร่งใสของบุคคลร่วมรัฐบาลและคนรอบข้างนายก

 
 
3 มี.ค. 2561 ด้วยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศครบ 3 ปี 6 เดือนกรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ประเมินผลงาน 3 ปี 6 เดือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,165คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า
 
ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี 6 เดือนเฉลี่ย 5.64 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินการทำงานรอบ3ปี เดือนที่ได้ 5.27 คะแนนโดยการสำรวจครั้งนี้รัฐบาลได้คะแนนเพิ่มขึ้นทุกด้าน โดยด้านที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ด้านการต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 0.61 คะแนน รองลงมาคือ ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เพิ่มขึ้น 0.47 คะแนน และด้านเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 0.41 คะแนน
 
สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วง 3 ปี 6 เดือน ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจ เฉลี่ย 6.82 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินรอบ 3 ปี ที่ได้ 7.00 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้คะแนนลดลงเกือบทุกด้าน โดยมีเพียงด้านความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น 
 
ทั้งนี้ตลอด 3 ปี 6 เดือนที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 45.2 เห็นว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชาทำให้ประเทศมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 30.9 เห็นว่าเหมือนเดิม และมีเพียงร้อยละ 23.9 เห็นว่าแย่ลงกว่าเดิม
 
เมื่อถามถึงเรื่องที่เป็นสิ่งบั่นทอนหรือทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากที่สุด ประชาชนร้อยละ 25.9 ระบุว่าเรื่องเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร รองลงมาร้อยละ 23.0 ระบุว่าข่าวความไม่โปร่งใสของบุคคลร่วมรัฐบาลและคนรอบข้างนายกฯ และร้อยละ 16.3 ระบุว่ายังไม่เด็ดขาดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น