โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: นิติปรัชญา รัฐประหาร และตุลาการ (ช่วงถาม-ตอบ)

Posted: 22 Mar 2018 01:01 PM PDT

"การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างตุลาการในระบบกฎหมายไทยในทางอุดมการณ์เลย มันรับต่อกันมา แล้วฝังลงในวิชาชีพกฎหมายต่อเนื่องมา มันไม่มีการวิเคราะห์และถอดรื้อสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีการเปลี่ยน เรามีการพูดถึงหลักความอิสระของผู้พิพากษาเป็นคาถา ผมไม่ได้ถึงขั้นบอกว่าไม่มีเลย แต่ผมถามว่ามันได้เกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือเปล่า มันใช่อย่างนั้นจริงไหม คนที่ทำงานพิพากษาจริงๆ จะบอกผมได้ว่า ในแง่ของการตัดสินคดี มีอิสระในหลักการจริงๆ หรือความอิสระของศาลในบ้านเรามีขึ้นเพียงเพื่อจะบอกว่า อย่ามายุ่งกับศาลเท่านั้น"

เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ 'ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา' ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยวรเจตน์ได้กล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือและสถานการณ์ในปัจจุบันของสังคมไทย

'ประชาไท' ถ่ายทอดเนื้อหาการบรรยายทั้งหมดออกมาดังนี้ (เนื่องจากเนื้อหาการบรรยายมีความยาวมาก ทางประชาไทจึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน)

..............

ความคิดชี้นำของสถาบันที่ศาลสังกัดอยู่ เมื่อประกอบกันกับสิ่งที่เขาคิดอยู่ เป็นไปได้ไหมที่ทำให้เขาตัดสินไปในทางแบบนั้น

เป็นคำถามที่ดีครับ มันเป็นอย่างนั้นแหละ อย่างที่บอกไปว่า เรามักจะพูดถึงอะไรบางอย่างที่เป็นคุณค่าที่ดี เราพูดถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจ ตอนนี้เรามีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดี๋ยวจะมีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยก่อนว่ากฎหมายเลือกตั้งขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรามีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม มีรัฐบาล มีคณะรัฐมนตรี เรามีทั้งหมดที่คนอื่นมีในเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจ มีมากกว่าบางประเทศอีก แล้วเรามีบางอันที่คนอื่นยังไม่มี เช่น คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) แล้วถามว่ามันมีการแบ่งแยกอำนาจไหมตามความเป็นจริง ในโลกนี้มีมีหลายอย่างที่เป็นของเทียม บางอย่างเราอาจดูว่าเป็นของแท้ แต่มันไม่แท้ สิ่งที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจ เราต้องเข้าใจว่ามันคือการแบ่งแยกอำนาจแบบเทียมๆ

หลังจากที่พูดเสร็จจะมีสื่อถามผมเรื่องโรดแมปเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่ เพราะจะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จริงๆ ผมไม่ชอบตอบคำถามนี้เท่าไหร่ เพราะเราตั้งประเด็นจากการที่เราเชื่อว่ามีการแบ่งแยกอำนาจอยู่จริง แต่มันใช่ไหม สภานิติบัญญัติของเราเป็นสภานิติบัญญัติแท้ๆ หรือรัฐมนตรีแท้ๆ ไหม ยังไม่ต้องพูดถึงศาล เพราะศาลมีมาก่อน นั่นก็แปลว่าเรามีสิ่งที่ไม่แท้อยู่ในระบบ แต่เราปฏิบัติแล้วพูดเหมือนกับว่ามันเป็นของแท้ ตอนนี้ที่พูดว่าจะเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่เลื่อนมันเป็นเรื่องของศาล คล้ายๆ กับเรากำลังถูกทำให้เห็นว่ามันเป็นของแท้แน่นอน แต่ความจริงมันไม่ใช่ อันนี้สำคัญในแง่กฎหมายด้วย คุณจะมองเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจเบื้องหลังทั้งหมด และนี่แหละคือตัวกำหนดอุดมการณ์

หลายปีก่อน ผมเคยยกประเด็นนี้ขึ้นมา แล้วมีคนเอาไปพูดต่อมากขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างตุลาการในระบบกฎหมายไทยในทางอุดมการณ์เลย มันรับต่อกันมา แล้วฝังลงในวิชาชีพกฎหมายต่อเนื่องมา มันไม่มีการวิเคราะห์และถอดรื้อสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีการเปลี่ยน เรามีการพูดถึงหลักความอิสระของผู้พิพากษาเป็นคาถา ผมไม่ได้ถึงขั้นบอกว่าไม่มีเลย แต่ผมถามว่ามันได้เกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือเปล่า มันใช่อย่างนั้นจริงไหม คนที่ทำงานพิพากษาจริงๆ จะบอกผมได้ว่า ในแง่ของการตัดสินคดี มีอิสระในหลักการจริงๆ หรือความอิสระของศาลในบ้านเรามีขึ้นเพียงเพื่อจะบอกว่า อย่ามายุ่งกับศาลเท่านั้น

ประเทศไทย วงการการเมืองไทย ถนัดในการใช้ถ้อยคำ วาทกรรม หรืออะไรต่างๆ ในทางภาษามา เพื่อบอกว่ามันเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ ถ้าเราคิดลงไปให้ลึก ดูอย่างเท่าทันมากขึ้น เราจะเห็นพลังอำนาจเหล่านั้นที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง แล้วถ้าถึงจุดนั้น เราจะรู้ว่าควรทำอะไรต่อ อันนี้เป็นความคิดที่พวกสำนักกฎหมายบ้านเมืองอาจจะคิดได้ดีก็ได้ เขาถึงแยกกฎหมายที่มีอยู่จริงกับกฎหมายที่ควรจะเป็นออกจากกัน ต้องรู้เสียก่อนว่ากฎหมายที่มีอยู่จริงคืออะไร จากนั้นคุณถึงบอกว่ากฎหมายที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้นที่ท่านถามมา ผมคิดว่าอุดมการณ์ควรจะหมายถึงทั้งหมด แน่นอนผมมีข้อจำกัด ต่อให้ผมมีคลังภาษามากมาย แต่สุดท้ายก็ใช้ได้ไม่หมด ผมจะพูดยังไงเพื่อให้ผมอยู่ในเส้นที่สามารถพูดได้จริงๆ ในสภาพการณ์อย่างนี้ก็เยอะแล้วใช่ไหมล่ะ ต่อให้เป็นอัจฉริยะทางภาษาก็พูดได้ไม่หมดหรอก ในบริบทแบบนี้ พูดได้เท่านี้เท่าที่ผมพูดนี้แหละ

อาจารย์บอกว่าในการเข้าใจความคิด เราควรต้องทำความเข้าใจบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ ในส่วนของประเทศไทยที่แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติดูจะมีบทบาทนำมาตลอด บริบททางประวัติศาสตร์และสังคในช่วงหลังปี 2500 เป็นต้นมามีอะไรที่ทำให้สำนักกฎหมายธรรมชาติมีบทบาทมากกว่าสำนักกฎหมายบ้านเมือง

ผมคิดว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สังคมไทย สำนักกฎหมายธรรมชาติขึ้นมามีบทบาทมากกว่า ประการหนึ่งเป็นลักษณะของสังคมไทยเองที่ชอบคำว่าธรรมหรือธรรมะ

ในคณะนิติศาสตร์ ถ้าเกิดไปที่ห้องต่างๆ ผมคิดว่าเราจะดื่มด่ำกับธรรมะ คือมีคำว่าธรรมะเยอะมาก แต่คำๆนี้โดยสภาพความหมายมันเลื่อนไหล มันถูกให้ความหมายได้หลายอย่าง ทุกคนก็อ้างว่าตัวเองมีธรรมะทั้งนั้น ผมคิดว่าสิ่งนี้มันหล่อหลอมสังคมไทยอยู่

ท่านพุทธทาสภิกขุก็พูดถึงการปกครองแบบธรรมาธิปไตย ซึ่งอยู่เหนือประชาธิปไตย ประเด็นนี้เวลามีการวิวาทะ ฝ่ายพูดถึงประชาธิปไตยเสียเปรียบตั้งแต่แรก เพราะคนฟังประเมิณคุณค่าตั้งแต่ภาษาแล้ว คำว่าธรรมะหรือธรรมา เป็นคำที่ใหญ่และดูดีกว่าเยอะ แต่ภายในคำที่ใหญ่และดูดีกว่า บางทีไม่ได้มีเนื้อหาอะไรที่จะบอก มันมีความเลื่อนไหลอยู่ในตัวคำ แต่มันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

ผมพูดอย่างนี้ก็อย่าได้ปักป้ายหรือใส่ร้ายว่า ผมเป็นพวกที่ไม่สนใจความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรม ไม่จริงเลย ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์พวกที่อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้คำแบบนี้ เขาอาจสนใจศึกษาเรื่องนี้มากกว่าคนที่เอาคำแบบนี้มาใช้แบบผิวเผินก็ได้

ทีนี้ถามว่าหลัง 2500 ทำไมมันมีลักษณะแบบนี้ ช่วง 2518-2519 ตอนที่อาจารย์ปรีดีนำวิชานิติปรัชญาเข้ามาในบ้านเรา ท่านมีเจตนารมณ์ที่ดี คือต้องการแก้ไขทัศนะที่คับแคบในหมู่นักกฎหมายที่ยึดติดอยู่กับตัวอักษร อันนี้คือการทำให้กฎหมายมีมุมมองกว้างขวางขึ้น ตัวท่านเองเคยเป็นผู้พิพากษา ตอนหลังมาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นอะไรที่ประหลาดมากในสมัยนั้นเพราะเขายกย่องให้ผู้พิพากษาอยู่สูงกว่าอาจารย์สอนกฎหมาย ในวงวิชาการก็ถือว่าท่านเสียสละที่มาทำงานตรงนี้

แต่อย่างที่ผมบอก แนวคิดของท่านในช่วงเวลานั้น โจมตีสำนักกฎหมายบ้านเมืองอย่างมาก แล้วชูสำนักกฎหมายธรรมชาติเป็นอันเดียว มันจึงทำให้บางประเด็นพร่องไป อาจารย์ปรีดีคงนึกไม่ถึงว่าในอีกหลายสิบปีต่อมามันจะเกิดสภาวะแบ่งขั้วของสังคมแบบนี้ ถามว่าท่านมีส่วนไหม ผมว่าท่านก็มีส่วนอยู่ เพราะท่านชี้เองว่าพวกที่ถือสำนักกฎหมายบ้านเมืองคือพวกที่จะไปรับใช้เผด็จการ ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการมองผ่านประเด็นนี้แล้วศึกษานิติปรัชญากันอย่างเป็นภววิสัยหรือว่าเป็นกลางจริงๆ เมื่อประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ปะทุตั้งแต่ปลายปี 2548 ถึงปี 2549 เรื่อยมา จะเห็นว่าวงการกฎหมายส่วนใหญ่จึงมีทัศนะบางอย่าง มีการทำบางอย่าง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้

"การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างตุลาการในระบบกฎหมายไทยในทางอุดมการณ์เลย มันรับต่อกันมา แล้วฝังลงในวิชาชีพกฎหมายต่อเนื่องมา มันไม่มีการวิเคราะห์และถอดรื้อสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีการเปลี่ยน เรามีการพูดถึงหลักความอิสระของผู้พิพากษาเป็นคาถา ผมไม่ได้ถึงขั้นบอกว่าไม่มีเลย แต่ผมถามว่ามันได้เกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือเปล่า มันใช่อย่างนั้นจริงไหม คนที่ทำงานพิพากษาจริงๆ จะบอกผมได้ว่า ในแง่ของการตัดสินคดี มีอิสระในหลักการจริงๆ หรือความอิสระของศาลในบ้านเรามีขึ้นเพียงเพื่อจะบอกว่า อย่ามายุ่งกับศาลเท่านั้น"

ถามว่าพัฒนาการบริบททางประวัติศาสตร์มีส่วนในการหล่อหลอมสิ่งเหล่านี้ไหม มันมี ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องแก้ความเข้าใจผิดบางอย่างว่ามีผู้ร้าย ผู้ดี ในทางนิติปรัชญา ซึ่งผมคิดว่ามันไม่มีหรอก มีแต่จุดยืนทางวิชาการของแต่ละคนเป็นยังไง แต่ถ้าถามว่าใครเป็นผู้ร้ายหรือผู้ดี คุณต้องถามจากจุดยืนทางศีลธรรมของแต่ละคน อันนี้คือสิ่งที่ผมเน้นมากๆ ในวันนี้ เอาเข้าจริง ถึงเวลาที่ต้องมีการตัดสินบางอย่างคุณไม่ได้ถามความเป็นนักกฎหมายของเขา แต่คุณถามมากไปกว่านั้น เวลาออกกฎหมายที่เป็นแบบกฎหมายนาซี ทำไมผู้พิพากษาอาณาจักรไรก์ที่ 3 ถึงบังคับใช้ แล้วทำมากไปกว่าที่กฎหมายบอกด้วย ผมจะเล่าเคสสั้นๆ ซึ่งเคยเล่าบ่อย แต่ในประเด็นของนิติปรัชญามันจะช่วยบอกเราบางอย่าง

มันมีการฟ้องคดีเรื่องเช่าบ้าน คนที่เป็นผู้เช่าถูกผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่า ผู้เช่าเป็นชาวยิว ผู้ให้เช่าเป็นชาวเยอรมัน ก่อนหน้านี้ก็อยู่กันมาดี ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น พอฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ ก็ฝังอุดมการณ์เรื่องชาวยิวลงไป และประสบความสำเร็จทำให้คนในชาติเชื่อ สิ่งที่ตามมาคืออะไร เรื่องสัญญาเช่า กฎหมายเขียนเรื่องการยกเลิกสัญญาว่า ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดได้ก็ต่อเมื่อผู้เช่าได้กระทำการรบกวนความเป็นปกติสุขในสถานที่ให้เช่า เช่น เอะอะ เสียงดัง เปิดเพลงหนวกหู ก็เป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้ เคสนี้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาทั้งที่ผู้เช่าไม่ได้ทำความผิด ผู้เช่าก็เอาคดีไปฟ้องศาลยุติธรรม ศาลก็ตัดสินว่าการที่ผู้ให้เช่าเป็นยิวก็ถือว่ารบกวนความเป็นปกติสุขแล้ว ผมถามว่านี่หรือคือความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมือง

ถ้าไอเดียของสำนักกฎหมายบ้านเมืองเขาก็จะตีความกฎหมายตามตัวบท ตัวบทเขียนว่าต้องเป็นการกระทำที่รบกวน ไม่ใช่คุณสมบัติของตัวผู้เช่าว่าเป็นคนยิว มันไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะเอามาอ้างได้เลย แต่ถามว่าทำไมศาลในเยอรมันตัดสินแบบนั้น เพราะว่าอุดมการณ์นาซีฝังเข้าไปเรียบร้อย คุณก็ไม่ใช้กฎหมายแบบที่พึงเป็นกฎหมาย คุณก็เอาอุดมการณ์เข้ามาแทนที่กฎหมาย

อาจมีคนบอกว่า ผมไม่ได้พูดแย้งสิ่งที่พูดก่อนหน้านี้เหรอ ที่ผมบอกว่าเวลาที่ผู้พิพากษาตัดสินต้องมีอุดมการณ์ อุดมการณ์ที่ผมพูดถึง ที่ให้ศาลใช้ มันอยู่ในตัวรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้บทบัญญัติเรื่องสิทธิก็มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ขนาดรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อทำให้มันดูหล่อ คนเขียนรัฐธรรมนูญรับเอามาจากรัฐธรรมนูญปี 2549 ยังเขียนเลยว่า สิทธิเสรีภาพใดที่ผูกพันตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศที่เคยผูกพันแล้วก็ผูกพันต่อไป แต่ถามว่าเอาเข้าจริง ศาลเคยใช้เงื่อนไขนี้มาตัดสินคดีบ้างหรือไม่ ผมไม่เห็น

ผมคิดว่าบริบททางประวัติศาสตร์มีผลที่ทำให้เป็นแบบนี้ แต่ต้องไม่ลืมว่าพอถึงจุดหนึ่งความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องกฎหมายเป็นใหญ่ มันต้องถูกปลูกฝังในบ้านเรา มันถึงเวลาที่เราต้องรื้อและเดินต่อไปข้างหน้าด้วยหลักการที่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องคุณค่าขั้นต่ำที่สุดที่ทำให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันได้ ในทางการเมืองที่ขัดแย้งกันมานาน เราต้องหาทางออก ซึ่งผมเห็นด้วย แต่การออกจากอะไรบางอย่างคุณต้องถกเถียงถึงสิ่งที่เป็นคุณค่าพื้นฐานก่อนว่ามันเป็นขั้นต่ำที่สุดที่เราอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ มันมีบางอย่างที่เป็นขั้นต่ำ

ถ้าคุณเห็นใครถูกยิงแล้วคุณตบมือโห่ร้อง เพราะคนที่ถูกยิงมีความเห็นทางการเมืองต่างจากคุณ แล้วคุณยังสามารถยินดีกับการที่เขาตาย แบบนี้ไม่ได้ มันต่ำไปกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของการอยู่ร่วมกันในสังคมอารยะที่เป็นมนุษย์ มันทำให้สังคมถอยจากความเป็นมนุษย์ไปสู่อะไรบางอย่างที่ต่ำกว่านั้น ซึ่งผมคิดว่าสังคมอารยะที่จะเดินไปได้ต้องมีเส้นบางเส้นที่ข้ามไปไม่ได้ เพราะถ้าคุณยอมให้ข้ามได้ คุณก็จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในเยอรมนี เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพราะไม่มีอะไรที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ตอนนี้พูดเรื่องปรองดอง คุณต้องสำรวจว่าต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำหรือไม่

ฟังที่อาจารย์พูดมาเหมือนกับว่าในกฎหมายก็ยังมีการแบ่งขั้วอยู่ เคยมีฉันทามติทางกฎหมายทั้งในเชิงความคิดและการปฏิบัติเพื่อลบล้างการแบ่งแยกเหล่านี้

ความคิดทางปรัชญาไม่มีทางเป็นเอกภาพ มันเป็นเรื่องความคิดที่มีความหลากหลาย แต่การที่มีความแตกต่างทางความคิดในเรื่องกฎหมาย มันไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าพื้นฐาน สำนักกฎหมายธรรมชาติอาจจะยึดโยงศีลธรรมเข้ากับกฎหมาย แล้วนิยามกฎหมายโดยกำหนดเนื้อหาให้เชื่อมโยงกับศีลธรรมและความยุติธรรม ซึ่งมีข้ออ่อนเรื่องความไม่แน่นอน ขณะที่สำนักกฎหมายบ้านเมืองอาจไม่ได้ยึดโยงแบบนี้ หรือสำนักอื่นๆ ที่มีแนวคิดต่างกันไป แต่หลักๆ คือสองสำนักนี้ คือมองกฎหมายจากแง่ของข้อเท็จจริงหรือมองจากคุณค่าบางอย่างในกฎหมาย

แต่สุดท้าย ประเด็นมันหลอมรวมด้วยกัน คือคุณจะเชื่อแบบไหนก็ตาม สำนักกฎหมายบ้านเมืองจะบอกว่าอะไรเป็นกฎหมายโดยยึดโยงกับข้อเท็จจริง แต่ถึงเวลาที่ต้องใช้ เขาอาจจะบอกว่าไม่ใช้ สุดท้ายไม่ได้ต่างกัน มันเถียงกันในเชิงวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติ คำถามสุดท้ายก็กลับมาอยู่ดีว่า นักกฎหมายจะทำอะไรก็ได้ใช่หรือไม่ในนามของกฎหมาย ดิบเถื่อนยังไงก็ได้ใช่หรือไม่ กฎหมายจะอยุติธรรมขนาดไหนก็จะบังคับใช้ใช่หรือไม่ สำนักกฎหมายธรรมชาติบอกว่าไม่ได้แน่ๆ สำนักกฎหมายบ้านเมืองบอกว่ามันเป็นกฎหมาย แต่ตัวเขาในฐานะปัจเจกบุคคล เขาไม่ปฏิบัติตาม คำตอบสุดท้ายก็เหมือนกัน

อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะบอก คือสุดท้ายไม่ได้มีผิด ถูกอะไร มันมีบางอย่างที่เป็นคุณค่าขั้นต่ำ แน่นอนว่ามีข้อถกเถียงในรายละเอียดและเงื่อนแง่ซับซ้อนในทางนิติปรัชญา ในยุคปัจจุบันของเรา การถามเรื่องมโนธรรมสำนึกอาจจะสำคัญมากๆ เพียงแต่ความน่าเศร้าเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่ามโนธรรมสำนึกของแต่ละคนไม่เท่ากัน มันอาจไม่ใช่เรื่องกฎหมายทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของสำนึก คุณจะเป็นนักกฎหมายแบบไหนเท่านั้นเอง คุณเห็นทุกอย่างทะลุปรุโปร่งแค่ไหน แล้วคุณจะใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ในมืออย่างไร

อาจารย์ยกคำพูดของกุสตาฟ ราดบรุกว่า งานวิชาการกับงานการเมืองไปด้วยกันไม่ได้ อาจารย์มองว่ามีเงื่อนไขเฉพาะอะไรในสังคมไทยที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเจอและทำให้ความคิดเขาเป็นไปไม่ได้

ผมขอขยายความที่กุสตาฟพูดไว้นะครับ ไม่ได้หมายความว่าการเมืองจะต้องไม่มีวิชาการหรือความรู้เป็นฐาน ผมคิดว่าการเมืองที่ดีควรต้องมีความรู้ มีผู้เชี่ยวชาญทุกด้านในนั้น และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญก็ควรมีความรู้ทางวิชาการ แล้วก็เสนอนโยบายว่าสังคมไทยควรจะไปทางไหน มันต้องมีวิชาการในพรรคการเมือง

แต่ที่ผมพูด ผมหมายความว่าถ้าคุณเป็นนักวิชาการก็เป็นนักวิชาการ ถ้าคุณเป็นนักการเมืองก็เป็นนักการเมือง คุณอาจมีความรู้วิชาการเป็นฐาน แต่คุณไม่ใช่นักวิชาการ เพราะการตัดสินใจทางการเมืองมีปัจจัยเฉพาะหน้าหลายอย่างที่ต้องตัดสินใจ แต่วิชาการคุณมีอิสระและพูดไปอย่างที่คุณคิด ผมหมายถึงแบบนี้

"มันถึงเวลาที่เราต้องรื้อและเดินต่อไปข้างหน้าด้วยหลักการที่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องคุณค่าขั้นต่ำที่สุดที่ทำให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันได้ ในทางการเมืองที่ขัดแย้งกันมานาน เราต้องหาทางออก ซึ่งผมเห็นด้วย แต่การออกจากอะไรบางอย่างคุณต้องถกเถียงถึงสิ่งที่เป็นคุณค่าพื้นฐานก่อนว่ามันเป็นขั้นต่ำที่สุดที่เราอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ มันมีบางอย่างที่เป็นขั้นต่ำ"

ประสบการณ์ของกุสตาฟซึ่งเคยเป็นนักการเมืองมาแล้ว เป็นนักการเมืองแบบนักวิชาการเป๊ะเลย มันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อคุณตัดสินใจเข้าสู่โหมดนักการเมืองก็คือนักการเมือง แต่นักการเมืองก็มีทั้งที่ดีและไม่ดี ซึ่งมีในทุกวิชาชีพ ดังนั้น นักการเมืองที่ดีควรมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างถ่องแท้ แล้วผลักดันสิ่งที่คุณคิดว่าดีงาม ถูกต้อง เหมาะสม ทำเป็นนโยบายออกมา นี่คือประเด็นที่ผมอยากบอก

แต่ต้องชมเชยอาจารย์ปิยบุตรที่กล้าจะออกไปเป็นนักการเมือง ไม่ได้เล่นการเมืองในคราบนักวิชาการ ไม่ได้ใช้ฐานะความเป็นนักวิชาการไปเล่นการเมือง คำว่าการเมือง ผมไม่ได้หมายถึงระดับมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นผู้บริหารก็ต้องมีอยู่ แต่หมายถึงเล่นการเมืองระดับบน ใช้ความเป็นนักวิชาการไปเล่น อาจารย์ปิยบุตรทำแบบเปิดเผย ออกไปเล่นการเมือง ไม่ได้ใช้เสื้อคลุมนักวิชาการ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ผมไม่ได้บอกว่านักวิชาการพูดอะไรที่สัมพันธ์กับการเมืองไม่ได้ แต่เวลาพูดทางวิชาการ คุณไม่ต้องคำนึงว่าเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองไหน คุณพูดจากสิ่งที่เห็นและถูกต้องตามหลักวิชาของคุณ แต่ถ้าคุณต้องทำงานให้กับพรรคการเมือง แล้วคุณใช้สถานะนักวิชาการเล่นการเมือง ผมคิดว่าไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะสถานะต่างกัน สถานะนักวิชาการมีความน่าเชื่อถือที่คนคิดว่าพูดจากสิ่งที่เป็นหลักการจริงๆ นี่คือความคาดหวังที่สังคมมีต่อนักวิชาการ บอกว่าอะไรถูก ผิด ในทัศนะของผมเอง

ผมก็มีสถานะตรงนี้ วันหนึ่งถ้าผมไปทำงานการเมือง ผมก็จะบอกว่าผมเป็นนักการเมือง และผมก็จะมีข้อจำกัดหลายอย่างที่บางเรื่องผมพูดไม่ได้ มันจะมีเรื่องบางอย่างที่นักการเมืองพูดไม่ได้ และนี่คือสิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรต้องเสียไปแน่ๆ

มาตรา 44 ดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญและจะดำรงอยู่จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ ก่อนจะมีรัฐบาลใหม่ มาตรา 44 จะแสดงอิทธิได้อีกหรือไม่

โดยตัวบทแสดงได้ จุดบรรจบระหว่างการเมืองกับกฎหมาย จะแสดงได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่อำนาจในตัวหนังสืออย่างเดียว มันอยู่ที่ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ด้วย เยอะแยะไปหมด การแสดงออกของมาตรา 44 ตอนประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผมคิดว่าโดยเหตุปัจจัยทางการเมืองต่างกันเยอะ หมายความว่าบริบททางการเมืองจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าใช้ได้หรือไม่ได้ แค่ไหน อย่างไร และผมคิดว่าคนที่มีอำนาจนี้ก็ต้องคิดว่าจะใช้ได้ไหม ใช้แล้วจะมีประสิทธิภาพไหม ประชาชนจะเชื่อฟังไหม ถ้าถึงจุดที่เขาไม่แน่ใจว่าใช้แล้วจะบังคับการได้ไหม ศาลอาจจะบอกว่าตอนนี้มีรัฐธรรมนูญถาวรแล้ว มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิแล้ว บังคับให้บางส่วน ไม่บังคับให้ทั้งหมด หรือประชาชนยอมรับไม่ได้แล้วก็จะไม่มีการใช้

มาตรา 44 จะยกเลิกการเลือกตั้งหรือยกเลิกการตั้งรัฐมนตรีได้หรือไม่

มาตรา 44 เหมือนเป็นอำนาจสมบูรณ์อยู่ในกฎหมาย อำนาจมีไปถึงก่อนมีรัฐบาลใหม่ แต่ในทางกฎหมายเราอาจคิดสมมติไปได้หมด แต่มันอาจไม่เกิดในโลกแห่งความเป็นจริง สมมติมีการเลือกตั้งใหม่แล้วจะเกิดมาตรา 44 อีกได้ไหม มันก็เป็นไปได้หมด แต่จะมีประเด็นว่าองค์กรศาลจะรับได้ไหม ศาลจะมองแบบที่ผมมองวันนี้ไหมว่าต้องลดการบังคับใช้ลง จะบังคับใช้ไม่ได้แล้วในทางกฎหมาย อันนี้เราไม่รู้ ถ้าพูดถึงตัวบทแน่นอน มันใช้ได้ แต่มันมีโอกาสจะถูกตีความว่าใช้ไม่ได้

ผมคิดว่ามีโอกาสที่องค์กรทางกฎหมายจะตีความมาตรา 44 โดยบีบผล บีบความหมายของมันลง แต่ในทางกฎหมายอาจจะยังใช้ได้ก็ได้ ผมไม่รู้ เพราะผมไม่ได้อยู่ในองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมาย ผมไม่รู้ว่าประชาชนจะยอมรับการใช้อำนาจแบบนั้นได้หรือเปล่า ถ้าถึงจุดที่คนไม่ยอมรับ มันใช้มาก็ไม่เกิดผล มิหนำซ้ำยังปะทุไปสู่เรื่องอื่นตามมาอีก เพราะฉะนั้นมาตรา 44 อำนาจทางกฎหมายมันมี แต่ไม่ได้ว่าใช้กันง่ายๆ คสช. คงรู้และคงคิดว่าในทางการเมือง ถ้าจะใช้ จะใช้เพื่ออะไร อธิบายได้ไหม

ตรงนี้เราไม่ได้มองในทางกฎหมายอย่างเดียว แล้วจริงๆ ตอบในทางกฎหมายอย่างเดียวก็มีความไม่แน่นอน แม้มันอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ผมอยากเรียกว่ารัฐธรรมนูญถาวรเพราะคนร่างต้องการให้ถาวร แต่ถึงตอนนั้นมันจะถูกศาลหยิบเอามาตราอื่นมาตีความลดทอนสภาพบังคับของมาตรา 44 ลงหรือเปล่า ตอนนี้การที่อัยการไม่ฟ้องเรื่องคดีชุมนุม มันก็บ่งชี้อะไรบางอย่างอยู่แล้ว

อาจารย์บอกว่าฝ่ายสำนักกฎหมายบ้านเมือง ต้องแยกเป็น 2 ประเด็นว่าอะไรคือกฎหมาย และถึงจะยอมรับว่าเป็นกฎหมายแล้ว แต่ถ้าเราใช้มโนธรรมสำนึกเราสามารถปฏิเสธการบังคับใช้กฎหมายได้ อาจารย์เสนอทางเลือกสำหรับผู้บังคับใช้กฎหมายไปแล้ว แต่ถ้าเราเป็นประชาชนหรือผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย ถ้ายึดถือตามแนวที่อาจารย์กล่าว แปลว่าถึงเราจะยอมรับว่าเป็นกฎหมาย แต่เราก็อาจไม่ปฏิบัติตามก็ได้ คำถามที่ 1 คือแบบนี้จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ ถ้าเราบอกว่าประเทศต้องปกครองแบบนิติรัฐ กฎหมายต้องเป็นใหญ่ แล้วเราจะทำอย่างไรกับสภาวการณ์แบบนี้ คำถามที่ 2 แม้เราจะยอมรับว่าเป็นกฎหมาย แต่เราไม่ปฏิบัติตาม เราจะเอาความชอบธรรมอะไรมาเพื่อรับรองว่ามโนธรรมสำนึกของเราถูกต้อง เพราะสุดท้ายแล้วมโนธรรมสำนึกก็เป็นเรื่องเฉพาะตน สู้เราประกาศไปเลยดีหรือไม่ว่าคำสั่งคุณไม่ใช่กฎหมาย เราไม่ยอมรับ

คำถามนี้ถามในมุมของประชาชน ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจ ความจริงประเด็นนี้เป็นปัญหาทางนิติปรัชญาประเด็นหนึ่ง เราเรียกว่า การดื้อแพ่ง หรือการไม่เคารพกฎหมาย หรืออารยะขัดขืน (Civil disobedience) เมื่อเป็นกฎหมายแล้ว คนจะปฏิเสธไม่เคารพกฎหมายได้ไหม มันมีความคิดต่างกันอยู่สองทางและขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสังคมด้วย

ถ้าพื้นฐานของการปกครองของรัฐนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ความคิดของนักกฎหมายบ้านเมืองต้องเป็นความคิดนำ เพราะถือว่าโครงสร้างโดยรวมของสังคมมีความยุติธรรม ถ้าคุณปฏิเสธไม่ยอมทำตามกฎหมาย สำนักกฎหมายบ้านเมืองก็จะบอกว่าคุณทำผิดกฎหมาย คุณต้องถูกลงโทษ เวลาจะลงโทษศาลต้องมาดูว่าเพราะอะไร ถ้าเขาบอกว่าโดยมโนธรรมสำนึกของเขาไม่เชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นกฎหมาย แล้วความเป็นจริงโครงสร้างทางสังคมโดยรวมมีฐานความยุติธรรมรองรับอยู่ มันเป็นสังคมประชาธิปไตย เป็นนิติรัฐ คุณไม่ชอบ คุณก็สามารถใช้วิธีการเสนอแก้ไขกฎหมายต่างๆ ได้ตามระบบของรัฐสภาที่มีอยู่ แต่ถ้ามันยังไม่แก้ แม้มโนธรรมสำนึกคุณจะเห็นว่ามันไม่ถูกต้องก็ตาม และถ้าคุณไม่ปฏิบัติตาม คุณก็ต้องยอมรับว่าคุณมีโทษ แต่ในชั้นของการที่ศาลจะลงโทษ ศาลไม่ควรจะลงโทษคนคนนั้น เสมือนว่าเขาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจากเหตุอันอื่น มันมีคำตอบทางนิติปรัชญาแบบนี้อยู่

พูดง่ายๆ เราพูดถึงโครงสร้างของประชาธิปไตย สำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก กฎหมายที่ไม่ถูกใจเรา เราไม่ปฏิบัติไม่ได้ แต่แน่นอนเมื่อเราบอกว่ามันไม่ยุติธรรม มันมีดีกรีอีกว่าอยุติธรรมขนาดไหนล่ะ เวลาที่เราบอกว่าศาลไม่ควรปฏิบัติตามหรือบังคับใช้กฎหมายที่อยุติธรรม ผมหมายถึงระดับความอยุติธรรมชนิดที่เรียกว่าโดยมโนธรรมสำนึกของคุณบังคับใช้มันไม่ได้ เป็นกฎหมายที่เลวทรามต่ำช้าจนคุณบังคับใช้มันไม่ได้ ซึ่งแน่นอนมันเป็นความยากลำบากอยู่สำหรับคนที่คิดแบบนี้ ฝ่ายนักกฎหมายบ้านเมืองจำนวนหนึ่งก็บอกว่า โอเค ผลักภาระให้กับผู้พิพากษา แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องมโนธรรมสำนึก เรื่องของคนแต่ละคน

เพราะฉะนั้น ตอบว่าโดยปกติทั่วไป ในรัฐประชาธิปไตย เราไม่สามารถอ้างได้หรอกว่ากฎหมายนี้ขัดต่อมโนธรรมสำนึกเรา แล้วเราจะไม่ปฏิบัติตาม แต่ถ้าจะอ้าง นิติปรัชญาก็ยอมให้อ้างได้ โดยอ้างหลักอารยะขัดขืน แต่อารยะขัดขืนไม่ได้หมายความว่าคุณจะใช้กำลังเข้าโค่นล้มอำนาจรัฐ หรือใช้กำลังเข้าทำร้ายบุคคลอื่น อารยะขัดขืนคือคุณไม่ยอมทำตามกฎหมายนั้น แต่คุณยอมถูกจับ คุณบอกว่ากฎหมายนี้ไม่ถูกต้อง คุณไม่เคารพ คุณยอมถูกจับ เพื่อกระตุ้นมโนธรรมสำนึกของสังคมโดยรวมว่าคนแบบนี้ไม่ควรถูกจับเพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ กระตุ้นให้สังคมเกิดความรู้สึกร่วมกันและผลักให้มีการแก้กฎหมาย คนที่ทำแบบนี้เขาจะเสียสละตัวเองเป็นเหยื่อ เพราะฉะนั้นพวกนี้จะไม่บอกว่ามันไม่ใช่กฎหมาย มันเป็นกฎหมาย แต่มันขัดมโนธรรมสำนึกของเขา เขาไม่ทำ เขายอมถูกจับ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อกระตุ้นมโนธรรมสำนึก เหมือนกับคานธี ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสมัยอินเดียเป็นอาณานิคมอังกฤษ คานธียอมให้จับ แต่จับแล้วกระตุ้นสำนึกมโนธรรมในสังคม

ความปั่นป่วยวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้น ถ้าโครงสร้างโดยรวมของสังคมเป็นนิติรัฐประชาธิปไตย มันจะเป็นเรื่องเฉพาะกรณี ในทางกลับกัน ถ้าสังคมนั้นเป็นสังคมเผด็จการ โครงสร้างกฎหมายเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความคิดแบบกฎหมายธรรมชาติควรจะนำ ความคิดไปถึงคุณค่าบางอย่างเรื่องความยุติธรรม ความเป็นธรรม ควรเป็นคุณค่าหลัก เพราะเราไม่มีเครื่องมือในการต่อสู้ คุณก็ต่อสู้จากสำนึกมโนธรรมของคุณสิ ให้แต่ละคนสู้ไป แต่การสู้ของแต่ละคนจะอยู่ในสภาวะการณ์ที่แตกต่างจากกรณีที่สังคมมีพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตย ในแง่นี้ผมมีความเห็นว่าควรต้องถือว่าสิ่งนั้นไม่เป็นกฎหมายเลย

แต่นี่คือความเสี่ยงของคนที่จะบอกแบบนั้น ความเสี่ยงของผู้พิพากษาที่จะบอกแบบนั้น สุดท้ายคุณอาจต้องลาออกไป ถ้าคุณไม่สามารถเซ็นชื่อคำพิพากษาบังคับใช้ได้ มันเป็นประเด็นที่ยุ่งยากอยู่ถึงตอนที่มันจะต้องปฏิบัติ แต่การจะทำแบบไหนต้องดูว่าโครงสร้างสังคมเป็นแบบไหน

ถามว่ามันควรมีกฎเกณฑ์ที่บอกว่าสิ่งนี้ไม่เป็นกฎหมาย ในความเห็นผมคิดว่ามีได้ แต่ฝ่ายนักกฎหมายบ้านเมืองมีไม่ได้ แต่สำหรับผม เมื่อถึงดีกรีหนึ่งคุณไปแยกกฎหมายกับคุณค่าทั้งปวงไม่ได้หรอก ความคิดของกุสตาฟ ราดบรุค บอกว่าถึงจุดหนึ่ง เมื่อความอยุติธรรมถึงระดับที่ไม่สามารถทานทนได้ นักกฎหมายจะต้องไม่บอกว่าไอ้นั่นมันเป็นกฎหมาย แต่ต้องปฏิเสธความเป็นกฎหมายของกฎเกณฑ์นั้น

ความคิดแบบนี้ถูกโจมตีจากเอช.แอล.เอ. ฮาร์ท ว่าความคิดนี้ไร้เดียงสา แต่สุดท้ายมันเป็นเรื่องของการบอกว่าในสถานการณ์อันหนึ่งคุณรับมันไม่ได้ ถ้าคุณเป็นเครื่องมือของการบังคับใช้อะไรบางอย่างซึ่งมันทำลายจริยธรรม คุณถูกมโนธรรมสำนึกเฆี่ยนตี คุณยังจะบอกอีกหรือว่าสิ่งนั้นเป็นกฎหมาย

แต่ไม่ใช่ว่ากลับไปวันนี้แล้วเราบอกว่าอันนี้คือมโนธรรมสำนึกเรา แล้วเราไม่ทำอะไรเลย เราขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร แล้วบอกว่ามโนธรรมสำนึกเราบอกว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่ได้หรอกครับ มันจะเกิดขึ้นกับเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องคุณค่าที่สำคัญจริงๆ

อาจารย์เขียนถึงชีวิตของนักกฎหมายด้วย ทำให้อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้น ถามอาจารย์ที่หน้า 436 ที่ว่า ราดบรุคถือว่ากฎหมายเป็นมโนทัศน์ทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับคุณค่า เชื่อมโยงกับความยุติธรรม คือเขาอยู่ตรงกลางระหว่างสำนักกฎหมายธรรมชาติกับสำนักกฎหมายบ้านเมือง ไม่ใช่คำถาม แต่เพิ่งเคยได้ยินชื่อเขาครั้งแรกจากอาจารย์ อาจารย์บอกว่าเขาดังมาก แล้วทำไมธรรมศาสตร์ไม่เคยสอน

ผมขอตอบคำถามนี้นิดหน่อย เป็นประเด็นนิติปรัชญาที่เกี่ยวกับนักคิดคนสำคัญที่ชื่ออิมมานูเอล ค้านท์ ผมจะสรุปความคิดย่อๆ ของเขาดังนี้ ในอดีตที่ผ่านมายาวนานนับพันๆ ปีของนิติปรัชญา พวกนักปรัชญา นักกฎหมายต่างแสวงหาไปที่กฎหมายธรรมชาติ เชื่อว่าธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ความถูกต้องเป็นธรรมดำรงอยู่ สิ่งที่ถูกหรือผิดอยู่ในธรรมชาตินั้นเอง ตลอดระยะเวลาเป็นพันๆ ปี นักคิดต่างแสวงหาหลักเกณฑ์ถูก-ผิดที่อยู่ในธรรมชาตินั้นคืออะไร แล้วเราสามารถนำมาเขียนเป็นกฎหมายบ้านเมืองได้อย่างไร ใครสนใจไปอ่านซิเซโรก็ได้ นิยามกฎหมายของเขาค่อนข้างมีชื่อเสียง

จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 18 ต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 19 นักคิด นักปรัชญาชื่อ อิมมานูเอล ค้านท์ เขาบอกว่า เมื่อดูโลกทั้งหมด มันจะมีโลกอยู่ 2 โลกซ้อนกัน อันแรกเป็นโลกในทางปรากฎการณ์ที่เราเห็นอยู่ เป็นเรื่องข้อเท็จจริง อีกอันคือโลกในทางคุณค่า ซึ่งสองโลกนี้แยกกัน หมายความว่าเราไม่อาจเสาะหาความถูกความผิดจากธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาติเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่เราเรียกว่ากฎความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล เป็นกฎทางฟิสิกส์ เช่น เราเอาวัตถุไปถูกความร้อนก็จะขยายตัว เป็นกฎทางธรรมชาติ จะเกิดขึ้นทุกครั้ง เพราะมันเป็นกฎเกณฑ์ในโลกความเป็นจริง แต่มันไม่ได้มีกฎอันใดอันหนึ่งที่บอกว่าการกระทำใกการกระทำหนึ่ง มันดีหรือชั่วในธรรมชาติ เช่น ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาใหญ่ชั่วไหม เราสามารถหาเกณฑ์ความดีความเลวของปลาใหญ่ได้ไหม สำหรับค้านท์คือไม่ได้ เราไม่สามารถหาเกณฑ์นี้จากธรรมชาติได้ แต่ไม่ใช่ว่าหาไม่ได้เลย ค้านท์บอกว่าหาได้จากการใช้เหตุผลบริสุทธิ์

เขากำลังจะบอกว่าบรรดาความคิดกฎหมายธรรมชาติทั้งปวง มันผิด เพราะคุณไปเชื่อว่ามันมีถูก มีผิดแท้จริงอยู่แล้วในธรรมชาติซึ่งเป็นกฎในทางฟิสิกส์ มันไม่มี แล้วแบบนี้ค้านท์เป็นคนเลวหรือเปล่า ไม่ใช่เลย ค้านท์พยายามแสวงหากฎทางศีลธรรม หนังสือเล่มนี้ก็จะบอกว่ากฎทางศีลธรรมของค้านท์คืออะไร ก่อนจะเข้าใจฮันส์ เคลเซ่นกับราดบรุค ต้องเข้าใจค้านท์ก่อน

การแยกแบบนี้ต่อมาเป็นแนวทางให้เกิดความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองด้วย เพราะมันต้องแยกระหว่างกฎหมายที่เป็นอยู่จริง กับกฎหมายที่ควรจะเป็นว่าควรจะเป็นอย่างไร

ถ้าใครเชื่อการแยกสองโลกนี้ออกจากกัน จะมีทัศนะที่อาจเป็นแบบกฎหมายบ้านเมืองคือมองว่ากฎหมายเป็นข้อเท็จจริง พวกนี้จะดูว่าข้อเท็จจริงอะไรที่บ่งชี้ความเป็นกฎหมาย จะไม่เอาคุณค่าใดๆ ต่างๆ มายุ่งเลย เพราะมันไม่แน่นอน เราจะบอกว่าเป็นกฎหมาย เราต้องการความแน่นอน อธิบายได้แบบวิทยาศาสตร์ มันจึงเกิดความคิดว่ากฎหมายเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์หรือกฎหมายที่เมื่อสั่งไปแล้วมีประสิทธิภาพ มีคนทำตาม กับอีกพวกมองกฎหมายเป็นคุณค่าและอยู่ในธรรมชาติด้วย พวกนี้มีความคิดแบบกฎหมายธรรมชาติ มีดี ชั่ว ถูก ผิด ดำรงอยู่ในภาวะธรรมชาติ ซึ่งพวกแรกจะถามว่าคุณพิสูจน์ยังไง เช่น การที่คนหนึ่งฆ่าอีกคน ผิดไหม พวกแรกจะบอกว่าผิด แต่ไม่ได้ผิดเพราะมีกฎในธรรมชาติบอกว่าการทำนี้ผิด แต่ผิดเพราะมนุษย์กำหนดว่ามันผิด การกำหนดของมนุษย์แบบนี้มีลักษณะคนละอย่างกับกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่อีกพวกหนึ่งบอกว่าการที่คนไปฆ่าคนอีกคนหนึ่ง ไม่ได้ผิดเพราะมนุษย์กำหนด แต่ผิดเพราะสิ่งนั้นมันผิดอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

ราดบรุคอธิบายว่า กฎหมายมีลักษณะเป็นปรากฎการณ์ในทางข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้แยกขาดจากโลกทางคุณค่า กฎหมายจะมีความหมายต่อเมื่อรับใช้ความยุติธรรม พูดง่ายๆ สำหรับเขากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม ไม่ใช่ศีลธรรม กฎหมายกับศีลธรรมและความยุติธรรมแยกกัน แต่กฎหมายจะมีความหมายต่อเมื่อมุ่งไปที่ความยุติธรรม การที่เขาคิดแบบนี้ เขาจึงเป็นสายกลางก็ว่าได้ แล้วเขายังมองว่า โอเคสมมติกฎหมายไม่ยุติธรรมแล้วจะอย่างไร โดยทั่วไปถ้ากฎหมายไม่ยุติธรรม มันก็ยังเป็นกฎหมาย โดยทั่วไปคุณจะอ้างความอยุติธรรมแล้วบอกว่าไม่เป็นกฎหมายไม่ได้ มันเป็น ราดบรุคมองกฎหมายจากข้อเท็จจริง

แต่เขาบอกต่อไปว่า เมื่อความอยุติธรรมในกฎหมายนั้นถึงระดับที่ไม่สามารถทานทนได้ กฎหมายที่ออกมาไม่ได้รับใช้หรือไม่คิดถึงความยุติธรรมเลยแม้เพียงนิดเดียว ออกมาด้วยความดิบเถื่อนล้วนๆ ไม่แยแสความเสมอภาคใดๆ เลย ถ้าถึงจุดนั้น เราต้องปฏิเสธว่ากฎเกณฑ์นั้นไม่ใช่กฎหมาย เขาจึงมีพื้นฐานจากทั้งสองแนวคิดคือเชื่อกฎหมายบ้านเมืองด้วย แต่ถ้ามันถึงระดับไม่ยุติธรรมคุณก็ต้องปฏิเสธ

ปัญหาของเขาอยู่ตรงนี้ เป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาของผมด้วย นั่นคือ แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะบอกได้ว่ากฎเกณฑ์นั้นมันไม่สามารถทนทานได้แล้ว กุสตาฟบอกว่าอยู่ที่สำนึกของคนแต่ละคน กับอยู่ที่ว่าในตอนออกกฎหมายมาคนที่ออกได้คิดถึงความยุติธรรมบ้างไหม ถ้าตอนออกกฎหมาย คนออกกฎหมาย คนสั่งการไม่ได้คิดถึงความยุติธรรมเลย และตัวกฎเกณฑ์นั้นอยุติธรรมอย่างรุนแรงที่สุด เราต้องปฏิเสธว่าสิ่งนั้นไม่ควรได้ชื่อว่าเป็นกฎหมาย

มาตรฐานขั้นต่ำในสังคมไทยควรจะเป็นอย่างไร

เกณฑ์ขั้นต่ำก็คงเป็นเกณฑ์ปกติธรรมดาทั่วไป เคารพสิทธิคนอื่น ไม่ใช้กำลังทำร้ายคนอื่นที่มีเหตุผลต่างจากตัวคุณ เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำเหมือนเวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน มันเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อไหร่ที่มีการทำร้ายกันคือคุณละเมิดเกณฑ์ขั้นต่ำ ทะเลาะยังไง ก็ทำร้ายร้ายกายไม่ได้

โดยทั่วไปหลักที่คิดกันมาแล้ว การเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น ไม่ใช้กำลังทำร้ายคนที่มีความเห็นต่าง ควรเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่สังคมไม่ควรจะก้าวล่วง ต่อให้เราไม่เห็นด้วยกับเขา ถ้าคนที่แสดงความเห็นออกมาโดยไม่ได้ใช้กำลังบีบบังคับให้คนอื่นคล้อยตามเขา ผมคิดว่าสังคมก็ควรต้องฟัง ถ้าสังคมไทยอดทนกับลักษณะแบบนี้ได้ สังคมก็จะพัฒนาไปสู่ความเป็นอารยะได้

ที่ผมเน้นประเด็นนี้เพราะสังคมไทยเวลาเห็นไม่ตรงกัน ต้องทำร้ายกันในทางกายภาพอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักเคารพความเห็นที่ต่างไป เป็นสิ่งที่สังคมต้องอดทน ต้องฝึกรับฟังความเห็นต่าง ถ้าสังคมไม่ถูกฝึก สังคมก็จะไม่โต และจะเกิดสภาพใช้กำลังเข้าแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาจริง ผมไม่ได้คิดว่าสังคมต้องไม่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในสังคม อีกประการหนึ่งคือการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้อง เป็นธรรม ต้องถูกใช้บังคับอย่างเสมอกัน ถ้ามีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เสมอกันเพราะความคิดต่างทางการเมือง ผมคิดว่าอันนี้ก้าวล่วงมาตรฐานขั้นต่ำของการอยู่ร่วมกันในสังคมแล้ว

อาจารย์อธิบายว่าบทบาทของนักวิชาการกับนักการเมืองแตกต่างกัน ที่จริงบทบาทของนักวิชาการกับผู้พิพากษาก็แตกต่างด้วย การใช้อำนาจในระบบราชการถูกแช่แข็งจนตายตัวแล้ว หมายความว่าผู้พิพากษาในฐานะปัจเจกไม่อาจตัดสินในประเด็นเดียวกับอำนาจของ คสช. หรือมาตรา 112 ได้อย่างอิสระ เพราะมีระเบียบให้อธิบดีภาคคุมแนวก่อนออกคำพิพากษา หากผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่ามีปัญหา ก็ออกไม่ได้ คำถามคือเมื่อกลไกของระบบราชการแข็งตัวแล้ว แม้ปัจเจกจะมีอุดมการณ์เพียงใดก็ทำอะไรส่วนตัวไม่ได้ เช่นนี้อาจารย์เห็นว่านิติปรัชญาจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร

ขอบคุณท่านผู้พิพากษาท่านนี้มากที่กรุณาถามคำถามนี้มา ทำให้เราเห็นปัญหาอยู่จริงว่าบางคดีถึงอยากจะตัดสินอย่างหนึ่ง แต่ก็ทำไม่ได้ อย่างที่ผมบอกตอนต้น เอาเข้าจริงแล้ว ผู้พิพากษาก็เป็นกลไกหนึ่งในระบบราชการของรัฐ เป็นตัวปัจเจกบุคคล ผมเข้าใจว่าผู้พิพากษาหลายท่านอาจต้องการมีอุดมการณ์บางอย่าง อาจจะเหมือนผมก็ได้ แล้วต้องการแสดงออก แต่ทำไม่ได้ภายใต้ของจำกัดของระบบที่เป็นอยู่ ผมไม่เคยเรียกร้องให้ท่านต้องทำอะไรมากไปกว่าที่ท่านพึงกระทำ ที่ท่านทำได้

ในกรณีนี้ ในเบื้องต้นถ้าทำไม่ได้ ระบบมันแข็งตัว ถามว่าทำอะไรได้บ้างไหม ผมก็คิดว่าไม่ถึงขนาดที่จะไม่มีหนทางเลย แน่นอน ผมไม่รู้ระบบเซ็นเซอร์เป็นยังไง ถ้ามันมีระบบแบบนั้น ก็ต้องบอกว่าสำนวนนี้ต้องให้คนอื่นเป็นคนทำ เพราะถ้าท่านทำแล้วมีความเห็นแบบนี้ ท่านอ้างหลักอิสระของผู้พิพากษาว่ามันเป็นอย่างนี้ ผมคิดว่าในทางปฏิบัติจริงๆ บางทีการจ่ายสำนวน ผมไม่แน่ว่าเขาจ่ายกันยังไง เพราะระบบของบ้านเราขาดหลักเกณฑ์ที่เรียกว่าหลักการรู้ตัวผู้พิพากษาล่วงหน้า ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำคัญอันหนึ่ง แล้วทำให้ประชาชนไม่สามารถรู้ตัวผู้พิพากษาก่อนจะมีคดีเกิดขึ้นได้ แต่อย่างน้อยในทางกฎหมายมีการเขียนหลักพวกนี้อยู่ แต่ถ้าทำไม่ได้โดยข้อจำกัดอะไรบางอย่าง ผมก็รับได้นะ ถ้าโดยส่วนตัวท่านได้พยายามแล้ว แต่ก็ทำไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดตอนที่มีการทำคำพิพากษา ผมคิดว่าหลักเกณฑ์บางอย่างอาจจะมีส่วนในแง่การเขียนคำพิพากษาบางประเด็นให้มันเบาลง

"แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะบอกได้ว่ากฎเกณฑ์นั้นมันไม่สามารถทนทานได้แล้ว กุสตาฟบอกว่าอยู่ที่สำนึกของคนแต่ละคน กับอยู่ที่ว่าในตอนออกกฎหมายมาคนที่ออกได้คิดถึงความยุติธรรมบ้างไหม ถ้าตอนออกกฎหมาย คนออกกฎหมาย คนสั่งการไม่ได้คิดถึงความยุติธรรมเลย และตัวกฎเกณฑ์นั้นอยุติธรรมอย่างรุนแรงที่สุด เราต้องปฏิเสธว่าสิ่งนั้นไม่ควรได้ชื่อว่าเป็นกฎหมาย"

เช่น คดีของคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ก่อตั้งพรรคเกรียน ที่มีสโลแกนว่าไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง ที่ถูกฟ้องคดีเรื่องไม่มารายงานตัวต่อศาล สังเกตว่าศาลชั้นต้นทำอะไรบางอย่างได้ เขาพิพากษาโดยปรับคุณสมบัติ 500 บาท แต่คำพิพากษานั้นก็จะไปถูกปรับในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ผมไม่ทราบว่าผู้พิพากษาเป็นใคร แต่ชื่นชมท่านอยู่ ท่านบอกว่าตอนที่มีคำสั่งให้มารายงานตัวยังไม่มีโทษกำหนดว่าถ้าไม่มา โทษคืออะไร โทษถูกกำหนดในประกาศฉบับหลัง ท่านก็บอกว่ากรณีนี้มีการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายในทางอาญา เพราะในขณะที่มีการเรียก ยังไม่มีการกำหนดโทษเอาไว้ โทษถูกกำหนดในภายหลัง เพราะฉะนั้นการฟ้องว่าขัดขืนคำสั่ง คสช. จึงถูกยกฟ้องไป แต่ก็ยังถือว่าหัวหน้า คสช. มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ก็ถือว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ลงโทษปรับ 500 บาท อันนี้เป็นตัวอย่างว่าไม่ถึงขนาดว่าศาลทำอะไรไม่ได้เลย ถึงระบบจะตรึงแน่นหนายังไงก็ตาม ก็ยังต้องใช้คนเป็นกลไกดำเนินการไป

ผมเข้าใจว่าบทบาทของผู้พิพากษากับนักวิชาการต่างกัน อันนี้จริง เวลาผมวิจารณ์ผู้พิพากษาหรือคำพิพากษาผมเข้าใจว่าท่านตัดสินในบริบทหนึ่ง แต่ผมก็มีความเห็นบางอย่างที่เสนอไป แล้วก็ไม่ได้เห็นว่าผู้พิพากษาทั้งหมดจะเห็นอย่างนั้น มีผู้พิพากษาอีกหลายคนที่ผมเคารพนับถือ ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครอง มีคนหลายแบบอยู่ ในแง่วิชาการก็เหมือนกัน ผมเป็นนักวิชาการที่อยู่ในโครงสร้างเหมือนกัน มันก็มีบางอย่างที่ผมทำไม่ได้ แต่อะไรที่ทำได้ ผมก็พยายามทำ ส่วนอะไรที่ท่านทำได้หรือไม่ได้ ผมไม่ทราบ ผมเพียงแต่บอกว่าถ้าอะไรที่ทำได้ในการจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้กว้างขวางขึ้น อะไรที่จะสามารถลดทอนความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาคลงได้ด้วยอำนาจของตัวเอง ผมคิดว่าก็ทำ

ผมไม่ได้บอกว่าที่ศาลชั้นต้นตัดสินในคดี บก.ลายจุด มันดีที่สุด มันไม่มีวิธีอื่น แต่อย่างน้อยผมเห็นว่าศาลพยายามทำอะไรบางอย่าง แล้วเป็นสิ่งที่ในระยะยาวน่าชื่นชม อย่างที่ท่านถามมาผมเข้าใจความอึดอัดในบางกรณีอยู่ มีคนบอกให้ผู้พิพากษาลาออก ผู้พิพากษาลาออกก็เรียกร้องจากผู้พิพากษามากเกินไป  ถ้าลาออกไปแล้ว เขาก็ตั้งคนอื่นมาใหม่ได้ มีคนต้องการจะเป็นอีกเยอะแยะ แต่เหตุผลทั้งปวงเหล่านี้ที่เป็นข้อจำกัดทั้งหมดอาจจะไม่สามารถ Justify ได้ทั้งหมด มันอาจจะ Justify หรือสร้างคำที่เป็นข้อแก้ตัวได้บางเรื่องบางประเด็น บางเรื่องก็ไม่ได้ ที่นี้เรื่องไหนได้หรือไม่ได้ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องตรวจสอบกันต่อไป

ผมให้กำลังใจท่าน ถ้าสิ่งที่ผมพูดวันนี้ทำให้ท่านพอจะปรับอะไรได้บ้าง ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ มันเสี่ยง ผมก็ไม่เรียกร้องให้ท่านต้องทำ ผมเข้าใจความเสี่ยงเรื่องแบบนี้อยู่

ส่วนนิติปรัชญาจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาอะไร ยังไง นิติปรัชญาอาจไม่ได้เป็นศาสตร์ที่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มันเพียงแต่ทำให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น นิติปรัชญาไม่ได้เสนอคำตอบเดียวว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันอาจทำให้เราเห็นเงื่อนแง่อะไรหลายอย่างที่เราอาจจะไม่เห็น หรือบางทีทั้งชีวิตเราไม่เคยตั้งคำถามกับมันเลย แล้วนี่คือประโยชน์ของนิติปรัชญา ผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูปเพียงคำตอบเดียว โลกนี้ซับซ้อนเกินกว่าคำตอบสำเร็จรูปคำตอบเดียวกับปัญหาบางอย่าง แต่ผมคิดว่าการที่เรารู้ถึงคำถาม เรารู้ถึงความพยายามในการตอบคำถามเหล่านั้นจากแง่มุมที่ต่างกัน อาจพอทำให้ในบางสถานการณ์ เราอาจหยิบเอาอะไรบางอย่างมาใช้ได้เหมือนกัน เช่น สถานการณ์หลังเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วต้องมีการบังคับใช้กฎหมายของนาซีในบางเรื่อง ศาลก็หยิบเอาความคิดทางนิติปรัชญาของกุสตาฟ ราดบรุคมาใช้ตัดสินคดี มันก็อาจจะช่วยได้ แต่ทุกอย่างขึ้นกับบริบทของสถานการณ์นั้นๆ

เหมือนที่ผมบอกว่ารัฐประหารสำเร็จเด็ดขาดแล้ว ศาลไม่อาจทำอะไรได้มากนักหรอกในเวลานั้น เพราะประชาชนแพ้แล้ว ไม่สามารถรักษาระบอบเดิมเอาไว้ได้แล้ว อันนี้อาจจะจริง แต่เมื่ออำนาจของทหารหมดลงไปแล้ว อันนี้ต้องตั้้งคำถามแล้วว่ายังทำอะไรไม่ได้อีกหรือ ผมเห็นว่าปัจจุบันนี้ประกาศคำสั่งรัฐประหารบางฉบับที่ไม่เกี่ยวกับกลไกทางธุรกิจ หรือประกาศที่เมื่อเลิกทันทีแล้วจะก่อให้เกิดผลกระเทือนต่อธุรกิจ แต่มันอาจมีบางฉบับที่กระทบต่อสิทธิโดยตรง แล้วทหารพ้นอำนาจไปสามสิบสี่สิบปีแล้ว แต่ผมเห็นว่าในบางคดี ศาลยังบังคับใช้อยู่ ผมคิดว่าอันนี้ต้องตั้งคำถามแล้วว่าทำไมคุณยังบังคับใช้กฎหมายอันนั้นอยู่

หรือในสภาวะการณ์ที่ประเทศเคลื่อนตัวเข้าสู่รัฐธรรมนูญถาวรแล้ว ถามว่าคุณจะบังคับใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้นอย่างเต็มที่เหมือนกับเรามีรัฐประหารใหม่ๆ ไหม ผมคิดว่าผู้พิพากษาต้องตรึกตรองดู ผมคงไม่สามารถไปเปลี่ยนโครงสร้างที่แข็งและตรึงอยู่แบบนี้ของระบบราชการได้ แต่ผมไม่คิดว่ามันทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าแต่ละคนช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย มันก็เปลี่ยนได้ ขอให้เรามีทัศนะที่ถูกต้องต่อสิ่งนั้น มันก็จะค่อยเปลี่ยนได้เอง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่เคยสิ้นหวังเลย ที่ผมพูดมาแต่ต้นยืดยาว ผมก็ไม่คิดว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ในฉับพลันหรือแม้แต่ในชั่วชีวิตผม แต่อย่างน้อยเราได้พยายาม สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จ แต่อยู่ที่ว่าเราได้พยายามทำมันแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดือน ก.พ. 2561 ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง 23,114 คน

Posted: 22 Mar 2018 05:13 AM PDT

เดือน ก.พ. 2561 มีผู้ประกันตนประกันสังคม ม.33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 130,419 คน ถูกเลิกจ้าง 23,114 คน

 
 
22 มี.ค. 2561 จากข้อมูล เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ก.พ. 2561 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน ก.พ. 2561 การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคม มีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,858,657 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกันเดือน ก.พ. 2560 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,509,866 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 348,791 คน 
 
 
ด้านสถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม : SSO) จากข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2561 มีผู้ว่างงานจำนวน 130,419 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ก.พ. 2560) ซึ่งมีจำนวน 129,558 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคม 2561) ซึ่งมีจำนวน 132,294 คน โดยมีอัตราการหดตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -1.42และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน ก.พ. 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.20 มีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ม.ค. 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.23 ทั้งนี้จากข้อมูลอัตรา การว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน ก.พ. 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 มีอัตราการว่างงานเทียบเท่ากับเดือน ม.ค. 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.3 
 
 
ด้านสถานการณ์การเลิกจ้าง อัตราการเลิกจ้าง ลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน ก.พ. 2561 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 23,114 คน คิดเป็นร้อยละ 0.21 มีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2561 ที่มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างที่ร้อยละ 0.22 รวมทั้งมีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว ที่มีอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างที่ร้อยละ 0.26
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

15 ปีสงครามอิรัก: องค์กรในสหรัฐฯ เรียกร้องชดเชยผู้เสียหาย เคลื่อนไหวเพื่อสันติระดับโลก

Posted: 22 Mar 2018 05:05 AM PDT

ในช่วงครบรอบ 15 ปี ที่สหรัฐฯ บุกอิรัก กลุ่มพิทักษ์สิทธิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ระบุว่าสงครามได้สร้างความเสียหายต่อพลเรือนจำนวนมาก เปิดโอกาสให้มีการก่ออาชญากรรมสงคราม โดยเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหายต่อผู้รอดชีวิตจากสงคราม รวมทั้งเรียกร้องสันติภาพระดับโลก

ทหารสหรัฐอเมริกาที่กรุงแบกแดด วันที่ 13 พ.ย. 2546 (ที่มา: แฟ้มภาพ/John L. Houghton/archives.gov/Wikipedia)

กลุ่มพิทักษ์สิทธิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ (CCR) ที่มีสำนักงานในนิวยอร์กออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้มีความสนใจในการสูญเสียชีวิตของปะชาชนที่เกิดจากสงครามอิรัก รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่และบรรษัทต่างๆ ไม่ได้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่พวกเขาก่อไว้

สหรัฐฯ เริ่มสงครามอิรักมาตั้งแต่ปี 2546 กลุ่ม CCR มองว่าการที่สหรัฐฯ เข้าไปทำสงครามในตะวันออกกลางเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิสขึ้น จากการทำให้เกิดการแบ่งแยกทางนิกายศาสนา และการตั้งคุกสหรัฐฯ ในอิรักการสู้รบยังส่งผลให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัย รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นทางสุขภาพและทางจิตใจต่อผู้คนที่มีส่วนร่วมในการสู้รบ

ถึงแม้ว่าบารัก โอบามา จะเคยอ้างว่าสงครามอิรักจบลงแล้วในปี 2554 แต่ในความเป็นจริงพื้นที่อิรักยังคงมีสงครามที่สหรัฐฯ มีส่วนร่วมอยู่ และจากการปฏิบัติการทางอากาศเพื่อโจมตีกลุ่มไอซิสโดยสหรัฐฯ ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามกลุ่ม CCR ก็แถลงว่าในอิรักเองก็มีกลุ่มแนวทางก้าวหน้าที่ยังคงดำเนินกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมและความก้าวหน้าในประเด็นต่างๆ ของพวกเขาต่อไปถึงแม้ว่าต้องเผชิญความยากลำบาก ทำให้กลุ่ม CCR แสดงตัวว่าพวกเขาก็จะร่วมกับกลุ่มหัวก้าวหน้าในอิรักช่วยเรียกร้องให้มีการชดเชยและการให้สหรัฐฯ รับผิดชอบต่อการกระทำในอิรัก อีกทั้งยังแถลงว่าในยุคสมัยนี้เป็ยยุคสมัยที่ต้องการการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามมากกว่าเดิม

แถลงการณ์ของ CCR ออกมาหลังจากที่องค์กรฝ่ายก้าวหน้าทำการประชุมผ่านวิดีโอเปิดเผยว่า "เพราะสงครามกระทบพวกเราทั้งหมด และการเรียกร้องสันติภาพควรจะมาจากทุกที่"

องค์กรที่ชื่อโกลบอลคอลล์ฟอร์พีซซึ่งมี เบอร์นี แซนเดอร์ส ส.ว. หัวก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตเข้าร่วมด้วย แซนเดอร์สแถลงว่าประชาชนในสหรัฐฯ และทั่วโลกต่างก็เบื่อหน่ายการใช้เงินนับหลายพันล้านไปกับการซื้ออาวุธต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธนิวเคลียร์, เครื่องบินรบ, ขีปนาวุธ, ระเบิด, และรถถัง ทำให้ประชาชนควรจะร่วมมือกันในการเรียกร้องสันติภาพแทนสงครามและเรียกร้องการพัฒนาทางการทำลายล้าง

ราเอ็ด จาร์ราร์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเด็นตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือประจำแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลสหรัฐฯ กล่าวว่าในขณะที่ผู้คนกังวลเรื่องอาจจะเกิดสงครามกับเกาหลีเหนือ ควรจะมีการมองผลกระทบของสงครามที่เกิดกับมนุษย์ให้มากขึ้น นอกจากชาวอิรักจะเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในช่วงสงครามอิรัก การสู้รบยังส่งผลกระทบถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยชาวอิรักที่ลี้ภัยไปยังประเทศใกล้เคียง หรือการที่สหรัฐฯ เข้าไปสร้างการแบ่งแยกนิกายในพื้นที่นั้นทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปอีก จาร์ราร์จึงเสนอให้มีการเปิดโปงความน่ารังเกียจของสงครามและให้ขบวนการต่อต้านสงครามใช้มุมมองแบบอำนาจทับซ้อนหลายมิติร่วมมือกับผู้ถูกกดขี่ในประเด็นต่างๆก็อาจจะประสบความสำเร็จ

เรียบเรียงจาก

15 Years After Invasion, Demands for Iraq War Reparations, New Global Peace Movement, Common Dreams, 19-03-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องน่ารู้จากดราม่า 'เฟซบุ๊ก' ข้อมูลรั่วให้บริษัทรณรงค์หาเสียงให้ 'ทรัมป์'

Posted: 22 Mar 2018 04:44 AM PDT

เกิดข้อถกเถียงกรณีข้อมูลส่วนตัวของบุคคลรั่วไหลจากเฟซบุ๊ก ไปยังบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงให้โดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2559 ส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังมีข่าวว่าข้อมูลรั่ว มูลค่าเฟซบุ๊กลดลงถึง 37,000 ล้านดอลลาร์

ที่มา: Facebook/Mark Zuckerberg)

22 มี.ค. 2561 สื่อซีเอ็นเอ็นรายงานถึงสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับข้อถกเถียงประเด็นนี้ เช่นว่าเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลที่คุณโพสต์ลงเฟซบุ๊ก และใครเป็นผู้รับผิดชอบกับเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ไทม์ไลน์เฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลรั่ว 50 ล้านคน จากแอพฯ ทายบุคลิกสู่ผลเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ

เรื่องเริ่มต้นจากการที่เฟซบุ๊กให้อนุญาตอเล็กซานแดร์ โคแกน ศาตราจารย์จิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์รวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลดโปรแกรมแอพพลิเคชั่นของเขาที่ชื่อ "thisisyourdigitallife" ถึงแม้ว่าโปรแกรมดังกล่าวจะอ้างว่าเป็นโปรแกรมแบบทดสอบบุคลิกภาพแต่ทางเฟซบุ๊กก็อนุญาตให้โคแกนเก็บข้อมูลผู้ใช้งานรวมถึงเพื่อนหรือเนื้อหาที่คนๆ นั้นกดไลก์ด้วย ซึ่งเป็นไปตามกฎการใช้งานของเฟซบุ๊กในยุคนั้น

นิวยอร์กไทม์รายงานว่าโคแกนให้ข้อมูลผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านรายชื่อให้กับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเคมบริดจ์อนาไลติกา ซึ่งถือเป็นการผิดกฎของเฟซบุ๊กเอง โดยที่บริษัทนี้กำลังพัฒนาเทคนิคว่าจะทำอย่างไรถึงจะส่งอิทธิพลต่อผู้ลงคะแนนเสียงได้

แม้ว่าเฟซบุ๊กจะบอกว่าทางเคมบริดจ์อนาไลติกาลบข้อมูลไปแล้วในปี 2558 แต่ข้อมูลก็ไม่ได้ถูกลบออกทั้งหมดจากหลักฐานของรายงานหลายชิ้น ขณะที่เคมบริดจ์อนาไลจิกากล่าวต่อนิวยอร์กไทม์วาพวกเขาไม่ได้ใช้บริการนี้ช่วยเหลือการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์

มีการตั้งคำถามกับวิธีการล้วงข้อมูลและใช้ข้อมูลของบริษัทนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่โทรทัศน์ Channel 4 ของอังกฤษรายงานว่าประธานบริหารของเคมบริดจ์อนาไลติกา อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ อาจจะมีส่วนร่วมในการติดสินบนและหลอกล่อนักการเมือง โดยที่นิกซ์แก้ต่างว่ารายงานของ Channel 4 วางบทและตัดต่อแบบไม่ตรงกับความจริงเกี่ยวกับวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัท

กรณีนี้ทำให้เฟซบุ๊กต้องเผชิญกับข้อกังขาในหลายๆ เรื่อง ทั้งจากเรื่องที่เฟซบุ๊กส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งในสหรัฐฯ หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดโปงกรณีที่รัสเซียเข้ามาอาศัยพื้นที่เฟซบุ๊กส่งอิทธิพลต่อการข่าวการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้เฟซบุ๊กต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทั้งการขจัดข่าวปลอม ลดช่องทางการหาเงินของพวกโทรล และทำให้การโฆษณาทางการเมืองมีความโปร่งใสมากชึ้น

แต่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กก็ต้องเผชิญคำถามที่ว่าเฟซบุ๊กมีความโปร่งใสมากขนาดไหนกับกรณีการนำข้อมูลของผู้ใช้ไปใช้งาน พวกเขาต้องตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่สามในเรื่องการนำข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้มากขึ้นหรือไม่ หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่าเฟซบุ๊กควรจะอยู่กับวิธีการขายข้อมูลผู้ใช้ให้โฆษณาและผู้พัฒนาแอพพลิเคชันแบบนี้ต่อไปหรือไม่

เรื่องนี้ยังทำให้นักการเมืองหลายกลุ่มหมายลงมาตรวจสอบในเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ประกาศว่าจะมีการสืบสวนความเกี่ยวข้องระหว่างเฟซบุ๊กกับเคมบริดจ์อนาไลติกา สำนักงานคณะกรรมาธิการข้อมูลข่าวสารของอังกฤษและสภายุโรปก็กำลังทำการสืบสวนในเรื่องนี้ด้วย ขณะที่ ส.ว. พรรครีพับลิกันวิจารณ์ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้คน

เอมี คโลบูชา คณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครตประกาศให้ซัคเคอร์เบิร์กต้องออกมาอธิบายในเรื่องนี้ ส่วนทางการอังกฤษก็ขอหมายค้นสำนักงานเคมบริดจ์อนาไลติกาในลอนดอน สะท้อนให้เห็นว่าการเปิดโปงเกี่ยวกับเคมบริดจ์อนาไลติกาทำให้ภาครัฐมีเป้าหมายตรวจสอบบริษัทไอทีมากขึ้นและในยุโรปก็อาจจะมีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิความเป็นส่วนตัวที่จริงจังขึ้น

เรื่องอื้อฉาวนี้ยังส่งผลให้หุ้นของเฟซบุ๊กตกลงร้อยละ 7 ทำให้มูลค่าของบริษัทไอทีแห่งนี้สูญไป 37,000 ล้านดอลลาร์ด้วย

เรียบเรียงจาก

What you need to know about Facebook's data debacle, CNN, Mar. 20, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: นิติปรัชญา รัฐประหาร และตุลาการ (2)

Posted: 22 Mar 2018 04:31 AM PDT

"การที่ศาลไทยยอมรับว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมาย เป็นเพราะผู้พิพากษาเห็นเช่นนั้นจริงๆ หรือเพราะผู้พิพากษายอมรับสภาวะแห่งอำนาจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในทางจารีตในบริบทของการรัฐประหาร"

เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ 'ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา' ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยวรเจตน์ได้กล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือและสถานการณ์ในปัจจุบันของสังคมไทย

'ประชาไท' ถ่ายทอดเนื้อหาการบรรยายทั้งหมดออกมาดังนี้ (เนื่องจากเนื้อหาการบรรยายมีความยาวมาก ทางประชาไทจึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน)

.............

ศาลกับคำสั่งของคณะรัฐประหาร

สิ่งที่ผมคิดว่าหายไปในสำนักกฎหมายบ้านเมืองในแง่หนึ่งคือ คนที่มีความคิดแบบนักกฎหมายบ้านเมือง แม้แต่เป็นนักคิดใหญ่ๆ ของโลก ถ้าผมเจอตัวเขา ผมอยากจะถามเขา ผมรู้ว่าคุณเป็นนักกฎหมายสายปฏิฐานนิยม มองข้อเท็จจริง เคร่งครัดในทางวิชาการ ไม่มีปัญหา ผมยอมรับได้ แต่ผมจะถามว่าถ้าคุณเป็นคนที่ต้องตัดสินคดี คุณจะตัดสินยังไง

ผมกำลังบอกว่าถ้าเราต้องถามคำถามบางอย่างกับคนที่มีความคิดว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ต้องถามจุดยืนทางมโนธรรมสำนึกของเขาว่าถ้าเป็นอย่างนี้ คุณจะทำยังไง บางคนบอกว่าผมลาออก บางคนบอกว่าไม่ลาออกเพราะยังมีภาระต้องดูแล แต่ผมจะพยายามตีความกฎหมายให้พยายามสอดรับกับความยุติธรรมมากที่สุด ก็เป็นไปได้ แต่อันนี้ต้องเช็คแต่ละคน มันเป็นการวินิจฉัยคนแต่ละคน คือการวินิจฉัยทางศีลธรรมนำแนวคิดทางปรัชญาไปวินิจฉัยไม่ได้ ต้องวินิจฉัยจากคำตอบของแต่ละคนว่าเขาตอบอย่างไร

กลับมาดูบ้านเรา มีเรื่องราวจำนวนมากที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาลกับรัฐประหาร ในหนังสือเล่มนี้ผมได้เขียนไว้ ขอโควทนิดหนึ่ง การที่องค์กรตุลาการหรือศาลไทยถือว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย จะถือได้หรือเปล่าว่าศาลไทยหรือตุลาการไทยรับเอาความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของจอห์น ออสติน มาใช้ในการวินิจฉัยคดี ผมตั้งเป็นประเด็นเอาไว้ เมื่อก่อนผมก็เชื่อว่าเป็นแบบนั้น แต่ตอนหลังผมเปลี่ยนความคิดว่าไม่ใช่

ผมบอกว่าคำถามนี้ยังตอบแน่นอนชัดเจนไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดในการค้นคว้าวิจัยทางข้อเท็จจริงและข้อจำกัดตามกฎเกณฑ์ที่ถือว่าเป็นกฎหมายบ้านเมืองในขณะนี้ ในเบื้องต้นเราอาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์อาจช่วยให้ศาลไทยหยิบฉวยเอามาใช้ตัดสินคดีในลักษณะที่ยอมรับหรือรับรองอำนาจของรัฐประหารได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องใช้เหตุผลหรือศึกษาค้นคว้าอะไรมากนัก เพราะทฤษฎีดังกล่าวโดยพื้นฐานสนับสนุนอำนาจทางความเป็นจริงอยู่แล้ว นี่อาจเป็นข้ออ่อนของสำนักกฎหมายบ้านเมือง

แม้กระทั่งไม่อาจทราบชัดว่าการที่ศาลไทยยอมรับว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมาย เป็นเพราะผู้พิพากษาเห็นเช่นนั้นจริงๆ หรือเพราะผู้พิพากษายอมรับสภาวะแห่งอำนาจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในทางจารีตในบริบทของการรัฐประหาร หรือแม้แต่ผู้พิพากษาตุลาการคนนั้นในทางส่วนตัวเห็นด้วยกับการรัฐประหาร เช่น เคยเข้าสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นตัวแสดงในความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม และระหว่างยึดอำนาจจากรัฐซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่ผู้พิพากษาคนนั้นคัดค้าน หรืออาจจะคิดว่าเมื่อประชาชนไม่อาจต่อต้านรัฐประหารได้แล้ว ศาลก็ไม่มีหน้าที่ต้องต่อต้านเพราะอำนาจตุลาการไม่อาจต่อกรกับรัฐประหารได้ ซึ่งถ้าเป็นประเด็นที่กล่าวมานี้ ก็ต้องยอมรับว่าคำพิพากษาที่ยอมรับว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับทฤษฎีคำสั่งของจอห์น ออสตินน้อยมากหรืออาจจะไม่เกี่ยวข้องเลย

กรณีตัวอย่าง

ถามว่าทำไม เมื่อไม่นานมานี้มีการต่อสู้คดีในศาล ในการต่อสู้คดีในช่วงหลังๆ ผมคิดว่าฝ่ายที่สู้คดีตั้งประเด็นที่แหลมคมมากยิ่งขึ้น มีการสู้คดีอยู่คดีหนึ่งที่ผู้ถูกดำเนินคดีไม่ยอมมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. แล้วเขาสู้ว่า วันที่เรียกเขารายงานตัวนั้น เขายังไม่รู้ว่าการรัฐประหารสำเร็จหรือไม่

ผมเล่าเกร็ดประวัติให้ฟังนิดหนึ่งนะครับ เคยมีเคสนี้เกิดขึ้นในวงการกฎหมาย เมื่อประมาณปี 2528 มีความพยายามยึดอำนาจ ปรากฏว่าคณะทหารที่ยึดอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลไปรายงานตัว หนึ่งในคนที่ถูกเรียกเป็นข้าราชการระดับสูงคือเลขาธิการของหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักงาน คือมีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี ข้าราชการผู้นี้ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของคนที่ยึดอำนาจในเวลานั้น ปรากฏว่าในเวลาต่อมาคณะผู้ยึดอำนาจ ยึดอำนาจไม่สำเร็จกลายเป็นกบฏ ก็เท่ากับเขาไปรายงานตัวกับคนแพ้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากนั้นเขาถูกฟ้องคดีและถูกลงโทษด้วย แต่โทษให้รอลงอาญา เพราะเท่ากับว่าตนเองเป็นข้าราชการ แต่ไปรายงานตัวกับคนซึ่งยึดอำนาจไม่สำเร็จ

ลักษณะนี้ทำให้จำเลยในคดีที่ผมกำลังพูดถึงยกประเด็นนี้มาสู้ในศาลยุติธรรม คดีนี้ไม่ใช่คดีผมนะ เป็นคดีของคนอื่น แต่ก็มีประเด็นที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้เลยยกขึ้นมาพูดเพื่อให้เห็นทัศนะบางอย่างของศาล เพื่อจะบอกว่านิติปรัชญาจะช่วยอะไรเราได้บ้าง

"การที่ศาลไทยยอมรับว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมาย เป็นเพราะผู้พิพากษาเห็นเช่นนั้นจริงๆ หรือเพราะผู้พิพากษายอมรับสภาวะแห่งอำนาจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในทางจารีตในบริบทของการรัฐประหาร"

เขาก็บอกว่า ตอนที่เรียกรายงานตัว เพิ่งเกิดรัฐประหารได้วันเดียว เขายังไม่รู้ว่าสำเร็จหรือไม่ แล้วเขาก็พูดถึงว่าการรัฐประหารสำเร็จจะดูจากไหน หนึ่งในข้อต่อสู้ของเขาคือ ตอนที่เรียกตัวเขายังไม่มีพระราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง เขาก็ใช้เรื่องนี้เป็นเกณฑ์ เพราะเขาไม่รู้จะเอาอะไรเป็นเกณฑ์บอก เขาก็บอกว่าเขามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการต่อต้านการรัฐประหารด้วย

ประเด็นคือพอยกขึ้นมา ศาลกลับตัดข้อแย้งนี้ โดยบอกว่าเป็นประเด็นซึ่งไม่สมควรยกขึ้นมา แล้วก็บอกว่าหลังการยึดอำนาจ มันเกิดประสิทธิภาพแล้ว วงการข้าราชการยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ยึดอำนาจแล้ว เพราะฉะนั้นต้องเป็นกฎหมายแล้ว เมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรัฐประหารก็มีความผิด อันนี้คือแนวของศาล

คำถามคือทำไมศาลวินิจฉัยแบบนี้ ความคิดว่ารัฐประหารสำเร็จตั้งแต่วันยึดอำนาจ มีปัญหาในตัวมันเองเหมือนกัน เพราะมันสร้างความไม่แน่นอนในสิทธิและหน้าที่ของบุคคล คือสำนักกฎหมายบ้านเมืองนั้น กฎหมายต้องมีความแน่นอน คนจะได้รู้ว่าเขาต้องทำหรือไม่ต้องทำอะไร ในสภาวะของความไม่แน่นอน ถ้าเราเอาสิ่งซึ่งสำเร็จทีหลัง ย้อนกลับไปใช้กับคนที่ไม่รู้ในเวลานั้นว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ก็ดูจะไม่เป็นธรรม มันเคยมีเคสที่ผมยกไปก่อนหน้านี้ว่ามีบางคนเขาเห็นว่ามันสำเร็จ เขาก็ไปรายงานตัว แล้วตอนหลังมันไม่สำเร็จ

แต่ไม่ว่าจำเลยจะต่อสู้ด้วยมูลเหตุจูงใจใดๆ ก็ตาม ประเด็นคือศาลถูกบังคับให้ต้องชี้ ประเด็นคือมันเป็นเรื่องยากสำรับศาล เวลาที่ผมพูดเรื่องนี้ ผมเข้าใจผู้พิพากษาศาล ลูกศิษย์ผมจำนวนไม่น้อยก็เป็นผู้พิพากษา เวลาที่พวกเขาต้องตัดสินปัญหาพวกนี้ มันเป็นประเด็นในทางการเมืองยิ่งกว่าประเด็นในทางกฎหมาย ที่ว่ารัฐประหารสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ถามว่าเขาจะต้องให้เหตุผลอะไร อย่างไร อะไรเป็นเครื่องประกอบการให้เหตุผลของเขา อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะสุดท้ายไม่ว่าการรัฐประหารจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม มันเกิดคดีขึ้นในบริบทของการใช้กฎหมายเข้ามาตรวจสอบหลังข้อเท็จจริงแล้ว ในแง่นี้ศาลต้องสมมติตัวเองด้วยว่าถ้าตัวเองเป็นคนถูกเรียกในสถานะนั้น ตัวเองจะทำอย่างไร โดยคำนึงถึงคนอื่นกันและในบริบทอื่นๆ ประกอบกัน

อีกเคสเกิดขึ้นที่ศาลปกครอง ขออนุญาตไม่เอ่ยเลขคดี ข้อเท็จจริงคือมีการโยกย้ายตำรวจ ต่อมาตำรวจที่ถูกย้ายเห็นว่าคำสั่งโยกย้ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลยฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอน ปรากฏว่าศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปจนเสร็จสิ้นการแสวงหาข้อเท็จจริง หมายความว่าใกล้จะตัดสินแล้ว หัวหน้า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ออกคำสั่งว่าการแต่งตั้งโยกย้ายที่ทำมา ที่เป็นวัตถุแห่งคดีนี้ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด ปัญหาก็คือผู้พิพากษาในคดีนี้จะทำอย่างไร ผมให้ท่านลองคิดดูว่าถ้าท่านเป็นศาลท่านจะทำอย่างไรถ้าเกิดเหตุการณ์นี้

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดสั่งจำหน่ายคดีบอกว่าศาลไม่สามารถออกคำสั่งบังคับได้ เพราะคำสั่งโยกย้ายเหล่านั้นถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว เขาก็อาจจะบอกว่า ก็อาจจะถูกนะ เพราะตัวรัฐธรรมนูญปี 2557 ก็เขียนเอาไว้

เราได้ตัวอย่างที่พอจะบอกได้ว่า ศาล ทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรมอย่างน้อยในบางคดี ยอมรับสภาวการณ์ว่าถ้าการยึดอำนาจสำเร็จ โดยรัฐธรรมนูญก็มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมา เขาก็ดำเนินการตามนั้นให้

คำวินิจฉัยที่ปกป้องสิทธิของประชาชน

ทีนี้เราลองดู เวลาที่ผมพูดเรื่องนี้ ผมไม่เคยเรียกร้องให้ผู้พิพากษาจะต้องสู้กับคณะรัฐประหาร ผมคิดว่าเป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปสำหรับปัจเจกบุคคลแต่ละคน ผมไม่เรียกร้องทางศีลธรรม เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะตัดสินใจเอาเองว่าต้องทำอย่างไร แต่ผมว่ามันอาจมีเงื่อนแง่บางอย่าง หรือผมจะเสนอข้อเสนอบางอย่างที่อาจช่วยทำให้ศาลเห็นประเด็นต่างๆ ในแง่ของการตัดสินคดี คือเรามาช่วยกัน เพื่อทำให้สิทธิของพี่น้องประชาชนถูกปกป้องได้มากที่สุดในสภาวะนี้

ผมเรียนอย่างนี้ ในเคสศาลยุติธรรม ถ้าจุดของเวลาไม่ชัด ศาลต้องยกประโยชน์ เพราะว่าเรื่องนี้จะกระทบอะไรกับการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐประหารหรือเปล่า เพราะเขายึดกุมอำนาจได้แล้ว ถูกไหมครับ ศาลอาจจะมองว่าถ้าไม่บังคับการตามให้ มันจะกระทบการบริหารราชการแผ่นดินหรือเปล่า คำสั่งของคนที่ยึดอำนาจบางอย่าง มันไม่บังคับไม่ได้ เช่นคำสั่งจ่ายเงินเดือน คุณจะไปบอกว่าคำสั่งจ่ายเงินเดือนไม่ชอบได้ไหม ไม่ได้ แปลว่าสภาวการณ์ในความเป็นจริงมีบางส่วนที่เราต้องรับ ถ้าคุณบอกทุกอย่างใช้ไม่ได้เลย มันไม่ได้หรอก เราต้องคิดในทางปฏิบัติด้วย

แต่บางส่วนที่กระทบกับปัจเจก กระทบกับสิทธิ สิ่งนี้ศาลทำอะไรได้บางอย่างเหมือนกัน เช่น ถ้ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ ในช่วงสามสี่วันแรก อย่างนี้คุณจะมีวิธีการออกคำวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลอย่างไร จะเรียกว่าศาลปะทะคณะรัฐประหารไหม ก็ไม่ อีกอย่างหนึ่ง บางทีตัวคำสั่งเรียกนั้น มันสัมฤทธิ์ผลไปเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าจับได้แล้ว ฟ้องคดีแล้ว มันสัมฤทธิ์ผลไปตามความมุ่งหมายของคนที่ออกคำสั่งเรียกแล้ว ศาลอาจต้องเอาประเด็นนี้มาประกอบ ในแง่ของการตัดสินด้วย อันนี้ไม่ใช่จะบอกว่า ถ้าศาลเห็นว่ารัฐประหารสำเร็จ ไม่ทำตามถือว่าผิด มันต้องดูบริบทบางอย่างประกอบทั้งความไม่แน่นอนในช่วงนั้นและความสัมฤทธิ์ผลไปแล้วของคำสั่งคณะรัฐประหาร

ผมไม่ได้บอกให้ศาลต้องไปต่อต้านคณะรัฐประหาร ผู้พิพากษาไม่มีปืนจะไปต่อต้านยังไง เขามีแต่เขียนสำนวน นั่งอยู่บนบัลลังก์ แต่คุณมีบางวิธี ถามว่านอกจากเคสที่เกิดที่ศาลปกครองที่ผมพูดถึงแล้วจะทำอะไรได้อีก คือมีการออกคำสั่งมาว่าทุกอย่างถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ในระดับที่เบาที่สุด ก็อาจจะยาก ถ้ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ว่าคำสั่งเหล่านั้นชอบด้วยกฎหมาย เขาเลยต้องจำหน่ายคดี ประเด็นที่ผมจะพูดคือจะจำหน่ายคดีเฉยๆ ไหมหรือควรทำอะไรมากกว่านั้น อันนี้ผมบอกกับหลายคน รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาที่จะไปเป็นผู้พิพากษา ทำมากกว่านั้นได้ไหม ผมคิดว่าทำได้

ถ้ากระบวนการมาถึงจุดสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง แปลว่าข้อเท็จจริงในคดีครบแล้ว ศาลรู้แล้วว่าคำสั่งนั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลควรทำอะไรบ้างและทำโดยไม่ขัดแย้งกับคณะรัฐประหาร ศาลก็บอกว่าข้อเท็จจริงที่พิจารณาฟังได้ว่าคำสั่งโยกย้ายชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชี้ได้ ศาลพึงชี้ ไม่ใช่จำหน่ายเลย แต่ว่าศาลต้องบอกต่อไปว่าโดยเหตุที่บัดนี้มีคำสั่งแบบนี้ออกมาแล้ว ศาลต้องผูกพันรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีกฎเกณฑ์แบบมาตรา 44 ศาลอำนาจน้อยกว่าไปปะทะไม่ได้ ศาลจำเป็นต้องยอมจำหน่ายคดี แต่ก่อนจำหน่ายคดีศาลบอกอะไรบางอย่างในคำพิพากษานั้น

"อุดมการณ์เป็นผู้ร้ายตัวจริง ไม่ใช่แนวคิดกฎหมายบ้านเมืองหรอก แล้วบางทีคนที่ตัดสินก็ไม่รู้ตัวด้วย เขาทำไปแบบอัตโนมัติ"

มีคนบอกว่า คนที่ฟ้องคดีก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เพราะคำสั่งโยกย้ายไม่ได้ถูกเพิกถอน จริงครับเขาไม่ได้อะไร แต่มันมีอะไรบางอย่างปรากฏเป็นคำอยู่ในคำพิพากษา คนอ่านก็จะรู้ว่าคำสั่งไม่ชอบ แต่ศาลหมดอำนาจในการเพิกถอน เพราะถูกกำกับในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้วว่าคำสั่งนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลทำอะไรได้มากกว่าจำหน่ายเฉยๆ ซึ่งเวลาที่ผมเสนอเรื่องนี้ ผมนึกถึงเผื่อว่าผมต้องเป็นศาลด้วย เวลาเราเรียกร้องกับคนอื่น เราต้องอยู่ในภาวะที่ว่าถ้าเป็นเรา เราก็ทำได้เหมือนกัน ผมไม่เคยเรียกร้องอะไรจากคนอื่นที่ตัวผมเองอาจทำไม่ได้ บางอันผมยังทำไม่ได้เลย ถูกไหมครับ แต่ว่าบางเรื่องเราเรียกร้องได้

นิติปรัชญาตรวจสอบอุดมการณ์

ถามว่ามันกระทบอะไรกับรัฐประหารไหม มันไม่กระทบ คุณก็จำหน่ายคดีอยู่ดี แต่วันหน้ามันอาจจะมีการรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาและเยียวยาให้ความเป็นธรรมเขาได้ในอนาคต เราต้องคิดถึงข้างหน้าด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมาผมกำลังบอกว่าการที่บ้านเรายอมให้คำสั่งของผู้ยึดอำนาจสำเร็จถือเป็นกฎหมาย ผมว่าบางทีแนวคิดของศาลเรื่องนี้อาจเกี่ยวพันกับกฎหมายหรือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ไม่มากนักหรืออาจจะน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลัง เราจะชี้ไปที่ไหน ผู้ร้ายตัวจริงที่ทำให้ท่าทีในวงการกฎหมายทั้งหมด ขององค์กรตุลาการเป็นอย่างนี้ คือใคร คืออะไร

คำตอบชั่วคราวของผมนะ มันคืออุดมการณ์ที่อยู่ในใจของผู้พิพากษาแต่ละคน ตัวอุดมการณ์นี้แหละเป็นตัวบ่งชี้ว่าเมื่อถึงคราวที่คุณตัดสินคดีที่ยุ่งยากแบบนี้ คุณเผอิญเกิดมาเป็นผู้พิพากษาในช่วงที่การเมืองเป็นแบบนี้ ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของชีวิต คุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เพราะสุดท้ายกฎหมายคือการให้ความหมาย คุณปฏิเสธสิ่งที่เป็นอุดมการณ์กำกับการตีความกฎหมายไม่ได้ อันนี้อาจสะท้อนว่าอุดมการณ์ที่เรียกว่าประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้หยั่งรากลงลึกในบ้านเรา

อุดมการณ์เป็นผู้ร้ายตัวจริง ไม่ใช่แนวคิดกฎหมายบ้านเมืองหรอก แล้วบางทีคนที่ตัดสินก็ไม่รู้ตัวด้วย เขาทำไปแบบอัตโนมัติ

นิติปรัชญาช่วยให้คนที่เป็นผู้พิพากษาตรวจสอบตัวเอง ตรวจสอบว่าจริงๆ อุดมการณ์เป็นแบบไหน อะไรถูกอะไรผิด เราพูดเสมอไม่ใช่หรือว่าอุดมการณ์ทางกฎหมายคือนิติรัฐ ประชาธิปไตย ผมคิดว่าแม้คำว่า นิติรัฐ นิติธรรม จะใช้จนเฟ้อมากๆ ทุกคนก็พูดเหมือนกันหมด ผมเห็นว่าในทางการเมืองทุกสีพูดเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือมันจริงไหม สุดท้ายคุณวินิจฉัยอย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องอุดมการณ์ การแก้ไขลึกลงไปถึงระดับอุดมการณ์ มันไม่ง่าย ยิ่งในวงการกฎหมาย เราก็รู้ว่านักกฎหมายโดยปกติ โดยลักษณะวิชาชีพของกฎหมายเอง การอบรมบ่มเพาะ มีลักษณะอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ ก่อนเรียนกฎหมายผมยังเขียนบทกวี เขียนโคลงได้เลย พอเรียนเสร็จปุ๊บ เขียนอะไรไม่เป็นเลย มันทำลายจินตนาการอะไรบางอย่างของเราเหมือนกัน

โดยลักษณะวิชายิ่งคุณคิดให้มันเคลียร์ ให้มันชัดเท่าไหร่ มันยิ่งฝังลงไปเท่านั้น แล้วมันก็มีแบบแผน ผู้พิพากษาต้องมีแบบแผน มีการแต่งกาย มันเป็นพิธีกรรมที่หล่อหลอม ทำให้มันเกิดสภาวะแบบนี้ขึ้นโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ว่าใครจะเท่าทันเรื่องพวกนี้ได้มากกว่ากัน นิติปรัชญาจะทำให้เท่าทันเรื่องพวกนี้ได้ ทำให้เราเห็นว่าอุดมการณ์จริงๆ ที่เป็นหลักนำนั้นมันคืออะไร

รัฐธรรมนูญ 2560 และมาตรา 44

ทีนี้มาถึงปัญหาสุดท้ายที่อาจจะยากมาก อาจมีคนถามว่า ตอนนี้มีมาตรา 44 อยู่ ก่อนที่จะมีเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2560 ผมได้มีโอกาสพูดและได้บอกว่า ระวังนะ เพราะในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รับรองการกระทำของคณะรัฐประหารว่าชอบด้วยกฎหมาย มันตามมาถึงในรัฐธรรมนูญ 2560 ถ้ามีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งการมา กระทบต่อสิทธิของบุคคลอย่างในเวลานี้ เช่น สั่งย้าย สั่งลงโทษทางวินัย ซึ่งในช่วงที่มีรัฐธรรมนูญ 2560 ผมยังไม่เห็นว่ามีการสั่งการที่กระทบต่อสิทธิบุคคลโดยตรง แต่ว่าบรรดาคำสั่งที่เคยสั่งไว้ก่อน ยังมีผลใช้อยู่เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมยังมีอยู่ มีหลายคนที่ทำงานทางการเมืองแล้วโดนจับ แต่บางเคสอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง ถามว่าตอนนี้วงการกฎหมายไทยและศาลจะทำอะไรได้ไหม เพราะว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญ เนติบริกรพัฒนา เขาไม่ได้อยู่เฉย เขาพัฒนาความสามารถเขียนกฎเกณฑ์รับใช้อำนาจขึ้นไปอยู่ในจุดสูงสุด คือเขียนรับรองให้ทุกอย่างมันชอบอยู่ในรัฐธรรมนูญ บรรดาการใดๆ ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

ลองนึกดูตามสามัญสำนึกธรรมดาว่ามันควรจะเป็นแบบนั้นไหม เราอาจจะต้องแยกพาร์ทของเวลา ในตอนที่มีรัฐประหาร ฝ่ายที่เป็นประชาชนทั่วไปต้านไม่ได้ คุณแพ้ เขายึดกุมอำนาจในเชิงความเป็นจริงสำเร็จ มันก็ก่อให้เกิดระเบียบขึ้นมา ไม่เกิดสงครามกลางเมือง คำถามว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าอยู่ในระบบนี้ดีกว่า จะว่าเขาผิดไม่ได้ เพราะเขาก็รู้สึกว่าไม่วุ่นวาย เกิดระเบียบขึ้น แปลว่าคณะรัฐประหารก็มีความสามารถในการจัดการปกครอง พูดอย่างนี้อย่าหาว่าผมเชียร์คณะรัฐประหารหรือว่าเปิดทาง ผมพูดจากข้อเท็จจริง แปลว่ามันเกิดระเบียบขึ้น กฎหมายถูกใช้กับกลไกต่างๆ แล้วมันเดินตาม ตรงนี้มันเกิดขึ้นจริง

ช่วงแรกของรัฐประหารคือช่วงที่ปลอดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญถูกทำลายลงไป พาร์ทที่สอง เกิดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตอนนี้เราอยู่ในพาร์ทที่สาม อยู่ในพาร์ทที่ว่ามาตรา 44 เข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญถาวร แล้วมันจะอยู่ไปจนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นเราจึงเข้าสู่พาร์ทสุดท้าย เป็นพาร์ทที่สี่ คือไม่มีมาตรา 44 แล้ว ซึ่งต้องรอจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ตอนนี้เราเข้าพาร์ทที่มีรัฐธรรมนูญถาวรและมีมาตรา 44 ที่ใช้ได้ รวมทั้งมีการใช้คำสั่งรัฐประหารที่มีใน 2 พาร์ทแรกที่สืบเนื่องมาในพาร์ทที่ 3 ของเวลา สมมติเวลามีคดีเกิดขึ้นในศาล ศาลทำอะไรได้บ้าง อันนี้คือความเห็นผมและข้อเสนอนะ ผู้พิพากษาหลายท่านอาจจะฟังอยู่ ท่านลองตึกตรองดู ท่าทีของศาลอาจจะต่างไปจาก 2 พาร์ทแรก มันมีเหตุผลทางกฎหมายสนับสนุนความเห็นของผมด้วยว่าทำไม

ถามว่าอะไรเป็นเหตุผล รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ชอบมัน แต่มันมีบทบัญญัติรับรองสิทธิ มีการพูดถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ เขียนเอาไว้ในมาตราต้นๆ ที่บอกว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม และรัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติเรื่องการคุ้มครองสิทธิ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีบทบัญญัติเรื่องมาตรา 44 คำถามคือ เราต้องปฏิบัติกับการสั่งการตามมาตรา 44 ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้ารัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แล้วมีผลต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญนี้ เหมือนกับตอนก่อนหน้าที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่

บางคนบอกว่าต้องทำแบบนั้น เพราะเหตุว่าการกำหนดนิรโทษกรรม รวมทั้งกำหนดบรรดาคำสั่งว่าชอบด้วยกฎหมายเป็นที่สุดนั้น อยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็ตรวจสอบไม่ได้ กฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งต้องพัฒนาความคิดไปสู้กับเขา ความเสียเปรียบคือฝั่งเนติบริกรมีอำนาจหนุนอยู่ อีกฝั่งหนึ่งไม่มี แต่อีกฝั่งมีเหตุผล มีเครื่องมือในการตีความ

ผมเห็นว่าปัจจุบันนี้ ศาลสามารถลดการบังคับตามมาตรา 44 ลงได้โดยผลของรัฐธรรมนูญ 2560 ถามว่าอะไรเป็นเหตุผล คำตอบคือรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติรับรองสิทธิ รับรองเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว คุณจะบอกว่าชุมนุมไม่ได้ มันก็ประหลาด โดยอ้างว่ามีคำสั่ง คสช. และในรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองเอาไว้ แปลว่าถ้าเป็นคำสั่ง คสช. ดำรงอยู่แล้วถือว่าใหญ่กว่า บทบัญญัติที่เป็นคุณค่าจะไม่มีผลอะไรเลยอย่างนั้นหรือ

ต้องบอกว่าไม่ใช่หรอก ในแง่นี้ต้องตีความรัฐธรรมนูญว่าบัดนี้ในรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบ 2 ส่วนอยู่ด้วยกัน คือส่วนที่เป็นการรับรองสิทธิซึ่งเคารพสิทธิ กับส่วนที่รับรองการใช้อำนาจซึ่งไม่เคารพสิทธิ ศาลมีอำนาจตีความลดทอนผลบังคับนี้ลงไปโดยอ้างเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ โดยอาจบอกว่าคำสั่งบางอย่างใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้อย่างจำกัด อันนี้คือท่าทีที่ศาลพึงมี คือศาลไม่ควรบอกว่า อันนี้ฟ้องมา ยกฟ้องหรือต้องบังคับไปตามนั้น โดยที่ไม่ได้พยายามแสวงหาเหตุผลทางกฎหมายอื่นเพื่อจำกัดตัดทอนลง ถ้าเป็นแบบนี้ ผมว่าคราวหน้าเนติบริกรจะไม่สามารถเขียนอะไรแบบนี้ได้อีก คือเขียนไป องค์กรที่ใช้กฎหมายก็จะไม่บังคับให้ เพราะคุณดันเขียนเรื่องคุ้มครองสิทธิด้วย ในใจหลายคนอาจบอกว่าผมกำลังชี้ทางให้พวกเนติบริกร คราวหน้าถ้าเขียนรัฐธรรมนูญ คุณต้องไม่มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิเลย ทำได้ก็ทำเลยครับ มันทำไม่ได้หรอก มันต้องถูกบังคับให้เขียน

ความคิดนำ

ถ้าจะสรุปความสัมพันธ์ทางความคิดของกฎหมายบ้านเมืองกับกฎหมายธรรมชาติ ผมว่าบางทีมันชี้ยากว่าอันไหนถูกหรือผิด แต่ผมมีข้อสรุปเบื้องต้นจากศึกษามา ผมว่าถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย โครงสร้างพื้นฐานเป็นประชาธิปไตย แนวคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองที่เน้นความมั่นคงแน่นอนและนิติฐานะของสิทธิและหน้าที่ ต้องเป็นแนวความคิดนำ ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธแนวคิดกฎหมายธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง แต่แนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองควรเป็นแนวคิดนำ เพราะโดยโครงสร้างพื้นฐาน มันยุติธรรม มันใช้ได้ เพียงแต่อาจมีประเด็นไม่ยุติธรรมอยู่บ้าง แต่คุณก็ว่ากันตามกฎหมาย แก้ไขไปในระบบกฎหมาย และถือว่ากฎหมายที่สภาออกมาเป็นกฎหมาย จะอ้างความยุติธรรมมาปฏิเสธกฎหมายของสภาคงไม่ได้

แต่ถ้าบ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะที่เป็นประชาธิปไตย ความคิดแบบสำนักกฎหมายธรรมชาติควรต้องขึ้นนำ ความคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองต้องถูกลดทอนการใช้บังคับลง

วิชาการกับการเมือง

ประเด็นสุดท้าย ปัจจุบันมีประเด็นเกิดขึ้นระหว่างวิชาการกับการเมือง คุณจะยืนอยู่ตรงจุดไหนในสภาวการณ์บ้านเมืองแบบนี้ คุณจะยืนอยู่ในบทบาทวิชาการหรือจะยืนในบทบาททางการเมือง ผมจะไม่ตอบคำถามนี้โดยตรง ผมขออ้างอิงแนวความคิดของนักคิดบางคนที่ผมเขียนถึงในหนังสือเล่มนี้ และสุดท้ายจะบอกว่าแล้วแต่คนมอง

"ศาลสามารถลดการบังคับตามมาตรา 44 ลงได้โดยผลของรัฐธรรมนูญ 2560 ถามว่าอะไรเป็นเหตุผล คำตอบคือรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติรับรองสิทธิ รับรองเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว คุณจะบอกว่าชุมนุมไม่ได้ มันก็ประหลาด โดยอ้างว่ามีคำสั่ง คสช. และในรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองเอาไว้ แปลว่าถ้าเป็นคำสั่ง คสช. ดำรงอยู่แล้วถือว่าใหญ่กว่า บทบัญญัติที่เป็นคุณค่าจะไม่มีผลอะไรเลยอย่างนั้นหรือ"

มาเคียเวลลี นักคิดชาวอิตาลี พวกเรียนรัฐศาสตร์จะรู้จักชื่อนี้ดี เรียกว่าเป็นคนก่อตั้งศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ เป็นพวกที่นักรัฐศาสตร์ศึกษางานเขียนอยู่จนถึงปัจจุบัน เขาเขียนเรื่อง The Prince หรือ เจ้าผู้ปกครอง พูดถึงอุดมการณ์การเมืองกับปฏิบัติการทางการเมือง เขาบอกว่าคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองหรือคนที่ต้องการได้อำนาจในการปกครอง ต้องเป็นบุคคลที่มีทั้งความกล้าหาญ ปราดเปรื่อง และมีพรสวรรค์ แต่แม้บุคคลนั้นจะมีความปราดเปรื่องสักเพียงใดก็ไม่เพียงพอจะทำให้เขาประสบความสำเร็จในการก่อตั้งระบบระเบียบทางการเมืองใหม่ได้ บุคคลดังกล่าวต้องหยั่งรู้ด้วยว่าเวลาของเขามาถึงแล้วหรือไม่ เขาต้องใช้ความสามารถของเขาให้สอดคล้องกับเวลาอันเหมาะสม มาเคียเวลลีเขียนเจ้าผู้ปกครองเพื่อบอกแก่บุคคลที่มีสัญชาตญาณทางการเมืองและต้องการได้มาซึ่งอำนาจ เพราะเขารู้ว่าเนื้อหาความรู้ทางการเมืองทั้งหลาย หากปราศจากซึ่งอำนาจก็เป็นอุดมการณ์กลวงเปล่าเท่านั้น แปลว่าในแง่นี้ มาเคียเวลลีก็หนุนว่าควรมีปฏิบัติการทางการเมือง แต่คุณต้องรู้ว่าเวลาของคุณมาถึงหรือยัง

อีกฝั่งหนึ่ง พวกนักวิชาการอาจจะได้ประโยชน์จากความคิดของคนนี้คือ กุสตาฟ ราดบรุค (Gustav Radbruch) เป็นหนึ่งในนักนิติปรัชญาชาวเยอรมัน โลกในภาษาอังกฤษรู้จักเขาน้อย แต่เป็นหนึ่งในนักนิติปรัชญาที่ผมนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง ความคิดผมก็ใกล้เคียงกับราดบรุค แม้ในทางการเมืองก็ใกล้เคียงกัน เขามีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ทัศนะทางการเมืองของผมก็ค่อนไปในทิศทางนี้ เขาเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ ตอนหลังกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

มันมีประเด็นว่านักวิชาการควรเข้าไปทำงานการเมืองด้วยหรือไม่ในเวลาเดียวกัน ราดบรุคในช่วงปลายของชีวิตหลังจากที่ผ่านประสบการณ์มาแล้ว เขาบอกว่า ประสบการณ์ในทางการเมืองของเขาบอกให้เขาเห็นว่าการหลอมรวมงานการเมืองกับงานทางวิชาการเข้าด้วยกันนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หมายความว่าถ้าทำงานวิชาการก็อยู่กับวิชาการ ถ้าทำงานการเมืองก็ไปทางการเมือง นี่คือความคิดของราดบรุค จะบอกกับคนซึ่งสนใจวิชาการและการเมืองว่าบทบาทนั้นควรเป็นอย่างไร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.ย้ำผู้มีสิทธิบัตรทอง หากถูกสุนัขกัดรับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าต่อเนื่อง 5 เข็ม ไม่เสียค่าใช้จ่าย

Posted: 22 Mar 2018 04:26 AM PDT

สปสช.ย้ำผู้มีสิทธิบัตรทอง หากถูกสุนัขกัดรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่หน่วยบริการบัตรทองต่อเนื่อง 5 เข็ม ไม่เสียค่าใช้จ่าย ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ลดอัตราการตายจากโรคพิษสุนัขบ้า

22 มี.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าและขณะนี้พบผู้เสียชีวิตหลายราย โดยในกรณีผู้ที่ถูกสุนัขกัดเป็นผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ ซึ่งจัดอยู่ในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา สปสช.ได้กำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยการเบิกจ่ายค่าบริการเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองที่ถูกสุนัขกัดได้รับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องครบ 5 เข็ม ตามแนวทางการรักษาทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงการรักษา

สำหรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หน่วยบริการสามารถเบิกจ่ายชดเชย ดังนี้

กรณีผู้ป่วยเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในหน่วยบริการประจำที่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง การเบิกจ่ายให้รวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.ได้จัดสรรให้กับหน่วยบริการประจำ

กรณีผู้ป่วยเข้าเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในหน่วยบริการที่อยู่ในจังหวัดเดียวกับหน่วยบริการประจำที่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง การเบิกจ่ายให้ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดร่วมกันในจังหวัด ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้มีสิทธิได้

กรณีผู้ป่วยเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในหน่วยบริการข้ามจังหวัด ให้เบิกจ่ายจากกองทุนกลาง สปสช.    

รองเลขาฯ สปสช. กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์เบิกจ่ายข้างต้นนี้เป็นหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ผู้ที่ถูกสุนัขข่วน กัด สัมผัสกับแผลตามร่างกายที่มีสิทธิบัตรทอง สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ยังหน่วยบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้ง 5 เข็ม ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขกัดและสัตว์อื่นๆ กัด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าสามารถได้รับวัคซีนได้ต่อเนื่องทั้ง 5 เข็ม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันจะเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการโรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังแพร่ระบาดขณะนี้ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคนยาแผ่นดินแยกจนถนนใหญ่พัง นักธรณีฯ ชี้เกิดจากธรรมชาติการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก

Posted: 22 Mar 2018 04:23 AM PDT

นักธรณีวิทยาเปิดเผยว่ารอยร้าวระหว่างทวีปที่ทาบผ่านประเทศเคนยากำลังจะทำให้ประเทศในแถบนั้นแยกออกจากทวีปแอฟริกาเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ และล่าสุดการแยกตัวของแผ่นดินก็ก่อปัญหาให้ถนนในเคนยาพังจนใช้การไม่ได้

21 มี.ค. 2561 สื่อเดลีเนชันจากเคนยารายงานโดยอ้างอิงจากกรมทางหลวงเคนยาว่า ถนนมายมาฮิวที่มีการสัญจรคับคั่งขาดออกจากกันจากปรากฏการณ์แผ่นดินแยกซึ่งเป็นผลมาจากแนวรอยเลื่อนของภูเขาไฟส่งผลให้ต้องมีการหยุดการจราจรชั่วคราว

ถึงแม้ว่าจะมีการพูดถึงรอยแยกทางฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกามาเป็นเวลานานแล้ว แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้นักธรณีวิทยาประเมินว่าการแยกตัวของส่วนตะวันออกของแอฟริกาที่อาจจะส่งผลให้ประเทศเคนยาแยกออกไปเป็นทวีปใหม่กับโซมาเลีย แทนซาเนีย และครึ่งหนึ่งของเอธิโอเปีย โดยเคยมีการประเมินว่าแผ่นดินแอฟริกาจะแยกตัวโดยสมบูรณ์ภายในอีก 50 ล้านปีข้างหน้า

รอยแยกที่เคนยาในตอนนี้มีความลึก 50 ฟุต และมีความก้าวมากกว่า 20 เมตร เดวิด อเดเด นักธรณีวิทยากล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมาจากการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลกที่อาจจะทำให้แอฟริกากลายเป็นมีแผ่นเปลือกโลกสองที่คือ แผ่นเปลือกโลกโซมาลี กับแผ่นเปลือกโลกนูเบียนซึ่งเป็นแผ่นเปลือกโลกแอฟริกาดั้งเดิม

กลุ่มนักธรณีวิทยาเคยประเมินว่าแผ่นเปลือกโลกโซมาลีค่อยๆ เคลื่อนที่ออกจากแผ่นเปลือกโลกนูเบียนด้วยอันตราย 2.4 ซม. ต่อปี ในแถบที่มีรอยแยกจำนวนมากของเคนยาถูกเรียกชื่อว่าเกรทรีฟวัลเลย์เริ่มเกิดรอยแยกขึ้นมาตั้งแต่ 25 ล้านปีที่แล้ว โดยมีใจกลางของรอยแยกเป็นภูเขาไฟที่ดังแล้วชื่อว่าภูเขาไฟซุสวา

อเดเดบอกว่าถึงแม้ในช่วงไม่นานนี้พื้นที่แถบเกรทรีฟวัลเลย์จะไม่เห็นการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลกแต่ก็อาจจะมีการเคลื่อนที่ในระดับที่ลึกลงไปกว่าชั้นเปลือกโลกทำให้เกิดผลกระทบขึ้นมาถึงพื้นผิวโลก

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้อเดเดเสนอว่านักวิจัยควรจะทำการศึกษาสำรวจผืนดินในพื้นที่นี้เพื่อทำให้สามารถวางแนวทางถนนและพื้นที่ที่อยู่อาศัยได้เพื่อจัดการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

Transport hit as Narok-Maai Mahiu road cut off, again, Daily Nation, 19-03-2018

The African continent is splitting in two and it's happening faster than we thought, Indy 100, 20-03-2018

Kenya is splitting, and this rift at Suswa is just the beginning, All East Africa, 20-03-2018

Kenya Splitting From Africa to Form New Continent With Tanzania, Somalia and Half of Ethiopia, Kenya ns, 20-03-2018

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: นิติปรัชญา รัฐประหาร และตุลาการ (1)

Posted: 22 Mar 2018 04:18 AM PDT

"ผมกำลังจะบอกกับบรรดานักศึกษาที่เรียนอยู่ตอนนี้ว่า อย่าได้รีบตัดสินใจไปก่อนว่าเราถือธรรมะ ถือความยุติธรรม และด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงถูกตลอดเวลา นี่คือประเด็น นิติปรัชญาจะบอกกับเราว่า เราพึงระวังก่อนที่เราจะตัดสินบางอย่าง เพราะเมื่อเราบอกว่าเราเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว เท่ากับเราผลักคนอื่นเป็นคนไม่ดีเลยทันที และนี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้"

เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ 'ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา' ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยวรเจตน์ได้กล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือและสถานการณ์ในปัจจุบันของสังคมไทย

'ประชาไท' ถ่ายทอดเนื้อหาการบรรยายทั้งหมดออกมาดังนี้ (เนื่องจากเนื้อหาการบรรยายมีความยาวมาก ทางประชาไทจึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน)

..............

ขอเล่าถึงวัตถุประสงค์ของงานนี้ เพราะโดยปกติเวลาที่ผมพูดกับสาธารณะ ผมมักจะออกมาในนามของคณะนิติราษฎร์ ล่าสุดที่ผมมีโอกาสพูดกับสาธารณะคือก่อนมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานี้ งานที่ออกมาในวันนี้เป็นผลพวงจากการลาปฏิบัติราชการ 1 ปี ในปีการศึกษา 2559 ผมได้ลาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และเขียนหนังสือ เมื่อผลงานเสร็จแล้ว ทางคณะนิติศาสตร์ก็เห็นว่าน่าจะได้มีการจัดให้สาธารณะได้รับรู้ว่าอาจารย์ของคณะไปทำอะไรมา จึงเป็นเหตุให้เกิดงานวันนี้ขึ้น

หนังสือที่เป็นผลพวงของการลาครั้งนี้ไม่ได้พิมพ์โดยคณะนิติศาสตร์ แต่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์น้องใหม่ในเครือสำนักพิมพ์อ่าน คือสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นประเดิมสำหรับสำนักแห่งนี้

โดยเหตุที่วันนี้ผมมีโอกาสพูดกับสาธารณะและมีการถ่ายทอดไปผ่านทางเฟสบุ๊คของคณะนิติศาสตร์และคนอื่นๆ ประเด็นที่ผมจะพูดในวันนี้คงไม่ได้อยู่ในหนังสืออย่างเดียว ผมตั้งใจจะพูดถึงเนื้อหาบางส่วนในหนังสือที่ผมคิดว่าสำคัญ พูดถึงโครงสร้างของหนังสือ พูดว่านิติปรัชญาคืออะไร และผมจะใช้โอกาสนี้พูดถึงปัญหาการศึกษานิติปรัชญาในประเทศไทยในทัศนะของผม และประเด็นที่สำคัญที่สุดจะอยู่ในตอนท้ายคือเรื่องนิติปรัชญากับรัฐประหารและเสนอทัศนะบางประการของความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับรัฐประหาร บทบาทของศาลกับการรัฐประหาร และผู้ร้ายตัวจริงที่ทำให้ระบบกฎหมายไทยยอมรับรัฐประหาร

นิติปรัชญาคืออะไร

ผมเริ่มต้นจากหนังสือ ถ้าท่านดูสารบัญ จะเห็นว่าหนังสือใช้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา ปกติแล้วตำรานิติปรัชญาในประเทศไทยจะใช้ชื่อสั้นๆ ว่านิติปรัชญา แต่ผมเรียกว่าประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา นิติปรัชญาคืออะไร สำหรับคนที่เรียนในทางปรัชญาคงทราบว่าวิชาปรัชญาเป็นวิชาที่ตั้งคำถามต่อพื้นฐานของชีวิต เช่น ชีวิตคืออะไร หรืออาจถามว่าโลกที่เราสัมผัสอยู่มีจริงหรือไม่ หรือมีโลกอื่นๆ อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์เหล่านี้อยู่อีก แล้วก็พยายามครุ่นคิดตรึกตรองเพื่อค้นหาคำตอบ เป็นกิจกรรมทางปัญญาอย่างหนึ่ง ความคิดของมนุษย์เมื่อผ่านพ้นยุคตำนานความเชื่อก็เป็นเรื่องในทางปรัชญา คือพยายามครุ่นคิดตรึกตรองต่อปัญหารากฐานของมนุษย์อย่างมีเหตุมีผล

วิชานิติปรัชญาเป็นการตั้งคำถามพื้นฐานในทางกฎหมาย อันเป็นคำถามที่โดยปกติแล้ว ผู้ที่เรียนกฎหมายไม่ถามหรือไม่เป็นประเด็น เช่น คำถามว่ากฎหมายคืออะไร กฎหมายต้องสัมพันธ์กับศีลธรรมและความยุติธรรมหรือไม่ อันนี้เป็นประเด็นหลักๆ ของนิติปรัชญา คือการตั้งคำถามพื้นฐานต่อกฎหมาย แล้วตอบคำถามโดยวิธีการทางปรัชญา

สำนักกฎหมายธรรมชาติและสำนักกฎหมายบ้านเมือง

คำตอบที่มีต่อคำถามข้างต้นมีมากมายหลายประการ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ความคิดของมนุษยชาติต่อเรื่องเหล่านี้ เราจะเห็นว่ามีคำตอบหลักๆ อยู่ 2 คำตอบ คำตอบแรกคือคำตอบที่มองว่ากฎหมายเป็นหลักเกณฑ์บางอย่างที่กำหนดความประพฤติและต้องมีความสัมพันธ์กับศีลธรรมและความยุติธรรม อีกคำตอบหนึ่งคือตอบว่ากฎหมายมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับคนในสังคม มีประสิทธิภาพที่จะทำให้คนปฏิบัติตาม โดยการให้นิยามความหมายของกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องเอาความยุติธรรมหรือศีลธรรมเข้ามาอยู่ในคำนิยามด้วยว่ากฎหมายคืออะไร แน่นอนมีคำตอบที่เป็นสาขาของเรื่องเหล่านี้อีกมากมาย แต่หลักๆ มีอยู่ 2 คำตอบ

คนที่ถือตามแนวทางคำตอบแรกเชื่อว่า กฎหมายต้องมีความเชื่อมโยงกับศีลธรรมหรือความยุติธรรม ถ้าไม่เชื่อมโยงแล้วไม่ถือว่าเป็นกฎหมายหรือใช้ไม่ได้ แนวคิดนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่อดีตและมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน เรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School) หรือนักกฎหมายธรรมชาติ ส่วนอีกฝ่ายที่มองว่าการบอกว่ากฎหมายคืออะไร ต้องไม่เอาเรื่องความยุติธรรมหรือศีลธรรมเข้าไปอยู่ในนิยามของกฎหมาย พวกหลังนี้เรียกว่า พวกปฏิฐานนิยมทางกฎหมายหรือพวกกฎหมายบ้านเมือง ในภาษาอังกฤษคือ Legal Positivism

โดยความรู้สึกทั่วไป ท่านคงรู้สึกว่าคำตอบแรกน่าจะถูกกว่า คือกฎหมายต้องเชื่อมโยงกับความยุติธรรม ศีลธรรม เรารู้สึกธรรมดาในแง่สำนึกของบุคคล แต่ถ้าเราไปศึกษาดูในรายละเอียดอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่ามันอาจไม่เป็นแบบนั้นก็ได้

จุดเด่นของแนวคิดกฎหมายธรรมชาติ มองว่าความยุติธรรมผนวกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎหมาย ดังนั้น กฎเกณฑ์ใดที่ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมก็ไม่เป็นกฎหมาย ในขณะที่จุดอ่อนของสำนักนี้อยู่ที่ว่า อะไรคือความยุติธรรม มันเห็นแตกต่างได้ในหลายแนวทาง ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนบางเรื่องว่าอะไรคือความยุติธรรม คนมองความยุติธรรมหลากหลายมาก จึงไม่เหมาะที่จะบอกว่ากฎหมายคืออะไรโดยการเชื่อมโยงความยุติธรรมเข้าไป เพราะจะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนแน่นอน กฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องการความชัดเจนแน่นอนในการใช้บังคับ ซึ่งพวกที่บอกว่ากฎหมายไม่สัมพันธ์กับความยุติธรรมและศีลธรรม ในทางการให้คำนิยามจะเน้นไปที่ความมั่นคงแน่นอน คือการบอกว่าอะไรเป็นกฎหมาย คุณต้องมีเกณฑ์ที่ชัด เพื่อคนจะได้รู้ว่าเป็นหรือไม่เป็นกฎหมาย ถ้าใช้เกณฑ์ยุติธรรม บางทีมันเบลอ ไม่ชัดเจน

"ผมกำลังจะบอกกับบรรดานักศึกษาที่เรียนอยู่ตอนนี้ว่า อย่าได้รีบตัดสินใจไปก่อนว่าเราถือธรรมะ ถือความยุติธรรม และด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงถูกตลอดเวลา นี่คือประเด็น นิติปรัชญาจะบอกกับเราว่า เราพึงระวังก่อนที่เราจะตัดสินบางอย่าง เพราะเมื่อเราบอกว่าเราเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว เท่ากับเราผลักคนอื่นเป็นคนไม่ดีเลยทันที และนี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้"

จุดแข็งของฝ่ายหลังอยู่ที่ว่า พยายามคิดถึงนิยามของกฎหมายให้มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในสิทธิหน้าที่ของบุคคล แต่มีจุดอ่อนคือเวลาที่ความคิดแบบนี้ต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์บางอย่างที่มีความไม่ยุติธรรมอย่างมาก เช่นกฎเกณฑ์ของเผด็จการ แล้วไม่มีการอธิบายเชื่อมโยงกับศีลธรรม ความยุติธรรมเลย อาจทำให้เกิดกฎหมายที่กดขี่บุคคลได้เหมือนกัน

แต่ผมจะบอกเบื้องต้นว่า อย่าคิดว่าคนที่มีความคิดแบบกฎหมายบ้านเมืองเป็นคนชั่ว เป็นคนละประเด็นกัน เขาเพียงแต่กำลังบอกว่ากฎหมายคืออะไร ให้มีความชัดเจนในทางวิชาการ ให้เป็นเกณฑ์ที่จับต้องได้ ส่วนว่าเมื่อเป็นกฎหมายแล้ว ต้องทำตามกฎหมายหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งสำหรับฝ่ายหลัง

ความคิดระหว่าง 2 สำนักนี้ เอาเข้าจริง อาจไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ฝ่ายแรกเอาความยุติธรรมหรือศีลธรรมเข้าไปอยู่ในนิยามของกฎหมายเลย ขณะที่ฝ่ายหลังบอกว่าเวลานิยามว่ากฎหมายคืออะไร ไม่ต้องเอาความยุติธรรมหรือศีลธรรมเข้าไปใส่ แต่ตอนจะปฏิบัติกฎหมายต่างหากที่เป็นเรื่องมโนธรรมสำนึกหรือความรู้สึกทางศีลธรรมของแต่ละคนที่ต้องตัดสินใจเป็นปัจเจกบุคคลเอง ตรงนี้สำคัญมาก และเป็นประเด็นหลักที่ผมเสนอเอาไว้ในเรื่องนิติปรัชญาในประเทศไทยด้วย

จากยุคโบราณถึงศตวรรษที่ 20

ในส่วนของเนื้อหา ผมใช้การอธิบายทางประวัติศาสตร์ความคิด เริ่มต้นจากความคิดแรกสุดหรือที่ค้นได้แรกสุดว่าการถกเถียงว่ากฎหมายคืออะไร เกิดขึ้นที่ไหนก่อน ในหนังสือจะเริ่มต้นที่กรีกโบราณก่อน ผมรู้สึกว่าคำอธิบายในสมัยกรีกโบราณที่เป็นตำนาน คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักกฎหมายก็สามารถอ่านเข้าใจได้ เพราะมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า ซึ่งแปลก เพราะความคิดว่ากฎหมายคืออะไร เริ่มจากนักประพันธ์ก่อน ไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมาย เขาพูดตามจินตนาการว่ากฎหมายคืออะไร

สำหรับยุคโบราณสุด กฎหมายคืออะไรบางอย่างที่มาจากสรวงสรรค์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกพันมนุษย์ให้ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่ แต่ในยุคแรกก็เกิดปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายที่มนุษย์เขียนขึ้นเองกับกฎหมายที่มาจากเทพเจ้าแล้ว เป็นปัญหาหลักว่านอกเหนือจากกฎหมายที่มนุษย์เขียนขึ้นแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นในธรรมชาติอีกหรือเปล่า ซึ่งอยู่เหนือกว่าหรือสูงส่งกว่ากฎหมายของมนุษย์ ถ้าพูดแบบสถานการณ์ปัจจุบัน นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กำหนดขึ้นแล้วถือเป็นกฎหมาย ยังมีกฎหมายอื่นอีกหรือเปล่าที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่ คสช. กำหนดขึ้น ประเด็นแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

หลังจากนั้นก็เป็นพัฒนาการของความคิด ผ่านสมัยกลางที่เป็นกฎหมายของพระเจ้าองค์เดียวกับกฎหมายของมนุษย์ มาถึงในสมัยใหม่ซึ่งเป็นเรื่องการอำนวยการปกครอง การเกิดขึ้นของกฎหมายจากฐานของผู้ที่ได้รับอำนาจการปกครองรัฐโดยสัญญาประชาคม เรื่อยมาจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 หนังสือเล่มนี้ไม่ได้อ้างตนว่าการอธิบายประวัติศาสตร์ความคิดนี้สมบูรณ์แล้ว มีนักคิดจำนวนหนึ่งที่ผมละไว้ เนื่องจากจะทำให้หนังสือหนาเกินไปและทำให้ต้นทุนการพิมพ์สูงขึ้น บางส่วนก็เป็นเรื่องของเวลาที่ต้องพิมพ์ให้เสร็จในเดือนนี้เพื่อใช้ประกอบการศึกษา

ถ้าท่านสังเกตดู มันมีเกร็ดอะไรบางอย่างอยู่ บางส่วนผมเอาไว้ในเชิงอรรถ ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่สำคัญ มีบางเชิงอรรถมีความสำคัญ แต่มันมีลักษณะเป็นรายละเอียดบางอย่างที่จะใส่ไว้ในเนื้อหาก็จะหนาไป จึงนำไปไว้ในเชิงอรรถ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางความคิดในการตีความคัมภีร์ไบเบิ้ลของนักบุญออกัสติน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการไล่ล่าพวกนอกรีตหรือไม่เชื่อพระเจ้าแบบศาสนาคริสต์ เราจะเห็นว่าการตีความคำบางคำที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ มันส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยทีเดียว ดังนั้น คนที่เรียนกฎหมายต้องรู้ว่า กฎหมายมันเป็นตัวบท จึงต้องมีความรับผิดชอบสูงมากในการให้ความหมายของภาษาในกฎหมายว่าคืออะไร ไม่ใช่ว่าไปแบบมั่วๆ เพราะจะส่งผลอย่างมากในทางปฏิบัติอย่างที่ผู้ตีความอาจจะคาดไม่ถึง ดังที่เกิดขึ้นกับนักบุญออกัสตินในช่วงยุคกลางตอนต้น

อีกเรื่องหนึ่ง ผมเขียนถึงประวัตินักคิดเอาไว้ด้วย ไม่ได้เขียนแต่ความคิดอย่างเดียว บางคนพลิกอ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมเขียนว่านักคิดคนนี้มีลูกนอกสมรส อย่างเช่นมาร์กซ์ก็มีลูกนอกสมรส หรือเฮเกิลมีความสัมพันธ์กับภรรยาเจ้าของหอพักสมัยที่เขาอยู่ในเมืองเมืองหนึ่ง มันเกี่ยวอะไร ทำไมถึงเขียน หรือทำไมเขียนถึงฮิวโก โกรเชียส ที่ถูกขังไว้ในปราสาทแห่งหนึ่งหลบอยู่ในลังหนังสือ แล้วลี้ภัยไปปารีส ทำไมจึงเขียนเรื่องเหล่านี้

คำตอบก็คือเราจะเข้าใจความคิดของนักคิดแต่ละคนได้ เราต้องเข้าใจบริบทแวดล้อมชีวิตของเขา ผมต้องการสื่อว่าความคิดต่างๆ เกิดขึ้นจากมนุษย์ เป็นคนสามัญที่สามารถทำถูกและผิดในทางส่วนตัวได้เหมือนกัน ไม่ได้เป็นเทพเจ้าสูงส่งจากที่ไหน แต่สามารถสร้างความคิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการในทางกฎหมายได้

อีกอันหนึ่ง บริบททางประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราวิเคราะห์ความคิดของนักคิดแต่ละคนได้ว่า ทำไมจึงคิดแบบนั้น นักคิดบางคนจะมีความคิดเชื่อมโยงกัน เช่น ความคิดของมาร์กซ์ เรื่องวัตถุนิยมประวัติศาสตร์กับกฎหมายก็สัมพันธ์กับความคิดของเฮเกิล ผมก็ต้องเขียนถึงเฮเกิลเพื่อให้เห็นว่ามีการคิดกลับทางกัน เราคงรู้ว่าความคิดแบบมาร์กซ์มีอิทธิพลสำคัญต่อวิธีคิดของคนจำนวนมาก ในบางช่วงมีอิทธิพลอย่างสูงในอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้เราเห็นบริบททางความคิดที่สัมพันธ์กับกฎหมาย บริบททางอำนาจที่เกิดขึ้นจริง เพราะกฎหมายไม่ได้ล่องลอยอยู่โดยไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงในสังคม

เท่าที่ผมดู มันจะเริ่มยากขึ้นในช่วงบทท้ายๆ โดยเฉพาะความคิดในช่วงศตวรรษที่ 20 เหตุเพราะในอดีตปัญหาว่ากฎหมายคืออะไร ต้องสัมพันธ์กับความยุติธรรมหรือเปล่า มีกฎหมายธรรมชาติหรือไม่ มันเป็นเรื่องของนักปรัชญา จนกระทั่งประมาณ 200 กว่าปี นักนิติศาสตร์เข้าไปร่วมวงและพยายามอธิบายในแง่มุมทางปรัชญาของกฎหมายมากขึ้น เมื่อนักนิติศาสตร์เข้าไป ความคิดพื้นฐานของวิชานิติศาสตร์มันก็เข้าไปด้วย บางอย่างจะดูซับซ้อนนิดหน่อย แต่ประเด็นหลักที่ผมต้องการแสดงให้เห็นคือวิธีการให้เหตุผล

มนุษย์มีศักยภาพในการให้เหตุผล

ผมรู้สึกว่าสังคมไทยในช่วง 12 ปีมานี้มีปัญหาเวลาที่ต้องถกเถียงหรือมีความเห็นต่างกันในเรื่องต่างๆ ประเด็นที่ผมสังเกตคือวิธีให้เหตุผล บางอย่างถ้าเห็นไม่ตรงกัน มันกลายเป็นศัตรูกันไปเลย ซึ่งความจริงไม่ควรเป็นแบบนั้น และการโต้แย้งบางอย่างไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผล แต่ตั้งอยู่บนฐานของข้อกล่าวหา ซึ่งมีข้อเสีย มันทำให้สมองของผู้กล่าวหาฝ่อลง

อันนี้พูดถึงคุณภาพของสื่อโดยรวมด้วย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ เวลาคุณต้องอธิบายความคิดบางอย่างต้องใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช่การกล่าวหา เพราะฉะนั้นหลายเรื่องที่เขียนในเล่ม เราดูวิธีการให้เหตุผลของเขา เราจะเห็นว่ามนุษย์มีศักยภาพในการให้เหตุผล มีนักคิดหลายคนในเล่มที่ผมก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่เขามีความพยายามในการให้เหตุผล ตัวอย่างอยู่ในสมัยกลางที่พูดถึงพระเจ้าในศาสนาคริสต์ คนที่ไม่นับถือพระเจ้าก็จะถามว่าเขียนทำไม แต่ในการเขียนนิติปรัชญา ผมเข้าไปศึกษาเรื่องนี้และยอมรับว่าเป็นพาร์ทที่เขียนยากมาก

"วิชาการที่ส่งเสริมความงอกงามทางปัญญา เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา มันจะค่อยๆ ตายลง วิชากฎหมายก็จะเรียนเฉพาะคณะนิติศาสตร์ซึ่งเอาไปทำมาหากิน คนก็จะไม่เห็นบริบทอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ การเรียนวิชาทางความคิดจึงสำคัญ แม้ไม่ได้มีผลโดยตรง แต่มีผลมากๆ ต่อวิธีคิด วิธีการให้เหตุผล"

แต่ที่ผมทึ่งคือความพยายามในการให้เหตุผลของนักคิดเหล่านี้ ต่อให้เราไม่เชื่อหรือเห็นต่าง แต่เราสามารถเห็นได้ว่าเขาพยายามใช้สติปัญญาในการให้เหตุผลของเขามากที่สุด แล้วเหตุผลบางอย่างสามารถนำมาปรับคิดกับเรื่องอื่นๆ ได้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้รู้จักคิดในทางปรัชญา ใช้เหตุผลในการตอบปัญหาต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักกฎหมาย เหตุผลเพราะว่าคนที่เรียนกฎหมายจะอยู่กับตัวบท เมื่อเรียนจบแล้วจะมีอำนาจในการตีความ ชี้ถูก ชี้ผิด ถ้าความคิดคับแคบ ไม่รู้ว่าโลกนี้มีความคิดอะไรอยู่อีกบ้าง เรียนแต่ตัวบทแล้วตีความไปตามการอ่าน ไม่เห็นบริบททั้งหมด อันตรายก็จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป

ทำไมต้องเรียนนิติปรัชญา

บางคนอาจถามว่า เรียนนิติปรัชญาทำไมที่พูดถึงลำดับชั้นต่างๆ ของกฎหมาย กฎหมายนิรันดร กฎหมายธรรมชาติ กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ มันมีความสัมพันธ์อะไรกับยุคสมัยเรา แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดเรื่องลำดับชั้นของกฎหมายมันอยู่ในกฎหมายบ้านเมือง มีรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ มีกฎกระทรวง มันเป็นความคิดที่มีที่มา

ถามว่าแล้วมันทำให้ทนายความชนะคดีหรือไม่ เวลาขึ้นศาลอ้างอะไควนัส ศาลอาจจะไม่รู้จักก็ได้ อาจจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ นี่คือความยาก วิชานิติศาสตร์เรียนเพื่อส่งคนเข้าทำอาชีพทางกฎหมาย ดำรงชีพด้วยอาชีพทางกฎหมาย บางคนอาจคิดว่าอะไรที่เขาไม่สามารถทำมาหากินได้ เขาไม่สนใจ ผมว่าความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิด มหาวิทยาลัยไม่ควรสนับสนุนแบบนั้น แต่ผมกังวลว่ามหาวิทยาลัยกำลังไปในทิศทางนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

วิชาการที่ส่งเสริมความงอกงามทางปัญญา เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา มันจะค่อยๆ ตายลง วิชากฎหมายก็จะเรียนเฉพาะคณะนิติศาสตร์ซึ่งเอาไปทำมาหากิน คนก็จะไม่เห็นบริบทอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ การเรียนวิชาทางความคิดจึงสำคัญ แม้ไม่ได้มีผลโดยตรง แต่มีผลมากๆ ต่อวิธีคิด วิธีการให้เหตุผล อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว เวลาต้องการให้เหตุผลอะไรบางอย่าง การมีความรู้เรื่องพวกนี้อยู่บ้าง อาจทำให้เรามองเห็นแง่มุมบางอย่างที่คนอื่นอาจไม่ได้มอง

ผลพวงจากรัฐประหาร 2557

ปัญหาของการเรียนนิติปรัชญาในบ้านเรา เป็นประเด็นที่สร้างความลำบากใจแก่ผมที่สุดในการพูดวันนี้ เรื่องนี้มาจากประสบการณ์ของผมตอนบรรยายวิชานิติปรัชญา ในช่วงก่อนปี 2549 ก็สอนไปตามปกติธรรมดา นิติปรัชญาเป็นงานเสริมของผมมากกว่า เพราะงานหลักของผมคือการสอนและการพัฒนาความรู้ทางกฎหมายมหาชน แต่ผมชอบวิชานี้ด้วยใจรัก หลังจากปี 2549 มา ผมพบความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในนักศึกษาที่เข้าเรียนวิชานิติปรัชญากับผม

นักศึกษาจำนวนหนึ่งเรียนนิติปรัชญาแบบดูว่า ฝั่งนี้เป็นฝั่งธรรมะ ฝั่งนี้เป็นฝั่งอธรรม พอนานไปเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองทวีมากขึ้น ก็เรียนนิติปรัชญาแบบสีนี้ดี เป็นฝ่ายธรรมะ สีนี้เลว เป็นฝ่ายอธรรม นี่เป็นพัฒนาการในช่วงหลังปี 2549 แล้วมาพีคมากๆ ช่วงปี 2552-2555 ผมพบว่าลูกศิษย์จำนวนหนึ่งเวลาตั้งคำถาม เป็นการถามแบบเร่งเร้าให้ผมตอบว่าผมเชื่อในความยุติธรรมหรือไม่ เพื่อจะดูว่าผมอยู่ฝั่งไหน แล้วเมื่อผมตอบว่าเรื่องนี้มีความคิดที่ตอบได้หลายแบบ ตอบคำเดียวไม่ได้ ก็รู้สึกไม่พอใจ เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกว่าต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา และมันยังเป็นผลพวงจากรัฐประหารปี 2557 ผมจะต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการพูดถึงประเด็นนิติปรัชญา

แต่เผอิญหนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์ความคิดและหนักไปทางตะวันตก เหตุเพราะว่าความคิดแบบตะวันออกต้องทำเป็นอีกวาระหนึ่ง ไม่สามารถรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ได้ ความคิดเรื่องธรรมาธิปไตยของพุทธทาสภิกขุ เรื่องนิติศาสตร์แนวพุทธของ ป.อ.ปยุตโต ผมมีความเห็นบางอย่างต่อแนวคิดเหล่านี้ แต่ยังไม่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้

แต่ที่แสดงให้ปรากฏคือสิ่งที่ผมคิดว่าเร่งด่วนกว่าและต้องพูดออกไป ผมอาจจะอ้างอิงมากนิดหนึ่ง เพราะนี่อาจจะเป็นเรื่องเดียวในหนังสือเล่มนี้ที่สัมพันธ์กับวงการวิชาการกฎหมายไทยและนิติปรัชญาโดยตรง อยู่ในหน้า 398-410 อันนี้เป็นทัศนะของผมเกี่ยวกับการเรียนนิติปรัชญาในไทย ปัญหาที่ผมประสบจากการเป็นผู้บรรยาย

ผมรู้สึกว่าคนที่เรียนกฎหมายและเป็นนักกฎหมาย ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ให้ชัด มันเป็นผลเสียต่อวงวิชาการกฎหมายระยะยาว ผมไม่คิดว่าผมจะประสบความสำเร็จในช่วงชีวิตของผม เพราะความคิดบางเรื่องมันฝังรากลึกมาก การที่เราทำอะไรบางอย่าง เราอาจต้องรู้ว่าในช่วงชีวิตเราอาจไม่สัมฤทธิ์ผล แต่ไม่ใช่สาเหตุให้เราละทิ้งการทำสิ่งนั้น หากเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผมกำลังจะบอกว่าไม่ต้องสนใจ ให้ลงมือทำ บางอย่างอาจจะสำเร็จเมื่อเราตายไปแล้วหลายสิบปีก็ได้ ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความคิดบางคนกว่าจะได้รับการยอมรับก็เมื่อเขาตายไปแล้ว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประวัติศาสตร์ความคิดของโลก ซึ่งไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับผม แต่ปัญหาคือเราต้องทำหรือไม่ และผมคิดว่าผมทำ แต่ในส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผมคิดว่าผมจะทันเห็นในชีวิตของผม ผมไม่เคยสิ้นหวังในเรื่องเหล่านี้ และในเรื่องทางกฎหมายผมก็ไม่เคยสิ้นหวังนะ ผมถือว่าเมื่อผมทำไปแล้ว มันดำรงอยู่แล้ว

อย่างความคิดเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร มันดำรงอยู่แล้วในบ้านเรา รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย เรื่องที่ทำไปแล้วคือเรื่องที่ทำไปแล้ว และเราต้องยืนอยู่กับเรื่องนั้น มันจะสำเร็จหรือไม่เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องในอนาคต แล้วทั้งหมดเป็นเรื่องข้อเสนอ ไม่ใช่เอาปืนไปจ่อบอกว่าต้องคิดเหมือนผม มันเป็นประเด็นที่อยู่ในสังคมแล้วก็ถกเถียงกัน สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ก็เหมือนกัน

ปัญหานิติปรัชญาในประเทศไทย

ปัญหานิติปรัชญาในประเทศไทย ผมเสนอในหนังสือผม ใครจะถกเถียง ยินดี ไม่มีปัญหา ผมอาจจะเห็นบางประเด็นไม่ครบก็ได้ ประเด็นคือในบ้านเรามีแนวความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์หรือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ เข้ามาและสอนวิชากฎหมาย กรมหลวงราชบุรีฯ ขณะที่เรียนที่อังกฤษนั้น แนวความคิดแบบปฏิฐานนิยมทางกฎหมายหรือนักกฎหมายบ้านเมืองกำลังเฟื่องฟูอยู่ในอังกฤษ คนที่เป็นผู้นำความคิดคือจอห์น ออสติน ซึ่งรับแนวคิดมาจากเจเรอมี่ แบนแธม เจ้าของความคิดอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งสิ่งนี้มามีอิทธิพลในกฎหมายไทยที่สอนว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ เวลาที่รัฐประหารสำเร็จแล้ว กฎเกณฑ์ของรัฐประหารจึงมีผล หลายคนก็ชี้นิ้วไปที่ความคิดแบบนี้

กรมหลวงราชบุรีฯ เมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านก็มีอิทธิพลสูงในวงการกฎหมาย ในภายหลังท่านถูกยกเป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย เรื่องนี้มีคนแย้งอยู่ ท่านอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนเรื่องนี้ออกมา ซึ่งผมก็เห็นคล้อยไปด้วย พระองค์เจ้ารพีฯ น่าจะเป็นบิดาของระบบศาลยุติธรรมไทยมากกว่า

ประเด็นที่พระองค์เจ้ารพีฯ เขียนในหนังสือของท่านก็เอามาจากจอห์น ออสติน ที่บอกว่ากฎหมายคือสิ่งที่ผู้ปกครองแผ่นดินสั่งแก่ราษฎร กฎหมายเป็นคนละเรื่องกับความยุติธรรมและศีลธรรม ศีลธรรมมีบ่อเกิดได้หลายแห่ง แต่กฎหมายเกิดขึ้นได้ที่เดียวคือจากผู้มีอำนาจปกครองสั่งเท่านั้น นี่คือความคิดหลัก

ในตอนที่มีการนำวิชานิติปรัชญาเข้ามาสอนในประเทศไทย ท่านที่บุกเบิกคือท่านศาสตราจารย์ ปรีดี เกษมทรัพย์ ซึ่งเริ่มต้นที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์แห่งนี้ ในบริบทช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ตุลาคม 2519 อาจารย์ปรีดีเห็นว่าคำสอนแบบนี้เป็นคำสอนของนักกฎหมายที่ไม่สนใจเรื่องอะไรนอกจากอำนาจ แล้วก็เห็นว่าคำสอนแบบนี้ เวลาที่รัฐประหารสำเร็จ นักกฎหมายก็จะเข้าไปทำงานรับใช้คณะรัฐประหาร ศาลก็จะตัดสินคดีตาม ผมเข้าใจในบริบทที่เกิดนิติปรัชญาขึ้นและเข้าใจที่อาจารย์ปรีดีพยายามเสนอประเด็นนี้ ความเห็นนี้มีอิทธิพลสูงในวงการกฎหมายไทย ผลที่ตามมาคือแนวคิดแบบกฎหมายบ้านเมืองถูกมองว่าชั่วร้าย ขณะที่กฎหมายธรรมชาติดูถูกต้องกว่า ดูดีกว่า

ปัญหานี้ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่ได้ตระหนัก ผมก็เห็นตามท่านอาจารย์สอนมา ทุกวันนี้เรายังตำหนิประณามความคิดแบบนี้ว่าทำให้รัฐประหารสำเร็จ แล้วเกิดการรับใช้รัฐประหาร ศาลเองก็ยอมรับ ทำให้เหมือนกับกฎหมายกับคณะรัฐประหารเป็นอันเดียวกันและบังคับใช้ได้

ภายหลังที่ผมคิดตรึกตรองเรื่องนี้มากขึ้น หลังศึกษาความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมือง ผมพบว่าความคิดนี้มีข้ออ่อนอย่างสำคัญ และไม่เป็นธรรมกับความคิดกฎหมายบ้านเมืองสักเท่าไหร่ ทำไมล่ะ ถ้าเราบอกว่ากฎหมายเป็นเรื่องความยุติธรรมแล้ว มันก็ดีสิ ทำให้มีการต้านรัฐประหารมากขึ้นเพราะเป็นการได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้อง

แต่ท่านลองสังเกตดู รัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด นักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่สมาทานกฎหมายธรรมชาติ ที่เชื่อเรื่องธรรม คุณธรรมต่างๆ ทำไมเวลาเกิดการรัฐประหารจึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แปลว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นปัญหาในความคิดแบบนี้

ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ความคิดของกฎหมายบ้านเมืองเพียงแต่บอกว่าอะไรเป็นกฎหมายให้ดูจากข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงที่บ่งบอกว่าสิ่งใดเป็นกฎหมายหรือไม่ ความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองก็เถียงกันเองเป็นหลากหลายแนวทาง บางคนให้ดูจากว่าใครเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ถ้าคนนั้นสั่ง มันก็เป็นกฎหมาย นี่เป็นความคิดแบบจอห์น ออสติน บางคนบอกว่าไม่ใช่ ให้ดูว่าสิ่งที่ถูกสั่งมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง หมายความว่าเกิดการต่อต้านจากใครหรือไม่ ต่อให้เขาได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม แต่ถ้าสามารถยึดอำนาจสำเร็จ เกิดความสงบขึ้น แล้วบรรดาการสั่งการต่างๆ มีประสิทธิภาพ มันก็เป็นกฎหมาย อันนี้เป็นประเด็นในเชิงข้อเท็จจริง ไม่ใช่ประเด็นในเชิงคุณค่า

นักกฎหมายกับจุดยืนทางมโนธรรมสำนึกส่วนบุคคล

ทีนี้ เวลาที่มีใครมองแบบนี้ ถ้าเราจะถาม เราควรถามว่าอะไร สำหรับเขาสิ่งนี้เป็นกฎหมาย สำหรับผม ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นหรือไม่เป็นกฎหมายแล้ว คุณจะบอกว่าเป็นกฎหมายไม่เป็นไร ถ้าคุณเชื่อและมีเหตุผลว่ามันคือกฎหมาย แต่ปัญหาคือว่าแล้วตัวคุณทำตามหรือเปล่า คนทั่วไปรู้สึกว่าถ้าเป็นกฎหมาย ต้องทำตาม แต่ประเด็นคือถ้ากฎเกณฑ์ที่ออกมาขัดแย้งกับมโนธรรมสำนึกในใจเรา เราก็เชื่อแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง เราจะทำตามหรือไม่ แต่ละคนอาจจะตอบหลายอย่าง บางคนบอกไม่ทำ ต่อให้เป็นกฎหมายก็ไม่ทำ เขาอาจจะบอกว่าการปฏิบัติตามหรือไม่นั้น ตอนนี้ในทางปฏิบัติปัญหาไม่ใช่กฎหมายคืออะไร ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความเป็นนักกฎหมาย แต่เขาอาจจะเลยไปกว่านั้นว่านี่คือปัญหาเรื่องความเป็นคน

ปัญหาที่ว่ากฎหมายคืออะไร พวกสำนักกฎหมายบ้านเมืองมีเกณฑ์แน่นอนประการหนึ่ง แต่เมื่อเป็นแล้ว คุณจะตัดสินใจอย่างไร ทำหรือไม่ทำ มันเป็นเรื่องมโนธรรมสำนึก เป็นเรื่องความรู้สึกทางศีลธรรมของคุณเอง สำนักกฎหมายบ้านเมืองไม่ได้บอกว่า เมื่อเป็นกฎหมายแล้วทุกคนต้องทำตามหมด เขาแค่บอกว่ามันเป็นกฎหมาย เพียงแต่ตอนจะทำตามหรือไม่ทำตาม มันเป็นเรื่องมโนธรรมสำนึกหรือจุดยืนทางศีลธรรมของแต่ละบุคคล

ถามว่าตรงนี้สำคัญอย่างไร มันจะสำคัญมากๆ เวลาที่นักกฎหมายมีปฏิกิริยากับคำสั่ง ประเด็นคือสำนักกฎหมายบ้านเมืองอธิบายแบบนี้ จึงทำให้ในที่สุดถูกตำหนิประณาม โดยบอกว่าสำหรับคนที่เชื่อว่ากฎหมายคือความยุติธรรมหรือศีลธรรมเป็นคนดี คนที่เชื่อว่ากฎหมายแยกขาดจากความยุติธรรมเป็นคนเลว ซึ่งผิด คนที่เชื่อว่ากฎหมายแยกจากศีลธรรมและความยุติธรรม เขาเพียงแต่บอกว่าอะไรเป็นกฎหมาย ส่วนถ้ามันเป็นแล้วจะทำหรือไม่ทำตามเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ที่สอนกันคือใครก็ตามที่เชื่อในความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมือง เมื่อเกิดการรัฐประหารแล้ว ก็จะไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะเข้าไปรับใช้รัฐประหาร เพราะคุณเชื่อว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมาย คือเอาสองเรื่องนี้ผนวกเป็นเรื่องเดียว คือนักกฎหมายบางคนอาจจะมองว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมายก็ได้ แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่คุณจะรับใช้รัฐประหาร คำตอบคือไม่จำเป็น

เพราะมโนสำนึกของคุณอาจจะบอกว่ากฎเกณฑ์นี้ไม่ถูกต้องในทางศีลธรรม ชั้นแรก เขาแยกกฎหมายกับศีลธรรมออกจากกันว่าอะไรเป็นกฎหมายหรือไม่ ให้ดูจากความคิดทางกฎหมายอย่างเดียว แต่พอมาถึงชั้นว่าจะต้องทำตามหรือไม่ พวกฝ่ายนักกฎหมายบ้านเมืองบอกว่ามันตอบจากจุดยืนทางวิชาการไม่ได้แล้ว แต่ต้องตอบจากจุดยืนทางศีลธรรมของแต่ละคน เพราะฉะนั้นการที่เราประณามว่าคนที่เชื่อแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองต้องรับใช้รัฐประหารเสมอจึงไม่ถูก เขาอาจจะเชื่อก็ได้ แต่เขาไม่เอา

"มันจะสำคัญมากๆ เวลาที่นักกฎหมายมีปฏิกิริยากับคำสั่ง ประเด็นคือสำนักกฎหมายบ้านเมืองอธิบายแบบนี้ จึงทำให้ในที่สุดถูกตำหนิประณาม โดยบอกว่าสำหรับคนที่เชื่อว่ากฎหมายคือความยุติธรรมหรือศีลธรรมเป็นคนดี คนที่เชื่อว่ากฎหมายแยกขาดจากความยุติธรรมเป็นคนเลว ซึ่งผิด คนที่เชื่อว่ากฎหมายแยกจากศีลธรรมและความยุติธรรม เขาเพียงแต่บอกว่าอะไรเป็นกฎหมาย ส่วนถ้ามันเป็นแล้วจะทำหรือไม่ทำตามเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"

แต่บ้านเราเป็นแบบนี้ สุดท้ายแนวคิดนี้จึงเป็นผู้ร้ายในระบบกฎหมายไทย คล้ายๆ กับบอกว่าเวลาศาลปฏิบัติไปตามคำสั่งคณะรัฐประหาร ก็คือศาลเชื่อตามแนวคิดแบบจอห์น ออสติน หรือพระองค์เจ้ารพีฯ ที่บอกว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ นี่คือกระแสหลักในนิติปรัชญาในบ้านเรา

วันนี้ผมกำลังจะบอกว่า ไม่ใช่ มันเป็นสองประเด็นที่แยกขาดจากกัน ศาลอาจจะเชื่อว่าคำสั่งรัฐประหารคือกฎหมาย แต่เขาบอกว่ารับไม่ได้ ทำยังไง เขาก็อาจลาออก เขาไม่สามารถใช้บังคับกฎเกณฑ์นี้ได้ ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคนคิดแบบนี้ เป็นไปได้ครับ ในอีกด้านหนึ่ง มีความพยายามอธิบายว่า วิธีคิดที่แยกกฎหมายและศีลธรรม ความยุติธรรมออกจากกัน ดูแต่กฎหมายอย่างเดียว ในทางกลับกัน มันเป็นวิธีคิดที่ทำให้กฎหมายตกเป็นรองศีลธรรมตลอดกาล เพราะศีลธรรมและความยุติธรรมไม่เข้าไปอยู่ในการบอกว่าอะไรคือกฎหมาย เท่ากับตอนที่บอกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นกฎหมาย ไม่ได้ใช้คุณค่าตัวเองไปตัดสิน กฎหมายนั้นจึงตกอยู่ภายใต้การวิจารณ์ของศีลธรรมและความยุติธรรมได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเชื่อว่าศีลธรรมอยู่ในกฎหมายแล้ว ก็แปลว่ากฎหมายอาจจะไม่ถูกวิจารณ์จากหลักคิดในทางศีลธรรมได้ เพราะมันอยู่ในนั้นเสียแล้ว

ที่ผมพูดมาทั้งหมด อย่าเพิ่งตัดสินว่าผมเป็นฝ่ายสำนักกฎหมายบ้านเมือง ไม่ง่ายแบบนั้น นิติปรัชญาไม่ง่ายแบบนั้น ความคิดของคนบางทีมีเงื่อนแง่ที่ซับซ้อนไปกว่านั้น

เราอาจบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเรากลับไปเชื่อแบบกฎหมายธรรมชาติดีกว่าหรือไม่ ถ้าเอาศีลธรรมไปเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเสียเลย คำตอบคือมันไม่ง่ายแบบนั้นอีกเหมือนกัน เพราะบางทีมันมีความไม่แน่นอนอยู่ ศีลธรรมในแต่ละศาสนามีความต่างกันอยู่ มันไม่ได้เป็นเนื้อเดียว ใครที่เรียนจริยศาสตร์จะรู้ว่าการตัดสินการกระทำหนึ่ง มันยากมาก ขึ้นกับว่าคุณจะใช้หลักคิดไหนเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย

ผมกำลังจะบอกกับบรรดานักศึกษาที่เรียนอยู่ตอนนี้ว่า อย่าได้รีบตัดสินใจไปก่อนว่าเราถือธรรมะ ถือความยุติธรรม และด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงถูกตลอดเวลา นี่คือประเด็น นิติปรัชญาจะบอกกับเราว่า เราพึงระวังก่อนที่เราจะตัดสินบางอย่าง เพราะเมื่อเราบอกว่าเราเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว เท่ากับเราผลักคนอื่นเป็นคนไม่ดีเลยทันที และนี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเวลานี้

เนติบริกรรัฐประหาร เวลาที่เขาไปทำงานให้กับคณะรัฐประหาร เพราะเขามีจุดยืนแบบนักกฎหมายบ้านเมืองหรือเปล่า ลองไปถามดู อาจจะมีบางคนเป็นแบบนั้น บางคนอาจจะไม่มีจุดยืนอะไรเลย ซึ่งผมคิดว่าส่วนใหญ่ไม่มีจุดยืนอะไรเลย เพราะถ้ามีจุดยืน คุณต้องคิดอะไรบางอย่าง ต่อให้คุณมีจุดยืนแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองก็ตาม คุณอาจจะบอกว่ามันเป็นกฎหมายในทัศนะของคุณ ใช่ แต่ตอนที่คุณต้องเข้าไปทำงาน คุณต้องคิดมากกว่านี้ มันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

บรรดานักกฎหมายสำนักกฎหมายบ้านเมืองทั้งหลายเท่าที่ผมค้นพบประวัติ ส่วนใหญ่เขาเชื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ในทางกลับกัน พวกที่อ้างตนว่านับถือกฎหมายธรรมชาติ ที่เชื่อว่ามีความถูกต้องดีงามในธรรมชาติ เราเป็นผู้ทรงคุณธรรม พวกนี้ต่างหากที่อาจจะน่ากลัวกว่า เพราะเขาหยิบเสื้อคลุมคุณธรรม เสื้อคลุมคนดีมาสวม ความถูกต้องมาอยู่กับเราแล้ว เราประกาศว่าเป็นพวกกฎหมายธรรมชาติซึ่งเชื่อในธรรมะ แต่ถามว่ามันง่ายแบบนั้นหรือเปล่า มันไม่ง่ายแบบนั้น คือผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องคนดีหรือคนมีศีลธรรม ผมว่ามีจริง คนที่เป็นคนดีมีศีลธรรม มีหลักการบางอย่างที่เขาใช้อยู่ แต่ผมอยากจะบอกว่าเราอย่าใช้คำนี้แบบเฝือๆ อย่าคิดว่าคนคนหนึ่งที่ต่อต้านอีกคนหนึ่งที่เป็นคนเลวแล้วจะทำให้เขาเป็นคนดีโดยอัตโนมัติ ไม่จริงเลย อาจจะเลวยิ่งกว่าก็ได้

แต่การบอกว่าใครเป็นคนเลว บางทีเป็นแค่เครื่องแสดงออกว่าตนเองเป็นคนดีกว่าคนอื่น ทำนองเดียวกัน นิติปรัชญามักมีลักษณะแบบนี้ พอบอกว่าเป็นฝ่ายสำนักกฎหมายธรรมชาติ มันคล้ายกับว่าเราเป็นคนดี เพราะฉะนั้นพวกสำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นคนเลว ไม่จริง ผมแค่จะบอกว่า เราจะถือคติแนวคิดสำนักกฎหมายแบบไหน ไม่เป็นปัญหาเลย และผมใจกว้างมากๆ นักศึกษาจะคิดแบบไหน แล้วแต่แต่ละคน เพราะในรายละเอียดมันมีจุดเด่น จุดด้อยแตกต่างกัน

เพียงแต่ว่าสุดท้าย เมื่อคุณต้องบังคับการบางอย่างในความเป็นนักกฎหมายที่คุณมีความเป็นคนอยู่ในนั้น คุณต้องบอกว่าอันนี้คุณทำและอันนี้คุณไม่ทำ อันนี้ไม่เกี่ยวกับนิติปรัชญา มันเป็นจุดยืนในทางมโนธรรมสำนึกของแต่ละคน ผมกำลังจะบอกว่าการที่บ้านเราชี้นิ้วอย่างยาวนานว่า คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์เป็นกฎหมายทำให้รัฐประหารเจริญงอกงามในประเทศไทยอาจจะไม่ใช่แบบนั้น

แล้วอะไรที่เราควรจะชี้นิ้วไป ถ้าเราบอกว่าไม่ใช้ความคิดทางนิติปรัชญาที่ก่อเรื่องนี้ขึ้นมา เรื่องนี้มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือนิติปรัชญาในประเทศที่มีการรัฐประหารกับประเทศที่ไม่มีการรัฐประหาร มันต่างกัน ถ้าเราดูตำรานิติปรัชญาในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ อเมริกา อังกฤษ จะไม่ค่อยมีการถกเถียงเรื่องพวกนี้ เพราะว่าประเทศเขาไม่มีรัฐประหาร เขาก็ไปพูดเรื่องอื่น บางสำนักบอกว่ากฎหมายก็คือสิ่งที่ผู้พิพากษาตัดสิน พวกสัจจะนิยม

แต่ถ้าคุณไม่เชื่อแบบนี้ เขาเป็นคนเลวหรือคนไม่ดีหรือเปล่า ไม่ใช่ เขาเพียงแต่บอกข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่เป็นกฎหมายคือสิ่งที่ผู้พิพากษาตัดสิน ส่วนจุดยืนทางศีลธรรมของเขาเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทนายจูน' จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เตรียมรับรางวัลผู้หญิงกล้าหาญ จากรัฐบาลสหรัฐ

Posted: 22 Mar 2018 04:16 AM PDT

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งใน 10 คนที่ได้รับ 'รางวัลผู้หญิงกล้าหาญ' จากรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นคนที่ 2 ของไทยต่อจาก รจเรข วัฒนพานิช เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public 

ภาพ ศิริกาญจน์ เมื่อครั้งเข้ารับรางวัล Lawyers for Lawyers Award จาก องค์กรภาคประชาสังคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ Lawyers for Lawyers (L4L) เมื่อ 19 พ.ค.ปีที่ผ่านมา

22 มี.ค.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ข่าว พิธีมอบ "รางวัลผู้หญิงกล้าหาญ" International Woman of Courage ประจำปีพ.ศ.2561 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ 23 มี.ค.นี้ เวลา 14.00 น. หรือ 1.00 น.ของวันเสาร์ที่ 24 มี.ค. ตามเวลาประเทศไทย ณ กรุงวอชิงตันดีซี โดย ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งใน 10 คนที่ได้รับรางวัลในปีนี้

กระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่ประวัติ ศิริกาญจน์ ว่า เป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นกลุ่มของทนายความซึ่งให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารและมีเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวทำให้เจ้าหน้าที่และทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกละเมิด ข่มขู่และถูกดำเนินคดีทางอาญา

ศิริกาญจน์ ปัจจุบันถูกดำเนินคดี 3 คดี ซึ่งรวมถึงคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการทำหน้าที่ทนายความ นับเป็นทนายความคนแรกที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตามเธอยังคงทำงานของเธออย่างต่อเนื่อง

สำหรับ รางวัลผู้หญิงกล้าหาญ เป็นรางวัลซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2550 โดยกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเพื่อมอบให้กับผู้หญิงทั่วโลกซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ ความเป็นผู้นำในการสนับสนุน สันติภาพ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมสร้างพลังของผู้หญิง ซึ่งหลายกรณีต้องเสียสละหรือเผชิญความเสี่ยงด้วยตนเอง ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงกว่า 120 คนจาก 65 ประเทศทั่วโลกได้รับรางวัลดังกล่าว โดยขั้นตอนการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลมาจากการเสนอชื่อของหน่วยงานทางการทูตสหรัฐในประเทศต่างๆ และคัดเลือกรอบสุดท้ายโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศ โดยในปีนี้ จอห์น ซัลลิแวน (John J. Sullivan) รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพจัดงานมอบรางวัลดังกล่าวที่กระทรวงต่างประเทศ และมีนางเมลาเนีย ทรัมป์ (Melania Trump) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง กล่าวถ้อยแถลงในงานเพื่อเป็นเกียรติผู้หญิง 10 ราย ซึ่งได้รับรางวัล ผู้ได้รับรางวัลในปี 2561 มาจากประเทศอัฟกานิสถาน กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อิรัก อิตาลี คาซัคสถาน โคโซโว มอริเตเนีย รวันดา และประเทศไทย

 

ศิริกาญจน์ เป็นหญิงไทยคนที่สองของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล "ผู้หญิงกล้าหาญ" โดยหญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้คือ รจเรข วัฒนพานิช เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public และผู้ก่อตั้งโครงการห้องเรียนประชาธิปไตย (Café Democracy) ได้รับรางวัลเมื่อปีพ.ศ.2559

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทม์ไลน์เฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลรั่ว 50 ล้านคน จากแอพฯ ทายบุคลิกสู่ผลเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ

Posted: 22 Mar 2018 03:59 AM PDT

มาร์ค ซักเกอเบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กออกมาขอโทษและแจงมาตรการป้องกันเหตุในอนาคต หลังข้อมูลชาวอเมริกัน 50 ล้านคนรั่วไหลเพราะแอพพลิเคชั่นบนเฟซบุ๊ก แล้วถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์จริตฐานเสียงในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำไปสู่การสาดโคลนฮิลลารี คลินตัน และการเถลิงอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์

มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (ที่มา: Facebook/Mark Zuckerberg)

เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เมื่อมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กออกมายอมรับว่าข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันจำนวน 50 ล้านคนรั่วไหลจากเฟซบุ๊ก เหตุเพราะบริษัทให้คำปรึกษาเรื่องการเมือง 'เคมบริดจ์ อนาไลติกา (Cambridge Analytica - CA) 'นำข้อมูลที่เก็บได้จากเฟซบุ๊กออกไปใช้ทั้งๆ ที่เฟซบุ๊กบอกให้ลบข้อมูลดังกล่าวไปแล้ว

การรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กมีผลกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด สำนักข่าวเดอะออบเซอร์เวอร์รายงานว่า CA ในฐานะที่ปรึกษาหลักของทีมโดนัลด์ ทรัมป์ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เก็บข้อมูลของคนจำนวนหลายล้านคนผ่านเฟซบุ๊กไปใช้ออกแบบแคมเปญหาเสียงที่สามารถจำแนกประเภทของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เพื่อจะทำการหาเสียงในแบบที่เฉพาะเจาะจง ตรงตามจริตของบุคคล

สำนักข่าวแชนแนลโฟร์ ได้ทำข่าวสืบสวนสอบสวน โดยปลอมตัวเป็นผู้สนใจทำแคมเปญเลือกตั้งในประเทศศรีลังกา เพื่อเข้าไปคุยกับประธานบริหารของ CA อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ และได้ข้อมูลว่า CA เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง จัดตั้งองค์กรหุ่นเชิดเพื่อกระจายข่าวสารสู่โซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้ตรวจสอบย้อนกลับมาได้ และยังมีส่วนร่วมกับการโฆษณาโจมตี ฮิลลารี คลินตัน ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตในธีม "เอาชนะฮิลลารีจอมขี้โกง (Defeat Crooked Hilary)"

ล่าสุด มาร์ค ได้ออกมาขอโทษสำหรับข้อมูลที่รั่วไหลออกไป โดยระบุว่าเจ้าตัวพร้อมที่จะให้การต่อหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ หรือคองเกรส รวมถึงไม่คัดค้านที่จะให้เฟซบุ๊กยอมรับข้อบังคับเพิ่มเติม ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กยังได้โพสท์ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยอมรับว่าข้อมูลรั่วไหลจริง และไล่ไทม์ไลน์เหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานถึง 1,400 ล้านบัญชีต่อวัน

มาร์ค ร่ายไทม์ไลน์เหตุการณ์ไว้ดังนี้

ปี 2550 เฟซบุ๊กเปิดให้ผู้ใช้งานใส่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเพื่อนของผู้ใช้งาน เนื่องจากต้องการให้เฟซบุ๊กอยู่ในฐานะของสังคมอีกแบบที่จะประกอบด้วยปฏิทินที่จะมีวันเกิดของเพื่อนผู้ใช้งานโชว์อยู่ แผนที่จะระบุที่อยู่และภาพของเพื่อนด้วย และอนุญาตให้แอพฯ ต่างๆ เก็บข้อมูลเหล่านั้นจากผู้ใช้งานแอพฯได้

ในปี 2556 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นามว่า อเล็กซานแดร์ โคแกน สร้างแอพพลิเคชั่นทำนายบุคลิก (Personality quiz app) ที่มีผู้ใช้งานแอพฯ ดังกล่าวราว 3 แสนคน

เดอะการ์เดียน ให้ข้อมูลว่าแอพฯ ที่โคแกนสร้างชื่อ thisisyourdigitallife เป็นแอพทำนายบุคลิกภาพโดยใช้มูลทางจิตวิทยา แอพฯ ดังกล่าวใช้การล็อกอินผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก โดยมีสิทธิที่จะได้ข้อมูลต่างๆ จากผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก (ที่สมัครใจให้ข้อมูล) เช่น สิ่งที่แชร์, ไลค์, ข้อมูลของเพื่อนๆ

ด้วยอานิสงค์จากการที่เฟซบุ๊กอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถแชร์ข้อมูลต่างๆ ได้ตั้งแต่ปี 2007 และการที่ผู้ใช้ 3 แสนคนแชร์ข้อมูลของเพื่อนให้โคแกนเข้าถึงได้ ก็ทำให้โคแกนสามารถเข้าถึงข้อมูลของคนได้มากกว่าสิบล้านคน

ปี 2557 เฟซบุ๊กตัดสินใจจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของแอพฯ ต่างๆ แอพฯ ชนิดของที่โคแกนประดิษฐ์ขึ้นมาก็ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของเพื่อนผู้ใช้งานได้นอกเสียจากเพื่อนผู้ใช้งานจะอนุญาตให้ข้อมูล นอกจากนั้น เหล่าผู้พัฒนาแอพฯ ต่างๆ ต้องขออนุญาตเฟซบุ๊กก่อนในกรณีที่ต้องการขอข้อมูลที่สำคัญจากตัวผู้ใช้

ปี 2558 เฟซบุ๊กทราบข่าวจากนักข่าวของเดอะการ์เดียนว่า โคแกนได้แชร์ข้อมูลจากแอพฯ ของเขากับ CA พฤติการณ์ดังกล่าวขัดกับนโยบายของเฟซบุ๊กเรื่องการแชร์ข้อมูลโดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เฟซบุ๊กจึงได้แบนแอพฯ ของโคแกน ทั้งยังได้เรียกร้องให้โคแกนและ CA ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการว่าพวกเขาลบข้อมูลที่ได้มาอย่างไม่เหมาะสมแล้ว ซึ่งทั้งสองก็ได้ยืนยันว่าลบข้อมูลแล้ว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เฟซบุ๊กทราบข่าวจากนิวยอร์คไทม์ เดอะการ์เดียนและแชนแนลโฟร์ ว่า CA อาจจะไม่ได้ลบข้อมูลที่พวกเขาเคยรับรองว่าลบไปแล้ว เฟซบุ๊กจึงได้แบนการเข้าถึงการบริการจากเฟซบุ๊กทุกรูปแบบของ CA

ทั้งนี้ CA ได้ยืนยันว่าพวกเขาลบข้อมูลดังกล่าวไปแล้ว และยินยอมให้มีการตรวจสอบโดยบริษัทที่ทางเฟซบุ๊กจ้างมา

มาร์ค กล่าวเพิ่มเติมว่าการรั่วไหลของข้อมูลครั้งนี้เกิดการทำผิดสัญญาระหว่างโคแกน CA และเฟซบุ๊ก แต่เฟซบุ๊กเองก็ผิดสัญญากับผู้ใช้งานในเรื่องการแชร์ข้อมูลกับเฟซบุ๊กด้วยเนื่องจากทางเฟซบุ๊กมีหน้าที่ต้องป้องกันข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กต้องแก้ไข และจะดำเนินการดังต่อไปนี้

หนึ่ง ทางเฟซบุ๊กจะตรวจสอบแอพฯ ทั้งหมดที่เคยเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากก่อนที่จะเปลี่ยนนโยบายในปี 2557 ตรวจสอบแอพฯ ที่น่าสงสัย แบนผู้พัฒนาแอพฯ บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบ รวมถึงคนที่นำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด และจะแจ้งข่าวให้เจ้าของข้อมูลทราบ มาตรการนี้จะถูกนำไปใช้กับเจ้าของข้อมูลที่รั่วไหลไปในเหตุการณ์ที่เกิดจาก CA ด้วย

สอง จำกัดการเข้าถึงข้อมูลของผู้พัฒนาแอพฯ มากกว่าเดิม เช่น ลบข้อมูลของผู้ใช้งานที่ไม่ได้เข้ามาใช้แอพฯ นานกว่า 3 เดือน ให้ผู้ใช้งานเข้าใช้แอพฯ โดยให้ข้อมูลแค่ชื่อ ภาพ และอีเมล์ ให้ผู้พัฒนาแอพฯ เซ็นสัญญาหากต้องการเข้าถึงโพสท์หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ

สาม จะมีเครื่องมือใหม่เพื่อให้ผู้ใช้งานทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่าผู้ใช้งานได้ให้แอพฯ ไหนเข้าถึงข้อมูลได้แล้วบ้าง รวมถึงทำให้ผู้ใช้งานสามารถถอนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของแอพฯ ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือนี้มีอยู่แล้วในแถบการตั้งค่าเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่เฟซบุ๊กจะนำมาอยู่ด้านบนของนิวส์ฟีดเพื่อให้เห็นได้ง่ายขึ้น

มาร์คยังระบุว่า ตัวเขามีความตั้งใจจริงในการปกป้องสังคมออนไลน์นี้ เขาไม่สามารถกลับไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ว่าเขาและทีมงานจะเรียนรู้จากบทเรียนนี้เพื่อทำให้แพลตฟอร์มและสังคมออนไลน์นี้ปลอดภัยขึ้นสำหรับการใช้งานของทุกคน

แปลและเรียบเรียงจาก

Mark Zuckerberg apologises for Facebook's 'mistakes' over Cambridge Analytica, The Guardian, Mar. 22, 2017

Exposed: Undercover secrets of Trump's data firm, Channel 4, Mar. 20, 2017

Revealed: 50 million Facebook profiles harvested for Cambridge Analytica in major data breach, The Guardian, Mar. 17, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกณฑ์ทหาร 61 ต้องการกำลังพล 104,734 คน มากกว่าปีก่อน 1,637 คน

Posted: 22 Mar 2018 03:50 AM PDT

กองทัพบกแถลงปีนี้ต้องการทหารเกณฑ์ 104,734 คน ชี้เป็นการรับใช้ชาติอย่างมีเกียรติ ย้ำนอกจากได้รับเงินเดือนแล้ว ยังได้สิทธิรักษาพยาบาล พร้อมทําประกันชีวิต หากเกิดการสูญเสีย เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ

22 มี.ค. 2561 ที่กองบัญฑ์การกองทัพบก พล.อ.วีรชัย อินทโศภน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) เป็นประธานการแถลงข่าวตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจําการ ประจํา ปี 2561 โดยมี พล.ท.วิโรจน์ วิจิตรโท ผู้บัญฑ์การหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน พล.ท.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก พล.ท.คธายุทธ์ เสาวคนธ์ เจ้ากรมกําลังพลทหารบก และผู้แทนเจ้ากรมแพทย์ ทหารบก ร่วมแถลงข่าว

พล.อ.วีรชัยแถลงว่า การรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารถือเป็นเรื่องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี กองทัพจัดฝึกอบรม ให้ผู้เข้ารับราชการทหารเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย กล้าหาญ อดทนต่อความยากลําบาก ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานการ ดํารงชีวิต ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเลือกต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่ทาง ราชการกําหนดไว้อย่างเคร่งครัด และเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากการทุจริต สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน

ด้าน พล.ท.วิโรจน์กล่าวว่า ซายไทยต้องเข้ารับการตรวจเลือกฯ ในปีนี้ คือชายไทยที่เกิด พ.ศ. 2540 และเกิด พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2532 ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือกฯ หรือคนที่มีผลการตรวจเลือกในปีที่ผ่านมายังไม่ เสร็จสิ้นทุกกรณี รวมทั้งประเทศประมาณ 356,978 คน ขณะที่ทางราชการมียอดความต้องการทหารกอง ประจําการจํานวน 104,734 คน โดยจะทําการตรวจเลือกระหว่างวันที่ 1 ถึง 12 เมษายน 2561 ณ สถานที่ ตรวจเลือกตามที่กําหนดไว้ในหมายเรียกฯ (แบบ สด.35) ของผู้อํานวยการเขต หรือนายอําเภอภูมิลําเนาทหาร

'ลูกผู้ชาย' ต้องก้มหัวให้อำนาจและยอมสูญเสียโอกาสในชีวิต บทพิสูจน์ระบบเกณฑ์ทหาร

คุยกับ 4 ทหารเกณฑ์ เมื่อหน้าที่หลักรั้วของชาติ คือการตัดหญ้า

'ทหารเกณฑ์' ร้อง 'ประยุทธ์' หลังถูกนายทหารนอกราชการจับล่ามโซ่ ก่อนต้นสังกัดมารับกลับ

คลิปเมียผู้การด่าทหารเกณฑ์ น.อ.โต้โดนกลั่นแกล้ง กองทัพเรือสั่งสอบ

"กองทัพบก จัดคณะกรรมการตรวจเลือก 153 คณะ พร้อมนําระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการตรวจสอบ บุคคลและบันทึกผลการตรวจเลือกทันที สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการ ป้องกันการทุจริตการตรวจเลือก โดยมีมาตรการการตรวจสอบควบคุมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใน การตรวจเลือกทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องเอกสารหลักฐานทั้งก่อนและหลังการตรวจเลือกอย่างเข้มงวดและมีมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดหรือละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือส่อไปในทางทุจริตทั้ง ทางวินัยและอาญาอย่างจริงจัง" พล.ท.วิโรจน์กล่าว

พล.ท.คธายุทธ์กล่าวถึงสิทธิกําลังพลที่จะได้รับ ว่า ทั้ง เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว รวมแล้วประมาณ 10,000 บาท/เดือน ในส่วนของเบี้ยเลี้ยง ทหารกองประจําการที่อยู่ภายในหน่วยปกติ ได้รับ 94 บาท/คน/วัน หากปฏิบัติงานนอกที่ตั้งจะเพิ่มเป็น 120 บาท หรือคนที่ปฏิบัติราชการสนามปฏิบัติงานด้าน ความมั่นคง เพิ่มเป็น 200 บาท นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิ์เครื่องแต่งกาย เครื่องนอน เครื่องสนามและของใช้ ส่วนตัว รวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาลตลอดห้วงเวลาที่รับราชการ พร้อมทั้งการทําประกันชีวิต หากเกิดการสูญเสีย เสียชีวิตหรือทุพพลภาพก็จะได้รับสิทธิ์ส่วนในห้วงระยะเวลารับราชการทําหน่วยของกองทัพบกส่ง เสริมให้ทางทนายได้รับการศึกษาสูงขึ้น และยังมีโอกาสเข้าสอบคัดเลือกนักเรียนนายสิบกองทัพบก กองทัพอากาศ

ศพสุดท้ายอีกกี่ครั้ง?: รวมกรณีซ้อมทรมาน-ตายแปลกในค่าย คุก บ้านพักนายทหาร

อดีตทหารเกณฑ์แจงเหตุลบโพสต์วิจารณ์ระบบเกณฑ์ทหาร หวังกองทัพพัฒนาให้ทันสมัย

ส่วน พล.ท.ณฐพนธ์กล่าวว่า ขั้นตอนการฝึกทหารว่า จะมีการปรับสภาพพฤติกรรมจากเป็นพลเรือนมาเป็น ทหารเพื่อให้มีความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมทั้งสภาพจิตใจ ขวัญกําลังใจพร้อมปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชําติ และต้องเข้ารับการฝึก 10 สัปดาห์ ส่วนการลงโทษทหารนั้นจะอยู่ ในวิสัยของผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ดูแลการฝึกทหารใหม่ บางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น ต้องทําให้เขารู้ว่า เขาทําผิด ต้องมีการอบรมพัฒนาตลอดเวลา และทหารที่ทําความผิดต้องอยู่ในสายตาของครูฝึกตลอดเวลา ซึ่งเรามีอัตราที่ดูแลพลทหาร 8 คน ต่อครูฝึก 1 คน

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับความต้องการทหารเกณฑ์ในปีนี้เพิ่มมากขึ้น 1,637 คนจากปีที่ผ่านมา สถิตินับจากปี 2556 -2561 พบว่า

จำนวนทหารเกณฑ์ที่กองทัพต้องการตั้งแต่ 2556-2561

ในปี 2556 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 94,480 คน

ในปี 2557 มีควาทต้องการทหารกองประจำการจำนวน 100,865 คน

ในปี 2558 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 99,373 คน

ในปี 2559 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 101,307 คน

ในปี 2560 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 103,097 คน

ในปี 2561 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 104,734 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบคนข้ามเพศอาชีพครูในสหรัฐฯ มากกว่าครึ่งถูกรังแกในที่ทำงาน

Posted: 22 Mar 2018 03:48 AM PDT

วิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ สำรวจพบว่าครูที่เป็นคนข้ามเพศและ "นอนไบนารี" ร้อยละ 56 จากโรงเรียนทั่วประเทศสหรัฐฯ เคยถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงานมาก่อน ซึ่งมักจะมาจากเพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร ไม่ค่อยเกิดจากนักเรียน ในทางตรงกันข้ามการเปิดเผยตัวตนเพศสภาพของครูกลับส่งผลดีต่อนักเรียนอย่างคาดไม่ถึง คือทำให้นักเรียนมี "พื้นที่ปลอดภัย" ในการพูดเรื่องเพศสภาพหรือสุขภาวะทางเพศของตัวเองได้

จากการสำรวจโดยวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ (NPR) เมื่อ 8 มี.ค. ระบุว่ากลุ่มตัวอย่างคนข้ามเพศมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นการเหยียด กีดกัน หรือคุกคาม ซึ่งมักจะเป็นการรังแกจากผู้บริหารหรือเพื่อนร่วมงานแต่ไม่ได้มาจากนักเรียน

สื่ออเมริกันทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเป็นครู 79 คน ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือเป็นผู้ที่ไม่จัดตัวเองอยู่ในระบบสองเพศหรือ "นอนไบนารี" (Non-binary) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ดูมีจำนวนน้อยแต่ก็เป็นตัวแทนของคนข้ามเพศที่เป็นครูได้อย่างนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการสำรวจระบุว่ามีครูที่เป็นคนข้ามเพศหรือนอนไบนารีร้อยละ 56 ที่ถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงาน มีกรณีกลุ่มตัวอย่างอยู่ 2 รายที่ถูกไล่ออกด้วยสาเหตุเรื่องตัวตนทางเพศของพวกเธอ ขณะที่มีร้อยละ 29 ไม่แสดงตัวตนทางเพศสภาพของตัวเองในที่ทำงาน

ผลสำรวจระบุอีกว่ามีมากกว่า 7 ใน 10 ที่ถูกเปิดเผยเพศของพวกเขาในที่ทำงาน มีร้อยละ 17 ที่ถูกขอให้เปลี่ยนการแสดงออกทางตามบทบาททางเพศของพวกเธอให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสูจิบัตร มี 1 ใน 5 ที่เปิดเผยว่าพวกเขาถูกข่มเหงรังแกด้วยวาจาในที่ทำงาน

ลอว์เรน เฮ็กกาธอร์น จากโรงเรียนอิวานสตัน รัฐอิลลินอยส์ ผู้นิยามตนเองเป็นนอนไบนารีกล่าวว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเขาถูกข่มเหงรังแกจากเพื่อนร่วมงานและมีคนทำอะไรกับปัญหานี้น้อยมาก คนในที่ทำงานมักจะเน้นทำให้คนที่ข่มเหงรังแกคนอื่นรู้สึกสบายใจมากกว่า

ในกลุ่มตัวอย่างเหล่ามีถึงร้อยละ 53 ในกลุ่มตัวอย่างที่นิยามตัวเองเป็นชายข้ามเพศ ร้อยละ 21 นิยามตัวเองเป็นนอนไบนารีและผู้ที่เพศสภาพเลื่อนไหลได้ (gender fluid) และร้อยละ 15 นิยามตัวเองเป็นหญิงข้ามเพศหรือผู้มีเพศสภาพที่เอียงไปในทางผู้หญิง (femme)

ในเรื่องการเปิดเผยเพศตัวเองในที่ทำงานอาจจะส่งผลทางลบต่อบางคนโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพศสภาพที่ตนปรารถนา (passing) แต่ทว่าบางกรณีที่ส่งผลดี

ซึ่งแซม ลอง ครูวิทยาศาสตร์รายหนึ่งในเดนเวอร์ รัฐโคโลราโดกล่าวว่า ขณะที่ฝ่ายบริหารไม่ยอมให้เขาเปิดเผยเพศสภาพตัวเอง แต่ตัวเขาก็เปิดเผยเรื่องนี้กับนักเรียนให้รู้และส่งผลบวกตัวกลุ่มนักเรียนเอง มีนักเรียนหลายคนกล้าเปิดเผยตัวตนไม่ว่าจะในด้านรสนิยมทางเพศหรือเพศสภาพของพวกเขา เป็นการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ให้นักเรียนเหล่านี้พูดถึงตัวเองได้โดยปริยาย "ผมรู้สึกดีที่ทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยที่จะแบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง" ลองกล่าว

การเกิด "พื้นที่ปลอดภัย" จากการเปิดเผยตัวตนของพวกเขาไม่เพียงแค่ทำให้นักเรียนกล้าพูดถึงตัวตนทางเพศตัวเองเท่านั้น ยังส่งผลให้นักเรียนการกล้าพูดเรื่องสุขภาวะทางเพศด้วย

มีอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นกับคริส สมิธ ที่สอนในโรงเรียนผู้อพยพในนิวยอร์กซิตีบอกว่ามีนักเรียนคนหนึ่งที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานบริการทางเพศมาก่อนแต่ไม่รู้จักเรื่องเชื้อเอชไอวีและไม่เคยไปตรวจ พอเขาได้เรียนเรื่องนี้เขาก็กล้ามาพูดกับสมิธที่เปิดเผยเพศสภาพตัวเอง เพราะนักเรียนคนนั้นรู้สึกสะดวกใจที่จะคุยเรื่องนี้กับสมิธถึงแม้ว่าประเด็นสุขภาวะทางเพศจะไม่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพของสมิธโดยตรงแต่เขาก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมีความรู้เข้มข้นในประเด็นนี้มาก

NPR ระบุถึงการข่มเหงรังแกหลายรูปแบบตั้งแต่เรื่องที่ดูภายนอกเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็สร้างความเจ็บปวดให้กับพวกเขา เช่นการใช้คำเหยียดเพศสภาพของคนข้ามเพศ นอกจากนี้ยังถูกกดดันในแง่ต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการกดดันเรื่องการแต่งกาย การไม่เคารพในความเป็นคนของพวกเธอ และบางคนถึงขั้นรู้สึกว่าอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยที่จะแสดงตัวตนข้ามเพศในที่ทำงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อบีบเค้นทางเศรษฐกิจเช่นต้องหาเงินจ่ายหนี้กู้ยืมด้านการศึกษาด้วย ทำให้จำยอมกับสภาพที่ไม่ได้เป็นเพศที่ตัวเองปรารถนาในที่ทำงาน

ศูนย์เพื่อความเท่าเทียมของคนข้ามเพศระบุว่ามีเพียง 15 รัฐ ในสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายระบุชัดเจนเรื่องการห้ามเหยียดหรือกีดกันคนด้วยฐานเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ

เรียบเรียงจาก

Over half of transgender teachers experience harassment in the workplace, study finds, Pink News, 08-03-2018

More Than Half Of Transgender Teachers Surveyed Tell NPR They Are Harassed At Work, NPR, 08-03-2018
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อจีนสยายปีกลงใต้และนโยบายแบ่งรับแบ่งสู้ของชาติในเอเชีย

Posted: 22 Mar 2018 02:28 AM PDT

บทวิเคราะห์ในนิวยอร์กไทม์ระบุถึงหลายประเทศในเอเชียที่เริ่มรับอิทธิพลจากจีน มหาอำนาจขั้วตรงข้ามสหรัฐฯ โดยมีญี่ปุ่นและอินเดียที่เป็นปราการทัดทานอำนาจจีนไว้ ทว่านักวิเคราะห์ยังชี้ว่าหลายประเทศเริ่มหันมาใช้แนวทางแบ่งรับแบ่งสู้โดยไม่ได้อยู่ขั้วอำนาจใดชัดเจน และมีบางกรณีที่รับผลประโยชน์ด้วย พร้อมๆ กับการต้านอิทธิพลจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (ที่มา: แฟ้มภาพ/kremlin.ru)

นิวยอร์กไทม์ประเมินอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เริ่มแผ่ขยายอำนาจในเอเชียซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยมีอิทธิพลมากมาก่อน โดยที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่สองมหาอำนาจคือจีนกับสหรัฐฯ กำลังพยายามช่วงชิงการแปลงโฉมเศรษฐกิจและการเมืองในเอเชีย ทวีปที่มีประชากรมากที่สุดในโลกให้เป็นไปตามจินตนาการของพวกเขาเอง ก็มีการประเมินว่าขณะที่ขีดความสามารถของกองทัพสหรัฐฯ ยังคงครอบงำเอเชียอยู่ แต่จีนก็เริ่มจะใช้อำนาจทั้งจากทางกำลังทหารและทางเศรษฐกิจจัดการระเบียบใหม่ในพื้นที่ กระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มานานอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

นิวยอร์กไทม์ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่จีนเร่งแผ่อิทธิพลในเอเชียได้มากขึ้น น่าจะมาจากนโยบายการต่างประเทศและการปฏิเสธทำข้อตกลงทางการค้าของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมามี 11 ชาติที่ลงนามในข้อตกลงทางการค้าโดยไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วยรวมถึงประเทศอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น ซึ่งข้อตกลงทางการค้าดังกล่าวมาแทนที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

ทั้งนี้ยังมีแผนภูมิเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียเริ่มหันไปค้าขายกับจีนมากขึ้นเทียบจากช่วงเวลาระหว่างปี 2554-2559 ประเทศที่เอนเอียงไปในทางจีนอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลาดังกล่าวคือพม่า กัมพูชา ลาว ส่วนไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เอียงไปในทางจีนมากขึ้นเล็กน้อย แต่ก็น่าสังเกตว่าฟิลิปปินส์ กัมพูชา ศรีลังกา และบังกลาเทศ เริ่มข้ามไปอยู่ฝั่งเน้นค้าขายกับจีนจากเดิมที่อยู่ในฝั่งการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า นั่นทำให้ตอนนี้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มแซงหน้าสหรัฐฯ แล้วในภูมิภาคนี้

สาเหตุของเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะผู้นำในเอเชียรู้ว่าเศรษฐกิจของพวกเขาซึ่งเกี่ยวโยงกับการเมืองภายในต้องพึ่งพาจีน โดยที่จีนใช้วิธีเสนอการลงทุนและพยายามลงโทษทางเศรษฐกิจกับประเทศที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจ

ถ้าจะมีส่วนที่สหรัฐฯ ยังคงครองอำนาจมากในเอเชียน่าจะเป็นสัดส่วนของการค้าอาวุธให้กับภูมิภาคนี้ จากข้อมูลกราฟของนิวยอร์กไทม์ที่นำตัวเลขมาจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์มแสดงให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ หลายล้านดอลลาร์ ประเทศที่ซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ มูลค่าสูงสุดเฉลี่ยราว 2000-3000 ล้านดอลลาร์ได้แก่ ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินเดีย, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ประเทศที่ซื้ออาวุธจากจีนมากกว่าสหรัฐฯ ได้แก่ ปากีสถาน พม่า และบังกลาเทศ ส่วนไทยซื้อจากสหรัฐฯ รวม 229 ล้านดอลลาร์ และจากจีน 131 ล้านดอลลาร์

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าประเทศที่เน้นซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ คือประเทศที่มีข้อผูกมัดทางการทหารและนโยบายต่างประเทศกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ส่งมายาวนานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ขณะเดียวกันประเทศราว 20 ประเทศในเอเชียก็เลือกไม่ถูกว่าจะอยู่ข้างมหาอำนาจรายใด ขณะที่จีนส่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ก็กุมอำนาจด้านความมั่นคง

ทันวี มาดาน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากสถาบันบรูกกิงส์กล่าวว่าประเทศในเอเชียเหล่านี้ไม่อยากเลือกข้าง ทำให้พวกเขาพยายามใช้ยุทธวิธีหาประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายให้มากที่สุดและสร้างความเสี่ยงที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกรธให้น้อยที่สุดเพื่อรักษาความเป็นอิสระจากทั้งมหาอำนาจสองฝ่ายนี้ นั่นทำให้ผลลัพธ์น่าจะออกมาแตกต่างจากยุโรปสมัยสงครามเย็นที่มสองฝ่ายแบ่งชั้วกันชัดเจน แต่กลับเกิดอะไรที่กระจัดกระจายมากกว่านั้นจากการที่หลายประเทศทั้งรับและปฏิเสธหรือไม่ก็พยายามบริหารจัดการอิทธิพลของจีน ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจจะกลายเป็นตัวอย่างของการจัดการกับโลกที่มีการขับเคี่ยวของจีนกับสหรัฐฯ

นิวยอร์กไทม์ประเมินว่าถ้าจะมีประเทศไหนในเอเชียที่คานอิทธิพลของจีนได้ก็คงเป็นญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนที่เป็นอันดับที่ 2 เป็นหนึ่งใน 4 ประเทศหลักที่คัดคานกับจีนคือ สหรัฐฯ, อินเดีย และ ออสเตรเลีย อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีบทบาทเป็นลมต้านหลักๆ ในด้านการเป็นผู้นำเศรษฐกิจและประชาธิปไตยแทนการยอมอ่อนข้อให้จีน ทำให้ประเทศที่ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจเท่าญี่ปุ่นก็อาจจะคอยตามหลังญ่ปุ่นเพื่อคานกับจีนได้ในช่วงที่สหรัฐฯ ล่าถอย เป็นจุดขัดขวางไม่ให้จีนมีอิทธิพลใหญ่ระดับสหรัฐฯ ได้ง่ายๆ

สิ่งที่กลายเป็นปัญหาสำหรับจีนอีกอย่างหนึ่งคือเกาหลีเหนือที่เริ่มทำตัวเป็นเอกเทศจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ การทดลองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของพวกเขาก็มักจะออกมาในช่วงเวลาที่ชวนให้จีนขายหน้า อีกทั้งการทดลองอาวุธแบบนี้ยังทำให้คู่แข่งจีนอย่างญี่ปุ่นมีข้ออ้างเสริมกองกำลังของตนเองมากขึ้น ตัวเกาหลีเหนือเองก็มีความหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้และปีนออกมาจากการถูกครอบโดยจีนมาครึ่งศตวรรษ เมือจีนกุมรัฐลูกไล่อย่างเกาหลีเหนือเอาไว้ไม่ได้ ก็มีปัญหาในการยายามกุมอำนาจรัฐอื่นๆ

ในบทความมีข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีของศรีลังกาที่มีจีนเข้าไปสร้างท่าเรือเพื่อการลงทุนแล้วก็ใช้เป็นแหล่งจอดเรือดำน้ำของตัวเองไปด้วยกัน แสดงให้เห็นโฉมหน้าของจีนยุดใหม่ที่เปลี่ยนอำนาจทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นอำนาจทางการทหาร และอิทธิพลทางการเมืองที่ทำให้ประชาธิปไตยแย่ลง นอกจากนี้ยังใช้วิธีการสร้างภาระหนี้สินมหาศาลกดดันประเทศคู่สัญญาอย่างศรีลังกาเพื่อยึดครองพื้นที่ของประเทศในนามการเช่าครองที่ดิน 99 ปี

มีการตั้งข้อสังเกตจากมิรา แรปป์-ฮูเปอร์ นักวิชาการประเด็นความมั่นคงเอเชียจากวิทยาลัยกฎหมายเยลว่าจีนมักจะทำเช่นนี้กับประเทศที่สหรัฐฯ ไม่ได้มีอิทธิพลหรือไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไรมาก โดยที่จีนจะใช้กำลังแรงงานและกำลังทุนเข้าไปแผ่อิทธิพลในประเทศนั้นๆ ประเทศเล็กๆ ที่กำลังพัฒนามักจะต้องการให้จีนยื่นมือเข้าไป ทว่าในบางประเทศอย่างปากีสถานที่สหรัฐฯ เคยให้งบประมาณช่วยเหลือจำนวนมากมาก่อนก็มีแรงผลักดันให้หันไปหาจีนเหมือนกัน และนอกเหนือจากเอเชียแล้วจีนยังพยายามขยายอิทธิพลไปยังที่อื่นๆ จนวันหนึ่งอาจจะกลายเป็นเครือข่ายระดับโลกได้ อย่างไรก็ตามประเทศจนกว่าเหล่านี้ก็เป็นพันธมิตรที่ไร้กำลังเมื่อเทียบกับประเทศที่ร่ำรวยกว่าซึ่งมักจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ รวมถึงการไร้ความสามารถของจีนในการทำสัญญากับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย

กระนั้นจีนก็มีจุดที่น่าที่น่าเกรงขามชวนให้ระวังอยู่ประการหนึ่งคือการพยายามล้อมอินเดียด้วยการทำข้อตกลงและการลงทุนกับประเทศโดยรอบติดพรมแดนอินเดีย ขณะที่อินเดียพยายามแข็งข้อกับจีนมากขึ้น

ในกรณีการเล่นบทสายกลางของประเทศแถบเอเชีตะวันออกเฉียงใต้นั้นนิวยอร์กไทม์ยกตัวอย่างกรณีของฟิลิปปินส์และเวียดนามที่มีแนวทางต่างกัน โดยที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์เคยประกาศหลังเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อปี 2559 ว่าจะยกเลิกความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ที่คงอยู่มาตลอด 65 ปี หลังจากนั้นก็เข้าหาจีนเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันที ทำให้สหรัฐฯ ลดระดับสถานะข้อผูกมัดของพันธมิตรลงแต่ก็ยังยืนยันด้านสัญญาในการป้องกันประเทศ ส่วนจีนก็มีข้อเสนอการพิพาทเขตน่านน้ำในทางที่เป็นประโยชน์กับฟิลิปปินส์และอาจจะมีการลงทุนในฟิลิปปินส์ ส่วนดูเตอร์เตก็แค่แสดงท่าทีแต่ก็ไม่ได้ย้ายข้างไปอยู่กับจีนโดยสิ้งเชิง

ในกรณีเวียดนามที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนนั้นพยายามต้านอิทธิพลทั้งจีนและสหรัฐฯ มาโดยตลอด ในยุคสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา สหรัฐฯ เคยยกเลิกคว่ำบาตรการค้าอาวุธกับเวียดนามเพื่อหวังจะดึงเวียดนามเข้ามาเป็นพวก แต่เวียดนามก็ยังคงซื้ออาวุธส่วนใหญ่จากรัสเซียอยู่ดี

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ แรปป์-ฮูเปอร์ ก็เตือนว่าสหรัฐฯ ไม่ควรชะล่าใจกับการพยายามใช้ข้ออ้างการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน เรื่องนี้เกิดขึ้นแม้กระทั่งกับออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ มันจึงเป็น "บททดสอบ" สำหรับสหรัฐฯ กับอนาคตที่ประเทศทั้งหลายจะแบ่งรับแบ่งสู้กับทั้งสองมหาอำนาจไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ได้เป็นอิสระและไม่ได้แสดงตัวเข้าข้างฝ่ายใดอย่างเต็มที่

เรียบเรียงจาก

How China Is Challenging American Dominance in Asia, MAX FISHER and AUDREY CARLSEN, New York Times, 09-03-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากเรือแสวงหาน้ำตาลสู่ 200 ปีไทย-สหรัฐอเมริกา

Posted: 22 Mar 2018 12:54 AM PDT

'ของขวัญแห่งมิตรภาพ' นิทรรศการครบรอบ 200 ปีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา จัดแสดงของขวัญที่สองประมุขมอบให้แก่กัน จุดเริ่มต้นเมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ฝากจดหมายไปกับเรือบรรทุกน้ำตาลถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร สู่ความสัมพันธ์ในทุกมิติกับสหรัฐอเมริกา 

ภายหน้างานนิทรรศการ 'ของขวัญแห่งมิตรภาพ'

เมื่อวาน (21 มี.ค. 61) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในนามสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทยได้เริ่มงานนิทรรศการ 'ของขวัญแห่งมิตรภาพ' หรือ 'Great and Good Friends' ในวาระครบรอบ 200 แห่งมิตรภาพระหว่างสหรัฐอเมริกาและราชอาณาจักรไทย ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมมหาราชวัง โดยจะมีการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2561

ประชาไทสัมภาษณ์จิลเลี่ยน บอนนาร์โดซ์ (Jillian Bonnardeaux) โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ถึงความคาดหวังต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา และนโยบายทางการทูตในขณะนี้ที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เธอได้ให้ความเห็นว่า อยากให้ 200 ปีนับจากนี้เป็นความสัมพันธ์ที่วิเศษยิ่งขึ้นของทั้งสองประเทศ การจัดนิทรรศการครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มองไทยเป็นเพื่อนคนสำคัญ (Great and Good Friends) โดยการนำของที่ทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนกันมาจัดแสดง แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพและความมีน้ำใจ และจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ มองว่าไทยเป็นเพื่อนคนแรกๆ ในทวีปเอเชีย และอยากให้ทั้งสองประเทศยังมีมิตรภาพที่ดีต่อกันในอนาคต

ฉลองพระองค์ครุย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานแก่สถาบันสมิธโซเนียน เมื่อ พ.ศ. 2490

ภายในงานเล่าถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศที่เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2361 กัปตันชาวอเมริกันล่องเรือมาจอดเทียบท่าที่กรุงเทพมหานครเพื่อเสาะแสวงหาน้ำตาล เขาได้นํ้ำตาลกลับไปเต็มลําเรือพร้อมกับจดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ซึ่งดํารงตําแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่มีไปยังประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร จดหมายฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2361 นั้นชักชวนให้สหรัฐอเมริกาสานสัมพันธ์ทางการค้ากับสยามนับแต่นั้นต่อไปในอนาคต และยังถือเป็นการติดต่อกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างสองประเทศอีกด้วย

จดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ซึ่งดํารงตําแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่มีไปยังประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร

ในส่วนของจัดแสดง ได้แก่ของขวัญที่พระมหากษัตริย์ไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทูลเกล้าถวายฯ แด่พระมหากษัตริย์ไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เบบ รูธ นักเบสบอลชื่อดัง และเอมิเลีย แอร์ฮาร์ท นักบินชาวอเมริกา เข้าเฝ้าฯ ที่สนามกีฬา Yankee Stadium พ.ศ. 2475

ประชาไทได้สัมภาษณ์ เทรเวอร์ เมอร์เรียน (Trevor Merrion) หนึ่งในภัณฑารักษ์ผู้ดูแลงานนิทรรศการครั้งนี้ถึงเหตุผลว่าทำไมของที่นำมาจัดแสดงถึงเป็นเฉพาะของที่ประมุขของรัฐมอบให้แก่กันเท่านั้น เหตุใดสิ่งของของประชาชนจึงไม่มีโอกาสได้จัดแสดง เขาให้เหตุผลว่าที่เลือกสิ่งของระดับประมุขต่อประมุขเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประมุขประเทศหนึ่งกับประมุขอีกประเทศหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้วก็มีของที่นายกรัฐมนตรีของไทยมอบให้กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่เราก็ไม่ได้นำมา เพราะถ้าเป็นระดับประมุขกับประมุขจะเห็นได้ชัดสุดเพราะเป็นตัวแทนความสัมพันะ์ของแต่ละชาติได้ดีที่สุด ถ้าเอาของสามัญชนมาจัดแสดงก็อาจจะไม่มีน่าสนใจเท่านี้

จากซ้ายไปขวา วิลเลียม แบรดฟอร์ด และ เทรเวอร์ เมอร์เรียน

สำหรับเมอร์เรียน ของที่ประทับใจมากที่สุดและแนะนำให้มาดูคือ บาตรที่ทำขึ้นใน พ.ศ. 2415 ซึ่งใน พ.ศ. 2419 ได้นำไปจัดแสดงในนิทรรศการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี สหรัฐอเมริกาด้วย มีความพิเศษตรงที่ รัชกาลที่ 5 ทรงประสงค์ให้ทำขึ้นเพื่อถวายแด่พระราชาคณะเนื่องในโอกาสพระบรมราชาภิเษก

บาตรที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประสงค์ให้ทำขึ้นเพื่อถวายแด่พระราชาคณะเนื่องในโอกาสพระบรมราชาภิเษก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สคบ.บุกจับร้านจัดฟันแฟชั่นที่ตลาดนัดย่านตลิ่งชัน ทันตแพทยสภาย้ำจัดฟันแฟชั่นอันตรายถึงตาย

Posted: 22 Mar 2018 12:48 AM PDT

สคบ.พร้อมทันตแพทยสภาและตำรวจ บุกจับ 3 ร้านฝ่าฝืนให้บริการจัดฟันแฟชั่น บริเวณตลาดนัดชื่อดังย่านตลิ่งชัน ทันตแพทยสภาย้ำเตือนวัยรุ่น จัดฟันแฟชั่นสวยได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงอันตรายถึงตายได้
 
 
22 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า วานนี้ (21 มี.ค.61) เวลา 19.00 น. พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ สคบ. ลงพื้นที่ตรวจจับร้านให้บริการจัดฟันแฟชั่น ในเขตพื้นที่ตลาดนัดชื่อดังย่านตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร หลังจากได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ปฏิบัติการตรวจจับและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบให้บริการดังกล่าวอย่างเข้มงวด ฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขายและให้บริการสินค้าอันตราย (อุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น)
 
ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ สคบ.ได้รับการประสานข้อมูลจากทันตแพทยสภา ก่อนวางแผนลงพื้นที่เข้าตรวจยึดและจับกุม พบร้านเปิดให้บริการจัดฟันแฟชั่น จำนวน 3 ร้าน โดยพบของกลางเป็นอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับจัดฟันแฟชั่น จำนวน 6 ชุด ยางเชนและยางโอริง จำนวน 32 กล่องใหญ่ ท่อสี 25 ชิ้นและอีก 1 กล่องใหญ่ ลวด จำนวน 5 ซอง แบลคเก็ต จำนวน 20 แผ่น รีเทนเนอร์จัดฟันแฟชั่น จำนวน 27 ชิ้น ป้ายโฆษณาจัดฟันแฟชั่น จำนวน 8 แผ่น โมเดลฟันติดอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น จำนวน 3 ชิ้น ถาดพิมพ์ฟัน จำนวน 2 กล่อง อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับใช้จัดฟันแฟชั่น จำนวน 6 กล่อง สมุดบัญชีบันทึกรายชื่อลูกค้า จำนวน 2 เล่ม และสมุดบิลเงินสด อีกจำนวน 3 เล่ม
 
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหามาสอบปากคำที่ สน.ตลิ่งชันและส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยโทษของผู้ขายหรือผู้ให้บริการสินค้าดังกล่าว จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ความนิยมการจัดฟันแฟชั่นในกลุ่มวัยรุ่นนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และเสี่ยงต่อชีวิต การจัดฟันโดยผู้ที่ไม่ใช่ทันตแพทย์นั้น จะทำให้เกิดผลเสีย ฟันเรียงตัวผิดปกติ ไม่สบกัน เคี้ยวลำบาก ฟันผุ ฟันหลุด และเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากฟันมีปัญหา ควรให้ทันตแพทย์เป็นผู้ดำเนินการจะทำให้ปลอดภัยกว่า
 
"ทันตแพทยสภาขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นว่า ความสวยงามเล็กน้อยที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพช่องปากทั้งยังมีอันตรายถึงชีวิตและเสียเงินทองด้วย และที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตือนให้ตระหนักถึงอันตรายดังกล่าว และจับกุมบริการจัดฟันแฟชั่นหลายครั้ง ซึ่งต้องขอขอบคุณ สคบ.ที่ตรวจสอบและจัดการกับธุรกิจและบริการที่ผิดกฎหมายมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการจัดฟันแฟชั่น" ทพ.ไพศาล กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น