โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลตีราคา 2.2 ล้าน ให้ประกัน 'อริสมันต์' แล้ว หลังติดคุกเกือบชนปี

Posted: 16 Mar 2018 12:31 PM PDT

ที่มาภาพ เพจ Banrasdr Photo

16 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 21.30 น. ที่ผ่านมา เรือนจำพิเศษกรุงเทพปล่อยตัว อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. หลังศาลฎีกาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งนี้ศาลตีราคาประกันเป็นเงินสด 2,200,000 บาท โดยมีญาติ,แกนนำ นปช. และมวลชนกว่า 30 คนมารอรับ

อริสมันต์ กล่าวว่า ดีใจ ได้ออกมาอยู่กับครอบครัว แต่เราต้องเป็นกำลังใจ คนข้างใน และต่องช่วยกัน สังคมไทยยังเลื่อมล้ำอยู่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2560 ศาลอุทธรณ์โดยตัดสินพิพากษายืน จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา อริสมันต์ กับแกนนำกลุ่ม นปช.พัทยา อีกจำนวน 12 คน (จำเลยที่ 2-13) เป็นแกนนำ คดีบุกรุกก่อความวุ่นวายการประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่โรงแรมรอยัล คลิฟบีท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ปี 2552 ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ก่อนนำส่งไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษหนองปลาไหล อ.บางละมุง โดยที่ก่อนหน้านี้มีการยื่นของปล่อยตัวชั่วคราวแต่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งวันนี้ ศาลฎีกาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ และเพจ Banrasdr Photo

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พูดไว้นานแล้ว ธนาธรแจงปมไอเดีย 'ศาสนา-แก้ปัญหาชายแดนใต้' ของตนที่เป็นกระแส ยังไม่ใช่นโยบายพรรค

Posted: 16 Mar 2018 12:00 PM PDT

ธนาธร โพสต์แจงปมวิวาทะวิสัยทัศน์ 'ศาสนา-แก้ปัญหาชายแดนใต้' ของตนที่เถียงในโซเชียลฯ ขณะนี้ ยังไม่ใช่นโยบายพรรค ยันพูดไว้นานแล้ว เผยทันทีที่กฏหมายเปิดโอกาส จะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจริง และรับฟังความเห็นในการจัดการความขัดแย้ง

 
17 มี.ค. 2561 ภายหลังจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารไทยซัมมิท และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์นิติศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ ไปจดแจ้งพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ 'พรรคอนาคตใหม่' พร้อมชูคำขวัญ "ก้าวพ้นทศวรรษที่สูญหาย สร้างประเทศไทยที่มีอนาคต" โดยมีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีสมาชิกผู้ก่อตั้งในวัย 20-40 ปีเป็นส่วนใหญ่ (อ่านต่อที่นี่) สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ โดยหนึ่งในข้อวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กคือกรณีที่ ธนาธร เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GM ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 เกี่ยวกับมุมมองด้านรัฐกับศาสนา และปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จน 'ประชาไท' ได้นำเสนอแนวคิดของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ แกนนำพรรคคนสำคัญคนหนึ่งที่พูดถึง ข้อเสนอ 7 ข้อของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา หรือ หะยีสุหลง (อ่านต่อที่นี่)
 
ล่าสุด วันนี้ (17 มี.ค.61) เวลา 0.13 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาธร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ ต่อประเด็นศาสนาของตนเอง ว่า ความเห็นของตนเรื่องศาสนาที่ได้รับการพูดถึงอยู่ตอนนี้ ขอชี้แจงว่าสิ่งที่ตนแสดงความคิดเห็นไว้ถูกตัดออกมาจากบริบทของมัน การแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องนี้ กระทำไว้นานแล้ว และก่อนการเกิดขึ้นของพรรคเสียอีก ดังนั้นมันจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่เพิ่งแสดงความคิดเห็นเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นนโยบายพรรคได้
 
"โดยส่วนตัวผมเห็นว่า สังคมไทยควรเป็นสังคมที่ไม่นำเรื่องศาสนาซึ่งเป็นสิทธิและความเชื่อส่วนบุคคล มาสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ผมเข้าใจความคับข้องใจของทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมที่ต่างตกเป็นเหยื่อของความขัดแยัง ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน เพื่อยุติความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง" ธนาธร โพสต์
 
ธนาธร ยังกล่าวด้วยว่า การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองมากขึ้นในทุกภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัญหาความขัดแย้งและเพิ่มศักยภาพของสังคมไทยเพื่อสร้างประเทศไทยที่มีอนาคต
 
สำหรับแนวทางของพรรคอนาคตใหม่เกี่ยวกับประเด็นนี้ ธนาธร ยืนยันว่า ทันทีที่กฏหมายเปิดโอกาส เราจะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจริง และจะรับฟังว่าพวกเขามีความเห็นในการจัดการความขัดแย้งอย่างไร
 
"ผมขอโทษแทนสมาชิกพรรคของเราบางท่านที่ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ ซึ่งหลายท่านไม่เห็นด้วย เราน้อมรับข้อวิจารณ์ทั้งหมด และจะทำงานอย่างหนักในประเด็นนี้ต่อไป" ธนาธร โพสต์ทิ้งท้าย
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายประมงพื้นบ้านฯ ทวงสัญญารัฐบาลหลังเรียกร้องให้แก้ กม. เอื้อประโยชน์ประมงพาณิชย์

Posted: 16 Mar 2018 11:01 AM PDT

เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยรวมตัวหน้ากระทรวงเกษตรฯ กว่า 70 คน เรียกร้องรัฐบาลแก้ไขพระราชกำหนดการประมง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เอื้อประโยชน์ให้ประมงเชิงพาณิชย์ ล่าสุดได้ทำ MOU รัฐมนตรีรับปากจะแก้กฎหมายภายใน 6 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2561 เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยกว่า 70 คน ได้รวมตัวกันหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล แก้ไขพระราชกำหนดการประมง ปี พ.ศ. 2558 เนื่องจากกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศจำนวนหลายแสนคน โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง ปี พ.ศ.2558 รัฐบาลอ้างว่า หลักการกฎหมายประมงเป็นไปเพื่อสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้าน แต่กลับพบว่ามีข้อกำหนดอยู่หลายประการที่เป็นการจำกัดสิทธิชาวประมงพื้นบ้าน และเอื้อประโยชน์ให้กับประมงแบบพาณิชย์มากกว่า เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการประมงพื้นบ้านออกทำประมงจากชายฝั่งได้ในระยะเพียง 3 ไมล์ทะเล โดยทั่วประเทศมีผู้ที่ทำประมงพื้นบ้านเทียบกับผู้ทำประมงเชิงพาณิชย์เป็นสัดส่วนร้อยละ 85 : 15

ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนแก่กระทรวงเกษตรฯ มาแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามาจนถึงวันนี้(15 มี.ค. 2561) จึงได้รวมตัวกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา โดยออกแถลงการณ์ระบุว่า

1. รัฐบาลต้องแก้ไข พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 โดยให้มีหมวด "ว่าด้วยการประมงพื้นบ้าน" เป็นการเฉพาะ โดยมีรายละเอียดตามที่เคยเจรจากัน

2.ต้องออกประกาศยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงที่มีสภาพทำลายล้างเพิ่มเติม และประกาศกำหนดขนาดพันธ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนทุกชนิดที่ห้ามจับขึ้นเรือประมง

3. รัฐบาล และหัวหน้า คสช. ต้องแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558 เพื่อเปิดให้จดทะเบียน เรือประมงพื้นบ้านได้

4. ต้องกำกับให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการดำเนินการเข้มงวดการประมงอวนรุน อวนลาก ลอบคอนโด อย่างจริงจังเพราะไม่มีการตรวจจับหรือจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ต่อมาช่วงบ่ายของวันที่ 16 มี.ค. 2561 ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้าหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้ทำการบันทึกข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย โดยในบันทึกข้อตกลงระบุว่า

ตามที่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบยื่นหนังสือร้องเรียนและใต้ประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 และได้หารือกันแนวทางการปฏิบัติอีกครั้งในวันที่ 16 มี.ค. 2561 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้านในภาพรวมทั้งประเทศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตกลงดำเนินการดังนี้

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับรองว่า จะเสนอหลักการขอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขาวประมงพื้นบ้านเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ภายใน 6 เดือน โดยมี สาระสำคัญที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) แก้ไข นิยามประมงพื้นบ้าน ในมาตรา 5 ใหม่

(2) ยกเลิกมาตรา 34 เกี่ยวกับการห้ามผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงนอกเขต ทะเลชายฝั่ง

(3) แก้ไขสาระเกี่ยวกับ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เกี่ยวกับสัดส่วนกรรมการ กระบวนการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างชัดเจน โปร่งใส เป็นมาตรฐานเดียวกัน

(4) สาระเกี่ยวกับข้อ (1) และ (2) ให้ใช้มติของคณะทำงานในคณะอนุกรรมการแก้ไข กฎหมายอันส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวประมงและผู้ประกอบการด้านการประมง ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

(5) สาระรายละเอียดเกี่ยวกับข้อ (3) ให้จัดทำรายละเอียดร่วมกันระหว่างเครือข่ายประมงพื้นบ้าน กับกรมประมง

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับรองว่า จะแก้ไขปัญหาการประมงจับปลากะตัก ด้วยเครื่องมือครอบ ซ้อนยก ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเวลากลางคืน และการประมงอวนลาก ซึ่งเป็น เครื่องมือ การประมงที่มีประสิทธิภาพสูงที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสัตว์น้ำ และชาวประมงพื้นบ้าน โดย จะดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการให้เสร็จสิ้นภายใน เดือน มี.ค. 2561 โดยมีองค์ประกอบที่กรม ประมงและเครือข่ายประมงพื้นบ้านเห็นชอบร่วมกัน เพื่อศึกษารวบรวมงาน วิชาการที่เกี่ยวข้อง และ/หรือ ศึกษาผลกระทบจากการทำประมง จับปลากะตักด้วยเครื่องมือครอบ ข้อน ยก ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในเวลากลางคืน และการประมงอวนลาก ทั้งที่มีผลต่อทรัพยากรประมงและต่อสังคมรวมทั้งการประกาศ กำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำ เศรษฐกิจวัยอ่อนทุกชนิดที่ห้ามจับขึ้นเรือประมงโดยกำหนดเป็นสัดส่วนที่จับได้โดยบังเอิญตาม ที่เหมาะสมทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศกำหนดขนาดลูกปลาทู-ลังให้เสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ค. 2561 และทยอยประกาศพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่นลำดับต่อๆไป และในระหว่างการศึกษาทางวิชาการ จะไม่มีการอนุญาตให้เพิ่มจำนวนการทำประมง ด้วยเครื่องมือดังกล่าวทุกกรณี

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับรองว่า จะทำข้อเสนอถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่24/2558 เพื่อเปิดให้จดทะเบียน เรือประมงพื้นบ้านได้ โดยให้กรมประมงร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านและอื่นๆตามที่จำเป็น จัดการประชุมกลางเดือน เม.ย. 2561 เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ และดำเนินการแล้วนำเสนอ คสช. เพื่อแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 24/2558 ต่อไป โดยให้จดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอสได้ทั่วประเทศ โดยให้เรือ ที่จดทะเบียนประมงพื้นบ้านสามารถประกอบกิจการ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กันได้ และให้กรมประมงร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านและอื่นๆ ตามที่จำเป็นจัดการประชุมกลางเดือน เม.ย. 2561 เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินการจัดทำ "หนังสือรับรองการประกอบอาชีพชาวประมงพื้นบ้าน"

4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้อง จะทำหนังสือยืนยันนโยบายรัฐบาล เกี่ยวกับการปฏิบัติ ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องมือประมงอวนรุน ลอบพับ (คอนโด, ไอ้โง่) เรืออวนลาก ผิดกฎหมาย ที่มีการ ลักลอบทำการประมง ถึงจังหวัดชายฝั่งทะเลทุกจังหวัด ภายในวันที่ 19  มี.ค. 2561

5. มอบหมายให้นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง และนายสะมะแอ เจะมูดอ ผู้แทนชาวประมงพื้นบ้านมีอำนาจหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงานทั้งหมดตามบันทึกข้อตกลงนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทบาท เสียงสะท้อนจากนักเรียนคนดำ ในการประท้วงความรุนแรงจากอาวุธปืนทั่วสหรัฐฯ

Posted: 16 Mar 2018 10:03 AM PDT

ในการประท้วงความรุนแรงจากอาวุธปืนครั้งใหญ่ทั่วสหรัฐฯ มีเสียงสะท้อนว่ามีการคำนึงถึงคนดำหรือคนเชื้อชาติสีผิวอื่นๆ น้อยเกินไป ถูกเหมารวมซ้ำเติมว่าเป็นกลุ่มคนอันตราย รวมถึงเมื่อเกิดความรุนแรงต่อคนผิวสีก็มักจะได้รับการสนใจและผลักดันน้อยกว่าเวลาเกิดขึ้นกับคนขาว

ในวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ของกลุ่มนักเรียนไฮสคูลที่แม้ว่าจะยังไม่ถึงวัยเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย แต่ก็ออกมาแสดงพลังต่อต้านความอยุติธรรมหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องกฎหมายอาวุธปืนที่เอื้อต่อการก่อเหตุกราดยิงในโรงเรียนไปจนถึงเรื่องความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ สีผิว เช่นในแอตแลนตา มีบางส่วนที่พูดถึงประเด็นความยากจนและปัญหาบริการสุขภาพจิต เช่นในบอลติมอร์ และชิคาโก ส่วนในเมืองบรูกลินของนิวยอร์ก กลุ่มนักเรียนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบตำรวจ

ในการประท้วงวอล์กเอาท์หมู่ของกลุ่มนักเรียนในครั้งนี้มีนักเรียนที่เป็นคนผิวสีเข้าร่วมเป็นจำนวนมากเพื่อส่งสัญญาณแบบเดียวกับคนอื่นๆ คือเรียกร้องให้มีการลดความรุนแรงจากอาวุธปืนและยับยั้งไม่ให้เกิดการกราดยิงในโรงเรียน แต่สิ่งที่พวกเขาเสริมเข้ามาคือประเด็นที่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงกระทบกับชุมชนคนผิวสีอย่างไรด้วย

เจลาห์ แจ็คสัน อายุ 15 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประท้วงวอล์กเอาท์เปิดเผยว่าถ้าหากนักเรียนที่เป็นคนดำถูกยิงก็มักจะไม่ได้รับความสนใจในสื่อมากเท่าที่ควร พวกเขารู้สึกว่ากลุ่มคนดำถูกลดทอนความสำคัญ และไม่ได้รับการการนำเสนอมากเท่าคนขาว

เมื่อไม่นานนี้กลุ่มนักเรียนชี้ให้เห็นว่าปัจจัยเรื่องเชื้อชาติมีอิทธิพลต่อการที่สื่อและนักการเมืองจะให้ความสนใจต่อการทำกิจกรรมต่อต้านความรุนแรงจากอาวุธปืนหรือไม่ เมื่อเทียบกันแล้วเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนในพื้นที่ของคนดำมักจะไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากรณีอย่างกรณีนักกิจกรรมกรณีกราดยิงในเมืองพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา ซึ่งได้รับความสนใจและการผลักดันเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับการที่กลุ่มคนดำหรือคนเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนขาวเรียกร้องความเป็นธรรมด้านเชื้อชาติสีผิว เช่น กลุ่มดรีมดีเฟนเดอร์ส หรือกลุ่มมูฟเมนต์ฟอร์แบล็กไลฟ์ส (MBL)

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามที่ใหญ่กว่าอย่าง ใครที่จะได้รับความเห็นใจในสหรัฐฯ ประเด็นไหนที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่ากัน และกลุ่มคนทั่วไปเข้าหากิจกรรมแนวไหนมากกว่ากัน กลุ่มนักเรียนทั่วสหรัฐฯ จึงหันมามองความเกี่ยวข้องกันระหว่างความรุนแรงจากอาวุธปืนกับปัจจัยเรื่องความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ สีผิว

มีกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนบุ๊กเกอร์ทีวอชิงตันในแอตแลนตาที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงเรียนไปประท้วง ทำการประท้วงด้วยการคุกเข่าข้างหนึ่งแบบเดียวกับที่โคลิน แคร์เปอร์นิค นักอเมริกันฟุตบอลเคยทำท่านี้ประท้วงความอยุติธรรมทางสีผิวและการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อคนดำมาก่อน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเดียวกับที่นักสิทธิพลเมืองคนดำมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เคยเรียนมาก่อน

นักเรียนในชิคาโกเข้าร่วมการประท้วงด้วยการวอล์กเอาท์เพื่อแสดงการเคารพต่อเพื่อนของพวกเขาที่เสียชีวิตและเรียกร้องให้มีการลงทุนกับกลุ่มชุมชนคนผิวสีมากกว่านี้ ดามายันตี วอลลาซ นักเรียนศิลปะจากชิคาโกบอกว่าความรุนแรงจากอาวุธปืนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับที่คุณอาจจะได้ยินเสียงร้องไห้ของคนที่โถงทางเดินโรงเรียนเพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อคืนก่อนหน้านี้

มีนักเรียนอีกส่วนหนึ่งจากชิคาโกและบอลติมอร์ร่วมกันประท้วงในชื่อว่า "เด็กดี เมืองวิกลจริต" (Good Kids Mad City) โดยที่พูดถึงสาเหตุของความรุนแรงนอกเหนือไปจากเรื่องตัวบุคคลแต่พูดถึงปัญหาที่แวดล้อมอยู่อย่างเรียกร้องให้มีโครงการแก้ปัญหาคนหนุ่มสาวไม่มีงานทำ โครงการเกี่ยวกับสุขภาพจิต และทรัพยากรในโรงเรียนที่ดีขึ้น หนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมประท้วงคือแนนซี รามิเรซ ที่กล่าวว่าพวกเขาร่วมส่งกำลังให้กับนักเรียนที่พาร์คแลนด์และเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาที่ใช้วิธีการแก้ไขแบบคำตอบเดียวไม่ได้

ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่คนดำก็มักจะมีคนอ้างว่าเป็นเรื่อง "การควบคุมตัวเอง" ของคนดำหรือไม่ก็กล่าวหาว่านักกิจกรรมคนดำที่ออกมาประท้วงเป็น "อาชญากร" แต่ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติ สีผิวและระเบียบโรงเรียนก็เตือนว่าการพยายามแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระบบความปลอดภัยและการติดอาวุธให้ครูนั้นเป็นการละเลยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียนที่เป็นคนผิวสี

สเตซี แพตตัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยมอร์แกนระบุว่าการถกเถียงเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนของสหรัฐฯ ช่วงนี้เป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมผิดๆ ที่ว่าโรงเรียนของคนขาวปลอดภัยกว่าข้างนอก และวาทกรรมกดทับที่ว่าคนดำและชาวละตินเป็นคนอันตราย โดยที่นักเรียนผู้ออกมาประท้วงในครั้งนี้ก็ต้องการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมนี้และขยายการพูดคุยในเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขึ้น

เรียบเรียงจาก

The gun reform debate has largely ignored race. Black students made sure the school walkouts didn't, Vox, Mar. 14, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. เตรียมส่งศาล รธน. ตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

Posted: 16 Mar 2018 09:23 AM PDT

ประธาน สนช. เผยเตรียมส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ชี้เพื่อให้เกิดความรอบด้านป้องกันปัญหาการตีความในอนาคต คาดศาลใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน เชื่อไม่ส่งผลต่อโรดแมปการเลือกตั้ง

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แฟ้มภาพข่าวรัฐสภา

16 มี.ค. 2561 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวสรุปมติของ สนช. ภายหลังจากได้รับความเห็นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีข้อกังวลว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒสภา (ส.ว.) อาจมีบางมาตราขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่า ภายหลังที่ สนช. ได้รับความเห็นจาก กรธ.แล้ว สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ยืนยันว่า เนื้อหาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งหากมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในอนาคต และเพื่อให้เกิดความชัดเจนรอบด้านตามเจตนารมณ์ของ กรธ. สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ควรมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว.เท่านั้น โดยยื่นให้ศาลวินิจฉัยเนื้อหาในบทเฉพาะกาล ที่มีการแบ่งประเภทผู้สมัคร ส.ว.ที่มีทั้งแบบอิสระและแบบองค์กรคัดเลือก ซึ่งอาจขัดแย้งต่อระบบการได้มาซึ่ง ส.ว.

ซึ่งขณะนี้ ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. จำนวน 30 คน ที่ขอเข้าชื่อเรียบร้อยแล้ว โดยมีกิตติ วะสีนนท์ เป็นตัวแทนผู้เข้าชื่อยื่นเรื่องผ่านประธาน สนช. และจะดำเนินการส่งหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญในวันจันทร์ที่ 19 มี.ค.นี้ คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยประมาณ 1 เดือน

ส่วนเหตุผลที่ สนช. ไม่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.นั้น พรเพชร กล่าวว่า สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่มั่นใจว่า ประเด็นที่ กรธ. ทักท้วง ทั้งเรื่องการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และการอนุญาตบุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ความช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนนในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนน ที่ สนช.ระบุเพิ่มเติมว่า ให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น เนื่องจากไม่ได้เปิดเผยผลการลงคะแนนดังกล่าวต่อคนทั่วไป จึงยืนยันว่ายังเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นอกจากนี้ หากกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลใช้บังคับหลังจากประกาศไปแล้ว 90 วัน หากมีผู้ติดใจว่าจะกระทบต่อสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง อาทิ พรรคการเมือง หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยทั้ง 2 ประเด็นออกมาอย่างไร ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะจะมีผลเฉพาะบางมาตราเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกฎหมายทั้งฉบับ โดย สนช.จะส่งรางกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. ไปยังนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า

ต่อข้อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแบ่งประเภทผู้สมัคร ส.ว. ขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญจะมีผลให้ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว.ต้องตกไปทั้งฉบับหรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปี การตาย ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ บทเรียน และความคิดถึงที่ไปไม่ถึงความยุติธรรม

Posted: 16 Mar 2018 08:59 AM PDT

ชวนดูบทเรียนของสังคมไทยจากระบบสอบสวนที่ญาติเข้าไม่ถึงหลักฐาน เจ้าหน้าที่ปกป้องกันเอง ความกลัวเจ้าหน้าที่สะท้อนรอยร้าวในชุมชน และแผลใจที่ยังไม่ตกสะเก็ด ชัยภูมิตายกระทบครอบครัวและชุมชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่ทหารยิงนักกิจกรรมลาหู่เสียชีวิต

ชัยภูมิ ป่าแส

วันที่ 17 มี.ค. ของปีที่แล้วเป็นวันเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่าชัยภูมิขัดขืนการตรวจค้นรถของเจ้าหน้าที่ หลังตรวจสอบรถ พบห่อยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ดซุกซ่อนอยู่ในกรองอากาศ

การเสียชีวิต และกระบวนการทางกฎหมายที่ดำเนินต่อหลังจากนั้นมาจนถึงวันนี้ ทำให้หนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สังคมมองเห็นความคลุมเครือและปริศนาบนความตายของเด็กหนุ่มลาหู่จนเป็นหนึ่งปีที่กระบวนการพิสูจน์หลักฐาน กระบวนการสอบสวน วัฒนธรรมการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐและบรรทัดฐานการใช้อาวุธจากภาษีประชาชนฆ่าประชาชน ต่างถูกท้าทายจากข้อวิจารณ์ของสังคมอย่างต่อเนื่อง

แม้ดินกลบหน้าชัยภูมิแล้ว แต่ข้อสงสัยและความคิดถึงก็ตลบขึ้น ประชาไทคุยกับสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความของครอบครัวชัยภูมิในคดีไต่สวนการตาย และไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ ถึงบทเรียนที่สังคมไทยได้รับ ความคืบหน้าการไต่สวนการตายที่สะท้อนเงื่อนงำและบริบทความสัมพันธ์ของชาวลาหู่และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงความคิดถึงที่ีมีต่อผู้ตาย ในวันที่ไมตรีบอกว่า กรณีการตายของชัยภูมิยังเป็น "คลื่นที่ซัดไปไม่ถึงความยุติธรรม" ไม่ใช่แค่เพื่อรำลึกถึงการจากไปของชัยภูมิผู้จากไปก่อนวัยที่ควรจะเป็น แต่เพื่อรำลึกด้วยว่า คนที่ยังอยู่ก็ยังต้องใช้ชีวิตกับกระบวนการยุติธรรมที่เป็นปริศนาและวัฒนธรรมปกป้องพวกเดียวกันต่อไป

ไต่สวนการตาย 'ชัยภูมิ ป่าแส' ไม่พบภาพกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ

รายงาน: 'วิสามัญฆาตกรรม' เกินกว่าเหตุหรือไม่ ใครเป็นคนกำหนด

Timeline จากปากคำชาวกองผักปิ้ง วัน ชัยภูมิ ป่าแส ถูกทหารวิสามัญฯ

เกิดเหตุทหารวิสามัญนักกิจกรรมชาวลาหู่อายุ 17 ปี อ้างตรวจพบยาเสพติด-วัตถุระเบิด และขัดขืนการจับกุม

 

บทเรียนของสังคมไทยจากระบบสอบสวนญาติเข้าไม่ถึงหลักฐาน เจ้าหน้าที่ปกป้องกันเอง

สุมิตรชัยกล่าวว่า สังคมไทยได้บทเรียนจากการตายของชัยภูมิเยอะ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือระบบการสอบสวนที่ไม่เปิดให้เหยื่อ หรือญาติผู้เสียหายเข้าถึงหลักฐาน จะเห็น จะดูได้ต่อเมื่ออยู่ในชั้นศาลเท่านั้น นอกจากนั้น จากหลักฐานที่มีทำให้ตนมีคำถามถึงความจำเป็นเรื่องการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ นอกจากนั้น การที่ผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาปกป้องเจ้าหน้าที่ด้วยการออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพแม่ทัพภาคที่สาม เจ้าของวลี "ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว" ที่ออกมาปกป้องทหารที่วิสามัญฯ ชัยภูมิ ทำให้ประชาชนทั่วไปกลัวที่จะค้นหาความจริง

"สังคมไทยได้บทเรียนเยอะจากเรื่องนี้ แต่ระบบไม่เปลี่ยน คือกระบวนการหาพยานหลักฐานยังเป็นแบบเดิมอยู่ ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหา พยานหลักฐานเป็นความลับของพนักงานสอบสวนไปเสียหมด ในหลักสากลต้องเปิดหลักฐานให้กับผู้เสียหายหรือญาติผู้ตายที่ถูกวิสามัญ แต่อันนี้ภาพจากกล้องวงจรปิดยังขอดูไม่ได้เลย ในระบบบ้านเรา การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนกลายเป็นความลับ คู่ความหรือผู้เสียหายเข้าไม่ถึง จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อถึงศาลแล้ว"

"รัฐไม่ควรใช้วิธีวิสามัญฯ คือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้น ต่อให้เขา (ชัยภูมิ) ต่อสู้และวิ่งหนีไปก็มีหลายวิธีที่จะจับตัวเขา คุณตามจับเขาวันหลัง หรือออกหมายจับก็ได้ เราพยายามบอกว่าการวิสามัญฯ มันเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน ตามหลักสากล การจะวิสามัญฯ จะทำได้ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกแล้วที่จะดำเนินคดี เช่น เขาต่อสู้ ใช้กำลัง แล้วเราไม่มีทางเลี่ยงก็ต้องป้องกันตัว ก็อย่างที่เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าเขาพยายามป้องกันตัวเพราะเห็นว่าชัยภูมิมีระเบิด แต่จากข้อเท็จจริงที่เราได้มา ระเบิดยังไม่ถอดสลักด้วยซ้ำ หลายอย่างยังคงเป็นปริศนาว่าชัยภูมิมีระเบิดหรือไม่ เพราะพยานก็บอกว่าตอนชัยภูมิวิ่งไปไม่เห็นถืออะไรไว้ แล้วระเบิดมาจากไหน ภาพจากกล้องวงจรปิดก็ไม่เปิดเผย หลักฐานก็เลยคลุมเครือ ทั้งๆ ที่คดีแบบนี้ต้องเอาหลักฐานทั้งหลายมาเปิด โดยเฉพาะให้ญาติผู้ตายมีสิทธิที่จะเข้าถึงพยานหลักฐานเหล่านี้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างยังคลุมเครือ และก็เหมือนมีการปกป้องเจ้าหน้าที่ด้วยตามที่เห็นว่าหลังเกิดเหตุ 2-3 วันก็มีการออกมาให้สัมภาษณ์ ประชาชนที่อยากค้นหาความจริงก็ไม่กล้าให้ความจริงได้ง่ายๆ เพราะกลัว พอมีผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศมาบอกว่าทหารถูก แล้วใครจะกล้าออกมาหาความจริง"

"ประเทศไทยก็เป็นภาคีเรื่องการไต่สวนการตาย ชันสูตรพลิกศพ มีหลักสากลของ UN (องค์การสหประชาชาติ) โดยเฉพาะการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือเอกชนฆ่ากันก็ว่ากันไปตามกฎหมาย เพราะมันไม่เหมือนกับรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมาฆ่าคน มาตรฐานการสอบสวนจึงต้องสูงกว่าระหว่างเอกชนด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้รัฐใช้อำนาจมากจนเกินไป" สุมิตรชัยกล่าว

รอยร้าวในชุมชนสะท้อนความกลัวเจ้าหน้าที่และแผลใจที่ยังไม่ตกสะเก็ด

"ในพื้นที่ก็มีความกลัวระดับหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่ชายแดน ไม่มั่นใจว่าพยานในเหตุการณ์ที่เราขอให้มีหมายเรียกจะมาหรือเปล่า เพราะพวกเขากลัว อาจจะกลัวการมาให้การที่เป็นปฏิปักษ์กับภาครัฐ"

เป็นคำพูดของสุมิตรชัยเกี่ยวกับอุปสรรคในการทำคดีไต่สวนการตายที่สะท้อนความหวาดกลัวของคนในพื้นที่ที่อาจเป็นผลมาจากบาดแผลที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำมาตลอด

ไมตรีขยายความเรื่องความหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่ในชุมชนว่า ความตายของชัยภูมิทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในความวุ่นวาย แบ่งแยก และไม่สงบสุข

"พวกหนึ่งก็จะบอกว่าเป็นกลุ่มที่บอกว่าไม่ควรต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ อีกพวกหนึ่งก็จะมองว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินไป ชาวบ้านก็ไม่สงบสุขแล้ว มีแบ่งพรรคแบ่งพวก อีกส่วนหนึ่ง ชุมชนก็วุ่นวาย คนในชุมชนบางคนก็บอกว่าเพราะชัยภูมิเลยทำให้วุ่นวาย มีเจ้าหน้าที่ มีทหารมาลงบ่อย บางคนที่ไม่มีบัตรประชาชนพอเจ้าหน้าที่มาก็กลัวกัน เจ้าหน้าที่พยายามหาผ้าห่ม เสื้อผ้ามาแจก ชาวบ้านก็ไม่ไป ไปยัดเยียดแม่ชัยภูมิไปรับผ้าห่มบ้าง พอแม่ชัยภูมิไม่ไปเจ้าหน้าที่ก็ไปหาถึงบ้านเลยทำให้ชาวบ้านกลัว"

ชุมชนบ้านกองผักปิ้งที่เป็นที่อยู่อาศัยของชัยภูมิ เคยมีความบาดหมางกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีทหารบุกรุกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อปลูกป่า ทั้งยังใช้กำลังเข้าทำร้ายชาวบ้านที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวทำการเกษตรเมื่อ พ.ศ. 2548 (อ่านที่นี่) ไมตรีเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารไปตบหน้าชาวบ้านหลายคน ซึ่งมีทั้งเด็กและคนแก่ ขณะนั่งผิงไฟอยู่ที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว ในช่วงคืนวันที่ 31 ธ.ค.57 และยังได้นำคลิปวีดีโอเป็นภาพเหตุการณ์ทหารโต้เถียงกับประชาชนเมื่อวันที่ 1 ม.ค.58 มาเผยแพร่ (อ่านรายละเอียดคดี และประมวลสรุปการสืบพยานในศาล)

ปัจจุบัน ไมตรีต้องซ่อนตัวอยู่ที่อื่น ไม่ได้กลับไปอยู่ที่บ้านเนื่องจากกลัวว่าจะมีเหตุร้าย ช่วงที่ชัยภูมิเสียชีวิตใหม่ๆ ไมตรีถูกข่มขู่จากมือนิรนามด้วยการวางกระสุนปืนไว้ที่หน้าบ้าน รวมทั้งยังมีคนขี่มอเตอร์ไซค์มาถ่ายภาพบ้านไว้ด้วย

"ตอนนี้ไม่มีคนมาข่มขู่แล้ว แต่ถ้ากลับไปอาจจะมีก็ได้ เพราะตอนนี้หลบตัวอยู่ในเมือง กลัว ไม่กล้ากลับ" ไมตรีกล่าว

สีละ จะแฮ ประธานสมาคมลาหู่ ให้ข้อมูลว่ามีเหตุขัดแย้งระหว่างชาวลาหู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเป็นระยะ ในหน้าเพาะปลูกจะมีชาวลาหู่ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากเนื่องจากไปทำการเกษตรในพื้นที่ปัจจุบันกลายเป็นป่าสงวนหรืออุทยาน บางทีทหารก็ทำร้ายชาวบ้าน โดยระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ใช้กำลังทำร้ายชาวบ้านจนต้องเข้าโรงพยาบาล

ประธานสมาคมชาวลาหู่กล่าวเพิ่มเติมว่าตนไม่ไว้ใจทหาร ตำรวจ บางทีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารและตำรวจก็เข้ามาสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา รู้สึกว่าทหารตำรวจไม่สามารถพึ่งพาได้ ในขณะที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่าได้พึ่งพระเมตตาของในหลวงพระองค์ก่อน

ชาติพันธุ์ลาหู่เป็นเพียงหนึ่งในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานตามชายแดนไทย - พม่า ที่ได้รับผลกระทบในชีวิตและทรัพย์สินจากนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดด้วยนโยบาย "สงครามต่อต้านยาเสพติด" ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อช่วงปี 2546 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของชาวลาหู่ที่มีถิ่นฐานในบริเวณที่มีการขนยาเสพติดข้ามแดนชุกชุม รายงานพิเศษ "ขยี้เกลือบนปากแผล: ชาวลาหู่กับ 10 ปี แห่งบาดแผลของอาชญากรรมโดยรัฐ" เผยแพร่ในประชาไท ชี้ให้เห็นว่าในช่วงการปราบปรามยาเสพติด เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้ความรุนแรงคุกคามชาวลาหู่ด้วยการบุกรุกเคหสถาน ยึดทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย อุ้มหาย จับกุมคุมขังโดยพลการ รวมไปถึงการสังหาร ในอดีต สีละเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่คุมขังตัวเอาไว้ในหลุมที่ค่ายของทหารพราน

ชัยภูมิตายกระทบครอบครัวหนัก ความคิดถึงที่ไปไม่ถึงความยุติธรรม

ไมตรีเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เหตุที่ชัยภูมิเรียกไมตรีว่าพี่ เป็นเพราะสมัยก่อนชัยภูมิและครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีและไม่มีที่อยู่ ชัยภูมิจึงมาพักพิงที่บ้านไมตรีอยู่นาน และเรียกไมตรีว่าพี่มาเสมอ พี่บุญธรรมของชัยภูมิเล่าให้ฟังว่าการตายของชัยภูมิทำให้ครอบครัวแย่ลง

"ครอบครัวก็แย่ ผมก็ไม่ได้กลับบ้านเลย แม่ชัยภูมิก็ลำบากเพราะมีน้องชายของชัยภูมิอีกคน พอเสียชีวิตก็ไม่มีใครเลี้ยงดูต่อ น้าสาวชัยภูมิ (ฉันทนา ป่าแส) ก็อยู่ในเรือนจำ ต้องสู้คดียาเสพติด"

ความคืบหน้า? คดีชัยภูมิ ป่าแส จนท.บุกค้นหมู่บ้าน รวบตัวญาติ อ้างเป็นผู้นำยาบ้าไปส่ง

"ทุกวันนี้ก็ยังคิดถึงเขานะ พอเขาตายไปหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปทั้งชุมชน ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัว น้องชายเขาก็ไม่ได้เรียนต่ออีกเลย"

ไมตรียังคงคิดถึงช่วงชีวิตที่เคยมีชัยภูมิอยู่ และยังได้สะท้อนถึงบทเรียนที่สังคมไทยควรได้รับรู้จากการตายของนักกิจกรรมลาหู่คนนี้

"ความทรงจำต่อชัยภูมิก็เป็นเรื่องที่ดี ชัยภูมิเป็นเด็กขยัน รับผิดชอบ จะเป็นคนหนึ่งที่มีน้ำใจ เสียสละเพื่อเพื่อน พี่น้องและทุกคนได้ เวลาทำงานก็คิดถึงเขา มีกิจกรรมก็จะเห็นเขาขึ้นเวทีพูด ร้องเพลงตลอด จากนี้ไปก็จะไม่ได้ยินเสียงร้อง เสียงกีตาร์ ไม่ได้ยินเขาพูดเรื่องสิทธิ จะได้ยินก็แต่เพลงที่เขาเคยร้องเอาไว้ว่า คนไม่มีสัญชาติไม่ใช่คนที่ไร้ตัวตน"

"เขาเป็นคนขยัน ชอบช่วยคนอื่น อยู่นิ่งไม่เป็น เดี๋ยวก็ต้องไปทำโน่นนี่ ช่วยคนนั้นคนนี้ เดี๋ยวก็ไปตั้งโซลาร์เซลล์ให้บ้านนี้ เดี๋ยวก็ไปรับจ้างบ้านนั้น"

"จะถูกจะผิดก็ให้กฎหมายตัดสิน ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นกฎหมายแล้วจะฆ่าใครก็ได้ ผมคิดว่าผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมืองถึงเวลาแสดงจุดยืนว่าเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านได้ ตอนชัยภูมิถูกฆ่าตาย ผมคิดว่าตำรวจจะช่วยเรา แต่ก็ไม่ใช่ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนพยายามปกป้องกันเอง ทั้งๆ ที่ความจริงก็เคลียร์กันได้ง่ายนิดเดียวด้วยการเปิดภาพกล้องวงจรปิด แล้วเขาก็มาอ้างว่าภาพกล้องวงจรปิดไม่มีซึ่งมันฟังไม่ได้"

"ผมเห็นหลายข่าวที่ทหารถูกซ้อม ถูกฆ่า เป็นเรื่องเป็นราวพักหนึ่งแล้วก็จบด้วยการชดเชย แต่กรณีชัยภูมิก็มีเป็นการช่วยเหลือ พูดคุยในหมู่ผู้น้อย ส่วนน้อยของสังคม จัดกิจกรรมกัน เป็นคลื่นที่ซัดไปไม่ถึงความยุติธรรม"

"ทุกวันนี้ผมกลัวก็จริง แต่วันนี้ผมไม่ถอยแล้ว" ไมตรีทิ้งท้าย

ใครคือชัยภูมิ ป่าแส และเส้นทาง (ทางกฎหมาย) หลังความตาย

ชัยภูมิ ป่าแส หรือ "จะอุ๊" เป็นชาวลาหู่วัย 17 ย่าง 18 ปี ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0) ที่ระบุว่าอายุ 21 ปี เนื่องจากความผิดพลาดของข้อมูลตั้งแต่การสำรวจ กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม

​ตั้งแต่เด็ก ชัยภูมิเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มรักษ์ลาหู่ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มเยาวชนในกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ และกิจกรรมวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อให้ห่างไกลยาเสพติด ผลงานเพลงของชัยภูมิ ได้แก่เพลงเพื่อคนไร้สัญชาติ ชื่อ "จงภูมิใจ" ผลงานภาพยนตร์สั้นได้แก่การเป็นทีมงานภาพยนตร์เรื่อง "เข็มขัดกับหวี" (รางวัลช้างเผือกพิเศษดีเด่น เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 จัดโดยมูลนิธิหนังไทย) และ "ทางเลือกของจะดอ" (รางวัลชมเชยรัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลเดียวกัน) รวมถึงร่วมเป็นทีมงานในสารคดีที่ผลิตโดยกลุ่มรักษ์ลาหู่ เช่นรายการบ้านเธอก็บ้านฉัน ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส นอกจากนี้ ชัยภูมิยังได้เป็นผู้นำในการฟื้นฟูการเต้นแจโก่ของชาวลาหู่จนได้รับการยอมรับในหมู่บ้าน เป็นผู้นำคณะเด็กและเยาวชนกลุ่มรักษ์ลาหู่จากบ้านกองผักปิ้งออกแสดงในหลายพื้นที่  ล่าสุด ได้ร่วมกับศิลปินญี่ปุ่นจากเมืองโอซากาทำนิทานเพลงเรื่องขนมออฟุและตำนานภาษาลาหู่ มาจัดแสดงในงาน ดี ต่อ ใจ ณ แพร่งภูธร เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2560

ชัยภูมิเป็นหนึ่งในกำลังเยาวชนที่ร่วมรณรงค์เรียกร้องการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติของคนชาติพันธุ์ เป็นแกนนำในการจัดค่ายเยาวชนชนเผ่าและได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายต้นกล้าเยาวชนพื้นเมือง และเป็นตัวแทนเครือข่ายฯ เข้าร่วมในการประชุมสัมมนาในระดับประเทศมาหลายครั้ง ชัยภูมิเคยให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้งว่า ตนเติบโตมาในหมู่บ้านที่แวดล้อมด้วยปัญหายาเสพติดและเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน การร่วมกิจกรรมกับรักษ์ลาหู่ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ห่างไกลจากสิ่งชั่วร้าย ได้มีโอกาสเอาใจใส่เลี้ยงดูน้องชายและแม่มากขึ้น เขามีความฝันอยากให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านมีชีวิตที่ดี และตนเองอยากเรียนจบปริญญาตรีและกลับมาเป็นครูสอนหนังสือเด็กในหมู่บ้าน

ปัจจุบัน คดีไต่สวนการตายของชัยภูมิยังคงดำเนินต่อไป สุมิตรชัยให้ข้อมูลจากการไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า รายงานที่พนักงานสอบสวนส่งให้อัยการนำมาส่งศาลมีใจความว่า ทหารส่งตัวเครื่องบันทึกภาพและฮาร์ดดิสก์ให้ตำรวจเมื่อ 25 เม.ย. 2560 ตำรวจก็ส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตั้งแต่วันนั้น แล้วก็รายงานผลกลับมา ให้ความเห็นว่า "ไม่พบภาพในวันเกิดเหตุคือวันที่ 17 มี.ค. 2560 ในตัวฮาร์ดดิสก์"

สุมิตรชัยเคยขอให้ศาลออกหมายเรียกขอภาพจากกล้องวงจรปิดไปยังหน่วยที่ตั้งอยู่ที่ด่านรินหลวงอันเป็นที่เกิดเหตุ และทำสำเนาให้กับ พล.ท. วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาพที่ 3 ที่เคยระบุว่าได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ศาลไม่อนุญาตให้เรียกมา โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงที่นำสืบมีเพียงพอที่จะออกคำสั่งได้แล้ว หมายถึงพยานหลักฐานที่นำสืบนั้นเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ภาพจากกล้องวงจรปิด เนื่องจากหน้าที่การนำสืบของศาลไม่ใช่การตัดสินว่าใครผิดหรือถูก เพราะเป็นการไต่สวนคดีการตาย โดยหลังจากไต่สวนเสร็จ ศาลจะมีคำสั่งศาลว่าผู้ตายเป็นใคร อะไรเป็นเหตุแก่การตาย แล้วจึงจะส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนกับอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อไป

การพิสูจน์อัตลักษณ์บนอาวุธในที่เกิดเหตุที่ทหารอ้างว่าชัยภูมิใช้ในการต่อสู้ ได้แก่มีดและระเบิด สุมิตรชัยให้ข้อมูลว่า ไม่พบลายนิ้วมือที่มีด ส่วนที่ระเบิดพบว่ามีดีเอ็นเอบางส่วนที่พบบนตัวระเบิดเป็นชนิดเดียวกับดีเอ็นเอของชัยภูมิ ตรงด้ามจับไม่พบ แต่ก็มีดีเอ็นเอของหลายคนปรากฏอยู่บนระเบิด

การไต่สวนคดีการตายครั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่ปรากฏภาพจากกล้องวงจรปิดจากบัญชีพยานฝ่ายอัยการ แม้ที่ผ่านมามีกระแสเรียกร้องให้กองทัพเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่ด่านตรวจบ้านรินหลวงในวันที่ชัยภูมิเสียชีวิต โดยเชื่อว่าจะเป็นกุญแจสำคัญต่อรูปคดีการตายของชัยภูมิ

ปัจจุบันมีผู้ที่ระบุว่าเห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วสองคน ได้แก่ พล.ท.วิจักขฐ์ แม่ทัพภาคที่สาม เจ้าของวลี "ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว" และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกที่กล่าวว่า ได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วแต่ไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้ ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปเพราะถือว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง

ทนายความของครอบครัวชัยภูมิยังให้ความรู้ว่า ขั้นตอนไต่สวนการตายคือการที่ศาลไต่สวนสรุปการตาย ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายอย่างไร เจ้าพนักงานเป็นคนทำให้ตายหรือไม่ แต่ยังไม่ระบุว่าผิดหรือไม่ผิด หลังจากไต่สวนการตายเสร็จสิ้น ศาลก็จะมีคำสั่ง อัยการก็จะส่งคำสั่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องตามคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าคนตายของเจ้าหน้าที่ที่ยิงชัยภูมิหรือไม่ หมายถึงว่าจะสั่งฟ้องคดีฆ่าหรือไม่ โดยการตั้งสำนวนคดีวิสามัญฯ จะตั้งคดีไว้สองสำนวน คือสำนวนฆ่า กับสำนวนไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ แต่สำนวนการฆ่าจะยังไม่สั่งฟ้องจนกว่าการไต่สวนชันสูตรพลิกศพจะจบ แล้วจึงค่อยรวบรวมหลักฐานให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ ส่วนคดียาเสพติดนั้นจบลงพร้อมชีวิตชัยภูมิแล้ว แต่ก็ยังมีการจับกุมญาติของชัยภูมิไปพิจารณาคดีอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เสรีพิศุทธ์' ชูฝันปฏิรูปกองทัพ ย้ายทหารออกจากกรุง ยุบหน่วยที่ไม่จำเป็น

Posted: 16 Mar 2018 05:32 AM PDT

หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ชูวิสัยทัศน์ ปฏิรูปกองทัพ จะย้ายทหารออกนอกกรุงเทพทั้งหมด นำพื้นที่สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และสวนสาธารณะ พร้อมยุบหน่วยทหารที่ไม่จำเป็น

เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวผ่านเฟสบุ๊ค 'พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส' เรื่องการปฏิรูปกองทัพว่า "ถ้าผมมีอำนาจผมย้ายทหารออกนอกกรุงเทพทั้งหมด"

"คุณจะไปอยู่ติดต่อกับใคร ทหารจะติดต่อกับประชาชนตรงไหน ผมอยากจะรู้ ใช่ไหม อยู่ไปก็เกะกะกีดขวางทำให้การจราจรติดขัดไปหมด ถูกไหม พื้นที่เยอะนี่ ทหารบกไปอยู่ลพบุรี ทหารเรือไปสัตหีบ ทหารอากาศไปนครสวรรค์ เอาพื้นที่คืนมาให้คนกรุงเทพ ทำโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นสิ่งจำเป็น สวนสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็น" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องใช้ของรัฐก็ได้ ส่วนหนึ่งให้เอกชนเช่าพื้นที่ไป เหมือนเซ็นทรัลเช่าที่การรถไฟ หรือเบียร์ช้างเช่าศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ตนก็เอาพื้นที่ทหารที่มีจำนวนมากในกรุงเทพให้เช่า แล้วนำเงินเหล่านี้มาลงทุนเพื่อสร้างสวนสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลต่างๆ ใครบอกทหารมีความจำเป็นอยู่กรุงเทพ ตำรวจนี่ยังมีความจำเป็นอยู่กรุงเทพ กระทรวงอื่นยังมีความจำเป็นด้วยซ้ำ 
 
"ทหารอยู่ในกรุงเทพ เกิดรบกันมันกดปุ่มมาจากไหน ตูมลงมาลงกบาลใคร ลงชาวบ้าน จริงเปล่า เดี๋ยวเผลอๆ ลงบ้านคุณ แทนที่จะลงค่ายทหาร (สมมุติมีสงคราม) ดังนั้นเอาออกไปก่อนไม่ดีกว่าหรอ" 
 
"ราบ 11 มีตั้ง 3 พันไร่ ตรงบางเขน อยู่กันอย่างเป็นเทวดา เกษียณแล้วยังไม่ยอมไป ผบ.ทบ.ทุกคนก็ไปอยู่แถวนั้น อยู่บ้านหลวง น้ำหลวง ไฟหลวง ทหารรับใช้ มีครบมีเพียบ ไม่เหมือนผม ผมเกษียณ ผมรับราชการก็อยู่บ้านตัวเองหมด นี่อยู่บ้านหลวงตลอด" อดีต ผบ.ตร. กล่าว พร้อมระบุว่า กระทรวงกลาโหมอยู่ในศูนย์ราชการ แต่กองทัพคนละส่วนกัน กองทัพก็ต้องย้ายไป 

ยุบหน่วยที่ไม่จำเป็น

สำหรับเรื่องปฏิรูปทหารอื่นๆ นั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่ามีเรื่องปฏิรูปจำนวนมาก คำถามอย่างมีกองบัญชาการทหารสูงสุดไว้ทำไม จะไปรบกับใคร เพราะฉะนั้นมี 3 เหล่าทัพพอแล้ว ส่วนเรื่องการดูแล 3 เหล่าทัพนั้นก็มีปลัดกระทรวงที่ดูแลอยู่แล้ว หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้นตั้งต่อเมื่อมีสงครามก็ได้  มีกองทัพ 4 ภาคแล้ว มีทำไมกองทัพน้อยอีก มี พล.ท. พล.ต. รองแม่ทัพน้อยอีก มีกองกำลังอีกมากมาย มีทำไม จะไปรบกับใคร ในเมื่อบ้านเมืองไม่มีศึกสงครามก็ต้องยุบ เพราะถ้าตำรวจหรือพลเรือนงานไหนหมดแล้วเขาก็ยุบ แต่นี่ไม่มีงานแต่ก็ตั้งขึ้นมาอีก ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการของทหารจำนวนมากตั้งขึ้นมาทำไม ให้ยศเพิ่มเงินเดือนเพิ่มหรอ ตั้งมาแล้วก็ไม่มีที่นั่งทำงาน ตั้งแล้วก็กลับไปอยู่บ้าน เดือนหนึ่งก็รับเงินเดือนเปรืองภาษีประชาชนขนาดไหน
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับค่ายทหารที่เสนอให้ย้ายออกจากกรุงเทพนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  ระบุผ่านเฟสบุ๊คไว้ด้วยว่า คงเหลือไว้เฉพาะทหารรักษาพระองค์เท่านั้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทสส. ย้ำการเลือกตั้งปล่อยให้เป็นเรื่องของการเมือง ทหารทำหน้าที่ของตนเองไป

Posted: 16 Mar 2018 03:17 AM PDT

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระบุการวางตัวของกองทัพที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ให้เป็นเรื่องของการเมือง ทางทหารเราทำหน้าที่ของตนเองไป ส่วน สมช. เป็นเจ้าภาพทำ MOU แก้ปัญหาชายแดนไทย-มาเลย์

16 มี.ค. 2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงบทบาททำหน้าที่ของกองทัพ ว่า เราได้มีการพัฒนามาตามลำดับ โดยรับผิดชอบภารกิจในหน้าที่ และการสนับสนุนรัฐบาลในมิติต่างๆ รวมถึงการพัฒนาและการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ยังมีการขยายผลงานในมิติต่างๆเพื่อให้เป็นรูปธรรมทั้งโครงการไทยนิย ยั่งยืน

"เราก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของการเมือง ทางทหารเราทำหน้าที่ของเราไป ถ้าในบทบาทของประชาชนสิทธิหน้าที่ของแต่ละคนมีอย่างไรก็ทำไป" ผบ.ทสส. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการวางตัวทางการเมืองของกองทัพที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองหลายภาคต้องการให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ของ คสช.นั้น พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงไปแล้ว

ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้ง ว่า คสช.ผ่อนคลายอยู่แล้ว แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไร แต่อะไรที่ทำให้บ้านเมืองไปได้ดี ทุกคนก็ต้องช่วยกัน

สมช.เป็นเจ้าภาพทำ MOU แก้ปัญหาชายแดนไทย-มาเลย์

สำหรับผลประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย - มาเลเซีย (General Border Committee : GBC) ครั้งที่ 54 เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) ผบ.ทสส. กล่าวว่า ได้หารือในหลายประเด็นและมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการลงนาม MOU เรื่องที่เป็นปัญหาระหว่างกันทั้งหมด ส่วนการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ปกติเรามีการแลกเปลี่ยนข่าวกรองด้านอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงเรื่องปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ อยู่แล้ว ส่วนการแก้ปัญหาบุคคล 2 สัญชาติ เริ่มมีการพูดคุยเรื่องความมั่นคงตามแนวชายแดน โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเป็นหน่วยงานหลักจัดทำ MOU ร่วมกันและหาแนวทางที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ คาดว่าใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากไทยและมาเลเซีย ตั้งใจและร่วมมือกันเพื้อให้เกิดเป็นรูปธรรม

พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการฝึกร่วมผสมระหว่างไทย-มาเลเซีย ขณะนี้มีหลายระดับ ทั้งการฝึกในระดับกองทัพไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนี้ยังมีการฝึกทางทะเล ทางเรือ การฝึกรบพิเศษ การฝึกกำลังทหารราบ หรือ กองร้อยทหารราบในระดับเหล่าทัพ ที่ครอบคลุมมิติทางบก เรือ และอากาศ ด้วย

พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวด้วยว่า ในการประชุม GBC ไทย-มาเลเซีย ไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ได้หารือในประเด็นความร่วมมือเกี่ยวกับรถยนต์รับจ้างข้ามแดน, ด่านชายแดน และการขยายเส้นทางระหว่าง 2 ประเทศ

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหา'ลัยไม่ใช่ค่ายทหาร อาจารย์ศิลปากรฯ โวยถูก 'ทหาร-ตร.' คุกคามการเรียนการสอน

Posted: 16 Mar 2018 02:26 AM PDT

คนส. เปิดจดหมายร้องเรียนจาก อาจารย์ศิลปากรฯ หลังถูก คุกคามข่มขู่และถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบหลายนาย อันเป็นปัญหาต่อการกระบวนการเรียนการสอน ย้ำ "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" 

ภาพจากเพจ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) 

16 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.48 น. ที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจว่า คนส.ได้รับจดหมายแจ้งข้อมูลจาก ผศ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรฯ ถึงการที่กิจกรรมในชั้นเรียนของเธอถูกคุกคามข่มขู่และถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบหลายนาย คนส. จึงเห็นควรนำจดหมายฉบับนี้มาเปิดเผยให้สาธารณะได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความกดดันที่เกิดขึ้นในพื้นที่การศึกษา อันเป็นปัญหาต่อการกระบวนการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นอย่างมาก 

"มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" เพจ คนส ระบุ

โดยจดหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ 


เขียนที่ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม
 
16 มีนาคม 2561
 
เรื่อง ขอแจ้งข้อมูลเพื่อบันทึกเหตุการณ์การถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามการเรียนการสอน และโปรดเผยแพร่ ข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ

เรียน ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

จากการที่ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้จัดโครงการสังคมสนทนา "คุยกับผู้ต้องหา คนธรรมดาที่อยากเลือกตั้ง" มีวิทยากรสิบกว่าท่านซึ่งเป็นผู้ต้องหาจากคดีสติ๊กเกอร์โหวตโน MBK39 และ RDN50 

ภาควิชาฯ ได้ประชาสัมพันธ์งานล่วงหน้า "เกือบหนึ่งเดือน" ในแฟนเพจของภาควิชาฯ และเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ พร้อมทั้งแจ้งว่า หากไม่ลงทะเบียนล่วงหน้าจะไม่ให้อนุญาตให้เข้าร่วมงาน

ก่อนวันงานเพียง "หนึ่งวัน" มีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ 7-8 นาย ติดต่อขอคุยกับหัวหน้าภาควิชาฯแต่ถูกปฏิเสธ พวกเขาจึงขอพบคณบดีคณะอักษรศาสตร์ (ดิฉันไม่แน่ใจว่าสังกัดอะไรและแต่งเครื่องแบบมาหรือไม่อย่างไรเพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) ทราบภายหลังว่าท่านคณบดีได้ชี้แจงและให้ข้อมูลไปตามเนื้อหาโครงการ

ท่านคณบดีไม่ได้ระงับยับยั้งการจัดกิจกรรม ดิฉันได้พบท่านอีกวันถัดมาจึงเรียนถาม ท่านตอบเพียงสั้น ๆ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมาสอบถามของเจ้าหน้าที่รัฐมากนัก แต่เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งของคณะฯ แสดงความเห็นกับดิฉันว่า เธอประหลาดใจกึ่งตกใจที่เห็นนายทหารจำนวนมากมาที่คณะฯ

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ขออนุมัติจากคณบดีตามระเบียบขั้นตอนทุกประการ และมีการส่งจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการจากคณะไปยังวิทยากรทุกท่าน (ลงนามโดยคณบดี) ดิฉันได้เขียนไว้ในโครงการอย่างรัดกุมแล้วว่า กิจกรรมนี้เป็นบริการวิชาการของภาควิชาซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าฟัง บูรณาการกับการเรียนการสอนในวิชาที่ดิฉันรับผิดชอบ ได้แก่ วิชาทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ (หัวข้อ Interpretive approach) ทฤษฎีร่วมสมัย (หัวข้อ New Social Movement) วิชาสื่อเพื่อการพัฒนา (ให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติทำสื่อ) และยังบูรณาการกับงานวิจัยของ ดิฉันหัวข้อ พลเมืองผู้ตื่นตัวฯ 

ก่อนเริ่มงานถึง 2 ชั่วโมง มีชายวัยกลางคน 2 คนที่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า เข้ามานั่งในห้องสัมมนาก่อนที่ทีมเตรียมงานจะมาพร้อมกัน เมื่อสอบถามพวกเขาแจ้งว่าเป็นนักศึกษา ม.ราชภัฏ แห่งหนึ่งใน กทม. กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "พลเมืองผู้ตื่นตัวฯ" ซึ่งพ้องกับชื่องานวิจัยของดิฉันเอง (คงไม่ได้ทำการบ้านดีนักจึงก็อปปี้คำมาโดยตรง) เขาบอกว่า "ขอนั่งตากแอร์" เขาเฝ้าสังเกตการณ์การเตรียมงานของพวกเรา (คงอยากทราบว่าใครเป็น "เบื้องหลัง") 

เมื่อเริ่มงานมีชายนอกเครื่องแบบ แต่ทรงผมอยู่ในระเบียบวินัย 5-6 นาย มาขอเข้างานทั้งที่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า และไม่ยอมลงทะเบียนหน้างาน ดิฉันแจ้งนักศึกษาว่าจะยอมให้พวกเขาเข้างานก็ต่อเมื่อยอมลงทะเบียน จนในที่สุดพวกเขาลงทะเบียนโดยมียศต่าง ๆ นำหน้าชื่อ พวกเขาแจ้งว่ามา "ดูความเรียบร้อย" ซึ่งความจริงแล้วทุกอย่างเรียบร้อยเป็นปกติดีกระทั่งพวกเขามาสร้างความวุ่นวาย 

ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากสามรายวิชาข้างต้น วิทยากรและผู้ติดตามวิทยากร รวมทั้งประชาชนผู้สนใจจริง ๆ บรรยายกาศเป็นไปด้วยดี เว้นเสียแต่ว่าชายผมเกรียนเหล่านั้นเดินถ่ายภาพและบันทึกวีดีโอ จนกระทั่งนักศึกษามาถามดิฉันว่าอนุญาตให้เขาทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ดิฉันแจ้งนักศึกษาว่าปล่อยเขาทำไป เพราะอยากทราบว่าถึงที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะคุกคามห้องเรียนของพวกเราอย่างไร แต่บอกนักศึกษาให้กำกับดูแลอย่าให้เดินเพ่นพ่านรบกวนสมาธิผู้อื่น นักศึกษาจึงจำกัดพื้นที่ให้พวกเขาอยู่หลังห้อง ซึ่งพวกเขาถ่ายภาพและบันทึกวีดีโอตลอดเวลา

ระหว่างงานดิฉันใช้คอมพิวเตอร์บันทึกการนำเสนอบนเวที ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นนักศึกษา นอกจากจะบันทึกภาพตลอดเวลาด้วยโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังพยายามเข้ามาขอบันทึกของดิฉัน ซึ่งดิฉันไม่ให้ ได้แต่คิดในใจว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีในคลาสของดิฉันทุกคนทุกรุ่นจะทราบดีว่า "ความรู้" เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาและสร้างขึ้นมาเองจากการค้นคว้า ฟัง และแลกเปลี่ยน ไม่ใช่การลอกงานคนอื่นมาส่งหากชายสองคนนี้เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจริงก็ควรจะสอบไม่ผ่านเรื่องมารยาทและจรรยาบรรณทางวิชาการ แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ควรจะขยันทำงานเหมาะสมและคุ้มค่ากับภาษีประชาชนมากกว่านี้ 

หลังการเสวนาสองรายการ (เวทีใหญ่) เจ้าหน้าที่สันติบาลยศพันตำรวจโท ซึ่งลงทะเบียนล่วงหน้าแล้ว ได้เข้ามาแนะนำตัวกับดิฉันด้วยท่าทีเป็นมิตร บอกว่าเขาก็เรียนปริญญาโทอยู่จึง "เข้าใจ" วิธีการเรียนการสอนแบบนี้ พร้อมกับให้คำแนะนำว่าการพูดของพี่ๆ ผู้ต้องหาในเวทีที่สอง "ไม่เหมาะสม" เข้าข่ายผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ซึ่งสำหรับเขาแล้ว "ไม่เป็นไร" แต่ไม่ทราบว่านายของเขาจะว่าอย่างไร ดิฉันกล่าวว่า "นายของคุณคงจะเห็นจากบันทึกวีดีโอที่คุณบันทึกไว้ตลอดเวลาใช่ไหมคะ" ดิฉันแลกเปลี่ยนอย่างเป็นมิตร และแจ้งว่าหากจะมีการสอบสวนกรุณามาดำเนินการกับดิฉันในฐานะผู้จัดงาน อย่าไปรบกวนวิทยากร หัวหน้าภาค หรือคณบดี ดิฉันยินดีให้ความร่วมมือ พร้อมทั้งได้แจ้งวันเวลาที่สะดวกพร้อมทั้งให้อีเมล์เพื่อการติดต่อ เขาแจ้งเพิ่มเติมว่าหากจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลวิจัยด้วยวิธีการแบบนี้อีกอาจจะมีปัญหา (ดิฉันคิดว่าเป็นปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ปัญหาของดิฉัน) อีกทั้งยังแจ้งว่าดิฉันอาจถูกจับตามอง ดิฉันตอบไปว่าดิฉันยินดี และหากไปค้นประวัติของดิฉัน (คือทำการบ้านสักหน่อย) ก็น่าจะพบอะไรมากกว่านี้

แม้ว่าการพูดคุยจะเป็นไปอย่างสุภาพและดูเป็นมิตร แต่ดิฉันเห็นว่าดิฉันกำลังถูกข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว ด้วยการอ้างคำสั่ง คสช. 3/58 การบอกว่า "ไม่เหมาะสม" และจะ "ถูกจับตามอง" ทั้ง ๆ ที่กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน 

หลังเสร็จเวทีใหญ่ มีการย้ายห้องและแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้นักศึกษาได้สัมภาษณ์เจาะลึกวิทยากรตามประเด็นที่ได้รับมอบหมายและเตรียมการมา เจ้าหน้าที่ยังคงตามมาที่ห้องกลุ่มย่อย เพื่อถ่ายรูป จนกระทั่งวิทยากรท่านหนึ่งแสดงความไม่พอใจและต่อว่าเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรง พวกเขาจึงหลบไปนั่งอยู่หลังห้อง แต่ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นนักศึกษา มรภ. หนึ่งในสองคนยังคงเดินถ่ายรูป โดยไม่ได้สนใจเนื้อหาการแลกเปลี่ยนใด ๆ 

เช้าวันนี้ (16 มี.ค.61) ในการเรียนวิชาทฤษฎีสังคมศาสตร์ร่วมสมัย ดิฉันแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาถึงกิจกรรมเสวนาดังกล่าว นักศึกษาทั้งหมดที่เข้าเรียนวันนี้แสดงความคิดเห็นว่ากระบวนการเรียนการสอนถูกแทรกแซงและคุกคามอย่างเห็นได้ชัด และรู้สึกรำคาญ แต่ก็ดูตลกขบขันดี 

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่จากวิทยากรทุกท่าน พร้อมทั้งยังได้เห็น "การสาธิต" การใช้อำนาจรัฐ ละเมิดสิทธิ และคุกคามประชาชน ในทุกพื้นที่ แม้แต่ในพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นไปตามประเด็นของเนื้อหาวิชา พวกเขา/เธอจึงเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าเหตุใด "คนธรรมดา" จึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และทำให้เกิดเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเมืองไทยอย่างมากมายในปัจจุบัน 

ขอขอบพระคุณการสาธิตของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว และดิฉันพร้อมที่จะรอชมการสาธิตในลำดับต่อไปหากได้รับการติดต่อมา 
 
ผศ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดวิสัยทัศน์ 'ธนาธรและเพื่อน' ต่อการแก้ไขปัญหา 3 จว.ชายแดนใต้

Posted: 16 Mar 2018 01:46 AM PDT

เปิดแนวคิดแยกรัฐจากศาสนา ให้รัฐยกเลิกการอุปถัมภ์ทุกศาสนาของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และวิสัยทัศน์เพื่อนในพรรคอนาคตใหม่ที่กล้าพูดว่า ข้อเสนอของหะยีสุหลงนั้น "น่าจะเป็นไปได้" ในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  
 
เป็นที่จับตามองอย่างมากสำหรับพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ในชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่มีแกนนำพรรคอย่าง "ไพร่หมื่นล้าน" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารไทยซัมมิท และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์นิติศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งไปจดแจ้งพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวานนี้ (15 มี.ค. 61) และชูคำขวัญ "ก้าวพ้นทศวรรษที่สูญหาย สร้างประเทศไทยที่มีอนาคต" โดยพรรคอนาคตใหม่มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีสมาชิกผู้ก่อตั้งในวัย 20-40 ปีเป็นส่วนใหญ่ (อ่านต่อที่นี่)
 
สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ การที่พรรคอนาคตใหม่ชูนโยบายกระจายอำนาจและพหุวัฒนธรรม นโยบายกระจายอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาทุกยุคทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง ประชาไทจึงทำรายงานชิ้นนี้เพื่อมาดูว่า นโยบายกระจายอำนาจของพรรคอนาคตใหม่จะเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่หรือไม่ และที่น่าจับตามองไปกว่านั้นคือ ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ จะชูนโยบายเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร และจะกล้าไปไกลแค่ไหน 
 

เปิดแนวคิด ธนาธร แยกรัฐจากศาสนา 

 
โดยธนาธรเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GM ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 เกี่ยวกับมุมมองด้านรัฐกับศาสนา และปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างน่าสนใจ อาจสรุปได้ว่า เขามีความคิดเรื่องแยกรัฐออกจากศาสนา หรือที่เรียกว่า รัฐโลกวิสัย (secular state) เขากล่าวว่า รัฐไทยไม่ควรอุปถัมภ์ความเชื่อหรือศาสนาใดๆ และการที่รัฐไทยอุปถัมภ์พุทธศาสนาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างยากขึ้น  
 
ประชาไทคัดลอกคำสัมภาษณ์ของธนาธรกับนิตยสาร GM ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาและปัญหาสามจังหวัดมาดังข้างล่างนี้:
 
"ผมคิดว่าทุกคนมีพระเจ้าของตัวเอง แล้วคุณก็คุยกับพระเจ้าของคุณเองได้โดยไม่ต้องผ่านวัด โบสถ์ หรือมัสยิด คุณคุยกับพระเจ้าของตัวคุณได้ แม้กระทั่งระหว่างการวิ่ง คุณก็คุยกับพระเจ้าได้ คุณไม่ต้องไปตักบาตร ไปมิสซา หรือละหมาดเพื่อจะคุยกับพระเจ้า สิ่งที่ผมเชื่อก็คือศรัทธาทางศาสนาควรจะเป็นศรัทธาที่เปิดกว้าง และไม่ควรมีวัดหรือศาสนา หรือองค์กรใดมาบังคับหรือเชิดชูความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้มากกว่าความเชื่ออื่นๆ เช่น รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้กันไม่จบ ผู้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัด แง่หนึ่งก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีที่ยืนที่เท่าเทียมกันกับคนที่นับถือศาสนาพุทธ ผมคิดว่ารัฐควรจะถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย ที่นี่คุณจะนับถือยูดาย คุณจะนับถือเต๋า นับถือเซนก็ได้ เหมือนอย่างธรรมกาย ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับธรรมกาย รัฐก็ไม่ควรไปยุ่ง ปัญหาคือถ้ารัฐไปยุ่ง มันก็จะซับซ้อนวุ่นวายไปหมด 
 
"เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีผู้ลงสมัครผู้ว่า 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้สมัครที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกคนหนึ่งเป็นผู้สมัครที่นับถือคริสต์ สิ่งที่น่าตลกมากก็คือ ผู้สมัครที่นับถือศาสนาคริสต์เคยเป็นผู้ว่ามาก่อนและมีผลงาน ประชาชนชอบผลงาน แต่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชากรมุสลิมหนาแน่น แล้วมีป้ายหนึ่งในมัสยิดของพวกหัวรุนแรงเขียนว่า 'การเลือกผู้ว่าที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามถือว่าผิดหลักศาสนา' นี่คือการเอาเรื่องรัฐกับเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้องกัน ซึ่งผมเห็นว่าไม่ควร"
 
ความเห็นของธนาธรดังกล่าวถูกวิจารณ์จากชาวพุทธบางส่วนแล้วว่า เป็นการไม่คำนึงถึงรากฐานของสังคมไทย ซึ่งผูกพันกับศาสนาพุทธ ซึ่งการที่รัฐเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศาสนาจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนและผู้ปกครองประเทศมีศีลธรรมตามหลักศาสนาพุทธ
 

ข้อเสนอของ 'หะยีสุหลง' น่าเป็นไปได้, ชูนโยบายนำภาษีกลับพัฒนาท้องถิ่น

 
เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ แกนนำพรรคคนสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งอยู่เบื้องหลังในการประสานงานและชักชวนคนรุ่นใหม่มาเข้าร่วมพรรค ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ข้อเสนอเจ็ดข้อของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา หรือ หะยีสุหลง หลายข้อนั้นดูเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ "ข้อเสนอของหะยีสุหลงในเรื่องการกระจายอำนาจก็น่าจะเป็นไปได้แทบทุกข้อเลย และก็น่าจะนำหลักการกระจายอำนาจเดียวกันนี้ไปใช้จังหวัดอื่นๆ ด้วย แต่สำหรับสามจังหวัดนั้นมีบริบทเฉพาะบางอย่าง เช่น ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ต้องดูลงรายละเอียดกันไป"
 
เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
 
อนึ่ง หะยีสุหลงได้ยื่นข้อเสนอเจ็ดข้อต่อรัฐบาลไทยในปี 2490 ซึ่งประกอบด้วย 1. สิทธิในการปกครองตนเองของชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ด้วยผู้นำที่เป็นคนจากพื้นที่และมาจากการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่, 2. ข้าราชการในพื้นที่อย่างน้อย 80 เปอร์เซนต์ต้องเป็นมุสลิม, 3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ, 4. ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา, 5.ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด, 6.ภาษีที่เก็บได้ในพื้นที่ให้ใช้ในพื้นที่เท่านั้น, 7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลาม การยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวทำให้เขาถูกจับตามองโดยรัฐไทย และถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ และถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาลไทย ต่อมาเขาถูกบังคับสูญหายเมื่อเกือบ 64 ปีก่อน
 
เปรมปพัทธกล่าวว่า ข้อเสนอที่ของหะยีสุหลงที่เขาสนใจคือ ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจ ข้อ 1-4 ซึ่งเขาเห็นว่า ควรนำสี่ข้อนี้มาศึกษาและถกเถียงต่อ เพื่อปรับให้เข้ากับบริบทสังคมในปัจจุบัน
 
เขากล่าวต่อว่า พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ และต้องการจะกระจายอำนาจไปมากกว่าในรูปแบบที่มีอยู่แล้วอย่าง อบจ. อบต. แต่หยั่งรากไปถึงระบบภาษีที่จัดเก็บจากแต่ละจังหวัด เขากล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ ภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างจังหวัด ถูกใช้ในจังหวัดไม่ถึง 35 เปอร์เซนต์ของภาษีที่จัดเก็บได้ เขามองว่า ภาษีที่ถูกจัดเก็บได้ในแต่ละจังหวัดควรถูกใช้ในจังหวัดนั้นๆ ถึง 70 เปอร์เซนต์ "อย่างจังหวัดระยองซึ่งเป็นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมเยอะมาก และสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงมาก แต่ได้ภาษีกลับไปพัฒนาจังหวัดเพียงไม่เท่าไร แถมได้มลภาวะต่างๆ เป็นของแถมอีกต่างหาก" 
 
แกนนำพรรควัย 24 ปีกล่าวด้วยว่า เร็วๆ นี้ พรรคอนาคตใหม่มีแผนจะลงไปพบปะกับนักเคลื่อนไหว และภาคประชาสังคมในปาตานี เพื่อจัดทำนโยบายการกระจายอำนาจและนโยบายด้านพหุวัฒนธรรมของ "ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้" อันได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  
 
เมื่อถามว่า นโยบายของพรรคอนาคตใหม่ต่อการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสามารถไปได้ไกลแค่ไหน เขาตอบว่า "อะไรก็ได้ที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย และอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน" 
 

เน้นกระจายอำนาจและ พหุวัฒนธรรม 

 
ประชาไทตรวจสอบรายชื่อสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรค พบว่า สองใน 27 สมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่เป็นมุสลิม ซึ่งได้แก่ อลิสา บินดุส๊ะ ชาวจังหวัดสงขลา ทำกิจกรรมกับกลุ่ม Beach for life ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องชายฝั่งและกฎหมายสิ่งแวดล้อม และยังเป็นสมาชิกทีมฟุตบอลบูคูอีกด้วย และ ฟาริด ดามาเราะ ชาวจังหวัดยะลา นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (สนท.)
 
อลิสา บินดุส๊ะ และ ฟาริด ดามาเราะ
 
ฟาริด กล่าวกับประชาไทว่า เขาเชื่อว่า การเข้ามาทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ของเขาจะเป็นการช่วยส่งเสียงถึงความต้องการของประชาชนชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสังคมมุสลิมโดยรวมอีกด้วย เขาเชื่อว่า สังคมไทยที่เป็นประชาธิปไตยและเข้าใจเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมจะช่วยลดกระแสความหวาดกลัวอิสลามได้ (Islamophobia) 
 
เปรมปพัทธกล่าวว่า นอกจาการกระจายอำนาจผ่านระบบภาษีแล้ว ทางพรรคมีวิสัยทัศน์ว่า ควรกระจาย "อำนาจทางวัฒนธรรม" อีกด้วย เช่น "มันควรเป็นไปได้ที่ภาษามลายูจะถูกใช้เป็นภาษาราชการ" เขากล่าว และให้คำนิยามกับพหุวัฒนธรรมว่า "พหุวัฒนธรรมเหมือนประตูสองทาง ที่เมื่อเปิดให้เขาเข้ามาเข้าใจเราแล้ว เราก็ควรจะเปิดออกไปเข้าใจเขาด้วย" เขาวิจารณ์ว่า นโยบายทางวัฒนธรรมของราชการไทยมักเป็นไปแบบเอกวัฒนธรรม ซึ่งคือการโปรโมทวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก และมีลักษณะที่มองวัฒนธรรมเป็นของเก่าและตายตัว ที่ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันและไม่สะท้อนถึงสังคมไทยที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายและลื่นไหล 
 
หมายเหตุ: มีการแก้ไขรายงานข่าวในส่วนที่เปรมปพัทธพูดถึงหะยีสุหลงและการแก้ปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 61 เวลา 21.45 เพราะเปรมปพัทธขอให้ปรับแก้ให้คำพูดของเขารัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อสะท้อนกับจุดยืนของพรรคในด้านสิทธิมนุษยชน  รวมทั้งเมื่อเวลา 1.25 น. ของวันที่ 17 มี.ค.61 กองบรรณาธิการดำเนินการปรับปรุงพาดหัวข่าว โดยเมื่อเวลา  0.13 น. ธนาธร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวในลักษณะสาธารณพ ต่อประเด็นศาสนาของตนเอง ระบุว่ายังไม่ใช่นโยบายพรรค และพูดไว้นานแล้ว พร้อมเผยด้วยว่าทันทีที่กฏหมายเปิดโอกาส จะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจริง และรับฟังความเห็นในการจัดการความขัดแย้ง (อ่านรายละเอียด)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนหนุนโรงไฟฟ้าเทพา มาทำเนียบ ทวงความคืบหน้า พร้อมชูบัตร ปชช. ยันเป็นคนในพื้นที่

Posted: 15 Mar 2018 10:57 PM PDT

เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จี้รมว.พลังงานยกเลิก MOU ชี้เสียงค้านเป็นคนส่วนน้อยที่เอ็นจีโอหนุนหลัง ย้ำจะรอติดตามผลอยู่ที่กรุงเทพ และจะมีผู้ชุมนุมมาสนับสนุนอีก

16 มี.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'ฅนเทพา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน' เผยแพร่การถ่ายทดสดวิดีโอกิจกรรมของเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเดินทางมาบริเวณ ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า หลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมพวกกว่า 100 คน เดินทางมาที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 

ประธานเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อ ย้ำจุดยืนเดิมของกลุ่มคนในพื้นที่ ให้รัฐบาลอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่พวกเรารอคอยมา 4 ปีแล้ว ทุกคนต่างเดินทางมาด้วยความเต็มใจ เพราะปรารถนาความเจริญในพื้นที่ ที่จะได้พัฒนาต่อไป และคนเทพาที่มาต่างถือบัตรประชาชนทุกคนแสดงให้เห็นว่าเป็นคนในพื้นที่จริง ๆ อยากฝากถึงรัฐบาลให้ได้รับรู้ว่าพวกเราชาวเทพาหลายหมื่นคนสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าและขอให้รัฐบาลอนุมัติการก่อสร้างโดยเร็ว

หลี กล่าวว่า ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้พิจารณาเหตุผลและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีข้อสรุป คือ ขอให้บรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไว้ในแผนหลักของแผน PDP ใหม่เหมือนเดิม และ ล้มเลิก MOU  เพื่อสร้างความมั่นใจต่อคนเทพาในการวางแผนพัฒนาอนาคตของคนเทพาต่อไป ให้เร่งรัดดำเนินการพิจารณาผลการศึกษา EHIA ทั้งของโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือให้เป็นไปตามขั้นตอน และอนุมัติให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเดินหน้าโดยเร็วต่อไป และให้รับฟังเสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนอย่างมีเหตุมีผลด้วยหลักการประชาธิปไตยมากกว่าการรับฟังเสียงคัดค้านส่วนน้อยที่ถูกชักนำและครอบงำจากกลุ่มกรีนพีซ และ NGOs ภายนอกพื้นที่ 

หลี กล่าวว่า ชาวเทพาพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลและ กฟผ. ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในพื้นที่ให้หมดไป และพวกตนจะรอติดตามผลอยู่ที่กรุงเทพ และจะมีผู้ชุมนุมมาสนับสนุนอีก

ทั้งนี้เมื่อ วันที่ 12 - 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา ของประชาชนเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการอดอาหารและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ณ บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ จนได้มีการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกับผู้แทนเครือข่ายฯ เพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกัน และให้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic environmental assessment : SEA) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของโครงการก่อน เป็นผลให้เครือข่ายฯ ยุติการชุมนุม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯคณะคุยสันติสุข แจงเป็นอดีตไปแล้ว ปมข่าว จนท.มีส่วนหนุนกลุ่มใช้ความรุนแรงชายแดนใต้

Posted: 15 Mar 2018 09:14 PM PDT

พล.ต.สิทธิ แจงกรณีข่าวจนท.มีส่วนหนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ ระบุในอดีต จนท.มีแนวความคิดแบบเดิมๆ ทำให้อาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว แต่ปัจจุบันนโยบายเปลี่ยนแล้ว

พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

16 มี.ค.2561 ความคืบหน้ากระบวนการเจรจาเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักจากมีสื่อรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่นั้น ล่าสุดวันนี้ สำนักข่าวไทย รายานว่า พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้แจงกรณีนี้ ว่า ในอดีตเจ้าหน้าที่รัฐมีแนวความคิดแบบเดิมๆ คือ เชื่อมั่นว่าสามารถเข้าถึงขบวนการและกลุ่มติดอาวุธตัวจริง ผ่านทางตัวแทนแหล่งข่าวได้ จึงอาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว

พล.ต.สิทธิ กล่าวว่า แต่ปัจจุบันนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย และให้เน้นการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี และร่วมกันสร้างสันติสุขในพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว ไม่ได้มีเจตนาที่จะพาดพิงบุคคลหรือหน่วยงานใด 

"ขอให้มีความมั่นใจว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จะเป็นเครื่องมือสำคัญตามแนวทางสันติวิธี ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน ได้ตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง   ปัจจุบันทั้ง 2 ฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบร่วมกัน ในการกำหนดพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ได้แล้ว หลังจากนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องปรับเปลี่ยนการต่อสู้ จากการใช้ความรุนแรงมาเป็นแนวทางสันติวิธี และร่วมมือกันดับไฟใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน" พล.ต.สิทธิ กล่าว
 
พล.ต.สิทธิ กล่าวว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ขอให้สื่อมวลชนช่วยกันเสนอข้อเท็จจริงเชิงบวก ระมัดระวังการขยายข่าว หรือการพาดหัวข่าว ที่อาจสร้างความขัดแย้ง หรือสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม
 
ต่อมาเวลา 13.38 น. เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Army PR Center' รายงานว่า ​พล.อ.อักษรา เผยถึงความกังวลใจต่อการเสนอข่าวของสื่อ กรณีเสนอเนื้อหาพาดพิงเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีส่วนสนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ โดยมีการตีความในบางประเด็นที่ทางคณะพูดคุยฯ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยังมีแนวความคิดแบบเดิมๆ คือเชื่อว่าสามารถเข้าถึงขบวนการและกลุ่มติดอาวุธตัวจริงผ่านทางตัวแทนแหล่งข่าวได้ จึงอาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัวนั้น ซึ่งในประเด็นนี้ถูกนำไปเผยแพร่โดยมีการตีความที่ไม่ตรงกับสาระที่แท้จริงที่คณะพูดคุยฯ ได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ อาจส่งผลต่อความรู้สึกและความเข้าใจของสังคมโดยรวมได้ ทั้งนี้คณะพูดคุยฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะพาดพิงบุคคลหรือหน่วยงานใด และเชื่อว่าการทำงานอย่างตรงไปตรงมาของสื่อมวลชนในการช่วยกันเสนอข้อเท็จจริงเชิงบวก รวมถึงความตั้งใจจริงของทุกฝ่ายในการคลี่คลายปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมได้อย่างชัดเจนในทุกประเด็น และขอให้มีความมั่นใจว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจะเป็นเครื่องมือสำคัญตามแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มี มาอย่างยาวนานได้ตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

พล.อ.อักษรา ระบุด้วยว่า ปัจจุบันนโยบายของนายกรัฐมนตรีต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความชัดเจน คือ ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายและให้เน้นการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธีและร่วมกันสร้างสันติสุขในพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว โดยความคืบหน้าล่าสุด ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้แล้ว หลังจากนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องปรับเปลี่ยนการต่อสู้จากการใช้ความรุนแรง มาเป็นแนวทางสันติวิธีและร่วมมือกันดับไฟใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน แต่หากยังมีแนวความคิดแบบเดิมๆ ก็ยากที่จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งนี้คลี่คลายลง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกรียนนโยบาย: เปิดตัวกลุ่มเพื่อนลายด่าง

Posted: 15 Mar 2018 08:51 PM PDT



ไม่มีหมาจรจัดตนใดเป็นผู้เลือกชะตาชีวิตของตนเพื่อเป็นเสรีชนข้างถนน มันล้วนแล้วเคยมีบ้าน มีเจ้านาย มีจานอาหารเป็นของตนเอง เพียงแต่ว่าวันหนึ่งชีวิตเปลี่ยน หันเหเป็นหมาจรจัดและออกลูกออกหลาน

หมาจรจัดทุกตัวกลัวที่ตนเองจะป่วยเป็นหมาบ้า แต่มันไม่รู้ว่าจะติดต่อสัตวแพทย์อย่างไร เพราะเคยแต่ดักรออยู่หน้าเซ่เว่น

หากมันเปิดอ่านข้อความในโซเชียลแล้วรู้เรื่องที่มีมนุษย์หลายคนคิดอ่านที่จะ Set Zero พวกมัน น้ำตามันคงไหลและอาศัยอยู่ในซอกหลืบอย่างหวาดกลัว

พวกเราซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเกรียนได้จัดตั้งกลุ่มเพื่อนลายด่างขึ้นเพื่อเป็นปากเสียงคอยเห่าแทนด่าง และหวังว่าเสียงของเราพวกคุณจะเข้าใจ

"อยากเห็นหมา-แมวทุกตัวมีบ้านอยู่ กินอิ่ม นอนหลับ ปลอดภัย ไม่มีใครมาทำร้าย"


อิสรา นาดี ชื่อเล่น ทอม ผู้กำกับภาพยนต์อิสระ


อภิรดี จิตรานุเคราะห์

นางอภิรดี จิตรานุเคราะห์ ชื่อเล่นอุ๋ย อดีตข้าราชการครูกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบัน early retire แล้ว เป็นหนึ่งในกล่มคนรักสัตว์ที่ร่วมมือกันลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในชุมชนของตนเองอย่างเป็นระบบครบวงจร ด้วยการทำหมัน ฉีดวัคซีน สร้างกรงขนาดใหญ่พักฟื้น หาผู้ใหญ่ใจดีรับไปอุปการะ ภายใต้คำขวัญที่ว่า

"มนุษย์จ๋า หมาแมวขออยู่ด้วยจ้ะ"


ฏายิน เพชรรัตน์ (เจี๊ยบ)

นส.ฎายิน  เพชรรัตน์  (เจี๊ยบ) Dayin Petcharat Status  : Citizens of the world My mission is to save lives.  My dream is that one day I won't have to. หวังว่าวันหนึ่งคงไม่ต้องมีชีวิตไหนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ  ก่อตั้ง SOS Animals Thailand  Thailand Adopter Club  Pay Paws Shop (charity shop for animal lover)  ประสบการณ์การทำงาน •Shelter Manager ,  Save Elephant Foundation  •Campaign Manager ด้าน Dog meat trade และ Adoption ของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย


นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ หงษ์ทอง

นายสัตวแพทย์ ธีระวุฒิ หงษ์ทอง สัตวแพทย์บ้านนอกแห่งมหาวิทยาลัยเกษตร เป็นหนึ่งในหมออาสา ผู้ร่วมก่อตั้ง Hope กลุ่มที่ออกมาปกป้องสิทธิในการขอมีชีวิตอยู่ในประเทศไทย และ ริเริ่มโมเดลHub ให้หมาแมวจรจัด อยู่ร่วมกับชุมชนได้ สัตวแพทย์เกษตร สัตวแพทย์ของประชาชน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟสบุ๊ค สมบัติ บุญงามอนงค์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิสืบฯ ขอบคุณ สตช.ไม่ชักช้า ดำเนินคดีเปรมชัยและพวก พร้อมเก็บข้อหาสำคัญครบ

Posted: 15 Mar 2018 08:44 PM PDT

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แถลงขอบคุณ สตช. ส่งสำนวนโดยไม่ชักช้า และข้อหาที่สำคัญ คือเจตนาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง และร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นข้อหาสำคัญตามพฤติการณ์แห่งคดี ได้ถูกระบุส่งถึงอัยการอย่างครบถ้วน 

 

16 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 กรณีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

โดยแถลงการณ์ ระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเข้าจับกุม เปรมชัย กรรณสูต กับพวกรวม 4 คน ที่ได้เข้าไปล่าสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก พร้อมทั้งได้มีการตรวจยึดซากสัตว์ป่าคุ้มครองพร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุน และปลอกกระสุนปืน ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาของสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ ให้กับสำนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิ โดยพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน คือ เปรมชัย กรรณสูตร ผู้ต้องหาที่ 1 ยงค์ โดดเครือ ผู้ต้องหาที่ 2 นที เรียมแสน ผู้ต้องหาที่ 3 และธานี ทุมมาศ ผู้ต้องหาที่ 4 โดยมีข้อหารวม 9 ข้อ ตามคดีหมายเลขดำที่ ฝ. 34 / 2561  ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอขอบคุณ สตช. ที่ส่งสำนวนของพนักงานสอบสวน ให้อยู่ในกรอบระยะเวลาของการดำเนินงานโดยไม่ชักช้า และข้อหาที่สำคัญ คือเจตนาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง และร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นข้อหาสำคัญตามพฤติการณ์แห่งคดี ได้ถูกระบุส่งถึงอัยการอย่างครบถ้วน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสำนวนประกอบคำฟ้องจะดำเนินการไปด้วยความรัดกุม รอบคอบ และมีน้ำหนักเพียงพอที่จะใช้ประกอบคำฟ้องในชั้นอัยการต่อไป

"ด้วยพฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำโดยอุกอาจ เจตนาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง และร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของคนไทยทุกคน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร คาดหวังว่า ผู้กระทำความผิดสมควรได้รับการประณามและลงโทษตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมเช่นประชาชนคนไทยทุกคนที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายต่อไป" แถลงการณ์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: ยุบ คสช.แล้ว ใครจะดูแลความเรียบร้อย

Posted: 15 Mar 2018 07:58 PM PDT

ยุบ คสช.แล้ว ใครจะดูแลความเรียบร้อย
 

"ประโยคทอง" จากอดีตนักวิชาการด้านความมั่นคงประโยคนี้ เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่เป็นการบ่งบอกถึงบทสรุปรวบยอดหรือผลึกของตรรกะเหตุผลที่คสช.ใช้อ้างถึงความจำเป็นในการยึดอำนาจและอยู่ในอำนาจมาตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่า จะใช้เพื่ออยู่ต่อไปอีกนาน

ถ้ามีแต่ คสช.เท่านั้นที่ดูแลความเรียบร้อยได้ ก็คงต้องถามว่า คสช.จะต้องอยู่กับประเทศนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ ชั่วนิจนิรันดรเลยหรืออย่างไร

ในเมื่อรัฐธรรมนูญก็มีแล้ว กฎหมายต่างๆก็ออกกันมามากมายแล้ว ปฏิรูปประเทศก็ทำกันมาเกือบ 4 ปีแล้ว เหตุใดกลไกต่างๆของบ้านเมืองก็ยังไม่สามารถดูแลความเรียบร้อยได้เสียที ยังต้องอาศัย คสช.แบบขาดไม่ได้อยู่อีก จากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ยังจะมีการสร้างระบบกลไกอะไรที่เข้มแข็งทรงประสิทธิภาพอีกมากมายหรืออย่างไร พอบอกกันได้มั้ย ?

ถ้าไม่สามารถตอบได้ว่า จากนี้ไปจะมีทีเด็ดอะไรที่จะทำให้กลไกต่างๆ ของรัฐสามารถดูแลความเรียบร้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ จะไม่หมายความว่า แม้มีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้ว ประเทศนี้ก็ยังอาจจำเป็นต้องมี คสช.อยู่ต่อไปอีกหรอกหรือ?

ความจริงเรื่องจำเป็นต้องมี คสช.เพื่อดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองนี้ ถูกใช้เป็นข้ออ้างมาตลอด ผู้ที่อ้างบ่อยที่สุดเป็นประจำ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร แต่ความวุ่นวายไม่เรียบร้อยในอดีต เกิดขึ้นได้อย่างไร? เหตุใดกลไกของรัฐ รวมทั้งกองทัพที่ตอนนั้นมี พล.อ.ประยุทธ์เป็น ผบ.ทบ.จึงไม่สามารถทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ ทำไมต้องเข้ายึดอำนาจเสียก่อนจึงจะทำให้เกิดความเรียบร้อยได้ ไม่ค่อยมีการพูดกัน

เมื่อยึดอำนาจแล้วบอกว่า จะมาทำให้บ้านเมืองสงบและจะมาปฏิรูปประเทศ ก็ควรจะหมายความว่า จะทำให้บ้านเมืองมีกฎกติกา มีระบบกลไกที่สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้โดยไม่ต้องอาศัยกำลังกองทัพเข้ายึดอำนาจ เพื่อดูแลความเรียบร้อยอีก

แต่นี่กลายเป็นสร้างเงื่อนไขจนทำให้ประเทศเหมือนตกอยู่ในสภาพที่เสพติด คสช. เสพติดการใช้กำลังทหาร อาวุธและความรุนแรงในการดูแลความเรียบร้อย ชนิดที่ขาดไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า บ้านเมืองเราจะต้องปกครองกันแบบอนารยะเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด

ความวุ่นวายก่อนการรัฐประหารนั้น มีการสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารมาแล้วก็ยังใช้เป็นข้ออ้างในการอยู่ในอำนาจนานๆ และเมื่อบริหารปกครองมาเกือบ 4 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้ลดเงื่อนไขที่จะใช้เรื่องความวุ่นวายเป็นข้ออ้างที่ คสช.จะอยู่ในอำนาจต่อไปอีก

ด้วยตรรกะเหตุผลที่ คสช.และพวกใช้อยู่นี้ ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากสรุปว่า แม้มีเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่แล้ว ประเทศไทยก็จะยังอยู่ในสภาพที่มีการอ้างได้ต่อไปไม่สิ้นสุดว่า การจะดูแลความเรียบร้อยในบ้านเมืองยังจำเป็นต้องอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของกองทัพ หรือผู้ที่สามารถสั่งกองทัพได้อย่าง คสช.เท่านั้น

นี่หรือขอเวลาอีกไม่นาน ?

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น