โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลสั่งคุก 12 วัน 2 จำเลย คนอยากเลือกตั้ง MBK39 สารภาพลดเหลือรอลงอาญา 1 ปี

Posted: 08 Mar 2018 09:09 AM PST

ศูทย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงาน ศาลพิพากษา 2 จำเลย MBK39 จำคุก 12 วัน ปรับ 6พัน สารภาพลดกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ขณะที่ตำรวจแจ้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.3/58 คนอยากเลือกตั้งชุดชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นัดส่งอัยการ 27มีนาฯ

 
8 มี.ค.2561 ความคืบหน้าคนอยากเลือกตั้ง ค้าน คสช.สืบทอดอำนาจ หรือที่เรียกกันว่า 'MBK39' จำนวน 39 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมที่สกายวอล์คหน้าห้างสรรพสินค้า MBK (มาบุญครอง) เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา นั้น 
ภาพการชุมนุม 'รวมพลคนอยากเลือกตั้ง' ที่สกายวอล์กปทุมวัน กรุงเทพเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา 
 
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า นพเก้า คงสุวรรณและ นพพร นามเชียงใต้ 2 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุป เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ให้ลงโทษบทหนักที่สุด ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 พิพากษาให้จำคุกจำเลย 12 วัน ปรับ 6000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ให้ลดโทษครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 วัน ปรับ 3000 บาท เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นจำเลยทั้ง 2 จึงได้ทำการจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 3,000 บาท แล้วเดินทางกลับ

ก่อนที่จะได้ฟังคำพิพากษา นพพร กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะไม่ได้คิดมากเกี่ยวดับคดีนี้ แต่มีช่วงคืนก่อนที่จะมาฟังคำพิพากษารู้สึกนอนได้ไม่เต็มอิ่มบ้าง เพราะคดีนี้เป็นคดีอาญา ต้องมีการติดคุก ซึ่งเราไม่ได้เข้าไปเที่ยว ส่วนเหตุผลที่เลือกรับสารภาพในคดีนี้ เนื่องจากตนเองมีอีกคดีหนึ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ จึงอยากให้คดีนี้สิ้นสุดลง เพื่อที่จะได้ไปเต็มที่กับอีกคดีของตนเอง

ตร.แจ้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.3/58 คนอยากเลือกตั้งชุด 2

ขณะที่ความคืบหน้าคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งฯ หรือ #RDN50 จำนวน 41 คน ที่ถูกแจ้งความข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/58 จากเหตุเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ศูนย์ทนายความฯ รายงานด้วยว่า วันนี้ กลุ่มคนดังกล่าวเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง โดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลได้ขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 14 มี.ค.นี้

ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า เมื่อ 10.00 น. ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 เรื่องห้ามชุมนุมการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยบรรยายพฤติการณ์ว่าเมื่อ 10 ก.พ.61 ที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ต้องหาได้เข้าร่วมกิจกรรม "รวมตัวกัน รวมพลคนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." มีการโดยในการชุมนุมดังกล่าวมี รังสิมันต์ โรม สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ณัฏฐา มหัทนา อานนท์ นำภา สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ ชลธิชา แจ้งเร็ว และกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ เป็นแกนนำปราศรัยกับผู้ชุมนุมประมาณ 400 คน โดยมีเนื้อหากล่าวหาการทำงานของ คสช. โดยใช้คำรุนแรงและปลุกปั่นให้ประชาชนขับไล่ คสช. และเรียกร้องให้มีเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในพฤศจิกายน 2561  ให้ คสช.หยุดการสืบทอดอำนาจ และการทุจริตของรัฐบาล และในการชุมนุมผู้เข้าร่วมได้มีการแสดงสัญลักษณ์ต่างด้วย
 
ทั้ง 41 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวโดยไม่มีเรียกหลักทรัพย์ประกันและได้นัดส่งตัวให้อัยการในวันที่ 27 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น.
 
ทั้งนี้ทนายความได้ทราบจากพนักงานสอบสวนว่าไม่ได้มีชื่อของ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ อยู่ในคดีเดียวนี้แต่อย่างใด
 
ศูนย์ทนายความฯ อีดว่า นอกจากกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ทั้ง 42 คนนี้แล้ว ยังมีกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ณัฏฐา มหัทนา, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, กาณฑ์ พงษ์ประพันธ์, ชลธิชา แจ้งเร็วและ อานนท์ นำภา ซึ่งในขณะนี้มีคนที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เคท ครั้งพิบูลย์' ชนะ มธ. กรณีไม่จ้างเป็นอาจารย์ ศาลสั่งบรรจุภายใน 60 วัน

Posted: 08 Mar 2018 04:11 AM PST

ศาลปกครองพิพากษา มธ. ไม่จ้างคทาวุธ "เคท" ครั้งพิบูลย์ เป็นอาจารย์ จากเหตุแสดงความเห็นผ่านโซเชียลไม่เหมาะสม ศาลชี้ แสดงความเห็นเช่นว่ายังไม่พอจะถือได้ว่าบกพร่องในศีลธรรมอันดี ตัดสินให้เพิกถอนการไม่จ้าง เรียกเซ็นสัญญาบรรจะภายใน 60 วันตั้งแต่คดีถึงที่สุด เคทระบุ ศาลไม่วินิจฉัยเรื่องไม่จ้างเพราะเพศสภาพ

เคท ครั้้งพิบูลย์ (ที่มา: Facebook/โรงน้ำชา)

8 มึ.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่จ้างคทาวุธ "เคท" ครั้งพิบูลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TGA) เป็นอาจารย์ ทั้งยังมีคำสั่งให้เรียกไปเซ็นสัญญาจ้างบรรจุเป็นอาจารย์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ศาลปกครองกลางพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ บ. 447/2558 กรณีคทาวุธ ครั้งพิบูลย์ หรือเคท ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 โดยคำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องคดีได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ให้ผ่านการคัดเลือกแล้วแต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสารทางสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

คทาวุธ จึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องที่  2 ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 2 พิจารณาหนังสือแล้วมีมติยืนยันมติเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาล ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ผู้ฟ้องคดีสื่อสารทางสังคมออนไลน์เป็นวิธีสื่อสารอันเป็นสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557   ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทรับรองสิทธินี้ไว้ แต่สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ของผู้ฟ้องคดีจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หากผู้ฟ้องคดีสื่อสารทางสังคมออนไลน์ไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ  ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ ซึ่งศาลพิจารณามติของผู้ถูกฟ้องที่ 2 แล้วเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพ  หากแต่ผู้ถูกฟ้อง 2 ได้นำพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่สื่อสารทางสังคมออนไลน์มาใช้อ้างในการมีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่เมื่อศาลพิจารณาพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่สื่อสารทางเฟซบุ๊ก จำนวน 4 ข้อความและอินสตาแกรม จำนวน 2 ข้อความ พร้อมภาพประกอบแล้วเห็นว่าการใช้ถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีและภาพที่เผยแพร่ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและภาพไม่เหมาะสมอยู่บ้าง บางคำบางภาพ  แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีลักษณะต้องห้าม อันเนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีตามมาตรา 7(ข) (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 

การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์  จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องที่ 2  ที่ไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยให้มีผลนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด พร้อมข้อสังเกตและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่าให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์  ตามที่สอบคัดเลือกได้ภายใน  60 วัน   นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

สำนักข่าวไทยยังรายงานว่า หลังฟังคำพิพากษา คทาวุธ กล่าวแสดงความดีใจ และยืนยันความตั้งใจเดิมที่จะเข้าไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาลตร์ พร้อมสู้คดีหากทางมหาวิทยาลัยอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 

ในเฟซบุ๊กของเคทยังได้ลงแถลงการณ์สืบเนื่องจากคำพิพากษา โดยตั้งข้อสังเกตว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเพศสภาพโดยตรง แต่ผู้พิพากษาก็ยังมองเห็นประเด็นสำคัญว่า การที่เคทพูดและบ่นเมื่อถูกเลือกปฏิบัติเป็นพฤติการที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจรรยาบรรณอาจารย์

 
เมื่อ 12 ต.ค. 2558 เคทเดินทางไปศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่1 และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 หลังตนผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งหลังจากที่ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย(ก.บ.ม.) และมีมติ ไม่เห็นชอบจ้างตนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยโดยแจ้งเหตุผลว่า "มีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย" และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยืนยันตามมติเดิมว่า ไม่จ้างตนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
 
เคท ฟ้องต่อ มธ. และ ก.บ.ม. ในข้อหาใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง จากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่เห็นชอบให้ว่าจ้าง เคท เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ทั้งที่สอบผ่านข้อเขียนและสัมภาษณ์ โดยอ้างกรณีที่ เคท ได้โพสต์ภาพลิปสติกที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายผ่านสื่อออนไลน์ จึงเห็นว่ามีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยในคำฟ้องได้ระบุว่าภาพลิปสติกดังกล่าวเป็นของฝากจากประเทศญี่ปุ่น เป็นการโพสต์เพื่อขอบคุณผู้ที่ซื้อฝากและเป็นการสื่อถึงเรื่องเพศวิถี และตามปกติ เคท เป็นผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ในการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ความหลากหลายทางเพศวิถี เพศสภาพ เพราะมีประสบการณ์ทำงานวิชาการในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีทัศนคติเรื่องเพศที่ตายตัว มองความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดปกติ รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำสื่อออนไลน์มาเป็นดุลยพินิจในการพิจารณานั้น ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว เป็นการเลือกปฏิบัติ
 
จึงขอให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอนมติ ก.บ.ม. ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2558 และมติ ก.บ.ม. ครั้งที่ 10/2558 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2558 ที่มีมติไม่เห็นชอบจ้าง เคท เป็นอาจารย์ และให้ศาลสั่งให้ ก.บ.ม.รับเคทเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ พร้อมให้ทางมหาวิทยาลัยชดใช้ค่าสินไหมแก่นายเคท เป็นเงิน 363,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียโอกาสแก่ เคท ในอัตราเดือนละ 23,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่า ก.บ.ม.จะรับ เคท เป็นอาจารย์ในคณะดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงาน จัดบวงสรวง ปลัดกระทรวงฯ ชี้ปัดเป่าสิ่งไม่ดี ไล่สัมภเวสี

Posted: 08 Mar 2018 03:57 AM PST

การกระทรวงแรงงานจัดบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง หวังเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ เสริมสร้างความสามัคคีแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ปลัดกระทรวงชี้ปัดเป่าสิ่งไม่ดี ไล่สัมภเวสี เปิดทางให้วิญญาณต่างๆไปในที่ที่ควรไป

ที่มา เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

8 มี.ค.2561 เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน รศ.ดร.รัตนา จักกะพาก นายกสมาคมแม่บ้านแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานและข้าราชการทุกหน่วยงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ เสริมสร้างความสามัคคีแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน รวมทั้งประชาชนที่มาเข้าร่วมพิธีดังกล่าว ณ บริเวณด้านหน้าศาลาพระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธรูปประจำกระทรวงแรงงาน

ที่มา เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

ในพิธีดังกล่าว มีประชาชนที่มาติดต่อราชการกระทรวงแรงงาน รวมทั้งนายจ้างที่นำแรงงาน  ต่างด้าวมาจัดทำทะเบียนประวัติจำนวนมาก ได้ร่วมในพิธีด้วย โดยหลังจากเสร็จพิธี รมว.แรงงาน ได้มอบวัตถุมงคลเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ข้าราชการและประชาชนที่เข้าแถวรอรับกันอย่างหนาแน่น 
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเพิ่มเติว่า จรินทร์ กล่าวถึงการจัดพิธีดังกล่าว ว่า ต้องการบวงสรวงเทพเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกระทรวงแรงงานให้ปกปักรักษา ปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป และ บอกกล่าวไปยังสัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนที่เข้ามาอยู่ในกระทรวงแรงงาน ให้รู้ตัวว่าได้เสียชีวิตไปแล้ว ขอให้กลับไปยังที่ที่ควรจะไป ไม่ควรอยู่ในกระทรวงแรงงาน เนื่องจากในกระทรวงมีวิญญาณจำนวนมาก มีข้าราชการถูกหยอกเย้าบ่อยครั้ง ทั้งเปิดปิดไฟ และประตูเปิดเองจนรู้สึกกลัวประกอบกับกระทรวงฮวงจุ้ยไม่ดี มีถนนวิ่งผ่าตึก ทางเข้าออกกระทรวงมีรอบด้าน
 
"ข้าราชการถูกหยอกจนรู้สึกกลัว หน้าห้องผมยังโดน แต่ผมไม่กลัวนะ พิธีที่ทำถือก็เพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งบวงสรวงเทพในกระทรวง และเปิดทางให้วิญญาณต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในกระทรวง รวมทั้งวิญญาณต่างด้าว ที่ตายแล้วไม่รู้จะไปไหน จึงมาอยู่ที่นี่ เขาจะได้รู้ตัว และไปในที่ที่ควรไป ซึ่งที่ตึก 15 ชั้นหลังนี้ เมื่อปี 2547 มีข้าราชการแรงงาน ซี 7กระโดดตกลงมาตาย คนตายเป็นเพื่อนผมน่ะ ถ้ายังไม่ไปไหนก็บอกกล่าวด้วย เราไม่ได้ทำพิธีไล่ แต่เป็นการบอกให้รู้ตัวว่าควรไปไหน อย่าอยู่ที่นี่เลย คนจะได้ไม่กลัวกัน" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
ไทยรัฐออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า ในปี 2547 สมัยที่ อุไรวรรณ เทียนทอง เป็น รมว.แรงงาน ได้มีข้าราชการซี 7 กระโดดจากดาดฟ้าตึก 15 ชั้นตกลงมาเสียชีวิตที่ด้านหลังตึก ซึ่ง จรินทร์ จักกะพาก ปลัดแรงงานคนปัจจุบัน ได้บอกว่าคนตายเป็นเพื่อน ส่วนสาเหตุอาจทำไปด้วยความเครียด เพราะเป็นคนชอบเก็บตัว เก็บความรู้สึก
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานต่อว่า จรินทร์ เป็นที่กล่าวขานในกลุ่มข้าราชการแรงงาน ว่ามีความเชื่อในเรื่องลี้ลับ ในห้องทำงานบนชั้น 7 มีเครื่องรางของขลัง ตั้งไว้จำนวนมากและเคยนิมนต์ ครูบาอริยชาติ อริยะจิตโต วัดแสงแก้วโพธิญาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพระชื่อดังมาทำพิธีในห้องทำงาน ซึ่งนายจรินทร์ ชี้แจงว่าตนเองมีครูอาจารย์มากและของขลังส่วนหนึ่งมีคนมอบให้
 
อย่างไรก็ตาม การทำพิธีบวงสรวงครั้งใหญ่ในกระทรวงครั้งนี้ ได้ถูก ข้าราชการนำมาพูดวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เหมือนเป็นการทำบุญล้างซวย และขอเทพเทวดาช่วยปัดเป่าอุปสรรค ซึ่งพิธีดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก พล.ต.อ.อดุลย์ ถูกลากโยงให้ร่วมรับผิดชอบกรณี ข้าราชการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โกงเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ซึ่งเกิดในช่วงที่ พล.ต.อ.อดุลย์ เป็น รมว.พม. และล่าสุดการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวยังล่าช้า จนถูกพล.ต.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตำหนิกระทรวงแรงงาน ด้วยอาการหัวเสียว่าทำงานอืดอาด ขณะลงพื้นที่ใน จ.สมุทรสาคร
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรช่วยแรงงานแจงสิทธิคนทำงานไทยในอิสราเอล

Posted: 08 Mar 2018 01:38 AM PST

องค์กรคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศอิสราเอล เผยแพร่ข้อมูล 'สวัสดิการแรงงานต่างชาติภาคเกษตรกรรม' โดยได้ระบุสิทธิต่าง ๆ เอาไว้ ..คนทำงานไทยในอิสราเอลควรอ่าน!

(แฟ้มภาพ jta.org)

8 มี.ค. 2561 องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) องค์กรคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศอิสราเอล ได้เผยแพร่เอกสาร 'สวัสดิการแรงงานต่างชาติภาคเกษตรกรรม' (ภาคภาษาไทย) โดยได้ระบุสิทธิต่างๆ ไว้ดังนี้

อัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ (ปรับขึ้นเมื่อ 1 ธ.ค. 2017) ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนงานทำงานเต็มเวลา 5,300 เชคเคล ของการทำงานเต็มต่อเดือน (186 ชั่วโมงต่อเดือน)

212 เชคเคลต่อวัน (ทำงาน 6 วันต่ออาทิตย์)

28.49 เชคเคลต่อชั่วโมง

วันจ่ายเงินเดือน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเดือนแก่คนงานภายในวันที่ 9 ของเดือนสำหรับการทำงานของเดือนที่ผ่านมา

เงินค่าล่วงเวลา (OT) ถ้าทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับ 2 ชั่วโมงแรกที่เกินเวลาทำงานปกติ คนงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างคิดเป็นร้อยละ 125% ของอัตราค่าแรงปกติต่อชั่วโมง (35.6 ต่อชั่วโมง) สำหรับชั่วโมงที่เกินมาหลังจากนั้นคนงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างคิดเป็นร้อยละ 150% ของอัตราค่าแรงปกติต่อชั่วโมง (42.73 ต่อชั่วโมง)

ตัวอย่างสภาพที่พักอาศัยที่ย่ำแย่ของแรงงานในอิสราเอล (แฟ้มภาพ Kavlaoved Agriculture)

ที่พักอาศัย นายจ้างจำเป็นต้องจัดสรรที่พักอาศัยในสภาพที่เหมาะสม ทางเข้า-ออก สะดวกปลอดภัย จัดหาเตียงเดี่ยว ที่นอน หมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ตู้ใส่ของใช้ส่วนตัวและเสื้อผ้า ที่พักอาศัยรวมถึง ห้องครัวตู้เย็น เตาหุง ต้ม (แก๊ส หรือ ไฟฟ้า) ที่นั่งสำหรับกินข้าว ห้องส้วม ห้องอาบน้ำ พร้อมน้ำเย็นและน้ำอุ่น (ภายในที่พักหรืออยู่บริเวณใกล้เคียงที่พักอาศัย) ทุกห้องจะต้องมีไฟฟ้าและแสงสว่างเพียงพอ และต้อง มีกุญแจล็อกเพื่อป้องกันข้าวของสูญหาย! กรณีเลิกจ้างงาน คนงานมีสิทธิอยู่ต่อ ที่พักอาศัยเดิมได้อย่างน้อย 7 วันหลังหยุดทำงาน นายจ้างหักค่าที่พักอาศัยได้ตามขอบเขตที่กำหนดตามกฎหมาย

การโยกย้ายชั่วคราว นายจ้างสามารถโยกย้ายคนงานไปทำงานชั่วคราวกับนายจ้างคนอื่นมากสุดไม่เกิน 6 เดือนต่อปี นายจ้างจำเป็นต้องมีเอกสารแสดงการโยกย้ายงานและให้สำเนาแก่คนงานเก็บไว้หนึ่งฉบับระหว่างการทำงานชั่วคราว ถ้าโยกย้ายคนงานไปยังนายจ้างที่อยู่ภายในคิบบุสหรือโมชาฟเดียวกันไม่จำเป็นต้องมีเอกสารแสดง

คนงานทุกคนควรมีสมุดเพื่อจดเวลาทำงานของตนเอง (แฟ้มภาพ Kavlaoved Agriculture)

ใบเสร็จแจ้งรายละเอียด ใบเสร็จแจ้งรายละเอียดเงินเดือนเงินเดือนนายจ้างจำเป็นต้องให้ใบเสร็จแจ้งรายละเอียดเงินเดือนแก่คนงานทุกเดือน ใบเสร็จต้องมีรายละเอียด การจ่ายชั่วโมงทำงานและส่วนหักต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน คนงานทุกคนควรมีสมุดเพื่อจดเวลาทำงานของตนเอง เพื่อใช้ในการตรวจเช็คค่าจ้าง กรณีต่างๆ ที่เกิดปัญหาหรือแม้แต่การเรียกร้องสวัสดิการ โดยสมุดนี้ควรเก็บรักษาไว้อย่างดีจนกว่าจะหมดสัญญาและกลับเมืองไทย สมุดลงเวลาควรเขียนเวลาเริ่มงานจริง ๆ ช่วงเวลาพักตั้งแต่เวลาไหนถึงเวลาไหน และเลิกงานเมื่อเวลาใด หยุดวันไหนบ้างเหตุผลอะไร

นายจ้างสามารถหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนของคนงานที่ต้องจ่ายตามกฎหมายได้ดังนี้
ก.หักภาษีเงินได้และค่าประกันสังคม (คิดคำนวนมากน้อยตามรายได้ของคนงานแต่ละเดือน)
ข.ค่าประกันสุขภาพ - 124.73 เชคเคลต่อเดือน
ค.ค่าน้ำ+ค่าไฟรวมแล้วหักสูงสุดไม่เกิน 300.10 เชคเคลต่อเดือน
ง.ค่าที่พักอาศัยนายจากหักได้ไม่เกิน 228.20 เชคเกลต่อเดือน

วันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์ คนงานจะต้องได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์ 36 ชั่วโมงติดต่อกัน หากว่าจะต้องทำงานในวันหยุดพักผ่อนจะต้องมีสิทธิได้รับค่าแรงคิดเป็น 175% ของอัตราค่าแรง ปกติต่อ 10 ชั่วโมงแรก ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 จะได้รับ 200% นอกจากนี้ก็จะต้องได้รับวันพักผ่อนชดเชยอีก 1 วันด้วย

วันหยุดพักร้อนประจำปี สำหรับ 5 ปีแรกของการทำงานได้รับวันหยุดพักร้อน 16 วันต่อปี (ไม่รวมวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์) สำหรับ 6 ปีของการทำงานได้รับ 18 วันต่อปี ระหว่างลาพักร้อนคนงานต้องได้รับค่าแรงปกติต่อวันตามจำนวนวันลาพักร้อนตามสิทธิ เมื่อเลิกจ้างงานวันลาหยุดพักร้อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้คนงานสามารถคิดคำนวนเป็นค่าแรงปกติต่อวันตามจำนวนวันที่ไม่ได้ใช้ทั้งหมด การขอหยุดพักร้อนต้องแจ้งนายจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

วันหยุดเทศกาล หรือ/และวันหยุดทางศาสนา ทั้งของไทยและอิสราเอล รวมแล้วคนงาน ต้องได้รับ 10 วัน ต่อปี หลังจากที่ได้ทำงานแล้ว 3 เดือน (ทั้งนี้ไม่รวมวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์) ซึ่งคนงานต้องได้รับค่าแรงปกติต่อวัน ถ้าทำงาน วันหยุดเทศกาล หรือ/และ วันหยุดทางศาสนา คนงานต้องได้รับค่าแรง 175% ของค่าแรงปกติต่อวัน และได้รับชดเชยวันอื่นแทน

เงินค่าพักฟื้น คนงานที่ทำงานกับนายจ้างเป็นระยะเวลาเกินหนึ่งปีขึ้นไปมีสิทธิได้รับ 'เงินค่าพักฟื้น' หนึ่งครั้งต่อปีจากนายจ้าง เงินเพิ่มพิเศษรายปีคิดคำนวณจากอัตรา 378 เชคเคลต่อวัน คูณด้วย 7 วันต่อปี, ในปีที่ 1 แรงงานมีสิทธิได้ 5 วันต่อปี ปีที่ 2-3 แรงงานมีสิทธิได้ 6 วันต่อปี ปีที่ 4-10 แรงงานมีสิทธิได้ 7 วันต่อปี

วันลาป่วย คนงานสามารถลาป่วยและได้รับค่าแรงตามปกติ ตามระยะเวลาทำงาน (วันครึ่งต่อเดือนที่ได้ทำงาน) คนงานสามารถลาป่วยได้ไม่เกิน 90 วันต่อปี โดยจะต้องมีใบแพทย์มาแสดง คนงานไม่ได้รับค่าแรงสำหรับวันแรกที่ลาป่วย แต่สำหรับวันที่ 2 และ 3 ของการลาป่วย นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงให้คนงาน 50% ของค่าแรงปกติและ 100% ของค่าแรงปกติในวันที่ 4 และวันต่อๆ ไปที่ลาป่วย

การแจ้งล่วงหน้าในการเลิกจ้างงาน หรือการถูกไล่ออก แรงงานที่ได้ทำงานมากกว่า 7 วันขึ้นไป และต้องการที่จะลาออก จะต้องแจ้งนายจ้างและบริษัทจัดหางาน (ออฟฟิศ) ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร และขึ้นอยู่กับว่า แรงงานได้ทำงานนานเท่าไหร่ ดังต่อไปนี้:
หากแรงงานได้ทำงานเป็นเวลา 7 วันถึง 3 เดือน จะต้องแจ้ง 7 วันล่วงหน้า
หากแรงงานได้ทำงานเป็นเวลา 3 เดือนถึง 6 เดือน จะต้องแจ้ง 14 วันล่วงหน้า
หากแรงงานได้ทำงานเป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี จะต้องแจ้ง 21 วันล่วงหน้า
หากแรงงานได้ทำงานเป็นเวลา 1 ปีขึ้นไป จะต้องแจ้ง 1 เดือนล่วงหน้า

การไล่ออก เมื่อนายจ้างต้องการบอกเลิกจ้างงานแก่ลูกจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรดังต่อไปนี้
- ปีแรกของการจ้างงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 วันต่อทุกเดียวของการจ้างงาน
- ปีที่ 2 ของการจ้างงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า 14 วัน บวก 1 วันต่อทุก 2 เดือนของการจ้างงานในปีที่ 2
- ปีที่ 3 ของการจ้างงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า 21 วัน บวกอีก 1 วันต่อทุก 2 เดือนของการจ้างงานในปีที่ 3
- ทำงาน 3 ปีขึ้นไป ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน

คนงานหรือนายจ้างที่มิได้แจ้งล่วงหน้าต่อกันตามกำหนดดังกล่าวต้องเสียค่าชดเชย ให้อีกฝ่ายหนึ่งเทียบเท่าค่าแรงหนึ่งเดือนปกติในระยะเวลานั้น

เงินชดเชย คนงานที่ทำงานกับนายจ้างเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปีขึ้นไปและนายจ้างได้ไล่ออก มีสิทธิได้รับเงินชดเชยในการไล่ออกดังในกรณีต่อไปนี้ :
1.นายจ้างได้ไล่ออก
2.ไม่มีการต่อวีซ่าทำงาน
3.การทำงานในสภาวะทุกข์ทรมาน ตัวอย่างเช่น การไม่ได้รับค่าแรง, สภาพสุขภาพร่างกายไม่อำนวยในการทำงาน4.การหมดอายุงานในเวลา 5 ปี 3 เดือน

นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยภายใน 42 วัน หลังจากที่ได้รับเงินเดือน เดือนสุดท้ายแล้ว การคิดเงินชดเชย จะคิดจากเงินเดือนขั้นต่ำ คูณจำนวนปีที่แรงงานได้ทำงานสำหรับนายจ้างนั้น

เงินบำเหน็จ บำนาญ คนงานที่ทำงานที่อิสราเอลต้องได้รับสิทธิสวัสดิการบำเหน็จ บำนาญโดยหักเงินจากคนงานส่วนหนึ่ง และนายจ้างอีกส่วนหนึ่งทุกเดือนเพื่อฝากสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จ บำนาญ เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างงานหรือเมื่อนายจ้างเลิกจ้างแล้วนายจ้างต้องถอนเงินทั้งหมดรวมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายเพื่อมอบให้คนงาน

สวัสดิการการครองชีพ นายจ้างต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่มเติมเดือนละ 100 เชคเคล

โบนัส คนงานมีโบนัสเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินเดือนปกติต่อปี ที่จะผ่อนจ่าย 2 ครั้งต่อปี

ประกันสุขภาพ นายจ้างจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคนตลอดระยะการทำงาน กรณีถูกเลิกจ้างงาน แนะนำให้คนงานจ่ายต่อค่าประกันสุขภาพเพื่อมิให้เสียสิทธิในการรักษาพยาบาล

การประกันแห่งชาติ (ภาษาฮีบรูว์เรียกบิตวก อภูมิ) ครอบคลุมการได้รับอุบัติเหตุและบาดเจ็บจากการทำงาน นายจ้างสามารถหักเงินเดือนคนงาน ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด 0.04% เพื่อนำไปจ่ายค่าประกัน ในกรณีของอุบัติเหตุในการทำงาน ประกันสังคมจะรับผิดชอบในการจ่ายค่ารักษาตัว

การล่วงละเมิดทางเพศ ในประเทศอิสราเอลมีกฎหมายป้องกันการลวนลาม การล่วงละเมิดทางเพศ หรือหากนายจ้างการข่มขู่ในการไล่แรงงานชายหญิงออกจากงานเนื่องจากแรงงานปฏิเสธที่จะมีความสัมพันธ์ด้านชู้สาวกับนายจ้าง แรงงานสามารถแจ้งและร้องเรียนได้กับองค์กรคาฟลาโอเวด

ค่าธรรมเนียม ค่าธรรมเนียมที่แรงงานไทยจะต้องจ่ายเพื่อเดินทางมาทำงานในอิสราเอล เป็นจำนวนสูงสุดไม่เกิน 2,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึง 850 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับบริษัทจัดหางาน และ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ IOM (International Organization of Migration) นอกจากนี้ยังมีค่าตั๋วเครื่องบินประมาณ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 134 ดอลลาร์สหรัฐฯ ห้ามบริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินใดๆ ทั้งสิ้นจากแรงงานไทยที่ได้ทำงานในประเทศอิสราเอลแล้ว

หนังสือเดินทาง สำคัญมากที่ลูกจ้างต้องเก็บรักษาหนังสือเดินทางไว้กับตนเอง ตามกฎหมายของอิสราเอลห้ามนายจ้างหรือบริษัทจัดหางานใดๆ ยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างไว้ ในกรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องออกจากงานและหนังสือเดินทางถูกนายจ้างยึดไว้ ลูกจ้างต้องขอหนังสือเดินทางคืนทันที กรณีสูญหายหรือหมดอายุติดต่อสถานทูตไทยเพื่อขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ทันทีเพราะ ถ้าถูกตำรวจจับและไม่มีหนังสือเดินมาแสดงลูกจ้างอาจถูกส่งกลับเมืองไทยในฐานะอยู่แบบผิดกฎหมาย

เตรียมตัวก่อนเดินทางออกนอกประเทศ คนงานสามารถอยู่ต่อได้อีก 60 วันหลังจากสิ้นสุดวีซ่าทำงาน

กรณีถูกจับ ในกรณีที่ถูกจับลูกจ้างสามารถขออยู่ต่อได้โดยต้องมีนายจ้างคนใหม่มาประกันตัวและรับรองการจ้างงาน ควรติดต่อฮอทไลน์ (Hotline) สายด่วนแรงงานต่างชาติ 03-560-2530

ทันทีที่ถูกจับเพื่อที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ลูกจ้างจะไม่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจาก: ไม่มีหนังสือเดินทาง หรือหนังสือเดินทางหมดอายุ, ทำงานที่ไม่ตรงกับวีซ่าจ้างงาน เช่นลูกจ้างมีวีซ่างานเกษตรแต่ไปทำงานร้านอาหาร หรืองานก่อสร้างหรืองานบริการ, การถูกจับครั้งที่ 2 (ที่ไม่มีวีซ่าทำงาน)

ไม่มีผู้ใดสามารถ บังคับ ขู่เข็นให้แรงงานกลับบ้านได้  ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้นที่มีอำนาจเนรเทศแรงงานต่างชาติกลับภูมิลำเนาเดิม กรณีลูกจ้างถูกนายจ้าง หรือบริษัทจัดหางานใช้กำลังบังคับให้กลับเมืองไทยอย่างไร้เหตุผล และถูกนำตัวไปสนามบินอย่างเร่งด่วน แนะนำให้ขัดขึ้นเท่าที่จะทำได้โดยเฉพาะที่สนามบิน อย่าเช็กอิน อย่าขึ้นเครื่องบิน ให้ขอความช่วยเหลือจากตำรวจสนามบิน หรือติดต่อองค์กรคาฟลาโอเวด

องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) ที่อยู่ ถนน นะคะลัท เป็นยามิน เลขที่ 75 ชั้น 4 (75 Nachalat Binyamin Street, 4th Floor) ติดต่อโทรสอบถามรายละเอียดกับล่ามไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 052 534-9873 ทุกวัน จันทร์ และวันพุธ แรงงานสามารถเข้ามาทําเอกสารได้เฉพาะวันพุธเพียงวันเดียวเท่านั้น

คนงานสามารถร้องทุกข์หรือความช่วยเหลือด้วยตนเองที่สํานักงาน เทลาวีฟ มีพนักงานคนไทยเฉพาะวันพุธ ระหว่างเวลา 09:00-14:00 น.

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

คลินิครักษาพยาบาลเพื่อสิทธิมนุษยชน สําหรับคนงานต่างด้าวที่มีปัญหาเรื่องประกันสุขภาพหรือไม่มีประกันสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยและจําเป็นต้องได้รับการรักษาติดต่อคลินิคได้ที่ เทลาวีฟ, HaDror Street, Jaffa 03 687-3027/03 6873-718

ฮอทไลน์ (Hotline) สายด่วนแรงงานต่างชาติ (คาฟลาโอเวด) The Hotline for Refugees and Migrants (HRM) ที่อยู่ ถนน นะคะลัท เป็นยามิน เลขที่ 75 ชั้น 2 (75 Nachalat Binyarin Street, Tel Aviv. Floor 2) 03-5602530

 

ศูนย์นานาชาติการย้ายถิ่น และบูรณาการ The Center for International Migration and Integration (CIMI) Shiorizion HaMalta 10/3, Jerusalem 941460 ศูนย์ TIC: 1-700-707889

ศูนย์ร้องเรียนการล่วงละเมิดทางเพศ สำหรับหญิง: 1202 สำหรับชาย: 1203

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รื้อไล่ไม่ใช่ทางออกเดียว: คุยกับนักมานุษยวิทยา ม.ฮาร์วาร์ดเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ

Posted: 08 Mar 2018 01:04 AM PST

คุยกับ 'ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์' นักมานุษยวิทยา ศาสตราจารย์ ม.ฮาร์วาร์ด สะท้อนผลเสียการดึงดันไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬทั้งที่มีแนวคิดที่ทำให้พื้นที่ประวัติศาสตร์กับชุมชนอยู่ด้วยกันและเจริญไปด้วยกันได้เหมือนที่ประเทศกรีซที่สนับสนุนชาวบ้านให้พัฒนาพื้นที่ แต่ทาง กทม. กลับเลือกที่จะฆ่าชุมชนแทน

ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์

เป็นที่ทราบตามหน้าข่าวยาวนานถึง 25 ปีกว่าแล้วสำหรับการต่อสู้ระหว่างชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กับทาง กทม. เรื่องการไล่รื้อบ้านในชุมชนอันเป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ จนทุกวันนี้ชุมชนขนาด 300 คนเหลืออยู่เพียง 10 หลังคาเรือน หรือนับคนได้ราว 45 คน

ความพยายามของชาวชุมชนป้อมมหากาฬตลอดเวลาที่ผ่านมาในการอยู่ต่อในพื้นที่ดังกล่าวดำเนินไปในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็ได้มีการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน ทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดการเรื่องความสะอาด ทำแผนที่ชุมชน แสดงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของชาวชุมชน แก้ปัญหาเรื่องการขายพลุไฟและยาเสพติด ฯลฯ แต่มิวายนโยบายของทาง กทม. ต่อพื้นที่ประวัติศาสตร์ในฐานะชานเมืองบ้านไม้โบราณชานพระนครที่สุดท้ายที่มีอายุถึง 230 กว่าปี ก็ยังคงเน้นไปที่การเอาชุมชนออกจากพื้นที่ จนล่าสุด บ้านไม้สองชั้นหมายเลข 99 ที่ถือเป็น 'บ้านแลนด์มาร์ค' ที่จัดว่าสวยที่สุดในชุมชนก็ได้ถูกรื้อออกไปแล้ว

บ้านหมายเลข 99 เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

การรื้อบ้านหมายเลข 99 

ถ้าเปรียบสภาวการณ์ตอนนี้เป็นการงัดข้อ ฝ่าย กทม. ก็คงเป็นฝ่ายที่กำลังกดแขนของชาวชุมชนจนแทบจะติดโต๊ะ อย่างไรเสีย แม้ในวินาทีที่ฝาบ้านถูกรื้อออกไปทีละแผ่น แนวคิดการจัดการพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีคนอาศัยอยู่ในแบบอื่นก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าหยิบยกมาดูเพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการไล่รื้อไม่ใช่ไพ่ในมือเพียงใบเดียวของ กทม. และไม่ใช่สิ่งที่ทั่วโลกทำเหมือนกันหมด และเพื่อเป็นตัวเลือกที่ไว้ใช้พิจารณาเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับชุมชนอื่นๆ ใน กทม. และจังหวัดอื่นๆ

ประชาไทคุยกับ ศ.ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ คณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐฯ นักมานุษยวิทยาผู้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬมาถึง 13 ปี มีประสบการณ์ลงพื้นที่วิจัยในเมืองโบราณที่เกาะครีต ประเทศกรีซและประเทศอิตาลี ผู้สนใจประเด็นผลกระทบของกระบวนการอนุรักษ์โบราณสถานต่อผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ถึงแนวคิด หลักการและตัวอย่างของจริงเรื่องการจัดการพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีคนอาศัยในแบบที่ไม่ต้องรื้อทำลาย เล่าถึงข้อเสียของการพัฒนาจากบนลงล่าง 'การชำระล้างพื้นที่' ที่ฆ่าความเป็นชุมชนและความซับซ้อนของสังคมและมนุษย์ที่จะสะท้อนว่าการตัดสินใจของ กทม. คือการสูญเสียโอกาสที่จะมีมรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของท้องถิ่นทั้งที่มีทางเลือกที่ดีกว่า และในวันที่คนไทยติดละครย้อนยุคและแต่งชุดไทยเดินเที่ยวงาน พริบตาสุดท้ายที่ความเป็นชุมชนโบราณหายไป จะนึกได้และเสียดายก็คงสายเกินกาลเสียแล้ว...ออเจ้า

รื้อไล่ไม่ใช่ทางออกเดียว กับแนวทางอนุรักษ์ทั้งพื้นที่ประวัติศาสตร์และชีวิตของชุมชน

"ไม่ใช่ มีทางเลือกแน่นอน"  คือคำแรกที่ออกมาจากปากของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อถามว่าการไล่รื้อคือทางออกเดียวใช่หรือไม่ "แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่ กทม. ที่เห็นว่ามีแนวคิดอื่นไม่สามารถจะต้านทานผู้มีอำนาจได้ อย่างไรก็ตามผมแน่ใจว่าจะมีเจ้าหน้าที่ใน กทม. ที่เข้าใจปัญหาชาวบ้าน แต่เขาไม่เข้าใจคุณค่าของชุมชน นอกจากนั้น ถ้าเขาต้องการพัฒนาพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาต้องพิจารณาว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะมาไม่ได้สนใจดูวัดกับวังเท่านั้นแต่ยังสนใจว่าคนไทยอยู่กันอย่างไร ถ้ายังมีคนอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ พวกเขาก็อาจมีบทบาทที่สำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ด้วย ผมจึงคิดว่ามีวิธีการที่ทำให้ชาวบ้านอยู่ในนั้นและมีส่วนช่วย กทม. และประเทศไทย ถ้าทาง กทม. อนุญาตให้เขามีชีวิตในแบบที่เขาอยากมี"

ทางเลือกอื่นที่ไมเคิลพูดถึงคือ Self Gentrification ที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไร แต่จับทำนองได้ว่า หมายถึงการเปลี่ยนแปลง สร้างคุณค่าในพื้นที่ด้วยตัวผู้อยู่อาศัยในชุมชนเอง ประเทศกรีซ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน หนึ่งในอู่อารยธรรมยุโรป ก็มีการนำแนวคิดเช่นว่ามาใช้กับพื้นที่ที่เป็นเมืองเก่าแก่แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนักอย่างเมืองที่ชื่อเรเธมโนส (Rethemnos) โดยมีลักษณะของความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านในท้องที่จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่าง กทม. กับชุมชนป้อมมหากาฬ

"Gentrification คือการพูดถึงการอนุรักษ์เมืองโดยไม่คำนึงถึงการได้รับการยอมรับ ทำให้คนที่ไม่มีความสามารถในการอยู่อาศัยในพื้นที่ต้องย้ายออกไป เช่น คนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น แล้วให้คนที่รวยกว่า มีทุนที่สามารถใช้ลงทุนเพื่อบูรณะพื้นที่ได้เข้ามาอยู่ กลายเป็นบริเวณสำหรับคนที่มีสิทธิพิเศษเท่านั้น นักมานุษยวิทยา ชื่อ นีล สมิธ บอกว่า Gentrification เป็นคำที่เหมาะสมกับการอธิบายความแตกต่างทางสังคม แต่ Gentrification ก็มีหลายรูปแบบ อย่างในกรณีที่ผมศึกษาในเมืองชื่อเรเธมโนส (Rethemnos) เมืองเล็กๆ ในเกาะครีต ประเทศกรีซ เมื่อ 40 ปีที่แล้วหลังสิ้นสุดระบอบรัฐบาลเผด็จการทหาร บ้านที่อายุระหว่าง 200-500 ปี ไปดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเวลาผ่านไปผู้อยู่อาศัยซึ่งแต่เดิมมีแนวคิดอยากจะรื้อบ้านแล้วทำบ้านใหม่แต่ติดตรงรัฐบาลทหารมีข้อบังคับไม่ให้ทำ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะเริ่มลงทุนบูรณะบ้านเก่าของเขา รัฐบาลเองก็ช่วยเหลือในการบูรณะด้วย ในช่วงที่กรีซประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เมืองเรเธมโนสก็ไม่ได้เดือดร้อนมากเท่าบริเวณอื่น

"เรเธมโนสมีผู้อยู่อาศัยราว 20,000 คน  บางคนก็เปิดบ้านตัวเองเป็นโรงแรมบ้าง ภัตตาคารที่ชั้นล่างบ้าง แล้วตัวเองก็อาศัยอยู่ชั้นอื่น แต่ที่เรเธมโนสต่างจากชุมชนป้อมมหากาฬอยู่บ้าง คือผู้อยู่อาศัยที่เรเธมโนสจะเป็นเจ้าของบ้าน ฉะนั้นจึงมีอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับค่าเช่าหรือเจ้าของบ้าน คนที่เป็นเจ้าของบ้านสมัยที่ผมไปอยู่ หลังจากตอนนั้น 25-30 ปี เขาก็มีเงินมาเที่ยวเมืองไทยได้ แล้วเขาก็ภูมิใจมากที่เขาอยู่ในบ้านที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมเวนิซ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เขาอยู่ เขาก็จะเริ่มภูมิใจ และไม่เพียงแต่จะได้ประโยชน์จะได้พื้นที่ แต่จะทำให้พื้นที่มีประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม

"แต่ที่ป้อมมหากาฬมีความแตกต่างสามอย่าง หนึ่ง คนอยู่อาศัยส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าของบ้าน สอง เขาเห็นว่า กทม. ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ สาม ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬพัฒนาความรู้ของเขาร่วมกับภาคประชาสังคมหลายองค์กร แต่ในกรณีเรเธมโนสเป็นรัฐบาลที่พยายามช่วยชาวบ้าน ในกรณีป้อมมหากาฬ ผมคิดว่าถ้า กทม. สนใจช่วยชาวบ้านและได้ประโยชน์จากพื้นที่ อันนี้จะเป็นนโยบายที่ถูกต้องที่สุด แต่เขาเสียโอกาสจากการอ้างกฎหมาย ถ้าเราอ่านกฎหมายตามตัวอักษรเราจะพบว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิที่จะอยู่เพราะไม่ใช่เจ้าของ แต่ชาวบ้านก็ไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นเจ้าของพื้นที่ เขาอยากมีสิทธิที่จะอยู่ ที่จะทำงานในบริเวณนั้น และช่วย กทม. บูรณะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์" ไมเคิลกล่าว

การรื้อไล่ กวาดล้างคือการฆ่าชุมชน

การชำระล้างทางพื้นที่หรือ Spatial Cleansing เป็นคำที่ไมเคิลยกมาใช้ในงานเขียนของเขา "Heritage and the Rights to the City: When Securing the Past Creates Insecurity in the Present" และกล่าวถึงในการพูดคุย เพื่ออธิบายถึงทัศนคติการแยกพื้นที่ประวัติศาสตร์ออกจากพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยที่หลายครั้งสะท้อนออกมาจากการพัฒนา เปลี่ยนแปลงพื้นที่ตามแต่กลุ่มที่มีอำนาจนำทางเศรษฐกิจหรือการเมืองจะรังสรรค์ โดยภูมิปัญญา วิถีชีวิตของคนที่อาศัยในพื้นที่อยู่เดิมถูกแปรสถานะจากกิจวัตรประจำวันเป็นของประดับตู้โชว์ และพฤติการณ์เช่นนี้ทำให้มีผลกระทบกับชุมชนจนถึงขั้นการล้มละลายทางจริยธรรมที่ทำลายชีวิตของชุมชน

" [การชำระล้างทางพื้นที่] คือการทำความสะอาดพื้นที่ ความสะอาดเป็นความสะอาดทางสัญลักษณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรก แต่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ตามทฤษฎีของแมรี ดักลาส ที่พูดถึงเรื่องความบริสุทธิ์ [ว่าด้วยการลดทอนความซับซ้อนของมนุษย์และสังคมจนเหลือแต่มิติทางกายภาพ] อยากทำให้เป็นพื้นที่ที่บริสุทธิ์ มีหน้าที่เดียว แต่ของประเทศไทยที่ในพื้นที่มีวัด มีบ้านคนรวย บ้านคนจน พื้นที่ของวิถีชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณะ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ กทม. อยากให้พื้นที่นั้นเป็นสวนสาธารณะที่ไม่มีชีวิต ผมคิดว่านักมานุษยวิทยาทุกคนจะเห็นด้วยว่า ถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความน่าสนใจสำหรับใคร อาจจะเป็นพื้นที่ไว้สำหรับให้คนรวยมาทำกิจกรรม เล่นกีฬา

"ทาง กทม. ต้องการให้พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่ที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ที่คนรวยและคนชั้นกลางใช้ได้ ถ้าเราเห็นการโฆษณาของ กทม. เกี่ยวกับป้อมมหากาฬ เราจะเห็นใบหน้าของฝรั่งและการแต่งกายของชนชั้นกลาง เราเห็นว่า อย่างน้อยที่สุด เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกระบวนการขณะนี้ไม่สนใจคนธรรมดาซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะชาวบ้านแสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขามีคุณค่า ตอนที่ผมพยายามพูดถึงคุณค่าของชาวบ้าน ผมรู้สึกว่าทุกครั้งเจ้าหน้าที่ กทม. ไม่สนใจ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเขาคิดว่าผมเป็นฝรั่ง ไม่รู้เรื่อง หรือว่าพวกเขาดูถูกชาวบ้าน ผมไม่แน่ใจ แต่ผมต้องบอกว่าผมผิดหวังกับพฤติกรรมของเขา" ไมเคิลกล่าว

ป้ายประชาสัมพันธ์จากทาง กทม. (ที่มา: Homenayoo/มติชนออนไลน์)

งานเขียนของไมเคิลกล่าวว่าการชำระล้างทางพื้นที่ทำให้เกิดภาวะล้มละลายทางจริยธรรมด้วยเหตุผลสามประการ หนึ่ง การทำลายล้างทางพื้นที่เป็นการลดทอนองค์ความรู้ของคนที่คาดว่าจะไม่มีการศึกษา สอง สถาปนาองค์ความรู้หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพียงชนิดในชนิดหนึ่งเท่านั้นในฐานะทักษะความรู้ ความคิดเห็นที่เป็นที่ยอมรับ และสาม การชำระล้างทางพื้นที่ไม่สามารถการันตีว่าจะบรรลุเป้าหมายเสียด้วยซ้ำ เพราะแนวทางเช่นว่ามักตีขลุมเอาว่าคนอื่นจะปรับสภาพตามมัน ดังนั้นการชำระล้างทางพื้นที่จึงเป็นเพียงการผลิตซ้ำแนวทางการวิวัฒน์ทางพื้นที่จากบนสู่ล่าง จากรัฐสู่ราษฎร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ไมเคิลยังได้กล่าวถึงผลกระทบต่อชีวิตของชุมชนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่ "กรณีศึกษาของกรุงโรมที่ผมเคยทำวิจัยนั้นพบว่า ในช่วงเวลาเพียง 15 ปี บริเวณที่ประกอบด้วยบ้านของทั้งคนรวยและคนยากจนกลายเป็นบริเวณที่คนส่วนใหญ่ไปอาศัยในอพาร์ทเมนท์ เช้าก็ตื่นไปทำงาน ไม่รู้สึกว่าเป็นสมาชิกของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว การชำระล้างทางพื้นที่จึงเป็นการทำลายความเป็นชุมชนในระดับท้องถิ่น

ดูละครย้อนยุค แต่งชุดไทยเดินเที่ยวในวันที่ลมหายใจของชุมชนโบราณรวยริน

ทุกวันนี้กระแสย้อนยุคปรากฏบนหน้าข่าวและโซเชียลมีเดียมากขึ้น รวมถึงกระแสนิยมละครไทยที่มีท้องเรื่องอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและการแต่งชุดไทยเดินเที่ยวงาน แต่ในทางกลับกัน การปรับปรุงพื้นที่โบราณสถานด้วยการไล่รื้อชุมชนที่มีอายุเก่าแก่กลับไม่มีกระแสไปในทางเดียวกันเท่าใดนักแม้จะมีข่าวการต่อสู้อยู่เป็นระยะเวลา 25 ปีกว่าแล้วก็ตาม เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า ความพยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมหรือระลึกถึงประวัติศาสตร์คนละแบบนั้นได้รับการตอบสนองไม่เหมือนกัน และในวันนี้กระแสสังคมดูสอดรับกับวิธีอนุรักษ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในแบบบนลงล่าง จากรัฐสู่คน จากสื่อสู่ผู้ชม ไม่ใช่จากล่างสู่บน และไมเคิลพูดถึงเรื่องนี้ด้วยความผิดหวัง พร้อมทั้งรู้สึกว่า กทม. เสียดายโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนป้อมมหากาฬและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวควบคู่ไปด้วยกัน จนตอนนี้ที่ลมหายใจของชุมชนรวยริน การจะหาวิธีการหรือใครมาพลิกฟื้นก็เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก

"ผมคิดว่า [การอนุรักษ์วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์] เป็นเป้าหมายที่สำคัญ ผมหวังว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามีนโยบายที่ไล่ผู้อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ก็จะไม่สำเร็จ นักโบราณคดีส่วนใหญ่สนใจให้ผู้อยู่อาศัยรับผิดชอบพื้นที่ ผมเห็นด้วยถ้ารัฐบาลสามารถอนุญาตให้คนเหล่านั้นอยู่ต่อแล้วให้ความรู้ในการอนุรักษ์ เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นนิดหน่อยแล้ว ยังช่วยเขาให้มีระดับการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองเรเธมโนส ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมไปอาศัยในบ้านที่มีอายุ 400 กว่าปี เจ้าของบ้านบอกว่าอยากแปลงบ้านให้ทันสมัย แต่ตอนนั้นรัฐบาลทหารมีกฎหมายไม่ให้ดัดแปลงบ้าน อีกอย่างเขาเป็นคนยากจนจึงไม่มีทุนรอนที่จะทำ หลังจากระบอบรัฐบาลทหาร นักท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามาในเมืองและให้ความสนใจกับบ้านเหล่านั้นที่มีลักษณะของสถาปัตยกรรมเวนิซและจักรวรรดิออตโตมัน มีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์มาก ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจลักษณะพิเศษของบ้าน เริ่มมีความภูมิใจ และเริ่มพัฒนาร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมโบราณคดีของกรีซที่หลังจากรัฐบาลทหารเริ่มเข้าใจคุณค่าบ้านที่พวกเขาเคยละเลย"

"ผมต้องยอมรับว่าผมก็หมดหวังเหมือนกัน เพราะตอนนี้มีบ้านน้อยมาก เราไม่สามารถสร้างชุมชนใหม่โดยมีบ้านน้อยหลัง ชีวิตประจำวันที่มีจะไม่ใช่ชีวิตประจำวันแบบธรรมชาติ แต่เป็นชีวิตของคนที่จำเป็นต้องอยู่ที่นั่น ไม่เป็นธรรมชาติ ในกรณีที่คนในชุมชนส่วนใหญ่หายไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าคุณค่าของบ้าน 7 หลังจะเป็นอะไร ถ้าผมเป็นชาวบ้านผมก็คงผิดหวัง" ไมเคิลพูดถึงสถานการณ์ของชุมชนป้อมมหากาฬ

"คำถามว่าใครทำอะไรได้ในวินาทีสุดท้ายเป็นคำถามที่ยาก ตอนนี้มันสายแล้ว ถ้าคนสุดท้ายจะต้องย้ายออก เขาก็อาจจะมีญาติหรือมีบ้านที่อยู่อาศัย แต่คงไม่มีโอกาสจะสร้างชุมชนป้อมมหากาฬที่อื่น เพราะส่วนหนึ่งของชุมชนคือความเป็นพื้นที่ คืออาชีพที่เขาทำ ถ้าเขาจะแยกย้ายกันไปหลายๆ ที่ผมแน่ใจว่าชุมชนป้อมมหากาฬจะหายไปเลย น่าเสียดาย เพราะเท่าที่ผมรู้จักชาวบ้าน ก็เห็นว่าเป็นชุมชนที่มีคุณค่า ผมไม่ปฏิเสธว่ามีคนที่ทะเลาะกันหรือไม่เห็นด้วยกับผู้นำชุมชน แต่การที่เขาอยู่มา 25 กว่าปีสำเร็จโดยไม่มีปัญหาใหญ่ แสดงให้เห็นว่าเขามีความเป็นชุมชนอย่างแท้จริง ถ้าเขาพยายามจะสร้างชุมชนของเขาที่อื่น ผมเห็นว่าคงไม่เหมือนกัน"

"ผมเห็นด้วยถ้ามีใครช่วยชาวบ้านให้มาร่วมสร้างชุมชนกันใหม่อีกครั้ง แต่จะยากแน่นอน เราจะเห็นพื้นที่ที่เขากำลังรื้อสร้างกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่พื้นที่ที่มีชีวิต แล้วก็จะไม่มีความน่าสนใจเท่ากับการที่มีคนอยู่อาศัย ชาวบ้านป้อมที่ไปอยู่ที่อื่นก็จะไม่มีพื้นที่ที่ทำให้เขาภูมิใจที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไทยในฐานะคนที่เกี่ยวข้องกับส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย และก็ไม่แน่ใจว่าการสร้างสังคมใหม่ที่ประกอบด้วยชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬเดิมจะเป็นอย่างไร ก็ต้องลองดู" ไมเคิลกล่าว

กรณีชุมชนป้อมมหากาฬเป็นบทเรียนอะไรกับสังคมไทยได้บ้าง

ไมเคิล: ถ้าคนไทยพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่แล้วในหนังสือหลายเล่ม ในบทความหลายฉบับ เขาจะเข้าใจว่าประเทศไทย โดยเฉพาะ กทม. เสียโอกาส เรามีตัวอย่างเยอะในหลายประเทศทั่วโลกที่สิ่งที่มีคุณค่าหายไป แล้วในวินาทีสุดท้ายก็จะมีใครสักคนพูดว่า ตอนนี้เรากำลังเสียโอกาส แต่ก็สายไปแล้ว ซึ่งในขณะที่ชุมชนหายไป มีความเป็นชุมชนที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญก็หายไป ผู้นำชุมชนแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถจัดการทุกอย่างได้ ไม่ปฏิเสธว่าเขาทะเลาะกัน แต่ว่ามันก็เป็นธรรมชาติของชุมชน มีนักสังคมวิทยาชาวอิตาเลียนบอกว่าการสามารถทะเลาะกันได้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มีความเป็นไปได้ว่าชาวบ้านจะทะเลาะกันถ้าไม่เห็นด้วยซึ่งไม่ใช่ความผิด แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดได้ว่าอาจมีทางเลือกใหม่

เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม
 
Michael Herzfeld, Heritage and the Rights to the City: When Securing the Past Creates Insecurity in the Present, Heritage & Society, Vol.8, No.1, May, 2015, pp. 3-23.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกเทศมนตรีรังสิตยอมรับดูแลสุขภาพพระไม่ง่าย หวัง ‘ธรรมนูญสงฆ์-กองทุนตำบล’ หนุนขับเคลื่อน

Posted: 08 Mar 2018 12:40 AM PST

นายกเทศมนตรีนครรังสิต ชี้ กองทุนสุขภาพตำบลมีเป้าหมายดูแลพระสงฆ์อยู่แล้ว สบช่องการมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเป็นเครื่องมือใหม่ในการสร้างกระบวนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้พระสงฆ์

8 มี.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต จ.ปทุมธานี กล่าวถึงการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งได้ประกาศใช้ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อปลายปี 2560 ตอนหนึ่งว่า แท้ที่จริงแล้วกองทุนสุขภาพประจำตำบล ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ อบต./เทศบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมมีวัตถุประสงค์และมีพระสงฆ์เป็นเป้าหมายอยู่แล้ว ดังนั้นโดยหลักการการทำงานทั่วไปก็มีความพยายามขับเคลื่อนให้นำเอางบประมาณจากกองทุนสุขภาพประจำตำบลไปใช้กับกลุ่มพระสงฆ์อยู่แล้ว ฉะนั้นการมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติก็ถือเป็นส่วนเสริม นับเป็นเครื่องมือใหม่เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด การขับเคลื่อน ที่จะนำเงินส่วนนี้มาใช้เพิ่มขึ้

ธีรวุฒิ กล่าวว่า การใช้เงินในกองทุนสุขภาพประจำตำบลกับพระสงฆ์นั้น ก็เป็นกรอบเดียวกันกับการใช้เงินในกองทุนกับกลุ่มอื่นๆ คือจะเป็นงานด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคเท่านั้น ไม่รวมถึงการรักษาโรค โดยเราก็มีเป้าหมายว่าจะต้องให้การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ตามมิติกลุ่มโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับพระสงฆ์เป็นหลักด้วย อาทิ เบาหวาน ความดัน

"ตัวอย่างการใช้เงินในปัจจุบัน เช่น การจัดกิจกรรมคัดกรองโรค การออกกำลังกาย การกายภาพ เพราะทุกวันนี้พระสงฆ์มีปัญหาเรื่องการออกกำลังกาย เนื่องจากวัตรปฏิบัติของสงฆ์ไม่เอื้อให้สามารถออกกำลังกายใจที่สาธารณะได้ เราจึงต้องหาเครื่องมือที่สร้างโอกาสให้พระสามารถออกกำลังกายได้ ขณะเดียวกันก็นำงบประมาณไปใช้เพื่อปลูกฝังประชาชนให้รู้จักวิธีใส่บาตรอย่างถูกวิธี เพราะพระสงฆ์ไม่มีโอกาสเลือกฉันได้" ธีรวุฒิ กล่าว

นายกเทศมนตรีนครรังสิต ยอมรับว่าการดำเนินงานเรื่องสุขภาพพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีองค์ประกอบและข้อจำกัดหลายอย่าง อาทิ เรื่องการตรวจโรค พระสงฆ์ก็ไม่ค่อยสะดวกที่จะมารับบริการ และพระสงฆ์เองก็มีสวัสดิการในระบบหลักประกันสุขภาพ ฉะนั้นพระสงฆ์ก็จะสะดวกไปตรวจตามสถานบริการที่ตัวเองสะดวก การขับเคลื่อนจึงยาก รวมถึงการรณรงค์ให้ถวายภัตตาหารก็นับเป็นเรื่องยากมากที่จะให้เกิดการปฏิบัติจริง

"จะเห็นได้ว่าการทำงานเรื่องพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ยากมาก จึงอาจต้องใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์มาช่วยให้เกิดกระบวนขับเคลื่อนให้ดีขึ้น" ธีรวุฒิ กล่าว

อนึ่ง กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 ตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรภาคีต่างๆ ในพื้นที่ ให้เข้ามาบริหารจัดการระบบสุขภาพร่วมกันอย่างแข็งขัน เกิดระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งปัจจุบันมี อปท.จำนวน 7,736 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.49 ของ อปท.ทั่วประเทศที่เข้าร่วม

ทั้งนี้ พระสงฆ์อยู่ในกลุ่มเป้าหมายการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ อาทิ พระสงฆ์อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ พระสงฆ์อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น โดย อปท.สามารถใช้กลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้านสุขภาพ เพื่อร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการสาธารณสุขเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่งถึงและครอบคลุมในกลุ่มพระสงฆ์เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาระดับปฐมภูมิเชิงรุกที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตพระสงฆ์ รวมถึงการดูแลสุขภาพตนเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ส.ส. – ส.ว. ขั้นตอนต่อไปเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ

Posted: 08 Mar 2018 12:13 AM PST

ที่ประชุมสนช. ลงมติผ่านร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แล้ว ขั้นตอนต่อไปยื่นให้นายกรัฐมนตรีเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ

8 มี.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ซึ่งเป็นร่างที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาเสร็จแล้ว โดยส่วนที่มีการแก้ไขจากร่างเดิมที่ผ่านการเห็นชอบจาก สนช. ก่อนหน้านั้นคือ

1.กำหนดระยะเวลาการลงคะแนนสียงเลือกตั้งเป็น 08.00-17.00 น. จากเดิมกำหนดไว้ 07.00-17.00 น.

2.กำหนดห้ามจัดงานมหรสพในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จากเดิมที่อนุญาตให้ทำได้

3.ยืนยันแนวทางเดิมกรณีให้บุคคลอื่นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงแทนคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุได้

4.ตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการลงสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส. และส.ว. และห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่น เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่บุคคลนั้นไม่ไปใช้สิทธิ์

5.ไม่กำหนดให้หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรค เป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ

6.เปลี่ยนการกำหนดงบหาเสียง จากเท่ากันทุกพรรค  มาแบ่งเป็นขนาดพรรค 3 กลุ่มตามจำนวนการส่งผู้สมัคร

สมาชิก สนช. มีการอภิปรายซักถามตั้งข้อสังเกตกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นการตัดสิทธิบางประการของบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. โดย ล้านรงค์ จันทิก สนช. ตั้งข้อสงสัยในมาตรา 35 เรื่องถ้อยคำเกี่ยวกับการตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งถ้าตีความตามกฎหมายนี้ อาจแปลความได้ว่า ข้าราชการการเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องพ้นจากตำแหน่ง  ขณะที่ ส.ส. ซึ่งต้องมีความรับชอบมากกว่า ถูกตัดสิทธิเพียงแค่ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ไม่พ้นจากตำแหน่งทันที ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และอาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว สนช.ลงมติ ผ่านความเห็นชอบร่าง  พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนน  211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 โดยขั้นตอนหลังจากนี้  จะต้องส่งให้นายกรัฐมนตรี และพักไว้ 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป ยกเว้นแต่จะมีการส่งร่าง กฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องชะลอการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

วันเดียวกัน สนช. ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนน 201 ต่อ 1 งดออกเสียง 13 เสียง โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาครั้งนี้ ได้ปรับลดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม ซึ่งสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธาน กมธ. พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ แสดงความมั่นใจว่า "ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ" เนื่องจากเรื่องจำนวนกลุ่มไม่ได้ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญยังระบุว่าอาจใช้วิธีการอื่นใดหรือการเลือกไขว้ก็ได้ หลังจากสมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตเรื่องการแบ่งกลุ่ม และช่องทางการสมัคร ส.ว. ผ่าน 2 ช่องทางคือ สมัครในนามอิสระ และสมัครโดยองค์กร ว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ แม้จะกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลก็ตาม

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย , BBC Thai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายทหารสะบัดมือคล้ายชูนิ้วกลาง ขอโทษทุกฝ่าย ยอมรับผิด ย้ำไม่มีเจตนา

Posted: 07 Mar 2018 11:36 PM PST

พ.อ.ทินชาติ ยอมรับผิดกรณีสะบัดมือคล้ายชูนิ้วกลางใส่กลุ่มเดินมิตรภาพ ขอโทษทุกฝ่าย รวมทั้งกองทัพบกที่ทำให้เสียงชื่อเสียง ย้ำไม่มีเจตนา ด้านแม่ทัพภาค 3 สั่งย้ายเข้ากรุและให้ขาดจากตำแหน่งเดิมทันที

พ.อ.ทินชาติ สุทธิรักษ์ นายทหารการข่าวมณฑลทหารบกที่ 34 

8 มี.ค. 2561 ที่มณฑลทหารบกที่ 34 จังหวัดพะเยา พ.อ.มงคล ปาคำมา เสนาธิการทหารมณฑลทหารบกที่ 34 พร้อมด้วย พ.อ.ทินชาติ สุทธิรักษ์ นายทหารการข่าวมณฑลทหารบกที่ 34 ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวหลังมีกรณีนำเสนอข่าวที่ พ.อ.ทินชาติ กำลังโต้เถียงกับชาวบ้านดอยเทวดา และกลุ่มเดินมิตรภาพ และมีการสะบัดมือคล้ายการชูนิ้วกลาง จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม

(คลิป)ทหารชูนิ้วกลางให้กลุ่มเดินมิตรภาพ ขณะยื่นหนังสือผู้ว่าฯ พะเยา

นายทหารจังหวัดพะเยา ขอให้ย้อนดูคลิปใหม่ ยืนยันไม่ได้ชูนิ้วกลาง แค่สะบัดมือเท่านั้น

แม่ทัพภาค 3 ขอโทษพร้อมสั่งสอบกรณีนายทหารสะบัดมือคล้ายชูนิ้วกลาง

พ.อ.ทินชาติ ระบุว่า โดยข้อเท็จจริงตนเองไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว แต่เพียงกริยาที่แสดงออกไปในขณะเจรจา และมีการนำไปแคปเผยแพร่ ตนเองก็ต้องขอโทษและยอมรับผิดทุกอย่างหากมีการดำเนินการ

"กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเสียใจ ผมอยากขอโทษน้องๆ We Walk ชาวบ้านดอยเทวดา และประชาชนทุคนที่รับทราบเรื่องนี้ รวมทั้งกองทัพบก ที่ทำให้เสียชื่อเสียง ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นผมยืนยัน ผมยอมรับผิด" พ.อ.ทินชาติ กล่าว

ขณะที่ พ.อ.มงคล ระบุว่า ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พ.อ.ทินชาติ ก็ต้องขอโทษพี่น้องประชาชนขอโทษสื่อมวลชน ที่นายทหารของเราไปสบัดมือในลักษณะเช่นนั้น โดยขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งจะทราบผลภายใน 3 วันว่าการกระทำดังกล่าวผิดวินัยทหารหรือไม่

ขณะเดียวกันพล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ลงนามในคำสั่งย้าย พ.อ.ทินชาติ ให้มาช่วยราชการที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่  3 จ.พิษณุโลกแล้วโดยขาดจากตำแหน่งเดิมและจะต้องเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 9 มี.ค. 2561 ทันที ส่วนการสอบวินัยให้เป็นไปตามกระบวนการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.แนะ อปท.ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล ควบคุม-ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

Posted: 07 Mar 2018 10:49 PM PST

สปสช.แนะ อบต.หรือเทศบาลใช้ "กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล" ช่วยควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ชี้ตามประกาศหลักเกณฑ์ใช้เงินกองทุนฯ ระบุข้อ 7 (5) ระบุชัด ใช้หนุนแก้ปัญหากรณีเกิดโรคระบาด-ภัยพิบัติได้ ส่วนกรณีผู้ถูกสุนัขกัดใช้สิทธิบัตรทองฉีดวัคซีนที่ รพ.รัฐ ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

ภาพประกอบข่าวเฉยๆ สุนัขตัวดังกล่าวไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แม้จะดูเพี้ยนๆ ก็ตาม

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดในหลายพื้นที่ประเทศไทยขณะนี้ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 13 จังหวัดและพื้นที่เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าอีก 42 จังหวัด ขณะที่มีรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าโดยกรมควบคุมโรค พบเชื้อบวกจากการตรวจยืนยันหัวสุนัขช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ในปีนี้ที่สูงเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ทั้งนี้แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง อาทิ สุนัข แมว เป็นต้น เป็นประจำทุกปี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ผู้สัมผัสโรค

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการจัดตั้ง "กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่" หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโดยดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาลและ อบต.ที่เข้าร่วม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถาบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่น รวมถึงองค์กรประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นนี้ อปท.สามารถนำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนัก/กอง/ส่วนสาธารณสุขฯ ในเทศบาล หรือ อบต. จัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า" เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ ลดอุบัติการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านี้ได้

ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกัสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2557 ในข้อ 7 (5) ที่ระบุให้นำเงินกองทุนจ่ายใช้จ่ายกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ได้ โดยมีคณะกรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็นเหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในตัวสัตว์เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นโดยตรง

"กรณีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คุกคามสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ขณะนี้ โดย อปท.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดสามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้ตามระเบียบที่กำหนดไว้ ปัจจุบันมีเทศบาลและ อบต.เข้าร่วมดำเนินการกองทุนฯ แล้วจำนวน 7,736 แห่ง คิดเป็นร้อยละ99.49 ของ อปท.ทั้งประเทศ" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้ที่ถูกสุนัขกัดหรือสัมผัสน้ำลายสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาครั้งแรก กรณีเข้ารับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองไว้ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วน สปสช. โทร.1330 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดตัวธนบัตรแบบใหม่ รุ่นแรก ใน ร.10 ออกใช้ 6 เม.ย.นี้

Posted: 07 Mar 2018 10:27 PM PST

8 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้จัดพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 17) เพื่อนำออกใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียน โดยชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท มีกำหนดออกใช้ในวันจักรี 6 เม.ย.นี้ และอีก 2 ชนิดราคา คือ 500 บาท และ 1000 บาท จะออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ 28 ก.ค. 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ 'CSI LA' แฉ ตชด.ชายแดนภาคใต้อาจถูกโกงค่าเบี้ยเลี้ยง กอ.รมน.แจงเปลี่ยนระบบเบิกใหม่

Posted: 07 Mar 2018 09:08 PM PST

เพจ 'CSI LA' เผย ตชด.ชายแดนภาคใต้ ร้องเรียนอาจจะถูกโกง ค่าเบี้ยเลี้ยง ด้าน รองโฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจงอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแบบใหม่ ยันไม่ได้เบียดบังสิทธิประโยชน์ของกำลังพลแต่อย่างใด ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนทางหน่วย

8 มี.ค.2561 จากกรณีวานนี้ (7 มี.ค.61) เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'CSI LA' โพสต์เรื่องราวร้องเรียนเสียงจาก ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คาดว่าอาจจะถูกโกง ค่าเบี้ยเลี้ยง โดยระบุว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงสนามและค่าเสี่ยงภัยของ ตชด. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 จนถึง ก.ย.2560 ได้รับเบี้ยเลี้ยง 6,130 บาท และค่าเสี่ยงภัย 1,500 บาท ทุกเดือน ที่ถูกทางกองร้อยหักเงินค่าเบี้ยเลี้ยงสนามของตำรวจโดยไม่ทราบว่าเป็นค่าอะไรบ้าง ซึ่งเป็นยอดเงินที่ตำรวจ ควรจะได้รับ นั้น

ล่าสุดวันนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) รายงานว่า เมื่อเวลา เวลา 09.30 น. ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า พ.อ.ธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ รองโฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ชุดปฏิบัติงาน ของตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ละชุด ได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เท่ากัน หน่วยจึงต้องจัดสรรเบี้ยเลี้ยงให้กับชุดต่างๆ ตามที่ได้รับจัดสรร

รองโฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวต่อว่า การร้องเรียนอาจสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแบบใหม่ โดยหน่วยต้นสังกัดโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของข้าราชการตำรวจเป็นรายบุคคล ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือน ก.พ.61 น่าจะมีความเข้าใจผิด และคลาดเคลื่อน ซึ่งเมื่อเงินเข้าในบัญชีแล้วเจ้าของบัญชีจะต้องถอนเงินออกมาจ่ายคืนให้กับรายการหักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าสวัสดิการ ค่าประกอบเลี้ยง หรือ ค่าอาหารในฐานปฏิบัติการ  ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และรายการลงบัญชี ซื้อสินค้าจากร้านค้าภายในกองร้อย

พ.อ.ธนาวีร์ ยืนยันว่า ไม่ได้เบียดบังสิทธิประโยชน์ของกำลังพลแต่อย่างใด ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนทางหน่วย ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงระบบใหม่ และรายการหักค่าใช้จ่ายให้กับกำลังพลทราบ ทั่วกันแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์ชี้คนกรุง 74.7% เชื่อมั่นช้อปออนไลน์ พบกว่า 32% ถูกหลอก แนะภาครัฐตั้งหน่วยรับผิดชอบโดยตรง

Posted: 07 Mar 2018 08:42 PM PST

ฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping 40.7% ซื้อของราคา 501 – 1,000 บาท 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจัดเสวนาสมัชชาผูบริโภค ประจำปี 61 ชูประเด็น "กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ"

8 มี.ค. 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่เคยซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์และอาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,205 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 25 ก.พ. 2561  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

สิงห์ สิงห์ขจร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) มีเป็นจำนวนมากและมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น สินค้าที่มีความหลากหลายที่อยู่บนร้านค้าออนไลน์ทั้งในแบบใช้ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ และแบบเว็บไซด์ที่จัดทำขึ้นเพื่อขายสินค้า การตัดสินใจ ความเชื่อมั่น ปัญหาต่างๆในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์เป็นอย่างไร โดยผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์เกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ผ่านทางร้านค้าบน Facebook เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 30.9 อันดับที่สองคือร้านค้าบน Instagram ร้อยละ 25.4 อันดับที่สามคือ Lazada ร้อยละ 13.9 อันดับที่สี่คือ Shopee ร้อยละ 10.9 และอันดับที่ห้าคือ Kaidee ร้อยละ 7.8 และมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นสินค้าประเภท เสื้อผ้าผู้หญิง/ผู้ชาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 29.8 อันดับที่สองคืออาหารเสริมสุขภาพ ร้อยละ 13.0 อันดับที่สามคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ อุปกรณ์เสริมมือถือ ร้อยละ 9.1 และอันดับที่ห้าคือ สินค้าความงาม ร้อยละ 8.4

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 74.7 มีความเชื่อมั่น เพราะเชื่อมั่นในระบบ/เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.8 อันดับที่สองคือ เพราะสินค้าที่ซื้อได้รับการรับรองจากผู้ซื้อคนอื่นหรือการรีวิว ร้อยละ 31.0 อันดับที่สามคือ เพราะสินค้าได้รับการรับรองจากระบบ/เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 21.6 อันดับที่สี่คือ เพราะสินค้านั้นมีราคาถูกกว่าไปซื้อหน้าร้าน ร้อยละ 13.5 และคิดว่าสินค้าในร้านค้าออนไลน์ มีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 62.9 ในส่วนของความน่าเชื่อถือ สินค้าบริโภค (ผลิตภัณฑ์อาหาร) ร้อยละ 45.8

ในส่วนของราคาที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ 501 – 1,000 บาท ร้อยละ 40.7 อันดับที่สองคือ 101 – 500 บาท ร้อยละ 23.1 อันดับที่สามคือ 1,001 – 1,500 บาท ร้อยละ 19.5 อันดับที่สี่คือ 1,501 – 2,000 บาท ร้อยละ 9.5 อันดับที่ห้าคือ มากกว่า 2,000 บาท ร้อยละ 6.6 และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 0.6 การชำระค่าสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านทางระบบออนไลน์ ด้วยวิธีการ โอนเงิน/หักบัญชีธนาคาร มากที่สุด ร้อยละ 61.1 อันดับที่สองคือ ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ร้อยละ 14.8 อันดับที่สามคือ โอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ ร้อยละ 11.1       

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการจัดส่งสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ มีความรวดเร็ว ร้อยละ 75.8 เคยพบการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ร้อยละ 54.4 และเคยพบสินค้าชำรุด/เสียหาย หรือได้รับสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อสินค้า ร้อยละ 35.0

กลุ่มตัวอย่างเคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 32.4 และเมื่อพบปัญหาจากการถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 39.6 อันดับที่สองคือ โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย/เฟสบุ๊ค ร้อยละ 28.7 อันดับที่สามคือ ร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 19.3 อันดับที่สี่คือ ไม่ดำเนินการใดๆ ร้อยละ 9.7

ในส่วนของการเคยมีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 60.8 เคยมีการตรวจดูสถานที่ผลิตของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 57.3 และเคยมีการตรวจสอบมาตรฐาน อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 58.4

ทั้งนี้ สิงห์ เสนอแนะว่า ควรมีหน่วยงานที่ดูแลจัดการในเรื่องการซื้อขายออนไลน์โดยตรง มีมาตรการเข้มงวด รวมถึงการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย อีกส่วนหนึ่งคือ การใช้จ่ายออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายโดยการหักบัญชีธนาคาร จากผู้ขายและผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี ตรงนี้จะแก้ไขได้อย่างไร

สารี อ๋องสมหวัง บรรณธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เป็นที่น่าเสียดายหากภาครัฐจะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยจากการเก็บภาษีอากร  เพราะในต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย มีการเก็บภาษีจากเฟสบุคได้แล้ว  ปีนี้เป็นปีที่ 2  สองปีซ้อนที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก กำหนดให้วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights' Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปีเป็นประเด็น การคุ้มครองผู้บริโภคจากธุรกิจออนไลน์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความ ยุติธรรมให้แก่ผู้บริโภค(Building a Digital World Consumers Can Trust) ในปี พ.ศ. 2560 สู่ "การกำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม" (Making digital marketplaces fairer) ในปี 2561

บรรณธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ ระบุว่า อีคอมเมิร์ซได้เปลี่ยนวิถีชีวิตทุกคน ผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ที่ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สามารถชำาระเงินซื้อข้าวของเครื่องใช้บริการได้ทั่วโลก แม้แต่เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ดนตรี  จองบริการ ขนส่งและที่พัก หรือซื้อตั๋วเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับในประเทศไทย มูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาดิจิทัลในปี 2559 มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท คาดว่า ปี 2560 จะทะลุหมื่นล้านขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้ เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้ เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้น

สารี กล่าวด้วยว่า ถูกหลอกลวง ฉ้อโกง หรือโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ โอ้อวดสรรพคุณ จะได้รับ การชดเชยเยียวยาเป็นอย่างดี หรือถูกจัดการจากหน่วยงานอย่างทันท่วงที  ด้วยเหตุนี้เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้บริโภคทั่วโลก จะสามารถ ทำาให้เกิดการกำากับตลาดดิจิทัลที่เป็นธรรมสำาหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 "กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ" ในวันพุธที่ 14 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 15 มี.ค. 2561 ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ภายในงาน  มีการนำเสนองานวิจัย เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ โดย พลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการอิสระ  เสวนา "กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม (Making digital marketplaces fairer)"  และมีกิจกรรมวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ เสวนา "มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์" , เสวนา "แนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายในออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ" , เสวนา เรื่อง "แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล" , เสวนา "ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง" , เสวนา "ต้นแบบและความร่วมมือรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย"  และในวันพฤหัสบดีที่ 15 มี.ค. 2561 ร่วมรับฟังเสวนา "ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ความก้าวหน้าและอนาคต" ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ 02 248 3737

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น