โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สื่อญี่ปุ่นรายงาน 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ออกงานคู่ในโตเกียว เชื่อพรรคจะชนะเลือกตั้ง

Posted: 29 Mar 2018 10:31 AM PDT

อาซาฮีรายงาน 'ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ปรากฎตัวร่วมงานเปิดตัวหนังสือของอดีตรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในแขวงชิโยดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทักษิณ ย้ำเสรีภาพในการแสดงออกจำเป็นสำหรับไทย ประชาธิปไตยจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจ ออกตัวไม่เกี่ยวกับ "เพื่อไทย" แต่เชื่อว่าคนดีๆ ในพรรคควรมีความสามารถนำพาพรรคชนะเลือกตั้งอีกครั้ง

ภาพจากเว็บไซต์อาซาฮี www.asahi.com 

29 มี.ค.2561 เว็บไซต์อาซาฮี สื่อของประเทศญี่ปุ่นรายงานรายงานว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีออกจากประเทศไทย ปรากฎตัวร่วมงานเปิดตัวหนังสือของอดีตรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในแขวงชิโยดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นการออกงานคู่กันครั้งแรกของสองพี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

ทักษิณ ให้สัมภาษณ์กับอาซาฮี ระบุว่า ตนหวังว่าประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารจะหวนคืนสู่ประชาธิปไตยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

"เสรีภาพในการแสดงออกนั้นจำเป็นสำหรับประเทศไทย ประชาธิปไตยจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจ" ทักษิณ ระบุ

ต่อคำถามถึงแผนจัดเลือกตั้งของรัฐบาลทหารที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ทักษิณตอบว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแต่เชื่อว่าพรรคจะชนะ "ผมไม่เกี่ยวกับพรรค และพรรคไม่อนุญาตให้ผมเกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่ามีคนดีๆ จำนวนมากอยู่ในพรรคเพื่อไทย และพวกเขาควรมีความสามารถในการนำพรรคไปสู่ชัยชนะถล่มทลายอีกครั้งหนึ่ง"

เว็บไซต์อาซาฮี รายงานว่า ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ เดินทางร่วมงานเปิดตัวหนังสือของ ฮาจิเมะ อิชิอิ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย โดยการเยือนญี่ปุ่นดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเดินทางมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าจะพักในญี่ปุ่นราว 2-3 วัน

ทั้งนี้เว็บไซต์อาซาฮีระบุด้วยว่า อิชิอิ นั้นเป็นผู้รับรองให้ ทักษิณ ที่เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยต้องหนีออกนอกประเทศในการรัฐประหารเมื่อปี 2549

ที่มา : มติชนออนไลน์และโพสต์ทูเดย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง 'ทอม ดันดี' คดี ม.112 ปราศรัยลำพูน ปี 54 เหตุบรรยายฟ้องไม่สามารถทำให้ปรากฎว่าผิดจริง

Posted: 29 Mar 2018 07:25 AM PDT

ศาลยกฟ้อง 'ทอม ดันดี' คดี ม.112 ปราศรัยลำพูน ปี 54 เหตุบรรยายฟ้องโจทก์ยังไม่สามารถทำให้ปรากฎได้ว่า คำปราศรัยเข้าข่ายความผิดตามฟ้องจริง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ 

แฟ้มภาพ เพจ Banrasdr Photo

29 มี.ค.2561 วันนี้ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ ทอม ดันดี หรือ ธานัท ธนวัชรนนท์ อดีตนักร้องชื่อดัง แนวร่วมนปช. ตกเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 ถูกฟ้องจากการปราศรัยที่จังหวัดลำพูนเมื่อปี 2554 ในงาน "แรงงานสร้างบ้านแป๋งเมือง" (ซึ่งเป็นคดีที่ 4 ของเขา)

iLaw รายงานว่า ธานัท ถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณา 803 ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.50 น. โดยในห้องพิจารณาคดีมีภรรยา ลูกชาย และเพื่อนๆ ของ ธานัท มารอฟังพิพากษาประมาณ 20 คน ในเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ก่อนจะบอกให้ภรรยาและลูกของธานัทมานั่งด้วยกันได้ หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ธานัท โดยให้เหตุผลว่า บรรยายฟ้องโจทก์ยังไม่สามารถทำให้ปรากฎได้ว่า คำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายความผิดตามฟ้องจริง ถึงแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง หลังศาลอ่านคำพิพากษาธานัทได้สวมกอดกับภรรยาและลูกด้วยความดีใจ ขณะที่เพื่อนๆที่ให้กำลังใจธานัทต่างก็แสดงความยินดี

สำหรับตัวของธานัทแม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้แต่เขาก็ต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี 10 เดือนจากคดีที่ถูกฟ้องก่อนหน้านี้สองคดีต่อไปโดยธานัทสูญเสียอิสรภาพมาตั้งแต่ถูกจับกุมตัวและดำเนินคดีมาตรา 112 คดีแรกในเดือนกรกฎาคม 2557

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 ของ ธานัท มีเหตุสืบเนื่องมาจากการปราศรัยของเขาที่จังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2554 วันรุ่งขึ้นทหารในพื้นที่จากมณฑลทหารบกที่ 33 ได้แจ้งความกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วน ธานัท ได้รับทราบข้อกล่าวหานี้เมื่อ 7 เม.ย.2559 ซึ่งตัวเขาอยู่ในเรือนจำด้วยคดี 112 คดีอื่น และให้การปฏิเสธในชั้นสอบสว

อัยการยื่นฟ้องสรุปความได้ว่า เขาปราศรัยเรื่องที่รถของกษัตริย์เดนมาร์กต้องติดไฟแดงและเทียบเคียงกับบ้านตัวเอง "คำปราศรัยดังกล่าวสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และทำให้บุคคลทั่วไปมีความคิดไปในทางไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์"

ทั้งนี้ ธานัท อยู่ในเรือนจำมา 3 ปี 7 เดือน เขาถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2557 เขาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว ศาลลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี จากนั้นเขาถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 2 คดี คดีหนึ่งขึ้นศาลอาญา คดีหนึ่งขึ้นศาลทหาร ทั้งสองคดีล้วนมาจากการถูกกล่าวหาว่าปราศรัยหมิ่นเบื้องสูงและโพสต์คลิปการปราศรัยขึ้นยูทูบในระยะเวลาห่างกันราว 1 สัปดาห์ เมื่อปี 2556


คดีแรก ศาลอาญาให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 15 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน คดีที่สอง ศาลทหารลงโทษจำคุก 5 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญา รวมแล้ว จำคุก 10 ปี 10 เดือน 

ส่วนคดีที่สาม เพิ่งฟ้องเมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี จากการปราศรัยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2553 ศาลราชบุรีนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 21 ก.พ. และนัดสอบคำให้การในวันที่ 23 เม.ย.2561

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานภาคตะวันออกประกาศหนุนคนงาน GM ชี้ถูกกลั่นแกล้งย้ายไปทำงานที่อยุธยา

Posted: 29 Mar 2018 05:27 AM PDT

กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ออกแถลงการณ์สนับสนุนสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์สฯ ชี้ถูกกลั่นแกล้งโดยการย้ายไปทำงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ลดเงินเดือน-ตัดสวัสดิการ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

ภาพการเดินรณรงค์ของกลุ่มคนงาน สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา

29 มี.ค.2561 จากกรณีเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทน สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหาการจ้างงาน เดินทางเข้าร่วมชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  (Working Group on Business and Human Rights) พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะทำงานดังกล่าวช่วยประสานแก้ปัญหา โดยมี 5 ข้อเรียกร้องต่อบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จํากัด และบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์สเพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) นั้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ล่าสุดวานนี้ (28 มี.ค.61) กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและใกล้เคียงกว่า 50 องค์กร มีสมาชิกรวมกว่า 25,000 คน ออกแถลงการณ์ "คืนความยุติธรรมให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย...ทันที" โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ "เดินเพื่อทวงคืนความยุติธรรม" ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งนายจ้างกลั่นแกล้งโดยการย้ายไปทำงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ลดเงินเดือนจากเดิมเหลือเพียง 9,600 บาท และตัดสวัสดิการต่างๆ เคยได้รับทั้งหมดถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ตามที่สื่อต่างๆ ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก เห็นว่า กรณีปัญหาของสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทยถูกนายจ้างกระทำ โดยนายจ้างมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อไม่ให้เกิดการเจรจาต่อรองการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตของนายจ้าง รวมทั้งเป็นการผลักภาระค่าใช้ต่างๆ ที่นายจ้างต้องรับผิดชอบให้เป็นภาระของลูกจ้าง  เรื่องดังกล่าวนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 และขัดต่อหลักการปฏิญญาสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นละเมิดจรรยาบรรณทางการค้าที่นายจ้างได้เคยประกาศไว้ใน GM Code Of Conduct

"ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย และพร้อมดำเนินการเคลื่อนไหวในทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนให้สมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ให้ได้รับความเป็นธรรม และเรียกร้องสหภาพแรงงานต่างๆ  ออกมาร่วมกันทวงคืนความยุติธรรมให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย" แถลงการณ์ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ระบุตอนท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ณัฏฐ์ หงส์ดิลกกุล: ร่วมจ่ายแบบ Co-Insurance เสี่ยงทำผู้ป่วยล้มละลายจากการรักษา

Posted: 29 Mar 2018 02:37 AM PDT

นักวิชาการจากสแตนฟอร์ดยืนยัน การร่วมจ่ายแบบ Co-Insurance เสี่ยงทำให้ผู้ป่วยล้มละลาย ไม่ควรนำมาใช้ ติงการพูดว่างบประมาณไม่พอต้องดูภาพรวม ควรศึกษาว่ารายจ่ายส่วนใดจำเป็นหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ เชื่อว่าไทยยังสามารถเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพได้อีก

ทุกครั้งที่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นถกเถียง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมักกล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระงบประมาณ ซึ่งมีทิศทางสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต สุดท้ายแล้วจะทำให้ประเทศล้มละลาย ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาวิธีหนึ่งคือการร่วมจ่าย

เหตุผลข้างต้นเป็นคำกล่าวที่ไม่ได้ดูภาพรวมทั้งหมดของงบประมาณ ณัฏฐ์ หงส์ดิลกกุล Post Doctoral Fellow in Asia Health Policy จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งทำการศึกษาโครงการ 30 บาทกับการร่วมจ่าย กล่าวกับประชาไทว่า ขณะนี้ต้นทุนด้านสาธารณสุขหรือโครงการ 30 บาทคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น เทียบกับสหรัฐฯ ที่สูงเกือบร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูแลเฉพาะคนจนกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ของไทยยังถือว่าต่ำมาก

"ขณะที่แคนาดาจ่ายค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้เกือบทั้งประเทศ ค่าใช้จ่ายคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณ แต่เขาก็ยอมจ่าย เพราะแคนาดาไม่มีรายจ่ายจุกจิกอื่น งบป้องกันประเทศก็ไม่ต้องจ่าย แคนาดาจ่ายแค่ 2 เรื่อง สุขภาพกับการศึกษา สองตัวนี้ก็เกือบหมดแล้ว แต่บ้านเรามีรายจ่ายหลายอย่าง ซึ่งต้องถามกลับว่าจำเป็นหรือเปล่า จำเป็นกว่า 30 บาทหรือไม่ คนที่พูดแบบนี้อาจเพราะไม่ได้มองภาพรวมของการคลัง"

ก่อนมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคงด้านการเงิน ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จากการที่มีรายจ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น การเป็นโรคร้ายแรงหรือประสบอุบัติเหตุ ซึ่งต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงช่วยป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ผู้คนต้องล้มละลายจากการรักษา

"รัฐบาลบอกว่าจ่าย 6 เปอร์เซ็นต์กับโครงการ 30 บาท แต่ว่าจ่าย 9 เปอร์เซ็นต์ในงบกลาโหม ถามว่างบกลาโหม คุณค่าที่กลับมาหาคนไทยเป็นกี่สตางค์ เราก็ไม่รู้ เพราะไม่มีใครวัด รัฐบาลต้องเทียบว่าในโครงการทั้งหมดเอามาจัดลำดับตั้งแต่ 1 ถึง 100 ซึ่งผมเชื่อว่าโครงการ 30 บาทต้องอยู่ในอันดับต้นๆ"

งานศึกษาของณัฏฐ์ทำการวัดคุณค่าของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ คำว่า 'คุณค่า' วัดจากความยินดีที่จะจ่าย ถ้าประชาชนต้องจ่ายเพื่ออยู่ในโครงการ 30 บาท ประชาชนจะยินดีจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถตอบได้ตรงกับความเป็นจริง เพราะไม่รู้ว่าควรจ่ายเท่าไหร่

"เราจึงไปดูข้อมูลเชิงครัวเรือน เช่น การบริโภคเป็นยังไง เจ็บป่วยหรือไม่ เพื่อจะวัดว่าคุณค่าที่เขาได้รับจริงๆ คือเท่าไหร่ ผลออกมาคือทุกๆ 1 บาทที่รัฐบาลจ่ายไปในนโยบายนี้ คุณค่าที่ผู้รับประโยชน์ได้รับคือ 75 สตางค์ คุณค่าทั้งหมดมาจากการป้องกันการล้มละลายจากการรักษาที่มาอย่างไม่คาดฝัน"

25 สตางค์หายไปไหน?

ณัฏฐ์ อธิบายว่า ความมีประสิทธิภาพกับความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน ถ้าต้องการให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น ก็ต้องยอมสูญเสียประสิทธิภาพไปบ้าง หมายความว่าถ้าต้องการให้ประชาชนมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข 25 สตางค์คือราคาที่ต้องจ่าย ณ ขณะนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเกิดจากการคอร์รัปชั่น แต่เป็นต้นทุนในการกระจายรายได้

"แต่ผมจะดอกจันทร์อีกว่า ตัวเลขที่ผมได้ ผมอาจจะประเมินค่าต่ำไป คุณค่าจริงๆ อาจจะสูงกว่า 75 สตางค์ แต่ผมยังไม่มีหลักฐานยืนยัน เหตุผลที่น่าจะมีมากกว่า เพราะว่าหลังจากมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมค้นพบว่าคนมีรายได้มากขึ้น ซึ่งผมไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่คนไม่ใช้จ่าย แสดงว่าเขากำลังจะเก็บออมหรือโยกการใช้จ่ายจากปัจจุบันไปอนาคต ซึ่งผมไม่ได้เอาเข้ามาในการคำนวณด้วย

"แต่ถามว่าถ้ามันหายไป 25 สตางค์ หมายความว่ารัฐบาลไม่ควรจ่ายเลยหรือเปล่า พูดแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคุณอยากรู้ คุณต้องไปเทียบคุณค่าของเงิน 1 บาทที่รัฐบาลจ่ายไปกับโครงการรัฐอื่นๆ เช่น รัฐบาลบอกว่าจ่าย 6 เปอร์เซ็นต์กับโครงการ 30 บาท แต่ว่าจ่าย 9 เปอร์เซ็นต์ในงบกลาโหม ถามว่างบกลาโหม คุณค่าที่กลับมาหาคนไทยเป็นกี่สตางค์ เราก็ไม่รู้ เพราะไม่มีใครวัด รัฐบาลต้องเทียบว่าในโครงการทั้งหมดเอามาจัดลำดับตั้งแต่ 1 ถึง 100 ซึ่งผมเชื่อว่าโครงการ 30 บาทต้องอยู่ในอันดับต้นๆ เพราะมีอีกเยอะที่งบประมาณลงไปโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย"

ในประเด็นการร่วมจ่าย ณัฏฐ์ อธิบายว่า การร่วมจ่ายมีอย่างน้อย 3 วิธี

1.จ่ายก่อนป่วย เรียกว่า Premium การจ่ายภาษีนับเป็นรูปแบบหนึ่ง

2.ร่วมจ่ายแบบคงที่ หรือ Co-Payment เช่น การจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค

3.ร่วมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์จากค่ารักษาพยาบาลจริง หรือ Co-Insurance เช่น ถ้าค่ารักษาโรคมะเร็งเท่ากับ 1 ล้านบาท ต้องร่วมจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับผู้ป่วยต้องจ่าย 3 แสนบาท

"Co-Insurance คือการเอาเพดานขั้นสูงในการจ่ายออก เพราะฉะนั้นถ้าคุณโชคร้ายเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง คุณก็หมดตัวไป เวลาชาวบ้านป่วยทั่วไป เขาสามารถจ่ายได้ แต่ที่จ่ายไม่ไหวคือโรคที่มีค่ารักษาสูงๆ และต้องล้มละลาย ผมจึงคิดว่าถ้าต้องร่วมจ่ายจริงๆ การขึ้น Co-Pay อาจเป็นไปได้ แต่ต้องระมัดระวังมากๆ เพราะที่ผมไปคุยกับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เขาบอกว่า คนในชนบทมีความอ่อนไหวต่อราคามาก เช่น ถ้าขึ้นราคานิดเดียวเขาไม่มาหาหมอแล้ว ซึ่งมี 2 กรณีคือไม่จำเป็นต้องมาหาก็ได้ แบบนี้อาจจะโอเค ถือว่าประหยัดต้นทุน แต่กลุ่มที่ 2 คนที่ต้องมาหาหมอ แต่ไม่มา อาจเกิดโรคแทรกซ้อน ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม"

จากงานศึกษาชิ้นนี้ ณัฏฐ์ สรุปว่า วิธีการร่วมจ่าย Co-Insurance เป็นวิธีที่แย่ที่สุด ไม่ควรนำมาใช้ เพราะมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะล้มละลายจากการรักษา ขณะที่ 2 แบบแรกมีความเป็นไปได้ แต่ต้องคิดอีกทีว่าควรทำอย่างไร

"ในความเห็นผม การร่วมจ่ายตอนนี้ยังไม่จำเป็น เพราะตอนนี้ยังจ่ายพอ คือมีคนพูดว่าโรงพยาบาลขาดทุน ก็ต้องไปดูว่าขาดทุนเพราะอะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าร่วมจ่ายแล้วโรงพยาบาลจะหายขาดทุนจริงหรือเปล่า เราก็ยังไม่รู้ แต่ถ้ารัฐบาลจ่ายเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลก็หายขาดทุนได้เหมือนกัน โดยตัดค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่จำเป็นออก"

ณัฏฐ์ แสดงทัศนะว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังสามารถเพิ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องถกเถียงกันและต่อสู้กันว่างบประมาณด้านใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น

"เรื่องนี้ก็กลับไปที่การเมือง แต่การเมืองแบบที่เป็นอยู่ทำให้ฝั่งเป็นซัพพลาย ไซด์ หรือฝั่งราชการ ฝั่งผู้ปฏิบัติการมีอำนาจมากกว่าฝั่งดีมานด์ ไซด์ หรือฝั่งผู้ป่วย"

ยังมีประเด็นอีกมากเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลคนไทยประมาณ 48 ล้านคน สิ่งที่ค่อนข้างแน่ชัด ณ เวลานี้คือ Co-Insurance ไม่ควรถูกนำมาใช้ในสังคมไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง 'ธาริต' คดีหมิ่น 'สุเทพ' ปมสร้างโรงพัก 396 แห่ง ชี้ให้ข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

Posted: 29 Mar 2018 01:19 AM PDT

ศาลยกฟ้องคดีที่ สุเทพ ฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ และ มติชน-ข่าวสด ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ปมโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ชี้มีอำนาจแถลงข่าวได้ เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ เเละเป็นการให้ข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

แฟ้มภาพ

29 มี.ค.2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วันนี้ ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ /บก.มติชน และข่าวสด ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากกรณีธาริตให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะว่า สุเทพ ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศ โดยมิชอบ ทำให้ สุเทพ โจทก์ เสื่อมเสียชื่อเสียง 

ศาลพิเคราะห์เเล้วเห็นว่า โจทก์ได้มีการเปลี่ยนสัญญาเเก้ไขการก่อสร้างโรงพักทดเเทน 396 เเห่ง เป็นสัญญาเดียวจากที่สำนักงบประมาณเคยทำความเห็นเสนอ ครม. เป็นรายภาค เเละ ครม.เห็นชอบด้วยกับสำนักงบประมาณ การที่โจทก์แก้ไขสัญญาใหม่เป็นสัญญาเดียว ธาริต จำเลย เป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษย่อมมีอำนาจแถลงข่าวการตั้งข้อสงสัยเเละเชิงตรวจสอบแก่สื่อมวลชนในเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ เเละเป็นการให้ข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นสื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงตามที่ ธาริต จำเลยที่ 1 เเถลงเป็นการกระทำโดยสุจริต ติชมเพื่อความเป็นธรรม ตามที่วิญญูชนพึงกระทำ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง 
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2558 ให้ยกฟ้องก่อนชั้นพิจารณาคดี แต่ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีนี้ ซึ่งศาลอุธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 ให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณา ด้าน ธาริต หลังศาลพิพากษาได้เดินทางกลับทันที โดยปฏิเสธให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อสื่อมวลชน 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศรีสุวรรณ' ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบกรมการค้าภายในปล่อยให้รถมินิบิ๊กซีมาขายสินค้าแย่งคนจน

Posted: 28 Mar 2018 10:02 PM PDT

ศรีสุวรรณ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบกรมการค้าภายในปล่อยให้รถมินิบิ๊กซีมาขาย ชี้อาจเข้าข่ายเป็นการผูกขาดธุรกิจ แย่งช่องทางทำมาหากินของร้านค้ารายย่อยต่าง ๆ และรถโชห่วยต่าง ๆ จนเกินไป

ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Srisuwan Janya

29 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ จรรยาเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ภาพพร้อรายงานกรณีที่ตนเอง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อสอบกรมการค้าภายใน กรณีปล่อยให้รถมินิบิ๊กซีมาขายสินค้าแย่งคนจน

ข้อร้องเรียนของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  ระบุว่า ตามที่ได้ปรากฏเป็นการทั่วไปในโซเชียลมีเดียว่า มีรถจำหน่ายสินค้าสะดวกซื้อที่ขึ้นชื่อป้ายขนาดใหญ่บนตัวรถว่า "มินิบิ๊กซี" ซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ไปวิ่งบริการและจอดจำหน่ายสินค้าลักษณะเดียวกันกับร้านค้ารายย่อยหรือร้านโชห่วยทั่วไป และอาหารแช่แข็งมาจัดจำหน่าย พร้อมกับบริการจ่ายบิล โดยมีพนักงานแคชเชียร์ 1 คน และพนักงานขับรถ 1 คน ให้บริการแก่ลูกค้าในหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ ใน จ.นครราชสีมา จ.ปทุมธานี การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการผูกขาดธุรกิจ แย่งช่องทางทำมาหากินของร้านค้ารายย่อยต่าง ๆ และรถโชห่วยต่าง ๆ จนเกินไป ซึ่งการดำเนินการแบบนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อร้านค้ารายย่อย เพราะร้านค้ารายย่อย ไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเสียเปรียบเรื่องเงินทุน และเครือข่ายธุรกิจ

แม้อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้สอบถามไปทางบิ๊กซีแล้ว ซึ่งได้คำตอบว่าเป็นเพียงแนวคิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ของบริษัท และอยู่ในช่วงทดลองเท่านั้น ยังไม่ได้วางแผนทำอย่างจริงจังแต่อย่างใดนั้น แต่สมาคมฯเห็นว่าเป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายในจะต้องติดตามตรวจสอบและสั่งระงับระบบค้าปลีกดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น เพราะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อร้านค้ารายย่อย ทำให้เกิดเกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าและบริการในพื้นที่ที่รถ "มินิบิ๊กซี" เข้าไปบริการจำหน่ายสินค้าและบริการ ซึ่งการเพิกเฉยของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการควบคุมสินค้าและบริการ ปล่อยให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ออกมาดำเนินการค้าขายโดยอ้างการทดลองตลาด โดยไม่มีใบอนุญาตการประกอบการค้าเร่ เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 และไม่ได้เสียภาษีป้ายแต่อย่างใด รวมทั้งมีการดัดแปลงสภาพรถนั้น เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 และพรบ.การจนส่งทางบก พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ.2551 

นอกจากนั้น รถยนต์ "มินิบิ๊กซี" ดังกล่าว มีการติดตั้งเครื่องเสียงลำโพงบริเวณหลังคารถเพื่อขยายเสียงโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการอีกด้วย ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ควบคุมการใช้เสียง และเครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 เสียก่อนด้วย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของหลายหน่วยงานที่ต้องเข้าไปจัดการระงับปัญหาดังกล่าว แต่ก็ทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาวกัน ทั้งๆที่กระทบต่อผู้ค้ารายย่อย

"จึงจำต้องนำความไปร้องเรียนต่อ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบกรมการค้าภายใน รมว.กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอแนะคณะรัฐมนตรีให้ขจัดหรือระงับความไม่เป็นธรรม และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป" หนังสือร้องเรียนของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประท้วงเหมือนกัน อาจารย์-พนง.มหาวิทยาลัยฟินแลนด์ประท้วงอัตราเงินเดือน

Posted: 28 Mar 2018 09:24 PM PDT

'ฟินแลนด์' ประเทศซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก แต่คนทำงานในภาคการศึกษาก็มีการเคลื่อนไหวต่อรองอยู่ตลอดเวลา เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2561 พนักงานในมหาวิยาลัยเฮลซิงกิได้นัดหยุดงานประท้วงโครงสร้างการจ้างงาน-อัตราเงินเดือน ต่อมาจึงได้ข้อยุติเมื่อต้นเดือน มี.ค.

หลังจากช่วงปลายเดือน ก.พ. 2561 ที่ผ่านมาอาจารย์และพนักงานในมหาวิยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์นัดหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากเวลาเที่ยงคืนถึงเวลาเที่ยงคืนของอีกวัน เนื่องจากการที่ทางผู้บริหารวิทยาลัยไม่ลงนามในข้อตกลง เกี่ยวกับโครงสร้างการจ้างงานของเจ้าหน้าด้านการศึกษา ที่พวกเขาได้เสนอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราการขึ้นเงินเดือน การลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ทำให้อัตราการขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่เพียงร้อยละ 1 ในปีแรก และร้อยละ 1.1 ในปีที่ 2 ทั้งยังจะมีการเปลี่ยนอัตราการจ่ายเงินให้สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการทำงาน

ทางกลุ่มลูกจ้างของมหาวิทยาลัยได้นัดหยุดงานประท้วงอีกครั้งในวันที่ 7 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยมีลูกจ้างของมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่งในฟินแลนด์ที่จะเข้าร่วมด้วย แต่การเจรจาร่วมสองฝ่ายระหว่างกลุ่มลูกจ้างและกลุ่มนายจ้าง ในวันที่ 27 ก.พ. 2561 ได้ข้อสรุปร่วมกันเสียก่อน ทำให้การนัดหยุดงานต้องถูกยกเลิกไป โดยข้อสรุปดังกล่าวได้กำเนิดให้อัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ร้อยละ 3.45 และมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่าง ๆ มากมายในระบบโครงสร้างการจ้างงาน โดยเป็นข้อเสนอที่มาจากทางฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นฝ่ายเสนอ ส่งผลให้การประกาศข้อตกลงค่าแรงฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายฉบับต้องเลื่อนออกไป

"การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่าย ๆ นี้คือข้อตกลงที่สมดุล คุณไม่ได้สามารถได้ทุกอย่างที่เรียกร้อง" Markku Kajo ตัวแทนฝ่ายเจ้าหน้าที่ จากองค์กรตัวแทนลูกจ้างภาคส่วนการศึกษากล่าว

ความสำเร็จของการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวส่งผลไปถึงการเจรจาในภาคส่วนอื่น ๆ ที่ทำงานในภาคส่วนของบริการสาธารณะ อย่างคนทำงานในขนส่งระบบรางที่กำลังมีการนัดหยุดงาน เช่นเดียวกันกับในภาคการศึกษาและมีข้อเรียกร้องในลักษณะเดียวกัน

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Second university strike called off as parties reach job contracts deal (Yle, 6/3/2018)

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ส่งตัว 'คนอยากเลือกตั้งพัทยา' ให้อัยการ ผู้ต้องหายื่นขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

Posted: 28 Mar 2018 09:06 PM PDT

ตร. ส่งตัว 7 ผู้ต้องหา 'คนอยากเลือกตั้ง' ที่พัทยา พร้อมสำนวนการสอบสวนให้แก่อัยการแขวงพัทยา ด้านผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้สั่งไม่ฟ้องคดีเพราะไม่เป็นประโยชน์​สาธารณะ​ อัยการนัดมารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งของอัยการแขวงอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย.​ นี้

ภาพคนอยากเลือกตั้งฯ ชุมนุมเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา บริเวณลานตรงข้ามห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยาบีช ถนนเลียบชายหาด (ที่มาภาพ เพจประชาธิปไตยศึกษา V2)

29 มี.ค.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา ส่งตัวผู้ต้องหา "คนอยากเลือกตั้ง" ที่พัทยา ทั้ง 7 คน เข้ารายงานตัวเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้แก่อัยการแขวงพัทยา ด้านผู้ต้องหายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้สั่งไม่ฟ้องคดีเพราะไม่เป็นประโยชน์​สาธารณะ​ จากนั้นอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้ง 7 มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งของอัยการแขวงอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย.​ 61 เวลา 9.30 น.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 คน พร้อมสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็น​ควรสั่งฟ้อง​ เพราะการชุมนุม​ไม่ได้ขออนุญาต​ และ​คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ให้กับอัยการแขวงพัทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้ง 7 มาพบที่สภ.เมืองพัทยาเพื่อทำการแถลงข่าวก่อนการส่งตัว โดยมี พ.ต.อ.อภิชัย​ กรอบเพชร ผกก.​สภ.เมืองพัทยา ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 7 คนในคดีนี้ นั่งหัวโต๊ะในการแถลงข่าว​ ด้าน 6 ผู้ต้องหาได้เดินทางเข้าไปยังสภ.เมืองพัทยาพร้อมกับทนายความ ส่วนอีก 1 ผู้ต้องหาได้เดินทางไปรอที่สำนักงานอัยการแขวงพัทยาก่อนแล้ว
 
โดยระหว่างเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สภ.เมืองพัทยา ฝ่ายผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนในคดี  จากนั้นเมื่อการแถลงข่าวเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ไปลงบันทึกประจำวันและได้ติดต่อให้ผู้ต้องหาอีก 1 คนที่รออยู่ที่สำนักงานอัยการแขวงพัทยาเข้ามาลงชื่อในบันทึกประจำวัน ก่อนนัดหมายผู้ต้องหาทั้ง 7 คนให้เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง ที่สำนักงานอัยการแขวงพัทยา ในเวลา 13.00 น.
 
ต่อมาเวลา 13.00 น. ผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้ง ทั้ง 7 คนเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำนักงานอัยการแขวงพัทยา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งตัวให้กับอัยการพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนแล้ว ด้านผู้ต้องหาทั้ง 7 คนได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยผ่านอัยการแขวงพัทยาผู้รับผิดชอบสำนวนคดี เพื่อให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ระบุการฟ้องคดีต่อผู้ต้องหาทั้งหมดไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อัยการแขวงจึงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งของอัยการแขวงอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย.​ 61 เวลา 9.30 น.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลภูเขียวยกฟ้อง ไผ่ ดาวดินและเพื่อนแจกเอกสารโหวตโนร่างรัฐธรรมนูญ

Posted: 28 Mar 2018 08:58 PM PDT

ศาลชี้เอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแจกได้ ไม่ผิดกฎหมาย เป็นสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็นที่ทำได้ ไม่เข้าข่ายการปลุกระดมและบิดเบือน ลงโทษปรับความผิดไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ สวนทางมติ กกต. และ กรธ. ปี 2559 ที่ชี้ว่าเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวผิดกฎหมาย

ซ้ายไปขวา: วศิน พรหมณี จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ภาพถ่ายเมื่อปี 2559

29 มี.ค. 2561 เวลา 09.30 น. ศาลจังหวัดภูเขียวอ่านคำพิพากษาคดีซึ่งอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทย์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และวศิน พรหมณี ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 จากกรณีร่วมกันส่วมเสื้อโหวตโน ไม่รับอนาคตที่ไม่ได้เลือก และเดินแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ให้กับพ่อค้าแม่ขายและคนเดินจ่ายตลาดที่ตลาดสดภูเขียว ในช่วงสายของวันที่ 6 ส.ค. 2559 หนึ่งวันก่อนการลงออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นการก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงประชามติเป็นได้ด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ.2549 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน1,000 บาท

โดยศาลพิพากษาว่า ให้ลงโทษจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ให้ปรับ 1,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง

ย้อนดู 4 คดีประชามติ ก่อนฟังคำพิพากษาไผ่ ดาวดินและเพื่อน แจกเอกสารในตลาดสด

ส่วนข้อกล่าวหาว่าผิด พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 นั้น ศาลพิเคราะห์เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ทำการแจกเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจริง แต่เห็นว่าการแจกเอกสารดังกล่าวเป็นไปโดยการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 7 พ.ร.บ.ประชามติ อีกทั้งการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เข้าข่ายการปลุกระดมให้ประชาชนเกิดการลุกฮือ เป็นแต่เพียงกาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้

และเนื้อหาใน เอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ถือเป็นการบิดเบือน เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ส่วนเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์นั้นจำเลยทั้งสองยังไม่ได้เเจก จึงไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์เนื้อหา

ศาลจึงสั่งให้ยกฟ้องและคืนของกลางทั้งหมดให้จำเลย

 

เอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับประเด็นเรื่องเอกสารรณรงค์เรื่องประชามติของขบวนการประชาธิปไตยใหม่นั้น ได้มีการพูดคุยกันแล้วมีความเห็นตรงกันระหว่าง กกต. และ กรธ. ว่า เอกสาร 7 เหตุไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่นั้น เป็นเอกสารที่ผิดกฏหมาย 

กรธ.-กกต. สรุปชัด 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ NDM บิดเบือนห้ามแจก

"กกต. และ กรธ. ได้มีความเห็นร่วมกันว่าชิ้นนี้ (7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ) มีข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง ดังนั้นในขณะนี้เราขอแถลงต่อสาธารณะว่า เอกสารชิ้นนี้ไม่สามารถแจกจ่ายในที่สาธารณะได้ ผู้ที่ทำการแจกจ่ายจากนี้ไปถือว่ามีความผิด แต่ที่ผ่านอาจจะมีการแจกจ่ายเราเห็นว่ายังไม่มีเจตนา หรือยังไม่ทราบว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่ขออนุญาตว่าจากนี้ไปกลุ่มต่างๆ ที่จะทำการเผยแพร่เอกสารฉบับนี้ ไม่ว่าจะเผยแพร่โดยการแจกจ่ายโดยมือ หรือทางอินเตอร์เน็ต ขอให้ท่านออกเอาจากเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย" สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนอยากเลือกตั้ง โต้ ผบ.ทบ. ยันข้อเรียกร้องไม่เลื่อนลอย 'ยุบ คสช. เปลี่ยนเป็นรัฐบาลรักษาการ'

Posted: 28 Mar 2018 08:36 PM PDT

หลัง ผบ.ทบ.ออกมาแสดงความกังวลกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ด้าน กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โต้ข้อเรียกร้องไม่เลื่อนลอย ยุบ คสช. เปลี่ยนเป็นรัฐบาลรักษาการ เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง 

29 มี.ค.2561 จากกรณีวานนี้ (28 มี.ค.61) ที่ กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมากล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนขบวนชุมนุมมาหน้ากองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.)ในช่วงที่ผ่าน โดยกังวลว่าจะกลายเป็นน้ำผึ่งหยดเดียว พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังดูแล รวมทั้งเปิดเผยด้วยว่าขณะได้ให้หน่วยงานความมั่นคงตรวจสอบว่ามีกลุ่มการเมืองหนุนหลังการเคลื่อนไหว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่ รวมถึงการสนับสนุนเส้นทางการเงิน รวมถึงชี้ว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มเหล่านี้เลื่อนลอย หวังแค่เคลื่อนขบวน นั้น

วันเดียวกัน กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group - DRG) ซึ่งเป็นองค์กรจัดกิจกรรม คนอยากเลือกตั้ง เรียกร้องจัดเลือกตั้งปีนี้ตามที่หัวหน้า คสช. เคยรับปาก โพสต์ข้อโต้แย้งของ พล.อ.เฉลิมชัย ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ ดังนี้ 

ตอบข้อโต้แย้งของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท

ผบ.ทบ. : ความต้องการจริงๆ คือการเคลื่อนย้ายมวลชนไปตามสถานที่ต่างๆ

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย : ตอบ ไม่ใช่ ความต้องการจริงๆ ของพวกเราที่เคยบอกไปหลายครั้งหลายหนแล้วก็คือต้องการเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ และไม่ต้องการเห็น คสช. หาช่องทางสืบทอดอำนาจอีกต่อไป การมารวมตัวเคลื่อนไหวเป็นเพียงวิธีการที่เราเห็นว่าเหมาะสมที่สุดที่จะนำเสนอข้อเรียกร้องของพวกเราให้สังคมและผู้มีอำนาจได้ยิน (ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันได้ผล) ดังนั้นขอยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นพวกออกมาเดินขบวนเล่นๆ ไร้สาระก่อหวอดไปวันๆ แบบที่ พล.อ.เฉลิมชัย พยายามสร้างภาพให้กับเรา

ผู้ที่ตามขบวนมา ที่ไม่ใช่แกนนำ บุคคลเหล่านี้น่าเห็นใจ เพราะไม่ได้มีอุดมการณ์ แค่แห่ตามสถานการณ์ ไปช่วยเพื่อน ทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย ถูกจำคุกหลายปี เมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่มีใครดูแล ครอบครัวแตกแยก พล.อ.ประยุทธ์ก็สั่งการให้ศูนย์ปรองดอง ทบ. ไปดูแลจนได้พักโทษแล้วหลายราย

ตอบ ไม่คิดบ้างหรือว่าผู้ที่ตามขบวนของพวกเรามานั้น เขาอาจเคยพยายามอยู่นิ่งๆ เคยพยายามอดทนกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เคยพยายามให้โอกาส คสช. มาหลายครั้งแล้ว แต่เพราะ คสช. หักหลังพวกเขาตลอดมา พวกเขาจึงไม่ขอยอมอดทนเงียบเสียงอีกต่อไป และออกมาร่วมแสดงพลังกับพวกเราด้วยความเต็มใจ ฉะนั้นขอให้ คสช. หยุดพูดจาราวกับว่าประชาชนเป็นสิ่งที่ถูกจูงจมูกได้ง่ายๆ และกลับไปทบทวนตัวเองด้วยว่าทำอะไรลงไปบ้างเรื่องราวถึงได้ดำเนินมาถึงจุดนี้

พวกเราช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด แกนนำช่วยเหลือผู้เข้าร่วม ผู้เข้าร่วมก็ช่วยเหลือแกนนำ เวลามีใครถูกดำเนินคดีก็มีการระดมทุนเพื่อเป็นเงินประกันช่วยเหลือให้ผู้ต้องคดีได้รับการปล่อยตัวอยู่เสมอ

และในส่วนของประชาชนที่ต้องคดีต่างๆ หลายคดีก็มาจากกฎหมายหรือคำสั่งที่ คสช. เขียนขึ้นมาเอง เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ดังนั้นอย่ามาทำตัวราวกับเป็นพ่อพระผู้โปรดสัตว์ เพราะ คสช. เองนั่นแหละที่ยัดเยียดโทษทัณฑ์ให้พวกเขาตั้งแต่แรก

ทุกอย่างดูแบบเลื่อนลอย ข้อเรียกร้องก็เลื่อนลอยและไม่มีเงื่อนไขอะไร

ตอบ อยากถามว่าท่านได้ฟังหรืออ่านข้อเรียกร้องของพวกเราจริงๆ หรือเปล่า? เพราะสิ่งที่เราเรียกร้องไปนั้นชัดเจนเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง ทั้งที่เรียกร้องให้ยุบ คสช. ให้เปลี่ยนสถานะรัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ ให้ยกเลิกประกาศคำสั่งที่จำกัดสิทธิประชาชนและพรรคการเมือง รวมถึงให้กองทัพเลิกสนับสนุน คสช. เพื่อนำไปสู่การจัดการเลือกตั้ง ต่อคำถามว่าใครจะดูแลความสงบ หรือรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ (ให้ คสช. อยู่ต่อ) จะให้ทำยังไง เราก็ตอบไปหมดแล้วว่าก็ให้รัฐบาล-หน่วยงานราชการทำหน้าที่รักษาความสงบได้ และรัฐธรรมนูญก็แก้ไขได้เช่นกัน

เราเชื่อว่าข้อเรียกร้องของเราชัดเจนกว่า "โรดแมป" ของ คสช. อย่างแน่นอน

หวั่นจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

เกรงว่าน้ำผึ้งหยดนั้นจะไม่ได้มาจากพวกเราหรือฝ่ายที่อยากเลือกตั้งหรอกนะครับ พวกเราพยายามควบคุมการจัดกิจกรรมให้อยู่ในความสงบมาโดยตลอด และไม่อยากให้เกิดเหตุความรุนแรงแน่ๆ เพราะจะกลายเป็นข้ออ้างให้ คสช. ไม่ยอมออกไปอีก

อย่าลืมว่าฝ่ายที่ไม่อยากให้มีเลือกตั้งเองก็มีแรงจูงใจที่จะก่อเหตุน้ำผึ้งหยดเดียวเช่นกัน ซึ่งรวมถึงตัวละครที่มีอำนาจมากที่สุดของฝ่ายนี้อย่าง คสช. ด้วย ดังนั้นหากคิดจะใช้น้ำผึ้งหยดเล็กๆ (ที่ คสช. อาจเป็นคนหยดไว้เองก็ได้) มาเป็นข้ออ้างให้ คสช. ครองอำนาจต่อไปแล้ว พวกเราคงไม่สามารถยอมได้ง่ายๆ แน่

สำหรับรายละเอียดที่ ผบ.ทบ. กล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น มติชนออนไลน์ รายงานไว้ว่า พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า กลุ่มดังกล่าวมีการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง ในทุกสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน และล่าสุดก็มีการเคลื่อนมวลชน มา บก.ทบ. เข้าใจดีว่าเงื่อนไขที่เรียกร้องให้กองทัพแยกออกมาจาก คสช. คงเป็นเงื่อนไขที่เสนอขึ้นมา แต่ความต้องการจริงๆ คือการเคลื่อนย้ายมวลชนไปตามสถานที่ต่างๆ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ในด้านความมั่นคงดูแลอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย ในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สิ่งที่ห่วงใย อยากฝากเป็นข้อคิด ผู้ที่ตามขบวนมา ที่ไม่ใช่แกนนำ เพราะเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ ศูนย์ปรองดองกองทัพบก ไปดูแลผู้ต้องหา ที่ต้องคดีทางการเมือง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่ไม่ใช่แกนนำ ซึ่งบุคคลเหล่านี้แห่ตามสถานการณ์ ไปช่วยเหลือเพื่อนในบางเรื่อง ที่ทำให้ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย มีการตัดสินจำคุกหลายปี ครอบครัวเดือดร้อน ท่านก็สั่งการให้ศูนย์ปรองดองลงไปแก้ไปัญหา จนได้รับการพักโทษมาแล้วหลายราย

"ขณะได้ให้หน่วยงานความมั่นคงตรวจสอบว่ามีกลุ่มการเมืองหนุนหลังการเคลื่อนไหว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่ รวมถึงการสนับสนุนเส้นทางการเงิน แต่ปัจจุบัน ทุกอย่าง ดูแบบเลื่อนลอย ข้อเรียกร้องก็เลื่อนลอย และไม่มีเงื่อนไขอะไร เพียงแต่ต้องการเคลื่อนขบวน ซึ่งปัญหาก็คือความเดือดร้อนของประชาชน และจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ซึ่งเราก็ระมัดระวัง แล้วฝ่ายความมั่นคงพยายามยืดหยุ่นในทุกเรื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม" ผบ.ทบ.กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายห้ามชุมนุมในรัฐทหาร 2

Posted: 28 Mar 2018 06:49 PM PDT

 

องค์ประกอบหลักของการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือ 'กฎหมายชุมนุมสาธารณะ' เกี่ยวข้องอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวข้องกับลักษณะหรือประเภทของ 'กิจกรรม' ตามมาตรา 3[[1]] ที่กำหนดว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งหรือเจ้าพนักงานเสียก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้เกิดการชุมนุมได้ ส่วนลักษณะหรือประเภทของกิจกรรมใดที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ก็สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อน เรื่องที่สองเกี่ยวข้องกับ 'สถานที่' ตามมาตรา 7[[2]] ที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในสถานที่บางประเภท ส่วนการชุมนุมในสถานที่อื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในมาตรา 7 ให้ถือว่าอยู่ในบังคับที่ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกตามกฎหมายฉบับนี้ โดยมีเงื่อนไขไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฎิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่สำหรับสถานที่บางประเภทตามมาตรา 8[[3]] แต่ไม่ได้ห้ามการชุมนุมในสถานที่บางประเภทตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 แต่อย่างใด

ดังนั้น ถ้าการชุมนุมใดไม่ใช่กิจกรรมและสถานที่ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 และมาตรา 7 ก็ควรได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ชุมนุมได้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ถูกยกเว้นให้ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ตามมาตรา 3 ยิ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้

ประเด็นสำคัญต่อเนื่องมา นั่นคือ เมื่อพิจารณาในแง่ของ 'กิจกรรม' และ 'สถานที่' อันเป็นองค์ประกอบหลักตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะพบว่าบทบัญญัติทุกตัวอักษรของกฎหมายฉบับนี้ไม่มีคำว่า 'การเมือง' หรือคำที่มีความหมาย/นัยยะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันแม้สักคำเดียว นั่นหมายความว่าอะไร ?

หมายความว่าไม่มีข้อห้าม 'การชุมนุมการเมือง' ในกฎหมายฉบับนี้ ทั้ง 'การชุมนุมการเมือง' และ 'การชุมนุมไม่การเมือง' ก็ล้วนถูกรับรองให้กระทำได้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ 

แต่ทำไมตลอดเกือบสามปีนับตั้งแต่เริ่มประกาศใช้บังคับกฎหมายฉบับนี้ สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมการเมืองจึงหายไปจากกฎหมายฉบับนี้ ?

มีสองสาเหตุหลัก สาเหตุแรกมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ในข้อ 12 ที่ระบุไว้ว่า "ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย" ด้วยคำสั่งนี้เองที่ขโมยการชุมนุมการเมืองไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยใช้ 'จำนวน' เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าการชุมนุมใดก็ตามที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปถือว่าเข้าข่ายการชุมนุมการเมืองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นดุลพินิจที่คับแคบและขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมสาธารณะเพราะไม่ได้คำนึงถึงพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมมาประกอบในการใช้ดุลพินิจ

คำสั่งนี้เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลพินิจและกำหนดนิยามตามอำเภอใจได้ ในเมื่อเป็นคำสั่งที่ไม่กำหนดนิยามของคำว่า 'มั่วสุม' 'มั่วสุมทางการเมือง' 'ชุมนุมทางการเมือง' ไว้ และไม่บังคับให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึง 'จำนวน' และ 'พฤติการณ์' ประกอบกัน จึงมักพบกรณีห้ามไม่ให้มีการชุมนุมและฟ้องคดีต่าง ๆ อยู่เสมอว่าเจ้าพนักงานจะคำนึงถึง 'จำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป' เป็นเรื่องหลักในการพิจารณาว่าการชุมนุมใดเข้าข่ายขัดคำสั่งนี้หรือไม่ ส่วนจะมีพฤติการณ์มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ในขณะที่ยังหานิยาม หลักเกณ ฑ์ เงื่อนไขใด ๆ ที่ชี้ชัดไม่ได้ก็ไม่ต้องไปสนใจมัน สนใจเพียงแค่ว่าการชุมนุมใด ๆ ก็ตามที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปให้ถือว่าเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองไว้ก่อน 

สาเหตุที่สองเกิดจากทัศนคติทางการเมืืองที่ไม่ถูกต้องในขบวนประชาชนด้วยกันเองที่มองว่ากฎหมายชุมนุมสาธารณะจะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ใครก็ตามที่ไม่แสดงท่าทีการชุมนุมการเมือง แต่จะไม่คุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ใครก็ตามที่ทำการชุมนุมการเมือง ซึ่งเป็นทัศนคติที่ทำให้เกิดการกีดกันและแบ่งแยกประชาชนส่วนอื่นออกจากตัวเองเพราะหวั่นเกรงว่าการชุมนุมไม่การเมืองของตนจะถูกเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมการเมืองไปด้วย และจะทำให้ถูกสั่งห้ามชุมนุมหรือฟ้องคดีด้วยเหตุที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

ข้อเท็จจริงก็คือ ในสภาวะที่บ้านเมืองปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ได้สร้างภาวะครอบและเหลื่อมซ้อนระหว่างกฎหมายชุมนุมสาธารณะกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขึ้นมา ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ให้ความสำคัญในแง่ที่ว่าการชุมนุมใด ๆ เป็นการชุมนุมการเมืองหรือไม่การเมือง หรือเป็นการชุมนุมที่เข้าข่าย องค์ประกอบ หรือนิยามของคำว่าการเมืองหรือไม่อย่างไร เพราะจะถูกเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมการเมืองไปหมด เนื่องจากในภาวะดังกล่าวไม่ว่าการชุมนุมการเมืองหรือไม่การเมืองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นทั้งสิ้นเพราะสร้างความสั่นคลอนให้แก่ความมั่นคง 


เราควรทำอย่างไร ?

ประการแรก เราไม่ควรมานั่งถกเถียงกันว่าการชุมนุมใดเป็นการชุมนุมการเมืองหรือไม่การเมือง เพราะในแง่มุมที่สำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมการเมืองหรือไม่การเมืองในความหมายของใครหรือของอะไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือเป็นการสร้างพลังประชาชนทั้งคู่ ซึ่งเป็นสิ่งงดงามของสังคมที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตโดยมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐและทุนที่มีพฤติกรรมจ้องแต่จะเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดประชาชนตลอดเวลา หากประชาชนไม่สร้างกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลทั้งในทางการเมืองและไม่การเมืองให้เข้มแข็ง ดังนั้น เราควรยืนยันในหลักการว่า ไม่ว่าการชุมนุมการเมืองหรือการชุมนุมไม่การเมือง ประชาชนก็สามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามระบบกฎหมายปกติ  อย่างน้อยที่ใช้อ้างได้ในเวลานี้ก็คือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขัดต่อกฎหมายทั้งสอง 

ประการที่สอง เราไม่ควรแยกการเมืองออกจากปัญหาชาวบ้าน การชุมนุมของประชาชนจะมีพลังต่อรอง กดดันและเรียกร้องหาความเป็นธรรมกับรัฐและทุนต้องชุมนุมไปให้ถึงการเมือง ต้องเอาปัญหาชาวบ้านไปชุมนุมเชื่อมโยงให้ถึงปัญหาทางการเมืองที่ผลิตโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากดทับและก่อให้้เกิดผลกระทบอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ

ประการที่่สาม ต้องเอาสิทธิเสรีภาพการชุมนุมการเมืองกลับคืนสู่กฎหมายปกติ อย่าปล่อยให้มันถูกแยกออกไปอยู่ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

ประการที่สี่ ในกฎหมายชุมนุมสาธารณะถึงแม้จะไม่ถูกครอบและเหลื่อมซ้อนจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ก็มีปัญหามากในตัวของมันเอง เนื่องจากนิยามที่กว้างขวางของ 'การชุมนุมสาธารณะ' ถูกวางเงื่อนไขและหลักเกณฑ์หยุมหยิมเพื่อลดทอนคุณค่าการชุมนุมสาธารณะลงไปด้วยการต้องแจ้งการชุมนุมก่อน หากไม่แจ้งก็มีความผิด พอแจ้งแล้วเจ้าพนักงานตอบมาโดยมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์หยุมหยิมในทางที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการชุมนุมก็เริ่มสร้างภาระยุ่งยากทันที เพราะมันเป็นเรื่องของภาษากฎหมายที่ต้องจ้างนักกฎหมายทำหนังสือโต้ตอบให้ ถ้าหากเจ้าพนักงานมีคำสั่งห้ามชุมนุมก็จะยุ่งยากมากยิ่งขึ้นเพราะต้องจ้างนักกฎหมายอุทธรณ์คำสั่ง สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างภาระยุ่งยากและค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนทั้งหลาย เพราะมีพื้นที่/กรณีปัญหามากมายที่ประชาชนไม่สามารถหานักกฎหมายมาช่วยเหลือได้ ตรงจุดนี้เองที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปโดยอัตโนมัติ ในแง่นี้ เราไม่ควรสยบยอมต่อกฎหมายฉบับนี้หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น หรือมิเช่นนั้นก็ควรร่วมกันต่อสู้คัดค้านให้กฎหมายฉบับนี้ยกเลิกไปเสียหากสาระสำคัญ กระบวนการและขั้นตอน เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ถูกแก้ไข

ทำไมเราควรทำเช่นนั้น ? ก็เพราะว่่าเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งมักจะมีเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประกอบส่วนอยู่ด้วยทั้งก่อน ระหว่างและหลังการชุมนุมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตจิตใจเรา ต่อความเป็นมนุษย์ของเรา มันสำคัญมากเหมือนกับคำคมร่วมสมัยของผู้ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า "ห้ามฉันพูด ฉันก็จะพิมพ์ ห้ามฉันพิมพ์ ฉันก็จะเขียน ห้ามฉันเขียน ฉันก็จะยังคิด หากห้ามฉันคิด ก็ต้องห้ามลมหายใจฉัน"[[4]] นั่นแหละ เสรีภาพการชุมนุมไม่ต่างจากคำคมร่วมสมัยที่ยกขึ้นมานี้ "ห้ามไม่ให้ฉันชุมนุม ห้ามลมหายใจฉันดีกว่า"

 

เชิงอรรถ

[[1]] มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้

(1) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี

(2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

(3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น

(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา

(5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ

(6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

[[2]] มาตรา 7 การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้

การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น

ศาลตามวรรคสองหมายความถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารและศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมด้วย

[[3]] มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้

(1) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ

(2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ

(3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน

(4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ

(5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

[[4]] สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นคนกล่าวถ้อยคำนี้ขณะที่ถูกทหารควบคุมตัวอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวณชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี จากการที่เขาผูกผ้าสีแดงบริเวณป้ายแยกราชประสงค์ภายหลังเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 และ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ประชาชนถูกฆ่าตายกลางท้องถนนในกรุงเทพฯกว่าร้อยศพ - ผู้เขียน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น